โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สาระ+ภาพ: ประเทศที่มีรัฐประหารหลังปี 49 - ตอนนี้อยู่ตรงไหนกัน?

Posted: 20 Sep 2013 11:50 AM PDT

อัพเดตสถานการณ์ประเทศรอบโลกที่เกิดรัฐประหารหลังปี 2549 และสำรวจว่าสถานะทางการเมืองในปีนี้พวกเขาอยู่จุดไหนกัน ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2549 ประเทศที่ทำรัฐประหาร เรียงลำดับก่อน-หลังได้แก่ ไทย ฟิจิ มอริเตเนีย กินี ฮอนดูรัส ไนเจอร์ มาลี กินีบิสเซา และล่าสุดอียิปต์ หลายประเทศมีการจัดการเลือกตั้งและมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งแล้ว บ้างยังคงสืบมรดกที่ตกทอดมาจากการรัฐประหาร และหลายประเทศยังคงไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง

ดูภาพขนาดเต็มได้ที่นี่


19.09.49 ไทย

ชื่อประเทศ ราชอาณาจักรไทย

จำนวนครั้งของการรัฐประหาร 12 ครั้ง

รัฐประหารครั้งล่าสุด 19 กันยายน 2549

ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

สถานะปัจจุบัน มีนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง และมีรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้สมัยรัฐบาลที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร

ข้อมูลเพิ่มเติม

ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 อย่างไรก็ตามก็เผชิญการรัฐประหารมาแล้ว 12 ครั้ง บังคับใช้รัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ

การรัฐประหารครั้งล่าสุดในประเทศไทย เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะรัฐประหารที่ใช้ชื่อว่า "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หรือ "คปค." มีหัวหน้าคณะคือ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ได้ทำการรัฐประหารขับรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ลงจากอำนาจ โดยขณะนั้นทักษิณอยู่ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

รัฐประหารดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากเมื่อต้นปี 2549 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ชุมนุมขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และทักษิณ ชินวัตรได้ประกาศยุบสภาเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2549 และจัดการเลือกตั้งเมื่อ 2 เมษายน 2549 อย่างไรก็ตามพรรคฝ่ายค้านได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ประกาศไม่ยอมร่วม

ต่อมา 8 พฤษภาคม 2549 ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้การเลือกตั้งดังกล่าวเป็นโมฆะ ขณะที่รัฐบาลรักษาการในเวลานั้นได้ประกาศจัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่ มีกำหนดวันที่ 15 ตุลาคม 2549 อย่างไรก็ตามได้เกิดรัฐประหารขึ้นเสียก่อนในวันที่ 19 กันยายน 2549

หลังทำรัฐประหารสำเร็จ คณะรัฐประหารได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2540 และในวันที่ 1 ตุลาคม 2549 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 แทนรัฐธรรมนูญที่ถูกยกเลิก มีการตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งลาออกจากองคมนตรีมาเป็นนายกรัฐมนตรี มีการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาที่ถูกยกเลิกไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญ 2540 และมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และคณะรัฐประหารได้เปลี่ยนชื่อเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. มีหัวหน้า คปค. เป็นประธาน คมช.

ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ได้ตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย และพรรคการเมืองอื่นๆ อีก 3 พรรค รวมทั้งเพิกถอนกรรมการบริหารพรรคทั้ง 4 พรรคเป็นเวลา 5 ปี

การลงประชามติ รธน. การเลือกตั้ง และความไร้เสถียรภาพทางการเมือง

วันที่ 19 สิงหาคม 2550 ในขณะที่ยังมีการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่ 49 จังหวัด มีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีผู้เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 14.7 ล้านคะแนน ไม่เห็นชอบ 10.7 ล้านคะแนน โดยเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2550 จะมีผลนิรโทษกรรมและคุ้มครองการกระทำของคณะรัฐประหารและเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

หลังรัฐธรรมนูญ 2550 มีผลบังคับใช้ ต่อมารัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้จัดการเลือกตั้งทั่วไป 23 ธันวาคม 2550 โดยผลการเลือกตั้ง พรรคพลังประชาชน ซึ่งเกิดจากการรวมกันของอดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทย ที่รอดมาจากการตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งได้ ส.ส. 233 ที่นั่ง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส. 165 ที่นั่ง โดยพรรคพลังประชาชนเป็นฝ่ายตั้งรัฐบาลผสม มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี

ด้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาตินำโดย พล.อ.อ. ชลิต พุกผาสุข ได้แถลงข่าวจบภารกิจเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551 โดยกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ประเทศไทยกลับสู่สภาวะปกติอย่างสมบูรณ์ตามระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2550 คมช.จึงขอจบภารกิจ

อย่างไรก็ตาม แม้คณะรัฐประหารจะยุติบทบาทไปแล้ว แต่รัฐธรรมนูญปี 2550 และกลไกที่เกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ยังคงมีผลบังคับใช้ นอกจากนี้การเมืองยังคงไม่มีเสถียรภาพ โดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ออกมาชุมนุมยืดเยื้อในวันที่ 25 พฤษภาคม 2551 เพื่อขับไล่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกล่าวหาว่าเป็น "รัฐบาลนอมินี" ของทักษิณ ชินวัตร โดยพันธมิตรได้เข้ายึดทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 26 สิงหาคม 2551 และมีความพยายามยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีด้วยแต่ไม่สำเร็จ

ในวันที่ 9 กันยายน 2551 นายชัช ชลวร ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมคณะได้ตัดสินให้การเป็นนายกรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช สิ้นสุด เนื่องจากไปเป็นพิธีกรรายการทำอาหาร "ชิมไปบ่นไป" ทำให้รัฐสภามีการเลือกนายกรัฐมนตรีอีกรอบ โดยได้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของทักษิณ ชินวัตร มาเป็นนายกรัฐมนตรี

ต่อมาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เข้าไปชุมนุมในอาคารของท่าอากาศดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551 และในวันที่ 2 ธันวาคม 2551 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชนพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งต่อกรรมการบริหารพรรคของทั้งสามพรรค มีกำหนด 5 ปี

และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ประกาศยุติการชุมนุมในวันที่ 3 ธันวาคม 2551 รวมเวลาชุมนุมทั้งสิ้น 193 วัน

โดยหลังการยุบพรรค สมาชิกพรรคพลังประชาชนส่วนใหญ่ได้ไปอยู่ในพรรคเพื่อไทย และสมาชิกพรรคพลังประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่นำโดย เนวิน ชิดชอบ แกนนำกลุ่มที่อยู่ระหว่างถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากการยุบพรรคเมื่อปี 2550 ได้ไปตั้งพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รวบรวมเสียง ส.ส. ในสภา โดยเฉพาะการรวมเสียง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเดิมอย่างพรรคชาติไทยพัฒนา ที่มาจาก ส.ส.เดิมของพรรคชาติไทย และพรรคภูมิใจ แล้วตั้งรัฐบาลผสมแทนพรรคเพื่อไทย

ทั้งนี้การเมืองไทยตลอดรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็ถูกประท้วงต่อต้านโดยแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ที่พัฒนามาจากกลุ่มที่สนับสนุนพรรคไทยรักไทย และกลุ่มต้านรัฐประหารในปี 2549 โดย นปช. มีการนัดชุมนุมขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ใน กทม. ซึ่งจบลงด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและมีการสลายการชุมนุม เช่น การสลายการชุมนุมในวันที่ 13-14 เมษายนปี 2552 และการสลายการชุมนุมในวันที่ 10 เมษายน 2553 และ 13-19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งการสลายการชุมนุมในปี 2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก รวมทั้งเกิดจลาจลเผาทรัพย์สินและอาคารทั้งในกรุงเทพมหานคร และในบางจังหวัดเพื่อตอบโต้การสลายการชุมนุมด้วย

ในปี 2554 หลังรัฐบาลอภิสิทธิ์ ยุบสภาในวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 มีจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 กรกฎาคม 2554 ผลการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยนำโดยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ ชินวัตร ชนะเลือกตั้งโดยได้ ส.ส. 265 ที่นั่ง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ ส.ส. 159 ที่นั่ง

โดยปัจจุบันในรัฐสภามีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 แบบรายมาตรา โดยเป็นการแก้ไขเรื่องที่มาของ ส.ว. โดยมีการคัดค้านมาจากพรรคฝ่ายค้าน และกลุ่ม ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง

อ่านประกอบ

2006 Thai coup d'état http://en.wikipedia.org/wiki/2006_Thai_coup_d'%C3%A9tat

Thai constitutional referendum, 2007 http://en.wikipedia.org/wiki/Thai_constitutional_referendum,_2007

Thai general election, 2011 http://en.wikipedia.org/wiki/Thai_general_election,_2011

000

 

06.12.49 ฟิจิ

ชื่อประเทศ สาธารณรัฐฟิจิ

จำนวนครั้งของการรัฐประหาร 4 ครั้ง (2530 (2 ครั้ง), 2543, 2549)

รัฐประหารครั้งล่าสุด 6 ธันวาคม 2549

ระบอบการปกครอง รัฐบาลจากการแต่งตั้งโดยทหาร

สถานะปัจจุบัน รัฐบาลจากการแต่งตั้งโดยทหาร นายกรัฐมนตรีมาจากหัวหน้าคณะรัฐประหาร

ข้อมูลเพิ่มเติม

ความขัดแย้งซึ่งนำไปสู่การรัฐประหารในปี 2549 มีที่มาจากการรัฐประหารปี 2543 และวิกฤติทางการเมืองที่ก่อตัวขึ้นในช่วงปี 2548 - 49 โดยความขัดแย้งส่วนใหญ่เกิดจากความตึงเครียดระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ฟิจิ และกลุ่มชาวฟิจิ เชื้อสายอินเดีย ที่นับถือศาสนาต่างกัน ทั้งนี้ กลุ่มชาติพันธุ์ฟิจิส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายเมธอดดิสต์ ในขณะที่ชาวฟิจิ เชื่อสายอินเดีย ส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู การรัฐประหารแต่ละครั้ง เป็นการพยายามลดอำนาจของกลุ่มชาติพันธุ์อีกกลุ่มลงไปในทางการเมืองการปกครอง

การรัฐประหารเมื่อปี 2543 นำโดยจอร์จ สเปท์ ได้ขับไล่นายกรัฐมนตรีที่เป็นชาวฟิจิ เชื้อสายอินเดียซึ่งมาจากการเลือกตั้ง โดยมีผู้นำทางศาสนาเมธอดดิสต์สนับสนุนการรัฐประหาร การทำรัฐประหารครั้งนี้ นำโดยกองกำลังที่ไม่มีความสัมพันธ์กับกองทัพ ซึ่งคัดค้านการการรัฐประหารดังกล่าว

ต่อมาคณะรัฐประหารได้ตั้งรัฐบาลชั่วคราว โดยมีเลซาเนีย เคเรส (Laisenia Qarase) เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาเขาได้รับการเลือกตั้งสองสมัย ในปี 2544 และ 2549 และได้กระทำการหลายอย่างที่สร้างความไม่พอใจให้กับกองทัพ

ชนวนของการรัฐประหารครั้งล่าสุด เกิดขึ้นจากการพยายามผ่านร่างกฎหมายในรัฐสภาสามฉบับ รวมถึงกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับการทำรัฐประหารปี 2543 โดยกองทัพได้กล่าวโจมตีรัฐบาลในประเด็นดังกล่าวเรื่อยมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2549 จนเมื่อเดือนตุลาคม 2549 กองทัพได้ยื่นคำขาด 9 ประการ ที่รัฐบาลจะต้องทำตาม ไม่เช่นนั้นจะให้ลาออกไป ข้อเรียกร้องดังกล่าวได้แก่ การนำผู้ทำรัฐประหารปี 2549 มาดำเนินคดี, ยกเลิกนโยบายที่สร้างความไม่เท่าเทียมกันระหว่างกลุ่มเชื้อชาติ, ปฏิเสธการแทรกแซงจากต่างชาติ, สร้างความโปร่งใสเรื่องงบประมาณและการคอรัปชั่น, ยุติการดำเนินคดีกับผู้นำกองทัพจากกรณีที่เขาฟ้องให้ศาลตรวจสอบตำแหน่งหน้าที่ของกองทัพ

ในเดือนพฤศจิกายน นายกรัฐมนตรีเคเรส พักการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรม, ยุติการดำเนินคดีต่อผู้นำทหาร และทบทวนตำแหน่งของผู้บัญชาการตำรวจ ซึ่งเป็นชาวออสเตรเลีย ซึ่งผู้นำทหารเห็นว่าเป็นการแทรกแซงของต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม ผู้นำกองทัพก็ไม่ยอมรับการประนีประนอม โดยกล่าวว่ารัฐบาลต้องทำตามข้อเรียกร้องให้ได้ทั้งหมด จนเมื่อวันเส้นตายดังกล่าวมาถึงในวันที่ 1 ธันวาคม กองทัพจึงประกาศว่ากำลังจะยึดอำนาจจากรัฐบาลฟิจิในวันที่ 3 ธันวาคม

หลังจากนั้น ฟิจิได้ตั้งรัฐบาลชั่วคราว โดยแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโจนา เซนิลากาคาลี (Jona Senilagakali) และแต่งตั้งให้ประธานาธิบดีคนเก่าราตู โจเซฟา อิโลอิโล (Ratu Josefa lloilo) รับตำแหน่งประธานาธิบดีปัจจุบัน และหนึ่งวันถัดมา ก็ให้ประธานาธิบดีลงนามแต่งตั้งผู้นำกองทัพ และผู้นำรัฐประหาร โจซาเซีย โวเรค แฟรงค์ บาอินิมารามา (Josaia Voreqe Frank Bainimarama) เป็นนายกรัฐมนตรีมาจนถึงปัจจุบัน

อ่านประกอบ

2006 Fijian coup d'état http://en.wikipedia.org/wiki/2006_Fijian_coup_d%27%C3%A9tat

000

 

06.08.51 มอริเตเนีย

ชื่อประเทศ สาธารณรัฐอิสลามมอริเตเนีย

จำนวนครั้งที่มีการรัฐประหาร 6 ครั้ง

รัฐประหารครั้งล่าสุด 6 สิงหาคม 2551

ระบอบการปกครอง สาธารณรัฐอิสลาม

สถานะปัจจุบัน มีประธานาธิบดีจากการเลือกตั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นผู้ทำการรัฐประหาร

ข้อมูลเพิ่มเติม

มอริเตเนียเป็นประเทศในทวีปแอฟริกาตะวันตก มีประชากรราว 3,350,000 คน เป็นประเทศยากจนที่ประชากรมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์มีรายได้ไม่ถึงวันละ 1.25 เหรียญสหรัฐ ประชากรทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนีย์

มอริเตเนียเคยตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสในช่วงปี 2443 จนมาประกาศอิสรภาพในปี 2503 ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ได้แก้ปัญหาการใช้แรงงานทาสโดยเพาะอย่างยิ่งคนที่ต่อต้านรัฐบาลจะถูกนำไปใช้แรงงานเพื่อเป็นการลงโทษ ซึ่งตามกฎหมายฝรั่งเศสถือเป็นความผิด แต่ปัจจุบัน มอริเตเนียก็ยังเป็นประเทศที่มีปัญหาสิทธิมนุษยชนสูง โดยเฉพาะปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานเด็ก

รัฐประหารครั้งแรก

แม้ว่าจะประกาศอิสรภาพจากฝรั่งเศส แต่ประธานาธิบดีคนแรกของมอริเตเนียก็ถูกแต่งตั้งโดยฝรั่งเศส และชนะการเลือกตั้งติดต่อกันหลายสมัย ภายใต้ระบบพรรคการเมืองเดียว จนกระทั่งถูกรัฐประหารในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2521ผลของการรัฐประหารนองเลือดครั้งนี้ทำให้ประเทศแทบย่อยยับ และมีการผลัดเปลี่ยนผู้นำโดยการรัฐประหารมาอีก 3 ครั้ง

ครั้งที่ 4 นายพันมาอูยา อููด์ ชิดอาเหม็ด ทายา (Maaouya Ould Sid'Ahmed Taya) ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2527 และขึ้นปกครองประเทศอย่างยาวนานตั้งแต่ 2527 – 2548 ภายใต้ระบอบของเขาแม้จะเปลี่ยนจากการนำโดยทหารมาสู่การมีการเมืองหลายพรรค แต่มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะนโยบายกีดกันชาวมอริเตเนียเชื้อชาติแอฟริกัน ทำให้มีผู้อพยพไปยังประเทศข้างเคียงหลายพันคน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังครองอำนาจอย่างยาวนานนายพัน มาอูยา อููด์ ชิดอาเหม็ด ทายา ก็ถูกรัฐประหารย้อนกลับมาเล่นงาน

รัฐประหาร 2 ครั้งหลัง

การรัฐประหารครั้งที่ 5 ของประเทศเกิดขึ้นเมื่อ มาอูยา อููด์ ชิดอาเหม็ด ทายา เดินทางไปร่วมพิธีบรมศพของกษัตริย์แห่งซาอุดิอาระเบีย ขณะที่เขาอยู่ต่างประเทศ คณะทหารก็เข้ายึดอาคารราชการ และอาคารกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ ในวันที่ 3 สิงหาคม 2548 และประกาศการรัฐประหาร พร้อมกำหนดแนวทางว่าจะปกครองประเทศเป็นเวลา 2 ปี เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย มาอูยา อููด์ ชิดอาเหม็ด ทายา พยายามตอบโต้กลับโดยกล่าวผ่านวิทยุแห่งชาติฝรั่งเศส จากสถานีที่ประเทศไนเจอร์ เรียกร้องให้คณะรัฐประหารคืนอำนาจแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ เขาต้องลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศกาตาร์และได้รับอนุญาตให้กลับประเทศได้ในปี 2549 แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมในการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยโดยมีผู้ลงชิงชัยจากหลายพรรค เกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม 2550 ผู้ได้รับชัยชนะคือ ซิดี อูด์ เชค อับดาลาฮี (Sidi Ould Cheikh Abdallahi)

6 สิงหาคม 2551 พล.อ.โมฮาเหม็ด อูล อับเดลอาซิซ (Mohamed Ould Abdel Aziz) ได้นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกครั้ง และในวันที่ 16 เมษายน 2552 นายพลอับเดลอาซิซก็ลาออกจากตำแหน่งเพื่อเข้าชิงชัยในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 19 กรกฎาคม 2552 และได้รับชัยชนะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี หากแต่ชัยชนะของเขานั้นไม่ได้ใสสะอาด และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเกิดจากการต่อรองระหว่างคณะรัฐประหารกับพรรคการเมืองฝ่ายค้าน

ประชาชนผู้สนับสนุน ซิดี อูด์ เชค อับดาลาฮี อดีตประธานาธิบดีออกมาประท้วงไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และผลของอาหรับสปริงก็จูงใจประชาชนให้ออกมาเดินขบวนประท้วงเขาอีกครั้งเมื่อปี 2554 แต่นายพลอับเดลอาซิซก็ยังคงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่จนถึงปัจจุบัน

อ่านประกอบ

2008 Mauritanian coup d'état http://en.wikipedia.org/wiki/2008_Mauritanian_coup_d'%C3%A9tat

Maaouya Ould Sid'Ahmed Taya http://en.wikipedia.org/wiki/Maaouya_Ould_Sid%27Ahmed_Taya

Mauritania, U.S. Department of State http://www.state.gov/j/drl/rls/hrrpt/2007/100493.htm

สาธารณรัฐอิสลามมอริเตเนีย, กระทรวงการต่างประเทศ http://www.mfa.go.th/main/th/world/71/page-4.html

Mauritania profile, BBC http://www.bbc.co.uk/news/world-africa-13881985

The Ritual of Military Coup in Mauritania, AFJN http://www.afjn.org/focus-campaigns/other/other-continental-issues/82-general/541-the-ritual-of-military-coup-in-mauritania.html

000

 

23.12.51 กินี

ชื่อประเทศ สาธารณรัฐกินี

จำนวนครั้งที่มีการรัฐประหา 2 ครั้ง

รัฐประหารล่าสุด23 ธ.ค. 2551

ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ เป็นระบบสภาเดียว โดยมีประธานาธิบดี ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เป็นประมุขแห่งรัฐ ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี โดยดำรงตำแหน่งได้ต่อกันไม่เกิน 2 วาระ และมีนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี เป็นผู้นำรัฐบาล

สถานะปัจจุบัน ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้ง

ข้อมูลเพิ่มเติม

สาธารณรัฐกินี อยู่ในทวีปแอฟริกาฝั่งตะวันตก พรมแดนพรมแดนด้านทิศเหนือจรดกินีบิสเซา และเซเนกัล พรมแดนด้านทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือจรดประเทศมาลี ตะวันออกเฉียงใต้จรดโกตดิวัวร์ ทิศใต้จรดไลบีเรีย และตะวันตกจรดเซียร์ราลีโอน มีประชากรประมาณ 11.2 ล้านคน (ปี 2555) ประกอบด้วยชนเผ่าเปิล (Peuhl) ร้อยละ 40 มาลินเค (Malinke) ร้อยละ 30 ซูสซู (Soussou) ร้อยละ 20และชนเผ่าอื่นๆ อีกร้อยละ 10

ย้อนดูประวัติของประเทศกินี การเปลี่ยนผ่านผู้นำของรัฐโดยการรัฐประหาร 2 ครั้ง

รัฐประหารครั้งแรก .. 2527

กีนีเป็นประเทศอาณานิคมของฝรั่งเศสที่เพิ่งแยกตัวเป็นเอกราช เมื่อ 2 ตุลาคม 2501 โดยประธานาธิบดีคนแรก นายอาเหม็ด เซคู ตูเร (Ahmed Séku Touré) มีนโยบายเอนเอียงเข้าทางค่ายยุโรปตะวันออก และจัดการปกครองประเทศตามแนวทางของมาร์กซิสต์ เมื่อถึงแก่อสัญกรรมในปี 2527 คณะทหารได้ทำการรัฐประหารและปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการทหาร จนกระทั่งปี 2534 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่และจัดให้มีการเลือกตั้ง โดยนายลานซานา คองเต้ (Lansana Conté) ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นครั้งแรกในปี 2536 และได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งอย่างต่อเนื่องในปี 2541 และในปี 2546 ตามลำดับ โดยในปี 2546 ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่งจากเดิม 5 ปี เพิ่มเป็น 7 ปีด้วย

รัฐประหารครั้งล่าสุด 23 .. 2551

เวลา 18.45 ตามเวลาท้องถิ่น ประธานาธิบดีคองเต้ถูกประกาศว่าถึงแก่อสัญกรรม หลังจากนั้น 6 ชั่วโมง คณะทหารได้เข้าทำการรัฐประหาร และตั้งคณะรัฐบาลทหาร โดยใช้ชื่อว่าสภาแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยและการพัฒนา (National Council for Democracy and Development) ผู้นำการรัฐประหารคือ ร.อ.มุสซา ดาดิส คามารา (Moussa Dadis Camara) คามาราก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี จากการรัฐประหารครั้งนี้

วันที่ 28 กันยายน 2552 พรรคฝ่ายค้าน สหภาพแรงงานและชาชนออกมาประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหาร มีรายงานว่าประชาชนเข้าร่วมประมาณ 50,000 คน กองทัพได้จัดการกับผู้ชุมนุมโดยใช้ความรุนแรง รายงานของฮิวแมนไรท์ วอทช์ระบุว่า มีผู้หญิงถูกข่มขืน 108 คน 28รายถูกข่มขืนแล้วยิงทิ้ง และบางรายถูกยิงที่อวัยวะเพศ

เหตุการณ์ที่ทหารกระทำความรุนแรงและละเมิดประชาชนถูกเก็บหลักฐานมากมายเพราะผู้ชุมนุมจำนวนมากใช้กล้องจากมือถือบันทึกได้ มีผู้เสียชีวิตจำนวน 157 คนและบาดเจ็บราว 1,200 คน กรณีนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของอัยการ ศาลอาญาระหว่างประเทศ

สหภาพแรงงานเรียกร้องให้คามารา ลาออกจากตำแหน่งสหภาพยุโรป และสหภาพแอฟริกา ลงโทษคามาราและคณะรัฐบาลทหารทั้ง 42 คนโดยการยกเลิกวีซ่า และอายัดบัญชีทั้งหมด ประชาคมเศรษฐกิจแอฟริกันกำหนดห้ามการเดินเรือของกินี สหรัฐอเมริกาห้ามการเดินทางเข้าประเทศ

3 ธ.ค. 2552 คามารา ถูกลอบยิงภายใต้คำสั่งของทหารคนสนิท (ทส.) ของเขาเอง โฆษกรัฐบาลประกาศว่าเขาได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย และรองประธานาธิบดีขึ้นทำหน้าที่แทน

ขณะที่คามารา บินไปยังบูร์กินา ฟาโซประเทศเพื่อนบ้านในแถบแอฟริกาตะวันตก และหารือกับประธานาธิบดี Blaise Compaoré (แบลซ กงปาออเร) ของบูร์กินา ฟาโซ ภายหลังการหารือ ผู้นำประเทศทั้งสองได้ออกมาแถลงร่วมกันว่า รัฐบาลทหารของกินีจะคืนอำนาจให้กับประชาชนภายใน 6 เดือน โดยมีหลักปฏิบัติ 12 ประการและเห็นพ้องว่ากองทัพจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในไม่ช้า

รัฐบาลทหารสิ้นสุดอำนาจลงเมื่อ อัลฟา คองเด (Alpha Condé) ได้รับเลือกตั้งในวันที่ 21 ธ.ค. 2553 และดำรงตำแหน่งอยู่จนถึงปัจจุบัน

อัลฟา คองเด เคยเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งพ่ายแพ้การชิงตำแหน่งประธานาธิบดีให้กับ ลานซานา คองเต้ ถึง 2 ครั้งสองคราในปี 1993 และ 1998 ตามลำดับ

เมื่อขึ้นสู่ประธานาธิบดี อัลฟา คองเดถูกลอบสังหารครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม2553 โดยเขาไม่ได้รับบาดเจ็บแต่ทหารอารักขาเสียชีวิต 2 นาย

อย่างไรก็ตาม ความวุ่นวายทางการเมืองยังคงมีอยู่ โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้ มีเหตุการณ์ประท้วงของฝ่ายค้านและประชาชนที่ไม่พอใจรัฐบาล ซึ่งลุกลามเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนสองเผ่า เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต 9 คน บาดเจ็บนับร้อยคนจากการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อสลายการชุมนุม

อ่านประกอบ

ICC prosecutor to examine Guinea killings http://www.reuters.com/article/2009/10/16/idUSLF20275._CH_.2400

Guinea: Stadium Massacre, Rape Likely Crimes Against Humanity http://www.hrw.org/en/news/2009/12/17/guinea-stadium-massacre-rape-likely-crimes-against-humanity

Moussa Dadis Camara http://en.wikipedia.org/wiki/Moussa_Dadis_Camara

Alpha Condé http://en.wikipedia.org/wiki/Alpha_Cond%C3%A9

สาธารณรัฐกินี http://sameaf.mfa.go.th/th/country/africa/detail.php?ID=60

000

 

28.06.52 ฮอนดูรัส

ชื่อประเทศ สาธารณรัฐฮอนดูรัส

จำนวนครั้งที่มีการรัฐประหาร 4 ครั้ง (2499, 2506, 2521, 2552)

รัฐประหารล่าสุด 28 มิถุนายน 2552

ระบอบการปกครอง สาธารณรัฐ

สถานะปัจจุบัน ประธานาธิบดีจากการเลือกตั้ง

ข้อมูลเพิ่มเติม

ฮอนดูรัสเป็นประเทศในอเมริกากลาง เป็นเอกราชจากเสปนในวันที่ 15 กันยายน 2364 จากนั้นถูกรวบเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเม็กซิกันที่ 1 จนกระทั่งประกาศเป็นเอกราชและใช้ชื่อประเทศว่า ฮอนดูรัส เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2381ปัจจุบันมีประชากรประมาณ 8,200,000 คน มีพรรคการเมืองใหญ่ 5 พรรคและผู้นำประเทศผลัดเปลี่ยนมาจากหลายพรรคการเมือง

ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ต่อเนื่อง และความตึงเครียดทางสังคม ฮอนดูรัสเป็นประเทศที่ติดอันดับการฆาตรกรรมสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีสถิติฆาตกรรม 82.1 รายต่อจำนวนประชากร 100,000 ราย (สถิติเมื่อปี 2553)

การรัฐประหารครั้งล่าสุด 28 มิถุนายน 2552 ประธานาธิบดี มานูเอล เซลายา (Manuel Zelaya) ของฮอนดูรัส ถูกทหารฮอนดูรัสจับกุมและส่งตัวไปยังคอสตาริกา โดยก่อนหน้านี้มานูเอล เซลายา ได้วางแผนให้มีการลงมติในวันที่ 28 มิ.ย. เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อขยายให้ประธานาธิบดีมีวาระดำรงตำแหน่งเป็นสองสมัย ขณะที่ทางศาลสูงสุดของฮอนดูรัสตัดสินให้การลงประชามติในครั้งนี้ไม่เป็นไปตามกฎหมาย

จากนั้นสภาฮอนดูรัสก็ออกมาแสดงจดหมายลาออกของมานูเอล เซลายา แต่เซลายาปฏิเสธว่าเป็นจดหมายปลอม

โรเบอร์โต มิเชลเลทตี ในฐานะผู้นำชั่วคราวของฮอนดูรัสระบุว่าเขาจะดำรงตำแหน่งจวบจนกระทั่งวาระทางการเมืองของมานูเอล เซลายา หมดลงในวันที่ 27 มกราคม ปี 2553 โดยก่อนจะหมดวาระ จะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนปี 2552

ประชาชนที่สนับสนุนเซลายาหลายร้อยคนออกมาประท้วง โดยมีบางคนสวมหน้ากาก ถือท่อนไม้ วางแนวป้องกันด้วยโซ่รั้ว พังป้ายโฆษณา ที่ใจกลางกรุงเทกูซิกาลปา (Tegucigalpa) เมืองหลวงของฮอนดูรัส และยังมีการปิดถนนที่นำไปยังที่ทำการประธานาธิบดี ขณะที่ประธานาธิบดีเซลายา ขณะที่ ฮูโก้ ชาเวซ ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา กล่าวว่าการชุมนุมของกลุ่มผู้สนับสนุนเซลายานั้นเป็นการกบฏจากคนยากจนในประเทศ "หากพวกคณาธิปไตยละเมิดกฎเกณฑ์ ประชาชนก็มีสิทธิ์ออกมาต่อสู้ ขัดขืน พวกเราเป็นพวกเดียวกัน"

การกำจัดเซลายาออกไปจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเขามีผู้สนับสนุนมากมาย และเซลายาเองก็ได้พยายามท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหารด้วยการข้ามพรมแดนเข้ามาพบผู้สนับสนุนของเขา รวมถึงหลบหนีเข้าไปพำนักในสถานทูตบราซิล จากนั้นก็ลี้ภัยการเมืองไปยังสาธารณรัฐโดมินิกัน

ถูกประณามจากหลายประเทศ การรัฐประหารที่เลวร้ายที่สุดของละตินอเมริกา

ท่าทีของมิตรประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา ออกมาในแนวทางเดียวกันนั้นคือหนุนเซลายาและต้านคณะรัฐประหาร ฮูโก้ ชาเวช กล่าวว่าเขาจะทำทุกวิถีทางเพื่อล้มผู้ที่ขับไล่เซลายา โดยชาเวซยังได้บอกอีกว่าจะต้องมีการสืบสวนว่าทางการสหรัฐฯ มีส่วนเกี่ยวข้องเหตุการณ์รัฐประหารในครั้งนี้ด้วยหรือไม่ ซึ่งทางการสหรัฐฯ ก็ออกมาปฏิเสธ โดยนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้นได้ออกมากล่าวว่า การทำรัฐประหารประธานาธิบดีมานูเอล เซลายา เป็นการละเมิดกฏบัตรประชาธิปไตยในประเทศเขตทวีปอเมริกา และสมควรถูกประณาม

รัฐมนตรีต่างประเทศของเอกวาดอร์ออกมาบอกว่าจะไม่ยอมรับรัฐบาลอื่นนอกจากรัฐบาลของเซลายา ขณะที่ประธานาธิบดีของอาร์เจนตินา คริสตินา คิทซ์เนอร์ บอกว่ารัฐประหารครั้งนี้ทำให้นึกถึงช่วงที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ละตินอเมริกา ประธานาธิบดี ลูอิซ อิกนาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ของบราซิลก็ออกมากล่าวในรายการวิทยุวันที่ 29 มิถุนายน ว่าประเทศบราซิลจะไม่ยอมรับรัฐบาลฮอนดูรัสที่ไม่มีเซลายาเป็นประธานาธิบดี เนื่องจากเซลายาได้รับเลือกตั้งจากการลงคะแนนโดยตรง ซึ่งเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย

รัฐมนตรีต่างประเทศของคิวบา บรูโน รอดริดจ์ ปาร์ริลล่า ก็ออกมากล่าวประณามรัฐประหารในครั้งนี้ด้วย

ประเทศอื่นๆ นอกละตินอเมริกา ที่ออกมาร่วมประณามการรัฐประหารจากมุมอื่นของโลกก็ได้แก่ ฝรั่งเศส สเปน และบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ก็ออกมาประณามการก่อรัฐประหารครั้งนี้ และเรียกร้องให้มีการคืนตำแหน่งให้กับตัวแทนที่ได้รับการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย ขณะที่ประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีนหรือไต้หวัน นายหม่า อิง-เจียว (Ma Ying-Jeou) ยกเลิกแผนการเดินทางไปเยือนฮอนดูรัส

ไม่ใช่การรัฐประหาร แต่เป็นการปกป้องรัฐธรรมนูญ

ด้านโรเบอร์โต มิเชลเลทตี ประธานสภาฮอนดูรัสและผู้นำชั่วคราว ออกมาเรียกร้องว่า "พวกเราเคารพทุกคนและพวกเราก็แค่อยากขอร้องให้พวกเขาเคารพเราด้วย และปล่อยให้เราอยู่อย่างสงบ เพราะว่าประเทศเรากำลังจะมีการเลือกตั้งที่อิสระและโปร่งใสในเดือนพฤศจิกายนนี้แล้ว" และในวันที่ ในวันที่ 29 มิถุนายน เอนริค ออร์เตส รัฐมนตรีต่างประเทศของฮอนดูรัสที่ได้รับการแต่งตั้งจากมิเชลเลทตี ออกมาระบุผ่านสถานีวิทยุ HRN ว่าไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น กองทัพแค่ออกมาปกป้องรัฐธรรมนูญ "ที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ต้องการแก้ไขโดยปราศจากหลักการและเป็นการดำเนินการอย่างผิดกฎหมาย"

เซลายาครองใจคนหัวก้าวหน้าหนุ่มสาว แม้ภายใต้รัฐบาลของเขาจะประสบปัญหาเศรษฐกิจมาก แต่ก็มีนโยบายประชานิยมหลายอย่างออกมา เช่น การศึกษาฟรี นโยบายอุดหนุนชาวนา ลดดอกเบี้ย เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ อาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียนยากจนกว่าล้านหกแสนคน รวมถึงระบบประกันสังคมให้กับคนงานในบ้าน

มานูเอล เซลายา ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 27 มกราคม 2548 โดยได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 49.9 จากผู้มาใช้สิทธิ์ทั้งหมด และมีที่นั่งในสภา 62 ที่นั่ง ขณะที่ โลโบ จากพรรคคู่แข่งได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 46.2 และมีที่นั่งในสภา 55 ที่นั่ง

ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีผู้ที่เป็นฝ่ายซ้ายจะชื่นชมเขาในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ และการปฏิรูปสังคมในขณะเดียวกันบางครั้งมันก็ทำให้เขามีความได้เปรียบด้านอำนาจทางเศรษฐกิจในฮอนดูรัส ขณะที่ฝ่ายหัวอนุรักษ์แสดงท่าทีต่อต้านนโยบายต่างประเทศของเขา  อย่างเรื่องที่เขาร่วมเป็นพันธมิตรกับฮูโก้ ชาเวซ ประธานาธิบดีเวเนซุเอลลา การให้ฮอนดูรัสเข้าร่วมกลุ่มสหพันธ์โบลิเวียนเพื่อประชาชนแห่งทวีปอเมริกา (Bolivarian Alliance for the People of Our America หรือ ALBA) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เวเนซุเอลลาตั้งขึ้นมาเมื่อต่อต้านเขตการค้าเสรีของอเมริกา (Free Trade Area of the Americas หรือ FFTA) รวมทั้งตัวเซลายายังได้กล่าววิพากษ์สหรัฐฯ และมีการเผชิญหน้าในภาคธุรกิจอยู่ตลอดเวลา

เลือกตั้งครั้งใหม่

ภายใต้ความตึงเครียดทางการเมืองของผลพวงจากการรัฐประหาร มีมีการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่  โดยผู้สมัครผู้แทนหลายร้อยรายถอนตัวเพื่อประท้วงอำนาจของคณะรัฐประหารที่ครอบงำการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็มีข้อเสนอให้คืนตำแหน่งให้กับเซลายา

ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2552 ก็มีการเลือกตั้งและผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งคือ Porfirio Lobo Sosa จากพรรคชาตินิยม ( National Party of Honduras) โดยได้รับชัยชนะเหนือคู่ชิงจากพรรค Liberal Party of Honduras ซึ่งเป็นพรรคการเมืองสังกัดของเซลายาที่ถูกยึดอำนาจไปโดยการรัฐประหาร และสภาจากการเลือกตั้งครั้งนี้ลงมติไม่คืนตำแหน่งให้เซลายา ขณะที่เซลายาก็วิจารณ์ผลการเลือกตั้งที่พรรคชาตินิยมชนะเลือกตั้งว่า ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างที่เอื้อต่อการรัฐประหาร และผู้ที่กระทำการรัฐประหารยังไม่ถูกลงโทษ และสภาได้เสนอกฎหมายนิรโทษกรรมผู้กระทำรัฐประหารด้วย

ปัจจุบันนี้ เซลายาดำรงตำแหน่งผู้แทนฮอนดูรัสในสภาอเมริกากลาง

อ่านประกอบ

ฐานข้อมูลประชาไท: รัฐประหารฮอนดูรัส http://goo.gl/mpEyVZ

000

 

18.02.53 ไนเจอร์

ชื่อประเทศ สาธารณรัฐไนเจอร์

จำนวนรัฐประหาร 4 ครั้ง

รัฐประหารครั้งล่าสุด 18 กุมภาพันธ์ 2553

ระบอบการปกครอง ระบอบสาธารณรัฐ แบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี

สถานะปัจจุบัน ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้ง ใช้รัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติช่วงรัฐประหาร

ข้อมูลเพิ่มเติม

สาธารณรัฐไนเจอร์ เป็นประเทศไม่มีทางออกทะเล ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 เกิดการรัฐประหารถึง 4 ครั้ง และใช้รัฐธรรมนูญมาแล้ว 5 ฉบับ นอกจากนี้ในด้านตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศติดกับประเทศมาลี มักจะเกิดการก่อกบฎโดยชนเผ่าทูอาเร็ก (Tuareg)

สำหรับการรัฐประหารครั้งล่าสุด มีมูลเหตุมาจาก มามาดู ทันจา (Mamadou Tandja) ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542

ในเดือนกรกฎาคมปี 2542 รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไนเจอร์ มีการบังคับใช้ โดยมีการฟื้นฟูรูปแบบการปกครองแบบกึ่งประธานาธิบดี กึ่งรัฐสภา ที่ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งมีวาระ 5 ปี และประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แบ่งอำนาจบริหารร่วมกัน โดยประธานาธิบดีมามาดู ทันจา (Mamadou Tandja) จากพรรคขบวนการเคลื่อนไหวแห่งชาติเพื่อการพัฒนาสังคม (Mouvement National pour la Societé de Développement - MNSD) ชนะการเลือกตั้ง

หลังดำรงตำแหน่งมาได้ 2 วาระ ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2552 ประธานาธิบดีทันจาได้ยุบสภา ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่เห็นชอบแผนการจัดลงประชามติเพื่อขยายอำนาจการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีจากเดิมจำกัดอยู่ที่ 2 วาระ เป็น 3 วาระ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างประธานาธิบดีกับฝ่ายค้าน

โดยประธานาธิบดีทันจาที่พยายามขยายวาระการดำรงตำแหน่งออกไป ด้วยการจัดลงประชามติรัฐธรรมนูญในวันที่ 4 สิงหาคม 2552 โดยผู้ลงประชามติร้อยละ 92.5 เห็นชอบให้ขยายวาระการดำรงตำแหน่งออกไป จากนั้นมีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่และตั้งสาธารณรัฐที่ 6

อย่างไรก็ตามพรรคฝ่ายค้าน นำโดยมาฮามาดู อิสซูฟู (Mahamadou Issoufou) ผู้นำฝ่ายค้านจากพรรคชาวไนเจอร์เพื่อประชาธิปไตยและสังคมนิยม (Nigerien Party for Democracy and Socialism-Tarayya หรือ NPDS-Tarayya) ได้จัดชุมนุมเรียกร้องให้ประธานาธิบดีทันจาลงจากอำนาจ และในวันที่ 8 สิงหาคม 2552 ผูู้นำฝ่ายค้านกล่าวหาว่า ประธานาธิบดีนจาได้ทำรัฐประหารและพยายามจะสถาปนาระบอบเผด็จการขึ้นในประเทศ และเรียกร้องให้ทันจายุติการดำรงตำแหน่งภายในเดือนธันวาคม 2552

ต่อมาในวันที่ 14 กันยายน 2552 อิสซูฟู ถูกจับกุมด้วยข้อหาใช้เงินผิดวัตถุประสงค์และได้รับการประกันตัว โดยเขากล่าวหาว่าการถูกจับเป็นการเล่นงานทางการเมือง และได้หลบหนีออกจากประเทศ ต่อมาในวันที่ 29 ตุลาคม 2552 มีการออกหมายจับไปยังต่างประเทศ และอิสซูฟู ได้กลับเข้ามาในประเทศโดยข้ามมาจากทางไนจีเรีย ด้วยเหตุผลว่า "เพื่อให้ความร่วมมือกับอำนาจตุลาการ"

ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 กองทัพที่นำโดยพลจัตวาซาลู ดิโบ (Salou Djibo) ได้ทำรัฐประหารประธานาธิบดีทันจา และมีการตั้งสภาสูงสุดเพื่อการฟื้นฟูประชาธิปไตยแห่งไนเจอร์ (CSRD) โดยตัวเขาเป็นหัวหน้าคณะ มีการขังประธานาธิบดีไว้ในค่ายทหาร ต่อมามีการย้ายอดีตประธานาธิบดีไปกักบริเวณภายในบ้านพักและย้ายไปขังในเรือนจำในเดือนมกราคม 2554

และในวันที่ 2 มีนาคม 2553 คณะรัฐประหารได้ตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลโดยให้คำมั่นว่าจะคืนอำนาจสู่ระบอบประชาธิปไตย และประกาศด้วยว่าคณะรัฐประหารและสมาชิกของรัฐบาลเฉพาะกาลจะไม่เข้าร่วมการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้น

ในปลายปี 2553 มีการลงประชามติ และมีการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรกในวันที่ 31 มกราคม 2554 และรอบสองในวันที่ 12 มีนาคม 2554 ผลการเลือกตั้งมาฮามาดู อิสซูฟู ผู้นำพรรค NPDS ชนะการเลือกตั้งร้อยละ 57.95 ส่วนเซนี อูมารู (Seyni Oumarou) คู่แข่งพรรคเดียวกับอดีตประธานาธิบดีที่ถูกทำรัฐประหารจากพรรค NMDS ได้คะแนนร้อยละ 42.05

อ่านประกอบ

Mahamadou Issoufou http://en.wikipedia.org/wiki/Mahamadou_Issoufou

Salou_Djibo http://en.wikipedia.org/wiki/Salou_Djibo

Mamadou_Tandja http://en.wikipedia.org/wiki/Mamadou_Tandja

Nigerien presidential election, 2011 http://en.wikipedia.org/wiki/Nigerien_presidential_election,_2011

000
 

21.03.55 มาลี

ชื่อประเทศ สาธารณรัฐมาลี

จำนวนรัฐประหาร 3 ครั้ง

รัฐประหารครั้งล่าสุด 21 มีนาคม 2555

ระบอบการปกครอง สาธารณรัฐแบบกึ่งรัฐสภา กึ่งประธานาธิบดี

สถานะปัจจุบัน คณะรัฐประหารยอมจัดการเลือกตั้ง และได้ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้ง

ข้อมูลเพิ่มเติม

การรัฐประหารครั้งล่าสุดในมาลี นักวิเคราะห์มองว่าเป็นผลพวงมาจากการลุกฮือของอาหรับสปริงในปี 2011 ทำให้อาวุธจากกลุ่มกบฎของลิเบียส่งมาที่กลุ่มกบฎทูอาเร็ก (Tuareg) ในมาลีมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้กลุ่มกบฎทางตอนเหนือสามารถเข้ายึดครองพื้นที่ในเขตคิดัล (Kidal) ทางตอนเหนือของมาลีได้ และประกาศเป็นประเทศใหม่ชื่อว่าอาซาวัด (Azawad) อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสามารถยึดพื้นที่ดังกล่าวคืนได้ภายหลัง

การรัฐประหารเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2555 เกิดขึ้นจากการประท้วงที่ต่อเนื่องหลายสัปดาห์ และประกอบกับการที่กองทัพได้เรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มงบประมาณด้านทหารและอาวุธเพื่อใช้ต่อสู้กับกลุ่มกบฎ แต่รัฐบาลไม่สามารถตอบสนองข้อเรียกร้องได้พอ และถูกมองว่าไม่สนับสนุนการต่อสู้กับกลุ่มกบฎอย่างเต็มที่ ทำให้กองทัพทำการรัฐประหารประธานาธิบดี Amadou Tounami Toure อดีตนายพล ก่อนเขาจะหมดตำแหน่งลงในอีกหนึ่งเดือนเท่านั้น และไม่ได้มีแผนที่จะลงแข่งเลือกตั้งต่อด้วย

ต่อมาในวันที่ 20 ส.ค. มีการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โดยมีดิองคุนดา ทาอูเร (Dioncounda Traoré) เป็นประธานาธิบดี และชีค โมดิโบ ดิอารา (Cheick Modibo Diarra) เป็นนายกรัฐมนตรี และมีสมาชิกส่วนใหญ่ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคณะรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขาดการสนับสนุนจากสภาสูงอิสลาม ทำให้นายกรัฐมนตรีถูกขับไล่ออกจากตำแหน่งโดยทหาร โดยโฆษกกองทัพระบุว่า เป็นเพราะนายกรัฐมนตรีพยายามจะอยู่ในตำแหน่งไปอีกยาวนาน และไม่ยอมเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ทำให้บางส่วนมองว่าเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 2

หลังจากแรงกดดันจากประชาคมนานาชาติ ทำให้ผู้นำทหารต้องยอมประกาศให้มีการเลือกตั้ง โดยการเลือกตั้งทั่วไปถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา และได้ประธานาธิบดีอิบราฮิม บูบากา เคตา (Ibrahim Boubacar Keita) ซึ่งยังอยู่ในอำนาจมาจนถึงปัจจุบันนี้

อ่านประกอบ

2012 Malian coup d'état http://en.wikipedia.org/wiki/2012_Malian_coup_d'%C3%A9tat

000

 

12.04.55 กินี-บิสเซา

ชื่อประเทศ สาธารณรัฐกินี-บิสเซา

จำนวนครั้งที่มีการรัฐประหาร 4 ครั้ง (14 พ.ย. 2523, 7 พ.ค. 2542, 14 ก.ย. 2546, )

รัฐประหารล่าสุด 12 เมษายน 2555

ระบอบการปกครอบ ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ

สถานะปัจจุบัน ประธานาธิบดีรักษาการ ตามการจัดสรรในระยะเปลี่ยนผ่านหลังรัฐประหาร

ข้อมูลเพิ่มเติม

กินี-บิสเซาตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา เป็นประเทศยากจน มีประชากรราว 1.63 ล้านคน เคยตกเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสอยูนาน 500 ปี และเป็นเอกราชเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2517 โดยกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญคือ African Party for the Independence of Guinea-Bissau and the Islands of Cape Verde (PAIGC) มีนายอามิลการ์ กาบราล เป็นผู้นำการเรียกร้องเอกราชมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 หลังจากได้เอกราชแล้วมีการจัดตั้งระบบพรรคการเมืองและสภาปฏิวัติ พร้อมทั้งประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

กินี-บิสเซาถูกปกครองโดยสภาปฏิวัติซึ่งมีนโยบายเอียงซ้ายอยู่ 10 ปี โดยมีผู้นำประเทศคือ Luis Cabral ต่อมาถูกทหารปฏิวัติในวันที่ 14 พ.ย. 2523 โดย Joao Vieira ผู้บัญชาการกองทัพซึ่งเป็นผู้นำการรัฐประหารกล่าวหาว่ากาบราลคอร์รัปชั่น และได้ขึ้นปกครองประเทศแทน Joao Vieira นำประเทศไปสู่การเป็นพรรคการเมืองหลายพรรค และพัฒนาเศรษฐกิจ แต่เขาถูกกล่าวหาว่าคอรรัปชั่น เป็นเผด็จการ และเอื้อประโยชน์พวกพ้อง แต่ต่อมาเมื่อจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในพ.ศ. 2537 เขาก็ยังได้รับการเลือกตั้ง

แต่ในวันที่ 7 พ.ค. 2542 เขาก็ถูกทหารทำรัฐประหาร และครั้งนี้ได้นำไปสู่สงครามกลางเมือง จนกระทั่งต้องอาศัยกระบวนการสันติภาพเข้าเยียวยาปัญหา และได้จัดให้มีการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2543 แต่ผู้ชนะการเลือกตั้งคือ Kumba Yala ก็ดำรงตำแหน่งอยู่ได้เพียง 3 ปีก็ถูกรัฐประหารอีกในวันที่ 14 ก.ย. 2546 โดยกองทัพให้เหตุผลของการทำรัฐประหารว่าเป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจ และสถานการณ์การเมือง

การเลือกตั้งถูกจัดขึ้นอีกครั้งใน  พ.ศ. 2548 คราวนี้ Joao Vieira กลับมาเป็นผู้ชนะอีกครั้ง ทว่าในวันที่ 2 มีนาคม 2552 Joao Vieira ก็ถูกทหารยิงเสียชีวิต จากนั้นโฆษกรัฐบาลขึ้นดำรงตำแหน่งแทนและจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 28 มิ.ย. 2552 ผู้ชนะเลือกตั้งคือ Malam Bacai Sanhá.

การรัฐประหารครั้งหลังสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2555 คว่ำประธานาธิบดี นายมานูเอล เซริโฟ ฮามาโจ (Manuel Serifo Nhamadjo) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งลงไป ทำให้กินีบิสเซายังรักษาสถิติไม่มีประธานาธิบดีที่ได้รับการเลือกตั้งคนใดดำรงตำแหน่งจนครบวาระ หากไม่เสียชีวิตไปก่อนก็ถูกลอบสังหาร หรือรัฐประหาร

ปัจจุบัน นายมานูเอล เซริโฟ ฮามาโจ (Manuel Serifo Nhamadjo) ทำหน้าที่รักษาการประธานาธิบดี ตั้งแต่ 11 พฤษภาคม 2555 เป็นส่วนหนึ่งของการจัดสรรทางการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่าน

อ่านประกอบ

ฐานข้อมูลกระทรวงการต่างประเทศ http://sameaf.mfa.go.th/th/country/africa/detail.php?ID=61

Tiny Guinea-Bissau becomes latest West African nation hit by coup http://www.mcclatchydc.com/2012/04/12/145057/tiny-guinea-bassau-becomes-latest.html#.UjtSPz_UWqI#storylink=cpy

Guinea-Bissau profile, BBC http://www.bbc.co.uk/news/world-africa-13443186

Guinea-Bissau http://en.wikipedia.org/wiki/Guinea-Bissau

000

 

03.07.56 อียิปต์

ชื่อประเทศ สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์

จำนวนครั้งที่มีการรัฐประหาร 3 ครั้ง (การปฏิวัติ 23 กรกฎาคม 1952, 11 ก.พ. 2554, 3 กรกฎาคม 2556)

รัฐประหารล่าสุด 3 กรกฎาคม 2556

ระบอบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ

สถานะปัจจุบัน รัฐบาลเฉพะกาล,วิกฤตการเมือง

ข้อมูลเพิ่มเติม

อียิปต์เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ปัจจุบันมีประชากรกว่า 85 ล้านคน เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์มาเป็นระบอบสาธารณรัฐ จากเหตุการณ์ปฏิวัติ 23 กรกฏาคม เมื่อปี 2495) โดยโค่นกษัตริย์ฟารุกลงจากอำนาจ ยกเลิกระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และสถาปนาสาธารณรัฐขึ้น การปฏิวัติครั้งนี้ยังหนุนด้วยอุดมการณ์ชาตินิยม ต่อต้านจักวรรดินิยม มีการสถาปนาวันชาติขึ้น ก็คือวันปฏิวัติ 23 กรกฎาคมนั่นเอง

รัฐประหาร 11 .. 2554

ตัดมาที่การเมืองในปัจจุบัน  ย้อนไปตั้งแต่ช่วงปรากฏการณ์ "อาหรับสปริง" กลุ่มประชาชนชาวอียิปต์ได้รับอิทธิพลจากการลุกฮือในตูนิเซีย ทำให้เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2554 ประชาชนจำนวนมากในอียิปต์พากันลุกฮือต่อต้านประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัค ซึ่งอยู่ในอำนาจมานานนับตั้งแต่ปี 2524 โดยในการประท้วงครั้งนั้นมีมวลชนจากหลากหลายแนวคิด ทั้งกลุ่มอิสลาม กลุ่มต่อต้านทุนนิยม กลุ่มชาตินิยม และกลุ่มเฟมินิสต์

หลังจากที่มีการปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 846 คน และบาดเจ็บราว 6,000 คน ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554 มูบารัคก็ยอมออกจากตำแหน่ง และมีการมอบอำนาจให้กับกลุ่มสภาทหารสูงสุดของอียิปต์ (Supreme Council of the Armed Forces หรือ SCAF) นำโดยโมฮาเหม็ด ฮุสเซน ทันทาวี ผู้นำเหล่าทัพในยุคนั้น

เลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่

ช่วงเดือน พฤษภาคม – มิถุนายน 2555 อียิปต์เริ่มมีการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ แต่ในระหว่างช่วงนั้นก็มีปัญหาเรื่องการสั่งยุบสภาฯ โดยศาลอียิปต์บอกว่ากฎหมายมาตราต่างๆ ที่ใช้ในช่วงเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2554 ไม่สามารถใช้ได้และเรียกร้องให้มีการยุบสภาทันที ด้วยเหตุนี้ทำให้สภาทหารฯ กลับมามีอำนาจบริหารอีกครั้ง ก่อนที่จะประกาศตัวสภาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในวันที่ 18 มิถุนายน 2555

มีการชุมนุมที่จัตุรัสทาห์รีย์อีกครั้งในวันที่ 19-24 มิถุนายน 2555 มีส่วนหนึ่งมาเพื่อต่อต้านการสั่งยุบสภาของสภาทหารฯ ซึ่งเกรงว่าอำนาจของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ให้อำนาจสภาทหารอย่างมากจะกลายเป็นการจำกัดอำนาจของประธานาธิบดีคนใหม่ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งมาเพื่อฟังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี

ในวันที่ 24 มิถุนายน 2555 มีการประกาศผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ โดย โมฮาเหม็ด มอร์ซี ผู้สมัครจากพรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิมได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 51.73 ขณะที่ อาห์เม็ด ชาฟิค ผู้สมัครอิสระได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 48.27

การงัดข้อกับศาลและสภาทหาร

ช่วงเดือนกรกฎาคม 2555 หลังจากมอร์ซี ดำรงตำแหน่ง เขาก็มีคำสั่งให้ ส.ส. ที่ถูกยุบสภาในช่วงที่สภาทหารฯ อยู่ในอำนาจกลับมาเปิดประชุมสภาอีกครั้ง เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ยอมรับการตัดสินใจในครั้งนี้ ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการงัดข้อกันระหว่างฝ่ายผู้นำจากภราดรภาพมุสลิมและศาลอียิปต์

ในวันที่ 12 สิงหาคม 255 มอร์ซี ก็สั่งปลดนายพลทันทาวี และซามี อันนัน สองผู้นำกองทัพออกจากตำแหน่ง โดยมีมวลชนส่วนหนึ่งชุมนุมสนับสนุน ซึ่งการปลดผู้นำกองทัพจากสภาทหารฯ ทำให้มอร์ซีมีอำนาจนิติบัญญัติกลับคืนมา

เริ่มชุมนุมต้านมอร์ซี

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2555 ก็มีประชาชนหลายพันหวนกลับมายังจัตุรัสทาห์รีย์ ซึ่งในคราวนี้เป็นการประท้วงต้านมอร์ซี หลังจากที่มอร์ซีออกประกาศกฤษฎีกาให้อำนาจเหนือการตรวจสอบแก่ตนเอง ในช่วงนั้นกลุ่มคณะตุลาการก็ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยเช่นกัน

1 ธันวาคม 2555 มอร์ซี ประกาศวันทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มีผู้ชุมนุมกลุ่มอิสลามออกมาแสดงการสนับสนุนที่มหาวิทยาลัยไคโร ขณะเดียวกันที่จัตุรัสทาห์รีย์ก็มีผู้ออกมาต่อต้าน

จนกระทั่ง 8 ธันวาคม 2555 มอร์ซี จึงยอมยกเลิกกฤษฎีกาพิเศษที่ให้อำนาจพิเศษแก่ตนเอง

ในวันที่ 15 และ 22 ธันวาคม 2555 จึงมีการลงประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีผู้เห็นชอบร้อยละ 63.83 ผู้ไม่เห็นชอบร้อยละ 36.17

การประท้วงใหญ่ล่าสุด-การรัฐประหาร

เรื่อยมาจนกระทั่งถึงการประท้วงใหญ่ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2556 ซึ่งการประท้วงดำเนินไปอย่างสงบจนกระทั่งมีกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลถูกสังหาร

1 กรกฎาคม 2556 กลุ่มผู้ชุมนุมต้านรัฐบาลส่วนหนึ่งได้เข้าไปทำลายอาคารที่ทำการของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในกรุงไคโร และในวันเดียวกัน กองทัพอียิปต์ได้ประกาศเส้นตาย 48 ชั่วโมง ว่าจะมีการแทรกแซงหากรัฐบาลยังหาทางจัดการความขัดแย้งไม่ได้ รัฐมนตรี 4 คนประกาศลาออก

2 กรกฎาคม 2556 รัฐมนตรีต่างประเทศประกาศลาออก ประธานาธิบดีมอร์ซีปฏิเสธไม่ยอมรับการขีดเส้นตายของกองทัพ บอกว่าจะใช้วิธีการแก้ปัญหาของตนเอง

3 กรกฎาคม 2556 ถึงกำหนดเส้นตาย มอร์ซีถูกสั่งกักตัวไว้โดยเชื่อว่าอยู่ที่ค่ายทหารของกองกำลังพิทักษ์สาธารณรัฐ รถถังเคลื่อนไปตามที่ต่างๆ และมีวางกำลังตามจุดสำคัญ จนกระทั่งผู้นำกองทัพประกาศแถลงการณ์ยกเลิกอำนาจของมอร์ซี และแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญ อาดลี มานซูร์ ขึ้นเป็นรักษาการประธานาธิบดี

การรัฐประหารครั้งล่าสุดนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกอธิบายในทิศทางที่ต่างกัน ประชาชนกลุ่มที่ไม่เห็นชอบกับมอร์ซีอธิบายว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เรียกว่าการรัฐประหาร แต่เป็นการทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองเพื่อตอบสนองกับความต้องการของประชาชน อย่างไรก็ตามเหตุการณ์นองเลือดก็ตามมาหลังจากนั้นเพียงชั่วข้ามคืน เมื่อกลุ่มประชาชนที่สนับสนุนมอร์ซีจำนวนมากเคลื่อนขบวนออกมาต่อต้านรัฐประหาร และถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ประชาชนทั้งฝ่ายต่อต้านและสนับสนุนประธานาธิบดีมอร์ซีปะทะกันได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตทั้ง 2 ฝ่าย

เหตุการณ์ทางการเมืองในอียิปต์ยังคงไม่สงบจนกระทั่งปัจจุบัน

อ่านประกอบ

ฐานข้อมูลประชาไท: อียิปต์ http://goo.gl/OWIScX

สาระ+ภาพ: การเมืองอียิปต์ตั้งแต่อาหรับสปริง 2011 - รัฐประหาร 2013

http://prachatai.com/journal/2013/07/47525

ฐานข้อมูลกระทรวงการต่างประเทศ

http://sameaf.mfa.go.th/th/country/africa/detail.php?ID=19

ฐานข้อมูล Africa Faith and Justice Network

http://www.afjn.org/component/search/?searchword=egypt+coup&ordering=&searchphrase=all

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช: ใครคือคนเสื้อแดง

Posted: 20 Sep 2013 09:34 AM PDT

ความขัดแย้งทางการเมือง การเคลื่อนไหวทางการเมือง คัดค้าน ต่อต้าน มุ่งโค่นล้มรัฐบาลของฝ่ายตรงข้าม ได้เริ่มพัฒนาต่อเนื่องตั้งแต่ ปี พ.ศ.2548 จนถึงปัจจุบัน และเกิดปะทุรุนแรงหลายครั้ง เริ่มตั้งแต่การรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งเมื่อ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ฉีกรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2540, จากนั้น การปะทะกัน เมื่อตุลาคม 2551, เมษายน-พฤษภาคม 2552, เมษายน-พฤษภาคม 2553 แบ่งเป็นมวลชนเสื้อเหลืองและมวลชนเสื้อแดง

เสื้อเหลือง สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องสนับสนุนให้ทหาร และศาลมีบทบาทเกี่ยวข้องทางการเมืองสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายตนเองให้มีอำนาจปกครองแม้จะพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ในขณะที่ฝ่ายเสื้อแดงสนับสนุนพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทยที่เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง แต่เป็นฝ่ายเสียเปรียบทุกครั้งที่มีเรื่องถึงศาลและองค์กรอิสระ จนเกิดคำขวัญและเป้าหมายการต่อสู้เป็น "สู้กับความไม่เป็นธรรม : สองมาตรฐาน"

คำถามสำหรับนักวิชาการทางสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์ จึงมีคำถามว่า "ใครคือคนเสื้อแดง? เศรษฐฐานะเป็นอย่างไร ? ทำไมจึงชุดของความเห็นทางการเมืองเป็นเช่นนั้น? ได้มีการศึกษาประเด็นนี้อยู่บ้าง แต่ยังอธิบายความแตกต่างของเศรษฐฐานะของ "เหลือง-แดง" ไม่ชัดเจน จึงขอแลกเปลี่ยนความเห็นด้วย

ด้วยความเชื่อพื้นฐานว่า สถานะการดำรงอยู่ในสังคมเป็นปัจจัยกำหนดความคิด ความเห็น และการตัดสินใจทางการเมือง และมีลักษณะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา (dynamic) ด้วยความสงสัยและอยากรู้เรื่องนี้ ได้ร่วมถกแถลงแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อมูลกับท่านผู้รู้หลายท่าน ตั้งสมมติฐานและหาข้อมูลสนับสนุน ในที่นี้ขอนำข้อวิเคราะห์ของดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ และคณะ ที่รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และ สำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไว้น่าสนใจมาก สรุปในข้อ 1-3 ดังนี้

1) ความยากจนลดลงอย่างมากมาย แม้ช่องว่างระหว่างผู้มีรายได้สูงกับผู้มีรายได้ต่ำยังดำรงอยู่



จากตารางจะเห็นว่า สัดส่วนของคนไทยที่รายได้ต่ำกว่า 'เส้นความยากจน' ลดลงอย่างชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง ปี 1988 กับ 2009 โดยมีกรุงเทพฯมีสัดส่วน น้อยที่สุด ในขณะที่ภาคอีสานมีคนมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนสูงสุด ทั้งนี้ ทั้งประเทศมีสัดส่วน ของผู้มีรายได้ต่ำกว่าความยากจน ลดจาก 17.2% ในปี 1994 เป็น 7.2% ในปี 2009
 

2) ระดับการครองชีพและวิถีชีวิตเปลี่ยนไป โดยเป็นวิถีชีวิตของชนชั้นกลางมากขึ้นมาก

ดังเห็นได้ว่า ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่วัดช่วง 1960-1969 เทียบกับ 2000-2009 ดังนี้

2.1) สัดส่วนของผู้มีรายได้ ต่ำกว่าเส้นความยากจน เปลี่ยนแปลงลดลงจาก ร้อยละ 96% ในช่วง1960-1969 เหลือเป็น 13% ในช่วง 2000-2009

2.2) สุขภาพอนามัยดีขึ้นมาก โดยดูจากตัวชี้วัดด้านอัตราการตายของทารก (infant mortality rate) จาก 15%ในช่วงปี 1960-1969 ลดลงเหลือ อัตรา <1% ในช่วง 40 ปีต่อมา ช่วง 2000-2009

2.3) การศึกษาพื้นฐาน เราเปลี่ยนสัดส่วนผู้มีโอกาสเรียนจบประถมศึกษา จากพียง 36% เมื่อ 1960-1969 เป็น 100% ในช่วง 2000-2009

2.4) กลุ่มอาชีพต่างๆ ที่ถือว่ายากจนมีรายได้ เฉลี่ย 219-320% ของเส้นความยากจน กล่าวคือ 'เกษตรรับจ้าง' ที่ถือว่ามีรายได้ต่ำที่สุดยังไดัรับ 219% ในขณะที่ 'คนจนเขตเมือง' มีรายได้ 320% ของเส้นความยากจน ย่อมเป็นตัวชี้วัดได้ว่า ส่วนใหญ่ชาวไทยพ้นจากความยากจนแล้ว

2.5) โทรศัพท์มือถือทั่วถึง เชื่อมความรับรู้และสื่อข่าวสาร
ประชาชนมีโทรศัพท์มือถือ 20.59%เมื่อ พ.ศ.2003เป็น 54.82%ในปีพ.ศ.2009 โดย กทม. มีโทรศัพท์ใช้สูงสุดถึง 83.26 % ในขณะที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีใช้ต่ำสุด คือ 48.62%

โดยสรุปแม้จะมีชาวไทย 7.2% มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน แต่ประชาชนส่วนใหญ่ มีรายได้ พออยู่พอกิน สุขภาพดีขึ้น มีการศึกษาทั่วถึง มีการสื่อสารทั่วถึงที่จะเชื่อมโยงความรับรู้ของคนในครอบครัวที่ย้ายมาทำมาหากินในภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ให้รายได้ดีกว่า หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ประชากรที่ยากจนในชนบทได้ยกระดับเป็นชนชั้นกลางมีสุขภาพ การศึกษา และการรับรู้สื่อข่าวสารดีดุจเดียวกันหรือใกล้เคียงกับคนชั้นกลางในเมือง
 

3) นโยบายรัฐบาลทักษิณสร้างงานให้เอกชน ที่เพิ่มการจ้างงาน ลดความเติบโตของภาครัฐ เป็นผลที่สอดคล้องกับวิถีเปลี่ยนของสังคม และให้อำนาจกับประชาชนที่เคยด้อยโอกาสมาก่อน

จากตารางข้างบน เห็นชัดว่า การจ้างงานภาคเอกชนและการเป็นเจ้าของกิจการเอกชนเติบโตมากในยุค 2001-2005 และชะลอตัวหลังจากการรัฐประหาร เมื่อ 2006 เป็นต้นไป (กราฟบนซ้าย) และเห็นเปรียบเทียบการจ้างงานภาครัฐและเอกชนได้ชัดว่า การจ้างงานของเอกชนโตขึ้นมาก ในยุครัฐบาลทักษิณ 2001-2005 และลดลงอย่างเห็นได้ชัด หลังรัฐประหาร หลัง 2006 ที่ลดอำนาจและโอกาสของภาคเอกชน แต่ฟื้นอำนาจของภาคราชการ (กราฟบนขวา) และยิ่งเปรียบเทียบกับตารางการสร้างงานจำแนกรายปี ยิ่งเห็นชัดถึงจำนวนหน้าที่การงาน ที่เพิ่มขึ้น ระหว่าง 2001-2005 รวมเท่ากับ 3.36 ล้านงาน ในขณะที่ หลังรัฐประหาร ระหว่าง 2006-2010 สร้างงานได้เพียง 1.75 ล้านงาน

แน่นอนที่สุดข้อมูลหยาบไปที่จะได้ข้อสรุป แต่กลายที่ข้อสนับสนุนสำคัญกับแนวคิดนโยบาย "ขจัดความยากจน ด้วยการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส" "เน้นการเติบโตสร้างงาน สร้างรายได้ของประชาชน" เช่น การสนับสนุนการสร้างธุรกิจ SME, (กู้วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ที่สถาบันการเงิน และธุรกิจขนาดใหญ่เกิดปัญหารุนแรงด้านการเงิน), การพักหนี้เกษตรกร, กองทุนหมู่บ้าน, ธนาคารประชาชน การส่งเสริมการสร้างรายได้จากโครงการ OTOP, การเพิ่มรายได้เกษตรกรโดยการดูแลราคาพืชผลเกษตร เช่น ยางพารา ข้าวสาร ผ่านความเข้าใจที่ถูกต้องของกลไกตลาด นโยบายเหล่านี้ นอกจากสร้างโอกาสสร้างรายได้ แล้วยังสร้างโอกาสสร้างผู้ประกอบการใหม่ๆ อาชีพใหม่ๆ รายเล็กรายน้อยมากมายอีกด้วย ซึ่งเป็นการเสี่ยงลงทุนด้วยตนเอง
 

4) การเร่งรัดเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและโครงสร้างทางสังคมอันเป็นผลจากการก้าวรุดหน้าของเทคโนโลยี ทำให้ดุลย์อำนาจทางการเมืองในสังคมปรับตัวตามไม่ทัน นำมาซึ่งความขัดแย้งที่รุนแรงในสังคม

การพัฒนาแบบเปลี่ยนผ่าน (transition) จากสังคมแบบดั้งเดิมที่ประชากรส่วนใหญ่พึ่งพิงวิถีการผลิตแบบเกษตรกรรมล้าหลังและมีฐานะทางเศรษฐกิจยากจน จึงมีอำนาจ (การเมือง) และโอกาสที่อ่อนด้อยกว่าประชากรส่วนน้อยอยู่อาศัยอยู่ในเมืองที่พึ่งพิงวิถีการผลิตและความสัมพันธ์ทางสังคมแบบอุตสาหกรรมและบริการที่ทันสมัยกว่า และกระจุกตัวในเมือง เขาเหล่านั้น จึงมีฐานะเศรษฐกิจที่เหนือกว่า กุมอำนาจและสิทธิประโยชน์สืบเนื่องมาแต่เก่าก่อน เราอาจเรียกกลุ่มชนส่วนใหญ่ของสังคมเมืองและมีอำนาจเหล่านี้ว่า "ชนชั้นกลางเก่า"

แต่เทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์และการสื่อสารที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งรัดทำให้อัตราการเปลี่ยนแปลงของการผลิต (productivity) ในภาคอุตสาหกรรม ก้าวพัฒนารวดเร็ว ทำให้เกษตรกรผู้ยากไร้ในชนบท มีโอกาสศึกษามากขึ้น และระดับการศึกษาสูงขึ้นด้วย หางานในตลาดแรงงานของภาคอุตสาหกรรมและบริการในเขตเมืองที่ให้รายได้ดีกว่า ส่งถ่ายรายได้และความเจริญครอบครัวที่บ้านเกิดในชนบท การสื่อข่าวสาร การเรียนรู้ และวัฒนธรรมได้ถ่ายทอดผ่านการสื่อสารและสื่อสารมวลชน สังคมชนบทจึงถูกแปรเปลี่ยนเป็น "ชนชั้นกลางใหม่" ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจใกล้เคียง ทัดเทียม ชนชั้นกลางเก่า ส่วนหนึ่งอพยพย้ายถิ่นฐานไปในกรุงเทพฯ และหัวเมืองในจังหวัดต่างๆ เพื่อหาโอกาส หารายได้ ความก้าวหน้าและโอกาสการศึกษาให้ตนเองหรือลูกหลาน
 

5) "ชนชั้นกลางใหม่" คือผู้ใกล้ชิดกลไกตลาด อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง
"ชนชั้นกลางใหม่" ไม่ใช่เป็นเรื่องฐานะเศรษฐกิจดีทัดเทียม "ชนชั้นกลางเก่า" หรือ เป็นผู้ที่พึ่งได้โอกาสเลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจขึ้นมาทัดเทียมเท่านั้น เพราะเมื่อพิจารณาถึงความคิดทางการเมือง ก็ต้องเป็นกลุ่มที่มีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะต้องการสิทธิและโอกาสตัดสินใจเสี่ยงลงทุนด้วยทรัพย์สินทั้งที่เป็นเงินตรา หรือ ไม่ใช่เงินตราของตนเอง (เช่น การแยกที่อยู่อาศัยจากครอบครัวเพื่อให้ใกล้แหล่งทำมาหากิน) ด้วย ทั้งนี้ พวกเขาไม่เคยมีความปราถนาที่จะล้มล้างระบบการปกครองเก่า หรือระบบรัฐใดๆ มีแต่เพียงความต้องการ "ขอมีสิทธิด้วย" เท่านั้น คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ ได้แก่ ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงโดยอ้อมในฐานะ "เจ้าของกิจการ" (entrepreneurship) ที่ต้องการใกล้ชิดข้อมูล หน่วยงาน ข่าวสาร และมีความอ่อนไหวกับภาวะการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมแวดล้อมมากกว่า ทั้งนี้รวมไปถึงผู้ประกอบการค้าขายรายย่อย ที่ตัดสินเสี่ยงโชคชะตามาหากินในเมืองใหญ่ เพราะมีแรงผลักดันที่จะไขว่คว้าหาโอกาสใหม่ที่ดีกว่า และอย่าได้เข้าใจผิดว่าคนชั้นกลางใหม่นี้ จำกัดอยู่แต่ในเขตเมืองเท่านั้น หากแต่แผ่ซ่านไปในเขตชนบทด้วย เพราะการผลิตภาคเกษตรที่ก้าวหน้าขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ต้องอยู่ใกล้ชิดกับ "ตลาด" มากขึ้น มีความอ่อนไหวกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและภาวะตลาดมากขึ้น ตลอดจนการศึกษาและการประชาสัมพันธ์ของรัฐและผู้ประกอบการต่างๆในภาคเอกชน ก็ได้ยกระดับความรู้ความเข้าใจกว้างขวางทำให้เข้าใจสิทธิของตนเอง

ในขณะที่กลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานส่วนไม่น้อยในองค์กรหรือ กลุ่มบริษัทใหญ่ที่กิจการมั่นคงก็จะมีโน้มโน้มมีความเสี่ยงเรื่องรายได้น้อยกว่า แต่มีฐานะเศรษฐกิจพอมีพอใช้ก็มีแนวโน้มความคิดใกล้ไปทางชนชั้นกลางเก่าหรือไม่

ความปรารถนาต้องการสิทธิและโอกาสที่ดีขึ้นของชนชั้นกลางใหม่ เพื่อให้ทัดเทียมชนชั้นกลางเก่า เพราะกำลังทางเศรษฐกิจแข็งแรงขึ้น ในระยะเปลี่ยนผ่านนี้ ก่อตัว ขยายตัวรวดเร็วและรุนแรง ถ้าสังคมและการจัดแบ่งปันอำนาจทางการเมือง หรืออำนาจในการจัดสรรโอกาสและทรัพยากรนี้พัฒนาได้รวดเร็วเท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมก็พัฒนาไปอย่างราบรื่น ตรงกันข้าม ถ้าเปลี่ยนไม่ทัน ก็นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองและสังคม กล่าวคือ ชนชั้นกลางใหม่ย่อมปราถนาสิทธิเท่าเทียมชนชั้นกลางเก่าที่ยึดกุมอำนาจและสิทธิประโยชน์ที่เหนือกว่าอยู่ก่อน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง สิ่งที่ชนชั้นกลางใหม่จึงปราถนา ก็คือ "ความเป็นประชาธิปไตย หรือสิทธิและโอกาสทัดเทียมกัน" นั่นเอง ชนชั้นกลางเก่าที่อาศัยหนาแน่นอยู่ในเมืองอยู่ก่อน จึง "รู้สึกเหมือนกำลังถูกเบียดบัง ช่วงชิงสิทธิโอกาสที่เคยมีเหนือกว่าอยู่เดิม" ไปโดยปริยาย

หากสังคมค่อยๆ เปลี่ยนผ่าน ปรับตัวได้อย่างช้าๆ ก็จะไม่เกิดความขัดแย้งขนาดใหญ่และรุนแรงจนบังเกิดการเสียสมดุลของสังคม แต่การณ์มิได้เป็นเช่นนั้น เพราะการพัฒนาของเทคโนโลยี การผลิต และการสื่อสาร เร่งรัดการเปลี่ยนแปลงมากของสังคม การยอมรับการเปลี่ยนแปลงของสมาชิกในสังคมโดยเฉพาะ "ชนชั้นกลางเก่า" ที่อาศัยอยู่ในเมืองแต่เก่าก่อน รู้สึกเสียประโยชน์ และรับไม่ค่อยได้กับการเปลี่ยนแปลง และเลยเถิดไปถึงอาจต่อต้านวิถีการเปลี่ยนแปลงของสังคม จนเป็นมูลเหตุที่แท้จริงของความขัดแย้ง "เหลือง -แดง" ครั้งนี้หรือไม่ และหากวาดเส้นแบ่งกลุ่มที่มีความคิดโน้มไปทางสีแดงก็จะเห็นว่าซ้อนทับกับกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ ในขณะที่เส้นแบ่งของกลุ่มที่มีความคิดโน้มไปทางสีเหลืองก็จะซ้อนทับกับชนชั้นกลางเก่า กล่าวโดยสรุปคือ สีเหลืองคือผู้มีความคิดแบบชนชั้นกลางเก่า ส่วนสีแดงคือผู้มีความคิดแบบชนชั้นกลางใหม่นั่นเอง
 

6) การกำหนดนโยบายของพรรคไทยรักไทย และการบริหารงานของรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร สอดคล้องต้องกับวิถีการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่พัฒนาเปลี่ยนผ่าน (transition) จากสังคมแบบดั้งเดิม การที่กำหนดนโยบาย และทำนโยบายให้เป็นจริงดังกล่าว ภายใต้หลักการ

6.1) กำหนดเป้าหมายที่สร้างรายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ โดยหวังความนิยมทางการเมืองในพรรคเป็นผลพลอยได้

6.2) ลดน้ำที่ราก คือ ให้ความสำคัญ ตั้งแต่ระดับ รากหญ้าที่เป็นฐานสำคัญในโครงสร้างของสำคัญ ทำให้กลุ่มที่รายได้ปานกลางและสูงได้ประโยชน์ไปด้วย

6.3) ใช้หลักการดำเนินโดยภาพรวม "ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส" ไปพร้อมๆ กัน เช่น "30 บาท รักษาทุกโรค" "พักหนี้เกษตรกร" เป็นการลดรายจ่าย กองทุนหมู่บ้าน, OTOP, ส่งเสริม SME, เพิ่มราคาพืชผลเกษตร ตลอดจนริเริ่มกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ล้วนเป็นการเพิ่มรายได้ และ ขยายโอกาส เป็นต้น

6.4) ผู้ที่เดือดร้อน หรือยากจนที่สุดจะได้รับประโยชน์ "ก่อน" และเป็น "รูปธรรม" ในขณะที่ผลประโยชน์ที่ทำมาค้าขึ้นของชนชั้นกลางแต่เดิม "ได้ประโยชน์เป็นผลสืบเนื่อง" จากกำลังซื้อที่เพิ่มจากการทำมาค้าขึ้นหลังจากนั้น ตัวชี้วัดสำคัญขอให้ไปดูสถิติการเติบโตของการสร้างรายได้ในชนบทด้วยอัตราสูงกว่าในเมือง จากข้อมูลการเก็บภาษีสรรพกรในต่างจังหวัด ทั้งจาก ภาษีนิติบุคคล และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม

6.5) การให้โอกาส คือการให้อำนาจประชาชน (empower) รัฐบาลสร้างโอกาสและศักดิ์ศรีเท่าเทียม เช่น โครงการ30 บาทรักษาทุกโรค กลายเป็นสิทธิที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ต้องร้องขอการสงเคราะห์จากภาครัฐ, OTOP ทำให้ประชาชนเข้าใจ และมีอำนาจ เข้าถึงตลาด หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่ง "ประชาชนได้รับสิทธิที่จะเสี่ยงลงทุนด้วยทุนและกำลังของตนเอง" การเพิ่มขึ้นของการจ้างงานและการเพิ่มขึ้นของการเป็นเจ้าของกิจการ ดังสถิติ (จากข้อ 3 ข้างต้น) ในระยะที่พรรคไทยรักไทยอยู่ในอำนาจเปรียบเทียบกับหลังการรัฐประหารน่าเป็นตัวชี้วัดที่ดีในข้อนี้ด้วย


7) การศึกษาฐานะทางเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ อาจแยกแยะ "เสื้อเหลืองและเสื้อแดง" ออกได้ไม่ชัด หากดูเปรียบเทียบเฉพาะรายได้ โดยไม่ดูลึกถึงผู้ได้ประโยชน์จากนโยบาย แม้ต่างเป็นชนชั้นกลางด้วยกัน แต่ "ชนชั้นกลางใหม่" ได้รับโอกาสใหม่ๆ จากนโยบายในการสร้างรายได้ หรือศักดิ์ศรี ที่ได้รับเพิ่มขึ้นย่อมเป็นผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทยที่มีนโยบายสนับสนุนพวกเขา ในทางตรงข้าม "ชนชั้นกลางเก่า" เหมือนถูกท้าทาย ถูกเบียดบังอภิสิทธิ์ที่เคยทำให้ตนเหนือกว่าคนอื่น (โดยเฉพาะผู้ที่มีเศรษฐฐานะที่ต่ำกว่าในอดีต) ย่อมไม่พอใจ ดังนั้น ลูกจ้างบริษัทใหญ่ มั่นคง ข้าราชการอาจมีสัดส่วนความเห็นทางการเมืองค่อนไปเป็นชนชั้นกลางเก่าหรือไม่ ประชาชนจากภูมิภาคที่มีเศรษฐฐานะดีกว่าอยู่ก่อนในอดีต เช่น ส่วนใหญ่ประชาชนในกรุงเทพฯ ภาคกลาง และภาคใต้มีแนวโน้มสอดคล้องกับชนชั้นกลางเก่าหรือไม่ ในขณะที่ประชาชนจากภูมิภาคที่เคยยากจนกว่า เช่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ มีโอกาสดีขึ้น ลูกหลานมีโอกาสทำงาน ลงทุนสร้างงาน สร้างรายได้ดีขึ้นจากการบริหารนโยบายของรัฐบาลพรรคังกล่าว จะมีแนวโน้ม "ขอมีสิทธิ์ด้วย" ของชนชั้นกลางใหม่ จึงเป็นคำถามวิจัยทางรัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ที่น่าสนใจติดตามต่อไป


  
นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช
8 กันยายน 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงานเสวนา “เบื้องหลังรัฐประหาร 6 ตุลา 19 ถึง 19 กันยา 49 สำเนาถูกต้อง”

Posted: 20 Sep 2013 09:24 AM PDT

"จรัล-พนัส-อชิรวิทย์-ศิโรตม์" ร่วมถก 'ความเหมือน-ความต่าง' เบื้องหลังรัฐประหาร 6 ตุลา 19 ถึง 19 กันยา 49 ระบุศาลยอมรับ รปห. ผลพวง รปห.2490 ในฐานะ "รัฏฐาธิปัตย์"

ภาพจากเฟซบุ๊ก Watthana Praisonta
 
19 ก.ย.56 อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ แยกคอกวัว คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ จัดเสวนา "เบื้องหลังรัฐประหาร 6 ตุลา 19 ถึง 19 กันยา 49 สำเนาถูกต้อง" โดยมี จรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานคณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีต ส.ส.ร.รัฐธรรมนูญ 2540 และ ส.ว.เลือกตั้ง พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช และ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ร่วมเสวนา

ภาพจากเฟซบุ๊ก Watthana Praisonta

จรัล ดิษฐาอภิชัย วิเคราะห์ความเหมือนระหว่างเหตุการณ์รัฐประหาร 6 ต.ค.19 กับ 19 ก.ย.49 ดังนี้

1.     เป็นการรัฐประหารที่เกิดขึ้นหลังการคลื่อนไหวใหญ่ของมวลชนฝ่ายขวา 6 ต.ค.19 นั้นมีการเคลื่อนของกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน นวพล กระทิงแดง ขณะที่ 19 ก.ย.49 นั้นมีการเคลื่อนไหวใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

2.     รัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง อ้างเหตุที่ทำเหมือนกันคือเนื่องจากมีการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์จึงทำการรัฐประหาร

3.     ตั้งชื่อคล้ายกัน กรณี 6 ต.ค. นั้นคณะรัฐประหารใช้ชื่อ "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" ขณะที่ 19 ก.ย. นั้นใช้ชื่อ "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

ขณะที่ความแตกต่าง จรัล วิเคราะห์ว่า เหตุการณ์รัฐประหาร 6 ต.ค.19 นั้น เกิดขึ้นหลังจากมีการสังหารหมู่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะที่รัฐประหาร 19 ก.ย. นั้นไม่มีการฆ่าใคร รวมทั้งรัฐประหาร 6 ต.ค.19 สถาปนารัฐบาลขวาจัด โดยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร แต่ 19 ก.ย. นั้นสถาปนาระบอบเผด็จการอ่อนๆ

จรัล กล่าวด้วยว่าคณะรัฐประหารทั้ง 2 ครั้งนั้น มีสถานการณ์คล้ายๆ กันคือความคิดที่ว่าหากไม่ทำการรัฐประหารประเทศไทยก็จะไม่สามารถรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยกรณี 6 ต.ค.19 นั้นก็กลัวว่าจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์

จรัล วิเคราะห์ว่า การรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 นั้น มีลักษณะพิเศษ คือ

1.     เป็นการรัฐประหารครั้งแรกที่ปัญญาชนชั้นกลางค่อนข้างมากเห็นด้วย

2.     เป็นการรัฐประหารครั้งแรกที่มีผู้ไม่เห็นด้วยออกมาต่อต้านในทันที ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการรัฐประหารครั้งนี้สถาปนาเพียงเผด็จการอ่อนๆ

3.     เป็นรัฐประหารที่ดึงเอาสถาบันกษัตริย์เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ชื่อคณะรัฐประหาร จึงเกิดปัญหาเมื่อมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษจนมีการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงชื่อ

ภาพจากเฟซบุ๊ก Watthana Praisonta

ชี้บทเรียน รปห.ที่ผ่านมาทำให้ ปรห.49 วางเงือนไขผ่าน รธน.50

พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช มองว่าทั้ง 2 เหตุการณ์นี้มีจุดเริ่มต้นคลายๆกัน คือสถานการณ์ที่มีสื่อเลือกข้าง เหตุการณ์ 6 ต.ค.นั้นก่อนหน้าก็มีการโหมจากสื่ออย่างวิทยานเกราะ ขณะที่ 19 ก.ย. นั้น ก็มีสื่อเลือกข้างและประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นอำนาจของทหาร ที่อยู่ข้างไหนฝ่ายนั้นก็จะได้เปรียบ

แต่สิ่งที่แตกต่างนั้น 19 ก.ย. ได้มีการศึกษาความบกพร่องของการรัฐประหารครั้งก่อนหน้า จึงมีการวางรากฐานทางกฏหมายโดยผู้มีบทบาทหลักคือนายมีชัย ฤทธิ์ชุพันธ์ โดยการเปลี่ยนแปลงที่กฏหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญ ทีให้รัฐธรรมนูญ 50 นี้บีบรัดฝ่ายประชาธิปไตยจนดิ้นไม่ออก หากไม่ใช้วิธีการ "หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง" ก็จะมีทางแก้ปัญหาการขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยได้เลย ด้วยเหตุนี้แม้เหตุการณ์รัฐประหารทั้ง 2 ครั้งนั้นจะมีจุดเริ่มต้นคลายกัน แต่ลงท้ายต่างกันที่ตัวบทกฏหมายที่เกิดขึ้นภายหลังรัฐประหาร ก.ย.49 นั้น มันเป็นบ่วงรัดคอฝ่ายประชาธิปไตย จะเอาบ่วงออกได้ต้องเอาหนามบ่งหนาม

"ถ้ากระบวนการยุติธรรมเป็นอิสระจริง รัฐประหารไม่มีวันเกิด ขณะนี้สิ่งที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ฉีกรัฐธรรมนูญแล้วสร้างขึ้นมาใหม่ เป็นรัฐธรรมนูญที่ปรับปรุงโดยอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ มันทำให้องค์กรอิสระที่เกิดขึ้นจากอำนาจคณะรัฐประหารนั้นเป็นองค์กรอิสระที่อิสระเฉพาะกลุ่มคณะบุคคล แต่จองจำสำหรับประชาชนในระบอบประชาธิปไตย"  พล.ต.อ.อชิรวิทย์ กล่าว

ภาพจากเฟซบุ๊ก Watthana Praisonta

ฝ่านต้าน ปชต.ทำตัวเป็นส่วนหนึ่งปชต.

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่สังคมให้ใบอนุญาตฆ่าทั้งเหตุการณ์ 6 ต.ค.19 และ พ.ค.53 โดยที่ผู้ฆ่ารู้สึกว่าผู้ถูกฆ่าควรถูกฆ่านั้นมีสาเหตุว่า

1.     เราถูกสร้างความเข้าใจว่าสังคมต้องมีการยึดโยงกับสถาบันหลักจนเปลี่ยนแปลงไม่ได้

2.     ในการบอกว่าใครคือศัตรูของชาติ รัฐเป็นคนบอกว่าใครเป็นศัตรูของชาติมากเกินไป

เหตุการณ์ปี 19 นั้นมีรากฐานของความเป็นประชาธิปไตยมาก่อนหน้านานแล้ว ตั้งแต่ 2475 และช่วงเกิดเหตุมีคนเชื่อเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมในสังคมไทยแน่ๆ ถึงขนาดที่คนทำรัฐประหารต้องอ้างว่าจะทำรัฐประหารเพื่อสร้างประชาธิปไตยด้วย ในสังคมไทยก่อนหน้าปี 2519 นั้นเป็นช่วงขาขึ้นอย่างต่อเนื่องของประชาธิปไตยในสังคมไทย ในฐานะเป็นอุดมการณ์หลัก แต่มีการถูกเตะถ่วงในบางช่วง แต่ก็ยังเป็นขาขึ้นของประชาธิปไตย สิ่งที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 6 ต.ค.19 และ พ.ค.53 นั้น พลังฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยพยายามที่จะทำให้ทิศทางขาขึ้นของประชาธิปไตยหยุดชะงัดลงเบี่ยงเบนไปบ้าง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2519 คือการบอกว่านักศึกษาเป็นศัตรูกับเสรีประชาธิปไตย ในแง่อุดมการณ์นักศึกษาถูกทำให้เป็นศัตรูของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่มีด้านที่ซ้อนกันอยู่คือการบอกว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ และคอมมิวนิสต์เป็นศัตรูกับเสรีประชาธิปไตย

"สิ่งที่ฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยประสบความสำเร็จตั้งแต่ปี 2519 ถึง ปี 2553 คือทำให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยไม่เคยเล่นเกมส์เป็นฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยจริงๆ เขาไม่เคยบอกว่าเขาไม่รักประชาธิปไตย เขาบอกว่าเขาเป็นประชาธิปไตย แต่เขาเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยที่ทำให้ประชาธิปไตยดีขึ้น"  ศิโรตม์ กล่าว

"จริงๆ ต้องขอบคุณ 19 ก.ย.49 เพราะว่าในอดีตนักรัฐศาสตร์พูดถึงว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้มีอำนาจสามารถมีอำนาจอยู่ต่อไปได้อย่างต่อเนื่องก็คือต้องไม่ให้สังคมรู้ว่าเขามีอำนาจ รัฐบาลในโลกสมัยใหม่ โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจสูงสุดมีลักษณะอย่างหนึ่งคล้ายๆ กันคือต้องมีอำนาจโดยไม่ให้คนรู้ว่าเขามีอำนาจ และก็จะมีนักรัฐศาสตร์ นักนิติปรัชญาบอกว่าเราจะรู้ว่าใครมีอำนาจที่สุดในสังคม อย่าดูว่าในเวลาปกตินั้นใครเป็นรัฐบาล ใครเป็นรัฐบาลในเวลาปกตินั้นไม่ได้แปลว่าเขามีอำนาจที่สุด แต่ต้องดูในเวลาที่สังคมมันเกิดวิกฤติที่สุด ใครแสดงตัวออกมาว่าให้สังคมไปทางไหนคนนั้นคือคนที่มีอำนาจสูงสุดในสังคม 19 ก.ย.49 ทำให้คนไทยเข้าใจปรากฏการณ์แบบนี้มากขึ้นว่าอำนาจสูงสุดของสังคมไทยอยู่ที่ไหน" ศิโรตม์ กล่าวทิ้งท้าย

ภาพจากเฟซบุ๊ก Watthana Praisonta

ศาลยอมรับรัฐประหาร ผลพวงรัฐประหาร 2490 ในฐานะ "รัฏฐาธิปัตย์"

พนัส ทัศนียานนท์ มองว่าการรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง ไม่ตรงกันเสียทีเดียว ดังนั้นจึงไม่อาจเรียกว่าสำเนาถูกต้องได้ เพราะ 6 ต.ค.19 นั้นเกิดเหตุการณ์ฆ่าก่อนจึงเกิดการรัฐประหาร ในขณะที่ 19 ก.ย. 49 นั้นเป็นการรัฐประหารก่อน จึงนำมาสู่การฆ่าประชาชน รวมทั้งการรัฐประหารในปี 2519 นั้น เป็นการเกิดในช่วงสงครามเย็น และไทยก็ถูกครอบงำโดยสหรัฐอเมริกา อีกทั้งการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 นั้น ก็มีกลุ่มสนับสนุนรัฐประหารดังกล่าวให้ความชอบธรรมว่าไม่ได้เป็นการรัฐประหารในแบบที่เข้าใจกัน แต่เป็นการโค่นล้มเผด็จการ เพราะขณะนั้นทักษิณถูกมองว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา

เรื่องกระบวนการยุติธรรมนั้น ศาลไทยให้การรับรองให้ความเห็นชอบกับการรัฐประหาร เป็นการวางหลักตัดสิน วินิจฉัยตั้งแต่การรัฐประหารปี 2490 ซึ่งศาลไทยก็ตัดสินเดินตามกันมาว่าถ้าการทำรัฐประหารประสบความสำเร็จ คนที่ทำรัฐประหารสามารถยืนอยู่บนอำนาจตัวเองได้ ไม่มีใครต่อต้าน บ้านเมืองสงบราบคาบก็ถือว่าคณะรัฐประหารนั้นเป็น "รัฏฐาธิปัตย์" คือผู้มีอำนาจสูงสุดในบ้านเมืองการสั่งการสิ่งใดออกมาก็ถือเป็นกฏหมาย ด้วยเหตุอันนี้จึงเข้าใจว่าที่คุณอชิรวิทย์พูดก่อนหน้านั้น คือต้องการให้ศาลมาเปลี่ยนบรรทัดฐานตรงนี้ ซึ่งก็เห็นด้วย ถ้าศาลไทยเชื่อมั่นศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่ถ้าจะรอให้ศาลดวงตามองเห็นธรรมทั้งหมดก็อาจจะอีกนาน 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชาธรรม : โอฬารเผยผลเจรจา FTA รอบ 2 แจงสหภาพยุโรปรุกไทยด้านจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

Posted: 20 Sep 2013 09:18 AM PDT

 

ที่มา : http://www.prachatham.com/detail.htm?code=n4_20092013_01

 

วันนี้ (20 ก.ย.56) เวลาประมาณ 13.30 น.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.โอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ออกมาแถลงผลการเจรจาและให้สัมภาษณ์นักข่าวเผยถึงผลเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปรอบที่ 2 ซึ่งได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-20 กันยายน 2556 ณ จังหวัดเชียงใหม่นั้น

ดร.โอฬาร แถลงว่า การประชุมครั้งนี้มีการประชุมหลายเรื่อง ได้แก่การเปิดตลาดสินค้าและการค้าบริการ การลงทุน มาตรการสุขอนามัยและอนามัยพืชอุปสรรคทางเทคนิคการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐมาตรการเยียวยาทางการค้า และการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยแต่ละกลุ่มได้ติดตามความคืบหน้าและผลการดำเนินการตามที่ได้ตกลงกันไว้ในการเจรจารอบแรกที่จัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ณ กรุงบรัสเซลส์ประเทศเบลเยี่ยม ตลอดจนได้เริ่มหารือในร่างข้อบทและทำความเข้ามากขึ้นในเรื่องต่างๆรวมถึง มาตรการทางการค้าและ และกฎระเบียบภายในประเทศของแต่ละฝ่าย

"เราคุยไปทั้ง 14 หัวข้อแต่ละหัวข้อมีความก้าวหน้าแตกต่างกันไปบางประเด็นที่มีการคุยทุกครั้งที่มีการเจรจาการค้าเสรีกับทุกประเทศ อย่างเช่นรายชื่อสินค้าที่ทำกันมานาน เราก็จะมีการปรับเงื่อนไขภาษีขาเข้าก็ก้าวหน้าไปจนถึงขั้นที่ว่าคราวหน้าเราจะลงไปถึงกรอบการเจรจา ซึ่งกระบวนการเจรจาทั้งหมดคงไม่เกินปลายปีหน้า จากการเจรจาทั้งหมด 7 ครั้ง"

ดร.โอฬาร กล่าวเพิ่มเติมว่าการเจรจารอบนี้ทั้งสองฝ่ายได้ทำความเข้าใจเพิ่มขึ้นในประเด็นต่างๆโดยเฉพาะกฎระเบียบของแต่ละเรื่องโดยบางเรื่องได้ตกลงที่จะหารือเพิ่มเติมระหว่างรอบเจรจาในระดับเจ้าหน้าที่ด้วยเพื่อที่จะได้ก้าวไปสู่การยื่นข้อเรียกร้องของการเปิดตลาด เช่น เรื่องการค้าบริการและการลงทุนในการเจรจารอบต่อไปในเดือนธันวาคม หรืออีก 3เดือนข้างหน้า ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม

"เรื่องที่เข้ามาใหม่ เป็นการหาข้อมูลข้อเท็จจริง เช่น เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ ซึ่งทั้งเขาทั้งเรายังไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้โดยเฉพาะฝ่ายไทยที่กำลังจะทำรถไฟความเร็วสูง ก็พยายามจะเปิดโอกาสให้คู่ค้าของเราเข้ามาเสนอขายสินค้าและบริการในสายงานราชการ เป็นต้น ฉะนั้นเหมือนกับแลกเปลี่ยนข้อมูล สร้างความเข้าใจร่วมกัน ฝ่ายไทยต้องเข้าใจว่าหน่วยงานราชการของสหภาพยุโรปมีกี่ระดับ ในทางกลับกันเขาก็ต้องเข้าใจระบบราชการของเราด้วย รวมถึงรัฐวิสาหกิจต่างๆ ซึ่งกว่าจะลงนามเจรจาเป็นลายลักษณ์อักษรคงใช้เวลาอีกนาน"

ส่วนประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ที่เป็นประเด็นที่อ่อนไหวและหลายฝ่ายแสดงความกังวลนั้น ดร.โอฬาร กล่าวว่า ฝ่ายไทยได้กำหนดแนวทางการเจรจาที่ยึดหลักการของความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า(TRIPs) ภายใต้ WTO และยึดถือความยืดหยุ่นตามปฏิญญารัฐมนตรีโดฮาในส่วนที่เกี่ยวกับ TRIPsและการสาธารณสุขโดยในการประชุมครั้งนี้ฝ่ายไทยได้เสนอให้มีความร่วมมือเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการวิจัยและพัฒนายาซึ่งอาจจะใช้พื้นฐานของโครงการที่สหภาพยุโรปได้ดำเนินการหรือมีความร่วมมือกับไทยอยู่แล้วมาพัฒนาให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจนสามารถผลิตเป็นเภสัชภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรมที่เป็นรูปแบบเฉพาะและสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาได้อย่างทั่วถึง

"เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรยาและเรื่องที่จะให้ประชาชนคนไทยเราสามารถเข้าถึงยาได้ในราคาและเงื่อนไขที่สามารถชำระได้เป็นประเด็นหลัก ซึ่งไม่ใช่มีเฉพาะผู้เกี่ยวข้องทางยาเท่านั้นแต่รวมถึงผู้ป่วยไข้ที่ต้องใช้ยาด้วย"

"ส่วนความยืดหยุ่นตามปฏิญญารัฐมนตรีโดฮา หมายความว่าการเจรจาด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน ในข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับประชาชนคนส่วนใหญ่ของเรานี้หมายถึงประชาชนที่ด้อยโอกาสในการเข้าถึงยาความยืดหยุ่นในที่นี้ถ้าจะออกนอกกรอบ ต้องออกนอกกรอบอย่างสร้างสรรค์ เป็นของใหม่ๆ ทั้งนี้ในประเด็นดังกล่าว ฝ่ายไทยก็ได้ยื่นข้อเสนอไปแล้วว่าจะให้มีความร่วมมือในการลงทุนวิจัยและผลิตยา ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่รวมถึงกลุ่มประเทศอื่นในอาเซียนด้วย ซึ่งเขาก็ยอมรับในเรื่องนี้เป็นหัวข้อที่ไม่เคยมีการเจรจามาก่อน"

หัวหน้าคณะเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ขยายความถึงวิธีการว่า ต้องนำเอาผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทั้งผู้ผลิตที่เป็นบริษัทไทย บริษัทต่างประเทศที่มาผลิตในเมืองไทยบ้างแล้ว องค์กรของรัฐที่ผลิตยา องค์กรเภสัชกรรม รวมถึงบริษัทจากยุโรปรายใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้มาผลิตในเมืองไทยให้เข้ามาพิจารณาลงทุนร่วมกันให้ทุกส่วนมีความมั่นใจว่าจะมีการถ่ายโอนเทคโนโลยีในเรื่องนี้เมื่อผลิตได้สำเร็จแล้ว ก็จะสามารถจำหน่ายจ่ายแจกได้ในราคาพอควร"

ส่วนเรื่องสิทธิเมล็ดพันธุ์ของเราที่จะต้องคุ้มครอง หัวหน้าคณะเจรจากล่าวว่า จะดำเนินการคล้ายกับเรื่องยา แม้สหภาพยุโรปจะกดดันให้เข้าเป็นภาคี UPOV แต่ไทยไม่จำเป็นต้องรับตามเรียกร้อง เพราะจะดำเนินการปรับกติกาให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน และคุ้มครองผลประโยชน์ของคนไทยให้มากที่สุด

ขณะที่ด้านการลงทุนที่มีความกังวลว่าจะทำให้อียูสามารถฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐได้ ดร.โอฬารชี้แจงว่า ก็มีการพิจารณาว่าถ้ามีข้อขัดแย้งจะมีกระบวนการอย่างไรเพราะวิธีการแก้ปัญหาไม่ใช่มีแต่การฟ้องเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีวิธีอื่น เช่นหาคนที่ 3 มาไกล่เกลี่ย ฯลฯ และต่อไปในอนาคต เราอาจจะขยายกรอบพูดคุยเรื่องการลงทุนเพิ่มเช่น ภาคก่อสร้าง ฯลฯ

"คาดหวังว่าการเจรจาครั้งหน้าจะมีการยื่นรายชื่อการเปิดบริการการค้าเสรีระหว่างกันเขาก็จะยื่นว่าอยากทำบริการอะไรในบ้านเรา ส่วนเราก็ยื่นว่าอยากทำธุรกิจอะไรในยุโรป"

นอกจากนี้ ดร.โอฬารได้ย้ำถึงความสำคัญของประเด็นความเชื่อมโยงในแต่ละข้อบทซึ่งจะแยกแต่ละเรื่องไม่ได้จะต้องดูภาพใหญ่ทั้งของความตกลงทั้งฉบับเพื่อให้ท่าทีของแต่ละเรื่องไปในทางเดียวกันและส่งเสริมซึ่งกันและกันเพื่อให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากการเจรจาในภาพรวม

ด้านนางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวถึงการให้สัมภาษณ์ของ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ สรุปการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป รอบที่ 2 ว่าโดยรวมไม่มีปัญหาอะไรมาก เรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี เท่าที่ฟัง ดร.โอฬาร พูดแล้วเป็นไปตามข้อเสนอทางภาคประชาสังคมย้ำว่า การถ่ายทอดเทคโนโลยี ต้องไม่แลกกับการรับทริปส์พลัส แบบที่สมาคมบริษัทยาข้ามชาติพยายามเสนอ

"เราเสนอไปว่าฝึกคนของเราให้ทำเป็นจริงและต้องมาผลิตในไทย จากคำพูดก็เป็นแนวนั้น อย่างไรก็ตามเรายังมีความกังวลเรื่องการคุ้มครองการลงทุนกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพราะที่ดร.โอฬารพูดไม่ฟันธงเท่าไร ต้องไปดูในรายละเอียด ดังนั้น อยากปลัดกระทรวงพาณิชย์เรียกประชุมคณะทำงาน 3 ฝ่ายติดตามการเจรจาเพื่อจะได้หารือทันทีหลังการเจรจารอบนี้"

นอกจากนี้ ภาคประชาสังคม 28 องค์กรได้ทำหนังสือถึง  นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้ยืนยันจุดยืนของกระทรวงสาธารณสุขในการเจรจาเอฟทีเอเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและสุขภาพของคนในสังคม

"ดร.โอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจาฯยืนยันชัดเจนต่อสาธารณะว่า จะไม่รับข้อเสนอการเจรจาที่มากกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (ทริปส์พลัส) ทั้งในเรื่องยา และทรัพยากรชีวภาพ ดังนั้น ทางกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ และเครือข่ายประชาสังคม ที่ติดตามการเจรจาเอฟทีเอ ต้องการทราบว่ากระทรวงสาธารณสุขมีจุดยืนอย่างไร ทั้งในภาพรวมการเจรจาที่เกี่ยวกับยาและประเด็นที่เกี่ยวโยงกับสุขภาพทั้งหมด และได้กำหนดนโยบาย และมาตรการในการสนับสนุนการเจรจาอย่างไร ทั้งในด้านข้อมูลวิชาการ และการมอบหมายเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่ไปทำหน้าที่เจรจา"

นอกจากนี้กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ทราบมาว่า ทางสหภาพยุโรปพยายามแทรกแซงคณะเจรจาฝ่ายไทย ด้วยการขอเปลี่ยนตัวผู้เจรจาบางคนโดยพยายามติดต่อโดยตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ผู้ประสานกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน กล่าวว่า "เราอยากทราบว่า มีการแทรกแซงทีมเจรจาฝ่ายไทยจากสหภาพยุโรปเช่นที่ว่านี้หรือไม่อย่างไร หากเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น หมอประดิษฐจะมีจุดยืนอย่างไร จะยอมให้มีการแทรกแซงเช่นนี้หรือไม่ พวกเราคาดหวังกับกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีความรับผิดชอบต่อระบบหลักประกันสุขภาพที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลจะมีจุดยืนที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย จะดำเนินการเจรจาอย่างอย่างรอบคอบเฉพาะอย่างยิ่งให้ความสำคัญกับผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้มีรายได้น้อย และยืนหยัดเจรจาที่จะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดของประเทศที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม"

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ สมาชิกกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวถึงการที่ภาคประชาสังคมไทยจะทำการรณรงค์ร่วมกับภาคประชาสังคมในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่โดนคุกคามจากสหภาพยุโรปในลักษณะเดียวกันผ่านความตกลงการค้าเสรี เพื่อให้คณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งนอร์เวย์ซึ่งเป็นผู้พิจารณารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ให้เพิกถอนรางวัลดังกล่าวที่สหภาพยุโรปได้รับไปเมื่อ ค.ศ. 2012 นั้น

"เราไม่ได้ทำอะไรเกินเลยตามที่หัวหน้าคณะเจรจาฯฝ่ายอียูกล่าวหา องค์กรที่จะได้ครอบครองรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพควรประพฤติตัวให้สมเกียรติ ดังนั้น เราจะติดตามดูพฤติกรรมของสหภาพยุโรปในการเจรจาเอฟทีเออย่างใกล้ชิด และเริ่มที่จะสื่อสารกับภาคประชาสังคมในประเทศต่างๆบ้างแล้ว เมื่อไรที่เราแน่ใจว่า สหภาพยุโรปผลักดันความตกลงระหว่างประเทศที่บ่อนทำลายระบบความมั่นคงของประเทศไทยและประเทศต่างๆอย่างชัดแจ้ง จะทำให้สังคมไทยและประเทศต่างๆโดยรวมอ่อนแอลง คนยากคนจนส่วนใหญ่ยากจนขึ้น แต่คนรวยส่วนน้อยกลับจะรวยยิ่งขึ้นไปอีก เราจะร่วมกันทำหนังสือร้องเรียนถึงคณะกรรมการรางวัลโนเบลเพื่อเพิกถอนทันที หากไม่ต้องการให้เราร้องเรียน สหภาพยุโรปก็ควรเลิกเรียกร้องเนื้อหาที่ทำลายล้างเช่นนี้"

อนึ่ง ปัจจุบัน สหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 5ของไทยในปี 2555 โดยไทยส่งออกไปสหภาพยุโรปมูลค่า 21,729 ล้านเหรียญสหรัฐฯซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 6,272.7 ล้านเหรียญสหรัฐโดยนำเข้าจากสหภาพยุโรป มูลค่า 19,933.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในแง่ของการลงทุนสหภาพยุโรปเป็นนักลงทุนอันดับสองของไทย โดยลงทุนมูลค่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯขณะที่ไทยออกไปลงทุนในสหภาพยุโรปสูงเป็นอันดับสองรองจากอาเซียนมีมูลค่าการลงทุน1,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นศ.รามฯ สมทบชุมนุมสวนยางจี้รัฐแก้ปัญหา

Posted: 20 Sep 2013 09:10 AM PDT

องค์การนักศึกษารามฯ บี้รัฐบาลไม่จริงใจแก้ปัญหาราคายางพาราให้ชาวบ้าน ตัดสินใจเดินทางมาสมทบร่วมกับชาวสวนยางฯ ชุมนุมสี่แยกควนหนองหงษ์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแทรกแซงราคาและประกันราคายางฯ กับปาล์ม

 
เมื่อวันที่ 20 ก.ย. เวลา 17.00 น. ไทยรัฐออนไลน์รายงานความคืบหน้าการชุมนุมประท้วงปิดถนนสายเอเชีย 41 ที่สี่แยกควนหนองหงษ์ ต.ควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ของเกษตรกรชาวสวนยางพาราและชาวสวนปาล์ม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแทรกแซงราคาและประกันราคายางฯ กับปาล์ม
 
ล่าสุด คณะนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เดินทางไปร่วมสมทบการชุมนุม ซึ่งได้รับการต้อนรับจากชาวสวนยางฯ อย่างอบอุ่น จากนั้นกรรมการบริหารองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง 4 คน ประกอบด้วย นายประกอบกิจ รินทอง นายพงศ์อมร พงศ์พิพัฒน์ นายวรวุฒิ เพชรทอง และนายเฉลิมพร ศรีสุข ได้ร่วมกันแถลงข่าวและอ่านแถลงการณ์ขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ภายในบริเวณที่ชุมนุม
 
นายประกอบกิจ กล่าวว่า องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ติดตามสถานการณ์ชุมนุมเรียกร้องราคายางพาราและราคาปาล์มน้ำมันมาโดยตลอด มีความเข้าใจและเห็นใจเกษตรกร ที่ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิตในภาคเกษตรกรรมที่ถีบตัวสูงขึ้นตลอดเวลา แต่ราคาขายผลิตกลับตกต่ำ หรือลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันปัญหาที่เกิดขึ้น ขาดการดูแลเอาใจใส่อย่างที่ควร จะเป็นจากรัฐบาล ที่พยายามจะใช้กลเกมทางการเมืองเบี่ยงเบน และชี้นำให้เห็นว่าการชุมนุมเรียกร้องราคาพืชผลทางการเกษตรเป็นการชุมนุมประท้วงทางการเมือง ข้อเท็จจริงก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การชุมนุมไม่ใช่การชุมนุมเพื่อการเมือง หรือโดยการเมือง แต่เป็นการชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็น ต่อสู้เรียกร้องในสิ่งที่ประชาชนสาขาอาชีพหนึ่งควรจะได้รับตามสิทธิของรัฐธรรมนูญ แม้อาจส่งผลกระทบกับภาคส่วนอื่นบ้าง แต่อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่คนส่วนใหญ่ในประเทศสร้างและดำรงความเป็นประเทศไทยเอาไว้
 
อยางไรก็ตาม องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ตัดสินใจเข้าร่วมต่อสู้เรียกร้องกับเกษตรกรในครั้งนี้ เนื่องจากเกษตรกรขาดแกนนำ แม้ว่าจะมีการคัดเลือกตัวแทน หรือผู้นำขึ้นมาเมื่อวานนี้ (19 ก.ย. 56) จำนวน 3 คน แต่การชุมนุมเรียกร้องก็ยังขาดเอกภาพ นักศึกษาจึงตัดสินใจยืนหยัดเคียงข้างมาร่วมต่อสู้กับกลุ่มเกษตรกร และในคืนนี้จะมีการหารือร่วมระหว่างแกนนำของเกษตรกรและคณะนักศึกษา เพื่อกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหว นับตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดวาระ กสทช.เสียงข้างน้อย กรณี กสทช.ยื่นฟ้องหมิ่นประมาทนักวิชาการ-สื่อ-คำชี้แจงจาก 4 กทค.

Posted: 20 Sep 2013 09:05 AM PDT

สืบเนื่องจากกรณีกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) 4 คน ประกอบด้วย พันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ, สุทธิพล ทวีชัยการ, พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร, ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดย ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง เดือนเด่น นิคมบริรักษ์  ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ ณัฎฐา โกมลวาทิน ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ในคดีหมิ่นประมาท จากการให้ข่าวและนำเสนอเรื่องที่เกี่ยวกับสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz ซึ่งต่อมา มีการออกมาแสดงความไม่เห็นจากกลุ่มต่างๆ อาทิ สุภิญญา กลางณรงค์ และประวิตร ลี่สถาพรวงศา สอง กสทช.เสียงข้างน้อย องค์กรวิชาชีพสื่อ 4 แห่ง ทีดีอาร์ไอและไทยพีบีเอส คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค องค์กรผู้บริโภคจากทุกภูมิภาค เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ ผู้ป่วยมะเร็ง สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการไทยพีบีเอส นักวิชาการจากจุฬาฯ และ คณะวารสารฯ มธ. ฯลฯ

ล่าสุด (18 ก.ย.56) ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และ สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ได้จัดทำวาระการประชุม กสทช. เรื่องการยื่นฟ้องหมิ่นประมาทต่อนักวิชาการและสื่อมวลชน เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม กสทช.ครั้งที่ 9/2556 โดยที่ประชุมได้รับฟังคำชี้แจงแล้วมีมติรับทราบ ต่อมา สำนักงาน กสทช.ได้เผยแพร่คำชี้แจงของ กทค. ทั้ง 4 คน ในการประชุม กสทช. ลงในเว็บไซต์สำนักงาน โดยระบุว่า มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับผลการประชุมที่มีความคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง  ขณะที่บล็อกของสุภิญญาได้นำเสนอ วาระของ สุภิญญาและประวิทย์ เช่นกัน


ข้อวิเคราะห์ เรื่อง การยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อนักวิชาการและสื่อมวลชน ของ สุภิญญาและประวิทย์
1. แม้จะเป็นที่ชัดเจนว่าในการฟ้องคดีครั้งนี้ ในส่วนของ กทค. 4 ท่าน เป็นการฟ้องในฐานะตัวบุคคล แต่เนื่องจากสำนักงาน กสทช. เป็นโจทก์ร่วมฟ้องด้วย ประกอบกับจากการให้สัมภาษณ์ของประธาน กทค. และในคำแถลงต่างๆ มีการกล่าวถึงเหตุผลของการฟ้องว่าเพื่อปกป้องศักดิ์ศรี เกียรติภูมิของ กสทช. หรือองค์กร ดังนั้นจึงทำให้เกิดความไม่ชัดเจนว่า การฟ้องคดีครั้งนี้เป็นการดำเนินการโดย กสทช. หรือไม่ อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนแขนงต่างๆ จะพบว่ามีการนำเสนอในลักษณะเป็นเรื่องระดับองค์กรทั้งสิ้น ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวในระดับคณะกรรมการเลย ไม่ว่าจะเป็น กสทช. หรือ กทค. แต่เนื่องจากทางผู้เกี่ยวข้องเองก็ไม่มีการชี้ชัดว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการดำเนินการในสถานะใด จึงควรมีการพิจารณาประเด็นนี้ให้ชัดเจน และควรมีการนำเสนอต่อสาธารณะเพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องต่อไป

2. การร่วมฟ้องคดีของสำนักงาน กสทช. ในครั้งนี้ไม่ชัดเจนว่า เลขาธิการ กสทช. ดำเนินการด้วยเหตุผลใด เนื่องจากพิจารณาแล้วพบว่าเนื้อหาการให้สัมภาษณ์ของนักวิชาการผู้ถูกฟ้องมิได้กล่าวพาดพิงถึงสำนักงาน กสทช. หรือระบุชื่อเลขาธิการ กสทช. แต่อย่างใด จึงควรมีการพิจารณาประเด็นนี้ให้ชัดเจนเช่นกัน และควรมีการดำเนินการให้ถูกต้องเหมาะสมต่อไปด้วย โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการที่จะต้องไม่ใช่ทรัพยากรขององค์กรในการดำเนินการเรื่องนี้

3. การดำเนินคดีนี้ขัดต่อแนวทางการดำเนินคดีอาญาเรื่องอื่นๆ ที่สำนักงาน กสทช. เคยถือปฏิบัติ โดยสำนักงาน กสทช. มิได้ส่งเรื่องดังกล่าวเพื่อให้ กสทช. หรือ กทค. ให้ความเห็นชอบก่อนตามปกติ เช่น ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 25/2555 วันที่ 4 กรกฎาคม 2555 ที่สำนักงาน กสทช. ได้นำเสนอกรณีที่ผู้ประกอบการจำนวน 2๗ รายยื่นเอกสารอันเป็นเท็จในการนำเข้าเครื่องอุปกรณ์โทรคมนาคม ซึ่งที่ประชุมมีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษทางอาญาต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อไป ซึ่งแนวทางดังกล่าวสอดคล้องตามมติคณะรัฐมนตรี ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมี ด่วนมาก ที่ นร 0505/ว.184 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2549 เรื่อง การปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการดำเนินคดีอาญา คดีแพ่ง และคดีปกครอง เวียนแจ้งให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อทราบและถือปฏิบัติตามต่อไป ข้อ 1.1 การดำเนินคดีอาญาในศาลยุติธรรม ที่กำหนดว่า "เมื่อมีการกระทำความผิดทางอาญาต่อส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสากิจให้แจ้งความร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ไม่สมควรว่าจ้างทนายความยื่นฟ้องคดีอาญาต่อผู้กระทำความผิดเอง" ซึ่งเป็นหลักการที่สำนักงานใช้ปฏิบัติในการฟ้องคดีต่างๆ มาโดยตลอด แต่ครั้งนี้กลับปฏิบัติแตกต่างออกไป

4. กสทช. เป็นองค์กรของรัฐที่มีบทบาทหน้าที่ที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณะ เมื่อการดำเนินการใดๆ ของ กสทช. ได้รับความสนใจจากสาธารณชนโดยทั่วไปจึงเป็นเรื่องปกติ และย่อมต้องได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และให้ข้อเสนอแนะ ไม่ว่าจะด้านบวกหรือลบ ซึ่ง กสทช. ควรต้องมีใจเปิดกว้างและมีวุฒิภาวะในการที่จะเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีใจเป็นกลาง มีสติ และมีอุเบกขา แล้วใช้สัมมาทิฐิในการพิจารณาและชี้แจงอธิบายความ สร้างความเข้าใจ แทนที่จะตอบโต้อย่างมุ่งมาดเอาชนะ มุ่งตอบโต้ หรือมุ่งร้าย

บทบาทของ กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแลสื่อวิทยุโทรทัศน์ยังควรต้องเป็นแบบอย่างในการส่งเสริมสนับสนุนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนสิทธิและเสรีภาพในการสื่อสาร หากเห็นว่าการใช้สิทธิเสรีภาพใดเป็นไปเกินกว่าขอบเขตหรือไม่เหมาะสม กสทช. ก็มีสิทธิเสรีภาพที่จะวิพากษ์วิจารณ์ ให้ข้อเสนอแนะ หรือใช้มาตรการอื่นๆ แทนการฟ้องร้องดำเนินคดีได้ เพราะการฟ้องร้องคดีเพื่อเล่นงานผู้วิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะการดำเนินคดีอาญานั้น ในสายตาของโลกยุคใหม่ต่างเห็นว่าเป็นการคุกคามต่อเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองทั้งในปฏิญญาสากลและในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่จะทำให้ กสทช. เสื่อมเสียอย่างยิ่ง ยิ่งกว่าการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการดำเนินงานต่างๆ อย่างเทียบกันไม่ได้ ดังนั้นเมื่อกรณีนี้จะทำให้ กสทช. เสียหายอย่างแท้จริง จึงสมควรที่จะพิจารณาหาแนวทางป้องกันและลดผลกระทบดังกล่าวอย่างจริงจังต่อไปด้วย


คำชี้แจง 4 กทค. ในการประชุม กสทช.  
พันเอก เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช.  กล่าวว่า ที่ผ่านมา ไม่เคยฟ้องใคร และไม่เคยมีความคิดจะฟ้องใคร แต่หลังจากได้ทำงานที่นี่มาและได้เรียนรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพด้วยการปฏิบัติ ทำให้ได้รับผลกระทบทางครอบครัว โดยคุณแม่เข้าโรงพยาบาลหลายครั้ง จากการทำงานทั้งเรื่องจริงบ้างไม่จริงบ้าง ซึ่งมีผลกระทบกับชีวิตตนเองโดยตรง พร้อมระบุว่า ที่จริงอยากฟ้องมากกว่าจำนวนนี้ แต่คิดว่าแค่นี้ก็คงพอที่จะเรียกร้องสิทธิเสรีภาพบ้าง
 
ผมเชื่อว่าถ้าท่านกรรมการได้รับผลกระทบถึงบิดา มารดา ที่จะต้องมาแบกรับคิดว่าเป็นเรื่องไม่จริงอยู่แล้วเพราะผมสามารถพิสูจน์ได้ จึงตัดสินใจฟ้องในฐานะส่วนตัว เข้าใจดีว่าจะมีผลกระทบต่อการทำงาน ซึ่งแน่นอนท่านใช้สิทธิเสรีภาพก็มีผลกระทบต่อการทำงานของ กทค. เช่นเดียวกัน ผมจึงคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งศาลยุติธรรม ผมพึ่งใครไม่ได้ ผมพึ่ง public ไม่ได้ เพราะผมไม่ใช่นักเคลื่อนไหวที่จะสร้างมวลชนให้เชื่อผม ผมก็ทำงานตามกรอบอำนาจหน้าที่เท่านั้น

สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า กรณีที่หลายคนบอกว่า กสทช. กทค. และสำนักงาน กสทช. จะไปฟ้องร้องเขาทั่วราชอาณาจักร เป็นเรื่องที่พูดกันไปเอง ตอนท้ายของคำฟ้อง เราต้องการแสดงให้เห็นว่าเราได้รับความเสียหายอย่างมาก เพราะเราบอกว่าการให้สัมภาษณ์ใส่ความต่อโจทก์ทั้ง 5 เป็นลักษณะเป็นเท็จต่อสื่อหนังสือพิมพ์และในรายการโทรทัศน์ ที่นี่ ไทยพีบีเอส มีจำหน่าย แพร่หลายและออกอากาศแพร่กระจายสัญญาณทั่วราชอาณาจักรไทย เหตุจึงเกิดขึ้นทุกตำบล อำเภอ จังหวัด ในราชอาณาจักรไทย  เราไม่ได้บอกว่าเราจะไปฟ้องทั่วราชอาณาจักร
 
ในภาพรวมอยู่ใน 5 ระดับ
ความเสียหายระดับที่ 1 ระดับองค์กร กสทช. และสำนักงาน กสทช.  เสียหายต่อภาพพจน์ อยู่ๆ บอกว่ามีเวลา 420 วัน ไม่ได้ทำอะไร เลื่อนประมูลทำให้ประเทศชาติเสียหาย 1.6  แสนล้านบาท

ความเสียหายระดับที่  2 ระดับตัวบุคคล ไม่เฉพาะ กทค. คิดว่า กสทช. ทุกท่านเพราะอย่างน้อยที่สุดเราเป็นผู้ใช้ดุลพินิจในการเห็นชอบร่างประกาศห้ามซิมดับ หากไปบอกว่าไปเอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการ เท่ากับว่า กสทช. และสำนักงาน กสทช. สมคบทุจริตคอรัปชั่น ใช้ดุลพินิจตัดสินใจไม่รอบคอบ ผิดพลาด ไม่ระมัดระวัง ไม่สุจริต ทำให้ประเทศชาติเสียหายกว่าแสนล้านบาท

ความเสียหายระดับที่ 3 ระดับการปฏิบัติภารกิจตามกฎหมาย ซึ่งย่อมได้รับผลกระทบเพราะประชาชนและผู้เกี่ยวข้องย่อมเสื่อมศรัทธาและขาดการไว้วางใจ

ความเสียหายระดับที่ 4 คือระดับความเสียหายและการเสียชื่อเสียงในเชิงลึกจากการถูกตรวจสอบ ถูกฟ้องร้อง และถูกดำเนินคดี ช่วงที่จัดประมูล 3G เราทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพียงแต่ว่าแนวคิดไม่ตรงกับนักวิชาการบางคน ผลคือไปบอกว่าการที่เราคิดต่างแล้วไปเดินตามวิธีการที่ต่างกัน เป็นการที่เราทำให้ประเทศชาติเสียหาย 1.6 หมื่นล้านบาท ตอนนั้นเราลำบากมาก ต้องเข้าไปชี้แจงในคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ และศาลปกครอง ตอนนั้นเราคิดว่าจะฟ้องแน่นอน คนอย่างนี้เอาไว้ไม่ได้ อยู่ๆ ไปบอกว่าเราทำให้ประเทศชาติเสียหาย 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเท็จ พอรู้ว่ารายงานของคณะเศรษฐศาสตร์จุฬา เป็นอย่างหนึ่งก็ไปบิดเบือนเป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งความจริงก็คือความจริง แต่ต่อมาคราวนี้ยังไม่เริ่มประมูลเหตุการณ์ย้อนรอยเดิมหมด ถ้าไม่ทำอะไรจะเสื่อมเสียหนักกว่านี้

ความเสียหายระดับที่ 5 คือจากตำแหน่ง คุณลักษณะ สถานะ ประสบการณ์ของคุณเดือนเด่นฯ ตลอดจนวิธีการใส่ความและเผยแพร่ความคิดเห็น ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้เกิดความเสื่อมเสีย ต่อชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง ซึ่งมองว่ามีผลกระทบอย่างรุนแรงมากกว่าปกติ เพราะคุณเดือนเด่นฯ เป็นคนในรู้ข้อมูลข้างในเป็นอย่างดี คนย่อมเชื่อมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณเดือนเด่นฯ จบการศึกษาปริญญาเอก ทางด้านเศรษฐศาสตร์โดยเฉพาะ อยู่สถาบัน TDRI คนย่อมเชื่อ ได้รับการสนับสนุนจากประธาน TDRI มีน้ำหนักมาก เพราะฉะนั้น มองว่าการกระทำหมิ่นประมาทได้ดำเนินการใส่ความและเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จอย่างต่อเนื่อง และเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายลุกลามบานปลายมากกว่านี้จึงจำเป็นต้องเร่งฟ้องคดี โดยการใช้สิทธิฟ้องเองเป็นการส่วนตัว การนำคดีขึ้นสู่ศาลมีหลายวิธี บางวิธีไปแจ้งความ ถ้าแจ้งความก็มีตำรวจไปสืบสวนสอบสวนสรุปเรื่อง เห็นว่าควรฟ้องก็ส่งพนักงานอัยการ อัยการพิจารณาเห็นควรฟ้องก็ฟ้องไป ซึ่งทำไมเราต้องไปสิ้นเปลืองทรัพยากร  ของชาติ เราทำเองก็ได้ เราเก็บหลักฐานไว้ทุกอย่าง คดีนี้ไม่มีอะไรยาก ตรงไปตรงมา เรื่องนี้เราจะเข้าไปดูเอง ผมเคยถูกฟ้อง เคยนั่งพิจารณาคดี ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน
 
ผมลองค้นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6060/2548 ณ ขณะนั้น ท่าน ช. เป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นหัวหน้าพรรค ป. คุณ ฉ. เป็นนักการเมือง ไปให้สัมภาษณ์ โดยที่ไปบอกว่าท่าน ช. ปกปิดเรื่องของที่มีการโกงธนาคารบีบีซี ไปกล่าวหาว่า ท่าน ช. บอกว่าให้ปกปิดไว้อย่าไปพูดอะไร และบอกว่าท่าน ช. ยิ้มเงียบๆ อย่างนุ่มนวล ทุกคนรัฐมนตรี พรรค ป. แต่ละคนก็ผูกไทใส่สูทพูดเพราะอย่างเดียว สื่อมวลชนก็ยิ่งชื่นชม แล้วมีหนังสือพิมพ์สองค่ายไปลงเผยแพร่ ถามว่าท่าน ช. ไปขอให้คุณ ฉ. และหนังสือพิมพ์สองค่ายนั้น ชี้แจงไหม คำตอบคือ ไม่ ที่ท่าน ช. ทำคือ ฟ้องคดีอาญาในความผิดฐานหมิ่นประมาท และผลคือทางหนังสือพิมพ์ก็แบบเดิม สู้ว่าใช้สิทธิโดยสุจริต ติชมด้วยความสุจริต คดีนี้ถึงศาลฎีกา ท่าน ฉ. และหนังสือพิมพ์ค่ายหนึ่งรู้ว่า ตัวเองคงแพ้ก็ไปทำยอมกับท่าน ช. ท่าน ช. ก็มีเมตตาก็ทำยอมไป ส่วนหนังสือพิมพ์อีกค่ายมั่นใจว่าจะชนะ จึงสู้คดีต่อไปในที่สุดศาลฎีกาก็บอกว่า สื่อย่อมทราบความหมายดังกล่าวดีกว่าประชาชนทั่วไป เพราะได้ประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่ปี 2507 และเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณาหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่ปี 2527 ในฐานะที่เป็นบรรณาธิการฯ ก็สามารถยับยั้งไม่ให้มีการลงพิมพ์ข้อความดังกล่าวในหนังสือพิมพ์ได้ แล้วทำการตรวจสอบเสียก่อนว่าข้อความดังกล่าวเป็นความจริงหรือไม่ สมควรที่จะลงพิมพ์แพร่หลายหรือไม่ แต่จำเลยที่ 2 ก็หากระทำไม่ สุดท้ายศาลฎีกาก็พิพากษาลงโทษโดยพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสอง โดยจำคุก 6 เดือน ปรับ 20,000 บาท รอการลงโทษ

อันนี้ก็เป็นเรื่องปกติ ผมได้ค้นทั่วโลก ในคดีที่มีการฟ้องหมิ่นประมาท ทั้งในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เอกวาดอร์ เฮติ ไนจีเรีย มอลต้า ซิมบับเว ฟ้องสื่อเรื่องหมิ่นประมาทเป็นเรื่องธรรมดา ผู้พิพากษาเองยังฟ้องสื่อทีวีในอเมริกาที่นำข้อมูลไปออกอากาศบิดเบือนผิดความจริงทำให้ผู้พิพากษาเสียชื่อเสียง หรือในออสเตรเลีย  Commissioner ของตำรวจ ก็ไปฟ้องหนังสือพิมพ์ที่ไปกล่าวหาว่าโกงไม่น่าเชื่อถือ ไปเขียนบทความว่าเขาเพิกเฉย ต่อกรณีที่มีการร้องเรียนเรื่องทุจริตฯ           
 
ที่ฟิลิปปินส์ กรณีนี้เป็นกรรมการของสภาจังหวัดฟ้องหนังสือพิมพ์เพราะไปกล่าวหาว่ารับเงินสินบนรายเดือนจากการปล่อยให้มีพนันท้องถิ่น ที่ไต้หวันก็มีการฟ้องสื่อ ที่เอกวาดอร์ ผู้ฟ้องเป็นหัวหน้าหน่วยงานของรัฐฟ้องหนังสือพิมพ์รายวันที่ไปกล่าวหาว่าเขาเป็นเผด็จการทำให้ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นและต้องเงียบเท่านั้น ผลคือศาลตัดสินลงโทษจำคุก 3 ปี และยังมีที่เฮติ ไนจีเรีย สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่กรรมการ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงของรัฐฟ้องสื่อเรื่องหมิ่นประมาท ภายใต้หลักการว่า คนที่มีสิทธิ ก็ต้องใช้สิทธิโดยไม่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่น
 
จึงมองว่าขณะนี้สิ่งที่สำนักงาน กสทช. และ กทค. ทั้ง 4 ท่าน ฟ้องคดี จะเกิดผลดี นอกจากจะปกป้องชื่อเสียงของตนเองและองค์กรแล้วมองว่ายังสามารถทำให้เกิดผลดี 4 ประการ

ผลดีประการแรก ในการสถาบันวิชาการ สถาบันวิจัย จะช่วยยกระดับให้มีมาตรฐานทางวิชาการมากขึ้น ถ้าเราโต้แย้งได้ เกิดความเสื่อม เขาจำเป็นต้องปรับปรุง เมื่อก่อนไม่มีคนเข้ามาแล้วมาดูเนื้อหาสาระในรายละเอียด แนวคิดของนักวิชาการกลุ่มนี้จึงไม่มีใครโต้แย้ง แต่ขณะนี้ แม้แต่ทาง กสทช. ก็ยังสามารถโต้แย้งแนวคิดและการนำเสนอของนักวิชาการกลุ่มนี้ได้ แสดงว่า ถ้าไม่ปรับปรุงคุณภาพสถาบันวิจัยจะเสื่อมมากกว่านี้ ความเสียหายจะรุนแรง เราไม่ได้ฟ้องสถาบัน แต่เราฟ้องคนสำคัญในสถาบัน ซึ่งเอาข้อมูลที่ไม่จริงมาโจมตีเรา จึงต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เขาทำ

ผลดีประการที่ 2 คือ สื่อ สื่อจะต้องตรวจสอบข้อมูล เพื่อมิให้สื่อของสังคมไทยถูกใช้เป็นเครื่องมือ โดยเฉพาะเครื่องมือของนักวิชาการที่เห็นว่าความเห็นของเขาถูกต้องฝ่ายเดียวโดยไม่ฟังผู้อื่น เพราะฉะนั้น การฟ้องคดี สื่อจะต้องมาทบทวนดูว่าข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับมาจะต้องตรวจสอบ จริงๆ เราไม่ได้ฟ้องไทยพีบีเอส แต่ว่าเราฟ้องบรรณาธิการในไทยพีบีเอส ซึ่งรับข่าวมาจากนักข่าวก็ต้องดูความถูกต้องของเนื้อหา เพราะข่าวมีการนำเสนอไม่ใช่เป็นแค่การนำเสนอว่าใครพูดอะไร แต่เป็นสกู๊ปข่าว การนำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียวจึงเป็นเรื่องที่ไม่พึงกระทำ

ผลดีประการที่ 3 ประโยชน์ที่จะได้ตกแก่หน่วยงานของรัฐ มีหลายหน่วยงานของรัฐไม่ใช่น้อยที่ถูกเสียงวิพากษ์วิจารณ์แต่ไม่อยากมีเรื่องด้วยอยู่ในสภาวะจำยอม ไม่ได้หมายถึงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ผมเองไม่ได้ไปกังวลกับหน่วยงานของรัฐที่พนักงานบางคนไม่สุจริต แต่เป็นห่วงหน่วยงานของรัฐที่มีบุคลากรที่ทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตแล้วถูกข่มเห่งรังแกโดยใครก็ตามเป็นผู้ที่มีบทบาทในสังคมสามารถชี้นำได้ และบอกว่าถ้าหน่วยงานของรัฐไม่เห็นด้วยกับทิศทางตรงนี้ บอกว่าหน่วยงานของรัฐไม่ดี  คิดว่าถึงเวลาที่หน่วยงานของรัฐที่ถูกรังแกต้องลุกขึ้นมาปกป้องศักดิ์ศรี กรณีของ กสทช. เป็นกรณีตัวอย่างสร้างบรรทัดฐานให้หน่วยงานของรัฐปกป้องศักดิ์ศรีองค์กร โดยถ้าไม่ผิดก็ต้องลุกมาสู้
 
และผลดีประการที่ 4 คือ สังคม การฟ้องของ กสทช. จะทำให้สังคมมีสติ ฟังข้อมูลข่าวสารแล้วไม่เชื่อทันที กลับไปยึดหลักพระพุทธเจ้าในเรื่องกาลามสูตร เช่นกรณีนี้ ได้ไปถามหลายคน หลายคนไม่ได้อ่านคำฟ้อง แต่บอกว่าคนนี้น่าเชื่อถือ ลืมนึกไป ดูเฉพาะสิทธิเสรีภาพอย่างเดียว ไม่ได้มองในแง่ของคนที่ถูกละเมิดสิทธิ เนื่องจากใครอยู่ในกลุ่มใด ก็มักจะมองในมุมมองของกลุ่มของตน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา มีพนักงานหลายคนมาให้กำลังใจ นักข่าวหลายคนมาให้กำลังใจ แม้แต่ผู้พิพากษาก็โทรมาบอกให้กำลังใจบอกว่าอย่าถอยให้สู้

ไม่อยากให้มีกรณีม็อบชนม็อบให้ไปพิสูจน์ในศาลดีกว่า เรียนว่าทุกอย่างอยู่ในคำฟ้อง ขณะนี้คดีอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลอาญาแล้ว ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกการพิจารณาในการพิสูจน์ความจริง ศาลก็จะนัดให้ไต่สวนมูลฟ้อง ถ้าเราเป็นคนกล่าวหาก็ต้องนำพยานมาสืบ ฝ่ายคนที่ถูกฟ้องก็มีสิทธิซักถาม จนกระทั่งศาลตัดสินว่าจะประทับรับฟ้องหรือไม่ ขณะนี้เป็นขั้นตอนอยู่ในกระบวนการของศาล ถ้ามีการกดดันโดยไปกดดันผมไม่ได้ กดดันประธาน กทค. หรือ กทค. ไม่ได้ ก็ไปกดดันสำนักงานฯ ให้กลัว ให้ไปถอนฟ้อง ไม่งั้นจะถูกข่มขู่ จะอยู่ไม่ได้ในสังคมไทย ตรงนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ถูกต้อง จะทำให้มองว่าไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของศาล
 
ผมเห็นว่าตอนนี้เลยขั้นตอนจะไปดีเบตประเด็นต่างๆ แล้ว เพราะว่าเราก็พยายามชี้แจงแล้วก็เหมือนๆ กับว่าเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา

พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ผมทราบดีถึงว่าแนวทางที่ กสทช.สุภิญญาฯ ว่า ถ้าถูกฟ้องคือวีรสตรี แต่ว่าไม่มีใครอยากเป็นความ อย่าไปยุ่งกับเขา เขาว่าทนได้ก็ทน แต่ผมมีสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศของผม ถ้าการให้ข่าวเป็นการให้ข่าวโดยเข้าใจผิดโดยรู้ไม่จริง แล้วไปให้ข่าวแล้วไปให้ความเห็น ผมให้อภัยได้ว่ารู้ไม่หมด แต่ถ้ารู้หมด ใช้คำว่ารังแก กลุ่มบุคคลกลุ่มนี้รังแกพวกผมมาโดยตลอด ไม่เคยทำอะไรถูกผิดทุกเรื่อง ผิดมากผิดน้อยออกมารังแกใช้โครงสร้างเครือข่ายรังแก ผมตั้งใจทำงานและผมถูกรังแก ถ้าเป็นสมัยเด็กๆ ผมสู้ไปแล้ว ผมก็อดทน เพราะยิ่งสู้เขายิ่งดังยิ่งสู้ไม่มีประโยชน์อะไร แต่ก็ทนไม่ไหวถูกรังแกเหลือเกิน ตอนนี้ทุกเรื่องออกอะไรไปก็ถูกรังแกหมด ไม่ถูกไม่ดี ตามที่ กสทช.สุทธิพลฯ เคยพูดว่าเขาเอาความจริงมาพูดไม่หมดเปรียบเหมือนหมามีสี่ขา ช้างมีสี่ขา เป็นสัตว์เหมือนกัน ขนาดไม่เท่ากัน มีงวงมีงา กินก็ไม่เหมือนกัน ก็ทนไม่ไหว ก็ต้องใช้สิทธิ์ส่วนบุคคลของผมในการฟ้อง ต่อไปนี้ผมฟ้อง เมื่อฟ้องครั้งแรกได้ก็ฟ้องครั้งที่สองได้ฟ้องครั้งที่สามได้ ใครมาลงอะไรที่เป็นเท็จเกี่ยวกับเรื่องของผม หรือสิ่งที่ผมทำ เพราะว่าผมไม่มีทางอื่น ถ้าสมัยก่อนอาจจะมีเกเรบ้าง แต่ว่าเดี๋ยวนี้ทำไม่ได้ ก็ไม่ทำ เป็นการใช้สิทธิในฐานะประชาชนคนไทย และใช้สิทธิในการคุ้มครองเพื่อให้ประชาชนทั่วไป หรือให้ศาลพิจารณาว่าสิ่งที่เราทำกับสิ่งที่เราถูกกล่าวหาตรงกันไหม เป็นเรื่องของศาลยุติธรรม ก็เป็นสิทธิ์ส่วนบุคคลของผม ก็เรียนความในใจสั้นๆ เท่านี้ เพราะส่วนใหญ่ กสทช. สุทธิพลฯ ได้กล่าวไปแล้ว
 
ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า เพราะว่าทั้ง  3 ท่านได้อภิปรายไปแล้ว คงไม่แตกต่างกัน ผลกระทบอยู่ที่ครอบครัว ก็ไม่อยากพูด ก็ใช้สิทธิของตนเองที่จะปกป้องการกระทำหน้าที่   สิ่งที่ท่านอภิปรายไป ถ้าอภิปรายก็ซ้ำกันอีก
        

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'อ่านนายผี' จากการเมืองของนายผี สู่ การเมืองของเสื้อแดง-ปัญญาชนปัจจุบัน

Posted: 20 Sep 2013 08:23 AM PDT

เปิดตัวโครงการ 'อ่านนายผี' ซีรี่ย์ประวัติศาสตร์รวมงานเขียนกวี บทความ งานแปล เรื่องสั้น พร้อมเสวนาจาก เดือนวาด พิมวนา และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โยงการเมืองยุคนายผีสู่ปัจจุบัน วิพากษ์แวดวงกวี ปัญญาชน และเสื้อแดง  

 

18 ก.ย.56 ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการจัดเสวนา 'โซร่หลุดขาคู่อ้า ออกแล้ว เรายืน กวีของนายผี และการเมืองของอัศนี พลจันทร' ในวาระครบอบชาติการ 95 ปีของนายผี อัศนี พลจัรทร พร้อมทั้งเปิดตัวโครงการ 'อ่านนายผี' จัดโดยสำกนักพิมพ์อ่าน ร่วมกับโครงการปริญญาโท ภาควิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มธ.

ทั้งนี้ นายผี เป็นนามปากกาของ อัศนี พลจันทร กวี นักเขียน ปัญญาชนผู้มีเชื่อเสียงในยุคเปลี่ยนผ่านการเมืองไทยครั้งสำคัญ และมีบทบาทสำคัญในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ใช้ชื่อจัดตั้งว่า สหายไฟ  เขาเกิดเมื่อ 15 กันยายน 2461 และเสียชีวิตในปี 2530 ประเทศลาว รวมอายุ 69 ปี นำกลับประเทศไทยมาเพียงเถ้ากระดูก คนรุ่นใหม่รู้จักกันเขาในฐานะผู้แต่งเพลงเดือนเพ็ญ (คิดถึงบ้าน) 

เนาวนิจ สิริผารัตน์ ผู้จัดทำโครงการ 'อ่านนายผี' กล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นการรวบรวมและตีพิมพ์งานเขียนของอัศนีทุกชิ้น ไม่ว่าจะเป็นกวี เรื่องสั้น บทความ งานแปล ที่อัศนีเขียนไว้ในช่วงปี 2484-2502 ก่อนจะเข้าป่า โดยสำนักพิมพ์อ่านและสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันได้จัดทำเป็นหมวดหมู่รวมแล้วราว 15 เล่ม โดยต้นฉบับจำนวนมากได้รับมาจากคุณวิมลมาลี พลจันทร บุตรสาวของอัศนี โดยเบื้องต้นคุณวิมลมาลีต้องการบริจาคต้นฉบับที่มีอยู่ 1 ลังให้หอจดหมายเหตุ ธรรมศาสตร์ และต้องการหาผู้จัดพิมพ์โดยมีเงื่อนไขว่าต้องพิมพ์ตามต้นฉบับเดิมทุกประการ โดยต้นฉบับดังกล่าวมีทั้งที่เป็นลายมือ รวมถึงเอกสารต้นร่างที่ 'ป้าลม' ภรรยาอัศนีได้รวบรวมงานของอัศนีมาไว้เตรียมจัดพิมพ์ แต่ท่านมาเสียชีวิตเสียก่อนจะมีการจัดพิมพ์ตามที่ตั้งใจวางแผนไว้ในปี 2546 ในวาระครบรอบ 85 ปีนายผี

ในเบื้องต้นสำนักพิมพ์อ่านจัดพิมพ์ออกมาแล้ว 2 เล่ม คือ ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน และ กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์ สังคมและการเมืองสยาม (2484-2490) ในรูปเล่มขนาดเล็กกระทัดรัดตามเจตนารมณ์ของทายาทนายผีที่ต้องการให้ต้นฉบับดังกล่าวเขาถึงประชาชนให้มากที่สุด

 

"นี่คือสภาวะจิตนิยมอย่างที่สุดที่จะเอามาล้มล้างระบอบการปกครอง

ในลักษณะที่ไม่เอาหลักการ

เอาเรื่องจิตนิยม จะเอาคนดี จะเอาเรื่องมนุษยธรรม

หลายคนก็มีลักษณะที่พาตัวเองขึ้นไปอยู่ในจุดที่ทำทุกทวิถีทาง

ที่จะไม่เอาตัวเองไปอยู่ในคู่ขัดแย้ง

ขอเป็นคนขาวๆ ขอเป็นคนกลางๆ ฉันพูดเรื่องนี้ได้โดยไม่ใช่ผู้ขัดแย้ง

แต่รู้ไหมว่า คู่ขัดแย้งที่เห็นหน้าเห็นตากันแล้วเกลียดกันในทุกวันนี้

ยังไม่ใช่ผู้ที่จะสามารถล้มล้างวิธีคิดที่เป็นหลักการที่เราจะอยู่ร่วมกันได้

เท่ากับคนที่มีมนุษยธรรม ยืนอยู่ข้างนอก ....

ชาวบ้านตื่นแค่ไหนก็ไปไม่ถึงคำอธิบายของปัญญาชนยุคนี้

เพราะมันจะไหลไปเรื่อยเพื่อเบี่ยงเบนจุดยืนที่เขาไม่มีอยู่จริง"
 

 

ในส่วนของการเสวนานั้น เริ่มต้นที่  เดือนวาด พิมวนา  นักเขียนรางวัลซีไรต์ปี 2546 กล่าวว่า ในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งมากมายตั้งแต่อดีตงปัจจุบัน ไม่ว่าสถานการณ์จะทำให้คนตื่นขึ้นมาแค่ไหน แต่คนที่รู้สึกกับมันตราบนานเท่านานคือ คนที่เป็นพี่เป็นน้องของบุคคลในประวัติศาสตร์ที่ได้ตายไป จะหวังให้คนอื่นขึ้นมาทำอะไรให้คนเหล่านั้น ไม่ว่ายิ่งใหญ่เหมือนายผีหรือศพข้างถนนก็ตาม คงไม่มีใคร นอกจากญาติๆ ของพวกเขา

สถานการณ์ทางสังคมของยุคซ้ายจัดหรือในยุคนายผีนั้นค่อนข้างตรงไปตรงมา  ไม่ต้องนั่งตีความ 'ความเป็นซ้าย' แบบในปัจจุบัน เมื่อพูดถึง 'ซ้าย' ในอีดตสภาพก็ชัดสำหรับสังคมยุคเปลี่ยนผ่านที่สิ่งต่างๆ ยังยุ่งเหยิง ไม่ลงตัว เมื่อพูดว่าประชาธิปไตยยังใช้ไม่ได้ก็เป็นอันเข้าใจได้ว่ายังมีเรื่องต้องทำอีกเยอะมาก ขวาจัดคือขวาจัดจริงๆ ซ้ายจัดคือซ้ายจัดจริงๆ เป็นยุคสมัยที่เราจะไม่สงสัยกับถ้อยคำประเภท 'ชนชั้น' 'ประชาชน' เพราะเราเห็นอย่างชัดเจน 

กลุ่มสังคมกวี นักเขียน อาจไม่ต่างกันมากนักระหว่างยุคนี้กับยุคนายผี เพราะนายผีก็มีวิจารณ์คนเขียนกวียุคนั้นเองว่า การเขียนในเชิงจิตนิยมมากไป ไม่ต่อสู้ ไม่ชัดเจนว่าอยู่ข้างประชาชน ทำตัวเป็นผู้มีมนุษยธรรมแบบกลางๆ นั้นไม่ถูกต้อง แม้นายผีจะไม่ได้ตั้งข้อรังเกียจรังงอนมากนัก แต่ก็ตัดสินลงไประดับหนึ่งว่าไม่ควรทำ ไม่มีประโยชน์ แม้แต่จะเขียนในทัศนะว่าเรามองสังคมอย่างมีมนุษยธรรม สำหรับนายผีแล้วก็ยังไม่เพียงพอ เป็นเพียงทัศนะจิตนิยมธรรมดาของคนที่ไม่อยากเปลืองตัว

อย่างไรก็ตาม สภาพการณ์ตอนนั้นเป็นเรื่องน่าอิจฉา เพราะหากนายผีจะต่อสู้กับรัฐบาล ความไม่เป็นธรรม หรือชนชั้น มันมีความตรงไปตรงมาอย่างยิ่งและชัดเจนมากในสังคมยุคนั้น

"จุดยืนของนายผีจึงพลอยมั่นคงไปด้วย พูดแล้วน่าอิจฉาสำหรับสภาพสังคมที่ซื่อตรงและชัดเจนนั้น...ทุกคนจะเห็นว่าเขาเป็นคนที่มีทัศนะที่ตั้งมั่น ปักลงไป มีจุดยืนแล้วเดินตรงไป ไม่เลี้ยวไปในทิศใดทั้งสิ้น เขามีจุดหมายและไปจนกระทั่งท้ายที่สุด นี่คือผู้ที่นับถือตนเองได้ถึงที่สุด"

ที่ผ่านมาแม้มีการวิพากษ์ว่าแนวคิดซ้ายจัดอย่างนายผีเป็นทัศนะที่คับแคบ แต่ก็เป็นทัศนะที่กวีในยุคนี้รับเป็นดอกผลทางความคิด เป็นต้นแบบตลอดมา

"คุณไม่มีทางเป็นอย่างนายผีได้ ด้วยความซับซ้อนในความเป็นมนุษย์ของคุณที่ไม่เคยมีจุดยืนที่แท้จริงและไม่สามารถนับถือตนเองได้"

มาถึงวันนี้นึกถึงคำตำหนิของนายผีเรื่องคนมีทัศนะทางจิตนิยม ซึ่งสะท้อนถึงอะไรบางอย่างที่หลายคนสงสัยในกวีและปัญญาชนยุคนี้ นั่นคือ ความไม่ชัดเจน ความสับสน การไม่มีราก สร้างวาทกรรมที่ซับซ้อน ไม่ตรงไปสู่ปัญหาที่แท้จริง

"คุณอยากจะด่านายทุน แต่คุณก็ยังจะต้องมีผลไม้ซึ่งเป็นผลผลิตทางความคิดของนายผีอยู่ด้วย ด่านายทุนเหมือนนายผีเลย แต่ปรากฏว่าไม่มียุคสมัยใดที่กวีจะเขียนด่าประชาชนได้เท่ายุคสมัยนี้...นี่คือคำตอบว่าคู่ขัดแย้งในยุคสมัยของนายผีนั้นชัดเจนมาก พอมาถึงวันนี้เหมือนไม่รู้กวีจะยืนอยู่ตรงไหน ความสับสนนี้คือสภาพการณ์"  

"ความสับสนนี่เองที่ทำให้รู้สึกอิจฉานายผีมาก อิจฉาความตรงไปตรงมา ความชัดเจน เรารู้ว่าเราสู้กับใคร ...มาถึงวันนี้คุณก็พูดกับคู่ขัดแย้งของคุณนั่นแหละ คุณก็พูดเรื่องประชาธิปไตย เขาก็พูดเรื่องประชาธิปไตย ปรากฏว่าไม่มีคู่ขัดแย้งที่ชัดเจนแล้ว"

เรื่องนี้ทำให้ย้อนกลับไปคิดเรื่องจิตนิยม แต่เป็นจิตนิยมในภาพกว้างของสังคมไทยโดยขอเปรียบเทียบวิธีคิดที่ว่า ประเทศมีหลักการประชาธิปไตยอยู่ แต่ปัญหาอยู่ที่คนคนเดียว เป็นวิธีคิดที่ไม่เอาหลักการ แต่คิดเรื่องคนดี คนเลว คนๆ เดียว เป็นทัศนะที่หลักการจะดีอย่างไรก็ตาม แต่เชื่อว่าถ้าคนเลวเข้าไปทำก็ใช้ไม่ได้ ประชาธิปไตยจึงไม่สำคัญ การรัฐประหารจึงทำได้ วิธีคิดนี้สอดคล้องกับทัศนะที่นายผีพูดไว้ในวันนั้น

"นี่เราถึงยุคสมัยที่คนทั้งประเทศเห็นด้วยกับทัศนะจิตนิยมที่จะไม่เอาหลักการ"

"ถึงวันนี้ประชาชนตื่นขึ้นมามาก เพื่อมาฟังเรื่องทางกาเรมือง แต่ฉับพลันทันทีก็รู้สึกโง่ลงไปถนัดใจ เพราะคิดว่าประชาธิปไตยเป็นอะไรที่ไม่ได้ยากจนเกินไป เรารู้สภาพการณ์ มันติดอะไรที่น่าจะอธิบายได้ง่ายๆ แต่นักวิชาการอธิบายมันเพื่อดึงให้ห่างจากที่มันเป็นอยู่จริง ดึงไปไกลจนกระทั่งถ้ามีคอรัปชั่นสักนิดหนึ่ง ประชาธิปไตยก็ไม่ดีแล้ว..เพื่ออธิบายว่ารัฐประหารทำได้ ถ้าคนที่กุมอำนาจนั้นเลว"

"นี่คือสภาวะจิตนิยมอย่างที่สุดที่จะเอามาล้มล้างระบอบการปกครองในลักษณะที่ไม่เอาหลักการ เอาเรื่องจิตนิยม จะเอาคนดี จะเอาเรื่องมนุษยธรรม หลายคนก็มีลักษณะที่พาดตัวเองขึ้นไปอยู่ในจุดที่ ทำทุกทวิถีทางที่จะไม่เอาตัวเองไปอยู่ในคู่ขัดแย้ง ขอเป็นคนขาวๆ ขอเป็นคนกลางๆ ฉันพูดเรื่องนี้ได้โดยไม่ใช่ผู้ขัดแย้ง แต่รู้ไหมว่า คู่ขัดแย้งที่เห็นหน้าเห็นตากันแล้วเกลียดกันในทุกวันนี้ ยังไม่ใช่ผู้ที่จะสามารถล้มล้างวิธีคิดที่เป็นหลักการที่เราจะอยู่ร่วมกันได้ เท่ากับคนที่มีมนุษยธรรม ยืนอยู่ข้างนอก แล้วเบี่ยงเบนความคิดด้วยความชาญฉลาดว่า ทุกอย่างละเมิดได้ กฎทุกอย่างผิดหมด และเรามีคำอธิบายที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง ชาวบ้านตื่นแค่ไหนก็ไปไม่ถึงคำอธิบายของปัญญาชนยุคนี้ เพราะมันจะไหลไปเรื่อยเพื่อเบี่ยงเบนจุดยืนที่เขาไม่มีอยู่จริง"

อย่างไรก็ตาม หากพูดเรื่องประชาชน ขอยกประสบการณ์ที่ได้สัมผัสประชาชนในยุคนี้ ช่วงตัดสินรางวัล 'ฟรีไรท์ อะวอร์ด' เป็นรางวัลที่คนทางฝั่งแดงทำขึ้นมา ไม่มีนักเขียนทั้งแดงหรือเหลืองส่งเข้ามาเลย แต่ปรากฏว่ามีชาวบ้านเขียนหนังสือ บทกวี ส่งเข้าเยอะมาก กลายเป็นความรู้สึกว่า ชาวบ้านที่ได้เผชิญกับสถานการณ์เองเขาไม่จำเป็นต้องไปนั่งอ่าน พึ่งพาบทกวีของนักเขียนต่างๆ นานา

"นี่คืออารยธรรม เป็นความตรงไปตรงมา เหมือนที่เราอ่านนายผีแล้วรู้สึกว่าเขาอยู่ในสถานการณ์ เป็นคนของสถานการณ์ และตรงไปตรงมา ชาวบ้านเขียนคำหยาบเยอะมาก เขียนผิดๆ ถูกๆ แต่สนุกมาก...ความเลวร้าย ความทุกข์เป็นแรงบันดาลใจ แรงขับดันจากความทุกข์ทำให้คุณต้องเลือกหลายอย่าง กลายเป็นความแค้น สุดท้ายประชาชนระบายเป็นกวี เป็นอารยธรรมใหม่ที่เกิดจากประชาชนที่เกิดจากแรงบันดาลใจที่บริสุทธิ์มาก"

 

สิ่งที่เป็นหัวใจ จุดอ่อนที่ใหญ่ที่สุดของรุ่นหลังพคท.

คือ ความไม่เป็นการเมืองของการเมืองวัฒนธรรม

พูดง่ายๆ ว่าขาดด้านการเมือง

ในแง่ที่คิดถึงอำนาจรัฐและรูปแบบอำนาจรัฐ ตรงนี้ขาดมาก

แต่ไปอธิบายเรื่อง culture บ้าง เศรษฐกิจบ้าง

ถึงที่สุด ปัญญาชนปัจจุบันไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าต้องการอะไร

จะเปลี่ยนรูปแบบอำนาจรัฐที่เป็นอยู่อย่างไร

 

 

สมศักดิ์  เจียมธีรสกุล  คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ช่วงนี้หมกมุ่นอยู่กับประเด็นที่ว่าวิกฤตในรอบหลายปีที่ผ่านมา มาถึงจุดที่บางคนเรียกว่า เกี๊ยเซียะกันแล้ว แต่ไม่อยากอธิบายแบบนั้นและเห็นว่าเป็นสภาวะที่อึมครึม บอกไม่ถูก จะเห็นได้ว่ากลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งมีพลวัตรมาตลอดมาถึงจุดที่จำกัดแล้ว จุดเริ่มต้นของเสื้อแดงอาจมีคนเล็กคนน้อยรวมถึงเขาเองเป็นผู้ร่วมทาง แต่ส่วนใหญ่มาจากคนที่เชียร์ทักษิณและต้องการให้รัฐบาลทักษิณอยู่ในอำนาจ เป้าหมายนี้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยบางอย่าง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ทั้งหมดของประชาธิปไตย ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับเสื้อแดงก็ทำผิดพลาดหลายครั้ง ทั้งในช่วงปลายปี 2551 หรือปี 2553  ไม่คิดว่าก่อนตายจะได้เห็น ขณะที่ฝ่ายทักษิณและผู้สนัสนุนยิ่งสู้ยิ่งแข็ง เราจะเห็นว่า นปก.ระดมพลตอนแรกนั้นยากมาก ใช้เวลาไม่น้อยกว่านักวิชาการจะก้าวเข้ามาช่วยค่ายนี้ อย่างน้อยก็มีความเห็นอกเห็นใจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะนี้ เริ่มตั้งแต่ปี 2554 และเห็นชัดขึ้นในปีที่ผ่านมา คือ คนที่เป็นฐานเสื้อแดงมีเป้าหมายสูงสุดให้รัฐบาลของพวกเขาอยู่ในอำนาจ ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายนี้ผิด เขาเองก็สนับสนุนในแง่ว่ารัฐบาลนี้ถูกล้มไปโดยไม่ชอบธรรม พรรคนี้ชนะเลือกตั้งมาหลายครั้ง แต่หลักการนี้พอให้ความสำคัญสูงกว่าปัญหาอื่นๆ ก็จะกลายเป็นปัญหา ตัวอย่างประเด็นที่มีการดีเบตเร็วๆ นี้น่าตกใจมากคือ กลุ่มญาติผู้สูญเสียบรรจุกลุ่มทหารลงไปใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วย คนส่วนหนึ่งรู้สึกว่าถ้าใส่แล้วจะทำให้คนในคุกไม่ได้ออกจากคุก ซึ่งไม่ make sense เท่าไร เพราะนี่เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่ที่น่าสนใจคือ ปฏิกริยาตอบกลับที่รุนแรงมาก รวมถึงกรณี 'ใบตองแห้ง' ที่เห็นว่าถ้ารัฐบาลตกลงกับทหารไว้แล้วทหารจะยอมหรือ

"เดี๋ยวนี้ปัญญาชนแอคติวิสต์จะต้องยอมรับการตกลงที่รัฐบาลไปตกลงกับทหารตั้งแต่เมื่อไร ผมสะดุ้งมาก นี่คือปัญหารวมศูนย์ของเสื้อแดง อะไรที่เป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาล อะไรจะไปรบกวนยุทธศาสตร์นี้ คนเสื้อแดงจำนวนมากไม่ยอมรับ น่าสนใจว่าประเด็นทหารหายไปหมดเลย  มูดทั้งหมดเปลี่ยนไปเลย...เราไม่ได้ยินเสียงระดับชาวบ้านนั้นพอเข้าใจ แต่ปัญญาชนเงียบ ปัญญาชนที่แอนตี้ทักษิณตอนนี้มาดีเฟนด์รัฐบาลหมด"

ประเด็นเรื่องการเมืองของนายผีนั้น หากเราจับนายผีเข้าไปอยู่ในบริบทของปัญญาชนไทย หลัง 2475 เป็นต้นมา อาจแบ่งได้เป็น 3 generation ใหญ่ๆ  โดยนายผีนั้นอยู่ร่วมยุคกับปรีดีและเหตุการณ์ในช่วงนั้น นายผีเข้ามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) ตอนอายุ 20 ปี จอมพล ป.เป็นนายกฯ พอดี เป็นช่วงยุคเสื่อมของคณะราษฎร เกิดสงครามโลก เกิดกรณีสวรรคต และรัฐประหาร 8 พ.ย.2490 ซึ่งฟื้นอำนาจกลุ่มอนุรักษ์นิยม เกิดการปฏิวัติจีนและเริ่มต้นสงครามเย็น นี่เป็นสิ่งที่ form คนรุ่นนี้ขึ้นมา แม้กระทั่งจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเป็นจูเนี่ยของรุ่นนี้ก็ยังเห็นหางเลขของปรากฏการณ์เหล่านี้

คำถามสำคัญคือ คนส่วนใหญ่ที่เป็นซ้ายในยุคนี้เริ่มต้นจากเชียร์ปรีดีก่อนแล้วมาลงเอยที่พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย (พคท.) เป็นเรื่องน่าสนใจว่าทำไมในที่สุดแล้วมันไม่มีที่ยืนสำหรับผู้มีความคิดฝ่ายซ้าย งานนายผีที่นำมาตีพิมพ์ทำให้เราเคลียร์ยิ่งขึ้นเรื่องการเปลี่ยนผ่านของนายผี จากปรีดีมาเป็นพคท. การรวมงานชิ้นนี้ทำให้เห็นว่านายผีเปลี่ยนเป็นซ้ายประมาณปี 2491  จะเห็นว่ากลอนช่วงปี 2489-2490 เป็นช่วงรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ซึ่เป็นนอมินีของปรีดี น่าแปลกใจว่านายผีเขียนด่ารัฐบาลหลวงธำรงฯ หลายชิ้น ทั้งๆ ที่นายผีรักปรีดีมาก และยังเห็นผลงานนายผีที่ยังอ้อยอิ่งอาลัยอาวรณ์กับวัฒนธรรมศักดินาอยู่บ้าง  

อย่างไรก็ตามีบทความจำนวนหนึ่ง เช่น ใน นสพ.การเมือง นายผีเขียนบทความ 'อุตตรกุรุทวีป'  มีเนื้อหาบางส่วนที่สะท้อนว่าเขาได้อ่านเลนิน และยังมีบทความหนึ่งที่ด่าพวกปรีดีว่าเป็นปฏิกิริยาไม่น้อยไปกว่าพวกเจ้าและจอมพลป.

"แต่สุดท้ายมาลงเอยที่ พคท. ถึงที่สุดแล้วอาจเป็นเพราะปรีดีไม่ได้ผลิตงานที่สามารถดึงคนได้จริงๆ นี่เป็นคำพูดของผิน บัวอ่อน พอตื่นตัวแล้ว อ่านงานปรีดีแล้วมันตัน หาอ่านต่อไม่ได้ พออ่านงานมาร์คซิสม์แล้วตื่นขึ้นมาเลย"  

เมื่อมองย้อนกลับมาที่เสื้อแดงจะพบว่า เสื้อแดงยังก้าวไม่ข้ามทักษิณ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ก้าวข้าม ขณะที่เมื่ออ่านงานนายผีจะเห็นว่าเขาก้าวข้ามปรีดีแล้ว อย่างน้อยก็ก้าวข้ามรัฐบาลปรีดี

ช่วงปี 2491-2493 เป็นช่วงเข้า พคท. ปี 2495-2496 เป็นช่วงที่นายผีทำงานพีคที่สุด คือเรื่องความเปลี่ยนแปลง ขณะที่เรื่องอีสานที่ว่าดังที่สุดนั้นเขากลับไม่เห็นว่าเป็นงานที่พีค เพราะอ่านยังไงก็ไม่ลงรอย ยังด่านักการเมืองซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด ในขณะที่วิธีคิดเขาเปลี่ยนไปแล้ว แต่หากอ่านเรื่องความเปลี่ยนแปลง นายผีอธิบายสภาวะ กึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา ได้ดี 

รุ่นนายผี นักศึกษาใน มธก.มาเป็น พคท.เยอะมากหรือไม่ก็เป็นแนวร่วม ตอนที่ พคท.ตัดสินใจสู้ด้วยอาวุธ ส่วนหนึ่งเพราะสฤษดิ์ปราบปรามอย่างหนักด้วย แต่มันทำให้สถานการณ์ของปัญญาชนฝ่ายซ้ายเปลี่ยนโดยสิ้นเชิง

นายผีช่วงพีคนั้นไปเมืองจีนศึกษามาร์กเลนิน น่าเสียดายมาก จาก 2495-2525 ช่วง 30 ปีนี้แทบไม่เห็นงานนายผีเลย นายผีคงมองเห็นตัวเขาเป็นนักปฏิวัติมากกว่ากวี  เอาเข้าจริงนายผียุ่งการเมืองในขบวนปฏิวัติมากกว่าจิตรเยอะ และผลจากการเข้าไปยุ่งนี้ทำให้การต่อสู้ระหว่างกลุ่มต่างๆ ในพรรคมีผลกำหนดงานของเขา ในช่วงความขัดแย้งแนวทางของพรรค ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร เสนอว่าต่อสู้ในชนบทไม่ได้ต้องต่อสู้ทางการเมือง หลายคนเห็นด้วยกับประเสริฐรวมทั้งนายผีด้วย แต่สุดท้าย พคท.ก็หันไปสู้ด้วยอาวุธ แต่น่าเสียดายที่ไม่มีเอกสารของการโต้เถียงของกลุ่มฝ่ายซ้ายในเรื่องนี้แล้ว

เมื่อนายผีกลับมาในปี 2500 ปี 2504 ได้รับเลือกเป็นกรรมการกลางในสมัขชา 5 ของ พคท. จากตรงนี้ถึง 2520 นายผีมีบทบาทสูง อุดม ศรีสุวรรณ บอกว่านายผีไปเข้ากับพวกที่เชื่อในการปฏิวัติวัฒนธรรมและต้องการโค่นศูนย์การนำ หนังสือ "ดาวเหนือ" ออกมา 11 ฉบับแล้วหายไป พอเกิดกรณีพิพาทนายผีเป็นบก. ของหนังสือพิมพ์เล่มใหม่ชื่อ "ชาวคอมมิวนิสต์"  โดยเปิดฉากวิจารณ์สหายนำอย่างเผ็ดร้อน สรุปแล้วนายผีมีบทบาทเยอะมากในการผลิตเอกสารในการสู้กันในป่า แต่เราไม่เหลือหลักฐานอะไร ซึ่งการสู้กันนั้นมีผลสำคัญมากกับชีวิตเขา สุดท้ายกลุ่มนี้แพ้เพราะมีลักษณะซ้ายจัด พอแพ้ก็ไปจีน เวียดนาม แล้วไปลงเอยที่ลาว อย่างไรก็ตาม งานการเมืองนายผีมีลักษณะซ้ายมาก แต่หากเป็นเรื่องวรรณกรรมงานจะมีลักษณะผ่อนปรนมากกว่า

"เราจะเห็นว่า เรายังรู้จักนายผีน้อยในแง่งานของเขาจริงๆ แม้กระทั่งงานวรรณกรรมในป่า บทความในป่า 30 ปี หลังจาก 2495 เราไม่เหลือเลยทั้งที่เขามีบทบาทสูง  ...นายผีเป็นตัวอย่างให้เห็นเลยว่า พอมีปัญหาเรื่องการเมืองแล้วทำงานไม่ได้"

ความจริงควรมีปัญญาชนอีกรุ่นหนึ่งในช่วง 20-30 ปีหลัง พคท.พัง แต่บทบาทกลับน้อยลงมาก โดยมีปัญหาใหญ่ 2 ข้อคือ ปัญญาชนรุ่น 14 ตุลาที่ผ่านประสบการณ์ตรงนั้น นอกจากล้มเหลวจากพคท.มาแล้วยังล้มเหลวในการสร้างงานด้วย ปัญญาชนในยุคปัจจุบันที่อายุ 30 เศษถึง 40 ต้นๆ ก็ควรที่จะมีมากกว่านี้ แต่ทำไมมันจึงไม่ชัดเจน ส่วนหนึ่งก็เพราะพวกเขาเคารพรุ่นผู้ใหญ่มากเกินไป

"พอรุ่นผู้ใหญ่ทำห่วยแตก พอไม่กล้าเบรคก็ห่วยตามไปด้วย ผมเรียกว่ารุ่น lost generation ตลอด 30 ปีหลังพคท.พังมันมีปัญหาเรื่องอุดมการณ์"

 ปัญหาเรื่องอุดมการณ์ดังกล่าวสืบเนื่องมากจากการขยายคอนเซ็ปท์เรื่องการเมือง  ซึ่งมีบางอย่างได้ บางอย่างเสีย  คนรุ่นใหม่ไปทาง cultural politics (การเมืองวัฒนธรรม) การเมืองขยายอาณาเขตไปไกลเป็นการเมืองวัฒนธรรม และเป็นปัญหาหัวใจใหญ่ที่แชร์ร่วมกันของบรรยากาศปัญญาชนหลัง พคท. นั่นคือ ความไม่เป็นการเมืองของการเมืองวัฒนธรรม ซึ่งต่อให้ขยายความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นเพียงใด แต่มันไม่มีเรื่องอำนาจรัฐ และรูปแบบอำนาจรัฐ

อีกตัวอย่างคือ การมองปัญหาผ่านสังคมเศรษฐกิจ แก้ปัญหาที่ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงซึ่งมีปัญญาชนหลายคนนำเสนอในแนวนั้นโดยตลอด ถ้าอย่างนั้นชาตินี้ก็ไม่ต้องแก้ปัญหาแล้ว เพราะทุกที่มีความเหลือ่ล้ำต่ำสูง แม้แต่สหรัฐอเมริกา แสดงว่าการเมืองประชาธิไตยไม่ได้ขึ้นต่อความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางเศรษฐกิจ ขณะที่วิธีคิดฝ่ายซ้าย พคท.อธิบายบนฐานเศรษฐกิจ และยังพูดถึงรูปแบบพรรคการเมืองด้วย เพราะต้องการเปลี่ยนอำนาจรัฐ

"สิ่งที่เป็นหัวใจ จุด่ออนที่ใหญ่ที่สุดของรุ่นหลังพคท. คือ ความไม่เป็นการเมืองของการเมือง พูดง่ายๆ ว่าขาดด้านการเมือง ในแง่ที่คิดถึงอำนาจรัฐและรูปแบบอำนาจรัฐ ตรงนี้ขาดมาก แต่ไปอธิบายเรื่อง culture บ้าง เศรษฐกิจบ้าง และอันนี้ยังกำกับความคิดของคน ถึงที่สุด ปัญญาชนปัจจุบันไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าต้องการอะไร จะเปลี่ยนรูปแบบอำนาจรัฐที่เป็นอยู่อย่างไร"  

นิติราษฏร์เป็นข้อยกเว้น แม้ว่าพวกเขาส่วนใหญ่ไม่มีแบคกราวน์ฝ่ายซ้ายหรือมีน้อยก็น้อย แต่อาจเพราะคนกลุ่มนี้ถูกเทรนด์มาทางนิติศาสตร์และคิดเรื่องอำนาจรัฐ รูปแบบอำนาจรัฐมาตลอด แต่กระนั้น นิติราษฎร์ก็ยังจำกัดตัวเองมาก อะไรที่ข้ามเขตแดนกฎหมายก็จะไม่ออกมา

นอกจากนี้ปัญญาชนที่ศึกษาการเมืองวัฒนธรรมก็ยังไม่แตะปัญหาวัฒนธรรมกษัตริย์นิยมซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่สุดในทางวัฒนธรรมด้วย

ถ้าแบ่งเฉดสังคมไทย จะเห็นว่ามีแนวคิด สังคมนิยม เสรีนิยม กษัตริย์นิยม ซึ่งเสรีนิยมที่อยู่ตรงกลางนั้นจะเป็นส่วนที่เล็กที่สุดอยู่แล้ว และในประวัติศาสตร์สังคมไทยฝ่ายเสรีนิยมจะเจอคำถามเรื่องความหน้าไว้หลังหลอก หรือสามารถทำงานกับฝ่ายเผด็จการได้ตลอด หนังสือ Liberalism a Counter-History รวบรวมความขัดแย้งเหล่านี้ เช่น หลายคนอาจไม่รู้ว่าจอน ล็อค เจ้าพ่อลิเบอรัลนั้นสนับสนุนการมีทาส หนังสือนี้อธิบายว่า คนที่ได้ชื่อว่าเป็นเสรีนิยมนั้นมักมีลักษณะลักลั่นเช่นนี้ตลอด ผู้เขียนหนังสือเสนอว่า สิ่งที่เป็น emancipation และ de-emancipation คือ การปลดปล่อยและการต่อต้านการปลดปล่อย ซึ่งมาคู่กันในวิธีคิดเสรีนิยม  ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เสนอว่า enlightenment มี 2 tradition แบบประนีประนอม กับ แบบ radical ประเด็นที่จะตั้งเป็นข้อคิดคือ  บางทีเสรีนิยมโดยตัวมันเอง อยู่โดยตัวมันเองไม่ได้ จะเต็มไปด้วยการหน้าไหว้หลังหลอก ต้องมีอะไรบางอย่างที่มากกว่ามัน จึงจะเป็นเสรีนิยม

"การเกิด civilize ในอเมริกาเพราะมันมีโซเวียตอยู่ อันนี้อาจจะจริง ตอนนี้พอสังคมนิยมหายไป มันก็เละตุ้มเป๊ะ"

"ปัญญาชนไทยหันไปดีกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม เพราะมันพอหมดอะไรที่ดีกว่า คุณก็คิดได้แค่นี้ อย่างมากก็ได้แค่นี้"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ก่อนจะเป็น ปตท.

Posted: 20 Sep 2013 08:15 AM PDT

<--break->บทความนี้ตั้งใจที่จะเล่าในเชิงประวัติศาสตร์ว่า ที่มาของกิจการน้ำมันในประเทศไทยก่อนที่จะตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. ว่า มีความเป็นมาเช่นไร ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากวิทยานิพนธ์ประวัติศาสตร์ของนิสิตที่เพิ่งจบการศึกษาคือ อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ในหัวข้อเรื่อง "ก่อนจะเป็น ปตท.- ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมในประเทศไทย พ.ศ. 2489 - 2521

แต่เดิมแหล่งพลังงานในโลกที่มนุษย์ใช้จะเป็นพลังงานจากธรรมชาติเป็นหลัก จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม จึงได้มีการใช้พลังงานไอน้ำ ทำให้ถ่านหินเริ่มมีความสำคัญ แต่ต่อมาเกิดการปฏิวัติด้านพลังงาน เพราะการคิดค้นเครื่องยนต์แบบสันดาปภายใน ทำให้น้ำมันปิโตรเลียมเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น สังคมไทยเริ่มนำเข้าน้ำมันตั้งแต่ราว พ.ศ.2417 เพื่อนำมาใช้ในด้านแสงสว่างสำหรับราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 5 ดังนั้น น้ำมันที่นำเข้าระยะแรกจึงเป็นน้ำมันก๊าด แต่ก็มีปริมาณน้อยมาก จนกระทั่งกิจการรถยนต์เริ่มเข้ามาในไทยเมื่อราว พ.ศ.2420 จากนั้น การใช้น้ำมันในสังคมไทยก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนถึง พ.ศ.2477 ที่ไทยนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมราว 63,292 พันลิตร แต่การบริโภคจะมาลดลงอีกครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะความยากลำบากในการขนส่งและภาวะคลาดแคลน

หลังสงครามโลกยุติลง ไทยอยู่ในภาวะผู้ร่วมมือกับญี่ปุ่นจึงไม่มีอำนาจต่อรอง ต้องยอมรับให้สแตนดาร์ดแวคคั่มออยส์(เอสโซ) และ รอยัลดัทช์เชลล์เข้ามาผูกขาดการค้าน้ำมัน โดยรัฐบาลไทยต้องทำ"คำมั่นประกัน" พ.ศ.2489 ว่าจะไม่จัดจำหน่ายน้ำมันแข่งกับบริษัทต่างประเทศ และห้ามการแทรกแซงหรือควบคุมการค้าน้ำมัน ตามคำมั่นประกันนี้ ทำให้บริษัทน้ำมันต่างประเทศได้โอกาสขยายตลาดในไทยได้เต็มที่ ในภาวะที่การบริโภคน้ำมันในสังคมไทยเพิ่มทวีขึ้น เพราะการขยายตัวของค่านิยมการใช้รถยนต์ตามแบบอเมริกา แต่รัฐบาลไทยในระยะต่อมาไม่พอใจต่อคำมั่นประกันนี้ เพราะเห็นว่าน้ำมันปิโตรเลียมเป็นสินค้ายุทธศาสตร์ที่รัฐบาลจะต้องเข้าควบคุม และยังไม่พอใจที่บริษัทต่างประเทศขึ้นราคาจำหน่ายปลีกน้ำมัน โดยรัฐบาลควบคุมไม่ได้ หลังจากมีการเจรจากันหลายรอบ บริษัทน้ำมันต่างประเทศก็ยอมเลิกคำมั่นประกันเมื่อปลาย พ.ศ.2499 ซึ่งทำให้ฝ่ายไทยสามารถเข้าสู่ตลาดน้ำมันแข่งขันกับต่างชาติได้ องค์การเชื้อเพลิงของไทย จึงเปิดค้าปลีกน้ำมันตราสามทหาร

หลัง พ.ศ.2500 การใช้น้ำมันปิโตรเลียมในสังคมไทยเพิ่มทวีมากขึ้นทุกที สาเหตุเพราะการขยายตัวของถนนที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการสร้างถนนสายหลักที่เชื่อมภูมิภาคเข้ากับกรุงเทพฯ เช่น ถนนสุขุมวิท ถนนพหลโยธิน ถนนเพชรเกษม และ ถนนมิตรภาพ ทำให้การขนส่งทางรถยนต์เข้ามาแทนที่การขนส่งทางน้ำและทางรถไฟ แม้กระทั่งรถไฟเองก็เปลี่ยนจากรถจักรไอน้ำที่ต้องมีสถานีเติมฟืนมาสู่รถจักรดีเซล ต่อมาก็คือการขนส่งทางอากาศที่ขยายตัวมากขึ้น นำมาซึ่งการใช้เชื้อเพลิงปิโตรเลียมทั้งสิ้น

แต่ที่สำคัญคือ การขยายตัวของวิถีชีวิตแบบชนชั้นกลางในเมือง ทำให้การใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะการมีรถยนต์ไม่เพียงแต่ทำให้การเดินทางส่วนตัวสะดวกขึ้น แต่ยังแสดงถึงความโก้เก๋และสะท้อนฐานะทางสังคมของผู้ขับขี่รถยนต์ด้วย นอกจากนี้ การใช้จักรยานยนต์ก็ได้กลายเป็นวิถีชีวิตแห่งความสะดวกสบายแบบใหม่ จึงปรากฏว่า เมื่อถึง พ.ศ.2513 สังคมไทยมีรถยนต์ที่จดทะเบียนราว 3.7 แสนคัน และจักรยานยนต์ 3.3 แสนคัน ตั้งแต่รัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เริ่มถมคูคลองในพระนคร และสร้างเป็นถนนขึ้นมาแทน ในที่สุดราว พ.ศ.2510 เริ่มเกิดจราจรติดขัดมากขึ้น และหลังจากนั้น รถติดกลายเป็นวิถีชีวิตอันคุ้นเคยอย่างหนึ่งของชาวเมืองหลวง

นี่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การใช้น้ำมันเบนซินในสังคมไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปั๊มน้ำมันเพื่อการค้าปลีกขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยมีเชลล์ และ เอสโซ เป็นผู้ครองตลาด สามทหารมาเป็นอันดับสาม นอกจากนี้ จะเป็น ตราดาว ซัมมิท และ โมบิล น้ำมันสามทหารราคาถูกและบังคับให้หน่วยราชการต้องใช้ แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน เพราะมีภาพลักษณ์ว่าเป็นน้ำมันคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน

การขยายตัวด้านอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พลังงานจำนวนมากและสม่ำเสมอ เป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้การใช้น้ำมันในสังคมไทยเพิ่มทวีขึ้น ทำให้ไทยต้องนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นทุกปี ในที่สุด รัฐบาลจึงได้สนับสนุนให้มีการสร้างโรงกลั่นน้ำมัน คือ โรงกลั่นน้ำมันไทย และโรงกลันน้ำมันบางจาก ต่อมา เอสโซก็ตั้งโรงกลั่นน้ำมันของตนเองอีกแห่งหนึ่ง ทำให้ไทยมีความสามารถในการผลิตน้ำมันของตนเองได้ แต่ยังต้องนำเข้าปิโตรเลียมมาเป็นวัตถุดิบเพราะไม่มีแหล่งน้ำมันในประเทศ

น้ำมันในตลาดโลกในระยะก่อนหน้านี้อยู่ในมือของบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ประเทศผู้ผลิตน้ำมันได้ตั้งกลุ่มโอเปคขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2503 และได้รณรงค์เข้ามาเป็นผู้กำหนดตลาดมากขึ้น จนเมื่อเกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอล เดือนตุลาคม พ.ศ.2516  กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันอาหรับ ได้ใช้น้ำมันเป็นเครื่องมือเพื่อคว่ำบาตรชาติตะวันตกที่สนับสนุนอิสราเอล โดยลดการผลิตลงและตัดการค้ากับตะวันตก กรณีนี้ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันอย่างรุนแรงทั่วโลก ก่อให้เกิดการปรับขึ้นอย่างมากด้านราคา ทำให้ตลาดน้ำมันในไทยปั่นป่วนไปด้วย เพราะบริษัทน้ำมันจะขอขึ้นราคาค้าปลีกน้ำมันหลายครั้ง ซึ่งจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่การขึ้นราคาของน้ำมันปิโตรเลียมจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนวงกว้าง รัฐบาลหลังกรณี 14 ตุลา ต้องใช้นโยบายตรึงราคาน้ำมัน รวมทั้งเสนอรณรงค์ให้ประหยัดน้ำมัน และเสนอน้ำมันสูตรพระราชทานอีเทอนัลออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาทางจิตวิทยามวลชน แต่ก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับบริษัทนำมันอย่างมาก

ปัญหาจากวิกฤตการณ์น้ำมัน และกระแสการโจมตีเรื่องการผูกขาดตลาดน้ำมันของต่างชาติที่เกิดขึ้นหลังกรณี 14 ตุลาคม นำมาซึ่งแนวคิดในการจัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติ ประกอบกับการที่ต่างประเทศได้มีการตั้งบริษัทน้ำมันขึ้นมาจดการปัญหาถึง 78 ประเทศ และในกลุ่มเพื่อนบ้าน ก็มีการตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติ เช่น สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย เป็นต้น แต่นโยบายการตั้งบริษัทแห่งชาติด้านน้ำมันชะงักไปสมัยเผด็จการธานินทร์ กรัยวิเชียร จนกระทั่งสมัยที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้นำมาสู่การออกพระราชบัญญัติจัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยในเดือนธันวาคม พ.ศ.2521 ด้วยการรวมกิจการของน้ำมันสามทหารและโรงกลั่นของรัฐเข้าเป็นของ ปตท. และยังรวมกิจการด้านก๊าซธรรมชาติเอาไว้ด้วย

สรุปได้ว่าการเกิดของ ปตท.มาในเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์แบบหนึ่ง ที่เรียกร้องให้มีบริษัทแห่งชาติมาดำเนินการ แต่ต้องเข้าใจว่า ปตท.ไม่ได้ผูกขาด หากแต่เติบโตในตลาดแข่งขัน เพราะบริษัทน้ำมันระดับโลก เช่น เชลล์ เอสโซ และ ตราดาว ก็ยังคงประกอบกิจการในไทยเช่นกัน ความสำเร็จของ ปตท.ในระยะหลัง เป็นสิ่งที่เกินความคาดหมายเมื่อ พ.ศ.2521

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เรื่องราวการต่อสู้ของคนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยที่ฟินแลนด์

Posted: 20 Sep 2013 05:46 AM PDT



ได้เวลาเขียนมาเล่าเรื่องราวแห่งความวุ่นวายตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ต้องประสานความช่วยเหลือให้กับกลุ่มคนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทย 50 คนที่มาเก็บเบอร์รี่ที่ฟินแลนด์ ที่ได้ติดต่อขอความช่วยเหลือมายังผู้เขียนตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2556

อย่างเร่งด่วน ผู้เขียนได้ประสานทีมความช่วยเหลือจากฟินแลนด์ ซึ่งประกอบไปด้วยทนายความด้านสิทธิมนุษยชน Ville Hoikkala และ Li Andersson ประธานกลุ่มเครือข่ายพันธมิตรเยาวชนซ้าย และได้ส่งข้อมูลไปยังสหภาพแรงงานฟินแลนด์โดยทันที

วันที่ 10 กันยายน พวกเรา 3 คนได้เดินทางมาเพื่อไปพบคนงานไทยที่อยู่ที่แคมป์ Saarijarvi และพวกเราและเพื่อนๆ นักกิจกรรมในพื้นที่อีกหลายคนที่ตามมาสมทบ ได้ร่วมเป็นประจักษ์พยานต่อสภาพความจริงแห่งการใช้ชีวิตและการทำงานของกลุ่มคนงานภายใต้สถานภาพ "นักท่องเที่ยวจ้างงานตัวเอง" ที่ในความเป็นจริงช่างห่างไกลจากความเป็น "นักท่องเที่ยว" ตามที่ระบุในวีซ่า อย่างมากมายจนน่าตกใจ


แคมป์คนงานที่ Saarijarvi

แคมป์แห่งนี้ เป็นบ้านของคนฟินน์ที่ต้องการหารายได้พิเศษ จึงแบ่งพื้นบ้าน และห้องว่างที่ให้คนไทยไปพัก แต่พื้นที่ที่มีเพียงตัวบ้านและโรงเรียนเก็บของหลังเล็กหนึ่งหลัง ไม่มีศักยภาพพอที่จะรองรับคนงานจำนวนถึง 74 คน พวกคนงานจึงต้องอยู่กันอย่างแออัด และบางคนก็ต้องนอนในรถหรือในรถพ่วง

คนเก็บเบอร์รี่บอกว่า นี่เป็นลักษณะที่พักในแคมป์อื่นๆ ด้วยเช่นกัน ที่พวกเขาต้องเข้าคิวกันใช้ห้องน้ำ ห้องครัว และห้องอาบน้ำที่มีอย่างละห้องเดียวเท่านั้น กว่าจะได้นอนก็ดึกดื่น และต้องตื่นแต่ตีสามตีสี่ คนงานบางกลุ่มต้องทำอาหารและกินกันในพื้นที่ที่ควรจะเป็นที่นอน กระนั้นบางคนก็ต้องนอนในรถและนอนในรถพ่วง

คนงานนักท่องเที่ยวชาวไทยเหล่านี้ - ทั้งเขาและเธอ - มีหน้าตาซูบซีดและผ่ายผอม ทั้งจากการกินอยู่อย่างอดอยาก และจากการไม่ค่อยได้พักผ่อน เพราะต้องเดินทางไกลวันละกว่าร้อยกิโลเมตรเพื่อหาแหล่งเบอร์รี่ดก และจากการเดินขึ้นเขาลงเขาเก็บเบอร์รี่กันวันละ 13 - 15 ชั่วโมง

คนงานส่วนใหญ่บอกว่านอนเพียงวันละ 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น และไม่มีใครนอนเกินวันละ 5 ชั่วโมงนับตั้งแต่เดินทางมาถึงฟินแลนด์เมื่อวันที่ 29 และ 30 กรกฎาคม 2556


"จะส่งกลับ จะเรียกตำรวจ"
วันที่ 10 กันยายน ผู้เขียนอยู่ในเหตุการณ์ด้วยเช่นกัน เมื่อตัวแทนบริษัทได้เดินทางมาแจงตัวเลขคร่าวๆ ว่า การทำงานทุกวันๆ ละ 12 -15 ชั่วโมงของพวกเขา ตลอด 5 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ไม่มีกำไรเลย เมื่อบริษัทบอกว่ายอดเงินที่บริษัทจะหักออกจากรายได้พวกเขาสูงถึง 2,900 ยูโร และบางคนก็ยังหาเบอร์รี่ไม่พอกับจำนวนเงินที่จะหักนี้ มันก็ได้สร้างความโกลาหลให้กับกลุ่มคนงานไทยกลุ่มนี้อย่างทันที เพราะทุกคนต้องกู้หนี้ยืมสินกันมาคนละกว่าแสนบาท เพื่อจ่ายเป็นเงินค่าดำเนินการให้กับ Ber-Ex  และค่าใช้จ่ายเพื่อการทำงาน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเงินที่กู้หนี้ยืมสินกันมา โดยคนงานกว่าครึ่งกู้เงินจาก ธกส. และยังต้องพากันกู้เงินนอกระบบอีกหลายหมื่นบาทจากนายทุนเงินกู้ หรือจากตัวแทนของบริษัท Ber-Ex ที่คิดดอกเบี้ยร้อยละ 3 ถึง ร้อยละ 5 ต่อเดือน เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมตัว - ทั้งซื้ออาหาร ยา และอุปกรณ์การทำงานต่างๆ จากเมืองไทย

เมื่อบริษัทมีท่าทีกดดันมากขึ้น บอกกับเหล่าคนงานว่า "จะส่งกลับ และจะโทรเรียกตำรวจ" ซึ่งก็ทำจริงๆ ซะด้วยในบ่ายวันนั้น โดยแจ้งให้ตำรวจจะมายึดรถ และไล่ให้คนงานออกจากแคมป์ แต่ตำรวจที่ฟินแลนด์ก็เที่ยงธรรมพอ บอกกับบริษัทว่าไม่สามารถ "บังคับ" ให้คนงานคืนรถและออกจากแคมป์ได้ คนงานต้องทำโดย "ความสมัครใจ"

เมื่อบริษัททำรุนแรงเช่นนี้ มันก็ถึงคราวถึงจุดสิ้นสุดความอดทน คนงาน 50 คนจึงประกาศจะสู้เพื่อศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ สู้เพื่อความยุติธรรม พร้อมทั้งเรียกร้องความเสียหาย และเมื่อได้รับคำชี้แจงข้อกฎหมายจากทนายความ พวกเขาตัดสินใจฟ้องร้องในคดี "ค้ามนุษย์" กับบริษัท Ber-Ex และผู้เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 11 กันยายน ณ สถานทีตำรวจที่เมือง Saarijarvi


บริษัท Ber-Ex เรียกตำรวจมาเพื่อให้ยึดรถจากคนงานและให้ไล่คนงานออกจากที่พัก แต่ตำรวจที่นี่รู้จักเรื่องสิทธิมนุษยชนบอกว่า "ไม่สามารถบังคับได้ คนงานต้องทำโดยความสมัครใจ"


ความเป็นมา
คนงานที่ฟ้องร้องเอาผิดกับบริษัท Ber-Ex เป็นคนงานไทย 50 คนจากจำนวน 350 กว่าคน ที่ยอมจ่ายเงินค่านายหน้าให้กับบริษัท Arctic ซึ่งตัวแทนบริษัท Ber-Ex ที่ประเทศไทย คนละ 68,000 บาท ภายใต้แรงจูงใจว่า "ถ้าไม่มีผลไม้บริษัทจะย้ายแคมป์ให้" และ "ปีนี้มีเบอร์รี่เยอะ" "จะมีคน "หาแหล่งเบอร์รี่ให้" และ "บริษัทจะให้เงินล่วงหน้าสัปดาห์ละ 100 ยูโรเพื่อการใช้จ่าย" ฯลฯ ทั้งนี้ คนงานที่มากับบริษัทนี้รับรู้ว่าพวกเขาจะต้องทำอาหารกินเอง และจ่ายค่ารถและค่าที่พักวันละ 16 ยูโร (640 บาท)

เมื่อรวมระหว่างเงินกู้เพื่อจ่ายค่าดำเนินการและกู้มาเพื่อซื้ออาหาร ยา และอุปกรณ์ทำงาน พวกเขาก็มีหนี้คนละ 100,000 - 130,000 บาทเข้าไปแล้ว

เมื่อมาถึงฟินแลนด์ - สภาพความเป็นอยู่และการทำงาน
แต่เมื่อมาถึงฟินแลนด์ หลายสิ่งหลายอย่างไม่ได้เป็นไปตามที่บริษัทบอกไว้ ทั้งเรื่องที่พักที่แออัด ไม่มีการจัดหาคนหาแหล่งเบอร์รี่ให้ และที่สำคัญไม่ยอมย้ายแคมป์เมื่อไม่มีเบอร์รี่
 
เรื่องเงินจ่ายล่วงหน้าเพื่อการใช้จ่ายซื้อน้ำมัน อาหารและของจำเป็นที่บอกว่าจะจ่ายสัปดาห์ละ 100 ยูโรต่อสัปดาห์ แต่กลับจ่ายจริงเพียง 70 หรือ 50 ยูโรต่อสัปดาห์ ทำให้เมื่อใช้เงินส่วนใหญ่หมดไปกับค่าน้ำมัน คนงานนักท่องเที่ยว จะเหลือเงินซื้ออาหารกันเพียงวันละหนึ่งยูโร (40 บาท) เท่านั้นเอง ทำให้พวกเขาต้องประทังชีวิตด้วยอาหารที่หอบหิ้วกันมาจากเมืองไทย ซึ่งส่วนมากก็ไม่พ้นมาม่า ข้าวสวย และไข่ไก่ 

เพียงหนึ่งเดือนผ่านไป ทุกคนมีน้ำหนักลดกันตั้งแต่ 3 - 5 กิโลกรัม


อาหารหลักของคนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา

ถ้าเก็บเห็ดและหาปลาได้ พวกเขาก็จะมีอาหารสุขภาพเสริมเข้ามา

 

ในจำนวนคนงาน 50 คนที่ต่อสู้ครั้งนี้ คนงาน 45 คน ถูกส่งไปยังแคมป์แรกที่เมือง Juva และอีก 5 คน ถูกส่งไปที่แคมป์แรกที่เมือง Kuhmo  แต่หลังจากลงมือเก็บเบอร์รี่ไม่ถึงสัปดาห์ เมื่อบริษัทไม่ยอมให้ย้ายแคมป์ที่ต้้งอยู่ที่เมือง Juva ตามคำขอของคนงาน เมื่อเจอคำพูดว่า "ถ้าไม่เก็บก็จะส่งกลับเมืองไทย" ก็ทำให้คนงานหวาดกลัว และยอมขับรถไกลเพื่อหาแหล่งเบอร์รี่ถึงขนาดที่คนงานเกือบทุกคนต้องนอนค้างอ้างแรมกันในป่าเพราะต้องการประหยัดน้ำมัน (คนงานกลุ่มนี้กว่าครึ่งมีประสบการณ์นอนในป่าที่หนาวเย็น)


คนงานอยู่กับรถทั้งวิ่งหาเบอร์รี่ และใช้นอนอาศัย - นี่คือค่าเช่าวันละ 16 ยูโร (640 บาท)

ราคาเบอร์รี่ปีนี้ก็ต่ำกว่าเมื่อปีที่แล้ว บลูเบอร์รี่ที่เคยมีราคา 2 ยูโร/กก. ปีนี้รับซื้อที่ 1.4 ยูโร เมื่อผนวกกับการเก็บบลูเบอร์รี่ได้น้อย (ดูตัวเลขจำนวนบลูเบอร์รี่ที่เก็บในแผนภาพ) เมื่อถึงฤดูลินงอนเบอร์รี่ (คนงานเรียกว่า "หมากแดง") พวกเขาก็มีความหวังขึ้นมาบ้าง เพราะมีหมากแดงมากในบริเวณที่พวกเขาอยู่ เรื่องการขอย้ายแคมป์จึงกลายเป็นเรื่องการสู้เพื่อขออยู่ที่แคมป์นี้ต่อไป

และแม้ว่าจะไม่มีเบอร์รี่ และต้องเผชิญกับความยุ่งยากและลำบากมากมาย ทั้งยังต้องอยู่กินอย่างอัตคัด "หามนอน ห้ามป่วย ห้ามพัก" คนงานทั้ง 50 คน เก็บเบอร์รี่รวมกันให้บริษัท Ber-Ex ได้ถึงแปดหมื่นกว่าตันในเดือนเดียว แต่จนถึงบัดนี้ ทุกคนก็ยังไม่ได้รับเงินค่าเก็บเบอร์รี่จากบริษัท



สิทธิของทุกคนที่จะเก็บแต่ความเสี่ยงทั้งหมดอยู่กับคนงานไทย
แม้ว่าสิทธิในการเก็บของป่าที่ฟินแลนด์จะเป็น "สิทธิของทุกคนที่จะเก็บได้" ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนฟินน์ และไม่ว่าแม้ว่าจะเป็นพื้นป่ารัฐบาลหรือป่าเอกชนก็ตาม แต่ต้องอยู่นอกอาณาบริเวณบ้านเรือน

แต่คนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยต้องพบเจอกันเกือบทุกคนกับการถูกเจ้าถิ่นไล่ออกจากพื้นที่ที่เข้าไป - ซึ่งรุนแรงมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา  -  ทั้งการใช้ไม้ถือไล่ ขับรถแทรกเตอร์ไล่ตาม ใช้หมาไล่ ยิงปืนขู่เมื่อคนงานผิวปากเรียกหากันในป่า มีคนงานกลุ่มหนึ่งเจอการกระทำที่รุนแรงจากคนท้องถิ่นที่เข้ามาจับถังเบอร์รี่เททิ้ง และจะเข้าไปยึดกระสอบเบอร์รี่เททิ้งอีก ตามมายึดกุญแจรถ และโทรเรียกตำรวจมากันเลยทีเดียว เหตุการณ์นี้ทำเอาคนงานหญิงคนหนึ่งถึงกับผวาเมื่อเห็นรถคนฟินน์หรือตำรวจ

ปัญหาการไล่ออกจากพื้นที่เก็บเบอร์รี่จากคนท้องถิ่น ส่งผลให้การหาแหล่งเบอร์รี่ปีนี้เป็นเรื่องลำบากมากขึ้นจำต้องอยู่ให้ห่างไกลบ้านเรือนผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องเดินเข้าป่าไกลขึ้น หรือขึ้นเขาสูงมากขึ้นเรื่อยๆ

หลังจากเก็บหมากแดงได้เพียง 10 วัน โดยไม่บอกกล่าว เมื่อคนงาน 45 คนที่ร้องเรียนกลุ่มนี้ เดินทางมาถึงแคมป์ที่พัก Juva ในค่ำวันที่ 5 กันยายน พวกเขาก็ถูกบอกว่าให้เก็บของ พรุ่งนี้จะย้ายแคมป์  แม้จะต่อรองว่าพวกเขาและเธอเพิ่งพบแหล่งเบอร์รี่ดกวันนี้ ขอเวลา 3 วันเก็บให้หมดก่อนได้ไหม บริษัทก็ไม่ยอม พร้อมกับคำขู่ครั้งที่สองว่า "ถ้าไม่ย้ายก็จะส่งกลับเมืองไทย"


บริษัทแยกคนงาน 73 คน ที่เดินทางมาด้วยกัน และอยู่ด้วยกันที่แคมป์ Juva ออกเป็น 3 กลุ่ม โดยเฉพาะจับแยกหัวหน้าสาย 2 คนพร้อมลูกทีมรวมกันเป็น 8 คน ออกจากกลุ่ม และส่งไปยังแคมป์ที่เมือง Leiksa ที่อยู่ห่างจากชายแดนรัสเซียเพียง 20 กม. ส่วนคนงานอีก 37 คนถูกย้ายมายังแคมป์ที่เมือง Saarijarvi ที่อยู่ทางตอนกลาง และอีก 28 คนถูกย้ายไปยังเมือง Tohmajarvi



"ถ้าไม่ไปเก็บผลไม้ ก็จะส่งกลับเมืองไทย"
แต่เพียงสัปดาห์แรก เมื่อพวกเขาเอ่ยปากต่อรองให้บริษัทย้ายแคมป์ เพราะในบริเวณทีอยู่ไม่มีบลูเบอร์รี่ และพวกเขาไปเจอแหล่งที่มีเบอร์รี่มากกว่า คนงานก็เจอกับคำขู่ว่า "ถ้าไม่ไปเก็บเบอร์รี่ก็จะส่งกลับบ้าน" ก็ทำให้ความวิตกกังวลเรื่องหนี้สินและการเก็บเบอร์รี่ไม่ได้เยอะตามหวัง เป็นเรื่องกังวลใหญ่ที่สุดของพวกเขา โดยเฉพาะในกลุ่มคนงานที่มากันทั้งสามีภรรยา หรือหลายคนในครอบครัว ที่เมื่อคำนวณว่าหนี้สินรวมกันแล้วหลายแสนบาท และอาจจะต้องเสียทั้งบ้านและที่ดินทำกินที่เอาไปจำนองไว้กับนายทุนเงินกู้ที่เมืองไทย

และที่ฟินแลนด์ พวกเขาต้องถูกหักเงินรายได้เป็นค่าเช่าบ้านและค่าเช่ารถอีกวันละ 16 ยูโร (640 บาท) จากบริษัท รวมทั้งเงินที่บริษัทให้จ่ายล่วงหน้าสัปดาห์ละ 50 ยูโรเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านน้ำมัน การ์ดโทรศัพท์ และอาหาร

แต่เมื่อทั้งสองแคมป์ที่ถูกย้ายไป ไม่มีเบอร์รี่ การโทรปรึกษากันก็เข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ในท้ายที่สุด กลุ่มหัวหน้าคนงาน 8 คนที่ถูกย้ายไปยัง Leiksa ที่โทรปรึกษาปัญหากับผู้เขียน ก็ตัดสินใจย้ายมาสมทบกับเพื่อนที่ Saarijarvi เพื่อมาช่วยกันตระเวนหาเบอร์รี่ในบริเวณนี้ แต่มันก็ไม่มีเบอร์รี่

ในความหวาดวิตกเรื่องหนี้สิน การพูดคุยกับบริษัทก็มากขึ้น แต่ท่าทีของบริษัทก็ไม่เป็นมิตรมากขึ้นเรื่อยๆ และกล่าวหาว่าคนงานกลุ่มนี้เป็นคน "ขี้เกียจ" และ "คนมาสร้างปัญหา" คนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยทั้ง 50 คนนี้ จึงตัดสินใจดำเนินคดีกับบริษัท


"พวกเราเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้ของบริษัท  Ber-Ex Oy เพื่อกดดันและขัดขวางการใช้สิทธิตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง และการชดเชยค่าเสียหาย และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การกู้ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของพวกข้าพเจ้ากลับคืนมา ...

พวกข้าพเจ้า จึงจำเป็นต้องอยู่ต่อไปในประเทศฟินแลนด์เพื่อดำเนินการเรื่องเรียกร้องตามกระบวนการยุติธรรมในประเทศฟินแลนด์"
  

คำประกาศของคนงาน Ber-Ex 50 คน, 13 กันยายน 2556

 

ธุรกิจส่งออกทาสแรงงานยุคใหม่ ปีละ 1,200 ล้านบาท
ปีนี้คาดการณ์กันว่าน่าจะมีคนไทยร่วม 20,000 คน ที่ถูกพามาเก็บเบอร์รี่ ที่ถูกชักจูง ล่อหลอก โดยบริษัทนายหน้าทั้งชาวไทยและชาวฟินน์ และสวีเดน ที่พากันเปิดเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย โดยคนงานทั้งสองหมื่นคนนี้ส่วนใหญ่กู้เงินจาก ธกส. มาจ่ายให้บริษัทนายหน้าเพื่อใช้เป็นค่าดำเนินการ (ไม่รวมเงินค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องกู้มาเพิ่มเติมจากนายทุนเงินกู้นอกระบบ)

การเก็บค่าดำเนินการไปยังสวีเดนในปีนี้สูงถึงคนละ 88,000 บาท ส่วนที่ฟินแลนด์อยู่ที่ระหว่าง 65,000 - 70,000 บาท ในกลุ่มคนงาน 50 คนบอกว่าได้วงเงินกู้ ธกส. คนละ 50,000 บาท ในส่วนที่สวีเดนคาดว่าวงเงินกู้น่าจะอยู่ที่ 60,000 นั่นก็หมายความว่า ฤดูกาลเก็บเบอร์รี่ปีนี้เกษตรชาวไทยสมาชิก ธกส. ได้ขนเงินกู้เพื่อการเกษตร ซึ่งถ้าลองคิดคร่าวๆ ในฐานเงินกู้ 50,000 -  60,000 บาท x 20,000 คน ก็จะเป็นตัวเงินถึง 1,000 - 1,200 ล้านบาท เพื่อมาเป็นแรงงานทาสทำงานฟรีอุ้มธุรกิจเบอร์รี่ของประเทศสวีเดนและฟินแลนด์ (ตัวเลขเงินให้กู้เพื่อเก็บเบอร์รี่จริง คงต้องไปขอข้อมูลจาก ธกส.)

อุตสาหกรรมเบอร์รี่ของทั้งสวีเดนและฟินแลนด์บอกว่า 80% ของเบอร์รี่เก็บโดยคนงานไทย และเป็นธุรกิจที่กำไรงามและเติบโตอย่างมาก

คำถามต่อ ธกส. และรัฐบาลไทย คือ จะยังคงอุ้มธุรกิจค้ากำไรงามเช่นนี้ ที่ทำนาบนหลังของคนงานไทยจากภาคอีสานปีละกว่าหมื่นคน ที่เป็นผู้แบกรับความเสี่ยงและความเสียหายทุกอย่างเช่นนี้ต่อไปอีกนานเท่าไร?

ปีนี้มีการประท้วงของคนงานเก็บเบอร์รี่ทั้งที่สวีเดนและฟินแลนด์
 

ขอวิจารณ์ท่าทีสถานทูต
คำถามของสถานทูตต่อผู้เขียนและกลุ่มคนงานกลุ่มนี้ในทำนองว่า ไม่ห่วงว่าจะกระทบต่อภาพลักษณ์ และโอกาสงานของคนงาน 4,000 คน หรอกหรือ?

ก็อยากจะตอบว่า ที่สู้กันขนาดนี้ก็เพราะห่วงนี่ล่ะ ถึงต้องพูด ถึงต้องสู้ แต่รัฐบาลไทยทำอะไรบ้างนอกจากพยายามสร้างความเชื่อมั่นกับนายทุนที่นี่ว่าจะไม่ปิดช่องทางการค้าทาสแรงงานยุคใหม่?

และในระหว่างคุยโทรศัพท์กับเจ้าหน้าที่สถานทูตในช่วงเจรจากัน ผู้เขียนได้ถามเจ้าหน้าที่สถานทูต (หญิง) ถึงสามครั้งว่า คุณรู้สึกสะเทือนใจบ้างไหมกับสิ่งที่คนงานไทยกลุ่มนี้ต้องเผชิญ ตอบในนามข้าราชการไม่ได้ก็ตอบในนามส่วนตัวก็ได้ เธอตอบทั้งสามครั้งว่า "ตอบไม่ได้"

เจ้าหน้าที่หญิงคนนี้ มากับคณะเยี่ยมคนงาน 50 คนเช่นกัน และก็เรียกคนงานชายคนหนึ่งที่อายุน่าจะมากกว่าเธอว่า "ลูก"

ซึ่งผู้เขียนต้องท้วงว่า คนที่คุณเรียกว่า "ลูก" น่ะ อายุเป็นพี่ชายคุณได้แล้ว

ในวันที่ 13 กย. คณะเจ้าหน้าที่สถานทูตไทย 3 คน เดินทางมาพบคนงาน พร้อมนำมาม่า 10 ลัง ไข่ไก่ 100 ฟอง และข้าวสาร 20 กก. มาฝากคนงาน ผู้เขียนแซวคณะทูตไปว่า คนงานกินมาม่ากันมาทั้งเดือนแล้ว สถานทูตไทยยังจะให้เขากินมาม่ากันต่ออีกหรือ?

คณะทูตบอกกับผู้เขียนว่า ตัวท่านทูตไทยที่ฟินแลนด์ ได้เดินทางขึ้นไปคุยกับบริษัทเบอร์รี่ที่เขตภาคเหนือของประเทศฟินแลนด์ (ไม่ยอมเดินทางมาเยี่ยมคนงานที่ประท้วงด้วยตัวเอง)  ขึ้นไปพบเจ้าของบริษัทเบอร์รี่เพื่ออะไรหรือฮะท่าน?

เพื่อจะบอกว่า จะจัดการกับคนงานที่พวกเขาเรียกว่าเป็นพวก "ขี้เกียจและหัวรุนแรง" 50 คนนี้ ให้สงบปากสงบคำ และเพื่อจะบอกว่าการเปิดปากพูดของพวกเขา จะไม่กระทบกับการเปิดโอกาสให้ธุรกิจที่นี่ขนคน ที่คนงานกลุ่มนี้เรียกว่า "ทาส" ปีละ 4,000 คน มาให้นักธุรกิจเบอร์รี่ฟินแลนด์ต่อไปหรือเปล่า?

ก็เพราะท่าทีและทัศนคติของทั้งสถานทูตไทยที่นี่และของเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานของไทยและที่เกี่ยวข้องเป็นเช่นนี้ ปัญหาเรื่องนี้มันจึงคาราคาซังมาหลายปี

ขอสรุปภาพรวมที่ได้จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยทางโทรศัพท์ในวันที่ 12 กันยายน และในระหว่างที่มาเยี่ยมคนงานในวันที่ 13 กันยายนว่า สถานทูตพูดด้วยท่าทีแบบ "ทำไมคนงานไม่เก็บเบอร์รี่" "ก็บริษัทเขาโกรธเรานี่" และ "จะกลับเมืองไทยกันเมื่อไร" และเมื่อคนงานบอกว่ากำลังดำเนินเรื่องเอาผิดกับบริษัทในข้อหา "ค้ามนุษย์" เจ้าหน้าที่สถานทูตพยายามถามคนงานตลอดว่า "คิดดีแล้วหรือยัง" "ครอบครัวทางเมืองไทยจะว่าอย่างไรบ้าง"  "ไม่ห่วงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับงานเก็บเบอร์รี่ 4,000 คน หรือ?" สิ่งที่น่าสนใจคือ เจ้าหน้าที่สถานทูตท่านนี้ บอกกับพวกเราอยู่ที่ฟินแลนด์มา 3 ปี  "ได้รับการร้องเรียนจากคนงานเก็บเบอร์รี่ทุกปี ซึ่งสถานทูตก็บอกให้คนงานอดทนเก็บจะได้คุ้มทุน"

นี่คือเหตุผลว่าคนงานกลุ่มนี้เลือกที่จะขอความช่วยเหลือกับกลุ่มและองค์กรที่ฟินแลนด์ และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของฟินแลนด์ มากกว่าขอความช่วยเหลือจากสถานทูตไทย
 

จำเป็นต้องสู้
การดำเนินการให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยที่เป็นชาย 42 คน และหญิง 8 คน นำมาทั้งความรู้สึกฮึกเหิมที่เห็นพลังความเข้มแข็งและเด็ดเดี่ยวของทุกคน แต่เรื่องราวชีวิตของทุกคนก็หนักหน่วงและน่าห่วงใย

สาเหตุที่พวกเขาสู้ครั้งนี้ ก็เพราะครอบครัว ในจำนวนคนงานเก็บเบอร์รี่ 50 คนนี้ มีคนงานกว่าครึ่ง ที่พากันเดินทางมากันเป็นครอบครัวตั้งแต่ครอบครัว 2 คนผัวเมีย จนถึงครอบครัว 3 คน และมากที่สุดคือครอบครัว 6 คน - ทั้งในฐานะ สามีและภรรยา พ่อลูกชายและลูกสะใภ้ พี่ชายกับน้องชาย - ที่ยอมเอาโฉนดทั้งหมดที่ครอบครัวมีทั้งที่ทำกินและที่อยู่อาศัยมาค้ำประกันเงินกู้ เพื่อเดินทางมาเก็บเบอร์รี่ที่ฟินแลนด์ให้กับบริษัท Ber-Ex ด้วยความหวังว่าจะนำเงินก้อนโตกลับไปเมืองไทย

ครึ่งหนึ่งของคนงาน 50 คนเคยเป็นคนงานที่ประสบความสำเร็จจากการเก็บเบอร์รี่มาแล้วหลายปี ที่สวีเดน และฟินแลนด์ แต่พวกเขาหลายคนมีปัญหาในช่วงปลายฤดูที่สวีเดนในปีที่ผ่านมาเมื่อบริษัทไม่ยอมจ่ายเงิน จนต้องไปตามเงินคืนที่เมืองไทยกันสองเดือนกว่าจะได้ พวกเขาจึงลองมาที่ฟินแลนด์ในปีนี้

อีกครึ่งหนึ่งเป็นคนใหม่ที่เป็นญาติพี่น้องและคนรู้จักกันที่ชวนกันมาเก็บในปีนี้เป็นปีแรก

คนงานเก็บเบอร์รี่ชุดนี้หลายคนใช้ชีวิตหลายปีในการเป็นคนงานไทยในต่างแดน ทั้งสิงคโปร์ บรูไน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น อิสราเอล และสวีเดน ฯลฯ พวกเขาเป็นคนมีฝีมือและทักษะหลากหลายที่คิดว่าจะนำรายได้ก้อนโตจากช่วงเวลาทำงานเพียง 2 เดือนกลับไปใช้หนี้และดูแลครอบครัว

ด้วยความบีบคั้นทางหนี้สินที่กู้ยืมมา และคนแรกที่จะเจอที่บ้านคือนายหน้าเงินกู้ที่มาเฝ้ารอเงินอยู่ที่บ้านของพวกเขา คนงานหลายคนบอกกลับบ้านไม่ได้ กลับไปจะอยู่กันยังไง จะหาเงินที่ไหนไปไถ่ถอนจำนองที่บ้านและที่ทำกิน โดยเฉพาะเมื่อบริษัทบอกว่าพวกเขาไม่มีเงินเหลือเลย และรายได้ทั้งหมดที่ได้ บริษัทนายหน้าที่เดินทางมาจัดการเรื่องการเงินถึงที่ฟินแลนด์ จะทำการหักรายได้เบอร์รี่อันน้อยนิดของพวกเขา เพื่อใช้หนี้ของพวกเขาให้กับ ธกส. และนายทุนเงินกู้เอกชนเอง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนงานทุกคนไม่อาจยอมได้ 
 

การยืนหยัดต่อสู้ "ไม่ได้เงิน กลับบ้านไม่ได้"
ขณะนี้คนงานทุกคนได้รับการดูแลจากสมาคมคนว่างงานที่ฟินแลนด์ และกลุ่มคนไทยที่ฟิ่นแลนด์ที่นำอาหารและสิ่งของที่จำเป็นมามอบให้ และตอนนี้ก็เริ่มกระบวนการทำน้ำเบอร์รี่เพื่อขายระดมทุนสู้
 
พวกเขามีทนายความที่เก่งกาจและมีชื่อเสียงในเรื่องการต่อสู้เพื่อสิทธิคนงานต่างชาติรับทำคดีให้ มีทีมเยาวชนคนหนุ่มสาวฟินแลนด์จากเครือข่ายเยาวชนซ้ายแห่งประเทศฟินแลนด์ ให้การช่วยเหลือทั้งการจัดกิจกรรม จัดทำเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่ข้อมูล 

สื่อกระแสหลักทุกช่องของฟินแลนด์ ไม่ว่าจะเป็นทีวี วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ เดินทางมาสัมภาษณ์และลงข่าวของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง แต่บริษัทก็ให้ข่าวรายวันกับสื่อเหล่านี้เช่นกัน

แม้ว่าความกดดันจะมากมาย แต่ด้วยพลังสนับสนุนมากมายจากนักกิจกรรมและสาธารณชนที่ฟินแลนด์ กลุ่มคนงานทั้ง 50 คน ยังคงยืนยันอย่างหนักแน่นว่า  "ถ้าไม่ได้เงินก็กลับบ้านไม่ได้" และ "จะสู้จนถึงที่สุด"


50 คนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยที่แคมป์ Saarijarvi


คำประกาศของคนงาน Ber-Ex 50 คน
        13 กันยายน 2556

พวกข้าพเจ้าทั้งหมด 50 คน ขอยืนยันจะต่อสู้เพื่อความยุติธรรม

วันนี้พวกข้าพเจ้าได้รับทราบว่าบริษัท Ber-Ex Oy ได้เปลี่ยนตั๋วเครื่องบินของพวกข้าพเจ้าจากวันที่ 2 และ 4 ตุลาคม 2556 มาเป็นวันที่ 14 กันยายน 2556 ทั้งที่พวกข้าพเจ้า ได้ยืนยันกับบริษัท Ber-Ex Oy และสถานทูตไทยว่าจะกลับประเทศไทยวันที่ 2 และ 4 ตุลาคม 2556 ตามกำหนดการเดิม

พวกเราเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้ของบริษัท  Ber-Ex Oy เพื่อกดดันและขัดขวางการใช้สิทธิ์ตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง และการชดเชยค่าเสียหาย และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การกู้ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของพวกข้าพเจ้ากลับคืนมา

ด้วยเหตุนี้ พวกข้าพเจ้า จึงจำเป็นต้องอยู่ต่อไปในประเทศฟินแลนด์เพื่อดำเนินการเรื่องเรียกร้องตามกระบวนการยุติธรรมในประเทศฟินแลนด์

จึงลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดรับผู้มีคุณสมบัติเป็น กกต.-ปปช. 23-30 ก.ย.

Posted: 20 Sep 2013 04:08 AM PDT

20 ก.ย. 56 - เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่าเมื่อเวลา 13.30  น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นครั้งแรก เพื่อดำเนินการสรรหาบุคคลผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกกต.ทั้งคณะ 5 คน เนื่องจากครบวาระ 7 ปีแล้ว ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสูด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือก(นายกู้เกียรติ สุนทรบุระ) และบุคคลซึ่งที่ ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือก (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์) ส่วนตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญขณะนี้ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง จากนั้นในเวลา 14.00 น. ได้มีการประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ แทนนายกล้านรงค์ จันทิก ที่พ้นจากตำแหน่งเช่นกัน ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้าน ส่วนประธานศาลรัฐธรรมนูญขณะนี้ยังไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง โดยที่ประชุมทั้ง 2 คณะมีมติเลิอกประธานศาลฎีกาเป็นประธานคณะกรรมการสรรหา โดยได้กำหนดกรอบและแนวทางสรรหาคือ จะเปิดรับสมัครบุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดตั้งแต่วันที่ 23- 30 ก.ย. โดยสมัครได้ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ไม่เว้นวันหยุดราชการ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทีดีอาร์ไอขอใช้อำนาจศาลพิสูจน์คดีนักวิชาการถูกฟ้องหมิ่น ยันกรณีปัญหา 'ซิมดับ' ควรดีเบตเพื่อประโยชน์สาธารณะ

Posted: 20 Sep 2013 03:26 AM PDT

20 ก.ย. 56 - จากกรณี กสทช.ฟ้องนักวิชาการและสื่อมวลชน คือ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผอ.วิจัยทีดีอาร์ไอ และน.ส.ณัฐฐา โกมลวาทิน ผู้ประกาศข่าวไทยพีบีเอส และต่อมาวันที่ 19 กันยายน 2556 ปรากฏข่าวในสื่อมวลชนอย่างแพร่หลายว่า  นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.เปิดเผยว่าจะมีผู้ถูกฟ้องรายหนึ่งไปพูดคุยเจรจากับกสทช.เพื่อให้มีการถอนฟ้อง
 
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.สมเกียรติ  ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ เปิดเผย รู้สึกแปลกใจมาก เมื่อได้ยินข่าวนี้ และจากการตรวจสอบจากเฟซบุ๊กของ คุณณัฐฐา โกมลวาทิน หนึ่งในผู้ถูกฟ้องยืนยันว่าไม่ได้มีความคิดใด ๆ ที่จะไปเจรจากับ กสทช. เพราะได้ทำหน้าที่ตามหลักวิชาชีพ ในส่วนของนักวิชาการคือ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผอ.วิจัยของทีดีอาร์ไอ ก็ยืนยันว่าไม่มีความคิดที่จะไปเจรจาเพื่อให้ กสทช.ถอนฟ้อง เช่นกัน นอกจากนี้เฟซบุ๊กของนายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการไทยพีบีเอสก็ระบุชัดเจนว่าไม่มีแนวทางจะไปเจรจาเพื่อให้มีการถอนฟ้อง  เพราะทั้งทีดีอาร์ไอในฐานะนักวิชาการและไทยพีบีเอสในฐานะสื่อมวลชน ต่างได้ทำหน้าที่ตามหลักวิชาการและหลักวิชาชีพของตัวเอง จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปขอร้องให้มีการถอนฟ้อง   ฉะนั้นจึงประหลาดใจอย่างยิ่งที่ กสทช.ให้ข่าวดังกล่าว  โดยเลขาธิการ กสทช, ระบุว่า นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) เป็นผู้ให้ข่าวว่าจะมีผู้ที่ถูกฟ้อง 1 รายจะไปเจรจาเพื่อให้มีการถอนฟ้อง ซึ่งเมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ข้อสรุปที่ไม่น่าจะคลาดเคลื่อนว่า 1 ใน 2 ท่านนี้ท่านใดท่านหนึ่งน่าจะให้ข้อมูลที่ไม่จริงต่อสาธารณชน
 
"ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ เพราะบุคคลทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ การให้ข้อมูลในเรื่องที่ไม่จริงและสามารถตรวจสอบได้ง่าย ๆ ว่าเป็นจริงหรือไม่ ก็ยังไม่ได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นถ้าเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มากๆ และประชาชนไม่ค่อยเข้าใจ จะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะให้ข้อมูลกับสาธารณชนอย่างถูกต้อง"
 
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ในส่วนของทางทีดีอาร์ไอ ยืนยันว่าเป็นการทำหน้าที่ของนักวิชาการ  หาก กสทช.อยากจะถอนฟ้องก็สามารถดำเนินการได้เอง  ทางนักวิชาการและสื่อมวลชนทั้งสองคนไม่ได้มีแนวคิดที่จะไปเจรจาในที่ลับ  หากจะมีการพูดคุยใด ๆ อยากให้เป็นการเปิดเวทีสาธารณะพูดคุยกันถึงความถูกต้องเหมาะสมของการที่ กสทช. ไปขยายอายุการใช้สัมปทานคลื่น 1800 เมกกะเฮิร์ต ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ที่ควรจะพูดกันในที่แจ้ง
 
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า การที่คดีไปสู่ศาลนั้นในมุมหนึ่งแม้จะทำให้เกิดความยุ่งยากเสียเวลากับผู้ถูกฟ้องทั้งสอง แต่ก็เป็นโอกาสอันดีที่จะได้นำเรื่องนี้เข้าสู่ขั้นตอนของศาลซึ่งจะสามารถใช้อำนาจของศาลในการเรียกข้อมูลและเอกสารต่าง ๆ ซึ่งเคยเป็นความลับยังไม่ถูกเปิดเผยโดยสำนักงาน กสทช. ออกมาเป็นข้อมูลสาธารณะ และเมื่อถึงเวลานั้นเชื่อว่าประชาชนจะได้ทราบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมีที่มาที่ไปอย่างไร
 
ขณะเดียวกันการออกมาให้ข่าวของ กสทช.ทั้งสองท่านหากเป็นจริงตามที่เป็นข่าว ก็ควรอย่างยิ่งที่ กสทช.ทั้งสองคนจะต้องออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าว ว่าผู้ใดอ้างใครไปติดต่อกับท่าน ท่านจึงเอามากล่าวอ้างว่ามีความพยายามว่าสื่อมวลชนและนักวิชาการที่ถูกฟ้องจะไปเจรจาต่อรองเพื่อให้ถอนฟ้อง
 
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า สิทธิเสรีภาพทางวิชาการและสิทธิเสรีภาพของสื่อเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ และการทำหน้าที่ของนักวิชาการและสื่อในกรณีแบบนี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการคุ้มครองจากสังคม    และเชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็นบทเรียนในอนาคตที่จะชี้ให้เห็นว่าหากสิทธิของสื่อและนักวิชาการถูกคุกคามไปแล้วทำให้ไม่สามารถตรวจสอบองค์กรของรัฐที่บริหารเม็ดเงินบริหารผลประโยชน์เป็นแสนล้านต่อปีได้ คนที่จะเสียก็คือประชาชน เพราะประชาชนก็จะไม่ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่ควรได้รับทราบ 
 
อย่างกรณีคลื่น 1800 เมกกะเฮิร์ต ซึ่งมีความซับซ้อนจนนำมาสู่การฟ้องร้องนั้น พูดง่าย ๆ คือ คลื่น 1800 เมกกะเฮิร์ต เป็นคลื่นที่ใช้กับสัมปทานโทรศัพท์ 2G (มีคนจำนวนมากใช้งานอยู่) แต่สามารถนำไปใช้กับ 4G ได้ด้วย ซึ่งโทรศัพท์ 4G จะสามารถสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงได้   การที่ กสทช.โดย กทค.ได้ไปต่ออายุการใช้คลื่น 1800 เมกกะเฮิร์ตให้กับบริษัทเอกชนสองราย มีผลทำให้หมดโอกาสที่จะเอาคลื่นนั้นไปใช้กับ 4G ซึ่งมีประโยชน์กับสังคมมากกว่า  ซึ่งหากมีการยืดออกไปอีก 1 ปีอย่างที่ปรากฏ ความเสียหายที่จะเกิดคือประเทศไทยจะได้ใช้บริการ 4G ล่าช้าออกไป 1 ปี และที่สำคัญ มีการตั้งคำถามจากนักวิชาการด้านกฎหมายที่มีชื่อเสียงหลายคนถึงการดำเนินการดังกล่าวของ กสทช. ว่าดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  ตนคิดว่าคำถามที่ กสทช.ต้องตอบในกรณีนี้ก็คือ การดำเนินการ ของ กสทช.นั้นได้ปรึกษาหารือกับหน่วยงานภายนอกเช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือแม้กระทั่งที่ปรึกษากฎหมายภายใน คืออนุกรรมการด้านกฎหมายของ กสทช. หรือไม่.อย่างไร
 
สำหรับสัมปทานคลื่น 1800  เมกกะเฮิร์ตที่หมดอายุสัมปทานไปเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมานั้น ตามกฎหมาย กสทช. การใช้คลี่นความถี่จะต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช.  โดย กสทช.และผู้ที่ใช้อำนาจ กสทช.ซึ่งรวมถึง กทค.ด้วย หากทราบว่ามีการใช้คลื่นความถี่โดยผู้ประกอบการ โดยไม่ได้รับอนุญาต  กสทช.หรือผู้ใช้อำนาจ กสทช. หากละเว้นก็จะมีความผิด ถ้าไม่ผิดตามมาตรา 157 กฎหมายก็กำหนดไว้ว่าให้มีความผิดฐานละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย กสทช.ด้วย    กสทช.จึงควรเร่งแก้ไขการดำเนินการที่น่าจะผิดพลาดให้กลับมาโดยเร็วที่สุดและด้วยความโปร่งใส
 
สิ่งที่ กสทช.ควรทำ คือ การเปิดเผยผลการศึกษาของอนุกรรมการที่ กสทช.ตั้งขึ้นและปรึกษาหารือหน่วยงานด้านกฎหมายต่าง ๆ ก่อนจะดำเนินการที่จะผิดพลาดมากไปกว่านี้   และโดยส่วนตัวตนเห็นว่า  กสทช.ควรเปิดเวทีพูดคุยสาธารณะกับนักวิชาการฝ่ายต่าง ๆ และกลุ่มผู้บริโภค  เพื่อค้นหาว่าจะมีวิธีการเยียวยาปัญหานี้ร่วมกันอย่างไรในอนาคต.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอฟทีเอ ว็อทช์ ถามจุดยืนหมอประดิษฐ ยอมให้อียูแทรกแซงผู้เจรจาหรือไม่

Posted: 20 Sep 2013 02:05 AM PDT

เอฟทีเอ ว็อทช์ ถามจุดยืนหมอประดิษฐ มุ่งมั่นปกป้องผลประโยชน์ประชาชนเช่นเดียวกับหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทยแค่ไหนจะยอมให้อียูแทรกแซงผู้เจรจาหรือไม่

 
 
20 ก.ย. 56 - นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เปิดเผยว่า ภาคประชาสังคม 28 องค์กรได้ทำหนังสือถึง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้ยืนยันจุดยืนของกระทรวงสาธารณสุขในการเจรจาเอฟทีเอเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและสุขภาพของคนในสังคม
 
"ดร.โอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจาฯ ยืนยันชัดเจนต่อสาธารณะว่า จะไม่รับข้อเสนอการเจรจาที่มากกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (ทริปส์พลัส) ทั้งในเรื่องยา และทรัพยากรชีวภาพ ดังนั้น ทางกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ และเครือข่ายประชาสังคม ที่ติดตามการเจรจาเอฟทีเอ ต้องการทราบว่ากระทรวงสาธารณสุขมีจุดยืนอย่างไร ทั้งในภาพรวมการเจรจาที่เกี่ยวกับยาและประเด็นที่เกี่ยวโยงกับสุขภาพทั้งหมด และได้กำหนดนโยบาย และมาตรการในการสนับสนุนการเจรจาอย่างไร ทั้งในด้านข้อมูลวิชาการ และการมอบหมายเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่ไปทำหน้าที่เจรจา"
 
นอกจากนี้กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ทราบมาว่า ทางสหภาพยุโรปพยายามแทรกแซงคณะเจรจาฝ่ายไทย ด้วยการขอเปลี่ยนตัวผู้เจรจาบางคนโดยพยายามติดต่อโดยตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
 
"เราอยากทราบว่า มีการแทรกแซงทีมเจรจาฝ่ายไทยจากสหภาพยุโรปเช่นที่ว่านี้หรือไม่อย่างไร หากเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น หมอประดิษฐจะมีจุดยืนอย่างไร จะยอมให้มีการแทรกแซงเช่นนี้หรือไม่ พวกเราคาดหวังกับกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีความรับผิดชอบต่อระบบหลักประกันสุขภาพที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลจะมีจุดยืนที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย จะดำเนินการเจรจาอย่างอย่างรอบคอบเฉพาะอย่างยิ่งให้ความสำคัญกับผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้มีรายได้น้อย และยืนหยัดเจรจาที่จะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดของประเทศที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม"
 
ทางด้าน นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ สมาชิกกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวถึงการที่ภาคประชาสังคมไทยจะทำการรณรงค์ร่วมกับภาคประชาสังคมในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่โดนคุกคามจากสหภาพยุโรปในลักษณะเดียวกันผ่านความตกลงการค้าเสรี เพื่อให้คณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งนอร์เวย์ซึ่งเป็นผู้พิจารณารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ให้เพิกถอนรางวัลดังกล่าวที่สหภาพยุโรปได้รับไปเมื่อ ค.ศ. 2012 นั้น
 
"เราไม่ได้ทำอะไรเกินเลยตามที่หัวหน้าคณะเจรจาฯฝ่ายอียูกล่าวหา องค์กรที่จะได้ครอบครองรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพควรประพฤติตัวให้สมเกียรติ ดังนั้น เราจะติดตามดูพฤติกรรมของสหภาพยุโรปในการเจรจาเอฟทีเออย่างใกล้ชิด และเริ่มที่จะสื่อสารกับภาคประชาสังคมในประเทศต่างๆบ้างแล้ว เมื่อไรที่เราแน่ใจว่า สหภาพยุโรปผลักดันความตกลงระหว่างประเทศที่บ่อนทำลายระบบความมั่นคงของประเทศไทยและประเทศต่างๆอย่างชัดแจ้ง จะทำให้สังคมไทยและประเทศต่างๆโดยรวมอ่อนแอลง คนยากคนจนส่วนใหญ่ยากจนขึ้น แต่คนรวยส่วนน้อยกลับจะรวยยิ่งขึ้นไปอีก เราจะร่วมกันทำหนังสือร้องเรียนถึงคณะกรรมการรางวัลโนเบลเพื่อเพิกถอนทันที หากไม่ต้องการให้เราร้องเรียน สหภาพยุโรปก็ควรเลิกเรียกร้องเนื้อหาที่ทำลายล้างเช่นนี้"
 
 
0 0 0
 
เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์)
 
เรื่อง จุดยืนของกระทรวงสาธารณสุขในการเจรจาเอฟทีเอ
 
 
ตามที่หัวหน้าคณะเจรจา (ดร.โอฬาร ไชยประวัติ) ได้ประกาศจุดยืนชัดเจนต่อสาธารณชนยืนยันว่า จะไม่รับข้อเสนอการเจรจาที่มากกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (ทริปส์พลัส) ทั้งในเรื่องยา และทรัพยากรชีวภาพ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและสุขภาพของคนในสังคม และเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกร และความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย
 
ทางกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) และเครือข่ายประชาสังคม อันประกอบด้วยภาคประชาสังคม องค์กรวิชาการ องค์กรประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชน 28 องค์กรที่ติดตามการเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปมาโดยตลอด ต้องการทราบว่ากระทรวงสาธารณสุขมีจุดยืนอย่างไร ทั้งในภาพรวมการเจรจาที่เกี่ยวกับยาและประเด็นที่เกี่ยวโยงกับสุขภาพทั้งหมด และได้กำหนดนโยบาย และมาตรการในการสนับสนุนการเจรจาอย่างไร ทั้งในด้านข้อมูลวิชาการ และการมอบหมายเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่ไปทำหน้าที่เจรจา 
 
นอกจากนี้กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ทราบมาว่า ทางสหภาพยุโรปพยายามแทรกแซงคณะเจรจาฝ่ายไทย ด้วยการขอเปลี่ยนตัวผู้เจรจาบางคนโดยพยายามติดต่อโดยตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่องนี้เป็นความจริงหรือไม่อย่างไร หากเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น ท่านจะมีจุดยืนอย่างไร
 
เครือข่ายภาคประชาสังคมมีความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่า คณะเจรจาโดยการนำของ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ในนามของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย จะดำเนินการเจรจาอย่างอย่างรอบคอบเฉพาะอย่างยิ่งให้ความสำคัญกับผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้มีรายได้น้อย และยืนหยัดเจรจาที่จะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดของประเทศที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม จึงคาดหวังว่ากระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีความรับผิดชอบต่อระบบหลักประกันสุขภาพที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลจะมีจุดยืนเช่นเดียวกันนี้อย่างมั่นคง
 
ขอแสดงความนับถือ
 
(ภญ. สำลี ใจดี)
 
กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
 
เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, เครือข่ายองค์กรงดเหล้า, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก,
 
เครือข่ายความมั่นคงด้านอาหารคาบสมุทรสทิงพระ, เครือข่ายอิสระภาพทางพันธุกรรม
 
สภาเกษตรกร, สมัชชาคนจน, เครือข่ายสลัม ๔ ภาค, ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม,
 
ชมรมเพื่อนโรคไต, เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์,
 
คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค,
 
มูลนิธิเภสัชชนบท, ชมรมเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิสุขภาพไทย, กลุ่มเพื่อนแรงงาน, เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์, เครือข่ายชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์,
 
เครือข่ายชุมชนเฝ้าระวังภัยแอลกอฮอล์ กทม., เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่,
 
เครือข่ายคนทำงานด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (12D), โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา
 
0 0 0
 
[ร่างสำหรับส่งถึงคณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งนอร์เวย์: เพื่อเผยแพร่ในกรณีที่สหภาพยุโรปไม่หยุดการคุกคามสิทธิ เสรีภาพ ระบบประชาธิปไตย และสุขภาพของประชาชนไทย ผ่านการกดดันในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับประเทศไทย]
 
กันยายน 2556
 
เรียน คณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งนอร์เวย์
 
เรื่อง ขออุทธรณ์ให้เพิกถอนรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ค.ศ. 2012 จากสหภาพยุโรป
 
พวกเราภาคประชาสังคมไทยต้องการที่จะอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งนอร์เวย์ ให้เพิกถอนรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพอันทรงเกียรติจากสหภาพยุโรป
 
ในการประกาศมอบรางวัลเมื่อปี 2555 คณะกรรมการฯ ได้ชื่นชมสหภาพยุโรปต่อการทำหน้าที่สนับสนุนสันติภาพและการสร้างความสมานฉันท์ ส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในยุโรป แม้จะได้รับการให้เกียรติอย่างสูงเช่นนั้น สหภาพยุโรปกลับกำลังดำเนินการในสิ่งที่ถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ก่อให้เกิดปัญหาสังคม และบ่อนทำลายระบบประธิปไตยในประเทศไทย
 
ถึงแม้มีการคัดค้านจากภาคประชาสังคมที่ทำงานเพื่อคนยากคนจนอย่างต่อเนื่อง ตัวแทนสหภาพยุโรปยังเดินหน้าเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับประเทศไทย โดยกดดันให้รัฐบาลไทยยอมรับความผูกพันทางกฎหมายซึ่งจะส่งผลขัดขวางการเข้าถึงยาราคาถูกของประชาชนไทยส่วนใหญ่ และขัดขวางการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์และพันธุกรรมพืชและสัตว์ของเกษตรกรไทยที่ยากจน ในทางกลับกัน ความตกลงเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปกลับส่งเสริมการบริโภคแอลกอฮอล์ในกลุ่มนักดื่มหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชน
 
พฤติกรรมไม่เหมาะสมของสหภาพยุโรปที่ไปกดดันประเทศกำลังพัฒนา เช่นประเทศไทย ให้ยอมรับเงื่อนไขและข้อเรียกร้องต่างๆ ในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีนั้น ขัดกันอย่างยิ่งกับความคาดหวังสูงส่งของคณะกรรมการผู้ให้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เพราะที่สหภาพยุโรปต้องการข้อผูกพันด้านทรัพย์สินทางปัญญามากไปกว่าที่ผูกพันในองค์การการค้าโลกนั้น ตีความได้ประการเดียวว่าสหภาพยุโรปถือเอาผลประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติสัญชาติยุโรปมาก่อนสวัสดิภาพของประชาชน
 
การผูกขาดข้อมูลยา (data exclusivity) และมาตรการชายแดน (border measures) จะทำร้ายอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศไทย ในขณะที่การกดดันให้ประเทศไทยต้องให้สัตยาบันในสนธิสัญญา UPOV 1991 และ สนธิสัญญาบูดาเปส จะทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์ที่มีการจดสิทธิบัตรราคาสูงอย่างต่อเนื่องและเกษตรกรผู้ยากจนไม่สามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้ การคุ้มครองการลงทุนจะทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องร้องรัฐบาล ในแง่นโยบายของรัฐซึ่งขัดกับผลประโยชน์ของนักลงทุน แม้นโยบายเหล่านั้นจะเป็นนโยบายที่ดีต่อสิทธิ สุขภาพประชาชน และสิ่งแวดล้อมก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น การขัดขวางกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสวัสดิภาพของประชาชน
 
กล่าวโดยสรุป การผลักดันความตกลงระหว่างประเทศเช่นนี้บ่อนทำลายระบบความมั่นคงของประเทศไทยอย่างชัดแจ้ง จะทำให้สังคมไทยโดยรวมอ่อนแอลง คนยากคนจนส่วนใหญ่ยากจนขึ้น แต่คนรวยส่วนน้อยกลับจะรวยยิ่งขึ้นไปอีก
 
ในสถานการณ์ที่ประชาชนในโลกที่สามถูกคุกคามว่าทรัพยากรอันมีค่ากำลังจะถูกแย่งชิงไป ประเทศประชาธิปไตยที่มีเกียรติใดๆ ควรเลือกหนทางที่ดีที่สุดสำหรับผลประโยชน์ของประชาชน เพราะทราบดีว่าการผลักประชาชนให้สิ้นไร้ไม้ตรอกจะนำไปสู่อนาธิปไตยและความไม่สงบได้
 
เกียรติภูมิและความน่าเชื่อถือของคณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งนอร์เวย์นั้น มาจากการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงควรตระหนักและตอบสนองต่อพฤติกรรมไม่เหมาะสมของผู้ที่ท่านมอบรางวัลให้ ในการณ์นี้ สหภาพยุโรปกำลังจะก่ออาชญากรรมทางสังคมต่อประชาชนไทยโดยการกดดันให้รัฐบาลไทยยอมรับข้อเรียกร้องในการเจรจาและไม่ยอมฟังเสียงคัดค้านของประชาชนที่ต้องทนทุกข์กับผลของข้อตกลงดังกล่าว
 
ด้วยเหตุนี้ พวกเราภาคประชาสังคมไทยขออุทธรณ์ต่อท่าน คณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งนอร์เวย์ ให้เพิกถอนรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ค.ศ. 2012 จากสหภาพยุโรป สืบบเนื่องจากพฤติกรรมไร้ซึ่งมนุษยธรรมและสวนทางกับสันติภาพ การสร้างความสมานฉันท์ การส่งเสริมประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน
 
ขอแสดงความนับถือ
 
กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
 
เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, เครือข่ายองค์กรงดเหล้า, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก,
 
เครือข่ายความมั่นคงด้านอาหารคาบสมุทรสทิงพระ, เครือข่ายอิสระภาพทางพันธุกรรม
 
สภาเกษตรกร, สมัชชาคนจน, เครือข่ายสลัม ๔ ภาค, ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม,
 
ชมรมเพื่อนโรคไต, เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์,
 
คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค,
 
มูลนิธิเภสัชชนบท, ชมรมเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิสุขภาพไทย, กลุ่มเพื่อนแรงงาน, เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์, เครือข่ายชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์,
 
เครือข่ายชุมชนเฝ้าระวังภัยแอลกอฮอล์ กทม., เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่,
 
เครือข่ายคนทำงานด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (12D), โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สพฉ.ฝึกทีมกู้ชีพชายแดนภาคใต้ พื้นที่เสี่ยงต่อการปะทะ เรียนรู้การช่วยชีวิตในพื้นที่ความไม่สงบ

Posted: 20 Sep 2013 12:27 AM PDT

20 ก.ย. 56 - ที่โรงเรียนเสนารักษ์ กรมแพทย์ทหารบก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมกับ โรงเรียนเสนารักษ์ กรมแพทย์ทหารบก จัดการฝึกภาคปฏิบัติในสถานการณ์เสมือนจริงที่มีผู้บาดเจ็บจำนวนมากในเหตุการณ์ระเบิด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการฝึกการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในที่เกิดเหตุในสถานการณ์ความรุนแรง โดยคัดเลือกบุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉิน ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดการปะทะ เช่น จังหวัดสุรินทร์ ให้มาเรียนรู้วิธีการในการปฏิบัติงานช่วยชีวิตฉุกเฉิน ในรูปแบบทางยุทธวิธี หรือ Tactical Combat Casualty Care (TCCC)
 
นายแพทย์ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทยที่มีความไม่สงบเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และมีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งจากการสู้รบตามแนวชายแดน การก่อการร้าย และการก่อความไม่สงบรวมถึงความรุนแรงทางการเมืองรวมถึงการก่อการจราจลในประเทศ ทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากสถานการณ์ที่รุนแรงเหล่านี้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ออกให้การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากสถานการณ์นี้ อาจได้รับอันตรายในการปฏิบัติหน้าที่ ณ จุดเกิดเหตุ  จึงมีความจำเป็นที่บุคลากรในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน จะต้องมีความรู้ความเข้าใจ และสามารถจัดการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเหล่านี้ ณ ที่เกิดเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ตั้งแต่ขั้นการประเมินสถานการณ์ในที่เกิดเหตุ การคัดแยก การปฐมพยาบาล และส่งต่อหรือส่งกลับ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติจึงได้ประสานความร่วมมือกับ โรงเรียนเสนารักษ์ กรมแพทย์ทหารบก จัดโครงการการฝึกการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในที่เกิดเหตุในสถานการณ์ความรุนแรงขึ้น
 
"การนำทีมบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ดังกล่าว มาเรียนรู้เทคนิคการช่วยชีวิตในรูปแบบทางทหารนั้น ก็เพื่อต้องการให้ทีม มีความรู้และทักษะในเรื่องจัดการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเหล่านี้ในที่เกิดเหตุสถานการณ์ที่รุนแรง  ได้แก่ สถานการณ์ที่มีการต่อสู้ด้วยอาวุธสงคราม เหตุลอบวางระเบิด และสถานการณ์จราจล อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ตั้งแต่ขั้นการประเมินสถานการณ์ในที่เกิดเหตุ การคัดแยก การปฐมพยาบาล และส่งต่อหรือส่งกลับ ทั้งยังมีแนวทางการปฏิบัติการ เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับทหาร และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์และถ่ายทอดให้กับหน่วยกู้ชีพอื่นๆในพื้นที่ได้" รองเลขาธิการ สพฉ.กล่าว
 
สำหรับการฝึกในครั้งนี้เป็นการฝึกในระยะที่ 1 ซึ่งเป็นการเรียนรู้ภาคทฤษฎีต่างๆ เช่น หลักการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในพื้นที่การรบ การจัดการผู้บาดเจ็บจำนวนมากในที่เกิดเหตุในสถานการณ์ความรุนแรง กลไกการบาดเจ็บจากกระสุนปืนและระเบิด และการรักษาวัตถุพยานในที่เกิดเหตุ เป็นต้น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครื่องแบบนักศึกษา: โลกเสรีในมุมมองคนต่างยุค

Posted: 19 Sep 2013 09:27 PM PDT


ที่มาภาพ: New Culture's Page

ช่วงทศวรรษให้หลังการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 เอ็ดมันด์ เบิร์ก (Edmund Burke) นักปรัชญาชาวอังกฤษเชื้อสายไอร์แลนด์ได้ทำการตอบโต้การปฏิวัติฝรั่งเศสด้วยการเย้ยหยันต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยฝูงชนชาวปารีส โดยระบุว่า การปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นตัวอย่างที่มนุษย์ใช้เสรีภาพมากเกินไป สิ่งนี้ไม่ใช่วัฒนาการของสังคม แต่เป็นความสับสนอลหม่านและบ้าคลั่งของฝูงชน เบิร์กได้เสนอข้อสรุปอันเป็นตรรกะสำคัญที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมหยิบยกมาใช้ทุกครั้งที่สถาปนาอำนาจได้คือ "เสรีภาพมาพร้อมกับหน้าที่" หรือประชาชนต้องมีศีลธรรมกำกับเสรีภาพเสมอ เป็นที่สังเกตว่าตรรกะของเบิร์กเป็นที่คุ้นหูในสังคมไทยอย่างมาก จนทำให้คนไทยส่วนใหญ่มีการรับรู้ว่า เสรีภาพไม่ใช่คำที่มีความหมายบวกหรือกระทั่งกลางๆ เมื่อมีการเอ่ยถึงเสรีภาพสังคมไทยมักให้ความหมาย แบบสีเทาๆ หรือค่อนไปทางลบโดยมิต้องรอคำอธิบายเพิ่มเติม  

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาการประท้วงด้วยโปสเตอร์ของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อตอบโต้นโยบายการบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษาซึ่งถูกวางเงื่อนไขโดยอาจารย์ผู้สอนบางวิชา หนึ่งในนั้นคือนักศึกษาที่เคยโหนรูปปั้น นายปรีดี พนมยงค์[1] ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายอนุรักษ์นิยมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า พวกเขาและเธอ กำลังมีเสรีภาพมากเกินไป หรือใช้เสรีภาพไม่เป็น แล้วจบด้วยการวิจารณ์ว่าเป็น เด็กเกรียนไม่รู้จักกาลเทศะ มาจนถึงการประท้วงผ่านโปสเตอร์ที่มีภาพแสดงการร่วมเพศในชุดนักศึกษา ด้วยถ้อยคำที่เย้ยหยันประมาณว่า "มี sex ในชุดนักศึกษามันส์กว่า?" เพื่อล้อเลียนตรรกะของผู้คุมกฎที่ให้เหตุผลและคุณอนันต์จากการใส่ชุดนักศึกษา

โปสเตอร์นี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จาก ศิษย์เก่า ศิษย์ใหม่ คณาจารย์อนุรักษ์นิยม ว่าเรื่องนี้มันมากเกินไป และทำให้ภาพพจน์มหาวิทยาลัยเสียหาย ต่างฝ่ายต่างออกมาตอบโต้กัน ฝ่ายประท้วงทำโปสเตอร์ชุดใหม่ออกมา ล้อเลียนเครื่องแบบอาจารย์ ซึ่งเรียกร้องให้อาจารย์ใส่เครื่องแบบข้าราชการสีกากีอันภาคภูมิใจมาสอนเพื่อลดปัญหาหนี้สินที่รัฐบาลต้องแบกรับภาระให้กลุ่มวิชาชีพครู ขณะที่ฝ่ายต่อต้านนักศึกษาก็ออกมาขับไล่กลุ่มประท้วงว่าหากไม่ภูมิใจในสัญลักษณ์ ธรรมศาสตร์ก็ย้ายไปเรียนที่อื่นและล่าสุด อธิการบดีก็แต่งกลอนระบายความในใจโดยสรุปว่า "เสรีภาพในธรรมศาสตร์ทุกตารางนิ้ววันนี้กลายเป็นแค่เรื่องโชว์ออฟของเด็กเกรียน" ด้วยความเห็นที่ดูแตกต่างและยากที่จะหาจุดร่วมนี้ ผู้เขียนขอสรุปฐานความคิดของคนแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน และหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทุกกลุ่มในการทำความเข้าใจฝั่งที่แตกต่าง

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยตัวแทนคน Gen-X ที่ระแวงเสรีภาพ ที่จริงเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับอายุ หรือตำแหน่ง แต่การแบ่งตามรุ่น (Geneneration)อาจทำให้แผนที่ทางอุดมการณ์ชัดเจนขึ้น หากมองในภาพกว้างในสังคมแล้ว คน Gen-X ในสังคมไทยโตมากับระบบจารีตแปลกๆ ในสมัย จอมพลสฤษดิ์ เรื่อยมาจนถึงสมัยถนอมประพาส เราถูกสอนว่าคอมมิวนิสต์ชั่วเพราะเราอยู่ข้างอเมริกา แต่ประชาธิปไตยก็ไม่เหมาะกับสังคมไทยเลยต้องเป็นเผด็จการแบบไทยๆ รู้สึกว่าความเป็นไทยมันล้าหลัง แต่ก็กลัวอำนาจจักรวรรดินิยม 14 ตุลาคม 2516 นักศึกษาเป็นฮีโร่เรียกร้องประชาธิปไตย แต่ 6 ตุลาคม 2519 คืออะไรที่อธิบายไม่ได้

ความสับสนนี้นำสู่ความอิหลักอิเหรื่อของคน Gen-X คือรู้ว่า 1 น้อยไป และ 5 เยอะไป แต่ครั้นจะบอกว่าเอา 2 ,3 หรือ 4 ก็ยังงงๆ เพราะไม่สามารถสังเคราะห์ค่ากลางเชิงคุณภาพได้ สุดท้ายคนกลุ่มนี้ก็จะวิ่งหานามธรรมบางอย่างเพื่อสร้างความสบายใจเช่น วุฒิภาวะ กาลเทศะ คุณธรรม จริยธรรม เพื่อกำกับเสรีภาพที่มักจะมากเกินไปเสมอเมื่อมีความเห็นหรือการกระทำใดที่ขัดจากความเชื่อที่ตนสมาทานไว้ หรือไล่ให้คนเห็นต่างไปทำหน้าที่ตามแบบที่ตนคุ้นเคยเช่น ตั้งใจเรียนหนังสือ หรือออกค่ายพัฒนาชนบท/ช่วยชาวนาปลูกข้าว แบบในยุคตน (ซึ่งไม่มีชนบทแบบที่พวกเขาหมายถึงอีกแล้วในโลกจริงปัจจุบัน) ดังที่ผู้เขียนได้บอกไว้ข้างต้นแล้วว่ามันไม่เกี่ยวกับอายุ คน Gen-X ในที่นี้ไม่จำเป็นต้องอายุ 50-60 เราอาจเห็นคนอายุ 30 ต้นๆ ที่มีความคิดแบบคน Gen-Xก็ได้หากผ่านประสบการณ์จารีตแปลกๆเป็นการส่วนตัว เช่นการผ่านระบบคิดที่สอนให้ยอมรับเรื่องต่างๆที่อาจไม่เห็นด้วยไปก่อนแล้วจะดีเอง หรือคำอธิบายที่ว่าสุดท้ายโตไปแล้วจะเข้าใจ

Gen-Y เสรีนิยมที่ยอมรับความต่าง หากแบ่งตามช่วงเวลาคน Gen-Y คือลูกคน Gen-X หรืออาจจะหลังลงมาสักสิบกว่าปีถ้าในสังคมไทยก็คือคนที่เกิดหลังปี 2520 เป็นต้นมารูปธรรมของคนกลุ่มนี้คือเบื่อนิยาย 14 ตุลาฯ ของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่ยกย่องนักศึกษาเป็นเทพปกรนัมแต่พอถามเรื่องรัฐประหารซ้ำซากหลังจากนั้นก็ไม่มีใครตอบได้ และได้รับคำตอบสุดท้ายว่าไม่ว่าอย่างไร "เมืองไทยดีที่สุด"และคนหนุ่มสาวรุ่น Gen-Y ไม่ (ฉลาดหรือเสียสละ)เหมือนรุ่น Gen-X ซึ่งทั้งหมดไม่สมเหตุสมผลในสายตาคนรุ่นนี้  จารีตของคนรุ่นก่อนหน้ายังไม่ถึงกับเป็นเรื่องตลก แต่ไม่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติตาม ทุกคนควรจะมีสิทธิเลือกได้ ในสายตาของคนกลุ่มนี้ ค่าของเลข 1,2,3,4,5 ไม่มีอะไรมากอะไรน้อยเกินไปตราบใดที่คนชอบ 1 ไม่บังคับให้คนชอบเลขอื่นมาชอบเลข 1. เหมือนตัวเอง นักศึกษาปัจจุบันก็มีความคิดในลักษณะนี้อยู่ไม่น้อยซึ่งเห็นว่าจะใส่หรือไม่ใส่เครื่องแบบก็ได้แต่อย่ามายุ่งกับการเลือกละกัน พวกเขาและเธอสามารถรำคาญอาจารย์หัวโบราณได้ พอๆกับการที่อาจรำคาญคุณอั้มเนโกะที่มองว่าพวกเขาและเธอยอมเป็นทาสระบบเมื่อตัดสินใจใส่เครื่องแบบ (คุณอั้ม เนโกะไม่ได้พูด แต่พวกเขาอาจจะคิดไปเองได้เสมอ)

Gen-Z โลกต้องเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้า ในสายตาของคน Gen-Z กลุ่มคน Gen-Y คือพวกโลกสวยและไม่สามารถนำสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย และคน Gen-X  คือไดโนเสาร์หลงยุค จารีตของคนรุ่น Gen-X ไม่ใช่แค่ไม่มีความจำเป็นมันกลายเป็นเรื่องตลก และเป็นภัยคุกคามต่อการเปลี่ยนแปลง ขณะที่อันดับทางวิชาการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วงดิ่งลงทั้งในและระหว่างประเทศ อาจารย์กลับมาตั้งกฎไร้สาระเพื่อให้นักศึกษาใส่เครื่องแบบเหมือนค่ายทหาร หรือโรงเรียนอนุบาล ขณะที่คน Gen-X พยายามมองพวกเขาด้วยความเอ็นดูแกมหมั่นไส้ประมาณว่า "เดี๋ยวไอ้เด็กพวกนี้โตไปก็หายเกรียนเอง" ซึ่งเป็นการทำความเข้าใจแบบผิวเผิน และละเลยข้อเท็จจริงว่า ค่านิยมหรือจารีตบางอย่างไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ มันสามารถสูญพันธุ์ไปได้ และไม่จำเป็นต้องอยู่ร่วมกันอย่างสันติแบบที่กลุ่ม Gen-Y มอง มิเช่นนั้นโลกเราคงต้องประนีประนอมกับอะไรหลายอย่างที่มิควรมีในโลกอารยะ เช่น การค้าทาส ระบอบศักดินา เฆี่ยนโบยในศาล ลุยไฟพิสูจน์ความบริสุทธิ์ การคลุมถุงชนเด็ก 8 ขวบ รัฐประหาร ฯลฯ สำหรับคน Gen Z 1,2,3,4,5 เลขสุดท้ายย่อมดีที่สุดแล้วควรนับ 6,7,8.... ต่อไปเรื่อยๆตามพลวัตของสังคมโลก

เป็นที่น่าแปลกใจที่สังคมไทยมักสร้างคำอธิบายขึ้นมาว่า "อาจารย์ทำไม่ถูกนะแต่นักศึกษาก็แรงเกินไป" สิ่งที่ผู้เขียนอยากชวนให้คิดหลังจากเราตีแผ่ โลกภาพ (Globality) ของทั้งสามกลุ่มสังคมเราใช้เกณฑ์อะไรในการพิพากษาว่า "แรงเกินไป" หรือเพียงเพราะมันขัดกับจารีตคนรุ่นเราเท่านั้น ผู้เขียนมองว่ามันเป็นเรื่องตลกอย่างยิ่งหากเราจะบอกให้นักศึกษากลุ่ม Gen-Z  พยายามทำความเข้าใจแนวคิดของคน Gen-X ไม่ใช่เพราะพวกเขาต่างกันมากจนเข้าใจไม่ได้ ตรงกันข้ามพวกเขาอยู่ภายใต้จารีตนี้มาทั้งชีวิตถูกพร่ำสอนมาตลอดเรื่องจารีตของคนรุ่นก่อนหน้า การที่พวกเขาตั้งคำถามและวิจารณ์ได้ย่อมหมายความว่าพวกเขาได้สัมผัสมันจารีตอันศักดิ์สิทธิ์มาอย่างลึกซึ้ง คำถามสำคัญคือคนกลุ่มอื่นได้พยายามทำความเข้าใจโลกของคนรุนใหม่แค่ไหน ที่มากไปกว่าคำว่า "โตแล้วจะเข้าใจ"

หลายทศวรรษหลังข้อเขียนวิพากษ์วิจารณ์เสรีภาพที่มากเกินไปของประชาชนในการปฏิวัติฝรั่งเศสโดย เอดมันด์ เบิร์ก; มาร์ค ทเวน (Mark Twain) เขียนหนังสือชื่อ "ความหวาดกลัวสองประเภท" โดยระบุว่า "ผู้คนมักตรึงใจกับความรุนแรงที่ประหัตประหารด้วยคมขวาน และการฆ่าอย่างฉับพลันด้วยความเร่าร้อน แต่ความรุนแรงนี้มิอาจเทียบได้เลยกับความรุนแรงที่ประหัตประหารด้วยความเลือดเย็น ไร้หัวใจ สิ้นหวัง กดขี่ระหว่างเพื่อนมนุษย์....ความรุนแรงประเภทแรกอาจฆ่าคนได้นับพัน อาจกินเวลานับเดือนจึงจะยุติ แต่ความรุนแรงประเภทหลังมันฆ่าคนให้ตายทั้งเป็นนับร้อยล้านคน อาจกินเวลาพันปีก็ไม่อาจยุติ....สุสานทั้งปารีสอาจบรรจุโลงศพจากความรุนแรงประเภทแรก...แต่สุสานทั้งฝรั่งเศสคงไม่พอที่จะบรรจุศพจากความรุนแรงประเภทหลังได้"....เหมือนว่าผู้เขียนทำเป็นเรื่องใหญ่โตเกินเหตุที่เอาเรื่องนักศึกษาประท้วงการใส่เครื่องแบบมาโยงกับการปฏิวัติฝรั่งเศส....แต่สิ่งที่ผู้เขียนอยากชวนให้คิดต่อคือ กลุ่มคุณอั้ม เนโกะและพวกกำลังตั้งคำถามกับความรุนแรงประเภทใดที่เกาะกินสังคมไทยเรามาอย่างยาวนาน

            

           




[1] ผู้เขียนขอเรียกว่านายปรีดี พนมยงค์ซึ่งเห็นว่าครบถ้วนและสมควรแม้ส่วนตัวจะศึกษาและเห็นคุณูปการของแนวคิดของท่าน แต่เนื่องจากท่านผู้นี้ไม่เคยสอนหรือรู้จักผู้เขียนเป็นการส่วนตัว ครั้นจะเรียกครู หรือออาจารย์ก็ดูแปลกๆ เหมือที่เราไม่เรียกครู Karl Marx อาจารย์ Adam Smith และด้วยการที่ท่านผู้นี้สนับสนุนความเสมอภาคและภราดรภาพคงไม่โกรธเคืองที่ผู้เขียนไม่ได้ใส่ยศถาบรรดาศักดิ์นำหน้าชื่อให้ท่าน

 

 

 

ที่มาภาพ: New Culture's Page
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=351838954951054&set=a.300634830071467.1073741828.207705419364409&type=1&theater

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กองกำลังรัฐบาลอียิปต์บุกยึดคืนย่านชุมชนเครดาซะห์จากกลุ่มติดอาวุธ

Posted: 19 Sep 2013 08:43 PM PDT

หลังเกิดเหตุการณ์บุกทำลายป้อมตำรวจและสังหารเจ้าหน้าที่ทำให้ย่านชุมชนเครดาซะห์ในอียิปต์อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มติดอาวุธ ล่าสุด ทางกองทัพทหารและตำรวจของอียิปต์ได้บุกเข้ายึดคืนพื้นที่เป็นผลสำเร็จ แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงถูกยิงเสียชีวิต

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา กองกำลังของรัฐบาลอียิปต์ได้ออกปฏิบัติการบุกโจมตีเมืองกีซา โดยอ้างว่า เป็นปฏิบัติการปราบปราม "ผู้ก่อการร้าย"

โดยกระทรวงมหาดไทยของอียิปต์เปิดเผยว่า เหตุการณ์ปะทะในเขตชุมชนเครดาซะห์ ของเมืองกีซา ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นเจ้าหน้าที่ระดับพลตำรวจเอกเสียชีวิต 1 นาย โดยสามารถจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นกลุ่มติดอาวุธได้ 65 คน

ปฏิบัติการในครั้งนี้เจ้าหน้าที่มีเป้าหมายต้องการจับกุมตัวบุคคลที่ก่อการเผาสถานีตำรวจและสังหารเจ้าหน้าที่ 11 นายในช่วงที่มีการปะทะหลังเกิดการรัฐประหารโค่นล้มประธานาธิบดี โมฮัมเหม็ด มอร์ซี เมื่อเดือน ก.ค.

นักข่าวอัลจาซีรากล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปในเขตปฏิบัติการโดยสวมชุดเกราะหนา อ้างว่าต้องปฏิบัติการถอดรากถอนโคนและจับกุมผู้ก่อการร้าย

เหตุการณ์สังหารเจ้าหน้าที่เกิดขึ้นไม่นานนักหลังจากพลตำรวจเอก นาบิล ฟารุค ได้พูดปลุกขวัญลูกทีมเพื่อเตรียมบุกเข้าไปในเขตชุมชนเครดาซะห์ โดยเจ้าหน้าที่ได้ถูกระดมยิงจากดาดฟ้าของอาคารละแวกนั้นซึ่งเป็นโรงเรียนและมัสยิดทำให้ส่วนหนึ่งพากันหลบอยู่หลังกำแพงกับหลังรถหุ้มเกราะ แต่ พล.ต.อ. ฟารุคได้ถูกยิงทะลุชุดเกราะจนล้มลงอยู่ที่พื้น 15 นาทีก่อนที่เจ้าหน้าที่จะพาพวกเขาส่งโรงพยาบาล

ผู้สื่อข่าว BBC กล่าวว่าในช่วงบ่ายหลังจากที่เสียงปืนสงบลง ยังคงมีกำลังตำรวจอยู่จำนวนมากบนท้องถนนและมีการตั้งจุดตรวจโดยเจ้าหน้าที่ทหารตามทางเข้าออก นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่ภาพการนำกำลังเฮลิคอปเตอร์เข้ามาในพื้นที่

เจ้าหน้าที่ทหารเล่าว่าในระหว่างการสู้รบมีเจ้าหน้าที่ถูกขว้างระเบิดมือใส่จนได้รับบาดเจ็บ 10 นาย

สื่อรัฐบาลอียิปต์ประกาศว่าหนึ่งในตัวผู้ที่ถูกจับกุมคืออาห์หมัด อูวอีส ซึ่งถูกกล่าวหาว่าได้ลงมือสังหารผู้กำกับการสถานีตำรวจชุมชนเครดาซะห์ในวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังรายงานอีกว่าเจ้าหน้าที่สามารถยึดพื้นที่เอาไว้ได้รวมถึงมีการประกาศเคอร์ฟิว

อัลจาซีราระบุว่า เขตชุมชนเครดาซะห์เป็นแหล่งผลิตสิ่งทออยู่ห่างจากกรุงไคโรราว 14 กม.เป็นฐานที่มั่นของกลุ่มติดอาวุธศาสนาอิสลาม ซึ่งก่อนหน้านี้สามารถยึดพื้นที่เขตชุมชนไว้ได้และไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่ โดยในวันพุธ (18) ที่ผ่านมาผู้อาศัยในเขตชุมชนบอกว่าพวกเขาไม่มีอำนาจในชุมชน แต่ก็ไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามา

ปฏิบัติการบุกย่านชุมชนในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สองแล้ว โดยก่อนหน้านี้ในวันจันทร์ (15) ที่ผ่านมาได้มีการบุกโจมตีย่านชุมชนเดลกา ในเขตปกครองมินยา ด้วยเหตุผลเดียวกัน

หลังเกิดการรัฐประหารเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ก็มีการประท้วงอย่างต่อเนื่องของฝ่ายผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมอร์ซี โดยมีเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมจำนวนราว 1,000 คนถูกสังหาร ในเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมวันที่ 14 ส.ค. โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจราว 100 นายเสียชีวิตจากการปะทะเช่นกัน ทำให้มีเหตุการณ์สังหารเพื่อล้างแค้นในเขตชุมชนเครดาซะห์โดยมีการบุกโจมตีสถานีตำรวจในพื้นที่ทำให้มีเจ้าหน้าที่ 11 นายถูกสังหาร
 


เรียบเรียงจาก

General killed as Egyptian forces raid pro-Morsi town, BBC, 19-09-2013
 http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-24156197

Egypt security forces storm pro-Morsi town, Aljazeera, 19-09-2013
 http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2013/09/201391943416404313.html

Egyptian police storm second Islamist stronghold, The Guardian, 19-09-2013
 http://www.theguardian.com/world/2013/sep/19/egyptian-police-officer-killed-kerdasah-morsi

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น