โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ชาวสวนยาง-ปาล์ม ใต้ประกาศสงครามครั้งสุดท้าย จี้"ปู"ลงนามขู่ปิดด่านสะเดา

Posted: 08 Sep 2013 10:07 AM PDT

8 กันยายน 2556 ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช    ตัวแทนเกษตรกรกว่า 50 คน ในนามภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัด ภาคใต้ นำโดย นายอำนวย ยุติธรรม ประธาน ภาคีเครือข่าย   ร่วมแถลงข่าวว่า ที่ประชุมได้มีมติข้อเรียกร้อง5 ข้อด้วยกันคือ 1).ให้รัฐบาลชดเชยส่วนต่างยางพาราให้ได้ กก.ละ95 บาทหรือ กก.ละ90บาท โดยไม่ยกเลิกค่าชดเชยปัจจัยการผลิต1260บาท /1ไร่  ทั้งนี้ครอบคลุมเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ทั้งหมดด้วย
 
2) ให้รัฐบาลช่วยเหลือเงินชดเชยส่วนต่างราคาปาล์มน้ำมันให้ได้ กก.ละ6บาท, 3) ให้รัฐบาลต้องไม่เอาผิดและไม่ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา กับแกนนำและผู้เข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องราคายางพาราและปาล์มน้ำมันทั่วประเทศ 4)รัฐบาลต้องเยียวยาและจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทั้งทางร่างกายและทรัพย์สิน 5)รัฐบาลต้องดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้ให้ราคายางพารา กก.ละ 120บาท ภายใน 6 เดือน หากรัฐบาลไม่มาดำเนินการตามข้อเรียกร้องทางภาคีฯเครือข่ายฯจะใช้มาตรการกดดันและยกระดับการชุมนุมขั้นสูงสุดพร้อมกันทั้ง 16 จังหวัดภาคใต้ในวันที่ 14 กันยายน2556 เวลา 09.00 น.พร้อมกันด้วยจิตคาระวะ ลงนามภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน16จังหวัดภาคใต้ 8 กย.2556
 
นายอำนวย ยุติธรรม แถลงต่อไปอีกว่า เราพร้อมที่จะร่วมเจรจากับรัฐบาลอีกครั้งซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งการเจรจาในครั้งนี้ รัฐบาลจะต้องส่งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนเดียวเท่านั้นเดินทางมาเจรจาและกับตัวแทนภาคีเกษตรกรชาวสวนยางฯภายในวันที่ 13 กันยายน 2556 และตัวนายกรัฐมนตรีจะต้องเดินทางมารับปาก พร้อมลงบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ไว้เป็นหลักฐานที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมืองจ.นครศรีธรรมราชแห่งเดียวเท่านั้น มิเช่นนั้นพวกเราก็จะนัดชุนนุมใหญ่ในวันที่14 ก.ย 2556 ทั้ง 16 จังหวัดภาคใต้
 
"ครั้งนี้จะเป็นสงครามครั้งสุดท้ายที่เราจะต้องแสดงให้รัฐบาลเห็นว่าเกษตรกรชาวสวนยางจะยกระดับขึ้นจริงๆ มิใช่คำขู่ จุดแรกที่จะชิมลางให้รัฐบาลได้เห็น ภาคใต้ตอนล่างปิดด่านสะเดา อ.สะเดา จ.สงขลา ภาคใต้ตอนบนที่สี่แยกปฐมพร จ.ชุมพร การเรียกร้องราคายางครั้งนี้เกิดจาก อ.ชะอวด สามแยกบ้านตูล และสี่แยกควนหนองหงส์ อ.ชะอวด พร้อมยกระดับขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
 
ด้านนายกาจบัณฑิต  รามมาก แกนนำเกษตรกรชาวสวนยาง จ.สงขลา  แถลงถึงมาตรการที่เราจะยกระดับใน จ.สงขลาว่า หากรัฐบาลไม่ให้การช่วยเหลือพวกเราชาวเราตามที่เราเรียกร้องรับรองว่ารอบนี้พวกเราเอาจริงๆแน่ ภาคใต้เป็นอัมพาต ด้วยการปิดด่านสะเดา และปิดสี่แยกปฐมพร และให้เกษตรกรชาวสวนยางทั้ง16 จังหวัดภาคใต้ ปิดถนนพร้อมกันทั้ง 16 จ.ภาคใต้อย่างแน่นอนเช่นกัน 
 
ขณะที่นายทศพล  ขวัญรอด ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางพาราจากสี่แยกควนหนองหงส์และแยกบ้านตูล กล่าวว่า ตนเป็นตัวแทนเกษตรกรมาตลอด การเจรจาทั้ง 2 ครั้ง รบ.หลอกเกษตรกรมาตลอด ยิ่งครั้งสุดท้ายเห็นชัดมาก ยังไม่ได้เชิญตัวแทนเกษตรกรเข้ามาเจรจาชิงด่วนสรุปแถลงข่าวก่อน โทรศัพท์มาหลอกพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางที่สี่แยกควนหนองหงส์ ตนพร้อมยืนยันและมีมาตรการยกระดับใหญ่กว่าเดิมพร้อมปิดถนนเอเชียบริเวณสี่แยกควนหนองหงส์ และแยกบ้านตูล และทางรถไฟอีกครั้ง ยืนยันว่ารอบนี้รุนแรงมากกว่าเดิม

นายศักดิ์สฤษฎ์ ศรีประศาสน์ ผู้ประสานงานเกษตรกรรายย่อย จ.ตรัง กล่าวว่า เหตุสลายการชุมนุมที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ มหาดไทยมีคำสั่งโยกย้าย ผวจ.ประจวบ มาอยู่ที่ จ.ตรัง เราในนามประชาชนชาว จ.ตรังขอเรียกร้องให้ มหาดไทยทบทวนคำสั่งอีกครั้ง ก่อนที่จะเกิดเหตุในพื้นที่ จ.ตรัง อีกครั้ง เราชาว จ.ตรังไม่ต้อนรับ ผวจ.คนนี้โดยเด็ดขาด
 
ผู้สื่อข่าวรายงาน ก่อนหน้าที่จะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ กลุ่มภาคีเครือข่ายร่วมประชุมลับโดยไม่ยอมให้สื่อมวลชนเข้าไปทำข่าวและสังเกตการณ์แต่อย่างใด อ้างเหตุผลว่าการประชุมในครั้งนี้มีแกนนำหลายคนที่มาประชุม และได้ถูกออกหมายจับด้วยเกรงว่า หากมีการเผยแพร่ภาพออกไปสู่ภายนอกได้ อาจเป็นอันตรายกับเกษตรกร   แต่การปรึกษาหารือเป็นไปอย่างเคร่งเครียด โดยใช้เวลาประชุมปรึกษาหรือเป็นเวลานานกว่า 3 ชม.  จึงยอมเปิดแถลงข่าว 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับตาวาระ กสท.: เปิดโผทีวีดิจิตอลสาธารณะอีก 1 ช่อง 'ทีวีเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ'

Posted: 08 Sep 2013 09:35 AM PDT

จันทร์นี้ (9 ก.ย.56) กสท. จะพิจารณาแนวทางการอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์บริการสาธารณะประเภทที่สอง "เพื่อความปลอดภัยสาธารณะ" และ 2 กสทช.รุดให้กำลังใจ ทีดีอาร์ไอ และไทยพีบีเอส ย้ำ กสทช.ต้องถูกตรวจสอบได้ อย่าหวั่นไหวในการใช้สิทธิเสรีภาพ

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า คณะอนุกรรมการประสานงานการบริหารคลี่นความถี่เพื่อความมั่นคงของรัฐในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (เป็นอนุกรรมการชุดพิเศษที่มีเฉพาะผู้แทนหน่วยงานราชการด้านความมั่นคงเท่านั้น) ส่งแนวทางการให้ใบอนุญาตทีวีดิจิตอลประเภทบริการสาธารณะ "เพื่อความปลอดภัยสาธารณะ" ซึ่งเป็น 1 ใน 12 ช่อง ที่ กสท. กำลังจะพิจารณาในวันจันทร์นี้  โดยในแนวทางดังกล่าวระบุถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะขอรับใบอนุญาต การกำหนดสัดส่วนรายการและเนื้อหารายการ และการหารายได้ พบว่ามีการจำกัดสิทธิ์ของกลุ่มสมาคม มูลนิธิ หรือนิติบุคคลที่สามารถมาขอใช้คลื่นความถี่ได้ตามมาตรา 11(2) ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 โดยมีการเพิ่มเติมข้อความที่อาจทำให้กลุ่มสมาคม มูลนิธิ ส่วนหนึ่งไม่สามารถเข้ามายื่นขอใบอนุญาตได้

ดังนั้นหากมีการออกกติกาเงื่อนไขเพิ่มลักษณะนี้เข้าข่ายเป็นการ beauty contest แล้ว และการพิจารณาเกณฑ์ beauty contest ทีวีสาธารณะทุกประเภทควรให้อนุกรรมการชุดอื่นที่มีตัวแทนผู้เชี่ยวชาญในด้านที่หลากหลายกว่าร่วมกำหนดแนวทาง หลังจากนั้นจะต้องนำเข้าสู่กระบวนการรับฟังความเห็นสาธารณะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามกระบวนการก่อนที่จะประกาศออกมา เพื่อให้เกิดความโปร่งใส รอบคอบ เป็นธรรม และคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ

"ส่วนตัวตั้งข้อสังเกตว่า แนวทางการจัดทำเกณฑ์ beauty contest ของช่องทีวีสาธารณะแต่ละประเภท กสท. มีการดำเนินการที่ไม่เหมือนกัน บางครั้งให้สำนักงานเสนอแนวทางเข้ามาให้พิจารณา บางครั้งเป็นอนุกรรมการฯเสนอแนวทางการเข้ามา และบางครั้งบอกว่าไม่ต้องทำเพิ่ม ดิฉันคิดว่าควรทำให้มีมาตรฐานและกระบวนการเดียวกัน  ที่สำคัญคือ ต้องมีการทำประชาพิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะการจัดสรรคลื่นทีวีใหม่เป็นเรื่องสำคัญที่ กสทช.ต้องทำให้ครบตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย อีกทั้งสังคมไทยกำลังพุ่งเป้ามาตรวจสอบการทำงานในเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างใกล้ชิดมากขึ้น เราต้องทำเรื่องนี้ให้อธิบายกับสาธารณะได้"

ส่วนวาระน่าจับตาที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคโดยตรง คือ กสท.จะพิจารณาแนวทางการให้ทำหรือนำเข้าเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการทำให้ผู้บริโภคสามารถรับชมโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลได้  และบริษัท ทรู วิชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู วิชั่น เคเบิ้ล จำกัด (มหาชน) ขออนุญาตพักการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสามาชิกแก่ผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในวันที่ 12 กันยายนนี้ ตั้งแต่เวลา 00.01-08.00 น. เพื่อปรับเปลี่ยนช่องรายการให้มีประโยชน์ต่อคนดูเพิ่มขึ้น แต่บริษัท ทรู ต้องแจ้งข่าวสารการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้สมาชิกทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงด้วย

และในวันจันทร์นี้ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. จะไปให้กำลังใจ รศ.ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในเวลา 15.30 น. และ นางสาวณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้สื่อข่าวและผู้ดำเนินรายการ ที่นี่ไทยพีบีเอส เวลา 17.00 น. กรณีที่สำนักงาน กสทช. และ กรรมการ กทค. 4 คน ยื่นฟ้องหมิ่นประมาทให้ข้อความเป็นเท็จ เรื่องร่างประกาศสัมปทานคลื่น 1800 ซึ่ง กสทช.ทั้ง 2 คนไม่เห็นด้วยกับการคุกคามสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการและสื่อ โดยย้ำว่า กสทช.ต้องถูกตรวจสอบได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คลังเตรียมลดภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยจาก30% เหลือ 5% หวังกระตุ้น ศก.ภายใน

Posted: 08 Sep 2013 09:20 AM PDT

ปลัด คลังฯประกาศ เตรียมลดภาษีสินค้าแบรนด์เนมกระตุ้นการท่องเที่ยว/การค้าชายแดน ดันมาตรการเร่งรัดเบิกจ่ายงบ เร่งรัดการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ หวังจีดีพีขยายตัวได้4%

อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในช่วง 1-2 เดือนนี้ กระทรวงการคลังจะสรุปลดภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย ทั้งน้ำหอม เครื่องสำอาง เสื้อผ้าแบรนด์เนม จากปัจจุบันจัดเก็บภาษีที่ 30% ให้เหลือประมาณ 5% โดยเชื่อว่าจะดึงดูดให้คนไทยที่ออกไปใช้จ่ายต่างประเทศกลับมาซื้อสินค้าภายในประเทศไทยมากขึ้น

"รัฐบาลมุ่งหวังที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งชอปปิ้งสำคัญในภูมิภาค ชูมาตรการชอปปิ้ง พาราไดส์ (Shopping Paradise) เพื่อแข่งขันกับประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกง ซึ่งมีภาษีนำเข้า 0%"นายอารีพงศ์กล่าว

นอกจากนี้จะสนับสนุนมาตรการตามแนวชายแดน ด้วยการสนับสนุนให้คนไทยและต่างชาติถือครองเงินสดในรูปแบบมากกว่าข้อกำหนดเดิมที่ 500,000 บาท เพื่อกระตุ้นให้เกิดการค้าขายตามแนวชายแดน และกระตุ้นการท่องเที่ยว รวมทั้งมีแผนการบริโภคภาครัฐผ่านโครงการ 880,000 ล้านบาท ประกอบกับมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณกว่า 41,000 ล้านบาท และการเร่งรัดการลงทุนอีกกว่า 60,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้ เชื่อว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายด้านที่ออกมาในช่วงครึ่งปีหลังจะช่วยผลักดันให้จีดีพีในปีนี้ขยายตัวได้4%

 

 

ที่มา: http://www.posttoday.com

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: “ตั้งวง”ถกความเชื่อแบบไทย

Posted: 08 Sep 2013 08:07 AM PDT

ผมได้มีโอกาสไปชมภาพยนตร์เรื่อง"ตั้งวง"ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์บางแห่งในขณะนี้ เห็นพ้องกับนักวิจารณ์หลายคนว่า หนังเรื่องนี้เป็นหนังคุณภาพที่ตั้งคำถามกับความเป็นไทยได้อย่างน่าสนใจ โดยเสนอในมุมมองเสียดสีที่ค่อนข้างลึก ถือได้ว่าเป็นภาพยนตร์ที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง

"ตั้งวง"กำกับการแสดงและเขียนบทโดยนักสร้างภาพยนตร์ชื่อ คงเดช จาตุรันต์รัศมี ที่เคยสร้างภาพยนตร์ที่ถือเป็นหนังค่อนข้างแหวกแนวมาแล้วหลายเรื่อง โดยเริ่มเรื่องแรกจาก"สยิว"เมื่อ พ.ศ.2546 ปีต่อมา คงเดชได้รางวัลเขียนบทยอดเยี่ยมจากเรื่อง"เดอะเลตเตอร์จดหมายรัก" ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็กลายเป็นภาพยนตร์โด่งดังประจำปีนั้น และแอน ทองประสม ที่แสดงเป็นนางเอกของเรื่อง ได้รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม จากนั้น ใน พ.ศ.2548 คงเดชก็สร้างหนังเรื่อง"เฉิ่ม"ออกแนวตลก หลังจากนี้ เขาก็หันมาเขียนบทภาพยนตร์ได้แก่ "ต้มยำกุ้ง" "หนูหิ่นเดอะมูฟวี่" และ "me-myself ขอให้รักจงเจริญ" แล้วมาสร้างภาพยนตร์เองเรื่อง "กอด" เมื่อ พ.ศ.2551 ซึ่งกลายเป็นหนังดีที่ทำรายได้พอสมควรประจำปีนั้น ต่อมา คงเดชก็หันมาสร้างหนังนอกกระแสเรื่อง "แต่เพียงผู้เดียว" เมื่อ พ.ศ.2555 ซึ่งเป็นหนังที่ได้รางวัล แต่ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ เพราะเป็นหนังประเภท"ดูยาก"

สำหรับภาพยนตร์เรื่อง"ตั้งวง"ที่สร้างในปีนี้ คงเดชได้รับทุนสนับสนุนการสร้างจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สสร.) กระทรวงวัฒนธรรม เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้กลายเป็นหนังที่ได้รับเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกภาพยนตร์ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ  ให้เข้าฉายและร่วมประกวดชิงรางวัลหมีแก้วครั้งที่ 63 ที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี และที่เทศกาลฮ่องกงฟิล์ม เฟสติวัล แต่นี่คงไม่ใช่หลักประกันที่จะทำให้ภาพยนตร์เรื่องทำเงินในตลาดเมืองไทย ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีดารานำที่หล่อสวยมาร่วมแสดงให้เป็นแรงดึงดูดเลย ผู้แสดงแทบทั้งหมดเป็นเยาวชนหน้าใหม่แทบทั้งสิ้น

โดยทั่วไปหนังที่ได้การสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม น่าจะออกมาในลักษณะที่อยู่ภายใต้กรอบประเภทส่งเสริมวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม หรือส่งเสริมความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่เรื่อง"ตั้งวง"ไม่มีลักษณะเช่นนั้นเลย แต่กลับเป็นภาพยนตร์แบบ"รีลริสติก" ที่ตั้งคำถามกับความคิดความเชื่ออันไม่เป็นวิทยาศาสตร์ในสังคมไทยได้อย่างน่าสนใจ

ในคำอธิบายอันหนึ่งเกี่ยวกับหนัง"ตั้งวง" กล่าวถึงโครงเรื่องย่อว่า เป็นหนังวัยรุ่น–ตลกร้าย ที่เล่าเรื่องของการรำ โดยเน้นไปยังกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นเด็กหนุ่มเกรียนๆ 4 คน คือ ยองและเจ เด็กเรียนประจำโรงเรียน  เบสนักเรียนที่เล่นปิงปอง และ เอ็ม เด็กหนุ่มผู้หลงรักการเต้นแบบเกาหลีเป็นชีวิตจิตใจ เนื้อเรื่องได้สร้างประเด็นของเรื่องจากการที่ยองและเจต้องการที่จะชนะเลิศในการแข่งขันตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์ จึงได้ไปอาศัยไสยศาสตร์ โดยการไปบนไว้กับศาลพ่อปู่ให้ช่วยเหลือ และสัญญาที่จะรำแก้บน ส่วนกรณีของเบส กลายเป็นเมย์ที่เป็นแฟนของเขามาบนจ้าวพ่อปู่เพื่อให้ได้เบสได้รับเลือกเป็นตัวแทนของโรงเรียน และเอ็มได้มาบนจ้าวพ่อเพื่อให้แฟนที่ทิ้งไปกลับคืนมา เมื่อทุกคนประสบความสำเร็จ จึงต้องเผชิญกับความขัดแย้งที่จะต้องมารำแก้บนต่อศาลจ้าวพ่อ ในที่สุด ก็ต้องไปจ้างพี่นัทสาวประเภทสองที่เป็นนางรำรับจ้างมาสอนรำแก้บน เจได้อธิบายว่า การรำแก้บนของพวกเขาเหมือนการรวมตัวกันของพวกตัวเอกในหนังญี่ปุ่นเพื่อบรรลุภารกิจที่ตั้งไว้

จากนั้น เนื้อเรื่องได้สะท้อนไปถึงปัญหาชีวิตและความขัดแย้งในสังคมโดยผ่านตัวละครแต่ละคนแต่ละตัว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการศึกษาผ่านเจและยอง เรื่องปัญหาทางวัฒนธรรมวัยรุ่นที่นิยมเคป๊อปผ่านเอ็ม ปัญหาสตรีวัยรุ่นผ่านเฟื้องแฟนของเอ็ม และปัญหาชีวิตของสตรีเพศที่สามแบบพี่นัทที่มุ่งหวังในชีวิตใหม่กับฝรั่ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เป็นต้น

ฉากที่วิพากษ์ความย้อนแย้งทางความเชื่อในสังคมไทย นอกเหนือจากเรื่องการบนเจ้าเพื่อให้ชนะการตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์แล้ว ก็คือ ฉากที่พ่อแม่ของยองพูดคุยกับลูกเรื่องแก้บน โดยตอนแรกก็อธิบายว่า ไม่ควรไปเชื่อเรื่องแบบนี้ มันงมงาย แต่พอรู้ว่าลูกไปบนไว้แล้วไม่ได้แก้ ก็ตกใจกันใหญ่ ผลักดันให้ไปแก้บนให้ได้ ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าแนวคิดย้อนแย้งในลักษณะนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมไทย น่าจะเป็นเพราะในระบบคิดแบบไทยไม่เคยสอนให้มีการสร้างระบบการสงสัย(sceptic)แบบถึงแก่น จึงทำให้ความคิดที่ขัดแย้งกันดำรงอยู่ได้และฝังรากลึกอยู่ในวิถีชีวิตแบบไทย ในลักษณะของ"ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" ซึ่งเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะในทางที่ถูกแล้ว ถ้าเราสงสัยหรือไม่เชื่อต้องอภิปรายให้เห็นหลักเหตุและผล และวิพากษ์ความคิดที่โกหกลวงโลกเช่นนั้นให้เห็นชัด

แต่ในเนื้อเรื่องของ"ตั้งวง"ได้ท้าทายความศักดิ์สิทธิ์ของจ้าวพ่อปู่เสียเอง โดยการดำเนินเรื่องให้ศาลพ่อปู่ถูกไฟเผาไหม้หมด แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์ปกป้องไม่ได้แม้กระทั่งที่อยู่ของตนเอง แต่ผู้คนก็ยังคงไม่เลิกงมงายในความเชื่อ อุตส่าห์บูรณะศาลของพ่อปู่แล้วก็มากราบไหว้บูชากันใหม่ ซึ่งเป็นการสะท้อนสังคมไทยที่เสพติดการกราบไหว้บูชาสิ่งไร้เหตุผลอยู่ตลอดเวลา

ที่น่าสนใจมากอีกเรื่องหนึ่งนอกเหนือจากเรื่องการรำแก้บน ที่วิพากษ์ในเชิงวัฒนธรรม คงเดชได้บันทึกเหตุการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยเดือนมีนาคม-พฤษภาคม พ.ศ.2553 เอาไว้ในภาพยนตร์ด้วย โดยดำเนินการให้เหตุการณ์ของเรื่องเกิดขึ้นพร้อมกับการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดง และให้เบสนักปิงปอง มีบิดาเป็นคนเสื้อแดงที่เดินทางไปเข้าร่วมการชุมนุมเป็นประจำ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เล่าเหตุการณ์ทางการเมืองเรื่องนี้ โดยไม่มีการแสดงท่าทีว่า สนับสนุนข้างรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและกองทัพหรือเลือกข้างคนเสื้อแดง และไม่ได้เสแสร้งนำเสนอเนื้อหาเกรียนทางการเมืองประเภททั้งคนฆ่าและคนถูกฆ่าให้"มาลืมเรื่องราวแล้วรักกันเถอะ สังคมไทยแตกแยกมามากแล้ว" แต่มุ่งจะบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นโดยผ่านเด็กวัยรุ่นธรรมดาที่ไม่ได้ติดตามการเมือง และสร้างฉากให้ตัวละครคือเบสไปตามพ่อในวันที่มีการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง เบสจึงได้ร่วมในเหตุการณ์นั้น และรอดชีวิตจากเหตุการณ์ได้อย่างหวุดหวิด เพียงเพราะกระสุนปืนยิงถูกไม้ปิงปองที่พกมาด้วย

ดังนั้น จึงต้องเข้าใจว่าเรื่อง"ตั้งวง"ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายจะเป็นภาพยนตร์การเมือง เพียงแต่ว่าการเล่าเหตุการณ์ดังกล่าว ก็ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่เล่าเหตุการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยกรณีคนเสื้อแดงอย่างชัดเจน และสำหรับผู้ที่เคยเข้าร่วมและผ่านเหตุการณ์นั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็จะถือเป็นการย้อนระลึกเหตุการณ์นั้นได้

สรุปแล้ว ภาพยนตร์เรื่อง"ตั้งวง"จึงเป็นภาพยนตร์ทางสังคมที่ต้องทำให้ผู้ชมกลับมาคิดเป็นการบ้านพอสมควร ในภาวะที่สังคมไทยรุมเร้าด้วยปัญหารอบด้านเช่นนี้ เพียงแต่ไม่แน่ใจว่า ภาพยนตร์ลักษณะนี้จะฉายอยู่ได้สักกี่วัน

 

ที่มา: โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 428 วันที่ 6 กันยายน 2556

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ขาดทุน

Posted: 08 Sep 2013 07:51 AM PDT

 
เมื่อวันหนึ่ง ในสภา อันทรงเกียรติ
ความละเมียด ละไม ถูกไล่หนี
มีความเกลียด มีความโกรธ เพิ่มทวี
ประชาชี ก็ได้เห็น สันดานคน
 
สภาใหญ่ ใช้ประชุม เพื่อช่วยชาติ
และช่วยราษฎรให้ สัมฤทธิ์ผล
ช่วยแก้ทุกข์ ช่วยแก้เจ็บ ช่วยแก้จน
ให้ชาติพ้น ความล้าหลัง ดังตั้งใจ
 
รับอาสา มาเป็น ผู้แทนราษฎร์
แต่ยังขาด ประชุมอยู่ รู้หรือไม่
เงินเดือนแพง เบี้ยเลี้ยงเพียบ หนีทำไม
หรือถ่วงให้ เสียเวลา น่าละอาย
 
การประชุม รุมความเห็น เป็นเหตุผล
ใช่ว่าพ่น คำกล่าวหา น่าเบื่อหน่าย
รีบทำงาน ได้สักที  เลิกวุ่นวาย
ความเสียหาย ของชาติ ราษฎร์ขาดทุน...
 
...............................................
                                                   
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมบัติ บุญงามอนงค์

Posted: 08 Sep 2013 03:18 AM PDT

ถ้าเราเป็นฝ่ายประชาธิปไตยเราต้องใจกว้าง ฟังได้ เอาตลับเมตรวัดเลย เราเป็นพวกใจแคบหรือใจกว้าง ใหม่ๆเราอาจแคบบ้างธรรมดา แต่ประชาธิปไตยเป็นกระบวนการขยายขนาดของหัวใจ ฝึกฝนไปเรื่อยๆ เราจะเริ่มกว้างขึ้น เราไม่เห็นด้วยกับคุณแต่เราก็เข้าใจที่คุณคิด

7 ก.ย.56,ในงานเอภิปราย '40ปี 14ตุลา ถึงเวลาปฏิรูปปฏิรูปปฏิรูป'

กวีประชาไท: ขอบคุณที่บอกให้รู้ว่าปูโง่

Posted: 08 Sep 2013 12:57 AM PDT

 

คนอย่างปู รู้ตัว ไม่กลัวโง่
ปูเติบโต แบบทั่วไป ใช่คุณหนู
เป็นลูกจ้าง เหมือนกัน นั่นคือปู
ปูต่อสู้ ชีวิต คิดแต่งาน
 
ใครตำหนิ ปูรับ มาปรับปรุง
ปูหมายมุ่ง รับฟัง ทั้งรอบด้าน
ปูไม่เคย ผลักไส ด้วยใจพาล
จะอยู่นาน ต้องซื่อสัตย์ ปูชัดเจน
 
ปูเพิ่งลง เลือกตั้ง ยังชนะ
ปูก็จะ ทำหน้าที่ ให้ดีเด่น
ปูมาตาม ครรลอง ของกฎเกณฑ์
ใครคิดเล่น การเมืองสู้ ปูไม่ทำ
 
ปูไม่มี เวลา มาอวดโอ้
ตื่นไก่โห่ ปูงานเข้า เช้าจรดค่ำ
ภาระหนัก ของปู คือผู้นำ
พาชาติผ่าน ชอกช้ำ ปูทำจริง
 
ขอบคุณที่ บอกให้รู้ ว่าปูโง่
ชี้ช่องโหว่ ทำให้ปู ไม่อยู่นิ่ง
ปูยิ่งลบ สบประมาท ที่พาดพิง
ปูก็ยิ่ง ทิ้งห่าง บ่าง-ชะนี....
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บันทึกลับเรื่อง "ศรีบูรพา" ครึ่งศตวรรษในจีน (6) :ในยามถูกเนรเทศ

Posted: 08 Sep 2013 12:42 AM PDT

นอกจากนั้น ศรีบูรพายังเคยมีหนังสือรวมเรื่องสั้นแปลอีกเล่มหนึ่งน่าสนใจ ซึ่งเป็นผลงานร่วมกับภริยานักแปลคือ "จูเลียต" ในชื่อ "ในยามถูกเนรเทศ" โดยบรรณาธิการ "รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน" ซึ่งมีเรื่องเด่นของ "แอนตัน เชคอฟ" นักเขียนเรื่องสั้นชั้นเยี่ยมชาวรัสเซีย ซึ่งเรื่องนี้ได้สะท้อนถึงสภาพของคนต้องโทษถูกเนรเทศไปสู่อีกแดนหนึ่ง และแสดงความใฝ่ฝันชีวิตที่หมดจดกว่าและเป็นสุขกว่าชีวิตเก่าๆ และสุดท้ายเขาถูกควบคุมไว้ ณ โรงพยาบาลบ้า

การแปลเรื่องนี้ของศรีบูรพาอาจต้องการซ่อนนัยยะบางอย่างที่แฝงเร้นอยู่ในช่วงที่ตกอยู่ในสภาพความรู้สึกไม่ต่างจากตัวละคร เพื่อสะท้อนช่วงชีวิตที่ศรีบูรพาและภริยาเคยมีสภาพต้องห่างผืนแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนนั้นจนวินาทีสุดท้ายของชีวิตเร่ร่อนจากผืนแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอน ซึ่งศรีบูรพาก็มิอาจบรรลุ "ความใฝ่ฝัน" สูงสุดที่เขาปรารถนาได้
 
สำนวนแปลตอนหนึ่งของ "ศรีบูรพา" ได้บรรยายอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครช่วง "ถูกเนรเทศ" ได้จับใจและแสดงถึงอารมณ์หวนหาบ้านเกิดเมืองนอนได้ดีว่า
 
"เจ้าหนุ่มเงยหน้าขึ้นชำเลืองดูฟ้า ในท้องคัคนานต์นั้นก็มีดวงดาวระยิบระยับเช่นเดียวกับที่บ้านของเขาและความมืดนั้นเล่าก็ละม้ายแม้นกัน แต่ก็มีอะไรบางอย่างที่ขาดไป ที่บ้านในมณฑลซิมบิรส์นั้น ดวงดาวและท้องฟ้าแตกต่างกว่าที่นี่มาก..."
 
สำหรับผู้มีชีวิตเร่ร่อนรอนแรมอยู่ในต่างแดนนั้น "ดวงดาวและท้องฟ้า" ไหนเล่าที่จะสุกสกาวเท่าบนฟากฟ้าผืนแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนซึ่งต่างหวังจะยึดเป็น "เรือนตาย" ...แม้จะเป็นผืนฟ้าเดียวกันก็ตาม
 
และแม้ศรีบูรพาและครอบครัวจะได้รับการดูแลอย่างที่อาจเรียกได้ว่า "ดีที่สุด" จากรัฐบาลอีกประเทศหนึ่ง หากเทียบกับสภาพความเป็นอยู่ของชาวจีนทั่วไปในเวลานั้นก็ตาม
 
 
ศรีบูรพาในวงวิชาการจีน
 
นามของศรีบูรพาในหมู่ชาวจีนทั่วไปนั้นอาจเป็นสิ่งที่ไกลตัวและไม่คุ้นเคย แต่เมื่อได้มีโอกาสพูดคุยกับคณาจารย์ชาวจีนแห่งภาคภาษาไทยของมหาวิทยาลัยบางแห่งก็มักจะตอบว่ารู้จักชื่อนี้ดีจากการศึกษาผลงานทั้งในห้องเรียนในประเทศจีน ประเทศไทย และการศึกษาด้วยตนเอง
 
รวมถึงการรู้จักการนำผลงานเด่นบางเรื่องของศรีบูรพาไปเป็นบทเรียนแก่นักศึกษาจีนที่ศึกษาด้านภาษาไทยอีกด้วย
 
รวมถึงการศึกษาผลงานนักเขียนไทยอื่นๆ เท่าที่จะเสาะแสวงหาได้ ดังที่มักจะปฏิบัติสืบต่อมาในมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศจีน ซึ่งมีการเปิดสอนด้านภาษาไทย เช่น มหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง มหาวิทยาลัยกวางตุ้ง มหาวิทยาลัยชนชาติกวางสี และมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ เป็นต้น
 
สถาบันด้านภาษาไทยในจีนหลายแห่งมักจะนำเอาผลงานนักเขียนเด่นของไทยหลายท่านไปเผยแพร่ให้นักศึกษาจีนที่ศึกษาภาษาไทยได้ศึกษาเพราะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการศึกษาทั้งด้านการใช้ภาษาไทยและการศึกษาสังคมไทย ดังคำกล่าวที่ว่า "วรรณกรรมคือกระจกสะท้อนสังคม" นั่นเอง
 
ผลงานดังกล่าวนั้น มักจะเป็นผลงานนักเขียนที่โดดเด่นในประเทศไทยหรือเคยได้รับรางวัลด้านวรรณกรรมของไทยในช่วงนั้น
 
เช่นที่ยังคงปรากฏให้เห็นในเวลานี้จากหลายสถาบันคือ ผลงานเรื่อง "สี่แผ่นดิน" ของ พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เรื่อง "ปีศาจ" ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ เรื่อง "จดหมายจากเมืองไทย" ของ "โบตั๋น" เรื่อง "เขาชื่อกานต์" ของ สุวรรณี สุคนธา และเรื่อง "ปูนปิดทอง" ของ กฤษณา อโศกสิน เป็นต้น
 
ผลงานดังกล่าวนี้ ดังได้ปรากฏบางส่วนอยู่ในตำราการสอนวิชาภาษาไทยพื้นฐานและภาษาไทยขั้นสูงที่ยึดเป็นหลักการเรียนการสอนภาษาไทยสืบทอดมาหลายรุ่นของคณาจารย์ด้านภาษาไทยชาวจีนจากมหาวิทยาลัยบางแห่งทั่วประเทศ
 
เช่น ศาสตราจารย์พัน เต๋อติ่ง นักวิชาการอาวุโสด้านไทยศึกษาชาวจีนแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เป็นต้น ก็ได้เคยอ้างถึงผลงาน ศรีบูรพา และนักเขียนไทยเหล่านี้ไว้ในตำราภาษาไทยของเขา เช่น เรื่อง "จดหมายจากเมืองไทย" เป็นต้น
 
นักวิชาการจีนจากมหาวิทยาลัยชนชาติกวางสีก็ได้เคยเรียบเรียงตำรา แปล และวิจัยด้านภาษาไทย โดยอ้างอิงถึงผลงานประพันธ์ไทยบางเล่ม เช่น "ข้างหลังภาพ" "สี่แผ่นดิน" "ปูนปิดทอง" และ "คำพิพากษา" เป็นต้น รวมถึงการนำวรรณคดีไทย ตำนานหรือนิทานสอนใจต่างๆ ไปใช้ประกอบการเรียนการสอนในห้องเรียนภาษาไทย
 
มีนักวิชาการไทยศึกษาชาวจีนแห่งภาคภาษาไทยของมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงในจีนท่านหนึ่งเคยกล่าวกับผู้เขียนว่า
 
"ส่วนหนึ่งที่วรรณกรรมไทยในจีนสมัยนั้นมีจำกัด ซึ่งเป็นเหตุให้นักศึกษาจีนแห่งภาคภาษาไทยขาดแคลนหนังสือเรียนก็เพราะว่าระบบสังคมและการเมืองระหว่างไทย-จีนในยุคนั้นที่ทำให้ขาดแคลนตำราที่เพียงพอ"
 
ภาวะ "ขาดแคลนตำรา" ดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นก่อนที่ พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จะไปเปิดความสัมพันธ์กับประเทศจีนด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2517 นั่นเอง
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์ "อั้ม เนโกะ" ค้นความหมาย "4 ภาพ sex" เกี่ยวอะไรกับการต้าน "บังคับแต่งชุด นศ.มธ."

Posted: 08 Sep 2013 12:08 AM PDT

ช่วงเย็นของวันพฤหัสที่ 5 กันยายน 2556 นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มหนึ่ง นำโปสเตอร์ 4 แบบ ที่แสดงท่าทางเหมือน "ชาย-หญิง" และ "ชาย-ชาย" กำลังร่วมเพศในเครื่องแบบนักศึกษา แปะตามบอร์ดต่างๆ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต  โดย แต่ละภาพ มีคำถาม หรือ วลีสั้นๆ ประกอบด้วย "midterm ที่ผ่านมา คุณยังต้องใส่ชุดนักศึกษาอยู่หรือเปล่า?"  "ชุดนักศึกษามีเซ็กซ์มันส์กว่าป่ะ?"  "เมื่อชุดนักศึกษากำลังถูกท้าทาย" "ปลดแอกความเป็นมนุษย์ของคุณออกมา"  ซึ่งทั้งหมดเป็นโปสเตอร์รณรงค์ต่อต้านการบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษา ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของนักศึกษากลุ่มดังกล่าว

ต่อมาช่วงเที่ยงของวันที่ 6 กันยายน ทางมหาวิทยาลัย มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เก็บโปสเตอร์ดังกล่าว และสั่ง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ดูแลป้องกันไม่ให้มีการติดโปสเตอร์ชุดนี้อีก ขณะเดียวกัน ภาพทั้ง 4 ภาพ ก็ถูกเผยแพร่ทางอินเตอร์เนต เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม และ ความหมาย ว่า ภาพทั้ 4 เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ต่อต้านการบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษาอย่างไร

"ประชาไท" สัมภาษณ์ "อั้ม เนโกะ" นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ชั้นปี 2 เอกภาษาเยอรมัน คือ ผู้สวมชุดนักศึกษาหญิงอยู่ในภาพ 3 ภาพ จากทั้งหมด4 ภาพ ซึ่งดูราวกับเธอเป็นนักศึกษาหญิงแท้ๆ แต่หากใครที่ติดตามการเคลื่อนไหวของ "อั้ม" มาตั้งแต่ต้น อาจพอเข้าใจถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาพลักษณะนี้ขึ้นมา โดยเฉพาะ แคมเปญชุดนี้ เธอบอกว่า ไม่มีผู้หญิงกล้าเข้าร่วมถ่ายรูปเพื่อรณรงค์แม้แต่คนเดียว 

-ทำไมจึงทำโปสเตอร์ ภาพถ่ายคน ทำท่าร่วมเพศในชุดนักศึกษาธรรมศาสตร์

ต้องการตั้งคำถามถึงประชาคมธรรมศาสตร์ และ ที่อื่นด้วย ทำไมเราต้องเป็นมหาวิทยาลัยที่บอกว่าตัวเองมีเสรีภาพ แต่กลับมีการบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษา ในหลายๆ วิชา ในหลายๆ คณะ โดยเฉพาะ สายวิทยาศาสตร์จะมีการบังคับเยอะมาก เหมือนหลายๆ รูปที่มีการแปะบอร์ดว่า "วิทยาศาสตร์ มธ. ร่วมใจกันใส่ชุดนักศึกษา เชิดชูเกียรติยศสถาบัน"

เราก็เลยคิดว่า ไหนกฎมหาวิทยาลัยบอกให้ใส่ชุดสุภาพ แต่ในความเป็นจริง กลับไม่ได้รับการยอมรับ แม้กระทั่ง บีบีเอ คณะบัญชีฯ  ที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ทุกวันนี้ มีป้ายติดว่า no uniform no service

-รูปที่นำมาเผยแพร่ เกิดจากวิชา TU130 บังคับให้ใส่ชุดนักศึกษาหรือเปล่า (ตามหลักสูตรปีการศึกษา 2556 วิชา TU130 คือวิชาสหการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นวิชาพื้นฐาน 2 หน่วยกิต, เกิดกรณีนักศึกษาจะไม่ได้รับกระดาษคำถามในการสอบในวิชาดังกล่าวหากไม่แต่งชุดนักศึกษา)

มีส่วนคะ คือ เราเล่น 2-3 ประเด็น อย่างแรกคือ TU 130 บังคับใส่ชุดนักศึกษามานานมาก มหาวิทยาลัยก็รู้เรื่อง แต่ไม่ออกมาแสดงอะไร แต่เราก็ไม่รู้ว่า ที่อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ออกมาให้สัมภาษณ์ คือ เขาไม่รู้จริงหรือเปล่า อันนี้ ก็ไปตัดสินอะไรไม่ได้ อีกประเด็น คือ มีบางวิชา ไม่ว่าจะเป็นคณะวิทย์ฯ หรือบัญชี  ศิลปศาสตร์ภาคภาษาไทยบางคนยังบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษา ในการเรียน การสอบ

-ข้อเสนอของคุณ คือ ไม่ควรบังคับใส่ชุดนักศึกษา ทั้งตอนเรียนและสอบ ใช่หรือเปล่า

ใช่ ไม่ควรจะบังคับ ประเด็นที่สามคือ ไม่ควรบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษาตอนสอบ เพราะ สุดท้าย มันไม่ได้ชี้วัดว่า คุณเอาชุดนักศึกษาไปสอบ หรือเอาสมองไปสอบ ในประเทศที่เจริญแล้ว ก็ไม่ได้บังคับว่าต้องใส่ชุดนักศึกษาไปสอบ

-หลายคนมองว่า การใส่ชุดนักศึกษา เป็นการให้เกียรติสถานที่

เราก็ต้องถามก่อน ถ้าตัดความเป็นมหาวิทยาลัยแล้ว ตัวปรัชญา เป้าหมายในการศึกษา คืออะไร ในสถานศึกษา แน่นอนอยู่แล้วคำว่ามหาวิทยาลัย คือการรวมศาสตร์ หลายๆ แขนง ทำให้เราได้เรียนรู้ ถึงชุดความคิด ชุดความรู้หลายๆ อย่างไปต่อยอดเพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ แล้วก็เกิดประโยชน์สูงสุด

แต่ทำไมสถาบันการศึกษา กลับเป็นสิ่งที่ย้อนแยง ในการตีความในสังคมไทยว่า สถาบันการศึกษา เป็นพื้นที่ของคนที่เรียบร้อย แต่งกายสุภาพ แต่งชุดนักศึกษาเรียบร้อยเท่านั้น จึงจะมีส่วนร่วมในสังคมนี้ได้ ทั้งๆ ที่การศึกษาควรมีความหลากหลายและควรจะเรียนรู้การอดทนอดกลั้น ต่อสิ่งที่แตกต่าง อย่าไปตีความว่า "บ้า"

-ทำไมไม่ภูมิใจในชุดนักศึกษาธรรมศาสตร์  ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะสอบเข้าธรรมศาสตร์ได้

คุณภูมิใจของคุณ คุณก็ภูมิใจไป แต่คุณอย่ามาบังคับ เราไม่ได้ห้ามใครใส่ชุดนักศึกษา เราควรจะเลือกได้ และไม่ควรจะเอาศีลธรรมตัวเองมาชี้วัดคนอื่นว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ตั้งคำถามว่า ทำไมคุณคิดว่ามันไม่เหมาะสม มันมาจากค่านิยม อุดมการณ์อะไร ทำไมคุณคิดแบบนั้น

-อธิบายความหมายแต่ละรูปอย่างไร

รูปแรก "midterm ที่ผ่านมา คุณยังต้องใส่ชุดนักศึกษาอยู่หรือเปล่า?"  เป็นรูปที่เป็นอั้มนั่งพื้น ทำออรัลเซ็กส์ เสื้อผ้ากระจุยกระจาย ฟินแบบจำยอม เปรียบเหมือนถูกอำนาจลึงค์ผู้ชาย กำลังครอบงำไม่ให้เราพูด ไม่ให้แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างได้ เราจะหันหน้า ไปไหนไม่ได้ เพราะด้านหลังก็มีกำแพง

เราผลิตงานออกมาก็อยากให้คนได้คิดเล่นเห็นต่างด้วย เหมือนเราถูกบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษาไปสอบอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งที่ธรรมศาสตร์ บอกว่ามีเสรีภาพ เราต้องการสื่อภาพนี้ว่า พูดไม่ได้ พูดก็โดนด่า ภาพนี้ต้องการให้ตั้งคำถามว่าทำไมเราต้องยอมถูกบังคับ ก็เลยทำภาพให้อาร์ตๆ ดูเซ็กส์ซี่

-ภาพผู้ชายกับผู้ชาย "เมื่อชุดนักศึกษากำลังถูกท้าทาย" มีความหมายอย่างไร

เราเห็นว่า ประเด็นเรื่องเพศ นอกจากจะไม่ได้รับการยอมรับในสังคมไทยแล้ว เรื่อง homosexual (คนรักเพศเดียวกัน) ที่แสดงออกมา ยิ่งโดนตีตราว่า เป็นสิ่ง ที่ไม่ได้รับการยอมรับอย่างมาก เพราะ เป็นการท้าทายการแสดงออกทางเพศแบบ "ชาย-หญิง" หรือ heterosexual  เป็นการบอกสังคมว่า เราควรจะเปิดรับ ต่อสิ่งสิ่งนี้ได้แล้ว โฮโมเซ็กส์ชวลมีอยู่จริง

-แล้วเกี่ยวอะไรกับชุดนักศึกษา

เป็นการบอกว่า สังคมมีความหลากหลาย ไม่ได้มีแค่ชายหญิง โฮโมฯ เป็นภาพแทนการพูดว่า สังคมควรเปิดพื้นที่ให้กับฉัน ควรให้พื้นที่นี้ให้กับความต่าง

-หมายความว่า การมีชุดนักศึกษาชาย ก็ไม่ได้มีเฉพาะความเป็นชายแบบ heterosexual

ใช่คะ เหมือนประเด็นที่หนูรณรงค์ก่อนหน้านี้ เพราะ เขาจะไม่ให้คนที่เป็น transgender  หรือ กระเทยแต่งชุดนักศึกษาหญิง แล้วถ่ายรูปลงบัตรนักศึกษา เราก็เล่นประเด็นว่า ทำไม ผอ.สำนักทะเบียน ไม่ยกเลิกการบังคับใส่ชุดนักศึกษาถ่ายรูปติดบัตร เพราะชุดนักศึกษา บ่งบอกความเป็น hetero มากเลย เป็น Heteronormativity ว่ามันมีแค่ชาย กับหญิง เท่านั้น บางทีคนที่แต่งหญิง อาจจะโคตรแมนเลย แต่เลือกไม่ได้ กลายเป็นว่า ชุดนักศึกษา เป็นตัวควบคุมให้คนไม่เท่าเทียมกันอีก กลายเป็นการปิดทับ identity ปิดทับ gender ของตัวเองเสียอีก

-ทำไมไม่มีภาพ หญิง กับหญิง

หญิงกับหญิง มันหายาก ไม่มีผู้หญิงมาถ่ายด้วย แต่ภาพ ชายกับชาย ก็อยากให้ให้เป็นภาพแทนของ หญิงกับหญิงด้วย หมายถึง Homosexual

-ภาพต่อไป  "ชุดนักศึกษามีเซ็กส์มันส์กว่าป่ะ?"  หมายความว่าอย่างไร

ภาพนี้ได้รับการโหวตจากเพื่อนว่า ภาพนี้แรงสุด ท้าทายสุด เราจะตั้งคำถามว่าทำไมคนถึงคิดอย่างนั้น โดยมีข้อเท็จจริงที่ว่า การอัพค่าตัวของโสเภณี ที่ใส่ชุดนักศึกษา จะได้ราคาดีกว่า ก็เพราะ ค่านิยมต่อชุดนักศึกษา

-หมายความว่า ความรู้สึกต่อชุดนักศึกษา สามารถเพิ่มมูลค่าต่อเรื่องทางเพศได้ด้วย  ไม่ใช่ความหมายถึงการใช้สติปัญญาอย่างเดียวใช่หรือเปล่า

ใช่ มันไม่ได้มีความหมายแค่เรื่องบทบาทนักศึกษา

-ต่อให้มีความหมายแบบนั้น แล้วท่าการร่วมเพศทั้ง 3-4 ท่า ที่ถ่ายรูปออกมา มันเกี่ยวอะไรกับการต่อต้านการบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษา

ชุดนักศึกษามันควบคุมร่างกาย เหนือตัวตนคนคนนั้น  แม้แต่การร่วมเพศ ก็ยังเป็นการร่วมเพศกับอัตลักษณ์ ความเป็นนักศึกษา ไม่ได้ร่วมเพศกับตัวตนคนคนนั้น

-มันเสียหายยังไง

มันไม่ได้เสียหาย แต่เรากำลังจะบอกว่า มันคือสิ่งที่กำลังควบคุมร่างกายคุณอยู่ คุณเลือกได้ที่จะปลดแอกมันออกมาได้ การที่เราใช้ sex มาอธิบายส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเรื่อง sex  เป็นเรื่องที่สังคมรังเกียจ

-หมายความว่า ชุดนักศึกษา ไม่ได้มีความหมายทางปัญญาอย่างเดียว แต่มีความหมายอย่างอื่นก็ได้ แบบนั้น หรือเปล่า

ใช่ แล้วยิ่งการมี sex ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามของสังคม กำลังเข้าไปผสมพันธุ์กับอุดมการณ์ที่ดีแสนดี ของการเป็นนักศึกษา ศีลธรรมอันดีงาม เป็นเรื่องระหว่าง อำนาจที่สังคมไม่ให้การยอมรับก็คือการร่วมเพศ กับอำนาจ ของการควบคุมความดีงาม ก็คือการนิยามผ่านชุดนักศึกษา

-รูปที่ 4 "ปลดแอกความเป็นมนุษย์ของคุณออกมา" หมายความว่าอย่างไร

ภาพนี้ ใช้มือจิกผ้าสีแดงด้วย ฟินกับความเป็นมนุษย์ที่กำลังถูกปลกแอกมาจากข้างใน เพื่อบอกว่า ความเป็นมนุษย์ของคุณปลดปล่อยผ่าน sex ซึ่ง เป็นสิ่งที่ สังคมบอกว่าน่ารังเกียจ ให้ปลดปล่อยออกมา

-เกี่ยวกับการต่อต้านการบังคับใส่ชุดนักศึกษา อย่างไร

อยากทำให้สังคมดิ้นออกมาตั้งคำถามว่า ทำไมเราจึงทำแบบนี้ แล้วความเป็นมนุษย์ ก็สะท้อนว่า เรือนร่างของความเป็นมนุษย์ ควรจะยอมรับกันได้แล้ว ไม่ว่าจะมี sex ในชุดนักศึกษาหรือไม่ ก็ฟินได้เหมือนกัน ขณะที่ชุดนักศึกษาปิดกั้นความเป็นมนุษย์ของเรา  การสื่อสิ่งเหล่านี้เพื่อจะบอกว่า นี่คือความเป็นมนุษย์ที่ร่วมเพศได้

-หมายความว่า ถ้าวัดจากบรรทัดฐานของสังคม ก็ไม่ควรจะมีภาพแบบนี้ แต่ภาพนี้ กำลังจะบอกให้ปลดปล่อยออกมา

ใช่ อย่าไปตีกรอบด้วยชุดศีลธรรมเดิมๆ

-ทั้ง 4 ภาพนี้ ถ่ายตั้งแต่เมื่อไหร่

ถ่ายประมาณเดือนกว่าๆ ตั้งใจจะทำโปสเตอร์รณรงค์แคมเปญนี้ โดยตั้งใจจะใช้มุมมองทางเพศ เป็นสื่อกลาง เพราะ เรื่องเพศ เป็นเรื่องต้องห้าม ไม่ได้รับการยอมรับให้เปิดเผย  จึงเปรียบกับการไม่ใส่ชุดนักศึกษา ก็เป็นเรื่องต้องห้าม ถ้าไม่ใส่ชุดนักศึกษา ก็ไม่ได้รับการยอมรับ

-เกี่ยวกับ fantasy  ถึงการร่วมเพศในชุดนักศึกษาไหม

อันนี้ ก็มีมุขขำๆ เราก็คิดกัน แต่ภาพ ที่เขียนว่า "ชุดนักศึกษามีเซ็กซ์มันส์กว่าป่ะ"  รูปท่าลิงอุ้มแตง ต้องการจะสื่อว่า ทำไมชุดนักศึกษา ถึงดูมีมิติด้านเพศได้อารมณ์กว่า เราต้องการจะสื่อว่า คุณ ไม่ได้ร่วมเพศกับคนที่คุณกำลังร่วมเพศอยู่ แต่คุณกำลังร่วมเพศกับค่านิยม อุดมการณ์บางอย่าง ที่แฝง ภายใต้ชุดนักศึกษาที่ครอบงำไว้ คือนอกจากคุณได้ร่วมเพศกับคนคนนั้น คุณยังได้ร่วมเพศกับสถาบันการศึกษานั้น

-เบื้องหลังการถ่ายภาพ

นายแบบก็เป็นเพื่อนในมหาวิทยาลัย แต่เขาก็ไม่อยากเปิดเผยตัวออกมา นายแบบมี 3 คน ส่วนภาพที่ออกมาดูเป็นผู้หญิง ก็เพราะเรารับบทคนเดียว เพราะไม่มีใครมาถ่ายด้วยเลย

-คนอื่นไปมีความเข้าใจว่าเราเป็นผู้หญิงจริงๆ ด้วยหรือเปล่า ก็เลยรู้สึกเยอะ

ก็เราก็อยากสะท้อนว่าเราเป็นผู้หญิง ส่วนภาพตัวแทนของ homosexual  ก็คือ ภาพผู้ชายกับผู้ชาย ซึ่งแทน homosexual ประเภทอื่นด้วย ส่วนพี่ตากล้อง ก็ถ่ายให้ดูอาร์ตๆ

-ถ่ายมาเดือนกว่าๆ ตอนนั้น มีเรื่องวิชา TU130 หรือเปล่า

มี มีมานานแล้ว

-ทำไมไม่เผยแพร่ตั้งแต่ตอนถ่าย

เพิ่งจะทำเป็นโปสเตอร์ ติดบอร์ดที่ มธ.ศูนย์รังสิตแล้ว แปะไป 2 วัน ก็โดนเก็บแล้ว เพื่อนบอกว่า ศูนย์ รปภ. ของ มธ.ศูนย์รังสิต สั่งเก็บโปสเตอร์หมด และให้ดูกล้องวงจรปิด ว่าใครเอามาแปะ กลายเป็นว่า เป็นการก่ออาชญากรรมทางความคิด ในสถานที่ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นที่แห่งประชาธิปไตย

-ทำในนามกลุ่มอะไร

กลุ่มอิสระ ไม่มีชื่อ มีคนช่วยคิด ช่วยทำ wording  ช่วยเรื่องไอเดีย รวมถึง การชี้แจงหลังผลิตงานนี้ออกมา เพราะ บางคนอาจจะไม่เข้าใจว่า ต้องการจะสื่ออะไร

-ทราบอยู่แล้วว่า คนต้องตั้งคำถามว่า ภาพเหล่านี้ เกี่ยวอะไรกับการต่อต้านการบังคับใส่ชุดนักศึกษา

ใช่ เราอยากให้สังคมลองตีความ ระหว่าง เรื่อง sex ซึ่งน่ารังเกียจมาก เมื่อมาผสมกับชุดนักศึกษา ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องจริง แต่ก็เป็นความรับไม่ได้ของสังคมกระแสหลัก

- หมายความว่า บางคนก็อาจจะมี sexual fantasy กับชุดนักศึกษา

ใช่ มีจินตนาการสุดฤทธิ์ สุดเดช แต่เขาไม่กล้าเปิดเผย ไม่ใช่แค่เป็นสัญลักษณ์ของเรื่องทางปัญญา

-ในแง่หนึ่ง จะบอกว่า มันไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ ขนาดนั้นหรือเปล่า

ใช่ มันไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ แต่ถ้าคุณอยากจะใส่ คุณก็ใส่ของคุณไป คุณก็คิดของคุณไป ถ้าคนอื่นเขาไม่คิดเหมือนคุณ แล้วทำไมต้องทำตามอย่างที่คุณบอก

บางคนก็บอกว่ากำลังทำลายจิตใจ ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ คุณก็ภูมิใจไป ใส่ไป แต่ความคิดของคนเรา มันบังคับให้เหมือนกันไม่ได้ การทำให้คนทั้งประเทศพอใจในสิ่งเดียวกัน มันเป็นไปไม่ได้

-แบบนี้อัตลักษณ์ ความเป็นธรรมศาสตร์ของคุณ อยู่ตรงไหน ถ้าไม่ใช่ชุดนักศึกษา แล้วจะเป็นอะไร

ก็คือการเคารพในสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ยืนหยัดกับประชาธิปไตย ไม่สนับสนุนอำนาจเผด็จการทุกรูปแบบโดยเฉพาะการรัฐประหาร

identity หลักๆ ของธรรมศาสตร์ ก็คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 จากั้นมีรัฐธรรมนูญฉบับแรก คือวันที่ 27 มิ.ย. 2475 ซึ่ง 2 ปีต่อมาก็มีการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้นในวันที่ 27 มิถุนายน 2477 ฉะนั้น จุดยืนเรา ต้องรักษารัฐธรรมนูญสิ แต่ทุกวันนี้ กลับกลายเป็นว่า ผู้บริหารไปรักษาอำนาจเผด็จการ แล้วยังมาบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษา รักษาความศักดิ์สิทธิ์ รักษาอำนาจที่มันควรจะให้สิทธิเสรีภาพ ตามปรัชญามหาวิทยาลัย

-ชุดนักศึกษา ไม่ได้เป็น identity หนึ่ง ของความเป็นธรรมศาสตร์เหรอ

ถ้าจะเป็น คือ เป็นคำอธิบายของคนที่ภาคภูมิใจ แต่ถามว่า ตั้งแต่แรกเลย ตอนที่เป็น มธก. มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็น ตลาดวิชา มหาวิทยาลัยเปิด ก็ไม่มีชุดนักศึกษา  จนหลัง ปี 2500 ที่นายสมัคร สุนทรเวช อยากให้มีชุดนักศึกษา คือ มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ด้วยซ้ำ คือ

เราอยากจะเป็นเหมือนจุฬาฯ อยากจะมีบ้าง  ก็คือ เป็นช่วงยุคสายลมแสงแดดแล้ว  ถ้าอยากจะมีก็ไม่ได้ว่า เพราะ คุณมีสิทธิ์ที่จะเสนอความเห็น คุณอยากใส่ อยากมีก็ได้ แต่ไม่ใช่เอาบรรทัดฐานของคนที่ภูมิใจ มาปิดกั้นคนอื่น  ถ้าอยากใส่ก็ใส่ อยากออกแบบชุดนักศึกษาใหม่ก็ทำไป แต่อย่ามาบังคับให้ใส่

-ไม่อยากติดเข็มกลัดตราธรรมจักรของธรรมศาสตร์ที่หน้าอกเสื้อ หรือใส่หัวเข็มขัด ตราธรรมจักรหรือ

คือ เห็นได้ชัดว่า เลียนแบบเครื่องแบบทหาร คือ ต้องมีตราของหน่วยกองที่หน้าอก หรือเข็มหน่วยกอง ซึ่งถ้าเอาความเป็นธรรมศาสตร์ แบบสุดๆ ก็ควรยกเลิกไปเลย เพราะ มันคือรากเหง้าของเผด็จการทหาร ซึ่ง มันก็สืบทอดกันมา แล้วเราก็เป็นไม่กี่ประเทศในโลก ที่บังคับให้ใส่ชุดนักศึกษา แม้ธรรมศาสตร์ จะบอกว่าฉันไม่ได้บังคับ แต่วิธีปฏิบัติก็ยังบังคับ

-สัญลักษณ์ เชิงรูปธรรมเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในใจคุณ จริงๆ จะนึกถึงอะไร

รัฐธรรมนูญฉบับแรก 27 มิถุนายน 2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

-ไม่คิดถึงตึกโดม หรือ ตราธรรมจักร

ไม่ใช่ เพราะ เป็นสิ่งที่มาสร้างทีหลัง แต่เราก็เห็นความสำคัญ เพียงแต่ สิ่งแรก ที่พูดถึงธรรมศาสตร์เลยคือ รัฐธรรมนูญ ฉบับแรก 27 มิ.ย. 2475 และ ก่อตั้งมหาวิทยาลัย 27 มิ.ย.2477 เชื่อมโยงการสร้างระบอบใหม่ ให้สิทธิ เสรีภาพ แก่ประชาชนอย่างแท้จริง แต่ทุกวันนี้ ธรรมศาสตร์กลายเป็น สิ่งก่อสร้าง ทั้ง แม่โดม หรือ รูปปั้นพ่อปรีดี แล้วกลายเป็นค่านิยม พ่อแม่ลูก

-แล้วมองว่า อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ สร้างคุณูปการ หรือไม่อย่างไร

อาจารย์ปรีดีสร้างคุณูปการอย่างมาก เพราะ ถ้าไม่มีอาจารย์ปรีดี ไม่มีคณะราษฎร และ ประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย ก็ไม่แน่ว่า คนที่ด่าเราอยู่ทุกวันนี้ ก็อาจจะยังเป็น ข้า เป็นทาสอยู่ถึงทุกวันนี้ ก็ได้

การที่คุณมีสิทธิ์ มานั่งพิมพ์เฟซบุคทุกวันนี้ ก็เพราะ เรามีประชาธิปไตย รวมถึงการศึกษา  หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเกิดขึ้นโดยคณะราษฎร

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตอบเรื่องวุ่นวายเกี่ยวกับฐานอำนาจทางกฎหมายในการออกประกาศ กสทช. ห้ามซิมดับ (2)

Posted: 07 Sep 2013 11:33 PM PDT

 
ตอบเรื่องวุ่นวายของฐานอำนาจหรือเรื่องวุ่นวายของผู้กำกับกิจการฯ ?
(ต่อจากบทความตอนที่หนึ่ง เพื่อตอบบทความที่ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กสทช. ด้านกฎหมาย (กิจการโทรคมนาคม) ได้เขียนลงหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 13-14 สิงหาคม 2556 รวม 2 วัน เรื่อง "เรื่องวุ่นวายของฐานอำนาจกฎหมาย กับ ประกาศ กสทช. ห้ามซิมดับ (ตอน 1-2)")
 
2. ปัญหาฐานอำนาจในการออกประกาศ
 
ที่ผ่านมามีผู้ถาม กสทช. หลายครั้งว่าเพราะเหตุใด กสทช. จึงไม่ได้เตรียมการอันควรทั้งเรื่องมาตรการโอนย้ายผู้ใช้บริการในช่วงการเปลี่ยนผ่านภายหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุด และเรื่องการเรียกคืนการใช้คลื่นจากผู้ถือสัมปทานรายเดิมเพื่อเตรียมการจัดสรรใหม่ ทั้งที่เป็นภารกิจที่ กสทช. ทราบตั้งแต่เมื่อเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2554 แล้ว ก็ได้รับคำตอบว่า กสทช. มีภารกิจต้องจัดทำแผนแม่บทฯ ต้องประมูลคลื่น 3G ฯลฯ เหตุผลต่างๆ นานาว่าเป็นสาเหตุให้ไม่สามารถเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดประมูลคลื่นความถี่และไม่สามารถโอนย้ายผู้ใช้บริการไปสู่ผู้รับใบอนุญาตใหม่ได้ทันภายหลังการสิ้นสุดอายุสัญญาฯ ซึ่งผู้เขียนไม่ขอแสดงความเห็นในประเด็นนี้
 
แต่ประเด็นที่ที่ประชุมข้องใจและไม่ได้รับคำตอบที่สามารถโน้มน้าวให้คล้อยตามไปด้วยได้ คือ 
 
ประการแรก เพราะเหตุใด กสทช.จึงเลือกที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะกรณีนี้คือปัญหาการสิ้นสุดสัญญาให้สัมปทานให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า DIGITAL PCN 1800 MHz ระหว่าง บมจ.กสท. กับบริษัท ทรู มูฟ จำกัด (True Move) และกับบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด (DPC) ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 15 กันยายน 2556 ด้วยวิธีการตรากฎคือออกประกาศซึ่งมีสภาพบังคับเป็นการทั่วไป เสมือนหนึ่งเปิดทางไว้ว่าในอนาคตจะมีการต่ออายุการใช้คลื่นในลักษณะนี้อีกกับสัญญาสัมปทานฉบับอื่นๆ ที่กำลังจะทะยอยหมดอายุตามมา ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญฯ และกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนว่าสิทธิการประกอบกิจการโทรคมนาคมของผู้รับสัมปทานเดิมให้สิ้นสุดลงเมื่อหมดอายุสัญญาสัมปทาน หลังจากนั้น ให้จัดสรรสิทธิในการใช้คลื่นโดยการประมูลตามมาตรา 45 พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553
 
การเตรียมการออกประกาศ กสทช. ที่เรียกว่าประกาศฯ ห้ามซิมดับฉบับนี้แสดงให้เห็นว่าเหตุผลที่ กสทช. ไม่เตรียมการใดๆ ก่อนสัญญาจะสิ้นสุดเพื่อรองรับช่วงการเปลี่ยนผ่านภายหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดและเรียกคืนการใช้คลื่นมาจากผู้ถือสัมปทานเดิมนั้น เพราะ กสทช. ตีความว่าตนมีอำนาจอนุญาตให้ผู้ให้บริการรายเดิมใช้คลื่นความถี่ตามสัญญาที่หมดอายุต่อไปได้อีกโดยไม่ต้องดำเนินการประมูลหรือออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม 
 
เรื่องฐานอำนาจในการออกประกาศฯ ฉบับนี้ผู้เขียนเห็นว่าสมควรนำขึ้นชี้ขาดในศาลอย่างที่สุด เพราะมิฉะนั้นแล้ว นอกจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายจะถูกฝ่าฝืนโดยองค์กรที่มีหน้าที่กำกับกิจการเองแล้ว ยังเป็นการทำลายหลักกฎหมายสำคัญๆ ของระบบกฎหมายของประเทศ (หลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง หลักการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม หลักการรักษาไว้ซึ่งความเชื่อถือและไว้วางใจในการกระทำของรัฐ หลักการคุ้มครองความเชื่อถือโดยสุจริตของบุคคล) เพราะหลักกฎหมายเหล่านี้จะให้หลักประกันแก่ผู้ประกอบกิจการทุกรายว่าจะเกิดการแข่งขันที่แท้จริงและเสมอภาคในตลาด และให้หลักประกันแก่ประชาชนว่าจะได้ใช้บริการจากคลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรสาธารณะที่มีคุณภาพในราคาที่เป็นธรรม การอนุญาตให้ทำลายหลักกฎหมายที่ให้หลักประกันดังกล่าวท้ายที่สุดจะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลคือการทำลายตลาดกิจการโทรคมนาคมของไทยในระยะยาว ซึ่งกระทบต่อประโยชน์ของประชาชนในที่สุด
 
นี่จึงไม่ใช่เรื่องที่นักวิชาการกฎหมายอยากอวดแสดงภูมิรู้โดยไม่ต้องรับผิดชอบในการทำงาน แต่ถือเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของสถาบันที่สอนกฎหมายที่จะต้องชี้ถึงปัญหาที่จะตามมาอันเกิดจากการฝ่าฝืนกฎหมาย
 
ประการที่สอง ร่างประกาศฯ ที่ กสทช. อ้างว่าเพื่อป้องกันซิมดับนั้น แท้จริงแล้วป้องกันซิมดับได้จริงหรือไม่ 
ข้อสงสัยนี้ได้ถูกเฉลยเมื่อ กสทช. แก้ไขเพิ่มเติมร่างประกาศฯ ภายหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็น (ฉบับเสนอเข้าที่ประชุม กทค. เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2556) โดยกำหนดไว้ในร่างข้อ 9. วรรคแรก และข้อ 10. วรรคแรก ว่า
 
"ข้อ ๙. ในกรณีระยะเวลาความคุ้มครองยังไม่สิ้นสุด เมื่อคณะกรรมการได้จัดสรรคลื่นความถี่ให้กับผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่รายใหม่แล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดวันหยุดการให้บริการซึ่งถือเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาความคุ้มครอง พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ให้บริการทราบถึงกำหนดวันหยุดให้บริการดังกล่าวเพื่อเตรียมความพร้อมในการนำคลื่นความถี่ไปให้บริการใหม่"  (เน้นโดยผู้เขียน)
 
"ข้อ ๑๐ เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการคุ้มครอง หากยังมีผู้ใช้บริการคงเหลือที่ไม่แจ้งความประสงค์จะขอย้ายไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่น ให้สิ้นสุดระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวตามประกาศนี้" (เน้นโดยผู้เขียน)
 
จะเห็นว่าร่างประกาศฯ ห้ามซิมดับ เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่สามารถป้องกันซิมดับได้ แต่ กสทช. จะอนุญาตให้ซิมดับต่อเมื่อมีการประมูลได้ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่รายใหม่แล้ว (การประมูลคลื่น) หรือเมื่อครบ 1 ปี ทั้งสองกรณี ซิมก็จะเป็นอันดับไปแน่นอน คำถามใหม่จึงเกิดขึ้นตามมาทันทีว่า ตกลง กสทช. เองที่ผูกประเด็น "การเรียกคืนการใช้คลื่น (จากรายเก่า)" ไว้กับประเด็น "การจัดประมูลคลื่นความถี่และการโอนย้ายผู้ใช้บริการไปสู่ผู้รับใบอนุญาตที่ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่รายใหม่" ใช่หรือไม่ 
 
ความจริงแล้ว คุณสุทธิพลได้กล่าวไว้เองในบทความฯ ลงวันที่ 13 สิงหาคม ว่าต้อง "แยกปัญหาเยียวยาออกจากปัญหาการประมูลคลื่น 1800 MHz" โดยขยายความว่า "สำหรับข้อเสนอในการให้เร่งจัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ให้เสร็จก่อนสัมปทานสิ้นสุด ก็เป็นแนวทางที่มีผู้เห็นว่าหากประมูลได้ทันก็จะสามารถโอนย้ายลูกค้าที่อยู่ในระบบเดิมไปสู่บริษัทผู้ชนะการประมูลได้ ซึ่งฟังแล้วดูดี และทำให้หลายฝ่ายออกมาตำหนิ กสทช. ว่ารู้อยู่แล้วว่าสัมปทานจะสิ้นสุดเมื่อใด ถ้าเมื่อ กสทช. เริ่มเข้ามาทำงานแล้วเร่งประมูลเลย ก็จะสามารถประมูลได้ทันก่อนสัมปทานสิ้นสุด แล้วจึงกล่าวหา กสทช. ว่า เป็นเพราะ กสทช. ไม่เร่งประมูล จึงต้องหันมาใช้มาตรการอื่นๆ เพื่อจับผู้บริโภคเป็นตัวประกัน ข้อกล่าวหาดังกล่าวเกิดจากผู้วิจารณ์ไปมองกฎหมายเพียงฉบับเดียว โดยไม่ได้มองหลักการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ ทั้งยังขาดความเข้าใจในพัฒนาการของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ..."
 
แต่ตามที่ได้กล่าวข้างต้น เมื่อพิจารณาข้อความในร่างข้อ 9. และข้อ 10. ข้างต้นประกอบร่างข้อ 3. (ซึ่งระบุเรื่องวัตถุประสงค์ไว้) แสดงให้เห็นว่า กสทช. เองต่างหากที่กลับเป็นคนผูกประเด็นการเรียกคืนคลื่น1800 จากผู้ประกอบการไว้กับประเด็นการจัดประมูลคลื่นความถี่ เพราะ กสทช. กำหนดไว้ในประกาศฯเองว่าเมื่อใดมีการจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับผู้รับใบอนุญาตรายใหม่ได้แล้ว กสทช. จึงจะกำหนดวันที่รายเก่าจะหยุดการให้บริการได้ (วันเรียกคืนคลื่น) กล่าวคือ ต้องประมูลก่อนหรือต้องผ่านไป 1 ปีก่อน ถึงจะเรียกคืนคลื่น ซึ่งเหตุผลในบทความของคุณสุทธิพลขัดแย้งกับประกาศฯโดยสิ้นเชิง
 
สรุปคือ บทความของคุณสุทธิพลอ้างว่าใครก็ตามที่เสนอว่าจะต้องเยียวยาผู้ใช้บริการโดยการประมูลก่อนวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทานและให้มีการรับโอนลูกค้าไปก่อน ความเห็นนี้เช่นนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการเอาสองเรื่องมาผูกกัน แต่ถ้าเอาสองเรื่องมาผูกกันแล้วบอกว่า กสทช. ควรเยียวยาผู้ใช้บริการโดยให้ผู้ประกอบการใช้คลื่นต่อไปได้จนกว่าจะมีการประมูลคลื่นเพื่อรับโอนลูกค้าในภายหลังเช่นนี้ เป็นความเห็นที่ถูกต้องในสายตาของคุณสุทธิพล ซึ่งเป็นการให้เหตุผลที่ขัดกันเองไปมา  
 
ความจริงแล้ว ผู้เขียนและบรรดาคณาจารย์ทราบดีว่าการเรียกคืนการใช้คลื่นเมื่อสัญญาสิ้นสุดกับการเปิดประมูลคลื่นความถี่เป็นคนละประเด็นกัน ข้อนี้ในการเสวนาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ก็ไม่มีนักกฎหมายคนใดเสนอความเห็นทำนองจำกัดว่าในการเยียวยาผู้ใช้บริการนั้น กสทช. มีทางเลือกเพียงอย่างเดียวว่าจะต้องเปิดประมูลคลื่นความถี่ก่อนสัญญาสิ้นสุด ตรงกันข้าม ผู้เขียนและคณาจารย์เห็นว่า การแก้ไขปัญหาซิมดับนั้น จะต้องเลือกมาตรการที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย (จะประมูลคลื่นและย้ายโอนลูกค้าก่อนหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นหลัก) ดังที่จะได้อธิบายต่อไป แต่การแก้ไขปัญหาด้วยการต่อเวลาการให้บริการ ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ชอบด้วยกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ
 
3. ใครคือต้นเหตุของซิมดับ
 
รัฐธรรมนูญและกฎหมายบังคับว่าเมื่อสัญญาสิ้นสุด คลื่นต้องตกเป็นของรัฐทันที ส่วนเมื่อได้คลื่นกลับคืนมาแล้ว กสทช. จะทำการเปิดประมูลคลื่นเมื่อใดนั้น เป็นเรื่องของ กสทช. ประเด็นที่นักวิชาการกฎหมายเรียกร้องในการประชุมวันนั้น คือ ขอให้เรียกคืนการใช้คลื่นเมื่อสัญญาสิ้นสุด เพราะรัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้น โดยต้องหามาตรการแก้ปัญหาโดยชอบด้วยกฎหมาย และเปิดประมูลคลื่นโดยเร็วต่อไป (ผู้สนใจโปรดดู รายงานสรุปผลการเสวนาเฉพาะประเด็น เรื่อง "ปัญหาทางกฎหมายกรณีการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz และแนวทางการแก้ไขปัญหา" จัดโดย โครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับส่วนงาน กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2556 ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 
 
อันที่จริงแม้ กสทช. จะผูกประเด็นการเรียกคืนการใช้คลื่นไว้กับประเด็นการจัดประมูลคลื่นความถี่และการโอนย้ายผู้ใช้บริการไปสู่ผู้รับใบอนุญาตรายใหม่ก็ตาม ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงที่กำลังถกเถียงกันอยู่นี้ก็จะไม่เป็นประเด็นอยู่ดี หาก กสทช. จะทำงานเหมือนกับที่ทำอยู่ขณะนี้ แต่ทำให้เร็วขึ้นเสียตั้งแต่ปลายปี 2555 หรืออย่างช้าต้นปี 2556 
และที่สำคัญ กสทช ควรจะต้องมีมาตรการทำให้ผู้ใช้บริการสามารถตระหนักได้ว่าการให้บริการตามสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงแล้วในเดือนกันยายน 2556 และควรจะมีมาตรการรองรับให้ผู้ใช้บริการพิจารณาเลือกอนาคตของตนเองว่าจะย้ายไปใช้บริการของรายอื่นหรือไม่ โดยดำเนินการเสียตั้งแต่เนิ่นๆ อย่างเป็นรูปธรรม 
 
พร้อมทั้งต้องหามาตรการให้ผู้ใช้บริการได้สามารถโอนย้ายได้โดยเร็วตามความประสงค์เพื่อไปใช้บริการของผู้รับใบอนุญาตและ/หรือหามาตรการเพิ่มเติมที่จะทำให้มีการให้บริการต่อเนื่องไปภายใต้ระบบใบอนุญาตในคลื่น 1800 ไม่ใช่เลือกที่จะต่อการให้บริการไปเป็นการให้บริการนอกระบบใบอนุญาตอย่างที่จัดทำเป็นประกาศฯอยู่ในขณะนี้ 
 
อีกทั้งในคราวการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ กสทช. ก็ไม่ได้นำเสนอทางเลือกหลากหลายพร้อมข้อมูลครบถ้วนว่ามีทางเลือกที่ชอบด้วยกฎหมายใดบ้างให้เลือก ซึ่งการรับฟังความเห็นดังกล่าวจะต้องเสนอข้อมูลในแต่ละทางเลือกอย่างครบถ้วนพอสมควรและต้องทำเสียแต่เนิ่นๆ ในปี 2554 หรือ 2555
 
คุณสุทธิพลเองก็ทราบถึงระยะเวลาที่จำเป็นต้องใช้ในการโอนย้ายจากผู้ให้บริการรายเก่าไปรายใหม่อยู่แล้วว่าประมาณ 283 วันหรือประมาณ 9 เดือน (จากบทความฯ) ปลายปี 2555 ไม่ได้ถือว่ากระชั้นหรือเร่งรัดเกินไปเมื่อเทียบกับระยะเวลาตั้งแต่ที่ กสทช. ชุดนี้เข้าดำรงตำแหน่งในเดือนตุลาคม 2554 และไม่กระชั้นเกินไปในการที่จะหามาตรการอื่นๆ มาใช้ได้โดยไม่ต้องต่อการให้บริการไปเป็นนอกระบบใบอนุญาต 
 
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เมื่อ กสทช. รู้ตัวว่าทำงานไม่ทันการณ์แล้ว กสทช. ก็ต้องตอบคำถามว่าเพราะเหตุใดจึงทำงานไม่ทันการณ์ เพราะเหตุใดไม่นำเสนอทางเลือกอื่นหลายๆ ทางเลือกให้ประชาชนให้ความเห็นพร้อมข้อมูลครบถ้วนตั้งแต่ปี 2554-2555 (การรับฟังความเห็นสาธารณะไม่ได้ให้ข้อมูลทางเลือกครบถ้วนเลยว่าทางใดทำได้หรือติดขัดปัญหา) และเมื่อเวลากระชั้นชิดเข้ามา เหตุใดจึงยังยืนยันที่จะผูกเรื่องการเรียกคืนการใช้คลื่นกับการจัดประมูลคลื่นความถี่และการโอนย้ายผู้ใช้บริการไปสู่ผู้รับใบอนุญาตรายใหม่ไว้ด้วยกันอยู่อีก ทั้งที่แยกทั้งสองเรื่องออกจากกันได้ตามที่คุณสุทธิพลกล่าว 
 
กล่าวคือ เพราะเหตุใดไม่เรียกคืนคลื่นกลับมาจากผู้ให้บริการรายเดิม (อันเป็นเรื่องที่กฎหมายบังคับไว้อย่างเคร่งครัด) เสียก่อน โดยไม่ต้องไปผูกอยู่กับการประมูล ส่วนประเด็นที่ว่าหากเรียกคลื่นคืนในตอนนี้ อาจเกิดซิมดับ ก็ต้องตอบว่า ถึงแม้มีประกาศฯ ซิมก็จะดับอยู่ดี การที่ซิมดับทำให้เกิดปัญหาในตอนนี้ แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นปัญหาในอีก 1 ปีข้างหน้า (เพราะประกาศฯ กำหนดให้ซิมดับอยู่ดี) ก็เพราะ กสทช. ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ที่เป็นรูปธรรมในระยะเวลาที่ผ่านมานั่นเอง จึงขอต่อเวลาไปอีก 1 ปีหรือจนกว่าจะมีการประมูลคลื่น 1800 
 
ผู้เขียนคิดว่านี่คือคำถามสำคัญที่ กสทช.จะต้องตอบต่อสังคม
 
4. บริการสาธารณะต่อเนื่องได้อย่างชอบด้วยกฎหมาย
 
สำหรับเหตุผลที่ กสทช. อ้างในการออกประกาศฯ ห้ามซิมดับเพื่อต่ออายุผู้ให้บริการตามสัญญาสัมปทานเดิมออกไปอีกไม่เกิน 1 ปี ว่า "เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายของผู้ใช้บริการที่ยังไม่อาจโอนย้ายไปยังผู้ให้บริการรายอื่นได้ และเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการให้สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ..." นั้น ที่จริงแล้ว น่าจะแก้ไขว่า "เพื่อบรรเทาปัญหาการทำงานไม่ทันการณ์" มากกว่า เพราะในที่สุดผู้ใช้บริการตามประกาศฯ ก็ไม่ได้ใช้บริการอย่างต่อเนื่องอยู่ดี เพราะในที่สุดซิมก็อาจจะดับ 
 
นอกจากนี้ หลักการจัดบริการสาธารณะต้องมีความต่อเนื่อง" จะนำมาใช้ในกรณีนี้ได้ ต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่าไม่มีผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคมรายอื่นในตลาดที่สามารถจัดบริการให้แก่ผู้ใช้บริการกลุ่มนี้ได้เลย หากในตลาดยังมีผู้ให้บริการรายอื่นทดแทนกันได้ ก็ต้องถือว่าสามารถจัดบริการสาธารณะให้มีความต่อเนื่องต่อไปได้
 
จากข้อเท็จจริงกรณีนี้พบว่า ในตลาดยังมีผู้ให้บริการที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งสามารถให้บริการทดแทนคลื่นความถี่ 1800 MHz ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการแต่ประการใด กสทช. จึงไม่อาจอ้างหลักการจัดบริการสาธารณะต้องมีความต่อเนื่องในกรณีนี้ได้ ทั้งนี้ อาจมีมาตรการอื่นๆ อีกที่จะทำให้มีบริการสาธารณะอย่างต่อเนื่องได้ เพียงแต่ กสทช. จะต้องนำเสนอและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของมาตรการที่เป็นไปได้ต่างๆ มิใช่ตั้งเป้าที่จะออกประกาศฯ ห้ามซิมดับแต่อย่างเดียว อันสร้างภาพทำให้สังคมเข้าใจว่านี่คือวิธีการแก้ปัญหาเพียงวิธีการเดียว
 
5. การกระทำที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย
 
ด้วยวิธีคิดที่ผูกประเด็นที่ไม่เกี่ยวกันไว้ด้วยกัน ส่งผลให้ กสทช.ต้องกระทำเรื่องซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำที่ผิดกฎหมายหลายประการทั้งทางกฎหมายปกครอง อาญา และอาจต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งในอนาคตด้วย
 
- ในทางกฎหมายโทรคมนาคม ร่างประกาศ กสทช. ห้ามซิมดับเป็นร่างประกาศที่นักกฎหมายไม่ว่าฝ่ายเอกชนหรือฝ่ายมหาชนเห็นไปในทิศทางเดียวกันมากที่สุด (ซึ่งไม่ค่อยปรากฏบ่อยครั้งนักในวงการกฎหมาย) ว่าออกโดยไม่มีฐานอำนาจทางกฎหมาย เนื่องจากไม่ว่าจะพยายามเรียกชื่อหรือให้เหตุผลว่าอย่างไรก็ตาม แต่ข้อ 3. ของร่างประกาศฯ ฉบับนี้ส่งผลเป็นการขยายระยะเวลาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่นอกระบบใบอนุญาตซึ่งมีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดที่แน่นอนแล้วออกไปอีก ซึ่งต้องห้ามอย่างชัดแจ้งตามรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ดังกล่าวแล้ว และเป็นการทำลายเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และกฎหมายประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตโดยเร็วที่สุด
 
- ในทางอาญานั้น การดำเนินการของ กสทช. เป็นการยากที่จะอธิบายให้สาธารณชนเข้าใจได้อย่างสมเหตุสมผลว่าเพราะเหตุใด เมื่อ กสทช.ดำเนินการต่างๆ ล่าช้ามาแล้ว จึงยังคงยืนยันที่จะผูกประเด็นการเรียกคืนคลื่นไว้กับการรอเตรียมการเปิดประมูลคลื่นความถี่ใหม่ เพราะการไม่เรียกคืนคลื่นมาทันทีภายหลังสัญญาสิ้นสุด แต่ให้ผู้ให้บริการตามสัญญาเดิมยังคงให้บริการต่อไปตามวิธีการที่ กสทช. เสนอตามร่างประกาศฯ ห้ามซิมดับฉบับนี้ เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย
 
- ในทางกฎหมายปกครองและกฎหมายแพ่ง ร่างประกาศฯ ห้ามซิมดับฉบับนี้กำหนดหน้าที่บางประการไว้อย่างชัดแจ้งให้กับบุคคลผู้มีหน้าที่ตามประกาศฯ นี้ต้องปฏิบัติ แต่ไม่กำหนดผลของการฝ่าฝืนไว้ เช่น กำหนดให้ผู้ให้บริการไม่มีสิทธิรับผู้ขอใช้บริการรายใหม่, ให้รักษาคุณภาพการให้บริการและกำหนดค่าบริการตามประกาศที่เกี่ยวข้อง, ให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเงื่อนไขการคุ้มครอง, หรือให้เร่งรัดการโอนผู้ใช้บริการ ฯลฯ ซึ่งหน้าที่ตามร่างประกาศฯ นี้ เป็นไปได้ที่ผู้ให้บริการอาจไม่ปฏิบัติ หรือปฏิบัติโดยไม่สมบูรณ์ เช่นนี้หากเกิดการฝ่าฝืน ไม่มีความชัดเจนว่า กสทช. จะดำเนินมาตรการบังคับอย่างไร จะตรวจสอบอย่างไร และในกรณีที่รัฐหรือผู้ใช้บริการเกิดความเสียหายจากการฝ่าฝืนประกาศฯ กสทช. จะมีมาตรการอันชอบด้วยกฎหมายบังคับอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากประกาศฯ ฉบับนี้ถูกพิพากษาว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายในภายหลังอันไม่อาจใช้บังคับกับผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนได้ กสทช. ควรจะต้องเป็นผู้รับผิดในความเสียหายเหล่านี้ 
 
บทส่งท้าย
 
นักวิชาการกฎหมายมีหน้าที่ต่อสังคมประการหนึ่งคือตอบปัญหาที่เป็นประเด็นสำคัญซึ่งจะมีผลกระทบต่อประเทศและประชาชนโดยรวม กรณีปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการสิ้นสุดอายุสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กันยายน 2556 นี้ นับว่ามีความสำคัญในทางกฎหมาย 2 ประการ 
 
ประการแรก นับตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2556 เป็นต้นไป บริษัททั้งสองจะไม่มีสิทธิที่จะให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 1800 MHz อีกต่อไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าว เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง ซึ่งในเชิงสัญลักษณ์จะส่งผลสำคัญในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดยุค "ระบบสัญญาสัมปทาน" ในกิจการโทรศัพท์มือถือของไทย และเข้าสู่ยุค "ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม" ที่เปิดให้มีการแข่งขันกันอย่างเต็มที่บริบูรณ์ 
 
ประการที่สอง การดำเนินการใดๆ ของ กสทช. เกี่ยวกับเรื่องนี้ล้วนแล้วแต่เป็นกรณีศึกษาให้แก่วิชากฎหมายมหาชนทั้งสิ้น เช่น เรียกคืนการใช้คลื่นได้หรือไม่, จะนำคลื่นไปจัดสรรใหม่ได้หรือไม่ หรือต้องคืนคลื่นกลับไปยังรัฐวิสาหกิจผู้ถือครองคลื่นเดิม, กสทช. จะมีวิธีบริหารจัดการเพื่อคุ้มครองผู้ที่จะถูกกระทบในช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้อย่างไรให้สอดคล้องกับหลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง หลักการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม หลักการรักษาไว้ซึ่งความเชื่อถือและไว้วางใจในการกระทำของรัฐ หลักการคุ้มครองความเชื่อถือโดยสุจริตของบุคคล เป็นต้น ซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานในการทำงานทั้งในส่วน กสทช. เองและในส่วนผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งของรัฐและเอกชนต่อไป
 
นักวิชาการกฎหมายโดยสำนึกต่อหน้าที่จึงต้องทำหน้าที่ตอบปัญหาเหล่านี้ต่อสังคม ส่วนน้ำหนักและความชอบธรรมในการทำงานของนักวิชาการกฎหมาย จะเกิดขึ้นเมื่อคำตอบนั้นตั้งอยู่บนหลักเหตุและผลที่เป็นภววิสัย (objective) ที่บุคคลทั่วไปเข้าใจได้และยอมรับเชื่อถือ ความยอมรับนับถือของสังคมนั้นเองคือความชอบธรรม 
 
ดังนั้น ความชอบธรรม (legitimacy) ของนักวิชาการกฎหมายจึงไม่จำต้องขึ้นอยู่กับที่มาหรือความเชื่อมโยงกับอำนาจประชาชนเหมือนกับองค์กรของรัฐที่ต้องใช้อำนาจบังคับทั้งหลาย ตรงกันข้าม องค์กรของรัฐเมื่อได้รับอำนาจมาแล้ว จะสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้นได้ต่อเมื่อใช้อำนาจนั้นอย่างสอดคล้องกับหลักการของนิติรัฐ นั่นก็คือ ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายทั้งตามเจตนารมณ์และลายลักษณ์อักษร และยอมรับการตรวจสอบการใช้อำนาจของตนไม่ว่าจากฝ่ายใดองค์กรใดของสังคมอย่างมีโยนิโสนมสิการ อย่างมีสัมมาทิฐิ ว่าผู้อื่นมีความปรารถนาดีต่อองค์กรไม่ให้ต้องแผ้วพานคดีใดๆ ไม่ว่าอาญา แพ่ง หรือคดีปกครอง
 
 
 
หมายเหตุ: ปัจจุบัน จันทจิรา เอี่ยมมยุรา เป็นหัวหน้าโครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน
                 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น