ประชาไท | Prachatai3.info |
- กรุงเทพโพลล์ เผยคน กทม.-ปริมณฑล 60% ไม่เชื่อเลิกใบประท่อมลดยาบ้า
- 'หมอประเวศ'ร่วมปฏิรูป หลัง'บรรหาร'เดินสายชวน ด้าน'สนธิ-จำลอง'เมิน
- ชาวหนองคายระดมเสื้อผ้า-อาหารเยี่ยมโรฮิงญา ที่ถูกแยกขังตามโรงพัก
- กก.นโยบายฯ ไทยพีบีเอส ค้าน กสทช. ออกประกาศคุมเนื้อหารายการ
- รายงาน: รู้จัก ‘เจ๊แดง โคราช’ คดี 112 รายล่าสุด
- เผย กสท.ยอมออกเกณฑ์บิวตี้คอนเทสต์ทีวีดิจิตอลสาธารณะเพิ่ม
- คปก.ยื่นความเห็นแก้ไขรธน.ม.190 ปชช.มีส่วนร่วมทำสัญญาระหว่างประเทศ
- BRN ส่งเอกสาร 38 หน้า ชี้แจง 5 ข้อเสนอ
- ไฟใต้ 2 วันเจ้าหน้าที่ตาย 8 เป็นตำรวจ5ทหาร3
- ศอ.บต.ส่ง50เหยื่อไฟใต้ไปทำฮัจญ์ เจอปัญหาวีซ่าเลื่อนเดินทาง
- ขายซองประมูลทีวีดิจิตอลวันที่ 2 รวมเอกชนซื้อแล้ว 23 ราย
- Uniform ว่าด้วยเครื่องแบบและชุดทำงาน
- รายงาน: อินเทอร์เน็ต เครื่องมือใหม่ในการยกเครื่องกฎหมายเก่าของพม่า
- ศาลรธน.ยกคำร้อง ‘บวร ยสินธร’ปมแก้รธน.ที่มา ส.ว. ชี้ยังไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ
- ชลิตา บัณฑุวงศ์: ข้าวและชาวนาไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลง
กรุงเทพโพลล์ เผยคน กทม.-ปริมณฑล 60% ไม่เชื่อเลิกใบประท่อมลดยาบ้า Posted: 11 Sep 2013 01:20 PM PDT ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพเผยผลสำรวจ ปชช. กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 60 % เชื่อว่าการยกเลิกใบกระท่อมไม่สามารถลดคนเสพยาบ้าได้ หากมีการยกเลิกจริง 49.2%เห็นว่าต้องควบคุมให้ปลูกเพื่อใช้ในทางการแพทย์เท่านั้น 11 ก.ย.56 ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,171 คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 70.5 คิดว่าใบกระท่อมเป็นยาเสพติด และมีเพียงร้อยละ 29.5 เท่านั้นที่ไม่คิดว่าเป็นยาเสพติด สำหรับกรณีที่กระทรวงยุติธรรมจะแก้กฎหมายให้ยกเลิกใบกระท่อมพ้นจากบัญชียาเสพติดนั้น ประชาชนร้อยละ 46.3 เห็นด้วยหากนำมาใช้ในวงการแพทย์เท่านั้น รองลงมาร้อยละ 27.5 ไม่เห็นด้วยเด็ดขาดเพราะถือว่าเป็นยาเสพติด และร้อยละ 14.6 เห็นด้วยและยอมรับได้ในทุกกรณี ที่เหลือร้อยละ 11.6 ไม่แน่ใจ เมื่อถามว่าการยกเลิกใบกระท่อมพ้นจากบัญชียาเสพติดจะช่วยลดปริมาณคนเสพยาบ้าได้หรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 61.1 ระบุว่า "แก้ไม่ได้" มีเพียงร้อยละ 19.0 เท่านั้นที่ระบุว่า "แก้ได้" เช่นเดียวกับร้อยละ 60.2 ที่ไม่เชื่อว่าการยกเลิกใบกระท่อมพ้นจากบัญชียาเสพติดจะช่วยลดเงื่อนไขความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้ มีเพียงร้อยละ 12.6 เท่านั้นที่ระบุว่า "แก้ได้" โดยกรุงเทพโพลล์ระบุว่าการจับกุมคนเสพกระท่อม ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นชนวนเหตุเรื่องหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับมวลชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม หากมีการยกเลิกใบกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดจริง ประชาชนร้อยละ 49.2 เห็นว่าต้องควบคุมให้ปลูกเพื่อใช้ในทางการแพทย์เท่านั้น รองลงมาร้อยละ 38.7 เห็นว่าต้องควบคุมปริมาณและพื้นที่ปลูกให้ชัดเจนและมีการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง และมีเพียงร้อยละ 5.1 เท่านั้น ที่เห็นว่าไม่ต้องควบคุม ให้ปลูกได้อย่างเสรี ทั้งนี้หากมีการดำเนินตามแนวคิดดังกล่าวจริง ประชาชนร้อยละ 52.2 มีความห่วงและกังวล โดยเรื่องที่ห่วงและกังวลมากที่สุดคือ กลัวจะมีคนเสพใบกระท่อมมากขึ้นเพราะหาซื้อง่ายขึ้น (ร้อยละ 12.1) กลัวจะเอาไปใช้ในทางที่ผิดเอาไปดัดแปลง (ร้อยละ 9.2) และ กลัวลูกหลาน วัยรุ่น เยาวชน จะอยากรู้อยากลองมากขึ้น (ร้อยละ 8.7) ขณะที่ประชาชนร้อยละ 47.8 ไม่ห่วงและกังวลเลย โดยให้เหตุผลว่าเป็นพืชสมุนไพรใช้รักษาโรคได้ (ร้อยละ12.6) รองลงมาคือฤทธิ์ไม่รุนแรง กินแล้วสู้แดด มีกำลัง และรุนแรงน้อยกว่าบุหรี่ (ร้อยละ 12.0) และคิดว่าไม่ใช่ยาเสพติด (ร้อยละ 6.1) สุดท้ายเมื่อถามว่าการกินหรือเสพ ใบกระท่อมอาจนำไปสู่การเสพสิ่งเสพติดที่ร้ายแรงกว่าใช่หรือไม่ ประชาชนร้อยละ 45.6 ระบุว่า "ใช่" ขณะที่ร้อยละ32.5 ระบุว่า "ไม่ใช่" ที่เหลือร้อยละ 21.9 ไม่แน่ใจ ทั้งนี้ กรุงเพทโพล์ ระบุถึงรายละเอียดในการสำรวจด้วยว่า เก็บข้อมูลระหวังวันที่ 6 - 7 ก.ย. 56 โดยใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Sampling) โดยสุ่มจากเขตการปกครองทั้งเขตชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก ได้แก่เขตคลองเตย ดินแดง ดุสิต ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา ทุ่งครุ บางเขน บางคอแหลม บางซื่อ บางนา บางพลัด บางรัก บึงกุ่ม ปทุมวัน ประเวศ ป้อมปราบฯ พญาไท พระนคร ภาษีเจริญ ราชเทวี ราษฎร์บูรณะ สวนหลวง สะพานสูง สาทร และหนองแขม และปริมณฑลได้แก่ ปทุมธานี และสมุทรปราการ จากนั้นจึงสุ่มถนน และประชากรเป้าหมายที่จะสัมภาษณ์อย่างเป็นระบบ ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 1,171 คน เป็นเพศชายร้อยละ 50.4 และเพศหญิงร้อยละ 49.6 รวมทั้งใช้การสัมภาษณ์แบบพบตัว (Face-to-face Interview) โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน ประกอบด้วยข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) และคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุคำตอบเองโดยอิสระ (Open Form) จากนั้นจึงนำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล โดยมีความคลาดเคลื่อน (Margin of Error) ในการประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน ± 3% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
'หมอประเวศ'ร่วมปฏิรูป หลัง'บรรหาร'เดินสายชวน ด้าน'สนธิ-จำลอง'เมิน Posted: 11 Sep 2013 12:54 PM PDT 'สนธิ –จำลอง' ตั้ง 5 คำถาม ปฏิเสธไม่เล่นด้วยเหตุนายกฯไม่จริงใจ ชี้ตัวปัญหาคือ "ทักษิณ" หลัง 'บรรหาร' เดินสายชวนเข้าเวทีปฏิรูป ยันเดินหน้าต่อ ไม่ได้รับใช้รัฐบาล ด้าน 'หมอประเวศ' เสนอแนวคิดแนวคิด "สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา" 10 ก.ย.56 เดลินิวส์ รายงาน ที่บ้านพระอาทิตย์ ถนนพระอาทิตย์ นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะผู้ประสานงานคณะทำงานเวทีปฏิรูปประเทศของรัฐบาล ได้เดินทางเข้าหารือกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง 2 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พมธ.) โดยใช้เวลาพูดคุยกันประมาณ 1ชั่วโมง นายบรรหาร กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้มาพูดคุยกับทุกฝ่ายเพื่อเดินหน้าสภาปฎิรูปให้เดินหน้าต่อไปได้ ตนมาในฐานะผู้ประสานงานไม่ใช่ตัวแทนของรัฐบาล อีกอย่างก็อายุมากแล้วไม่เคยเห็นบ้านเมืองเกิดความวุ่นวายมากขนาดนี้ ซึ่งการรับงานนี้ก็เพื่ออยากให้ประเทศก้าวข้ามไปสู่อนาคตอยากทำเพื่อลูกหลานแม้ว่าตนเองจะต้องเจ็บปวด ยืนยันว่าการมาในครั้งนี้มาด้วยความจริงใจอยากทำทุกอย่างเพื่อบ้านเมือง พล.ต. จำลอง ศรีเมือง กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ เป็นเพราะนายกรัฐมนตรี และพรรครัฐบาลเองพยายามทำในเรื่องต่างๆ ทั้งการแก้รัฐธรรมนูญ และนิรโทษกรรม ส่วนตัวมองว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่จำเป็นต้องมีสภาปฏิรูปการเมือง แต่สามารถแก้ได้โดยนายกรัฐมนตรีออกมายกเลิกแนวคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เชื่อว่าจะทำให้ความขัดแย้งในบ้านเมืองลดลงในที่สุด นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้ตั้งคำถามนายบรรหาร 5 ข้อ เพื่อให้ตอบก่อนที่จะมีการพุดคุยกันต่อไปคือ 1.คิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ควรกลับมาติดคุกหรือไม่ 2. หากรัฐสภาออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนายประชา มาลีนนท์ ควรได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ 3. ทำไมทหารตำรวจ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จึงต้องบินไปขอตำแหน่งจาก พ.ต.ท.ทักษิณ 4. ส่วนตัวไม่เชื่อว่านายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการทำงานอย่างแท้จริง แต่คนเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริง คือ พ.ต.ท.ทักษิณ และ 5. ขณะนี้อำนาจทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ตุลาการ และบริหาร ไม่สามารถแยกออกจากกันได้เลย โดยเฉพาะฝ่ายนิติบัญญัติ กับบริหารตัวอย่างจากประธานสภาฯไม่ว่าชุดไหนก็จะมาจากคนของฝ่ายบริหารทั้งสิ้น ทำให้ประเทศไทยไม่มีประชาธิปไตยเลยแม้แต่นิดเดียว เกมนี้ตนมองว่ารัฐบาลใช้คุณบรรหารเป็นเครื่องมือซึ่งตนไม่เล่นด้วยแน่นอน พร้อมยังถามย้ำนายบรรหารอีกว่าคิดว่าตัวเองก็เป็นหนองในปัญหาด้วยรึเปล่า "ปัญหาและอุปสรรคของการปฏิรูปการเมืองขณะนี้คือตัว พ.ต.ท.ทักษิณ จนถึงทุกวันนี้ยังไม่เห็นความจริงใจของนายกรัฐมนตรี วันนี้บ้านเมืองใกล้ล่มสลายเหมือนกับปี 2540 ผมเสนอให้ทุกคนหยุดเล่นการเมืองซัก2-3 ปี เพื่อมาร่างกติการ่วมกัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม หากนายกรัฐมนตรี และ พ.ต.ท.ทักษิณ ถ้ารักชาติ บ้านเมืองจริงจะต้องถอยออกมา" นายสนธิ กล่าว
'หมอประเวศ' เสนอแนวคิดแนวคิด "สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา" วันเดียวกันเวลา 14.00 น. นายบรรหาร ได้เดินทางเข้าหารือกับ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ที่มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เพื่อชักชวนเข้าร่วมในสภาปฎิรูปการเมืองโดยใช้เวลาพูดคุยกันประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่ง คมชัดลึกออนไลน์ รายงานถึงสิ่งที่ นพ.ประเวศ กล่าวกับนายบรรหาร ว่า ตนสนับสนุนการปฏิรูปการเมือง และคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะประเทศเราลำบากมานาน ที่คนไทยต้องช่วยกัน ซึ่งที่ผ่านมาเรามีรัฐธรรมนูญมา 18 ฉบับแล้ว แต่ก็ยังทะเลาะกัน ตนติดตามปัญหามาหลายปี ก็พบว่าความอยุติธรรม และความเหลื่อมล้ำเป็นต้นตอของปัญหาต่างๆ แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะแก้แต่เราต้องช่วยกัน ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวนั้นอยู่ที่โครงสร้างอำนาจ เพราะประชาชนมีอำนาจน้อย รัฐมีอำนาจมาก ถ้าจะปฏิรูปตรงนี้ต้องลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน แต่ตรงนี้พูดง่ายแต่ทำยาก รัฐก็คงไม่อยากลดอำนาจตัวเอง โดยประเด็นก็จะอยู่ที่ประชาชนจะต้องมาปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ นพ.ประเวศ กล่าวต่อว่า จากประสบการณ์ตนขอเสนอรูปแบบ "สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา" หมายถึงเขยื้อนเรื่องยากๆได้ มาใช้ในการปฏิรูปประเทศ ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน และประกอบด้วยบุคคลที่มาประชุมเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา อาจมีผู้อาวุโสเป็นสภาที่ปรึกษาด้วยก็ได้ 2.เครื่อข่ายปฏิรูปประเทศไทย มีกลุ่มเครือข่ายตามพื้นที่ กลุ่มอาชีพ ตามประเด็น หรืออื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมามีการก่อตัวเยอะไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน กลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) หรือแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ ก็กำลังทำอยู่ โดยทุกฝ่ายเป็นอิสระต่างคนต่างทำไม่ต้องขึ้นกับใคร แต่สิ่งที่จะมาเจอกันด้วยตัวร่วมคือประเทศไทย และ 3.สภาปฏิรูปประเทศไทย หรือสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย คือ การประชุมของทุกภาคส่วนในการปฏิรูปประเทศไทย เพื่อพิจารณาและรับรองเป็นมติในประเด็นนโยบายต่างๆ ที่ได้ผ่านการวิเคราะห์มาเป็นอย่างดีแล้ว จากนั้นก็จะส่งไปยังคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ที่มีนายกฯ เป็นประธาน จะทำให้รัฐบาลไปปฏิบัติง่ายขึ้น เพราะผ่านการสังเคราะห์โดยมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จนเกิดเป็นฉันทามติ ฉะนั้นจะเห็นได้ถึงการทำงานอย่างเชื่อมโยงกันของ 3 เหลี่ยมดังกล่าว นพ.ประเทศ กล่าวว่า ตนจะขอช่วยอยู่ในส่วนที่ 2 คือ เครือข่ายปฏิรูปประเทศไทย และหากมีการเชิญของส่วนที่ 1 ให้ร่วมประชุมตนก็ยินดีจะไป รวมทั้งจะพูดคุยเชื่อมโยงกับทุกฝ่ายรวมทั้งที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลด้วย "ขอฝากให้ท่านบรรหารเปลี่ยนโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศดีขึ้น อย่าเพิ่งไปเรียกร้องถึงปรองดอง จะชอบรัฐบาลหรือไม่ชอบไม่เป็นไร แต่ให้ชอบประเทศไทยก็แล้วกัน" นพ.ประเวศ กล่าว
'บรรหาร' รับแนวคิดสามเหลี่ยมฯ เดินหน้าต่อ ยันไม่ได้รับใช้รัฐบาล ด้าน นายบรรหาร กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับแนวคิดสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา โดยเมื่อทั้ง 3 ส่วนมีมติอย่างไรก็นำไปเชื่อมต่อกับเวทีของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลต้องเอาด้วยและจะยึดกับทฤษฎีนี้เป็นหลัก นายบรรหาร กล่าวต่อว่า ในช่วงเช้าหลังจากเข้าพบนายสนธิ ลิ้มทองกุล แล้วรู้สึกหนักใจ เพราะลูกระเบิดลงหลายลูก แต่เมื่อเดินทางมาเข้าพบกับนพ.ประเวศแล้วทำให้รู้สึกเบาใจขึ้นมาบ้าง สถานการณ์เมื่อครั้งเกิดกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี 40 กับปัญหาในสถานการณ์ปัจจุบันแตกต่างกันมาก เพราะปัจจุบันมีปัญหามากกว่าที่คิด ซึ่งหากรัฐบาลไม่มีส่วนร่วมในการปฏิรูปก็จะเกิดความสำเร็จยาก ขณะเดียวกันรัฐบาลจะต้องเป็นผู้ลดความขัดแย้งลง และการเกิดเวทีปฏิรูปต่างๆ คู่ขนานกับเวทีของรัฐบาลตนเห็นด้วย แต่ขอร้องอย่าให้เกิดความแตกแยก ส่วนจะสำเร็จหรือไม่นั้นตนไม่ได้หวังแต่จะเดินหน้าต่อไปเท่าที่จะเดินได้ และขอยืนยันว่าตนไม่ได้เป็นเครื่องมือของรัฐบาล แต่ต้องการให้เกิดการปฏิรูปประเทศไทยให้จงได้ "มีคนถามผมว่า คิดว่าจะทำได้สำเร็จหรือ ผมก็บอกว่าจะพยายามจะทำ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ บอก 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ผมบอกว่าตอนนี้ 10 เปอร์เซ็นต์แล้วนะ ผมเดินไปทุกสายแล้ว แต่นี่ยังไม่ทันเดินผมก็ถูกโจมตีแล้ว ผมก็อดทน ไม่ได้ว่าอะไร แต่ยังไงก็จะเดินหน้า ไม่ย่อท้อ" นายบรรหาร กล่าว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
ชาวหนองคายระดมเสื้อผ้า-อาหารเยี่ยมโรฮิงญา ที่ถูกแยกขังตามโรงพัก Posted: 11 Sep 2013 09:25 AM PDT หลังจากที่เมื่อต้นเดือนกันยายน เกิดเหตุชาวโรงฮิงยา 105 คนที่ถูกกักไว้ที่ตม. หนองคายลุกฮือก่อความวุ่นวายเรียกร้องไปประเทศที่ 3 จนในที่สุดเจ้าหน้าที่ต้องชาวโรฮิงญาที่ก่อเหตุจำนวน 84 คนไปฝากขังตามโรงพัก 5 แห่ง วันนี้ชาวหนองคายได้ระดมเสื้อผ้า-อาหารเยี่ยมชาวโรฮิงญากลุ่มดังกล่าว โดยเว็บไซต์หนองคายนิวส์ออนไลน์ รายงานว่า วันที่ 11 กันยายน 2556 บรรยากาศทั่วไปที่ สภ.ศรีเชียงใหม่ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งใน สภ. 5 แห่ง ในจังหวัดหนองคาย ที่ใช้ควบคุมตัวชาวโรฮิงญาที่สมัครใจ มีชาวบ้านในพื้นที่อำเภอศรีเชียงใหม่และอำเภอใกล้เคียง ต่างพากันนำอาหารที่ปรุงแบบที่มุสลิมรับประทานได้รวมทั้งเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มมามอบให้กับชาวโรฮิงญา สร้างรอยยิ้มและภาพประทับใจให้กับผู้ที่พบเห็น รวมทั้งทำให้ชาวโรฮิงญาที่ถูกควบคุมตัวมีสีหน้าสดชื่น ผ่อนคลาย นายโมฮัมหมัด ชอชะ อายุ 24 ปี ชาวโรฮิงญาที่ถูกควบคุมตัวเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่าประทับใจในความมีน้ำใจของคนไทยเป็นอย่างมาก ถึงแม้พวกตนจะเป็นคนที่ไร้ประเทศ ต้องอพยพหนีตายจากแผ่นดินเกิด ล่องเรือ ไม่รู้จะไปไหน แต่เมื่อได้พบน้ำใจของคนไทยพวกตนรู้สึกประทับใจจริงๆ ด้าน พ.ต.ท.อรรถศักดิ์ ศิริพานิช รอง ผกก.ปป.สภ.ศรีเชียงใหม่ กล่าวว่าชาวโรฮิงญาที่ถูกนำมาควบคุมตัวที่ สภ.ศรีเชียงใหม่ทั้ง 11 คน ไม่ได้สร้างปัญหาหรือก่อความวุ่นวาย โดยเจ้าหน้าที่ได้มีการนำออกจากห้องควบคุมครั้งละ 2 คน เพื่อให้ออกมานั่งเล่นด้านนอกเพื่อผ่อนคลาย โดยอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด ซึ่งทำให้ชาวโรฮิงญาที่ถูกควบคุมอยู่ต่างรู้สึกผ่อนคลาย ไม่เครียด ส่วนเรื่องอาหารได้มีชาวบ้านที่ทราบข่าวต่างนำอาหารรวมทั้งเสื้อผ้ามามอบให้ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 กันยายน ที่ผ่านมา ชาวโรฮิงญาที่ถูกกักตัวไว้ที่ ตม. หนองคาย ได้ก่อเหตุพยายามพังที่พัก ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้าควบคุมสถานการณ์ และจากนั้นวันที่ 7 กันยายน พล.ต.ต.นุชิต ศรีสมพงษ์ ผบก.ตม.4 พล.ต.ต.สมยศ พรหมนิ่ม ผบก.ภ.จว.หนองคาย พร้อมเจ้าหน้าที่กว่า 200 นาย ควบคุมตัวชาวโรฮิงญา จำนวน 84 คน ออกจากอาคารควบคุมผู้หลบหนีเข้าเมือง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) หนองคาย แยกไปควบคุมตัวชั่วคราวไว้ที่ สภ.เมืองหนองคาย สภ.สระใคร สภ.สังคม สภ.ศรีเชียงใหม่ และ สภ.เฝ้าไร่ จ.หนองคาย โดยระหว่างนี้จะทำการซ่อมแซมห้องควบคุมชั้นบนของอาคารสำนักงาน ตม.หนองคาย และเมื่อซ่อมแซมเสร็จแล้วจะนำชาวโรฮิงญาดังกล่าวกลับมาควบคุมไว้ที่ ตม.หนองคาย ตามเดิม อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีเจ้าหน้าที่สถานทูตบังกลาเทศเดินทางมาพิสูจน์สัญชาติชาวโรฮิงญา พบว่ามีชาวโรฮิงญา 5 คน มีสัญชาติบังกลาเทศ ซึ่งรัฐบาลบังกลาเทศยินดีรับกลับประเทศ จึงได้มีการส่งตัวชาวโรฮิงญาทั้ง 5 คนดังกล่าวไปยัง กก.3 บก.สส.สตม. ที่กรุงเทพฯ เพื่อดำเนินการผลักดันกลับประเทศบังกลาเทศต่อไป ภาวะตึงเครียด ถูกขังเกิน 6 เดือน 30 ก.ค. 2556 เหตุจลาจในห้องกัก ตม. สะเดา จ.สงขลา ล่าสุดพบชาวโรฮิงญาอีก 219 เรือเกยตื้นที่สตูล
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
กก.นโยบายฯ ไทยพีบีเอส ค้าน กสทช. ออกประกาศคุมเนื้อหารายการ Posted: 11 Sep 2013 07:39 AM PDT (10 ก.ย.56) พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (ประธาน กสท.) เปิดเผยภายหลังจากเป็นตัวแทนรับหนังสือแสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการพร้อมเสนอตีความทางกฎหมายจากคณะกรรมการนโยบายไทยพีบีเอสที่เดินทางมายื่นหนังสือที่สำนักงาน กสทช. โดย พ.อ.นที ได้กล่าวขอบคุณ รศ.มาลี บุญศิริพันธ์ ประธานกรรมการไทยพีบีเอส ที่มีข้อเสนอแนะต่อร่างดังกล่าว และ กสทช. พร้อมรับฟังทุกความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน เพื่อนำมาร่วมกันสร้างกติกาที่เหมาะสมให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ต่อไป ซึ่งขณะนี้ยังคงอยู่ในขั้นตอนการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 22 กันยายน 2556 ทั้งนี้ กรรมการนโยบายไทยพีบีเอสได้ให้ความเห็นว่าเนื้อหาในหลักเกณฑ์และ การกำกับดูแล มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน สิทธิและเสรีภาพสื่อมวลชนที่ได้รับรองจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และละเมิดความเป็นอิสระของสื่อสาธารณะของไทยพีบีเอสที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 จึงได้มายื่นจดหมายขอให้ กสทช. ทบทวน (ร่าง)ประกาศ ดังกล่าว
ดูหนังสือคัดค้านที่ http://org.thaipbs.or.th/org_news/prnews/article333220.ece/BINARY/BOG560910.pdf ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
รายงาน: รู้จัก ‘เจ๊แดง โคราช’ คดี 112 รายล่าสุด Posted: 11 Sep 2013 07:36 AM PDT ทีมข่าวกระบวนการยุติธรรม
เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา กลุ่มคนเสื้อแดงจากในกรุงเทพฯ และในจังหวัดนครราชสีมาหลายสิบคนนัดหมายกันเข้าเยี่ยมเพื่อให้กำลังใจ ปภัสชนัญญ์ ฉิ่งอินทร์ หรือที่คนมักเรียกกันว่า 'เจ๊แดง' ซึ่งถูกศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปีตามความผิดมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา จากกรณีที่เป็นแกนนำจัดกิจกรรมเมื่อ 7 เม.ย.2552 ที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี โดยมีคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งร่วมการประท้วงด้วยการเผาโลงศพจำลอง ติดรูปนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พร้อมเขียนข้อความประท้วงบนโลงศพ โดยจำเลยระบุว่าเป็นการล้อเลียนกรณีที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรียก พล.อ.เปรมว่า "พระองค์ท่าน" ซึ่งพูดออกอากาศในสถานีโทรทัศน์ ASTV เมื่อคืนวันที่ 3 เม.ย. ว่า "เสื้อเหลืองออกมาปกป้อง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในฐานะที่พระองค์ท่านเป็นประธานองคมนตรี" (คลิปการพูดออกอากาศของนายสนธิ) ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าการที่จำเลยนำโลงศพจำลอง มีข้อความบนสุดว่า "พระองค์ท่าน ..." บรรทัดต่อมามีข้อความว่า "พลเอกเปรม ..." และ บรรทัดต่อมาคำว่า "มรณะ 8 เมษายน 2552" จำเลยอยู่ร่วมในการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เป็นผู้เทน้ำมันและจุดไฟเผาโลงศพจำลองซึ่งมีข้อความดังกล่าวปรากฏอยู่ในนั้น คำว่า "พระองค์ท่าน" นั้น หมายความถึงพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสูงสุดของบุคคลทั่วไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันกับพวกหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประกอบมาตรา 83 ลงโทษจำคุก 3 ปี (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) และต่อมาศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ก็มีคำพิพากษายืนดังกล่าว เจ๊แดง วัย 64 ปี เป็นแกนนำเสื้อแดงในโคราชที่คนรู้จักกันดีเนื่องจากการเคลื่อนไหวและการพูดที่โผงผางเป็นเอกลักษณ์ เธอเป็นคนโคราชโดยกำเนิด เป็นอดีตนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบปริญญาโทจาก American University ใน Washington,D.C. และเป็นนักธุรกิจนำเข้าส่งออกสินค้าต่างๆ รายใหญ่ในจังหวัด เธอเล่าผ่านลูกกรงโดยคร่าวๆ ว่า คดีดังกล่าวมีนายทหาร 2 คนจากกองทัพภาคที่ 2 เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับตำรวจกล่าวหาว่ากิจกรรมเผาโลงนั้นเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยแจ้งข้อกล่าวหากับบุคคลที่ปรากฏในภาพถ่ายกิจกรรมรวมแล้ว 8-9 คน แต่ในท้ายที่สุดตำรวจฟ้องเธอเพียงรายเดียว โดยเธอรับว่าเป็นโต้โผกิจกรรมโดยไม่ซัดทอดคนอื่นๆ ในระหว่างพิจารณาคดีชั้นต้นเธอยังคงได้รับอิสรภาพ ด้วยการใช้เงินสด 550,000 บาทเป็นหลักทรัพย์ประกันตัว ในที่สุดวันที่ 16 ธันวาคม 2553 ศาลชั้นต้นก็พิพากษาลงโทษเธอ 3 ปี เธอยื่นอุทธรณ์สู้คดี และต่อมาวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ลงโทษจำคุก 3 ปี และนั่นเป็นเหตุให้เธอต้องเข้าคุกครั้งแรก ยาวนาน 3 เดือน 16 วัน ระหว่างยื่นฎีกา คนใกล้ชิดเจ๊แดงรายหนึ่งเล่าว่า ช่วงนั้นเป็นเวลาที่เลวร้ายเพราะเจ๊แดงมีโรคประจำตัวหลายโรค ทั้งโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพเรือนจำที่แออัดได้ จนกระทั่งโรคเบาหวานและโรคหัวใจกำเริบต้องมีการส่งตัวออกมาผ่าตัดดวงตาและผ่าตัดหัวใจ "พอโรคกำเริบเรือนจำก็ส่งมาผ่าทั้งตา ผ่าทั้งหัวใจ เราต้องยื่นประกันตัวถึง 6 ครั้งกว่าจะได้ประกัน แต่ก็ยังถือว่าโชคดีมากที่ถูกส่งตัวออกมาผ่าตัดข้างนอก เพราะมันเป็นเรื่องยากมาก ถ้าเป็นคนธรรมดาไม่มีเส้นสาย คงได้ตายในคุกแล้วก็จำหน่ายคดีไป" คนสนิทเจ๊แดงกล่าว สำหรับความเป็นมาก่อนหน้านี้ เจ๊แดงเล่าว่า เธอเริ่มลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่หลังรัฐประหาร ปี 2549 พร้อมๆ กับใช้สถานีวิทยุชุมชน 104.5 MHz วิทยุพลังประชาชนที่เธอเป็นเจ้าของและก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2547 เป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้คนในพื้นที่ "พี่รักท่านทักษิณมาก เพราะมีนโยบายที่ดีให้ พอตอนนี้มาเป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เราก็ยิ่งรัก ที่ผ่านมาก็ช่วยหาเสียงให้ส.ส.ไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทยตลอด จนเมื่อปี 54 ชนะ 8 เขต จาก 12 เขต" เจ๊แดงกล่าวด้วยความภาคภูมิใจ "วิทยุชุมชนเราทำเพื่อสาธารณะประโยชน์ แต่ตอนนั้นการเมืองร้อนมาก โดนปิดไป 3 หน ปรับครั้งละ 3 หมื่น หาว่าเราไม่มีใบอนุญาต แต่เราก็ไปขึ้นทะเบียนไว้แล้ว" เจ๊แดงเล่า คนใกล้ชิดเจ๊แดงให้ข้อมูลว่า เธอลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในช่วงที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ารับตำแหน่งนายกฯ ในช่วงปี 2551 โดยในช่วงแรกยังไม่มีคนเข้าร่วมและต้องใช้เวลานานราว 2 ปีจึงเริ่มจะมีกลุ่มก้อน จนในที่สุดก็มีการตั้งกลุ่ม คนของแผ่นดิน ลูกหลานย่าโม ที่มีเจ๊แดงเป็นแกนนำ "พออภิสิทธิ์นั่งทำงานในฐานะนายกฯ วันแรก แม่แดงก็เอาเลย ลุกเอาโทรโข่งออกมาด่าอภิสิทธิ์ที่ลานย่าโม ออกมาดุ่ยๆ มีคนออกมาด้วย 2 คน ยืนถือป้ายประท้วง" คนใกล้ชิดหลายคนช่วยนิยามภาพลักษณ์การเคลื่อนไหวของเจ๊แดงไปในทิศทางเดียวกัน ว่า ขาห้าว แดงฮาร์ดคอร์ ป้าปากร้าย ฯ สมโภชน์ ประสาทไทย อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยเขต 1 ที่แพ้คู่แข่งพรรคชาติไทยพัฒนาไปเฉียดฉิว เป็นแกนนำคนหนึ่งในการจัดกิจกรรมเยี่ยมให้กำลังใจเจ๊แดงในครั้งนี้ และมีแผนว่าอาจจะจัดกิจกรรมเช่นนี้ทุกเดือน "เราต้องการให้กำลังใจนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มันสะท้อนว่ากฎหมายมาตรา 112 นี้ทำร้ายคนเรียกร้องประชาธิปไตย บางครั้งอาจไม่เจตนาแต่ก็โดนกฎหมายนี้ทำร้ายไปด้วย อันที่จริงในระบอบประชาธิปไตย น่าจะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้มากกว่านี้ และหวังว่าการผลักดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่จะเกิดขึ้นจะรวมผู้ต้องขังคดี 112 ด้วย" สมโภชน์กล่าว เจี๊ยบ คนเสื้อแดงในพื้นที่โคราช เป็นอีกคนหนึ่งที่ร่วมจัดงานให้กำลังใจเจ๊แดง กล่าวว่า ช่วงแรกของการเคลื่อนไหวกลุ่ม เสื้อแดงในพื้นที่โคราชนั้นมีจำนวนไม่มากนัก เจ๊แดงเป็นคนหนึ่งที่ออกมาเคลื่อนไหวตั้งแต่ช่วงแรกๆ จนกระทั่งปัจจุบันจึงเริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้นโดยมีแรมโบ้อีสานเป็นตัวเชื่อมประสานในพื้นที่กับส่วนกลาง อย่างไรก็ตาม ลักษณะการรวมกลุ่มของคนเสื้อแดงในพื้นที่นั้นแบ่งเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยตามอำเภอต่างๆ มีลักษณะเป็นอิสระต่อกัน ตัวเธอเองก็นับเป็น "แดงอิสระ" ที่เคลื่อนไหวกับหลายกลุ่ม บางกลุ่มก็มีการทะเลาะเบาะแว้งกันบ้างตามปกติ "โคราชค่อนข้างเป็นเมืองอำมาตย์ ก็อย่างที่รู้กันว่าบ้านใคร แม่แดงถือเป็นผู้อาวุโส เป็นดีเจแล้วก็ออกจะปากร้ายหน่อย ที่ผ่านมาเคยร่วมกิจกรรมด้วยกันก็ช่วงที่ทางโคราชทำกิจกรรมเทเลือดที่หน้าบ้านเปรมนั่นแหละ" เจี๊ยบกล่าว หากนับความแตกแยกทางการเมืองตั้งแต่ช่วงก่อนและหลังรัฐประหารต่อเนื่องจนปัจจุบัน กรณีของปภัสชนัญญ์ หรือ เจ๊แดง โคราช น่าจะถือเป็นคดีมาตรา 112 คดีแรกๆ ที่สิ้นสุดถึงชั้นศาลฎีกา เป็นคดีภูธรที่การพิจารณาคดีดำเนินไปอย่างค่อนข้างเงียบเชียบ และน่าจะยังไม่มีใครได้มีโอกาสเห็นคำพิพากษาฎีกาฉบับเต็ม ขณะที่ปัจจุบันเจ้าตัวยังคงยืนยันถึงความจงรักภักดี พร้อมกับเตรียมขอพระราชทานอภัยโทษในเร็วๆ นี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
เผย กสท.ยอมออกเกณฑ์บิวตี้คอนเทสต์ทีวีดิจิตอลสาธารณะเพิ่ม Posted: 11 Sep 2013 07:27 AM PDT กสท. ยอมออกประกาศหลักเกณฑ์บิวตี้คอนเทสต์ทีวีสาธารณะประเภท 2 "ช่องเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ" และย้อนหลัง "ช่องเพื่อความมั่นคง" ด้านสุภิญญาฯ เสนอให้ทำเกณฑ์ทีวีช่องสาธารณะที่เหลือ พร้อมแย้งว่าการยอมให้ทีวีสาธารณะโฆษณาได้สิบนาที มีผลกระทบกับช่องธุรกิจที่กำลังจะประมูล และไม่ควรล็อคสเปกให้หน่วยงานรัฐมากเกินไป สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) วันจันทร์ที่ผ่านมา (9 ก.ย.56) กสท.มีมติเห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. จัดทำประกาศ กสทช. สำหรับกำหนดเงื่อนไข (เพิ่มเติม) ของหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ เพื่อประกอบกิจการสาธารณะประเภทที่สอง หรือ หลักเกณฑ์บิวตี้คอนเทสต์สำหรับทีวีประเภทบริการสาธารณะ ตามที่คณะอนุกรรมการประสานงานการบริหารคลี่นความถี่เพื่อความมั่นคงของรัฐในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้เสนอแนะความเห็นในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นข่าวดีว่าในท้ายที่สุดบอร์ดตัดสินใจออกร่างประกาศ หลักเกณฑ์บิวตี้คอนเทสต์ทีวีบริการสาธารณะ ฉบับนี้ เพราะเป็นกฎกติกาสำคัญที่มีผลทางกฎหมาย กระทบสิทธิของภาคส่วนต่างๆ จึงต้องเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ อย่างไรก็ตาม สุภิญญา กล่าวว่า ร่างประกาศฯ ดังกล่าวนี้ ตนมีข้อสังเกตใน 3 ประเด็น ต่างจาก จากข้อเสนอของอนุกรรมการฯ ที่เห็นว่า องค์กรภาคสาธารณะ เช่น องค์กร มูลนิธิ สมาคม หรือนิติบุคคล จะต้องผ่านการรับรองจากหน่วยงานของรัฐ อาจเป็นการจำกัดสิทธิของผู้ยื่นขอรับใบอนุญาต และประเด็นที่ 3 เรื่องความมั่นคงสาธารณะและความปลอดภัยของรัฐไม่ควรถูกจำกัดว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม (ร่าง)ประกาศหลักเกณฑ์เกณฑ์บิวตี้คอนเทสต์ที่จะจัดทำนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ภาคส่วนต่างๆ ที่สนใจและเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ควรจะเข้ามามีส่วนร่วมจับตาแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ เพราะท้ายที่สุดจะนำมาประกอบการตัดสินใจในการออกใบอนุญาตของ กสทช. ในทีวีสาธารณะประเภทนี้ การจัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงตามเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อ และความคิดเห็นส่วนตัวมองยังว่า กสท.ควรจะต้องออกประกาศหลักเกณฑ์บิวตี้คอนเทสต์เพิ่มเติมกับทีวีสาธารณะประเภทอื่นที่เหลือทั้งหมดด้วย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
คปก.ยื่นความเห็นแก้ไขรธน.ม.190 ปชช.มีส่วนร่วมทำสัญญาระหว่างประเทศ Posted: 11 Sep 2013 07:03 AM PDT คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะแก้ไขรธน.มาตรา 190 ว่าด้วยการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ เสนอประชาชนมีส่วนร่วม ฝ่ายนิติบัญญัติถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร 11 ก.ย.56 นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคปก.เรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190) เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล จากการพิจารณาศึกษาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๙๐) ทั้งจากสำรวจ ศึกษา และวิเคราะห์ทางวิชาการ ประกอบกับการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว คปก.มีความเห็นและข้อเสนอแนะว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา190 ควรคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ คปก. เห็นว่ามาตรา 190 มีเจตนารมณ์ที่จะสร้างความโปร่งใสและสร้างดุลยภาพระหว่างการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารในการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศกับการมีส่วนร่วมของฝ่ายนิติบัญญัติและประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย มีหลักการแก้ไขเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายอย่างเหมาะสมในเวลาอันควร ตลอดจนเพิ่มพูนข้อมูลและอำนาจการต่อรองให้แก่คณะผู้เจรจาในการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวจึงควรคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศด้วย หากพิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๙๐) ที่คณะกรรมาธิการฯพิจารณาแล้วเสร็จ ได้เพิ่มเติมประเภทหนังสือสัญญาที่มีบทเปิดเสรีด้านการค้าการลงทุน ซึ่งยังไม่ครอบคลุมเพียงพอกับการเปลี่ยนแปลงหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ แม้ว่าปัจจุบันจะมีแนวโน้มการทำสนธิสัญญาเพื่อเปิดเสรีด้านการค้าการลงทุนเป็นจำนวนมากในขณะเดียวกันโลกยุคปัจจุบันมีการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพลังงาน ดังนั้น เมื่อมีการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่มีบทเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงไปซึ่งทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ เช่น พลังงานปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ หรือทรัพยากรน้ำ เป็นต้น อาจจำเป็นต้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะผู้แทนของปวงชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพราะเป็นการกระทำที่มีผลกระทบต่อประเทศชาติโดยส่วนรวมเพราะทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ใช้แล้วหมดไป นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีแนวโน้มที่ฝ่ายบริหารไปทำหนังสือสัญญาที่มีผลผูกพันและผลกระทบต่อการเงินการคลังของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีในฐานะฝ่ายบริหาร แต่เมื่อการทำหนังสือสัญญากู้เงิน เช่น การทำหนังสือสัญญากู้เงินจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก การใช้คืนเงินกู้ย่อมกระทบต่อระบบงบประมาณของประเทศ และส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม คปก.เห็นว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะผู้แทนของประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหาร รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนในเรื่องดังกล่าว คปก.จึงเห็นว่าหากฝ่ายบริหารไปดำเนินการทำสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ใช่เพื่อความร่วมมือทางวิชาการหรือการทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อการเงินการคลังของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ อาจจำเป็นต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลจากฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะผู้แทนของปวงชนชาวไทยด้วย เพื่อความโปร่งใส รอบคอบ และเพื่อเป็นการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
BRN ส่งเอกสาร 38 หน้า ชี้แจง 5 ข้อเสนอ Posted: 11 Sep 2013 06:27 AM PDT BRN ส่งเอกสารชี้แจง 5 ข้อเสนอ ผ่านผู้อำนวยความสะดวก ฮัสซันระบุไทยยอมรับ 4 ข้อ ยกเว้นสิทธิความเป็นเจ้าของเหนือปาตานี ยังไม่ได้ส่งหนังสือแจง "ภารดร"ยันได้รับเอกสาร พร้อมนำเข้าหารือที่ประชุมศปก.กปต.13 กันยาฯ นี้ ระบุ BRN ยันทั้ง 5 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญไทย ส่งให้ภาคประชาสังคม วิชาการและภาคประชาชนร่วมพิจารณา แหล่งข่าวจากประเทศมาเลเซีย เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ว่า เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา ดาโต๊ะ ซรี อาหมัด ซัมซามิน ฮาซิม ผู้อำนวยการความสะดวกการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนฝ่ายไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) ได้เดินทางไปที่กรุงเทพมหานคร เพื่อนำคำอธิบายข้อเสนอ 5 ข้อของขบวนการBRN ความยาว 30 กว่าหน้าไปมอบแก่ตัวแทนพูดคุยสันติภาพของฝ่ายรัฐบาลไทยแล้ว แหล่งข่าวคนเดิม เปิดเผยต่อไปว่า ขณะที่นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำขบวนการ BRN เปิดเผยกับตนเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2556 ว่าฝ่ายรัฐบาลไทยได้ตอบรับข้อเสนอของ BRN จำนวน 4 ข้อ จากทั้งหมด 5 ข้อแล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรมาให้ฝ่ายขบวนการ BRN แต่อย่างได ทั้งนี้ ทางมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย ต้องการให้ส่งเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร สำหรับข้อที่ฝ่ายรัฐบาลไทยยังไม่ตอบรับคือข้อที่ 4 ที่ว่า รัฐบาลไทยต้องยอมรับว่าชาวมลายูปาตานีมีสิทธิความเป็นเจ้าของเหนือดินแดนปาตานี แหล่งข่าวคนเดิม เปิดเผยด้วยว่า นายฮัสซัน ยังบอกด้วยว่า การพูดคุยสันติภาพครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นหลังวันอีดิ้ลอัฎฮา(รายอฮัจญ์) การพูดคุยจึงน่าจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 20 - 21 ตุลาคม 2556 นี้ แหล่งข่าวคนเดิม เปิดเผยด้วยว่า การเจรจาระหว่างผู้แทนรัฐบาลไทยกับBRN ที่ผ่านมา มีการดำเนินการ 2 ลักษณะ คือ 1.เจรจาบนโต๊ะเจรจา 2.การเจรจาแบบลับ สำหรับการเจรจาลับมี 2 แบบ ได้แก่ 1.การพูดคุยผ่านผู้อำนวยความสะดวกโดยทั้ง 2 ฝ่ายไม่เจอหน้ากันแต่อยู่ในสถานทีเดียวกัน และ 2.ผู้อำนวยความสะดวกเรียกตัวแทนของBRN มาคุยก่อน หลังจากนั้นจึงเดินไปพูดคุยกับตัวแทนตัวแทนฝ่ายไทย รายงานข่าวแจ้งว่า เอกสารดังกล่าว มีความยาว 38 หน้า ชื่อเอกสารว่า บรรยายสรุปข้อเรียกร้อง 5 ข้อของBRN โดยเป็นเอกสารภาษาอังกฤษ มีเนื้อหาเป็นการชี้แจงรายละเอียดข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อดังกล่าว
ภารดรยันได้รับแล้ว เตรียมนำเข้าที่ประชุมศปก.กปต. พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ขณะนี้ได้รับเอกสารชี้แจงรายละเอียดทั้ง 5 ข้อดังกล่าวแล้ว โดยผ่านผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย ซึ่งมีความยาวประมาณ 30 หน้า เป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทยในระดับหนึ่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณา พล.ท.ภราดร ระบุด้วยว่า ในวันที่ 13 กันยายน 2556 ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศปก.กปต.) จะนำเรื่องนี้เข้าพิจารณา หลังจากนั้นจะส่งให้คณะทำงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการศึกษาต่อไป พล.ท.ภราดร กล่าวว่า การที่ BRN อ้างว่า 5 ข้อเรียกร้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญไทย และยืนยันเจตนารมณ์ว่าจะทำภายใต้รัฐธรรมนูญไทยนั้น ส่วนตัวเห็นว่าจะต้องมีการพูดคุยกันต่อไป และจะต้องนำข้อเรียกร้องดังกล่าวไปศึกษาว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญไทยหรือไม่
ส่งให้ภาคประชาสังคมร่วมพิจารณา "ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่จะส่งไปให้ภาคประชาสังคม ภาควิชาการและภาคประชาชนร่วมกันพิจารณา คาดว่าจะต้องใช้เวลาในระดับหนึ่ง ถ้าการพิจารณาแล้วเสร็จและได้ข้อยุติ ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นเรื่องของหลักการและหลังจากนั้นก็จะคุยรายละเอียดต่อไป โดยได้มีการนัดหมายไว้ช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้ หรือสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคมนี้" พล.ท.ภราดร
รู้จัก 5 ข้อเสนอ BRN ข้อเสนอ 5 ข้อของแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) ที่แถลงผ่านเว็บไซต์ยูทูป เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2556 โดย Adam Muhammad Nur มีเนื้อหาดังนี้ 1.การเจรจาสันติภาพครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างตัวแทนนักต่อสู้ปาตานีที่นำโดย BRN กับรัฐบาลไทย 2. BRN เห็นด้วยที่จะแต่งตั้งรัฐบาลมาเลเซียเป็นคนกลางผู้ไกล่เกลี่ย ซึ่งมีส่วนรวมโดยตรงในการเจรจา 3. ตลอดช่วงการเจรจาต้องมีตัวแทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน องค์กรโอไอซี และองค์กรเอ็นจีโอต่างๆ เป็นพยาน 4.รัฐบาลไทยจำเป็นต้องยอมรับว่าชาว (เชื้อสาย) มลายูปาตานีมีสิทธิความเป็นเจ้าของเหนือดินแดนปาตานี 5. BRN เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยผู้ที่ถูกควบคุมตัว (นักโทษทางการเมือง/ผู้ต้องสงสัย) ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
ไฟใต้ 2 วันเจ้าหน้าที่ตาย 8 เป็นตำรวจ5ทหาร3 Posted: 11 Sep 2013 05:15 AM PDT เหตุไม่สงบ 2 วัน เจ้าหน้าที่ตายรวม 8 นาย เป็นตำรวจ 5 นายถูกถล่มที่ทุ่งยางแดง ส่วนทหารฉก.ยะลาโดนบึ้มตาย 2 นาย ทหารพรานถูกยิง 1 นาย สารวัตกำนัน-นักเรียนเจ็บ แม่ทัพ4 มอบเหรียญบางระจัน มาเลย์จับ 3 คนไทยพร้อมอาวุธ ภาพจากเพจอาสาสมัครกู้ชีพสันติ ปัตตานี เมื่อเวลา 10.20 น. วันที่ 11 กันยายน 2556 เกิดเหตุคนร้ายประมาณ 5 - 6 คน ขับรถกระบะเป็นพาหนะใช้อาวุธปืนสงครามยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัด กก.สส.2 ศชต.(ศปนม) เสียชีวิต 5 ราย บริเวณบ้านจะมือฆา หมู่ที่ 7 ต.ปากู อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ส่วนปฏิบัติการและรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ศูนย์ปฏิบัติการร่วมทางยุทธวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) รายงานว่า เหตุเกิดขณะทั้ง 5 นาย แต่งกายนอกเครื่องแบบออกปฏิบัติภารกิจติดตามจับกุม/สืบสวนสอบสวนหาข่าวเกี่ยวกับกลุ่มผู้ค้าน้ำมันเถื่อนในพื้นที่ ต.ปากู อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ด้วยรถกระบะของทางราชการ เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุบนถนนสายชนบท คนร้ายประมาณ 5 - 6 คน ขับรถกระบะสีดำเป็นพาหนะ ใช้อาวุธปืนสงครามกราดยิงใส่จำนวนหลายนัด จากนั้นคนร้ายได้ลงจากรถแล้วใช้อาวุธปืนยิงซ้ำ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ทั้งหมดเสียชีวิต ตำรวจที่เสียชีวิตทั้ง 5 นาย ได้แก่ 1. พ.ต.ต.สันติชัย ศาสตรประดิษฐ์ 2. ร.ต.ท.อนาวิล อาคุณชาดา 3. ด.ต.มะสูดิง มีสา 4. จ.ส.ต.มะรอนิง ยูโซ๊ะ 5. จ.ส.ต.สมโภชน์ สมประสงค์ หลังก่อเหตุคนร้ายได้นำอาวุธปืนของผู้เสียชีวิต และสิ่งของอุปกรณ์จำนวนหนึ่งหลบหนีไปด้วย พร้อมได้โปรยตะปูเรือใบตามเส้นทางที่คนร้ายใช้ในการหลบหนี เพื่อป้องกันการติดตามของเจ้าหน้าที่ สำหรับสาเหตุเป็นการกระทำของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ชี้แจงเหตุคนร้ายซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต จำนวน 5 นาย กอ.รมน.ภาค 4 สน. แถลง ต่อมาเวลา 13.15 น.ที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์/ โฆษกกอ.รมน.ภาค 4 สน.แถลงกรณีนี้ว่า กอ.รมน.ภาค 4 สน. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อครอบครัวและญาติของวีระบุรุษทั้ง 5 ท่าน และขอสดุดีในวีรกรรมอันกล้าหาญ ที่ได้ทุ่มเทเสียสละ ปฏิบัติหน้าที่จัดการกับปัญหาภัยแทรกซ้อนจนนาทีสุดท้ายของชีวิต "กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ยังคงมีพฤติกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับปัญหาภัยแทรกซ้อนในพื้นที่ ทั้งยาเสพติด น้ำมันเถื่อนและสินค้าหนีภาษี ในลักษณะเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันกับกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมาย ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน สร้างความเสียหายกับระบบเศรษฐกิจ และเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศชาติ" โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 กล่าว พ.อ.ปราโมทย์ แถลงอีกว่า กอ.รมน.ภาค 4 สน. ให้ความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้กำหนดนโยบายและมาตรการเข้าดำเนินการจัดการกับปัญหาภัยแทรกซ้อนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการจัดตั้งคณะทำงานเข้าติดตามจับกุม ตรวจยึดและนำไปสู่การยึดทรัพย์เป็นจำนวนมากในห้วงที่ผ่านมา ซึ่งได้ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อกลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จะยังคงดำรงความมุ่งหมายในการเข้าจัดการกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งเป็นทุกข์ของชาวบ้าน ทำลายระบบเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อความมั่นคง พร้อมกับจะเร่งรวบรวมพยานหลักฐานติดตามกลุ่มคนร้ายที่ร่วมก่อเหตุในครั้งนี้มาลงโทษตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 เวลา 09.45 น. เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดทหาร ชป.ลว.รปภ.ครู ร้อย.ร.5033 ฉก.ยะลา 11 เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 2 ราย เหตุเกิดขณะลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยครูภายในโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง 2 บ้านบาโด หมู่ที่ 3 ต.ยุโป อ.เมือง จ.ยะลา โดยคนร้ายได้นำวัตถุระเบิดแสวงเครื่องมาฝังไว้ใต้พื้นดินใกล้กับศาลาพักผ่อนภายในโรงเรียน เจ้าหน้าที่ระบุสาเหตุเป็นการกระทำของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง สำหรับทหารที่เสียชีวิต คือ ส.อ.ประเทศ จันทร์อ้น อายุ 33 ปี และพลฯ วุฒิชัย บุญทองช่วย อายุ 22 ปี และได้รับบาดเจ็บ 2 ราย คือ พลฯ ธีรพงศ์ สมจิตร อายุ 22 ปี และด.ช.อัษฎาวุฒิ บุญเทียน นักเรียน ศีรษะโนเกิดจากการตกใจเสียงระเบิดแล้วหกล้ม เวลา 16.50 น. คนร้าย 4 คน ขับขี่รถจักรยานยนต์ 2 คัน ใช้อาวุธปืนพกขนาด 11 มม. และอาวุธปืนพกขนาด 9 มม. ยิงทหารพราน กรม.ทพ.46 เสียชีวิต 1 ราย ชื่อ อส.ทพ.มูฮัมหมัดอาเรส ยะโก๊ะ อายุ 40 ปี ขณะติดตามหาข่าวกลุ่มนายอับดุลฮากิม ปูตะ และชาวบ้านบาดเจ็บ 1 ราย ชื่อ นางซีตาอายา สาเม๊าะบือตา อายุ 47 ปี ซึ่งเป็นสารวัตรกานัน ต.บองอ เหตุเกิดที่ตลาดนัดสามแยกบ้านยะหอ หมู่ที่ 10 ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นการกระทำของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง แม่ทัพ4มอบเหรียญบางระจัน ต่อมาเวลา 09.00 น.วันที่ 11 กันยายน 2556 ที่ฌาปนสถานเทศบาลนครยะลา พล.ท.สกล ชื่นตระกูล แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เป็นประธานในพิธีรดน้ำศพส.อ.ประเทศ จันทร์อ้น และพลทหารวุฒิชัย บุญทองช่วย ที่เสียชีวิตจากเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดที่โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง 2 โดยมีข้าราชการและประชาชน เข้าร่วมพิธีจำนวนมาก พล.ท.สกล ยังได้มอบประกาศนียบัตร เหรียญบางระจัน และมอบเงินช่วยเหลือ จากกองทุนภาคเอกชนรวมน้ำใจช่วยทหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เงินกองทุนช่วยเหลือกำลังพลกองทัพบก จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเงินช่วยเหลือจัดการศพขั้นต้นอีกด้วย จับ 3 คนไทยในมาเลย์ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2556 ตำรวจมาเลเซียจับกุมคนไทย 3 คน พร้อมกับอาวุธสงครามและสารประกอบระเบิดจำนวนมาก ที่รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้สัมภาษณ์สื่อไทยหลายสำนักเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 กรณีการจับกุม 3 คนไทยดังกล่าวว่า ยังอยู่ระหว่างการขยายผลระหว่างตำรวจสันติบาลไทยกับมาเลเซีย เบื้องต้นผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมได้มีส่วนสัมพันธ์กับเหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.ท.ภราดร ระบุว่า สมช.ตั้งสมมติฐานไว้ 2 ประเด็นคือ 1.แก๊งค้าอาวุธสงคราม 2.กลุ่มก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แหล่งข่าวจากมาเลเซีย เปิดเผยกรณีนี้ว่า จากการพูดคุยกับหน่วยข่าวกรองของมาเลเซีย มีการสันนิษฐานไว้ 2 ประเด็น คือ 1.เป็นการจับกุมกลุ่มอาชญากรรมภายในประเทศมาเลเซียเอง 2.คนที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทยลักลอบนำอาวุธเข้าไปในประเทศมาเลเซีย ในประเด็นที่ 2 นี้ มีความเป็นไปได้ว่า อาจเป็นกลุ่มก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ซึ่งที่ผ่านไม่มีข่าวว่ากลุ่มก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ลักลอบนำอาวุธเข้าไปในประเทศมาเลเซีย หรือเป็นกลุ่มที่ต้องการสร้างสถานการณ์เพื่อทำลายการพูดคุยสันติภาพ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
ศอ.บต.ส่ง50เหยื่อไฟใต้ไปทำฮัจญ์ เจอปัญหาวีซ่าเลื่อนเดินทาง Posted: 11 Sep 2013 04:57 AM PDT ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่ง 50 เหยื่อไฟใต้ไปทำฮัจญ์ รวมทายาทผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เจอปัญหาวีซ่าไม่ออก ต้องเลื่อนเดินทาง เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อ.เมือง จ.ยะลา ศอ.บต.จัดการอบรมผู้ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบียในโครงการนำคุณค่าฮัจญ์มาเสริมสร้างสังคมสันติสุข ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ อันเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 50 คน ทั้ง 50 คน ประกอบด้วย ทายาทผู้เสียชีวิตหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ 22 คน กลุ่มทายาทผู้เสียชีวิตจากปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ 5 คน กลุ่มทายาทผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้นำศาสนาและบุคลากรทางศาสนา 8 คน กลุ่มทายาทของเจ้าหน้าที่รัฐ 12 คน และเจ้าหน้าที่ศอ.บต. 3 คน การอบรมครั้งนี้ มีการให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการทำฮัจญ์ที่สมบูรณ์ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อิสลามในนครมะดีนะห์และนครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย การทำพิธีฮัจญ์และอุมเราะห์ และการเตรียมตัวก่อนออกเดินทาง ดร.มะรอนิง สะแลมิง รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวในการอบรมว่า การทำฮัจญ์ เป็นหลักการอิสลาม ประการที่ 5 ที่บังคับให้มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติเพียงครั้งเดียว ตามความสามารถของแต่ละคน ทั้งด้านสุขภาพร่างกาย ทรัพย์สินเงินทองและความปลอดภัยในการเดินทาง แต่หากใครมีความสามารถจะทำพิธีฮัจญ์หลายครั้งก็ได้ โดยผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ทุกคนต้องตั้งเป้าหมายสูงสุด คือการได้ทำฮัจญ์ที่สมบูรณ์ หรือเรียกว่า ฮัจญ์มับบูร หมายถึงฮัจญ์ที่ได้รับการตอบรับจากอัลลอฮฺ ดร.มะรอนิง กล่าวอีกว่า คนที่ได้ไปทำฮัจญ์ ถือเป็นแขกของอัลลอฮฺ ไม่ใช่ว่าทุกจะได้ไป ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความประสงค์ของอัลลลอฮฺ แม้ไม่ว่าคนนั้นจะมีความสามารถหรือมีความพร้อมมากแค่ไหน แต่ถ้าอัลลอฮฺไม่ประสงค์สุดท้ายก็ไม่สามารถไปได้ ทั้งนี้ ตามกำหนดการเดิม ผู้ที่จะไปประกอบพิธีฮัจญ์กลุ่มนี้จะออกเดินทางในวันที่ 11 กันยายน 2556 ด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำที่สนามบินหาดใหญ่ จ.สงขลา แต่จำเป็นต้องเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากกระทรวงต่างประเทศซาอุดีอาระเบียยังไม่ออกวีซ่าให้ ทำให้ต้องรอวีซ่าก่อนจึงจะสามารถออกเดินทางได้ ซึ่งยังไม่ไม่แน่ชัดว่าจะได้รับวีซ่าเมื่อไหร่ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
ขายซองประมูลทีวีดิจิตอลวันที่ 2 รวมเอกชนซื้อแล้ว 23 ราย Posted: 11 Sep 2013 03:33 AM PDT กสทช. สรุปรายชื่อผู้ซื้อเอกสารการประมูลขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ รวมทั้งสองวันจำหน่าย 23 ราย 34 ชุด ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) ภารกิจยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. กล่าวสรุปรายชื่อจำนวนผู้สนใจผู้ซื้อเอกสารการประมูลขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ ระหว่างวันที่ 10-11 กันยายน 2556 รวม 23 ราย จำนวน 34 ชุด โดยสามารถสรุปรายชื่อผู้ซื้อเอกสารการประมูลทั้งสองวัน แบ่งตามหมวดหมู่ให้บริการ ดังนี้ 1.หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว มีผู้สนใจซื้อเอกสารการประมูลจำนวน 6 ราย ได้แก่ บริษัท โรสมีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด, บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด, บริษัท ไทยทีวี จำกัด, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ,บริษัท เนชั่น คิดส์ จำกัด และบริษัท ทัช ทีวี จำกัด 2.หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ มีผู้ซื้อเอกสารการประมูลจำนวน 10 ราย ได้แก่ บริษัท โพสต์ ทีวี จำกัด, บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด, บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด, บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด, บริษัท ไทยทีวี จำกัด, บริษัท โมโน เจนเนอเรชั่น จำกัด, บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด, บริษัท ไอ-สปอร์ต มีเดีย จำกัด ,บริษัท 3เอ. มาร์เก็ตติ้ง จำกัด และบริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด 3.หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (ทั่วไป SD) มีผู้ซื้อเอกสารการประมูลจำนวน 11 ราย ได้แก่ บริษัท บีบีทีวี แซทเทลวิชั่น จำกัด, บริษัท ทัช ทีวี จำกัด, บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอสดี ดิจิทัลทีวี จำกัด, บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด, บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด, บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด, บริษัท ไทยทีวี จำกัด, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด, บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด และบริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด 4. หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (ทั่วไป HD) มีผู้ซื้อเอกสารการประมูลจำนวน 7 ราย ได้แก่ กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด, บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอชดี ดิจิทัลทีวี จำกัด, บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด, บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด และบริษัท โมโน ทีวี จำกัด สำหรับ ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. 2556 กำหนดให้ ผู้ประสงค์จะเข้าร่วมการประมูลมีสิทธิยื่นขอรับใบอนุญาตไม่เกินรายละ 1 ใบอนุญาตของแต่ละหมวดหมู่ และผู้ประสงค์จะเข้าร่วมการประมูลไม่สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตในหมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (ทั่วไป HD) พร้อมกับหมวดหมู่ข่าวสารและสาระได้ โดยผู้ที่สนใจซื้อเอกสารการประมูลฯ นี้จะต้องเลือกที่จะยื่นขอรับใบอนุญาตหมวดหมู่ใดหมวดหมู่หนึ่งเท่านั้น โดย กสท. จะตรวจสอบความสัมพันธ์ภายในหมวดหมู่เดียวกัน และกรณีข้ามหมวดหมู่จะตรวจสอบความสัมพันธ์เฉพาะหมวดหมู่ทั่วไป HD และหมวดหมู่ข่าวสารและสาระ ทั้งนี้การจัดจำหน่ายเอกสารการประมูล สำนักงาน กสทช. จะเปิดจำหน่ายไปจนถึงวันที่ 12 กันยายน 2556 เวลา 16.00 น. ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
Uniform ว่าด้วยเครื่องแบบและชุดทำงาน Posted: 11 Sep 2013 02:34 AM PDT
กลอนบทนี้ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ น่าจะเป็นแรงบันดาลใจอันสำคัญให้นักศึกษามหาวิทยาลัยยอมโน้มตัวเองเข้าหาสังคมในยุคหลังสายลมแสงแดด และเป็นแรงขับดันอันหนึ่งสำหรับการต่อต้านชุดนักศึกษาในยุคแสวงหาครั้งที่สองหลังวิกฤตศรัทธา เพื่อหาคุณค่าใหม่ทางสังคมหลังจากชุดที่ (รุ่นพี่) เราเคยศรัทธาเสื่อมมนต์ขลังไปในช่วงทศวรรษ 1980s สมัยนั้นคนจำนวนไม่น้อยในธรรมศาสตร์แต่งกายด้วยเสื้อยืด กางเกงยืน (แม้กระโปรงก็เป็นผ้ายีน) และรองเท้าแตะเป็นสำคัญ ศาสตราจารย์คุณหญิง นงเยาว์ ชัยเสรี อธิการบดี ธรรมศาสตร์ในยุคนั้น ไม่ได้บังคับใช้ระเบียบว่าด้วยเครื่องแบบนักศึกษาด้วยซ้ำไป เพียงแต่ต้องการให้นักศึกษาแต่งกายให้ "สุภาพ" ตามมาตรฐานสังคมในสมัยนั้นคือเสื้อ (ต้องไม่ใช่สื่อยืด) และเอาใส่ไว้ในชายกางเกงหรือกระโปรง พวกเราก็ไม่เห็นด้วย ด้วยเหตุผลว่า มันเป็นเสรีภาพในร่างกายของเรา เราสามารถทำการศึกษาเล่าเรียนได้ด้วยการแต่งกายแบบนี้ มันไม่ได้เป็นอุปสรรคใดๆต่อการศึกษาเลยสักนิดเดียวและที่สำคัญมันก็เหมือน "ชาวบ้าน" ทั่วไปดีด้วย ไม่แปลกแยกกับสังคม แต่ในเวลานั้นท่านอธิการก็ยังเห็นว่า นักศึกษาควรแตกต่างจากชาวบ้านทั่วไป จึงต้องแต่งตัวต่างออกไป เถียงกันบนจุดยืนคนละแบบสุดท้ายก็ประนีประนอมว่า ให้แต่งกายในชุดสุภาพในเวลาสอบ (ไม่จำกัดว่าต้องเป็นเครื่องแบบนักศึกษา) ก็เห็นว่าอยู่กันมาแบบนี้ได้หลายปี จนกระทั่งการย้ายธรรมศาสตร์ไปรังสิตแนวคิดที่จะบังคับนักศึกษาให้แต่งกายด้วยเครื่องแบบเหมือนกันก็ถูกนำมาใช้อย่างเข้มงวดอีก นักศึกษายุคหลังจึงแต่งกายด้วยชุดนักศึกษา แม้ว่าสำหรับหลายคน โดยเฉพาะนักศึกษาหญิงดูยังไงก็ไม่สุภาพแม้ในมาตรฐานสังคมปัจจุบัน ปัญหาเรื่องเครื่องแต่งกายในธรรมศาสตร์มีการถกเถียงทุกยุคทุกสมัยมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่บริบท เพราะอย่างไรเสียมหาวิทยาลัยก็อยากให้นักศึกษาไม่เหมือนชาวบ้านและต้องการใช้อำนาจของมหาวิทยาลัยเหนือชีวิตร่างกายมากกว่าจะทำหน้าที่ทางปัญญาอยู่แล้ว การถกเถียงเรื่องเครื่องแต่งกายในธรรมศาสตร์ในปัจจุบันก็ยังน่าจะวนเวียนอยู่ในบริบทที่ว่า จุดมุ่งหมายแท้จริงของการสวมใส่เครื่องแบบนักศึกษาคืออะไรกันแน่ เพื่อยกฐานะนักศึกษาให้แยกออกจากกลุ่มอื่นๆอย่างชัดเจนหรือเพื่อประสิทธิผลของการศึกษา แต่การยกเรื่องวินัยในทางวิทยาศาสตร์มาเป็นเหตุผลอ้างอิงเรื่องเครื่องแบบและการสอบวัดผลนั้นประหลาดมาก มันดูบิดเบี้ยวเกินว่าเหตุทางวิทยาศาสตร์จะรับได้ด้วยซ้ำ คงไม่น่าจะมีใครต่อต้านถ้ามหาวิทยาลัยมีระเบียบว่า ในการเข้าห้องทดลองทางวิทยาศตร์นั้นให้นักศึกษาสวมใส่ชุดป้องกันอันตรายจากการทดลอง เช่นเสื้อคลุมสีขาว รองเท้าที่หุ้มเท้าทั้งหมด และแว่นตากันสารเคมีหรืออื่นๆที่จำเป็น แต่ชุดนักศึกษาธรรมดาๆแล้วอ้างเพื่อรักษาวินัยในการเรียนวิทยาศาสตร์นี่ไม่ชอบด้วยเหตุผลอย่างยิ่ง ไม่บอกอะไรมากกว่ามหาวิทยาลัยอยากใช้อำนาจแบบทหารเท่านั้นเอง รูปแบบและแนวทางในการต่อต้านเป็นประเด็นที่พูดกันมาก หลายคนเห็นด้วยกับหลักการในการต่อต้านชุดนักศึกษาแต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการ แต่ถ้ามองจากบริบทของสังคมปัจจุบันการใช้เรื่องเพศเป็นเครื่องมือนี้นับว่าได้ผลมากทีเดียว เพราะสังคมไทยเป็นสังคมปากว่าตาขยิบในเรื่องเพศ แต่สังคมโลกกำลังยอมรับได้ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ประการสำคัญที่สุดคือ ในหลายปีมานี่โดยเฉพาะในสมัยที่พวกที่กำลังด่าๆอยู่นี่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ เครื่องแบบนักศึกษาถูกใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าการบริการทางเพศด้วย ชุดนักศึกษาหญิงปัจจุบันนี้ถูก "ดัดแปลง" ให้ดูเป็นชุดที่มีความดึงดูดทางเพศมากกว่าเป็นชุดของผู้คงแก่เรียนสมฐานะนักศึกษาไปจนหมดแล้ว สารที่ผู้ประท้วงส่งออกมาม้นจึงแรงและได้ผลแบบ two in one เลยทีเดียว ผู้ที่ทำงานในวงการโฆษณาประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชน จงเร่งติดต่อทีมงานนี้มาร่วมงานทันที่ที่เขาเรียนจบ สมัยนี้หานักนิเทศศาสตร์ที่จับประเด็นสังคมได้เฉียบขนาดนี้ยากเต็มทน ส่วนใหญ่มือถือสากปากถือศีลกันทั้งนั้น --- จบการแสดงความคิดเห็นเพียงเท่านี้ หวังว่าเพื่อนๆที่เป็นลูกแม่โดมจนวันตายจะเข้าใจรุ่นน้องบ้าง ไม่สนับสนุนก็ไม่เป็นไร ไม่เห็นด้วยก็วิจารณ์ได้ เขาคงรับฟัง แต่ด่าแบบสาดเสเทเสียนี่ไม่สมกับเป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ เพราะที่นั่นคือดินแดนเสรี ไม่ใช่ค่ายกักกันดัดสันดาลเยาวชน ปล. ว่าจะหารูปตัวเองในชุดนักศึกษาธรรมศาสตร์ ปรากฎว่าไม่มี เพราะ 4 ปีที่ท่าพระจันทร์ มิเคยมีเสื้อแบบใดที่เข้ากับนิยามเครื่องแบบนักศึกษาเลย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
รายงาน: อินเทอร์เน็ต เครื่องมือใหม่ในการยกเครื่องกฎหมายเก่าของพม่า Posted: 11 Sep 2013 01:55 AM PDT ย่างกุ้ง พม่า – เมื่อห้าปีก่อน เนย์ พง ลัต พยายามฆ่าเวลาด้วยการอ่านหนังสือ ฝึกโยคะ เขียนเรื่องสั้นหรือบทกวีบ้าง แต่เมื่อเช้าวันจันทร์เมื่อไม่นานมานี้เอง บล็อกเกอร์รายนี้แทบไม่มีเวลารับโทรศัพท์เพราะต้องรีบออกเดินทางไปยังเมืองหลวงแห่งใหม่ของพม่าเพื่อไปทำหน้าที่แก้ไขกฎหมายฉบับที่ส่งให้เขาต้องเคยไปติดคุก "ผมมีเวลาแค่ 20 นาทีนะ" เขากล่าวพร้อมรอยยิ้มเชิงขอโทษขอโพยผู้มาเยือน ก่อนที่ต้องฝ่าฝนไปจับรถเดินทางอีกสี่ชั่วโมงไปเมืองหลวงเนย์ปิดอว์ พอรับโทรศัพท์จัดการธุระของเขาเสร็จแล้ว เขาก็เดินไปมาในห้องที่ฝากำแพงประดับไปด้วยรูปของสตีฟ จ็อบส์, บิล เกตส์ กับไอดอลด้านเทคโนโลยีคนอื่นๆ ที่เขาชื่นชม เนย์ พง ลัตในวันนี้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดถ้าเปรียบเทียบภาพถ่ายเมื่อเดือนมกราคมปี 2012 ที่เขาเพิ่งถูกปล่อยตัวจากคุก เขานั่งลงเพื่ออธิบายให้เราฟังว่าทำไมเขาจึงหันมาร่วมงานกับอดีตรัฐบาลทหารที่ตัดสินจำคุกเขาถึง 20 ปีกับหกเดือน "ทุกวันนี้เรามีเสรีภาพในระดับหนึ่ง แต่กฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ฉบับรัฐบาลทหารยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ และทุกวันนี้ประชาชนสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างเสรี แต่เรายังไม่เสรีเพราะว่ากฎหมายฉบับนั้นยังอยู่ รัฐสามารถใช้กฎหมายตัวนี้เป็นเครื่องมือฟ้องร้องทุกคน อาจพูดได้ว่าเรามีอิสระ แต่ว่าเราก็ไม่ปลอดภัย" เนย์ พง ลัต อายุ 28 ปีตอนที่เขาต้องไปติดคุกด้วยข้อหาเข้าร่วมกับฝ่ายค้านและขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 2008 ในช่วงปี 2007 เกิดเหตุการณ์ที่เรียกกันว่าปฏิวัติผ้าเหลือง (Saffron Revolution) ซึ่งมีพระสงฆ์เป็นผู้นำการประท้วงต่อต้านรัฐบาล ช่วงนั้นบล็อกเกอร์อย่างเขาทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารหลักในห้วงที่รัฐบาลปราบปรามฝ่ายค้านจนในที่สุดแล้วก็ปิดกั้นอินเทอร์เน็ตโดยสิ้นเชิง แม้ว่าเนย์ พง ลัตต้องโทษจำคุกทั้งในเรือนจำอินเส่นกับเรือนจำปะอันก็ตาม ทุกวันนี้เขามีความหวังว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ในประเทศของเขา เขามองว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายนับตั้งแต่เขาเห็นการลุกฮือของประชาชนเมื่อปี 1988 ที่เขาเป็นเด็กชายวัยแปดขวบ เป็นช่วงที่รัฐบาลไล่ล่าเข่นฆ่านักศึกษาและนักเคลื่อนไหว ทำให้ประชาชนเสียชีวิตไป 3,000 ราย การต่อสู้ในโลกออนไลน์ กระนั้น เนย์ พง ลัต กับนักเคลื่อนไหว บล็อกเกอร์และผู้สื่อข่าวอีกมากมายในพม่าหรือเมียนมาร์ยังคงกังวลกับช่วงเปลี่ยนผ่านขณะนี้ ด้วยกฎหมายล้าสมัยที่มีบทลงโทษแรงกับร่างกฎหมายลักษณะเดียวกันที่กำลังอยู่ในกระบวนการทางนิติบัญญัติ ทำให้พวกเขาไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะแน่วแน่กับระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ชาวพม่ากลุ่มใหญ่ที่เคยลี้ภัยการเมืองออกนอกประเทศ หรือเคยต้องโทษจำคุกหรือต้องตกอยู่ภายใต้กฎเซนเซอร์ ปัจจุบันพลเมืองเหล่านี้เกาะกระแสความนิยมของอินเทอร์เน็ตเป็นหลักประกันว่าบรรดานักการเมืองที่เป็นอดีตนายทหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลายนี้จะไม่หันมายึดคืนเสรีภาพโฉมใหม่ทางอินเทอร์เน็ตไป นอกจากจะใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสะพานเข้าถึงกลุ่มชนรุ่นใหม่ที่ใช้สมาร์ทโฟนอย่างคล่องแคล่วแล้ว พวกเขายังอาศัยมันเป็นเครื่องมือในการปลดปล่อยให้หลุดพ้นจากกรอบกฎหมายตกยุคสมัยที่เป็นภัยคุกคามในหลายด้านรวมทั้งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จากการที่พลเมืองเน็ตในพม่าจำนวนมากยังคงไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงทั้งปวงที่เกี่ยวพันกันมา เนย์ พง ลัตกับองค์กรที่ชื่อเมียนมาร์ไอซีทีเพื่อการพัฒนาหรือ MIDO ของเขาใช้เฟซบุ๊กเป็นหนึ่งในช่องทางหลักที่จะระดมเสียงสนับสนุน อินเทอร์เน็ตกับสมาร์ทโฟนกำลังมุ่งเข้าสู่ยุคเติบใหญ่ในพม่า ยักษ์ใหญ่ในแวดวงโทรคมนาคมเช่นเทเลนอร์จากประเทศนอร์เวย์และอูเรดูจากกาตาร์เพิ่งได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินกิจการสื่อสารไร้สายได้ 15 ปีในดินแดนที่ถือเป็นตลาดใหม่แห่งสุดท้ายในเอเชีย รัฐบาลพม่าตั้งเป้าให้การสื่อสารเคลื่อนที่เข้าถึงร้อยละ 80 ของประชากรในประเทศให้ได้ภายในปี 2016 เมื่อเทียบกับอัตราที่ไม่ถึงร้อยละ 10 ในปัจจุบัน ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตยังเข้าไปไม่ถึงประชาชนส่วนใหญ่ในพม่า แม้จะไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่ประเมินกันว่าอินเทอร์เน็ตน่าจะเข้าถึงประชากรประมาณร้อยละ 1 ถึง 3 ในพม่าในปัจจุบัน กระนั้น MIDO สังเกตว่ารัฐบาลมักเผยแพร่ประกาศหรือข่าวสารความเคลื่อนไหวของรัฐสภาทางหน้าเฟซบุ๊กของทางการ สำหรับประชาชนพม่าทั่วไป นอกจากจะใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กในการแบ่งปันข้อมูลแล้ว พวกเขายังใช้มันเป็นช่องทางในการรับรู้ข่าวสารและเนื้อหาสาระอื่นๆ ในประเทศที่มีประชากร 55 ล้านคน ที่ซึ่งอินเทอร์เน็ตช้ามากและไฟฟ้าก็ดับเป็นกิจวัตรประจำวัน เฟซบุ๊กได้แซงหน้าบล็อกไปแล้วในด้านช่องทางสื่อสารยอดนิยม ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีประเมินว่าน่าจะมีผู้ใช้เฟซบุ๊กในพม่าราว 600,000 ถึง 800,000 ราย เฟซบุ๊กคืออินเทอร์เน็ตในพม่านั่นเอง การที่รัฐมนตรีข่าวสารและโฆษกประธานาธิบดี เย ทุต ประกาศผลผู้ชนะเลิศการประมูลทางหน้าเฟซบุ๊กไปเมื่อเดือนมิถุนายนเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ผู้กำหนดนโยบายมองโซเชียลเน็ตเวิร์กว่าเป็นพื้นที่ใหม่สำหรับการสื่อสาร มุมมองของนักข่าว
ที่สำนักงานเล็กๆ แห่งหนึ่งในย่างกุ้ง นักข่าวอิสระ มิน จอว์ใช้เฟซบุ๊กเป็นประจำเหมือนกัน ขณะที่คุยกับผู้มาเยือน มิน จอว์ก็พิมพ์ข้อความบนแมคบุ๊กของเขา (มีสติ๊กเกอร์รณรงค์ "ให้เสรีภาพกฎหมายสื่อ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความจริง" ติดอยู่) เขาเล่าให้ฟังเรื่องการประชุมหลายครั้งของสภาการหนังสือพิมพ์เฉพาะกาลแห่งเมียนมาร์ ซึ่งประกอบไปด้วยนักข่าวและเจ้าของสื่อต่างๆ ที่รัฐบาลมอบหมายให้ร่างกฎหมายสื่อเมื่อปีที่แล้ว มิน จอว์กับเครือข่ายนักข่าวเมียนมาร์ (Myanmar Journalist Network – MJN) ซึ่งเป็นเครือข่ายนักข่าวรุ่นใหม่วัย 20-30 ปีเพิ่งรณรงค์ล่าลายเซ็นเพื่อผลักดันให้รัฐสภาทบทวนร่างกฎหมายธุรกิจสิ่งตีพิมพ์ที่สภาผู้แทนราษฎรผ่านไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กลุ่มสื่อและสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศประณามร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวที่กระทรวงข่าวสารเป็นผู้ยกร่างว่าเป็นการเซ็นเซอร์ในอีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง MJN พยายามรวบรวมลายเซ็นให้ได้มากกว่า 10,000 ชื่อในย่างกุ้ง มัณฑะเลย์และเมืองใหญ่อื่นๆ เพื่อเรียกร้องให้รัฐสภาทบทวนร่างกฎหมายฉบับของกระทรวงข่าวสารและให้พิจารณาร่างที่ทางสภาการหนังสือพิมพ์เป็นผู้นำเสนอต่อวุฒิสภาไปเมื่อกลางเดือนสิงหาคม ร่างกฎหมายฉบับของกระทรวงข่าวสารนั้นอ้างว่าเป็นแนวปฏิบัติทางจริยธรรมครอบคลุมสื่อทุกรูปแบบ MJN รณรงค์ประเด็นนี้ในโลกไซเบอร์ โดยตั้งวงสนทนาเนื้อหาของกฎหมายเป็นกลุ่มปิดทางเฟซบุ๊กคู่ขนานไปกับเวทีเปิดในหน้าแฟนเพจต่างหาก นอกจากนี้ยังได้อัปโหลดบันทึกการประชุมทุกครั้งและแชร์โลโก้ของแคมเปญด้วย เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง วุฒิสภาได้เห็นชอบให้ผ่านร่างสิ่งตีพิมพ์ที่รวมเอาข้อเสนอแนะของ MJN ส่วนใหญ่เข้าไปด้วย จอว์ มิน ส่วย เลขาธิการและโฆษกของสภาการหนังสือพิมพ์บอกว่าทางรัฐสภาได้ตัดข้อความในร่างของกระทรวงข่าวสารในเรื่องเจ้าหน้าที่ทะเบียน ผู้ที่มีอำนาจในการออกและเพิกถอนใบอนุญาตการพิมพ์ในกรณีละเมิดในข้อหาที่คลุมเครือภายใต้คำนิยามเช่น "สร้างความตึงเครียดทางด้านเผ่าพันธุ์และศาสนา ลามกอนาจาร และยุยง ช่วยเหลือการก่ออาชญากรรม" สภาผู้แทนราษฎรจะอภิปรายร่างกฎหมายฉบับนี้อีกครั้ง ก่อนที่รัฐสภาจะตัดสินใจเป็นครั้งสุดท้าย เพราะเน็ต? อย่างไรก็ดี ไม่กี่วันก่อนที่สภาจะผ่านร่างกฎหมายตัวนี้ มิน จอว์เล่าถึงสาเหตุว่าทำไม MJN จึงกระหน่ำอภิปรายร่างกฎหมายนี้กันทางเฟซบุ๊ก "เป็นเพราะว่าที่นั่นเป็นศูนย์รวมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหลาย ข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐกับเอ็นจีโอ เครือข่ายออนไลน์มีประสิทธิภาพในแง่ที่จะตอบสนองและสะท้อนจุดยืนของเรา" มิน จอว์เคยเป็นบรรณาธิการของยังกอนเพรสอินเตอร์เนชั่นแนลซึ่งเป็นองค์กรสื่อแห่งแรกในพม่าที่เผยแพร่ข่าวสารทางออนไลน์เท่านั้น ปัจจุบันได้ปิดตัวไปแล้ว มิน จอว์กล่าวว่า "ในขณะที่พวกเขาใช้งานออนไลน์ไปในเรื่องอื่นๆ พวกเขาก็ได้รับรู้ด้วยว่าในแวดวงสื่อมีความเคลื่อนไหวอะไร ในประเด็นใด เฟซบุ๊กกับโซเชียลมีเดียเป็นหนึ่งในช่องทางที่ดีที่สุดในการสื่อสารกับภาคส่วนอื่นๆ" แต่ในเรื่องของร่างกฎหมายสิ่งตีพิมพ์ มิน จอว์ยอมรับว่าการอภิปรายเรื่องนี้บนหน้าแฟนเพจของ MJN ไม่ค่อยคึกคัก มีแค่ถ้อยคำสนับสนุนกลางๆ อยู่หยิบมือหนึ่งเท่านั้น ขณะที่นักข่าวและผู้เชี่ยวชาญไอทีพูดว่าบรรดาพลเมืองเน็ตทั้งหลายของพม่านิยมสนทนาเรื่องบันเทิง ไลฟ์สไตล์ และความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์และศาสนามากกว่า "พวกเขามองว่ากฎหมายเป็นเรื่องน่าเบื่อ" มิน จอว์กล่าว "นักข่าวบางคนไม่อ่านเรื่องกฎหมายซะด้วยซ้ำ กระทั่งนักข่าวกันเองยังไม่อ่านเรื่องนี้เลย" "ผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศเรากับคนที่เป็นพลเมืองเน็ตส่วนใหญ่มักไม่รู้เรื่องกฎหมาย และพวกเขามองว่ากระบวนการนิติบัญญัติไม่ใช่หน้าที่ของพวกเขา"เนย์ โพน ลัตกล่าว "ที่จริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น พวก ส.ส.ไม่ค่อยชำนาญเรื่องกระบวนการร่างกฎหมาย พวกเขาไม่ได้มีความรู้ในทุกๆ เรื่อง ฉะนั้นเวลาพวกเขาทำอะไร เราจึงต้องเข้าไปมีส่วนร่วม และถ้าพวกเขาร่างกฎหมายเกี่ยวกับไอซีที ผู้คนในแวดวงไอซีทีก็ควรต้องเข้าไปมีส่วนร่วม" ขณะที่เขาเข้าไปมีส่วนในการร่างกฎหมาย บล็อกเกอร์ผู้มีดีกรีปริญญาตรีด้านวิศวกรโยธาวัย 33 ปีรายนี้ตั้งข้อสังเกตว่า ส.ส.ทั้งหลายยังคงติดหล่มอยู่กับวิธีคิดแบบเก่า "คนที่ทำงานในรัฐบาลส่วนใหญ่มาจากกองทัพ และวิธีคิดของพวกเขาก็มักจะยึดเอาความมั่นคงเป็นหลัก ทั้งที่จริงแล้วในเรื่องนี้ต้องดูด้านอื่นด้วย เช่น เราควรคำนึงถึงเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพของประชาชน"
ในช่วงอ่อนไหวเช่นวันครบรอบการลุกฮือของประชาชนเมื่อปี 1988 หรือว่าตอนปฏิวัติผ้าเหลือง รัฐบาลทหารดึงให้อินเทอร์เน็ตช้าเป็นเต่า รายงานประจำปี 2010 ขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนกับสมาคมสื่อพม่ากล่าวว่า ระบบผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือ ISP ของพม่า แบ่งเป็นระบบเซิร์ฟเวอร์สำหรับหน่วยงานรัฐ กับอีกระบบสำหรับประชาชนทั่วไป รายงานนี้กล่าวว่าวิธีการเช่นนี้ทำให้ทหารสามารถ "ผูกขาดควบคุมระบบอินเทอร์เน็ตของประเทศ" พม่าได้รับการขนานนามว่าเป็น "ศัตรูของอินเทอร์เน็ต" ในการจัดอันดับโดยองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนเมื่อปี 2012 ขณะที่ฟรีดอมเฮาส์ องค์กรเอกชนอีกรายที่ทำงานด้านเสรีภาพสื่อก็จัดให้พม่าอยู่ในประเทศที่ "ไม่เสรี" ในปีเดียวกันและมาปีนี้ก็ประกาศว่าพม่านั้นไม่เสรียิ่งกว่าประเทศจีน แม้พม่าจะพยายามปฏิรูป แต่กฎหมายเก่าๆ ยังคงมีผลอยู่ ทำให้เนย์ โพน ลัตในปัจจุบันมีงานเต็มมือในการวิ่งเต้นผลักดันให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว อย่างเช่นกฎหมายธรุกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เขาถามว่าทำไมรัฐบาลจึงต้องกำหนดให้ผู้ใช้งานต้องมาจดทะเบียนอุปกรณ์ทุกตัวไม่ว่าจะเป็นวิทยุหรือโทรศัพท์ "บริษัทโทรคมนาคม เขาก็ต้องจดทะเบียนอยู่แล้ว ผู้ใช้ปลายทางจึงไม่มีความจำเป็นต้องทำกระบวนการนี้อีก" บล็อกเกอร์รายนี้ซึ่งเคยเป็นเจ้าของไซเบอร์คาเฟ่ด้วยก็กำลังรณรงค์ให้มีการลดบทลงโทษและให้มีกำหนดคำนิยามที่ชัดเจน กฎหมายมีบทลงโทษจำคุกสูงสุดตั้งแต่ 7-15 ปี สำหรับการใช้อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีดิจิทัลในการรับหรือส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความลับทางราชการหรือความมั่นคง "การรับหมายถึงอะไร" เขาถาม "เช่นการที่มีข้อความอยู่ในเมลบ็อกซ์ของคุณไม่ใช่ 'การรับ' เพราะใครๆ ก็สามารถที่จะส่งข้อความเข้าไปในกล่องของคุณได้ถ้าหากว่าเขารู้อีเมลแอดเดรสของคุณ แต่อันนี้ไม่ใช่ความรับผิดชอบของคุณ ดังนั้น เราต้องนิยามว่าอะไรหมายถึงการรับ การส่ง หรือว่าการเผยแพร่" กฎเหล็กโบราณตัวนี้ยังเป็นเครื่องมือที่ส่งให้คนอย่าง เนย์ โพน ลัต ต้องติดคุกมาแล้ว เช่นเดียวกับเพื่อนนักแสดงตลกของเขาชื่อ ซากานาร์ หรือนักกิจกรรมจากยุค 88 เช่น มิน โก เน็ง, โก โก จี เนย์ โพน ลัต ถูกตัดสินจำคุกในข้อหาจัดเก็บการ์ตูนล้อเลียนพลเอกตาน ฉ่วยไว้ในอีเมลของเขา และมีวิดีโอที่ทางการแบนไว้ในครอบครอง
ลูกชายของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ วิน ออง คนนี้เป็นบรรณาธิการและผู้พิมพ์ผู้โฆษณาของ 7Day News นิตยสารดิอินเทอร์เน็ตเจอร์นัล กับอีกหลายฉบับ ทั้งหมดนี้อยู่ในตึกสำนักงานในเมืองที่พื้นที่อสังหาริมทรัพย์ราคาเริ่มถีบตัวสูงขึ้นเพราะนักลงทุนต่างชาติแห่กันเข้าไปหาพม่า ด้วยหน้าที่การงานในหลายฐานะทำให้ตอง ซู เญเข้าใจถึงความเชื่อมโยงต่างๆ และผลกระทบของกฎหมายเหล่านี้ "เมื่อคุณให้อำนาจทางการออกใบอนุญาต ย่อมหมายความว่าทางการก็มีอำนาจที่จะเพิกถอนใบอนุญาตนั้นเช่นกัน"เขากล่าว "แม้รัฐบาลชุดปัจจุบันจะมีความตั้งใจที่ดีที่สุดก็ตาม ใครจะไปรู้ว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างความตั้งใจเหล่านั้นจะไม่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไป ดังนั้นพวกเราต้องการที่จะสร้างความมั่นใจในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น" ในการสร้างหลักประกันเรื่องเสรีภาพ นักข่าวมักจะหันไปหาพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD ของนางออง ซาน ซูจีเพื่อให้ร่วมกันสนับสนุน แต่อันที่จริงแล้วกฎหมายสิ่งตีพิมพ์อันเข้มงวดผ่านสภาล่างไปโดยปราศจากเสียงค้านใดจากทั้งตัวเธอหรือสมาชิกพรรคของเธอเลย จอ มิน ส่วย แห่งสภาการหนังสือพิมพ์เล่าให้ฟังว่าการประชุมระหว่างกลุ่มของเขากับนางซูจีและตัวแทนพรรค NLD ที่กรุงเนย์ปิดอว์เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาสร้างความประหลาดใจให้กับพวกเขา "เธอมีท่าทีเป็นนักการเมืองเต็มตัว" เขาเล่า "เธอไม่ได้ให้คำมั่นว่าเธอจะสนับสนุนพวกเรา เธอบอกว่าในทุกๆ เรื่องจะต้องมีการแพ้หรือชนะ แต่เธอบอกว่า "ฉันต้องการให้ประชาชนชนะ" และถ้าประชาชนชนะ เธอก็จะสนับสนุน นั่นเป็นคำพูดที่กว้างมากๆ และเป็นความคิดเห็นที่มุ่งเอาใจมวลชนเป็นหลัก ฟังแล้วดูดีมาก"
เมื่อถามถึงเรื่องเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฟากนักข่าว วิน ติน ซึ่งเป็นนักข่าวอาวุโสวัย 84 ปีและเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD ได้แต่เค้นหัวเราะ ห้าปีภายหลังจากที่เขาได้รับการปล่อยตัวจากคุก วิน ตินยังคงใส่เสื้อสีน้ำเงินอันเป็นสีเสื้อเครื่องแบบนักโทษ เขาปฏิญาณว่าจะไม่ใส่เสื้อสีอื่นจนกว่าทางการจะปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน วิน ตินเป็นเพียงเสียงเดียวในพรรค NLD ที่คัดค้านร่างกฎหมายสิ่งตีพิมพ์ นางซูจีกับพรรคไม่ได้เห็นเช่นเดียวกันเขา วิน ตินนั่งคุยกับเราบนเก้าอี้ข้างกำแพงที่มีโปสเตอร์อวยพรวันเกิด 75 ปี ของเขาตอนที่เขาติดคุกไปได้ 16 ปี เขากล่าวปกป้องนางซูจีกับพรรคว่า พวกเขาให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพียงแต่ว่า ส.ส.ทุกคนงานล้นมือ ไม่สามารถพิเคราะห์ร่างกฎหมายได้ถี่ถ้วนทุกฉบับ วิน ตินยอมรับว่าพรรคฝ่ายค้านเองกำลังพยายามแก้ไขปัญหาด้านศักยภาพของบุคลากรในพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกผู้นำรุ่นใหม่ในพรรคให้รู้จักใช้เทคโนโลยี "เรามีสุภาษิตที่ว่าสายรกนั้นตัดไม่ขาด" วิน ตินเล่า "เรามีผู้นำกลุ่มเยาวชน ซึ่งบางคนก็อายุ 50 กว่า เป็นปู่เป็นตากันแล้ว ดังนั้นเรากำลังพยายามที่จะจัดการประชุมเยาวชนให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ แม้ว่าพวกเขาจะมีข้อจำกัด แต่ในเร็ววันนี้พวกเขาจะใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางในการให้ความรู้แก่สมาชิกพรรคของเรา เรากำลังเปิดชั้นเรียนและฝึกอบรมสมาชิกเกี่ยวกับเรื่องสื่อ และความสำคัญของการเผยแพร่ข่าวสาร" อดีตนายทหารในรัฐสภา "เราให้ความสำคัญอย่างยิ่งว่ากฎหมายการกระจายเสียงฉบับใหม่จะมีรายละเอียดอย่างไร" หัวหน้าสำนักงานย่างกุ้งของดีวีบีกล่าว "เพราะว่าดูไปแล้วผมไม่แน่ใจว่ามีสมาชิกรัฐสภาสักกี่คนกันที่รู้เรื่องเกี่ยวกับกฎหมายสื่อ ว่ากันตรงๆ นะ คือพวกเขาเป็นนายทหารเก่ากันแทบทั้งนั้น" รัฐธรรมนูญพม่ากำหนดให้ที่นั่งหนึ่งในสี่ในรัฐสภาต้องเป็นของกองทัพ นอกจากนี้พรรค USDP ของทหารก็เป็นพรรครัฐบาลในปัจจุบัน ในยุคที่เป็นสื่อของฝ่ายค้านพลัดถิ่น ดีวีบีมีชื่อเต็มว่า Democratic Voice of Burma แต่เมื่อปีที่แล้วได้เปลี่ยนชื่อเต็มเป็น DVB Media Group เพื่อจะได้กลับมาตั้งสำนักงานในประเทศพม่าได้ โธ ซอ ลัตซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานย่างกุ้งของดีวีบีบอกว่าเนื่องจากความไม่แน่นอนเรื่องกฎหมายในพม่า จะยังคงเปิดสำนักงานที่เชียงใหม่ไว้ด้วย เขากล่าวว่าเรื่องเทคโนโลยีกับความรู้ของผู้ร่างกฎหมายเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง "เราคงต้องคิดหนักถ้ามีถ้อยความในกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องการควบคุมเนื้อหาของสื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกำหนดสัดส่วนว่าต้องรายงานเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นสัดส่วนเท่านั้นเท่านี้ อันนี้มีความเป็นไปได้สูงมาก นอกจากนี้คุณยังต้องอัปลิงก์ภาพจากแหล่งต่างๆ ถ้าหากเกิดปัญหาขัดข้อง แล้วเกิดทีวีจอดำขึ้นมาล่ะ? ผู้ชมก็จะไม่รู้ที่มาที่ไป" ด้วยสาเหตุนี้เอง นอกจากเรื่องการวิ่งเต้นผลักดันร่างกฎหมายแล้ว ทั้งเนย์ โพน ลัตกับ MIDO ยังดำเนินกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในเรื่องไอซีทีให้กับบรรดา ส.ส.ผู้นำรัฐบาลและข้าราชการ แล้วเขายังได้ผลักดันกิจกรรมนี้ไปสู่อีกระดับหนึ่งด้วย "เราพยายามที่จะเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐกับเอ็นจีโอต่างๆ ที่ทำงานด้านไอซีที ในปี 2015 นี้ เราพยายามที่จะผลักดันให้ผู้แทนจากฟากไอทีไปลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. นั่นเป็นสิ่งที่น่าจะทำ เพราะถ้าหากว่าต้องการออกกฎหมายเกี่ยวกับไอที โดยที่ไม่มีความรู้ทางด้านนี้เลยนั้น ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้" ยังจำเป็นต้องมีกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ "อาชญากรรมไซเบอร์จะมีมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ และถ้ามีคนทำ ก็จะมีผู้ตกเป็นเหยื่อ" เขาว่า "ถ้ามีผู้ถูกกระทำไปขอให้ตำรวจช่วย แล้วตำรวจบอกว่าไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับไอซีที ดังนั้นไม่รับผิดชอบ เราต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีความเชี่ยวชาญด้านไอซีที" ซอ เย นอง บรรณาธิการข่าวออนไลน์จาก Eleven Media Group สนับสนุนเรื่องนี้ เขาเล่าว่าเว็บไซต์ของ Eleven Media ซึ่งเป็นหนึ่งในเว็บไซต์ข่าวสารยอดฮิตที่สุดในพม่าโดนแฮกมาแล้วอย่างน้อยสี่ครั้งในช่วงสองปีที่ผ่านมา เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สำนักข่าวอิระวดีรายงานว่ามีแฮกเกอร์ที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม Blink โจมตีเว็บไซต์ซีเกมส์ทางการของพม่า พร้อมกันนั้นก็โจมตีเว็บไซต์ยอดนิยมอื่นๆ ด้วยตั้งแต่ของ Eleven Media, วงดนตรีร็อคชื่อ Iron Cross, เมียนมาร์เกมเมอร์ส Yatanarpon Teleport, เร็ดลิงก์ และร้านค้าออนไลน์ของสำนักข่าวอิระวดีเอง "จะเกิดอะไรขึ้นถ้าระบบจ่ายเงินสักรายโดนแฮก" ซอ เย นองว่า " นี่ของเราเป็นเว็บข่าวนะ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากว่าเราเป็นเว็บรับชำระเงินออนไลน์ เราจะให้ความมั่นใจอย่างไรกับลูกค้า? เราจะไปฟ้องคนแฮกได้ยังไง? ตัวตนของผู้กระทำคือใคร?" ว่าด้วยการกำกับดูแลกันเอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงข่าวสาร เย ธุตกล่าวว่า "หน่วยงานเรายินดีช่วยร่างกรอบการกำกับดูแลพร้อมทั้งจัดการอบรมสื่อสาธารณะ รัฐบาลไม่มีเจตนาที่จะปิดกั้นประชาชน แต่เราก็พร้อมที่จะยับยั้งคนที่ตั้งใจละเมิดกฎหมาย" เนย์ พง ลัตบอกว่าเขาไม่ชอบการกำกับดูแลโดยรัฐ "ผมอยากจะให้ประชาชนเป็นผู้กำกับดูแล เรากำกับดูแลกันเอง เราจะตรวจสอบและถ่วงดุลสังคมของพวกเรากันเอง เราจะร่างกฎกติกากันเอง ในลักษณะระบบกำกับดูแลกันเอง นั่นคือทางออก ถ้าหากว่าเราทำได้ รัฐบาลก็ไม่ต้องเข้ามากำกับดูแลเราเลย" เขาเสริมว่า "อันที่จริงการแก้ไขปัญหาระยะยาวอยู่ที่ระบบการศึกษา ถ้าเราใส่เนื้อหาเกี่ยวกับไอซีทีลงไปในหลักสูตรการศึกษา นักเรียนทุกคนก็จะรู้จักหัวใจของไอซีที และพวกเขาก็จะรู้วิธีที่จะใช้ไอซีทีอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองและสังคม" เนย์ พง ลัตรู้ว่านี่แหละคือภารกิจหลักของเขา ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ง่อนแง่นในปัจจุบัน กับการขาดความรู้ในเรื่องนี้ในหลายภาคส่วนเองก็เป็นข้อจำกัดในการที่จะใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางการรณรงค์เรื่องนี้โดยตรง "ผมเป็นห่วงอนาคต" เนย์ พง ลัตกล่าว "เราก็กำลังพยายามร่วมมือกับรัฐบาลและทหาร ชะตากรรมของประเทศนี้ในอนาคตอยู่ตรงที่ว่าเราจะทำอย่างไรที่จะโน้มน้าวให้พวกเขาเดินหน้าในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยต่อไป"
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
ศาลรธน.ยกคำร้อง ‘บวร ยสินธร’ปมแก้รธน.ที่มา ส.ว. ชี้ยังไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ Posted: 11 Sep 2013 01:22 AM PDT มติ 7 ต่อ 1 ศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้อง "นายบวร ยสินธร เครือข่ายราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบัน" ยุบพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล ปมแก้ไขรธน.ที่มา ส.ว. ชี้ ยังไม่มีมูลเข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ 11 ก.ย. 56 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องของนายบวร ยสินธร เครือข่ายราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบันและคณะ กรณีขอให้ศาลฯ พิจารณาวนิจฉัยตาม รัฐธรรมนูญ ม.68 ว่าประธานรัฐสภา กับพวก รวม. 309 คน ร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว. ซึ่งถือเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปตไยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิด้เป็นตามวิถีทางที่บัญญัติไว้นรัฐธรรมนูญ โยขอให้ศาลฯ ยุบพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล พรรคมหาชนและพรรคประชาธิปไตยใหม่ รวมทั้งให้มีการไต่ส่วนฉุกเฉินเพื่อให้มีคำสั่งให้ประธานและสมาชิกรัฐสภายุติการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 7 ต่อ 1 ไม่รับคำร้องดังกล่าว ระบุว่าเนื้อหาตามคำร้องยังไม่มีมูลกรณีที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทางเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิด้เป็นตามวิถีทางที่บัญญัติไว้นรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไข รวมทั้งประเด็นคำขออื่นไม่จำเป็นต้องพิจารณา ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
ชลิตา บัณฑุวงศ์: ข้าวและชาวนาไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลง Posted: 10 Sep 2013 11:44 PM PDT ชลิตา บัณฑุวงศ์ นำเสนองาน "ข้าวและชาวนาไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลง" ชี้ให้เห็นว่าขณะที่ฝ่ายนิยมเกษตรกรรมยั่งยืน เชื่อว่าวัฒนธรรมข้าวที่พึงปรารถนาคือระบบพึ่งตนเอง-ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น มองชาวนาที่ใช้เครื่องจักรสมัยใหม่เป็นความเสื่อมทราม ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์สำนักเสรีนิยมกลับแสดงความเป็นห่วงว่าชาวนาจะหันกลับมาทำนาแบบเข้มข้นเพราะหวังว่าจะได้รับประโยชน์จากนโยบายจำนำข้าว และตั้งข้อสังเกตว่านี่เป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่แสดงความไม่ไว้วางใจชาวนา เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 56 พิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ จัดสัมมนา "คน ข้าว นา ควาย ในวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดย ชลิตา บัณฑุวงศ์ กลุ่มจับตาประชาสังคมไทย ได้นำเสนองานวิจัยหัวข้อ "ข้าวและชาวนาไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลง" 000 โดยชลิตา กล่าวถึงสถานะและลักษณะการทำนาของชาวนาในประเทศไทยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง โดยแยกประเด็นเป็นสามหัวข้อ คือ หนึ่ง วาทกรรมหลัก ซึ่งส่วนใหญ่มองชาวนาแบบลบหยุดนิ่งตายตัว ผูกติดแนวคิดเรื่องการพึ่งตนเอง วัฒนธรรมไทย ความเป็นไทย ลำดับชั้นคุณค่าและศีลธรรม ประเด็นที่สองคือภาพรวมการเปลี่ยนแปลงร่วมสมัยจากชนบทในภาคการเกษตร และประเด็นที่สามคือ การทำนาและชาวนาไทยในปัจจุบันที่มีปรากฏการณ์หลักสามประการคือ การละทิ้งการทำนาจนเกิดเป็นนาร้างและเปลี่ยนที่ทำนามาสู่พืชเศรษฐกิจชนิดอื่น และคำพูดที่ว่าวัฒนธรรมข้าวคือวัฒนธรรมไทย เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมานาน และความคิดแบบนี้ถูกผลิตอย่างแพร่หลายมานานและเป็นการมองข้าว มองการทำนา มองอย่างสัมพันธ์กับความเป็นชาติไทย เป็นมรดก เป็นสมบัติล้ำค่าที่ต้องรักษาไว้ ต้องหวงแหนไว้ แต่ในช่วงสิบห้าถึงยี่สิบปีที่ผ่านมาก็มีงานวิชาการงานวิจัยที่มาผลิตซ้ำความคิดแบบนี้ ว่าการผลิตข้าวเป็นความมั่นคง เป็นตัวกำหนดขนบธรรมเนียมประเพณี ต้องพัฒนาพลิกฟื้น ให้ดำรงอยู่ในยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งวัฒนธรรมข้าวที่พึงปรารถนาเป็นระบบพึงตนเอง ปลูกเพื่อกินเป็นหลัก ใช้องค์ความรู้พื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ใช้การลงแขก ตรงข้ามกับการผลิตสมัยใหม่ที่ใช้เครื่องจักร ใช้สารเคมี ที่ถูกมองว่าเป็นความเสือมทรามลง เป็นคงวามล่มสลายของจิญตวิญาณ เป็นการล่มสลายของวัฒนธรรมข้าว ซึ่งเป็นพื้นฐานของสังคมไทย และแนวคิดนี้มีอิทธิพลต่อภาคประชาสังคมไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้มักจะมองว่าการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนที่พวกเขาส่งเสริมและมองว่าความมั่นคงทางอาหารคือการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางสังคมวัฒนธรรม ถ้าไม่มีความมั่นคงทางอาหารก็เท่ากับจะสิ้นชาติ การฟื้นหรืออนุรักษ์เมล็ดพันธุ์ดั้งเดิม เหมือนเป็นการสิ้นชาติ ความฟุ่มเฟือย ขี้เกียจ อ่อนแอ โง่เขลา ถูกเน้นย้ำว่าเป็นสาเหตุหลักของการละทิ้งการทำนา หรือเปลี่ยนมาสู่รูปแบบการทำนาสมัยใหม่ พร้อมๆ ไปกับการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งหมายถึงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ปฏิบัติตามศีลห้าอย่างเคร่งครัด ละเลิกอบายมุข ยกระดับจิตวิญญาณ และเราก็ได้เห็นข้าวคุณธรรมที่ผลิตออกมาขายในหลายๆ พื้นที่ ที่ผ่านมา แม้หน่วยงานรัฐจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมเกษตรสมัยใหม่ แต่แนวทางเกษตรกรรมพึ่งตนเองตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงกลายมาเป็นแผนงานระดับชาติ กลายเป็นเกษตรกรรมทางเลือกกระแสหลักในสังคมไทยไปแล้ว และนำเสนอเสมือนว่าเป็นทางออกของปัญหาระดับชาติ เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ หรือปัญหาภาคใต้ ซึ่งนี่เป็นการมองเชื่อมโยงกับความเป็นไทยและความมั่นคงของชาติ ภาพจากสังคมภายนอกยังคงมองชนบทแบบหยุดนิ่ง และค่อนข้างอุดมคติ และต้องมีชีวิตอยู่ในภาพเดิมๆ ที่เป็นความดีงาม แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชนบท ซึ่งไม่ได้เกิดแค่ในไทยแต่ยังเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ที่ ในโลก แม้วันนี้ผลผลิตทางการเกษตรจะมีมากขึ้นไม่ได้น้อยลง แต่เป็นไปด้วยเทคโนโลยีการเกษตร ขณะที่ภาคเกษตรที่เป็นแหล่งดูดซับแรงงานในชนบทกลับน้อยลง และกรณีซึ่งที่ดินถูกแบ่งให้เป็นผืนเล็กลงๆ ก็ยิ่งทำให้ภาคเกษตรมีขีดจำกัดในการทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี กิจกรรมนอกภาคเกษตรจึงมีความสำคัญขึ้น และการลดลงของความสำคัญของภาคเกษตรก็ยังเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่คนรุ่นใหม่ในชนบทมีการศึกษาที่สูงขึ้น มีการขยายตัวของเมืองและอุตสาหกรรมเข้าไปในชนบททำให้ช่องทางการประกอบอาชีพในชนบทมีมากขึ้น ทำให้ยากที่จะนิยามว่าชนบทเป็นสังคมชาวนา เกิดชนชั้นกลางในชนบท มีคนบางส่วนที่ยังดำรงชีวิตอยู่ในภาคเกษตรซึ่งอาจจะเคยออกไปเป็นแรงงานไร้ฝีมือมาก่อนแล้วตัดสินใจกลับมาทำการเกษตรที่บ้านอีกครั้ง อาจจะเป็นการตัดสินใจตามจังหวะชีวิต หรือหลักหนีความน่าเบื่อหน่ายจากการถูกขูดรีดแรงงาน แต่งานศึกษาหลายชิ้นก็ชี้ให้เห็นว่าการทำการเกษตรทุกวันนี้มีความแตกต่างอย่างมากกับการทำการเกษตรในรุ่นก่อนหน้านี้คือรุ่นพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตร มาเป็นการเกษตรที่ใช้ทุนเข้มข้น เป็นเกษตรพันธสัญญา หรือเป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตร รวมทั้งบริบทใหม่ๆ ที่ผลผลิตทางการเกษตรใหม่ๆ ที่ไม่เคยขายได้มาก่อนมาเป็นสิ้นค้าแบบใหม่ เช่นผักปลอดสารพิษ การที่คนในชนบทบางส่วนกลายเป็นชั้นกลาง ก็กลายมาเป็นผู้บริโภค สำหรับเศรษฐกิจก็มีเปลี่ยนมาเป็นเครือข่ายมากขึ้น มีความเชื่อมโยงระหว่างใน-นอกภาคเกษตร ซึ่งแปลว่าการออกนอกภาคเกษตรไม่ได้นำมาสู่การล่มสลายของครอบครัวและชุมชนอย่างที่พูดกัน แต่มันคือการรักษาเอาไว้ ความเปลี่ยนแปลงอีกประการคือ การที่คนในครัวเรือนชนบท พ้นจากความยากจนแบบเก่า คือเป็นความยากจนที่เกิดจากการขาดการพัฒนา และขณะเดียวกัน การอพยพแรงงานในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงอพยพออกมาเป็นแรงงานรับจ้างไร้ฝีมือที่มีค่าแรงต่ำ แต่มีความหลากหลายมากขึ้น มีงานแบบชนชี้นกลางในหมู่ผู้มีการศึกษาด้วยในหลายกรณี แต่ในบางกรณีก็จะพบว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในชนบท มีความยากจนที่เกิดขึ้นกับคนบางกลุ่ม เกิดจากกรณีที่คนท้องถิ่นถูกเบียดขับออกไปจากที่ดิน ออกจากทรัพยากรธรรมชาติที่เขาเคยใช้ประโยชน์และยังขาดโอกาสในการประกอบอาชีพนอกภาคเกษตร
การทำนาและชาวนาไทยในปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้เกิดปรากฏการณ์นาร้าง หรือไม่สามารถคาดหวังรายได้จากการทำนาได้เพียงอย่างเดียว และการทำนาในปัจจุบันค่อนข้างห่างไกลจากการผลิตในอุดมคติ กรณีนาร้าง และการเปลี่ยนผืนนามาสู่การปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยางพาราและปาล์มน้ำมันซึ่งเกิดขึ้นมาในภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นสามจังหวัดชายแดนใต้ ลุ่มน้ำปากพนัง ในนครศรีธรรมราช และพัทลุง ซึ่งตอนนี้มีเพรียงแค่สองจังหวัดที่ปลูกข้าวได้เพียงพอต่อการบริโภคของคนทั้งจังหวัด ซึ่งเอ็นจีโอคาดว่าจะเกิดปัญหา รูปแบบการเปลี่ยนแปลงพืชที่ปลูกถูกมองว่าเกิดจากความอยากได้ใครรวย แต่การตัดสินใจแบบนี้ของเกษตรกรเกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างด้วย เช่นระบบนิเวศ ที่สืบเนื่องมาจากการพัฒนาต่างๆ เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหลายสายที่สร้างขวางทางน้ำ ระบบชลประทาน ที่ส่งผลต่อการไหลของน้ำ ทำให้หลายพื้นที่ทำนาไม่ได้ดังเดิม เกิดเป็นนาร้าง ต้องปรับให้เป็นยาง หรือปาล์มน้ำมัน อีกกรณีที่น่าสนใจคือ กรณีพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้นับจากปี 2547 เป็นต้นมา ที่ความรุนแรงระลอกใหม่ปะทุขึ้นทั้งเอ็นจีโอ และหน่วยงานรัฐ พยายามฟื้นฟูนาร้าง ทำให้นาปรังขยายตัวในสี่ห้าปีที่ผ่านมา แต่โครงการเหล่านี้เน้นวาทกรรมเศรษฐกิจพอเพียง พึ่งตนเอง แต่ชาวบ้านบางแห่งที่พยายามปรับการทำนาให้เข้ากับระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยชาวบ้านที่ทำนาเขาไม่ได้มองอย่างเชื่อมโยงกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเท่ากับการมองว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ทำให้มีเงินเหลือพอที่จะไปใช้จ่ายอย่างอื่น เช่น การศึกษาของลูกหลาน ทำให้เผชิญชีวิตภายใต้ทุนนิยมสมัยใหม่ได้มากขึ้น สถานการณ์อีกอย่างคือ การทำนาเคมีแบบเข้มข้น ซึ่งเป็นการทำนากระแสหลัก เราจะพบว่าในประเทศไทยแม้พื้นที่ทำนาจะลดลงในบางภูมืภาค เช่น ภาคใต้ และคนออกนอกภาคเกษตรมากขึ้น แต่การส่งออกข้าวยังคงได้อันดับต้นของโลก แปลว่าเกิดจากการผลิตเข้มข้นในพื้นที่การผลิต เช่น ทำนาสามครั้งต่อปี มีการใช้สารเคมี มีการจ้างงานและใช้เครื่องจักรกล และเปลี่ยนภาพลักษณ์ของชาวนาจากที่เคยหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน มาสู่การเป็นผู้ประกอบการ บริหารเงินทุน บริหารปัจจัยการผลิต การจ้างงานเพื่อให้ได้ผลผลิตมากที่สุด ซึ่งประเด็นที่ต้องการนำเสนอคือ แม้ว่าชาวนาจะพยายามทำนาเคมีแบบเข้มข้น แต่ทุกวันนี้ก็คงไม่มีครัวเรือนไหนแล้วที่จะดำรงชีวิตได้ด้วยการทำนาอย่างเดียว เราอาจจะมีชาวนาเงินล้าน แต่นั่นเป็นเงื่อนไขเฉพาะไม่ได้เกิดขึ้นกับชาวนาส่วนใหญ่ของประเทศ และชาวนาที่ทำนาแบบเข้มข้นมักถูกมองว่าเป็นปัญหาจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งเอ็นจีโอ และภาคประชาสังคม ที่มองว่าเขาบกพร่อง ขาดความรู้ อ่อนแอ ไม่เท่าทันต่อระบบทุน แต่สามารถอธิบายได้ว่าภายใต้ระบบการค้าข้าวเปลือกที่ชาวนาไม่สามารถต่อรองได้ ความพยายามทุกวิถีทางในการเพิ่มผลผลิตดูจะเป็นหนทางเดียวในการสร้างหลักประกัน ขณะที่ชาวนาจำนวนมากที่นิยมในการใช้วิถีธรรมชาติก็มีเหตุผลมาจากการที่ว่าพวกเขาไม่มีความมั่นใจ ไม่พร้อมรับความเสี่ยงหากวิธีการเหล่านี้ไม่ได้ผล หากเขาต้องขาดทุน ยิ่งหากการส่งเสริมของหน่วยงานรัฐยังอยู่เพียงระดับการให้ข้อมูล อบรมชั่วครั้งคราว ทั้งนี้ความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจว่าจะใช้สารเคมีระดับใด ขณะเดียวกันนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมก็มองว่าชาวนาเป็นปัญหา เพราะชาวนาเป็นฐานเสียงที่สำคัญทางการเมืองที่รัฐบาลหรือพรรคการเมืองจะต้องมีนโยบายเฉพาะเพื่อยกระดับราคาผลผลิต เป็นภาระสำคัญของประเทศ ทางออกของนักเสรีนิยมคือต้องลดจำนวนชาวนาลง ต้องหาทางทำให้ชาวนายากจน ที่ใช้ต้นทุนสูงผลผลิตต่ำ ออกจากภาคเกษตรไป นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมกังวลมากว่าภายใต้โครงการรับจำนำข้าวจะจูงใจให้คนกลับมาทำนามากขึ้น และพยายามเพิ่มผลผลิต แต่เป็นการเพิ่มต้นทุนและชาวนาไม่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง เรื่องที่น่าสนใจคือความกังวลของนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมไม่เห็นว่าชาวนาคิดเองได้ ตัดสินใจได้อย่างรอบด้าน ซึ่งเป็นฐานคิดเดียวกับภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทยที่มองว่าชาวนาไม่สามารถคิดเองได้ พึ่งตนเองได้ ประเด็นต่อมาคือการทำนาอินทรีย์ และเกษตรอินทรีย์กลับพบความย้อนแย้งว่าดำเนินไปภายใต้วาทกรรมชุมชนนิยม ปฏิเสธทุนนิยม บริโภคนิยม ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วการขยายตัวของเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยล้วนเกิดจากการขยายตัวของทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ และเป็นเกษตรที่มีการลงทุนสูง มีการแข่งขันในตลาดอย่างเข้มข้น เพราะเป็นการแข่งขันในสินคาเกษตรที่มีราคาสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปต่างประเทศ จริงๆ แล้วเกษตรอินทรีย์ก็คือเกษตรพันธสัญญารูปแบบหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นงานที่เอ็นจีโอและภาคประชาสังคมเข้าไปส่งเสริม และต้นทุนไม่ต่ำ เพราะต้องใช้แรงงานเข้มข้น ต้องใช้แรงงานคนในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ถอนวัชพืช หว่านกล้า ดำนา และเกษตรอินทรีย์นั้น ค่าแรงมักไม่ถูกคำนวณในต้นทุน จึงเข้าใจกันว่าต้นทุนต่ำ และครัวเรือนที่ทำนาอินทรีย์ ไม่ได้เป็นเพียงหนทางเดียวในการปลดเปลื้องความยากจน ดูเหมือนจะมีเพียงชาวนารวย ที่มีศักยภาพเข้าถึงทุนและที่ดินและอยู่รอดได้ในวิถีการผลิตแบบอินทรีย์ ในปัจจุบันแม้เกษตรอินทรีย์จะเติบโตอย่างต่อเนื่องแต่จากตัวเลขของมูลนิธิสายใยแผ่นดินพบว่าไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด ไม่ได้เป็นเพราะว่าเพวกเขาขาดความรู้เรื่องผลกระทบจากเกษตรเคมี หรือขาดจิตสำนึกสิ่งแวดล้อม แต่เป็นแรงกดดันเงื่อนไขจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความยากจน ชาวนาเหล่านี้ไม่สามรารถใช้เวลาที่ยาวนานหรือใช้แรงงานเข้มข้นได้ ท้ายที่สุด ชลิตาเสนอว่าจากข้อสังเกตที่นำเสนอนั้น องค์กรที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ ควรจะพยายามทำความเข้าใจและเงื่อนไขเฉพาะของชาวนทั้งเรื่องพื้นที่ เงื่อนไขการดำรงชีวิต และบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการหาแนวทางในการส่งเสริมเกษตรกรอย่างเหมาะสม
000 ผู้อภิปรายวิจารณ์ "สำนักข่าวอิศรา" รายงานคาดเคลื่อน อนึ่งเมื่อวานนี้ สำนักข่าวอิศรา ได้รายงานการนำเสนอดังกล่าวและพาดหัวข่าวว่า "วิจัยชี้ชาวนาเร่งใช้ปุ๋ยเคมีเร่งผลผลิต หวังโกยเงิน 'จำนำข้าว'" พาดหัวรองว่า "งานวิจัยชี้ชาวนารุ่นใหม่ละทิ้งวิถีทำนาแบบเดิม เน้นปุ๋ยเคมี-สารกำจัดศัตรูพืช หวังเพิ่มผลผลิตโกยเงิน 'จำนำข้าว' ระบุ ภาพลักษณ์เดิมๆ 'หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน' เริ่มหาย เหลือเพียงผู้จัดการธุรกิจนา" (อ่านข่าว) อย่างไรก็ตาม ในเฟซบุ๊กของชลิดา บัณฑุวงศ์ ได้ชี้แจงว่าการรายงานข่าวดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อน โดยโพสต์ว่า "ในฐานะของผู้ที่ถูกอ้างอิงในรายงานชิ้นนี้ ขอเรียนว่าศูนย์ข่าวอิศราตัดตอนบิดเบือนเนื้อหาที่ดิฉันได้นำเสนออย่างชนิดเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังตีน ดิฉันไม่เข้าใจเลยว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มันแย่มาก ผู้สื่อข่าวของศูนย์ข่าวอิศราไร้ความสามารถในการจับประเด็นได้ถึงเพียงนี้เชียวหรือหรือเป็นความจงในบิดเบือนเนื้อหาเพื่อให้สอดคล้องกับจุดยืนทางการเมืองของศูนย์ข่าวอิศราเองกันแน่ ดิฉันอยากจะขอให้ศูนย์ข่าวอิศราช่วยแสดงความรับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วยได้ไหมค่ะ สำหรับการนำเสนอเมื่อวานนี้ดิฉันเสนอเป๊ะๆ ตามเปเปอร์ที่เป็นเอกสารประกอบตีพิมพ์แจกในงาน ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดมาอ่านได้ตามลิ้งค์ข้างล่างนะ" สำหรับรายงาน "ข้าวและชาวนาไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลง" สามารถอ่านฉบับเต็มได้ที่นี่
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น