โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กวีประชาไท:ความรักท่ียิ่งใหญ่ไม่ได้มาจากเสาอากาศทีวี

Posted: 10 Dec 2011 10:52 AM PST

 

เรามีสิทธิ์ที่จะรัก

รักใครก็ได้ที่อยากรัก

รักอย่างสุดจิตสุดใจ

แม้วิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์

พยายามเห่กล่อมเราอย่างทุกลักทุเล

กระทั่งหนังสือแบบเรียนก็เกลี้ยกล่อมเรา

สมุดปฏิทินแจกฟรียังไม่เคยปราณีเราเลย

อีกทั้งถนนหนทาง สะพาน หินดินทราย

ล้วนแล้วกอปรกันร่วมกล่อมเกลาเรา

 

เบื้องหน้าความรู้สึกนึกคิดของเราเอง

เราเปลือยเปล่าล่อนจ้อน

ความรักที่ยิ่งใหญ่ไม่ได้มาจากเสาอากาศทีวี

 

ซะการีย์ยา อมตยา

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล "มาตรา 112 : ผลพวงรัฐประหาร 6 ตุลา 2519 "

Posted: 10 Dec 2011 10:15 AM PST

 

"ในการบัญญัติกฎหมายนั้น ผู้บัญญัติกฎหมายย่อมจะบัญญัติขึ้นเพื่อแก้ไขเหตุการณ์อันใดอันหนึ่ง หรือเพื่อสนับสนุนส่งเสริมสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งถ้าเราจะศึกษาจากประวัติศาสตร์แล้ว ก็จะเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายและช่วยเราเข้าใจกฎหมายนั้นดีขึ้น" ดร.หยุด แสงอุทัย [1]

การปลุกกระแส "กำจัดพวกหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ผ่านสื่อมวลชน (ไทยโพสต์, ดาวสยาม เป็นต้น) และตามล่า ไล่จับกุม หรือกระทั่งทารุณกรรมอย่างป่าเถื่อน อย่างต่อเนื่องและถึงจุดขีดสุดในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 สมัยรัฐบาลเสนีย์ ปราโมช, กองกำลังอนุรักษ์นิยมบุกสังหารหมู่ ผู้ชุมนุมในธรรมศาสตร์ อาจจำแนกฝ่ายอนุรักษ์นิยมบ้าคลั่งได้ 2 พวก คือ 1.พวกมีเครื่องแบบ เช่น ลูกเสือชาวบ้าน (สังเกตจาก "ผ้าพันคอพระราชทาน") , 2.พวกไม่มีเครื่องแบบ เช่น กระทิงแดง (สังเกตจากบุุคลิกท่าทาง) โดยกระทำบังอาจลักษณะทารุณกรรมผู้ชุมนุมในธรรมศาสตร์ (ประชาชน) เช่น ฆ่าตอกลิ่มทะลุอก เผาทั้งเป็น แขวนคอแล้วประทุษร้ายศพ [2] และตำรวจพลร่ม ตำรวจตระเวนชายแดน ในภายหลัง

ในยุครัฐบาลเสนีย์ ปราโมช มีการจับกุมผู้ชุมนุมในธรรมศาสตร์ เบ็ดเสร็จ 3.154 คน ในฐานความผิดต่างๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา ตามคำกล่าวอ้างในภายหลังโดยแถลงการณ์ของรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร [3]

เวลา 19.10 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519, สงัด ชลออยู่ และสมุน (ของมัน) ดำเนินการอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ลงตามแผนที่วางสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า [โดยดู "ส่วนที่3" ใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง] ได้ก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ พร้อมประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ

เราจะพิจารณา คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 1 ซึ่งในระยะเวลาสั้นๆ จะหยิบยกเฉพาะข้อ1. ซึ่งโยงไปได้หลายเรื่อง ดังนี้

ในข้อ 1. ตามคำสั่งฯ แบ่งเป็นสองส่วน คือ

1.การกระทำความผิดอาญที่ระบุท้ายบัญชีของคำสั่งฯนี้ ซึ่งปกติอยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม คณะรัฐประหารให้โอนคดีมายังเขตอำนาจศาลทหาร

คดีเยอะๆ แบบนี้ พวกเขาทำอย่างไร? เป็นปัญหาทางธุรการ ซึ่งแก้ไขโดยวิธี "เพิ่มหมวกอีกใบ" ให้ศาลและอัยการ ซะ (เป็น ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ด้วย, ศาลทหารด้วย)

2.ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาตามบัญชีท้ายประกาศฯ

หนึ่งในนั้นคือ มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา อยู่ใน ข้อ1

ผลของการโอนคดีให้อยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร

ก.ตีความถอยกลับ

กำหนดตัวบุคคลซึ่งอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญาทหาร [4] ในมาตรา 5 ทวิ วรรคหนึ่ง "บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามกฎหมาย..."

มาตรา 5 ทวิ วรรคท้าย "ในกรณีที่มิใช่ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 107 ถึงมาตรา 129 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ถ้าได้มีคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศอันถึงที่สุดให้ปล่อยตัวผู้นั้น หรือศาลในต่างประเทศพิพากษาให้ลงโทษและผู้นั้นได้พ้นโทษแล้ว ห้ามมิให้ลงโทษผู้นั้นในราชอาณาจักรเพราะการกระทำนั้นอีก แต่ถ้าผู้นั้นยังไม่พ้นโทษ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้"

หมายความว่า กรณีกระทำความผิดเกี่ยวกับ พระมหากษัตริย์ 1.แม้ศาลต่างประเทศพิพากษาถึงที่สุดแล้ว สามารถนำมาฟ้องซ้ำได้ (?), 2.ตัดดุลยพินิจลงโทษน้อยกว่าหรือไม่ลงโทษเลย

 

ข.คุ้มครองทั้งพระบรมราชตระกูลไม่ว่ารัชกาลใดๆ ระวางความผิดทั้งตามประมวลกฎหมายอาญา (ธรรมดา) และ ประมวลกฎหมายอาญาทหาร โดยไม่ถือเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวกัน

มาตรา 28 วรรคท้าย ประมวลกฎหมายอาญาทหาร "อนึ่งถ้าธงที่มันสบประมาทนั้น เป็นธงเครื่องหมายสำหรับพระเกียรติยศของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระมเหสีก็ดี มกุฎราชกุมาร หรือผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เวลารักษาราชการต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือพระราชโอรสพระราชธิดา ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ว่ารัชกาลใดๆ ก็ดี ท่านไม่ประสงค์จะให้เอาความในมาตรานี้ไปใช้ลบล้างอาญา ที่ท่านได้บัญญัติไว้สำหรับความผิดฐานแสดงความอาฆาตมาดร้ายและหมิ่นประมาท ดังได้กล่าวไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะอาญาสำหรับพระราชอาณาจักรสยามมาตรา 98 หรือมาตรา 100 นั้น"

 

ค.จำเลยคดี มาตรา 112 ห้ามแต่งทนาย

มาตรา 55 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติ่ม ตามมาตรา 3 พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2511 [5]

 

ง.ห้ามอุทธรณ์ฎีกาในคดีอาญา ในสถานการณ์ไม่ปกติ (เช่น ประกาศกฎอัยการศึก)

มาตรา 61 พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 [6]

ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

ในจุดนี้อาจคลายข้อสงสัย ที่ เราเห็นคดีความผิดมาตรา 112 ในยุครัฐประหาร 2519 ถึงยุคเปรม , ทั้งๆที่จำเลยเป็นพลเรือน เช่น คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ คดีหมายเลขดำที่ 35, 36, 37/ 2527 ศาลทหารกรุงเทพ ระหว่าง พนักงานอัยการศาลทหารกรุงเทพ โจทก์ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ กับพวก จำเลย ซึ่งคุณสุนัย จุลพงศธร เป็นทนายความจำเลย (ในสถานการณ์ปกติ) [7]

ต่อมา วันที่ 21 ตุลาคม 2519 , คณะรัฐประหาร เพิ่มโทษบทบัญญัติมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ข้อ1 โดยปรับโทษจากเดิม "จำคุกไม่เกินเจ็ดปี" [8] เพิ่มขึ้นเป็น "จำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี" [9]

อัตราโทษนี้ดำรงอยู่เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

กล่าวได้ว่า "มาตรา 112" ประมวลกฎหมายอาญา ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ก็เป็นหนึ่งใน "ผลพวง" ของรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ ภายใต้บริบท "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กันชุกชุม" จากมาตรการ กีดกันหนักขึ้นเรื่อยๆ บีบฝ่ายต่อต้าน ขณะเดียวกัน บงการฝ่ายบ้าเลือดคลั่งเป็นสุนัข ให้ฆ่าห้ำหั่นกันอย่างป่าเถื่อนดั่งที่ปรากฎในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19

รัฐบาลที่ยอมตนมุ่งกำราบประชาชน "จับเข้าคุก มาตรา112" ก็ต้องถูกมอดไหม้ (เสนีย์ ปราโมช, และชุดถัดๆมา , ชุด อภิสิทธิ์ , และรัฐบาลชุดนี้) ไปตามๆ กัน ในสถานะ "แพะ/จำเลย" ของ "ข้าฯ" คนใหม่ เช่น คำแถลงการณ์ของรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ดังกล่าวข้างต้น.

เชิงอรรถ

  1. หยุด แสงอุทัย. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 16. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ประกายพรึก. 2548. หน้า 57.
  2. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง. พิมพ์ครั้งที่ 1. สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก. 2544. หน้า 182.
  3. อ้างแล้วในเชิงอรรถ 2, หน้า 177.
  4. โดยดู ประมวลกฎหมายอาญาทหาร : http://web.krisdika.go.th/data/law/law4/%bb07/%bb07-20-9999-update.pdf
  5. โดยดู พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2511 : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2511/A/123/1.PDF
  6. โดยดู พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2498/A/083/1415.PDF
  7. โดยดู สุนัย จุลพงศธร. บันทึกทนายความ : เบื้องหลังคดี ส.ศิวรักษ์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สันติภาพ. 2528
  8. โดยดู พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 : http://web.krisdika.go.th/data/law/law4/%bb06/%bb06-20-2518-a0003u.pdf
  9. โดยดู ประมวลกฎหมายอาญา : http://web.krisdika.go.th/data/law/law4/%bb06/%bb06-20-9999-update.pdf
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประมวลภาพ: ขบวน ‘อภยยาตรา’ Fearlessness walk

Posted: 10 Dec 2011 09:33 AM PST

10 ธ.ค.54 เวลาประมาณ 16.00 น. บริเวณลานอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีการจัดกิจกรรม “อภยยาตรา” หรือ Fearlessness walk โดยมีประชาชนทยอยเข้าร่วมกว่า 100 คน ส่วนใหญ่ใส่เสื้อสีดำ และมีการเตรียมป้ายที่เขียนข้อความต่างๆ เกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 และข้อเรียกร้องต่างๆ รวมถึงกรณีของนายอำพล หรือ “อากง” ที่เพิ่งถูกตัดสินจำคุก 20 ปีจากกรณีส่ง SMS หมิ่นสถาบัน และมีกำหนดเดินจากอนุเสาวรีย์ชัย - แยกราชประสงค์ ทั้งนี้ งานนี้ได้รับความสนใจจากผู้สื่อข่าวต่างประเทศจำนวนมาก

กิจกรรมดังกล่าวนำโดยนักวิชาการจากหลายสถาบัน กลุ่ม Article 112 กลุ่ม “เราคืออากง” กลุ่มกวีราษฎร กลุ่มอาสากู้ภัยน้ำตื้น และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) โดยเริ่มต้นประชาสัมพันธ์ในเฟซบุ๊คตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายสร้างความตระหนักให้กับประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับปัญหาของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือกฎหมายมาตรา 112

>> คลิกอ่านเนื้อข่าว ฉบับเต็มที่นี่ <<

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘อภยยาตรา’ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จุดประกายสังคมหันมองปัญหา ม. 112

Posted: 10 Dec 2011 09:16 AM PST

10 ธ.ค.54 เวลาประมาณ 16.00 น. บริเวณลานอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีการจัดกิจกรรม “อภยยาตรา” หรือ Fearlessness walk โดยมีประชาชนทยอยเข้าร่วมกว่า 100 คน ส่วนใหญ่ใส่เสื้อสีดำ และมีการเตรียมป้ายที่เขียนข้อความต่างๆ เกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 และข้อเรียกร้องต่างๆ รวมถึงกรณีของนายอำพล หรือ “อากง” ที่เพิ่งถูกตัดสินจำคุก 20 ปีจากกรณีส่ง SMS หมิ่นสถาบัน ทั้งนี้ งานนี้ได้รับความสนใจจากผู้สื่อข่าวต่างประเทศจำนวนมาก

กิจกรรมดังกล่าวนำโดยนักวิชาการจากหลายสถาบัน กลุ่ม Article 112 กลุ่ม “เราคืออากง” กลุ่มกวีราษฎร กลุ่มอาสากู้ภัยน้ำตื้น และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) โดยเริ่มต้นประชาสัมพันธ์ในเฟซบุ๊คตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเริ่มต้นตั้งขบวนได้มีการกล่าวนำจากนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์, นายสุรพศ ทวีศักดิ์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาหัวหิน นักวิชากรรายล่าสุดที่โดนหมายเรียกในคดีหมิ่นสถาบัน, นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ผู้ริเริ่มการรณรงค์ “ฝ่ามืออากง” ทางเฟซบุ๊ค และวันรัก สุวรรณวัฒนา อาจารย์จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้จัดกิจกรรมครั้งนี้

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

วันรัก สุวรรณวัฒนา กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของกิจกรรมครั้งนี้ว่า อภยยาตรา นั้นแรกเริ่มเกิดขึ้นในประเทศพม่าโดยอองซานซูจี โดยคำว่า ภย แปลว่าความกลัว และ อภย แปลว่าไร้ซึ่งความกลัว ส่วนกิจกรรมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความอัดอั้นในสังคมในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งได้แรงบันดาลใจจากงานรณรงค์ “ฝ่ามืออากง” ในเฟซบุ๊ค ซึ่งพวกเราทั้งในโลกเสมือนและโลกจริงรู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่างให้สังคมได้รับรู้ เป้าหมายหลักคือต้องการสื่อสาร เคาะประตู กับสังคมโดยเฉพาะคนที่คิดต่างออกไป และยังไม่เคยรับรู้ถึงปัญหาของกฎหมายมาตรา 112 โดยสัญลักษณ์สำคัญในวันนี้คือ “อากง” ซึ่งถูกตัดสินพิพากษาจำคุก 20 ปีไปเมื่อเร็วๆ นี้

ส.ศิวรักษ์ กล่าวว่า อยากจะเตือนความจำว่าวันนี้เป็นวันรัฐธรรมนูญ ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ใช่กษัตริย์อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้วันนี้ยังเป็นวันปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน รัฐธรรมนูญสำคัญกับประเทศไทย ส่วนสิทธิมนุษยชนนั้นสำคัญสำหรับคนทั้งโลก แต่เมืองไทยในขณะนี้ไม่มีเคารพทั้งรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่สมัยรัฐบาลภายใต้การนำของทักษิณ ชินวัตร คดีที่เกี่ยวข้องกับตน 3 คดีมีทักษิณอยู่เบื้องหลัง มาจนปัจจุบันยังมีคดี “อากง” ซึ่งไม่มีทางผิดได้ในทางกฎหมาย แล้วยังมีคดีล่าสุดที่มีหมายเรียกอาจารย์สุรพศ ทวีศักดิ์ ซึ่งข้อเสนอของอาจารย์ไม่มีข้อไหนโจมตีว่าร้ายสถาบันแต่อย่างใด ถ้ารัฐบาลนี้ฉลาดก็ควรออกมาจัดการระงับคดีต่างๆ ทั้งหมด เพราะแม้แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังรับสั่งว่าคดีหมิ่นทำร้ายพระองค์ท่าน

สุรพศ ทวีศักดิ์ กล่าวว่า ในความรู้สึกของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการคุกคามเสรีภาพ ด้วยมาตรา 112 อีกคนหนึ่งของประเทศนี้ ผมเห็นว่า กฎหมายหมิ่นฯ มาตรา 112 คือ กฎหมายที่ขัดต่อหลักเสรีภาพและหลักความเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตย จึงเป็นกฎหมายที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นคนของประชาชน และเป็นกฎหมายที่อยุติธรรมต่อประชาชนอย่างยิ่ง อยุติธรรมเนื่องจากว่า มันทำลายเสรีภาพในการตรวจสอบ “บุคคลสาธารณะ” ที่ใช้ภาษีของเรา อยุติธรรมเนื่องจากว่า มันสามารถลงโทษประชาชน เนื่องจากการกระทำความผิดด้วย “คำพูด” เพียงไม่กี่คำ โดยการจำคุกได้ ถึง 20 ปี อยุติธรรมเนื่องจากว่า มันเปิดให้ใครไปแจ้งความก็ได้ ก่อให้เกิดการใช้กฎหมายหมิ่นฯ ทำลายล้างกันทางการเมือง เป็นเงื่อนไขของการอ้างสถาบันทำรัฐประหาร เป็นเครื่องมือล่าแม่มด สร้างบรรยากาศของความขัดแย้ง และความหวาดกลัว ในหมู่ประชาชนที่รักเสรีภาพ และความยุติธรรม ในฐานประชาชน เราต้องแสดงเสรีภาพของเราแต่ละคนออกมาเสมอ เพราะเสรีภาพที่แสดงออกมาแล้วเท่านั้น จึงนับได้ว่า มันคือ “เสรีภาพที่แท้จริง” และเสรีภาพที่แท้จริงนั้น ไม่มีอำนาจใดๆ ทำลายได้ เราจะส่ง “เสียงเสรีภาพ” ออกไป และส่งเสียงให้ดังขึ้นเรื่อยๆ ว่า ปล่อยอากง ปล่อยนักโทษการเมือง ประเทศนี้ต้องไม่มี “นักโทษทางความคิด” จงให้เราเป็นมนุษย์ตามที่เรามีสิทธิที่จะเป็น!

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ กล่าวว่า โครงการ The Fearlessness หรือก้าวข้ามความกลัวที่รณรงค์ผ่านทางเฟซบุ๊คนั้นจะมีการรวบรวมจัดพิมพ์เป็นหนังสือ ชื่อ Thailand’s Fearlessness Free Akong โดยจะเปิดตัวในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ ขณะที่ตัวแทนจาก สนนท.กล่าวว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ สนนท.อยากเรียกร้องให้นักศึกษาออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้มากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขบวนเริ่มออกเดินเท้าอย่างสงบในเวลาประมาณ 16.40 น. โดยมีนายสุลักษณ์นั่งรถเข็น และนายบัณฑิต อานียา นักเขียนที่มีคดีมาตรา 112 อยู่ในชั้นศาลฎีกา เป็นผู้เข็นรถนายสุลักษณ์ สลับผลัดเปลี่ยนกับคนอื่นๆ ไปตลอดทางอย่างค่อนข้างทุลักทุเล โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจขับนำขบวน และได้รับความสนใจจากประชาชนตลอดสองข้างทาง จนกระทั่งถึงแยกราชประสงค์ในเวลาประมาณ 17.45 น. ผู้ร่วมขบวนได้ร่วมกันตะโกนคำว่า “ปล่อยอากง” (Free Akong) 5 ครั้ง ก่อนจะยุติกิจกรรมอย่างเป็นทางการ

>> คลิกดูประมวลภาพ กิจกรรม อภยยาตรา Fearlessness walk ทั้งหมด <<

 

เชียงใหม่ร่วมด้วย Fearlessness Walk

วันเดียวกัน เวลาประมาณ 17.00น. ที่ถนนคนเดินวันเสาร์ วัวลาย จ.เชียงใหม่ ประชาชนกลุ่มหนึ่งซึ่งประกอบด้วยนักเรียน นักศึกษา นักกิจกรรม ราว 50 คน รวมตัวกันจัดกิจกรรมคู่ขนานกับงาน ที่กรุงเทพฯ โดยมีการแต่งกายด้วยเสื้อสีดำ บ้างสวมหน้ากาก "อากง" และถือป้ายข้อความ อาทิ "Fearlessness Walk" "อากง" "เฮาคืออากง" "หยุดคุกคามเสรีภาพทางวิชาการด้วย ม.112" โดยเดินรณรงค์อย่างเงียบๆ และแจกแผ่นพับรณรงค์เกี่ยวกับมาตรา 112 บนถนนคนเดิน และหลังยืนเคารพธงชาติ ทั้งหมดได้นอนลงกับพื้น ซึ่งสามารถเรียกความสนใจจากผู้พบเห็นพอสมควร

fearlessness walk

2011-12-10 18.02.24

รจเรข วัฒนพาณิชย์ หนึ่งในผู้ร่วมจัด บอกว่า ในโอกาสที่วันนี้เป็นวันสิทธิมนุษยชนสากลด้วย การนอนลงก็คล้ายเป็นการประชดคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทยที่ยังนอนหลับอยู่ ไม่ลุกขึ้นมาทำอะไร ขณะที่องค์กรสิทธิทั้งของเอเชีย ยุโรป หรือสหรัฐ ต่างก็เรียกร้องให้มีการแก้ไขเรื่องนี้กันแล้ว จึงอยากนอนเพื่อบอกว่าเขาไม่ได้เรื่อง

เมื่อถามถึงกิจกรรมต่อๆ ไป รจเรข กล่าวว่า คงจะไม่หยุดเรื่องนี้ สำหรับวันนี้ ดีใจที่มีคนถามว่าอากงคือใคร ก็คิดว่าน่าสนใจ แม้ ณ ตอนนั้นเขาอาจยังไม่เข้าใจว่าคืออะไร แต่กลับไปเขาอาจค้นหาในกูเกิลดูได้อยู่แล้ว

นักศึกษาวัย 26 ปีจากแนวร่วมนักเรียนนิสิตนักศึกษาเสรีชนล้านนา ซึ่งมาร่วมกิจกรรมด้วย เล่าว่า ในวันพิพากษา "อากง" นั้น กลุ่มนักศึกษาพยายามจะจัดกิจกรรมขึ้น แต่ก็ล้มเหลวเนื่องจากถูกจับตาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงมองว่าอาจไม่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ในที่สุดก็ได้จัดงานวันนี้คู่ขนานกับที่กรุงเทพฯ ถือเป็นการแสดงพลังจากภูมิภาค โดยตลอดเส้นทางก็มีคนมาถามว่า "อากง" คือใคร ตนเองก็ได้อธิบายและได้รับเสียงสนับสนุนพอสมควร

ด้านนักศึกษาวัย 21 ปีอีกคนจากแนวร่วมนักเรียนนิสิตนักศึกษาเสรีชนล้านนา แสดงความเห็นว่า การเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์นี้เป็นการตั้งคำถามปลายเปิด ที่ก่อให้เกิดการคิดต่อทั้งเห็นด้วยและหักล้าง ซึ่งจะทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นสาธารณะและเป็นที่สนใจ ทั้งนี้เขาเองจะรู้สึกดีใจหากผู้ที่เห็นต่างจะมาถกเถียงกัน เพราะนั่นแสดงถึงความเป็นประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม มองว่า ปัญหาตอนนี้เกิดจากสังคมไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะรับความเห็นที่แตกต่างได้ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“เครือข่ายเพื่อน กสม.” จี้หยุด “การเมือง” ทำลายกรรมการสิทธิฯ

Posted: 10 Dec 2011 04:09 AM PST

แถลงการณ์ “เครือข่ายเพื่อน กสม.” ระบุ กรรมการสิทธิฯ ชุดปัจจุบันถูกปัญหารุมเร้าทั้งใน-นอกทำให้อ่อนแอ ประกาศเตรียมจับตามมองการทำงาน พร้อมเร่งสร้างกระบวนการภาคพลเมืองทำงานคู่ขนาน ชี้กรณี "หมอชูชัย" ต้องชี้แจงต่อสาธารณะ

 
วันนี้ (10 ธ.ค.54) เครือข่ายเพื่อน กสม.จัดแถลงข่าว เรื่องโปรดหยุดทำลายสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ โรงแรม รามา การ์เด้น กรุงเทพมหานคร ระบุถึงการทำงานของ กสม.ชุดปัจจุบัน ซึ่งประสบปัญหาทั้งการคุกคามภายนอก เช่น การแทรกแซงจากอำนาจการเมือง และปัญหาภายใน เช่น การเมือง และการขาดธรรมาภิบาลในองค์กร ทำให้องค์กรอ่อนแอลง และอาจหมดสภาพที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชน
 
ปัญหาหลายอย่างของ กสม.ถูกพบและนำไปเผยแพร่เป็นข่าวในสื่อมวลชน ทำให้เครือข่ายประชาชนทั่วประเทศ ที่หวังจะให้ กสม. เป็นองค์กรหลักในการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนของประชาชน มีความเป็นกลาง และกล้าหาญทางจริยธรรม มีความหวั่นวิตกว่า กสม.กำลังตกต่ำเสื่อมถอย  และจะถูกอำนาจการเมืองครอบงำได้เบ็ดเสร็จในที่สุด จึงได้ร่วมกันในนามเครือข่ายเพื่อน กสม.เพื่อร่วมกันตรวจสอบการทำงานของ กสม.
 
“ขอประกาศให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทุกท่านทราบว่า การกระทำใดๆ ของท่านนั้น อยู่ในการจับตามองของประชาชน และจะจับตามองมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความไม่ชอบมาพากลใน กสม.มีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้นทุกที และนับจากนี้ไป จะเร่งสร้างกระบวนการภาคพลเมืองเพื่อทำงานคู่ขนานไปกับ กสม.” ถ้อยคำที่ระบุในแถลงการณ์ ของเครือข่ายเพื่อน กสม.
 
ทั้งนี้ เครือข่ายเพื่อน กสม.ระบุ ข้อเรียกร้อง 5 ข้อ คือ 1.ข้อเรียกร้องต่อฝ่ายการเมือง โปรดหยุดการกระทำอันผิดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ที่กำลังทำอยู่คือการพยายามคุกคามแทรกแซง กสม.และองค์กรอิสระอื่นๆ 2.ข้อเรียกร้องเป็นรายบุคคลต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนโปรดอย่าเล่นการเมืองสกปรกภายในองค์กร อย่ามีพฤติกรรมละเมิดสิทธิกันเอง อย่ายัดบริวารส่วนตนเข้าสู่ตำแหน่งในองค์กร อย่าคุกคามทางเพศ อย่าลักลอบรับเงินจากฝ่ายการเมือง
 
3.ข้อเรียกร้องต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในฐานะคณะบุคคล ขอให้บริหาร กสม. อย่างมีธรรมาภิบาล ยึดมั่นในจริยธรรมและข้อกฎหมาย ไม่ใช้อำนาจอย่างอธรรม โดยขอให้แสดงให้เป็นที่ประจักษ์ในทันทีว่า การให้คุณให้โทษแก่บุคลากรขององค์กร ที่เป็นข่าวครึกโครมอยู่ในปัจจุบัน เป็นไปตามแนวทางดังกล่าวอย่างแท้จริง
 
4.ข้อเรียกร้องต่อบุคลากรและข้าราชการของ กสม.ขอให้ท่านยืนหยัดอยู่ในความถูกต้อง อย่าก้มหัวให้กับความอธรรมใดๆ เครือข่ายเพื่อน กสม.จะตรวจสอบท่าน แต่ก็จะเคียงข้างกับท่านในการรักษาองค์กรแห่งนี้เอาไว้ และ 5.ข้อเรียกร้องต่อพลเมืองไทย ให้ร่วมกันจับตามององค์กร สำนักงาน กสม.และร่วมกันสร้างกระบวนการคู่ขนาน เพื่อให้องค์กรแห่งนี้สะอาดโปร่งใสจากภายใน และปลอดภัยจากการคุกคามของฝ่ายการเมือง เป็นองค์กรที่สามารถปกป้องสิทธิมนุษยชนได้อย่างแท้จริง 
 
“เป้าหมายของแถลงการณ์ครั้งนี้ จึงเป็นการยืนยันสิทธิและหน้าที่ของประชาชนพลเมือง ที่จะต้องร่วมกันตรวจสอบและปกป้องรักษาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างอิสระ มีคุณภาพ มีจริยธรรมในทางการบริหาร มีธรรมาธิปไตยในองค์กร เพื่อทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนไทยต่อไป” แถลงการณ์ระบุ
 
นายตรีพิพัฒน์ บัวเนี่ยว กล่าวในนาม เครือข่ายเพื่อน กสม.หลังการแถลงข่าวว่า เนื่องในโอกาสที่วันนี้เป็นวันรัฐธรรมนูญ เครือข่ายฯ จึงทำการแถลงข่าวเพื่อแสดงจุดยืนในการปกป้ององค์กรตามรัฐธรรมนูญให้มีความโปร่งใส อีกทั้งถือเป็นการเปิดฉากเริ่มต้นในการตรวจสอบองค์กรอิสระอย่าง กสม.ในฐานะของประชาชนซึ่งได้เคยพึงพาอาศัยเพื่อเรียกร้องสิทธิในการอยู่อาศัย การทำกิน รวมไปถึงการจัดการทรัพยากรในชุมชน ให้ กสม.สามารถดำรงอยู่ได้อย่างอิสระ มีคุณภาพ มีจริยธรรมในทางการบริหาร และทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนต่อไป ซึ่งหากเป็นการทำงานที่ดีของ กสม.ทางเครือข่ายฯ ก็จะร่วมกันปกป้อง
 
สำหรับกรณีที่ กสม.มติโยกย้าย นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการ กสม.ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาระดับ 11 ของสำนักงาน กสม.นั้น นายตรีพิพัฒน์กล่าวว่า เป็นไปตามข้อเรียกร้องในแถลงการณ์ข้อที่ 3 ซึ่งระบุว่าการให้คุณให้โทษแก่บุคลากรขององค์กรที่เป็นข่าวครึกโครมอยู่ในปัจจุบัน เป็นไปตามแนวทางการบริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาล ยึดมั่นในจริยธรรมและข้อกฎหมาย ไม่ใช้อำนาจอย่างอธรรมหรือไม่
 
อย่างไรก็ตาม เครือข่ายไม่ต้องการมุ่งเน้นหรือระบุไปถึงตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ต้องการให้เกิดการตรวจสอบการทำงานขององค์กรสิทธิ์อย่างแท้จริง ซึ่งในกรณีดังกล่าวก็ควรมีการชี้แจงข้อมูลต่อสาธารณะให้รับทราบ   
 
นายตรีพิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า ปฏิบัติการต่อไปของกลุ่ม จะมีการติดตามการทำงานของ กสม.ซึ่งอาจเป็นในรายประเด็นเช่นเรื่องรายงานของกรณีมาบตาพุด หรือกรณีการสลายชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งยังไม่มีความชัดเจน หรืออาจเป็นการติดตามในรายบุคคล
 
อนึ่ง แถลงการณ์ของเครือข่ายเพื่อน กสม.มีรายละเอียดดังนี้
 
 
 
แถลงการณ์ของเครือข่ายเพื่อน กสม.
เรื่อง โปรดหยุดทำลายสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
 
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ก่อตั้งขึ้นตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนของพลเมืองไทย จึงเป็นองค์กรอิสระที่มีคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อชาติบ้านเมือง และถือเป็นองค์กรที่ประชาชนต้องแสดงความเป็นเจ้าของ หากองค์กรแห่งนี้อ่อนแอลง ไม่ว่าจะมาจากปัญหาการคุกคามภายนอก เช่น การแทรกแซงจากอำนาจการเมือง หรือปัญหาภายใน เช่น การเมืองและการขาดธรรมาภิบาลในองค์กรก็ตาม
 
เป้าหมายของแถลงการณ์ครั้งนี้ จึงเป็นการยืนยันสิทธิและหน้าที่ของประชาชนพลเมือง ที่จะต้องร่วมกันตรวจสอบและปกป้องรักษาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างอิสระ มีคุณภาพ มีจริยธรรมในทางการบริหาร มีธรรมาธิปไตยในองค์กร เพื่อทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนไทยต่อไป
 
นับตั้งแต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชุดปัจจุบัน (พ.ศ.2552-2558) เข้าดำรงตำแหน่งและปฏิบัติงานมา ได้เกิดสิ่งที่ทำให้องค์กรอ่อนแอลง และอาจหมดสภาพที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนไทย เพราะแม้แต่กรรมการเองสิทธิฯเองบางส่วน ก็ดูเหมือนจะไม่เคารพสิทธิมนุษยชนซึ่งกันและกัน
 
ทั้งนี้ ได้มีข่าวถึงความไม่ชอบมาพากลทั้งในทางจริยธรรม และอาจรวมถึงในทางข้อกฎหมาย แพร่งพรายสู่สาธารณะเป็นระยะๆ เช่น ปัญหาเชิงชู้สาวหรือคุกคามทางเพศ มีการไปดักนั่งเฝ้าข้าราชการผู้หญิงที่โต๊ะทำงาน หรือโทรไปหายามวิกาล โดยการพยายามเกี้ยวพาราสี   ปัญหาการนำลูกหลานบริวารเข้าสู่ตำแหน่งงานในองค์กรโดยขาดหลักธรรมาภิบาล ( ฝากฝัง/เด็กเส้น) ปัญหาของกรรมสารสิทธิฯ ที่ยังคงเกี่ยวข้อกับธุรกิจที่ละเมิดสิทธิชุมชน ปัญหาการเอาคนที่มีประวัติการละเมิดสิทธิมาตรวจสอบการละเมิดสิทธิ  ปัญหาทำลายคนดี-ความดีที่ไม่ตอบสนองความต้องการของตน
 
ปัญหาการเมืองในองค์กร การกลั่นแกล้ง การเบียดเบียนเอาชนะกันภายใน มีความรุนแรงและต่อเนื่อง แม้ว่าปัญหาดังที่กล่าวมาทั้งหมด จะยังไม่มีกระบวนการพิสูจน์ทราบจนเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณะก็ตาม แต่สะท้อนให้เห็นว่า กสม.อยู่ในสภาพเจ็บป่วยจากปัญหาภายใน 
 
ปัญหาความขัดแย้งภายในองค์กร กสม.ดังกล่าว ยังเป็นที่แน่ชัดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ว่ามีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์โดยตรงกับปัญหาการคุกคามจากอำนาจภายนอก คืออำนาจการเมืองและบริวารนักการเมือง ที่กำลังมุ่งหมายเข้าครอบงำและทำลายองค์กรอิสระต่างๆ เพราะถือว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับตน เนื่องจากเป็นองค์กรที่ควบคุมสั่งการตามอำเภอใจไม่ได้  ลักษณะการคุกคาม มีทั้งการใช้อำนาจมืดเข้าคุกคามตัวบุคคล การใช้อำนาจการเมืองพยายามบ่อนทำลาย การพยายามส่งคนของตนเข้าสู่องค์กร การล่อด้วยเงินและอำนาจไปยังบุคคลบางคนในองค์กรที่มีจริตอำนาจนิยมเช่นเดียวกับพวกตน
 
ข่าวคราวดังกล่าว ทำให้เครือข่ายประชาชนทั่วประเทศ ที่หวังจะให้ กสม. เป็นองค์กรหลักในการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนของประชาชน มีความเป็นกลางและกล้าหาญทางจริยธรรม วิตกอย่างยิ่ง ว่า กสม.กำลังตกต่ำเสื่อมถอย  และจะถูกอำนาจการเมืองครอบงำได้เบ็ดเสร็จในที่สุด จึงได้ร่วมกันในนามเครือข่ายเพื่อน กสม. และขอประกาศให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทุกท่านทราบว่า การกระทำใดๆ ของท่านนั้น อยู่ในการจับตามองของประชาชน และจะจับตามองมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความไม่ชอบมาพากลใน กสม.มีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้นทุกที และนับจากนี้ไป จะเร่งสร้างกระบวนการภาคพลเมืองเพื่อทำงานคู่ขนานไปกับ กสม.
 
เครือข่ายเพื่อน กสม. มีข้อเรียกร้อง ดังต่อไปนี้
 
1.ข้อเรียกร้องต่อฝ่ายการเมือง โปรดหยุดการกระทำอันผิดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ที่กำลังทำอยู่คือการพยายามคุกคามแทรกแซง กสม.และองค์กรอิสระอื่นๆ ประชาชนพลเมืองไทยจะลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้ององค์กรอิสระให้ปลอดภัยจากอำนาจการเมืองอย่างถึงที่สุด
 
2.ข้อเรียกร้องเป็นรายบุคคลต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนโปรดอย่าเล่นการเมืองสกปรกภายในองค์กร อย่ามีพฤติกรรมละเมิดสิทธิกันเอง อย่ายัดบริวารส่วนตนเข้าสู่ตำแหน่งในองค์กร อย่าคุกคามทางเพศ อย่าลักลอบรับเงินจากฝ่ายการเมือง และอย่าคิดว่าประชาชนไม่รู้ว่าท่านทำอะไรอยู่
 
3.ข้อเรียกร้องต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในฐานะคณะบุคคล ขอให้บริหาร กสม. อย่างมีธรรมาภิบาล ยึดมั่นในจริยธรรมและข้อกฎหมาย ไม่ใช้อำนาจอย่างอธรรม โดยขอให้แสดงให้เป็นที่ประจักษ์ในทันทีว่า การให้คุณให้โทษแก่บุคลากรขององค์กร ที่เป็นข่าวครึกโครมอยู่ในปัจจุบัน เป็นไปตามแนวทางดังกล่าวอย่างแท้จริง
 
4.ข้อเรียกร้องต่อบุคลากรและข้าราชการของ กสม. ขอให้ท่านยืนหยัดอยู่ในความถูกต้อง อย่าก้มหัวให้กับความอธรรมใดๆ เครือข่ายเพื่อน กสม.จะตรวจสอบท่าน แต่ก็จะเคียงข้างกับท่านในการรักษาองค์กรแห่งนี้เอาไว้
 
5.ข้อเรียกร้องต่อพี่น้องพลเมืองไทย ให้ร่วมกันจับตามององค์กร สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และร่วมกันสร้างกระบวนการคู่ขนาน เพื่อให้องค์กรแห่งนี้สะอาดโปร่งใสจากภายใน และปลอดภัยจากการคุกคามของฝ่ายการเมือง เป็นองค์กรที่สามารถปกป้องสิทธิมนุษยชนได้อย่างแท้จริง 
           
เครือข่ายเพื่อน กสม.
10 ธันวาคม พ.ศ. 2554
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กองทัพรัฐฉานแถลงข่าวหยุดยิงรัฐบาลพม่า

Posted: 10 Dec 2011 01:34 AM PST

เผยยังอยู่ในขั้นตอนเจรจาระดับรัฐบาลกลาง ระบุกำลังรอดูรัฐบาลพม่าจะทำตามข้อตกลงหยุดยิงหรือไม่ และจะกลับไปต่อสู้ด้วยอาวุธหากรัฐบาลพม่าไม่ทำตามเงื่อนไข-มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน

พล.ท.เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน ระหว่างการแถลงเรื่องการเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าเมื่อ 10 ธ.ค. 54 ที่ฐานดอยไตแลง รัฐฉานตอนใต้

ทหารกองทัพรัฐฉาน ระหว่างการแถลงเรื่องการเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า

วันนี้ (10 ธ.ค. 54) ที่ฐานดอยไตแลง ตอนใต้ของรัฐฉาน กองทัพรัฐฉาน (Shan State Army - SSA) มีการประกาศความคืบหน้าเรื่องการเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าที่มีนายเต็งเส่งเป็นประธานาธิบดี

ทั้งนี้ในแถลงการณ์ที่เผยแพร่เมื่อวันที 10 ธ.ค. ของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองของกองทัพรัฐฉาน ระบุว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที 19 พ.ย. มีการเจรจาครั้งแรกระหว่างสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉานและรัฐบาลพม่า ที่ชายแดนไทย-พม่า ด้าน จ.เชียงราย ฝ่ายรัฐบาลพม่าซึ่งมีหัวหน้าคณะการเจรจาคือนายอู อ่อง มิ้นท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการขนส่งและทางรถไฟพม่าได้เสนอเงื่อนไข 4 ข้อ คือ 1.ทั้งสองฝ่ายหยุดยิง 2.ตั้งส่วนสำนักงานในการติดต่อประสานงานต่อกัน 3.ในกรณีปลดอาวุธ กองกำลังทั้ง 2 ฝ่ายสามารถเดินทางสัญจรไป-มาได้โดยอิสระ 4.การเมืองให้มีการเจรจากันในขั้นรัฐบาลสหภาพ

ส่วนฝ่ายรัฐฉานซึ่งมี พล.ท.เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉานเป็นหัวหน้าคณะการเจรจาได้เสนอเงื่อนไข 4 ข้อคือ 1.ทั้งสองฝ่ายหยุดยิง 2.เจรจาแก้ไขปัญหาการเมืองบนพื้นฐานความเสมอภาค 3.ให้กำหนดพื้นที่เขตพิเศษสำหรับสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) กองทัพรัฐฉาน (SSA) 4.ให้มีสิทธิในการร่วมกันดำเนินการปราบปรามยาเสพย์ติด

ทั้งนี้แถลงการณ์ของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน ยังระบุว่าจากการเจรจาล่าสุดเมื่อ 2 ธ.ค. ที่เมืองตองจี ทั้งรัฐบาลพม่าและสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉานได้ตั้งคณะทำงานสำหรับการเจรจาร่วมกันในการสร้างสันติภาพ และคณะทำงานทั้ง 2 ฝ่าย เห็นชอบตามเงื่อนไขที่ทั้ง 2 ฝ่ายนำเสนอ และเห็นชอบในมติร่วมกันในเงื่อนไข 8 ข้อที่ทั้ง 2 ฝ่ายเสนอ

"ในการเสริมสร้างความสงบร่มเย็นอันชอบธรรมนั้น ต้องรอดูท่าทีและน้ำใจของรัฐบาลประธานาธิบดีเต็งเส่ง ที่มีต่อประเทศชาติบ้านเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ทุกชาติพันธุ์" แถลงการณ์ตอนหนึ่งระบุ

ทั้งนี้สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉานระบุในแถลงการณ์ด้วยว่า หากข้อเสนอและการกระทำของรัฐบาลพม่าไม่สอดคล้องกับข้อตกลงหยุดยิง มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่นเดิม สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉานก็พร้อมที่จะจับอาวุธลุกขึ้นต่อสู้ "เพื่อประเทศชาติบ้านเมืองและประชาชนทันที"

"การหยุดยิงนั้น จุดมุ่งหมายเพื่อการเสริมสร้างความสงบร่มเย็น ให้การกินอยู่ การดำรงชีวิตของประชาชนมีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตน มีสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยในระดับเหมาะสม ตามสิทธิมนุษย์คนหนึ่งพึงได้รับตามสากลโลก ประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในสหภาพ มีภาระหน้าที่รับผิดชอบเท่าเทียมกันทุกคน" ตอนท้ายของแถลงการณ์สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉานระบุ

พล.ท.เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉานระบุว่า การเจรจาหยุดยิงยังอยู่ในขั้นของการลงลายละเอียด ซึ่งจะมีการเจรจารอบสามในเร็วๆ นี้ และหวังว่าหลังการสงบศึกประชาชนในรัฐฉานที่อพยพเพราะสงครามจะได้กลับบ้าน ประชาชนทุกคนในรัฐฉานจะได้รับการพัฒนาเฉกเช่นประชาชนในประเทศอื่น ขณะเดียวกันยังกล่าวต่อหน้ากำลังพลว่าแม้จะหยุดยิงแล้วแต่ทหารของกองทัพรัฐฉานยังคงติดอาวุธและยังอยู่ภายใต้วินัยของกองทัพ

อย่างไรก็ตาม แม้ทั้งฝ่ายกองทัพรัฐฉานและรัฐบาลพม่าจะมีการประกาศหยุดยิงร่วมกันแล้ว แต่ยังคงมีการปะทะกันเนื่องจากทหารทั้งสองฝ่ายมีการลาดตระเวน และฝ่ายกองทัพรัฐฉานได้เสนอให้ทหารพม่าประจำการอยู่เฉพาะในพื้นที่เมืองเท่านั้น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เอ็นจีโอออกแถลงการณ์วันรัฐธรรมนูญ หนุน 'นิติราษฎร์' จี้ปล่อยนักโทษการเมือง

Posted: 09 Dec 2011 11:43 PM PST

10 ธ.ค.54  กลุ่มองค์กรนักพัฒนา นักกิจกรรมในหลายจังหวัด 35 องค์กร ออกแถลงการณ์ 10 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญ มีเนื้อหาดังนี้ 

 

แถลงการณ์ 10 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญ
ปล่อย “อากง” และผู้บริสุทธิ์ที่ถูกคุมขังทางการเมือง
คนสั่งฆ่าประชาชนต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย
ขอสนับสนุนข้อเสนอนิติราษฎร์-แก้รัฐธรรมนูญ 2550 ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
 
 
นับตั้งแต่มีการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จาก “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์” ไปสู่ “ระบอบประชาธิปไตย” รัฐไทยได้กำหนดให้วันที่  10 ธันวาคม  ของทุกปี ถือเป็น “วันรัฐธรรมนูญ”  
 
รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายการปกครองสูงสุดของประเทศ และกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญเป็นการสะท้อนความสัมพันธ์ทางอำนาจของกลุ่มพลังต่างๆในสังคมไทย แต่อย่างใดก็ตามรัฐธรรมนูญก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงตามเงื่อนไขทางการเมืองอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะเมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทย
               
สถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ความขัดแย้ง ระหว่าง “ฝ่ายอำนาจอำมาตยาธิปไตย” กับ “ฝ่ายพลังประชาธิปไตย”  ก็ยังไม่จบสิ้น นับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549  และเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิต 53 การล้อมปราบสังหารประชาชน ผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ตลอดถึงการจับกุมคุมขังประชาชน ซึ่งสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากปัญหารากเหง้าของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มาจาก “ระบอบอำมาตยาธิปไตย” โดย “อำมาตยาธิปไตย” และเพื่อ”อำมาตยาธิปไตย”  
               
แม้ว่าภายหลังจากการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลตามหลักการประชาธิปไตยรัฐสภา แต่ความขัดแย้งดังกล่าวยังไม่จบสิ้น เนื่องด้วยมีการเคลื่อนไหวของ “ฝ่ายอำมาตยาธิปไตย” เพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีขึ้นอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน รวมทั้งรัฐบาลพลเรือนก็ยังไม่สามารถควบคุมกองทัพได้โดยตรงเนื่องจากมี พ.ร.บ.กลาโหมเป็นอุปสรรคขัดขวาง      
               
ขณะเดียวกัน “คณะนิติราษฎร์” ได้มีข้อเสนอเพื่อแก้ไขผลพวงของการรัฐประหาร ปัญหาด้านสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน ต้องแก้ไขมาตรา 112  เพื่อสอดคล้องกับหลักการความยุติธรรมและระบอบประชาธิปไตยดั่งอารยะประเทศ ซึ่งรวมทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนด้วย เพื่อมิให้เกิดกรณีเช่น “อากง” “สมยศ พฤกษาเกษมสุข” “สุรชัย แซ่ด่าน” และอีกหลายคน รวมทั้งล่าสุดอาจารย์สุรพศ ทวีศักดิ์ จึงต้องยึดหลักนิติรัฐคู่กับนิติธรรม ตลอดทั้งเพื่อป้องกันมิให้เกิดการรัฐประหารขึ้นในสังคมไทยอีกต่อไป 
 
ในโอกาสวันรัฐธรรมนูญ เราในนามองค์กรข้างล่าง มีความคิดเห็น จุดยืน และข้อเสนอดังนี้
 
1.ปล่อยผู้บริสุทธิ์ที่ถูกจับกุมคุมขังทางการเมืองอย่างไม่มีเงื่อนไข เช่น “อากง” “สมยศ พฤกษาเกษมสุข” “สุรชัย แซ่ด่าน”  และอีกหลายคนทั้งหมด เพราะพวกเขามิใช่อาชญากร เพียงแต่มีความคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย และพวกเขาถูกใส่ร้ายป้ายสีทางการเมือง
 
2.นำคนสั่งฆ่าสังหารประชาชนในเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิต 53 มาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อสร้างความยุติธรรมในสังคมและเพื่อมิให้ฆาตรกรลอยนวลเหมือนเช่นที่ผ่านมา
 
3.รัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม และดำเนินการปฏิรูปกองทัพให้เป็นประชาธิปไตยสอดรับกับยุคสมัยข้ามพรมแดนที่ไร้สงครามสู่การค้าและวัฒนธรรม พร้อมกับลดงบประมาณให้เหมาะสม
 
4. ขอสนับสนุนข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์  แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมทั้งข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหารากเหง้าทั้งมวลของปัญหาการเมืองไทยที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นภาระกิจที่รัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องดำเนินกระบวนการต่างๆ ตามกลไกรัฐสภา ให้บรรลุเป็นรูปธรรม
 
5.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ให้แล้วเสร็จภายในปี 2555 โดยใช้กระบวนการมีส่วนของภาคประชาสังคมลักษณะเดียวกับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญปี 40 โดยมีหลักการสำคัญของ “ระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา”  “อำนาจอธิปไตยมาจากประชาชน”  “เคารพสิทธิเสรีภาพและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” คือรูปธรรมต้องลดอำนาจของระบอบอำมาตยาธิปไตยโดยเฉพาะอำนาจขององคมนตรี กองทัพและกระบวนการยุติธรรม ส่งเสริมและสร้างเงื่อนไขให้สถาบันพรรคการเมืองพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้น รวมทั้งส่งเสริมสิทธิพื้นฐานของสถาบันต่างๆ เช่น สหภาพแรงงาน องค์กรเกษตรกร และอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
       
6. เราขอเรียกร้องให้ฝ่ายนิยมอำมาตยาธิปไตยยอมรับกติกาประชาธิปไตย ตามหลักการหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง คนเท่ากัน เสียงส่วนน้อยต้องยอมรับเสียงส่วนใหญ่ โดยเสียงส่วนใหญ่ไม่ละเลยเสียงส่วนน้อยตามหลักอารยะประเทศประชาธิปไตย ก่อนที่ความขัดแย้ง ความเกลียดชังจะนำไปสู่ความล้มสะลายของสังคมไทยอย่างที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น
ลงชื่อองค์กร
 
1.       กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน (กสส.)
2.       กลุ่มดงมูลเพื่อการพัฒนา (กดม.)  จ.กาฬสินธุ์
3.       กลุ่มต้นอ้อ  จ.ขอนแก่น
4.       กลุ่มมิตรภาพ  จ.ขอนแก่น
5.       กลุ่มภูเวียงเพื่อการพัฒนา  จ.ขอนแก่น
6.       กลุ่มประชาชนไทยแวงน้อย-แวงใหญ่ จ.ขอนแก่น
7.       กลุ่มเพื่อนพัฒนาภูกระดึง  จ.เลย
8.       เครือข่ายองค์กรชุมชนแก้ปัญหาที่ดินภาคอีสาน(คอป.อ.) 
9.       เครือข่ายองค์กรชาวบ้านลุ่มน้ำปาว (คอป.)  จ.กาฬสินธุ์
10.    เครือข่ายคนรุ่นใหม่ภาคอีสาน (คอส.)
11.    แนวร่วมเกษตรกรภาคอีสาน (นกส.)
12.    เครือข่ายคนรุ่นใหม่ลุ่มน้ำโขง จ.อุบลราชธานี
13.    เครือข่ายอนุรักษ์ภูผาเหล็ก จ.สกลนคร
14.    กลุ่มภูพานเพื่อการพัฒนา จ.สกลนคร
15.    เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน จ.ชัยภูมิ
16.    กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์น้ำพรมตอนต้น จ.ชัยภูมิ
17.    กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ลุ่มน้ำบัง จ.นครพนม
18.    เครือข่ายคนรุ่นใหม่ยโสธร จ.ยโสธร
19.    สหพันธ์เยาวชนอีสาน (สยส.)
20.    ชมรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือตอนล่าง (ชสร.)
21.    เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู จ.พิษณุโลก
22.    เครือข่ายองค์กรชุมชนคลองเตย  กทม.
23.    กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ
24.    เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชนเขลาโคก จ.ร้อยเอ็ด
25.    เครือข่ายองค์กรชาวบ้านนางรอง จ.บุรีรัมย์
26.    กลุ่มคนรุ่นใหม่ภาคใต้
27.    กลุ่มผู้ใช้แรงงานเพื่อประชาธิปไตย  ภาคเหนือ
28.    สหพันธ์นิสิตนักศึกษาอีสาน (สนนอ.)
29.    สำนักเรียนรู้กระจายอำนาจและปกครองตนเอง (กอ.-ปอ.)  จ.เชียงใหม่
30.    สถาบันสร้างสรรค์ชีวิตและสังคม (LSI.)
31.    สถาบันพัฒนาเยาวชนแห่งประเทศไทย ( สยท.)
32.    กลุ่มเถียงนาประชาคม  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  จ.มหาสารคาม
33.    กลุ่มยอป่า  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  จ.ขอนแก่น
34.    เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย
35.    กลุ่มมะขวิด แม่น้ำท่าจีน
 
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลยกฟ้องนักศึกษา ม.อ. คดีฆ่าตัดคอชาวปัตตานี

Posted: 09 Dec 2011 11:21 PM PST

ศาลจังหวัดปัตตานีพิพากษายกฟ้องสุกรี อาดำ กับพวกอีก 1 คดีฆ่าโหดตัดคอชาวบ้าน ส่วนจำเลยที่ 2 มีหลักฐานยืนยัน ตัดสินจำคุกตลอดชีวิต

เมื่อเวลาประมาณ  11.00 น.วันที่ 8 ธันวาคม 2554 ศาลจังหวัดปัตตานีนัดฟังคำพิพากษาคดีนายสุกรี อาดำกับพวกรวม 3 คน เป็นจำเลยร่วมกันคดีฆ่าตัดคอนายจวน ทองประคำ ชาวบ้านไทยพุทธ ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธ์ จังหวัดปัตตานี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2550 คดีหมายเลขดำที่ 832/2550 เหตุเกิดที่โรงสีข้าวไม่มีเลขที่ ในหมู่ 6 ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
 
คำพิพากษาระบุให้ยกฟ้องนายสุกรี กับนายอาหามัดซากี กียะ จำเลยที่ 1 และ 3 ส่วนนายมูหามะ แวกะจิ จำเลยที่ 2 ศาลสั่งจำคุกตลอดชีวิต
 
คำพิพากษาระบุสรุปว่า คดีนี้พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 3 คน ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2550 ในข้อหาร่วมกันก่อการร้าย ร่วมฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยทรมานโดยกระทำทารุณโหดร้าย ร่วมกันเป็นซ่องโจร มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และอาวุธมีด ติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยไม่มีเหตุสมควร ผลการพิจารณาคดีปรากฏว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 โจทก์ไม่สามารถนำสืบให้ปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้กระทำความผิดจริง จึงสั่งยกฟ้อง
 
คำพิพากษาระบุสรุปอีกว่า แต่เชื่อว่าจำเลยที่ 2 คือนายมูหามะ แวกะจิ กระทำความผิดจริง เนื่องจากมีพยานพบเห็นจำเลยดังกล่าว ขับขี่รถจักรยานยนต์ในพื้นที่ในวันที่เกิดเหตุ และยังพบเห็นว่า บรรทุกกระสอบสีขาวหม่นที่ถูกอ้างเป็นหลักฐานว่า บรรจุศีรษะของนายจวน แก้วทองประคำ ในวันเกิดเหตุ พยานยังยืนยันอีกว่า จำเลยดังกล่าวมีคราบข้าวเปลือกติดตามเสื้อของจำเลย จึงเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับคดีนี้
 
สำหรับคดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2550 โดยมีผู้พบศพนายจวน ในสภาพศพถูกแทงด้วยอาวุธมีคมจนถึงแก่ชีวิตและไม่มีศีรษะที่โรงสีข้าวไม่มีเลขที่ ในหมู่ 6 ตำบลนาประดู่ ต่อมาร้อยตำรวจตรีสุรจิต เพชรจอม พนักงานสืบสวนสอบสวน(สบ.1) สถานีตำรวจภูธรนาประดู่ สืบสวนจนทราบกลุ่มผู้ก่อเหตุคือนายสุกรี อาดำและพวก โดยนายสุกรี เป็นผู้ดูต้นทาง โดยก่อนเกิดเหตุกลุ่มผู้ก่อเหตุได้ร่วมประชุมวางแผนและแบ่งหน้าที่กันทำที่ห้องพักของนายสาการียา สาแม็ง
สำหรับจำเลยที่ 1 คือนายสุกรี อาดำ ขณะเกิดเหตุเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี คดีนี้จำเลยที่ 2 มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาภายในเวลา 30 วัน เช่นเดียวกับพนักงานอัยการที่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 และ 3 ภายใน 30 วันเช่นกัน
 
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น