โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ปิดกั้นชาวบ้าน! ความล้มเหลวของ Public Scoping เหมืองทอง

Posted: 10 Sep 2013 01:02 PM PDT

เหตุการณ์ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ความล้มเหลวของ Public Scoping จุดเริ่มต้นของการจัดทำรายงาน EHIA เพื่อประกอบการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่ 76/2539 ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด
 
จากเหตุการณ์ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย จำนวน 800 คน และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่เดินทางไปยังวัดโพนทอง ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย เพื่อเข้าร่วมเวที Public Scoping หรือการประชุมรับฟังความคิดเห็นและกำหนดขอบเขตแนวทางการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดทำรายงาน EHIA เพื่อประกอบการขอประทานบัตรแปลงที่ 76/2539 ของบริษัททุ่งคำ จำกัด แต่กลับถูกปิดกั้นจากตำรวจกว่า 600 นายไม่ให้เข้าร่วม เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา
 
สิ่งที่ชาวบ้านทำได้ในวันนั้นคือ การจัดกิจกรรมรณรงค์อย่างสันติท่ามกลางสายฝนรวมเวลากว่า 3 ชั่วโมง โดยให้ข้อมูลกับชาวบ้านตำบลนาโป่งถึงผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำที่บริษัทไม่ได้กล่าวถึง
 
 

ลำดับเหตุการณ์วันที่ 8 กันยายน 2556

 
6.00 น. ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย จาก 6 หมู่บ้าน จำนวน 800 คน ออกเดินทางด้วยรถกระบะกว่า 50 คัน ไปยังเวที Public Scoping การขอขายเหมืองทองคำแปลงที่ 76/2539 ที่วัดโพนทอง ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย
 
7.35 น. หลังจากถูกสกัดด้วยด่านตรวจจำนวนมากมาตลอดทาง ประมาณ 5 กิโลเมตรก่อนถึงจุดหมาย ขบวนของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดพบรถขนาดใหญ่คว่ำกีดขวางเกือบเต็มถนน โดยยังไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าเส้นทางดังกล่าวจะเป็นทางผ่านของกลุ่มฯ ทำให้นักศึกษาและชาวบ้านต้องช่วยกันผลักรถที่คว่ำอยู่เพื่อเปิดช่องทางจราจร
 
8.00 น. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ เดินทางมาถึงบริเวณวัดโพนทอง ต.นาโป่ง และเริ่มเคลื่อนขบวนไปยังหน้าวัด พบเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 50 นายปิดกั้นประตูทางเข้าอยู่
 
8.30 น. ฝนเริ่มตก นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยมหาสารคามช่วยในการเจรจาและวิงวอนขอความเห็นใจจากเจ้าหน้าที่ให้ชาวบ้านได้เข้าร่วมเวทีฯ และชาวบ้านร่วมกิจกรรมอย่างสงบท่ามกลางฝนที่ตกหนักอยู่ราวหนึ่งชั่วโมง
 
9.30 น. เมื่อการเจรจาไม่เป็นผลสำเร็จ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดส่งสาสน์ถึงผู้จัดงานผ่านทางเครื่องบินกระดาษให้รับฟังเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง และเปลี่ยนมาปราศรัยรณรงค์อยู่ด้านหน้าวัดโพนทองซึ่งเป็นสถานที่จัดเวที เพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านนาโป่งถึงผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำที่บริษัทไม่ได้กล่าวถึงและความไม่ชอบธรรมของเวทีที่จัดขึ้น โดยมีชาวบ้านนาโป่งให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งร่วมปราศรัยถึงความกังวลต่อผลกระทบจากการทำเหมืองด้วย
 
11.30 น. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเดินทางกลับตำบลเขาหลวง
 
 

ความล้มเหลวของ Public Scoping

 
1)
เหมืองทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในจังหวัดเลยเริ่มต้นดำเนินการเมื่อ พ.ศ.2549 ที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย โดยมีโรงประกอบโลหะกรรมซึ่งมีบ่อเก็บกักหางแร่ที่มีไซยาไนด์ตั้งอยู่บนภูทับฟ้า และหากมีการขยายการทำเหมืองทองคำของบริษัทฯ ในจังหวัดเลยหรือใกล้เคียง (เช่นแปลง 76/2539 ในตำบลนาโป่ง) ก็จะนำสินแร่มาเข้าโรงประกอบโลหะกรรมที่ภูทับฟ้า ซึ่งจะทำให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวเขาหลวงแย่ขึ้นไปอีก เพราะนอกจากกิจกรรมการทำเหมืองแล้ว คาดว่าบ่อดังกล่าวเป็นหนึ่งในที่มาการปนเปื้อนของสารพิษในเลือด สิ่งแวดล้อม และแหล่งอาหารของคนในชุมชนอย่างน้อย 6 หมู่บ้านรอบเหมืองซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงและรวมตัวกันเป็นกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ
 
2)
อย่างไรก็ตาม สาเหตุการปนเปื้อนของสารพิษในพื้นที่ยังไม่เคยได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ ทั้งที่มีการตรวจพบการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและเลือดของชาวบ้านโดยหลายหน่วยงานนับตั้งแต่เหมืองเริ่มดำเนินการ ในขณะที่มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 ระบุชัดว่าต้องหาเหตุการณ์ปนเปื้อนในพื้นที่ดังกล่าวและประเมินความคุ้มค่าของการทำเหมืองเปรียบเทียบกับผลกระทบต่อชีวิตคนและสิ่งแวดล้อมก่อน จึงจะสามารถพิจารณาขยายเหมืองเพิ่มเติมได้
 
แสดงให้เห็นว่าภัยคุกคามจากการทำเหมืองทองของบริษัททุ่งคำต่อพื้นที่เป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างแท้จริง แต่ข้อเรียกร้องของชาวบ้านให้รัฐปฏิบัติตามมติ ครม.ดังกล่าวกลับไม่เคยได้รับการตอบสนองอย่างจริงจัง
 
ในทางกลับกัน กระบวนการจัดทำ EHIA (รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ) เพื่อขออนุญาตขยายเหมืองของบริษัททุ่งคำในพื้นที่จังหวัดเลยกลับดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ราวกับว่าการหาเหตุที่มาของมลพิษที่ทำร้ายสุขภาพประชาชนเป็นเรื่องสำคัญน้อยกว่าการอนุญาตให้ก่อมลพิษเพิ่ม ซึ่งแสดงออกอย่างชัดเจนในการปิดกั้นเพื่อไม่ให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเข้าร่วมเวที Public Scoping เพื่อเริ่มต้นขอประทานบัตรการขยายเหมืองทองไปยังแปลงที่ 104/2538 หรือภูเหล็กเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555 ด้วยกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 2,000 นาย
 
ทั้งนี้ เหตุการณ์ในวันที่ 8 กันยายน 2556 ที่ผ่านมาซึ่งมีการปิดกั้นกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดตำบลเขาหลวงไม่ให้เข้าร่วมเวที Public Scoping การขยายเหมืองทองไปยังพื้นที่ตำบลนาโป่ง ด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครของเหมืองจำนวนมาก เป็นอีกครั้งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐยังคงเข้าข้างอุตสาหกรรมเหมืองแร่
 
3)
การอ้างว่าจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้งที่ปิดกั้นการเข้าร่วมของผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และการดำเนินการอย่างไม่ตรงไปตรงมาในการจัดเวที Public Scoping ซึ่งเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการขออนุญาตทำเหมือง แสดงถึงการขาดธรรมาภิบาลและความโปร่งใสของบริษัททุ่งคำจำกัด โดยมีหน่วยงานรัฐสนับสนุนเสมือนให้ตราประทับส่งเสริมอุตสาหกรรมสกปรก 
 
เฉพาะในแง่กระบวนการ การจัดเวที Public Scoping ที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงควรเปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดเข้าร่วมและแสดงความเห็นได้อย่างอิสระ โดยอยู่บนพื้นฐานของการได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้าน เพื่อประกอบการตัดสินใจ  แต่เหตุเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2556 กลับเป็นในทางตรงข้าม ตัวอย่างเช่น
 
ปิดกั้นความเห็นต่าง
การเข้าร่วมของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดซึ่งเป็นที่ทราบอยู่แล้วว่าไม่เห็นด้วยกับโครงการ ถูกสกัดตลอดทางด้วยด่านตรวจหลายด่านและรถปิ๊กอัพเก่าๆ ขนาดใหญ่ที่ทำทีเสมือนประสบอุบัติเหตุคว่ำกีดขวางช่องถนนประมาณ 5 กิโลเมตรก่อนไปถึงสถานที่จัดเวที จนชาวบ้านและนักศึกษาต้องลงไปเข็นรถเพื่อเปิดช่องทางจราจรเอง และเมื่อไปถึงหน้าวัดโพนทองอันเป็นสถานที่จัดงาน ทางเข้าวัดทุกทางถูกปิดด้วยกรงเหล็กมีเจ้าหน้าที่เฝ้า
 
ทางเข้าวัดด้านหน้าซึ่งเป็นทางเข้าหลักถูกปิดกั้นด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 50 นาย ในขณะที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดตั้งขบวนเพื่อเจรจาขอเข้าร่วมเวที แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากผู้จัดงานยื่นเงื่อนไขให้ต้องลงทะเบียน ซึ่งทางกลุ่มประเมินว่าเป็นการถ่วงเวลาให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าร่วมได้ครบมากกว่าเนื่องจากคนจำนวน 800 คนไม่สามารถลงทะเบียนให้เสร็จทันได้
 
การมีส่วนร่วมแบบเลือกมาแล้ว
ในขณะเดียวกัน เป็นที่รับรู้ของชาวบ้านในพื้นที่ว่าผู้สามารถผ่านด่านเจ้าหน้าที่ตำรวจทางประตูหลังของวัดเพื่อเข้าร่วมเวที จะต้องมีใบผ่านทางสีชมพูซึ่งได้มีการตระเตรียมไว้ล่วงหน้าแล้วกับผู้นำชุมชนบางส่วนในพื้นที่ตำบลนาโป่งและบริเวณใกล้เคียง  ในขณะที่ชาวบ้านตำบลนาโป่งเองซึ่งไม่ได้เข้าร่วมเวทีและอยู่ทางด้านหน้าให้ความสนใจกับข้อมูลและประสบการณ์ของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด และร่วมปราศรัยแสดงความกังวลต่อการทำเหมืองในชุมชน
 
การให้ข้อมูลไม่ครบไม่ตรงไปตรงมา
ในเอกสารประกอบการประชุม 57 หน้าที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ ไม่มีการให้ข้อมูลกระบวนการทำเหมืองและผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดจากการทำเหมือง ข้อมูลในส่วนที่ระบุว่า "การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)" เริ่มต้นที่หน้า 47 และให้ข้อมูลเพียงแค่วิธีการและขั้นตอนการจัดทำรายงานเท่านั้น
 
ทั้งนี้ บริษัทไม่ได้อธิบายอย่างชัดเจนว่าแปลงที่ 76/2539 เป็นเพียงแปลงเดียวในพื้นที่ 10,000 ไร่ในตำบลนาโป่งซึ่งบริษัททุ่งคำได้ยื่นขอสัมปทานแล้ว แต่กลับชี้แจงด้วยวาจาในเวทีว่าจะทำเหมืองแปลงดังกล่าวเพียงแปลงเดียว แต่หากบริษัทต้องการขยายต่อไปก็จะต้องทำเวที Public Scoping อีก การให้ข้อมูลกำกวมเช่นนี้ แสดงถึงความไม่ตรงไปตรงมาในการชี้แจงข้อมูลและเพิ่มความสับสนให้กับผู้เข้าร่วมประชุม ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมไม่อาจตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้องได้
 
4)
การจัดเวที Public Scoping ที่จัดขึ้นในช่วงนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความพยายามขยายพื้นที่การทำเหมืองทองของบริษัททุ่งคำในจังหวัดเลย และแม้เวทีจะผ่านไปแล้วก็มิใช่การยืนยันว่าบริษัทมีความชอบธรรมที่จะทำเหมืองต่อไป ในทางกลับกัน ชุมชนสามารถแสดงสิทธิที่จะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมของชุมชนผ่านอำนาจที่ให้ไว้ในรัฐธรรมนูญ และสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีในแง่ความไม่ชอบธรรมของการดำเนินการของบริษัทและหน่วยงานรัฐที่ผ่านมาได้
 
การต่อสู้ด้วยสันติวิธีของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดตำบลเขาหลวงที่ผ่านมา จนถึงการคัดค้านเวที Pubic Scoping การขยายเหมืองทองในครั้งนี้ รวมทั้งการประกาศใช้ "ระเบียบชุมชน ว่าด้วยการใช้ถนนชุมชนและการควบคุมน้ำหนักบรรทุก" ใน 6 หมู่บ้านในตำบลเขาหลวงผ่านการทำประชาคมหมู่บ้าน เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2556 โดยมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการห้ามรถบรรทุกเกิน 15 ตันและการขนสารเคมีอันตรายในถนนชุมชน
 
นี่เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงเจตจำนงที่จะปกป้องแผ่นดินเกิด ด้วยสิทธิและอำนาจหน้าที่ของชุมชน เพราะหมดหวังกับการพึ่งพาอำนาจรัฐและการบังคับใช้กฎหมายของส่วนกลางเพื่อปกป้องชุมชนจากการคุกคามของเอกชน
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิจัยหวั่น โครงการส่งคนปักหลักบนดาวอังคาร 'มาร์สวัน' ส่งผลกระทบจิตใจผู้เข้าร่วม

Posted: 10 Sep 2013 12:41 PM PDT

หลังจากที่มีผู้สมัครจำนวนมากในโครงการมาร์สวัน (Mars One) ซึ่งจะคัดเลือกส่งมนุษย์ไปอยู่บนดาวอังคารตลอดชีวิต รวมถึงมีการถ่ายทอดเรียลลิตี้โชว์ 24 ชั่วโมงให้คนบนโลกรับชม นักวิจัยด้านจิตวิทยาจาก ม.คาร์ดิฟฟ์ วิจารณ์ว่าโครงการนี้อาจส่งผลกระทบทางจิตใจต่อผู้เข้าร่วมในหลายด้าน เช่นเรื่องความรู้สึกถูกตัดขาดจากโลกหรือการสูญเสียความเป็นส่วนตัว


หน้าแรกเว็บโครงการ http://www.mars-one.com/en/


หนังแนะนำโครงการมาร์สวัน


เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2013 สำนักข่าว เดอะ การ์เดียน รายงานถึงความกังวลต่อผลกระทบด้านจิตใจต่อผู้ที่จะถูกคัดเลือกให้ไปอยู่ที่ดาวอังคารตลอดชีวิต

โดยโครงการดังกล่าวชื่อว่าโครงการมาร์สวัน (Mars One) มีเป้าหมายต้องการส่งมนุษย์ไปยังดาวอังคารภายในอีกราว 10 ปีข้างหน้า มีผู้คนจำนวนมากสมัครร่วมโครงการ ซึ่งหลังจากเข้ารับการคัดเลือกและฝึกอบรมแล้ว จะเริ่มมีการส่งตัวนักบินอวกาศชุดแรกจำนวน 4 คนไปในปี 2022 ใช้เวลาเดินทางราว 7 เดือนเพื่อไปตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารอย่างถาวรเพื่อทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์และการเอาตัวรอด ทั้งนี้ยังมีการฉายภาพการใช้ชีวิตผู้เข้าร่วมให้ผู้ชมบนโลกได้ชมในรูปแบบเรียลลิตี้ทีวี

โครงการดังกล่าวเป็นของมูลนิธิไม่แสวงหาผลกำไรในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นองค์กรลูกของบริษัทอินเตอร์แพลนเนตทารี่มีเดียกรุ๊ป อย่างไรก็ตาม องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซ่า ยังคงแสดงความกังขาต่อโครงการนี้ โดยไบรอัน มิวร์เฮด หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมขององค์การนาซ่ากล่าวว่า แม้โครงการมาร์วันจะมีความน่าสนใจ แต่ยังถือเป็นเรื่องที่เกินกำลังในปัจจุบัน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องรูปแบบของธุรกิจ ความเป็นไปได้ในทางเทคนิค และความเสี่ยงด้านสุขภาพจากกัมมันตรังสี

ขณะเดียวกันคริส แชมเบอร์ส นักวิจัยจากสาขาจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ได้กล่าวถึงผลกระทบด้านจิตใจที่จะเกิดกับผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งแม้ว่าโครงการมาร์วันจะอ้างว่ามีการปรึกษาเรื่องแผนการกับนักจิตวิทยาผู้ชำนาญการ แต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยัน และถึงแม้ว่าจะมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมแต่ก็ไม่ได้ระบุว่าคุณสมบัติต่างๆ จำเป็นอย่างไรและมีการวัดผลอย่างไร

แชมเบอร์ส ยังได้กล่าวถึงงานวิจัยที่บอกว่าลักษณะของโครงการมีโอกาสส่งผลกระทบทางจิตวิทยาต่อผู้เข้าร่วมหลักๆ 4 ประการคือเรื่อง การถูกตัดขาดจากสังคม, การถูกจำกัดอาณาเขต, การสูญเสียความเป็นส่วนตัว และการขาดบริการด้านสุขภาพจิต


การถูกตัดขาดจากสังคม

แชมเบอร์ส กล่าวถึงเรื่องการถูกตัดขาดจากสังคมว่า การขึ้นไปอยู่บนดาวอังคารซึ่งมีระยะห่างจากโลกจะทำให้ไม่สามารถติดต่อกับคนบนโลกได้ตามเวลาจริง โดยการส่งผ่านข้อมูลจะมีความล่าช้าอย่างต่ำ 10 นาที ผู้เข้าร่วมจะมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับผู้อาศัยบนดาวอังคารด้วยกันเท่านั้น ซึ่งจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 3 คนในช่วง 2 ปีแรก เป็น 23 คนในช่วง 10 ปีหลังจากนั้น

สภาพดังกล่าวนี้หากเกิดขึ้นเป็นเวลานานมีโอกาสทำให้ผู้เข้าร่วมมีอาการของโรคซึมเศร้า, นอนไม่หลับ, เหนื่อยล้า, วิตกกังวล, เบื่อหน่าย และอารมณ์ไม่คงที่ แชมเบอร์สชี้ว่าแม้กระทั่งนักบินอวกาศที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีก็ยังมีความรู้สึกถูกตัดขาดจากสังคมแม้จะรู้ว่าเขาจะได้กลับบ้าน

ศ.นิค คานาส ผู้เชี่ยวชาญด้านผลกระทบทางจิตจากการสำรวจอวกาศซึ่งได้รับทุนจากนาซ่าได้เคยกล่าวไว้ว่า เมื่อผู้สำรวจอวกาศอยู่ห่างจากโลกก็มีโอกาสเกิดความรู้สึกถูกตัดขาดจากสังคมและอาจรุนแรงถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย

แม้ทางโครงการจะอ้างว่าพวกเขาจะคัดเลือกคนที่ "ทัศนคติ" ซึ่งจะสามารถป้องกันปัญหาได้ แต่แชมเบอร์ส มองว่าการอ้างเรื่องทัศนคติเป็นการมองอย่างไร้เดียงสาเกินไป ทางที่ดีโครงการมาร์สวันควรตอบปัญหาให้ได้ว่าพวกเขาจะใช้วิธีการใดจัดการกับปัญหาด้านจิตใจที่จะเกิดขึ้นกับคนที่ต้องอยู่บนดาวอังคารโดยรู้ตัวว่าจะไม่ได้กลับบ้านอีก และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบอาการเหล่านี้


การถูกจำกัดอาณาเขต

แชมเบอร์สกล่าวว่าผู้เข้าร่วมโครงการชีวิตบนดาวอังคารอย่างน้อยร้อยละ 80 จะถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่ประมาณ 50 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งมีขนาดราวห้องนอนสองห้อง เมื่อเทียบกับการใช้ชีวิตบนโลกแล้วการถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่เล็กๆ เป็นเวลานานจะทำให้เกิดปัญหาคล้ายกับการถูกตัดขาดทางสังคม เช่น โรคซึมเศร้า, ความวิตกกังวล ,ความบกพร่องของระบบการคิด และอาการอื่นๆ


การสูญเสียความเป็นส่วนตัว

โครงการมาร์สวัน มีแผนการให้คนบนโลกสามารถเฝ้าดูชีวิตบนดาวอังคารของผู้เข้าร่วมโครงการได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยก่อนหน้านี้แชมเบอร์สก็เคยเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องการถูกเฝ้าจับตามอง (surveillance) บอกว่าเป็นเหตุของความเครียด, ความเหนื่อยล้า, ความวิตกกังวล และอาการซึมเศร้า ซึ่งโครงการมาร์สวันได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากเรียลริตี้ทีวี ทำให้แผนการฉายภาพชีวิตของคนบนดาวอังคารต้องดำเนินต่อไป


ขาดบริการด้านสุขภาพจิต

แชมเบอร์สบอกว่าสิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือการที่ไม่มีบริการด้านสุขภาพจิตเช่นการให้คำปรึกษาและการทำจิตบำบัดอย่างทันท่วงที งานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ระบุว่าการใช้โปรแกรมจำลองทำจิตบำบัดในคอมพิวเตอร์ที่ชื่อ Deprexis ให้ผลดีต่อการรักษาโรคซึมเศร้า แต่ส่งผลแค่เพียงร้อยละ 50 เท่านั้นเมื่อเทียบกับการรักษาตามปกติ ซึ่งผู้ไปอยู่ดาวอังคารมีโอกาสประสบปัญหาทางจิตหลายอย่างมากกว่าเรื่องโรคซึมเศร้า การใช้โปรแกรมอัตโนมัติจีงไม่สามารถแก้ปัญหาได้

"มาร์สวันอาจจะถือว่าเป็นโครงการที่กล้าหาญและเชี่ยวชาญในการสื่อ แต่โครงการนี้ก็ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องทางจิตวิทยาเลย" แชมเบอร์สกล่าว เขาบอกอีกว่านอกจากเรื่องจิตวิทยาแล้ว ยังไม่มีการพิจารณาเรื่องยารักษาโรคแผนปัจจุบัน, เรื่องความสัมพันธ์ทางเพศ, การตั้งครรภ์, การเลี้ยงดูลูก, การแก่ชราและเสียชีวิต รวมถึงความรู้สึกสะเทือนใจที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้คนบนโลกเมื่อได้เห็นโศกนาฏกรรมถูกฉายบนดาวอังคาร

 


เรียบเรียงจาก
Mars One: The psychology of isolation, confinement and 24-hour Big Brother, The Guardian, 09-09-2013
http://www.theguardian.com/science/head-quarters/2013/sep/09/neuroscience-psychology

โครงการมาร์สวัน
http://www.mars-one.com/en/

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พบผู้บริโภคเจอซิมดับก่อนสัมปทานหมด เตือนย้ายค่ายให้ลูกค้าอัตโนมัติ เสี่ยงผิดกม.

Posted: 10 Sep 2013 12:11 PM PDT

พบผู้ใช้บริการมือถือค่ายทรูมูฟบางส่วนประสบปัญหา "ซิมดับ" หลังถูกโอนย้ายไปยังบริการทรูมูฟ-เอชโดยอัตโนมัติและถูกล็อกห้ามย้ายกลับหรือย้ายไปค่ายอื่นใน 90 วัน "หมอลี่" ชี้การโอนย้ายบริการเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่ต้องแสดงเจตนา การบังคับย้ายเสี่ยงผิดกฎหมาย

จากกรณีสัญญาสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเครือข่ายทรูมูฟและดีพีซีหรือดิจิตอลโฟนกำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กันยายน ศกนี้ โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ออกประกาศ เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือที่ กสทช. เรียกว่า "ประกาศห้ามซิมดับ"

ล่าสุด มีรายงานว่า เกิดปัญหา "ซิมดับ" ขึ้นแล้ว โดยพบผู้ใช้บริการของเครือข่ายทรูมูฟมีการร้องเรียนและการโพสต์ข้อความตามเว็บไซต์ต่างๆ จำนวนมาก  ว่าประสบปัญหาไม่สามารถใช้บริการได้ตามปกติ บางกรณีไม่สามารถรับสายได้ บางกรณีใช้ไม่ได้ทั้งโทรออกและรับสาย ภายหลังจากที่ถูกโอนย้ายบริการไปยังเครือข่ายทรูมูฟ-เอช ซึ่งก็เป็นอีกประเด็นที่มีการร้องเรียนและแสดงความคิดเห็นกันมาก เนื่องจากในการโอนย้ายดังกล่าวนั้น ทางผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการไม่ได้เป็นฝ่ายแจ้งความประสงค์ แต่เกิดจากการดำเนินการโดยอัตโนมัติของทางบริษัท

ทั้งนี้ ตั้งแต่ประมาณกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทางบริษัททรูมูฟ ได้เริ่มส่งข้อความสั้น (SMS) ถึงผู้ใช้บริการ แจ้งว่า ทาง กสทช. ได้กำหนดให้บริษัทแจ้งว่าการให้บริการของบริษัทในคลื่น 1800 MHz จะสิ้นสุดลง 15 ก.ย. 56 และจะใช้งานต่อได้ไม่เกิน 15 ก.ย. 57 และเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ในการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ทางบริษัทจะดำเนินการอัพเกรดเลขหมายให้เป็นทรูมูฟเอชโดยอัตโนมัติก่อนวันสิ้นบริการ 15 ก.ย. 56 กรณีไม่ต้องการอัพเกรดจะต้องโทรแจ้ง ซึ่งต่อมาปรากฏข้อความลักษณะเดียวกันบนหน้าเว็บไซต์ของบริษัทด้วย

เรื่องดังกล่าวมีการวิจารณ์จากผู้ใช้บริการอย่างกว้างขวาง ในประเด็นที่ว่าเป็นรูปแบบของการบังคับโอนย้ายโดยผู้บริโภคไม่ได้เลือก และโอนย้ายก่อนถึงวันสัมปทานสิ้นสุดลง ตลอดจนมีประเด็นกระทบถึงเรื่องสิทธิประโยชน์ เช่น ผู้บริโภคต้องการใช้โปรโมชั่นเดิม หรือบางรายไม่ได้อยากใช้บริการของทรูมูฟเอชและพร้อมจะยุติการใช้บริการไปพร้อมกับการยุติบริการของทรูมูฟ เป็นต้น

ต่อเรื่องนี้ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับทราบเรื่องและได้ทำหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. แล้ว เพื่อให้ตรวจสอบว่าการโอนย้ายผู้ใช้บริการโดยอัตโนมัตินั้นเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และสอดคล้องกับมติ กทค. หรือไม่ ตลอดจนให้สำนักงาน กสทช. กำหนดแนวทางดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วย

"ในส่วนการวิเคราะห์ของผมเห็นว่าเรื่องการโอนย้ายอัตโนมัตินั้นขัดต่อประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม และเรื่องหลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2549 เพราะไม่เป็นไปตามหลัก "เสนอสนองตรงกัน" ขณะเดียวกันก็ขัดต่อประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ด้วย เพราะประกาศข้อ 6 ระบุชัดเขนว่า "การคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นสิทธิของผู้ใช้บริการ" และข้อ 9 กำหนดว่า "ในการขอโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้ผู้ใช้บริการยื่นคำขอ..." เพราะข้อกำหนดของบริษัทกลายเป็นว่า ใครไม่อยากถูกโอนย้ายต้องเป็นฝ่ายยื่นเรื่อง หากอยู่เฉยเท่ากับยอมรับการโอนย้ายอัตโนมัติ"

ประวิทย์ระบุด้วยว่า การกระทำดังกล่าวของบริษัทมีการอ้าง กสทช. ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกต้อง ทั้งที่ความจริงที่ กสทช. ให้ทำคือให้แจ้งเรื่องวันสิ้นสุดสัมปทานและแจ้งสิทธิการโอนย้าย นอกจากนี้ในการพิจารณากรณีร่างประกาศเรื่องนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ก็ยืนยันหลักการโอนย้ายตามความสมัครใจของผู้บริโภคมาโดยตลอด การกระทำดังกล่าวจึงขัดกับมติ กทค. ด้วย จึงเป็นหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. ที่จะบังคับให้บริษัทดำเนินการให้ถูกต้องตามมติและตามกฎหมาย

ส่วนประเด็นเรื่องมีปัญหาในการใช้บริการหลังโอนย้ายนั้น กสทช. ประวิทย์ชี้ว่าน่าจะเป็นข้อขัดข้องทางเทคนิค ซึ่งบริษัทจะต้องเร่งตรวจสอบและแก้ไขต่อไป แต่สิ่งที่มีหลักกฎหมายชัดเจนอยู่แล้วคือ หากผู้บริโภคประสงค์จะโอนย้ายค่ายเมื่อไร ทางผู้ให้บริการจะต้องตอบสนอง ไม่สามารถอ้างเรื่องต้องคงอยู่จนครบ 90 วันได้ เพราะ กสทช. ไม่เคยให้ความเห็นชอบกับการกำหนดระยะเวลาดังกล่าว เป็นหลักเกณฑ์ที่ผู้ให้บริการไปกำหนดกันเอาเอง ดังนั้นจึงขอส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการใช้สิทธิ โดยไม่หลงเชื่อคำบอกเล่าของพนักงานของบริษัท และหากประสบปัญหาก็แจ้งร้องเรียนมายัง กสทช. หมายเลข 1200 ได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดขายซองประมูลทีวีดิจิตอลวันแรก มีผู้ซื้อแล้ว 8 ราย

Posted: 10 Sep 2013 11:54 AM PDT

สรุปรายชื่อผู้ซื้อเอกสารการประมูลขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ วันแรก 


(10 ก.ย.56) พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (ประธาน กสท.)  กล่าวว่า หลังจากที่สำนักงาน กสทช. ปิดจำหน่ายเอกสารการประมูลขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติวันแรก (10 กันยายน 2556) เมื่อเวลา 16.00 น. มีผู้ประสงค์จะเข้าร่วมการประมูล มาซื้อเอกสารการประมูล จำนวน 8 ราย 11 ชุด

โดยสรุปรายชื่อผู้ซื้อเอกสารการประมูล แบ่งตามหมวดหมู่ให้บริการ ดังนี้  หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว มีผู้สนใจซื้อเอกสารการประมูลจำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท โรสมีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด และบริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด

หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ มีผู้สนใจซื้อเอกสารการประมูลจำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท โพสต์ ทีวี จำกัด และบริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด

หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (ทั่วไป SD) มีผู้สนใจซื้อเอกสารการประมูลจำนวน 4 ราย ได้แก่ บริษัท บีบีทีวี แซทเทลวิชั่น จำกัด บริษัท ทัช ทีวี จำกัด บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอสดี ดิจิทัลทีวี จำกัด และบริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด

และสุดท้ายหมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (ทั่วไป HD) มีผู้สนใจซื้อเอกสารการประมูลจำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอชดี ดิจิทัลทีวี จำกัด และบริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด

ทั้งนี้ บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ซื้อเอกสารการประมูลครบทั้ง 4 หมวดหมู่

พ.อ.นที ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. 2556 กำหนดให้ผู้ประสงค์จะเข้าร่วมการประมูลมีสิทธิยื่นขอรับใบอนุญาตไม่เกินรายละ 1 ใบอนุญาตของแต่ละหมวดหมู่ และผู้ประสงค์จะเข้าร่วมการประมูลไม่สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตในหมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (ทั่วไป HD) พร้อมกับหมวดหมู่ข่าวสารและสาระได้ ต้องเลือกว่าจะยื่นขอรับใบอนุญาตหมวดหมู่ใดหมวดหมู่หนึ่งเท่านั้น โดย กสท. จะตรวจสอบความสัมพันธ์ภายในหมวดหมู่เดียวกัน และกรณีข้ามหมวดหมู่จะตรวจสอบความสัมพันธ์เฉพาะหมวดหมู่ทั่วไป HD และหมวดหมู่ข่าวสารและสาระ

รองประธาน กสทช. ในฐานะประธาน กสท. กล่าวว่า การจำหน่ายเอกสารการประมูล สำนักงานฯ จะเปิดจำหน่ายไปจนถึงวันที่ 12 กันยายน 2556 เวลา 16.00 น. ซึ่งผู้ประสงค์จะเข้าร่วมการประมูลสามารถเข้ามาซื้อเอกสารการประมูลได้ โดยจะต้องเตรียมเอกสาร แบบข้อมูลสำหรับใช้ในการออกใบเสร็จรับเงินสำหรับค่าเอกสารการประมูล ที่กรอกข้อมูลครบถ้วน พร้อมแนบสำเนาทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) หรือสำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคล โดยเอกสาร 1 ชุด สำหรับการซื้อเอกสารการประมูล 1 ชุด ซึ่งผู้ซื้อเอกสารจะต้องเป็นบุคคลเดียวกันกับผู้ยื่นคำขอใบอนุญาตและผู้ประสงค์จะเข้าร่วมการประมูลจะต้องเตรียมค่าเอกสารการประมูลในราคาหมวดหมู่ละ 1,070,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) มาชำระ และจะต้องยื่นแบบลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมการประชุมชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการขอรับใบอนุญาต หลังจำหน่ายเอกสารการประมูล ภายในเวลา 16.00 น. ของวันที่ 12 ก.ย 2556 เท่านั้น


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์

Posted: 10 Sep 2013 11:39 AM PDT

"ถ้าอยากจะก้าวข้ามความขัดแย้ง ต้องกลับมาจัดการพื้นที่ทางการเมืองใหม่ให้มันเกิดความเป็นธรรมขึ้นตรงนี้ แล้วสิ่งที่เราคิดกันไม่ว่าการปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูประบบภาษี มันมาเอง เพราะคนมันไม่โง่ เมื่อเขามีอำนาจแล้วเขาก็จะรู้เองว่าเขาควรทำอะไร"

กล่าวในวงเสวนา หัวข้อ 'ก้าวข้ามความขัดแย้ง กับ กระบวนการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย'

สมัชชาคนจน ภูผาเหล็กร้องผู้ว่าฯ สกลนคร แก้ปัญหาที่ดินทำกินทับซ้อนที่ป่า

Posted: 10 Sep 2013 11:10 AM PDT

กรณีปัญหาอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็กทับที่ทำกินของชาวบ้าน 3 อำเภอ รองผู้ว่าฯ รับเรื่อง ให้แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหา อีกทั้งจัดทำแนวเขตระหว่างชาวบ้านกับอุทยาน เพื่อลดปัญหาการเผชิญหน้า
 
 
เมื่อวันที่ 9 ก.ย.56 ชาวบ้านเครือข่ายสมัชชาคนจน ภูผาเหล็ก จ.สกลนคร นำโดย นายเปียง จูมศรีสิงห์ นายเฉลิมชัย กาสีคุณ และนายณรงค์ศักดิ์ ชาธิพา พร้อมชาวบ้านกว่า 500 คน เข้าร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร กรณีปัญหาอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็กทับที่ทำกินของชาวบ้าน 3 อำเภอ คือ อ.นิคมน้ำอูน อ.กุดบาก และ อ.วาริชภูมิ โดยสถานการณ์ที่ผ่านมาได้มีการจับกุมดำเนินคดีกับชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่อุทยานได้เข้าทำการตัดต้นยางพาราของชาวบ้านในพื้นที่
 
นอกจากนั้น ยังมีกรณีปัญหาการขอออกเอกสารสิทธ์ในพื้นที่นิคมสร้างตนเอง และการประกาศพื้นที่ราชพัสดุทับที่ทำกินของชาวบ้านใน ต.กุดแฮด จ.สกลนคร ด้วย
 
ต่อมากลุ่มชาวบ้านได้ร่วมประชุมกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เพื่อชี้แจงข้อมูลและร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหา ในเบื้องต้น รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครรับเรื่อง และแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหากรณีแนวเขตอุทยานภูผาเหล็ก จ.สกลนครไม่ชัดเจน
 
อีกทั้ง มีมติให้จัดทำแนวเขตระหว่างชาวบ้านกับอุทยาน เพื่อลดปัญหาการเผชิญหน้าระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประกาศชุมนุมใหญ่ติดตามเจรจาเอฟทีเอไทย-ยุโรปที่เชียงใหม่ 16-20 ก.ย. นี้

Posted: 10 Sep 2013 06:53 AM PDT

หลายกลุ่มประกาศชุมนุมใหญ่ติดตามเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู รอบ 2 ที่เชียงใหม่สัปดาห์หน้า ใช้ข้อมูลตอบโต้กลุ่มทุนส่งออกอาหารและยานยนต์ อยากต่อสิทธิ GSP แค่ 3 หมื่นล้าน แต่ปล่อยให้ยารักษาโรคและเมล็ดพันธุ์แพงแสนล้าน หวั่นเปิดเอฟทีเอเกษตรกรเดือดร้อนถ้วนหน้า

ที่มา: https://www.facebook.com/ftawatch

ตามที่การเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป รอบที่ 2 จะมีขึ้นระหว่าง วันที่ 16-20 ก.ย.นี้ ณ โรงแรมเมอริเดียน จ.เชียงใหม่ นั้น

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ระบุว่า ข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป ใน 3 เรื่องหลักคือ ต้องเป็นภาคี UPOV 1991, ภาคีสนธิสัญญาบูดาเปส และ ยอมรับสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต นั้น จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและทรัพยากรชีวภาพของประเทศอย่างรุนแรงและกว้างขวาง

"ความหลากหลายทางชีวภาพของไทยเป็นเรื่องสำคัญเพราะคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของความหลากหลายทางชีวภาพของโลก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องให้ไปเป็นภาคี UPOV 1991 จะมีผลให้เกษตรกรต้องจ่ายพันธุ์พืชในราคาที่แพงขึ้น จากงานวิจัยพบว่า ราคาพันธุ์พืชจะขึ้นอย่างต่ำ 2-3 เท่าจนถึง 6 เท่าตัว ตอนนี้มูลค่า 28,000 ล้านบาทจะเพิ่มเป็นอย่างต่ำ 80,000 ล้านบาท และอาจถึง 140,000 ล้านบาทต่อปี ไม่คุ้มค่ากับการได้ต่อสิทธิ GSP ที่ทางการไทยประเมินว่าจะสูญเสียแค่ 34,000 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น นี่ยังไม่รวมเรื่องจุลินทรีย์ และความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ประเมินค่าไม่ได้"

ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า เกษตรกรจะได้รับผลกระทบอย่างกว่างขวาง ทั้งเกษตรกรผู้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่จะต้องจ่ายแพงขึ้น การเก็บรักษาพันธุ์เพื่อปลูกต่อหรือแลกเปลี่ยนจะมีความผิดถึงขั้นจำคุกและต้องจ่ายค่าเสียหายแก่บริษัท และวิสาหกิจชุมชนที่ปรับปรุงพันธุ์พืชจากพันธุ์พืชใหม่ ก็ไม่สามารถทำได้ อย่างวิสาหกิจชุมชน ที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ที่เกษตรกรพัฒนาพันธุ์พืช อาจต้องเลิกการประกอบกิจกรรมของวิสาหกิจท้องถิ่นนี้ไปในที่สุด ขณะที่นักปรับปรุงพันธุ์ โดยเฉพาะพวกบริษัทเมล็ดพันธุ์ จะไม่ถูกบังคับให้แบ่งปันผลประโยชน์แก่รัฐหรือชุมชนเจ้าของพันธุ์ดังที่เคยเป็นตามกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับปัจจุบัน

"ถ้าประมวลโดยรวมแล้ว ผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิ GSP มีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมข้ามชาติ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ และบริษัทยักษ์ใหญ่ส่งออกอาหารไก่-กุ้ง แต่การเอาผลกระทบของเกษตรกรอย่างต่ำนับแสนล้านบาทเพื่อแลกผลประโยชน์เหล่านี้เป็นเรื่องไม่คุ้มค่า และเรื่องการผูกขาดเมล็ดพันธุ์นั้น ประโยชน์โดยตรงกับอุตสาหกรรมเกษตรยักษ์ใหญ่ของไทยที่กุมตลาดเมล็ดพันธุ์โดยตรงและโดยอ้อม โดยทำลายรากฐานการผลิตของเมล็ดพันธุ์ ของเกษตรกร และทำลายรากฐานของประเทศ ดังนั้น การเคลื่อนไหวติดตามการเจรจาของประชาชนครั้งนี้ เพื่อให้รัฐบาลตัดสินใจจากจุดยืนของเกษตรกร และประชาชนทั้งหมด ไม่ใช่เพื่อประโยชน์กลุ่มอุตสาหกรรมบางกลุ่ม"

ทางด้าน นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ และผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า จากเอกสารของ อย. พบว่า ผลการศึกษาวิจัยจากสำนักวิจัยชั้นนำของประเทศมีข้อสรุปในทำนองเดียวกันว่า การเจรจาความตกลงการค้าเสรีในส่วนทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินกว่าความตกลงทริปส์ จะก่อให้เกิด การผูกขาดตลาดอย่างยาวนาน และทำให้ราคายาแพงขึ้นอย่างมากมาย, ประเทศชาติต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นมหาศาล, ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงยาได้, ส่งผลกระทบด้านลบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยาสามัญภายในประเทศ ที่สำคัญคือ ประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับบรรษัทยาข้ามชาติเท่านั้น

"ถ้ายอมทริปส์พลัสด้านยา อาทิ ยอมขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาเพิ่มขึ้นอีก 5 ปี มีผลทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นอีกเป็น 27,883 ล้านบาท/ปี ยอมปล่อยให้มีการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยา หรือ Data Exclusivity จะมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทย เพิ่มขึ้น 81,356 ล้านบาทต่อปี แต่ขณะนี้มีความพยายามกดดันจากภาคธุรกิจให้ฝ่ายไทยยอมรับทริปส์พลัส และกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งไม่เป็นจริง ดังนั้น ผู้เจรจาต้องมีความฉลาดและเท่าทัน การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ยอมรับได้มีเพียงประการเดียวเท่านั้น คือ ยาที่ติดสิทธิบัตรต้องมาตั้งโรงงานและผลิตในประเทศไทย"

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องที่เอารัดเอาเปรียบของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องทรัพยากรชีวภาพนั้น เป็นประเด็นที่ไปคุยกับคนทุกสีเสื้อที่มีความเห็นต่างกันทางการเมือง มีความรู้สึกร่วมว่า เป็นเรื่องที่อยู่เฉยไม่ได้ เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องระมัดระวัง

"การเจรจาเอฟทีเอรอบนี้มีความหมายมาก เพราะจะเป็นประเด็นรวมของคนที่เห็นต่างทางการเมือง แต่เห็นประโยชน์ของคนทุกคนในสังคมเช่นเดียวกัน มาร่วมงานทำกิจกรรมกัน เป็นกิจกรรมเปิดหูเปิดตาประชาชน ถ้าอียูเอาเปรียบรัฐบาลไทย เอาเปรียบคนไทยแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้น แล้วเราจะส่งเสียงในฐานะของคนในสังคมให้หัวหน้าคณะเจรจาของสหภาพยุโรปรับรู้ว่า ข้อเรียกร้องที่ไม่เป็นธรรม เหมือนการล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจยุคใหม่ เช่นนี้ คนไทยไม่ยอมรับ อีกนัยยะหนึ่งส่งเสียงบอกรัฐบาลไทย จุดยืนของประเทศครั้งนี้สำคัญมาก เพราะรัฐบาลบอกเสมอว่า จะเจรจาไม่ให้มีปัญหากระทบการเข้าถึงยา ไม่กระทรบเกษตร ทรัพยากรของประเทศ จะทำให้นโยบายที่สร้างมาเพื่อประชาชนเป็นจริง ไม่ถูกการค้าที่อ้างว่าเสรีแต่ไม่เป็นธรรมแทรกแซง เราจะเฝ้ามองว่า รัฐบาลจะมั่นคงแค่ไหน คนไทยจำนวนหนึ่งตื่นแล้ว เราจะชวนให้คนอื่นมากขึ้น หนุนจุดยืนที่รัฐบาลยืนยันให้ทำเพื่อประโยชน์คนไทยจริงๆ

นอกจากนี้ อยากฝากบอกนักธุรกิจส่งออกของไทยบางส่วน ที่ผ่านมาคุณทำการค้าง่ายๆ ได้สิทธิพิเศษในช่วงที่ประเทศยังไม่พัฒนา เมื่อประเทศพัฒนามากขึ้น รายได้ดีขึ้น สิทธิพิเศษเหล่านี้ก็ต้องหมดไป นักธุรกิจส่งออกของไทยเหล่านี้ ต้องรู้จักปรับตัวเสียบ้าง ต้องหยุดการเอาเงื่อนไขบางอย่างที่ส่งผลกระทบระยะยาวและกว้างของคนทั้งสังคมไปแลก นักธุรกิจไทยควรมีสำนึกมากๆ" ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ในฐานะสมาชิกเอฟทีเอ ว็อทช์กล่าว

ทั้งนี้ กิจกรรมการรณรงค์ติดตามการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรปครั้งนี้จะมีขึ้นที่ลานท่าแพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 18-19 ก.ย.นี้ มีกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องอิสรภาพทางพันธุกรรมผ่านการรวบรวมเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านจากทั่วประเทศ กิจกรรมศิลปะรณรงค์เพื่ออธิปไตยทางพันธุกรรม กิจกรรมเรียนรู้แบบ interactive เรื่องผลกระทบเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป ในประเด็นต่างๆ และมหกรรมตลาดเกษตรอินทรี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โลกต้องการความยุติธรรม มนุษย์ต้องการผลประโยชน์: แง่คิดจาก "อิสมาอีลลุตฟี"

Posted: 10 Sep 2013 06:32 AM PDT

อธิการบดีวิทยาลัยอิสลามยะลา บรรยายเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ให้แง่คิด "อิสลามกับการคอรัปชั่น" ย้ำ "โลกต้องการความยุติธรรม แต่มนุษย์ต้องการผลประโยชน์" ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม มีทั้งฮาลาลและฮารอม เผยเคล็ด 6 ประการขจัดผลประโยชน์ทับซ้อน

ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีวิทยาลัยอิสลามยะลาและคณะมนตรีสันนิบาตโลกมุสลิม บรรยายในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การขัดกันแห่งผลประโยชน์ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2556 ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี จัดโดยสภาพัฒนาการเมือง มีเนื้อหาดังนี้

000

เมื่อประเทศไทยเป็นประเทศของศาสนา ผมจึงมีส่วนร่วมในการพัฒนาศาสนาสัมพันธ์ในประเทศไทยที่มีศาสนาทั้ง 5 ศาสนาหลัก

ผมมั่นใจว่าศาสนาเป็นเรื่องสำคัญเป็นที่นิยมของคนไทย เพราะเหตุนี้ผมจึงคิดว่า "ศาสนานำชีวิต" เพราะวิถีชีวิตคือศาสนา ดังนั้นใครที่ไม่มีศาสนาถือว่าไม่มีวิถีชีวิต ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม

บางคนยอมรับว่าตัวเองไม่มีศาสนา แต่เราต้องดำเนินชิวิตอยู่ ดังนั้นเราจำเป็นต้องมีศาสนา เพราะศาสนาคือการดำเนินวิถีชีวิต โดยไม่จำเป็นว่าต้องนับถือศาสนาอิสลาม

ศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะศาสนาเป็นสิ่งที่เราต้องยึดมั่นนับถืออย่างลึกซึ้ง ดังนั้นเราจะต้องเอาชีวิตก่อนอาชีพ "สร้างชีวิตก่อนสร้างอาชีพ" เพราะชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าเราจะต้องตายแต่ชีวิตมันก็จะตามคล้อยไปในระดับต่างๆ เพราะชีวิตมันจะอยู่กับเราตลอด

แต่ถ้าอาชีพจะอยู่กับเราอย่างมากก็ 40 ปี ถ้าชีวิตสกปรก อาชีพก็จะสกปรกตามมาด้วย เหมือนกับการมีผลประโยชน์ทับซ้อน มีการคอร์รัปชั่น

ศาสนาต้องการในการประกอบอาชีพ คือ วิญญาณที่ต้องมีกฎหมายซึ่งคือศาสนา ดังนั้นศาสนาคือความรู้สึกสำนึกในหัวใจ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญโดยมีกฎหมายมาครอบคลุมอีกชั้นหนึ่ง ถ้าไม่มีวิถีชีวิต(ศาสนา)มาครอบคลุม อาชีพที่เราทำมันก็จะเสียหายหมด เพราะชีวิตมันเสียหายก่อน

เพราะ "ศาสนานำชีวิต" ถ้ากฎหมาย(ศาสนา)ไม่ได้เรื่อง วิญญาณก็ไม่ได้เรื่องเหมือนกัน ศาสนาต้องอยู่เหนือกฎหมาย (ความรู้สึกด้านวิญญาณสำคัญมาก) โลกต้องมีปรโลกและต้องมีความยุติธรรม และความยุติธรรมก็เป็นส่วนหนึ่งของลมหายใจตั้งแต่เด็ก

"ความยุติธรรม 100% ในโลกนี้คงไม่มี" ความยุติธรรมที่แท้จริงจะปรากฏในปรโลกเท่านั้น ดังนั้นเราจะต้องคำนึงถึงวันปรโลกด้วย และยังเป็นสิ่งที่เราสามารถเคลียร์ให้ชัดเจนในทุกระดับได้ (ในวันปรโลก) ดังนั้นโลกต้องการปรโลก ปรโลกต้องการความยุติธรรม ไม่มีใครที่ไม่ต้องการความยุติธรรม

มนุษย์ทุกคนต้องการผลประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนร่วม เพราะเป็นความรู้สึกของมนุษย์ที่ต้องการผลประโยชน์ แต่ศาสนาไม่ได้ขัดกับเรื่องของผลประโยชน์ แต่ผลประโยชน์จะต้องมาทีหลัง หลังจากที่เราสามารถขจัดภัยที่จะตามหลังมาได้

เพราะผลประโยชน์จะมีทั้งผลดีและผลเสีย ดังนั้น เราจำเป็นที่จะต้องขจัดภัยก่อน แล้วคอยแสวงหาผลประโยชน์ ผลประโยชน์ก็จะตามมา แต่ผลประโยชน์จะไม่ได้เต็ม 100 % ถ้าภัยยังมีอยู่ ความขัดแย้งหรือการขัดขวางยังมีอยู่ หมายถึงภัยตามหลักกฎหมายอิสลาม

ผลประโยชน์ไม่ได้ขัดกับศาสนาอิสลาม แต่เราจำเป็นต้องขจัดภัยหรือปัญหาที่จะตามมาด้วย จึงจะสามารถแสวงหาผลประโยชน์ได้

ผลประโยชน์ส่วนรวมสำคัญกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว และยังเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ แต่ผลประโยชน์เหล่านั้นจะต้องไม่ขัดกัน หมายถึงผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวม แต่ต้องมีขอบเขตในการแสวงหาผลประโยชน์

ในศาสนาอิสลาม คำว่าผลประโยชน์หรือการแสวงหาผลประโยชน์นั้น จะสิ่งที่ฮารอม(ต้องห้าม)หรือสิ่งที่ฮาลาล(อนุญาตหรืออนุมัติ)แฝงอยู่ คือถ้าในผลประโยชน์นั้นเป็นสิ่งที่ฮาลาลก็สามารถทำได้ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ฮารอมก็ไม่สามารถทำได้แม้จะไม่ขัดกับกฎหมายก็ตาม บางผลประโยชน์หรือการแสวงหาผลประโยชน์ไม่ผิดกฎหมายแต่ศาสนาอิสลามถือเป็นเรื่องผิด

ดังนั้นคำว่า ฮาลาล กับ ฮารอม ยังสามารถครอบคลุมถึงความพอเพียงในการแสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง ดังนั้นมุสลิมทุกคนก็ควรขอดุอา(ขอพร)ให้เกิดความพอเพียงกับตัวเองด้วย ต้องไม่ขาดไม่เกินในการดำเนินชีวิตประจำวันด้วย และเป็นความพอเพียงตามที่อัลลอฮฺกำหนดมาด้วย

กล่าวโดยสรุป สิ่งที่สามารถขจัดผลประโยชน์ที่ทับซ้อนได้ มี 6 ประการ คือ

1. ศาสนา เพราะศาสนาคือชีวิต

2. ชีวิตต้องมาก่อนอาชีพ ชีวิตคือวิญญาณที่ต้องมาพร้อมกับกฎหมาย ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง

3. โลกต้องมีวันปรโลก ไม่เช่นนั้นโลกก็จะไม่มีความหมาย ชีวิตก็จะไม่มีความหมายตามมาด้วย

4. ถ้าไม่มีวันปรโลกก็จะไม่มีความยุติธรรมที่แท้จริง

5. ผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวมจะมีทั้งสิ่งที่ฮาลาลหรือฮารอม ซึ่งจะเป็นตัวควบคุมในการหาผลประโยชน์

6. ต้องขจัดภัยที่จะตามมาก่อนที่จะแสวงหาผลประโยชน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหภาพแรงงานครูกรีซนัดหยุดงานประท้วงใหญ่ช่วงเปิดเทอมค้านแผนเลิกจ้าง

Posted: 10 Sep 2013 05:53 AM PDT

 
ที่มาภาพ: tovima.gr 
 
10 ก.ย. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าสหภาพครูมัธยมท้องถิ่นในกรีซ (The Regional Secondary School Teacher Unions - ELME) ได้ประกาศเตรียมนัดหยุดงานประท้วง 5 วันติดต่อกันโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. นี้เป็นต้นไป โดยการประท้วงครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณต่อต้านรัฐบาลกรีซ ที่พยายามบังคับใช้มาตรการรัดเข็มขัดในการปรับลดพนักงานภาครัฐ ตามข้อตกลงในการรับเงินกู้ช่วยเหลือจากชาติทั้งสหภาพยุโรปและ IMF โดยจะมีการปลดพนักงาน 25,000 คน ภายในสิ้นปีนี้ และปลดเพิ่มอีก 15,000 คน ภายในปี ค.ศ.2014
 
ก่อนหน้านี้สหภาพแรงงานครูโรงเรียนมัธยมกรีซ (The Federation of Secondary School Teachers - OLME) ก็ได้ประกาศว่าจะเข้าร่วมในการผละงานประท้วง 48 ชั่วโมงในวันที่ 18-19 ก.ย.นี้ ตามข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานคนทำงานภาครัฐ (Public Servant's Union - ADEDY) สหภาพแรงงานภาครัฐที่ใหญ่ที่สุดของกรีซ โดยกลุ่มสหภาพแรงงานที่ออกมาประท้วงยังได้เรียกร้องให้นักเรียนและผู้ปกครองเข้าร่วมในการประท้วงต่อต้านการควบรวมโรงเรียน ลดตำแหน่งและโยกย้ายครู
 
ทั้งนี้การนัดชุมนุมประท้วงครั้งนี้ของกลุ่มสหภาพแรงงานครูมัธยมในครั้งนี้ อยู่ในช่วงการเริ่มเปิดภาคเรียนในระดับมัธยมของกรีซด้วย
 
 
ที่มาข่าวบางส่วนจาก: 
 
http://www.ansamed.info/ansamed/en/news/sections/generalnews/2013/09/10/Greece-teachers-strike-september-16-universities-close_9274252.html
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จีนออกกฎ เล่นงานคนโพสต์ข่าวลือที่มีผู้ชมเยอะ คุก 3 ปี

Posted: 10 Sep 2013 05:40 AM PDT

ในจีน ผู้ที่โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทในออนไลน์ ซึ่งมีผู้เข้าชมมากกว่า 5,000 ครั้งหรือถูกรีทวีตมากกว่า 500 ครั้ง จะถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท ซึ่งมีโทษจำคุกสูงถึง 3 ปี

วานนี้ (9 ก.ย.56) ศาลฎีกา และอัยการสูงสุดของจีน ได้ออกเอกสารกำหนดแนวทางความผิดทางอาญา กรณีการปล่อยข่าวลือหรือข้อมูลเท็จในอินเทอร์เน็ต โดยมีผลบังคับใช้วันนี้

โดยผู้ที่โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทในออนไลน์ ซึ่งมีผู้เข้าชมมากกว่า 5,000 ครั้งหรือถูกรีทวีตมากกว่า 500 ครั้ง จะถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท ซึ่งมีโทษจำคุกสูงถึง 3 ปี

นอกจากนี้ หากข้อความเท็จเหล่านี้ถูกพบว่าเป็นเหตุให้เกิดอาการป่วยทางจิต การทำร้ายตัวเอง หรือการฆ่าตัวตาย ก็จะถูกตัดสินให้เป็นคดีร้ายแรง ซึ่งสามารถถูกตัดสินจำคุกถึง 3 ปีได้เช่นกัน ทั้งนี้ คดีร้ายแรงยังรวมถึงโพสต์ที่นำไปสู่การรวมตัวประท้วง ยั่วยุให้เกิดการปะทะทางเชื้อชาติหรือศาสนา ทำลายภาพลักษณ์ของชาติ หรือก่อให้เกิดผลกระทบทางลบในทางระหว่างประเทศ

นอกจากผู้โพสต์จะเจอข้อหาปล่อยข่าวลือออนไลน์แล้ว ยังอาจถูกข้อหายุยงให้เกิดความวุ่นวาย กรรโชก หรือดำเนินการทางธุรกิจที่ผิดกฎหมาย

ก่อนหน้านี้ ข้อหาเหล่านี้หมายถึงเฉพาะอาชญากรรมที่เกิดขึ้นใน "พื้นที่สาธารณะ" เท่านั้น โดยยังไม่รวมถึงอินเทอร์เน็ต "ไซเบอร์สเปซก็เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สาธารณะ" ซุน จุนกง โฆษกศาลฎีกาจีนกล่าวและว่า อินเทอร์เน็ตได้ผสานเข้ากับชีวิตจริงของประชาชนแล้ว

อย่างไรก็ตาม มีการเปิดช่องให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ใช้ชื่อจริง ที่โพสต์กล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐว่ากระทำความผิด

ซุนบอกว่า ผู้ใดก็ตามที่กล่าวหาทางออนไลน์ว่าเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต แต่ข้อกล่าวหานั้นไม่จริง จะได้รับการยกเว้นข้อกล่าวหาหากพิสูจน์ได้ว่าเนื้อหาดังกล่าวไม่ได้จงใจแต่งขึ้น

ถง จื้อเหว่ย ศาสตราจารย์กฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยอีสไชน่าในเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า ข้อยกเว้นดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้นำจีนกำลังเผชิญกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

"ด้านหนึ่ง ข่าวลือออนไลน์ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมีเสถียรภาพของสังคม แต่อีกด้านหนึ่ง อินเทอร์เน็ตก็กลายเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของการรณรงค์ต่อต้านการรับสินบน" ถง กล่าว

กฎใหม่นี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและสร้างความกังวลอย่างมากว่าจะกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออก

"ฉันอาจจะต้องปิดอินเทอร์เน็ตซะตอนนี้เลย" ผู้ใช้เน็ตบอก "ถ้าฉันอยากเอาใครเข้าคุก ทางที่ง่ายที่สุดก็คือส่งต่อข้อความเท็จของเขาเสีย 500 ครั้ง"

โจว เจอ ทนายความสิทธิมนุษยชนในปักกิ่ง บอกว่า เขาผิดหวังอย่างยิ่งกับกฎดังกล่าว ที่มีจุดประสงค์ในการทำให้เสรีภาพในการแสดงออกอยู่ภายใต้การสอดส่อง

 
 
 
 
 
ที่มา:  Up to three years in prison for Chinese internet users who spread rumours http://www.scmp.com/news/china/article/1307266/jail-threat-mainland-internet-users-who-spread-rumours
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชาไทการ์ตูน: ฟังเรื่องราวน่าภาคภูมิใจของชุดนักศึกษากันเถอะ

Posted: 10 Sep 2013 04:12 AM PDT


คลิกเพื่อดูภาพใหญ่ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สารจาก BRN: ตัวบทและนัยยะในข้อเรียกร้อง 5 ข้อ (ตอน 1)

Posted: 10 Sep 2013 03:44 AM PDT

บทแปลภาษาไทยของบทความเรื่อง TUNTUTAN AWAL 5 PERKARA (Bahgian 1) ของ อาบูฮาฟิซ อัล-ฮากีม จากบล็อกของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) เกาะติดการพูดคุยสันติภาพปาตานีจากคนใน: ประเมินข้อเรียกร้องเบื้องต้นห้าประการ (ตอน 1)

เป็นที่รับรู้กันมาแล้วว่า วินาทีนี้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพปาตานีได้ถูกเลื่อนออกไปเป็นการชั่วคราว นับตั้งแต่ที่เริ่มเดินมาได้เพียง 6 เดือน และนี่คืออุปสรรคแรกที่ได้ประสบกับกระบวนการพูดคุยครั้งนี้ หลังจากที่การริเริ่มเพื่อสันติภาพในห้วงเดือนรอมฏอนไม่ได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ได้วางไว้แต่อย่างใด

ขณะนี้ฝ่ายขบวนการต่อสู้นั้น อยากจะย้อนกลับไปข้อเรียกร้องเบื้องต้น 5 ประการ ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาในการพูดคุยครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2013 ที่ผ่านมา

ในการประชุมครั้งนั้น ทางฝ่ายขบวนการต่อสู้ก็ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าว และตามด้วยการยื่นรายละเอียดข้อมูลอย่างเป็นทางการให้กับฝ่ายไทยในภายหลัง และทางคณะผู้แทนของฝ่ายไทยเองก็รับปากที่จะกลับไปหารือกับทางรัฐบาล และอาจให้คำตอบกลับมาในระยะเวลาที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม 4 เดือนผ่านไปแล้วก็ยังไม่มีคำตอบจากทางฝ่ายไทยเลย ซ้ำร้ายฝ่ายไทยเองยังคงต้องการให้มีคำอธิบายที่กระจ่างชัดยิ่งกว่าเดิม ในสถานการณ์ที่กระบวนการพูดคุย "ถูกแขวน" เอาไว้ ในระหว่างนี้การสื่อสารทั้งหมดจะกระทำโดยผ่านทางฝ่ายผู้อำนวยความสะดวกเท่านั้น โดยจะไม่มีการเผชิญหน้าบนโต๊ะเจรจาอีกต่อไป

ข้อเรียกร้องทั้งห้า มีความสำคัญขนาดไหนกัน สำคัญจนแทบจะต้องกล่าวซ้ำหลายต่อหลายครั้งในการออกแถลงการณ์จากฝ่ายบีอาร์เอ็น จนมีความจำเป็นต้องอาศัยอำนาจตามมติจากสภาชูรอของบีอาร์เอ็นด้วยการออกแถลงการณ์โดยฝ่ายทหารทางเว็บไซต์ยูทูปว่า "กระบวนการพูดคุยสันติภาพจะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป จนกว่าจะได้รับคำตอบดังกล่าว"?

ตามทัศนะของเรา หากว่าได้ใคร่ครวญอย่างละเอียดถี่ถ้วนและบริสุทธิ์ใจแล้ว ข้อเรียกร้องในเบื้องต้นทั้ง 5 ประการนั้น ไม่ได้เป็นข้อเรียกร้องที่แท้จริงอย่างที่ควรจะเกิดขึ้นในการเจรจาต่อรองที่ใดๆ ก็ตาม พึงสำเหนียกด้วยว่า กระบวนการสันติภาพปาตานี ณ ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงของการพูดคุย (dialog) เท่านั้น มิได้อยู่ในขั้นของการเจรจาต่อรอง (rundingan) แต่อย่างใด ฉะนั้นจึงไม่เกิดข้อคำถามที่ว่า ฝ่ายขบวนการต่อสู้ได้กระทำการยื่นเรื่อง "ก่อนถึงเวลาที่เหมาะสม" อย่างที่บางฝ่ายเข้าใจกัน

ความจริงแล้วข้อเรียกร้องเบื้องต้นทั้ง 5 ข้อนั้นเป็นเหมือนการรับประกันความจริงใจของฝ่ายขบวนการต่อสู้ต่อฝ่ายรัฐไทยมากกว่า การที่เราได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการที่จะแสวงหาหนทางในการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งปาตานีด้วยแนวทางการเมืองที่มีทั้งความยุติธรรม ความยั่งยืน และความครอบคลุมรอบด้าน

ในทางกลับกันทางฝ่ายไทยเองก็เหมือนว่า ยังกระตือรือร้นอยู่กับการเรียกร้องให้ลดเหตุรุนแรงหรือยุติการปฏิบัติการทางการทหารอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นที่สมควรแล้วที่ทางฝ่ายไทยจะต้องเปลี่ยนทัศนคติและแสดงออกถึงความตั้งใจและความจริงใจ ด้วยการตอบสนองที่เป็นไปในทางบวก เพื่อเป็นหลักประกันความจริงใจตามที่ได้ระบุไว้ในเงื่อนไข 5 ข้อดังกล่าว

เราลองมาไตร่ตรองดูเป็นรายข้อถึงเนื้อหาในตัวบทและนัยยะที่แฝงอยู่ในเงื่อนไขทั้ง  5 ข้อดังกล่าว เพื่อที่ว่าเราจักได้เข้าใจอย่างถ่องแท้โดยปราศจากอคติ

 

1.การเจรจาดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นระหว่างขบวนการต่อสู้ชาวปาตานีที่นำโดยบีอาร์เอ็นกับทางรัฐบาลไทย

สิ่งที่เรียกร้องในที่นี้นั้น ก็เพื่อให้มีการยอมรับว่าบีอาร์เอ็นมีสถานะเป็นกลุ่มหลักในนามนักต่อสู้ปาตานีทั้งมวล และเป็นตัวแทนโดยชอบธรรมในการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของชาวมลายูปาตานี ที่สนับสนุนพันธกิจและความต้องการของประชาชนในการทวงคืนสิทธิของพวกเขา

ข้อเรียกดังกล่าวถือว่าได้ผ่านการยินยอมจากคณะผู้แทนที่มีความชอบธรรม (Recognition of Legitimate Representative) ซึ่งในทางปฏิบัตินั้น ถือว่าเกิดขึ้นโดยปริยายไปแล้วจากที่มีการลงนามในฉันทามติทั่วไป ว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2013 ทางฝ่ายขบวนการต่อสู้หรือในฐานะฝ่ายที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐ (ในฐานะฝ่ายบี) อยู่ในสถานะที่ได้รับการรับรองเช่นกัน นั่นหมายความว่านับจากนี้ไป ทางฝ่ายไทยจะต้อง "ปฏิบัติต่อ" แนวร่วมของฝ่ายขบวนการต่อสู้ที่ได้รับการยอมรับเท่านั้น เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงจากพวกที่ฉวยโอกาสหรือพวกที่เป็นตัวสร้างความปั่นป่วน (spoiler)

กลุ่มใดก็ตามที่คิดว่าตนเองเป็น "ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย" (Stakeholder) อยู่ก็ควรที่จะทำเรื่องเป็นลายลักษณ์อักษร ยื่นผ่านผู้อำนวยความสะดวก (มาเลเซีย) อย่างเป็นทางการ เพื่อที่ว่าจะได้ทำการพิจารณาและเห็นพ้องต้องกันจากทั้งสองฝ่าย (ระหว่างตัวแทนของบีอาร์เอ็นกับตัวแทนของไทย) และเป็นการสื่อให้รัฐไทยได้รับรู้ด้วยว่า ทางฝ่ายไทยเองมิควรที่จะ "เปิดช่องทางการพูดคุย" กับกลุ่มอื่นไปพร้อมกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เพื่อที่ว่ากระบวนการสันติภาพนี้จะไม่หยุดชะงักในที่สุด

 

2. บีอาร์เอ็นเห็นพ้องต้องกันที่ให้มาเลเซียเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง (Mediator) ที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงต่อกระบวนการเจรจาในครั้งนี้

ณ ตอนนี้สถานะของกระบวนการสันติภาพยังอยู่ในขั้นของการพูดคุย (Dialog) ระหว่างทั้งสองฝ่าย (รัฐไทยกับขบวนการต่อสู้) และยังอยู่ในขั้นของการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน (confidence building) เท่านั้น การเข้ามาข้องเกี่ยวของรัฐบาลมาเลเซียในช่วงนี้จึงเป็นเพียงในฐานะบทบาทของผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ที่ต้องสงวนท่าทีเท่านั้น ดังเช่นที่ดำรงสถานะความเป็นเจ้าภาพและเป็นผู้คอยทำหน้าที่ส่งสาร (postman)

แต่เมื่อกระบวนการสันติภาพดังกล่าวนี้ได้ยกระดับขึ้นไปอยู่ในขั้นของการเจรจาต่อรอง (Rundingan) ในอนาคต บทบาทในฐานะผู้ส่งสารก็คงจะไม่เหมาะสมอีกต่อไป การเข้ามีส่วนร่วมโดยตรงของทางมาเลเซียจะเป็นสิ่งที่เลี่ยงกันมิได้ เมื่ออยู่ในขั้นนั้นแล้ว บางประเด็นที่สำคัญและมีความละเอียดอ่อนอาจถูกหยิบยกขึ้นมาโดยทั้ง 2 ฝ่าย แต่ถ้าหากเกิด "การก่อกวน" หรือ "การสร้างอุปสรรค" ที่อาจกระทบต่อกระบวนการสันติภาพได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นทางฝ่ายตัวกลางอาจเข้ามามีบทบาทโดยตรงเพื่อทำการปลดเงื่อนไขบางประเด็นที่อาจจะเกิดขึ้น ในสักวันหนึ่งข้างหน้า ซึ่งกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพในอนาคตอาจมีตัวแสดงหลัก 3 ฝ่าย (Three Parties)

 

3. การเจรจาสันติภาพต้องมีตัวแทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน สมาชิกโอไอซี และองค์กรเอ็นจีโอต่างๆ ที่ได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 2 ฝ่ายมาเป็นสักขีพยาน

เงื่อนไขดังกล่าวเป็นเรื่องปรกติทั่วไปในการเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้ง มิใช่เพียงแค่ว่าต้องอาศัยบทบาทของตัวกลางที่ดีและน่าเชื่อถือเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่การได้รับรู้โดยคนนอกที่เป็นกลางก็มีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคนนอกที่สนับสนุนหลักการสิทธิมนุษยชนที่ปรารถนาในสันติภาพและความสงบสุข

ด้วยเหตุนี้เพื่อว่าประเด็นใดก็ตามที่ได้หยิบยกขึ้นมาพูดคุยและได้ตกลงกันจะได้รับการติดตาม เคารพยอมรับ และสังเกตการณ์จากทุกฝ่าย

ความกังวลใจของรัฐไทยที่ยังคงยืนกรานมาโดยตลอดว่า ความขัดแย้งที่ปาตานีเป็นเพียงเรื่องภายในประเทศ (domestic) เท่านั้น ถึงตอนนี้จะไม่เป็นอย่างนั้นอีกต่อไป กระบวนการทำให้กลายเป็นเรื่องสากล (internationalisation) นั้นจะทำให้กระบวนการสันติภาพปาตานีมีความง่ายดายมากยิ่งขึ้น จะทำให้กระบวนการสันติภาพปาตานีจะสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น และคงได้รับแรงหนุนจากทุกๆ ฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

 

4. ทางรัฐบาลไทยต้องยอมรับว่าชาวมลายูปาตานีมีสิทธิความเป็นเจ้าของเหนือดินแดนปาตานี

ในจำนวนข้อเรียกร้องทั้ง 5 ประการนั้น ข้อเรียกร้องประการที่ 4 นี่เองที่ได้กลายเป็นประเด็นร้อนที่ก่อให้เกิดคำถามในการพูดคุยด้วยฐานะที่เป็นประเด็นใจกลาง (core issue) ด้วยเหตุนี้ ข้อเรียกร้องประการนี้จึงมีความสำคัญยิ่งยวด และจำเป็นที่จะต้องอธิบายอย่างยืดยาวและละเอียดรอบคอบ ตลอดจนต้องคาบเกี่ยวเนื้อหาไปถึงประวัติศาสตร์และกฎหมายด้วย ผมใคร่ขอทำความเข้าใจในบทความต่อไป (ตอนที่สอง) ที่จะตามมาในภายหลัง

 

5. ฝ่ายบีอาร์เอ็นขอเรียกร้องให้ทางรัฐบาลไทยปล่อยตัวนักโทษการเมืองและยกเลิกหมายจับให้แก่นักต่อสู้ปาตานีทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข

อีกเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ (หรือจงใจที่จะไม่รับสนอง) โดยรัฐไทย นั่นก็คือเรื่องความยุติธรรม โดยที่อาศัยอำนาจตามกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ (กฎอัยการศึก, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในฯ) ที่ได้ลิดรอนสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและจำกัดเสรีภาพของประชาชน โดยทางการไทยได้จับกุมชาวมลายูปาตานีไปมิใช่น้อย อาศัยเพียงการแจ้งเบาะแสบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัย หรือการจับกุมแบบเหวี่ยงแห ด้วยเหตุผลที่ว่าพวกเขาอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความรุนแรง เป็นแนวร่วม หรือเคยก่อเหตุใดๆ โดยปราศจากหลักฐานที่ชัดเจน

ใครก็ตามที่มีความเห็นที่แตกต่างหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจะถูกขึ้นบัญชีในฐานะ "ฝ่ายตรงข้าม" หรือกบฏ ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวมิได้เกินเลยแต่อย่างใด เพราะส่วนใหญ่ของผู้ถูกขังล้วนมาจากคดีทางการเมือง

ถ้าหากเนื้อหาในการลงนามใน "ฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ" เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2013 ที่ได้ให้การยอมรับแล้วว่า พวกเขาคือคนที่มีความคิดเห็นและอุดมการณ์ที่ต่างจากรัฐ และการจับกุมดังกล่าวเข้าข่ายในคดีทางการเมืองเช่นกัน และพวกเขาสมควรที่จะถูกปล่อยตัวหรือได้รับการนิรโทษกรรม (amnesty) โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ เช่นเดียวกับหมายจับที่ออกโดยเพราะข้อกล่าวหาในทางการเมืองดังกล่าวควรที่จะยกเลิกทั้งหมด

ตามที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้วว่า ข้อเรียกร้องทั้ง 5 ประการนั้นเสมือนเป็นหลักประกันความจริงใจตามที่ทางฝ่ายขบวนการได้ร้องขอ เพื่อเป็นการปูทางให้กับกระบวนการสันติภาพในขั้นต่อไป

ถ้าหากว่ากระบวนการสันติภาพนี้มิได้วางอยู่บนลู่ทางที่ดีและฐานที่แข็งแกร่ง อาจเกิดความคลางแคลงใจกัน นั่นคือกระบวนการสันติภาพปาตานีที่มีความยาวนานและซับซ้อนยิ่งนี้ จะไม่สามารถตอบโจทย์ให้กับทุกฝ่ายได้ หากซึ่งสิ่งนี้ได้เกิดขึ้นจริงถือเป็นความโชคร้ายของประชาชนชาวปาตานีทั้งมวลทุกเชื้อชาติและสายตระกูลที่จะยังคงหมุนเวียนอยู่กับความขัดแย้งทางการเมืองอย่างไม่มีวันจบสิ้น ในขณะที่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนจะตกอยู่ภายในวังวนแห่งความโกลาหลนับร้อยพันปัญหาที่คอยรังควานความสงบอยู่ร่ำไป

 

**ความคืบหน้าล่าสุด: เป็นที่ทราบกันมาแล้วว่าเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2013 ทางการไทยได้ให้การตอบรับต่อข้อเสนอของบีอาร์เอ็นดังกล่าว ผ่านทางผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าทางการไทยเองก็พร้อมที่จะรับข้อเสนอดังกล่าว นอกจากเงื่อนไขข้อ 4 เท่านั้น (ที่เกี่ยวกับสิทธิความเป็นเจ้าของ) ที่ยังต้องการความกระจ่างชัดจากบีอาร์เอ็น ในข้อมูลที่เป็นรายละเอียดที่ชัดเจน ซึ่งในอีกไม่ช้านี้ ทางฝ่ายบีอาร์เอ็นจะยื่นให้กับฝ่ายไทยผ่านผู้อำนวยความสะดวก แต่คงไม่เกินสิ้นเดือนกันยายนนี้อย่างแน่นอน และหลังจากนี้การพูดคุยอย่างเป็นทางการ (ในทางเปิด) จะเริ่มใหม่อีกครั้ง หลังจากที่มีกำหนดการออกมาอย่างชัดเจน โปรดติดตาม

น้ำส้มสายชูและน้ำผึ้ง – จากนอกรั้วที่ล้อมปาตานี
เดือนซุลเกาะดะห์ / กันยายน 2013

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'อั้ม เนโกะ' แจงภาพสวมบิกินีเป็นกิจกรรมในคณะ ไม่เกี่ยวกับการต้านชุดนักศึกษา

Posted: 10 Sep 2013 03:33 AM PDT

"อั้ม เนโกะ" ชี้แจงภาพสวมบิกินีไม่เกี่ยวกับกิจกรรมต้านชุดนักศึกษา แต่เป็นภาพ "crazy week" ของคณะตั้งแต่ช่วงเปิดเทอม ที่ให้แต่งชุดประหลาดมาเรียน โดยเลือกสวมบิกินีเพื่อต่อต้านการดูถูกโสเภณี ขณะที่ตลอดทั้งวันนี้สื่อหลายสำนัก และเฟซบุ๊กดังหลายเพจ ได้นำภาพเก่ามาแชร์และระบุว่าเป็นการต้านชุดนักศึกษา

 

"อั้ม เนโกะ" ชี้แจงภาพสวมบิกีนีเป็นสัปดาห์ Crazy week ในคณะ
และสวมบิกินีเพื่อต่อต้านการดูถูกอาชีพโสเภณี

หลังก่อนหน้านี้ได้ทำโปสเตอร์รณรงค์ต่อต้านการบังคับแต่งชุดนักศึกษา และต่อมามีการนำภาพที่ "อั้ม เนโกะ" สวมชุดบิกีนีที่โรงอาหาร และมีการนำไปเผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊กต่างๆ รวมทั้งสื่อมวลชนต่างๆ ว่าเป็นภาพการรณรงค์ต้านการแต่งชุดนักศึกษา และนำไปโจมตีนั้น

ล่าสุดวันนี้ (10 ก.ย.) "อั้ม เนโกะ" นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ชั้นปี 2 เอกภาษาเยอรมัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ให้สัมภาษณ์ "ประชาไท" ถึงกรณีภาพสวมชุดบิกีนีดังกล่าวว่า ได้ใส่ชุดบิกีนีตามภาพจริง เนื่องจากสัปดาห์ที่ 2 ของการเปิดเทอม คณะศิลปศาสตร์จะมีกิจกรรมที่เรียกว่า crazy week คือ ให้นักศึกษาในคณะแต่งตัวประหลาดๆ มาเข้าเรียน

ซึ่งปีนี้ มีธีมชื่อ  When I Grow Up "อาชีพในอนาคต"  เหตุที่ตัดสินใจเลือกชุดบีกินี เพราะก่อนหน้านั้น เพิ่งมีกระแสข่าวโจมตีการทำหน้าที่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปรียบเทียบกับ อาชีพโสเภณี หรือกะหรี่ ซึ่งโดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการเปรียบเทียบดังกล่าว  เพราะมองว่า การวิจารณ์นายกรัฐมนตรี ควรจะวิจารณ์ว่านโยบายของนายกรัฐมนตรี ไม่ดีอย่างไร ไม่ใช่นำมาเปรียบเทียบกับอาชีพโสเภณีในลักษณะกดทับอาชีพโสเภณีด้วย นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ขบวนล้อการเมืองของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ได้นำประเด็นนี้มาล้อ โดยไม่ได้ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจเรื่องดังกล่าว

ส่วนตัวจึงเลือกใส่ชุดบีกินี เพื่อแสดงถึง อาชีพโสเภณี ในกิจกรรม  crazy week  ธีม  When I Grow Up เพื่อจะบอกว่า อาชีพกะหรี่ก็เป็นอาชีพหนึ่ง ที่ควรนำมาจัดระบบให้ถูกกฎหมาย เหมือนงานบริการอื่นๆ เพราะกะหรี่ ก็เป็นอาชีพขายบริการอย่างหนึ่ง เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง  สังคมไทยควรเปิดรับและลองดูประเทศอื่นๆ ที่อนุญาตให้โสเภณีเป็นอาชีพถูกกฎหมายจะส่งผลให้อัตราการข่มขืนน้อยกว่าประเทศที่กำหนดว่าอาชีพนี้ผิดกฎหมาย และเห็นว่า เรื่องนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะสถาบันการศึกษา ควรเปิดกว้าง อย่าไปผลิตซ้ำและกดทับอาชีพนี้อีก โดยเฉพาะกรณีโจมตีนายกรัฐมนตรีหญิง แทนที่จะบอกว่านโยบายของนายกรัฐมนตรีไม่ได้อย่างไร ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากกว่า

"อั้ม เนโกะ" กล่าวด้วยว่า การสวมชุดบีกินีเพื่อแสดงความเป็นโสเภณีไปเรียนที่ธรรมศาสตร์นั้น ทำเพียง  1 วัน ในโอกาสกิจกรรมดังกล่าว  เพื่อต่อต้านการดูถูกอาชีพโสเภณี และบอกว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้มีแต่คนเรียบร้อยในความเห็นของตน รวมทั้งเห็นว่า บิกีนีไม่ได้ละเมิดสิทธิใคร ไม่ได้เอาไปยัดปากใคร และไม่ได้บังคับให้ใครดม

"เรายอมรับคำวิจารณ์คำด่า แต่อย่ามาห้าม ไม่ให้เราใส่ในวันที่จัดกิจกรรมเพื่อแสดงความคิดเห็นซึ่งไม่ใช่วันเรียนปกติ" อั้ม เนโกะ กล่าว

อั้ม เนโกะ บอกด้วยว่า ขณะนี้มีสื่อบางสำนัก นำภาพดังกล่าวไปเผยแพร่ และวิจารณ์ในทางเสียหาย ขาดการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่มีความรับผิดชอบ ตนอาจจะดำเนินการตามกฎหมาย ในประเด็นที่ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและทำให้เกิดความเข้าใจผิ

 

สื่อหลายหัวนำภาพเก่าไปแชร์ พร้อมโยงว่าเป็นกิจกรรมต้านชุดนักศึกษา

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 11.44 น. วันนี้ (10 ก.ย.) อั้ม เนโกะ ได้โพสต์ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก "Aum Neko" หลังจากที่มีการเผยแพร่ภาพของเธอสวมชุดบิกินีที่โรงอาหาร ผ่านเฟซบุ๊กและสื่อต่างๆ และบรรยายว่าเป็นการรณรงค์ต้านการแต่งชุดนักศึกษา โดยในการโพสต์ชี้แจง อั้ม เนโกะ ระบุว่าภาพดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการรรงค์ แต่เป็นการร่วมกิจกรรมของทางคณะที่เรียน ที่เรียกว่า "crazy week" โดยจะให้แต่งตัวตามธีมที่กำหนด

โดยอั้ม ชี้แจงถึงเฟซบุ๊กแฟนเพจที่ชื่อ "ผู้ปลดปล่อย Rises" ว่า

"ทำไมเอามาแต่ไม่รู้ ไม่ทราบว่าเขามีงาน อะไร แคมเปปญ อะไรนี่มันแสดงความเขลาของเพจคุณเองออกมาเลยนะคะ กิจกรรมนั้นเป็นงานคณะค่ะเขาเรียกว่า crazy week ของสินสาด มธ ให้แต่งตัวตามธีมที่กำหนด

ซึ่งวันนั้นธีมอาชีพหรือชื่อ " When I Grow Up " ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีคนด่าอีปู อีกะหรี่ มีงิ้ว มธ ที่มาผลิตซ้ำการเป็นกะหรี่ไม่ดี ลองย้อนกลับไปอ่านก่อนเถอะค่ะว่าดิฉันแต่งงานวันนั้นเป็น อาชีพ "กะหรี่" เพราะเชื่อว่าการเป็นกะหรี่ควรเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายและควรจัดระบบได้แล้ว และค่านิยมในสังคมก็ควรเปิดรับความสุจริตของอาชีพนี้ด้วย

ไม่ทราบว่าเคยไปอ่านไปหาข้อมูลเรื่องที่พวกดิฉันรณรงค์กันบ้างหรือเปล่าคะ ? ถ้าสักแต่ว่าเขาแปะมาให้ด่าก็ด่าก็ตลกแล้วค่ะ แล้วขอบอกอีกอย่างนะคะขอบเขตบนร่างกายบิกินีของดิฉันไม่ได้ไปกระทกหน้าใครตายค่ะ

ถ้าจะบอกว่ามันไปริดลอนคนอื่นใช้สิทธิเกินควรนี่คงไม่ใช่ค่ะ แต่ไปกระแทกหน้า "ต่อมดัดจริต" ของสังคมนี้อาจจะใช่ เพราะสังคมนี้ไม่เคยจินตนาการภาพของความหลากหลายทางความคิดได้เลย"

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการโพสต์ชี้แจงไปแล้ว แต่ตลอดทั้งวันนี้ ยังคงมีสื่อมวลชนฉบับต่างๆ นำภาพอั้ม เนโกะ ในรูปสวมชุดบิกีนีดังกล่าวไปโพสต์รายงานข่าว เช่น แนวหน้า ได้เผยแพร่ภาพนี้และเขียนบรรยายภาพว่า

"สังคมออนไลน์ได้มีการแชร์รูปภาพของ อั้ม เนโกะ ยืนบนโต๊ะภายในโรงอาหารในของมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง โดยเจ้าตัวยืนโพสต์ท่า พร้อมเพื่อนสาวที่นั่งแอ็คท่าถ่ายรูปและแต่งกายคล้ายชุดพยาบาลในชุดสีเขียว ส่วน อั้ม เนโกะใส่เพียงบิกินี่ เท่านั้น โดยในภาพจะเห็นว่าทั้งสองไม่แคร์สายตาจากคนอื่น ภายในโรงอาหารแม้แต่น้อย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพดังกล่าวถูกถ่ายไว้ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน แต่ไม่มีการระบุว่า ปีพ.ศ.ใด นอกจากนี้ยังระบุสถานที่ที่ถ่ายไว้ว่า AT KHLONG LUANG,PATHUM THANI,THAILAND อย่างไรก็ตามน่าเชื่อว่า อั้ม เนโกะถ่ายรูปดังกล่าวกับเพื่อนและไปเรียนยืนถ่ายโชว์ที่ธรรมศาสตร์เพื่อต่อต้านการใส่ชุดนักศึกษา เพื่อไม่เอาระบบเผด็จการทหาร"

ขณะที่ T-Newsรายงานในลักษณะเดียวกันว่า "เป็นการใส่บิกินีไปเรียนที่ธรรมศาสตร์สมัยต่อต้านการใส่ชุดนักศึกษาครั้งแรกๆ" ทำนองเดียวกับ Spring News ที่ระบุว่า "เป็นช่วงแรกของการต่อต้านการใส่ชุดนักศึกษา"

ภาพจากเว็บไซต์ข่าว "แนวหน้า"(บันทึกเวลา 17.00 น.)

รวมทั้งเพจดังอย่าง "Dislike Yingluck For Concentration Citizen" โพสต์ภาพดังกล่าวเมื่อเวลา 13.54 ของวันเดียวกัน โดยอ้างจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ "เรื่องจริงยิ่งกว่านี้อีก" ระบุว่า "อั้ม เนโกะ ใส่บิกินีไปเรียนที่ธรรมศาสตร์ต่อต้านการใส่ชุดนักศึกษา เพื่อไม่เอาระบบเผด็จการทหาร จริงๆก็ไม่มีใครเค้าบังคับให้น้องอั้มไปเรียนธรรมศาสตร์นะครับ ถ้ารู้ว่าไปเรียนแล้ว จะเดือดร้อนขนาดนี้ ก็อย่าไปเรียนมันเลย เสื่อมเสียสถาบันเปล่าๆ ไอ้สัส!! (กำโทษแมวพิมพ์)"

ภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ "Dislike Yingluck For Concentration Citizen" (บันทึกเวลา 17.00 น.)

เช่นเดียวกับเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ปู จิตกร บุษบา' ผู้ดำเนินรายการ "รู้ทันประเทศไทย" ทาง RSU TV ได้โพสต์ภาพดังกล่าวพร้อมข้อความว่า "ต่อมา "อั้ม เนโกะ" ก็เปิดเผยเนื้อตัวอันน่ากลัวของเธอ เพื่อต่อต้านการแต่งชุดนักศึกษา"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

งานเลี้ยงข้าวยำได้เกินเป้า INSouth พร้อมลุยงานเพื่อสังคมชายแดนใต้

Posted: 10 Sep 2013 03:12 AM PDT

งานเลี้ยงข้าวยำสมทบทุนได้เกินเป้า หลังจากมือดียกเค้าสำนักงาน INSouthเตรียมเดินหน้าแผนงานเพื่อสังคมชายแดนใต้

นายอาบูซูเฟียน บิน อับดุลเราะห์หมาน ฝ่ายประสานงานเครือข่ายบัณฑิตอาสาปาตานี หรือ INSouth ในฐานะประธานจัดงานข้าวยำสมทบทุน INSouth เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2556 ที่ชายหาดตะโละสะมิแล ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เปิดเผยผลการจัดงานดังกล่าวว่า สามารถระดมทุนได้ 311,000 บาท จากที่ตั้งเป้าหมายไว้เพียง 210,000 บาท แต่หลังวันจัดงานก็ยังมีคนที่เข้ามาบริจาคอยู่อีก

นายอาบูซูเฟียน เปิดเผยต่อไปว่า เหตุที่จัดงานนี้ขึ้นมาเนื่องจากสำนักงาน INSouth ถูกคนร้ายเข้าไปลักขโมยทรัพย์สินไปรวมมูลค่ากว่า 210,000 บาท จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของ INSouth ซึ่งก่อนจัดงานดังกล่าว INSouth ได้เปิดรับบริจาคสมทบทุนช่วยเหลือมาก่อนแล้ว

นายอาบูซูเฟียน เปิดเผยด้วยว่า ค่าใช้จ่ายในการจัดงานครั้งนี้ มีเกือบ 100,000 บาท ซึ่งมาจากงบส่วนตัวของสมาชิก INSouth และมาจากการขอความอนุเคราะห์และการบริจาคของร้านค้าต่างๆ หลังจากได้ประชาสัมพันธ์ว่าจะจัดงานนี้ขึ้นมา ซึ่งการจัดงานนี้เป็นไปตามมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2556

และเป้าหมายต่อมาคือต้องการเชื่อมคนที่เคยทำกิจกรรมด้วยกันกับ INSouth เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่ INSouth จัดอีกครั้ง ส่วนทีมงานเป็นเยาวชน นักเรียนและนักศึกษาที่เคยร่วมกิจกรรมของ INSouth และการจัดงานที่ชายหาดบ้านตะโละสะมิแล ก็เพราะเคยใช้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมสมัยเป็นนักศึกษาเมื่อปี 2551 จึงทำให้เป็นที่รู้จักของชาวบ้านอย่างดี

โดยในวันที่มีการเลี้ยงข้าวยำนั้น ผู้เข้าร่วมงานส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ในเครือข่ายและองค์กรภาคประชาสังคม รวมทั้งคนอื่นๆ จำนวนมากที่ได้รับเชิญต่อจากสมาชิกในเครือข่าย ถือว่าเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยผู้ร่วมงานส่วนใหญ่มาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีบางส่วนมาจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช

นายอาบูซูเฟียน กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานกินข้าวยำสมทบทุน เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของคนปาตานี เมื่อใครทราบข่าวก็จะเข้ามาร่วม ต้องขอบคุณทุกสิ่งทุกอย่างและต้องขอโทษหากเกิดผิดพลาดประการใด

นายชารีฟ สะอิ เลขาธิการ INSouth เปิดเผยว่า หลังจากสำนักงานถูกงัดและคนร้ายได้ลักขโมยทรัพย์สินไปหลายรายการ ส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมตามแผนได้ จึงทำให้ต้องประชุมวางแผนงานกันใหม่ทั้งกิจกรรมเครือข่ายตาดีกา เยาวชน นักศึกษาและนักเรียน ภายในสัปดาห์หน้า

นายชารีฟ เปิดเผยต่อไปว่า หลังจากนี้ INSouth จะเพิ่มกิจกรรมอบรมการทำฮัจญ์ให้เครือข่ายที่อยู่ในชุมชนต่างๆ นอกเหนือจากค่ายอบรมจริยธรรมหรืออบรมต่างๆ ตามปกติ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายเสมอ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จำคุก 12 ปี ประชา มาลีนนท์ คดีทุจริตจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง กทม.

Posted: 10 Sep 2013 01:20 AM PDT

ศาลตัดสินจำคุก "ประชา มาลีนนท์"  อดีต รมช.มท. 12 ปี และ ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. 10 ปี คดีที่ ปปช. ฟ้องฐานทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของ กทม. ส่วนโภคิน พลกุล, วัฒนา เมืองสุข และอภิรักษ์ โกษะโยธิน รอดข้อกล่าวหา ขณะที่ก่อนหน้านี้ "ประชา มาลีนนท์" ถูกออกหมายจับ หลังศาลเห็นว่ามีเจตนาหลบเลี่ยงไม่มาฟังคำพิพากษา

นายประชา มาลีนนท์ (แฟ้มภาพ/วิกิพีเดีย)

ตามที่ในเวลา 10.00 น. วันนี้ (10 ก.ย. 56) องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดอ่านคำพิพากษาคดีทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร มูลค่า 6.69 พันล้านบาท ในคดีหมายเลขดำ อม.5/2554 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ฟ้องนายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีต ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด (ศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว) และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชาการกรุงเทพมหานคร เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542

หลังจากที่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้เลื่อนอ่านคำพิพากษา เนื่องจากนายประชา ไม่มาศาล และไม่แจ้งเหตุขัดข้อง  ศาลฎีกาฯ เห็นว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาหลบเลี่ยง จึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับและปรับเงินประกัน 2 ล้านบาท

โดยในวันนี้ (10 ก.ย.) ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า ศาลมีคำพิพากษาจำคุกนาย ประชา มาลีนนท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 12 ปี และ จำคุก พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. 10 ปี

ส่วนนายโภคิน พลกุล นายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รอดพ้นข้อกล่าวหา

โและในวันนี้ที่มีการอ่านคำพิพากษา ทั้งนายประชา และ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ไม่ได้เดินทางมาที่ศาลแต่อย่างใด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น