โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ยังไม่จบ กรรมการสิทธิฯ เตรียมแนวทางสู้หาก ประยุทธ์ ไม่ยื่นตีความ ร่างพ.ร.ป. กสม.

Posted: 28 Sep 2017 01:32 PM PDT

ประธาน กสม. เผยหลังส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อขอให้ ส่งร่าง พ.ร.ป. กสม. ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่ามีข้อความขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ระบุหากไม่ส่งตีความก็มีแนวทางในการต่อสู้ต่อไป ยันเตรียมไว้อย่างชัดเจนแล้ว

28 ก.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้ทำหนังสือ จำนวน 2 ฉบับ ส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 248 (2) ของรัฐธรรมนูญ 2560  ส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ... ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพี่อวินิจฉัยว่ามีข้อความขัดหรือแย้งตามรัฐธรรมนูญหรือไม่แล้วนั้น จากนี้จะขอรอดูท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร หากนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ควรส่ง ร่าง พ.ร.ป.ฉบับดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนตัวก็มีแนวทางในการต่อสู้ต่อไป เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ยืนยันว่ามีการเตรียมแนวทางไว้อย่างชัดเจน เตรียมพร้อมไว้แล้ว ถ้าถึงเวลาเมื่อไรก็เมื่อนั้น

สำหรับหนังสือดังล่าวที่ ปรธานกสม. ส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา นั้น ระบุว่า ร่าง พ.ร.ป.กสม.มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 3 ประเด็น ดังนี้

1.ปัญหาการให้ กสม.พ้นจากตำแหน่งทันทีทั้งหมด (เซตซีโร่) ตามร่างมาตรา 60 โดยอ้างว่าเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล (หลักการปารีส) เกี่ยวกับกระบวนการได้มาซึ่ง กสม. ทั้งๆ ที่ กสม.ชุดปัจจุบันได้รับการสรรหามาโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายไทย รวมทั้งคำสั่งและประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตลอดจนได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชุดปัจจุบัน และได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งมาตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย. 2558 การที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้เหตุผลโดยอ้างหลักการปารีสที่เป็นของต่างประเทศมาเซตซีโร่ กสม. ซึ่งไม่ถูกต้องทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเช่นนี้ เป็นการให้ความสำคัญแก่ต่างชาติจนเข้ามามีอิทธิพลอยู่เหนือแผ่นดินไทย ทั้งขัดต่อหลักนิติธรรมในส่วนของหลักความมั่นคงแห่งนิติฐานะของบุคคล

2. การให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาให้ กสม.พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะตามมาตรา 40 วรรคสาม ประกอบมาตรา 20(4) และวรรคสาม, มาตรา 21 ของ พ.ร.ป.กสม. เป็นการถอดถอน กสม. ซึ่งเป็นอำนาจของศาลฎีกาตามมาตรา 235 ของรัฐธรรมนูญ และขัดต่อพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามตามมาตรา 246 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ

และ 3.ข้อห้าม กสม.รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.ป.กสม. ห้ามเฉพาะรับจากองค์กรเอกชน(เอ็นจีโอ) แต่ไม่ได้ห้ามรับจากองค์การระหว่างประเทศ รัฐต่างประเทศ หรือหน่วยงานของรัฐต่างประเทศ ขณะเดียวกันในวรรคสอง กลับมีข้อยกเว้นให้ กสม.สามารถรับเชิญจากองค์การระหว่างประเทศ หรือหน่วยงานของรัฐต่างประเทศไปประชุมหรือสัมมนาโดยผู้เชิญออกค่าใช้จ่ายให้ได้ ทั้งที่จะต้องมีข้อห้ามในวรรคหนึ่งก่อนจึงจะมีข้อยกเว้นในวรรคสองได้ อนึ่ง การมีบทบัญญัติในเรื่องนี้ในร่าง พ.ร.ป.กสม. จะเป็นการตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้ กสม.ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงความผาสุกของประชาชนชาวไทยตามมาตรา 247 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ตามขั้นตอนหลังจาก สนช.ประชุมลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.กสม. ตามร่างของคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายในวันที่ 14 ก.ย.แล้ว ต่อมาวันที่ 15 ก.ย. เลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สนช. ได้ส่งร่าง พ.ร.ป.กสม.ให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้นายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งตามมาตรา 145 ของรัฐธรรมนูญ นายกฯมีระยะเวลา 25 วันเพื่อพิจารณากรณีตามมาตรา 148 ถ้านายกฯสงสัยก็ให้ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้ประธาน สนช.ทราบโดยไม่ชักช้า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.ป.กสม.มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และข้อความดังกล่าวเป็นสาระสําคัญ ก็ให้ร่างนั้นเป็นอันตกไป หรือถ้าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่มิใช่ข้อความสำคัญ ก็ให้เฉพาะข้อความนั้นตกไป และให้นายกฯนำร่าง พ.ร.ป.กสม.ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยตามมาตรา 81 ต่อไป 

ที่มา สำนักข่าวไทย และมติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'มีชัย' ย้ำ 'ยิ่งลักษณ์' ต้องมาอุทธรณ์ด้วยตนเอง หลัง ก.ม.ใหม่ประกาศใช้

Posted: 28 Sep 2017 01:17 PM PDT

'มีชัย' ย้ำ หาก 'ยิ่งลักษณ์' จะอุทธรณ์ต้องมาด้วยตนเอง หลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใหม่ประกาศใช้ ทนายรอคำพิพากษาเต็มก่อนพิจารณายื่นอุทธรณ์ 'พนัส' ตั้ง 3 ข้อสังเกตคำตัดสินคดี ไม่เข้าใจยิ่งลักษณ์ผิดได้ไง

28 ก.ย. 2560 หลังจากวานนี้ (27 ก.ย.60) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาลับหลังในคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว จำคุก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 5 ปี โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รอลงอาญา พร้อมทั้งมีคำสั่งให้ออกหมายจับเพื่อให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลต่อไปนั้น

ทนายรอคำพิพากษาเต็มก่อนพิจารณายื่นอุทธรณ์

วันนี้ (28 ก.ย.60) สำนักข่าวไทย รายงานว่า นรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยถึงแนวทางในการยื่นอุทธรณ์คดีดังกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว เพราะต้องรอดูคำพิพากษากลางฉบับเต็มและคำวินิจฉัยส่วนตนขององค์คณะฯ ที่จะออกมาก่อน

ต่อคำถามถึงกรณีที่ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ในวันนี้ (28 ก.ย.60) ซึ่งมาตรา 61 ของกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้จำเลยที่ยื่นอุทธรณ์ต้องมาแสดงตัวต่อศาลด้วยนั้น นรวิชญ์ กล่าวว่า ต้องไปดูรายละเอียดก่อน ขณะนี้ตนติดภารกิจอยู่ที่ต่างจังหวัด จึงยังไม่ได้ดูรายละเอียด

มีชัย ย้ำ หากยิ่งลักษณ์จะอุทธรณ์ต้องมาด้วยตนเอง 

โดยในวันนี้ ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศใช้ พ.ร.ป.ดังกล่าว โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ พร้อมทั้งระบุหมายเหตุแนบท้าย ถึงเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.ป.ฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้มี พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารง ตําแหน่งทางการเมือง เพื่อให้มีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติ ของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกําหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาพิพากษาและการอุทธรณ์คําพิพากษาของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนูญ

อ่านรายละเอียดที่เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา

ซึ่งประเด็นการประกาศใช้ดังกล่าว เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา รายงานความเห็นของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต่อกรณีดังกล่าว โดย มีชัย กล่าวว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลต่อการยื่นขออุทธรณ์คดีของผู้ต้องหา ต้องมาปรากฏตัวต่อศาลจึงจะสามารถอุทธรณ์คดีได้ และจะต้องมีการสรรหาองค์คณะผู้พิพากษาที่จะพิจารณาอุทธรณ์ด้วย ดังนั้น กรณีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 5 ปี จากคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หากจะยื่นขออุทธรณ์คดีต้องดำเนินกระบวนการตามกฎหมายลูกว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่ ส่วนการกำหนดอายุความคดี ขณะนี้ยังคงใช้ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ปี 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีอยู่ก่อนที่ศาลจะพิจารณาคดี ประกอบกับกฎหมายลูกว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่ ก็ไม่ได้นับอายุความ ดังนั้นไม่ว่านางสาวยิ่งลักษณ์จะหลบหนีคดีกี่ปี ก็ต้องกลับมารับโทษจำคุก 5 ปี โดยที่คดีไม่มีการนับอายุความ และในกรณีหากนางสาวยิ่งลักษณ์ กลับมารับโทษจำคุก 5 ปีแล้ว ก็จะไม่สามารถกลับเข้าสู่เส้นทางการเมืองได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้บัญญัติถึงลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องไม่เคยถูกลงโทษจำคุกเนื่องจากกระทำความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. ซึ่งกรณีคดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ นั้น ศาลลงโทษตามกฎหมาย ป.ป.ช. จึงไม่สามารถเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ตลอดชีวิต แต่หากจำเลยอุทธรณ์คดีได้ ก็จะต้องรอการพิพากษาใหม่

มีชัย ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า พ.ร.บ.มาตรการกำกับและติดตามจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยตัวชั่วคราวโดยศาล พ.ศ.2560 ที่ได้มีการประกาศใช้แล้วนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับคดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ เนื่องจากพ้นขั้นตอนการขอประกันตัวไปแล้ว แต่หากเป็นกรณีใหม่ ผู้ที่ขอประกันตัวใหม่ก็ต้องขอประกันตัวตามกฎหมายดังกล่าวด้วย ส่วนการรื้อฟื้นคดีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น ตามกฎหมายใหม่มีขั้นตอนที่ศาลจะต้องออกหมายจับก่อน และรอให้จำเลยปรากฏตัวภายใน 1 เดือน แต่เบื้องต้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาเดินหน้าคดีต่อของอัยการ และส่วนตัวยังไม่ทราบรายละเอียดของคดีจึงไม่สามารถให้คำตอบได้

พนัส ตั้ง 3 ข้อสังเกตคำตัดสินคดี ไม่เข้าใจยิ่งลักษณ์ผิดได้ไง

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Panat Tasneeyanond' ถึงคำตัดสินคดีจำนำข้าวนี้ด้วยว่า อ่านจากรายงานข่าว (Press Release) ของศาลฎีกาคดีอาญานักการเมืองคดี ยิ่งลักษณ์ แล้ว สรุปว่า ที่ศาลตัดสินว่าเธอกระทำผิดตามข้อกล่าวหาเป็นเพราะรู้ว่าบุญทรง เตริยาภิรมย์ กับพวกทุจริต สัญญาระบายข้าว จีทูจี แล้วไม่สั่งระงับหรือยกเลิกโครงการจำนำข้าวทั้งโครงการ ไม่เข้าใจว่า

1. การทุจริตของบุญทรงกับพวกเกี่ยวข้องอย่างไรกับความเสียหายที่อนุกรรมการปิดบัญชีอ้างว่าการดำเนินโครงการทำให้เกิดความเสียหาย หรือ ขาดทุน กว่าแปดแสนล้าน

2. ในเมื่อโครงการกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ (ยังไม่เสร็จสิ้นการดำเนินงาน) ทำไมจึงคิดคำนวณได้ว่าขาดทุนหรือเสียหายเท่านั้นเท่านี้ได้อย่างไร ที่ศาลฟังว่าเป็นการใช้เงินเกินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติไว้ ก็เป็นแต่เพียงความผิดในแง่กฎหมายงบประมาณ ไม่ใช่ความผิดที่จะนำเอามาเป็นฐานการคำนวนความเสียหายที่แท้จริงได้

3. ไม่มีหลักฐานใดๆของทางฝ่ายอัยการที่แสดงว่า นายกปู (หรือ ยิ่งลักษณ์) ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและมีเจตนาพิเศษสนับสนุนบุญทรงกับพวกกระทำการระบายข้าวโดยทุจริต ในทางตรงกันข้ามนายกปูได้พยายามดำเนินการทุกอย่างเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ที่สำคัญคือให้บุญทรงพ้นจากตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ ซึ่งเป็นตำแหน่งของผู้บังคับบัญชาสูงสุดของฝ่ายปฏิบัติการตามโครงการนี้ ที่ศาลฟังว่านายกปูรู้เรื่องการทุจริตดีทุกอย่าง ถึงสามารถชี้แจงในการให้สัมภาษณ์ได้โดยละเอียดทุกขั้นตอน ปฏิเสธว่าไม่มีการทุจริตใดๆ เกิดขึ้นนั้น ก็หาใช่เป็นพยานหลักฐานที่ยืนยันว่านายกปูรู้เห็นเป็นใจให้มีการทุจริตแต่อย่างใดไม่ เพราะจากหลักฐานที่จำเลยนำสืบแสดงว่านายกปูได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์เองว่าไม่มีสิ่งใดผิดปกติเกิดขึ้น การพยายามแก้ปัญหาในภายหลังต่อมาด้วยการเปลี่ยนตัวบุญทรงและทีมงานออกไปย่อมเป็นหลักฐานเป็นอย่างดีว่า เธอได้ดำเนินการอย่างดีที่สุดและเหมาะสมตามสมควรเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว แสดงว่าเธอมิได้มีเจตนาพิเศษแต่อย่างใดที่ต้องการให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและบุคคลอื่นซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ป.ป.ช.มาตรา 123/1 จึงไม่มีเหตุผลแต่อย่างใดที่จะต้องสั่งระงับการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวนี้ทั้งโครงการดังคำวินิจฉัยของศาลที่พิจารณาจากเหตุผลของทางฝ่าย ป.ป.ช. เพียงข้างเดียว

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไร้เสียงค้าน มติ สนช. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

Posted: 28 Sep 2017 12:45 PM PDT

สนช. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 30 คน แปรญัตติ 15 วัน กรอบการทำงานภายใน 60 วัน สมคิด ชี้เพื่อพัฒนาภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงให้เป็นระบบ 

แฟ้มภาพ

28 ก.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (28 ก.ย.60)ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. .... โดยที่ประชุม สนช. ได้ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ด้วยคะแนน 175 เสียง  งดออกเสียง  7 เสียง พร้อมตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 30 คน แปรญัตติ 15 วัน กรอบการทำงานภายใน 60 วัน

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงสาระสำคัญของร่าง กฎหมายนี้ว่า เพื่อพัฒนาภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงให้เป็นระบบ สอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม ส่งเสริมให้มีการประกอบพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทันสมัย สร้างนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้ภาคตะวันออกเป็นเขตพัฒนาพิเศษ มีการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ชัดเจนเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และศักยภาพของพื้นที่ ตลอดจนมีการบูรณาการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคให้มีความเชื่อมโยงกัน ดังนั้น รัฐบาลจึงมุ่งหวังให้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมีศักยภาพ มีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม การจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง

ขณะที่สมาชิก สนช. ต่างอภิปรายอย่างกว้างขวาง อาทิ คุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี กิตติ วะสีนนท์ แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทะเลชายฝั่ง ระบบนิเวศที่มีความเชื่อมโยงกับน้ำจืด น้ำเค็ม ดังนั้น จึงเห็นควรมีการวิจัยมารองรับและควรปรับปรุงกฎหมายบางฉบับให้สอดคล้องกัน เช่น กฎหมายผังเมือง ซึ่งการปรับปรุงผังเมืองจะช่วยอำนวยความสะดวกในการพัฒนาเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมทั้งต้องมีการศึกษาความพร้อมของท้องถิ่น และควรนำสถาบันการศึกษาเข้ามาร่วมดำเนินการด้วย เพื่อให้เกิดความรอบคอบในทุกรูปแบบและไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง

สุพันธุ์ มงคลสุธี สมาชิก สนช.เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ พร้อมเสนอแนะให้มีมาตรการในการควบคุมดูแลอุตสาหกรรมในประเทศไทย เนื่องจากมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญการเพิ่มเขตเศรษฐกิจพิเศษต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ เพราะกฎหมายยังเปิดกว้างให้นักลงทุนอย่างกว้างขวาง ซึ่งอาจเป็นช่องทางให้กลุ่มนายทุนจากต่างประเทศเข้ามาแย่งพื้นที่ทำกินของระบบอุตสาหกรรมไทยเหมือนที่ผ่านมา

เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้มีความจำเป็นต่อประเทศ พร้อมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ต้องมีการจัดพื้นที่ให้เหมาะสม เพราะด้านอุตสาหกรรมโรงงานกับการท่องเที่ยวไม่ควรอยู่ในพื้นเดียวกัน หากไม่มีการจัดพื้นที่ที่ดีจะทำให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมมาบตาพุด รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา  จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี ที่อาจมีการจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาบริหารจัดการจะต้องใช้งบประมาณที่สูง ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

ที่มา สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผลโหวตประชามติชาวเคิร์ด ร้อยละ 92.73 เห็นชอบให้แยกตัวเป็นอิสระ

Posted: 28 Sep 2017 11:52 AM PDT

ผลประชามติชาวเคิร์ดร้อยละ 92.73 ต้องการแยกตัวเป็นอิสระจากอิรัก ถึงแม้ว่าประชามติในครั้งนี้จะไม่ส่งผลตามกฎหมายแต่ผู้นำชาวเคิร์ดหวังว่าจะเป็นสิ่งที่นำไปเจรจาต่อรองได้ อย่างไรก็ตามนอกจากรัฐบาลอิรักแล้ว ตุรกี อิหร่าน และสหรัฐอเมริกา ก็ส่งเสียงคัดค้านการทำประชามตินี้

ที่มาของภาพประกอบ: kurdistan24.net

28 ก.ย. 2560 ชาวเคิร์ดในอิรักจัดลงประชามติแยกตัวเป็นอิสระต่อไปแม้จะถูกต่อต้านจากรัฐบาลกลางของอิรัก โดยมีผู้ใช้สิทธิลงคะแนนในครั้งนี้ร้อยละ 72.61 ของผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนทั้งหมด มีคนลงคะแนนเห็นชอบกับการให้เขตกึ่งปกครองตนเองของชาวเคิร์ดเป็นอิสระมากถึง 3.3 ล้านเสียง คิดเป็นร้อยละ 92.73 อย่างไรก็ตามนับเป็นการลงประชามติในแบบที่ไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย

อัลจาซีรารายงานว่าการลงประชามติในครั้งนี้มีเสียงคัดค้าน ทั้งจากรัฐบาลกลางของอิรัก จากประเทศเพื่อนบ้านอย่างตุรกีและอิหร่าน ประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐฯ ก็กดดันให้ผู้นำชาวเคิร์ดยกเลิกการทำประชามติในครั้งนี้

อย่างไรก็ตามโฮดา อับเดล ฮามิด ผู้สื่อข่าวอัลจาซีรารายงานจากพื้นที่เมืองเออร์บิลเมืองหลวงของเคอร์ดิสถานระบุว่าผลการลงประชามติในครั้งนี้เป็นไปตามความคาดหวังของชาวเคิร์ด มีผู้คนที่พึงพอใจผลลัพธ์ที่ฝ่ายเห็นชอบชนะ แต่จากที่นักข่าวสอบถามชาวเคิร์ดว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปชาวเคิร์ดก็แสดงความกังวลว่าจะมีปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้นหลังจากนี้

มาซุด บาร์ซานี ประธานาธิบดีภูมิภาคเคอร์ดิสถานแห่งอิรัก (KRG) กล่าวว่าถึงแม้การโหวตในครั้งนี้จะไม่มีผลบังคับทางกฎหมายแต่ก็น่าจะเป็นการเปิดประตูไปสู่การเจรจาเรื่องการขอแยกตัวเป็นอิสระได้

อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีอิรัก ไฮเดอร์ อัล อาบาดี กล่าวว่าการจัดลงประชามติในครั้งนี้ผิดกฎหมายและควรทำให้ผลของการลงคะแนนนี้เป็นโมฆะ จะมีการหารือในเรื่องนี้ตามแนวทางของรัฐธรรมนูญเท่านั้น พวกเขาจะไม่เจรจาในเรื่องนี้โดยเอาผลการลงประชามติมาเป็นข้ออ้าง อาบาดีกล่าวย้ำอีกว่าจะมีการกำหนดใช้กฎหมายอิรักครอบคลุมไปถึงเคอร์ดิสถานด้วย

ในเคอร์ดิสถานยังมีบางเขตปกครองที่มีทรัพยากรสำคัญอย่างน้ำมัน เช่นในจังหวัดคีย์คูก ทางตอนเหนือของนิเนเวห์ ในช่วงหลังมีการลงประชามติเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (27 ก.ย.) รัฐสภาอิรักเรียกร้องให้มีการวางกำลังรอบแหล่งน้ำมันในคีย์คูกเพื่อแสดงออกว่าอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลกลาง

นอกจากนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วทางการกลางของอิรักยังเรียกร้องให้ต่างชาติเลิกบินตรงสู่ท่าอากาศยานนานาชาติเออร์บิลและสุเลย์มานิยาห์ในเขตพื้นที่ KRG ไม่นานหลังจากนั้นอิหร่านก็ทำตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลกลางอิรัก ส่วนมิดเดิลอีสต์แอร์ไลน์ของเลบานอนก็ประกาศว่าจะระงับเส้นทางบินสู่และจากท่าอากาศยานเออร์บิล โดยอ้างว่ามีการระงับจนกว่าชาวเคิร์ดกับรัฐบาลกลางอิรักจะจัดการตกลงร่วมกันในประเด็นนี้ได้ ทางการอิรักยังสั่งห้ามไม่ให้เครื่องบินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าสู่ KRG เว้นแต่จะได้รับการรับรองจากทางการกลางของอิรักแล้วเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันจากตุรกีที่ขู่คว่ำบาตรปิดกั้นเส้นทางส่งออกสำคัญของชาวเคิร์ด โดยที่ประเทศตุรกีเป็นเส้นทางสำคัญที่เชื่อมต่อทางตอนเหนือของอิรักกับโลกภายนอก แต่ผู้นำตุรกีก็มองว่าการลงประชามติในครั้งนี้จะเป็นภัยต่อความมั่นคงในชาติของตัวเอง เนื่องจากกลัวว่าจะเป็นการทำให้เกิดความคิดอยากแยกตัวเป็นอิสระของชาวเคิร์ดให้ลุกลามมากขึ้น

เรียบเรียงจาก

Iraqi Kurds overwhelmingly back split from Baghdad, Aljazeera, 28-09-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช. ลงนามเน็ตชายขอบ 8 สัญญา เร่งเปิดภายในสิ้นปี คิดไม่เกิน 200 ต่อเดือน

Posted: 28 Sep 2017 10:02 AM PDT

สำนักงาน กสทช. ลงนามโครงการเน็ตชายขอบแล้ว 8 สัญญา เร่งเปิดให้บริการภายในสิ้นปีนี้ ย้ำคิดอัตราค่าบริการไม่เกินเดือนละ 200 บาท

28 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจาก สำนักสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) แจ้งว่า ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้ลงนามในสัญญาโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน จำนวน 8 สัญญา วงเงินรวม 12,989.69 ล้านบาท 

เป็นการดำเนินการหลังจากที่ประชุม กสทช. ได้อนุมัติโครงการ และให้เร่งดำเนินการจ้างบริการ เพื่อให้เปิดใช้งานได้ตามเป้าหมายภายในปีนี้ โดยประชาชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการ จะสามารถใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 30/10 Mbps 
ได้ในราคาไม่เกิน 200 บาทต่อเดือน

นอกจากนี้จะมี USO แพ็คเกจรุ่นเล็ก ความเร็ว 15 Mbps ราคาไม่เกิน 150 บาทต่อเดือน และ USO แพ็คเกจ
รุ่นจิ๋ว ความเร็ว 10 Mbps ราคาไม่เกิน 100 บาทต่อเดือน เฉลี่ยไม่เกินเมกละ 10 บาท ให้บริการสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย และมีความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วต่ำกว่า 30 Mbps

ส่วนการให้บริการที่ไม่เสียค่าบริการเพื่อสาธารณะ ได้แก่ ไวไฟสาธารณะ 3,149 จุด เฉลี่ยหมู่บ้านละ 1 จุด อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในหน่วยงานภาครัฐทั้งโรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล รวม 1,317 แห่ง รวมทั้งมีศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ 763 ศูนย์ พร้อมผู้ดูแลประจำศูนย์อย่างน้อย 1 คน ซึ่งทั้งหมดจะให้บริการฟรีตลอดระยะเวลา 5 ปี

ฐากร กล่าวว่า ได้วางเป้าหมายให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไม่ต่ำกว่า 30 Mbps เปิดบริการไม่น้อยกว่า 
588 หมู่บ้าน ภายในเดือน ธ.ค. 2560 และอีก 2,352 หมู่บ้าน ภายในเดือน เม.ย. 2561 ก่อนเปิดให้บริการครบ 100% ในเดือน ส.ค. 2561

สำหรับสัญญาแต่ละสัญญามีผู้ชนะการประกวดราคา ดังนี้

1. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 1 (ภาคเหนือ 1) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 2,812,014,000 บาท

2. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 2 (ภาคเหนือ 2) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม2,103,800,000 บาท

3. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 3 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 2,492,599,999 บาท

4. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 4 (ภาคกลาง-ใต้) และกลุ่มที่ 5 (3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) ได้แก่ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 1,868,235,000 บาท

5. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 1 (ภาคเหนือ 1) ส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 1,889,999,927 บาท

6. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 2 (ภาคเหนือ 2) ส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ 
ในวงเงินรวม 786,549,600 บาท

7. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 3 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 532,064,800 บาท

8. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 4 (ภาคกลาง-ใต้) และกลุ่มที่ 5 (3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา) ส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 504,423,740 บาท

"การดำเนินโครงการเน็ตชายขอบครั้งนี้ สามารถประหยัดงบประมาณลงได้ 624.93 ล้านบาท จากราคากลางโครงการ จำนวน 13,614.62 ล้านบาท ผมเชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตราคาถูก และมีโอกาสเหมือนคนเมือง ถือเป็นภารกิจหนึ่งของสำนักงาน กสทช. ในการดูแลผู้บริโภคอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม" เลขาธิการ กสทช. กล่าว

ผู้ชนะการประมูลโครงการเน็ตชายขอบ

ภาค

อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

วงเงิน (บาท)

โทรศัพท์เคลื่อนที่

วงเงิน (บาท)

ภาคเหนือ 1

บจ. ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น

2,812,014,000

บมจ. ทีโอที

1,889,999,927

ภาคเหนือ 2

บมจ. ทีโอที

2,103,800,000

บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น

786,549,600

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

บมจ. ทีโอที

2,492,599,999

บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น

532,064,800

ภาคกลาง-ใต้ 
และ 3 จังหวัดชายแดนใต้รวม 4อำเภอในจังหวัดสงขลา

บมจ. อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม

1,868,235,000

บมจ. กสท โทรคมนาคม

504,423,740

 

รวม

9,276,648,999

รวม

3,713,038,067

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เศรษฐกิจไหลริน: ไทยรินถึงไหน คำถามภาคปฏิบัติบนประเด็นความเหลื่อมล้ำ

Posted: 28 Sep 2017 07:52 AM PDT

อะไรคือเศรษฐศาสตร์แบบไหลริน ตัวอย่างจาก 'เรแกโนมิกส์' และระบบภาษีที่เอสโตเนีย ข้อถกเถียงเรื่องความเหลื่อมล้ำและภาคปฏิบัติของทฤษฏีที่ยังไม่เคยถูกทดสอบ มองไทย: โตแบบกระจุก ไม่ไหลรินสู่ข้างล่าง ตัวเลข ศก. โตแต่เงินในกระเป๋าไม่นำพา คำถามบนเศรษฐกิจส่วนล่างยุคของแพง ค่าแรงถูก

เมื่อ 30 ปีที่แล้ว มีทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อว่า Trickle Down Economic หรือที่ชื่อภาษาไทยเรียกว่า 'ทฤษฎีไหลริน' ที่ผู้อ่านหลายท่านอาจจะเคยได้ยินนิยามผ่านหูที่ว่า ถ้าเศรษฐกิจส่วนบนดี ผลประโยชน์จะค่อยๆ ไหลรินมาสู่ส่วนอื่นๆ

ทฤษฎีนี้ถูกนำไปใช้ในหลายประเทศผ่านการประยุกต์ใช้ตามรูปแบบต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษี คลายระเบียบ ข้อบังคับทางธุรกิจ ด้วยความเชื่อว่าผู้คนจะนำเงินที่เหลือไปใช้จ้างงาน ลงทุน ขยายธุรกิจในสภาวะที่ระเบียบข้อบังคับทางธุรกิจผ่อนคลาย

ผ่านมา 30 ปี จึงมีคำถามว่า ระบบดังกล่าวใช้ได้มากน้อยเพียงใด แล้วในปัจจุบันจะสามารถใช้ได้หรือไม่ ในไทย เศรษฐกิจที่ไตรมาสนี้โตขึ้นมาร้อยละ 3.7 เป็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีที่สุดในรอบหลายไตรมาส แล้วดอกผลแห่งการเติบโตนั้นมาถึงเศรษฐกิจส่วนอื่นหรือไม่

ประชาไทจะพาผู้อ่านทำความรู้จักทฤษฎีไหลริน ตัวอย่างการนำไปใช้ ข้อถกเถียงของนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายว่าด้วยทางสองแพร่งระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน กับการทุ่มสุดตัวเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด และลงท้ายด้วยบริบทในไทยที่เป็นคำถามว่าดอกผลแห่งการเติบโตจะรินมาถึงเศรษฐกิจส่วนล่างจริงหรือไม่

อะไรคือเศรษฐศาสตร์แบบไหลริน ตัวอย่างจาก 'เรแกโนมิกส์' และระบบภาษีที่เอสโตเนีย

Trickle Down Economic  หรือทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบไหลริน คือทฤษฎีที่กล่าวว่า ถ้าเศรษฐกิจส่วนบนได้รับสิทธิประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ก็จะทำให้เศรษฐกิจส่วนอื่นๆ ดีตามไปด้วย ซึ่งสิทธิประโยชน์นั้นมักจะเป็นการลดอัตราภาษีทางธุรกิจหรือลดภาษีเงินได้ของกลุ่มผู้มีรายได้สูง กำไรส่วนทุนและปันผลต่างๆ

ทฤษฏีนี้จะอนุมานว่านักลงทุน ผู้เก็บออมเงินและเจ้าของธุรกิจคือผู้ขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ และคนเหล่านี้คือคนที่จะนำเงินที่เหลือจากการลดอัตราภาษีไปขยายธุรกิจหรือซื้อหุ้น โดยธนาคารจะเพิ่มการกู้ยืมเพื่อทำธุรกิจ เจ้าของธุรกิจก็จะนำเงินไปลงทุนในธุรกิจ นำไปสู่การจ้างงาน ตามทฤษฎีบอกไว้ว่าลูกจ้างที่ธุรกิจจ้างคือผู้ที่จะจับจ่ายใช้สอยรายได้ที่ได้มา กลายเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนอุปสงค์ (Demand) และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ทฤษฏีไหลรินให้ความสำคัญกับการลดภาษีธุรกิจ ภาษีเงินออม กำไรส่วนทุน มากกว่าจะเป็นการลดภาษีแบบทั้งกระดาน จึงมีเพียงคนมีรายได้สูงที่ได้รับการลดภาษี การลดภาษีถูกอธิบายด้วยกราฟของแลฟเฟอร์ ที่คิดค้นขึ้นโดยอาเธอร์ แลฟเฟอร์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษที่ 1980 เพื่ออธิบายว่าการลดภาษีจะส่งผลให้เกิดการทวีคูณของเศรษฐกิจ (Multiplication effect) และในระยะยาวจะมาทดแทนรายได้ของรัฐที่เสียไปจากการลดภาษี เพราะว่ายิ่งเศรษฐกิจโตมากเท่าไหร่ก็ยิ่งจะทำให้มีฐานคนเสียภาษีมากยิ่งขึ้น กราฟแสดงจุดเหมาะสมของการเก็บภาษี ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างอัตราการเก็บภาษี 100 เปอร์เซ็นต์กับไม่เก็บเลย

 

Laffer Curve

กราฟของลาฟเฟอร์ (ที่มา: The Balance/Arthur Laffer)

สหรัฐฯ ในสมัยของเรแกน เป็นตัวอย่างการนำแนวคิดทฤษฏีไหลรินไปใช้ เศรษฐกิจในสมัยนั้นที่เรียกว่า 'เรแกโนมิกส์' ที่เป็นที่ร่ำลือถึงวีรกรรมการแก้ไขพิษเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงทศวรรษ 80 ได้ ในตอนนั้นเรแกนลดเพดานภาษีเงินได้จากร้อยละ 70 เป็นร้อยละ 28 ภาษีบรรษัทถูกตัดลงจากร้อยละ 48 เป็นร้อยละ 34 ทั้งยังลดระเบียบ ข้อบังคับทางเศรษฐกิจ ยกเลิกการควบคุมราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ บริการโทรศัพท์ทางไกลและเคเบิลทีวี รวมทั้งสนับสนุนนโยบายการเงินที่ทำให้เงินดอลลาร์มีความเข้มแข็ง

นโยบายทางเศรษฐกิจของเรแกนส่งผลให้สหรัฐฯ มีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 9 แสน 9 พันล้านดอลลาร์ ในปี 1988 จาก 5 แสน 1 หมื่น 7 พัน ดอลลาร์ในปี 1980 อัตราเงินเฟ้อลดลงเหลือร้อยละ 4 อัตราว่างงานลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 6

อย่างไรก็ดี เรแกโนมิกส์กับการสมาทานแนวทางทฤษฎีไหลรินไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว เพราะเรแกนยังได้เพิ่มรายจ่ายภาครัฐร้อยละ 2.5 ต่อปี ส่งผลให้หนี้ภาครัฐสูงขึ้นสามเท่าจากจำนวน 9 แสน 9 หมื่น 7 พันล้านดอลลาร์เป็น 2.85 ล้านล้านดอลลาร์ ค่าใช้จ่ายภาครัฐส่วนใหญ่ทุ่มไปกับด้านกลาโหม อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่ตามมาหลังจากนั้นคือสหรัฐฯ ชนะสงครามเย็น และสหภาพโซเวียตล่มสลาย ดังนั้น ทฤษฎีไหลรินยังไม่เคยถูกทดสอบว่าใช้งานได้จริงโดยตัวของมันเอง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ยุคนั้นยังคงเป็นประเด็นถกเถียงว่า สรุปแล้วการใช้จ่ายภาครัฐจำนวนมหาศาล หรือการลดภาษีมากจนมีนัยสำคัญกันแน่ที่ทำให้สหรัฐฯ เงยหัวเงยหางออกจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

นานวันเข้า ประเด็นความเหลื่อมล้ำยิ่งโจมตีทฤษฎีนี้ ในปี 2559 นิตยสารบลูมเบิร์ก รายงานว่าประเทศเอสโตเนียที่เป็นประเทศแรกในยุโรปที่ใช้ภาษีอัตราเดียว (Flat tax) ในอัตราร้อยละ 20 ตัดสินใจเปลี่ยนไปใช้ระบบลดหย่อนภาษี จากนี้ภาษีของเอสโตเนียจะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับรายได้

"โมเดลของเราคือเศรษกิจแบบไหลรินจากบนลงล่างที่มีประสิทธิภาพที่ผลประโยชน์จากคนรวยจะไหลไปสู่ทุกๆ คนในขณะที่เศรษฐกิจก็เติบโตไปเรื่อยๆ...ตอนนี้การเติบโตไม่สูงแล้ว โมเดลนี้ค่อยๆ สูญเสียความน่าสนใจ" คาร์สแทน สแตร์ ศาสตราจารย์ด้านการเงินสาธารณะ การเงินต่างประเทศจากมหาวิทยาลัย Tallinn University of Technology กล่าว

อดีตนายกรัฐมนตรี มาร์ท ลาร์ ผู้ที่เป็นคนเสนอแนวคิดภาษีอัตราเดียว กล่าวว่า ตนเสนอไปเพราะว่าไปอ่านหนังสือของมิลตัน ฟรีดแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ผู้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวด้วยเหตุผลว่า แนวทางการเก็บภาษีดังกล่าวจะเพิ่มแรงจูงใจในการหาเงินและลงทุน ส่งผลให้มีการจ้างงานเพิ่มและรัฐก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ลาร์ ระบุว่า อัตราภาษีดังกล่าวช่วยลดการว่างงานภายหลังจากเอสโตเนียเปลี่ยนผ่านระบอบภายหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย ด้วยการกระตุ้นให้เกิดธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมาก แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าในช่วงนั้นมีการช่วยเหลืออื่นจากรัฐด้วย ไม่ว่าจะเป็นการขายสินทรัพย์จากรัฐ และการตั้งราคาตลาดสำหรับข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อย่างไรก็ดี ประเทศที่ใช้ระบบภาษีเดียวต่างค่อยๆ ยกเลิกระบบดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นสโลวาเกียหรือยูเครน แต่ก็ยังมีประเทศอื่นในยุโรปตะวันออกที่ยังใช้ระบบภาษีนี้อยู่

ข้อถกเถียงเรื่องความเหลื่อมล้ำและภาคปฏิบัติของทฤษฏีที่ยังไม่เคยถูกทดสอบ

ข้อถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาในการสมาทานแนวคิดเศรษฐกิจแบบไหลรินนั้นอยู่บนฐานของความเหลื่อมล้ำระหว่างเศรษฐกิจส่วนบนและส่วนล่าง คำถามอยู่ที่ว่า ถ้าเศรษฐกิจส่วนบนโตขึ้นแล้วส่วนล่างจะดีตามนั้นจริงหรือ โจเซฟ สติกลิตซ์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อปี 2544 มีความเห็นต่อปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำในการนำทฤษฎีเศรษฐกิจแบบไหลรินมาใช้ เขากล่าวในปาฐกถาเมื่อเดือน พ.ค. 2558 ใจความว่า

"ตอนเริ่มต้นเมื่อทศวรรษ 1980 เรแกน (ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐฯ) ผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งก็มีกระแสว่าแนวคิดการลดภาษีให้กับเศรษฐกิจข้างบน ปลดพันธนาการข้อบังคับทางเศรษฐกิจจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากกว่าเดิม ประเด็นที่จะโต้แย้งคือมันจะมีความไม่เท่าเทียมมากขึ้น แต่ขนาดของพาย(เศรษฐกิจ) จะใหญ่ขึ้นจนทุกคน รวมถึงคนที่อยู่ตรงกลาง และด้านล่างจะได้พายชิ้นใหญ่ขึ้น (ส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจ) ถึงแม้จะได้ส่วนแบ่งน้อยลง"

"เราอยู่ในช่วงที่สามของศตวรรษแห่งการทดลองแนวคิดดังกล่าว (30 ปีนับจากเรแกโนมิกส์ - ผู้สื่อข่าว) และเราเห็นว่าผลลัพธ์ที่ออกมาคือ มีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ส่วนแบ่งของส่วนบนเพิ่มจากร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 20-25"

"โชคร้ายที่ความคิดเรื่องเศรษฐกิจแบบไหลรินที่ทุกคนจะได้ประโยชน์นั้นผิดทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือรายได้เฉลี่ยของชนชั้นกลางนั้นไม่ขยับ ส่วนล่างยิ่งแย่ รายได้ชนชั้นกลางของสหรัฐฯ ปัจจุบันเมื่อปรับกับอัตราเงินเฟ้อแล้วถือว่าต่ำกว่า 25 ปีที่แล้ว ในส่วนล่างนั้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยตลอด 45 ปีที่ผ่านมา"

"ผมคิดว่าระบบเศรษฐกิจที่ไม่ได้ยกระดับมาตรฐานชีวิตของคนส่วนมากเป็นเวลา 1 ใน 4 ของศตวรรษ หนำซ้ำชนชั้นล่างมีสภาพย่ำแย่กว่าที่เป็นเมื่อ 50 ปีก่อน คือระบบเศรษฐกิจที่ล้มเหลว"

ข้อถกเถียงเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างการเติบโตอย่างยั่งยืน กับการทุ่มสุดตัวเพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโตที่สุดเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาตลอด อมารตยา เซน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อปี 2542 ก็ออกมาค้านแนวทางเศรษฐกิจไหลรินจากบนลงล่างในอินเดีย โดยให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจที่มุ่งจะทำให้ตัวเลขเติบโตขึ้นสองหลักโดยไม่แก้ไขปัญหาเรื้อรังของคนอินเดียอีกจำนวนหลายสิบล้านคนเป็นอะไรที่ "โง่เขลามาก (Very stupid)" อินเดียควรให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดทางสังคมด้วย ไม่ว่าจะเป็นอัตราการอยู่รอดของทารกแรกเกิด จำนวนผู้อ่านออกเขียนได้และการมีภูมิคุ้มกันโรคในเด็ก "การเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราทำอะไรกับผลแห่งการเติบโตนั้น"

ในขณะที่จักดิช ภัควตี จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียออกมาค้านความเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์ทฤษฎีไหลรินว่าเป็นการขัดขวางการปฏิรูปที่จะเป็นประโยชน์ให้กับผู้คนที่ยากจนที่สุดในอินเดียในอนาคตต่อไป ส่วนอาร์วินด์ ปานากริยาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียก็กล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นประโยชน์กับคนจนโดยตรง เพราะว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะสร้างรายได้และการจ้างงาน

มองไทย: โตแบบกระจุก ไม่ไหลรินสู่ข้างล่าง ตัวเลข ศก. โตแต่เงินในกระเป๋าไม่นำพา คำถามบนเศรษฐกิจส่วนล่างยุคของแพง ค่าแรงถูก

ในเงื่อนไขของไทยทุกวันนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจในไตรมาสปัจจุบันจะโตขึ้นถึงร้อยละ 3.2 แต่คำถามก็คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจจะทำให้ชนชั้นกลาง ชนชั้นล่างได้เสพดอกผลแห่งการเติบโตนั้นหรือไม่ เพราะคำถามดังกล่าวจะต้องถูกตอบด้วยการจับจ่ายใช้สอยในภาคปฏิบัติ และนโยบายทางสังคมต่างๆ ที่รัฐจัดทำ

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร ให้สัมภาษณ์กับประชาไทในรายละเอียดของการเติบโตทางเศรษฐกิจว่า ในไตรมาสนี้ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวแต่เงินในกระเป๋าของคนยังไม่เพิ่ม เพราะตัวเลขที่โตขึ้นมาร้อยละ 3.7 มาจากภาคการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ แต่การเปรียบเทียบกำลังการผลิตนั้นเปรียบเทียบจากปีที่แล้วที่ฝนแล้ง ผนวกกับราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลง ทำให้รายได้ในภาคการเกษตรไม่ได้ขยับตัวตามกำลังการผลิต ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยจริงๆ ของประชาชนในประเทศที่พึ่งพารายได้จากผลผลิตการเกษตรยังไม่กระเตื้องขึ้นตามตัวเลข "อ่อนในเพราะรายได้ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ของเมืองไทยยังเกี่ยวพันกับราคาสินค้าเกษตร ปีไหนภาคเกษตรดี มอเตอร์ไซค์ขายได้ รถปิกอัพขายดี มันก็หมุนกันเต็มที่ แต่วันนี้สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ ทำให้เงินในกระเป๋าไม่มี การบริโภคจึงยังโตไม่ชัด"

(อ่าน พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย: เศรษฐกิจไทยทำไมไม่แข็ง)

ในขณะที่กำลังซื้อของผู้ซื้อกลับไม่สูง พิพัฒน์ กล่าวว่า " มูลค่าของการใช้จ่ายจริงๆ โตแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ และเป็นอย่างนี้มา 3 ไตรมาสแล้ว แปลว่าผลิตเยอะ โตเร็วกว่าปีที่แล้ว แต่ฝั่งการซื้อจริง คนจับจ่ายใช้สอย การลงทุนเพิ่ม รัฐบาลใช้จ่าย หรือการส่งออก มันโตช้ากว่าฝั่งผลิต จึงเป็นสาเหตุว่าคนไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดี เพราะเศรษฐกิจจะดีได้คนต้องมีเงินจับจ่ายใช้สอย"

ส่วนภาคการส่งออกที่ดูท่าจะกระเตื้องนั้นก็เป็นการนำสินค้าที่มีค้างสต๊อกเอามาขาย ไม่ได้เป็นการเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นมา ดังนั้นแรงงานจึงไม่มีเวลาทำงานเพิ่มขึ้น และไม่ได้โอที ทั้งการขายดีก็กระจุกอยู่ในภาคส่วนการส่งออกเท่านั้น "สิ่งที่เกิดขึ้นคือเอาของเดิมที่ผลิตแล้วไปขาย สต็อกลดลง เจ้าของดีขึ้น แต่เรายังไม่เห็นปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด วันนี้ยอดขายเริ่มดีขึ้นจริง แต่ปริมาณการผลิตไม่ได้เพิ่มขึ้น มีสัญญาณเป็นบางเซ็กเตอร์เท่านั้น ดังนั้น ถ้าการผลิตยังไม่เพิ่ม กำลังการผลิตที่ใช้ก็ยังไม่ได้เพิ่ม โอทีก็ยังไม่ให้พนักงาน ค่าจ้างแรงงานก็ยังไม่เพิ่ม กลายเป็นว่าส่งออกดีขึ้น อาจเรียกคนงานบางส่วนมาทำงาน แต่เงินในกระเป๋าคนงานยังไม่ได้เพิ่ม"

"วันนี้มี 2 ทฤษฎี ทฤษฎีหนึ่งบอกว่า มีสัญญาณว่าเริ่มดีขึ้นและในที่สุดจะไหลรินจากภาคการส่งออกทำให้แรงงานได้เงินเพิ่ม คนขายลูกชิ้นหน้าโรงงานก็ดีขึ้น มันก็น่าจะพัฒนาไปเรื่อยๆ ซึ่งผมว่าอาจจะมีส่วน วันนี้เราเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นแล้ว แต่การกระจุกตัวของการฟื้นมันมีประเด็น ถามว่าโรงงานไหนทำการผลิตเพื่อการส่งออก ผมก็บอกว่าแถวนิคมอุตสาหกรรมไม่กี่ที่ อาจจะมีซัพพลายเชนที่ซัพพลายให้คนกลุ่มนี้ แต่มันก็ยังมีการกระจุกตัว คนภาคอื่นๆ ยังไม่รู้สึกว่ามันดี นี่คือแข็งนอก"

ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่ว่าโตก็ยังไม่ได้ขยายปริมณฑลความเติบโตไปถึงรายได้ในกระเป๋าของชนชั้นล่าง "แต่พอเศรษฐกิจไทยโตแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ แปลว่าเค้กเริ่มไม่โต แล้วคนอื่นยังมาแย่งของผมอีก ผมเริ่มรู้สึกแล้ว วันนี้หลายสิ่งเราเริ่มเห็นแบบนั้น สินค้าเกษตรเป็นประเด็นสำคัญ พอมันกระทบ คนส่วนใหญ่รู้สึก แล้วคนฐานข้างล่างเป็นคนที่พึ่งพารายได้ ขณะที่คนข้างบนพึ่งพาความมั่งคั่ง รายได้ของเขาอาจจะไม่ได้สำคัญเท่ากับความมั่งคั่งของเขา ช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำ ความมั่งคั่งของคนกลุ่มนี้ยิ่งดี เพราะราคาหุ้นก็ขึ้น ราคาที่ดินก็ขึ้น ร้านอาหารขายไม่ค่อยได้ แต่ร้านราคาแพงจองกันเต็มเลย ยอดขายบ้านจะเห็นได้ชัด ราคาต่ำกว่า 1 ล้าน 3 ล้าน ขายลำบาก กู้แบงค์ไม่ค่อยปล่อย แต่ยอดเกิน 10 ล้านยังขายได้ดีอยู่ บริษัทใหญ่เข้าคิวขอกู้ บริษัทเล็กๆ แบงค์ไม่ให้กู้

"มันเป็นเรื่องของความไม่ทั่วถึง เวลาที่เราพยายามตัดสินสภาพเศรษฐกิจด้วยตัวเลขตัวเดียว มันต้องถามว่าตัวเลขของใคร ถ้าเราเอามาเฉลี่ยกัน ก็แสดงว่ามีคนที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยและคนที่แย่กว่าค่าเฉลี่ย แล้วบังเอิญว่าคนที่แย่กว่าค่าเฉลี่ยเป็นฐานที่ใหญ่กว่า" พิพัฒน์ กล่าว

ผศ. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ยังระบุว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีลักษณะเป็นการฟื้นตัวแบบไร้การจ้างงาน (Jobless Recovery) เนื่องจากการฟื้นตัวเกิดขึ้นในกิจการหรืออุตสาหกรรมที่ไม่ได้ใช้แรงงานเข้มข้นและส่วนใหญ่กระจุกตัวในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกของบรรษัทข้ามชาติที่ใช้เทคโนโลยีและทุนเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมหมวดอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เป็นต้น และ การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมและไม่กระจายตัวทั่วถึง โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นยังมีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง เช่น อุตสาหกรรมเครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ และ สิ่งทอ เป็นต้น ส่วนภาคเกษตรกรรมนั้น สินค้าบางตัวมีราคาสูงขึ้น เช่น ยางพารา อ้อย แต่สินค้าสองตัวนี้เกี่ยวข้องกับแรงงานประมาณสองล้านคน ขณะนี้ ราคาข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลังยังไม่ดี และเกี่ยวข้องกับแรงงานประมาณ 6-7 ล้านคน เป็นปัจจัยทำให้ เศรษฐกิจภาคชนบทโดยรวมยังคงมีกำลังซื้ออ่อนแอ ขณะที่ภาคก่อสร้างน่าจะเร่งตัวขึ้นในไตรมาสสี่หลังจากชะลอตัวมาตั้งแต่ปลายไตรมาสสองต่อเนื่องมายังไตรมาสสาม  (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

นอกจากนั้น นโยบายการเงินและสังคมที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาตินำมาใช้ และมีแผนจะนำมาปรับใช้นั้นยังเป็นคำถามต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นความพยายามแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีแนวโน้มจะแปรสภาพจากรัฐสวัสดิการที่ประกันการรักษาโรคให้ถ้วนหน้าไปเป็นแนวทางแบบสังคมสงเคราะห์ หรือสงวนสิทธิ์ให้ผู้มีรายได้น้อย รวมถึงอาจมีระบบให้ผู้ป่วยร่วมจ่ายในค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลที่มีราคาสูง ซึ่งภาคประชาชนต่างแสดงความกังวลถึงการเปลี่ยนแปลงของสวัสดิการที่ช่วยทำให้หลายครอบครัวรอดพ้นจากการล้มละลายจากค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

นโยบายช่วยเหลือเกษตรกรที่ให้เงินอุดหนุนเกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ ก็มีปัญหา ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมเชิงนโยบายข้าวของไทยได้พูดเกี่ยวกับภาพรวมของนโยบายข้าวในรัฐบาล คสช. ชี้ให้เห็นถึงปัญหาและความไม่เท่าเทียมทางการเข้าถึงที่เกิดขึ้นในด้านการเข้าถึงตัวเงินช่วยเหลืออย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยของเกษตรกรที่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่นา เช่าที่นาคนอื่นทำ หรือมีที่นาไม่ถึงหนึ่งไร่ ชาวนาก็ยังคงเป็นเหยื่อของนโยบายรัฐ หรือไม่ก็การตกเป็นเบี้ยล่างในการต่อรองกับเจ้าของที่นา ทั้งเงินช่วยเหลือที่ได้เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายก็ถือว่าน้อย จากที่ลงพื้นที่ไปสอบถามชาวนาก็พบว่า แม้นโยบายจำนำข้าวตันละ 15,000 บาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะไม่ได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนกัน แต่ก็ได้เงินมากกว่าโครงการไร่ละ 1,000 บาท (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

มิพักต้องพูดถึง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ใหม่ที่บังคับใช้ในวันที่ 16 ก.ย. 2560 ขึ้นราคายาสูบและสุราขึ้นไปอีก และแนวโน้มการขึ้นอัตราการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อีกร้อยละ 1 เป็นอัตรารวมร้อยละ 8 ในเดือน ก.ย. 2561 ยิ่งทำให้มีข้อสงสัยว่า ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ ต่อให้เศรษฐกิจข้างบนดีขึ้น แต่ถ้าเจอค่าครองชีพและค่ารักษาพยาบาลที่ (อาจจะ) สูงขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจระดับล่างต้องพึ่งพารายได้ที่ไม่ได้งอกงามขึ้น แถมสวัสดิการที่ทำหน้าที่ประกันว่าคนไทยถ้วนหน้าจะไม่ตกไปอยู่ใต้เส้นของความยากจนจากค่ารักษาพยาบาลจะถูกจำกัดไปอยู่กับคนบางส่วน จะนำพาเศรษฐกิจส่วนล่างและการจับจ่ายใช้สอยของชนชั้นกลางและชนชั้นล่างของไทยไปอยู่ตรงไหน สิ่งที่เกิดขึ้นกำลังบ่งบอกถึงสัญญาณของระบบเศรษฐกิจที่ล้มเหลวอย่างที่สติกลิทช์กล่าวไว้หรือไม่ ยังเป็นสิ่งที่ต้องรอดูกันต่อไป

The Balance,  Why Trickle Down Economic Works in Theory But Not in Fact, April 29, 2017

Investopedia, Reaganomics, Retrieved on September 28, 2017

Youtube, Joseph Stiglitz: Trickle-down economics is 'absolutely wrong', December 16, 2015

Bloomberg, This Country is Mopping Up Trickle-Down Economics: Rising inequality means Estonia is ditching its flat-tax policy, December 2, 2016

The Guardian, Growth in India – the state of the trickle-down debate, March 25, 2011

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม.-ไทยพีบีเอส-แอมเนสตี้ มอบรางวัลการประกวดผลิตสื่อสารคดีส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

Posted: 28 Sep 2017 06:56 AM PDT

กสม.-ไทยพีบีเอส-แอมเนสตี้ ประกาศผลและมอบรางวัลการประกวดผลิตสื่อสารคดี ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน  สื่อศิลป์ ปี 5 "Human Rights : แลต๊ะ แลใต้"
28 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจาก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แจ้งว่า วันนี้ (28 ก.ย.60) อังคณา นีละไพจิตร  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะรองประธานอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เข้าร่วมงานฉายภาพยนตร์ การประกาศผลและมอบรางวัลการประกวดผลิตภาพยนตร์สั้นส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ภายใต้โครงการผลิตสื่อสารคดีส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สื่อศิลป์ ปี 5 "Human Rights : แลต๊ะ แลใต้" ณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส  และได้กล่าวในงานว่า "สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะในพื้นที่ใดก็ตาม จะมีชุดข้อมูลหลายชุด การทำหน้าที่สื่อต้องเปิดรับข้อมูลที่รอบด้าน รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้กับผู้ที่มีความเห็นต่างด้วย เพื่อให้เกิดความสมดุลและเป็นการสื่อสารสิทธิมนุษยชนที่มีประสิทธิภาพ"  
 
ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส  และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเ ทศไทย จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนผ่านการเรียนรู้ในกระบวนการสร้างสรรค์สื่อภาพยนตร์ และเพื่อให้ได้มาซึ่งผลงานภาพยนตร์ที่มีคุณภาพที่สามารถนำไปใช้ในการรณรงค์สร้างการรับรู้และความเข้าใจในประเด็นสิทธิมนุษยชนให้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปีนี้ได้กำหนดประเด็นเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้
 
รายงานข่าวระบุด้วยว่า โครงการดังกล่าว มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 46 ทีม แบ่งเป็นประเภทเยาวชน 31 ทีม และประเภทประชาชนทั่วไป 15 ทีม รวมจำนวนทั้งสิ้น 121 คน ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดได้เข้าร่วมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนและกระบวนการผลิตภาพยนตร์สั้นจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและทีมผู้กำกับภาพยนตร์มากประสบการณ์ การประกวดแบ่งเป็น 2 รอบ รอบแรกเป็นการพิจารณาผลงานจากการเสนอโครงเรื่องภาพยนตร์ที่มีประเด็นเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้  และมีความเป็นไปได้ในการนำไปผลิต โดยมีการคัดเลือกให้เหลือ 10 ทีม แบ่งเป็นประเภทเยาวชน 5 ทีม และประเภทประชาชนทั่วไป 5 ทีม  รอบที่สองเป็นการพิจารณาผลงานการผลิตภาพยนตร์สั้นจากทีมที่ผ่านการคัดเลือก 10 ทีมดังกล่าว
 
ผลการตัดสินการประกวดผลิตภาพยนตร์สารคดีสั้นส่งเสริมสิทธิมนุษยชน  สื่อศิลป์ ปี 5 "Human Rights : แลต๊ะ แลใต้"  มีดังนี้
 
ประเภทเยาวชน
 - ชนะเลิศ                     ได้แก่     ทีม David_01 เรื่อง คลื่นทรงจำ
 - รองชนะเลิศ อันดับ 1   ได้แก่     ทีมสามสาวทหารเสือ เรื่อง คำถามไม่มีคำตอบ
 - รองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่      ทีมจากบ้าน เรื่อง อาผ่อ
ประเภทประชาชน
 - ชนะเลิศ                     ได้แก่     ทีม Insign Film เรื่อง ฉันจึงมาหา (Journey)
 - รองชนะเลิศ อันดับ 1   ได้แก่     ทีม Me tool เรื่อง โซกับขิ่น
 - รองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่      ทีม ตะโกนฟิล์ม เรื่อง ต้องสงสัย
 
ทั้งนี้  ภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้จะถูกนำไปเผยแพร่เพื่อให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างแพร่หลายต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แรงงานรัฐวิสาหกิจ ร้อง 'ประยุทธ์-ประธาน สนช.' ถอนร่าง ก.ม.กำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ

Posted: 28 Sep 2017 05:18 AM PDT

28 ก.ย. 2560 เฟซบุ๊ก 'สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯ สร.รฟท.' โพสต์ภาพพร้อมรายงานว่า วันนี้ (28 ก.ย.60) เวลา 09.30 น ที่ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทําเนียบรัฐบาล (ฝั่ง ก.พ.ร.) ถ.พิษณุโลก กรุงเทพฯ คณะกรรมการบริหารสหภาพแรงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯ เข้าร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ,คณะกรรมการสมานแรงงานไทย (คสรท.), กลุ่มแรงงานภาคตะวันออกและองค์กรภาคประชาชน ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้มีการถอนร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการ กํากับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... 

วันเดียวกัน เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา รายงานด้วยว่า พงศ์กิตติ์ อรุณภักดีสุกล ที่ปรึกษาด้านการเมือง การปกครองและการบริหารจัดการ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เป็นตัวแทน พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับหนังสือ จาก ประกอบ ปริมล เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) พร้อมคณะ เพื่อขอให้ สนช. ถอนร่าง พ.ร.บ. การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.... ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เนื่องจาก สรส.พิจารณาเนื้อหาร่าง พรบ.ดังกล่าวแล้วพบว่า หลักการของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขัดต่อเจตนารมณ์ของการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ อาทิ การจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ที่จะทำหน้าที่รับโอนหุ้นของรัฐวิสาหกิจจากกระทรวงการคลัง แล้วนำไปจำหน่ายได้โดยเสรีไม่มีข้อจำกัด, การให้อำนาจคณะกรรมการบรรษัทและคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) สามารถ ยุบ แยก กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นและลดสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐวิสาหกิจ จนพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ผ่านการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ดังนั้นจึงขอให้ สนช.พิจารณาทบทวนและถอนร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวออกไปก่อน เพื่อนำกลับมาพิจารณาหาแนวทางการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้ตรงตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ด้วยการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนของสังคมต่อไป เพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

พงศ์กิตติ์ กล่าวว่า ยินดีรับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณา โดยกระบวนการพิจารณาจะเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดเว็บ 'บันทึก 6 ตุลา' [doct6.com] จุดเริ่มต้นของการคืนความยุติธรรม

Posted: 28 Sep 2017 03:36 AM PDT

เปิดตัวเว็บไซต์ 'บันทึก 6 ตุลา' www.doct6.com ในฐานะแหล่งข้อมูลออนไลน์ 'พวงทอง' หวังไม่ถูกหลงลืมสูญหายและเป็นจุดเริ่มต้นของการคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อ พร้อมบทนำ 6 ตุลา โดย 'อาจารย์ยิ้ม'

เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่อาคารอุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬา ร่วมกับ โครงการบันทึก 6 ตุลา จัดกิจกรรม เปิดตัวเว็บไซต์ "บันทึก 6 ตุลา" www.doct6.com ในฐานะแหล่งข้อมูลออนไลน์ (Online archives) ที่มุ่งเก็บรวบรวมรักษาและจัดระบบข้อมูลที่ยังกระจัดกระจายในที่ต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เพื่อต่ออายุความสนใจและการค้นคว้าเกี่ยวกับ 6 ตุลาให้ไปอีกไกลในอนาคต

เว็บไซต์ "บันทึก 6 ตุลา" www.doct6.com

 

พวงทอง ภวัครพันธุ์ รองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงที่มาของเว็บไซต์นี้ว่า เกิดจากงานสัมมนาเมื่อปีที่แล้วในหัวข้อ  "ความรู้และควาความไม่รู้ว่าด้วย 6 ตุลา 2519" ซึ่งค้นพบข้อจำกัดเกี่ยวกับตัวตนผู้เสียชีวิตและบุคคลสำคัญในเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็นใคร

"เรายังไม่รู้อะไรอีกมากในเหตุการณ์ 6 ตุลา และมีอีกหลายเรื่องที่เรายังต้องทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงพื้นฐานจำนวนมากมันมีความสำคัญอยู่ แล้วยังมีลักษณะที่ผิดๆ ถูกๆ หรือแหว่งวิ่นอยู่ 40 กว่าปีที่ผ่านมา ยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลรูปถ่ายหรือว่าคลิปวิดีโอที่กระจัดกระจายตามแหล่งต่างๆ คนจำนวนมากเวลาพูดเรื่อง 6 ตุลา ก็ยังใช้ตัวเลขที่สับสน ใช้ภาพกับชื่อไม่ตรงกัน" พวงทอง กล่าว

พวงทอง กล่าวด้วยว่า การกล่าวถึง 6 ตุลา ในสังคมไทยยังมีเพดาลอยู่เยอะ เรารู้ว่ายังเป็นเรื่องที่ยังละเอียดอ่อนอยู่โดยเฉพาะในกลุ่มอำนาจของสังคมไทย แต่ผู้จัดทำโครงการนี้ยังมองว่ามันมีเรื่องอื่นเกี่ยวกับ 6 ตุลา อีกมากที่เรายังสามารถพูดถึงได้ หากให้ความสนใจกับข้อมูล ค้นคว้า วิจัย ที่ไปไกลกว่างานที่มีอยู่แล้ว เพราะงานที่ศึกษา 6 ตุลา อย่างลึกซึ้งนั้นมีอยู่อย่างจำกัดมากๆ 

พวงทอง ภวัครพันธุ์ รองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

 

"เรามักจะพูดกันว่าสังคมไทยเราควรเรียนรู้บทเรียนจาก 6 ตุลา เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นอีก เรามองว่าเราคงเรียนรู้กันได้ไม่ได้มาก เพราะจนถึงวันนี้ข้อมูลพื้นฐานก็ยังสับสนอยู่มาก ฉะนั้นเราควรมีความรู้เกี่ยวกับ 6 ตุลา มากขึ้น นอกจากบอกว่า 6 ตุลา เป็นความรุนแรงของรัฐ" พวงทอง กล่าว พร้อมระบุว่า ประเทศอื่นๆ ที่เคยผ่านความรุนแรงมาแล้ว หรือประเทศที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องความรุนแรงและสิทธิมนุษยชน พบว่ามีการจัดตั้งแหล่งข้อมูล หลายประเทศให้ความสำคัญและพัฒนาแหล่งข้อมูลขึ้นมาเพื่อต่อสู้ความพยายามของรัฐที่จะกลบเกลื่อนโศกนาฏกรรมที่รัฐก่อขึ้น และมีความพยายามที่จะทำให้แหล่งรวบรวมข้อมูลเป็นจุดเริ่มต้นของการคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อ จึงมีการสร้างแหล่งข้อมูลที่เป็นในเชิงสถานที่ จนถึงออนไลน์

พวงทอง กล่าวว่า โครงการนี้ ต้องการที่จะเป็นแหล่งข้อมูลออนไลน์ที่จะทำให้ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนคุณสามารถที่จะเข้ามาดูข้อมูลของเราได้ และส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ข้อมูพื้นฐาน หรือข้อมูลที่ยากต่อการเข้าถึง เพื่อทำให้ข้อมูลเหล่านี้ถูกจัดให้เป็นระบบมากขึ้น เข้าถึงได้มากขึ้น และไม่ถูกหลงลืมสูญหาย นอกจากนั้นก็เพื่อต่ออายุความสนใจและการค้นคว้า รวมทั้งความเข้าใจใน 6 ตุลา ให้ไปไลมากยิ่งขึ้นในอนาคต รวมถึงต่อสู้กับความพยายามของรัฐที่จะทำให้สังคมไทยลืม 6 ตุลา 

 

บทนำ 6 ตุลา โดย อาจารย์ยิ้ม

สำหรับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นั้น สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ หรือ "อาจารย์ยิ้ม" รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เสียชีวิตวานนี้ (27 ก.ย. 60) ในฐานะผู้มีประสบการณ์ร่วมในเหตุการณ์และนักประวัติศาสตร์ ได้เขียนอธิบายไว้ในบทนำของเว็บไซต์นี้ก่อนเสียชีวิตดังนี้

วันที่ 6 ต.ค. 2519 นั้นเป็นวันที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า ได้เกิดกรณีนองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลและกลุ่มฝ่ายขวาหลายกลุ่มร่วมมือกันก่อการสังหารหมู่นักศึกษาประชาชน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใจกลางพระนคร จนทำให้มีผู้เสียชีวิตฝ่ายประชาชนอย่างน้อย 41 คน และบาดเจ็บ 145 คน การก่อการสังหารครั้งนี้ได้กลายเป็นข่าวแพร่ไปทั่วโลก แต่ที่น่าประหลาดใจที่สุดก็คือ การก่อกรณีนองเลือดครั้งนี้ ไม่มีการจับกุมฆาตกรผู้ก่อการสังหารเลยแม้แต่คนเดียว ในทางตรงข้ามนักศึกษาประชาชนที่เหลือรอดจากการถูกสังหารจำนวน 3,094 คน กลับถูกจับกุมทั้งหมดภายในวันนั้นเอง และถึงแม้ว่าในระยะต่อมา ผู้ถูกจับกุมจะได้รับการประกันตัวออกมาเป็นส่วนใหญ่ แต่สุดท้ายก็ยังมีเหลืออีก 27 คน ถูกอายัดตัวเพื่อดำเนินคดี เป็นชาย 23 คน และหญิง 4 คน จนท้ายที่สุด จะเหลือ 19 คน ซึ่งตกเป็นจำเลย ถูกคุมขังและดำเนินคดีอยู่เกือบ 2 ปีจึงจะได้รับการปล่อยตัว ส่วนผู้ก่อการสังหารซึ่งควรจะเป็นจำเลยตัวจริงนั้นไม่มีรัฐบาลหรือผู้กุมอำนาจครั้งไหนกล่าวถึงอีกเลย แม้กระทั่ง พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีสมัยที่ปล่อยผู้ต้องหา 6 ตุลาฯ ทั้ง 19 คนนี้ก็ได้กล่าวว่า แล้วก็ให้แล้วกันไป ลืมมันเสียเถิดนะ เหมือนกับว่าจะให้ลืมกรณีฆาตกรรมดังกล่าวเสีย มิให้กล่าวถึงคนร้ายในกรณีนี้อีก

จริงอยู่ประเทศด้อยพัฒนาเช่นประเทศไทย มีคดีอิทธิพลจำนวนมากที่ทางการไม่กล้าแตะต้อง และจับคนร้ายไม่ได้ แต่คดีอิทธิพลเหล่านั้นแตกต่างจากคดี 6 ตุลาฯ เพราะการก่ออาชญากรรมในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นเหตุการณ์กลางเมืองที่เปิดเผยจนได้รับรู้กันทั่วโลก รวมทั้งผู้ต้องหาที่เปิดเผยโจ่งแจ้งก็มีอยู่มาก แต่คนเหล่านี้นอกจากจะไม่ถูกจับกุมตามกฎหมายแล้ว ยังได้ความดีความชอบในฐานะที่เป็นผู้พิทักษ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อีกด้วย ปัญหาในกรณีนี้ก็คือ อิทธิพลอะไรที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มฆาตกรซึ่งผลักดันให้ผู้ก่ออาชญากรรมลอยนวลอยู่ได้เช่นนี้? และนักศึกษาผู้ตกเป็นเหยื่อของการฆาตกรรมได้ก่อความผิดร้ายแรงเพียงใดหรือ จึงต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรงเช่นนี้?

เงื่อนงำของการสังหารโหดนี้ได้รับการคลี่คลายในตัวเองขั้นหนึ่งในเย็นวันนั้นเอง เมื่อคณะทหารกลุ่มหนึ่งในนามของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ได้กระทำการรัฐประหารยึดอำนาจล้มเลิกการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ล้มรัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งตามวิถีทางรัฐสภาและฟื้นระบอบเผด็จการขวาจัดขึ้นมาปกครองประเทศแทน ถ้าหากว่าการสังหารหมู่เมื่อเช้าวันที่ 6 ตุลาคม คือการก่ออาชญากรรมต่อนักศึกษาผู้รักความเป็นธรรมแล้ว การรัฐประหารเมื่อเย็นวันที่ 6 ตุลาคม คือ การก่ออาชญากรรมต่อประเทศชาติ เพราะเป็นการทำลายสิทธิประชาธิปไตยของประชาชนทั้งชาติ ที่ได้มาจากการเสียสละเลือดเนื้อและชีวิตของวีรชน 14 ตุลาคม 2516 เมื่อโยงการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ครั้งนี้เข้ากับการสังหารโหดที่เกิดขึ้นในวันเดียวกัน จะทำให้มองเห็นภาพการเคลื่อนไหวของพลังปฏิกิริยาที่ร่วมมือกันก่ออาชญากรรมได้ชัดเจนขึ้น 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์เผยยิ่งลักษณ์อยู่ดูไบ ประวิตรระบุเธอจะไม่ยุ่งทางการเมือง

Posted: 28 Sep 2017 01:31 AM PDT

ประยุทธ์ เผยยิ่งลักษณ์อยู่ดูไบ ประวิตรระบุ เธอจะไม่ยุ่งทางการเมือง ค้นบ้าน ซ.โยธินพัฒนา 3 เน้นเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ เร่งรัด 'รอง ผบก.น.5 ' ส่งคำชี้แจงกรณีพาหนี

แฟ้มภาพ ประชาชนมารอฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา

28 ก.ย. 2560 หลังจากวานนี้ (27 ก.ย.60) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาลับหลังในคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว จำคุก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 5 ปี โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รอลงอาญา พร้อมทั้งมีคำสั่งให้ออกหมายจับเพื่อให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลต่อไปนั้น

ประยุทธ์ เผยยิ่งลักษณ์อยู่ดูไบ

ล่าสุดวันนี้ (28 ก.ย.60) บีบีซีไทย รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ทราบจากกระทรวงการต่างประเทศอย่างไม่เป็นทางการว่า ยิ่งลักษณ์ ขณะนี้ไปอยู่ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

"จบหรือยัง ก็ขยายเข้าไปสิ ขยายไปให้บ้านเมืองมันระส่ำระส่ายไป แล้วใครขยายแล้วมันวุ่นวาย ประณามไอ้คนที่มันขยายให้เขานั่นล่ะ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว พร้อมปฏิเสธว่าไม่มี "สายลับ" ไปตามตัว ยิ่งลักษณ์แต่อย่างใด

รายงานข่าวระบุด้วยว่าการออกมาเปิดเผยที่อยู่ของยิ่งลักษณ์ เป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยระบุไว้ ก่อนศาลฎีกาฯ อ่านคำพิพากษาดังกล่าว โดยก่อนหน้า พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่ารู้แหล่งกบดานของอดีตนายกฯ แล้ว แต่ "หลังวันที่ 27 ก.ย. ผมถึงจะบอกว่าอยู่ไหน"

ส่วนการติดตามตัว ยิ่งลักษณ์กลับมาดำเนินคดีในไทย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ทำต่อ คดีทั่วไปก็เป็นแบบนี้

"เมื่อใดก็ตามที่มีการตัดสินคดี มีการออกหมายจับ เจอตัวก็ต้องจับมา ถ้าอยู่ต่างประเทศต้องขอตัวกลับมา ถ้าเขาให้ก็ได้กลับ ถ้าไม่ให้ก็ไม่ได้กลับ จะไปยากตรงไหน เรื่องก็มีแค่นี้ เป็นขั้นตอนของตำรวจที่ต้องดำเนินการต่อไป ที่ต้องประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศ และองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรืออินเตอร์โพล ก็ให้เวลาเขาทำงาน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พร้อมกันนี้ กระทรวงการต่างประเทศเตรียมพิจารณาเพิกถอนหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ของอดีตนายกฯ ด้วย

ประวิตรระบุยิ่งลักษณ์จะไม่ยุ่งทางการเมือง

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานด้วยว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณี ที่ นายกฯ เปิดเผยว่า ยิ่งลักษณ์ หลบหนีไปอยู่รัฐดูไบ ว่า ซึ่งไปอยู่ดูไบก็ดีแล้ว และไทยไม่ได้มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ต่อกรณีคำถามว่า จะซ้ำรอย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯหรือไม่นั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เขาจะไม่ยุ่งทางการเมือง เมื่อถามว่า แล้วรู้ได้อย่างไรจะไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ประเทศที่เขาอยู่บอกมา

ต่อกรณีคำถามว่าทางการสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ขอความร่วมมือ ยิ่งลักษณ์ ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวการเมืองในไทยใช่หรือไม่ นั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เขาว่าไปตามระบบ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ประสานแล้ว ส่วนจะเชื่อใจ ยิ่งลักษณ์ได้หรือไม่ ตนไม่รู้

ค้นบ้าน ซ.โยธินพัฒนา 3 เน้นเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ 

สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพรามหณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะหัวหน้าชุดติดตามหาตัว ยิ่งลักษณ์ หลังหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาคดีจำนำข้าว เนำหมายศาลพร้อมกำลังตำรวจพิสูจน์หลักฐานและทหาร รวม 25 นาย แบ่งเป็น 2 ชุด เข้าตรวจค้นทั้งภายในและนอก บ้านเลขที่ 38 / 9 ซ.โยธินพัฒนา3 ของ ยิ่งลักษณ์ โดยเน้นตรวจของใช้ส่วนตัวเพื่อเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอไปเทียบเคียงดีเอ็นเอของผู้หญิงที่ตรวจพบในรถยนต์โตโยต้า คัมรี่  ที่พา ยิ่งลักษณ์หลบหนี  หากผลดีเอ็นเป็นของ ยิ่งลักษณ์ จะเอาผิด พ.ต.อ.ชัยฤทธิ์ อนุฤทธิ์ รอง ผบก.น.5 ในข้อหา ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 เนื่องจาก พ.ต.อ.ชัยฤทธิ์ รับสารภาพไว้แล้วว่าเป็นผู้ขับรถพา น.ส.ยิ่งลักษณ์ไป จ.สระแก้ว อย่างไรก็ตามขณะนี้ พ.ต.อ.ชัยฤทธิ์ ถูกแจ้งข้อหา ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม หลังตรวจพบป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอม ส่วนเครื่องยนต์ของรถ เตรียมให้ผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบว่าเลขเครื่องยนต์ตรงกับที่จดทะเบียนไว้หรือไม่ ส่วนการลงโทษทางวินัย ขึ้นอยู่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง 

สำหรับการตรวจค้นครั้งนี้ รอง ผบ.ตร. ต้องการพิสูจน์ทราบให้แน่ชัดว่า ยิ่งลักษณ์ หลบหนีอยู่ในบ้านหรือไม่ รวมทั้งเก็บรวบรวมพยานหลักฐานและวัตถุพยาน  เช่น เส้นผม เพื่อนำมาตรวจดีเอ็นเอ เปรียบเทียบกับดีเอ็นเอของผู้หญิงที่กองพิสูจน์หลักฐานตรวจพบที่บริเวณเบาะนั่งผู้โดยสารด้านหลังในรถยนต์คัมรี่ดังดังกล่าว ว่าเป็นดีเอ็นเอของนางสาวยิ่งลักษณ์ หรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อยืนยันว่า ยิ่งลักษณ์นั่งรถยนต์คันดังกล่าวไปยังจังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมาจริง ที่สำคัญพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ต้องการใช้เป็นหลักฐานเอาผิดกับพันตำรวจเอกชัยฤทธิ์ ในคดีสวมแผ่นป้ายทะบียนปลอมรถยนต์คัมรี่ ด้วย

มีรายงานว่า พนักงานสอบสวน สน.วังทองหลาง ไปขออำนาจศาลอาญา ออกหมายค้นบ้านพักอีกหลังหนึ่งซึ่งเป็นบ้านของหญิงสาวที่เดินทางไปกับ ยิ่งลักษณ์  ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

เร่งรัด 'รอง ผบก.น.5 ' ส่งคำชี้แจงกรณีพา 'ยิ่งลักษณ์' หนี

สำนักข่าวไทยยังรายงานด้วยว่า พล.ต.ต.ภาณุรัตน์  หลักบุญ  รอง รอง ผบช.น. ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณี พ.ต.อ.ชัยฤทธิ์  มีส่วนเกี่ยวข้องในการพา ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกฯหลบหนีไม่ไปฟังคำพิพากษาคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว กล่าวว่า  จนถึงขณะนี้ พ.ต.อ.ชัยฤทธิ์  ยังไม่ส่งหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเป็นลายลักษณ์อักษร ให้คณะกรรมการ  ตามระเบียบแล้วแม้สามารถทำหนังชี้แจงได้ไม่เกิน 15 วัน แต่จะเร่งรัดให้รีบชี้แจง  เพื่อนำมาพิจารณาว่าสมบูรณ์เพียงพอหรือไม่  หากพบว่า ยังมีประเด็นใดที่ติดใจสงสัย หรือเห็นควรต้องเรียกมาให้ปากคำเพิ่มเติม  ก็จะทำหนังสือเรียกให้เข้าชี้แจงกับคณะกรรมการอีกครั้ง  ส่วนพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน  สอบปากคำ ดำเนินคดี พ.ต.อ.ชัยฤทธิ์  ข้อหา ปลอมและใช้เอกสารปลอม ข้อเท็จจริงดังกล่าวจำเป็นต้องนำเข้ามาพิจารณาในคณะกรรมการด้วย เบื้องต้นมีการเรียกสอบปากคำพนักงานสอบสวนไปแล้ว 
 
พล.ต.ต.ภาณุรัตน์ ยังกล่าวถึง กรณีจะมีการนำหมายค้นไปตรวจค้นบ้านพัก ยิ่งลักษณ์ เพื่อหาหลักฐานมาประกอบสำนวนคดีอาญานั้น  ในส่วนการตรวจสอบความผิดทางวินัย ไม่จำเป็นต้องดำเนินการในส่วนนี้  เนื่องจาก พ.ต.อ.ชัยฤทธิ์  สารภาพว่าเป็นผู้พา น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปจริง เหลือเพียงการพิจารณาว่า กรณีนี้เข้าข่ายความผิดทางวินัยอย่างไรบ้าง เพื่อนำข้อสรุปจากที่ประชุมเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาลงโทษต่อไป
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.ป.ศาล รธน. 'มีชัย' จัดเต็มอาวุธ เครื่องมือ เกราะกันถูกละเมิดศาล

Posted: 28 Sep 2017 01:02 AM PDT

สนช.มติเอกฉันท์รับหลักการร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ประธาน กรธ. ระบุให้อาวุธและเครื่องมือสามารถปกป้องตนเองจากการถูกละเมิดศาลได้ พร้อมกลไกให้ศาลรัฐธรรมนูญทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น

28 ก.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่าการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (28 ก.ย.60) พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีวาระสำคัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้เสนอ

โดยที่ประชุม สนช.มีมติเอกฉันท์รับหลักการร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าว ด้วยคะแนน 198 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย 22 คน กำหนดกรอบการทำงาน 50 วัน แปรญัตติภายใน 7 วัน

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ชี้แจงว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่ 7 ที่เสนอต่อ สนช. ในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ดำเนินการตามมาตรา 77 อย่างครบถ้วน และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาพร้อมนำกลับมาปรับปรุงตามข้อติติงของศาลรัฐธรรมนูญ แม้บางเรื่อง กรธ.จะไม่เห็นด้วยกับบางประเด็น แต่ก็ไม่ขัดข้อง เช่น เรื่องการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่อยากให้นำมาใส่ไว้ในกฎหมาย กรธ.จึงได้ตัดหมวดนี้ออกไป แต่ส่วนที่ กรธ.ไม่ได้ปรับตามข้อเสนอของศาลรัฐธรรมนูญ คือ การขอให้เติมข้อความว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจใช้มาตรการชั่วคราวกับองค์กรต่าง ๆ ในประเทศ แต่ กรธ.เห็นว่า หากศาลรัฐธรรมนูญจะลงไปวินิจฉัยเองว่าเรื่องต่าง ๆ ถูกต้องหรือไม่ อาจทำให้เป็นปัญหา เกิดวิกฤติและอันตรายในประเทศได้ เพราะในทางปฏิบัติ ศาลรัฐธรรมนูญจะดำเนินการเหมือนศาลอาญาและศาลแพ่งไม่ได้

"ยืนยันว่าร่างกฎหมายลูกทุกร่างที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระ กรธ.ใช้หลักเดียวกัน คือ ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญให้ดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไป ยกเว้นมีเหตุพิเศษอื่น เช่น กรณีของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ให้พ้นจากตำแหน่งทุกคน เนื่องจากต้องเป็นไปตามหลักสากล และ กรธ.ไม่เห็นด้วยที่จะกำหนดว่า เมื่อมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งกรณีครบวาระ จะไม่ให้มีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่จนกว่าจะมี ส.ส. เพราะเห็นว่าน่าจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อีกทั้งขณะนี้มี สนช.ทำหน้าที่แทน ส.ส.และ ส.ว.อยู่แล้ว แต่หาก สนช.จะปรับเปลี่ยนประเด็นต่าง ๆ ในภายหลัง กรธ.ก็ไม่ขัดข้อง" มีชัย กล่าว

ประธาน กรธ.  กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ สาระสำคัญยังกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่หลักในการพิจารณาคดีว่าด้วยความชอบของรัฐธรรมนูญในกฎหมายต่าง ๆ การดูแลองค์กรที่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญว่ามีความขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตลอดจนปัญหาคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและหน้าที่ใหม่ของรัฐธรรมนูญปี 2560 คือให้คำปรึกษาข้อสงสัยขององค์กรที่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญได้ก่อนที่จะเกิดข้อพิพาทระหว่างองค์กร เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจนบานปลายในอดีต ซึ่งกำหนดให้มีตุลาการ 9 คน มีองค์ประกอบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยต้องมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 7 คนทำหน้าที่

ขณะที่ กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช. อภิปรายสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว เพราะเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องมีอยู่อย่างเข้มแข็งต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ทำให้บ้านเมืองผ่านวิกฤติไปได้ และเชื่อว่าการพิจารณาร่างดังกล่าว ได้พิจารณาเพิ่มเติมอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมืองเป็นปัจจุบันอย่างดี

ด้าน มีชัย กล่าวย้ำต่อที่ประชุม สนช.อีกครั้ง ว่า กรธ.ได้ให้อาวุธและเครื่องมือให้แก่ศาลรัฐธรรมนูญไว้แล้ว โดยศาลรัฐธรรมนูญสามารถปกป้องตนเองจากการถูกละเมิดศาลได้ นอกจากนี้ ยังเขียนกลไกให้ศาลรัฐธรรมนูญทำงานได้รวดเร็วมากขึ้นด้วย

ที่มา : สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตำรวจสากลยอมรับรัฐปาเลสไตน์เป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก

Posted: 28 Sep 2017 12:48 AM PDT

ตำรวจสากลยอมรับรัฐปาเลสไตน์เป็นหนึ่งในสมาชิกหลังจากมีการประชุมลงมติล่าสุด จากที่ก่อนหน้านี้อิสราเอลพยายามให้มีการเลื่อนลงมติ

มัสยิดในวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยอิสลามแห่งกาซา ประเทศปาเลสไตน์ ที่มาภาพ (wikipedia.org)

องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าตำรวจสากล (INTERPOL) ประกาศเมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมายอมรับว่ารัฐปาเลสไตน์และหมู่เกาะโซโลมอนเป็นรัฐสมาชิกของตำรวจสากลหลังจากที่มีการโหวตลงมติเรื่องนี้ในการประชุมสมัชชาที่กรุงปักกิ่ง

ก่อนหน้านี้อิสราเอลเคยพยายามถ่วงเวลาให้เกิดความล่าช้าในการลงมติไปจนถึงปีหน้า แต่เมื่อไม่นานมานี้รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอิสราเอลก็ประกาศว่าความพยายามของพวกเขาล้มเหลว

ตำรวจสากลเผยแพร่เรื่องนี้ผ่านทวิตเตอร์ระบุว่า "ในตอนนี้รัฐปาเลสไตน์และหมู่เกาะโซโลมอนนับเป็นสมาชิกของตำรวจสากลแล้ว"

จากคำประกาศนี้ทำให้ปัจจุบันองค์การตำรวจสากลมีประเทศสมาชิกรวมเป็น 192 ประเทศ อย่างไรก็ตามยังไม่มีการเปิดเผยว่ามีสมาชิกจำนวนเท่าใดที่ลงมติสนับสนุนการเป็นสมาชิกภาพของรัฐปาเลสไตน์

องค์การตำรวจสากลเป็นหน่วยงานที่มีฐkนอยู่ในเมืองลียงของฝรั่งเศส เป็นหน่วยงานทะเบียนกลางสากลสำหรับออกหมายจับและจัดการความร่วมมือกับตำรวจเกี่ยวกับอาชญากรรมข้ามพรมแดน

 

เรียบเรียงจาก

Interpol approves membership for state of Palestine, The National, 27-09-2017

State of Palestine membership in Interpol approved, in move opposed by Israel, Al Arabiya, 27-09-2017 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สวรส.หนุนข้อมูลรหัสยามาตรฐาน พัฒนาแอป 'RDU รู้เรื่องยา'

Posted: 28 Sep 2017 12:34 AM PDT

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขหนุนข้อมูลวิจัย 'รายการยา-รหัสยามาตรฐาน' พร้อมจับมือ 5 หน่วยงาน พัฒนาแอปพลิเคชัน 'RDU รู้เรื่องยา' ของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ใช้ยาปลอดภัย 

28 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส) แจ้งว่า สวรส. ร่วมขับเคลื่อนการใช้ยาอย่างสมเหตุผล พัฒนานวัตกรรม Mobile Application "RDU รู้เรื่องยา" เพื่อสื่อสารข้อมูลยาและการใช้ยาที่ถูกต้อง ปลอดภัย ด้วยข้อมูลเดียว เพื่อลดความสับสน และสร้างความตระหนักในการใช้ยาอย่างสมเหตุผลแก่ประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา สวรส.มีโครงการวิจัย และกระบวนการพัฒนาระบบยา เพื่อนำไปสู่การใช้ยาอย่างสมเหตุผลมาอย่างต่อเนื่อง  รวมทั้ง สวรส.ยังได้มีการพัฒนาและดูแลบัญชีข้อมูลรายการยาและรหัสยามาตรฐานไทย  Thai Medicines Terminology (TMT)  ที่ใช้ในฐานข้อมูลของระบบการใช้ยาได้อย่างสมเหตุผล  ช่วยให้ระบุรายการยาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ เมื่อทำงานร่วมกับข้อมูลความรู้ด้านยา  จึงทำให้เกิดฐานข้อมูลที่ใช้ในการพัฒนาเป็นนวัตกรรม Mobile Application "RDU รู้เรื่องยา" ดังกล่าว

โดยเมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ  โครงการพัฒนานวัตกรรม Mobile Application "RDU รู้เรื่องยา" ระหว่าง 6 หน่วยงาน  โดยมีผู้บริหารระดับสูงร่วมลงนาม ประกอบด้วย โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) สุวัฒนา จุฬาวัฒนพล คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  บุญชัย กิจสนาโยธิน ผู้จัดการสำนักพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (ผู้แทน ผอ.สวรส.)  และ สุปรีดา  อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  ทั้งนี้ ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุผล ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมสิรินธร อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ปิยะสกล กล่าวในพิธีลงนามฯ ว่า  แอปพลิเคชั่น RDU รู้เรื่องยา ถือเป็นการปฏิรูประบบสาธารณสุขที่ชัดเจน โดยรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติเพื่อให้ประชาชนใช้ยาอย่างสมเหตุผล ปลอดภัย  ซึ่งความร่วมมือของ 6 หน่วยงานในการพัฒนาแอปพลิเคชันข้อมูลยาในครั้งนี้  จะเป็นนวัตกรรมที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวได้เป็นอย่างดี  สอดคล้องกับนโยบายของประเทศเรื่อง Health Literacy ความรอบรู้เรื่องสุขภาพ  ซึ่งแอปพลิเคชัน RDU รู้เรื่องยา เป็นช่องทางที่ประชาชนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ยาอย่างเหมาะสม ถูกต้อง และปลอดภัย ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น  นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาฉลากยา  ฉลากยาเสริม  และข้อมูลการใช้ยาที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ 

"ภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ ทั้ง 6 หน่วยงานมีบทบาทความรับผิดชอบที่สำคัญ โดยกระทรวงสาธารณสุข  เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย  และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข มีหน้าที่ร่วมกันพัฒนาข้อมูลยาที่เป็นมาตรฐาน  สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์  ทำการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลผ่านทาง แอปพลิเคชัน ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลยาที่พัฒนาขึ้นได้อย่างสะดวก  ส่วนคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  ร่วมจัดทำข้อมูลและความรู้ด้านยาที่เป็นประโยชน์ เผยแพร่แก่ประชาชน" รมว.สธ. กล่าว  

บุญชัย กิจสนาโยธิน  ผู้แทน สวรส.ในการลงนามความร่วมมือฯ กล่าวว่า  สวรส. มีนโยบายชัดเจน และมีโครงการวิจัยหลายโครงการที่ช่วยขับเคลื่อนการใช้ยาอย่างสมเหตุผล  สำหรับโครงการพัฒนา Mobile Application RDU รู้เรื่องยา สวรส.มีส่วนร่วมด้วยการเป็นหน่วยงานที่พัฒนาและดูแลฐานข้อมูลรายการยาและรหัสยามาตรฐานทีเอ็มที (Thai Medicines Terminology-TMT)  ทำให้มีการระบุรายการยาได้อย่างชัดเจน แม่นยำ  และเป็นพื้นฐานในการพัฒนาฐานข้อมูลของแอปพลิเคชันด้านการบริการสุขภาพอื่นๆ  รหัสยาทีเอ็มที นอกจากจะใช้กับโปรแกรมแอปพลิเคชัน RDU รู้เรื่องยาแล้ว  ปัจจุบันกระทรวงการคลัง ได้นำไปใช้ในระบบข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ  และระบบข้อมูลเบิกจ่ายค่าบริการสุขภาพของกองทุนประกันสุขภาพต่างๆ  ซึ่งมาตรฐานข้อมูลรหัสทีเอ็มที ทำให้ระบบข้อมูลสามารถเชื่อมโยงกันได้ ทำให้เกิดการให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างมีคุณภาพและสะดวกรวดเร็วมากขึ้น 

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ขณะนี้ แอปพลิเคชันมีข้อมูลยากว่า 700 รายการ  อยู่ระหว่างการทดสอบความสมบูรณ์  เพื่อมอบความรู้เรื่องยาเป็นของขวัญปีใหม่ ปี 2561 แก่ประชาชน โดยแอปพลิเคชันนี้จะบันทึกข้อมูลยาเก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือ ผ่าน QR Code ที่ซองยา  ประกอบด้วยข้อมูล  ชื่อโรงพยาบาล ชื่อยา วิธีการใช้ยา ข้อมูลฉลากยาเสริม ข้อมูลความปลอดภัยด้านยา  และข้อมูลอื่นๆ เช่น ข่าวสารเรื่องยา และการค้นหาโรงพยาบาลและร้านยาคุณภาพ  ทั้งนี้คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ทั้งระบบ Android และ iOS ในเดือน พฤศจิกายน 2560 นี้ โดยจะเริ่มใช้ที่ รพ.ศิริราช  รพ.รามาธิบดี  รพ.ราชวิถี  รพ.วชิรพยาบาล  รพ.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  และ รพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 10 แห่ง คือ รพ.สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 จ.สุพรรณบุรี  รพ.พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี  รพ.พระพุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา  รพ.สระแก้ว  รพ.ระนอง  รพ.กระบี่  รพ.บุรีรัมย์  รพ.อุดรธานี  รพ.สรรสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี  และ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เด็กดีต้องเชื่อฟังครู' คว้าอันดับ 1 แคมป์ TDRI ปั้นนักวิจัยสู่การปรับทัศนคติการศึกษาที่ดี

Posted: 27 Sep 2017 11:25 PM PDT

 
28 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) แจ้งว่า TDRI เปิดเวที Redesigning Thailand ครั้งที่ 4 ชวนนักศึกษา ร่วมปรับทัศนคติทางการศึกษาใหม่ และสร้างสรรค์นโยบายเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยให้ดีขึ้น ทัศนคติ 'เด็กดีต้องเชื่อฟังครู' จากทีมจุฬาฯ – ม.เชียงใหม่ คว้าอันดับ 1 ชี้สร้างปัญหาทำเด็กไทยไม่กล้าตั้งคำถาม ไร้ปฏิสัมพันธ์ ความคิดสร้างสรรค์ และไม่เชื่อมั่นในตนเอง เสนอใช้หลักสูตรละครเพื่อการศึกษามาแก้ไข
 
กิจกรรม Redesigning Thailand เวทีเปิดกว้างประลองความคิดด้านนโยบายสาธารณะสำหรับนักศึกษาทั่วประเทศ จัดโดย TDRI มีเป้าหมายเพื่อจุดประกายไอเดียให้กับนักศึกษาที่ต้องการออกแบบนโยบายเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยกิจกรรมมุ่งสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักศึกษากับนักวิจัย TDRI เพื่อส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ก้าวสู่เส้นทางนักวิจัยเชิงนโยบายต่อไปในอนาคต   
 
รายงานข่าวระบุว่า ในปีนี้ กิจกรรมจัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 ในชื่อ Redesigning Thailand #4 "เปิดแคมป์ จับระบบการศึกษาไทยมาปรับทัศนคติ มีตั้งโจทย์ท้าทายความคิดคนรุ่นใหม่ว่า "ทัศนคติทางการศึกษาเรื่องใด ที่เป็นปัญหาต่อการพัฒนาการศึกษาไทย และจะใช้มาตรการ/นโยบายใด เพื่อการปรับทัศนคติการศึกษาไทยให้ดีขึ้น"  ซึ่งมีนักศึกษาจากทั่วประเทศส่งบทความร่วมตอบโจทย์ โดยมีทีมผ่านเข้ารอบสุดท้ายจากหลายมหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
 
ซึ่งทั้งหมดได้เข้าร่วมปรับปรุงพัฒนาหัวข้อกับนักวิจัย TDRI และนำเสนอต่อคณะกรรมการตัดสิน รวม 6 ทัศนคติทางการศึกษา ได้แก่ ทัศนคติต่อการเรียนการเรียนอาชีวะ ทัศนคติ "การศึกษาที่ดีมาจากอำนาจและการรวมศูนย์" ทัศนคติ "การบริหารจัดการศึกษาที่ดี มาจากส่วนกลาง" ทัศนคติ "เรียนไปก็ใช้ไม่ได้"ทัศนคติ "ครูคือผู้นำของการเรียนรู้ในห้องเรียน" และทัศนคติ "เด็กดีต้องเชื่อฟังครู"
 
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานชิย์ ประธาน TDRI หนึ่งในคณะกรรมการร่วมตัดสิน กล่าวว่า การศึกษาไทยมีปัญหา เป็นสิ่งที่ทุกคนอาจเห็นตรงกันซึ่งไม่ต้องถกเถียงกัน แต่สิ่งที่ต่างกันคือ คนยังคิดไม่ตรงกันว่า จุดไหนของการศึกษาที่เป็นปัญหาแน่ๆ และปกติเรามักหาแนวทาง ความคิดปฏิรูปการศึกษาจากผู้ทรงคุณวุฒิ หรือคนที่ทำงานการศึกษามานาน ซึ่งย่อมได้ภูมิปัญญาดีๆ แต่ก็อาจติดกับแนวทางแก้ไขเดิมๆ ดังนั้น เวที Redesigning Thailand วันนี้จึงเป็นเวทีที่สำคัญมาก โดยในปีนี้มุ่งเป้ามาที่การแก้ปัญหาเรื่องการศึกษา เพื่อได้รู้ได้เห็นแนวคิดใหม่ๆ จากคนที่อยากทำงานปฏิรูปการศึกษาของประเทศเช่นกัน นั่นคือกลุ่มนักศึกษา ที่จะอยู่กับผลพวงจากการศึกษาไทยต่อไปในอนาคต
 
"เวทีวันนี้จึงมีขึ้น เพื่อมาดูว่า ถ้าจะพัฒนาการศึกษาของประเทศ ทัศนคติของคนต้องเปลี่ยนอะไร และเปลี่ยนอย่างไรจากมุมมองเยาวชน คนรุ่นใหม่ เพราะการปฏิรูปการศึกษา ใช่ว่าจะเกิดจากใครสักคนที่มีอำนาจแล้วสั่งการ แล้วเกิดขึ้นได้ เพราะถ้านักเรียน นักศึกษา พ่อแม่ และครู รวมทั้ง กระทรวงศึกษาธิการ ยังมองปัญหาการศึกษาไปคนละทิศทาง จะไม่มีทางฏิรูปการศึกษาได้" ประธาน TDRI กล่าว
 
สำหรับผลการตัดสิน  ทีมคว้ารางวัลชนะเลิศจับทัศนคติการศึกษามาปรับใหม่ ได้แก่  ทัศนคติเด็กดีต้องเชื่อฟังครู  ของทีมนักศึกษา จากคณะเศรษฐศาสตร์(นานาชาติ) จุฬาฯ คือ สิรภพ ลู่โรจน์เรือง , วรลักษณ์ ภักตร์อำไพ และพงศรากร ปาแก้ว  นักศึกษา จากคณะสื่อสารมวลชน  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 
โดยนักศึกษาวิเคราะห์ว่า ทัศนคติเด็กดีต้องเชื่อฟังครู  เกิดจากปัจจัยด้านตัวครู ที่วางตนเป็นผู้ตัดสินถูกผิด ในลักษณะอำนาจนิยม รวมทั้งในกลุ่มเพื่อนนักเรียนเองที่มองว่าใครถามมาก แสดงถึงความอวดรู้ หรือถูกรบกวน และตัวนักเรียนเองก็ขาดความมั่นใจ หากถามแล้วจะรู้สึกแปลกแยก มีความเขินอายทำให้ไม่กล้าถาม ด้วยบรรยากาศเช่นนี้ ทำให้เด็กนักเรียนเกิดทัศนคติไม่กล้าตั้งคำถาม เมื่อไม่กล้าถามก็ส่งผลให้ไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์ เพื่อต่อยอดทางความรู้ ความคิดและการใช้ชีวิต หรือการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ
 
ข้อเสนอทางแก้ไขคือ การจัดหลักสูตร การละครเพื่อการศึกษา (Drama Education) ให้นักเรียน โดยเริ่มตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา 1- 3 เพื่อกระตุ้นความกล้าแสดงออกให้กับเด็ก และบูรณาการวิชาดังกล่าวร่วมกับรายวิชาอื่นในชั้นประถมศึกษา 4-6 โดยเฉพาะรายวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และ สังคมศึกษา เพื่อให้เด็กได้ความรู้ทางวิชาการควบคู่ไปกับการสร้างพื้นฐานความกล้าลองผิดถูก นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์กล้าคิด และกล้าตั้งคำถามต่อวิชาอื่นๆต่อไปในอนาคต
 
รายงานข่าวระบุด้วยว่า สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ ทัศนคติ "ครูคือผู้นำของการเรียนรู้ในห้องเรียน" ไอเดียจากทีมนักศึกษาจากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แก่ นางสาวจิดาภา วิทยาพิรุณทอง นางสาวกมลฉัตร นุใหม่ และนางสาวอณิษฐา หะยีลาเต๊ะ  
 
และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ ทัศนคติ "การศึกษาที่ดีมาจากอำนาจและการรวมศูนย์" ไอเดียจากทีมนักศึกษาจากคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง คือ ยศกร นาแพง และ วังวิช ตรีสุคนธวงศ์  จาก วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
 
ด้าน กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ประธานองค์กรสร้างเสริมสุขภาพนานาชาติ อีกหนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน กล่าวชื่นชมทุกทีมเข้าแข่งขัน ว่าทั้ง 6 ทีม เสนอแนวคิดที่น่าทึ่ง ทุกทีมวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุส่วนใหญ่ได้ตรงทั้งหมด และบางทีมมีข้อเสนอที่สามารถทำหรือนำไปใช้ได้ในทางปฏิบัติได้
 
ทั้งนี้ กิจกรรม Redesigning Thailand ครั้งที่ 4 จับระบบการศึกษาไทยมาปรับทัศนคติ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเดินหน้าส่งเสริมให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการศึกษาเชิงนโยบาย หลังจากนี้ TDRI และเครือข่ายด้านการปฏิรูปการศึกษาจะยังเดินหน้าสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อระดมความคิดจากนักเรียน นักศึกษา ผลักดันให้การศึกษาไทยไม่ติดกับทัศนคติเดิมๆเพื่อพัฒนาประเทศให้เดินต่อไปข้างหน้าได้ด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ .
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สวิง ตันอุด กับจังหวัดจัดการตนเอง

Posted: 27 Sep 2017 08:04 PM PDT


 

เมื่อวันเสาร์ที่ 23 กันยายน 2560 ที่ผ่านมาได้มีการเปิดประชุมสมัชชาพลเมืองเชียงใหม่ที่มีผู้เข้าร่วมประชุมนับพันคน  ณ มหาวิทยาลัย แม่โจ้ จ.เชียงใหม่ โดยสมัชชาพลเมืองเชียงใหม่เป็นผลต่อเนื่องของการจัดการตนเองของจังหวัดเชียงใหม่ที่มีจุดมุ่งหมายให้สมัชชาพลเมืองเชียงใหม่เป็นพื้นที่สาธารณะและเป็นกระบวนการเพื่อการเรียนรู้แลกเปลี่ยนการทำงานของภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาครัฐ ภาคธุรกิจ เพื่อร่วมกันพัฒนานโยบายขับเคลื่อนให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีคุณภาพเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของผู้คนและชุมชน

การเปิดประชุมสมัชชาพลเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นองคาพยพหลักของหลักการจังหวัดจัดการตนเองตามร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯที่เคยถูกนำเสนอต่อรัฐสภาไปแล้วในครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 4 แล้ว โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อปี 2556 เป็นต้นมา โดยในปีนี้มีวาระที่สำคัญ คือ "คนเมืองเชียงใหม่จัดการสุขภาวะของตนเอง เริ่มต้นจากคน ชุมชน เมือง" โดยการชูประเด็นคนรุ่นใหม่จัดการตนเองเพื่อชีวิตและชุมชน ซึ่งได้มีกรณีศึกษาจากคนรุ่นใหม่ที่เลือกอาชีพเป็นผู้ประกอบการทางสังคมที่ประกอบอาชีพพร้อมกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนด้วย เช่น กรณีการทำกาแฟอินทรีย์โดยสหกรณ์หมู่บ้านเชื่อมโยงกับการทำร้านกาแฟอินทรีย์ในเมือง การทำร้านจำหน่ายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปลอดภัย การประกอบอาชีพสถาปนิกที่ใส่ใจประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมของเมือง และการจัดการผังเมืองที่เหมาะสม การประกอบอาชีพและการจัดกิจกรรมต่างๆที่สอดแทรกกลิ่นอายของวัฒนธรรมแบบล้านนา

นอกจากนั้นสมัชชาพลเมืองได้มีมติร่วมกันที่จะขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่จะส่งผลให้เกิดการหลอมรวมพลังของภาคประชาสังคมในการมีส่วนร่วมจัดการตนเองใน 3 ประเด็น คือ

ประเด็นที่ 1 นโยบายการมีส่วนร่วมพัฒนาเมืองโดยชุมชน โดยได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งหนึ่งในประเด็นนี้ที่สำคัญคือปัญหาวิกฤตคลองแม่ข่าซึ่งจะต้องอาศัยความเข้มแข็งของพลเมืองในการแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังนี้ โดยการสร้างความตระหนักและปลุกจิตสำนึกกับพฤติกรรม เพราะเพียงลำพังงบประมาณไม่มีทางที่เพียงพอหากพฤติกรรมยังเหมือนเดิม ภาครัฐและเจ้าหน้าที่มาแล้วก็ไปแต่คนเชียงใหม่ต้องอยู่กับคลองแม่ข่าตลอดไป ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีที่ภาคธุรกิจได้ให้ความสนใจที่จะเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหานี้ด้วย

ประเด็นที่ 2 นโยบายเชียงใหม่วิถีเกษตรอินทรีย์ อาหารปลอดภัย ปลอดหมอกควัน ซึ่งในประเด็นนี้เชียงใหม่ได้มีความก้าวหน้าเป็นอันมาก มีการเปิดตลาดอินทรีย์ในหลายๆชุมชนและเกือบทุกวันในสัปดาห์ โครงการลดหมอกควันแม่แจ่มโมเดล ฯลฯ

ประเด็นที่ 3 นโยบายปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่เพื่อการเรียนรู้ที่ยั่งยืน ซึ่งประเด็นนี้นับเป็นประเด็นที่ก้าวหน้าและเป็นรูปธรรมมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ศูนย์การเรียนรู้ การศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาทางเลือก ฯลฯ  แรงผลักดันที่สำคัญมาจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่และโรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาตลอดจนบุคคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่

แต่วาระที่สำคัญทีอาจเรียกได้ว่าเป็นไฮไลท์ของการประชุมฯวันนั้นคือการมอบรางวัล "สวิง ตันอุด" ซึ่งเป็นรางวัลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรำลึกถึง สวิง ตันอุด ผู้ล่วงลับไปเมื่อ 8 มีนาคม 2560 ปีที่ผ่านมา สวิง ตันอุด เป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ที่ได้ทุ่มเทพลังกาย พลังใจ โดยเฉพาะในช่วง 4 – 5 ปีสุดท้ายของชีวิต ในการนำเสนอ ผลักดัน ขับเคลื่อนแนวคิดจังหวัดจัดการตนเองไปสู่หัวจิตหัวใจของผู้คนในสังคมทุกระดับ จนทุกวันนี้คำว่า"ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ...." และ"จังหวัดจัดการตนเอง" เป็นที่รู้จักของสังคมในวงกว้างและแพร่หลายไปในกว่า 50 จังหวัดแล้ว

ดังนั้นการมอบรางวัลสวิง ตันอุด จีงเป็นการย้ำเตือนกับพี่น้องเครือข่ายประชาชนให้ได้ตระหนักถึงความสำคัญของแนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเอง ทั้งในระดับพื้นที่และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองที่ทำให้พื้นที่ระดับจังหวัดได้มีอำนาจในการบริหารจัดการท้องถิ่นของตนเองได้อย่างแท้จริง รวมถึงให้การเชิดชู ส่งเสริม และสร้างกำลังใจให้กับบุคคล องค์กร ชุมชน เครือข่ายที่สนับสนุน ขับเคลื่อนแนวคิดการจัดการตนเองทุกระดับ

ซึ่งในปี 2560 นี้ องค์กร ชุมชน จังหวัด และเครือข่ายที่ได้รับ รางวัลสวิง ตันอุด เพื่อเป็นเกียรติและเป็นกำลังใจที่จะขับเคลื่อนต่อไป คือ

- ประเภทสื่อมวลชน เป็นผู้มีบทบาทในการสร้างสรรค์ ส่งเสริมแนวคิดจังหวัดจัดการตนเองสู่สังคม ได้แก่ คุณณาตยา แวววีรคุปต์ ทีมงานเสียงประชาชนเปลี่ยนประเทศไทย และรายการเวทีสาธารณะ ไทยพีบีเอส

- ประเภทชุมชนจัดการตนเอง เป็นชุมชนที่มีกลไกผู้นำ ที่สร้างพลังพลเมืองระดับชุมชนให้มีบทบาทในการจัดการชุมชนท้องถิ่นของตนเองจนสามารถแก้ปัญหาให้ลุล่วงได้จริง ก่อให้เกิดผลดีต่อท้องถิ่นของตน ได้แก่ สภาองค์กรชุมชนตำบลท้อแท้ จ.พิษณุโลก

- ประเภทจังหวัดจัดการตนเอง เป็นจังหวัดที่มีกลไกของพลเมืองระดับจังหวัดที่มีบทบาทในการปกป้อง พิทักษ์สิทธิของพลเมืองในจังหวัดของตนเอง รวมถึงได้ขับเคลื่อนแนวคิดจังหวัดจัดการตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้กลไกสภาพลเมืองในการปกป้องสิทธิเด็ก ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน

- ประเภทเครือข่ายจัดการตนเอง เป็นเครือข่ายของพลเมืองที่มีบทบาทในการปกป้อง พิทักษ์สิทธิ และผลักดันนโยบายที่นำไปสู่การจัดการตนเองร่วมกับประชาชน กรณีปกป้องนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้แก่ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ

ถึงแม้ว่าสวิง ตันอุด จะจากไปแล้วแต่แกนนำและเครือข่ายที่ร่วมกันผลักดันมาตั้งแต่ต้นก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนจังหวัดจัดการตนเองต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ และยิ่งแผ่ขยายออกไปเรื่อยๆ แม้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะไม่เอื้ออำนวยก็ตาม แต่กระแสของการจัดการตนเองและการกระจายอำนาจนั้นถือได้ว่าได้ถูกจุดติดแล้ว ผมขออนุญาตใช้คำกล่าวของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์มาใช้ในประเด็นนี้ว่า "หมุนเข็มนาฬิกาย้อนไปเท่าไหร่ เข็มก็เดินหน้าอยู่ดี" และผมเชื่อว่าเราจะสามารถเดินได้เร็วกว่าที่ผ่านมาเพราะถือได้ว่าช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้เป็นช่วงเวลาอันดีที่เราจะได้ทำการถอดบทเรียนและพัฒนาให้เหมาะสมยิ่งๆขึ้นไป

ช้าหรือหรือเร็ว มากหรือน้อย สิทธิในการจัดการตนเอง(self determination rights)จะต้องเกิดขึ้น เพราะเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนในทุกสังคมที่จะพึงมีครับ

 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 27 กันยายน 2560
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น