โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

คนงานภาคสิ่งทอบังคลาเทศประท้วงใหญ่ เรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ 103 ดอลลาร์

Posted: 22 Sep 2013 04:50 AM PDT

 
ที่มาคลิป WochitGeneralNews
 
 
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 56 ที่ผ่านมาคนงานในโรงงานภาคสิ่งทอของบังกลาเทศกว่า 20,000 คน ได้เดินขบวนประท้วงประท้วงปิดถนนเพื่อเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำเดือนละ 8,000 ธากา (ประมาณ 103 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเดือน
 
คนงานได้ทำการหยุดงานประท้วง บนถนนสายสำคัยหลายสาย ซึ่งเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ในเขตอุตสาหกรรม Gazipur, Mouchak และ Ashulia โดย Mustafizur Rahman รองผู้บัญชาการตำรวจเขตอุตสาหกรรม Gazipur ระบุว่ามีคนงานเข้าร่วมชุมนประท้วงอย่างน้อย 20,000 คน 
 
และในวันนี้ (22 ก.ย.) ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการประท้วง ตำรวจบังกลาเทศได้ยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตาเข้าใส่คนงานที่ชุมนุมประท้วง โดยกลุ่มผู้ประท้วงได้ขว้างปาก้อนหินและก้อนอิฐเข้าใส่โรงงานสิ่งทอซึ่งตั้งอยู่แถบ Kaliyakoir โดยโรงงานเหล่านี้ผลิตเสื้อผ้าส่งออกไปยังบรรดาผู้ค้าปลีกชั้นนำระดับโลก ผู้ชุมนุมบางส่วนเดินไปตามทางหลวงสายหลักๆ และกีดขวางการจราจร
 
Omar Faruk ผู้บัญชาการตำรวจในพื้นที่เปิดเผยว่าตำรวจถูกบังคับให้ยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตาเพื่อสลายกลุ่มคนงานผู้ประท้วงซึ่งได้พากันโจมตีโรงงานต่างๆ ในบริเวณนี้มากกว่า 6 แห่งแล้ว พร้อมเสริมว่ามีคนงานร่วมชุมนุมในวันนี้ประมาณ 6,000 คน
 
อนึ่งบังกลาเทศเป็นประเทศผู้ส่งออกสิ่งทอรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก จาก 4,500 โรงงาน ซึ่งทำรายได้ให้ประเทศประมาณร้อยละ 80 ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมดในแต่ละปี โดยมีมูลค่าประมาณ 27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แดงกวป.จัดต้านองค์กรอิสระ หนุนแก้รธน.50 หน้า CTW ไม่เกี่ยวค้านต้านเขื่อนแม่วงก์

Posted: 22 Sep 2013 03:58 AM PDT

กลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(กวป.)ชุมนุมหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ราชประสงค์ 7 ปีรัฐประหาร 19 ก.ย. ต้นองค์กรอิสระ สนับสนุนแก้ รธน.50 ไม่เกี่ยวกับการคัดค้านม็อบต้านเขื่อนแม่วงก์

ภาพการชุมนุมกลุ่ม กวป.หน้าห้าง CTW ต้านองค์กรอิสระ ภาพจากเพจ Go6 TV Community Page

22 ก.ย.56 เวลา 15.00 น. บริเวณด้วนหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลดิ์ ราชประสงค์ เสื้อแดงกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(กวป.) จัดกิจกรรม 7 ปี รัฐประหาร ต่อต้านองค์กรอิสระและสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ภายใต้ชื่อกิจกรรม "เปิดโปง>>สนับสนุน>>ผลักดัน" ซึ่งเฟซบุ๊กแฟนเพจชื่อ "กลุ่มสื่อวิทยุประชาชน เพื่อประชาชน" อธิบายว่าเป็นกิจกรรม "1. เปิดโปงคนล้มเจ้าในมาตรา 20 วรรค 2, 2. สนับสนุนแก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 309 ฉบับโจรเขียน 2550, 3. ผลักดันจัดตั้งสภาประชาชนแห่งประเทศไทย"

โดยผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ได้รับการยืนยันจากผู้ร่วมกิจกรรมว่ากิจกรรมของ กวป. ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ ที่นำโดยนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร เดินเท้าจาก ม.เกษตร โดยใช้เส้นทาง พหลโยธิน วิภาวดี- หมอชิต และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-หอศิลป์ กรุงเทพฯ แต่อย่างใด

เนื่องจากสำนักข่าว T-News รายงานว่า "เมื่อเวลา 14.50 น. พบว่าระหว่างเดินทางขบวน(กลุ่มคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์)นั้น ได้มีกลุ่มเสื้อแดงชูป้ายสนันสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์ หวังความปั่นป่วนขึ้น ที่หน้าเซ็นทรัลเวิลด์  แต่ในเวลานี้ยังไม่มีเหตุการณ์ปะทะกันเกิดขึ้น" พร้อมภาพกลุ่ม กวป. ที่ชุมนุมต้านองค์กรอิสระที่หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์

ภาพและรายงานที่  T-News  รายงานว่าเสื้อแดงก่อหวอดป่วนม็อบค้านเขื่อนแม่วงก์(สืบค้น 16.00 น. 22 ก.ย.)

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าจากการตรวจสอบล่าสุดเมื่อเวลา 18.00 น. ข่าวดังกล่าวถูกลบไปแล้วจาก URL http://www.tnews.co.th/html/news/70453/อึ้งหลายตลบ!!-เสื้อแดง-ก่อหวอดป่วนม็อบค้าน-เขื่อนแม่วงก์.html

โพสต์ทูเดย์ดอทคอม  รายงานเมื่อเวา 19.38 น. ของวันเดียวกันว่า นายวิมล ไทรนิ่มนวล นักเขียนรางวัลซีไรต์ ปี 2534 ได้โพสต์บทกลอนลงเฟซบุ๊กส่วนตัวพร้อมภาพกลุ่มคนเสื้อแดง ที่รวมตัวหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์เพื่อสนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์ 

ซึ่งบทกวีของ วิมล เขียนไว้ดังนี้

"สัตว์นรก"
 
เมื่อสัตว์นรกปกครองผองมนุษย์
ไฟนรกก็ถูกจุดบนโลกหล้า
สันดานชั่วย่อมนำมาบัญชา...
ให้มนุษย์หวาดผวานรกภัย
แบ่งมนุษย์เป็นฝักฝ่ายให้แตกแยก
แล้วเทียมแอกหุ้มทองคล้องบ่าให้
มนุษย์ใจกระบือฮือชอบใจ
ยกย่องไว้เหนือเกล้าเผ่ากระบือ
เป็นกองหน้า กองกลาง กองหลังหนุน
มีกองทุน กองเงิน เพลินจับถือ
สั่งซ้ายหัน ขวาหัน พลันโหมฮือ
ไล่ขวิดตะพึดตะพือ...กระบือแดง
เมื่อมนุษย์ใจมนุษย์สุดเก็บกลั้น
ย่อมถึงวันประจัญสู้อยู่ทุกแห่ง
ไฟนรกที่ลุกโชนจะดับแรง
สัตว์นรก – กระบือแดง จะลงนรก.

ภาพบรรยากาศการชุมนุมของกลุ่ม กวป. ภาพโดย องค์ชาย ไทยว๊อย :

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อุบลเสวนา: “ปัญญาชน จนปัญญา” เมื่อสังคมตั้งคำถามปัญญาชนหายไปไหน?

Posted: 22 Sep 2013 03:38 AM PDT

หากจะมองผู้ที่ได้รับการศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นปัญญาชน วันนี้สังคมต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับนักศึกษาว่า "เป็นปัญญาชนจริงหรือไม่"

22 กันยายน 2556 นักเรียนห้องเรียนพลเมืองรุ่นใหม่ จัดงานเสวนา "ปัญญาชน จนปัญญา" ภายใต้การสนับสนุนจากฟรีดอม โซน อุบลราชธานี เพื่อการส่งเสริมบทบาทคนรุ่นใหม่ในการมส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเด็นสาธารณะและการเมือง พร้อมทั้งมุ่งสร้างบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยในพื้นที่ อันจะนำไปสู่การตระหนักรับรู้ประเด็นสาธารณะและการเมืองให้กับคนรุ่นใหม่

เมื่อสังคมตั้งคำถาม ปัญญาชนหายไปไหน? เวทีเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับ  "บทบาทนักศึกษากับการมีส่วนร่วมทางสังคม" หากจะมองผู้ที่ได้รับการศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นปัญญาชน วันนี้สังคมต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับนักศึกษาว่า "เป็นปัญญาชนจริงหรือไม่" การเสวนาประกอบด้วย อาจารย์ศรัณย์ สุดใจ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อาจารย์เสนาะ เจริญพร อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายปรเมศวร์ ศิริพากเพียร ตัวแทนจากกลุ่มแสงแห่งเสรี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และนายนิติกร ค้ำชู ประธานกลุ่มดาวดิน รุ่น 6 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินรายการโดยเสวนานายยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ ตัวแทนจากกลุ่มแว่นขยายและนักเรียนห้องเรียนพลเมืองรุ่นใหม่

นายนิติกร ค้ำชู ผู้ร่วมเสวนากล่าวว่า "กลุ่มดาวดินเกิดขึ้นจากนักศึกษารุ่นที่ 1 ที่ออกแบบกิจกรรมเพื่อหาแนวทางในการแสดงบทบาทนักศึกษาในการดำเนินกิจกรรมเพื่อเรียนรู้ปัญหาและประเด็นในพื้นที่ภาคอีสาน โดยให้การเคารพทุกความคิดเห็นของนักศึกษาที่เข้าร่วม แรงบันดาลใจหนึ่งที่ทำให้ออกมามีส่วนร่วมทางสังคมมาจากการเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ นักศึกษาที่อยู่ในระบบการศึกษาด้านกฎหมาย จึงตระหนักและให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมด้านกฎหมายในสังคม ซึ่งคิดว่าแตกต่างจากนักศึกษาคนอื่นที่เพียงแต่ท่องมาตรากฎหมายสอบให้ผ่าน"

กล่าวอีกว่า "ชีวิตการเป็นนักศึกษาเป็นช่วงชีวิตที่มีอิสระที่สุด และมีโอกาสที่จะได้ออกสู่โลกกว้างในระหว่างการศึกษาควรออกไปเปิดมุมมองให้มาก และต้องมองให้เห็นถึงสิ่งที่ทำให้สอดคล้องกับการเรียน ประสบการณ์ที่ได้มาจากการลงพื้นที่ก็สามารถปรับใช้กับการเรียนได้ ซึ่งหลังจากการสำเร็จการศึกษาก็สามารถไปประกอบอาชีพตามที่ต้องการและคนที่ตั้งมั่นในอุดมการณ์ก็สามารถวางแผนเพื่อการดำเนินงานได้ต่อไป ในการดำเนินงานที่มีอำนาจการต่อรองที่ไม่เท่ากันทั้งที่เห็นชาวบ้านและที่เกิดขึ้นกับกลุ่มนักศึกษา การออกมาม็อบในแต่ละครั้งเป็นสิ่งที่เหนื่อยมาก ซึ่งคนม็อบต้องออกมาเคลื่อนด้วยแรงกดดันหลายอย่าง วันนี้สังคมนักศึกษาจะต้องตั้งคำถามกับระบบการศึกษาว่ามันตอบอะไร "ระบบการศึกษาแบบม้าแข่งที่ปิดตาด้านข้างให้มองเห็นแต่เส้นชัยด้านหน้า" การออกมาขับเคลื่อนเพื่อสังคมไม่ว่าจะเรียนสายวิทย์หรือสายสังคมก็สามารถทำได้ หากแต่ต้องถามในสิ่งที่ทำนั้นว่าช่วยเหลือสังคมได้หรือไม่ สิ่งต่างๆที่ทำนั้นมันเป็นประโยชน์กับใคร ขอให้นักศึกษายืนหยัดในสิ่งที่ตนเองคิด คนเองเชื่อ บทเรียนที่ผ่านไปจะบอกให้รู้เองว่าสิ่งที่คุณทำนั้นเป็นสิ่งที่ดี ขบวนการนักศึกษาก็จะยังคงมีต่อไปแน่นอน มูลนิธิเพื่อสังคม ภาคการศึกษา และนักศึกษาควรมาถอดบทเรียนในการวางแผนการดำเนินงานเพื่อสาธารณะและการสะท้อนปัญหาทางสังคมต่อไป"

นายปรเมศวร์ ศิริพากเพียร กล่าวว่า "ในสังคมมหาวิทยาลัยน้อยคนที่จะเล็งเห็นปัญหาและจัดเวทีเพื่อการแลกเปลี่ยนพูดคุย ซึ่งกิจกรรมลักษณะนี้เป็นทั้งกิจกรรมที่พัฒนาทั้งคนจัดและคนเข้าร่วม การที่สังคมบอกว่านักศึกษาไม่ตระหนักในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสาธารณะเป็นการเสียดสีนักศึกษา และนักศึกษาเองจะต้องนำเอาคำเหล่านั้นมาพิจารณาว่าเป็นจริงหรือไม่ หากนักศึกษามีความคิดที่จะทำอะไรเพื่อสังคมจริงๆ ก็ให้ลงมือทำ และไม่อยากให้สังคมเหมารวมนักศึกษาว่าเป็นสังคมนักศึกษาที่แย่ ไม่มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวทางสังคม สังคมต้องมองให้เห็นว่ามีนักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางสังคม หากจะบอกว่านักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวประเด็นการเมืองน้อยสังคมต้องพิจารณาได้แล้วว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ และด้วยเหตุปัจจัยใดที่ทำให้เป็นเช่นนั้น"

กล่าวอีกว่า "การออกมามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสาธารณะของนักศึกษาในแต่ละยุคสมัยมันก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยในแต่ละช่วงเวลา สภาพการเมืองการปกครองไทยในปัจจุบันที่มีความยืดหยุ่นอาจเป็นเหตุที่ทำให้นักศึกษามองว่าการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงยังไม่จำเป็นที่จะต้องออกมาแสดงพลัง สังคมที่มีปัญหาหลายอย่างสะท้อนภาพของการขับเคลื่อนของนักศึกษา การขับเคลื่อนประเด็นจำเป็นที่จะต้องรวมเครือข่าย ควรใช้สื่อออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ในการเชื่อมโยงปัญหาอันจะนำไปสู่การดำเนินกิจกรรมร่วม แม้ธรรมชาติของสาขาวิชาที่แตกต่างหลากหลาย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลุกพลังในการรวมตัวเพื่อสาธารณะและไม่ควรมองเรื่องสาขาเป็นปัญหา"

อาจารย์ศรัณย์ สุดใจ กล่าวว่า "นักศึกษาไม่ได้หาย วันนี้เราพูดถึงนักศึกษาพลังที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม นักศึกษาปัจจุบันไม่มีพื้นที่แสดงตัวมากเท่าที่ควร อดีตขบวนการนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวทางสังคมและปัจจุบันก็ยังคงอยู่มันไม่ผิดที่เขาเลือกที่จะมีความสุขกับสิ่งใด การเคลื่อนไหวอาจไม่จำเป็นต้องออกสื่อหรือเคลื่อนไหวระดับชาติ การใช้ชีวิตในแต่ละวันก็ไม่เป็นอะไร อย่าไปคาดหวังกับเขาเหล่านั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องบังคับให้เขาทำอะไรในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ  การขับเคลื่อนของนักศึกษาไม่มีกำลังใจ เราต้องมองอุดมการณ์ในตัวที่อยากเห็นสังคมที่พัฒนา นักศึกษาต้องหันมาอ่านมาร์กซิสต์ มากกว่า post modern และนี่จะเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เราทำงานเพื่อสังคมต่อไป"

อาจารย์เสนาะ เจริญพร กล่าวว่า "ข้อสังเกตต่อขบวนการนักศึกษาในปัจจุบัน ทำไมนักศึกษาส่วนใหญ่ไม่เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม บทเรียนที่เกิดขึ้นในสังคมหลายกรณี หากนักศึกษามีหัวใจรักความเป็นธรรมจำเป็นอย่างยิ่งที่นักศึกษาจะต้องออกมาขับเคลื่อน สำหรับคนที่ออกมาขับเคลื่อนแล้วถูกมองว่าหัวรุนแรงมันอาจไม่ใช่ เป็นเพราะเขาเหล่านั้นรู้สึกกับผลที่เกิดขึ้นกับสังคม แต่คนที่ออกมาด่านักศึกษาว่าหัวรุนแรงนั้นเขาเองที่โหดร้ายยิ่งกว่า หากสังคมยังเมินเฉยกับปัญหา ปัญหาเหล่านั้นมันก็จะย้อนกลับมาหาทุกคนในสังคมเอง ประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวทางสังคมของนักศึกษาที่ชนชั้นปกครองเคยเห็นพิษของนักศึกษาและกลัวนักศึกษา จึงเกิดการทำให้เขาเป็นทารกตลอดเวลา ทำให้ต่อมาการขับเคลื่อน NGO เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อน และต่อมาชาวบ้านสามารถขับเคลื่อนงานเองได้ บทบาทนักศึกษาจึงลดหายไป"

พร้อมกล่าวอีกว่า "การที่นักศึกษาไม่ออกมาเคลื่อนไหวก็เนื่องมาจากนักศึกษาไม่ได้อยู่ในชนชั้นที่เดือดร้อนมากนัก การที่ไม่ถูกกดดันให้จนตรอกมากจึงทำให้ไม่รู้สึกว่าจะต้องลุกขึ้นมาทำอะไร คนรุ่นใหม่ควรเข้ามาเน้นเรื่องการเมืองและชีวิตในปัจจุบัน เปลี่ยนการมองแบบกรมประชาสงเคราะห์ที่เอาของไปชาวบ้าน  ต้องเปลี่ยนรูปแบบจากการเอาของไปให้เป็นการเข้าใจชาวบ้านที่เขาไม่ได้โง่ เพียงเพราะมีเหตุปัจจัยที่เป็นปัญหาสำหรับชาวบ้าน นักศึกษาต้องเข้าใจปัญหาชาวบ้านและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ การทำกิจกรรมในยุคนี้ก็ต้องทนเจ็บปวดต่อไปเมื่อสังคมไม่เห็นด้วย"
และกล่าวต่ออีกว่า "มหาวิทยาลัยกระจายไปในพื้นที่ต่างๆ หากการทำกิจกรรมเป็นการกระทำที่เท่ห์ ขบวนการนักศึกษาจะเป็นที่น่าสนใจ แต่สภาพปัจจุบันเป็นสิ่งที่ล้าหลัง ภารกิจหนึ่งของนักศึกษาจะต้องสร้างข้อมูลต่อสู้กับชนชั้นกลางจะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น"

วันนี้สังคมต้องมองให้เห็นถึงพลังนักศึกษาที่เปลี่ยนรูปขบวนการ ที่อาจไม่ใช่ภาพที่ยิ่งใหญ่เหมือนกับอดีต เงื่อนไขสังคมปัจจุบันที่เป็นเหตุปัจจัยให้นักศึกษาที่ทำกิจกรรมเพื่อสาธารณะ แต่ก็ไม่ได้ถือว่าพลังของนักศึกษาหายไป การให้กำลังใจในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสาธารณะสังคมต้องเข้าใจ และนักศึกษาต้องทบทวนบทบาทที่ไม่ใช่เพียงเพื่อใบปริญญาที่จะออกไปประกอบอาชีพทางการงาน

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์: เทียน ฉัว ส.ส.มาเลเซียผู้มาคำนับศพ เฉิน ผิง

Posted: 22 Sep 2013 03:35 AM PDT

วิดีโอสัมภาษณ์เทียน ฉัว ส.ส.มาเลเซีย และรองประธานพรรคยุติธรรมประชาชน (พร้อมคำบรรยายภาษาไทย)

เทียน ฉัว หลังร่วมพิธีคำนับศพเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายาที่วัดธาตุทอง เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ซึ่งเป็นวันที่สองของพิธีคำนับศพ เฉิน ผิง (陳平) หรือ หวังเหวินหัว (王文華) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (CPM) ที่วัดธาตุทอง กรุงเทพมหานครนั้น (อ่านข่าวก่อนหน้านี้) นอกจากญาติ และมิตรสหายของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์มลายาผู้ล่วงลับแล้ว ในวันดังกล่าวเทียน ฉัว (Tian Chua) หรือฉัว เทียน ชาง (Chua Tian Chang/蔡添强) รองประธานพรรคยุติธรรมประชาชน (PKR) พรรคฝ่ายค้าน "ภาคีประชาชน" (PR) และ ส.ส.มาเลเซียเขตบาตู กัวลาลัมเปอร์ ได้เดินทางมาคำนับศพของเฉิน ผิง ด้วย

โดยหลังพิธีคำนับศพเขาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า เขามาในฐานะเพื่อน ในฐานะครอบครัว และในฐานะของชาวมาเลเซีย

"สำหรับ เฉิน ผิง ไม่ว่าพวกเราจะประเมินบทบาทของเขา ไม่ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับอุดมการณ์ของเขาในการต่อสู้ที่ผ่านมา พวกเราต้องตระหนักว่า เฉิน ผิง เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์มาเลเซีย เขาและคนรุ่นเขาได้ก่อรูปสิ่งที่เราเป็นในทุกวันนี้ และเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับผู้นำคนอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พวกเขาได้ก่อรูปแผนที่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพวกเรามากันที่นี่เพื่อการตระหนักรับรู้ถึงสิ่งนี้" เทียน ฉัว กล่าว

เทียน ฉัว ซึ่งเป็นแกนนำฝ่ายค้านคนสำคัญของมาเลเซีย และมักถูกจับกุมบ่อยๆ เนื่องจากกิจกรรมประท้วงรัฐบาลนั้น ได้ฝากไปยังคนในรัฐบาลให้มีภาพการรับรู้ต่อพรรคคอมมิวนิสต์มลายาเสียใหมว่า

"มาเลเซียได้ก้าวไปข้างหน้า ประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ก้าวไปข้างหน้า เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ และสำหรับใครก็ตามที่อยู่ในอำนาจในวันนี้ แล้วอ้างว่าพวกเขาอยู่ข้างฝ่ายที่ถูก ผมอยากจะพูดสิ่งหนึ่งว่า ผู้ใดที่มีมนุษยธรรมและเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ที่จะดูแลประชาชนด้วยความเห็นใจ อดทนต่อความแตกต่าง เราต้องอนุญาตให้มีความหลากหลายของการตีความทางสังคมและประวัติศาสตร์ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมประชาธิปไตยจึงเป็นมรดกที่พวกเราควรปกป้อง"

"และผมหวังว่าคนรุ่นหลังจะดำเนินการสืบทอดคุณค่านี้ และการพูดถึงเฉิน ผิงในทางประวัติศาสตร์ก็ควรอยู่บนพื้นฐานของคุณค่าพื้นฐานประชาธิปไตยเหล่านี้ที่พวกเราเชิดชู" เทียน ฉัวกล่าว

ทั้งนี้คาดหมายกันว่าในวันอาทิตย์นี้ (22 ก.ย.) และในวันพรุ่งนี้ (23 ก.ย.) ซึ่งเป็นวันฌาปนกิจศพ เฉิน ผิง นั้นจะมีผู้เดินทางมาจากชายแดนไทย-มาเลเซีย และมาจากประเทศมาเลเซีย เพื่อมาเคารพศพ และไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้ายให้กับเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายาผู้ล่วงลับ

โดยหลังจากที่รัฐบาลไทยเป็นคนกลางในการเจรจา และมีการทำสัญญาสันติภาพกับรัฐบาลมาเลเซียที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และยอมวางอาวุธ ใน พ.ศ. 2532 เฉิน ผิง หรือที่ทางการไทยเรียกว่า จีนเป็ง และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายาจำนวนมากยังไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมาเลเซีย ทำให้ต้องพำนักอยู่ในพื้นที่ตอนใต้ของประเทศไทย ทั้งที่ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส อ.ยะหา อ.บันนังสตา และ อ.เบตง จ.ยะลา

ในช่วงต้นปี 2540 เขาพยายามขออนุญาตเดินทางกลับมาเลเซีย แต่ถูกศาลสูงมาเลเซียปฏิเสธในปี 2548 และในปี 2551 เขาพยายามร้องต่อศาลเพื่อกลับประเทศมาเลเซียอีก แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาต โดยอ้างว่าเอกสารการเกิดหาย

นอกจากนี้ในปี 2549 มีผู้กำกับภาพยนตร์ชาวมาเลเซียผลิตภาพยนตร์เรื่อง "The Last Communist" เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา และเฉิน ผิง แต่ถูกกระทรวงมหาดไทยของมาเลเซียสั่งห้ามฉาย ทั้งๆ ที่ในภาพยนตร์ดังกล่าวไม่มีฉากปรากฏตัวของเฉิน ผิงเลย

ทั้งนี้โดยเฉิน ผิง พำนักอยู่ในกรุงเทพมหานครในช่วงสุดท้ายของชีวิต และในวันที่เฉิน ผิง เสียชีวิตตรงกับวัน "มาลาเซีย" (Hari Malaysia) ซึ่งเป็นวันรำลึกการรวมสิงคโปร์ รัฐซาบาห์ และรัฐซาราวัก เมื่อปี 2506 เข้ามาอยู่ในมาเลเซีย อย่างไรก็ตามกรณีของสิงคโปร์ ได้ถูกมาเลเซียขับออกไปในวันที่ 9 ส.ค. 2508

สำหรับพิธีศพของ เฉิน ผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา จัดที่วัดธาตุทอง กทม. ระหว่างวันที่ 20 – 22 กันยายน เริ่มเวลา 17.00 น. ทุกวัน สำหรับพิธีฌาปนกิจ จะจัดในวันที่ 23 กันยายนนี้ เริ่มพิธีตั้งแต่เวลา 10.00 น.

อนึ่ง นาจิป ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้ให้สัมภาษณ์ปฏิเสธไม่ยอมให้นำร่างของ เฉิน ผิง กลับมายังมาเลเซีย ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน อย่างอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำฝ่ายค้าน ไม่เห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรี โดยบอกว่าสิ่งที่ผ่านไปแล้วก็คือสิ่งที่ผ่านไปแล้ว นอกจากนี้ในพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง รองประธานพรรคสมาคมชาวจีนมาเลเซีย (MCA) ก็เห็นว่ารัฐบาลมาเลเซียควรอนุญาตให้นำร่างของเฉิน ผิง กลับมายังมาเลเซียได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รวมข่าวนิติบัญญัติประจำสัปดาห์ 16-22 ก.ย. 2556

Posted: 22 Sep 2013 03:09 AM PDT

รวมข่าวจากฝ่ายนิติบัญญัติ กรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ กฎหมาย ร่างกฎหมาย และความเคลื่อนไหวในรัฐสภาของ ส.ส. และ ส.ว. และพรรคการเมืองต่างๆ ประจำสัปดาห์

 
ฝ่ายค้าน เผย ยื่นศาลฯ ตีความแก้ รธน.ที่มา ส.ว.พรุ่งนี้
 
16 ก.ย. 56 - วิปฝ่ายค้าน เผย เตรียมยื่นศาล รธน.ตีความ แก้ไข รธน. ประเด็นที่มา ส.ว. ต่อประธานวุฒิสภาพรุ่งนี้ (16 ก.ย. 56) ขณะที่การยื่นถอดถอนประธานรัฐสภาอาจดำเนินการในวันพุธที่ 18 ก.ย.หรือหลังจากยื่นตีความแก้ รธน.แล้ว
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (17 ก.ย. 56) จะยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตีความการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) ประเด็นที่มา ส.ว. ว่าขัดต่อมาตรา 68 ว่าด้วยการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ เพื่อขอให้ศาลสั่งยุติการแก้ไข รธน.และคุ้มครองชั่วคราว โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมเอกสารและที่ล่าช้าเนื่องจากมีเอกสารหลักฐานจำนวนมาก ส่วนประเด็นที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ฝ่ายรัฐบาล มีความเข้าใจว่าการยื่นศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เป็นการก้าวก่ายอำนาจฝ่ายนิติบัญญัตินั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า เป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะศาลมีอำนาจในการตรวจสอบการถ่วงดุลอำนาจที่สามารถตรวจสอบการประพฤติที่มีการแสวงหาอำนาจโดยมิชอบ ซึ่งการยื่นดังกล่าวไม่จำเป็นต้องรอพิจารณาในวาระที่ 3 เพราะเป็นการยื่นวินิจฉัยให้ยกเลิกการพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ฉบับที่มา ส.ว.
 
ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงการยื่นถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เนื่องจากทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง ขัดต่อรัฐธรรมนูญว่า จะดำเนินการในวันพุธที่ 18 ก.ย.นี้ หรืออาจยื่นหลังจากการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความแก้ไข รธน.ที่มา ส.ว.แล้ว นอกจากนี้วิปฝ่ายค้านจะประชุมเพื่อกำหนดท่าทีในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... (ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท)วาระที่ 2 ในวันพรุ่งนี้ (17 ก.ย. 56) ด้วย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
กมธ.ศาสนาฯ วุฒิสภา ร่วมกับ โนอิ้ง บุดด้า และ 9 องค์กรหลัก จัดสัมมนาครั้งประวัติศาสตร์ หยุดยั้งการละเมิดพระพุทธศาสนา 27 ก.ย. นี้
 
16 ก.ย. 56 -  คณะกรรมาธิการการศาสนฯ  วุฒิสภาร่วมกับ องค์กรโนอิ้ง บุดด้า และ 9 องค์กรหลักทางพระพุทธศาสนา  จัดสัมมนาครั้งประวัติศาสตร์ "การป้องกันและแก้ไขการกระทำละเมิดต่อพระพุทธรูปและสัญลักษณ์ในทางพระพุทธศาสนา" ในวันศุกร์ที่ 27 ก.ย. นี้  หวังสะท้อนปัญหาและร่วมกันหยุดยั้งการลบหลู่พระพุทธศาสนาที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก
 
คณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภาร่วมกับ องค์กรโนอิ้ง บุดด้า และ 9 องค์กรหลักทางพระพุทธศาสนา จัดสัมมนา "การป้องกันและแก้ไขการกระทำละเมิดต่อพระพุทธรูปและสัญลักษณ์ในทางพระพุทธศาสนา" ในวันศุกร์ที่ 27 ก.ย. นี้ เริ่ม 9.00 น. ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการหมายเลข 306 –307 ชั้น3 อาคารรัฐสภา2
 
นายธีระ สุวรรณกุล เลขานุการคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา กล่าวว่า  ทางคณะกรรมาธิการฯ ได้ศึกษาเกี่ยวกับปัญหาการกระทำละเมิดต่อพระพุทธศาสนาร่วมกับ 17องค์กรเครือข่ายชาวพุทธที่รวมตัวกัน  โดยเฉพาะ โนอิ้งบุดด้า ที่ได้จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อประกาศปกป้องพระพุทธศาสนาจากการลบหลู่พระสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระพุทธรูปที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก อาทิ มีการนำพระเศียรของพระพุทธรูปมาตั้งเป็นของระดับต่ำระดับพื้น และที่รุนแรงมากในความรู้สึก คือการนำพระรูปมาพิมพ์ลงบนฝาโถส้วม    ถือเป็นการกระทำที่น่าสะท้อนใจและเป็นสิ่งที่น่าสลดใจอย่างมาก   โดยทางคณะกรรมาธิการฯและองค์กรทางศาสนา ได้ศึกษาร่วมกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และหาทางแก้ไขป้องกันมาตลอด  ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้ถือเป็นงานแรกในประวัติศาสตร์ที่จัดขึ้นเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ร่วมกันแสดงความเห็นและแสดงออกซึ่งพลังในการปกป้องพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง
 
ด้าน ดร.จุฬานี เกตุศร เลขาธิการองค์กรโนอิ้ง บุดด้า เปิดเผยว่า ในงานสัมมนาดังกล่าว จะมีการเปิดตัวเครื่องมือหยุดยั้งการลบหลู่พระพุทธศาสนา  ซึ่งขอย้ำว่าสามารถช่วยหยุดยั้งได้จริง อย่างไรก็ตาม ขอเรียกร้องให้ทางกระทรวงการต่างประเทศตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และควรเร่งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างศาสนาเพื่อปกป้องทุกศาสนาอันเป็นที่เคารพนับถือของศาสนิกชน เพื่อนำไปสู่สันติภาพ และสังคมที่เป็นสุข
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
วันนี้ที่ประชุมวุฒิสภา นัดประชุมเริ่มกระบวนการถอดถอนนายแพทย์สุรพงษ์
 
17 ก.ย. 56 –  ที่ประชุมวุฒิสภาจะประชุมเพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอนนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และนายไกรสร พรสุธี ออกจากตำแหน่งมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ โดยในวันนี้ที่ประชุมจะเปิดโอกาสให้สมาชิกวุฒิสภาซักถาม
 
วันนี้เวลาประมาณ 11.00 น. ที่ประชุมวุฒิสภาจะประชุมเพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอนนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และนายไกรสร พรสุธี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยการประชุมวันนี้จะเป็นการดำเนินการแถลงเปิดสำนวนตามรายงานและความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และการแถลงคัดค้านโต้แย้งคำแถลงเปิดสำนวนหรือรายงานพร้อมความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติของผู้ถูกกล่าวหา (ตามข้อบังคับฯ ข้อ 120 วรรคหนึ่ง) นอกจากนี้ที่ประชุมจะเปิดโอกาสให้สมาชิกวุฒิสภาซักถามตามญัตติของสมาชิกวุฒิสภาที่เสนอล่วงหน้าก่อนวันประชุม
 
ทั้งนี้ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และนายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดกระทรวงไอซีที ถูกยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลว่ามีความผิดทางอาญา มาตรา157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จากกรณีที่ดำเนินการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทาน โครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยมิชอบ
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
ฝ่ายค้าน เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตีความประเด็นที่มาของส.ว.
 
17 ก.ย. 56 - ฝ่ายค้านยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตีความประเด็นที่มาของส.ว.  โดยขอให้ศาลระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญและคุ้มครองชั่วคราวการลงมติในวาระ3  พร้อมเผย 18 ก.ย. ยื่นถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กรณีทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง และขัดต่อรัฐธรรมนูญ
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เปิดเผยว่า ในช่วงบ่ายวันนี้ (17ก.ย.) พรรคได้มอบหมายให้นายวิรัตน์ กัลยาศิริ  ส.ส.สงขลา ทีมกฎหมายของพรรค ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ สมาชิกวุฒิสภา  ว่าเข้าข่ายมาตรา 68 หรือไม่ โดยขอให้ศาลระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญและคุ้มครองชั่วคราวการลงมติในวาระ3  จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย  เนื่องจากเห็นว่าเป็นการแสวงหาอำนาจในทางมิชอบและขัดรัฐธรรมนูญ  แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลว่าจะสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่  อย่างไรก็ตาม เห็นว่า การโหวตวาระ3 ทำได้ หากศาลยังไม่มีคำสั่ง แต่หากศาลได้มีคำวินิจฉัยออกมาแล้วแต่ยังฝืนโหวตวาระ3 เท่ากับเป็นการผิดกฎหมายซ้ำซ้อน
 
ประธานวิปฝ่ายค้าน ยังเปิดเผยด้วยว่า ในวันที่ 18 ก.ย. นี้  จะยืนถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ต่อประธานวุฒิสภา  กรณีทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง และขัดต่อรัฐธรรมนูญ
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
ฝ่ายค้าน เรียกร้องถ่ายทอดพิจารณา พ.ร.บ.กู้เงินฯ ชี้ประชาชนผู้ต้องแบกรับภาระหนี้ต้องรับรู้
 
17 ก.ย. 56 - วิปฝ่ายค้าน เผย มุ่งเน้นอภิปราย ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ในประเด็นภาระหนี้สิน ความไม่พร้อมและความไม่โปร่งใส พร้อมเรียกร้องให้มีการถ่ายทอดสด เหตุ เป็นพ.ร.บ.ที่มีความสำคัญ จึงควรเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ต้องแบกรับภาระหนี้สินได้รับทราบด้วย
 
นายจุรินทร์  ลักษณะวิศิษฎ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... (ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท) วาระที่ 2 ที่จะพิจารณากันในวันที่ 19-20 ก.ย.นี้ว่า พรรคมีผู้สงวนคำแปรญัตติและสงวนความเห็นไว้ 115 คน ซึ่งเห็นว่าผู้สงวนคำแปรญัตติและผู้สงวนความเห็นจะต้องมีสิทธิ์ในการแสดงความเห็นในที่ประชุมได้อย่างเต็มที่ แต่หากมีการปิดอภิปรายก็ถือว่าผิดข้อบังคับและรัฐธรรมนูญ สุดท้าย พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็จะมีปัญหาทำนองเดียวกับการแก้ไข รธน.ประเด็นที่มาของส.ว. ส่วนประเด็นที่พรรคเป็นห่วงและจะหยิบยกขึ้นมาอภิปรายมุ่งเน้นไปใน 3 ส่วนคือ 1.ภาระหนี้สิ้นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 2.ความไม่พร้อมของโครงการต่างๆ และ 3. เรื่องของความไม่โปร่งใสซึ่งจะนำไปสู่การทุจริตในที่สุด
 
ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวด้วยว่า ขอเรียกร้องให้มีการถ่ายทอดสดการประชุมครั้งนี้ เพราะถือว่าวงเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เกือบเทียบเคียงได้กับพ.ร.บ.งบประมาณปี 57 จึงควรเปิดโอกาสให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้ที่จะต้องแบกภาระหนี้สินในอนาคตได้รับทราบด้วย ทั้งนี้หากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเห็นว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีความสำคัญจริงก็ควรเข้าชี้แจงต่อที่ประชุม
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
อดีต รมต.และอดีตปลัดไอซีที แถลงคัดค้านข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. ระบุ ดำเนินการแก้ไขสัญญาสัมปทานชินแซทเทิลไลท์ เป็นไปตามขั้นตอนและเกิดประโยชน์ต่อรัฐ
 
17 ก.ย. 56 - นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมต.ไอซีที และ นายไกรสร อดีตปลัดไอซีที คัดค้านข้อกล่าวหา ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิดจากการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทาน ระบุ ดำเนินการแก้ไขสัญญาสัมปทานชินแซทเทิลไลท์ เป็นไปตามขั้นตอนและเกิดประโยชน์ต่อรัฐ
 
การประชุมวุฒิสภาเพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอน นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(กระทรวงไอซีที)(ผู้ถูกกล่าวหาที่1) และนายไกรสร พรสุธี ครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงไอซีที (ผู้ถูกกล่าวหาที่2) ออกจากตำแหน่ง ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดจากการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทาน โครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ(ไอพีสตาร์) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของ บ. ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือใน บ.ชินแซทเทิลไลท์ จำกัด(มหาชน) จากการถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 โดยมิชอบ ซึ่งมีขึ้นในวันนี้ เวลา 11 นาฬิกาเศษ
 
ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 แถลงคัดค้านโต้แย้งคำแถลงเปิดสำนวนตามรายงานและความเห็นของ ป.ป.ช. โดยยืนยัน ไม่ได้ทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาทั้งทางอาญาและทางวินัยอีกทั้งเป็นการกล่าวหาที่ไม่มีมูล เนื่องจากการดำเนินการที่ผ่านมาไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐแต่อย่างใด แต่เป็นการสร้างประโยชน์ให้รัฐและส่วนรวมด้วยการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจำนวนมากเป็นลำดับ โดยบ. ชินแซทเทลไลท์ ส่งรายได้ให้กับรัฐคือกระทรวงไอซีที เทียบเป็นสัดส่วนรายได้มากกว่าส่วนแบ่งการตลาดของดาวเทียมในสหรัฐฯ  ขณะที่ การแก้สัญญาสัมปทานเป็นการลดสัดส่วนของ บ.ชินคอร์ป ในกิจการของ บ.ชินแซทเทิลไลท์ ส่วนการพิจารณาความเห็นก่อนมีการแก้ไขนั้นได้ส่งให้ผู้เกี่ยวข้องทำความเห็นและถูกต้องตามระเบียบราชการ พร้อมกับได้ส่งเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ตามความเห็นของอัยการสูงสุด แล้ว แต่เลขาธิการ ครม. ชี้ว่าเรื่องดังกล่าวไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ ครม.จะต้องพิจารณา ดังนั้น การแก้ไขจะช่วยให้รัฐได้ประโยชน์มากกว่าไม่แก้ไข นอกจากนี้ ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 ยังเห็นว่ากระบวนการไต่สวนไม่ครบองค์ประกอบไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีการแต่งตั้งกรรมการ ป.ป.ช.เข้าเป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนตามหลักเกณฑ์ อีกทั้งคณะกรรมการดังกล่าวไม่เคยเชิญตนเข้าชี้แจงแต่อย่างใด ทั้งยังนำคดีอื่นมาผูกพันเป็นข้อกล่าวหา จึงเห็นว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นธรรม และขัดต่อหลักนิติธรรมโดยสิ้นเชิง
 
ภายหลังรับฟังคำแถลงคัดค้านสำนวนของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองแล้ว ที่ประชุมวุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการซักถามจำนวน 14 คน ทำหน้าที่พิจารณาประเด็นซักถามตามญัตติของสมาชิกวุฒิสภาที่เสนอล่วงหน้า ทั้งนี้คาดว่าวุฒิสภาจะสามารถลงมติถอดถอนหรือไม่ ในวันที่ 30 ก.ย. หรือ 1 ต.ค. นี้
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง 
 
ส.ส.พิษณุโลก เตรียมยื่น ปปช. พรุ่งนี้ สอบพิรุธ ไฟไหม้ข้าวน้ำท่วมในโกดังรัฐบาล จ.พิษณุโลก ชี้ เป็นการทำลายหลักฐานเวียนเทียนข้าวในโครงการรับจำนำ 
 
18 ก.ย.  56 - ส.ส.พิษณุโลก เตรียมยื่น ปปช. พรุ่งนี้ สอบพิรุธ ไฟไหม้ข้าวน้ำท่วมในโกดังรัฐบาล จ.พิษณุโลก  ชี้ เป็นทำลายหลักฐานการเวียนเทียนข้าวในโครงการรับจำนำ  จี้ รัฐบาลตอบ 4 ข้อ  เพราะฟังไม่ขึ้นอ้างข้าวชื้นแต่ติดไฟ  พร้อมทวงสิทธิให้ชาวนาเข้าร่วมโครงการรับจำนำ 2 รอบ เหมือนสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์
 
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์แถลงที่รัฐสภาว่า ในวันพรุ่งนี้(19 ก.ย.) เวลา 10.00 น. ตนจะยื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)   เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีที่อาจมีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล หลังพบพิรุธข้าวในโกดังรัฐบาล ที่ จ.พิษณุโลก เกิดเพลิงไหม้  ซึ่งนายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กลับบอกว่า ข้าวในโกดังดังกล่าวเป็นข้าวอีกส่วนหนึ่งที่ยังขนไปไม่หมดในการขายจีทูจีให้กับรัฐวิสาหกิจจีน และเหตุข้าวไหม้เกิดจากข้าวในโกดังระอุจนเกิดไฟไหม้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้น  ซึ่งตนขอตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการทำลายหลักฐานการเวียนเทียนข้าวในโครงการรับจำนำ  พร้อมขอถามรัฐบาลและกรรมการที่จะตั้งขึ้นมาเพื่อสอบสวนเหตุดังกล่าว โดยขอให้ตอบคำถามให้ได้ 4 ข้อคือ 1 ทำไมจีนถึงยอมปล่อยเป็นปีถึงยังไม่รับมอบข้าว ทั้งที่ต้องมีสัญญารับมอบ และขายให้จีนในราคาเท่าไร  2. ทำไมรัฐบาลไทยถึงปล่อยให้จีนใช้พื้นที่โกดังผ่าท้องกระสอบเอาข้าวออกไป โดยที่ปากกระสอบไม่เปิด  3. ขอให้รัฐบาลพิสูจน์ให้เห็นว่าข้าวที่ถูกน้ำท่วมมีความชื้นมากกว่าปกติ เกิดระอุจนไฟไหม้ได้อย่างไร และ 4. รัฐบาลต้องตอบให้ได้ว่าเอาข้าวที่ถูกน้ำท่วมไปเผาทิ้งทำไม
 
นพ.วรงค์ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลให้สิทธิกับชาวนาเข้าร่วมโครงการรับจำนำปีละ 2 รอบ เช่นเดียวกับสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์  เพราะมีชาวนาจำนวนไม่น้อยที่เก็บเกี่ยวไม่ตรงฤดูกาล พร้อมฝากรัฐบาลชี้แจงให้ชัดเจนว่าจะ จัดสรรเงิน 2แสน7หมื่นล้านบาท สำหรับโครงการรับจำนำข้าวรอบสอง 1 ต.ค. 56  มาจากไหน เพราะทางกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลังยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ขณะที่ทางสำนักบริหารหนี้สาธารณะก็ยังไม่มีแผนก่อหนี้เพื่อเตรียมเงินดังกล่าว
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
รมช.มหาดไทย เผย สถานการณ์ม๊อบสวนยางเริ่มดีขึ้น
 
18 ก.ย. 56 - รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เผย สถานการณ์การชุมนุมของเกษตรกรชาวสวนยางเริ่มดีขึ้น พร้อมยืนยันรัฐบาลยึดหลักการเจรจาไม่มีนโยบายใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม
 
นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึง สถานการณ์การชุมนุมของเกษตรกรชาวสวนยางในขณะนี้ว่า สถานการณ์การชุมนุมในพื้นที่อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราชเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากได้มีการประสานเบื้องต้นไปยัง ส.ส.ภาคใต้ ของพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหากับกลุ่มผู้ชุมนุมแล้ว อย่างไรก็ตามต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังเป็นห่วงในเรื่องการปลุกระดมผ่านทางวิทยุชุมชนและการยุยงจากคนนอกพื้นที่ที่อาจก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรงจนทำให้สถานการณ์บานปลายได้ ซึ่งหากพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการไปตามขั้นตอน ทั้งนี้ยืนยันว่านโยบายของรัฐบาลไม่มีการใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับให้ใช้ความประนีประนอมและยึดหลักการเจรจากับผู้ชุมนุม โดยขณะนี้ได้มีการตั้งจุดลงทะเบียนสำหรับเกษตรกรที่มีสิทธิรับค่าปัจจัยการผลิตเพิ่มเติม เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกร ตลอดจนตั้งคณะทำงานซึ่งเป็นตัวแทนของเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเรียนจากกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์/เรียบเรียง
 
ส.ส.สตรี พรรคเพื่อไทย เรียกร้องผู้นำฝ่ายค้านฯ หยุดใช้คำพูดหยาบคายวิจารณ์โครงการ "Smart lady"
 
18 ก.ย. 56 – ส.ส.สตรี พรรคเพื่อไทย และประธานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กรุงเทพมหานคร ร่วมกันแถลงข่าวเรียกร้องให้ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร หยุดใช้คำพูดหยาบคายวิจารณ์โครงการ "Smart lady"
 
นางสาวสุณีย์ เหลืองวิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสตรี พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นางปทีป  อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ประธานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กรุงเทพมหานคร ร่วมกันแถลงข่าวเรียกร้องให้ นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรหยุดใช้คำพูดหยาบคายในการวิพากษ์วิจารณ์โครงการ "Smart lady"ซึ่งเป็นโครงการที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้สตรีค้นหาและพัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อเป็นผู้นำในอนาคต โดยนางสาวสุณีย์ กล่าวในตอนหนึ่งว่า กรณีผู้นำฝ่ายค้านฯ อ้างว่าคำพูดที่ใช้ในเวทีผ่าความจริงนั้นเป็นคำที่มีอยู่ในพจนานุกรม ตนเห็นว่าเป็นคำกล่าวอ้างที่ใช้ไม่ได้ ทั้งนี้การออกมาแถลงข่าวครั้งนี้ต้องการผู้นำฝ่ายค้านฯ หยุดใช้คำพูดหยาบคายต่อสตรี ซึ่งหากยังพบว่า ผู้นำฝ่ายค้านฯ ยังใช้คำพูดในลักษณะเช่นนี้ในรายการผ่าความจริงหรือในเวทีอื่นๆ ตนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสตรีของพรรคเพื่อไทยก็จะเรียกร้องต่อไป อย่างไรก็ตามตนจะไม่ดำเนินคดีหรือฟ้องร้องกับผู้นำฝ่ายค้านฯ แต่อย่างใด
 
ด้านนางปทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ได้กล่าวเรียกร้องให้ผู้นำฝ่ายค้านฯ คำนึงถึงเด็กและเยาวชนที่อาจนำพฤติกรรมและคำพูดที่ไม่สร้างสรรค์เหล่านี้ไปเป็นแบบอย่าง จึงเรียกร้องให้ผู้นำฝ่ายค้านฯ ออกมาขอโทษต่อเด็ก เยาวชนและประชาชนด้วย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
รองปธ.สผ.ฯ ระบุ "โครงการสร้างพลังป้องกันโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต" มีประโยชน์และมีคุณค่า อย่างมาก 
 
18 ก.ย. 56 - รองประธาน สผ. คนที่ 1 ชี้ "โครงการสร้างพลังป้องกันโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต"เป็นโครงการที่ดี สร้างพลังและสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการป้องกันและควบคุมโรค อัมพฤกษ์ อัมพาต ระบุ หากเป็นไปได้อยากให้จัดกิจกรรม 2 ครั้งต่อเดือน หวัง สมาชิกและผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงงานรัฐสภาตรวจสุขภาพป้องกันโรคภัย
 
นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 กล่าวเปิดงานเสวนาและแสดงนิทรรศการ "โครงการสร้างพลังป้องกันโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต" ที่จัดโดย คณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล เป็นประธาน กมธ. กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยนายเจริญ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ถือว่ามีคุณค่า มีคุณประโยชน์อย่างมาก เป็นการสร้างพลัง สร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการป้องกัน ปลุกระดมแนวคิดการป้องกันตัวเองและควบคุมโรคหลอดเลือดสมอง สร้างความตระหนักในการป้องกันโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และยังเป็นสิ่งที่ดีที่เปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการ พนักงานและสื่อมวลชนได้รับการตรวจสุขภาพในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ขอขอบคุณหน่วยงานข้างต้นที่ร่วมมือจัดงานครั้งนี้ขึ้นและหากเป็นไปได้ต้องการเรียกร้องให้จัดกิจกรรมเหล่านี้เดือนละ 2 ครั้ง เพื่อให้สมาชิกและผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงงานรัฐสภาได้ตรวจสุขภาพเพื่อป้องกันโรคภัยที่อาจจะเกิดขึ้น
 
ทั้งนี้งานดังกล่าวได้มีการจัดเสวนา "รู้ก่อน รู้ทัน ป้องกันอัมพฤกษ์ อัมพาต" โดย นายแพทย์ประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์พรเทพ ศริริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์สมเกียรติ  แสงวัฒนาโรจน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายแทพย์สมชาย โตวณะบุตร สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ รวมถึงได้เปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการ พนักงานและสื่อมวลชนตรวจสุขภาพเบื้องต้นและจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพด้วยด้วย   
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
ประธานวุฒิสภา รับการยื่นรายชื่อจาก ส.ส.ฝ่ายค้านที่ขอถอดถอนประธานรัฐสภาออกจากตำแหน่งจากกรณีทำทำหน้าที่ไม่เป็นกลางในการประชุมร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ
 
18 ก.ย. 56 - ประธานวุฒิสภา รับการยื่นรายชื่อจาก ส.ส.ฝ่ายค้านที่ขอถอดถอนประธานรัฐสภาจากกรณีทำหน้าที่ไม่เป็นกลางในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 11 ก.ย. และไม่เปิดโอกาสให้ผู้ที่เสนอคำแปรญัตติได้อภิปรายอย่างเต็มที่
 
นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา รับการยื่นหนังสือจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) พร้อมทีม ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่นำรายชื่อ ส.ส. จำนวน 138 คน ขอถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ตาม ม.270 และ 271 จากกรณีการทำหน้าที่ขัดกับรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภาใน ระหว่างการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว .(มาตรา10) วันที่ 11 ก.ย.56 โดยรัฐธรรมนูญ ม.89 บัญญัติว่าประธานรัฐสภาต้องทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง และ ม. 291 ที่ระบุการแก้รัฐธรรมนูญต้องพิจารณาเป็น 3 วาระ แต่กลับมีปัญหาในวาระที่ 2 รวมถึง ม.137 ที่ระบุการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญต้องใช้ข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ซึ่งข้อ 99 ให้การรับรองสิทธิของสมาชิกผู้สงวนความเห็นและแปรญัตติไว้สามารถนำความเห็นมาแสดงในที่ประชุมใหญ่โดยผู้ใดจะตัดสิทธิมิได้ แต่การดำเนินการประชุมกลับมีการรวบรัดเสนอปิดอภิปรายและประธานรัฐสภาเองกลับยอมรับญัตติเสนอปิดอภิปรายแล้วให้มีการลงมติ ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวถือเป็นกรณีเทียบเคียงกับที่นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภาถูกยื่นถอดถอนไปก่อนหน้า
 
ด้าน นายนิคม กล่าวว่า จะเร่งดำเนินการตรวจสอบรายชื่อผู้ยื่นเสนอเข้ามาใช้เวลาไม่เกิน 15 วัน ก่อนส่งต่อ ป.ป.ช. ตามกระบวนการต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
โฆษก ปชป. ชี้ รัฐบาลถังแตกจึงต้องขึ้นภาษีเหล้า
 
18 ก.ย. 56 -  โฆษก ปชป. ระบุ เหตุรัฐบาลขึ้นภาษีเหล้า เนื่องจากประสบปัญหาถังแตก รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ชี้ ประเทศไทยขาดรายได้เพราะลดภาษีนิติบุคคล แนะรัฐกำหนดนโยบายประชาชนอย่างชัดเจนและทั่วถึง หวังลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
 
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สุรา พ.ศ.2493 (ฉบับที่7) พ.ศ.2556 หรือ พ.ร.ก.ขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า แม้พรรคประชาธิปัตย์จะเห็นด้วยกับแนวทางการขึ้นภาษี แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า เหตุผลหลักที่รัฐบาลกล่าวอ้างว่า ทำเพื่อลดปริมาณการบริโภค ต้องการให้ราคาสินค้าเหล่าแพงขึ้นเพื่อสกัดให้มีการบริโภคลดลงนั้น ข้อเท็จจริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างที่กล่าวอ้าง จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า ที่รัฐต้องขึ้นภาษีเหล้าเนื่องจากรัฐบาลถังแตก
 
โฆษก ปชป. กล่าวด้วยว่า วันนี้ที่ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องขาดรายได้หลักเพราะรัฐบาลได้ลดภาษีนิติบุคคล จาก 30 เปอร์เซ็นต์เหลือ 20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ประเทศขาดรายได้ไปถึง 82,000 ล้านบาท และการลดภาษีนิติบุคคลยังส่งผลให้บริษัทยักษ์ใหญ่ได้ประโยชน์แต่ประชาชนกลับต้องถูกขูดรีดเล็กๆน้อยๆ จากการขึ้นภาษีเหล้าเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นในสังคมไทย การกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นเหตุผลสำคัญว่า เหตุใดรัฐจึงพยายามขึ้นภาษีด้านต่างๆ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐกำลังมีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายและกำลังหาเงินมารองรับโครงการประชานิยมต่างๆที่ได้ให้ไว้กับประชาชน จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลกำหนดนโยบายดูแลประชาชนอย่างทั่วถึงและชัดเจน ปฏิรูประบบภาษี โครงสร้างเศรษฐกิจสิ่งเหล่านี้จะเป็นคำตอบให้ประชาชนและประเทศไทยอย่างยั่งยืน
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ส.ปชป. เรียกร้อง นายกฯ ร่วมประชุมร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ
 
18 ก.ย. 56 - ส.ส.ปชป. เรียกร้อง นายกรัฐมนตรีอยู่ร่วมประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ตลอดการประชุม พร้อมเผยประเด็นคำถามให้นายกฯ เตรียมตัวตอบด้วยตัวเอง
 
นายณัฏฐ์ บรรทัดฐาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวชื่นชมนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ตัดสินใจเลื่อนการประชุม ครม.สัญจร จังหวัดลพบุรี เพื่อเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ในวันที่ 19-20 กันยายนนี้ อย่างไรก็ตามขอให้นายกรัฐมนตรีอยู่ร่วมการประชุมจนจบพร้อมตอบคำถามเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยตนเอง ไม่ใช่มาประชุมแค่ตอนเริ่มแล้วหลังจากนั้นมอบหมายให้รัฐมนตรีชี้แจงเหมือนการประชุมหลายครั้งที่ผ่านมา ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นว่าการที่นายกฯไม่เข้าร่วมการประชุมสภาฯ เป็นเพราะเกรงว่าจะตอบคำถามสมาชิกไม่ได้ ดังนั้นตนจึงขอบอกประเด็นคำถามล่วงหน้าเพื่อให้นายกฯได้เตรียมตัวตอบคำถามเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่ออยู่ร่วมการประชุมจนครบ โดยขอให้ชี้แจงค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในโครงการต่างๆ โครงการที่ซ้ำซ้อนกับโครงการที่มีการวางแผนระยะยาวไว้แล้วว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่ต้องรวบรัดโครงการเหล่านี้ให้เร็วขึ้น อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่มีการวางแผนแม่บทไว้เรียบร้อยแล้ว และการปรับเปลี่ยนโครงการต่างๆ ที่ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น รวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณครั้งนี้มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในมิติต่างๆ เพิ่มขึ้นลดลงอย่างไร โดยหวังว่าเป็นอย่างยิ่งว่านายกรัฐมนตรีจะเตรียมตอบคำถามเหล่านี้ให้ชัดเจนกับบรรดาสมาชิกด้วย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์/เรียบเรียง
 
กมธ.กิจการสภาฯ ลงพื้นที่ติดตามปัญหาความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่
 
18 ก.ย.56 - คณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎรลงพื้นที่ติดตามปัญหาความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่   ล่าสุดส่งมอบแล้ว 63 ไร่เศษ ขณะที่สัปดาห์หน้าจะมีการส่งมอบพื้นที่บริเวณ โรงเรียน ช่างกล ขส.ทบ.   17.07 ไร่
 
คณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายไพจิต ศรีวรขาน เป็นประธานฯ  พร้อมคณะ ลงพื้นที่ย่านเกียกกายติดตามความคืบหน้าการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่   หลังจากติดปัญหาความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่ให้กับบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ที่ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ ชี้แจงว่า ได้มีการส่งมอบพื้นที่เพิ่มเติมจำนวน 19.95 ไร่เมื่อ 6 ก.ย. ที่ผ่านมา คือ สถานีวิทยุยานเกราะ กองพันนักเรียนและบ้านพักบางส่วน  ซึ่งเมื่อรวมกับพื้นที่เดิมที่ส่งมอบแล้ว คือบริเวณบ้านพัก ม.พัน.4รอ.  พล.ม.2รอ ร้อย.ม.(ลว.)1 (ทบ.)  บ้านพักตระกูลดิษฐ์    องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้    จะรวมเป็นพื้นที่ที่ส่งมอบแล้วทั้งหมด 63 ไร่เศษ และเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ส่งมอบอีก 30 ไร่เศษ   โดยในสัปดาห์หน้าจะส่งมอบพื้นที่บริเวณ โรงเรียนกองทัพบกอุปภัมภ์  (ช่างกล ขส.ทบ. )  จำนวน 17.07 ไร่    ส่วนบริเวณบ้านพักโรงเรียน ขส.ทบ ซึ่งเป็นบริเวณบ้านพักกำลังพลที่ดูแลเรือจำนวน150 ครัวเรือน คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ได้ในเดือน พ.ย   เนื่องจากต้องทำการรื้อถอน และรอสร้างที่พักใหม่เพื่อรองรับให้แล้วเสร็จก่อนจึงจะทำการย้ายออกไปได้    ส่วนโรงเรียนโยธินบูรณะ คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ได้ในเดือน มิ.ย.58  ซึ่งจะมีการสร้างโรงเรียนใหม่ทดแทนแล้วเสร็จใน ก.ย.57  อย่างไรก็ตาม หากทางโรงเรียนย้ายไปเรียนในโรงเรียนที่สร้างทดแทนได้ในเดือน ต.ค. 57 ก็จะช่วยให้การส่งมอบพื้นที่เพื่อก่อสร้างได้เร็วขึ้น
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง ลักขณา เทียกทอง / ภาพ
 
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติ 393 ต่อ 1 เสียง อนุมัติ พ.ร.ก.ภาษีสุรา
 
18 ก.ย. 56  –   ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติ 393 ต่อ 1 เสียง อนุมัติ พ.ร.ก.ภาษีสุรา โดยประธานในที่ประชุมนัดประชุมสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ 09.30 น. เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท
 
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493 (ฉบับที่ 7 ) พ.ศ.2556 ลงวันที่ 3 กันยายน 2556 ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยมีนายวิสุทธิ์  ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้มีมติด้วยคะแนน 393 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 23 เสียง ไม่ลงคะแนน 5 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 422 คน (การนับคะแนน นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภส.ส. จังหวัดอุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ใช้การขานชื่อและลงคะแนน เนื่องจากเครื่องลงคะแนนขัดข้อง) หลังจากนั้นเวลาประมาณ 16.00 น. ประธานในที่ประชุมได้ปิดการประชุมและนัดประชุมอีกครั้งเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ในวันพรุ่งนี้ เวลา 09.30 น.
 
สำหรับพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493 (ฉบับที่ 7 ) พ.ศ.2556 ลงวันที่ 3 กันยายน 2556 ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยมีสาระสำคัญ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างภาษีสุราทั้งระบบ คือ 1.เปลี่ยนฐานในการคำนวณภาษีสุราตามมูลค่า จากเดิมที่ใช้ราคาขาย ณ โรงงานสุรา มาเป็นให้ใช้ราคาขายส่งช่วงสุดท้ายการคำนวณภาษีตามมูลค่า ทั้งสุราในประเทศและสุราต่างประเทศ 2.ปรับปรุงการเสียภาษี จากเดิมที่ให้เสียภาษีตามมูลค่า หรือตามปริมาณแล้วแต่อัตราใดจะคิดเป็นเงินสูงกว่ามาเป็นให้เสียทั้งอัตราตามมูลค่าและตามปริมาณ และ 3.ปรับปรุงเพดานอัตราภาษีสุราแช่และอัตราภาษีสุรากลั่น
 
ทั้งนี้คาดการณ์ว่า รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มเติมอีกประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี โดยส.ส.ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่า การปรับโครงสร้างภาษีสุราใหม่ จะไม่ทำให้อัตราการบริโภคลดลง พร้อมเห็นว่าการปรับขึ้นภาษีถูกนำมาเป็นเครื่องมือทางการเงินการคลังของรัฐบาล มากกว่าที่จะนำมาแก้ปัญหาอย่างแท้จริง จึงเรียกร้องให้รัฐจัดทำแผนแม่บทในการลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ลง พร้อมเสนอให้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ เช่นเดียวกับการปราบปรามยาเสพติด
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
โฆษก ปชป. วอน นายกฯ หยุดสร้างความหวังรับจำนำข้าว เหตุวงเงิน 5 แสนล้านเต็มแล้ว
 
18 ก.ย. 56 - โฆษก ปชป. เรียกร้องรัฐหยุดสร้างความหวังให้ชาวนา เหตุวงเงิน 5 แสนล้านบาทที่ครม.ได้เคยอนุมัติไว้ถูกใช้เต็มวงเงินแล้ว
 
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนางสาวยิ่งลักษณ์   ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจนกรณีคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณ 2.7 แสนล้านบาท เพื่อรับจำนำข้าวปีการผลิต 2556/2557 ว่า เป็นเงินที่อยู่ในกรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาทที่ ครม.ได้อนุมัติไว้ ไม่มีการกู้และหาเงินเพิ่มว่า หากนายกฯพูดเช่นนั้นจริงก็ขอแสดงความเสียใจกับชาวนาทุกคน เพราะกรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาทได้ถูกใช้เต็มจำนวนแล้ว อีกทั้งกระทรวงการคลังก็ออกมายอมรับว่าขณะนี้ไม่มีงบประมาณที่จะให้รัฐบาลนำไปรับจำนำข้าวจากเกษตรกร จึงขอแนะนำให้นายกฯ เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิชย์และรมต.คลังมาสอบถามว่าและประกาศให้ประชาชนได้ทราบว่าอย่างชัดเจนว่าเหลือเงินที่จะรับจำนำข้าวได้เท่าไหร่ และขอเรียกร้องว่าอย่างสร้างความหวังให้ชาวนา
 
โฆษก ปชป. กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย โดยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะจัดเวทีปราศรัยที่วัดดอกไม้ เขตยานนาวาด้วยว่า ตนไม่สนใจว่านายณัฐวุฒิจะปราศรัยในลักษณะใด แต่สนใจว่าเนื้อหาที่ปราศรัยจะไม่เป็นการปลุกระดมให้ประชาชนไปกระทำในสิ่งที่ไม่ดี
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ส.ปชป. เรียกร้อง รัฐปรับทัศนคติแก้ปัญหายาง
 
18 ก.ย. 56 - ส.ส.ปชป. เรียกร้อง รัฐบาลปรับทัศนคติการแก้ปัญหายางพารา อย่ามองว่าการชุมนุมของเกษตรกรเป็นเรื่องการเมือง พร้อมขอให้รัฐบาลรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้กับเกษตรกร
 
นายณัฏฐ์ บรรทัดฐาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพารา ว่า ผู้ที่ออกมาชุมนุมเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจริง และการที่รัฐบาลพยายามอ้างว่ามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์อยู่เบื้องหลังการชุมนุมนั้น ตนมองว่ารัฐบาลอาจไม่เข้าใจบทบาทการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะตัวแทนประชาชน เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ได้นำเสนอและสะท้อนปัญหายางพารามาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านรัฐบาลกลับไม่ให้ความสนใจจนทำให้ปัญหาลุกลามบานปลาย ตนจึงต้องการให้รัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องปรับทัศนคติในการมองปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนโดยไม่มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการเมือง เพราะจะทำให้รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้
 
นายณัฎฐ์ ยังกล่าวเรียกร้องรัฐบาลเลิกโกหกรายวัน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นเพราะ ตัวแทนของรัฐบาลได้ให้คำมั่นกับเกษตรกรว่าจะสามารถขายยางได้ไม่ต่ำกว่าราคา 90 บาทต่อกิโลกรัม แต่หลังการเจรจากลับปรากฏว่ามาตรการช่วยเหลือกลายเป็นการช่วยอุดหนุนต้นทุนการผลิต ทำให้ข้อเท็จจริงที่เกษตรกรมั่นใจรัฐบาลในระหว่างการเจรจาลดทอนลงจนทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้น เพราะเกษตรกรขาดความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาของรัฐบาล ดังนั้นขอให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนทัศนคติแล้วหันกลับมามองข้อเท็จจริงของปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้การแก้ปัญหาราคายางเดินหน้าต่อไปได้
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา/เรียบเรียง
 
พิธีมอบรางวัลพานแว่นฟ้าแห่งฯ จะจัดขึ้นในวันที่ 23 ก.ย. ณ โรงแรมเซ็นจูรี พาร์ค
 
18 ก.ย. 56 - พิธีมอบรางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทย จะจัดขึ้นในวันที่ 23 ก.ย.นี้ ณ ห้อง     แกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ เวลา 14.00-18.30 น. โดยในงานจะมีการจัดเสวนา "เปิดเล่ม...นักเขียนรางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทย" และ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ฟ้าบ่กั้น...วรรณกรรมการเมืองไทย" โดย "คำสิงห์ ศรีนอก"
 
นายนุกูล สัญฐิติเสรี รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายบุญเลิศ คชายุทธเดช กรรมการวรรณกรรมแห่งรัฐสภา ในฐานะโฆษกคณะกรรมการประกวดวรรณกรรมการแห่งรัฐสภา แถลงข่าวเชิญชวนเพื่อนนักเขียนและผู้สนใจ เข้าร่วมงานมอบรางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทย ในวันที่ 23 กันยายน 2556 ตั้งแต่เวลา 14.00 – 18.30 นาฬิกา ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดยนายนุกูล กล่าวว่า นอกจากพิธีมอบรางวัล ที่มีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เป็นประธานมอบแล้ว จะมีการจัดเสวนา "เปิดเล่ม...นักเขียนรางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทย" โดยนักเขียนผู้ได้รับรางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทยยอดเยี่ยมและรางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทยดีแด่นของแต่ละประเภท รวมทั้งผู้เข้าร่วมงานจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ "คำสิงห์ ศรีนอก" ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ที่ให้เกียรติปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ฟ้าบ่กั้น...วรรณกรรมการเมืองไทย" ด้วย
 
สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ประเภทเรื่องสั้น คือ ผลงานเรื่อง "การยืนยันอีกครั้งหนึ่งของสาวแม่ฮ้างแห่งหมู่บ้านตาเอกทะไม" โดย ลูเธอร์-เทอรัว รางวัลดีเด่น คือ ผลงานเรื่อง "ถนนสู่ทุ่งหญ้า" โดย รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์ ส่วนผลงานประเภทบทกวี ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม คือ ผลงานเรื่อง "เบี้ย" โดย อรุณรุ่ง สัตย์สวี และรางวัลดีเด่นเรื่อง "ความตายของนำฟีนิกซ์" โดย รางชางฯ นอกจากนี้ ยังมีผลงานที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบสุดท้ายของทั้ง 2 ประเภท ประเภทละ 10 ผลงาน
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
กมธ.การปกครอง สผ. กำชับ จ.ร้อยเอ็ดตรวจสอบข้อเท็จจริงการปฏิบัติหน้าที่ของกำนันตำบลดินดำ
 
19 ก.ย. 56 – กมธ.การปกครอง สผ. กำชับจังหวัดร้อยเอ็ดตรวจสอบข้อเท็จจริงการปฏิบัติหน้าที่ของกำนัน ต.ดินดำ อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด หลังประชาชนร้องเรียนถึงความโปร่งใส่การดำเนินโครงการ SML และการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
 
คณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชัย ชิดชอบ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนของนายมีชัย แก้วปัญญา และประชาชนตำบลดินดำ อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของนายสุธรรม วินทะไชย กำนันตำบลดินดำ กรณีกระทำการทุจริตเลือกปฏิบัติและละเว้นปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ช่วยเหลือพวกพ้อง ภายหลัง กมธ.รับฟังคำชี้แจงจากนายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กำนันตำบลดินดำ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ร้อง แล้วเห็นว่า ปัจจุบันเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมของจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ปัญหาของกำนันตำบลดินดำในขณะนี้เกิดจากการขาดสร้างความเข้าใจและการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่ อาทิ การแจกสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอาจยังประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง และการชี้แจงรายละเอียดประเด็นการดำเนินโครงการ SML อย่างไรก็ตาม กมธ.ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงินในโครงการ SML และเงินช่วยเหลือกลุ่มเยาวชนที่ประสบอุทกภัย โดยได้กำชับให้ผู้ว่าฯร้อยเอ็ดและนายอำเภอจังหารสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ให้ครอบคลุมทุกประเด็นด้วย เพื่อให้เกิดความละเอียดรอบคอบและเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมรายงานผลการดำเนินการให้คณะกรรมาธิการทราบภายในวันที่ 7 ตุลาคมนี้
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ส.ส.ประชาธิปัตย์ ตั้งคำถามจำเป็นหรือไม่ที่ต้องกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท
 
18 ก.ย. 56  –  ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งคำถามรัฐบาลถึงความจำเป็นที่ต้องกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ด้านรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง ชี้แจง เพื่อความต่อเนื่องของโครงการและแยกงบประมาณให้ชัดเจน ง่ายต่อการตรวจสอบและโปร่งใส
 
นายกรณ์ จาติกวณิช  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอภิปรายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ..... (พ.ร.บ.กู้เงิน 2ล้านล้านบาท) โดยในช่วงหนึ่งได้ตั้งคำถามต่อรัฐบาลถึงความจำเป็นในการกู้เงินจำนวน 2 ล้านล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ ซึ่งตนเห็นว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้โดยไม่จำเป็นต้องกู้เงินหรือออกกฎหมายฉบับดังกล่าว
 
ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงถึงเหตุผลที่รัฐบาลต้องกู้เงินและออกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ว่า เพื่อความต่อเนื่องการดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง และเหตุผลที่ออกเป็นกฎหมายพิเศษก็เพื่อแยกงบประมาณให้ชัดเจน เพื่อความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
โฆษกประธานสภาฯ ระบุ ฝ่ายค้าน ยื่นถอดถอนประธานสภาฯ ตามมาตรา 270 และมาตรา 271 หวังแค่ปลุกกระแสการประชุมสภาฯ
 
19 ก.ย. 56 - โฆษกประธานสภาฯ  ระบุ ฝ่ายค้าน ยื่นถอดถอนประธานสภาฯ ตามมาตรา 270 และมาตรา 271  หวังแค่ปลุกกระแสการประชุมสภา พร้อมย้ำ การประชุมรัฐสภาที่ผ่านมาไม่พบประธานฯ ทำหน้าที่ลำเอียง
 
นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงที่รัฐสภาถึงกรณีที่ พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์  ประธานรัฐสภาตามมาตรา 270 และมาตรา 271  ข้อหาไม่มีความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ โดยนายวัฒนา กล่าวว่า  รายละเอียดของข้อกฎหมายในมาตรา 270 ระบุถึง ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ  ที่ทำหน้าที่ทุจริตคอร์รัปชั่น ขัดต่อจริยธรรม ใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ  ซึ่งถือว่าเป็นความผิด  แต่มาตราดังกล่าวไม่ได้ครอบคลุมถึงการกระทำผิดหน้าที่ของประธานรัฐสภา  อีกทั้งการดำเนินการประชุมรัฐสภาที่ผ่านมาไม่พบว่า ประธานฯ มีความลำเอียง หรือดำเนินการประชุมที่เข้าข่ายตามมาตราดังกล่าว  ดังนั้น การยื่นถอดถอนประธานรัฐสภาของพรรคประชาธิปัตย์นั้น จึงถือเป็นการตีความกฎหมายที่ผิด  และทำไปเพื่อต้องปลุกกระแสการประชุมสภาฯ เท่านั้น
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
สภาผู้แทนราษฎร ลงมติด้วยเสียงส่วนใหญ่ให้คงคำปรารภร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท โดยไม่มีการแก้ไข
 
19 ก.ย. 56  –  ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงมติด้วยเสียงส่วนใหญ่ให้คงคำปรารภร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท โดยไม่มีการแก้ไข ด้วยคะแนน 289 ต่อ 123 เสียง จากนั้นได้พิจารณา มาตรา 1 ต่อทันที
 
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ..... (พ.ร.บ.กู้เงิน 2ล้านล้านบาท) วาระ 2ที่คณะกรรมาธิการ พิจารณาแล้วเสร็จ โดยมีนายวิสุทธิ์  ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ได้มีมติเห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ไม่มีการแก้ไขคำปรารภร่างพระราชบัญญัติ ด้วยคะแนน 289 เสียงต่อ 123 เสียง งดออกเสียง 17 เสียง และไม่ลงคะแนน 3 เสียง จากจำนวนผู้ร่วมประชุมจำนวนทั้งหมด 432 คน
 
ทั้งนี้การอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเด็นดังกล่าวได้อภิปรายแสดงความเห็นเกี่ยวกับความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องกู้เงินจำนวน 2 ล้านล้านบาทเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ และชี้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงินจำนวนมากถึง 2 ล้านล้านบาทเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว
 
ขณะที่นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ยืนยันว่า คณะกรรมาธิการจะไม่มีการเปลี่ยนคำปรารภในร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท หลังจากนั้นที่ประชุมจึงลงมติ และได้พิจารณาในมาตรา 1 ต่อทันที
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ส.ปชป. เรียกร้อง พล.ต.อ.ประชา-นายกิตติรัตน์ ลงพื้นที่หารือเกษตรกรแก้ปัญหาม็อบสวนยาง
 
19 ก.ย. 56 - ส.ส.ใต้ ปชป. แถลงข่าวเรียกร้องรัฐ สร้างความกระจ่างกรณีความยุติธรรมในการชุมนุมของเกษตรกรและ การประกันราคายางที่ 90 บาท/ก.ก. พร้อมแนะ พล.ต.อ.ประชา และ นายกิตติรัตน์ ลงพื้นที่หารือเกษตรกรเพื่อแก้ปัญหา
 
ส.ส.ภาคใต้พรรคประชาธิปัตย์ นำโดย นายวิทยา แก้วภราดัย และนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้ากรณีการชุมนุมของเกษตรกรส่วนยาง จ.นครศรีธรรมราชว่า จากที่ได้หารือกับนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยทราบว่า หลังจากคณะ ส.ส.ลงพื้นที่และชาวบ้านตั้งตัวแทนขึ้นมาเจรจากับภาครัฐแล้วสถานการณ์ต่างๆ เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น และ รตช.ระบุว่าสามารถอำนายความสะดวกในเรื่องกระบวนการชุมนุมและความยุติธรรมให้ แต่เรื่องข้อเรียกร้องนอกเหนืออำนาจหน้าที่ที่จะทำได้ ตนจึงได้เสนอ รมช.มหาดไทยไปว่า หากต้องการยุติปัญหาไม่ให้บานปลายไปมากกว่านี้ รัฐบาลควรลดความกังวลและสร้างความกระจ่างเรื่องความยุติธรรมในการชุมนุมของเกษตรกร และ กรณีข้อตกลงว่ารัฐจะประกันราคายางให้ที่ 90 บาท/กิโลกรัม ไม่ใช่จ่ายเงินค่าเครื่องมือการเกษตรให้ 2,520 บาท/ไร่แทน ซึ่งเกษตรกรถือว่ารัฐบาลผิดข้อตกลง อย่างไรก็ตามเห็นว่า พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ควรลงพื้นที่พูดคุยปัญหากับเกษตรกรด้วยตนเองโดยเร็ว หรือหากต้องการหารือกับ ส.ส.ในพื้นที่ก่อนก็พร้อมและยินดี
 
นายเทพไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลใน 3 ประเด็น คือ 1. รัฐบาลต้องปรับทัศนคติต่อกลุ่มผู้ชุมนุมม็อบสวนยาง เพราะยังมีการกล่าวหาผู้ชุมนุมว่ามีพ่อค้ายาง นายทุนและนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง หากทราบจริงควรเปิดเผยชื่อ 2.ควรส่งบุคคลที่มีอำนาจตัดสินใจแก้ปัญหาลงพื้นที่พูดคุยกับเกษตรกรโดยเร็ว และ3.ต้องยืนยันข้อเสนอรับซื้อยางในราคา 90 บาท/กิโลกรัม ไม่ใช่ยื่นข้อชดเชย 2,520 บาท/ไร่ หากดำเนินการใน 3 ประเด็นนี้ได้เชื่อว่า สถานการณ์จะดีขึ้น
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
สภาผู้แทนราษฎร ลงมติ 288 ต่อ 122 ผ่านมาตรา 1 ร่างพ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท
 
19 ก.ย. 56  – ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงมติด้วยเสียงส่วนใหญ่ผ่านมาตรา 1 พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ด้วยคะแนน 288 ต่อ 122 เสียง จากนั้นได้พิจารณา มาตรา 2 ต่อ ซึ่งเกี่ยวกับวันประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติ
 
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ..... (พ.ร.บ.กู้เงิน 2ล้านล้านบาท) วาระ 2ที่คณะกรรมาธิการ พิจารณาแล้วเสร็จ โดยมีนายวิสุทธิ์  ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ซึ่งได้พิจารณาในมาตร 1 ว่าด้วยชื่อเรียกของร่างพระราชบัญญัติ โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสงวนคำแปรญัตติไว้จำนวนทั้งสิ้น 12 คน แต่มีการอภิปรายเพียง 2 คน คือ นายเจือ ราชสีห์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา และนายสาธิต ปิตุเตชะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งนี้หลังการอภิปรายแล้ว ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ไม่มีการแก้ไขมาตรา 1 ร่างพระราชบัญญัติ ด้วยคะแนน 288 เสียงต่อ 122 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง และไม่ลงคะแนน 4 เสียง จากจำนวนผู้ร่วมประชุมจำนวนทั้งหมด 426 คน และขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณา มาตรา 2 ซึ่งว่าด้วยวันประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติ
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
กลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-อังกฤษ จัดสัมมนาพัฒนาการระบอบประชาธิปไตยในอังกฤษ
 
19 ก.ย. 56 - กลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-อังกฤษ ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาพัฒนาการระบอบประชาธิปไตยในอังกฤษ โดยเอกอัครราชทูต ยอมรับประชาธิปไตยของอังกฤษยังไม่สมบูรณ์แบบ
 
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-อังกฤษ  กล่าวในการสัมมนาที่กลุ่มมิตรภาพจัดขึ้น เรื่องพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยในอังกฤษ ว่า ระบอบประชาธิปไตยในอังกฤษ เป็นแม่แบบของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่และมีระบบการปกครองที่คล้ายคลึงกับประเทศไทย ในขณะที่นายมาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประชาธิปไตยในอังกฤษเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานและเหตุที่สามารถก้าวผ่านเวลามาได้เพราะทุกคนได้เข้ามีส่วนร่วมและแสดงความเห็นทางการเมือง ขณะที่สื่อมวลชนในอังกฤษทุกแขนงถือเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการตรวจสอบรัฐบาล มีเสรีภาพ สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเปิดเผย สื่อจึงนับเป็นเกราะสำคัญในระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษ นอกจากนี้ 3 อำนาจหลักของอังกฤษต่างยอมรับในเกียรติของกันและกัน โดยเฉพาะฝ่ายตุลาการและนิติบัญญัติไม่เคยเกิดความขัดแย้งกันเพราะเคารพในอำนาจของแต่ละฝ่าย
 
เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวด้วยว่าอังกฤษไม่เคยเกิดเหตุรัฐประหาร เนื่องจากประชาชนเลือกใช้วิธีที่จะไม่ลงคะแนนเลือกตั้งครั้งต่อไปให้กับรัฐบาลที่บริหารไม่ดีแทน ในขณะที่ฝ่ายค้านนับว่ามีบทบาทสำคัญมากในอังกฤษที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการออกกฎหมายและนโยบายของรัฐบาลอย่างสร้างสรรค์โดยไม่ค้านทุกเรื่องโดยเฉพาะในเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม ยอมรับประชาธิปไตยของอังกฤษยังไม่สมบูรณ์แบบแต่ยังคงมีการเผชิญหน้าอยู่เรื่อย ๆ คล้ายกับไทย ที่สำคัญต้องไม่ให้สื่อใช้อำนาจในทางที่ผิดด้วย
 
ขณะนักวิชาการ และ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ระบุ อังกฤษมีการปฏิรูประบบรัฐสภาและมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ประชาธิปไตยแบบค่อยเป็นค่อยไปต่างกับไทยที่เปลี่ยนชั่วข้ามคืน วอนทุกฝ่ายในสังคมเข้ามีส่วนร่วม
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง 
 
สภาผู้แทนราษฎร มีมติให้ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มีผลบังคับใช้ถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
19 ก.ย. 56  –  ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงมติด้วยเสียงส่วนใหญ่ให้ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มีผลบังคับใช้ถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ด้วยคะแนน 292 ต่อ 111 เสียง
 
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ..... (พ.ร.บ.กู้เงิน 2ล้านล้านบาท) วาระ 2ที่คณะกรรมาธิการ พิจารณาแล้วเสร็จ โดยมีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ซึ่งได้พิจารณาในมาตร 2 ว่าด้วยวันประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติ โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสงวนคำแปรญัตติไว้จำนวนทั้งสิ้น 7 คน ทั้งนี้หลังการอภิปรายแล้ว ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่กำหนดให้ร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มีผลบังคับใช้ในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ด้วยคะแนน 292 เสียงต่อ 111 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง และไม่ลงคะแนน 4 เสียง จากจำนวนผู้ร่วมประชุมจำนวนทั้งหมด 419 คน และขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณา มาตรา 3 ซึ่งว่าด้วยความหมายของโครงการที่ปรากฏในร่างพระราชบัญญัติ
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
นักวิชาการชี้การปฏิรูปการเมืองของไทยต้องใช้เวลา
 
19 ก.ย 56 - นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์เปรียบเทียบวิวัฒนาการประชาธิปไตยในอังกฤษกับไทย ชี้การปฏิรูปการเมืองของอังกฤษสำเร็จได้ด้วยฉันทามติ แต่ของไทยต้องใช้เวลา เหตุผล และดึงทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม
 
รศ.ม.ร.ว.พฤทธิสาน ชุมพล อ.พิเศษคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในการสัมมนาของกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-สหราชอาณาจักร เรื่องพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยในอังกฤษ โดย รศ มรว.พฤทธิสาน กล่าวว่า ประชาธิปไตยของไทยเป็นการเปลี่ยนแปลงชั่วข้ามคืน ต่างจากอังกฤษซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปมากว่า 700 ปี ขณะที่ ศ.ดร.กนก กล่าวว่าแม้อังกฤษจะไม่มีรัฐธรรมนูญแต่อังกฤษใช้กฎหมายจารีต ขนบประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติตลอดจนกฎหมายที่บัญญัติโดยรัฐสภา ที่แสดงถึงความเคารพคนในสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนการตรวจสอบถ่วงดุลที่ยังไม่ปรากฏในประเทศไทยคือการที่ฝ่ายค้านอังกฤษจะตั้งกระทู้ถามนายกฯ ในทุกเที่ยงของวันพุธเป็นเวลา 30 นาที โดยนายกฯ จะต้องเป็นผู้ตอบด้วยตัวเองเพื่อแสดงภาวะผู้นำ ซึ่งนับเป็นการตรวจสอบฝ่ายบริหารที่เข้มข้นมากและหากนายกฯ ตอบได้ดีจะได้รับคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไปแต่ในทางกลับกันหากตอบไม่ดีฝ่ายค้านจะกลายเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งแทน ส่วนการทำหน้าที่ของประธานสภาสามัญของอังกฤษ จะรักษาความเป็นกลางอย่างเข้มงวดโดยประกาศตัดขาดจากพรรคการเมืองสังกัดระหว่างทำหน้าที่ ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าวิวัฒนาการทางการเมืองและการปฏิรูปการเมืองของอังกฤษ จะสำเร็จก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นพ้องต้องกันหรือฉันทามติ จากทุกฝ่ายและคนในสังคม  ส่วนการปฏิรูปการเมืองของไทยจะสำเร็จลงได้ย่อมต้องใช้เวลา เหตุผล นำทุกฝ่ายในสังคมเข้ามามีส่วนร่วม โดยไม่สามารถทิ้งบุคคลหรือกลุ่มใดไว้ข้างหลังได้เช่นเดียวกัน
 
ทั้งนี้ ในการสัมมนาดังกล่าว ยังมีนายมาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยเข้าร่วมด้วย โดยเอกอัครราชทูตยอมรับประชาธิปไตยของอังกฤษยังไม่สมบูรณ์แบบแต่ยังคงมีการเผชิญหน้าอยู่เรื่อย ๆ คล้ายกับไทย แต่สิ่งสำคัญที่ทำอยู่คือให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และใช้สื่อมวลชนเป็นเกราะสำคัญเพราะให้เสรีภาพสื่อมวลชนเต็มที่ในการแสดงความคิดเห็น
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง 
 
หัวหน้าพรรครักประเทศไทย หอบหลักฐานส่งมอบ รมต.คมนาคม ระบุ สาเหตุรถไฟตกรางเพราะทุจริตใช้เหล็กไม่ได้มาตรฐาน 
 
19 ก.ย. 56 - นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ระบุ เหตุรถไฟไทยตกรางบ่อยครั้งเพราะจัดซื้อรางเหล็กและหินที่ไม่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานการใช้งาน พร้อมนำหลักฐานส่อทุจริต ส่งมอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเร่งสอบ 
 
นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย แถลงข่าวเปิดเผยสาเหตุรถไฟไทยตกรางบ่อยครั้ง โดยเชิญนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมรับฟังการแถลงและรับเอกสารหลักฐานด้วย โดยนายชูวิทย์ กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้รถไฟในประเทศไทยตกรางเนื่องจาก บ.อิตาเลี่ยนไทย ผู้รับเหมาจัดซื้อรางเหล็กที่เล็ก ไม่มีคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐานมาใช้ ซึ่งเหล็กดังกล่าวเป็นชนิด BS100A โดยสั่งซื้อมาจาก บ.อันซาน ในประเทศจีน ซึ่งบริษัทดังกล่าวเพิ่งผลิตเหล็กขนาดดังกล่าวขายให้กับไทยเป็นรายแรก อีกทั้งยังจัดซื้อมาในราคาต่ำกว่ามาตรฐานที่ระบุไว้ตันละ 45,000 บาท แต่ซื้อมาในราคา 20,000 บาท นอกจากนี้ นายชูวิทย์ ระบุถึงการสร้างทางรถไฟที่ใช้หินไม่มีคุณภาพตรงตามการใช้งานและยังเป็นการขุดหินจากที่ริมทางรถไฟมาโม่แล้วขายกลับให้การรถไฟใช้ทำทาง พร้อมนำภาพหลักฐานบริเวณเส้นทางรถไฟ สถานีโคกคลี กม.ที่ 249 ลำนารายณ์-บัวใหญ่ ต.ลำสนธิ อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี มาแสดงด้วย
 
นายชูวิทย์ กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องให้รัฐมนตรีมารับฟังการแถลงข่าวของตนนั้น เนื่องจากตนไม่ได้ขอสงวนคำแปรญัตติไว้ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2 ล้านล้านบาท จึงถือเป็นมิติใหม่ที่รัฐบาลยอมมารับฟังปัญหาและการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติโดยตรงเป็นการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์
 
ด้าน นายชัชชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จะให้ผู้ว่าการรถไฟนำเอกสาร หลักฐาน ที่ นายชูวิทย์ มอบให้ไปทำการตรวจสอบต่อไป ขณะที่ นายกฯ เองเน้นย้ำเรื่องความโปร่งใส การแข่งขันที่เป็นธรรม ได้มาตรฐาน และจะแจ้งผลการตรวจสอบให้ นายชูวิทย์ ทราบต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง 
 
ผู้นำฝ่ายค้านฯ ชี้รัฐบาลไม่จำเป็นออก พ.ร.บ.กู้เงิน ก็สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมของประเทศได้
 
19 ก.ย. 56 - ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ระบุ การออกพ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้าน อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญและพยายามหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ชี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมไม่จำเป็นต้องกู้เงินก็สามารถทำได้
 
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายถึงร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ หรือร่างพ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณาในวาระ 2 ในส่วนมาตรา 3 ซึ่งเกี่ยวกับนิยามความหมายของคำว่า โครงการ แผนงาน ยุทธศาสตร์ โดยผู้นำฝ่ายค้านฯ ได้อภิปรายว่า การออกร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ และนำมาซึ่งปัญหาการจัดการและความโปร่งใส รวมถึงพยายามหลีกเลี่ยงหมวด 8 ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าต้องมีรายละเอียดของการจ่ายงบประมาณให้ชัดเจน ขณะที่โครงการก็ไม่ได้นำเสนอเป็นกฎหมายจึงไม่มีหลักประกันว่ารัฐบาลอาจนำเงินที่กู้ไปใช้ในโครงการอื่น นอกจากนี้ผู้นำฝ่ายค้านฯ ยังกล่าวต่อด้วยว่า เหตุผลที่รัฐบาลบอกว่าจำเป็นต้องออกพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เนื่องจากต้องการให้การดำเนินโครงการเกิดความต่อเนื่องนั้น ตนเห็นว่าฟังไม่ขึ้น เพราะที่ผ่านมาประเทศได้ดำเนินโครงการใหญ่ๆ หลายโครงการ เช่น โครงการสร้างสนามบิน รถไฟฟ้าบีทีเอส ก็ไม่จำเป็นต้องออกเป็น พ.ร.บ. กู้เงิน
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์ นูโพนทอง ผู้สื่อข่าว/เรียบเรียง
 
สภาผู้แทนฯ เห็นชอบมาตรา 3 พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท
 
20 ก.ย. 56 -  ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบตามกรรมาธิการฯ ในมาตรา 3 ของร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ...ด้วยเสียง 282 เสียง ต่อ 98 เสียง ที่ระบุยุทธศาสตร์ แผนงาน หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเจ้าของโครงการในร่างกฎหมาย
 
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบตามกรรมาธิการฯ ในมาตรา 3 ของร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... (ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท) ด้วยเสียง 282 เสียง ต่อ 98 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง หลังมีผู้แปรญัตติขอสงวนความเห็นและอภิปรายเป็นจำนวนมากต่อเนื่องจากการประชุมวานนี้ ที่พักการประชุมไปเมื่อเวลาประมาณ 21 นาฬิกาเศษ และภายหลังลงมติในมาตรา 3 แล้ว ที่ประชุมได้ทำการพิจารณาต่อเนื่องในมาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการใน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ซึ่งผู้แปรญัตติส่วนใหญ่ ขอสงวนความเห็นให้นายกฯ มีส่วนรับผิดชอบเป็นผู้รักษาการด้วย
 
สำหรับ มาตรา 3 มีเนื้อหาเกี่ยวกับการคำนิยามของยุทธศาสตร์ แผนงาน ซึ่งระบุอยู่ในบัญชีแนบท้ายของร่าง พ.ร.บ.ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบไว้ เช่น ยุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าทางถนนสู่การขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า ที่ระบุแผนงานพัฒนาและปรับปรุงโครงข่ายรถไฟที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เป็นโครงข่ายการขนส่งหลักของประเทศ และมีการระบุข้อมูลเส้นทางประกอบพร้อมกำหนดวงเงินสำหรับแผนงานไว้ เป็นต้น รวมถึงการนิยามหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานเจ้าของโครงการ ซึ่งต้องเป็นหน่วยงานที่ได้รับอนุมัติหรือมอบหมายให้ดำเนินโครงการตามแผนงาน
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ส.ส.ใต้ ปชป.ย้ำ รัฐช่วยปัจจัยการผลิต 2,520 บาท/ไร่ ไม่ตอบโจทย์ปัญหาราคายาง 
 
20 ก.ย. 56 - ส.ส.ปชป. ย้ำ รัฐบาลช่วยเหลือปัจจัยการผลิต 2,520 บาท/ไร่ ไม่ตอบโจทย์เกษตรกรสวนยางและเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด พร้อม ชี้ กรณีรัฐบาลออกมายืนยันว่า มีกลุ่มพ่อค้ากักตุนยาง หนุนหลังม็อบและจะส่งข้อมูลสต๊อกยางที่อยู่ในภาคเอกชน 300,000 ตันคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคายางตรวจสอบ เป็นการซ้ำเติมปัญหา  
 
ส.ส.ภาคใต้ ปชป.นำโดย นายอาคม เอ่งฉ้วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช แถลงข่าวถึงสถานการณ์ยางพาราว่า การที่รัฐบาลช่วยเหลือปัจจัยการผลิต 2,520 บาท/ไร่ ไม่เกิน 25 ไร่ ก่อให้เกิดปัญหาอย่างมากเพราะไม่ตอบโจทย์ของเกษตรกร ไม่เกิดความเป็นธรรมกับสวนที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดิน อีกทั้งการยื่นเอกสารขึ้นทะเบียนก็มีความซับซ้อนเพราะยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน จึงต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาให้ตรงจุด เช่น บริหารให้ราคายางไม่ต่ำกว่า 90 บาท แต่หากยกระดับราคายางไม่ได้รัฐบาลอาจใช้วิธีการจ่ายส่วนต่าง ส่วนปัญหาราคาปาล์มน้ำมันที่มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 3.50-4 บาท/กิโลกรัมนั้น หากปล่อยไว้โดยไม่แก้ไขแนวโน้มจะลดลงเหลือ 3 บาท จึงต้องการให้รัฐบาลเร่งสกัดไม่ไห้นำน้ำมันปาล์มเข้าประเทศและบริหารจัดการปาล์มที่อยู่ในสต๊อก 400,000 ตัน เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาดิ่งลง
 
ด้านนายชินวรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่รัฐบาลออกมายืนยันว่า มีกลุ่มพ่อค้ากักตุนยางนำไปสู่การส่งท่อน้ำเลี้ยงให้ผู้ชุมนุมและกักตุนยางไว้ที่ จ.นครศรีธรรมราช 2.7 หมื่นตัน เป็นการกระทำของพ่อค้าเพื่อหวังผลแสวงหากำไรนั้น เป็นการซ้ำเติมและโยนความผิดให้กับผู้ประกอบการ และขอชี้แจงว่า ยางจำนวนดังกล่าวเป็นของผู้ประกอบการที่จะนำเข้าสู่กระบวนการรมควันและส่งขายต่างประเทศ และที่น่าตกใจอีกประการหนึ่งคือ กรณีที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร แถลงข่าวว่า จะส่งข้อมูลสต๊อกยางที่อยู่ในภาคเอกชนทั้งหมด 300,000 ตันให้กับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคายางตรวจสอบนั้น หากพ่อค้าตื่นตระหนกและไม่รับซื้อยางทั่วประเทศจะเป็นการซ้ำเติมการแก้ไขปัญหาราคายาง ดังนั้นขอเรียกร้องให้รัฐบาลค้นหาความจริงและแก้ปัญหาราคายางให้ถูกทาง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรสวนยางอย่างแท้จริง
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
ที่ประชุมสภาฯ เห็นชอบมาตรา 4 ให้ รมต.คลัง เป็นผู้รักษาการในร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท 
 
20 ก.ย. 56 - ที่ประชุมสภาฯ มีมติเห็นชอบในมาตรา 4 ด้วยเสียง 289 เสียง ต่อ 103 เสียง ให้ รมต.คลัง เป็นผู้รักษาการในร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ตามความเห็นของกรรมาธิการ ก่อนเข้าสู่การพิจารณา มาตรา 5 ให้อำนาจ ก.คลัง กู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศวงเงินไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท ภายใน 31 ธ.ค.63
 
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบตามกรรมาธิการฯ ในมาตรา 4 ของร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... (ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท) ด้วยเสียง 289 เสียง ต่อ 103 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง หลังมีผู้แปรญัตติขอสงวนความเห็นและอภิปรายในเนื้อหาของมาตราที่เดิมระบุให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการใน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว แต่ผู้แปรญัติจำนวนหนึ่งขอให้มีนายกฯ หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมรักษาการในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วย ขณะที่การอภิปรายมีนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และ นายวุฒิพงษ์ นามบุตร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ข้อแก้ไขให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการและปฏิบัติตาม กฎหมายฉบับนี้ ก่อนจะมีการลงมติ
 
จากนั้น ที่ประชุมพิจารณา หมวด 1 การกู้เงินและการบริหารจัดการเงินกู้ ซึ่งไม่มีการแก้ไข ก่อนเข้าสู่การพิจารณามาตรา 5 ในขณะนี้ ที่ระบุ ให้กระทรวงการคลังโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศในนามรัฐบาลเพื่อนำไปใช้จ่ายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ ตามยุทธศาสตร์และแผนงานและวงเงินที่กำหนดในบัญชีแนบท้าย ซึ่งทั้งหมดต้องมีมูลค่ารวมไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท ภายในกำหนดเวลาไม่เกิน วันที่ 31 ธ.ค. 63
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว / เรียบเรียง 
 
ส.ส.เพชรบูรณ์ พท. เรียกร้องกรมชลประทานทำโครงการแก้มลิงป้องกันน้ำท่วมน้ำแล้งในพื้นที่ อ.ชนแดน และ อ.วังโป่ง 
 
20 ก.ย. 56 - ส.ส.เพชรบูรณ์ พรรคเพื่อไทย เรียกร้องกรมชลประทานเร่งดำเนินการโครงการแก้มลิงในพื้นที่ อ.ชนแดน และ อ.วังโป่ง  ชี้ ประชาชนเดือดร้อนกับปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซากมานานแล้ว
 
นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ ส.ส.จังหวัดเพชรบูรณ์ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงปัญหาความเดือดของประชาชนในพื้นที่ อ.ชนแดน และ อ.วังโป่ง ว่า ในช่วงนี้เป็นฤดูฝน ซึ่งตนได้หารือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้งแล้ว เกี่ยวกับการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ตนเกรงว่าประชาชนจะต้องประสบกับปัญหาน้ำหลากที่ไหลมาจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ เพราะฝนตกหนัก   ขณะที่ฤดูแล้งก็ไม่มีน้ำใช้ เพราะไม่การการกักเก็บน้ำไว้ ตนจึงอยากหารือไปยังกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เร่งทำโครงการแก้มลิง หลังที่ได้บรรจุในแผนงานจังหวัดไว้นานแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า  ซึ่งตนขอร้องให้ดำเนินการแก้ไขป้องกันโดยเร็ว  ก่อนที่ประชาชนจะต้องเดือดร้อนกับปัญหาซ้ำซากเหมือนเช่นเคย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ส.ปชป. เรียกร้อง กระทรวงศึกษาฯกำหนดนโยบายการศึกษาให้สอดคล้องกับพัฒนาการเด็ก
 
20 ก.ย. 56 - ส.ส.แทนคุณ ปชป. เรียกร้อง กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญภาษาต่างประเทศ และกำหนดนโยบายด้านการศึกษาให้สอดคล้องกับพัฒนาการเด็ก หวังพัฒนาเด็กไทยให้มีคุณภาพรองรับก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
 
นายแทนคุณ จิตต์อิสระ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเรียกร้องกระทรวงศึกษาธิการให้มุ่งเน้นความสำคัญในการเรียนภาษาต่างประเทศให้กับนักเรียนไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะภาษาอังกฤษและภาษาจีน เนื่องจากเกณฑ์ภาษาต่างประเทศของนักเรียนไทยในขณะนี้อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง ตลอดจนขอให้ส่งเสริมด้านคุณธรรมและจริยธรรม ระเบียบวินัย และความรับผิดชอบต่อส่วนรวม เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการศึกษาไทย เพราะปัจจุบันได้มีการสนับสนุนให้เด็กมีการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีสื่อสารตั้งแต่อายุยังน้อย อาทิ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ ซึ่งผลการวิจัยจากหลายมหาวิทยาลัย พบว่า การที่เด็กใช้แท็บเล็ตตั้งแต่อายุยังน้อยส่งผลให้เด็กมีสมาธิสั้นและมีพฤติกรรมไม่สนใจเรียน ดังนั้นจึงขอให้กระทรวงศึกษาธิการกำหนดนโยบายด้านการศึกษาให้สอดคล้องกับหลักจิตวิทยาพัฒนาการเด็กด้วย เพื่อพัฒนาเด็กไทยให้มีคุณภาพรองรับก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
 
ส.ส.แทนคุณ ยังกล่าวเรียกร้อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหาแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อาทิ การขุดลอกคูคลอง และการดำเนินการกับผู้รุกล้ำพื้นที่ชายคลองตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้เร็วยิ่งขึ้น
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ประธานสภาผู้แทนราษฎร นัดประชุมสภาฯ แถลงผลงานรัฐบาล วันที่ 24 ก.ย. นี้
 
20 ก.ย. 56  –  ประธานสภาผู้แทนราษฎรมีคำสั่งนัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญทั่วไป เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณารับทราบผลงานของรัฐบาล ในวันที่ 24 กันยายน 2556 ในเวลา 14.00 น.
 
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรมีคำสั่งนัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญทั่วไป เป็นพิเศษ ในวันที่ 24 กันยายน 2556 ในเวลา 14.00 น. เพื่อพิจารณารับทราบรายงานผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปีที่หนึ่ง (23 ส.ค.54-23 ส.ค.55) ที่ค้างมาจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 27 สมัยสามัญนิติบัญญัติ เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2556
 
ทั้งนี้ รายงานฉบับดังกล่าว สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ส่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย.55 โดยมีรายละเอียดทั้งหมด 225 หน้า และแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ 1 ผลการดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วน ส่วนที่ 2 ผลการดำเนินการตามนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มี 9 แนวนโยบาย ได้แก่ 1.แนวนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐ 2.แนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 3.แนวนโยบายด้านศาสนา สังคม การสาธารณสุข การศึกษา และวัฒนธรรม 4.แนวนโยบายด้านกฎหมายและการยุติธรรม และ5.แนวนโยบายด้านการต่างประเทศ 6.แนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ 7.แนวนโยบายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 8.แนวนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ ทรัพย์สินทางปัญญา และพลังงาน และ 9.แนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
ที่ประชุมสภามีมติผ่านความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทแล้ว
 
20 ก.ย. 56 - ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้าน ด้วยคะแนน 287 ต่อ 105 เสียง โดยร่างพระราชบัญญัติจะมีผลบังคับใช้ในวันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ หรือร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท โดยมีนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ทำหน้าที่ประมาณในที่ประชุม ซึ่งหลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาในวาระ 2 ครบทุกมาตรา และพิจารณาบัญชีแนบท้ายร่างพระราชบัญญัติแล้ว เมื่อเวลา 23.25 น. ที่ประชุมสภาผู้แมนราษฎรได้มีมติผ่านความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในวาระ 3 ด้วยคะแนน 287 เสียงต่อ 105 เสียง งดออกเสียง 11 เสียง ไม่คะแนน 3 เสียง จากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนทั้งหมด 406 คน จากนั้นในเวลาประมาณ 23.30 น. ประธานในที่ประชุม ได้สั่งปิดการประชุม สำหรับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่มีการแก้ไขและเห็นด้วยกับร่างที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว ทั้งนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์ นูโพนทอง ผู้สื่อข่าว/เรียบเรียง
 
ไม่ยอมแพ้!ปชป.จ่อชง ศาลรธน.ร่างคำร้อง 2 ล้านล้าน ขัด ม.169
 
21 ก.ย. 56 - ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงขั้นตอน การตรวจสอบ ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาทว่า ยังไม่จบ พรรคประชาธิปัตย์ จะติดตามตรวจสอบ 
 
โดยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หมวด 8 ว่าด้วยวินัยการคลัง โดยสัปดาห์หน้า คณะทำงานฝ่ายกฎหมายเศรษฐกิจของพรรค จะร่างคำร้องเสร็จ แต่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญหลังจากวุฒิสภาพิจารณา 
 
และวันที่ 23 ก.ย.นี้ เวลา 12.00 น. ที่สโมสรราชพฤกษ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะแถลง "แผนการลงทุนเพื่อสร้างอนาคตไทยเข้มแข็ง 2020" เพื่อให้ประชาชน นำเปรียบเทียบกับ แผนกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งมั่นใจว่า โครงการนี้จะตอบโจทย์ให้ประเทศไทยมากกว่า และหลังจากแถลง จะให้ข้อมูลผ่านเวทีผ่าความจริงของพรรคทุกสัปดาห์ แต่จะไม่จัดเวทีประกบกับเวทีโรดโชว์ของรัฐบาล เนื่องจากไม่มีงบประมาณเพียงพอ อีกทั้งเชื่อว่า โรดโชว์ ดังกล่าวจะให้ข้อมูลที่บิดเบือน ไม่ได้สะท้อนข้อเท็จจริง 
 
เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทย ถามหาความรับผิดชอบ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ นายกรณ์ กล่าวว่า เป็นคำถามที่ไร้สาระ ฝ่ายค้าน มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมาไม่ใช่เฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ แต่นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้แนะนำแล้วว่าร่างพ.ร.บ.นี้ ขัดรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลกลับดื้อดึง นำความเสี่ยงมาสู่ประเทศ 
 
ดังนั้นในการโรดโชว์ของรัฐบาล ไปยังทั่วประเทศ สิ่งที่รัฐบาลต้องการ คือ ทำไมต้องนำพาประเทศให้เกิดความเสี่ยงขนาดนี้ 
 
ด้าน นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ มั่นใจว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 ที่บัญญัติว่า การจ่ายเงินแผ่นดิน จะกระทำได้เฉพาะที่อนุญาตไว้ในกฎหมายว่า ด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายที่เกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เว้นแต่กรณีจำเป็นเร่งด่วน รัฐบาลจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ 
 
ซึ่งหากเกิดผลเสียขึ้นมา รัฐบาล จะต้องรับผิดชอบ กับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น  นอกจากนี้ การจัดงบประมาณเงินกู้จะทำให้เกิดโครงการเล็กๆ มากกว่า โครงการระดับใหญ่ และสามารถสับเปลี่ยนโครงการได้ตามใจชอบ ซึ่งจะนำสู่แนวคิดที่ว่า ถ้าไม่เลือกเพื่อไทย ก็จะไม่ได้งบประมาณ วันนี้รัฐบาลพาประเทศไปสู่ความเสี่ยง เพียงเพราะต้องการให้มีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษเท่านั้น
 
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์
 
"พท."คาด"ปชป."ใช้แถลงผลงานซักฟอกรบ.กำชับส.ส.ทุกคนร่วมประชุมสภา งดลงพื้นที่
 
22 ก.ย. 56 - ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษก พท. แถลงว่า วันที่ 23 กันยายน พรรคเรียกประชุม ส.ส.เพื่อเตรียมหารือถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อรับทราบผลการดำเนินงานของรัฐบาลในวันที่ 24-25 กันยายน ทราบว่า พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้เตรียมผู้อภิปรายไว้ถึง 60 คน จะได้ทำความเข้าใจกับ ส.ส.ว่า ฝ่ายค้านคงจะใช้เวลานี้เหมือนกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจย่อย ก่อนมีการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจจริง
 
จึงอยากให้ ส.ส.ของพรรคได้วางกรอบในการอภิปราย กำหนดคนอภิปราย รวมทั้งต้องมีการจัดทีมการทำงาน หากฝ่ายค้านพาดพิงและอภิปรายนอกกรอบ แต่จะไม่มีการตั้งองครักษ์พิทักษ์นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เพียงแต่ถ้ามีพาดพิงออกนอกกรอบ และพูดถึงบุคคลภายนอก ก็ต้องมีการประท้วงบ้าง
 
"พรรคจะได้กำชับให้ ส.ส.ของพรรคทุกคน เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 24 กันยายนอย่างพร้อมเพรียงกัน และให้งดภารกิจการลงพื้นที่ทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน ไปจนถึงวันที่ 28 กันยายน ที่จะมีการลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มาของ ส.ว.ในวาระ 3 แบบขานชื่อ ส.ส.ของพรรคจะต้องอยู่เต็มองค์ประชุม แม้ในพื้นที่จะมีเหตุน้ำท่วม และประชาชนได้รับความเดือดร้อน ก็ขอให้มาทำหน้าที่ของ ส.ส.ในสภาก่อน" นายพร้อมพงศ์กล่าว
 
ที่มา: มติชนออนไลน์
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน": ก้าวข้ามผ่านหรือผลิตซ้ำอคติเดิมๆ?

Posted: 22 Sep 2013 02:49 AM PDT

 

ในขณะที่ประเทศไทยของเราอ้างตัวเองเสมอว่าเป็นประเทศที่ให้อิสระกับคนรักเพศเดียวกันถึงขนาดตั้งเป็นสโลแกนสวยหรู "go thai. be free." เพื่อดึงดูดด้านนักท่องเที่ยวจากต่างชาติโดยเฉพาะคนรักเพศเดียวกัน  แต่ในขณะเดียวกันการผลักดันสิทธิการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันกลับเกิดขึ้นช้ากว่าประเทศอื่นๆที่ผิวเผินดูเหมือนว่าจะปิดกั้นกว่าประเทศเราเสียอีก  อันที่จริงเราอาจพูดไม่ได้เสียด้วยซ้ำว่าเรามีความตั้งใจที่จะผลักดันให้นโยบายนี้เกิดขึ้นจริงๆ แต่เป็นเพราะประเทศหัวก้าวหน้าเขาไฟเขียวเรื่องนี้กันไปแล้ว และประเทศไทยที่อ้างตัวเองว่ามีความพิเศษเหนือประเทศอื่นๆหรือเป็นผู้นำในเรื่องความหลากหลายทางเพศจะไม่พูดหรือผลักดันเรื่องนี้ได้อย่างไร? นี่เองที่เป็นสาเหตุที่ว่าทำไมเราจึงต้องพูดเรื่องนี้ ตอนนี้ แต่ก็กระนั้นก็เถอะ..."มาแล้วยังดีกว่ามาช้า มาช้ายังดีกว่าไม่มา"

สาเหตุที่การผลักดันนโยบายเรื่องการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันในประเทศไทยเกิดขึ้นล่าช้ากว่าที่อื่นอาจเป็นเพราะการตระหนักรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพของคนไทยยังมีน้อยและล้าหลัง  เราจึงมองไม่เห็นความสำคัญที่จะเรียกร้องความเท่าเทียมในเรื่องเพศ รวมถึงสภาพการมีอยู่ของคนรักเพศเดียวกันในสังคมไทยก็ไม่ได้ตกต่ำหรือถูกกดขี่ถึงขั้นเดือดร้อนและต้องออกมาเรียกร้องอะไร  หรือถ้าจะออกมาเรียกร้องก็เป็นเพียงการขอโอกาสจากสังคมโดยยอมรับว่าตัวเองเป็นผู้ป่วยหรือคนผิดปกติอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เผยให้เห็นว่าแม้กระทั่งคนรักเพศเดียวกันเองก็ยังยอมรับสถานะคนชายขอบของสังคม อีกทั้งสังคมก็เลี้ยงดูคนรักเพศเดียวกันราวกับเป็นทาสที่ิอยู่ดีกินดีจนหลงลืมไปว่าตัวเองยังอยู่ในสถานะของทาสหรือผู้ด้อยกว่า  แล้วจะมาถามหาอะไรกับคำว่าเสรีภาพและความเท่าเทียม?   หรือเรามีความสุขและพึงพอใจกับอภิสิทธิ์บนความผิดปกติ?

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจัยในการผลักดันนโยบายนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นจากความต้องการของเราโดยตรง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการส่งเสริมนโนบายนี้น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางปัญญาต่อสังคมไทยไม่มากก็น้อย  แน่นอนว่าความคิดเห็นและข้อถกเถียงต่างๆเกี่ยวกับเรื่องเพศจะเกิดขึ้นมากมาย  ประชาชนจะหันมาสนใจและทำความเข้าใจกับเรื่องเพศมากขึ้น องค์ความรู้เรื่องเพศจากทั้งในและต่างประเทศจะถูกหยิบยกมาอ้างอิงเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่จุดยืนขอฝ่ายต่างๆที่ออกมาเสนอความคิดเห็น  ข้อถกเถียงทั้งหลายจะมาปะทะสังสันทน์กันเพื่อนำไปสู่บทสรุปว่าสุดท้ายสังคมไทยจะออกใบทะเบียนสมรสที่ถูกต้องตามกฏหมายให้แก่คนรักเพศเดียวกันหรือไม่?  ความรู้เรื่องเพศจะกระจายออกจากพื้นที่ของวงการวิชาแคบๆไปสู่พื้นที่สาธารณะและอาจเป็นประตูที่จะนำพาคนไทยออกนอกกะลาเพื่อรับรู้ว่าต่างประเทศเขาถกเถียงเรื่องนี้กันมานานแค่ไหนแล้วและเขาว่าอย่างไรกันบ้าง  และยิ่งการส่งเสริมนโยบายนี้กระตุ้นให้คนในสังคมออกความคิดเห็นมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งจะเห็นความคิดและวิวาทะของคนในสังคมที่มีต่อเรื่องเพศมากเท่านั้น     วิวาทะว่าด้วยการเหยียดเพศต่างๆจะปรากฏตัวขึ้นและอาจล้มล้างมายาคติที่เราสร้างไว้แสนสวยว่าเราเป็นผู้มีเมตตาแก่เพศที่หลากหลาย เราอาจจะต้องทบทวนตัวเองใหม่อีกครั้งว่าแท้จริงแล้วเราก็ไม่ได้ต่างจากชาติอื่นและไม่ได้เป็นผู้นำเรื่องเสรีภาพทางเพศจริงๆหรอก เพราะคนไทยก็เหยียดเพศอยู่บ่อยๆหากแต่แค่วิธีการแตกต่างออกไปจากที่อื่นก็เท่านั้น แม้กระทั่งสถาบันสื่อที่มีหน้าที่เป็นหนึ่งในกระบวนการขัดเกลาทางสังคมก็ยังผลิตสาร(message)ที่แฝงด้วยการเหยียดเพศอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในละคร  อันที่จริงควรเปลี่ยนหน้าที่จากคำว่าขัดเกลาเป็นมอมเมาน่าจะตอบโจทย์มากกว่า

ในมิติทางการเมือง การถกเถียงเรื่องเพศอาจเป็นหนึ่งในหลายประเด็นที่ผลักดันการเมืองไทยให้ไปไกลกว่าภาพการเมืองแบบเดิมๆที่มีตัวเลือกเพียงสองขั้วคือเหลืองและแดงซึ่งมีตัวละครหลักอยู่ไม่กี่ตัว  หรืออาจเปลี่ยนความเชื่อและทัศนคติที่มีต่อฝ่ายเดิมที่ตัวเองเชื่อถือ  เพราะการถกเถียงถึงนโยบายนี้จะถามประชาชนถึงทัศนคติที่มีต่อเพศ ความรัก สภาวะความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง รวมถึงนิยามของคำว่าเสรีภาพและความเท่าเทียมกันอีกด้วย  ผู้เขียนบทความเองก็ไม่ได้มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นว่าเหตุการณ์จะไปเป็นที่คาดหวังไว้เพราะต้องไม่ลืมว่าวิถีการผลักดันนโยบายนี้อาจแตกต่างจากที่อื่นไปโดยสิ้นเชิงเมื่อเกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทยที่ล่อเลี้ยงความไร้ตรรกะและยึดติดกับอคติทางเพศที่บ่มเพาะโดยคำสอนของศาสนาและคำอธิบายทางการแพทย์ซึ่งเราหลงเชื่อแบบไม่ลืมหูลืมตา

การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิการแต่งงานหรืออาจรวมถึงสิทธิการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมจะต้องไม่เป็นเพียงแค่การเรียกร้องหาโอกาสและการยอมรับของสังคมซึ่งอาจนำไปสู่จุดจบที่ล้มเหลวและผลิตซ้ำความคิดที่ว่าสังคมให้โอกาสคนรักเพศเดียวกัน และยิ่งเป็นการเป็นการตอกย้ำคนรักเพศเดียวกันในฐานะคนผิดปกติ(ถึงแม้จะมีสิทธิแต่งงานเหมือนชายหญิงแล้วก็ยังผิดปกติ!) แต่การเรียกร้องครั้งนี้ควรดำเนินควบคู่ไปกับการต่อสู้เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติที่เต็มไปด้วยอคติทางเพศของคนในสังคม   และทวงสิทธิที่จะขึ้นมายืนอยู่บนเส้นบรรทัดเดียวกับเพศกระแสหลักอย่างเท่าเทียมกันและมีศักดิ์ศรีในฐานะคนปกติที่ไม่ได้ผูกติดรสนิยมทางเพศของตนไว้กับอุดมคติของสังคม

เราจะยืนอยู่ในสังคมอย่างเท่าเทียมเหมือนคนปกติหรือจะมีความสุขกับความพิเศษที่มาพร้อมกับฐานะคนชายขอบทางเพศและรอให้เขาทั้งหลายผู้มีจิตใจเมตตาคอยป้อน "โอกาส" เข้าปากเราแล้วเดินผ่านไปในขณะที่เราเองก็ได้เพียงแต่นั่งรอคอยโอกาสครั้งใหม่อยู่ที่เดิมตรงนั้น จะลุกไปเดินอย่างใครเขาก็ทำไม่ได้... ถึงเวลาที่แล้วไหมที่เราจะต้องลุกขึ้นเดิน?

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน": ก้าวข้ามผ่านหรือผลิตซ้ำอคติเดิมๆ?

Posted: 22 Sep 2013 02:49 AM PDT

ขณะที่ประเทศไทยของเราอ้างตัวเองเสมอว่าเป็นประเทศที่ให้อิสระกับคนรักเพศเดียวกันถึงขนาดตั้งเป็นสโลแกนสวยหรู "go thai. be free." เพื่อดึงดูดด้านนักท่องเที่ยวจากต่างชาติโดยเฉพาะคนรักเพศเดียวกัน  แต่ในขณะเดียวกันการผลักดันสิทธิการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันกลับเกิดขึ้นช้ากว่าประเทศอื่นๆที่ผิวเผินดูเหมือนว่าจะปิดกั้นกว่าประเทศเราเสียอีก  อันที่จริงเราอาจพูดไม่ได้เสียด้วยซ้ำว่าเรามีความตั้งใจที่จะผลักดันให้นโยบายนี้เกิดขึ้นจริงๆ แต่เป็นเพราะประเทศหัวก้าวหน้าเขาไฟเขียวเรื่องนี้กันไปแล้ว และประเทศไทยที่อ้างตัวเองว่ามีความพิเศษเหนือประเทศอื่นๆหรือเป็นผู้นำในเรื่องความหลากหลายทางเพศจะไม่พูดหรือผลักดันเรื่องนี้ได้อย่างไร? นี่เองที่เป็นสาเหตุที่ว่าทำไมเราจึงต้องพูดเรื่องนี้ ตอนนี้ แต่ก็กระนั้นก็เถอะ..."มาแล้วยังดีกว่ามาช้า มาช้ายังดีกว่าไม่มา"

สาเหตุที่การผลักดันนโยบายเรื่องการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันในประเทศไทยเกิดขึ้นล่าช้ากว่าที่อื่นอาจเป็นเพราะการตระหนักรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพของคนไทยยังมีน้อยและล้าหลัง  เราจึงมองไม่เห็นความสำคัญที่จะเรียกร้องความเท่าเทียมในเรื่องเพศ รวมถึงสภาพการมีอยู่ของคนรักเพศเดียวกันในสังคมไทยก็ไม่ได้ตกต่ำหรือถูกกดขี่ถึงขั้นเดือดร้อนและต้องออกมาเรียกร้องอะไร  หรือถ้าจะออกมาเรียกร้องก็เป็นเพียงการขอโอกาสจากสังคมโดยยอมรับว่าตัวเองเป็นผู้ป่วยหรือคนผิดปกติอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เผยให้เห็นว่าแม้กระทั่งคนรักเพศเดียวกันเองก็ยังยอมรับสถานะคนชายขอบของสังคม อีกทั้งสังคมก็เลี้ยงดูคนรักเพศเดียวกันราวกับเป็นทาสที่ิอยู่ดีกินดีจนหลงลืมไปว่าตัวเองยังอยู่ในสถานะของทาสหรือผู้ด้อยกว่า  แล้วจะมาถามหาอะไรกับคำว่าเสรีภาพและความเท่าเทียม?   หรือเรามีความสุขและพึงพอใจกับอภิสิทธิ์บนความผิดปกติ?

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจัยในการผลักดันนโยบายนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นจากความต้องการของเราโดยตรง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการส่งเสริมนโนบายนี้น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางปัญญาต่อสังคมไทยไม่มากก็น้อย  แน่นอนว่าความคิดเห็นและข้อถกเถียงต่างๆเกี่ยวกับเรื่องเพศจะเกิดขึ้นมากมาย  ประชาชนจะหันมาสนใจและทำความเข้าใจกับเรื่องเพศมากขึ้น องค์ความรู้เรื่องเพศจากทั้งในและต่างประเทศจะถูกหยิบยกมาอ้างอิงเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่จุดยืนของฝ่ายต่างๆที่ออกมาเสนอความคิดเห็น  ข้อถกเถียงทั้งหลายจะมาปะทะสังสรรค์กันเพื่อนำไปสู่บทสรุปว่าสุดท้ายสังคมไทยจะออกใบทะเบียนสมรสที่ถูกต้องตามกฏหมายให้แก่คนรักเพศเดียวกันหรือไม่?  ความรู้เรื่องเพศจะกระจายออกจากพื้นที่ของวงการวิชาแคบๆไปสู่พื้นที่สาธารณะและอาจเป็นประตูที่จะนำพาคนไทยออกนอกกะลาเพื่อรับรู้ว่าต่างประเทศเขาถกเถียงเรื่องนี้กันมานานแค่ไหนแล้วและเขาว่าอย่างไรกันบ้าง  และยิ่งการส่งเสริมนโยบายนี้กระตุ้นให้คนในสังคมออกความคิดเห็นมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งจะเห็นความคิดและวิวาทะของคนในสังคมที่มีต่อเรื่องเพศมากขึ้นเท่านั้น    

วิวาทะว่าด้วยการเหยียดเพศต่างๆจะปรากฏตัวขึ้นและอาจล้มล้างมายาคติที่เราสร้างไว้แสนสวยว่าเราเป็นผู้มีเมตตาแก่เพศที่หลากหลาย เราอาจจะต้องทบทวนตัวเองใหม่อีกครั้งว่าแท้จริงแล้วเราก็ไม่ได้ต่างจากชาติอื่นและไม่ได้เป็นผู้นำเรื่องเสรีภาพทางเพศจริงๆหรอก เพราะคนไทยก็เหยียดเพศอยู่บ่อยๆหากแต่แค่วิธีการแตกต่างออกไปจากที่อื่นก็เท่านั้น แม้กระทั่งสถาบันสื่อที่มีหน้าที่เป็นหนึ่งในกระบวนการขัดเกลาทางสังคมก็ยังผลิตสาร(message)ที่แฝงด้วยการเหยียดเพศอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในละคร  อันที่จริงควรเปลี่ยนหน้าที่จากคำว่าขัดเกลาเป็นมอมเมาน่าจะตอบโจทย์มากกว่า

ในมิติทางการเมือง การถกเถียงเรื่องเพศอาจเป็นหนึ่งในหลายประเด็นที่ผลักดันการเมืองไทยให้ไปไกลกว่าภาพการเมืองแบบเดิมๆที่มีตัวเลือกเพียงสองขั้วคือเหลืองและแดงซึ่งมีตัวละครหลักอยู่ไม่กี่ตัว  หรืออาจเปลี่ยนความเชื่อและทัศนคติที่มีต่อฝ่ายเดิมที่ตัวเองเชื่อถือ  เพราะการถกเถียงถึงนโยบายนี้จะถามประชาชนถึงทัศนคติที่มีต่อเพศ ความรัก สภาวะความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง รวมถึงนิยามของคำว่าเสรีภาพและความเท่าเทียมกันอีกด้วย  ผู้เขียนบทความเองก็ไม่ได้มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นว่าเหตุการณ์จะไปเป็นที่คาดหวังไว้เพราะต้องไม่ลืมว่าวิถีการผลักดันนโยบายนี้อาจแตกต่างจากที่อื่นไปโดยสิ้นเชิงเมื่อเกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทยที่ล่อเลี้ยงความไร้ตรรกะและยึดติดกับอคติทางเพศที่บ่มเพาะโดยคำสอนของศาสนาและคำอธิบายทางการแพทย์ซึ่งเราหลงเชื่อแบบไม่ลืมหูลืมตา

การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิการแต่งงานหรืออาจรวมถึงสิทธิการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมจะต้องไม่เป็นเพียงแค่การเรียกร้องหาโอกาสและการยอมรับของสังคมซึ่งอาจนำไปสู่จุดจบที่ล้มเหลวและผลิตซ้ำความคิดที่ว่าสังคมให้โอกาสคนรักเพศเดียวกัน และยิ่งเป็นการเป็นการตอกย้ำคนรักเพศเดียวกันในฐานะคนผิดปกติ(ถึงแม้จะมีสิทธิแต่งงานเหมือนชายหญิงแล้วก็ยังผิดปกติ!) แต่การเรียกร้องครั้งนี้ควรดำเนินควบคู่ไปกับการต่อสู้เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติที่เต็มไปด้วยอคติทางเพศของคนในสังคม   และทวงสิทธิที่จะขึ้นมายืนอยู่บนเส้นบรรทัดเดียวกับเพศกระแสหลักอย่างเท่าเทียมกันและมีศักดิ์ศรีในฐานะคนปกติที่ไม่ได้ผูกติดรสนิยมทางเพศของตนไว้กับอุดมคติของสังคม

เราจะยืนอยู่ในสังคมอย่างเท่าเทียมเหมือนคนปกติหรือจะมีความสุขกับความพิเศษที่มาพร้อมกับฐานะคนชายขอบทางเพศและรอให้เขาทั้งหลายผู้มีจิตใจเมตตาคอยป้อน "โอกาส" เข้าปากเราแล้วเดินผ่านไปในขณะที่เราเองก็ได้เพียงแต่นั่งรอคอยโอกาสครั้งใหม่อยู่ที่เดิมตรงนั้น จะลุกไปเดินอย่างใครเขาก็ทำไม่ได้... ถึงเวลาที่แล้วไหมที่เราจะต้องลุกขึ้นเดิน?

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พ.ร.บ. สร้างอนาคตไทย 2020 ชัยชนะทางการเมืองของเพื่อไทย

Posted: 22 Sep 2013 02:31 AM PDT

ผมมองว่าการการต่อสู้ในสภาครั้งนี้ไม่ใช่พึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 19 ที่ผ่านมา แต่เกิดขึ้นมาหลายเดือนแล้ว เป็นสงครามที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเลือกตั้งผู้ว่า กรุงเทพฯ เป็นต้นมา

เป็นการต่อสู้ระหว่างการเมืองด้านบวกที่พยายามสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ทำงานหนักใกล้ชิดประชาชน กับการเมืองด้านลบ ที่พยายามยัดวาทกรรมติดป้ายชื่อเลวๆให้อีกฝ่าย ปล่อยข่าวด้านลบ ทำลายภาพลักษณ์ สร้างความเกลียดชัง ทำให้หวาดกลัว

เป็นการต่อสู้ระหว่างแนวทางบวกของเพื่อไทย และแนวทางลบของประชาธิปัตย์

ในศึกแรก เลือกตั้งผู้ว่า กทม.ฯ  พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะพยายามใกล้ชิดประชาชน เข้าพื้นที่ มีคนรักขนาดไหน กลับพ่ายแพ้วาทกรรมเผาบ้านเผาเมือง ชื่อเฟอบี้ วาทกรรมกินรวบ และความหวาดกลัวคนสีแดง ทำให้หม่อมที่เป็นแค่ "ไม้กันหมา" ชนะโดยไม่เหนื่อยมาก

แต่ความพ่ายแพ้นั้นทำให้ทีมเพื่อไทยเคี่ยวขึ้นมาก ทีมเพื่อไทยรู้แล้วว่าการเมืองด้านบวกไม่ใช่แค่การสร้างภาพลักษณ์ที่ดี แต่ต้องเป็นการตั้งรับแก้ข่าวอีกฝ่ายอย่างรวดเร็วด้วย

ทำให้ศึกต่อๆมา ผลออกมาต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ช่วงหลังข่าวที่"ให้ข้อมูลไม่หมด" ของ ปชป. ถูกจับได้อย่างรวดเร็ว (ทั้งอเมริกาบอกว่าข้าวมีสารพิษ ฯลฯ) ความพยายามจะทำลาย ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ว่าหนีดีเบทเหมือนตอนที่ทำกับเฟอร์บี้ก็ถูกป้องกันได้ (โดยการยันด้วยเอกสารราชการ รวดเร็วก่อนที่การดีเบทจะจบลงเสียอีก) และเกือบทำให้กรณ์ต้องเงิบจนต้องกล่าวโบ้ยให้เป็นความผิดของพันธมิตรตัวเองอย่างนิด้า

ภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อชัชชาตินั้นแข็งแกร่งมาก จนพรรคประชาธิปัตย์ไม่อาจอภิปรายโครงการสองล้านๆ ในวันแรกได้เลย ถึงกับต้องออกตัวว่า "ที่อภิปรายนี้ไม่ใช่ว่าจะขัดขวางความก้าวหน้าของประเทศนะ" กับ "เห็นด้วยกับโครงการ แต่ทำไมต้องกู้"

ทุกประเด็นที่ ปชป. พยายามจะสร้างวาทกรรม และความหวาดกลัวขึ้นในสภา ทั้ง "ออก พ.ร.บ. เลี่ยงการตรวจสอบ" "ขาดทุน" ฯลฯ ถูกตอกกลับด้วยข้อมูล และเหตุผลอันคมคาย เข้าใจง่าย แทบจะในทันที

ในทางกลับกัน พรรคประชาธิปัตย์เสพติดแนวทางการเมืองด้านลบที่ได้ผลจากการเลือกตั้งผู้ว่า ก.ท.ม. พยายามจะสร้างภาพลบให้ยิ่งลักษณ์ด้วยการยัดวาทกรรม "อีโง่" มาตลอด แต่กลับไม่ได้ผลมากอย่างที่คิด แถมยังถูกสวนกลับด้วยการตอกย้ำภาพลบของหัวหน้าฝ่ายค้าน จนเป็นพรรคประชาธิปัตย์เองที่สูญเสียความน่าเชื่อถือไป ถึงขนาดต้องสงสัยว่าหาก ปชป. ยังไม่เปลี่ยนแนวทางจะยังรอดอยู่ได้ในสมัยหน้าอีกหรือไม่

และสิ่งที่สร้าง "ปรากฎการณ์ชัชชาติ" ขึ้นมาในครั้งนี้ ไม่ใช่ผลจากบุคลิกของ รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เพียงคนเดียวแน่นอน

ทั้งหมดเป็นผลจากวิสัยทัศน์ของยิ่งลักษณ์ที่ถูกด่ามาตลอด

เหตุผลคือ คนที่เริ่มเรื่อง "การเมืองด้านบวก" คือยิ่งลักษณ์ และบังคับให้คนในพรรคทำตามในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดของฝ่ายบริหาร ทีมการเมืองเพื่อไทย ที่มาจาก ไทยรักไทย หรือเสื้อแดง ไม่คิดอะไรแบบนี้แน่นอน

แม้แต่ณัฐวุฒิยังล้อขำๆ บนเวทีปราศรัยว่า "ผมก็อยากด่าเขานะครับ แต่คุณปูเขาขอร้อง" แม้แต่สุดารัตน์ ยังบ่นด้วยความหัวเสียหลังแพ้เลือกตั้ง กทม.

มีแต่ยิ่งลักษณ์ที่ยืนยันแนวทาง "การเมืองด้านบวก" มาตลอด แม้จะโดนด่าขนาดไหนก็ตาม

ถ้าคุณคิดว่าโครงการอนาคตไทย 2020 เป็นของชัชชาติคุณคิดผิดมาก โครงการนี้เป็นของยิ่งลักษณ์ คนเริ่มต้นโครงการคือยิ่งลักษณ์ คนที่สั่งให้ตั้งเงินสองล้านล้านคือยิ่งลักษณ์ คนสั่งให้ทำแผนสามยุทธศาสตร์หลักคือยิ่งลักษณ์ คนตัดโครงการต่างๆ ออกไป เลือกให้เหลือเท่าที่เห็นในเอกสารแนบท้ายก็คือยิ่งลักษณ์ เป็นโครงการใหญ่ขนาดที่ยิ่งลักษณ์ยอมทิ้งอย่างอื่นทุกอย่างได้เพื่อให้มันเกิดขึ้น ทั้งย้ายกิตติรัตน์จากพาณิชย์มาเตรียมรับภาระเรื่องเงินและปล่อยให้พาณิชย์ที่ดูแลเรื่องจำนำข้าวอยู่ในมือของบุญทรงจนรัฐบาลเกือบล่ม เอาชัชชาติเข้ามาในตำแหน่งสำคัญมากใน ครม. ทั้งๆที่ไม่มีแรงหนุนทางการเมืองเลย ยอมตัดงบประชานิยมหลายอย่างเพื่อทำงบดุลฯเตรียมรับมือสองล้านๆ ฯลฯ

สำคัญที่สุดยิ่งลักษณ์ตั้งตัวเองไว้ในตำแหน่งที่ไม่ได้รับเกียรติอะไรเลยกับโครงการนี้ ตอนมันผ่านสภาคนพากันแห่แหนชัชชาติ พอรถไฟวางรางคนจะสรรเสริญชัชชาติ ถ้ามันสำเร็จคนจะสร้างอนุเสาวรีย์ชัชชาติ แต่ไม่มีใครพูดถึงยิ่งลักษณ์เลยสักนิดเดียว

เพราะใครก็รู้ว่าถ้าตัวโครงการมันผูกอยู่กับยิ่งลักษณ์ ภาพลักษณ์ โง่ โกงทั้งตระกูล จะทำให้มันล่มแน่นอน

ที่ผ่ายค้านด่ายิ่งลักษณ์ว่าโง่ ผมว่าอาจจะจริง ยิ่งลักษณ์ต้องโง่และดื้อดึงมาก โง่พอจะปล่อยให้คนฉลาดทำงานในตำแหน่งที่ตัวเองควรอยู่ และปล่อยให้คนฉลาดรับคำชมที่ตัวเองควรจะได้ไป ดื้อดึงพอจะยืนยันแนวทางที่มองโลกในแง่ดีแบบโง่ๆแม้จะทำให้แพ้ไปแล้วครั้งหนึ่ง และมากพอที่จะตั้งแผนการกู้ลงทุนระยะยาวคาดหวังกับอนาคตที่มองไม่เห็นอีกเกือบสิบปีข้างหน้า

อีกเจ็ดปีข้างหน้า วันที่โครงการทั้งหมดแล้วเสร็จ นายกฯ ที่อยู่เปิดงานก็จะไม่ใช่ยิ่งลักษณ์แล้ว

ไม่ว่าใครจะคิดถึงเรื่องนี้หรือไม่ แต่ผมบอกเลยว่าคนที่ทำให้การเมืองของไทยเปลี่ยนแปลงไป และกำลังจะเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทั้งหมดของประเทศไทย ไม่ใช่คนเก่งแบบทักษิณ ไม่ใช่คนฉลาดแบบชัชชาติ หรือคนดีแบบฝ่ายค้าน แต่คือคนโง่อย่างยิ่งลักษณ์

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น