โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

พิชิต ตามูล

Posted: 18 Sep 2013 01:25 PM PDT

"เราอยากจะให้คนเสื้อแดงมามีแนวทางการขับเคลื่อนอีกรูปแบบหนึ่ง รูปแบบคล้ายๆ อันเดิม แต่เพิ่มในเรื่องของรายละเอียด จากที่เพียงแค่ว่าเคยไปเรียกร้องประชาธิปไตยต่อต้านรัฐประหาร หรือว่าไล่ด่าคนนั้นคนนี้ เรามาทำงานสังคมด้านสร้างสรรค์บ้าง อย่างเรื่องผู้ต้องขัง ถามว่าคนเสื้อแดงมี 3 ล้านกว่า มีคนไปทำเรื่องผู้ต้องขังกี่คน..."


 

หรือ"ดาบชิต" หนึ่งในแกนนำกลุ่มนปช.แดงเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์เหตุผลร่วมเคลื่อนกับ FTA Watch และพลวัตรเสื้อแดง

คุยกับ ‘ดาบชิต’ ทำไมแดงเชียงใหม่ ร่วม FTA Watch และมองพลวัตรแดงท้องถิ่น

Posted: 18 Sep 2013 12:51 PM PDT

 

19 กันยายนปีนี้ กลางเมืองเชียงใหม่คึกคักเป็นพิเศษ เมื่อในบริเวณไม่ไกลกัน มีทั้งการจัดชุมนุมและรณรงค์จับตาการเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป โดยเครือข่ายประชาชนหลากหลายองค์กร เดินทางมาจากทั่วประเทศ มารวมตัวกันบริเวณประตูท่าแพ และในเย็นวันเดียวกัน ยังมีการกิจกรรมรำลึกครบรอบ 7 ปี เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 บริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ โดยกลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่

กระแสข่าวเล็กๆ ก่อนหน้านั้น คือความกังวลของทางฝ่ายผู้จัดชุมนุมจับตาการเจรจาเอฟทีเอ ถึงความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นจากกลุ่มคนเสื้อแดงในเชียงใหม่ ซึ่งก่อนหน้านั้นในช่วงเดือนพฤษภาคม เคยเกิดกรณีการเคลื่อนไหวต่อต้านการจัดกิจกรรมคู่ขนานกับการประชุมผู้นำเรื่องน้ำโลก ที่เชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ โดยกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 หรือการเคลื่อนไหวของกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ที่ปะทะกับกลุ่มหน้ากากขาว ในช่วงเดือนมิถุนายน   

จากความกังวลดังกล่าวนี้เอง การประชุมเตรียมงานของเครือข่ายเอฟทีเอก่อนหน้านี้ จึงมีการชักชวนคนเสื้อแดงบางกลุ่มในจังหวัดเชียงใหม่ ไปเข้าร่วมรับฟังปัญหา ทำความเข้าใจการเคลื่อนไหว และกระทั่งเข้าเป็นแนวร่วมด้วย

พิชิต ตามูล หรือ "ดาบชิต" หนึ่งในแกนนำกลุ่มนปช.แดงเชียงใหม่ และเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมพูดคุยกับเครือข่ายเอฟทีเอ จึงพอรับทราบปัญหาของเครือข่ายเอฟทีเอ แม้จะไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้โดยตรงก็ตาม แต่ก็ผ่านมาสังเกตการณ์ชุมนุมบริเวณประตูท่าแพในวันนี้ด้วย (18 กันยายน)

 


 

นอกจากนั้น พิชิตยังเป็นหนึ่งในแกนนำในการจัดรำลึกเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน ในระดับท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง ประชาไทพูดคุยกับพิชิตก่อนหน้า 19 กันยายนหนึ่งวัน ทั้งมุมมองต่อการจัดชุมนุมเอฟทีเอ, 7 ปี การรัฐประหาร และความเคลื่อนไหวของขบวนการเสื้อแดงในท้องถิ่น

 

เข้าไปร่วมพูดคุยกับเครือข่ายที่เคลื่อนไหวเรื่องเอฟทีเอได้อย่างไร

ไปคุยกันครั้งแรกคือได้รับเชิญจากทางพี่สวิง ตันอุด เราเข้าใจว่าข้อห่วงใยเขา เขาก็กลัวเรื่องความไม่เข้าใจของมวลชน ถามว่ามันเกิดไหม มันก็มีเล็กๆ นะ คือมีคนโทรมาถามพี่ก็พยายามอธิบายว่ามันไม่ใช่การประท้วงรัฐบาลนะ ดูเจตนาเขาและหลักการที่คุยกันมาแล้ว ไม่ได้ไปดูหน้างาน มองว่ามันก็เป็นเรื่องที่ดี ในการให้ข้อเสนอแนะหรือข้อท้วงติงให้กับผู้แทนที่เจรจาการค้า

เรามองว่า ถ้าเราจะต้องไปเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจของยุโรปเนี่ย มันก็น่าห่วง โอเค เราก็ร่วมมือประชาสัมพันธ์ให้เขา และแจ้งพี่น้องเสื้อแดงว่าอันนี้ไม่ใช่การประท้วง เป็นการมายื่นข้อท้วงติงข้อเสนอแนะให้ทางรัฐบาล สิ่งที่เขากังวลคือ มวลชนเสื้อแดงจะไปออกแนวเกเรหรือเปล่า ประมาณนั้น เราก็รับรองให้เขาในระดับหนึ่ง เท่าที่พอจะรับรองได้ แต่ถามว่าจะได้ทั้งหมดเลยไหม มันก็คงไม่

รู้เรื่องเอฟทีเอมาก่อนไหม

ไม่นะ แต่เราก็ดูในระดับหนึ่ง ข้อมูลที่เขาให้มา ไม่ว่าประเทศต่างๆ ไม่ว่ามาเลเซียหรืออินเดียที่ทำเอฟทีเอร่วมกับทางอียูหรืออเมริกา เลยมองประเด็นตรงที่ถ้าเราไม่มีพลังในการต่อรองเขา เราก็เหมือนรัฐบาลเองจะถูกบีบโดยประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย โอเค ถ้าเป็นลักษณะของพลังมวลชนกระตุกนิดๆ หน่อยๆ ให้เขาเห็นภาพว่ามันไม่ใช่อะไรก็ได้อย่างที่คุณต้องการนะ คือการทำสัญญาต่างๆ  ถ้าจะร่วมกัน เป็นความร่วมมือ มันต้อง win-win ทั้งคู่ ไม่ใช่ win ยุโรป แต่เรา lose  แต่เราก็ไม่ได้ศึกษาเรื่องเอฟทีเอเป็นเรื่องเป็นราวหรอกนะ

แต่ก็ไปช่วยประชาสัมพันธ์ให้

ใช่ ก็เอาไปออกวิทยุ (ชุมชน) เอาสปอร์ตที่เขาฝากมาสองสามตัวไปออกให้

แล้วได้สื่อสารด้วยตัวเองด้วยไหม

ก็เฉพาะคนที่โทรมา กับคนที่ว่าเราพอสื่อสารได้อย่างผู้ประสานในเมือง เรามีตัวบุคคลอยู่ เราก็ชี้แจงพี่น้องในกลุ่มต่อ พวกที่โทรเข้ามา เขาก็คิดว่าเป็นการประท้วงนั่นแหละ แต่ทางเราก็ให้ข้อเสนอแนะกับเครือข่ายเขาไปตอนประชุมร่วมกันว่า อย่าให้มีลักษณะของการด่าทอรัฐบาล ถ้ามันเป็นลักษณะด่าทอ เราคุมไม่อยู่ แต่ถ้ามายื่นข้อเสนอ ไม่มีปัญหา

เรามองว่ากลุ่มเอ็นจีโอไม่ว่าสายไหนก็ตาม กับคนเสื้อแดง มีความห่วงประเทศชาติบ้านเมืองไม่ต่างกันหรอก เพียงแต่ห่วงในจุดไหน จุดที่ใครเข้าถึงมากกว่า อย่างคนเสื้อแดง ไม่ค่อยเข้าถึงเรื่องพวกนี้ เพราะเราไปฝักใฝ่มุ่งมั่นแต่เรื่องภาคการเมือง เราไม่ได้ย่อยลงมาในเรื่องที่เป็นปัจเจกเล็กๆ ว่าไปก็เหมือนคนเสื้อแดงเราจับฉ่าย คือเอาหม้อใหญ่ๆ มา แต่ให้ไปรู้จักคะน้าเป็นเรื่องเป็นราวไหม ไม่รู้จัก รู้จักแครอทไหม ก็ไม่

แล้วเรื่องเอฟทีเอนี้ได้เอาเข้าไปคุยในกลุ่มไหม

คุย คือหลังจากที่ได้ไปคุยกับเขามาก็เอามาชี้แจงในกลุ่มว่าเรื่องราวมันเป็นอย่างไร ที่เรารับข้อมูลมา แล้วทุกคนก็มาวิเคราะห์ร่วมกันว่าความน่าจะเป็นควรจะเป็นอย่างไร มีการแจ้งในที่ประชุมว่าในส่วนตัว ทำไมเราเห็นด้วย เราเห็นด้วยในหลักการเบื้องต้น สอง เราเห็นด้วยในการที่ทุกคนจะต้องมี space มีพื้นที่ ถามว่ากลุ่มผู้ป่วยเอชไอวี หรือเครือข่ายยาทั้งหลายที่ออกมาเล่นเรื่องนี้ เราก็มองว่าต้องมีพื้นที่ให้ทุกกลุ่มมีพื้นที่สาธารณะในการแสดงออก

แต่จะให้เราไปร่วม เราก็ไปร่วมเป็นเรื่องเป็นราวไม่ได้หรอก หนึ่ง คือเราไม่รู้ เราไม่ได้มีองค์ความรู้ของมันโดยเฉพาะ เพียงแต่เราก็สนับสนุนเขาได้ในเรื่องของความห่วงใย ความห่วงกังวลที่เขามี เขากลัวเรื่องการที่คนมาแล้ว มีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ต่อกัน เราก็ไม่อยากให้เกิด เราก็ช่วยเขาตรงนี้ แม้แต่พันธมิตรฯ เองเมื่อก่อน เราก็เคยคุยว่าจัดกิจกรรมได้นะ แต่ให้เป็นเชิงสร้างสรรค์

คนเสื้อแดงส่วนหนึ่ง ระดับหนึ่ง ไม่เข้าใจว่าคำว่าเอ็นจีโอคืออะไร หลายๆ คนก็ยังมีความเข้าใจเอาเองว่า คำว่าเอ็นจีโอคือกลุ่มที่ล้มล้างรัฐบาล ทั้งๆ ที่ในเสื้อแดง ก็มีเอ็นจีโออยู่หลายคน แต่คนก็เริ่มเข้าใจในระดับหนึ่งแล้วว่าการทำเพื่อชุมชน เพื่อปากเพื่อท้อง เพื่อท้องถิ่นตนเอง มันก็คือการเคลื่อนไหวภาคเอกชน ภาคประชาชนอย่างหนึ่ง หลายคนก็รับได้

เวลาเราเลือกว่าจะร่วมอะไรหรือไม่ ในกลุ่มมีกระบวนการคิดกันอย่างไร

มันก็หลากหลายนะ ส่วนตัวก็มองว่า หนึ่ง ประโยชน์ร่วมเกิดกับชุมชนไหม ในการขับเคลื่อนแต่ละเรื่อง อย่างชาวนา ออกมาเรียกร้องเรื่องจำนำข้าวคราวที่แล้ว เราเห็นด้วย เราก็ไป เรื่องไหนที่ว่าเราไม่เห็นด้วย ก็แค่ว่าเราไม่ไปแค่นั้นเอง ถามว่าจะไปขัดขวางเขาไหม ก็ไม่ การเคลื่อนไหวทุกเรื่องเกี่ยวกับมวลชน คำว่าประชาธิปไตยที่เราพูดกัน มันต้องมีพื้นที่ให้ในการแสดงออกของทุกกลุ่ม ไม่ว่ากลุ่มทำมาหากิน กลุ่มเรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่างๆ มันต้องพื้นที่ให้เขา เพื่อที่จะสื่อถึงรัฐบาลให้ได้ ถามว่าให้เขาไปนั่งเรียกร้องอยู่ในบ้าน ก็คงไม่มีใครได้ยิน

ในทางกลับกัน สำหรับเอ็นจีโอหรือคนทั่วไปแล้ว ภาพเสื้อแดงในเชียงใหม่จะมีภาพในทางลบเยอะ คิดอย่างไร

ใช่ เขามองเราเป็นอย่างนั้นนะ เท่าที่นั่งคุยกับเขามาสองรอบ เขาฉายภาพตรงนั้นไว้ก่อนว่าแดงเกเรมาแล้ว เขาถึงมีความกังวลนิดๆ เขาจึงประสานเรามาว่าเขาจะทำกิจกรรมตรงท่าแพนะ เขากลัวภาพที่เขาคิด ภาพที่จินตนาการว่าเสื้อแดงจะไปเกเร ทั้งที่จริงๆ มันไม่ไง

ในเสื้อแดง กลุ่มเกเรกลุ่มหนึ่งมีไหม มันก็มี คือคนมันหมู่มาก เหมือนกับที่มีตีกับพวกหน้ากากขาว ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ควบคุมกันได้ยาก เพียงแต่ว่าในตัวเราเอง power ในการยับยั้งหรือชี้นำจะมีมากขนาดไหน แต่การชี้นำพวกนี้หรือว่าจะไปห้ามปรามพวกนี้ เราไม่สามารถที่จะไปแจ้งเป็นรายบุคคลได้ มันเหมือนกับเราแจ้งไปกลุ่มนี้ กลุ่มนี้เชื่ออยู่ หรือกลุ่มนี้ หัวๆ ของกลุ่มเชื่อ แต่ลูกกลุ่ม กูไม่เกี่ยว

ได้คุยกับกลุ่มเชียงใหม่ 51 บ้างไหม

ไม่ได้คุยเลย หนึ่งคือเราก็จินตนาการของเราไปแล้วว่าภาคปฏิบัติที่ผ่านมา คุณไม่ค่อยรับอะไรง่ายๆ แล้วช่วงหลังจะกลายเป็นว่าการติดต่อประสานงานกันทำคล้ายๆ เป็นหน่วยงานภาครัฐไปแล้ว ต้องมีหนังสือ ต้องเป็นลายลักษณ์อักษรไป โห กระบวนการต่อสู้ภาคประชาชน ถ้าต้องมาเป็นขั้นตอนแบบระบบอำมาตย์อีกก็แย่

ถามว่าทุกวันนี้ พฤติกรรมเก่าๆ ตอนนี้มันจะมาใช้ได้ไหม ก็ไม่ได้ ถ้าคุณไม่เปลี่ยนแปลง มันก็เดินไม่ได้เพราะโดยส่วนตัวมองว่า กระบวนการขับเคลื่อนภาคประชาชนเราทุกวันนี้ ไม่ใช่ปี 49-50 บางทีนั่งคุยกับพรรคพวกว่า คำว่า "นปช." ใจเรายังอยากจะเปลี่ยนด้วยซ้ำ เพราะชื่อมันคือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ถ้าเราไปตีความหมายภาษาไทยตรงตัว มันก็ เฮ้ย รัฐบาลนี้เป็นเผด็จการหรือ จะไปต่อต้านมันอยู่หรือ

แล้วมองอย่างไรที่ว่าคนเสื้อแดงตอนนี้ปกป้องรัฐบาลอย่างเดียว

คนเสื้อแดงในระดับหนึ่งนะ เราก็มองว่าทุกรัฐบาล ไม่จำเป็นต้องเพื่อไทย ผิด เราต้องท้วงติง ถูก เราก็สนับสนุนพรรคไหนก็ได้ที่มาบริหารประเทศ ทุกรัฐบาลในนามของคนเสื้อแดง หรือเสื้อสีไหนก็ตาม หรือใครก็ตาม ถ้าเราเน้นเรื่องประชาธิปไตย ใครก็ตามมันต้องตรวจสอบได้

ถามว่าข้อเท็จจริงเรื่องการปกป้องรัฐบาลเป็นอย่างนั้นไหม ส่วนหนึ่งมันก็ใช่ แต่ถามว่าทำไมต้องปกป้องรัฐบาล ส่วนหนึ่งเราก็เข้าใจไปแล้ว ใช้คำว่าเข้าใจไปแล้ว ในพรรคการเมืองตอนนี้ เราจะหาพรรคไหนที่มาเป็นรัฐบาลดีกว่านี้ยังไม่มี สอง เรื่องกระบวนการที่มาของรัฐบาล เรามองว่ามันถูกต้องตามครรลองประชาธิปไตยที่เราอ้างกันมา ไม่รู้ว่าจะอ้างกันลอยๆ หรืออ้างโดยมีหลักการก็ตาม อย่างพรรคเพื่อไทยเข้ามาตอนนี้ เขามาถูกต้องตามครรลองทุกอย่าง ถ้าจะมีการล้มในลักษณะที่ว่าเป็นอวิชชา เราก็ต้องปกป้องเต็มที่

แต่กรณีไหนก็ตาม ที่มันมีการทุจริต ฉ้อโกง หรือไม่ชอบมาพากล มองว่ากระบวนการเสื้อแดงก็มีการตรวจสอบกันในระดับหนึ่งนะ ช่วยสอดส่องดูแลกัน อย่างเราไปติดตามการทำงานของภาครัฐ หลายๆ เรื่องเราเห็นว่าไม่ใช่ เราก็เข้าไปในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ไปท้วงติง สอบถาม  ถามว่าปกป้องรัฐบาลเพื่อไทยไหม ก็ใช่ในระดับหนึ่ง แต่ถามว่าจะหัวเด็ดตีนขาดไหม มันก็คงไม่ในระดับของภาคปฏิบัติ

อย่างเรื่องสภาปฏิรูปประเทศนี่ ก็ยังมองแย้งอยู่ ไม่ใช่มองแย้งว่าไม่ดี แต่ว่ามันมีความขัดแย้งในตัว ถ้าส่วนตัวเรามีปัญญาหรือมีอำนาจที่จะทำ เราจะขอเป็นการเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปในความหมายของเราคือเอาอันเดิมมาแต่งทาสีใหม่ โครงสร้างยังคงเดิม คำว่าโครงสร้างองค์กรภาครัฐต่างๆ ไม่ว่าหน่วยงานราชการต่างๆ ก็ยังมองว่าคือโครงสร้างอำนาจนั่นแหละ ที่เขาวางมาตั้งแต่ต้น ถามว่าโครงสร้างมันไม่เปลี่ยน เอาไอ้แก้วไปใส่ยังได้เลย

ครบรอบ 7 ปีรัฐประหาร ผ่านมาหลายปีแล้ว ทำไมยังจำเป็นต้องรำลึกหรือจัดงานกันอยู่ เข้าใจว่าทาง นปช.ส่วนกลางก็ไม่ได้จัดแล้ว

อย่างที่คุยกันใน 17 จังหวัดภาคเหนือ เขตเหนือเรามีมติร่วมกันในการทำเชิงสัญลักษณ์ เราไม่ได้ไปนึกถึงคุณงามความดีมันหรอก เราจัดปี 53 คำว่า "19 กันยาตาสว่าง" ก็เพื่อที่จะบอกว่าความระยำต่ำช้าของกระบวนการอำมาตยาทั้งหลาย มันมีจริงๆ คือชาวบ้านบางส่วนอาจจะไม่เห็น เพราะไม่ได้ติดตามสื่อเป็นเรื่องเป็นราวอย่างพวกเรา คนเสื้อแดงมันสนใจเฉพาะเรื่อง ถ้าเป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ มันเป็นผู้ชำนาญการพิเศษไปแล้วในเรื่องพวกนี้

ถามว่ามันเป็นการอุปโลกน์ไหม ไม่ใช่แล้วไง คือในความรู้สึกของคนเสื้อแดง มันลึกไปแล้ว มันเข้าใจและเชื่อว่าไปแล้วว่ากระบวนการตัดตอนประเทศมันมี นั่นคือทำไม 19 กันยา ถึงต้องจัดทุกปี มันต้องจัดไปเรื่อยๆ เพื่อให้คนอย่าลืมว่าประเทศนี้ถูกฉีกถูกทำลายมา ด้วยน้ำมือของกระบวนการอำมาตย์

พี่ยังไม่เคยเห็นตาคำ ออกมาเป็นผู้นำปฏิวัติ ผู้นำรัฐประหาร ยังไม่เคยมี อย่างที่บอกว่าโครงสร้างระบบอำมาตย์ ก็คือแบบโครงสร้างข้าราชการเรานี่แหละ ที่ผ่านมาเราก็เห็นแต่ข้าราชการทหารที่ทำการรัฐประหาร เพียงแต่เขาแค่ว่ารัฐประหารเพื่อจะเปลี่ยนตัวบุคคลมาไว้ในโครงสร้างเดิม โครงสร้างเดิมที่ทำไว้แน่นแล้ว เอาคนในโครงสร้างออกมาทำรัฐประหาร เพื่อจะเปลี่ยนตัวคนไปนั่งอยู่ในโครงสร้างเดิมนี่แหละ เปลี่ยนตัวเล่นแค่นั้น ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างไปไหนเลย

ทุกวันที่ 19 มันจะตรงกับวันอะไรก็ตาม คนจะมากจะน้อย เราไม่สน ก็พยายามจัด

มีการทบทวนการเคลื่อนไหวในหมู่เสื้อแดงไหม หลังผ่านมา 7 ปีการรัฐประหาร

ก็มี อย่างที่บอกไปแต่ต้นว่าถ้าคุณไม่ปรับ คุณอยู่ไม่ได้ ตัวคนเสื้อแดง คุณจะอยู่ไม่ได้เอง เคยคุยกับหลายๆ คนว่าถ้าวันหนึ่งสภาปฏิรูปเกิดขึ้นจริง ซึ่งยังมองว่าเป็นเรื่องของระหว่างอำมาตย์กับคนที่ไปอยู่ในโครงสร้างอำมาตย์ ถ้ามันมีความร้าวฉาน ปีนเกลียวกันต่างๆ ในตัวโครงสร้างเอง มันก็ต้องมีการต่อรอง การต่อรองทุกอย่าง ม่ว่าธุรกิจหรืออำนาจ มันต้องมีเงื่อนไขห้อยท้าย ยังจินตนาการว่าถ้ากระบวนการภาคการเมืองเราต่อรองกับภาคอำมาตย์ เชื่อได้เลยว่าติ่งห้อยท้ายหรือเงื่อนไขในการตกลงคือขบวนการคนเสื้อแดง เสื้อแดงอยู่ในเงื่อนไขแน่ เราเข้าใจว่าอย่างนั้นนะ

มันเหมือนกับระดับใหญ่แต่ละที่ แต่ละฝั่ง มีเงื่อนไขแบบนี้ ตกลงกันอย่างนี้ ถ้าคำว่าปฏิรูปนั้นทั้งสองฝั่งรับได้ เสื้อแดงต้องสลายนะ ถามว่าคุณจะสลายอย่างไร เพราะเสื้อแดงไม่ใช่องค์กรจัดตั้งที่มีกฎหมายรองรับ จะยุบ จะสลาย จะย่อย อะไรได้ง่ายๆ เพียงแต่ความสำคัญอาจจะลดน้อยถอยลง คนเสื้อแดงก็ต้องปรับขบวนล่ะ

อย่างที่ทำเรื่องของ "เหนือฟ้า เชียงใหม่" ขึ้นมา (กลุ่มเคลื่อนไหวในจังหวัดเชียงใหม่ ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมา) ก็อยากค่อยๆ เล็มไปว่า คนเสื้อแดงยังอยู่นะ แต่ว่าวิธีการอะไรต่างๆ อาจจะต้องเปลี่ยนระดับหนึ่ง โอเค  หนึ่ง คงไว้เรื่องการเมืองการปกครอง สอง ที่ย่อยลงมาคือไปศึกษาหาความรู้เรื่องชุมชน การนำเสนอข่าวต่างๆ หรือการเข้าช่วยเหลือชุมชน ไม่ว่าน้ำท่วม ฝนแล้ง หรือแม้แต่คลองแม่ข่าในบ้านเราเป็นคลองน้ำครำ เรื่องขุดลอกคูคลองทั้งหลาย เราเห็นมันมีกระบวนการยักย้ายถ่ายเทงบประมาณพอสมควร หรือการตรวจสอบองค์กรภาครัฐก็จะต้องทำ นี่คือกระบวนการคนเสื้อแดงที่มันจะต้องเปลี่ยน หลายๆ ที่ก็เริ่มเปลี่ยนแล้วนะ

คือเราอยากจะให้คนเสื้อแดงมามีแนวทางการขับเคลื่อนอีกรูปแบบหนึ่ง รูปแบบคล้ายๆ อันเดิม แต่เพิ่มในเรื่องของรายละเอียด จากที่เพียงแค่ว่าเคยไปเรียกร้องประชาธิปไตยต่อต้านรัฐประหาร หรือว่าไล่ด่าคนนั้นคนนี้ เรามาทำงานสังคมด้านสร้างสรรค์บ้าง อย่างเรื่องผู้ต้องขัง ถามว่าคนเสื้อแดงมี 3 ล้านกว่า มีคนไปทำเรื่องผู้ต้องขังกี่คน คนที่อ้างว่าเป็นแกนนำทั้งหลายมีใครไปทำเป็นเรื่องเป็นราวไหม เพียงแต่ว่าออกมาแล้วก็ไปรับขวัญกัน

ตอนนี้เท่าที่ได้สัมผัส องค์กรเสื้อแดงระดับหมู่บ้าน ชุมชน มีความเปลี่ยนแปลงอะไรไหม

มี ยกตัวอย่างให้เห็นรูปธรรม อย่างที่พร้าว องค์กรเสื้อแดงเขากลายเป็นกลุ่มคล้ายๆ เศรษฐกิจพอเพียง ชื่ออะไรจำไม่ได้ คือเริ่มมีการให้ความรู้เรื่องการทำมาหากิน เรื่องการไปขอทุนจากภาครัฐ หางบจากรัฐมาลงให้ชาวบ้าน จัดกลุ่มเลี้ยงกบ อย่างสันป่าตองจัดกลุ่มเลี้ยงไก่ประดู่หางดำ ถือว่าเป็นเรื่องการส่งเสริมอาชีพ ทุกคนก็เดินหน้าด้วยกัน อย่างกศน.ก็มีงบให้

การรวมกลุ่มเพิ่มมากขึ้น อย่างสันทราย มีการจัดตั้งผู้ประสานตำบล ตอนนี้มีทุกตำบล แต่ละตำบลจะมีโครงการของตัวเอง เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงปู อะไรต่างๆ ข้อดีของมันอยู่ตรงไหน เราได้คนที่ไม่แดง คนที่ไม่หือไม่ฮือ คนที่กลางๆ ขับรถค่อมเลนเนี่ยมาเอาด้วย

สันทรายเห็นภาพชัด เขาได้คนที่ขับรถค่อมเลนมาเลี้ยงไก่กับเขา ถามว่าเขามารวมกลุ่มแล้ว วันหนึ่งยังไงเขาก็ต้องเป็นคนเสื้อแดง เพราะมันเป็นเรื่องของการออสโมซิสความรู้สึกเข้าไป เขาไปได้พ่อหลวงบ้าน แม่หลวงบ้าน มาเป็นประธานกลุ่มให้เลย โอเค ไปหางบ ของบตรงนั้นนี้ จัดอบรมเลี้ยงไก่ เอาลูกไก่ไปคนละ 50 ตัว ครบ 45 วัน เอาลูกไก่มาคืน ให้คนอื่นต่อ

นี่เป็นการขยายมวลชนที่ดี ถึงเวลามา คุณจะเป็นคนเสื้อแดงหลังตู้เย็นหรือไม่ก็ตาม หรือถ้ายังไม่แดง ก็ขอให้มันส้มเข้ามา เลี้ยงไก่ 45 วัน คุณจะได้เจอกันอย่างน้อยก็ 5-6 ครั้ง เพราะเขาประชุมกลุ่มกันทุกสัปดาห์ เขาทำแบบบ้านๆ ถ้ามีเรื่องวิชาการเข้าไป น่าจะสวยด้วยซ้ำ

เรื่องไพรมารี่โหวต (Primary vote) เป็นอย่างไรบ้าง ยังทำต่อไหม

(กลุ่มนปช.แดงเชียงใหม่ เคยเสนอและผลักดันพรรคเพื่อไทยเรื่องระบบการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองก่อนล่วงหน้า ในช่วงการเลือกตั้งซ่อมส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ เขต 3 ในช่วงกลางปี 2555)

ทำ แต่ไม่ค่อยไปถึงไหน แต่ตอนนี้ที่คนเอาไปเล่น และเป็นที่โด่งดัง กลายเป็นพรรคพลังประเทศไทย เสีย อลงกรณ์ (พลบุตร) ก็เอาไปเล่น เราอยากเล่น แต่เราไม่มีองค์กรรองรับไง ถามว่าไพรมารี่โหวต ภาคประชาชนคุณจะทำยังไงล่ะ ไม่มีพรรค เราก็ต้องไปเรียกร้องพรรคที่มีอยู่ พรรคไหนก็ได้ที่นำร่อง ที่พลังประเทศไทยหรือแม้แต่ประชาธิปัตย์ เขาเอาไปเล่น มองว่าใครเล่นก็ได้ไง แต่เชื่อว่าสักวันหนึ่ง มันจะเป็นทั้งประเทศ

ที่อลงกรณ์เอาไปเล่นที่อยุธยา คนเอาไปเล่นคือคนที่เคี่ยวแล้ว อย่างแม่ฮ่องสอนเนี่ย ควรทำ ส.ส.คือประชาธิปัตย์ ถามว่าเพื่อไทยทำไมไม่ทำ อย่างน้อยคุณรู้ คุณมีแคนดิเดตอยู่กี่คน แต่ละคน ถ้าคุณบอกว่าเป็นไพรมารี่โหวต ทุกคนรู้ว่าคืออะไร ทุกคนต้องวิ่งไปหาสมาชิก คนหนึ่งต้องวิ่งหาสมาชิกอย่างน้อยเป็นพัน สองสามพัน เพื่อให้ตัวเองเป็นผู้ชนะในการทำไพรมารี่โหวต คนที่จะได้คือพรรคนะ พรรคได้เต็มๆ

ทำไมอลงกรณ์เอาไปเล่นที่อยุธยา เพราะประชาธิปัตย์ไม่เคยเหยียบอยุธยาได้ ทุกคนก็อยากเป็นตัวแทนพรรค ถามว่า 10 คน ไปหาสมาชิกมาคนละพัน 10 คนก็หมื่นหนึ่ง ผลพลอยได้จริงๆ คือคะแนนปาร์ตี้ลิสต์พรรค

มีความคิดเรื่องจัดตั้งพรรคเองไหม

คิดได้ แต่ทำไม่ได้ คำว่าพรรคการเมือง มันเลี่ยงไม่พ้นเรื่องทุนทรัพย์ ถามว่าคนเสื้อแดงจะเอาทุนที่ไหน ถามว่าโปรไฟล์ของคนเสื้อแดงจริงๆ มันอยู่ที่พวกเราที่ไหน มันกลายเป็นไปอยู่ที่นปช. ใช่ไหม คำว่าคนเสื้อแดงมันเหมือนกลายเป็นโลโก้ของนปช.ไปแล้ว สามเกลอเก่าเนี่ย สมมติตัวพี่เองอยู่ๆ มาประกาศเลย เปิดพรรคเสื้อแดง จะหาสมาชิกได้ 300 ได้ไหมเนี่ย 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สารจาก BRN (ตอน 2): “สิทธิความเป็นเจ้าของ” คืออะไร

Posted: 18 Sep 2013 10:25 AM PDT

**ในตอนแรก (ต้นฉบับเดิม - http://www.deepsouthwatch.org/ms/node/4706 บทแปลเป็นภาษาไทย - http://www.deepsouthwatch.org/dsj/4723) ผู้เขียนได้แจกแจงรายละเอียดของข้อเรียกร้องเบื้องต้น 5 ประการอย่างถี่ถ้วน ยกเว้นเพียงเงื่อนไขประการที่ 4 ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิของความเป็นเจ้าของ ในตอนที่ 2 นี้จึงใคร่วิพากษ์ถึงประการดังกล่าว-ผู้เขียน

ข้อเรียกร้องเบื้องต้นประการที่ 4 – รัฐบาลไทยต้องยอมรับถึงสิทธิความเป็นเจ้าของเหนือดินแดนปาตานีของชนชาวมลายูปาตานี

ตามที่ได้อธิบายไปแล้วก่อนหน้านี้ถึงเงื่อนไขประการที่ 4 ว่า เป็นประเด็นใจกลางที่ได้กลายเป็นแกนหลักต่อเหล่าปัญหาความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานถึง 200 ปี การอภิปรายในเรื่องที่มีความสำคัญเช่นนี้ จะหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงความจริงในแง่ของประวัติศาสตร์การเมืองและกฎหมายมิได้

เพื่อทำความเข้าใจความคิดเกี่ยวกับสิทธิความเป็นเจ้าของของชนชาติมลายูปาตานี จำเป็นต้องพิจารณาจากแง่มุม 3 ประการสำคัญดังต่อไปนี้ คือ

ประการแรกปาตานี คือ มาตุภูมิ (PATANI sebagai BUMI)
ประการที่ 2 ชนชาติมลายู คือ ชาติพันธุ์ (BANGSA MELAYU sebagai ETNIK) และ
ประการที่ 3 สิทธิความเป็นเจ้าของ คือ อำนาจของผู้ที่เป็นเจ้าของ (HAK PERTUANAN sebagai PEMILIK BERKUASA)

จากนี้จะทำความเข้าใจเป็นรายข้อ ดังต่อไปนี้

 

1. ปาตานี คือ มาตุภูมิ

เมื่อเอ่ยถึงคำว่า ปาตานี สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องย้อนกลับไปยังประวัติศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ได้มีความเห็นพ้องต้องกันว่า บริเวณทางตอนใต้ของไทยที่ประกอบไปด้วย 3 จังหวัด คือ ปาตานี ยะลา นราธิวาส และบางอำเภอของจังหวัดสงขลาปัจจุบัน ซึ่งก่อนหน้านั้นบริเวณดังกล่าวเคยเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่รู้จักกันในชื่อลังกาสุกะ นักประวัติศาสตร์ต่างคาดการณ์ว่า อาณาจักรแห่งนี้ได้กำเนิดขึ้นเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 1 หรือก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ

ตามบันทึกของของชาวจีน ระบุว่า เมื่อปี ค.ศ.515 กษัตริย์จากลังกาสุกะที่มีพระนามว่า พระเจ้าพากาดัตตา (Bhagadatta) ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับเมืองจีน และได้ทรงส่งทูตไปยังเมืองดังกล่าวเมื่อปี ค.ศ.523, 531 และ ค.ศ.568 ในบันทึกของชาวจีนได้กล่าวถึงลังกาสุกะในสำเนียงต่างๆ เช่น ลังยาซิว (Lang-Ya-Shiao) ลังยาเซีย(Lang-Yi-Sia) ลังซีเจีย (Lang-see-chia) และอื่นๆ

นี่หมายความว่า อาณาจักรลังกาสุกะได้อุบัติขึ้นก่อนหน้าที่อาณาจักรสุโขทัยจะถือกำเนิดขึ้นเสียอีก (ค.ศ.1238) ตามที่ถูกอ้างโดยชาวสยามว่า เป็นยุคที่การปกครองเพิ่งถูกสถาปนาขึ้น ในขณะที่อาณาจักรลาวที่ได้สถาปนาขึ้นราวปี ค.ศ. 450 ซึ่งก็ปกครองโดยชนชาติมอญ (มิได้มาจากชนชาติไทย) ที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรเขมร จนกระทั่งถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาเมื่อ ค.ศ.1388

ถึงแม้ว่าลังกาสุกะจะเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ในยุคสมัยหนึ่ง แต่เมื่อเสื่อมอำนาจลงก็ได้ตกอยู่ภายใต้อาณาจักรอื่นที่มีอิทธิพลเหนือกว่า อย่างเช่น อาณาจักรศรีวิชัย (ศูนย์อำนาจอยู่ที่เมืองปาลิมบัง เกาะสุมาตรา) อาณาจักรมัชปาหิต (ศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่เกาะชวา) และอาณาจักรสุโขทัยที่ใช้อำนาจปกครองผ่านเมืองบริวารอย่างตามพรลิงค์ (ศูนย์กลางอยู่ที่เมืองลิกอร์)

ในขณะที่อำนาจการปกครองจากภายนอกเสื่อมลง อาณาจักรลังกาสุกะได้กลับมามีอำนาจและได้รับอิสรภาพอีกครั้ง ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ในรูปของโบราณสถานและสถานประกอบศาสนกิจยังมีให้เห็นได้อย่างทั่วทั้งบริเวณจังหวัดทางภาคใต้ปัจจุบัน โดยเฉพาะจุดศูนย์กลางของเมือง พระราชวังมะฮลีฆัย (KOTA MAHLIGAI) ที่อยู่รอบๆ บริเวณบ้านจาเละ ในอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานีปัจจุบัน

เมื่อศูนย์กลางการปกครองได้ย้ายไปยังสถานที่ใหม่ ณ กรือเซะ หรือที่ปาตา อีนี (PataIni, หรือบางแหล่งข้อมูลได้เขียนว่าหมู่บ้านเปาะตานี, Pak Tani) แล้วจึงได้ตั้งชื่อเมืองนี้ว่าปาตานี จนกระทั่งเจ้าเมืองได้เข้ารับอิสลาม (จากเดิมที่นับถือศาสนาพุทธ) และได้วางรากฐานการปกครองแบบอิสลาม และยังได้ตั้งชื่อใหม่ว่า ปาตานีดารุสสลาม

ทว่าเมื่อการรุกรานจากสยาม(ที่ต้องการแผ่ขยายอาณาเขต)หลายต่อหลายครั้ง นับตั้งแต่สมัยอยุธยาจวบจนกระทั่งประสบความสำเร็จเมื่อปีค.ศ.1786 ในสมัยการปกครองของกษัตริย์รัชกาลที่ 1แห่งราชวงศ์จักรี นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สถานะของเมืองปาตานีก็แปรเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากเมืองที่เคยมีอำนาจและอิสระ สุดท้ายกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยในปัจจุบัน

เพราะฉะนั้นไม่ว่าแผ่นดินแห่งนี้จะเรียกว่าลังกาสุกะ ปาตานี ปาตานีดารุสสลาม มณฑลปัตตานี หรือเหมือนอย่างปัจจุบันนี้ที่ถูกแยกเป็นจังหวัดเล็กจังหวัดน้อย ซึ่งประกอบไปด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ซึ่งอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วต่างก็เป็นภูมิประเทศเดียวกัน แผ่นดินเดียวกัน กระทั่งน่านฟ้าและน่านน้ำอันเดียวกัน

ถึงแม้ว่าในห้วงขณะหนึ่งแนวชายแดนและอาณาบริเวณที่เคยปกครองได้เปลี่ยนไปแล้ว แต่ในทางภูมิศาสตร์มิได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

 

2. ชนชาติมลายู คือ ชาติพันธุ์

อาณาจักรลังกาสุกะถูกระบุโดยนักประวัติศาสตร์ว่า เป็นรัฐมลายูที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย (Indianised Malay State) บนพื้นฐานที่ถูกยึดครองและปกครองโดยชนชาวมลายู การใช้ภาษามลายู การมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมมลายู มีศาสนาตามความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย นั่นก็คือศาสนาฮินดูในยุคแรก ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นศาสนาพุทธในเวลาต่อมา

ภาษาเขียนก็เช่นกันที่เป็นการยืมมาจากตัวอักษรภาษาสันสกฤตในแบบปัลลวะ ยกเว้นในสมัยของปาตานีดารุสสลามเท่านั้นที่การเขียนได้หยิบยืมตัวอักษรมาจากอักษรอาหรับที่รู้จักกันในนามอักษรยาวี

ในบรรดา "รัฐมลายูที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย" (Indianised Malay States) อื่นๆ ที่เคยดำรงอยู่ในหมู่เกาะบนคาบสมุทรมลายู อันได้แก่ อาณาจักรศรีวิชัย ตามพรลิงค์ มัชปาฮิต มะละกา เทมาเส็ก (สิงคโปร์) และอื่นๆ ถึงแม้ว่าจะยังมีชนชาติอื่นนอกเหนือจากชาวมลายูที่เคยอาศัยอยู่บนคาบสมุทรมลายู (Malay Peninsula) เช่นชาวมอญ (พม่า) ชาวเขมร ชาวสุมาตรา ชาวชวา ชาวสยามไต (ทางตอนใต้) ชาวสยาม (ไทย) ชนเผ่าพื้นเมืองและอื่นๆ แต่ชนชาวมลายู ถือเป็นชนชาติที่เด่นชัดและเป็นผู้กุมอำนาจหลัก

หลักฐานการตั้งรกรากและการดำรงอยู่ของอำนาจของคนมลายูในแหลมมลายูแห่งนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องยากเย็นที่จะค้นพบ สิ่งสำคัญที่ดำรงอยู่ส่วนใหญ่ก็คือรากศัพท์ในภาษามลายู เริ่มจากบริเวณคอคอดกระ(กระ) ฉาฮายาหรือจายา(ไชยา) ลิกอร์ (นครศรีธรรมราช) ซูรัต(สุราษฎร์ธานี) บือดือลุง(พัทลุง) ฆือรือบี(กระบี่) บูหงา(พูงา/พังงา) บูกิต(ภูเก็ต) รือนุง(ระนอง) ตือรัง(ตรัง) สิงโกรา(สงขลา) ปาตานี(ปัตตานี) ยาลา(ยะลา) มือนารา(นราธิวาส) และสะตูล (สตูล)

นี่ยังไม่รวมถึงชื่ออำเภอและหมู่บ้านเล็กๆที่จำนวนมิน้อยมาจากคำภาษามลายู เพียงแต่ว่าภายหลังจากที่ถูกยึดครอง สำเนียงเรียกได้เปลี่ยนไปตามอิทธิพลของภาษาอื่น(สยาม) หรือเป็นการเปลี่ยนไปเป็นชื่อตามภาษาสยามไปเลย

สามารถสรุปได้ว่า นับตั้งแต่สมัยลังกาสุกะจนถึงยุคปาตานีดารุสสลาม จวบกระทั่งวันนี้ ความเป็นมาและคุณลักษณะเด่นชัดของชาวมลายูที่ได้อาศัยอยู่แผ่นดินแห่งนี้ ได้สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นไม่เคยเปลี่ยนแปลง นอกจากความเชื่อทางศาสนาเท่านั้นที่มีความเปลี่ยนแปลงจากศาสนาฮินดูเป็นศาสนาพุทธและสุดท้ายศาสนาอิสลาม

 

3.สิทธิความเป็นเจ้าของ–คืออำนาจของผู้ที่เป็นเจ้าของ

ในทางภาษาสิ่งนี้หมายถึง "สิทธิของผู้ที่เป็นเจ้าของ"(Ownership right) สิทธิความเป็นเจ้าของ เป็นแนวคิดทางการเมืองอย่างหนึ่ง ที่หมายถึง "สิทธิที่ได้รับหรือที่ได้มาโดยคนผู้หนึ่งหรือชนกลุ่มหนึ่งที่จะครอบครองสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างถูกต้อง โดยที่เขาหรือพวกเขานั้นถืออำนาจอันโดยสมบูรณ์เหนือสิ่งนั้น" (It is the RIGHT given to, or attained by or acquired by  a person or people, to OWN something rightfully, which he or they possess ABSOLUTE POWER over it)

ด้วยสิทธิที่ถืออยู่นี่เอง ผู้เป็นเจ้าของที่มีสิทธิดังกล่าวอย่างชอบธรรมนั้น จะเป็นผู้มีอำนาจเต็มและมีอิสระในการตัดสินใจทุกเรื่องที่เหมาะสมและเป็นเรื่องดีงามต่อสิ่งที่ตนเป็นเจ้าของ

ตัวอย่างง่ายๆ เช่น มีคนครอบครองที่ดินแปลงหนึ่งด้วยความชอบธรรม ไม่ว่าจะเป็นโดยการซื้อ การแลกเปลี่ยน การให้หรือการได้รับมรดกตกทอด ตามหลักที่ถูกต้องชอบธรรมนั้น ที่ดินดังกล่าวย่อมเป็นสิทธิของผู้ถือครอง (Ownership Right) เขาย่อมมีอำนาจอย่างเต็มที่บนที่ดินดังกล่าว และมีอิสระที่จะทำสิ่งใดต่อที่ดินแปลงนั้น ไม่ว่าจะเป็นการปลูกผัก สร้างบ้าน ให้เช่า หรือจะขาย หากว่ามีคนต้องการที่จะเช่าที่ดินแปลงดังกล่าว ผู้เช่านั้นมิอาจก้าวก่ายต่อสิทธิความเป็นเจ้าของที่แท้จริงได้

หากมีชนกลุ่มหนึ่งที่ไม่รู้ว่ามาจากที่ใด ได้รุกรานและทำการปล้นโดยวิธีการบังคับหรือขับไล่เจ้าของเดิมออกไป เขาก็ยังมิได้หมดสิทธิจากการเป็นเจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าวแต่อย่างใด เจ้าของที่ดินเดิมนั้นยังมีสิทธิและจำต้องทวงคืนสิทธิบนที่ดินแปลงนั้นกลับคืนมา เพราะนั่นคือสิทธิโดยชอบธรรม

นับจากสมัยอาณาจักรลังกาสุกะจวบกระทั่งถึงยุคสมัยปาตานีดารุสสลาม สิทธิความเป็นเจ้าของในแง่ของอำนาจอธิปไตย (sovereignty) นั้นอยู่ในมือของกษัตริย์ สุลต่าน หรือนักปกครองที่มาจากชนชาวมลายูที่ได้สืบทอดตลอดมาในแผ่นดินแห่งนี้จากรุ่นสู่รุ่น แม้ว่าแรกเริ่มนั้นความเชื่อเรื่องศาสนาจะไม่เหมือนกับช่วงสมัยอาณาจักรลังกาสุกะ(ฮินดูและพุทธ) แต่ในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนมาสู่ความเป็นอิสลาม พวกเขาเหล่านั้นล้วนมีที่มาจากวงศ์ตระกูลเชื้อสายเดียวกันนั่นก็คือคนมลายู นั่นหมายความว่าสิทธิความเป็นเจ้าของในแง่ของอำนาจการปกครองนั้นอยู่ในอุ้งมือของคนมลายู

ถึงแม้ว่าในบางช่วงนั้น ลังกาสุกะหรือปาตานีได้เสื่อมอำนาจลงเพราะถูกรุกรานจากภายนอก รวมถึงถูกจำกัดและตกอยู่ภายใต้อาณัติของคนอื่น ความจริงแล้วสิทธิความเป็นเจ้าของคนมลายูบนแผ่นดินแห่งนี้ยังไม่หมดสิ้นไปกับการถูกยึดครองดังกล่าวแต่อย่างใด ถึงแม้สิทธิที่ว่านี้จะถูกปฏิเสธก็ตาม

ครั้นเมื่อปาตานีดารุสสลามตกอยู่ในเงื้อมมือของสยามในปี ค.ศ.1786 คนมลายูก็สูญเสียอำนาจในการปกครอง แต่สิทธิความเป็นเจ้าของของคนมลายูปาตานีก็ยังไม่สูญสลายไปถึงแม้จะถูกปฏิเสธจากนักล่าอาณานิคมสยามก็ตาม

จากนั้นเริ่มมีชาวมลายูลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจสยามบนแผ่นดินปาตานี ที่นำโดยเต็งกูลามิดดีน, ดาโต๊ะปังกาลัน, เต็งกูอับดุลกอเดร์ กามารุดดีน และลูกชายท่านเต็งกูมะฮ์มูด มะฮ์ยิดดีน, ต่วนโต๊ะครูหะญีสุหลง และอื่นๆ นับตั้งแต่ยุคสมัยที่อยู่ภายใต้อาณานิคมจวบกระทั่งถึงยุคสมัยของนักต่อสู้ในปัจจุบัน

เป้าหมายของพวกเขานั้นก็ไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากการทวงคืนสิทธิที่ถูกลิดรอนไปเท่านั้น นั่นก็คือสิทธิอำนาจในการปกครอง เพราะว่าแผ่นดินแห่งนี้เป็นสิทธิความเป็นเจ้าของของชนชาวมลายูที่ต้องทวงกลับคืนมาเพื่อมอบให้กับผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง นั่นก็คือคนมลายูปาตานี

เปรียบได้กับตอนที่อยุธยาตกอยู่ภายใต้การยึดครองของพม่าเมื่อปี ค.ศ.1569 ชาวสยามก็ได้ลุกขึ้นมาเพื่อกอบกู้แผ่นดินกลับคืนมา เพราะพวกเขาสำนึกดีว่าการได้สูญเสียแผนดินนั้น เป็นการเพียงพอแล้วที่ชาวสยามจะมีความรู้สึกถึงสิทธิความเป็นเจ้าของของชนชาติสยามเหนือแผ่นดินอยุธยา เมื่อช่วงปีค.ศ.1593 ภายใต้การนำขององค์กษัตริย์พระนเรศวร ชาวสยามจึงสามารถขับพม่าออกไปและกลับมามีอำนาจใหม่อีกครั้ง

เหตุการณ์ที่คล้ายกันได้หวนกลับมาอีกครั้งเมื่อช่วง ค.ศ.1767 เมื่ออยุธยาได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของพม่าอีกครั้ง แต่พระเจ้าตากสินมหาราชและชาวสยามได้ทำการกอบกู้เอกราชได้จนสำเร็จ จากนั้นก็ได้ย้ายศูนย์กลางไปยังกรุงธนบุรีหลังจากที่เมืองอยุธยาได้รับความเสียหายย่อยยับจากสงครามอย่างหนัก ความสำนึกที่จะกอบกู้อธิปไตยการปกครองที่ได้สูญเสียไปนั้น ต้องอาศัยหลักความเชื่อมั่นที่ความศรัทธาที่แน่วแน่และสัจจริงว่าสิทธิความเป็นเจ้าของเหนือแผ่นดินสยามนั้นเป็นของปวงชนชาวสยามทั้งมวล

พอจะกล่าวได้หรือไม่ว่าทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ กษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์ ไม่ว่าจะเป็นพระนเรศวรและพระเจ้าตากสินนั้น คือผู้ก่อการกบฏ ผู้แบ่งแยกดินแดน หรือผู้ก่อการร้าย เพียงแค่ว่าพระองค์ทั้งสองได้ทำการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยแผ่นดินเกิดจากอาณัติของศัตรู? คงไม่อย่างแน่นอน! เช่นเดียวกับนักต่อสู้ปาตานีที่ไม่ควรเรียกว่าเป็นผู้กบฏ ผู้แบ่งแยกดินแดน หรือผู้ก่อการร้าย เพราะพวกเขาเองก็กระทำการเหมือนอย่างพระองค์ทั้งสอง

ในบริบทของกระบวนการสันติภาพปาตานีซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในตอนนี้ ประเด็นเรื่องของสิทธิความเป็นเจ้าของของชนชาวมลายูปาตานีบนผืนแผ่นดินปาตานีที่ได้รับการปฏิเสธจากรัฐไทย ได้กลายเป็นหนึ่งเงื่อนไขพื้นฐานเพื่อกระบวนการพูดคุยจักได้ดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง ทางฝ่ายนักต่อสู้ได้เรียกร้องให้การปฏิเสธนั้นเป็นโมฆะ โดยการยอมรับว่าชนชาวมลายูปาตานีจะมีสิทธิความเป็นเจ้าของเหนือแผ่นดินปาตานี

ในกรอบของสิทธิความเป็นเจ้าของที่ประกอบด้วย:สิทธิมนุษยชนและความยุติธรรม (Justice and Basic Human Rights) ของสังคมมลายูปาตานีจะต้องได้รับการยอมรับและความเคารพ สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง (Right to Self-Determination) พันธะสัญญาทางการเมืองเศรษฐกิจ การศึกษาและสังคมที่มีหลักประกันและโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางรัฐบาลไทยจำเป็นต้องเปิดโอกาสและพื้นที่เพื่อให้ชาวมลายูปาตานีสามารถปกครองตนเองในดินแดนปาตานีได้ รูปแบบและขอบเขตในการบริหารและอำนาจการปกครองจะต้องร่วมกันพิจารณาในรายละเอียดในระหว่างกระบวนการพูดคุยเมื่อถึงขั้นการเจรจาในภายหลัง

ถ้าหากว่าฝ่ายไทยปรารถนาในความสงบสุขที่แท้จริง พวกเขาก็ควรจะตอบรับและตกลงด้วยดีต่อข้อเรียกร้องเบื้องต้นทั้ง 5 ประการนี้ในระหว่างการพูดคุย เพื่อให้กระบวนการสันติภาพสามารถก้าวไปข้างหน้าได้ เพื่อประชาชนในพื้นที่ภาคใต้จะได้สัมผัสดอกผลของสันติภาพอย่างทั่วกัน หลังจากที่ได้ประสบกับกลียุคมานาน

 

**** ความคืบหน้า : ทางฝ่ายบีอาร์เอ็นได้ยื่นรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขเบื้องต้น 5 ประการแก่ทางฝ่ายไทย (รวมทั้งข้อ 4) ผ่านทางผู้อำนวยความสะดวก(มาเลเซีย) แล้ว ทางฝ่ายไทยได้ขอเวลาอีกสักระยะเพื่อทำการหารือและคงจะให้คำตอบในช่วงเวลาที่เหมาะสมถ้าคำตอบเป็นไปในทางบวก ก็คือว่าทางฝ่ายไทยนั้นตกลงที่จะรับเงื่อนไขทั้งห้าดังกล่าวไปพิจารณา วงล้อของกระบวนการสันติภาพที่กัวลาลัมเปอร์จะสามารถขับเคลื่อนใหม่ได้อีกครั้ง

น้ำส้มและน้ำผื้ง – นอกรั้วปาตานี
ซุลเกาะดะฮ์ / กันยายน 2013

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชำนาญ จันทร์เรือง: โทษประหารชีวิตไม่ทำให้อาชญากรรมลดลง

Posted: 18 Sep 2013 10:09 AM PDT

โทษประหารเป็นการลงโทษที่รุนแรงต่อชีวิต แต่ไม่มีผลรุนแรงต่อการลดจำนวนของอาชญากรรมแต่อย่างใด

พลันที่ศาลกรุงนิวเดลีซึ่งเป็นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาอย่างเร่งด่วนเมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา ให้ประหารชีวิตจำเลย 4 คน ในคดีรุมโทรมหญิงจนถึงแก่ชีวิตเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว มีทั้งปรากฏการณ์ที่ผู้คนต่างแสดงความยินดีว่าการลงโทษนี้สามสมกับความผิดที่เขาเหล่านั้นได้กระทำแล้ว แต่ในทางตรงกันข้ามองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนลซึ่งมีสมาชิกอยู่ทั่วโลกกว่า 3 ล้านคนและเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพมาแล้วได้ออกแถลงการณ์ว่าโทษประหารชีวิตไม่ได้ช่วยให้ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในอินเดีย  การปฏิรูปขั้นตอนปฏิบัติและโครงสร้างหน่วยงานอย่างกว้างขวางต่างหากที่จะเป็นทางออกเพื่อแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงอย่างแพร่หลายในอินเดีย

ผมในฐานะที่เป็นผู้หนึ่งที่ต่อต้านโทษประหารชีวิตเห็นว่า

1. ไม่มีมนุษย์หรือคนกลุ่มใดที่สามารถอ้างสิทธิทำร้ายผู้อื่นหรือคร่าชีวิตผู้อื่นถึงตาย ไม่ว่าด้วยเหตุใด

ชีวิตเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน และเป็นสิทธิที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ขณะเดียวกันความยุติธรรมไม่ใช่เครื่องชั่งหรือวัดความเท่าเทียมว่า หนึ่งชีวิตที่เสียไปนั้นต้องได้รับการชดใช้ด้วยอีกชีวิตหนึ่ง ความเข้าใจที่ว่าชีวิตต้องแลกคืนด้วยชีวิตนั้นเป็นความเข้าใจผิด เพราะว่าการประหารชีวิตเป็นการทำลายชีวิตอย่างโหดร้าย ซึ่งก่อให้เกิดความทุกข์และอาจประหารผิดคนได้

2. บางครั้งผู้บริสุทธิ์ถูกประหารชีวิตและไม่มีหนทางชดใช้

ทางนิติวิทยาศาสตร์เผยให้เห็นว่า มีการตัดสินลงโทษประหารผิดคนมากขึ้น มีหลายกรณีที่ผู้ต้องโทษและถูกประหารชีวิตนั้น กระทำผิดข้อหาฆาตกรรมจริง แต่มีเหตุแวดล้อมที่ระบุชัดเจนว่าเขาเหล่านั้นไม่ควรต้องโทษถึงขั้นประหารชีวิต ความผิดพลาดอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขได้หากคนที่ได้รับโทษประหารชีวิตนั้นเสียชีวิตไปแล้วมีคนบริสุทธิ์เสียชีวิตไปแล้วกี่ราย ตัวอย่างของความผิดพลาดที่เห็นได้ชัดก็คือกรณีของเชอรีแอน ดันแคน ที่คุณกระแสร์ พลอยกลุ่มและพวกที่ตกเป็นแพะรับบาปต้องประสบเคราะห์กรรมอย่างน่าอเน็จอนาถ

3. การให้ผู้กระทำความผิดนั้นต้องตายตกไปตามกันนั้นไม่ถือว่าเป็นสิทธิมนุษยชนและไม่ควรนำมาใช้คำนวณกันแบบเลขคณิตคิดเร็ว ชีวิตต่อชีวิตหรือตาต่อตา ฟันต่อฟัน

4. ทุกคนต้องได้รับความยุติธรรมความเท่าเทียมกัน

แต่ในความเป็นจริงไม่มีความเท่าเทียมกันในการตัดสินลงโทษประหารชีวิต จะเห็นได้ว่าคนจน คนไม่มีความรู้และชนขั้นล่างสุดของสังคม มีโอกาสที่จะต้องโทษนี้ได้มากที่สุด จึงเห็นได้ว่าคนที่รวยกว่า คนที่มีการศึกษามากกว่า หรือมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมดีกว่า มักจะรอดจากโทษประหารชีวิตเสมอ

5.ด้านความคิดที่ว่าโทษประหาร ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายว่าย่อมเทียบไม่ได้เลยกับคุณค่าแห่งการมีชีวิตอยู่ของบุคคล การลงโทษประหารเป็นการลดคุณค่าศักดิ์ศรีและหลักธรรมแห่งมนุษย์

6.การลงโทษประหารขัดกับหลักทัณฑวิทยา เพราะวัตถุประสงค์ของการลงโทษนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขดัดนิสัยให้กลับตัวเป็นคนดีมิใช่การแก้แค้นทดแทน

7. ข้อโต้แย้งที่ว่าการประหารชีวิตเป็นมาตรการปรามอาญากรรมร้ายแรงได้นั้นเป็นข้อสันนิษฐานที่ขาดพื้นฐานรับรอง    ความเปลี่ยนแปลงของสถิติอาชญากรรมเป็นไปตามกฎเกณฑ์ทางสังคมที่ซับซ้อน

ในประเทศที่ยังใช้โทษประหารสถิติอาชญากรรมก็มิได้ลดลงแต่ประการใด และประเทศที่เลิกการใช้โทษประหารบางประเทศกลับมีสถิติคดีอาชญากรรมลดลง

จากการวิเคราะห์ข้อค้นพบในงานวิจัยเกี่ยวกับโทษประหารและอัตราการฆ่าคนตาย ซึ่งเป็นการสำรวจขององค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2531 และมีการปรับปรุงข้อมูลในปี 2539 และ 2545 สรุปว่า "...งานวิจัยที่มีอยู่ไม่สามารถให้หลักฐานอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่าการประหารชีวิตมีผลยับยั้งการก่ออาชญากรรมมากกว่าการจำคุกตลอดชีวิต และไม่มีแนวโน้มว่าจะมีหลักฐานสนับสนุนได้ในเวลาอันใกล้หลักฐานที่เราค้นพบส่วนใหญ่ ไม่สนับสนุนสมมติฐานในเชิงป้องกันอาชญากรรมเลย"

ตัวเลขอาชญากรรมล่าสุดในประเทศที่ยกเลิกโทษประหาร ก็ไม่บ่งบอกว่าการยกเลิกโทษประหารส่งผลในทางลบแต่อย่างใด อย่างเช่นในแคนาดา อัตราการฆาตกรรมต่อประชากร 100,000 คนลดจากตัวเลขสูงสุดที่ 3.09 ในปี 2518ก่อนที่จะมีการยกเลิกโทษประหาร ลงมาเหลือ 2.41 ในปี 2523 และจากนั้นมาก็มีอัตราลดลงเรื่อยๆ และในปี 2546 ยี่สิบเจ็ดปีหลังจากยกเลิกโทษประหาร อัตราการฆาตกรรมอยู่ที่ 1.73 ต่อประชากร 100,000 คน ตํ่ากว่าปี 2518 ถึง 44% และถือว่าตํ่าสุดในรอบสามทศวรรษ แม้ว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.0 ในปี 2548 แต่ก็ยังถือว่าเป็นอัตราที่ตํ่ากว่าตัวเลขในช่วงที่เริ่มมีการยกเลิกโทษประหารถึงหนึ่งในสาม

เป็นการไม่ถูกต้องที่จะเหมาเอาว่าคนที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงเช่นการฆาตกรรม จะมีการไตร่ตรองอย่างเป็นเหตุผลถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น บ่อยครั้งที่การฆ่าคนตายมักเกิดขึ้นในช่วงที่อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล หรือตกอยู่ใต้อิทธิพลของยาเสพติดหรือสุรา บางคนที่ก่ออาชญากรรมรุนแรงเป็นเพราะเกิดจากสภาพความไม่มั่นคงด้านจิตใจหรืออารมณ์เป็นอย่างมาก

จะเห็นได้ว่าโทษประหารไม่ได้มีผลในลักษณะที่ทำให้คนยับยั้งชั่งใจได้เลย นอกจากนั้น ผู้ที่วางแผนล่วงหน้าที่จะก่ออาชญากรรมร้ายแรง ก็ยังเลือกที่จะกระทำความผิดนั้นต่อไปแม้จะมีความเสี่ยงจากโทษประหาร เพราะพวกเขาเชื่อว่าจะสามารถหนีรอดจากการถูกจับกุมตัวได้

การไม่มีหลักฐานอย่างชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่าโทษประหารมีผลในเชิงป้องกันอาชญากรรม ชี้ให้เห็นถึงความไร้ประโยชน์และอันตรายจากการเชื่อในสมมติฐานเรื่องผลในเชิงป้องกัน และนำข้อมูลนั้นมากำหนดนโยบายใช้โทษประหารของรัฐ มิหนำซ้ำยังจะเป็นผลทางตรงข้ามดังข้อคิดเห็นของนักโทษประหารชีวิตที่ผมได้มีโอกาสพบปะพูดคุยด้วยได้ให้ความเห็นว่ากรณียาเสพติดที่มีอัตราโทษสูงถึงประหารชีวิตทำให้ราคายาเสพติดสูงขึ้นอย่างมากหลายเท่าตัว ทำให้เกิดแรงจูงใจให้คนกระทำความผิดโดยไม่ได้เกรงกลัวต่อโทษประหารชีวิต

ฉะนั้น จึงสรุปได้ว่าโทษประหารเป็นการลงโทษที่รุนแรงต่อชีวิต แต่ไม่มีผลรุนแรงต่อการลดจำนวนของอาชญากรรมแต่อย่างใด

 

หมายเหตุผู้เขียน

1) หลายครั้งที่ผมพูดหรือเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้มักจะได้รับการโต้แย้งว่าผมไม่มีญาติพี่น้องถูกฆาตกรรมจึงพูดหรือเขียนเช่นนี้ ซึ่งหลายครั้งเช่นกันที่ผมตอบว่าคุณพ่อบังเกิดเกล้าของผมก็เสียชีวิตจากการฆาตกรรม แต่ผมก็ยังคงยืนยันในการรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิตครับ

2) เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 18 กันยายน 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ผู้ซับน้ำตา’สารคดีชีวิต คือจิ๊กซอว์สันติภาพ-บทวิจารณ์งาน‘สื่อ-สาร’

Posted: 18 Sep 2013 09:28 AM PDT

เครือข่ายผู้หญิงชายแดนใต้ ฉายภาพซ้ำสารคดี "ชีวิต ณ ที่เกิดเหตุ" ตอน "ผู้ซับน้ำตา" คณบดีวิทยาการสื่อสารม.อ.ปัตตานี ระบุแม้ไม่ได้ฉายภาพรวมทั้งหมด แต่มันคือจิ๊กซอว์ของสันติภาพ พร้อมกับวิจารณ์การทำงานของสื่อและสาร 

... เมื่อเขาประโคมข่าวว่าร้ายคนมุสลิมใน 3 จังหวัด ถามว่าคุณรู้ไหมว่าความจริงเป็นอย่างไร...สื่อนำเสนอออกไปแต่ละครั้งว่านี่คือผู้ก่อการร้าย ถามว่าสุดท้ายเขาไม่ผิด แต่ก็ไม่มีใครบอกว่าเขาไม่ผิด สื่อมาติดตามไหม ศักดิ์ศรีของเขาได้คืนไหม...

เป็นคำพูดส่วนหนึ่ง(ที่ฉะฉาน) ของ "คำนึง ชำนาญกิจ" อดีตผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายอันเนื่องมาจากปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ที่พูดผ่านสารคดี ชื่อ "ผู้ซับน้ำตา" ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันศุกร์ ที่ 12 กรกฎาคม 2556 เวลา 20.20 – 21.15 น. ที่ผ่านมา

เป็นสารคดี 1 ใน 6 ตอนของสารคดีชุด "ชีวิต ณ ที่เกิดเหตุ" ที่ถูกนำมาฉายซ้ำโดยเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2556 ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เพื่อให้ผู้ร่วมชมวิจารณ์

 

'คำนึง ชำนาญกิจ' คนต้นเรื่องผู้ซับน้ำตา

สารคดี "ผู้ซับน้ำตา" เป็นการฉายภาพชีวิตของ "คำนึง ชำนาญกิจ" อดีตผู้ได้รับผลอันเนื่องมาจากสามีและลูกชายที่ถูกดำเนินคดีความมั่นคง เธอต้องหมดเนื้อหมดตัวและถึงกับต้องขายบ้านเพื่อเอาเงินมาต่อสู้คดีให้สามีกับลูกชาย

ซ้ำยังถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นครอบครัวโจร..... กระทั่งสุดท้ายก็ถูกศาลพิพากษาให้พ้นผิด

ปัจจุบันคำนึง ชำนาญกิจ เป็นผู้ขับเคลื่อนเรื่องการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบรายอื่นๆ ที่เป็นเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกัน

จากอดีตเหยื่อสู่การเป็นผู้ซับน้ำตา คือหัวใจของสารคดีตอนนี้ โดยฉายให้เห็นภาพความแข็งแกร่งของผู้หญิงคนหนึ่งที่สามารถข้ามผ่านความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิต

กระทั่งสามีกับลูกชายของเธอถูกตัดสินให้พ้นผิด และเธอเองก็สามารถช่วยเหลือคนอื่นต่อไปได้ด้วยในตอนนี้ ทั้งพี่น้องคนพุทธและคนมุสลิม

คำนึง ชำนาญกิจ หรือที่คนรู้จักกันเรียกว่า "ก๊ะคำนึง" ผู้ที่ถูกถ่ายทอดผ่านสารคดีตอนนี้ เล่าว่า ที่จริงในสารคดีเรื่องนี้อยากจะสะท้อนให้เห็นความเป็นพี่น้องระหว่างคนไทยพุทธและมุสลิมในจังหวัดเดียวกัน แต่ช่วงเวลาถ่ายทำค่อนข้างมีอุปสรรคมาก จึงทำให้ไม่สามารถถ่ายความเป็นพี่น้องดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์

"เช่น ในหมู่บ้านต้นแบบที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ในแง่ความไม่แตกแยกทางศาสนา ที่ทั้งของคนไทยพุทธและมุสลิมอยู่กันอย่างปกติสุข"

เธอบอกว่า สารคดีเรื่องนี้ถ่ายทอดเรื่องราวของตนเองบางส่วนเท่านั้น บางฉากบางตอนถูกตัดออก เนื่องจากเราต้องการนำเสนอสิ่งที่ดี ที่เป็นการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี เพื่อลดความขัดแย้ง ไม่ต้องการสะท้อนความรุนแรง

"ผลกระทบที่เกิดขึ้น เราพยายามเยียวยาตนเองพร้อมกับการเยียวยาคนอื่นด้วย ไม่ว่าจะพี่น้องพุทธหรือมุสลิม หรือผู้กระทบด้านจากเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราช่วยเหลือทั้งหมด เพียงแต่ย้ำว่าขอให้อดทนและเข้มแข็ง"

ก๊ะคำนึง เล่าต่อไปว่า ผู้ที่ชมสารคดีบางส่วนได้สะท้อนมุมมองทางเฟสบุ๊คส่วนใหญ่เป็นคนไทยพุทธที่ให้กำลังใจ เนื่องจากเราเปลี่ยนศาสนาจากพุทธมานับถือศาสนาอิสลาม ทุกคนบอกให้เราสู้ต่อไปและให้อดทนจนถึงที่สุด

"การสะท้อนจุดนี้ใช่เพียงแค่เราได้เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ดี หากแต่เรายังสามารถช่วยเหลือผู้อื่นที่เจอสถานการณ์ย่ำแย่กว่าเรา เราพยายามผลักดันให้บุคคลเหล่านั้นได้รับการเยียวยาที่ดีที่สุด แม้เราไม่สามารถเอาชีวิตที่สูญเสียเหล่านั้นกลับมาได้ แต่ให้พวกเขามีความรู้สึกว่า ไม่มีใครทอดทิ้งเขา"

ก๊ะคำนึง บอกว่า หลังจากนี้ ตนเองและเครือข่ายผู้หญิงฯ จะช่วยเหลือดูแลผู้ได้รับผลกระทบต่อไปเรื่อยๆ หากยังมีกำลังอยู่ โดยไม่เลือกว่าใครอยู่ฝ่ายไหน และจะต่อสู้กับความจริงอย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ตนเองและผู้อื่นต่อไป

 

คือจิ๊กซอว์สันติภาพ บทวิจารณ์การทำงานของสื่อ-สาร

รศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี ซึ่งเป้นหนึ่งในผู้วิจารณ์สารคดีเรื่องนี้ กล่าวว่า ภาพรวมของเนื้อหาสารคดีเป็นเพียงภาพตัวต่อในจิ๊กซอว์ ซึ่งเป็นภาพเล็กๆที่รอการต่อเติม ไม่สามารถนำเสนอทุกแง่มุมในคราวเดียวกันได้

"การนำเสนอเรื่องราวในแง่ๆ หนึ่งจะมีทุกเรื่องอยู่ในนั้น ทั้งแง่มุมเชิงบวก และลบ แต่ผลกระทบต่อคนกลุ่มนี้หรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้มีใครบ้าง นั่นคือ อุดมคติของการทำงานด้านการสื่อสาร แต่ในความเป็นจริงเราไม่สามารถทำแบบนั้นได้อย่างสมบูรณ์ ฉะนั้น การนำเสนอของแต่ละภาคส่วนของภาพใหญ่ทั้งหมด จึงเป็นอีกกลไกหนึ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง"

"ในฐานะสื่อ เราคาดหวังว่าสังคมผู้รับสารสามารถสะสมประสบการณ์จากเนื้อหาเหล่านี้ แล้วนำไปใช้ประโยชน์ได้ในตัวเอง"

รศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าวว่า จุดเด่นของการนำเสนอสารคดีนี้ เป็นการนำเสนอของคนที่ธรรมชาติถูกสร้างมาให้เสียเปรียบในสังคม เช่น คนแก่ ผู้หญิง เด็ก ฯลฯ

"ในแง่ของการสื่อสารเชิงสันติภาพการที่สื่อมีบทบาทในการนำเสนอคนที่เสียเปรียบเหล่านี้ เป็นบทบาทอย่างหนึ่งที่สื่อสันติภาพต้องดึงความเสียเปรียบเหล่านี้มานำเสนอให้เท่าเทียมกับผู้ได้เปรียบในสังคม ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นปกครอง หรือผู้นำที่เป็นผู้ชาย ถือเป็นการเปิดพื้นที่ในสื่อมากขึ้น" รศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าว

รศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าวว่า การพยายามเดินภาพให้มีการเดินเรื่อง เห็นจากการนำเสนอเรื่องราวของก๊ะคำนึงนั้น ไม่ใช่เพียงการนำเสนอเรื่องราวของเขาเพียงอย่างเดียว แต่นั่นเป็นภาพสะท้อนของผู้เสียเปรียบในสังคมที่เป็นตัวตนสะท้อนตัวแทนของคนอื่นอีกหลายคนที่สามารถก้าวข้ามความยากลำบากไปได้ จากการเป็นเหยื่อไปสู่การเป็นผู้เยียวยาคนอื่นได้อย่างไร

รศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าวว่า คุณประโยชน์ต่อการนำเสนอเรื่องราวของก๊ะคำนึง คือการสร้างแรงบันดาลใจและให้กำลังใจเขาได้ว่า ชีวิตยังมีทางออกอื่นที่ยังดำเนินต่อไปได้

"เนื้อหาในภาพรวมของสารคดี เรื่องนี้เป็นการเพิ่มพื้นที่สำหรับคนที่มีเสียงเบาในสังคมให้มีเสียงมากขึ้น ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญในการเป็นสื่อเพื่อสันติภาพ หรือเป็นการสื่อสารที่ช่วยคลี่คลายความขัดแย้ง และเป็นเรื่องราวผลกระทบที่แฝงเร้น ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เป็นผลกระทบในเชิงสังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิตที่กระทบถึงจิตใจ ซึ่งสื่อกระแสหลักยังไม่หยิบยกมานำเสนอ เนื่องจากเรื่องราวเหล่านี้ต้องใช้เวลาและพื้นที่ในการอธิบายค่อนข้างมากและต้องลงทุนสูงในการผลิตเพื่อนำเสนอผลกระทบเหล่านี้ให้เข้าใจกันและดึงดูดผู้ชมได้" รศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าว

รศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าวว่า สภาพระบบสังคมเปลี่ยนไปในยุคนี้ ทำให้การบริการผู้รับสื่อโดยใช้เวลานานเป็นไปได้ยาก จึงเป็นผลพวงอย่างหนึ่งที่สื่อกระแสหลักไม่นำเสนอ

"ส่วนการใช้ภาษาและถ่วงทำนองในหลักการนำเสนอสารคดีเรื่องนี้ ในมุมมองสันติภาพ มีการใช้ภาษาโดยไม่เน้นการเร้าอารมณ์ แต่ใช้ภาพในการเดินเรื่องราวต่างๆได้" รศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าว

"สารคดีเรื่องนี้ ใช้กลวิธีในการผูกเรื่องให้เห็นถึงความยากลำบาก ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาที่สะท้อนให้เห็นถึงความอคติ และชักจูงให้เชื่อในสิ่งที่ทำ สังคมจึงควรตระหนักในปัญหาตรงนี้ ฉะนั้นควรเป็นการนำเสนอที่ไม่เกิดจากความน่าสงสาร แต่เป็นการหาทางออกและแก้ไขร่วมกัน" รศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าว

รศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าวว่า คนที่ทำงานด้านการสื่อสารเพื่อสันติภาพต้องตระหนักถึงเป้าหมายที่จะทำให้เกิดสันติภาพในสังคม ฉะนั้นกระบวนการออกแบบ "สาร-สื่อ" ในการนำเสนอโดยการเรียบเรียงก่อนหลังต้องมีความชัดเจน โดยสามารถเชื่อมโยงความเข้าใจข้อมูลที่นำเสนอแล้วไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ควรปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอใหม่ให้สามารถตอบโจทย์สุดท้ายที่นักสื่อสารต้องการ

"การนำเสนอสารคดีเพียงไม่กี่ตอน อาจยังไม่ทำให้คนได้ตระหนักถึงปัญหาได้เท่าที่ควร เป็นเพียงการเปิดพื้นที่ของคนใน 3 จังหวัด แต่แสดงให้เห็นถึงความหวังในการเกิดผลในเชิงปฏิบัติต่อไปในอนาคต" รศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าวทิ้งท้าย

 

ภาพสะท้อนกระบวนการยุติธรรม

ขณะที่ผู้วิจารณ์คนอื่นๆ อย่างเช่น นางโซรยา จามจุรี จากเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ วิจารณ์ว่า สารคดีเรื่องนี้จึงเป็นเสียงสะท้อนของสตรีคนหนึ่งที่ต้องการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของคนในครอบครัว แต่ยังไม่สะท้อนให้เห็นความบริสุทธิ์ของสามีกับลูกชายก๊ะคำนึงขณะถูกจองจำ ทั้งที่ก๊ะคำนึงได้ร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงาน และต่อสู้เพียงลำพัง เพราะตอนนั้นเธอยังไม่เข้ามาอยู่ในเครือข่ายฯ สารคดีจึงน่าจะถ่ายทอดส่วนนี้ด้วย

นางโซรยา กล่าวว่า ดังนั้น สารคดีเรื่องนี้จึงยังไม่ใช่ชีวิตของก๊ะคำนึง เพราะบางเรื่องไม่สามารถนำเสนอได้ เพราะเป็นชีวิตที่สุดโต่ง ไม่ผ่านการปรุงแต่ง คือผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ซึ่งยังมีผู้ได้รับผลกระทบเช่นนี้อีกจำนวนมากในพื้นที่ที่ยังไม่ได้ถูกนำเสนอผ่านสื่อให้คนทั้งประเทศได้รับรู้และเข้าใจ

"เราจะเห็นบทบาทผู้หญิงที่เป็นแม่เป็นปากเป็นเสียงให้ลูกชาย ภรรยาเป็นปากเป็นเสียงให้สามีในการเรียกร้องความยุติธรรม เนื่องจากผู้ชายเมื่อลุกขึ้นมาทำตรงนี้อาจตกเป็นเป้าหมายที่จะถูกร้ายได้ ผู้หญิงจึงเป็นเสียงที่เรียกความเห็นใจได้มากกว่าผู้ชาย คือพลังเสียงของผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นผู้หญิง" นางโซรยา กล่าว

 

ปรับกระบวนทัศน์เชิงอำนาจทางกฎหมาย

นายกิตติ สุระคำแหง ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) วิจารณ์ว่า คดีของก๊ะคำนึงเหมือนกับคดีเชอรี่แอน ดันแคน เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่คนที่ตกเป็นเหยื่อได้นำประสบการณ์จากคดีมาช่วยเหลือคนอื่น จนทำให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมครั้งใหญ่ นำไปสู่การปรับกระบวนการทัศน์ใหม่ในกระบวนการยุติธรรมถึง 10 กระบวนทัศน์

"การปรับกระบวนทัศน์ที่สำคัญ คือ การปรับเปลี่ยนทัศนคติของบุคลากรของรัฐและทัศนคติเชิงอำนาจในกระบวนการยุติธรรม เชื่อว่าก๊ะคำนึงเป็นหนึ่งในการปรับกระบวนทัศน์ในกระบวนการยุติธรรม"

นายกิตติ กล่าวว่า สิ่งที่ก๊ะคำนึงต้องการสะท้อนในสารคดีชุดนี้ คือ การทบทวนและปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการเริ่มกฎหมายกระบวนการยุติธรรม ซึ่งการให้อำนาจมากมายในทางกฎหมายทำให้เกิดกระบวนทัศน์เชิงอำนาจ

"กฎหมายทุกฉบับเกิดขึ้นมาเพื่อต้องการรักษาความสงบเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ต้องรักษากฎหมายในเชิงบริการ การจับคนร้ายหนึ่งคน คือ ความปลอดภัยของคนอีกนับหมื่นนับพันคน แต่ทุกวันนี้คนที่มีอาวุธถือว่าตนเองมีอำนาจ ไม่ได้มองว่าเป็นการบริการ เพราะฉะนั้น ต้องสร้างสมดุลในหลักรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์" นายกิตติ กล่าว

นายกิตติ กล่าวว่า สิ่งที่ก๊ะคำนึงสะท้อนเป็นผลดีทั้งสิ้นในเชิงของการทบทวน และการสร้างภาพของความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีต ผอ.NSA-CIA ลั่น ผู้ก่อการร้ายชอบใช้ 'จีเมล'

Posted: 18 Sep 2013 09:19 AM PDT

ตอนหนึ่งในการบรรยายในหัวข้อ "ความตึงเครียดระหว่างความมั่นคงกับเสรีภาพ"  ในฟอรัมการศึกษาผู้ใหญ่ ณ โบสถ์เซนต์จอห์น สหรัฐฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ไมเคิล เฮย์เดน อดีตผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ สหรัฐฯ (NSA) และหน่วยสืบราชการลับกลางแห่งอเมริกา (CIA) ระบุว่า จีเมลเป็นบริการออนไลน์ที่เป็นที่ชื่นชอบของบรรดาผู้ก่อการร้าย

ระหว่างการบรรยาย เขาปกป้องมาตรา 702 ของกฎหมายสอดส่องข่าวกรองต่างประเทศ (FISA) ซึ่งให้ความชอบธรรมทางกฎหมายกับโครงการปริซึม (PRISM) โดยบอกว่า "จีเมลเป็นผู้ให้บริการอินเทอรเน็ตที่เป็นที่ชื่นชอบของผู้ก่อการร้ายทั่วโลก" (ซึ่งน่าจะหมายถึงตัวบริการออนไลน์มากกว่าจะหมายถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจริงๆ) เขากล่าวเพิ่มเติมว่า "ผมไม่คิดว่าคุณจะได้เห็นมันในโฆษณาของกูเกิลหรอก แต่เพราะว่ามันฟรีและแพร่หลาย มันจึงเป็นเช่นนั้น"

เมื่อถูกถามว่า การสอดส่องชนิดไม่เลือกหน้าของสหรัฐฯ ได้กลายเป็นตัวอย่างที่อันตรายของประเทศอื่นๆ หรือไม่ เฮย์เดนบอกว่า การที่อินเทอร์เน็ตมีต้นกำเนิดในสหรัฐอเมริกาจึง ถือเป็นความชอบธรรมบางส่วนของการกระทำของ NSA และหากเว็บยังอยู่ไปอีก 500 ปี สหรัฐฯจะถูกจดจำแบบเดียวกับที่โรมันถูกจดจำว่าเป็นผู้สร้างถนน"

"เราสร้างมันที่นี่ และมันเป็นของอเมริกันจริงๆ" เขากล่าวและว่า เพราะเหตุนี้ การจราจรของข้อมูลจำนวนมากจึงผ่านเซิร์ฟเวอร์อเมริกัน ซึ่งรัฐบาล "ถ่ายรูปไว้เพื่อประโยชน์ของการสืบราชการลับ"

อย่างไรก็ตาม การตอบโต้เช่นนี้ ไม่ได้ทำให้บริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐสบายใจแต่อย่างใด เพราะลูกค้าต่างชาติไม่วางใจบริษัทเหล่านี้ไปแล้ว รายงานของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม เมื่อช่วงต้นฤดูร้อนที่ผ่านมา คาดการณ์ว่า ผู้ให้บริการ cloud จะเสียรายได้ 21.5-35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในสามปีข้างหน้านี้ จากกรณีข่าว NSA นอกจากนี้ ผู้บริหารระดับสูงของ  CloudFlare บริษัทบริการรักษาความปลอดภัย และผู้ให้บริการเครือข่าย บอกว่า คำสั่งขอข้อมูลของรัฐบาลนั้นเสียสติ และข่าวลือทั้งหลายทำให้พวกเขาสูญเสียลูกค้า

เฮย์เดนยอมรับว่า สหรัฐฯ "อาจจะถูกกล่าวหาว่ากำลังทำสงครามเวิลด์ไวด์เว็บ"  มีรายงานว่า การปฏิบัติการยุทธวิธีของ NSA ถูกกล่าวหาว่าแฮกเป้าหมายซึ่งเป็นต่างชาติเพื่อขโมยข้อมูลและจับตาการสื่อสาร รวมถึงมีรายงานด้วยว่า มีการพัฒนาโปรแกรมเพื่อทำลายคอมพิวเตอร์และเครือข่ายของต่างชาติด้วยการโจมตีทางไซเบอร์

นอกจากนี้ เฮย์เดนยังแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อความเป็นนิรนามออนไลน์ด้วย โดยบอกว่า "ปัญหาที่ผมมีกับอินเทอร์เน็ตคือมันเป็นนิรนาม" ทั้งนี้ เขาตั้งข้อสังเกตว่า มีการต่อสู้กันในประเด็นนี้แม้แต่ภายในรัฐบาล ประเด็นนี้กลายเป็นปัญหาขึ้นมา ในช่วงอาหรับสปริง ที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ลงทุนกับเทคโนโลยีเพื่อปกป้องความเป็นนิรนามของนักกิจกรรม เพื่อที่รัฐบาลจะไม่สามารถตามตัวหรือปิดปากพวกเขาได้

 

ที่มา:
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

P-move ร่วมค้าน FTA ไทย-อียู ชี้ไม่โปร่งใส ไม่ถูกรธน.

Posted: 18 Sep 2013 06:51 AM PDT

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมรวมชุมนุมค้าน FTA ไทย-อียู แถลงเป็นการเจรจาที่ไม่โปรงใส่ ไม่ถูกต้องตาม รธน. สนับสนุนข้อเสนอของภาคประชาชน ไม่เอา Trip + ไม่จดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต เสนอเพิ่มกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมากขึ้น

18 ก.ย.56 ที่ประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ ตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ร่วมชุมนุมกับกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) และภาคประชาสังคม 28 องค์กร คัดค้านการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ที่จัดขึ้นในวันที่ 16 – 20 กันยายน 2556 ที่โรงแรมเลอเมอริเดียน จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมออกแถลงการณ์ระบุการเจรจาดังกล่าวไม่โปร่งใส และดำเนินการไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ สนับสุนุนข้อเสนอของภาคประชาชนที่ ไม่เอา Trip + ไม่จดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต การคุ้มครองนักลงทุน ยังเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ มากกว่าประโยชน์ของนักลงทุน พร้อมเสนอเพิ่มกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมากขึ้น รายละเอียดแถลงการณ์ดังนี้

 

แถลงการณ์ฉบับที่ 36

คัดค้านการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA)กับสหภาพยุโรป

ที่ไม่โปร่งใส และดำเนินการไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

 

            ตามที่รัฐบาลไทยได้จัดประชุมเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) หรือเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป ระหว่างวันที่ 16 – 20 กันยายน 2556 ที่โรงแรมเลอเมอริเดียน จังหวัดเชียงใหม่ โดยความตกลงดังกล่าว มีสาระสำคัญครอบคลุมการเปิดตลาดสินค้า การค้าภาคบริการ และการลงทุน รวมทั้งความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่สำคัญประเด็นที่มีความอ่อนไหวในการเจรจาที่พวกเรามีความกังวลมากพิเศษ เช่น เรื่องยา และทรัพยากรชีวภาพ ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและสุขภาพของคนในสังคมและจะกระทบต่อ ความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย ขณะที่รัฐบาลไทยก็มีการรวบรัดทำให้ภาคประชาสังคมเฝ้าจับตาความเคลื่อนไหวนี้ อย่างกัดไม่ปล่อยมากยิ่งขึ้น

            นอกเหนือจากประเด็นเนื้อหาที่มีความน่ากังวลห่วงใยแล้ว รัฐบาลไทยยังดำเนินการเร่งรัดเสนอเข้าสภา (ตามมาตรา 190) โดยใช้เสียงข้างมากกำหนดกรอบการเจราจาออกมาเป็นกอบกว้างๆ ก่อให้เกิดการเสียประโยชน์จาก EUนอกจากนั้นยังไม่ยอมนำร่างกรอบการเจรจามารับฟังความคิดเห็นประชาชน และศึกษาผล กระทบโดยหน่วยงานที่เป็นกลางก่อนการเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ทั้งๆ ที่เคยปฏิบัติมาในรัฐบาลก่อนๆ นอกจากนี้สิ่งที่ ฝ่ายเจรจาควรทำคือ ให้มีการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมให้ข้อมูลกับฝ่ายนิติบัญญัติระหว่างการเจรจา หลังจากนั้น ต้องนำผลการเจรจา (ร่างความตกลง) มาจัดรับฟังความเห็นประชาชนและศึกษาผลกระทบโดย หน่วยงานที่เป็นกลางก่อนการ เสนอข้อความเห็นชอบจากรัฐสภาเพื่อแสดงเจตนาผูกพันธ์"

            ดังนั้น ในขณะที่รัฐบาลไทยกำลังประชุมกับสหภาพยุโรปที่ดำเนินอยู่ที่จังหวัด เชียงใหม่ในขณะนี้ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) และภาคประชาสังคม อันประกอบด้วยภาคประชาสังคม องค์กรวิชาการ องค์กรประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชน 28 องค์กรที่ติดตามการเจรจาการค้าเสรี ได้จัดการรณรงค์คู่ขนานกับการประชุม พวกเรา ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) มีข้อเสนอ ดังนี้

            1. สนับสนุนข้อเสนอของภาคประชาชน (ในการเจรจา ) ดังนี้

                        - ไม่เอา Trip +

                        - ไม่จดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต

                        - การคุ้มครองนักลงทุน ยังเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ มากกว่าประโยชน์ของนักลงทุน

            2. เพิ่มกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมากขึ้น

            อย่างไรก็ตามพวกเรายังมีความเชื่อมั่นว่า คณะเจรจาโดยการนำของ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ในนามของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีราย ได้น้อย จะรับฟังข้อกังวล ความห่วงใยของพวกเรา และชะลอการเจรจาไว้ก่อน

ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)

18 กันยายน 2556

ณ ลานประตูท่าแพ เชียงใหม่

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฝ่ายค้านยื่นถอดถอน "ปธ.รัฐสภา" ปมแก้ รธน.ที่มา ส.ว. จี้นายกร่วมถกกู้ 2 ลล.

Posted: 18 Sep 2013 05:55 AM PDT

ประธานวุฒิสภารับจะเร่งดำเนินการเพื่อยื่นต่อ ป.ป.ช. หลัง 'จุรินทร์' นำฝ่ายค้านยื่นถอดถอนสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ปมแก้ รธน.ที่มา ส.ว. ชี้ไม่เป็นกลางและขัด รธน. พร้อมจี้นายกร่วมถกกู้ 2 ลล.ให้ตลอด

18 ก.ย.56 เนชั่นแชลแนล รายงาน เมื่อเวลา 09.20 น.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงการยื่นถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาว่า วันนี้ (18 ก.ย.) จะยื่นเรื่องถอดถอน โดยประเด็นที่จะยื่นถอดถอนคือการปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นกลางและขัดรัฐธรรมนูญในกรณีที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สงวนความเห็นได้อภิปรายให้ครบถ้วนในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาส.ว.ในวาระ 2 ซึ่งเป็นกรณีเดียวกับนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา และถือเป็นการยื่นถอดถอนนายสมศักดิ์เป็นครั้งที่ 2 แล้วของฝ่ายค้าน

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเชื่อมโยงไปถึงการยื่นศาลรัฐธรรมนูญว่า ขัดมาตรา 68 ด้วยหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า เป็นสถานการณ์การแก้รัฐธรรมนูญในร่างเดียวกัน ข้อเท็จจริงเดียวกัน เพียงแต่ครั้งนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของประธานรัฐสภา ส่วนกรณีที่ก่อนหน้านี้นายบวร ยศสุนทร มีการยื่นให้ระงับรัฐธรรมนูญมาตรานี้เช่นเดียวกันแต่ศาลยกฟ้องนั้น เป็นห่วงหรือไม่ว่าครั้งนี้ก็อาจจะถูกยกฟ้อง นายจุรินทร์กล่าวว่า เป็นคนละกรณีกัน แม้ว่าจะยื่นตามมาตราเดียวกันก็ตาม ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไปยื่น เรามีข้อเท็จจริงและหลักฐานที่มีรายละเอียดที่มีความครอบคลุม ครบถ้วนชัดเจนที่ศาลจะใช้ประกอบการพิจารณาได้ แต่ขออนุญาตไม่ตอบแทนศาลว่าจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ แต่เราทำอย่างเต็มที่ โดยมีรายละเอียดชัดเจนว่าการพิจารณาในมาตราไหนเกิดการพิจารณาที่ไม่ชอบอย่างไร

จี้นายกร่วมถกกู้ 2 ลล.ให้ตลอด

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทจนถึงขณะนี้ยังมีผู้แจ้งความจำนงที่จะใช้สิทธิในการอภิปรายเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งต้องได้รับสิทธิอภิปราย หากมีการพูดซ้ำประเด็นประธานก็สั่งปิดอภิปรายได้อยู่แล้วตามข้อบังคับ ตนขอเตือนส.ส.ฝั่งรัฐบาลว่าอย่าเสนอปิดอภิปราย เพราะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับและรัฐธรรมนูญ ไม่อย่างนั้นจะมีข้อบังคับและรัฐธรรมนูญไว้ทำไม ซึ่งอันนี้อาจจะวนกลับมาเป็นความผิดซ้ำซากอย่างเดิมอีก และหากทำผิดอีกเสียงข้างน้อยก็สามารถใช้สิทธิในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้ ต้องเคารพกติกา และไม่ต้องกลัวเพราะตัวเองเป็นเสียงข้างมาก ยกมือเมื่อไหร่ก็ชนะวันยังค่ำ แต่ต้องไม่ตัดสิทธิเสียงข้างน้อย

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานด้วยว่า นายจุรินทร์ ขอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม หากเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ก็ควรนั่งฟังให้ตลอดและควรชี้แจงในคำถามของสมาชิก ไม่ใช่เข้าเซ็นชื่อ ถ่ายรูปและหายไปจากห้องประชุม เพราะเป็นเบอร์หนึ่งในการนำเงินนี้ไปใช้จ่าย ซึ่งจะก่อหนี้ในอนาคต 5 ล้านล้านบาท

ประธานวุฒิสภา รับจะเร่งดำเนินการเพื่อยื่นต่อ ป.ป.ช.

โดยต่อมาเวลา 11.40 น. ข่าวสดออนไลน์ ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ พร้อมด้วยส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นำรายชื่อ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จำนวน 138  ราย ชื่อยื่นต่อนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อยื่นถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 และ 271 กรณีปฏิบัติหน้าที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 89,137,291 และผิดข้อบังคับที่ 99 สืบเนื่องจากการทำหน้าทีประธานการประชุมร่วมรัฐสภาพิจาณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว.เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมาโดยการรับญัตติปิดอภิปรายทั้งที่ยังมีผู้แปรญัตติและสงวนคำแปรญัตติไม่ครบ เมื่อประธานวุฒิสภา ตรวจสอบรายชื่อแล้วก็จะยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หากมีมูล ป.ป.ช.จะส่งเรื่องกลับมายังวุฒิสภาเพื่อใช้เสียง 3 ใน 5 ถอดถอน และหากผิดอาญาร่วมด้วยก็จะส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

ด้านนายนิคม กล่าวว่า ตามข้อกฎหมายให้เวลา 15 ในการตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อ แต่จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อยื่นต่อ ป.ป.ช.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคีชาวสวนยาง16จว.ประณามรบ.-ตร.สลายม็อบ วอนนิยาม“เกษตรกร”ใหม่

Posted: 18 Sep 2013 05:22 AM PDT

ประณาม รบ.-ตร.ใช้กำลังสลายม็อบสวนยางฯ ภาคีเครือข่ายชาวสวยยาง-ปาล์ม16จว.ร้องรัฐนิยามคำว่า "เกษตรกร" เสียใหม่ ให้ประกันตัวผู้ถูกจับกุม ยุติวาทกรรม "มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง" เผยหากสลายจะยกระดับการต่อสู้ขั้นสูงสุด ส.ส.ประชาธิปัตย์ยกทีมพบม็อบฯ

18 ก.ย.56 เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'รักตรัง ปกป้องตรัง' รายงาน ที่อนุสาวรีย์ พระยารัษฎานุประดิษฐ์ อ.เมือง จ.ตรัง ภาคีเครือข่ายเกษตกรชาวสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัด นำโดย นายทศพล ขวัญรอด นายศักดิ์สฤษดิ์ ศรีประสาท ได้อ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 4 โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.ขอประณามรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้กำลัง และความรุนแรงสลายการชุมนุมพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน ที่ควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 56 และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรง

2.การชุมนุมของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน ที่ควนหนองหงษ์ ถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่จะแสดงออกของกลุ่มเกษตรกร ที่ไม่ได้รับสิทธิและประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิตจากรัฐบาล ดังนั้นภาคีเครือข่ายฯ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาอย่างจริงจังในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยให้รัฐบาลนิยามคำจำกัดความคำว่าเกษตรกรเสียใหม่ โดยให้ครอบคลุมไปถึง 1)เจ้าของที่ดิน 2)เจ้าของสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน 3)กลุ่มคนรับจ้างกรีดยาง

3.ให้เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันทุกจังหวัดใน 16 จังหวัดภาคใต้ ส่งตัวแทนเพื่อเจรจากับผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ให้รัฐบาลยุติการใช้อำนาจรัฐข่มขู่คุกคาม จับกุมคุมขังโดยไม่ชอบธรรม

4.ให้รัฐบาลต้องให้มีการประกันตัวผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมในกรณีการชุมนุมเรียกร้องของเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันตามสิทธิของผู้ต้องหา

5.ให้รัฐบาลยุติการแทรกแซง และก่อความขัดแย้งในหมู่เกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน รวมทั้งการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อใส่ร้ายพี่น้องดังกล่าว ด้วยวาทกรรม "มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง" หรือ "การเมืองแย่งชิงอำนาจ"

6.หากรัฐบาลใช้ความรุนแรงและใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพารา และปาล์มน้ำมันที่บ้านควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ทางภาคีเครือข่ายจะทำการยกระดับสู่การชุมนุมขั้นสูงสุดทันที ทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด

ส.ส.ประชาธิปัตย์ยกทีมพบม็อบสวนยางควนหนองหงษ์

วันเดียวกัน เวลา 14.00 น. เดลินิวส์ รายงาน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง นายวิทยา แก้วภราดัย นายเทพไท เสนพงศ์ และ ดร.อภิชาติ การิกาญจน์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางมายังจุดชุมนุมเรียกร้องราคายางพารา และปาล์มน้ำมัน ที่แยกควนหนองหงษ์ ต.หนองหงษ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเยี่ยมเยือนให้กำลังใจและพบปะเกษตรกรผู้ชุมนุม โดยมีเกษตรกรสวนยางมาให้การต้อนรับกว่า 1,500 คน
 
ซึ่งคณะ ส.ส.ปชป.ได้การพูดคุยทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ชุมนุมว่าและขอให้เปิดพื้นที่ให้สื่อมวลชนเข้ามาทำข่าวการชุมนุมอย่างอิสระ  เนื่องจากขณะนี้ข่าวการชุมนุมที่เผยแพร่ออกไปส่วนใหญ่เป็นข่าวจากฝ่ายรัฐบาล และนำเสนอด้านเดียว จึงขอให้เปิดพื้นที่ให้สื่อมวลชนเข้ามาทำข่าวเพื่อจะได้ทำข่าวสองด้าน  และขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมช่วยดูแลสื่อมวลชนให้ปลอดภัยด้วย ส่วนความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน ให้กลุ่มผู้ชุมนุมหารือกัน และนำข้อสรุปมาแจ้งแก่ ส.ส. ประชาธิปัตย์ในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยกันหาทางประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลเพื่อนำไปสู่การแก้ไขต่อไป
 
อย่างไรก็ตามบรรดาชาวสวนยาง แสดงความคิดเห็นว่าจากข้อตกลงล่าสุดของรัฐบาลกับกลุ่มแกนนำชาวสวนยางพารา ที่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกฯ รับปากไว้ก่อนที่ผู้ชุมนุมจะยอมสลายตัวเมื่อวันที่ 6 ก.ย. โดยรับปากว่าจะประกันราคายางพาราที่ กก.ละ 90 บาท แต่ต่อมาภายหลัง รัฐบาลกลับพลิกลิ้น เป็นสนับสนุนปัจจัยการผลิต หรือค่าปุ๋ย แทน โดยให้ราคาไร่ละ 2,520 บาท รายละไม่เกิน 25 ไร่ กลุ่มผู้ชุมนุมรู้สึกว่ารัฐบาลไม่จริงใจ โดยยืนยันให้ประกันราคาที่ กก.ละ 90 บาท
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น ขณะนี้ไม่มีแกนนำ หรือผู้ประสานงานที่ชัดเจน และฝ่ายรัฐบาลเองก็ยังไม่มีตัวแทนที่จะเข้ามาพูดคุยกับชาวบ้านเช่นกัน ทำให้การเคลื่อนไหวไม่มีใครสามารถควบคุมหรือรับรองใครได้   นอกจากนี้มีผู้สื่อข่าวทั้งในท้องถิ่นและจากส่วนกลางอีกหลายคนที่โดนข่มขู่คุกคาม จนไม่มีใครกล้าเข้าไปติดตามทำข่าวภายในม็อบสวนยางควนหนองหงษ์  ยิ่งล่าสุดผู้กองปูเค็มลงมาควบคุมม็อบประกาศให้ช่วยกันตรวจสอบนักข่าวและบุคคลที่แอบเข้ามาอยู่ในม็อบ หากจับกุมตัวได้ให้ควบคุมตัวมาให้ผู้กองปูเค็มสอบสวนด้วยตัวเอง  แม้ว่าในเวลาต่อมาผู้กองปูเค็มจะประกาศว่าให้กลุ่มผู้ชุมนุมอนุญาตให้ผู้สื่อข่าวทุกสังกัดเจ้ามาทำข่าวได้อย่างอิสระ แต่ผู้สื่อข่าวส่วนใหญ่ก็ยังหวาดกลัวและไม่มั่นใจในความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งนี้เพราะเมื่อเกิดเหตุขึ้นมาจริง ๆ ไม่มีใครสามารถควบคุมสั่งการใครได้
 
ผวจ.นครศรีฯ  ร่อนหนังสือวิทยุชุมชนวอนนำเสนอข่าวที่ไม่เป็นการยั่วยุ 
ขณะที่นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผวจ.นครศรีธรรมราชได้ทำหนังสื่อถึงผู้อำนวยการสถานีวิทยุชุมชนในจังหวัดนครศรีธรรมราชทุกแห่งขอความร่วมมือให้ช่วยนำเสนอข่าวที่ไม่เป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม และขยายความแตกแยกทางความคิดที่จะนำไปสู่ความรุนแรงได้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทีดีอาร์ไอแนะนำ “พม่า-เวียดนาม” โอกาสที่คุ้มเสี่ยงของนักลงทุนไทย

Posted: 18 Sep 2013 04:12 AM PDT

ทีดีอาร์ไอ หนุนนักธุรกิจไทยลงทุนในพม่าและเวียดนามใน 3 อุตสาหกรรมหลัก ชี้ค่าแรงต่ำ-กำลังแรงงานสูง  พร้อมระบุ เตรียมนำผลการวิจัยและข้อเสนอแนะให้ กกร.เพื่อเสนอภาครัฐบูรณาการร่วมกับภาคเอกชนดำเนินการให้เป็นรูปธรรม

ตลาดอาเซียนกำลังถูกจับตามองว่ากำลังจะเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของโลกรายใหม่ ทั้งด้านการค้า การลงทุน เงินทุน และแรงงาน โดยเฉพาะในปี 2558ที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องพัฒนา และปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนตามแนวชายแดนหรือการย้ายฐานการผลิตการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งผู้ประกอบการต้องมีข้อมูลเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ทำการศึกษาเรื่อง"แนวทางการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศเพื่อนบ้าน" โดยศึกษาอุตสาหกรรมหลักๆ 3 ด้าน ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 2.อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง 3.อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งการศึกษาครั้งนี้มุ่งเน้นในประเทศเมียนมาร์และเวียดนาม

น.ส.พลอย ธรรมาภิรานนท์ นักวิจัย ทีดีอาร์ไอ ผู้ศึกษาแนวทางในประเทศเมียนมาร์ เปิดเผยว่า เมียนมาร์มีประชากรทั้งสิ้น 52.8 ล้านคน และมีกำลังแรงงานประมาณ 33.4 ล้านคน โดยโรงงานสำหรับอุตสาหกรรมที่ศึกษาส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใกล้กับย่างกุ้ง เนื่องจากมีสาธารณูปโภคและท่าเรือที่มีความพร้อมมากที่สุด มีค่าเช่าที่ดินประมาณ 15 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ/ตารางเมตร/ปี นิคมอุตสาหกรรมใกล้ย่างกุ้ง ได้แก่ ผะอัน พะโค ผะเต ซึ่งในส่วนของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มส่วนใหญ่ทำการผลิตแบบ Cutting Marking Packaging (CMP) ทำให้สามารถนำเข้าวัตถุดิบโดยปลอดภาษี ค่าจ้างแรงงานทั่วไปจะอยู่ที่ 80-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ส่วนแรงงานที่มีประสบการณ์และทักษะอยู่ที่ 120-150 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ซึ่งในปี 2555 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมดังกล่าวมีตลาดการส่งออกหลักคือญี่ปุ่น 45 % และเกาหลีใต้ 31 % มีมูลค่าการส่งออก 903.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ถึง 448.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยพบว่าผู้ประกอบการชาวไทยที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาร์มักจะใช้วิธีร่วมทุนกับชาวเมียนมาร์ หรือให้ชาวเมียนมาร์เป็นนอมินีและมักมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจมาเป็นเวลานาน

ส่วนอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังพบว่าส่วนใหญ่ผลิตในอุตสาหกรรมปลายน้ำ อาทิ การตัดหนัง ขัดหนัง ประกอบ และตกแต่ง มีผู้ประกอบการทั้งหมด 12 แห่ง เป็นของชาวต่างชาติ 4 แห่ง และเป็นของเมียนมาร์เอง 8 แห่ง ดำเนินการผลิตแบบ CMP ส่วนค่าจ้างแรงงานที่ไม่มีประสบการณ์ 1.89 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน แต่หากมีประสบการณ์ 2.11 ดอลล่าสหรัฐต่อวัน โดยมีตลาดส่งออกหลักคือญี่ปุ่น 88 % มีมูลค่าการส่งออกในปี 2555 รวม 119.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีจุดแข็งของอุตสาหกรรม ที่สำคัญคือที่ตั้งใกล้กับแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญได้แก่ บังคลาเทศและปากีสถาน บวกกับมีตลาดผู้บริโภคใหญ่ถึง 60 ล้านคน ซึ่งมีกำลังซื้อมากขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะขยายตัว

ด้านอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในเมียนมาร์ มีโรงงานทั้งหมด 5 แห่ง โดยกระจุกตัวอยู่บริเวณย่างกุ้ง และส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตระดับครัวเรือน เนื่องจากมีกฎระเบียบซับซ้อนและมีอัตราภาษีค่อนข้างสูง มีค่าจ้างแรงงานทั่วไป 3 ดอลล่าสหรัฐต่อวัน ส่วนแรงงานที่มีทักษะอยู่ที่ 5-8 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ตลาดหลักในการส่งออกใหญ่ที่สุดคือ จีน 91% มูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 322.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ระบุว่า โดยภาพรวมแล้วหากมีการขยายฐานการผลิตในเมียนมาร์ เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะมีค่าแรงต่ำแต่กำลังแรงงานสูง  รวมทั้งขณะนี้สหภาพยุโรปกำลังพิจารณาคืนสิทธิพิเศษทางการค้า และสหรัฐกำลังพิจารณายกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและให้สิทธิพิเศษทางภาษีตามมา

ด้าน ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ซึ่งศึกษาแนวปฏิบัติการลงทุนในประเทศเวียดนามเปิดเผยว่า สภาพเศรษฐกิจในเวียดนามในส่วนของภาคธุรกิจยังมีความกังวลต่อความเชื่อมั่นในสกุลเงินและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค ขณะที่ค่าแรงยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมีผลมาจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งในส่วนของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 70 % เป็นโรงงานขนาดเล็กประเภท CUT MAKE AND TRIM หรือ CMT ซึ่งผู้ว่าจ้างหรือผู้ซื้อสินค้าจะจัดหาผ้ามาให้ผู้ผลิตเพื่อทำการตัดเย็บ โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกหลัก มูลค่าการส่งออก 17.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง ที่ตั้งโรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ของประเทศ มีผู้ประกอบการประมาณ 400 ราย โดยใน 30-50 รายเป็นผู้ประกอบการต่างชาติ ส่วนใหญ่เป็นชาวไต้หวันและเกาหลีใต้ตลาดส่งออกหลักคือสหภาพยุโรป ขณะที่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของเวียดนามส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนและผลิตเพื่อตลาดในประเทศเท่านั้น จึงยังไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้เท่าที่ควร โรงงานร้อยละ 80 ตั้งอยู่ที่โฮจิมินห์เนื่องจากสะดวกในการขนส่ง ตลาดส่งออกหลักคือสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งในปีที่ผ่านมามีการส่งออกเพียงแค่ 546ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ลดลงจากปี 2554 ถึง 2119 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ดร.เสาวรัจ กล่าวด้วยว่า ภาพรวมการลงทุนในอนาคตของเวียดนามจะเป็นอีกประเทศหนึ่งที่น่าสนใจในภูมิภาคนี้ เนื่องจากมีการเปิดกว้างโดยเฉพาะการเอื้อประโยชน์ให้นักลงทุนต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ 100% ซึ่งทำให้เวียดนามมีแต้มต่อมากขึ้น

ขณะที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านนั้นมีหลายปัจจัยในการพิจารณา ซึ่งในส่วนของเมียนมาร์มีจุดแข็งคือเป็นแหล่งแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำและกำลังแรงงานมาก ต้นทุนวัตถุดิบต่ำ และสามารถเป็นฐานการส่งออกไปยังประเทศที่สามได้ดี แต่ยังมีจุดอ่อนในด้านโครงสร้างพื้นฐานยังไม่ค่อยพัฒนาเท่าที่ควรโดยเฉพาะด้านไฟฟ้า รวมถึงการขาดเสถียรภาพทางการเมือง และการเข้าถึงข้อมูลเป็นไปได้ยากเพราะเอกสารราชการส่วนใหญ่ยังไม่แปลเป็นภาษาอังกฤษ บวกกับระบบกฎหมายยังไม่พัฒนามากนัก ทำให้กฎระเบียบต่างๆยังไม่ชัดเจน ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ทั้งนี้พบว่า พื้นที่ที่เหมาะสมต่อการลงทุนจะอยู่ในตัวเมืองย่างกุ้งและจังหวัดใกล้เคียง เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานดีกว่าส่วนอื่นของประเทศ ส่วนประเทศเวียดนาม มีจุดแข็งในเรื่องของตลาดภายในประเทศ ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง เป็นแหล่งแรงงานที่มีค่าจ้างต่ำและมีจำนวนมาก ทรัพยากรบุคคลมีคุณภาพ และเป็นฐานการส่งออกไปยังประเทศที่สามได้ แต่ยังมีจุดอ่อนในเรื่องกฎหมายที่ไม่ชัดเจนและมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยเช่นเดียวกับเมียนมาร์ และมีปัญหาด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานยังไม่ค่อยพัฒนาเท่าที่ควร

ข้อเสนอแนะจากผลการศึกษาต่อภาครัฐเพื่อส่งเสริมนักธุรกิจไทยในการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน  คือ  ควรจัดตั้งหน่วยงานบริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (one-stop service) เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจระหว่าง SMEsไทยและประเทศเพื่อนบ้าน สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนของSMEsในต่างประเทศ โดยให้ข้อมูลพื้นฐานและข้อมูลเชิงลึกในเรื่องสิทธิประโยชน์ทางการค้าและภาษีสิทธิประโยชน์การลงทุนของต่างชาติ กฎหมายการลงทุน ข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานและข้อมูลเชิงลึก รวมถึงการเร่งรัดการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณตะเข็บชายแดน เช่น ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ,อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี , อ.แม่สายจ.เชียงราย , จ.มุกดาหาร , อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยอาจจะมีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ เช่น การจ่ายค่าจ้างแรงงานที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ประธานทีดีอาร์ไอ ย้ำว่า การที่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นจะเข้าไปลงทุนใน 2 ประเทศนี้ เป็นเรื่องที่เหมาะสม ส่วนการผลักดันแนวทางดังกล่าวไปสู่ภาคการปฏิบัตินั้น ขณะนี้ทีดีอาร์ไอได้ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำผลการวิจัยและข้อเสนอแนะต่างๆเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ซึ่งประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เพื่อให้ภาครัฐและภาคเอกชนนำไปดำเนินการให้เป็นรูปธรรมต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปิดตาชูป้าย “ปัญญาชน จนปัญญา” กระตุ้น นศ.ม.อุบลฯ ร่วมขับเคลื่อนสังคมการเมือง

Posted: 18 Sep 2013 03:55 AM PDT

นักกิจจกรรมนักศึกษา ม.อุบลฯ รณรงค์ "ปัญญาชน จนปัญญา" แอ็คชั่น 'ปิดตา-ชูป้าย 'STUDENT ROLE' กลางโรงอาหาร กระตุ้นนักศึกษาทบทวนบทบาทตัวเองกับการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนทางสังคมและการเมือง

18 ก.ย. 56 นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับนักเรียนห้องเรียนพลเมืองรุ่นใหม่ ภายใต้การสนับสนุนของ ฟรีดอม โซน อุบลราชธานี จัดกิจกรรมรณรงค์ "ปัญญาชน จนปัญญา" เพื่อการกระตุ้นให้นักศึกษาทบทวนถึงบทบาทของตนเองกับการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนทางสังคมและการเมือง

นักศึกษากลุ่มดังกล่าวได้ปิดตาด้วยผ้าดำและชูป้ายมีสัญลักษณ์และข้อความว่า 'STUDENT ROLE' ซึ่งหมายถึงบทบาทนักศึกษากลางโรงอาหารขณะที่นักศึกษาจำนวนกำลังนั่งรับประทานอาหารเป็นจำนวนมาก ทำให้สร้างความมึนงงและสงสัยแก่ผู้ที่อยู่บริเวณนั้น พร้อมทั้งแจกใบปลิวเพื่อประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้นักศึกษาออกมีส่วนร่วมในการแสดงพลังของนักศึกษา

นายชัยวิทย์ คงนิล หนึ่งในกลุ่มนักศึกษาที่รณรงค์กล่าวว่า "เนื่องจากเห็นว่าบทบาทของนักศึกษากับการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะและการเมืองมีน้อย จึงอยากเป็นหนึ่งในพลังเล็กๆ ที่ออกมาเพื่อกระตุ้นให้เหล่านักศึกษามีบทบาทในการเรียนรู้และดำเนินกิจกรรมมากว่าการนั่งเรียนในห้อง โลกที่เปลี่ยนผ่านรุ่นไปเรื่อยๆ คนรุ่นใหม่คือผู้ที่จะกำหนดทิศทางในอนาคต การลุกขึ้นมาสร้างสังคมในรูปแบบที่ต้องการเป็นสิ่งที่สำคัญ เราจะนั่งรอให้สังคมต้องประสบปัญหาและนั่งรอรับชะตากรรมที่มีแต่จะนำไปสู่ความล้มเหลว  หรือนักศึกษาจะออกมาแสดงพลังที่จะนำไปสู่เปลี่ยนแปลงดังที่หวังและสิ่งที่ดีกว่า อย่าเพียงนั่งรอให้ใครหยิบยื่นการเปลี่ยนแปลงมาให้นักศึกษาต้องกล้าที่จะออกนอกกรอบและตำราเรียน"

นายยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ กล่าวว่า "จุดประสงค์ของการออกมากระตุ้นในครั้งนี้มาจากความรู้สึกที่ผู้ใหญ่หลายคนมองว่านักศึกษาเพียงแต่ใช้ชีวิตไปวันๆ ไม่สนใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัวหัวพึ่งไม่ได้ ต่างจากนักศึกษาในอดีตที่มีการแสดงพลังอย่างเข้มข้น การรณรงค์ในครั้งนี้เริ่มต้นด้วยการสร้างการตื่นตัวในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยที่อยู่ใกล้ตัวมากที่สุด และหวังว่าการออกมาตั้งคำถามนี้จะทำให้เพื่อนระดับอุดมศึกษาที่ศึกษาอยู่ทั่วประเทศจะเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนทางสังคมและการเมืองในพื้นที่"

 นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า "ปัญญาชน จนปัญญา เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ นักศึกษาจะต้องทบทวนถึงบทบาทของตัวเอง อย่าเพียงมุ่งศึกษาเพื่อให้ได้ใบปริญญา ควรนำความรู้ที่ได้จากการศึกษามาสร้างประโยชน์ให้กับสังคม แม้จะเป็นการเริ่มต้นด้วยการกระทำสิ่งเล็กก็ใช่ว่าจะไร้ความหมาย เพราะสิ่งที่ยิ่งใหญ่หลายอย่างมีจุดเริ่มต้นจากสิ่งเล็ก"

นายวรรษพงศ์ เขียวทอง กล่าวว่า "การรณรงค์ครั้งนี้ก็เป็นสิ่งแปลกใหม่ในชีวิตตนเอง ส่วนใหญ่กิจกรรมที่เห็นมันเป็นลักษณะที่ทำเพื่อตนเองมากกว่าทำเพื่อสังคม ครั้งแรกที่เห็นกิจกรรมลักษณะนี้ตั้งแต่เริ่มต้นมาศึกษา อยากให้มหาวิทยาลัยส่งเสริมบทบาทนักศึกษาให้มากที่สุด มหาวิทยาลัยต้องเริ่มให้ความสำคัญกับนักศึกษาก่อนให้นักศึกษาสำเร็จการศึกษาและไปเป็นบุคลากรของสังคมในอนาคต นักศึกษาไม่ควรมองสังคมแบบแยกส่วนแม้จะศึกษาในศาสตร์ที่แตกต่างนักศึกษาก็สามารถรวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนประเด็นสาธารณะและการเมืองได้"

พร้อมทั้งฝากผู้ที่สนใจในกิจกรรมที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องของกลุ่มได้ที่เฟสบุ๊คของกลุ่มนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กิจกรรมรณรงค์เพื่อเรียกร้องสิทธินักศึกษา ในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ที่ https://www.facebook.com/OneScholar

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปอท.เตรียมตั้งกรรมการสอบ ‘อั้ม เนโกะ’ หลังถูกแจ้งหมิ่นเบื้องสูง

Posted: 18 Sep 2013 03:35 AM PDT

17 ก.ย.56 สำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น. รายงาน พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสอบสวนดำเนินคดีกับ นายศรัณย์ (สงวนนามสกุล)หรือ "อั้ม เนโกะ" อายุ 20 ปี นักศึกษาคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ว่า หลังจากเมื่อวานนี้ น.ส.พรทิพา สุพัฒนุกุล หรือ ฟ้า อายุ 41 ปี เจ้าของรายการ "เบสต์ออฟยัวร์ไลฟ์" โดยออกอากาศทางช่อง 13 สยามไท สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเสียงประชาชนได้เดินทางเข้าแจ้งความให้เอาผิดกับ นายศรัณย์ เพราะเห็นว่ามีพฤติกรรมหมิ่นสถาบันทั้งจากคำให้สัมภาษณ์กับรายการโทรทัศน์ดังกล่าวเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ที่รุนแรงจนไม่สามารถออกอากาศได้ และการโพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ "Aum Neko" นั้น ทาง ปอท. ได้รับเรื่องไว้แล้วและจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิด ซึ่งหากพบว่า นายศรัณย์ ทำผิดจริงจะออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวและดำเนินคดีไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา น.ส.พรทิพา สุพัฒนุกุล เดินทางเข้าพบ ร.ต.ท.ชลิต มณีพราว พนักงานสอบสวน กก.1 บก.ป.เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ "อั้ม เนโกะ" ในความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยนำคลิปภาพและเสียงที่มีการสัมภาษณ์กับทางรายการโทรทัศน์ดังกล่าว มามอบให้พนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐาน รวมทั้งข้อความที่โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของ "Aum Neko" ด้วย

โดย ร.ต.ท.ชลิต ได้กล่าวแนะนำว่า เนื่องจากกรณีดังกล่าวมีการโพสต์ข้อความผ่านเว็บไซต์ ซึ่งเข้าข่ายการพิจารณาดำเนินคดีของกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยว กับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) จึงให้คำแนะนำให้เข้าร้องทุกข์ที่ บก.ปอท.เพื่อตรวจสอบหลักฐานและพิจารณาดำเนินการต่อไป

สำหรับอั้ม เนโกะ ก่อนหน้านี้ได้ออกรณรงค์ยกเลิกการบังคับแต่งชุดนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านโปสเตอร์จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางนอกรั้วมหาวิทยาลัย และถูกโจมตีอย่างหนักจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการรณรงค์ดังกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมัชชาคนจนไม่เอา ‘เอฟทีเอ ไทย-อียู’ ชี้กระทบฐานทรัพยากร ความเป็นอยู่คนจน

Posted: 18 Sep 2013 03:30 AM PDT

สมัชชาคนจนรณรงค์หน้าทำเนียบรัฐบาล ยื่นจดหมายถึงนายกฯ จี้การเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู ต้องไม่จำกัดเสรีภาพทางพันธุ์กรรมและความเป็นธรรมในการเข้าถึงยา ระบุการเจรจาการค้าเสรีจะเป็นอันตรายกับคนทุกคน และเป็นข้อตกลงที่กำจัดชาวนาชาวไร่เกษตรกรรายย่อยให้หมดสิ้นไป
 
 
17 ก.ย.56 เวลาประมาณ 11.00 น. ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล สมัชชาคนจนจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อร่วมจับตาการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประไทยและสหภาพยุโรป โดยสมาชิกสมัชชาคนจนกว่า 100 คนจากทั่วประเทศร่วมกันเดินรณรงค์ไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี ระบุข้อเรียกร้องของสมัชชาคนจนต่อการเจรจาดังกล่าว โดยมีนายสุพร อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ออกมารับข้อเรียกร้อง
 
 
ตัวแทนสมัชชาคนจนได้อ่านแถลงการณ์ โดยระบุว่า การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี ไทย-อียูเป็นนโยบายเศรษฐกิจของรัฐที่จะส่งผลกระทบต่อฐานทรัพยากร ต่อความเป็นอยู่ และสิทธิอันพึงมีพึงได้ของคนจนอย่างยิ่ง การที่สหภาพยุโรปได้กดดันให้รัฐบาลไทยต้องยอมขยายการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องพันธุ์พืชและทรัพยากรชีวภาพ จะเปิดทางให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามาผูกขาดอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์และเทคโนโลยีชีวภาพ และเข้ามายึดครองฐานทรัพยากรต่างๆ ทำให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาแพงมากขึ้น ไม่อาจเก็บรักษาพันธุ์เพื่อปลูกต่อ หรือแลกเปลี่ยนระหว่างกันได้ และไม่อาจปกป้องคุ้มครองพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์พื้นเมืองได้อีกต่อไป
 
การเปิดเสรีทางการค้าจะเปิดโอกาสให้กับบรรษัทข้ามชาติ และนักลงทุนต่างชาติเข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างเสรี โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ที่เข้ามาแย่งชิงที่ดิน แหล่งน้ำ และทรัพยากรอื่นๆ ไปจากคนจน ซึ่งเป็นอันตรายต่ออธิปไตยทางอาหารของประเทศ และสิทธิของเกษตรกรรายย่อย
 
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงยาหรือการผูกขาดยาจากความพยายามของสหภาพยุโรปที่จะกดดันรัฐบาลไทยหลายประเด็น เช่น การยืดระยะเวลาในการคุ้มครองสิทธิบัตรยา การผูกขาดข้อมูลทางยา และการยึดจับยาต้องสงสัยว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
 
 
สมัชชาคนจนได้ยื่นจดหมายต่อนายกรัฐมนตรีผ่านทางนายสุพร โดยเรียกร้องให้รัฐบาลตระหนักถึงผลประโยชน์ของประชาชนโดยเฉพาะคนจน และไม่ทำตัวเป็นนายหน้าเพื่อพิทักษ์ปกป้องผลกำไรของบรรษัทข้ามชาติหรือนายทุนยักษ์ใหญ่ อย่างหน้ามืดตามัว
 
พร้อมเรียกร้องไม่ให้รัฐบาลไทยยอมรับขอบเขตการเจรจาที่เกินไปกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (ทริปส์พลัส) และไม่ยอมให้ใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการ มาระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนด้านการลงทุนที่เกี่ยวกับการลงทุนสาธารณะ การออกนโยบาย หรือมาตรการเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ อีกทั้งไม่ยอมให้มีการเปิดเสรีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และภาคเกษตรกรรม ที่จะส่งผลกระทบต่ออธิปไตยทางอาหารและสิทธิของเกษตรกรรายย่อย
 
จากนั้น สมัชชาคนจนได้ร่วมกันแปรอักษร เป็นตัวหนังสือ "FTA" "Fatal to All" และ "Farmer Terminating Agreement" เพื่อแสดงให้เห็นว่าการเจรจาการค้าเสรีจะเป็นอันตรายกับคนทุกคน และจะเป็นข้อตกลงที่กำจัดให้ชาวนาชาวไร่เกษตรกรรายย่อยให้หมดสิ้นไป
 
 
 
ทั้งนี้แถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
 
 
แถลงการณ์สมัชชาคนจน
การเจรจาเอฟทีเอ ไทย – อียู ต้องไม่จำกัดเสรีภาพทางพันธุ์กรรม
และความเป็นธรรมในการเข้าถึงยา
 
การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป รอบ 2 ที่กำลังดำเนินอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 16-20 กันยายน 2556 นี้ เป็นนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐที่จะส่งผลกระทบต่อฐานทรัพยากร ต่อความเป็นอยู่ และสิทธิอันพึงมีพึงได้ของคนจน สมัชชาคนจนเล็งเห็นว่า การเจรจาดังกล่าว หากไม่รับฟังเสียงสะท้อนของคนจน จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ด้วยเหตุผลดังนี้
 
1. การผูกขาดเมล็ดพันธุ์และทรัพยากรชีวภาพ
เมล็ดพันธุ์และทรัพยากรชีวภาพไม่เพียงแต่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชาวนาเท่านั้น หากแต่มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพและอธิปไตยทางอาหารของประเทศ สมัชชาคนจนไม่ยอมรับการผลักดันของสหภาพยุโรปที่ต้องการให้ไทยขยายการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องพันธุ์พืชและทรัพยากรชีวภาพ และการขยายการจดสิทธิบัตรไปสู่สิ่งมีชีวิตอันจะเปิดทางให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามาผูกขาดอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์และเทคโนโลยีชีวภาพ และเข้ามายึดครองฐานทรัพยากรต่างๆอันจะส่งผลให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาแพงมากขึ้นไม่อาจเก็บรักษาพันธุ์เพื่อปลูกต่อ หรือแลกเปลี่ยนระหว่างกันได้ และในท้ายที่สุด เกษตรกรรายย่อย และชุมชนท้องถิ่นไม่อาจปกป้องคุ้มครองพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์พื้นเมืองได้อีกต่อไป
 
2. การลงทุนเสรีด้านการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะในภาคการเกษตร
จากบทเรียนของพี่น้องชาวนา ชาวไร่ เกษตรกรรายย่อย จากหลายประเทศทั่วโลกที่มีการเปิดเสรีทางการค้า สมัชชาคนจนตระหนักดีว่า การเปิดเสรีทางการค้าจะเปิดโอกาสให้กับบรรษัทข้ามชาติ และนักลงทุนต่างชาติเข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างเสรี โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ที่เข้ามาแย่งชิงที่ดิน แหล่งน้ำ และทรัพยากรอื่นๆ ไปจากคนจน เพื่อการผลิตอาหารและพืชพลังงานเชิงอุตสาหกรรมส่งออก อันจะส่งผลร้ายแรงต่ออธิปไตยทางอาหารของประเทศ และสิทธิของเกษตรกรรายย่อย แต่การเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยและสหภาพยุโรปในครั้งนี้ กลับไม่มีข้อบัญญัติหรือเจตนาที่จะปกป้องฐานทรัพยากรธรรมชาติดังกล่าวนี้แต่อย่างใด
 
3. ความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงยา
ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปที่กำลังเจรจาอยู่นี้ จะทำให้เกิดการผูกขาดยาและความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงยา เช่นการยืดระยะเวลาในการคุ้มครองสิทธิบัตรยา การผูกขาดข้อมูลทางยา และการยึดจับยาต้องสงสัยว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้ยามีราคาแพงขึ้น ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้อย่างยากลำบากมากขึ้น และเป็นการทำลายอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญ นับเป็นการไร้มนุษยธรรมอย่างที่สุด ที่สหภาพยุโรปกดดันให้ไทยเอาชีวิตของคนป่วย โดยเฉพาะคนป่วยที่ยากจน ไปแลกกับสิทธิการค้าของนายทุนหรือบรรษัทข้ามชาติ สมัชชาคนจนขอปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง เช่นเดียวกับการต่อต้านอย่างขันแข็งของประชาชนอินเดีย จนในที่สุดสหภาพยุโรปต้องยุติการกดดันประเด็นนี้ในการเจรจาการค้าเสรีกับอินเดีย
 
ที่ผ่านมา สมัชชาคนจน พร้อมกับองค์กรประชาชนอื่นๆ ได้ท้วงติงและเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในประเด็นนี้มาหลายครั้ง และนายโอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปก็ได้มารับทราบข้อเรียกร้องด้วยตนเองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2556
 
ดังนั้น ในโอกาสที่ไทยกำลังเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป รอบที่ 2 อยู่ในขณะนี้ สมัชชาคนจนจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยได้ตระหนักในบทบาทหน้าที่ของตน ในฐานะตัวแทนของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ คำนึงถึงผลประโยชน์ต่อประชาชนทุกภาคส่วนโดยเฉพาะคนยากคนจน มิใช่ประพฤติตนเป็นนายหน้าเพื่อพิทักษ์ปกป้องผลกำไรของบรรษัทข้ามชาติหรือนายทุนยักษ์ใหญ่ อย่างหน้ามืดตามัว หากแต่ยึดมั่นในข้อเรียกร้องของภาคประชาชน และสั่งการให้การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป เป็นไปตามข้อเสนอของสมัชชาคนจน ดังนี้
 
1. ต้องไม่ยอมรับการกดดันหรือข้อเรียกร้องจากสหภาพยุโรปที่จะให้ไทยยอมรับขอบเขตการเจรจาที่เกินไปกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (หรือทริปส์พลัส)
 
2. ต้องไม่ยอมให้ใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการ มาระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนด้านการลงทุน ที่เกี่ยวกับการลงทุนสาธารณะ การออกนโยบายหรือมาตรการเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมด้านสาธารณสุขสาธารณูปโภคพื้นฐาน และความมั่นคง
 
3. ต้องไม่ยอมให้มีการเปิดเสรีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และการลงทุนในภาคการเกษตร รวมถึงการทำนาทำสวน ทำไร่ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การปลูกป่า การเพาะและขยายพันธุ์พืชตลอดจนการลงทุนอื่นใด ที่จะส่งผลกระทบต่ออธิปไตยทางอาหารและสิทธิของเกษตรกรรายย่อย
 
ในวันที่ 18-19 กันยายน นี้ กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) จะจัดกิจกรรมการรณรงค์ติดตามการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป ที่จังหวัดเชียงใหม่ สมัชชาคนจนขอแสดงความสมานฉันท์ และร่วมปฏิบัติการคู่ขนานกับการรณรงค์ดังกล่าว ในครั้งนี้ด้วย
 
17 กันยายน 2556
สมัชชาคนจน
 
ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน
Democracy where people can eat, Politics where the poor matter.
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความเห็นทางวิชาการต่อ “ประกาศห้ามซิมดับ” และการฟ้องร้องสื่อและนักวิชาการของ กสทช.

Posted: 18 Sep 2013 03:24 AM PDT


กรณีคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ยื่นฟ้องนางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ และนางสาวณัฎฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการ จากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ข้อหาหมิ่นประมาท หลังจากนั้น ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กสทช. ด้านกฎหมายได้เขียนบทความตีพิมพ์เต็มหน้าในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ในวันพุธที่ 4 กันยายน 2556 นั้น ในฐานะนักวิชาการที่ติดตามเรื่องสัมปทานโทรคมนาคม และบทบาทของผู้กำกับดูแล เช่น กสทช. นั้น มีประเด็นที่ต้องให้สาธารณชนเข้าใจโดยเฉพาะเรื่อง "ประกาศห้ามซิมดับ" และการทำหน้าที่ของ กสทช.

ข้อเท็จจริงพื้นฐาน คือ คู่สัญญาที่ประกอบกิจการโทรคมนาคมในระบบ 2G นั้น มีกำหนดวันหมดอายุในสัญญาชัดเจน เช่น กรณีของบริษัทที่ใช้คลื่น 1800 จำนวน 2 รายนั้น วันที่หมดสัญญาคือ วันที่ 15 กันยายน 2556 ในขณะที่ กสทช.โดย กทค. ออกประกาศห้ามซิมดับโดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2556 หรือ 15 วันก่อนหมดอายุสัญญาโดยขยายเวลาให้ผู้ประกอบการอีก 1 ปี ในด้านของ กสทช. นั้น อ้างเรื่องการเยียวยาผู้บริโภค และเกรงว่าจะเกิดการผูกขาดในการให้บริการในระบบ 2G แต่คำถามสำคัญที่ ข้อเขียนของ ดร.สุทธิพล ไม่ได้ตอบเลย หรือทำให้สาธารณชนเห็นว่า ผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแล ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถแล้ว และการออกประกาศห้ามซิมดับนั้นเป็นภาวะที่ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า

กสทช. ทั้ง 11 ท่าน ได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2554 หากจะนับเวลาที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งกระทั่งถึงวันที่อายุสัญญาของคู่สัญญาหมดลงนั้นก็มากกว่า 1 ปี 10 เดือน ดังนั้น กสทช. โดยเฉพาะ กทค. นั้น ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่ามีเวลาไม่เพียงพอในการดำเนินการ "บริหารจัดการ" ที่ดีกว่า การออกประกาศห้ามซิมดับ ยิ่งไปกว่านั้น สำนักงาน กสทช. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานประจำ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเตรียมการศึกษาเพื่อการ "บริหารจัดการ" ที่ดีที่สุด ในประเด็นนี้ผมแน่ใจว่า ทั้ง กทค. และสำนักงาน กสทช. ย่อมต้องรู้ถึงข้อจำกัดดังกล่าวและหากให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการคลื่นที่ดีนั้น ย่อมต้องมีการเตรียมการและมีทางเลือกมากกว่าการออกประกาศห้ามซิมดับ หรืออย่างน้อยที่สุด กทค. และสำนักงาน กสทช. จะต้องแถลงข้อจำกัดดังกล่าวให้ประชาชนรับทราบผ่านช่องทางต่างๆ ถึงความพยายามในการบริหารจัดการในกรณีนี้

ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งนั้น คือ เรื่องการคงสิทธิเลขหมายนั้น กทค. และสำนักงาน กสทช. ทราบมาตั้งแต่ต้นเรื่องข้อจำกัดการโอนย้ายหมายเลข ที่ดำเนินการได้ไม่มากนักในแต่ละวัน ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นข้อมูลสาธารณะ ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2552 และเมื่อมีการประมูลคลื่น 3G ในไตรมาส 4 ปี 2555 ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทย ข้อจำกัดต่างๆ ในเรื่องการบริหารคลื่นที่ใกล้หมดอายุสัญญานั้น ก็ยิ่งจะต้องเป็นความจำเป็นในลำดับต้นๆ ของ กทค. และสำนักงาน กสทช.

แม้ว่าในข้อเขียนของ ดร. สุทธิพล จะชี้แจงขั้นตอนการได้มาของประกาศห้ามซิมดับ ว่ามีการรับฟังความคิดเห็น ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน – 28 กรกฎาคม 2556 ก่อนออกประกาศนั้น ผู้เขียนเห็นว่า กทค.และ สำนักงาน กสทช. ไม่สามารถกล่าวได้ว่าได้ดำเนินการบริหารจัดการที่ดีอย่างเต็มที่แล้ว เพราะการเข้าสู่ตำแหน่งของ กสทช.ทั้ง 11 ท่าน ปลายปี 2554 แต่ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเพื่อการออกประกาศนั้น ใช้ระยะเวลาที่นานมาก และเมื่อเทียบกับการประมูลคลื่น 3G ที่ได้ราคาเพิ่มจากราคาขั้นต้นเพียงเล็กน้อยนั้น ระยะเวลาทอดห่างถึง 6 เดือน

ในทางตรงข้าม หาก กทค. และสำนักงาน กสทช. มีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม ซึ่งจะส่งผลต่อราคาค่าบริการและเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคโดยแท้จริงแล้ว การเร่งบริหารจัดการคลื่นหลังหมดอายุสัญญาในกรณีของคลื่น 1800 เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการประกาศห้ามซิมดับ โดยส่วนตัวของผู้เขียนในกรณีนี้ กทค. และ สำนักงาน กสทช. ไม่ได้ให้ข้อมูลและความเห็นที่เพียงพอแก่การถกเถียงเพื่อประโยชน์แห่งสาธารณะ การให้ข้อมูลว่าที่ประชุม กทค. เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 ได้มีมติเห็นชอบในการกำหนดวันประมูลในช่วงไม่เกินกันยายน 2557 นั้น กทค. ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ว่าปล่อยเวลาให้ล่วงเลยจนใกล้หมดอายุสัญญาได้อย่างไร (ทั้งที่รับตำแหน่ง 7 ตุลาคม 2554)

นอกจากนั้น ในข้อเขียนของ ดร.สุทธิพล เองที่เกรงว่าผู้บริโภคที่ใช้บริการ 2G อยู่จะต้องโอนย้ายค่ายบ่อย ภายใน 4 ปี หรือกรณีที่ผู้ประกอบการ 3G ยังให้บริการไม่เต็มรูปแบบ ผู้เขียนเห็นว่า กทค. และสำนักงาน กสทช. มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายหลังจากการประมูลคลื่น 3G สิ้นสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพของการให้บริการและความทั่วถึงของการให้บริการตามเงื่อนไขของการใช้คลื่น 3G ซึ่งในท้ายที่สุด ข้อกังวลของ ดร.สุทธิพล ที่ว่า "การโอนย้ายผู้ใช้บริการบนคลื่น 1800 อย่างไร้สติ อาจนำไปสู่การผูกขาดตลาดบริการ 2G เพียงเจ้าเดียว" นั้น เป็นข้อกังวลที่อยู่บนฐานความไม่แน่นอนและไม่อยู่บนฐานคิดตามหลักเศรษฐศาสตร์โดยเฉพาะเรื่องการทดแทนของบริการ รวมทั้งหลักการการกำกับดูแลกิจการที่ดีโดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อผู้บริโภค เนื่องจากหาก กทค. และสำนักงาน กสทช. กำกับดูแลตามเงื่อนไขของคลื่นแต่ละประเภท "อย่างดี" รวมทั้งมีการควบคุมอัตราค่าบริการ การบริหารจัดการคลื่น และการบังคับใช้กฎหมายที่ กทค. และ กสทช. ออกเองนั้น ผู้เขียนเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการผูกขาดบริการจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และข้อเท็จจริงที่ กทค. และนักวิชาการทราบกันดีคือ มีการทดแทนกันของบริการประเภทเดียวกัน แม้ว่าจะใช้คลื่นคนละประเภท กล่าวคือ ผู้บริโภคสามารถใช้บริการอย่างน้อยในด้านเสียง (Voice) ได้ทั้งบนคลื่น 2G 3G หรือแม้กระทั่ง 4G ได้

ยิ่งไปกว่านั้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนั้นส่งผลให้เกิดการทดแทนในการให้บริการด้านเสียงผ่านแอปพลิเคชั่นซึ่งสามารถใช้ Wifi หรือบริการอื่นตามค่ายของผู้ให้บริการและบางกรณีไม่เสียค่าบริการเพิ่ม ดังนั้น หากบริการใดที่เป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน (Public Services) กทค. และสำนักงาน กสทช. สามารถประกาศ และปรับปรุงบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานได้ตลอดเวลาและใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อยังประโยชน์แก่ประชาชน

ผมคิดว่าหาก กทค. และสำนักงาน กสทช. ใจกว้างพอที่จะรับฟังเสียงนักวิชาการและการถกเถียงทางวิชาการ ประเทศคงได้ประโยชน์จากการประมูลคลื่น 3G มากกว่า 2.78% จากราคาขั้นต้นที่กำหนดไว้ และหาก กทค. และสำนักงาน กสทช. ใจกว้างพอที่จะเปิดการถกเถียงทางวิชาการภายใต้ 10 ข้อคำถามจากทีดีอาร์ไอ ผมคิดว่าสังคมจะได้ประโยชน์ ผู้บริโภคก็จะได้ประโยชน์ และองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลอื่นก็จะได้ประโยชน์

ในส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับ กทค. และสำนักงาน กสทช. ที่ฟ้องนักวิชาการและสื่อในกรณีนี้ เนื่องจากการอ่านเอกสารที่เกี่ยวข้องและประมวลเรื่องราวผ่านการจัดลำดับเวลา ผมคิดว่า กทค. และสำนักงาน กสทช.สามารถทำความเข้าใจหากบุคคลที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลไม่ถูกต้อง สุดท้ายผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเขียนชิ้นนี้จะเป็นการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ในสายตาของ กทค. และสำนักงาน กสทช. ในฐานะองค์กรผู้กำกับดูแล เพื่อให้ประเทศได้มีการพัฒนาในด้านโทรคมนาคมอย่างที่ทุกฝ่ายตั้งใจไว้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โครเอเชียปลดคนขับรถใช้มือถือ ส่วนเยอรมันออกกฎป้องพนักงานไม่รับโทรศัพท์-อีเมลเจ้านายหลังเวลางาน

Posted: 18 Sep 2013 03:14 AM PDT

ในหลายวิชาชีพการใช้โทรศัพท์มือถือยังคงเป็นสิ่งที่ 'อันตรายในระหว่างการทำงาน' เช่นที่โครเอเชียที่พึ่งปลดพนักงานขับรถที่ใช้โทรศัพท์มือถือขณะปฏิบัติหน้าที่ ส่วนการติดต่อจากนายจ้างหลังเวลางานก็อาจจะเป็นการคุกคามเวลาพักผ่อนของคนงาน ก.แรงงานเยอรมันจึงออกกฎปกป้องพนักงานไม่ให้มีความผิดหรือได้รับโทษใดหากปิดโทรศัพท์มือถือหรือไม่ได้ตอบรับอีเมลนอกเวลาทำงาน

 

บริษัท Promet Makarska ปลดพนักงานขับรถของบริษัทรายหนึ่ง หลังจากมีผู้โดยสารร้องเรียนพร้อมรูปถ่ายหลักฐานการปฏิบัติตนไม่เหมาะสมในระหว่างการทำงาน (ที่มาภาพ: stock picture dailymail.co.uk)

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 56 ที่ผ่านมา dailymail.co.uk รายงานว่าบริษัท Promet Makarska บริษัทผู้ให้บริการรถบัสประจำทางในประเทศโครเอเชีย ได้สั่งปลดพนักงานขับรถของบริษัทรายหนึ่ง หลังจากมีผู้โดยสารร้องเรียนพร้อมรูปถ่ายหลักฐานการปฏิบัติตนไม่เหมาะสมในระหว่างการทำงาน

ผู้โดยสารได้ร้องเรียนด้วยการถ่ายภาพพนักงานขับรถที่กำลังใช้โทรศัพท์มือถือถึงสองเครื่อง ขณะที่รถบัสกำลังทำความเร็วประมาณ 80 ไมล์ต่อชั่วโมง ในเส้นทางระหว่าง Split เมืองทางตอนใต้ของประเทศ สู่เมืองหลวง Zagreb

ทั้งนี้ผู้โดยสารที่ร้องเรียนระบุด้วยว่าได้ทำการเตือนพนักงานขับรถคนนี้แล้ว ก่อนจะร้องเรียนมายังบริษัทแต่พนักงานคนนี้ยังคงใช้โทรศัพท์มือถือต่อไป นอกจากนี้ผู้โดยสารอีกรายหนึ่งที่อยู่บนรถบัส ยังระบุว่าพนักงานขับรถคนนี้ได้บอกกับเพื่อนทางโทรศัพท์ว่าสภาพการจราจรหนาแน่นอยู่ในขณะที่ใช้โทรศัพท์ ทั้งที่เขากำลังขับด้วยความเร็วสูงมาก

 

เยอรมันห้ามนายจ้างโทรหาพนักงานหลังเวลางาน

ก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา telegraph.co.uk รายงานว่าที่เยอรมัน กระทรวงแรงงานเยอรมันได้ออกกฎห้ามนายจ้างโทรศัพท์หรือส่งอีเมลให้กับพนักงานนอกเวลาทำงาน ยกเว้นมีเหตุอันควรหรือในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งระเบียบนี้จะทำให้พนักงานไม่มีความผิดหรือได้รับโทษใดหากปิดโทรศัพท์มือถือหรือไม่ได้ตอบรับอีเมลนอกเวลาทำงาน

Ursula von der Leyen รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ระบุถึงเหตุผลในการออกนโยบายนี้ว่ารัฐบาลเยอรมนีเป็นห่วงสุขภาพจิตของแรงงานในประเทศ และถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งในการรักษาพนักงานเอาไว้ เพราะหากพนักงานจะเกิดความเครียดและตัดสินใจที่จะลาออกจากสถานประกอบการได้เสมอ

โดยภาคธุรกิจที่ออกมาขานรับในทันทีก็คือบริษัท Volkswagen ส่วนบริษัท BMW และ Puma นั้นระบุว่าทางบริษัทไม่ได้บังคับหรือมีบทลงโทษ พนักงานที่ไม่ได้รับโทรศัพท์หรือตอบอีเมลนอกเวลางานอยู่แล้ว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น