โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

พรรคประชาธิปัตย์ตั้งคณะทำงานติดตามรัฐบาลแก้ปัญหาของเกษตรกรสวนยางพารา

Posted: 03 Sep 2013 11:34 AM PDT

วิทยา แก้วภราดัย เป็นประธานคณะทำงาน ปชป. ติดตามการแก้ปัญหาของรัฐบาล ด้านแกนนำชะอวดยืนยันจะไม่ไปเจรจากับรัฐบาลที่กรุงเทพฯ หากต้องการเจรจาขอให้มาที่ชะอวด ขณะที่ทั้งวันมีรายงานชุมนุมของเกษตรกรสวนยางหลายพื้นที่ทั้งระยอง สุราษฎร์ธานี ตรัง กระบี่ ฯลฯ

พรรคประชาธิปัตย์ตั้งคณะทำงานตรวจสอบรัฐบาลเรื่องแก้ปัญหาสวนยาง

เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส. จ.ตรัง นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส. จ.ระยอง และนายชินวรณ์ บุญยเกียรติ์ ส.ส. จ.นครศรีธรรมราช ร่วมกันแถลงผลการประชุมว่าที่ประชุมได้นำเรื่องปัญหาของเกษตรกรชาวสวนยางเข้าหารือ เนื่องจากขณะนี้ได้มีการยกระดับการชุมนุมเพิ่มขึ้น ทั้งภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลาง และ ภาคใต้   ซึ่งที่ประชุมได้แสดงความกังวลต่อท่าทีเพิกเฉยของรัฐบาล ทั้งที่ก่อนหน้านี้ฝ่ายค้านได้มีความพยายามขอเข้าพบเพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหายางพาราหลายครั้งแต่ไมได้รับความร่วมมือจากรัฐบาล

ทำให้ที่ประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มีมติตั้งคณะทำงานติดตามตรวจสอบการสนองตอบของรัฐบาลต่อข้อเรียกร้องของของเกษตรกรชาวสวนยางพารา โดยมีนายวิทยา แก้วภราดรัย ส.ส. จ.นครศรีธรรมราช เป็นประธาน นายสาธิต  ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง และนายนิพิฏฐ์  อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง เป็นคณะทำงาน โดยคณะทำงานฯ จะเริ่มลงพื้นที่ตั้งแต่พรุ่งนี้ (4 ก.ย.56) เป็นต้นไป ซึ่งจะเริ่มที่ภาคใต้ โดยคณะทำงานจะเน้นในเรื่องการตรวจสอบการสนองตอบของรัฐบาลต่อปัญหาชาวสวนยาง และไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ท่าที ของกลุ่มผู้ชุมนุม

ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เสนอให้รัฐบาลให้ความช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิตเป็นเงินสด ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แก่เกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิ์ หรือสิทธิ์ที่ดินทำกินพื้นที่รายละไม่เกิน 10 ไร่ ในอัตราไร่ละ 1,260 บาท แต่ในส่วนของผู้ที่มีที่ดินทำกินในการผลิตยางเกินกว่า 10 ไร่นั้น จะให้ทางคณะกรรมการ กนย. เป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง พร้อมกันนี้ ยังให้ทาง ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อวงเงิน 5 พันล้านบาท ในการแปรรูปยางแผ่นดิบ และให้ทางธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการโรงงานผลิตยางขนาดใหญ่ วงเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงเครื่องจักร

นอกจากนี้รัฐบาลเตรียมหารือกับตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราจำนวน 15 ราย โดยจะนำมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติไปทำความเข้าใจกับเกษตรกร พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นถึงแนวทางที่เกษตรกรอยากให้มีการดำเนินการ เบื้องต้น กำหนดที่จะหารือกันที่โรงแรมเซ็นทาราศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ

 

แกนนำชะอวดยืนยันไม่ไปเจรจาที่ กทม. เรียกร้องให้รัฐบาลส่งตัวแทนมาเจรจาในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ชุมนุมของเกษตรกรชาวสวนยางพาราเมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราชนั้น แกนนำเกษตรซึ่งชุมนุมปักหลักอยู่ที่ อ.ชะอวด ยืนยันว่าจะไม่ส่งแกนนำ 15 คนไปเจรจากับรัฐบาลที่กรุงเทพ แต่รัฐบาลต้องส่งตัวแทนมาเจรจา และพร้อมยกระดับการชุมนุมหากการเจรจาล้มเหลว

ขณะที่ จ.ระยอง สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า มีชาวสวนยางพาราในจังหวัดระยองจาก 8 อำเภอ และ จ.ชลบุรีบางส่วน ประมาณ 700 คน ได้มาชุมนุมรวมตัวปิดถนนสุขุมวิท ฝั่งขาเข้าตัวเมืองระยอง บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดระยอง ต.เนินพระ อ.เมืองระยอง มีแกนนำคือนายเศรษฐา ปิตุเตชะ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง นายเสนาะ ยมหา นายวิษณุ เกตุสริยา สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และนายสมพร พันธ์เฉลิมชัย นายก อบต.ห้วยทับมอญ อ.เขาชะเมา มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่ประสบปัญหาราคายางตกต่ำโดยเกษตรกรชาวสวนยางพาราจังหวัดระยองไม่ยอมรับหลักการที่ทางรัฐบาลช่วยเหลือ 1,260 บาทต่อไร่ และทางกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางที่มาชุมนุมได้มีการเรียกร้องให้ทางนายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ออกมารับหนังสือ และรายชื่อกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง และมีกำหนดจะชุมนุม เป็นเวลา 3 วัน เพื่อรอฟังคำตอบและในช่วงเที่ยงวันนี้จะมีการเผาหุ่นจำลองของนายกรัฐมนตรีอีกด้วย อย่างไรก็ตามสำหรับการจราจรในบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดระยอง ฝั่งขาเข้าเมืองระยอง ไม่สามารถใช้สัญจรไปมาได้ เนื่องจากมีการตั้งเต็นท์ และใช้รถขยายเสียงเป็นเวทีปราศรัย ปิดถนนไว้ แต่ก็ยังสามารถสัญจรผ่านไปมาได้ โดยใช้ถนนฝั่งขาออกจะไป ต.มาบตาพุด แทน

นอกจากนี้ส่วนที่ จ.สุราษฎร์ธานี มีผู้ชุมนุมบริเวณสามแยกทางหลวง 417 สายท่าอากาศยาน-ตัวเมืองสุราษฎร์ธานี และที่ทางหลวงหมายเลข 41 หน้าสหกรณ์สุราษฎร์ธานี (โคอ็อป) ส่วนที่ จ.กระบี่ มีการชุมนุมปิดถนนเพชรเกษม บริเวณแยกตลาดเก่า อ.เมืองกระบี่ นอกจากนี้มีรายงานการชุมนุมที่สี่แยกอันดามัน อ.ห้วยยอด จ.ตรังด้วยวิทยา แก้วภราดัย เป็นประธานคณะทำงาน ปชป. ติดตามการแก้ปัญหาของรัฐบาล ด้านแกนนำชะอวดยืนยันจะไม่ไปเจรจากับรัฐบาลที่กรุงเทพฯ หากต้องการเจรจาขอให้มาที่ชะอวด ขณะที่ทั้งวันมีรายงานชุมนุมของเกษตรกรสวนยางหลายพื้นที่ทั้งระยอง สุราษฎร์ธานี ตรัง กระบี่ ฯลฯ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาพัฒน์ฯ รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 พบปัญหาเพียบ

Posted: 03 Sep 2013 10:13 AM PDT

สภาพัฒน์ฯ สรุปรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 56 เสนอ ครม.พบการจ้างงานและรายได้เอกชนเพิ่มเล็กน้อย ส่วนเยาวชนเครียด ฆ่าตัวตายมากขึ้น ปัญหายาเสพติดยังรุนแรง และแม่วัยรุ่นเพิ่มจำนวนมากขึ้น

3 ก.ย.56 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สรุปรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2556 เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ใน 4 ประเด็นหลัก คือ การจ้างงานและรายได้, สุขภาพ, พฤติกรรมและความเป็นอยู่ของคนในสังคม และความมั่นคงทางสังคม พบการจ้างงานและรายได้ภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แรงงานกลุ่มเยาวชนลดลงและมีการศึกษาต่ำ เยาวชนเป็นโรคเครียดและฆ่าตัวตายมากขึ้น แนวโน้มคนในสังคมสูบบุหรี่และดื่มสุราลดลง ปัญหายาเสพติดยังคงเป็นสัดส่วนมากที่สุดของคดีอาญา เยาวชนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น และแม่วัยรุ่นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

การจ้างงานและรายได้
มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 อัตราการว่างงานร้อยละ 0.73 ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การปรับค่าแรง 300 บาทและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ผู้ประกอบการปรับเวลาการทำงานให้อยู่ในช่วงเวลาปกติมากขึ้น เอกชนที่มีชั่วโมงการทำงานสูงกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดจำนวนลงร้อยละ 6.8 ในขณะที่ช่วงเดียวกันของปีที่แล้วลดลงร้อยละ 0.4

รายได้ของภาคเอกชนที่ไม่รวมค่าล่วงเวลาและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 ขณะที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ส่งผลให้ค่าจ้างและเงินเดือนภาคเอกชนที่แท้จริงเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 4.5

เยาวชนที่จะเป็นแรงงานหลักในอนาคตมีแนวโน้มลดลงและส่วนใหญ่มีการศึกษาต่ำ โดยลดลงจากร้อยละ 53.1 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 46.8 ในปี 2555 หรือมีประมาณ 4.82 ล้านคน โดยที่เยาวชนราวร้อยละ 40 ยังอยู่ระหว่างการศึกษา  แรงงานกลุ่มเยาวชนร้อยละ 67.9 มีการศึกษาระดับมัธยมต้นและต่ำกว่า และร้อยละ 18.8 มีการศึกษาระดับมัธยมปลาย ขณะที่การศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. ซึ่งตลาดมีความต้องการสูงมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5.7 และ 3.9 ตามลำดับ ที่เหลือร้อยละ 3.7 มีการศึกษาระดับปริญญาตรีและมากกว่า

ด้านสุขภาพ
เยาวชนมีความเครียดและมีการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากขึ้น สาเหตุความเครียดส่วนใหญ่มาจากปัญหาการเรียน โดยระดับอุดมศึกษามีความเครียดมากที่สุด รองลงมาคือระดับอาชีวศึกษา ซึ่งจะมีอาการปวดหัว ปวดท้อง หรืออาเจียน ขณะที่กลุ่มวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี มีการฆ่าตัวตายประมาณปีละ 200 คน สาเหตุจากปัญหาการเรียนและความรัก ข้อมูลของสำนักระบาดวิทยาพบว่า กลุ่มเยาวชนอายุ 15–24 ปี มีอัตราป่วย 62.79 รายต่อประชากรแสนคนในปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 90.06 รายต่อประชากรแสนคนในปี 2554 ซึ่งอยู่ในระดับสูงกว่าอัตราป่วยรวม 2 เท่า สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันร้อยละ 83

ด้านพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของคนในสังคม
พบอัตราการสูบบุหรี่และดื่มสุรามีแนวโน้มลดลง จำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงจาก 11.96 ล้านคนในปี 2544 เป็น 10.91 ล้านคนในปี 2552 แต่กลับปรับเพิ่มขึ้นเป็น 11.51 ล้านคน ในปี 2554 ขณะที่การดื่มสุราลดลงจากร้อยละ 32.6 ในปี 2544 เป็นร้อยละ 31.5 ในปี 2554

ด้านความมั่นคงทางสังคม
การจับกุมผู้ค้าและผู้เสพสารเสพติดยังคงมีสัดส่วนมากที่สุดของคดีอาญาโดยรวม สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 115,228 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ร้อยละ 55.2

การเกิดอุบัติเหตุจากการจราจรทางบกเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ร้อยละ 9 แนวโน้มการเสียชีวิตของเยาวชนสูงขึ้น เด็กอายุ 1-15 ปี เสียชีวิตกว่าปีละ 650 ราย เยาวชนอายุ 15-24 ปี เสียชีวิตปีละ 3,600 ราย

นอกจากนี้ ยังพบการเพิ่มจำนวนของแม่วัยรุ่น โดยแม่ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี คิดเป็นร้อยละ 14.32 ของแม่ทุกกลุ่มอายุ และมีแม่วัยรุ่นจำนวนถึง 6 ใน 10 ที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่อายุ 18 ปี และพบว่าจำนวนแม่วัยรุ่นมีความสัมพันธ์กับจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยและความยากจน โดยจังหวัดที่มีปีการศึกษาเฉลี่ยต่ำมีแนวโน้มที่จะมีแม่วัยรุ่นสูง ขณะที่จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงแนวโน้มจะมีแม่วัยรุ่นสูงด้วย ซึ่งสอดคล้องกับคุณลักษณะสำคัญของกลุ่มแม่วัยรุ่น คือ ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียน/พักการเรียนร้อยละ 70, ไม่มีอาชีพร้อยละ 53.2, ขณะที่แฟนประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปและเกษตรกรร้อยละ 67.2 และประมาณร้อยละ 70 พักอาศัยอยู่กับพ่อแม่ตนเองหรือพ่อแม่แฟน และแหล่งค่าใช้จ่ายมาจากพ่อแม่ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างและเกษตรกรที่ส่วนใหญ่มีรายได้พอใช้จ่ายไม่เหลือเก็บ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช.จัดเรตกลุ่มผู้ชมรายการทีวีใหม่

Posted: 03 Sep 2013 09:07 AM PDT

(2 ก.ย.56) พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท) เปิดเผยว่า บอร์ด กสท. เห็นชอบแนวทางการจัดระดับความเหมาะสมเนื้อหารายการโทรทัศน์ (เรต) ซึ่งเป็นคู่มือและแนวทางปฏิบัติ ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ.2556

ทั้งนี้ ตามประกาศผังรายการ ได้แบ่งระดับความเหมาะสม 6 ระดับไว้ ดังนี้
"ป" รายการสำหรับเด็กปฐมวัย อายุ 3 - 5 ปี
"ด" รายการสำหรับเด็ก อายุ 6 - 12 ปี
"ท" รายการสำหรับผู้ชมทุกวัย

โดยเรต "ป" "ด" และ "ท" ไม่กำหนดเวลาการออกอากาศ

"น 13" รายการที่เหมาะกับผู้ชมที่มีอายุน้อยกว่า 13 ปีขึ้นไป ผู้ชมที่มีอายุน้อยกว่า 13 ปี ควรได้รับคำแนะนำ กำหนดห้ามออกอากาศก่อน 20.30 น.
"น 18" รายการที่เหมาะกับผู้ชมที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปีขึ้นไป ผู้ชมที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรได้รับคำแนะนำ กำหนดห้ามออกอากาศก่อน 22.00 น.
"ฉ" รายการเฉพาะไม่เหมาะสำหรับเด็กและเยาวชน ห้ามออกอากาศก่อน 24.00 น.

กำหนดให้รายการทางโทรทัศน์ทุกแพลตฟอร์ม มีการจัดเรต ส่วนกำหนดเวลาการออกอากาศ บังคับใช้แพลตฟอร์ม "ฟรีทูแอร์" คือ ฟรีทีวี ทีวีดิจิทัล ทีวีดาวเทียม ส่วนแพลตฟอร์มบอกรับสมาชิกไม่กำหนดเวลาการออกอากาศตามเรท

ขั้นตอนจากนี้ สำนักงาน กสทช. จะนำแนวทางการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ ส่งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป




ที่มา: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.ออกหมายจับมือยิงผู้ชุมนุมสวนยางชะอวดแล้ว

Posted: 03 Sep 2013 09:00 AM PDT

ค่ำวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจแถลงข่าวออกหมายจับมือปืนยิงผู้ชุมนุมสวนยางชะอวด สอบสวนเบื้องต้นพบ มือปืนกับผู้ตายมีการโต้เถียงกันก่อนชักปืนยิงจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

3 ก.ย.56 เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่า เวลา 19.00 น.ของวันนี้ ที่กองบังคับการตำรวจภูธร จังหวัดนครศรีธรรมราช พล.ต.อ.รชต เย็นทรวง ที่ปรึกษา สบ.10 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.ต.ท.ยงยุทธ เจริญวานิช ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และ พล.ต.ต.รณพงษ์ ทรายแก้ว ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกันแถลงข่าวออกหมายจับนายเกียรติศักดิ์ หรือ ดม จันทร์คง อายุ 31 ปี ชาว ต.บ้านตูล อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช มือปืนยิงนายศิริชัย หรือหนุ่ย บุญนุวงศ์ เสียชีวิตในพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องราคายางที่ ต.บ้านตูล อ.ชะอวด  เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยมีนายสิทธิ์ศักดิ์ ใจงาม อายุ 26 ปี ถูกยิงได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์เดียวกันนี้ด้วย

เว็บไซต์ข่าวสด รายงานการสอบสวนเบื้องต้นว่า นายสิทธิ์ศักดิ์ ผู้ได้รับบาดเจ็บให้การว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียชีวิตพร้อมกับพวกรวม 5 คนกำลังนั่งดื่มสุรา ส่วนผู้บาดเจ็บไม่ได้ดื่มแต่นั่งคุยอยู่ด้วย ต่อมานายเกียรติศักดิ์ขี่รถจักรยานยนต์มาจอด และเกิดการโต้เถียงกันกับผู้ตาย นายเกียรติศักดิ์จึงชักอาวุธปืนออกมายิงผู้ตาย 1 นัด ส่วนนายสิทธิ์ศักดิ์ ผู้บาดเจ็บได้เข้าไปห้ามจึงถูกยิง 2 นัดเข้าริมฝีปากและลำคอ ส่วนผู้ตายถูกยิงซ้ำอีก 1 นัดจนเสียชีวิต

พล.ต.ท.ยงยุทธ เจริญวานิช ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ระบุว่า นายเกียรติศักดิ์ มีคดีติดตัว 4 คดี คือ ฆ่าผู้อื่น, คดีอาวุธ 2 คดี และคดียาเสพติด 1 คดี โดยอาวุธที่ใช้ คือ .38 ในการตรวจพิสูจน์นั้นได้มีแพทย์จากนิติเวชและสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ร่วมด้วยซึ่งคาดว่าจะสามารถจับกุมคนร้ายได้ในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บราซิล-เม็กซิโก จี้สหรัฐฯ ชี้แจงกรณีผู้นำสองประเทศถูกลอบสอดแนมข้อมูล

Posted: 03 Sep 2013 08:39 AM PDT

จากเอกสารล่าสุดของสโนว์เดน มีการเปิดเผยเรื่องที่หน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ สอดแนมข้อมูลโทรศัพท์และอีเมลของผู้นำบราซิลและเม็กซิโก ทำให้ผู้นำทั้งสองประเทศเรียกร้องให้สหรัฐฯ ชี้แจง โดยบอกว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดอธิปไตย

3 ก.ย. 2013 - สำนักข่าวในอังกฤษกล่าวถึงกรณีที่สภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) ถูกเปิดโปงเรื่องการแอบดักข้อมูลการสื่อสารของผู้นำเม็กซิโกและผู้นำบราซิล โดยทั้งสองประเทศได้เรียกร้องให้สหรัฐฯ ออกมาชี้แจงข้อกล่าวหานี้

มีการกล่าวถึงเรื่องนี้ผ่านรายการ "แฟนทัสติโก" ช่องโทรทัศน์โกลโบของบราซิล โดยอ้างจากข้อมูลที่ได้มาจากเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ผู้เปิดโปงความลับของทางการสหรัฐฯ เรียบเรียงโดยนักข่าว เกลน กรีนวัลด์ รายการดังกล่าวบอกว่าหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ อาจกำลังพยายามสอดแนมโทรศัพท์และอีเมลของ ดิลมา รุสเซฟ ประธานาธิบดีบราซิล และ เอนริค เปนา นีเอโต ประธานาธิบดีเม็กซิโก

ลูอิซ อัลแบร์โต ฟิกูเรโด รัฐมนตรีต่างประเทศของบราซิล บอกกับ โธมัส แชนนอน เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ว่าทางการบราซิลจะรอคำอธิบายจากสหรัฐฯ ในข้อกล่าวหาดังกล่าวภายในสัปดาห์นี้

"จากมุมมองของพวกเราแล้ว นี่เป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของบราซิลอย่างไม่อาจยอมรับได้" ฟิกูเรโดกล่าว

ทางด้านทางการเม็กซิโกก็เรียกร้องให้รัฐบาลโอบามาสอบสวนในเรื่องที่ถูกกล่าวหา ซึ่งถ้าหากเป็นความจริงก็จะถูกพิจารณาว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยของประเทศ

ส่วนทางการสหรัฐฯ กล่าวว่าพวกเขาจะตอบสนองต่อคำร้องขอของประเทศเหล่านี้ผ่านช่องทางการทูต โดยโฆษกของทำเนียบขาวบอกว่าพวกเขาจะไม่กล่าวให้ความเห็นทุกอย่างในเรื่องข่าวกรองผ่านสื่อ และทางการสหรัฐฯ ได้เปิดเผยไปแล้วว่าพวกเขามีนโยบายในการเก็บข้อมูลข่าวสารของแต่ละประเทศในแบบเดียวกัน

รายการแฟนทัสติโก ได้นำเสนอเอกสารของ NSA ที่ระบุวันที่เดือน มิ.ย. 2012 มีข้อความซึ่งเขียนโดยเอนริค เปนา นิเอโต ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ส.ส. ในข้อความมีการหารือกันว่าเขาจะเลือกใครขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีใดบ้างหลังจากที่เขาชนะการเลือกตั้งแล้ว

ในเอกสารอีกฉบับหนึ่งระบุข้อมูลการสื่อสารกันระหว่างประธานาธิบดี ดิลมา รุสเซฟ กับที่ปรึกษาระดับสูง แม้ว่าจะไม่มีรายละเอียดถึงเรื่องที่พูดคุยกัน

รายการ แฟนทัสติโก เปิดเผยว่าเอกสารเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการทดลองกลุ่มตัวอย่างโดย NSA ซึ่งแสดงให้เห็นวิธีการกรองข้อมูลข่าวสาร

 


เรียบเรียงจาก

NSA 'spied on communications' of Brazil and Mexico presidents, The Guardian, 02-09-2013
http://www.theguardian.com/world/2013/sep/02/nsa-spied-mexico-brazil-presidents

US pushed to explain allegations of NSA spying on Brazilian President Dilma Rousseff, The Independent, 03-09-2013
http://www.independent.co.uk/news/world/americas/us-pushed-to-explain-allegations-of-nsa-spying-on-brazilian--president-dilma-rousseff-8795711.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวบ้านวังสะพุงสุดทน! ทำระเบียบหมู่บ้านห้ามเหมืองทองขนสารเคมีอันตรายเข้าชุมชน

Posted: 03 Sep 2013 08:21 AM PDT

ระดมคนในพื้นที่เตรียมจัดงานบุญประชาสัมพันธ์ เพื่อต้านเหมืองทองคำ ทั้งเร่งบังคับใช้กฎระเบียบชุมชน พ้อภาครัฐไม่ช่วยเหลือ หน่ำซ้ำส่งเสริมเหมืองทองที่สร้างผลกระทบต่อชุมชน 
 
เหมืองทองคำของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด 
 
วันนี้ (3 ก.ย.56) ชาวบ้านในพื้นที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบการ เหมืองแร่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด จัดประชุมหมู่บ้านผลักดันกฎระเบียบชุมชนควบคุมน้ำหนักบรรทุก และการนำสารเคมีอันตรายเข้าเขตชุมชน เพื่อเป็นมาตรการตอบโต้การประกอบกิจการของเหมืองที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อชุมชน หลังสุดทนกับการรอคอยความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการการควบคุมอุตสาหกรรมเหมือง และควบคุมการใช้สารเคมีที่มีพิษอันตรายจากการทำเหมืองที่ส่งผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
 
นางระนอง กองแสน ชาวบ้านบ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง กล่าวว่า ระเบียบชุมชนที่เกิดขึ้นจะเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ชิ้นใหม่ของชุมชนจากอดีตที่ชาวบ้านต่อสู้เป็นรายประเด็น โดยมีรายละเอียดเรื่องการควบคุมไม่ให้นำสารเคมีอันตรายที่จะเข้ามาพื้นที่ และควบคุมน้ำหนักบรรทุกของรถบรรทุกไม่ให้เกิน 15 ตัน อีกทั้งยังมีวาระเรื่องยาเสพติด ที่จะมีมาตรการจัดการโดยชุมชนอีกด้วย
 
ตัวแทนชาวบ้านระบุว่า ชุมชนในตำบลเขาหลวงต้องได้รับมลพิษทั้งทางน้ำและทางอากาศมายาวนาน และได้พยายามเรียกร้องกับภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้รับความสนใจ แม้กระทั่งการเรียกร้องไปถึงระดับประเทศจนคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ชะลอการขยายพื้นที่เหมืองแร่จนกว่าจะหาต้นเหตุของการเกิดสาร ปนเปื้อน แต่ก็ไม่ได้มีการปฏิบัติตาม
 
ล่าสุดบริษัททุ่งคำ จำกัด ยังมีการดำเนินการกระบวนการทำ EHIA เพื่อขอประทานบัตรเหมืองแร่ในพื้นที่ใหม่ที่ใกล้กับชุมชน โดยจะมีการนำแร่ที่ได้มาถลุงที่โรงถลุงแร่ในเหมืองซึ่งเดิมก็อยู่ใกล้กับชุมชนอยู่แล้ว
 
"ขณะนี้เหมืองทำแค่ 6 แปลงยังมีผลกระทบขนาดนี้ แต่บริษัทยังพยายามเปิดอีก 10 แปลง 12 แปลง มันจะขนาดไหน ถ้าเวทีของบริษัทที่จะเปิดพื้นที่แร่ใหม่เป็นผลสำเร็จก็อาจจะเปิดพื้นที่ใหม่ได้ แล้วแร่ที่ได้จากพื้นที่ใหม่ก็จะนำมาถลุงที่นี่ จะได้รับผลกระทบมากกว่านี้อีก อีกทั้งผลกระทบเดิมก็ยังไม่ได้แก้ไข"ชาวบ้านในพื้นที่ในกล่าว
 
 
นางระนอง กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 5-8 ก.ย.56 นี้ ชาวบ้านจะจัดงานบุญและจะมีเวทีวิชาการเพื่อให้สาธารณะรู้ว่าเหมืองทองคำนำความเดือดร้อนมาให้ ทั้งในทางสุขภาพร่างกายก็ได้รับสารพิษต่างๆ จากการทำเหมืองทำให้เจ็บป่วยหลายคน
 
งานบุญและเวทีวิชาการนี้ได้ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าชุมชนที่ติดกันกับทางเข้าเหมือง เป็นสัญญาลักษณ์ ที่แสดงถึงสิทธิชุมชนที่ผู้ประกอบกิจการต้องเคารพและให้เห็นความสำคัญของชุมชนที่ผู้ประกอบการจำต้องพึ่งพา โดยจะมีพิธีทางศาสนาและการให้ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ อีกทั้งจะมีการแสดงจากกลุ่มชาวบ้านและเครือข่ายที่เข้าร่วมอีกหลายเครือข่ายด้วย
 
"เวทีวันที่ 5-8 ก.ย.นี้ เกิดขึ้นเพื่ออนาคตของลูกหลานที่จะอยู่ต่อไป" นางระนองประกาศ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ชาวบ้านจากหลายหมู่บ้านรอบๆ เหมืองทองมีการประชุมเตรียมงานกันทุกวัน นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยวันนี้ (3 ก.ย.56) มีนักศึกษาจาก ม.ขอนแก่น เดินทางมาร่วมเตรียมงาน และในวันที่ 5-8 นี้จะมีชาวบ้านจากหลายพื้นที่ หลายจังหวัด เช่น จากเหมืองแร่โปแตชอุดรฯ เดินทางเข้าร่วมกิจกรรมด้วย 
 
ทั้งนี้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้รับอาชญาบัตรพิเศษในการเข้าสำรวจแร่ในพื้นที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย และพบสินแร่ทองคำที่คุ้มค่าสำหรับการทำเหมือง  ต่อมาได้รับประทานบัตรหรือหนังสือรับรองให้ทำเหมืองจากกระทรวงอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2545 เป็นเวลา 25 ปี บนพื้นที่ 6 แปลง หรือ1,308 ไร่ ของภูทับฟ้าและภูซำป่าบอน ก่อนจะเปิดดำเนินการทำเหมืองอย่างเป็นทางการในปี 2549
 
อย่างไรก็ตามการประกอบกิจการดังกล่าวนำมาสู่การร้องเรียนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านรอบๆ เหมือง 6 หมู่บ้าน คือ บ้านห้วยผุก หมู่ 1 บ้านกกสะทอน หมู่ 2 บ้านนาหนองบง หมู่ 3 บ้านแก่งหิน หมู่ 4 บ้านโนนผาพุงพัฒนา หมู่ 12 และบ้านภูทับฟ้าพัฒนา และเกิดการรวมตัวก่อตั้งกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านโครงการเหมืองภายใต้ชื่อ 'กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด' ในปี 2550 หน้าที่ในการเฝ้าระวังและตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติบริเวณรอบเหมือง รวมถึงการเฝ้าระวังเตือนภัยเรื่องสุขภาพของคนในชุมชน
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ได้แล้ว ! วรรณกรรม ‘รางวัลพานแว่นฟ้า’ ครั้งที่ 12

Posted: 03 Sep 2013 07:05 AM PDT

ประกาศแล้ว ผลการตัดสินงานวรรณกรรมยอดเยี่ยมและดีเด่น 'รางวัลพานแว่นฟ้า' ครั้งที่ 12 คัดเลือกจากผลงานทั้งสิ้นจำนวน 724 ชิ้น

3 ก.ย.56 เพจเฟซบุ๊ค 'รางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทย' ประกาศผลการตัดสินงานวรรณกรรมยอดเยี่ยมและดีเด่น 'รางวัลพานแว่นฟ้า' ครั้งที่ 12 โดยคัดเลือกจากผลงานทั้งสิ้นจำนวน 724 ชิ้น

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ค 'รางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทย'

เรื่องสั้นยอดเยี่ยม ผลงานเรื่อง"การยืนยันอีกครั้งหนึ่งของสาวแม่ฮ้างแห่งหมู่บ้านตาเอกทะไม" โดย ลูเธอร์-เทอรัว แอนนาแบปติสต์ส

เรื่องสั้นดีเด่น ผลงานเรื่อง "ถนนสู่ทุ่งหญ้า โดย รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์

บทกวียอดเยี่ยม ผลงานเรื่อง"เบี้ย" โดย อรุณรุ่ง สัตย์สวี

บทกวีดีเด่น ผลงานเรื่อง"ความตายของนกฟีนิกซ์" โดย รางชางฯ

ผลงานเรื่องสั้นที่เข้ารอบสุดท้าย ได้แก่
"เกมประชาธิปไตย" โดย วรณัฐ นามสมมติ
"อาณาจักรใต้ดิน" โดย จักษณ์ จันทร
"บันทึกของอรชุน" โดย วิกรานต์ ปอแก้ว
"ผู้แปลกวิถี" โดย กร ศิริวัฒโณ
"รอยแผลจากเมืองพิกล" โดย สมุด ทีทรรศน์
"ผู้บุกรุก" โดย จารุพัฒน์ เพชราเวช
"อิสรภาพไม่มีหมายเลข" โดย วิชชา ลุนาชัย
"ภาพลวงในโลกละครสัตว์" โดย ปองวุฒิ รุจิระชาคร
"บังชุกบอกว่า โทรทัศน์พัง" โดย เหลี่ยม พระสมุทรฯ
"ตุลย์จันทร์ 2519" โดย จันทร์เคียว

ผลงานบทกวีที่เข้ารอบสุดท้าย ได้แก่
"ในมือกำหมัดหยัดชู ในเสียงกู่ก้องตะโกน"โดย อังคาร จันทาทิพย์
"ความยุติธรรมทางจิตวิญญาณ" โดย ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
"เพียงเล่นอย่างเด็กเล่น" โดย สองขา
"ตัวอักษรเจ้าอยู่ในทุกที่" โดย ประสานต์ พรหมทอง
"พิราบ" โดย ภาคิน นิมมานนรวงศ์
"พื้นที่สันติภาพ" โดย นายเงา
"อาณานิคมของความเศร้า" โดย วิสุทธิ์ ขาวเนียม
"เงา" โดย ณัฐกานต์ ลิ่มสถาพร
"สรรพนาม" โดย ชัชชล อัจนากิตติ
"ส่วนเสี้ยวของความเศร้า" โดย สุขุมพจน์ คำสุขุม

ทั้งนี้รางวัลพานแว่นฟ้า จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2545 เนื่องในวาระครบรอบ 70 ปีรัฐสภาไทย โดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและรัฐสภาไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง และเป็นสืบสานวรรณกรรมการเมือง รวมถึงเป็นการปลุกจิตสำนึกประชาธิปไตย การประกวดรางวัลพานแว่นฟ้ามีการจัดต่อเนื่องกันมาทุกปีต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชวนดู 'หนังน่าจะแบน' ขอขยับเส้นแบ่งเสรีภาพ

Posted: 03 Sep 2013 06:55 AM PDT


 

วานนี้ (2 ก.ย.) ไอลอว์จัดฉายหนังรอบพิเศษจากโครงการประกวดหนังสั้น "หนังน่าจะแบน" พร้อมการเสวนาโดยผู้กำกับและผู้ชมกว่า 30 คน ณ ห้องสมุดศิลปะ เดอะรีดดิงรูม สีลม ซอย 19 

อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) หนึ่งในผู้ร่วมจัดฯ เล่าถึงที่มาของโครงการว่า ที่ผ่านมา มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นหรือกฎหมายที่เกี่ยวกับสื่อที่มักจะมีเงื่อนไขนำไปสู่การห้ามนำเสนอเนื้อหาจำพวกหนึ่ง อย่างไรก็ตาม คำเหล่านั้นมันยังเป็นคำที่กำกวมและมีปัญหา โครงการนี้จึงชวนให้คนมาใคร่ครวญถึงคำที่กำกวมเหล่านั้นผ่านการทำหนังสั้น และโยนโจทย์กลับไปที่หน่วยงานของรัฐ ซึ่งกรณีนี้คือคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ว่าคนทั่วไปเขาเห็นขอบเขตของเรื่องที่นำเสนอได้และไม่ได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร

จากหนังสั้นที่มีผู้ส่งประกวดทั้งสิ้น 40 เรื่อง อรพิณแบ่งประเด็นของหนังออกเป็นสองหมวดใหญ่ๆ หนึ่ง คือ หนังที่ท้าทายตามถ้อยคำในกฎหมาย เช่น ท้าทายศีลธรรมอันดี ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมอันดี หนังก็จะ "ก๋ากั่น" หน่อย เพื่อดูว่าสุดทางของการเซ็นเซอร์คือแค่ไหน สอง คือ หนังที่แม้จะค่อนข้างห่างไกลจากการโดนแบนแน่ๆ ชนิดที่ดูแล้วก็ต้องคิดว่าทำไมถึงน่าจะแบน แต่หนังมีความน่าสนใจตรงที่ว่าเรื่องราวที่เสนอจะไม่ค่อยได้เห็นในสื่อทั่วไป และเป็นมุมมองที่ค่อนข้างจะตั้งคำถามแหวกขนบประเพณีแบบเดิมๆ ซึ่งถามว่าการตั้งคำถามแบบนั้นผิดกฎหมายไหม ทุกวันนี้มันก็ทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันไม่ค่อยเห็นตัวอย่างของเรื่องนี้ หลายเรื่องจะตั้งคำถามถึงวัฒนธรรมทางการเมืองในประเทศไทยค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นหนังส่วนใหญ่ในโครงการนี้เลย เช่น ตั้งคำถามกับความเชื่อเก่าๆ เดิมๆ ผ่านการเล่าเรื่องตั้งแต่การเข้าห้องน้ำจนถึงการกินข้าว บางทีก็เป็นเรื่องธรรมเนียมของการทำความเคารพในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ประเด็นเรื่องวัฒนธรรมทางการเมือง วัฒนธรรมในสังคม เป็นเรื่องที่ถูกท้าทายมาเยอะที่สุด ไม่ใช่เรื่องโป๊เปลือย

เมื่อถามว่า มีหนังอะไรที่ฉายไม่ได้ไหม อรพิณ บอกว่า "มี"

"ชัดเจนว่าหนังที่ฉายไม่ได้ไม่ใช่หนังที่ผิดกฎหมาย แต่มันไม่มีกฎหมายคุ้มครองเรามากพอ รัฐธรรมนูญเขียนกว้างๆ ว่าบุคคลมีสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็น แต่ภายใต้เงื่อนไขที่อาจจะมีข้อยกเว้นบางประการ ทำให้การคุ้มครองนั้นอาจจะไม่มีความหมายอะไร"

"และสิ่งที่กำลังเจออยู่กับโครงการนี้ก็คือ แม้กับบางเรื่องที่คิดว่ามันไม่ผิดกฎหมายก็ตาม แต่ก็ไม่รู้สึกปลอดภัยมากพอที่จะพูดถึงมัน เพราะโดยจริตของสังคมมันก็มีแนวโน้มที่จะนำเรื่องไปฟ้องได้ หมายความว่า เรากำลังอยู่บนเงื่อนไขที่มันไม่ผิดกฎหมาย แต่เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง ซึ่งเมื่อไหร่ที่ถูกฟ้องร้องก็คิดว่าไม่ง่ายที่จะจัดการกับมัน คดีที่มันเป็นคดีอาญาแผ่นดิน หรือคดีความมั่นคงก็ค่อนข้างจะถูกตัดสินทันทีที่คุณถูกฟ้องร้องแล้ว โดยระบบกฎหมาย ไม่ใช่แค่การคุ้มครองสื่อ แต่แค่การคุ้มครองให้คนให้ได้รับสิทธิตามกระบวนการยุติธรรมมันก็ยังไม่มากพอ" อรพิณ กล่าว
 


หลังการฉายหนังสั้นจากโครงการฯ 5 เรื่อง ซึ่งพูดถึงสถาบันต่างๆ ในสังคมอย่าง ชาติ ศาสนา กษัตริย์ และครอบครัว มีการแลกเปลี่ยนกันถึงเส้นแบ่งของหนังที่น่าจะแบน ซึ่งมีทั้งฝั่งที่เห็นว่าตัวหนังไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่อาจถูกตีความไปได้ ยิ่งอยู่ในบริบทของการฉายหนังใต้เทศกาลที่ชื่อ "หนังน่าจะแบน" คนก็จะยิ่งพยายามหาว่าน่าจะแบนอย่างไร ทำให้เกิดการตีความที่แคบลง และอาจนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งหากเกิดขึ้น ก็เป็นต้นทุนที่สูงเกินไป และมีฝั่งที่มองว่าการฉายหนังแนวนี้เป็นเรื่องปกติในวงการหนังช่วง 3-4 ปีมานี้ โดยที่แม้ผู้มาชมจะไม่ชอบหนัง แต่ก็ไม่ได้เกิดการฟ้องร้องขึ้น นอกจากนี้ ด้วยความที่หนังเป็นศิลปะ มันยังมีความยืดหยุ่น เปิดให้โต้เถียง ตีความได้มากกว่า บ้างมองว่า หากนำเสนอแล้วอาจจะเสี่ยงก็ต้องยอม เพราะ พ.ศ.นี้ ไม่พูดถึงประเด็นที่คาบเกี่ยวกับเส้นแบ่งศีลธรรมเหล่านี้ ก็ไม่รู้จะพูดตอนไหนแล้ว นอกจากนี้ ยังน่าเสียดายถ้าหนังบางเรื่องไม่ได้ฉาย เพราะวัตถุประสงค์ของโครงการน่าจะคือการท้าทายกฎหมาย ท้าทายการตีความของสังคม เป็นการโยนโจทย์ให้คนคิด ถ้าเซ็นเซอร์หนัง กระบวนการตรงนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น

รุจน์ โกมลบุตร อาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  หนึ่งในผู้เข้าชมให้ความเห็นว่า ถ้ากลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้คือคนกลุ่มใหม่ๆ ก็ไม่ควรจ่ายยาแรง หรือไปจนสุดทาง เพราะสารนั้นจะถูกต่อต้านทันที อาจจะใช้ประเด็นอื่น ค่อยๆ สร้างการเรียนรู้ไป

ด้านศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิจารณ์หนังและนักวิชาการอิสระ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า กลายเป็นว่าเรื่องที่กังวลมากที่สุดคือสถาบันกษัตริย์ หลายเรื่องแตะประเด็นอื่น เช่น เรื่องศาสนา หรือครอบครัว ซึ่งจริงๆ แหลมคมกว่าเรื่องสถาบันกษัตริย์อีก แต่คนไม่มีความหวาดกลัว แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราแตะ มันเป็นความเซ้นซิทีฟทางวัฒนธรรม ซึ่งไม่มีอำนาจตามกฎหมายเข้ามาคุกคามเราได้ เพราะฉะนั้นมันเลยกลายเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้สึกว่ายังเสี่ยงกับมันได้อยู่ แต่พอเป็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ มันมีกฎหมายบางอย่างเข้ามาเป็นกรอบ ทำให้มีความเสี่ยงสองชั้นมากกว่าเรื่องทั่วๆ ไป

เขามองว่า การถกเถียงวันนี้ สะท้อนถึงความคลุมเครือของกฎหมาย การใช้กฎหมายตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ และความหวาดกลัวของคนที่จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายเหล่านี้ ซึ่งไม่มีหลักประกันว่าจะโดนคดีเมื่อไหร่และโอกาสการชนะคดีมันต่ำ

ทางออกสำหรับเรื่องนี้ ศิโรตม์ แนะนำว่า ต้องจัดงานแบบนี้ต่อไป ขยับความคิดของคนในสังคมไปเรื่อยๆ เมื่อไหร่ก็ตามที่สังคมมันเคลื่อนไหวมากขึ้น สังคมก็จะเป็นคนไปกดดันรัฐหรือคนที่มีอำนาจเอง ว่าคุณไม่สามารถใช้กฎหมายตามอำเภอใจ หรือใช้กฎหมายอย่างไม่มีหลักการได้ ซึ่งนี่เป็นปัญหาในช่วงที่ผ่านมา

"การจัดงานแบบนี้ ผู้ชมจริงๆ ไม่ใช่รัฐ แต่อยู่ที่สังคม ว่าเราจะเปลี่ยนความรับรู้ของสังคมอย่างไร เพราะฉะนั้นการทำให้งานเหล่านี้ขยับ boundary (ขอบเขต) ของสังคมต่อการพูดเรื่องการเซ็นเซอร์จึงสำคัญ" ศิโรตม์กล่าว

สำหรับโครงการ "หนังน่าจะแบน" จัดโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ร่วมกับนิตยสารไบโอสโคป และ เครือข่ายคนดูหนัง โดยจะมีการฉายหนังที่เข้าร่วมและประกาศผลรางวัล ในวันเสาร์ที่ 7 ก.ย. นี้ เวลา 12.00 - 19.00 น. ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 


ดูกำหนดการมอบรางวัล-ฉายหนังที่ http://ilaw.or.th/node/2904
ดูเรื่องย่อที่ http://ilaw.or.th/node/2905

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

Posted: 03 Sep 2013 06:37 AM PDT

"..นี่เป็นตัวอย่างของการให้เอกชนร่วมลงทุนครับว่า ถึงแม้เราจะลดภาระการลงทุนในตอนแรกได้ แต่เราก็อาจจะไม่สามารถควบคุมค่าโดยสารได้เพราะต้องทำตามสัญญา เช่นเดียวกับกรณี BTS หรือ รถไฟใต้ดิน.."

3 ก.ย.56, รมว.คมนาคมกล่าวถึงการขึ้นค่าทางด่วน

คนคอนสารชุมนุมค้าน ‘โรงงานยางพารา’ ตั้งใกล้ชุมชน

Posted: 03 Sep 2013 06:01 AM PDT

ชมรมกลุ่มรักษ์คอนสารเดินหน้าร้องทบทวนมติอนุญาตก่อสร้างโรงงานแปรรูปยางพาราอัดแท่ง ห่วงแย่งน้ำทำเกษตร ทั้งสารพิษจากกระบวนการผลิตไหลลงสู่พื้นที่เกษตรและลำห้วย แฉงุบงิบยื่นคำขอ ทำประชาคมในชุมชนเพียงแห่งเดียว
วันที่ 2 ก.ย.56 เวลาประมาณ 09.00 น.ชมรมกลุ่มรักษ์คอนสาร ร่วมกับประชาชน นักเรียน เยาวชนใน อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ กว่า 3,000 คน เคลื่อนขบวนจากหน้าวัดเจดีย์ไปยังที่ว่าการอำเภอคอนสาร จ.ชัยภูมิ เพื่อยื่นหนังสือต่อนายอำเภอคอนสารและทำเรื่องประสานไปยังหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวขอให้ทบทวนมติที่อนุญาตให้ก่อสร้างโรงงานแปรรูปยางพาราอัดแท่งรมควัน เนื้อที่กว่า 300 ไร่ ในเขตพื้นที่บ้านหินรอยเมย ต.ดงบัง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ
 
นายวิเชษฐ อุสันเทียะ ประธานชมรมกลุ่มรักษ์คอนสาร กล่าวว่า สถานที่ตั้งโรงงานอยู่ห่างชุมชนจากบริเวณ 4 แยกคอนสารเพียงแค่ 1 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งนอกจากจะผิดกฎหมายที่ระบุว่าต้องห่างจากชุมชนไม่ต่ำกว่า 5 กิโลเมตรแล้ว ผลกระทบทั้งกลิ่นเหม็นและฝุ่นละอองจากกระบวนการผลิตยางแท่งรมควันที่ฟุ้งกระจายไปไกลกว่า 10 กิโลเมตร จะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศและเป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้คน ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ต่างๆ โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคผื่นคัน
 
นายวิเชษฐ กล่าวถึงความหวั่นเกรงต่อมาว่า สารพิษจากกระบวนการผลิตยางแท่งอาจไหลลงสู่พื้นที่การเกษตรและลำห้วย ทำให้ 8 ตำบล ในอำเภอคอนสาร ทั้งแหล่งท่องเที่ยว แหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ลำน้ำเซิน ลำน้ำสุ และมีแหล่งน้ำผุด เช่น น้ำผุดนาเลา น้ำผุดทัพลาวจะได้รับผลกระทบแน่นอน นอกจากนี้โรงงานจะต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมากและจะมีการขุดเจาะน้ำบาดาลดึงน้ำมาใช้ ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำบาดาลในบริเวณกว้าง ทำให้มีน้ำเพื่อบริโภคและทำการเกษตรไม่เพียงพอ และหากน้ำเสียรั่วซึมลงชั้นใต้ดินก็จะยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้น
 
"การดำเนินการยื่นคำขอของบริษัทเพื่อก่อสร้างโรงงานต่อองค์การบริหารส่วนตำบลดงบังเป็นไปอย่างเงียบๆ และรวดเร็วอย่างมาก พร้อมกับมีการประชาคมในชุมชนเพียงแห่งเดียว โดยชาวคอนสารในตำบลใกล้เคียงไม่ทราบข่าว และไม่ได้รับการชี้แจงใดๆ จากหน่วยงานภาครัฐและของบริษัทฯ ถึงผลกระทบที่จะตามมาภายหลังการก่อสร้างโรงงาน" นายวิเชษฐกล่าว
 
ประธานชมรมรักษ์คอนสาร กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านชมรมกลุ่มรักษ์คอนสารได้ยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นายอำเภอคอนสาร ประธานสภาองค์การส่วนบริหารตำบลดงบัง และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งระดับจังหวัดและระดับประเทศมาเกือบหนึ่งเดือนแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับหนังสือตอบจากหน่วยงานต่างๆ จึงเดินทางมาร่วมชุมนุมเพื่อทวงคำตอบ
 
 
ประมาณ 11.00 น.นายจักรพันธ์ จันทรเจริญ หัวหน้ารัฐสภาขอนแก่น มารับหนังสือคัดค้านของกลุ่มรักษ์คอนสาร พร้อมรับปากจะยื่นถึงต่อผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยด่วน กลุ่มชมรมรักษ์คอนสารจึงแยกย้ายกันกลับ
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โสภณ พรโชคชัย: ที่อยู่อาศัยกับผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ

Posted: 03 Sep 2013 01:46 AM PDT

"ด้วยเหตุผลด้านสิทธิมนุษยชนที่ประชาชนทุกคนต้องมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม จะปล่อยให้นอนระเกะระกะโดยขาดการเหลียวแลจากสังคมไม่ได้ และเพื่อสวัสดิภาพของทุกฝ่าย จึงควรให้การช่วยเหลือตั้งแต่การจัดหาที่พักพิงแบบเช่าหรือแบบให้เปล่าชั่วคราว การเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคม แต่ทั้งนี้ทำได้ยากเพราะงบประมาณของรัฐในด้านสังคมมีจำกัดเพียง 0.44% ของงบประมาณแผ่นดิน ต่ำกว่างบประมาณด้านการทหารถึง 17 เท่าตัว"

เมื่อเช้าวันอังคารที่ 3 กันยายน 2556 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทยบจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ในฐานะประธานมูลนิธิอิสรชนได้ไปร่วมบรรยายเรื่อง ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะหรือ the homeless ให้กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ พร้อมกับถ่ายภาพร่วมกับคุณพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเกิดจากปัญหาความยากจน และอื่น ๆ ด้วยเหตุผลด้านสิทธิมนุษยชนที่ประชาชนทุกคนต้องมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม จะปล่อยให้นอนระเกะระกะโดยขาดการเหลียวแลจากสังคมไม่ได้ และเพื่อสวัสดิภาพของทุกฝ่าย จึงควรให้การช่วยเหลือตั้งแต่การจัดหาที่พักพิงแบบเช่าหรือแบบให้เปล่าชั่วคราว การเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคม แต่ทั้งนี้ทำได้ยากเพราะงบประมาณของรัฐในด้านสังคมมีจำกัดเพียง 0.44% ของงบประมาณแผ่นดิน ต่ำกว่างบประมาณด้านการทหารถึง 17 เท่าตัว

แม้จากการสำรวจข้อมูลของมูลนิธิอิสรชนพบว่าในปี 2555 มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะไม่มากนัก คือเกือบ 2,846 คนแยกเป็นชาย 1,774 คน และหญิง 1,072 คน แต่หากนับรวมขอทานซึ่งมีทั้งที่เป็นขอทานเดี่ยว สัญชาติไทย และขอทานที่เป็นกระบวนการค้ามนุษย์ทั้งไทยและเทศ ก็คงมีอีกเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้อยู่ในการสำรวจรอบนี้

ในต่างประเทศพบว่า กรณีนครนิวยอร์ก มีประชากรผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ณ เดือนมิถุนายน 2555 อยู่ถึง 44,402 คน หรือประมาณ 0.5% ของประชากรนิวยอร์ก (ทุก ๆ 1 ใน 200 คนของชาวนิวยอร์ก เป็นผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ) ส่วนอินเดีย มีประชากรผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะถึง 78 ล้านคน หรือราว 7% ของประชากรในประเทศดังกล่าว  อาจกล่าวได้ว่า ประเทศที่เจริญทางเศรษฐกิจกว่ามักมีจำนวนประชากรผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะน้อยกว่า

การเกิดขึ้นของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะก็เพราะบุคคลเหล่านี้ไม่สามารถอยู่อาศัยในระบบบ้านปกติ เช่น บ้านจัดสรร บ้านเช่า บ้านพักคนงานในรูปแบบต่าง ๆ ด้วยฐานะที่ยากจนลง ไร้ที่พึ่ง ต่อต้านสังคม วิกลจริต หรืออื่น ๆ ทำให้ต้องมาเป็นผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ซึ่งอาจแยกย่อยเป็นกลุ่มผู้ไร้บ้าน (ควรมีบ้านได้แต่ฐานะยากจนเกินกว่าจะมีบ้านได้หรือเช่าบ้านได้) เยาวชน ผู้ให้บริการทางเพศ คนวิกลจริต หรือผู้ย้ายถิ่นทั้งที่ชั่วคราวหรือ (กึ่ง) ถาวรเป็นต้น

การดำรงอยู่ของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะถือเป็นปัญหาที่กระทบต่อสวัสดิภาพของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะและบุคคลอื่น รัฐบาลจึงควรมีมาตรการที่พึงให้ความช่วยเหลือ เช่น

1. การบำบัดต่าง ๆ โดยเฉพาะความหิวโหย ซึ่งถือเป็นการบรรเทาทุกข์เฉพาะหน้า

2. การให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลของรัฐ แต่ที่ผ่านมาหลายคนไม่มีบัตรประชาชนเพราะหายไป หรือร่างกายไม่สะอาด ได้รับการรังเกียจจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

3. การจัดที่อยู่อาศัยฉุกเฉินให้โดยไม่คิดมูลค่าเป็นการชั่วคราวโดยเฉพาะผู้ที่ควรได้รับการบำบัดเป็นพิเศษเมื่อพบเห็น

4. การมีที่พักอาศัย เป็นเตนท์ หรือเตียงขนาดเล็กให้เช่าหลับนอนราคาถูก โดยตั้งอยู่ใกล้ ๆ เป็นการชั่วคราว และให้อยู่ในระยะเวลาที่สั้นที่สุดจนกว่าจะเข้าสู่สังคมปกติได้ โดยอาจเช่าที่วัด ราชพัสดุ เอกชน หรือขอรับการบริจาคจากเอกชน เพื่อสวัสดิภาพในการอยู่อาศัยยามค่ำคืน สถานที่ตั้งต้องเป็นในเขตเมือง ไม่ใช่ออกไปชานเมือง เพราะคงไม่มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะสามารถเดินทางไปพักผ่อนในยามค่ำคืนได้

5. สำหรับผู้ที่ไม่มีรายได้ ไม่มีอาชีพแต่จำเป็นต้องอยู่อาศัยในที่พักอาศัยให้เช่าข้างต้น ก็ควรมีบริการงานให้ทำเพื่อให้เกิดรายได้ เช่น งานทำความสะอาดสถานที่สาธารณะ งานฝีมือ ฯลฯ เพื่อเป็นค่าที่อยู่อาศัยในยามค่ำคืน

6. การฝึกอาชีพ สำหรับบุคคลปกติแต่ขาดรายได้ โดยไม่เพียงแต่สอนให้มีทักษะอาชีพ แต่ยังควรสอนให้เป็นผู้ประกอผู้ประกอบการที่ดี หรือเป็นลูกจ้างที่ดีในอนาคตด้วยเช่นกัน

7. ในกรณีบุคคลที่ไม่ได้ต้องการมีบ้านเป็นของตนเอง แต่เป็นกลุ่มเยาวชน ผู้ให้บริการทางเพศ คนวิกลจริต ฯลฯ ต้องส่งสถานสงเคราะห์ให้การรักษาจนกว่าจะกลับเข้าสู่สังคมได้ตามปกติสุข

8. การจัดหน่วย 'ลาดตระเวน' เพื่อตรวจสอบ ป้องปรามอาชญากรรมในยามค่ำคืนตามย่านชุมชนและสถานีขนส่งประเภทต่าง ๆ

9. การสร้างฐานข้อมูลผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะโดยออกสำรวจตามย่านชุมชนทั่ว กทม.และปริมณฑล โดยในกรณีนครนิวยอร์ก ได้ระดมอาสาสมัครออกสำรวจในยามค่ำคืนหนึ่งพร้อม ๆ กัน เพื่อให้ได้ข้อมูลผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะอย่างครบถ้วน และยังมีการสำรวจถึงจำนวนและสถานที่สาธารณะที่พักอาศัยต่อเนื่องทุกเดือนจนสามารถรู้จักผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะทุกราย

อย่างไรก็ตามโอกาสในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ข้างต้นอาจจำกัด เนื่องจากงบประมาณของประเทศมีจำกัด ในปีงบประมาณ พ.ศ.2556 ที่กำลังพิจารณาอยู่นี้ งบประมาณของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นเพียง 0.44% ของงบประมาณแผ่นดิน หรือเป็นเงิน 10,516.7 ล้านบาท (เป็นของกรมสวัสดิการสังคมเพียง 6,000 ล้านบาท) และหากเทียบกับงบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่ 180,811.4 ล้าน บาท (7.5% ของงบประมาณแผ่นดิน) นั้น กลับสูงกว่างบประมาณของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ถึง 17 เท่าตัว

ด้วยงบประมาณที่จำกัดนี้ จึงทำให้สถานสงเคราะห์ มีอยู่อย่างจำกัดมาชั่วนาตาปี โอกาสขยายจึงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่สามารถรองรับความต้องการจำเป็นในการดูแลสวัสดิภาพของประชาชน ไม่สามารถทำงานเชิงรุกเพื่อการป้องปราม รัฐจัดสวัสดิการสังคมผ่านกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แต่เพียงในนาม เพราะเจียดงบประมาณให้น้อยมากนั่นเอง

 

โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น