โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ประมวลการเดินทาง: 388 กิโลเมตรจากป่าสู่เมือง ค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์

Posted: 21 Sep 2013 10:01 AM PDT

ใกล้เส้นชัย "เดินเท้าคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์" จากป่าแม่วงก์เข้าสู่ใจกลางเมืองกรุง ระยะทางร่วม 388 กิโลเมตร
 
วันนี้ (21 ก.ย.56) การเดินเท้าคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ นำโดยศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งเริ่มเดินทางกันตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย.56 จากหน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวา อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ โดยมีปลายทางที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มาบุญครอง ใกล้ถึงเป้าหมาย
 
การเดินเท้าในครั้งมุ่งสร้างความตระหนักและตื่นตัวของผู้คน เนื่องจากมองว่า EHIA เขื่อนแม่วงก์ ไม่ได้ระบุข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นกับผืนป่ากว่า 1.3 หมื่นไร่ อีกทั้งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
 
"ผมอยากเดินเท้าไปแม่วงก์ เพื่อประท้วงการทำงานของคณะกรรมการผู้ชำนาญการที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน" ศศิน เฉลิมลาภ โพส ข้อความลงใน เฟซบุ๊กส่วนตัว Sasin Chalermlarp เมื่อวันที่ 3 ก.ย.56
 
ขณะนี้ ขบวนเดินเท้าเดินทางมาถึงดอนเมือง เข้าพักที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว
 
เส้นทางร่วม 388 กิโลเมตรจากป่าสู่เมืองนั้น ผ่านพื้นที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนแม่วงก์ และแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาล โดยมีทั้งเสียงคัดค้านและเสียงสนับสนุนจากผู้คนตลอดเส้นทาง รวมทั้งในโลกออนไลน์ด้วย
 
ประชาไทประมวลภาพและข้อมูลระหว่างการเดินทางบางส่วน จากเฟซบุ๊ก Sasin Chalermlarp และเพจ เดินเท้าคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ ในช่วงระยะเวลา 12 วันที่ผ่านมา เพื่อให้เห็นบรรยากาศการตอบรับของผู้คนระหว่างการเดินทางในสายตาของคนทำกิจกรรมเอง ก่อนที่จะมีกิจกรรมปิดท้ายการเดินกันที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ในวันที่ 22 ก.ย.นี้ 
 
"วันอาทิตย์นี้จะเป็นวันตัดสินว่าเราจะรักษาผืนป่าไว้ได้หรือไม่ เพราะหากเขื่อนแม่วงก์ซึ่งจะถูกสร้างในผืนป่าอุดมสมบูรณ์ สร้างในป่าที่มีสัตว์ป่าสำคัญอย่างเสือ โดยที่ไม่คุ้มค่า ไม่คุ้มทุน โครงการอื่นก็จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นแก่งเสือเต้น แม่แจ่ม หรือแม้แต่การตัดถนนผ่าป่า" ศศิน เฉลิมลาภ 
 
000
วันอังคารที่ 10 กันยายน 2556
เดินทางจากหน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวา – แก่งเกาะใหญ่ ตลิ่งสูง เขาชนกัน สู่วังชุมพร (พื้นที่รับประโยชน์ท้ายเขื่อน)
 
ผมบอกสื่อไปว่า มาคราวนี้ผมไม่ได้มาชี้แจงชาวบ้านเรื่องเขื่อนนะครับ ผมเดินให้เขาสงสัยว่ามีคนบ้าเดินไปกรุงเทพทำไม
 
ผมเริ่มเดินแบก รายงาน EHIAออกมาแล้ว เริ่มเดินเวลา 5.50 น.
 
วันพุธที่ 11 กันยายน 2556
เดินจากวังชุมพร สู่ตำบลลาดยาว (พื้นที่ชลประทานเขื่อนแม่วงก์)
 
ไปเลย 1 2 3 
 
ฝนตกแล้ว 
 
ลุงเล็กขับรถมาจากนครสวรรค์ จากกลุ่มเพื่อนธรรมชาติ 
 
พักผ่อนอยู่หน้าพระพุทธรูป สักพักจะเดินทางต่อไปลาดยาว ที่นั่น นักการเมืองท้องถิ่นที่สนับสนุนเขื่อนกำลังเตรียมรับอย่างเข้มข้น ส่งข่าวบอกเป็นระยะว่าจะขอคุยกันที่เทศบาล พยายามคาดคั้นว่าจะเดินถึงกี่โมง ผมก็พยายามบอกเขาดีๆ เหมือนกันว่าระยะสิบกว่ากิโลเดินเท้า ต้องกะเวลาเองเผื่อพักด้วย ทางนั้นก็พยายามบอกว่า บ่ายสองใช่ไหม บ่ายสามใช่ไหม ก็ผมเดินเท้าฝ่าแดด พักบ่อย จะไปรู้ได้อย่างไรว่าจะถึงกี่โมง เฮ้อ รักแล้วรอหน่อยนะครับ
 
ทีมวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ราชภัฏนครสวรรค์ มาเดิน
 
ตอนเย็นค่ำเดินเสร็จต้องทำงานต่อ สรุป และวางแผนพรุ่งนี้ สองวันที่ผ่านมา แต่นี่ก็รู้แล้วว่า งานนี้แค่ใจถึงอย่างเดียวไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้มากหรอกถ้าไม่มีทีม และและสิ่งที่ไม่คาดหมาย หรือการผ่านพ้นอุปสรรค์ที่ยากเข็ญ จะผ่านไม่ได้เลยถ้าไม่มีมิตร
 
วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน 2556
เดินทางจากลาดยาว สู่อำเภอสว่างอารมณ์ (พื้นที่อุทกภัยอำเภอลาดยาว)
 
พี่เสรี นักธุรกิจขายเคมีเกษตรโดยตรง ยังมาให้กำลังใจเรา บอกว่ามีวิธีมากมายที่ไม่ต้องสร้างเขื่อนแล้วจัดการน้ำได้ ขอบคุณครับพี่ สำหรับกำลังใจ และทุนเดินทาง
 
เข้าเขตจังหวัดอุทัยธานี
 
 
ไปทัพทันครับ
 
 

วันศุกร์ที่ 13 กันยายน 2556
เดินทางจากอำเภอสว่างอารมณ์ สู่จังหวัดอุทัยธานี (พื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง)
 
เมื่อตอนก่อนออกจากทัพทันพี่วิชัยดักรอหน้าร้าน มอบแบงค์ร้อยแล้วว่าถ้าขาไม่เจ็บจะไปเดินด้วย 
 
วันนี้ที่อุทัย น่าสนุก คนไม่เอาเขื่อนอย่างพี่หาญ กับ น้องไผ่มาเยี่ยมเวทีอุทัย ที่บ้านพี่วิไลวรรณ พลาดไม่ได้ 
 
ที่นี่ผู้รับผิดชอบสร้างเขื่อนแม่วงก์
 
พี่ชัชวาลย์ พิศดำขำ มาในนามมูลนิธิห้วยขาแข้ง ขอบคุณครับ 
 
 
วันเสาร์ที่ 14 กันยายน 2556
เดินทางจากจังหวัดอุทัยธานี สู่อำเภอมโนรมณ์ (พื้นที่จุดบรรจบแม่น้ำสะแกกรังและแม่น้ำเจ้าพระยา)
 
ทีมคนแบกเหล้า จากปราจีนฯ มาร่วมเดิน 
 
เพื่อนจากกรมอุทยานมาสนับสนุน
 
จะออกเดินต่อแล้ว มีเสบียงจากเพื่อนมาให้เป็นพลังกาย พลังใจ เต็มรถเสบียง ขอบคุณครับ 
 
เดินครั้งนี้เป็นขบวนประวัติศาสตร์
 
 
วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน 2556
เดินทางจากอำเภอมโนรมณ์ สู่อำเภอบางโฉมศรี (พื้นที่อุทกภัยบางโฉมศรี - สิงห์บุรี)
 
วันนี้เริ่มเดินสายกว่าทุกวัน
 
 
ฝากข่าวจราจร ครับ เราอยู่ถนนสายเอเซีย ประมาณ กม.137 จากแยกหางน้ำสาคร ชัยนาท ไปบางโฉมศรี มุ่งหน้า กทม. มีรถนำ 
 
พี่ตุ๊ แครี่ออน
 
เครือข่ายท่าจีนนครปฐม 
 
พี่หงามาแล้ว 
 
เป้าหมายวันพรุ่งนี้ ผ่านชัยนาท ไปพ้นสิงห์บุรี 
 
บรรยากาศลงชื่อค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ 
 
 
วันจันทร์ที่ 16 กันยายน 2556
เดินทางจากอำเภอบางโฉมศรี สู่พรหมบุรี (พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน)
 
ผ่านชัยนาท สำเร็จ สวัสดี ชาวเมืองสิงห์ 
 
หันไปเจอแดด กับ คนอายุ 82 เออยังต้องมาตากแดดเพื่ออะไร?
 
คุณตำรวจกำธร และคุณประทุม มาช่วยดูแล จาก สภ.อินทร์บุรี
 
แก่งเสือเต้นก็มาเดินด้วย
 
วันนี้มาได้แค่นี้ ผิดแผนไปหน่อยนึกว่าจะถึงพรหมบุรี เหลืออีก 140 กิโลเมตร เดินวันละ 20 กว่ากิโลเมตร ได้ซะที อีก 6 วันผมจะถึงกรุงเทพฯ พรุ่งนี้เดินข้ามจังหวัดสิงห์บุรี ไปอ่างทอง ใกล้บ้านผมที่อยุธยา
 
ตอนนี้เข้าใจว่าข่าวสารคงไปถึงผู้คนมากขึ้นแล้วใช่ไหมครับ
 

วันอังคารที่ 17 กันยายน 2556
เดินทางจากพรหมบุรี สู่จังหวัดอ่างทอง (พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง)
 
ขอบคุณพี่น้องกลุ่มเกษตรทางเลือกภาคใต้ ที่แวะมามอบสะตอสดๆ ให้กับคณะครับ 

 
 
กลุ่ม Green Politics ร่วมขบวนครับ 
 
 
วันพุธที่ 18 กันยายน 2556
เดินทางจากจังหวัดอ่างทอง สู่อำเภอบางปะหัน (พื้นที่เศรษฐกิจหลักในการป้องกันอุทกภัย)
 
ผ่านไชโยๆๆ เข้าอ่างทอง
 
เมื่อเช้า มีลุงคนหนึ่งเดินตามมาหลังขบวน แต่ฟ้าสาง บอกว่านั่งแท็กซี่มา เสร็จก็เอากระเป๋าไว้ที่รถตามขบวน ผมชะลอแล้วเดินกลับไปถามว่า พี่ชื่ออะไรครับ มาจากไหน ลุงเงยหน้า แล้วบอกว่า ผมชื่อ ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ไอ๊หยา ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ นักสิ่งแวดล้อมอาวุโส ของไทย ในสมัยคลาสสิค สุรพล สุดารา ปริญญา นุตาลัย และ ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ในยุค 90 ขอบคุณครับอาจารย์ที่มาร่วมเดิน
 
ผมแซวอาจารย์ว่า ที่เราต้องมาเดินนี่ก็เริ่มจากเมื่อปีที่แล้ว ที่เราไปปรึกษาเรื่องเขื่อนนี่แล้วอ.บอกให้ อ.รตยาไปกางเต็นท์ประท้วง 555 
 
 
วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน 2556
เดินทางจากอำเภอบางปะหัน สู่วิทยาลัยเกษตรหันตรา (ราชมงคลสุวรรณภูมิ) (พื้นที่การผันน้ำตามแนวคิดของไจก้า)
 
ผมเกิด และโตที่อำเภอนี้ 10 ปี ที่บ้านริมน้ำป่าสัก 
 
เพื่อนจากกลุ่มเยาวชนต้นกล้าจังหวัดนครนายก มาพร้อมกับเสื้อจากอาจารย์ปัณยา ไชยะคำ ครับ ขอบคุณมากครับ 
 
พี่จืดเด็กรักป่าสุรินทร์ กำลังเล่าเชื่อมโยงอดีตสมัยที่ค้านเขื่่อนน้ำโจน
 
บ่ายนี้น่าจะร้อยกว่าคน 
 
ถึงบางปะอินแล้ว
 
เชิญพี่ศรีสุวรรณ (นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน) พูดเรื่องกฎหมาย
 
 
วันศุกร์ที่ 20 กันยายน 2556
เดินทางจากวิทยาลัยเกษตรหันตรา สู่แยกบางปะอิน
 
พี่โชคส่งเราถึงกรุงเทพฯ ลาเรากลับเขาแผงม้าแล้วครับ 
 
ตัวแทนจากธนาคารไทยพาณิชย์เดินทางมาเยี่ยมและมอบเสบียงครับ
 
ขบวนแรงงานมาร่วมเดินด้วยครับ
 
ขอบคุณท่านอาจารย์จากวิศวกรรมสถานทั้งหลายที่มาให้ความรู้ครับ 
 
พี่น้องปากะญอจากแม่แจ่ม ที่จะโดนสร้างเขื่อนเหมือนกันที่เชียงใหม่มาเยียมเยือน 
 
 
วันเสาร์ที่ 21 กันยายน 2556
เดินทางจากบางปะอิน สู่ดอนเมือง พักที่ ม.เกษตร
 
กำลังพูดคุย หลังอาหารเช้า ขอบคุณมื้อเช้าจากพี่หมู SCB และท่านอื่นๆ ที่มอบน้ำ ขนม ตลอดมา
 
ผมเชื่อมาตลอดว่า การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เริ่มจากคนจำนวนมาก แต่เกิดจากคนเล็กๆ น้อยๆ ที่มีพลังครับ มาร่วมกันครับวันนี้ เพื่อบอกให้ประเทศไทยรู้ว่า เราไม่ยอม เรายืนหยัด เราศรัทธา เราจะรักษา ในความดี ความงาม ความจริง
 
แดดร่มแล้ว เข้าสู่พื้นที่จังหวัดสุดท้ายตามแผน กรุงเทพฯ
 
พูดที่เกษตร 
 
 
 
จากป่า สู่เมือง : 388 กิโลเมตร จากแม่วงก์ ถึงกรุงเทพฯ STOP EHIA Mae Wong
วันที่ 22 กันยายน 2556
บริเวณด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ภาคป่า
09.00 น. ออกเดินเท้าจาก ม.เกษตรศาสตร์ ประตูถนนวิภาวดี
11.00 น. พบกันที่จุดรวมพล BTS หมอชิต
13.00 น. ประชาสัมพันธ์การคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
16.00 น. ร่วมกิจกรรมจากป่าสู่เมือง ในงานจากป่าสู่เมือง ณ หอศิลปะและวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ปทุมวัน
18.45 น. ร่วมอ่านแถลงการณ์พร้อมยื่นหนังสือต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ภาคเมือง
15.00 น. การแสดงละคร "เสือสมิง" จากกลุ่มมะขามป้อม
15.15 น. ดนตรีจากกลุ่มเยาวชนต้นกล้าน้อย จ.นครสวรรค์
15.30 น. เสวนาวิวาทะ(กำ)จากเขื่อนแม่วงก์
16.15 น. ดนตรีจากวงอพาร์ทเม้นท์คุณป้า
17.00 น. เสวนา ร้อยเรื่อง การเดินทางจากป่าสู่เมือง
17.45 น. ดนตรีจากวงคาราวาน
18.30 น. บทเพลงจากคุณจิระนันท์ พิตรปรีชา
18.45 น. อ.ศศิน และเครือข่ายผู้ร่วมคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ ร่วมอ่านแถลงการณ์พร้อมยื่นหนังสือต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
19.00 น. การแสดงดนตรี
 
 
 
000
 
 
แถลงการณ์คัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์
 
แถลงการณ์คัดค้านการอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ โดย องค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
1. รายงานฉบับนี้ไม่ได้ให้ความจริงใจในการศึกษาทางเลือกในการพัฒนาแหล่งน้ำโดยวิธีอื่นๆ โดยใช้วิธีคำนวณเทคนิคทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมให้ไม่คุ้มค่าในการเลือกทางเลือกอื่นๆ หรือ เทคนิคกำหนดตัวแปรที่เบี่ยงเบนน้ำหนักของการเลือกที่ตั้ง ให้มาก่อสร้างในป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์
 
2. รายงานฉบับนี้ละเลยข้อมูลความสำคัญของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ต่อเนื่องกับพื้นที่มรดกโลกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่เป็นป่าใหญ่อุดมสมบูรณ์ไม่มีการรบกวนระบบนิเวศสัตว์ป่าโดยที่ตั้งของชุมชน ดังมีรายงานข้อมูลสำรวจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของการกระจายตัวของเสือโคร่ง ทั้งจากรายงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทยและกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย
 
3. รายงานฉบับนี้ได้ระบุข้อมูลผลประโยชน์จากการสร้างเขื่อนว่า ในพื้นที่ชลประทานทั้งหมด 291,900 ไร่ จะเป็นพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนถึง 175,355 ไร่ จึงได้พื้นที่ชลประทานฤดูแล้งเพียง 116,545 ไร่ ดังนั้นพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จึงน้อยกว่าสิ่งที่ชาวบ้านเข้าใจว่าน้ำจะไปทั่งถึงทั้ง 23 ตำบลที่ได้ระบุในรายงาน หากพิจารณาเหตุผลที่ต้องสูญเสียพื้นที่ป่า และงบประมาณในการก่อสร้าง
 
4. รายงานฉบับนี้ระบุชัดเจนว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำที่ท่วมในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมได้ทั้งหมด และยังไม่ได้วิเคราะห์ข้อมูลน้ำที่ไหลบ่าจากพื้นที่เกษตรกรรมที่เปลี่ยนแปลงจากป่าไม้ในพื้นที่นอกอุทยาน ซึ่งคาดว่าจะมีน้ำมากถึง 70-80% ที่ไหลลงมายังที่ราบอำเภอลาดยาว ดังนั้นถึงสร้างเขื่อนแม่วงก์ก็สามารถบรรเทาอุทกภัยได้ไม่มากนักในพื้นที่โครงการ โดยไม่ต้องสงสัยว่าโครงการเขื่อนแม่วงก์จะมีผลต่อการบรรเทาน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามงบประมาณสร้างเขื่อนตามโมดูล A1 ที่มากับโครงการเงินกู้จัดการน้ำ 3.5 แสนล้านของรัฐบาลได้เพียงไม่ถึง 1 % ของน้ำท่วมใหญ่ปี 2554
 
5. ในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่มีมาตรการที่แน่ใจได้เลยว่าจะได้ผล ได้แก่ การปลูกป่าทดแทนที่ไม่มีการระบุพื้นที่ปลูกป่าว่าอยู่ในบริเวณใด มีแต่การคำนวณว่าจะได้ไม้และผลประโยชน์มากกว่าที่จะตัดไป ทั้งที่ความจริงแล้วพื้นที่นอกอุทยานแห่งชาติแม่วงก์เกือบจะมีแต่พื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านมิได้มีพื้นที่ใดสามารถปลูกป่าได้ถึง  36,000 ไร่ ตามที่ระบุได้ หรือมาตรการลดผลกระทบจากการล่าสัตว์ ตัดไม้เกินพื้นที่ ในระหว่างการก่อสร้างก็เป็นเพียงมาตรการทั่วๆไปให้เจ้าหน้าที่ดูแลเคร่งครัด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในขณะก่อสร้างจะไม่สามารถควบคุมการล่าสัตว์ที่จะไปถึงพื้นที่อื่นๆ รวมถึงห้วยขาแข้ง ได้
 
6. ในการพิจารณารายงานของคณะกรรมการผู้ชำนาญการในการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อปลายปี 2555 มีมติให้แก้ไขรายงาน และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมหลายประเด็น โดยเฉพาะการศึกษาเรื่องระบบนิเวศของสัตว์ป่า ซึ่งโดยหลักการแล้วต้องใช้เวลาในการศึกษาพอสมควร เป็นไปไม่ได้ที่จะศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์ผลกระทบเพิ่มเติมแล้วเสร็จได้ภายในกรอบระยะเวลา 1 ปี
 
7. พื้นที่ชลประทานเขื่อนแม่วงก์ เป็นพื้นที่ทับซ้อนกับคลองผันน้ำในโมดูล A5 ซึ่งจะทำให้สภาพแวดล้อมและการจัดการน้ำที่ศึกษาไว้ทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไปจากโครงการชลประทานเขื่อนแม่วงก์
 
8. ในการพิจารณารายงานฉบับนี้ รัฐบาลปรับเปลี่ยนบุคลากรของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการอย่างน่าสงสัย ตั้งแต่ต้นปี 2556 ได้แก่การโยกย้ายตำแหน่งของเลขาธิการอย่าง ดร.วิจารณ์ สิมะฉายา ซึ่งมีชื่อเสียงการยอมรับในการทำงานวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี มาเป็นนายสันติ บุญประคับ ซึ่งมีภูมิหลังทำงานด้านพัฒนาจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และปรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการผู้ชำนาญการรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ด้านพัฒนาแหล่งน้ำ จาก ดร.สันทัด สมชีวิตา ผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงในการทำงานด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มาเป็นข้าราชการประจำอย่างตัวเลขาธิการ สผ.เอง คือ นายสันติ บุญประคับ ซึ่งอาจจะสงสัยได้ว่าต้องเร่งรัดทำงานตามนโยบายที่ได้รับมาจากโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านเนื่องจากในขณะนั้น รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลงานด้านสิ่งแวดล้อมนี้คือ ดร. ปลอดประสพ สุรัสวดี  ผู้รับผิดชอบโครงการจัดการน้ำเช่นกัน นอกจากนี้ยังทราบว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงบุคคลในคณะกรรมการผู้ชำนาญการที่มีความเห็นทางวิชาการต่อความบกพร่องของรายงาน อาทิ ดร. อุทิศ กุฏอินทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศป่าไม้ นายสมศักดิ์ โพธิ์สัตย์ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านธรณีวิทยา รวมถึงการปรับโครงสร้างองค์ประกอบให้ไม่มีผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม และผู้แทนประจำของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
 
ดังนั้นการเร่งรัดผ่านรายงานโครงการเขื่อนแม่วงก์ในครั้งนี้จึงมีความผิดปกติอย่างยิ่งต่อมาตรฐานทางวิชาการการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจึงขอยื่นแถลงการณ์ฉบับนี้ต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ด้านพัฒนาแหล่งน้ำและเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วันที่ 9 กันยายน 2556 ณ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
รายชื่อองค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร 
มูลนิธิโลกสีเขียว
สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า(WCS)ประเทศไทย
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ
กลุ่ม กคอทส.
คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมภาคเหนือตอนล่าง
มูลนิธิสถาบันปฏิปัน
เครือข่ายป่าชุมชน จังหวัดนครสวรรค์
เครือข่ายชุมชนคนรักษ์ป่าเขาแม่กระทู้
กลุ่มใบไม้
กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม
ศูนย์ข้อมูลเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย Thaiflood.com
กลุ่มเสรีนนทรี
กลุ่ม Big Tree
กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล(WWF)ประเทศไทย
สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย
มูลนิธิคณะกรรมการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก
มูลนิธิกลุ่มศิลปินรักผืนป่าตะวันตก
กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมพยุหะ
มูลนิธิเครือข่ายอนุรักษ์ป่าตะวันตก
มูลนิธิสืบศักดิ์สินแผ่นดินสี่แคว
เครือข่ายป่าชุมชนขอบป่าตะวันตก จ.กำแพงเพชร
มูลนิธิบัณฑิตอาสาสมัคร
มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
เครือข่ายเยาวชนต้นกล้าน้อย
กลุ่มรักษ์ป่า
กลุ่มแนวร่วมนิสิต นักศึกษา รักธรรมชาติ(นนรธ.)
 
 
 
000
 
 
ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้ความเห็นกรณีเขื่อนแม่วงก์
เผยแพร่เมื่อ 18 เม.ย.55 โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
 
 
ความเป็นมาของเขื่อนแม่วงก์
 
ที่มา: "ทำไม! ต้องค้านเขื่อนแม่วงก์" เอกสารข้อมูลโครงการเขื่อนแม่วงก์
โดยองค์กรเครือข่ายสิ่งแวดล้อม สามารถดาวน์โหลได้ฟรีในรูปแบบ pdf file ที่ www.seub.or.th
 
ปี 2525 กรมชลประทานริเริ่มโครงการเขื่อนแม่วงก์
 
ปี 2537 มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) มีความเห็นให้กรมชลประทานศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมบริเวณเขาชนกัน เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงกว่าเขาสบกก
 
ปี 2540 กรมชลประทานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมตามมติ คชก.
 
ปี 2541 มติที่ประชุม คชก.วันที่ 23 มกราคม ครั้งที่ 1/2541 "ไม่เห็นชอบกับการดำเนินโครงการเขื่อนแม่วงก์"
 
ปี 2543 ทำประชาพิจารณ์โครงการเขื่อนแม่วงก์
 
ปี 2545 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติครั้งที่ 3 ยังไม่เห็นชอบต่อรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้กรมชลประทานหาทางเลือกของที่ตั้งโครงการ และศึกษาเพิ่มเติมการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบในลักษณะบูรณาการ
 
ปี 2555 มีมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 10 เมษายน 2555 เห็นชอบในหลักการให้ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 13,280 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี โดยผูกพันงบประมาณถึงปีงบประมาณ 2562
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มหาวิทยาลัยราชภัฏพาเรดขึ้นเงินเดือนพนักงาน หลายแห่งสวนกระแสเมินถูกฟ้อง

Posted: 21 Sep 2013 04:30 AM PDT

รศ.ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการ ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ กล่าวว่าหลังจากที่ทางศูนย์ฯ ผุดวอร์รูม เกาะติดข้อมูลที่บุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่ง ฟ้องศาลในกรณีที่มหาวิทยาลัยเบี้ยวปรับเงินเดือนตามมติคณะรัฐมนตรีนั้น พบว่าหลายมหาวิทยาลัยได้ทยอยปรับแล้วซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องและควรดำเนินการเร่งด่วน เพราะเป็นปัญหารื้อรังมากว่า 14 ปี
 
รศ.ดร. วีรชัย กล่าวว่า จากกรณีที่อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง จ. เชียงใหม่ กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากมติสภามหาวิทยาลัยและคำสั่งผู้บริหาร ที่ไม่ได้ปรับฐานเงินเดือนตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือ พนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ หรือสาย ก. เป็น 1.7 เท่าของเงินเดือนราชการปัจจุบัน และสายสนับสนุน หรือสาย ข. เป็น 1.5 เท่า นั้น เป็นหนึ่งในตัวเร่งปฏิกิริยาของพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศดำเนินการยื่นฟ้อง เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยได้ทำเรื่องเสนอของบประมาณหมวดเงินเดือนไปโดยได้เอาจำนวนหัวอาจารย์ คูณด้วย 1.7 แต่ก็ไม่ได้นำเงินงบประมาณดังกล่าวมาจ่ายจริงตามที่ขอไว้
 
ขณะที่ อ.ประทัย พิริยะสุรวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวว่า ต้องขอบคุณทาง มหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏอยุธยา, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และล่าสุด มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ที่คณะผู้บริหารได้ดำเนินการปรับเงินเดือนค่าจ้างให้เป็นไปตามแนวทางของมติ ครม. โดยวุฒิปริญญาเอกจบใหม่ ได้รับเงินเดือนใกล้เคียงมติดังกว่าคือ ให้ที่ 33,950 บาท โดย มรภ. อุดรธานี ให้ขั้นสูงสุดถึง 39,630 บาท ซึ่งหากเป็นจริงถือว่าสูงกว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำระดับประเทศหลายแห่ง จะทำให้ มรภ. รักษาคนดีคนเก่งให้ทำงานให้กับองค์กร เพื่อตั้งใจทำงาน ยกระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะในแวดวง มรภ. ให้ดีขึ้นต่อไป
 
ขณะที่อาจารย์ชนะชัย บุญเพิ่ม กรรมการสภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผู้ช่วยเลขาธิการ ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทราบว่าหลายแห่งทยอยปรับ แต่ก็ยังมีมหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่งที่สวนกระแส ท้าทายการระดมฟ้องของพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และทราบว่า เป็นที่น่าผิดหวังอย่างยิ่งต่อมติสภามหาวิทยาลัยล่าสุด ของ มรภ. มหาสารคาม ที่ได้อนุมัติงบประมาณการขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานเงินรายได้เพียง 1.1-1.3 เท่า ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มติ ครม. ที่ระบุให้มหาวิทยาลัยจัดสรร 1.5-1.7 เท่าของฐานเงินเดือนราชการปัจจุบัน จึงขอวิงวอนให้ปฏิบัติตามมติ ครม. ล่าสุด และอยากขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าคุยกัน เพราะหากคดีในศาลปกครองมีผลในทางบวกต่อพนักงาน คิดว่าการฟ้องร้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย และคดีอาญา ม. 157 จากพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จะเกิดตามมาอีกหลายคดี
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ และเลขาธิการ พคท. ส่งพวงหรีดไว้อาลัย "เฉิน ผิง"

Posted: 21 Sep 2013 03:40 AM PDT

หลายฝ่ายในไทยร่วมพิธีคำนับศพ "เฉิน ผิง" เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ที่วัดธาตุทอง ตั้งแต่อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 จนถึงเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ได้พระราชทานพวงหรีดให้กับเฉิน ผิงด้วย ในขณะที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังคงปฏิเสธไม่ยอมให้นำร่างของเฉิน ผิง กลับบ้านเกิด

หนังสือพิมพ์สเตรท ไทม์ ลงข่าวทางการบริติชมลายา เจ้าอาณานิคมสมัยนั้น ลงข่าวออกหมายจับ "เฉิน ผิง" พร้อมตั้งค่าหัวจับเป็น 250,000 เหรียญ เมื่อปี พ.ศ. 2488 ด้านเฉิน ผิงนั้นเสียชีวิตระหว่างรักษาตัวที่ รพ.กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2556 รวมอายุได้ 88 ปี

นิทรรศการหน้างานคำนับศพ "เฉิน ผิง" ที่วัดธาตุทอง ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 56 โดยเป็นการรวบรวมหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวการเสียชีวิตของเขา

พวงหรีดจากธง แจ่มศรี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยเขียนด้วยว่า "คารวะแด่สหายร่วมรบ" ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 56

พวงหรีดพระราชทานจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี โดยมี พล.อ.กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้เชิญพวงหรีดพระราชทานมาแสดงความไว้อาลัย ภาพถ่ายเมื่อ 20 ก.ย. 56

 

กรณีที่เฉิน ผิง (陳平) หรือ หวังเหวินหัว (王文華) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (CPM) เสียชีวิตหลังรักษาตัวที่ รพ.กรุงเทพ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. นั้น รวมอายุได้ 88 ปีนั้น

ล่าสุดเมื่อวานนี้ (20 ก.ย.) เป็นวันแรกที่ญาติและมิตรสหายได้จัดพิธีคำนับศพที่วัดธาตุทอง ใน กทม. และเปิดให้สาธารณชนแสดงความไว้อาลัย โดยวันแรกของพิธีศพ นอกจากญาติมิตรของเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา แล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้ให้ พล.อ.กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เชิญพวงหรีดพระราชทานมาแสดงความไว้อาลัยด้วย

เช่นเดียวกับ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ซึ่งในสมัยที่ยังมียศเป็นร้อยเอก เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทเจรจาสันติภาพกับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (CPM) ก็เดินทางมาร่วมคำนับศพด้วย

นอกจากนี้ ธง แจ่มศรี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และอดีตสมาชิก พคท. ส่วนหนึ่งได้เดินทางมาคำนับศพด้วย โดยพวงหรีดได้เขียนไว้อาลัยว่า "คารวะแด่สหายร่วมรบ" นอกจากนี้พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยได้ส่งพวงหรีดมาไว้อาลัยด้วย

นอกจากนี้อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายา และญาติมิตรได้เดินทางมาร่วมคำนับศพ และส่งพวงหรีดมาแสดงความไว้อาลัยจำนวนมาก

 

เกิดที่รัฐเประ และการต่อสู้กับญี่ปุ่น อังกฤษ และรัฐบาลมาเลเซีย

สำหรับ เฉิน ผิง ที่ทางการไทยออกเสียงว่า "จีน เป็ง" นั้นเกิดเมื่อปี 2467 ที่เซเตียวัน รัฐเประ ในมาเลเซีย ซึ่งขณะนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมบริติช มลายา เติบโตมาจากครอบครัวช่างซ่อมจักรยาน และเครื่องยนต์ เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอย่างแข็งขันมาตั้งแต่เด็ก สนใจแนวคิดของซุน ยัด เซ็น ก่อนที่จะหันมาศึกษาแนวคิดคอมมิวนิสต์ ในปี 2483 ได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา

และต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เข้าร่วมกองทัพประชาชนมลายาต่อต้านญี่ปุ่น (MPAJA) เพื่อต่อต้านการยึดครองคาบสมุทรมลายาของญี่ปุ่น โดย เฉิน ผิง มีบทบาทเป็นผู้ประสานงานระหว่าง MPAJA และกองทัพของอังกฤษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 MPAJA แปรสภาพเป็นกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา เฉิน ผิงได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรค อย่างไรก็ตามเจ้าอาณานิคมบริติชมลายาถือว่าพรรคนี้เป็นพรรคนอกกฎหมายบทบาทของพรรคในการเรียกร้องเอกราชและต่อต้านเจ้าอาณานิคมบริติชมลายา

ในเดือนมิถุนายนปี 2491 ผู้ปกครองอาณานิคมบริติชมลายาได้ประกาศภาวะฉุกเฉินหลังจากสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาได้ฆ่าชาวยุโรปสามคนที่เป็นผู้จัดการไร่เพาะปลูกที่สุไหง สิปุต รัฐเประ และมีการทำสงครามเพื่อปราบปรามสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายา

โดยอังกฤษเลือกที่จะมอบเอกราชให้กับชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมในนาม "แนวร่วมแห่งชาติ" (Barisan Nasional - BN) ที่ประกอบไปด้วยพรรคการเมืองของชาวมลายู อินเดีย และจีน นอกจากนี้เจรจาทางการเมืองระหว่างแนวร่วมแห่งชาติ (BN) และพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ก็ประสบความล้มเหลว ทำให้หลังจากที่มาเลเซียได้รับเอกราชในปี 2500 ก็ต้องต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์มลายาต่อมาจนถึงต้นทศวรรษที่ 2530

ทั้งนี้ผลจากสงครามกลางเมืองอันยาวนาน ทำให้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินในมาเลเซียยาวถึง 12 ปี นับตั้งแต่ปี 2491 จนกระทั่งมีการยกเลิกไม่นานหลังได้รับเอกราช ด้านสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายารวมทั้ง เฉิน ผิง ได้ล่าถอยมาตั้งฐานบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย ทางการไทยใช้เวลาหลายปีในการเจรจา จนในที่สุดมีการทำสนธิสัญญาสันติภาพที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 โดยพรรคคอมมิวนิสต์มลายาได้ตัดสินใจยอมวางอาวุธ ถือเป็นการสิ้นสุดสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาอย่างยาวนานหลายสิบปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

 

สนธิสัญญาสันติภาพ และการรอวันกลับบ้าน

หลังทำสนธิสัญญาสันติภาพที่หาดใหญ่ เฉิน ผิง และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายาจำนวนมากยังไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมาเลเซีย ทำให้ต้องพำนักอยู่ในประเทศไทย ทั้งที่ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส และ อ.เบตง จ.ยะลา โดยฉิน เผิง นั้นนอกจากจะอยู่ในประเทศไทยแล้ว เขายังมีโอกาสไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ด้วย

ในช่วงต้นปี 2540 เขาพยายามขออนุญาตเดินทางกลับมาเลเซีย แต่ถูกศาลสูงมาเลเซียปฏิเสธในปี 2548 และในปี 2551 เขาพยายามร้องต่อศาลเพื่อกลับประเทศมาเลเซียอีก แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาต โดยอ้างว่าไม่มีเอกสารการเกิด

นอกจากนี้ในปี 2549 มีผู้กำกับภาพยนตร์ชาวมาเลเซียผลิตภาพยนตร์เรื่อง "The Last Communist" เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา และเฉิน ผิง แต่ถูกกระทรวงมหาดไทยของมาเลเซียสั่งห้ามฉาย ทั้งๆ ที่ในภาพยนตร์ดังกล่าวไม่มีฉากปรากฏตัวของเฉิน ผิงเลย

ทั้งนี้โดยเฉิน ผิง พำนักอยู่ในกรุงเทพมหานครในช่วงสุดท้ายของชีวิต และในวันที่เฉิน ผิง เสียชีวิตตรงกับวัน "มาลาเซีย" (Hari Malaysia) ซึ่งเป็นวันรำลึกการรวมสิงคโปร์ รัฐซาบาห์ และรัฐซาราวัก เมื่อปี 2506 เข้ามาอยู่ในมาเลเซีย อย่างไรก็ตามกรณีของสิงคโปร์ ได้ถูกมาเลเซียขับออกไปในวันที่ 9 ส.ค. 2508

สำหรับพิธีศพของ เฉิน ผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา จัดที่วัดธาตุทอง กทม. ระหว่างวันที่ 20 – 22 กันยายน เริ่มเวลา 17.00 น. ทุกวัน สำหรับพิธีฌาปนกิจ จะจัดในวันที่ 23 กันยายนนี้ เริ่มพิธีตั้งแต่เวลา 10.00 น.

อนึ่ง นาจิป ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้ให้สัมภาษณ์ปฏิเสธไม่ยอมให้นำร่างของ เฉิน ผิง กลับมายังมาเลเซีย ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน อย่างอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำฝ่ายค้าน "ภาคีประชาชน" (PR) ไม่เห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรี โดยบอกว่าสิ่งที่ผ่านไปแล้วก็คือสิ่งที่ผ่านไปแล้ว นอกจากนี้ในพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง รองประธานพรรคสมาคมชาวจีนมาเลเซีย (MCA) ก็เห็นว่ารัฐบาลมาเลเซียควรอนุญาตให้นำร่างของเฉิน ผิง กลับมายังมาเลเซียได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดวงเสวนามุมมองคนรุ่นใหม่ต่ออาชีพทำนา

Posted: 21 Sep 2013 02:37 AM PDT

เสวนา "มุมมองคนรุ่นใหม่ต่ออาชีพทำนา" ห้องกิจกรรมฟรีดอม โซน อุบลราชธานี ถกมีเหตุปัจจัยใดบ้าง ที่จะผลักดันให้คนรุ่นใหม่สนใจอาชีพทำนา

 

21 ก.ย. 56 กลุ่มสารไทย จากห้องเรียนพลเมืองรุ่นใหม่ ภายใต้การสนับสนุนจากฟรีดอม โซนอุบลราชธานี เพื่อการส่งเสริมบทบาทคนรุ่นใหม่จังหวัดอุบลราชธานีดำเนินกิจกรรมเพื่อสาธารณะและการส่งเสริมบทบาทคนรุ่นใหม่ด้านประชาธิปไตย จัดงานเสวนา "มุมมองคนรุ่นใหม่ต่ออาชีพทำนา" ณ ห้องกิจกรรมฟรีดอม โซน อุบลราชธานี เนื่องด้วยปัจจุบันคนรุ่นใหม่มีอาชีพที่หลากหลายเป็นทางเลือก เพื่อการทราบมุมมองการทำนาในรูปแบบคนรุ่นใหม่ว่ามีเหตุปัจจัยใดที่จะผลักดันให้คนรุ่นใหม่สนใจอาชีพทำนา พร้อมทั้งเพื่อสร้างบรรยากาศให้คนรุ่นใหม่มีเวทีในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ

วิทยาการที่เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย คุณวีระ สุดสังข์ นักเขียนที่ใช้ชีวิตอยู่ในชนบท คุณมหรรณพ ต้นวงศ์ษา นักดนตรีผู้ใช้ชีวิตเรียบง่ายกับอาชีพเกษตรผสมผสานในชุมชน คุณธรรมรัช เลือกรัมย์ คนรุ่นใหม่ที่ศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คุณดนุเดช ประจุทรัพย์ คนรุ่นใหม่ที่ศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดำเนินรายการโดย คุณกมล หอมกลิ่น สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี

คุณวีระ สุดสังข์ ผู้ร่วมเสวนา "ข้าวถือว่าสำคัญ เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต จากประสบการณ์ของการเป็นชาวนานั้นมีความลำบาก ระบบการศึกษาที่มีการเรียนการสอนไม่ตรงกับฤดูการทำนาทำให้คนที่เป็นนักเรียนนักศึกษามีโอกาสในการสัมผัสชีวิตชาวนาน้อยลง ซึ่งบางคนอาจถึงกับลืมชีวิตของความเป็นชาวนา และหลังจากสำเร็จการศึกษาแล้วบางคนต้องห่างจากอาชีพชาวนาไปประกอบอาชีพในเมือง"

พร้อมกล่าวอีกว่า "ข้าวทุกเม็ดล้วนมาจากน้ำ มาจากดิน อย่าดูถูกหรือรังเกียจชีวิตของชาวนา เรื่องของการทำนาไม่ได้หมายความเพียงการไถนาปลูกข้าว ในนาที่มีอย่างอื่นมากมายจิตวิญญาณของชีวิตชาวนาก็เพื่อจะให้ชีวิตดำรงอยู่ได้อย่างมีความสุข เหตุที่ชาวนาจนเกิดจากความอยากรวย ยิ่งอยากรวยก็ต้องค้นหาสิ่งต่างๆ เข้ามา การทำนาสมัยใหม่พึงเทคโนโลยีมากทำให้มองข้ามการมีชีวิตอย่างมีความสุข โดยส่วนตัวก็ไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยีหรือสารเคมีโดยสิ้นเชิง แต่สำหรับการผลิตนั้น เราจะต้องนึกถึงผู้บริโภคที่ส่งผลกระทบกับผู้ร่วมสังคมของเรา หากเรามุ่งแต่จะได้ผลกำไรโดยที่ฝืนธรรมชาติเราจะไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และบางครั้งชาวนาไม่ตระหนักถึงคุณค่าในสิ่งที่มีอยู่มาใช้ในการผลิต การที่รัฐจะทำให้ราคาเพิ่มขึ้นโดยที่ชาวนยังไม่อยู่ดีกินดีก็ไม่มีประโยชน์"

คุณมหรรณพ ต้นวงศ์ษา กล่าวว่า "การสัมผัสชีวิตจากการทำนาทำสวนมันเป็นความสุข คนรุ่นใหม่ทุกวันนี้เคยชินกับการนั่งห้องแอร์มาก การใช้ชีวิตเรียบง่ายบางครั้งก็ต้องมีอาชีพเสริมเพราะไม่มีเงินเดือนเหมือนข้าราชการ ซึ่งสามารถทำได้โดยง่ายด้วยการปลูกผัก ทำอาหารแปรรูป โดยส่วนตัวที่ไม่ใช่ว่าไม่มีทางเลือกอื่น แต่ด้วยบริบทความเป็นชุมชนทำให้ตนเองเลือกที่จะอยู่กับความเรียบง่าย ในวิถีที่มันขาดความเป็นอยู่แบบเรียบง่ายไปก็ไม่ผิดเพราะสังคมนี้มีความหลากหลาย โดยส่วนตัวเป็นห่วงเรื่องการใช้สารเคมีในการผลิตเพราะมันจะกลายเป็นผลกระทบในระยะยาว"

คุณดนุเดช ประจุทรัพย์ กล่าวว่า "การเข้ารบการศึกษาระดับอุดมศึกษาก็ไม่ได้ตั้งใจที่จะเป็นชาวนา แต่ตั้งใจประกอบอาชีพข้าราชการ ถ้าเปรียบเทียบระหว่างอาชีพชาวนากับราชการ ชาวนาไม่เคยได้รับสวัสดิการจากรัฐจึงอยากเป็นข้าราชการมากกว่า อย่างไรก็ดีหากมองถึงความคุ้มค่าของชาวนาที่รัฐไปสนใจเพียงเรื่องราคาที่ไม่คิดถึงต้นทุนการผลิตของชาวนา และคนรุ่นเดียวกันส่วนใหญ่มองอาชีพชาวนาเป็นเพียงอาชีพเสริมเท่านั้น อาชีพหลักคือการรับราชการ โดยที่หลังจากได้รับราชการแล้วนั้นก็จะประกอบอาชีพชาวนาเป็นอาชีพเสริม"

พร้อมกล่าวว่า "ราคาที่ชาวนาสามารถขายได้นั้น ได้รับเงินจำนวนมากจากรายได้ที่รัฐบาลช่วยเหลือ การที่ชาวนา ชาวไร่ หรือคนปลูกยางพารานั้นก็ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องเสียหาย รัฐควรจะให้ความสำคัญในการสนับสนุนเกษตรกรมากกว่าให้ความสำคัญกับอาชีพของทุนใหญ่ ประชากรส่วนใหญ่ล้วนอยู่ในระบบการเกษตรที่ต้องบริโภค แต่หลายคนมองข้ามเรื่องใกล้ตัวเหล่านี้ และคนรุ่นใหม่มองว่าอาชีพชาวนามันไม่คุ้มค่าเขาจึงมองอาชีพชาวนาเป็นอาชีพรอง"

คุณธรรมรัช เลือกรัมย์ กล่าวว่า "โดยส่วนตัวอยากกลับไปประกอบอาชีพชาวนาหลังจากสำเร็จการศึกษา เนื่องจากต้นทุนเดิมที่มีพื้นที่นาอยู่แล้ว การผลิตข้าวของท้องถิ่นที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นอยากกลับไปสร้างการผลิตที่ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตขึ้น การประยุกต์การทำนากับการเลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไปจะทำให้สามารถเพิ่มรายได้ขึ้นได้ ชาวนาต้องตั้งโจทย์ให้กับตัวเองว่าจะทำอย่างไรก็ได้ที่จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น"

กล่าวอีกว่า "เครื่องจักรกลทางการเกษตรเราจะต้องใช้เท่าทีจำเป็นและใช้ได้ หัวใจหลักทางการเกษตรคือน้ำชาวนาต้องบริหารจัดการเรื่องน้ำให้ดี รัฐจะต้องในความสำคัญกับระบบชลประทานที่สามารถกระจายน้ำให้กับชาวนาได้อย่างทั่วถึง"

ปัจจุบันนี้ชาวนาจะต้องพิจารณาเพื่อการใช้ชีวิตที่ต้องพิจารณาว่าการลงทุนทำนาจำนวนมากเพื่อให้ได้กำไรสามารถประสบผลสำเร็จได้เช่นนั้นจริงหรือไม่ และในทางกลับกันถ้าค้นหาวิธีการประยุกต์สิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนโดยไม่ต้องรอการช่วยเหลือจากภาครัฐจะเป็นไปได้อย่างไร อาชีพชาวนาหากขาดคุณค่าทางศรัทธาความสุขมันจะไม่เกิด แล้วคนรุ่นใหม่ต่ออาชีพทำนาจะให้ชีวิตที่ลงตัวได้อย่างไร คนรุ่นใหม่ต้องค้นหาวิถีชีวิตใหม่นั้นเอง พร้อมทั้งภาครัฐและหน่วยงานที่มีบทบาทเกี่ยวข้องจะต้องสนับสนุนความรู้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้นด้วย รวมถึงการช่วยเหลือชาวนาที่ไม่มีที่ดินทำกินให้เขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในกระแสเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงานสถานการณ์ในพื้นที่เหมืองทองคำ จ.เลย สัญญาณความรุนแรงในพื้นที่

Posted: 21 Sep 2013 02:15 AM PDT

เหตุการณ์ในพื้นที่ระหว่างนายทุนเหมืองกับชาวบ้านที่ จ.เลย เขม็งเกลียวมากขึ้น เนื่องจากเมื่อคืนวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมาได้มีกลุ่มชายฉกรรจ์ประมาณ 20 คน พร้อมอาวุธปืนครบมือเข้าไปทุบทำลายกำแพงที่ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดสร้างไว้ ชาวบ้านเตรียมแถลงข่าวตอบโต้ 22 ก.ย. นี้

 
21 ก.ย. 56 - จากความเคลื่อนไหวของชาวบ้านในนาม "กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด" ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย คัดค้านการดำเนินการเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งได้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพและวิถีชีวิตของคนในชุมชนรอบเหมืองอย่างน้อย 6 หมู่บ้านมาโดยตลอด ทั้งเสียงดังจากการะเบิดภูเขา ฝุ่นฟุ้งกระจาย และที่สำคัญก็คือการปนเปื้อนของสารเคมี เช่น ไซยาไนด์ และโลหะหนักหลายชนิด เป็นเหตุให้แหล่งน้ำพืชผักปลาอาหารไม่สามารถนำมาใช้ดื่มหรือรับประทานได้ ผู้คนต้องล้มป่วยและเสียชีวิตหลายราย 
 
ทั้งนี้บริษัททุ่งคำ ได้รับประทานบัตรการทำเหมืองแร่ ตั้งแต่ปี 2538 ในพื้นที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย จำนวน 6 แปลง เป็นพื้นที่รวมประมาณ 1,300 ไร่ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อีก 106 แปลง รวมนับหมื่นไร่ในบริเวณจังหวัดเลย ที่บริษัทได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจและผลิตแร่ทองคำ โดยมีการทยอยยื่นขอประทานบัตรอย่างต่อเนื่องมาจนปี 2549 บริษัทฯ ได้ดำเนินการโรงแต่งแร่และโรงประกอบโลหะกรรม ซึ่งมีบ่อเก็บกักหางแร่ที่มีไซยาไนด์ตั้งอยู่บนภูทับฟ้า ที่ก่อมลพิษต่อชุมชน และเป็นภูเขาที่ถูกทำลายลงไปมากที่สุดจากการทำเหมืองจนไม่เหลือความเป็นภูเขาแล้ว
 
ถึงแม้ว่ามติคณะรัฐมนตรีวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 จะระบุชัดว่า "ให้กระทรวงอุตสาหกรรมชะลอการขยายพื้นที่ใหม่หรือการขอประทานบัตร ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด แปลงที่ 104/2538 และแปลงอื่น ๆ ไว้ก่อนจนกว่าจะได้ข้อสรุปของสาเหตุการเกิดสารปนเปื้อน ผลการประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติและค่าภาคหลวงแร่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และผลการประเมินผลด้านสุขภาพ หรือ HIA"  แล้วก็ตาม แต่ข้อเรียกร้องของชาวบ้านให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติตามมติ ครม. กลับไม่มีผลอย่างใดเลย
 
โดยกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้ระบุว่าผู้ประกอบการเมินเฉยต่อมติ ครม. ทำเป็นมองไม่เห็นความทุกข์ยากชาวบ้านในพื้นที่ และไม่ฟังเสียงคัดค้านของสาธารณชนภายนอก ยังคงเดินหน้าขออนุญาตขยายเหมืองโดยมีหน่วยงานรัฐเป็นผู้สนับสนุน ซึ่งเริ่มจากกระบวนการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและกำหนดขอบเขตแนวทางการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ Pubic Scoping (ค.1) ในขั้นตอนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA เพื่อเปิดพื้นที่ประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของ บริษัททุ่งคำ จำกัด แปลงที่ 76/2539 ในตำบลนาโป่ง อ.เมือง จ.เลย เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2556 ที่วัดโพนทอง ต.นาโป่ง อ.เมืองเลย โดยกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดได้เดินทางไปขอเข้าร่วมเวทีดังกล่าว แต่ไม่สามารถเข้าร่วมได้ เนื่องจากมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และฝ่ายปกครอง พร้อมทั้งผู้จัดงานขัดขวางไม่อนุญาต
 
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้ระบุว่าเหตุการณ์ปิดกั้นการเข้าร่วมเวทีของชาวบ้านในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก หากแต่ซ้ำรอยเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555 ที่จัดขึ้นบริเวณศาลากลางจังหวัดเลย ด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและฝ่ายปกครองรวมกว่า 2,000 นาย กันไม่ให้ชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดเข้าร่วมเวที Pubic Scoping (ค.1) เพื่อประกอบการขอขยายเหมืองทองที่ภูเหล็ก (แปลง 104/2538) ที่อยู่ติดกับแปลงที่มีการทำเหมืองอยู่แล้วในปัจจุบัน และทั้งสองแปลงที่บริษัทฯ กำลังขอขยายพื้นที่อยู่นี้ จะนำสินแร่มาเข้าโรงประกอบโลหะกรรมที่ภูทับฟ้า ซึ่งจะทำให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวบ้านแย่ลงไปอีก
 
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้ระบุว่าเมื่อมีเหมืองในชุมชนแต่คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนกลับไม่ได้ดีขึ้นเลยตามคำแอบอ้างว่าจะมีความเจริญ ขณะเดียวกันหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแล อนุมัติอนุญาต ก็คอยเอื้ออำนวยผลประโยชน์ให้กับนายทุน ปล่อยให้ชาวบ้านต้องเผชิญกับชะตากรรม และการกดขี่อย่างไม่เป็นธรรม
 
ทั้งนี้โดยกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้ระบุว่าเมื่อหมดหวังกับการพึ่งพาอำนาจรัฐและการบังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องชุมชนจากการคุกคามของนายทุนที่เข้ามาปล้นเอาทรัพยากรท้องถิ่นแล้ว การต่อสู้ด้วยสันติวิธีของชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด  6 หมู่บ้านในตำบลเขาหลวง จึงพึ่งตนเองด้วยการทำประชาคมหมู่บ้าน เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2556 และประกาศใช้ "ระเบียบชุมชน ว่าด้วยการใช้ถนนชุมชนและการควบคุมน้ำหนักบรรทุก" โดยมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการห้ามรถบรรทุกเกิน 15 ตัน และการขนสารเคมีอันตรายในถนนชุมชน พร้อมกันนี้ก็ได้ก่อกำแพงปิดถนนทางเข้าเหมือง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ทางการต่อสู้ แสดงถึงเจตจำนงที่จะปกป้องแผ่นดินเกิดด้วยสิทธิและอำนาจหน้าที่ของชุมชน
 
นอกจากนี้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้ระบุว่านายทุนก็ยังใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจัดการกับชาวบ้านอีก ด้วยการแจ้งความดำเนินคดีต่อแกนนำกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการทำเหมืองทองของบริษัททุ่งคำต่อศาลจังหวัดเลย ในคดีแพ่งจำนวน 14 คน ข้อหาละเมิดใช้สิทธิเกินส่วน จากกรณีก่อกำแพงปิดกั้นเส้นทางเข้า-ออกเหมือง โดยอ้างว่าบริษัทได้รับความเสียหายจากการประกอบธุรกิจพร้อมเรียกค่าเสียหายจำนวน 50 ล้านบาท และค่าเสียหายในอนาคตอีกวันละ 10 ล้านบาทนับจากวันที่ยื่นฟ้องร้อง
 
ล่าสุดเหตุการณ์ในพื้นที่ระหว่างนายทุนเหมืองกับชาวบ้านยิ่งเขม็งเกลียวมากขึ้น โดยกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้ระบุว่าเมื่อคืนกลางดึกของวันที่ 19 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา ได้มีกลุ่มชายฉกรรจ์ประมาณ 20 คน พร้อมอาวุธปืนครบมือ ได้ลุยเข้าไปทุบทำลายกำแพงที่ชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดได้สร้างขึ้น ซึ่งกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้ระบุว่ากรณีนี้แสดงให้เห็นว่าเหมืองกับชุมชนไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้เลย อีกทั้งยังเป็นการส่งสัญญาณถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่อาจจะมีขึ้นในอนาคตก็เป็นได้
 
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ จัดแถลงข่าวโต้เหมืองทองทุ่งคำ จังหวัดเลย
 
ทั้งนี้จากเหตุเมื่อกลางดึกคืนวันศุกร์ (ประมาณ 2.00 น. ของวันที่ 20 กันยายน) ที่มีกลุ่มชายฉกรรจ์ประมาณ 20 คนสวมหมวกไอ้โม่งโดยมีคนอีกกลุ่มพกปืนคอยยืนคุ้มกัน เข้ามาลงมือทุบกำแพงซึ่งทางชุมชนและกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ก่อสร้างขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้รถบรรทุกขนาดใหญ่ขนสารเคมีอันตรายผ่านชุมชนตามที่ประกาศใช้ร่วมกันใน 6 ชุมชนตาม "ระเบียบชุมชน ว่าด้วยการใช้ถนนชุมชนและการควบคุมน้ำหนักบรรทุก" เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมานั้น
 
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดระบุว่าการกระทำดังกล่าว ถือเป็นการกระทำที่รุนแรงและเหยียบย่ำน้ำใจของชุมชนเป็นอย่างยิ่ง ทั้งที่การสร้างกำแพงดังกล่าวชาวบ้านยืนยันเพื่อปกป้องสิทธิของชุมชนตามรัฐธรรมนูญ เพราะทนไม่ไหวกับการทำลายสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมเนื่องมาจากการทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่อย่างต่อเนื่องมานานหลายปี
 
ดังนั้นกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ขอเรียนเชิญสื่อมวลชนทุกท่าน ร่วมทำข่าวการแถลงข่าวเพื่อตอบโต้ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในวันพรุ่งนี้ วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน 2556 เวลาเช้า 10.00 น. ณ บ้าน อบต.อาด, หมู่ 3 บ้านนาหนองบง (คุ้มใหญ่) ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกร็ดความรู้เรื่องวิธีการกำจัดอาวุธเคมี ทำอย่างไรให้ปลอดภัยที่สุด

Posted: 21 Sep 2013 02:14 AM PDT

กรณีอาวุธเคมีในซีเรียซึ่งเป็นข่าวดังไปทั่วโลก ในตอนนี้มีความพยายามทำข้อตกลงให้รัฐบาลทำลายอาวุธเคมีทั้งหมด เรื่องนี้อาจทำให้สงสัยว่าการกำจัดอาวุธเคมีมีวิธีการอย่างไรบ้าง และทำแบบใดไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชากรและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ

แม้จะมีการทำข้อตกลงกับรัฐบาลซีเรียเรื่องคำสั่งให้กำจัดอาวุธเคมีที่มีอยู่ในประเทศภายในปี 2014 แต่ประเทศซีเรียยังตกอยู่ภายใต้สงครามกลางเมือง กระบวนการกำจัดอาวุธเคมีก็อาจประสบกับความยุ่งยาก สำนักข่าว BBC ได้เปิดเผยเกร็ดความรู้เรื่องวิธีการทำลายอาวุธรวมถึงกล่าวถึงรายละเอียดในส่วนประกอบ

มีเทคนิคหลายอย่างที่นำมาใช้ในการทำลายอาวุธเคมี และสารเคมีที่อยู่ภายใน เช่น วิธีการเผาทำลายด้วยอุณหภูมิสูง (Incineration) ซึ่งเป็นการใช้ความร้อนเพื่อทำลายความเป็นพิษในสารเคมี อีกวิธีหนึ่งคือการทำให้สารเคมีเป็นกลางโดยการเติมน้ำและสารอื่นๆ อย่างเช่นโซดาไฟ

แต่การทำลายอาวุธเคมีที่มีชนวนระเบิดติดอยู่ด้วยมีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษ ซึ่งวิธีการหนึ่งคือการใช้หน่วยทำลายอาวุธเคลื่อนที่ซึ่งสามารถเข้าถึงพื้นที่ได้ค่อนข้างไว ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงอันตรายในการลำเลียงอาวุธผ่านพื้นที่สงคราม

หน่วยทำลายอาวุธเคลื่อนที่บางส่วนจะทำลายอาวุธเคมีด้วยการระเบิดโดยรอบอาวุธและนำอาวุธเข้าไปใน 'รัง' ที่ถูกหุ้มด้วยเกราะเหล็กที่เรียกว่า "แบงบ็อกซ์" (bang box) หรือรังระเบิด เพื่อใช้ระเบิดทำลายตัวอาวุธรวมถึงสารเคมีที่อยู่ในอาวุธ

กองทัพของสหรัฐฯ ได้พัฒนาหน่วยเคลื่อนที่ที่เรียกว่า ระบบกำจัดอาวุธระเบิด (Explosive Destruction System) ซึ่งใช้สารเคมีในการทำลายฤทธิ์ของสารพิษ มีการใช้หน่วยนี้ในการกำจัดอาวุธเคมีมาแล้ว 1,700 ชิ้นในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2001 และสามารถกำจัดอาวุธได้ 6 ชิ้นต่อครั้ง


ขั้นตอนการกำจัดอาวุธเคมี

BBC ยังได้เผยแพร่ภาพจากหน่วยงานด้านวัตถุเคมีของกองทัพสหรัฐฯ เผยให้เห็นการทำงานของเครื่องมือกำจัดอาวุธเคมี โดยแสดงภาพโครงสร้างของขีปนาวุธบรรจุอาวุธเคมีซึ่งมีการใส่ตัวสารเคมีไว้ภายในหัวรบ ขั้นตอนต่อมาคือการนำประจุระเบิดติดกับตัวหัวรบและครอบไว้ใน รังที่หุ้มด้วยเหล็ก จากนั้นจึงนำทั้งหมดใส่ในกล่องเหล็กกล้าก่อนจุดระเบิดจากภายในเพื่อปล่อยสารพิษออกมาจากตัวอาวุธก่อนที่จะเติมสารเคมีลงไปในกล่องเพื่อกำจัดสารพิษภายใน

อีกระบบหนึ่งที่อาจถูกใช้ในซีเรียคือเทคโนโลยีการระเบิดด้วยความร้อนระดับสูง ที่มีการให้ความร้อนราว 550 องศาเซลเซียสในรังบรรจุอาวุธ ซึ่งถือเป็นความร้อนที่มากพอจะทำลายทั้งตัวอาวุธและสารเคมี วิธีการนี้พัฒนาโดยบริษัทไดน่าเซฟ (Dynasafe) ของสวีเดน ซึ่งเคยถูกนำมาใช้กำจัดอาวุธเคมีในจีน เยอรมนี และสหรัฐฯ

โฆษกกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ กล่าวว่า ทางการสหรัฐฯ ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะใช้เทคนิคใดในการทำลายอาวุธเคมีในซีเรีย เนื่องจากทางซีเรียยังไม่มีการเผยแพร่รายละเอียดของโครงการอาวุธเคมีทั้งหมด

ส่วนสารเคมีอันตรายที่ยังไม่ถูกบรรจุในอาวุธสามารถทำลายได้ง่ายกว่าแค่ใช้ความร้อนจัดในเตาหลอมก็สามารถทำให้สารเคมีอันตรายน้อยลงและสามารถจัดการได้ในศูนย์รับจ้างทำลายสารเคมีอันตรายที่มีอยู่ทั่วไป แต่การใช้ความร้อนเผาผลาญก็ทำให้เกิดความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำให้การใช้วิธีทำให้สารพิษกลายเป็นกลางโดยเติมน้ำและโซดาไฟได้รับความนิยมมากกว่า ซึ่งทำให้ได้สารที่เป็นพิษน้อยลงจากระดับอาวุธเคมีเป็นระดับของเสียอันตราย (hazardous waste)  หรือสามารถนำมากำจัดรอบสองด้วยการให้ความร้อน


สถานที่กำจัดอาวุธเคมี

สถานที่กำจัดอาวุธเคมีอาจเป็นแบบหน่วยเคลื่อนที่หรือเป็นการเคลื่อนย้ายกำลังคนไปเรื่อยๆ เพื่อตั้งโรงงานกำจัดขนาดใหญ่ก็ได้

ราล์ฟ แทรปป์ อดีตสมาชิกองค์กรห้ามอาวุธเคมี (OPCW) ซึ่งเป็นองค์กรที่เข้าตรวจสอบอาวุธเคมีในซีเรียปัจจุบันกล่าวว่า  สิ่งที่เขาบอกได้ตอนนี้คือพวกเขาจะไม่ใช้วิธีการปกติทั่วไปซึ่งต้องมีการรวบรวมคลังอาวุธซึ่งจะใช้เวลาสองสามปีและทางการซีเรียก็มีเวลาไม่มากขนาดนั้น

ราล์ฟบอกว่าซีเรียอาจจะใช้วิธีการปลดอาวุธโดยการนำชนวนออกและบรรจุด้วยคอนกรีต หรือใช้การฝังไว้ด้วยคอนกรีต

โดยตามอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมีไม่อนุญาตให้มีการทิ้งสารเคมีลงทะเลหรือฝังไว้ใต้ผืนดิน รวมถึงวิธีการทำลายโดยการระเบิดในหลุมลึกซึ่งเคยใช้ในอิรักเมื่อช่วงทศวรรษ 1990 ก็ไม่ได้รับอนุญาตเช่นนั้นเนื่องจากเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อประชากรที่อาศัยอยู่โดยรอบ

ดร. แพทริเซีย ลิวอิส ประธานฝ่ายวิจัยขององค์กรกิจการนานาชาติแชทแฮมเฮาส์เสนอว่า ซีเรียควรส่งอาวุธเคมีออกนอกประเทศเพื่อให้ประเทศอย่างรัสเซียเป็นผู้จัดการ เนื่องจากประเทศซีเรียยังไม่มีอะไรยืนยันว่าเหตุการณ์จะสงบลงและมีการปฏิบัติตามข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว และเนื่องจากรัสเซียเป็นผู้เสนอให้ดำเนินการเรื่องอาวุธเคมี ทางการรัสเซียจึงควรมีส่วนรับผิดชอบในการทำให้ข้อตกลงสำเร็จ

รัสเซียมีฐานทัพเรือในเมืองทาร์ทัส ชายฝั่งประเทศซีเรีย ที่สามารถใช้ขนอาวุธเคมีไปยังแหล่งอื่นได้ แต่อาจมีความกังวลเรื่องอนุสัญญาอาวุธเคมีว่าด้วยการขนส่งอาวุธเคมีออกไปยังน่านน้ำต่างชาติ โดยก่อนหน้านี้รัสเซียเคยมีโครงการกำจัดอาวุธเคมีและสามารถทำลายอาวุธเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ก่อนหน้านี้เคยมีการกำจัดอาวุธเคมีที่ใดบ้าง

ทั้งในอิรักและลิเบียเคยมีการกำจัดอาวุธเคมีมาก่อน โดยในอิรัก เจ้าหน้าที่สหประชาชาติได้ตรวจสอบโรงงานอาวุธเคมีและสั่งปิดโดยไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์อีก

อลาสแตร์ เฮย์ ศาตราจารย์ด้านความเป็นพิษในสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยลีดส์ กล่าวว่า รูปแบบที่ปฏิบัติในอิรักคือทางเลือกที่เป็นไปได้ ซึ่งถ้าหากมีการสั่งปิดแล้วจะถือเป็นการการันตีในขั้นแรกก่อนดำเนินการทำลายอาวุธต่อไป

ในลิเบีย มีจำนวนอาวุธเคมีอยู่ไม่มากนักจึงมีการตั้งโรงงานกำจัด แม้ว่า ต่อมาจะพบว่ายังคงมีแก๊สมัสตาร์ด (อาวุธเคมีจำนวนหนึ่ง มีฤทธิ์ทำให้แสบร้อนและเป็นแผลพุพอง) หลงเหลืออยู่หลังจากที่โค่นล้มการปกครองของกัดดาฟีไปแล้ว

กำหนดเวลาการกำจัดอาวุธเคมีในซีเรีย

ตามอนุสัญญาฯ กำหนดเวลาให้ซีเรีย 9 เดือนในการกำจัดอาวุธเคมีทั้งหมด แต่ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด บอกว่าต้องใช้เวลา 1 ปี

เฮย์กล่าวว่า ทางการซีเรียควรได้รับความยืดหยุ่นเรื่องเวลาบ้างเล็กน้อย และแม้จะไม่สามารถกำจัดอาวุธได้ทั้งหมดทันตามกำหนด แต่ถ้าผลงานการกำจัดอาวุธอยู่ในเกณฑ์ดีและเห็นว่าซีเรียไม่ได้จงใจประวิงเวลาก็ควรมีการยืดเวลาเส้นตายออกไป


ปริมาณอาวุธเคมี

สหรัฐฯ และรัสเซียเป็นประเทศที่มีอาวุธเคมีอยู่ในคลังมากที่สุด โดยข้อมูลขององค์กรห้ามอาวุธเคมี (OPCW) เมื่อเดือน ก.ค. 2013 ระบุว่า ในจำนวนอาวุธเคมีที่ตรวจพบว่ามีอยู่ทั้งหมดในตอนนี้มีอยู่ร้อยละ 81 ที่ถูกทำลายไปแล้ว โดยทางการสหรัฐฯ ได้ทำลายไปแล้ว 25,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 90 จากที่มีอยู่ทั้งหมด ส่วนรัสเซียได้ทำลายไปแล้ว 29,500 ตัน หรือร้อยละ 74 ของทั้งหมดในประเทศ

โดยที่ทั้งรัสเซียและสหรัฐฯ ก็ได้รับการผ่อนผันระยะเวลาการกำจัดอาวุธเคมีทั้งหมดออกไป ซึ่งทางการรัสเซียให้สัญญาว่าจะกำจัดให้หมดในปี 2015 ส่วนสหรัฐฯ สัญญาจะกำจัดหมดในปี 2023

ทั้งรัสเซียและสหรัฐฯ ได้ลงนามในอนุสัญญาอาวุธเคมี ภายใต้การตรวจสอบขององค์กรห้ามอาวุธเคมี โดยทางองค์กรยังได้ส่งนักวิทยาศาสตร์ไปตรวจสอบอาวุธเคมีในกรุงดามาสกัสและอาจจะมีส่วนในการกำกับดูแลโครงการทำลายอาวุธเคมีในซีเรียด้วย แผนภาพขององค์กรห้ามอาวุธเคมีระบุว่าซีเรียมีอาวุธเคมีที่ถูกตรวจพบอยู่ที่ 1,000 ตัน

โอเก เซลสตรอม หัวหน้าคณะผู้ตรวจสอบการใช้อาวุธจากสหประชาชาติ กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะค้นหาและทำลายอาวุธเคมีในซีเรียได้ทั้งหมด ซึ่งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจุดยืนของทั้งฝ่ายรัฐบาลซีเรียและฝ่ายกบฏว่าจะมีการเจรจากันได้มากน้อยขนาดไหน


เรียบเรียงจาก

How to destroy Syria's chemical arsenal, 20-09-2013, BBC
http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-24116042

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บันทึกลับเรื่อง "ศรีบูรพา" ครึ่งศตวรรษในจีน (7) อุบัติการณ์ทำลายหนังสือ

Posted: 21 Sep 2013 01:08 AM PDT

อุบัติการณ์ทำลายล้างหนังสือไทยจำนวนมหาศาลที่ตกค้างอยู่ในจีน ทั้งหนังสือที่เขียนโดยนักเขียนไทยหรือหนังสือที่แปลจากภาษาจีนเป็นภาษาไทยจำนวนไม่น้อย ซึ่งพิมพ์โดยรัฐบาลจีนในเวลานั้น ด้วยการจุดไฟเผาเสียเกือบทั้งหมด จากความ "รู้เท่าไม่ถึงการณ์" ของผู้บงการบางกลุ่ม และโดยเฉพาะเพื่อลดความเสี่ยงอันอาจจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ที่สะท้อนจากแนวคิดในผลงานประพันธ์บางเล่ม ทั้งด้านความคิดและทฤษฎีทางการเมืองอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ ก็เพื่อเจตนาดีคือลดผลกระทบด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศลงให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้จนไม่เหลือหลักฐาน "ความอ่อนไหว" ใดๆ ให้ปรากฏอยู่เลย โดยเฉพาะในหนังสือซึ่งเป็นสื่อถาวรและกลบเกลื่อนไม่ได้ และเพื่อสืบสานเพิ่มพูนความรู้และความเข้าใจที่ดีอันจะส่งผลต่อความสัมพันธ์อันกระชับแน่นแฟ้นสืบต่อไปในอนาคตนั่นเอง!

ดังนั้น หลักฐานบางอย่างจึงอาจต้องทำลายเสียให้สิ้นซาก เพื่อมิให้หลงเหลือ "หลักฐาน"

วัตถุประสงค์สำคัญก็เพื่อดำรงความสัมพันธ์ไทย-จีนที่มีมายืนยาวให้ยืนยงอยู่ต่อไปอย่างราบรื่นไร้ปัญหาใดๆ จึงขจัดสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์ที่อาจเคยมีความบาดหมางหรือหนทางที่แตกต่างนั้นให้สิ้นเชิง และสืบสานความสัมพันธ์ทั้งภาครัฐและประชาชนให้เจริญงอกงามสืบต่อไปชั่วกาลนาน

นับเป็นเรื่องน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะท่ามกลางกองเพลิงแห่งอักษรไทยประมาณค่ามิได้ ทั้งที่ประพันธ์โดยนักเขียนไทยและผลงานแปลจากภาษาจีนเป็นไทยนั้นได้แฝงไว้ด้วย "มรดกทางปัญญา" อันทรงคุณค่าไว้จำนวนไม่น้อย อันเป็นผลงานร่วมกันของทั้งนักเขียนนักแปลไทยและจีนที่อยู่เบื้องหลังการร่วมบุกเบิกกรุยทางความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน โดยสื่อหนังสือซึ่งเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ส่งผลให้พัฒนาถาวรมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม หนังสือเหล่านั้นไม่อาจจะเผาได้หมด ดังที่เคยมีผู้กล่าวว่า สำหรับหนังสือนั้น "ยิ่งเผาก็ยิ่งยัง" ไม่ว่าจะปรากฏขึ้น ณ ซอกมุมใดของโลกและชาติภาษาใด เพราะมักจะปรากฏว่าพลังของหนังสือที่ถูกพิจารณาให้ "กำจัด" ให้หมดสิ้นไปในประวัติศาสตร์นั้นมักจะก่อปาฏิหาริย์ได้อย่างน่าอัศจรรย์เสมอ

เฉกเช่นหนังสือในจีนนั้นก็เช่นกัน เพราะปรากฏว่าบัดนี้ก็ยังมีหนังสือเหล่านั้นเหลือตกค้างต่อมาอีกจำนวนไม่น้อย กลายเป็นหลักฐานสำคัญและทรงค่าให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์สัมพันธ์ไทย-จีนต่อไป

หนังสือดังกล่าวนั้นมีทั้งหนังสือเกี่ยวกับวรรณกรรมปัจจุบันของจีน ไทย วรรณคดี

หนังสือเกี่ยวกับการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมต่างๆ ที่ล้วนแปลเป็นภาษาไทยแล้วทั้งสิ้น โดยบุคลากรทั้งชาวจีนและชาวไทยที่ทำงานกันอย่างเงียบๆ อยู่เบื้องหลังบนพื้นฐานอุดมการณ์ส่วนตัวกลุ่มหนึ่งในเวลานั้น

เมื่อสอบถามผู้อยู่ในเหตุการณ์เกี่ยวกับกรณีเพลิงไหม้ทางประวัติศาสตร์ครั้งนี้ผู้หนึ่ง ซึ่งแม้แต่หนังสือผลงานของเขาบางเล่มก็ถูกเผาไปด้วยนั้น ได้คำตอบที่น่าเศร้าใจว่า

"เขาเอาไปเผาหมด ทั้งหนังสือแนวคิดและทฤษฎีทางการเมือง แต่ที่น่าเสียใจคือหนังสือเกี่ยวกับวรรณคดี นิทานพื้นบ้านหรือสุภาษิตอะไรต่างๆ ซึ่งไม่น่าจะเอาไปเผา เขาก็เอาไปเผาหมด แม้กระทั่งต้นฉบับใหม่ๆ ที่ทำเสร็จแล้วและกำลังจะรอพิมพ์ของผมก็ถูกเอาไปเผา เมื่อลองไปสอบถามดู ได้คำตอบว่า ที่เป็นเช่นนั้น

"เพราะคนเผาไม่รู้ภาษาไทยครับ!"

นับเป็น "ตลกร้าย" ที่ยิ้มไม่ออก


พล.ต.มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมท ครั้งสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีนอย่างเป็นทางการ
และสัมผัสมือประธานฯเหมา เจ๋อตงครั้งแรก
(เมื่อกลับไทยมา ได้เขียนบทความเรื่องการเข้าพบและสนทนากับเหมา เจ๋อตงว่า ไม่ "น่ากลัว"ดังคำร่ำลือ)

นิตยสารภาพจีน

ณ สำนักงาน "นิตยสารภาพจีน" ของกรมการพิมพ์ภาษาต่างประเทศแห่งชาติจีนในปี พ.ศ.2540 นั้น ได้ปรากฏหนังสือภาษาไทยจำนวนหนึ่งที่ตกค้างไว้จำนวนไม่น้อยในหิ้งหนังสือที่ห้องทำงาน ทั้งหนังสือประเภททฤษฎีทางการเมืองปกแดงขนาดพกพาเล็กจิ๋วของผู้นำจีนที่แปลเป็นไทย เช่น "สรรนิพนธ์ เหมาเจ๋อตง" "ชีวประวัติ เติ้งเสี่ยวผิง" และอื่นๆ

วรรณคดีจีน ผลงานประพันธ์ของ "หลู่ซิ่น" ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นปรมาจารย์นักเขียนแห่งศตวรรษที่ 20 ของจีน ผลงานประพันธ์ของ "เหลาเส่อ" นักเขียนเรืองนามอีกผู้หนึ่งของจีน ผลงานเด่นของนักเขียนจีนชื่อดังอื่นๆ เช่น "ปาจิน" และ "เหมาตุ้น" ตำนานและนิทานจีน เป็นต้น

รวมถึงผลงานบางเรื่องที่โดดเด่นของไทย ทั้งที่เป็นภาษาไทยและที่เป็นภาษาจีน เป็นต้น

อดีตผู้รับผิดชอบภาคภาษาไทยแห่ง "นิตยสารภาพจีน" ยังได้เคยยกหนังสือดีทรงคุณค่าทางภูมิปัญญาจีนหลายเล่มให้ผู้เขียนในวันแรกที่ไปทำงานที่ประเทศจีน เช่น ผลงานเรื่อง "สรรนิพนธ์ เหมาเจ๋อตง" ผลงานเรื่อง "ชุมนุมเรื่องสั้น" ของ "หลู่ซิ่น" ผลงานเรื่อง "บ้าน" ของ "ปาจิน" ผลงานเรื่อง "ฤดูใบไม้ร่วง" ของ "เหมาตุ้น" เป็นต้น

และสำหรับเรื่องประวัติศาสตร์เพลิงไหม้หนังสือในจีนนั้นเป็นเรื่องที่พยายามไม่นำมาพูดคุยกันในวงสนทนา

และคงเป็นเรื่องที่ผู้อยู่เบื้องหลังการเขียน การแปล และผลิตหนังสือทุกคนแห่งกรมการพิมพ์ภาษาต่างประเทศจีน และคนไทยทุกคนที่อยู่เบื้องหลังอยากจะลืม!

สมควรอย่างยิ่งที่จะนำผลงานเหล่านั้นมาพิมพ์เผยแพร่ใหม่ทั้งหมดเพื่อสัมฤทธิผลแห่งการศึกษาทั้งด้านภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวรรณกรรมทั้งไทยและจีนในท่ามกลางกระแสการเจริญเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งของการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านการศึกษาภาษาระหว่างสองประเทศ

อันนำไปสู่หนทางแห่งการเชื่อมความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและลึกซึ้งอย่างเต็มไปด้วยความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้นอีกแนวทางหนึ่ง

 

วรรณคดีไทยสมัยปัจจุบัน

ใช่แต่ในประเทศจีนเท่านั้นที่เกิดกรณีโศกนาฏกรรมกองมรดกทางปัญญาดังได้กล่าวมาแล้ว แม้แต่ในประเทศไทยเองในยุคของรัฐบาลที่ "รู้เท่าไม่ถึงการณ์" ก็เคยเกิดกรณีสั่ง "เก็บ" หนังสือจำนวนมากในช่วงระยะใกล้เคียงกัน ทั้งหนังสือไทย หนังสือที่เกี่ยวกับประเทศจีนหรือสหภาพโซเวียต

ไม่นับการสั่ง "เก็บ" ตัวนักหนังสือพิมพ์บางคนตามที่ได้เล่าลือกันมาหนาหูสำหรับนักคิดหรือนักเขียนที่มีแนวคิดขัดแย้งหรือกระทบกับผลประโยชน์ของรัฐบาลในเวลานั้น

จนนักเขียนผู้เป็นความหวังของสังคมไทยบางคนได้หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอยและไร้ร่างก็เคยปรากฏมาแล้ว

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการ "เผา" หรือสั่ง "เก็บ" มรดกทางปัญญาทั้งหลาย ต่างล้วนมีนัยยะที่ไม่แตกต่างกันเลย

หนังสือบางเล่มของ ศรีบูรพา และ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ก็เคยถูกสั่ง "เก็บ" ในไทยมาแล้วเช่นกัน

หลักฐานที่ดีหลักฐานหนึ่งมาจากคำปราศรัยครั้งหนึ่งของศรีบูรพา เรื่อง "วรรณคดีไทยสมัยปัจจุบัน" ซึ่งศรีบูรพาได้รับเชิญไปเป็นเกียรติบรรยายให้นักศึกษาจีนแห่งภาคภาษาไทย ณ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศจีน

ความตอนหนึ่งว่า

"การปราบปรามผู้รักชาติและรักสันติที่ได้คัดค้านนโยบายร่วมมือกับจักรวรรดินิยมตามวิถีทางประชาธิปไตยและชอบด้วยกฎหมายที่ได้เริ่มขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมปีกลายนี้ ได้ส่งผลกระทบกระเทือนไม่น้อยมาถึงวงวรรณคดีด้วย โดยเฉพาะวรรณคดีฝ่ายก้าวหน้า

นอกจากการปิดหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับแล้ว หนังสือพิมพ์รายคาบยังถูกปิดด้วย ไม่ฉะเพาะ (เขียนตามต้นฉบับเดิม-ผู้เขียน) แต่หนังสือพิมพ์รายคาบที่เป็นหนังสือพิมพ์การเมืองเท่านั้นที่ถูกปิด

การปิดหนังสือพิมพ์เป็นจำนวนมากเช่นนี้ แสดงอยู่ในตัวว่า ประชาชนไม่สนับสนุนนโยบายร่วมมือกับจักรวรรดินิยมของรัฐบาล นอกจากการปิดหนังสือพิมพ์ ได้มีการปิดร้านหนังสือที่จำหน่ายหนังสือจากประเทศจีนและสหภาพโซเวียต และได้มีการเก็บหนังสือ นวนิยาย และสารคดีที่ก้าวหน้าหลายเล่ม ในขณะนี้

จึงนับว่าวงการวรรณคดีไทยฝ่ายก้าวหน้ากำลังเผชิญกับคลื่นลมอันร้ายกาจของอิทธิพลจักรวรรดินิยมแห่งวงวรรณคดีไทยฝ่ายก้าวหน้า ก็จะฝ่าคลื่นลมอันร้ายกาจนี้ไป ดุจเดียวกับนกนางแอ่นทะเลอย่างแน่นอน..."

เอกสารคำปราศรัยดังกล่าวของศรีบูรพา บัดนี้นับว่ามีอายุยาวนานร่วม 50 ปีเต็มแล้ว

หลังจากที่ศรีบูรพาได้เหยียบย่างก้าวแรกเข้าสัมผัสผืนแผ่นดินจีนได้เพียงปีเดียว ก็ได้รับเชิญให้ไปกล่าวคำปราศรัยในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เพื่อพบปะกับบรรดานักศึกษาทั้งชาวจีนและชาวต่างประเทศ

บัดนี้ต้นฉบับคำปราศรัยดังกล่าวก็ยังคงเหลือต้นฉบับเดิมตกค้างอยู่ในมือของ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ด้วยกระดาษขนาดเล็กกว่า เอ 4 เล็กน้อย สีเหลืองเข้มจากความเก่าแก่ซึ่งถูกตอกด้วยพิมพ์ดีดภาษาไทยด้วยฝีมือของศรีบูรพาเองจำนวน 14 หน้า และยังไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ซ้ำอีกเลยหลังจากนั้น

อันอาจเนื่องมาจากสาเหตุดังที่ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ได้กล่าวว่า

"อาจมีผมคนเดียวที่ยังคงเก็บรักษาคำปราศรัยของศรีบูรพานี้อยู่จนบัดนี้"

คำปราศรัยก่อนกล่าวสรุปของศรีบูรพาในท่ามกลางบรรยากาศทั้งนักศึกษาจีนที่กำลังศึกษาภาษาไทย รวมถึงนักศึกษาจีนแห่งภาควิชาภาษาต่างๆ ในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งมีล่ามคอยแปลเป็นภาษาจีนเผยแพร่ในวงกว้างอีกทอดหนึ่งนั้น นับว่าทรงพลังน่าสนใจ และควรนำมาเผยแพร่ ณ ที่นี้

ศรีบูรพากล่าวสรุปคำปราศรัยว่า

"อย่างไรก็ดี สมควรที่จะกล่าวย้ำไว้ว่า จนถึงเวลานี้ วรรณคดีใหม่ของไทยยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการพัฒนา ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการแสวงหาความจัดเจน เครื่องมือในการศึกษาของเรามีอยู่โดยจำกัดมาก เช่นเดียวกับนักศึกษาภาษาไทยของเราที่นี่ ("ที่นี่" หมายถึง มหาวิทยาลัยปักกิ่ง-ผู้เขียน) เพราะช่องทางแห่งการศึกษาของเราถูกจำกัดขัดขวาง เรายังจะต้องศึกษาอีกมาก และยังมีหนทางข้างหน้าอีกไกลที่จะต้องเดินต่อไป

ในขณะนี้ เราอาจกล่าวได้แต่เพียงว่า วรรณคดีใหม่ของไทยได้ทำหน้าที่จุดประทีปแห่งความหวังที่วรรณคดีไทยจะได้มีบทบาทสำคัญในอันที่จะได้รับใช้ชีวิตของมวลชนอย่างมีประสิทธิภาพขึ้นแล้ว และเราได้เห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า เวลาได้มาถึงแล้วที่ผู้เก็บดอกผลของวรรณคดีจะมิใช่กลุ่มชนน้อยๆ ที่มีเอกสิทธิ์ในสังคมเท่านั้น เรามีความเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนแปลงอันมีอยู่ไม่ขาดสาย จะต้องดำเนินไปสู่สถานะที่การสร้างสรรค์วรรณคดีและการเก็บดอกผลของวรรณคดีเป็นเรื่องของประชาชนอย่างสิ้นเชิง และเมื่อประชาชนเป็นผู้สร้างสรรค์วรรณคดีแล้ว เขาก็จะต้องสร้างสรรค์วรรณคดีเพื่อผลประโยชน์และความดีงามแห่งชีวิตของประชาชนอย่างแน่นอน

บัดนี้ข้าพเจ้าขอจบปาฐกถา และขอขอบคุณท่านผู้ฟังทุกท่าน"

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปริศนาในวงสันติภาพ: ใคร ทำอะไร ยังไง ? (จบ)

Posted: 21 Sep 2013 12:46 AM PDT

รายงานเสวนาของกลุ่มคนทำสื่อภาคประชาชนคุยเรื่องสันติภาพ แนวทางและความหวังของประชาชนสามจังหวัดชายแดนใต้

"เรารู้สึกว่าเราออกมาช้าเกินไป แต่ก็ยังดีที่ออกมา ดีกว่าไม่ได้ออกมาเลย ซึ่งเราก็ได้ตั้งคำถามแก่ตนเองว่า แล้วทำไมเราจึงออกมาในปี 50 ตรงนี้เราคิดว่าเป็นสิ่งที่สมควรเป็นบทเรียนร่วมกันของภาคประชาสังคมว่า นักศึกษาทำไมถึงต้องออกมาปี 50 ก่อนหน้านั้นทำไมไม่ออกมา ผมกับเพื่อนๆส่วนใหญ่มีภูมิหลังเป็นนักกิจกรรมช่วงที่เป็นนักศึกษา มหาลัยรามคำแหงฯที่กรุงเทพ ทั้งที่รามคำแหงฯมีหลากหลายอุดมการณ์ทางการเมือง มีทั้งสังคมนิยม ทุนนิยม วัตถุนิยม ชาตินิยม ชาตินิยมเสรี ชาตินิยมอนุรักษ์ มีหลากหลายและก็มีการเมืองของนักวิชาการ"

 

เป็นคำกล่าวของ ตูแวดานียา ตูแวแมแง ผอ.สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LAMPAR) กล่าวทิ้งไว้ในงานเขียน เรื่อง "ปริศนาในวงสันติภาพ ใคร ทำอะไร ยังไง?"  (ตอนที่หนึ่ง) ก่อนจะนำเสนอ การเสวนาในตอนที่สองซึ่ง ตูแวดานียา อธิบายต่อว่า พวกเราที่เป็นนักศึกษาก็ได้เรียนรู้จากเบ้าหลอมเหล่านั้น ไม่ใช่แค่เพียงในห้องเรียนเท่านั้น

"ช่วงที่ผมอยู่ที่รามคำแหงฯก่อนปี 50 ใกล้วันที่ชุมนุมหน้ามัสยิดกลางปัตตานี ในขณะนั้นผมได้มีบทบาทรับหน้าที่เป็นตัวแทนของกลุ่มนักศึกษามาลายูที่อยู่ในรามคำแหงฯภายใต้ชื่อ กลุ่ม PNYS หรือเรียกอีกอย่างว่า กลุ่มนิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมยังได้รับเกียรติจากเพื่อนๆให้เข้ารับสมัครรองนายกองค์การนักศึกษาคนที่ 1 ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงฯร่วมกับพรรคสานแสงทองแล้วก็ชนะในการเลือกตั้งครั้งนั้น จนได้รับตำแห่งเป็นรองนายกฯคนที่ 1"

จากนักศึกษา เด็กค่าย จนมาถึงปัญญาชนปาตานี

ตูแวดานียา เล่าต่อว่า ช่วงนั้นหากจำกันได้ว่าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนของเรานั้นเกิดเหตุการณ์มากมายที่ส่งผลกระทบไม่ยังพี่น้องประชาชน เช่นในแง่การละเมิดสิทธิมนุษยชน การซ้อมทรมาน การอุ้มหายผู้บริสุทธิ์ จึงทำให้เหล่านักศึกษาที่เป็นคนในพื้นที่ดังเดิมแต่เพียงมาร่ำเรียนที่กรุงเทพเพียงเท่านั้น เริ่มให้ความสนใจกับบทบาทของตนที่ทำได้มากกว่าการจัดค่อยอบรมจริยธรรม

"ช่วง 3 ปีก่อนการชุมนุมพวกผมอยู่ในความอึดอัดใจที่ได้รับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์ความสูญเสียของพี่น้องตากใบ กรือเซะ และอีกหลายๆเหตุการณ์ที่พี่น้องในพื้นที่ได้รับความสูญเสีย แต่เราเองที่เป็นปัญญาชนที่อยู่ส่วนกลาง (กรุงเทพฯ) ไม่มีบทบาทเลย เพราะส่วนหนึ่งเราคิดไม่ตกหรือไม่ตกผลึกว่าจะมีบทบาทอย่างไร เพราะยังกังวลกับข้อกล่าวหาว่าพวกเรามีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางการเมืองของขบวนการ ภาครัฐมองเราอย่างนั้น"

"แต่พอเข้ามาปี 50 พวกเราคิดย้อนกลับไปในช่วง 49 - 50 คล้ายกับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเยอะมาก ทำให้เรากดดันและทำให้เราคิดว่ายังไงๆก็ต้องออกมา จะพบเจออะไรก็ชั่งมัน จิตใจคิดอย่างนั้น เพราะภาพที่ตากใบยังคงติดตา      ก็ยังกล้าๆกลัวๆอยู่ ไม่มีอะไรที่เป็นหลักประกันได้ว่า การออกมาชุมนุมของพวกเราในช่วงนั้นจะไม่เป็นเหมือนกรณีตากใบแต่ความกดดันที่ทนเห็นความสูญเสียในช่วงนั้นเรารับไม่ได้ จึงทำให้นักศึกษามีการร่วมตัวกันเป็นเครือข่ายนักศึกษาเพื่อ  พิทักษ์ประชาชน ล้อกับชื่อสมัยปี 2518 ที่มีการชุมนุมหน้ามัสยิดกลางเช่นเดียวกัน จาก ปี 2518 ถึง ปี 2550 ผ่านมาแล้ว 32 ปี เราพยายามจะเชื่อมปรากฏการณ์ในอดีตกับปรากฏการณ์ปัจจุบันว่ายังคงเหมือนเดิมที่ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายส่วนกลาง"

 

"Bicara" เชื่อมชาวบ้าน เชื่อมกระแส

ตูแวดานียา ยังเล่าต่อว่า พวกเราก็ได้ข้อสรุปว่าการที่จะมีพื้นที่ทางการเมืองในการสร้างสันติภาพ ถ้าตอบในแนวนักศึกษา คือถ้ามีวาระร่วมของภาคประชาสังคมและทุกภาคส่วนแม้กระทั้งภาครัฐเองไม่มีพื้นที่ตรงกลางที่จะมาสร้างวาระร่วมในการขับเคลื่อนที่มีจุดร่วมอยู่ที่คำว่าสันติภาพ โอกาสที่จะเกิดสันติภาพนั้นยากมาก

"เราถอดบทเรียนได้ชัดเจนว่า นักศึกษาเราไม่ใช่ว่าไม่ทำงานเพื่อสันติภาพก่อนปี 50 เราทำงานเหมือนกัน แต่เราทำงานในประเด็นของเรา เรากลัวว่าภาษา และอัตลักษณ์ของเราจะถูกกลืนไป ความเป็นประวัติศาสตร์ปาตานีตามแบบมุสลิม ทั้งหมดที่เราทำนั้นเป็นประเด็นในการสร้างจิตสำนึก เพื่อรวมตัวและรวมกลุ่ม เพื่อเป้าหมายของเราเท่านั้น"         

ตูแวดานียา ยังมองว่า กระบวนการสสร้างสันติภาพ ต้องมีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลที่เป็นจริงมากที่สุด

" ต้องมองว่า สันติภาพในมุมมองของประชาชนจริงๆต้องการอย่างไร การเปิดพื้นที่ Bicara ของกลุ่ม LEMPAR เป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะอีกรูปแบบหนึ่งที่ลงพื้นที่ชุมชนจริงๆเพื่อรับทราบความต้องการของชาวบ้านจริงๆ และมีการขยายพื้นที่สาธารณะเพื่อการทูตในรูปแบบใหม่ กับ นักศึกษาไทยมลายู ที่ศึกษาในต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อสันติภาพที่จะก่อเกิดในอนาคตต่อไป" นักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ กล่าวทิ้งไว้

 

เราเห็นอะไรในกระบวนการสันติภาพ......

ยังมีวิทยากรอีกท่านหนึ่งที่มาแลกเปลี่ยนสะท้อนความคิดเห็นมุมมอง มูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโสศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ( DSJ )  เขามองเห็นภาพในมิติใดบ้างในขบวนการสันติภาพที่ทุกคนกำลังขับเคลื่อนกันอยู่ ?

มูฮำมัดอายุบ ปาทาน  กล่าวว่า มาวันนี้ก็จะพูดแค่เรื่องเดียวที่เกี่ยวข้องในการสร้างขบวนการสันติภาพ  ผมคิดว่าหากพูดถึงขบวนการสันติภาพ ในมุมมองของผม ต้องมีการเทียบคน เทียบงาน และเทียบเครือข่ายร่วมกัน นำไปสู่ขบวนการสันติภาพ  สิ่งนี้เป็นภารกิจใหญ่ที่ทุกฝ่ายจะต้องทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจกัน

"โจทย์ในการตั้งคำถามหัวข้อจากปาตานี ถึงสันติภาพ ใคร ? ทำไร ? ยังไร ? อยู่ที่ว่า Process นั้นดีหรือไหม  เราทุกคนที่ขับเคลื่อนในประเด็นสันติภาพก็จะไม่ถูกตั้งคำถาม ซึ่งที่เป็นประเด็นที่สำคัญ ขบวนการสันติภาพก็เช่นกัน สำหรับผมนั้นหากว่า Process นั้นดีหรือเรามีขบวนการที่ดีในการจัดการอย่างดี เราไม่กลับไปถูกตั้งคำถามแบบเดิม เราจะตั้งคำถามใหม่ได้ด้วย ถัดไปเมื่อเรามี Process ที่ดีในขบวนการทำงาน เราจะไม่กลับไปตั้งคำถามเดิม แต่จะมีคำถามใหม่เกิดขึ้น เพื่อจะเดินไปข้างหน้า เพราะอะไรที่คิดอย่างนี้ ก็เพราะเราทำงานมากับมือของเราเอง  ทำไมทุกคนต้องปรับ จากเดิมเราทำอย่างนั้น แต่เมื่อขบวนการในการทำงานเราดี สิ่งที่วางไว้ก็จะดีตามไปด้วย"

มูฮำมัดอายุบ ปาทาน  กล่าวอีกว่ากระบวนการสร้างสันติภาพของแต่ละองค์กร ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม หรือแม้กระทั่งสื่อ ก็ต้องมีการจัดการที่ดีในกระบวนการทำงาน ในทุกๆด้าน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนงานสันติภาพ  ซึ่งตนมองว่าในระยะเวลา 3 ปีให้หลังมานี้ องค์กรต่างๆเริ่มโตขึ้น และเชื่อว่าสันติภาพย่อมเกิดขึ้นหากทุกองค์กรมีการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างกัน          

บทสรุปของเสวนา ว่าด้วยเรื่องปริศนาสันติภาพปาตานี จากคนทำงานขับเคลื่อนสันติภาพ ที่จับได้คือ ทุกการงาน ทุกกระบวนการ ต้องมีการเชื่อโยงกัน ทั้งองค์กร คนทำงาน และสังคมรอบข้าง การขับเคลื่อนไปพร้อมกัน เพื่อก่อเกิดสันติภาพร่วมกันที่ทุกคนทุกฝ่ายวาดฝันไว้ในสังคมแห่งนี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: "เสียหมา"

Posted: 21 Sep 2013 12:29 AM PDT

เก้าอี้ตัวนี้ กูเคยนั่ง
กูคล้อยหลัง มึงก็มา นั่งหน้าสวย
กู-ประชาเฉดหัว บอก 'ตัวซวย'
เขาแจกกล้วย แจกขี้ อัปรีย์กู

ถ้ามึงโง่นะอีปู.. กูก็เหี้ย!
เกิดมาเสียชื่อชาย อายหมาหมู
กูถ่อยได้ทุกอย่าง ถ่อยข้างคู
เอาข้างถูทุกประเด็น เห็นไหมมึง

ถ้ามึงโง่นะอีปู ..กูก็งั่ง
ครองบัลลังก์มนตรี กลิ่นขี้หึ่ง
หลังอำนาจพลัดมือ เกินยื้อดึง
วันนี้จึง เสียหมา ออกอาการ

ถ้ามึงโง่นะอีปู ..กูก็บ้า
สู้เรียนจบนอกมา แม่งหน้าด้าน
'ประเทศนี้มีโชค- แต่โลกประจาน'
ยิ่งนาน ดูเหมือนยิ่ง โลกชิงชัง

แม่กู คงจะแดกกล้วยมากไป
จึงตกลูกจัญไร เป็นไอ้งั่ง
เป็นผู้ดีเสียจริต เกินปิดบัง
ที่เบื้องหลัง อัปยศ หมดราคา

เหลือแต่ปากแหละกู อีปูเอ๋ย
พล่อยจนเคย เป็นสันดาน นานจนบ้า
ทิ้งเกียรติยศ ลดระดับ อับปัญญา
จึงเสียมวย เสียหมา..เสียหน้าตระกูล ฯ


 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรินทร์จมบาดาล น้ำไหลบ่าจากอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง

Posted: 21 Sep 2013 12:20 AM PDT

 
 
 
 
 
เมืองสุรินทร์จมบาดาล ชาวบ้านผวาน้ำท่วมซ้ำ น้ำไหลบ่าจากอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ท่วมหนัก บ้านเรือนประชาชน ถนนสายหลักสองสาย น้ำท่วมสูงการสัญจรลำบาก (ดูภาพเพิ่มเติม)
 
21 ก.ย. 56 - ผู้สื่อข่าวประจำ จ.สุรินทร์ รายงานว่า อิทธิพลพายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้เคลื่อนตัวผ่านประเทศลาวตอนล่างเข้าสู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของประเทศไทย ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณจังหวัดมุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ และภาคตะวันออกบริเวณจังหวัด สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราดมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในช่วงวันที่ 19-21 กันยายน 2556
 
โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ มีฝนตกหนักตลอดทั้งวัน ทำให้อ่างเก็บน้ำห้วยเสนงมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเป็น120% แล้ว น้ำล้นสปิลเวย์ ท่วมถนน บ้านเรือนประชาชน โรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ต้องประกาศหยุดการเรียนการสอนชั่วคราวจนกว่าฝนจะหยุดตกและปริมาณน้ำที่ท่วมขังลดลงเบาบางก่อน
 
ร้อยเอกณัฐชัย ม่านชเขต อายุ 44 ปี นายทหารยานยนตร์ จังหวัดทหารบกสุรินทร์ กล่าวว่า ตนได้รับหน้าที่ไปช่วยเหลือประชาชน หมู่บ้านทนง-หมู่บ้านซิตี้แสนด์ ต.นอกเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ เข้าไปได้ประมาณ 800-900เมตร เพราะน้ำท่วมสูง เข้าไปช่วยยกรถที่น้ำท่วมขังของประชาชนออกมาด้านนอก และยังโดยสารประชาชนเข้า-ออกหมู่บ้านด้วย ยังมีประชาชนที่รอคอยความช่วยเหลืออีกมาก ตนได้รับหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 19 ที่ผ่านมา ส่วนวันนี้ก็ยังมีประชาชนต้องการความช่วยเหลืออยู่อีกมาก
 
นายบุญเรือง เมฆอรุณ อายุ 61 ปี อยู่ซอย 1 บ้านซิตี้แสนด์ ต.นอกเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ตนอยู่ซอย 1พื้นถนนจะสูงกว่าซอยถัดไประดับน้ำจึงต่ำกว่าเกือบศอก ตนอยู่หมู่บ้านนี้มาเกือบ 10 ปีแล้ว ยังไม่เคยเห็นน้ำท่วมขนาดนี้มาก่อน ตนก็ได้แต่นำกระสอบทรายมาปิดกั้นบ้านแล้ววิดน้ำออก ตนได้เอาเครื่องใช้ไฟฟ้ามาไว้บนที่สูงได้ทันเลยไม่เสียหาย
 
ด้าน น.ส.ดารัน ปิติมังสาวงค์ อายุ 28 ปี ซอย 4 หมู่บ้านซิตี้แลนด์ ต.นอกเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ตนอยู่บ้านหลังนี้มา 5 ปีแล้วไม่เคยเจอเหตุการณ์หนักขนาดนี้มาก่อน น้ำท่วมทะลักเข้ามาเร็วมาก ปกติท่วม 1 ขั้นบันได หรือประมาณเลยตาตุ่มนิดหน่อย ตามพยากรณ์แจ้งมาว่ามีฝนตก 2 วัน คือวันที่ 19 - 20 กันยายน ห้วยเสนงประกาศปล่อยน้ำประมาณตี 1 ของคืนวันที่ 20 ประมาณ 2 ชั่วโมงน้ำได้ทะลักเข้าท่วมบ้านตน มาแบบไม่ทันตั้งตัวเลย เก็บข้าวของไม่ทันเสียหายหนัก
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าในอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง น้ำเอ่อล้นสปิลเวย์ช่วงเวลา 04.00 น. ของวันที่ 20 กันยายน และเวลา 00.00 น. วันที่ 21 ก.ย.56ได้ปล่อยน้ำระบายออกจากอ่าง เพื่อรองรับน้ำที่ยังไหลเข้าอ่างเก็บน้ำอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในหลายพื้นที่เขตอำเภอเมืองสุรินทร์มีระดับน้ำท่วมสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะพื้นที่รับน้ำหมู่บ้านใกล้เคียงบริเวณโกลบอลเฮาส์หลายหมู่บ้าน กว่า 500 หลังคาเรือนกำลังได้รับความเดือดร้อนหนัก ลำรางห้วยเสนงทางระบายน้ำไม่ทันน้ำหนุนท่วมสูงทุกขณะ และหมู่บ้านทนง-หมู่บ้านซิตี้แสนด์ ต.นอกเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ เข้าท่วมจมบ้านเรือน ร้านค้า รถยนต์ ถนนขาดหลายแห่งทำให้การเดินทางเข้า-ออกจากตัวเมืองสุรินทร์ เป็นไปได้ยาก ถนนบางสายเช่น ถนนสุรินทร์-ศีรขรภูมิ บริเวณ สี่แยกเทพธานีปิดการจารจรมา 2 วันแล้ว ถนนเลี่ยงเมืองสุรินทร์ สายบุรีรัมย์-ปราสาท ผ่านหน้าเรือนจำสุรินทร์ มีถนนขาดสัญจรไม่ได้ ประกอบกับฝนที่ตกมาอย่างต่อเนื่อง อบจ.สุรินทร์และเทศบาลเมืองสุรินทร์ เร่งประกาศหาอาสาสมัครช่วยกรอกกระสอบทรายและนำน้ำดื่มสะอาดข้าวกล่องนั่งเรือท้องแบนและรถบรรทุกของทหารเข้าไปมอบให้ผู้ประสบอุทกภัยอย่างเร่งด่วน พร้อมประกาศเตือนจุดเสี่ยงภัย ให้ย้ายออกไปพักอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวด่วนก่อนที่น้ำระลอกใหม่จะมาถึง ขณะที่น้ำท่วมในบางจุดระดับน้ำลดปริมาณลงบางแล้วใกล้กลับสู่ภาวะปกติโดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่ได้รองรับน้ำหลากจากการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง แต่ชาวบ้านยังผวาน้ำท่วมซ้ำอีกระลอก
 
น้ำไหลบ่าจากอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ท่วมหนัก บ้านเรือนประชาชน ถนนสายหลักสองสาย น้ำท่วมสูงการสัญจร ลำบาก
 
ตั้งแต่เช้าตรู่วันนี้ (21 ก.ย.) น้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง รับน้ำจากเมือกเขาพนมดงรัก และฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้อ่างเก็บน้ำ รับน้ำเกินความจุ น้ำได้ไหลสปิลเวย์ และลงสู่ บ้านเรือนประชาชน น้ำท่วมหมู่บ้านหนองเต่า บ้านละเอาะ ระดับน้ำท่วมสูง กว่า 2 เมตร ทหาร จทบ.สุรินทร์ อาสาสมัครกู้ภัยสุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ปภ.จังหวัด เร่งอพยพชาวบ้านไปยังศูนย์ อพยพ จทบ.สุรินทร์ ขณะเดียวกัน น้ำท่วมถนนเข้าเมืองสุรินทร์ จากบายพาสหนองเต่า ระยะทางกว่า 2 กม.รถเล็กผ่านไม่ได้
 
ส่วนที่ อ.ศีขรภูมิ อ.สังขะ ระดับน้ำยังท่วม สูง ท่วมบ้านเรือนประชาชน ได้รับความเดือดร้องอย่างหนัก ส่วนในเขตตัวเมืองเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ ระดับน้ำเริมลดลง ใกล้สู่ภาวะปรกติ แต่มวลน้ำจำนวนมาก ยังท่วมหนัก ในเขตรอบนอกเมือง ทั้งตำบลสลักได ต.นอกเมือง ต.แกใหญ่ น้ำยังท่วมหนัก
อ.ปราสาท น้ำจากเทือกเขาพนมดงรักไหลเข้าท่วม สี่หมู่บ้าน บ้านห้วยเสนง บ้านกวล บ้านหนองใหญ่ บ้านสวายสะพึง ต.หนองใหญ่ ประชาชนเดือดร้อนหนัก หลายฝ่ายเร่งช่วยเหลือ
 
ล่าสุดเมื่อเวลา 11.30 น. (21 ก.ย.) เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรเมืองสุรินทร์ เข้าตรวจสอบเส้นทาง สาย 226 ช่วง หน้าสถานีเครื่องส่งโทรทัศน์ เอ็นบีที ถึง ด้านหน้า ร้านอาหาร อ.กุ้งเผา ระยะทาง 900 เมตร เส้นทางเข้าบุรีรัมย์ ไม่สามารถสัญจร ได้ น้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ไหลบ่าเข้าท่วม ระดับน้ำท่วมสูง 30-50 เชนติเมตร ขณะนี้ รถเล็ก ผ่านไม่ได้ รถใหญ่ยังพอผ่านได้ คาดว่า บ่ายวันนี้ การสัญจรเส้นทางถูกตัดขาดแน่นอน เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรเมืองสุรินทร์ ได้ทำป้ายแนะนำเส้นทางไว้ หรือสอบถาม เส้นทางกับตำรวจภูธรเมืองสุรินทร์ 044-511007
 
ขณะนี้ฝนยังตก เป็นระยะ อย่างต่อเนื่อง และระดับล้นสปิลเวย์ อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง สูงถึง 50 เชนติเมตร ยังไหลบ่าลง เข้าสู่พื้นที่ชุมชนบ้านเรือนประชาชน อย่างหนัก คาดว่าบ่ายวันนี้ น้ำจากเทือกเขาพนมดงรัก ไหลจาก อ.พนมดงรัก อ.กาบเชิง เข้าสู่อย่างเก็บน้ำห้วยเสนง มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ มีมวลน้ำจำนวนมาก เข้าสู่บ้านเรือนประชาชน
 
ทั้งนี้ผู้ที่จะเดินทางเข้าสู่จังหวัดสุรินทร์ ให้ใช้เส้นทางสาย 24 สีคิ้ว-เดชอุดม และเข้าเส้นทาง อ.ลำดวน หรือ อ.สังขะ เข้าสู้จังหวัดสุรินทร์ได้
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดต้นแบบเยาวชนจิตอาสา ทิ้งห้างสรรพสินค้าและโรงหนังลุยงานกู้ชีพเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน

Posted: 20 Sep 2013 10:18 PM PDT

สืบเนื่องจากวันที่ 20 กันยายน ของทุกปีได้ถูกกำหนดให้เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้มีตัวอย่างของเยาวชนที่ใช้เวลาว่างกับการทำงานเสียสละด้านการกู้ชีพและงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินมาบอกเล่าเพื่อเป็นต้นแบบให้เยาวชนที่อยากทำความดีได้นำไปเป็นแบบอย่าง

 
 
น.ส.กมลชนก สินธุมงคลชัย หรือน้องมุก อาสาสมัครของมูลนิธิร่วมกตัญญูเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของเยาวชนที่ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์กับการทำหน้าที่กู้ชีพและปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุและเจ็บป่วยฉุกเฉิน  น้องมุกเริ่มทำงานอาสาสมัครกู้ชีพตั้งแต่อายุ 14 ปี โดยมีคุณพ่อเป็นแรงบันดาลใจ "ตอนนั้นพ่อไปรับมุกกลับจากโรงเรียนแล้วก็มีคนแจ้งเหตุเข้ามาพอดีค่ะ เป็นเหตุรถจักรยานยนต์ชนเสาไฟฟ้า หนูก็เลยได้ตามพ่อไปทำงานด้วย พอไปถึงที่เกิดเหตุเราก็เห็นเลือดเต็มไปหมดเลยค่ะ ตอนแรกๆ เราก็กลัว แล้วก็ช่วยพ่อหยิบเครื่องมือปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้เล็กๆ น้อยๆ แต่หลังจากที่นำเขาส่งโรงพยาบาลแล้ว มันก็ทำให้เราเกิดความรู้สึกที่ว่าการช่วยชีวิตคนนี่มันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ เห็นพ่อทำเราก็รู้สึกภูมิในพ่อของเรา เราก็อยากทำแบบพ่อบ้างได้ช่วยเหลือชีวิตคนอื่นแบบนี้บ้างก็เลยตามพ่อไปทุกครั้งที่มีการแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือเข้ามาค่ะ" น้องมุกเล่าให้ฟังถึงแรงบันดาลใจเริ่มแรกในการเข้ามาทำงานด้านการกู้ชีพ
 
เวลาว่างในช่วงปิดเทอมสำหรับเด็กๆ ทั่วไป ก็คือการได้อยู่บ้านพักผ่อน ดูหนัง ฟังเพลง หรือเดินเที่ยวตามห้างสรรพสินค้า หากแต่น้องมุกได้ใช้เวลาว่างทั้งหมดของช่วงปิดเทอมศึกษาการทำงานกู้ชีพของพ่อด้วยความสนใจ น้องมุกเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่การรับแจ้งเหตุ และการเข้าให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุจนได้รับมอบตำแหน่งงานที่สำคัญเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิร่วมกตัญญูอย่างเต็มตัวโดยมีหน้าที่ในการช่วยเหลือปฐมพยาบาลเบื้องต้นในที่เกิดเหตุ "ตอนนี้มุกก็จะช่วยในการช่วยเหลือปฐมพยาบาลเบื้องต้นในทีเกิดเหตุค่ะ ก็จะออกไปทุกครั้งที่มีการแจ้งเหตุมาค่ะ ในการช่วยเหลือคนก็จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย มีอยู่ครั้งหนึ่งเป็นเหตุรถกระบะชนรถจักรยานยนต์ ผู้บาดเจ็บเป็นคนขับขี่รถจักรยานยนต์ เหตุเกิดบริเวณกลางสี่แยกช่วงนั้นเป็นเวลาประมาณบ่ายโมงซึ่งอากาศร้อนมาก ผู้บาดเจ็บนอนในลักษณะคว่ำหน้า มุกกับพ่อก็ประเมินอาการเบื้องต้น ต้องบอกก่อนว่าคนเจ็บอาการสาหัสมาก และเมื่อถึงโรงพยาบาลผู้ประสบเหตุก็เสียชีวิต แต่ก่อนที่เขาเสียชีวิตหนูก็ได้อยู่เป็นเพื่อนและให้กำลังใจพี่เขา มุกบอกให้เขาสู้ ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่มุกสามารถทำให้เขา ให้พี่เขาไปอย่างไม่โดดเดี่ยวและพาพี่เขาส่งถึงมือหมอให้ได้รับการรักษาค่ะ"
 
น้องมุกยังได้กล่าวทิ้งท้ายการใช้เวลาว่างกับการถูกนิยามว่า "เยาวชน" ของตนเองอีกว่า การที่เราได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วยการช่วยชีวิตคนถือเป็นเรื่องที่ดีในการเติมเต็มความรู้สึกของเรา เพราะถึงแม้เราจะเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ในสังคมแต่เราก็ยังสามารถที่จะใช้ศักยภาพของเราทำเพื่อสังคมและคนอื่นได้อย่างเต็มที่ ซึ่งงานที่เธอทำนั้นเยาวชนคนอื่นๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน น้องมุกยังทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่าการเอาเวลาว่างมาช่วยชีวิตผู้คนแบบนี้ดีกว่าเอาเวลาว่างไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพย์ติด ปัจจุบันน้องมุกยังทำงานอาสาสมัครในมูลนิธิร่วมกตัญญูภายใต้ชื่อทวีวัฒนา 29 และยังเป็นเครือข่ายนักสื่อสารกู้ชีพของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติอีกด้วย
 
ด้าน นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า  นอกจากเยาวชนจะเข้ามาช่วยงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินผ่านการเป็นอาสาสมัครกู้ชีพแล้ว ก็ยังมีอีกหลายช่องทางที่ได้เปิดโอกาสให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือชีวิตผู้คนในด้านการแพทย์ฉุกเฉิน โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้จัดทำโครงการอาสาฉุกเฉินชุมชนขึ้น ซึ่งจะเป็นการรวบรวมข้อมูลและวิธีการช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินด้วยอาการของโรคต่างๆ ผ่านคู่มืออาสาฉุกเฉินชุมชน (อฉช.) โดยในคู่มือนี้จะแนะนำให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปที่ประสบเหตุสามารถเข้าให้การช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินอย่างถูกวิธีและทันท่วงทีก่อนที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะเข้าให้ความช่วยเหลือและนำผู้ป่วยฉุกเฉินเข้าไปรักษายังโรงพยาบาลได้ด้วย ซึ่งหากเยาวชนคนไหนสนใจก็สามารถดาวน์โหลดคู่มือและสมัครเข้าร่วมเป็นอาสาของเราได้ที่ http://www.niems.go.th
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มติสภาฯ ฉลุย ผ่าน กม.กู้ 2 ล้านล้าน 287 ต่อ 105

Posted: 20 Sep 2013 09:14 PM PDT

มติสภาฯ ฉลุยผ่านกฎหมาย กู้เงิน 2 ล้านล้าน 287 ต่อ 105 เดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยบรรยากาศการอภิปรายเป็นไปอย่างราบรื่น มี ส.ส.ลุกขึ้นอภิปรายจำนวนไม่มาก มาตราละ 1-2 คน และมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ไม่มีการประท้วง

<--break->

เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 56 ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าที่รัฐสภามีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ (2 ล้านล้านบาท) ตั้งแต่เวลา 17.30 น. มีการพิจารณาตั้งแต่มาตรา 6 – 19 ซึ่งบรรยากาศการอภิปรายใน เป็นไปอย่างราบรื่น มี ส.ส.ลุกขึ้นอภิปรายจำนวนไม่มาก มาตราละ 1-2 คน และมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ไม่มีการประท้วง และแต่ละมาตรามีการลงมติเห็นด้วยตามกรรมาธิการเสียงข้างมาก และบางมาตราไม่มีผู้อภิปราย ก็ไม่มีการลงมติ คือ มาตรา 8 , 9 ,12 ,13,15 และ มาตรา19
 
แต่ในส่วนของมาตรา 18 ที่ประชุมลงมติเห็นด้วยตามกรรมาธิการให้มีการตัดออก นอกจากนี้ยังมีผู้แปรญัตติให้มีการเพิ่มมาตรา 20-21 แต่ที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วยกับผู้แปรญัตติ จากนั้นได้พิจารณาในบัญชีแนบท้ายต่อ และได้ลงมติเห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก โดยก่อนการลงมตินายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมาธิการ ได้กล่าวขอบคุณ พร้อมยืนยันว่าจะดูแลเงินกู้อย่างโปร่งใส กระทั้งเวลา 23.20 น.ที่ประชุมมีการลงมติในวาระ 3 โดยที่ประชุมเห็นด้วยตามกรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก 287 ต่อ 105 และนายวิสุทธิ์ ไชยนรุณ ประธานในที่ประชุมได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 23.25 น.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Youk Chhang

Posted: 20 Sep 2013 08:31 PM PDT

ในกรณีของสังคมไทย การมีประเด็นนี้กำลังทำให้สังคมไทยเข้มแข็งขึ้น เพราะคุณไม่สามารถแสร้งทำเป็นว่าทุกอย่างสวยงาม คุณไม่สามารถเสแสร้งอย่างนั้นได้ คุณไม่สามารถแสร้งว่าชีวิตที่นี่ช่างดีเหลือเกิน ถึงวันหนึ่งมันก็จะระเบิดออกมา หากว่ารัฐบาลไม่ลงทุนในเรื่องการศึกษาและการวิจัย เมื่อนั้นมันจะย้อนกลับมาหาคุณในภายหลัง

ผู้อำนวยการบริหาร Documentation Center of Cambodia (DC-Cam) กล่าวถึงกรณีความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย

สนทนากับ ‘Youk Chhang’ ว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการปรองดองในกัมพูชา

Posted: 20 Sep 2013 07:00 PM PDT

ปลายเดือนสิงหาคม 56 Youk Chhang ผู้อำนวยการบริหาร Documentation Center of Cambodia (DC-Cam) เดินทางจากพนมเปญ มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กระบวนการปรองดองของกัมพูชาซึ่งเกิดขึ้นหลังสิ้นสุดยุคเขมรแดง โดยมาร่วมเสวนากับกลุ่มนักวิจัยเล็กๆ และผู้ที่สนใจในโครงการจัดทำพิพิธภัณฑ์สันติภาพ ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ

Youk Chhang เป็นผู้หนึ่งที่รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เขาถูกเขมรแดงจับตัวไปตั้งแต่อายุ 14 ปี และถูกซ้อมทรมาน ครอบครัวของเขาถูกสังหารจนเกือบหมด เหลือเพียงแต่แม่ที่เข้มแข็งและทนทุกข์จากการสูญเสียครอบครัวและการทารุณกรรมของเขมรแดง ระหว่างการปกครองของเขมรแดงในปี พ.ศ.2518–2522 มีชาวกัมพูชาถูกสังหารไปกว่า 2 ล้านคน

Youk Chhang ได้รับการสนับสนุนการทำวิจัยในโครงการ Cambodian Genocide Program (CGP) จากมหาวิทยาลัยเยล และก่อตั้ง Documentation Center of Cambodia หรือ DC-Cam ขึ้นที่พนมเปญในปี พ.ศ.2538 และเริ่มรวบรวมข้อมูลและสัมภาษณ์ผู้ที่รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุคเขมรแดงมากกว่า 4,000 คน เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์กัมพูชาในช่วงการปกครองของเขมรแดงให้กับคนรุ่นหลัง และเพื่อการค้นหาความจริงและการปรองดองในสังคมกัมพูชา

ในปี พ.ศ.2549 สหประชาชาติและรัฐบาลกัมพูชาส่งตัวผู้นำเขมรแดงเข้าสู่กระบวนการไต่สวนคดีในหลายข้อหา เช่น การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การฆาตกรรมและทรมาน โดยเป็นผลเนื่องจากการวิจัยและรวบรวมข้อมูลของ DC-Cam ต่อมาในปี พ.ศ.2554 ผู้นำเขมรแดงถูกนำเข้าสู่การพิจารณาคดีในศาลพิเศษกัมพูชาด้วยข้อหาอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

Youk Chhang เคยได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารไทม์ให้เป็น 1 ใน 60 วีรบุรุษของอาเซียนใน พ.ศ.2549 และได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารไทม์ให้เป็น 1 ใน 100 บุคคลที่ทรงอิทธิพลของโลกในปี พ.ศ.2550 จากการต่อต้านการละเว้นโทษให้กับผู้นำเขมรแดง

......

ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าคุณมีแรงบันดาลใจอย่างไรที่มาเริ่มทำงานที่ศูนย์ DC CAM มีจุดเริ่มต้นอย่างไร

ผมคิดว่าเป็นเพราะผมทุกข์ทรมานมาก แต่เมื่อมองดูรอบๆ แล้วพบว่าประชาชนก็ทุกข์ทรมานเช่นเดียวกัน คนแรกที่ผมเห็น คือแม่ของผมเอง และผมก็ไม่เข้าใจจนกระทั่งได้มาเป็นพ่อคน

แม่ของผมสูญเสียลูกๆ ไปบางส่วน รวมถึงสามีของเธอ พ่อ แม่ พี่น้องของเธอทั้งหมด แต่เธอไม่เคยร้องไห้เลย แม่ของผมเป็นผู้หญิงที่แข็งแกร่ง เธอดูแลพวกเราและปกป้องพวกเรา แต่ก็มีจุดที่เธอไม่สามารถปกป้องพวกเราได้

ตอนที่พวกเขมรแดงซ้อมผม ตอนที่พวกเขาฆ่าพี่สาวของผม ผมคิดว่าในฐานะแม่ ความเจ็บปวดที่เห็นคนทำร้ายลูกของตัวเองเป็นความเจ็บปวดที่เกินกว่าคนเป็นแม่จะรับได้ ตอนนั้นผมรู้สึกอยากแก้แค้นมาก ผมรู้สึกโกรธแค้นพวกเขมรแดงมากๆ ผมเริ่มทำงานนี้ เพราะต้องการแก้แค้น ผมอยากทำร้ายพวกเขมรแดง และเอาพวกนั้นเข้าคุกให้หมด แต่แล้วผมกลับพบว่าพวกเขามีอยู่เป็นพันๆ คนทั่วประเทศ

ผมกลับไปยังหมู่บ้านที่เคยถูกเอาตัวไปขังในคุก ผมเจอกับหัวหน้าหมู่บ้านที่ทำให้ผมทุกข์ทรมาน ผมเจอกับคนดูแลคุกที่ซ้อมทรมานผม ผมพูดกับพวกเขา แต่เขากลับจำผมไม่ได้เลย เพราะผมคิดว่าผู้กระทำผิดทุกคนจะจำหน้าเหยื่อของเขาได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันกลับกัน

เรื่องราวที่พวกเขาบอกกับผมเป็นเรื่องของมนุษย์เหมือนกัน พวกเขาก็สูญเสียลูกไปเช่นเดียวกัน พวกเขาก็ทนทุกข์ทรมานเหมือนกัน และอีกด้านหนึ่งเขาทำให้เห็นว่าที่ต้องทำลายครอบครัวของแม่ผมก็เพื่อที่จะให้ครอบครัวของตัวเองรอด เขาทำให้ผมอดหยากเพื่อพวกเขาจะได้มีอาหารกิน เขาสังหารพวกเราเพราะเขาต้องการจะมีชีวิตรอด ฉะนั้น มันก็ทำให้ผมได้คิดว่าสิ่งเหล่านี้มันทำอะไรกับพวกเราทุกๆ คนกันแน่

ผมจึงค่อยๆ เปลี่ยนไป และเริ่มศึกษากระบวนการปรองดอง และเริ่มมองไปถึงอนาคต จากนั้นความต้องการแก้แค้นก็ค่อยๆ จางไป และสำหรับบาดแผลในใจแม่ของผม ตลอดชั่วชีวิตนี้คงไม่มีทางรักษาให้หายได้ ฉะนั้นผมทำสิ่งเหล่านี้เพื่อเป็นการเยียวยาตัวเอง

ผมได้พบกับเหยื่อหลายๆ คน พบผู้รอดชีวิตและแม่ของเหยื่อ การวิจัยนี้จึงช่วยเยียวยาผม ผมถือว่าตัวเองโชคดีที่สามารถขึ้นเครื่องบินมากรุงเทพฯ สามารถเข้าเรียนในที่ดีๆ แม่ของผมมีที่อยู่อาศัยที่ดี แต่ผู้รอดชีวิตหลายคนยังตกอยู่ในความยากจน มีความท้าทายในชีวิตหลายด้าน บางส่วนสูญเสียที่ดิน บ้างไม่มีอะไรจะกิน

ฉะนั้น การวิจัยเก็บข้อมูลเรื่องเหยื่อจากเขมรแดง ช่วยผมเยียวยาจิตใจได้ ผมอยากให้ชาวกัมพูชาทุกคนเยียวยาตนเองในแบบที่เป็นของตัวเอง และมีชีวิตที่ดีขึ้นหลังจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นี่เป็นแรงบันดาลใจสำหรับผม พูดแบบตรงไปตรงมา ตอนแรกที่ผมเข้ามาทำงานนี้ไม่ใช่เพราะต้องการสร้างความปรองดอง แต่เพราะอยากแก้แค้น ผมรู้สึกโกรธแค้นเขมรแดงมากๆ

ตอนที่เขมรแดงจับผมเข้าคุก ผมมีอายุแค่ 14 ปี เพียงเพราะผมเก็บเห็ดไปเป็นอาหารให้พี่สาวที่กำลังตั้งท้อง พวกเขาฆ่าพี่สาวของผม ป้า ลุง ปู่ ย่าของผมทุกๆ คน แต่ผมก็ต้องยอมรับความจริงว่าเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้แล้ว ผมต้องก้าวต่อไป ผมไม่อยากอยู่ในฐานะเหยื่อไปตลอดทั้งชีวิต ถ้าคุณเห็นผมในกรุงเทพฯ คุณคงไม่คิดว่าผมเป็นผู้รอดชีวิตจากเขมรแดง เพราะผมก็เหมือนกับคนอื่นๆ ที่อยากจะก้าวต่อไป อยากประสบความสำเร็จในชีวิต ไปศึกษาต่อ และช่วยเหลือคนอื่นถ้าทำได้ นั่นคือแรงบันดาลใจของผมในการช่วยเหลือคนอื่น ซึ่งผมก็กำลังช่วยเหลือตนเองเช่นกัน

ตอนนี้คุณไม่โกรธเขมรแดงแล้วหรือ

ผมไม่เคยยกโทษให้พวกเขา เพราะพวกเขาไม่เคยขอโทษผม ฉะนั้นมันจึงยังว่างเปล่า ผมได้เจอกับคนที่ทรมานผมและพี่สาว แต่พวกเขาจำผมไม่ได้ ฉะนั้นเขาจึงไม่ได้ขอโทษ เพราะเขาไม่เคยขอโทษ ผมจึงไม่เคยยกโทษให้ มันเหมือนกับความทรงจำส่วนนั้นของสมองถูกปิดกั้นไป

บางทีด้วยความที่เราเป็นคนเอเชียและเป็นชาวพุทธ เราเชื่อในเรื่องของกรรม เรื่องเวรกรรม ทำให้เราทำใจอย่างนั้นได้ แต่ถ้าในแบบตะวันตก แบบศาสนาคริสต์ที่มีการขอโทษและให้อภัยนั้น มันไม่เคยเกิดขึ้น เมื่อพวกเขาจำผมไม่ได้ แล้วทำไมเขาควรจะต้องขอโทษในสิ่งที่เขาทำลงไปล่ะ แล้วทำไมผมต้องยกโทษให้เขาด้วย

บางทีมันอาจจะเป็นกระบวนการการเยียวยาก็ได้ เพราะตอนนี้เขมรแดงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผมแล้ว ผมไม่ได้โกรธอีกต่อไปแล้ว แต่ว่าผมก็จะไม่ยกโทษให้ ไม่มีโอกาสจะให้อภัยเพราะคนทำผิดต่อผมจำผมไม่ได้

แล้วจะทำอย่างไรให้สังคมเกิดการปรองดองและก้าวไปข้างหน้าได้

มันขึ้นอยู่กับคนรุ่นหลัง สำหรับพวกเราในฐานะที่เป็นเหยื่อโดยตรง มันเหมือนแก้วที่แตกสลาย ถึงคุณพยายามประติดประต่อต่อชิ้นส่วนที่แตกสลายเข้าด้วยกัน แต่มันจะไม่มีทางเหมือนเดิม คุณต้องพึ่งคนรุ่นหลังและการศึกษาที่เหมาะสม นั่นเป็นตัวยาช่วยเยียวยาที่ดีที่สุด ดังนั้น เมื่อเด็กๆ เริ่มเรียนรู้ คุณต้องยอมรับว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นส่วนหนึ่งของเรา เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ คุณปฏิเสธมันไม่ได้ ฉะนั้นการให้เด็กเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ ให้พวกเขาพูดคุยเรื่องนี้กับพ่อแม่ในลักษณะที่เป็นส่วนหนึ่งของการบ้านที่โรงเรียนมอบหมายให้ คุณสร้างสังคมที่เอื้อให้คนสามารถจัดการกับประวัติศาสตร์ของตัวเองได้เพื่อเขาจะได้ตัดสินใจว่าจะทำอะไรต่อไป

เพราะการปรองดองเป็นเรื่องส่วนตัว คุณไม่สามารถบอกแม่ของผมว่าให้อภัยเถอะ หรือบอกคนทำผิดให้ขอโทษ มันเป็นเรื่องส่วนตัว คุณไม่สามารถบอกให้แม่ยกโทษให้กับคนที่ฆ่าลูกสาวของเธอได้หรอก  แม้แต่ทุกวันนี้ ถ้ามีคนมาฆ่าลูกของคุณ ใครจะมาบอกให้ยกโทษให้คนทำผิดได้อย่างไร มันเป็นเรื่องส่วนตัวและเป็นชีวิตของมนุษย์

ดังนั้น สำหรับกัมพูชาเราหวังว่า เราจะให้การศึกษาที่เหมาะสมแก่คนรุ่นหลัง เพื่อไม่ให้เขารู้สึกอับอายกับประวัติศาสตร์ของตัวเอง แต่ให้เขายอมรับ เรียนรู้ และแบ่งปัน เมื่อนั้นมันอาจจะช่วยให้เราเติบโต

เหมือนกับตัวผมเอง ผมใช้เขมรแดงเพื่อปรับปรุงตัวเอง ผมไม่ร้องไห้เสียใจ ไม่ได้อยู่อย่างเป็นเหยื่อ แต่ใช้เพื่อปรับปรุงตัวเอง นั่นคือสิ่งที่ผมต้องการให้กัมพูชาทำ คือไม่ต้องอับอายประวัติศาสตร์ของตัวเอง แต่ต้องออกจากการเป็นเหยื่อมาเป็นนักการศึกษา เป็นหมอ เป็นทนาย เพื่อให้เขมรแดงไม่ติดอยู่กับเราตลอดไป ต้องปลดปล่อยตัวเองผ่านการศึกษา

ผมคิดว่ากัมพูชากำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางนั้น มันเป็นเรื่องเปราะบางและอ่อนไหว แต่เราจะต้องเผชิญหน้ากับมันอย่างเปิดเผย และตอนนี้เราก็เผชิญกับมันในศาลยุติธรรม โลกบังคับให้กัมพูชาต้องเผชิญเรื่องนี้ มันเป็นแรงกดดันจากสากลที่ทำให้กัมพูชาต้องมองไปที่ประวัติศาสตร์ของตนเอง
ฉะนั้น มันเป็นการสร้างวัฒนธรรมการถกเถียงและการเป็นเจ้าของประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า สร้างการศึกษาที่ดีกว่า แต่การเผชิญหน้ากับมันเป็นเรื่องที่ยากสุดขีด เพราะผู้คนรู้สึกแตกแยก ทั้งแม่ผม ตัวผมเอง และหลานๆ ล้วนเห็นต่างกันถึงวิธีการดำเนินความยุติธรรม นั่นเพราะเราเป็นห่วงมากว่าอนาคตจะออกมาเป็นอย่างไร

นั่นคือประสบการณ์ของกัมพูชา มันยากมากๆ แต่ตอนนี้เราถูกบังคับให้เผชิญและผมคิดว่านั่นเป็นทางออกเดียว เพราะเราหลบซ่อนมันมาตลอด และมันก็ไม่ได้ผล ฉะนั้นเราต้องเผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านี้ ผมคิดว่าสิทธิมนุษยชน แม้ว่าจะมีคนเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่ถูกฆ่าหรือถูกข่มเหง มันก็จะกลับมาหาคุณเพราะความทรงจำเป็นสิ่งที่ทรงพลัง แม้ว่าคุณฆ่าพวกเขาเมื่อนานมาแล้ว และได้ฝังศพพวกเขาไปแล้ว แต่มันก็จะมีบางสิ่งปรากฏออกมา ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย งานเขียน ตำรา หรือเรื่องราวต่างๆ มันจะย้อนกลับมาหาคุณ

ผมคิดว่ารัฐบาลจะต้องจัดการกับสิ่งเหล่านี้ก่อนที่มันจะกลายเป็นความขัดแย้งเต็มรูปแบบ ความทรงจำอย่างประสบการณ์จากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นแรงผลักดันที่ทรงพลังที่สุดของมนุษยชาติ  มันจะเผยตัวออกมาเมื่อเวลามาถึง และมันจะกลับมาหาคุณ ฉะนั้นนี่เป็นวิธีเดียวที่รัฐบาลจะพูดถึงปัญหานี้ ไม่ว่ามีคนเป็นพันหรือคนเป็นร้อยที่ถูกฆ่าหรือถูกทารุณ รัฐบาลก็ต้องพูดถึงปัญหานี้ ประชาชนไม่เคยคิดเลยว่าการดำเนินคดีกับเขมรแดงจะเกิดขึ้นในช่วงตลอด 34 ปี แต่มันก็เกิดขึ้น

ความขัดแย้งในประเทศไทยแน่นอนว่าความสูญเสียเกิดน้อยกว่ากัมพูชา แต่เราสามารถเรียนรู้อะไรจากกัมพูชาได้บ้าง

มันคงไม่ถูกนักที่จะเปรียบเทียบความทุกข์ เพราะแม่ทุกคนต่างก็ทุกข์ทรมานเหมือนกันหากต้องเสียลูกของตัวเองไป ฉะนั้น มันคงไม่ถูกต้องนักที่จะเอามาเทียบกันว่ากรณีของไทยเล็กกว่ากรณีของกัมพูชา เพราะเมื่อพวกเขาสูญเสียคนที่รักไปก็ต้องเจ็บปวดเหมือนๆ กัน

ในกรณีของสังคมไทย การมีประเด็นนี้กำลังทำให้สังคมไทยเข้มแข็งขึ้น เพราะคุณไม่สามารถแสร้งทำเป็นว่าทุกอย่างสวยงาม คุณไม่สามารถเสแสร้งอย่างนั้นได้ คุณไม่สามารถแสร้งว่าชีวิตที่นี่ช่างดีเหลือเกิน ถึงวันหนึ่งมันก็จะระเบิดออกมา หากว่ารัฐบาลไม่ลงทุนในเรื่องการศึกษาและการวิจัย เมื่อนั้นมันจะย้อนกลับมาหาคุณในภายหลัง

ตอนนี้เรารวมตัวกันเป็นอาเซียน มีความเชื่อมโยงกันอย่างมากระหว่างไทยและกัมพูชาในมิติของสิทธิมนุษยชน มิติของอาเซียน เยาวชนอาเซียนส่วนใหญ่เรียนสาขาการเงิน การธนาคาร การบัญชี เราลำบากเมื่อเผชิญกับคู่แข่งจากยุโรป เราเผชิญกับจีน ญี่ปุ่น เราต้องจัดเตรียม ไม่ใช่แค่ไทยหรือกัมพูชา เยาวชนอาเซียนต้องเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ถ้าเราอยากจะมีการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคที่ดีกว่านี้

ในกรณีของไทยและกัมพูชา สามารถส่งผลต่อความเข้าใจในอาเซียนของพวกเรา มองดูรอบๆ ไปที่ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย เยาวชนอาเซียนส่วนมากไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในมาเลเซีย หรือคนในมาเลเซีย ก็ไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับชาวอิสลามในกัมพูชา

ในมิติของการทำความเข้าใจต่อภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยหรือกัมพูชาไม่สามารถจะโดดเดี่ยวตัวเองได้อีกแล้ว แต่จะอยู่รอดด้วยเศรษฐกิจของภูมิภาค จะต้องทำสิ่งนี้

ไทยและกัมพูชาสามารถส่งผลกระทบ แม้ว่าประเด็นความขัดแย้งระหว่างไทยกัมพูชาจะไม่ใช่ภาพแทนของพวกเราทั้งหมด แต่มีสิ่งที่เราต้องทำอีกมาก ไม่ใช่แค่เพื่อให้ไทยเป็นสังคมที่มีความเข้มแข็งมากกว่านี้เท่านั้น ผมแน่ใจว่านักท่องเที่ยวรักที่จะมาเที่ยวเมืองไทย แต่พวกเขาไม่รู้จักที่นี่ (อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา) พวกเขารู้จักสุขุมวิท สีลม  สยามพารากอน แต่ผมแน่ใจว่าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาที่เราอยู่นี้ มันน่าสนใจที่จะมาชม จะทำให้เขาความรู้จักความหมายที่อยู่ระหว่างความชั่วร้ายและความดีงามของกรุงเทพฯ ซึ่งจะช่วยให้นักท่องเที่ยวเข้าใจสังคมไทยมากขึ้น

ผมคิดว่าคนไทยก็สามารถที่จะเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับประเด็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะประเด็นนี้มีอยู่ในทั้งไทยและกัมพูชา การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั้นเป็นการกระทำต่อมนุษยชาติ ไม่ได้ขึ้นกับว่าคุณเป็นคนเขมร คนไทยหรือคนลาว และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นกรณีที่มีการสังหารคนเป็นล้าน การฆ่าคนกลุ่มเล็กๆ ก็อาจอยู่ในความหมายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์  และมันก็สามารถจะนำไปสู่รูปแบบที่ขยายไปเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้

ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ที่ดีกว่ากัมพูชาในแง่ที่จะป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะคุณไม่รู้หรอกว่าการดูแคลนความรุนแรงขนาดเล็กจะนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นั่นอาจจะเป็นสิ่งที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน แต่คุณต้องไม่ดูเบาสัญชาติญาณของมนุษย์ คนที่แข็งขืนหรือขบถ เมื่อถูกกดขี่ เขาจะระเบิดมันออกมา

ในแง่ของความขัดแย้งทางการเมือง ผมคิดว่า ประสบการณ์ของภูมิภาคนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย คุณสามารถจะเรียนรู้จากกัมพูชา พม่า ลาว ผมคิดว่า ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม ขณะนี้การเมืองของอาเซียนได้บังคับให้เราต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น

ฉะนั้นผมดีใจที่มีกลุ่มแบบนี้เกิดขึ้น ผมคิดว่ารัฐบาลควรจะชื่นชมสิ่งนี้ เพราะมันทำให้ประเทศไทยดีขึ้น เวลาที่คุณไปสนามบินสุวรรณภูมิ แล้วมีอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาให้แวะชม ได้เรียนรู้ รับเอามุมมอง และสนทนาแลกเปลี่ยนกัน นั่นเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม  ผมว่ามันน่าจะดีมาก ผมมาที่นี้หลายครั้ง (อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา) แต่เหมือนจะไม่มีใครรู้จักเลย เพราะไม่มีใครพูดถึงมันในระดับประเทศ และนั่นคือสิ่งที่อันตราย ถ้ารัฐบาลไทยล้มเหลวที่จะพูดถึงเรื่องนี้ ก็เป็นการสร้างภัยที่อันตราย อย่างในกัมพูชา คุณคิดว่าไม่เป็นไร แค่มีการฆ่าคนเวียดนามเพียงไม่กี่คน แต่มันลุกลามใหญ่ขึ้นๆ จนสายเกินไปที่จะหยุดมันได้

พวกเราส่วนใหญ่โน้มเอียงที่จะสนใจเรื่องชาตินิยม คุณก็จะกลายเป็นคนที่คับแคบ และมันจะนำไปสู่ความรุนแรง นั่นแหละคืออันตราย การทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องของชาติจะนำไปสู่ความขัดแย้ง บางครั้งเพราะโซเชียลมีเดียและอะไรพวกนี้ ทำให้ความขัดแย้งมันไปเร็วขึ้น

การทำงานชิ้นนี้ (วงสนทนาเรื่องพิพิธภัณฑ์สันติภาพ) จริงๆ แล้วมีส่วนในการป้องกัน และทำให้สังคมไทยดีขึ้น โดยการเชื่อมโยงสังคมไทยกับกัมพูชาซึ่งมีวัฒนธรรม ภาษา อาหาร และสิ่งอื่นๆ ที่เหมือนกัน  ประชาชนกับประชาชนที่ทุกข์ยาก ต้องการให้รัฐบาลที่อยู่ในความขัดแย้ง นำประชาชนมาเชื่อมโยงกัน เราทุกข์ทนจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แบบเดียวกัน ทุกข์กับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติแบบเดียวกัน นี่เป็นข้อความที่ชัดเจนที่ส่งไปยังรัฐบาลไทยและกัมพูชาซึ่งขณะนี้ต่างอยู่ในความขัดแย้ง

 


 


 


 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น