ประชาไท | Prachatai3.info |
- สัมภาษณ์ผู้กำกับหนังไม่ได้ฉาย - ในงาน "หนังน่าจะแบน"
- กทค.ลั่นไม่ถอนฟ้อง 'เดือนเด่น' ดำเนินคดีถึงที่สุด- ทบทวน 'ไทยพีบีเอส'
- รางวัล ‘อิก โนเบล’ 2013 ชาวไทยคว้าสาขาสาธารณสุข จากรายงาน "เฉือนเจ้าโลก"
- เพจกลุ่มอัญจารี(Anjaree)
- กลุ่มผู้ปลูกข้าวโพด จ.แพร่ ไร้เอกสารสิทธิ์ร้องรัฐช่วย วอนอย่าช่วยแค่ผู้ที่มีเอกสารสิทธิ์
- ผลวิจัยพบนักศึกษาติดพนันกว่าร้อยละ 66.7 ชี้เกิดจากเพื่อนมากที่สุด
- รามคำแหงอนุญาตให้แต่งกายเข้าสอบตามเพศสภาพอันหลากหลาย
- ยกฟ้องคดี 112 พี่ฟ้องน้อง หลังถูกขัง1 ปี ศาลชี้พยานหลักฐานไม่เพียงพอ
- สปสช. สรพ. สธ. ผนึกกำลังช่วยผู้ป่วยให้รอดชีวิตติดเชื้อในกระแสเลือด หลังพบเป็นสาเหตุหลักเสียชีวิตในโรงพยาบาล
- สิ่งที่ 'ปูติน' อยากบอกกับ 'อเมริกัน' ในกรณีซีเรีย
- ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "No Comment"
- ความเป็นมาของระเบียบชุดนักเรียนไทย อังกฤษ และอเมริกา และข้อถกเถียงสากล
สัมภาษณ์ผู้กำกับหนังไม่ได้ฉาย - ในงาน "หนังน่าจะแบน" Posted: 13 Sep 2013 09:29 AM PDT สัมภาษณ์สองผู้กำกับ "อัคร ปัจจักขะภัติ" ผู้กำกับเรื่อง "เจ็บปวด" และ "สรยศ ประภาพันธ์" ผู้กำกับเรื่อง "คิม" ซึ่งส่งผลงานประกวดในโครงการ "หนังน่าจะแบน" อย่างไรก็ตามภาพยนตร์ของพวกเขาไม่ได้รับการฉายในวันประกาศผลเมื่อ 7 กันยายนที่ผ่านมา ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา มีการฉายและมอบรางวัลให้กับภาพยนตร์ในงาน "หนังน่าจะแบน" โครงการประกวดภาพยนตร์สั้นซึ่งมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 40 เรื่อง จัดโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ร่วมกับไบโอสโคป เครือข่ายคนดูหนัง และได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ และได้รับการเอื้อเฟื้อสถานที่จากหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 000 "อัคร ปัจจักขะภัติ" ผู้กำกับ "เจ็บปวด"ภาพยนตร์เรื่อง "เจ็บปวด" ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวด "หนังน่าจะแบน" และไม่ได้ฉายในวันประกาศผล แนวคิดของภาพยนตร์ "เจ็บปวด" มีคีย์เวิร์ด 2 คีย์เวิร์ดใหญ่คือ คำว่า "รัก" และคำว่า "เจ็บปวด" โดยโยนคำถามไปที่ตัวภาพยนตร์ว่าความรักมักจะเรียกร้องความเจ็บปวดจริงไหม การแสดงออกถึงความรัก และการแสดงออกถึงความเจ็บปวด ประเด็นของหนัง ผมเริ่มตั้งคำถามตั้งแต่ตอนที่ผมสูญเสียคนใกล้ตัว ซึ่งผมสังเกตว่าคนรอบตัวผมหลายๆ คนล้วนเคยสูญเสียคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ พี่น้อง เพื่อนสนิท หรือแฟน แล้วเวลาเกิดขึ้นก็ค่อนข้างเจ็บปวดพอสมควร แล้วโลกมิติทุกอย่างในชีวิตมันค่อนข้างพัง แต่เวลาเราผ่านมาประสบการณ์นั้นมาได้ มันทำให้เราแข็งแรงขึ้น ผมก็เลยนำประเด็นนี้มาทำเป็นภาพยนตร์ แล้วตั้งคำถามว่าถ้าเราสูญเสียเสาหลักของครอบครัว ของสังคมไป แล้วชีวิตเราจะเป็นอย่างไรต่อไป
ใช้เวลาในการเตรียม ในการผลิตเพื่อส่งเข้าประกวดนานไหม ไม่นานมากครับ เพราะว่าประเด็นที่ทำคิดไว้อยู่แล้วก่อนที่จะรู้โครงการนี้ พอเห็นโครงการนี้ก็ปรับตัวละครนิดหน่อย การถ่ายค่อนข้างเป็นสารคดี แนะนำคร่าวๆ ว่าจะเล่าประมาณไหน พี่ๆ ที่มาช่วยแสดงก็สด ผมก็ใช้วิธีบันทึก ตัดต่อ เรียบเรียงใหม
ภาพยนตร์ไม่ได้มีการฉาย แต่ได้รางวัลชนะเลิศ ความรู้สึกว่าไม่ได้ฉายในงานเทศกาลรู้สึกอย่างไร รู้สึกแปลกมากๆ เพราะมันมีหลายรางวัลใช่ไหมครับ คือผมก็ถอดใจ เพราะเขาบอกว่าจะฉายซ้ำอีกรอบ แต่ของผมไม่ได้ฉาย แต่ว่ามีการฉายก่อนหน้านี้ในรอบพิเศษ คือกรรมการและคนอื่นๆ กลุ่มหนึ่งได้ดูอยู่ แต่เขาก็เสียวประเด็นทางกฎหมาย เขาเลยตัดสินใจที่จะยังไม่ฉายดีกว่า
คิดอย่างไรกับคำว่าเซ็นเซอร์ การห้ามฉาย ในวงการภาพยนตร์ไทย อยากฝากอะไรถึงผู้ผลิตภาพยนตร์ในประเทศ ผมเชื่อว่าคนสร้างหนัง สร้างหนังมาเขาก็อยากให้คนดูอยู่แล้ว แต่ของเราติดปัญหากฎหมาย กฎหมู่ กฎหลายกฎที่ไม่ make sense และตัวบทกฎหมายก็ค่อนข้างชัดเจน กว้างๆ คลุมๆ ผมคิดว่ากรรมการควรจะมี แต่ควรเป็นคนในวงการหนังเองที่รู้เรื่องหนังจริงๆ และมีอะไรที่ชัดเจนกว่านี้ และการแบนก็ไม่ควรมี เรตติ้งต้องมีอยู่แล้ว แต่การแบนไม่ควรจริงๆ
การแบนภาพยนตร์ ส่งผลกระทบอย่างไร มันเสียโอกาสตรงที่ว่า มันเสียพื้นที่ด้วย บางทีเรามีประเด็นที่ชัด แต่เราคิดว่าจะโดนเกลียดไหม พ่อแม่ถ้าได้ดูล่ะ หรือเพื่อน หรือสังคม จะโดนกฎหมาย จะโดนฟ้องไหม คือเรื่องมันจะเยอะ ประเทศเราติดอะไรแบบนี้ค่อนข้างเยอะ หยุมหยิมไปหน่อย เพราะว่าความไม่ชัดเจนนี่แหละครับ 000 "สรยศ ประภาพันธ์" ผู้กำกับ "คิม"แนวคิดของภาพยนตร์เรื่อง "คิม" มันเป็นสารคดีเก๊ หรือ Mockumentary เหมือนสัมภาษณ์ความจริง แต่ Set Up บททั้งหมด ฟอร์มจะเป็นแบบนั้น แต่ไอเดีย คอนเซ็ปต์จะจิกกัดการเซ็นเซอร์ของประเทศ ว่าทำไมหนังต้องเซ็นเซอร์ เคเบิลท้องถิ่นบางอันก็มีตัวรายการที่เรียกว่าอะไรดี เสี้ยม หรือใส่ไฟอีกข้างโดยไม่รู้ว่าหลักฐานที่เอามาโชว์นั้นจริงหรือไม่จริงขนาดไหน ไม่เห็นมีใครไปจำกัดสิทธิ หรือเซ็นเซอร์รายการทีวี แต่ทำไมหนังถึงโดน จะเป็นบทสนทนาถาม-ตอบ คิดอย่างไรกับการเซ็นเซอร์ ช่วง Ending sequence มีการถามคนถูกสัมภาษณ์ว่า ทำไมถึงมีการแบนอยู่ล่ะ คนตอบก็ตอบว่า นั่นดิทำไมถึงแบน ทำตัวโคตรเผด็จการ เกาหลีเหนือหรือเปล่า ตอนจบเลยหยิบฟุตเทจของเกาหลีเหนือมา เป็นช่วงที่คิม จอง อิล เสียชีวิต
ความรู้สึกที่ภาพยนตร์ไม่ได้ฉายในเทศกาลหนังน่าจะแบน รู้สึกแปลก (หัวเราะ) โครงการชื่อ "หนังน่าจะแบน" ทำเพื่อล้อกับเซ็นเซอร์ แต่สุดท้ายก็ตัวหนังผมเองถ้าฉายไปอาจไม่ปลอดภัย คือตัวกฎหมายปลอดภัย แต่ว่าคนตีความตีให้ผมไม่ปลอดภัยได้ก็เลยเป็นจุดอันตราย
มองการเซ็นเซอร์ การห้ามฉายภาพยนตร์ในเมืองไทยอย่างไร เราโดนเซ็นเซอร์กันเยอะ ทุกวันนี้เราก็ self-censorship กันเยอะ ผมเองทำเรื่องนี้ก่อนทำก็ self-censorship แล้ว ทำเสร็จก็ถือว่าไม่ยอมฉายด้วยตัวเอง เพราะว่าถ้าฉายก็จะเป็นความผิดของผมและไอลอว์ ด้วย ผมก็เซ็นเซอร์ตัวเองด้วยการไม่ฉายด้วย ผมก็ไม่รู้สึกดี
มีแผนที่จะตัดต่อหรือรีเมคหรือไม่ คิดว่าไม่รีเมคแน่ๆ แต่ว่า คือปกติหนังสั้นของผมเรื่องอื่นๆ ผมโฟกัสไปต่างประเทศเยอะนะ อย่างเรื่องก่อนก็ไป 7-8 เทศกาลเมืองนอก แต่ว่าเรื่องนี้ ผมออกแบบให้คนไทยดูมากๆ บริบทมันไทยมาก คนไทยดูแล้วจะตลก ฝรั่งดูหรือคนที่ไม่มีพื้นฐานเดียวกับเราดูจะไม่ตลกเท่าเรา แต่ก็เป็นชอยส์ มันอาจจะถูกฟ้องร้องถ้าฉายในประเทศนี้ แต่ถ้าฉายประเทศอื่นมันจะไม่ถูกฟ้องร้อง ก็อาจจะทำซับไตเติล แต่ยังไม่ได้โฟกัสเรื่องนี้ว่าจะฉายอย่างไร ที่ไหน
000 (คุยกับผู้กำกับหนังเกือบไม่ได้ฉาย) "ชนาธิป วงศ์พลตรี" ผู้กำกับ "ไชโย"ภาพยนตร์เรื่อง "ไชโย" ได้รับรางวัล "ขวัญใจคนรักหนัง" จากการให้คะแนนของคณะลูกขุน โดยก่อนหน้านี้ผู้จัดงานเกือบไม่ให้คะแนนดังกล่าว แนวคิดของการทำภาพยนตร์ ถ้าสังเกตในหนังจะมีเรื่องเพลงชาติไทย ที่นำเนื้อมาตีความเป็นภาพแบบเฟรมภาพเดียว โดยพูดถึงความรุนแรงในประเทศตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษว่าในสมัยก่อน ได้เสียสละเลือดเนื้อชีวิต ทุกวันนี้เรากำลังสู้กับอะไร เราสู้เพื่ออะไรอยู่ ทำไมเราต้องมาสู้กันเอง โดยวิถีถ่ายจะใช้ความพิถีพิถัน ถ่ายแบบ long take ไม่สั่งตัดเลย จะต้องการวางกล้อง จัดคิวนักแสดง ทุกอย่างมีเวลาจำกัด ต้องวางตัวละคร แม้จะใช้เวลาซ้อมไม่กี่วัน แต่ถือว่าเราก็ทำได้ดี
แนวโน้มว่าจะไม่ทำภาพยนตร์มาฉาย แต่ในที่สุดก็มีการฉายในวันนี้ มันเป็นความเหนื่อยใจด้วย ที่เรารู้สึกว่าเราใส่ใจกับงาน เรารักงาน เราไม่ได้จะทำเพื่อหวังผลรางวัล วันนี้รางวัลที่ได้มาคือรางวัลที่เราตั้งใจจริงๆ เพราะเราอยากทำหนังให้คนได้ดูจริงๆ ไม่ได้หวังเพียงจะได้รางวัล หรือทำออกมาแล้วดูยาก คำถามเรื่องที่จะเอาหนังมาฉายหรือไม่ มันเป็นความคาบเกี่ยวระหว่างความคิดของแต่ละคนที่ดูหนัง ที่เราทำหนังทำออกไป ไม่ได้ใช้คำพูดในหนังด้วย คนดูอาจจะตีความได้หลายแบบ โดยที่เราไม่ได้สื่อสาร หรือบอกสารของเราไป ทางคณะกรรมการดู ก็เกิดการถกเถียงว่าจะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า แต่จริงๆ หนังเราไม่ได้เป็นแบบนั้น ภาพรวมๆ คนถ้าดูแบบตั้งใจดูจริงๆ มันจะไม่มีทางเบี่ยงเป็นประเด็นอื่นได้เลย
มองเรื่องการเซ็นเซอร์ การห้ามฉาย มันแย่มานานมาก ในฐานะที่เป็นผู้บริโภค เรารู้สึกว่าบางอย่างมันถูกบอกโดยคนๆ หนึ่ง ทั้งที่เรามีสิทธิที่จะเสพสิ่งที่เราอยากเสพ มันคือความไม่ชัดเจน ของทั้งกองเซ็นเซอร์ ผลมันออกมาบางเรื่องน่าจะได้ฉายก็ไม่ได้ หนังบางเรื่องไม่น่าจะได้ มันไม่มีความชัดเจนเพียงพอในสิ่งที่เขาแสดงออกมา ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กทค.ลั่นไม่ถอนฟ้อง 'เดือนเด่น' ดำเนินคดีถึงที่สุด- ทบทวน 'ไทยพีบีเอส' Posted: 13 Sep 2013 06:04 AM PDT พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และประธาน กทค.เผย หากไทยพีบีเอส แสดงความจริงใจว่าไม่เจตนาในการนำเสนอก็อาจทบทวนเรื่องการถอนฟ้องในอนาคต ส่วนกรณีเดือนเด่นนั้น ยืนยันจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด กรณีกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) 4 คน ประกอบด้วย พันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ, สุทธิพล ทวีชัยการ, พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร, ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดย ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ ณัฎฐา โกมลวาทิน ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ในข้อหาหมิ่นประมาท จากการให้ข่าวและนำเสนอเรื่องที่เกี่ยวกับสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz โดยต่อมา มีการออกมาแสดงความไม่เห็นจากกลุ่มต่างๆ อาทิ 2 กสทช.เสียงข้างน้อย องค์กรวิชาชีพสื่อ 4 แห่ง เครือข่ายผู้บริโภค และนักวิชาการจากจุฬาฯ โดยต่างชี้ว่าเป็นเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพสื่อในการนำเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นต่อสาธารณะ พร้อมเรียกร้องให้ กสทช.ถอนฟ้องและร่วมเวทีเพื่อชี้แจงข้อมูลต่อสาธารณะ ล่าสุด (13 ก.ย.56) เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และประธาน กทค. กล่าวว่า ขณะนี้ มีการพิจารณาทบทวนเรื่องการฟ้อง โดยแยกเป็น 2 ส่วน คือ ด้านของไทยพีบีเอส ซึ่งหากมีการแสดงความจริงใจว่าไม่เจตนาในการนำเสนอก็อาจจะมีการทบทวนเรื่องการถอนฟ้องในอนาคต และที่ผ่านมาต้องการให้เชิญนักวิชาการรายอื่นมาให้ข้อมูล เพื่อให้การนำเสนอข่าวรอบด้าน ส่วนกรณีนางสาวเดือนเด่นนั้น ยืนยันจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด พร้อมระบุด้วยว่า การฟ้องร้องดังกล่าวทำไปเพื่อปกป้องสิทธิขององค์กร ซึ่งไม่ได้มองว่าจะเสียภาพลักษณ์องค์กรแต่อย่างไร ตรงกันข้าม กลับมองว่าเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับหน่วยงานอื่นที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รางวัล ‘อิก โนเบล’ 2013 ชาวไทยคว้าสาขาสาธารณสุข จากรายงาน "เฉือนเจ้าโลก" Posted: 13 Sep 2013 05:31 AM PDT 13 ก.ย.56 เมื่อหัวค่ำวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา (ตามเวลาท้องถิ่น) มีพิธีมอบรางวัล Ig Nobel ครั้งที่ 23 ณ Sanders Theater มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด รัฐแมสซาชูเซ็ตส์ สหรัฐอเมริกา อิก โนเบล (Ig Nobel) ย่อมาจาก ignoble Nobel เป็นรางวัลที่มอบให้แก่ผลงานทางวิทยาศาสตร์ หรืองานวิจัยที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ก่อตั้งโดยมาร์ก อับราฮัมส์ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1991 ที่ผ่านมามีการมอบรางวัลทุกปีโดยมอบปีละ 10 รางวัลในแต่ละสาขาที่ต่างกันไป อับราฮัมส์ตั้งรางวัลนี้ขึ้นมาเพื่อฉายแสงให้กับโครงการวิทยาศาสตร์แปลกๆ ที่ไม่ได้รับความสนใจจากกองบรรณาธิการนิตยสารวิทยาศาสตร์ เว็บไซต์ Jusci.net ได้แปลรายละเอียดรายชื่อนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลไว้ดังนี้ สาขาการแพทย์ ได้แก่ Masateru Uchiyama, Xiangyuan Jin, Qi Zhang, Toshihito Hirai, Atsushi Amano, Hisashi Bashuda และ Masanori Niimi สำหรับการศึกษาผลกระทบของการฟังเพลงโอเปร่าที่เกิดขึ้นกับหนูทดลองที่ได้รับ การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ หนูที่ได้ฟัง La Traviata รอดชีวิตได้นานกว่าหนูในกลุ่มควบคุมเกือบสี่เท่า สาขาจิตวิทยา ได้แก่ Laurent Bègue, Brad Bushman, Oulmann Zerhouni, Baptiste Subra, และ Medhi Ourabah ที่ทำการทดลองยืนยันว่าคนที่เริ่มรู้ตัวว่าเมาแล้วจะรู้สึกไปเองว่าตัวเองดูมีเสน่ห์มากขึ้นด้วย ผลการทดลองของพวกเขาแสดงให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างที่ดื่มแอลกอฮอล์จนเริ่ม รู้สึกเมามีแนวโน้มจะให้คะแนนความสามารถในการกล่าวสุนทรพจน์ของตัวเองสูงกว่ากลุ่มควบคุม แม้ว่าคะแนนความสามารถที่ประเมินตัวเองนี้จะไม่ตรงกับคะแนนที่ผู้ฟังประเมินก็ตาม สาขาร่วมชีววิทยาและดาราศาสตร์ ได้แก่ Marie Dacke, Emily Baird, Marcus Byrne, Clarke Scholtz, และ Eric Warrant สำหรับการค้นพบว่าด้วงมูลสัตว์แอฟริกันสามารถใช้แสงจากกาแล็กซี่ทางช้าง เผือกในการนำทางกลับรังได้ สาขาวิศวกรรมความปลอดภัย ได้แก่ Gustano Pizzo (เสียชีวิตแล้ว) สำหรับการออกแบบกลไกจับผู้ร้ายปล้นเครื่องบิน โดยวางกับดักให้ผู้ร้ายตกลงไปในกับดักซึ่งจะห่อมัดตัวผู้ร้ายเอาไว้ติดกับร่มชูชีพ จากนั้นระบบก็จะส่งสัญญาณวิทยุไปแจ้งตำรวจ แล้วผู้ร้ายที่ถูกห่อก็จะโดนปล่อยทิ้งลงไปยังพื้นดินเบื้องล่าง ณ จุดที่ตำรวจจัดกำลังมาคอยรับตัวไว้ สาขาฟิสิกส์ ได้แก่ Alberto Minetti, Yuri Ivanenko, Germana Cappellini, Nadia Dominici และ Francesco Lacquaniti สำหรับการค้นพบว่าคนสามารถวิ่งบนผิวน้ำได้หากบึงนั้นอยู่บนดาวเคราะห์ที่มีแรงโน้มถ่วงเท่าดวงจันทร์ สาขาเคมี ได้แก่ Shinsuke Imai, Nobuaki Tsuge, Muneaki Tomotake, Yoshiaki Nagatome, Toshiyuki Nagata และ Hidehiko Kumgai สำหรับงานวิจัยที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตระหนักว่ากลไกที่คนหั่นหัวหอมแล้ว น้ำตาไหลนั้นมีความซับซ้อนมากกว่าที่เคยคิดกัน ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์คิดว่าสารระเหยที่ทำให้เคืองตาถูกหลั่งออกมาโดย ตรงจากปฏิกิริยาที่มีเอนไซม์ alliinase เป็นตัวเร่ง แต่งานวิจัยนี้ทำให้เราทราบว่ากลไกการผลิตสารระเหยตัวนี้มีหลายขั้นตอนและมีเอนไซม์เข้ามาเกี่ยวข้องอีกหลายตัว ในจำนวนนั้นมีเอนไซม์ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อนด้วย สาขาโบราณคดี ได้แก่ Brian Crandall และ Peter Stahl สำหรับความตั้งใจในการศึกษาระบบการย่อยอาหารของมนุษย์ โดยการกลืนหนูผี (shrew) ที่ต้มกึ่งสุกลงท้องทั้งตัวแบบไม่เคี้ยวแล้วเก็บเอาอุจจาระของตัวเองมาดูว่า กระดูกชิ้นไหนโดนย่อย ชิ้นไหนไม่ย่อย สาขาสันติภาพ ได้แก่ Alexander Lukashenko ประธานาธิบดีของเบลารุสที่ออกกฏหมายให้การปรบมือในที่สาธารณะเป็นสิ่งผิดกฏหมาย, และกรมตำรวจของเบลารุสสำหรับการจับชายพิการแขนเดียวด้วยข้อหาละเมิดกฏหมายนี้ สาขาความน่าจะเป็น ได้แก่ Bert Tolkamp, Marie Haskell, Fritha Langford, David Roberts และ Colin Morgan สำหรับการค้นพบความสัมพันธ์ทางสถิติว่าวัวตัวที่นอนมานานกว่ามีแนวโน้มจะลุกขึ้นยืนมากกว่าวัวที่เพิ่งล้มตัวลงไปนอน และพวกเขายังค้นพบอีกว่า เมื่อวัวลุกขึ้นยืนแล้ว เราจะไม่สามารถคาดเดาได้ว่ามันจะนอนอีกเมื่อไร สาขาสาธารณสุข ได้แก่ เกษียร ภังคานนท์, Tu Chayavatana, ชุมพร พงษ์นุ่มกุล, อนันต์ ตัณมุขยกุล, ปิยะสกล สกลสัตยาทร, Krit Komaratal, และ Henry Wilde สำหรับการรายงานเทคนิคที่ใช้ในการผ่าตัดต่อคืนองคชาติที่ถูกเฉือนขาดใน ประเทศสยาม และระบุประสบการณ์การรักษาไว้ในรายงานว่าเทคนิคเหล่านั้นใช้ไม่ได้ในกรณีที่องคชาติโดนเป็ดกินไปแล้วบางส่วน
ที่มา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 13 Sep 2013 05:24 AM PDT |
กลุ่มผู้ปลูกข้าวโพด จ.แพร่ ไร้เอกสารสิทธิ์ร้องรัฐช่วย วอนอย่าช่วยแค่ผู้ที่มีเอกสารสิทธิ์ Posted: 13 Sep 2013 03:10 AM PDT 13 ก.ย. 56 - เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่ากลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ต.เวียงต้า อ.ลอง จ.แพร่ ประมาณ 500 คน จาก 7 หมู่บ้าน นำโดยนางธัญรักษณ์ จิตสาร ได้รวมตัวกันที่หน้าเทศบาลต.บ้านปิน พร้อมยื่นหนังสือผ่านนายกล้าณรงค์ พงศ์สิทธิคุณ ปลัดอาวุโสอำเภอลองส่งถึงรัฐบาลขอช่วยเหลือในเรื่องของเอกสารสิทธิ เพราะว่าทางรัฐบาลมีมติจะรับซื้อข้าวโพดทั่วประเทศในราคากิโลกรัมละ 7 บาท แต่ต้องได้ความชื้นที่ 30% โดยรับซื้อเฉพาะในกลุ่มชาวไร่ข้าวโพดที่มีเอกสารสิทธิ์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านที่มาร้องเรียนประมาณ 500 คน ปลูกข้าวโพดบนที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์รวมทั้งหมดประมาณ 1.5 หมื่นไร่ ดังนั้นรัฐบาลอย่ากำจัดวงแคบรับซื้อเฉพาะเกษตรกรผู้มีเอกสารสิทธิ์เท่ากับสร้าง 2 มาตรฐาน ทั้งนี้หากรัฐบาลไม่ให้คำตอบในเร็วๆนี้จะรวมตัวไปปิดล้อมหน้าศาลากลางจังหวัดต่อไปเพื่อกดดันรัฐบาล ด้านนายกล้าณรงค์ กล่าวภายหลังรับหนังสือร้องเรียนพร้อมกับรับปากจะนำหนังสือดังกล่าวเสนอ นายชวน ศิรินันท์พร ผวจ.แพร่ เพื่อหาทางดำเนินการต่อไป ทำให้ชาวบ้านที่เดินทางมาเรียกร้องครั้งนี้พอใจจากนั้นได้แยกย้ายกันกลับบ้าน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ผลวิจัยพบนักศึกษาติดพนันกว่าร้อยละ 66.7 ชี้เกิดจากเพื่อนมากที่สุด Posted: 13 Sep 2013 02:53 AM PDT อึ้ง !!! ผลวิจัยพบนักศึกษาติดพนันกว่าร้อยละ 66.7 ชี้เกิดจากเพื่อนมากที่สุด รองลงมาคือสื่อโทรทัศน์ เผยเพศชายและเพศทางเลือกเล่นการพนันมากกว่าเพศหญิง ย้ำยิ่งเปิดรับสื่อมากจะยิ่งมีทัศนคติเชิงบวกต่อการเล่นพนัน 13 ก.ย. 56 - สืบเนื่องจากสถานการณ์การพนันในปัจจุบันได้ขยายออกไปในวงกว้างและมีการพัฒนารูปแบบและชนิดของการเล่นการพนันออกไปอย่างหลากหลาย จึงทำให้ประชาชนทุกเพศ ทุกวัยเข้าถึงการพนันได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะในกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่ปัจจุบันพบว่ามีสถิติการเล่นพนัน และมีทัศนคติในเชิงบวกต่อการเล่นการพนันมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเครือข่ายคณาจารย์สื่อสารมวลชนร่วมขับเคลื่อนสังคมเพื่อลดปัญหาการพนันร่วมกับมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ จึงเล็งเห็นถึงปัญหาและร่วมกันจัดเวทีรณรงค์การสื่อสารต้านภัยพนันในสถาบันอุดมศึกษาขึ้น
รศ.ดร.สุมาลี ไชยศุภรากุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม รศ.ดร.สุมาลี ไชยศุภรากุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม กล่าวว่า การเล่นการพนันมีสาเหตุจูงใจเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.เล่นเพื่อความบันเทิง ต้องการเสี่ยงโชค ซึ่งอาจไม่ส่งผลกระทบและไม่เกิดปัญหามากนัก 2.เล่นการพนันเพื่อเป็นช่องทางในการขยับฐานะอย่างรวดเร็ว เล่นเพื่อหวังรวย ซึ่งกลุ่มนี้ถือว่ามีอาการน่าเป็นห่วงที่สุด เพราะว่าอาจนำไปสู่อาชญากรรม หรือกลายเป็นเหยื่อของอาชญากรรม ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีนักศึกษาที่เล่นพนันจนต้องกู้หนี้นอกระบบ และ 3.กลุ่มที่ติดการพนัน เล่นแล้วเลิกไม่ได้ แต่ไม่ได้เป็นผลมากจากฐานะแต่มีปัญหาทางสภาพจิตใจ อย่างไรก็ตามสำหรับการเล่นการพนันในกลุ่มนักศึกษาถือว่ามีความเสี่ยงมากเนื่องด้วยนักศึกษาเป็นกลุ่มคนที่เชื่อคนง่าย ขาดวิจารณญาณ และที่สำคัญยังเชื่อในโชคชะตามากขึ้น ทำให้เราต้องเร่งตระหนักและร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อหยุดและยับยั้งทัศนคติในเชิงบวกของการเล่นการพนันในกลุ่มนักศึกษา
ดร.บุปผา ลาภะวัฒนาพันธ์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ขณะที่ ดร.บุปผา ลาภะวัฒนาพันธ์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง "ความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดรับข่าวสารกับทัศนคติ และพฤติกรรมการเล่นการพนันของนิสิตนักศึกษาในสภาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ" ที่ตอกย้ำว่าการพนันในกลุ่มนิสิตนักศึกษากำลังขยายวงกว้าง อีกทั้งนิสิตนักศึกษาได้เข้าไปอยู่ในวงล้อมของการพนันอย่างไม่รู้ตัว ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่านักศึกษามีประสบการณ์ในการเล่นการพนันกว่าร้อยละ 66.7 และนักศึกษาส่วนใหญ่มีความถี่ในการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับการเล่นการพนันจากสื่อบุคคลที่เป็นเพื่อนมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ย 3.66 ครั้งต่อเดือน รองลงมาคือ สื่อโทรทัศน์ มีค่าเฉลี่ย 3.27 ครั้งต่อเดือน และ สื่อเว็บไซต์ มีค่าเฉลี่ย 2.93 ครั้งต่อเดือน ขณะที่การเปิดรับจากสื่อหนังสือพิมพ์ และสื่อเฟสบุ๊คมีความใกล้เคียงกัน คือมีค่าเฉลี่ย 2.78 ครั้งต่อเดือน และ 2.75 ครั้งต่อเดือน ตามลำดับ โดยเพศชายมีทัศนคติในเชิงบวกเกี่ยวกับการเล่นการพนันมากกว่าเพศหญิงและเพศทางเลือก คือเพศชายเคยมีประสบการณ์การเล่นการพนันถึงร้อยละ 76.5 รองลงมาเป็นเพศทางเลือกร้อยละ 67.6 และเพศหญิงร้อยละ 58.2 ขณะเดียวกันนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอกชนมีทัศนคติในเชิงบวกเกี่ยวกับการเล่นการพนันมากกว่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากสถานะทางสังคมและรายได้ของนักศึกษาที่ต่างกัน นอกจากนี้นักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ยสะสม 1.01-2.00 จะมีความถี่ในการเล่นพนันมากกว่ากลุ่มที่เรียนดี "แม้ว่าการศึกษาวิจัยครั้งนี้จะเป็นการศึกษาในระดับกลุ่มนักศึกษา แต่ผลการวิจัยทำให้เราได้ข้อค้นพบว่า นิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่มีประสบการณ์การเล่นพนันมาก่อน โดยร้อยละ 28.4 เริ่มเล่นการพนันครั้งแรกตั้งแต่มัธยมศึกษาตอน ปลาย รองลงมาคือร้อยละ 28.1 เริ่มเล่นการพนันครั้งแรกในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และเริ่มเล่นการพนันในระดับประถมศึกษาร้อยละ 24.3 นอกจากนี้ นักศึกษาที่มีประวัติการเริ่มเล่นการพนันครั้งแรกตอน ปวช.จะมีความถี่ในการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับการเล่นพนันมากกว่านักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่มีประวัติการเริ่มเล่นการพนันครั้งแรกตอนประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย ปวส.และมหาวิทยาลัย ซึ่งการเล่นการพนันครั้งแรกจะมีอิทธิพลต่อความถี่ในการเปิดรับข่าวสารและทัศนคติเกี่ยวกับการเล่นการพนัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดรับข่าวสารผ่านสื่อมวลชนอย่างสื่อโทรทัศน์กับหนังสือพิมพ์" ดร.บุปผากล่าว ดร.บุปผา กล่าวต่อว่า สำหรับการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับการเล่นการพนันจากสื่อประเภทต่างๆ อาทิ สื่อมวลชน สื่อเฉพาะกิจ สื่อบุคคล และสื่อใหม่ ที่ยิ่งมีมากเท่าไหร่ นิสิตนักศึกษาก็จะยิ่งมีทัศนคติเกี่ยวกับการเล่นพนันในทางบวกและมีความถี่ในการเล่นพนันสูงขึ้นด้วย ดังนั้นการนำเสนอของสื่อจึงจำเป็นต้องระมัดระวังให้มากขึ้น ต้องมีการนำเสนออย่างรอบด้าน ส่วนบทบาทของมหาวิทยาลัยควรปลูกฝังให้นิสิตนักศึกษารู้เท่าทันสื่อ และสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับพิษภัยของการพนันให้มากขึ้นด้วย อาทิ การเปิดเสียงตามสายในมหาวิทยาลัย การส่งข้อมูลและคำเตือนเกี่ยวกับการพนันผ่านระบบฐานข้อมูลของนักศึกษา เพื่อเป็นการป้องกันการเล่นการพนันไม่ให้ขยายวงกว้าง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รามคำแหงอนุญาตให้แต่งกายเข้าสอบตามเพศสภาพอันหลากหลาย Posted: 13 Sep 2013 02:43 AM PDT วันนี้ (13 ก.ย.) เพจของกลุ่ม อัญจารี (Anjaree) ได้แจ้งผ่านสเตตัสว่ามหาวิทยาลัยรามคำแหงอนุญาตให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศ สามารถแต่งกายเข้าสอบตามเพศสภาพ โดยไม่จำเป็นต้องแต่งกายตามเพศที่ระบุในบัตรประชาชนแล้ว "ใครเรียน ม.ราม บ้าง ฟังทางนี้ค่ะ มีข่าวดีมากมากค่ะ โดยเฉพาะ ทอม ทรานส์ กะเทย สาวประเภทสอง นับแต่นี้ไป เวลาเข้าห้องสอบ จะสามารถแต่งตัวตามเพศที่ตัวเองเป็นได้แล้วนะคะ แต่งกายสุภาพ ตามอัตตลักษณ์ทางเพศของเราเองค่ะ ไม่ต้องแต่งตาม บัตร นาย หรือ นส แล้วนะคะ" อย่างไรก็ตาม การแต่งตัวเข้าห้องสอบตามเพศสภาพจะต้องขอใบรับรองที่ตึกกิจกรรม กองกิจการนักศึกษา ฝ่ายวินัยนักศึกษา โดยให้เตรียมบัตรประชาชน บัตรนักศึกษา และใบเสร็จลงทะเบียยน ไปยื่นขอคำร้องแต่งกายตามเพศสภาพ เพจของกลุ่มรณรงค์สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ระบุ "ใครที่เคยได้รับใบเตือน ใครที่เคยถูกไล่ออกจากห้องสอบ จะไม่มีอีกแล้ว แต่ต้องไปขออนุญาตล่วงหน้าค่ะ โปรดอ่านขั้นตอนการขอใบรับรองตามข้างล่างนะคะ ถ้าใครมีเจอปัญหา ให้รีบเขียนมาแจ้งเรานะคะ จะได้ช่วยกันแก้ปัญหาค่ะ ช่วยกันส่งข้อความนี้ไปทั่วๆนะคะ พวกเราจะได้ไม่ต้องทนแต่งตัว'ผิดเพศ'อีกต่อไปค่ะ" "การขออนุญาต ขออนุญาตที่ ราม1 เท่านั้น (ย้ำ) ตึกกิจกรรม กองกิจการนักศึกษา ฝ่ายวินัยนักศึกษา เอาเอกสาร พร้อม สำเนา 1. บัตรประชาชน 2. บัตรนักศึกษา 3. ใบเสร็จลงทะเบียน แล้วไปเขียนใบคำร้องขอแต่งกายตามเพศสภาพ จากนั้น รอรับใบอนุญาตจึงสามารถเข้าสอบได้ หากมีวิชาสอบในคณะต้องแจ้งฝ่ายกิจการนักศึกษาของคณะด้วย แนะนำให้ขอเบอร์โทรเจ้าหน้าที่ไว้คอยโทรตามใบอนุญาต เมื่อได้ใบอนุญาตแล้ว นำไปห้องสอบด้วยค่ะ" สเตตัสของกลุ่มอัญจารีระบุ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ยกฟ้องคดี 112 พี่ฟ้องน้อง หลังถูกขัง1 ปี ศาลชี้พยานหลักฐานไม่เพียงพอ Posted: 13 Sep 2013 01:14 AM PDT 13 ก.ย.56 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดา ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.3434/2555 ที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ฟ้องนายยุทธภูมิ (สงวนนามสกุล) ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือ แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอให้ปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง สำหรับนายยุทธภูมินั้นถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2555 หลังจากอัยการสั่งฟ้องคดี โดยศาลไม่ให้ประกันตัวเนื่องจากเห็นว่าเป็นคดีร้ายแรง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี แม้จะมีการยื่นขอประกันต่อมาอีกหลายครั้ง คดีนี้เริ่มต้นจากพี่ชายแท้ๆ ของยุทธภูมิเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษกับตำรวจว่า ยุทธภูมิกล่าวถ้อยคำและเขียนข้อความไม่เหมาะสมต่อหน้าพี่ชายในบ้านพักเมื่อราวเดือนสิงหาคม 2552 (อ่านรายละเอียดคดีได้ที่ เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ) ศาลให้เหตุผลในการพิพากษาว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 จนถึงปัจจุบัน กฎหมายรัฐธรรมนูญทุกฉบับมีบทบัญญัติคุ้มครองพระมหากษัตริย์ว่า ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้อง ในทางใดๆ ไม่ได้ รวมทั้งยังมีมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาเขียนคุ้มครองไว้เช่นเดียวกับนานอารยประเทศและการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยทั่วไปในกฎหมายหมิ่นประมาท ในประเด็นตามฟ้อง หากมีบุคคลดูภาพข่าวที่ปรากฏพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับรถเข็น แล้วกล่าวถ้อยคำไม่เหมาะสม ทั้งที่เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร การกล่าวถ้อยคำดังกล่าว ผู้พูดย่อมเจตนาเหมือนเป็นการสาปแช่งให้สวรรคตเร็วๆ ซึ่งเป็นคำพูดที่ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ดีต่อประชาชนที่มีความเคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์ คำพูดดังกล่าวยังแสดงออกถึงเจตนาผู้พูดได้ว่าเป็นการจาบจ้วงและแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ อันเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ส่วนการเขียนถ้อยคำด้วยปากกาเมจิกในวงเล็บส่อแสดงถึงอวัยวะเพศชายบนซีดีซึ่งมีถ้อยคำว่า "หยุดก้าวล่วงพระเจ้าอยู่หัว" ผู้เขียนจงใจให้มีการอ่านต่อเนื่องกัน ในทางวัฒนธรรมหรือการรับรู้ของประชาชนชาวไทยถือว่าเป็นของต่ำ และเป็นถ้อยคำหยาบคาย เป็นการจาบจ้วง ดูหมิ่นและเหยียดหยาม ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง การกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นความผิดตามมาตรา 112 เช่นกัน แต่สำหรับคดีนี้ โจทก์มีพี่ชายเพียงปากเดียวที่เบิกความยืนยัน แต่ก่อนหน้านั้นทั้งคู่ทะเลาะเบาะแว้งกันรุนแรงหลายครั้งแทบจะใช้อาวุธมีดทำร้ายร่างกายกัน จึงถือว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกันอย่างรุนแรงการรับฟังประจักษ์พยานปากนี้จึงต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง ซึ่งในชั้นสอบสวนพยานปากนี้ให้การว่า ขณะที่พยานนั่งดูโทรทัศน์ช่องเสื้อแดงทางเคเบิลกับจำเลย จำเลยเอาเมจิกมาเขียนแผ่นซีดีขณะเดียวกับที่มีข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับรถเข็นจำเลยก็ได้กล่าวถ้อยคำไม่เหมาะสม เมื่อจำเลยเผลอจึงเก็บซีดีซ่อนไว้ แต่เมื่อพยานมาเบิกความในศาลกลับระบุว่า จำเลยเขียนข้อความไม่สมควรภายหลังจากที่กล่าวถ้อยคำไม่สมควรแล้วเป็นเวลา 5 วัน อีกเดือนเศษภรรยาพยานเอาแผ่นมาให้จึงเก็บไว้ โดยฝ่ายโจทก์ก็ไม่ได้นำภรรยาพยานมาเบิกความยืนยัน คำเบิกความพยานคลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ถือเป็นข้อพิรุธและไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง ลักษณะเป็นการกลั่นแกล้งก็เป็นได้ ในส่วนของการตรวจพิสูจน์ลายมือ แม้ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าเป็นลายมือคนคนเดียวกัน และความคิดเห็นตามหลักวิชาการของพยานผู้เชี่ยวชาญเป็นพยานที่ศาลรับฟังได้ แต่มิใช่ว่าศาลจะต้องเชื่อพยานผู้เชี่ยวชาญนั้นเสมอไป จะมีน้ำหนักหรือไม่ต้องพิจารณาตามรูปเรื่องและอาศัยพยานหลักฐานอื่นประกอบ คดีนี้ตัวอักษรเขียนด้วยปากกาเคมีเส้นใหญ่ ยากที่จะพิสูจน์ทราบได้ และอักษร "ห" ที่ปรากฏในซีดีก็มีลักษณะในทำนองเดียวกับลายมือของประจักษ์พยานโจทก์ด้วย ความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญจึงยังไม่อาจรับฟังได้โดยสนิทใจ ประกอบกับจำเลยและมารดาจำเลยเบิกความยืนยันว่ามีความเคารพสักการะและจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอให้ปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้องแต่ให้ริบแผ่นซีดีของกลางไปทำลายเสีย ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากถูกคุมขังมาเกือบ 1 ปีเต็ม คาดว่ายุทธภูมิจะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ภายในเย็นวันนี้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 13 Sep 2013 12:30 AM PDT 13 ก.ย. 56 - ณ ศูนย์ประชุมวายุภักดิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ กทม. นายแพทย์อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน โครงการ 1,500 ชีวิต พิชิตติดเชื้อในกระแสเลือด นายแพทย์อนุวัฒน์ กล่าวว่า ภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตแบบรุนแรง (Severe sepsis and septic shock) เป็นปัญหาสำคัญของระบบสาธารณสุขไทย และเป็นปัญหาสุขภาพในแผนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ หรือ Service plan ของกระทรวงสาธารณสุขด้วย จากข้อมูลของ สปสช. พบว่าภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตแบบรุนแรง เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของผู้ป่วยในโรงพยาบาล และการรักษายังไม่มีแนวทางการประสานดูแลและส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลศูนย์ภายในจังหวัดอย่างเป็นระบบ ส่งผลทำให้ได้รับการดูแลล่าช้า ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน นำไปสู่อัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้น นายแพทย์อนุวัฒน์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นบุคลากรการแพทย์ ร่วมกับ สปสช. และ สรพ. จึงพัฒนาแนวทางการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสโลหิตอย่างเป็นระบบ โดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง จัดทำแนวปฏิบัติดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสโลหิตเพื่อให้ได้รับการดูแลมีมาตรฐาน ตั้งแต่โรงพยาบาลขนาดเล็กจนถึงโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพสูง ตั้งแต่การวินิจฉัย การดูแลเบื้องต้น และการติดตามส่งต่อผู้ป่วย ตลอดจนจัดทำช่องทางด่วน (Fast track) ส่งต่อผู้ป่วยมายังห้องไอซียูให้เร็วที่สุด ให้ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดได้รับการรักษาทันที ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) กล่าวว่า ในการดำเนินการนั้น เบื้องต้นได้นำร่องในจ.พิษณุโลก พบว่าสามารถลดอัตราเสียชีวิตได้จากร้อยละ 73 ในปี 2549 เหลือร้อยละ 37 ในปี 2554 ก่อนจะขยายไปสู่จังหวัดอื่นๆ ในเขต 2 ตั้งแต่ปี 2555 ก็พบว่าช่วยลดอัตราเสียชีวิตได้เช่นกัน จึงได้จัดโครงการ 1,500 ชีวิต พิชิตติดเชื้อในกระแสเลือด เพื่อสร้างเป้าหมายร่วมกันในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสโลหิตแบบรุนแรงที่มารับบริการในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการเครือข่ายดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสโลหิต มีเป้าหมายเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสโลหิตแบบรุนแรงให้รอดชีวิตได้มากกว่า 1,500 รายในระยะเวลา 1 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 ทั้งนี้ มีเครือข่ายที่ร่วมในโครงการครั้งนี้ กว่า 20 จังหวัด ได้แก่ เครือข่ายหน่วยบริการเขตบริการสุขภาพที่ 2 (จังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ สุโขทัย และตาก), เครือข่ายหน่วยบริการจังหวัดกำแพงเพชร ลำปาง น่าน อยุธยา ปทุมธานี อ่างทอง ลพบุรี นครนายก นครราชสีมา อุดรธานี ฉะเชิงเทรา จันทบุรี, รพ.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, รพ.เลิศสิน, รพ.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา, รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จ.ชลบุรี หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนโครงการ ได้แก่ สรพ., สมาคมเวชบำบัดวิกฤตแห่งประเทศไทย, สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย, สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย, สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย และสำนักการพยาบาล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สิ่งที่ 'ปูติน' อยากบอกกับ 'อเมริกัน' ในกรณีซีเรีย Posted: 12 Sep 2013 11:53 PM PDT ประธานาธิบดีรัสเซีย เขียนบทความผ่านนิวยอร์กไทม์บอกต้องการสื่อไปยังประชาชนอเมริกันและทางการสหรัฐฯ ให้ทราบว่าเหตุใดรัสเซียถึงอยากให้เคารพการวีโตในที่ประชุมยูเอ็น และสนับสนุนให้เน้นวิธีการทูตในการไขวิกฤติซีเรียมากกว่าการใช้กำลังอาวุธ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2013 เว็บไซต์นิวยอร์กไทม์ นำเสนอความคิดเห็นของประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียซึ่งแสดงความเห็นต่อจุดยืนของสหรัฐฯ ในกรณีซีเรีย หลังจากที่มีความพยายามขอมติอนุญาตใช้กำลังอาวุธเพื่อโต้ตอบหลังรัฐบาลซีเรียถูกกล่าวหาเรื่องการใช้อาวุธเคมี ซึ่งล่าสุดในวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา รมต.กระทรวงต่างประเทศทั้งของสหรัฐฯ ได้วางแผนเจรจาสันติภาพเพื่อวางแนวทางให้การใช้อาวุธเคมีในซีเรียอยู่ภายใต้การควบคุมของนานาชาติโดยไม่จำเป็นต้องใช้กำลังทหาร โดยก่อนหน้านี้ทางการรัสเซียซึ่งเป็นฝ่ายโหวตปฏิเสธการใช้มาตรการทางทหารของสหรัฐฯ ได้เสนอให้ทางการซีเรียส่งอาวุธเคมีที่มีในครอบครองให้อยู่ภายใต้การควบคุมของนานาชาคิเพื่อนำไปทำลายและเข้าร่วมองค์กรห้ามอาวุธเคมี ซึ่งทางสหประชาชาติยืนยันว่าพวกเขาได้รับเอกสารแสดงเจตจำนงเข้าร่วมในอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมีแล้ว ( Chemical Weapons Convention) ในบทความปูตินระบุว่า กรณีซีเรียทำให้เขาต้องการพูดคุยกับประชาชนชาวอเมริกันและผู้นำทางการเมืองของสหรรัฐฯ โดยตรง ในช่วงเวลาที่รู้สึกว่าสังคมของสองประเทศสื่อสารกันไม่มากพอ ปูตินกล่าวถึงการที่สหรัฐฯ กับรัสเซียอาจจะเคยเป็นศัตรูกันในช่วงสงครามเย็นแต่พวกเขาก็เคยเป็นพันธมิตรกันในช่วงที่โค่นล้มนาซี และหลังจากนั้นก็มีการจัดตั้งสหประชาชาติขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเช่นในยุคสมัยของนาซีอีก ฉะนั้นสหรัฐฯ ควรเคารพผลการลงมติเมื่อมีการโหวตคัดค้าน เนื่องจากผู้ก่อตั้งยูเอ็นได้กำหนดว่าการตัดสินใจทำสงครามต้องได้รับฉันทามติร่วมกัน ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่สร้างเสถียรภาพให้กับความสัมพันธ์ระหว่างชาติมาได้นานหลายทศวรรษ ปธน.รัสเซียกล่าวอีกว่า การตัดสินใจใช้กำลังโจมตีซีเรียจะยิ่งทำให้มีเหยื่อผู้บริสุทธิ์ต้องรับเคราะห์เพิ่มมากขึ้นและเป็นการะดับสถานการณ์ให้บานปลายเป็นระดับความขัดย้งนอกเขตแดนซีเรีย อีกทั้งยังทำให้เกิดความรุนแรงและการก่อการร้ายเพิ่มมากขึ้น อันจะส่งผลเสียต่อความพยายามแก้ปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ในอิหร่านและความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ รวมถึงทำให้เสถียรภาพในแถบคะวันออกกลางและอเมริกาเหนือเสื่อมถอยลง "โลกจะตอบสนองโดยถามว่า ถ้าคุณไม่สามารถพึ่งพิงกฏหมายนานาชาติได้ คุณคงต้องหาทางรักษาความมั่นคงด้วยตนเอง ทำให้มีประเทศที่สั่งสมอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มมากขึ้น เป็นเรื่องของตรรกะว่าถ้าคุณมีระเบิดพวกนั้นก็จะไม่แตกต้องคุณ" ปูตินกล่าว ปูตินมองว่าความขัดแย้งโดยการใช้กำลังอาวุธระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้าน ในซีเรียเป็นเรื่องความขัดแย้งทางศาสนามากกว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยสหรัฐฯ เองก็เคยระบุว่ากลุ่มติดอาวุธที่มีส่วนในการสู้รบสงครามกลางเมืองซีเรียจัดอยู่ในข่ายกลุ่มก่อการร้าย และความขัดแย้งภายในนี้ก็ถูกเติมเชื้อไฟโดยการที่ต่างชาติสนับสนุนอาวุธให้กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล "มีนักรบรับจ้างจากประเทศอาหรับต่อสู้อยู่ที่นั่น อีกหลายร้อยมาจากประเทศตะวันตกและแม้แต่รัสเซีย เรื่องนีเป็นที่น่ากังวลมาก" ปูตินกล่าว "พวกเขาจะกลับมาที่ประเทศเราพร้อมประสบการณ์การรบที่ได้จากซีเรียหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หลังจากการต่อสู้ในลิเบียแล้ว กลุ่มหัวรุนแรงก็ไปต่อที่ประเทศมาลี ซึ่งเรื่องนี้เป็นภัยต่อพวกเราทุกคน" ปธน.รัสเซียยืนยันว่า ทางการรัสเซียไม่ได้ต้องการปกป้องรัฐบาลซีเรียแต่ต้องการปกป้องกฏหมายนานาชาติโดยการที่พวกเขาพยายามสนับสนุนการแก้ปัญหาด้วยการเจรจาอย่างสันติ ซึ่งจะป้องกันไม่ให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเข้าสู่ภาวะโกลาหล ในเรื่องอาวุธเคมี ปูตินเชื่อว่ามีการใช้แก๊สพิษจริง แต่เขาคิดว่ามาจากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเพื่อกระตุ้นให้มีการแทรกแซงจากประเทศที่สนับสนุนพวกเขาอยู่ รวมถึงรายงานเรื่องที่กลุ่มติดอาวุธพยายามวางแผนโจมตีอิสราเอลก็ไม่อาจมองข้ามไปได้ ปูตินกล่าวอีกว่าหากสหรัฐฯ ยังคงพยายามแทรกแซงความขัดแย้งในประเทศต่างๆ อยู่เช่นนี้ คนทั่วโลกจะมองว่าสหรัฐฯ เป็นผู้ชอบใช้กำลังภายใต้คำขวัญ "ถ้าคุณไม่เป็นพวกเราก็เป้นศัตรู" มากกว่าจะถูกมองว่าเป็นแบบอย่างด้านประชาธิปไตย อีกทั้ประเทศที่สหรัฐฯ เคยแทรกแซงทางทหารเช่นอิรัก และอัฟกานิสถาน ก็ดูเหมือนว่าสถานการณ์จะไม่ได้ดีขึ้น ในอิรักเองก็ยังมีสงครามกลางเมือง มีผู้คนถูกสังหารทุกวัน "พวกเราควรหยุดใช้การแสดงออกด้วยกำลัง แล้วหันกลับมาใช้วิธีการทางการทูตแบบอารยะ และการวางรากฐานทางการเมือง" ปูตินกล่าว อย่างไรก็ตามในบทความของนิวยอร์กไทม์ ปูตินก็บอกว่าดูเหมือนปธน. โอบาม่า มีท่าทีจะหันมาใช้วิธีอื่นแทนการใช้กำลังทหาร และยินดีที่จะมีการเจรจาหารือกับรัสเซียในกรณีเรื่องซีเรีย "หากพวกเราหลีกเลี่ยงการใช้กำลังกับซีเรียได้ ก็จะเป็นการทำให้บรรยากาศของนานาชาติดีขึ้น และทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันมากขึ้น มันจะถือเป็นความสำเร็จร่วมกันและเปิดประตูไปสู่ความร่วมมือในประเด็นสำคัญอื่นๆ" ปูตินกล่าว
Syria crisis: 'Hope for peace' as US-Russia talks begin, BBC, 12-09-2013 Russia urges Syria hand over chemical weapons to intl control to avoid strike, RT, 10-09-2013 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "No Comment" Posted: 12 Sep 2013 11:09 PM PDT |
ความเป็นมาของระเบียบชุดนักเรียนไทย อังกฤษ และอเมริกา และข้อถกเถียงสากล Posted: 12 Sep 2013 07:29 PM PDT ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ดูเหมือนสังคมไทยจะมีความตื่นตัวมากขึ้นต่อระบบการศึกษาในประเทศ ตั้งแต่เรื่องเนื้อหาแบบเรียน ไปจนถึงเรื่องกฎระเบียบ สังคมไทยเองก็มีการรับรู้และกระตือรือร้นในการมีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อย่างมาก อาจเพราะด้วยยุคข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว ทำให้ประเด็นเล็กๆสามารถถูกจุดให้ติดได้และลุกลามดังไฟทุ่ง ประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดตอนนี้คงหนีไม่พ้นประเด็นชุดนักเรียน-นักศึกษา ที่มีการถกเถียงกันมากมายระหว่างฝั่งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย บทความนี้แปลและเรียบเรียงขึ้นจากส่วนหนึ่งในเปเปอร์ของผู้เขียนเรื่อง School Uniform in Thailand; comparing to British and American เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่มาของชุดนักเรียนในประเทศไทย และต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่หลายคนมักอ้างถึงเป็นประจำเพื่อเปรียบเทียบและเพื่อให้เห็นการพัฒนาการ ของสังคม ที่อำนาจผ่านกฎระเบียบพยายามเข้าแทรกซึมผ่านเครื่องแบบในระบบการศึกษา ความเป็นมาของระเบียบชุดนักเรียนไทย ชุดนักเรียนของไทยเริ่มมีขึ้นครั้งแรกในสมัยการวางรากฐานการศึกษาไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5 ราว พ.ศ. 2428 โดยเครื่องแบบนักเรียนในยุคแรกประกอบไปไปด้วย 1. หมวกฟาง มีผ้าพันหมวกสีตามสีประจำโรงเรียน ติดอักษรย่อนามโรงเรียนที่หน้าหมวก ข้อกำหนดเรื่องเครื่องแบบนี้ถูกเปลี่ยนแปลงหลายครั้งตามสถานการณ์ เช่นในช่วงสงครามโลก เสื้อผ้าขาดแคลน จึงต้องลดกฎระเบียบลงให้น้อยลง ความเป็นมาของชุดเครื่องแบบนักเรียนในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา เครื่องแบบนักเรียนในประเทศอังกฤษเกิดขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยของพระเจ้าเฮนรี่ที่8[4] (พ.ศ.2034-2090)โดยเครื่องแบบนักเรียนในยุคแรกนั้นไม่ได้ถูกใส่โดยนักเรียนชั้นสูง หากแต่เป็นนักเรียนยากจนที่ใส่ เพื่อเป็นการแยกระหว่างนักเรียนจากโรงเรียนยากไร้กับโรงเรียนอื่น อีกกว่า300ปีต่อมา ที่นักเรียนในโรงเรียนรัฐบาลเริ่มมีการใส่เครื่องแบบ โดยเครื่องแบบในสมัยนั้นถูกเรียกว่า "bluecoat" หรือ "เสื้อคลุมสีน้ำเงิน" เพราะเครื่องแบบหลักนั้นคือเสื้อโค๊ทยาวคล้ายแจ๊กเกตสีน้ำเงิน ซึ่งสีน้ำเงินเป็นสีที่ถูกที่สุดในการย้อมผ้าในขณะนั้นและยังเป็นสีซึ่งสื่อถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนอีกด้วย ข้อถกเถียงและข้อโต้แย้ง ข้อถกเถียงเรื่องเครื่องแบบนักเรียนในสหรัฐอเมริกาเริ่มมีขึ้นในราวปี 1980 โดยมีการยกเหตุผลว่าการมีเครื่องแบบนักเรียนนั้นเป็นการลิดรอนกักกันความคิดแบบปัจเจกและเสรีภาพในการแสดงออก ถึงแม้ว่าฝ่ายสนับสนุนจะยกเหตุผลว่าการมีอยู่ของเครื่องแบบนั้นจะทำให้ผู้ปกครองและตัวนักเรียนลดแรงกดดันจากค่านิยมแฟชั่นและเป็นการประหยัดเงินในการหาซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆ ฝ่ายที่สนับสนุนการใช้เครื่องแบบนั้นอ้างว่าการใส่เครื่องแบบ จะทำให้ผู้เรียนสนใจกับการเรียนมากกว่ามัวแต่สนใจชุดที่ใส่ และการทำงานเมื่อเรียนจบหลายแห่งก็มีเครื่องแบบของบริษัทที่บังคับ การมีเครื่องแบบก็จะทำให้นักเรียนได้เตรียมตัวไปสู่การทำงานในอนาคต ทั้งนี้ความสำคัญของเครื่องแบบอีกอย่างหนึ่งคือมันจะทำให้ความรุนแรงในสังคมลดลงไปด้วย เช่นกลุ่มอันธพาลก็จะไม่สามารถแยกแยะเด็กออกได้ว่าอยู่กลุ่มที่เป็นอริกันหรือปล่าว (ในอเมริกานั้นกลุ่มแก๊งค์จะมีชุดเสื้อผ้าประจำกลุ่ม)[9] อย่างไรก็ดี ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการใส่ชุดนักเรียนนั้นให้เหตุผลว่า มันเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิเหนือร่างกายของเด็กที่จะเลือกว่าสิ่งไหนเหมาะสมและน่าสนใจต่อเขา ทั้งนี้การต้องซื้อเครื่องแบบนักเรียนหาใช่การประหยัดไม่ หากแต่เป็นการเพิ่มภาระโดยใช่เหตุ โดยเฉพาะกับครอบครัวที่มีลูกหลายคน การอ้างเรื่องลดความรุนแรงของกลุ่มอันธพาลนั้นก็เหลวไหล เพราะไม่ว่าจะมีหรือไม่มีเครื่องแบบนั้น อันธพาลก็พร้อมที่จะทำร้ายหรือใช้ความรุนแรงได้ทุกเมื่ออยู่ดี จะเห็นได้ชัดว่าหากมาเปรียบเทียบกับประเทศไทย ข้อถกเถียงเหล่านี้ ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในหน้าสื่อสังคมออนไลน์ทุกวัน หากแต่จะมีเรื่องเกียรติศักดิ์ศรีพ่วงท้ายเข้ามาด้วย ฝ่ายสนับสนุนมักยกประเด็นชุดนักเรียน-นักศึกษาพระราชทาน หรือความภาคภูมิใจต่อสถาบันการศึกษา โดยที่ไม่สนใจประเด็นสากลอย่างสิทธิเสรีภาพเหนือร่างกาย และการแสดงออก ประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายก็เป็นที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน โดยฝ่ายสนับสนุนมักจะเป็นบุคคลจำพวกที่ไม่เดือดเนื้อร้อนกระเป๋าต่อค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งเครื่องแบบอันมีเกียรติ แต่ไม่เคยนึกถึงอีกหลายคนที่เดือดร้อนต่อภาระนี้ ดังจะเห็นได้จากข่าวที่ผู้ปกครองหลายคนแห่กันเข้าโรงรับจำนำในช่วงก่อนเปิดเทอม เพื่อหาซื้ออุปกรณ์และชุดเครื่องแบบให้ลูกหลาน[10] การถกเถียงเรื่องการมีอยู่ของเครื่องแบบนักเรียนนั้นมีมาอย่างต่อเนื่องทั้งในสหรัฐอเมริกาและไทย มันได้ก้าวล่วงและส่งผลสะเทือนตั้งแต่ปัญหาความปลอดภัยของเด็กไปจนถึงเรื่องเสรีภาพส่วนบุคคล ประเด็นสิทธิและสาธารณประโยชน์ถูกยกมาถกเถียงกันมากที่สุดในสหรัฐฯ ต่างจากในไทยที่มักยกเรื่องเกียรติภูมิและความภาคภูมิใจที่ฟังดูเป็นเรื่องที่ตื้นเขินพอสมควรมาเป็นประเด็นหลักของฝ่ายสนับสนุน
บทความที่ควรอ่านต่อ: - ยุกติ มุกดาวิจิตร, อำนาจนิยมของเครื่องแบบ http://blogazine.in.th/blogs/yukti-mukdawijitra/post/3900 - ชุดนักเรียนไทยอยู่ตรงไหน http://whereisthailand.info/2013/01/school-uniform/
[1] http://siamuniform.blogspot.com/2013/01/blog-post_6.html [4] The history of School Uniform; Chris Carson; http://www.ehow.com/about_5431878_history-school-uniform.html [5] http://histclo.com/schun/country/eng/schuneng.html [6] http://histclo.com/schun/hist/schun-hist.html [7] http://schooluniforms.com/uniformsusa.html [8] http://www.ehow.com/about_5462433_school-uniforms.html [9] ผลการศึกษาในปี1999 ที่ลองบีช แคลิฟอเนีย พบว่าการออกกฎให้มีเครื่องแบบนั้นทำให้ความรุนแรงในโรงเรียนลดน้อยลง อาชญากรรม และการกดขี่ทางเพศก็ลดน้อยลงถึง90% และการทำลายข้าวของก็ลดลงถึง70% [10] http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=378418
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น