โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ศาลปกครองสั่งถอนใบอนุญาตโรงไฟฟ้าบัวสมหมาย

Posted: 27 Sep 2013 09:46 AM PDT

ศาลปกครองอุบลราชธานีมีคำพิพากษา ให้เพิกถอนใบอนุญาตโรงไฟฟ้าบัวสมหมาย ไบโอแมสจำกัด เพราะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

27 ก.ย. 56 - เมื่อเวลา 10.00 น. ศาลปกครองอุบลราชธานี ตุลาการผู้แถลงคดี (นายอิทธิพล ทัศนา) ได้อ่านคำพิพากษาคดีดำหมายเลขที่ ส.2/2555 กรณีนายทองคับ มาดาสิทธิ กับพวก 185 คน ฟ้องร้อง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กับพวกรวม ๗ คน เรื่อง คดีเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กระทำการโดยมิชอบทางกฎหมาย กรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลบริษัทบัวสมหมาย ไบโอแมส จำกัด โดยมีตัวแทนชาวบ้าน 5 หมู่บ้าน 50 กว่าคน ตำบลท่าช้างและตำบลบุ่งมะแลง อ.สว่างวีระวงศ์ อุบลราชธานี เดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษา

ศาลได้กำหนดประเด็นที่ต้องวินิจฉัย 3 ประเด็น คือ ประเด็นที่หนึ่ง ผู้ฟ้องที่อาศัยในหมู่บ้านที่อยู่รอบโรงไฟฟ้า 4 หมู่บ้าน มีสิทธิฟ้องคดีนี้หรือไม่ ประเด็นที่สอง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานให้บัวสมหมายเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ประเด็นที่สาม องค์การบริหารส่วนตำบลท่าช้าง ปล่อยให้ บริษัทบัวสมหมาย ฯ ขุดสระน้ำซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของก่อสร้างโรงไฟฟ้า เป็นการละเลยต่อหน้าที่และเป็นการละเมิดต่อชาวบ้านหรือไม่ ซึ่งในแต่ละประเด็น ศาลได้มีคำวินิจฉัยดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง ผู้ฟ้องคดีที่อาศัยในหมู่บ้านที่อยู่รอบโรงไฟฟ้า 4 หมู่บ้าน มีสิทธิฟ้องคดีนี้หรือไม่ ชาวบ้านที่อาศัยในหมู่ 3 และ 12 ต.ท่าช้างและ หมู่ 9 และ 11 ตำบลบุ่งมะแลง ศาลเห็นว่า ผู้ฟ้องต่างมีภูมิลำเนาอยู่ใกล้เคียงที่ตั้งโรงไฟฟ้าที่พิพาท ที่อาจได้รับผลกระทบต่อการดำเนินวิถีชีวิตของชุมชนตามปกติ ตลอดจนอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต รวมทั้งทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จึงย่อมเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จึงมีสิทธิฟ้องคดีได้

ประเด็นที่สอง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานให้บัวสมหมายเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลเห็นว่า โดยกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 การใช้อำนาจของรัฐ ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มาตรา 57  บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล จากหน่วยงานรัฐและมีสิทธิแสดงความเห็นของตนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาตรา 66 ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชนและมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร สิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติสุขและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อคุณภาพชีวิตของตน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งจะทำให้เกิดขี้เถ้าหรือฝุ่นละอองที่ออกจากปล่องของโรงงานและฝุ่นละอองที่เกิดจากการขนย้าย จึงมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต ต่อ ผู้ฟ้องคดี ทั้งหนึ่งร้อยแปดสิบห้าคน ดังนั้น ก่อนการอนุญาตต้องให้ชาวบ้านซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณใกล้เคียงโรงไฟฟ้า ได้มีสิทธิรับทราบข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลในการดำเนินโครงการ และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตน เพื่อให้ กกพ. กรมโรงงาน ผู้ว่าราชการจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด อบต.ท่าช้าง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๑๗ นำไปประกอบการพิจารณา มาตรา 57 ส่วนวิธีการให้ข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผล รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็น โดยที่ยังไม่มีกฎหมาย จึงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า การประชาคมหมู่บ้านบ้านคำสร้างไชย เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2551 เป็นเพียงการเปิดโอกาสให้ราษฎร์ในพื้นที่ได้รับทราบ และเพื่อแสดงความคิดเห็นในเบื้องต้นเท่านั้น มิได้เป็นการประชาคมหมู่บ้านเพื่อรับฟังความคิดเห็นอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด และโดยที่เป็นการประชุมตามปกติของหมู่บ้าน เพราะผู้ใหญ่บ้านมิได้มีข้อมูลทั้งดานข้อดีและข้อเสีย ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อชุชมชน รวมทั้งก็ประกาศล่วงหน้าก่อนประชุมเพียงวันเดียว ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ไม่เพียงพอที่ประชาชนจะได้ศึกษาข้อมูลอย่างเพียงพอ จึงมิอาจถือได้ว่าเป็นการกระชุมฟังฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ชอบด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 และไม่สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของ มาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญ

ส่วน อบต.ท่าช้าง มีการมติเห็นชอบโครงการอย่างเป็นเอกฉันท์ แต่มีประชาชนบางกลุ่มมาคัดค้าน อบต.มีอำนาจหน้าที่ดูแลจัดการธรรมชาติและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาท้องถิ่น ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และหลักการกระจายอำนาจในระบอบประชาธิปไตยในการให้ท้องถิ่นปกครองตนเองภายใต้แนวคิดว่าท้องถิ่นนั้นย่อมต้องทราบว่าอะไรมีประโยชน์และตรงต่อความต้องการของท้องถิ่นตนมากที่สุด โดยต้องให้ชาวบ้านผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบได้รับทราบ คำชี้แจง และเหตุผลในการการดำเนินโครงการ พร้อมให้มีสิทธิแสดงความคิดเห็นเสียก่อน

ส่วนอุตสาหกรรมจังหวัด ได้อ้างว่าได้ปิดประกาศ 15 วันให้ทราบโดยทั่วกันแล้ว ศาลเห็นว่าการปิดประกาศเป็นเพียงการแจ้งข้อมูลการขออนุญาต ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการให้ข้อมูลหรือคำชี้แจงที่ทำให้บุคคลโดยทั่วไปได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าของบัวสมหมายฯ ซึ่งไม่ได้มีการชี้แจงเหตุผลหรือแนวทางแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแก่บริษัทบัวสมหมาย ไปโอแมส จำกัด จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นที่สาม องค์การบริหารส่วนตำบลท่าช้าง ปล่อยให้ บริษัทบัวสมหมาย ฯ ขุดสระน้ำซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของก่อสร้างโรงไฟฟ้า เป็นการละเลยต่อหน้าที่และเป็นการละเมิดต่อชาวบ้านหรือไม่ ศาลเห็นว่า การขุดสระของบริษัทบัวสมหมาย ฯ เป็นการดำเนินการก่อนได้รับใบอนุญาตเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ อบต.ท่าช้าง ไม่ได้มีหน้าที่ตามกฎหมาย พรบ.กรมโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ ประกอบกับ พรบ.การขุดดินและถมดิน พ.ศ.2543 ไม่ได้ใช้บังคับในเขตตำบลท่าช้าง การที่ อบต.ท่าช้างปล่อยให้ บริษัทบัวสมหมายดำเนินการขุดสระดังกล่าวจึงไม่เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ เมื่อมิได้ละเลยต่อหน้าที่แล้วจึงมิได้กระกระทำละเมิดต่อชาวบ้านผู้ฟ้องคดี

ศาลจึงพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า ที่ (สรข.5)02-590/2553 ให้แก่บริษัทบัวสมหมาย ไบโอแมส จำกัด ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ( คำพิพากษาศาลปกครองอุบลราชธานี (แผนกคดีสิ่งแวดล้อม)คดีหมายเลขดำ ที่ ส.2/2555 หมายเลขแดง ที่ ส.6/2556)

ด้านนางหวาน กล่าวว่าตนรู้สึกดีใจ ที่ศาลให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านเราต่อสู้มานาน ตั้งแต่ลูกสาวยังเล็กๆ จนตอนนี้อายุ 6 ปีแล้วไปสู้ที่ไหนก็เอาลูกไปด้วย ต่อไปลูกไม่ต้องลำบากแล้ว สู้เพราะปกป้องชุมชนเพื่อลูกหลานไม่ต้องมารับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าเหมือนที่เคยเห็นที่ร้อยเอ็ด ขอบคุณศาลปกครองที่ท่านยังให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้าน

ด้าน นางสาวสดใส สร่างโศรก กล่าวว่า ถือว่าวันนี้เป็นชัยชนะยกแรก หลังจากที่ต่อสู้มานาน 6 ปี เป็นชัยชนะที่ได้มาด้วยน้ำตาและความสูญเสีย ชาวบ้านต่อสู้มานานทุกระดับก่อนที่จะมาฟ้องศาลปกครองและเมื่อมาฟ้องศาลก็ใช้เวลา เกือบ 2 ปี ชาวบ้านแทบจะหมดความหวังเมื่อได้ฟังตุลาการแถลงคดีด้วยถ้อยแถลงเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมา แต่ในวันนี้คำพิพากษาของศาลนับเป็นประวัติศาสตร์ของคดีโรงไฟฟ้าชีวมวล ศาลได้วินิจฉัยต้นเหตุของปัญหา และคุ้มครองประชาชนภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะทุกส่วนทุกระดับที่เกี่ยวข้องดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ผ่านมาการกระทำของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ดูถูกชาวบ้านอยากทำอะไรก็ทำโดยไม่คำนึกถึงความเป็นธรรมต่อชาวบ้าน ต้องขอบคุณศาลปกครองอุบลราชธานี ที่ให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านและความยุติธรรมยังพอมีอยู่ในสังคมไทย การต่อสู้ของชาวบ้านยังไม่สิ้นสุด หากมีการอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดี ชาวบ้านต้องสู้ต่อไป และกรณีเรื่องการขุดสระน้ำแม้ศาลจะเห็นว่าไม่เป็นการละเมิดต่อชุมชน ชาวบ้านก็ยอมรับคำตัดสินของศาล แต่ในความเป็นจริงชาวบ้านยังเดือดร้อนจากการขุดสระน้ำของบริษัทบัวสมหมาย ซึ่งในปีนี้กว่าน้ำจะมีหรือเต็มหนองน้ำหรือสระน้ำของชาวบ้านก็เมื่อที่อื่นน้ำท่วม ชาวบ้านต้องหาแนวทางเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับมาอุดมสมบรูณ์ดังที่เคยเป็นมาก่อนต่อไป

อนึ่ง คดีนี้สืบเนื่องมาจาก บริษัทบัวสมหมาย ไบโอแมส จำกัด จะทำการผลิตพลังงานไฟฟ้า กำลังการผลิต ๙ เมกะวัตต์ ติดตั้งเครื่องจักร 30,063 แรงม้า คนงาน 37 คน ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 29 หมู่ 17 ตำบลท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี และชาวบ้าน ได้มีการคัดค้าน การก่อสร้างโรงไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทบัวสมหมาย ตั้งแต่ ตุลาคม 2551 เนื่องจากกระบวนการการออกใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมายและดำเนินการขุดบ่อน้ำขนาดใหญ่โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก อบต. ซึ่งชาวบ้านได้ยื่นของความเป็นธรรมกับศาลปกครองเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2555 โดยขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด และให้ฟื้นฟูทรัพยากรที่เสียหายกลับคืนสู่ภาพเดิม

โดย มีนายทองคับกับพวก 185 คน เป็นผู้ฟ้องคดี และได้ยื่นฟ้อง 7 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ 1 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) 2.กรมโรงงานอุตสาหกรรม 3.ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี 4.อุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี 5.องค์การบริหารส่วนตำบลท่าช้าง 6. ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 17 บ้านคำสร้างไชย ตำบลท่าช้าง และ 7.บริษัทบัวสมหมาย ไบโอแมส จำกัด ซึ่งถือเป็นผู้ถูกฟ้องคดี

เพราะทั้ง 6 หน่วยงานได้ร่วมกัน ออกใบอนุญาตฯ ให้บริษัทบัวสมหมายไบโอแมสโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากกระบวนการออกใบอุญาตฯนั้น มีความไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้าน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 และ มาตรา 289 คือ เริ่มตั้งแต่การประชุมในหมู่บ้านที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม และ อบต.ท่าช้างไม่มีการเปิดเผยข้อมูลไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไม่ปกป้องสิทธิผู้ใช้พลังงานและชุมชนท้องถิ่น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชี้กระบวนการในการดูแลเด็กของ ตม.ไทยยังมีปัญหา เปิดข้อมูลเด็กถูกลิดรอนสิทธิ

Posted: 27 Sep 2013 09:27 AM PDT

แถลงข่าว "เปิดข้อมูลชะตากรรมเด็กในสถานกักตัวแรงงานต่างด้าว กับการจัดการของรัฐไทย : ควรผลักดันหรือคุ้มครอง" ชี้ควรจัดให้มีหน่วยงาน กลไกป้องกันระดับชาติ ตามพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม

 
27 ก.ย.56 - ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมเครือข่ายคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) จัดแถลงข่าวในหัวข้อ "เปิดข้อมูลชะตากรรมเด็กในสถานกักตัวแรงงานต่างด้าว กับการจัดการของรัฐไทย : ควรผลักดันหรือคุ้มครอง"
 
นางสาวพรพรรณ กาญจนาธิวัฒน์ นักวิจัยอิสระ กล่าวว่า ประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on Rights of the Child : CRC) ตั้งแต่ปีพ.ศ.2535 แต่ปัจจุบันยังคงพบปัญหาและข้อท้าทายต่อการดําเนินการเพื่อให้เด็กในประเทศไทยได้รับความคุ้มครองและเข้าถึงสิทธิ โอกาสต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ จึงได้จัดทำรายงานการศึกษาสถานการณ์เด็กต่างชาติในสถานกักกันแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง กรณีศึกษาสำนักงานซอยสวนพลู กรุงเทพมหานครขึ้น เพื่อติดตามตรวจสอบแนวทางการดูแลและคุ้มครองเด็กของเจ้าหน้าที่วิชาชีพให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก 
 
ทั้งนี้พบว่ามีหลายประเด็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข อาทิ 1.ในสถานกักตัวคนต่างด้าว ผู้ต้องกักที่เป็นเด็กบางรายไม่ได้รับการเลี้ยงดูจากครอบครัวหรือผู้ปกครอง และเด็กกลุ่มนี้ต้องอาศัยอยู่ร่วมกับผู้ต้องกักที่เป็นผู้ใหญ่ ซึ่งเด็กบางคนอายุน้อยเกินกว่าจะดูแลตัวเองได้และอาจอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกล่วงละเมิด 2. การที่เด็กต้องเข้ามาอยู่ในสถานกักตัวคนต่างด้าวที่มีระบบการรับตัวผู้ต้องกักเด็กและผู้ใหญ่ไม่แตกต่างกัน ทำให้เด็กถูกลิดรอนเสรีภาพ และการทำทะเบียนประวัติในฐานะผู้ต้องหากระทำความผิดนับเป็นการตีตราเด็ก 3.ในเรื่องของบริการพื้นฐานที่จําเป็นต่อการดํารงชีวิตและสุขอนามัย มีความแออัดและไม่ได้รับการจัดการที่ดีเพื่อการอยู่อาศัย อาทิ มีขยะที่หมักหมมและกองสุมไว้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค ไม่มีคนทำความสะอาจ อากาศไม่ถ่ายเท ฯลฯ 4.เด็กมีปัญหาด้านสุขอนามัย เด็กหลายคนเจ็บป่วยด้วยโรคผิวหนัง โรคทางเดินหายใจ และอยู่ในภาวะทุพโภชนาการเพราะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ อีกทั้งยังมีภาวะโรคเครียด ซึมเศร้า หวาดกวังหรือแยกตัวจากสังคม 5.เด็กที่อาศัยอยู่ในสถานกักตัวคนต่างด้าวไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการศึกษาเพราะไม่มีการจัดการ สนับสนุนการศึกษา การเรียนรู้ และการพัฒนาให้แก่เด็กที่เป็นผู้ต้องกักอย่างเป็นรูปธรรม6.ผู้ต้องกักทั้งเด็กและผู้ใหญ่ขาดการมีส่วนร่วมในการประกอบกิจกรรมทางศาสนา
 
7.เด็กต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มสามสัญชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา ถูกละเมิดในรูปแบบต่างๆจากนายหน้า นายจ้าง สถานประกอบการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นผู้เสียหายที่เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งไม่มีหน่วยงานที่เข้าไปรับผิดชอบดูแล ให้การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของเด็ก 8.การดูแลของเจ้าหน้าที่ไม่ทั่วถึง ไม่มีมาตรการดูแลเด็กหญิงอย่างเหมาะสม 9.เด็กที่ถูกดําเนินการผลักดันกลับนั้นมีข้อห่วงใยในกระบวนการส่งกลับ มากกว่าผู้ใหญ่ เพราะมักถูกละเลยในประเด็นช่องทางกลับตามพรมแดนที่เหมาะสม รวมถึงไม่มีหลักประกันความปลอดภัยเมื่อเดินทางถึงภูมิลําเนาในประเทศต้นทาง และ 10. การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเมืองไม่มีหลักเกณฑ์อันเป็นมาตรฐาน และบางครั้งการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้คํานึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก ซึ่ง อาจเป็นการละเมิดสิทธิ ทรมาน การปฏิบัติหรือลงโทษที่โหดร้าย และเหยียบย่ำศักดิ์ศรีของเด็ก
 
ด้านนายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมเครือข่ายคุณภาพชีวิตแรงงาน(LPN) กล่าวว่า สำหรับเหตุการณ์ที่ผ่านมาในพื้นที่ อ.มหาชัย จ.สมุทรสาคร ที่ตนทำงาน จะมีเด็กซึ่งเป็นลูกหลานของแรงงานข้ามชาติถูกจับและพรากจากพ่อแม่ ในกรณีที่ไม่มีเอกสาร ซึ่งเราก็จะต้องเข้าไปเจรจาต่อรองกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเด็กบางคนที่ถูกจับไปก็เป็นเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษา ซึ่งความจริงควรได้รับการคุ้มครองโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้แล้วยังมีเด็กลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาโดยไม่มีเอกสารใดๆ เด็กเหล่านี้ก็จะถูกจับและเข้าสู่กระบวนการของกฎหมาย โดยเด็กจะถูกส่งตัวไปยังสถานพินิจหรือถูกส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง ซึ่งกระบวนการของการส่งกลับมีความน่ากังวลเป็นอย่างมาก เพราะเด็กที่ถูกจับไปส่วนใหญ่จะไม่สามารถพึ่งตนเองได้ และครอบครัวของเด็กไม่ได้อยู่ในประเทศต้นทาง ดังนั้นจึงไม่มีใครดูแล และเป็นเหตุทำให้เด็กเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ ตกเป็นเครื่องมือในกระบวนการนายหน้าที่จะเข้าไปหาผลประโยชน์จากเด็กกลุ่มนี้ ทั้งนี้เด็กที่ไม่มีเอกสารก็จะถูกหาผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยการเรียกรับเงินจากพ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็กเพื่อให้เด็กได้อยู่ในประเทศไทยต่อ เด็กจึงต้องเผชิญกับปัญหาทั้งกระบวนการนายหน้าค้ามนุษย์ และการรีดไถจากเจ้าหน้าที่ด้วย
 
นอกจากนี้เมื่อเด็กถูกจับไปที่สถานกักตัวแรงงานต่างด้าวต้องถูกนำไปขังรวมกับผู้ใหญ่ ซึ่งเมื่อสามปีที่ผ่านมาเคยมีกรณีของเด็กลูกหลานแรงงานต่างชาติเสียชีวิตระหว่างที่ถูกคุมขังด้วย และยังไม่สามารถหาสาเหตุของการเสียชีวิตได้ อีกทั้งปัจจุบันเด็กที่ถูกจับยังมีอายุเฉลี่ยน้อยลงเรื่อยๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการในการดูแลเด็กและไม่ตีตราเด็กให้เป็นอาชญากรและใช้กฎหมายผู้ใหญ่มาบังคับใช้กับเด็ก รวมทั้งควรมีการจัดอบรมครอบครัวแรงงานให้มีความรู้ความเข้าใจหากเด็กในครอบครัวถูกจับกุม เพื่อเป็นการป้องกันการหาผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่และกระบวนการนายหน้า
 
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า เด็กถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และไม่ได้มีเจตนาในการทำผิดกฎหมายคนเข้าเมือง โดยหลักการแล้วเด็กไม่ควรถูกทำประวัติเป็นอาชญากร เพราะตามหลักการทำงานของสถานกักตัวแรงงานต่างด้าว เด็กจะต้องถูกขึ้นทะเบียนและทำให้มีประวัติอาชญากรทันที ทั้งนี้มีเด็กจำนวนมากที่ไม่ได้ถูกจับเพราะการหลบหนีเข้าเมืองมายังประเทศไทย หากแต่ถูกจับในขณะที่เกิดในประเทศไทย รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรมีแนวปฏิบัติที่เหมาะสมกับเด็กเหล่านี้ และที่สำคัญเด็กไม่ควรถูกกักขังอยู่ในสถานที่ที่ใช้ระบบเดียวกับเรือนจำ เพราะจะทำให้เด็กเสียสิทธิในหลายเรื่อง นอกจากนี้ควรต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิทั้งทางด้านการศึกษา สังคม วัฒนธรรม และสาธารณสุขที่เด็กๆ ควรจะได้รับ 
 
สำหรับข้อเสนอแนะต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง คือ 1. ต้องจัดให้มีบริการพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและสุขอนามัยที่ได้มาตรฐานต่อการพัฒนาด้านร่างกาย สมอง จิตใจ ศีลธรรมและสังคมของเด็ก เช่น น้ำดื่มและน้ำใช้ที่สะอาดและเพียงพอ จัดให้มีห้องพิเศษเฉพาะและอุปกรณ์สำหรับดูแลแม่และเด็กอ่อน จัดอาหารสอดคล้องกับความเชื่อ วัฒนธรรม และศาสนา และต้องมีรูปเคารพ สถานที่ และเวลา เพื่อให้สามารถประกอบกิจกรรมและปฏิบัติพิธีกรรมทางความเชื่อและศาสนาได้ นอกจากนี้ควรเพิ่มจุดติดตั้งกล้องวงจรปิดให้ครอบคลุมทุกพื้นที่สำคัญ 2.ข้อเสนอเพื่อพัฒนาระบบในการดูแลและจัดการเด็ก โดยเด็กต้องอยู่ร่วมกับบิดาและมารดา หรือผู้ปกครอง และได้รับการดูแลเลี้ยงดูโดยไม่ถูกแยกจากครอบครัว และควรอยู่ภายนอกสถานกักตัว เช่น ในบ้านพักเด็กและครอบครัวของหน่วยงานรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน หรือหากอยู่ระหว่างการประสานงานกับหน่วยงานภายนอก เด็กจะต้องได้อยู่ร่วมกับบิดา มารดา หรือผู้ปกครองในสถานกักตัวด้วย และจะต้องไม่ถูกแทรกแซงความเป็นส่วนตัว เช่น การจัดพื้นที่แยกเฉพาะสำหรับแต่ละครอบครัว 3. ควรเพิ่มเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและบุคลากรวิชาชีพเพศหญิงที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับเด็ก ให้มีจำนวนเพียงพอ และต้องจัดอบรมให้เจ้าหน้าที่เข้าใจและปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในเรื่องหลักการ ระบบ และกฎเกณฑ์การปฏิบัติต่อเด็ก และควรจัดอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้มีความรู้ ความเข้าใจในประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กและการคุ้มครองเด็ก ตลอดจนพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ด้วย 4. ควรสนับสนุนและเปิดโอกาสทางการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยแก่เด็กทุกคน รวมทั้งควรสนับสนุนและจัดกิจกรรมการพัฒนาความรู้และทักษะในการดำรงชีวิต อาทิ ความรู้เรื่องสิทธิและกฎหมาย การย้ายถิ่นที่ปลอดภัย สนับสนุนกิจกรรมการเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในเทศกาลทางสังคม ศิลปวัฒนธรรม นันทนาการและวันสำคัญทางศาสนา และที่สำคัญเด็กต้องเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและได้รับการคุ้มครองทุกรูปแบบจนสิ้นสุดกระบวนการก่อนการส่งกลับ
 
สำหรับข้อเสนอต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว คือควรจัดให้มีหน่วยงาน กลไกป้องกันระดับชาติ (National Preventive Mechanism) ตามพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย้ำยีศักดิ์ศรีในการตรวจเยี่ยม และรายงานสถานการณ์ในที่ต้องกักอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่ไม่ดีต่อผู้ที่ถูกลิดรอนเสรีภาพ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุเมธ องกิตติกุล

Posted: 27 Sep 2013 09:01 AM PDT

"การพัฒนาระบบรถสาธารณะทั้งหมด ไม่เกี่ยวข้องกับรถติดเลย ถ้าคนใช้รถยนต์ส่วนบุคคลสะดวกสบาย รถก็ยังติดอยู่ หลายประเทศจึงใช้นโยบายเก็บค่าผ่านทางในช่วงเวลาที่รถแออัด เป็นนโยบายที่ไม่ popular แต่อาจต้องพิจารณา เช่น road pricing ในลอนดอนนั้นพบว่าในเขตที่ทำ จำนวนผู้ใช้รถโดยสารเพิ่ม 30% และต้นทุนของรถโดยสารลดลง 20% การจราจรที่ติดขัดทำให้ต้นทุนสูงและผู้โดยสารลด"

26 ก.ย.56, นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์โอ

รายงาน: คนรุ่นใหม่-คนพื้นที่ รณรงค์สื่อสารสร้างสรรค์อย่างไร

Posted: 27 Sep 2013 04:58 AM PDT

(27 ก.ย.56) เว็บไซต์ประชาไท ร่วมกับเครือข่ายพลเมืองเน็ต Protection International และ Frontline Defender ร่วมจัดเวทีสาธารณะ "การปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และความปลอดภัยออนไลน์" ที่โรงแรมวินเซอร์ สวีทส์ กรุงเทพฯ โดยมีนักสิทธิมนุษยชนในไทยเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์
 
โดยช่วงบ่ายเป็นการเสวนา หัวข้อ "นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนรุ่นใหม่: การรณรงค์อย่างสร้างสรรค์" ร่วมแลกเปลี่ยนโดย ปองจิต สรรพคุณ หัวหน้าฝ่ายละครชุมชน มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) เดชา คำเป้าเมือง ตัวแทนเยาวชนจากกลุ่มอนุรักษ์อุดร ธนบูรณ์ สมบูรณ์ Creative Move สุภาพ หริมเทพาธิป นิตยสารไบโอสโคป  ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ นักรณรงค์รุ่นใหม่ ดำเนินรายการโดย อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต

ปองจิต สรรพคุณ หัวหน้าฝ่ายละครชุมชน มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) เล่าว่า กลุ่มมะขามป้อม เป็นกลุ่มละครสะท้อนปัญหาสังคม ทำงานสองด้าน ด้านหนึ่งทำละคร โดยมีประเด็นที่ต้องการนำเสนอมาจากในกลุ่มเองที่รู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาตั้งคำถาม อีกส่วนได้แรงบันดาลใจจากการลงพื้นที่ทำงานกับคนในพื้นที่ประสบปัญหา เวลาแสดงจะคำนึงถึงว่ากลุ่มเป้าหมายหลักคือใคร ผู้ชมต้องเป็นคนที่มีอิทธิพลหรือมีใจที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ขับเคลื่อนนโยบาย เช่น เรื่องที่ผ่านมา ทำเรื่อง "ฝันกลางไฟ" เกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนใต้

ทางกลุ่มเห็นว่าคนในพื้นที่รู้ปัญหาอยู่แล้ว แต่คนที่ไม่เข้าใจปัญหาคือคนส่วนกลางที่ได้ยินข่าวเยอะ แต่ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น จึงนำละครนี้มาแสดงที่กรุงเทพฯ พร้อมโยงกับประเด็นการเมืองเรื่องสีเสื้อที่กำลังเกิดขึ้นขณะนั้น งานอีกด้านหนึ่งคือ การเสวนาร่วมกับกลุ่มต่างๆ เพราะมองว่าไม่ใช่แค่ละครอย่างเดียวจะขับเคลื่อนสังคมได้ แต่ต้องอาศัยกลุ่มอื่นๆ ด้วย

ปองจิต เล่าถึงการใช้อารมณ์ขันในละครว่า สังคมไทยพูดความจริงไม่ได้ เพราะอาจโดนจับ โดนยิง การเสียดสีหรือทำให้กลายเป็นเรื่องตลก ล้อเลียนจะเล็ดรอดจากการจับตา เพราะคนไม่คิดว่ารุนแรง

"ตีไม่ได้ ก็ขอหยิก" ปองจิตกล่าวและว่า นี่เป็นการแสดงออกในสังคมปิด พร้อมเสนอว่า คนที่ทำงานในชุมชนอาจต้องคิดนอกกรอบ หยิบสื่อหลากหลายรูปแบบมาใช้

ปองจิตกล่าวถึงข้อดีของงานละคร งานวัฒนธรรม ว่าเป็นสื่อเย็น ยกตัวอย่างกรณีบ้านปางแดง ชุมชนต้องซื้อที่ราคา 800,000 บาท มะขามป้อม ทำละคร เอาคนในชุมชนทั้งเด็กและคนแก่ในพื้นที่ ไปแสดงในกรุงเทพฯ ระดมทุนได้ 800,000 กว่าบาท เอาไปซื้อที่ โดยตอนนั้นจับกลุ่มเป้าหมาย สื่อมวลชนคนรุ่นใหม่ เช่น อะเดย์ และสามารถดึงคนเข้ามาร่วมได้เยอะมาก

เดชา คำเป้าเมือง ตัวแทนเยาวชนจากกลุ่มอนุรักษ์อุดร ซึ่งทำงานในศูนย์สื่อชุมชนที่สังคมที่เป็นธรรม เล่าว่า ประเด็นในพื้นที่มีให้ทำแทบทุกวัน โดยทำข่าวที่ไม่เป็นข่าวให้เป็นข่าว และส่งให้สื่อและนักวิชาการที่สนใจ โดยมีที่มาจากการสังเกตว่าปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตซ เป็นข่าวบ้างไม่เป็นบ้างในหน้าสื่อ ขณะที่ประเด็นในพื้นที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด คนในพื้นที่จึงคิดกันว่า จะรอคนข้างนอกหยิบเรื่องไปสื่อสารคงไม่ทัน คนในต้องสื่อสารออกไปให้ข้างนอกรู้ ซึ่งพบว่ามีคนสนใจติดตามอยู่ ทราบได้จากการที่มีคนโทรกลับมาขอข้อมูล ขอแหล่งข่าว หรือขอให้พาลงพื้นที่ที่มีปัญหา


สุภาพ หริมเทพาธิป นิตยสารไบโอสโคป เล่าว่า ปัจจุบันทำสารคดี "ก(ล)างเมือง" เพื่อสื่อสารประเด็นปัญหาในเมือง รวมถึงทำหนังส่งประกวดต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบัน วงการหนังโลก สนใจเรื่องจริงกันมากขึ้น เพราะหนังกระแสหลักแทบไม่ต้องใช้มนุษย์จริงเล่นแล้ว จึงเกิดการพลิกกลับว่าอยากเห็นเรื่องเล่าจริงๆ อย่างไรก็ตาม เรื่องทำนองนี้มีโอกาสฉายในไทยยาก หรือได้ในวงแคบ จึงต้องออกแบบให้คนรับสื่อตระหนักรู้ถึงปัญหา

การจะทำให้คนทั่วไปเข้าถึงหนังได้ จะต้องกระจายมันออกไป ทำให้เรื่องมันเข้าไปถึงคนให้มากที่สุด และกระจายไปถึงคน ให้คนอินกับเรื่องที่เราเล่า บางทีมีคนมาบอกว่ามีคนอัปโหลดหนังฉบับเต็มลงในยูทูบ ซึ่งก็มองว่า ดีแล้ว เพราะต้องการสื่อสารประเด็นออกไป

สุภาพ แนะนำว่า เวลาให้คนเล่าเรื่องตัวเอง แรงขับจากข้างในทำให้ถ่ายทอดออกมาได้ดี นอกจากนี้ การทำบ่อยๆ เป็นการฝึกทักษะซึ่งจะส่งผลให้งานจะออกมาดีเอง นอกจากนี้การจะทำสื่อให้ดีอาจต้องถอยออกมาประมาณหนึ่ง การเล่าเรื่องอาจไม่บอกหมด เพื่อให้คนฟังอยากรู้เรื่องราวต่อ 


ธนบูรณ์ สมบูรณ์ จาก Creative Move เล่าว่า ทางกลุ่มทำงานผลักดันสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงพยายามช่วยสื่อสารประเด็นของเอ็นจีโอให้คนเมืองได้รับทราบ โดยเรื่องที่ทำมี 5 ประเด็นคือ สังคม การศึกษา สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ และสุขภาพ  

ธนบูรณ์ ยกตัวอย่างกรณีล่าสุด ซึ่งทางกลุ่มมองว่า ศศิน เฉลิมลาภ ซึ่งเดินเท้าต้านเขื่อนแม่วงก์ ไม่มีสื่อหลักทำข่าวเลย จึงคิดโปรเจ็คชวนนักสร้างสรรค์ในเครือข่ายออกแบบปกเฟซบุ๊กกัน เพื่อสร้างความตระหนักให้คนเห็นปัญหา ในภาวะที่สื่อหลักไม่ทำงาน คนออกแบบได้มาออกแบบ คนออกแบบไม่ได้ก็มาช่วยแชร์ ทำให้คนไม่เบื่อกับการรณรงค์ เพื่อสื่อสารกับคนเมืองที่อยู่กับความสบายและไม่รู้ปัญหาสังคม มีคนเข้าร่วม 3,000 คน มีคนออกแบบ 150 แบบภายใน 3 วัน

นอกจากนี้ ยังมีการใช้อินโฟกราฟิก ใช้ภาพอธิบายข้อมูลองค์ความรู้ให้เข้าใจง่ายขึ้นในเวลารวดเร็ว เช่น ที่ผ่านมาทำเรื่องขยะจากพลาสติก ว่าย่อยสลายยากอย่างไร ปรากฏว่า ภายในสองสัปดาห์ มีผู้ชม 200,000 วิว

ธนบูรณ์เล่าถึงการทำงานว่า ในการสื่อสาร จะถอยตัวเองจากปัญหา ลองนึกว่าหากไม่รู้เรื่องอะไรเลยในประเด็นหนึ่งๆ คนจะเข้าใจอะไรและอย่างไรบ้าง พร้อมชี้ว่า เอ็นจีโอมักเรียกร้อง แต่ไม่คิดว่าคนอื่นจะเข้าใจไหมว่าเขาต้องการอะไร 


ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ อดีตกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย เล่าถึงการทำงานรณรงค์ที่ผ่านมาว่า ขณะนั้นเรียนอยู่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองตอนนั้นผลักให้การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน จึงรวมกลุ่มกันนักศึกษาในมธ. เป็นกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยเพราะมองว่า สังคมยังขาดหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พบข้อจำกัดในการทำงานว่า นักกิจกรรมในมธ. ที่มาจากรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ จะจริงจังในการขบประเด็นว่าจะสื่อสารอะไร แต่ให้เวลากับการณรงค์ให้ถึงเป้าหมายน้อย นักกิจกรรมทางสายบัญชีและศิลปศาสตร์จึงเข้ามา พยายามคิดวิธีนำเสนอ เปลี่ยนวิธีสื่อสารใหม่ โดยสอดแทรกมุขตลกเสียดสี เช่น รณรงค์เพิ่มความตระหนักรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ไปเช่าชุดทหารในอดีต ทำเอกสารยืมรถถังกับกองทัพบก เพื่อรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รำลึก 2475 เป็นต้น นอกจากนี้ยังไปซื้อโฆษณาในเฟซบุ๊ก เพื่อพ่วงโฆษณากับเพจข่าวต่างๆ เช่น เพจของประชาไท 

ในการต่อสู้รณรงค์ ใช้เงินที่ระดมทุนจากคนหมู่มาก เช่น ทำเสื้อรณรงค์ขาย จัดปาร์ตี้ ซึ่งมีข้อดีคือ ทำให้มีอิสระในการเคลื่อนไหว ร้อยคนคนละร้อยบาท สุดท้ายไม่มีใครครอบงำความคิดได้ จากนั้นมีการทำรายงานว่าได้ทำงานอะไรไปบ้าง

ปราบเล่าต่อว่า ตอนนี้เรียนจบแล้ว กิจกรรมในมหาวิทยาลัย คนที่ทำเป็นรุ่นต่อๆ ไป ถ้าองค์กรให้คุณค่ากับวัฒนธรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมแนวนี้ก็จะเกิดขึ้นต่อไป

ปัจจุบันปราบตั้งกลุ่ม New Culture โดยเป็นตัวกลางระหว่างรุ่นพี่ที่ทำงานแล้วและมีเงินแต่ไม่มีไฟ ไม่มีเวลา กับรุ่นน้องที่มีไฟ แต่ไม่มีเงิน  เช่น การถกเรื่องชุดนักศึกษา นำเสนอในรูปแบบภาพ มีการย้อนความคิดของผู้ใหญ่ว่าทำไมนักศึกษาต้องแต่งเครื่องแบบ โดยย้อนกลับไปที่ครู มีผู้แชร์ 9,800 ครั้ง มีคนเห็น 800,000 คน 

"โซเชียลมีเดียเป็นพลังของคนตัวเล็กในการทำสื่อใหญ่ เพราะต้นทุนต่ำมาก" ปราบกล่าวพร้อมแนะนำว่า การสื่อสารที่ได้ประสิทธิผลมากที่สุด คือ การประสานงานสร้างแนวร่วมที่มีความสามารถหลากหลายมาร่วมกันทำงาน เพราะไม่มีใครเก่งได้ทุกอย่าง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: เสรีภาพที่ชนชั้นปกครองอนุญาต

Posted: 27 Sep 2013 02:26 AM PDT

<--break->อ่านบทความชื่อ "เสรีภาพที่ไร้เดียงสา" ของวิมล ไทรนิ่มนวล (ประชาไท,18 ก.ย.56) ที่วิจารณ์กรณีประท้วงการบังคับใส่เครื่องแบบนักศึกษา โดยพูดถึงประเด็น "สิทธิเสรีภาพ" โยงไปถึง "นายทาสเก่า-นายทาสใหม่"  ทำให้ผมอยากจะแลกเปลี่ยนบางประเด็น เช่นที่วิมลเขียนว่า

...ผมไม่เห็นว่า "การไม่เอาอะไรแบบเก่า" เท่ากับสลัดความเป็นทาส หรืออำนาจนิยมของ "อำมาตย์-ศักดินา" ออกไป แล้วสิ่งที่จะเข้ามาแทนที่คือ "เสรีภาพ" ตราบใดที่เรายังมีกิเลส มีตัณหา ตราบนั้นเราไม่มีวันมี "เสรีภาพที่แท้" ได้หรอก...

เข้าใจว่าวิมลน่าจะสับสน เพราะการยืนยันความมีเสรีภาพจากระบบอำนาจนิยมของ "อำมาตย์-ศักดินา" ย่อมหมายถึงเสรีภาพทางสังคมการเมือง อันได้แก่เสรีภาพตามหลักเสรีนิยมประชาธิปไตย ไม่ใช่เสรีภาพจากกิเลสตัณหาอันเป็นเป้าหมายทางพุทธศาสนาซึ่งแล้วแต่ปัจเจกแต่คนจะเลือกหรือไม่ก็ได้ แต่เสรีภาพในทางสังคมการเมืองเป็นหลักการพื้นฐานที่ทุกคนต้องมีเสมอกัน รัฐประชาธิปไตยต้องรับรองและปกป้องเสรีภาพที่ว่านี้ ฉะนั้น ถ้าปฏิรูประบบเก่าให้วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้ เสรีภาพตามหลักเสรีนิยมประชาธิปไตยย่อมเกิดขึ้นตามมา

อีกตอนหนึ่งวิมลเขียนว่า

แม้ล้มล้างค่านิยมเก่าออกไปหมด เราก็จะรับเอาค่านิยมอีกแบบที่เรียกว่า "ใหม่" เข้ามา "ครอบ" ความรู้สึกนึกคิด หรือชีวิตของเราต่อไปอีก ล้มล้างความเป็นทาสแบบหนึ่งออกไป (ถ้าคิดว่ามันเป็น) ก็จะรับเอานายทาสใหม่เข้ามาครอบหัวต่อไปอีก...นั่นไม่ใช่เสรีภาพที่แท้ แต่หากจะบอกว่า "นายทาสใหม่" ดีกว่า "นายทาสเก่า" ก็แล้วไป แต่ไม่ควรจะมาอ้างเรื่องสิทธิ-เสรีภาพ ไม่เช่นนั้นคนที่เขายังเลือกค่านิยมเก่าก็จะอ้างได้เช่นกันว่า เป็นสิทธิและเสรีภาพของเขา

นี่ถ้าไม่ใช่เพราะสับสนในวิธีคิดอย่างยิ่ง ก็เป็นความจงใจใช้วิธีพูดแบบคลุมเครือเพื่อโน้มน้าวให้คนเห็นด้วยกับความคิดของตน เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วไม่มี "นายทาสใหม่" ที่มีอำนาจปิดกั้นสิทธิเสรีภาพอยู่จริง หากจะบอกว่านายทาสใหม่หมายถึง "ทุนนิยมสามานย์" อย่างที่ว่ากัน แม้จะเป็นความจริงว่าทุนนิยมอาจจะมีปัญหาที่สำคัญบางอย่าง เช่นปัญหาช่องว่างทางเศรษฐกิจ แต่ทุนนิยมไม่มีกฎหมายห้ามวิจารณ์ตรวจสอบเหมือนระบบเก่า ประชาชนจึงมีเสรีภาพที่จะวิจารณ์ตรวจสอบ และอภิปรายถกเถียงเพื่อร่วมกันหาทางแก้ปัญหาทุนนิยม หรือกระทั่งรณรงค์ "ไม่เอาทุนนิยม" แต่เอา "รัฐสวัสดิการ" ตามวิถีทางประชาธิปไตยได้ สุดท้ายจะยุติอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับเสียงข้างมาก

ยิ่งเมื่อวิมลเขียนว่า "...คนที่เขายังเลือกค่านิยมเก่าก็จะอ้างได้เช่นกันว่า เป็นสิทธิและเสรีภาพของเขา" อันนี้ถ้าหมายถึงค่านิยมเก่าที่ยึดโยงอยู่กับระบบที่วิมลเรียกว่า ระบบอำนาจนิยมของ "อำมาตย์-ศักดินา" ระบบเช่นนี้เป็นระบบที่มี "สภาพบังคับ" ให้พูดถึงสถาบันกษัตริย์ได้แต่ด้านดีด้านเดียวเท่านั้น วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้ ภายใต้ระบบเช่นนี้ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า "สิทธิเสรีภาพตามกรอบเสรีนิยมประชาธิปไตย" อยู่จริง มีแต่สิ่งที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์เรียกว่า "สิทธิตามที่ชนชั้นปกครองอนุญาต" คือประชาชนได้รับอนุญาตให้มีสิทธิเสรีภาพวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบนักการเมืองและบุคคลสาธารณะอื่นๆได้ แต่ไม่สามารถใช้ (apply) สิทธิเสรีภาพเช่นนั้นกับสถาบันกษัตริย์ได้

น่าสังเกตว่า ความสับสนทำนองนี้เรามักเห็นกันอยู่เป็นประจำในการถกเถียงเรื่องประชาธิปไตยในบ้านเรา เช่นข้อโต้แย้งที่ว่า "เมื่ออ้างประชาธิปไตยและการยอมรับเสียงข้างมาก ในเมื่อคนส่วนใหญ่ในสังคมเขายังเอากฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ต้องยอมรับ จะเรียกร้องหรือรณรงค์ให้ยกเลิก 112 ไปทำไม"

ปัญหาของข้อโต้แย้งนี้คือการไม่เข้าใจว่าการยอมรับเสียงส่วนใหญ่ในสังคมประชาธิปไตยนั้น หมายถึง "เสียงส่วนใหญ่โดยการโหวตที่เสรีและเป็นธรรม (free and fair)" เท่านั้น โดยนัยนี้ก่อนจะลงมติในเรื่องใดๆ ต้องมีเสรีภาพในการอภิปรายถกเถียงอย่างเต็มที่ และมีความเป็นอิสระในการออกเสียงลงมติโดยไม่มีอำนาจหรืออิทธิพลใดๆมาแทรกแซงบีบบังคับได้ เสียงส่วนใหญ่จึงจะสะท้อนเจตจำนงทั่วไปของประชาชนได้จริง แต่สังคมนี้มีกติกาที่ free and fair ในการอภิปรายถกเถียงและโหวตเอา-ไม่เอา 112 อยู่จริงหรือ?

กลายเป็นว่า วิมล ไทรนิ่มนวล ที่วิจารณ์คนอื่นว่าอ้างเสรีภาพอย่างไร้เดียงสา ตัววิมลนั่นเองที่ไร้เดียงสาเหลือเกินในความเข้าใจ "มโนทัศน์" (concept) เรื่อง "เสรีภาพ" ตามกรอบเสรีนิยมประชาธิปไตย หรือตามหลักสิทธิมนุษยชน จึงแสดงความคิดขัดแย้งในตัวเอง

แต่อันที่จริง หากวิมลจะอ้าง "เสรีภาพจากกิเลส" ตามคำสอนพุทธศาสนา วิมลก็น่าจะรู้ด้วยว่าพุทธศาสนาก็ยืนยัน "เสรีภาพในการแสวงหาความจริง" ตามหลักกาลามสูตรด้วย แต่เสรีภาพที่ว่านี้ย่อมขัดแย้งกับระบบเก่าซึ่งกำหนด "สภาพบังคับที่ขัดต่อความมีเหตุผล" คือสภาพบังคับที่กำหนดว่าประชาชนพูดถึงสถาบันกษัตริย์ได้แต่ด้านดีเพียงด้านเดียวเท่านั้น สภาพบังคับนี้ย่อมขัดกับหลักการลามสูตรที่ไม่ให้เชื่อในเรื่องใดๆที่เราไม่มีเสรีภาพจะพิสูจน์ความจริงได้ ฉะนั้นเสรีภาพในการแสวงหาความจริงตามหลักกาลามสูตรจึงไปกันได้กับเสรีนิยมประชาธิปไตยมากกว่า

ยิ่งกว่านั้น ถ้าเราถือว่าการศึกษาต้องช่วยให้คนคิดเป็น หมายถึง "คิดอย่างมีเหตุผล" สภาพบังคับที่กำหนดให้ประชาชนรับและเชื่อข้อมูลด้านดีด้านเดียว ก็คือสภาพบังคับที่ปิดกั้นเสรีภาพในการใช้เหตุผล ฉะนั้น แม้ระบบการศึกษาของเราจะมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคนให้คิดเป็น คิดมีเหตุผล มีความสามารถในการวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ แต่เป้าหมายนี้กลับขัดกับ "กรอบใหญ่" ที่ครอบสังคมอยู่คือ "สภาพบังคับที่ขัดต่อความมีเหตุผล" จึงกลายเป็นว่าแม้คนที่ผ่านการศึกษามาแล้วจะสามารถคิดเป็น คิดมีเหตุมีผลได้ แต่ก็กลับถูกสภาพบังคับดังกล่าวทำให้เขากลายเป็นเสมือนคนไม่มีเหตุผล เช่นเป็นคนที่ต้องเชื่อ ยอมรับ ยกย่องอำนาจที่ไม่สามารถใช้เหตุผลตรวจสอบได้เป็นต้น

ที่สำคัญสภาพบังคับดังกล่าว ยังเป็นเงื่อนไขให้คนในสังคมคิดอะไรที่ขัดแย้งในตัวเองอยู่ตลอดเวลา  เช่นคิดเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ สิทธิเท่าเทียมทางเพศ ความหลากหลายทางคุณค่า ฯลฯ โดยไม่รู้ตัวว่าหากไม่ปลดล็อก "สภาพบังคับที่ขัดต่อความมีเหตุผล" แล้วสร้างกติกาของประเทศที่ free and fair จริงๆ เสรีภาพที่พูดๆกันนั้นก็ไม่ได้มีความหมายเป็นเสรีภาพตามกรอบของเสรีนิยมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ความหลากหลายทางคุณค่าที่พูดถึงกันก็ไม่ใช่ความหลากหลายที่แชร์กันได้อย่างมีเสรีภาพจริงๆ

ตราบที่สังคมเราไม่สามารถสร้างระบบการเมืองการปกครองให้มีกติกาที่ free and fair รองรับการการแสดงออกในด้านต่างๆอย่างมีเสรีภาพตามกรอบเสรีนิยมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง สังคมก็ยังคงติดกับดักของ "เสรีภาพที่ชนชั้นปกครองอนุญาต"

เช่น การที่รัฐไทยไม่อนุญาตให้วิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ แต่อนุญาตให้ใครก็ได้มีสิทธิแจ้งความเอาผิดคนอื่นๆในความผิดตามมาตรา 112 จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าเศร้าในสังคมเช่น อาจารย์แจ้งคดี 112 นักศึกษา สื่อมวลชนแจ้งคดี 112 นักศึกษา พี่ชายแจ้งคดี 112 น้องชาย อดีตภรรยาขู่แจ้งคดี 112 อดีตสามี เป็นต้น ยังไม่ต้องพูดถึงการใช้มาตรา 112 ทำลายศัตรูทางการเมืองหรือคนเห็นต่างในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองซึ่งเป็นปัญหามาตลอดเวลาอันยาวนาน

นี่คือปัญหาของกับดัก "เสรีภาพที่ชนชั้นปกครองอนุญาต" ซึ่งเป็น "สภาพบังคับที่ขัดต่อความมีเหตุผล" ทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้เหตุผลวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบชนชั้นปกครองได้  และยังทำให้คนในสังคมทุกระดับ ไปจนถึงสถาบันการศึกษา สถาบันครอบครัวใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษสูงอย่างไม่สมเหตุสมผลทำร้ายกันและกันอย่างไม่มีเหตุผลอีกด้วย

 

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ใน "โลกวันนี้วันสุข" (28 ก.ย.-4 ต.ค.2556)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประมวลภาพ-วิดีโอ: งานฌาปนกิจ เฉิน ผิง

Posted: 27 Sep 2013 01:31 AM PDT

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่วัดธาตุทอง มีพิธีฌาปนกิจศพ เฉิน ผิง (Chin Peng) หรือ ออง บุน หัว หรือ หวัง เหวิน หัว (Ong Boon Hua) อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (CPM) ซึ่งเสียชีวิตระหว่างรักษาตัวในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. และมีการจัดพิธีศพระหว่างวันที่ 20-22 ก.ย. ที่วัดธาตุทอง

คลิปวิดีโองานฌาปนกิจ เฉิน ผิง อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 56 ที่วัดธาตุทอง กทม.

000

"In Everlasting Memomy" หรือความทรงจำนิรันดร์ เป็นหนังสือที่ระลึกสำหรับผู้มาร่วมงานฌาปนกิจเฉิน ผิง อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา หนังสือดังกล่าวลงชื่อผู้แต่งว่า "เฉิน ผิง" โดยตีพิมพ์ 3 ภาษาได้แก่ ภาษาอังกฤษ มลายู และจีน ในเล่มยังมีการตีพิมพ์จดหมาย "My Last Wish" หรือความปรารถนาสุดท้าย อันเป็นจดหมายฉบับสุดท้ายของเฉิน ผิง ด้วย

ผู้มาร่วมงานฌาปนกิจของเฉิน ผิง ให้ความสนใจ "หนังสือพิมพ์กำแพง" ที่ผู้จัดงานรวบรวมมาจากหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวการเสียชีวิตของเฉิน ผิง อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ทั้งนี้หนังสือพิมพ์ภาษาจีนในมาเลเซีย และสื่อออนไลน์ของมาเลเซีย ให้ความสนใจและมีการรายงานข่าวการเสียชีวิตของเฉิน ผิง ในขณะที่สื่อของรัฐบาลเลี่ยงที่จะนำเสนอเรื่องนี้

ภาพของ "เฉิน ผิง" ในปี 2498 ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ภาษาจีนฉบับหนึ่ง ที่ผู้จัดงานนำมารวบรวมเป็น "หนังสือพิมพ์กำแพง" ติดอยู่ที่บอร์ดในงานฌาปนกิจของเขาที่วัดธาตุทอง กทม.

มิตรสหายผู้มาร่วมงานฌาปนกิจเฉิน ผิง ระหว่างเดินวนรอบเมรุ 3 รอบ เพื่อส่งอดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายาเป็นครั้งสุดท้าย

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้บัญชาการทหารบก เดินทางมาเป็นประธานในพิธีฌาปนกิจ โดยระบุว่ามาร่วมงานในฐานะที่เป็นเพื่อนเก่าของ เฉิน ผิง ทั้งนี้ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2532 มีการลงนามในสนธิสัญญาหาดใหญ่ เพื่อยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธ ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์มลายา และรัฐบาลมาเลเซีย โดยมี พล.อ.ชวลิต เป็นหนึ่งในผู้ประสานงานให้เกิดการลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว

"พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวคำไว้อาลัยให้กับ "เฉิน ผิง" อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ทั้งนี้มีอดีตนายทหารหลายนายที่มาร่วมงานฌาปนกิจรวมทั้ง พล.อ.พิศาล เป็นผู้มีบทบาทในการเจรจากับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา จนนำไปสู่การวางอาวุธและลงนามสันติภาพกับรัฐบาลมาเลเซีย เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2532

ธง แจ่มศรี อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เดินทางมาร่วมงานฌาปนกิจ "เฉิน ผิง" เขากล่าวด้วยว่าอดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายานั้นราว พ.ศ. 2517 เคยเดินทางเข้ามาในพื้นที่เคลื่อนไหวของ พคท. ด้าน จ.น่าน เพื่อที่จะเดินทางต่อเข้าไปประเทศจีน ซึ่งเป็นปลายทาง

เอ็ม ซาราส รองประธานพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (PSM) เดินทางมาร่วมงานฌาปนกิจ เฉิน ผิง โดยการมาเยือนกรุงเทพฯ นี้มาในนามของพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย เพื่อมาแสดงความไว้อาลัยต่อการเสียชีวิตของเฉิน ผิง ทั้งนี้พรรคสังคมนิยมมาเลเซีย มีที่นั่งในสภา 1 ที่นั่ง โดยพื้นที่ซึ่งชนะการเลือกตั้งในเขตสุไหง สิปุต รัฐเประ ถือเป็นอดีตพื้นที่เคลื่อนไหวสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ช่วงก่อนที่มาเลเซียจะได้รับเอกราช และในปี เจ้าอาณานิคมอังกฤษได้ประกาศภาวะฉุกเฉินระหว่าง พ.ศ. 2491 - 2503 เพื่อปราบปรามสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายา หลังเกิดการฆ่าชาวยุโรป 3 คนที่เขตสุไหง สิปุตดังกล่าว

000

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่วัดธาตุทอง มีพิธีฌาปนกิจศพ เฉิน ผิง (Chin Peng) (ชื่อจัดตั้ง) หรือ ออง บุน หัว หรือ หวัง เหวิน หัว (Ong Boon Hua) อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (CPM) ซึ่งเสียชีวิตระหว่างรักษาตัวในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. และมีการจัดพิธีศพระหว่างวันที่ 20-22 ก.ย. ที่วัดธาตุทอง

โดยในงานฌาปนกิจศพ มีการแจกหนังสือที่ระลึกแก่ผู้มาร่วมงานชื่อ "In Everlasting Memomy" หรือความทรงจำนิรันดร์  ลงชื่อผู้แต่งว่า เฉิน ผิง ตีพิมพ์ 3 ภาษาได้แก่ ภาษาอังกฤษ มลายู และจีนนั้น โดยในเล่มยังมีการตีพิมพ์จดหมาย "My Last Wish" หรือความปรารถนาสุดท้าย อันเป็นจดหมายฉบับสุดท้ายของเฉิน ผิง ด้วย

โดยก่อนเคลื่อนศพจากศาลาสวดไปยังเมรุ มีการอ่านจดหมายฉบับสุดท้ายของเฉิน ผิง "My Last Wish" โดยอ่านเป็นภาษาจีน และภาษามลายู โดยลี ตั๊ก ฮี และ อานัส อิทราจายา อับดุลลาห์ อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายาและผู้ใกล้ชิด เฉิน ผิง (อ่านจดหมายฉบับแปลภาษาไทยที่นี่)

ทั้งนี้ผู้มาร่วมพิธีศพในวันสุดท้าย ประกอบด้วยมิตรสหายของเฉิน ผิง โดยส่วนหนึ่งเดินทางมาจากเมืองสิเตียวัน ในรัฐเประ บ้านเกิดของเฉิน ผิง นอกจากนี้ยังมีอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายาที่เดินทางมาจากชายแดนไทย-มาเลเซีย ผู้ที่เดินทางมาจากเมืองต่างๆ ของมาเลเซีย และมาจากสิงคโปร์ รวมทั้ง เอ็ม.ซาราส (M.Saras) รองประธานพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (PSM) ที่เดินทางมาร่วมพิธีศพและส่งมอบคำไว้อาลัยในนามของพรรคสังคมนิยมมาเลเซียด้วย

โดยพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย มีที่นั่งในสภา 1 ที่นั่ง โดยพื้นที่ซึ่งชนะการเลือกตั้งอยู่ในเขตสุไหง สิปุต รัฐเประ ถือเป็นอดีตพื้นที่เคลื่อนไหวสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ช่วงก่อนที่มาเลเซียจะได้รับเอกราช และในปี เจ้าอาณานิคมอังกฤษได้ประกาศภาวะฉุกเฉินระหว่าง พ.ศ. 2491 - 2503 เพื่อปราบปรามสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายา หลังเกิดการฆ่าชาวยุโรป 3 คนที่เขตสุไหง สิปุตดังกล่าว

ขณะที่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 ก.ย. เทียน ฉัว (Tian Chua) หรือฉัว เทียน ชาง (Chua Tian Chang) รองประธานพรรคยุติธรรมประชาชน (PKR) พรรคฝ่ายค้าน "ภาคีประชาชน" (PR) และ ส.ส.มาเลเซียเขตบาตู กัวลาลัมเปอร์ ได้เดินทางมาคำนับศพของเฉิน ผิง ด้วย และให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าเดินทางมาในฐานะเพื่อน ในฐานะครอบครัว และในฐานะของชาวมาเลเซีย และเรียกร้องให้รัฐบาลมาเลเซียปรับเปลี่ยนท่าที และภาพการรับรู้ต่อพรรคคอมมิวนิสต์มลายาเสียใหม่ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

นอกจากนี้ ธง แจ่มศรี อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก็เดินทางมาร่วมพิธีศพในวันสุดท้ายด้วย โดยก่อนหน้านี้ในวันที่ 20 ก.ย. ได้เดินทางมาคำนับศพแล้วครั้งหนึ่ง พร้อมส่งพวงหรีดแสดงความไว้อาลัยให้กับเฉิน ผิง

ทั้งนี้เชื่อว่าลูกของเฉิน ผิง ได้เดินทางมาร่วมพิธีฌาปนกิจด้วย อย่างไรก็ตามคณะผู้จัดงานปฏิเสธที่จะตอบคำถามและไม่ยืนยันข่าวนี้กับบรรดาผู้สื่อข่าว โดยให้เหตุผลว่าเพื่อปกป้องสิทธิส่วนบุคคลของสมาชิกครอบครัว โดยเฉิน ผิงนั้นมีบุตรชาย 1 คน และบุตรสาว 1 คน

โดยในพิธีฌาปนกิจ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้บัญชาการทหารบก ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีฌาปนกิจ โดยระบุว่ามาในฐานะเพื่อนของเฉิน ผิง และได้กล่าวคำไว้อาลัยต่อการเสียชีวิตของเฉิน ผิง นอกจากนี้ พล.อ.กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ได้เดินทางมาร่วมงานฌาปนกิจด้วย ทั้งนี้อดีตนายทหารที่มาร่วมงานฌาปนกิจดังกล่าวเป็นผู้มีบทบาทในการเจรจากับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (CPM) จนนำไปสู่การวางอาวุธและลงนามสันติภาพกับรัฐบาลมาเลเซีย เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2532

สำหรับพิธีฌาปนกิจของเฉิน ผิง เสร็จสิ้นในเวลาราว 18.00 น. เศษ

อนึ่ง มาเลเซียกินี รายงานด้วยว่า ตลอด 4 วันของการจัดงานศพ ไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลมาเลเซียมาร่วมงานอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตามมีเจ้าหน้าที่ของสถานทูตมาเลเซีย ซึ่งสื่อสารด้วยภาษาไทย เข้ามาถ่ายรูปในงานด้วย โดยระบุว่าถ่ายรูปเพื่อเป็นข้อมูล

ด้านหนังสือพิมพ์ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในมาเลเซีย "อูตูซัน มาเลเซีย" (Utusan Malaysia) ได้ลงข่าวปฏิเสธว่าเฉิน ผิง ไม่ได้เสียชีวิตในวันที่ 16 ก.ย. แต่เสียชีวิตวันที่ 15 ก.ย. อย่างไรก็ตามคนใกล้ชิดของเฉิน ผิง ได้แถลงข่าวในกรุงเทพฯ ปฏิเสธข้อกล่าวหาของ "อูตูซัน มาเลเซีย" และยืนยันว่าเฉิน ผิงเสียชีวิตในวันที่ 16 ก.ย.

ทั้งนี้วันที่ 16 ก.ย. ซึ่งเป็นวันที่ เฉิน ผิง เสียชีวิตนั้น ตรงกับ "วันมาเลเซีย" (Hari Malaysia) ซึ่งเป็นวันที่รำลึกถึงการรวมสิงคโปร์ รัฐซาบาห์ และรัฐซาราวัก เมื่อปี 2506 เข้ามาอยู่ในมาเลเซีย อย่างไรก็ตามกรณีของสิงคโปร์ ได้ถูกมาเลเซียขับออกไปในวันที่ 9 ส.ค. 2508

ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนของมาเลเซียมีรายงานว่า ตำรวจมาเลเซียได้จับกุมชายชาวมาเลเซีย 1 คน และชาวฮ่องกง 1 คน ที่สนามบินนานาชาติที่รัฐปีนัง หลังจากพวกเขากลับมาจากงานฌาปนกิจของ เฉิน ผิงที่กรุงเทพฯ และมีการยึดหนังสือและซีดีที่ระลึกงานศพ รวมทั้งหนังสือที่เกี่ยวข้องกับเฉิน ผิงด้วย โดยตำรวจจะใช้ พ.ร.บ.สิ่งพิมพ์ของมาเลเซียดำเนินคดี ส่วนผู้ถูกจับต่อมาได้รับการประกันตัว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: เสียงสะท้อนจากนักต่อสู้สิทธิมนุษยชน ถูกคุกคามจากการต่อสู้

Posted: 27 Sep 2013 01:21 AM PDT

นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนสะท้อนปัญหาถูกคุกคามหลังเรียกร้องความเป็นธรรม กลไกปกป้องสิทธิและกระบวนการยุติธรรมในประเทศไม่มีประสิทธิภาพ เสี่ยงถูกละเมิดซ้ำหากขัดแย้งกับกลไกยุติธรรมเสียเอง



(27 ก.ย.56) เว็บไซต์ประชาไท ร่วมกับเครือข่ายพลเมืองเน็ต Protection International และ Frontline Defender ร่วมจัดเสวนา "การปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และความปลอดภัยออนไลน์" ที่โรงแรมวินเซอร์ สวีทส์ กรุงเทพฯ โดยมีนักสิทธิมนุษยชนในไทยเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์

สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในฐานะทนายความคดีสิ่งแวดล้อมซึ่งเกี่ยวพันกับสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน เขาพบว่าคนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้มักจะมีคดีติดตัว การข่มขู่ ทำร้ายร่างกายจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิต ซึ่งรัฐต้องลุกขึ้นมาปกป้องดูแล แต่ในทางกลับกัน ทั้งรัฐและทุนใช้กฎหมายมาตอบโต้การต่อสู้ของชาวบ้าน กรณีต่อต้านโรงไฟฟ้าหนองแซง จ.สระบุรี แกนนำการต่อต้านก็ถูกฟ้องร้องถึง 14 คดี

ประสบการณ์การถูกภาครัฐตอบโต้ทั้งทางกายภาพและการใช้กฎหมายบังคับ เป็นสิ่งที่นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ร่วมเวทีเสวนาต่างผ่านประสบการณ์

ก๊ะแยนะ สาแลแม จากปัตตานี ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิให้ลูกชายที่ถูกจับกุมจากเหตุการณ์ตากใบเมื่อปี 2547 เป็นต้นมาจนปัจจุบันเป็นผู้ประสานระหว่างชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการของภาครัฐกับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เธอก็ยังถูกค้นบ้านอยู่เนืองๆ ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา นี้เอง

ขณะที่อาเต็ฟ โซะโก อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) กล่าวว่า ผู้ชายที่ตื่นตัวต่อปัญหาการละเมิดสิทธิในชายแดนใต้นั้นได้รับบทเรียนที่ต้องเข็ดหลาบจากกรณีตากใบ ส่วนตัวเขาเองนั้นเริ่มต้นสนใจปัญหาและข้อเท็จจริงในพื้นที่ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สนนท. แต่ก็ถูกควบคุมตัวที่ค่ายปิเหล็ง เมื่อปี 2547 และมีการซ้อมทรมานประชาชนต่อหน้า ในที่สุดก็ได้รับการปล่อยตัว แม้ไม่เคยมีประสบการณ์ถูกทำร้ายร่างกาย แต่ล่าสุดมีการคุกคามเขาผ่านโซเชียลมีเดีย โดยนำรูปของเขาไปเผยแพร่พร้อมข้อความโจมตีว่าเป็นคนลวงโลก เขากล่าวว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนก็คือต้องมีสมาธิ และไม่อ่อนไหวไปกับการถูกคุกคาม


คู่ขัดแย้งเป็นบุคคลในกระบวนการยุติธรรมเสียเอง
พิกุล พรหมจันทร์ จากกาฬสินธุ์ บอกว่าเธอต่อสู้กับผลลบของสงครามยาเสพติด เนื่องจากหลานชายถูกวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้พบว่า เฉพาะจังหวัดกาฬสินธุ์มีผู้สูญหายกว่า 300 กรณี บางกรณีพบเป็นศพ และกรณีที่มาถึงดีเอสไอ 33 คดี และคดีของหลานชายนำไปสู่การฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับผู้กำกับการ ลงมาถึงดาบตำรวจ ในกระบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิของหลานชายที่เสียชีวิตไป พยานเสียชีวิตไป 2 คน และแม้ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาจำเลยว่ากระทำผิดและลงโทษประหารชีวิต และจำคุกตลอดชีวิต แต่ยังมีการอุทธรณ์และระหว่างนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตยังคงได้รับรางวัลเจ้าหน้าที่ตำรวจดีเด่น 

ข้อวิพากษ์ของพิกุลก็คือ กระบวนการยุติธรรมนั้นล้วนมีตำรวจเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เมื่อประชาชนมีปัญหากับตำรวจ ก็ไม่แน่ใจว่าจะได้รับความยุติธรรมอย่างไร

จร นวโอภาส เล่ากรณีชุมชนหนองแหน อ.พนมสารคม ฉะเชิงเทรา ชาวบ้านเริ่มได้รับผลกระทบจากกลิ่นและปัญหาผิวหนัง เนื่องจากมีผู้ลักลอบนำสารเคมีเข้าไปทิ้งในพื้นที่ เมื่อตัวเขาเองและผู้ใหญ่บ้านจัดการชุมนุม และเอาภาพกากขยะเคมีไปฉายให้ประชาชนดู ก็ถูกฟ้องร้องจากผู้ประกอบการฐานหมิ่นประมาททำให้บริษัทเสียชื่อเสียง คดีนี้ยกฟ้องในชั้นอุทธรณ์ ให้เหตุผลว่าเป็นสิทธิที่ชอบด้วยกฎหมาย เขาพบว่าการร้องเรียนไปยังกรมควบคุมมลพิษนั้นไม่ได้ผล การร้องเรียนนายกรัฐมนตรี ทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ไม่ได้ผลเช่นเดียวกัน

ล่าสุด ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นแกนนำในการเรียกร้องสิทธิถูกฆ่าตายเมื่อวันมาฆบูชาที่ผ่านมา ตำรวจจับผู้จ้างวานได้ เป็นเจ้าหน้าที่จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และเป็นเจ้าของบริษัทรีไซเคิลน้ำมันในพื้นที่ มือปืนเป็นจ่าทหารอากาศ คดีอยู่ระหว่างรอการพิจารณา จะเริ่มสืบพยานในเดือน พ.ย. นี้


เจ้าหน้าที่เพิกเฉยต่อกรณีถูกคุกคาม
กรอุมา พงษ์น้อย ภรรยาของเจริญ วัดอักษร กล่าวว่า ก่อนเจริญจะถูกฆ่าตายก็เคยถูกข่มขู่ทางโทรศัพท์ เธอเคยไปให้ตำรวจตรวจสอบเบอร์โทรที่เคยโทรมาข่มขู่ แต่ตำรวจปฏิเสธ เธอจึงต้องไปขอให้บริษัทโทรศัพท์ตรวจสอบให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไปดำเนินการต่อและเปรียบเทียบปรับเพียง 500 บาท หลังจากนั้น เจริญ วัดอักษรก็ถูกยิงเสียชีวิต

ปิยรัฐ จงเทพ ตัวแทนกลุ่มนักศึกษา ที่ต่อต้านระบบโซตัส เขากล่าวว่าแม้กลุ่มเยาวชนปฏิรูปการรับน้องและประชุมเชียร์แห่งชาติ จะได้รับการตอบรับที่ดีและเร็วจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา แต่ตัวเขาเองถูกข่มขู่โดยส่งรูปปืนและข้อความข่มขู่ มาให้ และเมื่อไปแจ้งความ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่รับแจ้งความ บอกว่าเป็นคดีที่ตลกเกินไป

"ถ้าคุณมีความแตกต่างในมหาวิทยาลัย คุณจะเป็นแกะดำในแกะขาว แต่ถ้าคุณลุกขึ้นมาต่อต้าน คุณจะเป็นแกะดำในฝูงหมาป่าแน่นอน" ปิยรัฐ  กล่าวในที่สุด

สำหรับกรณีต่อมา มนต์สวรรค์ วุฒิยิ่งยง เล่าปัญหาสิทธิกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ซึ่งยังต้องต่อสู้กับอคติของสังคมอนุรักษนิยม ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการที่กลุ่ม LGBT เคยถูกกลุ่มรักษ์เชียงใหม่ 51 ต่อต้าน ใช้รถแดงมาปิดล้อมห้ามจัดขบวนพาเหรด อ้างว่าขึดบ้านขึดเมือง (ผิดผีบ้านเมือง) ทั้งนี้ กลุ่ม LGBT ได้ทำงานด้านสิทธิของคนหลากหลายทางเพศมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การเรียกร้องให้เปลี่ยนถ้อยคำใน สด. 91 ที่ระบุว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นโรคจิต ซึ่งต่อมาศาลปกครองตัดสินให้เขียนว่า 'เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด' แทน

อย่างไรก็ตาม แม้การต่อสู้เพื่อสิทธิของคนหลากหลายทางเพศจะก้าวหน้าและประสบความสำเร็จมาบ้าง แต่ก็ยังมีกรณีที่สะท้อนอคติทางเพศอยู่ ล่าสุด กลุ่มคนหลากหลายทางเพศได้พยายามผลักดันกฎหมายคู่ชีวิต แต่ ส.ส.ที่รับผลักดันให้พูดจาในทำนองว่า ทำให้ก็ดีแค่ไหนแล้ว อย่าเพิ่งลงรายละเอียดเรื่องคำนำหน้านาม ซึ่งเธอมองว่านี่เป็นหน้าที่ของ ส.ส. ไม่ใช่การทำให้ด้วยความกรุณา  

บุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออกกล่าวว่า ปัญหาของแรงงานเป็นประเด็นละเอียดอ่อน โทษสูงสุดของแรงงานคือการเลิกจ้างเปรียบได้กับการประหารชีวิต คือสิ้นสุดอาชีพ เขากล่าวว่าปัญหาการต่อสู้ของแรงงานต่างไปจากเดิม คือสิทธิในการรวมตัวต่อรองของแรงงานไม่สามารถชุมนุมที่หน้าโรงงานได้อีกต่อไปเพราะมีการฟ้องร้องแรงงานข้อหาบุกรุก ในส่วนของศาลแรงงานต้องถือว่ากระบวนการแย่และล้าช้ากว่าศาลแพ่งและศาลอาญา การต่อสู้ที่ยืดเยื้อทำให้ที่สุดแล้วการตัดสินไม่สามารถบังคับคดีได้ และปัญหาใหญ่อีกประการก็คือการเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือจากสภาทนายความเนื่องจากคนงานยังมีสถานะลูกจ้าง แม้จะไม่มีเงินแต่โดยเงื่อนไขของสภาทนายความไม่สามารถให้ความช่วยเหลือเรื่องทนายอาสาได้

ทั้งนี้ น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าในการเสวนาว่า ผู้ที่ออกมาต่อสู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนยังคงถูกมองว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว สร้างปัญหา ซึ่งสะท้อนอคติของสังคมไทยที่มีต่อนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน  ทั้งที่อำนาจของประชาชนเป็นอำนาจที่ชอบธรรมในการถ่วงดุลกับอำนาจรัฐและอำนาจทุน ขณะที่รัฐยังไม่ยอมรับ ยังไม่เข้าใจการเมืองภาคพลเมือง  ฉะนั้น นักสิทธิมนุษยชนจึงต้องต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายและนโยบาย และสู้กับสังคมวัฒนธรรมให้ยอมรับการสร้างพื้นที่การเมืองของชุมชนท้องถิ่น
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำ ผกา : ปรากฏการณ์เขื่อน

Posted: 27 Sep 2013 12:55 AM PDT

เรื่องพิลึกพิลั่นของการ "ค้านเขื่อน" ที่เกิดขึ้นกับเขื่อแม่วงก์ล่าสุดและน่าสนใจสำหรับฉันอย่างเป็นส่วนตัวและเขียนจากอคติล้วน ไร้หลักการ ไร้หลักวิชา แต่อยากแลกเปลี่ยน มีดังนี้

1.       เอ็นจีโอ นักอนุรักษ์ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม นักวิชาการด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมหัวก้าวหน้า "ฟันธง" มากว่าสามสิบปีแล้วกระมังว่า "เขื่อน" ไม่แก้ปัญหาน้ำท่วม เขื่อนไม่แก้ปัญหาฝนแล้ง เขื่อนทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งเรื่องทรัพยากร ทำลายป่า ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชน สร้างผลประทบต่อระบบนิเวศน์ฯ

2.       การประท้วงเขื่อนที่ผ่านมาทุกเขื่อน – ชนชั้นกลาง โดยเฉพาะชนชั้นกลางในเมือง (ยกเว้นชนชั้นกลางข้อ 1) มักประนามชาวบ้านที่ออกมาต้านเขื่อนว่าเป็น "ม็อบรับจ้าง"

3.       ม็อบต้านเขื่อนที่สู้มายาวมากและปรากฎตัวต่อสื่อเยอะมาก มีพลังมากคือ ม็อบเขื่อนปากมูล และเราคงจำเรื่องราวของยายไฮได้

4.       การเกี้ยเซี้ยเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาเรื่องปากมูล เอ็นจีโอระดับนำ, แกนนำชาวบ้าน ถูกดึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย สสส. หมอประเวศ อานันท์ – ผ่านโครงการว่าด้วยเกษตรหมุนเวียน โรงสีชุมชน การพึ่งตนเอง ภูมิปัญญาชาวบ้าน – นักต่อสู้ "ชาวบ้าน" หลายคนมีศักยภาพสูงมากจนเปลี่ยนจาก "ชาวนา" "ชาวประมง" เป็นนักกิจกรรม, นักพูด ในฐานะตัวแทนภูมิปัญญาและพลังท้องถิ่น – หลายคนที่แขกเคยพบปะ กลายเป็นนักพูดเรื่องเกษตรหมุนเวียนที่มีงานหลักคือเป็นวิทยากรมากกว่าทำการเกษ๖ร

5.       โดยไม่ทันตั้งตัว นักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม เอ็นจีโอ แกนนำชาวบ้าน  - ซึ่งน่าจะเป็นฝ่ายซ้าย – บอกตัวเองว่าชูธงอุดมการณ์เศรษฐกิจแบบซ้าย ต่อต้านทุนนิยม ระบบตลาดเสรี ปฎิเสธอำนาจรัฐ ต้องการตรวจสอบนักการเมืองและการเมืองระบบรัฐสภา – ถูกดูดกลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายอุดมการณ์ "อนุรักษ์นิยม" ที่ไม่ใช่ ลูกเสือชาวบ้าน แต่ผ่านองค์กรที่ดูใสสะอาด ปราศจากมลทิน เคร่งศีลธรรม เน้นการชำระจิตวิญญาณ อ้างถึงการพัฒนาจิตใจเหนือวัตถุ รักชาวบ้าน ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ อย่าง สสส.

6.       เกือบทั้งหมดของกลุ่ม เอ็นจีโอ นักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม แกนนำชาวบ้านที่ต้านเขื่อน สู้เพื่อคนจน สู้เพื่อการปฏิรูปที่ดิน โฉนดชุมชน เข้าร่วมต่อสู้ทางการเมืองกับ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีพรรค กรีน ของเยอรมันเป็น "ความฝัน"

7.       มีการต้านเขื่อนอีกเนืองๆแต่ไมได้รับความสนใจจากชนชั้นกลางนัก เช่น กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้นที่สู้มายาวนาน

8.       คุณศศิน เฉลิมลาภ (สังกัดข้อที่ 1) เกาะติดเรื่องเขื่อนแม่วงก์มายาวนานและมุ่งมั่นตรวจสอบกรณีการสร้างเขื่อนนี้

9.       ผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนมายาวนานและร่วมต้านเขื่อนกับข้อที่ 1 มาโดยตลอดจำนวนหนึ่ง ไม่สมาทานอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมแบบ สสส. และหลังการรัฐประหาร 2549 พวกเขาเริ่มตั้งคำถามกับพฤติกรรมสมุนเผด็จการภายใต้หน้ากากธรรมะของ สสส. – คนกลุ่มนี้ตั้งคำถามกับเขื่อนต่างออกไป นั่นคือ เชื่อมโยงเรื่องเขื่อนกับ "อำนาจนำสูงสุด" ของรัฐไทยนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2500 เป็นต้นมา มากกว่าจะมองว่าเขื่อนเกิดจากความเหี้ยของรัฐบาล

10.    ชนชั้นกลางจำนวนมากที่เคยออกมาด่าม็อบปากมูล ม็อบแก่งเสือเต้นว่าเป็นม็อบรับจ้าง ได้ออกมาร่วมกับคุณศศิน ต่อต้านเขื่อนแม่วงก์และเลือดรักป่ารักธรรมชาติพลุ่งพล่านเดือดดาลอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน (ถ้าพวกเขาร้อนรุ่มได้สักครึ่งหนึ่งของตอนนี้แล้วไปช่วยม็อบปากมูลในเวลานั้นบ้าง ยายไฮคงไม่ต้องมานั่งทุบเขื่อนกับมือ)

11.   ปราโมทย์ ไม้กลัด นักสร้างเขื่อนตัวยง กลายมาเป็นนักต้านเขื่อนผู้แข็งขัน (กลับตัวกลับใจ? หรืออะไร?)

12.   กรณีแม่วงก์ต่างจากปากมูลตรงที่ กรณีปากมูล คนในพื้นที่ไม่เอาเขื่อน แต่คนนอกพื้นที่บอกว่า คนปากมูลเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน (หาปลา) มากกว่าประโยชน์ส่วนรวม (ไฟฟ้า, ชลประทาน) กรณีแม่วงก์คนในพื้นที่อยากได้เขื่อน โดนด่าเหมือนกันว่าเห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ส่วนรวม  (ไม่รักษาป่าเพื่อสมดุลย์ของระบบนิเวศน์)

สรุป

นักต้านเขื่อนมีทั้งนักอนุรักษ์ไร้สีมีทั้ง นักต้านเขื่อนเสื้อแดง เรียกร้องหามาตรฐานเดียวในการสร้างเขื่อน อยากให้สาวถึงต้นตอเขื่อนและต้านทุกเขื่อน อย่าต้านเพียงเพราะเกลียดปลอดประสพและเกลียดอีปูมึง และมีทั้ง นักเพื่งจะเริ่มต้านเขื่อนแม่วงก์เพราะ มึง อีปูคนเดียว เกลียดพรรคเพื่อไทย นักการเมืองแม่งโกงทั้งชาติ ใครสร้างเขื่อน ทำลายสัตว์ป่าของให้โคตรเหง้ามันฉิบหาย –  ตัวอิฉันฟังแล้วจะเป็นลม อะไรจะดุเดือดขนาดนั้น ยายไฮ ทุบเขื่อนด้วยมือยังไม่เคยว่าใครแรงๆ ขนาดนั้นเลย

 

 

///////////////////////////////

หมายเหตุกองบรรณาธิการประชาไท: ข้อมูลที่ถูกต้องเรื่องเขื่อนที่นางไฮ ขันจันทา ทุบคือ เขื่อนห้วยละห้า 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยความจริงแรงงานทาสสร้างสนามฟุตบอลโลกปี 2022 ในกาตาร์

Posted: 26 Sep 2013 08:49 PM PDT

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2013 สำนักข่าวเดอะการ์เดียน เปิดเผยเรื่องการที่แรงงานอพยพชาวเนปาลถูกใช้แรงงานอย่างหนักในการเตรียมการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 ของประเทศกาตาร์

สำนักข่าวเดอะการ์เดียน ระบุว่าในช่วงไม่มีกี่สัปดาห์ที่ผ่านมามีแรงงานชาวเนปาลหลายสิบคนเสียชีวิตและอีกหลายพันคนอยู่ในสภาพการทำงานที่ถูกกดขี่ข่มเหง มีหลายคนที่เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน โดยทีมข่าวสืบสวนของเดอะการ์เดียนเปิดเผยว่า พวกเขามีหลักฐานชี้ว่าแรงงานชาวเนปาลในกาตาร์ถูก "ใช้งานเยี่ยงทาส" ตามนิยามขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO)

ข้อมูลจากเอกสารของสถานทูตเนปาลในกรุงโดฮาระบุว่า มีคนงานอย่างน้อย 44 คนเสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 4 มิ.ย. ถึง 8 ส.ค. โดยครึ่งหนึ่งเสียชีวิตจากอาการหัวใจวาย หัวใจล้มเหลว หรืออุบัติเหตุในที่ทำงาน

ทีมข่าวสืบสวนสอบสวนของเดอะการ์เดียน เปิดเผยอีกว่าพวกเขาพบหลักฐานการบังคับใช้แรงงานในโครงการวางระบบโครงสร้างขนาดใหญ่ มีชาวเนปาลบางคนบอกว่า พวกเขาไม่ได้รับค่าแรงมาหลายเดือนแล้ว และใช้การไม่จ่ายเงินเดือนเพื่อไม่ให้พวกเขาหนีไป แรงงานบางคนถูกยึดหนังสือเดินทางหรือไม่มีการออกบัตรประจำตัวให้ ทำให้พวกเขาอยู่ในสถานะคนข้ามชาติผิดกฏหมาย นอกจากนี้บางคนก็ถูกห้ามไม่ให้ดื่มน้ำฟรี ทั้งที่ทำงานกลางความร้อนของทะเลทรายระดับ 50 องศาเซลเซียส มีชาวเนปาลราว 30 คนหนีไปอยู่ที่สถานทูตในกรุงโดฮาเพื่อหลีกเลี่ยงสภาพความโหดร้ายในการจ้างงานนี้

"พวกเราอยากจะหนี แต่ทางบริษัทไม่ยอมให้พวกเราหนี" แรงงานข้ามชาติชาวเนปาลคนหนึ่งกล่าว เขาถูกจ้างโดยบริษัทพัฒนาเมืองลูซาอิล ที่ใช้เงินทุน 45 พันล้านดอลลาร์ไปกับการสร้างสนามกีฬา 90,000 ที่นั่ง เพื่อใช้ในงานเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย

"ผมรู้สึกไม่พอใจกับวิธีการที่บริษัทนี้ปฏิบัติกับเรา แต่พวกเราก็ไร้ที่พึ่ง ผมเสียดายที่มาที่นี่ แต่จะทำอย่างไรได้ พวกเราถูกบีบให้มาทำงานนี้เพราะต้องการสร้างฐานะ แต่พวกเราโชคไม่ดีเสียเลย" แรงงานคนเดิมกล่าว

คณะกรรมการระดับสูงของการจัดงานฟุตบอลโลกปี 2022 กล่าวว่า ยังไม่มีโครงการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลโลกโดยตรง อย่างไรก็ตามพวกเขาบอกว่ารู้สึกเป็นกังวลเกี่ยวกับเรื่องข้อกล่าวหาบริษัทรับเหมาที่ทำงานให้กับสถานก่อสร้างของลูซาอิล และคิดว่าควรต้องมีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง พวกเขาบอกอีกว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐบาลบางคนกำลังตรวจสอบเรื่องนี้

ทีมข่าวของเดอะการ์เดียน เปิดเผยว่าคนงานชาวเนปาลต้องนอนรวมกัน 12 คนในห้องเดียวและมีคนป่วยจากสภาพที่พักไม่สะอาด บางคนไม่ได้รับค่าจ้างจนต้องออกไปขออาหาร

ราม คูมาร์ มหารา หนึ่งในคนงานบอกว่าพวกเขาต้องทำงานโดยไม่มีอะไรตกถึงท้องตลอด 24 ชั่วโมง ใช้เวลาทำงาน 12 ชั่วโมง โดยที่ตอนกลางคืนก็ไม่มีอาหารเลย และเมื่อเขาร้องเรียนเรื่องนี้ ผู้จัดการก็ทำร้ายเขา ไล่เขาออกโดยไม่ยอมจ่ายค่าจ้างใดๆ ทำให้เขาต้องขออาหารจากคนงานคนอื่นๆ

คนงานจากเนปาลแทบทุกคนในที่นี้ยอมติดหนี้สินจำนวนมากในบ้านเกิดเพื่อจ่ายให้กับพนักงานจัดหางาน ทำให้พวกเขาได้งานทำ สภาพต่างๆ เช่น การมีข้อผูกมัดต้องจ่ายหนี้สินคืน การไม่ได้รับเงินค่าจ้าง การถูกยึดเอกสารประจำตัว และการไม่สามารถออกจากงานได้ ทั้งหมดนี้ถือเป็นการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น 'ทาสในยุคสมัยใหม่' โดยมีประชากรราว 21 ล้านคนทั่วโลกอยู่ในสภาพนี้ โดยมายา คูมารี ชาร์มา เอกอัครราชทูตเนปาลประจำกาตาร์บอกว่า สภาพของที่ทำงานแรงงานเหล่านี้เปรียบเสมือน 'คุกเปิด'

ไอดาน แมคเควด ประธานองค์กรต่อต้านระบบทาสสากลซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1839 บอกว่า หลักฐานที่ได้รับจากเดอะการ์เดียน เป็นเครื่องพิสูจน์ว่ามีการบังคับใช้แรงงานอย่างเป็นระบบในกาตาร์ แมคเควดบอกอีกว่า สภาพการจ้างงานและอัตราการเสียชีวิตของคนงานอาจนับว่าเป็นยิ่งกว่าการบังคับใช้แรงงาน แต่เป็นระดับเดียวกับแรงงานทาสในสมัยก่อนที่คนถูกทำให้เป็นเหมือนแค่วัตถุ

ประเทศกาตาร์มีอัตราแรงงานข้ามชาติเทียบกับประชากรในประเทศมากที่สุดในโลก แรงงานร้อยละ 90 เป็นผู้อพยพ โดยประเทศกาตาร์วางแผนใช้คนงานเพิ่งอีก 1.5 ล้านคน ในการสร้างสนามกีฬา ถนน ท่าเรือ และโรงแรม เพื่อใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลก ชาวเนปาลถือเป็นแรงงานข้ามชาติร้อยละ 40 ในกาตาร์ โดยเมื่อปี 2012 มีผู้อพยพชาวเนปาลเข้าไปยังกาตาร์มากกว่า 100,000 คน

ชาวเนปาลมายังกาตาร์โดยอาศัยช่องทางนายหน้าตลาดมืดในเอเชียและผู้รับเหมาในกาตาร์ เป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาถูกกดขี่ แต่ทางคณะกรรมการระดับสูงยืนยันว่า จะผลักดันให้มีการปรับมาตรฐานความเป็นอยู่ของแรงงานที่ทำงานให้กับฟุตบอลโลก แต่การควบคุมดูแลของพวกเขาต้องผ่านด่านหลายด่าน ทั้งส่วนของผู้จัดการโครงการหลายคน บริษัทรับเหมาก่อสร้าง และผู้จัดหาแรงงาน

ฮาลโครว บริษัทวิศวกรรมของอังกฤษซึ่งเป็นที่ปรึกษาหลักของโครงการก่อสร้างที่มีลูซาอิลเป็นผู้รับเหมากล่าวว่า พวกเขามีนโยบายไม่ยอมรับการบังคับใช้แรงงานหรือวิธีการเชิงค้ามนุษย์ นอกจากนี้ พวกเขายังมีบทบาทในการควบคุมดูแลเพื่อให้คนงานมีระบบจัดการสุขภาพ ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน แต่ขณะเดียวกันเรื่องข้อตกลงการจ้างงานของผู้รับเหมาไม่ได้อยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจของพวกเขาโดยตรง

สภาพของแรงงานข้ามชาติชาวเนปาลเจอทั้งภาระหนี้สินที่มีอัตราดอกเบี้ยมากถึงร้อยละ 36 แต่พวกเขากลับไม่ได้รับค่าจ้าง การถูกยึดเอกสารราชการ ทำให้พวกเขาหนีไปไหนไม่ได้เนื่องจากกลัวถูกจับในสถานะคนต่างชาติผิดกฏหมายและขณะเดียวกันก็ไม่ได้รับสิทธิคุ้มครองทางกฏหมายด้วย นอกจากนี้ระบอบ 'อุปถัมภ์' ของรัฐที่เรียกว่าคาฟาลา (Kafala) ก็ทำให้พวกเขาไม่สามารถเปลี่ยนงานหรือออกจากประเทศได้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัทผู้อุปถัมภ์

กระทรวงแรงงานของกาตาร์กล่าวว่า พวกเขาได้บังคับใช้กฏหมายเพื่อให้แรงงานได้รับค่าจ้างตามเวลาและหากบริษัทไม่ทำตามกฏก็จะมีการดำเนินคดีในเรื่องนี้

ทางด้านบริษัทลูซาอิลได้กล่าวตอบหลังทราบเรื่องที่ถูกกล่าวหา โดยยืนยันว่าพวกเขาได้กำชับให้ผู้รับเหมาและผู้รับเหมาช่วงต่อปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยเรื่องสุขภาพของคนงานและความปลอดภัยเสมอ พวกเขายอมรับข้อกล่าวหาจากเดอะการ์เดียนอย่างจริงจังและบอกว่าได้มีการแจ้งเรื่องตามที่ถูกกล่าวหาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ และเมื่อตรวจสอบแล้วก็จะมีการดำเนินการตามความเหมาะสมกับผู้ที่ฝ่าฝืนกฏข้อบังคับ

 


เรียบเรียงจาก

Revealed: Qatar's World Cup 'slaves', The Guardian, 25-09-2013
http://www.theguardian.com/world/2013/sep/25/revealed-qatars-world-cup-slaves

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น