โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สงครามอันชอบธรรม กับ โนเบลสาขาสันติภาพ

Posted: 06 Sep 2013 12:21 PM PDT

*บทความนี้เขียนขึ้นบนพื้นฐานของข้อมูลที่ได้จากสื่อภาคภาษาอังกฤษของสำนักข่าวต่างๆ ที่ชี้ว่า รัฐบาลซีเรียมีส่วนในการใช้อาวุธเคมีจริงตามรายงานเบื้องต้นของคณะตรวจอาวุธจากสหประชาชาติ ซึ่งเป็น "ข้อเท็จจริง" ที่ใช้ในการนำมาวิเคราะห์ตามกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในบทความ ทั้งนี้ข้าพเจ้าตระหนักถึงความซับซ้อนของข้อเท็จจริงและข้อสังเกตทั้งหลายเกี่ยวกับการใช้อาวุธตามทฤษฎีสมคบคิด แต่ก็ไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้เนื่องจากข้อจำกัดที่ได้กล่าวไว้แล้ว


ความตึงเครียดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลางที่กำลังเขม็งเกลียวเนื่องจากมีแนวโน้มว่าสหรัฐอเมริกาจะประกาศทำสงครามกับรัฐซีเรียนั้น กำลังเป็นที่ถกเถียงถึงความชอบธรรมของการทำสงครามในครั้งนี้เฉกเช่นการทำสงครามครั้งก่อนๆ ของสหรัฐอเมริกา

หากลองวิเคราะห์ย้อนหลังจะพบว่าสหรัฐอเมริกาจะมีข้ออ้างบางประการ "ก่อน" การทำสงคราม เนื่องจากการเมืองในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและระบบกฎหมายระหว่างประเทศได้กำหนดเงื่อนไขในการทำสงครามไว้ เพื่อป้องกันมิให้มีการใช้กำลังอาวุธก่อสงครามอันจะกระทบกระเทือนต่อสันติภาพของประชาคมโลก

ในการทำสงครามกับอิรักรอบแรก สหรัฐได้อ้างเรื่องการรุกรานคูเวต และนำเรื่องดังกล่าวเข้าขอมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก่อนที่จะใช้กำลังอาวุธเข้าทำสงครามโดยมีพันธมิตรชาติอื่นเข้าร่วมหรือมีความเห็นคล้อยตาม เป็นสงครามที่ชอบธรรมในสายตาชาวโลก

แต่ในการทำสงครามกับอิรักรอบสอง มีการอ้างเรื่องอิรักสะสมกำลังอาวุธที่มีประสิทธิภาพร้ายแรง หรือ การทำสงครามกับอัฟกานิสถานก็อ้างการปราบปรามรัฐที่สนับสนุนการก่อการร้ายที่เป็นภัยต่อสหรัฐ นั้น มิได้มีการร้องขอมติของคณะมนตรีความมั่นคงฯ การทำสงครามทั้งสองจึงตกหนักอยู่กับกองทัพสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรหลักจำนวนหนึ่ง และต้องเผชิญกับกระแสต่อต้านและเรียกร้องให้ยุติการรุกรานประเทศอื่น ซึ่งมีส่วนเพาะบ่มความรู้สึกเกลียดชังต่อสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตร เช่น สหราชอาณาจักรให้ต้องเผชิญ "ความเสี่ยง" กับภัยก่อการร้ายอย่างต่อเนื่อง

ในทางกลับกันมีการเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาและสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงถาวรที่ประกอบด้วย สหรัฐ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส จีน รัสเซีย มีมติส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงใน ซูดาน ดาร์ฟูร์ โคว้ตติวัร์ และอีกหลายกรณีในทวีปอัฟริกา แต่กลับมิได้มีการตอบสนองแม้จะมีหลักฐานที่ชัดเจนถึงการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชกรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ  จึงเกิดข้อสนเท่ห์ว่า บทบาทของกองทัพและการใช้กำลังทำสงคราม มีไว้เพื่อผดุงความยุติธรรมและปกป้องคนที่ปกป้องตัวเองไม่ได้ จริงหรือไม่ ในกรณีที่ต้องใช้กองกำลังเข้ารักษาสันติภาพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทำไมไม่มีมติและการดำเนินการใดๆ

ดังนั้นการประกาศทำสงครามจึงมีผลต่อ "การตระหนักว่าสิ่งใดเป็นกฎหมาย" และ "การปฏิบัติตามหลักกฎหมาย" เป็นอย่างมาก เนื่องจากกฎหมายระหว่างประเทศใช้ในระดับโลก มิใช่กฎหมายภายในที่มีขอบเขตในเพียงระดับรัฐ ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศจึงแสดงออกด้วยการออกมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อยืนยันหลักการกฎหมายว่า "สิ่งใดต้องห้ามด้วยกฎหมาย" และ ควรมี "มาตรการในการบังคับตามกฎหมาย" อย่างไรบ้าง

ในกรณีซีเรีย รัฐบาลซีเรียมีส่วนสำคัญในการใช้อาวุธเคมีในการโจมตีประชาชนซึ่งเป็นพลเรือนในความขัดแย้งทางอาวุธที่เกิดขึ้นภายในประเทศ การใช้อาวุธเคมีถือเป็นการละเมิดกฎหมายสงครามอย่างร้ายแรง เนื่องจากเป็นการใช้กำลังที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มข้นและกว้างขวาง ไร้ซึ่งมนุษยธรรม

กฎหมายสงครามถือเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ มานานนับศตวรรษและการใช้อาวุธเคมีก็เป็นที่ยอมรับและปฏิบัติตามอย่างเข้มแข็งเสมอมาว่าเป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมายอย่างชัดเจน นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

การใช้อาวุธเคมีโจมตีเป้าหมายพลเรือนหรือทำให้พลเรือนได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงนี้ถือว่าเป็นความผิดว่าด้วยอาชญากรรมระหว่างประเทศ ในลักษณะอาชญากรรมสงคราม ซึ่งมีรายละเอียดขององค์ประกอบความผิดตามที่กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ บัญญัติไว้

กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศพัฒนามาจากกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศโดยมิได้อาศัยความสมัครใจในการเข้าร่วมผูกพันของรัฐซีเรียหรือรัฐต่างๆ โดยกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศว่าด้วยสงครามได้มีรวบรวมบทบัญญัติเป็นสนธิสัญญา ดังปรากฏรายละเอียดของกฎหมายที่เรียกว่าชุด สนธิสัญญาเจนีวา อย่างไรก็ดีการเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมสนธิสัญญามิใช่สาระสำคัญนัก เนื่องจากเรื่องการห้ามใช้อาวุธเคมีถือเป็นเรื่องกฎหมายจารีตประเพณีที่บังคับกับทุกรัฐอยู่แล้ว แม้ไม่ได้ลงนามและให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาเจนีวาก็ตาม

กฎหมายสงครามหรือกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศได้ให้บทบัญญัติว่าด้วยวิธีการทำสงคราม โดยการทำสงครามต้องไม่ใช้อาวุธที่เป็นภัยเกินเหมาะสม คือ ทำให้เกิดการบาดเจ็บร้ายแรงเกินควร และอาวุธมีผลเป็นวงกว้างไม่สามารถควบคุมเป้าหมายให้จำกัดอยู่ในขอบเขต

การใช้อาวุธเคมีจึงเป็นอาวุธร้ายแรงต้องห้าม เนื่องจากควบคุมเป้าหมายได้ยากและสร้างอันตรายต่อมนุษย์อย่างร้ายแรง ดังปรากฏการเสียชีวิตของพลเรือนชาวซีเรีย

ในกรณีนี้คืออาวุธเคมี จึงเป็นสิ่งต้องห้ามด้วยกฎหมาย และต้องการมาตรการบังคับใช้กฎหมายเพื่อชี้ว่า การใช้อาวุธเคมีต้องยุติลงและผู้ใช้ต้องได้รับผลร้ายตามกฎหมายระหว่างประเทศ ผู้ใช้และการใช้อาวุธเคมีจึงเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาระหว่างประเทศด้วยเพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เข้าเงื่อนไขการพิจารณาโทษของศาลอาญาระหว่างประเทศ เป็นความผิดในเขตอำนาจศาลสากลเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของทุกรัฐในการพยายามส่งผู้กระทำความผิดเข้ารับการพิจารณาคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศ

คำถามที่ว่า การทำสงครามมีความจำเป็นหรือไม่ ก็ต้องตอบด้วยความจำเป็นในการยุติการละเมิดสิทธิมิให้เกิดซ้ำ และการพยายามเข้าไปจับกุมอาชญากรสงครามเพื่อมาดำเนินคดี การทำสงครามตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้นต้องมีเงื่อนไขการใช้กำลังตาม หมวด 7 ของกฎบัตรสหประชาชาติที่ให้อำนาจคณะมนตรีความมั่นคงในการออกมติ กำลังรักษาสันติภาพเข้าไปยุติการละเมิดสิทธิ และนำอาชญากรเข้าสู่การพิจารณาคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศ

การทำสงครามกับซีเรียนี้จึงมีความจำเป็นเพื่อบีบบังคับให้ยุติการละเมิดกฎหมาย และนำผู้กระทำผิดมาขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อพิจารณาคดีและลงโทษให้ได้

แต่ก็มีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาดำเนินการ คือ ควรนำเรื่องเข้าคณะมนตรีความมั่นคงฯ เพื่อขอมติ ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปซีเรีย เพื่อเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสียก่อนว่า "ใครทำอะไร ผิดกฎหมายจริงหรือไม่" ก่อนที่จะมีมาตรการส่งกองกำลังเข้าไปในรัฐเอกราชอย่างซีเรีย เพราะหากไม่มีกระบวนการดังกล่าวเสียแล้ว การส่งกองทัพเข้าไปของสหรัฐอาจเป็นการรุกรานรัฐอื่นเสียเอง และมีผลต่อความชอบธรรมในการทำสงคราม และเป็นการทำลายหลักกฎหมายเสียเอง

ความกังวลจึงเกิดขึ้นหากสหรัฐอเมริกาจะไม่ขอมติจากคณะมนตรีฯ ซึ่งถือเป็นการรุกราน แต่ประชาคมโลกก็ทำอะไรกับสหรัฐอเมริกาในทางกฎหมายไม่ได้ เพราะอเมริกามีอำนาจในการวีโต้ มติลงโทษของคณะมนตรีความมั่นคงฯ คือ รัฐสมาชิกถาวรทั้ง 5 ได้เขียนกฎบัตรสหประชาชาติให้อำนาจพิเศษนี้ไว้ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากทั้ง 5 รัฐเป็นแกนนำหลักของฝ่ายพันธมิตรผู้ชนะสงคราม

เพราะฉะนั้น สถานการณ์ขณะนี้จึงอยู่ที่ผู้นำสหรัฐอเมริกาว่าจะเลือกทางเดินใด เพราะจะมีผลต่อความชอบธรรมของการทำสงคราม และการรักษาไว้ซึ่งสันติภาพบนพื้นฐานของกฎหมายและสิทธิมนุษยชน โดยประธานาธิบดีบารัก โอบามาเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพตั้งแต่ยังไม่ได้ทำอะไร

ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า โนเบลสาขาสันติภาพที่ให้แต่ละยุคจะสะท้อน 2 เงื่อนไข คือ
1.สิ่งที่คนเหล่านั้นทำหรือควรทำต้องเป็นที่ยอมรับโดยกฎหมายระหว่างประเทศในขณะนั้น
2.สิ่งที่ผู้มอบรางวัลต้องการแสดงให้เห็นว่าผู้ได้รับรางวัลเป็นตัวแทนของความหวังเรื่องอะไร

ดังนั้นบทบาทและการตัดสินใจของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจึงมีผลต่อสันติภาพของโลกอย่างมาก เป็นเหตุให้ผู้มอบรางวัลโนเบลและประชาคมโลกต้องจับจ้องและกดดันให้การตัดสินใจของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอยู่บนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ ตราบเท่าที่กฎบัตรสหประชาชาติยังให้อำนาจพิเศษแก่รัฐมหาอำนาจดังที่เป็นมานับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เปลี่ยนไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่ถอนฟ้อง 'เดือนเด่น-ณัฏฐา' สำนักงาน กสทช. ลั่นพิสูจน์กันในศาล

Posted: 06 Sep 2013 11:47 AM PDT

สำนักงาน กสทช.แจงผ่านเว็บ ฟ้องนักวิชาการ-สื่อ เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย ชี้ผลกระทบจากการให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ทำลายความเชื่อมั่น-ความน่าเชื่อถือองค์กรก ซ้ำทำลายความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โอดถูกกล่าวหาตั้งแต่การจัดประมูล 3จี

สืบเนื่องจากกรณีกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) 4 คน ประกอบด้วย พันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ, สุทธิพล ทวีชัยการ, พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร, ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดย ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาท หมายเลขดำที่ 3172/2556 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2556 โดยมี เดือนเด่น นิคมบริรักษ์  ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ ณัฎฐา โกมลวาทิน ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ตามลำดับ จากการให้ข่าวและนำเสนอเรื่องที่เกี่ยวกับสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz

ต่อมา มีการออกมาแสดงความไม่เห็นจากกลุ่มต่างๆ อาทิ สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งใน กสทช. ระบุว่าไม่เห็นด้วยอย่างมากกับการฟ้องร้องครั้งนี้ เพราะถือเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพสื่อ เสรีภาพนักวิชาการ และเสรีภาพในการนำเสนอข่าวที่ทำหน้าที่ตรวจสอบองค์กรอิสระภาครัฐจากคนภายนอก พร้อมย้ำ กสทช.ต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ ควรใช้วิธีดีเบตข้อมูลผ่านสื่อสาธารณะแทน ด้านองค์กรวิชาชีพสื่อ 4 แห่ง ร่วมกับทีดีอาร์ไอและไทยพีบีเอส ก็ได้ร่วมแถลงข่าวสนับสนุนผู้ถูกฟ้องทั้งสอง โดยชี้ว่าเป็นเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพสื่อในการนำเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นต่อสาธารณะ พร้อมเรียกร้องให้ กสทช.ถอนฟ้องและร่วมเวทีเพื่อชี้แจงข้อมูลต่อสาธารณะ

ล่าสุด (6 ก.ย.56) สำนักงาน กสทช. เผยแพร่คำชี้แจงผ่านเว็บไซต์ http://www.nbtc.go.th/ ระบุว่า การฟ้องร้องในครั้งนี้เป็นการปกป้องศักดิ์ศรี เกียรติภูมิ ของกทค.ทั้งสี่ และสำนักงาน กสทช. ที่ถูกละเมิดสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนดไว้ มิใช่เป็นการฟ้องร้องเพื่อคุกคามนักวิชาการหรือสื่อมวลชนอย่างที่มีคนพยายามไปบิดเบือนข้อเท็จจริง เนื่องจาก กสทช. ไม่ได้ไปข่มขู่หรือใช้อิทธิพลไปห้ามสื่อนำเสนอข่าวการวิพากษ์วิจารณ์ กสทช. เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ยังสามารถกระทำได้ แต่จะต้องไม่ใช่เอาข้อมูลที่ไม่จริงหรือบิดเบือนมานำเสนอก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น การฟ้องคดีนี้แท้จริงแล้วจะส่งผลเป็นการปกป้องสื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อทำลายองค์กรใดๆ นอกจากนี้ยังทำให้เป็นการยกระดับมาตรฐานทางวิชาการของสถาบันวิจัยให้มีมากขึ้น ตลอดจนจะช่วยให้สื่อต้องตรวจสอบความถูกต้องให้รอบคอบและนำเสนอข้อมูลให้รอบด้านโดยไม่เลือกนำเสนอเฉพาะในบางแง่บางมุม ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย

สำนักงาน กสทช. ระบุว่า ที่ผ่านมา กทค. ได้ชี้แจงในประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งการแถลงข่าว หรือ เผยแพร่ข้อเท็จจริงในรูปแบบของการทำประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมาอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ถูกฟ้อง (จำเลยที่1) ก็ยังคงให้สัมภาษณ์ที่เป็นข้อมูลตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริง แม้กระทั่งภายหลังจากที่มีการยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว จำเลยที่ 1 ก็ยังให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อที่สวนทางกับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ทั้งห้าได้ชี้แจงออกไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นโจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีทางเลือกอื่นใดที่จะพิสูจน์ให้สังคมได้รับรู้ถึงข้อเท็จจริงนอกจากพึ่งกระบวนการยุติธรรมของศาล
 
สำนักงาน กสทช. ระบุด้วยว่า ตามคำฟ้องได้ชี้ให้เห็นว่า การใช้สิทธิของจำเลยที่หนึ่งซึ่งเป็นนักวิชาการสังกัด TDRI เป็นการใช้สิทธิเกินเลยและมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตเนื่องจากมีการบิดเบือนข้อเท็จจริง ให้แตกต่างจากมติและรายงานของคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า Digital PCN 1800 MHz ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าคณะอนุกรรมการฯได้เสนอให้ กทค. เร่งประมูลคลื่น 1800 MHz ก่อนสัมปทานสิ้นสุดแต่ กทค. ไม่ยอมเชื่อ ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงคือ คณะอนุกรรมการดังกล่าวไม่เคยมีมติหรือไม่เคยมีรายงานเสนอเช่นนั้น รวมทั้งการนำข้อมูลความเสียหายที่เกิดจากการเลื่อนประมูล 3 จี โดยไปใช้ตัวเลขมากล่าวหาว่ากทค. เลื่อนประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ทำให้ชาติเสียหายกว่า 1.6 แสนล้านบาท เป็นการเอาข้อมูลที่แตกต่างกันทั้งข้อเท็จจริง ปัจจัยต่างๆ และสถานการณ์การใช้งานคลื่นความถี่มาใช้สรุปโดยที่ผู้ใส่ความเป็นนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์และเป็นอนุกรรมการของ กสทช. เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นดังกล่าว รู้ข้อมูลภายในเป็นอย่างดี แต่กลับนำข้อมูลไปบิดเบือนทำให้เกิดความเสียหาย ต่อ กทค. ทั้งสี่และสำนักงาน กสทช.

"แต่ถ้าจำเลยที่ 1 มีข้อแก้ตัวใดๆ ก็ควรไปนำพยานหลักฐานมาสืบในชั้นศาลให้ความจริงปรากฏ ถ้าไม่ผิดก็ไม่ต้องกลัว แต่ในชั้นนี้จากพยานหลักฐานที่กทค. มี มั่นใจว่ามีพยานหลักฐานครบองค์ประกอบของความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยที่มิอาจอ้างข้อยกเว้นเรื่องการใช้สิทธิโดยสุจริตได้"

ส่วนการฟ้องผู้ดำเนินรายการ "ที่นี่ Thai PBS" นั้น สำนักงาน กสทช. ระบุว่า แม้จะมีการนำเสนอบทสัมภาษณ์ของจำเลยที่ 1 โดยสื่อต่างๆ ก็ตาม แต่เนื่องจากจำเลยที่ 2 นำข้อความที่มีการหมิ่นประมาทมาเผยแพร่ ทั้งๆ ที่ กทค. ได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช.แถลงข่าวโต้แย้งกรณีที่จำเลยที่ 1 หรือ ดร. เดือนเด่น ใส่ความเอาเรื่องไม่จริงมากล่าวหากทค. แล้ว โดยมีสื่อลงเผยแพร่หลายฉบับ แต่หลังจากนั้นสกู๊ปข่าวที่ไทยพีบีเอสนำมาเผยแพร่กลับเสนอข้อมูลในเชิงลบเพียงด้านเดียวในส่วนข้อมูลที่จำเลยที่ 1 ให้สัมภาษณ์ ซึ่งเป็นการเผยแพร่ข้อความที่ใส่ร้ายกทค. ทั้งสี่ให้เกิดความเสียหายด้วยการโฆษณา ทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง

"กทค. ไม่ได้ฟ้องสถาบัน แต่ฟ้องนักวิชาการสังกัด TDRI เป็นการส่วนตัว ส่วนไทยพีบีเอสก็เป็นการฟ้องผู้ดำเนินรายการเป็นการส่วนตัว ในความผิดฐานหมิ่นประมาท หากผู้ถูกฟ้องเห็นว่าตนไม่ผิดก็มีสิทธิโดยชอบที่จะนำเอาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ในชั้นศาลได้เช่นกัน"

สำนักงาน กสทช. ระบุว่า การให้ความเห็นในทางวิชาการในเรื่องใดที่มิได้มีการศึกษาและตรวจสอบข้อเท็จจริงให้รอบด้าน ย่อมส่งผลกระทบและสร้างความสับสนต่อสาธารณะอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจการโทรคมนาคมของประเทศที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่การแข่งขันโดยเสรี และอยู่ในระหว่างเตรียมการเพื่อประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประเทศมหาศาล โดยผลกระทบจากการให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงดังกล่าว ไม่เพียงแต่มีผลเป็นการทำลายความเชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือในองค์กรกำกับดูแลซึ่งเป็นผู้หน้าที่ในการจัดประมูลคลื่นความถี่ หากแต่ยังทำลายความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม รวมถึงระบบการกำกับดูแลของประเทศเป็นอย่างยิ่ง

สำนักงาน กสทช. ชี้ว่า ที่ผ่านมา มีการโจมตีตั้งแต่ครั้งประมูล 3 จี ทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงต่อโจทก์ทั้งห้าอย่างมาก ในครั้งนั้นก็เคยคิดจะฟ้องร้อง แต่สุดท้ายเมื่อหลายเรื่องคลี่คลายจึงอโหสิกรรมให้ แต่เหมือนคนกลุ่มนี้ไม่เคยหยุด จึงจำเป็นต้องใช้ศาลยุติธรรมเป็นที่พึ่งในครั้งนี้ พร้อมระบุว่า การที่ กทค.ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของนักวิชาการหรือสื่อไปใช้สิทธิฟ้องร้องตามกติกาที่กฎหมายกำหนด ก็ย่อมเป็นสิทธิโดยชอบที่สามารถทำได้ภายใต้กรอบกฎหมาย โดยไม่ใช่เรื่องผิดปกติ และมิได้เป็นการข่มขู่หรือลิดรอนสิทธิของนักวิชาการหรือสื่อแต่อย่างใด ขณะที่การห้ามไม่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดใช้สิทธิของเขาในการฟ้องร้องตามกฎหมายหรือกดดันให้มีการถอนฟ้องเพื่อมิให้มีการใช้สิทธิในการฟ้องร้องตามกฎหมายต่างหากคือการลิดรอนสิทธิของผู้อื่น 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้อเสนอต่อสภาปฏิรูปการเมือง ทางออกจากความขัดแย้ง

Posted: 06 Sep 2013 10:09 AM PDT

หลังจากที่รัฐบาลโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศจัดตั้ง "สภาปฏิรูปการเมือง" ขึ้น โดยเชิญชนชั้นนำทางสังคม 69 คนเข้าร่วมประชุมเพื่อปรึกษาหารือที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่รัฐบาลได้ตระหนักว่าสังคมไทยมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงและถึงเวลาต้องปฏิรูปสังคมการเมืองขนานใหญ่ ดังเช่นเมื่อครั้งนายบรรหาร ศิลปะอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี เคยดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองขึ้นในปี 2538 และนำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในเวลาต่อมา
 
อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปการเมืองเพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน ไม่สามารถกระทำได้ตามแบบเดิมที่เอารัฐบาลเป็นศูนย์กลางของการปฏิรูป หรือหวังพึ่งเพียงชนชั้นนำมาร่วมกันแสวงหาทางออกโดยลำพังเท่านั้น แต่จำเป็นต้องให้ประชาชนทั้งประเทศมีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมโดยตรง เพื่อร่วมกันออกแบบประเทศไทย โดยเป็นวาระแห่งชาติของผู้คนบนแผ่นดิน
 
สิ่งที่รัฐบาลควรทำในขณะนี้คือ การลดเงื่อนไขความขัดแย้งเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งการร่วมมือแสวงหาทางออกของประเทศที่แท้จริง โดยรัฐบาลควรปลดล็อคเงื่อนไขที่ปิดกั้นการเข้ามามีส่วนในการปฏิรูปการเมืองของกลุ่มต่างๆ รวมถึงข้อเสนอของพรรคฝ่ายค้านและกลุ่มการเมืองที่ร้องขอให้รัฐบาลถอนการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมออกมาจากรัฐสภาก่อน หรือพักการพิจารณา ไม่เช่นนั้นแล้ว อาจถูกกล่าวหาได้ว่า รัฐบาลได้จัดตั้งสภาปฏิรูปการเมืองนอกสภาเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง แต่กลับกัน รัฐบาลก็ได้สร้างเงื่อนไขความขัดแย้งเชิงโครงสร้างในสภาในคราเดียวกันไปด้วย ซึ่งทำให้สังคมสับสนและผิดหวังแนวทางของรัฐบาลได้ ดังนั้น ประเด็นที่รัฐบาลควรกระทำได้ในทันทีเพื่ออำนวยการให้เกิดบรรยากาศสมานฉันท์เพื่อร่วมกันหาทางออกของประเทศคือ
 
1)    รัฐบาลควรถอนการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมและกฎหมายปรองดองฯ ออกมาจากรัฐสภา หรือพักการพิจารณาไว้ก่อน เพื่อรอข้อเสนอของสภาปฏิรูปการเมือง และข้อเสนอของประชาชนในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งต่างๆ เนื่องจากร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ผ่านการรับรองวาระแรกจากรัฐสภาไปแล้วนั้น มีข้อครหาในเรื่องการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดทั้งหมดที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย ในขณะที่กระบวนการยุติธรรมกำลังดำเนินไปเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง ซึ่งจะทำให้กฎหมายดังกล่าวไปทำลายกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ เนื่องจากร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ มีถ้อยความบัญญัติคล้ายคลึงกับพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมฯ พ.ศ.2535 กรณีเหตุการณ์นองเลือดในเดือนพฤษภาคม 2535 ที่มีการนิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ทหาร จนไม่เกิดบทเรียนและบรรทัดฐานให้กองทัพเลิกยุ่งเกี่ยวทางการเมืองหรือนำกำลังเข้าสลายการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนของตำรวจ โดยร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับ ส.ส.วรชัย เหมมะ ระบุในมาตรา 3 ว่า "ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง...."  และพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมฯ พ.ศ.2535 ได้ใช้ถ้อยคำว่า "บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมกัน..." ซึ่งคล้ายคลึงกันมากในทางกฎหมาย เมื่อกลุ่มญาติวีรชนพฤษภา 2535 ได้มีการฟ้องร้องเอาผิดต่อกองทัพ ศาลฎีกาได้พิพากษายืนว่า "มีกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดแล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง" ดังนั้น เท่ากับว่า ถ้อยความในร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับ ส.ส.วรชัย เหมมะ มีการนิรโทษกรรมแก่เจ้าหน้าที่ทหารและทุกคนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองอย่างชัดเจนตามความดังกล่าว ดังนั้น รัฐบาลต้องถอนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับดังกล่าวออกมาก่อน เพื่อรอกระบวนการยุติธรรมพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่อไป รวมถึงเพื่อการันตีสังคมและพรรคฝ่ายค้านว่า จุดมุ่งหมายของการเริ่มต้นออกกฎหมายดังกล่าว ไม่ได้มีเป้าหมายในอนาคตที่จะนิรโทษกรรมแกนนำทางการเมืองทุกกลุ่ม รวมถึงคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการล้างมลทินคดีทุจริตของตนเองด้วย ตามที่มีร่างกฎหมายนิรโทษกรรมและกฎหมายปรองดองฉบับอื่นๆ คงค้างอยู่ในสภาฯ
 
2)    รัฐบาลสามารถนำข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งได้เสนอทางออกไว้แล้วมาดำเนินการได้ทันที โดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชนที่ยังติดคุกอยู่ ตามหลักการเรื่องการแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่ควรใช้หลักการความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) และกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เพื่อนำไปสู่ความปรองดอง การพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในการตั้งข้อหาต่อผู้กระทำผิด รัฐสามารถทำได้ทันทีโดยการถอนฟ้องข้อหาทางการเมือง เช่น ข้อหาก่อการร้าย ข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นต้น ซึ่งเป็นนักโทษทางการเมืองและนักโทษทางความคิดในประเทศไทย ในคดีในที่ไม่ถอนฟ้อง รัฐควรดำเนินการให้มีการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าการอนุญาตให้ประกันตัวได้หรือไม่เป็นดุลยพินิจของศาล แต่อัยการและพนักงานสอบสวนก็สามารถมีบทบาทอย่างสำคัญในการเสนอต่อศาลเพื่อความปรองดองได้ รวมถึงการชะลอการดำเนินคดีไปก่อน การนิรโทษกรรม ถือเป็นมาตรการหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน แต่ไม่ควรเป็นการนิรโทษกรรมถ้วนหน้าอย่างที่เคยทำมาแล้ว เพราะนอกจากไม่นำไปสู่ความปรองดองอย่างแท้จริงแล้ว ยังไม่เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงซ้ำอีก เพราะทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ผู้เสียหายจากเหตุการณ์ ได้แก่ ญาติผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ประชาชนที่ทรัพย์สินเสียหาย และสาธารณะชนไม่มีสิทธิมีเสียงในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ การนิรโทษกรรมทางการเมืองแก่แกนนำทุกฝ่ายทางการเมืองแบบเหมารวมรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐในอนาคต ตามหลักยุติธรรมเชิงสมานฉันท์นั้นสามารถทำได้ เมื่อกระบวนการยุติธรรมพิสูจน์ความจริงเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนต่อสาธารณะแล้ว เมื่อมีการเปิดเผยความจริงที่ซ่อนเร้น ผู้กระทำผิดยอมรับผิดและขอโทษ เพื่อให้สังคมได้เรียนรู้ความจริงร่วมกัน เพื่อสร้างบรรทัดฐานของการชุมนุมของประชาชนในอนาคตว่าจะต้องไม่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ และเป็นบรรทัดฐานว่า จะต้องไม่มีการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ทหารอีกในอนาคต รวมถึงหากมีการพิพากษาความผิดแก่เจ้าหน้าที่ทหารชัดเจนก็จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานการเมืองไทย นอกจากนี้ คอป. ได้เชิญผู้มีชื่อเสียงระดับโลกมาให้คำแนะนำมากมาย รวมถึง อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ อดีตประธานาธิบดี เอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านและผู้เชี่ยวชาญพิเศษในด้านต่างๆ ด้วย โดยมีคำแนะนำหลายอย่างต่อประเทศไทยและต่อมา คอป.ได้จัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลออกมาแล้ว ดังนั้น รัฐบาลควรนำข้อเสนอของ คอป. ซึ่งได้เสนอทางออกและคำแนะนำไว้ไปดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องชะลอเวลา และนำข้อเสนอทุกอย่างไปพิจารณาในที่ประชุมสภาปฏิรูปการเมืองด้วย ไม่ว่าจะเป็น ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการนำข้อเท็จจริงของเหตุการณ์และรากเหง้าของความขัดแย้งมาเป็นบทเรียนในการสร้างความปรองดองที่ยั่งยืน ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการนำหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านมาปรับใช้ ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรม ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความเป็นประชาธิปไตย หลักธรรมาภิบาลและการเคารพสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย เป็นต้น เพื่อปฏิรูปสังคมการเมืองไปจากความขัดแย้งและสร้างการปรองดองที่แท้จริง มิเช่นนั้นแล้ว จะเป็นเพียงสภาปฏิรูปการเมืองที่เป็นเพียงพิธีกรรมทางการเมืองเท่านั้น
 
ความขัดแย้งในการเมืองไทย นับจากรัฐธรรมนูญ 2540 กระบวนการพัฒนาการเมืองและประชาธิปไตยไทยสามารถดำเนินไปอย่างเป็นพลวัตได้ แต่ต้องสะดุดลงด้วยความขัดแย้งทางอำนาจที่ไม่อาจประนีประนอมกันในเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งนำมาแสดงให้เห็นความขัดแย้งที่ฝังรากลึกในสังคมไทยหลายเรื่อง รวมถึงรื้อฟื้นความขัดแย้งแท้จริงหลายประการให้โผล่พ้นผิวน้ำ หากแต่กระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งที่ผ่านมานั้น ทุกรัฐบาล ไม่ได้จัดการเรื่องดังกล่าวเลย โดยเฉพาะปัญหาทางโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นความเหลื่อมล้ำมหาศาลในประเทศไทย นอกจากการให้น้ำหนักถึงปัญหาประชาธิปไตยทางการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว
 
ระหว่างเส้นทางปฏิรูป สิ่งที่พึงระวังคือ การแย่งชิงอำนาจทางการเมืองนอกวิถีประชาธิปไตย อาจนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ได้ หากศึกษาบทเรียนจากประเทศอียิปต์เพื่อเปรียบเทียบในขณะนี้ อาจจะพอเห็นภาพว่า หลังจากที่เกิดเหตุการณ์อาหรับสปริง ประชาชนจำนวนมากลุกขึ้นโค่นล้มอดีตประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัค ในปี 2554 มีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามถึง 846 คน บาดเจ็บกว่า 6,000 คน กว่าจะยอมออกจากตำแหน่งและอยู่ระหว่างการถูกดำเนินคดีความผิดการทุจริตและการสังหารผู้ชุมนุมในปัจจุบัน ซึ่งต่อมาประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ได้เข้าสู่ตำแหน่งผ่านการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมิถุนายน 2555 แต่ระหว่างที่เขามีอำนาจอยู่ ประชาชนหลายกลุ่มวิตกกังวลว่าเขาจะดำเนินนโยบายให้กลายเป็นประเทศอิสลาม ตามแนวทางของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมที่หนุนหลังเขาอยู่ และการต่อต้านได้ขยายวงกว้างขึ้นภายหลังที่เขาออกประกาศกฤษฎีกาให้อำนาจเหนือการตรวจสอบแก่ตนเองโดยเริ่มรุนแรงขึ้นในกลางปี 2556 เมื่อมีการสั่งหารผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจำนวนหนึ่ง ขณะที่มีผู้ชุมนุมต่อต้านโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งมากกว่า 10 ล้านคนในเมืองหลวงและอาจยกระดับเป็นการปฏิวัติประชาชน แต่ต่อมากองทัพได้ออกมารัฐประหารในวันที่ 3 กรกฎาคม 2556 ซึ่งถือเป็นการตัดตอนช่วงชิงชัยชนะของประชาชนเหมือนในเหตุการณ์รัฐประหารของไทย, ผลก็คือ ประชาชนจำนวนมากออกมาต่อต้านรัฐประหารเพราะไม่อาจยอมรับการตัดตอนพลังประชาชนได้ และปัจจุบันกองทัพได้ปราบปรามประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหารไปกว่า 1,000 คน จนกลายเป็นเหตุการณ์ที่เศร้าสลดที่สุดในโลกอาหรับขณะนี้
 
ย้อนกลับมาเปรียบเทียบประเทศไทย กลุ่มประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลในปัจจุบันจากความไม่พอใจต่างๆ ทั้งทางนโยบายและโดยเฉพาะปัญหาการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ย่อมสามารถใช้สิทธิได้ตามรัฐธรรมนูญและรัฐบาลต้องหาทางสนองตอบเรื่องเหล่านั้นตามวิถีแห่งการเมือง หากความไม่พอใจของประชาชนขยายตัวไปอย่างกว้างขวางและรัฐบาลไม่อาจสนองความต้องการได้แล้ว ทางเลือกหนึ่งของระบบรัฐสภาคือรัฐบาลประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ระหว่างนั้นหากมีกลุ่มใดเสนอให้ใช้วิธีนอกกระบวนการประชาธิปไตยแล้วก็อาจนำเข้าการรัฐประหารของกองทัพเหมือนในอียิปต์ได้ ซึ่งหลังจากนั้นก็จะมีประชาชนลุกขึ้นต่อต้านจนบาดเจ็บล้มตายไม่ต่างกัน หรือกระทั่งเกิดสงครามกลางเมือง, นั่นคือบทเรียนที่เราต้องจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของกองทัพไม่ให้เข้ามาก้าวก่ายความขัดแย้งทางการเมืองทุกกรณี
 
คำตอบจากการหลุดพ้นวงจรอุบาทว์แห่งอำนาจนั้น นอกจากรัฐบาลจะต้องแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นภายในแล้ว รัฐบาลและสังคมจะต้องร่วมกันหาทางออกจากความขัดแย้งในกลไกประชาธิปไตย ซึ่งต้องการความจริงใจของทุกฝ่ายที่จะปฏิรูปแก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง รัฐบาลสามารถทำการปฏิรูปการเมือง การปฏิรูปเศรษฐกิจ การปฏิรูปสังคม ในระหว่างนี้ได้เลยโดยนำข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป(คปร.) และสมัชชาปฏิรูป ที่มีการจัดตั้งในรัฐบาลก่อนหน้า มาพิจารณาสานต่อร่วมกับสภาปฏิรูปการเมืองโดยไม่ต้องนับหนึ่งใหม่ ในขณะเดียวกัน รัฐต้องส่งเสริมภาคประชาชนให้มีสภาปฏิรูปของประชาชนโดยตรงเพื่อการมีส่วนร่วมปฏิรูปประเทศในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง
 
การปฏิรูปการเมือง การปฏิรูปเศรษฐกิจ การปฏิรูปสังคม ที่เป็นประเด็นโครงสร้างเพื่อฝ่าข้ามความขัดแย้ง แก้ไขปัญหาทั้งประเทศอย่างแท้จริงนั้น ประเด็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม นับเป็นความสำคัญอันดับหนึ่งจากผลผลิตทางการเมืองแบบผูกขาดที่ผ่านมา กล่าวคือ
 
ปัญหาที่แท้จริงของสังคมการเมืองไทยนั้น โครงสร้างทางอำนาจถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำ ทั้งสถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้โครงสร้างและความสัมพันธ์ทางสังคมเสียสมดุล การพัฒนาและนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาจึงมักเอื้อประโยชน์ให้ชนชั้นนำทางสังคมเท่านั้น และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมหาศาลในปัจจุบัน จนประเทศไทยได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุดในเอเชีย ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยห่างกันถึง 15 เท่า ขณะที่อินเดียและจีนซึ่งมีพลเมืองมากกว่า ห่างกันเพียง 8 เท่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าในปี 2553 จำนวนคนจนในประเทศไทย ยังมีอยู่ถึง 5,076,700 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.5 % ซึ่งเป็นผู้มีรายได้ต่ำจากเส้นความยากจนที่ 1,678บาทต่อคนต่อเดือน ขณะที่คนรวยที่สุด 10% แรกของประเทศ มีรายได้รวมกันมากถึง 38.41% ของรายได้รวมทั้งประเทศ กลุ่มคนจนที่สุด 10% แรกของประเทศมีรายได้เพียง 1.69% ของรายได้รวมเท่านั้น ความขัดแย้งจากปัญหาการกระจายรายได้ไม่เป็นธรรมเหล่านี้ คือความขัดแย้งหลักของสังคมที่รอวันปะทุความรุนแรง รวมถึงความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาที่นำมาสู่ค่าจ้างแรงงานที่แตกต่างกันด้วย อันเป็นเหตุผลให้รัฐต้องจัดรัฐสวัสดิการการศึกษาอย่างถ้วนหน้าในอนาคตเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบ
 
ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนซึ่งเป็นวิกฤติของสังคมไทยนั้น การผูกขาดอำนาจทางการเมืองของชนชั้นนำมาโดยตลอด ได้ทำให้เกิดการผูกขาดทางเศรษฐกิจของพวกเขาโดยปริยาย จนธุรกิจและการเมืองเหมือนจะกลายเป็นเรื่องเดียวกันไปแล้ว และคณะรัฐบาลของทหารและกลุ่มทุนที่ผ่านมาก็ไม่เคยเยียวยาปัญหานี้ทางโครงสร้างเพราะกลัวสูญเสียประโยชน์ ประเทศไทยจึงไม่มีการจัดรัฐสวัสดิการและบริการสาธารณะจากรัฐอย่างเต็มที่เหมือนเจตนารมณ์เค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้อภิวัฒน์ประชาธิปไตย ความเหลื่อมล้ำมหาศาลของประเทศในขณะนี้นั้น สังคมไทยต้องตั้งคำถามต่อทิศทางการนำพาประเทศด้วยระบบทุนนิยมเสรีที่ใช้กลไกตลาดโดยไม่แยแสต่อทุนผูกขาดใดๆ ที่ควบคุมกลไกตลาดและเอาเปรียบสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจะต้องเข้ามาจัดการเศรษฐกิจแบบผสมผสานโดยเร็ว และควบคุมการเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สมบัติสาธารณะของสังคมอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น คลื่นความถี่ โทรคมนาคม อากาศ ดิน น้ำ ป่า น้ำมันและพลังงาน หรือสิ่งที่มนุษย์ไม่ได้สร้างสรรค์ขึ้นเองอื่นใด ซึ่งถือว่าควรเป็นกรรมสิทธิ์ของสังคม
 
นอกจากนี้ การผูกขาดอำนาจของชนชั้นนำดังกล่าวโดยไม่เปิดโอกาสให้โครงสร้างอำนาจได้ขยับตัวเปลี่ยนแปลง ยังทำให้ประเทศไทยสูญเสียบรรทัดฐานทางสังคมการเมืองซ้ำซ้อน  จากวัฒนธรรมทางการเมืองและกระบวนการยุติธรรมไทยที่ไม่สามารถทลายวัฒนธรรมการเมืองแบบอำนาจนิยมและอุปถัมภ์นิยมในสังคมไทยลงได้ จะด้วยการปฏิรูปกฎหมายหรือการบังคับใช้แก่ทุกฐานะทางสังคมอย่างเท่าเทียมกันก็ตาม กระบวนการยุติธรรมที่เป็นความหวังและหลังพิงความยุติธรรมโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบจึงยังไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมความรับผิดชอบแก่ผู้มีอำนาจทางการเมืองได้ต่อทุกความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมา นอกจากนี้ ปมปัญหาเรื่องบทบาทของเครือข่ายเจ้านายและสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมประชาธิปไตย ยังถูกถกเถียงอย่างจำกัดในวงกว้างถึงบทบาทที่ควรจะเป็นตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพยังคงรุนแรงและถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอยู่
 
วิกฤติสังคมไทยและความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 10 ปีที่ผ่านมานี้ กำลังสะท้อนถึงทิศทางประชาธิปไตยไทยที่กำลังเดินทางมาสู่ทางแพร่ง และปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างแนวทาง "ประชาธิปไตยแบบอนุรักษ์นิยม" หรือประชาธิปไตยครึ่งใบแบบเก่า (semi democracy) และแนวทาง "ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม" (libertarian democracy) ทั้งสองแนวทางดังกล่าว ยังไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองที่ถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำทั้งกลุ่มทุนเก่าและกลุ่มทุนใหม่แต่อย่างใด และภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบนี้ แนวทางประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม หรือ ประชาธิปไตยแบบอนุรักษ์นิยม ทั้งสองแบบต่างก็เติบโตได้ดีในสังคมไทย หากว่าปรองดองกันได้ โดยการแย่งชิงพื้นที่ระบบอุปถัมภ์นิยมเพื่อยึดโยงอำนาจของตนเอง แต่พลังของภาคประชาชนจะไม่สามารถเติบโตได้เนื่องเพราะไม่อาจเป็นอิสระจากรัฐและทุนได้อย่างแท้จริงภายใต้โครงสร้างและแนวทางเหล่านี้  การเมืองในโครงสร้างนี้จึงไม่มีพื้นที่ของประชาชนที่มีที่ยืนที่ชัดเจน และไม่อนุญาตให้มีพรรคการเมืองทางชนชั้นหรือพรรคการเมืองเชิงอุดมการณ์ที่หลากหลายตามระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่ชัดเจน เช่น พรรคสังคมนิยม หรือพรรคสังคม-ประชาธิปไตย หรือพรรคทางเลือกทางการเมืองอื่นๆ เมื่อไม่มีพรรคการเมืองทางชนชั้นเข้าไปต่อสู้ในระบบรัฐสภา จึงทำให้เกษตรกร คนงาน ประชาชนชั้นล่างของสังคม ถูกเลือกปฏิบัติมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า เราจะร่วมกันปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปทางไหน อย่างไร ในอนาคตอันใกล้ จะเดินถอยหลังไปสู่ ประชาธิปไตยครึ่งใบ แบบเก่า หรือเราจะเดินต่อไปข้างหน้าเพื่อไปสู่ เสรีนิยมประชาธิปไตย (Libertarian Democracy) แบบสหรัฐอเมริกา ที่เน้นเฉพาะสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเท่านั้น หรือว่ายังมีทิศทางอื่น ทางเลือกที่สามในสังคมไทย นั่นคือทิศทางใหม่เพื่อไปสู่ "สังคมนิยมประชาธิปไตย" (Social-Democracy) แบบหลายรัฐในสหภาพยุโรป ที่ให้ความสำคัญทั้งสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR.) รวมทั้งสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (ICESCR.)
 
ในทางการเมืองนั้น ปัจจุบันประเทศที่ได้ถูกจัดอันดับว่ามีประชาธิปไตยสูงที่สุดในโลก กลับเป็นประเทศที่เป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย ใช้ระบบเศรษฐกิจผสมเพื่อรัฐสวัสดิการ ตามการวัดดัชนีประชาธิปไตย (Democracy Index) โดย Economist Intelligence Unit โดยประเทศที่มีดัชนีประชาธิปไตยสูงที่สุดในโลก คือ ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีกษัตริย์เป็นประมุข (Constitution Monarchy) ตามด้วยไอซ์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สวิสเซอร์แลนด์ แคนาดาและฟินแลนด์ ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 58 แต่ปัญหาการจัดการระบบเศรษฐกิจถูกยกให้เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุดในเอเชีย จากการนำพาประเทศด้วยระบบทุนนิยมเสรีที่ใช้กลไกตลาดโดยไม่แยแสต่อทุนผูกขาดใดๆ ที่ควบคุมกลไกตลาดและเอาเปรียบสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนโยบายประชานิยมในปัจจุบันของรัฐบาล ที่ใช้แนวทางเสรีนิยมตามลัทธิเศรษฐกิจแบบแทตเชอร์-เรแกนผสมกับสำนักเคนส์ มาตั้งแต่ยุครัฐบาลก่อนไม่ว่าจะเป็นนโยบายรถคันแรกปลอดภาษี การพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆ การพักหนี้เกษตรกร บัตรเครดิตชาวนา โครงการรับจำนำข้าวและการขึ้นค่าตอบแทนแต่ไม่ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค รวมถึงโครงการเงินกู้ต่างๆ เพื่อหมุนเวียนเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งใช้แนวทางการจัดการระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี ยกเว้นระบบสวัสดิการด้านการศึกษาและสาธารณะสุขเท่านั้นที่รัฐบาลไทยยังคงให้เป็นสวัสดิการสังคมที่ดี แต่ยังไม่มีคุณภาพ
 
ดังนั้น ประชานิยมในประเทศไทยจึงเป็นประชานิยมแบบทุนนิยม แต่ไม่ใช่ประชานิยมกึ่งสังคมนิยมเหมือนในละตินอเมริกา ซึ่งมีการจัดการระบบเศรษฐกิจกึ่งสังคมนิยมในอุตสาหกรรมหลักๆ และทรัพยากรสาธารณะต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ต่อทุกคนในสังคม ไม่ใช่เพื่อนายทุนหรือผู้ถือหุ้นส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งนโยบายดังกล่าวจึงไม่อาจแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริงในสังคมไทย ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนและลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำลงได้ การขูดรีดตามระบบยังคงสร้างความรุนแรงเชิงโครงสร้างและรอการพัฒนาความขัดแย้งต่อไปเพื่อรอวันปะทุ
 
คงถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องใช้ระบบเศรษฐกิจผสม รัฐบาลจะต้องเข้ามาจัดการเศรษฐกิจแบบผสมผสาน (Mixed Economy) โดยเร็ว และควบคุมการเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรสาธารณะและทรัพย์สมบัติของชาติและสังคมอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น คลื่นความถี่ โทรคมนาคม อากาศ ดิน น้ำ ป่า น้ำมันและพลังงาน
 
หากเราพูดถึงการจัดการระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม หัวใจสำคัญคงเป็นเรื่อง "ชนชั้น" ที่มาจากความสัมพันธ์ทางการผลิต และ "ระบบกรรมสิทธิ์" ที่เป็นปัญหาสำคัญ และตามหลักการสังคมนิยมแล้ว สิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถผลิตหรือสร้างสรรค์ขึ้นได้เองไม่ควรนำเข้าสู่ระบบกลไกตลาด เช่น ที่ดิน ทะเลและป่าไม้ ซึ่งควรถือเป็นกรรมสิทธ์ร่วมของสังคม และการต่อสู้เรื่องระบบกรรมสิทธิ์นี้ นโยบายเรื่องความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของผู้คนเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่พรรคการเมืองทั้งหลายควรต้องพูดให้ชัดเจน
 
ทางออกจากความขัดแย้งที่แท้จริงของประเทศไทยนั้น ต้องแก้ไปที่โครงสร้างทางการเมืองที่ปล่อยให้มีการยึดกุมรัฐสภาและพรรคการเมืองด้วยอำนาจทุน ต้องแก้ที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ปล่อยตามกลไกตลาดให้มือใครยาวสาวได้สาวเอาจนเกิดความเหลื่อมล้ำและความยากจนแปลกแยก ต้องแก้ที่โครงสร้างอำนาจโดยการกระจายอำนาจโดยให้งบประมาณท้องถิ่นมากกว่าส่วนกลาง ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาคและให้มีการเลือกตั้งทุกระดับ เพื่อยกระดับจิตสำนึกพลเมืองของประชาชนให้เพิ่มขึ้นพร้อมด้วยความรับผิดชอบ โดยการปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่นี้ ชนชั้นนำในสังคมไทย อันประกอบไปด้วย เครือข่ายเจ้านาย เครือข่ายชินวัตร กองทัพ นักการเมือง กลุ่มข้าราชการ กลุ่มนายทุน ทั้งกลุ่มทุนเก่าและกลุ่มทุนใหม่ ต้องร่วมกันก้าวข้ามผลประโยชน์ตนเองไปสู่ผลประโยชน์ร่วมของสังคม โดยไม่ใช้วิธีการต่อสู้ทางการเมืองด้วยการใช้ความรุนแรงหรือความตายของประชาชนเป็นเครื่องมือ และสนับสนุนการปฏิรูปสังคมใหม่อย่างสันติผ่านระบบรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย ที่อนุญาตให้มีพรรคการเมืองที่หลากหลายทางอุดมการณ์ เพื่อต่อสู้ทางการเมืองในระบบรัฐสภา และสนับสนุนประชาชนในการเสนอทางเลือกใหม่ที่ไปมากกว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตย 2 กระแสในปัจจุบันไปสู่การเรียกร้องประชาธิปไตยที่เน้นสังคม หรือ สังคมประชาธิปไตย ที่สนับสนุนให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม เศรษฐกิจ และสร้างรัฐสวัสดิการ เพื่อเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองทางเลือกใหม่ของระบอบประชาธิปไตย และเป็นทางออกจากวิกฤติความขัดแย้งในปัจจุบัน โดยมีข้อเสนอสำคัญที่รัฐบาลและ "สภาปฏิรูปการเมือง" ควรนำไปพิจารณา ดังนี้
 
1)    จากความขัดแย้งเรื่องรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ผ่านประชามติแต่มีที่มาจากการรัฐประหาร มีปัญหาความชอบธรรมของระบบนิติรัฐนั้น รัฐบาลและสภาปฏิรูปการเมืองต้องมีการผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่อนุญาตให้ทบทวนแก้ไขได้ทุก 5 ปี โดยใช้กลไก ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จะชอบธรรมและได้รับการยอมรับมากที่สุด ตามหลักประชาธิปไตยและเจตจำนงประชาชนอย่างแท้จริง ในการมีส่วนออกแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเครื่องมือสูงสุดในการปกครองประเทศ เพื่อแก้ไขข้อครหาที่มาของรัฐธรรมนูญ 2550 และผลพวงของการรัฐประหาร 2549 ซึ่งได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มาจากเจตจำนงค์ของประชาชนส่วนใหญ่ลง โดยรัฐธรรมนูญฉบับอาจไม่ต้องมีมาตรามากมาย แต่สิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง ตามกติกาสากลระหว่างประเทศ (ICCPR.) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี (2539) และปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (2491) จะต้องถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ
 
โดยเฉพาะหลักการที่ว่า "ประชาชนทุกคนต้องมีสิทธิที่จะมีส่วนในรัฐบาลของประเทศตน ไม่ว่าโดยตรง หรือโดยผ่านผู้แทนซึ่งได้เลือกตั้งโดยอิสระ และเจตจำนงของประชาชนจะต้องเป็นมูลฐานแห่งอำนาจของรัฐบาล โดยเจตจำนงนี้จะต้องแสดงออกทางการเลือกตั้งตามกำหนดเวลา และอย่างแท้จริง" รวมทั้งสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ตามกติการะหว่างประเทศ(ICESR.) ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี (2542) ด้วยเช่นกัน ซึ่งหมายถึงรัฐธรรมนูญ ต้องยกเลิกการบังคับ ส.ส. สังกัดพรรคและการกีดกันการเข้าสู่การเมืองด้วยรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะระดับการศึกษา รวมถึงการแก้ไขการบัญญัติระบบเศรษฐกิจที่ให้ขึ้นต่อกลไกตลาดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย เพราะถือเป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการทุนนิยม ซึ่งในข้อเท็จจริงรัฐไทยได้ปรับใช้ระบบเศรษฐกิจแบบผสมในระดับหนึ่ง
 
2)    การสนับสนุนให้เกิดประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาที่แท้จริงนั้น ต้องมีการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ปิดกั้นการรวมตัวทางการเมืองของประชาชนและเป็นอุปสรรคให้เกิดประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา โดยต้องปฏิรูปกฎหมายเพื่อปฏิรูประบบพรรคการเมืองในประเทศไทยให้มีประชาธิปไตยภายในพรรค มีลักษณะพรรคของมวลชนอย่างแท้จริง ที่มีความหลากหลายทางอุดมการณ์ทางการเมืองได้อย่างเสรี โดยไม่ถูกจำกัดสิทธิทางการเมืองโดยเฉพาะการรวมตัวเป็นพรรคของประชาชน ในเรื่องมูลเหตุการยุบพรรค หรือระยะเวลาในการตั้งสาขาหรือหาสมาชิก เนื่องจากการรวมตัวกันเพื่อเป็นพรรคการเมืองเป็นสิทธิทางการเมืองพื้นฐาน กฎหมายจะไปละเมิดหรือลิดรอนสิทธิ์ไม่ได้ เพื่อเป็นทางเลือกของประชาชนทางนโยบาย, รวมถึงการแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้ง คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ให้มีการเลือกตั้งจากสถานที่ประกอบการหรือในโรงงานที่ทำงานได้ ตามการเรียกร้องสิทธิแรงงานในเรื่องพื้นที่การเมืองของแรงงานที่แท้จริง
 
การแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าว จะสร้างระบบรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย ที่อนุญาตให้มี พรรคการเมืองที่หลากหลายทางอุดมการณ์ เพื่อต่อสู้ทางการเมืองในระบบรัฐสภาได้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคสังคมนิยม พรรคสังคมประชาธิปไตย พรรคเสรีนิยม พรรคอนุรักษ์นิยม หรือพรรคทางเลือกอื่นๆ แต่ในปัจจุบัน ชื่อพรรคการเมืองเช่น สังคมนิยม ไม่สามารถถูกจดทะเบียนได้ โดยความเห็นของ กกต. ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิทางการเมือง ขณะที่ในสังคมประชาธิปไตยในรัฐอื่นที่มีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าว เขาอนุญาตให้มีพรรคการเมืองทางอุดมการณ์ที่หลากหลาย เพื่อแข่งขันนโยบายทางสังคม-เศรษฐกิจอย่างเต็มที่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน เช่นรัฐสังคมประชาธิปไตยในสหภาพยุโรปหรือสแกนดิเนเวีย ซึ่งให้สิทธิทางการเมืองอย่างเต็มที่ และรัฐไม่สามารถรอนสิทธินั้นได้ตราบที่ไม่ขัดแย้งรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยของเขา แม้แต่กลุ่มอนาธิปไตยก็ยังมีพื้นที่อยู่ในสังคมได้โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และประชาชนสามารถเรียนรู้อุดมการณ์ทางการเมืองที่หลากหลายได้เต็มที่และเสนอทางเลือกที่หลากหลายให้แก่สังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นการกระจายอำนาจแบบราชอาณาจักร, สาธารณะรัฐหรือสหพันธรัฐ การจัดการเศรษฐกิจแบบผสม, สังคมนิยมหรือว่ากลไกตลาดในระบบเสรีนิยม แต่ประเทศไทยถูกจำกัดการเรียนรู้ด้าน Civic Education เหล่านี้ จึงเข้าถึงสิทธิเสรีภาพทางการเมืองอย่างจำกัด ท่ามกลางวัฒนธรรม ประเพณี ธรรมเนียมและกฎหมายแบบอุปถัมภ์ อำนาจนิยม ที่ชนชั้นนำควบคุมอยู่
 
3)    ในข้อเสนอ 1)และ 2) นั้น ควรให้มีการทำประชามติของประชาชน เพื่อให้มีการปฏิรูประบบการเลือกตั้ง โดยให้มีการเลือกตั้งฝ่ายบริหารโดยตรง เพื่อป้องกันระบอบเผด็จการพรรคการเมือง หรือการครอบงำของนายทุนต่อพรรคการเมืองไทย โดยให้มีการเลือกตั้งทางตรงในทุกระดับเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าว และเป็นการมอบอธิปไตยคืนแก่ประชาชนอย่างแท้จริง โดยจัดให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะในระบบประชาธิปไตยทางตรง รวมถึงประธานศาลรัฐธรรมนูญและศาลฎีกาด้วย เพื่อยึดโยง 3 อำนาจผ่านประชาชน และกำหนดให้มีเพียงสภาเดียวทำหน้าที่นิติบัญญัติ โดยมีสมาชิกสภาราษฎรจังหวัดละ 2 คน ในการเลือกแบบรวมเขต ซึ่งการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยทางตรงนี้ จะแก้ปัญหาได้ทั้งระบบ ทั้งปัญหาการคอร์รัปชั่น การผูกขาดอำนาจของชนชั้นนำ รวมถึงการกระทำอันเป็นเผด็จการพรรคการเมืองในอดีตด้วย ทั้งนี้ เป็นเพียงการปฏิรูประบบการเลือกตั้งของเมืองไทย แต่ไม่ได้เปลี่ยนรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแต่อย่างใด โดยอาจให้มีการทบทวนปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวกับประมุขแห่งรัฐให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะการยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพ หรือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  ซึ่งอาจแก้ไขให้เป็นกฎหมายหมิ่นประมาทที่ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้มีอำนาจในการฟ้องร้องดังกล่าวตามกฎหมาย ตามข้อเสนอของ คอป. เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและทำให้ส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งดำรงฐานะประมุขของประเทศ เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งทางการเมือง และยุตินักโทษทางการเมืองและนักโทษทางความคิดในประเทศไทย
 
นอกจากนี้ ต้องมีการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยยกเลิกการบริหารราชการส่วน ภูมิภาค ตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) เพราะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดการกระจายอำนาจอย่างแท้จริงให้แก่ประชาชน เพราะที่ผ่านมาอำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถมีอำนาจที่แท้จริงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปการเมืองได้ เพราะมีความลักลั่นและทับซ้อนกันในการบริหารราชการส่วนภูมิภาคของระบบราชการไทย โดยให้มีการรับรองสิทธิการกำหนดอนาคตตนเองของชุมชนท้องที่ และการจัดการเศรษฐกิจตามลักษณะพื้นที่ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรของชุมชนเพื่อผลประโยชน์ของชุมชนในท้องที่ได้อย่างแท้จริง โดยไม่ถูกอำนาจแทรกแซงจากอำนาจรัฐและทุนในการผลักดันอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เข้าไปทำกิจการในพื้นที่โดยไม่ผ่านการประชามติ และอาจให้มี "สภาหมู่บ้าน" ที่กฎหมายรับรองอำนาจในการตรวจสอบ ถ่วงดุลและถอดถอนผู้แทนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ในกรณีไม่รับฟังเสียงส่วนใหญ่ในชุมชน รวมถึง การกระจายอำนาจสำนักงานตำรวจแห่งชาติสู่ท้องถิ่น โดยการเลือกตั้งผู้กำกับการตำรวจทุกจังหวัด
 
4)    ต้องมีการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนและให้เป็นวาระหลักของประเทศไทย โดยมีนโยบายการแก้ไขในระดับโครงสร้างขั้นพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง โดยเฉพาะปัญหาการครอบครองทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกัน การกระจายรายได้และโภคทรัพย์ที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งนำมาสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำมหาศาลและเป็นปัญหาความขัดแย้งที่ฝังรากลึกในสังคมไทย และมีมาตรการทางกฎหมายหรือนโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมให้มากขึ้น รวมถึงแนวทางแก้ไขการเข้าผูกขาดทรัพย์สมบัติสาธารณะของเอกชน หรือการสัมปทานของเอกชนที่เอื้อผลประโยชน์ต่อรัฐน้อยเกินไป โดยรัฐจะต้องเข้ามาดูแลโภคทรัพย์ส่วนรวมของสังคมและกระจายประโยชน์สู่ประชาชนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะทรัพย์สมบัติของประชาชนด้านพลังงาน โดยยุติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เอกชน แต่ปฏิรูปการบริหารจัดการใหม่แบบทันสมัยโดยให้ประชาชนเป็นหุ้นส่วน โดยการออกกฏหมายถือครองหรือซื้อคืนกิจการ ปตท. ให้เป็นของรัฐ 100% การจัดการเรื่องพลังงานของประเทศเพื่อให้รัฐได้ประโยชน์เต็มที่ การขนส่งมวลชนสาธารณะขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อทั้งประเทศ และการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของสังคมอื่นๆ ส่งเสริมและซื้อคืนรัฐวิสาหกิจต่างๆ และการให้สัมปทานภาคเอกชนในกิจการที่มีผลกระทบต่อค่าครองชีพและมาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ โดยไม่มุ่งค้ากำไรจากประชาชน เช่น ด้านพลังงาน ไฟฟ้า ประปา และการคมนาคมขนส่ง  ระบบทางด่วนและทางพิเศษ รวมทั้งระบบการศึกษา เป็นต้น เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงทางสังคมอย่างยั่งยืน
 
โดยเฉพาะระบบการศึกษา รัฐต้องทำให้การศึกษาเป็นเสรีภาพของประชาชนที่เข้าถึงเพื่อสร้างองค์ความรู้ ได้โดยเสมอภาค เป็นบริการสาธารณะและไม่มีค่าใช้จ่ายอย่างแท้จริง ไม่ใช่การศึกษาคือธุรกิจการค้าและการลงทุนในปัจจุบัน โดยมีการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ ทั้งในเชิงรูปแบบและเนื้อหา โดยพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยให้ตอบสนองต่อสังคมและชุมชนท้องที่อย่างเต็มที่ มากกว่าการผลิตบัณฑิตตอบสนองกลไกตลาดอย่างเดียว โดยรัฐบาลควรยุติการนำมหาวิทยาลัยของรัฐเข้าสู่ระบบตลาดและแปรรูปไปเป็นของคณะบุคคล การศึกษาต้องเรียนฟรีถึงปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยของรัฐ ตามหลักด้านเสรีภาพทางการศึกษา ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนที่ใคร่ศึกษาหาความรู้ควรได้รับสิทธิดังกล่าวอย่างเสมอภาค มิใช่เพียงเปิดโอกาสอย่างจำกัดทางด้านการศึกษาเท่านั้น โดยอาจผลักดันให้มหาวิทยาลัยราชภัฏจังหวัดละ 1 แห่งทั่วประเทศเป็นการให้การบริการสาธารณะด้านการศึกษาแก่ทุกคนที่สนใจ และมีการเปิดการเรียนรู้พลเมือง หรือ Civic Education อย่างเปิดกว้างโดยไม่ปิดกั้น มีการสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ทางการศึกษาประวัติศาสตร์และการเมืองอย่างกว้างขวาง โดยสนับสนุนการศึกษาทางเลือก                                                      
 
ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐมีงบประมาณในการสร้างรัฐสวัสดิการและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจำเป็นต้องออกกฎหมายให้มีการปฏิรูประบบ ภาษีทั้งระบบ โดยให้มีการเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน และภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า ทั้งนี้ ปัจจุบันเราเสียภาษีทางอ้อมกว่า 70% และเสียภาษีทางตรงเพียง 30% ทำให้โครงสร้างภาษีไม่มีความเป็นธรรม ภาษีทางอ้อมนั้นเก็บผ่านฐานการบริโภค คือ ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มต่างๆ ซึ่งเป็นการเก็บภาษีทางอ้อมที่ผลักภาระให้คนจนส่วนใหญ่เป็นผู้แบกรับภาษี ภาษีทางตรงคือภาษีรายได้และนิติบุคคล ที่ปัจจุบันรัฐบาลได้ลดภาระทางภาษีลง แต่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐ ทรัพย์สินและรายได้ของบุคคลที่สั่งสมเพิ่มขึ้นจากการรีดมูลค่าจากคนสังคม สมควรแบ่งปันคืนสู่สังคม โดยให้รัฐจัดการในส่วนหนึ่งเพื่อการพัฒนาสังคม สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ความสะดวกปลอดภัยของชีวิตตลอดจนคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่ดีจากรัฐ พลเมืองในยุโรป โดยเฉพาะประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ยินดีจ่ายภาษีส่วนเกินนี้คืนให้รัฐในอัตราที่สูงในอัตราก้าวหน้าจากทรัพย์สินและรายได้ที่งอกเงย เพราะแต่ละคนก็เอาประโยชน์ที่งอกเงยนั้นมาจากสังคมไม่เท่ากัน ความเป็นธรรมจึงเกิดขึ้นจากโครงสร้างภาษีที่เป็นธรรมนี้ และรัฐบาลก็นำภาษีที่เก็บได้มาพัฒนาสังคม จนผลิตผลของทรัพย์สิน ที่ดินและมูลค่าของการลงทุนต่างๆ งอกเงยขึ้นมาเป็นดอกผลตอบแทนคืนสู่พลเมืองอีกระลอกหนึ่ง ดังนั้น ภาษีทรัพย์สิน คือภาษีทางตรงที่เราจ่ายให้แก่รัฐและสังคมระหว่างที่มีชีวิตอยู่ และภาษีมรดกคือการจ่ายส่วนเกินที่ปลายทางนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย ควรมีนโยบายการเก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้า ทั้งจากสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์เหมือนภาษีทรัพย์สินในต่างประเทศ ไม่ใช่จากอสังหาริมทรัพย์อย่างเดียวตามที่บัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมในระยะยาว รวมถึงการเก็บภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคม และเป็นหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ตามสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (ICESCR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ เพื่อให้รัฐและท้องถิ่น นำมาใช้ในการพัฒนาสาธารณูปโภคและสวัสดิการทางสังคม เช่น การขนส่งมวลชนสาธารณะ การศึกษาและการสาธารณะสุข เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนมีเสรีภาพปลอดพ้นจากความอดอยากแร้นแค้น โดยเฉพาะชนชั้นล่างทางสังคม ซึ่งหากภาษีที่รัฐเก็บมา ใช้จ่ายไปในกลุ่มที่เป็นกลุ่มรายได้ระดับล่างมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งจะสามารถลดช่องว่างของคนในสังคมได้มากยิ่งขึ้น
 
5)    ต้องมีการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบและจำกัดการถือครองที่ดินอย่างจริงจัง โดยมีการแบ่งแยกโซนพื้นที่คุ้มครองทางเกษตรกรรมและพื้นที่อุตสาหกรรมให้ชัดเจน ในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีที่ดินประมาณ 320 ล้านไร่ แบ่งเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติประมาณ 25% คงเหลือประมาณ 240 ล้านไร่ให้ประชาชนใช้ประโยชน์ซึ่งจะเฉลี่ยได้เพียงคนละประมาณ 4 ไร่เท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการถือครองที่ดินเป็นจำนวนมากของเอกชนจนเกิดการกระจุกตัว โดยไม่มีนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมเกิดขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้ว ที่ดินไม่ควรเอาเข้าสู่ระบบกลไกตลาดเลย ประเทศไทยจึงต้องมีนโยบายการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ เพื่อการกระจายการถือครองที่ดินอย่างจริงจัง โดยการรื้อฟื้นปรับปรุง พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งมีการจำกัดการถือครองที่ดินไม่เกิน 50 ไร่ และห้ามคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่มายกเลิกในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยรัฐบาลและกระทรวงการคลังอาจร่วมกันปฏิรูปกฎหมายดังกล่าวให้ทันสมัยขึ้น โดยมีมาตรการจำกัดการถือครองเพิ่มขึ้นไม่เกิน 100 ไร่ หรือตามความจำเป็น เป็นต้น และสนับสนุนนโยบายการเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรืออาจจะปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้ครอบคลุมมาตรการดังกล่าว เพราะหากรัฐบาลไม่มีนโยบายเรื่องนี้ เกษตรกรและชาวนาไทยอาจจะกลายเป็นเพียงแรงงานในท้องไร่ที่เป็นฟาร์มขนาดใหญ่ของนายทุนไร้สัญชาติในอนาคต ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว ยังเป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญไทยที่บัญญัติว่า รัฐมีหน้าที่กระจายการถือครองอย่างเป็นธรรม และดำเนินการให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึงโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่น ทั้งนี้ กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้เก็บ นอกจากเป็นมาตรการสำคัญในการปฏิรูประบบภาษีที่ดิน และสามารถพัฒนาโครงสร้างทางการคลังเพื่อนำไปสู่ภาวการณ์กระจายรายได้ที่ดีขึ้นได้แล้ว ยังเป็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาวอีกขั้นหนึ่ง เพราะเป็นรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดสรรทรัพยากรและกระจายการพัฒนาสาธารณูปโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน เนื่องเพราะประเทศไทยยังไม่มีภาษีที่จัดเก็บจากฐานทรัพย์สินที่แท้จริงเช่นนี้ นอกจากฐานรายได้ คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และฐานการบริโภค คือ ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มต่างๆ ซึ่งเป็นการเก็บภาษีทางอ้อมที่ผลักภาระให้คนจนส่วนใหญ่เป็นผู้แบกรับภาษีดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงสร้างภาษีที่ไม่มีความเป็นธรรม แม้ว่าในอดีตถึงปัจจุบัน เราจะมีการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ แต่ก็ไม่ได้เก็บจากมูลค่าของทรัพย์สินอย่างแท้จริง เพราะเป็นการคำนวณภาษีบนฐานรายได้ โดยคำนวณจาก "ค่ารายปี" หรือค่าเช่าที่เจ้าของได้รับในแต่ละปี ถ้ามีการออกกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะเป็นภาษีทางตรงที่เก็บจากฐานทรัพย์สินที่แท้จริง
 
หมายเหตุเพิ่มเติม:
            -การถอนการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมและกฎหมายปรองดองฯ ออกมาจากรัฐสภาหรือพักการพิจารณาไว้ก่อน เพื่อนำทางไปสู่การปฏิรูปการเมืองและปฏิรูปประเทศร่วมกันของทุกฝ่ายนั้น ไม่ใช่เงื่อนไขในการไม่ช่วยเหลือประชาชนที่ติดคุกหรือได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองอยู่ แต่รัฐบาลสามารถดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้เลย โดยการถอนฟ้องข้อหาทางการเมือง เช่น ข้อหาก่อการร้าย ข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นต้น ซึ่งเป็นนักโทษทางการเมืองและนักโทษทางความคิดในประเทศไทย ในคดีอาญาอื่นๆ ที่ไม่ถอนฟ้อง รัฐสามารถดำเนินการให้มีการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าการอนุญาตให้ประกันตัวได้หรือไม่เป็นดุลยพินิจของศาล แต่อัยการและพนักงานสอบสวนก็สามารถมีบทบาทอย่างสำคัญในการเสนอต่อศาลเพื่อความปรองดองได้ รวมถึงการชะลอการดำเนินคดีไปก่อน หากไม่มีการนิรโทษกรรมแบบเหมารวม และมีการพิพากษาความผิดแก่เจ้าหน้าที่รัฐในอนาคต จะเป็นบรรทัดฐานในการสร้างสังคมประชาธิปไตย และหากปรากฎมีกลุ่มบุคคลผู้ใช้อาวุธสงครามในการต่อต้านรัฐบาล ก็จะเป็นบรรทัดฐานในการประกันสิทธิการชุมนุมโดยไม่ใช่อาวุธตามหลักสิทธิมนุษยชน
            -มีการถกเถียงกันเรื่อง ประชาธิปไตยควรเป็นรูปแบบไม่ใช่เป็นเนื้อหา โดยวางโครงสร้างประชาธิปไตยให้เป็น "รูปแบบ" แล้วใส่ "เนื้อหา" ให้น้อยที่สุด เพื่อรองรับคนที่หลากหลาย, แนวความคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย เสนอให้ประเทศไทยมีรูปแบบประชาธิปไตยทางการเมืองที่มีเสรีภาพตามหลักการดังกล่าว เพื่อให้ทุกกลุ่มอุดมการณ์ทางการเมืองสามารถมีที่ยืนในสังคมและต่อสู้ทางอุดมการณ์ทางการเมืองได้อย่างเสรีในอนาคต แต่เนื่องด้วยประเทศไทยยังไม่มีประชาธิปไตยทางการเมืองที่เสรีดังกล่าว พื้นที่ความคิดสังคมนิยมทางเศรษฐกิจจึงไม่ได้ถูกรองรับในรูปแบบของประชาธิปไตยในระบบสภาดังกล่าวด้วย  ดังนั้น การต่อสู้ทั้ง 2 เรื่องไปพร้อมกันๆ เนื่องจากรูปแบบระบอบประชาธิปไตยในกระแสโลกาภิวัตน์ถูกผูกติดชี้นำทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานความสัมพันธ์ทางการผลิต จนถูกทำให้เหลือเพียงแนวทางระหว่าง "เสรีนิยมประชาธิปไตย" ของชนชั้นนายทุน และ "สังคมนิยมประชาธิปไตย" ของชนชั้นแรงงาน เป็นทางเลือกเท่านั้น ข้อเสนอเนื้อหาของสังคมนิยมทางเศรษฐกิจ จึงผูกติดกับรูปแบบประชาธิปไตยไปด้วย และเชื่อว่า ความสัมพันธ์ทางการผลิตในระบบเศรษฐกิจ สร้างวิถีความคิดและค่านิยมของคน.
 

[i]  อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ปี 2544, ประธานศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD) 2545-2550, เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (2550-2552), อนุกรรมการเพื่อดำเนินการตรวจสอบและค้นหาความจริงเฉพาะกรณี 1-5 ในคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)
   ปัจจุบันเป็น เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35, กรรมการมูลนิธิ 14 ตุลาและกรรมการสถาบันสังคมประชาธิปไตย (Social-Democracy Think Tank)
[ii]   สถาบันสังคมประชาธิปไตย (Social-Democracy Think Tank) มีแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย เป็นโครงการจัดตั้งเพื่อทำหน้าที่เป็นกองเลขานุการ Think Tank ของเครือข่าย/แนวร่วมสังคมนิยมประชาธิปไตยในประเทศไทย ดำเนินการจัดเวทีสร้างองค์ความรู้/อภิปรายสาธารณะ รวมถึงการจัดตั้ง/สร้างนักสังคมนิยมประชาธิปไตยรุ่นใหม่ เพื่อสร้างพื้นที่อุดมการณ์ทางสังคมและสร้างเครือข่าย/แนวร่วมสังคมนิยมประชาธิปไตยในประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งต่อไป
     เครือข่าย/แนวร่วมสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democrat Movement) เกิดขึ้นมาเพื่อสร้างพื้นที่ทางสังคมและทำหน้าที่ผลักดันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทางการเมืองบนแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social-Democracy/Democratic Socialism) ประกอบไปด้วยคณะบุคคล-ประชาชนทั่วไปที่เห็นว่า ความเป็นสังคมนิยมทางเศรษฐกิจ และประชาธิปไตยทางการเมือง คือทางออกของประเทศไทย มีเป้าหมายที่จะทำงานเป็นภาคีความร่วมมือทางการเมืองร่วมกับองค์กรประชาชนต่างๆ ทุกสาขาอาชีพไม่ว่าจะเป็นคนงาน เกษตรกร นักศึกษา ปัญญาชนและนักวิชาการ, กลุ่มขบวนการคนจนต่างๆ กลุ่มสหพันธ์/สหภาพแรงงานต่างๆ รวมถึงแรงงานนอกระบบ และกลุ่มเยาวชนนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ โดยสนับสนุนองค์กรเยาวชน (Youth Wing) ของขบวนการให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD) สหภาพเยาวชนแรงงาน เพื่อขับเคลื่อนขบวนการคนหนุ่มสาวในประเทศไทย ให้เป็นกลุ่มพลังทางการเมืองที่เข้มแข็งต่อไป รวมถึงเชื่อมความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศที่เป็นภาคีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น Socialist International(SI), The Party of European Socialists (PES) ฯลฯ
     ศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD) เป็นสมาชิกของ International Union of Socialist Youth (IUSY) ซึ่งมีเยาวชนของพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย, พรรคสังคมนิยม, พรรคแรงงาน และขบวนการเคลื่อนไหวสังคมนิยมประชาธิปไตยเป็นสมาชิกมากกว่า 100 องค์กรในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก และ Young Progressives South East Asia (YPSEA) องค์กรเยาวชนซึ่งมีสมาชิกกว่า 16 องค์กรในกลุ่มประเทศอาเซียน
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วัฒนธรรมการเรียนแบบไทยๆ : ประเด็นปัญหาการศึกษาไทยคุณภาพต่ำสุดในอาเซียน

Posted: 06 Sep 2013 09:46 AM PDT

วงการศึกษาไทยต้องสะเทือนอีกครั้ง อันเนื่องมาจากผลสำรวจการศึกษาในภูมิภาคอาเซียน คุณภาพการศึกษาไทยต่ำกว่า กัมพูชาและ เวียดนามตามลำดับ ซึ่งไทยรั้งอันดับแปด เป็นรองเวียดนามที่ได้อันดับ เจ็ด และกัมพูชาสูงกว่า อยู่ที่อันดับ หก 
 
ทำให้ผู้เขียนนึกถึงนิทานสุดคลาสสิคเรื่องหนึ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน แต่คนไทยเองก็มิได้ตระหนักถึงสาระของนิทานเรื่องนี้มากนัก นอกจากเล่าต่อๆกันเพื่อความบันเทิงเท่านั้น นั้นก็คือ นิทานเรื่องกระต่ายกับเต่า 
 
หากเราสังเกตพฤติกรรมของคนในสังคมไทย เราจะเห็นคนไทยกลุ่มหนึ่งทำตัวเป็นกระต่ายโดยหยิบยื่นความเป็นเต่าให้กับ ลาว และ กัมพูชา ในนิทานเรื่องกระต่ายกับเต่า
 
กระต่ายจะดูถูกเต่าว่าเป็นสัตว์ที่เดินช้าเพราะขาสั้นจะมาวิ่งแข่งกับตนเองซึ่งขายาวและวิ่งเร็วกว่าได้อย่างไร พูดไปก็หัวเราะชอบใจ อย่างมีความสุข
 
พฤติกรรมดังกล่าวคล้ายกับคนไทยกลุ่มหนึ่งที่ชอบล้อคนที่หน้าตาบ้านๆ หรือ พฤติกรรมเฉิ่มๆว่า ไอ้ลาว (แล้วก็หัวเราะ) วลีดูถูกที่หลายคนอาจคุ้นเคยกันดี
 
จากกรณีการสำรวจผลการศึกษาในเขตภูมิภาคอาเซียนที่ อันดับการศึกษาของประเทศกัมพูชาไต่อันดับสูงกว่าไทยส่วนประเทศลาวกับพม่านั้นไม่ได้สำรวจแต่ดูจากอันดับของกัมพูชาแล้วสามารถคาดคะเนได้ว่าประเทศลาวน่าจะอยู่สูงกว่าไทยการผลการสำรวจนี้
 
ดูคล้ายกับบทสรุป นิทานเรื่อง กระต่ายกับเต่า ที่ดูเหมือนจะเกิดขึ้นในชีวิตจริงให้เราได้เห็นกันแล้วเมื่อ วลีดูถูกที่คนไทยกลุ่มหนึ่งเรียกว่า ลาว นั้น ประกาศอย่างเป็นทางการว่าระบบโครงข่ายการสื่อสารของประเทศลาวนั้นใช้ 4 g อย่างเต็มรูปแบบ ในขณะที่ไทยพึ่งได้สัมผัสกับระบบ 3 g จริงได้ไม่นานมานี้เอง 
 
และผลสำรวจการศึกษาที่พูดเกริ่นไว้ดังกล่าวข้างต้น เป็นการตอกย้ำว่าประเทศไทยเป็นกระต่ายในตัวละครหลักของนิทานเรื่อง กระต่ายกับเต่าไปแล้วอย่างปฏิเสธไม่ได้
 
ประเด็นที่จะเขียนถึงดังต่อไปนี้ เป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการศึกษาในมุมมองของผู้เขียนว่าสาเหตุและองค์ประกอบใด การศึกษาไทยถึงตกต่ำถึงขนาดต่ำกว่า ลาว และ กัมพูชา
 
สาเหตุและองค์ประกอบของวิกฤติการศึกษาที่ตกต่ำจนน่าตกใจทั้งที่ผ่านมาและที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้ อาจมีสาเหตุมากมายเหลือคณาจะกล่าวถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณ  หลักสูตรการศึกษา คุณภาพครู สภาพการศึกษาเรียนรู้แบบไทยๆ ที่เป็นอยู่ ฯลฯ เป็นต้น
 
สาเหตุดังกล่าวอาจเป็นสิ่งที่เรามองเห็นได้โดยทั่วไปทางกายภาพภายนอก หรือที่เรียกกันว่าเป็นระดับขั้นปรากฏการณ์ของปัญหา 
 
แต่ที่ผู้เขียนสนใจและเห็นว่าเป็นปัญหาในระดับขั้นของอุดมการณ์ปัญหาคือ การที่ผู้หลักผู้ใหญ่และวัฒนธรรมการศึกษาแบบไทยๆ ที่ไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของนักเรียนนักศึกษาหรือเยาวชน 
 
วัฒนธรรมการศึกษาไทยเป็นลักษณะเป็นการศึกษาแบบชี้นำ ชี้นำทั้งในด้านความคิด การกระทำและชีวิตของนักเรียน ความคิดและการกระทำถูกกำหนดโดยวัฒนธรรมและผู้ที่แอบบ้าอำนาจในนามของบุคคลที่เรียกตนเองว่าผู้ใหญ่ 
 
ตัวอย่างวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบชี้นำนี้ จะปรากฏชัดเช่น ในสังคมไทยจะมีสิ่งหนึ่งที่เรียกกันว่า  กรอบ  
 
กรอบเป็นตัวกำหนดว่าสิ่งนี้ทำได้และสิ่งนี้ทำไม่ได้ โดยบางเรื่องก็ขาดเหตุผลมารองรับ แต่ก็ต้องทำเนื่องมาจากว่า มันเป็นประเพณีที่ทำสืบๆกันมา
 
การไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของนักเรียนยังแผ่ซ่านไปทั่วทุกอณูของสถาบันทางสังคม แม้กระทั่ง สถาบันสื่อ ที่เป็นประเด็นล่าสุดคือการ การจะเพิ่มเรต ละครซีรี่ส์วัยรุ่นที่กระแสฮิตติดลมบน อย่าง ฮอร์โมน์ วัยว้าวุ่น หรือการเซนเซอร์ ชุดว่ายน้ำของชิซุกะ ในการ์ตูนเรื่อง โดราเอมอน การกระทำดังกล่าวเป็นผลจากการไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของนักเรียนนักศึกษาหรืออีกสถานภาพหนึ่งคือ เยาวชน ซึ่งมองโดยผิวเผินแล้ว อาจจะเห็นว่าเป็นความปรารถนาดี
 
แต่ในทัศนะของผู้เขียน มองว่าการกระทำต่างๆที่กล่าวมาและที่ไม่ได้พูดถึงเหล่านี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของเยาวชนแล้วเกิดความระแวงและผลจากการการระแวงบางเรื่องก็เกินเลยจนดูเหมือนเป็นการดูถูกสติปัญญาของเยาวชน อย่างกรณี เซนเซอร์ชุดว่ายน้ำของ ชิซูกะ 
 
วัฒนธรรมการศึกษาแบบชี้นำ โดยใช้สิ่งที่เรียกว่า "กรอบ" เป็นเครื่องมือและการหาดระแวงจนเกินเหตุดังที่กล่าวมานั้น ส่งผลโดยตรงกับเยาวชน 
 
ผลก็คือ มันได้ทำให้เยาวชนขาดทักษะในการคิดเพราะมีคนคิดให้แล้วว่าดีไม่ดีควรไม่ควร เพียงแต่ปฏิบัติในสิ่งที่เรียกว่า  กรอบ ก็จะเป็นคนดีในสายตาของสังคม
 
หากใครคนใดบังอาจทำตัวหลุดกรอบ ก็จะถูกตราหน้าว่า เลว 
 
ด้วยเหตุดังกล่าว ความสร้างสรรค์จึงไม่ค่อยเกิดขึ้นกับสังคมไทยและผลสำรวจการศึกษาที่ทำให้เราตกใจนี้ ได้เตือนเราเป็นนัยๆว่า  การอ่านนิทานเรื่อกระต่ายกับเต่าของคนไทยนั้นไม่ได้ตระหนักถึงเนื้อหาสาระคติธรรมที่ซ่อนเร้นอยู่ในนิทานเรื่องนี้เลย สังคมไทยจึงเป็นสังคมด้อยพัฒนาอย่างที่เป็นกันอยู่ทุกวันนี้ แม้หลายคนจะไม่ยอมรับก็ตาม
 
จากปัญหาต่างๆที่พูดถึงทั้งหมดอยากถามผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบการศึกษาว่า    ได้เวลาปฏิวัติวัฒนธรรมการเรียนแบบไทยๆ หรือยัง?
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาที่ปรึกษาฯ จัดระดมความเห็นผลกระทบและมาตรการป้องกันหมอกควันของประเทศไทยและกลุ่มอาเซียน

Posted: 06 Sep 2013 07:30 AM PDT

6 ก.ย.56 - คณะทำงานการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดการสัมมนาเรื่อง "ผลกระทบและมาตรการการป้องกันหมอกควันของประเทศไทย และกลุ่มประเทศอาเซียน" เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การเกิดหมอกควัน ตลอดทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาของประเทศและกลุ่มอาเซียน ตลอดจนหากแนวทางการป้องกันและมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต โดยมีผู้เข้าร่วมใหัความเห็นจากกลุ่มประเทศอาเซียน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ร่วมสัมมนา ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ
         
ดร.นิวัตร ตันตยานุสรณ์ ประธานคณะทำงานการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวแสดงความยินดีที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นทิศทางที่ดีที่เราจะได้หาทางออกและมาตรการในการป้องกันปัญหาร่วมกัน เนื่องจากปัญหาหมอกควันสร้างผลกระทบต่อประเทศในกลุ่มอาเซียนทั้ง ไทย อินโดนิเซีย พม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และบรูไน ส่วนประเทศฟิลิปปินส์ ไม่ได้รับผลกระทบเพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหมู่เกาะ
 
ในวันนี้การประชุมกลุ่มอาเซียนมีประเทศที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น 4 ประเทศ คือ ประเทศอินโดนิเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศพม่า และประเทศไทย สรุปประเด็นการหารือแนวนโยบายด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน ได้ดังนี้
 
1. การดำเนินงานโดยการกำหนดเป็นนโยบายเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน นโยบายโดยรวม มีความคล้ายคลึงกันทั้ง 4 ประเทศ
 
2. มาตรการในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ คือ แนวทางการบริหารจัดการเพื่อป้องกันและลดปัญหา โดยเน้นการทำงานเชิงพื้นที่ ซึ่งก็มีแนวทางการทำงานที่คล้ายคลึงกันทั้ง 4 ประเทศ โดยใช้มาตรการทางกฎหมายเข้ามาจัดการ ,การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นในการจัดการแก้ปัญหาที่ต้นทาง และมีการกำกับติดตามโดยใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยี เช่น ภาพถ่ายดาวเทียม และส่งข้อมูลข่าวสารไปยังประชาชนกลุ่มเป้าหมาย โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้จัดทำแอพลิเคชั่นเพื่อใช้ตรวจสอบค่ามลพิษทางอากาศ คือ air4thai  และได้มีการแนะนำไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อใช้งานอีกด้วย
 
3. การกำหนดปฏิบัติการเชิงรุก โดยประเทศไทยจะรวบรวมประเทศอาเซียนตอนบนในเขตลุ่มแม่น้ำโขงและประเทศแถบเส้นศูนย์สูตร ทั้ง 2 กลุ่ม เข้ามาเป็นภาคีร่วม โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากมีความพร้อมทั้งในด้านเทคโนโลยีการส่งต่อข้อมูลข่าวสาร รวมถึงแนวทางปฏิบัติตัวอย่าง คือ โครงการฮักเมืองน่าน และการแก้ไขหมอกควัน ตามแนวโครงการปิดทองหลังพระ ซึ่งในที่ประชุมก็ได้เห็นด้วย ที่จะนำโครงการ
 
ทั้งสอง มาเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาต่อไปในอนาคต และเห็นว่าประเทศไทยน่าจะเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยน นำโครงการต้นแบบนี้ ไปปรับใช้ในประเทศในกลุ่มอาเซียนต่อไป
ปัญหาหมอกควัน ซึ่งทั้ง 4 ประเทศประสบเหมือนกัน คือ ปัญหาหมอกควันที่เกิดจากการเผาป่าในช่วงฤดูร้อน มาจากกรบุกรุกพื้นที่ป่าบนพื้นที่สูง ป่าพรุ เพื่อทำเกษตรเชิงเดี่ยว โดยการสนับสนุนจากตลาดทุนการเกษตร ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เนื่องจากทุกประเทศมีกฎหมายบังคับใช้ มิให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่า 
 
ปัญหาถัดมาคือ ปัญหาเรื่องสุขภาพและสุขอนามัยเกี่ยวกับทางเดินหายใจและปอด ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงมิได้ แม้ว่าสถานการณ์ที่เกินขึ้นเกิดในเวลาอันสั้นก็ตาม แต่มีความรุนแรงและเกินจากเส้นมาตรฐานไปมาก
ข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมการสัมมนา มีประเด็นหลักดังนี้
 
- ขอให้มีการลดปริมาณการให้สัมปทานหรือการไม่อนุญาตให้เข้าไปทำการเกษตรในพื้นที่สงวนหรือพื้นที่อนุรักษ์โดยเด็ดขาด เพื่อเป็นการยุติไม่ให้เกิดการเข้าไปทำลายป่าและเผาป่า
- ให้นำบทเรียนของกลุ่มฮักเมืองน่าน และโครงการปิดทองหลังพระของจังหวัดน่าน นำไปเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาหมอกควันได้อย่างยั่งยืน 
- ขอให้สถาบันการศึกษาและภาควิชาการเข้ามามีส่วนร่วมในการทำวิจัยในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ความไว้เนื้อเชื่อระหว่างรัฐกับท้องถิ่นนั้น ยังมีช่องว่าง การที่สถาบันการศึกษาเข้าไปศึกษาปัญหาในท้องที่จะสามารถเข้าถึงปัญหาและนำประเด็นปัญหาไปสู่ภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
 
ทั้งนี้ ประเด็นนโยบายและการจัดการแก้ไขปัญหาหมอกควันในประเทศไทยและประเทศกลุ่มอาเซียน ที่ได้ในครั้งนี้ คณะทำงานการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะได้นำไปวิเคราะห์และประมวลผลจัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะเสนอต่อสภาที่ปรึกษาฯ และคณะรัฐมนตรีต่อไป
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'หมอลี่' จวก กสทช.องค์กรกำกับสื่อดันฟ้องสื่อเอง ส่งสัญญาณเซ็นเซอร์สื่อ

Posted: 06 Sep 2013 05:33 AM PDT

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา หนึ่งใน กทค.ที่ไม่ได้ร่วมฟ้อง 'เดือนเด่น-ณัฏฐา' จวกองค์กรกำกับสื่อกลับฟ้องสื่อแทนการกำกับ ซ้ำส่งสัญญาณให้สื่อเซ็นเซอร์ตัวเอง เตรียมจับมือสุภิญญาเสนอวาระหาแนวทางดีลนักวิชาการ-สื่อ ในการประชุมบอร์ดใหญ่

กรณีที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ซึ่งประกอบด้วยพันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ, สุทธิพล ทวีชัยการ, พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร, ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และสำนักงาน กสทช. ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาท เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส จากการให้ข่าวและนำเสนอเรื่องที่เกี่ยวกับสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz โดยกล่าวหาว่า บุคคลทั้งสองได้ใส่ความโจทก์ ทำให้เกิดความเสียหายนั้น

(6 ก.ย.56) นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กทค.ที่ไม่ได้ร่วมฟ้องด้วย ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีการฟ้องดำเนินคดี ในส่วนผู้ฟ้อง มีสองส่วนคือ ส่วนที่หนึ่ง กรรมการ กทค. 4 คน ซึ่งฟ้องเป็นการส่วนตัว ไม่เคยมีการประชุม และที่ประชุมไม่ว่าบอร์ด กทค. หรือ กสทช. ไม่เคยมีมติ ส่วนที่สอง คือสำนักงาน กสทช. ซึ่งโดยปกติ ในการดำเนินคดี หน่วยงานรัฐจะแจ้งความดำเนินคดีและผ่านกระบวนการยุติธรรม คือ ตำรวจ อัยการ ศาล ไม่น่าจะมีหน่วยงานใดฟ้องโดยตรง เพราะหนึ่ง เป็นภาระด้านงบประมาณ สอง เป็นภาระด้านการต่อสู้คดี เช่น ค่าทนาย

นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า ส่วนของผู้ถูกฟ้อง มีสองส่วน คือ หนึ่ง สื่อ เมื่อดูเทปรายการคุณณัฏฐาแล้ว มองว่าคุณณัฏฐาไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง เพราะเป็นสกู๊ปข่าวและเป็นการดำเนินรายการในสถานี น่าแปลกใจว่าทำไมเลือกดำเนินคดีกับผู้ดำเนินรายการ ไม่ดำเนินคดีกับสถานีหรือผู้ทำข่าว นอกจากนี้ ในคำฟ้องที่เผยแพร่ออกมา มีการพูดถึงว่า มีการเผยแพร่ข่าวนี้ในสื่อสิ่งพิมพ์อื่นด้วย เช่นนี้เป็นการจงใจดำเนินคดีเป็นการส่วนตัวหรือเปล่า เพราะถ้ามีความเสียหาย ไม่ว่าผ่านสื่อไหน ก็มีความเสียหายด้วย

"เวลาจะดำเนินคดี ฟ้องร้องคดีใคร ต้องดูเจตนา และดูว่าการดำเนินการนั้นเป็นไปอย่างสุจริตหรือเปล่า เพราะสื่อมีหน้าที่รายงานข้อเท็จจริง ซึ่งถ้าไม่ได้ถูกบิดเบือน มุ่งโจมตีใส่ร้ายใคร ก็เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับกัน วิธีการที่ถูกต้องคือให้ข้อมูลต่อสาธารณะอีกด้านหนึ่ง"

นพ.ประวิทย์ มองว่า แม้การฟ้องร้องสื่อจะกระทำได้ตามกฎหมาย แต่ก็มีลักษณะที่จะทำให้สื่อเซ็นเซอร์ตัวเองมากขึ้น เพราะไม่อยากถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะในข่าวที่ออกไปมีการตั้งประเด็นว่าเนื่องจากรายการออกอากาศทั่วประเทศ อาจมีการดำเนินคดีทั่วราชอาณาจักรได้ เท่ากับส่งสัญญาณเตือนสื่อว่า ไม่ใช่การฟ้องร้องปกติ แต่ฟ้องร้องทุกจังหวัดได้ ซึ่งถามว่าฟ้องทั่วประเทศแล้วจะได้ความยุติธรรมเพิ่มขึ้นไหม ก็เปล่า แต่เป็นการส่งสัญญาณปรามสื่อให้เซ็นเซอร์ตัวเองมากขึ้น

"นี่เป็นสัญญาณที่ไม่เหมาะสม ต้องถามว่าเชื่อเรื่องการเซ็นเซอร์ไหม ไม่ว่าเซ็นเซอร์โดยองค์กรกำกับดูแลหรือเซ็นเซอร์ตัวเอง ซึ่งถ้าไม่เชื่อ สัญญาณแบบนี้ก็ไม่น่าจะส่งออกโดยองค์กรกำกับดูแล"

ส่วนของการฟ้องนักวิชาการนั้น นพ.ประวิทย์ ชี้ว่า ในคดีหมิ่นประมาท ไม่ว่าข้อเท็จจริงนั้นจริงหรือเท็จ ถ้าทำให้เสียหาย ถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท  แต่กรณีที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ไม่เป็นความผิด ดังนั้น ต้องดูว่าข้อมูลที่นักวิชาการให้ มีเจตนาให้ข้อมูลต่อสาธารณะรึเปล่า หรือโจมตีส่วนตัว ถ้าเป็นการให้ข้อมูลในเวทีวิชาการ เป็นที่ยอมรับในไทยแล้วว่า ไม่ถือเป็นความผิด ตรงนี้ต้องเอาข้อเท็จจริงและเจตนาจริงมาดู

"แต่โดยรวม ผมเชื่อว่าประเด็นทับซ้อนของ กสทช.คือ กสทช. เป็นองค์กรอิสระ ซึ่งมีความพยายามตรวจสอบผ่านศาลปกครอง หน่วยงานตรวจสอบอื่นๆ  แต่ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะกฎหมายเขียนจำกัดการตรวจสอบไว้ สอง กรรมการติดตามตรวจสอบตามกฎหมาย ปัจจุบัน ก็ยังไม่สามารถทำงานได้ไม่เต็มที่ อาจติดขัดเรื่องการสนับสนุนจากสำนักงาน กสทช. ด้วยประการหนึ่ง ดังนั้น ระบบตรวจสอบยังไม่เข้มแข็งแล้วพยายามมีท่าทีในการจัดการกับคนที่มาตรวจสอบ ยิ่งจะทำให้เหมือนหนึ่งว่าหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ หรือพยายามสร้างเกราะไม่อยากให้มีใครมาตรวจสอบหรือเปล่า"

นพ.ประวิทย์ ชี้ว่า ที่น่าสังเกตอย่างยิ่งคือ กสทช. มีหน้าที่กำกับดูแลสื่อโทรทัศน์โดยตรง ซึ่ง กระบวนการกำกับดูแลสื่อโทรทัศน์ มีกระบวนการของมัน แต่องค์กรกำกับดูแลกลับเลือกใช้วิธีฟ้องศาลโดยตรง ทั้งที่การฟ้องศาลน่าจะเป็นกระบวนการสุดท้ายในการกำกับดูแล ต่อไปอาจจะทำให้สื่อโทรทัศน์หรือสื่อวิทยุเองสับสนว่า กสทช.มีนโยบายในการกำกับดูแลเนื้อหาโทรทัศน์ด้วยการฟ้องคดีอย่างเดียวเลย ไม่มีกระบวนการที่จะทำให้มีการพัฒนาเนื้อหาโทรทัศน์หรือพัฒนากระบวนการในการนำเสนอเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะโดยรวมหรือเปล่า ดังนั้น พอมีการฟ้องร้องคดีโดยองค์กรกำกับดูแลสื่อเอง ทำให้เรื่องนี้ดูมีความซับซ้อนมากขึ้นและทำให้สังคมตั้งคำถามมากขึ้น

เขาบอกว่า กรณีที่มีข่าวว่า สำนักงาน กสทช. อาจจะถอนฟ้องนั้น ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ กทค. อีก 4 ท่าน เป็นการฟ้องในนามบุคคล ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้ดุลพินิจในการถอนฟ้องหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังไม่มีโอกาสพบกับทั้งสี่ท่าน หลังมีข่าวฟ้องคดีเมื่อวันศุกร์ ก็ยังไม่มีการประชุม ทราบว่าบางท่านเดินทางไปต่างประเทศเพิ่งกลับมาเมื่อคืน

นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด กสทช. วันที่ 18 ก.ย.นี้ ตนเองและ กสทช. สุภิญญา กลางณรงค์ จะทำวาระเสนอที่ประชุมเกี่ยวกับกระบวนการจัดการกับการแสดงออกของนักวิชาการและสื่อว่าควรจะมีแนวทางอย่างไร ที่นอกเหนือจากการดำเนินคดี หรือถ้าจะดำเนินคดี ควรฟ้องเอง หรือใช้วิธีปกติ

"แน่นอนว่าทุกคนก็อยากให้มีการปกป้องดูแลองค์กร แต่ว่าการปกป้องดูแลองค์กรต้องไม่ทำให้เกิดภาพลบต่อองค์กรเองและต้องไม่มีลักษณะปิดกั้นเสรีภาพการนำเสนอข่าวสารของสื่อหรือนักวิชาการ โดยเฉพาะสื่อหรือนักวิชการที่ตรวจสอบองค์กรตัวเอง เพราะจะดูเหมือนเป็นลักษณะของผลประโยชน์ขัดแย้งกัน" 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อ่านกฎหมาย 'พาสีชายโสด' สมัยจอมพล ป. โสดเก็บภาษีปีละ 5 บาท

Posted: 06 Sep 2013 05:03 AM PDT

เปิดอ่านกฎหมาย พ.ศ. 2487 "พ.ร.บ.พาสีชายโสด" เก็บภาษีชายผู้มี "ภาวะเปนโสด" ปีละ 5 บาท หลังเกิดกรณีที่นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ผุดไอเดีย "นโยบายลูกคนแรก" "เก็บภาษีคนโสด" จนเกิดเสียงวิจารณ์ ร้อนไปถึงโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีต้องออกมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวอะไรกับรัฐบาล

ตามที่เมื่อวานนี้ (5 ก.ย. 56) เดลินิวส์ นำเสนอข่าว นายเทอดศักดิ์ ชมโต๊ะสุวรรณ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในการอภิปราย "การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและนโยบายการรองรับในสองทศวรรษหน้า" เสนอว่าประเทศไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงขาดแคลนแรงงาน โครงสร้างประชากรไม่สมดุล และต้องเสียงบประมาณดูแลผู้สูงอายุจำนวนมาก ประชากรในวัยรุ่นวัยทำงานมีแนวโน้มเพิ่มต่ำลง สวนทางกลับกลุ่มผู้สูงอายุที่เพิ่มต่อเนื่อง อัตราเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.6 ต่อครอบครัวหรือ 1 คู่สมรส มีลูกเพียง 1 คน และเสนอแนวทางแก้ไขให้ภาครัฐควรออกนโยบายสนับสนุนให้คนไทยมีลูกเพิ่มขึ้น เช่น โครงการลูกคนแรก โดยรัฐช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่าย การเลี้ยงดูให้กับครอบครัวที่มีลูกคนแรก รวมถึงให้เงินอุดหนุน หรือลดภาษีสำหรับครอบครัวที่มีลูกคน 2 และ 3  นอกจากนี้ควรเรียกเก็บภาษีคนโสด ภาษีคนไม่มีลูก กระตุ้นให้มีครอบครัวเพื่อลดภาระงบประมาณ การใช้สวัสดิการดูแลของภาครัฐในอนาคตนั้น

ต่อมาได้มีกระแสวิจารณ์ตามาจำนวนมาก ทำให้โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายธีรัตน์ รัตนเสวี โพสต์ปฏิเสธข่าวดังกล่าวในเฟซบุ๊คว่าไม่เกี่ยวอะไรกับรัฐบาล "เป็นอีกวันที่รู้ว่าคนไทยอ่านข่าวเฉพาะ Headline เพราะเรื่องการเก็บภาษีคนโสด เป็นแนวคิดของนักวิชาการคนหนึ่ง รัฐบาลยังไม่มีนโยบายเรื่องภาษีอะไรแบบนั้นทั้งสิ้น - feeling tired."

 

อ่านกฎหมายเก็บภาษีชายโสดสมัยจอมพล ป. 

จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี (ที่มา: วิกิพีเดีย)

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้เมื่อปี พ.ศ. 2487 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และนายปรีดี พนมยงค์ เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 เคยมีการออกกฎหมาย "พระราชบัญญัติพาสีชายโสด พุทธสักราช 2487" ตีพิมพ์ใน ราชกิจจานุเบกษา 18 มกราคม 2487 มีเนื้อหาว่า ชายที่มี "ภาวะเปนโสด" หรือผู้ที่ไม่มีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือมีภรรยาโดยชอบด้วยกดหมายแต่ขาดจากกันแล้ว และเป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ปีละ 960 บาทขึ้นไป ให้เก็บ "พาสีชายโสด" เป็นเงิน 5 บาท หรือในอัตราร้อยละ 10 ของภาษีเงินได้ที่ต้องเสีย แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า

โดยกฎหมายดังกล่าว ยกเว้นการเก็บภาษีชายโสดที่เป็นพระภิกษุ ผู้ที่มีลูก ผู้ต้องโทษอาญาอยู่ในเรือนจำ เป็นโรคติดต่อร้ายแรง ทำการสมรสไม่ได้โดยมีอวัยวะสืบพันธุ์ไม่สมบูรณ์ เป็นบุคคลวิกลจริต หรือรับราชการทหารกองประจำการ หรือตำรวจตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร โดยเนื้อหาของกฎหมายมีดังนี้ (รูปตัวสะกดเป็นไปตามยุคนั้น)

"โดยที่สภาผู้แทนราสดรลงมติว่า สมควนเก็บพาสีชายโสด จึงมีพระบรมราชโอกาสไห้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราสดร ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ไห้เรียกว่า "พระราชบัญญัติพาสีชายโสด พุทธสักราช 2487"
มาตรา 2 ไห้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาสไนราชกิจจานุเบกสาเปนต้นไป

มาตรา 3 ไนพระราชบัญญัตินี้
"ปี" หมายความว่า ปีปติทิน

"ภาวะเปนโสด" หมายความว่า ภาวะที่ไม่มีภรรยาโดยชอบด้วยกดหมาย หรือมีภรรยาโดยชอบด้วยกดหมายแต่ขาดจากกันแล้ว

"ชาย" หมายความว่า ชายมีสัญชาติไทย และมีอายุตั้งแต่ 25 ปีบริบูรน์ แต่ไม่เกิน 45 ปีบริบูรน์ ไนวันต้นของปีที่ล่วงมาแล้ว

มาตรา 4 ไนการประเมินพาสีเงินได้ตามประมวนรัสดากรจำนวนซึ่งถึงคราวประเมินเรียกเก็บไนปี 2488 และปีต่อไปถ้าปรากตแก่เจ้าพนักงานประเมินว่า ผู้ยื่นรายการผู้ไดเปนชายซึ่งหยู่ในภาวะเปนโสดตลอดปีที่ล่วงมาแล้ว มีเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ปีละ 960 บาทขึ้นไป ไห้เจ้าพนักงานประเมิน ประเมินเรียกเก็บพาสี เรียกว่าพาสีชายโสดเงิน 5 บาท หรือไนอัตราร้อยละ 10 ของพาสีเงินได้ที่ต้องเสีย แล้วแต่หย่างไดจะมากกว่า และแจ้งจำนวนพาสีให้ผู้ยื่นรายการดังกล่าวซาบเช่นเดียวกับพาสีเงินได้

มาตรา 5 ไห้ผู้ยื่นรายการที่ได้รับซาบจำนวนพาสีตามมาตรา 4 มีหน้าที่ต้องเสียพาสีชายโสด และให้เสียพายไนกำหนดเวลาเช่นเดียวกับพาสีเงินได้

มาตรา 6 ในการปฏิบัติจัดเก็บพาสีชายโสดนี้ ไห้นำบทบัญญัติแห่งประมวนรัสดากรมาไช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 7 ผู้ที่สแดงหลักถานเปนที่พอไจได้ว่า ตลอดปีที่ล่วงมาแล้ว
(ก) เปนพระภิกสุ
(ข) มีลูกที่ยังมีชีวิตอยู่
(ค) ต้องรับอาญาหยู่ไนเรือนจำ
(ง) เปนโรคติดต่อหย่างร้ายแรง
(จ) ทำการสมรสไม่ได้โดยมีอวัยวะสืบพันธุ์ไม่สมบูรน์
(ฉ) เปนบุคคลวิกลจริต หรือ
(ช) รับราชการทหานกองประจำการ หรือตำหรวดตามกดหมายว่าด้วยการรับราชการทหาน

ไห้ได้รับยกเว้นพาสีชายโสด

มาตรา 8 ไห้รัถมนตรีว่าการกะซวงการคลังรักสาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม"

โดยกฎหมายดังกล่าว มีการยกเลิกไปในสมัยนายควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีการออกพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติภาษีชายโสดขึ้นมาแทน โดยมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 9 มกราคม พ.ศ. 2488

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อ่านหนัง‘เพลิงในเลือด’การผูกขาดตลาดยา อดีตรันทดสู่อนาคตสลัวยุคการค้าเสรี

Posted: 06 Sep 2013 04:44 AM PDT

 

"FIRE IN THE BLOOD" - Medicine, Monopoly and Malice หรือในชื่อไทย "เพลิงในเลือด – ยา การผูกขาด การปองร้าย" ถูกจัดฉายในโครงการ "หนังขายยา" ครั้งที่ 2 จัดขึ้นโดยหลายหน่วยงานที่รณรงค์เรื่องการเข้าถึงยา หลังจากเมื่อปี 2550 เคยมีการจัดฉายหนังขายยามาแล้วเรื่อง Dying for Drugs

เพลิงในเลือด กำกับโดย DYLAN MOHAN GRAY เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ถูกกล่าวถึงในเทศกาล Sundance Film ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 17 – 23 มกราคม ที่ Park City ในรัฐ Utah ประเทศสหรัฐฯ และถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Grierson British Documentary Award ที่ประเทศอังกฤษ สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เปิดโปงเรื่องราวแวดวงอุตสาหกรรมผลิตยารักษาโรคข้ามชาติ ที่ใช้สิทธิบัตรผูกขาดตลาด  สร้างเงื่อนไขทางการค้า ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยารักษาโรคเอดส์ในราคาที่เป็นธรรมในทวีปอัฟริกา และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ทั่วโลกหลังจากปี 1996 เป็นต้นมา



สารคดีฉายให้เห็นปัญหาในอูกันดา  โมซัมบิก และประเทศในแถบแอฟริกาอื่นๆ ที่ประชาชนผู้ติดเชื้อเอชไอวีล้มตายเป็นใบไม้ร่วง สาเหตุประการแรกและประการเดียว คือ ราคายาต้านไวรัสในประเทศเหล่านั้นแพงลิบลิ่วเกินกว่าที่พวกเขาจะซื้อหาได้ ยาเหล่านี้ผลิตขึ้นโดยบรรษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติและล้วนได้รับสิทธิบัตรซึ่งไม่อนุญาตให้มีการผลิตหรือนำเข้า ยาชื่อสามัญ (Generics) ที่สรรพคุณเหมือนหรือใกล้เคียงกันแต่ราคาถูกกว่ามากเข้ามาในประเทศได้

หนังสัมภาษณ์ แซกกี อัคมัท  เอ็นจีโอจากกลุ่มรณรงค์ Treatment Action Campaign (TAC) ในแอฟริกาใต้ ซึ่งช่วยยกตัวอย่างให้ชัดเจนว่า ในขณะที่ยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับผู้ติดเชื้ออย่าง ฟลูโคนาโซล ขายที่เมืองไทยแคปซูลละไม่ถึง 2 บาท แต่ที่แอฟริกาใต้นั้นนั้นราคาสูงถึงพันกว่าบาท

ในปี 2543 ยอดขายยาฟลูโคนาโซลของบริษัทไฟเซอร์อยู่ที่ 40,000  ล้านบาทต่อปี โดยราคายาสูงถึงเม็ดละ 1,600 บาท ขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ยรายสัปดาห์ในแอฟริกาซึ่งเป็นประเทศร่ำรวยที่สุดของทวีปนั้น อยู่ที่ 2,720 บาท

ทางออกที่พวกเขาพอจะทำได้คือการพยายาม "ลักลอบ" นำยาเหล่านั้นเข้ามาเพื่อช่วยชีวิตคน..แค่จำนวนหนึ่ง จากยอดการเสียชีวิตนับพันคนต่อวัน 

ความสำคัญของยาต้านไวรัสและการเข้าถึงยานั้นถูกขับเน้นให้เด่นชัดมากขึ้น โดยการฉายภาพเปรียบเทียบกับชีวิตของผู้พิพากษา คนอีกชนชั้นหนึ่งที่สามารถเข้าถึงยาต้านไวรัสได้

เอดวิน แคเมอรอน  เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ เขาติดเชื้อเอชไอวีเมื่อปี 2539 และป่วยหนัก แต่ก็นับว่าโชคดีเมื่อในช่วงเวลานั้นสูตรผสมของยาต้านไวรัสหรือเออาร์วี สามขนานได้รับการยืนยันว่าสามารถใช้ต้านเชื้อเอชไอวีได้ผล  ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากเอดส์ลดลงได้ถึง 80% เขาซื้อหามันมาต่อชีวิตด้วยสนนราคากว่า 60,000 บาทต่อปี (ปี 2543) แต่มันแพงเกินกำลังซื้อของประชาชนหลายสิบล้านคน …

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ นักหนังสือพิมพ์อาชีพคนแรกของแอฟริกาตะวันออกที่ประกาศต่อสาธารณะว่าเขาติดเชื้อเอชไอวี   "เอลวิส บาซุดเด กเยยุน" ทำงานกับหนังสือพิมพ์ชื่อวิสัยทัศน์ใหม่' เขามีชีวิตอยู่ต่อได้ด้วยยาต้านไวรัสแสนแพงเช่นเดียวกัน ก่อนที่แม่ของเขาจะหัวใจสลาย

"ถ้าผมตาย ก็จะเป็นคนที่แปดในครอบครัวเดียวกันที่เอดส์คร่าชีวิตไป ผมไม่ได้หมายถึงญาติๆ แต่หมายถึงพี่น้องท้องเดียวกันของผม  แม่ผมรับไม่ไหวเลย"   กเยยุนกล่าว

ไม่เพียงฉายให้เห็นความยากลำบากของชีวิตผู้คนในประเทศยากจน สารคดีเรื่องนี้ยังพยายามคลี่ต้นเหตุอันซับซ้อนของราคายาที่สูงลิ่ว โดยอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ เจมส์ พี. เลิฟ  โครงการผู้บริโภคด้านนิเวศวิทยาสากล โดยเริ่มต้นที่ "ต้นทุน" ของการค้นคว้าวิจัย ว่า  บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้จ่ายเงินเป็นค่าโฆษณา ค่าการตลาด มากกว่าการทำวิจัยและพัฒนามากนัก  โดยเฉลี่ยแล้ว ยอดขายทุกหนึ่งดอลลาร์ จะหักเป็นค่าวิจัยและพัฒนายาไปไม่ถึง 1.5 เซนต์ หรือราว 1.3% ของรายได้จากการขาย ส่วนเงินส่วนใหญ่นั้นหมดไปกับฝ่ายขาย  และเป็นเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น 

"บริษัทยายักษ์ใหญ่พวกนี้ ไม่มีน้ำยาเรื่องวิจัยและพัฒนา ที่ใหญ่ขึ้นมาได้แท้จริงก็ด้วยการไปซื้อ  เทคโนโลยีของคนอื่นเขามา  84 % ของงานวิจัยทั่วโลก  เพื่อการค้นคว้าเรื่องยา ได้ทุนสนับสนุนจากรัฐบาลและแหล่งทุนของรัฐ  แต่บริษัทยาให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยดังกล่าวแค่ 12% เท่านั้น" เลิฟกล่าว

ด้วยต้นทุนเท่านี้เมื่อได้รับสิทธิบัตรแล้วก็สามารถผูกขาดตลาด และการกำหนดราคาไปได้อีกนาน

แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตเฉพาะในแอฟริกาใต้เกือบ 2 ล้านคน ในปี 2543 ทำให้ผู้คนไม่สามารถยอมจำนนต่ออุปสรรคใดๆ ได้

หมอบางคนกระเสือกกระสนติดต่อขอผ่อนผันกับบริษัทเจ้าของสิทธิบัตรเพื่อนำเข้ายาชื่อสามัญราคาถูกที่ผลิตได้ในประเทศอื่น แต่บริษัทปฏิเสธเสียงแข็ง ด้วยเหตุผลว่ากลัวว่าการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ จะเป็นเยี่ยงอย่างที่กระทบกับตลาดในอนาคต ทั้งที่ยอดขายของบรรษัทยาเหล่านี้ในแอฟริกานั้นมีเพียง 1% เท่านั้น  ยอดขายที่เหลือส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปและอเมริกา

การต่อสู้เพื่อให้ประชาชนในประเทศยากจนในแอฟริกาได้รับยาต้านไวรัสพื้นฐานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย สารคดีเรื่องนี้ฉายให้เห็นจุดเปลี่ยนสำคัญๆ ที่เกิดจากความร่วมมือของคนเล็กๆ

ในเดือนกรกฎาคม 2543 มีการจัดสัมมนาระหว่างประเทศว่าด้วยเอดส์รายสองปี ขึ้นเป็นครั้งแรกที่แอฟริกา  ทวีปที่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีกว่าสองในสามของโลกอาศัยอยู่ มีรายงานว่าประชาชนกว่าสองล้านคน   เสียชีวิตในปีนั้นเพียงปีเดียว

ในเดือนกันยายน 2543 ยูซุฟ ฮามีด นักเคมีอินเดียที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์  มีบริษัทผลิตยาชื่อสามัญชื่อว่า ซิพลา ตั้งอยู่ที่มุมไบ  เขาเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญ ครั้งหนึ่งขาได้รับเชิญจากคณะกรรมาธิการยุโรปที่กรุงบรัสเซลส์  ให้ไปพูดคุยกับรัฐมนตรีสาธารณสุข และผู้นำของรัฐบาลจากหลายประเทศรวมทั้งผู้บริหารสูงสุดของบริษัทยายักษ์ใหญ่ทั้งหลาย  ในหัวข้อการเข้าถึงยาในโลกกำลังพัฒนา โดยเฉพาะยารักษาเอชไอวี/เอดส์  ฮามีดนำเสนอข้อเสนอที่สั่นสะเทือนวงการอุตสาหกรรมยา โดยเสนอรูปธรรมให้เลือก 3 แบบสำหรับการช่วยเหลือ

แบบแรกจัดส่งยาต้านเอดส์สูตรผสมให้ในราคา 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ  

แบบที่สอง ให้ความรู้ความชำนาญในการผลิตยาต้านเอดส์  แก่รัฐบาลของประเทศโลกที่สาม  ที่ต้องการนำเทคโนโลยีไปพัฒนาเอง โดยให้เทคโนโลยีฟรี

แบบที่สาม หนึ่งในสามของตัวยาสามารถที่จะหยุดยั้งการแพร่เชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้ จึงควรให้ฟรีทั่วโลกเลย 

ข้อเสนอเหล่านั้นทำให้ทุกคน ตะลึงอ้าปากค้าง และส่งผลสะเทือนรุนแรงต่อวงการการเมืองและวงการยา แต่ก็ไม่มีใครยอมรับข้อเสนอของเขา

ยูซุฟ ฮามีด เป็นเจ้าของบริษัทชื่อซิพลาตั้งอยู่ที่เมืองมุมไบ  บริษัทนี้เป็นบริษัทที่พ่อเขาตั้งขึ้นเมื่อปี 2478 ซิพลาเริ่มผลิตยาต้านไวรัสชื่อสามัญ   เมื่อต้นทศวรรษที่ 2533 ตามคำขอร้องของรัฐบาลอินเดีย  ยูซุฟ ฮามีดเป็นพลังขับเคลื่อนในการโน้มน้าวนายกฯอินทิรา คานธี  ให้เขียนกฎหมายสิทธิบัตรของอินเดียเสียใหม่ในทศวรรษที่ 2503เพื่อลดการที่อินเดียจะต้องพึ่งพา  ยาติดสิทธิบัตรราคาแพงๆ จากตะวันตก

เขาเป็นตัวละครสำคัญที่ทำให้สถานการณ์พลิก เมื่อเขาตัดสินใจผลิตยาต้านไวรัสชื่อสามัญเสียเองแบบยอมขาดทุน

วันที่ 6 กุมภาพันธ 2544 ซิพลาเสนอราคายาต้านไวรัสสูตรผสมสามอย่างในราคา 15,050.00 บาท ต่อคนต่อปี ในขณะที่ราคายาต้านไวรัสสูตรแรกขณะนั้น  ขึ้นสูงถึง 645,000.00 บาทต่อปี

แต่กล้าผลิตยังไม่เพียงพอ ผู้ซื้อก็ต้องกล้าซื้อด้วย เพราะนั่นหมายถึงการทำผิดกฎหมายสิทธิบัตร

ปีเตอร์ มูเกียนี  เป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและรักษาโรคเอดส์ ที่ใหญ่ที่สุดของแอฟริกา  Joint Clinical Research Centre (JCRC) ตั้งที่อูกันดา เขาตัดสินใจติดต่อบริษัทซิพลาที่อินเดียเพื่อสั่งสื้อยาต้านไวรัสราคาถูกที่นั่น ทั้งที่กฎหมายสิทธิบัตรนั้นห้ามการนำเข้ายาชื่อสามัญจากที่อื่น เมื่อยาที่สั่งส่งมาถึงสนามบิน เจ้าหน้าที่ศุลกากรอูกันดายึดยาเอาไว้ทันทีและจับกุมตัวมูเกียนีไว้   แต่เขาก็ยืนกรานไม่ยอมถอย  ในที่สุดทางการอูกันดาก็ตกลงยินยอมให้นำยาต้านไวรัสชื่อสามัญจากอินเดียเข้าประเทศได้   โดยเสี่ยงเอาว่าถึงที่สุดแล้วรัฐบาลตะวันตกจะไม่เอาโทษ ที่ใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อช่วยชีวิตประชาชนของตนไม่ให้เสียชีวิตมากมายอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน  ปรากฏว่าเสี่ยงแล้วได้ผล เริ่มมีการส่งยาต้านไวรัสชื่อสามัญเข้าไปในอูกันดาอย่างไม่ขาดสาย  ส่งผลให้การปิดกั้นการส่งยารักษาเอดส์ราคาถูกให้แอฟริกา  ต้องยกเลิกไป  จำนวนผู้คนที่สามารถเข้ารับการรักษาได้  สูงขึ้นเป็นสิบเท่า อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย

หลังจากปฏิบัติการของดร.มูเกียนีในอูกันดา  ประเทศในแอฟริกาจำนวนมากก็ใช้ประโยชน์จากข้อยกเว้นว่าด้วย"ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข"  เปิดทางให้นำเข้ายาต้านไวรัสชื่อสามัญได้

อีกจุดเปลี่ยนหนึ่งที่สำคัญคือ ในการประชุมพิเศษครั้งหนึ่งที่แอฟริกา โคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ   แถลงถึงปฏิบัติการตอบสนองซึ่งประชาคมระหว่างประเทศรอคอยกันมานานแล้ว  นั่นคือ การเสนอให้จัดตั้งกองทุนระดับโลก  เพื่ออุทิศให้การทำสงครามต่อสู้กับการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์  กองทุนโลกดังกล่าวจัดตั้งขึ้นในปี 2545แต่ไม่นานนัก ก็ปรากฏชัดว่าการช่วยชีวิตผู้คน  มิใช่เป้าหมายสำคัญสูงสุดเพียงอย่างเดียว  วิลเลี่ยม ฮัดดัดด์  ประธานบริหาร บริษัทไบโอเจเนอริคส์บอกว่าถ้านำเงินจากกองทุนไปซื้อยาชื่อสามัญ 

 

ทั้งหมดนี้คือการเล่าถึงอดีต

 


จิราพร ลิ้มปานานนท์ (ภาพจาก เพจ FTA Watch)
 

แต่สิ่งที่หนังสารคดีเรื่องนี้ยังไม่ได้เล่า และเป็นภาคต่อที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันก็คือ อุปสรรคในการเข้าถึงยาผ่านระบบกฎหมายสิทธิบัตรซึ่งมาพร้อมกับการค้าเสรี

"โลกตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป กำลังเรียกร้องมาตรฐานทรัพย์สินทางปัญญาแบบใหม่ ที่ไกลเกินกว่าข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการเข้าถึงยาของโลกกำลังพัฒนา ด้วยมาตรฐานแบบใหม่เช่นนี้ การแข่งขันของยาชื่อสามัญ โดยเฉพาะสำหรับใช้รักษาเอชไอวีและเอดส์ จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เมื่อไม่มีการแข่งขัน ราคายาจะแพงจนเกินเอื้อมถึงสำหรับคนจน" คุณคาจาล บาร์ดวาจ นักกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาและสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวทางสังคมจาก อินเดียกล่าวในการเสวนาหลังชมภาพยนตร์

"เราตัดสินใจนำภาพยนต์เรื่องนี้เข้ามาฉายที่นี่ วันนี้ เพราะมันเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในไทยในตอนนี้ ซึ่งก็คือการเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ข้อเรียกร้องเรื่องทริปส์พลัสของสหภาพยุโรปเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้", ดร. จิราพร ลิ้มปนานนท์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยและสหภาพยุโรปได้เริ่มขึ้นเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา จากเนื้อหาการเจรจาที่รั่วไหลออกมาสู่สาธารณะและงานศึกษามากมายเกี่ยวกับเอ ฟทีเอของสหภาพยุโรป แสดงให้เห็นว่าสหภาพยุโรปกำลังยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและการ คุ้มครองการลงทุนให้สูงขึ้น และเรียกร้องให้มีเงื่อนไขด้านการค้าที่เข้มงวดยิ่งกว่ามาตรฐานโลก

การเจรจาเอฟทีเองระหว่างไทยและสหภาพยุโรปรอบที่ 2 จะมีขึ้นที่เชียงใหม่ วันที่ 16-20 ก.ย. นี้ และยังไม่รู้ว่าบทสรุปจะเป็นอย่างไร

 

 

* ขอขอบคุณข้อมูลจากคุณกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้จัดงาน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยุกติ มุกดาวิจิตร

Posted: 06 Sep 2013 03:31 AM PDT

"ยกเลิกการมีชุดนักศึกษา มหาวิทยาลัยไม่ใช่โรงเรียนทหาร ไม่ใช่โรงงาน ไม่ใช่บริษัท ไม่ใช่ที่ฝึกงาน จึงไม่จำเป็นต้องบังคับเรื่องการแต่งกาย ชุดนักศึกษาเป็นการกดขี่ปิดกั้นการแสดงออกขั้นพื้นฐาน คือการแสดงออกในร่างกายตัวตนของนักศึกษา นักศึกษาต้องสามารถเลือกและตัดสินใจเองได้ว่า อะไรควรอะไรไม่ควร แม้ทุกวันนี้ผู้บริหารจะบอกว่าชุดนักศึกษาเป็นทางเลือก แต่หลายคณะก็ยังใช้อำนาจบังคับให้นักศึกษาสวมชุดนักศึกษา นักศึกษาต้องมีเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งตัวตนของตนเอง ไม่ใช่ต้องให้ใครมาบอกว่าจะแต่งตัวอย่างไร"

1 ในข้อเรียกร้องถึงว่าที่อธิการบดี มธ.

เชน เทือกสุบรรณ ขอโทษประชาชนต่อเหตุการณ์โยนเก้าอี้ในสภา

Posted: 06 Sep 2013 03:29 AM PDT

ระบุเหตุเกิดขึ้นเป็นเพราะถูกตัดสิทธิ์อภิปรายเป็นปากเสียงให้ประชาชนที่เดือดร้อนเรื่องยางพารา จึงเกิดความกดดันและปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง ด้านรองประธานสภาได้รับการขอโทษจากนายเชนแล้ว พร้อมขอให้ใจเย็นๆ ขณะที่ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ขอให้ประชาชนพิจารณาว่าสาเหตุความขัดแย้งคืออะไร และทำความเข้าใจเพื่อให้ประชาธิปไตยเดินหน้า

นายเชน เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี (แฟ้มภาพ/รัฐสภา)

ตามที่เกิดเหตุนายเชน เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ โยนเก้าอี้ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานสภา เมื่อคืนวานนี้ (5 ก.ย.) นั้น ล่าสุดนายเชนได้กล่าวขอโทษแล้ว

โดยในวันนี้ (6 ก.ย.) นายเชนระบุว่าต้องขอโทษพี่น้องประชาชน เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง แต่ต้องเรียนว่าเป็นความกดดัน โดยการทำงานในสภาเราคิดว่าสภาเป็นที่ๆ เอาเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมาพูดในเรื่องปัญหายางพารา โดยตัวเขาคิดว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้แทนจะต้องได้รับโอกาสเป็นปากเป็นเสียงแทนพี่น้องประชาชน แต่การถูกตัดสิทธิในการทำหน้าที่แทนพี่น้องประชาชน ก็ไม่ทราบว่าจะไปพูดกับพี่น้องประชาชนที่เลือกตั้งมาอย่างไร ก็เกิดเป็นความกดดันขึ้นมาและปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง

ทั้งนี้มีรายงานข่าวด้วยว่า หลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อคืนวานนี้นั้น นายเชนได้มารอพบนายวิสุทธิ์ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และได้กล่าวขอโทษที่ได้กระทำการดังกล่าว โดยนายวิสุทธิ์ได้ขอให้นายเชนใจเย็นๆ ในการประชุมครั้งต่อไป และกล่าวว่าเข้าใจความเป็นห่วงประชาชนของนายเชน

สำหรับช่วงที่เกิดเหตุดังกล่าว ในวิสุทธิ์ ได้กล่าวห้ามนายเชนว่า "ท่านเชน ใจเย็นๆ ท่านเชน ใจเย็นๆ ท่าน" "ท่านเชนไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน ท่านใจเย็นๆ" พร้อมขอให้นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.พรรคเดียวกับนายเชนให้ใจเย็นๆ ด้วย

 

อภิสิทธิ์ขอให้ประชาชนพิจารณาสาเหตุความขัดแย้ง และทำความเข้าใจเพื่อให้ประชาธิปไตยเดินหน้า

ขณะที่ ประชาชาติธุรกิจ รายงานคำกล่าวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งกล่าววันนี้ (6 ก.ย.) ในระหว่างการปาฐกถาพิเศษ "ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรพบประชาชน" ตอนหนึ่งกล่าวว่า สังคมจะปรองดองได้คือการยอมรับความหลากหลายและเปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ฝ่ายค้านเป็นตัวแทนประชาชนสะท้อนความคิดเห็น เราไม่ได้ค้านทุกเรื่อง จะค้านแค่บางเรื่อง แต่การถกเถียงด้วยเหตุผลอาจถูกมองว่าเป็นการทะเลาะกัน ยืนยันว่าจะขับเคลื่อนทั้งในและนอกสภาโดยไม่ละเมิดสิทธิใคร แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในสภาเพราะไม่มีการปฏิบัติตามข้อบังคับ

"รู้สึกตกใจที่เห็นนายเชน เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ปชป. ทุ่มเก้าอี้ในสภา เพราะอึดอัดถูกปิดปากไม่ให้พูดถึงปัญหายางพารา จึงมีอารมณ์ ขอประชาชนอย่าเบื่อหน่ายการเมือง ขอให้ดูว่าสาเหตุความขัดแย้งคืออะไรและทำความเข้าใจเพื่อให้ประชาธิปไตยเติบโตและเดินไปข้างหน้า นายเชนก็รู้สึกเสียใจ และได้กล่าวคำขอโทษ แต่หากสภาเปิดโอกาสให้สมาชิกได้อภิปรายจริงๆ ก็คงจะไม่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ผมก็ได้เตือนสมาชิกอยู่ตลอดว่า แม้จะหงุดหงิดอย่างไรก็แล้วแต่ก็ต้องระมัดระวังพฤติกรรมทั้งหลาย"

 
ที่มาของภาพประกอบ: เว็บไซต์รัฐสภา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมาคมนักข่าวร่อนจดหมายกรณีรถนักข่าวถูกเผา

Posted: 06 Sep 2013 03:22 AM PDT

 
6 ก.ย. 56 - สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกจดหมายเปิดผนึกทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์ความรุนแรงในการชุมนุมเรียกร้องให้มีการ ประกันราคายางพารา กรณีกลุ่มบุคคลได้เผาและทำลายรถนักข่าวที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
จดหมายเปิดผนึกถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์ความรุนแรงในการชุมนุมเรียกร้องให้มีการประกันราคายางพารา
 
เรื่อง กรณีกลุ่มบุคคลได้เผาและทำลายรถนักข่าวที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
 
จากกรณี เมื่อเวลา 01.30 น. ของวันนี้ (วันที่ 6 กันยายน 2556) เกิดเหตุการณ์ที่มีกลุ่มบุคคลไม่ทราบฝ่ายก่อเหตุใช้ระเบิดเพลิงปาใส่รถนักข่าวท้องถิ่นของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ รวมทั้งมีการทุบตีรถนักข่าวท้องถิ่นของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวสถานการณ์การชุมนุมเรียกร้องแก้ไขราคายางตกต่ำของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง ที่ บ้านธรรมรัตน์ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 5 กันยายน 2556 จนได้รับความเสียหาย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้กระทำก็ตาม เป็นการกระทำที่อุกอาจ ใช้ความรุนแรงเป็นการข่มขู่ คุกคามสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนโดยรวมอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย มุ่งข่มขู่คุกคามโดยตรงต่อทีมข่าวช่อง 3 ,หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และทีมข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวในพื้นที่บ้านธรรมรัตน์ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อนำข้อมูล ข้อเท็จจริงและความจริงเสนอต่อสาธารณชน
 
ดังนั้นสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอให้กำลังใจกับเพื่อนสื่อมวลชนที่ได้ถูกกระทำและรถยนต์เสียหายจากเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้และมีข้อเรียกต่อทุกฝ่ายดังต่อไปนี้
 
1. เหตุการณ์ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความสูญเสียแก่ทุกฝ่ายทั้งประชาชนที่มาร่วมชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจและสื่อมวลชน สมาคมทั้งสองขอเรียกร้องให้แต่ละฝ่ายใช้สิทธิตามกรอบของกฎหมาย เคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกัน มีความอดทนไม่ใช้ความรุนแรงและควรแก้ปัญหาด้วยการเจรจาตามแนวทางสันติวิธี
 
2.เพื่อความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังมีข้อมูลและข้อเท็จจริงที่หลากหลายจากฝ่ายๆ ต่าง สมาคมทั้งสองขอเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางและเป็นอิสระขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงโดยเฉพาะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องทำหน้าที่นี้
 
3.ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายตระหนักว่าสื่อมวลชน ผู้สื่อข่าว ช่างภาพ ทำหน้าที่รายงานข่าวและข้อเท็จจริงตามหน้าที่ของตนไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับ ใคร เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรตกเป็นเป้าหมายของการข่มขู่ คุกคามและแทรกแซงไม่ว่าจากฝ่ายใด ซึ่งหากสื่อถูกข่มขู่และคุกคามจนไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ จะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ไม่สามารถรับรู้ข่าวสารข้อมูลและข้อเท็จจริงได้ อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
 
4.ขอให้สื่อมวลชนทุกแขนง ทำหน้าที่รายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมา สมดุลเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ระมัดระวังการรายงานที่อาจสร้างความโกรธแค้นชิงชังมากขึ้นและพึงตระหนักว่าการลงไปทำข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งซึ่งข่าวที่นำเสนออาจทำให้บางฝ่ายไม่พอใจการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนและเกิดความรุนแรงเกิดขึ้นได้
 
5.หากผู้ใดที่ได้รับผลกระทบจากการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน กรณีเห็นว่าสื่อมวลชนใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขต สามารถฟ้องร้องได้ตามกฎหมายหรือใช้กลไกควบคุมจริยธรรมขององค์กรวิชาชีพสื่อผ่านสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ หรือสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย แต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรงคุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน
 
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอให้สื่อมวลชนทุกแขนงทำหน้าที่นำเสนอข่าวสารโดยยึดมั่นในกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง รอบด้าน ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซื่อสัตย์ในวิชาชีพ เพื่อประโยชน์และสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน
 
6 กันยายน 2556
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทั่วโลกกำลังเรียกร้องความร่วมมือด้านน้ำ

Posted: 06 Sep 2013 02:37 AM PDT

งานสัปดาห์น้ำโลก (World Water Week) จัดขึ้นทุกปีที่สต๊อกโฮล์มเมืองหลวงของสวีเดน ปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-6 กย. 56 ภายใต้แนวคิดหลักคือ "ความร่วมมือด้านน้ำ" ตามแนวคิดหลักขององการณ์สหประชาชาติ (UN)

 


นาย Jan Eliasson รองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) กล่าวในพิธีเปิดงานวันที่ 2 ก.ย. 56 (คลิกดูภาพเพิ่มเติม)
 
 
งานสัปดาห์น้ำโลก (World Water Week) จัดขึ้นทุกปีที่สต๊อกโฮล์มเมืองหลวงของสวีเดน ปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-6 กย. 56 ภายใต้แนวคิดหลักคือ "ความร่วมมือด้านน้ำ" ตามแนวคิดหลักขององการณ์สหประชาชาติ (UN) ที่ได้กำหนดหัวข้อหลักในแต่ละปีไว้ต่างกันไปตามสถานการณ์โลก อย่างปี 2555 ก็เป็นเรื่อง "น้ำและความมั่นคงทางอาหาร" ปี 2557 จะเป็น "น้ำกับการพัฒนา" และปี 2558  "น้ำและพลังงาน"  และยูเอ็นยังได้กำหนดให้ปีนี้เป็น "ปีแห่งความร่วมมือโลกด้านน้ำ"
 
พิธีเปิดงานจัดอย่างยิ่งใหญ่มีผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำและผู้นำจากทั่วโลกกว่ามาร่วมกว่า 2,500 คนทั้งนักวิชาการ องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ ภาครัฐ นักการเมือง และนักธุรกิจ รวมถึงรองเลขาธิการยูเอ็นที่มาร่วมกล่าวเปิดงาน
 
ในเวทีอภิปรายของผู้นำระสูงในช่วงพิธีเปิดงานนายปีเตอร์ บาร์กเกอร์ ได้กล่าวว่า เราจำเป็นที่จะต้องสร้างภาษาใหม่ขึ้นมาสื่อสารกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์และนักธุรกิจและสร้างความไว้ใจกัน
 
การสัมนาเป็นไปอย่างเข้มข้นตลอดทั้ง 6 วันตั้งแต่เช้าถึงหนึ่งทุ่มแม้กระทั่งช่วงเที่ยงก็มีการแบ่งห้องย่อยจัดการเสวนา 
 
ภายใต้แนวคิดหลักเรื่องความร่วมมือ มีคำสำคัญถูกพูดถึงตลอดทั้งงานอยู่หลายคำ แต่สองคำหลักคือ ความซับซ้อน (complexity) และความไม่แน่นอน (uncertainty) ของเรื่องน้ำ ซึ่งหมายถึงการจัดการน้ำเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่างๆอย่างซับซ้อนไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง และสิ่งแวดล้อม และเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน หลายระดับ ภายใต้ภาวะการณ์ปัจจุบันของโลกที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนผ่านในด้านต่างๆทั้งด้านภูมิอากาศ สังคม การเมือง เศรษฐกิจ ฯลฯ 
 
สองปัจจัยนี้เป็นเหตุผลสำคัญที่โลกจำเป็นต้องเรียกร้องความร่วมมือในการจัดการน้ำ เพราะไม่มีภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งจะแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำที่ซับซ้อนนี้ได้โดยลำพัง  และการสื่อสารก็เป็นหัวใจสำคัญของการสร้างความร่วมมือ 
 
แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจะต่างออกไปอย่างมาก ในเวลานี้ภาครัฐกำลังเร่งรีบผลักดันโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน โดยไม่สนใจความร่วมมือของภาคประชาสังคม   การสื่อสารและการสร้างความร่วมมือถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นแค่ฉาก   ประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นและขอมีส่วนร่วมกลับถูกด่าว่าเป็น "พวกขยะ"
 
ในวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา ส.ส.ท่านหนึ่งได้ลงไปชี้แจงข้อมูลกับชาวบ้านเรื่องเขื่อนแม่แจ่มว่า "ไม่มีโครงการอื่นใด นอกจากโครงการอ่างแม่มุโครงการเดียว" "พื้นที่ทั้งหมดเนี่ยจะกักเก็บน้ำได้ประมาณ 17 ล้านลูกบาตเมตร ไม่ใช่อ่างใหญ่" และยังได้ย้ำกับชาวบ้านว่าอย่าได้ตกอกตกใจกันเกินไป ชาวบ้านที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจจะถูกเอ็นจีโอหลอกเอาเงิน 
 
แต่ข้อมูลที่สส.ท่านนี้นำไปบอกชาวบ้านกลับตรงกันข้ามกับข้อมูลในนิทรรศการเรื่องโครงการ 3.5 แสนล้านที่รัฐบาลกำลังจัดขึ้นที่ห้างสยามดิสคัพเวอรี่ช่วง 4-12 ก.ย. นี้ ที่ระบุชัดเจนถึงเขื่อนแม่แจ่มโดยมีความจุประมาณ 175 ล้าน ลบม. ตั้งอยู่บน ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
 
ในขณะที่ไทยกำลังมีการเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนผ่านด้านต่างๆ โดยเฉพาะทางสังคมและการเมืองที่ประชาชนมีบทบาทมากขึ้น การสื่อสารในสังคมเป็นไปอย่างรวดเร็ว  แต่การเมืองที่ขาดคุณภาพของไทยยังคงทำให้นักการเมืองก้าวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง และไม่พ้นการมองสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นแค่เรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองและพวกพ้อง   
 
ความร่วมมือในประเทศไทยคงเกิดขึ้นได้ยากหากก้าวไม่ผ่านและไม่ทัน
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดต้นแบบ “ฮ่องกง” ตั้งกองทุนป้องกันนักเล่นพนันหน้าใหม่บทเรียนสู่การแก้ปัญหาการพนันในประเทศไทย

Posted: 06 Sep 2013 02:21 AM PDT

ภาพยนตร์ฮ่องกงอย่าง "คนตัดคน" หรือ "คมเฉือนคม" อันเป็นที่จดจำของคนไทย สอดคล้องกับความเป็นจริงในฮ่องกงที่มีการเล่นการพนันอย่างแพร่หลายและยาวนาน ทำให้รัฐบาลต้องออกนโยบายควบคุมการเล่นการพนัน และหาวิธีการแก้ปัญหาการพนันในประเทศ จนกลายเป็นต้นแบบให้หลากหลายประเทศเข้ามาศึกษาเพื่อนำไปแก้ปัญหาการพนัน

โดย ดร. ชุง คิม วา (CHUNG Kim Wah) จากมหาวิทยาลัยฮ่องกงโปลีเทคนิค นักวิชาการที่ศึกษาปัญหาการพนันในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง

6 ก.ย. 56 - ภาพคุ้นชินของคนไทยทั่วไปผ่านสื่อภาพยนตร์ฮ่องกงอย่าง "คนตัดคน" หรือ "คมเฉือนคม" จะมีเนื้อเรื่องที่เกี่ยวกับการพนันที่เป็นที่โด่งดัง และเป็นที่จดจำของคนไทย ซึ่งในสภาพความเป็นจริงในฮ่องกงเองก็มีภาพการเล่นการพนันอย่างแพร่หลายและยาวนาน อาทิ การเล่นไพ่นกกระจอก ถือเป็นกิจกรรมทางสังคมอย่างหนึ่ง ของสมาชิกในครอบครัวชาวฮ่องกง รวมทั้งยังมีการพนันประเภทอื่นๆ เป็นจำนวนมากที่สร้างปัญหาให้กับเขตปกครองพิเศษฮ่องกง จนทำให้รัฐบาลต้องออกนโยบายควบคุมการเล่นการพนัน และหาวิธีการแก้ปัญหาการพนันในประเทศ จนกลายเป็นต้นแบบให้หลากหลายประเทศเข้ามาศึกษาเพื่อนำไปแก้ปัญหาการพนัน

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ในงานประชุมวิชาการ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพัฒนาการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมในการลดผลกระทบจากการพนัน ซึ่งจัดขึ้นโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ คณะรัฐศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน ได้มีการนำเสนอต้นแบบการจัดการปัญหาการพนันในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดย ดร. ชุง คิม วา (CHUNG Kim Wah) จากมหาวิทยาลัยฮ่องกงโปลีเทคนิค นักวิชาการที่ศึกษาปัญหาการพนันในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง เล่าว่า การพนันในฮ่องกงมีความเป็นมาที่ยาวนาน และมีการพนันที่ได้รับใบอนุญาตหลากหลายรูปแบบ อาทิ ล็อตเตอรี่ การแข่งม้า ซึ่งการพนันเหล่านี้ล้วนมีความเกี่ยวเนื่องกับชีวิตของคนฮ่องกง จนทำให้คนฮ่องกงไม่รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการพนัน และไม่เห็นผลเสียของการเล่นพนันว่ามีผลกระทบอย่างไร จนทำให้คนฮ่องกงจำนวนมากติดพนัน ซึ่งสาเหตุก็เพราะการเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย สำหรับปัญหาในเด็กและเยาวชนในฮ่องกงก็เช่นกัน ปัญหาก็ไม่ต่างจากหลากหลายประเทศ ที่มีปัญหาเด็กและเยาวชนติดพนัน ด้วยเพราะการเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย และที่สำคัญเป็นเพราะการเติบโตมากับสภาพแวดล้อมที่เห็นว่าการเล่นการพนันเป็นเรื่องปกติ ผู้ปกครองก็เห็นว่าการเล่นการพนันเป็นกิจกรรมบันเทิงประเภทหนึ่ง ทำให้ปัญหาการพนันในฮ่องกงขยายวงกว้าง

ทั้งนี้จากรายงานผลการศึกษาที่ดำเนินการโดย มหาวิทยาลัยฮ่องกงโปลีเทคนิค เกี่ยวกับผลกระทบการเล่นการพนันของคนฮ่องกง พบข้อมูลที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นข้อกังวลด้านลบของการพนัน โดยผลสำรวจผู้ให้สัมภาษณ์ที่เล่นการพนัน รวม 1,204 คน กลุ่มผู้เล่นพนันร้อยละ 34.2 ให้ข้อมูลว่า เริ่มเล่นพนันเป็นครั้งแรกเมื่อช่วงที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ร้อยละ 23.4 เริ่มเล่นพนันครั้งแรกเมื่ออายุ 18-19 ปี ทำให้ทราบว่านักเล่นการพนันในฮ่องกงเริ่มเล่นการพนันตั้งแต่เป็นเด็กและเยาวชน ด้วยเหตุนี้ปัญหาการติดพนันของเด็กและเยาวชนในฮ่องกง จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลฮ่องกงให้ความสำคัญมาก จึงได้มีการออกกฎหมายจำนวนมากเพื่อป้องกันเยาวชนและคนในประเทศไม่ให้ติดพนัน โดยรัฐบาลฮ่องกงได้ออกกฎหมายกำหนดให้อนุญาตให้เล่นพนันได้เฉพาะในสถานที่ที่อนุญาตเท่านั้น และยังคงห้ามไม่ให้เล่นการพนันในบ่อนคาสิโนเพราะกังวลถึงผลกระทบทางสังคมที่จะเกิดขึ้น แต่ทั้งนี้หากประชาชนอยากเล่นจะต้องข้ามไปเล่นที่เกาะมาเก๊าที่อนุญาตให้มีการเล่นพนันคาสิโนได้

ดร.ชุง คิม วา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาการเล่นพนันในฮ่องกงจะเป็นการเล่นในลักษณะผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้เม็ดเงินจำนวนมากกระจายไปสู่แวดวงอาชญากรรม และส่งผลให้เกิดปัญหาสังคม ดังนั้นรัฐบาลจึงมีแนวคิดทำให้การพนันเป็นเรื่องถูกกฎหมาย แต่ก็พบว่า เมื่ออนุญาตแล้ว การพนันที่ผิดกฏหมายกลับไม่ลดลง แต่กลับเพิ่มช่องทางเล่นการพนันที่ถูกกฏหมายมากขึ้น อย่างไรก็ตามรัฐบาลฮ่องกงก็ไม่ได้สนับสนุนให้มีการเล่นการพนัน เพราะมีการออกกฎหมายควบคุมอย่างเคร่งครัด รวมทั้งยังได้มีระบบจัดเก็บภาษีจากการพนัน เพื่อนำไปแก้ปัญหาเรื่องการพนัน เช่น การจัดตั้งกองทุน PING WO FUND ที่เป็นกองทุนสาธารณะประโยชน์ ที่จัดทำสื่อทางโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต ที่มุ่งให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชน สร้างการรู้เท่าทันการพนัน เพื่อเป็นการป้องกันนักเล่นหน้าใหม่เข้าสู่วงจรการพนัน

นอกจากนี้ฮ่องกงยังมีมาตรการอื่นๆ ในการควบคุมปัญหาการพนัน โดยได้มอบอำนาจให้หน่วยงานอื่นๆ ควบคุมการออกใบอนุญาต คือ คณะกรรมการทายผลและล็อตเตอรี่ ซึ่งจะจำกัดเฉพาะการพนันทายผลฟุตบอล การพนันแข่งม้า และกิจการล็อตเตอรี่ โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีบุคคลากรจากหลากหลายอาชีพเข้ามาร่วมเป็นกรรมการ และในสัดส่วนนี้อย่างน้อย 1 คน จะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น Social Worker มีตำแหน่งในองค์กรทางศาสนา และมีความเชี่ยวชาญด้านการศึกษา เพื่อให้เกิดการป้องกันนักเล่นหน้าใหม่และแก้ปัญหาการพนันอย่างรอบด้าน ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไงอย่างเคร่งครัดหากฝ่าฝืนจะถูกยึดใบอนุญาตทันที

ขณะที่นายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนสังคมและนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาจากการพนัน มูลนิธิสดศรี – สฤษดิ์วงศ์ กล่าวว่า รูปแบบการจัดการในฮ่องกง ถือเป็นต้นแบบที่ดีที่ประเทศไทยสามารถนำมาปรับใช้เพื่อลดปัญหาการพนันที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งปัจจุบันการรณรงค์เรื่องการพนันในประเทศไทยทำได้ยากมาก เพราะบางส่วนเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม และข้อจำกัดในการที่จะหาองค์กรรัฐ ที่เป็นเจ้าภาพจัดการอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามขณะนี้หลายภาคส่วนได้มีการทำงานร่วมกันเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนประเด็นทั้งภาคนโยบาย ภาควิชาการ ภาคผู้ประกอบการ และภาคประชาสังคม โดยได้เดินหน้าไปในระดับหนึ่งแล้ว และฮ่องกงก็ถือเป็นบทเรียนที่ประเทศไทยควรจะศึกษาเพื่อให้เห็นแนวทางในการพัฒนากลไกจัดการปัญหาจากการพนันต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดเวที Bicara Patani ในเรือนจำกลางปัตตานี

Posted: 06 Sep 2013 01:10 AM PDT

เรือนจำกลางปัตตานีเชิญสำนักปาตานีรายอเพื่อสันติภาพฯ จัดเวที "เสวนาปาตานี (Bicara Patani)" ครั้งที่ 41 ในเรือนจำ ให้ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงร่วมเวที เผยผู้ต้องขังให้ความสนใจข้อเสนอของ BRN และบทบาทอาเซียนต่อการแก้ปัญหาภาคใต้ ด้านเครือข่ายผู้หญิงรุกงานยุติธรรม เตรียมตั้งเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานอิสลาม 3 จังหวัดชายแดนใต้

 
เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 56 ที่ผ่านมา deepsouthwatch.org รายงานว่านายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและพัฒนา (Lembaga Patani Raya Untuk Kedamaian dan Pembangunan) เปิดเผยกับโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ว่า เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา ทางสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพฯ ได้จัด "เสวนาปาตานี (Bicara Patani)" แก่ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่อยู่ในเรือนจำกลางปัตตานี โดยมีผู้ต้องขังคดีความมั่นคงเข้าร่วมฟังการเสวนาปาตานี (Bicara Patani) ครั้งนี้ จำนวนกว่า 50 คน
 
การจัดเสวนาปาตานี (Bicara Patani) ครั้งนี้มีขึ้นเนื่องจากทางเรือนจำกลางปัตตานีได้ดำเนินงานโครงการยุติธรรมนำสันติสุข เพื่อส่งเสริมทัศนคติที่ดีพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพและเสริมความรู้แก่ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงและมีการเสวนาในหัวข้อ "ทักษะการเปลี่ยนแปลงความเชื่อและค่านิยมที่จะนำไปสู่ความรุนแรง" ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าถึงเที่ยงโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ
 
นายตูแวดานียา เปิดกล่าวว่า การเสวนาปาตานี (Bicara Patani) ในเรือนจำครั้งนี้มีการพูดคุยในหัวข้อ"สถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" กับเรื่อง "ปาตานีจะมีแนวทางอย่างไรในการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับ BRN" โดยวิทยากรในเวทีเสวนาได้นำเสนอว่าการพูดคุยหรือการเจรจาสันติภาพจะต้องทำให้เป็นวาระของประชาชน หรือเป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง
 
ซึ่งการเจรจาสันติภาพจะเป็นวาระของประชาชนได้นั้น ประชาชนจะต้องร่วมกันทำงานองค์กรภาคประชาสังคมร่วมกับองค์กรนักศึกษาในพื้นที่ ที่มีพันธะทางการเมือง 
 
นายตูแวดานียา เปิดเผยอีกว่า ประเด็นที่ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงให้ความสนใจมากที่สุด คือ แนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ว่าจะมีการแก้ปัญหาอย่างไรนอกเหนือจากการพูดคุยสันติภาพ รวมทั้งสนใจต่อบทบาทอาเซียนว่าจะมีบทบาทอย่างไรต่อการสร้างสันติภาพในพื้นที่ในอีก 2 ปีข้างหน้า และให้ความสนใจมากกับข้อเสนอของ BRN ที่ขอให้รัฐบาลปล่อยผู้ที่ถูกควบคุมตัวทุกคน และยกเลิกหมายจับทั้งหมดที่เกี่ยวกับคดีความมั่นคงโดยไม่มีเงื่อนไข
 
"ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ให้ความสนใจและมีความตั้งใจอย่างมากต่อการเสวนาปาตานี (Bicara Patani) ครั้งนี้ ส่วนใหญ่อยากจะแลกเปลี่ยนกับวิทยากรบนเวที แต่เนื่องจากด้วยสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยมากนัก ทำให้ผู้ต้องขังไม่กล้าแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น" นายตูแวดานียา กล่าว
 
นายตูแวดานียา กล่าวว่า การเสวนาปาตานี (Bicara Patani) ครั้งนี้ นับเป็นครั้งประวัติศาสตร์ของการจัดเสวนาปาตานี (Biaca Patani) เพราะที่ผ่านมาการจัดเวทีเสวนามักถูกมองจากเจ้าหน้าที่รัฐว่าเป็นการปลุกระดมประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่รัฐมาโดยตลอด
 
"ดังนั้นการที่ทางราชการอนุญาตทางสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพฯ เข้าไปจัดเสวนาปาตานี (Bicara Patani) ในเรือนจำกลางปัตตานีครั้งนี้ ถือว่าเป็นการให้ความสำคัญในนโยบายการเมืองนำการทหาร และถือว่าเป็นการเปิดพื้นที่ทางเมืองให้แก่ประชาชนมากขึ้น" นายตูแวดานียา กล่าว
 
ทั้งนี้การจัดเวทีเสวนาปาตานี (Bicara Patani) ได้จัดเวทีมาแล้ว 40 ครั้งในพื้นที่ 3 จังหวัดและในต่างประเทศ และการจัดเสวนาในเรือนจำครั้งนี้เป็นครั้งที่ 41 ซึ่งเป็นการเปิดเวทีประชาชนเพื่อพูดถึงเรื่องกระบวนการสันติภาพให้เป็นวาระหรือของความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงวาระหรือความต้องการของขบวนการต่อต้านรัฐหรือ BRN กับฝ่ายรัฐบาลไทยเท่านั้น ไม่เช่นนั้นแล้ว สันติภาพที่เกิดขึ้นนั้นจะไม่มีความยันยืน และอาจกลายเป็นเงือนไขความขัดแย้งอีกในอนาคต
 
เครือข่ายผู้หญิงรุกงานยุติธรรม เตรียมตั้งเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานอิสลาม 3 จังหวัดชายแดนใต้
 
นอกจากนี้ deepsouthwatch.org ยังรายงานอีกว่านางรอซีดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยกับโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ว่า ขณะนี้ทางเครือข่ายได้ขับเคลื่อนโครงการเพื่อเพิ่มศักยภาพในการช่วยเหลือสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบโดยร่วมมือกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
 
ทั้งนี้เครือข่ายผู้หญิงได้ร่วมกับฝ่ายประนีประนอมและพิพาท สำนักงานคณะกรรมการประจำจังหวัด ทั้ง 3 จังหวัด โดยจะจัดให้มีอาสาสมัครสตรีคอยให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายและช่วยเหลือแก่ผู้หญิงและครอบครัวที่ประสบปัญหาจากความรุนแรง ถูกล่วงละเมิดทางเพศ การค้ามนุษย์ และไม่ได้รับความเป็นธรรมต่างๆ
 
"เครือข่ายผู้หญิงจะเปิดรับสมัครผู้ให้คำปรึกษาที่มีทักษะเบื้องต้น อาจเป็นนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรืออื่นๆ ทั้งนี้ก่อนที่จะมาทำงานของอาสาสมัครให้คำปรึกษา จะจัดให้มีการอบรมในเรื่องกฎหมายอิสลาม และกฎหมายทั่วไปเบื้องต้น เพื่อปูพื้นฐานให้กับอาสาสมัครเหล่านี้ก่อน"นางรอซีดะห์กล่าว
 
นางรอซีดะห์กล่าวอีกว่า คาดว่ากิจกรรมนี้น่าจะเริ่มประมาณเดือนตุลาคมนี้ เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงสิ้นปีงบประมาณ ทางหน่วยงานกำลังรอผลการประเมินและการสนับสนุนโครงการจาก ศอ.บต. เมื่อได้รับการอนุมัติและให้การสนับสนุนจึงจะจัดจ้างให้มีอาสาสมัครดูแลให้คำปรึกษาและช่วยเหลือในเรื่องความรุนแรงของผู้หญิงต่อไป
 
ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพกล่าวอีกว่า แกนนำเครือข่ายจาก จ.ปัตตานี จ.ยะลา และจ.นราธิวาสร่วมกับมูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิรักษ์ไทยจัดโครงการ "วานีตา พลังหญิงสร้างสังคม" โดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้หญิงและเด็กในกิจกรรมต่างๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของผู้หญิงและเด็กในชุมชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปหรืออียู
 
"ปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้วที่จัดกิจกรรมนี้ เรายังคงขับเคลื่อนโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันการขับเคลื่อนกิจกรรมของหน่วยงานทั้งหมดมี  11 กิจกรรม อาทิเช่น กิจกรรมส่งเสริมการรวมตัวให้กับผู้หญิง การผลิตรายการวิทยุเสียงวานีตา "ผู้หญิงชวนคุย" การส่งเสริมอาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้หญิงในชุมชน ฯลฯ อีกทั้งยังจัดกิจกรรมให้บริการให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย โดยการประสานงานของหน่วยงานสหวิชาชีพเพื่อคุ้มครองผู้เสียหายและครอบครัว โดยมีนักกฎหมายให้บริการฟรีที่ศูนย์" นางรอซีดะห์กล่าว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้ออ้างเรื่องอาวุธเคมีของสหรัฐฯ มีความชอบธรรมพอหรือไม่ในการโจมตีซีเรีย

Posted: 06 Sep 2013 01:09 AM PDT

เกร็ดความรู้เรื่องอาวุธเคมี ตั้งแต่เรื่องฤทธิ์ของอาวุธ ประวัติศาสตร์ที่มีการใช้ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 จนกระทั่งมีสนธิสัญญาห้าม และถือเป็นครั้งแรกที่ทางการสหรัฐฯ รวมถึงประเทศอื่นๆ อ้างเรื่องอาวุธเคมีในการให้ความชอบธรรมต่อการโจมตี

บทความจากผู้สื่อข่าว ดานา ลีเบลสัน จากสำนักข่าวอิสระ Mother Jones ได้นำเสนอข้อมูลเรื่องอาวุธเคมี ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจโจมตีประเทศซีเรียของทางการสหรัฐฯ ที่ชวนให้ตั้งคำถามว่าการใช้อาวุธเคมีเป็นเหตุผลมากพอหรือไม่ที่ทำให้สหรัฐฯ มีความชอบธรรมในการโจมตี

โดยในบทความเริ่มต้นตั้งคำถามว่า นิยามของคำว่า 'อาวุธเคมี' คืออะไร ผู้เชี่ยวชาญได้จำแนกอาวุธเคมีตามผลที่เกิดทางชีววิทยา องค์การห้ามอาวุธเคมีระบุว่าอาวุธเคมี ได้แก่ ประเภทที่ส่งผลต่อระบบประสาท ส่งผลต่อการหายใจ กลุ่มออกฤทธิ์ทำให้เป็นแผลเช่นแก๊สมัสตาร์ด, ประเภทที่มีฤทธิ์ต่อเลือด, สารเคมีที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติทางจิต และสารเคมีที่ใช้ในการปราบจลาจลเช่นแก๊สน้ำตา นอกจากนี้ยังรวมถึงเอเย่นต์ ออเร้นจ์ (Agent Orange) หรือยาที่ทำให้ใบไม้ร่วงซึ่งทางการสหรัฐฯ เคยใช้ในสงครามเวียดนาม

ภายใต้อนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี (Chemical Weapons Convention) ปี 1997 อนุญาตให้มีการใช้แก๊สน้ำตากับกลุ่มผู้ประท้วงภายในประเทศได้ ตราบใดที่ไม่ใช้มันในการสงคราม แต่เว็บไซต์ Slate ก็กล่าวว่าการใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมในพื้นที่ปิดก็เป็นอันตรายได้ กลุ่มแพทย์เพื่อสิทธิมนุษยชนบอกว่าสารพิษที่ต้องระวังในปัจจุบันได้แก่ วีเอ็กซ์ ซาริน และทาบูน ทั้งหมดล้วนเป็นสารกระทบต่อประสาท นอกจากนี้ยังมี บีซี และแก๊สมัสตาร์ด

บทความได้กล่าวถึงผลกระทบจากอาวุธเคมีเหล่านี้ โดยบอกว่าสารพิษจำพวกที่ส่งผลต่อระบบประสาทและส่งผลต่อการหายใจมีความรุนแรงที่สุด เช่น สารพิษคลอรีนที่ใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 จะทำให้ของเหลวไหลไปอยู่ในปอดทำให้รู้สึกเหมือนจมน้ำ ส่วนสารทำลายระบบประสาทบางชนิดอย่างกรณีของวีเอ็กซ์ทำให้ตายได้ภายในไม่กี่นาที

ส่วนสารพิษที่ใช้ในเหตุการณ์โจมตีชาวซีเรียมีการระบุว่าเป็นแก๊สซาริน ซึ่งเมื่อถูกดูดซึมผ่านผิวหนังแล้ว จะเข้าไปในระบบประสาทและสามารถสังหารคนได้ภายใน 5-10 นาที อาวุธเคมีชนิดนี้ผลิตโดยพรรคนาซีของเยอรมนีในช่วงปี 1938 และมีการทดลองกับคนในค่ายกักกัน นอกจากนี้ยังเคยถูกใช้โดยกลุ่มลัทธิโอมชินริเคียวในการโจมตีรถไฟใต้ดินในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่นเมื่อปี 1995

ผู้ได้รับสารพิษเหล่านี้ต้องรีบรับการรักษาด้วยยาอะโทรปีนซึ่งเป็นยารักษาสารพิษในระบบประสาทภายใน 1 ชั่วโมงถึงจะถือว่าเป็นการรักษาที่ได้ผล แต่ในซีเรียยังคงขาดแคลนอะโทรปีนในการรักษาให้ได้ทุกคน


อาวุธเคมีเลวร้ายกว่าการใช้ระเบิดจริงหรือ

บทความยังได้ตั้งคำถามอีกคำถามหนึ่งคือ เหตุใดการใช้อาวุธเคมีถึงร้ายแรงกว่าการใช้อาวุธระเบิดกับเด็กและผู้หญิง ดารีล คิมบอล ผู้อำนวยการสมาคมควบคุมอาวุธกล่าวว่า ในการสงครามมีกฎข้อห้ามการใช้อาวุธเคมีเนื่องจากอาวุธเคมีส่งผลอย่างไม่เลือกตัวบุคคลโดยเฉพาะกับพลเรือน และหากมีการละเมิดข้อห้ามอาวุธเคมีก็อาจนำไปสู่การละเมิดข้อห้ามอาวุธที่รุนแรงกว่านี้เช่นอาวุธนิวเคลียร์ นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาและความมั่นคงระดับนานาชาติ

แต่นักเขียนที่ชื่อพอล วัลด์แมน มองว่าเรื่องนี้เป็นอาการเสแสร้งของนานาชาติ โดยเขามองว่าไม่ว่าจะเป็นการโจมตีด้วยอาวุธเคมีหรือลูกระเบิดก็เลวร้ายพอๆ กัน แต่การใช้อาวุธเคมีกำจัดศัตรูจะทำให้ถูกหาว่าเป็นอาชญากรสงครามขณะที่การใช้อาวุธอีกประเภทหนึ่งกลับไม่ถูกกล่าวหา

สตีฟ จอห์นสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านสงครามอาวุธเคมีกล่าวว่า เขาเข้าใจว่าคนมีความรู้สึกมากกับอาวุธเคมีเนื่องจากมันค่อยๆ ออกฤทธิ์แต่ร้ายแรง ไม่มีที่หลบภัยและส่งผลมากกับเด็ก คนชรา และผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ รวมถึงทำให้ตายอย่างทรมาน แต่เมื่อมองในเชิงศีลธรรมแล้วคงยากที่จะพูดว่าการสังหารผู้คนร้อยคนด้วยอาวุธระเบิดเป็นเรื่องรับได้มากกว่าการใช้สารทำลายประสาท


นี่เป็นครั้งแรกที่มีการแทรกแซงทางทหารโดยอ้างการใช้อาวุธเคมี

คิมบอล จากสมาคมควบคุมอาวุธ กล่าวถึงเรื่องการแทรกแซงของสหรัฐฯ ว่านี่ถือเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ และชาติอื่นๆ แสดงความต้องการโต้ตอบทางการทหารเมื่อมีการใช้อาวุธเคมีโดยฝ่ายรัฐ นอกจากนี้เว็บไซต์ Foreign Policy ยังได้กล่าวถึงเอกสารของหน่วยงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ หรือ ซีไอเอ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ ทราบดีอยู่แล้วในเรื่องที่รัฐบาลซัดดัม ฮุสเซนของอิรักวางแผนโจมตีอิหร่านด้วยอาวุธเคมีรวมถึงแก๊สซารินในปี 1988 โดยการที่ทางการสหรัฐฯ ได้บอกตำแหน่งของกองทัพอิหร่านให้อิรักทราบ

ในช่วงทศวรรษ 1980 รัฐบาลซัดดัมก็เคยใช้แก๊สทำลายประสาทคือแก๊สซารินและแก๊สมัสตาร์ดในอิหร่าน ทำให้มีทหารเสียชีวิตกว่า 20,000 คน เอกสารของซีไอเอที่ถูกเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ระบุว่าทางการสหรัฐฯ มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ใช้อาวุธเคมีอีกหลายครั้งเช่นในปี 1998 รัฐบาลซัดดัมได้ใช้แก๊สมัสตาร์ดโจมตีเมืองที่ถูกยึดโดยกบฏชาวเคิร์ดจนมีคนเสียชีวิตกว่า 5,000 คน ในปี 1989 เจ้าหน้าที่รัสเซียก็ถูกกล่าวหาว่าใช้แก๊สยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 ในการปราบปรามผู้ชุมนุม ปี 1994-1995 ก็มีการใช้แก๊สซารินโดยกลุ่มโอมชินริเคียว 2 ครั้ง


กฎหมายนานาชาติเรื่องการห้ามการใช้อาวุธ

ในปี 1925 หลังจากมีการใช้อาวุธเคมีจำนวนมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศต่างๆ จึงมีการลงนามในสนธิสัญญาเจนีวาเพื่อห้ามการใช้อาวุธเคมีในการสงครามและถือว่า "เป็นเรื่องที่น่าประณามตามความเห็นทั่วไปของผู้ที่อยู่ในโลกอารยะ" การใช้อาวุธเคมีถือเป็นอาชญากรรมสงครามตามกฎหมายของศาลอาญาระหว่างประเทศ

มีการร่างอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมีในปี 1992 ซึ่งผู้ลงนามตกลงร่วมกันว่าจะไม่มีการใช้หรือผลิตอาวุธเคมี และทำลายอาวุธเคมีที่มีอยู่ทิ้งให้หมดและอนุสัญญานี้มีผลเมื่อปี 1997 ซึ่งแผนภาพขององค์การห้ามอาวุธเคมีแสดงให้เห็นว่ามีบางประเทศที่ยังไม่ได้ลงนาม ได้แก่ เกาหลีเหนือ อียิปต์ ซูดานใต้ และซีเรีย

อย่างไรก็ตามจากการสำรวจเมื่อเดือน ก.พ. ปี 2013 พบว่าประเทศที่ลงนามแล้วแต่ยังมีอาวุธเคมีในครอบครองได้แก่ แอลแบเนีย อินเดีย อิรัก ลิเบีย รัสเซีย และสหรัฐฯ โดยนับตั้งแต่ปี 1997 มีคลังอาวุธเคมีถูกกำจัดไปแล้วกว่าร้อยละ 80 โดยจอห์นสันกล่าวว่าฝ่ายสหรัฐฯ และรัสเซียมีการเกี่ยงกันไปมาให้อีกฝ่ายทำก่อน นอกจากนี้ใน 13 ประเทศ ซึ่งรวมถึง จีน อังกฤษ สหรัฐฯ อิรัก ฝรั่งเศส ถูกตรวจพบว่ามีอาวุธเคมีแต่ทั้งหมด 70 แหล่งที่ถูกตรวจพบได้หยุดใช้งานไปแล้ว โดยมี 64 แหล่งที่ถูกทำลายหรือถูกเปลี่ยนไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นแทน


ชาติใดบ้างที่สนับสนุนสหรัฐฯ ในการโจมตีซีเรียด้วยเรื่องอาวุธเคมี

นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เดวิด คาเมรอน เคยสัญญาว่าจะสนับสนุนทางการสหรัฐฯ ในการโจมตีซีเรีย แต่ถูกคัดค้านจากสภารวมถึงสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมเองด้วย ขณะที่การประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ โดยรัสเซียได้คัดค้านการโจมตีและกล่าวหาว่าฝ่ายกบฏเป็นผู้ใช้อาวุธเคมี ทางด้านฝรั่งเศสดูเหมือนจะกลายเป็นคนหนุนหลังโอบาม่าได้ดีเนื่องจากประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ ออลลองด์ ได้แสดงการสนับสนุนการตัดสินใจของสหรัฐฯ และไม่ต้องขึ้นอยู่กับการโหวตมติจากสภา


 

เรียบเรียงจาก
Are Chemical Weapons Reason Enough to Go to War?, Mother Jones, 30-08-2013
http://www.motherjones.com/politics/2013/08/syria-chemical-weapons-explainer

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น