โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เปิดงานวิจัย “ความเฟื่องฟูและความตกต่ำของขบวนการสิทธิชุมชน”

Posted: 15 Sep 2013 11:04 AM PDT

นักวิชาการชี้ ทศวรรษ 2550 ขบวนการสิทธิชุมชนเปลี่ยนไปจากเดิม จากการสู้ในเชิงรุกกลายเป็นการถอยมาในเชิงตั้งรับ แล้วสู้แบบเป็นปัจเจกชน ที่ไม่มีขบวนการทางสังคมขับเคลื่อนนัก ที่ไหนถูกจับ ก็มีทนายประชาชนเข้าไปช่วยแบบเป็นรายปัจเจก แล้วสู้แบบตั้งรับ เพื่อให้พ้นจากความผิดเป็นส่วนใหญ่

14 ก.ย. 56 ณ ร้านหนังสือ Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ ทางคณะวิจัยโครงการการศึกษาพัฒนาการการรับรองและคุ้มครองสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 ได้จัดเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่องานวิจัย ในหัวข้อ "ความเฟื่องฟูและความตกต่ำของขบวนการสิทธิชุมชน" คณะวิจัยในโครงการนี้ประกอบไปด้วย สมชาย ปรีชาศิลปกุล, บุญชู ณ ป้อมเพ็ชร, นัทมน คงเจริญ และทินกฤต นุตวงษ์ โดยการนำเสนอในครั้งนี้ มีทั้งนักวิชาการและเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนหลายท่าน เข้าร่วมเสวนาและระดมความคิดเห็น

สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเสนองานวิจัยในเบื้องต้น ว่างานชิ้นนี้อยากลองพิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในขบวนการสิทธิชุมชน โดยเฉพาะเรื่องดิน-น้ำ-ป่า ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยอาจนับตั้งแต่งานวิจัยเรื่องป่าชุมชน ของอาจารย์เสน่ห์ จามริก และอาจารย์ยศ สันตสมบัติ ที่ตีพิมพ์ในปี 2536 ที่ถือเป็นงานวิจัยที่เป็นปฏิบัติการทางสังคมและเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ

งานนี้อยากจะลองดูว่ามันเกิดอะไรขึ้นในช่วงทศวรรษ 2550 ในการพูดถึงขบวนการสิทธิชุมชน ดูเหมือนว่าจะแผ่วลง เมื่อเทียบกับทศวรรษ 2540 ซึ่งอาจถือเป็นจุดสูงสุดของขบวนการนี้ ส่วนในทศวรรษนี้ดูเหมือนกำลังมีการเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่เรียกว่า "ชนบทศึกษา" โดยเป็นการศึกษาชนบทที่กว้างขวางกว่าเรื่องสิทธิชุมชน ประเด็นที่อยากลองเสนอคือเราเห็นอะไรบ้างในสองทศวรรษที่ผ่านมา  

คำถามในการศึกษานี้คือ ขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิชุมชนได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในแง่มุมใดบ้าง อย่างไรในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา และการพูดถึงสิทธิชุมชน ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางจะต้องมีการปรับตัวหรือไม่ อย่างไร โดยงานเน้นไปที่ขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องดิน-น้ำ-ป่า หรือเรื่องป่าชุมชน เพราะขบวนการนี้ถือเป็นจุดตั้งต้นของการสถาปนาเรื่องสิทธิชุมชนในสังคมไทย

สมชายได้แบ่งเนื้อหาการนำเสนอเป็นห้าเรื่องใหญ่ๆ คือส่วนที่หนึ่ง สิทธิชุมชนสถาปนา ซึ่งดูว่าความคิดเรื่องสิทธิชุมชนเข้าไปมีอิทธิพลต่อสถาบันการเมืองที่สำคัญๆ อย่างไรบ้าง สอง คือ การปรับตัวของกลไกรัฐเป็นอย่างไรบ้าง สาม คือความเปลี่ยนแปลงของขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิชุมชน สี่ คือการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิชุมชนมีผลต่อสถาบันตุลาการอย่างไรบ้าง ส่วนที่ห้า เป็นการลองสรุปว่าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน เราควรจะคิดถึงสิทธิชุมชนต่อไปอย่างไร

ประเด็นแรก สิทธิชุมชนสถาปนา หมายความว่าแนวคิดเรื่องสิทธิชุมชน ในท่ามกลางการเคลื่อนไหวและผลักดันทั้งในแง่ของความรู้และปฏิบัติการจริง มันขยายตัวและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในสถาบันที่สำคัญในสังคมไทย นับตั้งแต่ปี 2540 เราจะเห็นการสถาปนาความสำคัญในรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เกิดขึ้นภายใต้กระแสชุมชนนิยมและเสรีนิยม มาถึงรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเป็นแบบไม่เป็นประชาธิปไตยเท่าไร เราจะพบการสถาปนาความคิดเรื่องสิทธิชุมชนเอาไว้ หมายความว่าไม่ว่าบรรยากาศการเมืองแบบไหนก็ตาม สิทธิชุมชน ในแง่ของความหมายในระดับกว้าง ได้ถูกปักลงในรัฐธรรมนูญแน่ๆ มันไม่อาจถูกปฏิเสธได้

หรือในแนวนโยบายรัฐบาลชุดต่างๆ ก็ต้องหยิบเอาสิทธิชุมชนไปไว้เป็นส่วนหนึ่งในนโยบาย เป็นจริงหรือไม่ ค่อยเถียงกันอีกที แต่มันได้กลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ไม่ว่ารัฐบาลแบบใด เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ นโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ทั้งหมดต้องพูดถึงนโยบายเรื่องสิทธิชุมชน หรือจากงานของ Shinichi Shigetomi (2013) ที่ไปดูในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทย ก็พบว่าคำว่า "ชุมชน" เพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวางตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ในปี 2540 เป็นต้นมา

กล่าวได้ว่าโดยภาพรวม ในเชิงการเมืองระดับกว้างและระดับนโยบาย สิทธิชุมชนได้สถาปนาความชอบธรรมหรือปักหลักลงไปในสังคมไทย ในสถาบันการเมืองและสถาบันที่ผลิตนโยบายสำคัญ อย่างปฏิเสธไม่ได้ โดยในอนาคตต่อไป ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ยังเห็นอยู่

ประเด็นที่สอง แม้จะมีการสถาปนาความชอบธรรมในระดับนโยบาย แต่คำถามคือมันลงมาสู่การปรับตัวของหน่วยงานรัฐมากน้อยขนาดไหน โดยแม้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 จะรับรองสิ่งที่เรียกว่าสิทธิชุมชนเอาไว้ แต่เราพบว่าตัวกฎหมายไม่ได้เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะตัวกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ หน่วยงานรัฐต่างๆ ยังคงมีอำนาจเฉกเช่นเดิม

แม้จะมีการปรับตัวเกิดขึ้นในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ เจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมากตระหนักถึงการมีอยู่จริงของสิทธิชุมชน ที่ชาวบ้านทำและใช้ มีโครงการของหน่วยงานรัฐเกิดขึ้น เช่น โครงการป่าชุมชนของกรมป่าไม้ แต่แน่นอนว่ามีความแตกต่างจากข้อเสนอของขบวนการชาวบ้านแน่ๆ แต่มันก็สะท้อนให้เห็นว่าในระดับปฏิบัติการ ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้น แต่ตัวโครงสร้างของหน่วยงานรัฐหรือตัวกลไกของรัฐ ไม่สู้จะมีความเปลี่ยนแปลงมากเท่าไร

นอกจากนั้น ในท่ามกลางการเคลื่อนไหวเรื่องป่าชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้ขยายตัวขึ้นอย่างกว้างขวาง ดูจากทั้งอำนาจหน้าที่และงบประมาณ ถือเป็นการเปลี่ยนกลไกของรัฐที่สำคัญอันหนึ่ง แต่ดูเหมือนว่าขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิชุมชนในช่วงที่ผ่านมา ไม่ค่อยให้ความตระหนักหรือสนใจต่อเรื่องนี้ แต่คณะวิจัยพบจากการได้คุยกับหลายๆ แห่ง ว่าคนในท้องถิ่นมีความคาดหวังต่ออปท.เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในอปท.หลายแห่ง ที่ผ่านช่วงการขุดคลองทำถนนไปแล้ว

ส่วนในหน่วยงานอื่นๆ พบว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรง ไม่มีการปรับตัวในเชิงมิติทางกฎหมายมากเท่าไร แต่มีหน่วยงานอื่นๆ ที่ดูเหมือนตระหนักเรื่องนี้ เช่น รัฐสภา, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน, คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย แต่ก็ยังไม่มีพลังผลักดันมากพอให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และยังไม่เห็นความพยายามอย่างจริงจังในการผลักดันเรื่องพวกนี้

ประเด็นที่สาม การเปลี่ยนแปลงในขบวนการเคลื่อนไหวที่สำคัญ คือจากเดิมที่เห็นว่าคำตอบในเรื่องสิทธิชุมชนอยู่ที่รัฐสภา ไปสู่การเห็นว่าคำตอบอยู่ที่องค์กรท้องถิ่น 

หลัง 2540 เป็นต้นมา พอสามารถสถาปนาในรัฐธรรมนูญ ให้ความชอบธรรมกับชาวบ้านในการเคลื่อนไหวและใช้อธิบายกับชุมชน รวมทั้งมีการสร้างเครือข่ายที่เข็มแข้ง แต่ว่าก็มีปัญหาคือรัฐธรรมนูญไม่ก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ยังคงมีการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ มีการดำเนินคดีชาวบ้าน และหลายคดีก็ทำให้เห็นว่าสิทธิชุมชนนั้นไม่เป็นผล เช่น คดีพะตีมงคล (2544) ที่มีการสู้เรื่องสิทธิชุมชน คำตัดสินของศาลเชียงใหม่ไม่ตอบคำตอบถามเรื่องสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ แม้จะมีการต่อสู้ในเรื่องนี้ตาม

สิ่งที่เห็นในทศวรรษ 2540 ทำให้เกิดการเดินหน้าไปสู่รัฐสภา โดยพ.ร.บ.ป่าชุมชนคือยุทธศาสตร์ร่วม และคาดหวังว่ามันจะเปิดประตูไปสู่ประเด็นอื่นๆ การสามารถล่ารายชื่อเสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภา 50,000 ชื่อในทศวรรษที่แล้ว แสดงให้เห็นพลังของขบวนการนี้อย่างสำคัญ แต่เมื่อรัฐบาลทักษิณหมดวาระไป ในปี 2548 ร่างกฎหมายก็ตกไป และช่วงสนช.ภายหลังรัฐประหาร แม้จะมีการหยิบร่างกฎหมายขึ้นมาให้ความเห็นชอบ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ตัดสินให้ตกไปจากปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ และเป็นช่วงที่มีความขัดแย้งว่าภายใต้สภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ควรเสนอให้มีกฎหมายเข้าไปหรือไม่

ช่วงนี้เป็นทศวรรษของการที่จะเดินหน้าไปสู่รัฐสภา โดยหวังว่าคำตอบจะอยู่ที่นั่น แต่ระยะเวลาที่ยาวนานนี้ คนที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้เริ่มตระหนักว่าการเปลี่ยนอำนาจในเชิงปฏิบัติการ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และเงื่อนไขทางการเมืองหลัง 2549 ก็ทำให้ขบวนการที่เคยเกาะเกี่ยวกัน มันสลายออกจากกัน

ในสภาพเช่นนี้ สิ่งที่เราเห็นก็คือว่าคำตอบเริ่มกลับมาที่ท้องถิ่น เครือข่ายในระหว่างชุมชนอ่อนแรงลง ไม่มีการทำงานในเชิงที่เป็นยุทธศาสตร์ร่วมเหมือนตอนแรก ขณะเดียวกันเอ็นจีโอก็เผชิญปัญหาเรื่องแหล่งทุนและเงื่อนไขทางการเมือง สิ่งที่เราเห็นคือถ้าชุมชนไหนเข้มแข็ง จะหันไปยึดหรือใช้ อปท. ให้เป็นเครื่องมือในการออกกฎเกณฑ์หรือข้อบัญญัติในการรับรองสิทธิต่างๆ บางทีก็ทำได้สำเร็จในที่ๆ มีชุมชนค่อนข้างเข้มแข็ง แต่ส่วนนี้เป็นข้อยกเว้นมากๆ ไม่ได้เป็นสิ่งที่เห็นอย่างกว้างขวาง

ประเด็นที่สี่ ในส่วนของตุลาการตอบอย่างไรกับเรื่องสิทธิชุมชนนี้ โดยในช่วงทศวรรษ 2540 การต่อสู้ในเรื่องสิทธิชุมชนเป็นไปในลักษณะ "คดียุทธศาสตร์" คือสู้ในลักษณะเป็นขบวน ไม่ได้สู้แบบชาวบ้านคนใดคนหนึ่ง เราเห็นนักวิชาการตบเท้าไปคุยกับผู้พิพากษา มีความร่วมมือระหว่างชุมชน องค์กรเอกชน นักวิชาการ การเคลื่อนไหวทางกฎหมายและทางสังคมไม่ได้แยกกันเดิน แต่เดินไปด้วยกัน ถึงแม้คำตัดสินของศาลจะปฏิเสธไม่รับรองสิทธิชุมชน แต่ช่วงเวลานั้น ศาลต้องตอบคำถามอะไรมากพอสมควรต่อแวดวงทางกฎหมาย แต่ทั้งศาลยุติธรรมและศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้ความสำคัญหรือไม่รับรองให้กับสิทธิชุมชนท้องถิ่น คำวินิจฉัยช่วงนี้มีลักษณะปฏิเสธหรือไม่ยอมรับสิทธิชุมชน

จนในทศวรรษ 2550 ขบวนการสิทธิชุมชนเปลี่ยนไปจากเดิม จากการสู้ในเชิงรุกกลายเป็นการถอยมาในเชิงตั้งรับ แล้วสู้แบบเป็นปัจเจกชน ที่ไม่มีขบวนการทางสังคมขับเคลื่อนนัก ที่ไหนถูกจับ ก็มีทนายประชาชนเข้าไปช่วยแบบเป็นรายปัจเจก แล้วสู้แบบตั้งรับ เพื่อให้พ้นจากความผิดเป็นส่วนใหญ่  

ในทางกฎหมาย ช่วงนี้มีการพูดถึงเรื่องสิทธิชุมชนในคำพิพากษาศาล แต่ก็มีแค่ในบางระดับ โดยถ้ามีการโต้แย้งในเรื่องสิทธิอำนาจเหนือในการจัดการทรัพยากร มีแนวโน้มที่ส่วนใหญ่ศาลจะไม่ยอมรับ แต่ถ้าพูดถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมหรือการเข้าไปกำกับ อันนี้ศาลจะยอมรับ และพบว่าในคดีอื่นๆ ที่อ้างถึงสิทธิชุมชน เช่น คดีมาบตะพุด ไม่ได้เป็นการอ้างถึงสิทธิชุมชน ในฐานะสิทธิอำนาจเหนือในการจัดการทรัพยากร แบบที่ชาวบ้านอ้าง แต่เป็นการอ้างถึงในการเข้าไปกำกับ ควบคุม และตรวจสอบ โดยแบบนี้มีแนวโน้มจะถูกรับรอง

ในส่วนสุดท้าย คำถามสำคัญ คือเราจะเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอย่างไร  ทั้งในเชิงโครงสร้าง ขบวนการป่าชุมชนได้สถาปนาความคิดเรื่องสิทธิชุมชนลงในสถาบันการเมืองสำคัญได้ แต่ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างที่เป็นปฏิบัติการและระบบกฎหมายได้ โดยจากการลงพื้นที่วิจัยมีข้อสังเกตว่านโยบายของเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้มงวดต่อชาวบ้านดูเหมือนจะน้อยลง แต่ในบางพื้นที่ที่มีบุกรุกพื้นที่ป่า แล้วปลูกข้าวโพด เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ไปดีลกับชาวบ้าน แต่สิ่งที่ทำคือไปคุยกับผู้จัดการบริษัทเอกชน ที่ส่งเสริมปลูกพืชการเกษตรว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

หน่วยงานรัฐเองก็ตระหนักว่าปัญหาที่ชาวบ้านปลูกข้าวโพดนั้นเป็นปลายทาง หน่วยงานรัฐระดับปฏิบัติการพยายามจะปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลง หรือทำอะไรบางอย่าง แต่ถามว่ามันจะเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงขนาดไหน สมชายเห็นว่าเป็นไปได้ยาก

ส่วนในแง่บริบททางสังคม เครือข่ายแต่ละฝ่ายอ่อนแรง หรือการขยายตัวของอปท.ในด้านต่างๆ มากขึ้น รวมทั้งความท้าทายใหม่ๆ ทางภาคเหนือ เราเห็นการขยายตัวอย่างกว้างขวางของพืชเศรษฐกิจ พืชเชิงพาณิชย์ รวมทั้งทัศนคติของชุมชนและชาวบ้านต่อการพัฒนาและความคาดหวังต่ออปท. เปลี่ยนแปลงไป  คำถามคืออุดมการณ์สิทธิชุมชนที่เคยเป็นมา ยังสามารถเท่าทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาปัจจุบันได้หรือไม่ จะปรับตัวอย่างไร จะอิงกับอะไรต่อไป

 

ในเวทีช่วงต่อมาได้เปิดโอกาสให้แขกรับเชิญและผู้ฟังได้ร่วมเสนอความคิดเห็นต่อร่างงานวิจัย

เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการ ได้เสนอว่าอยากให้วิเคราะห์ลึกมากขึ้น ว่าเหตุใดถึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงในหน่วยงานของรัฐ ไม่เปลี่ยนเลยโดยสิ้นเชิงหรือมีความพยายามเปลี่ยน โดยตนเห็นว่าในระดับล่างมีความพยายามเคลื่อนไหว เสนอแนวคิดใหม่ๆ ขึ้นไป แต่ว่าขึ้นไปไม่ได้

เรื่องที่สอง ทำไมถึงมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นในกลุ่มอปท. อาจต้องวิเคราะห์ในส่วนโครงสร้างองค์กรอิสระพอสมควร เช่น การให้ทุนของสสส. ที่มีบทบาทค่อนข้างมาก ทั้งการให้ทุนเรื่องการกระจายอำนาจ และการสร้างศักยภาพของอปท. ทำให้อปท.หยิบประเด็นเรื่องทรัพยากรและสิทธิชุมชนขึ้นมาเล่น และตนเห็นแย้งในกรณีที่เห็นว่าเอ็นจีโอไม่เข้าไปหนุนอปท. เพราะมีกลุ่มเอ็นจีโอสายพัฒนาที่เข้าไปทำงานด้านนี้อยู่เหมือนกัน

ในเรื่องของตุลาการกับสิทธิชุมชน ตนเชื่อว่าต้องมีระยะการเปลี่ยนผ่านพอสมควร ถ้าเราคิดว่าเกิดรัฐธรรมนูญ 2540 แล้วจะเปลี่ยนเลย หรือ 50 แล้วเปลี่ยนเลย มันอาจจะเป็นการวิเคราะห์ด้วยกรอบที่แข็งเกินไป ตนยังถือว่าช่วงนี้น่าจะเป็นระยะเปลี่ยนผ่านอยู่ โดยมีหลายกรณี เช่น กรณีที่ตาก หรือราไวย์ ที่เริ่มเห็นว่าประเด็นสิทธิชุมชนได้รับการยอมรับ หรือบางกรณีก็มีการพลิก เช่น กรณีที่ประจวบฯ ที่ศาลชั้นต้นรับ แต่ศาลอุทธรณ์ไม่รับ และภายในกระบวนการยุติธรรมเองก็มีการต่อสู้ดิ้นรนเหมือนกัน ซึ่งอาจต้องวิเคราะห์แยกในแต่ละสายของกระบวนยุติธรรม

ส่วนเรื่องการต่อสู้สิทธิชุมชนที่มีลักษณะปัจเจกมากขึ้น ตนอยากให้ศึกษากรณีเทือกเขาบรรทัด กรณีประจวบฯ กรณีคอนสาร กรณีสวนปาล์มที่กระบี่-สุราษฏร์ หรือกรณีที่ดินที่เชียงใหม่-ลำพูน กรณีเหล่านี้เข้าใจว่ายังเป็นความพยายามต่อสู้ในเชิงสถาบัน ในเชิงเครือข่ายอยู่ ซึ่งไปไกลกว่าในเชิงปัจเจก ปัจเจกบุคคลอาจจะมีบ้างในบางกรณี ในช่วงปัจจุบันจึงมีได้ทั้งสองแบบการต่อสู้

เดโช ไชยทัพ นักพัฒนาเอกชน ตั้งคำถามว่าในเชิงเนื้อหา แนวคิดที่กำกับสิทธิชุมชน ยังเป็นแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงหรือเศรษฐกิจยังชีพอยู่หรือไม่ หรือเป็นเครื่องมือในการใช้เพื่อปรับตัวสู่ระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ได้ เรื่องนี้อาจทำให้เห็นพัฒนาการว่าตอนแรกเริ่มแนวคิดสิทธิชุมชนโดยผ่านเศรษฐกิจพอเพียง ดูผ่านร่างกฎหมายป่าชุมชน ที่เขียนทำนองว่าการใช้ประโยชน์ให้เป็นไปเพื่อการยังชีพเท่านั้น แต่ในตอนนี้ แค่นั้นมันไม่เพียงพออีกแล้ว คำถามคือแนวคิดสิทธิชุมชนที่จะเอาไปใช้ในปัจจุบัน จะตอบสนองต่อเศรษฐกิจสมัยใหม่อย่างไร

ประเด็นที่สอง คือเวลาพูดถึงสิทธิชุมชน มันเหมือนกับการปฏิเสธสิทธิปัจเจกหรือสิทธิของรัฐ แต่จริงๆ ในทางปฏิบัติ มันผสมผสานกัน การนำแนวคิดสิทธิชุมชนไปใช้ โดยเฉพาะเรื่องการจัดการทรัพยากรชุมชนเพียงอย่างเดียวไม่สามารถจัดการได้ โดยเฉพาะระบบสังคมที่เป็นปัจเจกมากขึ้น ตรงนี้จำเป็นต้องมีพลวัตของมันในการปฏิบัติการ หลายกรณีการใช้สิทธิชุมชนเชิงเดี่ยวไปจัดการคงจะไม่เพียงพอแล้ว

อรรถจักร สัตยานุรักษ์ นักวิชาการ ให้ความเห็นว่าด้านหนึ่งสิทธิชุมชนคลุมเครือ และนักกฎหมายจำนวนหนึ่งที่อยู่ในรัฐ ซึ่งรองรับสิทธิเพียงสองด้าน คือสิทธิปัจเจกและสิทธิของรัฐ ทำให้สิทธิชุมชนถูกตีความว่าเป็นสิทธิที่จะเข้าไปล่วงละเมิดสิทธิสองอันนี้  ส่วนที่ชนะในคดีบางกรณี มันเป็นส่วนปลีกย่อย แต่ตัวหลัก ถ้าไม่เปลี่ยนแนวคิดเรื่องระบอบทรัพย์สิน (regime of property) ก็จะเจอกับตุลาการที่ไม่เป็นธรรมต่อไป

ตนเห็นด้วยว่าตั้งแต่กำเนิดแล้ว สิทธิชุมชนในเมืองไทยมีความหมายอยู่ในกลุ่มวัฒนธรรมชุมชน ทำให้ตัวขอบเขตไม่ขยับ และนึกไปว่าสิทธิชุมชนแบบนี้เป็นสารัตถะที่คงที่ แต่ถ้าดูในประวัติศาสตร์ การปะทะกันระหว่างระบอบทรัพย์สินแบบต่างๆ มีปฏิสัมพันธ์กันตลอด common property regime ไม่เคยคงที่ แต่ยืดบ้าง หดบ้างตลอดเวลา หลังปี 2540 เอ็นจีโอและพวกเราทั้งหมด กระโดดเข้าไปสมาทานสิ่งที่เรียกว่าสิทธิชุมชน โดยไม่ทันตระหนัก หรือตระหนักแต่ใช้เป็นยุทธวิธี ซึ่งการยึดอันนี้ทำให้เราไม่สามารถจะเบียดเข้าไปในกฎหมายที่เป็นเชิงปฏิบัติการได้ โดยถ้าเราคิดถึง ownership function และ management function แยกกันอย่างชัดเจนในแต่ละเรื่อง ตนคิดว่าน่าจะผลักดันไปได้

นอกจากนั้น ชาวบ้านที่ร่วมเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ จำนวนมากใช้แนวคิดสิทธิชุมชน ในเงื่อนไขของการที่ถูกจับกุมหรือถูกขับไล่จากรัฐ แต่ทันทีที่เขาสามารถยันได้เมื่อไร เขาก็เอาสิ่งที่ยันได้นั้น ไปแบ่งกันเป็นสมบัติปัจเจก เอ็นจีโอและนักวิชาการกลายเป็นผู้ที่ถูกชาวบ้านผู้ชาญฉลาดปั่นหัวเสียเอง  การคิดถึงสิทธิชุมชนในตอนนี้ จึงจำเป็นต้องคิดถึงว่าจะนิยามสิทธิชุมชนใหม่อย่างไร อาจต้องขยับจาก community property regime ไปสู่ common property regime ซึ่งมีความหมายไม่ตรงกัน

ในระดับชุมชนชาวบ้าน ตนคิดว่าชาวบ้านคิดถึงสิ่งที่เป็น common (สาธารณะ) หลายองค์ แต่เราคิดถึงสิทธิชุมชนเป็นก้อนเดียว ชาวบ้านจะแบ่งเป็นวงๆ และแต่ละวงก็ถูกทำลายได้ไม่เท่ากัน และท่ามกลางภาพของชุมชนแบบเดิมแทบไม่เหลืออยู่แล้ว อาจจะต้องเข้าไปมองสิ่งที่เป็น common ในรูปแบบใหม่ๆ ทำให้ตัว common property นี้เลี้ยงชีพเขาได้ ไม่ใช่เก็บเห็ดเก็บหน่อเพียงแค่นั้น

สังเกตว่าหมู่บ้านที่สามารถรักษาป่าชุมชนได้มากๆ มักเป็นชุมชนที่มีรายได้นอกภาคเกษตร จนไม่ต้องทำเกษตรแบบใช้พื้นที่ขนาดใหญ่อีก แนวคิดเรื่องนี้จึงต้องทำให้มันต้อง productive มากขึ้น ทำให้คนจำนวนมากรักษาไว้ และสามารถมีกำไรทางเศรษฐกิจอยู่ได้ด้วย สรุปได้ว่าต้องคิดถึง common property ในความหมายใหม่ ที่เอื้อให้เกิดการปรับตัวของปัจเจกในชุมชนนั้นๆ

นิคม พุทธา  ที่ปรึกษาเครือข่ายป่าชุมชน เห็นว่าการคิดถึงสิทธิชุมชนในสถานการณ์ใหม่เป็นคำถามที่น่าสนใจ แม้โครงสร้างทางกฎหมายและกลไกของรัฐยังไม่เปลี่ยน แต่บริบทเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปมาก ไร่หมุนเวียนหลายแห่งเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพด คำถามคือมันยังสามารถใช้สิทธิชุมชนหรือสิทธิตามจารีตประเพณีได้หรือไม่ ขณะที่ชุมชนอาจไม่ได้สนใจเรื่องสิทธิชุมชนอีกแล้วก็ได้ อาจจะมีเครื่องมือตัวอื่นที่มาจัดการกับชุมชน กับฐานทรัพยากร

นิคมเห็นว่าในทางปฏิบัติมีความยืดหยุ่นมาก กรมป่าไม้สามารถร่วมกับชาวบ้าน ในการขึ้นทะเบียนป่าชุมชนในเขตป่าสงวนได้ มีหน่วยงานป่าชุมชนที่อยู่ในกรมป่าไม้อยู่หลายที่ มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายป่าชุมชน เจ้าหน้าที่ในบางที่ ยอมรับจะให้ชุมชนจัดตั้งหรือดำเนินการคล้ายกับป่าชุมชน อาจจะไม่ได้เรียกว่าป่าชุมชนก็ได้ และหลายที่ถึงแม้ไม่ได้พูดถึงสิทธิชุมชนเลย แต่ก็พูดถึงการยอมรับของส่วนราชการ การสนับสนุนของอปท. และความต้องการของชาวบ้าน หรืออาจจะมีนัยยะของคำว่าสิทธิชุมชน แต่ไม่ได้เรียกอย่างนั้น แต่เรียกว่าความต้องการของคนส่วนรวม หรือความชอบธรรมของคนในพื้นที่ที่จะดูแลรักษาป่า

แต่คำว่าสิทธิชุมชนในส่วนเรื่องของที่ดิน โฉลดที่ดินร่วม โฉนดชุมชนต่างๆ ก็ยังเป็นไปได้ยาก มีอุปสรรคมากมาย หรือสิทธิร่วมกันในทรัพยากรน้ำก็ยังเป็นเรื่องยาก น้ำยังเป็นสิ่งที่ชุมชนยังมองเป็นส่วนๆ และที่เพิ่มเติมเข้ามาในปัจจุบัน คือสิทธิในทรัพยากรชีวภาพ ในเรื่องเมล็ดพันธุ์ ก็สูญหายและได้รับผลกระทบอย่างมาก

สุรชัย ตรงงาม ทนายความด้านสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นว่าในเรื่องการใช้สิทธิชุมชนเข้าไปกำกับตรวจสอบ ดังที่งานวิจัยยกตัวอย่างเรื่องมาบตะพุด ส่วนนี้มีนัยยะถึงการตีความสิทธิชุมชนว่ากว้างแคบอย่างไร การเข้าไปกำกับตรวจสอบการดำเนินโครงการของหน่วยงานรัฐโดยชุมชนในปัจจุบัน มีนัยยะโดยตัวของมันเอง นอกจากสิทธิในการมีส่วนร่วม ยังรวมถึงสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี สิทธิในการได้และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรด้วย แม้จะเป็นการควบคุมตรวจสอบโครงการ แต่ก็มีนัยยะที่รวมไปถึงการกำหนดวิถีของชุมชนด้วย การเน้นแค่ด้านการตรวจสอบ จึงอาจไม่ตรงทีเดียวนัก ส

สุรชัยเห็นด้วยว่ากระบวนการศาลเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันเรื่องสิทธิชุมชน โดยเคยได้รับเชิญจากศาลปกครอง เขาถามว่ามีความเห็นอย่างไรต่อการตัดสินของศาลปกครองที่ผ่านมา ตนก็บอกว่าไม่ได้เท่าที่หวัง แต่ได้มากกว่าที่คิด และคิดว่าเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน อย่างเช่น การตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ทั้งในศาลยุติธรรมและศาลปกครอง มันก็มีนัยยะของเรื่องสิทธิชุมชนอยู่ เหมือนกับก็ยอมรับว่ามันมี แต่ก็จำเป็นต้องพัฒนาไปจากการขับเคลื่อนของขบวนชาวบ้าน  

การตีความของศาล โดยเฉพาะศาลปกครอง ก็มีการตีความกว้างขวางขึ้น เช่น ในคดีคลิตี้ ศาลบอกว่ากรมควบคุมมลพิษละเลย และกำหนดค่าเสียหายให้ มันหมายความว่าศาลก็รับรองสิทธิในการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติว่ามันมีอยู่ เพียงแต่ว่าเป็นสิทธิในเชิงของการเยียวยา ซึ่งให้ง่ายกว่า แต่ว่าสิทธิในเชิงที่ชุมชนจะเข้าไปร่วมจัดการจริงๆ ตนเห็นด้วยว่ายังไม่มีคำพิพากษารับรอง

ไพสิฐ พาณิชย์กุล นักวิชาการ ได้เปรียบเทียบการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิชุมชน ว่าเหมือนกับการที่คนทำโรงไม่ได้ใช้โรง ชุมชนที่เคลื่อนไหวในเรื่องป่าต่างๆ ไม่ได้ใช้ แต่คนที่มาใช้คือชุมชนในเมือง ชุมชนที่ได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ มีการขยายผลไปยังเรื่องอื่นๆ และการมีกฎหมายเรื่ององค์กรชุมชน หรือความคิดเรืองชุมชนถูกนำไปอ้างในที่ต่างๆ แม้แต่ในระบบราชการ และมักได้รับความสนใจและการจัดสรรงบประมาณ แต่เมื่อถูกนำไปใช้มากๆ และเฝือไป ก็ทำให้แนวคิดมันเบลอหรือเป็นเรื่องตลกไปเหมือนกัน

โจทย์ใหญ่ในเรื่องนี้ คือการจัดความสัมพันธ์หรือกติกาในพื้นที่ใหม่ ในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปจะต้องมีระเบียบทางสังคมใหม่อย่างไร ตนคิดว่าการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิชุมชนที่ผ่านมา เป็นการเคลื่อนไหวในลักษณะไปปะทะ ไปโต้แย้งกับหน่วยงานรัฐ และแนวทางที่สู้ก็เป็นลักษณะแนวตั้ง คือสู้กับแรงกดทับทางกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรม การไปงัดในแนวตั้งลักษณะนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก

แต่ก็มีบางชุมชนที่ในตอนนี้ ไม่พยายามไปสู้ในแนวทางเดิม แต่มาสู้ในแนวราบแทน เช่น ชุมชนเข้าไปใช้อปท.ผ่านกระบวนการจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือการพัฒนาสร้างเครื่องมือในการเข้าถึงสิทธิของชุมชน อย่างในพื้นที่ภาคใต้หลายที่ ก็มีการคิดเรื่องการหากลไกการจัดการความขัดแย้ง โดยการใช้ความคิดเรื่องยุติธรรมชุมชน ซึ่งในอีกความหมายก็คือการกระจายอำนาจทางศาล หรือแม้แต่ไปไกลถึงขั้นว่า ถ้าโรงงานที่มาตั้งหลบเลี่ยงภาษี ชาวบ้านไปจี้อบต.ให้ไปตาม กลายเป็นการลุกขึ้นมาบังคับใช้กฎกติกาเอง

ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งคือการใช้การจัดการร่วม Co-management ผ่านการสรุปบทเรียนร่วมกันระหว่างกลุ่มชาวบ้านกับองค์กรของรัฐ ที่ดูแลพื้นที่ต่างๆ ที่เห็นว่ารบกันไป ก็เปล่าประโยชน์ จึงพยายามสร้างการจัดการร่วม แต่จะจัดการอย่างไรก็ยังเป็นประเด็นปัญหา อีกอันหนึ่งที่น่าจะช่วยยกระดับได้ แต่ก็ยังทำไปไม่ถึง คือการยกระดับองค์กรชุมชนให้สามารถมีอำนาจทำสัญญาทางปกครองกับหน่วยงานภาครัฐ

นอกจากนั้นไพสิฐยังเห็นว่าปัญหาของเรื่องสิทธิชุมชน ไม่ได้มีแต่เรื่องรัฐอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของนักอนุรักษ์แบบเขียวที่ไม่มีคน ซึ่งค่อนข้างมีบทบาทในสังคม มีบทบาทในการเข้าถึงสื่อหรือคนในเมือง คำถามคือจะทำอย่างไรในการเปลี่ยนความคิดของคนที่คัดค้านในเรื่องนี้ ซึ่งไม่ได้มีแต่นักกฎหมาย หรือนักการเมือง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

HAP ถกทางออกสิทธิเด็ก-สตรี เบื้องหลังความรุนแรงชายแดนใต้

Posted: 15 Sep 2013 10:56 AM PDT

ถกทางออกสิทธิเด็ก-สตรี เบื้องหลังความรุนแรงชายแดนใต้ กลุ่มด้วยใจสะท้อนปัญหาสังคมชายแดนใต้น่าเป็นห่วง ความรุนแรงส่งผลให้ปัญหาอื่นยุ่งยากไปด้วย คนพุทธเผยการเลือกปฏิบัติจากรัฐไม่ได้มีแค่กับมุสลิม นักวิชาการแนะควรแยกแต่ละเรื่องแล้วค่อยแก้แบบเจาะลึก ทนายย้ำต้องเกาะติดปัญหาแล้วสร้างพลังต่อรอง ภาคประชาสังคมต้องร่วมมือกับสื่อ

 

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2556 ที่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เครือข่ายส่งเสริมสิทธิและเข้าถึงความยุติธรรม (HAP) จัด 'เวทีสานเสวนาส่งเสริมสิทธิสตรีและสิทธิเด็กท่ามกลางความขัดแย้งในปัจจุบัน' ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นักวิชาการ ภาคประชาสังคมและสื่อ

นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ จากกลุ่มด้วยใจและนักรณรงค์เพื่อหยุดการละเมิดสิทธิเด็กและสตรีในชายแดนใต้ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นประเด็นสิทธิสตรีและเด็ก 2 ครั้ง ได้ข้อสรุปว่า ปัญหาสังคมทั่วไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีมากมายอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ถูกสื่อสารออกมาให้สังคมภายนอกได้รับรู้ ซึ่งบางปัญหาเป็นเรื่องอ่อนไหวมากสำหรับพื้นที่ เช่น การละเมิดทางเพศซึ่งคนที่ตกเป็นเหยื่อจะไม่ร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ ทำให้สังคมส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ามีปัญหานี้อยู่ในพื้นที่ จึงทำให้ปัญหานี้ไม่ถูกแก้ไขไปด้วย

"ความรุนแรงทั้งจากสถานการณ์ไม่สงบและปัญหาในครอบครัวเอง ส่งผลให้เด็กชายแดนใต้มีสุขภาพจิตที่แย่ลง และมีพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการติดยาเสพติดและปัญหาอื่นๆ รวมทั้งการที่พ่อแม่ของเด็กตกเป็นเหยื่อในเหตุรุนแรง ก็ยิ่งทำให้เด็กตกอยู่ในภาวะขาดความอบอุ่นมากขึ้น" นางสาวอัญชนา กล่าว

นายสุทธิศักดิ์ ดือเระ หัวหน้าโครงการเสริมสร้างการตระหนักด้านกฎหมายแก่ชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอว่า การวิพากษ์ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ควรแยกปัญหาทั่วไปกับปัญหาที่เป็นปมความขัดแย้ง เพราะอาจจะทำให้หาปมไม่เจอ และอยากให้องค์กรที่ขับเคลื่อนประเด็นต่างๆลงลึกไปทีละเรื่อง

นายสุทธิศักดิ์ กล่าวว่า สาเหตุหลักของการละเมิดในพื้นที่ คือ ปัญหาการระบาดของยาเสพติด ปัญหาการขาดผู้นำที่ดีที่มีความมั่นใจในการนำท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง

นางสาวดวงสุดา สร้างอำไพ ตัวแทนภาคประชาสังคมไทยพุทธในจังหวัดปัตตานี สะท้อนว่า สุราคือต้นเหตุของปัญหาสังคมของกลุ่มคนไทยพุทธ ที่ส่งทอดวัฒนธรรมสู่ลูกหลาน ทำให้เด็กก้าวร้าวและสังคมใช้ความรุนแรง สังคมพุทธยังมีความยืดหยุ่นต่ออบายมุขมาก ทำให้เป็นปมปัญหาสำคัญไม่ถูกแก้ไข

นางสาวดวงสุดา ยังกล่าวอีกว่า ประสบการณ์จากการร่วมต่อสู้เพื่อสิทธิของคนไทยพุทธที่ถูกเลือกปฏิบัติโดยเจ้าหน้าที่รัฐยังมีเยอะ ไม่เพียงแต่คนมลายูที่ถูกเลือกปฏิบัติเท่านั้น ตัวอย่างหลายกรณีที่ตนได้รับข้อมูลมาว่า กรณีคนถูกฆ่าตัดคอแล้วเผาได้รับการช่วยเหลือเยียวยาเพียง 2 ราย แต่ข้อมูลที่ตนได้รับมามีมากกว่านั้น และเคยยื่นต่อหน่วยงานรัฐเพื่อให้ดูแลกรณีนี้ด้วย แต่กลับถูกปฏิเสธโดยเหตุผลที่ว่า หมดเวลายื่นเรื่องแล้ว ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้านที่ยังเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมหรือกระบวนการเรียกร้องสิทธิ

"ที่ผ่านมาพบเห็นการถูกเลือกปฏิบัติอย่างนี้เยอะมาก จึงเดินหน้าเรียกร้องจากหน่วยงานรัฐ เพียงเพื่อจะให้รับเรื่องตรวจสอบและช่วยเหลือเยียวยาต่อไป แต่บางกรณีกลับถูกเพิกเฉยหลังจากที่ไปร้องเรียนว่าตกสำรวจ ซึ่งทำให้เสียความรู้สึกมาก เพราะตกเป็นเหยื่อในกรณีเดียวกัน แต่คนที่ได้รับความช่วยเหลือมีเพียงบางคนเท่านั้น จึงต้องทำงานเป็นเครือข่ายกับองค์กรอื่นๆ เพื่อทำให้มีพลังมากขึ้นและเพื่อให้รัฐรับฟังมากขึ้น" นางสาวดวงสุดา กล่าว

นางสาวปรีดา นาคผิว ทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เสนอว่า แต่ละองค์กรที่ทำงานขับเคลื่อนในแต่ละประเด็น ถ้าเจาะลึกลงไปในประเด็นนั้นๆอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดพลังในการขับเคลื่อน กรณีการละเมิดสิทธิประชาชนที่ไม่เป็นที่รับรู้ของสังคม หรือไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐหลังจากร้องเรียน ต้องมีวิธีผลักดันให้กลไกของรัฐทำงาน ซึ่งภาคประชาสังคมอาจจะต้องช่วยสะท้อนปัญหาขึ้นไป และบางกรณีที่ถูกเลือกปฏิบัติจากการทำงานของภาครัฐ อาจจะต้องช่วยเป็นรายกรณีไปก่อน แล้วมาร่วมกันขับเคลื่อนในภาพรวม ที่อาจจะต้องมาสะท้อนเรื่องปัญหาเชิงนโยบายว่าทำไมถึงยังมีผู้ที่ถูกลิดรอนสิทธิ

"การเจาะลึกในประเด็นปัญหาของแต่ละกรณี จะสามารถทำให้เกิดความช่วยเหลือแก่กรณีนั้นให้เป็นตัวอย่างได้ ซึ่งต้องช่วยเป็นรายกรณีก่อน แล้วจะมีเป็นรายงานที่ถูกบันทึกเป็นสถิติต่อไป" นางสาวปรีดา กล่าว

นายแวหามะ แวกือจิก ผู้อำนวยการสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน หรือ มีเดียสลาตัน สื่อวิทยุในชายแดนใต้ กล่าวว่า ปัญหาของสื่อที่ยังไม่สามารถขับเคลื่อนประเด็นต่างๆในพื้นที่ได้ เนื่องจากบุคคลกรที่มีทักษะที่จำกัด บางประเด็นเป็นเรื่องยากที่ต้องทำความเข้าใจ แต่พยายามส่งนักจัดรายการของสถานีไปร่วมอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ประเด็นเหล่านี้ด้วย

"ในช่วงหลังๆ มานี้ ทางสถานีมีรายการเกี่ยวกับสตรีและเด็ก โดยมีนักจัดรายการที่เป็นผู้หญิงที่จะรับฟังปัญหาที่เกี่ยวกับเด็กและสตรีโดยเฉพาะ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประเด็นผู้หญิงขึ้นในสังคมมลายู" นายแวหามะ กล่าว

"สื่อเองยังมองไม่เห็นว่าองค์กรไหนสามารถรับเรื่องร้องเรียนในประเด็นต่างๆอย่างไรบ้าง ซึ่งมองว่า องค์กรที่ทำงานเรื่องผู้หญิงเอง ยังไม่ผนึกกำลังเป็นเสียงเดียวกัน ซึ่งการส่งต่อประเด็นที่ได้รับจากผู้ฟังจึงค่อนข้างยาก เนื่องจากองค์กรที่ขับเคลื่อนประเด็นต่างๆในพื้นที่ยังต่างคนต่างทำ" ผู้อำนวยการมีเดียสลาตัน กล่าว

นายแวหามะ เสนอว่า ทางสถานียินดีที่จะให้องค์กรภาคประชาสังคมเข้ามาใช้เวลาของสถานีเพื่อมานำเสนอประเด็นสังคม ซึ่งในโอกาสต่อไปอาจจะได้รับความร่วมมือที่ดี

สำหรับข้อสรุปจากเวทีวันนี้ เน้นการเรียกร้องภาคประชาสังคมที่ต้องทำงานขับเคลื่อนประเด็นที่ประชาชนยังไม่เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม สิทธิที่พึงได้ และองคืกรที่ทำงานลักษณะเดียวกันควรทำงานเชื่อมโยงกัน และทำให้เห็นตัวตนว่าใครทำอะไรบ้าง เพื่อให้เห็นว่าเมื่อมีประเด็นปัญหาใหม่ๆ ต้องส่งต่อให้ใครบ้าง ส่วนสื่อก็พร้อมจะเป็นกระบอกเสียง ร่วมขับเคลื่อนต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘วิทยุม.อ.ปัตตานี’ กับบทบาทสื่อเพื่อสันติภาพชายแดนใต้

Posted: 15 Sep 2013 10:45 AM PDT

สื่อวิทยุม.อ.ปัตตานีกับบทบาทสื่อที่ติดตามกระบวนการสันติภาพที่ชายแดนใต้ ถึง 3 รายการ มองผ่าน "พัชรา ยิ่งดำนุ่น" นักจัดรายการประจำสถานี ย้ำ "สันติภาพต้องเริ่มที่หัวใจของความเป็นมนุษย์ก่อน"

 

สัมภาษณ์นางสาวพัชรา ยิ่งดำนุ่น ผู้สื่อข่าวและนักจัดรายการวิทยุประจำสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี 107.25 Mhz เป็นอีกหนึ่งผู้ทำงานด้านสื่อสารมวลชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พยายามเน้นการรายงานข่าวเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ผ่านรายการของทางสถานี

เป็นความพยายามที่เกิดขึ้นหลังจากมีความพยายามในสร้างสันติภาพโดยผ่านกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นความหวังให้คนในพื้นที่ไม่น้อย ที่ไม่อยากเห็นความรุนแรงและการสูญเสียอีกต่อไป

 

วิทยุม.อ.ปัตตานีกับกระบวนการสันติภาพ

พัชรา ระบุว่า มี 3 รายการที่สถานีวิทยุม.อ.ปัตตานี พยามรายงานข่าวและติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกระแสของบกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ ซึ่งทั้ง 3 รายการตนเองเป็นผู้ดำเนินรายการ โดยเป็นรายการที่จัดขึ้นในช่วงเวลาบริการสาธารณะตามนโยบายของทางสถานี

ทั้ง 3 รายการ ได้แก่ รายการ "รักกันช่วยกันชายแดนใต้" ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 13.10-14.00น. และรายการ "ร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้" ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.35-17.00 น.

เฉพาะรายการร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ จะมีรายการซ้อนรายการอยู่คือ รายการ "เสียงวานีตา ผู้หญิงชวนคุย" ซึ่งออกอากาศเฉพาะวันจันทร์-อังคาร โดยความร่วมมือของกลุ่มผู้หญิงเพื่อยุติความรุนแรง ซึ่งจะมีการสรุปทั้งภาษาไทยและภาษามลายู

 

กระบวนการทำงานและรูปแบบรายการ

ทั้ง 2 รายการ ตนเป็นคนจัดรายการเอง แต่ในการทำงานจะทำงานเป็นทีม โดยเฉพาะเรื่องการตั้งประเด็นในแต่ละวันที่จะออกอากาศในรายการ ควบคู่กับการรายงานข่าวจากพื้นที่ด้วย

สำหรับรูปแบบรายการ "รักกันช่วยกันชายแดนใต้" ช่วงแรกเริ่มที่มีการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างฝ่ายรัฐบาลไทยกับฝ่ายขบวนการ BRN มีการติดตามพัฒนาการของกระบวนการสันติภาพมาตลอด

มีการสัมภาษณ์นักวิชาการในพื้นที่ รวมทั้งติดตามความเคลื่อนไหวของภาครัฐว่ามีมุมมองต่อกระบวนการสันติภาพอย่างไร เช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เป็นต้น

รวมถึงติดตามการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมในพื้นที่ อย่างกลุ่มสตรี กลุ่ม Deep Peace และกลุ่ม V Peace เป็นต้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตามสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ว่า มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไรและเกิดจากปัจจัยใดบ้าง มีการวิเคราะห์สถานการณ์กันในทีมงานและสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

ขณะเดียวกันก็ติดตามฐานข้อมูลจากการเก็บสถิติเหตุการณ์ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้เช่นกัน และการตั้งประเด็นต่อกระบวนการสันติภาพว่า มีการเปิดพื้นที่อย่างไรบ้าง

 

กลุ่มเป้าหมายของแต่ละรายการ

กลุ่มเป้าหมายของแต่ละรายการ อย่างรายการ "เสียงวานีตา ผู้หญิงชวนคุย" กลุ่มเป้าหมายก็จะเป็นกลุ่มผู้หญิง ส่วนรายการ "รักกันช่วยกันชายแดนใต้"และ "ร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้" กลุ่มเป้าหมายมีความหลากหลาย ทั้งคนไทยพุทธ-มุสลิม หน่วยงานราชการ รวมทั้งประชาชนทั่วไป

 

การมีส่วนร่วมของผู้ฟัง

แต่ละรายการมีการสัมภาษณ์สดในรายการ หรือการถ่ายทอดเสียงของสถานี โดยเราลงพื้นที่สัมภาษณ์หลากหลายมุมมองของแต่ละคน เช่น ภาครัฐ ทหาร ตำรวจ ประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบ สตรี นักศึกษา และคนทำงานด้านกระบวนการสันติภาพ ถือเป็นการทำงานที่ครบทุกองค์ประกอบ แต่ต้องอยู่ในกรอบเชิงนโยบายของสถานีวิทยุภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบ

นอกจากนี้ หากมีการจัดเวทีต่างๆ ก็จะเข้าด้วยเพื่อให้เข้าถึงข้อมูล เพื่อให้ผู้ฟังสามารถรับฟังข่าวสารที่หลากหลาย รวมไปถึงการรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพื่อให้เห็นกระบวนการของทุกฝ่ายว่ามีการขับเคลื่อนอย่างไร และมองในภาพรวมว่าจะเป็นไปในทิศทางใดต่อไป

 

เนื้อหาที่มุ่งเน้นการช่วยเหลือประชาชน

ส่วนเนื้อหารายการที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของสถานีนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นไปตามเหตุการณ์ในพื้นที่ ไม่ได้แยกเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น รายการ "ร่วมแรงร่วมใจ" เราจะมีส่วนช่วยกันอย่างไรกับสถานการณ์นั้นๆ ทั้งเรื่องสถานการณ์ไม่สงบ กระบวนการสันติภาพ เศรษฐกิจ ปากท้องชุมชน

เรามุ่งเน้นการสื่อสารที่นำไปสู่สันติภาพ ทั้งความสงบสุข ความเข้าใจ การงดใช้ความรุนแรง โดยเริ่มจากการเป็นต้นแบบสื่อสาธารณะเพื่อเพื่อนมนุษย์ เกาะติดสถานการณ์ความรุนแรงที่ประชาชนเดือดร้อน และต้องการความช่วยเหลือหากเกิดวิกฤติ อาทิเช่น พยากรณ์อากาศ พายุ ไฟฟ้าดับ เป็นต้น

 

ประเด็นที่น่าสนใจและส่งผลต่อสันติภาพ

ในช่วงนี้ประเด็นที่น่าสนใจและนำเสนอ การติดตามประเด็นราคายางพาราตกต่ำที่ส่งผลต่อความสงบสุขของประชาชน การชุมนุมประท้วงของเกษตรกรชาวสวนยางที่ส่งผลกระทบในหลายด้าน ทั้งความมั่นคงในชีวิตและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นฐานสำคัญในการดำเนินชีวิต ไม่ใช่แค่เหตุการณ์สงบอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องอื่นแฝงอยู่ด้วย

มองแบบองค์รวมว่า สันติภาพจะเกิดขึ้นได้อย่างไร หากไม่เริ่มจากหัวใจของคนก่อน ตราบใดที่คุณภาพชีวิตของประชาชนและเศรษฐกิจในพื้นที่ยังมีปัญหาอยู่

เรื่องราคาพืชผลทางการเกษตร แทนที่จะมองกลไกตลาดโลก ก็ควรหันกลับมาสร้างเศรษฐกิจในประเทศ โดยนโยบายต้องมีความชัดเจนในระยะยาว ลดปัจจัยการผลิต เร่งกระตุ้นตลาดภายในประเทศอย่างไร เรามีต้นทุนการผลิตที่ดีอยู่ แต่ได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรง

 

มุมมองกระบวนการสันติภาพ

ส่วนมุมมองต่อกระบวนการสันติภาพนั้น มองว่าเป็นทางออกที่จะคลี่คลายปัญหาและยุติความรุนแรงได้ หากต่างฝ่ายต่างยอมรับและเคารพซึ่งกันและกัน ไม่แบ่งเชื้อชาติ ศาสนา ยศถาบรรดาศักดิ์ อาชีพ

ต้องเชื่อมั่นว่า ตราบใดที่คนไม่จับอาวุธ พยายามหาจุดร่วมในการหาทางออก มองจิตสำนึกของความเป็นมนุษย์ที่เป็นพี่น้องกัน อยากเห็นความสงบสุขที่เพื่อนมนุษย์ไม่ล้มตายจากสถานการณ์ความขัดแย้ง สันติภาพก็จะเกิดขึ้นได้

กรณีการเจรจาสันติภาพระหว่างตัวแทนฝ่ายรัฐกับBRN ซึ่งเป็นการการพูดคุยกันภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน แม้ว่าทุกฝ่ายคิดต่างกัน แต่หากมองเป้าหมายเดียวกัน หยุดอุดมการณ์ที่ใช้ความรุนแรง โดยการปลุกพลังของคนในพื้นที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้องของส่วนรวม ใช้หัวใจของความเป็นมนุษย์สื่อสารกัน ไม่ใช้อารมณ์ตำหนิหรือวิจารณ์ผู้อื่น เริ่มจากตนเองก่อน ใช้หัวใจความเป็นมนุษย์ไปคลี่คลายปัญหา ก็จะทำให้การขับเคลื่อนสันติภาพเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แก่งเสือเต้น ระดมเสบียงอาหารหนุนคณะเดินเท้าทางไกลค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์

Posted: 15 Sep 2013 10:28 AM PDT

ชาวสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้ออกรับบริจาคข้าวสารอาหารแห้งเพื่อส่งเป็นเสบียงอาหารให้คณะเดินเท้าทางไกลคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ ซึ่งได้ออกเดินเท้าจากจุดที่จะสร้างเขื่อนแม่วงก์จังหวัดนครสวรรค์ไปยังกรุงเทพ 

 

 
 
 
เช้าวันที่ 15 กันยายน 2556) ชาวสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้ออกรับบริจาคข้าวสารอาหารแห้งเพื่อส่งเป็นเสบียงอาหารให้คณะเดินเท้าทางไกลคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ ซึ่งได้ออกเดินเท้าจากจุดที่จะสร้างเขื่อนแม่วงก์จังหวัดนครสวรรค์ไปยังกรุงเทพ 
 
นายศรชัย อยู่สุข กรรมการกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ กล่าวว่า "พวกเราได้ทราบข่าวการเดินเท้าทางไกลของคณะมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร เพื่อปกป้องผืนป่าแม่วงก์ ที่รัฐบาลจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งไม่ต่างจากพวกเราที่ปกป้องป่าสักทอง แก่งเสือเต้น ที่รัฐบาลผลักดันจะสร้างเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง ก็ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน ทั้งผืนป่า สัตว์ป่า ที่ทำกิน ชุมชนของเราก็เดือดร้อนไม่ต่างจากแม่วงก์ เราจึงขอรับบริจาคข้าวสารอาหารแห้งจากชาวบ้าน เพื่อนำไปมอบให้คณะที่เดินเท้าทางไกลในการรณรงค์ให้คนในสังคมไทยได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของป่าและธรรมชาติ" นายศรชัยกล่าว
 
โดยก่อนหน้านี้ คณะของมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ที่นำโดย นายศศิน เฉลิมลาภ ได้ออกเดินเท้าทางไกลจากแนวเขตหัวงานที่จะสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ไปยังกรุงเทพ ระยะทางประมาณ 388 กิโลเมตร เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการไม่เห็นด้วยกับการผ่าน EHIA ของเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งเคยสอบตกมาแล้ว 4 ครั้ง จนถึงวันนี้ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ได้โยกย้ายปรับเปลี่ยนคณะผู้ชำนาญการในการพิจารณา EHIA ใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะผ่าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้
 
ด้านนายสมาน สร้อยเงิน ชาวบ้านบ้านดอนชัยสักทอง หมู่ 9 ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า "เขื่อนแม่วงก์จะทำลายป่าแม่วงก์ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ นับหมื่นไร่ ซึ่งกระทบต่อระบบนิเวศน์ ป่าไม้ สัตว์ป่าเป็นอย่างมาก ขณะที่เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ก็จะทำลายป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม กว่าสามหมื่นไร่ เราจึงไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนทำลายป่าที่มีอยู่เพียงน้อยนิดอยู่แล้ว รัฐบาลควรใช้แนวทางอื่นในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม ซึ่งมีหลายอย่าง ไม่ใช่เอะอะอะไรก็สร้างเขื่อน ให้นึกถึงอนาคตของลูกหลานบ้าง วันนี้เรามีฟักทอง ฟักเขียว หัวปลี พริก หอม กระเทียม ข้าวสารอาหารแห้งที่ได้จากจิตศรัทธาของชาวบ้านสะเอียบจะนำไปมอบให้กับพี่น้องเราที่เดินเท้าทางไกลต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม ถึงจะมีค่าเพียงเล็กน้อยแต่ก็เป็นน้ำใจจากชาวบ้านที่ตั้งใจช่วยเหลือกันเองตามมีตามเกิด" นายสมานกล่าว
 
ทั้งนี้เมื่อปีที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์และคณะกรรมการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ได้ร่วมกันลงนามในสัญญาประชาคมในการต่อสู้คัดค้านเขื่อนแม่วงก์และคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นร่วมกัน อีกทั้งคณะกรรมการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นได้เดินทางไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณะกรรมการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อีกทั้ง คณะกรรมการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์และมูลนิธิสืบก็ได้เดินทางมาร่วมกิจกรรมและร่วมบวชป่าสักทองมาแล้วในปีที่ผ่านมา
 
ด้านนายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า "เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง จ.แพร่ , เขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ รวมทั้งเขื่อนแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่จะทำลายป่าจำนวนมหาศาล เราจึงไม่เห็นด้วย และเราจะร่วมกันคัดค้านเขื่อนเหล่านี้จนถึงที่สุด เราเสนอให้รัฐบาลใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก การสร้างแก้มลิง สร้างแหล่กักเก็บน้ำหนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งน้ำ สร้างแหล่งกักเก็บน้ำทุกชุมชนทุกหมู่บ้าน ที่สำคัญคือต้องร่วมกันรักษาป่าต้นน้ำ ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เพื่อให้ป่าช่วยแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม ผมว่ารัฐบาลไม่น่าโง่มาทำลายป่า ทำลายอนาคตของลูกหลานเรา มันจะก่อให้เกิดน้ำท่วม น้ำแล้ง หนักกว่าเดิม" นายสมมิ่งกล่าว
 
ทั้งนี้คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ จะได้นำเสบียงอาหาร ข้าวสารอาหารแห้ง ไปสมทบให้กับคณะเดินเท้าทางไกล ที่กำลังเดินเท้าทางไกลอยู่ในวันที่ 16 กันยายนนี้ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่เขตจังหวัดสุพรรณบุรี โดยจะมีตัวแทนชาวบ้านประมาณ 10 คนจากแก่งเสือเต้น ต.สะเอียบ ร่วมเดินให้กำลังใจคณะเดินเท้าทางไกลคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ อีกด้วย 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รวมข่าวนิติบัญญัติประจำสัปดาห์ 9-15 ก.ย. 2556

Posted: 15 Sep 2013 09:59 AM PDT

รวมข่าวจากฝ่ายนิติบัญญัติ กรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ กฎหมาย ร่างกฎหมาย และความเคลื่อนไหวในรัฐสภาของ ส.ส. และ ส.ว. และพรรคการเมืองต่างๆ ประจำสัปดาห์

 
กลุ่ม 40 ส.ว.ตำหนิ การทำหน้าที่ของประธานวุฒิสภาที่นัดประชุมร่วมรัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญ ใช้เวลาเบียดบังการทำงานของวุฒิสมาชิก
 
9 ก.ย. 56 - กลุ่ม 40 ส.ว. ตำหนิการทำหน้าที่ของประธานวุฒิสภา ที่ปล่อยให้มีการนัดประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้ จนเบียดบังเวลาการทำงานของวุฒิสมาชิกที่ต้องการแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนก่อน แต่รัฐธรรมนูญให้ประโยชน์กับนักการเมืองไม่เกิน 3 พันคน
 
การประชุมวุฒิสภาในวันนี้ ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ได้เปิดโอกาสให้ ส.ว.หารือปัญหาต่าง ๆ โดย ส.ว.หลายคนได้หารือต่อที่ประชุมถึงการทำหน้าที่ของนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา หลังมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วหลายครั้ง และในวันนี้ยังมีการนัดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาต่อในเวลา 14.00 น. โดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ที่ประชุมวุฒิสภา มีหน้าที่สำคัญในการนำปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเข้าหารือเพื่อนำไปสู่การแก้ไข ติดตามตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ เปิดเผยประเด็นสาธารณะเพื่อประโยชน์ประชาชน แต่ในช่วงที่ผ่านมาตน และ ส.ว.กลับถูกกีดกันการทำหน้าที่ดังกล่าว จากการงดประชุมวุฒิสภาหลายครั้งแล้วนัดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญแทน โดยเฉพาะในสัปดาห์นี้มีการแจ้งนัดประชุมวุฒิสภาในวันที่ 9 - 10 ก.ย. ไปแล้ว แต่กลับงดการประชุมตั้งแต่บ่ายนี้ เป็นต้นไป การดำเนินการของนายนิคม ทำเสมือนวุฒิสภาเป็นส่วนตัว ทำตามอำเภอใจ เพื่อประโยชน์ส่วนตนด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็น ส.ว.ต่อได้ และแก้ให้ลงสมัครโดยไม่ต้องลาออกจากตำแหน่งวุฒิสภาได้ จากการแก้ไขมาตรา 5 วงเล็บ 9 อีกทั้งปิดปากตนไม่ให้พูดในประเด็นดังกล่าว ด้วยการรวบรัดให้มีการลงมติมาตรา 5 พร้อมย้ำว่า ตนรู้สึกผิดหวังและหากย้อนเวลาได้ ตนจะไม่เลือกนายนิคมมาตั้งแต่ครั้งเลือกให้เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1
 
ขณะที่  นายคำนูญ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนเคยชื่นชมการทำหน้าที่ ของนายนิคม ที่นัดประชุมวันอังคารเพิ่มเติมจากการประชุมทุกวันจันทร์ของสัปดาห์ ซึ่งช่วยสนับสนุนการทำงาน ส.ว.ไม่ให้มีวาระค้างการพิจารณาจำนวนมากได้ แต่การปล่อยให้มีการนัดประชุมร่วมรัฐสภาเบียดบังการประชุมวุฒิสภาในวันนี้ซึ่งไม่ใช่การอนุมัติตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ ทั้งที่มีวาระการพิจารณาปรากฏอยู่ถึง 7 หน้ากระดาษ จึงต้องการให้ประธานและรองประธานรัฐสภา ทบทวนการเบียดบังเวลาของวุฒิสภาโดยเร่งด่วน
 
ด้าน นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า 8 วันที่ผ่านมาเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างทุลักทุเล นับเป็นเสียงข้างมากที่ฉ้อฉล และก่อให้เกิดความยุ่งยาก ทั้งที่มีผู้ได้รับประโยชน์จากการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นนักการเมืองเพียงไม่เกิน 3 พันคน แต่ประชาชนไม่ได้อะไร อีกทั้งยังมีกระบวนการดำเนินการที่ส่อเค้าขัดรัฐธรรมนูญ ด้วยการรวบรัดลงมติ มาตรา 5 มาตรา 7 และมีแต่บุคคลเฉพาะกลุ่ม ที่บอกว่ามีความจำเป็นต้องเร่งให้จบ และใช้วิธีลากยาวประชุม
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
วุฒิสภา มีมติให้นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ตามที่คณะกรรมการอัยการเสนอ มีผล 1 ต.ค. นี้
 
9 ก.ย. 56 -  ที่ประชุมวุฒิสภามีมติด้วยเสียง 137 เสียง  ให้นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ตามที่คณะกรรมการอัยการเสนอชื่อ และได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาด้วยการตรวจสอบประวัติจากคณะกรรมาธิการสามัญฯ ประชาชนและส่วนราชการแล้ว
 
ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบให้ นายอรรถพล ใจสว่าง  ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 56 ด้วยเสียง 137 เสียง ไม่ออกเสียง 1 เสียง  และไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย โดยขั้นตอนดังกล่าวมีขึ้นหลังการประชุมลับและลงคะแนนอย่างเปิดเผย ในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 9 ก.ย. 56    ทั้งนี้ ภายหลังจากที่สำนักงานอัยการสูงสุดส่งหนังสือขอให้ประธานวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ พร้อมกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง จากมติเอกฉันท์ของคณะกรรมการอัยการ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 56 ให้เลื่อน นายอรรถพล ใหญ่สว่าง รองอัยการสูงสุด ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด คนปัจจุบัน ที่จะพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุ 63 ปี ในสิ้นปีงบประมาณ 56 ตามมาตรา 104 ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 และตามมาตรา 9 วรรค 1 ของ พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญราชการ พ.ศ. 2551 โดยในส่วนของวุฒิสภา หลังรับเรื่องจากคณะกรรมการอัยการแล้วได้ดำเนินการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อ ซึ่งมีนายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร  ส.ว.เชียงใหม่ ทำหน้าที่ประธานมีกรอบเวลาการดำเนินงาน 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 19 ส.ค. 56 และได้ทำการขอความร่วมมือไปยังสื่อมวลชน ส่วนราชการ ทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบและแสดงความคิดเห็น ข้อมูล ข้อเท็จจริงของนายอรรถพล มายังกรรมาธิการฯ เพื่อประกอบการพิจารณา พร้อมได้เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่าน ตู้ ปณ.45 ปณฝ.รัฐสภา และเว็บไซต์ของวุฒิสภา นอกจากนี้ ได้เชิญ นายอรรถพล เข้ามาแลกเปลี่ยนความเห็นด้านการปฏิบัติงาน มุมมอง วิสัยทัศน์ ต่อกรรมาธิการฯ เมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา และสรุปข้อมูลทั้งหมดที่ได้จัดทำเป็นรายงานลับเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาก่อนลงคะแนนเสียง
 
ทั้งนี้ ประวัติส่วนตัวของ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต(เกียรตินิยมดี) ม.ธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2514 จบเนติบัณฑิตไทย นิติศาสตรมหาบัณฑิต ม.ธรรมศาสตร์ และได้รับปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต(กิตติมศักดิ์) ม.รามคำแหง มีประวัติการทำงานสำคัญ อาทิ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ อธิบดีอัยการ สำนักงานคณะกรรมการอัยการ ผู้ตรวจราชการอัยการ รองอัยการสูงสุด และตำแหน่งงานสำคัญ อาทิ กรรมการเนติบัณฑิตยสภา
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ส.ส.กทม. จี้ การทางพิเศษฯ เร่งแก้ปัญหา easy pass ทั่วกรุงเทพฯ ขัดข้อง คิดเงินค่าผ่านทางแพงเกินจริง
 
9  ก.ย. 56 - ส.ส.กทม. จี้ การทางพิเศษฯ เร่งแก้ปัญหาeasy pass ทั่วกรุงเทพฯ ขัดข้อง คิดเงินค่าผ่านทางแพงเกินจริง  จนประชาชนถูกยึดบัตร ทั้งที่เพิ่งเติมเงินชี้ ระบบขัดข้องเกิดจากการปรับขึ้นค่าผ่าน  ซึ่งยิ่งเป็นการซ้ำเติมประชาชน  พร้อมเผย เตรียมร้องเรียนไปยัง กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค พุธนี้
 
นายสามารถ มะลูลีม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ แถลงที่รัฐสภา เรียกร้องการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเร่งแก้ปัญหา หลังประชาชนร้องเรียนด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ (easy pass)  ทั่วกรุงเทพฯ ขัดข้อง คิดเงินค่าผ่านทางแพงเกินจริง ประชาชนถูกยึดบัตร ทั้งที่เพิ่งเติมเงิน ซึ่งตนก็ได้ประสบกับปัญหาด้วยตัวเองเช่นกัน คือภายในวินาทีเดียวระบบแจ้งว่าวิ่งผ่านถึง28ด่าน ซึ่งเป็นไปไม่ได้  และเชื่อว่าการที่ระบบขัดข้องเกิดจากการปรับขึ้นค่าผ่านทางจาก 45 บาท เป็น   50 บาท ซึ่งยิ่งเป็นการซ้ำเติมประชาชน   ขณะเดียวกันพบว่าเมื่อประชาชนแจ้งข้อขัดข้องที่ด่านเก็บเงินเจ้าหน้าที่ไม่สามารถแก้ไขได้กลับบอกเพียงว่าเป็นการขัดข้องที่ระบบและให้ไปแจ้งปัญหาที่สำนักงานใหญ่แทน   ตนจึงขอเตือนให้ประชาชนระวังเปลี่ยนมาจ่ายเป็นเงินสดแทน และขอให้ทางการทางพิเศษฯ เร่งออกประกาศชี้แจงให้ประชาชนทราบ พร้อมยกเลิกการใช้easy pass ชั่วคราวก่อน จนกว่าจะแก้ปัญหาแล้วเสร็จ และต้องเติมเงินคืนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ  อย่างไรก็ตาม  ตนจะนำเรื่องนี้เสนอต่อคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภคในวันพุธนี้ (11ก.ย.) เพื่อเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง และเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
กลุ่ม ส.ว.รักชาติ แถลงขอโทษประชาชนกรณีสมาชิกรัฐสภาแสดงกิริยาไม่เหมาะสมในที่ประชุมฯ
 
9 ก.ย. 56 – กลุ่ม ส.ว.รักชาติ แถลงขอโทษประชาชนกรณีสมาชิกรัฐสภาแสดงกิริยาไม่เหมาะสมในที่ประชุมรัฐสภา เรียกร้อง สมาชิกรัฐสภาร่วมปรับปรุงวิธีการทำงานและภาพลักษณ์ของรัฐสภาใหม่ หวังเรียกความเชื่อมั่นกลับคืน
 
กลุ่มสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ผู้รักชาติ นำโดยนายสิงห์ชัย ทุ่งทอง สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดอุทัยธานี และคณะ ร่วมแถลงถึง กรณีสมาชิกรัฐสภาแสดงกิริยามารยาทและใช้วาจาที่ไม่สุภาพในที่ประชุมร่วมรัฐสภาและที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมาว่า การแสดงกิริยาอันไม่เหมาะสมในการทำหน้าที่ในฐานะของผู้แทนของประชาชนดังกล่าวได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์สร้างความเสียหายให้กับภาพลักษณ์ของรัฐสภาไทยเป็นอันมาก จนได้รับการร้องเรียนและติติงจากประชาชน ดังนั้นในฐานะสมาชิกรัฐสภาจึงขอแสดงความเสียใจและขอโทษต่อประชาชนในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง พร้อมขอเรียกร้องให้ประธานรัฐสภาและรองประธานรัฐสภาทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง ใช้เหตุและผล ยึดถือข้อบังคับการประชุมอย่างเคร่งครัด ตลอดจนให้หัวหน้ากลุ่มต่างๆ ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเสนอแนะสมาชิกในกลุ่มให้ทำหน้าที่ด้วยความสุภาพ ปฏิบัติตามข้อกฎหมาย ทั้งนี้ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือในการร่วมกันปรับปรุงระบบและวิธีการทำงานของรัฐสภา รวมทั้งปรับปรุงวิธีการแสดงออกและภาพลักษณ์รัฐสภาเสียใหม่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา และการทำหน้าที่ผู้แทนประชาชนให้เป็นที่ยอมรับ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชนและสมาชิกรัฐสภาโดยรวมอย่างแท้จริงต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา/ เรียบเรียง
 
ประธานรัฐสภา ไม่แสดงความเห็นกรณีรัฐแถลงนโยบายต่อรัฐสภาล่าช้า
 
9 ก.ย. 56 - ประธานรัฐสภา ระบุ ไม่ขอให้ความเห็นกรณีรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาล่าช้า ชี้ รธน.ไม่ได้ระบุ บทลงโทษไว้จึงไม่เข้าข่ายมีความผิด โยนวิปรัฐฯประสานเพื่อกำหนดวันแถลงผลงานที่ชัดเจน พร้อมขอความร่วมมือสมาชิกอภิปรายแก้ไข รธน.ตามกรอบข้อบังคับ หวังพิจารณาแล้วเสร็จโดยเร็ว  
 
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการแถลงนโยบายรัฐบาลว่า   ไม่ขอให้ความเห็นถึงความรับผิดชอบกรณีที่รัฐบาลยังไม่แถลงผลงานรัฐบาลต่อรัฐสภา ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ต้องแถลงผลงานต่อรัฐสภาภายใน 1ปี แต่เห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุบทลงโทษกรณีที่ไม่ดำเนินการตามบทบัญญัตินี้ จึงอาจไม่เข้าข่ายมีความผิด และเห็นว่าเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล ที่จะต้องประสานเพื่อกำหนดวันแถลงผลงานที่ชัดเจน หลังรัฐบาลส่งเอกสารให้กับสภาแล้ว ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะกำหนดวันแถลงผลงานหลังการพิจารราร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ
 
ต่อข้อถามถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประธานรัฐสภากล่าวว่า ได้ให้สิทธิสมาชิกอภิปรายอย่างเต็มที่ โดยไม่กำหนดกรอบเวลาการพิจารณา แต่อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือให้สมาชิกอภิปรายอยู่ในประเด็นและกรอบข้อบังคับ เพื่อให้การประชุมแล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะยังมีกฎหมายสำคัญอีกหลายฉบับที่รอการพิจารณา
 
ประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีสมาคมภัตตาคารไทยประกาศขึ้นราคาอาหารอยู่ที่ 50 บาท ต่อจานว่า ส่วนตัวยังไม่ทราบในประเด็นนี้และงานของสภาฯไม่ใช่หน้าที่และไม่มีอำนาจในเรื่องนี้ 
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ส.เพื่อไทย เรียกร้องผู้ชุมนุมสวนยางพอใจกับความช่วยเหลือจากรัฐบาล
 
9 ก.ย. 56 - ส.ส.ก่อแก้ว พิกุลทอง พรรคเพื่อไทย เรียกร้องผู้ชุมนุมสวนยางพอใจกับความช่วยเหลือของรัฐบาล ยุติแนวทางการชุมนุมปิดถนนก่อนคนในพื้นที่ได้รับผลกระทบวงกว้างและต่อต้านการชุมนุม  
 
นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แถลงถึงกรณีการชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง 16จังหวัด อย่างต่อเนื่องว่า ขอฝากไปยังผู้ชุมนุมอย่าเรียกร้องอะไรที่รัฐบาลทำไม่ได้ เนื่องจากรัฐบาลได้พยายามให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่อีกทั้งได้เรียกหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าร่วมหาทางออกแล้ว ขณะเดียวกันขอให้ผู้ชุมนุมยอมรับราคาที่ชาวสวนยางส่วนใหญ่เห็นพ้องในการเจรจาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ราคา 90 บาท ที่สำคัญขอเรียกร้องผู้ชุมนุมอย่าปิดด่านสะเดา จ.สงขลา เนื่องจากเป็นด่านสำคัญในการส่งออกสินค้าไทยไปยังสิงคโปร์ และเป็นด่านสำคัญให้นักท่องเที่ยวจากมาเลเซียและสิงคโปร์เข้ามาประเทศไทย และอย่าปิดแยกปฐมพร จ.ชุมพร ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้าทั่วทั้งภาคใต้อย่างรุนแรง โดยเฉพาะธุรกิจด้านการท่องเที่ยว  ส่งจะเป็นปัญหาต่อชื่อเสียงของประเทศในระยะยาวเช่นที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้แล้วจากกรณีการปิดสนามบิน
 
นายก่อแก้ว กล่าวต่อไปว่า ตนเชื่อว่าคนใต้ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมเรียกร้องปิดเส้นทาง  ซึ่งหากยังดำเนินการต่อจะส่งผลเสียต่อผู้เรียกร้องเองให้ขาดเสียงสนับสนุน ขณะที่คนใต้ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมจะลุกขึ้นมาเรียกร้องต้านการชุมนุมเอง ดังนั้น จึงต้องการให้ผู้ชุมนุมหาจุดร่วมให้ได้ เพื่อหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ พร้อมขอบคุณ นายกฯ ที่แสดงออกอย่างจริงจังในการแก้ปัญหา ไม่ทำงานด้วยปาก แต่ลงมือด้วยการกระทำ
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ส.ส.ประชาธิปัตย์ ระบุ การสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ล่าช้ากว่ากำหนด เร่งให้ประธานสภาติดตามงาน
 
9 ก.ย. 56 - นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.ประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร ระบุ การก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ล่าช้ากว่ากำหนดจากสาเหตุการส่งมอบพื้นที่ไม่เป็นไปตามสัญญา ส่งผลให้เบื้องต้นต้องจ่ายค่าชดเชยราว 200 ล้านบาท จี้ ประธานสภา ประธานวุฒิสภา และเลขาธิการสภาฯ เร่งติดตามงาน
 
นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมากรรมาธิการได้เชิญบริษัทที่ปรึกษาการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ เข้าให้ข้อมูลถึงความคืบหน้าการก่อสร้าง ซึ่งพบว่ามีความล่าช้าจากแผนที่ตั้งไว้ จากเดิมที่กำหนดความคืบหน้าหลังเซ็นสัญญา 88 วัน ตั้งแต่ 8 มิ.ย.-3 ก.ย.56 ไว้ 3.84 % แต่ข้อเท็จจริงกลับมีความคืบหน้าเพียง 0.34 % จากสาเหตุความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่ที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราชการ อาทิ โรงเรียนโยธินบูรณะ โรงเรียนขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) บ้านพักโรงเรียน ขส.ทบ. ทั้งหมดรวม 90 ไร่ มีการส่งมอบไปเพียง 47 ไร่
 
นายบุญยอด กล่าวต่อไปว่า ความล่าช้าที่เกิดจากการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญาจนทำให้ผู้รับจ้างขอขยายสัญญาออกไป จะกระทบกับค่าจ้างที่ต้องจ่ายเพิ่มให้บริษัทที่ปรึกษาโครงการและบริษัทที่ควบคุมงานต่อไปอีกราว 14 เดือนครึ่ง คิดเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มประมาณ 145 ล้านบาท ยังไม่รวมกับค่าเช่าสถานที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องเช่าสำนักงานอาคารดีพร้อมต่ออีกกว่า 55.1 ล้านบาท รวมสองกรณีนี้สร้างความเสียหายรวมประมาณ 200 ล้านบาท ตนจึงขอทวงถามไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภาในฐานะประธานคณะกรรมการที่กำกับดูแลโครงการตั้งแต่ต้น รวมถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือเป็นผู้มีหน้าที่หลัก ให้ใช้อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการเร่งติดตามควบคุมงานการก่อสร้างที่เกิดความล่าช้า มากกว่าจะเร่งรีบในการประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญ
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
วิปรัฐบาล ยืนยัน ไม่มีการร่วมมือกับรองประธานรัฐสภาเร่งรัดลงมติร่างแก้ไข รธน.
 
10 ก.ย. 56 - ประธานวิปรัฐบาล ยืนยัน ไม่มีการร่วมมือกับรองประธานรัฐสภาเร่งรัดลงมติร่างแก้ไข รธน. ที่มา ส.ว. พร้อมเผย เตรียมพิจารณาบรรจุระเบียบวาระแถลงผลงานของรัฐบาล และร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ในวันพรุ่งนี้ (11 ก.ย. 56)
 
นายอำนวย คลังผา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวยืนยันว่า การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) ที่ผ่านมาไม่ได้มีการรวบรัดการพิจารณาแต่อย่างใด โดยให้สิทธิสมาชิกรัฐสภาอภิปรายอย่างเต็มที่ แต่ที่ผ่านมาสมาชิกส่วนใหญ่อภิปรายซ้ำซ้อนและไม่ตรงประเด็น ตลอดจนไม่ได้มีการร่วมมือกับนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ในการเสนอปิดอภิปราย เพื่อเร่งรัดให้มีการลงมติร่างแก้ไข รธน.ประเด็นที่มาของ ส.ว.ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้มองว่าการเสนอปิดอภิปรายของสมาชิกเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ เพราะเห็นว่าสมาชิกอภิปรายครบทุกประเด็นแล้ว ส่วนกรอบเวลาการพิจารณายังไม่สามารถระบุได้ว่าจะแล้วเสร็จภายในวันศุกร์ที่ 13 กันยายนนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตามได้ให้เวลาฝ่ายค้านอภิปรายอย่างเต็มที่
 
ประธานวิปรัฐบาล กล่าวอีกว่า ในวันพรุ่งนี้ (11 ก.ย. 56) วิปรัฐบาลจะหารือกับทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาบรรจุระเบียบวาระการแถลงผลงานของรัฐบาล รวมถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ...วงเงิน 2 ล้านล้านบาทบาท
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ / เรียบเรียง
 
ฝ่ายค้าน เชื่อ แก้ไข รธน.ครั้งนี้ทำตามใบสั่ง
 
10 ก.ย. 56 - วิปฝ่ายค้าน ระบุ การแก้ไข รธน.ในมาตราที่เหลือ ยังคงมีการปิดปากปิดหูปิดตาผู้อภิปรายและประชาชน โดยการเร่งรัดให้ลงมติในทุกมาตรา พร้อมเชื่อ มีใบสั่งให้แก้ รธน.เพื่อเดินหน้าสู่การครอบงำวุฒิสมาชิกและกินรวบประเทศไทย
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... เกี่ยวกับที่มาของวุฒิสภาในมาตราที่เหลือว่า วิปฯเชื่อว่าประธานรัฐสภา รองประธานรัฐสภาและรัฐบาลจะจับมือกันหักดิบ ปิดปากการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านและวุฒิสมาชิก รวมถึงปิดหูปิดตาประชาชนต่อไป โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีความเห็นต่างอภิปรายไม่กี่คนและเร่งรัดให้มีการลงมติในทุกมาตราถัดจากนี้ไปเพื่อให้การแก้ไข รธน.แล้วเสร็จก่อนเดือนมีนาคม 57 เพื่อเอื้อให้สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากเลือกตั้ง ลงเลือกตั้งซ้ำอีก ซึ่งถือเป็นการกระทำผิด รธน.ซ้ำซาก ทั้งนี้เห็นว่าหากยังทำแบบนี้ต่อไป รธน.ฉบับนี้จะมีอันเป็นไปอย่างแน่นอน
 
ประธานวิปฯ กล่าวต่อถึงกรณีมีข่าวว่า มีบุคคลสำคัญภายนอกประเทศคาดโทษ  สมาชิกฟากรัฐบาลที่ขาดการประชุมเมื่อวันเสาร์ที่ 7 ก.ย. 56 ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า การแก้ รธน.ครั้งนี้มีคนนอกประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง และถือว่าการแก้ รธน.มีความสำคัญสำหรับบุคคลบางคนและคนบางกลุ่ม ดังนั้นที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก่อนหน้านี้ที่ว่า การแก้ รธน.ครั้งนี้ทำเพื่อเดินหน้าสู่การครอบงำวุฒิสมาชิก กินรวบประเทศไทยในอนาคตก็ไม่ใช่เรื่องที่เกินความเป็นจริง สรุปได้ว่าเป็นการแก้ รธน.ตามใบสั่งจริง
 
ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงการพิจารณาในมาตรา 8 ว่า มีผู้สงวนความเห็นและสงวนคำแปรญัตติไว้ 94 คน ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์มี 20 คน ซึ่งฝ่ายค้านจะทำหน้าที่คัดค้านการแก้ รธน.ฉบับนี้อย่างเต็มที่และขอฝากเตือนไปยังประธานฯ รองประธานรัฐสภาและเสียงข้างมากอย่างกระทำผิด รธน.ซ้ำซากเพราะการตัดสิทธิ์ไม่ไห้อภิปรายถือว่า ผิด รธน.และจะทำให้ รธน.ฉบับนี้มีอันเป็นไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ส.หญิงเพื่อไทย จี้ ผู้นำฝ่ายค้านฯ ขอโทษนายกรัฐมนตรี
 
10 ก.ย. 56 - ส.ส.หญิง พรรคเพื่อไทย เรียกร้อง ผู้นำฝ่ายค้านฯ ขอโทษนายกรัฐมนตรี หลังกล่าวคำปราศรัยไม่เหมาะสมโจมตีนายกฯ บนเวทีผ่าความจริง
 
ส.ส.หญิง พรรคเพื่อไทย นำโดย นางสาวสุณีย์ เหลืองวิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงข่าวเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ออกมากล่าวคำขอโทษนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หลังกล่าวคำไม่เหมาะสมโจมตีนายกฯ เกี่ยวกับโครงการสมาร์ท เลดี้ ของรัฐบาลบนเวทีปราศรัยผ่าความจริง เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา โดยนางสาวสุณีย์ ได้กล่าวว่า คำปราศรัยดังกล่าวถือเป็นการดูถูกผู้หญิงอย่างรุนแรง จึงอยากให้นายอภิสิทธิ์ ออกมาขอโทษต่อผู้หญิงทั้งประเทศ เพื่อเป็นการแสดงความเป็นสุภาพบุรุษ เนื่องจาก ส.ส.หญิงทั้งพรรคได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ซึ่งแสดงว่าผู้หญิงได้รับการยอมรับจากประชาชน ดังนั้นขอให้นายอภิสิทธิ์ออกมาขอโทษ หากไม่ออกมากล่าวคำขอโทษจะนำผู้หญิงทั้งประเทศไปมอบผ้าถุงให้
 
ด้านนายจิรายุ กล่าวว่า ทางพรรคจะไม่ตอบโต้คำกล่าวหาใดๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งในและนอกสภา เนื่องจากไม่เป็นความจริง แต่ขอให้นายอภิสิทธิ์ให้เกียรตินายกฯ เพื่อรักษาสถาบันนายกรัฐมนตรี เล่นการเมืองอย่างสร้างสรรค์อย่าใช้ความรุนแรงทางคำพูดกับผู้หญิง
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
วิปฝ่ายค้าน จี้ นายกฯ ปรับพฤติกรรมให้สอดคล้องกับถ้อยแถลงต่อ UNHCR
 
10 ก.ย. 56 -    วิปฝ่ายค้าน แถลง จี้นายกฯ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับถ้อยแถลงต่อที่ประชุมUNHCR ที่ระบุประชาธิปไตยต้องเคารพเสียงข้างน้อย พร้อมเรียกร้องให้เข้าประชุมสภาตอบวาระกระทู้ถามสด แก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน ไม่ใช่เข้าสภาเฉพาะนัดแก้ไขรัฐธรรมนูญ
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) แถลงกรณีนายกฯ กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(UNHCR)ว่าประชาธิปไตยต้องเคารพเสียงข้างน้อยนั้นนับเป็นการสร้างภาพลวงโลก เพราะนายกฯ และรัฐบาลชุดนี้มีพฤติกรรมตรงข้าม เห็นได้ชัดจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่กลับทำผิดรัฐธรรมนูญเสียเอง และยังมีพฤติกรรมใช้เสียงข้างมากปิดปากเสียงข้างน้อยอยู่ตลอด จึงขอเรียกร้องให้นายกฯ เปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตยจริง โดยเฉพาะขอให้นายกฯ ใช้เวลาอยู่ในประเทศเพื่อแก้ปัญหาในความรับผิดชอบของตัวเองมากกว่าที่จะเดินทางไปต่างประเทศ  และขอให้มาสภาเพื่อใช้สภาเป็นเวทีแก้ปัญหาให้กับประชาชนไม่ใช่มาแต่วันที่มีการแก้รัฐธรรมนูญ
 
ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวด้วยว่า ในวันพฤหัสบดีนี้พรรคประชาธิปัตย์จะตั้งกระทู้ถามสดต่อนายกฯ ด้วยในเรื่องการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เนื่องจากการตอบสนองของรัฐบาลไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริงเกษตรกร ที่ต้องการให้ราคาขายยางพาราสูงขึ้นเพื่อช่วยผู้เกี่ยวข้องทั้งระบบ แต่การที่รัฐบาลจะจ่ายกำหนดจะจ่ายค่าปัจจัยการผลิตเพิ่มโดยเฉพาะปุ๋ย ฝ่ายค้านจึงไม่แน่ใจว่าจะเป็นการแก้ปัญหาให้ชาวสวนยางหรือแก้ปัญหาให้พ่อค้าปุ๋ย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา,  ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ส.ส.หญิง ประชาธิปัตย์ แถลงโต้ ส.ส.หญิง เพื่อไทย ย้ำ นายอภิสิทธิ์ ไม่จำเป็นต้องขอโทษ เพราะไม่ได้ดูถูกสตรี และไม่ได้กล่าวร้ายใคร
 
10 ก.ย. 56 - ส.ส.หญิง ประชาธิปัตย์ออกแถลงการณ์โต้ ส.ส.หญิง เพื่อไทย ที่ออกมาเรียกร้องให้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขอโทษนายกฯ หลังกล่าวโจมตีบนเวทีผ่าความจริง   พร้อมยืนยัน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่จำเป็นต้องขอโทษ เพราะไม่ได้ดูถูกสตรี และไม่ได้กล่าวร้ายใคร
 
ส.ส.หญิง พรรคประชาธิปัตย์นำโดย นางนาถยา เบ็ญจศิริวรรณ  ดร.รัชดา ธนาดิเรกออกแถลงการณ์ตอบโต้ ส.ส.หญิง พรรคเพื่อไทย ที่ออกมาเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมากล่าวคำขอโทษนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  หลังกล่าวคำไม่เหมาะสมโจมตีนายกฯ เกี่ยวกับโครงการสมาร์ท เลดี้ ของรัฐบาลบนเวทีปราศรัยผ่าความจริง เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมาโดย ส.ส.หญิงพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า นายอภิสิทธิ์พูดถึงโครงการสมาร์ท เลดี้ โดยไม่ได้ดูถูกสตรี และไม่ได้กล่าวถึงนายกฯ ในทางตรงข้ามได้กล่าวถึง ผู้หญิงไทยในแง่ที่มีความฉลาดสามารถ ส่วนการที่ส.ส.หญิงพรรคเพื่อไทยออกมาแถลงข่าวตอบโต้แทนนายก เท่ากับเป็นการดูถูกนายก และการที่นายกฯ ให้ส.ส.ของพรรคออกมาแบบนี้ เหมือนกับว่าสตรีนั่นมีความอ่อนด้อย ถือเป็นการดูถูกสตรี เพราะหญิงและชาย แสดงความสามารถได้เท่าเทียมกันไม่มีใครดูถูกใคร นอกจากการกระทำของบุคคลนั้นเอง ขณะเดียวกับที่หลายครั้งที่ส.ส.เพื่อไทยออกมาใช้ความเป็นผู้หญิงของนายกฯ ฉวยโอกาสทางการเมือง เพื่อมาใส่ร้ายผู้อื่น เอาผ้าถุงผู้หญิงมาเป็นเกราะกำบังการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของนายกฯ เท่ากับกำลังนำเรื่องเพศมาทำให้สังคมแบ่งแยก
 
ส.ส.หญิง พรรคประชาธิปัตย์ ยังยืนยันว่า นายอภิสิทธิ์ไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่ได้กล่าวร้ายนายกฯ จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวขอโทษ พร้อมฝากสื่อมวลชนฟังคำปราศรัยแบบคำต่อคำ ก็จะทราบว่าไม่ได้เป็นแบบที่ทาง ส.ส.เพื่อไทยพยายามกล่าวอ้าง
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา /  ข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ส.ปชป. จี้รัฐ เร่งแก้ปัญหาราคาข้าวโพดตกต่ำ
 
10 ก.ย. 56 - 2 ส.ส.ประชาธิปัตย์ เผย ราคาข้าวโพดในประเทศอยู่ในสภาวะตกต่ำอย่างมาก ส่งผลเกษตรกรทั่วประเทศได้รับความเดือดร้อนไม่คุ้มทุน เรียกร้องเกษตรกรรวมตัวขอความชัดเจนและเป็นธรรมในการช่วยเหลือ  
 
นายนคร มาฉิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดพิษณุโลก และนายไชยวัฒน์     ไตรยสุนันท์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมแถลงข่าวกรณีราคาข้าวโพดตกต่ำ โดยนายนคร กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรกว่า 4.8 แสนครัวเรือนกำลังได้รับความเดือดร้อนจากกรณีผลผลิตข้าวโพดตกต่ำเป็นประวัติการณ์แต่รัฐบาลกลับไม่ช่วยเหลือ ปล่อยให้มีการผูกขาดตัดตอน มีการขายยาและปุ๋ยแพง ซึ่งเกษตรกรทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลาง ได้ขอคำชี้แจงจากรัฐบาลว่าเหตุใดราคาข้าวโพดฝักและข้าวโพดที่ผ่านขั้นตอนการสีแล้วจึงต่ำจนเกษตรกรอยู่ไม่ได้ และที่สำคัญที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังมีมติให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านในอัตราภาษี 0 เปอร์เซ็นต์และไม่จำกัดจำนวนจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 56 ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดภาวะเกษตรกรขาดทุน จึงขอเรียกร้องไปยังเกษตรกรทุกภาคทั่วประเทศให้รวมตัวเรียกร้องและขอความชัดเจนและเป็นธรรม ในการช่วยเหลือ ก่อนที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดทั่วประเทศจะอยู่ในภาวะล้มละลายและล่มสลายไปมากกว่านี้
 
นายนคร กล่าวด้วยว่า เกษตรกรได้ร้องขอให้ราคาข้าวโพดฝักไม่น้อยกว่า 5.50 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม 3.40-3.70 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนข้าวโพดที่สีแล้วขอที่กิโลกรัมละ 10 บาท จากเดิมราคา 7 บาท โดยเกษตรกรให้เวลา 3 วันในการขอคำตอบจากรัฐบาล ถ้าไม่มีการช่วยเหลือ ตนเห็นว่ากลุ่มเกษตรกรคงไม่อดทนอีกต่อไปและควรจะมีการเรียกร้องที่ไม่ต่างกับผู้ปลูกยางพารา ส่วนที่มีกฎหมายป้องกันการผู้ขาดทางการค้า ก็ไม่มีผลบังคับใช้ ทำให้คนไทยอยู่ใต้อาณัติบริษัทที่มีอิทธิพลทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลต้องตอบคำถามว่าเหตุใดจึงปลอยเสรีให้มีการนำเข้าข้าวโพดแบบนี้
 
 
ด้านนายไชยวัฒน์ กล่าวว่า ตนขอร้องไม่ให้เกษตรกรใช้วิธีรุนแรง แต่เมื่อเกษตรกรร้องขอแล้วรัฐไม่แก้ไขหรือแก้ไขไปคนละแนวทางที่ร้องขอ ก็เหมือนกับว่ารัฐบาลไม่จริงใจในการแก้ปัญหา ซึ่งหากมีการชุมนุมเกิดขึ้นตนจะไปห้ามก็คงไม่ได้เพราะเกษตรกรได้รับความเดือนร้องอย่างมาก ถ้ารัฐบาลให้ความสนใจก็ควรส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล จึงขอเตือนรัฐบาลควรเร่งดูแลปัญหานี้โดยด่วนเพราะราคาข้าวโพดในประเทศอยู่ในสภาวะตกต่ำลงมาก
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
กลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-อินโดนีเซีย จัดเสวนาสานสัมพันธ์สู่ประตู AEC
 
10 ก.ย. 56 - กลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-อินโดนีเซีย จัดงานเสวนา63 ปี สายสัมพันธ์ไทย-อินโดนีเซีย ประตูสู่ AEC :โอกาส ความท้าทายและปัญหา เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความสัมพันธ์สองประเทศและเตรียมพร้อมรับผลกระทบโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น
 
กลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-อินโดนีเซีย นำโดยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รองประธานกลุ่มมิตรภาพฯ จัดงานเสวนา "63 ปี สายสัมพันธ์ไทย-อินโดนีเซีย ประตูสู่ AEC:โอกาส ความท้าทายและผลกระทบ  AEC(2015)ต่อไทย-อินโดนีเซีย : ปัญหา ความท้าทาย" ภายใต้โครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านภาษาและวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ56 โดยมี นายลุตฟี่ ราอุฟ เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย และนายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกกลุ่มมิตรภาพฯ เป็นผู้เสวนา ซึ่งเวทีเสวนาได้กล่าวถึงความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศที่มีมาอย่างยาวนาน  ตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 อาณาจักรศรีวิชัย และในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ทรงหัวเสด็จเยือนยังความประทับใจและทรงประพันธ์บทพระราชนิพนธ์อิเหนา ทำให้อินโดนีเซียเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ทั้งได้ทรงมอบช้างสำริดเป็นที่ระลึก ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์อินโดนีเซียจนเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์และยังเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงซึ่งความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ เวทีเสวนา ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นถึงความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสองประเทศและในกลุ่มอาเซียน ขณะที่อินโดนีเซียเองได้รับการจัดอันดับความเติบโตทางเศรษฐกิจจากหลายสถาบัน อาทิ เอสแอนด์พี และมูส์ดี้ แต่ยอมรับว่ายังเสียเปรียบด้านการค้ากับไทย เนื่องจากประชากรภายในอินโดนีเซีย มีอัตราการบริโภคสินค้าของไทยสูงและเป็นไปตามจำนวนประชากรที่มีมากกว่าไทยเป็นจำนวนมากด้วย
 
ทั้งนี้ ในงานเสวนาดังกล่าว อินโดนีเซีย ได้ทำการประชาสัมพันธ์การจัดงานแสดงสินค้าที่นำสมัยคุณภาพส่งออก จาการ์ตา อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็กซ์โป ครั้งที่ 28 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 16-20 ต.ค. นี้ ที่ประเทศอินโดนีเซียด้วย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ประธานวิปรัฐบาล เชื่อประชุมแก้รัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. จะเสร็จในวันนี้
 
11 ก.ย. 56 - ประธานวิปรัฐบาล เชื่อประชุมแก้รัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. จะเสร็จภายในเวลา 22.00 น. วันนี้  พร้อมลงมติวาระ 3 ใน 15 วัน ส่วนกรณีฝ่ายค้านเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ถือเป็นเอกสิทธิ์ที่ทำได้
 
นายอำนวย คลังผา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า จากการหารือของวิป 3 ฝ่าย เห็นตรงกันว่าจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาสมาชิกวุฒิสภาที่เหลืออีก 4 มาตรา ให้เสร็จภายในเวลา 22.00 น. วันนี้ (11 ก.ย.)  ซึ่งวิป 3 ฝ่าย ได้หารือกันเรียบร้อยแล้ว  และจะเน้นให้ใช้ข้อบังคับให้ชัดเจน อภิปรายให้ตรงประเด็นที่สงวนคำแปรญัตติไว้  ซึ่งประธานในที่ประชุมจะต้องควบคุมให้เหมาะสม ส่วนจะมีการเสนอปิดอภิปรายหากมีการอภิปรายยืดเยื้อในแต่ละมาตราหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่เชื่อว่าปัญหาต่าง ๆน่าจะลดลง ทั้งนี้ จะต้องลงมติวาระ 3 ภายใน 15 วัน หลังจากพิจารณาวาระ 2 เสร็จแล้ว แต่ยังไม่กำหนดว่าเป็นวันใด  ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านจะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความและขอให้คุ้มครองชั่วคราวว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น  ถือเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกที่สามารถดำเนินการได้
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา/ ข่าว / เรียบเรียง
 
ประธาน กกต. หวังลดการซื้อสิทธิ์ขายเสียงการเลือกตั้งไทย
 
11 ก.ย. 56 - ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ระบุการทำงานของ กกต. มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนตระหนักถึงสิทธิหน้าที่ความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย หวังลดการซื้อสิทธิ์ขายเสียงในการเลือกตั้ง
 
นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "การเลือกตั้งของประเทศไทยและการเลือกตั้งของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี" ในงานจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ความสัมพันธ์ไทย - เยอรมนี "การเลือกตั้งทั่วไปเยอรมนี 2013" จัดขึ้นโดย กลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย - เยอรมนี ณ ห้องโถง อาคารัฐสภา 1 ว่า การเมืองการปกครองของประเทศเยอรมนีได้ให้ความเสมอภาคและสิทธิอย่างเท่าเทียมทางกฎหมายกับประชาชน รวมถึงสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นประเทศแรกที่ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบผสม คือ การเลือกตั้งระบบแบ่งเขตกับสัดส่วน ซึ่งประเทศไทยได้นำรูปแบบการเลือกตั้งดังกล่าวมาใช้เช่นเดียวกัน ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 โดยในส่วนของ กกต. ประเทศไทยได้มีการส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยและสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน อย่างไรก็ตามยังพบว่า การเลือกตั้งของไทยยังมีความแตกต่างกับเยอรมนีในเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียง เนื่องจากยังมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการเลือกตั้ง ขณะที่เยอรมนีได้สร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนตระหนักถึงสิทธิหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเป็นอย่างดีทำให้พบการซื้อสิทธิ์ขายเสียงเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ทั้งนี้ กกต.ไทยได้พยายามอย่างเต็มที่ในการสร้างความรู้ความเข้าใจในการเมืองการปกครอง เพื่อให้ประชาชนไทยได้ตระหนักถึงสิทธิหน้าที่ของตนเองมากขึ้น เพื่อเป็นการลดการซื้อสิทธิ์ขายเสียงในอนาคตสร้างความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ของประเทศต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
รองกมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ สผ. ย้ำ นายกฯ ปราถนาดีหวังปฏิรูปการเมืองสร้างความปรองดอง พร้อมจับมือบริหาร นิติบัญญัติ จัดสัมมนาพุธที่ 25 ก.ย. นี้
 
11 ก.ย. 56 - คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร เตรียมจัดสัมมนา ทิศทางการปฏิรูปการเมือง ทางออกของประเทศไทย ในวันพุธที่ 25 ก.ย. นี้  ขณะที่ น.พ.เหวง ย้ำ  นายกฯ ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง หวังหาทางปฏิรูปการเมืองเพื่อสร้างความปรองดอง
 
นายแพทย์เหวง โตจิราการ รองประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย ว่าที่ ร.ต.พงศ์พันธ์ สุนทรชัย และนายชินวัฒน์ หาบุญพาด  แถลงที่รัฐสภา ว่าคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร เตรียมจัดสัมมนา ทิศทางการปฏิรูปการเมือง ทางออกของประเทศไทย ในวันพุธที่ 25 ก.ย. นี้ เริ่ม  8.00 น. ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ   โดยการสัมมนาดังกล่าวจะเชิญ นักวิชาการ  อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ อดีตสมาชิกวุฒิสภา รวมถึงผู้แทนประชาชนในแต่ละเขต  เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมือง  และจะสรุปผลออกมาเพื่อนำเสนอแนวทางต่อประธานรัฐสภา และนายกรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ ยืนยันว่า นายกฯ ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง และเป็นผู้จุดประเด็นการปฏิรูปการเมืองขึ้นมา  ซึ่งการจัดสัมมนาครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติที่จะร่วมมือกันเพื่อเสนอทางปฏิรูปการเมืองเพื่อช่วยบ้านเมืองให้เดินหน้าต่อไปได้ พร้อมฝากทุกฝ่ายอย่างเพิ่งตำหนิกัน  เพราะการสัมมนานี้หวังหาทางปฏิรูปการเมืองเพื่อสร้างความปรองดองเป็นสำคัญ
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา /ข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ส.ปชป.จี้ อธิบดีดีเอสไอ อย่าหลายบรรทัดฐานเว้นสอบปากคำ โพสต์ภาพอดีตส.ส.การุณ เข้าพบอดีตนายกฯ ทักษิณ
 
11 ก.ย.56 - ส.ส.ประชาธิปัตย์ จี้ อธิบดีดีเอสไอ อย่าหลายบรรทัดฐาน เกาะกระแสดังเจนี่ –ชนม์สวัสดิ์  แต่เว้นสอบปากคำ โพสต์ภาพอดีตส.ส.การุณ โพสต์ภาพคู่อดีตนายกฯทักษิณ
 
นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ทวงถามนายธาริต เพ็งดิต อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เกี่ยวกับบรรทัดฐานในการดำเนินคดีกับนักการเมืองที่ทุจริตแล้วหนีไปต่างประเทศ หลังมีการ โพสต์ภาพถ่ายในเฟซบุ๊คของนายการุณ  โหสกุล ที่มีภาพถ่ายนายการุณ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และ น.อ.อนุดิษ ฐ์นาครทรรพ รมต.ไอซีที เข้าพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อสองวันก่อน  รวมทั้งโพสต์ภาพตั๋วเครื่องบินเที่ยวบินที่ไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ  เแต่ดีเอสไอกลับนิ่งเฉยทั้งที่การกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ท้าทายกระบวนการยุติธรรมของไทย  แต่ในทางกลับกันดีเอสไอ กลับเกาะกระแสข่าวดัง เตรียมเชิญนายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม และเจนี่ อัศวเหม  มาสอบสวนหลังปรากฏภาพถ่ายกับร่วมนายวัฒนา อัศวเหม    ซึ่งตนเห็นว่าดีเอสไอควรจะเชิญบุคคลในภาพถ่ายที่ปรากฎในแฟซบุ๊คของนายการุณ เหล่านี้มาให้ปากคำมากกว่า  ตนขอถามว่าการกระทำอย่างนี้ของ ดีเอสไอเท่ากับเป็นการเลือกที่รักมักที่ชังใช่หรือไม่  ละเว้นการดำเนินคดีกับผู้ที่มีบุญคุณต่อนายธาริต และรัฐบาลใช่หรือไม่
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ส.ชื่นชอบ แนะ นายภักดีหาญส์ ศึกษากระบวนการรัฐสภาให้ถ่องแท้ ก่อนวิพากษ์การทำหน้าที่ของสมาชิก
 
11 ก.ย. 56 - ส.ส.ชื่นชอบ พรรคปชป. แนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ศึกษากระบวนการทำงานของรัฐสภาให้ถ่องแท้ ก่อนวิพากษ์การทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ย้ำพรรคทำถูกต้องตามสิทธิ์แต่อาจไม่ถูกใจฟากรัฐบาล
 
นายชื่นชอบ คงอุดม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวตอบโต้กรณีนายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวตำหนิการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ในการอภิปรายแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับที่มาของวุฒิสภาว่า พรรคไม่เคารพกติกาจึงก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในที่ประชุมว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากประธานในที่ประชุมและเสียงข้างมากจำกัดสิทธิในการอภิปรายของพรรค ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแล้วไม่สามารถทำได้ จึงทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดูเหมือนวุ่นวาย แต่หากให้สิทธิตามที่ รธน.กำหนดเหตุการณ์เหล่านี้คงไม่เกิดขึ้น ตนจึงขอกล่าวฝากไปยังนายภักดีหาญส์ ว่า ก่อนที่จะวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาควรไปศึกษากระบวนการทำงานของรัฐสภาให้ถ่องแท้เสียก่อน อย่างไรก็ตามเข้าใจว่าต้องการเร่งให้การแก้ไข รธน.แล้วเสร็จทันการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนมีนาคม 57 แต่ทั้งหลายทั้งปวงควรยืนอยู่บนความถูกต้อง ชอบธรรม และอยากให้สังคมรวมถึงรัฐบาลเข้าใจการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านด้วย
 
นายชื่นชอบ กล่าวในตอบท้ายว่า การทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่ลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิที่ถูกต้องและชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ อาจเป็นการกระทำที่ไม่ถูกใจฟากรัฐบาลทั้งที่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ส.ปชป.ยื่น กมธ.คมนาคม สผ. ตรวจสอบปัญหา easy pass ขัดข้อง
 
11 ก.ย. 56 - ส.ส.สามารถ ปชป. ยื่นเรื่องร้องเรียน easy pass ขัดข้อง ให้ กมธ.คมนาคม สผ.ตรวจสอบ หวังบรรเทาความเดือนร้อนของผู้บริโภค ด้าน นายเจือ ปธ.กมธ.ฯ เผย พร้อมเป็นตัวกลางรับเรื่องร้องเรียน และเชิญ รมช.คมนาคมและการทางพิเศษเข้าชี้แจง
 
นายสามารถ มะลุลีม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมานคร พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวพร้อมยื่นเรื่องร้องเรียนต่อนายเจือ ราชสีห์ ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร กรณีด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ (easy pass) ขัดข้องหลังมีการปรับขึ้นค่าทางด่วน 5-10บาท ทำให้ระบบเกิดความผิดพลาดหักเงินจากบัตรมากเกินความเป็นจริง ซึ่งตนถือเป็นบุคคลหนึ่งที่ประสบปัญหานี้ด้วยตนเอง โดยได้เติมเงิน 1,000บาท แต่เมื่อใช้บัตรไปเพียงด่านเดียวจำนวนเงินในบัตรเหลือ 900บาทเศษ วันถัดมาขึ้นทางด่วนด่านพระราม 9 เงินเหลือ 800บาทเศษ จึงได้สอบถามเจ้าหน้าที่ประจำด่านและได้รับแจ้งว่าคอมพิวเตอร์ขัดข้อง หากต้องการเงินคืนให้ไปยื่นเรื่องที่สำนักงานใหญ่ จึงได้ขอใบบันทึกข้อมูลการใช้ทางด่วนจากเจ้าหน้าที่ พบว่าในเวลา 11.52น.รถของตนวิ่งถึง 28ด่าน ซึ่งนับเป็นเรื่องผิดปกติอย่างมาก นอกจากนี้ยังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่าประสบปัญหาเช่นเดียวกัน จึงขอยื่นเรื่องให้ กมธ.ตรวจสอบเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
 
ด้านนายเจือ กล่าวว่า ส่วนตัวประสบกับปัญหาข้างต้นเช่นกัน โดยเมื่อ 2 วันที่ผ่านมาพนักงานบอกว่าเงิน easy passหมด ทั้งที่เพิ่งเติมเงินและเมื่อสอบถามกลับได้รับแจ้งว่าเป็นหนี้อยู่ด้วยเพราะมีการใช้เกินจำนวนที่เติมไว้ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจึงถือเป็นความบกพร่องของการทางพิเศษ และถึงแม้ พล.อ.พฤณฑ์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า จะแก้ปัญหาภายใน30 วัน ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะแก้ได้หรือไม่ ดังนั้น กมธ.จึงเตรียมเชิญ รมช.คมนาคม การทางพิเศษเข้าชี้แจงให้สังคมได้รับทราบเพราะขณะนี้การจราจรบนทางด่วนมีปัญหาและเกิดคำถามจากผู้ได้รับผลกระทบว่าเงินที่หักเกินไปเอาไปทำอะไร นอกจากนี้ กมธ.ยังพร้อมรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้บัตร easy passด้วย โดยยินดีที่จะเป็นตัวกลางให้การทางพิเศษฯแก้ปัญหาเพื่อคืนสิทธิให้ประขาชน
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา,  วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ส.ปชป. เรียกร้อง รัฐชี้แจงความจำเป็นยกเลิกวีซ่าไทย - มอนเตเนโกร
 
11 ก.ย. 56 - ส.ส.ปชป. ตั้งข้อสังเกตกรณีรัฐบาลยกเลิกวีซ่าไทย - มอนเตเนโกร มีนัยยะแอบแฝงหรือไม่  เรียกร้องรัฐชี้แจงความจำเป็น หวั่นเกิดความขัดแย้งในประเทศหากอดีตนายกฯ ทักษิณ ใช้สิทธิเดินทางเข้าประเทศในฐานะประชาชนมอนเตรเนโกรแต่รัฐบาลไทยไม่สามารถจับกุมได้
 
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตั้งข้อสังเกตกรณีรัฐบาลไทยทำบันทึกข้อตกลงการยกเลิกการตรวจลงตราวีซ่าไทย-มอนเตเนโกร สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการไทย ว่า การที่รัฐบาลเลือกประเทศมอนเตเนโกรทำบันทึกยกเลิกการตรวจตราวีซ่าดังกล่าวมีนัยยะแอบแฝงหรือไม่ เพราะการดำเนินการยกเว้นการตรวจลงตราวีซ่าต้องดูว่าประเทศไทยได้ประโยชน์จากการลงทุนหรือไม่ ซึ่งจากข้อมูลนักท่องเที่ยวปี 2554 พบว่า ชาวมอนเตเนโกรเดินทางมาประเทศไทยจำนวน 211 คน และไทยนำเข้าสินค้าจากมอนเตเนโกรคิดเป็นมูลค่า 9 ล้านบาทเท่านั้น นอกจากนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถือหนังสือเดินทางประเทศมอนเตเนโกร ซึ่งหาก พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางกลับประเทศไทยแล้วหนังสือเดินทางดังกล่าวอยู่ภายใต้ความคุ้มครองตามข้อตกลงการยกเลิกวีซ่า จะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางกลับประเทศไทยในฐานะพลเมืองมอนเตเนโกร ซึ่งตามหลักการไทยไม่มีสิทธิไปจับพลเมืองชาติอื่น ดังนั้นรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ตนจึงขอให้รัฐบาลอธิบายถึงความจำเป็นการยกเลิกวีซ่าไทย - มอนเตเนโกรกับประชาชนด้วย เพื่อป้องกันความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
รองประธานสภาฯ คนที่ 2 รับการยื่นเรื่องขอให้ นายอภิสิทธิ์ แสดงความขอโทษ กรณีปราศรัยส่งผลกระทบต่อสตรี
 
12 ก.ย. 56 - รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 รับการยื่นหนังสือจากกลุ่มสตรีที่รวมตัวแสดงเชิงสัญลักษณ์ด้วยการสวมผ้าถุง เรียกร้องให้ นายอภิสิทธิ์ ผู้นำฝ่ายค้านฯ แสดงความขอโทษ กรณีปราศรัยโครงการสมาร์ท เลดี้ บนเวทีผ่าความจริงส่งผลกระทบต่อสตรี
 
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 รับการยื่นหนังสือจากกลุ่มสตรีและสาวประเภท 2 ที่เดินทางมาจากจังหวัดต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาค อาทิ จ.พิจิตร อุบลราชธานี จันทบุรี สมุทรปราการ ซึ่งแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการสวมผ้าถุง จำนวนประมาณ 300 คน นำโดย นางสาวสุณีย์ เหลืองวิจิตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก  เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุและผู้พิการ สภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบพฤติกรรมของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กรณีกล่าวปราศรัยถึงโครงการสมาร์ทเลดี้ บนเวทีผ่าความจริง ของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 7 กันยายน ที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้ นายอภิสิทธิ์ ออกมาขอโทษต่อการกระทำดังกล่าว
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ผู้นำฝ่ายค้านฯ ยืนยันกลางสภาฯ ไม่เคยพูดปราศรัยดูถูกสตรี บนเวทีผ่าความจริง
 
12 ก.ย. 56 - ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ย้ำ ดูคลิปปราศรัยเวทีผ่าความจริงให้ชัด  ยืนยัน ไม่มีการพูดปราศรัยดูถูกสตรี หรือโจมตีใคร
 
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังส.ส.หญิงเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามสด กรณีนายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงสตรีด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม ในการปราศรัยบนเวทีเดินหน้าผ่าความจริง เมื่อ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยผู้นำฝ่ายค้านฯ ชี้แจงว่า การปราศรัยดังกล่าวของตนเป็นการกล่าวถึงโครงการสมาร์ทเลดี้ โดยไม่ได้กล่าวถึง พาดพิง หรือโจมตีใคร หรือโครงการใด  และยืนยันว่า ไม่ได้มีการพูดดูถูกสตรีแต่อย่างใด  ขอให้ดูคลิปปราศรัยให้ดีอีกครั้ง ก็จะเห็นได้ว่า ไม่มีคำพูดใดที่ดูถูกสตรี และไม่ได้เป็นตามที่ทาง ส.ส.หญิงเพื่อไทยกล่าวอ้าง
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา เปลี่ยนตราสัญลักษณ์รับการพัฒนาสู่การเป็นโทรทัศน์ดิจิตอล
 
12 ก.ย 56 - รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 มอบรางวัลให้ผู้ชนะการประกวดตราสัญลักษณ์ใหม่ของสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา พร้อมระบุการเปลี่ยนตราสัญลักษณ์สื่อถึงภารกิจของวิทยุโทรทัศน์รัฐสภาในการเผยแพร่ความรู้ประชาธิปไตย พร้อมเตรียมตัวสู่การเป็นโทรทัศน์ดิจิตอลและโทรทัศน์สาธารณะ ใน ปี 2557
 
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2  ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภากล่าวในพิธีเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ประจำสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา (logo)  ซึ่งจัดขึ้นณ ห้องโถง อาคารรัฐสภา  วันที่ 12 กันยายน 2556 ว่า ตราสัญลักษณ์ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา ที่จะสื่อถึงบทบาทและหน้าที่เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการส่งเสริมองค์กรให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง  เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นโทรทัศน์ดิจิตอลและโทรทัศน์สาธารณะ ใน ปี 2557 โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจหลักของสถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา   ที่ต้องดำเนินการถ่ายทอดสดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร การประชุมวุฒิสภา และการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตลอดจนส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
 
logo ใหม่ของสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา มีลักษณะเป็นเส้นขวางสีแดงมารูน 4 เส้น เรียงตัวกันเป็นรูปพานแว่นฟ้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ต้องการสื่อถึงศูนย์กลางของการนำเสนอข่าวสารด้วยความเป็นกลางโดยยึดรัฐธรรมนูญ และแสดงรากฐานความมั่นคงของสื่อรัฐสภา  ในขณะเดียวกันสัญลักษณ์ดังกล่าวยังสื่อถึงการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการจัดเรียงเส้นทั้งสี่มีลักษณะเป็นขั้นบันได  นอกจากนี้ยังมีลักษณะเป็นสัญลักษณ์สัญญาณการส่งของคลื่นวิทยุโทรทัศน์  ซึ่งสื่อถึงวิทยุโทรทัศน์รัฐสภาเป็นศูนย์กลางการนำเสนอข่าวสารที่ไม่หยุดนิ่งและต่อเนื่อง ส่วนสีแดงมารูนเป็นสีประจำสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
 
สำหรับการประกวดlogo ของสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา มีประชาชนร่วมสร้างสรรค์ผลงานส่งเข้าประกวด รวมทั้งสิ้น 394 ผลงาน  ผู้ชนะเลิศการประกวดได้แก่ นายเอกชัย  จริงใจ   ส่วนผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ นายปวริศร์ ชัยวร      นางสาวพัชรารัตน์ ตระกูลขจรศักดิ์ และนายพิเชษฐ์พล ไทยประสงค์โดยในการจัดการประกวด logo มีนางพรทิพย์  โล่ห์วีระ จันทร์รัตนปรีดา สมาชิกวุฒิสภา เป็นประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตัดสินการประกวดฯ  และ ศ.ตรึงใจ บูรณสมภพ เป็นประธานอนุคณะกรรมการตัดสินการประกวดตราสัญลักษณ์ ซึ่งสัญลักษณ์ที่นำมาเป็น logo นี้   ได้มีการนำมาประยุกต์บางส่วนให้ดูทันสมัยและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้นเหมาะสมกับทางสถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภาเพื่อที่จะได้นำไปใช้ในสื่อต่างๆ ของทางสถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภาต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, มันทนา  ศรีเพ็ญประภา ข่าว/เรียบเรียง
 
ส.ส.ปชป ตั้งกระทู้ถามสดนายกฯ กรณีแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ
 
12 ก.ย. 56 - ส.ส.ปชป. ตั้งกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีถึงแนวทางแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ หลังการแก้ปัญหายังไม่ตอบสนองความต้องการชาวสวนยางที่แท้จริง ด้าน รมต.เกษตรฯ ยืนยัน รัฐบาลไม่สองมาตรฐาน หวังแก้ปัญหาราคายางแบบยั่งยืน
 
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีถึงแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ค.ร.ม.) มีมติเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ให้จ่ายเงินชดเชยปัจจัยการผลิตยางไร่ละ 2,520 บาทนั้น รัฐบาลมีมาตรการดำเนินการจ่ายเงินดังกล่าวอย่างไรให้เกษตรกรได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและจะให้การชดเชยอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ตลอดจนการแก้ปัญหาราคายางในด้านต่างๆ ได้มีการวิเคราะห์แนวทางแก้ปัญหาอย่างรอบด้านหรือไม่ หากเกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคตจะมีมาตรการใดรองรับ เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้รัฐบาลใช้ความพึงพอใจในการแก้ปัญหาโดยไม่ได้ตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรที่แท้จริง พร้อมขอให้รัฐบาลอย่าสองมาตรฐานในการแก้ปัญหา
 
ด้านนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตอบกระทู้ถามแทนนายกรัฐมนตรี โดยชี้แจงว่า การจ่ายเงินชดเชยปัจจัยการผลิตดังกล่าว รัฐบาลจะเปิดให้เกษตรกรมาลงทะเบียน พร้อมเปิดบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้สามารถโอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรได้ทันที โดยได้ประสานสำนักงบประมาณให้ดำเนินการโดยเร็วที่สุดแล้ว ส่วนข้อกังวลสำหรับเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดินในการขอรับเงินชดเชย ทางรัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหายางพาราขึ้นมาเฉพาะ เพื่อพิจารณาว่าจะมีทิศทางช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มนี้อย่างไร ขณะเดียวกันรัฐบาลได้มีการวิเคราะห์แนวทางการแก้ปัญหาราคายางในระยะยาว โดยขณะนี้ได้มีการสนับสนุนให้เกษตรกรตั้งราคากลางขึ้นผ่านการรวมตัวของสหกรณ์ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนไม่ใช่แค่ให้เกษตรกรเกิดความพึงพอใจเท่านั้น พร้อมยืนยันรัฐบาลไม่ได้สองมาตรฐานในการแก้ปัญหาแต่เป็นเพราะสินค้าแต่ละชนิดมีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือต้องดูข้อเท็จจริงของปัญหาที่เกิดขึ้น
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา/เรียบเรียง
 
รมต.กระทรวงทรัพย์ฯ ย้ำ แก้ปัญหาโลมาอิรวดีสูญพันธ์ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ
 
12 ก.ย. 56 - ส.ส.ภูมิใจไทย เผย โลมาอิรวดีใกล้สูญพันธุ์ เหตุ สายพันธุ์อ่อนแอ ปัญหาแหล่งน้ำตื่นเขิน ถามรัฐมีแนวนโยบายแก้ปัญหาหรือไม่ ด้าน รมต.กระทรวงทรัพย์ฯ ระบุ รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาเต็มที่ ย้ำ การแก้ปัญหาต้องทำด้วยความรอบคอบเพื่อไม่ให้กระทบต่อชีวิตของโลมา
 
นางนาที รัชกิจประการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ตั้งกระทู้ถามสด ถามนายกรัฐมนตรี กรณีวิกฤตโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา โดยนายกฯ ได้มอบหมายให้นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาตอบกระทู้แทน นางนาทีกล่าวว่า โลมาอิรวดีเป็นสัตว์อนุรักษ์ที่สำคัญหนึ่งในห้าของโลก แต่ปัจจุบันเกิดปัญหาต่างๆ คือ เลือดชิดผสมพันธ์กันเองทำให้สายพันธ์อ่อนแอลง การตื้นเขินของทะเลสาบมลพิษในการระบายน้ำจากของเสีย ติดอวน และการพัฒนาเครื่องมือจับปลาซึ่งส่งผลให้โลมาอิรวดีตายและมีปริมาณลดลงอย่างรวมเร็ว จึงอยากถามรัฐว่า มีแนวนโยบายในการแก้ปัญหาโลมาอิรวดีใกล้สูญพันธุ์อย่างไร
 
ด้านนายวิเชษฐ์ กล่าวว่า ขณะนี้กรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดย การเปลี่ยนเครื่องมือประมงที่มีผลกระทบต่อโลมาซึ่งชาวประมงก็ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีและตนยังได้สั่งการให้รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันพืชธุ์ลงพื้นที่ร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ จ.พัทลุงในวันที่ 14-15 ก.ย.นี้เพื่อแก้ไขปัญหาทุกด้านให้เป็นรูปธรรมและยั่งยืน นอกจากนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งยังได้ดำเนินโครงการบ้านปลาเพื่อฟื้นฟูแหล่งอาหาร รวมถึงยังมีการปักหลักเขตเพื่อไม่ให้โลมาติดอวนของชาวประมง นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาชั้นนำ ศึกษาแนวทางผสมเทียมเพื่อขยายพันธุ์และเราได้รับการสนับสนุนเครือข่ายอนุรักษ์โลกมาจังหวัดพัทลุงและสงขลาที่ช่วยร่วมแก้ปัญหา
 
ต่อข้อถามที่ว่ารัฐมีแนวทางดำเนินการแก้ปัญหาแหล่งน้ำซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของโลมาตื่นเขินรวมถึงได้จัดสรรงบประมาณแก้ปัญหาทะเลสาบสงขลา จ.พัทลุงตื่นเขินหรือไม่ รมต.กระทรวงทรัพฯกล่าวว่า ถ้าเป็นตะกอนตื่นเขินทั่วไปจะดำเนินการแก้ไขได้ทันที แต่ถ้าเป็นตะกอนที่กินพื้นที่ในแหล่งน้ำอย่างกว้างขวางจะต้องศึกษาให้รอบครอบเพราะกลัวว่าจะกระทบต่อชีวิตของโลมาอิรวดี
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
กมธ.กิจการสภาฯ เตรียมลงพื้นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ 17 ก.ย.นี้ หลังพบปัญหาส่งมอบพื้นที่ล่าช้า
 
12 ก.ย. 56 - คณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร  เตรียมลงพื้นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ย่านเกียกกาย อังคารที่ 17 ก.ย.นี้ หลังติดปัญหาส่งมอบพื้นที่ล่าช้า  โดย ร.ร.โยธินบูรณะส่งมอบช้าที่สุด ส่วนกรณีพบคนขับรถ ส.ส.เล่นการพนันในรัฐสภา ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสภาจดทะเบียนรถที่ทำผิด แจ้งส.ส.เจ้าของรถทันที
 
นายบุญยอด สุขถิ่นไทย โฆษกคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร  แถลงที่รัฐสภาว่า ในวันอังคารที่ 17 ก.ย. นี้ เวลาประมาณ 10.00 น.   นายไพจิต ศรีวรขาน ประธานคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยทุกคณะกรรมาธิการ ของสภาผู้แทนราษฎร จะเดินทางไปติดตามดูความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ย่านเกียกกาย  หลังติดปัญหาความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่ให้กับบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ที่ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ คือจากที่กำหนดไว้ที่ 90ไร่ หรือ 3.84% แต่ขณะนี้กลับส่งมอบได้เพียง 47 ไร่หรือ 0.34% เท่านั้น  โดยพื้นที่ที่พบว่ามีการส่งมอบช้ากว่าแผนมากที่สุดคือ ร.ร.โยธินบูรณะ จำนวน 426 วัน โรงเรียนขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) 130 วัน บ้านพักโรงเรียน ขส.ทบ. 338 วัน กองร้อยขนส่งเรือ 60 วัน
 
โฆษกคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร  ยังได้กล่าวถึง กรณีสื่อมวลชนเผยแพร่ภาพข่าวคนขับรถ ส.ส. เล่นพนันในบริเวณพื้นที่ลานจอดรถ อาคารรัฐสภา2 ว่าจากการตรวจสอบพบว่า ขณะนั้นกำลังตำรวจของทางวุฒิสภามีน้อย เพราะเป็นวันที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร  อีกทั้งบริเวณที่เกิดเหตุเป็นมุมลับตาคน และมีการเปลี่ยนมุมเล่นไปเรื่อย ๆ  อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่ามีการลักลอบเล่นการพนันในลานจอดรถของสวนสัตว์ดุสิต ซึ่งทางกรรมาธิการฯ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ จดทะเบียนรถ และจะส่งข้อมูลไปให้ส.ส. เพื่อกำชับห้ามปรามคนขับรถของตัวเอง  ส่วนภรณีภาพที่มีการเล่นการล้อมวงเล่นการพนันในอาคาร  ปรากฏว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพเก่าที่ผ่านมา 2 ปีแล้ว ซึ่งได้มีการตักเตือนผู้ทำผิดแล้ว
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
กมธ.ศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตฯ วุฒิสภา ยื่น ป.ป.ช.สอบรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ
 
12 ก.ย. 56 - กมธ.การศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เผย การประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ของรัฐบาล เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 56 ขัดต่อ รธน. พร้อมยื่น ป.ป.ช.เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง
 
นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา และคณะ กล่าวภายหลังพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับกรณีที่มีการประกาศ เรื่องพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 ในพื้นที่ 3 เขต ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ว่า การประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงดังกล่าว โดยอ้างแต่เพียงจะมีการชุมนุมขัดขวางการพิจารณากฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร เป็นการกระทำที่อาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากยังไม่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงฯ แต่อย่างใด รวมถึงยังเป็นการประกาศที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะการออกประกาศขัดขวางการชุมนุมโดยสงบของประชาชนซึ่งไม่อยู่ในเหตุยกเว้นตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 63 วรรคสอง ตลอดจนทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณถึง 175 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ดังนั้น กมธ.จึงได้เสนอเรื่องไปยังประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเร่งรัดตรวจสอบเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา/เรียบเรียง
 
ปชป. แนะ รองโฆษกเพื่อไทย ศึกษาประวัตินายชวน ก่อนออกมาวิพากษ์วิจารณ์
 
12 ก.ย. 56 - พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวตอบโต้กรณี รองโฆษกพรรคเพื่อไทยตั้งฉายา ท่านชวนหลักเสื่อม หลังนายชวน ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคฯ ให้ข่าวถึงการทำหน้าที่ไม่เป็นกลางของประธานและรองประธานรัฐสภา แนะกลับไปศึกษาประวัตินายชวน ก่อนวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่
 
นายวัชระ เพชรทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และนายราเมศ รัตนเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงตอบโต้กรณี นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทยออกมาระบุว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ควรทำตัวเป็นไม้หลักปักขี้เลน อย่าพูดเอาแต่ได้ และตั้งฉายาให้ว่า ท่านชวนหลักเสื่อม หลังนายชวน ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการทำหน้าที่ที่ไม่เป็นกลางของประธานรัฐสภาจึงส่งผลให้การประชุมเพื่อแก้ไข รธน.ที่มา ส.ว.เกิดความวุ่นวายว่า ภาพที่ปรากฏสู่สายตาประชาชนชัดเจนว่าเป็นการทำหน้าที่ของประธานและรองประธานรัฐสภาไม่เป็นกลาง เป็นการประชุมที่ใช้เสียงข้างมากลากไป ทุกการกระทำขัดกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและข้อบังคับทั้งสิ้น ดังนั้นขอยืนยันว่า นายชวน ประพฤติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม ซื้อสัตย์สุจริตไม่เคยโกงกินบ้านเมือง ไม่เคยทำตัวเป็นไม้หลักปักขี้เลน ทั้งนี้ขอเรียกร้องให้นายอนุสรณ์กลับไปศึกษาประวัตินายชวน ก่อนออกมาวิพากษ์วิจารณ์และเห็นว่าสิ่งที่กล่าวมาไม่เป็นความจริง รวมถึงไม่ควรออกมาให้สัมภาษณ์เช่นนั้น
 
นายราเมศ กล่าวถึงกรณีการยื่นถอดถอนประธานรัฐสภากรณีกระทำผิดรัฐธรรมนูญและข้อบังคับในเรื่องของการเสนอให้ปิดอภิปรายมาตรา 10 ในการประชุมแก้ไข รธน.ที่มา ส.ว.ว่า จะร่างคำร้องเสร็จภายในวันนี้และจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันพรุ่งนี้ (13 ก.ย. 56)
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
กมธ.กิจการสภา สอบเหตุพฤติกรรม ส.ส.เพื่อไทย กับการทำหน้าที่สื่อมวลชน ระหว่างการประชุมงบประมาณ พบทุกฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตน และไม่มีพฤติกรรมข่มขู่เกิดขึ้น
 
12 ก.ย. 56 - คณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบกรณีช่างภาพการเมืองยื่นจดหมายเปิดผนึกขอให้ตรวจสอบพฤติกรรม ว่าที่ ร.ต.พงศ์พันธฺ์ ส.ส. พรรคเพื่อไทย ต่อสื่อมวลชน ระหว่างการประชุมงบประมาณ พบฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตน และไม่มีพฤติกรรมข่มขู่เกิดขึ้น ด้าน ส.ส.พงศ์พันธุ์ ขอโทษต่อการกระทำที่ไม่ถูกที่ถูกเวลา
 
การประชุมคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายไพจิตร ศรีวรขาน เป็นประธาน ร่วมพิจารณากรณีช่างภาพการเมืองยื่นจดหมายเปิดผนึกขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง พฤติกรรมคุกคามสื่อของว่าที่ ร.ต.พงศ์พันธฺ์ สุนทรชัย ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย ในระหว่างการประชุมพิจารณางบประมาณซึ่งนายพงษ์ฤทธิ์ชา ขวัญเนตร ช่างภาพเอเอสทีวี และนายสุชาติ โรจน์ทองคำ ผอ.สำนักรักษาความปลอดภัย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พร้อมตำรวจรัฐสภาผู้อยู่ในเหตุการณ์ ให้ข้อมูลว่า บุคคลที่เป็นข่าวมีการชะโงกจากจุดที่สื่อยืนอยู่ในห้องประชุมเพื่อถ่ายภาพ ทำให้เจ้าหน้าที่ที่มองเห็นว่าไม่ควรทำเพราะเกรงจะเกิดอันตราย จึงมอบหมายให้ตำรวจรัฐสภาที่ดูแลพื้นที่สื่อในห้องประชุมเข้าสอบถามว่าเป็นใคร สังกัดใด โดยทั้งช่างภาพและตำรวจรัฐสภาให้ข้อมูลตรงกันว่าการเข้าสอบถามไม่มีพฤติกรรมข่มขู่ใด เป็นเพียงการให้เขียนชื่อลงในกระดาษเปล่าเท่านั้น
 
ขณะที่ ว่าที่ ร.ต.พงศ์พันธฺ์ เข้าชี้แจงภายหลังช่างภาพออกจากห้องประชุมแล้ว โดยยอมรับเปิดไอแพด เพื่อดูข้อมูลต่าง ๆ ระหว่างประชุม ในเรื่องเกี่ยวกับข้าวและลำไย ผ่านเว๊บไซต์กูเกิ้ลแล้วพบคำว่า แฟชั่นนางแบบ จึงเคาะเข้าไปดูขณะที่ตนเองไม่มีความชำนาญในการใช้ไอแพดนักจึงออกจากหน้าดังกล่าวไม่ค่อยเป็น พร้อมยอมรับการกระทำของตนไม่ถูกที่ถูกทาง และได้ขออภัยต่อที่ประชุมถึงการกระทำที่ไม่ได้ตั้งใจ และไม่ติดใจกับช่างภาพเนื่องจากตนไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ด้าน นายไพจิตร กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การดูภาพต่าง ๆ และข้อมูลต่าง ๆ ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการแสดงความเห็นเกี่ยวกับเสรีภาพของสื่อมวลชน ซึ่งต่างยืนยันว่า ช่างภาพและสื่อมวลชน มีเสรีภาพในการทำข่าว โดยเฉพาะในที่สาธารณะ ขณะที่สมาชิกสภาเองต้องระมัดระวังอย่างสูง พร้อมได้ขอทำความเข้าใจกับทั้งสองส่วน โดยตำรวจต้องให้เกียรติในการเข้าสอบถามด้วยความสุภาพ   ส่วนกรณีมีการเสนอภาพสมาชิกสภาหลับในที่ประชุมนั้น ขอให้เข้าใจว่าบุคคลเหล่านั้นมาทำงานอย่างน้อยก็อยู่ในสภาเพื่อทำหน้าที่ หรือเป็นเพื่อนให้กับผู้อภิปรายที่มีการประชุมค่ำ จึงเกิดความเหน็ดเหนื่อยเป็นธรรมดา ซึ่งนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุมว่า เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ การลงภาพข่าวของสื่อมวลชนอาจมีการลงเวลาในภาพว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในช่วงใด
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ฝ่ายค้าน เตือนส.ส.รัฐบาล อย่าทำผิดซ้ำซากเร่งปิดอภิปราย พรบ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ชี้ส่อขัดรัฐธรรมนูญ
 
13 ก.ย. 56 - ฝ่ายค้าน  เตือนส.ส.รัฐบาล อย่าทำผิดซ้ำซากเร่งปิดอภิปราย พรบ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน  ชี้ส่อขัดรัฐธรรมนูญ  พร้อมเผยสัปดาห์หน้าเตรียมยื่นถอดถอนประธานรัฐสภา
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แถลงหลังการประชุมวิปว่า  วิปฝ่ายค้านจะประชุมหารือเกี่ยวกับการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2ล้านล้าน ในวันอังคารนี้  อย่างไรก็ตาม ขอเตือน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลว่าอย่าเร่งรัดปิดอภิปรายอีก เพราะเป็นการกระทำความผิดซ้ำซากและเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิของผู้สงวนคำแปรญัตติไว้ ส่วนการยื่นถอดถอนประธานรัฐสภา ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูล  ซึ่งจะยื่นถอดถอนได้ในต้นสัปดาห์หน้า
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
กมธ.การปกครอง สผ. จี้ บ.บิ๊กเจียงฯ แก้ปัญหาประชาชน ม.จิรทิพย์ วัชรพล
 
13 ก.ย. 56 –  กมธ.การปกครอง สผ. จี้ บ.บิ๊กเจียง ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ทำหนังสือยืนยันแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนหมู่บ้านจิรทิพย์ วัชรพล หลังก่อสร้างบ้านจัดสรรไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดสรรที่ดินฯ
 
คณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชัย ชิดชอบ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนของนายผดุง พงษ์เสถียรภาพ และประชาชนหมู่บ้านจิรทิพย์ วัชรพล เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร กรณีคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานคร สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน และบริษัท บิ๊กเจียง ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้จัดสรรที่ดิน ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ในการอนุญาตและดำเนินการก่อสร้างตามโครงการบ้านจัดสรรทำให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อประชาชนในหมู่บ้าน อาทิ ไม่จัดทำระบบสาธารณูปโภครองรับอย่างถูกต้อง การก่อสร้างหมู่บ้านโครงการใหม่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ภายหลัง กมธ.รับฟังคำชี้แจง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า ขณะนี้ บ.บิ๊กเจียงฯ กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหา ดังนั้น กมธ.จึงได้มอบหมายให้ผู้จัดการโครงการหมู่บ้านจิรทิพย์ ผู้แทน บ.บิ๊กเจียงฯ ทำหนังสือยืนยันการดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในหมู่บ้าน พร้อมทั้งให้บริษัทจ่ายเงินค่าเสียหายที่เกิดกับประชาชน เนื่องจากการจัดระบบสาธารณูปโภคไม่ได้มาตรฐานทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม และดำเนินการจัดส่งบัญชีรายรับ - รายจ่าย เงินค่าเวนคืนที่ดินและเงินส่วนกลางของหมู่บ้าน ตลอดจนส่งเอกสารหลักฐานเกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียนต่อ กมธ.โดยเร็วที่สุด พร้อมขอให้สำนักส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานคร และสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน รายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในหมู่บ้านมายัง กมธ. เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ / เรียบเรียง
 
กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขยายกรอบเวลาการพิจารณาเหตุการณ์ตั้งแต่ก่อนการชุมนุม 19 ก.ย. 49 ถึงหลัง 10 พ.ค. 54
 
13 ก.ย. 56 - กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เห็นชอบขยายกรอบเวลาการพิจารณาเหตุการณ์ตั้งแต่ก่อนการชุมนุม 19 ก.ย. 49 ไปจนถึงหลัง 10 พ.ค. 54 พร้อมเชิญ ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าให้ข้อมูล ขณะ มีกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุชุมนุมทางการเมืองเดือน เม.ย.-พ.ค. 53 ยื่นเรื่องไม่สนับสนุนร่างนิรโทษกรรมของแม่น้องเกด แต่สนับสนุนฉบับที่ ส.ส.วรชัย เสนอ
 
การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ที่มีนายสามารถ แก้วมีชัย เป็นประธาน วานนี้ (12 ก.ย. 56) มีกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเดือน เม.ย.-พ.ค.53 นำโดย นายบรรเจิด ฟุ้งกลิ่นจันทร์ เข้ายื่นหนังสือแสดงเจตนารมณ์ไม่สนับสนุนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง แต่ขอสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ ส.ส. วรชัย แทน ขณะที่สาระของการประชุม กรรมาธิการได้หารือถึงกรอบแนวทางและขอบเขตของบุคคลที่จะได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งกรรมาธิการแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง อาทิ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ กรรมาธิการและ ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา เห็นว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มีสาเหตุจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกฯ ยังไม่ได้กลับบ้าน ดังนั้น หากกฎหมายฉบับนี้จะทำให้บ้านเมืองได้รับประโยชน์จริงไม่ใช่แค่บรรเทาปัญหาจะต้องแบ่งการพิจารณากรอบของเหตุการณ์ไปในแนวทางใดทางหนึ่ง คือ แยกกรณีเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัวออกไป หรืออีกแนวทางหากจะยังคงพิจารณาเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับครอบครัวชินวัตรซึ่งต้องมาดูต่อว่าจะมีเงื่อนไขใดบ้าง อย่างไรก็ตาม ยอมรับต้องเกิดความวุ่นวายในทางปฏิบัติ ดังนั้น นายอภิสิทธิ์ ผู้นำฝ่ายค้านฯ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกฯ ซึ่งแม้ไม่ใช่ผู้ชี้นำบ้านเมืองได้ทั้งหมด แต่นับเป็นกลไกสำคัญจึงจะต้องมานั่งคุยกัน เพื่อบรรเทาปัญหา แม้ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก ส่วนการกลับประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้นตนเห็นว่าอย่างไรก็ต้องกลับมารับการดำเนินคดีก่อน
 
ขณะที่ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย กรรมาธิการและ ส.ส.ประชาธิปัตย์ เสนอว่าควรให้บุคคลผู้มีส่วนในเหตุการณ์ก่อน 19 ก.ย. 49 ได้เข้าเสนอข้อมูลและคดีที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย โดยเฉพาะในมุมของสื่อมวลชนทั้งในกรณีวิทยุชุมชน ข้อมูลจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งหมดได้เข้ามาแจ้งข้อมูลและได้รับประโยชน์ ซึ่งความเห็นดังกล่าว ทำให้ นายสุชาติ ลายน้ำเงิน กรรมาธิการจากพรรคเพื่อไทย เห็นด้วย พร้อมระบุว่า หลักการของการออกกฎหมายก็เพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์
 
ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตว่า หัวใจของกฎหมายนิรโทษกรรมคือ นิรโทษกรรมให้คดีชุมนุมทางการเมือง ดังนั้น กรณีเหตุการณ์ภาคใต้ หากไม่ใช่การชุมนุมทางการเมืองย่อมไม่เข้าองค์ประกอบ แต่กรณีการชุมนุมที่มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี และ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เป็นลักษณะการชุมนุมทางการเมือง จะมีการพิจารณาครอบคลุมไปถึงเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่ และหากไม่ใช้คำว่าการชุมนุมทางการเมือง แต่ใช้คำว่าการชุมนุมสาธารณะ ม็อบราคายางพารา หรือม็อบเรียกร้องค่าชดเชยน้ำท่วม จะต้องพิจารณานิรโทษกรรมให้ด้วยหรือไม่ ดังนั้น จึงต้องจำแนกฐานความผิดให้ชัดก่อน เช่นเดียวกับนายแก้วสรร อติโพธิ กรรมาธิการจากพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า หากกำหนดขอบเขตความผิดไว้มากเกินไปย่อมจะเกิดปัญหา และคงจะต้องมีการพิจารณาที่ศาลรัฐธรรมนูญอีก
 
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการได้มีความเห็นตรงกันถึงกรอบเวลาการนิรโทษกรรม ควรครอบคลุมเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองก่อนวันที่ 19 ก.ย. 49 ไปจนถึงหลังวันที่ 10 พ.ค. 54 นอกจากนี้ นายสามารถ ประธานกรรมาธิการ ได้กล่าวยืนยันจากข้อซักถามของ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี กรรมาธิการและ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ว่า การพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะไม่ครอบคลุมถึงคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สุดท้าย ที่ประชุมได้มอบหมายให้ประธานกรรมาธิการเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาให้ข้อมูลต่อกรรมาธิการในการประชุมครั้งต่อไปวันพฤหัสบดีที่ 19 ก.ย. นี้
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว/ เรียบเรียง
 
ฝ่ายค้าน เตรียมยื่นศาล รธน.สั่งยุติการแก้ไข รธน. ระงับลงมติวาระ 3
 
13 ก.ย. 56 - วิปฝ่ายค้าน ระบุ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว. อาจเข้าข่ายผิด รธน.มาตรา 68รวมทั้งมีประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง เผย เตรียมยื่นศาล รธน.ตีความ เพื่อขอให้สั่งยุติการแก้ไข ระงับลงมติวาระ 3
 
นายจุรินทร์  ลักษณะวิศิษฎ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน เปิดเผยหลังหารือกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.ว่า สัปดาห์หน้าจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา สว. เข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่าด้วยการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ เนื่องจากเห็นว่า การแก้ไข รธน.ครั้งนี้เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ ทำให้ดุลยภาพของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการเสียไป ซึ่งจะมีผลต่อการทำหน้าที่แต่งตั้งและถอดถอนองค์กรอิสระ นอกจากนี้เห็นว่าการแก้ไข รธน.ครั้งนี้ทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ใน รธน.ฉบับปัจจุบัน เนื่องจากมีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนหวังผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนได้รับผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง วิปฯจึงมีมติยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ศาลสั่งยุติการแก้ไขรัฐธรรมนูญและคุ้มครองชั่วคราว ระงับการลงมติวาระ 3
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
ประธานสภาผู้แทนราษฎร นัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท
 
14 ก.ย. 56 – ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือ นัดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญทั่วไป ครั้งที่ 10เป็นพิเศษ ในวันที่ 19-20ก.ย. พิจารณาโครงการเงินกู้ 2ล้านล้านบาท
 
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือนัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญทั่วไป ครั้งที่ 10เป็นพิเศษ ในวันที่ 19ก.ย. 2556เวลา 09.30น. และครั้งที่ 11เป็นพิเศษ ในวันที่ 20ก.ย. 2556เวลา 09.30น. เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. … ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
 
โดยในรายงานของคณะกรรมาธิการฯ ระบุว่า มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอคำแปรญัตติทั้งหมด 144 คน และในบัญชีท้ายร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว มีรายละเอียดยุทธศาสตร์ แผนงาน และวงเงินดำเนินการ ซึ่งในหมวด ก. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ มีทั้ง 3 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1.ยุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าทางถนนสู่การขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่าวงเงิน 357,709.51 ล้านบาท 2.ยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางและขนส่งไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคทั่วประเทศ และเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน วงเงิน 1,043,224.14 ล้านบาท และ 3.ยุทธศาสตร์พัฒนาและปรับปรุงระบบขนส่งเพื่อยกระดับความคล่องตัว วงเงิน 578,015.65 ล้านบาท สำหรับหมวด ข. แผนงานการส่งเสริม หรือสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศตามยุทธศาสตร์ วงเงิน 21,050.70 ล้านบาท
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
"บุญจง" เผย ประชุมพรรคภท.สัปดาห์หน้า เตรียมพร้อมอภิปรายร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน
 
14 ก.ย. 56 - นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา และรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท วาระ 2 ในสัปดาห์หน้า ว่า ในการประชุมพรรคภูมิใจไทย วันอังคารที่ 17 ก.ย.นี้ พรรคจะหารือกันว่าจะอภิปรายร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท อย่างไร และมีใครประสงค์จะอภิปรายประเด็นใดบ้าง ส่วนที่เกรงว่าจะมีการรวบรัดการอภิปรายเหมือนการประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.นั้น  ตนเห็นว่าขึ้นอยู่กับประธานในที่ประชุมว่าจะรวบรัดไม่ให้ผู้สงวนคำแปรญัตติ และผู้ที่ประสงค์จะอภิปรายหรือไม่ หากรับใช้เสียงข้างมากโดยรีบปิดอภิปรายก็เชื่อว่าจะเกิดความวุ่นวายอีกแน่นอน ซึ่งตนมองว่าคนที่ทำหน้าที่ประธานจะต้องดำเนินการควบคุมการประชุมด้วยความถูกต้องเป็นธรรม 
 
เมื่อถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของส.ว.ว่าขัดต่อมาตรา 68 หรือไม่ นายบุญจง กล่าวว่า ฝ่ายค้านมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะเห็นว่าการแก้ไขที่มาของ ส.ว.มีประเด็นที่เป็นประโยชน์ทับซ้อน ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไรเป็นเรื่องของศาลที่จะพิจารณา ซึ่งตนยืนยันว่าคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีผลผูกพันทุกองค์กร รวมถึงรัฐสภา
 
ที่มา: ข่าวสด
 
"องอาจ" ติง "นิคม" ยุเร่งโหวตแก้ รธน.วาระ 3 ไม่รอศาลฯ วินิจฉัย
 
ปชป. แนะรอฟังคำวินิจฉัยศาล รธน.ในการแก้ไข รธน.ที่มา ส.ว. ติง "นิคม" ไม่ควรยุให้ประธานรัฐสภาเร่งโหวตวาระ 3 โดยไม่ต้องรอศาลฯ ตีความ
      
14 ก.ย. 56 - นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มาของ ส.ว. ว่า เป็นกระบวนการพิจารณาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นไปตามข้อบังคับ และพรรคประชาธิปัตย์ได้รวบรวมรายชื่อ ส.ส.เพื่อยื่นร้องต้อศาลรัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่เป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และมีการกระบวนการหลายขั้นตอนที่ลิดรอนสิทธิการทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ขอ งส.ส. แต่ปรากฏว่า นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กลับระบุว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ระงับการลงมติวาระ 3 ออกไปก่อน นายนิคม ก็จะประสานไปยังนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ให้เปิดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อให้ยืนยันสิทธิในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ
      
"ผมคิดว่าความคิดดังกล่าวของ นายนิคม ไม่น่าจะถูกต้องเหมาะสม และไม่สมควรอย่างยิ่ง จึงควรปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอิสระในการพิจารณาคำร้อง และเมื่อคำวินิจฉัยรัฐธรรมนูญออกมา ทุกคนจะต้องเคารพในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ"
      
นายองอาจ กล่าวว่า ส่วนการที่ฝ่ายรัฐบาลบอกว่า ไม่ควรรอฟังคำวินิจฉัยขององค์กรใดๆ ทั้งสิ้น และเมื่อครบ 15 วัน ควรดำเนินการในการลงมติวาระ 3 ไปเลยนั้น ตนคิดว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง เพราะถ้าเร่งให้มีการลงมติทันทีโดยที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เสร็จสิ้น อาจเกิดผลกระทบบานปลาย กลายเป็นปัญหาต่อการดำเนินงานของรัฐสภาในอนาคต
      
ดังนั้น การรับฟังความคิดเห็นของศาลรัฐธรรมนูญน่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพิจารณาแก้ไข อีกทั้งควรนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ ส.ว. มาเป็นบทเรียนสำหรับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก 2 ฉบับที่เหลือ และไม่ควรใช้เสียงข้างมากลากไป หรือใช้ในการอภิปรายของฝ่ายค้าน แต่ควรรับฟังเสียงข้างน้อย เพราะฝ่ายค้านไม่ได้ต้องการยื้อ หรือถ่วงเวลาในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ขอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พิจารณาทบทวนการทำงานของฝ่ายเสียงข้างมากในสภา
 
ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์
 
'พงศ์เทพ' ส่งสัญญาณ ขอสู้เต็มที่ โดนยื่นตีความแก้ รธน.
 
14 ก.ย. 56 -  นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์ เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาของ ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่า การใช้อำนาจตามมาตรา 68 กำหนดให้ประชาชนใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่เกิดปัญหาต่อระบบการปกครอง แต่ไม่ใช่กรณี ที่สมาชิกรัฐสภาใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ
 
ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีอำนาจตีความ ที่ผ่านมามีการใช้มาตรา 68 บิดเบือนกันมาก โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ที่เป็นการแก้ไขเพียงบางมาตรา ไม่ใช่แก้ไขทั้งฉบับ ดังนั้น หากมีการยื่นจริง ผู้เกี่ยวข้องทั้งสมาชิกรัฐสภา และประธานรัฐสภา จะต่อสู้ทั้งข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงต่างๆ เพราะการแก้รัฐธรรมนูญเป็นอำนาจสมาชิกรัฐสภา.
 
โดย: ไทยรัฐออนไลน์
 
วิป รบ.ยืนยันเดินหน้าลงมติวาระ 3 ร่างแก้ไข รธน.
 
15 ก.ย. 56 - นายอำนวย คลังผา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของส.ว.ที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่ 2 ไปแล้วว่า ขั้นตอนหลังจากนี้จะต้องทิ้งไว้ 15 วันจึงจะสามารถลงมติในวาระที่ 3 ได้ ก็คือวันที่ 27ก.ย.แต่อาจจะเหลื่อมเวลาไปได้นิดหน่อยเป็นวันที่ 1-2 ต.ค.ก็ได้ ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ากระบวนการแก้ไขขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ถือเป็นสิทธิแต่ยืนยันว่าทำตามระเบียบข้อบังคับทุกประการ หากมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแต่ยังไม่มีคำวินิจฉัยใดๆออกมา เราก็จะเดินหน้าลงมติในวาระที่ 3 ต่อไป เราต้องทำตามขั้นตอนให้ครบถ้วนก่อน ใช้สิทธิของเราให้เต็มที่ก่อน มิฉะนั้นจะเสียสิทธิ กฎหมายก็จะตกไป
 
นายอำนวย กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นเรื่องการปิดอภิปรายที่จะมีการนำมาเป็นข้อร้องเรียนนั้น ยืนยันว่าดำเนินการไปตามข้อบังคับ เมื่อเห็นว่ามีการพิจารณาไปพอสมควรแล้วก็สามารถเสนอปิดอภิปรายได้ และคนที่เสนอเป็นสมาชิกรัฐสภา ไม่ใช่ประธานในที่ประชุม อีกทั้งการเสนอให้ปิดหลายครั้งก็มีคนเห็นต่างเสนอให้เปิดอภิปราย แต่พอเวลากดคะแนนกลับไม่กดโหวตเสนอให้อภิปรายต่อ อันนี้ต้องดูเจตนาด้วย ถ้าคิดว่าผิดก็ผิดกันทั้งรัฐสภา
 
นายไพจิต ศรีวรขาน รองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า การลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของส.ว.ในวาระ 3 ถือเป็นดุลยพินิจของประธานรัฐสภาที่จะต้องนัดประชุมเมื่อครบกำหนดให้เว้นไว้ 15 วันแล้ว แต่หลักการนั้นไม่ควรที่จะเยิ่นเย้อออกไปมากนัก เมื่อครบ 15 วันแล้ว วันที่ 16 หรือ 17 ก็ควรจะมีการโหวตวาระ 3 เลย ซึ่งเรื่องนี้น่าจะมีความชัดเจนในสัปดาห์หน้า
 
ทั้งนี้ เบื้องต้นวันเวลาที่เหมาะสมจะนัดประชุมร่วมรัฐสภานั้น หากไม่เป็นวันอังคารก็จะเป็นวันศุกร์เท่านั้น
 
ที่มา: มติชนออนไลน์
 
มารุตแนะหลักการทำหน้าที่ประธานรัฐสภา
 
15 ก.ย. 56 - นายมารุต บุนนาค อดีตประธานรัฐสภา อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง เขียนบทความผ่าน สำนักข่าวอิศรา "จากใจอดีตประธานรัฐสภา" อธิบายถึงการทำหน้าที่ของประธานรัฐสภา ดังนี้
 
ผมเลิกเล่นการเมืองมานานพอสมควรแล้ว แต่ยังติดตามการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ตลอดเวลา ได้มีผู้ที่เคารพนับถือและมิตรสหายเป็นจำนวนมากอยากให้ผมแสดงความคิดเห็นในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่เป็นประธานในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาบ้าง
 
ผมขอเรียนว่า โดยมารยาทผมไม่อาจก้าวล่วงกับการปฏิบัติหน้าที่ของท่านผู้เป็นประธานในปัจจุบัน ผมเห็นว่าทุกท่านผ่านชีวิตการเมืองมานาน มีประสบการณ์สูง และปฏิบัติหน้าที่ของท่านได้เรียบร้อยดีพอสมควรตลาดระยะเวลาสองปี ที่ผ่านมา ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่นั้นย่อมจะถูกใจและไม่ถูกใจผู้ที่สนใจบ้างเป็นธรรมดา
 
ผมขออธิบายแนวทางของผมในการปฏิบัติหน้าที่ผู้เป็นประธานว่า เป็นอย่างไร ในหลักปฏิบัติดังนี้
 
1.ต้องมีความเป็นอิสระ หมายถึงความเป็นอิสระในการทำงาน หากมีความอิสระในการทำงาน ก็จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลางอย่างสมบูรณ์ แต่ถ้าผู้เป็นประธานมีความผูกพันหรือถูกกำหนดโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ย่อมทำให้เสียความเป็นกลางได้  เมื่อครั้งท่านชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีสมัยแรก เมื่อปี 2535  ได้ขอให้ผมรับหน้าที่ประธานสภาฯ ผมได้ขอความเป็นอิสระในการทำงาน โดยไม่อยู่ในความผูกพันของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อจะได้ปฏิบัติงานด้วยความสบายใจ ท่านก็ตกลงด้วย เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติงานของผมในช่วงปี 2535-2538 จึงมีหลายครั้งที่คนในพรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจ แต่ภายหลังก็เข้าใจผมดี
 
2.ไมตรีจิตที่ประธานพึงมีต่อสมาชิก การให้เกียรติ ยกย่องสมาชิกแต่ละคนเท่าที่โอกาสจะเปิดให้ ควรกระทำเพราะเป็นการผูกน้ำใจซึ่งกันและกัน
 
3. ศึกษาจุดดีและจุดด้อยของสมาชิกผู้อภิปรายแต่ละคน เพื่อที่ประธานจะได้ปรับตัวได้ถูก เพราะในสภาแต่ละยุคนั้น จะมีสมาชิกปากกล้าไม่เกิน  30 คน จึงไม่ยากที่จะศึกษา
 
ผมขอยกตัวอย่างสักสองท่าน ท่านสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีผู้วายชนม์แล้ว เดิมท่านก็ไม่ค่อยพอใจผมนัก แต่ผมให้โอกาสท่านอภิปรายเต็มที่ หากไม่ได้มีการกำหนดเวลาไว้จะไม่ห้ามปรามท่านเลย และติดตามการอภิปรายของท่านอย่างต่อเนื่อง (ตั้งใจฟัง) ก็ดูท่านจะพออกพอใจ และไม่มีเรื่องต่อล้อต่อเถียงกับผู้เป็นประธาน
 
อีกท่านหนึ่งท่านดร.เฉลิม อยู่บำรุง ท่านเคยอยู่พรรคประชาธิปัตย์มาก่อน ท่านจะพูดถึงความหลัง ความสัมพันธ์ที่ผมมีกับท่าน แล้วอภิปรายตามสไตล์ของท่าน เบาบ้างแรงบ้าง ถ้าไม่หนักหนานักผมก็ให้ท่านอภิปรายเต็มที่ ท่านก็ดูพอใจอยู่ไม่น้อย แม้บางครั้งจะมีการขัดในกันบ้างก็ไม่ถือสากัน
 
4.ประธานควรจะพูดน้อยที่สุด ไม่จำเป็นไม่ควรจะทำให้เกิดปัญหาโต้เถียงกับสมาชิก หากสิ่งเล็กน้อยก็ควรผ่อนปรนไป เช่น ในกรณีที่สมาชิกของหารือ เรื่องที่อยู่นอกวาระ ก็ควรเปิดโอกาส
 
เช่นครั้งหนึ่ง ท่านส.ส.เชาวรินทร์ ลัทธศักดิ์ศิริ ส.ส.ราชบุรี ขอหารือก่อนวาระประชุมเริ่ม เรื่อง คนไทยถูกศาลสิงคโปร์ลงโทษและจะถูกแขวนคอในวันรุ่งขึ้น ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือ  ผมก็ให้ท่านพูดเต็มที่ขอร้องให้ท่านรัฐมนตรีต่างประเทศ (ท่านประสงค์ สุ่นศิริ) รับไปหาทางช่วยเหลือ  และยังมีเรื่องอื่นๆอีกมากมายทำนองนี้  เช่นความเดือดร้อนต่างๆของประชาชนที่เกิดขึ้นเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไป  ก็อาจจะหารือได้ซึ่งในรั้งนั้นผลและท่านรองประธานอีกสองท่านคือท่าน วันมูหะมัดนอร์ มะทา  และท่านถวิล  ไพรสณฑ์  ได้ตกลงร่วมกันให้เปิดเช่นนี้โดยให้เวลาประมาณ 30 นาทีก่อนเข้าสู่วารระการประชุมเป็นที่พอใจของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล
 
5 .การวินิจฉัยปัญหาของผู้เป็นประธานควรต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประธานและรองประธานที้งสอง  มิฉะนั้นจะเกิดความไม่เป็นธรรม
 
6.รับฟังความเห็นของฝ่ายค้านซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยบ้าง  ช่วงปี 2535-2538 ผมมีผู้นำฝ่ายค้านสองท่านคือ  ท่านพลตำรวจเอกประมาณ  อดิเรกสาร และท่านบรรหาร  ศิลปอาชา  นัการเมืองอาวุโสทั้งสองท่านได้ทำหน้าที่ประสานงานกับผู้เป็นประธานได้ดีที่สุดโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน
 
7.ประธานที่ประชุมชอบที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมกันของวิปฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ไม่ควรดำเนินการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงโดยพลการ  ควรจะพิจารณาสอบสวนในเรื่องจริยธรรมของสมาชิกที่ปฏิบัติผิดจริยธรรมทุกกรณีไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล
 
8.การใช้อำนานไล่สมาชิกออกจากที่ประชุมเป็นอำนาจที่ไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ หากพฤติการณ์ไม่ถึงขนาดควรพูดจากันด้วยเหตุผล  ผมจำได้ว่าตลอดสามปีที่ทำหน้าที่ได้ขอร้องให้ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติท่านหนึ่งออกจากที่ประชุมไปในเรื่องที่ท่านปฏิบัติไม่ถูกต้อง  โดยท่านผู้นั้นเป็นดาวเด่นของสภาฯ (ท่านถึงแก่กรรมไปแล้ว)  ท่านเคยเป็นนายอำเภอดีเด่น  เป็นผู้มีชื่อเสียง  ผมขอร้องท่านว่าเมื่อท่านไม่ยอมถอนคำพูดที่ไม่สมควร  ท่านมีสิทธิที่จะตัดสินใจเองที่จะเดินออกจากห้องประชุมไปในวาระนั้น  โดยไม่ต้องให้ประธานสภาฯ ใช้อำนาจ  จะเป็ฯเกียรติของท่านและเป็นตัวอย่างที่ดี  ท่านก็เห็นด้วยโดยยอมออกจากที่ประชุมเพราะไม่ยอมถอนคำพูดเรื่องก็จบลงด้วยความเรียบร้อยไม่มีปัญหาประการใด  ผมเห็นอดีตประธานสภาฯ ที่ผ่านมาหลายคนใช้น้ำเย็นเข้าลูบ พูดจากับสมาชิกอย่างให้เกียรติเรื่องจะจบลงด้วยดี  ดีกว่าที่ประชาชนจะต้องเห็นภาพเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของรัฐสภาต้องอุ้มหรือหิ้วส.ส. ผู้ประท้วงออกจากห้องประชุมอย่างทุลักทุเลเป็นที่อเนจอนาถและเสื่อมเสียเกียรติของสภาเป็นอย่างยิ่ง
 
ในประเทศประชาธิปไตยนั้น สถาบันรัฐสภารวมทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเป็นสถาบันที่มีเกียรติ  ผู้เป็นประมุขของสถาบันดังกล่าวจะได้รับการยกย่องและได้รับความเชื่อถือ  ความเลื่อมใสจากคนทั่วไป  หากผู้เป็นประมุขของสถาบันไม่ลุแก่อำนาจ  ประพฤติตนตามทำนองคลองธรรมและด้วยความสุจริต
 
ที่มา: โพสต์ทูเดย์
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พนัส ทัศนียานนท์: ทิศทางการปฏิรูปการเมือง : ทางออกประเทศไทย (1)

Posted: 15 Sep 2013 06:54 AM PDT

ความนำ

            การก่อการรัฐประหารโดยคณะบุคคลที่ใช้ชื่อว่า "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข" (คปค.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งต่อมาเมื่อได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 และจัดตั้งรัฐบาลเข้าบริหารประเทศแทนรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งในขณะนั้นแล้ว ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ" (คมช.) ตามบทบัญญัติมาตรา 34 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว การก่อการรัฐประหารครั้งนี้นับได้ว่าเป็นการปฏิรูปการเมืองในแบบย้อนกลับอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทยเกิดการชะงักงัน และเกิดความแตกแยกทางการเมืองอย่างรุนแรงในหมู่ประชาชนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย นับเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีทีท่าว่าปัญหาความแตกแยกทางการเมืองในสังคมไทยจะได้รับการแก้ไขเยียวยาให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ในหมู่ประชาชนคนไทย ที่มีความคิดทางการเมืองแตกต่างกันได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันก็ดูประหนึ่งว่านับวันปัญหาจะยิ่งเลวร้ายมากยิ่งขึ้น เพราะความแตกแยกในสังคมได้ถูกตอกลิ่มให้ร้าวลึกลงไปอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ว่าจะเป็นสภาวะการต่อสู้กันอย่างเข้มข้นและน่าอัปยศอดสูในรัฐสภา การจัดกลุ่มชุมนุมตั้งเวที ปราศรัยตอบโต้กันนอกสภา การใช้สื่อทุกรูปแบบวิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้กระทั่งกล่าวหาใส่ร้ายโจมตีกันอย่างรุนแรงโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศชาติโดยรวม โดยที่ทุกกลุ่มทุกฝ่ายต่างก็อ้างว่าเชื่อมั่นในหลักนิติรัฐนิติธรรมและการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ดูเหมือนว่าต่างฝ่ายต่างก็มีบทนิยามของตนเองที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

        จากการที่ขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้ออกมาเสนอแนวคิดให้มีการจัดตั้งสภาปฏิรูปการเมือง เพื่อให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันของทุกฝ่าย โดยหวังว่าอาจจะช่วยให้เกิดการค้นพบแนวทางที่นำสังคมไทยไปสู่การอยู่ร่วมกันได้ของทุกฝ่ายที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน ในลักษณะ "แตกต่างแต่ไม่แตกแยก" โดยทุกฝ่ายยอมรับกติกากลางในการปกครองบ้านเมืองตามหลักนิติรัฐนิติธรรมและหลักการประชาธิปไตยโดยแท้จริง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้รัฐบาลจะลงทุนเชิญอดีตผู้นำทางการเมืองที่มีชื่อเสียงของโลกและผู้เชี่ยวชาญการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองมาแสดงความคิดเห็นจากประสบการณ์ที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความพยายามแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศอื่น ๆ แต่ก็ไม่ประสพความสำเร็จในการเชิญชวนบุคคลต่าง ๆ ทั้งที่เป็นผู้อาวุโสทางการเมือง ผู้นำทางความคิดที่มีชื่อเสียงซึ่งเคยเสนอแนวคิดในการปฏิรูปการเมืองมาก่อน หัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และหัวหน้ากลุ่มการเมืองที่เป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลให้เข้ามาร่วมสังฆกรรมด้วยแต่อย่างใด โดยบุคคลเหล่านี้ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีสภาปฏิรูปที่นายกรัฐมนตรีเสนอให้มีขึ้น โดยอ้างเหตุขัดข้องต่าง ๆ ในทางส่วนตัวของตนเอง แต่ก็มีบางคนที่ไม่ยอมเข้าร่วม เพราะมองว่าการเสนอให้มีการพูดจากันในเวทีสภาปฏิรูปของนายกรัฐมนตรีเป็นการแก้เกมส์ทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาลที่รู้ตัวว่ากำลังอยู่ในฐานะเพลี่ยงพล้ำ เพราะเกิดความผิดพลาดและทุจริตคอรัปชั่นในการดำเนินนโยบายหลายเรื่องของรัฐบาลเอง

        จากท่าทีของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีในการขับเคลื่อนสภาปฏิรูปเช่นนี้ จึงทำให้ความหวังที่จะเห็นการพูดจาหาทางปรองดองกันเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองให้ลุล่วงไปได้ด้วยดียังคงริบหรี่ที่แม้แต่แสงที่ปลายอุโมงค์ก็ยังแทบจะมองไม่เห็นเอาเสียเลยก็ว่าได้ ทางออกของประเทศไทยในการปฏิรูปทางการเมืองเพื่อผลักดันระบอบการปกครองบ้านเมืองให้เดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงจึงดูเหมือนว่าจะไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากจะต้องพยายามฝ่าฟันไปในครรลองของการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นผลพวงของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นั่นเอง

รัฐธรรมนูญ 2550 : ผลพวงของรัฐประหาร

1 หลักรัฏฐาธิปัตย์และรัฐประหาร

          ตามหลักความคิดของนักนิติศาสตร์ในประเทศที่ยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตย การโค่นล้มรัฐบาลโดยใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจหรือการทำรัฐประหาร เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยหลักการประชาธิปไตย ดังเช่นความเห็นของศาสตราจารย์ Richard Albert ที่ยืนยันว่า "การทำรัฐประหารโดยใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจเป็นการปรามาสอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่อยู่บนพื้นฐานของหลักเสถียรภาพ ความยินยอมและความชอบธรรม" ส่วนศาสตราจารย์ Andrew Janos กล่าวว่า "การทำรัฐประหารเป็นการทวนกระแสกระบวนการอภิวัฒน์" ในสหรัฐอเมริกาจึงมีกฎหมายห้ามรัฐบาลให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่รัฐบาลประเทศใดก็ตามที่เขาสู่อำนาจด้วยการทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยชอบของประชาชน ซึ่งต่อมาสหภาพยุโรปก็ตรากฎหมายที่มีผลทำนองเดียวกันออกมาใช้บังคับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา

อันที่จริงถ้าจะว่ากันตามตัวบทกฎหมาย การทำรัฐประหารก็เป็นการกระทำความผิดฐานกบฏตามกฎหมายไทยโดยชัดแจ้ง เพราะประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 บัญญัติว่า "ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อ (1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ (2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ (3)…………………………………………………..ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต"

อย่างไรก็ตาม ดังเป็นที่ทราบกันดีและอาจถือได้ว่าเป็นประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยอย่างหนึ่งด้วยว่า "หากผู้ใดทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ การบริหารประเทชาติในลักษณะเช่นนี้ คณะรัฐประหารย่อมมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขยกเลิกและออกกฎหมายตามระบอบแห่งการปฏิวัติเพื่อบริหารประเทศชาติต่อไปได้ มิฉะนั้น ประเทศชาติจะตั้งอยู่ในความสงบไมได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 จึงเป็นกฎหมายอันสมบูรณ์" (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2496)

อนุสนธิจากคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นต้นบรรทัดฐานของหลักกฎหมายไทยว่าด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร ได้มีอรรถาธิบายในบันทึกท้ายคำพิพากษานี้โดยศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ปรมาจารย์ทางนิติศาสตร์คนสำคัญของประเทศไทยว่า "การปฏิวัติหรือรัฐประหารนั้น ในครั้งแรกเป็นการผิดกฎหมาย แต่เมื่อผู้กระทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารจนสำเร็จบริบูรณ์ กล่าวคือ สามารถยืนหยัดอำนาจอันแท้จริงของตนได้ โดยปราบปรามอำนาจของรัฐบาลเก่าหรือกลุ่มของบุคคลที่ต่อต้านแพ้ราบคาบไปแล้ว ก็เป็น "รัฏฐาธิปัตย์" มีอำนาจสูงสุดในรัฐ ฉะนั้น จึงอยู่ในฐานะที่จะให้รัฐธรรมนูญใหม่และยกเลิกกฎหมายเดิม บัญญัติกฎหมายใหม่ตามชอบใจได้"

นอกจากจะได้รับการยืนยันความถูกต้องชอบธรรมตามหลักนิติศาสตร์โดยศาลซึ่งเป็นตัวแทนของอำนาจตุลาการแล้ว ประเพณีอีกอย่างหนึ่งที่ยึดถือปฏิบัติกันมาเพื่อให้การทำรัฐประหารเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายโดยสมบูรณ์ ก็คือการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อล้างความผิดและโทษให้แก่คณะผู้ทำการรัฐประหารและบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยให้ถือว่าการกระทำใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร หรือกระทำตามคำสั่งหรือประกาศของคณะรัฐประหารทั้งหมดเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ใดจะนำความไปฟ้องร้องกล่าวหาคณะผู้กระทำรัฐประหารและบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นคดีอาญาหรือแพ่งไม่ได้ทั้งสิ้น การดำเนินการในเรื่องนี้ แต่เดิมจะใช้วิธีการตรากฎหมายในรูปพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดนิรโทษกรรม แต่ภายหลังต่อมาได้มีวิวัฒนาการให้เกิดความศักดิ์สิทธิยิ่งขึ้นโดยการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นใหม่เพื่อใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่ตนใช้อำนาจของความเป็นรัฏฐาธิปัตย์จากการทำรัฐประหารยกเลิกไป ซึ่งมีตัวอย่างล่าสุดดังที่ปรากฏอยู่ในบทบัญญัติมาตรา 36-37 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 และมาตรา 309 แห่งรัฐธรรมนูญฯ ฉบับปัจจุบันนั่นเอง

2. ยืนยันความศักดิ์สิทธิโดยตุลาการภิวัตน์

          หลักรัฏฐาธิปัตย์จากการทำรัฐประหารสำเร็จเป็นบรรทัดฐานการวินิจฉัยคดีที่ได้รับการยืนยันโดยศาลไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะในปัจจุบันซึ่งเป็นยุคตุลาการภิวัตน์ หลักนิติศาสตร์ไทยที่สำคัญหลักนี้นอกจากจะได้รับการยืนยันความชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจตีความและวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญที่มีผลผูกพันรัฐบาลและองค์กรรัฐทุกองค์กรให้ต้องยึดถือปฏิบัติตามแล้ว ยังได้รับการพัฒนาให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นทั้งในเชิงทฤษฎีและผลผูกพันในทางปฏิบัติของบรรดาประกาศและคำสั่งต่าง ๆ ที่ออกโดย คปค. ภายหลังที่ได้ทำรัฐประหารจนเป็นผลสำเร็จในวันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงวันที่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 รวมทั้งสถานภาพทางกฎหมายของคำสั่งและประกาศของ คมช.ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 ด้วย

ในส่วนที่ยืนยันหลักรัฏฐาธิปัตย์โดยตรง มีแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและศาลอื่น ดังต่อไปนี้

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 5/2551        

ในหน้าที่ 32 และ 35 นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้แสดงความเห็นส่วนตน ตอนหนึ่งความว่า:

          "เห็นว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐลงวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2549 เป็นคำสั่งของคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจการปกครองประเทศได้เป็นผลสำเร็จ คณะรัฐประหารจึงเป็นรัฏฐาธิปัตย์ซึ่งมีอำนาจสูงสุด คำสั่งของคณะรัฐประหารดังกล่าว จึงเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับเพื่อประเทศชาติจะตั้งอยู่ได้ในความสงบต่อไป"

คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  คดีหมายเลขแดงที่ อม. 1/2550 ("คดีที่ดินรัชดาฯ")  

ในหน้าที่ 8-9 ศาลฎีกา กล่าวว่า

          "เห็นว่า ในการทำรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจการปกครองประเทศในแต่ละครั้งนั้น ผู้ทำการรัฐประหารมีความประสงค์ที่จะยึดอำนาจอธิปไตยที่ใช้ในการปกครองประเทศ ซึ่งก็คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ มารวมไว้โดยให้มีผู้ใช้อำนาจดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวหรือคณะบุคคลคณะเดียวเท่านั้น มิได้มีความประสงค์ที่จะล้มล้างระบบกฎหมายของประเทศทั้งระบบแต่อย่างใด"

          "แม้แต่อำนาจตุลาการซึ่งเป็นอำนาจหนึ่งในอำนาจอธิปไตยก็ยังปรากฏเป็นข้อที่รับรู้กันทั่วไปว่าตามปกติผู้ทำการรัฐประหารจะยังคงให้อำนาจตุลาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีต่อไปได้ คงยึดอำนาจไว้แต่เฉพาะอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารเท่านั้น"

          "ในการทำปฏิวัติรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็เช่นกัน เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยึดอำนาจในการปกครองประเทศได้เรียบร้อยแล้ว คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็ออกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 มีใจความสำคัญว่า ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรีและศาลรัฐธรรมนูญ สิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญ"

          "ส่วนศาลทั้งหลาย นอกจากศาลรัฐธรรมนูญคงมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมาย แสดงว่าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยึดอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารมารวมไว้ที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนอำนาจตุลาการยังคงให้ศาลยุติธรรมใช้อำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมายต่อไป"

ความเห็นแย้งของผู้พิพากษาศาลฎีกา (นายกีรติ กาญจนรินทร์)

          คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  คดีหมายเลขแดงที่ อม. 9/2552 ("คดีนายยงยุทธ ติยะไพรัช")

         นายกีรติ กาญจนรินทร์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้แสดงความเห็นแย้ง ปรากฏความบางส่วนว่า

          "เห็นว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ศาลเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นของประชาชน...นอกจากนี้ศาลควรมีบทบาทในการพิทักษ์ความชอบด้วยกฎหมายรวมถึงพันธกรณีในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจโดยมิชอบและพันธกรณีในการปกปักรักษาประชาธิปไตยด้วย"

          "การได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยความไม่ยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่ เท่ากับเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย การปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ย่อมเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย"

          "หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชน จากการใช้อำนาจโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตยดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งเป็นการละเลยหลักยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่าบุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตนเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป ยิ่งกว่านั้นยังเป็นช่องทางให้บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวยืมมือกฎหมายเข้ามาจัดการสิ่งต่างๆ"

          "ข้อเท็จจริงเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ปัจจุบันอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ นานาอารยะประเทศส่วนใหญ่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่ยอมรับอำนาจที่ได้มาจากการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ฉะนั้นเมื่อกาละและเทศะในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้วจากอดีต ศาลจึงไม่อาจที่จะรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฎฐาธิปัตย์"

          "ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น เมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปเช่นกันว่า ผู้ร้องประกอบด้วยคณะกรรมการที่เป็นผลพวงของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) แต่ คปค. เป็นคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหาร เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 จึงเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยดังเหตุผลข้างต้น ย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แม้จะได้รับการนิรโทษกรรมภายหลังก็ตาม หาก่อให้เกิดอำนาจที่จะสั่งการหรือกระทำการใดอย่างรัฏฐาธิปัตย์..."

 

หมายเหตุ

เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊ก Panat Tasneeyanond

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับ “ศาสดา” เรื่องหนุน “ธเนศ วงศ์ฯ” - “สศจ." นั่งอธิการ มธ. และโปสเตอร์ “อั้มเนโกะ”

Posted: 15 Sep 2013 05:35 AM PDT

000

1

ศาสดา กับกระแสเชียร์ ธเนศ วงศ์ยานนาวา และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นอธิการบดี มธ.

แรงกระเพื่อมในโลกออนไลน์ ส่งผลต่อโลกออฟไลน์ในหลายกรณี ล่าสุด ปรากฏการณ์ เสนอชื่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างความฮือฮา เมื่อชื่อ "ธเนศ วงศ์ยานนาวา" อาจารย์ผู้ซึ่งถูกมองว่าเป็น "มนุษย์โพสต์โมเดิร์น" มีคะแนนนำ แคนดิเดทตัวจริง จากการโหวตเสนอของนักศึกษา มธ.ศูนย์ลำปาง

ขณะที่ ก่อนหน้านั้น 1 คืน ชาวโลกออนไลน์ โดยเฉพาะผู้สนใจวิชาการสายสังคมศาสตร์ เพิ่งจะคลิ๊กไลค์ กดแชร์ หรือหัวเราะ กับสเตตัส10 เหตุผลในการเลือก "ธเนศ" และ "สมศักดิ์" เป็นอธิการบดี ของเพจ "ศาสดา" ในบรรยากาศที่ก่อนหน้านั้นไม่นาน "ธรรมศาสตร์" เพิ่งมีประเด็นร้อนผ่านโลกออนไลน์ ภายหลัง นักศึกษากลุ่มหนึ่งเผยแพร่โปสเตอร์ 4 ภาพเซ็กซ์ เพื่อต่อต้านการบังคับแต่งชุดนักศึกษา พร้อมคำอธิบายของ "อั้มเนโกะ" นักศึกษาในภาพ

วันนี้ แอดมินเพจ "ศาสดา" มาเฉลย เบื้องหลัง 10 เหตุผล ว่า ข้อไหนอำ ข้อไหนจริง และ จินตนาการต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากอธิการบดี คือ 2 อาจารย์ตามชื่อที่เสนอมา รวมทั้งได้แสดงความคิดเห็นต่อโปสเตอร์ 4 ภาพเซ็กซ์ ของ "อั้มเนโกะ"ในฐานะที่ "ศาสดา" เป็นรุ่นพี่หรือศิษย์เก่าธรรมศาสตร์

-ทำไมโพสต์สเตตัสเสนอชื่อ อาจารย์ธเนศ กับ อาจารย์สมศักดิ์ เป็น อธิการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อยากให้มีสีสัน เพราะมีความรู้สึกว่า การเลือกอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงหลังๆ มันแห้งเหี่ยว ไม่มีชีวิตชีวา เอาเข้าจริงๆ เด็กธรรมศาสตร์ ก็รู้อยู่แล้วว่า ใครจะได้เป็นอธิการบดี ซึ่งคนที่ติดตาม การเมืองภายในธรรมศาสตร์ แวดวงการเลือกอธิการบดี ก็จะรู้ว่าธรรมศาสตร์มี "สาย" ไม่ได้หมายถึงเส้นสาย แต่สายที่ทำให้รู้ว่าใครจะเป็น ใครจะต่อ เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ ปี 2520 กว่าๆ ผมก็เลยคิดว่ามันไม่มีความน่าตื่นเต้นอะไร

ส่วนอธิการคนปัจจุบัน ถ้าให้ผมพูดตรงๆ ก็จืดชืดมาก คือ เขาอาจจะดี เพราะบางเรื่องก็ออกมาปกป้องสิทธินักศึกษา แต่ว่าโดยหลักๆ  แล้วไม่มีบรรยากาศของการแข่งขัน ไม่มีบรรยากาศของการมีส่วนร่วม ไม่มี บรรยากาศที่นักศึกษาบอกว่าอยากเลือกคนนี้ หรือสนับสนุนคนนั้นคนนี้ ทั้งๆ ที่มองจากภายนอกแล้ว ธรรมศาสตร์ คือมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับการเมือง มีเรื่องการเมืองในพื้นที่นี้ แต่เอาเข้าจริงๆ ธรรมศาสตร์ ไม่มีเรื่องนี้เลย

เมื่อผมรู้สึกว่าจืดชืด ไม่มีบรรยากาศ ก็เลยคิดว่า น่าจะเสนอใครสักคนที่เด็กน่าจะชอบ  ก็เลยเสนอชื่อ อาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา และ  อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่ง ก็เป็นที่นิยมในหมูนักศึกษาปัจจุบันมาก

-ทำไมต้องเป็น 2 ท่านนี้

ผมเป็นลูกศิษย์ทั้ง 2 ท่าน ในส่วนอาจารย์ธเนศ ผมเคยเรียนประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองกับเขา แล้วก็ได้อะไรเยอะ ได้ซึมซับวิธีคิด การมองโลก อะไรต่างๆ จนกระทั่งเกิดเป็นเพจ "ศาสดา" ก็เพราะการเรียนกับอาจารย์ธเนศ เป็นส่วนสำคัญมากเลย

อาจารย์ธเนศ มีบุคลิกของการเป็นคนพูดตรงๆ เป็นคนที่เข้าใจความยาก สามารถอธิบายให้มันง่ายๆ ได้ ฉะนั้น หลายๆ สิ่งที่อาจารย์ธเนศสื่อออกมานี่ ในสายตาคนทั่วไปอาจจะมองว่า สุภาพบ้างไม่สุภาพบ้าง แต่มันโดนใจนักศึกษา เพราะมันใช่และมันจริง

โอเค แน่นอน ผมรู้ว่า การเสนอชื่ออาจารย์ธเนศนี่ อาจารย์ธเนศ ไม่รับแน่นอน เพราะ คนที่ทำงานวิชาการแบบนี้ เขาไม่สนใจตำแหน่ง เขาไม่อยากไปนั่งบริหารหรอก เขาไม่อยากไปนั่งแข่ง ไปเสี่ยงกับการโดนวางยา ในระบบราชการหรอก แต่ว่าอย่างน้อยๆ ให้มันเป็นกระแส เป็นที่ฮือฮา ให้เด็กมีความรู้สึกว่า เฮ๊ย! ชีวิตมีตัวเลือกบ้าง

-อยากให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ รู้สึกว่าตัวเองสามารถเสนอได้

ใช่ จะเป็นใครก็ได้ คือธรรมศาสตร์ ฟรีอย่างหนึ่งคือ เสนอชื่อใครเป็นอธิการก็ได้ มีคนเสนอ หมอประเวศ วสี โผล่มาหนึ่งคะแนน ผมก็อยากเห็นหน้าคนเสนอเหมือนกันผมอยากให้นักศึกษาเสนอชื่อ อธิการ อย่างไร้ข้อจำกัด

-แล้วเสนออาจารย์สมศักดิ์เจียม เพราะอะไร
ผมเป็นลูกศิษย์อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เรียนกับอาจารย์สมศักดิ์ 3 วิชา ประวัติศาสตร์รัสเซีย ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ และลงทะเบียนเรียนปรัชญาประวัติศาสตร์ ก็จะรู้จักอาจารย์สมศักดิ์ และรู้อยู่แน่นอนว่าคนอย่างอาจารย์สมศักดิ์ ไม่มีทางไปเป็นคณบดี ไปเป็นอธิการบดี ไม่รับตำแหน่งบริหาร

แล้วก็อย่างที่รู้กันว่า อาจารย์สมศักดิ์ เป็นคนที่มีคนตามอ่านในเฟซบุค และ พูดประเด็นที่ท้าทายในสังคม ทำให้หลายคนรู้สึกว่า เขาไม่มีทางได้ตำแหน่งหรอก เพราะ คุณพูดเรื่องที่แตะต้องไม่ได้ในสังคม คุณอยู่ในการเมืองไทยลำบาก

ผมจึงอยากเสนอว่ามีคนที่คิดแบบอาจารย์สมศักดิ์นะ มีคนสนับสนุนแนวนี้ และมีคนที่เชียร์แนวคิดนี้อยู่ ในธรรมศาสตร์ แล้วเขาอยากให้คนแบบนี้ เป็นอธิการ ไม่ใช่มีเฉพาะคนนิ่มๆ นิ่งๆ เออ ออ กับระบบไปอย่างเดียว

คือ การขึ้นมาเป็นระดับบริหารในธรรมศาสตร์ ผมไม่อยากให้เป็นภาพเดิมๆ ภาพแบบน่าเบื่อ พูดเนิบนาบตามวิชาการ มันไม่ inspireใคร คือการเป็นอธิการบดี นอกจากทำหน้าที่ราชการตามระบบบริหารแล้ว คุณควรจะมีอะไรบางอย่าง ให้กับสถาบันหรือ community ที่คุณอยู่ เช่น คุณอาจจะเป็นคนที่inspireนักศึกษาได้บ้าง เป็นคนที่กระตุกความคิด หรือ กล้ายืนยันในความถูกต้องบางอย่าง แม้สังคมจะไม่เห็นด้วยก็ตาม มันควรจะมีคนอย่างนี้ ขึ้นมาเป็นอธิการบดี

-เหตุผล 10 ข้อ ที่ควรเลือกทั้งสมศักดิ์ และ ธเนศ อันนี้ เรื่องจริง หรืออำเล่นๆ
มีทั้งจริงทั้งอำ แต่ส่วนมากที่อำ มันจะมาจากเรื่องจริง ที่มาของทั้งธเนศและสมศักดิ์ คือ ผมต้องการจะแซวว่า เรากำลังจะมีการเลือกอธิการบดีกันแล้ว ทีนี้ เสนอใครดี ระหว่าง 2 คนนี้ จะเสนอใครดี คนหนึ่งก็เป็นอาจารย์ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดเพจผม ส่วนอีกคนหนึ่งก็ป๊อบปูล่า ในโลกสังคมออนไลน์มาก อาจารย์สมศักดิ์ ได้รับความรู้จักในแง่ของคนที่เป็นคนทำงานและพูดถึงการปฏิรูปสถาบันค่อนข้างเยอะ เด็กสมัยใหม่ก็จะชอบ

ธเนศ วงศ์ยานนาวา (ที่มาภาพ: มติชนออนไลน์ )

-ใน10 เหตุผลที่คุณควรเลือก "ธเนศ วงศ์ยานนาวา" เป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์ ข้อไหนจริง ข้อไหนอำ

ข้อ 1. ธเนศไม่เคยบังคับให้คุณเข้าเรียน ข้อนี้จริง และเป็นวัฒนธรรมทั่วไปของธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะสายสังคมศาสตร์ เราไม่ได้เช็คชื่อ ถ้าคุณใฝ่รู้คุณอยากเรียนคุณก็มา  แล้วจะชี้ผลกรรมตอนคุณสอบ

ข้อ 2. ธเนศเป็นคนที่มีสมาธิดีมาก ไม่ว่าคุณจะทำอะไรในคลาส เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง เพราะมีเด็กห่ามๆ ไปจูบกันในคลาสอาจารย์ธเนศ แล้วเขาคงคิดว่าอาจารย์จะต่อว่าอะไร ปรากฏอาจารย์ก็ไม่ว่าอะไร เพราะเป็นเรื่องของคุณ เขาก็สอนปกติ

3. ธเนศเป็นคนที่ตรงต่อเวลามาก ข้อนี้จริง คือ ผมเข้าเรียนคาบแรก 8 โมงเช้าที่มธ.ศูนย์รังสิตนะ หอพักอยู่ตรงข้ามมหาวิทยาลัยบางทีผมยังไปสาย แต่บางทีไปถึง 7.50 น. อาจารย์ธเนศ นั่งอยู่ในห้องรอแล้ว แล้วผมถามแก แกบอกว่าขับรถออกจากบ้านตี 5 เอาเสื่อมาปูนอน เอาแซนด์วิชมากิน คุณเจออาจารย์แบบนี้กี่คนในมหาวิทยาลัย 

4. ธเนศเป็นคนโผงผาง แต่ขับรถไม่เร็ว อันนี้จริงๆ ผมเคยนั่งรถแก  ที่ธรรมศาสตร์เราก็ขอติดรถอาจารย์ไปได้ บุคลิกแกน่าจะใจร้อน แต่ขับรถไม่เคยเกิน 70 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง (หัวเราะ) 

5. ธเนศเพิ่งมีลูก แน่นอนว่าตอนนี้ธเนศน่าจะมีความอ่อนโยนมากขึ้น อันนี้เรื่องจริงน่ารักๆ แซวกันเล่นๆ

6. มีความเชื่อลือกันในคณะรัฐศาสตร์ว่า ถ้าธเนศเป็นอธิการบดีเมื่อไหร่ สิ่งแรกที่ธเนศจะทำ คือสั่งปิดมหาลัยอันนี้เป็นคำแซวจริงๆ

7. ธเนศเป็นคนแต่งตัวเรียบง่าย เสื้อยืดและกางเกงยีนส์ ไว้ผมกระเซิง ... ก็มีเรื่องกันประจำ บางคนคิดว่าเป็นยาม บางทีขับรถมายามไม่ให้จอด ไม่ให้ขึ้นตึก คิดว่าเป็นโน่นเป็นนี่เป็นนั่น ด้วยความที่บุคลิกสบายๆ

8. ธเนศเป็นคนที่มีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจนมาก ธเนศประกาศเสมอว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ประเทศไทยเกิดความวุ่นวาย สิ่งแรกที่ธเนศจะทำ คือพายเรือหนี คือ อาจารย์ไม่ยุ่งการเมือง ไม่ออกมาเชียร์หรือต่อต้านฝั่งไหน ไม่อะไรทั้งสิ้น แกมองการเมืองเป็นความขัดแย้งเป็นปกติ

-ระหว่างให้เลือกเพื่อน กับ เลือกแสดงจุดยืนทางการเมือง อาจารย์เลือกเพื่อน

ใช่ ถูกต้อง แล้วมนุษย์หลายคนก็เป็นแบบนี้ ซึ่งทำให้อาจารย์ธเนศ มีลูกศิษย์ทุกสี คุณก็ยังคุยกับเขาได้

ข้อ 9. เมียธเนศทำกับข้าวอร่อยมาก มีคนแซวว่ารู้ได้ยังไง ผมรู้เพราะ เขาทำกับข้าวเลี้ยงตอนผมจะไปเรียนต่อภาษาที่ต่างประเทศ จัดปาร์ตี้เล็กๆ ให้ จริงๆ แฟนอาจารย์ก็อ่าน 10 ข้อนี้ แล้วขำกร๊าก

10. ธเนศคิดว่าปัญหาสำคัญของชนชั้นกลางไทยสมัยใหม่ คือการเลี้ยงลูกแบบผู้ดีเกินไป เด็กสมัยใหม่จึงไม่รู้จักคำว่า "แตด" อันนี้ เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในคลาส หลายๆ ครั้งคือ การเรียนประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง เราเรียนแม้กระทั่งว่าทำไม เพศ จึงหยาบโลน ความเชื่อว่าเพศหยาบโลนสัมพันธ์กับความเชื่อทางศาสนาอย่างไร สิ่งเหล่านี้ กำหนดวิธีคิดของคนอย่างไร แล้วเรื่องนี้ เป็นเรื่องหนึ่งที่อาจารย์บอกว่า ชนชั้นกลางสมัยใหม่ พยายามทำตัวเข้าไปอยู่ในวิถีของความสุภาพเรียบร้อยมากขึ้นเรื่อยๆ จนหลายครั้ง เรากีดกันเรื่องเพศออกไป จนกระทั่งเราไม่มีภาษาเรียกขึ้นมาเฉยๆ

สิ่งที่เป็น คริสตอริส ในสังคมไทย คุณเรียกว่าอะไร เด็กรุ่นใหม่วัยรุ่นไม่รู้ด้วยซ้ำ ถ้าเรียกคริสตอริส ก็เป็นคำฝรั่ง ทั้งที่เรามีคำไทยแต่เดิม แต่เราไม่เรียก นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดมากว่าชนชั้นกลางไทยสมัยใหม่ เลี้ยงลูกยังไง ประมาณนี้

-แล้ว 10 เหตุผลที่คุณควรเลือก "สมศักดิ์ เจียมฯ" เป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์ มาได้อย่างไร

ข้อแรกผมแซวขำๆ 1. สมศักดิ์ เจียมฯ ไม่เคยแพ้ใครในใต้หล้า เพราะไม่ว่า ศาสดา จ่าพิชิต หรือนักวิชาการอย่าง ส.ศิวรักษ์ นิธิ เกษียร ภควดี พวงทอง ยุกติ ชัยวัฒน์ เดชา ฯลฯ ก็ล้วนแต่โดนสมศักดิ์เจียมไฝ้ว์มาหมดแล้ว อันนี้เรื่องจริง

2. สมศักดิ์ เจียมฯ เป็นตัวอย่างของข้าราชการไทยที่ดี เพราะทุกลมหายใจ สมศักดิ์ เจียมฯ จะขอทุ่มเทเพื่อสถาบันฯเท่านั้น ข้อนี้เคยมีการทำสำรวจแบบไม่เป็นทางการว่าสมศักดิ์จะพูดเรื่องสถาบันฯไม่ต่ำกว่า 500 ครั้งในแต่ละเดือน อันนี้ ก็เรื่องจริง ถามว่า ทำไมต้องพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์บ่อย ก็เพราะ เป็นปัญหาใจกลางความขัดแย้ง ทางสังคมการเมืองไทย
เอาง่ายๆ คนที่รับไม่ได้กับทักษิณ(พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี)  เพราะคิดว่าทักษิณ จะไปล้มสถาบัน ขณะที่ถ้าคุณบอกว่า ไม่ชอบทักษิณเพราะคอรัปชั่น แล้วทำไมนักการเมืองคนอื่นคอรัปชั่นแล้วคุณรับได้ ทำไมยอมรับพรรคอื่นได้
ปัญหาจริงๆ ที่ทักษิณ ถูกสร้างให้เป็นปิศาจ คือความไม่จงรักภักดีในสถาบัน ซึ่งเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้ ถ้าอภิปรายตรงๆ ก็เสี่ยงโดน มาตรา112 ฉะนั้น การไม่พูดเรื่องนี้ จึงเป็นปัญหาหลักของสังคมไทย แต่คนส่วนมากไม่เข้าใจ ก็ไปมองว่า ถ้าคุณพูดแปลว่าจะไปล้มเหรอ

3. ทุกคนรู้ว่าสมศักดิ์ เจียมฯ จบประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และรัฐศาสตร์จากออสเตรเลีย แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าสมศักดิ์เจียมเคยจบแพทย์ศาสตร์ระดับปริญญาเอก สาขาการจัดกระดูก(สันหลัง) ที่มหาวิทยาลัยเปียงยาง ... อันนี้เป็นมุข เพราะเวลาอาจารย์สมศักดิ์ด่านักวิชาการ ด่าคนโน้นคนนี้ จะชอบใช้คำว่า "ไม่มีกระดูกสันหลัง"  ไม่รู้ว่าเป็นสำนวนฝรั่ง หรืออะไรนะ แต่คำว่า ไม่มีกระดูกสันหลัง ถูกใช้บ่อยมาก จนกระทั่งมีคนไปแซวว่า อาจารย์เชี่ยวชาญเรื่องกระดูกสันหลัง ผมก็เลยเอามาแซวว่า อาจารย์จบแพทย์ศาสตร์ ปริญญาเอก เรื่องการจัดกระดูกสันหลัง (หัวเราะ)

คือ ถ้าคุณเป็นแฟนคลับอาจารย์สมศักดิ์จริงๆ คุณก็ต้องรู้ว่านี่มันเป็นมุข แล้วยิ่งบอกว่าจบจากมหาวิทยาลัยเปียงยางเนี่ย มันคือเมืองหลวงของเกาหลีเหนือ มึงจะบินไปเรียนเหรอ (หัวเราะ) มึงบินไปเรียนไม่ได้อยู่แล้ว (หัวเราะ) ฉะนั้น นี่เป็นเรื่องโกหกสมมุติ แต่ก็มีคนเชื่อจริงๆ แต่เป็นเรื่องไม่จริง

4. สัตว์ที่สมศักดิ์ เจียมฯ รักที่สุดคือหมา ลูกศิษย์ลูกหามักจะเรียกว่า "มูมู่"  อันนี้ก็เรื่องจริง แต่เอามาแซวเพราะน่ารักดี

5. สมศักดิ์ เจียมฯ เป็นคนที่มีหลายฉายา ตั้งแต่ เสด็จพ่อ บาร์โฟสศจ. SJ จนไปถึง หัวโต และอาจารย์หงอก ล่าสุดกลุ่มลูกศิษย์มีความพยายามจะตั้งฉายาใหม่ให้ว่า "เจียมมี่" เพราะมองว่าฉายาเก่าโหดเกินไป คือผมมองว่า บางคนเอาประเด็นเรื่องกายภาพ เช่น ผมหงอก หรือ หัวโต มาบั่นทอนความน่าเคารพนับถือ หรือเหตุผลที่เขาให้ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าคุณมีมุมมอง (Position) ยังไงกับเขา

6. สมศักดิ์ เจียมฯเคยได้รับการยกย่องจากคณะบัญชี เพราะสามารถบวกลบคูณหารงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของสถาบันกษัตริย์ได้ถูกต้องแม่นยำทุกปี โดยไม่ต้องใช้เครื่องคิดเลข อันนี้เป็นการแซวกันเพราะ ทุกปีอาจารย์สมศักดิ์ จะมีการบวกลบตัวเลขมา

ส่วนข้อ 7. ... ข้ามไปดีกว่า...

ข้อ 8. สมศักดิ์ เจียมฯ เคยมีผลงานชื่อ "ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง" ทุกวันนี้กลายเป็นหนังสือหายากในตำนาน และมีคนพยายามไปขโมยจากห้องสมุดมหาวิยาลัยต่างๆอยู่เสมอๆ เรื่องนี้เรื่องจริง เพราะพิมพ์แค่ครั้งเดียว ไม่รู้ทำไมไม่พิมพ์ต่อ แต่ว่า หลายคนที่อยากได้ ก็พยายามไปขโมย แต่ไม่ควรทำ เดี๋ยวนี้ เข้าใจว่าหาโหลดได้ทางอินเตอร์เน็ตแล้ว แล้วเป็นหนังสือถูกกฎหมาย ไม่ได้ผิดกฎหมายอะไร

9. เมื่อหลายปีก่อน สมศักดิ์ เจียมฯ เคยได้รับพระราชทานข้าวขาหมูจากสมเด็จพระเทพฯจำนวน 1 ห่อ และได้รับเชิญให้ร่วมโต๊ะเสวย ลูกศิษย์สมศักดิ์ทุกคนที่ได้รับฟังเรื่องนี้ต่างก็ตกใจ และซาบซึ้งจนน้ำตาไหลไปตามๆกัน นี่เป็นเรื่องจริง เมื่อครั้งอาจารย์สมศักดิ์ ได้รับเชิญไปบรรยายที่โรงเรียนนายร้อย จปร.  

10. สมศักดิ์ เจียมฯ มักจะไปปรากฏตัวในทุกที่ที่มีการอภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์ แม้ว่าการอภิปรายนั้นจะเกิดขึ้นในพื้นที่ลับแลมากแค่ไหนก็ตาม ไม่ว่าจะในทวิตเตอร์เฟสบุ๊ค เว็บบอร์ด หรือในพื้นที่ทุรกันดารใดๆ สมศักดิ์เจียมก็สามารถใช้วาร์ปโผล่ไปได้เสมอๆ ประหนึ่งว่า "ที่ใดมีสถาบันฯ ที่นั่นมีสมศักดิ์ เจียมฯ".... อันนี้เป็นการแซว เพราะคงมีคนส่งลิงค์เรื่องนี้ให้ อาจารย์ แกก็จะไปเขียนด้วย พร้อมไปเถียงได้ทุกที่ การดีเบตเป็นการแลกเปลี่ยนแบบหนึ่ง

-ตอนตั้งสเตตัส ถึง 2 ท่านนี้ คาดไหมว่า จะมีการโหวตอาจารย์ธเนศ ตามมาจำนวนมาก

คือ ตอนที่ทำ ผมไม่รู้ว่าวันรุ่งขึ้นจะเป็นวันที่โหวตเสนอชื่ออธิการบดี เพราะรู้แค่ว่า ช่วงนี้ จะมีการเลือกอธิการบดี แต่ไม่รู้ว่าวันไหน ที่ทำเพราะความสนุกล้วนๆ ผมโพสต์ ให้เลือก 2 ท่านนี้ วันที่ 11 ก.ย. แล้วคืนวันนั้น ก็เพิ่งรู้ว่าจะมีการโหวตในวันที่ 12 ก.ย.

-โดยกระบวนการแล้ว แม้ ธเนศ จะได้รับเสียงโหวตจำนวนมาก จากลำปาง ก็ไม่เพียงพอจะเป็นอธิการบดี

ใช่ ผลจากที่ มธ.ศูนย์ลำปาง อาจารย์ธเนศได้ไป 140 กว่าคะแนน ขณะที่อาจารย์สมคิดซึ่งเป็นแคนดิเดท น่าจะได้เป็นอธิการบดีต่อในสมัยที่ 2ได้แค่ 22 คะแนน ส่วนคะแนนที่ธรรมศาสตร์ศูนย์อื่น อย่างรังสิต คะแนนก็อาจจะเป็นอีกแบบ แต่ ระบบของธรรมศาสตร์ ต่อให้คุณได้คะแนนที่ 1 แต่ถ้าสภามหาวิทยาลัยไม่เลือกคุณ ก็ไม่มีผล

ธรรมศาสตร์ ให้มีการโหวตจริง ทั้ง อาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา ให้แบ่งเป็น 3 สาย แต่การโหวตแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่า ถ้าคุณได้คะแนนสูงสุด เขาจะเลือกคุณ มันไม่ใช่ เพราะ ธรรมศาสตร์ ก็เหมือนวุฒิสภา คือ มีระบบคัดสรร คัดเลือก "ระบบลากตั้ง" ผมใช้คำนี้ คือ ให้ไปโหวตก็เท่านั้น เพราะ สุดท้าย สภามหาวิทยาลัย ซึ่งมาจากไหนก็ไม่รู้ ก็เลือกใครเข้ามาก็ได้สักคนหนึ่ง

แล้วที่นักศึกษาโหวตมันมีความหมายอะไร นี่จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ทำไม การโหวตอธิการบดีธรรมศาสตร์ เด็กธรรมศาสตร์ 90% ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครให้ความสำคัญ เพราะ ต่อให้โหวตไป เขาก็ไม่นับว่าเสียงคุณ มีความหมาย

-คิดว่า ที่คนโหวตอาจารย์ธเนศ ที่ศูนย์ลำปางเยอะ เพราะอ่านสเตตัส "ศาสดา" หรือเปล่า

เป็นไปได้ เพราะ 10 เหตุผลให้เลือกอาจารย์ธเนศ มีคนกดไลค์ 7,000 ไลค์ แชร์ 1,300 แชร์ ส่วนอาจารย์สมศักดิ์ มีคนไลค์4,000 – 5,000 ไลค์ แชร์เกือบพันแชร์

-ทำไมคนมาไลค์อาจารย์ธเนศมากกว่า  ทั้งที่อาจารย์สมศักดิ์ เป็นที่รู้จักกว้างกว่า เล่นเฟซบุควงกว้างกว่า

อาจจะเป็นเพราะ ภาพอาจารย์สมศักดิ์ผูกติดกับอะไรบางอย่าง ขณะที่ ของอาจารย์ธเนศ ไม่ได้พูดเรื่องการเมืองเลย ฉะนั้น ไม่ว่าคุณจะสีอะไร ก็ไลค์ได้ โดยสบายใจ ไม่อึดอัด แต่กรณีอาจารย์สมศักดิ์ บางครั้งคุณสนุก คุณขำ แต่ก็รู้สึกว่า ภาพลักษณ์แบบนี้ไม่ใช่ กลัวเสียหลักการของตัวเองถ้ามาคลิ๊กไลค์

บางคนต่อให้เชียร์อาจารย์สมศักดิ์ เขาก็ไม่กล้ากดไลค์ บางคนก็กลัวภาพลักษณ์ตัวเองจะดูรุนแรง มีเหตุผลที่อธิบายได้ แม้เขาจะมีคนติดตามอ่าน 45,000 คน

เหมือนเพจผมบางคนชอบ แต่ไม่กล้ากดไลค์ ได้แต่ส่งข้อความมาบอกหลังไมค์ว่าชอบเพจคุณมาก แต่ไม่กล้ากด เพราะกลัวที่บ้านเห็น บางคนไม่กดไลค์ แต่เสิร์ชชื่อ เข้ามาดูทุกวัน เพราะ กลัวจะถูกมองเป็นคนไม่ดี เขาพูดแบบนี้ แปลว่าเราเลวเหรอ(หัวเราะ)

-ถ้าธรรมศาสตร์มีอธิการบดี อย่างอาจารย์ธเนศ หรือ อาจารย์สมศักดิ์ คิดว่า มหาวิทยาลัย จะเป็นอย่างไร

จะเห็นการเปลี่ยนแปลงมาก เปลี่ยนจากภาพอธิการบดีที่นั่งทำงานนิ่งๆ แบบระบบราชการ มหาวิทยาลัยจะมีสีสัน มีความคึกคัก พื้นที่หลายอย่างจะเปิดกว้าง คงไม่มีการปิดพื้นที่สำหรับคณาจารย์นิติราษฎร และความมีส่วนร่วมจะมากขึ้น

แต่ผมคิดว่าอย่าง อาจารย์ธเนศ อาจารย์สมศักดิ์  คนพวกนี้ ไม่ได้ฝักใฝ่ทางการเมือง คนหลายคนมาเป็นอธิการบดี เพราะหวังใช้ตำแหน่งเป็นสะพานไต่ดาว หวังไปเป็นองค์กรอิสระ ป.ป.ช. กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ ผมไม่ได้บอกว่าใคร แต่หลายคนใช้ตำแหน่งพวกนี้ ในการเป็นบันไดไต่ดาว มันเลยทำให้คุณไม่กล้ายืนยันจุดยืนความถูกต้อง ในหลายกรณี เช่น คุณบอกว่าเป็นมหาวิทยาลัยรักประชาชน แต่ตอนที่ประชาชนถูกยิงตายแถวราชประสงค์ คุณก็ไม่ได้มีแถลงการณ์อะไรออกมา ขณะที่คุณให้กลุ่มพันธมิตรฯ ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัย คุณก็เป็นซะอย่างนี้

000

2

อั้ม เนโกะ ชุดนักศึกษา และSex

-มีโปสเตอร์ รุ่นน้องที่ธรรมศาสตร์ ต่อต้านการบังคับแต่งชุดนักศึกษา ด้วยภาพท่าทางการร่วมเพศ 4 ท่าในชุดนักศึกษา ส่วนตัวรู้จัก อั้มเนโกะ คนในภาพหรือไม่

รู้จักจากสื่อแต่ ไม่รู้จักส่วนตัว ไม่ทันเจอกันที่มหาวิทยาลัย เพราะผมจบก่อน ผมจบมาหลายปีแล้ว เขาถึงเข้ามา 

-เห็นแล้วรู้สึกอย่างไร

ผมพูดตรงๆ ผมเห็นโปสเตอร์นี้แล้วมีอารมณ์ทางเพศ โดยการจัดวางท่าทาง ด้วยอะไรก็ตาม แล้วอีกข้อผมเป็นคนชัดเจนว่าผมมีอารมณ์ทางเพศกับชุดนักศึกษา ชุดนักเรียนก็มี ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ผมไม่ต้องเสแสร้งอะไร หลายคนก็มีคุณกล้าพูดไหมละ

-ประเด็นการนำภาพเหล่านี้ มาต่อต้านการบังคับแต่งชุดนักศึกษา ดูภาพแล้วสอดคล้องกับคำอธิบายไหม

คือทีแรก ผมก็งงมาก งงว่าการเลือกใช้ภาพโปสเตอร์ ทำไมถึงออกมาแนวนี้ ตอนแรกไม่รู้ว่าเป็นโปสเตอร์อะไร แล้วพอบอกว่า เป็นภาพการต่อต้านการบังคับใส่ชุดนักศึกษา ก็แอบงงเล็กน้อย เพราะไม่ทันคิดว่า มันเกี่ยวกับค้านบังคับแต่งชุดนักศึกษาอ่างไร มันกลับดูไปในแนว sexual มากกว่า

ตอนแรกก็รู้สึกว่ามันไม่ค่อยเข้าประเด็นเท่าไหร่ แต่พอฟังเหตุผล ฟังที่เขาอธิบาย ผมก็เห็นด้วยแต่ไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด คือ เห็นด้วยว่าชุดนักศึกษา ก็เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับสัญลักษณ์ทางเพศบางอย่างเหมือนกัน

คือ ต้องแยกเป็น 2 ประเด็น ประเด็นต่อต้านการบังคับใส่ชุดนักศึกษา ผมเห็นด้วย เพราะผมไม่เห็นเหตุผล ความจำเป็นของการใส่ชุดนักศึกษา

แต่ถ้าถามว่าโปสเตอร์ที่สื่อออกมาเหมาะสมไหม เรื่องเหมาะสมหรือไม่ ก็แล้วแต่ว่าสายตาใคร ถ้าสมมุติคุณมองด้วยสายตาไทยๆ แบบ หมอประเวศ วสี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ คุณสุเมธ ตันติเวชกุล ของแบบนี้ ถ้ามองด้วยสายตาแบบนี้ ก็รับไม่ได้อยู่แล้ว แต่ถ้าคุณมองด้วยสายตาที่เป็นตะวันตกมากๆ นี่เป็นเรื่องโคตรธรรมดาเลย ที่ออสเตรเลียก็เพิ่งทำวารสารเกี่ยวกับ vagina ของผู้หญิง แล้วใช้รูปอวัยวะเพศ ลงหน้าปกเป็น 10 รูป คุณคิดว่ามาเมืองไทยนี่ ไม่กรี๊ดกันตายเหรอ เรื่องเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม อยู่ที่สายตาคุณมองด้วยสายตาแบบไหน

-คิดว่า คิดว่าโปสเตอร์ สื่อกับประเด็นชุดนักศึกษา จริงหรือเปล่า

อันนี้ตอบได้ยากมาก คือ ผมเห็นด้วยครึ่งหนึ่งว่า ชุดนักศึกษา สื่อนัยทางเพศได้เหมือนกัน แต่ตรงกับประเด็นที่เขาเสนอไหม บางมุมผมว่าโปสเตอร์มันหลุดประเด็นไปนิดหน่อย มันจะหลุดค่อนข้างไปไกลนิดหนึ่ง

-มี sexual fantasy กับชุดนักศึกษา หรือจินตนาการการร่วมเพศในชุดนักศึกษา มาก่อนอยู่แล้ว

จริงๆ การร่วมเพศในชุดนักศึกษา ปกติก็มีอยู่แล้ว คือ ไม่มีใครที่กลับจากมหาวิทยาลัย แล้วจะไปเปลี่ยนเป็นชุดอยู่บ้านก่อนร่วมเพศ หรือบางคนก็มี sexual fantasy ในการร่วมเพศในชุดนักศึกษาอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับการรณรงค์นี้ เพราะsexual fantasyมีมาก่อนอยู่แล้ว หนังโป๊แนวนักศึกษา การ์ตูนการร่วมเพศในชุดนักศึกษา มีมาก่อน

-จินตนาการทางเพศ กับคนที่อยู่ในเครื่องแบบ มีการพูดคุยระบายหรือปรึกษา มาทางเพจศาสดาเยอะไหม

มีเยอะแยะไป มีบางคนชอบชุดนักศึกษา บางคนชอบชุดอาจารย์ บางคนชอบชุดทหาร บางคนชอบชุดตำรวจ บางคนบอกว่าเห็นชุดยามแล้วมีอารมณ์ทางเพศ อยากมีอะไรกับยามก็มีจริงๆ แล้วอย่าไปคิดว่าเขาเป็นสาวโรงงานอะไร เพราะ คนนี้ก็เป็นนักศึกษานี่แหละ มหาวิทยาลัยดังด้วย

-ในแง่การจินตนาการทางเพศกับคนในเครื่องแบบในฐานะภาพของ "อำนาจ" ก็ไม่เสมอไป หรือเปล่า ชุดยาม มีอำนาจหรือเปล่า

ก็อาจจะเป็นอำนาจแบบหนึ่ง แล้วแต่ว่าคุณจะแฟนตาซี plot ยังไง คุณแฟนตาซี plot ว่าคุณเป็นลูกสาวชนชั้นสูง แล้วโดนชนชั้นล่างกระทำชำเรา ก็เป็นไปได้ แล้วplot แบบนี้ เป็น plot ที่ peak มาก ในหนังสือโป๊ตลาดล่าง ถ้าอยากรู้ต้องอ่านงานวิจัยของอาจารย์ชลิดาภรณ์ (ส่งสัมพันธ์)

Plot  ที่เป็นผู้หญิงชนชั้นสูงกับผู้ชายชนชั้นล่างplot แบบนี้ เป็นplot หลักที่ขายดีมาก sex ข้ามชนชั้น

-แฟนตาซี ชุดนักศึกษา มีเรื่องอะไรแปลกๆ ไหม

ไม่ค่อย เพราะเอาเข้าจริงๆ มันเกร่อ นะ

-หมายความว่า แทบไม่ต้องจินตนาการ ถ้าจะทำ ก็ทำได้เลย

ใช่ ไม่ต้อง fantasy ในประเทศที่แม่งมีชุดนักศึกษา คุณไม่ต้องไปซื้อ costume มันมีอยู่แล้ว ในประเทศที่มีชุดนักศึกษา มึงเดินไปไหนมึงก็มีชุดนักศึกษา แต่ในบางประเทศก็อาจจะเป็นของน่าสนใจ

แต่เรื่อง fantasy กับชุดนักศึกษานี่ ไม่เฉพาะ เรื่องเพศนะ เพราะมีบางสถาบันใช้ชุดนักศึกษา มาดึงดูดให้เด็กเข้าเรียนด้วยนะ เช่น โรงเรียนอาชีวศึกษา เอกชน เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ที่แข่งกันออกแบบชุดนักศึกษา ให้เหมือนญี่ปุ่นมากที่สุด  เพื่อดึงดูดเด็กเข้าเรียน

-ข้อที่มีการนำมาพูดถึงว่า ชุดนักศึกษา ทำให้ทุกคน เหมือนกัน เท่ากัน

ในชุดนักศึกษาไม่มีแบ่งเกรดเหรอ?  สุดท้ายก็แบ่งชั้น  เช่น ชื่อมหาวิทยาลัย  เครื่องแบบแต่ละมหาวิทยาลัยก็เป็นตัวแบ่งอยู่แล้ว

-เฉพาะมหาวิทยาลัยเดียวกัน ชุดเดียวกัน จะได้มีความเหมือนกัน หรือเปล่า

จริงเหรอ คุณใส่รองเท้า เข็มขัดเหมือนกันเหรอ ต่อให้ใส่เหมือนกันแล้ว พอออกไป ได้นั่งรถเมล์ เหมือนกันหรือเปล่า กินกาแฟแก้วละ 15 บาท เหมือนกันหรือเปล่า ใช่ไหมฮ่ะ เข้าร้านการแฟ ร้านเดียวกันหรือเปล่า

-คิดว่าในที่สุด ตัวเครื่องแบบไม่ได้ทำให้เราเท่าเทียมกันได้

ไม่เลย ไม่เลย คือ มันเป็นการคิดแบบจินตนาการมาก สุดท้ายแบ่งได้จริงเหรอ รองเท้าใส่ยี่ห้อเดียวกันเหรอ กระเป๋าที่คุณเอามา มือถือที่คุณใช้ เหมือนกันเหรอ คุณตัดผมร้านเดียวกันเหรอ น้ำหอมคุณใส่ยี่ห้อเดียวกันเหรอ

ง่ายๆ เลยมือถือ ชัดเจน มีการแบ่งอยู่แล้ว การบอกว่าชุดนักศึกษา ช่วยให้ไม่มีการแบ่ง จึงเป็นเรื่องไม่จริง สังคมมันแบ่งกันอยู่ตลอด

-การต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ด้วยโปสเตอร์ท่าร่วมเพศ คิดว่าสื่อได้บรรลุเป้าหมายไหม

อย่างที่บอกว่า มันยาก เพราะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของใคร แต่ว่า อย่างน้อยๆ ไม่ว่าจะเหมาะสม หรือไม่ก็ตาม มันก็ได้สร้างแรงกระเพื่อมในสังคม ให้คนมาฉุกคิด ดีเบตเรื่องนี้กันอย่างเป็นจริงเป็นจัง แต่สิ่งหนึ่งที่น่าดีใจมากก็คือว่า เหมือนกับสังคมไทยเดินไปอีก step หนึ่งนะ

การมีโปสเตอร์แบบนี้ ออกมา ถ้าเรามองสังคมไทยเมื่อสัก 10 ปีที่แล้ว โดยปกติก็ต้องมีคนรับไม่ได้ บอกให้เอาเด็กคนนี้ออกไป หรือไล่ออก หรือรุมเสียบประจาน แต่นี่ไม่มีเลย แล้วกลายเป็นการถกเถียงกัน ด้วยเหตุผลมากขึ้น แม้จะมีคำหยาบ มีการแสดงความไม่พอใจ มีการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ มีการถกเถียงในประเด็นมากขึ้น แล้วมันทำให้เรื่องเครื่องแบบชุดนักศึกษา ถูกดีเบตในสังคม อย่างไม่เคยมีมาก่อน คือคุณเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตามแต่สิ่งนี้มันนำไปสู่จุดนั้นได้

-เป็นแอดมิน "ศาสดา" มาครบ 2 ปี เห็นอะไรเปลี่ยนไปในโลกออนไลน์

ผมว่าพัฒนาการไปในทางที่ดีมากหลายส่วน เพราะว่า ประมาณ 2-3 ปีก่อน เราจะเห็นชัดเจน วิธีคิดเรื่องการเสียบประจาน การล่าแม่มด เดี๋ยวนี้ลดลงน้อยมาก ถ้ามองในแง่ดีคือ คนจำนวนมาก เกิดการรับรู้ว่า วิธีอย่างนั้น มันไม่ใช่วิธีที่ ถูกต้อง เพราะ ความเห็นทางการเมือง เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับความดีชั่ว ไม่เกี่ยวกับหน้าที่การงาน

ผมคิดว่า เรื่องสมาคมรีพอร์ต ปีที่แล้ว อาจจะเป็นจุดเปลี่ยน ที่สำคัญ ทำให้ระบบการเสียบประจาน การรุมรีพอร์ต หมดไปเลย เพราะตอนนั้นสมาคมรีพอร์ตจะมารุมรีพอร์ต เพจผมกับเพจโหดสัส ตอนนั้น สมาชิกเพจผมมี 27,000 คน ส่วนสมาคมรีพอร์ต มี 38,000 คน แต่ตอนั้น มีวิกฤตศรัทธา เพราะ คนมองว่า มึงไปรุมรีพอร์ตความเห็นที่แตกต่างทางการเมืองได้ยังไง คนเลยกด unlike เพจสมาคมรีพอร์ต จาก 38,000 คน เหลือ ประมาณ 19,000 คน คือหายไปเกือบครึ่งในวันเดียว เกิดวิกฤตศรัทธาที่แรงมาก หรือเพจ โซเชียลแซงค์ชั่น ก็มีกรณีไปเอาภาพคนอื่นมาผิด คนชื่อเหมือนแต่จริงๆ ผิดพลาด แล้วคุณไม่ขอโทษ ก็มีเรื่องฟ้องร้อง เตรียมปิดตัว

ตอนนี้สมาคมรีพอร์ตก็จบไป จากเดิมที่บอกว่าจะรีพอร์ต เพจที่เขามองว่าเป็นเพจหมิ่นฯ แต่เขากลับมารุมเพจที่คิดแตกต่างทางการเมือง แล้วตอนนี้ คนก็ยอมรับความหลากหลายทางความคิดมากขึ้น แล้วการไปกล่าวหาว่า เว็บไหนหมิ่นฯ ก็เป็นการทำตัวเหมือนเป็นศาลเตี้ยด้วย

แต่ที่ผ่านมา 2 ปี หลายๆ ส่วนที่น่าสนใจก็คือ ระดับการใช้เหตุผลก็ลดลง สมัยก่อน การด่ากันทางการเมือง มีการพูดถึงนโยบายวิธีคิดพอสมควร เช่น จะประชานิยมหรือไม่ อะไรก็ตาม แต่ 2 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นด่าเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมของผู้นำ หรือคำพูดผิด เขียนผิด ยักคิ้วหลิ่วตา บางเรื่องไม่มีประเด็นอะไรเลย คือระดับการใช้สติปัญญาในการถกเถียงมันลดลงอย่างน่าตกใจ อันนี้ฝ่ายโจมตีรัฐบาล

ส่วนฝ่ายที่ชมรัฐบาลแบบไม่กล้าวิจารณ์อะไรเลยก็มีเหมือนกันทั้งที่ทุกรัฐบาล ก็มีปัญหา อย่างรัฐบาลชุดนี้ กำลังประสบปัญหาจากนโยบายของตัวเองหลายๆ อัน เช่น จำนำข้าว , รถคันแรกไม่ในแง่การยึดรถ แต่ในแง่เงินโดนดูดจากระบบเศรษฐกิจออกไปเยอะ ซึ่งรัฐบาลต้องมีมาตรการอื่นออกมาแก้ไขเรื่องพวกนี้ หรือการแจกแทปเลต แนวคิดดีมาก แต่ในทางปฏิบัติ ไม่ได้ติดตามเท่าที่ควร สิ่งเหล่านี้ต้องวิจารณ์และควรวิจารณ์รัฐบาลตัวเองด้วย ไม่ใช่เงียบเชียบ บางเรื่องไม่ดีก็ต้อเตือนๆ กัน

-มีกรุ๊ปลับ "ศาลาคนเงี่ยน" ในเฟซบุคตั้งเพื่ออะไร

ตอบแบบการตลาด คือ ตั้งมาเป็นแรงจูงใจให้คนมาซื้อหนังสือ ถ้าซื้อก็มีห้องแชทมาเป็นการสนุกขำๆ

-ทำไมชื่อนี้

ตอนแรกชื่อศาสดา เลาจ์ แต่ผมคิดว่าควรเปลี่ยนชื่อให้ขำขันดีกว่า เปลี่ยนมาล้อเลียนหนังสือ "ศาลาคนเศร้า"  เราไม่ใช่คนเศร้า แต่เราเป็นอย่างอื่นก็เลยเป็น "ศาลาคนเงี่ยน" ทีนี้ พอเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา สมาชิกเยอะขึ้นก็คิดว่าอาจจะไม่เหมาะ เพราะบางคนก็ไม่ได้ห่ามเหมือนเรา เขาก็มีสติ มีฐานะทางสังคม แต่เปลี่ยนไปชื่อเดิมไม่ได้แล้ว เพราะ ระบบของเฟซบุคล็อค ไม่ให้เปลี่ยนกลับไป เพราะสมาชิกเกิน 200 คน ห้ามเปลี่ยนกลับ  

-ชื่อห้องแบบนี้ จะเปิดโอกาสให้ไปนัดแนะไปร่วมเพศ หรือสวิงกิ้ง หรือเปล่า

ไม่ใช่เลย ไม่ทำ ผิดกฎหมายและไม่ทำอย่างนั้น ไม่สนับสนุนด้วยนะ ถ้ามีใครมาโพสต์แบบนั้น ผมลบหมด เคยมีคนโพสต์แนะนำสถานที่เที่ยว บอกราคา ผมลบหมด เพราะ สุ่มเสี่ยงต่อกฎหมาย ผมรับผิดชอบไม่ได้

ห้องนี้ไม่มีนัดไปสวิงกิ้ง หรือนัดไปร่วมเพศ หรือแม้กระทั่งการขายบริการ ทั้งหมดเราลบตลอด เพราะ กลุ่มนี้มีเอาไว้ปรึกษาปัญหาเรื่องเพศกัน ขำๆ เช่น ผัวฉันไม่แฮปปี้เพราะอะไร เมียฉันบ่นเรื่องนั้นเรื่องนี้ มาคุยขำๆ บางคนตูดดำก็เอาภาพมาลงว่าฉันตูดดำจังเลย ไม่ใช่ภาพโป๊ แต่เป็นภาพแก้มก้นน่ารักมาก เป็นภาพน่ารักทุกคนเห็นแล้วอยากจะอ้วก ไม่ได้กระตุ้นอารมณ์ทางเพศอะไรเลย ถ้ากระทรวงไอซีทีบอกว่าผิด จะบอกว่าผิดข้อหาทำให้คนอ้วกเหรอ ใช่ไหม เขาเอาภาพก้นดำมาลงแล้วถามว่าต้องใช้ครีมอะไร มันเป็นการสื่อทางเพศตรงไหน ใช่ไหมฮ่ะ กลุ่มนี้ตลกขำขัน ไม่มีการเมืองด้วย เพราะ คุยการเมืองหน้าเพจเยอะแล้ว ควรจะมี space ที่เราคุยเรื่องขำขันผ่อนคลายไม่มีสีไม่มีฝั่งกันบ้าง

-มีคนอยากเข้าไปเยอะ แต่ทำไม ศาสดา มีเงื่อนไข

คนที่จะเข้าไปได้ ต้องเคยซื้อหนังสือ หรือ เคยซื้อเสื้อผมก่อน  ผมถือว่าคุณอุปการะผม ผมตอบแทน นอกจากจะขายของแล้วก็ให้ได้เข้ามาคุยขำขัน โดยให้แจ้งมาหลังไมค์ว่าชื่ออะไรซื้อเมื่อไหร่จึงจะกดรับได้ บางคนบอกว่าขอเข้าฟรี แต่ถ้าให้เข้าฟรี แล้วผมจะตอบคนที่จ่ายตังค์ยังไง มันเป็น privilege ที่ให้คนที่อุปการะจริงๆ

-สมาชิกใช้แอคเคาท์ชื่อจริงในเฟซบุค เข้ากลุ่มหรือเปล่า

ส่วนใหญ่ก็เป็นแอคเคาท์ ที่เขาใช้จริงหมดเลย บางคนเป็นทหาร ตำรวจ เป็นรอง ผอ.โรงพยาบาล เป็นเจ้าหน้าที่ เป็นเจ้าของผับ เป็นเศรษฐีร้อยล้าน

-ในกรุ๊ปลับนั้น มีไอดอลตัวจริงอย่าง อาจารย์ธเนศ อาจารย์สมศักดิ์ไหม

คือ ผมอยากให้เขาเข้ามา แต่ผมไม่กล้ากดชวน เพราะ เขาอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องเด็กๆ เล่นกันขำๆ แต่ถ้าเขาอยากเข้า ผมจะใส่พานเชิญ จุดธูป ผมเวลคัม ยินดี แต่ถ้าเขาไม่อยากเข้ามาก็กลัวว่าดึงเข้ามาแล้วเขาจะรำคาญ เพราะเราโพสต์กันเยอะ  

-โลกออนไลน์ กับโลกความเป็นจริง แตกต่างกันมากไหม

แตกต่างกัน อย่างโลกออนไลน์ ก็จะมีวัฒนธรรม มีมุข ที่ถ้าคนไม่ได้ติดตาม ก็ไม่ทราบว่านี่เป็นมุข หรือเป็นเรื่องจริง

-ฟีดแบค หนังสือเล่มแรก เป็นอย่างไร

หลายคนบอกว่า ไม่เคยอ่านหนังสือแนวนี้ หลายคนอยากอ่านแนวคิดเชิงวิจารณ์วิพากษ์ แต่ด้วยความยากของภาษา เป็นอุปสรรคสำคัญ ไม่ได้หมายถึงภาษาไทยหรืออังกฤษ จริงๆ แล้ว มีคนเขียนหนังสือดีกว่าผมแน่นอน 100%และผมเป็นลูกศิษย์คนเหล่านั้น แต่ผมนำมาย่อยให้คนที่ไม่ได้เรียนสายสังคมศาสตร์ อ่านด้วยภาษาง่ายๆ ผมไม่ได้คิดอะไรใหม่ แต่ผมอ่านคนนั้นคนนี้ แล้วเอามาเล่าให้ฟัง ในสังคมมีคนอยากเสพ ความคิดที่หลากหลายมาก แต่ภาษาเป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถเข้าถึงคลังความรู้มหาศาล

-ชื่อหนังสือ "ความเงี่ยนไม่เคยปราณีใคร" ไม่เห็นสื่อถึง ความเป็นองค์ความรู้อะไร

ตอนแรกจะเขียนเนื้อหาทะลึ่งๆ แต่เขียนไปเขียนมา ออกไปเรื่องอื่น ขณะที่ชื่อยังเป็นชื่อเดิมอยู่ และคำนี้เป็นคำจุดขายในเพจ จึงเอามาตั้งชื่อ บางคนอ่านแล้วพ่อแม่มาเห็น แทนที่จะโดนด่า เพราะหนังสือมีคำหยาบ แต่กลายเป็นว่า พ่อแม่มาตามเพจ ตามทวิตเตอร์เพราะชอบ

-เล่มต่อไปมีไหม ออกมาเมื่อไหร่

เล่มแรก พิมพ์มา 3 ครั้ง ครั้งที่ 3 เปลี่ยนปกใหม่ ซึ่งกำลังขายอยู่ตอนนี้ ส่วนปลายปี จะทำอีก 1 เล่มเป็นเล่ม 2 เนื้อหาไม่ซ้ำเล่มแรก แต่จะต่อยอดไปแตกต่างจากเล่มแรก
หลังจากนั้น จะไปเขียนแนวอื่น เช่นมหาภารตะ สามก๊กฉบับการเมือง ซึ่งกำลังเขียนร่วมกับร่วมกับคุณ "Anthony Yang" แห่งเพจสามก๊ก https://www.facebook.com/samkokview

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวสวนยางบ้านเตาปูนเรียกร้องราคายาง กก.ละ 120 บาท นายกรัฐมนตรีต้องประชุมสภาทุกครั้ง

Posted: 15 Sep 2013 05:00 AM PDT

เกษตรกรปลูกยางพาราชุมนุมปิดทางหลวงหมายเลข 41 ช่วงบ้านเตาปููน และแยกควนหนองหงส์ พร้อมยื่นข้อเรียกร้องรัฐบาล 3 ข้อ และขอให้มาเจรจาในที่ชุมนุม ด้านนายกรัฐมนตรีซึ่งเพิ่งกลับจากต่างประเทศ ขอความร่วมมือผู้ชุมนุมไม่ให้ปิดถนน และหากจะชุมนุมต่อก็ขอให้ชุมนุมในกรอบของกฎหมาย

ที่มา: เฟซบุ๊คุณ Wanchai P.

ตามที่มีการลงนามข้อตกลงระหว่าง พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กับตัวแทนภาคีเครือข่ายเกษตรกรสวนยาง และสวนปาล์ม 16 จังหวัด ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช อย่างไรก็ตามมีเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราและสวนปาล์มบางส่วน เช่น จาก จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชุมพร จ.ระนอง จ.สุราษฏร์ธานี และ จ.ตรัง นำโดย นายศักดิ์สฤษฎิ์  ศรีประศาสตร์ ไม่ยอมรับข้อเสนอและเตรียมเคลื่อนไหวต่อนั้น

ล่าสุดเมื่อคืนที่ผ่านมา (14 ก.ย.) มีผู้ชุมนุมปิดทางหลวงหมายเลข 41 ที่บ้านเตาปูน อ.จุฬาภรณ์ และสี่แยกควนหนองหงส์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช และมีการออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ลงชื่อ นายยอดชาย ดีเจริญ โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้

ประกาศแถลงการฉบับที่ 1 ณ บ้านเตาปูน
เรื่อง ราคาปาล์ม และยางพารา

เนื่องด้วยได้มีการชุมนุมปิดถนนที่บริเวณบ้านตูล และควนหนองหงส์ และไม่มีการตอบรับใดๆ เป็นที่น่าพอใจจากรัฐบาล จึงได้มีการปิดถนนที่บริเวณ้านเตาปูนอีกครั้ง เพื่อยื่นขอเสนอดังนี้ คือ

1. ราคายางแผ่นดิบ 120 บาท
2. ปาล์ม ทะลายละ 7 บาท
3. ให้นายกรัฐมนตรีเข้าประชุมสภาทุกครั้ง

หากไม่ได้ตามข้อเรียกร้อง จะปิดถนนปักหลักการชุมนุมต่อไปเรื่อยๆ โดยจะไม่มีการไปเจรจาที่ไหนเด็ดขาด ถ้ามีการเจรจาให้มาเจรจาต่อหน้าประชาชนที่ตรงนี้ จึงขอเรียนเพื่อทราบไปถึงรัฐบาล

ยอดชาย ดีเจริญ

000

 

ทั้งนี้จากข้อมูลของสำนักงานแขวงการทางนครศรีธรรมราช ที่ 2 จ.นครศรีธรรมราช นั้น แม้จะมีการปิดทางหลวงหมายเลข 41 แต่ผู้ใช้ยวดยานพาหนะยังคงสามารถใช้เส้นทางสำรองได้ โดยขาล่องภาคใต้ เมื่อมาถึงสามแยกสวนผักให้เลี้ยวซ้ายเข้าตัวเมืองนครศรีธรรมราช  ส่วนผู้ที่เดินทางขาขึ้นจาก จ.พัทลุง เมื่อมาถึงบ้านไม้เสียบ สามารถเลี่ยงแยกควนหนองหงส์ได้ โดยผ่านเข้าไปทางตัว อ.ชะอวด ก่อนแยกไปทางบ้านตูล –บ่อล้อ เข้าตัวเมือง จ.นครศรีธรรมราช หรือเลี้ยวซ้ายที่สี่แยกควนหนองหงษ์ เพื่อเข้าสู่ ต.กะปาง อ.ทุ่งสง จ.พัทลุง ได้

ทั้งนี้ ประชาชาติธุรกิจ รายงานคำพูดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ภายหลังจากกลับมาจากภารกิจต่างประเทศด้วยว่า "ขอความร่วมมือเกษตรกรสวนยาง ให้ยุติการปิดถนน เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคเศรษฐกิจและการสัญจรของบุคคลทั่วไป เนื่องจากแนวทางแก้ไขปัญหาช่วยเหลือปัจจัยการผลิต จำนวน 2,520 บาทต่อไร่ จำนวน 25 ไร่ เป็นที่พอใจของเกษตรกรส่วนใหญ่แล้ว จึงขอให้เคารพมติเสียงส่วนใหญ่ด้วย แต่หากไม่ยุติการชุมนุม ขอให้ชุมนุมภายใต้กรอบของกฏหมาย เพื่อความสงบเรียบร้อย"

ขณะเดียวกันในวันนี้ (15 ก.ย.) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้มีผู้ชุมนุมกลุ่มหน้ากากกายฟอว์กส์ หรือหน้ากากขาว ไปประท้วงการเยือนต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทางการเม็กซิโกสลายการชุมนุมสหภาพครูที่ประท้วงกม.ปฏิรูปการศึกษา

Posted: 15 Sep 2013 04:10 AM PDT

เจ้าหน้าที่ตำรวจเม็กซิโกใช้แก๊สน้ำตาและปืนน้ำสลายการชุมนุมที่จัตุรัสโซคาโต เม็กซิโกซิตี้ อ้างเพื่อเปิดทางให้กับการจัดงานวันประกาศเอกราช ขณะที่บางส่วนมองว่าการปฏิรูปจะช่วยพัฒนาการศึกษาในเม็กซิโกซึ่งสหภาพครูมีอำนาจในการจัดการมากเกินไปจนเกิดการทุจริต

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2013 เจ้าหน้าที่ตำรวจในเม็กซิโกซิตี้ปะทะกับผู้ชุมนุมกลุ่มครูอาจารย์ที่หยุดงานประท้วง จากการพยายามเคลียร์พื้นที่จัตุรัสโซคาโต ในเมืองเม็กซิโกซิตี้ โดยมีการยิงแก็สน้ำตาและกระสุนน้ำใส่ผู้ชุมนุม ขณะที่ทางฝ่ายผู้ชุมนุมได้ขว้างปาระเบิดขวดเพื่อตอบโต้

กลุ่มครูในเม็กซิโกปักหลักชุมนุมอยู่ที่จัตุรัสครั้งล่าสุดหลังจากที่ประธานาธิบดีเอนริค เปนา นิเอโต จากพรรค PRI ลงนามอนุมัติกฏหมายปฏิรูปการศึกษาเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ก็มีการประท้วงเป็นเวลายาวนานเกือบเดือนจนทำให้สภาพของกรุงเม็กซิโกซิคี้เกิดความชะงักงันในหลายส่วน

เจ้าหน้าที่ทางการเม็กซิโกเปิดเผยว่าเหตุที่พวกเขาต้องสลายการชุมนุมในโซคาโตเนื่องจากต้องใช้พื้นที่จัตุรัสในการจัดงานเฉลิมฉลองวันประกาศเอกราชช่วงสุดสุปดาห์นี้ โดยที่ผู้ประท้วงบางส่วนได้ออกจากพื้นที่อย่างสงบภายในวันศุกร์ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันที่ทางการกำหนดเส้นตายไว้ แต่มีบางส่วนที่ยังคงอยู่ในพื้นที่จนกระทั่งปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีการเสริมกำลังโดยรถหุ้มเกราะและเฮลิคอปเตอร์

ผู้สื่อข่าววิลล์ แกรนต์ ของ BBC รายงานจากในพื้นที่ว่าฝ่ายรัฐบาลสามารถเคลียร์พื้นที่จัตุรัสได้สำเร็จ โดยทางเจ้าหน้าที่ได้รื้อที่พักชั่วคราวของกลุ่มผู้ชุมนุม ดับเพลิงที่ผู้ชุมนุมก่อไว้ รวมถึงจับกุมผู้ชุมนุมได้บางส่วน ผู้สื่อข่าว BBC กล่าวอีกว่ามีความเป็นไปได้ที่ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งจะเป็นนักกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลอย่างสุดโต่งซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับสหภาพครูที่มาประท้วงเลย

ผู้ชุมนุมหลักๆ หลายพันคนมาจากสมาพันธ์บุคลากรด้านการศึกษาแห่งชาติ (CNTE) เพื่อประท้วงการปฏิรูปกฏหมายครั้งล่าสุดของรัฐบาลซึ่งบังคับให้ครูต้องผ่านการสอบคัดเลือกด้านความสามารถ

รัฐบาลเม็กซิโกและนักวิจารณ์กล่าวว่าฝ่ายสหภาพครูของเม็กซิโกมีอำนาจมากเกินไปในการจัดสรรงาน มีการทุจริต ทำให้มีการเลื่อนขั้นให้กับครูที่มีความสามารถต่ำแทนการเลื่อนขั้นให้กับคนที่มีประสิทธิภาพมากกว่า โดยโรงเรียนในเม็กซิโกถูกจัดว่ามีมาตรฐานการศึกษาในระดับต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอื่นๆ ในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) 34 ประเทศ

สำนักข่าวอัลจาซีร่าระบุว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาด้านการศึกษาในเม็กซิโกคือการที่สหภาพครูมีความสัมพันธ์กับพรรคการเมือง PRI มาครึ่งศตวรรษ ทำให้สหภาพมีอำนาจในระบบการศึกษาเพื่อแลกกับการส่งเสริมพรรคทั้งจากการลงคะแนนเสียงและการชุมนุมบนท้องถนน


เรียบเรียงจาก

Mexico teachers clash with police in Zocalo Square, BBC, 14-09-2013

Mexico's teachers protest against new law, Aljazeera, 14-09-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภิกษุณีกับสิทธิสตรี

Posted: 15 Sep 2013 01:00 AM PDT


ภาพจาก http://www.thaihealth.or.th/partner/partner_stor/23679


มีบางอย่างที่ติดค้างอยู่ในใจจากการไปร่วมเสวนาเรื่อง "สตรีศึกษาพบพระพุทธศาสนา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา คือผมแปลกใจเมื่อได้ฟังวิทยากรสตรีท่านหนึ่งกล่าวว่า "พุทธศาสนาถือว่าจะบวชไม่บวชก็บรรลุธรรมได้อยู่แล้ว ที่เรียกร้องการบวชภิกษุณีนั้นใช่ความต้องการของผู้หญิงส่วนใหญ่หรือไม่ เป็นเสียงเรียกร้องแทนผู้หญิงส่วนใหญ่ได้หรือไม่" และวิทยากรสตรีทั้งสองคนต่างยืนยันว่าสิทธิการบวชภิกษุณีไม่เกี่ยวกับสิทธิสตรีซึ่งเป็น "ความคิดแบบตะวันตก"

จะว่าไปแม้แต่ภิกษุณีรูปแรกของไทยคือ พระธัมมนันทาภิกษุณีเองก็เคยให้สัมภาษณ์ในรายกายทีวีทำนองว่า "สิทธิการบวชภิกษุณีเป็นสิทธิที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้แล้ว การเรียกร้องสิทธิการบวชภิกษุณีควรเรียกร้องบนจุดยืนของสิทธิที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้แล้วก็เพียงพอ ไม่ควรเรียกร้องบนจุดยืนสิทธิสตรีซึ่งเป็นความคิดตะวันตก"

ผมเข้าใจว่าทรรศนะเช่นนี้น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากพระสงฆ์หรือปราชญ์ทางพุทธศาสนาในบ้านเราที่มักมีท่าทีที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับสิ่งที่เรียกว่า "ความคิดตะวันตก" เพราะต้องการยืนยัน "ความบริสุทธิ์" เที่ยงตรงของพระธรรมวินัย ฉะนั้น เวลาถกเถียงเรื่องการบวชภิกษุณีหรือสถานะของภิกษุณีไทยจึงมักถกเถียงกันบน "มายาคติ" ที่จินตนาการขึ้นมาว่า

1. มี "พุทธเถรวาทที่บริสุทธิ์" ตามมติสังคายนาครั้งที่ 1 อยู่จริง และมีอยู่อย่างแน่นอนตายตัวเป็น "ภววิสัย" หน้าที่ของพระสงฆ์และชาวพุทธไทยคือปกป้องรักพุทธเถรวาทที่บริสุทธิ์นี้ไว้ ฉะนั้น จึงยอมรับภิกษุณีที่บวชมาจากศรีลังกาไม่ได้เพราะไม่ใช่เถรวาทที่บริสุทธิ์ เนื่องจากภิกษุณีในพุทธเถรวาทเดิมที่ถือมติสังคายนาครั้งที่ 1 ขาดสายไปแล้ว ภิกษุณีศรีลังกาก็ไปบวชในนิกายธัมมคุตติกะหรือธรรมคุปตก์ในประเทศจีนราวพุทธศตวรรษที่ 10 ซึ่งเป็นนิกายที่แยกออกไปจากเถรวาทเดิม

ฉะนั้น คณะสงฆ์ส่วนน้อยของศรีลังกาที่ยอมรับภิกษุณีที่บวชมาจากจีนจึงถูกมองว่าเป็น "เถรวาทกลาย" ไม่ใช่เถรวาทแท้ หากคณะสงฆ์ไทยยอมรับภิกษุณีที่บวชจากศรีลังกา (และที่อื่นซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 40 รูป) คณะสงฆ์ไทยก็จะถูกมองว่าเป็นเถรวาทกลาย ไม่ใช่เถรวาทแท้

ประเด็นคือ อะไรคือเกณฑ์ตัดสินความเป็นเถรวาทแท้หรือเถรวาทกลาย "พิธีกรรม" หรือ "เนื้อหา" กันแน่ ถ้าในแง่พิธีกรรม ภิกษุณีศรีลังกาก็ผ่านพิธีกรรมการบวชภิกษุณีจากนิกายธรรมคุปตก์ แต่ในแง่เนื้อหาภิกษุณีศรีลังกา (และภิกษุณีไทยที่บวชจากศรีลังกา) ก็ถือวินัย 311 ข้อ ตามมติสังคายนาครั้งที่ 1 ที่บันทึกไว้ในวินัยปิฎก ฉะนั้น ในแง่เนื้อหาย่อมถือว่าภิกษุณีศรีลังกาและภิกษุณีไทยคือเถรวาทแท้ แต่ในแง่พิธีกรรมการบวชที่สืบจากจีนคือเถรวาทกลาย

แต่ปัญหาคือ ถ้าอ้างพิธีกรรมเป็นมาตรฐานตัดสินความเป็น "เถรวาทกลาย" ถามว่าพิธีกรรมต่างๆของคณะสงฆ์ไทยยังเป็นไปตาม "ประเพณี" (tradition) หรือมติของเถรวาทเดิมในการสังคายนาครั้งที่ 1 หรือไม่ เช่น พิธีกรรมการบวชพระในสมัยพุทธกาลตามมติสังคายนาครั้งที่ 1 ไม่ว่าพุทธะบวชให้เอง พระสาวกบวชให้ หรือสงฆ์บวชให้จะต้องระบุเป้าหมายหลักของการบวชเอาไว้ว่า "เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง" (นิพฺพานสจฺฉิกรณตฺถาย) แต่พิธีบวชพระของคณะสงฆ์ไทยกลับตัดข้อความนี้ออกไป

ฉะนั้น จะถือว่าคณะสงฆ์ไทยเป็นเถรวาทกลายหรือไม่ เพราะไม่ได้ยึดเป้าหมายของการบวชแบบสมัยพุทธกาลตามมติสังคายนาครั้งที่ 1 ที่ถือกันว่าเป็นเถรวาทแท้ เป้าหมายการบวชของคณะสงฆ์ไทยทุกวันนี้ "กลายพันธุ์" ไปมาก เช่นบวชแก้บน บวชก่อนเบียด บวชแทนคุณ บวชเรียนเพื่อสึกไปทำงาน มีการสร้างองค์กรสงฆ์ที่ปกครองโดยกฎหมายของรัฐ มีระบบสมณศักดิ์ มีพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ แบบพราหมณ์ มีพิธีปลุกเสกกันแทบทุกวัด ซึ่งพิธีกรรมเหล่านี้ไม่เคยมีในสมัยพุทธกาล และไม่มีอยู่ในมติของการสังคายนาครั้งที่ 1 สมัยนั้นแม้แต่พระพุทธรูปก็ยังไม่มี

คำถามคือว่า ถ้าใช้พิธีกรรมเป็นมาตรฐานตัดสินความเป็น "เถรวาทกลาย" ของภิกษุณี ทำไมไม่ใช้มาตรฐานเดียวกันนี้มาตัดสินความเป็นเถรวาทกลายของคณะสงฆ์ไทยด้วย โดยพิธีกรรม จารีตประเพณี วิถีชีวิตที่เป็นจริงของคณะสงฆ์ไทยปัจจุบันมี "เนื้อหา" อะไรบ้างที่ตรงกับหรือสอดคล้องกับเถรวาทแท้ (?) ตามมติสังคายนาครั้งที่ 1 จริงๆ

ถ้าในความเป็นจริงสงฆ์ไทยก็ไม่ใช่เถรวาทแท้ตรงตามต้นฉบับสังคายนาครั้งที่ 1 จริงๆ แล้วสงฆ์ไทยมีความชอบธรรมอะไรที่จะไปตัดสินว่าภิกษุณีเป็นเถรวาทกลาย เถรวาทไม่แท้

2. การมองว่าสิทธิการบวชภิกษุณีไม่เกี่ยวกับสิทธิสตรี สิทธิมนุษยชน ซึ่งเท่ากับกำลังมองว่าธรรมวินัยของพุทธะลอยอยู่เหนือบริบททางสังคมและวัฒนธรรม แต่ตามหลักฐานในพระไตรปิฎก ธรรมวินัยของพุทธะมีปฏิสัมพันธ์กับบริบทเสมอ คือพุทธะสอนธรรมและบัญญัติวินัยภิกษุ ภิกษุณีอย่างสัมพันธ์กับบริบทของทุกข์หรือปัญหาของบุคคล เวลา สถานที่ และบริบททางสังคมวัฒนธรรม เช่นครุธรรม 8 ก็บัญญัติขึ้นโดยยอมรับบริบทวัฒนธรรมทางเพศในสมัยนั้นเป็นต้น

แต่พุทธะก็ได้วางหลักการกว้างๆ (หลักมหาปเทศ) ไว้ว่า "สิ่งใดที่ตถาคตไม่ได้กล่าวไว้ว่าควร แต่เข้ากันได้กับสิ่งที่ตถาคตกล่าวไว้ว่าควร ก็สมควรรับมาปฏิบัติได้" พูดในภาษาวิชาการหลักการนี้คือ "ทฤษฎีความสอดคล้องของมโนทัศน์ (concepts)" ฉะนั้น แม้สิทธิสตรี สิทธิมนุษยชนจะเป็นความคิดตะวันตก ไม่ใช่สิ่งที่พุทธะกล่าวไว้โดยตรง แต่สาระสำคัญคือการยืนยัน "ความเสมอภาคของมนุษย์" ซึ่งสอดคล้องกับเหตุผลที่พุทธะอนุญาตให้สตรีบวชเพราะถือว่า "สตรีมีศักยภาพบรรลุธรรมได้เช่นเดียวกันกับบุรุษ" หมายความว่า มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศใดต่างมีความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ เพราะมีพุทธภาวะ ความเป็นพุทธะ หรือศักยภาพที่จะรู้ธรรมอยู่ในตนเองเสมอเหมือนกัน

ฉะนั้น ผมจึงยืนยันว่า ในเมื่อธรรมวินัยของพุทธะมีความสัมพันธ์กับบริบททางสังคมวัฒนธรรมตั้งแต่แรก เมื่อธรรมวินัยนั้นมาอยู่ในบริบทของโลกสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิสตรี สิทธิมนุษยชน ธรรมวินัยก็ต้องถูกตีความอย่างสัมพันธ์กับบริบทสมัยใหม่ในทางที่เกื้อกูลแก่กัน (สมัยราชาธิปไตยทำไมตีความพุทธศาสนายกผู้ปกครองให้เป็นเทวดาได้?) เราจึงควรอ้างสิทธิสตรี สิทธิมนุษยชนสนับสนุนสิทธิการบวชภิกษุณีได้

เมื่อมีจุดยืนชัดเจนแบบนี้ แม้จะมีผู้หญิงเพียงคนเดียวเรียกร้องสิทธิการบวชภิกษุณีและมีเงื่อนไขให้บวชได้ เช่นไปบวชมาจากต่างประเทศเป็นต้น ชาวพุทธก็ต้องเคารพและปกป้องสิทธิดังกล่าวนี้

ผมคิดว่าแม้ภิกษุณีก็ควรมีบทบาทในการตีความพุทธศาสนาสนับสนุนสิทธิเท่าเทียมของสตรีในเรื่องอื่นๆด้วย เราควรสนับสนุนการบวชภิกษุณีพร้อมๆ กับสนับสนุน "อำนาจในตัวเอง" หรือ "ความเป็นอิสระ" (autonomy) ของสตรีในบทบาทการศึกษาตีความพุทธศาสนาที่พ้นไปจากกรอบการตีความพุทธศาสนาแบบผู้ชายเป็นใหญ่ สนับสนุนบทบาทนำทางวิชาการ ทางความคิดของสตรีในทางพุทธศาสนา และในทางอื่นๆ ให้มีพื้นที่และมีเสียงดังมากขึ้น

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน "โลกวันนี้วันสุข" (14-20 กันยายน 2556)
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิธีกรรมการไหว้ครู : จากสังคมไทย สู่วัฒนธรรมโลก

Posted: 15 Sep 2013 12:51 AM PDT

ประการแรก เราควรทำความเข้าใจก่อนว่า การแสดงความเคารพต่อผู้อื่น ไม่ว่าจะแสดงออกมา ในเชิงสัญลักษณ์สมมติใดๆก็ตาม แสดงว่า ผู้นั้นต้องมีความดีอยู่ในตัว เช่น ครู คือผู้สอน คำว่า ครูหรือผู้สอน นี้ ไม่ได้หมายเพียง อาชีพครูอย่างเดียว แต่รวมไปถึง การพบสรรพสิ่ง ที่มีปฏิกิริยาตอบสนอง ต่อสิ่งเร้า แล้วทำให้ตนเอง เกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้น อาจจะประสบมา หรืออย่างไรก็ตาม จัดได้ว่า ทำให้เกิดความคิดและจิตใจ ให้มีการพัฒนาต่อยอดขึ้นได้ เพราะหลักวิชาการทุกแขนง ล้วนมีผู้ให้กำเนิด โดยเฉพาะตนเอง จัดเป็นผู้ให้กำเนิด และต่อยอดความรู้ได้ดีที่สุด

ต่อมา ตามด้วยข้อสังเกตว่า ทุกวันนี้ อาชีพครู ได้กระทำตน ให้มีความน่าเคารพหรือยัง ถ้าได้ประพฤติตามจรรยาบรรณ เช่น สั่งสอนศิษย์ โดยไม่ปิดบังอำพรางความรู้ เชิดชูความดีของศิษย์ ให้ประจักษ์สู่สังคม หรือไม่มีพฤติกรรมทราม อย่างลำเอียงเพราะรัก เพราะหลง ต่อศิษย์ จัดว่า เริ่มเข้าเกณฑ์คุณธรรม ของอาชีพครูแล้ว เพราะครูมืออาชีพ มันอยู่ในจิตวิญญาณ และสายเลือดเท่านั้น ส่วนใบรับรองสถานภาพ อาชีพครูปัจจุบันนี้ เป็นเพียงรูปแบบทั่วไป ที่แสดงให้เห็นถึง ความมีตัวตน มีประโยชน์ต่อความมั่นคงของชีวิต และมาตรฐานของสถาบันการศึกษา

 พิธีกรรมการไหว้ครู ของสังคมไทย ที่ได้มีมาแต่อดีต ถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นรูปแบบกิจกรรมรวมหมู่ ให้สังคมเกิดความสามัคคี  เพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดี ให้มีความปรองดองกันสืบไป เพราะจุดเริ่มต้นของพิธีกรรม ไม่ได้จัดขึ้นเพื่อความยิ่งใหญ่ ให้เสียเวลาเรียน หรืองบประมาณ แต่จัดเพื่อให้คณะครู และศิษย์ ระลึกถึงคุณงามความดี ของกันและกัน  ตลอดถึงพร้อมให้อภัย แล้วเริ่มใหม่กับคำว่า "ดีงาม" ไม่มีครูหรือศิษย์คนใด มีข้อเสียและดีไปหมด แม้แต่คนทั่วไปก็ตาม เพราะมันเป็นเช่นนั้นเอง และถ้าหากอาชีพครู ขาดความน่าเชื่อถือพอ คงไม่มีเหตุผลอะไร ที่จะต้องจัดพิธีกรรมอีกต่อไป

ในขณะเดียวกัน เมื่อครูได้เป็นมืออาชีพแล้ว ลูกศิษย์ก็ควรทำหน้าที่ ให้เหมาะสมกับนักเรียนด้วย เพื่อให้ทั้งครูและศิษย์ พร้อมเพรียงพัฒนาร่วมกันได้ โดยการตั้งใจเรียนวิชาความรู้ของท่าน ด้วยความเคารพตลอดเวลา เป็นต้น

อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่า สรรพสิ่งล้วนเป็นผู้สอนเรา โดยเฉพาะมนุษย์ เป็นธรรมชาติของสัตว์สังคม ที่ต้องเรียนรู้ เพื่อให้อยู่ด้วยกันได้ และปลอดภัย อย่างมีความสุข เพราะได้หล่อหลอมพฤติกรรม ให้เกิดเป็นสามัคคีธรรมขึ้นมา และการมีข้อเสีย ข้อดี ของแต่ละคนนั้น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการหลอมรวม จึงต้องใช้ธรรมให้อภัย ระลึกถึงความดีของกัน มาเป็นจุดรวมของสังคม

ดังนั้น มนุษย์ทุกคน จึงเป็นแหล่งศึกษาพฤติกรรมอันล้ำค่า เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ ทั้งสิ่งที่ดี และไม่ดี ต่างคนต่างได้เรียนรู้เพื่อพัฒนาตน โดยการดูผู้อื่นเป็นบทเรียนหรือเป็นตัวอย่าง และชักจูงผู้อื่นให้มีความเจริญไปพร้อมกัน

พิธีกรรมการไหว้ครู จึงแสดงถึงคุณค่าของมนุษย์สังคมได้ดีอีกทางหนึ่ง ที่แสดงความเคารพต่อกัน สิ่งดีงามเหล่านี้ จึงเป็นวัฒนธรรมอันล้ำค่าของไทย เพราะได้ทำตามประสงค์ของคนมีวัฒนธรรม เมื่อสังคมไทยเข้าใจหลักของพิธีกรรมจริงๆแล้ว ก็อย่าหยุดติดอยู่แค่เปลือก  แต่จงยึดแก่น แล้วดำเนินชีวิตของนักศึกษา ให้มีความเจริญทางจิตใจ ให้ถึงที่สุด จนถึงการเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณ เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ ให้หมุนไปข้างหน้าพร้อมกับความเจริญรุ่งเรือง  เป็นอันหวังได้และไม่เกินวิสัยของมนุษย์โดยแท้

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อุบลฯ ผนึกกำลังเครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่องานพัฒนาสังคม

Posted: 14 Sep 2013 11:30 PM PDT


 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา นักเรียนห้องเรียนพลเมืองรุ่นใหม่ ร่วมกับฟรีดอม โซน อุบลราชธานี จัดงาน "สร้างเครือข่ายกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่" ณ อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย จังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของบทบาทคนรุ่นใหม่ ต่อการทำงานอาสาเพื่อสังคมและการจัดกิจกรรมพัฒนาสังคม โดยมุ่งพัฒนากิจกรรมของคนรุ่นใหม่ที่หลากหลายให้เกิดการสร้างสร้างเครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่สามารถดำเนินงานและรณรงค์ประเด็นสาธารณะผ่านสื่อออนไลน์ สร้างความตระหนักถึงกิจกรรมอาสาและกิจกรรมพัฒนาทางสังคม ให้คนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมสามารถมองเห็นจุดอ่อนจุดแข็งในการดำเนินงานแต่ละครั้ง ที่จะก่อให้เกิดกิจกรรมสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างคนรุ่นใหม่ในพื้นที่

ประกอบด้วยกิจกรรมตั้งวงสนทนา "บทบาทคนรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนงานเพื่อสาธารณะและการมีส่วนร่วมทางการเมือง" ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากประสบการณ์การทำงานที่มีทั้งผลสำเร็จและความล้อมเหลว การดำเนินงานของคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์หลากหลายแต่ขาดประสบการณ์ในการวางแผนโครงการ วางแผนการทำงานทำให้เป็นปัญหาในการเสนอโครงการเพื่อของบประมาณสนับสนุนจากแหล่งทุนสนับสนุนทำให้คนรุ่นใหม่หายคนหมดกำลังใจในการดำเนินงานพัฒนาสังคม แม้จะมีใจและอุดมการณ์ แต่เมื่อเจออุปสรรค์ทำให้คนรุ่นใหม่ถอดใจ และอนาคตคนรุ่นใหม่ที่สนใจงานพัฒนาจะน้อยลง การได้รับการส่งเสริมจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและแหล่งงบประมาณสนับสนุนจึงถือว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยสนับสนุนองค์กรรุ่นใหม่ในการพัฒนาสังคมต่อไป

นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ระดมความคิดเพื่อ "การสร้างเครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการะกระตุ้นกิจกรรมพัฒนาสังคมในอนาคต" และวาง "ร่างข้อตกลงเครือข่าย คัดเลือกคณะกรรมการ" ที่อยากเห็นคนรุ่นใหม่ร่วมมือกันดำเนินกิจกรรมอาสาพัฒนาโดยไม่มุ่งเพื่อการแข่งขันและสร้างผลงานของแต่ละองค์กร เพราะเป้าหมายสูงสุดในการทำงานของแต่ละองค์กรมุ่งสู่จุดเดียวกันนั่นคือ "เพื่อสาธารณะ" หากองค์กรคนรุ่นใหม่รวมตัวกันได้จะทำให้เกิดพลังในการต่อรอง หรือการพูดคุยในการของบประมาณสนับสนุนจากแหล่งทุนและการผลักดันนโยบายสาธารณะกับภาครัฐทั้งระดับท้องถิ่น และระดับชาติต่อไป

นายธนาวุฒิ ภักดียา ผู้เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า "หากการดำเนินกิจกรรมของคนรุ่นใหม่ในรูปแบบเครือข่ายสามารถเกิดขึ้นได้นั้น จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการส่งเสริมบทบาทคนรุ่นใหม่ในการดำเนินงานเพื่อสาธารณะ ทั้งจะช่วยในการพัฒนาองค์กรของคนรุ่นใหม่เองในการพัฒนารูปแบบกิจกรรม และการดำเนินการกับสังคมภายนอกได้จริงต่อไป"
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กฎหมายยังไม่ได้ใช้ ทำไมรัฐเสนอร่างกฎหมายยุบเลิก กอช.

Posted: 14 Sep 2013 07:05 PM PDT

แม้นว่าขณะนี้มีร่างกฎหมายหลายเรื่องที่รัฐบาลเห็นว่าสำคัญเร่งด่วนกว่าในสายตาของพรรคการเมืองที่ถือเสียงข้างมากอยู่ในสภาฯ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ศ.... ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านๆ จนทำให้ร่างกฎหมายหลายฉบับที่สำคัญกับปากท้องประชาชนถูกละเลยไม่มีการติดตามบังคับใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชน อย่างเช่น พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 (กอช.)

นับเป็นเวลากว่าสองปี หลังจากเปลี่ยนรัฐบาลจากพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นพรรคเพื่อไทยภายใต้ความรับผิดชอบของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ไม่ยอมดำเนินเปิดรับสมัครสมาชิก แม้นหลายกลุ่มของภาคประชาชนที่จะได้รับประโยชน์ทั้งโดยตรง และโดยอ้อมจะออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เปิดรับสมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อสร้างหลักประกันให้กับประชาชนในยามชราภาพอีกทางเลือกหนึ่งอย่างมีศักดิ์ศรี

ที่ผ่านมา นายกิตติรัตน์ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพยายามอ้างในการไม่บังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ก็คือ การอ้างว่ากลัวความซ้ำซ้อนในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบ กลัวรัฐบาลเสียเงินซ้ำซ้อน และที่สำคัญคือขอศึกษาเพื่อเสนอแก้ไขกฎหมายในบางมาตรา กระทั่งในกลางปี 2555 นายกิตติรัตน์ รมว.กระทรวงการคลัง ก็พยายามหาทางออกให้กับตัวเอง และรัฐบาล โดยการผลักดันและตกลงกันระหว่างกระทรวงที่พรรคเพื่อไทยดูแลอยู่คือ กระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงาน ให้โอนกองทุนการออมแห่งชาติ มาอยู่กับ กองทุนประกันสังคม มาตรา 40 แต่ก็ยังดำเนินการอย่างใจชอบไม่ได้ถนัดนัก เนื่องจากทางสำนักงานประกันสังคม ก็มิได้ยินดีที่จะได้รับมรดกที่ตนเองไม่ได้สร้างขึ้น เพียงแต่ขัดฝ่ายการเมืองไม่ได้เท่านั้น

หลังจากที่เครือข่ายบำนาญภาคประชาชน (คบช.) เครือข่ายผู้สูงอายุแห่งชาติ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการแรงงาน และสวัสดิการสังคม รวมถึงเครือข่ายวุฒิสมาชิก (สว.) ได้ขับเคลื่อนตั้งคำถาม และพยายามอธิบายให้เห็นว่า กองทุนการออมแห่งชาติ สมาชิกที่สมัครไม่ใช่แค่กลุ่มแรงงานนอกระบบ แต่เป็นกลุ่มประชาชนทั้งประเทศที่มีอายุ 15 – 60 ปี เป็นกองทุนแบบสมัครใจออม ไม่บังคับรัฐจ่ายสมทบร่วมกับประชาชนที่เป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เน้นศักดิ์ศรีการออมมากกว่าจะเป็นการพึ่งรัฐบาลฝ่ายเดียวเมื่อยามชราภาพ อีกทั้งกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการทำงานบริหาร และเปิดการออมเลย ยังไม่เห็นปัญหา และประเมินความสำเร็จในเบื้องต้นได้ แต่กลับกลายมาออกร่างกฎหมายยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

สถานการณ์ล่าสุดภาคประชาชนได้รวมตัวกันยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2556 โดยร้องว่า "นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง (สศค.) ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ทำให้ประชาชนเสียหายในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ ส่งเสริมความชราภาพ" ซึ่งการขับเคลื่อนครั้งนี้ของภาคประชาชน ประเมินอาจส่งผลให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องปัดปัญหาที่ตนเอง และพรรคเพื่อไทยพยายามสร้างขึ้นมาโดยตลอด เพื่อให้ตนเองพ้นผิด โดยใช้จังหวะที่การเมืองไม่ปกติ เสนอให้มีการออกร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ ทั้งนี้จะมีการนำเข้าเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบก่อนนำเข้าสภาผู้แทนราษฎรที่รัฐบาลมีเสียงข้างมากร่วมกันยกมือผ่านกฎหมายยกเลิก กอช.เพื่อให้ตนเองพ้นผิด

นักวิชาการแรงงานมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ ที่ออกมาตั้งคำถามอย่างน่าสนใจว่า ความจำในการยุบเลิก กอช.เป็นความจำเป็นของใคร ในการเสนอร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ เมื่อบ่ายวันที่ 16 สิงหาคม 2556 ได้รับหนังสือด่วนที่ กค1007/ว2817 จากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเรื่องขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติพ.ศ....โดยได้ระบุเหตุผลความจำเป็นในการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า "เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2556 อนุมัติหลักการของร่างพระราชกำหนดหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของผลประโยชน์ ทดแทนตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่เสนอโดยกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีสาระสำคัญในการเพิ่มรูปแบบความคุ้มครองประกันสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบ ภายใต้มาตรา 40 ของกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม โดยนำหลักเกณฑ์ของ กอช.มาปรับใช้ โดยเฉพาะการกำหนดประโยชน์ทดแทนในรูปบำนาญชราภาพสำหรับผู้ที่ส่งเงินออมตามระยะเวลาที่กำหนด (หากส่งเงินออมน้อยกว่าระยะเวลาที่กำหนดจะได้รับเป็นบำเหน็จชราภาพ) และการให้เงินสมทบจากรัฐ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของ กอช. จะสามารถสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนและเลือกรูปแบบความคุ้มครองในลักษณะเดียวกันได้ ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงเห็นควรเสนอร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. .... เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงานและเป็นการลดภาระงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงานของกองทุน"

แต่นักวิชาการและภาคประชาชนมองว่า กฎหมาย กอช.แตกต่างกับประกันสังคม มาตรา 40 คือ กฎหมาย กอช.กำหนดให้จ่ายเงินสะสมขั้นต่ำ 50 บาท, อัตราเงินสะสมอาจเปลี่ยนแปลงโดยคำนึงสภาวะเศรษฐกิจ และจะพิจารณาทบทวนการจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลทุก 5 ปีได้ ขณะที่อัตราเงินสมทบตามมาตรา 40 ขึ้นกับนโยบายรัฐบาล และอาจมีอัตราแน่นอนตลอดไป, รัฐบาลจะค้ำประกันผลตอบแทนการนำเงินสะสมและเงินสมทบไปลงทุนไม่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 12 เดือนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ใหญ่ 5 แห่งและค้ำประกันอัตราบำนาญขั้นต่ำที่จะได้รับด้วย รวมทั้งผู้จัดการ กอช.ไม่ใช่ข้าราชการประจำ แต่มาจากคณะกรรมการ กอช. คัดเลือกสรรหาบุคคลที่เป็นนักบริหารสุจริตมืออาชีพมาทำงานประจำ

และที่สำคัญ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กิตติรัตน์ ณ ระนอง ได้เคยชี้แจงเมื่อปลายปี 2555 ว่าจะปรับปรุงกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ให้ดีขึ้น พอมาต้นปี 2556 บอกว่าจะบูรณาการ กอช.กับประกันสังคมมาตรา 40 โดยบัญชาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์) เร่งเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้เห็นชอบรูปแบบการขยายความคุ้มครองประกันสังคมเป็นทางเลือกที่ 3 ของมาตรา 40 อ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงานและลดภาระงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงานของ กอช. เพราะกลุ่มเป้าหมายของ กอช.คือกลุ่มเดียวกับผู้สมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้ เป็นสวัสดิการชราภาพเหมือนกันและรัฐบาลจ่ายเงินสมทบเช่นเดียวกัน

ข้อเสนอของเครือข่ายบำนาญภาคประชาชน (คบช.) 4 เหตุผลหลักต่อการไม่เห็นด้วยกับการยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจงใจไม่กล่าวถึง หรือมองว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ มีดังนี้

หนึ่ง: การขยายความคุ้มครองประกันสังคมมาตรา 40 ทางเลือก 3 ตามกฎหมายประกันสังคม เป็นสิทธิของกระทรวงแรงงานที่จะดำเนินการอยู่แล้ว แม้ว่าไม่มี พ.ร.บ.กอช. และถือเป็นทางเลือกของประชาชน

พระราชบัญญัติที่ผ่านกระบวนการพิจารณาโดยถูกต้องชอบธรรมของสมาชิกรัฐสภาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วโดยกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ไม่ใช่กฎหมายของรัฐมนตรี หรือรัฐบาลชุดใดที่จะเพิกเฉยละเลยหน้าที่ที่จะดำเนินการหรือไม่ก็ได้

สอง: กฎหมายประกันสังคมมาตรา 40 และกฎหมาย กอช.มีเจตนารมณ์กฎหมายแตกต่างกัน เพราะกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมเป็นเรื่องการจัดสวัสดิการเสริมการสังคมเพื่อคนทำงานเป็นสำคัญต่อยอดเชื่อมเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน และกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานที่มีมาก่อนแล้ว ขณะที่กฎหมาย กอช.มีเจตนารมณ์สร้างหลักประกันชราภาพโดยตรง สอดคล้องกับการสร้างวินัยการออมแบบมีส่วนร่วมจ่ายเงินสะสมของประชาชน และแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐธรรมนูญ มาตรา 84(4) ที่ระบุให้รัฐจัดให้มีการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างทั่วถึง

สาม: กลุ่มเป้าหมายสมาชิก กอช.จะมีฐานสมาชิกกว้างขวางกว่าผู้สมัครเป็นสมาชิกตามมาตรา 40 กฎหมายประกันสังคม กล่าวคือ กฎหมายประกันสังคมมีข้อจำกัดยกเว้น ลูกจ้างจำนวนมาก แตกต่างจากกฎหมาย กอช.ที่ระบุผู้มีสิทธิสมัครสมาชิก กอช.ได้คือไม่เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ซึ่งส่งเงินเพื่อได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ หมายความว่าบุคคลที่เป็นลูกจ้างที่กฎหมายประกันสังคมยกเว้นการคุ้มครองไว้ เช่น ลูกจ้างทำงานบ้าน, ลูกจ้างในกิจการเพาะปลูก ป่าไม้ ประมงและเลี้ยงสัตว์ที่ไม่ถูกจ้างตลอดปี และไม่มีงานลักษณะอื่นร่วมอยู่ด้วย, นักเรียน นักศึกษาที่ทำงานเป็นลูกจ้างในโรงเรียน มหาวิทยาลัย สถานพยาบาล เป็นต้น หรือลูกจ้างในองค์การมหาชนและหน่วยงานรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่ไม่อาจเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคมเพราะพระราชบัญญัติจัดตั้งหน่วยงานยกเว้นไว้ ย่อมจะสมัครสมาชิก กอช.ได้

สี่: การให้แสดงความคิดเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่ กับการเสนอร่าง พ.ร.บ.ยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ ไม่มีข้อมูลว่า กระทรวงการคลังจัดส่งแบบสำรวจความคิดเห็นให้ผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากน้อยเพียงใด ถ้าผู้มีส่วนได้เสียส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการยุบเลิก กอช. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะพิจารณาตัวเอง และดำเนินงานตามกฎหมาย กอช.ต่อไปหรือไม่ หรือเป็นเพียงการสอบถามความคิดเห็น เพื่อสร้างความชอบธรรมในการพิจารณายุบเลิก กอช.ต่อไป การทำช่องทางถามความคิดเห็นลักษณะนี้ย่อมไม่เกิดประโยชน์ และไม่โปร่งใสในการขอประชามติจากภาคประชาชนที่รับประโยชน์จากการมีกฎหมายฉบับนี้ ดังนั้นควรจะมีเวทีและทำประชาพิจารณ์อย่างมีหลักธรรมาภิบาลมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

จากสถานการณ์และข้อเสนอทั้ง 4 เหตุผลของเครือข่ายบำนาญภาคประชาชน (คบช.) ที่เสนอต่อรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษ์ ชินวัตร และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ไตร่ตรองทบทวนและหยุดความคิดยุบเลิก พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ทั้งสองท่านต้องข้ามพ้นความคิดเรื่องการเป็นผลงานของพรรคการเมืองใดๆ แต่ต้องมองว่าประชาชนจะได้ประโยชน์มากมายแค่ไหนถ้าประชาชนในชาติได้อานิสงค์จากการทำงานแบบต่อเนื่องไร้รอยต่อดั่งสโลแกนของพรรคท่านที่ใช้หาเสียงมาโดยตลอด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น