โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

จำคุกตลอดชีวิต ดาโอ๊ะ ท่าน้ำ ขบวนการพูโล ฐานกบฏแยกราชอาณาจักร

Posted: 05 Dec 2011 12:00 PM PST

ศาลฎีกาพิพากษายืน ตัด สินจำคุกตลอดชีวิต 4 โจรพูโล นำโดย "หะยี ดาโอ๊ะ ท่าน้ำ" หัวหน้าขบวนการพูโลกับพวก ฐานดำเนินการเป็นขบวนการก่อความไม่สงบ วางระเบิดตามสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่ภาคใต้ เป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมาย

เวลา 09.30 น. วันที่ 2 ธ.ค. ที่ห้องพิจารณา 914 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีกบฏแบ่งแยกดินแดน หมายเลขดำ ด.2722/2541 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายหะยี ดาโอ๊ะ ท่าน้ำ หรือดาโอ๊ะ มะเซ็ง หรือดาโอะ มะเซ็ง อดีตหัวหน้าขบวนการพูโล นายหะยี บือโด เบตง หรือนายบาบอแม เบตง หรือนายหะยี อาเซ็ม ประธานขบวนการพูโล นายอับดุล เราะห์มาน บิน อับดุลกาเดร์ หรือนายหะยี สมาชิกขบวนการพูโล และนายหะยีสะมะแอ ท่าน้ำ หรือนายสะมะแอ สะอะ หรือหะยี อิสมาแอล กัดดาฟี หัวหน้ากองกำลังติดอาวุธขบวนการพูโล เป็นจำเลยที่ 1-4 ตามลำดับ ในความผิดร่วมกันเป็นกบฏแบ่งแยกราชอาณาจักร สะสมกำลังพลและอาวุธ สมคบกันเป็นซ่องโจร 

ตามฟ้องโจทก์สรุปว่า ระหว่างปี พ.ศ.2511-2541 มีกลุ่มคนที่นับถือศาสนาอิสลาม สมคบกันก่อตั้งองค์การทางการเมืองชื่อ องค์การปลดแอกแห่งชาติปัตตานี หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนพูโล เพื่อแบ่งแยกดินแดน 5 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วยจังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี สตูล และสงขลาบางส่วน สถาปนาเป็นรัฐอิสระปกครองตนเอง โดยไม่ขึ้นอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลไทย ทั้งชักชวนให้สมาชิกนำญาติมิตรเข้าร่วมขบวนการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธ ฝึกวิชาทหาร และการสู้รบแบบกองโจร ก่อวินาศกรรมตามสถานที่ราชการต่างๆ เช่น ศาลากลางจังหวัด สถานีตำรวจ สถานีรถไฟ โรงแรม เผาอาคารสถานที่สำคัญ เช่น โรงเรียน เป็นต้น รวมทั้งใช้อาวุธยิงข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศนับถือศาสนาอิสลาม ตลอดจนมีการข่มขู่กรรโชกทรัพย์เรียกค่าคุ้มครองจากพ่อค้า นักธุรกิจ เจ้าของสวนยางพารา และบริษัทรับเหมาก่อสร้างอื่นๆ ทำให้ขบวนการพูโลมีเงินทุนซื้ออาวุธเพื่อก่อความวุ่นวายดังกล่าว ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1-4 ให้การรับสารภาพ ส่วนชั้นศาลจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ 

คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 1, 2 และ 4 ส่วนจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เป็นให้ลงโทษประหารชีวิต แต่คำให้การจำเลยที่ 3 มีประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกเป็นเวลา 50 ปี จำเลยยื่นฎีกาขอให้ยกฟ้อง

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันอย่างละเอียดรอบคอบแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์มีพยาน ซึ่งเป็นน้องชายพี่สะใภ้ของจำเลยที่ 2 รวมทั้งพยานอีกหลายปาก ซึ่งร่วมกันเป็นสมาชิกของขบวนการเบิกความว่า ก่อนที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มจำเลยได้ถูกชักชวนให้ร่วมเป็นสมาชิก และเคยเข้าร่วมประชุมกับกลุ่มสมาชิกเคยเห็นกลุ่มวัยรุ่นประมาณ 20 คนร่วมอยู่ด้วย โดยระบุว่าหากเป็นสมาชิกจะได้สิทธิพิเศษในประเทศมาเลเซียและได้รางวัลตอบแทน เมื่อจำเลยที่ 1 และ 2 ได้สั่งให้ก่อความวุ่นวาย ซึ่งพวกจำเลยจะทำจดหมายข่มขู่เรียกค่าคุ้มครองและแบ่งแยกดินแดนไปวางไว้ตามสถานที่ต่างๆ ขณะที่พยานโจทก์ยังระบุว่าเมื่อร่วมเป็นสมาชิกแล้วระยะหนึ่งต่อมามีคนในขบวนการถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม จึงทำให้เกิดความรู้สึกขาดความน่าเชื่อถือ ทำให้สมาชิกบางส่วนเข้ามอบตัวผ่านทาง พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รัฐมน ตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น

ข้อเท็จจริงที่ได้จากคำให้การรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้เริ่มขบวนการมาตั้งแต่ปี 2529 และได้เป็นหัวหน้าขบวนการที่ติดอาวุธอยู่ในป่า จ.ยะลา ซึ่งภายหลังได้มีการแต่งตั้งสมาชิกคนอื่นให้เป็นหัวหน้าควบคุมแทน ซึ่งแม้ว่าคำให้การในชั้นสอบสวนของพยานโจทก์บางปากจะเป็นเพียงพยานบอกเล่า แต่เมื่อรับฟังร่วมกับพยานแวดล้อมต่างๆ มีรายละเอียดเชื่อมโยงสอดคล้อง จึงสามารถรับฟังได้ ประกอบกับพยานโจทก์ซึ่งร่วมขบวนการก็ได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ก่อนที่จำเลยที่ 1-4 จะถูกจับกุมในคดีนี้เป็นเวลานานหลายปี พยานโจทก์จึงไม่มีเหตุให้ต้องระแวงสงสัย

ส่วนที่จำเลยที่ 1-4 ฎีกา อ้างว่าคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนไม่ได้ทำด้วยความสมัครใจ แต่ถูกกดดัน ขู่เข็ญจากเจ้าพนักงานนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ในชั้นสอบสวนเจ้าหน้าที่ได้มีการบันทึกภาพวีดิทัศน์ของจำเลยที่ 1 ขณะแสดงวิธีการประกอบระเบิด ที่ไม่ได้แสดงว่ามีท่าทีถูกกดดัน และยังมีคำให้การของพยานที่นำมาประกอบรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ไปศึกษาที่ประเทศซีเรียและได้รับการสอนวิธีการทำระเบิด ประกอบกับการออกคำแถลงของพวกจำเลยภายหลังถูกจับกุมมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น และรองอธิบดีกรมตำรวจ รวมทั้งพนักงานสอบสวนร่วมอยู่ด้วย จึงไม่น่าเชื่อว่าตำรวจชั้นผู้ใหญ่จะกลั่นแกล้ง ขณะที่การสอบสวนดำเนินการเป็นคณะ จึงยากที่จะปรุงแต่งรายละเอียด ฎีกาของจำเลยที่ 1-4 ฟังไม่ขึ้น 

ส่วนที่จำเลยที่ 1-4 ฎีกาขอให้ศาลพิพากษาลงโทษสถานเบานั้นเห็นว่า พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1-4 ได้ดำเนินการเป็นขบวนการก่อความไม่สงบ โดยวางระเบิดสถานที่ต่างๆ และยิงต่อสู้เจ้าหน้าที่ต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายปี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แม้ว่าพวกจำเลยจะให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน แต่ให้การปฏิเสธในชั้นพิจารณา จึงเห็นได้ว่าพวกจำเลยไม่สำนึกในการกระทำผิด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษนั้นเหมาะสมแล้ว พิพากษายืน 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการอ่านคำพิพากษาในวันนี้เป็นการอ่านให้นายอับดุล เราะห์มาน บิน อับดุลกาเดร์ จำเลยที่ 3 ฟัง ส่วนนายหะยี ดาโอ๊ะ ท่าน้ำ จำเลยที่ 1 นายหะยี บือโด เบตง จำเลยที่ 2 และนายหะยีสะมะแอ ท่าน้ำ จำเลยที่ 4 ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำจังหวัดสงขลานั้น ศาลจังหวัดสงขลาอ่านคำพิพากษาให้ฟังไปเมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา 

 

 

ที่มา:  นสพ.ข่าวสด
ภาพ: http://news.mthai.com

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รมว.มหาดไทยเผยเลิกงานแสดงพาโนรามาเนื่องจาก ปชช.เดือดร้อนน้ำท่วม

Posted: 05 Dec 2011 11:03 AM PST

ยงยุทธ วิชัยดิษฐ ให้สัมภาษณ์ "มติชนออนไลน์" ระบุการแสดง แสง สี เสียง และสื่อผสม "วัฒนธรรมทองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 84 พรรษา มหาราช" จะจัดในคืนวันที่ 5 ธ.ค. เป็นคืนสุดท้าย เพราะแสดงมากพอสมควรแล้ว จะไม่มีการขยายเวลาไปถึงวันที่ 9 ธันวาคมอีก

มติชนออนไลน์ รายงานกรณีที่มีข่าวว่าการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ซึ่งจัดโดยสำนักพระราชวังร่วมกับรัฐบาล (โดยกระทรวงมหาดไทย) ระหว่างวันที่ 3-9 ธันวาคม ในส่วนของการแสดง แสง สี เสียง และสื่อผสม "วัฒนธรรมทองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 84 พรรษา มหาราช" ณ เวทีใหญ่ ท้องสนามหลวง ฝั่งพระบรมมหาราชวัง และการจัดฉายภาพยนตร์พาโนรามาสื่อผสมเฉลิมพระเกียรติ "84 ปี แห่งความรุ่งเรืองของกรุงรัตนโกสินทร์" ซึ่งฉายภาพเคลื่นไหวผ่านแนวกำแพงพระบรมมหาราชวัง ด้านถนนหน้าพระลาน จะถูกยกเลิกแสดง และจะแสดงคืนวันที่ 5 ธันวาคมนี้เป็นคืนสุดท้าย ทั้งที่กำหนดการเดิมจะจัดแสดงถึงวันที่ 9 ธันวาคม โดยมีบริษัทฝ่ายจัดงานคือ บริษัท ซีเอ็ม ออกาไนซ์เซอร์ จำกัด และบริษัท คอมอาร์ต โปรดักส์ชั่น จำกัด เป็นผู้ดูแลเขียนบทและกำกับการแสดงนั้น

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ในมติชนออนไลน์ทางโทรศัพท์ว่า การแสดง แสง สี เสียง และสื่อผสม "วัฒนธรรมทองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 84 พรรษา มหาราช" เนื่องในงานเฉลิมพระชนมพรรษา จะจัดในคืนวันที่ 5 ธันวาคมเป็นคืนสุดท้าย เพราะแสดงมากพอสมควรแล้ว จะไม่มีการขยายเวลาไปถึงวันที่ 9 ธันวาคมอีก

ผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์ถามด้วยว่า แต่ประชาชนเรียกร้องอยากชมต่อ เพราะกระแสตอบรับดี นายยงยุทธกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า "ผมถือหลักทางสายกลาง และความเหมาะสม แต่จะไม่ขยายอีก" เมื่อถามว่า เป็นเพราะสัญญาเดิมระบุไว้แค่นั้นหรือไม่ รองนายกฯ ไม่ตอบคำถามตรงๆ โดยกล่าวเพียงว่า "ผมถือความเหมาะสมเป็นหลัก และขณะนี้ประชาชนนกำลังเดือดร้อนจากน้ำท่วม ส่วนมโหรสพอื่นๆโดยภาพรวมก็ยังจัดไปถึงวันที่ 9 ธันวาคม"

ด้านนางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดพิธีถวายพระพรชัยมงคลงานมหรสพสมโภชและ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ในชื่องาน “เย็นศิระเพราะพระบริบาล” ระหว่างวันที่ 3-9 ธันวาคม ได้แจ้งว่าการแสดงกิจกรรมกิจกรรมภาพยนต์พาโนรามาสื่อผสมเฉลิมพระเกียรติ ชุด 84 ปี จะจัดในคืนวันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันสุดท้าย ขณะที่กิจกรรมการแสดงแสงเสียงและสื่อผสม “วัฒนธรรมทองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 84 พรรษามหาราชา” ได้จัดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม เป็นวันสุดท้ายแล้ว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ม.112 ขัดต่อ 'อุดมการณ์ธรรมราชา'

Posted: 05 Dec 2011 07:44 AM PST

ขอทำความเข้าใจก่อนว่า ผมตระหนักดีว่าการเขียนบทความเชิงตั้งคำถามต่อแนวคิด หรืออุดมการณ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในบริบทสถานการณ์ปัจจุบันเป็นเรื่องที่ “เสี่ยง” พอสมควร แต่ในฐานะนักวิชาการด้านพุทธศาสนาที่ “กระจอก” คนหนึ่ง ผมถือว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำเพื่อเป็นส่วนเล็กๆ ของการร่วมต่อสู้ทางความคิดเพื่อให้สังคมเรามีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

คำว่า “อุดมการณ์ธรรมราชา” ในบทความนี้ ผมใช้ในความหมายตามทัศนะของพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม (early Buddhism) ที่ถือว่า กษัตริย์เป็น “สมมติราช” ไม่ใช่ “เทวราช” สมมติราชได้อำนาจมาจากฉันทานุมัติของประชาชน ไม่ใช่ได้อำนาจมาจากพระเจ้าเหมือนเทวราช นี่คือแนวคิดของพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม แต่กระนั้นก็ตาม กษัตริย์ที่นับถือพุทธศาสนาในอดีตล้วนแต่เป็นกษัตริย์ในระบอบราชาธิปไตย หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อุดมการณ์สมมติราชหรือธรรมราชาแบบพุทธจึงแทบจะไม่ได้ถูกทำให้เป็นจริง

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบระบอบราชาธิปไตย สมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับระบอบประชาธิปไตยที่สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามอุดมการณ์ประชาธิปไตย 2475 ต้องถือว่า ระบอบหลังมีส่วนเอื้อต่ออุดมการณ์ธรรมราชาแบบกษัตริย์เป็นสมมติราชมากกว่า เพราะสถานะของกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ คือสถานะที่ได้มาจากฉันทานุมัติของประชาชน

อุดมการณ์ธรรมราชานั้น ถือว่าพระราชาต้องมีทศพิธราชธรรม จึงจะเป็นพระราชาที่ดี หรือพระราชาผู้ทำหน้าที่ให้ราษฎรมีความยินดี (“ราชา” แปลว่า “ผู้ยังราษฎรให้มีความยินดี”) จะเห็นว่า เงื่อนไขความสัมพันธ์ระหว่างพระราชากับราษฎรไม่ใช่ “สถานะศักดิ์สิทธิ์-ความรัก” แต่เป็น “หน้าที่-ความยินดี” หรือ ความพึงพอใจ

ความยินดี (หรือนิยมยินดี) หรือความพึงพอใจกับ “ความรัก” มีระดับความสัมพันธ์กับ “ความมีเหตุผล” ต่างกันอยู่ กล่าวคือ ความมีเหตุผลของราษฎรที่มีความยินดี หรือความพึงพอใจต่อพระราชาย่อมขึ้นอยู่กับการพอใจใน “การทำหน้าที่” ของพระราชาที่ราษฎรสามารถตรวจสอบได้ สามารถที่จะไม่ยินดีหรือไม่พึงพอใจก็ได้ แต่ “ความรัก” ที่สัมพันธ์กับ “สถานะศักดิ์สิทธิ์” มีระดับความเข้มข้นของอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า อาจมีเหตุผลหรือไม่มีเหตุผลก็ได้ แม้กระทั้งว่าภายใต้รูปแบบความสัมพันธ์ในนามของ “ความรัก” ระหว่างราษฎรกับพระมหากษัตริย์ ราษฎรอาจไม่มีสิทธิ์ที่จะบอกว่า “ไม่รัก” เป็นต้น

หัวใจสำคัญของอุดมการณ์ธรรมราชาอยู่ที่ “ทศพิธราชธรรม” แปลว่า ธรรมของราชา หรือหน้าที่ทางศีลธรรมที่พระราชาพึงยึดถือปฏิบัติ ได้แก่

  1. ทาน (ทานํ) หมายถึงการให้ การเสียสละ นอกจากเสียสละทรัพย์สิ่งของแล้ว ยังหมายถึงการให้น้ำใจแก่ผู้อื่นด้วย
  2. ศีล (สีลํ) คือความประพฤติที่ดีงาม ทั้ง กาย วาจา และใจ ให้ปราศจากโทษ ทั้งในการปกครอง อันได้แก่ กฎหมาย และนิติราชประเพณี และในทางศาสนา
  3. บริจาค (ปริจาคํ) คือ การเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อความสุขส่วนรวม
  4. ความซื่อตรง (อาชชวํ) คือ ความซื่อตรงในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง ดำรงอยู่ในสัตย์สุจริต
  5. ความอ่อนโยน (มทฺทวํ) คือ การมีความอ่อนโยน มีสัมมาคารวะต่อผู้อาวุโสและอ่อนโยนต่อบุคคลที่เสมอกันและต่ำกว่า
  6. ความเพียร (ตปํ) คือ มีความอุตสาหะในการปฏิบัติงาน โดยปราศจากความเกียจคร้าน
  7. ความไม่โกรธ (อกฺโกธํ) คือ ความไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏเห็นเช่นทำร้ายผู้อื่นแม้จะลงโทษผู้ทำผิดก็ทำตามเหตุผล
  8. ความไม่เบียดเบียน (อวิหิงสา) คือ การไม่เบียดเบียน หรือบีบคั้น ไม่ก่อทุกข์หรือเบียดเบียนผู้อื่น
  9. ความอดทน (ขันติ) คือ การมีความอดทนต่อสิ่งทั้งปวง รักษาอาการ กาย วาจา ใจให้เรียบร้อย
  10. ความเที่ยงธรรม (อวิโรธนํ) คือ ความหนักแน่น ถือความถูกต้อง เที่ยงธรรมเป็นหลัก ไม่เอนเอียงหวั่นไหวด้วยคำพูด อารมณ์ หรือลาภสักการะใด

บางคนอาจมองว่าทศพิราชธรรมคือคุณธรรมที่ทำให้คนเป็นคนดีพร้อม บริสุทธิ์ สูงส่งเหนือมนุษย์ หรือเป็นคุณธรรมเกินกว่าคนธรรมดาทั่วไปจะทำตามได้ แต่ที่จริงคือคุณธรรมพื้นฐานของผู้ปกครอง หรือผู้ขันอาสามารับใช้ประชาชนจำเป็นต้องมี หากต้องการเป็นผู้ปกครองที่ประชาชนพึงพอใจหรือให้ความนิยมยินดี ซึ่งคุณสมบัติที่จำเป็นตามทศพิธราชธรรม ก็คือคุณสมบัติพื้นๆ ธรรมดาๆ นี่เอง เช่น มีความเสียสละ ปฏิบัติตามกฎหมาย (อาจตีคความได้ว่า ตามทศพิธราชธรรมข้อ “สีลํ” พระราชาต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย) ซื่อสัตย์ อ่อนน้อม ขยัน ไม่ใช้อารมณ์โกรธในการตัดสินใจ ไม่ใช้อำนาจเบียดเบียนกดขี่ มีความอดทนและมี “ความเที่ยงธรรม” (fairness) เป็นนิสัยจึงจะสามารถอำนวย “ความยุติธรรม” (justice) ตามกฎหมายแก่ราษฎรได้ ซึ่งคุณสมบัติเช่นนี้เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของผู้ปกครอง หรือผู้ขันอาสามารับใช้ประชาชน ไม่ว่าจะเรียกตำแหน่งของผู้ปกครองหรือผู้นำนั้นๆ ว่า ราชา นายกรัฐมนตรี หรือประธานาธิบดี เป็นต้นก็ตาม

จากเนื้อหาของทศพิธราชธรรมดังกล่าว จะเห็นว่าขัดแย้งอย่างมีนัยสำคัญกับกฎหมายหมิ่นฯ ม.112 โดยเฉพาะ ม.112 ขัดต่อทศพิธราชธรรมข้อ 7-10 กล่าวคือ

ข้อ 7 “อกฺโกธํ” พระราชาไม่โกรธ แต่ ม.112 ได้สถาปนา “ความโกรธเชิงโครงสร้าง” ทั้งทางกฎหมายและทางวัฒนธรรมขึ้นมา ในทางกฎหมายกำหนดโทษอย่างหนักต่อการกระทำความผิดด้วย “คำพูด” หรือ “ข้อความ” ที่อาจจำคุกตั้ง 10-20 ปี การลงโทษหนักแบบนี้โดยสามัญสำนึกปกติเราจะเรียกว่า “ความยุติธรรม” ไม่ได้ มันคือการลงโทษเพื่อสร้างความกลัวซึ่งมาจากความโกรธ ที่สำคัญแม้พระราชชาอาจไม่ทราบการหมิ่นเอง ไม่ได้โกรธเอง แต่โดยกฎหมายนี้กำหนดให้ใครๆ ก็แจ้งความเอาผิดได้ มันจึงสร้าง “วัฒนธรรมการโกรธแทน” ขึ้นมา จนเกิดปรากฏการณ์ “ล่าแม่มด” และเมื่อลงโทษอย่างหนักแล้วก็ต้องขอพระราชทานอภัยโทษซึ่งเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งในตัวเอง (เพราะโทษที่หนักอย่างมากแต่อภัยได้ ฉะนั้น การลงโทษและการอภัยจึงไม่มีความสัมพันธ์อย่างจำเป็นกับ “เหตุผลเรื่องความยุติธรรม”)

ข้อ 8 “อวิหิงสา” ข้อนี้ยิ่งชัดว่า ม.112 เป็นกฎหมายที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือเบียนเบียนกันในทางการเมือง เป็นข้ออ้างที่นำไปสู่การทำรัฐประหาร การไล่ล่าคนที่คิดต่างเห็นต่างเกี่ยวกับการปกป้องสถาบัน การละเมิดเสรีภาพทางวิชาการ เบียดเบียนแม้กระทั่งสิทธิมนุษยชนนั้นพื้นฐาน เช่นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ “บุคคลสาธารณะ” ด้วยเหตุผล เบียดเบียนสิทธิที่จะได้รับการประกันตัวของผู้ต้องหา การตั้งค่าประกันตัวสูง การที่ใครจะแจ้งความก็ได้ แจ้งที่ไหนก็ได้ ทำให้เกิดการกลั่นแกล้งกันได้ง่ายๆ ฉะนั้น ม.112 จึงเป็นเครื่องมือสร้างการเบียดเบียน สร้างความหวาดกลัว ปิดกั้นการใช้เหตุผลของประชาชน ซึ่งขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับทศพิธราชธรรมข้อ “อวิหิงสา”

ข้อ 9 “ขันติ” ม.112 กำหนดโทษจำคุก 3-15 ปี โทษดังกล่าวเป็นโทษที่ได้รับการกำหนดขึ้นโดยขาดความชอบธรรมในทางประชาธิปไตย เพราะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาโดยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 41 ลงวันที่ 23 ตุลาคม 2519 (หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19) การกำหนดโทษที่หนักมากต่อการกระทำความผิดด้วยคำพูดหรือข้อความเช่นนี้ ย่อมขัดแย้งกับความมีขันติธรรมของพระราชา และเป็นการไม่ส่งเสริม “วัฒนธรรมการมีขันติธรรม” ระหว่างประชาชนด้วยกัน เนื่องจาก ม.112 อาจถูกคนที่เห็นต่าง คิดต่างกันในทางการเมืองใช้เป็นเครื่องมือคุกคามเสรีภาพของฝ่ายตรงข้ามได้อย่างง่ายดาย

ข้อ 10 “อวิโรธนํ” ถ้าสามารถใช้เหตุผล ใช้มโนธรรม ใช้ความมีมนุษยธรรมอธิบายได้ในกรณีตัดสินจำคุก “อากง” 20 ปี เพราะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และพระราชินี ด้วยการส่งข้อความ 4 ข้อความ ทาง SMS ไปยังโทรศัพท์มือถือส่วนตัวของเลขานายอภิสิทธิ์ว่า “มีความยุติธรรมอย่างไร” จึงสรุปได้ว่า ม.112 ไม่ขัดกับหลัก “ความเที่ยงธรรม” ข้อนี้

เราต้องตระหนักตามเป็นจริงว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้ “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ” เมื่อเป็นเช่นนี้ อุดมการณ์หลักของสถาบันกษัตริย์ต้องเป็นอุดมการณ์ “ธรรมราชา” ที่สถานะของพระมหากษัตริย์เป็น “สมมติราช” ไม่ใช่ “เทวราช” สังคมเราจะยอมให้มีกฎหมายที่ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับหลักทศพิธราชธรรมอันเป็นหัวใจของอุดมการณ์ธรรมราชาได้อย่างไร หากเราต้องการ “ปกป้องสถาบัน” อย่างจริงใจ เราควรแก้ไขกฎหมาย หรือสร้างกติกาที่สนับสนุนทศพิธราชธรรมของพระมหากษัตริย์มิใช่หรือ

ฉะนั้น ไม่ว่าจะพิจารณาในแง่อุดมการณ์ธรรมราชาของพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นพุทธมามกะ  หรือพิจารณาในแง่หลักเสรีภาพ และความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตย ม.112 สมควรต้องถูกยกเลิก หรือควรปรับปรุงแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อปกป้องอุดมการณ์ธรรมราชาและอุดมการณ์สถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตามเจตนารมณ์แห่งอุดมการณ์ประชาธิปไตย 2475 ให้เป็นจริง!

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ห้าธันวามหาราช : ข้อกังวลของมุสลิมที่เคร่งครัดต่อการเคารพภักดีต่อพระมหากษัตริย์

Posted: 05 Dec 2011 07:29 AM PST

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปราณีเสมอ ขอความสันติมีแด่ศาสนฑูตมูฮัมหมัด และสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ทุกวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี หน่วยงานราชการ จะมีกิจกรรมวันพ่อมหาราชมากมาย เช่น  ในภาคเช้า ตั้งแต่เวลา 07.00น.ทำบุญตักบาตร ข้าวสาร อาหารแห้ง  จากนั้นเวลา 08.00น.จัดพิธีถวายพระพรชัยมงคล พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน และมอบเกียรติบัตรพ่อตัวอย่างดีเด่นของจังหวัด

ส่วนภาคค่ำประกอบพิธีถวายราชสักการะ ถวายพานพุ่มเงิน พุ่มทอง และร่วมจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล 

ในขณะเดียวกันยังมีกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ การรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด การปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ การเดินวิ่งเพื่อสุขภาพ การแข่งกีฬาเฉลิมพระเกียรติ การอนุรักษ์สืบสานประเพณีและศิลปวัฒนธรรม ส่วนการลด ละ เลิกอบายมุข ขอให้งดเว้นการอนุญาตเล่นการพนัน การอนุญาตให้ฆ่าสัตว์ หรือกิจกรรมอื่นใดอันเป็นการทรมานสัตว์ การงดเว้นเปิดสถานบริการ หรือแหล่งอันเป็นอบายมุข 

สำหรับกิจกรรมหลายประการที่เป็นพิธีกรรมนั้นทำให้มุสลิมทั้งชายและหญิงโดยเฉพาะที่เป็นข้าราชการที่เคร่งครัดศาสนาอิสลามมีความกังวลเป็นอย่างมากว่าจะนำไปสู่ชิริก (ตั้งภาคีต่อพระเจ้า) หากไม่ไปเข้าร่วมก็จะทำให้ถูกมองว่าไม่เคารพภักดีต่อพระมหากษัตริย์

ตามหลักศาสนาอิสลาม ถือว่าการเคารพและนับถือ เป็นคุณธรรมที่ดีของมนุษย์ทุกคน อันพึงมีต่อผู้มีพระคุณ เช่น ต่อพระมหากษัตริย์ ในฐานะเป็นประมุขของประเทศ ต่อพ่อแม่ ในฐานะผู้ให้กำเนิด ต่อคุณครู ในฐานะผู้ให้ความรู้ และอื่นๆ มิใช่ในฐานะพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งในอิสลามถือว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากเอกองค์อัลลอฮฺ (อัลกุรอาน 2 : 255)

ซึ่งหลักการเคารพนับถือต่อพระเจ้านั้น จะต้องผนวกไปกับการกราบนมัสการต่อพระองค์ด้วย ซึ่งการแสดงความเคารพของมุสลิมต่อสิ่งอื่น หรือบุคคลด้วยการกราบ ไม่ได้อย่างเด็ดขาด

คำตอบจุฬาราชมนตรี เกี่ยวกับการเคารพภักดีต่อพระบรมฉายาลักษณ์ พระมหากษัตริย์ของมุสลิมน่าจะเป็นทางออกหนึ่งในการใช้เป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติในวันที่ห้าธันวามหาราช

คำตอบจุฬาราชมนตรี เกี่ยวกับปัญหาขัดแย้งในด้านศาสนาอิสลามถือเป็นสิ่งสำคัญมากเพื่อให้ทุกคน โดยเฉพาะข้าราชการนำเป็นคู่มือในการปฏิบัติอันจะนำไปสู่ความเข้าใจ (โปรดดูคำตอบจุฬาราชมนตรี เกี่ยวกับปัญหาขัดแย้งในด้านศาสนาอิสลามจากการรวบรวมโดย ศอ.บต).

เช่น ปัญหา ที่ ๑๙ ปัญหาเรื่องการทำความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์ การแสดงความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในพิธีการต่างๆ จะขัดต่อหลักการศาสนาอิสลามหรือไม่ ใคร่ขอทราบข้อเท็จจริงและความเห็น

ท่านอดีตจุฬาราชมนตรี ประเสริฐ  มะหะหมัดได้ตอบไว้ดังนี้

- การยืนตรงต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์เพื่อระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ขัดต่อบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม
- การก้มศีรษะไม่ถึงขั้นรุกัวะ ถือเป็นการกระทำที่ไม่บังควร (มักรูฮ)
- การก้มศีรษะถึงขั้นรุกัวะ บางทัศนะว่าต้องห้าม (หะรอม) บางทัศนะว่าไม่บังควร (มักรูฮ)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงทราบถึงหลักการของศาสนาอิสลามในข้อนี้ดี เพราะพระองค์ทรงศึกษาหลักการศาสนาอิสลามอย่างกว้างขวาง ลึกซึ้ง ทรงมีรับสั่งให้แก้ไขระเบียบที่ขัดกับหลักการอิสลาม สำหรับพสกนิกรมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวันที่ ฯพณฯ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาในขณะนั้น ได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับ (2540) โดยทรงมีรับสั่งให้ประธานรัฐสภาปฏิบัติตนให้ตรงตามหลักการศาสนา อันใดที่ขัดกับหลักการศาสนาอิสลามก็ไม่ต้องปฏิบัติ

จากตัวอย่างข้างต้น ทำให้เราได้ทราบว่า ในจิตใจของมุสลิม ถึงแม้ว่า การเคารพภักดีต่อพระมหากษัตริย์แบบกราบไม่ได้ แต่ความจงรักภักดีในพระองค์ท่านก็มีอย่างครบสมบูรณ์ ไม่ได้แตกต่างไปจากคนศาสนาอื่น วัฒนธรรมอื่น ที่แสดงความจงรักภักดีด้วยการกราบ ดังนั้น หน่วยราชการต่างๆ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เชิญข้าราชการมุสลิม บรรดาโต๊ะครู โต๊ะอิหม่าม และประชาชนมุสลิม ในพระราชพิธีต่างๆ ควรคำนึงถึงข้อนี้ เพื่อขจัดปัญหาความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะแก่นแท้สาระของการเคารพภักดีต่อพระมหากษัตริย์ มิได้อยู่ที่การกราบ แต่อยู่ที่การประพฤติดีต่างหาก

ในพจนานุกรมไทย หน้า 285 ได้ให้ความหมายความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ไว้ว่า "ผูกใจรักด้วยความเคารพนับถือหรือรู้คุณอย่างยิ่ง" จากประโยคดังกล่าว เราสามารถให้ความหมายได้ดังนี้

กล่าวคือ รัก หมายถึง มีจิตใจผูกพันด้วยความห่วงใย (พจนานุกรมหน้า 939)
เคารพ หมายถึง แสดงอาการนับถือ (พจนานุกรม หน้า 264)
นับถือ หมายถึง เชื่อถือยึดมั่น (พจนานุกรม หน้า 571)

ดังนั้น ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ จุดเริ่มต้นคือ การเริ่มด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ และแสดงเป็นภาคผลของการกระทำที่ตรงกับจิตใจ การแสดงความจงรักภักดีทางพิธีกรรมในวันเฉลิมพระชนมพรรษาที่มีทั่วประเทศ การปฏิญาณตนของคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้งต่อหน้าพระมหากษัตริย์ จะไม่มีค่าใดๆ เลย หากการแสดงออกของบุคคลเหล่านั้นไม่ตรงกับใจ

การให้สัมภาษณ์ทางวาจาของรัฐบาลและข้าราชการว่า จะน้อมรับกระแสพระราชดำรัสแต่ละครั้ง จะไม่มีผลเช่นกัน หากนโยบายและการกระทำยังคงสวนทางกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง การแก้ปัญหาภาคใต้โดยสันติวิธี การไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง และอื่น ๆ

นี่แหละ คือแก่นแท้ของการเคารพภักดีต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นขอบเขตที่มุสลิมจะทำได้และหน่วยงานของรัฐไม่ควรบังคับประชาชนหรือข้าราชการในพื้นที่กระทำการที่เลยขอบเขตนี้

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

งานเปิดตัวหนังสือ Revolution Interrupted โดยไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ที่ ANU

Posted: 05 Dec 2011 07:14 AM PST

 “จริงอยู่ที่ว่าไม่มีการปฏิวัติ คอมมิวนิสต์ ในประเทศไทย 
แต่ถ้าการ “ปฏิวัติ” [ของไทย] ในศตวรรษที่ 20 แยกออกต่างหากจาก คอมมิวนิสต์ ล่ะ?”

 

“ช่วงก่อนหน้า 6 ตุลาฯ 2519
มีการลอบสังหารชาวนาผู้นำสหพันธ์ [ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย] เป็นจำนวนมาก
และทำให้การรวมตัวขึ้นเป็นองค์กรครั้งนั้นเป็นเพียงระยะสั้น  และจบลงอย่างโหดร้าย
  
หนังสือเล่มนี้ได้บันทึกประวัติศาสตร์ของความรุนแรงนี้เอาไว้”

 0 0 0

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาภาควิชาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม (Department of Political & Social Change) วิทยาลัยเอเชียและแปซิฟิก (College of Asia & the Pacific) มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ได้จัดงานเปิดตัวหนังสือใหม่ของไทเรลล์ ฮาเบอร์คอร์น อาจารย์ประจำภาควิชา โดยงานชิ้นนี้ปรับปรุงขึ้นจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล งานนี้จัดอย่างเป็นกันเอง บรรยากาศสบายๆระหว่างอาจารย์ นักเรียน และผู้ที่สนใจ
 

“Revolution Interrupted” (2011)


ใน Revolution Interrupted: Farmers, Students, Law, and Violence in Northern Thailand อาจารย์ย้อนไปดูการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิที่ดินของชาวนาในภาคเหนือช่วงพ.ศ.2517-18 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีบรรยากาศทางการเมืองอันเปิดกว้าง โดยเน้นศึกษาที่การเคลื่อนไหวของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย และตั้งคำถามสำคัญกับคำจำกัดความของคำว่า “ปฏิวัติ” ว่า 

....การที่เหล่าผู้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ประกาศชัยชนะในการที่สามารถปกป้องประเทศไทยจากการปฏิวัติของคอมมิวนิสต์ [ในช่วงทศวรรษที่ 1970] ได้นั้นก็ไม่ผิด หากแต่ไม่ถูกทั้งหมด จริงอยู่ที่ว่าไม่มีการปฏิวัติ คอมมิวนิสต์ ในประเทศไทย แต่ถ้าการ “ปฏิวัติ” [ของไทย] ในศตวรรษที่ 20 แยกออกต่างหากจาก คอมมิวนิสต์ ล่ะ?... (น.4)

หลังจากมีการแนะนำหนังสือเล็กน้อยอาจารย์เครก เรย์โนล์ดส์ก็ได้กล่าวนำถึงความสำคัญของหนังสือ โดยเริ่มต้นว่า หนังสือเล่มนี้ได้เล่า “เรื่องที่อยู่ในเรื่องอีกทีหนึ่ง” เหมือนกับว่าเป็น “ละครที่อยู่ในบทละคร” ของเชคสเปียร์ – หากแต่ในบรรณานุกรมไม่ได้มีหนังสือของเชคสเปียร์อยู่ในนั้น มีแต่ชื่อของเลนิน ลุงคาร์ล [มาร์กซ์] กรัมชี่ อัลทูแซร์ มีงานศึกษาการเมืองร่วมสมัยและสังคมวิทยาของละตินอเมริกาและอาฟริกาใต้ มีงานสตรีนิยมอย่างซินเธีย เอ็นโล กริปสัน-เกรแฮม จูดิธ บัทเลอร์ มีงานเกี่ยวกับเทววิทยาเกี่ยวกับการปลดปล่อย ฯลฯ

เหตุการณ์เดือนตุลาฯ (พ.ศ.2516-2519) เป็น “เรื่อง” ที่คนที่รู้จักประเทศไทยค่อนข้างคุ้นเคยกัน แต่หนังสือเล่มนี้ได้เล่า “เรื่อง” ที่อยู่ระหว่างนั้นอีกทีหนึ่ง โดยอาจารย์เครกบอกถึงลักษณะความเป็น “กระแสทวน” (revisionist) อันสำคัญของมันสามอย่าง

อย่างแรก หนังสือเล่มนี้ได้พูดถึงเรื่องสิทธิที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นประเด็นที่หายไปในประวัติศาสตร์ไทย เพราะการควบคุม “คน” เป็นเรื่องที่สำคัญกว่าการควบคุม “ที่ดิน” หากแต่ในภาคเหนือดูจะต่างออกไปจากบริเวณอื่นของประเทศ กฏหมายที่ดินที่ออกมาในปี 2517 เปิดโอกาสให้เกิดการร่วมมือระหว่างนักศึกษาและชาวนาภายใต้ชื่อ สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นสิ่งที่หนังสือเล่มนี้พยายามเติมเข้าไปในภาพประวัติศาสตร์ใหญ่

อย่างที่สอง ความเป็น “กระแสทวน” ของหนังสือเล่มนี้คือการชี้ชวนให้เห็นว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 นั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดดๆ แต่เป็นการสะสมรวมตัวของหลายๆเหตุการณ์ ช่วงก่อนหน้า 6 ตุลาฯ มีการลอบสังหารชาวนาผู้นำสหพันธ์ฯเป็นจำนวนมาก และทำให้การรวมตัวขึ้นเป็นองค์กรครั้งนั้นเป็นเพียงระยะสั้น และจบลงอย่างโหดร้าย หนังสือเล่มนี้ได้บันทึกประวัติศาสตร์ของความรุนแรงนี้เอาไว้

อย่างสุดท้าย การที่หนังสือเล่มนี้ตั้งชื่อว่าการปฏิวัติ “ถูกขัดขวาง” (interrupted) ก็หมายถึงการปฏิวัติ “ถูกตีความใหม่” (re-interpreted) นั่นเอง โดยมันได้ตั้งคำถามกับคำจำกัดความของคำว่า “ปฏิวัติ” และตีความใหม่เพื่อนำเรื่องราวของเสียงเล็กๆ เข้าไปอยู่ในบันทึกประวัติศาสตร์ไทย ว่าพวกเขาได้ “ปฏิวัติ” ด้วยการต่อสู้ผ่านกฏหมายอย่างไร

อาจารย์เครกทิ้งท้ายเอาไว้ว่า น่าประหลาดใจที่เรื่องราวเหล่านี้ไม่เคยได้ถูกบรรจุเข้าไปในงานศึกษาประวัติศาสตร์ไทย ถึงจะมีบ้างก็มีอยู่อย่างกระจัดกระจาย หนังสือเล่มนี้อาจเรียกได้ว่าทำการบันทึกเรื่องราวของชาวนาภาคเหนือในช่วงเวลาดังกล่าวได้ใกล้เคียงความสมบูรณ์ที่สุด ทั้งนี้เพราะหลักฐานและบุคคลที่เกี่ยวข้องก็แก่ตัวลงและเสียชีวิตไป พลวัตรของการต่อสู้ในชนบทได้เปลี่ยนแปลงไป และการเมืองก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องดีที่มีผู้บันทึก ”เรื่อง” เหล่านี้เอาไว้อย่างละเอียดและลงลึก

“อาจารย์เครก” กล่าวนำ

 

อ.ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น


อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เขียนในคำนิยมว่า

[ไทเรล] ได้เขียนงานเพื่อปกป้องเรื่องราวของชีวิตอันเลือนรางลงเรื่อยๆ เพื่อกู้เอาชีวิตที่กำลังจะถูกลืมให้กลับมาอีกครั้ง...หนทางที่ดีที่สุดที่จะทำเช่นนี้ได้ คือผ่านการศึกษาวิจัยอย่างระมัดระวังและตีความอย่างรอบด้านเพื่ออธิบายว่าได้เกิดอะไรขึ้นบ้างกับชีวิต กับวิญญาณ และกับเรื่องราวของพวกเขาอย่างที่หนังสือเล่มนี้ได้ทำเท่านั้น มันไม่ใช่การประกาศข่าวมรณกรรม (obituary) แต่คือการมองเข้าไปในสังคมไทย อย่างซื่อสัตย์ อย่างเปิดเผย เพื่อจะเข้าใจอีกด้านหนึ่งของรอยยิ้มสยามเหล่านั้น [ไทเรล] ฮาเบอร์คอร์น ได้แสดงให้เห็นว่า เหตุใดชาวนาและนักเรียนลุกขึ้นต่อสู้ ทำไมพวกเขาถูกปิดปาก ทำไมพวกเขาถูกสังหารและถูกคุมขังโดยพลการ หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงแต่ให้เสียงกับผู้ที่ถูกทำให้เงียบงัน แต่มันได้ตั้งคำถามอันสำคัญต่อสังคมและประวัติศาสตร์ของไทยด้วย...(น.IX – X)

นี่เป็นอีกงานคุณภาพหนึ่งที่ควรมีผู้อ่านอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวงวิชาการหรือไม่ เพราะคำถามที่หนังสือเล่มนี้ตั้งเอาไว้นั้นคือคำถามสากล – เป็นคำถามที่สังคมไทยยังหาคำตอบให้แก่มันไม่ได้แม้ในปัจจุบันก็ตาม

อ.เครก เรย์โนล์ดส์ (ซ้าย) อ.แอนโทนี รีด (ขวา)

บรรยากาศของงาน

 

ข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือ : http://uwpress.wisc.edu/books/4798.htm

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จออกมหาสมาคมและมีพระราชดำรัส

Posted: 05 Dec 2011 12:00 AM PST

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง ให้พระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภาคณะทูตานุทูต ข้าราชการ ตลอดจนพสกนิกรเข้าเฝ้า 

วันนี้ (5 ธ.ค.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จออกมหาสมาคม ณ มุขเด็จ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง เพื่อพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้พระบรมวงศานุวงศ์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภาคณะทูตานุทูต ข้าราชการ ตลอดจนพสกนิกร เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท โดยการนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้นำกล่าวถวายพระพร ต่อมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวนำถวายพระพรในฝ่ายของรัฐมนตรี ข้าราชการการเมืองรัฐมนตรี และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กล่าวถวายพระพรตามลำดับ

โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัส ขอบใจ ในไมตรีจิตของทุกฝ่ายที่มาร่วมถวายพระพร พร้อมทรงมีพระราชดำรัสต่อว่า

"ท่านทั้งหลาย ที่ได้อยู่ ณ ที่นี้ ผู้อยู่ในหน้าที่ทั้งฝ่ายพลเรือน และทหารย่อมทราบแก่ใจอยู่ทั่วกันว่า ความมั่นคงของประเทศชาติจะเกิดมีขึ้นได้ ก็ด้วยประชาชนในชาติอยู่ดี มีสุขไม่มีทุกข์ยากเข็ญ ดังนั้น การสิ่งใดที่เป็นความทุกข์เดือดร้อนของประชาชน ทุกคนทุกฝ่ายจึงต้องถือเป็นหน้าที่จะต้องร่วมมือกันปฏิบัติแก้ไขให้เต็ม กำลัง โดยเฉพาะขณะนี้ประชาชนกำลังเดือดร้อนลำบากจากน้ำท่วม จึงชอบที่จะร่วมมือกันปัดเป่าแก้ไข ให้ผ่านพ้นไปโดยเร็วและจัดทำโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน อย่างเช่น โครงการต่างๆที่เคยพูดไปนั้น ก็เป็นการแนะนำไม่ใช่สั่งการ แต่ถ้าเป็นการปรึกษากันแล้วเห็นว่า เป็นประโยชน์คุ้มค่าและทำได้ก็ทำ ข้อสำคัญจะต้องไม่ขัดแย้งแตกแยกกัน อาจจะต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้งานที่ทำบรรลุผลที่มีประโยชน์ เพื่อความผาสุกของประชาชนและความมั่นคง ปลอดภัยของประเทศชาติ ขออำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยและ สิ่งศักดิ์สิทธิ์จงคุ้มครอง รักษาท่านให้ปราศจากทุกข์ ปราศจากภัยและ อำนวยความสุขความเจริญแก่ท่านทั่วกัน"

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสตอบ จบแล้ว ผู้บังคับกองทหารเกียรติยศผสม บอกถวายความเคารพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกจากมุขเด็จ ปิดพระวิสูตร ผู้บังคับกองทหารเกียรติยศผสม บอกถวายความเคารพ นายกรัฐมนตรี กล่าวนำถวาย "ทรงพระเจริญ" จำนวน 3 ครั้ง กระทั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ

เวลาบ่าย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ที่มา: มติชนออนไลน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“เทพไท เสนพงศ์” แนะยิ่งลักษณ์เลิกใช้เฟซบุค-ทวิตเตอร์

Posted: 04 Dec 2011 11:37 PM PST

กรณีโพสต์ผิดในเฟซบุคยิ่งลักษณ์ เทพไทแนะยิ่งลักษณ์ยกเลิกเขียนเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ชั่วคราวไปจนกว่าจะหมดวาระ เพราะหมิ่นเหม่ต่อสถาบันเบื้องสูง กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนทั้งชาติ

จากกรณีที่เฟซบุ๊กของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถวายพระพรในวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ แต่โพสต์รูปรัชกาลที่ 8 นั้น ล่าสุด เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานวันนี้ (5 ธ.ค.) ว่า นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าว โดยระบุ ว่า ตัวนายกฯ และทีมงานควรมีวุฒิภาวะและความรอบคอบ รอบรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้มาก ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแม้ว่านายกฯ และทีมงานจะยอมรับ แต่เป็นเรื่องที่กระทบไปยังความรู้สึกของประชาชน และความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อตัวนายกฯ ด้วย การที่นายกฯ จะมีหนังสือกราบบังคมทูลเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษในข้อผิดพลาดก็เป็นเรื่องดี แต่ก็ควรที่จะขอโทษต่อความรู้สึกของประชาชนคนไทยด้วย

มีหลายครั้งที่ความผิดพลาดเกิดขึ้นเกี่ยวกับเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ของตัวนายกฯ ถ้าหากว่าไม่มีความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ นายกฯ ก็ควรที่จะงดใช้เฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ชั่วคราวไปจนกว่าจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ผมไม่อยากให้ความผิดพลาดของนายกฯ เกิดขึ้นซ้ำซากต่อสาธารณชน ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารในทางตรงหรือทางอ้อม หรือสื่อสารผ่านสื่อ ใดๆ ทั้งสิ้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ใช่เสียหายในฐานะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่เป็นความเสียหายและขาดความน่าเชื่อถือต่อสถานะนายกฯ ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของประเทศด้วย” นายเทพไทกล่าว

นายเทพไทกล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนคงจะผิดหวังจากการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาล ขณะนี้สิ่งที่ประชาชนอยากได้ก็คือ ประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งนายกฯ ต้องกลับมาทบทวนว่าห้วงเวลาที่ผ่านมาความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน คืออะไร ถ้านายกฯ คิดจะแก้ตัวใหม่อีกครั้ง โดยปรับปรุงบุคลากร หรือตัวรัฐมนตรีให้สอดคล้องกับความรู้ความสามารถ ก็น่าจะใช้เงื่อนไขปีใหม่ปรับปรุง ครม.ให้เป็นของขวัญกับประชาชน เพราะในขณะนี้รัฐมนตรีแต่ละคนไร้ฝีมือ ไร้ผลงาน ทำหน้าที่แค่ประจบสอพลอผู้มีอำนาจ ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลายคนลงทุนลงแรงยอมเอาอนาคตของตัวเองแลกความผิดตามกฎหมาย หรือแม้แต่บางคนต้องบินไปฟ้องนายใหญ่ในต่างประเทศ เลื่อยขาเก้าอี้กันวุ่นวาย เพราะฉะนั้นนายกฯ จะต้องใช้วุฒิภาวะความเป็นผู้นำตัดสินใจด้วยตัวเองมากกว่าให้คนในครม.วิ่งไป หาผู้มีอำนาจหลายคน จนตัวเองต้องขาดภาวะผู้นำความเป็นนายกรัฐมนตรีไป ถ้าการปรับ ครม.ครั้งนี้มาจากนายใหญ่ นายหญิง เจ๊ใหญ่ หรือเจ๊น้อย สภาพของรัฐบาลก็จะล้มเหลวเหมือนกับช่วงที่ผ่านมา

ถ้าจะถามว่ารัฐมนตรีคนไหนที่ควรปรับออกบ้าง ก็ต้องกลับไปถามว่ามีรัฐมนตรีสักคนบ้างไหมที่มีผลงานพอที่จะดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีต่อไปได้ ไม่อยากให้ฝ่ายค้านให้คะแนนกับ ครม.ชุดนี้ เพราะอาจจะถูกกล่าวหาว่ามีวาระซ่อนเร้น หรือผลประโยชน์ทับซ้อน อยากจะให้ฟังเสียงประชาชนมากกว่า ส่วนตัวถ้าจะให้คะแนน ครม.ชุดนี้ก็จะปรับตกทั้งชุด เพราะยังไม่เห็นว่ามีบุคคลใดโดดเด่นพอที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเดิมอยู่ได้เลย นับตั้งแต่ตัวนายกฯ ไปจนถึงรัฐมนตรีปลายแถว” นายเทพไทกล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กฤช เหลือลมัย:ประเทศของคนตาเดียว

Posted: 04 Dec 2011 11:18 PM PST

บทกวีเชิงตั้งคำถามที่ถูกนำมาอ่านในงาน"แด่ ประเทศของคนตาเดียว: งานแสดงศิลปะและอ่านบทกวี ๒๐ ปีอากง"  เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2554  ณ ร้านตูดยุง เชิงสะพานเฉลิมวันชาติ กทม. 

 ข้าฯ เกิดมาบนแผ่นดิน             ที่ทุกย่านถิ่นไม่มีกลางวัน
ผืนฟ้าของข้าฯ มืดมิด               ด้วยดวงอาทิตย์ข้างแรมดวงนั้น
ลูกข้าฯ อ่านออกเขียนได้         ก็ด้วยอาศัยด้านมืดของดวงจันทร์
ข้าฯ เลี้ยงอีกามากมาย             มันคาบมะเดื่อลายมาให้ทุกวัน
หลังบ้านมีภูเขาครึ่งลูก             ข้าฯ เห็นคนปลูกต้นมะเดื่อบนนั้น
ศาลเจ้าที่ใต้โคนต้น                  คลาคล่ำด้วยผู้คนราวแมงหวี่แมงวัน
แม่น้ำที่ถูกกั้นขวาง                   ไหลมาถึงตรงกลางหนทางตีบตัน
น้ำอาบโคจากเมืองเหนือ          เป็นสีแดงเรื่อเหมือนเลือดกองนั้น
มันหลากท้นล้นฝั่งฝาย              ท่วมบ้านเรือนมากมายชายฝั่งตลิ่งชัน
 

ผู้คนมากมาย              ตายในตอนกลางวัน (ซ้ำ)
......................................
ในความเงียบของค่ำคืน             ข้าฯ ครึ่งหลับครึ่งตื่นบนแผ่นหินอัฒจันทร์
มหาธาตุเจดีย์สูงเด่น                  แต่ข้าฯ แลไม่เห็นเงานภศูลนั้น
น้ำพระเนตรเทวดารักษาทิศ       ตกเป็นโลหิตชโลมฐานปูนปั้น
กบเขียดและฝูงค้างคาว             กลืนกินดินดาวดวงเดือนตะวัน
ข้าฯ เห็นซากหมาเก้าหาง          มันตายในนาร้างแปลงเดียวของเมืองนั้น
ดินดานเกินจักหว่านไถ               ลงผาลคราใดก็แทบหักสะบั้น
อากาศทั้งแน่นและแข็ง              ข้าวมิอาจแทงรวงแม้สักวัน
แดดแรงปานไฟนรก                   ฝนลูกเห็บตกราวห่าเกาทัณฑ์
พื้นผิวทุ่งพระเมรุหลวง                สูบกินผู้ประท้วงตกตายนับพัน
หากชายชราตาบอด                  ยังซบหน้าโอบกอดผืนดินผืนนั้น...
จนหมอกประธุมเกตุ               ตกต้องลำภุขันธ์ (ซ้ำ)
.......................................
 
ไม่ว่ายุคสมัยใด...                       เราต่างก็คล้ายกัน
มีเรื่องราวที่เราคุ้นเคย                แต่หลงลืมเพิกเฉยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ไม่มีใครเห็นรอยเท้า                   บนคันนายาวของนาแปลงนั้น
ไม่มีใครเห็นรอยรองเท้า            บนหลังโก่งยาวของชาวนาเหล่านั้น
และไม่มีใครเห็นรองเท้า            คู่ใหญ่พื้นยาว ในปาก “เขาคนนั้น”
ไม่มีใครเห็นความเคียดแค้น      ที่ถูกฝังแน่นในตำนานของเผ่าพันธุ์
ไม่มีใครได้ยินเสียงสวดศพ        เพราะมันถูกกลบด้วยคำว่า “สมานฉันท์”
ไม่มีใครได้กลิ่นดอกไม้              นอกจากตอนเขาตาย..หรือไม่ก็หลับฝัน

เคยคิดบ้างไหม..
“เรา” คือใครกัน ? (ซ้ำ)
..เราคือไฟในถังแดง            คือหอกดาบที่ฟันแทงผู้คนเหล่านั้น
คือสะเก็ดระเบิดในร่าง           คือปลอกถุงยางที่ควบคุมความคิดฝัน
คือเชือกที่ขึงจนตึง              คืออิฐก้อนหนึ่งในกำแพงขวางกั้น
คือปลาเน่าตัวเดียวในข้อง     คือกระเบื้องที่ลอยฟ่องเฟื่องฟูแผ่นนั้น
คือตัวโน้ตที่ผิดเพี้ยน            คือเพลงที่วนเวียนซ้ำซากทุกวี่วัน
คือคำถ้อยอันหยาบช้า           คือบทกวีที่พาคนไปตายนับพัน
คือนิ้วที่เหนี่ยวไกปืน             คือตีนที่เหยียบยืนบนหัวคนทุกชนชั้น
คือสีเหลืองในกองขี้             คือสีแดงในผ้าอนามัยผืนนั้น
เราทำอะไร   ลงไปด้วยกัน ? (ซ้ำ)
..............................
 
มันเหมือนเรามีตาข้างเดียว    เห็นภาพบิดเบี้ยวสับสนงงงัน
เหมือนเรามีหูข้างเดียว                   รับรู้เพียงส่วนเสี้ยวของเรื่องราวเหล่านั้น
เหมือนเรามีจมูกข้างเดียว      ได้แต่กลิ่นฉุนเฉียวของฝ่ายตรงข้ามกัน
ทุกเรื่องราวที่ผ่านมา            เราจ้องมองด้วยตาบอดสนิทข้างนั้น

หรือว่าที่แล้วมา    เราต่างก็เหมือนกัน ? (ซ้ำ)
........................
 
..เราอาจคือชายตาบอดคนนั้น
..เราอาจคือชายตาบอดคนนั้น
..เราอาจคือชายตาบอดคนนั้น
..เราอาจคือชายตาบอดคนนั้น
..เราอาจคือชายตาบอดคนนั้น
..เราอาจคือชายตาบอดคนนั้น

.................................. 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใบตองแห้งออนไลน์:อังกฤษไม่กลัวล้มเจ้า

Posted: 04 Dec 2011 10:48 PM PST

 

งานอดิเรก (ที่เคยเป็นงานสำรองเลี้ยงชีพ) ของผมคือตามข่าวดาราเซเลบส์ นอกจากเดวิด-วิคตอเรีย เบคแฮม, เลดี้กาก้า, ลินด์เซย์ โลฮาน ฯลฯ ราชวงศ์อังกฤษก็ถือเป็นเซเลบส์ ได้รับความนิยมจากคนที่ชอบติดตามข่าวดาราและช่างภาพปาปาราซซี โดยเฉพาะเคท มิดเดิลตัน ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ เจ้าหญิงผู้มาจากชนชั้นกลาง ได้รับความนิยมอันดับหนึ่งเลยทีเดียว
 
หลังพิธีเสกสมรสบันลือโลก เจ้าชายวิลเลียมกับเคทไม่ได้มีชีวิตสุขสำราญแบบเจ้าชายเจ้าหญิงในเทพนิยาย อย่างน้อยก็ไม่ได้อยู่ปราสาทหลังใหญ่ แต่ประทับอยู่ในบ้านขนาด 2 ห้องนอนชื่อ Nottingham Cottage ในพระราชวังเคนซิงตัน สลับกับประทับอยู่ในบ้านไร่ที่แองเกิลซีย์ ตอนเหนือของเวลส์ ใกล้ฐานทัพอากาศที่เจ้าชายวิลเลียมประจำการอยู่
 
พระราชวังเคนซิงตันไม่ได้เป็นของราชวงศ์ แต่เป็นสมบัติสาธารณะ เชื้อพระวงศ์ที่มาอาศัยอยู่ ถ้าไม่อยู่ในลำดับที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของราชวงศ์ต้องจ่ายค่าเช่า เคยมีกรณีของเจ้าชายไมเคิลแห่งเคนท์ ลูกพี่ลูกน้องของควีน มาพักอยู่ในตำหนักขนาด 5 ห้องนอนตั้งแต่ปี 1979 โดยจ่ายค่าเช่าเพียงสัปดาห์ละ 70 ปอนด์ ตั้งแต่ปี 2002 แต่ถูก ส.ส.เอาไปอภิปรายในสภา ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมาต้องจ่ายค่าเช่าปีละ 120,000 ปอนด์ตามราคาตลาด
 
 
ล่าสุดมีข่าวว่าควีนอลิซาเบธจะยกพระตำหนักเดิมของเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต ขนาด 20 ห้อง สูง 4 ชั้น ให้เจ้าชายวิลเลียม โดยต้องใช้เงินบูรณะกว่า 1 ล้านปอนด์ ส่วนหนึ่งราชวงศ์ควักกระเป๋าเอง อีกส่วนมาจากกองทุนสาธารณะ แต่ก็ถูกพวก Republic ต่อต้านว่ารัฐบาลยอมให้ควีนยกพระตำหนักให้วิลเลียมได้อย่างไร พร้อมเรียกร้องให้จ่ายค่าเช่าตามจริง ขณะที่องค์กรอิสระไม่แสวงหากำไร Historic Royal Palaces ที่ดูแลพระราชวังเคนซิงตันอยู่ก็บอกว่าจะต้องเจรจาค่าชดเชยกัน
 
เวลาเราดูภาพข่าวส่วนใหญ่ มักจะเห็นแต่ภาพวิลเลียมกับเคทแต่งตัวหรูหราออกงานพิธี แต่นั่นคือการทำหน้าที่ของราชวงศ์ พ้นจากหน้าที่แล้วทั้งคู่ก็พยายามใช้ชีวิตเหมือนครอบครัวนายทหารทั่วไป อย่างเช่น หลังเสกสมรสใหม่ๆ ดยุคกับดัชเชสเดินทางไปเยือนแคนาดาและแคลิฟอร์เนีย มีกองทหารเกียรติยศต้อนรับอย่างใหญ่โตสมพระเกียรติ แต่พอกลับมาอยู่บ้านไร่ซึ่งวิลเลียมจ่ายค่าเช่าเดือนละ 750 ปอนด์ ก็มีภาพปาปาราซซีถ่ายดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ไปซื้อของห้างเทสโก้ เหมือนแม่บ้านธรรมดาๆ เพียงแต่มีบอดี้การ์ด 1 คน (แถมบอดี้การ์ดยังไม่ช่วยยกของอีกต่างหาก)
 
 
นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับราชวงศ์อังกฤษ เจ้าหญิงยูยีน พระธิดาของเจ้าชายแอนดรูว์ ก็เคยมาเที่ยวเมืองไทยแบบซำเหมาพเนจร นุ่งบิกินีลงทะเลที่ภูเก็ต แดนซ์กระจายในบาร์ แต่สื่ออังกฤษก็ไม่วายบ่นว่าในขณะที่เจ้าหญิงเที่ยวแบบซำเหมา 6 สัปดาห์ ขึ้นเครื่องบินชั้นประหยัด พักเกสต์เฮาส์ราคาคืนละ 15 ปอนด์กับเพื่อนๆ รัฐบาลอังกฤษต้องจ่ายค่าบอดี้การ์ด 2 คนนับแสนปอนด์ เป็นค่าเครื่องบินชั้นบิสสิเนสและพักโรงแรมชั้นดี พร้อมเบี้ยเลี้ยงวันละ 150 ปอนด์
 
เจ้าหญิงยูยีนซึ่งมีแฟนเป็นบริกรชื่อ แจค บรูกส์แบงก์ ยังเป็นข่าวเฮฮาเมื่อ 2-3 เดือนก่อน ตอนไปเที่ยวในลอนดอน แล้วปาปาราซซีจับภาพได้ว่าเธอถอดรองเท้าเดิน ใส่แต่ถุงเท้า โบกรถแท็กซี่กับแฟนและบอดี้การ์ด 1 คน
 
 
เจ้าหญิงบีทริซกับเจ้าหญิงยูยีนเป็นขวัญใจหนังสือพิมพ์แทบลอยด์อังกฤษ ซึ่งแม้จะลงข่าวเชิงหวือหวาฮือฮา แต่ก็น่ารักน่าเอ็นดูเสียมากกว่า ถ้าจะมีที่สื่อวิพากษ์วิจารณ์ ก็คือเรื่องค่าใช้จ่ายบอดี้การ์ดอย่างที่ว่า เพราะทั้งสองไม่น่าตกเป็นเป้าปองร้าย แต่รัฐบาลก็ยังต้องจ่ายราวปีละ 250,000 ปอนด์ต่อคน
 
นั่นเป็นภาพสะท้อนด้านหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในแบบอังกฤษ ซึ่งไม่มีกฎหมายหมิ่นราชวงศ์ แถมยังเปิดให้มีพวก Republic ซึ่งก็คือพวกนิยมสาธารณรัฐ ต้องการให้ประมุขมาจากการเลือกตั้ง (พูดง่ายๆว่าพวก “ไม่เอาเจ้า”) เคลื่อนไหวอย่างเปิดเผย มีสิทธิมีเสียงเต็มที่ในระบอบประชาธิปไตย เช่นตอนที่มีพิธีเสกสมรส ซึ่งรัฐบาลอังกฤษสนับสนุนให้มีปาร์ตี้ปิดถนน พวก Republic ก็จัด “ปาร์ตี้ไม่เอาเจ้า” แข่งกับเขาด้วย
 
อย่างไรก็ดี เนื่องจากราชวงศ์อังกฤษไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง ไม่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้ง (นอกจากพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นลอร์ด เป็นเซอร์ เช่นเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน) ทหารเสือราชินี (ควีนสปาร์คแรงเยอร์ เพิ่งขึ้นพรีเมียร์ลีก ฮิฮิ) ก็ไม่ถือเอาความจงรักภักดีเหนือกว่าการปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลในสมเด็จพระราชินี แม้กระทั่งพระราชดำรัสของควีนอลิซาเบธเมื่อเปิดสภา ก็ยังเป็นรัฐบาลร่างให้ (ไม่มีพระบรมราโชวาท นอกจากคำอวยพรสั้นๆ ในวันสำคัญเช่นคริสต์มาส) พวก Republic เคลื่อนไหวให้ตายก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่วิพากษ์วิจารณ์อยู่เรื่องเดียวคือเรื่องงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน ซึ่งราชวงศ์ก็พยายามจำกัดค่าใช้จ่ายลงเรื่อยๆ
 
เช่นเมื่อปีที่แล้ว ค่าใช้จ่ายของราชวงศ์ลดลงจาก 33.9 ล้านปอนด์เหลือ 32.1 ล้านปอนด์ ค่าใช้จ่ายนี้แยกเป็นหลายส่วน เช่น เงินเดือนข้าราชบริพารและค่าใช้จ่ายงานพิธี 13.7 ล้านปอนด์ ค่าดูแลรักษาซ่อมแซมวัง 11.9 ล้านปอนด์ และค่าเสด็จเยือนทั้งในและต่างประเทศอย่างเป็นทางการ 6 ล้านปอนด์ ทั้งนี้สภาผู้แทนราษฎรเพิ่งออกกฎหมายใหม่ Sovereign Grant Bill กำหนดค่าใช้จ่ายให้สำนักพระราชวังโดยคิดจากฐานรายได้สำนักงานทรัพย์สินของราชวงศ์ (Crown Estate) ซึ่งมีสินทรัพย์ 6.2 พันล้านปอนด์ และมีกำไรปีละไม่ต่ำกว่า 200 ล้านปอนด์ (นำรายได้ส่งเข้าคลัง)
 
อย่างไรก็ดี พวก Republic วิจารณ์ว่า ค่าใช้จ่ายนี้ไม่ใช่ตัวเลขจริง เพราะไม่รวมค่ารักษาความปลอดภัยและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของจริงน่าจะอยู่ราว 200 ล้านปอนด์ เป็นโสหุ้ยของประเทศแลกกับการยังมีราชวงศ์ (แต่มองมุมกลับที่จริงต่อให้อังกฤษเปลี่ยนเป็นระบอบประธานาธิบดี ก็ไม่ใช่ว่าค่าใช้จ่ายเท่ากับศูนย์ เพราะต้องมีงานพิธีอยู่ดี และยังไงๆ ก็ต้องดูแลซ่อมแซมวังที่เป็นโบราณสถาน)
 
พวก Republic เคยคำนวณว่า ค่าใช้จ่ายราชวงศ์ ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้วอยู่ราว 41 ล้านปอนด์ เป็นภาระประชาชนคนละ 69 เพนนี แต่ผู้สนับสนุนราชวงศ์ก็โต้ว่าคิดแล้วราคาของการมีราชวงศ์ เฉลี่ยต่อหัวประชากรยังน้อยกว่าค่านม 2 ไพพ์
 
พวก Republic มีเว็บไซต์ของตัวเอง http://www.republic.org.uk/ มีผู้สนับสนุนอย่างแข็งขันราว 12,000 คนเท่านั้น แม้ผลสำรวจความเห็นตอนงานเสกสมรสวิลเลียม-เคท ระบุว่าคนอังกฤษ 46% ไม่สนใจ มีแค่ 37% ที่สนใจจริงจัง แต่นั่นก็มองได้ว่า ราชวงศ์อังกฤษไม่จำเป็นต้องดำรงอยู่ด้วยการที่มีคนรักทั้ง 100% ขอแค่ 37% หรืออาจจะ 40% - 50% ส่วนที่เหลืออาจจะเฉยๆ รู้สึกว่ามีดีกว่าไม่มี รู้สึกว่ามีก็ไม่เดือดร้อนอะไร (แค่ค่านม 2 ไพพ์ แถมยังโบกแท็กซี่เอง) อาจจะไม่รัก แต่ก็ไม่เกลียด ขณะที่มีคน “ไม่เอา” อยู่หยิบมือเดียว ก็ปล่อยให้เคลื่อนไหวไป เพราะถือเป็นประชาธิปไตย มีสิทธิที่จะ “เอาเจ้า” หรือ “ไม่เอาเจ้า” แต่ตราบใดที่เสียงส่วนใหญ่เขาเอา พวกเสียงส่วนน้อยหยิบมือเดียวก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ก็มีด้านดีตรงที่การวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อและพวก Republic ทำให้ราชวงศ์ต้องทำตัวให้เหมาะสมเพื่อรักษาภาพลักษณ์ พยายามปรับตัวเพื่อให้เป็นที่นิยมของคนชั้นกลาง ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่
 
อังกฤษไม่มีกฎหมายหมิ่นควีนหรือรัชทายาท แต่ถ้าใครแสดงกิริยาไม่เหมาะสม สังคมก็บอยคอตต์ เช่นเคยมีดีเจวิทยุปิดคำอวยพรวันคริสต์มาสของควีนอลิซาเบธแล้วแสดงปฏิกิริยาไม่ควร ก็โดนคนฟังรุมด่าจนสถานีต้องไล่ออก การหยามหมิ่นไม่ให้เกียรติบุคคลที่คนจำนวนมากเคารพรัก ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการไม่เคารพเสรีภาพในความเชื่อของผู้อื่น ไม่ต่างจากคนนับถือศาสนาหนึ่งลบหลู่ศาสดาของอีกศาสนาหนึ่ง คนที่ไม่รักก็ต้องเคารพเสรีภาพของคนที่เขารัก แต่คนที่รักก็ต้องเคารพเสรีภาพของคนที่ไม่รัก และเปิดใจกว้างรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม
 
อังกฤษก็เลยไม่มีคนชูป้ายทำหน้าสงสัยเต็มแก่ว่า “ทำไมไม่รักควีนอลิซาเบธ” เพราะเป็นสังคมประชาธิปไตยที่เปิดกว้าง ใครไม่รักก็สามารถอธิบายให้หายสงสัย แต่หายสงสัยแล้วถ้ายังรักอยู่ก็เป็นเสรีภาพของใครของมัน ตราบใดที่ราชวงศ์อังกฤษยังมีคนรักอยู่จำนวนหนึ่ง และอีกจำนวนมากไม่เดือดร้อนกับการมีพระราชินีทรงเป็นประมุข มีคน “ไม่เอา” แต่ส่วนน้อย ราชวงศ์อังกฤษก็ไม่ต้องกลัวพวก “ล้มเจ้า” และดำรงอยู่อย่างยั่งยืนในระบอบเสรีประชาธิปไตย
 
                                                                        ใบตองแห้ง
                                                                        5 ธ.ค.54
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น