โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

คนค้นฅนนำเทป "ศศิน เฉลิมลาภ" เผยแพร่ยูทูป หลัง MCOT ห้ามออกอากาศ

Posted: 28 Sep 2013 11:19 AM PDT

"คนค้นฅน" ตอน "ศศิน เฉลิมลาภ" เดินจากแม่วงก์เข้ากรุง ถูกห้ามฉายช่อง MCOT จนผู้ผลิตรายการนำไปเผยแพร่เองทางยูทูป "พี่เช็ค" บอกผมทำกรรมอะไรไว้ก็สมควรรับกรรมนั้น - พร้อมเอาเทปกาวปิดปาก  ด้านผู้บริหาร MCOT ระบุถ้ากลับไปแก้ให้บาลานซ์จะนำมาออกอากาศให้ ส่วนโฆษกสำนักนายกฯ ชี้แจงรัฐบาลไม่เกี่ยว

ที่มาของภาพ: เพจฅนค้นฅน

 

คนค้นฅนนำเทป "ศศิน เฉลิมลาภ" มาเผยแพร่ทางยูทูป หลังถูก MCOT ห้ามออกอากาศ

วันนี้ (28 ก.ย.) ตามที่รายการ "คนค้นฅน" ตอน "ศศิน เฉลิมลาภ 388 กม. จากป่าสู่เมือง" ถูกระงับการออกอากาศทางช่อง MCOT หรือช่อง 9 อสมท. เดิม นั้น ล่าสุดเมื่อเวลา 22.00 น. ที่ผ่านมาทางเพจ "คนค้นฅน" ได้นำเทปรายการซึ่งมีการปรับปรุงใหม่ดังกล่าวมาเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียว โดยโพสต์สเตตัสว่า

"คำชี้แจงกรณี รายการ คนค้นฅน ตอน ศศิน เฉลิมลาภ 388 กม. จากป่าสู่เมือง ไม่ได้ออกอากาศในวันเสารที่ 28 กย. นี้ ตามที่รายการ คนค้นฅน ตอน ศศิน เฉลิมลาภ 388 กม. จากป่าสู่เมือง ไม่ได้ออกอากาศในวันเสาร์ที่ 28 กย. 2556 นั้น เนื่องจากทางฝ่ายพิจารณาเทปออกอากาศ ได้แจ้งมายังรายการฯ ว่า อยากให้นำเนื้อหาไปปรับแก้ ให้มีความสมดุลทั้ง 2 ฝ่าย คือมีทั้งข้อมูล และบทสัมภาษณ์จากฝ่ายสนับสนุนการสร้างเขื่อน และฝ่ายคัดค้าน รวมทั้งให้ตัดทอนเนื้อหาส่วนที่พิจารณาว่า จะทำให้เกิดการยั่วยุ ขัดแย้ง ออก ซึ่งทางรายการ " คนค้นฅน " ได้นำความเห็นนั้น กลับมาพิจารณาอย่างจริงจัง และได้ปรับแก้เนื้อหาบางส่วนตามที่ทางสถานีฯ ห่วงใย บนพื้นฐานที่ไม่ให้เสียจุดยืนและรูปแบบของ­รายการ ที่เป็นสารคดีชีวิต ไม่ใช่สารคดีเชิงข่าว นอกจากนั้น รายการ ฯ ยังได้ชี้แจงเพิ่มเติมผ่านรายการ ฯ ว่า พร้อมที่จะนำเสนอข้อมูลของฝ่ายที่สนับสนุน­การสร้างเขื่อนในโอกาสต่อไป และได้ส่งเทปกลับไปยังสถานีฯ เพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งผลการพิจารณาก็เป็นไปตามที่ปรากฎในข่าวสาร

ดังนั้นเพื่อความเข้าใจร่วมกันของสังคม ทางรายการ คนค้นฅน จึงขอนำเทปรายการ ตอน ศศิน เฉลิมลาภ 388 กม. จากป่าสู่เมือง ที่ผ่านการปรับแก้บนพื้นฐานที่รายการฯ พิจารณาแล้วว่า เหมาะสม และไม่เสียเจตนารมณ์ของรายการ มาเผยแพร่ผ่านสังคมออนไลน์ เพื่อให้ทุกท่านได้ร่วมกันพิจารณา

ทั้งนี้รายการฯ ขอชี้แจงว่า ไม่มีวัตถุประสงค์ ที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย โจมตีฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องการนำเสนอข้อมูล เพื่อให้สังคมได้พิจารณาร่วมกันในการหาทาง­ออกอย่างสันติและเป็นธรรม

รายการคนค้นฅน
ทีวีบูรพา จำกัด"

ทั้งนี้สามารถชมเทปรายการ "คนค้นฅน" ตอน "ศศิน เฉลิมลาภ 388 กม. จากป่าสู่เมือง" ได้ที่ทาง YouTube

สำหรับรายการ "คนค้นฅน" ตอนดังกล่าวมีความยาวประมาณ 42 นาทีเศษ เป็นการนำเสนอเรื่องราวการเดินทางไกล 338 กม. ของ "ศศิน เฉลิมลาภ" เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ หมู่ 4 บ้านแม่เรวา อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งถูกวางแผนก่อสร้างโครงการเขื่อนแม่วงก์ มายัง กทม. โดยเริ่มออกเดินทางมาตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย. และมาถึง กทม. ในวันที่ 22 ก.ย.

โดยในรายการ "คนค้นคน" ตอนที่เผยแพร่ในยูทูปดังกล่าว ช่วงหนึ่งมีคำให้สัมภาษณ์ "ศศิน เฉลิมลาภ" ซึ่งกล่าวในวันที่สาม ของการเดินทางจากพื้นที่สร้างเขื่อนแม่วงก์ มายังกรุงเทพฯ ว่า

"อยากให้สาธารณชนแสดงความเห็นแล้วในที่สุดมันไปสะเทือนคนที่มีอำนาจตัดสินใจว่าชะลอ อีไอเอ อีเอชไอเอนี้ไว้ก่อน นี่คือเป้าหมายโดยตรง แต่โดยอ้อมคิดได้อีกเยอะเลย ระหว่างทางที่ผมเดินมาสองวันนี้ผมคิดอะไรได้อีกเยอะแยะเลย ที่ชัดที่สุดก็คือว่า มันเป็นการเปิดพื้นที่การแสดงออก มันมีแนวคิดว่าแถวนี้เขาอยากได้เขื่อน แต่มันมีคนที่รู้ข้อมูล แล้วก็คิดต่าง แต่ไม่มีโอกาสจะทำอะไรเพราะเขาอยู่ในพื้นที่ จะพูดเดี๋ยวก็ทะเลาะกันเปล่าๆ แต่เรามาปุ๊บมันเหมือนกัน เอ้อ ... เอาน้ำมาให้ ... เห็นด้วยกับคุณนะ มันก็สร้างความมั่นใจให้เขาด้วย เปิดพื้นที่ในหัวใจให้เขากล้าที่จะแสดงออกมาด้วย "

 

ทั้งนี้หลังการเผยแพร่ในยูทูป ศศิน เฉลิมลาภ ได้โพสต์ในเฟซบุคด้วยว่า "ขอบคุณทีวีบูรพา พี่เช็ค โต้ และทีมงาน ผมดูจบแล้วครับ"

 

ผู้บริหาร MCOT ระบุสั่งระงับเอง เพราะสัมภาษณ์ไม่สมดุล

โดยก่อนหน้านี้ในช่วงกลางวัน ของวันที่ 28 ก.ย. เพจ "คนค้นฅน" ได้โพสต์สเตตัสว่า "เนื่องจากมีข้อขัดข้องบางประการ ในเทปการออกอากาศ ตอน ศศิน เฉลิมลาภ 388 กม. จากป่าสู่เมือง ทำให้ไม่สามารถออกอากาศได้ ขอขอบคุณแฟนๆ รายการทุกท่านที่ติดตามรับชมครับ"

และต่อมามีรายงานข่าวว่า กองเซ็นเซอร์ของ MCOT ได้สั่งงดออกอากาศรายการ "คนค้นฅน" ดังกล่าวอย่างกระทันหัน

โดยบล็อกของ "ภัทราพร ตั๊นงาม" ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ได้สัมภาษณ์ กมลาสิริ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายดูแลสายงานโทรทัศน์ ช่อง MCOT โดยชี้แจงสาเหตุที่ระงับการออกอากาศว่า "เทปคนค้นฅนไปสัมภาษณ์ เขื่อนแม่วงก์ และมีวาจารุนแรง ทางเราบอกไปว่า เจ้าหน้าที่เราดูแล้วก็มาปรึกษา เราจึงขอให้คนค้นฅน ช่วยไปสัมภาษณ์แก้ต่างกับอีกฝ่ายหนึ่ง และทางนักวิชาการมาแก้ต่างว่า ทำไม จะสร้าง หรือไม่สร้าง น่าจะให้บาล๊านซ์สองฝ่าย  เค้าบอกว่า เค้าไม่ทำ และทำไม่ได้ เลยบอกว่า ถ้าพร้อมทำเมื่อไหร่ และสองข้างบาล๊านซ์ซึ่งกัน มีทั้งฝ่ายให้สร้าง ฝ่ายไม่ให้สร้าง โอเคเลยจบ เราจะออกอากาศให้" นอกจากนี้ยังยืนยันว่าไม่มีการเมืองแทรกแซง

 

"พี่เช็ค" บอกผมทำกรรมอะไรไว้ก็สมควรรับกรรมนั้น พร้อมเอาเทปกาวปิดปาก

ทั้งนี้ สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ หรือ "พี่เช็ค" ได้โพสต์สเตตัสในเฟซบุคว่า

"ผมไม่ทราบจริงๆ ครับว่าเหตุผลที่แท้จริงในการระงับ(ตีความ/อธิบาย ความหมาย หรือเจตนาของคำนี้ให้พอเหมาะแก่ความคิดนะครับ) การออกอากาศของรายการคนค้นฅนตอน อ.ศศิน คืออะไร เพราะผมไม่ได้เป็นผู้รับข่าวสารโดยตรง ประสาน โทรมาบอกผมจากนครฯ ว่าสถานี (คือใครผมก็ไม่ทราบจริงๆ) ให้ปรับแก้รายการ (ตัดออก) 2จุด ซึ่งทีมงานทราบแล้ว ส่วนผมขอให้ถ่ายเปิดเรื่องใหม่ เพื่อให้อธิบายเจตนาให้ชัดเจนและซอฟกว่าเดิม ซึ่งก็ได้ดำเนินการไปตามนั้น ประเด็นของเรื่องนี้แต่ละคนมีอิสระที่จะคิด จะมองครับ ความพอดีของผมอาจไม่เท่าของคนอื่น ผมมีอิสระที่จะคิด

จะเชื่อ จะมีความเห็น คนอื่นก็เช่นกัน แต่ผมมีหน้าที่ต้องเคารพกติกา เรื่องการไม่ได้ออกอากาศผมขอคิดว่าผูุ้อื่นก็ทำหน้าที่ของเขา ผมก็ทำหน้าที่ของผม ผมไม่ได้มีหน้าที่แค่ทำรายการคนค้นคนออกอากาศ ผมยังมีพื้นที่อื่นที่จะแสดงออกซึ่งหน้าที่และอิสระทางความคิด สำหรับตัวผมเอง ผมเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม เชื่อว่ากรรมเป็นเครื่องบ่งชี้เจตนา ผมทำกรรมอะไรไว้ก็สมควรแล้วที่จะรับกรรมนั้น ผู้อื่นก็เช่นกัน แต่กรรมอะไรล่ะที่ทำให้คนคิดอะไร ทำอะไร ผมคิดว่ามองไปให้ไกล ให้พ้นเรื่องของตัวบุคคลเถิดครับ"

"ใครจะรู้ว่าคนที่คุยโทรศัพท์กับประสานในใจ จริงๆ เขาคิดอย่างไร อะไรทำให้เขาทำเช่นนั้น เขาอาจทำด้วยความเต็มใจ ทำด้วยความจำเป็น วันนี้เขาอาจคิดว่าสิ่งที่เขาทำถูก วันหนึ่งเขาอาจพบว่ามันผิดก็ได้ ไม่มีอะไรแน่นอน ถาวร คงที่ อย่าไปโทษว่ามีใครสั่งเลยครับ โทษความโลภ ความโกรธ ความกลัว ความคับแคบ ความยึดมั่นถือมั่น ความหลง ซึ่งมีอยู่ในใจเราทุกคนดีกว่า ถ้าจะรบ รบกับเจ้าสิ่งนี้ดีกว่า เพราะมันเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาทั้งปวง"

ในวันเดียวกัน ระหว่างที่นายสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ เดินทางมาร่วมงาน "คนค้นฅนอวอร์ดสัญจร" ที่ จ.นครศรีธรรมราช เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ระหว่างที่ผู้สื่อข่าวรอสัมภาษณ์นายสุทธิพงษ์ นายสุทธิพงษ์ได้นำเทปกาวมาปิดปาก ปิดหู และปิดตา และไม่มีการให้สัมภาษณ์ (ดูคลิปที่นี่)

 

โฆษกรัฐบาลชี้แจงไม่เกี่ยวกับเรื่องแบน คนค้นฅน

ส่วนธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงด้วยว่า การตัดสินใจงดออกอากาศเป็นเรื่องของ MCOT ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลสั่งการ โดยมีการทวิตไว้ดังนี้

 

รายการคนค้นฅน ที่นำเสนอเรื่องราวของการประท้วง เช่น (ซ้าย) ตอน "ยายไฮ คนหวงแผ่นดิน" เรื่องราวการต่อสู้ของยายไฮ ขันจันทา ที่ลงมือทุบเขื่อนห้วยละห้า ที่ท่วมที่ทำกินมากว่า 27 ปี และ (ขวา) "บ้าโดยสุจริต" นำเสนอเรื่องราวของพนักงาน กฟผ. คนหนึ่งที่แต่งตัวเป็นสีสันในการประท้วงต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ กฟผ.

 

ผู้ชุมนุมที่เคยออกอากาศ "คนค้นฅน"

สำหรับรายการ คนค้นฅน เป็นรายการเกี่ยวกับการดำรงชีวิตของแขกรับเชิญในรายการ ผลิดโดย บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด เป็นรายการแรกของบริษัท เริ่มออกอากาศคืนแรกเมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2546 เวลา 22.00 น. ทาง MCOT ชื่อตอน "เถร…คนดีท่าพระจันทร์" รูปแบบรายการส่วนหนึ่งจะเน้นการนำเสนอเรื่องราวของคนด้อยโอกาสในสังคม โดยออกอากาศติดต่อกันมาแล้วกว่า 11 ปี ปัจจุบันยังคงออกอากาศทางช่อง MCOT ในเวลา 14.05 - 15.00 น.

ทั้งนี้ไม่ใช่เป็นครั้งแรกที่รายการการนำเสนอเรื่องราวของการชุมนุม แต่ก่อนหน้านี้สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในการออกอากาศเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2547 ทางรายการเคยนำเสนอตอน "ยายไฮ คนหวงแผ่นดิน" เป็นเรื่องราวการต่อสู้ของ "ไฮ ขันจันทา" ชาว อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี ซึ่งประท้วงเขื่อนห้วยละห้า ที่สร้างทับที่นาของครอบครัวยาวไฮโดยที่ไม่ได้รับความยินยอมเมื่อ พ.ศ. 2521 โดยปักหลักประท้วงเป็นเวลา 27 ปี เคยไปประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาล และในที่สุดได้ตัดสินใจทุบเขื่อนเพื่อทวงคืนที่ดิน

ส่วนการออกอากาศเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2547 เป็นการนำเสนอตอน "บ้าโดยสุจริต" เป็นการสัมภาษณ์ "สมพร วุฒิวิกัยการ" หรือ "เจ๊เตียว" พนักงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ. ซึ่งเข้าร่วมการต่อสู้ของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ. คัดค้านการแปรรูปกิจการรัฐวิสาหกิจในช่วงนั้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวเลบานอนทำแอพฯ เตือนเหตุการณ์ไม่สงบบนท้องถนน

Posted: 28 Sep 2013 08:52 AM PDT

มีโปรแกรมแอปพลิเคชันมากมายที่ทำให้ชีวิตผู้คนสะดวกขึ้น ในประเทศที่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นบ่อยก็มีผู้ผลิตแอพฯ ที่สามารถระบุพิกัดเหตุการณ์ต่างๆ เช่น การประท้วง การปิดถนน เหตุปะทะด้วยอาวุธ เพื่อสามารถหลีกเลี่ยงเส้นทางไม่ให้ไปอยู่ในเหตุการณ์ได้

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. สำนักข่าว Globalpost กล่าวถึงโปรแกรมแอปพลิเคชันในเลบานอนที่ช่วยให้ผู้คนในเลบานอนสามารถหลีกเลี่ยงเหตุรุนแรงภายในประเทศ รวมถึงเหตุการณ์ที่มาจากผลกระทบของสงครามกลางเมืองในประเทศเพื่อนบ้านซีเรียได้

แอปพลิเคชันดังกล่าวชื่อ Ma2too3a ที่มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Happin เป็นแอปพลิเคชันโหลดฟรีในระบบปฏิบัติการไอโฟนและแอนดรอยด์ที่อาศัยความร่วมมือของผู้ใช้ในการติดป้ายระบุพิกัดหรือที่เรียกว่า geotag ลงไปในแผนที่ว่าตอนนี้มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นที่ไหนบ้าง

ในวันที่เหตุการณ์สงบโปรแกรมนี้จะแสดงให้เห็นพื้นที่ที่มีอุบัติเหตุทางจราจรและส่วนที่มีรถติดหนักๆ ส่วนในวันอื่นๆ จะแสดงภาพหมุดที่ระบุถึงเหตุการณ์ต่างๆ เช่น การปะทะกันด้วยกำลังอาวุธ การประท้วง เหตุปิดถนนด้วยการเผาอย่างรถ และรายงานเรื่องเหตุการณ์ยิงกันหรือเหตุระเบิด

โมฮัมหมัด ทาฮา ผู้พัฒนา Ma2too3a กล่าวว่า จากสภาพความปลอดภัยในปัจจุบันทำให้พวกเขาสร้างโปรแกรมนี้ขึ้นมา ซึ่งมีผู้ใช้จำนวนมากบอกว่าโปรแกรมนี้เป็นสิ่งจำเป็น ทาฮา ได้ไอเดียของโปรแกรมนี้เมื่อตอนที่เขากับภรรยาและลูกอายุ 2 ขวบติดอยู่บนท้องถนนในกรุงเบรุตช่วงที่มีเหตุการณ์ปะทะกันในละแวกใกล้เคียง

"เหตุรุนแรงเหล่านี้คาดเดาไม่ได้ คุณถึงไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง" ทาฮากล่าว

Globalpost ระบุว่าในประเทศเลบานอนมีผู้พกพาอาวุธปืนจำนวนมาก มีเรื่องค้างคาที่ยังไม่ได้แก้ไขจากสงครามกลางเมืองยาวนาน 15 ปี (ช่วงปี 1975-1990) รวมถึงความตึงเครียดด้านการเมืองและนิกายศาสนาจากซีเรีย ทำให้มีเหตุยิงกันอยู่บ่อยครั้งในเลบานอน โดยกองกำลังของรัฐบาลที่อ่อนแอไม่ค่อยเข้าแทรกแซงเหตุการณ์และน้อยครั้งที่สามารถยับยั้งความรุนแรงระหว่างกลุ่มติดอาวุธได้

ไม่เพียงแค่เรื่องความรุนแรงทางการเมืองเท่านั้น บางครั้งเหตุการณ์ขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ เช่นอุบัติเหตุบนท้องถนน การสอบในโรงเรียน งานแต่งงาน หรือการปรากฏตัวของนักการเมืองในทีวีก็กลายเป็นการใช้กำลังอาวุธต่อสู้กันได้

ทาฮาบอกว่าโปรแกรม Ma2too3a มียอดดาวน์โหลดอยู่ที่ 80,000 - 90,000 ครั้ง แต่มีผู้ใช้เป็นประจำอยู่เพียง 30,000 คน โดยในตอนนี้เขามีแผนการเปิดให้บริการแอปพลิเคชันนี้ในอียิปต์ซึ่งมักจะมีเหตุปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่รัฐนับตั้งแต่การลุกฮือในปี 2011 เป็นต้นมา โดยหวังว่าในอนาคตจะมีการใช้โปรแกรมนี้ในที่อื่นๆ เช่นในเมืองที่มีอัตราอาชญากรรมสูง

นอกจาก Ma2too3a แล้ว ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมากองทัพเลบานอนได้เปิดให้ใช้โปรแกรมแอปพลิเคชันด้านความมั่นคงที่สามารถให้ผู้ใช้รายงานเหตุการณ์ต่างๆ เช่น การลักพาตัว การขู่วางระเบิด หรือการใช้ยาเสพติด โดยการส่งภาพ วิดีโอ หรือช้อความตัวอักษรให้กับทางทหารพร้อมๆ กับการแจ้งเตือนเหตุการณ์

อีกโปรแกรมหนึ่งชื่อ Way to Safety ยังคงอยู่ในระหว่างการพัฒนา เป็นโปรแกรมสมาร์ทโฟนที่มุ่งระบุตำแหน่งของผู้ใช้อาวุธโจมตีในการปะทะ รวมถึงระบุทิศทางการยิงปืนและระบุประเภทอาวุธที่ใช้ โดยเฟออาส์ วาซเนห์ ผู้พัฒนาโปรแกรมบอกว่าจะช่วยให้กองกำลังรักษาความสงบโต้ตอบต่อสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงทีและกันไม่ให้พลเรือนโดนลูกหลง

ในประเทศสหรัฐอเมริกามีบริษัทชื่อ ShotSpotter เพิ่งเปิดใช้ระบบตรวจจับเสียงติดตั้งตามที่ต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ และในประเทศอื่นๆ หลายประเทศเพื่อช่วยระบุตำแหน่งเสียงปืนสำหรับตำรวจ ซึ่งทางบริษัทอ้างว่าระบบของพวกเขาสามารถลดการใช้ปืนในเขตตัวเมืองบางแห่งได้ถึงร้อยละ 80 แต่มีค่าติดตั้งสูงถึงหลายแสนดอลลาร์ และค่าใช้จ่ายต่อปีอีกหลายหมื่นดอลลาร์
 

 

เรียบเรียงจาก

Want to stay alive in Lebanon? There's an app for that, Global Post, 27-09-2013
http://www.globalpost.com/dispatch/news/regions/middle-east/130926/lebanon-violence-smartphone-app-happin-way-to-safety-iphone

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "เพิ่งเดินมาถึง กทม."

Posted: 28 Sep 2013 02:16 AM PDT

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "เพิ่งเดินมาถึง กทม."

กวป.แจ้งความกองปราบฯ เอาผิด 'พล.อ.สมเจตน์' กับพวก ข้อหากบฏและหมิ่นเบื้องสูง

Posted: 28 Sep 2013 02:07 AM PDT

กวป. แจ้งความ "พล.อ.สมเจตน์" กับพวก ข้อหากบฏและหมิ่นเบื้องสูง ชี้ใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขต เป็นการล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งเข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กรณียื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการกระทำของประธานรัฐสภา

 
มติชนออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา 10.30 น. ของวันที่ 27 กันยายน 2556 ที่ กองบังคับการปราบปราม นายสมศักดิ์ ล้อเพชรรุ่งเรือง นางรัชนี อักษรประดิษฐ์ ตัวแทนกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) นายโชคชัย ฤทธิ์บุญรอด ตัวแทนเครือข่ายสภายุติธรรม และนายหนึ่งดิน วิมุตตินันท์ ทนายความ เข้าพบ ร.ต.อ.กำธร นิยม พนักงานสอบสวน กก.1บก.ป.เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กับพวกในข้อหากบฏและหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 113 กรณีที่ พล.อ.สมเจตน์ นายวิรัตน์ กับพวกยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการกระทำของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ส.ส. และ ส.ว.ที่ทำหน้าที่พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.ว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ รวมทั้งขอให้พิจารณายุบพรรคทั้ง 6 พรรค เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบเป็นเวลา 5 ปี โดยยื่นเรื่องไว้เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา
 
นายหนึ่งดินกล่าวว่า การกระทำของ พล.อ.สมเจตน์ นายวิรัตน์ กับพวกนั้นเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขต เป็นการล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งเข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป การพิจารณากฎหมายต่างๆ ในรัฐสภาก็จะมีปัญหา จึงต้องมาแจ้งความในครั้งนี้ และจะเดินทางไปร้องเรียนในเรื่องเดียวกันนี้ต่ออัยการสูงสุดในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ด้วย
 
เบื้องต้น ร.ต.อ.กำธรได้รับเรื่องและสอบปากคำผู้แจ้งความเอาไว้ ก่อนจะประมวลเรื่องเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหภาพไทยอินดัสเตรียลแก๊สเรียกร้อง LINDE ไทยปฏิบัติตามคำประกาศของ LINDE สำนักงานใหญ่

Posted: 28 Sep 2013 01:51 AM PDT

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 56 ที่ผ่านมาสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊สได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง กรรมการผู้จัดการ บริษัทลินเด้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (เผยแพร่จดหมายสำเนาเผยแพร่ถึง สมาชิกสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส, สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) และสหภาพแรงงานในเครือข่ายสหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย (PCFT),  กลุ่มสหภาพแรงงานเคมีภัณฑ์ (CWUA), IndustriALL Thailand, ICEM Thai Committee, FES, IGBCE, LINDE UNION NETWORK และกลุ่มผู้ใช้แรงงาน) เรื่องขอให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามคำประกาศของ LINDE สำนักงานใหญ่
 
โดยในจดหมายระบุว่าตามสิ่งที่อ้างถึง LINDE สำนักงานใหญ่ได้ให้การยอมรับและประกาศการให้การยอมรับปฏิบัติตาม UN Global Compact เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2549 ซึ่งมีผลผูกพันกับ LINDE ทั่วโลกรวมถึงลินเด้ ประเทศไทยด้วย
 
หลักสำคัญอย่างหนึ่งด้านแรงงานของ UN Global Compact ที่ LINDE ให้การยอมรับและดำเนินการคือ การขจัดการเลือกปฏิบัติฯ ซึ่งถือเป็นนโยบายของ LINDE ทั่วโลกรวมถึง LINDE ยังมีเอกสารประกาศว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติฯ
 
การที่ LINDE Thailand มีคำสั่งลงโทษสมาชิกของสหภาพแรงงานแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยมีการกล่าวอ้างถึงการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ส่งผลให้มีการพักงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างสมาชิกของสหภาพฯ 3 วัน
 
ในขณะที่มีบุคคลอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ใช่สมาชิกของสหภาพฯได้จงใจกระทำการฝ่าฝืนคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเช่นกันรวมถึงได้จงใจฝ่าฝืนนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและแรงงานของ LINDE (ชื่อเดิม TIG) ที่ลงนามโดยกรรมการผู้จัดการ
 
การที่ LINDE Thailand มีคำสั่งลงโทษสมาชิกของสหภาพแรงงาน ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆกับบุคคลที่มิใช่สมาชิกของสหภาพแรงงานนัน้ ถือได้ว่าเป็นการจงใจที่จะให้มีการเลือกปฏิบัติให้เกิดขึน้ ซึ่งขัดแย้งกับ UN Global Compact ที่ LINDE ให้การยอมรับและไม่เป็นไปตามเอกสารสิ่งพิมพ์ที่ LINDE อ้างว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติ
 
การที่ LINDE Thailand เพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึน้ นอกจากจะเป็นการไม่ปฏิบัติตามนโยบายและคำประกาศของ LINDE HQ จากเยอรมันแล้ว ยังเท่ากับว่า LINDE Thailand ให้การสนับสนุนให้มีการเลือกปฏิบัติให้เกิดขึน้ โดยมิได้ดำเนินการใดๆที่แสดงให้เห็นว่าจะทำการขจัดการเลือกปฏิบัติ
 
ดังนัน้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายและคำประกาศของ LINDE HQ จากประเทศเยอรมัน ในนามของสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊สจึงขอเรียกร้องให้ LINDE Thailand โปรดดำเนินการดังนี้
 
1. ปฏิบัติตามคำประกาศของ LINDE สำนักงานใหญ่ที่เกียวกับ UN Global Compact
2. ขจัดการเลือกปฏิบัติตามรายละเอียดใน UN Global Compact
3. ยุติการสนับสนุนให้มีการเลือกปฏิบัติ
4. ยุติการเลือกปฏิบัติเฉพาะกับสมาชิกของสหภาพแรงงาน
5. จัดการศึกษาให้ความรู้กับคนงานทุกคนโดยเฉพาะระดับผู้บังคับบัญชาเรื่อง UN Global Compact โดยด่วน
6. มีคำสั่งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและติดประกาศถึงผู้บังคับบัญชาทุกคนห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติ
7. และที่สำคัญที่สุดคือขอให้ LINDE Thailand ยุติการข่มขู่จะดำเนินคดีกับสมาชิกหรือแกนนำของสหภาพฯโดยทันที
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปีดิเทพ อยู่ยืนยง: เครื่องแบบนักเรียนของอังกฤษและประเด็นทางกฎหมายที่น่าสนใจ

Posted: 28 Sep 2013 01:00 AM PDT

 

เกริ่นนำ

เมื่อไม่นานมานี้ มีการวิพากษ์และถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นการแต่งกายชุดนักเรียนและชุดนักศึกษาในสถาบันการศึกษาของไทยว่า การบังคับให้นักศึกษาแต่งกายด้วยชุดนักเรียนหรือชุดนักศึกษานี้ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของนักเรียนและนักศึกษาหรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยว่านักเรียนและนักศึกษาควรจะต้องแต่งเครื่องแบบนักศึกษามายังสถานศึกษา ด้วยเหตุผลประการต่างๆ ที่ได้อ้างถึงประโยชน์ของการแต่งกายด้วยชุดนักเรียนและนักศึกษา ได้แก่ ประการแรก การแต่งกายด้วยชุดนักเรียนและนักศึกษาสามารถทำให้จำแนกบทบาทหรืออาชีพของตน ให้นักศึกษาสามารถระลึกเสมอว่าตนเองมีบทบาทหรือหน้าที่ในการศึกษาหาความรู้ ประการที่สอง การแต่งกายด้วยชุดนักเรียนและนักศึกษาย่อมนำความภาคภูมิให้กับผู้สวมใส่หรือหมู่คณะว่า ได้ศึกษาในสถาบันที่มีเกียรติและนักเรียนและนักศึกษาพึงรักษาชื่อเสียงของสถาบันไว้ ประการที่สาม การบังคับให้นักเรียนหรือนักศึกษาแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักเรียนหรือนักศึกษาที่เหมือนกัน ย่อมเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสถานะทางเศรษฐกิจของนักศึกษาได้ เพราะเมื่อแต่งเครื่องแบบที่เหมือนๆ กันแล้ว นักศึกษาก็ย่อมไม่จำเป็นต้องขวนขวายหาเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ให้เข้ากับแฟชั่นหรือเข้ากับการแต่งกายตามยุคสมัยดังกล่าว อันอาจเป็นเหตุให้เกิดการสิ้นเปลืองรายจ่ายของบิดา มารดาหรือผู้ปกครองโดยใช่เหตุ ประการสุดท้าย การแต่งกายด้วยชุดนักเรียนและนักศึกษาย่อมทำให้ตำรวจทางปกครอง ตำรวจทางการยุติธรรม เจ้าหน้าที่บ้านเมืองฝ่ายอื่นๆ ผู้สื่อข่าวหรือบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาความปลอดภัยบ้านเมืองหรือการกู้ภัยในกรณีมีเหตุการณ์ฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุต่างๆ ได้ทราบว่าบุคคลที่กำลังจะเข้าไปช่วยเหลือเป็นนักเรียนหรือนักศึกษา ซึ่งในสถาบันการศึกษาได้กำหนดให้มีการระบุชื่อนักเรียนหรือนักศึกษาและระดับชั้นปีการศึกษาของนักศึกษาไว้บนเครื่องแบบนักศึกษาด้วย ซึ่งอาจส่งผลดีต่อการกู้ภัย สืบสวน สอบสวน การติดตามตัวผู้ปกครองและการหาข้อมูลทางการแพทย์ของนักเรียนหรือนักศึกษา เมื่อนักเรียนหรือนักศึกษาประสบภัยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุในสถานการณ์ต่างๆ

อย่างไรก็ดี อาจมีข้อโต้แย้งหลายประการเกี่ยวกับการบังคับให้นักศึกษาแต่งกายด้วยชุดนักเรียนหรือชุดนักศึกษา ตัวอย่างเช่น ประการแรก การแต่งกายด้วยชุดนักศึกษาอาจไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางด้านสถานะทางเศรษฐกิจของนักเรียนหรือนักศึกษาได้อย่างแท้จริง การแต่งกายที่เหมือนๆ กันอาจเป็นการเพียงสร้างความรู้สึกให้กับนักเรียนหรือนักศึกษาว่านักเรียนและนักศึกษาที่มาเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไม่มีความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วนักเรียนย่อมมาจากครอบครัวที่หลากหลายและมีสถานะภาพทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ สถานะภาพทางเศรษฐกิจของนักศึกษาที่เป็นปัจเจก ย่อมขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินของบิดา มารดาหรือผู้ปกครอง ความสามารถในการทำกิจกรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ประจำหรือรายได้พิเศษของนักเรียนหรือนักศึกษาแต่ละบุคคล ประการที่สอง การแต่งกายด้วยชุดนักเรียนหรือชุดนักศึกษาอาจไม่ได้เป็นการเสริมสร้างระเบียบวินัยในสังคมที่แท้จริง ซึ่งผู้แต่งกายด้วยเครื่องแบบอื่นๆ หรือการสวมใส่เสื้อผ้าชนิดอื่นๆ ก็อาจมีระเบียบวินัยหรือดำเนินกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีของสังคมได้ เฉกเช่นเดียวกับผู้ที่แต่งกายด้วยเครื่องแบบนักเรียนหรือนักศึกษา เช่น การเข้าคิวในการซื้ออาหารของพนักงานในโรงงานต่างๆ เป็นต้น

จากที่ได้กล่าวมาในข้างต้นย่อมทำให้เห็นว่ามีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยหรือฝ่ายที่สนับสนุนให้นักเรียนหรือนักศึกษาแต่งเครื่องแบบตามที่ทางสถาบันการศึกษาได้กำหนดเอาไว้ในระเบียบหรือข้อบังคับของสถาบันการศึกษาและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหรือฝ่ายที่ไม่สนับสนุนให้นักเรียนหรือนักศึกษาแต่งเครื่องแบบตามที่ทางสถาบันการศึกษาได้กำหนดเอาไว้ แต่ละฝ่ายก็ย่อมหาเหตุผลมากมายที่สนับสนุนแนวคิดหรือความเห็นของฝ่ายตนเอง

ประเทศอังกฤษถือเป็นประเทศหนึ่งที่โรงเรียนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน ต่างก็มีระเบียบและข้อบังคับให้นักเรียนได้สวมใส่เครื่องแบบนักเรียนในรูปแบบต่างๆ ตามที่โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาของตนได้กำหนดเอาไว้ รวมไปถึงการสวมใส่เครื่องแบบให้สอดคล้องกับฤดูกาลต่างๆ เช่น โรงเรียนอาจกำหนดให้ใส่เสื้อสูทที่ปักตราของสถาบันการศึกษาเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและเพื่อสอดคล้องกับสภาพอากาศของประเทศอังกฤษ เป็นต้น อย่างไรก็ดี หากนักเรียนหรือนักศึกษาได้ก้าวเข้าสู่การศึกษาระดับอุดมศึกษาแล้ว มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่ในประเทศอังกฤษไม่ได้กำหนดให้นักศึกษาระดับอุดมศึกษาต้องสวมเครื่องแบบมาเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในสถาบันการศึกษา เช่น การเข้าชั้นเรียน และการเข้าสอบภาคเรียนต่างๆ เป็นต้น อย่างไรก็ดี บางกลุ่มกิจกรรมของมหาวิทยาลัยหรือกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาบางกลุ่มอาจกำหนดให้มีเครื่องแบบสำหรับประกอบกิจกรรมบางอย่าง สำหรับ ให้นักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมกีฬา กิจกรรมนันทนาการหรือกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยได้จัดขึ้นได้สวมใส่ นอกจากนี้ อาจมีเพียงบางมหาวิทยาลัยที่ยังคงมีการอนุรักษ์ประเพณีการแต่งกายด้วยเครื่องแบบของมหาวิทยาลัยบางอย่าง ให้สืบทอดเป็นประเพณีต่อเนื่องไป เช่น ประเพณีการใส่เสื้อคลุมพิธีการสำหรับนักศึกษาที่ศึกษาอยู่ใน มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด และมหาวิทยาลัยเดอแรม ที่นักศึกษาต้องใส่เครื่องแบบพิธีการสำหรับเข้าร่วมพิธีการบางพิธี เป็นต้น

แม้ว่าประเทศอังกฤษถือเป็นประเทศหนึ่งที่โรงเรียนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน ต่างก็มีระเบียบและข้อบังคับให้นักเรียนได้สวมใส่เครื่องแบบนักเรียนในรูปแบบต่างๆ อย่างไรก็ตาม กรมการศึกษา (Department of Education) อันเป็นหน่วยงานของรัฐของประเทศอังกฤษกำกับดูแลกิจกรรมบริหารสาธารณะด้านการศึกษาขึ้นพื้นฐาน ได้ให้ข้อสังเกตหลายประการเกี่ยวกับประเด็นทางกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียนที่น่าสนใจหลายประเด็นในเอกสารคำแนะนำเกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารโรงเรียน คณาจารย์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2013 หรือเอกสาร School uniform Guidance for governing bodies, school leaders, school staff and local authorities (http://media.education.gov.uk/assets/files/pdf/s/school%20uniform%20guidance%202013.pdf) โดยเอกสารดังกล่าวได้ให้ข้อพิจารณาทางกฎหมายไว้สองประเด็นด้วยกัน ได้แก่

[1] ประเด็นข้อพิจารณาทางกฎหมายสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคและการเลือกปฏิบัติ

เอกสารคำแนะนำเกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารโรงเรียน คณาจารย์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2013 ของรัฐบาลอังกฤษ ได้แสดงข้อพิจารณาและข้อแนะนำ ให้ผู้บริหารโรงเรียน คณาจารย์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตระหนักถึงหลักเกณฑ์และวิธีการในการบังคับให้นักศึกษาแต่งกายด้วยชุดนักเรียน โดยโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาขั้นพื้นฐานต่างๆ ต้องคำนึงถึงสิทธิในการแสดงออกถึงความเชื่อทางศาสนาหรือลัทธิทางศาสนาต่างๆ (right to manifest a religion or belief) เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพระราชบัญญัติสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1988 (Human Rights Act 1998) ได้วางหลักเกณฑ์พื้นฐานเอาไว้ว่าบุคคลมีสิทธิและเสรีภาพในการนับถือศาสนาและลัทธิทางศาสนาต่างๆ นักเรียนที่เป็นศาสนิกชนในศาสนาหรือลัทธิทางศาสนาต่างๆ จึงอาจแสดงออกด้านการแต่งกายให้สอดคล้องกับความเชื่อ จารีต และประเพณีอันดีงามในแต่ละศาสนาได้ ตัวอย่างเช่น การไว้ผมยาว การแขวนวัตถุมงคล การแต่งกายตามประเพณี และการใส่ผ้าคลุมผม เป็นต้น อนึ่ง แม้ว่าโรงเรียนและสถาบันการศึกษาขั้นพื้นฐานของอังกฤษจำต้องคำนึงถึงสิทธิในการแสดงออกถึงความเชื่อทางศาสนาหรือลัทธิทางศาสนาต่างๆ ของนักเรียนดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในข้างต้น อย่างไรก็ดี ในบางกรณีนักเรียนก็ไม่อาจแสดงออกด้านการแต่งกายให้สอดคล้องกับความเชื่อ จารีต และประเพณีของศาสนาได้ ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์ของอังกฤษได้เคยมีคำพิพากษาในประเด็นดังกล่าวว่าการที่ผู้บริหารโรงเรียนปฏิเสธไม่อนุญาตให้นักศึกษามุสลิมหญิงสวมใส่ญิฮาบ (jilbab) มาโรงเรียนได้ย่อมไม่เป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิในการแสดงออกถึงความเชื่อทางศาสนาหรือลัทธิทางศาสนาต่างๆของนักเรียน โดยศาลอุทธรณ์ของอังกฤษได้ให้เหตุผลว่าการแต่งกายตามหลักศาสนาบางประการก็อาจขัดหรือแย้งกับระเบียบหรือข้อบังคับของโรงเรียนเกี่ยวกับการแต่งเครื่องแบบนักเรียน แต่หากกฎหรือหลักการของศาสนาเปิดโอกาสให้เลือกกระทำได้ว่าจะกระทำการดังกล่าวเพื่อสนับสนุนความเชื่อทางศาสนาหรือไม่ก็ได้ ถ้าความเชื่อ กฎหรือหลักการของศาสนาเปิดทางเลือกให้กับนักศึกษา นักเรียนก็ควรจะเลือกการปฏิบัติตามแนวทางความเชื่อศาสนาในแนวทางที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยเครื่องแบบนักศึกษา (โปรดดู คดี คดี R (on the application of Begum (by her Litigation Friend Sherwas Rahman)) v The Head teacher and Governors of Denbigh High School [2006] UKHL 15 http://www.1cor.com/1315/?form_1155.replyids=937) (โปรดดูข่าวเกี่ยวกับคดีนี้เพิ่มเติมใน BBC News, School wins Muslim dress appeal http://news.bbc.co.uk/1/hi/4832072.stm)

นอกจากนี้ เอกสารคำแนะนำเกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารโรงเรียน คณาจารย์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2013 ของรัฐบาลอังกฤษได้ให้คำแนะนำแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการบังคับใช้ระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยชุดนักเรียนของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาขั้นพื้นฐานต่างๆ ว่า การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม (unlawful discrimination) อาจเกิดขึ้นได้ หากระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยชุดนักเรียนดังกล่าวขัดต่อการเพศและการแสดงออกทางเพศได้ ตัวอย่างเช่น การกำหนดให้นักเรียนหญิงจัดหาเครื่องแบบในราคาที่แพงกว่าเครื่องแต่งกายของนักเรียนชาย โดยการที่นักเรียนหญิงจำต้องรับภาระทางการเงินสูงกว่านักเรียนชายเช่นนี้ ย่อมอาจถือเป็นเหตุแห่งการเลือกปฏิบัติทางอ้อม (indirect discrimination) ต่อนักเรียนหญิงได้ประการหนึ่ง เป็นต้น (โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Equality and Human Rights Commission, School uniform http://www.equalityhumanrights.com/advice-and-guidance/before-the-equality-act/guidance-for-students-pre-october-2010/being-treated-with-respect/school-uniform/)

[2] ประเด็นพิจารณาเกี่ยวกับปัญหาในเรื่องการผูกขาดการแข่งขันทางการค้าเครื่องแบบนักเรียนในท้องถิ่น

เอกสารคำแนะนำเกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารโรงเรียน คณาจารย์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2013 ของรัฐบาลอังกฤษ ได้แสดงประเด็นความท้าทายเกี่ยวกับการรักษากลไกตลาดในการค้าขายชุดนักเรียนในแต่ละท้องถิ่นและความคุ้มราคาของชุดนักเรียน เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะลักษณะเครื่องแบบนักเรียนของอังกฤษและการดำเนินธุรกิจค้าขายเครื่องแบบนักเรียนของอังกฤษในแต่ละท้องถิ่นเอื้อต่อการแทรกแซงจากผู้ประกอบธุรกิจบางรายด้วยวิธีการอันไม่เป็นธรรมและเอื้อต่อการผูกขาดทางการค้าชุดนักเรียนในท้องถิ่น กล่าวคือ ด้วยลักษณะของเครื่องแบบนักเรียนอังกฤษโดยมากประกอบด้วยเสื้อ กระโปรง กางเกงขายาว เสื้อสูท และเสื้อกันหนาวในลวดลาย สีสัน การประดับสัญลักษณ์สถาบันตามที่โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาได้กำหนด โดยแต่ละท้องถิ่นจะมีผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าส่ง และผู้ค้าปลีกที่มีสถานประกอบการอยู่ในชุมชนบริเวณใกล้เคียงกับโรงเรียนเป็นผู้ดำเนินธุรกิจดังกล่าว อนึ่ง ผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าส่ง และผู้ค้าปลีกเครื่องแบบนักเรียนสำหรับโรงเรียนท้องถิ่นอาจกระทำกิจกรรมทางธุรกิจที่สร้างการผูกขาดทางธุรกิจค้าขายเครื่องแบบนักเรียนท้องถิ่นได้ ตัวอย่างเช่น การมีผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายเครื่องแบบนักเรียนน้อยรายในแต่ละชุมชน การมีผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างร้านค้าและโรงเรียนเกี่ยวกับการค้าขายชุดนักเรียน โดยโรงเรียนเปิดโอกาสให้ผู้จัดจำหน่ายเพียงแค่รายเดียว (single supplier) เข้ามามีบทบาทในการผูกขาดการค้าชุดนักเรียนในโรงเรียนหรือในชุมชนโดยรอบโรงเรียน เป็นต้น (โปรดดูข่าวเกี่ยวกับคดีนี้เพิ่มเติมใน BBC News, Lib Dem conference: Schools told to cut uniform costs http://www.bbc.co.uk/news/uk-politics-24095539)

อนึ่ง ผู้เขียนบทความได้ตั้งข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างลักษณะชุดนักเรียนและระบบธุรกิจการค้าชุดนักเรียนของประเทศอังกฤษได้เป็นประเด็นดังต่อไปนี้ ประเด็นแรก ความแตกต่างของสภาพอากาศระหว่างประเทศไทยและประเทศอังกฤษ ย่อมทำให้ลักษณะเครื่องแบบนักเรียนมีความแตกต่างกัน โดยลักษณะเครื่องแบบของนักเรียนไทยมีเพียงแค่เสื้อเชิร์ตสีขาว เสื้อคอบัว เสื้อคอปกกลาสี กางเกงขาสั้น กระโปรง เข็มขัด รองเท้าและถุงเท้า ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนของประเทศไทย ในทางตรงกันข้าม เครื่องแบบนักเรียนอังกฤษจะประกอบด้วยเสื้อเชิร์ต เสื้อสูท กางเกงขายาว กระโปรง และเสื้อกันหนาวอื่นๆ ที่เหมาะสมกับสภาะอากาศหนาวของประเทศไทย ประเด็นที่สอง ความแตกต่างในลักษณะการดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายเสื้อนักเรียนของผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าส่ง และผู้ค้าปลีก เพราะเครื่องแบบนักเรียนของประเทศไทยอาจง่ายต่อการหาซื้อตามท้องตลาดโดยทั่วไป เพราะเครื่องแบบนักเรียนของไทยเป็นเพียงเสื้อเชิร์ตสีขาว เสื้อคอบัวสีขาว เสื้อกลาสีสีขาวที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายคลึงกันในแต่ละโรงเรียน จะต่างกันก็เพียงอักษรที่ปักเป็นชื่อย่อของนักเรียนในบริเวณหน้าอก กับสีของกระโปรงหรือกางเกงขาสั้น รวมไปถึงรองเท้าที่นักเรียนใส่เท่านั้น ในทางตรงกันข้าม เครื่องแบบนักเรียนของแต่ละโรงเรียนในอังกฤษอาจประกอบด้วยเสื้อเชิร์ต กระโปรง กางเกงขายาว เสื้อสูทที่มีสีสันแตกต่างกัน ลวดลายที่แตกต่างกันหรือปักตราแตกต่างกันในแต่ละโรงเรียน ด้วยเหตุนี้ ผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าส่ง หรือผู้ค้าปลีกในประเทศอังกฤษจึงต้องจัดหาเครื่องแบบให้สอดคล้องและเหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของเครื่องแบบนักเรียนในแต่ละท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ในทางการค้า

รูปที่ 1: เครื่องแบบนักเรียนประเทศอังกฤษโดยทั่วไป

อ้างอิง: Royal Grammar School Newcastle, Boys' Uniform And Sportswear http://www.rgs.newcastle.sch.uk/general-information/uniform-boys.php

 

รูปที่ 2: เครื่องแบบนักเรียนประเทศไทยโดยทั่วไป

อ้างอิง: โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก, เครื่องแบบนักเรียน ชาย หญิง มัธยมศึกษาตอนปลาย http://www.pccpl.ac.th/pccpl2012/index.php/th/about-pccpl/170-2013-02-23-14-07-49?showall=1&limitstart=

เอกสารคำแนะนำเกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารโรงเรียน คณาจารย์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2013 ของรัฐบาลอังกฤษ ยังได้แนะนำให้โรงเรียนและผู้บริหารของโรงเรียนจำต้องให้ความสำคัญในเรื่องของราคาชุดนักเรียนเป็นอย่างมาก (high priority to cost considerations) โดยผู้บริหารโรงเรียนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยชุดนักเรียนควรที่จะกำหนดให้นักเรียนแต่งกายด้วยเครื่องแบบในราคาประหยัดหรือเครื่องแบบที่สะดวกต่อการหาเครื่องแบบในท้องตลาดหรือร้านค้าในชุมชนด้วย

นอกจากนี้ เอกสารดังกล่าวยังแนะนำให้โรงเรียนหลีกเลียงการผูกขาดทางการค้าของผู้จัดจำหน่ายต่อโรงเรียน โดยผู้บริหารของโรงเรียนควรหลีกเลี่ยงการทำสัญญาผูกขาดผู้จัดจำหน่ายเครื่องแบบนักเรียน (exclusive single-supplier contracts) เพราะการเปิดโอกาสให้ทำสัญญาในลักษณะดังกล่าวเท่ากับเป็นการปิดโอกาสไม่ให้มีการแข่งขันระหว่างผู้จัดจำหน่ายรายต่างๆ อันจะทำให้นักเรียนได้มีโอกาสบริโภคเครื่องแบบนักเรียนในราคาหรือคุณภาพที่หลากหลาย เช่น นักเรียนผู้มีฐานะทางการเงินดี ก็สามารถเลือกซื้อเครื่องแบบที่มีคุณภาพดีได้ ในทางกลับกัน นักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางการเงินไม่สู้ดี ก็มีโอกาสเลือกบริโภคเครื่องแบบที่มีคุณภาพเหมาะสมและราคาถูกได้ เป็นต้น

สรุป

จากประเด็นทางกฎหมายอังกฤษในเอกสารที่ได้กล่าวมาในข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับประเด็นข้อพิจารณาทางกฎหมายสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคและการเลือกปฏิบัติและประเด็นพิจารณาเกี่ยวกับปัญหาในเรื่องการผูกขาดการแข่งขันทางการค้าเครื่องแบบนักเรียนในท้องถิ่น ย่อมอาจเป็นแนวทางให้ประเทศอังกฤษพัฒนากฎหมายว่าด้วยชุดนักเรียนในอนาคต รวมไปถึงการพัฒนากลไกต่างๆ ให้สอดคล้องหรือสร้างธรรมาภิบาลเกี่ยวกับชุดนักเรียนได้

อนึ่ง สำหรับกรณีของประเทศไทยนั้น แม้ว่ามีทั้งผู้ที่ต่อต้านการแต่งกายด้วยชุดนักเรียนและนักศึกษา และผู้สนับสนุนการแต่งกายด้วยชุดนักเรียนและนักศึกษา หากแต่การกำหนดระเบียบให้นักเรียนหรือนักศึกษาต้องแต่งกายด้วยเครื่องแบบ ย่อมมีทั้งผลในด้านบวกและข้อโต้แย้งบางประการ ซึ่งการที่จะให้ผู้คนทุกคนในสังคมเห็นไปในทางเดียวกันทั้งหมดทั้งมวลย่อมเป็นไปได้ยาก หากแต่การพัฒนาหลักเกณฑ์และแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับการแต่งเครือ่งแบบนักเรียนหรือนักศึกษา โดยคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นโดยรอบด้าน ก็ย่อมอาจเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้ปัญหาหรือข้อถกเถียงในประเด็นต่างๆ ลดลงไปได้

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: พรรคประชาธิปัตย์

Posted: 28 Sep 2013 12:48 AM PDT

 

พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรครัฐสภาที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2489 แต่ได้แจ้งเป็นทางการว่า ก่อตั้งเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2489 ซึ่งเป็นวันจักรี เพื่อแสดงจุดยืนว่า เป็นพรรคนิยมกษัตริย์และเป็นศัตรูกับรัฐบาลคณะราษฎรที่นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ในขณะนั้น

ตลอดหลายสิบปีมานี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้เผยแพร่และตอกย้ำความเชื่อที่ว่า "พรรคประชาธิปัตย์ต่อสู้กับเผด็จการ" มาโดยตลอด ความเชื่อนี้เป็นที่แพร่หลายในหมู่มวลชนของพรรค แม้แต่การเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้ก็ยังอ้างความเชื่อดังกล่าวในปริบทปัจจุบันว่า "ต่อต้านเผด็จการรัฐสภาของระบอบทักษิณ"

แต่ถ้าหากเราเข้าใจว่า ประเด็นใจกลางของการต่อสู้ทางการเมืองไทยนับแต่ 2475 จนถึง 2500 รวมศูนย์อยู่ที่ปัญหาว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยหรือเป็นของพระมหากษัตริย์?" แล้ว เราก็จะเห็นทะลุถึงเนื้อแท้ของพรรคประชาธิปัตย์ได้อย่างถึงแก่นว่า ภารกิจทางประวัติศาสตร์ของพวกเขาไม่ใช่การต่อสู้กับเผด็จการทั้งทหารหรือพลเรือน หากแต่เป็นเครื่องมือสำคัญชิ้นหนึ่งของพวกอำนาจเก่าในการทำลายล้างใครก็ตามที่พวกเขาเชื่อว่า เป็นภัยคุกคาม

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นายปรีดี พนมยงค์มีความปรารถนาที่จะ "ปรองดอง" กับคณะเจ้า จึงหาทางยุติความขัดแย้งด้วยการนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง ให้บุคคลในคณะเจ้าซึ่งถูกจำคุกหรือถูกเนรเทศในเวลานั้นได้กลับคืนสู่เสรีภาพ แต่คนกลุ่มนี้กลับไม่ยินยอม "ปรองดอง" กับนายปรีดี หากแต่รวมตัวกันเคลื่อนไหวเพื่อแก้แค้นคณะราษฎรและรื้อฟื้นอำนาจเก่ากลับคืนมา เครื่องมือชิ้นแรกสุดที่คนพวกนี้สร้างขึ้นก็คือ พรรคประชาธิปัตย์

ภารกิจชิ้นแรกของพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นจึงเป็นการใช้เวทีทั้งในและนอกรัฐสภามาทำลายล้างคณะราษฎร โดยมีเป้าหมายใหญ่คือนายปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นมันสมองของการปฏิวัติ 2475 พรรคประชาธิปัตย์มีบทบาทอย่างสำคัญในการใส่ร้ายป้ายสีนายปรีดีว่า เป็นผู้บงการลอบปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีส่วนสำคัญในการสร้างเงื่อนไขให้คณะทหารของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก่อการรัฐประหาร 2490 ทำลายล้างกลุ่มนายปรีดีได้สำเร็จ

หลังจากนั้น พรรคประชาธิปัตย์ก็หันปลายหอกการโจมตีมายังส่วนที่เหลืออยู่ของคณะราษฎรคือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในขณะที่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามก็มีความโน้มเอียงไปทางอำนาจนิยม มีการปราบปราม จับกุมคุมขังและสังหารนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม นิทานเรื่อง "พรรคประชาธิปัตย์ต่อสู้กับเผด็จการ" จึงเริ่มต้นขึ้นจากการเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ที่ต่อต้านจอมพล ป.พิบูลสงครามนี้เอง จนกระทั่งพวกนิยมกษัตริย์ร่วมมือกับสฤษดิ์ ธนะรัชต์ก่อรัฐประหาร 2500 โค่นล้มรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายของคณะราษฎร ถอนรากถอนโคนการปฏิวัติ 2475 จนหมดสิ้น

ภายใต้เผด็จการสฤษดิ์และช่วงต้นของเผด็จการถนอม-ประภาส พรรคประชาธิปัตย์ก็มิได้มีการเคลื่อนไหวต่อต้านแต่อย่างใดเพราะนี่เป็นช่วงเถลิงอำนาจอย่างเต็มรูปของแนวร่วมเผด็จการสฤษดิ์กับพวกจารีตนิยม จนกระทั่งเมื่อกลุ่มถนอม-ประภาสก่อรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 ยึดกุมอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ในกลุ่มตระกูลของตน จนอาจเป็นอันตรายต่อพวกจารีตนิยมแล้วนั่นแหละพรรคประชาธิปัตย์จึงได้มีการเคลื่อนไหว โดยอดีต สส. 3 คนยื่นฟ้องคณะปฏิวัติในข้อหากบฏต่อศาลอาญา แต่กลับถูกจอมพลถนอมสั่งจำคุก ซึ่งยิ่งเป็นการตอกย้ำนิทานเรื่อง "พรรคประชาธิปัตย์ต่อสู้กับเผด็จการ"

เมื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์ก็มีบทบาทเพียงเข้าร่วมรัฐบาลผสม เป็นขาหยั่งในรัฐสภาสนับสนุนพลเอกเปรมยาวนานถึงแปดปี และเป็นที่ทราบกันดีว่า ยุคสมัยของพลเอกเปรมเป็นช่วงเวลาที่สถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับการฟื้นฟูพระราชอำนาจมากที่สุดนับแต่ 2475 เป็นต้นมา

เมื่อเกิดรัฐประหารของ รสช.ในปี 2534 พรรคประชาธิปัตย์ก็มิได้มีบทบาทในการต่อต้านรัฐประหารแต่อย่างใด แม้พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลผสมที่สนับพลเอกสุจินดา คราประยูร แต่ก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการเคลื่อนไหวใหญ่ต่อต้านพลเอกสุจินดาในเดือนพฤษภาคม 2535 แล้วกลับฉวยโอกาสชนะการเลือกตั้งได้ด้วยวาทกรรม "เชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา" และ "จำลองพาคนไปตาย"

บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะเป็นเครื่องมือของจารีตนิยมในปัจจุบันยิ่งชัดเจนเมื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรถูกมองว่า เป็นภัยคุกคาม จนเกิดเป็นขบวนการโค่นล้มรัฐบาลพรรคไทยรักไทยในต้นปี 2549 โดยพรรคประชาธิปัตย์มีบทบาทเป็นตัวจุดชนวนหรือตัวเร่งสถานการณ์ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลืองในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย บอยคอตการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ร้องขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน สนับสนุนรัฐประหาร 19 กันยายน ร่วมกับพันธมิตรเสื้อเหลืองโค่นล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชน แล้วอาศัยคณะนายทหารก่อรัฐประหารเงียบจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร จากนั้นก็ยอมเป็นเครื่องมือให้ใช้กำลังทหารปราบปรามประชาชนอย่างนองเลือดในช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2553 หลังแพ้เลือกตั้ง ก็ตั้งหน้าเคลื่อนไหวทั้งในและนอกสภาเพื่อโค่นล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน

ทุกวันนี้ นิทานเรื่อง "พรรคประชาธิปัตย์ต่อสู้กับเผด็จการ" มีคนเชื่อน้อยลงไปทุกที เพราะคนไทยวันนี้จำนวนมากไม่ได้ขี้หลงขี้ลืมอีกต่อไป หากแต่ได้ "รู้ความจริง" กันอย่างทั่วถึง ที่สำคัญคือ พฤติการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์คือเครื่องพิสูจน์ที่ดีที่สุดว่า เนื้อแท้ของพรรคการเมืองนี้ไม่ใช่ต่อต้านเผด็จการ หากแต่เป็นการรับใช้พวกจารีตนิยมที่ครอบงำระบอบรัฐสภาในปัจจุบัน

อนาคตของระบอบเผด็จการในประเทศไทยนั้นริบหรี่เต็มที อนาคตของพรรคประชาธิปัตย์ก็อาจไม่พ้นชะตากรรมเดียวกันถ้าไม่สามารถวิวัฒน์ตนจากการเป็นมือเท้าของพวกจารีตนิยมไปเป็นพรรคการเมืองที่เสนออนาคตที่เป็นทางเลือกสำหรับประเทศไทย ดังเช่นพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษที่เริ่มต้นหลายร้อยปีก่อนก็เป็นเพียงพรรคนิยมกษัตริย์ที่ดื้อดึงล้าหลัง แต่ภายหลัง "การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์" ปี 1688 เมื่อสถาบันกษัตริย์อังกฤษต้องยินยอมอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พรรคอนุรักษ์นิยมก็สามารถปฏิรูปตนเอง กลายเป็นทางเลือกที่ไม่อาจมองข้ามได้ของคนอังกฤษมาทุกยุคสมัย ผลัดกันแพ้ชนะในสนามเลือกตั้งกับพรรคเสรีนิยมและพรรคแรงงานจนถึงปัจจุบัน

พรรคประชาธิปัตย์นั่นแหละที่จะต้อง "ข้ามพ้นทักษิณ" ให้ได้ เลิกงมงายไล่กวดอยู่กับเงาของ "ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์" เงยหน้าขึ้นสูง แล้วมองไปในอนาคตข้างหน้า ถึงวันที่เผด็จการสิ้นสุดลงและพรรคไม่ได้รับการคุ้มกะลาหัวจากพวกจารีตนิยมอีกต่อไป แล้ววันนั้น พรรคประชาธิปัตย์จะล่มสลายไปกับเผด็จการหรือจะผันตัวเองมาเป็นทางเลือกที่จริงจังในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงของประเทศไทย?

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์: สัญญาวิปลาส ผูกขาดแร่ทองคำจังหวัดเลย

Posted: 28 Sep 2013 12:41 AM PDT

 

 

 
สัญญาว่าด้วยการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง ระหว่าง กรมทรัพยากรธรณี กับ บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด และกับ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ทำขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2534 เป็นผลมาจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2530 ที่ได้กำหนดนโยบายว่าด้วยการสำรวจและพัฒนาแร่ทองคำ และตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2532 ที่อนุมัติให้กระทรวงอุตสาหกรรมออกอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ อาชญาบัตรพิเศษ และประทานบัตร สำหรับการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย และบริเวณใกล้เคียง
 
สัญญาฯ ดังกล่าว เป็นสัญญาให้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ขนาดใหญ่มากถึง 545 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 340,615 ไร่ คำถามสำคัญคือการทำสัญญาฯ บนพื้นที่ขนาดใหญ่ระดับนี้กระทำภายใต้บทบัญญัติใดของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ? ที่เป็นกฎหมายหลักในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการให้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทุกชนิดและประเภท
 
ตามความเป็นจริงแล้ว พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ได้เปิดโอกาสให้มีการขอ 'สัมปทานสำรวจแร่' หรือที่เรียกว่าอาชญาบัตร และ 'สัมปทานทำเหมืองแร่' หรือที่เรียกว่าประทานบัตร ในพื้นที่ขนาดใหญ่ได้เช่นกัน ซึ่งปรากฏเนื้อหาอยู่ในมาตรา 6 ทวิ [i] และ มาตรา 6 จัตวา[ii] แต่มีเนื้อหาสาระสำคัญที่แตกต่างจากสัญญาฯ ดังกล่าว 2 ประเด็น คือ
 
ประเด็นแรก 'การสำรวจ' และ 'ทำเหมือง' มีลักษณะต่างกรรมต่างวาระ หรือมีลักษณะเป็น 'ขั้นตอน' อันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด หมายถึงว่าผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนในกิจการเหมืองแร่จะต้องขอและได้สัมปทานสำรวจแร่ก่อน หลังจากที่สำรวจเสร็จและพบว่ามีแร่ในเชิงพาณิชย์ที่พร้อมจะลงทุนก็จะต้องขอและได้สัมปทานทำเหมืองแร่ในลำดับขั้นตอนต่อไป
 
ไม่ใช่ทำสัญญาในลักษณะให้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ในคราวเดียวกันเพื่อจูงใจนักลงทุน หรือทำสัญญาจับจองพื้นที่แหล่งแร่เอาไว้ก่อน ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้รับอาชญาบัตรให้สำรวจแร่และประทานบัตรให้ทำเหมืองแร่แต่อย่างใด ซึ่งการทำสัญญาเช่นนี้เป็นการขยายอำนาจในการอนุมัติ/อนุญาตสัมปทานสำรวจแร่และทำเหมืองแร่ของเจ้าหน้าที่รัฐมากเกินไปกว่าขอบเขตที่กฎหมายแร่ได้บัญญัติไว้ โดยใช้อำนาจฝ่ายบริหารผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเอารัฐ--ประชาชนและระบบราชการ--ไปรับประกันความเสียหายไม่ว่ากรณีใด ๆ ว่ารัฐจะเอื้อประโยชน์ให้ถึงที่สุดให้ผู้ประกอบการที่ทำสัญญาไว้ได้รับอาชญาบัตรและประทานบัตรอย่างแน่นอน หากแม้ยังไม่ได้รับสัมปทานที่เป็นอาชญาบัตรสำรวจแร่หรือประทานบัตรทำเหมืองแร่ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม สัญญาฯ ดังกล่าว ก็จะคุ้มครองพื้นที่แหล่งแร่นั้นไว้ให้กับผู้ประกอบการที่ทำสัญญาโดยไม่กำหนดวันสิ้นสุดสัญญา
 
ซึ่งส่งผลให้หลักขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดในกฎหมายแร่ถูกทำลายลงไป จากการกระทำของรัฐ-ราชการที่ต้องเอื้อประโยชน์ให้ถึงที่สุดเพื่อให้ผู้ประกอบการได้ทำเหมืองแร่ทองคำให้จงได้ ซึ่งจะส่งผลต่อมาให้กระบวนการพิจารณาและตรวจสอบการขอประทานบัตรเพื่อให้ได้รับการอนุมัติ/อนุญาตซึ่งมีหลายขั้นตอนหละหลวม ไม่รอบคอบรัดกุมเพียงพอ เพราะสัญญาได้ผูกมัดไว้แล้วว่าผู้ประกอบการจะต้องได้ทำเหมืองแร่ทองคำให้จงได้
 
ประเด็นที่สอง มาตรา 6 ทวิ และมาตรา 6 จัตวา มีข้อจำกัดเกี่ยวกับพื้นที่ที่เป็น 'แหล่งต้นน้ำ' หรือ 'ป่าน้ำซับซึม' แม้ปรากฏว่ามีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงก็ไม่สามารถประกาศให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อออกประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรได้ จะต้องคำนึงถึงการเป็นพื้นที่สงวนหวงห้ามก่อนเป็นอับดับแรก
 
แต่สัญญาฯ ดังกล่าว กลับด้าน คือ ละเมิดหลักการของมาตรา 6 ทวิ และมาตรา 6 จัตวา ด้วยการนำพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมที่พบว่ามีแร่ทองคำมาให้สัมปทานสำรวจแร่และทำเหมืองแร่แก่ผู้ประกอบการได้
 
 
แผนภาพ 1 – เปรียบเทียบระบบสัมปทานของเหมืองทองพิจิตร-เพชรบูรณ์ ของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด กับ เหมืองทองตามสัญญาฯ แปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด
 
อธิบายแผนภาพ 1 จะเห็นความแตกต่างของระบบสัมปทานของเหมืองทอง/บริษัททั้งสองแห่ง ระบบสัมปทานของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด เป็นไปตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ ขอสัมปทานสำรวจแร่ก่อน เมื่อพบแร่ทองคำมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ที่จะลงทุนจึงขอสัมปทานทำเหมืองแร่ในลำดับขั้นตอนต่อไป ส่วนของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด สัญญาฯ ดังกล่าว ครอบลงไปในระบบสัมปทานปกติตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 อีกชั้นหนึ่ง ถึงแม้จะดำเนินการขอสัมปทานสำรวจแร่ก่อน และขอสัมปทานทำเหมืองแร่เป็นลำดับขั้นตอนต่อไปเหมือนกับบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีสัญญาครอบระบบสัมปทานปกติ ส่งผลให้กลไกและกระบวนการพิจารณาอนุมัติ/อนุญาตสัมปทานสำรวจแร่และทำเหมืองแร่หละหลวม ไม่รอบคอบ รัดกุมเพียงพอ จนถึงขั้นพิกลพิการ
 
ที่น่าสนใจก็คือสัญญาฯ ดังกล่าว ไม่ได้กระทำภายใต้บทบัญญัติมาตรา 6 ทวิ และมาตรา 6 จัตวา หรือมาตราอื่นใดของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 แต่กระทำภายใต้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมีสถานะเป็นกฎ ระเบียบ และแนวทางปฏิบัติของฝ่ายบริหารเท่านั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่ มติ ครม. จะขัดต่อพระราชบัญญัติ เพราะ มติ ครม. ไม่ใช่พระราชบัญญัติ และไม่สามารถอ้าง มติ ครม. เป็นข้อยกเว้นตัวบทกฎหมายในพระราชบัญญัติ ซึ่งมีสถานะหรือศักดิ์สูงกว่า เพราะเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ มติ ครม. ที่เป็นกฎ ระเบียบหรือแนวทางปฏิบัติของฝ่ายบริหารเท่านั้น ในประเทศประชาธิปไตยที่ใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศกฎหมายจะต้องถูกตราหรือยึดโยงจากปวงชนหรือตัวแทนปวงชน ซึ่งคือรัฐสภา
 
แต่สัญญาฯ ดังกล่าว กระทำภายใต้ มติ ครม.
 
คำถามสำคัญก็คือ 'มติ ครม.' ที่ขัดหรือแย้งกับ 'พระราชบัญญัติ' ซึ่งมีศักดิ์สูงกว่า เพราะยึดโยงกับประชาชนภายใต้การออกกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ-ระบบรัฐสภา จะส่งผลให้สัญญาฯ ดังกล่าว เป็นโมฆะได้หรือไม่ ?
 
เหตุแห่งการสิ้นสุดสัญญาไม่สอดคล้องกับเหตุแห่งการเพิกถอนประทานบัตร
 
ข้อกำหนดเกี่ยวกับการสิ้นสุดแห่งสัญญา ในข้อ 14 หน้า 15 ของสัญญาฯ ดังกล่าว ระบุเหตุแห่งการสิ้นสุดสัญญาไว้ 3 ข้อ คือ
 
(1) บริษัทบอกเลิกสัญญาฯ นี้ได้ ถ้าผลสำรวจไม่พบแร่ทองคำ หรือพบแร่ทองคำในปริมาณและคุณภาพไม่เพียงพอสำหรับการลงทุนทำเหมือง และถ้าบริษัทยังมิได้ยื่นขอหรือยังมิได้รับประทานบัตรใด ๆ
 
(2) สัญญาฯ นี้สิ้นสุดลงเมื่อประทานบัตรของบริษัทตามสัญญานี้สิ้นอายุลง และไม่มีการขอประทานบัตรใหม่เพื่อทำเหมืองในพื้นที่เดิม
 
(3) สัญญาฯ นี้สิ้นสุดลงเมื่อบริษัทได้โอนสิทธิตามประทานบัตร หรือให้รับช่วงการทำเหมืองแก่บุคคลอื่นโดยความยินยอมจากกรมทรัพยากรธรณี (ปัจจุบันคือกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่)
 
และยังมีเหตุแห่งการสิ้นสุดสัญญาในข้อ 13 ข้อกำหนดเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญา หน้า 14 ของสัญญาฯ ดังกล่าว อีก 2 ข้อ คือ
 
(1) หากรัฐเห็นว่าบริษัทไม่สามารถจ่ายผลประโยชน์พิเศษหรือไม่ดำเนินการให้รัฐได้รับผลประโยชน์พิเศษตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาได้ รัฐมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
 
(2) ถ้าบริษัทไม่ปฏิบัติตามข้อใดข้อหนึ่งในสัญญานี้ รัฐมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาได้ แต่ถ้าบริษัทได้ปฏิบัติถูกต้องตามสัญญาแล้วก่อนครบกำหนด 45 วัน นับตั้งแต่วันที่บริษัทได้รับแจ้งการบอกเลิกสัญญาฯ ดังกล่าว ก็ให้ถือว่าสัญญานี้ยังมีผลใช้บังคับต่อไป เสมือนหนึ่งมิได้มีการบอกเลิกสัญญา
 
ดูเหมือนว่าข้อ 13 (2) จะมีฐานของการสิ้นสุดสัญญากว้างและครอบคลุมที่สุด แต่ก็แทบไม่มีผลในทางปฏิบัติ และในความเป็นจริงข้อความเนื้อหาทั้งหมดที่ระบุไว้ในสัญญาอันเป็นเหตุที่จะบอกเลิกสัญญาได้นั้น ไม่มีเนื้อหาข้อความใดเลยที่เกี่ยวข้องสอดคล้องกับ 'เหตุแห่งการเพิกถอนประทานบัตร' และ 'เหตุแห่งความเสียหายจากผลกระทบของการสำรวจและทำเหมืองแร่' ที่มีอยู่ในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 แม้สักนิดเดียว
 
เหตุแห่งการสิ้นสุดสัญญา
ตามสัญญาฯ แปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง
เหตุแห่งการเพิกถอนประทานบัตร
ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510*
(1) บริษัทบอกเลิกสัญญาฯ นี้ได้ ถ้าผลสำรวจไม่พบแร่ทองคำ หรือพบแร่ทองคำในปริมาณและคุณภาพไม่เพียงพอสำหรับการลงทุนทำเหมือง และถ้าบริษัทยังมิได้ยื่นขอหรือยังมิได้รับประทานบัตรใด ๆ
(2) สัญญาฯ นี้สิ้นสุดลงเมื่อประทานบัตรของบริษัทตามสัญญานี้สิ้นอายุลง และไม่มีการขอประทานบัตรใหม่เพื่อทำเหมืองในพื้นที่เดิม
(3) สัญญาฯ นี้สิ้นสุดลงเมื่อบริษัทได้โอนสิทธิตามประทานบัตร หรือให้รับช่วงการทำเหมืองแก่บุคคลอื่นโดยความยินยอมจากกรมทรัพยากรธรณี (ปัจจุบันคือกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่)
(4) หากรัฐเห็นว่าบริษัทไม่สามารถจ่ายผลประโยชน์พิเศษหรือไม่ดำเนินการให้รัฐได้รับผลประโยชน์พิเศษตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาได้ รัฐมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
(5) ถ้าบริษัทไม่ปฏิบัติตามข้อใดข้อหนึ่งในสัญญานี้ รัฐมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาได้ แต่ถ้าบริษัทได้ปฏิบัติถูกต้องตามสัญญาแล้วก่อนครบกำหนด 45 วัน นับตั้งแต่วันที่บริษัทได้รับแจ้งการบอกเลิกสัญญาฯ ดังกล่าว ก็ให้ถือว่าสัญญานี้ยังมีผลใช้บังคับต่อไป เสมือนหนึ่งมิได้มีการบอกเลิกสัญญา
(1) ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของผู้อำนวยการเขตควบคุมแร่ (มาตรา 9 )
(2) ไม่ทำเหมืองตามวิธีการทำเหมือง แผนผังโครงการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในการออกประทานบัตร (มาตรา 57)
(3) การปลูกสร้างอาคารเกี่ยวกับการทำเหมือง การจัดตั้งสถานที่เพื่อการแต่งแร่หรือการเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ (มาตรา 59)
(4) ไม่ทำเหมืองโดยมีคนงานทำการและเวลาทำการ (มาตรา 60)
(5) ทำเหมืองใกล้ทางหลวงหรือทางน้ำสาธารณะภายในระยะ 50 เมตร (มาตรา 62)
(6) ปิดกั้น ทำลายหรือทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทางหลวงหรือทางน้ำสาธารณะ (มาตรา 63)
(7) ทดน้ำหรือชักน้ำจากทางน้ำสาธารณะ (มาตรา 64)
(8) ปล่อยน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายอันเกิดจากการทำเหมืองออกนอกเขตเหมืองแร่ (มาตรา 67)
(9) ไม่ป้องกันมิให้น้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายที่ปล่อยออกนอกเขตเหมืองแร่ไปทำให้ทางน้ำสาธารณะตื้นเขินหรือเสื่อมประโยชน์แก่การใช้ (มาตรา 68)
(10) กระทำการหรือละเว้นกระทำการอันน่าจะเป็นเหตุให้แร่ที่มีหรือสิ่งอื่นที่มีพิษก่อให้เกิดอันตราย (มาตรา 69)
(11) ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งให้เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขวิธีการทำเหมืองหรือแต่งแร่ หรือหยุดการทำเหมือง หรือแต่งแร่ (มาตรา 71)
(12) นำหรือยอมให้ผู้อื่นนำมูลแร่หรือมูลดินทรายออกจากเขตเหมืองแร่โดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 74)
(13) ยอมให้ผู้อื่นรับช่วงการทำเหมืองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต (มาตรา 76)
(14) มีแร่ไว้ในครอบครองโดยแร่นั้นไม่ได้รับการยกเว้นให้มีได้ (มาตรา 105)
(15) ขนแร่โดยแร่นั้นไม่ได้รับการยกเว้นให้ขนได้ (มาตรา 108)
(16) นำเข้าหรือส่งออกนอกราชอาณาจักรซึ่งแร่ที่อยู่ในความควบคุม (มาตรา 129)
 
หมายเหตุ *คัดลอกจาก พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 ว่าด้วยความผิดและโทษ. นายพิชาญ สถาปนจารุ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านให้คำปรึกษาทางกฎหมาย (นิติกร 9) กระทรวงอุตสาหกรรม. 23 ธันวาคม 2535
 
กล่าวโดยรวม สัญญาฯ ดังกล่าว ระบุเนื้อหาทางธุรกรรมด้านธุรกิจ-การเงินและผลประโยชน์พิเศษเป็นส่วนใหญ่ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบ และความเสียหายหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการอนุมัติ/อนุญาตสัมปทานไม่ได้กล่าวเอาไว้
 
ประเด็นสำคัญก็คือ เมื่อเกิดความเสียหายหรือผลกระทบจากการสำรวจและทำเหมืองแร่ขึ้นมา ถ้าเป็นไปตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ก็สามารถเพิกถอนประทานบัตร หรือยุติการทำเหมืองได้ แต่ในเมื่อมีสัญญาฯ ครอบลงไปในระบบสัมปทานอีกชั้นหนึ่ง ถึงแม้จะมีเหตุให้ต้องเพิกถอนประทานบัตร หรือยุติการทำเหมืองจากเหตุเสียหายหรือผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องสอดคล้องกับเหตุแห่งการสิ้นสุดสัญญา สัญญาฯ ดังกล่าว ก็ยังคงดำเนินต่อไปได้ ซึ่งก็จะส่งผลต่อมาให้เกิดแรงกดดันต่อรัฐที่ไม่สามารถยกเลิกเพิกถอนประทานบัตรได้อย่างแน่นอน
 
 
แผนภาพ 2 – เปรียบเทียบระบบสัมปทานกับเหตุแห่งการเพิกถอนประทานบัตรของเหมืองทองพิจิตร-เพชรบูรณ์ ของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด กับ เหมืองทองตามสัญญาแปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด
 
อธิบายแผนภาพ 2 หากเหมืองทองของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด มีเหตุให้ต้องเพิกถอนประทานบัตร(กากบาท) ผลในทางกฎหมายจะทำให้ประทานบัตรของบริษัทนั้นต้องสิ้นสุดไปโดยปริยาย แต่เหมืองทองของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด หากมีเหตุให้ต้องถูกเพิกถอนประทานบัตร ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม เช่น ทำเหมืองผิดเงื่อนไขประทานบัตร ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ใน EIA หรือ EHIA เป็นต้น บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ก็จะอ้างความชอบธรรมของสัญญาฯ ดังกล่าว เพื่อเป็นเหตุไม่ให้ประทานบัตรสิ้นสุดได้
 
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจนัก ที่ 'ผู้การเสือ' (พล.ต.ต.ศักดา วงศ์ศิริยานนท์) ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเลย วางแผนและบัญชาการตามแผนกรกฎ ด้วยการปิดกั้นประชาชน 'กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด' ผู้เห็นต่างไม่ให้เข้าร่วมเวทีพับลิก สโคปปิง เพื่อจัดทำรายงาน EHIA ประกอบการขอประทานบัตร แปลงที่ 104/2538 (ภูเหล็ก) เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555 ด้วยกำลังตำรวจผสมทหารพลเรือนและพนักงานบริษัท 1,000 นาย และเวทีพับลิก สโคปปิง เพื่อจัดทำรายงาน EHIA ประกอบการขอประทานบัตร แปลงที่ 76/2539 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2556 ด้วยกำลังตำรวจและพนักงานบริษัท 700 นาย ด้วยตนเอง
 
ภารกิจปกป้องผลประโยชน์พิเศษที่ระบุไว้ในสัญญาฯ ระหว่างรัฐกับผู้ประกอบการมีค่าเสียยิ่งกว่าชีวิตคนเล็กคนน้อยในสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองทองคำ
 
                                   
 

[i]            มาตรา 6 ทวิ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดพื้นที่ใดๆ ให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ได้
            ภายในเขตที่กำหนดตามวรรคหนึ่งผู้ใดจะยื่นคำขออาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเห็นสมควรให้ยื่นคำขอได้เป็นกรณีพิเศษโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
            เมื่อหมดความจำเป็นที่จะใช้เขตพื้นที่เพื่อประโยชน์ดังกล่าวตามวรรคหนึ่งให้รัฐมนตรีประกาศยกเลิกในราชกิจจานุเบกษา
[ii]           มาตรา 6 จัตวา เพื่อประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดพื้นที่ใดที่มิใช่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม ที่ได้ทำการสำรวจแล้วปรากฏว่ามีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อออกประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรได้เป็นอับดับแรกก่อนการสงวนหวงห้าม หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นในที่ดินในพื้นที่นั้น แต่ทั้งนี้ให้คำนึงถึงผลกระทบกระเทือนต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น