โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

‘เหนือเมฆ2’ คว้านักแสดงนำชาย-หญิง-ผู้ผลิตฯ รางวัลช่อสะอาด’56

Posted: 19 Sep 2013 02:30 PM PDT

รางวัลช่อสะอาด'56 ป.ป.ช.มอมรางวัลทั้งละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์โฆษณา รายการข่าว สารคดีเชิงข่าว นักแสดง มากถึง 36 ผลงาน กระจายครบแทบทุกสถานี มี 'เหนือเมฆ2' ละครถูกตัดจบ คว้ารางวัลนักแสดงนำชาย-หญิง-ผู้ผลิตสาขาละครโทรทัศน์ด้วย
 
 
เมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 19 กันยายน ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นนทบุรี (สนามบินน้ำ) ได้จัดพิธีมอบรางวัลสื่อที่มีผลงานดีเด่นด้านสนับสนุนและส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือรางวัลช่อสะอาด ประจำปี 2556 รวมพลังสื่อสร้างสรรค์ทุกแขนง
 
วันที่ 19 ก.ย.56 เมื่อเวลา 18.00 น.ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและะปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการ ป.ป.ช.ร่วมกับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู จัดพิธีมอบรางวัลช่อสะอาดประจำปี 2556 แก่ผู้ที่มีผลงานดีเด่นด้านการสนับสนุนและส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตใน 4 สาขา ได้แก่ สาขาละครโทรทัศน์ สาขาภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ สาขาสื่อสนับสนุน และสาขาข่าวหรือสารคดีเชิงข่าว โดยมีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช.ผู้มอบโล่เกียรติยศ
 
นายปานเทพ กล่าวว่า ป.ป.ช.ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณารางวัล ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการสื่อสารมวลชน จำนวน 15 ท่าน ที่ร่วมเป็นกรรมการในการพิจารณาผลการคัดเลือกรางวัลในแต่ละสาขารางวัล โดยกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณา ดังนี้ ในสาขาละครโทรทัศน์ สาขาภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์หรือโรงภาพยนตร์ และสาขาสื่อสนับสนุนมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเดียวกันคือ 1.เป็นสื่อที่มีเนื้อหาโน้มน้าวใจ ให้ผู้ชมคล้อยตาม ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และร่วมต่อต้านการทุจริต 2.เป็นสื่อที่มีคุณภาพในการผลิตและมีความคิดสร้างสรรค์ 3.เป็นสื่อที่มีคุณภาพในการสื่อสาร เนื้อหาเข้าใจง่าย ส่วนเกณฑ์การพิจารณารางวัล
 
"สำหรับสาขาข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวจำเป็นต้องพิจารณาอย่างละเอียดอ่อน ซึ่งประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ดังนี้ 1.คุณค่าและการนำเสนอผลกระทบที่เกิดจากปัญหาการทุจริต 2.การทำหน้าที่สื่อในการสืบค้นและเปิดเผยข้อเท็จจริง 3.ความมีจริยธรรมในการนำเสนอผลงาน 4.เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกจากการนำเสนอผลงาน 5.คุณภาพของผลงาน" นายปานเทพ กล่าว
 
ทั้งนี้ รางวัลช่อสะอาด ประจำปี 2556 จำนวนกว่า 36 ผลงาน มีละครเหนือเมฆ 2 ซึ่งเคยเป็นข่าวครึกโครม เนื่องจากช่อง 3 ถอดออกจากการออกอากาศกระทันหัน คว้ารางวัลผลงานดีเด่น ด้านสนับสนุนและส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือ รางวัลช่อสะอาด สาขาละครโทรทัศน์ ประจำปี 2556 ขณะที่นายปริญ สุภารัตน์ และ น.ส.ชาลิดา วิจิตรวงศ์ทอง คว้ารางวัลนักแสดงนำชายและหญิง จากละครเรื่องนี้ด้วย
 
 
สำหรับผลงานดีเด่นด้านสนับสนุนและส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือรางวัลช่อสะอาด สาขาละครโทรทัศน์ ประจำปี 2556 ประกอบด้วย
 
รางวัลโล่เกียรติยศ พร้อมเกียรติบัตร ผู้ผลิตละครโทรทัศน์ 4 ราย ได้แก่
1.บริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด จากละครโทรทัศน์ เรื่อง น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ ตอน "ตงฉิน&กังฉิน" และ "อย่าปล่อยให้คนโกงลอยนวล"
2.บริษัท กันตนา มูฟวี่ ทาวน์ (2002) จำกัด จากละครโทรทัศน์ เรื่อง ป่านางเสือ 2
3.บริษัท พอดีคำ จำกัด จากละครโทรทัศน์ เรื่อง ขุนเดช และหยกเลือดมังกร
4.บริษัท เมตตาและมหานิยม จำกัด จากละครโทรทัศน์ เรื่อง เหนือเมฆ 2
 
รางวัลโล่เกียรติยศ พร้อมเกียรติบัตร นักแสดงนำชายและนักแสดงนำหญิง 9 ราย ได้แก่
1.นายชัยนนท์ จันทร์เต็ม จากละครโทรทัศน์ เรื่อง น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ ตอน "ตงฉิน&กังฉิน" และ "อย่าปล่อยให้คนโกงลอยนวล"
2.นายธนพล นิ่มทัยสุข จากละครโทรทัศน์ เรื่อง ป่านางเสือ 2
3.นางสาวจีรนันท์ มะโนแจ่ม จากละครโทรทัศน์ เรื่อง ป่านางเสือ 2
4.นายศุกลวัฒน์ คณารศ จากละครโทรทัศน์ เรื่อง ขุนเดช
5.นางสาวอคัมย์สิริ สุวรรณศุข จากละครโทรทัศน์ เรื่องขุนเดช
6.นายศรัณย์ ศิริลักษณ์ จากละครโทรทัศน์ เรื่องหยกเลือดมังกร
7.นางสาวพีชญา วัฒนามนตรี จากละครโทรทัศน์ เรื่องหยกเลือดมังกร
8.นายปริญ สุภารัตน์ จากละครโทรทัศน์ เรื่อง เหนือเมฆ 2
9.นางสาวชาลิดา วิจิตรวงศ์ทอง จากละครโทรทัศน์ เรื่อง เหนือเมฆ 2
 
รางวัลโล่เกียรติยศ พร้อมเกียรติบัตร ผู้เผยแพร่ละครโทรทัศน์ 2 ราย ได้แก่
1.สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เผยแพร่ละครโทรทัศน์ เรื่อง น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ ตอน "ตงฉิน&กังฉิน" และ"อย่าปล่อยให้คนโกงลอยนวล" และเหนือเมฆ 2
2.สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เผยแพร่ละครโทรทัศน์ เรื่องป่านางเสือ 2 ขุนเดช และหยกเลือดมังกร
 
รางวัลเกียรติบัตร ผู้ผลิตละครโทรทัศน์ที่มีส่วนร่วมส่งผลงานเข้ารับการพิจารณา 2 ราย ได้แก่
1.บริษัท ทีวีซีน จำกัด จากละครโทรทัศน์ เรื่องหงส์สะบัดลาย
2.บริษัท โพลีพลัส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด จากละครโทรทัศน์ เรื่อง ศีล 5 คนกล้า ท้าอธรรม ตอน สายเกินไป
 
ผลงานดีเด่นด้านสนับสนุนและส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือรางวัลช่อสะอาด สาขาภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ หรือโรงภาพยนตร์ ประจำปี 2556
 
รางวัลโล่เกียรติยศ พร้อมเกียรติบัตร ภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ หรือโรงภาพยนตร์ 6 ราย ได้แก่
1.บริษัท นู้ดเจ๊ จำกัด ผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์โฆษณา เรื่อง "วัยรุ่นเก๋าที่ความคิด"
2.บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้เผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณา เรื่อง "วัยรุ่นเก๋าที่ความคิด"
3.บริษัท บีบีดีโอ กรุงเทพ จำกัด ผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์โฆษณา เรื่อง "ช็อปปิ้ง"
4.บริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้เผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณา เรื่อง "ช็อปปิ้ง"
5.Ogilvy & Mather Advertising ผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์โฆษณา เรื่อง "ต้นกล้า"
6.บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ผู้เผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณา เรื่อง "ต้นกล้า"
 
รางวัลเกียรติบัตร ผู้เผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณาที่มีส่วนร่วมส่งผลงานเข้ารับการพิจารณา 3 ราย ได้แก่
1.สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ผู้เผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณา เรื่อง "สปอตรณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน"
2.สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ผู้เผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณา เรื่อง "พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"
3.บริษัท กรีน สปอต จำกัด ผู้เผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณา เรื่อง "ครูดอย"
 
ผลงานดีเด่นด้านสนับสนุนและส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือรางวัลช่อสะอาด สาขาสื่อสนับสนุน ประจำปี 2556
 
รางวัลโล่เกียรติยศ พร้อมเกียรติบัตร สื่อสนับสนุน 3 ราย ได้แก่
1.องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ผู้เผยแพร่สื่อสนับสนุน เรื่อง "สารคดี ชุด ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้านต่อต้าน คอร์รัปชัน"
2.บริษัท นู้ดเจ๊ จำกัด ผู้สร้างสรรค์สื่อสนับสนุน เรื่อง "วัยรุ่นเก๋าที่ความคิด"
3.บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้เผยแพร่สื่อสนับสนุน เรื่อง "วัยรุ่นเก๋าที่ความคิด"
 
รางวัลเกียรติบัตร ผู้เผยแพร่สื่อสนับสนุนที่มีส่วนร่วมส่งผลงานเข้ารับการพิจารณา 12 ราย ได้แก่
1.กลุ่มแรงคิด ต้นกล้าประชาธิปไตย ผู้เผยแพร่สื่อสนับสนุน เรื่อง รวมหนังสั้นที่ผ่านเข้ารอบ 10 ทีม โครงการประกวดหนังสั้น โครงการโรงหนังประชาชนปีที่ 5 ตอน "โกงซักนิด...ก็ผิดนะ"
2.องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ผู้เผยแพร่สื่อสนับสนุน เรื่อง "สารคดี ปลุกจิตสำนึกต้านคอร์รัปชัน"
3.หนังสือพิมพ์น่านโพสต์ ผู้เผยแพร่สื่อสนับสนุน หนังสือพิมพ์น่านโพสต์  
4.สถานีวิทยุจราจรเพื่อสังคม FM.99.5 MHz ผู้เผยแพร่สื่อสนับสนุน เรื่อง "การสัมภาษณ์สดและเล่าเรื่องในช่วงรายการ ประเทศไทย I Love you"
5.สถานีวิทยุจราจรเพื่อสังคม FM.99.5 MHz ผู้เผยแพร่สื่อสนับสนุน เรื่อง "การเล่าข่าวความเคลื่อนไหว เชิดชูคนดี กระตุ้นจิตสำนึก ความซื่อสัตย์ รู้ทันการป้องกันภัยคอร์รัปชัน และรายงานบรรยากาศกิจกรรมของ ป.ป.ช.ทางภาครายการ"  
6.สถานีวิทยุจราจรเพื่อสังคม FM.99.5 MHz ผู้เผยแพร่สื่อสนับสนุน เรื่อง "การสัมภาษณ์สด ในช่วงรายการสารพันกฎหมาย กับ ป.ป.ช."
7.สถานีวิทยุจราจรเพื่อสังคม FM.99.5 MHz ผู้เผยแพร่สื่อสนับสนุน เรื่อง "การเชิญพระบรมราโชวาท คมธรรมในหลวง ต้านคอร์รัปชัน"
8.สถานีวิทยุจราจรเพื่อสังคม FM.99.5MHz ผู้เผยแพร่สื่อสนับสนุน เรื่อง "สารคดีสั้นนานาสาระธรรม ข้อคิดเตือนสติ ต้านคอร์รัปชัน"  
9.สถานีวิทยุจราจรเพื่อสังคม FM.99.5 MHz ผู้เผยแพร่สื่อสนับสนุน เรื่อง "ผลิตสปอตประชาสัมพันธ์ และให้ความรู้ ป.ป.จ.ในภาษากลางและภาษาถิ่น 20 ตอน
10.บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ผู้เผยแพร่สื่อสนับสนุน เรื่อง ต่อต้านการคอร์รัปชัน "ภัยร้าย ทำลายชาติ"  
11.สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย FM.101.5 MHz ผู้เผยแพร่สื่อสนับสนุน รายการหยิบมาถก ยกมาคุย เรื่อง "เปลี่ยนนิสัยคนไทย และทบทวนสถานการณ์คอร์รัปชันปี 2555"
12.สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย FM.101.5 MHz ผู้เผยแพร่สื่อสนับสนุน สปอตวิทยุ เรื่อง "รู้ดีชั่ว : เจริญสติ" "เมืองไทยน่าอยู่" "เลือก" "ทำความดีให้ใครบางคนนึกถึง" และ "มนุษย์กับความกลัว"
 
ผลงานดีเด่นด้านสนับสนุนและส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือรางวัลช่อสะอาด สาขาข่าวหรือสารคดีเชิงข่าว ประจำปี 2556
 
รางวัลโล่เกียรติยศ พร้อมเกียรติบัตร ผู้เผยแพร่ข่าวหรือสารคดีเชิงข่าว 5 ราย ได้แก่
1.สำนักข่าวไทย โมเดิร์นไนน์ทีวี จากผลงาน "ร้องทุจริตโครงการ SML" และ "เปิดโปงลักลอบทิ้งขยะติดเชื้อ"
2.สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 จากผลงาน "สตง.พบใช้งบฉุกเฉิน จ.อุบลราชธานีส่อพิรุธ" และ "กู้เงิน 40 ล้านบาท ทำลานกีฬา จ.พระนครศรีอยุธยา"
3.สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 จากผลงาน "สู้ทวงคืนความเป็นธรรมแพะรับบาปในคดีฆ่าคนตาย"
4.สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จากผลงาน "เปิดปม ทุจริตจำนำข้าว"
5.สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 จากผลงาน "เปิดโปงขบวนการลักลอบทิ้งน้ำสารเคมีในที่สาธารณะ" "เปิดโปงขบวนการโกงกินชดเชยก๊าซแอลพีจี นำก๊าซไทย ข้ามขายกัมพูชา" และ "แกะรอยทุจริตนำข้าวเขมรโกงเงินโครงการรับจำนำข้าวไทย"
 
รางวัลโล่เกียรติยศ พร้อมเกียรติบัตร ผู้ผลิตข่าวหรือสารคดีเชิงข่าว จำนวน 7 ราย ได้แก่
1.นายทินกร วีระพลศิลป์ จากผลงาน "ร้องทุจริตโครงการ SML" เผยแพร่ทางสำนักข่าวไทย โมเดิร์นไนน์ทีวี
2.นายสันติวิธี พรหมบุตร จากผลงาน "เปิดโปงลักลอบทิ้งขยะติดเชื้อ" เผยแพร่ทางสำนักข่าวไทย โมเดิร์นไนน์ทีวี
3.นายสมโภชน์ โตรักษา จากผลงาน "สตง.พบใช้งบฉุกเฉิน จ.อุบลราชธานีส่อพิรุธ" และ "กู้เงิน 40 ล้านบาททำลานกีฬา จ.พระนครศรีอยุธยา" เผยแพร่ทางรายการห้องข่าว 7 สี ช่วง "คอลัมน์หมายเลข 7" สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 7
4.นายศุภวิชญ์ นักเรียง จากผลงาน "สู้ทวงคืนความเป็นธรรมแพะรับบาปในคดีฆ่าคนตาย" เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5
5.นายพุทธิฉัตร จินดาวงศ์ จากผลงาน "เปิดปม ทุจริตจำนำข้าว" เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
6.นายอลงกรณ์ เหมือนดาว จากผลงาน "เปิดโปงขบวนการลักลอบทิ้งน้ำสารเคมีในที่สาธารณะ" เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3
7.นายปัญญา นานกระโทก จากผลงาน "เปิดโปงขบวนการโกงกินชดเชยก๊าซแอลพีจี นำก๊าซไทย ข้ามขายกัมพูชา" และ "แกะรอยทุจริตนำข้าวเขมรโกงเงินโครงการรับจำนำข้าวไทย" เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3
 
รางวัลเกียรติบัตร ผู้ผลิตข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวที่มีส่วนร่วมส่งผลงานเข้ารับการพิจารณา จำนวน 14 ราย
1.นางสาวศิริพร กิจประกอบ จากผลงาน "โรงพักสร้างไม่เสร็จ" เผยแพร่ทางสำนักข่าวไทย โมเดิร์นไนน์ทีวี
2.นาย  ชาติชาย ถุงเงิน จากผลงาน "เปิดโปงขบวนการรับจ้างเลือกตั้งนายกฯ สมุย" เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมทีนิวส์ ทีวี (T-News)
3.นายชาสันต์ สินส่ง จากผลงาน "น้ำมันเถื่อนเกลื่อนเมือง" เผยแพร่ทางช่องกรังด์ปรีซ์ ชาแนล สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม PSI 111
4.นางสาวสิรินทิพย์ ครีบเขียว จากผลงาน "ของไทยคนไทยไม่ได้ใช้" เผยแพร่ทางช่องกรังด์ปรีซ์ ชาแนล สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม PSI 111
5.นางสาววีรพร วังสะอาด จากผลงาน "แฉขบวนการรถหรูหนีภาษี" เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี
6.นายสมโภชน์ โตรักษา จากผลงาน "ตั้ง ป.ป.ช.จังหวัดช่วยปราบทุจริต" "ตรวจสอบ ร.ฟ.ท.ใช้งบปรับปรุงห้องน้ำ" และ "สตง.ให้เอกชนคืนเงินถนนผิดสัญญา" เผยแพร่ทางรายการห้องข่าว 7 สี ช่วง "คอลัมน์หมายเลข 7" สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 7
7.นายศุภวิชญ์ นักเรียง จากผลงาน "ปัญหาการค้ามนุษย์ ธุรกิจมืดที่ไม่ควรมองข้าม" เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5
8.นางสาวนริศรา คินิมาน จากผลงาน "ตรวจสอบขบวนการค้ายาเสพติดสวมบัตรประชาชน" เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
9.นางสาวพิมพิมล ปัญญานะ จากผลงาน "ปมทุจริตสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรี" เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
10.นางสาวลักขณา หมานระเด่น จากผลงาน "ทุจริตตรวจรับข้าวโครงการรับจำนำ" เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
11.นางสาวธัญญธร สารสิทธิ์ จากผลงาน "ตรวจสอบปัญหาสร้างโรงพัก 396 แห่งทั่วประเทศ" เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
12.นางสาวอรณี ถนัดสำราญ จากผลงาน "เปิดปม โกงสอบนายสิบ" เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
13.นางสาววาทินี นวฤทธิศวิน จากผลงาน "เปิดปม ปืนเกลื่อนเมือง" เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
14.นายจตุรงค์ สุขเอียด จากผลงาน "โครงการจำนำข้าว 3 แสนล้าน ใครได้ประโยชน์" และ "ตรวจสอบโครงการก่อสร้างศูนย์พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาเชียงใหม่" เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (โดรน)ในปฏิบัติการทางทหารและปัญหาทางกฎหมาย

Posted: 19 Sep 2013 02:04 PM PDT

เทคโนโลยีด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพประเทศต่างๆ ย่อมเป็นสิ่งที่ใช้รักษาอำนาจอธิปไตยและธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงปลอดภัยของประชาชนในประเทศ การที่มีกองทัพที่เข้มแข็ง ศักยภาพการทหารที่ดีและการที่มีอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ดี ย่อมล้วนแล้วแต่สร้างประโยชน์ต่อประเทศในด้านความมั่นคงของชาติได้ ในทางกลับกัน เทคโนโลยีด้านอาวุธยุทโธปกรณ์อาจกลายมาเป็นสิ่งที่ใช้ในการประหัตประหารหรือห้ำหั่นกัน ที่ไม่เพียงแต่จะสร้างความเสียหายต่อกองทัพของอริราชศัตรูแล้ว การใช้เทคโนโลยีด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพในบางกรณี ก็ย่อมอาจสร้างผลกระทบต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้ หากผู้ใช้หรือผู้ควบคุมอาวุธดังกล่าวขาดทักษะในการใช้งานอาวุธยุทโธปกรณ์หรือผู้พัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์มิได้พัฒนาเทคโนโลยี โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของพลเรือนหรือประชาชนผู้บริสุทธิ์ จึงอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิต ร่างกายและสิทธิมนุษยชนของประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้

เทคโนโลยีทางการทหารอย่างหนึ่งกำลังเป็นที่สนใจสำหรับนักพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์และกองทัพของชาติมหาอำนาจหลายประเทศ ที่ทรงประสิทธิภาพ สามารถลดอัตราการสูญเสียกำลังพลของฝ่ายตนนั้น ได้แก่ อากาศยานไร้คนขับ หรือ ยูเอวี (Unmanned Aerial Vehicle - UAV) หรืออาจมีชื่อเรียกเป็นสามัญอีกชื่อหนึ่งว่า โดรน (drones) ซึ่งหน่วยทหารที่ปฏิบัติการในสนามรบสามารถควบคุมหรือบังคับอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนได้ในระยะทางไกล โดยที่ไม่ต้องอาศัยกำลังพลในการขับขี่อากาศยานดังกล่าวโดยตรง อาศัยเพียงผู้ควบคุมหรือบังคับในฐานสำหรับบังคับอากาศยานดังกล่าวให้มีทิศทางการเคลื่อนที่หรือปล่อยอาวุธต่อต้านข้าศึกไปยังพื้นที่บริเวณที่ผู้ควบคุมกำหนด

การใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนย่อมส่งผลดีต่อกิจการทหารหลายประการในอนาคต เช่น การลดจำนวนทหารประจำการในอนาคตหากมีการผลิตเทคโนโลยีโดรนให้เข้ามาประจำการในกองทัพเป็นจำนวนมาก การลดความสูญเสียของทหารจากการบาดเจ็บและเสียชีวิต และการใช้โดรนของทหารในการสนับสนุนกิจการพลเรือนหรือสำรวจความเสียหายจากภัยทางธรรมชาติ เป็นต้น หากแต่การใช้เทคโนโลยีโดรนในกองทัพย่อมก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวมีความแม่นยำในการโจมตี (Precision Guided Munitions - PGMs) มากน้อยเพียงใดหรือการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวมีการพัฒนาระบบใช้อาวุธให้เอื้อต่อการฆ่าที่ระบุเป้าหมาย (Targeted Killings) มากน้อยเพียงใด เพราะหากการตรวจจับเป้าหมายด้วยเทคโนโลยีโดรนและการโจมตีจากระยะไกล ไม่มีความแม่นยำแล้ว ก่ออาจส่งผลกระทบต่อพลเรือนหรือประชาชนผู้บริสุทธ์ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในเป้าหมายของการสังหารหรือการทำลายล้างได้ ซึ่งการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวอาจทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องตกเป็นเป้าหมายในการสังหารหรือทำลายล้างโดยไม่ได้ตั้งใจก็เป็นได้ นอกเหนือจากนี้ แม้การใช้เทคโนโลยีโดรนสอดแนม (surveillance drones) อาจเป็นประโยชน์ต่อกิจกรรมการสอดแนมข้าศึกของกองทัพ หากแต่การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความเป็นส่วนตัว (privacy) ของประชาชนผู้บริสุทธ์ก็เป็นได้

หากพิจารณาถึงเนื้อความตามกฎบัตรของสหประชาชาติ (Charter of the United Nations) มาตรา 51 ที่ได้บัญญัติสิทธิในการป้องกันตนเอง (rights to self-defense) เอาไว้ว่า "ไมมีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปจจุบันจะรอนสิทธิประจําตัวในการปองกันตนเองโดยลําพังหรือโดย ร่วมกัน (inherent right of individual or collective self-defence) หากการโจมตีดวยกําลังอาวุธบังเกิดแกสมาชิกของสหประชาชาติจนกว่าคณะมนตรีความมั่นคงจะไดดําเนิน มาตรการที่จําเป็นเพื่อธํารงไวซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหวางประเทศมาตรการที่สมาชิกได้ดําเนินไปในการใชสิทธิ ป้องกันตนเองนี้จะตองรายงานให้คณะมนตรีความมั่นคงทราบโดยทันทีและจะตองไม่กระทบกระเทือนอํานาจและความ รับผิดชอบของคณะมนตรีความมั่นคงตามกฎบัตรฉบับปจจุบันแต่ประการใด ในอันที่จะดําเนินการเชนที่เห็นจําเป็นไมว่าใน เวลาใด เพื่อธํารงไวหรือสถาปนากลับคืนมาซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ"  (โปรดดู http://www.un.org/en/documents/charter/chapter7.shtml) หากพิจารณาตามเนื้อความดังกล่าวการใช้เทคโนโลยีโดรนในการปฏิบัติการทางทหารจึงถือเป็นการกระทำในการใช้สิทธิป้องกันตนเอง (exercise of the right of self-defense) กล่าวคือ รัฐสมาชิกขององค์การสหประชาชาติสามารถกระทำการใช้อาวุธประเภทต่างๆ ในปฏิบัติการทางทหารเพื่อป้องกันตนเองได้ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันสหประชาชาติยังไม่ได้กำหนดนโยบายหรือมาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการควบคุมการปฏิบัติการทางทหารที่อาศัยเทคโนโลยีโดรนที่แน่ชัด ซึ่งสหประชาติไม่ได้มีนโยบายหรือมาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศใดๆ ในการยับยังหรือห้ามไม่ให้ชาติสมาชิกใช้เทคโนโลยีโดรนหรือนำโดรนมาประจำการในกองทัพของตน อนึ่ง แม้ว่าจะมีเอกสารสำคัญหลายฉบับของสหประชาติที่กล่าวถึงประเด็นปัญหาการฆ่าที่ระบุเป้าหมาย (targeted killing) และปัญหาความชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับการสังหารโดยไม่คำนึงถึงกฎหมาย (extrajudicial killing) ในเอกสารรายงานพิเศษ Report of the Special Rapporteur on extrajudicial, summary or arbitrary executions (โปรดดูเนื้อหาของรายงานฉบับดังกล่าวใน http://www2.ohchr.org/english/bodies/hrcouncil/docs/14session/A.HRC.14.24.Add6.pdf)โดยรายงานดังกล่าวได้กล่าวสรุปถึงกรณีตัวอย่างการใช้โดรนในปฏิบัติการทางทหารในประเทศปากีสถานว่าองค์กรเหนือรัฐหรือองค์กรอิสระเหนือชาติควรบัญญัติมาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศเป็นการเฉพาะ เพื่อควบคุมปัญหาและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีโดรน โดยรัฐสมาชิกที่ใช้งานหรือมีเทคโนโลยีโดรนเอาไว้ในครอบครองสำหรับปฏิบัติการทางการทหาร ควรปรึกษาหารือเพื่อแสวงหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาการใช้งานเทคโนโลยีโดรนร่วมกันเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อพลเรือนหรือประชาชนผู้บริสุทธิ์

นอกจากนี้ พิธีสารเพิ่มเติมแห่งอนุสัญญาเจนนีวาว่าด้วยการคุ้มครองเหยื่อของการขัดกันด้วยอาวุธ ค.ศ. 1977 (Protocol Additional to the Geneva Conventions of 12 August 1949, and relating to the Protection of Victims of International Armed Conflicts (Protocol I), 8 June 1977) มาตรา 36 ได้บัญญัติหลักการเกี่ยวกับ อาวุธชนิดใหม่ๆ (New weapons) ในกิจการสงครามว่า "ในการศึกษา การพัฒนา การซื้อขาย หรือการยอมรับของวิธีการของอาวุธประเภทใหม่ๆ หรือรูปแบบหรือวิธีการของการทำสงครามใหม่ๆ อัครภาคีในอนุสัญญาต้องมีหน้าที่ในการตรวจสอบว่ากิจกรรมต่างๆ ในบางส่วนหรือทั้งหมดว่าต้องห้ามตามพิธีสารฉบับนี้หรืออื่น ๆ กฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆที่ใช้บังคับกับกับอัครภาคีในอนุสัญญา"  (โปรดดู http://treaties.un.org/doc/Publication/UNTS/Volume%201125/volume-1125-I-17512-English.pdf  ) ซึ่งหากพิจารณาตามเนื้อความของพิธิสารเพิ่มเติมแห่งอนุสัญญาเจนนีวาฉบับนี้แล้ว เนื้อความของบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติเพียงว่าให้อัครภาคีในอนุสัญญามีหน้าที่ในการเปิดเผยการยอมรับของวิธีการของอาวุธประเภทใหม่ๆ หรือรูปแบบหรือวิธีการของการทำสงครามใหม่ๆ หากวิธีการของอาวุธประเภทใหม่ๆ หรือรูปแบบหรือวิธีการทำสงครามใหม่ๆ เข้าหลักเกณฑ์ข้อห้ามตามพิธีสารเพิ่มเติมดังกล่าว ซึ่งในปัจจุบันพิธีสารดังกล่าวไม่ได้มีเนื้อความระบุว่าการใช้งานเทคโนโลยีโดรนหรือการพัฒนาเทคโนโลยีโดรนสำหรับการใช้งานหรือประจำการในกองทัพ ถือว่าเป็นการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการขัดกันด้วยอาวุธแต่ประการใด

การไม่มีหลักเกณฑ์ทางกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการใช้เทคโนโลยีโดรน จึงอาจก่อให้เกิดช่องว่างทางกฎหมายประการหนึ่ง เพราะเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐหรือประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาอาวุธ สามารถพัฒนาเทคโนโลยีทางทหาร เพื่อนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาปฏิบัติการทางทหารหรือสร้างรูปแบบการปฏิบัติการทางทหารประเภทใหม่ๆ ที่ไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับรองหรือคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายทางกฎหมายอื่นๆ เกี่ยวกับบทบัญญัติว่าด้วยการขัดกันด้วยอาวุธหรือปฏิบัติการทางทหารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีโดรนในการโจมตีกองทัพของข้าศึกหรือต่อต้านผู้ก่อการร้าย เช่น ปัญหาความชอบด้วยกฎหมายในการใช้เทคโนโลยีโดรนสำหรับโจมตีนอกเป้าหมายทางทหารและปัญหาการใช้เทคโนโลยีโดรนพลาดเป้าไปทำร้ายประชาชนที่ถูกนำเอามาเป็นเกราะกำบังในการสู้รบ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ องค์การระหว่างประเทศหรือองค์การอิสระเหนือชาติต่างๆ จึงควรแสวงหาแนวทางในการตรากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการขัดกันด้วยอาวุธ ที่เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีโดรนในการปฏิบัติการทางทหารเป็นการเฉพาะ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการใช้เทคโนโลยีโดรนสำหรับปฏิบัติการทางทหาร ที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงหรือผลกระทบต่อพลเรือนหรือประชาชนผู้บริสุทธิ์ต่อไปในอนาคต

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: 10 ข้อเสนอถึง ททท.สำนักงานอเมริกา

Posted: 19 Sep 2013 01:52 PM PDT

มีคนเคยถามครับว่า คนอเมริกันรู้จักเมืองไทยและชอบที่จะไปเที่ยวเมืองไทยกันมากไหม ซึ่งหมายถึงสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวระหว่าง 2 ประเทศ ที่หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงคือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหรือ ททท. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง ในส่วนฝั่งตะวันตกของอเมริกา นั้น ททท.มีสำนักงานอยูที่ลอสแองเจลิส(แอล.เอ.) ปัจจุบันมี  นางกุลปราโมทย์ วรรณะเลิศ เป็นผู้อำนวยการ

ททท.โดยนายสุรพล เศวตเศรนี ผู้ว่าการฯ บอกว่า แผนการตลาดของ ททท. ในปี 57 จะเน้นการผลักดันรายได้ของนักท่องเที่ยวให้ได้ตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้อง การรายได้จากการท่องเที่ยว 2 ล้านล้านบาทในปี 58 แผนการตลาดของททท. คือ ทำให้สัดส่วนของนักท่องเที่ยวระดับกลางและบน เพิ่มขึ้นเป็น 40% จากเดิม 30% และลดสัดส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับล่าง จาก 70% เหลือ 60% เนื่องจากนักท่องเที่ยวระดับบนเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพที่ใช้จ่ายด้าน การท่องเที่ยวที่สูง โดยคาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวปี 57 จะต้องโต 13% จากปี 56

ส่วนที่แอล.เอ. นางกุลปราโมทย์ ซึ่งรับนโยบายจากนายสุรพล ตั้งเป้านักท่องเที่ยวจากอเมริกาเอาไว้ว่าจะเติบโต 5.8 เปอร์เซ็นต์   โดยททท.แอล.เอ.เป็นผู้กำหนดตัวเลขนี้เอง  ซึ่งตัวเลขของแต่ละประเทศนี้จะไม่เหมือนกัน ขึ้นกับการเอาสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในขณะนั้นๆมาจับ และมองว่าสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของอเมริกายังฟื้นตัวไม่ค่อยมาก

สำหรับตลาดอเมริกา นางกุลปราโมทย์ บอกว่า ประเทศไทยเป็นตลาด repeater  เสียส่วนมาก คือนักท่องเที่ยวกลุ่มเดิมๆ ที่เคยไปเมืองไทยมาแล้ว สังเกตจากเวลาออกตลาดก็จะพบว่ามีคนอเมริกันมาคุยกับตนเหมือนรียูเนียน (กลับไปเจอกันอีก)เป็นส่วนใหญ่ คือมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ททท.แอล.เอ.ก็เลยหารือกันว่าในเมื่อเป้าขยับได้ประมาณ 5-6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น  จึงเน้นการโปรโมทว่าจำนวน 5-6 เปอร์เซ็นต์ดังกล่าวนี้  ให้เป็นนักท่องเที่ยวครั้งแรก (first visitors) ซึ่งนำไปสู่การทำงานของ ททท.แอล.เอ ในปีหน้า (2557) ที่ททท.จะเน้นการปฏิบัติการนอกรัฐแคลิฟอร์เนีย 

ความเห็นของนางกุลปราโมทย์ต่อความเป็นไปของตลาดท่องเที่ยวในอเมริกาโดยเฉพาะการดึงนักท่องเที่ยวให้ไปเที่ยวเมืองไทยนั้น ความจริงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ คือ ยังเป็นปัญหา เดิมๆ เหมือนปัญหาเมื่อ 10-15 ปีที่ผ่านมา หรืออาจมากกว่านั้นด้วยซ้ำ และการที่เราจะดูว่า ททท. ประสบผลสำเร็จในการส่งเสริมการท่องเที่ยวมากน้อยแค่ไหน จำเป็นต้องเปรียบเทียบกับการส่งเสริมการ ท่องเที่ยวของประเทศเพื่อนบ้านของไทย อย่างเช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนามและสิงคโปร์ครับ

ที่สำคัญคือ การส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยเฉพาะการดันหลังให้นักเที่ยวอเมริกันไปเที่ยวไทยด้วย แล้ว อย่าไปนึกว่าง่ายครับ ผมเกรงว่าที่พูดวางแผนกันอยู่จะทำไม่ได้จริง และจะเป็นเหตุให้เรียกททท. สำนักงาน แอล.เอ.ได้ว่า "พิเศษเฉพาะคนไทย(เท่านั้น)" ด้วยเงื่อนไขบางประการ ดังนี้

1.นักท่องเที่ยวหรือคนอเมริกันจำนวนมากไม่รู้จักเมืองไทย พอถามว่ารู้จักเมืองไทยไหม ก็บอกว่า อ๋อ รู้จักสิ ไต้หวัน ไง !  เป็นการบ้านที่ททท.ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวอเมริกันรู้จักเมืองไทย ถ้าเป็นเมื่อก่อนหลายปีมาแล้ว ททท.เคยโฆษณาผ่านทีวี อย่างเช่น ซีเอ็นเอ็นหรือทีวีกระแสหลักของอเมริกัน หรือวารสารสิงพิมพ์อเมริกัน แต่เดี๋ยวนี้หายไปไม่มีการโฆษณาแบบนี้ (หรือผมไม่เจอเอง??)

 2. ระยะการเดินทางที่แสนไกล ยิ่งหากต่อเครื่องด้วยแล้วจะใช้เวลามากกว่า  20 ชั่วโมง หรือแม้แต่

บินตรงก็ยังใช้เวลานานมากอยู่ดี นักท่องเที่ยวอเมริกันส่วนมากพากันนึกถึง เม็กซิโก แคนาดา คอสตาริกา ประเทศในหมู่เกาะแคริบเบียน หรือประเทศในแถบนี้มากกว่าที่จะนึกถึงประเทศในเอเชีย  

3. ผมมีความเชื่อของผมเอง(จากประสบการณ์ส่วนตัว)นะครับว่า คนอเมริกันที่เดินทางไปเมืองไทย ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นนักท่องเที่ยวในแบบของการไปเที่ยวร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เป็นนักธุรกิจและคนที่ญาติหรือ ครอบครัวเกี่ยวดองกับคนไทยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และกลุ่มคนพวกนี้มีความจำเป็นต้องเดินทางไปเมืองไทย อยู่แล้ว โดยไม่ต้องอาศัยการชักจูงจากททท.สำนักงานอเมริกา

4. ททท. สำนักงานอเมริกา มักจบลงด้วย "คนไทยในอเมริกา" ในการโฆษณาหรือโปรโมทการท่อง เที่ยว โดยเฉพาะในพื้นที่แคลิฟอร์เนียซึ่งมีคนไทยอาศัยอยู่มากที่สุด ความจริงแล้วมันได้ผลหรือไม่ไม่มีใคร ทราบครับ เพราะไม่มีการทำข้อมูลแบบแยกแยะ ว่ากลุ่มไหนเป็นนักท่องเที่ยวไทย นักท่องเที่ยวไทย-อเมริกัน หรือนักท่องเที่ยวอเมริกันจำนวนเท่าไหร่ ทำให้ยากในการประเมินผลเพื่อสรุปสำหรับการกำหนด นโยบายหรือแผนของททท.เอง

5. โปรโมทการท่องเที่ยวอย่างไร้จุดหมาย หรือการโปรโมทการท่องเที่ยวแบบลอยๆ, จากปัญหา ข้างต้นก็ทำให้การเดินทางไปไทยของนักท่องเที่ยวอเมริกันอืดมากพออยู่แล้ว ยังการกำหนดเป้าหมายกลุ่ม ของลูกค้าที่ไม่แน่ชัดอีก ทำให้ททท.มีแนวโน้มจะหาลูกค้าได้ยากขึ้น การคิดแคมเปญการท่องเที่ยวต้องเข้า ใจสำนึก(sense)ของอเมริกันด้วย ไม่เพียงแต่อาศัย sense แบบไทยๆ เช่น  sense ของทหารผ่านศึกอินโดจีน หรือครอบครัวของทหารเหล่านี้ พวกเขายังมีความสัมพันธ์เชิงความหลัง ความรู้สึกกับเมืองไทยอยู่ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้จำเพาะว่า เป็นเมืองไทยเท่านั้น แต่เป็นกับประเทศเพื่อนบ้านของไทยเช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชาที่เคยเป็นสมรภูมิด้วย ททท.จำเป็นต้องแสวงหาโอกาสทำนองนี้ให้มากขึ้น

6. เชื่อมจากข้อที่ 5 คือ ททท.ต้องคิดถึงการที่ไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค โดยเฉพาะอาเซียน การโปรโมทประเทศไทยเพียงประเทศเดียวถือว่า เป็นวิสัยทัศน์การโปรโมทการท่องเที่ยวที่ล้าสมัยไปแล้ว หากไม่พ่วงเอาประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนเข้าไปด้วย

7.กิจกรรมหน่อมแน้ม ประเภททัวร์เยาวชนไทยจากอเมริกา ทัวร์เล่นกอล์ฟใช้ได้ครับ แต่จริงๆ แล้วมันคือ กิจกรรมประจำ(routine) ซึ่งน่าจะขยายออกไปสู่คนอเมริกันให้มากขึ้น เช่น ลงไปสู่เยาวชน อเมริกัน  หรือผู้เล่นกอล์ฟอเมริกันให้มากขึ้น (เข้าใจว่าอาการเห่อกีฬากอล์ฟของคนไทยในตอนนี้น้อยลงไป หลังจากหมดยุคบูมของไทเกอร์ วู๊ด) 

8.การขยายการโปรโมทการท่องเที่ยวไทยไปยังรัฐต่างๆ ที่ไม่ใช่รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นเรื่องที่น่าจะใช้ คำว่า "เป็นการทดลอง" มากกว่าเพราะหาความแน่นอนของตลาดไม่ค่อยได้ ทั้งนี้เราต้องใช้เอเยนซี่ ที่เป็นมืออาชีพอเมริกันช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่สมัยของนายนิติ คงกรุด เป็นผอ.ททท.สำนักงานแอล.เอ. (กว่า 10 ปีมาแล้ว) แต่ไม่ประสบสำเร็จอะไรมากนัก ททท.ต้องวางแผนดีๆ ไม่เช่นนั้นก็เสียเงินเปล่า ยิ่งถ้ากันไปใช้บริการเอเยนซี่ไทยด้วยแล้ว โอกาสของความล้มเหลวก็พอมองเห็นรำไร

9. นโยบายอย่างหนึ่งที่บางประเทศเพื่อนบ้านของไทยทำเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของเขาเอง คือ การใช้บุคคลอเมริกันผู้มีชื่อเสียง เช่น ดารา นักกีฬา นักการเมืองอเมริกัน ช่วยโปรโมทการท่องเที่ยว ไม่จำเป็นว่าบุคคลเหล่านั้นต้องไปเยือนไทย เสมอไป แต่ถ้าช่วยให้พวกเขาไปเยือนไทยได้ก็จะเป็นการดี  การช่วยอำนวยความสะดวก และช่วยเหลือองค์กรการกุศลอเมริกันก็เป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างความ ศรัทธาให้เกิดขึ้นกับอเมริกัน (เวลานี้มีอเมริกันบางกลุ่มตั้งข้อรังเกียจว่าคนไทยดีแต่ take ไม่ค่อยมี give) 

10.ทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง เรื่องนี้นอกเหนือจากหน่วยงานในต่างประเทศของ รัฐไทยแล้ว หลายคนนึกการบินไทย ความจริงไม่เป็นต้องเป็นสายการบินแห่งชาติ(ที่ประสบชะตากรรมขาดทุนเนืองนิจ) เท่านั้นแต่เป็นสายการบินใดก็ได้ที่ให้เงื่อนไขพ้องกับเป้าประสงค์ของททท.

ที่อยากเสนอเพิ่มเติมในเรื่องการทำงานแบบบูรณาการให้กว้างไกลออกไป คือ  ความร่วมมือ ระหว่างประเทศอาเซียนที่มีสำนักงานตัวแทนของแต่ละประเทศในอเมริกาด้วยกัน หากไทยเราเป็นฝ่าย เปิดประเด็น หรืออาจเป็นหัวหอกในการจัดการในเรื่องนี้ ก็จะช่วยให้ศักยภาพของอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ทุกฝ่ายทุกประเทศก็จะมีส่วนในผลประโยชน์ร่วมกันอย่างกลมกลืน.

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วุฒิสภานัดลงมติ 'ทวีเกียรติ' นั่งตุลาการศาล รธน.คนใหม่ 23 ก.ย.นี้

Posted: 19 Sep 2013 01:12 PM PDT

มติชนออนไลน์ รายงานว่า ในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 23 กันยายนนี้ จะมีการพิจารณาวาระที่สำคัญ คือ การให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ หลังจากที่คณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อฯได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งนี้จากรายงานตรวจสอบคณะกรรมาธิการระบุว่าไม่พบข้อมูลที่เป็นผลเสียแต่อย่างใด และปรากฏผลในรายงานลับของคณะกรรมาธิการและจะเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภาต่อไป

ขณะที่การให้ความเห็นชอบตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาคนใหม่ คือ นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามที่ ครม. เสนอชื่อนั้น ล่าสุด คณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯ ผู้ได้รับการเสนอชื่อฯ ที่วุฒิสภาได้มีมติแต่งตั้ง ได้เชิญชวนบุคคลทั่วไปให้ส่งข้อมูลประวัติเชิงลึกเกี่ยวกับผู้ได้รับการเสนอชื่อฯ มาที่ตู้ ปณ. 45 ปณฝ. รัฐสภา กรุงเทพฯ 10350 หรือ ที่สำนักกำกับและตรวจสอบ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เลขที่ 499 อาคารสุขประพฤติ ชั้น 20 ถ.ประชาชื่น เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800 ภายในวันที่ 23 กันยายนนี้ เพื่อที่จะได้ตรวจสอบต่อไป
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: รัฐบาลของมวลประชาชน

Posted: 19 Sep 2013 12:59 PM PDT

 

 

รัฐบาลของมวลประชาชน

มองดูสิผู้ทุกข์ทนยากไร้

ณ ชายขอบของสังคมไทย

ได้ยินเสียงเราบ้างไหมเพียงสักนิด

เราอุ้มชูโอบล้อมปกป้องคุณ

ต้านกระสุนเผด็จการอำมหิต

คือผนังทองแดงแห่งชีวิต

ให้คุณถือสิทธิ์ตัวแทนไปในสภา

 

รัฐบาลของมวลประชาชน

ในสงครามชั้นชนและการฆ่า

จากรัฐประหาร 19 กันยาฯ

พวกเรามาทวงคืนประชาธิปไตย

ต้องสิ้นชีพเสียเลือดเพื่อเสรี

เก้าสิบกว่าชีวีได้พลีให้

แลกทุกอย่างเพื่อวันหน้าฟ้าอำไพ

สิ้นทุกอย่างเพื่อโลกใหม่จะได้มา

 

รัฐบาลของมวลประชาชน

เมื่อเธอยอมจำนนคนชั่วช้า

ทั้งทหาร อำมาตย์ ศักดินา

ก็เหมือนเธอตบหน้าประชาชน

เธอนิ่งเฉยละเลยมิตรสหาย

ยังติดคุกภายใต้ความฉ้อฉล

กฎหมายหมิ่นหนึ่งหนึ่งสองของบางคน

กฎหมายหม่นมากล้นบารมี

 

รัฐบาลของมวลประชาชน

เราเริ่มต้นเพื่อโค่นล้มการกดขี่

ล้มแล้วลุกคลุกคลานนานหลายปี

ในวันนี้เธออยู่สู้เพื่อผู้ใด

ล้มแล้วลุกคลุกคลานนานเจ็ดปี

ในวันนี้เธออยู่สู้เพื่อผู้ใด.

 

รำลึก 7 ปีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

Homo erectus

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิจัยจีนเผย ความโกรธเป็นสิ่งแพร่ลามได้ง่ายที่สุดในโลกออนไลน์

Posted: 19 Sep 2013 12:39 PM PDT

ทีมนักวิจัยของจีนเก็บข้อมูลจากเว็บไมโครบล็อกจำนวน 70 ล้านข้อความ ของผู้ใช้มากกว่า 200,000 ราย เพื่อศึกษาอิทธิพลของการสื่ออารมณ์ที่มีต่อผู้ใช้คนอื่นๆ พบว่าอารมณ์โกรธเป็นสิ่งที่แพร่ลามออกไปได้ง่ายที่สุด ขณะที่ความรู้สึกเศร้าส่งอิทธิพลน้อยที่สุด

19 ก.ย. 2013 - ทีมนักวิจัยในสาธารณรัฐประชาชนจีนค้นพบว่า ความโกรธในโลกออนไลน์เป็นความรู้สึกที่มีอิทธิพลมากที่สุดและสามารถแพร่ลามได้อย่างรวดเร็วจากผู้ใช้รายหนึ่งไปยังอีกรายหนึ่งเมื่อเทียบกับอารมณ์ความรู้สึกอื่นๆ

หยุ่ย ฟาน หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยการบินและอวกาศแห่งปักกิ่ง ได้นำทีมสำรวจผลจากข้อความของเว็บ Weibo เว็บไซต์ไมโครบล็อกคล้ายกับทวิตเตอร์ที่เป็นของจีนที่มีผู้ใช้มากกว่า 500 ล้านคนและมีข้อความราว 100 ล้านข้อความต่อวัน ซึ่งเมื่อเทียบกับทวิตเตอร์แล้วมีผู้ใช้มากกว่าแต่มีการใช้น้อยกว่า (ทวิตเตอร์มีข้อความราว 250 ล้านข้อความต่อวัน)

งานวิจัยชิ้นนี้ได้ทำการเก็บข้อมูลจากข้อความจำนวน 70 ล้านข้อความ ของผู้ใช้มากกว่า 200,000 ราย ในระยะเวลา 6 เดือน โดยมีการแบ่งลักษณะของข้อความออกเป็น 4 ประเภทตามความรู้สึกที่แสดงออกคือ ความรู้สึกโกรธ, เศร้าเสียใจ, สนุกสนาน และขยะแขยง จากการวิเคราะห์การเลือกใช้คำ

หลังจากนั้นจึงพิจารณาว่าข้อความเหล่านั้นส่งผลต่อผู้อื่นอย่างไรโดยพิจารณาจากปริมาณการโต้ตอบของผู้ติดตาม (followers) ที่เผยแพร่ข้อความด้วยความรู้สึกคล้ายกัน ยกตัวอย่างเช่น หากมีผู้ส่งข้อความด้วยอารมณ์เศร้า จะมีการพิจารณาว่าผู้ติดตามของบุคคลนั้นๆ จะกล่าวถึงข้อความเดิมหรือสร้างข้อความใหม่ด้วยอารมณ์เศร้าเช่นเดียวกันหรือไม่

ผลการวิจัยบอกว่าอารมณ์ความรู้สึกจำพวกความเศร้าเสียใจส่งผลต่อผู้อื่นได้น้อยที่สุด ขณะที่ความรู้สึกโกรธส่งอิทธิพลมากที่สุด ยิ่งกว่าความรู้สึกสนุกสนาน

รายงานผลการวิจัยระบุว่าความโกรธมีการแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่าเหตุใดเรื่องราวในโลกเช่นประเด็นความมั่นคงทางอาหาร การรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเรื่องการอื้อฉาวเกี่ยวกับการรื้อถอนที่อยู่อาศัยจึงเป็นประเด็นร้อนแรงในประเทศจีนเสมอมา

"ความโกรธมีบทบาทที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในการแพร่กระจายข้อมูลข่าวด้านลบเกี่ยวกับสังคม" งานวิจัยกล่าวสรุป

 


เรียบเรียงจาก

Anger is viral: new research shows angry messages influence people online more than any other emotion, The Independent, 18-09-2013
http://www.independent.co.uk/life-style/gadgets-and-tech/news/anger-is-viral-new-research-shows-angry-messages-influence-people-online-more-than-any-other-emotion-8824443.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จนท.ยูเอ็นสอบสวนกรณีคนไทยถูกลักพาตัวไปเกาหลีเหนือ

Posted: 19 Sep 2013 12:22 PM PDT

คณะทำงานของสหประชาชาติ ซึ่งปฏิบัติภารกิจสอบสวนกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเกาหลีเหนือ ได้พบพี่ชายและหลานของ "อโนชา ปันจ้อย" หญิงไทยที่เชื่อว่าถูกเกาหลีเหนือลักพาตัวไปเมื่อ 35 ปีที่แล้ว และหลักฐานล่าสุดจากผู้ที่หลบหนีออกจากเกาหลีเหนือทำให้เชื่อว่าอโนชา ยังคงมีชีวิตอยู่

คณะทำงานขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งปฏิบัติภารกิจสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเกาหลีเหนือ ได้พบกับญาติของอโนชา ปันจ้อย ผู้หญิงไทยที่เชื่อว่าถูกเกาหลีเหนือลักพาตัวเมื่อ 35 ปีที่แล้ว เว็บไซต์ของสถานีโทรทัศน์ NHK รายงาน

คณะทำงานเพื่อการสอบสวนดังกล่าว ได้ตั้งขึ้นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ

ทั้งนี้คณะทำงานดังกล่าวได้พบกับน้องชาย และหลานของอโนชา ปันจ้อย ที่กรุงเทพ เมื่อวันพฤหัสบดีนี้ (19 ก.ย.)

สำหรับอโนชาเป็นชาว จ.เชียงใหม่ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2498 บิดาชื่อสม ปันจ้อย เป็นทหารผ่านศึกสงครามเกาหลี ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว อโนชา หายไปเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2521 ขณะทำงานอยู่ที่มาเก๊า โดยจากหลักฐานของชาล์ล โรเบิร์ต เจนกิน อดีตทหารสหรัฐอเมริกาที่เคยแปรพักตร์ไปอยู่กับเกาหลีเหนือ ได้เสนอความเป็นไปได้ที่ว่า อโนชาถูกลักพาตัวและนำมาที่เกาหลีเหนือ

ปัจจุบัน เจนกินอาศัยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นกับภรรยาชาวญี่ปุ่นที่ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือเช่นกัน โดยทั้งคู่ได้ออกจากเกาหลีเหนือในปี พ.ศ. 2547

 

อโนชา ปันจ้อย ก่อนถูกลักพาตัว

ชาล์ล โรเบิร์ต เจนกิน อดีตทหารสหรัฐอเมริกาที่แปรพักตร์ไปเข้ากับเกาหลีเหนือ ปัจจุบันเดินทางออกจากเกาหลีเหนือแล้ว ในภาพเป็นภาพถ่ายของเขากับภรรยาชาวญี่ปุ่น และลูกสาวในเกาหลีเหนือ เขาระบุว่า สตรีด้านซ้ายมือมุมบนของภาพคืออโนชา ปันจ้อย

ชาล์ล โรเบิร์ต เจนกิน ปัจจุบันใช้ชีวิตที่ประเทศญี่ปุ่น เขาเป็นผู้ที่ระบุว่าอโนชา ปันจ้อย ยังมีชีวิตอยู่ในเกาหลีเหนือ

 

ทั้งนี้หลังออกมาจากเกาหลีเหนือ ชาล์ล โรเบิร์ต เจนกิน เคยให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าเขารู้จักกับสตรีไทยคนหนึ่ง ซึ่งเคยแต่งงาน 2 ครั้งกับชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเกาหลีเหนือ เจนกิน กล่าวด้วยว่า อโนชาถูกลักพาตัวมาจากเกาหลีเหนือให้มาแต่งงานกับชาวต่างชาติที่อยู่ในเกาหลีเหนือ และสอนภาษาไทยให้กับสายลับของเกาหลีเหนือ

NHK ระบุว่าคณะทำงานของสหประชาชาติได้สอบถามญาติของอโนชา เป็นเวลาถึง 3 ชั่วโมง

ผู้ที่ร่วมการสอบถามดังกล่าวรายหนึ่ง กล่าวว่า ญาติได้ให้ข้อมูลแวดล้อมในช่วงเวลาก่อนที่อโนชาจะหายไป พวกเขายังอ้างอิงคำพูดของหนึ่งในคณะทำงานของสหประชาชาติที่กล่าวว่า มีเหตุผลเพียงพอที่จะเชื่อว่าอโนชาถูกลักพาตัวไปโดยเกาหลีเหนือจริง

ด้านพี่ชายของอโนชา สุคำ ปันจ้อย กล่าวในระหว่างแถลงข่าวว่า เขามานั่งครุ่นคิดทุกวันว่าน้องสาวของเขาอยู่ที่ไหนและตอนนี้เป็นอย่างไร

ทั้งนี้คณะทำงานของสหประชาชาติดังกล่าว ได้สัมภาษณ์ญาติของชาวญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ถูกลักพาตัวด้วย โดยคณะทำงานจะนำเสนอรายงานฉบับสุดท้ายให้กับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติในเดือนมีนาคมปีหน้า

 
อนึ่งในปี 2548 กระทรวงการต่างประเทศของไทยเคยสอบถามกรณีของอโนชา ปันจ้อย ไปยังทางการเกาหลีเหนือ แต่ยังคงได้รับการปฏิเสธว่าอโนชาอยู่ในเกาหลีเหนือ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

24 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง ค้านแนวคิดเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ยั่งยืน

Posted: 19 Sep 2013 11:47 AM PDT

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 24 เครือข่าย ประกาศจุดยืนไม่ร่วมการประชุมเพื่อผลักดันแนวคิดเรื่องเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ยั่งยืน จวกความชอบธรรมให้การสร้างเขื่อน ระบุผู้ได้รับผลประโยชน์ไม่มีสิทธิยัดเยียดแนวคิดให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
 
วันที่ 19 ก.ย.56 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 24 เครือข่าย นำโดย เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) เผยแพร่แถลงการณ์ 'ไม่ยอมรับการประชุมและแนวคิดเรื่องเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ยั่งยืน' ประกาศจุดยืนไม่ยอมรับและไม่ขอเข้าร่วมใน 'การประชุมเชิงปฏิบัติการและการรับฟังความคิดเห็นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพ ความตระหนัก และการสื่อสารเกี่ยวกับกิจกรรมไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยั่งยืน' ที่สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยจัดขึ้นในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้
 
แถลงการณ์ระบุว่า การจัดประชุมดังกล่าวขาดความชอบธรรมและความเหมาะสม อาทิ วัตถุประสงค์ในการจัดการประชุมไม่ชัดเจน โดยเฉพาะบทบาทของคณะกรรมการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) การที่เอ็มอาร์ซีพยายามเผยแพร่ความคิดเรื่องเขื่อนยั่งยืนให้กับประชาชนเท่ากับเป็นผู้สนับสนุนเขื่อน ทั้งที่ปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่ได้สนับสนุน
 
อีกทั้ง ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลความคิดเรื่องเขื่อนยั่งยืนที่เป็นภาษาไทยให้ประชาชนรับทราบและร่วมแสดงความเห็นก่อนหน้าการเสนอจัดประชุมในเวลาที่เหมาะสม ไม่มีเกณฑ์การเลือกผู้เข้าร่วมประชุมที่ถูกต้องเหมาะสมและโปร่งใส ในกำหนดการประชุมเห็นได้ชัดว่าไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนที่เห็นต่างได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ แต่เป็นการไปนั่งฟังการบรรยายสิ่งที่เตรียมการมาแล้ว
 
"ที่ผ่านมา การเปิดเวทีที่เกี่ยวกับการสร้างเขื่อนไซยะบุรี นับเป็นกระบวนการที่ล้มเหลว ไม่มีความชอบธรรม และประชาชนไม่เคยยอมรับ เพราะไม่เคยเคารพสิทธิของประชาชนและไม่ได้ทำตามกฎกติกาที่มีอยู่ การจัดเวทีในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประชาชน เป็นเพียงความพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับความคิดเรื่องเขื่อนยั่งยืน และการแบ่งปันผลประโยชน์จากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเท่านั้น" แถลงการณ์ระบุ
 
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 24 เครือข่าย ระบุความคิดเห็นไว้ด้วยว่า การประชุมในครั้งนี้ได้เตรียมข้อสรุปไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยเป็นข้อสรุปที่ไม่ตรงกับข้อคิดเห็นของประชาชนที่ได้เสนอในที่ประชุมครั้งที่ 1 ที่ จ.เชียงราย เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา จึงขอปฏิเสธการเข้าร่วมและจะดำเนินการตั้งคำถามต่อความคิดเรื่องเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ยั่งยืนต่อไปจนถึงที่สุด
 
แถลงการณ์ระบุอีกว่า มีข้อสรุปที่ชัดเจนจากประสบการณ์อันเจ็บปวดที่ผ่านมาว่า เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ที่ยั่งยืนไม่มีจริงในโลกนี้ รวมทั้งเขื่อนไซยะบุรีที่กำลังก่อสร้างกั้นลำน้ำโขงอยู่ในประเทศ สปป.ลาวในขณะนี้ ชัดเจนว่า ไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่เขื่อนใดทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกที่สามารถเยียวยาความเสียหายอันมหาศาลที่เป็นผลจากการสร้างเขื่อนได้ นับตั้งแต่เขื่อนใหญ่เขื่อนแรกของประเทศไทยที่ทุกวันนี้ชาวบ้านในพื้นที่ก็ยังได้รับความทุกข์ยากอยู่
 
ที่ชัดเจนอีกกรณีหนึ่งคือเขื่อนปากมูนที่ประชาชนต่อสู้มาแล้ว 24 ปี จนปัจจุบันยังแก้ปัญหาไม่ได้ ดังนั้น บรรดาหน่วยงานที่สร้างแนวคิดเรื่องเขื่อนยั่งยืนซึ่งส่วนใหญ่คือหน่วยงานสร้างเขื่อนหรือได้รับผลประโยชน์จึงขาดความชอบธรรมในการเสนอความคิดนี้โดยสิ้นเชิง
 
"เราขอยืนยันว่า รัฐบาล คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กรมทรัพยากรน้ำ และผู้ได้รับผลประโยชน์จากการสร้างเขื่อนไม่มีสิทธิที่จะยัดเยียดแนวคิดเรื่องเขื่อนยั่งยืนให้กับประชาชนที่จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน" แถลงการณ์ระบุ
 
 
 
แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง
เรื่อง ไม่ยอมรับการประชุมและแนวคิดเรื่องเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ยั่งยืน
19 กันยายน 2556
 
จากที่สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยได้จัด"การประชุมเชิงปฏิบัติการและการรับฟังความคิดเห็นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพ ความตระหนัก และการสื่อสารเกี่ยวกับกิจกรรมไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยั่งยืน" ในเดือนสิงหาคมและกันยายนนี้ และได้เชิญตัวแทนจากเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน 7 จังหวัดลุ่มน้ำโขงภาคอีสานเข้าร่วมนั้น พวกเรา พร้อมด้วยเครือข่ายประชาชนที่ลงชื่อในตอนท้ายของแถลงการณ์นี้ขอแสดงจุดยืนไม่ยอมรับและไม่ขอเข้าร่วมกับการประชุมนี้รวมทั้งแนวคิดเรื่องเขื่อนไฟฟ้าที่ยั่งยืน ด้วยเหตุผลดังนี้
 
พวกเรามีความเชื่ออย่างชัดเจนว่า การปล่อยให้แม่น้ำไหลอย่างอิสระคือความยั่งยืนที่แท้จริงและผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนทั้งลุ่มน้ำและทั้งโลกไม่มีแม่น้ำสายไหนในโลกนี้เหมาะสำหรับสร้างเขื่อนอีกต่อไป และสิทธิในการปกป้องทรัพยากรและแม่น้ำเป็นสิทธิพื้นฐานของคนท้องถิ่นที่ต้องได้รับการยอมรับ รากเหง้าที่สำคัญของปัญหา คือการที่ฝ่ายต่าง ๆ ปฏิเสธเสียงและความรู้ท้องถิ่นซึ่งมีความสำคัญต่อการจัดการน้ำ ในขณะเดียวกันจะยอมรับเพียงแค่ความรู้ทางวิชาการของผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของทรัพยากร ทั้งนี้ เราขอยืนยันว่า รัฐบาล คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กรมทรัพยากรน้ำ และผู้ได้รับผลประโยชน์จากการสร้างเขื่อนไม่มีสิทธิที่จะยัดเยียดแนวคิดเรื่องเขื่อนยั่งยืนให้กับประชาชนที่จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน
 
เรามีข้อสรุปที่ชัดเจนจากประสบการณ์อันเจ็บปวดที่ผ่านมาว่า เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ที่ยั่งยืนไม่มีจริงในโลกนี้ รวมทั้งเขื่อนไซยะบุรีที่กำลังก่อสร้างกั้นลำน้ำโขงอยู่ในประเทศ สปป.ลาวในขณะนี้ ชัดเจนว่า ไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่เขื่อนใดทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกที่สามารถเยียวยาความเสียหายอันมหาศาลที่เป็นผลจากการสร้างเขื่อนได้ นับตั้งแต่เขื่อนใหญ่เขื่อนแรกของประเทศไทย ที่ทุกวันนี้ชาวบ้านในพื้นที่ก็ยังได้รับความทุกข์ยากอยู่ ที่ชัดเจนอีกกรณีหนึ่งคือเขื่อนปากมูนที่ประชาชนต่อสู้มาแล้ว 24 ปี จนปัจจุบันยังแก้ปัญหาไม่ได้ ดังนั้น บรรดาหน่วยงานที่สร้างแนวคิดเรื่องเขื่อนยั่งยืนซึ่งส่วนใหญ่คือหน่วยงานสร้างเขื่อนหรือได้รับผลประโยชน์จึงขาดความชอบธรรมในการเสนอความคิดนี้โดยสิ้นเชิง
 
ในเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์จากเขื่อน พวกเราสรุปชัดเจนว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างผู้สร้างเขื่อนทั้งหลายกับผลประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจากแม่น้ำอย่างยั่งยืน เป็นผลประโยชน์ที่ขัดแย้งและแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ดังนั้นแนวคิดการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เท่าเทียมจึงไม่อาจจะเกิดขึ้นได้จริง  ในกรณีการสร้างเขื่อนไซยะบุรีบนแม่น้ำโขงสายหลักนั้นมีรูปธรรมที่ปรากฏชัดเจนว่าตั้งแต่เริ่มโครงการไม่ได้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ใด ๆ เลยกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ มีแต่บริษัทไซยะบุรีเท่านั้นที่ได้ผลประโยชน์ โดยชาวบ้านที่ถูกอพยพจากถิ่นที่อยู่ไป กำลังตกอยู่ในภาวะทุกข์ยากและไม่ได้รับความเป็นธรรม ในท้ายที่สุด แม้มีการใช้คำพูดสวยหรูเกี่ยวกับเขื่อนยั่งยืน แต่ยังไม่มีหน่วยงานใด ที่จะมาให้หลักประกันใด ๆ ว่าความคิดเรื่องเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ยั่งยืน และการแบ่งปันผลประโยชน์จะได้รับการปฏิบัติตามโดยกลุ่มผู้สร้างเขื่อนอย่างเช่น บริษัท ไซยะบุรีเพาเวอร์ จำกัด หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในความเป็นจริง
 
การจัดประชุม"การประชุมเชิงปฏิบัติการและการรับฟังความคิดเห็นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพ ความตระหนักและการสื่อสารเกี่ยวกับกิจกรรมไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยั่งยืน" ขาดความชอบธรรมและความเหมาะสมหลายประการ เริ่มจากวัตถุประสงค์ในการจัดการประชุมไม่ชัดเจน โดยเฉพาะบทบาทของคณะกรรมการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) ผู้เป็นต้นคิดเรื่องเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยั่งยืน มีความไม่ชัดเจนอย่างยิ่ง การที่เอ็มอาร์ซีพยายามเผยแพร่ความคิดเรื่องเขื่อนยั่งยืนให้กับประชาชน ก็เท่ากับเป็นผู้สนับสนุนเขื่อน ทั้งที่ปฏิเสธมาโดยตลอดว่ามิได้สนับสนุน ที่ผ่านมาไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลความคิดเรื่องเขื่อนยั่งยืนที่เป็นภาษาไทยให้ประชาชนรับทราบและแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก่อนหน้าการเสนอจัดประชุม ในเวลาที่เหมาะสมไม่มีเกณฑ์การเลือกผู้เข้าร่วมประชุมที่ถูกต้องเหมาะสมและโปร่งใส ทั้งที่การประชุมในหัวข้อดังกล่าวควรเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมและตั้งคำถามได้ทั้งหมดโดยไม่จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมเพียงไม่กี่คน  ในกำหนดการประชุมที่มีอยู่ เห็นได้ชัดว่า ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนที่เห็นต่างได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ แต่เป็นการไปนั่งฟังการบรรยายสิ่งที่เตรียมการมาแล้ว ที่ผ่านมา การเปิดเวทีที่เกี่ยวกับการสร้างเขื่อนไซยะบุรี นับเป็นกระบวนการที่ล้มเหลว ไม่มีความชอบธรรม และประชาชนไม่เคยยอมรับ เพราะไม่เคยเคารพสิทธิของประชาชนและไม่ได้ทำตามกฎกติกาที่มีอยู่ การจัดเวทีในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประชาชน เป็นเพียงความพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับความคิดเรื่องเขื่อนยั่งยืน และการแบ่งปันผลประโยชน์จากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเท่านั้น
 
ท้ายที่สุดนี้ เราเห็นว่าผู้จัดการประชุมในครั้งนี้ ได้เตรียมข้อสรุปไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยเป็นข้อสรุปที่ไม่ตรงกับข้อคิดเห็นของประชาชนที่ได้เสนอในที่ประชุมครั้งที่ 1 ที่จังหวัดเชียงรายเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เราจึงขอปฏิเสธการเข้าร่วมและจะดำเนินการตั้งคำถามต่อความคิดเรื่องเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ยั่งยืนต่อไปจนถึงที่สุด
 
ลงวันที่ 19 กันยายน 2556
 
เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) (ประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบล 64 พื้นที่ในจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี)
เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัด หนองคาย 53 ตำบล
เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดบึงกาฬ 33 ตำบล
เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี 80 ตำบล
เครือข่ายเยาวชนคนรักษ์น้ำโขง 9 จังหวัดภาคอีสาน (จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น)
เครือข่ายกลุ่มประมงแม่น้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี)
เครือข่ายเกษตรริมโขง 7 จังหวัด ภาคอีสาน (จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี)
คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูน จ.อุบลราชธานี
กลุ่มรักษ์เชียงคาน จ.เลย
กลุ่มรักษ์บ้านเกิดอุมุง เชียงคาน จ.เลย
กลุ่มเยาวชนหอคำ-ไคสี จ.บึงกาฬ
กลุ่มประมงพื้นบ้านหอคำ-ไคสี จ.บึงกาฬ
เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบตลิ่งพัง 7 จังหวัดภาคอีสาน (จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี)
เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว 7 จังหวัดภาคอีสาน (จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี)
เครือข่ายลุ่มน้ำห้วยโมง จ.หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู
กลุ่มอนุรักษ์ป่าดงมะไฟ จ.หนองบัวลำภู
สภาองค์กรชุมชนตำบลดงมะไฟ จ.หนองบัวลำภู
สภาองค์กรชุมชนตำบลเชียงคาน จ.เลย
สภาองค์กรชุมชนตำบลปากชม จ.เลย
สภาองค์กรชุมชนตำบลบุฮม จ.เลย
สภาองค์กรชุมชนตำบลปลาบ่า จ.เลย
ครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากสายส่งไฟฟ้าไซยะบุรี จ.เลย หนองบัวลำภู
สภาประชาชนภาคอีสาน
กลุ่มอนุรักษ์ป่าภูวัว จ.บึงกาฬ
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช.เล็งถอนใบอนุญาตวิทยุฯ หากพบรบกวนการบิน แล้วไม่แก้ไข

Posted: 19 Sep 2013 11:39 AM PDT

<--break->

(19 ก.ย.56) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ โดยระบุว่า สำนักงาน กสทช. ร่วมกับบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (ดอนเมือง) นำคณะสื่อมวลชนเดินทางไปตรวจสอบปัญหาคลื่นความถี่วิทยุรบกวนวิทยุการบินโดยอากาศยานของบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เส้นทางการตรวจสอบจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-บุรีรัมย์-ร้อยเอ็ด-อุดรธานี

พันตำรวจเอก ทวีศักดิ์ งามสง่า กรรมการ กสทช. กล่าวถึงมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหาคลื่นรบกวนวิทยุการบิน ว่า กสทช. ได้กำหนดมาตรการส่งเสริมสนับสนุนการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยดำเนินการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ พร้อมทั้งจัดให้มีแนวทางการปฏิบัติงานและการประสานงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามบันทึกความเข้าใจ (MOU) คือ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ซึ่งรับผิดชอบการควบคุมจราจรทางการบิน

หากมีการตรวจสอบพบการรบกวนการใช้คลื่นความถี่ในกิจการวิทยุการบิน  การแจ้งข้อมูลไปยังสำนักงาน กสทช. ในเขตพื้นที่ ให้ทำการตรวจสอบหาสาเหตุและแหล่งที่มาของวิทยุกระจายเสียงที่ก่อให้เกิดการรบกวนให้แล้วเสร็จ กรณีเร่งด่วนภายใน 3 วันและกรณีไม่เร่งด่วนภายใน 10 วัน  หากไม่พบการรบกวน จะประสานไปยัง บวท. อีกครั้ง ว่ายังมีการรบกวนอยู่หรือไม่ หากไม่พบการรบกวนถือว่ายุติ 

ในกรณีผู้ส่งสัญญาณรบกวนการบินเป็นผู้ทดลองประกอบกิจการ และ/หรือได้รับใบอนุญาตวิทยุคมนาคม กสทช. จะแจ้งให้ระงับการออกอากาศด้วยวาจาโดยทันที และจะมีหนังสือแจ้งเป็นหลักฐานอีกครั้ง พร้อมทั้งให้แก้ไขปรับปรุงภายในเวลาที่กำหนด แต่ถ้าแก้ไขแล้วต้องมีหนังสือแจ้งผลการแก้ไขปรับปรุงให้ สำนักงาน กสทช. เขต ทราบ เพื่อดำเนินการตรวจสอบก่อนที่จะดำเนินการออกอากาศอีกครั้ง

หากไม่ดำเนินการแก้ไข ทางสำนักงาน กสทช. เขตจะร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 26 และ มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วิทยุฯและแจ้งให้กลุ่มงานอนุญาตประกอบกิจการ1 (ปส 1) บันทึกประวัติเพื่อพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต

กรณีผู้ส่งสัญญาณรบกวนการบิน ไม่ได้เป็นผู้ทดลองประกอบกิจการ และไม่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคม ให้สำนักงาน กสทช. เขต ร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดี ตามมาตรา 6 มาตรา 11 มาตรา 23 และ มาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และเมื่อดำเนินคดีเสร็จแล้วให้สำนักงาน กสทช. เขต มีหนังสือแจ้งผลการดำเนินการให้ บวท. ทราบ และแจ้งให้กลุ่มงาน ปส 1 บันทึกประวัติเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาในการออกใบอนุญาตต่อไป

พันตำรวจเอก ทวีศักดิ์ กล่าวต่อว่า  หากพบว่าผู้กระทำผิดไม่ได้รับอนุญาตให้ทดลองประกอบกิจการแต่ได้รับใบอนุญาตวิทยุคมนาคม ถ้าไม่ดำเนินการแก้ไขปรับปรุง  สำนักงาน กสทช. จะร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดี ตามมาตรา 26 และ ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และจะพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตวิทยุคมนาคมต่อไป หากตรวจสอบพบว่ามีการออกอากาศอยู่ ก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายกับวิทยุกระจายเสียงนั้น ตามมาตรา 6 มาตรา 11 และมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และตามมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551และจะบันทึกประวัติเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาในการออกใบอนุญาตต่อไป 

โดยทุกเดือนสำนักงาน กสทช. และ วิทยุการบินฯ จะจัดทำแบบฟอร์มสรุปผลการดำเนินงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้สำนักงาน กสทช. เขตได้นำข้อมูลไปดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด และจะแจ้งสรุปรายงานผลการดำเนินการให้ วิทยุการบินฯ ทราบ เพื่อสอบถามว่ายังมีการรบกวนคลื่นวิทยุการบินอยู่อีกหรือไม่    

สำหรับปัญหาคลื่นความถี่วิทยุการบินได้รับการรบกวนจากคลื่นวิทยุภาคพื้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุทางการบินจะทำให้เกิดความสูญเสียอีกด้วย  ดังนั้น สำนักงาน กสทช. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้คลื่นและแก้ปัญหาการรบกวนเล็งเห็นปัญหาดังกล่าวเป็นสำคัญจึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MOU)  กสทช.และวิทยุการบินฯ เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างกันในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาวิทยุชุมชนรบกวนวิทยุการบินเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น  และได้รายงานเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการคมนาคมวุฒิสภา ถึงความคืบหน้าการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

นายอนุชา คำโมง  ผู้อำนวยการใหญ่สำนักมาตรฐานความปลอดภัย บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาสายการบินต่างๆ ได้ยืนยันว่าขณะบินผ่านน่านฟ้าไทยจะได้รับสัญญาณการรบกวนเป็นเสียงจัดรายการวิทยุ เสียงเพลง เสียงโฆษณาสินค้า ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยทางการบิน เนื่องจากเป็นอุปสรรคในการติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกรณีสภาพอากาศไม่ดีอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้  วิทยุการบินจึงได้ร่วมมือกับ กสทช. แก้ไขปัญหาวิทยุภาคพื้นดินรบกวนการสื่อสารการบิน โดยได้มีการบินทดสอบหาสัญญาณรบกวนทั่วประเทศไทยแล้วในหลายพื้นที่  พบว่าเส้นทางที่มีการส่งสัญญาณรบกวนการบินอยู่มากเป็นเส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังมีการปรับปรุงการส่งสัญญาณจนอยู่ในระดับมาตรฐานการบิน แล้ว  โดยบวท.ได้มอบหมายให้นักบิน ทำการสำรวจเส้นทางอย่างสม่ำเสมอ 

พลอากาศตรีธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวถึง สาเหตุที่วิทยุกระจายเสียงรบกวนการใช้งานคลื่นความถี่ในกิจการวิทยุการบิน ว่า มาจากเครื่องส่งสัญญาณของวิทยุที่มีคุณภาพต่ำ การติดตั้งหรือการเชื่อมระหว่างเครื่องส่งกับสายส่งกำลังไปยังสายอากาศส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงปัญหาที่เกิดจากสาเหตุจากความรู้ความเข้าใจด้านเทคนิคและการเลือกใช้อุปกรณ์สายอากาศผิดประเภท เป็นต้น ซึ่งการบินตรวจสอบในเส้นทางท่าอากาศยานดอนเมืองกรุงเทพฯ-อุดรธานี ยังคงพบคลื่นรบกวนสัญญาณการบินซึ่งได้ทำงานร่วมกันกับ บวท. อย่างใกล้ชิด

โดยสำนักงาน กสทช. เขตจะนำผลการบินทดสอบทุกครั้งที่ตรวจพบไปดำเนินการตรวจสอบหาแหล่งแพร่ กระจายคลื่นรบกวน และดำเนินการด้านกฎหมายในส่วนของ กสทช. ต่อไป

ทั้งนี้ปัจจุบันสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับใบอนุญาตขอทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง จำนวน 2,743 ราย แบ่งเป็นกิจการบริการธุรกิจ 1,752 ราย กิจการบริการสาธารณะ 578 ราย และกิจการบริการชุมชน 413 ราย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับสุชาติ นาคบางไทร – ดา ตอร์ปิโด ผู้ต่อต้าน ณ สนามหลวง รุ่นแรกหลัง 19 กันยา

Posted: 19 Sep 2013 08:51 AM PDT

 

19 กันยายน 2556 เป็นวันครบรอบ 7 ปีรัฐประหาร สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมากมายในการเมืองไทย หลังจุดเปลี่ยนสำคัญในวันนั้น

ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด อยู่ในเรือนจำถึงวันนี้เป็นเวลา 5 ปีกว่า สุชาติ นาคบางไทร อยู่ในเรือนจำ 2 ปีกว่า ทั้งคู่เป็นอดีตผู้ต้องโทษคดีมาตรา 112 จากการปราศรัยที่สนามหลวงในช่วงหลังรัฐประหารไม่นาน และขบวนการต่อต้านรัฐประหารอย่าง คนเสื้อแดง หรือระดับนำอย่าง นปช. ยังไม่ถือกำเนิดขึ้นเป็นเรื่องเป็นราว

ดารณี ในวันนี้ยังคงอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลางเช่นเคย ความคืบหน้าหรือความเปลี่ยนแปลงที่พอจะมีอยู่บ้างคือ คดีของเธอถึงที่สุดแล้วตั้งแต่วันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมาในชั้นอุทธรณ์ โดยเธอตัดสินใจไม่ยืนฎีกา ด้วยหวังว่าเมื่อคดีถึงที่สุดอาจได้ย้ายเรือนจำไปอยู่ยังที่ที่ดีกว่า ขณะที่สุชาติ นาคบางไทร ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 24 ส.ค.55 และเขายังคงวนเวียนทำกิจกรรมทางการเมืองเช่นเคย โดยเฉพาะการจัดเดี่ยวโทรโข่ง พูดคุยเรื่องการเมืองทั้งในโรงแรมและท้องสนามหลวง ... ที่ที่พวกเขาเริ่มต้น

น่าสนใจว่า ผ่านมา 7 ปี นักต่อต้านทั้งสองมองเห็นสิ่งใดบ้าง

สำหรับดารณี เวลา 15 นาทีของการเยี่ยมเป็นข้อจำกัดในการสนทนา แต่ก็เพียงพอที่เธอจะกล่าวถึงความรู้สึก "ผิดหวัง"

"7 ปีหลังรัฐประหาร ในทัศนะของดา ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยในแง่กาพัฒนาทางการเมือง ได้แต่ความสูญเสียที่ได้กับตัวเอง เช่น วันนี้ขนาดกฎหมายนิรโทษกรรมก็ยังไม่กล้าจะพูดถึงคดี 112 ทั้งที่มันเป็นคดีทางความคิด สมัยก่อนคดีคอมมิวนิสต์ยังได้รับการนิรโทษได้ ในทางความคิดนั้นรุนแรงกว่ามาก ดาไม่เคยพูดว่าไม่ต้องการสถานบัน แต่ต้องการแบบญี่ปุ่นหรืออังกฤษ แต่สำหรับคดีคอมมิวนิสต์ออกมาจากป่าก็ยังไม่ต้องติดคุก นี่คือพัฒนาการทางการเมืองที่ล้าหลัง ถอยหลังกว่าเดิม"

"ทำไม่ได้ รัฐบาลอย่าพูดคำนี้ ไม่มีพวกเรา คุณจะได้อยู่ตรงนั้นไหม ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ คงไม่ออกมา ไม่ใช่เพราะตัวติดคุก กลัวตาย แต่ถ้ารู้ว่าสู้แล้วได้ตัวแทนแบบนี้ ไม่ออกมาดีกว่า"

"19 กันยา ยังต้องจัดรำลึกเพื่อให้ประชาชนรุ่นต่อไปได้รู้ว่าการรัฐประหารไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น"

"อนาคตหรือ คงไม่มี ถ้าอยู่อย่างนี้ก็คงทิ้งตายในคุก อาจจะรอให้มีการพักโทษตามระเบียบของเรือนจำ ว่าหากเหลือโทษ 1 ใน 3 อาจได้รับการพักโทษ แต่คดีแบบนี้ก็ไม่เหมือนคนอื่น ต้องมีคณะกรรมการพิเศษพิจารณาอีก"

"อนาคตของสังคม ไม่ตั้งความหวังอะไรแล้ว โอเค เศรษฐกิจอาจจะดีขึ้นกว่าสมัยประชาธิปัตย์เพราะเขาบริหารได้ดีกว่าจากพื้นฐานการเป็นนักธุรกิจ แต่อย่างอื่นไม่คาดหวังแล้ว ก็ได้แต่หวังว่า ประชาชนเสื้อแดงจะใจกว้างกว่านี้ เหลียวมองคนที่ติดคุกบ้าง อย่างน้อยก็ร่วมสู้กันมา"

"19 กันยา ถึงวันนี้ จุดบอดที่สุดคือกระบวนการยุติธรรม 2 ปีนึกว่าจะมีอะไรที่ปฏิรูปได้บ้าง แต่ก็ไม่มี เห็นแต่การแบ่งสรรตำแหน่งกัน นี่แทบจะหันหลงให้การเมืองแล้ว"

"โดยส่วนตัวอยากไปคุกหลักสี่ ยินดีจะไปตายที่นั่น อยู่ที่นี่มีปัญหาเยอะและแออัดมาก เนื้อที่ 4 ไร่ จะ 1,800 คนแล้ว ไม่ต้องพูดถึงแดนนอก ที่นอนตอนนี้ห้องหนึ่งก็นอนกันเกือบ 170 คน เฉลี่ยมีพื้นที่ประมาณ 40 ซม.ต่อคน"

"ไม่รู้สิ จะเรียกว่าดา ตอร์ปิโด เสียค่าโง่ก็ได้"

 

===============================

 

สุชาติ นาคบางไทร  :

 

ทำไมยังจะต้องจัดรำลึก 19 กันยาอีก เห็นบางกลุ่มไม่จัดแล้ว

มันยังต้องจัด งานรำลึกมี 2 เรื่อง เรื่องดีต้องรำลึกไว้ เรื่องไม่ดีก็ต้องยิ่งรำลึก โดยเฉพาะมันไม่ใช่ว่าจะจบ สิ่งที่ทำเมื่อ 7 ปีที่แล้วและตลอดมานี้มันเป็นการต่อสู้ ยังไม่จบ เรายังอยู่และเขาก็ยังอยู่

การรำลึกมี 2 นัย เพราะมีผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยาก ลำบากลำบน ในช่วงดังกล่าวเยอะ เราต้องรำลึกถึงเขา แล้วก็บอกคนที่ที่ทำว่าเรายังต่อต้านอยู่ เรายังเจ็บแค้นอยู่ ยังไม่มีการชำระจิตใจของประชาชน อย่าคิดว่าไปอยู่ในสภาแล้วคือการยอมรับ ไม่ใช่ นั่นคือการฟอกตัวเอง  

หนทางจบคืออะไร

มีข้อเรียกร้องหนึ่งที่พูดไปแล้ว คือ ขอเรียกร้องข้อเดียวต่อสนธิ บุยญรัตนกลิน ถ้าคุณยืนยันว่าทำเพื่อประเทศชาติ เพื่อไม่ให้ประชาชนฆ่ากัน ถ้ามีเจตนาบริสุทธิ์ ขอให้สนธิ บุญรัตนกลิน ไปผูกคอตายภายใน 1 ปีนับจากนี้ไป ถ้าเขาทำผมจะเชื่อ

นี่ไม่ใช่ข้อเรียกร้องจริงๆ

ข้อเรียกร้องนี้เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะใจเขามันสู้ใจลุงนวมทอง สู้ใจประชาชนไม่ได้

รัฐประหารก็ไม่ได้เกิดจากสนธิคนเดียว

เขาบอกแล้วว่าตายก็เล่าไม่ได้ เราไม่ได้สนใจวาทกรรมเขาหรอกและเราก็ไม่ได้อยากฟัง แต่มันเป็นการอ้าง ไม่ว่าใครเป็นคนบงการคุณ คุณต้องรับผิดชอบ และเขาก็อ้างว่ามีคประชาชนเขียนไปรษณียบัตรมาถึงเขาเรียกร้องให้เขาทำรัฐประหาร ผมก็อยากเห็นจดหมายนั้นว่ามันมีกี่ฉบับ แล้วถ้าผมเขียนได้มากกว่านั้นให้คุณไปผูกคอตายคุณจะทำไหม การที่พูดว่าให้คุณไปฆ่าตัวตายก็ไม่ได้หมายความว่าให้คุณไปฆ่าตัวตายหรอก มันก็เหมือนกับการที่คุณบอกว่ามีคนส่งจดหมายมาให้คุณไปปฏิวัตินั่นแหละ ไร้สาระเหมือนกัน คุณก็อ้างมั่วๆ ผมก็ให้คุณไปตายมั่วๆ

7 ปีมองย้อนกลับไป จนถึงวันนี้คิดว่าสภาพการเมืองก้าวหน้าหรือถอยหลังอย่างไร

ก้าวหน้าล้วนๆ เลย ช่วงใหม่ๆ เหมือนเหตุการณ์จะถอย แต่พอมาถึง 7 ปีนี้ เห็นแล้วว่า ทุกหมู่เหล่า ตัวละครทุกตัว ล้วนเป็นตัวประกอบให้ประชาธิปไตยก้าวหน้าขึ้นโดยไม่รู้ตัว  เขาก็คงไม่เข้าใจว่าจะทำให้เกิดวันนี้ เราเองก็ไม่ได้คิดว่าการต่อต้านของเราจะไปไกล

7 ปีมานี่มันทำให้ประชาชนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ย้อนได้เป็นร้อยปี ทำให้ประชาชนอยากรู้อยากเห็นในทางการเมือง แล้วที่สำคัญคือ เอาตัวเข้ามาร่วม เอาตัวเข้ามาแลกกับสิ่งที่ตัวเองอยากรู้ อยากให้เป็นได้ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตหรืออิสรภาพ ตรงนี้ยิ่งใหญ่มาก

ในแง่เศรษฐกิจดูเหมือนจะถดถอย แต่มันถดถอยไปเพื่อจะยืนยันว่าระบอบเผด็จการมันไปไม่ได้ จะได้เตือนเยาวชนรุ่นใหม่ว่า มันไม่ใช่ทางออกให้เศรษฐกิจและประชาคมโลกยอมรับ

ถึงวันนี้มองพรรคเพื่อไทยอย่างไร

ที่ผ่านมาผมหลีกเลี่ยงจะพูดประเด็นนี้เพราะมันจะทำให้คนตามผมได้ยาก คนอาจจะบอกว่าผิดเสียก่อนที่จะฟังความคิดผม แต่ผมบอกเลยว่า พรรคล้าหลังกว่าประชาชนมาก เป็นกลุ่มการเมืองที่น้อมรับวัฒนธรรมของศักดินามาอยู่ดี แต่เนื่องจากเขาใกล้กับประชาชนมากกว่า ก็เลยต้องมาคลุกคลีกับประชาชนมากกว่ากลุ่มอำนาจเก่า คลุกไปคลุกมาก็โดนประชาชนครอบไปบ้างแล้วโดยไม่รู้ตัว แต่เขาก็กลืนประชาชนไปได้บ้าง ประชาชนที่อ่อนน้อมหรือหัวอ่อน แต่สำหรับพวกเราหรือชาวสนามหลวง เราไม่หัวอ่อน ไม่ใช่ประชาชนของพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่ประชาชนที่จะมาต่อต้านประชาธิปัตย์เท่านั้น บางทีวันหนึ่งประชาธิปัตย์อาจเป็นขวัญใจเราก็ได้ เพื่อไทยอาจเป็นพรรคที่เราเกลียดมากที่สุดก็ได้ เพราะเราเป็นผู้ตัดสิน เราไม่ใช่ผู้ยืนอยู่เพื่อทักษิณ ไม่ใช่คนของทักษิณ แต่เป็นคนของแผ่นดินนี้ วันนี้เราต้องมั่วนิ่มไปกับพรรคเพื่อไทยเพื่อต่อสู้กับอำนาจเก่าไปก่อน สักวันหนึ่งก็ต้องมาชำระสิ่งที่เพื่อไทยทำอะไรหมักหมมไว้ใต้พรมด้วย แต่วันนี้สงวนไว้ก่อนเพราะเนื่องจากประชาชนเรายังชอบใช้วัฒนธรรมเก่าคือชูบุคคล ชูพรรคที่ตัวเองรัก โดยไม่สนใจว่าบุคคลหรือพรรคที่ตัวเองชอบนั้นทำอะไรที่ไม่เข้าท่าเหมือนกัน

ดูเหมือนจะมองสอดคล้องกับนักวิชาการบางส่วนวิพากษ์ว่าคนเสื้อแดงปกป้องพรรคอย่างมาก คิดว่าสถานการณ์นี้จะคลี่คลายไหม อย่างไร

คลี่คลายได้ แน่นอน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เมื่อประชาชนรวมตัวกันได้แล้วมีความแข็งแกร่งพอที่จะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือฝ่ายค้านหรือหน่วยงานใดๆ ในแผ่นดินนี้ได้ด้วยตัวเอง เราพูดเพื่อให้ก้าวหน้า ไม่ใช่ให้ถอยหลัง ถึงต้องเตือนกันว่าประชาชนยังยืนอยู่และมีสมองอยู่ ไม่ใช่ต้องทำตามคุณทั้งหมด อยากให้รู้ก็ให้ ไม่อยากให้รู้ก็ปกปิด ต้องแฟร์กับประชาชน แต่โดยรวมแล้วเขาก็ทำได้ดีกว่าแต่ก่อน แต่ยังเกรงใจสิ่งอื่นมากกว่าเกรงใจประชาชน

ถ้าประชาธิไตยไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น คนเสื้อแดงจะหายไปไหม

คำว่า "คนเสื้อแดง" มันนิยามไม่เหมือนกัน ถ้าไปถามณัฐวุฒิ (ใสยเกือ้) กับสุชาติ (นาคบางไทร) อาจได้คนเสื้อแดงคนละความหมายกัน คนเสื้อแดงของผมคือคนที่มีจิตวิญญาณของการต่อสู้ คนที่มีอิสระเสรีภาพตัดสินใจได้ด้วยตนเอง ดังนั้น มันก็ไม่หาย คนวันเสาร์ฯ ก็ไม่หาย ไม่ว่าจะไปอยู่จุดไหนเขาก็ก้าวหน้าในอุดมการณ์ของเขาได้ มันอยู่ในตัวอยู่แล้วโดยไม่ต้องใส่เสื้อแดงด้วย แต่ถ้าเป็นเสื้อแดงของคุณณัฐวุฒิ จตุพร จะน้อยลงไปหรือเปล่าไม่รู้ หรือจะมีเฉพาะเมื่อมีงบมา มีเวทีใหญ่

ช่วงหลังปี 49 มีกลุ่มย่อยมาปราศรัยที่สนามหลวง บรรยากาศช่วงนั้นเป็นอย่างไร แล้วดารณีมีบทบาทอย่างไร

ช่วงนั้นเป็นช่วงปลายปี 2549 ที่มีกลุ่มต่างๆ เริ่มออกมาต่อต้านรัฐประหาร และเบ่งบานสูงสุดตอนกุมภาพันธ์  มีนาคมปีถัดมาก่อนจะมีพีทีวี แล้วเราก็สลายกันไป มีกลุ่มย่อยหลายกลุ่มใช้สนามหลวงจัดกิจกรรม คนฟังก็ไม่เยอะ ประมาณ 100-200 คน ซึ่งตอนนั้นสนามหลวงก็มีคนเร่ร่อนเยอะ ถ้านับคนเร่ร่อนไปด้วยก็ต้องขออภัย แต่มันก็มีประมาณนั้นจริงๆ  

กลุ่มที่ออกมากลุ่มแรกเลยคือ กลุ่ม 19 กันยาต้านรัฐประหาร พวกคุณอุเชนทร์ เชียงเสน บก.ลายจุด เหล่านี้ หลังจากนั้นเราก็รวมมั่ง เป็นกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ พร้อมๆ กันนั้นก็มีกลุ่มพิราบขาวของคุณนพรุจ (วรชิตวุฒิกุล) ด้วย เขาดูเหมือนมีการจัดตั้งด้วย 20-30 คน เท่มาก มีเสื้อสีดำ ป้ายผ้าอันใหญ่ แต่เราคนเยอะกว่าแน่นอนเพราะคนอยู่ในเน็ตอีกเป็นพัน กลุ่มคนวันเสาร์ฯ ก่อตัวจากในโลกไซเบอร์ จากนั้นก็มีกลุ่มของคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข คือกลุ่ม 24 มิถุนายประชาธิปไตย กลุ่มของบก.ลายจุดที่แตกมาจาก 19 กันยาฯ เป็นกลุ่มพลเมืองภิวัตน์ เป็นต้น แต่ละกลุ่มก็จะตกลงกันว่าใครจะจัดกิจกรรมวันไหน สำหรับกลุ่มคนวันเสาร์ฯ ก็เคลื่อนไหวจริงจังพอสมควรมีเว็บ มีเวที ขายซีดี เคลื่อนไหวกันตลอด 5 เดือนก่อนจะมีเวทีใหญ่ เราก็ดีใจมีคนมารับไม้ เพราะเราก็ไม่ได้มีทุนรอนอะไร ต้องแชร์กันอยู่ทุกอาทิตย์

ตอนนั้นผู้คนน่ารักมาก ไม่รู้มาจากไหนก็มาช่วยกันพูด ช่วยกันฟัง พี่ดาก็มาจากไหนไม่รู้ แต่เขาพูดดี ก็ชวนเขามาพูดบ้าง เขามาขอพูดบ้าง พี่ดาเป็นคนมีความจริงใจมาก ไม่ได้มีกลุ่มก้อนของเขาเอง แล้วก็มาแจม คำพูดคำจาของเขาหนักแน่น ค่อนข้างแรง และการที่เขาเป็นสื่อมวลชนมาก่อนก็มีข้อมูลที่ทำให้เราฟังเพลินไปเหมือนกัน วิธีพูดเร้าใจ แสดงออกทั้งอารมณ์และข้อมูล ไม่ใช่แค่พูดเอาฮา เขาก็เป็นนักพูดประชาชน

แล้วมองอย่างไรที่ดา ตอร์ปิโด ยังติดคุกอยู่ตอนนี้

คดีนี้ใครก็สู้ไม่ได้  แต่พี่ดา พี่สมยศ เขาก็สู้ คดีนี้คุณต้องไม่สู้ ถ้าเขาจะสั่งให้คุณติดคุก คุณต้องติดคุก ติดแล้วรีบๆ ออก มันไม่ใช่เวลาที่จะสู้ แต่ผมพูดไม่ได้ เพราะทุกคนก็มีอุดมการณ์ของเขา ฉะนั้น ก็ได้แต่ให้กำลังใจและเคารพความคิดเขา แตถามว่าเป็นประโยชน์ไหมก็เป็นประโยชน์เหมือนกันในภาพรวมที่ทำให้ได้เห็นปัญหาและเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจน

#######

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสนอ 5 ทางแก้ลดปัญหาขาพนันในเยาวชน

Posted: 19 Sep 2013 05:36 AM PDT

เครือข่ายอาจารย์สื่อสารมวลชน 9 มหาวิทยาลัย ออก 5 ข้อเรียกร้อง เสนอต่อรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งแก้ปัญหาการเล่นพนันในวันเยาวชนแห่งชาติ หลังพบสถิติขาพนันวัยละอ่อนเพียบ เปิดข้อมูลไพ่และไฮโลครองแชมป์การเล่นมากที่สุด ด้าน 'หมอประเสริฐ' ระบุ เด็กที่ชอบเล่นการพนัน อนาคตเสี่ยงเป็นโรคจิตเวชและซึมเศร้า วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยหาทางออก

ในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 20 กันยายนของทุกปี เครือข่ายเยาวชน 4 ภาค ของศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาการพนัน มูลนิธิสดศรี-สฤษดิวงษ์ เปิดเผยผลสำรวจสถานการณ์ของเยาวชน พ.ศ.2556  พบว่า เยาวชนร้อยละ 62 เคยเล่นไพ่ ร้อยละ 39 เคยเล่นหวยใต้ดิน ร้อยละ 35 เคยเล่นสลากกินแบ่งรัฐบาล ร้อยละ 26 เล่นพนันฟุตบอล ร้อยละ 12 เคยส่งเอสเอ็มเอสชิงโชค และ ร้อยละ 7 เล่นหวยออนไลน์

ทั้งนี้ยังพบว่า การพนันที่เยาวชนทุกภูมิภาคเล่นมากที่สุด คือไพ่และไฮโล ซึ่งเยาวชนที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี จะมีสถานการณ์เสี่ยงต่อการพนันมากที่สุด อีกทั้งเด็กและเยาวชนที่เริ่มเล่นพนันมักไม่ถูกลงโทษจากครอบครัวทำให้รู้สึกว่าการเล่นพนันไม่ใช่เรื่องผิด ทำให้เยาวชนในทุกภูมิภาคยังมีระดับของความรู้ความเข้าใจต่อการพนันที่ต่ำกว่าเกณฑ์

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เลขาธิการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิวงษ์ กล่าวว่า คนที่เล่นการพนันจะแบ่งออกเป็น 2 พวก กลุ่มแรกคือเล่นพนันจนเกิดปัญหา อีกกลุ่มคือเป็นโรคติดการพนัน แต่ไม่ว่าจะเล่นด้วยเหตุผลอะไรก็ล้วนแล้วแต่เสพติดการพนันด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งการเสพติดการพนันองค์การอนามัยโลกได้จัดว่าเป็นความผิดปกติของการควบคุมแรงผลักดันที่เรียกว่า Impulse control Disorder ซึ่งจะทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจ ขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง

นอกจากนี้ยังมีการวิจัยพบว่าผู้ที่ติดการพนันอาจจะทำให้เกิดโรคทางจิตเวชตามมา เช่นโรคซึมเศร้า หรือทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย ส่วนปัญหาของเยาวชนที่ติดการพนันนั้น พบว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่ที่ติดการพนันมาจะมีจิตใจที่ไม่อยากจะเรียนหนังสือ หมกมุ่นอยู่กับการเล่นพนัน ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ขาดคนที่มีคุณภาพทัดเทียมกับคนในประเทศอื่น และขาดกำลังความคิดของคนในวัยหนุ่มสาวที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นเราจึงจำเป็นหาทางออกร่วมกันในการป้องกันปัญหาการติดพนันในเยาวชนของเรา

ขณะที่เครือข่ายอาจารย์สื่อสารมวลชนเพื่อขับเคลื่อนสังคมลดปัญหาจากการพนัน 9 มหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยพายัพ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการป้องกันปัญหาเยาวชนจากการพนัน จึงได้ร่วมกันออกข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อป้องกันปัญหาจากการพนันในกลุ่มนิสิตนักศึกษา 5 ข้อ ดังนี้

1.การที่นิสิตนักศึกษามีประสบการณ์เล่นพนันตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้มีทัศนคติในเชิงบวกต่อการเล่นพนันส่งผลให้โตขึ้นก็จะเล่นการพนันอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการควรวางพื้นฐานในการส่งเสริมเรียนรู้ ป้องกันภัยการพนันตั้งแต่ประถมและมัธยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของการรู้ทันสื่อที่เกี่ยวข้องกับการพนัน ทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ ภัยจากการพนัน พนันแฝงในรูปแบบการชิงโชค

2.บทบาทสื่อออนไลน์ เริ่มระบาด เว็บพนันออนไลน์กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงใหม่ ล่อใจให้เด็ก เยาวชน และนิสิตนักศึกษา เข้าสู่วงจรการพนัน ด้วยการโฆษณาจูงใจในระบบออนไลน์หลากหลายรูปแบบ เพื่อสร้างความสนใจในการเสี่ยงดวง โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ด้วยการใช้จุดแข็งของออนไลน์ในระบบเรียลไทม์เป็นเครื่องชักจูงและกระตุ้นการเล่นพนันอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องหามาตรการที่ชัดเจนและโปร่งใส ในการเฝ้าระวังและปราบปรามเว็บไซต์การพนันให้เป็นระบบอย่างต่อเนื่อง

3.การสื่อสารในงานโฆษณาผ่านสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ในลักษณะของการเสี่ยงโชคเสี่ยงดวง เป็นตัวสร้างพื้นฐานของการรองรับค่านิยมจากการพนันอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ SMS ส่งเพื่อให้ชิงรางวัล การชิงโชคเปิดฝาลุ้นเงินล้าน การพนันพื้นบ้านที่อ้างว่าเป็นประเพณี เป็นเรื่องที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพึงหยิบยกขึ้นมาพิจารณาร่วมกำหนดนิยามว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการพนันที่ผิดกฎหมายหรือไม่อย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนตลอดจนนิสิตนักศึกษาตกอยู่ภายใต้บรรยากาศแห่งการพนันโดยไม่รู้ตัว

4.สถาบันอุดมศึกษาต้องแสดงความพยายามที่ชัดเจนในการป้องกันการแพร่กระจายการเล่นพนันในทุกรูปแบบเข้าสู่เขตมหาวิทยาลัย ตั้งแต่การห้ามจำหน่ายสลากกินแบ่งในมหาวิทยาลัย การกำหนดไม่ให้มีการเล่นการพนันในทุกรูปแบบ ทั้งไพ่ บิงโก ชิงเงิน เปิดเลขหนังสือ หวยหุ้น หวยบนดิน หวยใต้ดิน และควรร่วมตรวจสอบกับชุมชนโดยรอบในการป้องปรามร้านอาหาร สถานบันเทิงรอบมหาวิทยาลัย ไม่ให้เป็นแหล่งรวมกลุ่มกันเล่นพนันของนักศึกษา

5.สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติ (สกอ.) พึงบรรจุเรื่องการต่อต้านการพนันเข้าเป็นส่วนหนึ่งในเกณฑ์องค์ประกอบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อให้มหาวิทยาลัยใช้กำหนดเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณสมบัติบัณฑิตที่พึงประสงค์ต้องห่างไกลจากการพนัน และร่วมส่งเสริมพัฒนามาตรฐานการส่งเสริมป้องกันภัยจากการพนันอย่างชัดเจน
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคประชาสังคมไทยเคลื่อนพล ประกาศจับตาเอฟทีเอไทย-อียู ถึงที่สุด

Posted: 19 Sep 2013 05:04 AM PDT


เมื่อเวลา 12.00 น. วันนี้ (19 ก.ย.) เครือข่ายภาคประชาชนกว่า 2,000 คน ประกอบด้วยเครือข่ายเกษตรทางเลือก กลุ่มเกษตรอินทรีย์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เครือข่ายงดเหล้า เครือข่ายผู้บริโภคและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ที่รวมตัวกันในนามกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน FTA Watch และองค์กรภาคี ซึ่งจัดการชุมนุมและเปิดเวทีรณรงค์สาธารณะ มาตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย.คู่ขนานกับการเจรจาการเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป รอบ 2 ณ โรงแรม เลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ (16-20 ก.ย.) นั้นได้เคลื่อนขบวนอย่างสงบ โดยมีการจัดริ้วขบวนรณรงค์ให้ความรู้เรื่องการเจรจา และเวทีปราศรัยเคลื่อนที่เพื่อนำเสนอชี้แจงข้อห่วงกังวล 4 ประการตามที่ประชาธรรมได้เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้แก่ประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ และนักท่องเที่ยวในบริเวณถนนลอยเคราะห์

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน จำนวน 1 กองร้อย ได้ตั้งแผงสกัดไม่ให้กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนเข้าไปยังพื้นที่โรงแรม เลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ ส่งผลให้ผู้ชุมนุมทั้งหมดต้องตั้งเวทีปราศรัยเคลื่อนที่บริเวณหน้าโรงแรมเซ็นทารา ดวงตะวัน ท่ามกลางการให้ความสนใจจากนักท่องเที่ยว และการสนับสนุนจากประชาชนในบริเวณดังกล่าว โดยตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมจากเครือข่ายต่างๆ ได้ขึ้นปราศรัยให้ข้อมูล สลับกับกิจกรรมทางวัฒนธรรม ระหว่างรอพบผู้แทนคณะเจรจาจากทั้ง 2 ฝ่ายลง เพื่อรับหนังสือและข้อเสนอแนะในเวลาประมาณ 14.00 น.

นายอุบล อยู่หว้า เป็นตัวแทนกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน FTA Watch และภาคประชาสังคม กล่าวแสดงความชื่นชมต่อท่าทีของคณะเจราจาฝ่ายไทยที่ไม่ละเลยข้อห่วงใยของภาคประชาชนที่ได้เสนอไปแล้ว ทั้งการไม่ยอมรับข้อเสนอการเจรจาที่มากไปกว่าข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (ทริปส์พลัส) ทั้งในเรื่องยา และทรัพยากรชีวภาพ

อย่างไรก็ตาม องค์กรภาคประชาสังคมยังคงต้องการเห็นจุดยืนที่ชัดเจนของคณะเจรจาที่จะปกป้องไม่ให้การค้าเสรีเปิดช่องให้เกิดการส่งเสริม หรือเร้าให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่ที่อายุน้อยลง ตลอดจนรักษาไว้ซึ่งมาตรการและนโยบายดูแลสุขภาพของประชาชน ถัดมาในด้านการคุ้มครองการลงทุนที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนฟ้องร้องผ่านอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศนั้นต้องถูกยกเว้นในเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพสาธารณะ มาตรการเพื่อปกป้องดุลชำระเงิน และนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เป็นต้น ประการสุดท้าย สำหรับเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางสุขภาพ สาธารณูปโภค และสวัสดิการทางสังคมควรละเว้นจากการเจรจา

ด้าน น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล เป็นตัวแทนกล่าวย้ำกับผู้แทนคณะเจรจาสหภาพยุโรป ว่า ภาคประชาสังคมไทยยังคงยืนหยัดตามเนื้อหาที่ได้เรียกร้องไปก่อนหน้านี้แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น หากสหภาพยุโรปไม่หยุดคุกคามสิทธิ เสรีภาพ ระบบประชาธิปไตย และระบบสุขภาพของประชาชนไทย ผ่านการกดดันให้รัฐบาลไทยต้องยอมรับเงื่อนไขการเจรจาการค้าที่มีผลผูกพันให้ไทยต้องยอมรับทริปส์พลัส จึงสามารถตีความได้ว่าสหภาพยุโรปถือเอาผลประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติมาก่อนสวัสดิภาพของประชาชน และสวนทางกับเกียรติภูมิของผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ดังนั้น ภาคประชาสังคมไทยจะร่วมมือกับภาคประชาสังคมนานาชาติยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งนอร์เวย์ให้เพิกถอนรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพซึ่งสหภาพยุโรปได้รับเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากรับฟังข้อเสนอของกลุ่ม FTA Watch และภาคประชาสังคมไทย แล้วตัวแทนคณะเจรจาฝ่ายไทยได้กล่าวขอบคุณผู้ร่วมชุมนุมที่ให้การสนับสนุน และเพิ่มอำนาจการต่อรองในอีกทางหนึ่ง ส่วนข้อเสนอแนะนั้นทีมเจรจาจะนำไปพิจารณาและชี้แจงต่อสาธารณะต่อไป ขณะที่ผู้แทนทีมเจรจาสภาพยุโรปกล่าวชื่นชมความสงบเรียบร้อยของการชุมนุมซึ่งเป็นการแสดงออกตามหนทางของประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังระบุว่า การเจรจาระหว่างไทย-สหภาพยุโรปยังเพิ่งเริ่มต้นที่จะหากรอบการเจรจาที่ลงตัวทั้งสองฝ่าย ฉะนั้นจึงต้องว่ากันไปตามกระบวนการเจรจา

ทั้งนี้ เมื่อมีการยื่นข้อเสนอต่อคณะเจรจาทั้งสองฝ่ายแล้วนั้น น.ส.กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ได้อ่านคำประกาศปิดท้ายการชุมนุมว่า จนถึงบัดนี้พวกเราได้ตระหนักแล้วว่า สหภาพยุโรปยืนยันหนักแน่นในการเดินหน้าผลักดันข้อเรียกร้องหลายประเด็นที่วางอยู่บนผลประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติทั้งด้านยา พันธุ์พืช และนักลงทุนข้ามชาติ ที่คุกคามต่อการอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อย ความมั่นคงทางอาหาร และระบบสุขภาพของประชาชน ไปจนถึงนโยบายรัฐ นับเป็นพฤติกรรมที่ไร้มนุษยธรรมขัดขวางสันติภาพและการสร้างสมานฉันท์บ่อนทำลายระบบประชาธิปไตย สวนทางกับเกียรติภูมิของผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

"เรายินดีจะเป็นกองหนุนอันเข้มแข็งให้กับทีมเจรจาในการต้านทานแรงกดดัน และความพยายามเอารัดเอาเปรียบของสหภาพยุโรป พวกเราจะติดตามอย่างใกล้ชิดและจะร่วมพลังยืนหยัดคัดค้านจนถึงที่สุด หากสหภาพยุโรปจะผลักดันข้อเรียกร้องใดๆ ที่ส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ และความอยู่รอด พวกเราจะกลับมาอีกแน่นอน ด้วยจำนวนคน ความรู้ กำลังกาย-ใจที่มากขึ้นและเข้มแข็ง เราจะไม่ยอมถอยให้ทุนใหญ่ที่เอารัดเอาเปรียบแม้แต่ก้าวเดียว"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผลวิจัยชี้รัฐทบทวนเป้าหมาย FTA ไทย-อียู หวั่นได้ไม่คุ้มเสีย เปิดทางต่างชาติผูกขาดพันธุ์พืช-สัตว์

Posted: 19 Sep 2013 02:34 AM PDT

<--break->

มูลนิธิชีววิถีและ สช. จัดเวทีรับฟังผลศึกษาผลกระทบจากการทำข้อตกลงเอฟทีเอไทย-อียู แนะรัฐควรทบทวนเป้าหมายและความคุ้มค่าของการเจรจา หวั่นเปิดช่องให้บริษัทข้ามชาติจดสิทธิบัตรและเข้าถึงทรัพยากร ทั้งเมล็ดพันธุ์พืช สมุนไพร และจุลินทรีย์ คิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ขณะที่เกษตรกรไทยต้นทุนพุ่ง 2-6 เท่า และสูญเสียศักยภาพของประเทศในระยะยาว หากข้อมูลไม่พร้อมควรพักการเจรจา

เมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา มูลนิธิชีววิถีและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมว่าด้วยผลกระทบจากข้อเสนอความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศและสหภาพยุโรปหรืออียู ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ณ ห้องประชุมสานใจ 2 ชั้น 6 อาคารสุขภาพแห่งชาติ โดยมี นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กรมเจรจาการค้า กระทรวงพาณิชย์ กรมวิชาการเกษตร นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ฯลฯ เข้าร่วม

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ผลการวิจัยพบว่าถ้ารัฐบาลไทยลงนามในข้อตกลงฉบับนี้จะเสียเปรียบอียูด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรพันธุกรรมอย่างมาก เพราะอาจทำให้ต่างชาติเข้าถึงทรัพยากรเหล่านี้มากขึ้นและเกิดการผูกขาดทางการค้าและทรัพย์สินทางปัญญา โดยไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ คิดเป็น 10% ของทั้งโลก และนำมาใช้ผลิตยาสมุนไพรไทยกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ผลิตอาหารและเครื่องสำอางคิดเป็นมูลค่า 4.8 หมื่นล้านบาท

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า เงื่อนไขที่ทางอียูเสนอให้ไทยเห็นชอบคือ 1.เป็นภาคี UPOV หรือ The International Union for the Protection of New Varieties of Plants ซึ่งเป็นองค์กรภาครัฐระหว่างประเทศ เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับพันธุ์พืชโดยทำให้เกษตรกรไทยต้องใช้เมล็ดพันธุ์ในราคาที่แพงขึ้น 2-6 เท่าตัว คิดเป็นมูลค่า 80,721-142,932 ล้านบาท และมีแนวโน้มบังคับให้ไทยต้องยกเลิกกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งจะทำให้บริษัทต่างชาติเข้าถึงพันธุ์พืชของไทยได้ง่ายขึ้น2. เป็นภาคีสนธิสัญญาบูดาเปสต์ ซึ่งจะเปิดทางให้ต่างชาติเข้าถึงจุลินทรีย์ได้ง่ายขึ้น และประเทศไทยจะไม่สามารถสร้างเงื่อนไขเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์มาต่อรองได้อีก ตรงนี้ถือเป็นความเสียหายราว 6,570-24,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ผลกระทบระยะยาวคือจะถูกกีดกันให้ไม่นำจุลินทรีย์ไปใช้ประโยชน์ทั้งที่เป็นทรัพยากรชีวภาพของประเทศไทย 3.การขยายสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตเพราะอาจเกิดปัญหาจริยธรรมที่มนุษย์เป็นเจ้าของสิ่งมีชีวิตอื่นหรือมนุษย์ด้วยกันเอง ผูกขาดทรัพยากรพันธุกรรม กระทบเกษตรรายย่อยที่จะถูกผูกขาดการเมล็ดพันธุ์ สารเคมีรวมไปถึงระบบอาหาร

นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กล่าวว่า ควรศึกษาเพิ่มในเรื่องทางเลือกของการทำเอฟทีเอตั้งแต่ควรทำหรือไม่ควรทำไปจนถึงควรทำในประเด็นอะไรบ้างและทำไปเพื่ออะไร นอกจากนี้จะนำเสนอผลการศึกษานี้ไปยังรัฐบาลที่ถึงแม้ปัจจุบันจะกำลังเจรจาเอฟทีเออยู่ที่เชียงใหม่ แต่ในกระบวนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศก็ยังไม่เป็นที่สิ้นสุดยังมีอีกหลายขั้นตอนที่เปิดให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและสาธารณชนเสนอข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์เข้าไปร่วมพิจารณาได้อีก

ศาสตรเมธี ดร.สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า  จากผลการศึกษานี้สภาที่ปรึกษาฯ มีข้อเสนอเพิ่มเติมว่ารัฐบาลควรพักการเจรจาทางการค้า (Delay) ซึ่งเป็นมาตรการที่ทำได้หากพิจารณาแล้วว่ายังไม่เห็นประโยชน์จากการเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศ และในปัจจุบันอียูเร่งรัฐให้รัฐบาลไทยเร่งการทำเอฟทีเออาจจะเป็นเพราะทางกลุ่มอียูกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี 2551 และยังไม่เห็นแนวทางการฟื้นฟูที่แน่ชัด

ด้านนายบุญส่ง ฟักทอง สภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่าอยากให้มีการสื่อสารข้อมูลเหล่านี้ไปยังกลุ่มเกษตรกรให้ทั่วถึงเพราะจะเป็นกลุ่มที่กระทบมากที่สุด เช่นในปัจจุบันก็ได้รับผลกระทบจากการทำเอฟทีเอไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย แล้วจากกรณีราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำเพราะไปถูกจัดอยู่ในพืชประเภทไม่อ่อนไหว แต่ในความเป็นจริงมีความอ่อนไหวมากเพราะมาเลเซียปลูกได้ดีกว่าทำให้ต้นทุนต่ำ ราคาถูกกว่า ในขณะที่ไทยมีต้นทุนสูงกว่าทำให้ตอนนี้ที่เปิดเอฟทีเอทำให้ราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำมาก
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: 19 กันยา ยังจำได้ไหม?

Posted: 19 Sep 2013 01:37 AM PDT

 
จำได้ไหมวันนี้เมื่อ 7 ปีที่แล้วมีการทำรัฐประหารที่อ้างว่าทำเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์แต่ปิดปากผู้ใช้สิทธิเลือกตั้

จำได้ไหมว่าวันนี้เมื่อ 7 ปีที่แล้วสื่อส่วนใหญ่ก็เขียนบทบรรณาธิการยอมรับรัฐประหารพร้อมข้ออ้างสารพัด

จำได้ไหมว่าวันนี้เมื่อ 7 ปีที่แล้วคนที่ในที่สุดกล้าพลีชีพเพื่อต้านนรัฐประหารเป็นคนธรรมดาๆขับแท็กซี่ชื่อ
ลุง นวมทอง ไพรวัลย์

จำได้ไหมว่าวันนี้เมื่อ 7 ปีที่แล้วมีคนอ้างว่าประชาชนส่วนใหญ่โง่
ถูกหลอกและตัดสินใจใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างมีวุฒิภาวะไม่เป็นจึงต้องเว้นวรรค และวันนี้คนเหล่านั้นก็ยังเชื่อเช่นนี้

จำได้ไหมว่าหลังวันนี้เมื่อ 7 ปีที่แล้วมีคนเอาดอกไม้ไปมอบให้เหล่าทหารที่เข็นรถถังออกมา จนวันนี้ดอกไม้พิษได้เบ่งบานเป็นความเกลียดชังซึ่งกันและกันทั่วทั้งแผ่นดินไม่เว้นแม้ในหมู่เพื่อนฝูงและครอบครัว

ยังจำได้ไหม... วันนี้วันที่ 19 กันยา 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปลดพันธนาการทางความคิดเก่า “เข้าใจคนรุ่นใหม่”

Posted: 19 Sep 2013 12:52 AM PDT


(ภาพจาก: http://sh000rty.deviantart.com/art/Open-mind-2-276460850)

การขับเคลื่อนสังคมสู่การพัฒนาตามวิถีประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับหลักการเสรีภาพ  อิสรภาพ  ความเท่าเทียมเสมอภาค ที่เคารพสิทธิความเป็นมนุษย์ของทุกคนในสังคม ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ มีการออกมาเคลื่อนไหวของประชาชนมากมาย บทบาทของคนรุ่นใหม่ในการสร้างพลังการขับเคลื่อนจะสามารถดำเนินการได้บรรลุตามเป้าประสงค์นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีองค์ประกอบและปัจจัยเอื้อให้คนรุ่นใหม่และองค์กรรุ่นใหม่ อันจะนำไปสู่การสร้างกิจกรรมและการดำเนินงานที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่และการสร้าง "สังคมธรรมาภิบาล" ปัญหาใดที่เป็นตัวขัดขวางบทบาทคนรุ่นใหม่ โอกาสการสร้างบทบาทคนรุ่นใหม่จะต้องสร้างอย่างไรเป็นสิ่งที่สังคมต้องให้ความสำคัญ เพราะคนรุ่นใหม่ในวันนี้จะเป็นผู้กำหนดทิศทางการพัฒนาชาติในอนาคต

"อย่าตั้งกรอบแล้วให้คนรุ่นใหม่ต้องเดินทางเส้นที่เรียกว่าความหวังดีแบบที่คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการ ขอให้เขาเหล่านั้นได้สร้างเส้นทางเดินในรูปแบบของเขาเอง การตำหนิคนรุ่นใหม่ว่าไม่ได้เรื่องสามารถกระทำได้ แต่ก่อนตำหนิอยากให้สังคมตั้งคำถามก่อนว่ารู้จักและเข้าใจวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่มากน้อยเพียงใด" คนรุ่นใหม่สนใจงานเพื่อสาธารณะลดลงจริงหรือไม่ มีเหตุปัจจัยใดที่ทำให้เป็นอย่างนั้น

แรงจูงใจสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่ทำกิจกรรมเพื่อสาธารณะนั้นมีหลายด้าน อาทิ การตระหนักรับผิดชอบต่อสาธารณะที่เล็งเห็นผลกระทบต่อสาธารณะที่เข้าเห็นว่าหากปล่อยไว้จะเกิดปัญหาขึ้นกับสังคม  ความต้องการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสในการสร้างความเข้าใจและการตระหนักรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้สังคมได้ตื่นตัว คนรุ่นใหม่ในแต่ละพื้นที่จะทราบปัญหาที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่เป็นอย่างดี การออกมาแสดงบทบาทในลักษณะแบบคนรุ่นใหม่จึงเกิดขึ้น ด้วยความหวังที่ต้องการเห็นสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่เขาเหล่านั้นตั้งมั่นไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวในสถาบันการศึกษาหรือนอกสถาบันการศึกษาถือเป็นการสร้างพลังความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ต่อสาธารณะ

คนรุ่นใหม่ในยุคสังคมเทคโนโลยีสมัยใหม่ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องสร้างการตระหนักรับรู้ให้เขาเหล่านี้มองเห็นถึงศักยภาพในตัวที่มีหลากหลาย ซึ่งล้วนเป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นที่จะต้องนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสาธารณะ อาทิ ความมีเอกภาพของคนรุ่นใหม่ที่สามารถติดต่อปฏิสัมพันธ์กับหน่วยงานอื่นได้ง่ายโดยเฉพาะกับคนที่อยู่ในช่วงอายุรุ่นเดียวกัน คนรุ่นใหม่มีการยอมรับในความหลากหลายได้อย่างไม่มีอคติซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างคนรุ่นใหม่ในการดำเนินงานสาธารณะ กล้าที่จะดำเนินกิจกรรมทั้งที่เป็นประเด็นเย็นและประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นในสังคมระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ  ซึ่งเขาเหล่านี้สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้อย่างรวดเร็วและพร้อมที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆที่ท้าทาย รวมถึงการปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้เป็นอย่างดีไม่มีวาระซ่อนเร้นใดแอบแฝง ที่สำคัญเขาเหล่านั้นมีจิตใจที่มุ่งมั่นทำประโยชน์ต่อสาธารณะโดยที่ผลประโยชน์ส่วนตนมาทีหลัง

ขณะเดียวกันการทำงานในรูปแบบคนรุ่นใหม่ต้องประสบกับปัญหาที่ทำให้กลายเป็น "ท่อนซุงใหญ่ขวางทางเดินสู่เป้าหมายที่ตั้งมั่นไว้" อาทิ การขาดกลยุทธ์และความคิดเชิงระบบ การขาดความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินงาน การขาดความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนานวัตกรรมในการดำเนินงาน การขาดการเรียนรู้ในการดำเนินงานเพื่อสาธารณะ การขาดความรู้เชิงประเด็นและความเชี่ยวชาญในการทำงานกับภาคส่วนต่างๆ ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย พร้อมทั้งยังไม่มีความมั่นคงในตัวเองก็เป็นจุดอ่อนหนึ่ง นอกจากนี้คนรุ่นใหม่บางส่วนจะขาดความมั่นใจในตัวเองเมื่อต้องแสดงออกต่อหน้าสาธารณะที่ทำให้ถูกมองว่าไม่น่าเชื่อถือ การมีปัญหาภายในองค์กรกันเองจะทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สามารถดำเนินงานได้ดีเพราะมีความเป็นส่วนตัวสูง การดำเนินกิจกรรมที่ไม่ต่อเนื่องถือเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่ยอมจำนนกับปัญหาเมื่อเกิดขึ้น ทำให้ส่งผลต่อถึงจำนวนคนทำงานในทีมจะค่อยๆ ลดลงและเหลือคนทำงานน้อย ต้องมองให้เห็นถึงแก่นปัญหาว่าเกิดขึ้นมาด้วยเหตุปัจจัยใดสามารถแก้ไขพัฒนาให้เกิดศักยภาพได้หรือไม่

อย่างไรก็ดีการดำเนินงานของคนรุ่นใหม่ที่ทำให้มองเห็นทั้งจุดเด่นและจุดด้อยแล้วนั้นใช่ว่าความหวังของสังคมจะลดลงเพื่อจุดอ่อนของคนรุ่นใหม่ค่อนข้างมาก "ในวิกฤติย้อมมีโอกาส" ที่จะทำให้เกิดการหนุนเสริมการทำงานของคนรุ่นใหม่ได้  เป็นสิ่งที่ทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคมต้องให้ความสำคัญ องค์กรคนรุ่นใหม่ที่ก่อร่างสร้างองค์กรได้ไม่นานการบริหารจัดการองค์กรยังไม่มีประสิทธิภาพบางครั้งทำให้ขาดความเชื่อมันจากแหล่งงบประมาณสนับสนุนทั้งจากองค์กรเพื่อการพัฒนาเอกชน รัฐบาล ภาคธุรกิจ และอื่นๆ องค์กรคนรุ่นใหม่เข้าถึงแหล่งสนับสนุนงบประมาณได้ลำบาก บางครั้งต้องดิ้นรนเพื่อหางบประมาณด้วยการเปิดหมวกขอรับบริจาคตามสภาพในตลาดนัดหรือสถานที่ซึ่งมีคนพลุกพล่าน หากมองว่าการเปิดกล่องขอรับบริจาคก็ดีแล้วทำให้เห็นความพยายามตั้งใจของคนรุ่นใหม่ที่อยากทำกิจกรรมอาสาพัฒนาลองมองอีกมุมหนึ่งดูว่า "จะดีแค่ไหนหากองค์กรคนรุ่นใหม่มีงบประมาณสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง" ทุกภาคส่วนต้องมองให้เห็นว่าองค์กรคนรุ่นใหม่ไม่ใช่แค่ทางเลือกในการสนับสนุนกิจกรรมบางอย่างที่ตรงตามแผนงานด้านเยาวชนที่เขาเหล่านั้นต้องเข้าร่วม ต้องสร้างกระบวนการคิดแบบมีส่วนร่วมให้กับเขาเหล่านั้นในการพัฒนาและต้องมองว่าเขาเหล่านั้นเป็นกำลังหลักที่จะต้องดำเนินงานร่วมเป็นภาคี ควรมององค์กรคนรุ่นใหม่เป็นองค์กรบริสุทธิ์ปราศจากการซ่อนเร้นไม่ใช่เขาเป็นเครื่องมือเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์  ต้องพร้อมดำเนินงานร่วมเพื่อให้เกิดกลไกสำหรับองค์กรคนรุ่นใหม่ที่จะดำเนินงานเพื่อสาธารณะ

นอกจากนี้ รัฐจะต้องวางนโยบายสนับสนุนการพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้สนใจการดำเนินงานเพื่อส่วนร่วมและการสร้างองค์กรคนรุ่นใหม่ทั้งระดับพื้นที่และเครือข่ายระดับชาติ ต้องเปิดโอกาสและช่องทางให้คนรุ่นใหม่ได้มีเวทีในการแสดงออกให้มากที่สุด ไม่ควรมองว่าสิ่งที่คนรุ่นใหม่ทำเป็นการไม่อนุรักษ์วัฒนธรรมเดิมของท้องถิ่นหรือของชาติ สังคมต้องยอมรับให้ได้ในความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย เพราะบางวัฒนธรรมที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาท้ายที่สุดอาจไม่ตอบโจทย์สังคมแห่งการพัฒนาประชาธิปไตย ถ้าเขามองเห็นสิ่งที่เป็นปัญหาในการพัฒนาประชาธิปไตยย่อมส่งผลสู่กระบวนการคิดค้นกลไกแก้ไขให้เกิดสังคมประชาธิปไตยตามที่รัฐพยายามสร้างให้เกิดขึ้น ให้เขาเหล่านั้นได้เรียนรู้การดำเนินงานทั้งที่สำเร็จและล้มเหลวของเขาเอง สังคมต้องให้ความช่วยเหลือสนับสนุนให้เกิดพลังคนรุ่นใหม่ให้มากที่สุด

"หากต้องการที่จะเห็นคนรุ่นใหม่ที่ดำเนินงานเพื่อสาธารณะจะเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ ต้องเปิดใจให้กว้างถ้าอยากให้สังคมมีความหวังในอนาคต" เริ่มจากทัศนคติของที่ไม่มองตนเองว่ามีประสบการณ์มากกว่าเพราะประสบการณ์ที่แตกต่างของสังคมคนละยุคสมัยอาจยังไม่ตอบโจทย์สังคมปัจจุบัน ต้องสนใจคนรุ่นใหม่อย่างจริงจัง อย่าให้คนรุ่นใหม่ต้องมองตนเองว่าเป็นองค์กรด้อยเมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อสาธารณะอื่นๆของผู้ใหญ่ สังคมควรเปิดกว้างทางความคิดที่ไม่ต้องเน้นความเป็นวิชาการมากแต่เริ่มต้นเน้นกระบวนการกับคนรุ่นใหม่มากกว่า เนื่องจากบางครั้งการคิดแบบวิชาการไม่สามารถบอกได้ว่าคนเหล่านั้นจะดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข สิ่งที่อธิบายได้มากกว่าว่าคนรุ่นใหม่จะอยู่ในสังคมได้มีความสุข คือ "มนุษยสัมพันธ์ที่ดีในสังคม" และจะทำให้คนรุ่นใหม่ได้ตกผลึกทางความคิดเองได้

รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ ไม่ควรจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและกิจกรรมทางการเมือง ไม่ควรนำความแตกแยกทางการเมืองของสังคมใหญ่มาเหมารวมกับคนรุ่นใหม่ หากกลไกทางกฎหมายเข้ามาแสดงบทบาทในการลงโทษคนรุ่นใหม่ที่คิดต่าง กฎนั้นเปรียบเสมือนเป็นกรงที่วางไว้เพื่อกักขังทางความคิดของคนรุ่นใหม่ เพราะเป็นการ "เชือดไก่ให้ลิงดู" มีแต่จะนำไปสู่ความไม่กล้าแม้แต่จะตั้งคำถามต่อสิ่งที่ผิดแปลก หรืออาจร้ายแรงไปจนถึงการไม่กล้าคิด ไม่กล้าเขียน ไม่กล้าพูด จนทำให้ประชากรรุ่นใหม่ตกต่ำดำดิ่งลงหุบเหวแห่งความล้มเหลวของสังคม เพราะในเรื่องบางเรื่องหากเปิดเสรีได้จะดีขนาดไหนในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อพัฒนาสังคมในเชิงบวก สังคมต้องตั้งคำถามว่า "ไก่ที่ถูกเชือดไปเป็นไก่ที่ไร้คุณภาพ ไก่ที่เป็นปัญหาต่อการพัฒนา หรือเป็นการตัดสายพันธุ์ไก่ที่จะสืบทอดพันธุกรรมทางความคิดในการเปลี่ยนแปลง"

หากไก่ตัวนั้นเป็นไก่ที่สร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจที่ก่อให้เกิด "พลังในหมู่ลิงเกิดความคิดเพื่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบสังคมที่พันธนาการยุ่งเหยิงไร้ทิศทางขณะนี้" เมื่อคนรุ่นใหม่คิดต่างต้องโดนลงโทษด้วยข้อกฎระเบียบที่เป็นปัญหาไม่เปิดเสรีภาพแล้ว ความกลัวที่จะคิดต่างย่อมลดลง ลองจินตนาการถึงภาพสังคมที่คนไม่กล้าและต้องจำยอมกับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมในสังคมและละเลยให้อำนาจนั้นกดทับความเป็นมนุษย์ของทุกคนในสังคมไว้

(ภาพจาก: http://sh000rty.deviantart.com/art/GGGorilla-198662379)

สิ่งที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่งการสนับสนุนงบประมาณจะเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่จะทำให้เกิดการทำงาน  เมื่อเขามีงบประมาณในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจะทำให้เขามีวัตถุดิบในการสร้างอาวุธเพื่อการพัฒนา เขาเหล่านั้นจะสามารถซื้อวัถุดิบที่คาดว่าจะได้ประโยชน์สูงสุดมาประกอบรวมกันเป็นเครื่องเพื่อการขับเคลื่อนกลไกการพัฒนาที่ฝืดให้เคลื่อนที่ได้อีกแรงหนึ่ง รวมถึงจะเป็นการกระตุ้นการตื่นตัวในตนเองที่ไม่เพิกเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้นรอบตัวในสังคม

หากต้องการให้เกิดการทำงานของคนรุ่นใหม่ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสาธารณะ เกิดพลังในการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง สาธารณะจะต้องสนใจและให้บทบาทคนรุ่นใหม่ให้มากที่สุด เพื่อที่พวกเขาเหล่านั้นจะได้เรียนรู้และเติบโตมาเป็นบุคลากรในการสร้างสรรค์สังคม สังคมควรเรียนรู้บทเรียนการให้ความสำคัญที่ผิดพลาด สังคมที่ปิดกั้นการแสดงออกของคนรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถามต่อสิ่งที่เขาเหล่านั้นสงสัย "อย่าด่าก่อนที่จะฟังให้จบ อย่าสั่นรวนกลัวที่จะเห็นคนรุ่นใหม่แสดงความไม่รู้" หากสังคมต้องการให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนยอมรับในความแตกต่างหลากหลายได้ สังคมต้องวางตนบนฐานที่สามารถยอมรับในความต่างระหว่างคนในรุ่นอายุที่ต่างเช่นกัน คนรุ่นใหม่เหล่านั้นเขาอาจไม่ได้ก้าวร้าวอย่างที่สังคมจินตนาการ เพียงแค่เขาสงสัยในสิ่งที่ผิดแปลกในวิถีชิวิตของเขา จึงเป็นหน้าที่ของสังคมที่จะต้องถามด้วยว่าเพราะเหตุใดคนรุ่นใหม่จึงมีแนวความคิดย่างนั้น ระหว่างสังคมที่ดำเนินมาแบบยุ่งเหยิงในอดีตจนถึงปัจจุบัน แบบไหนจะเป็นสังคมที่จะสร้างความลงตัวในความแตกต่างได้มากกว่า

"ความคับแคบที่ไม่ยอมเปิดใจพิจาณาความแตกต่างของคนรุ่นใหม่ไม่ใช่ทางออกที่จะนำไปสู่การพัฒนาคนรุ่นใหม่ มีแต่จะสร้างความกลัวให้เกิดขึ้น การกดทับทั้งทางความคิดและการกระทำมีแต่จะเป็นผลเสียต่อสังคมในอนาคต โอกาสสังคมขึ้นอยู่กับคนรุ่นใหม่เป็นสำคัญ ในช่วงสถานการณ์บ้านเมืองที่ขัดแย้ง ช่วงระยะเวลานี้ต้องทำให้เขาเหล่านั้นได้เรียนรู้ความล้มเหลวให้มากที่สุด เพื่อที่ความล้มเหลวผิดพลาดนั้นจะกลายเป็นภูมิคุ้มกัน อย่าชี้นิ้วสกัดก่อนที่จะเห็นความตั้งใจของเขาเหล่านั้น สิ่งที่คนรุ่นก่อนมองว่าถูกวันนี้อาจผิดสำหรับคนรุ่นนี้ก็ได้ อย่าคิดแทนหากเห็นว่าคนรุ่นใหม่เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เท่าเทียม  วันหนึ่งเมล็ดพันธ์รุ่นใหม่ที่เติบโตด้วยกำลังของตัวเองจะเป็นไม้ต้นใหญ่ที่ยืนสง่างามให้ร่มเงากับไม้ต้นใหม่ในอนาคตต่อไป"

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น