โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

'เจ็บปวด' หนังที่ไม่ถูกฉาย ได้รางวัลชนะเลิศ 'หนังน่าจะแบน'

Posted: 07 Sep 2013 01:11 PM PDT

เมื่อวานนี้ (7 ก.ย. 56) ที่ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีการฉายหนังสั้นที่เข้าประกวดและงานมอบรางวัล "หนังน่าจะแบน" โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 40 เรื่อง นอกจากนี้ในงานยังมีการฉายภาพยนตร์รับเชิญ "Spirit" ผลงานของ นนทวัฒน์ นำเบญจพลด้วย

และในเวลา 18.00 น. ได้มีการประกาศรายชื่อภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัล โดย "คณะลูกขุน" ของการประกวดหนังสั้น "หนังน่าจะแบน" ซึ่งมาจากผู้สนใจสมัครเป็นคณะลูกขุนผ่านการจับสลากจำนวน 7 คน ได้ตัดสินให้ "ไชโย" ภาพยนตร์โดย Lo: Production กำกับโดย ชนาธิป วงศ์พลตรี ได้รับรางวัล "ขวัญใจคนรักหนัง"

สำหรับรางวัลที่ได้รับการตัดสินจากกรรมการ "หนังน่าจะแบน" นั้น รางวัล "ภาพยนตร์เข้าตากรรมการ" จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ "There is no space for me พื้นที่จำกัดความ" ภาพยนตร์โดย Commetive Production กำกับโดย อนุสรณ์ สร้อยสงิม และ "เซียนพระ" ภาพยนตร์โดย Moustaches Picture กำกับโดย รชต รุ้งกมลพันธ์

ส่วนภาพยนตร์เรื่อง "ป้าสมมติไม่ได้อยู่สมุทรสาคร" ภาพยนตร์โดย ชินวร นงค์เยาว์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ "หนังน่าจะแบน"

และภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในการประกวดหนังสั้น "หนังน่าจะแบน" ได้แก่ "เจ็บปวด" ภาพยนตร์โดย อัคร ปัจจักขะภัติ หนึ่งในสองภาพยนตร์ที่เข้าประกวด ที่คณะกรรมการตัดสินใจไม่นำมาฉายในงานมอบรางวัล "หนังน่าจะแบน"

อัคร ผู้กำกับภาพยนตร์ "เจ็บปวด" ได้กล่าวหลังได้รับรางวัลว่า "โคตรแปลก รู้สึกแปลกมาก ขอบคุณมากจริงๆ ไม่คิดว่าจะได้รางวัล อยากให้มีการฉายให้ทุกคนได้ดูเพื่อจะได้พูดคุยแลกเปลี่ยน ถกเถียงกัน ขอขอบคุณ" และเขายังกล่าวด้วยว่า "หวังว่าจะมีพื้นที่ ที่มันเสรีกว่านี้"

อัครให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเพิ่มเติมถึงแนวคิดของภาพยนตร์เรื่อง "เจ็บปวด" ว่า "มีคีย์เวิร์ด 2 คีย์เวิร์ดใหญ่คือ คำว่า "รัก" และคำว่า "เจ็บปวด" โดยโยนคำถามไปที่ตัวภาพยนตร์ว่าความรักมักจะเรียกร้องความเจ็บปวดจริงไหม การแสดงออกถึงความรัก และการแสดงออกถึงความเจ็บปวด ประเด็นของหนัง ผมเริ่มตั้งคำถามตั้งแต่ตอนที่ผมสูญเสียคนใกล้ตัว ซึ่งผมสังเกตว่าคนรอบตัวผมล้วนเคยสูญเสียคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ พี่น้อง เพื่อนสนิท หรือแฟน แล้วเวลาเกิดขึ้นก็เจ็บปวด แล้วโลกมิติทุกอย่างในชีวิตมันพัง แต่เวลาเราผ่านมาได้มันก็ทำให้เราแข็งแรงขึ้น เลยนำประเด็นนี้มาทำเป็นภาพยนตร์ แล้วตั้งคำถามว่าถ้าเราสูญเสียเสาหลักในครอบครัว ของสังคมไป แล้วชีวิตเราจะเป็นอย่างไรต่อไป"

โดยภาพยนตร์เรื่อง "เจ็บปวด" ดังกล่าว เป็นหนึ่งในภาพยนตร์สองเรื่องที่คณะกรรมการตัดสินใจไม่นำมาฉายในงานมอบรางวัล "หนังน่าจะแบน" เนื่องจากไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรมและการตีความกฎหมายจากบรรทัดฐานคำพิพากษาที่ผ่านๆ มา และภาพยนตร์อีกเรื่องไม่ได้นำมาฉายในงานคือ "คิม" ภาพยนตร์โดยสรยศ ประภาพันธ์

สำหรับกิจกรรมฉายภาพยนตร์ที่เข้าประกวดและการมอบรางวัล "หนังน่าจะแบน" ดังกล่าว จัดโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ร่วมกับไบโอสโคป เครือข่ายคนดูหนัง และได้รับการสนับสนุนจาก หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘พงษ์เทพ-ธิดา-บก.ลายจุด-อนุสรณ์’ อภิปราย '40ปี 14ตุลา ถึงเวลาปฏิรูปปฏิรูปปฏิรูป'

Posted: 07 Sep 2013 11:59 AM PDT

คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ จัดเวทีอภิปราย "40 ปี 14 ตุลา ถึงเวลา ปฏิรูป ปฏิรูป ปฏิรูป" พงษ์เทพ เทพกาญจนา ธิดา ถาวรเศรษฐ์ สมบัติ บุญงามอนงค์ และ อนุสรณ์ ธรรมใจ ร่วมถก

7 ก.ย. 56 เวลา ที่ห้องราชา โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนิน คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ จัดเวทีอภิปรายหัวข้อ "40 ปี 14 ตุลา ถึงเวลา ปฏิรูป ปฏิรูป ปฏิรูป" โดยมีพงษ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง และ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต

0000

 

พงษ์เทพ เทพกาญจนา : ถ้าคนที่ขัดแย้งไม่ฟังกันก็จะขัดแย้งต่อไป

พงษ์เทพ เทพกาญจนา กล่าวว่า สิ่งที่เราได้เห็นช่วง 8 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงจากการที่เรามีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 40 แม้ไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่เป็นเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่ง แต่เกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจ ล้มรัฐธรรมนูญ จนได้รัฐธรรมนูญฉบับทายาทอสูรขึ้นมา สุภาษิตที่บอว่า "งาช้างไม่เคยงอกออกจากปากสุนัข" เช่นเดียวกันรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยก็ไม่เคยออกมาจากเผด็จการเช่นกัน ดังนั้นกลไกที่ออกมาก็เป็นกลไกที่เผด็จการสร้างขึ้น การลงประชามติไม่ถือเป็นการลง เพราะคนลงไม่มีทางเลือก เพราะถ้าไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับที่ลงประชามติก็มีการขู่ว่าก็จะหยิบเอาฉบับอื่นที่ไม่รู้ว่าฉบับไหนมาใช้แทน ทำให้คนไม่รู้ว่าเป็นอะไร ดังนั้นจึงไม่ถือว่าเป็นประชามติ

สิ่งที่เราเห็นคือ โครงสร้างกติกาต่างๆ สรุปได้ว่าอำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของประชาชนเป็นการวางโครงสร้างอำนาจที่อยู่กับองค์กรอิสระต่างๆ กติกาเหล่านี้ แม้แต่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเอง ตอนมาคุยกับคนอื่นระหว่างลงประชามติ ผู้ร่างเองก็บอกว่า "รับๆไปก่อนแล้วแก้ทีหลัง" ผู้ร่างคนหนึ่งก็ไปอยู่ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ตอนนี้ก็เงียบไปหมด

แต่เมื่อมีการจะแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งในสภาและนอกสภา ก็มีกระบวนการขัดขวางการแก้ไข อย่างไรก็ตามสิ่งที่เห็นในสภา แม้รู้สึกว่ามันแย่ แต่จะถามว่าจะสู้กับมันให้ตายไปข้างหรือเปล่า ซึ่งไม่คิดเช่นนั้น เราก็ต้องยอมรับว่าจะมีคนที่เห็นต่างจากเรา ก็ต้องอยู่ร่วมกัน แต่จะทำอย่างไรจะทำให้ประเทศไทย ขับเคลื่อนไปได้ จึงเป็นที่มาของเวทีปฏิรูป และคิดว่าจะเชิญเข้าร่วมอีกมาก โดยกลไกต้องมีเวทีที่หลากหลายเพื่อให้คนที่อยู่ในประเทศได้ฟังซึ่งกันและกันบ้าง ถ้าคนที่ขัดแย้งไม่ฟังกันก็จะขัดแย้งต่อไป

รวมทั้งที่ขัดแย้งกันนั้น หลายอย่างก็มีส่วนที่เห็นตรงกัน แต่ที่เกิดขึ้นคือเมื่ออยู่คนละเวที ต่างฝ่ายกัน พูดอะไรมาก็ตั้งธงไม่เห็นด้วยไว้ก่อน แต่เมื่ออยู่เวทีที่สบายใจ เราก็อาจจะพูดฟังกันได้มากขึ้น จึงมาเป็นเวทีปฏิรูปที่รัฐบาลตั้งขึ้น แต่ตัวจักรสำคัญขณะนี้ก็ยังไม่เข้ามาร่วม อย่งไรก็ตามเราก็พยายามเชิญอยู่

รัฐบาลไม่ได้มองถึงประโยชน์ของรัฐบาล แต่เรามองว่าอนาคตของประเทศที่มีศักยภาพ เราจะขับเคลื่อน AEC ก็จะมา ถ้าเราขับเคลื่อนประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ทุกคนจะมีที่ยื่น เสียงข้างมากนั้นไม่ใช่ไปไล่กระทืบเสียงข้างน้อย แต่มันต้องมีขอบเขตที่เราอยู่ร่วมกันได้

 

ธิดา ถาวรเศรษฐ์ : ผู้ถืออำนาจรัฐต้องยอมเปลี่ยน มิฉะนั้นจะเป็นเพียงปาหี่

ธิดา ถาวรเศรษฐ์ กล่าวว่า เวลาที่ผ่าน 40 ปี ตั้งแต่ 14 ต.ค.16 หมายถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ส่งผลให้เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองก็ต้องเปลี่ยนตาม ไม้แห่งการต่อสู้จากชนชั้นกลางระดับบนและล่างระดับหนึ่ง มาสู่มวลชนพื้นฐานรากหญ้า

หลายคนที่อยู่บนยอดพีระมิดส่วนบนของสังคมคิดว่าจะสามารถรักษาสถานะเหมือนหลัง 14 ตุลา ได้นั้น แต่ความเป็นจริงโลกเปลี่ยนแปลงและประชาชนก็เปลี่ยนแปลง หากไม่มีการปฏิรูป ดังนั้นอะไรก็เกิดขึ้นได้ สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง เป็นความขัดแย้งโครงสร้างรากฐานเศรษฐกิจและโครงสร้างชั้นบน เพราะเศรษฐกิจได้ก้าวไปสู่ทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ แต่การเมืองโครงสร้างส่วนบนยังไม่เป็นประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของ ประชาชนอย่างแท้จริง อันนี้เป็นการตอบคำถามว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะปฏิรูป

แต่จะปฏิรูปการเมืองอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ต้องการการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย และอุมดการณ์สังคมแบบเสรีนิยม ที่ยอมรับความคิดที่แตกต่างได้ แม้เศรษฐกิจนี้แม้มันไม่ดีแต่มันเป็นความเป็นความจริงที่ดำรงอยู่ และต้องการการเมืองที่ก้าวหน้ากว่านี้เพื่อให้ก้าวหน้าไปได้ ดังนั้นการเมืองการปกครองต้องปรับเปลี่ยน ดังนั้นเราต้องมีการเปลี่ยนแปลงอุมดการณ์และรูปการณ์จิตสำนึก และนิยามการปฏิรูปที่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ผู้ถืออำนาจรัฐยินยอมเปลี่ยนแปลง อาจเป็นปาหี่ก็ได้เหมือนที่รัฐบาลที่แล้วทำ

ปฏิรูปหลายตัวแล้วยังไม่ได้ผลนั้นจะกลายเป็น "ปฏิ" ตัวอื่นแทน เพราะตอนนี้โครงสร้างเศรษฐกิจขัดแย้งกับโครงสร้างการเมืองและระหว่างกลุ่มบุคคล คนบนยอดพีระมิดก็แบ่งกัน ชนชั้นกลางและมวลชนพื้นฐานก็ขัดแย้ง คน บนยอดพีระมิดกับมวลชนพื้นฐาน จากความขัดแย้งเชิงโครงสร้างและกลุ่มบุคคลนี้จึงส่งผลมากมาย ที่ก่อนหน้านั้นเป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างคนบนยอดพีระมิด แต่คราวนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประชาชนจำนวนมากที่มีความเชื่อแบะความคิดเห็น แตกต่างกัน ที่จะดำเนินการต่อไป เราถือว่าเป็นความขัดแย้งของชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมส่วนบนกับประชาชนส่วนใหญ่

หากเอาประเด็นคุณทักษิณเป็นความขัดแย้งหลัก เราก็จะก้าวข้ามความขัดแย้งไม่ได้ หรือคิดว่าคุณเปรมคุณทักษิณ 2 คนใส่แคปซูนยิงไป ถามว่าประเทศไทยจะขัดแย้งอยู่หรือไม่ ก็คิดว่ายังขัดแย้งอยู่ เพราะเป็นความขัดแย้งของกลุ่มชนชั้นนำส่วนบนที่ไม่ยอมคืนอำนาจให้กับประชาชน

และเราไม่รู้ว่ารัฐฐาลจริงใจหรือไม่กับการปฏิรูป แต่ในฐานะที่เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วเชิญทุกส่วนเข้าร่วม ดังนั้นเมื่อเชิญ นปช. ก็เข้าไป แต่ก็ไม่ได้เชื่อเท่าไหร่ เพราะเวทีนั้นเป็นเวทีชนชั้นนำ ที่มีอดีตนักการเมืองเหมือนมีบทบาทเป็นด้านหลัก ที่เกิดขึ้นมันคล้ายๆ เป็นเกมส์ของคนบนยอดพีระมิด ที่เข้ามานั้นต่างคนต่างเข้ามาเป็นการถอยคนละก้าวเพื่อการปรองดอง แต่สำหรับเราไม่เรียกร้องให้ถอย โดยสร้างอนาคตประเทศไทยไปด้วยกัน ว่าการเมือง เศรษฐกิจ สังคมจะเป็นแบบไหน

เราต้อการการเมืองการปกครงที่เป็นประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง  และเราไม่เอาประชาธิปไตยแบบไทยไทย ซึ่งเป็นวาทะกรรมของฝ่ายอนุรักษนิยมที่ไม่ต้องการคืนอำนาจให้กับประชาชนแล้วบอกว่าประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยแบบไทยไทย สิ่งที่เราคิดคือเราไม่ถอยหลังเนื่องจากประชาชนถูกกระทำมามากแล้ว เราต้องเดินหน้า ชนชั้นนำต่างหากที่ควรถอย

เราเสนอว่า เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เรายึดหลักสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค แต่สิ่งที่เขาไม่ยอมให้คือความเสมอภาค แม้กระทั้งสิทธิขั้นพื้นฐาน เมื่อไม่มีความเสมอภาคก็ไม่มีความยุติธรรม ดังนั้นเราต้องการเศรษฐกิจเสรี แต่มีการวางแผน เพื่อแก้ปัญหาความยากจน และแข่งขันในเวทีโลก

การปฏิรูปต้องถูกตรวจสอบ ยื่นเงื่อนไขและบีบจากประชาชน

ธิดา กล่าวต่อว่า การปฏิรูปนั้น มันต้องมาจากสำนึกของผู้ที่คุมกลไกอำนาจรัฐว่าจะมีการเปลี่ยนแลงหรือไม่ ถ้าไม่มีสำนึกมันก็ปาหี่ ดู รัฐบาลที่แล้วทีมีหลายคณะ คณะเหล่านี้เป็นคณะเดิมๆ ที่ทำให้ได้ทุกรัฐบาล แม้แต่รัฐบาลจากการรับประหาร ดังนั้นจะปฏิรูปได้นอกจากความจริงใจจากผู้มีอำนาจรัฐแล้ว ต้องถูกตรวจสอบและบีบบังคับจากประชาชน ไม่เช่นนั้นจะเป็นเพียงแค่ละคร

ประชาชนต้องเข้ามาควบคุม ดูแล ตวรจสอบ ยื่นเงื่อนไข ดังนั้นเวทีของประชาชนจึงเป็นเวทีที่สำคัญ เราจะทำเวทีนี้ที่โรงเรียน นปช. เราจึงคิดว่า ถ้าต้องการให้ประเทศนี้เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดี ไม่มีทางอื่นนอกจากประชาชนมาช่วยกัน ทั้งในการนำเสนอ ตรวจสอบ และกดดัน ถ้าเป้าหมายร่วมกัน ภาคประชาชนก็ร่วมมือกันได้

 

สมบัติ บุญงามอนงค์ : การขอแชร์อำนาจ

สมบัติ บุญงามอนงค์ กล่าวว่า พื้นที่ทางการเมืองในมิติหนึ่งเป็นการชิงอำนาจ เข้าคุมอำนาจรัฐกัน ไม่ว่าอำนาจจากการเลือกตั้งหรืออำมาตย์ มันทำให้เกิดการเกยกัน ขบกัน เมื่อระบบการเมืองผ่านตัวแทนมันเติบโตขึ้นมันก็ขบกันกับระบบอื่น ดังนั้นต้องดูว่าอย่างไหนมีความชอบธรรมกว่ากัน โดยใครที่พยายามกอดอำนาจ อำนาจที่อยู่ที่ใครมาก อย่างปรากฏการณ์อาหรับสปริงนั้นอำนาจมันรวมศูนย์มานาน ถ้ารวมอำนาจขนาดนั้น แต่โดยทิศทางของอารยธรรมมนุษย์แล้วไม่มีใครยอมให้ใครรวบอำนาจอย่างยาวนาน ทิศทางแล้วมันเป็นการคลายอำนาจที่อยู่ที่ตัวบุคคลกระจายไปสู่หลายคน มันเป็นทิศทางอย่าง 2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงจากอำนาจอยู่ที่คน 1 คน ไปสู่คนหลายคน 14 ตุลา เป็นการขอแชร์อำนาจของชนชั้นปัญญาชน แทนที่จะยอมให้ขุนศึกปกครองประเทศไปอยู่เหล่านั้น

เมื่อถึงปี 35 เกิดปรากฏการณ์ขอแชร์อำนาจอีกครั้งจากคนชั้นกลาง การเติบโตของชนชั้นกลางนั้น พวกเขาเชื่อมั่นในตัวเอง ทำการผลิตต่างจากคนทั้วไป และถือว่าเป็นคนแห่งอนาคต และพยายามบอกสังคมแห่งอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร ส่วนเสื่อแดงคือการเติบโตจากชนชั้นล่างที่โตขึ้น แรงงานที่ทำงานในชนบทที่เริ่มไปทงานในเมือง และสามารถสะสมทุน เริ่มเติบโตขึ้น หรือทำเกษตรก็ทำแบบที่มีการจัดการมากขึ้น คุณภาพใหม่ของชนชั้นนี้ก็ต้องการบอกว่าขอฉันด้วยอีก 1 เสียง แต่เมื่อมีคนไปขัดขวางสายธารนี้มันจึงเกิดความขัดแย้งกัน

หากสู้บนหลักการ เหลือง-แดง มีจุดร่วม

สมบัติ กล่าวว่า คนที่ไปขัดขวางหลักการนี้หรือฝ่ายตรงข้ามเสื้อแดง ไม่คิดว่าจะมีเพียงพวกอนุรักษนิยมทั้งหมด เสื้อเหลืองที่เป็นชนชั้นกลางต้องการการเมืองในระบบตัวแทนที่มีคุณภาพ แต่วิวัฒนการของระบบตัวแทนนั้น เขาเห็นว่าคนที่มาจากระบบนี้ยังไม่มีคุณภาพ ถ้าเราฟังเขาเราก็จะปฏิรูปร่วมกัน และคิดว่าเสื้อแดงไม่ได้ขัดแย้งอะไรกับประเด็นเหล่านี้โดยเฉพาะคุณภาพของนักการเมืองหรือการลดคอร์รัปชั่น คิดว่าเสื้อแดงก็ไม่ขัดแย้งกับความคิดหลักการนี้จึงเป็นหลักการร่วมได้ แต่เวลาสู้กันมันทำให้หลักกรมันเบลอ เพราะไม่ได้สู้บนหลักการแต่เป็นการสู้บนการเลือกข้าง

สร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย

สมบัติ กล่าวต่อว่า ความขัดแย้งโดยการนำของกลุ่มผู้นำทางอำนาจ ส่วนประชาชนเป็นเพียงคนไปสมทบการต่อสู้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับโครงสร้างความสัมพันธ์ เพราะเมื่อชนชั้นกลางโตขึ้นมันดันชนชั้นบน ขณะที่ดันนั้น คนข้างล่างที่ฐานใหญ่มากก็เริ่มขยับพร้อมกันก็ไปกระทบชนชั้นกลางและโครงสร้างส่วนบนสุด ปรากกฏการณ์นี้เวลาเกลี่ยกัน เราจัดการความขัดแย้งก็จะไปพูดแค่โครสร้างส่วนบน โดยเฉพาะในเรื่องกติกาการเข้าสู้อำนาจ แต้สิ่งที่ไม่ทำเลยคือวัฒนธรรมประชาธิปไตย ซึ่งเชื่อว่ารอบนี้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างส่วนบนนั้นต้องเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ข้างล่างเปลี่ยนแปลง

ท่วงทำนองแบบนักรบจะไม่ได้ประชาธิปไตย ถ้าจดจ่ออยู่แต่ชัยชนะ

สมบัติ กล่าวอีกว่า หลายปีที่ผ่านมาเราอยู่ในโหมดของการสู้รบกัน เราอยากรบชนะอีกฝ่าย แต่ไม่ได้สร้างประชาธิปไตย ควาขัดแย้งในรอบนี้เราผลิตนักรบจำนวนมากขึ้นมา เวลาเจอฝ่ายตรงข้ามก็ลุยกันเลย เราจดจ่ออยู่กับชัยชนะ แต่ตนนั้นไม่สนใจชัยชนะกลับจดจ่อกับการสร้างประชิปไตยมากกว่าว่าจะมีมาเมื่อไหร่เท่านั้นเอง แปลว่าฝ่ายโน้นจะสร้างประชาธิปไตย ถ้าเขาทำได้ก็เอา แต่มันก็ต้องมีการเถียง มีการแข่งกัน ใครดีใครถูกต้องกว่าฝ่ายยั้นก็ชนะ และถ้าเกิดเราแพ้ในการแข่งอย่างแฟร์ๆ แปลว่าสิ่งที่เขาเสนอมันก้าวหน้ากว่ามันดีกว่า เราก็ต้องทำ ผมไม่เห็นจะเสียหายอะไรเลยที่เราจะแพ้ ดังนั้นมันจึงไม่ใช่การแข่งกันว่าฉันจะชนะ ท่วงทำนองแบบนักรบนั้นผมกลัว เพราะถ้าเราชนะเราจะไม่ได้ประชาธิปไตย เราเราจะจดจ่อแต่ชัยชนะ

 

อนุสรณ์ ธรรมใจ : ปฏิรูปเศรษฐกิจ

อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีการปฏิรูปการเมือง ถ้าจะผลักดันให้แท้จริงต้องปฏิรูปทั่วด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ศาลยุติธรรม การศึกษา ศาสนา อย่างอื่นด้วยที่ไม่สามารถพูดได้ ณ เวลานี้  ประเทศไทยถึงจุดเปลี่ยนผ่านที่ไม่เฉพาะประเทศไทย แต่เป็นของระบบโลกทั้งโลกด้วย ถ้าเราสามารรถปฏิรูปได้ จะเป็นโอกาสของประเทศไทยที่คนจะมีคุณภาพที่ดีขึ้นประเทศจะเป็นประทศพัฒนาแล้ว

ในหลายประเทศ การปฏิรูปก็ล้มเหลว บางประเทศก็สำร็จ สำหรับประเทศที่ล้มเหลวก็จะเกิดการอภิวัฒน์สังคม แต่ถ้าปฏิรูปสำเร็จ เราก็จะเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ถ้าอภิวัฒน์นั้นจะมีการสูญเสีย เพราะเป็นการเอาโครงสร้างใหม่มาเปลี่ยน แต่ปฏิรูปเป็นการกระชับและจัดการกับโครงสร้างเดิม

มิติทางด้านเศราฐกิจนั้น เราจะสำเร็จเมื่อเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางเป็นเป้าหมาย แต่ถ้าทำเพื่อชนชั้นนำ จะไม่ยั่งยืน จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอีก เป็นเพียงการชลอปัญหา แต่ไม่ได้แก้ที่สาเหตุหรือรากฐาน

ต้องปฏิรูปให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ

อนุสรณ์ กล่าวว่า ต้องปฏิรูปให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจเพราะรับทราบว่ามีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมาก คน 20% กลุ่มแรกถือครองที่ดิน 90% ถ้าเป็นเช่นนี้คนส่วนใหญ่ไม่อาจมีชีวิตที่ดีได้

ความสามารถในการแข่งขัน เราเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลก ถ้าเราแข่งไม่ได้ก็จะมีปัญหา ดังนั้นเราต้องปฏิรูปให้แข่งขันได้ หากแข่งไม่ได้ผลประโยชน์ในสังคมมันไม่ใหญ่ขึ้น จึงแบ่งปันผลประโยชนในสังคมยาก เพราะถ้าเค้กก้อนมันเท่าเดิมก็จะแบ่งยาก แต่ถ้ามันใหญ่ขึ้นก็กระจายได้ง่ายและมากขึ้น

ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจนั้น เรื่องใหญ่สุดคือการปฏิรูปที่ดินและการถือครองที่ดินทั้งระบบ แต่เรื่องนี้ทำไม่ได้ถ้ารเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะต้องใช้อำนาจทางกฏหมายในการไปจัดรูปที่ดิน จากการที่มีที่ดินจำนวนมากอยู่ในกลุ่มคนเล็กๆ ที่ไม่อาจพูดถึงได้

สอง ต้องใช้กลไกภาษี ปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ทั้งภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก แต่ในระบบการเมืองปัจจุบันนั้นยากที่จะเกิดระบบภาษีนี้ได้เพราะถ้าออกก็จะกระทบต่อผู้ออกกฏหมายเองโดยตรง จึงยากจึงต้องเป็นการออกจากประชาชนหรือนักการเมืองที่คำนึกถึงประชาชนอย่างแท้จริง

สาม คือปฏิรูประบบสวัสดิการสังคม วันนี้คนไทยโดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ ไม่มีสวัสดิการดูแล แม้แต่ในระบบประกันนสังคมก็จะมีปัญหาในเรื่องความมั่นคงทางการเงินในอนาคตเพราะโครงสร้างประชากรเราเปลี่ยนแปลง เรากำลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ต้องมีการปรับโครงสร้างประชากร เพราะอัตราการเพิ่มของประชากร ตอนนี้ต่ำเกินไป เราจึงจำเป็นต้องเพิ่มอัตราการเกิด โดยอีกไม่กี่ปีนี้อัตราการพึ่งพิงสูง ระบบเศรษฐกิจมันจะเป็นขาลง วิธีการแก้ปัญหามีหลายทาง แต่ไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีคนโสด จริงๆ เราต้องไปส่งเสริมให้ครอบครัวที่มีศักยภาพที่มีลูกมีลูกเพิ่ม

การปฏิรูปภาคเกษตรกรรม ต้องจัดโซนนิ่ง เพิ่มผลผลิตต่อไร่หู้งขึ้น เพิ่มความสามารถในการผลิต เพิ่มบทบาทเกษตรกร เพื่อให้ต่อรองได้มากขึ้น ลดต้นทุนการผลิต ปท.พัฒนาแล้ว คนส่วนใหญ่อยู่ภาคบริการและอุตฯ แต่คนในภาพเกษตรฯมีผลิตภาพการผลิตสูง

การปรับโครงสร้าการผลิต ลดการใช้พลังงาน ใช้เทคโนโลมากขึ้น เพิ่มความสามารถการผลิตขอคนงาน เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดน เนื่องจากตลอดการพัฒนาเศรษฐกิจ ผู้ใช้แรงงานได้รับผล ปย. น้อยมาก บางปีไม่ขึ้น อยู่ยาก ดังนั้นไม่ต้องไปโทษผู้มีรายได้น้อยว่ามีหนี้ เพราะรายได้เขาไม่พอรายจ่าย และเขาต้องทำโอที และทำต่าง พท.  ปฏิรูปโครงสร้างพื้ยฐานทางเศรษฐกิจ ให้ทั่วถึง การลงทุน 2 ล้านล้าน ที่ต้องโปร่งใส และมีประสทธิภาพมากขึ้น

 

ธิดา ถาวรเศรษฐ์ (รอบ 2) อำนาจเป็นของประชาชนและเท่าเทียมกัน

ธิดา กล่าวว่า คนชั้นกลางหรือปัญญาชนไม่ค่อยให้เครดิต นปช. แต่บอกได้ว่าเรามีเนื้อหาหลักการ อย่างน้อยที่สุดมีแนวใหญ่ทางยุทธศาสตร์ร่วมกัน สิ่งที่นำเสนอไม่ว่าเป้าหมายประเทศไทยหรือกระบวนการ มาจากมติของ นปช.และการเดินสายทั่วประเทศ เรื่องเป้าหมาย คนชอบโทษว่าคนเสื้อแดงต้องการให้ประเทศเป็นระบอบสาธารณรัฐ ทั้งที่เราเขียนชัดเจน ว่าเราต้องการ "ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุข ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง"

การปฏิรูปเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นขั้นตอน เป็นทั้งเป้าหมายและเป็นกระบวนการ เป้าหมายคือ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยังไม่สิ้นสุด และเป็นกระบวนการที่เป็นขั้นตอน เราบอกชัดว่าเป้าหมายของเราคืออะไร ในขั้นนี้เราต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันที่จริงมติ นปช.คือยกเลิกรัฐธรรมนูญ 50 แล้วเขียนใหม่โดยประชาชน แต่เราก็เข้าใจความเป็นจริง รวมไปถึงกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมอื่นๆ กฎหมายบางฉบับที่มาตั้งแต่คณะรัฐประหารยังใช้อยู่จนปัจจุบัน รวมทั้งกลไกขององค์กรยุติธรรม องค์กรอิสระทั้งหลายที่มีที่มาจากการเหาะมา ฉะนั้น เวทีปฏิรูปมีชนชั้นนำอยู่ 60 กว่าคน เราก็แจกเอกสารนี้เหมือนกันกับเวทีนี้

เป้าหมายเราคือ การปฏิวัติหรืออภิวัฒน์ แต่เรายินดีที่จะใช้กระบวนการปฏิรูป แต่อภิวัตน์เราก็ไม่ได้ไปไกลมากไปกว่าอำนาจเป็นของประชาชนและเท่าเทียมกัน เพราะประชาชนไทยไม่เคยได้รับ แต่เราจำเป็นต้องให้กระบวนการสอดคล้องความเป็นจริง เราจึงไม่ได้เอาแต่นั่งเรียกร้องหรือโจมตีแต่เราต้องช่วยกัน

เวลานี้ต้องยอมรับความเป็นจริง เป็นฉากสำคัญมากว่า รัฐสภา รัฐบาลจะสามารถเดินหน้าได้ไหม เพราะตอนนี้มีคำฟ้องไปยังองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญเต็มไปหมด แล้วยังมีเกมมวลชนนอกรัฐสภาด้วยคือการกดดันโดยมวลชน สภาพที่เราเห็นเป็นการบ่งชี้ว่าต้องการให้เกิดเรื่องรุนแรง แล้วใช้วิธีการนอกรธน.มาเพื่อให้ยุติ เราไม่สามารถที่จะทำทุกอย่างที่เราต้องการได้ เรามีสิทธิจะฝันแต่การทำก็ต้องขึ้นอยู่กับความเป็นจริง ทั้งความจริงด้านประชาชนและความเป็นจริงด้านปฏิปักษ์กับประชาชน แต่ไม่ใช่เราจะถอยหลังหรือยอมแพ้ แต่เราก็ไม่ได้ต้องการชนะแบบทำสงคราม ขณะนี้ฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำในสภานั้นทำทุกวิธีประหนึ่งว่านี่คือสงครามครั้งสุดท้ายของเขา ทั้งที่มันไม่ชอบธรรม น่าเกลียด น่าอาย แต่ก็ทำเพราะขอให้ชนะเบื้องต้น เราจึงจำเป็นต้องใช้เหตุผลและสติปัญญาอย่างมากในช่วงเวลานี้ ทำอย่างไรให้สภาเดินหน้าได้ เกมมวลชนจะทำอย่างไร หลังครั้งที่ผ่านมาเราขอร้องไม่ให้มีการเคลื่อนไหวในลักษณะมวลชนเผชิญหน้ากัน และพี่น้องก็เข้าใจ แล้วเราก็ทำให้สังคมค่อยๆ เรียนรู้ไปด้วยกันว่าในสถานการณ์หนึ่งๆ ควรปรับตัวอย่างไร ที่จะทำให้ฝ่ายประชาชนเดินไปข้างหน้าได้

"เราอาจจะเดินช้า แต่เราไม่มีวันเดินถอยหลัง" ธิดา กล่าว

สิ่งที่เราเสนอ อยู่ในปริมณฑลของประชาธิปไตยและความยุติธรรม อยู่บนผลึกของความเสมอภาคและความเท่าเทียมกัน และเห็นด้วยที่หนูหริ่งได้อธิบายเรื่องปชต.วัฒนธรรม ปชต.ไม่ใช่รูปแบบการเมืองการปกครองอย่างเดียว มันเป็นทั้งวิธีการและเป้าหมายเหมือนกัน เป้าหมายคือการเมืองการปกครองในระบอบปชต. การเลือกตั้งเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ปชต.เป็นทั้งวิธีคิดและเป็นวิธีการ กระบวนการทำงาน คนเสื้อแดงเจ็บปวดกับการลงประชามติ รธน.50 รู้ว่าถูกโกงมากมาย เราแพ้แต่เรายอมรับ เพราะวิธีคิดของเราเป็นวิธีคิดของนักปชต.

ในครั้งนี้การแก้ทางการเมืองเป็นการแก้ที่ลำบากที่สุด เราจึงตั้งเวทีต่างหาก เพราะเราไม่อยากร่วมคณะเพื่อให้ถูกกลืน อันที่จริงหลายๆ คนก็อยากจะตั้ง สุริยะใส หมอประเวศ อมรา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ว่าจะทำ ไม่เป็นไรมันอยู่ที่จริงใจและให้ประชาชนมีส่วนร่วมหรือเปล่า ไม่ว่าใครจะแข่งไม่มีปัญหา เพราะจริงๆ จะพิสูจน์ว่าประชาชนจริงๆ อยู่ตรงไหน มีส่วนร่วมหรือเปล่า ประชาชนยอมรับไหม ในนปช.เดี๋ยวนี้ยากมาก เพราะเราใช้กระบวนการปชต. เพราะต้องเลือกตั้งปธ.ประจำจังหวัด ซึ่งยุ่ง มีปัญหา แต่เราก็ยังต้องอดทนใช้กระบวนการปชต.ให้มากที่สุดแม้มันจะยากลำบาก เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ ประธาน นปช.จังหวัดแล้วเพราะทะเลาะกัน แต่ใช้คำว่า คณะกรรมการประสานงาน

 

สมบัติ บุญงามอนงค์ (รอบ 2 ) โลกเปลี่ยนแปลงในอัตราเร่งที่สูงมาก

"หลุดจากรอบนี้ไปได้ ไม่วิ่งก็บิน" สมบัติ กล่าว

สมบัติ กล่าวว่า โลกมันเปลี่ยนเร็วมาก การปฏิรูปนี้มักมาจากประเด็นภายในประเทศ เป็นการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในประเทศ ขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงในอัตราเร่งที่สูงมาก อันเนื่องมาจากปัจจัยการผลิตในโลกนี้ไม่ใช่แค่เครื่องยนต์เหมือนสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ยุคนนี้อยู่ในยุคปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศ อัตราเร่งมากกว่าสิบเท่าตัว ปัจจัยภายในเรายังหยุดชะงักและขัดแย้งกันอยู่ ผมจึงบอกว่า ถ้าหลุดตรงนี้ไปได้ บินเลย ไม่ใช่วิ่งหรือเดิน โลกในยุคอนาคตไม่ใช่แบบนี้เลย ภาพที่ผมเห็นในทางการเมืองและสังคมไปไกลมาก ไกลกว่าทักษิณมาก ตอนนี้มัเนป็นช่วงท้ายของยุคปชต.แบบตัวแทน ระหว่าง ปชป.และทักษิณ เท่านั้นเอง เพียงแต่ทักษิณเป็นเวอร์ชั่นที่ก้าวหน้ากว่าปชป. แต่การเมืองที่ผมเห็นในอนาคตไม่ใช่แบบนี้ ไม่ใช่ ส.ส.แบบนี้ สภาแบบนั้น

ในการปฏิรูปทุกอัน การเปลี่ยนแปลงมาพร้อมสิ่งที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า ทุกครั้งเป็นแบบนั้น Great Reform ที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงการกลับมาของทักษิณ หรือการดำรงอยู่ของพรรคเพื่อไทย มันใหญ่กว่านั้นเยอะ สิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่เคยปรากฏในปัจจุบัน เพราะมันเป็นสิ่งใหม่ เป็นคุณภาพใหม่

"ผมไม่ได้พูดเล่น อยู่กันให้ถึงแล้วกัน" สมบัติ กล่าว

ปชต.หลังการปฏิรูปใหญ่มันคือปชต.แบบมีส่วนร่วม วันนี้เรารู้ว่ามันดี แต่เรายังเอามันมากินมาใช้ไม่ได้ ตอนนี้เราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านใหญ่ สิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนก่อนคือ พื้นฐานทางความคิด คุณต้องเชื่อก่อนว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ปัญหาคือ คนนอกห้องยังไม่เชื่อ เพราะคิดว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนแล้วเลือกคนบ้าๆ บอๆ มาเป็นผู้นำ เขาไม่เชื่อว่าประชาชนมีสมอง เรียนรู้ได้ ดังนั้น ต้องเริ่มกันตั้งแต่ก้าวแรกนี้เลย ต้องต่อสู้เรื่องความคิดเรื่องนี้เลย

ทำสงครามทางความคิด ความเชื่อ

สมบัติ กล่าวต่อว่า คำถามคือ หนึ่ง ผู้ปฏิบัติงานทั้งหลายที่เป็นมวลชนเสื้อแดงเชื่อหรือยังว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ถ้าเชื่อในประชาชนก็ไม่ต้องกังวล ไม่มียิ่งลักษณ์ ไม่มีทักษิณ จะล่มจมไหม ถ้าคุณเชื่อมั่นในประชาชนคุณไม่กลัวอะไรเลย และ สองคุณจะต้องรบทำสงครามทางความคิด ความเชื่อ กับคนที่ยังไม่เชื่อว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

เรามุ่งมั่นทำสิ่งที่เราเป็นอยู่ดีจริงหรือเปล่า และปชต.มันใจกว้าง ถ้าเราเป็นฝ่ายปชต.เราต้องใจกว้าง ฟังได้ เอาตลับเมตรวัดเลย เราเป็นพวกใจแคบหรือใจกว้าง ใหม่ๆ เราอาจแคบบ้างธรรมดา แต่ปชต.เป็นกระบวนการขยายขนาดของหัวใจ ฝึกฝนไปเรื่อยๆ เราจะเริ่มกว้างขึ้น เราไม่เห็นด้วยกับคุณแต่เราก็เข้าใจที่คุณคิด

"เมื่อก่อนใครแข็งแรงกว่า ชนะ แต่พ.ศ.นี้ บอกได้เลยว่า ใครฉลาด มีเหตุผลกว่า คนนั้นชนะ" สมบัติ กล่าว

พรรคการเมืองในปัจจุบันจะไม่ปรากฏในอนาคต เพราะการแก้ปัญหาต่างๆ จะใช้ประชาสังคม ปชต.แบบมีส่วนร่วม รัฐจะเล็ก แต่ใช้กระบวนการภาคประชาสังคม ประชาชนจะดูแลกันเอง

เสื้อแดงถ้าไม่ปรับตัว ขบวนการเสื้อแดงจะหายไปหลังปชป.พ่ายแพ้ เสียดาย เพราะมันจะเป็นกลไกเอาชนะกันระหว่างพท.กับ ปชป.เท่านั้น ถ้าเราปฏิรูปขบวนการเสื้อแดงเป็นภาคประชาสังคม ทำเรื่องอื่นด้วย เข้าสู่คุณภาพใหม่ ถ้าเราไม่เริ่มทำสิ่งเหล่านี้ วันหนึ่งเสือกชนะเร็ว

"เราอยากได้ระบบที่มีคุณภาพ อยากได้การแข่งขันที่ยุติธรรม และฝ่ายค้านที่มีคุณภาพ"  สมบัติ กล่าว

 

อนุสรณ์ ธรรมใจ(รอบ 2) ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ

อนุสรณ์ กล่าวว่า ประชาธิปไตยทางการเมืองไม่มีทางมั่นคง เข้มแข็งได้ ถ้าไม่มีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เพราะมีผลต่อกันค่อนข้างมาก

ธิดาได้พูดถึงความสัมพันธ์ทางการผลิต ถ้าความสัมพันธ์ในทางการผลิตเปลี่ยน ระบบสังคม ระบบการเมืองก็จะเปลี่ยนไปด้วย บางทีจุดเริ่มก็มักเริ่มจากเศรษฐกิจก่อน เพราะเป็นเรื่องปากท้อง

กรณีของไทย ตอนเราเปลี่ยนระบบการผลิตจากลักษณะกึ่งยังชีพเป็นผลิตเพื่อการค้า หลังทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ระบบการผลิตแบบนี้ผลักดันให้ชนชั้นปกครองปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย ระบบการคุมแรงงานแบบเดิมก็อยู่ไม่ได้ แต่การยกเลิกไพร่ทาสในประเทศไทยเป็นกระบวนการปฏิรูป หลีกเลี่ยงความสูญเสียได้ แต่ข้อด้อยของการเปลี่ยนแปลงแบบนี้คือ รากฐานจิตสำนึกยังอยู่เหมือนเดิม เพราะมได้เกิดแรงปะทะแรงกดดันครั้งใหญ่ แต่ของสหรัฐอเมริกานั้นต่างกัน การต่อสู้ให้ยกเลิกระบบทาศ ถึงขั้นเกิดสงครามการเมือง ไม่ได้เป็นผลจากอุดมการณ์ความคิด ความเชื่อในเรื่องความเท่าเทียมกันของมนุษย์เท่านั้นแต่เป็นผลทางเศรษฐกิจด้วย เพราะภาคใต้สมัยลินคอร์นเป็นพื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ต้องใช้แรงงานทาส ขณะที่ทางเหนือเป็นอุตสาหกรรมซึ่งต้องการแรงงานเสรี นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดการปะทะกันของผลประโยชน์ที่ต่างกัน บวกกับอุดมการณ์ที่ต่างกัน เจรจากันไม่ได้ก็รบกัน ในที่สุด สหรัฐอเมริกาก็ก้าวต่อไปได้ อยู่ที่ว่าแต่ละประเทศมีความเป็นมา แนวทาง เหตุปัจจัยต่างกันอย่างไร

การปฏิรูปไทยในสมัย ร. 5 กับการปฏิรูปญี่ปุ่นในสมัยเมจิ เปรียบเทียบกันได้ ทั้งสองประเทศนี้สำเร็จทั้งคู่ แต่ความสำเร็จที่ออกมามีจุดอ่อนจุดแข็งต่างกัน สมัยเมจิ ญี่ปุ่นเรื่องหลักที่สำคัญคอืการปฏิรูปการถือครองที่ดิน จักรพรรดิไม่ดต้องการมีที่ดินมากๆ ต้องการลดอำนาจโชกุน กระจายที่ดินหมด ทำให้เกิดความรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของประเทศ เกิดการสะสมทุน เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม

สำหรับของไทยปฏิรูปหลายด้าน แต่ไม่ได้ทำการปฏิรูปการถือครองที่ดิน เราดึงอำนาจสู่ส่วนกลางเพื่อลดอำนาจเจ้าเมืองในสมัย ร.5 ระบบที่รวมศูนย์อาจจะเหมาะกับไทยตอนที่เผชิญหน้ากับจักรวรรดิตะวันตก แต่พอให้หลังมาร้อยกว่าปีนั้นไม่เหมาะแล้ว จึงเกิดการอภิวัฒน์ 2475

ยกตัวอย่างให้เห็นการเปลี่ยนแปลง และทุกช่วงของการเปลี่ยนแปลงจะมีพลังที่ต้องการเปลี่ยนและพลังที่ต่อต้าน ซึ่งปะทะกันเสมอแล้วจะเกิดสิ่งใหม่ ซึ่งจะกลายเป็นสิ่งเก่าเมื่อเวลาผ่านไป  ทุกสังคมมีขั้นตอนของการพัฒนา มีการเปลี่ยนกลับไปกลับมาได้เสมอ เพราะเหตุปัจจัยต่างกัน ภววิสัย อัตวิสัยของผู้คนในสังคม ผู้นำต่างกัน

การเสนอให้ระบบเศรษฐกิจเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หมายถึงการลดอำนาจผูกขาดทางเศรษฐกิจเมื่อได้ผูกขาดทางเศรษฐกิจก็จะผูกขาดอำนาจทางการเมือง ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจยังหมายถึงเสรีภาพในกาประกอบการ อันที่สามคือ ความเสมอภาคในโอกาส ลูกหลานคนยากจนต้องได้รับสิทธิในการศึกษาอย่างดีที่สุดถ้าเขาเก่งพอ เขาเจ็บป่วยต้องเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ ซึ่งเชื่อมโยงกับการเข้าถึงปัจจัยการผลิต ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นจะเกิดความเข้มแข็งในด้านปชต.ทางการเมือง เราไม่อาจเรียกร้องประชาชนให้มีความเข้มแข็งได้ ถ้าเขายังอดมื้อกินมื้อ เมื่อเขามีฐานะที่ดีเขาก็มีเวลาหาข้อมูล ตรวจสอบนักการเมือง ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ ฉะนั้น ต้องผลักดันให้คนส่วนใหญ่ได้รับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเกี่ยวพันกับการปฏิรูปศก.ที่เสนอช่วงแรก

เรื่องพวกนี้เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาต่อสู้ยาวนาน เพราะมันคือการปฏิรูป ไม่ใช่การอภิวัตน์ แม้การอภิวัตน์ในอดีตก็เป็นเพียงด้านการเมือง แต่ไม่ได้อภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ เค้าโครงสมุดปกเหลืองไม่ผ่าน เนื้อหาบางเรื่องอาจไม่เหมาะกับปัจจุบันแต่อาจเหมาะกับช่วงเวลานั้น ถ้าทำสำเร็จความเป็นอยู่ของผู้คนน่าจะดีกว่านี้มาก 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความกลัวกับความอึมครึมด้านการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาไทย

Posted: 07 Sep 2013 08:56 AM PDT

จากประสบการณ์เชิงประจักษ์เกี่ยวกับการเรียนการในสถาบันการศึกษาของไทยโดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาแล้ว ทำให้ผมมีข้อสังเกตต่อเรื่องนี้ในบางประการ ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาในรูปแบบ มาตรฐานสากลด้วยแล้ว นับว่าระบบการศึกษาโดยเฉพาะระบบการเรียนการสอนของไทยสมควรนำมาพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งก่อนอื่นคงต้องยอมรับว่าเรากำลังพัฒนาการศึกษาเพื่อให้เข้าสู่ระเบียบสากล หาไม่เช่นนั้นการขวนขวายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาก็ไม่รู้จะทำกันไปทำไม

บรรยากาศของการศึกษาของไทยเต็มไปด้วยความกลัว ขณะที่สิ่งที่ควรจะเป็นในการศึกษาในขั้นอุดมศึกษา อย่างเช่น ผู้เรียนควรเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ กล้าวิพากษ์อย่างสมเหตุสมผล กลับไม่เป็นไปเท่าที่ควรจะเป็น ผู้เรียนและผู้สอนต่างก็ถูกเงื่อนไขของความกลัวครอบงำปราศจากความกล้าหาญทางวิชาการ

การศึกษาในสถาบันการศึกษาของไทยโดยมาก จึงเป็นไปในลักษณะที่ทั้งผู้เรียนและผู้สอนต่างมีความกลัวฝังหัว ไม่กล้าแสดงออกทางความคิดที่ตัวเองคิด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การนำเสนอข้อมูลทางวิชาการบางด้านบิดเบือนไปมากก็น้อย โดยเฉพาะวิชาการสายสังคมศาสตร์ (ที่อยู่ฟากตรงกันข้ามกับ สายวิทยาศาสตร์)  ยิ่งสถาบันการศึกษาใดอยู่ในแนวทางจารีตนิยม ความกลัวในการแสดงออก เชิงการวิพากษ์และการเสนอความเห็น จนเกิดความอึมครึมในสถาบันย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น  

ข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุของความกลัวในการแสดงความเห็นเชิงการวิพากษ์ด้วยเหตุและผลตามหลักหรือกระบวนการทางวิชาการ มีดังนี้

1.ผู้เรียนผู้สอนมีความรู้ไม่พอที่จะวิพากษ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ หากผู้เรียนและผู้สอนไม่พยายามแสวงความรู้ใหม่ๆ อย่างไม่หยุดหย่อน เพราะในโลกนี้มีความรู้เกิดใหม่ตลอดเวลาและเป็นไปอย่างรวดเร็วเสียด้วย หากสถานการณ์ของผู้เรียนผู้สอนเป็นอย่างนี้ ทั้งผู้เรียนหรือผู้สอนย่อมจึงเกิดความกลัวในการแสดงความเห็นต่อสาธารณะ การนำเสนองานวิชาการหรืองานวิจารณ์แสดงความเห็นโดยทั่วไปจึงไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถเข้าถึงความจริงในประเด็นต่างๆ

2.ระบบอุปถัมภ์ภายในสถาบันการศึกษาของไทย เป็นระบบที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงค่อนข้างมาก หมายถึงระบบเส้นสายในสถาบันการศึกษา เครือข่ายอุปถัมภ์ระหว่างผู้เรียน(นักศึกษา,นิสิต)กับผู้สอน (อาจารย์) หรือผู้บริหารมหาวิทยาลัย ทั้งสองฝ่ายสามารถอุปถัมภ์ซึ่งกันและกันตามแบบอย่างของวัฒนธรรมไทยโดยทั่วไป เมื่อเป็นดังนี้จึงทำให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอน ไม่กล้าแสดงออก โดยเฉพาะการแสดงออกเชิงการวิพากษ์ในแง่มุมวิชาการได้อย่างเต็มที่  เพราะความกลัวต่อระบบอุปถัมภ์ เช่น ผู้เรียนกลัว อาจารย์ผู้สอนจะกลั่นแกล้งเล่นงานเอา (ผ่านการกดเกรด หรืออื่นๆที่แย่กว่านี้) หากว่านำเสนอชุดความเห็นไม่ตรงกับความเห็นของอาจารย์ หรือแม้แต่ผู้บริหารของสถาบันการศึกษาก็เช่นเดียวกัน หากผู้เรียนเผลอหรือตั้งใจวิจารณ์เพื่อหาความจริงด้านวิชาการที่คาบเกี่ยวกับตำแหน่งและการบริหารงานของผู้บริหารคนนั้น หรือไปวิจารณ์คุณภาพการศึกษาของสถาบันการศึกษาก็อาจซวยทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

3.ปัญหาของผู้เรียนและผู้สอนที่โลกทัศน์แคบ ตีความ,วิเคราะห์และขยายความประเด็นทางด้านวิชาการไม่เป็น ซึ่งว่ากันตามจริงแล้วข้อนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากประสบการณ์เชิงประจักษ์ของทั้งผู้เรียนและผู้สอนที่มีไม่มากพอ ปัญหานี้เป็นกันมากในสถาบันการศึกษา หากผู้สอนมีโลกทัศน์แคบก็พลอยทำให้กรอบการเรียนการสอนพลอยแคบไปด้วย แม้ว่าผู้เรียนจะมีประสบการณ์เชิงประจักษ์มากมายเพียงใดก็ตามแต่ก็จะถูกจำกัดการถ่ายทอดความรู้ออกสู่สาธารณะ เช่น การนำเสนอความเห็นของผู้เรียนที่เกิดความกลัวต่อผู้สอนเนื่องจากความเห็นจากการตีความ การวิเคราะห์หรือการขยายผลไม่ตรงกัน เพราะผู้สอนคือ ผู้ควบคุมผู้เรียน เช่น ผ่านระบบการออกเกรดหรือให้คะแนน เป็นต้น ความกลัวดังกล่าวให้ความเห็นที่ควรแสดงต่อสาธารณะอย่างน้อยก็แสดงในห้องเรียนของผู้เรียนถูกปิดกั้นไปโดยปริยาย

การที่ผู้เรียนและผู้สอนมีโลกทัศน์แคบ ทำให้การตีความประเด็นหรือเรื่องที่เรียนแคบมาก ยิ่งการเรียนในระดับบัณฑิตศึกษา( ป.โท,ป.เอก) ด้วยแล้ว หากผู้เรียนหรือผู้สอนก็ตามมีประสบการณ์เชิงประจักษ์น้อย ก็จะทำให้การตีความแคบไปด้วย เราสามารถเรียกการตีความหรือการวิเคราะห์ดังกล่าวว่าเป็นการตีความแบบสูตรคูณ เพราะอาศัยการอ้างอิงแบบสูตรคูณที่แน่นอนตายตัว คือดึงข้อมูลที่มีอยู่เดิม ในลักษณะของสูตรตายตัวมาใช้ โดยไม่มีการพลิกแพลงตามบริบท เช่น บริบทเวลา บริบทสถานที่ บริบทสถานการณ์ เป็นต้น ผลงานหรือการแสดงความเห็นจึงทึ่มทื่อไม่ทันต่อการณ์ และความรู้ที่ได้ยังอยู่ในกรอบของความรู้ ไม่ใช่ความรู้ใหม่ ไม่กว้างและไม่รอบด้าน ซึ่งผู้สอนนับว่ามีบทบาทในการส่งเสริมผู้เรียน ในเรื่องนี้อยู่มาก หากผู้สอนตัดบทไม่ใจกว้างรับฟังความเห็นของผู้เรียนแล้ว เท่ากับเป็นการตัดโอกาสในการแสดงความเห็นที่หลากหลายมากขึ้นของผู้เรียนบางคน

4.อำนาจรัฐ ก่อให้เกิดความกลัวและความอึมครึมต่อการเรียนการสอนได้มาก โดยเฉพาะอำนาจรัฐที่มีไว้เล่นงานผู้ที่ชอบแสดงความเห็นเชิงวิชาการวิพากษ์รัฐ หรือแม้แต่การที่รัฐมีกฎหมายป้องกันรัฐหรือสถาบันสำคัญของรัฐ  ในเมืองไทยก็อย่างเช่น มาตรา 112 ทำให้การแสดงความเห็นทางวิชาการไม่อาจเป็นไปอย่างเต็มที่เพราะลึกๆแล้ว ผู้ที่แสดงความเห็นที่คาบเกี่ยวกับรัฐและสถาบันย่อมมีอาการประหวั่นเกรงกลัวอำนาจ(กฎหมาย) ที่รัฐมีอยู่ในมือและพร้อมที่จะใช้เล่นงานทั้งผู้เรียนและผู้สอนในสถาบันการศึกษาที่แสดงความคิดเห็นไม่ตรงกับรัฐ ซึ่งสำหรับประเทศไทย ความกลัวที่เกิดจากอำนาจรัฐได้ลดน้อยลงไปมาก แต่ความกลัวจากเล่นงานโดยกฎหมายบางประเภท เช่น มาตรา 112 ยังมีอยู่

5.ความอึมครึมจากการสุกเอาเผากิน ผู้เรียนหวังแค่ใบปริญญาไม่ได้หวังความรู้เพื่อให้ใกล้เคียงกับวัตถุประสงค์ของการศึกษาอย่างแท้จริง รวมถึงการใช้เงินปูทางไปสู่วุฒิทางการศึกษา เช่น การบริจาค ให้กับสถาบันการศึกษา หรือบริจาคให้กับอาจารย์ผู้สอนในกิจกรรมต่างๆทำให้การแสดงความเห็นทางวิชาการ หรือการแสดงความคิดเห็นเชิงเหตุและผลไม่สามารถเป็นไปอย่างเสรีหรือเต็มที่ได้ เพราะผู้เรียนไม่ได้ตั้งความหวังเรื่องความรู้มากนัก ขณะที่การบริจาคเงินก็มักปิดปากผู้สอนและผู้บริหารให้เงียบสนิท อย่างน้อยผู้สอนและผู้บริหารก็ไม่กล้าวิพากษ์ผู้เรียนอย่างตรงไปตรงมา เกิดการเกรงใจกันแบบไทยๆ ท้ายที่สุดความกลัวก็ยังคงอยู่ในห้อง เรียนหรือในสถาบันการศึกษาเหมือนเดิม

6. กลัวผิดต่อจารีต หรือความกลัวต่อการผิดต่อประเพณีของสถาบันการศึกษาและสถาบันสังคม หมายถึงผู้เรียนหรือผู้สอนไม่กล้าแสดงออกซึ่งความคิดเห็น เพราะเหตุของความกลัวต่อจารีตประเพณีของสถาบันการศึกษา บางสถาบันการศึกษาของไทยถึงกับอาศัยพิธีกรรมเพื่อเป็นเครื่องมือในการดึงความสนใจผู้เรียนและ บุคลากรของสถาบัน แต่เป็นการสร้างความสนใจที่ผิด เพราะพิธีกรรมหากมีมาก ก็ย่อมลดความขลังความศักดิ์สิทธิ์ลง  และพิธีกรรมได้กลายเป็นเครื่องถ่วงความก้าวหน้าเชิงวิชาการแบบที่เป็นเหตุเป็นผล รวมทั้งได้สร้างความกลัวแบบใหม่ให้เกิดขึ้น คือ ผู้เรียนกลัวว่าพิธีกรรมจะกลายเป็นเครื่องบีบบังคับให้ผู้เรียนและผู้สอนต้องใช้เวลามาซูฮกต่อพิธีกรรมดังกล่าวมากขึ้น ขณะที่หน้าที่ของผู้เรียนผู้สอน คือ งานความรู้และแสวงหานวัตกรรมความรู้ พิธีกรรมของสถาบันการศึกษาบางแห่งทำให้ผู้เรียนเสียเวลา และเกิดความกลัวในฐานะของการสร้างให้พิธีกรรมและจารีตครอบงำทั้งผู้เรียนและผู้สอน จนเกิดความอึมครึมในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น

ความกลัวและความอึมครึมในสถาบันการศึกษาของไทยยังคงมีอยู่ ตราบเท่ากลไกเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไม่ทำงานอย่างเต็มที่ เมื่อนั้นความหวาดระแวงกันและกันในสถาบันการศึกษาและหวาดระแวงต่อบุคคลและสถาบันภายนอกก็ยังคงแก้ไม่หาย สังคมไทยก็คงพูดแสดงความเห็นอะไรแบบตรงๆ ไม่ได้เหมือนเดิม เพราะดีไม่ดีก็อาจเป็นอันตรายต่อตัวผู้พูดวิจารณ์นั้นเอง หลายคนจึงหันมาวิธีการใช้เล่ห์เหลี่ยม เช่น การวางเฉยต่อปัญหา วางเฉยต่อประเด็นความรู้ รวมถึงอาศัยวิธีการชะเลียร์.

             

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: พุทธศาสนากับความเป็นมนุษย์

Posted: 07 Sep 2013 08:47 AM PDT

 
ปัญหาวัฒนธรรมการเรียนรู้พุทธศาสนาในบ้านเราคือการเรียนรู้แบบท่องจำตามตำราที่เรียบเรียงหรือแต่งขึ้นตามคัมภีร์อรรถกถา และพระไตรปิฎก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเดิมตามคัมภีร์อรรถกถาที่ตีความพระไตรปิฎกมาแล้วอีกชั้นหนึ่ง การเรียนรู้เช่นนี้มีลักษณะจับฉ่าย ท่องจำหัวข้อธรรมะเป็นข้อๆ หรือเป็นชุดๆ ที่กระจัดกระจาย ไม่เชื่อมโยง คนมีความรู้พุทธศาสนาคือคนที่จำหัวข้อธรรมะเป็นข้อๆ เป็นชุดๆ แต่ไม่สามารถวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของธรรมะเหล่านั้นให้เห็นความเป็นเอกภาพของเนื้อหาที่ทำให้เข้าใจความเป็นมนุษย์ คุณค่า และจุดหมายของชีวิตได้ชัดแจ้ง
 
พูดตรงๆคือเรียนรู้พุทธพุทธศาสนาไปแล้วไม่ได้ช่วยให้เข้าใจวิธีคิด หรือโลกทัศน์ ชีวทัศน์แบบพุทธที่สามารถประยุกต์กับสภาพปัญหาสังคมร่วมสมัยและความรู้สมัยใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
นอกจากนี้การเรียนแบบท่องจำอย่างขาดการวิเคราะห์วิพากษ์ ทำให้เกิดปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ แม้จะมีความรู้ทางพุทธศาสนา แต่แยกไม่ออกแม้กระทั่งว่าอะไรคือเรื่องราวเชิงตำนาน อะไรคือข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ จึงมีความพยายามจะยืนยันเรื่องราวเชิงตำนานให้ผู้คนยอมรับเสมือนว่าเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ดังคำอธิบายของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ว.วชิรเมธี เมื่อถูกถามถึงเรื่องราวเชิงตำนานว่าพระพุทธเจ้าเกิดมาแล้วเดินได้ 7 ก้าวจริงหรือ ว่า
 
การที่คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามว่า พระพุทธเจ้าเกิดมาเดินได้ 7 ก้าว มันเป็นไปได้อย่างไร อาตมาก็มีคำตอบให้...อาตมาก็ต้องถามกลับว่าดูอย่างวัวสิ มันเกิดมาภายใน 1 ชั่วโมง ลุกขึ้นยืน ดูดนมแม่แล้ววิ่งได้เลย ทำไมไม่ไปตั้งคำถามกับวัวบ้าง หรือแม้แต่หมาที่โยมเอามาถวายอาตมา วันหนึ่งมันกระโดดจากตลิ่งแล้วว่ายข้ามไปฝั่งโน้นได้ อะไรคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการเดินได้ทันทีของวัวและการว่ายน้ำได้ทันทีของหมา สิ่งนั้นเราเรียกว่า "ศักยภาพ" พระโพธิสัตว์ทุกองค์มีศักยภาพเหนือมนุษย์ ถามว่าทำไมทรงมีศักยภาพเหนือมนุษย์ ก็เพราะว่าพระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีมาแล้วตั้งกี่ชาติภพ คนที่บำเพ็ญบารมีมาอย่างนั้นพอถึงชาติสุดท้ายเกิดปุ๊บก็เดินได้เลย ทำไมจะทำไม่ได้ มันไม่ใช่ปาฏิหาริย์ที่พระพุทธเจ้าเดินได้ 7 ก้าว แต่เป็นเพราะท่านฝึกมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ฉะนั้นเกิดมาปุ๊บท่านก็เดินได้เป็นธรรมดา
(นิตยสาร Way สิงหาคม 2556 หน้า 77)
 
คนที่ผ่านการเรียนรู้วิชาตรรกวิทยาเบื้องต้นย่อมรู้ว่าการอ้างเหตุผลเปรียบเทียบของต่างประเภทกันเพื่อสรุปว่าเหมือนกัน ย่อมเป็น "เหตุผลวิบัติ" (fallacy) เพราะไม่สมเหตุสมผล (invalid) หรือใช้ไม่ได้ ในกรณีนี้ผู้ถามรู้อยู่แล้วว่าธรรมชาติของมนุษย์กับวัวนั้นต่างกัน เขาจึงไม่คิดแบบท่าน ว.วชิรเมธีว่า "ทำไมไม่ไปตั้งคำถามกับวัวบ้าง" เพราะเขารู้ว่าการเกิดมาแล้วเดินได้ทันทีเป็นธรรมชาติของวัว ไม่ใช่ธรรมชาติของคน เมื่อพระพุทธเจ้าเป็นคนแต่เรื่องราวเชิงตำนานเล่าว่าเกิดมาแล้วเดินได้ 7 ก้าวทันที คนเขาก็เห็นว่าผิดธรรมชาติของคน เขาจึงตั้งคำถาม
 
แต่คำตอบที่ว่า การเกิดมาแล้วเดินได้ทันทีเป็นศักยภาพของวัว หรือว่ายน้ำได้ทันทีเป็นศักยภาพของหมา พระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมีมามากนับภพชาติไม่ถ้วนเกิดมาแล้วก็มีศักยภาพเดินได้ทันทีเหมือนกัน ไม่เห็นแปลกเพราะวัวและหมาก็ยังทำได้ คำอธิบายทำนองนี้ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าตกลงพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีมามากเพื่อจะมีศักยภาพแบบวัวและหมาอย่างนั้นหรือ ศักยภาพแบบนี้มีความหมายอะไรต่อคุณค่าความเป็นมนุษย์ นี่คือตลกร้ายของคำอธิบายที่พยายามยืนยันเรื่องราวเชิงตำนานให้ผู้คนเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงทางประวัติศาสตร์
 
อย่างไรก็ตาม ปราชญ์ทางพุทธศาสนาท่านอื่นๆ มักอธิบายเรื่องราวเชิงตำนานว่าเป็นวิธีการเล่าเรื่องของปราชญ์โบราณที่นิยมผูกเรื่องราวเหนือธรรมชาติเพื่อสื่อความหมายบางอย่างทางศาสนา เพราะคนในสมัยนั้นชอบเรื่องทำนองนี้ แต่การผูกเรื่องของปราชญ์โบราณก็มีจุดประสงค์เพื่อซ่อน "ปริศนาธรรม" เอาไว้ เช่นท่านพุทธทาสอธิบายปริศนาธรรมนี้ว่า การเดินได้ 7 ก้าวใน "ภาษาธรรม" (ธรรมาธิษฐาน) หมายถึงธรรมะที่ทำให้ตรัสรู้เป็นพุทธะคือโพชฌงค์ 7 ประการ
 
คำอธิบายของท่านพุทธทาสจึงมุ่งประเด็นไปที่ "ความเป็นพุทธะ" ว่าเกิดขึ้นได้ด้วยการฝึกฝนตนเองในธรรม 7 ประการ ซึ่งความเป็นพุทธะก็คือความหมายของ "ความเป็นมนุษย์" ตามทัศนะของพุทธศาสนาที่มองว่า เราทุกคนมีศักยภาพที่จะตื่นรู้ความเป็นจริงของชีวิตและโลก สามารถดำเนินชีวิตเผชิญความเป็นจริงของชีวิตและโลกไม่ว่าด้านดีหรือร้ายด้วยปัญญาและกรุณา หรือด้วยความเข้าใจและความรัก
 
ความหมายของความเป็นมนุษย์ดังกล่าวนี้เป็นการยืนยัน "ความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์" คือยืนยันคุณค่าสากลที่มนุษย์ทุกคนมีร่วมกัน นั่นคือทุกคนเกิดมาต่างมีความเป็นพุทธะเป็นธรรมชาติด้านในของตัวเองเหมือนกัน ความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ดังกล่าวนี้คือรากฐานของศีลธรรมทางสังคมว่า เราทุกคนควรเคารพความเป็นมนุษย์ของกันและกัน และปฏิบัติต่อกันในฐานะที่เป็นคนเหมือนกัน โดยไม่ถือเรื่องชนชั้นวรรณะ เชื้อชาติ ศาสนา เพศ ผิว ฯลฯ มาเป็นเหตุให้เลือกปฏิบัติต่อกันอย่างไม่เท่าเทียม
 
หากการเรียนรู้พุทธศาสนาเน้นการทำความเข้าใจความหมายของความเป็นมนุษย์ดังกล่าวนี้ จนทำให้เราเห็นคุณค่า เชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ หรือศักยภาพของความเป็นพุทธะในตัวเอง เราก็จะเข้าใจต่อไปว่าเรามีชีวิตอยู่เพื่อบ่มเพาะความเป็นพุทธะให้งอกงามออกมาเป็นปัญญาและกรุณา โดยนัยนี้สังคมมนุษย์ที่พึงประสงค์ก็คือสังคมที่มีความสว่างทางปัญญาและมีความรัก ความปรารถนาดีต่อกัน
 
และแน่นอนว่าต้องเป็นสังคมที่มีเสรีภาพ เพราะเสรีภาพเป็นเงื่อนไขของความสว่างทางปัญญา เราต้องมีเสรีภาพที่จะพูดความจริงได้ ความว่างทางปัญญา (enlightenment) จึงจะเกิดขึ้นได้ สังคมที่ไม่มีเสรีภาพคือสังคมแห่งความมืด เพราะถูกครอบงำด้วยการโฆษณาชวนเชื่อในรูปแบบต่างๆ ที่ตั้งคำถามไม่ได้
 
น่าเสียดายที่วัฒนธรรมการเรียนรู้และการตีความพุทธศาสนาในบ้านเราไม่ได้ปลุกมโนธรรมสำนึกในการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมแห่งความสว่างทางปัญญา อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ตั้งข้อสังเกตว่า "มิติทางสังคมของพุทธศาสนาดูเหมือนที่ชัดเจนจะมีเพียงเรื่องเดียวคือเรื่องตีความพุทธศาสนายกย่องสถาบันกษัตริย์" พระเซเลบอย่าง ว.วชิรเมธีเคยพูดทางไทยพีบีเอสในสถานการณ์ที่ประชาชนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยว่า "สังคมไทยเอาพระราชอำนาจมา แต่ลืมเอาทศพิธราชธรรมมาด้วย" และว่า "เราบอกว่าอำนาจเป็นของประชาชน แต่ลืมตั้งคำถามว่าประชาชนมีศักยภาพที่จะใช้อำนาจนั้นหรือยัง"
 
ต่างจากทรรศนะขององค์ทะไลลามะที่เปี่ยมด้วยพลังแห่งมโนธรรมสำนึกในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ความยุติธรรม ดังที่ท่านกล่าวว่า
 
เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความอยุติธรรม หากผู้ปฏิบัติศาสนธรรมเลือกที่จะปล่อยวางแล้วอยู่เฉยๆ นั่นย่อมไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องแน่ๆ เราต้องกล้าที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานั้น ประเด็นสำคัญอยู่ที่เราจะเผชิญกับความโกรธอย่างไรมากกว่า...มีความโกรธอยู่สองชนิดด้วยกัน ชนิดหนึ่ง คือความโกรธที่ปรากฏขึ้นจากความกรุณา ความโกรธในลักษณะนี้มีประโยชน์ หากความโกรธถูกขับเคลื่อนด้วยความกรุณา หรือความปรารถนาที่จะให้ความไม่เป็นธรรมนั้นหมดไปโดยไม่ไปทำร้ายคนอื่น นั่นถือเป็นความโกรธที่ดีที่เราควรมี ความโกรธเช่นนี้จะปลุกเร้าพลัง ความมุ่งมั่น ความชัดเจน และการกระทำอันไม่ลดละในการต่อสู้เพื่อขจัดความไม่เป็นธรรมนั้นให้หมดไป
(จาก The (Justifying) Angry Marxist: Interview with the Dalai Lama:
ที่มา Tilopa House: facebook)
 
ความโกรธเป็นอีกมิติหนึ่งของความเป็นมนุษย์ ทรรศนะเชิงวิพากษ์ขององค์ทะไลลามะทำให้เราเห็นว่าความโกรธไม่ใช่สิ่งเลวร้ายน่ารังเกียจเสมอไปหากเป็นความโกรธต่อความอยุติธรรมและถูกขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งความกรุณาที่ต้องการขจัดความอยุติธรรมนั้น
 
น่าเสียดายที่วัฒนธรรมการเรียนรู้และการตีความพุทธศาสนาในบ้านเรา ไม่ได้สร้างวิธีคิดเชิงวิพากษ์  ไม่ได้ส่งเสริมความเป็นมนุษย์ที่มีความเสมอภาค เสรีภาพ ไม่ได้สร้างการตื่นรู้เพื่อให้เกิดความสว่างทางปัญญา และปลุกมโนธรรมสำนึกในการขจัดความอยุติธรรมทางสังคมเท่าที่ควรจะเป็น
 
 
 
หมายเหตุ : เผยแพร่ในโลกวันนี้วันสุข  (7-13 ก.ย.2556) 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นายกย้ำเสียงส่วนใหญ่หนุนอุ้มราคายาง 90 บาท/กิโลกรัม วอนผู้ชุมนุมเลิกปิดถนน

Posted: 07 Sep 2013 08:47 AM PDT

7 ก.ย. 56 - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีเกษตรกรบางคนยังไม่พอใจข้อตกลงที่รัฐบาลจะตรึงราคายางพาราที่ 90 บาทต่อกิโลกรัม และเตรียมยกระดับการชุมนุมในวันที่ 14 ก.ย.นี้ ว่า ต้องเรียนประชาชนและพี่น้องชาวสวนยางถึงผลประชุมระหว่างคณะกรรมการแก้ปัญหาราคายางพาราและตัวแทนเกษตรกรตัวจริงทั้งหมดมาพูดคุยเมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบกับตัวเลข 90 บาท ตัวเลขที่ให้นั้นเป็นตัวเลขที่รัฐบาลพยายามเต็มที่แล้ว จึงขอความกรุณาประชาชนด้วย และจากนี้จะให้คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ไปหารือทางผู้ว่าราชการจังหวัดไปทำความเข้าใจกับเกษตรจังหวัด เพื่อดำเนินแนวทางปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือต้นน้ำก่อน จากนั้นจะเร่งแก้ปัญหาในระยะยาวในส่วนของกลางน้ำและปลายน้ำต่อไป
 
เมื่อถามย้ำว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอย่างไรกับการที่เกษตรกรบางกลุ่มที่นัดชุมนุมในวันที่ 14 ก.ย. และอาจปิดด่านสินค้าสำคัญ อาทิ ด่านสะเดา จ.สงขลา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปหารือกับพี่น้องกลุ่มที่ยังมีความเห็นที่ไม่ตรง และอยากขอความกรุณาให้มาพูดคุยกันว่าขาดทุนตรงไหน ให้เอาตัวเลขขาดทุนมาคุยกันดีกว่า
 
"ขอความกรุณาประชาชนว่าเรามีกลไกในการพูดคุยแล้ว หวังว่ากลไกนี้จะช่วยกันทำงาน ไม่อยากให้นำไปสู่การปิดถนนหรืออะไรก็ตาม เพราะอยากให้ประเทศมีความเชื่อมั่นและมีบรรยากาศที่ดี"น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
 
เมื่อถามว่าแสดงว่ารัฐบาลจะไม่ทบทวนตัวเลขราคาเพิ่มจาก 90 บาทแล้วใช่หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ต้องย้ำว่าการหารือร่วมกันที่มีเกษตรกรตัวจริงทั้งหมดมาร่วมครบทุกกลุ่มแล้ว จึงขอความกรุณาอยากให้ฟังเสียงส่วนใหญ่ เพราะเราเชื่อว่าราคาจริงๆที่ผ่านมา แต่ไม่ใช่ราคาที่สูงเหมือนอดีตที่ผ่านมา แต่หากให้ตัวเลขที่สูงเกินไปเกรงว่าในระยะยาวจะดำเนินอุตสาหกรรมนี้ได้ลำบาก เนื่องจากวันนี้เราต้องการสนับสนุนให้ใช้ยางธรรมชาติมากขึ้นกว่ายางสังเคราะห์ แต่ถ้าราคาส่วนต่างยางธรรมชาติมากกว่ายางสังเคราะห์สุดท้าย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวสะเอียบหวั่นภาครัฐขนคนปาหี่ ประชาพิจารณ์

Posted: 07 Sep 2013 08:28 AM PDT

 
 
ชาวบ้านสะเอียบ ร่วมกันสร้างเพิงที่พักเฝ้าระวังรัฐภัยเพิ่มขึ้นอีก 2 จุด หลังจากทราบกระแสข่าวการผลักดันเขื่อนยมบน (ดูภาพเพิ่มเติม)
 
7 ก.ย.56 - ชาวบ้านสะเอียบ ร่วมกันสร้างเพิงที่พักเฝ้าระวังรัฐภัยเพิ่มขึ้นอีก 2 จุด หลังจากทราบกระแสข่าวการผลักดันเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง โดยนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีและประธาน กบอ. ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ระดมพลนับหมื่น เพื่อจัดเวทีประชาวิจารณ์ ที่จังหวัดแพร่ เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลปกครอง
 
นายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ตนได้ทราบข่าวจากพักพวกที่อยู่ตำบลเตาปูนว่า ทางกรมชลประธานได้เข้าไปกล่อมให้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลเตาปูน อ.สอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนยมล่าง ที่ห่างจากตำบลสะเอียบออกมาเพียง 5 กิโลเมตร แต่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนยมล่าง จะทะลักท่วมเข้าไปยังป่าสักทองในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม ต.สะเอียบ อ.สอง ถึง 34.5 กิโลเมตร ไปจนถึงบ้านดอนชัยสักทอง และท่วมที่ทำกินของชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้าน อันเป็นเหตุให้ชาวบ้านตำบลสะเอียบ ต้องยืนยันคัดค้านเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างเช่นเดียวกันกับที่เคยคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่มีมายาวนานกว่า 24 ปี
 
นายสมมิ่ง ยังได้กล่าวว่า "ทางกรมชลประทานได้เลือกจุดที่จะสร้างเขื่อนยมล่างห่างจากตำบลสะเอียบออกมา 5 กิโลเมตร เพื่อหวังว่าชาวสะเอียบจะหมดความชอบธรรมในการคัดค้าน และง่ายต่อการไปทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ตำบลเตาปูน ทั้งยังไปหลอกให้ชาวบ้านเตาปูนให้สนับสนุนเขื่อน โดยจะผันน้ำขึ้นไปใส่อ่างแม่สอง จะได้ทำนาได้ทั้งปี อันเป็นการสร้างความแตกแยกให้กับชาวบ้านทั้งสองตำบล ตนจึงขอให้ทั้งนายปลอดประสพ และกรมชลประทาน ยุติพฤติกรรมการสร้างความแตกแยกให้กับชาวบ้านทั้งสองตำบล และไม่ควรสร้างความหวังลมๆแล้ง ให้กับชาวบ้าน ต.เตาปูน" นายสมมิ่งกล่าว
 
อีกทั้งสายข่าวในจังหวัดแพร่ยังแจ้งมาว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ได้สั่งการให้ระดมคนแพร่นับหมื่นคนมาร่วมสนับสนุนโครงการเขื่อนยมบนและเขื่อนยมล่าง ในเดือนกันยายนนี้ แต่ยังไม่ทราบกำหนดการ วันเวลา สถานที่ ที่ชัดเจน ตามคำสั่งของนายปลอดประสพ ที่มาตรวจราชการจังหวัดแพร่ เมื่อเดือนที่ผ่านมา เพื่อให้ครบขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลปกครอง
 
เมื่อชาวบ้านสะเอียบได้ทราบข่าว ชาวบ้านจึงได้มีมติให้สร้างเพิงที่พักเพื่อเป็นจุดเฝ้าเวนยามระวังรัฐภัย และเพิ่มเวนยามให้มากขึ้น เพื่อป้องกันผู้ไม่หวังดีที่จะเข้ามาสำรวจจุดหัวงานการสร้างเขื่อนตามนโยบายของ กบอ. โดยได้เพิ่มจุดเวนยามที่บริเวณสวนป่าแม่แฮด ที่เป็นจุดหัวงานของเขื่อนยมล่าง และที่บริเวณบ้านสามหลัง ทางเข้าหัวงานเขื่อนแก่งเสือเต้น จากเดิมที่มีอยู่แล้วสองจุดเป็นสี่จุด
 
ด้านนายสมาน สร้อยเงิน ชาวบ้านบ้านดอนชัยสักทอง หมู่ 9 ต.สะเอียบ กล่าวว่า "เราต้องเพิ่มจุดเฝ้าระวังให้มากขึ้น เพื่อปกป้องชุมชนของเรา ปกป้องป่าสักทองเพื่อคนไทยทั้งชาติ พวกเราทุกบ้านทุกหลังคาเรือนต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเฝ้าเวนยาม ต้องออกค่าใช้จ่ายกันเอง ห่อข้าวมากินกันเอง ถ้าเราไม่ทำวันนี้วันหน้าเราอาจทุกข์หนักมากกว่านี้ อยากบอกให้นายปลอดประสพ และ กบอ. เปลี่ยนใจ ยุติการสร้างเขื่อนเสีย หันมาใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง 12 แนวทางตามที่ชุมชนสะเอียบเราเสนอ จะได้ไม่ทำลายธรรมชาติ ไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และยังเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านและชุมชนอีกด้วย" นายสมาน กล่าว
 
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการเชิญตัวเจ้าหน้าที่ Google Maps Street View ไปสาบานว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสำรวจเขื่อนนั้น เป็นอย่างไรบ้าง นายวิชัย รักษาพล ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน บ้านดอนชัย ต.สะเอียบ กล่าวว่า "จากการตรวจสอบของเราพบว่าเมื่อ Google ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสำรวจเพื่อการสร้างเขื่อน เราก็ได้ออกแถลงการณ์ขอโทษไปแล้ว และหวังว่าสังคมจะเข้าใจเรา เพราะในพื้นที่มีความตรึงเครียดจากการคุกคามของภัยเขื่อนเป็นอย่างมาก ส่วนสังคม online จะด่าว่าอย่างไรเราก็ขอน้อมรับ แต่เราก็ขอความเห็นใจว่าเราต้องปกป้องป่าสักทอง ปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนของเรา และคงต้องใช้มาตรการสะเอียบ กฎระเบียบของชุมชนของเราต่อไป" นายวิชัย กล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ชาวสะเอียบได้มีการอบรมซักซ้อมหน่วยเวนยามในการใช้ท่าทีที่อ่อนน้อม ในการเข้าไปสอบถามผู้คนหรือหน่วยงานที่ผ่านเข้ามายังจุดที่ชาวบ้านเฝ้าเวนยามอยู่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความเข้าใจผิด และยืนยันที่จะใช้มาตรการสะเอียบ ซึ่งเป็นกฎระเบียบของชุมชนต่อไปอย่างเข้มแข็ง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวบ้านเลยเตรียมบุกเวที "ทุ่งคำ" ค้านขยายเหมืองทองซ้ำรอยมลพิษ ไม่หวั่นใช้กำลังสลาย

Posted: 07 Sep 2013 08:15 AM PDT

ชาวบ้านเลยทำบุญใหญ่ให้แผ่นดินแม่ เผยเตรียมบุกเวที "ทุ่งคำ" 8 ก.ย. นี้ ค้านขยายเหมืองทอง ยันก่อมลพิษชาวบ้านเจ็บป่วย ไม่ยอมให้ซ้ำรอยอีกต่อไป ประกาศสู้ไม่ยอมถอยแม้ตำรวจ-ทหารกว่า 2,000 เตรียมสลาย

 
 
 
7 ก.ย. 56 - เมื่อเวลาประมาณ 7.00 น. ชาวบ้านในนาม "กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด" กว่า 200 คนจาก 6 หมู่บ้าน ใน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหมืองทองคำของบริษัททุ่งคำ จำกัด ได้รวมตัวกันบริเวณทางแยกเข้าเหมืองทอง เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาทำบุญให้แผ่นดินแม่ และประกาศเจตนารมณ์คัดค้านการขยายเหมืองทอง ปกป้องทรัพยาธรรมชาติของชุมชน โดยใช้ชื่องานว่า "ทำบุญภูทับฟ้า ต่อชะตาภูซำป่าบอน หาบคอนภูเหล็ก" พร้อมทั้งยืนยันจะสู้ไม่ถอยหากบริษัททุ่งคำยังคงดื้อดึงขยายเหมืองต่อไป
 
ทั้งนี้ ในวันรุ่งขึ้น (8 ก.ย.) ทางบริษัททุ่งคำ จำกัด  จะมีการจัดเวที "ประชุมรับฟังความคิดเห็นและกำหนดขอบเขตแนวทางการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ" หรือ Pubic Scoping (ค.1) ขึ้นที่ ศาลาการเปรียญวัดโพนทอง บ้านหัวนา ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำ "รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)" เพื่อประกอบคำขอประทานบัตรเพิ่มเติม(คำขอประทานบัตรที่ 76/2539) ในพื้นที่ ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย เพื่อทำโครงการเหมืองแร่ทองคำ ทองแดง และเงิน  ซึ่งทาง "กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด" ได้เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า แม้จะทราบมาว่าได้มีการเตรียมกำลังตำรวจ-ทหารจำนวนมากเพื่อสกัดไม่ให้พวกตนเข้าร่วมเวที ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าบริษัทไม่มีความจริงใจที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง แต่พวกตนก็จะยังคงยืนยันจะไปแสดงจุดยืนคัดค้าน และไม่ยอมถอยอย่างเด็ดขาด แม้ว่าอาจจะมีการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมก็ตาม
 
โดยนายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ ตัวแทน "กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด" ได้กล่าวว่า "ประสบการณ์ที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดถูกทหาร-ตำรวจกว่า 2,000 นายพร้อมด้วยรถบรรทุกของเหมืองและรั้วรวดหนามกีดกันไม่ให้เข้าร่วมเวที Public Scoping ประกอบการขอขยายเหมืองทองที่ภูเหล็ก (แปลง 104/2538) เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555 ได้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าบริษัททุ่งคำไม่มีความจริงใจในการให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และที่แย่กว่านั้นคือหน่วยงานรัฐเองก็เอื้ออำนวยให้บริษัททำไม่ถูกต้องเช่นนี้" 
 
"เราจะไม่ยอมให้เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นอีกในเวทีวันพรุ่งนี้ และกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดประกาศเจตนารมณ์จะไม่ถอยอย่างเด็ดขาด แม้มีความพยายามปล่อยข่าวเพื่อข่มขู่ว่าหน่วยงานรัฐได้เตรียมกองกำลังจำนวนมากดังเช่นคราวที่แล้วเพื่อกีดกันไม่ให้กลุ่มเข้าร่วมเวทีในวันพรุ่งนี้ และอาจถึงขั้นใช้กำลังเพื่อสลายการชุมนุม" นายสุรพันธ์กล่าว
 
 
ขณะที่นางระนอง กองแสน ชาวบ้านหมู่ 3 บ้านนาหนองบงคุ้มน้อย ได้อธิบายถึงเจตนารมณ์และที่มาของการจัดงานทำบุญใหญ่ให้แผ่นดินแม่ว่า ชื่องานมีความเกี่ยวเนื่องกับ 3 ภูเขาหลักของชุมชน ได้แก่ ภูทับฟ้า ที่กำลังถูกทำร้ายมากที่สุดจากการทำเหมืองทองจนไม่เหลือความเป็นภูเขาแล้ว ทั้งยังมีโรงถลุงแร่และบ่อไซยาไนด์ตั้งอยู่เป็นต้นตอก่อมลพิษต่อชุมชน ส่วน ภูซำป่าบอน นั้นได้โดนขุดเอาแร่ไปบางส่วนแล้ว ซึ่งปัจจุบันใบอนุญาตการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าหมดอายุและมีคำสั่งให้เหมืองออกจากพื้นที่ไปแล้ว แต่บริษัทก็ยังไม่ยอมทำการฟื้นฟูสภาพนิเวศน์ และภูเขาลูกที่ 2 คือ ภูเหล็ก ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ติดกับภูทับฟ้านั้น บริษัททุ่งคำพยายามขอประทานบัตรเพิ่มเติมมาหลายปีแล้ว
 
"ภูทั้งสามของชุมชนเราโดนเหมืองทองทำร้ายมานานหลายปี และบริษัททุ่งคำยังไม่ยอมหยุดความโลภ พยายามขยายการทำเหมืองไปยังพื้นที่รอบๆ โดยในวันพรุ่งนี้ก็กำหนดจัดเวทีรับฟังความเห็นเพื่อขอทำเหมืองเพิ่มเติมในพื้นที่ ต.นาโป่ง ทั้งที่ชาวบ้านที่นั่นยังไม่เข้าใจถึงผลกระทบจากการทำเหมืองทองอย่างแท้จริง ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านใน ต.เขาหลวง เสียน้ำตามามากกับความโหดร้ายและไม่แยแสของบริษัททุ่งคำและหน่วยงานรัฐ และจะไม่ยอมให้เหมืองทองทำร้ายชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมไปมากกว่านี้ ทั้ง 6 หมู่บ้านได้นัดแนะรวมตัวกันเคลื่อนไปคัดค้านการจัดเวทีของเหมืองในวันพรุ่งนี้อย่างแน่นอน" นางระนองกล่าว
 
ด้านพระอาจารย์ประเสริฐ จากวัดป่านาหนองบง ได้กล่าวระหว่างการเทศนาธรรมหลังการทำบุญตักบาตรว่า "วันนี้พวกเราไม่ได้มารบ แต่มารวมตัวกันปกปักรักษาบ้านเกิด แผ่นดินเกิดของเรา เพราะเมื่อมีเหมืองก็ทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วย มีแต่ความทุกข์ ทำให้ในน้ำและอาหารมีสารพิษปนเปื้อน การดับทุกข์ที่แท้จริง เหมืองควรเอาไซยาไนด์คืนไปและเอาทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ของชาวบ้านคืนมา เอาทองคำคืนไว้ใต้ผืนแผ่นดิน"
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา

Posted: 06 Sep 2013 10:48 PM PDT

"แน่นอนว่าทุกคนก็อยากให้มีการปกป้องดูแลองค์กร แต่ว่าการปกป้องดูแลองค์กรต้องไม่ทำให้เกิดภาพลบต่อองค์กรเองและต้องไม่มีลักษณะปิดกั้นเสรีภาพการนำเสนอข่าวสารของสื่อหรือนักวิชาการ โดยเฉพาะสื่อหรือนักวิชการที่ตรวจสอบองค์กรตัวเอง เพราะจะดูเหมือนเป็นลักษณะของผลประโยชน์ขัดแย้งกัน"

6 ก.ย.56 หนึ่งใน กทค.ที่ไม่ได้ร่วมฟ้อง 'เดือนเด่น-ณัฏฐา'

ศอ.บต.มอบเงินเยียวยาเหยื่อตากใบรวม 766 ราย

Posted: 06 Sep 2013 10:41 PM PDT

 

ศอ.บต.มอบเงินเยียวยาผู้ถูกคุมตัวแต่ไม่ถูกดำเนินคดีจากเหตุตากใบ 6 ครั้ง รวม766 ราย รายละ 15,000 บาท

 
เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2556 ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานในพิธีมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการควบคุมตัวจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่อำเภอตาก จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 แต่ไม่ถูกดำเนินคดี จำนวน 205 คน คนละ 15,000 บาท
 
นางสาวซาราห์ บินเย๊าะ ผู้อำนวยการสำนักการให้ความช่วยเหลือเยียวยา ศอ.บต. กล่าวรายงานว่า การมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 จำนวน 204 ราย เป็นเงิน 3,075,000 บาท แยกเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากจังหวัดนราธิวาส ได้แก่ อำเภอตากใบ 51 ราย สุไหงปาดี 95 ราย บาเจาะ 5 ราย เมืองนราธิวาส 15 ราย เจาะไอร้อง 20 ราย ยี่งอ 7 ราย ระแงะ 6 ราย จากจังหวัดปัตตานี ได้แก่ อำเภอยะรัง 2 ปะนาเระ, หนองจิกและสายบุรี อำเภอละ 1 ราย และจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา 1 ราย
 
ที่ผ่านมาได้มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ถูกควบคุมตัวแด่ไม่ถูกดำเนินคดีจากเหดุการณ์ตากใบมาแล้ว 5 ครั้ง รวม 561 ราย เป็นเงิน 8,415,000 บาท รวมทั้งหมด 766 ราย
 
นายรอซูวี อาแว หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า นอกจากการช่วยเหลือเป็นตัวเงินแล้ว อยากให้ช่วยเหลือและดูแลด้านอื่นๆด้วย เช่น สวัสดิการในการดำรงชีวิต เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบมีทั้งอุสตาส ผู้นำศาสนา โต๊ะอิหม่าม รวมถึงพี่น้องต่างศาสนิก ผู้คนเหล่านี้ต้องดำรงชีพเพื่อความอยู่รอดแต่ก็ไม่สามารถทำได้เต็มที่เนื่องจากความไม่สงบที่เกิดขึ้น จึงทำให้เกิดความหวาดระแวง
 
นายรอซูวี กล่าวว่า กลุ่มผู้นำศาสนาและครูสอนศาสนาเหล่านี้ไม่ได้เป็นโจรหรือผู้ก่อการร้าย เป็นเพียงแค่คนธรรมดา แต่พวกเขาไม่ได้รับสวัสดิการ ซึ่งที่ผ่านมานั้น ตนพอใจที่ ศอ.บต.เข้ามาช่วยเหลือเยียวยาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการเยียวยาสภาพจิตใจและการบริหารความรู้สึก ทำให้เห็นว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้ง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“ม.อ.ออกนอกระบบ” นักศึกษาขอเลือกตั้งผู้บริหารและขอที่นั่งในสภา

Posted: 06 Sep 2013 10:15 PM PDT

<--break->
 
นักศึกษาม.อ.ออกแถลงการณ์เรียกร้องขอมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสู่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ชี้การเป็นเอกชนทำให้คนรายได้น้อยขาดโอกาส เรียกร้องขอมีส่วนร่วมในสภามหาวิทยาลัย ต้องมีองค์กรคานอำนาจและผู้บริหารต้องมาจากการเลือกตั้ง
 
เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 56 ที่ผ่านมาเครือข่ายนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี ได้มีการประชุมกันที่ห้ององค์การบริหารนักศึกษาเรื่องการขับเคลื่อนและเดินหน้าทิศทางการเข้ามีส่วนร่วมในเปลี่ยนแปลงสู่มหาลัยในกำกับของรัฐ หลังจากที่ได้ยื่นแถลงการณ์มาแล้วเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556 แล้วก่อนหน้านี้
 
ในการประชุมครั้งนี้เครือข่ายนักศึกษาได้มีการพูดคุยเรื่อง "รู้เท่าทันการก้าวสู่มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ" โดยมีข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางในการขับเคลื่อนว่าจะต้องมีองค์กรหรือกลุ่มที่ชัดเจนที่จะทำงาน จะมีการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง และจะจัดเวทีให้ทุกฝ่ายได้แสดงคามคิดเห็น
 
นายชยุตพงค์ โสภิวรรณ ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาปัตตานี ได้กล่าวว่า "เราไม่ได้จะออกมาพูดเรื่องของค่าเทอม เรายอมรับได้ ว่าค่าเทอมมันต้องเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม ของเพราะมหาลัยก็ต้องอยู่รอด แต่ประเด็นที่เราจะเรียกร้องคือ เราต้องการให้มหาลัยเป็นของทุกคน มีระบบบริหารที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษามีสิทธิเท่าเทียมกัน ผู้บริหารตั้งแต่อธิการบดี รองอธิการ หรือคณะบดีก็ต้องมาจากการเลือกตั้ง"
 
พร้อมกันนี้เครือข่ายนักศึกษาได้มีแถลงการณ์เรื่องข้อเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมที่จะเกิดขึ้น เมื่อมหาวิทยาลัยเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ โดยระบุว่าการแปรรูปมหาวิทยาลัยเป็น "ม.นอกระบบ" เป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการการศึกษา ซึ่งผลิตชุดความคิดที่ว่ามหาวิทยาลัยออกนอกระบบจะมีคุณภาพที่ดีกว่าการอยู่ในการควบคุมของรัฐ มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการและคุณภาพการศึกษา ลดภาระค่าใช้จ่าย และสามารถเปิดหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานได้
 
สิ่งเหล่านี้เป็นค่านิยมที่เปลี่ยนให้เป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบดีกว่าการอยู่ในระบบที่ควบคุมโดยรัฐ เมื่อการศึกษาเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับมนุษย์ เป็นหนึ่งในกระบวนการขัดเกลาทางสังคม (socialization) ที่รัฐต้องให้กับสังคม แต่เมื่อมหาวิทยาลัยถูกทำให้ออกนอกการควบคุมของรัฐแล้ว ใครจะเป็นคนขัดเกลาพลเมืองของรัฐ คงจะเหลือแต่อำนาจเงินตราที่เป็นตัวชี้ทางให้กับสังคมเท่านั้น
 
เครือข่ายนักศึกษาจึงขอแจกแจงสภาพปัญหาของมหาวิทยาลัยนอกระบบในปัญหาความไม่เท่าเทียมโดยเห็นว่า เมื่อระบบการศึกษาถูกกำหนดด้วยเงินตราแล้ว ความเท่าเทียมกันในด้านการศึกษาคงยากที่จะได้เห็น อีกทั้งเปรียบเสมือนการตัดโอกาสทางการศึกษาผู้ที่มีรายได้น้อยทางอ้อม
 
การออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยจะสูบบุคลากรของชาติเข้าสู่ระบบโรงงานผลิตความรู้และสร้างเครื่องจักรที่เรียกว่า ผลิตมนุษย์เข้าสู่ระบบตลาดเพียงอย่างเดียว อีกทั้งเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ มหาวิทยาลัยจะสามารถมีอิสระในการบริหารจัดการ สามารถเปิดหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานเพียงอย่างเดียว สิ่งที่ตามมาคือ การที่มหาวิทยาลัยตีตัวออกห่างจากสังคม ไม่กลายเป็นที่พึ่งของประชาชนอีกต่อไป
 
ด้านปัญหาความไม่โปร่งใสของค่าใช้จ่ายที่นักศึกษาต้องจ่ายให้กับมหาวิทยาลัย เมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบและทำการบริหารโดยอยู่ในสถานะที่เกือบเทียบเท่ากับองค์กรเอกชน จะไม่สามารถทราบถึงความไม่โปร่งใสของการบริหารจัดการเงินที่นักศึกษาจ่ายไปได้ว่ามหาวิทยาลัยใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดมากน้อยเพียงใด
 
ดังนั้น ทางเครือข่ายนักศึกษาจึงมีข้อเรียกร้องในการดำเนินการการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐว่า พ.ร.บ.ที่จะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรจะต้องผ่านการลงประชามติจากประชาคมมหาวิทยาลัย ที่ประกอบไปด้วย คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา
 
ขอให้เปิดเผยการร่าง พ.ร.บ.ให้กับประชาคมรู้โดยทั่วกัน ให้มีตัวแทนนักศึกษาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสภามหาวิทยาลัยไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ จะต้องมีองค์กรที่สามารถคานอำนาจกับฝ่ายบริหารได้ เช่น สหภาพบุคลากร หรือองค์การนักศึกษา และอธิการบดี รองอธิการบดีของแต่ละวิทยาเขต และคณบดี จะต้องมาจากการเลือกตั้งของมวลสมาชิกทั้งหมด ซึ่งรวมไปถึงนักศึกษาทุกคน
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวบ้าน ต.เทพรักษา จ.สุรินทร์ วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งซ่อมประตูระบายน้ำพัง

Posted: 06 Sep 2013 10:04 PM PDT

ชาวบ้าน ต.เทพรักษา อ.สังขะ จ.สุรินทร์ ชี้จุดประตูระบายน้ำฝายพัง วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งซ่อมประตูระบายน้ำพัง 2 บานเร่งด่วน หวั่นน้ำทะลักออกหมด ด้านชลประทานสุรินทร์ระบุเป็นของ รฟช.เก่า แต่จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบพร้อมประสาน อบต.ร่วมแก้ไขอย่างรีบเร่ง

 
 
ชาวบ้าน ต.เทพรักษา อ.สังขะ จ.สุรินทร์ ชี้จุดประตูระบายน้ำฝายพัง (ดูภาพเพิ่มเติม) 
 
เมื่อวันที่ 6 ก.ย.56 ที่ผ่านมานายทองเหลือง สุขอุ้ม อายุ 53 ปี ผู้ใหญ่บ้านอามุย ม.3 ต.เทพรักษา  อ.สังขะ จ.สุรินทร์ ได้นำชาวบ้านทั้งเด็กและผู้ใหญ่กว่า 10 คน  รวมตัวกันที่บริเวณฝายน้ำล้นห้วยเสนบ้านอามุย เพื่อร้องเรียนกับสื่อมวลชน ว่าประตูระบายน้ำของฝายน้ำล้น จำนวน 2 บานได้แตกหัก พังเสียหายจากมวลน้ำที่ไหลบ่ามาจำนวนมากหลังฝนตกหนักเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณน้ำในฝายน้ำล้นไหลทะลักออกเกือบหมด ชาวบ้านต่างเกรงว่าจะไม่มีน้ำไว้ใช้ทำการเกษตรและอุปโภคต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งและช่วงที่ฝนทิ้งช่วง  ซึ่งได้มีการประสานกับทาง อบต.เทพรักษาแล้ว โดยทาง อบต.เทพรักษาก็อยู่ระว่างการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่
 
ขณะที่ชาวบ้านเกรงว่าระหว่างที่ประสานงานกลัวจะล่าช้าจึงได้ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาช่วยเร่งซ่อมแซมประตูระบายน้ำให้ชาวบ้านก่อนที่น้ำจะไหลออกหมดเสียก่อน
 
นายทองเหลือง สุขอุ้ม  อายุ 53 ปี ผู้ใหญ่บ้านอามุย กล่าวว่า ฝายน้ำล้นห้วยเสนแห่งนี้เป็นแหล่งน้ำดิบหลักของชาวบ้านอามุยและหลายหมู่บ้านที่ต้องใช้อุปโภคและใช้ในการเกษตร ซึ่งถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2528 หรือเกือบ 30 ปีแล้ว ซึ่ง รพช.เป็นหน่วยงานที่เข้ามาสร้าง  ปัจจุบันไม่รู้ว่าโอนให้ใครรับผิดชอบ แต่ได้ถาม อบต.แล้วทราบว่า รพช.ยังไม่ได้โอนให้รับผิดชอบ แต่ อบต.จะช่วยประสานงานให้ สำหรับฝายน้ำล้นดังกล่าวมีประตูระบายน้ำเหล็ก 10 บาน แต่หลังฝนตกหนักเมื่อสัปดาห์ก่อน ได้พังเสียหายไป 2 บาน เกรงว่าน้ำจะไหลออกหมดก่อนจึงขอเรียกร้องถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งมาช่วยซ่อมแซมให้ชาวบ้านโดยด่วนก่อนที่น้ำจะไหลออกหมด  ประกอบกับประตูระบายน้ำของฝายน้ำล้นแห่งนี้ถูกสร้างมานาน และกลไกต่างๆก็เป็นเหล็ก ทำให้เริ่มผุพังเกือบหมด  ที่ผ่านมาชาวบ้านเคยออกเงินสมทบช่วยกันซ่อมแซม แต่ก็พอช่วยกั้นน้ำได้ แต่ไม่สามารถหมุนเปิดประตูระบายน้ำให้เกษตรกรได้ เพราะสนิมขึ้นหมดแล้วทุกบาน และมาพัง 2 บานในที่สุดดังกล่าว 
 
นายเจษฎา  บุญสุยา  ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสุรินทร์ กล่าวว่า  ฝายน้ำล้นห้วยเสนดังกล่าว จากเดิมเป็นของ รพช.สร้าง ซึ่งถึงแม้จะเป้นของหน่วยงานเก่าสร้าง ในเบื้องต้นทางชลประทานสุรินทร์ ก็จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูพื้นที่ตรวจสอบหาวิธีการดำเนินการแก้ไขปัญหาความทุกข์ของชาวบ้าน  โดยอาจจะให้ อบต.เข้าไปดำเนินการเราจะได้แนะนำเรื่องด้านวิชาการให้ถูกต้องโดยเร็วต่อไป
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิด 10 อันดับงานที่แย่ที่สุด ในสายเทคโนโลยี

Posted: 06 Sep 2013 09:59 PM PDT

เมื่อพูดถึงงานไอทีแล้ว ฟังดูมีภาพลักษณ์ของความทันสมัยไฮเทค แต่ก็มีหลายงานที่มีสภาพการทำงานย่ำแย่ ต้องเสี่ยงอันตรายในที่สูง ถูกเรียกใช้ทุกครั้งเมื่อมีปัญหา แม้กระทั่งทำงานซ้ำซากหรือต้องเจอกับสิ่งน่ารังเกียจในโลกอินเทอร์เน็ตอยู่ทุกวันจนจิตใจห่อเหี่ยว

เอียน พอล นักเขียนเรื่องไอทีชาวอิสราเอล เขียนบทความลงใน PCWorld พูดถึง 10 อันดับงานที่ย่ำแย่ที่สุดในสายงานเทคโนโลยี เอียนกล่าวว่า เวลาพูดถึงคนทำงานในสายเทคโนโลยี เรามักจะนึกภาพว่าเป็นงานที่หรูหรา ทันสมัย เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ไอทีทั้งหลาย แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป งานสายเทคโนโลยีบางอย่างอาจเป็นงานที่อันตราย เป็นงานระบบสายพานที่กลืนกินจิตวิญญาณ เป็นงานสายสนับสนุนที่ชวนให้จิตใจห่อเหี่ยว และงานฝ่ายการขายที่น่าอับอายไปจนถึงถูกกดขี่


1) 'ตำรวจ' ตรวจสอบเนื้อหาของกูเกิล

ลองคิดดูสิว่าหากงานของคุณคือการต้องจอมจับตาดูภาพเสื่อมๆ ในโลกออนไลน์อยู่ตลอดเวลา งานดังกล่าวนี้คือการหน้าที่คอยเฝ้าระวังเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในเว็บยูทูบ และบล็อกเกอร์ 

มีอดีตคนรับงานตรวจสอบเนื้อหาจากกูเกิลรายหนึ่งเขียนไว้ใน BuzzFeed เมื่อเดือน ส.ค. 2012 เล่าถึงประสบการณ์การทำงานว่าเขาใช้เวลา 9 เดือนในการตรวจสอบและจำกัดเนื้อหาจำพวกภาพอนาจารเด็ก, การร่วมเพศแบบที่มีรสนิยมเฉพาะทาง, การร่วมเพศกับสัตว์ และภาพอื่นๆ ที่เข้าข่าย 'น่ารังเกียจ' หลังจากที่เขาใช้เวลาไปกับการตรวจสอบเนื้อหาสะเทือนขวัญเหล่านี้ เขาก็บอกว่าตัวเขาต้องเข้ารับการบำบัดช่วยเหลือด้านอารมณ์จากบริษัท และขอออกจากงานแม้ว่าจะมีข้อเสนอให้เขาเข้าทำงานเต็มเวลาแทนการจ้างแบบรับเหมาก็ตาม


2) พนักงานขายไมโครซอฟท์สโตร์

ผู้เขียน เอียน พอล คิดว่าระหว่างแอปเปิลรีเทลสโตร์ กับไมโครซอฟท์สโตร์ พนักงานขายของแอปเปิลดูจะเป็นผู้ที่ชื่นชอบในตัวผลิตภัณฑ์จริงๆ หรืออย่างน้อยก็แสดงออกแสร้งว่าชอบได้ดีมาก เมื่อเทียบกับพนักงานขายไมโครซอฟท์ที่เหมือนถูกบังคับให้ต้องร่าเริงจนผู้พบเห็นรู้สึกเจ็บปวดแทน จนถึงขั้นว่าแม้แต่คนที่กำลังอยากได้งานมากๆ ก็คงต้องคิดหนักถ้าจะสมัครงานนี้


3) ผู้ดูแลการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor)

เซมิคอนดักเตอร์ หรือ 'สารกึ่งตัวนำ' เป็นวงจรหรือไมโครชิปที่อยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายอย่าง แม้ว่าจะยังคงมีการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐฯ แต่ดูเหมือนว่ากำลังจะมีการนำหุ่นยนต์มาใช้แทนมนุษย์ในตำแหน่งนี้

แม้ว่าตำแหน่งผู้ดูแลการผลิตเซมิคอนดักเตอร์จะมีรายได้ค่อนข้างดีและต้องอาศัยการศึกษาระดับปริญญาโท แต่จากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแรงงานของสหรัฐฯ ระบุว่าอัตราการเติบโตของสายงานผู้ดูแลการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ลดลงอย่างมาก


4) ผู้อำนวยการฝ่ายไอที

เว็บไซต์ CareerBliss ได้จัดอันดับจากการสำรวจในปี 2011 พบว่างานผู้อำนวยการฝ่ายไอทีเป็นตำแหน่งที่ไม่ชอบงานตัวเองที่สุด แม้จะเป็นตำแหน่งหัวหน้าและรายได้ค่อนข้างดีก็ตาม


5) หน่วยจัดส่งสินค้าออนไลน์

โลโก้ของแอมะซอนดูคล้ายปากยิ้ม แต่สำหรับคนทำงานจัดส่งสินค้าซึ่งต้องจัดการกล่องพวกนี้ในโกดังคงไม่ยิ้มมากแบบกล่องพวกนี้สักเท่าไร มีคนทำงานในหน่วยเหล่านี้เขียนระบายความอัดอั้นผ่านเว็บ Gawker และ Mother Jones บอกว่าสภาพการทำงานในนั้นเหมือนถูกผลักดันให้ทำงานเร็วขึ้นอยู่ตลอดเวลา มีการต้องทำงานล่วงเวลา ไม่มีเวลาแม้แต่จะพักผ่อนหรือหาอาหารเที่ยงทาน และการบาดเจ็บทางกายเป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้ยังมีการเก็บแต้มสะสมของคนที่ทำงานไม่ดี พอสะสมครบก็จะถูกไล่ออก


6) พนักงาน RadioShack

จากข่าวเรื่องงานในเว็บไซต์ AOL เมื่อเดือน มิ.ย. 2012 พบว่า RadioShack ซึ่งเป็นแฟรนไชส์ขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในสถานที่ทำงานที่แย่ที่สุด จากการที่พนักงานร้องทุกข์เรื่องค่าจ้างต่ำ (พนักงานขายได้รับรายได้เฉลี่ยชั่วโมงละ 7.92 ดอลลาร์ หรือราว 250 บาท) และถูกกดดันให้ต้องขายได้ตามเป้า ขณะที่ฝ่ายผู้จัดการบอกว่าตารางของพวกเขาทำให้มีเวลาเหลือให้กับที่บ้านน้อยมาก


7) ช่างเทคนิคผู้ชำนาญการ หรือวิศวกรผู้ให้ความช่วยเหลือด้านซอฟต์แวร์

ถ้าเกิดเครื่องคอมพิวเตอร์เสียหรือมีอาการแปลกประหลาดเหมือนถูกผีสิงขึ้นมา คนที่จะถูกเรียกคนแรกๆ คือฝ่ายช่วยเหลือหรือช่างเทคนิค เพื่อให้มาซ่อมแซมและดูเหมือนพวกเขาจะไม่มีความสุขเอาเสียเลย

ในเดือน มี.ค. CareerBliss จัดอันดับพบว่าคนทำงานศูนย์รับร้องทุกข์หรือคอลเซนเตอร์เป็นงานที่ไม่มีความสุขมากเป็นอันดับ 9 ในสหรัฐฯ ขณะที่ Salary Explorer จัดให้ช่างเทคนิคผู้ชำนาญการเป็นงานที่น่าเบื่อที่สุดในสายงานเทคโนโลยี มีคะแนนอยู่ที่ 2.5 เต็ม 5 ดังนั้นจึงเป็นเรื่องดีหากคุณหาข้อมูลตรวจสอบอาการผิดพลาดในระดับมือใหม่ก่อนที่จะร้องหาช่างเทคนิค


8) คนปีนเสาสัญญาณโทรศัพท์

อาชีพคนปีนเสาสัญญาณโทรศัพท์เป็นอาชีพที่อันตราย โดยจากรายงานของ Pro Publica และ PBS เมื่อปี 2012 พบว่าอาชีพคนปีนเสาสัญญาณโทรศัพท์มีความเสี่ยงเสียชีวิตสูงกว่าอาชีพคนทำงานก่อสร้าง 10 เท่า

ในปี 2008 ประธานมาตรฐานสํานักงานบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของสหรัฐฯ (Occupational Safety and Health Administration) บอกว่างานปีนเสาโทรศัพท์เป็นงานที่อันตรายที่สุดในสหรัฐฯ วารสาร Wall Street Journal ระบุว่าตั้งแต่ต้นปี 2013 ถึงเดือน ส.ค. มีคนงานปีนเสาโทรศัพท์ตกลงมาจากเสาจนเสียชีวิตแล้ว 10 ราย ซึ่งในจำนวน 9 รายนี้เป็นคนที่เร่งปรับปรุงเสาเพื่อให้ทันระบบ 4G

ProPublica รายงานว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้คนงานเสียชีวิตมาจากการละเลยมาตรการความปลอดภัยพื้นฐาน มีการทำงานหามรุ่งหามค่ำ มีสภาพการทำงานที่อันตราย และมีการฝึกซ้อมที่ไม่มากพอ แม้ว่าจะมีค่าจ้างค่อนข้างต่ำอยู่ที่โดยเฉลี่ย 10 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ราว 320 บาท)

คนงานปีนเสาสัญญาณฯ ส่วนใหญ่ยังเป็นคนงานรับจ้างเหมาช่วง ซึ่งรับงานมาจากกลุ่มที่รับจ้างเหมาช่วงต่อกันมาอีกเป็นทอดๆ เพื่อจะได้ทำงานที่อันตรายเช่นนี้


9) คนงานโรงงานบริษัทแอปเปิล

บางครั้งสภาพการทำงานแย่ๆ ก็เกิดขึ้นในโรงงานประเทศอื่น ที่เห็นได้ชัดเจนคือในโรงงานผลิตพวกไอโฟน ไอแพด และเครื่องแมคส์ในโรงงานอุตสาหกรรมของประเทศจีน ที่บริษัทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ Foxconn มีสภาพการทำงานที่แย่ มีการก่อจลาจล มีการฆ่าตัวตาย และดูเหมือนว่าสภาพการทำงานใน Pegatron ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่อีกแห่งหนึ่งให้แอปเปิล ดูเหมือนจะมีสภาพเลวร้ายกว่านี้

จริงๆ แล้วสภาพในโรงงานใหญ่ทั้งหลายในจีนก็ไม่ได้แตกต่างกันนัก แม้แต่ซัมซุงและบริษัทอื่นๆ ก็เคยถูกกลาวหาว่ามีการบังคับให้คนงานทำงานเป็นเวลานานในสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ หรือแม้กระทั่งมีคนงานที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์


10) 'หุ่นกลชาวเติร์ก' ของแอมะซอน

ระบบหุ่นกลชาวเติร์ก หรือ Mechanical Turk ของแอมะซอนเป็นคล้ายตลาดนัดแรงงานที่บุคคลหรือบริษัท ซึ่งเรียกว่า "ผู้จ้างวาน" สามารถจัดจ้างคนทำงานที่ระบบคอมพิวเตอร์ยังไม่สามารถทำได้ในขณะนี้ มักจะเป็นงานที่ดูเล็กๆ น้อยๆ เช่นการเขียนบรรยายภาพของใบเสร็จวอลลมาร์ท หรือการทำแบบสอบถามยาวๆ เพื่อเงินตอบแทนไม่กี่เพนนี

ชื่อของหุ่นกลชาวเติร์กมาจากหุ่นกลในยุคศตวรรษที่ 18 ที่แต่งตัวแบบชาวเติร์กและแสดงตนเหมือนหุ่นที่เล่นหมากรุกได้ แต่จริงๆ แล้วมีคนซ่อนคอยบังคับหุ่นอยู่ข้างใน การนำชื่อนี้มาใช้จึงเป็นการเปรียบเปรยแรงงานบุคคลที่ซ่อนอยู่ภายใต้เครื่องจักร ส่วน 'หุ่นกลชาวเติร์ก' ของแอมะซอนนั้นมักจะเป็นงานที่ปกติแล้วจะใช้ซอฟต์แวร์บอทเป็นผู้ทำ แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้ต้องกันมาพึ่งแรงงานคน

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กระบุว่ามีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่อาศัยการทำงาน 'หุ่นกล' เป็นรายได้หลัก เนื่องจากคนเหล่านี้ต้องทำงานน่าเบื่อๆ เพื่อเศษเงินไม่กี่เพนนี และคนทำงาน 'หุ่นกล' ส่วนใหญ่ได้เงินรวมแล้ว 1-5 ดอลลาร์ (ราว 32-160 บาท) ต่อสัปดาห์เท่านั้น

 

 


เรียบเรียงจาก
The ten most embarrassing, exploitative, soul-killing, downright dangerous tech jobs, Ian Paul, PCWorld, 02-09-2013
http://www.pcworld.com/article/2047803/the-ten-most-embarrassing-exploitative-soul-killing-downright-dangerous-tech-jobs.html


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

Wikipedia : Amazon Mechanical Turk
http://en.wikipedia.org/wiki/Amazon_Mechanical_Turk

Bureau of Labor Statistics : Semiconductor Processors
http://www.bls.gov/ooh/production/semiconductor-processors.htm

CareerBliss : Top 10 Most Hated Jobs
http://www.careerbliss.com/facts-and-figures/top-10-most-hated-jobs/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น