ประชาไท | Prachatai3.info |
- ทีดีอาร์ไอ: จับตาการสร้างอนาคตไทยด้วยเงินกู้ 2 ล้านล้าน
- MIO: สื่อไทยในสายตา UN Women
- ณัฐพล ใจจริง: หนังสือการเมืองเล่มเล็กภายหลังการปฏิวัติ 2475
- คุยกับแอดมินเพจ‘ใน มธ.ตะวันออก-ตก’ วิวาทะ ‘อั้ม เนโกะ’ ชุดนักศึกษา, เสรีภาพ, แตกแยก
- รายงาน: อินเทอร์เน็ตล่มในพม่า เหตุจงใจหรือว่าบังเอิญ?
- เสียงสันติภาพของเครือข่ายผู้หญิง“การนิ่งเฉยคือยอมจำนนต่อความรุนแรง”
- นักศึกษาปาตานีร้องทำประชามติดับไฟใต้ เนื่องในวันสันติภาพโลก
- ประมวลภาพ: คนกรุงฯ ร่วมจัดเต็ม! โค้งสุดท้าย ‘เดินเท้าคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์’
ทีดีอาร์ไอ: จับตาการสร้างอนาคตไทยด้วยเงินกู้ 2 ล้านล้าน Posted: 23 Sep 2013 04:32 AM PDT จับตาการสร้างอนาคตไทยด้วยเงินกู้ 2 ล้านล้าน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศครั้งใหญ่ที่มีการออกพระราชบัญญัติกู้เงินลงทุนกว่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลมองว่าเป็น พ.ร.บ. สร้างอนาคตไทย 2020 ซึ่งล่าสุดสภาผู้แทนราษฎรพิจารณามีมติเห็นชอบวาระ 3 ไปเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา การปฎิรูปโครงสร้างประเทศครั้งใหญ่นี้แม้ควรเกิดขึ้นแต่ยังมีสิ่งที่ต้องร่วมกันจับตาเพื่อให้เกิดการใช้เม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลนี้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ดร.สุเมธ องคกิตติกุล นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอ เปิดเผยมุมมองโดยพิจารณาจากยุทธศาสตร์ โครงการที่จะเกิดขึ้น และการบริหารจัดการ กล่าวว่า ในด้านการลดต้นทุน โครงการที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. 2 ล้านล้านนั้น เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางรางเป็นหลัก นั่นคือการขนส่งทางรถไฟ ที่เชื่อว่าเป็นการขนส่งที่ประหยัดและขนส่งได้ครั้งละมาก ๆ น่าจะช่วยลดต้นทุนในการขนส่งของประเทศได้ในระดับหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงข้อจำกัดของระบบรางในบ้านเราคือมีโครงข่ายระบบรางทั่วประเทศประมาณเพียง 4,000 กิโลเมตร ขณะที่เมื่อเทียบกับระบบขนส่งทางถนนเรามีโครงการข่ายถนนมากกว่า 200,000 กิโลเมตร ระบบขนส่งทางรางจึงมีความทั่วถึงไม่มากนัก ด้านการลดต้นทุนคงลดได้บ้าง แต่จะลดลงอย่างเห็นได้ชัดหรือมีนัยยะสำคัญกับระบบเศรษฐกิจยังต้องดูกันต่อไป ขึ้นอยู่กับว่าในพื้นที่ที่ทางรถไฟได้พัฒนาเส้นทางไปนั้นเป็นเส้นทางที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน รถไฟความเร็วสูง ไม่ลดต้นทุนการขนส่ง อย่างไรก็ดีกรอบของ พ.ร.บ. 2 ล้านล้านนั้นประกอบไปด้วยโครงการจำนวนมากเหมือนเป็นแพ็คเกจใหญ่ มีตัวโครงการที่มีการพัฒนาระบบการขนส่งเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบทางคู่ ซึ่งปัจจุบันเป็นระบบรถไฟทางเดี่ยววิ่งสวนกันไม่ได้ ถ้าเป็นทางคู่ก็จะทำให้วิ่งสวนกันได้ ก็จะสามารถขนส่งสินค้าและผู้โดยสารได้จำนวนมากและรวดเร็วมากยิ่งขึ้นจะสามารถช่วยลดต้นทุนได้ แต่โครงการลักษณะนี้มีสัดส่วนประมาณ 20-25% ของเม็ดเงินในการลงทุนเท่านั้น ในขณะที่โครงการที่เกี่ยวข้องกับรถไฟความเร็วสูงเป็นเม็ดเงินค่อนข้างสูงมากประมาณกว่า 8 แสนล้านบาทหรือ 39%ของเม็ดเงินที่จะลงทุน 2 ล้านล้านครั้งนี้ และในส่วนของรถไฟความเร็วสูง ยังมีความไม่ชัดเจนในหลายประการเช่นจะช่วยเรื่องความเชื่อมโยงกับภูมิภาคได้อย่างไร อีกทั้งรถไฟความเร็วสูงก็ไม่เกี่ยวข้องกับการลดต้นทุนมากนักเพราะเน้นรองรับการขนส่งคนเป็นหลัก เป็นทางเลือกใหม่ของการเดินทางที่มีต้นทุนสูงซึ่งค่าโดยสารก็น่าจะแพงตามไปด้วย ลุ้น...ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ประเด็นนี้ต้องดูรายละเอียดโครงการ หากมีลักษณะอย่างเรื่องของระบบทางคู่ หรือรถไฟฟ้าที่ให้บริการในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ส่วนนี้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ค่อนข้างดีระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันในเรื่องรถไฟความเร็วสูงยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูงว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจจริงหรือไม่ ต้องรอดูกันต่อไป เพราะการหวังว่าการมีรถไฟความเร็วสูงแล้วจะทำให้เกิดการพัฒนาที่ดินไปตลอดแนวที่รถไฟความเร็วสูงพาดผ่านนั้น ความจริงแล้วกระบวนการพัฒนาที่ดิน พัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ในลักษณะอย่างนี้จำเป็นต้องใช้เวลามาก หลายครั้งที่เราได้ยินการยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหลังจากมีรถไฟความเร็วสูงแล้วทำให้เศรษฐกิจเขาเติบโตพัฒนา ตรงนี้ต้องเข้าใจภูมิศาสตร์ประเทศเขาด้วยว่า เป็นประเทศที่มีประชากรค่อนข้างหนาแน่นจึงมีปริมาณการใช้งานรถไฟความเร็วสูงค่อนข้างมาก และพื้นที่ก็มีการพัฒนามาเป็นเวลานาน เริ่มจากการพัฒนาตัวรถไฟระบบปกติก่อน เสร็จแล้วจึงมีการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงมาเป็นระยะ ๆ ทีละเส้นทาง ห่วงการจัดการ เสนอการรถไฟฯ ปฎิรูประบบรับมือ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่และใช้เงินมหาศาล เป็น พ.ร.บ.การกู้เงิน จึงมีความเป็นห่วงเรื่องการบริหารจัดการ โดยหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการบริหารจัดการคือ การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งมีข้อจำกัดภายในทั้งเรื่องโครงสร้าง บุคลากร และการบริหารจัดการที่น่าเป็นห่วง เช่นที่ผ่านมารัฐบาลในอดีตมีการอนุมัติงบประมาณโครงการรถไฟทางคู่ วงเงินราว 1.7 แสนล้านบาทให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทยไปดำเนินการ ซึ่งการรถไฟฯดำเนินการมาได้ระยะหนึ่งแล้วแต่ยังมียอดเบิกจ่ายงบประมาณอยู่ในระดับหมื่นล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น หากต้องการให้การดำเนินงานในเรื่องเงินกู้ 2 ล้านล้านให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ควรมีการปฏิรูปโครงสร้างองค์กรของการรถไฟแห่งประเทศไทยควบคู่ไปด้วย หรืออาจจะมีการเปิดกว้างให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมบางส่วนเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดความมีประสิทธิภาพของระบบมากยิ่งขึ้น แนะจับตาเอกสารประกอบการพิจารณา สิ่งที่น่ากังวลที่สุดของโครงการที่อยู่ภายใน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านคือ ส่วนของบัญชีแนบท้าย ซึ่งมีผลตามกฎหมายเฉพาะส่วนที่เป็นรายละเอียดยุทธศาสตร์และแผนงานอย่างกว้าง ๆ มีเนื้อหาเพียงสองหน้าครึ่งของหน้ากระดาษเท่านั้น ขณะที่รายละเอียดของโครงการจะอยู่ภายใต้เอกสารประกอบการพิจารณาที่มีความหน้ากว่า200หน้า และเป็นเอกสารประกอบการพิจารณาที่ยังไม่มีผลตามกฎหมาย(ณ ร่างที่พิจารณา) หมายความได้ว่ารัฐบาลสามารถปรับเปลี่ยนโครงการได้ในอนาคตภายใต้ยุทธศาสตร์หรือแผนงานที่กำหนดไว้ ส่วนนี้ได้สร้างข้อกังวลสำหรับโครงการต่าง ๆ เช่น อาจมีการปรับเปลี่ยนสำหรับโครงการที่ไม่ตอบโจทย์ฐานเสียงของรัฐบาลออกไปได้ เป็นต้น ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ โล๊ะโครงการไม่พร้อม ช่วยลดเงินกู้ นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทีดีอาร์ไอได้มีการศึกษารายละเอียดโครงการที่อยู่ในพ.ร.บ.นี้พอสมควร และพบว่า มีหลายโครงการที่ยังไม่มีความพร้อม สิ่งที่ควรแก้ไข คือ ควรตัดโครงการที่ยังไม่พร้อมออกไปก่อน จะช่วยลดวงเงินการลงทุนให้น้อยลง(กู้ให้น้อยลง)ได้ เพื่อที่จะสามารถบริหารจัดการได้ดีขึ้น และโครงการที่ตัดไปหากมีความพร้อมเมื่อไหร่ก็สามารถร่างเป็น พ.ร.บ.ใหม่ขึ้นมาหรือใช้งบประมาณประจำปี หรือใช้ระเบียบงบประมาณอื่นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องทุ่มทั้ง 2 ล้านล้าน โดยที่ทราบว่าหลายโครงการยังมีความไม่พร้อมในการลงทุนค่อนข้างมาก. ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 23 Sep 2013 03:58 AM PDT องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเพิ่มพลังของผู้หญิง แห่งสหประชาชาติ (UN Women) วิจารณ์สื่อไทยไม่ให้ความสำคัญกับมิติทางเพศ เรียกร้องให้สื่อในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก รวมถึงประเทศไทย เพิ่มพื้นที่ข่าวที่สนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างหญิง ชาย และเพศอื่นๆ ที่หลากหลาย อีก 15 % มณฑิรา นาควิเชียร เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร ยูเอ็นวีเมน เอเชียแปซิฟิก (UN Women Regional Office for Asia and the Pacific) เปิดเผยระหว่างจัดอบรมผู้สื่อข่าวในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก ในประเด็นว่าด้วยสิทธิสตรี สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ และประเด็นการพัฒนาของโลกที่สำคัญอย่างยิ่งยวด ว่าสื่อในประเทศไทยยังคงมีบทบาทในการร่วมสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมกันทางเพศน้อย เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน "คิดว่าสื่อไทยยังตามไม่ทันกระแสสังคมที่มีการเคลื่อนไหวเรื่อง gender ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะผู้หญิง แต่รวมถึงความหลากหลายทางเพศ ซึ่งสื่อไทยมีความจำกัดมากในการเข้าถึงมิติทางเพศ การนำเสนอทางสื่อจะมีการใช้ศัพท์ว่า เกย์ ตุ๊ด กะเทย ทอม ดี้ แสดงให้เห็นถึงการเอาเพศมาเป็นตัวกำหนดมากกว่าการดูที่คุณสมบัติหรือความสามารถของบุคคล หรือพอมีข่าวผู้หญิงทำแท้งสื่อพาดหัวทันที "แม่ใจร้าย" โดยไม่ได้มองเลยว่าก่อนหน้านั้นมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง ผู้ชายมีบทบาทอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ้าง ผู้หญิงไม่ได้ตั้งท้องได้เองโดยอัตโนมัติ" มณฑิรา กล่าว มณฑิรา นาควิเชียร ทั้งนี้มณฑิราเปิดเผยว่า ในต่างประเทศมีการศึกษาเรื่องความหลากหลายทางเพศและสรุปว่าประชากร บนโลกใบนี้ประกอบด้วยบุคคลที่มีเพศที่หลากหลายถึง 9 เพศ เช่น ชาย หญิง ชายรักชาย หญิงรักหญิง ชายรักชายและหญิง เป็นต้น ซึ่งบุคคลในทุกเพศ ล้วนไม่ต้องการการถูกสังคมมองอย่างแปลกแยก UN Women และ United Nations Population Funds (UNFPA) ได้ร่วมมือกันจัดงานฝึกอบรมให้กับผู้สื่อข่าวในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกในช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมาที่ประเทศไทย ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้สื่อที่รับผิดชอบหรือมีความสนใจในมิติความหลากหลายทางเพศ ที่่ทำงานในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน "นักข่าวจากหลายประเทศที่มาเรียกได้ว่าเป็น gender reporters เลย ถามว่าจะให้ identify สื่อเป็นการเฉพาะแบบนี้ในประเทศไทยได้ไหม หาแทบไม่ได้เลย ดิฉันอยากให้ประเทศไทยมีโต๊ะข่าวที่เรียกว่า Gender Desk ขึ้นมาเพื่อพัฒนาคนด้านนี้เลย ขณะเดียวกันก็อยากเรียกร้องสื่อในทั้งหมด 24 ประเทศ ที่เข้าร่วมอบรมกับเราในครั้งนี้ว่าขอให้เพิ่มพื้นที่ข่าวด้าน gender อีก 15 % จากนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2015 เพื่อสนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย สร้างให้ตระหนักถึงความรุนแรงในครอบครัว และสิทธิของเพศที่หลากหลาย" มณฑิรากล่าว ด้านประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสจากหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่เข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ กล่าวแสดงความเห็นด้วยกับมณฑิราว่าสื่อในสังคมไทยยังให้ความสำคัญกับการนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวกับสิทธิผู้หญิง และมิติทางเพศในด้านอื่นๆ น้อย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสัดส่วนข่าว "ไร้สาร" ที่มีลักษณะของการเป็นข่าว "ปิงปอง" คือ สัมภาษณ์ฝ่ายนั้นครั้งหนึ่งฝ่ายนี้ครั้งหนึ่ง ประวิตรบอกเล่าประสบการณ์รูปธรรม ที่แสดงให้เห็นว่าสื่อในสังคมไทยให้ความสำคัญกับเรื่องราวของ Gender น้อยกว่าที่ควรจะเป็นว่าเมื่อครั้งที่สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดเวทีระดมความเห็นระดับภูมิภาค ที่จังหวัดภูเก็ตและเชียงราย เพื่อผลักดันร่างพระพระราชบัญญัติความเสมอภาคทางเพศ เขาเป็นเพียงนักข่าวคนเดียวที่เข้าร่วมรับฟังเพื่อรายงานข่าว ประวิตร (นั่งกลาง) ระหว่างร่วมการอบรมของ UN Women "แสดงให้เห็นว่าสื่อยังไม่ตระหนักถึงบทบาทตัวเองในการสร้างให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม แต่ผมก็ไม่คิดว่าเราควรจะต้องมีการตั้งโต๊ะข่าวผู้หญิง หรือโต๊ะ gender ขึ้นมา ผมว่าแค่สื่อให้ความสำคัญกับการนำเสนอเรื่องราวตรงนี้ และสร้างนักข่าวให้มีความเชี่ยวชาญประเด็น gender ก็พอ เมื่อกอง บก. ให้ความสำคัญ สนับสนุนงานด้านนี้โดยธรรมชาติเราจะมีนักข่าวที่เก่งทางนี้ขึ้นมาเอง" ประวิตรกล่าว ประวิตรมีความเห็นว่า ปัจจุบันสื่อในสังคมไทยยังมีการใช้วาทกรรมที่แสดงให้เห็นถึงทัศนคติทางเพศที่ล้าหลัง เช่น "ไม่ใช่ลูกผู้ชาย" หรือ "ไปเอาโสร่งมานุ่ง" ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวคิดชายเป็นใหญ่ อย่างไรก็ดีเขามองว่าไม่ใช่เฉพาะสื่อเท่านั้นที่ขาดความตระหนักหรือขาดความละเอียดอ่อนทางเพศ เพราะหลายปรากฏการณ์ในสังคม สะท้อนให้เห็นว่าแม้แต่ผู้หญิงที่พยายามขับเคลื่อนเพื่อสิทธิของผู้หญิงเองก็ขาดความตระหนักตรงนี้ "การที่ สส. หญิงเอาโสร่งไปให้คุณอภิสิทธิ์ เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการไม่กล้าแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของคุณอภิสิทธิ์เอง มันแปลว่าผู้หญิงเองก็ตอกย้ำความเชื่อว่าเพศหญิงไม่มีความกล้าหาญพอที่จะยอมรับผิดชอบในความผิดที่ตนเองได้กระทำ" ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ http://www.mediainsideout.net/local/2013/09/149 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ณัฐพล ใจจริง: หนังสือการเมืองเล่มเล็กภายหลังการปฏิวัติ 2475 Posted: 23 Sep 2013 03:51 AM PDT 21 ก.ย. 56 เวลา 16.00 น. ร้านหนังสือ Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดเสวนาในหัวข้อ "หนังสือการเมืองเล่มเล็ก ภายหลังการปฏิวัติ 2475" โดยมีวิทยากรคือ ณัฐพล ใจจริง อาจารย์ประจำสาขาวิชาการปกครองท้องถิ่น ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ณัฐพล กล่าวว่าตนทำการศึกษาค้นคว้าในเรื่องประวัติศาสตร์หนังสือ และทุนนิยมการพิมพ์ในสังคมไทยมาหลายปีแล้ว และยังไม่แล้วเสร็จ โดยทำๆ หยุดๆ มาโดยตลอด เพราะหลักฐานในเรื่องนี้ยังหาค่อนข้างยาก แต่เมื่อมีโอกาสได้มาพูดที่ร้านหนังสือ จึงอยากจะพูดในเรื่องเกี่ยวกับหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือทางการเมือง และการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง จึงเลือกที่จะพูดในเรื่องนี้ โดยคนทั่วไปเวลาพูดถึงการศึกษาหนังสือ มักนึกถึงการศึกษาหนังสือสำคัญ หรือ Great books เช่น พระราชนิพนธ์ พระราชพิจารณ์ หรือสนใจหนังสือเล่มสำคัญหลักๆ ที่จะเข้าใจความคิดทางการเมือง แต่สิ่งที่ตนสนใจคือหนังสือเล่มเล็กๆ มีราคาถูก ไม่ได้เขียนโดยนักเขียนชื่อดัง และขายในตลาดล่าง ซึ่งหนังสือเหล่านี้ในช่วงภายหลังการปฏิวัติปี 2475 มีการขยายตัวและเผยแพร่กว้างขวางในสังคมไทย ณัฐพลกล่าวว่าหนังสือเหล่านี้อาจเรียกว่าเป็น "หนังสือจิ๊บจ๊อย" ซึ่งเป็นหนังสือที่พยายามนำเสนอทิศทางที่พึงจะเป็น หรือนำเสนอความคิด-ความรู้ ต่อสังคมการอ่านในระดับกลางและล่างภายหลังการปฏิวัติของไทย ผลกระทบของหนังสือเหล่านี้จึงมิได้จิ๊บจ๊อยไปด้วย นอกจากนั้น หนังสือจิ๊บจ๊อยมักเป็นหนังสือที่หาได้ยาก ไม่ได้เก็บไว้ในห้องสมุดแห่งชาติ เพราะถูกคัดออกไปว่าไม่ได้มีความสำคัญ ทำให้หลักฐานหาได้ยาก แหล่งข้อมูลจึงมาจากการสะสมด้วยตนเองเป็นหลัก การศึกษานี้ได้หยิบยืมความคิดมาจาก Ben Anderson ในเรื่องชุมชนในจินตกรรม และ Rebert Darnton ซึ่งศึกษาสภาวะหนังสือการเมืองก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่ในกรณีของสังคมไทย หนังสือการเมืองไม่ได้มีมากในช่วงก่อนการปฏิวัติ แต่มีมากหลังการปฏิวัติ โดยเน้นการพิจารณาการเติบโตของทุนนิยมการพิมพ์ในสังคมไทย และหนังสือการเมือง ภายหลังการปฏิวัติเป็นเวลา 10 ปี และพยายามจำแนกกลุ่มหนังสือการเมืองที่น่าสนใจ เริ่มแรก เมื่อเทคโนโลยีการพิมพ์เริ่มเข้ามาในสยาม ก็ถูกยึดกุมโดยชาวต่างชาติและชนชั้นสูง โดยการขยายตัวของการพิมพ์ เริ่มจากชาวตะวันตกก่อน เช่น โรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์, หมอสมิธ จนกระทั่งปลายทศวรรษ 2430 เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในการขยายตัวของทุนนิยมสิ่งพิมพ์มากขึ้น ในรูปของการมีสามัญชนเป็นเจ้าของโรงพิมพ์มากขึ้น และโรงพิมพ์เอกชนมีเพิ่มขึ้นในทศวรรษ 2450 โดยมีอย่างน้อย 20 แห่ง เป็นโรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ประมาณ 9 แห่ง ที่เหลือเป็นโรงพิมพ์ทั่วไป ซึ่งมักจะรับจ้างพิมพ์สิ่งพิมพ์อย่างอื่นด้วย เช่น การ์ด ใบกฐินต่างๆ จนทศวรรษ 2470 โรงพิมพ์เอกชนเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 60 แห่ง สะท้อนถึงการขยายตัวทุนนิยมการพิมพ์ ในอดีต การอ่านในสังคมไทยยังไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญ เวลารัฐบาลไปแจ้งข่าวในที่สาธารณะ ที่เรียกว่า "การตีฆ้องร้องเปล่า" ก็ทำโดยการถือประกาศไปอ่านให้ชาวบ้านในชุมชนฟัง การรับรู้ของประชาชนจึงเป็นการฟังมากกว่าอ่านด้วยตนเอง และหนังสือยังมีราคาแพง โดยในช่วง 2440 คนในสังคมชนบทไม่สามารถเข้าถึงการอ่านได้ การครอบครองหนังสือของคนมีน้อย จนเมื่อเริ่มมีการพิมพ์หนังสือมากขึ้น ทำให้จารีตของการส่งผ่านความรู้ในสังคมไทย เริ่มเปลี่ยนจากการพูด-การบอกเล่า ไปสู่การอ่านมากขึ้นอย่างช้าๆ และทำให้เกิดการขยายตัวของสำนึกของความร่วมกันว่าเราคือสังคม-ชุมชนเดียวกัน และวิธีการอ่านในอดีต คือการอ่านออกเสียง ซึ่งแตกต่างจากการอ่านในใจ ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่ ซึ่งน่าจะเริ่มพร้อมๆ กับการมีระบบราชการสมัยใหม่ เมื่อจำนวนพิมพ์หนังสือมากขึ้น ราคาก็ถูกลง เนื้อหาหนังสือก็เริ่มเปลี่ยนแปลง จากการเน้นตีพิมพ์โคลงกลอน มาสู่การพิมพ์ร้อยแก้วและความเรียงมากขึ้น และเมื่อหนังสือเป็นสิ่งที่มีค่า ก็เริ่มเกิดการสะสมหนังสือขึ้นมา ซึ่งเป็นพฤติกรรมใหม่ในหมู่ชนชั้นนำ-สามัญชนบางส่วน และเริ่มเกิดการชื่นชมหรือเทิดทูนหนังสือ โดยมีหนังสือหลายเล่มให้คติพจน์เกี่ยวกับคุณค่าหนังสือไว้ เช่น "จะไปไหนๆ ก็เอาหนังสือไปเป็นเพื่อนได้" "ไม่มีเพื่อนที่ซื่อตรงเท่ากับหนังสือดีๆ" เป็นต้น ในช่วงเวลานั้นยังเกิดห้องสมุดแห่งชาติ เกิดชมรมสะสมหนังสือ เกิดที่อ่านหนังสือสำหรับประชาชน เกิดร้านเช่าหนังสือ และเกิดร้านหนังสือขายหนังสือมือสอง โดยเฉพาะร้าน "เซ่งฮง" แถวเยาวราช ที่ปัญญาชนหลายคนในยุคนั้นมักไปเลือกซื้อหาหนังสือ ซึ่งทุกวันนี้ยังเปิดทำการอยู่ หากไม่ได้ขายหนังสือแล้ว แต่รับซ่อมหนังสือโบราณแทน นอกจากนั้นการหาหนังสือยังไปหาที่โรงรับจำนำได้ ซึ่งแสดงว่าหนังสือเป็นสิ่งที่มีค่า จึงสามารถนำไปจำนำได้ สิ่งเหล่านี้ ยังเปลี่ยนพฤติกรรมการอ่าน จากการอ่านแบบสมุดข่อยใบลาน ที่เป็นพับ ไปสู่การเปิดอ่านจากซ้ายไปขวาจากหนังสือ เทคโนโลยีจึงมีผลต่อพฤติกรรมการอ่าน นอกจากนั้น ธุรกิจการพิมพ์หนังสือก็มีความขัดแย้งกันมาตั้งแต่สมัยก่อน เช่น กรณีหมอบรัดเลย์ และหมอสมิธ แย่งกันหาต้นฉบับ และทะเลาะกัน จนชนชั้นสูงต้องมาตัดสินความขัดแย้ง คือให้หมอสมิธพิมพ์กลอนไป ส่วนหมอบรัดเลย์ก็ให้พิมพ์หนังสือพวกร้อยแก้ว ในช่วงท้ายทศวรรษ 2460 สังคมไทยก็ก้าวสู่สังคมที่บริโภคสิ่งพิมพ์มากขึ้น เริ่มต้นจากความนิยมการอ่านหนังสือเล่มเล็กๆ ที่เป็นเรื่องกลอน-หนังสืออ่านเล่น เห็นได้จากการก่อตั้งสำนักพิมพ์ที่ยุคนั้นเรียกว่า "คณะ" ที่เกิดขึ้นมาก รวมทั้งร้านชำหรือร้านตัดผม ก็ผันตัวเองมาจัดพิมพ์หนังสือขายด้วย และทำให้คนชนบทเริ่มอ่านหนังสือมากขึ้น ส่วนการกระจายหนังสือในสังคม โรงพิมพ์ทำหน้าที่แจกกระจายหนังสือด้วยตนเอง เพราะยังไม่มีร้านขายมาก จนทศวรรษ 2450-60 ร้านหนังสือเริ่มเยอะขึ้น แต่ในยุคนั้น ร้านหนังสือไม่ค่อยมีร้านไหนที่อยู่ด้วยการขายหนังสือเพียงอย่างเดียวได้ แต่จะทำหรือขายอย่างอื่นด้วย เช่น ทำโฆษณา ตัดผม ขายยา ขายเครื่องเขียน เป็นต้น ในสมัยก่อนมีการใช้รถม้าในการขนไปส่งตามร้าน หรือใช้จักรยาน-รถยนต์ไปส่งตามที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ แต่ด้วยการขยายตัวของทุนนิยม ทำให้คนนำหนังสือไปส่งที่ไกลๆ ได้ หรือใช้การส่งไปรษณีย์ รวมทั้งมีบางร้านหนังสือใช้ระบบการอ่านก่อน แล้วจ่ายทีหลังด้วย ส่วนร้านค้าหนังสือตามภูมิภาคในทศวรรษ 2470 เริ่มมีมากขึ้น แต่ต้องขายของอย่างอื่นๆ ด้วยเช่นกันจึงจะอยู่ได้ ร้านหนังสือกรุงเทพบรรณคาร บริเวณเจริญกรุง แถบสี่กั๊กพระยาศรี ปัญหาของโรงพิมพ์สมัยแรกๆ คือไม่มีช่างเรียงพิมพ์ เป็นงานที่หนักจากการเรียงตัวตะกั่ว ซึ่งต้องใช้ทักษะมาก ช่วงแรกหมอบรัดเลย์ต้องทำเองทั้งหมด ทั้งเรียงพิมพ์ พิสูจน์อักษรและพิมพ์ และพระสงฆ์มีบทบาทสำคัญในการเป็นช่างพิมพ์ในโรงพิมพ์หลวง หมอสมิธแก้ปัญหานี้ โดยตั้ง Siam University เพื่อสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็ก แต่เป็นไปเพื่อฝึกช่างพิมพ์ป้อนให้โรงพิมพ์มากกว่า จนมีการตั้งโรงพิมพ์วัดสังเวชขึ้นในปี 2476 ทำให้มีการฝึกช่างพิมพ์เป็นระบบมากขึ้น ช่วงทศวรรษ 2470 สิ่งพิมพ์เริ่มเปลี่ยนจากเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ มาเป็นเรื่องสมจริงมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นเรื่องอ่านเล่นอยู่ โดยก่อนหน้า 2475 โรงพิมพ์ของหลวงวิจิตรวาทการ ประกาศว่าจะไม่พิมพ์หนังสือเกี่ยวกับ "การเมือง" แต่พิมพ์เรื่องความรู้ทั่วไป ทั้งนี้คำว่า "การเมือง" ในช่วงก่อน 2475 ไม่มี่ความหมายในปทานุกรมไทย จนหลัง 2475 มีการแปลว่าวิชาความรู้ในการปกครองบ้านเมือง ณัฐพลนิยามว่า "หนังสือการเมืองเล่มเล็ก" ภายหลัง 2475 นั้น คือเอกสารขนาดสั้น ที่มีเป้าหมายในการสร้างข้อโต้แย้งหรือมุ่งสร้างอิทธิพลต่อสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นทางศาสนาหรือการเมือง โดยหนังสือเหล่านี้มีราคาถูกและจัดพิมพ์เป็นจำนวนมาก ราว 5 พันเล่มขึ้นไป โดยมากหนาประมาณ 100 กว่าหน้า เพื่อให้มีราคาถูก โดยราคาอยู่ระหว่าง 30 สตางค์-1 บาท โดยสามารถแบ่งหนังสือเป็นสามกลุ่ม คือหนังสือที่ผลิตและเขียนโดยหน่วยงานรัฐบาล เน้นการแจกหรือขายในมหาลัย, หนังสือที่ผลิตโดยปัญญาชนกึ่งราชการ, หนังสือที่ผลิตโดยกลุ่มปัญญาชนในสังคม ที่ใช้ชื่อว่า "คณะ" ต่างๆ หรือใช้นามแฝง และยังสามารถจัดกลุ่มหนังสือหลังการปฏิบัติได้เป็นหลายช่วง เช่น ช่วง 2475-77 มุ่งสร้างความเข้าใจต่อการปกครองในระบอบใหม่และปกป้องระบอบใหม่, 2475-79 มีงานเขียนกลุ่มรอยัลลิสต์ โจมตีระบบใหม่, ช่วง 2477-84 เริ่มมีหนังสือมุ่งแสวงหารูปแบบทิศทาง ภาวะผู้นำ และสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงการเมืองโลกกับการดำรงอยู่ของไทย และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นช่วงกลับมาของงานเขียนกลุ่มรอยัลลิสต์ "เราไม่เคยพบหนังสือในช่วงก่อน 2475 ที่มีการพูดถึงผู้นำในต่างประเทศ เพราะช่วงนั้นเราปกครองแบบราชาธิปไตย ดังนั้นรูปแบบผู้นำเดียวของไทยในอุดมคติ ก็คือแบบพระราชาเท่านั้น ไม่ต้องคิดถึงรูปแบบที่สอง สาม สี่ มีแบบเดียว แต่หลังการปฏิวัติ มีหลายแบบ หลังการปฏิวัติจึงเป็นการเปิดพื้นที่ทางความรู้ ความคิดมากยิ่งขึ้น มีการพิมพ์ประวัติฮิตเลอร์ มุสโสลินี นโปเลียน สตาลิน ซุนยัตเซน เจียงไคเช็ค" ณัฐพล กล่าว ณัฐพลเห็นว่าหนังสือการเมืองในช่วงหลัง 2475 ก็คือผลผลิตทางภูมิปัญญา ที่ต้องการนำเสนอภาพและทางเลือกให้กับระบอบใหม่ บางทีก็เป็นเวทีทางความคิดในการต่อสู้ทางการเมือง และนำเสนอภาพให้กับสังคมไทยที่กระหายใคร่รู้ ดังนั้นกระแสความเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังการปฏิวัติ จึงไม่ได้ถูกกำหนดโดยรัฐบาลแต่เพียงอย่างเดียว ตามที่เคยเข้าใจ เช่น เรามักเข้าใจว่ารัฐบาลจอมพลป.เป็นผู้ปลุกกระแสชาตินิยม แต่กระแสชาตินิยมมีอยู่แล้ว และถูกปลุกเร้าโดยหนังสือเหล่านี้อยู่ก่อนแล้วด้วย กลุ่มหนังสือการเมืองหลังการปฏิวัติสามารถแบ่งเป็นประเภทต่างๆ เช่น ตำราอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญ, หนังสือต่อต้านระบอบใหม่ของพวกรอยัลลิสต์, ตำราประเภท "คู่มือ" เช่น การเป็นพลเมือง การเมืองในระบอบใหม่ ระบอบใหม่ในคำกลอน ศาสตร์ของการเลือกผู้ปกครอง ประวัติการปกครองของไทย, หนังสือความสัมพันธ์และนโยบายต่างประเทศ, หนังสือความคิดเศรษฐกิจการเมือง, หนังสือความคิดปรัชญาทางการเมือง, สิ่งพิมพ์หาเสียงของส.ส., หนังสือการปฏิวัติฝรั่งเศส, หนังสือปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ, หนังสือไทยในบริบทการเมืองโลก และหนังสือแบบการปกครอง-ผู้นำ เป็นต้น
ณัฐพลสรุปว่าหลังการปฏิวัติ ในช่วง 2475-2490 เป็นยุคของการประชันขันแข่งของความคิดทางการเมือง มีการนำเสนอความคิดทางการเมืองสู่สังคมไทยจากหลากหลายสำนักมาก ผ่านหนังสือการเมืองเล่มเล็กเหล่านี้ ซึ่งสามารถเป็นแนวทางในการศึกษาต่อไป ในเรื่องประวัติศาสตร์ความคิด ภูมิปัญญาโลกทรรศน์ของชนชั้นนำและพลเมืองไทยในระบอบใหม่ หรือศึกษาประวัติศาสตร์สังคม ประวัติศาสตร์หนังสือ การพิมพ์และการอ่านในสังคมไทย ในช่วงถามตอบ ผู้เข้าร่วมเสวนาได้ถามว่าเมื่อเปรียบเทียบกับฝรั่งเศส ก่อนหน้าการปฏิวัติมันมีการเผยแพร่สิ่งพิมพ์หรือความรู้มาก่อน และมีการพูดถึงตัวแบบต่างๆ ทำให้การปฏิวัติมีเชื่อมูลมาก่อน พูดง่ายๆ ว่าประชาชนพร้อมแล้ว แต่ฟังดูเหมือนกับว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสังคมสยามก่อนหน้า 2475 คนธรรมดาไม่ได้อ่านหรือเสพความรู้แบบนี้มาก่อนเลย ทำให้คนคิดไปได้ว่าประชาชนไม่ได้มีความพร้อมกับการปฏิวัติ คำถามคือสำหรับสังคมไทย การปฏิวัติ 2475 มันมีขอบเขตกว้างขวางแค่ไหน ณัฐพล ได้กล่าวตอบว่า ตนไม่ได้บอกว่าสังคมไทยไม่พร้อมกับการปฏิวัติ แต่เชื่อว่าสังคมไทยพร้อมกับการปฏิวัติแล้ว สิ่งที่ตนนำเสนอนั้นจำกัดเฉพาะหนังสือการเมืองเล่มเล็ก โดยการตื่นตัวทางการเมืองในสังคมไทยมีมาก่อนการปฏิวัติ ผ่านหนังสือพิมพ์ ซึ่งในช่วงรัชกาลที่ 6-7 มีการล้อเลียนรัฐบาลอย่างมาก โดยที่หนังสือพิมพ์เหล่านี้เขียนและพิมพ์ได้ ก็เพราะบรรณาธิการเป็นคนในบังคับของต่างประเทศ รัฐบาลจึงทำอะไรไม่ได้ คนไทยจำนวนหนึ่งได้อ่านสิ่งเหล่านี้และมีความตื่นตัวพอสมควรแล้ว แต่หลังการปฏิวัติจึงจะเริ่มมีหนังสือการเมือง พูดถึงความคิดทางการเมืองต่างๆ และถูกเขียนโดยคนไทยเอง เพราะบรรยากาศทางการเมืองเปิดมากขึ้น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คุยกับแอดมินเพจ‘ใน มธ.ตะวันออก-ตก’ วิวาทะ ‘อั้ม เนโกะ’ ชุดนักศึกษา, เสรีภาพ, แตกแยก Posted: 23 Sep 2013 02:26 AM PDT สัมภาษณ์แอดมินเพจ 'ใน มธ.ตะวันออก' - 'ใน มธ.ตะวันตก' สถานการณ์การล้อเลียนความแตกแยกที่ยังผลก่อเกิดการประกาศหน่วยปกครองและองค์กรในเฟซบุ๊กกว่า 100 เพจกับประเด็น 'อั้ม เนโกะ' ชุดนักศึกษา และเสรีภาพ ก่อนเผชิญภาวะการสอบ ภาพแผนที่แสดงสถานการณ์ "ใน มธ."เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา โดย ไฟเขียวประเทศไทย หลังจากเมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มหนึ่ง นำโปสเตอร์ 4 แบบ ที่แสดงท่าทางเหมือน "ชาย-หญิง" และ "ชาย-ชาย" กำลังร่วมเพศในเครื่องแบบนักศึกษา แปะตามบอร์ดต่างๆ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นการรณรงค์คัดค้านการบังคับสวมชุดนักศึกษา ซึ่งหนึ่งในผู้ที่อยู่ในภาพนั้นคือ "อั้ม เนโกะ" ภายหลังจากนั้นได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในมหาวิทยาลัยและนอกมาวิทยาลัย ตามหน้าสื่อ และโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่าง "เฟซบุ๊ก" จำนวนมาก ภาพ โปสเตอร์ 4 แบบ ช่วงค่ำของวันที่ 10 ก.ย.56 เกิดแฟนเพจเฟซบุ๊กชื่อ "ใน มธ ตะวันออก" และกลางดึกของวันเดียวกันจึงเกิดเพจ "ใน มธ ตะวันตก" ขึ้นมา ซึ่งทั้ง 2 เพจมียอด like เฉียดหมื่นขณะนี้ และภายหลังจากการเกิดขึ้นของ 2 เพจนี้ นำไปสู่การเกิดเพจในลักษณะการล้อเลียน(parody)ออกมาจำนวนมาก ทั้งภายในธรรมศาสตร์และตามมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศ และจากการเก็บรวบรวมของเพจ "หน่วยข่าวกรองกลางแห่งธรรมศาสตร์ - CIBT " ซึ่งเป็นล้อเลียนที่เกิดขึ้นในช่วงนี้เช่นกันพบว่ามีเพจ เมื่อวันที่ 13 ก.ย.56 เวลา 17.00 พบมีเพจที่เกิดประมาณ 100 เพจ โดยแบ่งเป็น กลุ่มการเมืองภายในย่านธรรมศาสตร์ รัฐและเขตการปกครอง 18 เขต (นับรวมรัฐในปกครอง) ได้แก่ จักรวรรดิธรรมศาสตร์, ใน มธ ตะวันแดง, ใน มธ. ตะวันตก, Russ รัฐอิสระใน มธ.ตะวันตก, รัฐ(ศาสตร์)อิสระแห่งสมาพันธรัฐธรรมศาสตร์, ใน มธ. เหนือ ลำปาง + In North TU และในชนกลุ่มน้อย มธ ริมแม่น้ำ เป็นต้น เขตปกครองพิเศษ พื้นที่ทับซ้อน และอื่นๆ บริเวณ มธ. 5 พื้นที่ เช่น เขตการปกครองตนเองเชียงราก, เขตบริหารพิเศษ GOLFVIEW และเขตปกครองพิเศษ PPE เป็นต้น องค์กร หน่วยงานอื่นๆ ของธรรมศาสตร์ 12 องค์กร เช่น NGV มธ. หน่วยคมนาคมและสืบราชการลับ, กระทรวงรวมชาติแห่งธรรมศาสตร์, กระทรวงสุขศาสตร์แห่ง มธ ตะวันออก ขอเชิญแต่งชุดนักศึกษาเข้ารับบริการคะ และ กองพันทหารราบที่ 112 รักษา มธ. เป็นต้น กลุ่มการเคลื่อนไหวในธรรมศาสตร์ 4 กลุ่ม เช่น กองกำลังปลดแอกกู้ธรรมศาสตร์ (เดิม : กู้ธรรมศาสตร์), แนวร่วมนักศึกษาต่อต้านการแบ่งแยกดินแดนแห่งมธ., บุปผาชนแห่งทุ่งรังสิต และ สนับสนุน สศจ. เป็นอธิการบดีใน มธ ตะวันตก เป็นต้น รวมทั้งยังมี กลุ่มอำนาจการเมืองภายในธรรมศาสตร์ 6 กลุ่ม เช่น นายพลถั่วแดง แห่งสาธารณรัฐสังเคราะห์, พรรคคอมมิวนิสต์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ่อปรีดี พนมยงค์ และรัฐบาลพลัดถิ่น เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีนอกรัวธรรมศาสตร์ ประกอบด้วย 40 รัฐ(เพจ) เช่น 7 นครรัฐแห่งเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง, เครือจักรภพบูรพา, จักรวรรดิ มศว อันศักดิ์สิทธิ์ : The Holy SWU Empire, ในสหภาพสามย่าน และ สาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งทุ่งบางเขน เป็นต้น ดินแดนอื่นๆ 2 ดินแดน ประกอบด้วย เขตบริหารพิเศษรังสิตภิรมย์ และ ศูนย์บัญชาการ อากาศยาน ดอนเมือง กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในและนอกภูมิภาค 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ประชาคมเศรษฐกิจธรรมศาสตร์ – TEC, ประชาคมเศรษฐกิจศรีนครินทรวิโรฒและจักรวรรดิเพชรอโศก และ ประชาคมเศรษฐกิจสามย่าน องค์กรภายนอกอื่นๆ 5 องค์กร เช่น University Nations และ องค์การสนธิสัญญาป้องกันรัฐอิสระ : CISTO เป็นต้น รวมไปถึง ศาสนา 2 ศาสนา คือ ศาสนาท่านเทพมังกร และศาสนา Neko Wall ภาพบางส่วนของแฟนเพจที่เกิดขึ้น จากเฟซบุกแฟนเพจที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ต่อทั้งประเด็นทั้งเรื่องการรณรงค์คัดค้านการบังคับสวมชุดนักศึกษา เสรีภาพ และความแตกแยก ความสามัคคีมากขึ้น อย่างไรก็ตามดูเหมือนกระแสเริ่มลดลงเนื่องจากหลายมหาวิทยาลัยติดภาวะสถานการณ์การสอบกันในช่วงนี้ โดยจะเห็นได้ชัดว่าเพจใน มธ. ตะวันออก หยุดการโพสต์ไปตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่เพจใน มธ.ตะวันตกยังมีการโพสต์อยู่บ้าง อย่างไรก็ตามประชาไทได้มีโอกาสสัมภาษณ์ความคิดมุมมอง ต่อประเด็นเหล่านี้กับแอดมินเฟซบุกแฟนเพจ "ใน มธ ตะวันออก" กับ "ใน มธ ตะวันตก" ซึ่งทั้งหมดเป็นนักศึกษาอยู่ใน มธ. จึงอยากเชิญผู้อ่านเข้าไปทำความรู้จักความคิดมุมมองของแอดมินเพจเหล่านี้ 000000
"ทีนี้พอมีคนเอาเครื่องแบบมาเป็นของคน การที่มีคนออกมาบอกว่าไม่เอา เราไม่ชอบการบังคับแบบนี้ มันก็แสดงให้เห็นอีกมุมหนึ่งของสังคมว่า สิ่งดีๆของใครหลายคน อาจไม่ใช่สิ่งดีๆของใครอีกหลายคนก็ได้ เราไม่ควรที่จะนำความดีที่มันไม่ใช่ศีลธรรมพื้นฐานของสังคมไปวัดความดีหรือยัดเยียดความดีแบบนี้ให้คนอื่น" ใน มธ. ตะวันตก กล่าว ประชาไท : อยากให้เล่าคร่าวๆว่าทั้ง 2 เพจนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร? ใน มธ ตะวันออก : แรกเริ่มเดิมทีนั้นพวกเราก็รู้สึกกันอยู่ว่า ธรรมศาสตร์แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยเดียวกัน แต่ในความเป็นธรรมศาสตร์หนึ่งเดียวกลับมีอารยธรรมที่แตกต่างซ่อนอยู่ คณะสายสังคมส่วนใหญ่จะให้คุณค่ากับสิทธิเสรีภาพ ในขณะที่คณะสายวิทยาศาสตร์หรือแม้แต่สายสังคมบางคณะให้ความสำคัญกับความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสามัคคี ระบบอาวุโส ระบบโซตัส การร้องเพลงเชียร์ แต่กลับมีความเข้าใจในเรื่องสิทธิเสรีภาพอันเป็นความรู้พื้นฐานน้อยมาก ความแตกต่างของสองความคิดนี้ทำให้เกิดการปะทะกันทางความคิดบ่อยๆจนกระทั่งเกิดกระแสดราม่าเรื่องชุดนักศึกษาครั้งล่าสุด การปะทะกันทางความคิดนี้ก็ปะทุขึ้นจนเป็นไอเดียเรื่องเพจ "ใน มธ ตะวันออก" ใน มธ.ตะวันตก : ก็ตอนแรก มีคนทำเพจ "ใน มธ. ตะวันออก" ผมก็เขาไปดูว่ามันเป็นยังไง แต่เกิดความรู้สึกว่า มันยังไม่ครบ ไม่สมบูรณ์ เพราะชูธงเรื่องเครื่องแบบอย่างเดียว ผมก็เลยอยากนำเสนอในมุมของเสรีภาพตามกฎหมายดูบ้าง ก็เลยมาทำเพจ เพราะทำในเฟซบุ๊กตัวเองเดี๋ยวพวกเพื่อนจะรำคาญ คอนเซปต์ก็ลอกมาจากประวัติศาสตร์เยอรมันแหละครับ ผมคิดว่า แบบนี้มันเป็นการจำลองสังคมนะ สมมุติว่าเครื่องแบบเนี่ยเป็นเรื่องที่หลายๆคนคิดว่ามันดี ต้องใส่ เทียบกับเรื่องดีๆของคนในสังคมอีกหลายอย่างทีพยายามมีการนำเสนอกันมาก ทีนี้พอมีคนเอาเครื่องแบบมาเป็นของคน การที่มีคนออกมาบอกว่าไม่เอา เราไม่ชอบการบังคับแบบนี้ มันก็แสดงให้เห็นอีกมุมหนึ่งของสังคมว่า สิ่งดีๆของใครหลายคน อาจไม่ใช่สิ่งดีๆของใครอีกหลายคนก็ได้ เราไม่ควรที่จะนำความดีที่มันไม่ใช่ศีลธรรมพื้นฐานของสังคมไปวัดความดีหรือยัดเยียดความดีแบบนี้ให้คนอื่น
"พยายามจะทำเลียนแบบคนที่คิดเชื่อแบบนั้นจริงๆ นำสิ่งที่เขาประพฤติปฏิบัติมาแสดงออก โดยคาดหวังให้เกิดการตั้งคำถามและขบคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ มันสมเหตุสมผลหรือไม่" ใน มธ.ตะวันออก กล่าว อุดมการณ์พื้นฐานของเพจคืออะไร? ใน มธ ตะวันออก : ต้องการทำ parody(ล้อเลียน) อุดมการณ์ ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ของชาว มธ. ตะวันออก หรือ คณะสายวิทยาศาสตร์และสายสังคมบางคณะ โดยพยายามจะทำเลียนแบบคนที่คิดเชื่อแบบนั้นจริงๆ นำสิ่งที่เขาประพฤติปฏิบัติมาแสดงออก โดยคาดหวังให้เกิดการตั้งคำถามและขบคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ มันสมเหตุสมผลหรือไม่ หลายๆครั้ง เราต้องไปนั่งอ่านข้อโต้แย้งถกเถียงของฝั่งเขาอยู่นานมากๆเพื่อที่จะซึมซับและเรียนรู้ว่าเขาคิดเขาเชื่ออย่างไร บางทีต้องไปถามเพื่อนๆคณะสายวิทย์ฯ ว่าช่วงนี้ทำกิจกรรมอะไรกันบ้าง คิดเห็นเรื่องนี้อย่างไร เป็นต้น เพื่อจะได้นำมาเขียนมุขได้ลึกซึ้งและฮาด้วยในเวลาเดียวกัน ซึ่งก็ยอมรับว่ายากมากๆเหมือนกัน ใน มธ.ตะวันตก : เรายึดอุดมการณ์เสรีนิยมครับ ผมเห็นปรากฏการณ์เรียกร้องสิทธิเสรีภาพของเยาวชนชาวไทยจำนวนมาก หลายๆต่อหลายครั้ง แต่ผมมักจะเห็นผู้ใหญ่หรือผู้ที่ไม่เห็นด้วยมีความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่กฎหมายไทยเรารับรองอยู่ แล้วก็ชอบหาว่าเราไปอ้างต่างประเทศบ้างอะไรบ้าง ซึ่งจริงๆแล้วเป็นเรื่องไม่จำเป็น สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเรามีความเหมาะสมอยู่ในระดับที่สามารถอ้างได้ครับ ก็เลยต้องการจะเผยแพร่ความรู้เรื่องสิทธิ และเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญให้คนอื่นๆได้รู้ และยอมรับ
คิดอย่างไรกับเพจในทิศตรงข้ามกับตัวเอง และเพจอื่นๆที่ออกมาจำนวนมากทั้งใน มธ.เอง รวมทั้งใน มหาวิทยาลัยอื่นๆทั่วประเทศ ที่มีเพจในเชิงล้อเลียนเกิดขึ้นมาจำนวนมาก? ใน มธ ตะวันออก : ตอนแรกก็คิดไว้แล้วว่าจะมีคนทำเพจ "ใน มธ ตะวันตก" ขึ้นมาเป็นคู่ตรงข้ามกับของเราแน่ๆ แต่คิดไม่ถึงว่าจะมีคนทำเพจอื่นๆมาอีกเกือบร้อยเพจ ค่อนข้างตกใจเหมือนกัน แต่ก็คิดว่าเพจเหล่านั้นเป็นตัวช่วยส่งเสริมกระแสเพจ "ใน มธ ตะวันออก" มากยิ่งขึ้น บางเพจค่อนข้างมีสาระและน่าสนใจ เหมือนเป็นพื้นที่ให้นำเสนอความไม่พอใจต่อสถาบันของเขาในแบบที่เสียดสีเหมือนกัน ใน มธ.ตะวันตก : "ใน มธ ตะวันออก" เป็นเพจแรกที่ทำออกมาในลักษณะนี้ ผมตั้งหลังพวกเขา มาล้อกับพวกเขา ผมมองแวบเดียวผมก็รู้แล้วว่าเป็นเพจ parody(ล้อเลียน) เราพยายามสร้างสรรค์เอาความตลกแทรกสาระเข้าไปบ้าง ถ้าเครียดไปมันก็ไม่ฮา ถ้าฮาไปมันก็ไม่มีสาระ ส่วนเพจอื่นๆที่ตั้งตามมา ตอนนี้สูญสลายหายไปเกือบหมดแล้วครับเป็นแค่กระแสหนะครับ ผมคิดอย่างนั้น เสียดายเรื่องนี้เกิดตอนใกล้สอบแล้ว ไม่งั้นคงจะเห็นอะไรๆมากกว่านี้
"จริงๆแล้วเขาเรียกร้องให้เลิกจำกัดเสรีภาพในร่างกายของเขาที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ต่างหาก เขาไม่ได้เรียกร้องเพื่อความสวยหล่อ หรือไม่รู้หน้าที่ ผมก็เห็นคนที่เขาเรียกร้องก็ไปเข้าเรียนอยู่นะ จะว่าเขาไม่รู้หน้าที่ได้อย่างไร" ใน มธ.ตะวันตก มองประเด็นเรื่องความขัดแย้งกรณีชุดนักศึกษาใน มธ.ว่าอย่างไร? ใน มธ ตะวันออก : มองว่ามันไม่น่าจะเป็นปัญหาขึ้นมาด้วยซ้ำ มันตลกที่เราได้ข้อสรุปกันตั้งนานแล้วว่า "ใครอยากใส่อะไรก็ใส่" แต่ดันมีคนที่ไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของคนอื่น แล้วเอาความคิดความเชื่อค่านิยมของตัวเองมาบังคับให้คนอื่นทำแบบตัวเอง บางคนเป็นถึงคณบดีหรือผู้บริหารระดับสูง แต่กลับละเมิดระเบียบข้อบังคับมหาวิทยาลัยที่ให้เสรีภาพกับนักศึกษาในการแต่งกายโดยการ "บังคับ" ให้ใส่ชุดนักศึกษา ทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นมาจนเป็นดราม่าดังที่ปรากฎ ใน มธ.ตะวันตก : ปัญหาคือเรามองกันคนละประเด็นคนละจุด คนที่เรียกร้องเขาบอกว่าเลิกจำกัดเสรีภาพของเรา อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าทำแบบนี้ อยากสวย อยากหล่อ รู้จักแต่สิทธิแต่ไม่รู้หน้าที่ ฯลฯ ซึ่ง จริงๆแล้วเขาเรียกร้องให้เลิกจำกัดเสรีภาพในร่างกายของเขาที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ต่างหาก เขาไม่ได้เรียกร้องเพื่อความสวยหล่อ หรือไม่รู้หน้าที่ ผมก็เห็นคนที่เขาเรียกร้องก็ไปเข้าเรียนอยู่นะ จะว่าเขาไม่รู้หน้าที่ได้อย่างไร ถ้าจะเถียงจะแย้งกันก็ต้องแย้งในประเด็นเดียวกัน เป็นประเด็นว่า การบังคับใส่ชุดนักศึกษาเป็นการจำกัดเสรีภาพเกินควรหรือไม่ ไม่ใช่ไปบอกเขาว่า ฉันใส่แล้วไม่เห็นจะตายเลย ซึ่งมันเป็นการมองที่แคบ เอาตัวเองเป็นที่ตั้งแล้วไปตัดสินคนอื่น แทนที่จะให้คนอื่นสามารถตัดสินใจเลือกได้ว่าจะใส่อะไร ผมว่ามันตลกมากที่ ตอนนี้ปี 2012 แล้วเรายังมานั่งเถียงกันว่าจะใส่หรือไม่ใส่ชุดนักศึกษาดี ในขณะที่วัยรุ่นของต่างประเทศเขาเถียงกันเรื่องนโยบายรัฐบาล การเก็บภาษี ฯ เรื่องระดับชาติกันแล้ว ผมว่าเรื่องชุดนักศึกษานี้น่าจะปล่อยให้เป็นเสรีภาพสมบูรณ์ได้แล้ว ถ้าใครแต่งตัวไม่ถูกกาลเทศะ สังคมก็จะจัดการเขาเอง อย่าห่วงเลยครับ ภาพล้อเลียนในเพจ ใน มธ.ตะวันตก "คนที่ภูมิใจกับการใส่ชุดนักศึกษาอันแสดงสถานะพิเศษในสังคม แน่นอนว่าคุณมีสิทธิที่จะภูมิใจ แต่ความภูมิใจเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ใช่สิ่งที่จะยัดเยียดให้ทุกคนแสดงความภูมิใจแบบเดียวกับคุณ" ใน มธ. ตะวันออก คิดอย่างไรต่อกรณีที่มีการพูดในเชิงว่า "หากไม่เห็นด้วยกับการแต่งชุดนักศึกษาก็ออกไปเรียนที่อื่น" ? ใน มธ ตะวันออก : ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า พวกเราต่อต้าน "การบังคับ" ไม่ใช่ต่อต้านชุดนักศึกษา คนที่เที่ยวไล่คนที่เห็นต่างออกจากที่นู่นที่นี่ มันแสดงให้เห็นถึงความอับเฉาทางปัญญาที่ไม่สามารถถกเถียงด้วยเหตุผลได้ บางคนที่อยากไล่คนที่ไม่ใส่ชุดนักศึกษา ไม่ทราบว่าได้ศึกษากฎของมหาวิทยาลัยบ้างหรือเปล่า มหาวิทยาลัยมีกฎระเบียบที่ให้เสรีภาพแก่นักศึกษาในการแต่งกาย ไม่จำเป็นต้องใส่ชุดนักศึกษา เราไม่ได้ละเมิดกฎระเบียบข้อบังคับ แต่เป็นอาจารย์บางวิชาที่ละเมิดทั้งระเบียบข้อบังคับของมหาวิทยาลัย และ สิทธิเสรีภาพที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พยายามเชิดชูมาโดยตลอด อีกประการหนึ่งคือคนที่ภูมิใจกับการใส่ชุดนักศึกษาอันแสดงสถานะพิเศษในสังคม แน่นอนว่าคุณมีสิทธิที่จะภูมิใจ แต่ความภูมิใจเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ใช่สิ่งที่จะยัดเยียดให้ทุกคนแสดงความภูมิใจแบบเดียวกับคุณ ใน มธ.ตะวันตก : เป็นการกล่าวที่ไร้ซึ่งข้อมูลอย่างสิ้นเชิง เพราะระเบียบมหาวิทยาลัยไม่บังคับให้ใส่ชุดนักศึกษาแต่มีบางวิชาไปกำหนดเอาเองว่าต้องใส่มาเรียน ถ้าเขารู้จักอ่านกฎมหาวิทยาลัย เขาจะไม่พูดแบบนี้ การกล่าวแบบนี้เป็นการหนีปัญหา ไม่กล้าเผชิญหน้ากับการถกเถียง ไล่อย่างเดียว พอไล่ออกไป แน่ใจไหมว่าจะไม่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นมาอีก
"บางทีสังคมมักเรียกร้องให้เราทำนู่นนี่ ในแบบที่พวกเขาคาดหวัง แต่เรื่องเล็กๆที่สังคมมักเรียกร้องให้เราปล่อยผ่านไป เรากลับยังแก้ไม่ได้ ทั้งๆที่ความอยุติธรรมมันปรากฎอยู่บนเนื้อตัวร่างกายเราตลอดเวลา" ใน มธ.ตะวันออก มีคนพยายามเอาเรื่องการรณรงค์ยกเลิกการบังคับสวมชุดนักศึกษาที่อั้มทำ ไปเทียบกับกรณีนักศึกษา ม.ขอนแก่นและ ม.มหาสารคาม ออกไปขอให้เจ้าหน้าที่เปิดทางให้ชาวบ้านได้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น กรณีเหมืองทองที่เลย โดยบอกว่าอั้มนั้นเรียกร้องเพื่อตนเอง ในขณะที่ นักศึกษาที่เลยนั้นเป็นการต่อสู้เพื่อประชาชน มองการเปรียบเทียบนี้ว่าอย่างไร? ใน มธ ตะวันออก : อยากให้ทุกคนคิดว่านักศึกษาแต่ละคนมีความสนใจ ความถนัด และอยู่ในพื้นที่ที่แตกต่างกัน เราคิดว่านักศึกษาแต่ละกลุ่มที่ขับเคลื่อนเรียกร้องประเด็นต่างกันก็มีความเข้าใจเรื่องนี้กันดี เราก็เคารพเขาว่าเป็นคนหนึ่งที่พยายามขับเคลื่อนสังคม ต่อสู้ในประเด็นที่เขาสนใจ เขาเองก็คงเคารพเราในฐานะเดียวกัน ในระหว่างกลุ่มนักศึกษาต่างๆก็มีการพูดคุยกัน นำเสนอการต่อสู้ของตน แนวคิด วิธีการ อุดมการณ์ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน เพื่อความเข้าใจกัน และบางครั้งก็เพื่อแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือกันในด้านต่างๆด้วย เราจึงคิดว่า กับนักศึกษาด้วยกันเองเขาคงเข้าใจ แต่กับบุคคลทั่วไปหลายๆคนเนี่ยเขาไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้มากนัก นอกจากเรื่องความสนใจที่แตกต่างกันแล้ว เราคิดว่าสังคมไทยส่วนใหญ่ ยังไม่เข้าใจและเคารพสิทธิเสรีภาพกันจริงๆ เรื่องชุดที่สวมใส่นี่เป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลล้วนๆ แต่เรื่องง่ายๆแค่นี้ยังตกลงกันไม่ได้ บางทีสังคมมักเรียกร้องให้เราทำนู่นนี่ ในแบบที่พวกเขาคาดหวัง แต่เรื่องเล็กๆที่สังคมมักเรียกร้องให้เราปล่อยผ่านไป เรากลับยังแก้ไม่ได้ ทั้งๆที่ความอยุติธรรมมันปรากฎอยู่บนเนื้อตัวร่างกายเราตลอดเวลา เราคิดว่าการที่เราออกมาต่อต้าน การ "บังคับ" แต่งชุดนักศึกษา มันไม่ได้มีคุณค่าอะไรที่น้อยกว่าหรือมากกว่าใคร แต่มหาวิทยาลัยที่เชิดชูเรื่องเสรีภาพแต่กลับปล่อยให้มีการละเมิดมานาน ควรจะหันมาทบทวนความอยุติธรรมภายใน เลิกพยายามสร้างภาพว่าเป็น มหาวิทยาลัย ที่มีเสรีภาพอย่างล้นเหลือ แต่ข้างในนั้นเน่าเฟะ เสียที ใน มธ.ตะวันตก : เช่นนั้นทำไมไม่เอาเรื่อง นศ. ม.ขอนแก่นไปเทียบกับเรื่องซีเรียบ้าง ว่าทำไมไม่ไปรณรงค์หยุดการฆ่ากันในซีเรีย การรณรงค์ หรือการเรียกร้องแบบนี้มันเป็นการเมืองเรื่องพื้นที่ครับ ผมอยู่รังสิต ผมจะรู้เรื่องเหมืองทองที่ขอนแก่นไหม? ข้อมูลต่างๆนาๆผมจะรู้ไหม ไม่มีทางครับ เพราะเป็นเรื่องคนในพื้นที่ที่ติดตามกันเอง การรณรงค์ทุกที่มันมีระดับความสำคัญไม่เท่ากันหมดทั้งนั้นแหละครับ แล้วก็เป็นเรื่องคนพื้นที่ปกป้องตัวเอง ผมก็ไม่เคยรู้จนมาเป็นข่าวนี่แหละ ผมถามหน่อยคนที่มาว่าๆนักศึกษา มธ. เนี่ย รู้ไหมว่า นักศึกษา มธ. ทำกิจกรรมเพื่อสังคมอะไรบ้าง มีกี่คนที่รู้ มันก็เหมือนกับที่เราไม่รู้เรื่องเหมืองทองนั่นแหละ เพราะข่าวมันไม่ลง มันไม่เล่น อีกอย่าง ผมมองว่า ที่ มธ. นักศึกษายังปกป้องตัวเองไม่ได้เลย แค่เรื่องเสรีภาพในการแต่งกาย แล้วจะไปปกป้องใครเขาได้ ภาพล้อเลียนในเพจ ใน มธ.ตะวันตก "ปัจจุบัน มันเป็นเสรีภาพ ทุกตารางนิ้ว ยกเว้นไม่กี่ตารางนิ้วบนตัวนักศึกษาอาจจะเรียกว่าเป็น "เสรีภาพครึ่งใบ" ก็น่าจะได้ แต่ที่แน่ๆใน มธ. เรามีกลไกบางอย่างที่ทำให้การแสดงความเห็นต่าง ไม่ทำให้เกิดการล่าแม่มดอันทำให้คนที่คิดต่างอยู่ไม่ได้ นักศึกษาธรรมศาสตร์ยังสามารถเคลื่อนไหวประเด็นต่างๆได้โดยไม่กลัวว่าจะเกิดอันตรายขึ้นกับตน" ใน มธ.ตะวันออก "ผมว่าเลิกอ้างได้แล้วว่าธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ปัญหาเรื่องเสรีภาพเนี่ยเกิดเพราะเราไม่เคารพรัฐธรรมนูญกันเอง ลองอ่านหมวดเสรีภาพของชนชาวไทยสิ เราได้รับการคุ้มครองครบไหม ผมเห็นว่าไม่ครบ เพราะเราไม่เคารพ และเราไม่เชื่อว่ามันมีอยู่" ใน มธ.ตะวันตก มีคำกล่าวว่า "ใน มธ.มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว" นั้น คิดอย่างไรกับคำกล่าวนี้? ใน มธ ตะวันออก : ไม่รู้ว่าจะเรียกสิ่งที่เป็นอยู่ว่าเสรีภาพดีหรือไม่ เพราะสำหรับเรา เสรีภาพนั้นต้องเสรีจริงๆ หมายถึงไม่ได้เสรีถึงขั้นคุกคามใคร แต่ปัจจุบัน มันเป็นเสรีภาพ ทุกตารางนิ้ว ยกเว้นไม่กี่ตารางนิ้วบนตัวนักศึกษา"อาจจะเรียกว่าเป็น "เสรีภาพครึ่งใบ" ก็น่าจะได้ แต่ที่แน่ๆใน มธ. เรามีกลไกบางอย่างที่ทำให้การแสดงความเห็นต่าง ไม่ทำให้เกิดการล่าแม่มดอันทำให้คนที่คิดต่างอยู่ไม่ได้ นักศึกษาธรรมศาสตร์ยังสามารถเคลื่อนไหวประเด็นต่างๆได้โดยไม่กลัวว่าจะเกิดอันตรายขึ้นกับตน และด้วยกลไกตรงนี้ ไม่ว่าคุณจะเห็นอย่างไร คุณก็ยังมีสิทธิพูดอยู่เสมอ แม้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยอยากอุดปากคุณแค่ไหนก็ตาม ใน มธ.ตะวันตก : ผมว่ามันเป็นคำกล่าวที่ยกมาอ้างอวยตัวเองมากกว่าว่าที่นี่ดีกว่าที่อื่นอย่างไร คำกล่าวนี้เป็นการกล่าวในบริบทของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นครับไม่ใช่เสรีภาพในด้านอื่นๆ เสรีภาพเนี่ยที่ไหนๆก็มีครับ รามก็มี เกษตรก็มี จุฬาก็มี เพราะเราอยู่ใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน ผมว่าเลิกอ้างได้แล้วว่าธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ปัญหาเรื่องเสรีภาพเนี่ยเกิดเพราะเราไม่เคารพรัฐธรรมนูญกันเอง ลองอ่านหมวดเสรีภาพของชนชาวไทยสิ เราได้รับการคุ้มครองครบไหม ผมเห็นว่าไม่ครบ เพราะเราไม่เคารพ และเราไม่เชื่อว่ามันมีอยู่ กฎหมายเมื่อไม่มีคนต่อสู้ให้มันอยู่ มันก็เหมือนไม่ได้บังคับใช้ ทั่วประเทศมีเสรีภาพเท่ากัน แต่คนมีอำนาจไม่เคารพรัฐธรรมนูญ แล้วเราเองก็ไม่รู้ว่าสิทธิเสรีภาพเรามีเพียงใด เพราะวัฒนธรรมอำนาจนิยมมันฝังลึกมาก ทำให้เราไม่รู้จักปกป้องตัวเอง
"จริงๆส่วนตัวอยากให้ก้าวข้ามพ้นปรีดีได้แล้ว" ใน มธ.ตะวันออก ปรีดีเคยกล่าวว่า "มหาวิทยาลัยเปรียบประดุจบ่อน้ำที่บำบัดความกระหายของประชาชน" นั้น ทุกวันนี้ มธ. ที่เป็นอยู่สามารถบำบัดความกระหายในความรู้ของประชาชนได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะความเป็น มหาวิทยาลัยปิด ที่ต่างจากแรกเริ่มมี่เป็นมหาวิทยาลัยเปิด เป็นตลาดวิชา นั้น มองว่าตอบสนองต่อหลักการการเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยนี้หรือไม่? ใน มธ ตะวันออก : จริงๆส่วนตัวอยากให้ก้าวข้ามพ้นปรีดีได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องยกโควตนี้มาตลอดก็ได้ ประโยคนี้ invalid มานานแล้ว จริงๆ มธ. เราไม่ได้เป็นบ่อน้ำบำบัดความกระหาย เพราะเราไม่ใช่มหาวิทยาลัยเปิดที่ให้การศึกษาในราคาถูก คนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงมาตั้งนานแล้ว ส่วนที่เรายังสามารถทำได้ก็คือ เราก็พยายามใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาในทางที่เกิดประโยชน์สูงสุดให้แก่สังคมเท่านั้นเอง ใน มธ.ตะวันตก : ความเป็นมหาวิทยาลัยปิด ส่งผลต่อการศึกษาของประชาชนแน่ๆครับ เพราะจำกัดจำนวนคนเข้า แต่ยังมีโครงการขยายโอกาสให้นักศึกษาจากชนบทเข้ามาเรียนด้วย ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น ตอนนี้มันรับใช้วัตถุประสงค์นี้ได้ไม่ค่อยเต็มที่ครับ เรื่องเป็นบ่อน้ำบำบัดความกระหายของประชาชนเนี่ย เพราะปีหนึ่งๆรับคนเข้าไม่มาก และก็กำหนดคุณสมบัติ ไม่ใช่ใครอยากเรียนก็เรียนได้เหมือนมหาวิทยาลัยเปิด ทำให้ประชาชนไม่ได้รู้เรื่องที่ควรรู้ครับ
ภาพล้อเลียนการโหวตอธิการบดี จากเพจ ใน มธ ตะวันตก เมื่อไม่กี่วันนี้มีการเปิดให้ นักศึกษาเสนอชื่อผู้เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งอธิการบดี มองปรากฏการณ์ที่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ติดโผมาด้วยว่าอย่างไร เป็นความหวังของ "ใน มธ.ตะวันตก" และ "ใน มธ.ตะวันออก" หรือไม่ ? ใน มธ ตะวันออก : เป็นความหวังลมๆแล้งๆ และดูเหมือนเป็นการเสนอชื่อเล่นๆมากกว่า เพราะว่าทุกคนก็รู้ดีกันอยู่ว่าไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะอาจารย์ทั้งสองท่านนั้นก็ไม่ใช่คนที่ทำงานในสายบริหารเป็นหลัก และด้วยวิธีการคัดเลือกอธิการ ก็ไม่เอื้อให้ทั้ง 2ท่านขึ้นมาเป็นอธิการบดีแน่ๆอยู่แล้ว เพราะคนที่เลือก คือ สภามหาวิทยาลัย เมื่ออธิการมาจากสภามหาวิทยาลัย เขาก็รับผิดชอบต่อสภามหาวิทยาลัย ไม่ใช่ต่อนักศึกษา นักศึกษาแทบไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากเรื่องนี้ ใน มธ.ตะวันตก : เรียกว่าอย่าหวังเลยครับ เพราะอำนาจเลือกมันอยู่ที่สภามหาวิทยาลัยเห็นชื่อสองคนนี้เขาปัดทิ้งตั้งแต่แรกแล้ว อีกอย่างการเสนอชื่อมีถึงสามฝ่าย คือ นักศึกษา อาจารย์ พนังงานมหาวิทยาลัย นักศึกษาก็แค่ 1/3 เท่านั้น จะไปทำอะไรได้ อีกอย่างสองคนนี้ไม่น่าถนัดงานบริหารเท่าไหร่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรระวังอย่างมากที่จะเอาคนที่เป็นนักวิชาการจัดๆไปเป็นผู้บริหาร
สำหรับใน มธ.ตะวันออก และตะวันตก มีใครเป็นอธิการในดวงใจ และมีนโยบายอะไรที่อยากให้อธิการดำเนินการบ้าง? ใน มธ ตะวันออก : คนที่อยากให้เป็นเขาคงไม่ได้เป็นอธิการหรอก เพราะคนที่เราสนับสนุน สภามหาลัยเขาก็คงไม่เอาด้วย ถ้าศึกษาโครงสร้างและพวกข้อบังคับต่างๆจะเห็นเลยว่าภายในธรรมศาสตร์มันเป็นระบบเกาหลังกัน แต่งตั้งกันเองมั่วไปหมด ระบบอุปถัมภ์มันฝังรากลึกมาก ถ้าอยากแก้ไขอะไรพวกนี้ให้หมดไป มันยังต้องใช้เวลาอีกนาน ต้องค่อยๆแก้ ถ้าใจร้อนรีบทำ นอกจากไม่เกิดผลอะไรดีแล้ว อาจเกิดผลเสียเสียมากกว่า ส่วนเรื่องนโยบาย อยากให้อธิการมีนโยบายที่พบปะกับนักศึกษาให้มาก ทำงานร่วมกับนักศึกษาให้มากๆ ไม่ต้องเห็นตรงกันก็ได้ ใน มธ.ตะวันตก : อธิการจะเป็นใครก็ได้ครับที่ไม่ใช่ถนอมหรือสฤษดิ์ (หัวเราะ)แค่ฟังเสียงนักศึกษา ตอบสนองเร็ว แก้ปัญหาเร็ว ผมก็เห็นใจอธิการ มธ อยู่นะครับที่ไม่ค่อยมีอำนาจอะไรเลย สั่งใครก็ไม่ค่อยได้ เล่นสายหลวงปู่สร้างอย่างเดียว สร้างนู่นสร้างนี่ (หัวเราะ)
ภาพล้อเลียนเรื่องความสามัคคีจากเพจ ใน มธ.ตะวันตก "การถกเถียงกันเป็นเรื่องธรรมดามาก การปรองดองนั้นต้องปรองดองในลักษณะของการเปิดใจยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่างและเคารพความคิด สิทธิเสรีภาพส่วนตัวของคนอื่น ไม่ใช่การปรองดองที่บอกว่าให้ "หุบปาก" และ "ทำตามคำสั่ง" ใน มธ. ตะวันออก ในสังคมวงกว้าง มีการพยายามรณรงค์ปรองดอง เพื่อที่จะหลุดออกจากความขัดแย้งในสังคม แต่ในขณะที่ใน มธ. นั้น กลับมีความขัดแย้ง ทางแอดมินมอง "ความขัดแย้ง" ว่าอย่างไร และจำเป็นต้องทำให้ความขัดแย้งมันหายไปไหม และการปรองดองเป็นทางออกหรือไม่ เพราะว่าตอนนี้ประเด็นชุดนักศึกษาก็ดูเหมือนว่าจะทำให้ "ใน มธ." ขัดแย้งกัน? ใน มธ ตะวันออก : ธรรมศาสตร์มีดราม่ากันทุกเดือน เดือนไหนไม่มีแสดงว่าคงเกิดความผิดปกติในมหาลัยแห่งนี้แล้วละ เราอยู่ในสังคมประชาธิปไตย ความแตกต่างทางความคิดบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยปกติ ในสังคมเสรีประชาธิปไตยเองนั้นก็เชื่อว่าความแตกต่างทางความคิดสามารถนำพาเราไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ จากการเห็นต่าง การโต้แย้งด้วยเหตุผล และการตั้งคำถามต่อสิ่งเดิมๆว่าดีแล้วหรือไม่ สมควรหรือไม่ ถูกต้องหรือไม่ มีอะไรที่ดีกว่านี้หรือไม่ดังนั้นการถกเถียงกันเป็นเรื่องธรรมดามาก การปรองดองนั้นต้องปรองดองในลักษณะของการเปิดใจยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่างและเคารพความคิด สิทธิเสรีภาพส่วนตัวของคนอื่น ไม่ใช่การปรองดองที่บอกว่าให้ "หุบปาก" และ "ทำตามคำสั่ง" ใน มธ.ตะวันตก : สังคมประชาธิปไตยความขัดแย้งเป็นของธรรมดาครับ มันมีอยู่ทุกที่ทุกเวลา ไม่มีทางหายไปไหนครับ แต่ที่สำคัญ เราต้องหาข้อสรุปครับ ที่ทุกฝ่ายยอมรับ ไม่ใช่ให้ใครไปบังคับใครหรือไล่ใครออกจากมหาวิทยาลัย ประเด็นชุด นศ ไม่ได้ทำให้นักศึกษาขัดแย้งกันนะครับ แค่เพื่อนกด unfriend ผมไปคนหนึ่ง (หัวเราะ) นี่แหละครับ ตัวอย่างของความไม่เข้าใจ ว่า การอยู่ร่วมกันในสังคมต้องมีความอดทนต่อการแสดงความคิดเห็นของผู้อื่น เราต้องคุยกันภายใต้กรอบและกฎเกณฑ์ที่เรามีครับ เรามีกฎหมาย มีรัฐธรรมนูญ เรามีระเบียบมหาวิทยาลัย ทำไมเราไม่เคยเอามันมานั่งคุยกันให้มันรู้เรื่องกันไปคราวเดียวเลยว่าตรงไหนมันไม่ชอบไม่ถูกอย่างไร แล้วก็ยังปล่อยให้คนมานั่งเถียงกันโดยที่ไม่มีการแก้ไขอะไรเพราะเรื่องมันไปถึงที่ที่ควรถึง การมีความขัดแย้งที่ถกกันด้วยเหตุผลนั้นเป็นของดีครับถ้าเรารู้จักวิธีการที่จะถกเถียงกันเป็นการพัฒนาสมองให้มีทักษะในการคิด วิเคราะห์ประเด็นปัญหาที่อยู่ตรงหน้าเราและข้อโต้แย้งของอีกฝ่าย สนุกดีออกครับ การถกเถียงไม่ใช่ของน่ากลัวเลยครับ ถ้าเราแพ้เราก็ภูมิใจว่าเราแพ้ด้วยเหตุผล เราไม่ได้แพ้ด้วยกำลัง หรือคำด่าทอ ถ้าเราชนะเราก็ภูมิใจว่าเราชนะด้วยเหตุผล ไม่ใช่กำลัง ไม่ใช่การด่าทอ แบบนี้จะทำให้ข้อขัดแย้งมีความน่าศึกษามากขึ้น บ้านเรามีเรื่องให้ถกเถียงกันอีกเยอะครับ แค่ต้องอาศัยความอดทนฟังกันหน่อย การจัดการกับความขัดแย้งที่ดีที่สุด เห็นว่าน่าจะเป็นการหาข้อสรุปที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย "ผมก็สงสัยว่า สังคมไทยกลัวอะไรหนักหนากับการที่นักศึกษาจะไม่ใส่ชุดนักศึกษา" ใน มธ.ตะวันตก สำหรับปรากฏการณ์เพจล้อเลียนในลักษณะนี้ก่อนหน้านี้ก็มีเพจอย่าง "ประเทศกรุงเทพ" ซึ่งตั้งเมื่อต้น ม.ค. ปี่นี้ ปัจจุบันมียอดไลค์เกือบ 4 หมื่น เป็นเพจที่ล้อเลียนชนชั้นกลางในกรุงเทพและล้อมุมมองความคิดตามแบบอุดมการณ์หลักของชาติ และเพจ "ในโซเวียตรัสเซีย" ที่ตั้งขึ้นประมาณ พ.ค.54 ล้อเลียนวัฒนธรรมแบบเผด็จการ โดยสมติว่ามีดินแดนแห่งหนึ่ง และแฟนเพจก็โพสต์เรื่องราวสมติว่าในโซเวียตรัสเซียนั้นมีอะไรบ้าง ทั้งนี้ หากจะกล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่เป็นหมุดหมายสำคัญของวัฒนธรรมเฟซบุกแฟนเพจในลักษณะล้อเลียนผ่านบุคคลหรือสถานที่รวมไปถึงสิ่งของ ก็มีเพจอย่าง "เคนชิโร่" ที่มีวลีสั้นๆเพียง "เจ้าตายแล้ว" นั้น ตั้งขึ้นประมาณต้น มี.ค.54 นำมาสู่เพจในลักษณะการล้อเลียนบุคลิค คำพูด แนวคิด ท่าทาง ของบุคคล รวมไปถึงสถานที่ที่ทุกคนรู้จักและสามารถแชร์ความเห็นร่วมกันได้หลังจากนั้นจำนวนมาก เช่น เพจ "ศาสดา" ที่แต่เดิมชื่อ "ธเนศ เขตยานนาวา" ล้อเลียนบุคลิคและความคิดของ "ธเนศ วงศ์ยานนาวา" นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญาการเมือง, ทฤษฎีสังคม, อาหาร, เพศ และ ประวัติศาสตร์สังคม จากนั้น เปลี่ยนชื่อเพจจากธเนศ เขตยานนาวามาเป็น ศาสดา เนื่องจากแอดมินเพจเกรงว่าธเนศตัวจริงจะเสียหาย เป็นต้น ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รายงาน: อินเทอร์เน็ตล่มในพม่า เหตุจงใจหรือว่าบังเอิญ? Posted: 23 Sep 2013 01:39 AM PDT ย่างกุ้ง – เมื่อสองปีก่อนเฟรดดี้ ลินน์ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ใจกลางเมืองมิตจีนาในรัฐคะฉิ่น ที่นั่นเองที่เขาได้รู้จักกับโลกที่เขาไม่เคยได้รู้จักมาก่อนในรัฐที่เผชิญแต่สงครามยาวนานกว่าหกสิบปี ประสบการณ์ท่องโลกทางอินเทอร์เน็ตของเฟรดดี้ออกแนวตะกุกตะกักอยู่เพราะว่าไฟฟ้าดับเป็นประจำ หรือไม่ก็ด้วยข่าวการสู้รบระหว่างชนเผ่ากลุ่มต่างๆ กับทหารทั่วทั้งพม่า แต่เฟรดดี้ ลินน์รู้ว่าเขาควรเกาะติดเพราะว่าเขามีโอกาสได้เชื่อมต่อกับโลกข้างนอกรัฐคะฉิ่น ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกติดกับพรมแดนพม่ากับจีนและอินเดีย ขณะที่เพื่อนๆ เขาต้องจ่ายเงินชั่วโมงละ 400 จั๊ตเพื่อใช้อินเทอร์เน็ต เฟรดดี้ ลินน์ได้รับข่าวสารจากทั่วโลกฟรี เพราะเขาทำงานที่อินเทอร์เน็ตคาเฟ่แห่งนั้น ทุกวันนี้ บัณฑิตที่จบฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐที่มิตจีนาคนนี้ยังคงท่องเน็ตฟรีได้อยู่ เพราะทำงานเป็นอาสาสมัครในย่างกุ้งให้กับองค์กรเอกชนชื่อ Myanmar ICT for Development Organization หรือ MIDO เฟรดดี้ ลินน์เป็นหนึ่งในชาวพม่าประมาณ 500,000 คน จากประชากรทั้งประเทศราว 55 ล้านคนที่มีอินเทอร์เน็ตใช้ ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการและหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มมีเดียอินไซด์เอาท์ยืนยันว่าการสื่อสารเป็นสิทธิมนุษยชน รัฐธรรมนูญของประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกประกันสิทธินี้ไว้ สำหรับพลเมืองของประเทศที่เป็นประชาธิปไตย อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางการสื่อสารและเป็นพื้นที่ใหม่แห่งเสรีภาพอันถือกันว่าเป็นปัจจัยพื้นฐาน พม่ายังคงพยายามสลัดตัวเองให้พ้นจากอดีตอันมืดมน นับตั้งแต่เปิดประเทศเมื่อสองปีก่อนหลังจากที่ตกอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมของทหารมานานหลายทศวรรษ พลเมืองพม่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่านักรณรงค์กำลังใช้พื้นที่และเสรีภาพนี้อย่างเต็มที่ในการแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน และกับโลกภายนอกด้วย อย่างไรก็ตาม นักสังเกตการณ์ก็เตือนว่าทั้งหมดนี้อาจเป็นเพียงภาพลวงตา พวกเขาบอกว่ารัฐบาลพม่ายังคงกีดกันไม่ให้พลเมืองของตนมีสิทธิในเรื่องข้อมูลข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ขณะที่กระบวนการปฏิรูปประเทศยังคงต้องพิสูจน์กันต่อไป การสื่อสารและอินเทอร์เน็ตยังตกอยู่ในเงื้อมมือการผูกขาดและควบคุมของรัฐ ปัญหาเรื่องการผูกขาดและควบคุมการให้บริการอินเทอร์เน็ตยังถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยปัญหาไฟฟ้าดับเป็นประจำ บางครั้งก็ดับเป็นวัน
เมียนมาร์โพสต์แอนด์เทเลคอมมิวนิเคชั่น (MPT) เป็นรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ให้บริการโทรศัพท์บ้าน สถานที่ประกอบธุรกิจและหน่วยงานราชการ นอกจากนี้ MPT ยังเป็นผู้ให้บริการตู้โทรศัพท์สาธารณะทั่วทั้งประเทศพม่า MPT ดำเนินงานภายใต้กระทรวงสื่อสาร การไปรษณีย์และโทรเลข หน้าที่กระทรวงนี้ครอบคลุมการให้บริการสื่อสารที่ราบรื่นและสะดวกแก่สาธารณชน ตอบสนองความต้องการด้านสื่อสารของภาคธุรกิจ ภาครัฐและสังคม ต้องจัดตั้งศูนย์การสื่อสารและเส้นทางตามความจำเป็น และติดตามให้บริการสื่อสารเป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ เมื่อปี 2010 MPT อนุญาตให้บริษัทชื่อ Red Link Communications วางโครงข่ายเคเบิ้ลใยแก้วเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งส่วนใหญ่ครอบคลุมย่างกุ้งกับมัณฑะเลย์ เจ้าของบริษัทเรดลิ้งก์คือบรรดาลูกชายของชเว มานน์ ผู้นำลำดับที่สามของรัฐบาลเก่าและปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานสภา ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายอื่นในพม่าคือรัฐวิสาหกิจชื่อ Yatanarpon Teleport และ Sky Net MPS ซึ่งเป็นของนักธุรกิจรายใหญ่ชื่อชเว ตัน พันธมิตรใกล้ชิดของประธานาธิบดีอู เต็งเส่ง ถ้าไม่ได้ต้องไปเยือนอินเทอร์เน็ตคาเฟ่อยู่เป็นประจำหรือว่าต้องพึ่งพาสัญญาณไวไฟฟรีที่มีบ้างไม่มีบ้างแล้ว การมีอินเทอร์เน็ตใช้ในพม่าหมายความว่าต้องมีสายโทรศัพท์บ้าน กระบวนการขอสายโทรศัพท์บ้านต้องนำเอาบัตรประชาชนไปแสดงเท่านั้น จ่ายค่าธรรมเนียมประมาณ 500 เหรียญสหรัฐ แล้วต่อจากนั้นก็ต้องอดทนรอคอย อาจต้องคอยประมาณหนึ่งถึงสามเดือน พวกที่เช่าบ้านอยู่แทบจะไม่มีโอกาสได้รับอนุมัติให้มีสายโทรศัพท์ในบ้าน จึงไม่มีใครประหลาดใจเลย เมื่อรายงานของสถานีวิทยุเรดิโอฟรีเอเชียระบุว่าร้อยละ 6.7 ของประชากรพม่าทั้งหมดหรือว่าประมาณสี่ล้านคนในพม่าเท่านั้นที่มีสายโทรศัพท์บ้านใช้ ขั้นต่อจากมีสายโทรศัพท์แล้วก็ต้องยื่นขอรับบริการอินเทอร์เน็ต ถ้าไปเรดลิงก์ก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าธรรมเนียม 1,000-1,500 เหรียญสหรัฐสำหรับเคเบิลใยแก้ว นอกจากนี้ยังมีค่าบริการรายเดือนอีกราวเดือนละ 600-700 เหรียญ เหล่านี้คือสาเหตุว่าทำไมประเทศพม่าจึงมีอัตราประชากรที่มีอินเทอร์เน็ตใช้ต่ำมาก เพราะว่ารายได้เฉลี่ยต่อเดือนของประชาชนทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 80,000 จั๊ตหรือราว 83 เหรียญ ถ้าหากว่าคุณตัดสินใจที่จะเชื่อมต่อสายโทรศัพท์บ้านกับอินเทอร์เน็ตโดยผ่านระบบสาย ADSL ก็ต้องจ่ายค่าติดตั้ง 100 เหรียญกับค่าบริการรายเดือนอีกราว 50-70 เหรียญ
ออง บาร์ เลย์ นักวิชาชีพด้านไอทีอีกคนเห็นด้วยกับความเห็นข้างต้น เขาบอกว่าแค่เฉพาะในใจกลางเมืองย่างกุ้งเอง อินเทอร์เน็ตเร็วช้าไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าไหนเต็มใจจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อเร่งความเร็ว ความเร็วของอินเทอร์เน็ตในพม่านั้นล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย เวียดนามและฟิลิปปินส์ด้วย มิหนำซ้ำยังช้ากว่าที่กรุงเวียงจันทน์ ณ กรุงเวียงจันทน์ ดาวน์โหลดสปีดอยู่ที่ 1.69 กับอัปโหลดที่ 0.60 เมกะบิตต่อวินาที แต่ที่เวียดนามที่ซึ่งกระทั่งพื้นที่ชนบทรัฐก็พาอินเทอร์เน็ตไปให้ใช้นั้น ดาวน์โหลดสปีดอยู่ที่ 31.24 ขณะที่อัปโหลดสปีดอยู่ที่ 27.21 เมกะบิตต่อวินาที ขณะที่เราสามารถโหลดวิดีโอ Applause ของเลดี้กาก้าในมะนิลาหรือกรุงเทพฯ (โดยที่วิดีโอไม่ได้หยุดเล่นระหว่างโหลด) ภายในเสี้ยววินาที คุณต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30 วินาทีถึงจะได้ดูวิดีโอเดียวกันนี้ในย่างกุ้ง และถ้าเรานับเวลาบัฟเฟอร์ของคอมไปอีกประมาณหนึ่งนาที แฟนๆ ของเลดี้กาก้าในย่างกุ้งต้องรอประมาณ 5 นาที ให้วิดีโอความยาว 3.35 นาทีดาวน์โหลดเสร็จแล้วค่อยเริ่มเล่น ในเวียดนาม ประชาชนทั่วไปจ่ายสตางค์เพียง 400 ด่งหรือประมาณ 20 เซนต์ต่อชั่วโมง วิดีโอเดียวกันนี้ใช้เวลาโหลดประมาณสามวินาที
ออง บาร์ เลย์เชื่อว่าสภาวะ "เน็ตเต่า" ทั่วประเทศพม่าเป็นเรื่องจงใจ เพราะว่ารัฐบาลคุมความเร็วอยู่ "ถ้าหากรัฐบาลต้องการปรับปรุงความเร็วของอินเทอร์เน็ตจริงจัง รัฐบาลก็ทำได้" นักวิชาชีพไอทีผู้นี้กล่าว "รัฐบาลใช้ไฟเบอร์ออฟติก ดังนั้นอินเทอร์เน็ตจึงไว้ใจได้และรวดเร็ว" อาจารย์มหาวิทยาลัยในย่างกุ้งคนหนึ่งให้ความเห็นว่า ในขณะที่รัฐบาลให้พวกอาจารย์มีอินเทอร์เน็ตใช้ก็จริง ความเร็วขนาด "เน็ตเต่า" ทำให้การมีอินเทอร์เน็ตแทบไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด อาจารย์คนนี้ที่ต้องการให้เราเรียกแกว่า "เซย์" กำลังสงสัยว่า การจงใจทำให้เน็ตช้าเป็นเต่า ซึ่งมักจะทำให้พวกนักศึกษาเบื่อแล้วเลิกรากันไป เป็นมาตรการเซ็นเซอร์อีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง "ไม่อย่างนั้นคุณจะเรียกมันว่าอะไร?" อาจารย์เซย์กล่าว "นี่คือการเซ็นเซอร์แน่นอน เรายังคงไม่มีสิทธิ ซึ่งเป็นสิทธิที่พลเมืองในประเทศอื่นๆ เขามีกัน เรากำลังโดนเซ็นเซอร์ที่นี่" องค์กรให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศและองค์กรพัฒนาเอกชนในพม่ามองว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารในประเทศจะมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและภาพลักษณ์ของพม่า รัฐบาลพม่ากำลัง "แต่งองค์ทรงเครื่อง" เพื่ออวดกับประชาคมโลกเท่านั้น จากมุมมองของเจสสิก้า สตีเวน ชาวแคนาดาที่ทำงานกับองค์กรเอกชนที่ทำงานระดับรากหญ้าในพม่าชื่อ Burma Partnership เธอบอกว่า สภาพของอินเทอร์เน็ตกับการสื่อสารในพม่าแสดงให้เห็นถึงทิศทางอันน่าเป็นห่วง "ถ้าดูกันในระดับผิวเผินก็ดูเหมือนว่าพม่ากำลังเปิดเสรี นั่นก็จริงในหลายแง่เมื่อเทียบกับเมื่อหลายปีก่อน แต่ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยบ่งชี้มากมายว่าพม่าตัวจริงเป็นอย่างไรและจะไปในทิศทางไหนในอนาคต ในความเป็นจริงแล้วไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลง" สตีเวนคุยกับเราที่ย่างกุ้ง นักข่าวชาวพม่าหลายคนเห็นด้วยกับทัศนะนี้ นักข่าวบางคนที่เราคุยด้วยซึ่งไม่ต้องการเปิดเผยชื่อไม่ได้มองรัฐบาลในปัจจุบันว่าดีกว่าชุดก่อนที่ผ่านมา "การสื่อสารเป็นมิติหนึ่งที่ประชาชนยังไม่ได้รับสิทธิอย่างเต็มที่"นักข่าวคนหนึ่งให้ความเห็น "หลายคนอาจจะไม่เห็นหรือไม่รู้สึก แต่ความจริงก็คือการสื่อสารเคลื่อนไปในความเร็วแบบ "สโลว์โมชั่น" ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงระดับของเสรีภาพของประชาชนพม่าว่าเป็นอย่างไร" "การที่รัฐบาลยินยอมที่จะเปิดกว้างให้เราใช้การสื่อสารได้แค่ไหนเป็นตัวชี้วัดว่ารัฐบาลนี้มีความเต็มใจและพร้อมที่จะเปิดเสรีประเทศจริงๆ" นักข่าวอีกคนกล่าวในวงสนทนาของเรา "ระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มีพร้อมแล้ว แต่ทำไมเราจึงรู้สึกว่าเรายังคงถูกตัดขาดจากกันและกัน" ไอซีทีระส่ำระสาย "โลกเราทุกวันนี้เหมือนกับหมู่บ้าน และความที่คุณขาดซึ่งความรู้และโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทำให้หมู่บ้านบางแห่งไม่ได้รู้จักกับหมู่บ้านอื่นในโลกใบเดียวกันนี้เลย มีช่องว่างที่ใหญ่มากระหว่างพม่ากับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในโลกใบนี้" เนย์ พง ลัตเป็นบล็อกเกอร์การเมืองที่โดนรัฐบาลทหารชุดก่อนจับติดคุกสี่ปี เขาระบายความคับข้องใจที่รัฐบาลไม่ใส่ใจให้ความสำคัญกับไอซีที ไม่มีการเรียนการสอนในโรงเรียนรัฐ การที่มีโรงเรียนเอกชนไม่กี่แห่งในประเทศที่มีหลักสูตรเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้นไม่เพียงพอ ดังนั้นกลุ่มของเนย์ พง ลัตจึงพยายามที่จะช่วยอุดช่องว่าง ด้วยการตระเวนไปทั่วประเทศพม่าเพื่อจัดเวิร์คช็อปเกี่ยวกับไอซีที ผู้เข้ามาร่วมส่วนใหญ่มาจากองค์กรเอกชนหรือองค์กรในชุมชนกับกลุ่มผู้หญิงและเยาวชนในทุกที่ที่เขาไป หนึ่งในลูกค้าของ MIDO คือพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD พรรคฝ่ายค้านนำโดยนางอองซานซูจี เนย์ พง ลัตยอมรับว่า เท่าที่ผ่านมากิจกรรมของกลุ่มเขายังไปไม่ถึงรัฐคะฉิ่นและยะไข่ เพราะว่าทั้งสองแห่งยังคงเป็นพื้นที่สู้รบอยู่ MIDO ไปได้ไกลที่สุดคือที่รัฐฉิ่น ยิ่งระยะห่างไกลจากย่างกุ้งเท่าใด สภาพในพื้นที่ดูจะแย่ลงมากเท่านั้น ในวันที่เราสัมภาษณ์เขานั้น สำนักงานของเนย์ พง ลัตไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้เพราะว่าเซิร์ฟเวอร์มีปัญหา เขาบอกว่าคนที่มาเรียนกับเขาส่วนใหญ่เป็นคนที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นครั้งแรกในชีวิต เขาบอกว่านี่คือสิ่งที่สะท้อนถึงระดับความรู้เกี่ยวกับไอซีทีสำหรับประชาชนพม่าทั่วไป หลักสูตรการฝึกอบรมที่ MIDO ทำอยู่นั้นจะสอนความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แนะนำให้รู้จักใช้อินเทอร์เนตระดับพื้นฐานและการใช้เสิร์ชเอนจิ้น โซเชียลมีเดีย บล็อก กับโซเชียลเน็ตเวิร์ก "พวกเขาไม่รู้อะไรเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาก่อนเลย ปัญหาใหญ่อีกเรื่องคือการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตแถวนี้" เขาเล่า กระทั่งในย่างกุ้งเอง อันเป็นพี้นที่สงบ บริการอินเทอร์เน็ตยังไม่ราบรื่น
ทางออกของคนในพื้นที่ห่างไกล เพียงแต่เขาบอกว่า "ผมหวังอยากให้ทุกคน โดยเฉพาะคนที่รัฐคะฉิ่น มีโอกาสได้สัมผัสโลกภายนอกบ้าง"
ทุกวันนี้ผู้คนในรัฐคะฉิ่นก็กำลังพยายามกันอยู่ ไม่ว่ารัฐบาลกลางในพม่าจะช่วยเหลือหรือไม่ก็ตาม ขณะที่คนพม่าส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสื่อสารไร้สายได้ แต่ว่าหลายคนในรัฐคะฉิ่นกลับมีหนทางที่สะดวกและราคาถูกอีกด้วย คำตอบคือประเทศจีน ซิมการ์ดจากประเทศจีนขายกันที่นั่นในราคา 20,000 จั๊ตหรือราว 20 ดอลลาร์เมื่อปี 2008 เมื่อเทียบกับซิมการ์ดของ MPT ที่ราคา 2,913,000 จั๊ตหรือว่าเกือบ 3,000 ดอลลาร์ เมื่อมีซิมของจีนแล้วชาวคะฉิ่นสามารถโทรศัพท์ติดต่อกันได้ภายในรัฐคะฉิ่นเองหรือโทรไปต่างประเทศก็ได้ด้วย แต่ว่าพวกเขาไม่สามารถโทรศัพท์หรือส่งข้อความไปที่ย่างกุ้ง และขณะที่ผู้ใช้ซิมการ์ดจากจีนสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ พวกเขากลับไม่สามารถเข้าเฟซบุ๊กได้เพราะว่าทางการจีนแบนเฟซบุ๊ก ถ้าอยากจะเข้าเฟซบุ๊กพวกเขาต้องไปใช้บริการตามอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ในอัตราค่าบริการชั่วโมงละ 400 จั๊ต อันเป็นราคาที่คงที่ไม่ขยับมาหลายปีแล้วในพื้นที่ห่างไกลแห่งนี้ "เราเห็นโลกและเราติดต่อกับคนอื่นก็ได้ และเราก็เห็นโลกผ่านทางอินเทอร์เน็ตนี่เอง" เฟรดดี้ ลินกล่าว เขาเน้นว่าการเชื่อมต่อออนไลน์นั้นมีความสำคัญกับเพื่อนร่วมชาติของเขา "ไอซีทีสำคัญมากๆ" ความเชื่อนี้อาจเป็นตัวผลักดันให้เขามาทำงานอาสาสมัครให้กับองค์กร MIDO แต่แม้ว่าคนอย่างเฟรดดี้หรือเนย์ พง ลัตจะเต็มไปด้วยไฟแห่งความมุ่งมั่น ความท้าทายอยู่ที่ว่าคนในชุมชนที่พวกเขาสอนความรู้เกี่ยวกับไอซีทีไปนี้จะนำความรู้ไปใช้หรือไม่ เพราะว่าขาดทั้งอุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐาน ตัวอย่างเช่น การไม่มีคอมพิวเตอร์เป็นปัญหาสำคัญของบรรดาครูในหมู่บ้านอาลาลเยจอในแถบลุ่มแม่น้ำอิระวดี หมู่บ้านแห่งนี้ต้องนั่งเรือไปหนึ่งชั่วโมงครึ่งจากตัวเมืองมอจุง เดชะบุญ ครูใหญ่ได้พบกับผู้ให้ความช่วยเหลือที่มอบคอมพิวเตอร์สามชุดให้โรงเรียน แต่คอมพิวเตอร์เหล่านี้ใช้ได้แต่ตอนกลางคืนเท่านั้น อันเป็นช่วงเวลาที่เครื่องปั่นไฟในชุมชนเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับหมู่บ้าน ในรัฐฉิ่นทางตะวันตกของพม่า กระทรวงการต่างประเทศของเดนมาร์กได้ให้ความช่วยเหลือมูลค่า 831,600 เหรียญในโครงการไอซีทีเพื่อโรงเรียนในรัฐฉิ่น ทุนส่วนนี้มีไว้สร้างศูนย์ คอมพิวเตอร์กับติดตั้งอินเทอร์เน็ตให้กับโรงเรียนมัธยม 30 โรงเรียนตามหมู่บ้านต่างๆ ในรัฐฉิ่น ในการพบปะกับหน่วยงานผู้ให้ความช่วยเหลือที่ย่างกุ้งเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง ดร. ซุย คาร์ รองเลขาธิการแนวหน้าแห่งชาติฉิ่น (Chin National Front) กล่าวว่าความช่วยเหลือจากเดนมาร์กกับอีกส่วนที่รัฐบาลนอร์เวย์มอบให้นั้น "นอกจากจะเป็นการแสดงออกทางการเมืองแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน"
ดร.ซุย คาร์กล่าวว่า "การสื่อสารเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง" และเน้นว่า "โครงการเหล่านี้เชื่อมโยงกับความพยายามที่จะสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในอนาคต" การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจึงเป็นหัวใจสำคัญของโครงการเพื่อสนับสนุนความคิดริเริ่มสันติภาพในเมียนมาร์ (Myanmar Peace Support Initiative- MPSI) ซึ่งทำโครงการในพื้นที่ที่กลุ่มชาติพันธุ์ได้ทำข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าในปัจจุบัน MPSI ดำเนินโครงการ "Ethnic Peace Resource Project" ซึ่งเป็นการรวบรวมฐานข้อมูลออนไลน์ โดยมุ่งที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์สันติภาพทั่วประเทศพม่า ให้รายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ ข้อตกลงหยุดยิงฉบับต่างๆ และโครงการในพื้นที่ที่ทางโครงการทำร่วมกับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ต่างๆ แต่อัลลัน สมิธ ที่ปรึกษาของโครงการ MPSI บอกว่าอุปสรรคสำคัญของการทำงานของฐานข้อมูลตามโครงการนี้ก็คือการที่อินเทอร์เน็ตช้ามากทั่วประเทศ หรือในบางที่ก็ไม่มีอินเทอร์เน็ตเลย (และเช่นเดียวกับ MIDO กลุ่มของสมิธทำเวิร์คช็อปเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ "ที่ไม่มีการเชื่อมต่อ" อย่างเช่นหมู่บ้านต่างๆ ในลอยเกาะ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐคะยาห์) ชาร์ลส เพทรี่ ประธานของ MPSI กล่าวว่า อินเทอร์เน็ตในพม่าเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาอีกมาก "มันเป็นศักยภาพที่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ และนั่นเป็นหนึ่งในสิ่งที่ต้องได้รับการพัฒนา เราต้องค้นหากันต่อไป" เพทรี่เคยทำงานให้กับสหประชาชาติและเคยถูกเนรเทศออกจากประเทศพม่าในปี 2007 หลังจากที่เขาเขียนรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงโดยรัฐบาลทหารพม่า ในบริบทของงานที่เขาทำอยู่ในพม่า เขากล่าวว่า การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมีประโยชน์ในแง่ที่ "จะช่วยสร้างความโปร่งใส" "และในแง่การสร้างสันติภาพ ผมคิดว่าเรายังทำได้ไม่มาพอ เรายังคงต้องหาวิธีการที่จะทำให้ได้มากกว่านี้"
แผนงานและอนาคต พิมพ์เขียวการพัฒนาเศรษฐกิจของอาเซียนเองก็ให้ความสำคัญกับ "โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลข่าวสารที่มั่นคงและเชื่อมโยงกัน" เพื่อความยั่งยืนของการพัฒนาเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน ยิ่งไปกว่านี้อาเซียนยังให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นใจและความไว้วางใจกันในเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ต ความปลอดภัยของการทำธุรกรรมและช่องทางการจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์" ในปี 2015 นี้พม่าจะเป็นประธานอาเซียน "ตราบใดที่รัฐบาลยังไม่เปลี่ยนนโยบาย ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในตลาดกี่รายก็ตาม มันอาจดูราวกับว่าเรามีทางเลือกมากขึ้น แต่อันที่จริงแล้วมันก็เหมือนเดิม" เขามอง รัฐบาลจะเลิกควบคุมสาขาโทรคมนาคมไหม? "ไม่มีทาง รัฐบาลไม่มีวันที่จะปล่อย" ขณะเดียวกันเนย์ พง ลัตแห่ง MIDO ท้าทายให้รัฐบาลปล่อยให้บริษัทเอกชนเปิดบริการโทรคมนาคมอย่างเสรี เขาเสนอด้วยว่าควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมากำกับดูแลธุรกิจโทรคมนาคมในพม่า "มีนายทหารจำนวนหนึ่งที่หวาดกลัวเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น"เนย์ พง ลัตกล่าว "ผมอยากจะบอกพวกเขาว่าไม่มีอะไรน่ากลัวเลย เสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับประชาธิปไตย นอกจากนี้พวกเขายังน่าจะรู้จักใช้ประโยชน์จากมัน พวกเขาจะเป็นผู้เล่นสำคัญในสังคม"
อาร์คาร์ นักศึกษาฟิสิกส์วัย 18 ปีจากมหาวิทยาลัยดากอนกับแฟนสาวก็มาด้วย เราชวนคุยเรื่องเสรีภาพอินเทอร์เน็ต ชายหนุ่มทำท่าประหลาดใจ เขาพูดผ่านล่ามของเราว่า "คิดว่าทุกอย่างปกติดีนะ ไม่เห็นมีอะไรผิดปกติ" แฟนสาวของเขาได้แต่ยิ้ม และไม่ยอมแสดงความคิดเห็น อาร์คาร์บอกว่าเขาไม่เคยใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อหาข้อมูลหรือว่าดูข่าวสาร แต่เขามีเสรีภาพเต็มที่ที่จะหาอินเทอร์เน็ตใช้เมื่อใดก็ตามที่ต้องการ "ผมแค่ต้องมีสตางค์ 250 จั๊ตเท่านั้น ผมก็ทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น" อาร์คาร์บอกว่าใช้อินเทอร์เน็ตเพียงเพราะไปใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กไว้ติดต่อกับคนอื่น เขาบอกว่าพวกเพื่อนๆ ส่วนใหญ่ก็ใช้เน็ตด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ เนื่องจากเขาไม่มีโทรศัพท์ อาร์คาร์เลยต้องไปใช้บริการตามอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ถ้าต้องการติดตามข่าวสารของแฟนสาวหรือนัดพบกัน อย่างที่นัดมาเจอกันวันนี้ก็นัดกันผ่านเน็ต BizNet อินเทอร์เน็ตคาเฟ่แห่งหนึ่งในย่างกุ้งมักจะคลาคล่ำไปด้วยวัยรุ่นพม่ารุ่นราวคราวเดียวกับอาร์คาร์ คอมพิวเตอร์ทั้ง 15 ตัวในร้านมีบราวเซอร์หน้าจอตั้งไว้ที่หน้าเฟซบุ๊ก เมื่อหลายปีที่แล้ว คุณต้องลงทะเบียนจึงจะมีสิทธิใช้อินเทอร์เน็ตในพม่า นอกจากนี้ทาง MPT ยังมีกฎบังคับให้อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ทุกแห่งต้องถ่ายภาพคนมาใช้บริการไว้เป็นหลักฐาน ทาง BizNet บอกว่าระเบียบข้อนี้ปัจจุบันถูกยกเลิกไปแล้ว "ใช้ได้เลยค่ะ ไม่ต้องลงทะเบียน" หญิงสาวที่เคาน์เตอร์ว่า อย่างไรก็ดีที่กำแพงมุมหนึ่งมีโปสเตอร์ติดไว้ว่า "เรียนลูกค้าที่รัก เราห้ามและจำกัดการเข้าไปดูเว็บไซต์การเมืองและเว็บโป๊ ด้วยความขอบคุณ BizNet"
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เสียงสันติภาพของเครือข่ายผู้หญิง“การนิ่งเฉยคือยอมจำนนต่อความรุนแรง” Posted: 22 Sep 2013 11:33 PM PDT "เสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ We Voice ตามหาสันติภาพ" รายการวิทยุเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม อีกหนึ่งผู้ขับเคลื่อนด้านการสื่อสารที่ผู้หญิง (ผู้สูญเสีย) ทำเองทุกอย่าง ย้ำ"การนิ่งเฉยคือการยอมจำนนต่อความรุนแรง" อัสรา รัฐการัณย์ นางอัสรา รัฐการัณย์ นักจัดรายการวิทยุ หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนการทำงานด้านการสื่อสารในรายการวิทยุเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้ ที่ผลิตรายการวิทยุเน้นการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพในมุมของกลุ่มผู้หญิงท่ามกลางสถานการณ์ที่ผู้หญิงต้องเป็นเหยื่อและต้องการการช่วยเหลือเยียวยา อัสรา ระบุว่า เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้มีการผลิตรายการออกอากาศทางวิทยุทุกปี แบ่งเป็น 2 ช่วง ซึ่งในช่วงเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้เป็นการออกอากาศช่วงที่ 2 โดยเครือข่ายผู้หญิงฯจะผลิตรายการวิทยุเป็นตอนๆ แล้วจัดส่งไปออกอากาศทางสถานีวิทยุในเครือข่าย อัสราระบุว่า ขณะนี้มีสถานีวิทยุในเครือข่ายทั้งหมด 13 สถานี ส่วนใหญ่เป็นวิทยุชุมชน "ตอนนี้เราผลิตรายการวิทยุชื่อ "เสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ We Voice ตามหาสันติภาพ" มีทั้งหมด 20 ตอน ที่เราออกอากาศทางสถานีเครือข่าย และเรายังออกอากาศผ่านเว็บไซต์ด้วย เพื่อให้คนนอกพื้นที่ได้รับฟัง" สำหรับเป้าหมายคนฟังก็คือเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ รวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจ
สันติภาพต้องมาจากคนในและนอกพื้นที่ อัสรา บอกว่า เหตุใช้ชื่อรายการ "เสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ We Voice ตามหาสันติภาพ" เนื่องจากทุกวันนี้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้กำลังเรียกร้องถึงสันติภาพ และมีกระบวนการพูดคุยสันติภาพเกิดขึ้นแล้ว หากแต่สันติภาพจะเกิดขึ้นได้นั้นต้องใช้ระยะเวลา เป็นกระบวนการที่กินเวลาพอสมควร "เราจึงอยากให้เห็นว่า สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย ทั้งคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ที่จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ"
คือผู้สูญเสียที่ส่งเสียงผ่านสื่อเพื่อสันติภาพ อัสรา ระบุว่า ขณะนี้ในเครือข่ายผู้หญิงฯมีผู้ร่วมจัดรายการประมาณ 30 คน ทั้งจากเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเองและจากผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุไม่สงบในพื้นที่ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ก้าวข้ามความเจ็บปวดมาแล้ว "เราชวนคนเหล่านี้ลุกขึ้นมาสื่อสารและส่งเสียงผ่านสื่อวิทยุ ให้เขามาเป็นส่วนหนึ่งของความต้องการในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดสันติภาพ"
เนื้อหามุ่งเน้นช่วยเหลือประชาชน อัสรา บอกว่า เนื้อหาในการนำเสนอขึ้นอยู่กับแต่ละตอน ซึ่งมีหลากหลายตามสถานการณ์ แต่ที่เน้นคือการช่วยเหลือเยียวยาผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์รุนแรงทุกเรื่อง ทุกแง่มุม เช่น ความขัดแย้งเกี่ยวกับทรัพยากรในพื้นที่ ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยพุทธ –มุสลิม ผลกระทบที่เกิดจากภาครัฐ เรื่องสื่อทางเลือก เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคนในพื้นที่
ผู้หญิงทำรายการเอง ผลิตเองทุกขั้นตอน อัสรา เล่าว่า ในการผลิตรายการวิทยุ มีทั้งการสัมภาษณ์และการรายงานสถานการณ์ต่างๆ เช่น เวทีการเสวนาของเครือข่ายผู้หญิง หรือการถ่ายทอดบันทึกเสียงตามเวทีสมัชชาต่างๆ มีการสัมภาษณ์ทั้งคนไทยพุทธและมุสลิมที่จะนำมาผลิตรายการ เป็นต้น "เราไม่เน้นการทำรายการสด แต่จะเก็บเสียงสัมภาษณ์ตามเวทีต่างๆ มาผลิตเป็นรายการวิทยุ ทั้งนี้การสัมภาษณ์และการบันทึกเสียงจะเน้นความหลากหลายครอบคลุมเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพ" "ส่วนกระบวนการผลิตและการตัดต่อทางเทคนิคเราทำเองทั้งหมด กระบวนการทำงานเป็นการทำงานของกลุ่มผู้หญิงทุกขั้นตอน"
อัสรา บอกว่า เสียงตอบรับจากผู้ฟังดีมาก เนื่องจากมีการจัดรายการทั้งภาษาไทยและภาษามลายูท้องถิ่นในการสื่อสาร แต่รายการที่ออกอากาศที่ผ่านมาเป็นรายการภาษามลายูทั้งหมด 47 ตอน เพราะเป็นภาษาที่คนในพื้นที่สื่อสารกันอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ผู้จัดรายการที่เป็นภาคภาษามลายูหลายคนจึงได้รับการชื่นชมเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถทำงานแบบเข้าถึงและเจาะลึกประเด็นได้ดี
มุมมองต่อสันติภาพ การนิ่งเฉยคือยอมจำนนต่อความรุนแรง อัสรา บอกว่า สันติภาพในมุมมองส่วนตัว คือคนในทุกคนต้องลุกขึ้นมาพูดแนวทางสันติภาพที่ตนเองต้องการ หากทุกคนยังนิ่งเฉยด้วยความชินชากับเสียงปืนและเสียงระเบิด ก็คือ การยอมจำนนต่อเหตุการณ์ทุกอย่างเกิดขึ้น "ในความเป็นจริง พลังการสนับสนุนจากคนนอกพื้นที่ก็มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ เราต้องการให้คนนอกมองคนในพื้นที่อย่างเข้าใจ และใจกว้างในการส่งพลังให้เราก็เพียงพอแล้ว" อัสราทิ้งท้ายว่า การทำงานของสื่อมวลชนก็เช่นกัน โดยเฉพาะสื่อในท้องถิ่น สื่อชุมชนต้องช่วยกันนำเสนอข่าวของคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมที่อยู่ท่ามกลางปัญหาด้วย อย่านำเสนอเพียงประเด็นความรุนแรง การบาดเจ็บล้มตาย เพราะไม่ได้ทำให้ทุกอย่างดีขึ้นเลย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นักศึกษาปาตานีร้องทำประชามติดับไฟใต้ เนื่องในวันสันติภาพโลก Posted: 22 Sep 2013 09:51 PM PDT Permas ออกแถลงการณ์ 21 กันยายน "วันสันติภาพโลก" เรียกร้องให้มี peace zone และจัดทำประชามติในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ และยืนยันจะอยู่เคียงข้างชาวปาตานีในการสร้างสันติภาพ เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 21 กันยายน 2556 ที่หน้ามัสยิดกรือเซะ อ.เมือง จ.ปัตตานี ตัวแทนสหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียนและเยาวชนปาตานี (Permas) 30 กว่าคน ร่วมชุมนุมและอ่านการแถลงการณ์เนื่องใน "วันสันติภาพโลก วันปฏิญญาเยาวชนปาตานีเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพของประชาชน" โดยมีนายรุสลัน เจ๊ะบู สมาชิก Permas เป็นผู้อ่านแถลงการณ์
แถลงการณ์ ระบุว่า วันที่ 21 กันยายนของทุกปีองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดให้เป็นวันสันติภาพโลก ดังนั้น Permas เห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างสันติภาพ โดยเฉพาะรัฐไทยกับขบวนการ BRN ขอให้ร่วมกันสร้างพื้นที่สันติภาพ (Peace zone) อย่างแท้จริง ด้วยการให้รัฐไทยถอนทหารออกจากพื้นที่ และเปิดพื้นที่ทางการเมืองต่อประชาชนที่คิดเห็นต่างจากรัฐ ขณะเดียวกันขบวนการ BRN ก็จะต้องต่อสู้ในทางการเมืองแทนการต่อสู้ทางทหาร
%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%% แถลงการณ์ เนื่องด้วยวันที่ 21 กันยายน สหประชาชาติได้กำหนดให้เป็นวันสันติภาพโลก ทางสหพันธ์นักเรียน นิสิตนักศึกษาและเยาวชนปาตานี (PERMAS) เห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการเรียกร้องทุกภาคส่วนโดยเฉพาะทางคู่ขัดแย้งหลักซึ่งขณะนี้สถานะทั้งสองได้ยกระดับเป็นคู่เจรจาอย่างเป็นทางการนับจากได้มีการพูดคุยสันติภาพเกิดขึ้นโดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก นั่นคือ ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับ Barisan Rivolusi National Patani (BRN) เพื่อจริงจังและจริงใจต่อวาระสันติภาพของประชาชน ด้วยจิตรักสันติภาพ สหพันธ์นักเรียน นิสิตนักศึกษาและเยาวชนปาตานี
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ประมวลภาพ: คนกรุงฯ ร่วมจัดเต็ม! โค้งสุดท้าย ‘เดินเท้าคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์’ Posted: 22 Sep 2013 03:47 PM PDT วันนี้ (22 ก.ย.56) ช่วงสุดท้ายของการเดินเท้าคัดค้าน EHIA (Environmental Health Impact Assessment) หรือรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเขื่อนแม่วงก์ ระยะทาง 388 กิโลเมตรจากป่าพื้นที่เขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์สู่กลางเมืองกรุงฯ ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรนำขบวนผู้เข้าร่วมเริ่มต้นที่ประมาณ 300 คน ออกเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มุ่งหน้าไปยังหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยใช้เส้นทางตามแนวรถไฟฟ้า BTS ตั้งแต่สถานีหมอชิตไปจนถึงสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ รอน ไพรินทร์ ปกาเกอะญอ จาก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ซึ่งมาร่วมขบวน 'เดินเท้าคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์' ตั้งแต่เมื่อ 3 วันที่แล้ว กล่าวว่า ในชุมชนที่แม่แจ่มเองก็ประสบปัญหาการก่อสร้างเขื่อนผาวิ้งจู้ ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่เช่นเดียวกัน จึงทำให้รู้สึกว่าต้องออกมาร่วมเดินเท้าคัดค้านโครงการเขื่อน โดยมีคนในพื้นที่เดินทางมาด้วยกันทั้งหมด 7 คนด้วยกัน สำหรับโครงการเขื่อนผาวิ้งจู้นั้น รอนกล่าวว่าชาวบ้านไม่เคยรู้เลยว่าจะมีโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น จนกระทั่งมีการร้องศาลปกครองกรณีโครงการเงินกู้เพื่อบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาล ทำให้มีการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดในโครงการ และพบว่าจะมีการสร้างเขื่อนผาวิ้งจู้ในโมดุล A1 เพื่อป้องกันน้ำท่วมในกรุงเทพฯ และแก้ปัญหาลุ่มน้ำ โดยที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลกับชาวบ้านผู้ที่จะต้องได้รับผลกระทบกว่า 10 หมู่บ้าน และในจำนวนนี้ 5 หมู่ต้องย้ายออกจากพื้นที่ ขณะที่การสร้างเขื่อนดังกล่าวอาจไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท้วมได้จริง "เขื่อนคือสิ่งที่ทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ทำลายสิ่งแวดล้อม" รอนให้นิยามสั้นๆ เกี่ยวกับเขื่อนในความคิดของเขา ทั้งนี้ มีผู้คนทยอยเข้าร่วมขบวนการเดินทามตามจุดต่างๆ ตลอดเส้นทาง ทำให้ขบวนเดินเท้ายาวขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิซึ่งเป็นจุดพักรับทานอาหารกลางวันของขบวนเดินเท้า คาดว่าจะมีจำนวนหลายพันคน นับเป็นการรวมตัวทำกิจกรรมครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของคนในกรุงเทพฯ ศศินให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า การที่ต้องค้าน EHIA เพราะเป็นกุญแจที่เริ่มต้อนเปิดให้มีการสร้างเขื่อนในป่าแม่วงก์ โดยที่ EHIA ดังกล่าวละเลยสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งละเลยความคุ้มค่าในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ส่วนเมื่อการเดินครั้งนี้จบจบ การรณรงค์ก็จะยังคงมีต่อไป โดยพรุ่งนี้จะไม่ใช่เฉพาะเครือข่ายนักอนุรักษ์ แต่คือคนที่นี่ทั้งหมด ใครสามารถทำอะไรได้ก็ทำ ทั้งนี้มูลนิธิสืบและองค์กรอนุรักษ์เป็นเพียงส่วนเดียวของขบวนการเคลื่อนไหวคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ สำหรับกระแสตอบรับระหว่างการเดินทาง ศศินกล่าวว่ามีบ้างสำหรับคนที่ไม่เห็นด้วย แต่ตลอดทางที่มีการให้กำลังใจก็ทำให้รู้ว่ามีคนไม่อยากได้เขื่อนทั้งที่แม่วงก์และที่กรุงเทพฯ นอกจากนั้นยังแสดงความขอบคุณนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีที่กล่าวว่า "ป่าสร้างได้ สัตว์ป่าสร้างได้ แต่ถ้าน้ำท่วมไม่มีคนไทย ประเทศก็อยู่ไม่ได้ รัฐบาลตัดสินใจแล้วคือสร้างเขื่อนแม่วงก์ ไม่มีเปลี่ยนใจ" เพราะทำให้คนเข้ามาร่วมขบวนมากมาย เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับคำพูดดังกล่าว "เราจะไม่เอาความกลัวของเราไปสร้างความเดือดร้อนให้กับคนลุ่มน้ำที่แม่แจ่ม คนที่แก่งเสือเต้น ให้กับสัตว์ป่าที่แม่วงก์ รวมทั้งคนที่อ่าว ก ไก่ ใช่ไหมครับทุกคน" ศศินกล่าวกับผู้คนที่มาร่วมเดินเท้าครั้งนี้ และเขายังกล่าวด้วยว่า เหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 เป็นเพราะการบริหารจัดการน้ำที่มีปัญหา ผู้เข้าร่วมกิจกรรมบางส่วน มารอต้อนรับขบวนเดินเท้าอยู่ที่บริเวณลานหน้าหอศิลปะฯ ซึ่งมีกิจกรรม ลงชื่อค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ เขียนป้ายผ้าบอกความในใจ และสกรีนเสื้อต้านเขื่อนแม่วงก์ฟรี เมื่อขบวนเดินเท้านำโดย ศศิน เดินทางถึงทุกคนต่างตบมือต้อนรับ ศศินได้ขึ้นเวทีพูดคุยกับกลุ่มคนที่มารวมตัวกันจำนวนมาก โดยกล่าวถึงความสำเร็จที่ได้ทำตามความมุ่งหมายในการเดินเท้าเพื่อคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ ซึ่งเป็นการคัดค้านร่วมกันของเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์กว่า 40 องค์กรว่า เป็นความร่วมแรงร่วมใจทำงานกันเป็นทีมของทั้งองค์กรอนุรักษ์มืออาชีพ และชมรมอนุรักษ์ในสถานศึกษาซึ่งจะมาเป็นผู้สืบสานงานต่อไป รวมทั้งได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการของหน่วยงานราชการซึ่งเป็นคนคนที่อยู่กับป่าตัวจริงเข้ามาร่วมด้วย "งานอนุรักษ์คนคนเดียวทำไม่ได้" ศศินกล่าว อย่างไรก็ตาม การที่มีผู้คนมารวมตัวกันอย่างหนาแน่นในครั้งนี้ ศศินกล่าวว่าไม่ได้ผิดไปจากความคาดหมาย เนื่องจากเขาเชื่อว่าเมื่อใครเริ่มต้นลงแรง ต้องมีคนเห็น มีคนสนับสนุน อีกทั้งเขาเชื่อว่าพลังของประชาชนที่เห็นด้วยและร่วมขบวนเดินเท้าที่เพิ่มขึ้นจะช่วยหยุดการสร้างเขื่อนแม่วงก์ได้ ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 18.00 น.บริเวณลานหน้าหอศิลปะฯ ท่ามกลางสายฝน ศศินอ่านแถลงการณ์องค์กรเครือข่ 2.รายงานฉบับนี้ละเลยข้อมูลความสำคัญของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ต่อเนื่องกับพื้นที่มรดกโลกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่เป็นป่าใหญ่อุดมสมบูรณ์ไม่มีการรบกวนระบบนิเวศสัตว์ป่าโดยที่ตั้งของชุมชน ดังมีรายงานข้อมูลสำรวจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของการกระจายตัวของเสือโคร่ง ทั้งจากรายงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทยและกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย 3.รายงานฉบับนี้ได้ระบุข้อมูลผลประโยชน์จากการสร้างเขื่อนว่า ในพื้นที่ชลประทานทั้งหมด 291,900 ไร่ จะเป็นพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนถึง 175,355 ไร่ จึงได้พื้นที่ชลประทานฤดูแล้งเพียง 116,545 ไร่ ดังนั้นพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จึงน้อยกว่าสิ่งที่ชาวบ้านเข้าใจว่าน้ำจะไปทั่งถึงทั้ง 23 ตำบลที่ได้ระบุในรายงาน หากพิจารณาเหตุผลที่ต้องสูญเสียพื้นที่ป่า และงบประมาณในการก่อสร้าง 4.รายงานฉบับนี้ระบุชัดเจนว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำที่ท่วมในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมได้ทั้งหมด และยังไม่ได้วิเคราะห์ข้อมูลน้ำที่ไหลบ่าจากพื้นที่เกษตรกรรมที่เปลี่ยนแปลงจากป่าไม้ในพื้นที่นอกอุทยาน ซึ่งคาดว่าจะมีน้ำมากถึง 70-80% ที่ไหลลงมายังที่ราบอำเภอลาดยาว ดังนั้นถึงสร้างเขื่อนแม่วงก์ก็สามารถบรรเทาอุทกภัยได้ไม่มากนักในพื้นที่โครงการ โดยไม่ต้องสงสัยว่าโครงการเขื่อนแม่วงก์จะมีผลต่อการบรรเทาน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามงบประมาณสร้างเขื่อนตามโมดูล A1 ที่มากับโครงการเงินกู้จัดการน้ำ 3.5 แสนล้านของรัฐบาลได้เพียงไม่ถึง 1 % ของน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 5.ในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่มีมาตรการที่แน่ใจได้เลยว่าจะได้ผล ได้แก่ การปลูกป่าทดแทนที่ไม่มีการระบุพื้นที่ปลูกป่าว่าอยู่ในบริเวณใด มีแต่การคำนวณว่าจะได้ไม้และผลประโยชน์มากกว่าที่จะตัดไป ทั้งที่ความจริงแล้วพื้นที่นอกอุทยานแห่งชาติแม่วงก์เกือบจะมีแต่พื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านมิได้มีพื้นที่ใดสามารถปลูกป่าได้ถึง 36,000 ไร่ ตามที่ระบุได้ หรือมาตรการลดผลกระทบจากการล่าสัตว์ ตัดไม้เกินพื้นที่ ในระหว่างการก่อสร้างก็เป็นเพียงมาตรการทั่วๆไปให้เจ้าหน้าที่ดูแลเคร่งครัด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในขณะก่อสร้างจะไม่สามารถควบคุมการล่าสัตว์ที่จะไปถึงพื้นที่อื่นๆ รวมถึงห้วยขาแข้ง ได้ 6.ในการพิจารณารายงานของคณะกรรมการผู้ชำนาญการในการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อปลายปี 2555 มีมติให้แก้ไขรายงาน และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมหลายประเด็น โดยเฉพาะการศึกษาเรื่องระบบนิเวศของสัตว์ป่า ซึ่งโดยหลักการแล้วต้องใช้เวลาในการศึกษาพอสมควร เป็นไปไม่ได้ที่จะศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์ผลกระทบเพิ่มเติมแล้วเสร็จได้ภายในกรอบระยะเวลา 1 ปี 7.พื้นที่ชลประทานเขื่อนแม่วงก์ เป็นพื้นที่ทับซ้อนกับคลองผันน้ำในโมดูล A5 ซึ่งจะทำให้สภาพแวดล้อมและการจัดการน้ำที่ศึกษาไว้ทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไปจากโครงการชลประทานเขื่อนแม่วงก์ 8.ในการพิจารณารายงานฉบับนี้ รัฐบาลปรับเปลี่ยนบุคลากรของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการอย่างน่าสงสัย ตั้งแต่ต้นปี 2556 ได้แก่การโยกย้ายตำแหน่งของเลขาธิการ และปรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการผู้ชำนาญการรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ด้านพัฒนาแหล่งน้ำ จากผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มาเป็นข้าราชการประจำอย่างตัวเลขาธิการ สผ.เอง ซึ่งสงสัยได้ว่าต้องเร่งรัดทำงานตามนโยบายที่ได้รับมาจากโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน เนื่องจากในขณะนั้น รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลงานด้านสิ่งแวดล้อมนี้คือ ปลอดประสพ สุรัสวดี ซึ่งรับผิดชอบโครงการจัดการน้ำเช่นกัน นอกจากนี้ยังทราบว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงบุคคลในคณะกรรมการผู้ชำนาญการที่มีความเห็นทางวิชาการต่อความบกพร่องของรายงาน รวมถึงการปรับโครงสร้างองค์ประกอบให้ไม่มีผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม และผู้แทนประจำของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จากนั้น รตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ยื่นหนังสือคัดค้านรายงาน ปิดท้าย 'เดินเท้าคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์' วันนี้ ด้วยการฉีกEHIAที่แ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น