โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ม็อบยางประจวบฯ เครียด! ร้องปล่อยแกนนำ ด้าน ปชป.ตั้งกระทู้ แฉรัฐฯ ปลุกม็อบสวนยาง

Posted: 05 Sep 2013 01:18 PM PDT

นำ 12 แกนนำม็อบประจวบฯ คุมตัวที่ค่ายพระมงกุฎเกล้า ด้านสถานการณ์ม็อบตึงเครียด หลังปะทะช่วงเย็นเจ็บทั้ง 2 ฝ่าย ม็อบยางท่าศาลายอมสลาย ให้เวลา 10 วัน ขู่พร้อมยกระดับการชุมนุม ส่วนม็อบยางชะอวด ขีดเส้น 7 วัน ไร้ผลขู่บุกสนามบิน
 
 
ประจวบฯ เดือดอีก! กลุ่มโจ๋ปาระเบิดเพลิง เผารถนักข่าววอด
 
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า 01.20 น. วันที่ 6 ก.ย. นายวีระ ศรีวัฒนะตระกูล ผวจ.ประจวบคีรีขันธ์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ จส.100 ถึงสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มเกษตรกรสวนยางและปาล์มน้ำมัน ว่า กลุ่มผู้ชุมนุมกว่า 200 คน บริเวณ บ้านธรรมรัชต์ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อช่วงเย็นได้สลายตัวไปแล้ว เหลือเพียงกลุ่มวัยรุ่นประมาณ 20 คน ซึ่งล่าสุด กลุ่มวัยรุ่นดังกล่าวได้ก่อเหตุ ใช้ระเบิดขวดปาใส่รถนักข่าวเดลินิวส์ ส่งผลให้รถฮอนด้าแจ๊ส ของนักข่าวถูกไฟไหม้วอดทั้งคัน นอกจากนี้ ยังมีรถตำรวจ และ รถนักข่าวไทยพีบีเอส รวม 2 คัน ถูกทุบตีเสียหาย หลังลงมือเสร็จได้หลบหนีจากที่เกิดเหตุทันที เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสกัดจับอยู่ แต่ยังไม่สามารถจับกุมตัวได้
 
ผวจ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวอีกว่า เบื้องต้น ทราบว่ากลุ่มดังกล่าว ไม่น่าจะใช่ผู้ชุมนุมที่เป็นชาวบ้าน แต่เป็นกลุ่มวัยรุ่นที่เข้ามาก่อกวน มีการปาระเบิดปิงปอง และ ประทัดยักษ์ และคาดว่าอาจจะมีการดื่มสุรา ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ ยังต้องเร่งเก็บกู้ตะปูเรือใบตามถนนด้วย
 
 
นำ 12 แกนนำม็อบประจวบฯ มาคุมตัวที่ค่ายพระมงกุฎเกล้า
 
มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 21.45 น. วันที่ 5 ก.ย.56 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปราบจลาจลได้นำตัวแกนนำในการชุมนุมม็อบสวนยางที่ ต.ทองมงคล อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 12 คน เป็นชาย 8 คน หญิง 4 คน มาควบคุมตัวที่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 14 ค่ายพระมงกุฎเกล้า (กก.ตชด.ที่14) ห้วยทราย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งห่างจากจุดที่มีการชุมนุมประท้วงประมาณ 100 กิโลเมตร
 
ขณะที่สถานการณ์การชุมนุมยังคงมีการปิดถนนเพชรเกษมอย่างต่อเนื่อง โดยมีชาวบ้านจากหลายพื้นที่เดินทางมาสมทบในการชุมนุม แม้ว่าจะมีการตั้งจุดตรวจจุดกัดใน อ.ทับสะแก และ อ.บางสะพานน้อย
 
 
สถานการณ์ม็อบประจวบฯ ยังตึงเครียด - จนท.เจ็บ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการชุมนุมของชาวสวนยางประจวบคีรีขันธ์ เมื่อเวลาประมาณ 21.30 น. ว่า เป็นไปอย่างตึงเครียด เนื่องจากมีเสียงประทัดยักษ์ดังมาจากฝ่ายผู้ชุมนุมตลอดเวลา พร้อมกับวัยรุ่นบางส่วนได้ใช้ระเบิดปิงปองปาใส่เจ้าหน้าที่เสียงดังสนั่นหวั่นไหวเป็นระยะ พร้อมกับใช้หนังสติ๊กใส่ก้อนหินระดมยิงใส่ตำรวจชุดปราบปรามจลาจล ทำให้ตำรวจได้บาดเจ็บหลายราย โดยทั้ง 2 ฝ่ายมีการตรึงกำลังอย่างเหนียวแน่น
 
ส่วนรถทุกชนิดได้หลีกเลี่ยงเส้นทางบนถนนเพชรเกษม โดยใช้ทางเบี่ยงถนนสายเลียบชายทะเลบางสะพาน- หนองหัดไท ระหว่าง อ.บางสะพานกับ อ.บางสะพานน้อย ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร ทั้งขาขึ้นและขาล่องโดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางสะพาน อปพร.และ อส. อำนวยความสะดวกตลอดเส้นทาง พร้อมจัดกำลังรถสายตรวจวิ่งตรวจเส้นทางเพื่อดูแลความปลอดภัยหลังจากมีข่าวว่าจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมาปิดเส้นทาง และใช้ตะปูเรือใบโปรยเพื่อดักรถที่ใช้เส้นทางเบี่ยงดังกล่าว 
 
เมื่อเวลา 20.45 น. มีการเจรจาระหว่างแกนนำกับตำรวจและฝ่ายปกครองบนถนนเพชรเกษม โดยขอให้ตำรวจปล่อยแกนนำที่ถูกจับกุมทั้งหมดก่อน จากนั้นจะสั่งให้ชาวบ้านสลายการชุมนุมปิดถนนเพชรเกษมทั้งขาขึ้นและขาล่องใต้ ซึ่งผลการเจรจายังไม่มีข้อยุติแต่อย่างใด
 
 
ผบก.ประจวบฯ เจ็บ เจอม็อบสวนยางประเคน'อิฐ-ถุงน้ำกรด' ใส่
 
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 18.30 น.วันที่ 5 ก.ย.56 จนท.ตำรวจได้ส่งกำลังเข้าพยายามผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมเกษตรกรชาวสวนยางพารา จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำนวนประมาณ 350 คน ซึ่งชุมนุมปิดถนนเพชรเกษม ฝั่งขาขึ้น บริเวณ ตรงข้ามสถานีบริการประชาชนตำรวจภูธรบ้านธรรมรัตน์ กม. 411 อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ออกมารวมตัวประท้วง กรณีราคายางพาราตกต่ำ ให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกไปจากบริเวณผิวการจราจร
 
ทั้งนี้ มีรายงานว่า กลุ่มม็อบได้มีการปะทะ และเข้าดันกับกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมทั้งมีการขว้างปาขวดน้ำและสิ่งของต่างๆ เพราะไม่ยอมออกไปจากพื้นผิวการจราจร ประกอบกับเกิดกระแสข่าวลือว่า เจ้าหน้าที่ ตำรวจเตรียมใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม ทำให้ประชาชนรู้สึกเกรงกลัว ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ภายหลังการเข้าปะทะกัน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และประชาชนได้รับบาดเจ็บหลายคน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ต.ธเนษฐ สุนทรสุข ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากโดนทั้งถุงใส่น้ำกรดกัดยางฯ คาดว่ามาจากทางกลุ่มผู้ชุมนุมปาใส่เข้าที่ขา และยังโดนก้อนอิฐเข้าที่บริเวณปาก ขณะนำกำลังตำรวจเข้าเคลียร์พื้นผิวการจราจร จากเดิมที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ปิดการจราจรบนถนนเพชรเกษมไป 1ช่องทาง ต่อมาเจ้าหน้าที่เข้าเคลียร์พื้นที่ สามารถเปิดการจราจรได้
 
อย่างไรก็ตาม ข่าวสดรายงานว่า เวลา 20.00 น. ชาวบ้านได้เคลื่อนขบวนไปปิดถนนเพชรเกษมห่างจากจุดเดิมประมาณ 500 เมตร โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนปิดหัวปิดท้าย ทำให้นายวีระ ศรีวัฒนะตระกูล ผวจ.ประจวบฯ พล.ต.ต.ฐเนตร สุนทรสุข และนายตำรวจหลายนาย รวมทั้งกลุ่มผู้สื่อข่าว บางส่วนต้องติดอยู่ในวงล้อมยังออกมาไม่ได้ ที่สำคัญทั้งหมดยังไม่ได้รับอาหารและน้ำ และยังทำให้การจราจรติดขัดทั้งขาขึ้นและขาล่อง รถทุกชนิดไม่สามารถใช้เส้นทางได้ตามปกติ
 
ขณะที่ตำรวจและฝ่ายปกครองได้ประชุมเครียดเพื่อหาทางเจรจาและอาจจะต้องสนธิกำลังเข้าสลายการชุมนุมอีกครั้ง หลังจากมีการสลายการชุมนุมรอบแรกเมื่อเวลา 18.30 น. วันเดียวกัน
 
เวลา 21.05 น.กลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 3,000 คนได้ตรึงกำลังล้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจและกลุ่มสื่อมวลชนที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ พร้อมปราศรัยโจมตีรัฐบาลที่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม และจะไม่สลายชุมนุมจนกว่าจะมีตัวแทนรัฐบาลเข้ามาเจรจา รวมทั้งปล่อยตัวแกนนำ หลังจากมีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บจำนวน 5 ราย ส่วนตำรวจบาดเจ็บ 12 นาย เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบางสะพาน
 
 
 
ม็อบยางท่าศาลายอมสลายการชุมนุม ให้เวลารัฐฯ 10 วัน ขู่พร้อมยกระดับการชุมนุม
 
เดลินิวส์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ย.56 นายอำนวย ยุติธรรม แกนนำเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช กล่าวแสดงความเห็นต่อมติของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กยน.) เมื่อเช้านี้ ซึ่งที่ประชุมมีมติเพิ่มการช่วยเหลือปัจจัยการผลิตจาก 10 ไร่ เป็น 25 ไร่ และจะนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เร็วที่สุดว่า เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด เพราะในทางปฏิบัติ เงินจากการกรีดยางมักจะไม่ถึงมือผู้กรีดยางพาราโดยตรง จะได้รับเฉพาะเจ้าของสวนยาง แต่หากรัฐบาลช่วยในเรื่องการประกันราคาหรือช่วยเติมเงินส่วนที่ต่างนั้น เจ้าของสวนยางพาราและผู้กรีดยางพาราจะสามารถตกลงราคากันได้ และเงินส่วนนี้ก็จะเพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัวของเกษตรกรฯ และผู้กรีดยาง
 
เมื่อถามว่ารัฐบาลยังยึดมาตรการเดิมในการช่วยเหลือจะทำอย่างไรต่อไป นายอำนวย กล่าวว่า จะให้เวลารัฐบาลตัดสินใจเรื่องนี้อีกครั้งเป็นระยะเวลา 10 วัน ซึ่งหากรัฐบาลยังยึดมาตรการเดิมเกษตรกรสวนยางพารา อ.ท่าศาลา จ. นครศรีธรรมราช จะยกระดับการชุมนุมโดยปิดที่ว่าการอำเภอของจังหวัดในวันที่ 14 ก.ย. อย่างแน่นอน ซึ่งวันนี้จะนำผลการประชุมดังกล่าวไปแจ้งให้กับผู้ชุมนุมทราบในเย็นวันนี้ เพื่อให้สลายการชุมนุมก่อน และรอฟังคำตอบของรัฐบาลอีกครั้งในวันที่ 14 ก.ย.ว่าจะดำเนินการอย่างไร
 
ส่วนการชุมนุมที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช จะสลายการชุมนุมด้วยหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุมในอำเภอนั้นๆ อย่างไรก็ตามทางกลุ่มผู้ชุมนุมทางภาคใต้ยังยืนมติเสียงเดียวกันว่า ต้องการให้มีการประกันราคาหรือช่วยเติมเงินส่วนต่างดังเดิม
 
 
ม็อบยางชะอวด ขีดเส้น 7 วัน ไร้ผลขู่บุกสนามบิน
 
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 16.50 น.วันที่ 5 ก.ย.56 ที่เวทีปราศรัย จุดปิดทางรถไฟสายใต้ของชาวสวนยาง ถนนบ่อล้อ–ควนหนองหงส์ ต.บ้านตูล อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช 

จากนั้น นายเอียด เส้งเอียด ได้ขึ้นเวทีกล่าวปราศรัย จุดปิดทางรถไฟสายใต้ ถนนบ่อล้อ–ควนหนองหงส์ ต.บ้านตูล อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช และประกาศว่า หลังจากตนลงจากเวที จะมีการเปิดทางรถไฟสายใต้ เพื่อให้รถไฟสามารถวิ่งได้ตามปกติ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องคนจน ที่ต้องอาศัยรถไฟในการเดินทาง ตนและชาวสวนยางต้องขอโทษที่ทำให้พี่น้องลำบาก อย่างไรก็ตาม จะยังคงเวทีปราศรัยที่นี่เอาไว้ โดยขอให้พี่น้องชาวสวนยางจากที่นี่ ย้ายไปชุมนุมกันต่อที่สี่แยกควนหนองหงส์ ถนนเอเชียสาย 41 ต.ควนหนองหงส์ อ.ชะอวด เพื่อเตรียมยกระดับการชุมนุม

นายเอียด กล่าวอีกว่า ทางผู้ชุมนุมจะให้เวลารัฐบาลเป็นเวลา 7 วัน ในเรื่องราคายาง หากไม่มีคำตอบที่ชัดเจน จะยกระดับการชุมนุม ด้วยการปิดสนามบินนครศรีธรรมราช และปิดศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช
 
 
ออกหมายเรียก 4 แกนนำม็อบยางปิด 'สี่แยกอันดามัน'
 
ส่วนกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราใน จ.ตรัง ยังคงชุมนุมเพื่อให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาราคาตกต่ำ โดยมีการการกางเต็นท์ตั้งเวทีปราศรัยบนถนนกลางสี่แยกอันดามัน ถนนเพชรเกษม ต.เขากอบ อ.ห้วยยอด ต่อเนื่อง นับจากเมื่อช่วงเย็นวันที่ 3 ก.ย.56
 
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า วันที่ 5 ก.ย.56 พ.ต.อ.ปัญจพล ชำนาญหมอ ผกก.สภ.ห้วยยอด จ.ตรัง เปิดเผยว่า ทางพนักงานสอบสวนได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ให้ออกหมายเรียกเชิญแกนนำกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มใน จ.ตรัง ประกอบด้วย นายชิต ชูช่วย นายสุชาติ ชาตรีกูล นายปรีชา ส่งเสริม และนายศักดิ์สฤษดิ์ ศรีประสาท โดยได้แจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันชุมนุม หรือมั่วสุมใดๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือกระทำการใดๆ อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่เรียบร้อย

ด้าน มติชนออนไลน์ รายงานว่าเมื่อเวลา 16.00 น. ที่ สภ.ห้วยยอด 2 แกนนำ ได้แก่ นายชิต ชูช่วย และ นายปรีชา ส่งเสริม เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าว จาก พ.ต.อ.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตรัง และ พ.ต.อ.ปัญจพล ชำนาญ หมอ ผู้กำกับการ สภ.ห้วยยอด โดยมีนายสอและ กูมุดา ทนายความ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เดินทางเข้าร่วมรับฟังการแจ้งข้อกล่าวหาของฝ่ายเจ้าหน้าที่ด้วย ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจะให้ความช่วยเหลือดูแลในด้านการดำเนินคดีทางกฎหมายต่อ 2 แกนนำ จนกว่าคดีจะสิ้นสุด
 
ส่วนนายสุชาติ ชาตรีกูล ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาก่อนหน้านี้แล้ว ยังเหลือนายศักร์สฤษดิ์ ศรีประศาสตร์ ที่จะเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวเป็นคนต่อไป
 
ที่มา: รักตรัง ปกป้องตรัง
 
ปชป.ตั้งกระทู้ แฉรัฐฯ ปลุกม็อบสวนยาง สกัดคนร่วมม็อบต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
 
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า วันที่ 5 ก.ย.56 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณากระทู้ถามสดปัญหาการชุมนุมของเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์ม น้ำมันของนายอภิชาต การิกาญจน์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถามว่า มีชาวบ้านให้ปากคำ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน ที่ลงพื้นที่ไปตรวจสอบและให้ข้อมูลว่า ม็อบที่ปิดถนนเป็นม็อบของรัฐบาล อยากทราบว่ารัฐบาลจะมีมาตรการเช่นใด หากพรรคร่วมรัฐบาลเป็นผู้ระดมคนมาปิดถนน เพื่อสกัดไม่ให้คนมาร่วมชุมนุมต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในวันที่ 5-7 ส.ค. คนที่อยู่เบื้องหลังคือ คณะที่ปรึกษาของ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และรัฐบาลจะเยียวยาผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการชุมนุมอย่างไร
 
พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ถ้าหากย้อนดูข่าวจากทางโทรทัศน์และหน้งสือพิมพ์ จะเห็น ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) บางคน ไปขึ้นเวที ส่วนสิ่งที่ นพ.นิรันดร์ พูดมานั้นตนไม่ทราบ แต่ปฏิเสธว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้อยู่เบื้องหลังแน่นอน
 
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า การสลายการชุมนุมวันที่ 23 ส.ค.56 เจ้าหน้าที่ไม่ประสงค์ให้เกิดขึ้น ซึ่งตำรวจก็บาดเจ็บ 50 กว่าคน ขณะที่ผู้ชุมนุมบาดเจ็บ 3 คน แต่การปิดถนนถือว่าผิดกฎหมาย จึงต้องดำเนินการเปิดเส้นทางจราจร ส่วนการเยียวยาคนเสียชีวิตนั้น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ให้เงินชดเชยศพละ 1 แสนบาท โดยผู้เสียชีวิตทั้ง 2 คน เกิดจากการทะเลาะ ยิงกันเอง ซึ่งตำรวจได้ออกหมายจับแล้ว
 
หลังจากนั้น นายอภิชาต ถามต่อว่า รมว.เกษตรฯ จะทำอย่างไร เพื่อให้เกษตรกรได้ตรงตามกับสิ่งที่เรียกร้อง ทำให้ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงว่า การให้รัฐบาลตั้งราคานำตลาดจะเกิดผลกระทบต่อกลไกราคายาง เราไม่ใช่ผู้กำหนดราคายาง ทิศทางราคายางขึ้นอยู่กับตลาดโลก ขณะนี้มียางล้นตลาดโลกอยู่ 5 แสนตัน จึงต้องแก้ปัญหาโดยการลดต้นทุนการผลิต จ่ายเป็นการช่วยเหลือปัจจัยการผลิตให้เกษตรกรตามมติ ครม.แต่จะไม่แทรกแซงให้เกิดการกระทบต่อกลไกตลาด
 
 
"ยิ่งลักษณ์"ตั้ง กก.เจรจาแก้ปัญหายางพารา เตรียมลงใต้เจรจาพรุ่งนี้
 
มติชนออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 5 ก.ย.ว่า นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า จากการที่นายกรัฐมนตรีได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในการเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมในพื้นที่ภาคใต้ โดยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทยและรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จึงทำให้เข้าใจประเด็นข้อเรียกร้องของเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งยังไม่ตรงกับประเด็นที่ คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เสนอ ถึงแม้ว่าล่าสุดเมื่อ กนย.มีมติแล้ว ก็ยังไม่ตรงกับประเด็นที่เกษตรกรชาวสวนยางเรียกร้อง
 
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจกันอย่างเป็นระบบ นายกรัฐมนตรีก็มีความคิดที่จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเจรจา เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหา และเพื่อให้ทุกกลุ่มเข้ามาเจรจาในเวลาพร้อมกัน ทั้งกลุ่มที่ต้องการให้แทรกแซงราคา และกลุ่มที่ยอมรับการสนับสนุนของรัฐบาลตามมติของ กนย.
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า รายชื่อคณะเจรจามีใครบ้าง นายวราเทพกล่าวว่า ฝ่ายรัฐบาลจะเป็นระดับรองนายกรัฐมนตรีที่จะเข้าไปเจรจา อย่างไรก็ตาม ขอให้รายชื่อออกมาก่อน ทั้งนี้ ล่าสุดตั้งแต่มีตัวแทนมาเจรจาเมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา จนกระทั้ง กนย.มีมติในวันนี้ 5 ก.ย. เรายังไม่ทราบท่าทีของการตอบสนองเกี่ยวกับมติ กนย.ว่าจะยอมรับหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องมีการตั้งคณะเจรจาที่จะตั้งขึ้น เพราะมีการรายงานต่อนายกรัฐมนตรีว่า อยากจะให้คณะเจรจาไม่ได้มีเฉพาะฝ่ายของรัฐบาล คือ กนย.แต่ฝ่ายเดียว ทั้งนี้รูปแบบจะมีการหารือกันอีกครั้ง
 
เมื่อถามว่า ถ้าม็อบยืนยันว่าต้องการให้ราคายาพารา 100 บาทต่อกิโลกรัม รัฐบาลจะสามารถรับข้อเสนอนี้ได้หรือไม่ นายวราเทพกล่าวว่า ต้องรอคณะเจรจาที่ตั้งขึ้นไปเจรจาก่อนเพื่อนำมาหารือกันอีกครั้ง
 
เมื่อถามว่า หากมีการปิดถนนในช่วงนี้ นายกรัฐมนตรีให้นโยบายอย่างไรบ้าง นายวราเทพกล่าวว่า มีการหารือกันว่า ในช่วงที่มีการปิดถนนก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อการคมนาคม ประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นห่วง หากจะทำให้เกิดความเดือดร้อน จึงอยากให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้เปิดเส้นทาง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีการใช้มาตรการบังคับขั้นเด็ดขาด เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุม เพราะจะทำให้เป็นข้ออ้างในการยกระดับการชุมนุมได้ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่คงต้องรักษาความสงบเรียบร้อยด้วย
 
เมื่อถามว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงประเมินอย่างไรบ้าง หากกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมรับการตั้งคณะเจรจา นายวราเทพกล่าวว่า ยังไม่มีการหารือเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคง เพราะมีการประเมินในส่วนของความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลักก่อน ทั้งนี้ ยังไม่มีความเป็นห่วงว่าจะต้องถึงขั้นที่ต้องการประกาศกฎหมายความมั่นคง อย่างไรก็ตาม มีความเป็นห่วงเรื่องความไม่สะดวกของประชาชนและเศรษฐกิจโดยภาพรวมที่ได้รับผลกระทบและการสร้างสถานการณ์
 
เมื่อถามว่า กลุ่มผู้ชุมนุมอาจมองว่าการตั้งคณะเจรจาเป็นการซื้อเวลา นายวราเทพกล่าวว่า รัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ปัญหามาโดยตลอด แต่เรื่องระบบยางพาราก็มีคณะกรรมการที่ต้องพิจารณาเป็นขั้นเป็นตอน จึงไม่ได้เป็นการซื้อเวลาแต่อย่างใด
 
เมื่อถามว่า แต่มติ กนย.ที่ออกมาก็ไม่ตรงกับความต้องการของกลุ่มผู้ชุมนุม นายวราเทพกล่าวว่า เมื่อมีมติไปแล้วและมีการนำมติไปเจรจาใหม่ หรือว่าเมื่อฝ่ายผู้ชุมนุมได้รับทราบถึงการมีมติแล้ว จะเสนอการตอบรับหรือไม่อย่างไร ก็ต้องรอฟังผลก่อน
 
"ถึงแม้ว่าการหารือเมื่อวานนี้จะค่อนข้างตึงเครียด แต่ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะอาจจะมีการใช้อารมณ์กันบ้าง อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วก็ต้องคุยกันด้วยเหตุด้วยผล" นายวราเทพกล่าว
 
ต่อจากนั้น พล.ต.อ.ประชา นายกิตติรัตน์ นายยุคล นายวราเทพ และนายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงข่าวคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 246/2556 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพารา โดย พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า เนื่องจากผู้เรียกร้องยังชุมนุมกันอยู่โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงในภาพรวมราคายางทั่วประเทศไม่เฉพาะแต่พื้นที่จังหวัดภาคใต้ ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพาราขึ้น
 
พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการมีดังนี้ 1.พิจารณาสภาพปัญหาเกี่ยวกับราคายางพาราและความเดือดร้อนของผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจการยางพารา และหารือร่วมกันกับตัวแทนผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับกิจการยางพาราทุกภาคส่วน เพื่อให้ได้ข้อยุติที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายและสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนโดยให้กิจการยางพารามีเสถียรภาพ แล้วเสนอแนะข้อคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาต่อคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และคณะรัฐมนตรีต่อไป
 
พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า ข้อ 2.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของคณะกรรมการได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม ข้อ 3.เชิญส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็น หรือจัดส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ ข้อ 4.ปฏิบัติตามหน้าที่อื่นตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
 
พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะลงไปเจรจาเพื่อหาข้อยุติร่วมกันกับกลุ่มที่ชุมนุมที่เป็นผู้แทนของ จ.นครศรีธรรมราชในวันพรุ่งนี้ (6 ก.ย.56) ในเวลา 10.00 น. ที่โรงแรมทวิน โลตัส จ.นครศรีธรรมราช ทั้งนี้ในภาคอื่นๆ อาทิ ภาคเหนือ หรือว่าอีสาน ก็จะมีการพิจารณาต่อไปอีกส่วนหนึ่ง โดยการประชุมดังกล่าวจะมีการหารือเรื่องข้อยุติเกี่ยวกับการยางพาราและเรื่องการเปิดเส้นทางจราจรในลำดับต่อไป
 
นายวราเทพกล่าวว่า ข้อกล่าวหาที่ว่ารัฐบาลไม่ใส่ใจการแก้ไขปัญหายาพาราเนื่องจากเป็นพืชที่อยู่ในภูมิภาคที่ไม่ใช่ฐานเสียงของรัฐบาล แม้กระทั่งการอภิปรายในรัฐสภาในขณะนี้ ว่าไม่เป็นความจริง เพราะรัฐบาลพยายามที่จะแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ผ่านคณะกรรมการ กนย. และมีการปรับหลักเกณฑ์บางส่วนตามข้อเรียกร้อง และถึงแม้ว่านายกรัฐมนตรีจะไม่เข้าร่วมประชุม กนย.ด้วยก็ตาม
 
ดังนั้น ในการเจรจาวันพรุ่งนี้เชื่อว่าจะสามารถทำให้เกิดความคืบหน้าใน 2 เรื่อง คือ 1.จากมติของ กนย.ที่เพิ่มจำนวนพื้นที่การเยียวยาจาก 10 ไร่ เป็น 25 ไร่ ส่วนที่ 2.รองนายกรัฐมนตรีที่ร่วมในคณะเจรจาที่จะไปประชุมในวันพรุ่งเป็น ไปในนามของรัฐบาล ไม่ใช่ในนาม กนย.ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าวจะมีการพิจารณาแก้ไขปัญหายางพาราในระยะยาวด้วย
 
พล.ต.ต.ธวัชกล่าวว่า จากการลงพื้นที่เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา แกนนำที่ส่งรายชื่อให้ตนที่ จ.สุราษฎร์ธานี ประกอบด้วย แกนนำใน 14 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 12 คน และในส่วน จ.นครศรีธรรมราชที่มีรายชื่ออยู่ประมาณ 30 คน ซึ่งจะประสานไปว่าใครที่พร้อมที่จะมาดำเนินการ และต้องเป็นคนที่เป็นเจ้าของสวน ลูกจ้างกรีดยาง เจ้าของกิจการจริงๆ เท่านั้น เพื่อเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการแก้ปัญหายางพารา
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพารา มีคณะกรรมการประกอบด้วย พล.ต.อ.ประชา เป็นประธานกรรมการ นายกิตติรัตน์ รองประธานกรรมการ นายยุคล รองประธานกรรมการ นายวราเทพ กรรมการ นายวิบูลย์ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุน กรรมการ อธิบดีกรมป่าไม้ กรรมการ พล.ต.ต.ธวัช กรรมการและเลขานุการ นายสุภรณ์ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ โดยให้คณะกรรมการดังกล่าวคัดเลือกตัวแทนผู้เกี่ยวข้องกับกิจการยางพาราทุกภาคส่วน ได้แก่ เกษตรกรชาวสวนยางและผู้กรีดยาง ผู้ประกอบธุรกิจยางพารา ผู้ส่งออก และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อเชิญมาร่วมดำเนินการกับกรรมการ
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ค้านขยายเหมืองทอง! ชาวบ้านจัดงานบุญหน้าทางเข้า-เปิดเวทีถกปัญหาชุมชน

Posted: 05 Sep 2013 10:20 AM PDT

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเขาหลวง เมืองเลย ทำกิจกรรมทั้งวันทั้งคืน 5 – 8 ก.ย.นี้ หน้าทางเข้าเหมืองทองสะพุง ยืนยันสิทธิชุมชนรักษาทรัพยากรธรรมชาติ หลังรู้บริษัทเหมืองเตรียมจัด Pubic Scoping หวั่นเหมือนเวทีก่อนหน้าใช้ทหาร-ตำรวจกว่า 2,000 นาย ปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านร่วม
 
 
วันนี้ (5 ก.ย.56) จนถึงวันอาทิตย์ที่ 8 ก.ย.56 ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ร่วมกันจัดงาน "ทำบุญภูทับฟ้า ต่อชะตาภูซำป่าบอน หาบคอนภูเหล็ก" ณ บริเวณทางเข้าชุมชนที่อยู่หน้าทางเข้าเหมือง เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงสิทธิชุมชนในการปกปักรักษาทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน และประกาศคัดค้านการขยายเหมืองทองในพื้นที่ จ.เลย โดยในงานจะมีพิธีทางศาสนา เวทีถกปัญหาเหมืองทองคำกับชุมชน และการแสดงของกลุ่มชาวบ้านและเครือข่าย
 
การจัดงานในครั้งนี้ สืบเนื่องจาก ในวันอาทิตย์ที่ 8 ก.ย.นี้ บริษัททุ่งคำ จำกัด มีกำหนดจัด "ประชุมรับฟังความคิดเห็นและกำหนดขอบเขตแนวทางการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ" หรือ Pubic Scoping (ค.1) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำ "รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)" เพื่อประกอบคำขอประทานบัตรเพิ่มเติม(คำขอประทานบัตรที่ 76/2539) ในพื้นที่ ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย เพื่อทำโครงการเหมืองแร่ทองคำ ทองแดง และเงิน
 
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.55 บริษัททุ่งคำได้จัดเวที Public Scoping ประกอบคำขอประทานบัตรการทำเหมืองทองคำแปลง 104/2538 หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าภูเหล็ก ซึ่งอยู่ติดกับแปลงที่มีการทำเหมืองอยู่แล้วในปัจจุบัน และมีการใช้กำลังทหารและตำรวจกว่า 2,000 นาย ปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเข้าร่วมเวทีดังกล่าวซึ่งจัดขึ้นที่บริเวณศาลากลางจังหวัดเลย
 
ตั้งแต่ปี 2538 บริษัททุ่งคำ ได้รับประทานบัตรการทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ไปแล้ว 6 แปลงเป็นพื้นที่รวมประมาณ 1,300 ไร่ รวมถึงโรงแต่แร่และโรงประกอบโลหะกรรมซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2549 โดยยังมีพื้นที่อีก 106 แปลง รวมแล้วมีพื้นที่นับหมื่นไร่ใน จ.เลย ที่บริษัทได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจและผลิตแร่ทองคำแล้ว และมีการทยอยยื่นขอประทานบัตรอย่างต่อเนื่อง
 
นับแต่ที่บริษัททุ่งคำจำกัดเริ่มดำเนินกิจการในพื้นที่ตำบลวังสะพุง มีรายงานถึงการปนเปื้อนของสารเคมีเป็นพิษ ไซยาไนด์ และโลหะหนักหลายชนิด ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมของชุมชนอย่างน้อย 6 หมู่บ้านรอบเหมืองทอง และส่งผลกระทบต่อสุขภาพและวิถีชีวิตของชุมชนรอบเหมืองมาโดยตลอด
 
เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา เกิดเหตุคันเขื่อนบ่อเก็บกักหางแร่ที่มีไซยาไนด์ปนเปื้อนจำนวนมากและเป็นส่วนหนึ่งของโรงประกอบโลหะกรรมพังลง ยิ่งย้ำความกังวลของชุมชนต่อมาตรฐานและความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ หากมีการขยายพื้นที่ทำเหมืองแร่ หมายความว่าจะมีการนำแร่จำนวนมากขึ้นเข้าไปยังโรงประกอบโลหะกรรมและจะมีน้ำเสียปนเปื้อนจำนวนมากขึ้นในบ่อที่มีปัญหาดังกล่าว
 
ที่ผ่านมา ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้ร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตลอด แต่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง  แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ก.พ.54 ระบุว่า
 
"ให้กระทรวงอุตสาหกรรมชะลอการขยายพื้นที่ใหม่หรือการขอประทานบัตร ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด แปลงที่ 104/2538 และแปลงอื่น ๆ ไว้ก่อนจนกว่าจะได้ข้อสรุปของสาเหตุการเกิดสารปนเปื้อน ผลการประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติและค่าภาคหลวงแร่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และผลการประเมินผลด้านสุขภาพ หรือ HIA"
 
แต่มติดังกล่าวก็ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง จนล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาชาวบ้านทนความเฉื่อยชาของหน่วยงานรัฐไม่ไหว ประกาศระเบียบชุมชนควบคุมน้ำหนักบรรทุกที่ใช้ถนนของชุมชน (ไม่ให้เกิน 15 ตัน) และห้ามการนำเข้าสารเคมีอันตรายเข้าเขตชุมชน  เพื่อเป็นมาตรการป้องกันตนเองจากผลกระทบจากกิจกรรมของเหมือง
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตอบเรื่องวุ่นวายเกี่ยวกับฐานอำนาจทางกฎหมายในการออกประกาศ กสทช. ห้ามซิมดับ (1)

Posted: 05 Sep 2013 07:29 AM PDT

ความนำ

ได้อ่านบทความที่ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กสทช. ด้านกฎหมาย (กิจการโทรคมนาคม) ได้เขียนลงหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 13-14 สิงหาคม 2556 รวม 2 วัน เรื่อง "เรื่องวุ่นวายของฐานอำนาจกฎหมาย กับ ประกาศ กสทช. ห้ามซิมดับ (ตอน 1-2)" ซึ่งคุณสุทธิพลกล่าวพาดพิงถึงนักวิชาการบางท่านหรือนักกฎหมายที่ออกมาเคลื่อนไหวแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างประกาศห้ามซิบดับของ กสทช.

แม้คุณสุทธิพลจะไม่ได้เอ่ยชื่อเสียงเรียงนามอย่างชัดเจน แต่เนื่องจากผู้เขียนเป็นหนึ่งในนักวิชาการหรือนักกฎหมายที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างประกาศดังกล่าว จึงย่อมตกอยู่ในข่ายที่คุณสุทธิพลกล่าวถึงอย่างไม่ต้องสงสัย และยังอาจรวมไปถึงบรรดาคณาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายที่ผู้เขียนในฐานะหัวหน้าโครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เชิญมาแสดงความคิดเห็นหรือเชิญให้เขียนความเห็นทางกฎหมายในการเสวนาเฉพาะประเด็น เรื่อง "ปัญหาทางกฎหมายกรณีการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz และแนวทางการแก้ไขปัญหา" เมื่อวันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

ผู้เขียนคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องอธิบายความเพิ่มเติม เพื่อให้คุณสุทธิพลตระหนักความสำคัญของการรับฟังความคิดเห็นของบุคคลอื่น ซึ่งจะต้องไม่ถูกจำกัดว่าจะต้องเป็นการรับฟังที่จัดโดย กสทช. เท่านั้น นอกจากนั้นยังถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนในฐานะผู้จัดงานที่มีต่อคณาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านั้นซึ่งได้กรุณาร่วมแสดงความเห็นในงานดังกล่าว แต่กลับถูกบทความดังกล่าวพาดพิงถึงอย่างไม่เป็นธรรมในครั้งนี้

 

ความเป็นมาของการจัดการเสวนาเฉพาะประเด็นทางกฎหมาย เมื่อ 29 กรกฎาคม 2556

ก่อนที่จะแสดงความเห็นต่อเหตุผลคำชี้แจงต่างๆ ที่คุณสุทธิพลอธิบายเรื่องฐานอำนาจในการออกประกาศฯ ห้ามซิมดับในบทความทั้งสองวัน เบื้องต้นขอกล่าวถึงประเด็นที่คุณสุทธิพลโปรยหัวตั้งข้อสงสัยไว้ในบทความฯ ในมติชนฯ ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2556 เสียก่อนว่า "น่าสงสัยเงื่อนงำการเคลื่อนไหวคัดค้านมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคห้ามซิมดับ" และขยายความต่อมาว่า "ประเด็นที่น่าสงสัย คือ เหตุใดนักวิชาการบางท่าน จึงออกมาเคลื่อนไหวแสดงความไม่เห็นด้วยกับการออกประกาศห้ามซิมดับของ กสทช. ทั้งๆ ที่ การออกประกาศนี้มีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการคุ้มครองผู้บริโภค มิใช่ไปขยายสัมปทาน และไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งได้เปรียบ" พร้อมทั้งตั้งคำถามว่า "การออกมาแสดงความเห็นดังกล่าวที่สอดรับและดำเนินการร่วมกับการเคลื่อนไหวคัดค้านร่างประกาศฯ ของกรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งแพ้โหวตในการลงมติของ กสทช. มีวัตถุประสงค์ใดกันแน่ ? โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการเคลื่อนไหวทันทีที่ช่วงเวลารับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามกรอบขั้นตอนของกฎหมายในเรื่องร่างประกาศฯ สิ้นสุดลง"

การตั้งข้อสงสัยซึ่งส่อไปในทางกล่าวหาเช่นนี้นอกจากจะไม่ใช่การใช้เหตุผลทางวิชาการในประเด็นของเรื่องที่ถกเถียงกันแล้ว ยังอาจถือเป็นการสวนทางกับวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่ต้องการให้ กสทช. เปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็นอย่างหลากหลาย

ที่มาของการจัดงานเสวนาที่ถูกพาดพิงถึงนั้น กสทช.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ได้ให้เจ้าหน้าที่ติดต่อมายังผู้เขียนขอให้โครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน ซึ่งผู้เขียนรับผิดชอบอยู่ ช่วยรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเสวนาเฉพาะประเด็นกฎหมาย ในฐานะสถาบันทางการศึกษาที่มีความเป็นอิสระในทางวิชาการ เพื่อรับฟังความคิดเห็นฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับ "ร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ...."

ผู้เขียนเห็นว่าการจัดงานของ กสทช. ในเรื่องนี้ที่ผ่านมา มักเป็นการจัดรับฟังความคิดเห็นพร้อมๆ กันหลายประเด็น กลุ่มคนที่เข้าร่วมก็เป็นกลุ่มขนาดใหญ่และหลากหลายสาขา กสทช. หรือองค์กรอื่นยังไม่เคยมีการจัดเสวนาเฉพาะประเด็นทางกฎหมายเกี่ยวกับร่างประกาศฯ ฉบับนี้มาก่อน ทั้งที่เป็นประเด็นสำคัญที่มีผู้โต้แย้งกันมาก โครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตฯ จึงได้ตอบรับที่จะช่วยจัดการเสวนาเฉพาะประเด็นกฎหมายขึ้นในวันที่ 29 กรกฎาคม 2556 ซึ่งแม้จะเป็นวันที่พ้นระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็นตามมติของ กสทช.แล้วก็ตาม แต่ระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะของ กสทช. มิใช่ระยะเวลา "ตามกรอบขั้นตอนของกฎหมาย" ดังที่คุณสุทธิพลกล่าวอ้างในบทความ เป็นแต่เพียงระยะเวลาตามมติของ กสทช. เท่านั้น และการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างประกาศ กสทช.ฯ ฉบับนี้ก็ไม่ควรผูกขาดว่าเป็นหน้าที่ของ กสทช. แต่ฝ่ายเดียว

การจัดงานเสวนาในวันนั้น ผู้เขียนได้เชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาร่วมแสดงความคิดเห็น ทั้งนักวิชาการด้านนิติศาสตร์และด้านอื่นๆ ตัวแทน กสทช. ตัวแทนคณะอนุกรรมการเตรียมการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz และตัวแทนสำนักงาน กสทช. หน่วยงานผู้ให้สัมปทาน บริษัทผู้รับสัมปทาน และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมในตลาดทุกราย คณาจารย์และนักศึกษาปริญญาโทของคณะนิติศาสตร์ สื่อมวลชน และผู้สนใจทั่วไป ประมาณ 100 คน (ตามความจุของห้องประชุม)

แต่ปรากฏว่า กสทช. เองแม้จะได้รับคำเชิญ แต่กลับไม่ได้ให้ความสนใจในการมาให้ข้อคิดเห็นหรือแม้แต่ส่งตัวแทนอย่างเป็นทางการมาให้ข้อมูลหรือแลกเปลี่ยนความเห็นแต่ประการใด ในทางตรงกันข้ามกลับมาเขียนบทความตั้งข้อสงสัยกล่าวหาอย่างไร้เหตุผล ซ้ำตำหนิว่าคนวิจารณ์ขาดความเข้าใจในสภาพปัญหาทางโทรคมนาคมและหลักการจัดสรรคลื่นความถี่ ทั้งที่ได้แสดงไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นการประชุมเสวนาในประเด็นทางกฎหมายเป็นหลักและทางผู้จัดก็ได้เชิญให้มาให้ข้อคิดเห็นแลกเปลี่ยนกันว่าหลักกฎหมายปกครองที่ถูกต้องเป็นเช่นไร แต่กลับไม่มา

การจัดเสวนาในประเด็นทางกฎหมายโดยเฉพาะเช่นนี้ น่าจะเป็นผลดีต่อการพิจารณาของ กสทช. ที่จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างประกาศฯ ฉบับดังกล่าวด้วยความรอบคอบรอบด้านยิ่งขึ้น  เพราะจะมีข้อมูลประกอบการพิจารณาที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งผู้เขียนเองได้เรียบเรียงประเด็นจากการเสวนาในวันนั้นจัดทำเป็นรายงานสรุปความเห็นพร้อมเหตุผลทางกฎหมายส่งถึงมือ กสทช.ทุกคน ให้ทันการประชุม กสทช. ในวันที่ 14 สิงหาคม (สำเนาหนังสือโครงการฯ เลขที่ ศธ.0516.12/1472/56 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2556)

 

ตอบเรื่องวุ่นวายของฐานอำนาจหรือเรื่องวุ่นวายของผู้กำกับกิจการฯ ?

เมื่ออ่านเหตุผลคำอธิบายทั้งหมดของคุณสุทธิพลแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องพูดถึงทุกประเด็นเพราะที่เขียนมาบางส่วนก็ขัดแย้งกันเอง บางส่วนก็เข้าใจหลักกฎหมายไปอีกทางหนึ่งที่ไม่ตรงกับหลักกฎหมายปกครอง อีกทั้งการเสนอแนะทางออกในประเด็นทางเทคนิคก็มีผู้แสดงความเห็นไว้พอสมควรแล้ว เช่น วิธีการที่เรียกว่า Mobile Virtual Network Operator (MVNO) หรือวิธีการ roaming กับผู้ประกอบการรายอื่นที่มีคลื่นความถี่ 1800 MHz หรือแม้แต่การโอนย้ายผู้ใช้บริการยกล็อต ตัวอย่างเช่นความเห็นและข้อเสนอแนวทางแก้ไขในบทความ "[ตอนที่ 1] อธิบายปัญหาการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz ของ TRUE และ DPC" ,"[ตอนที่ 2] ท่าทีและข้อเสนอขององค์กรต่างๆ ต่อปัญหาสัมปทานคลื่น 1800MHz" และ"[ตอนที่ 3] สัมภาษณ์ กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ถึงปัญหาสิ้นสุดสัมปทานคลื่น 1800MHz"  และแหล่งอื่นๆ

ในที่นี้ ผู้เขียนจะขอแสดงความเห็นต่อเนื้อหาที่คุณสุทธิพลเขียนในบทความทั้งสองวันดังกล่าว เฉพาะความคิดหลักๆ ดังนี้

 

1. การละเว้นไม่เรียกคืนคลื่นความถี่

ถ้าจะพูดให้ตรงจุด ประเด็นปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 1800 MHz ระหว่าง บมจ.กสท. กับบริษัท ทรู มูฟ และ บมจ.กสท. กับบริษัท ดิจิตอล โฟน ไม่ได้เกี่ยวกับปัญหาการตีความบทบาทของ กสทช. ว่ากว้างแคบแตกต่างกันอย่างที่พยายามกล่าวอ้างแต่อย่างใด และก็ไม่เกี่ยวกับการที่มีคนอยากจะให้ซิมดับหรือไม่ดับ ที่กล่าวว่า "กลุ่มที่สนับสนุนแนวทางนี้ ก็มองว่า กสทช. คงไปทำอะไรมากไม่ได้ ต้องปล่อยให้ผู้บริโภครับกรรมไป ซิมจะดับก็ต้องดับ หาก กสทช. ไปดำเนินการอะไรก็จะเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย..." เป็นความเข้าใจผิดหรือสรุปความที่ผิดของคุณสุทธิพลเอง

ความเห็นทางกฎหมายที่เป็นประเด็นหลักในการประชุมเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม คือ กสทช.เป็นองค์กรฝ่ายปกครองที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ต้องปฏิบัติงานให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายทั้งโดยเจตนารมณ์และโดยลายลักษณ์อักษร การออกมาตรการในฐานะผู้ควบคุมกำกับกิจการ (regulator) ไม่ว่าในเรื่องใด จะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายไม่ได้ ผู้ที่เกี่ยวข้องในกิจการโทรคมนาคมทราบตั้งแต่ต้นว่ารัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มีเจตจำนงให้มีการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตโดยเร็วที่สุด เพื่อให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประเทศและประชาชนสูงสุด

อย่างไรก็ดี ในช่วงการประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญฯ นั้น มีผู้ประกอบกิจการซึ่งได้สิทธิใช้คลื่นความถี่โดยชอบด้วยกฎหมายค้างอยู่ รัฐธรรมนูญฯ จึงบัญญัติเป็นเงื่อนไขไว้ในบทเฉพาะกาลให้คุ้มครองสิทธิในกิจการหรือทรัพย์สินของผู้ประกอบการโทรคมนาคมในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน ว่าการเรียกคืนคลื่นเพื่อนำไปจัดสรรนั้น ต้องไม่กระทบกระเทือนถึงการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ได้กระทำขึ้นก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญานั้นจะสิ้นผล และพระราชบัญญัติทุกฉบับที่เกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคมฯ รวมทั้งแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมก็เดินตามแนวทางนี้มาโดยตลอด (ดูรายละเอียดในรายงานสรุปผลการเสวนาฯ หน้า 16 เป็นต้นไป)

ดังนั้น กสทช. จึงมีหน้าที่ต้องเตรียมการทุกด้านไว้ให้พร้อม โดยการหามาตรการที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายทั้งหมดมาพิจารณาเสียแต่เนิ่นๆ และในระหว่างบรรดามาตรการที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น  กสทช. จะต้องเลือกมาตรการที่เหมาะสมที่สุด ทั้งหมดนี้จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน

ประกาศฯที่กำหนดให้มีการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อไปแม้สัญญาสัมปทานจะหมดอายุลงแล้วย่อมไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายเพราะ ในเรื่องนี้ รัฐธรรมนูญและกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า เมื่อการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญานั้นสิ้นสุดลง ให้สิทธิในการประกอบกิจการบนคลื่นความถี่ตามสัญญาของผู้รับสัมปทานสิ้นสุดลง และแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่กำหนดให้ กสทช.ต้องเรียกคืนการใช้คลื่นกลับมา บทบัญญัตินี้ผูกพันให้ กสทช. ต้องไม่กระทำการใดๆ อันมีผลเป็นการขยายระยะเวลาการใช้คลื่นความถี่ตามสัญญานั้นออกไปอีก ไม่ว่าเป็นการถาวรหรือชั่วคราว ซึ่งทุกฝ่ายในกิจการโทรคมนาคมล้วนทราบหลักการนี้มาตั้งแต่ต้น ทั้งที่เป็นผู้ถือครองคลื่นรายเดิมและผู้ประกอบการที่รอการประมูลจัดสรรคลื่นใหม่ รวมทั้งทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับระยะเวลาการสิ้นสุดสัญญานี้แล้วทั้งสิ้น และมีความหวังว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ระบบใบอนุญาตเต็มรูปแบบภายหลังปี พ.ศ.2561 อันเป็นปีที่สัญญาสัมปทานฉบับสุดท้ายหมดอายุลง

ดังนั้น การละเว้นไม่เรียกคืนการใช้คลื่น หรือการออกกฎหรือมาตรการใดๆ ที่มีผลเป็นการขยายระยะเวลาการใช้คลื่นออกไปจากสัญญาที่สิ้นสุดอายุลง จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไม่ว่าจะเรียกมาตรการนั้นหรือกฎนั้นว่าชื่ออะไรก็ตาม มิฉะนั้นแล้วจะเท่ากับว่าประเทศไทยก็จะไม่เห็นแสงสว่างจากปลายอุโมงค์เสียทีว่าจะเข้าสู่ระบบใบอนุญาตที่แท้จริงได้เมื่อใดกันแน่ หาก กสทช. อ้างความจำเป็นแบบนี้อีกในอนาคต และใช้ดุลพินิจดำเนินงานในทางที่ส่งผลให้บทบัญญัติของกฎหมายไม่มีสภาพบังคับ

นี่จึงไม่ใช่เรื่องแนวการตีความที่เห็นแตกต่างกันระหว่างนักทฤษฎีกับนักปฏิบัติ หรือว่าใครตีความแล้วทำให้ซิมดับหรือห้ามซิมดับ แต่เป็นเรื่องหลักการที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม และพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตั้งแต่ต้น และทุกฝ่ายก็รับรู้ร่วมกันมาตลอด

 

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

 

หมายเหตุ: ปัจจุบัน จันทจิรา เอี่ยมมยุรา เป็น หัวหน้าโครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน 
                 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เชน เทือกสุบรรณ' ส.ส.ปชป. ทุ่มเก้าอี้กลางสภา เคือง พท.เสนอปิดอภิปราย

Posted: 05 Sep 2013 06:36 AM PDT

 
(5 ก.ย.56)  เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่า  หลังจากที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายกันอย่างกว้างขวางต่อญัตติการเเก้ปัญหายางพารา  จนเวลา 18.50 น.โดยนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นแจ้งว่า มีประชาชนชาว จ.ประจวบคีรีขันธ์ แจ้งเข้ามาว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุม  ขอให้รัฐมนตรีชี้แจงด้วย  แต่นายพายัพ ปั้นเกตุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นเสนอญัตติให้ปิดการอภิปราย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ต่างกรูกันเข้าห้องประชุม ทำให้นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้ขอให้นายพายัพ ถอนญัตติการปิดอภิปรายออกไปก่อน เพราะมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อีก 3 คนที่จะอภิปราย

ทั้งนี้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ต่างลุกขึ้นขอร้องให้นายพายัพถอนการปิดการอภิปรายเพราะสมาชิกยังพูดถึงพืชที่ราคาตกต่ำยังไม่หมด  นายพายัพ อภิปรายว่า เนื่องจากเป็นญัตติด่วน และสมาชิกอภิปรายอย่างรอบด้านแล้ว เห็นว่าสภาฯ ควรรีบดำเนินการเพราะเกษตรกรรออยู่ ดังนั้นขอยืนญัตติการปิดอภิปราย โดยนายวิสุทธิ์ ได้อนุญาตให้ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกฯและรมว.เกษตรและสหกรณ์ชี้แจงเรื่องแก๊สน้ำตา

อย่างไรก็ตาม การอภิปรายของนายพายัพทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจ โดยนายเชน เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอย่างโมโหว่า "อย่างนี้เดี๋ยวก็ปิดสภา เอะอะ อะไรก็จะปิด เดี๋ยวรัฐมนตรีตอบเสร็จแล้วก็ปิด ทั้งที่ยังมีเรื่องปัญหาของชาวบ้านที่ต้องให้รัฐบาลรับรู้อีกเยอะ"

จากนั้นนายเชนได้ยกเก้าอี้ทุ่มไปข้างหน้าข้ามโต๊ะที่นั่งไป 1แถว  และทุ่มเก้าอี้อีก 1 ตัวไปโต๊ะที่นั่งไป 2 แถว ทำให้ที่พักแขนหักไป 1 ตัว จากนั้น ได้เดินไปชี้หน้าพร้อมโวยวายใส่ประธานที่ประชุม ทำให้นายวิสุทธิ์ พยายามไกล่เกลี่ยให้ใจเย็นๆ พร้อมระบุว่า ยังไม่ได้ให้ปิดการอภิปราย เพียงแต่ให้รัฐมนตรีตอบเรื่องแก๊สน้ำตาเท่านั้น ขณะที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ต่างพากันเข้าห้ามนายเชน และเก็บเก้าอี้เข้าที่นั่งเดิม จนนายเชน ยอมนั่งลง

ต่อมา นายยุคล ชี้แจงว่า ได้สอบถาม พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกฯแล้ว ทราบว่ามีประชาชนประมาณ 400 คนพยายามจะปิดถนน แต่หน่วยปราบจราจลได้ขอร้องว่าอย่าปิดถนน เพราะเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ยืนยันว่าไม่มีการใช้แก๊สน้ำตา

จากนั้น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งนายธนิตพล ไชยนันท์ ส.ส.ตาก, น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคาม ได้ขอให้เปิดการอภิปรายต่อ เพราะยังมีพืชอีกหลายชนิตที่สมาชิกยังไม่ได้พูด  แต่นายมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายว่า ที่ประชุมอภิปรายเรื่องนี้กันมาพอสมควรแล้ว และควรเคารพญัตติของนายพายัพ ทำให้นายวิสุทธิ์ ไกล่เกลี่ยว่าจะให้วิปทั้ง 2 ฝ่ายหารือกันอีกครั้ง

ขณะที่นายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า หากจะให้ไปอภิปรายในสัปดาห์หน้าต่อ ก็อาจจะไม่ทันรัฐบาล เพราะรัฐบาลจะลงพื้นที้ในวันที่ 6 ก.ย.แล้ว การเสนอข้อปิดการอภิปรายไม่ได้เป็นการจำกัดสิทธิ์ ดังนั้นขอให้ประธานใช้อำนาจและวิจารณญาณในการพิจารณาญัตติดังกล่าว ซึ่งควรจะรีบสรุปเพื่อจะส่งเรื่องทั้งหมดไปให้รัฐบาล

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำ ผกา: เสียงจากเหยื่อ

Posted: 05 Sep 2013 06:03 AM PDT

<--break->

ฉันเจอวลีที่บอกว่า "ผู้หญิงอย่าหยุดสวย" ครั้งแรกในห้อง "โต๊ะเครื่องแป้ง" ในเวปพันทิป และต้องยอมรับว่า เวปพันทิปเป็นศูนย์กลางข้อมูลข่าวสารทุกอย่างในโลกนี้โดยเฉพาะโลกแห่งความเป็นไทย ที่สนุกกว่านั้นคือ "ความเป็นไทย" ในพันทิป เป็นความเป็นไทยที่เจอการปะทะสังสรรค์ที่มีชีวิตชีวาที่สุด เพราะเราจะพบทั้งกลุ่มคนที่สมาทานความเป็นไทยในแบบฉบับ[1] กลุ่มคนที่มีความเสรีนิยม กลุ่มคนที่พยายามหาทางออกให้สังคมด้วยเหตุผลและวิทยาศาสตร์  แต่ที่สร้างเสน่ห์ที่สุดให้กับพันทิปคือพื้นที่แห่งความนิรนามอันก่อให้เกิดคำถามหรือกระทู้ที่ทำให้คนอ่านอย่างเราคาดไม่ถึงคิดไม่ได้เช่น "การกลืนอสุจิของแฟนเท่ากับการกินลูกของตัวเองหรือไม่"

เพราะฉะนั้น สำหรับฉันเวปพันทิปคือความบันเทิง ไม่นับห้องก้นครัวที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจของการทำอาหาร

แต่ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา กระทู้ที่โด่งดังมากเกี่ยวกับเรื่องสวยๆงามๆในพันทิป คือการเปิดโปงขบวนการขายครีมหน้าขาวหน้าเด้งหน้าใส ที่ใช้เหล่าพริตตี้ซึ่งเรียกันว่าเน็ตไอดอลมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ – ในหน้า feed เฟซบุ๊กของฉันก็มีขึ้นมาทุกวัน –  การขายไม่มีอะไรซับซ้อน น้องเน็ตไอดอลโชว์หนังหน้าตัวเองก่อนใช้ครีมว่าเป็นสาวหน้าเหียกหน้ากร้านมาก่อน หลังจากเริ่มดูแลตัวเอง ดัดฟัน ขัดผิว จนกระทั่งมาใช้ครีมหน้าขาว สูตรซากุระ สะตอเบอรรี่ บลูเบอรี่ ฯลฯ เหล่านี้ จากสาวหน้าเหียก เอวหนา ก็กลายมาเป็นพริตตี้สาว หน้าเรียวยาว ผมสลวย จมูกโด่ง ผิวใสวิ้งๆ นมตู้ม ผลแห่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้อดีตสาวหน้าเหียกอย่างเธอ กลายเป็นพริตตี้เงินล้าน มีแฟนๆตามใน ig หลายแสนคน

แต่แล้วก็มีผู้กล้าออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมแก่พริตตี้ผู้ขายครีมว่า ซื้อไปใช้แล้วแพ้อย่างรุนแรง วิวาทะนี้นำไปสู่การที่ผู้ใช้นำครีมที่ซื้อส่งไปตรวจสอบหาส่วนผสมจนพบว่ามีสารเคมีอะไรต่อมิอะไรที่มิพึงใช้กับหนังหน้าของมนุษย์ ทั้งสารเคมีกัดหน้า ฟอกผิว สารปรอท – ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้ผู้ใช้หน้าขาวในเจ็ดวันก่อนจะหน้าไปดำไปอีกเจ็ดสิบปีหากอายุยืนพอ

เมื่อมีผู้กล้าคนแรก ก็มีผู้กล้าคนต่อไป มีอดีตผู้อยู่ในวงการ "ค้าครีมหน้าขาว" ออกเปิดโปงห่วงโซ่ธุรกิจ โรงงานกวนครีม และส่วนผสมสำคัญอย่างวิกซอลล์ จนกระทั่งมีคนรวบรวมผลิตภัณฑ์ในแนวนี้มาให้เราดูในกระทู้เดียว http://pantip.com/topic/30909347

พอเข้าไปอ่าน – อุแม่เจ้า –  ไม่แต่ครีมหน้าขาว มีครีมหน้าเงา มีครีมหน้ากระจก มียาเม็ดลดน่อง แต่นมไม่ลด ยาลดหน้าท้อง ยาลดต้นแขน ลดกันได้ทีละส่วน มีเจลลี่กลูต้าฯ มีน้ำตื่มกลูต้าฯ มีครีมลอกผิวออกเป็นแผ่นๆ มีครีมมะหาดขายเป็นแกลลอน (น้ำป้าเช็งดูดีไปเลย) มีสบู่ที่ใช้แล้วขาวจั๊วะในเจ็ดวัน (น่าแปลกใจที่ตัวเลขจะต้องเป็นสามวันเจ็ดวัน ดูไสยศาสตร์พิลึก) ที่สำคัญมีคนกล้าซื้อไปใช้อย่างจริงจัง

เมื่ออ่านกระทู้เกี่ยวกับ "ผู้หญิงอย่าหยุดสวย" ทั้งหมดนี้แล้ว ฉันได้เห็นภาพของผู้หญิงที่เป็น"เหยื่อ"  ซึ่งสอดคล้องกับทัศนคติที่สังคม หรือที่ใครก็ไม่รู้ล่ะสร้างสังคมแบบนี้ขึ้นมาคือสังคมที่มองมนุษย์ที่มีนมมีจิ๋มมีประจำเดือนว่า คือ มนุษย์ที่พร้อมจะถูกล่อลวง อ่อนแอ เขลา ไม่สามารถดูแลตัวเองได้

ในที่นี้ผู้หญิงไทยเป็นเหยื่อของ "ค่านิยม" ผอม ขาว นมใหญ่ ผมยาว (วิตามินเร่งผมยาว) น่องเรียว ต้นขาเล็ก จมูกโด่ง (ขายที่หนีบจมูก) ผิวหน้ามันเป็นเงา มีออร่า เปล่งประกาย

ภาพต้นแบบความงามที่ว่านี้มาจาก "ภาพ" ของดาราเกาหลี ซึ่งพริตตี้ไทยไปลอกเลียนแบบมา และโดยมากได้มาด้วยการทำศัลยกรรม (ซึ่งดาราเกาหลีก็คงผ่านมีดหมอมาเหมือนกัน) ลามปามจากพริตตี้มาสู่หญิงสาวตามท้องถนนที่อาศัยคลีนิกเสริมความงาม คลีนิคหมอผิวหนังที่มีทั้งยากินยาฉีด การยิงเลเซอร์ เทคนิคการร้อยไหมให้หน้าเรียว  - เทคโนโลยีเหล่านี้ได้สร้างผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่มีความงามในแบบที่ถูกสถาปนาให้เป็นความงามมาตรฐาน เป็นความน่ารัก เย้ายวน จากนั้นผู้หญิงเหล่านี้ได้พากันถ่ายรูปตัวเองในมุมกล้องมาตรฐานของความงามชุดนี้อีกคือ เห็นเนิมนมเต่งตูม ลอนผมสลวย ตาโต คางแหลม ผิวผ่อง ปากเจ่อ เผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย มีการแชร์ การชม การกดไลค์ การเข้าไปคอมเมนท์แสดงความหื่นปรารถนาในผู้หญิงที่ครอบครองความงามชุดนี้ ผลก็คือมันไปกระตุ้นให้ผู้หญิงที่ยังเข้าไม่ถึงความงามชุดนี้ต้อง "พยายาม" ปรับปรุงตัวเองเพื่อไปให้ถึงความงามชุดนั้นให้ได้

ไม่ต้องพูดถึง ภาพดารา นางแบบ พรีเซ็นเตอร์คลีนิคเสริมความงามที่ล้วนตอกย้ำอุดมคติความงามที่ไร้รอยยับ ไร้รูขุมขน ไร้ขน ไร้ไขมัน แต่ช้าก่อน พวกเราทุกคนรู้เรื่องการรีทัช พวกเราทุกคนรู้เรื่องโฟโต้ช้อป พวกเราทุกคนรู้เรื่องมุมกล้อง การจัดแสง แต่เราทุกคนก็ยังพากันเดินเข้าไปในร้านขายเครื่องสำอางเพื่อซื้อสารพัดยาและโลชั่นที่ทำให้จั๊กแร้ ขาหนีบ ของเราตึงเปรี๊ยะไร้รอยยับ เหมือนจั๊กแร้ของนายแบบนางแบบทั้งหลาย รูปภาพที่ผ่านการรีทัชทั้งหมดในโลกนี้ ทำให้มนุษย์ตัวเป็นๆอย่างเราเห็นความ "ปกติ" ในร่างกายของตนเองในฐานะที่เป็นสิ่ง "ไม่ปกติ" เช่น ต้นขา สะโพกของมนุษย์ทุกคนย่อมมีเซลลูไลท์ (เว้นแต่คุณจะออกกำลังกายอย่างหนักหน่วงที่สุดในโลก)  เป็นเรื่องปกติ จั๊กแร้ต้องยับ ง่ามขาย่อมกระดำกระด่าง ก้นก็พึงลายไปตามอายุขัย ร่องแก้ม ตีนกา ฯลฯ นี่คือส่วนหนึ่งของการมีชีวิต เพราะเราไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นมัมมี่จะได้แช่แข็งความเปลี่ยนแปลงไว้ตลอดกาล และเราก็ไม่ใช่ผีจูออนที่จะขาวเผือด ผิวไม่มีรูขุมขน

ที่เขียนมาทั้งหมด ไม่ได้แปลว่า ฉันเป็นคนรู้แจ้งเห้นจริง รู้เท่าทันทุกสิ่งของการตบตาหลอกลวงให้ผู้หญิงอยากสวย เป็นหญิงวิเศษไม่ตกเป็นเหยื่อของอะไรเลย  เปล่า, ฉันอาจจะไม่อยากขาว แต่ก็อยากมีผิวเปล่งปลั่ง นวลเนียน  รู้ว่าผิวคนเราต้องมีรูขุมขน แต่ก็ยังมีรูขุมขนที่เล็กที่สุดเท่าที่จะเล็กได้ รู้ว่าคนเราต้องมีตีนกาแต่ก็ยังชลอไว้ให้เกิดช้าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ฉันยอมรับว่าใช้เครื่องประทินผิว สกินแคร์ทุกสิ่งอย่างเท่าที่เชื่อว่ามันจะทำให้ฉันมีสุขภาพผิวที่ "ดี" ใช้ครีมกันแดดเต็มพิกัดเพราะไม่อยากเป็นฝ้า ฉีดโบท็อกซ์ไปหลายเข็มแล้ว เพราะอยากให้ร่องแก้มตื้นขึ้น ไม่นับการฉีดฟิลเลอร์ เพื่อให้หน้าเต่งขึ้น เพราะหากหน้าเต่งขึ้น รูขุมขนก็ดูตื้นลง เพราะหน้าฟู ลงทุนลงแรงฝึกโยคะทุกวัน ก็เพราะอยากสร้างกล้ามเนื้อ ลดเซลลูไลท์ ปรับกระดูกสันหลังให้ตรง ยาว ดัดขาให้โก่งน้อยลง ลดเหนียงใต้คาง กระชับหน้าอกไม่ให้ยานลงตามแรงโน้มถ่วงของโลกเร็วเกินไป

แต่เส้นแบ่งที่ทำให้เราตกเป็น "เหยื่อ" ค่านิยมว่าด้วยความงามที่ทำงานอยู่ในสังคม  – ฉันพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า ฉันก็คือเหยื่อคนหนึ่ง  - แต่ในฐานะ "เหยื่อ" ของค่านิยม ของอุดมการณ์ เราจะอธิบายเหยื่อที่ยอมกินยาเม็ดเพื่อลดน่องแทนการไปออกกำลังกายได้อย่างไร? หรือ เราจะอธิบายเหยื่อที่ยอมใช้ยาลอกผิวออกเป็นแผ่นๆ ชนิดที่เห็นปุ๊บ ไม่ต้องมีความรู้ ไม่ต้องเฉลียวเฉลาดมาก เราก็ต้องดูออกว่า เฮ้ยที่มันหลอกลวงเห็นๆ และมันต้องเป็นอันตรายต่อร่างกายและอาจเป็นภัยจนถึงแก่ชีวิตแน่นอน

คำอธิบายที่ง่ายที่สุดเท่าที่นึกออกในเวลานี้คือ สังคมเราต้องการ "ข้อมูล" เกี่ยวกับ "ความงาม" มากกว่านี้และหลากหลายกว่านี้ แทนการรีบร้อนประณามเหยื่อเหล่านั้น "โง่ อ่อนแอ อยากสวยตามกระแสจนไม่ใช้สมอง" เพราะถึงที่สุดเราคงต้องยอมรับกันก่อนว่า ในโลกทุนนิยมใบนี้ไม่มีใครหลุดพ้นจากการเป็น "เหยื่อ" กันสักคน ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเป็นมากหรือน้อย หรือจะมีพลังทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เหนือกว่าคนอื่นจนสามารถสร้าง "ค่านิยม" ให้คนอื่นลอกเลียนแบบแทน (นี่ไง ชั้นไม่ฉีดโบท็อกซ์ซักเข็มเลย ชั้นรักรอยย่นของชั้น ชั้นคือผู้ที่ฉลาดลึกซึ้งกว่าใคร – ดูชั้นเป็นตัวอย่างนะจ๊ะ)

สำหรับฉันเราไม่มีสิทธิไปชี้หน้าเหยียดคนอื่นว่าโง่จังอยากสวยอยากขาว แต่เราพึงมีสิทธิ์ได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับความงาม เวชสำอาง การทำศัลยกรรม ที่มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ยิ่งตลาดสินค้าความงามแข่งขันกันสูงเท่าไหร่ "ตลาด" เกี่ยวกับข้อมูล ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ต้องถูกผลิตออกมาในปริมาณที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ฉันอยากอ่านหนังสือที่เล่าเบื้องหลังการถ่ายโฆษณารักแร้เนียน และหรือการถ่ายแฟชั่นทั้งหมด (ในฐานะคนแต่งหน้าทำงานหน้าจอทีวี ฉันก็อยากจะบอกว่าเราต้องถมครีมรองพื้นกันเป็นถังๆ เพื่อโบกหน้าเราให้เรียบเนียนอย่างเป็นธรรมชาติ) อยากอ่านบทความเกี่ยวกับการดูแลผิวที่อธิบายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ให้คนทั่วไปอ่านแล้วเข้าใจง่าย อยากมีนิตยสารสำหรับผู้หญิงที่อัพเดท รีวิว วิจารณ์สกินแคร์ในท้องตลาด อย่างเป็นวิทยาศาสตร์อ่านสนุก หากเรามีวารสารวรรณกรรมอย่าง "อ่าน" คนอยากสวยอย่างฉันก็อยากเห็นวารสารที่เล่นเรื่องความงามอย่างฮาร์ดคอร์และเป็นวิชาการ วิทยาศาสตร์บวกสังคมวิทยาอย่างมาก – และมันน่าจะสนุก

แทนการเฝ้าดูถูก "เหยื่อ" อยากเห็นอุตสาหกรรมการผลิตข้อมูลและองค์ความรู้ออกมาโยนใส่หน้าทุกคนในสังคมให้มีข้อมูลอยู่กับมือตัวเองมากที่สุด เพื่อที่ว่า ในฐานะเหยื่อเราจะเป็นเหยื่อที่สามารถเลือกในสิ่งที่ดีที่สุดเหมาะสมกับเรามากที่สุดได้

 

 

 


[1] กลุ่มคนที่เชื่อว่าเมืองไทยเราเก่าแก่ดีงามมีสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจมีพุทธศาสนาค้ำจุนสังคมมีชนบทที่สดสะอาดมียิ้มสยามเป็นที่รักของคนทั้งโลกมีความกตัญญูต่อบุพการีสูงสุดมีครอบครัวอบอุ่นคุณหมาคุณเมียคุณสามีคุณลูกที่เป็นแกนกลางจิตใจ เป็นต้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลยุติธรรมเปิดส่วนคดีนักท่องเที่ยว เริ่ม 'พัทยา' ที่แรก

Posted: 05 Sep 2013 05:57 AM PDT

ศาลยุติธรรมเปิดส่วนคดีนักท่องเที่ยวในศาลจังหวัดพัทยาเป็นแห่งแรก มุ่งคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพนักท่องเที่ยว หวังสร้างความเชื่อมั่นด้านการอำนวยความยุติธรรมอย่างทั่วถึง พร้อมเปิดอีก 6 ศาล เร็วๆ นี้

(5 ก.ย.56) วันนี้ เวลา 14.00 น. ที่ศาลจังหวัดพัทยา จังหวัดชลบุรี นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดส่วนคดีนักท่องเที่ยว ซึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นแห่งแรก เพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศได้รับความเป็นธรรมภายใต้ระบบกฎหมายไทยเท่าเทียมกับประชาชนไทย

นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมากกว่า 20 ล้านคนต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลายเป็นแหล่งที่มาของรายได้ที่สำคัญของประเทศ ดังนั้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจ ทั้งในเรื่องความปลอดภัยและความเป็นธรรมในการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดให้มีระบบการคุ้มครองสิทธิของนักท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวต่อไปว่า แนวคิดในการเปิดส่วนคดีนักท่องเที่ยว      ในศาลจังหวัดพัทยาเป็นนโยบายของศาลยุติธรรมที่จะจัดระบบงานคดีให้มีความเหมาะสมกับคดีแต่ละประเภท ซึ่งคดีที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวมีความแตกต่างจากคดีทั่วไป เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะพำนักอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวที่เกิดเหตุเป็นระยะเวลาสั้นๆ และจะมีเวลาว่างเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน ขณะที่ ปัจจุบันศาลยุติธรรมทั่วประเทศเปิดให้บริการประชาชน ทั้งในช่วงเวลากลางคืน (Night Court) และวันหยุดราชการอยู่แล้ว เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อเตรียมการเปิดแผนกคดีท่องเที่ยว เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการพัฒนาระบบการคุ้มครองสิทธิของนักท่องเที่ยว  ซึ่งคณะกรรมการมีมติเห็นควรให้มีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิของนักท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานสากลและเห็นชอบให้เปิดส่วนคดีนักท่องเที่ยวในศาลจังหวัดและศาลแขวงที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ รวม 7 แห่ง ได้แก่ ศาลจังหวัดพัทยา ศาลแขวงเชียงใหม่ ศาลจังหวัดภูเก็ต ศาลจังหวัดเกาะสมุย ศาลจังหวัดกระบี่ ศาลแขวงปทุมวัน และศาลแขวงดุสิต โดยเปิดทำการที่ศาลจังหวัดพัทยาเป็นแห่งแรก

ภารกิจสำคัญของส่วนคดีนักท่องเที่ยว ได้แก่ การให้คำแนะนำและช่วยเหลือนักท่องเที่ยวในการดำเนินคดีให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว หรือในกรณีที่นักท่องเที่ยวต้องรีบเดินทางกลับก็จะสืบพยานนักท่องเที่ยวไว้ล่วงหน้าและอาจแต่งตั้งให้ผู้แทนของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลคดีแล้วแจ้งผลให้ทราบต่อไป หรือถ้านักท่องเที่ยวตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา และประสงค์จะแจ้งให้สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลประเทศของตนทราบเพื่อขอความช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่ก็จะแจ้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการให้ ทั้งนี้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างประเทศได้รับความเป็นธรรมภายใต้ระบบกฎหมายไทยโดยเท่าเทียมกัน
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน ยูเอ็น ออกบันทึกแจง คห.ต่อ กม.นิรโทษกรรมของไทย

Posted: 05 Sep 2013 05:26 AM PDT

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เผยแพร่ "บันทึกทางเทคนิคเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศและนโยบายแห่งสหประชาชาติในการกำหนดระเบียบด้านการนิรโทษกรรม" ลงวันที่ 26 ส.ค.56 ในเว็บไซต์องค์กร โดยระบุว่า บันทึกดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นข้อมูลแก่การอภิปรายถกเถียงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในเรื่องร่างกฎหมายนิรโทษกรรมโดยอ้างถึงกรอบกฎหมายระหว่างประเทศและนโยบายแห่งสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรม

บันทึกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า กฎหมายระหว่างประเทศและนโยบายแห่งสหประชาชาติไม่ได้คัดค้านการนิรโทษกรรม แต่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและนโยบายแห่งสหประชาชาติไม่อาจยินยอมให้มีการนิรโทษกรรมได้ ใน 2 กรณีคือ 1.การนิรโทษกรรมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการดำเนินคดีอาญากับบุคคลซึ่งอาจต้องรับผิดชอบทางอาญาต่ออาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงอื่นๆ รวมทั้งการละเมิดสิทธิต่อเพศใดเพศหนึ่ง หรือ 2.กรณีละเมิดสิทธิของผู้เสียหายในการได้รับการเยียวยาอย่างเป็นผล ซึ่งรวมถึงการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและได้รับค่าชดเชย

นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า รัฐมีภาระหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการให้มีการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พร้อมอ้างถึงความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่ว่า "การไม่ดำเนินคดีการสืบสวนสอบสวนและความล้มเหลวในการนำผู้กระทำผิดในการล่วงละเมิดสิทธิดังกล่าวมาลงโทษนั้น ถือเป็นการฝ่าฝืนกติการะหว่างประเทศ"

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 ส.ค. โฆษกข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เซซิล ปุยอิลลิ แถลงข่าวแสดงความกังวลต่อร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมของไทยที่กำลังจะเข้าสภาในขณะนั้นว่า หากผ่านกฎหมายดังกล่าว จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการสลายการชุมนุมเดือน เม.ย. - พ.ค. 2553 ต้องพ้นความรับผิดชอบ พร้อมเสนอแนะให้รัฐบาลทำตามข้อแนะนำของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และให้เอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เป็นการวางรากฐานที่ดีในประเทศไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลพิพากษาคดีดีเจหนึ่ง ผิด ม.116 แต่ให้รอการกำหนดโทษ 3 ปี

Posted: 05 Sep 2013 01:34 AM PDT

คดี "ดีเจหนึ่ง" ชุมนุมปิดถนนแยกดอยติ จ.ลำพูน ปี 52 ศาลชี้การลงโทษทางอาญาทันทีในคดีที่มีมูลเหตุทางการเมือง ไม่ใช่หนทางเยียวยาแก้ไขปัญหา จึงให้รอการกำหนดโทษจำเลยไว้เป็นเวลา 3 ปี และให้จำเลยไปรายงานตัวคุมประพฤติ และให้บำเพ็ญประโยชน์ ด้านจำเลยไม่ขออุทธรณ์คดีต่อไปเพราะเป็นแค่คนธรรมดา และต้องการกลับไปมีชีวิตตามปกติ

5 ก.ย. 56 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่ นัดฟังคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1970/2554  ซึ่งมีนายจักรพันธ์ บริรักษ์ หรือ "ดีเจหนึ่ง" เป็นจำเลยในข้อหาปลุกปั่นยุยงให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116  จากการออกอากาศวิทยุชุมชนของกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 คลื่นความถี่ 92.5 MHz กรณีที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงปิดถนนที่บริเวณสามแยกดอยติ จังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2552  

การนัดพิพากษาในครั้งนี้เลื่อนมาจากในช่วงเดือนสิงหาคม (ดู เลื่อนพิพากษาดีเจหนึ่งคดีคลื่นรักเชียงใหม่ 51 ประกาศปิดถนนดอยติ เมษา 52) โดยได้มีการย้ายห้องที่ทำการพิพากษามายังห้องพิจารณาที่ 2

ศาลได้อ่านคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 แต่วินิจฉัยว่าเนื่องจากไม่ปรากฏชัดเจนว่าเหตุการณ์การปิดถนนมาจากการกระทำของจำเลยโดยตรง หรือมาจากเหตุอื่นๆ อีกทั้งศาลเห็นว่าการลงโทษทางอาญาทันที ในคดีที่มีมูลเหตุทางการเมือง ไม่ใช่หนทางเยียวยาแก้ไขปัญหา ศาลจึงให้รอการกำหนดโทษจำเลยไว้ เป็นเวลา 3 ปี และให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมความประพฤติ 9 ครั้งในเวลา 2 ปี และให้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมง

ผู้สื่อข่าวรายงานโดยสรุปถึงรายละเอียดของคำพิพากษา โดยศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีว่า จำเลยได้พูดออกอากาศทางสถานีวิทยุคลื่น 92.5 MHz มีเนื้อหาตอนหนึ่งให้ประชาชนชุมนุมปิดถนนบริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11  สายเชียงใหม่-ลำปาง บริเวณแยกดอยติ ในวันที่ 12 เมษายน 2552 ระหว่างเวลา 9.21-9.23 น. ตามหลักฐานในบันทึกการถอดเทปเสียง การที่จำเลยพูดข้อความดังกล่าวกระจายเสียงไปยังประชาชนเป็นการทั่วไป ย่อมเป็นการทำให้ประชาชนที่ฟังรายการวิทยุทราบข้อความที่จำเลยพูด ถือเป็นการทำให้ปรากฏแก่ประชาชนอย่างหนึ่ง แม้เป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่จำเลยก็ได้พูดเชิญชวนซ้ำไปมาหลายรอบ มีรายละเอียดวิธีการปฏิบัติ และมูลเหตุจูงใจว่าเป็นการชุมนุมร่วมกันกับกลุ่มลำพูน 51 เพื่อปิดถนน โดยเป็นมาตรการของผู้ชุมนุมกดดันให้รัฐบาลในขณะนั้นลาออก และย้ำการปิดถนนถึง 3 ครั้ง ย่อมเป็นการแสดงถึงเจตนาต่อผลให้ประชาชนปิดถนน มิใช่เป็นเพียงการเรียบเรียงข้อความไม่ถูกต้อง ตามที่จำเลยนำสืบ

แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 63 จะบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมไว้ แต่ในวรรคสองของมาตราดังกล่าว ก็ได้ระบุด้วยว่าการจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก และเมื่อพิเคราะห์พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 เห็นได้ว่ามีเจตนารมณ์คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการเดินทาง ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 34 บัญญัติคุ้มครอง โดยทางหลวงเป็นทั้งพื้นที่สาธารณะและเป็นเครื่องมือที่ประชาชนใช้ในการเดินทางไปสู่ที่สาธารณะอื่นๆ พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับดังกล่าว มีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองความสะดวกของประชาชน ที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นข้อยกเว้นให้จำกัดเสรีภาพการชุมนุม บุคคลไม่สามารถอ้างเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อปฏิเสธหน้าที่และความรับผิดตามพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ การชุมนุมโดยมีเจตนาปิดถนนย่อมเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 38,39 ซึ่งมีโทษอาญาตามมาตรา 62 และพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 108, 110, 114

การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำให้ปรากฏแก่ประชาชน โดยวิธีอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต โดยได้กระทำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีประเพณีรดน้ำดำหัวที่ประชาชนเดินทางไปมาหาสู่กันมากกว่าปกติ เป็นเทศกาลท่องเที่ยวสำคัญ ที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวที่จังหวัดเชียงใหม่มากเป็นพิเศษ โดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 อันเป็นเส้นทางสำคัญที่เชื่อมต่อกรุงเทพฯ กับจังหวัดต่างๆ ไปยังจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้การจราจรในเส้นทางดังกล่าวคับคั่งกว่าปกติหลายเท่าตัว ดังปรากฏเป็นข่าวตามสื่อมวลชนทุกปี อันเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่โดยทั่วไป

ดังนี้การที่จำเลยชักชวนให้ประชาชนชุมนุมเพื่อปิดถนนดังกล่าว จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผลให้มีการกีดขวางปิดกั้นทางหลวงและกีดขวางการจราจร ฝ่าฝืนต่อพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ อันเป็นความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน และย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการปิดถนนดังกล่าวทำให้การจราจรติดขัดอย่างรุนแรง ขยายเป็นวงกว้าง เกิดความปั่นป่วนในหมู่ประชาชน ถึงขั้นที่จะก่อความไม่สงบให้เกิดขึ้นในราชอาณาจักรได้

แต่การนำสืบโดยฝ่ายโจทก์ มิได้นำสืบว่าสถานีวิทยุ 92.5 MHz มีกำลังส่งกระจายเพียงใด ได้ถึงจังหวัดลำพูนหรือไม่ หรือมีผู้ฟังรายการของจำเลยในท้องที่อื่น แล้วเดินทางไปร่วมชุมนุมในสถานที่เกิดเหตุ และตามพยานหลักฐานของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าการชุมนุมปิดถนนบริเวณที่เกิดเหตุเกิดจากการชักชวนของจำเลยดังกล่าว ตรงกันข้ามการนำสืบของโจทก์ยังเจือสมกับฝ่ายจำเลยด้วยว่ามีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดต่างๆ ซึ่งในจังหวัดลำพูนมีการชุมนุมของกลุ่มลำพูน 51 และกลุ่มดังกล่าวได้ไปชุมนุมในที่เกิดเหตุในเวลา 16.00 น. ซึ่งเป็นเวลาหลังจากจำเลยออกอากาศหลายชั่วโมง ทำให้ไม่อาจยืนยันได้ว่าเหตุการณ์ทีเกิดขึ้นเป็นผลจากการกระทำของจำเลย กลับทำให้เห็นว่าอาจเป็นผลมาจากเหตุอื่นๆ ด้วย

แต่ด้วยเหตุที่องค์ประกอบของมาตรา 116 อนุมาตรา 2 และ 3 มีความหมายว่าเมื่อได้กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชน โดยมีมูลเหตุจูงใจเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดจะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้น หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลว่าได้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่ก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือละเมิดกฎหมายแผ่นดินหรือไม่ แม้ข้อเท็จจริงไม่อาจฟังได้ว่าการปิดถนนเป็นผลจากการกระทำของจำเลย หรือเป็นผลมาจากเหตุอื่น ก็หาได้ทำให้จำเลยไม่ต้องรับผิดอาญาในการกระทำของตน

ศาลจึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อนุมาตรา 2 และ 3 แต่พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่ามูลเหตุการกระทำผิดของจำเลยสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง ที่ทราบโดยทั่วไปว่ามีความรุนแรงและเรื้อรังสั่งสมเป็นเวลาหลายปี ส่งผลกระทบต่อความเป็นปกติในการดำเนินชีวิตของประชาชนตลอดมา โดยจำเลยกระทำผิดครั้งเดียวเป็นระยะเวลาสั้นๆ ไม่น่าจะส่งผลในวงกว้าง ทั้งไม่ปรากฏโดยแจ้งชัดว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการกระทำของจำเลย หรือผลจากเหตุอื่นด้วย ทั้งการลงโทษทางอาญาโดยทันที มิใช่วิธีที่เหมาะสมในการแก้ไขเยียวยาผู้กระทำผิดที่มีมูลเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในลักษณะเช่นนี้ ประกอบกับจำเลยมิเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นควรให้รอการกำหนดโทษไว้ ปล่อยตัวไป เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวในระยะเวลา 3 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 9 ครั้ง ภายในเวลา 2 ปี และให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ ตามที่พนักงานคุมความประพฤติและจำเลยเห็นสมควร เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56

ภายหลังการพิพากษา นายจักรพันธ์กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าในเบื้องต้น ตนคิดว่าจะไม่อุทธรณ์คดีต่อไป เนื่องจากตนเองก็เป็นประชาชนธรรมดา ที่ผ่านมาก็ทำการต่อสู้คดีด้วยตนเองเพียงลำพังทั้งหมด โดยไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือ มีแต่เพียงกลุ่มทนายความที่ช่วยสนับสนุนในเรื่องการประกันตัว และต้องการกลับไปมีชีวิตตามปกติ  จึงคิดว่าจะไม่ดำเนินการอุทธรณ์อีก

 

 

หมายเหตุ: อ่านรายละเอียดคดีและบันทึกการสืบพยานเพิ่มเติมได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/437#detail จัดทำโดยศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์: 10 คำถามที่ กทค.ควรตอบต่อสาธารณะ ก่อนฟ้องร้องนักวิชาการและสื่อมวลชน

Posted: 05 Sep 2013 01:17 AM PDT


คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.)  มีมติขยายเวลาการใช้คลื่น 1800 MHz ของ True Move และ DPC ออกไป 1 ปี โดยไม่นำคลื่นมาประมูล และได้ฟ้องหมิ่นประมาทนักวิชาการและสื่อมวลชน ที่ตรวจสอบ ทักท้วง หรือรายงานการดำเนินการดังกล่าว   แม้ว่า การฟ้องร้องจะเป็นสิทธิที่ กทค. สามารถทำได้ตามกฎหมาย  ผมเห็นว่า ก่อนจะดำเนินการดังกล่าว กทค. ควรตอบคำถาม 10 ข้อต่อไปนี้ต่อสาธารณะ ซึ่งรวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการที่อาจได้รับผลกระทบและประชาชนผู้เสียภาษีเสียก่อน 

1. ตั้งแต่รับตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคม 2554  ท่านไม่ทราบหรือว่า สัมปทานของ True Move และ DPC จะหมดอายุภายในเดือนกันยายน 2556?
2. ท่านไม่ทราบหรือว่า แผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ของ กสทช. ที่ท่านมีส่วนร่วมจัดทำออกมาเมื่อเดือนเมษายน 2555 กำหนดให้คืนคลื่นเมื่อสัมปทานหมดอายุ?
3. ท่านไม่ทราบหรือว่า  กฎหมาย กสทช. ห้ามต่ออายุสัมปทาน และให้จัดสรรคลื่นโทรคมนาคมด้วยการประมูลเท่านั้น? 
4. ท่านไม่ทราบหรือว่า อนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช. เคยให้ความเห็นในกรณีที่คล้ายกัน (กรณีคลื่น 800 MHz) ว่า ไม่สามารถขยายเวลาการใช้คลื่นได้ และนักวิชาการด้านกฎหมายจำนวนมากก็แสดงความเห็นในลักษณะเดียวกัน?
5. ท่านเคยขอความเห็นจากหน่วยงานด้านกฎหมายภายนอก เช่น คณะกรรมการกฤษฎีกา หรือแม้กระทั่งอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช. เอง  ก่อนมีมติต่อเวลาการใช้คลื่นหรือไม่ หรือท่านเข้าใจไปเองว่าสามารถทำได้?
6. ท่านได้แจ้งให้ผู้ใช้ของ True Move และ DPC ทราบล่วงหน้าแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่ปี 2555 หรือไม่ว่า สัมปทานดังกล่าวจะหมดอายุลง?
7. ท่านได้ห้าม True Move และ DPC ขายบริการเกินอายุสัมปทาน ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาตามมาหรือไม่?
8. ท่านได้เร่งดำเนินการให้ผู้ใช้บริการจำนวนมากสามารถโอนย้ายข้ามเครือข่าย (mass number portability) เพื่อลดปัญหาผู้ใช้บริการติดค้างอยู่ในโครงข่ายสัมปทานที่จะหมดอายุหรือไม่?
9. ท่านได้เร่งจ้างที่ปรึกษาเพื่อตีราคาคลื่นและออกแบบการประมูลคลื่น 1800 MHz หรือไม่ ก่อนที่จะอ้างว่าประมูลคลื่นไม่ทัน?
10. เวลากว่า 420 วัน นับตั้งแต่ประกาศแผนแม่บทฯ จนถึงวันที่ท่านมีมติขยายเวลาการใช้คลื่น ยังไม่เพียงพออีกหรือในการแก้ปัญหา หากท่านปฏิบัติงานตามหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ?
ในฐานะที่ กทค. เป็นหน่วยงานอิสระของรัฐที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ผมหวังว่าท่านจะตอบคำถามดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา และจะดีอย่างยิ่งหากท่านเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถซักถามข้อเท็จจริง และให้ข้อคิดเห็นต่อท่านได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวว่าจะถูกฟ้องร้อง หากความเห็นดังกล่าวไม่เป็นที่ถูกใจท่าน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

4 องค์กรวิชาชีพสื่อ-ทีดีอาร์ไอ-ไทยพีบีเอส ป้อง 'เดือนเด่น-ณัฏฐา' จี้ กสทช.ถอนฟ้อง-เปิดเวทีถก

Posted: 05 Sep 2013 01:13 AM PDT

ยืนยันเสรีภาพสื่อ-เสรีภาพทางวิชาการ ชี้ กสทช. ในฐานะองค์กรที่ดูแลผลประโยชน์ชาติ ต้องอดทนต่อการตรวจสอบ-วิพากษ์วิจารณ์ แนะ กสทช. ถอนฟ้อง-ร่วมเวทีถกกันด้วยหลักการ ไม่ใช่ข่มขู่ด้วยกฎหมาย

(5 ก.ย.56) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ไทยพีบีเอส และ 4 องค์กรวิชาชีพสื่อ ร่วมแถลงข่าว กรณีที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ซึ่งประกอบด้วยพันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ นายสุทธิพล ทวีชัยการ พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และสำนักงาน กสทช. โดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาท ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และนางสาวณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ในเรื่องที่เกี่ยวกับสัญญาโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1800 MHz โดยกล่าวหาว่า บุคคลทั้งสองได้ใส่ความโจทก์ ทำให้เกิดความเสียหายนั้น

ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส หนึ่งในผู้ถูกฟ้อง กล่าวว่า กรณีที่ถูกฟ้องเกี่ยวข้องกับรายการ ที่นี่ไทยพีบีเอส ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการรายงานข่าวการหมดอายุของสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz  โดยรายงานการแถลงข่าวอ้างอิงงานวิจัย ที่ อ.เดือนเด่น และ อ.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา ร่วมงานด้วยมีการนำเสนอข้อมูลอ้างอิงจากการศึกษาของสถาบันอนาคตประเทศไทย ถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น เมื่อ กสทช. ตัดสินใจต่ออายุสัญญาสัมปทานอีก 1 ปี และได้สัมภาษณ์ อ.เดือนเด่น อ.จันทจิรา และ เลขา กสทช. เพื่อความรอบด้านในการรายงาน

เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ หนึ่งในผู้ถูกฟ้อง กล่าวว่า ประเด็นที่ กสทช. ฟ้องนั้น มีสองประเด็น คือ หนึ่ง คืออ้างว่าตนเองพูดว่า ถ้าทำตามข้อเสนอคณะอนุกรรมการฯ ชุดของตนเอง จะทำให้ประมูลทัน ซึ่งยืนยันว่าไม่เคยพูดว่าจะทันแน่ๆ แต่ที่สำคัญกว่านั้น ตั้งคำถามถึง กสทช.ว่า ทำไมจึงไม่เปิดเผยรายงานของคณะอนุกรรมการต่อสาธารณะให้รับทราบและตอบคำถามด้วยว่า ได้ดำเนินการตามนั้นหรือไม่

สอง กสทช.ฟ้องว่า ตนเองกล่าวหาว่า กสทช.ทำให้เกิดความเสียหาย 1.6 แสนล้านบาท เดือนเด่น กล่าวว่า ไม่เคยบอกว่าเป็นความเสียหายจริงที่เกิดกับประเทศไทย เพียงแต่เปรียบเทียบจากรายงานของสถาบันอนาคตประเทศไทยในกรณี 3G และกรณีอังกฤษ ซึ่งประเมินค่าความเสียหายเป็นมูลค่า 5-7 เท่าของมูลค่าคลื่นความถี่ เพื่อต้องการให้ กสทช. ออกมาชี้แจงต่อสาธารณชน ว่าเคยคำนึงถึงต้นทุนตรงนี้หรือไม่ ซึ่ง กสทช.กลับไม่มีการทบทวน และฟ้องตนเอง

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ประเด็นนี้เป็นสาธารณะ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว หรือการใส่ความเท็จ โจมตีการทำหน้าที่ สร้างความเสียหายต่อบุคคลตามที่มีการกล่าวหา โดยเดือนเด่นได้ทำหน้าที่นักวิชาการ เพื่อให้ข้อมูลข่าวสาร เสนอความเห็นต่อสาธารณะ ซึ่งก็สามารถถูกตรวจสอบกลับได้ โดยหักล้างด้วยหลักการ และข้อมูล ส่วนสาธารณะจะเชื่อใครก็เป็นดุลพินิจของเขา

สมเกียรติ กล่าวว่า กรณีนี้มีทางออกที่สร้างสรรค์ได้มากกว่านี้ คือหาก กสทช. เห็นว่าข้อมูลข่าวสารที่นักวิชาการให้ต่อสาธารณะคลาดเคลื่อนไม่เป็นจริงก็สามารถให้ข้อมูลข่าวสารชี้แจง ซึ่ง กสทช. ก็ทำไปแล้ว แต่หากอยากหักล้างข้อมูล ก็ทำได้โดยจัดเวทีสาธารณะ โต้กันบนเวที ไม่ใช่การข่มขู่

นอกจากนี้ สมเกียรติ ฝากคำถาม 10 ข้อ ถึง กทค. ให้ตอบต่อสาธารณชน ดังนี้

1.ทราบหรือไม่ว่าสัมปทานของทรูมูฟและดีพีซีจะหมดอายุในวันที่ 15 ก.ย.
2.เมื่อสัมปทานหมดอายุ กม.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ กำหนดให้เอาคลื่นความถี่มาประมูล ไม่สามารถจัดสรรได้ด้วยวิธีอื่น เมื่อดูเอกสาร กสทช. จะพบว่าตั้งแต่จัดทำแผนแม่บท เอกสารของ กสทช. ก็ระบุชัดว่าต้องประมูล
3.จริงหรือไม่ที่แผนแม่บทก็กำหนดให้เอาคลื่นความถี่คืนมาประมูล
4.จริงไหมที่คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช. ก็เคยมีความเห็นคล้ายกันว่า คลื่นเมื่อหมดสัมปทาน ไม่สามารถขยายต่อไปได้ และสอดคล้องกับนักกฎหมายอื่นใช่หรือไม่
5.การที่ กทค. ไม่ทำตามกฎหมาย แผนแม่บท โดยออกประกาศที่อาจจะขัดกฎหมาย ได้เคยปรึกษาหน่วยงานภายนอก เช่น กฤษฎีกา หรือไม่
6.ได้แจ้งให้ผู้บริการทราบแต่เนิ่นๆ หรือไม่ว่าสัมปทานจะหมดลงแล้ว
7.ได้ห้ามผู้ประกอบการจำหน่ายบริการที่เกินกว่าอายุสัมปทานหรือไม่
8.ได้ปรับปรุงการให้บริการเพื่อให้โอนย้ายค่ายได้สะดวกมากขึ้นหรือไม่ หากมี มาตรการเยียวยาวก็ไม่จำเป็น
9.ได้จ้างที่ปรึกษาออกแบบการประมูลคลื่นความถี่ 1800 หรือไม่
10.เวลากว่า 420 นับแต่ประกาศแผนแม่บท เมื่อ เม.ย. 55 จนถึงออกประกาศ หากทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เวลาดังกล่าวเพียงพอหรือไม่


มาลี บุญศิริพันธ์ ประธานกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส กล่าวว่า เมื่อทราบว่าไทยพีบีเอสและนักวิชาการถูกฟ้องนั้น ตกใจมาก เพราะไม่คิดว่าในยุคที่กำลังปฏิรูปสื่อ ประชาชนกำลังตระหนักในสิทธิการรับสารของตนเอง และเราก็ภูมิใจว่าเป็นสังคมประชาธิปไตยที่ข้อมูลไปได้ทั่วถึง สื่อกลับถูกฟ้องในประเด็นของสาธารณะ

ตาม พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ไทยพีบีเอส ต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทุกกลุ่มได้รับข้อมูลข่าวสารใดๆ ก็ตาม ซึ่งกระทบต่อประโยชน์และสิทธิที่พึงได้ของประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งนี่ไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ของสื่อสาธารณะ แต่ยังเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนที่มีคุณภาพ ที่ต้องทำให้ประชาชนมีคุณภาพ มีข้อมูลในการตัดสินใจด้วย

กรณีที่ถูกฟ้อง เป็นเรื่องที่ไม่อาจรับได้ เนื่องจากสื่อสาธารณะ โดยเฉพาะ ไทยพีบีเอส เกิดจากความไม่พอใจสื่อที่ไม่ตอบสนองประชาชนอย่างแท้จริง เรื่องใดที่มีความคลุมเครือ สับสน ประชาชนเข้าใจยาก ต้องนำเสนอ เมื่อนำเสนอแล้ว หากฝ่ายตรงข้ามต้องการโต้ตอบ ชี้แจง เราเปิดพื้นที่ให้อยู่แล้ว กรรมการนโยบาย มีนโยบายเคร่งครัดว่าการรายงานข่าว ต้องลุ่มลึกรอบด้าน เสมอภาค และสมดุล เพียงโทรศัพท์มาฝ่ายที่เกี่ยวข้องพร้อมสนองตอบทันที

วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า การฟ้องควรเป็นมาตรการสุดท้าย การเป็นองค์กรอิสระหรือองค์กรสาธารณะ ทำหน้าที่ดูแลทรัพยากรมหาศาลของประชาชน ต้องถูกจับตามอง ไม่น่าจะเป็นสิ่งผิดปกติแต่อย่างใด พร้อมเสนอว่า องค์กรที่ดูแลผลประโยชน์ประชาชนต้องอดทนอดกลั้นมากกว่าบุคคลทั่วไป

วิสุทธิ์ กล่าวว่า กังวลว่าการฟ้องเช่นนี้ จะทำให้เกิดความหวาดกลัว จนทำให้สื่อมวลชนอื่นๆ ระมัดระวัง หรือนำเสนอข้อมูลที่ลดโทนการวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น หรือนักวิชาการนำเสนองานวิจัยที่สังคมต้องรับรู้ได้ไม่ครบถ้วน

วิสุทธิ์ ชี้ว่า ตีความว่าในคำฟ้องซึ่งระบุว่า การฟ้องทำได้ทั่วราชอาณาจักรนั้น เป็นการข่มขู่ ขอให้ กสทช.ทบทวนเรื่องนี้ใหม่ โดยน่าจะถอนฟ้อง และหากยังติดใจเรื่องการนำเสนอข่าวนั้น ยืนยันว่า สื่อทุกสื่อเปิดกว้างอยู่แล้ว องค์กรวิชาชีพก็อาสาเป็นตัวกลางให้มีเวทีถกกันได้ พ้นยุคของการปิดปากสื่อ ปิดกั้นความคิดของนักวิชาการ และปิดหูปิดตาประชาชนแล้ว ต้องเปิดกว้างและอดทนกว่านี้ในฐานะผู้ดูแลผลประโยชน์มหาศาลของประเทศชาติ

จักรกฤษณ์ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อเห็นข่าวแล้วรู้สึกประหลาดใจ เพราะนี่เป็นเรื่องผลประโยชน์สาธารณะ และคนที่เป็นข่าวก็เป็นบุคคลสาธารณะ เมื่อมีความขัดแย้ง ก็ต้องพูดจากัน ไม่ใช่ใช้อำนาจหรือข่มขู่ ทางที่ดีที่สุด คือ กทค.ควรถอนฟ้อง และมาพูดคุยกัน

ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า ขอให้สื่อจับตาสถานการณ์นี้ นี่คือสัญญาณเตือนและมีความหมาย ไม่ใช่แค่เรื่องของคนสองคนที่ถูกฟ้อง ถ้าองค์กรที่อาสาพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติเป็นแสนล้าน มีทัศนคติและท่าทีต่อการวิจารณ์เช่นนี้ สื่อต้องมองสถานการณ์ให้ละเอียด อย่างรู้เท่าทัน และทำงานอย่างระมัดระวัง ส่วน กทค. ซึ่งล้วนเป็นผู้ใหญ่นั้น เมื่อลูกน้องเสนออะไรมาก็ควรพิจารณาดีๆ เพราะอาจเกิดความเสียหายขึ้นได้

ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญของสังคมเกี่ยวกับบรรยากาศการใช้เสรีภาพ ซึ่งวันนี้ทุกฝ่ายได้แสดงจุดยืน เริ่มจากผู้ถูกฟ้องทั้ง 2 คน ทั้งนี้ สังคมมอบหมายให้ กสทช.จัดสรรคลื่นฯ เพื่อประโยชน์และเป็นธรรม แต่เท่าที่ติดตาม มีสัญญาณหลายอย่างน่ากลัว เช่น ระเบียบประกาศรายการเนื้อหาวิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า กสทช.ในฐานะองค์กรที่ปฏิรูปสื่อ กลับมีความคิดย้อนยุค ทำร้ายเสรีภาพสื่อ และกรณีนี้เป็นการใช้กฎหมายข่มขู่ และทำลายเสรีภาพทางวิชาการ สุดท้าย องค์กรที่น่ากลัวและท้าทายสื่อมากสุด คือ กสทช. ที่สื่อต้องจับตามอง

นอกจากการแถลงข่าว ปรีดา เตียสุวรรณ์ กลุ่มนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย และรสนา โตสิตระกูล ตัวแทนกลุ่ม 40 ส.ว. ได้มอบดอกไม้ให้กำลังใจผู้ถูกฟ้องทั้งสองด้วย
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สาระ+ภาพ ราคายางในตลาดโลก-ไทย ย้อนหลัง 10 ปี

Posted: 04 Sep 2013 09:04 PM PDT

ดูภาพขนาดใหญ่

การลดลงของราคายางเป็นสาเหตุที่ประชาชนในหลายจังหวัดภาคใต้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไข และแพร่ขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ที่ปลูกยาง ในภาคตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ที่เริ่มมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องในประเด็นเดียวกัน

ในทางหนึ่ง นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ราคายางที่เคยสูงขึ้นไปถึงกิโลกรัมละร้อยปลายๆ เฉียดสองร้อยช่วงปี 2552-2554 นั้นต้องถือว่าเป็นลาภลอยเนื่องจากราคายางขึ้นกับราคาน้ำมันในตลาดโลก เศรษฐกิจโลก และการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราในประเทศใกล้เคียง

"สิ่งนี้ทำให้เกษตรกรคาดหวังว่าราคาจะยืนอยู่ตรงนั้น แต่พอราคาตกลงมาก็อาจจะรู้สึกแย่ ถ้าจะทำระบบในการรักษาเสถียรภาพราคายางก็ต้องคำนึงด้วยว่า ราคาที่เกิน 100 บาทหรือใกล้ๆ 100 บาท เป็นราคาที่ไม่สามารถคาดหวังได้ในระยะยาว แม้มีระบบที่รัฐจะช่วยในเวลาราคาตกต่ำก็ต้องพิจารณาให้ดี ผมถือว่าราคา ณ วันนี้ไม่ถือว่าเป็นราคาตกต่ำ เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา"

เขาระบุว่าด้วยปัจจัยภายนอกสามประการนี้ การแทรกแซงราคายางพาราจึงไม่ใช่ทางออก

แต่การเลือกแทรกแซงหรือไม่แทรกแซงราคายางนั้น ก็นำมาซึ่งข้อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่าเลือกปฏิบัติอุ้มชาวนามากกว่าชาวสวนยางพารานั้น ซึ่งดร. วิโรจน์กล่าวว่า ไม่แปลกใจที่เกษตรกรจำนวนหนึ่งจะรู้สึกอย่างนั้น แต่หากจำกันได้ ปีที่แล้วรัฐบาลนี้มีมาตรการแทรกแซงตลาดยาง โดยการซื้อยางเข้ามาจนตอนนี้เรามีสต๊อกยางอยู่ที่ 200,000 กว่าตัน โดยซื้อกันที่กิโลกรัมละ 100-120 บาท อย่างไรก็ตาม 200,000 ตันอาจฟังดูน้อยเมื่อเทียบกับสต๊อกข้าว แต่อย่าลืมว่าราคายาง 1 กก.เท่ากับเกือบ 10 กก.ของข้าว ปีที่แล้วรัฐบาลใส่เงินเข้าไป 15,00-20,000 ล้านบาทก็หายวับไปชั่วพริบตา ตอนหลังใส่เข้าไปอีกรอบหนึ่งแต่ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น รัฐบาลไม่กล้าเอามาขาย เพราะกลัวว่าเอามาขายแล้วราคายางจะตกลงไป

"ฉะนั้นรัฐบาลก็ได้พยายามทำ และเริ่มรู้แล้วว่าตัวเองสู้กับตลาดไม่ได้ทั้งเรื่องข้าวและเรื่องยาง แต่เรื่องข้าว ผมว่ารัฐบาลก็พยายามหาทางลง ส่วนหนึ่งก็พยายามเจรจากับชาวนาอยู่ แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องเห็นใจชาวนาด้วยว่า เมื่อมีโครงการของชาวนามันดึงให้ต้นทุนของชาวนาสูงขึ้นจริง ดังนั้น เวลาลง การปรับตัวก็ยากพอสมควร และเชื่อว่าเมื่อมีเรื่องข้าวที่กำลังหาทางลงแล้วมามีเรื่องยางขึ้นมาอีกทำให้รัฐบาลลังเลมากขึ้นในการที่จะเข้าไปทำแบบเดียวกับข้าว" วิโรจน์กล่าว

เขากล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ยางพารานั้นต่างจากข้าวอย่างหนึ่ง คือ สำหรับข้าว เราพูดว่าเราเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก แต่ผลผลิตเราคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 7 ของผลผลิตโลก แต่ยางพาราเราเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 แล้วเรายังเป็นผู้ผลิตอันดับ 1 ด้วย จึงทำให้เห็นว่าแม้เราจะเป็นอันดับ 1 แต่เราไม่สามารถเป็นผู้กำหนดราคาตลาดโลกได้จริง ผลผลิตยางของ 3 ประเทศรวมกันมีผลผลิตปริมาณถึงร้อยละ 70 แต่เวลามีประเทศอื่นผลิตออกมาก็มีผลกระทบ 3 ประเทศหลัก (ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย) เองก็ไม่สามารถคุมราคาในตลาดโลกได้

ประชาไทย้อนกลับไปดูราคายางในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยใช้ข้อมูลราคายางในตลาดโลกจาก IndexMundi  โดยใช้ค่าเฉลี่ย 12 เดือน เปรียบเทียบจากหน่วยดอลลาร์เป็นบาท โดยใช้ค่าเฉลี่ย 12 เดือนในแต่ละปี ข้อมูลราคายางของไทยย้อนหลัง 10 ปี จาก สมาคมยางพาราไทย โดยอ้างอิงจากราคายางแผ่นรมควันชั้น 3

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เจรจารัฐบาล-ชาวสวนยางยังไร้ข้อสรุป กิตติรัตน์นำข้อเสนอชาวสวนเข้าที่ประชุม กนย.

Posted: 04 Sep 2013 08:23 PM PDT

ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางพารายอมเจรจากับตัวแทนรัฐบาลที่นำโดย "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" ที่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ แต่ยังไม่มีข้อสรุป โดยที่ชาวสวนเสนอ 2 วิธีให้รัฐบาลรับประกันราคายางที่ 102 บาท หนึ่ง รัฐจ่ายส่วนต่างของราคา หรือ สอง รัฐรับซื้อยางพาราโดยตรง แต่นายกิตติรัตน์จะนำข้อเสนอไปหารือในที่ประชุมนโยบายยางวันนี้

ตามที่มีการชุมนุมของเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช และต่อมามีการชุมนุมในจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ และที่ จ.ระยอง ในภาคตะวันออก และต่อมาตัวแทนของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราจำนวน 23 คน ได้ตกลงเจรจากับตัวแทนรัฐบาลเมื่อช่วงเย็นวันที่ 4 ก.ย. นั้น

 

ตัวแทนเกษตรกรชี้สถานการณ์บานปลายเพราะท่าทีข้าราชการรวมถึง "สุภรณ์ อัตถาวงศ์" ไม่จริงใจ

ล่าสุด มติชนรายงานว่า ช่วงเย็นของวันที่ 4 ก.ย. ตัวแทนเกษตรชาวสวนยางและปาล์มจำนวน 23 คน นำโดยนายเอียด เส้งเอียด ได้เดินทางจาก จ.นครศรีธรรมราช เพื่อมาเจรจากับตัวแทนของรัฐบาลที่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ โดยตัวแทนรัฐบาลมี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง และนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในการหาทางออกให้กับปัญหายางพารา

นายเอียด ได้ชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาต่อที่ประชุม ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการที่ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ เลขาธิการนายกฯ ลงไปพบชาวบ้านในพื้นที่อ.ชะอวด และยื่นข้อเสนอกับเกษตรกรว่าจะประกันราคายางที่กิโลกรัมละ 80 บาท และอาจจะได้ถึง 100 บาท ทำให้ชาวบ้านมีความหวัง แต่ต่อมามีการกลับคำพูด จึงเป็นชนวนให้ชาวชะอวดไม่พอใจและมีการชุมนุมมากขึ้น นอกจากนี้ การที่นายสุภรณ์มาเจรจาก็ไม่ได้แจ้งแกนนำเกษตรกรให้ทราบ แต่กลับไปประชุมกับคนที่ไม่ใช่แกนนำและยืนยันว่า ปัญหาที่มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ว่าราชการจังหวัด นำกำลังตำรวจเข้ามาเตรียมสลายม็อบเป็นตัวจุดชนวนทำให้สถานการณ์บานปลาย

นายเอียดยืนยันว่าการชุมนุมครั้งนี้เป็นเพราะเดือดร้อนจริงๆ ไม่มีนักการเมือง หรือพรรคประชาธิปัตย์อยู่เบื้องหลัง แม้ที่ผ่านมา ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์จะขอขึ้นเวทีปราศรัย แต่แกนนำก็ไม่ยอม นายเอียดกล่าว

นายเอียดกล่าวอีกว่า อยากให้รัฐบาลยอมรับข้อเรียกร้องที่ให้รับประกันราคายางที่กิโลกรัมละ 102 บาท เพราะขณะนี้เข้าฤดูฝน ไม่มียางพาราออกขาย แต่จะเป็นช่องทางสร้างโอกาสให้คน การที่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้เพราะไม่เข้าใจปัญหาสถานการณ์ผลิตยางในประเทศไทย การเจรจาวันนี้ขอเรียกร้องให้นายกิตติรัตน์แสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหา

สำหรับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ยังเป็นเหลนของ พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) อดีตผู้ว่าราชการเมืองระนอง ซึ่งคอซิมก๊อง เป็นพี่ชายของ พระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้นำยางพาราเข้ามาปลูกในพื้นที่ภาคใต้

 

เสนอ 2 แนวทางให้ได้ราคายางพารากิโลกรัมละ 102 บาท

สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานว่า ตัวแทนเกษตรผู้ปลูกยางพารา ได้เสนอ 2 แนวทางให้รัฐบาลพิจารณาเพื่อให้ได้ราคายางที่กิโลกรัมละ 102 บาท โดยหนึ่ง ให้รัฐบาลจ่ายส่วนต่างราคายางพาราในตลาด เพื่อให้เกษตรกรได้ราคายางที่กิโลกรัมละ 102 บาท สองให้รัฐบาลรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรโดยตรง ทั้งนี้หากไม่สามารถดำเนินการตามที่เสนอได้ เกษตรกรชาวสวนยางจะรวมตัวกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดต่าง ๆ เพื่อแสดงจุดยืนต่อไป แต่หากรัฐบาลยินดีดำเนินมาตรการตามข้อเรียกร้องดังกล่าว พร้อมที่จะยุติการชุมนุมทันที ทั้งนี้ยอมรับว่า เสียใจกับรัฐบาลที่แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจในการเจรจา แต่ต่อจากนี้จะหารือกับกลุ่มเกษตรกร เพื่อประเมินสถานการณ์การชุมนุมอีกครั้ง

ขณะที่ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ หรือ กนย. ในวันนี้ (5 ก.ย.) นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า จะเสนอให้ทบทวบมาตรการสนับสนุนปัจจัยการผลิตจำนวน 1,260 บาทต่อไร่ ที่ได้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 มาแล้ว และพร้อมจะนำข้อเสนอของเกษตรกรให้ กนย. พิจารณาด้วย

ส่วนสถานการณ์ชุมนุมนั้นชาวสวนยางพาราจากภาคตะวันออกได้ประกาศยุติการชุมนุม เพื่อรอการเจรจาของตัวแทนเกษตรกรกับรัฐบาล ส่วนชาวสวนยาง จ.สุราษฎร์ธานี ได้เลิกมาตรการปิดถนน และยังคงชุมนุมรอฟังผลการเจรจาอยู่ที่หน้าสหกรณ์สุราษฎร์ธานี หรือ โคออป เช่นเดียวกับการชุมนุมที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ยังคงชุมนุมอยู่เช่นกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น