โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

หนุนใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมจัดการทรัพยากรน้ำภาคอีสาน

Posted: 17 Sep 2013 02:48 PM PDT

 
14 ก.ย.56 สภาผู้ชมและผู้ฟังไทยพีบีเอส ร่วมกับองค์กรจัดการน้ำในท้องถิ่นต่างๆ อาทิ การจัดการพื้นที่ต้นน้ำ กรณีศึกษาการจัดการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ จ.เลย, เครือข่ายชุมชนจัดการน้ำห้วยเสนง จ.สุรินทร์ กรณีศึกษากุดขาคีม ต.กุดขาคีม อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์, การจัดการน้ำเชิงพื้นที่เพื่อการเกษตร ต.บุ่งคล้า อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ, การจัดการน้ำ ปลายน้ำ (ลุ่มน้ำโขงเขตอุบลราชธานี) และกรณีศึกษาบ้านผาซัน อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี เปิดเวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างการเรียนรู้ ในหัวข้อ 'ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการจัดการน้ำอีสาน กับบทบาทของสื่อสาธารณะ' ณ ห้องประชุม สำนักงานคณบดี คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
 
สมพันธ์ เตชะอธิก กรรมการนโนบาย TPBS กล่าวถึงสถานการณ์น้ำว่า นอกจากปัญหาสภาวะน้ำท่วม น้ำแล้ง รวมถึงการปล่อยมลพิษลงน้ำ ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การบริหารจัดการน้ำของภาครัฐที่ขาดการมีส่วนร่วมระหว่างองค์ความรู้ทางวิชาการกับองค์ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น
 
ภาครัฐมีความเชื่อมาโดยตลอดว่า ทรัพยากรน้ำเป็นสมบัติของหน่วยงานภาครัฐ การบริหารจัดการน้ำเป็นการกล่าวอ้างเพื่อการพัฒนา ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วส่วนใหญ่ดำเนินการไปเพื่อผลประโยชน์ในความร่วมมือระหว่างรัฐกับกลุ่มนายทุน เช่น การสร้างเขื่อนเพื่อเก็บกักน้ำ หรือนโยบายการจัดการน้ำที่ใช้งบประมาณในโครงการกว่า 3.5 แสนล้านบาท แต่ความขัดแย้งนั้นเป็นไปเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น
 
ส่วนการต่อสู้นั้นย่อมขยายสู่วงกว้างแน่นอน เพราะรัฐขาดความร่วมมือกับภาคประชาชนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ ขาดองค์ความรู้ ภูมิปัญญาของท้องถิ่นที่ดำรงวิถีในการจัดการน้ำที่ชุมชนสืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ ฉะนั้นการต่อสู้ในเบื้องต้นคือในเชิงนโยบาย และในการการร่างกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ให้สามารถกำหนดอนาคตของตนเองในการร่วมกันใช้ทรัพยากร ในการจัดการน้ำด้วยตนเอง
 
กรรมการนโนบาย TPBS กล่าวด้วยว่า การต่อสู้ในอีกขั้น คือ การสื่อสารเพื่อยกระดับความรู้ด้านการจัดการน้ำด้วยการขยายพื้นที่สื่อสาธารณะ ด้วยการร่วมกันเผยแพร่ข้อมูลในอีกด้านให้สังคมภายนอกได้รับทราบ และเพื่อให้เกิดความเข้าใจบริบทในพื้นที่ของการมีบทบาทร่วมกับชุมชนให้กว้างมากขึ้น โดยมีสื่อเป็นส่วนกลางในการร่วมผลักดัน ในข้อเสนอเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการจัดการทรัพยากรน้ำ ให้นำไปสู่แผนพัฒนาทางเลือกในระดับพื้นที่และระดับนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ชาวทวาย’ ปิดถนน กักรถ ‘อิตาเลียนไทย’ เหตุที่ดินถูกยึด ไร้ค่าชดเชย

Posted: 17 Sep 2013 01:53 PM PDT

เหตุการณ์ชาวบ้านรวมตัวปิดถนน-กักรถของบริษัทอิตาเลียนไทยฯ กลุ่มท้องถิ่นในทวายแถลงเรียกร้องบริษัทฯ เร่งให้คำตอบกับชาวบ้านกรณีที่ดินถูกยึดไปจากการสร้างถนนเพื่อลดความตึงเครียดในพื้นที่ เผยสิ้นเดือนนี้หากไม่ได้รับคำตอบจะนำเรื่องฟ้องร้อง เคเอ็นยู และรัฐบาลไทย-พม่า
 
การจัดแถลงข่าวที่เมืองทวาย เมื่อวันที่17ก.ย.56
 
วันที่ 17 ก.ย.56 กลุ่มท้องถิ่นในนามวิถีชีวิตชุมชนยั่งยืนและการพัฒนา (Community Sustainable Livelihood and Development – CSLD) ร่วมกับ สมาคมพัฒนาทวาย (Dawei Development Association – DDA) จัดแถลงข่าว เรื่อง "ความไม่เป็นธรรม และความไม่โปร่งใส เกี่ยวกับค่าชดเชยของ บจม.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์" ที่สำนักงานของสมาคมพัฒนาทวาย ณ เมืองทวาย แคว้นตะนาวศรี ทางตอนใต้ของพม่าโดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 30 คน
 
 
VDO สั้นเกี่ยวกับการปิดถนนเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา 
 
 
 
หลังจากเมื่อวันที่ 9 ก.ย.56 ชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างถนนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย ที่เชื่อมโยงระหว่างโครงการกับประเทศไทยที่ จ.กาญจนบุรีจากได้รวมตัวกันปิดถนนและกักรถของบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ไว้เป็นเวลา 3 วัน เนื่องจากไม่พอใจที่ทางบริษัทไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายต่อทรัพย์สินและที่ดินที่ถูกยึดไปจากการสร้างถนน แม้ว่าที่ผ่านมาชาวบ้านจะไม่ได้ยินยอมในข้อตกลงเกี่ยวกับหลักการของการจ่ายค่าชดเชยก็ตาม แต่ทางบริษัทก็เคยสัญญาว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้หลังจากการประเมินพื้นที่ผลกระทบนั้นเสร็จสิ้น แต่จนถึงบัดนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ
 
ทางกลุ่มท้องถิ่นในนามวิถีชีวิตชุมชนยั่งยืนและการพัฒนา CSLD ได้ยืนกรานเรียกร้องให้ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ให้คำตอบกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด เพื่อลดความตึงเครียดในพื้นที่ระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับ บริษัทฯ และหากไม่ได้รับคำตอบจากบริษัทฯ ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ ชาวบ้านจะสร้างรั้วกั้นถนนและปลูกต้นไม้ในที่ดินเดิมของพวกเขา และจะนำเรื่องฟ้องร้องต่อสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ เคเอ็นยู รวมถึงรัฐบาลพม่า และรัฐบาลไทย ด้วย
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 มี.ค.56 ที่ผ่านมา ชาวบ้านจากพื้นที่โครงการทวาย ประเทศพม่า ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประเทศไทย ระบุข้อกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนในโครงการนี้ด้วย
 
ขณะที่สมาคมพัฒนาทวายให้ข้อมูลว่า โครงการทวายจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวทวายกว่า 83,000 คน ในบริเวณ 3 พื้นที่ คือ 1.พื้นที่ 204.5 ตร.กม. ของการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวายในเขตนาบูเล่ ซึ่งมีประชากร 32,274 คน จาก 3,977 ครัวเรือน ใน 21หมู่บ้าน ที่จะต้องถูกอพยพ 2.หมู่บ้านกาโลนท่า ซึ่งมีแผนก่อสร้างเขื่อนที่แม่น้ำตะลายยาร์ มีประชากรประมาณ 1,000 คน จาก 182 ครัวเรือน ที่จะต้องถูกอพยพ และ 3.พื้นที่ก่อสร้างถนนระยะทาง 132 กิโลเมตรที่เชื่อมต่อระหว่างเขตนิคมอุตสาหกรรมทวายกับบ้านพุน้ำร้อนของประเทศไทย มีประชากรประมาณ 50,000 คนที่จะได้รับผลกระทบ
 
ชาวบ้านระบุว่า ตั้งแต่บริษัทเข้ามาปักหลักในพื้นที่ พวกเขาก็เริ่มประสบกับความยากลำบากในการทำมาหากิน และไม่สามารถใช้ชีวิตได้ปกติดังเดิม เช่น ไม่สามารถจะปลูกพืชผลตามฤดูกาลได้ ถูกจำกัดพื้นที่เพาะปลูก หรือได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่โครงการว่าให้ย้ายไปปลูกที่อื่น ถนนของหมู่บ้านถูกรถบรรทุกขนาดใหญ่ใช้สัญจรไปมาอยู่ตลอดเวลาจนสภาพใช้การไม่ได้โดยเฉพาะในหน้าฝน ส่วนในหน้าแล้งก็เกิดปัญหาฝุ่นคลุ้งตลบไปทั่ว และทางบริษัทมักไม่ใส่ใจที่จะมาปรับปรุงซ่อมแซมให้ชาวบ้าน ในขณะที่แหล่งน้ำของชุมชนก็ถูกทำลายจนไม่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้
 
ชาวบ้านทวายปิดถนน
ภาพโดย: DDA
 
ทั้งนี้ โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย เป็นโครงการที่ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลพม่าเมื่อปี 2553 บนพื้นที่ 250 ตารางกิโลเมตร ที่เมืองทวาย แคว้นตะนาวศรี ทางตอนใต้ของประเทศพม่า อายุสัมปทาน 60 ปี โดยมีองค์ประกอบหลัก ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม ระบบสาธารณูปโภค และระบบขนส่งที่เชื่อมโยงมายังประเทศไทย ได้แก่ ถนน ทางรถไฟ ท่อส่งก๊าซ ท่อส่งน้ำมัน และสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เพื่อเชื่อมต่อกับท่าเรือแหลมฉบังและนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยได้จัดตั้ง บริษัท ทวาย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด เพื่อดำเนินงาน แต่ที่ผ่านมาบริษัทประสบปัญหาความล่าช้าของการก่อสร้างและการระดมทุน ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 127,000 ล้านบาท
 
ปัจจุบันรัฐบาลไทย ได้วางแผนการสนับสนุนโครงการด้วยการจัดตั้ง บริษัท ทวาย เอสอีแซด ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด ในรูปแบบของนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle: SPV) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง สำนักงานพัฒนาความร่วมมือเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) ของไทย ร่วมกับ Foreign Economic Relation Department ของประเทศพม่า เพื่อบริหารโครงการ นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังได้เร่งรัดโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ 81 เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางจากทวายสู่ท่าเรือแหลมฉบังของไทย
 
ภาพมุมสูงโครงการทวาย
ภาพโดย: TERRA
 
แถลงการณ์ ของกลุ่มท้องถิ่นในนามวิถีชีวิตชุมชนยั่งยืนและการพัฒนา (Community Sustainable Livelihood and Development – CSLD)
 
 
คณะกรรมการ วิถีชีวิตชุมชนยั่งยืนและการพัฒนา CSLD (ชุมชนกามองตวย)
 
แถลงการณ์
 
ความไม่เป็นธรรม และความไม่โปร่งใส เกี่ยวกับค่าชดเชยของ บจม. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์
 
วันที่ 17 กันยายน 2556
 
กลุ่มท้องถิ่นในนาม วิถีชีวิตชุมชนยั่งยืนและการพัฒนา (Community Sustainable Livelihood and Development – CSLD) เรียกร้องให้ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ (ITD) ตอบสนองอย่างทันที เกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยให้กับ 38 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างถนนเชื่อมโยงระหว่าง ทิกะดอน (Thitgadon) และมยิตตา (Myitta) ซึ่งทางบริษัทได้ดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2553 และถือเป็นโครงสร้างหลักของโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย
 
โดยปราศจากหลักการยินยอมที่ได้รับบอกแจ้งล่วงหน้าและเป็นอิสระ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างถนนในพื้นที่หมู่บ้านมยิตตา พินทาเตา และตะบิวชอง ตั้งแต่ปี 2553 และได้ทำลายต้นหมาก ยางพารา และมะม่วงหินมพานต์ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของชุมชน
 
ที่ดินของชาวบ้านถูกยึดไปอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อการก่อสร้างถนน ซึ่งมันได้ทำลายวิถีชีวิตของชาวบ้านในหลายชุมชน เช่น มยิตตา พินมาเตา กาตองนี ตะบิวของ เยโบค คาเล็ทจี และทิกะดอน มาตั้งแต่ปี 2553 แม้ว่าชาวบ้านจะไม่ได้ยินยอมพร้อมใจในข้อตกลงเกี่ยวกับค่าชดเชย แต่ทางบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ก็ได้สัญญาว่า จะจ่ายค่าชดเชยนั้นให้หลังจากการประเมินพื้นที่ผลกระทบนั้นเสร็จสิ้น แต่บริษัทก็ไม่ได้รักษาสัญญานั้น
 
การประชุมเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยเกิดขึ้นหลายครั้งในปี 2556 และทางบริษัท อิตาเลียนไทย ได้จ่ายค่าชดเชย (111) แยกต่างหากให้กับเจ้าของสวนยางพารา อย่างไรก็ตาม บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ไม่ได้จ่ายเงินค่าชดเชยที่เหลือให้กับชาวบ้านอีก 38 คน และไม่มีกรอบเวลาที่แน่นอนที่กำหนดขึ้นอย่างโปร่งใสสำหรับการจ่ายค่าชดเชยที่เหลือ  เจ้าของสวนบางคนไม่ได้รับค่าชดเชยใด ๆ เพราะบริษัทไม่ได้นับต้นไม้ในสวนของพวกเขาที่ถูกทำลายไปโดยการก่อสร้างถนนตั้งแต่ปี 2553
 
ดังนั้น ในวันที่ 9 กันยายน 2556 ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากหมู่บ้านตะบิวชองจึงได้เรียกร้องให้ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ตอบคำถามให้ชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการจ่ายค่าชดเชย และเพื่อที่จะเรียกร้องความสนใจจากสาธารณะเกี่ยวกับข้อวิตกกังวลของพวกเขา ในวันที่ 9 กันยายน 2556 ชาวบ้านจึงได้กักรถยนต์ของ บริษัท อิตาเลียนไทย จำนวน 3 คันไว้ และได้ปล่อยไปเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2556
 
จนถึงขณะนี้ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ยังไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนกับชาวบ้าน ดังนั้น กลุ่มท้องถิ่นในนาม วิถีชีวิตชุมชนยั่งยืนและการพัฒนา – CSLD จึงขอเรียกร้องให้ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ให้คำตอบกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด เพื่อที่จะลดความตึงเครียดระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ในอนาคต
 
พวกเราเชื่อว่า การพัฒนาโครงการไม่สามารถสำเร็จลุล่วงได้ หากปราศจากการยินยอมและการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น
 
 
 
 
ข้อมูลเพิ่มเติม
 
-      โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย: มองให้ไกลกว่าผลประโยชน์  โดย วีรวัธน์ ธีรประสาธน์ - ถอดความจากการเสวนาวิชาการเรื่อง"โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย มองให้ไกลกว่าผลประโยชน์" จัดโดย สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2556
 
-      จากมาบตาพุดสู่ทวาย: การพัฒนาหรือทำลายข้ามพรมแดน (หนังสือ) โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ เมษายน 2556
 
 
-      Facebook: Dawei Watch Thailand  https://www.facebook.com/DaweiWatchThailand
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฝ่ายค้าน-รัฐบาลกัมพูชาหารือแก้วิกฤต - สมเด็จนโรดม สีหมุนีขอให้ทุกฝ่ายอดทนอดกลั้น

Posted: 17 Sep 2013 01:07 PM PDT

หลังมีผู้เสียชีวิต 1 รายจากเหตุชุมนุม สมเด็จนโรดม สีหมุนี ได้ออกพระราชสาสน์แสดงความเสียพระทัย ขอให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรง และให้อดทนอดกลั้น ด้านฮุน เซน และสม รังสี ได้หารือร่วมกันเป็นรอบที่ 3 โดยเห็นพ้องว่าจะตั้งกลไกปฏิรูปการเลือกตั้ง และจะเจรจากันต่อเนื่อง เพื่อหาทางออกที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย

แฟ้มภาพจากสำนักข่าวแห่งกัมพูชา (AKP) เป็นภาพการหารือระหว่างฮุน เซน และสม รังสี โดยมีสมเด็จนโรดม สีหมุนี พระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี เป็นผู้ไกล่เกลี่ย ที่พระราชวังเขมรินทร์ เมื่อ 14 ก.ย.

และภายหลังการสลายการชุมนุมเมื่อ 15 ก.ย. ล่าสุดเมื่อเช้าวันที่ 16 ก.ย. สมเด็จนโรดม สีหมุนีได้ออกพระราชสาสน์แสดงความเสียพระทัยอย่างสุดซึ้งต่อผู้เสียชีวิต ขอให้ทุกฝ่ายอดทนอดกลั้น เพื่อเลี่ยงภาวะไร้เสถียรภาพของชาติ (ที่มา: AKP/แฟ้มภาพ)

นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน เซน (นั่งฝั่งขวา) และเป็นรองประธานพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) หารือกับสม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านพรรคสงเคราะห์ชาติ เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่รัฐสภากัมพูชา

 

(CNRP) ที่รัฐสภาเมื่อ 17 ก.ย. โดยเป็นการหารือครั้งที่สามเพื่อคลี่คลายวิกฤตการเมือง โดยที่ก่อนหน้านี้มีการหารือกันมา 2 ครั้ง คือเมื่อ 14 ก.ย. ตามคำเชิญของสมเด็จนโรดม สีหมุนี และเมื่อ 16 ก.ย. ที่ทั้งสองฝ่ายมาเจรจากันที่รัฐสภา (ที่มาของภาพ: Chey Phoumipul/AKP)

ตามที่นายสม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) นัดหมายผู้สนับสนุนชุมนุมเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. ถึง 17 ก.ย. เพื่อประท้วงการเลือกตั้งที่พวกเขาเห็นว่ามีความไม่ชอบมาพากล และต่อมาในวันที่ 15 ก.ย. มีการสลายการชุมนุมหลายจุด และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย บริเวณสะพานข้ามแยกกบาล ธนัล จุดตัดของทางหลวงหมายเลข 1 และหมายเลข 2 ทางตอนใต้ของกรุงพนมเปญ และต่อมาพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) และพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ตกลงที่จะเจรจาที่รัฐสภาเพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองในวันที่ 16 ก.ย. นั้น (อ่านข่าวย้อนหลัง)

 

ฮุน เซน - สม รังสี หารือรอบสอง ก่อนเห็นชอบในหลักการ 3 ข้อ

ต่อมาในวันที่ 16 ก.ย. พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) นำโดย ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี และรองประธานพรรค ได้นำคณะเข้าเจรจากับสม รังสี ประธานพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ที่รัฐสภา โดยเป็นการเจรจาครั้งที่ 2 หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ทั้ง 2 ฝ่ายได้มาเจรจากันที่พระราชวังเขมรินทร์ ตามที่สมเด็จนโรดม สีหมุนี พระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี เป็นผู้เชิญ (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

โดยภายหลังการหารือ สำนักข่าวแห่งกัมพูชา (AKP) รายงานว่า ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบในหลักการ 3 ข้อ ได้แก่ หนึ่ง ตอบสนองและปฏิบัติตามอย่างแข็งขัน ต่อพระราชสาสน์ของกษัตริย์นโรดม สีหมุนีที่ออกมาในวันที่ 16 ก.ย. ที่ขอให้ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ยุติการใช้ยุติความรุนแรง สอง จัดตั้งกลไกเพื่อปฏิรูปการเลือกตั้งในอนาคต และสาม การดำเนินการเจรจาต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายพรรครัฐบาล ยังไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของพรคฝ่ายค้าน ที่ต้องการให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเข้าตรวจสอบการเลือกตั้ง 28 ก.ค.

 

สมเด็จนโรดม สีหมุนี แสดงความเสียพระทัยสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต - บาดเจ็บ
และขอทุกฝ่ายอดทนอดกลั้น

ทั้งนี้ สมเด็จนโรดม สีหมุนี พระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี ได้ออกพระราชสาสน์ในเช้าวันที่ 16 ขอให้ผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ยุติการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ และให้กลับสู่ธรรมเนียมของการไม่ใช้ความรุนแรง มีความอดทนอดกลั้นอย่างสูงสุด เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะไร้เสถียรภาพของชาติ และทรงแสดงความเสียพระทัยอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ด้วย

และต่อมาในวันที่ 17 ก.ย. สำนักข่าวแห่งกัมพูชา (AKP) รายงานด้วยว่า ผู้แทนระดับสูงของพรรคประชาชนกัมพูชา และพรรคสงเคราะห์ชาติได้หารือกันอีก โดยการหารือสิ้นสุดลงในช่วงบ่าย

"แม้ว่าจะไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วมเหมือนอย่างการพบกันเมื่อวานนี้ (16 ก.ย.) แต่พวกเรา (พรรคประชาชนกัมพูชา และพรรคสงเคราะห์ชาติ) ต่างมุ่งไปสู่การคลี่คลายปัญหาของชาติ" พรัก สุคุน จากพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) กล่าวระหว่างแถลงข่าวร่วมกับนายยึม โสวรรณ จากพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ภายหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้หารือกัน

โดยนายพรัก สุคุน กล่าวด้วยว่าผู้นำของทั้งสองพรรค จะกลับไปประชุมภายในพรรค และจะกลับมาประชุมร่วมกันอีกเพื่อหาทางออกที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย

นอกจากนี้รัฐสภากัมพูชาได้มีการเรียกเปิดประชุมสภาในวันที่ 23 ก.ย. นี้ด้วย โดยสมเด็จนโรดม สีหมุนี จะมาเปิดการประชุม และจะมีการถ่ายทอดสดพิธีเปิดการประชุมสภาทางสถานีโทรทัศน์แห่งกัมพูชา (TVK) และสถานีวิทยุแห่งชาติ 2 สถานีด้วย

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวแห่งกัมพูชา (AKP) ยังรายงานด้วยว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ (National Election Committee) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลได้ประกาศเมื่อวันที่ 16 ก.ย. ว่า ระหว่างวันที่ 1 - 20 ต.ค. จะมีการตรวจสอบบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และการลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งของปี 2556 โดยจะเป็นการตรวจสอบในทุกๆ ชุมชนระดับ "สังกัด" ทั่วประเทศ โดยคนที่ไม่พบชื่อในบัญชีรายชื่อ หรือเปลี่ยนที่อยู่ หรือเพิ่งอายุถึง 18 ปี สามารถไปแจ้งที่ชุมชนได้ โดยให้นำบัตรประชาชนไปด้วย ในประกาศของ กกต.กัมพูชาระบุ

อนึ่งในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งของกัมพูชาเมื่อปี 2555 นั้น มีผู้มีสิทธิถึง 9.6 ล้านคน

ทั้งนี้การดำเนินการของ กกต. กัมพูชา เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของฝ่ายค้าน ที่ขอให้มีการตรวจสอบบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หลังมีการกล่าวหาว่ามีการถอนรายชื่อผู้มีสิทธิ และมีรายชื่อ "ผี" อยู่ในบัญชี

ส่วนสถานการณ์ชุมนุมนั้น ล่าสุดผู้สนับสนุนพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ได้ยุติการชุมนุม 3 วัน 3 คืน แล้วเมื่อเย็นวันที่ 17 ก.ย. โดยหลังเหตุสลายการชุมนุมเมื่อ 15 ก.ย. จนมีผู้เสียชีวิต ในการชุมนุมอีกสองวันต่อมา ก็ไม่มีรายงานการสลายการชุมนุม และตัวเลขผู้เสียชีวิตอีก

สำหรับพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล เดิมชื่อพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา (KPRP) ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2524 โดยนายฮุน เซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ปกครองกัมพูชามาอย่างยาวนานกว่า 27 ปี และประกาศว่าจะอยู่ในอำนาจอีก 30 ปี ส่วนพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) เกิดจากการรวมกันของพรรคฝ่ายค้านกัมพูชา 2 พรรคคือพรรคสม รังสี และพรรคสิทธิมนุษยชนตั้งแต่กลางปี 2555

โดยเมื่อ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา กษัตริย์นโรดม สีหมุนีของกัมพูชาได้พระราชทานอภัยโทษให้กับ สม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ซึ่งลี้ภัยการเมืองอยู่ต่างประเทศมาร่วม 4 ปี โดยผู้ขอพระราชทานอภัยโทษคือฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และต่อมาสม รังสีได้เดินทางกลับพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ในวันที่ 19 ก.ค. และหลังจากกลับมาแล้ว เขาได้เข้ามาช่วยลูกพรรคหาเสียง แม้ว่า กกต.กัมพูชา จะระบุว่าเขาขาดคุณสมบัติที่จะสมัครเป็นผู้แทนก็ตาม

สำหรับผลการเลือกตั้งเมื่อ 28 ก.ค. พรรครัฐบาลได้ที่นั่ง 68 ที่นั่ง ส่วนพรรคฝ่ายค้านได้ที่นั่ง 55 ที่นั่ง อย่างไรก็ตามพรรคฝ่ายค้านไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และกล่าวหาว่ามีความไม่ชอบมาพากลในการจัดการเลือกตั้ง และได้ประท้วงรัฐบาลหลายรอบ จนกระทั่งเกิดการปะทะและมีผู้เสียชีวิตในการชุมนุมเมื่อ 15 ก.ย. ดังกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมปทานปิโตรเลียมกาฬสินธุ์ ชาวบ้านชี้ผลกระทบเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่การสำรวจ

Posted: 17 Sep 2013 01:04 PM PDT

รายงานสถานการณ์ปัญหาการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมกาฬสินธุ์ ที่กำลังดำเนินการในพื้นที่เรือกสวนไร่นาชาวบ้าน ภาพปัญหา-ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ต้องเสียสละเพื่อให้คนส่วนใหญ่ได้มีพลังงานใช้
 
ผลกระทบจากค่าก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า และค่าทางด่วน ดาหน้าขึ้นพร้อมกัน จนเกิดวิกฤตของแพงทั่วประเทศ และค่าครองชีพของประชาชนที่สูงขึ้น ทั้งหมดนี้ย่อมสะท้อนปัญหาความเป็นจริงที่ไม่ได้คิดไปเอง โดยเฉพาะการปรับราคาก๊าซแอลพีจี ของกระทรวงพลังงาน ที่เห็นชอบปรับราคาขายปลีกภาคครัวเรือนเดือนละ 0.50 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา จากเดิมราคาอยู่ที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม จะปรับขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 24.82 บาทต่อกิโลกรัม หรือจะเพิ่มขึ้นอีก 100 บาทต่อถัง
 
ท่ามกลางวิกฤติการณ์ของปัญหาจากนโยบายรัฐบาลที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านคนตัวเล็กๆ ที่หาเช้ากินค่ำ ชาวบ้านในพื้นที่ภาคอีสานยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำและการละเมิดสิทธิจากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบริษัทเอกชน
 
จากข้อมูลในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ พบว่า โครงการริเริ่มตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งบริษัทเอกชน ได้รับสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเลขที่ 9/2546/66 ในหลุมสำรวจ L 27/43 มีพื้นที่ 983.06 ตารางกิโลเมตร โดยมีหลุมผลิตอยู่ที่ดงมูล บ้านนาคำน้อย ต.หนองใหญ่ อ.หนองกุงศรี ซึ่งได้เจาะสำรวจแล้ว พบปิโตรเลียมที่สามารถพัฒนาได้ และในพื้นที่ อ.ท่าคันโทอีก 3 แห่ง โดยจะมีการพัฒนาปิโตรเลียมและขนส่งก๊าซได้ในปี 2558-2577 รวม 20 ปี   
 
โครงการดังกล่าวเป็นของบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ผู้ได้รับอนุญาตจากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ให้เข้าไปพัฒนาแหล่งพลังงานในพื้นที่ดังกล่าว โดยบริษัทฯ วางแผนที่จะผลิตก๊าซธรรมชาติวันละ 24 ล้านลูกบาศก์ฟุต (จากปริมาณสำรองที่คาดว่าจะมีในหลุมดังกล่าว มากถึง 9.6 หมื่นล้านลูกบาศก์ฟุต) คาดว่าจะใช้เวลาถึง 11 ปี ในการผลิตก๊าซจากหลุมนี้ โดยจะลำเลียงก๊าซผ่านท่อเพื่อมาแยกก๊าซที่โรงแยกก๊าซ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น รวมระยะทาง 52 กิโลเมตร
 
แต่ทว่าในหลายพื้นที่ที่มีการขุดเจาะสำรวจ และทดลองเผาก๊าซได้ส่งผลกระทบต่อพืชผลการเกษตรของชาวบ้าน และมีการชดเชยค่าเสียหายที่ไม่เป็นธรรม
 
"ในเบื้องต้นมีคนงาน 4-5 คน เข้ามาขุดเจาะสำรวจในพื้นที่ โดยเจ้าของที่ไม่รู้เรื่องมาก่อน เพียงแต่กำนันประกาศบอกว่าที่ของใครมีหลักหมายให้จดหมายเลขมา และจะได้ค่าชดเชย นาข้าวเขาให้หลักละ 300 บาท ไร่อ้อยหลักละ 600 บาท ซึ่งมันไม่คุ้มกับความเสียหายที่เขาลงไปเหยียบย่ำทำลายเลย" นายสุวิทย์ บุตรจันดา ชาวบ้านหนองแซง ต.นาตาล อ.ท่าคันโท ให้ข้อมูล โดยในนาข้าวและไร่อ้อยของเขามีการสำรวจทั้งหมด 3 หลัก
 
นอกจากนี้ เพียงแค่การดำเนินการสำรวจขุดเจาะและทดลองเผาก๊าซก็เกิดประเด็นถกเถียงว่าทำให้พืชผลเกษตรของชาวบ้านเสียหาย ทั้งยางพาราไม่ให้น้ำยาง ปลาตาย ผลไม้ไม่ติดผล เป็นต้น
 
สอดคล้องกับนายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ นักวิชาการจากคณะวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีที่ให้ข้อมูลว่า การเผาก๊าซธรรมชาติในลักษณะนี้มีโอกาสก่อให้เกิดสารมลพิษมากมาย ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณและชนิดของสารที่มีอยู่ในก๊าซ เช่น ปรอท ซัลเฟอร์ ไนโตรเจน ซึ่งเมื่อเผาก็จะเกิดไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ สารไฮโดรคาร์บอน หรืออื่นๆ รวมถึงขึ้นอยู่กับทิศทางลมและความกดอากาศในช่วงนั้นๆ ด้วย
 
ด้านคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน ภายใต้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำโดย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ได้ลงพื้นที่โครงการขุดเจาะสำรวจ ผลิตปิโตรเลียมและวางท่อก๊าซธรรมชาติ ใน จ.กาฬสินธุ์และ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 3 ก.ย.56 ที่ผ่านมา โดยรับฟังปัญหาจากชาวบ้านในพื้นที่ ณ วัดศรีนวลทรายทอง บ้านทรายทอง หมู่ 5 ต.ทรายทอง อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์
 
เพื่อตรวจสอบการอนุญาตขอใช้พื้นที่ "ป่าดงมูล" ว่าถูกต้องหรือไม่ อีกทั้งยังมีประเด็นเรื่องการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ผลกระทบที่เกิดจากการทดลองเผาก๊าซ แนววางท่อที่ชัดเจนที่จะผ่านพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ไม่ได้ดำเนินการอย่างทั่วถึงและปิดกั้นโอกาสแก่ประชาชนในการเข้าร่วมกระบวนการ
 
นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า หน่วยงานที่ดำเนินการกำกับดูแลต้องคำนึงถึงความสอดคล้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ ที่ได้กำหนดไว้ในเรื่องสิทธิชุมชนมาตรา 66-67 เพราะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสมบุติของทุกคน เป็นหน้าที่ของทุกคนในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
 
"การทำหน้าที่ของส่วนราชการที่กินเงินเดือนจากภาษีของประชาชนจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว ต้องปกป้องคุ้มครองไม่ให้การดำเนินการของเอกชนไปละเมิดสิทธิในการทำมาหากินและการเป็นอยู่ของประชาชน" นพ.นิรันดร์ระบุ
 
สิ่งสำคัญขณะนี้คือ ประชาชนจะมีส่วนร่วมในกระบวนการเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่ชุมชนต่างๆ ในพื้นที่จะต้องร่วมรับรู้ข้อมูลและมีส่วนต่อการตัดสินใจดังกล่าว เนื่องจากโครงการใหญ่และใช้เวลาในการดำเนินการที่ยาวนานแบบนี้อาจจะเปลี่ยนวิถีของชุมชนไปอย่างสิ้นเชิง
 
นอกจากนั้น ผลกระทบด้านต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตที่ส่วนราชการที่รับผิดชอบบอกแต่เพียงว่า เกิดจากความแห้งแล้ง เชื้อรา ไม่น่าจะมาจากการทดลองเผาก๊าซ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงการด่วนสรุปที่ไม่รอบคอบ ไม่ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นวิชาการหรือไม่
 
ชาวบ้านต้องเป็นผู้เสียสละ เพื่อให้คนส่วนใหญ่ได้มีพลังงานใช้ (ผู้ประกอบการได้กำไรมหาศาล) ขณะที่พวกเขาต้องประสบกับปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา อีกทั้งยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่เพิ่มขึ้นเช่นนี้ไปจนถึงเมื่อไหร่...
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุภัทรา นาคะผิว

Posted: 17 Sep 2013 10:13 AM PDT

"ถ้ายอมทริปส์พลัสด้านยา ยอมให้มีการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาเพิ่มขึ้นอีก 5 ปี จะมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นอีกเป็น 27,883 ล้านบาท/ปี และหากยอมปล่อยให้มีการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยา หรือ Data Exclusivity จะมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทย เพิ่มขึ้น 81,356 ล้านบาทต่อปี"

17 ก.ย.56, ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ กล่าวถึงถึงเอฟทีเอไทย-อียู ที่กำลังเจรจา

มาลาลา ยูซาฟไซ และนักร้องชาวอเมริกันผิวสีรับรางวัลสิทธิมนุษยชนจากเอไอ

Posted: 17 Sep 2013 09:31 AM PDT

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มอบรางวัลเกียรติยศสูงสุดด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2013 แก่ มาลาลา ยูซาฟไซ สาวน้อยปากีสถานวัยอายุ 16 ปี และแฮร์รี เบลาฟอนเต้ นักร้องผิวสีชาวอเมริกัน

17 ก.ย.56 องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International หรือเอไอ) ประกาศมอบรางวัล Ambassador of Conscience Award ประจำปี 2013 ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดด้านสิทธิมนุษยชนให้แก่ มาลาลา ยูซาฟไซ สาวน้อยวัยอายุ 16 ปี ชาวปากีสถานที่ถูกกลุ่มกบฏตอลีบานยิงบาดเจ็บสาหัสที่ศีรษะเมื่อปีที่แล้วในระหว่างการรณรงค์เพื่อการศึกษาของเด็กผู้หญิง และแฮร์รี เบลาฟอนเต้ นักร้องชาวอเมริกันและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยรางวัลนี้จะมอบให้แก่บุคคลที่แสดงออกถึงความเป็นผู้นำในการต่อสู้เพื่อปกป้อง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

มาลาลา ยูซาฟไซ

แฮร์รี เบลาฟอนเต้ (ภาพจาก wikimedia.org)

มาลาลา ยูซาฟไซ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับรางวัลนี้ และอยากจะถือโอกาสนี้บอกกับทุกคนว่า ยังมีเด็กอีกหลายล้านคนทั่วโลกที่ต่อสู้ทุกวันเพื่อให้ได้รับสิทธิในการศึกษา และหวังว่าจากความร่วมมือจะทำให้ความฝันของเด็ก ๆ เป็นจริง

ด้าน แฮร์รี เบลาฟอนเต้ นักร้องชาวอเมริกันและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นชาวอเมริกันผิวสีคนแรกที่ได้รับรางวัล Emmy Award กล่าวยกย่องเด็กหญิงชาวปากีสถานที่ได้รับรางวัลเกียรติยศคู่กับเขาในปีนี้ว่า ความชื่นชมที่เขามีต่อตัวเธอจะไม่มีวันสิ้นสุด เพราะเธอได้ปลุกให้ทั่วโลกร่วมกันต่อต้านการกระทำของผู้ไม่หวังดีและอำนาจที่ถูกกดขี่

ซาลิล เช็ตติ (Salil Shetty) เลขาธิการองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า บุคคลทั้งสองมีความแตกต่าง แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน ก็คือการอุทิศตนต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในทุกพื้นที่และเพื่อส่วนรวม และเห็นว่าทั้งสองเป็นทูตแห่งคุณธรรม ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิ ความยุติธรรม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และกระตุ้นให้ผู้อื่นปฏิบัติตามแบบอย่าง

โดยพิธีมอบรางวัลจะจัดขึ้น ณ กรุงดับลิน สาธารณรัฐไอร์แลนด์ ในวันที่ 17 กันยายนนี้ โดยมี นักร้องนำวงยูทู "โบโน่" (ที่เคยได้รับรางวัลนี้ในปี พ.ศ. 2548) จะเป็นผู้มอบมอบรางวัลเกียรติยศดังกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผจก.วิทยุจุฬาฯ ท้า กสทช.เอาตำแหน่งเป็นเดิมพันคดีฟ้องหมิ่นสื่อ

Posted: 17 Sep 2013 08:57 AM PDT

ผจก.วิทยุจุฬาฯ ชี้ กสทช.ฟ้องหมิ่นสื่อ เท่ากับทำลายระบบการกำกับดูแลตนเองของสื่อ ท้าเดิมพันตำแหน่งของกสทช. หากศาลตัดสินว่าสื่อไม่มีความผิด

จากกรณีที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และสำนักคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยื่นฟ้อง นางสาวเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และนางสาวณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการทางสถานีโทรทัศน์ช่องไทยพีบีเอส ในข้อหาหมิ่นประมาทในเรื่องการแสดงความคิดเห็นคัดค้านการที่ กสทช.ขยายสัมปทานคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ให้ธุรกิจเอกชนอีก 1 ปี แทนที่จะนำคลื่นที่หมดสัญญาออกประมูล ซึ่งการฟ้องร้องดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กสทช.อาจจะกำลังแทรกแซงเสรีภาพสื่อและนักวิชาการ

17 ก.ย.56 คณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ร่วมกับนักศึกษาปริญญาโทรุ่น 31 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโครงการอินเทอร์เน็ต เพื่อกฎหมายประชาชนชน (iLaw) จัดเวทีเสวนา "เสรีภาพการตรวจสอบกับราคาที่ต้องจ่าย กรณีศึกษา : กทค. ฟ้องนักวิชาการและสื่อ" ที่ มธ.ท่าพระจันทร์

น.ส.สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ผู้จัดการสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์กล่าวว่า กสทช.ถูกสร้างขึ้นมาเพราะต้องการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสื่อเพื่อประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งต้องการให้สื่อกำกับดูแลกันเอง การฟ้องหมิ่นประมาทเช่นนี้ คล้ายกับกำลังทำลายระบบการกำกับดูแลกันเองของสื่อ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเป็นองค์กรสื่อสาธารณะ ที่มีระบบการกำกับตัวเอง มีมาตรฐานทางจริยธรรมที่ชัดเจน แล้วเพราะเหตุใด กสทช. จึงไม่ร้องเรียนไปยังไทยพีบีเอสว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และขอพื้นที่ในการนำเสนอข้อมูลจากฝ่ายกสทช. และหากไทยพีบีเอสไม่ยินยอมจึงค่อยดำเนินการฟ้องร้อง หากศาลตัดสินว่านางสาวเดือนเด่น และนางสาวณัฏฐา ไม่มีความผิด ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ กสทช.จะกล้าเดิมพัน รับผิดชอบความเสียหายนี้ด้วยตำแหน่งและเกียรติยศของตนเองหรือไม่

น.ส.สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.กล่าวว่า หลักการทางกฎหมาย กสทช.สามารถฟ้องหมิ่นประมาทนักวิชาการและสื่อได้ เพราะมีกฎหมายคุ้มครอง แต่มีเงื่อนไขว่า การหมิ่นประมาทนั้นอยู่ในข้อยกเว้นหรือไม่ เช่น การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต คือ เข้าใจหรือเชื่อว่าเรื่องที่กล่าวนั้นเป็นความจริง เป็นต้น แต่สถานะของ กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ดำเนินงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังนั้นจึงควรมีการตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส จากทั้งภาคเอกชน ประชาชนและนักวิชาการ ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์นั้นก็ถือเป็นการตรวจสอบอีกทางหนึ่ง ดังนั้น กสทช. ควรมีความอดทนต่อการวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าประชาชนทั่วไป จึงมีข้อสงสัยว่าแม้จะมีสิทธิ์ฟ้องร้องได้ แต่ควรจะใช้สิทธิหรือไม่

น.ส.กายาทรีย์ เวนกิตสวารัน ผู้อำนวยการบริหารเครือข่ายสมาคมผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ซีป้า (SEAPA) กล่าวว่า เป็นเรื่องแปลกที่องค์กรสาธารณะที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อกลับฟ้องสื่อด้วยกันเอง ซึ่งหากสื่อหวาดกลัวการถูกฟ้องร้อง องค์กรสาธารณะก็มีแนวโน้มที่จะใช้การฟ้องร้องเพื่อทำให้ข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์องค์กรตนเองเงียบลง ดังนั้น ในกรณีนี้ สื่อควรจะรวมตัวกันวิพากษ์วิจารณ์การฟ้องร้องเพื่อปกป้องการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

นายรุจน์ โกมลบุตร อาจารย์ประจำสาขาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ คณะวารสารศาสตร์ฯ มธ. กล่าวว่า การแทรกแซงสื่อของรัฐบาล มีสาเหตุมาจากรัฐบาลขาดความสามารถในการอธิบายนโยบายแก่ประชาชน เช่น โครงการรับจำนำข้าว โครงการจัดการน้ำ เป็นต้น โดยการแทรกแซงสื่อมีหลายรูปแบบ อาทิ การสร้างบรรยากาศให้เกิดความหวาดกลัวจนเกิดการเซ็นเซอร์สื่อ เช่น การเซ็นเซอร์ละครเหนือเมฆ 2 รายการฮาร์ดคอร์ข่าวทางช่อง 5 ถูกตัดเข้าโฆษณาระหว่างการนำเสนอข่าว เควอร์เตอร์ เป็นต้น หรือการสร้างข่าวเพื่อดึงความสนใจไปจากประเด็นที่รัฐบาลไม่อยากให้ประชาชนสนใจ เช่น กรณีเณรคำ ถูกนำเสนอเป็นข่าวหลักเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นทางการเมือง เป็นต้น หรือร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการ  ที่กำหนดว่าการเสนอข่าวขัดแย้งจะต้องมีคู่กรณีครบทุกฝ่าย ซึ่งหากประกาศใช้จริง จะทำให้ไม่สามารถนำเสนอข่าวขัดแย้งหรือการตรวจสอบรัฐบาลได้เลย หากรัฐบาลเลือกที่จะไม่ให้ข้อมูล

นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิจัยโครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) กล่าวว่า การทำงานของกสทช.ไม่มีความโปร่งใสในหลายๆ ด้าน เช่น เปิดเผยมติของคณะกรรมการ กสทช.ล่าช้าไม่เปิดเผยรายงานการประชุมของอนุกรรมการ รวมทั้งไม่เปิดเผยข้อมูลที่ใช้ประกอบการกำหนดนโยบายของ กสทช. มีการใช้งบประมาณในด้านต่างๆ เช่น การไปดูงานต่างประเทศ หรือการซื้อสื่อเพื่อประชาสัมพันธ์ แต่ไม่มีการเปิดเผยผลของการใช้งบประมาณ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของ กสทช.ได้ กสทช.จึงควรใช้พื้นที่สาธารณะในการโต้แย้งถกเถียง มากกว่าการไปฟ้องกันในศาล

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคประชาสังคมไทยจับตาเอฟทีเอไทย-อียู ยืนยันชุมนุมสงบ

Posted: 17 Sep 2013 08:41 AM PDT

เอฟทีเอวอชท์จับตาเจรจาการค้าเสรีไทย-อียู 19-20 ก.ย.นี้ที่เชียงใหม่ เตรียมรณรงค์ผลกระทบเอฟทีเอต่อประชาชน ยืนยันชุมนุมโดยสงบ เรียกร้องคณะผู้แทนฝ่ายไทยเจรจารอบคอบ คำนึงผลกระทบต่อประชาชน

17 ก.ย.56 เวลา 9.00 น. ที่หน้าศาลากลาง จ.เชียงใหม่ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอวอชท์) จัดแถลงข่าวการติดตามเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป รอบที่ 2 ที่จะมีขึ้นระหว่าง วันที่ 16-20 ก.ย.นี้ ณ โรงแรมเลอเมอริเดียน จ.เชียงใหม่

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์และตัวแทนกลุ่มเอฟทีเอวอชท์ กล่าวว่า ภาคประชาสังคมไทยจากหลายภาคส่วน ได้แก่ เครือข่ายเกษตรทางเลือก กลุ่มเกษตรอินทรีย์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เครือข่ายงดเหล้า เครือข่ายผู้บริโภค และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ซึ่งรวมตัวกันในนามกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน จะนัดชุมนุมเพื่อแสดงพลังสนับสนุนทีมเจรจาของรัฐบาลไทยตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนจากการเจรจาการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป โดยขอให้เจรจาอย่างรอบคอบ และต้องไม่ตกลงในสิ่งที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนวงกว้างทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

"การชุมนุมครั้งนี้จะมีภาคประชาสังคมไทยมาร่วมกว่า 2,000 คน แต่เป็นการชุมนุมอย่างสงบ โดยจะมีกิจกรรมรณรงค์เพื่อสร้างการเรียนรู้ในเรื่องการค้าเสรีและผลกระทบต่อประชาชน อาทิ การเรียนรู้เรื่องอิสรภาพทางพันธุกรรมผ่านการรวบรวมเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านจากทั่วประเทศ กิจกรรมศิลปะรณรงค์เพื่ออธิปไตยทางพันธุกรรม รวมทั้งการเรียนรู้เรื่องระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งถือได้ว่าเป็นนโยบายรัฐที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง แต่ถ้าหากเรายอมตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปในเรื่องสิทธิบัตรยาก็จะกระทบต่อระบบสุขภาพของประเทศอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนให้คนเชียงใหม่ได้เข้ามาร่วมเรียนรู้ ทำความเข้าใจไปด้วยกันระหว่างวันที่ 18-19 กันยายนนี้ ณ บริเวณข่วงประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่"

ด้าน น.ส.กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ระบุว่า ข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปที่มีต่อไทยมี 3 เรื่องหลักคือ ต้องเป็นภาคี UPOV 1991, ภาคีสนธิสัญญาบูดาเปสต์ และยอมรับสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและทรัพยากรชีวภาพของประเทศอย่างรุนแรงและกว้างขวาง เกษตรกรผู้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่จะต้องจ่ายแพงขึ้น การเก็บรักษาพันธุ์เพื่อปลูกต่อหรือแลกเปลี่ยนจะมีความผิดถึงขั้นจำคุกและต้องจ่ายค่าเสียหายแก่บริษัท และวิสาหกิจชุมชนที่ปรับปรุงพันธุ์พืชจากพันธุ์พืชใหม่ ก็ไม่สามารถทำได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบอาหารของประเทศอย่างกว้างขวาง ถือว่าเป็นการทำลายอธิปไตยทางอาหารของประเทศ

ทางด้าน น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ และผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า หากประเทศไทย ยอมให้มีการเจรจาความตกลงการค้าเสรีในส่วนทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินกว่าความตกลงทริปส์ จะก่อให้เกิด การผูกขาดตลาดอย่างยาวนาน ทำให้ราคายาแพงขึ้น และประเทศชาติต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นมหาศาล ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงยาได้ รวมทั้งส่งผลกระทบด้านลบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยาสามัญภายในประเทศ ที่สำคัญคือ ประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับบรรษัทยาข้ามชาติเท่านั้น

"ถ้ายอมทริปส์พลัสด้านยา ยอมให้มีการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาเพิ่มขึ้นอีก 5 ปี จะมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นอีกเป็น 27,883 ล้านบาท/ปี และหากยอมปล่อยให้มีการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยา หรือ Data Exclusivity จะมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทย เพิ่มขึ้น 81,356 ล้านบาทต่อปี"
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

AI เรียกร้องกัมพูชาต้องมีการสอบสวนกรณีตำรวจยิงผู้ชุมนุมเสียชีวิต

Posted: 17 Sep 2013 06:02 AM PDT

 
จากเหตุปะทะกันอย่างรุนแรงเมื่อตอนค่ำ วันที่ 15 กันยายน 2556 ที่กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา ในระหว่างที่มีประชาชนหลายสิบคนประท้วงการตั้งด่านสกัดของตำรวจ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนจริงใส่ผู้ประท้วง จนทำให้มีผู้เสียหนึ่งคนและมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายคน
                
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องทางการกัมพูชาให้มีการสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าว โดยอิสเบล อาร์ราดอน (Isabelle Arradon) รองผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า ต้องมีการสอบสวนโดยทันทีและอย่างเป็นกลางต่อการสังหารชายผู้นี้ และต้องมีการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจึงต้องใช้ความรุนแรงถึงขั้นเอาชีวิตประชาชนเมื่อคืนวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา
                
"บรรยากาศในกัมพูชาตึงเครียดอย่างมากภายหลังการเลือกตั้ง มีข้อถกเถียงที่ยังไม่ยุติมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่าน การใช้กระสุนจริงของเจ้าหน้าที่เมื่อคืนวันที่ 15 กันยายน สร้างความหวาดกลัวให้ชาวบ้านอย่างมาก เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต้องหลีกเลี่ยงจากการใช้กำลังที่เกินกว่าเหตุ ซึ่งขัดกับมาตรฐานสากล การใช้อาวุธปืนเพื่อสังหารเป็นสิ่งที่กระทำได้ เฉพาะเพื่อป้องกันชีวิตและไม่มีหนทางอื่นเหลืออยู่แล้วเท่านั้น" อิสเบลกล่าว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้ชุมนุมตำหนิ จนท. ทำเกินกว่าเหตุ - ผู้ว่านครฯ ต่อเวลาห้ามเข้าแยกควนหนองหงษ์อีก 24 ชม.

Posted: 17 Sep 2013 04:47 AM PDT

ผู้ชุมนุมชาวสวนยางพารายังคงชุมนุมที่แยกควนหนองหงษ์ จ.นครศรีธรรมราช โดยยืนยันว่าจะเจรจากับนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ส่วน ผวจ.นครศรีธรรมราชขยายเวลาการใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ต่ออีก 24 ชั่วโมง ด้านรัฐมนตรีสำนักนายกฯ ระบุว่าไม่มีความจำเป็นในการใช้กฎหมายพิเศษเพิ่มเติม

สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานวันนี้ (17 ก.ย.) ว่า ในการชุมนุมของผู้ปลูกยางพาราบริเวณแยกควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช มีเกษตรกรเดินทางมาสมทบตั้งแต่ช่วงเช้า โดยผู้ชุมนุมได้ตัดต้นไม้ขวางทางหลวงหมายเลข 41 ทั้งขาขึ้นและขาล่อง โดยยอมเปิดเส้นทางให้รถนักเรียน และรถผู้ป่วย วิ่งผ่านได้ สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานด้วยว่าได้รับการยืนยันจากกลุ่มเกษตรกรว่า จะไม่มีการตั้งเวทีปราศรัยอย่างแน่นอน พร้อมกับต่อว่าการเข้าปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่าทำเกินกว่าเหตุในการสลายการชุมนุมอีกด้วย

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมจะยกระดับการชุมนุม ด้วยการปิดถนน และเส้นทางรถไฟเพิ่มเติม และพร้อมจะเจรจากับนายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียวเท่านั้น

ด้านนายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า จากการประเมินสถานการณ์การชุมนุมของเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน ยังมีความตึงเครียด จึงจำเป็นต้องมีการต่อการใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ต่ออีก 24 ชั่วโมง โดยจะห้ามบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่ได้อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ชุมนุม เข้าไปดำเนินกิจการใดๆ ในพื้นที่บริเวณสี่แยกควนหนองหงษ์ ต.ควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่เวลา 12.00 น. ของวันที่ 17 ก.ย. 56 ไปถึงเวลา 12.00 น. ของวันที่ 18 ก.ย.

ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังตรึงกำลังห่างจากกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 15 กิโลเมตร

ส่วนการขึ้นทะเบียนรับเงินชดเชยปัจจัยค่าผลิต 2,520 บาทต่อไร่ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชระบุว่า ดำเนินการไปแล้วร้อยละ 40 จากเกษตรกรสวนยางพาราทั้งหมดกว่า 1 แสนราย

ขณะที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยก่อนเดินทางลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อติดตามสถานการณ์การชุมนุมชาวสวนยางพารา บริเวณแยกควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด โดยระบุว่า สำหรับสถานการณ์ล่าสุดขณะนี้ ยังไม่ได้รับรายงาน ซึ่งต้องเดินทางลงไปตรวจสอบอีกครั้ง แต่เชื่อว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่พยายามไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นในพื้นที่

ส่วน นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันนี้ ว่า ที่ประชุมได้รับรายงานถึงสถานการณ์การชุมนุมเพื่อเรียกร้องของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช แล้ว และขณะนี้ เจ้าหน้าที่ก็ได้ดำเนินตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ ซึ่งทางรัฐบาลจะติดตามสถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิด ยังคงไม่มีความจำเป็นในการออกกฎหมายพิเศษเพิ่มเติม เพื่อควบคุมและดูแล

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รฟท. หยุดเดินรถไฟสายเหนือตั้งเป็นเวลา 45 วัน เพื่อซ่อมราง

Posted: 17 Sep 2013 01:26 AM PDT

ผู้ว่า รฟท. สั่งปรับปรุงไม้หมอน และรางรถไฟสายเหนือ เป็นเวลา 45 วัน โดยตั้งแต่ 16 ก.ย. - 31 ต.ค. จะเดินรถจากกรุงเทพฯ ไปถึงสถานีศิลาอาสน์ และจะกลับมาเดินรถตามปกติหลังจากนั้น

เว็บไซต์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย รายงานว่า นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตัดสินใจสั่งการให้ฝ่ายเกี่ยวข้องเร่งปรับปรุงทาง เสริมความมั่นคงของทาง ราง ไม้หมอน ในทางประธานและภายในอุโมงค์ อีก 4 อุโมงค์ คือ ปางตูบขอบ เขาพลึง ห้วยแม่ลาน และขุนตาน ช่วงจังหวัดแพร่ ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ ทั้งนี้ เพื่อเรียกความมั่นใจในการเดินทางให้กลับคืนมา ส่งผลให้ต้องปิดการเดินรถไฟสายเหนือระหว่างสถานีศิลาอาสน์ จ.อุตรดิตถ์ จนถึงเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน ถึง 31 ตุลาคม 2556 รวม 45 วัน

ผู้ว่า รฟท. ระบุว่า สถิติขบวนรถไฟตกรางในทางสายเหนือ ช่วงจังหวัดแพร่และจังหวัดลำปาง ตั้งแต่ต้นปีมีไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง สาเหตุจากภัยธรรมชาติที่ทำให้เนื้อดิน บริเวณรางรถไฟถูกเซาะอย่างรวดเร็ว ประกอบกับสภาพทางเก่า จึงต้องเร่งดำเนินการซึ่งเดิมได้กำหนดแผนซ่อมบำรุง ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2556 เพราะได้รับงบประมาณภายใต้แผนการซ่อมบำรุงโครงสร้างพื้นฐาน 2,800 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 5 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา รถด่วนนครพิงค์เกิดเหตุตกรางซ้ำอีกครั้งที่สถานีบ้านปิน-แก่งหลวง ในเขตจังหวัดลำพูน-ลำปาง ทำให้มีผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง ด้วยเหตุนี้ จึงตัดสินใจเร่งรัดฝ่ายเกี่ยวข้องให้ปรับแผนการปรับปรุงทางประธานและภายในอุโมงค์ ในช่วงที่ไม่มีความปลอดภัยให้เร็วขึ้น พร้อมประกาศเดินรถไฟสายเหนือปลายทางถึงเพียงสถานีศิลาอาสน์ จ.อุตรดิตถ์ จากนั้นได้ประสานกับบริษัท ขนส่ง จำกัด จัดรถยนต์ รับ-ส่ง ผู้โดยสารจากสถานีศิลาอาสน์เดินทางต่อไปจนถึงปลายทางเชียงใหม่

โดย รฟท. ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงการเดินรถในเส้นทางสายเหนือ จากกรุงเทพฯ จะไปสิ้นสุดที่สถานีรถไฟศิลาอาสน์แทน สถานีรถไฟเชียงใหม่ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลราง ที่ 9 (กรุงเทพ-ศิลาอาสน์) 08.30 น. - 14.52 น.
ขบวนรถเร็ว ที่ 109 (กรุงเทพ – ศิลาอาสน์) 12.45 - 21.27 น.
ขบวนรถเร็ว ที่ 105 (กรุงเทพ – ศิลาอาสน์) 19.50 - 04.00 น.
ขบวนรถเร็ว ที่ 107 (กรุงเทพ – ศิลาอาสน์) 20.10 - 05.07 น.
ขบวนรถด่วน ที่ 51 (กรุงเทพ – ศิลาอาสน์) 22.00 - 06.41 น.
ขบวนรถด่วนพิเศษ ที่ 1 กรุงเทพ – เชียงใหม่ งดเดินตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. - 31 ต.ค. 56
ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 13 กรุงเทพ – เชียงใหม่ งดเดินตั้งแต่วันที่ 16 กย. - 31 ต.ค. 56

สำหรับขบวนรถด่วนพิเศษ ที่ 1 และ 13 กรุงเทพ- เชียงใหม่ นั้น รฟท. จำเป็นต้องงดการเดินขบวนรถทั้ง 2 ช่วงเวลาที่ขบวนรถทั้ง 2 ขบวนเดินทางถึงสถานีศิลาอาสน์ เวลา 01.57 น. และเวลา 03.27 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เพื่อบรรเทาปัญหาได้พ่วงตู้นอนเพิ่มไปกับขบวนรถเร็ว ที่ 107 และขบวนรถด่วนที่ 51 ให้เพียงพอกับจำนวนผู้โดยสารที่มีความประสงค์จะเดินทางกับรถไฟในเส้นทางสายเหนือแล้ว

โดยระหว่างวันที่ 15 ก.ย. - 31 ต.ค. ผู้โดยสารที่ได้มีการจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าและเดินทางในช่วงดังกล่าว สามารถติดต่อขอคืนเงินค่าโดยสารได้เต็มราคา การรถไฟฯ ต้องขออภัยมา ณ โอกาสนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ Call center 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พนัส ทัศนียานนท์: ทิศทางการปฏิรูปการเมือง : ทางออกประเทศไทย (2)

Posted: 16 Sep 2013 11:54 PM PDT


อ่าน ทิศทางการปฏิรูปการเมือง : ทางออกประเทศไทย

3. ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์

          คณะนิติราษฎร์เป็นกลุ่มคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีบทบาททางวิชาการโดดเด่นในการต่อต้านการทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพรรคไทยรักไทยด้วยการเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยแสดงความกล้าหาญทางวิชาการด้วยการออกแถลงการณ์ในนามคณาจารย์ 5 คนประณามการกระทำดังกล่าวว่าเป็นการขัดกับหลักนิติรัฐนิติธรรม และหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่อาจารย์วิชากฎหมายส่วนใหญ่ที่เป็นกระแสหลักของวงการวิชาการนิติศาสตร์เลือกที่จะไม่แสดงความคิดเห็นใด ๆในทางต่อต้านการรัฐประหารดังกล่าว เพราะมีนักนิติศาสตร์ชั้นแนวหน้าของไทยในระดับปรมาจารย์หลายคน ได้เสนอตัวหรือถูกเรียกให้เข้าไปมีส่วนร่วมและสนับสนุนการรัฐประหารครั้งนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม

การแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนผ่านการออกแถลงการณ์ การอภิปรายและการประชุมสัมมนาอยู่เป็นประจำและสม่ำเสมอเพื่อชี้แจงให้ประชาชนโดยทั่วไปเข้าใจเหตุผลและหลักการของกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายมหาชนซึ่งเป็นพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามหลักนิติรัฐนิติธรรม ทำให้กลุ่มอาจารย์นิติศาสตร์ 5 คนคณะนี้ซึ่งต่อมาได้ตั้งชื่อกลุ่มของตนว่า "คณะนิติราษฎร์" ได้มีโอกาสสร้างความกระจ่างชัดขึ้นในหมู่ประชาชนคนไทยที่ต่อต้านและไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจกำลังทหารทำรัฐประหารเข้ายึดอำนาจรัฐ เพราะถึงแม้จะมีข้ออ้างอยู่เสมอว่ามีเจตนาดีต่อประเทศชาติบ้านเมืองที่ไม่ต้องการเห็นคนไม่ดีที่ทุจริตคอรัปชั่นมาปกครองบ้านเมืองก็ตาม แต่การทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งของประชาชนตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย ก็คือการเหยียบย่ำและไม่เคารพการตัดสินใจของประชาชนเสียงข้างมาก ซึ่งตามหลักประชาธิปไตยถือว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองบ้านเมืองเป็นของประชาชน จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักนิติรัฐนิติธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการทำรัฐประหารโดยชัดแจ้ง

การรณรงค์ต่อสู้ทางหลักการและหลักความคิดทางวิชาการกฎหมายมหาชนและกฎหมายรัฐธรรมนูญของคณะนิติราษฎร์ในที่สุดได้ตกผลึกเป็นข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมเด่นชัดออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปทางการเมือง 2 ประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี

3.1 การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทำลายนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และยังเป็นต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้มีการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ดังต่อไปนี้ 

1. ประกาศให้รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการกระทำใดๆที่มุ่งต่อผลในทางกฎหมายของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2549 เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย

2. ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 36 และมาตรา 37 เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย

3.  ประกาศให้คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) และคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาที่เกิดจากการเริ่มกระบวนการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)  เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย

4. ประกาศให้เรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นเจ้าหน้าที่ และเรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นศาล ที่เกิดจากการเริ่มเรื่องโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นอันยุติลง 

5. การประกาศความเสียเปล่าของบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาตามข้อ 3 และ การยุติลงของกระบวนการตามข้อ 4 ไม่ใช่เป็นการนิรโทษกรรมหรือการอภัยโทษหรือการล้างมลทินแก่บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และไม่ใช่เป็นการลบล้างการกระทำทั้งหลายทั้งปวงของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ดังนั้น หากจะเริ่มดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวใหม่ก็สามารถกระทำไปตามกระบวนการทางกฎหมายปกติได้

6. เพื่อความชอบธรรมทางประชาธิปไตย คณะนิติราษฎร์เสนอให้นำข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นไปจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ

      3.2 การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นผลพวงต่อเนื่องจาก

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงมีปัญหาความชอบธรรมทางประชาธิปไตย แม้ว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวผ่านการออกเสียงประชามติก็ตาม แต่กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการจัดให้มีการออกเสียงประชามติไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย 

1.     คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 

"หมวด 16 การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่" 

2. คณะนิติราษฎร์เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่จะนำมาใช้เป็นต้นแบบในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ สมควรเป็นพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 และอาจนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ในส่วนของการประกันสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนโครงสร้างสถาบันการเมืองและองค์กรทางรัฐธรรมนูญเท่าที่สอดคล้องกับพัฒนาการในยุคร่วมสมัยมาเป็นแนวทางในการยกร่าง

3. เพื่อมิให้การรัฐประหารทำลายหลักการอันเป็นรากฐานของนิติรัฐ-ประชาธิปไตยจนหมดสิ้น คณะนิติราษฎร์เสนอให้มีการจัดทำ  "คำประกาศว่าด้วยคุณค่าอันเป็นรากฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย" แม้คำประกาศดังกล่าวจะไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย แต่คำประกาศดังกล่าวเป็นวิญญาณของระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ไม่มีบุคคลใดหรือไม่มีวิธีใดทำลายหรือทำให้สูญสิ้นไปได้ 

4. คำประกาศว่าด้วยคุณค่าอันเป็นรากฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย ยืนยันว่ามนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย ไม่มีผู้ใดและไม่มีวิธีใดที่จะพรากไปจากราษฎรได้ การปกครองโดยกฎหมายที่ยุติธรรมเป็นคุณค่าพื้นฐานของรัฐ และการแบ่งแยกอำนาจเป็นอุดมการณ์ในการจัดรูปการปกครองที่ต้องธำรงไว้ให้มั่นคงตลอดกาล

5. หลังจากสภาร่างรัฐธรรมนูญให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปออกเสียงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบ

ทิศทางการปฏิรูปและทางออก

          อาจกล่าวได้ว่าข้อเสนอแนะและชี้นำของคณะนิติราษฎร์มีผลเป็นแรงบันดาลใจและผลักดันให้มีแรงขับเคลื่อนในกลุ่มพลังทางสังคมที่ต้องการเห็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงเกิดขึ้นในประเทศไทยเดินหน้ารณรงค์ต่อสู้เรียกร้องเพื่อหาทางแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าการต่อสู้ดังกล่าวจะได้นำไปสู่การปราบปรามอย่างรุนแรงจากฝ่ายตรงกันข้ามซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทางฝ่ายทหารและกลุ่มพลังฝ่ายอำมาตยาธิปไตยให้เป็นรัฐบาลกุมอำนาจรัฐอยู่ในช่วงเวลานั้นก็ตาม จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน และ 19 พฤษภาคม 2553 ทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของประชาชนผู้เคราะห์ร้ายที่ตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงเป็นจำนวนมิใช่น้อย ซึ่งมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงอีกครั้งหนึ่งในสังคมไทย ซึ่งดูประหนึ่งว่าจะเป็นวัฏจักรของระบอบการเมืองการปกครองที่สังคมไทยไม่สามารถก้าวข้ามให้พ้นไปได้เลยกระนั้นหรือ

        เมื่อพรรครัฐบาลชุดปัจจุบันชนะการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2554 ได้มีการประกาศนโยบายไว้โดยชัดเจนว่าจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ 2550 ที่ยังใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน เพื่อตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของประชาชนตามที่ได้ให้สัญญาประชาคมไว้ในระหว่างรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งคราวนั้น แต่อาจจะเป็นเพราะในปีเดียวกันนั้นเอง รัฐบาลต้องเผชิญกับการหาทางแก้ไขปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่นับตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับหน้าที่จนถึงประมาณต้นปี 2555 ปัญหาน้ำท่วมใหญ่จึงบรรเทาเบาบางลง หลังจากนั้นการดำเนินการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเริ่มต้นขึ้นโดยมีการยื่นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภารวม 3 ฉบับ

1.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291

เมื่อวันที่ 9 และ 16 กุมภาพันธ์ 2555 รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลรวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่งได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญขอแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 291 รวม 3 ฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญทำนองเดียวกันทั้งหมด เพื่อให้มีการก่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ยกเว้นหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ทั้งหมวด ร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับมีบทบัญญัติทั้งหมด 5 มาตรา โดยมาตรา 4 เป็นการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291 โดยเพิ่มเป็นหมวด 16 "การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่"  มีบทบัญญัติ 17มาตรา ได้แก่ มาตรา 291/1-291/17

การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 3 ฉบับรวมกัน ถูกคัดค้านต่อต้านอย่างหนักจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้านและสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่ง ถึงกระนั้นการพิจารณาร่วมกันโดยรัฐสภาก็สามารถดำเนินไปได้จนร่างรัฐธรรมนูญฯผ่านการลงมติเห็นชอบในวาระที่สอง คงเหลือเพียงการลงมติเห็นชอบหรือไม่ในวาระที่สามเท่านั้น ซึ่งการพิจารณาในวาระที่สามจะไม่มีการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ อีก นอกจากการแก้ไขถ้อยคำที่พิมพ์ผิดพลาดเท่านั้น การลงมติจึงเป็นแต่เพียงให้ความเห็นชอบหรือไม่เท่านั้น หากเสียงข้างมากซึ่งจะต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกของทั้งสองสภาลงมติให้ความเห็นชอบ ก็จะมีการนำร่างรัฐธรรมนูญนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็จะมีผลใช้บังคับเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในมาตราที่เกี่ยวข้องทันที

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการนัดลงมติวาระที่สาม ได้มีสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้านและบุคคลอื่นจำนวนหนึ่ง รวม 5 ราย ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยกล่าวอ้างว่าการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาก็ดี และการดำเนินการของรัฐสภาในการพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ดี เป็นการกระทำที่ถือว่าเข้าข่ายเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามนัยมาตรา 68 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งห้ามประธานรัฐสภาเรียกประชุมเพื่อลงมติในวาระที่สามต่อไป ซึ่งต้องรอให้ระยะเวลา 15 วันนับแต่วันที่ลงมติวาระที่สองผ่านไปเสียก่อน ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งใช้มาตรการคุ้มครองชั่วคราวโดยสั่งไปยังเลขาธิการรัฐสภาให้แจ้งต่อประธานรัฐสภาให้ระงับการนัดประชุมวาระที่สามไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำสั่งวินิจฉัย และให้ประธานรัฐสภา รัฐบาล และสมาชิกรัฐสภาทั้งสองสภาที่ร่วมกันเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตามคำร้องของผู้กล่าวหา

ถึงแม้ว่าประธานรัฐสภา รัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาที่ถูกกล่าวหาจะเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจที่จะรับคำร้องของผู้กล่าวหาไว้พิจารณาได้ เพราะเป็นการเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง โดยไม่เสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณาเสียก่อนว่าจะสมควรยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาข้อกล่าวหาตามคำร้องหรือไม่ แต่ก็ยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยยื่นคำชี้แจงด้วยเหตุผลดังกล่าวไป ซึ่งในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 ว่าผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรา 68 และศาลมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาได้ ถึงแม้ว่าอัยการสูงสุดจะยังมิได้พิจารณาคำร้องของผู้ร้องก็ตาม แต่เห็นว่าการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและการพิจารณาให้ความเห็นชอบของรัฐสภาที่ผ่านไปแล้วสองวาระยังไม่เข้าข่ายเป็นการล้มล้างระบอบการปกครองฯ ตามนัยมาตรา 68 จึงวินิจฉัยให้ยกคำร้องของผู้ร้องทุกคำร้อง

ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะได้มีคำวินิจฉัยให้ยกคำร้องทั้งหมดดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากมีความคลุมเครือไม่ชัดเจนในคำวินิจฉัยว่า หากทางรัฐสภาจะเดินหน้าต่อไปให้มีการลงมติในวาระที่สาม จะมีการตีความโดยอาศัยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้งที่เป็นคำวินิจฉัยกลางและส่วนตนของตุลาการแต่ละคนมาเป็นเหตุผลสนับสนุนประเด็นข้อกล่าวอ้างของผู้ร้องทั้ง  5 ราย ได้อีกหรือไม่ ซึ่งประเด็นที่ว่านี้ก็คือ ประเด็นที่ 2 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นปัญหาว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 สามารถแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่ หรือการแก้ไขจะดำเนินการโดยยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่ อันเป็นประเด็นหลักสำคัญที่ค้างคาและวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่จนถึงขณะนี้ ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้หรือไม่ กรณีนี้หรือประเด็นที่ 2 นี้เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้การลงมติในวาระ 3 ต้องหยุดชะงักหรือชะลอไว้ก่อน

        เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวนี้ นคร พจนวรพงษ์ อดีตผู้พิพากษาอาวุโสศาลยุติธรรม ได้เสนอความเห็นไว้ว่า

"เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย "ให้ยกคำร้องทั้งห้าคำร้อง" แล้ว จึงไม่มีคำขอท้ายคำร้องใดๆ จะยังคงเหลือที่จะให้นำมาขบคิดหรือวิตกกังวลแต่อย่างใด แม้ในคำวินิจฉัยคดีส่วนกลางบางตอนหรือในคำวินิจฉัยคดีส่วนตนของตุลาการบางท่านบางตอนท่านอาจจะยกข้อความใดๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี หรือเกินไปกว่า หรือนอกจากที่ปรากฏในคำร้อง (ไม่มีในคำร้อง) ของผู้ร้อง โดยยกขึ้นมากล่าวเป็น ข้อสังเกต ข้อแนะนำต่างๆ จริงๆ แล้วเป็นการไม่สมควรและไม่มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ เมื่อข้อสังเกตหรือข้อแนะนำต่างๆ ดังกล่าวนั้นถูกนำมาเขียนลงในคำสั่งหรือคำวินิจฉัยโดยไม่ถูกต้อง ก็ไม่มีผลผูกพันและไม่จำต้องปฏิบัติตาม กล่าวคือผลของข้อสังเกตหรือข้อแนะนำนั้นๆ ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ ในทางแพ่งเขาเรียกว่า "โมฆะ" ซึ่ง

ผู้ใดจะยกขึ้นมากล่าวอ้างเพื่อการใดๆ มิได้"

"โดยผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 "ให้ยกคำร้องทั้งห้าคำร้อง" เมื่อข้อกล่าวหาต่างๆ ที่กล่าวหาผู้ถูกร้อง ได้ถูกยก หรือสิ้นผล หรือหมดไป หรือฟังไม่ขึ้นแล้ว เพื่อประโยชน์สูงสุดของปวงชนชาวไทย ในการพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ถาวรมั่นคงแข็งแรงและส่งผลไปถึงการบริหารบ้านเมืองเพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติสืบต่อไป"  

"ดังนั้น รัฐสภาโดยสมาชิกรัฐสภาในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติควรจะได้หยิบยกหรือดำเนินการจัดการ ให้ออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ 3 ที่ชะลอไว้ (รัฐสภาสามารถจะนำมาลงมติในวาระ 3 เมื่อไรก็ได้) และเมื่อการลงมติมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยแล้ว นายกรัฐมนตรีจะได้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็สามารถจะดำเนินการเลือกตั้งแต่งตั้ง ส.ส.ร. เพื่อยกร่างจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนรัฐธรรมนูญฉบับเดิม (พ.ศ.2550) ต่อไป"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้อมูลเผยคนร้ายกราดยิงฐานทัพเรือสหรัฐ นับถือศาสนาพุทธ-นั่งสมาธิ

Posted: 16 Sep 2013 11:30 PM PDT

คนรู้จักและเพื่อนอารอน อเล็กซิส คนร้ายกราดยิงฐานกองทัพเรือที่วอชิงตัน ดีซี เผยเขาเคยมานั่งสมาธิที่วัดที่เมืองไทย แต่มีนิสัยชอบเล่นวีดีโอเกม และโกรธแค้นกับเหตุการณ์ 9-11
 
17 ก.ย. 56 - เว็บไซต์ต่างประเทศรายงานว่า อารอน อเล็กซิส ผู้ร้ายที่ก่อเหตุยิงกราดในฐานทัพเรือในวอชิงตัน ดีซี ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 13 ราย บาดเจ็บอีก 12 ราย เคยมีประวัติการใช้ความรุนแรงมาก่อน โดยเคยถูกจับกุมในข้อหาใช้อาวุธปืนที่เท็กซัส และเคยถูกปลดออกจากราชการเนื่องจากมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม จากการสัมภาษณ์เพื่อนและคนใกล้ชิดของเขา พบว่าเขามีนิสัยชอบไปนั่งสมาธิที่วัดเป็นประจำ และยังเคยเดินทางมานั่งสมาธิที่เมืองไทยด้วย 
 
จากคำบอกเล่าของคนรู้จัก อารอน อเล็กซิส วัย 34 ปี เคยทำงานอยู่ร้านอาหารไทยในเท็กซัสของเพื่อนคนไทยที่สนิทกันของเขา ก่อนที่จะย้ายไปทำงานบริษัทเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ซึ่งได้รับสัญญาว่าจ้างจากรัฐบาล 
 
จากรายงานของตำรวจ พบว่าอเล็กซิสเคยถูกจับกุมในเมืองซีแอตเติลเมื่อปี 2547 เนื่องจากยิงปืนใส่ล้อรถของคนงานก่อสร้าง ซึ่งจอดอยู่บริเวณใกล้เคียงที่พักอาศัยของเขา โดยเขาบอกกับตำรวจว่าเกิดอาการ "หน้ามืด" ด้วยความโกรธ เพราะเขาเชื่อว่าคนงานก่อสร้างตั้งใจล้อเลียนเขา 
 
พ่อของอเล็กซิสกล่าวว่า เขามีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ความโกรธของตนเอง อันเป็นผลมาจากเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ซึ่งในขณะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เขาอาศัยอยู่ที่ควีนส์ ในนิวยอร์ก ซึ่งเขาอาจมีส่วนในการเข้าไปช่วยเหลือ หลังจากนั้นมา ทำให้เขาเกิดความเครียดสะสมต่อเนื่อง
 
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ในปี 2553 เขาเคยถูกจับกุมในข้อหายิงปืนในอพาร์ทเมนท์ ส่งผลให้พื้นห้องของเพื่อนบ้านทะลุ อย่างไรก็ตามเขาไม่ถูกดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าว และทำให้เขาถูกย้ายออกจากอพาร์ทเมนท์ดังกล่าวในที่สุด 
 
ในปี 2548 เขาเข้ารับราชการในกองทัพเรือ และทำงานในตำแหน่งลอจิสติกส์ที่อิลลินอยส์และเท็กซัส อย่างไรก็ตาม เขาถูกปลดประจำการในปี 2554 เนื่องจากมีความประพฤติไม่เหมาะสม 
 
เขาถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์กราดยิงเมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมาตามเวลาประเทศไทย หลังจากที่ก่อเหตุยิงกราดในฐานทัพเรือ นับเป็นเหตุการณ์กราดยิงในสหรัฐที่รุนแรงที่สุดหลังจากเหตุการณ์กราดยิงโรงเรียนประถมในเมืองนิวทาวน์ คอนเนคติคัตเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้มีเด็กนักเรียน 20 รายและผู้ใหญ่อีก 6 รายเสียชีวิต 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูเอ็นเผยรายงานการตรวจสอบเหตุการณ์อาวุธเคมีในซีเรีย

Posted: 16 Sep 2013 08:59 PM PDT

หลังจากได้ลงพื้นที่เกิดเหตุย่านกูตา กรุงดามาสกัส คณะผู้ตรวจสอบได้เปิดเผยรายงานข้อสรุประบุว่ามีการใช้แก๊สซารินจริงจากหลักฐานของสารเคมีในเลือดร้อยละ 85 ซึ่งมีการบรรจุสารอยู่ในอาวุธจรวดประเภท M14 แต่ยังไม่สามารถระบุฝ่ายที่ก่อเหตุได้แน่ชัด

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา สหประชาชาติได้เปิดเผยรายงานกรณีการใช้อาวุธเคมีในกรุงดามาสกัส ประเทศซีเรีย เมื่อเดือนที่ผ่านมาโดยมีการยืนยันว่าอาวุธที่ใช้คือแก๊สซาริน หลังจากเจ้าหน้าที่ได้พื้นที่ตรวจสอบ

รายงานล่าสุดของยูเอ็นระบุว่ามีการใช้แก๊สซารีนติดกับจรวดเพื่อโจมตีเมืองหลวงของซีเรีย แต่ยังไม่ชี้ชัดว่าฝ่ายใดเป็นผู้ก่อเหตุ ทางด้าน บันคีมูน เลขาธิการยูเอ็นกล่าวว่าเรื่องนี้ถือเป็นอาชญากรรมสงคราม

คณะผู้ตรวจสอบที่ลงพื้นที่ในซีเรียสรุปผลการตรวจสอบว่ามีการใช้อาวุธเคมีโจมตีเป็นวงกว้างในย่านกูตา กรุงดามาสกัสเมื่อวันที่ 21 ส.ค. ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มพลเรือน แต่ในรายงานของยูเอ็นยังไม่สามารถระบุตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แน่ชัดได้ ซึ่งหากอ้างจากรายงานข่าวก่อนหน้านี้จำนวนผู้เสียชีวิตจะอยู่ที่ 100-150 ราย

บันคีมูนแถลงผลรายงานต่อสื่อว่า มีผู้รอดชีวิตเล่าถึงเหตุการณ์ว่ามีการโจมตีด้วยระเบิดจากนั้นไม่นานผู้คนก็เกิดอาการต่างๆ ตั้งแต่การหายใจติดขัด การระคายเคืองตา การมองเห็นหม่นมัว อาการคลื่นไส้อาเจียน และรู้สึกอ่อนแรง มีคนจำนวนมากเริ่มหมดสติ ผู้พบเห็นกล่าวถึงสภาพว่าเห็นคนจำนวนมากนอนอยู่ที่พื้น ส่วนใหญ่เสียชีวิตไม่ก็หมดสติ

เจ้าหน้าที่ตรวจสอบของยูเอ็นได้ทำการตรวจเลือด เส้นผม ปัสสาวะ และตัวอย่างจรวด พบว่าจำนวนตัวอย่างของเลือดร้อยละ 85 มีสารของแก๊สพิษซารินปนอยู่

จากการวิเคราะห์เบื้องต้น คณะผู้ตรวจสอบได้สรุปว่า "หลังเก็บหลักฐานที่ชี้วัดได้พบว่ามีการใช้ขีปนาวุธทางบกที่มีส่วนผสมของแก๊สซารินโจมตีพื้นที่ ไอน์ทาร์มา โมอาดามิยาห์ และซัลมัลกา ในย่านกูตาของกรุงดามาสกัส"

รายงานข่าวของ BBC ระบุว่ามีการใช้ยานพาหนะลำเลียงอาวุธจำพวกเดียวกับขีปนาวุธปืนใหญ่ M14 ยิงมาจากทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ โดยไม่สามารถระบุตำแหน่งที่แน่ชัดได้

เลขาธิการสหประชาชาติยังได้เรียกร้องให้มีการประณามการก่ออาชญากรรมในครั้งนี้และประชาคมโลกมีส่วนรับผิดชอบในการนำตัวผู้ทำผิดมาลงโทษ อย่างไรก็ตาม คณะผู้ตรวจสอบของยูเอ็นไม่ได้มีหน้าที่ในการระบุตัวผู้กระทำผิด โดยบันคีมูนกล่าวถึงเรื่องนี้ว่าเป็นหน้าที่ของคนอื่นต้องตัดสินใจ และจะมีการอภิปรายในประเด็นนี้กับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

อย่างไรก็ตาม ซาแมนธา พาวเวอร์ เอคอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็นกล่าวว่า จากรายละเอียดในเชิงเทคนิคแล้ว เธอคิดว่าเป็นฝ่ายรัฐบาลซีเรียที่จะสามารถโจมตีเป็นวงกว้างเช่นนี้ได้ ทางด้านวิลเลี่ยม ฮาค รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษก็มีความเห็นไปในทางเดียวกัน โดยอ้างว่าจากข้อมูลเรื่องอาวุธคิดว่าฝ่ายรัฐบาลซีเรียเป็นผู้กระทำผิด

ทางสหรัฐฯ กล่าวหาว่ารัฐบาลซีเรียเป็นผู้กระทำผิดมาตั้งแต่ก่อนหน้ายูเอ็นเผยผลสรุปจากการตรวจสอบแล้ว โดยพยายามขอมติจากสภาความมั่นคงในการโจมตีซีเรีย ซึ่งทางการรัสเซียได้คัดค้านในเรื่องนี้และเสนอให้ซีเรียเข้าร่วมเป็นประเทศสสมาชิกองค์กรห้ามอาวุธเคมี

โดยทางรัสเซียกับสหรัฐฯ ได้มีการเจรจาหาข้สรุปร่วมกันตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีมติร่วมกันให้ทางการซีเรียเปิดเผยตำแหน่งของอาวุธเคมีภายในหนึ่งสัปดาห์ และกำจัดอาวุธเคมีทั้งหมดภายในช่วงกลางปี 2014

สหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศสต่างต้องการให้ยูเอ็นมีมติโต้ตอบซีเรียอย่างหนักแน่นและทันการหากทางการซีเรียไม่สามารถปฏิบัติตามได้ จอห์น เคอร์รี่ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้กล่าวในวันที่ 16 ก.ย. ว่าทุกประเทศรวมถึงประเทศรัสเซียตกลงให้มีการใช้กำลังทหารแทรกแซงได้หากมาตรการทางการทูตล้มเหลว โดยกล่าวอ้างตามบทบัญญัติข้อที่ 7 ของกฎบัตรสหประชาชาติ ที่อนุญาตให้ใช้กำลังทหารแทรกแซงได้หากมาตรการอื่นๆ ไม่ได้รับการปฏิบัติตาม

แต่ทางด้านเซอกี ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซียกล่าวว่า การเรียกร้องให้ทางยูเอ็นมีมาตรการโดยด่วนต่อ ประธานาธิบดีอัสซาดของซีเรียแสดงให้เห็นการขาดความเข้าใจเรื่องข้อตกลงเรื่องอาวุธเคมีที่ทำกับซีเรีย

 


เรียบเรียงจาก

Syria crisis: UN report confirms sarin 'war crime', BBC, 16-09-2013
http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-24113553

รายงานฉบับเต็มของสหประชาชาติ
http://www.un.org/disarmament/content/slideshow/Secretary_General_Report_of_CW_Investigation.pdf

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Cybersyn โครงการเศรษฐศาสตร์ล้ำสมัยในชิลีเมื่อ 40 ปีที่แล้ว

Posted: 16 Sep 2013 08:04 PM PDT

เว็บไซต์ Red Pepper เล่าเรื่องโครงการสร้างระบบเครือข่ายจัดการเศรษฐกิจแบบกระจายอำนาจของอดีต ปธน. ฝ่ายซ้ายในชิลี ที่ชื่อโครงการ Cybersyn ซึ่งมีความล้ำหน้ามากในยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตเฟื่องฟูเช่นทุกวันนี้

16 ก.ย. 2013 - เว็บไซต์นิตยสารฝ่ายซ้าย Red Pepper กล่าวถึงโครงการ 'อินเทอร์เน็ตสังคมนิยม' จากแนวคิดของอดีตผู้นำ ซัลวาดอร์ อัลเลนเด ประธานาธิบดีคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในชิลี ก่อนที่จะเสียชีวิตจากการรัฐประหารโดยมีสหรัฐฯ หนุนหลังในวันที่ 11 ก.ย. 1973 โดยโครงการดังกล่าวมีชื่อว่า 'ไซเบอร์ซิน' (Cybersyn) ซึ่งถูกยุบไปหลังจากการรัฐประหาร

โครงการดังกล่าวมีแผนการประสานงานระหว่างคณะรัฐมนตรีของชิลีในสมัยนั้นกับนักวิทยาศาสตร์ฝ่ายซ้ายในอังกฤษและที่ปรึกษาด้านการจัดการระบบจักรกลชื่อว่าสแตฟฟอร์ด เบียร์ โดยโครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการที่มาก่อนกาล มีความพยายามออกแบบระบบ 4 ด้าน คือการจำลองเศรษฐกิจ, ระบบซอฟต์แวร์ตรวจสอบการทำงานของโรงงาน ห้องปฏิบัติการ และโครงข่ายโทรพิมพ์ (Telex) ที่โยงกับเครื่องคอมพิวเตอร์ประมวลผลส่วนกลาง

ในปี 1970 รัฐบาลอัลเลนเดต้องจัดการกับความวุ่นวายของระบบโรงงาน เหมืองแร่ และที่ทำงานอื่นๆ ซึ่งหลายแห่งอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐมานานแล้ว บางแห่งเพิ่งถูกทำให้เป็นของรัฐ บางแห่งอยู่ภายใต้การยึดครองของคนงาน และยังมีส่วนหนึ่งที่มีเจ้าของกิจการควบคุมอยู่ ทำให้ต้องการระบบการประสานงานที่ดี

เฟอร์นานโด ฟลอเรส หัวหน้าบรรษัทพัฒนาการผลิตของชิลีซึ่งต่อมากลายเป็นรัฐมนตรีการคลังเป็นผู้รับผิดชอบประสานงานระหว่างบริษัทภายใต้การกำกับของรัฐ ส่วนสแตฟฟอร์ด เบียร์ ก็มีความคิดคล้ายๆ กับ อัลเลนเด คือต้องการสร้างระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมที่ไม่ถูกรวมศูนย์แบบในโซเวียตจึงได้รับการทาบทามให้มาร่วมงานนี้

และต่อมาถึงมีการให้ชื่อโครงการว่า ไซเบอร์ซิน ซึ่งเปรียบเสมือนระบบเชื่อมโยงระหว่างคนงาน สมาชิกในชุมชน และรัฐบาลเข้าด้วยกัน โดยสามารถนำเสนอสิ่งที่ตัวเองมีหรือความต้องการของตนผ่านทางระบบสื่อสารแบบเครือข่ายได้ ซึ่งในยุคนั้นแนวคิดนี้ยังดูมึความฝันเฟื่องทะเยอทะยานมาก ซึ่งอาจถูกมองว่าธรรมดาในยุคปัจจุบันที่อินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ไปแล้ว

แต่แม้ว่าโครงการนี้ยังไม่สำเร็จดีและถูกพับไปเสียก่อนจากการถูกรัฐประหาร แต่ก็มีต้นแบบขั้นสูงของระบบนี้ที่ถูกสร้างในเวลา 4 เดือน ประกอบด้วยเครื่องโทรพิมพ์ 500 เครื่องส่งให้ตามบริษัทต่างโดยเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ประมวลผลส่วนกลางของรัฐบาลสองเครื่อง ทำให้สามารถได้ข้อมูลเรื่องวัตถุดิบและผลผลิตของโรงงาน การขนส่ง การขาดงาน และข้อมูลสำคัญด้านเศรษฐกิจรวมถึงการแลกเปลี่ยนกันของคนงานที่ได้ผลลัพธ์ด้านข้อมูลใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้าส่วนใหญ่

แต่โครงการนี้ก็ไม่ถือว่าสูญเปล่า เมื่อมีนักวิทยาการคอมพิวเตอร์คนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ชื่อ พอล คอกส์ชอตต์ ได้เขียนถึงความเป็นไปได้เรื่องแผนการจัดการทางเศรษฐกิจยุคหลังทุนนิยม (post-capitalist) ที่มีการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยเหลือ โดยพอลเป็นคนที่ชื่นชมระบบของไซเบอร์ซินในฐานะเป็นระบบที่นำมาใช้ได้จริง

"สิ่งที่ก้าวหน้าอย่างมากสำหรับผลงานการทดลองไซเบอร์ซินของสแตฟฟอร์ด เบียร์ คือการที่มันออกแบบมาให้เป็นระบบที่ใช้งานได้อย่างทันท่วงที แทนระบบแบบของโซเวียตเคยใช้คือการต้องมาประมวลระบบใหม่โดยให้คุณสามารถร่วมตัดสินใจได้ทุกๆ 5 ปี" พอล คอกส์ชอตต์กล่าว

ระบบของไซเบอร์ซินมีการบันทึกรวบรวมข้อมูลโดยมีผู้ตรวจสอบของรัฐบาล 7 คน คอยตรวจดูข้อมูลเศรษฐกิจเพื่อการตัดสินใจแบบทันด่วนภายในห้องที่ดูคล้ายห้องปฏิบัติการยุคอวกาศของภาพยนตร์สตาร์เทรก แต่เป็นไปเพื่อการจัดการที่มีลักษณะกระจายอำนาจมากกว่าการรวมศูนย์อำนาจ โดยมีแผนการตั้งห้องปฏิบัติการในโรงงานแต่ละแห่งซึ่งมีคณะกรรมการแรงงานเป็นผู้ดำเนินงานในห้องปฏิบัติการ

ไซเบอร์ซิน ยังเคยถูกนำมาใช้แก้ปัญหาเมื่อช่วงที่มีการประท้วงของกลุ่มนักธุรกิจอนุรักษ์นิยมซึ่งได้รับการหนุนหลังจากซีไอเอและมีการบอยคอตต์ของบริษัทบรรทุกสินค้าในปี 1972 ทำให้ทรัพยากรอาหารและน้ำมันอยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้รัฐบาลอัลเลนเดนำระบบเครือข่ายไซเบอร์ซินมาแก้ปัญหาการขาดแคลนโดยการช่วยกันระบุตำแหน่งว่าสถานที่ใดกำลังขาดแคลนและสามารถจัดหาคนขับรถที่ไม่ได้ร่วมบอยคอตต์เพื่อลำเลียงทรัพยากร จนทำให้กลุ่มเจ้าของบริษัทรถบรรทุกที่ทำการบอยคอตต์พ่ายแพ้ไป

แต่หลังจากเหตุการณ์รัฐประหารด้วยความรุนแรง ประธานาธิบดีอัลเลนเดเลือกปลิดชีพตัวเองแทนการยอมพ่ายต่อลัทธิเผด็จการของปิโนเชต์ ประชาธิปไตยในชิลีถูกทำลายไปพร้อมๆ กับการทดลองเครือข่ายไซเบอร์ซิน และถูกแทนที่ด้วยระบบการจัดการแบบของมิลตัน ฟรีดแมน ซึ่งมีผู้นำไปใช้เลียนแบบคือมากาเร็ต แทชเชอร์ กับผู้นำคนอื่นๆ อีกหลายสิบคน

ลีห์ ฟิลลิปส์ นักข่าวของ Red Pepper บอกว่าในปัจจุบันที่มีวิกฤติด้านเศรษฐกิจที่อาจจะร้ายแรงยิ่งกว่าสมัยปี 1930 จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ถ้าหากมีการหารือเรื่องระบบเศรษฐกิจแบบหลังทุนนิยม ซึ่งตัวลีห์คิดว่าระบบแบบของไซเบอร์ซิน มีความเหมาะสมกับยุค 2013

"ระบบไซเบอร์ซินไม่ใช่ของแปลกทางประวัติศาสตร์หรือความฝ้นในอุดมคติ" ลีห์กล่าว "แต่มันคือตัวอย่างของการทดลองในโลกความจริงเกี่ยวกับแผนการยุคหลังทุนนิยมที่ต้องมีการพิเคราะห์อย่างลึกซึ้งและประเมินคุณค่าของมัน ซึ่งถ้าหากมีอะไรนำมาปรับใช้ได้แม้เพียงเล็กน้อย ก็ถือว่าเป็นชัยชนะของคนธรรมดาอย่างพวกเราอีกครั้ง"

 


เรียบเรียงจาก

Allende's socialist internet, Red Pepper, 09-2013
http://www.redpepper.org.uk/allendes-socialist-internet/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น