ประชาไท | Prachatai3.info |
- ผู้ต้องหาคดียิงนายกฯอบจ.สมุทรสาครเข้ามอบตัวแล้ว
- ปราบดา หยุ่น: แสงไฟที่เราต้องรักษาไว้ด้วยกัน
- คัดค้านกรมอุทยานฯปลุกผี-ชงโครงการกระเช้าขึ้นภูกระดึง
- เวที ‘ปลุกพลังพลเมือง' ประกาศเจตนาทวงคืนสิทธิชุมชน
- 2555 ‘สามจังหวัดชายแดนภาคใต้’ เดินหน้าปฏิรูป
- ความพยายามทำรัฐประหาร 'ล้มเหลว' ในประเทศกินีบิเซา
- กวีตีนแดง: ผู้ไม่สูญเสียความกล้าหาญ
- รองโฆษก ปชป. อัด "นิติราษฎร์" ไม่ควรถือสัญชาติไทย
- นิธิ เอียวศรีวงศ์:นิติธรรมอีกที
- สมยศ พฤกษาเกษมสุข: แรงงานสร้างโลก
ผู้ต้องหาคดียิงนายกฯอบจ.สมุทรสาครเข้ามอบตัวแล้ว Posted: 27 Dec 2011 12:54 PM PST นายครรชิต ทับสุวรรณ ส.ส.สมุทรสาคร ผู้ต้องหาถูกหมายจับคดียิงนายกฯอบจ.สมุทรสาครเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนแล้ว โดยให้การภาคเสธ วอยซ์ทีวี รายงานวานนี้ (27 ธ.ค.) ว่านายครรชิต ทับสุวรรณ ส.ส.สมุทรสาคร พรรคประชาธิปัตย์ เดินทางเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ที่ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 7 จังหวัดนครปฐมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามหมายจับในคดียิงนายอุดร ไกรวัตนุสสรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาครเสียชีวิต เมื่อวันที่ 25 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยได้ติดต่อขอเข้ามอบตัวเมื่อวานนี้ และขอให้นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ เป็นทนายในการเข้ามอบตัว ภายหลังการเข้ามอบตัวนานประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที นายครรชิต ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกออกหมายจับ จึงปฏิเสธข้อกล่าวหา ส่วนที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เกิดจากความขัดแย้งระหว่าง 2 ตระกูลใหญ่ที่มีอิทธิพลในจังหวัดสมุทรสาครหรือไม่นั้น นายครรชิตปฏิเสธที่จะตอบคำถามนี้ โดยกล่าวเพียงว่า ชาวสมุทรสาครทราบเรื่องนี้ดี ด้านนายนิพิฎฐ์ ในฐานะทนายความ เปิดเผยว่า นายครรชิตคงจะใช้เอกสิทธิ ส.ส.คุ้มครอง เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างสมัยประชุม ซึ่งจะไปสิ้นสุดในช่วงเดือนเมษายน อย่างไรก็ตาม ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสภาจะเป็นผู้พิจารณา สำหรับรายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับคดี พลตำรวจเอกปานศิริ ประภาวัต รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนได้ตั้งข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยเบื้องต้น สันนิษฐานว่า เกิดจากความขัดแย้งส่วนตัว จึงให้ไปรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม โดยเฉพาะพยานบุคคลและพยานวัตถุในที่เกิดเหตุ พร้อมกับให้ความคุ้มครองพยาน ทุกคนและผู้ต้องหาด้วย ส่วนการตรวจสอบหัวกระสุนนั้น เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบอาวุธปืนที่นายครรชิตครอบครองแล้วพบว่าหัวกระสุนมีขนาด .40 เท่ากับปลอกกระสุนที่พบในที่เกิดเหตุ วอบซ์ทีวีรายงานด้วยว่าสำหรับบรรยากาศระหว่างการเข้ามอบตัวของนายครรชิตในวันนี้ มีการวางมาตรการรักษาความปลอดภัยกว่า 2 กองร้อย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษ สถานีตำรวจภูธรทั้ง 5 แห่ง โดยวางกำลังทั้งภายในและภายนอกอย่างแน่นหนา ขณะที่มีประชาชนกลุ่มเล็กๆ มายืนและส่งเสียงให้กำลังใจนายครรชิตตลอดเวลา สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ปราบดา หยุ่น: แสงไฟที่เราต้องรักษาไว้ด้วยกัน Posted: 27 Dec 2011 08:59 AM PST
แสงไฟที่เราต้องรักษาไว้ด้วยกัน ความสำคัญของเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออกในสังคมไทย และเหตุใดเราจึงมิอาจนิ่งเฉยอยู่กับที่เมื่อเสรีภาพดังกล่าวสั่นคลอน ปราบดา หยุ่น
0 0 0 “...อย่าหลงเชื่อไปว่าเราได้หลุดพ้นจากรอยบาป (ของการเข่นฆ่าผู้คิดต่าง) แม้กระทั่งของการข่มเหงโดยกฎหมาย การลงทัณฑ์ความคิดเห็น หรืออย่างน้อยก็การแสดงความคิดเห็น ยังคงมีอยู่ในทางนิตินัย; และการบังคับใช้ของมัน แม้กระทั่งในยุคสมัยนี้ ก็มิได้เกิดขึ้นน้อยครั้งเสียจนจะสามารถตายใจว่าสักวันหนึ่งการลงทัณฑ์เช่นนั้นจะไม่ถูกนำมาใช้อย่างหนักหน่วงสุดขั้วอีกครั้ง” จอห์น สจ๊วร์ต มิลล์, On Liberty, 1859
ในโลกมนุษย์ยุคต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด ดูเหมือนจะมีสังคมเพียงสองประเภทที่สมาชิกในสังคมสามารถถูกกฎหมายตัดสินจำขังเป็นเวลานานสองถึงยี่สิบปี ด้วยข้อหาส่งข้อความสั้นจากโทรศัพท์มือถือของคนคนหนึ่งไปยังโทรศัพท์มือถือของคนอีกคนหนึ่ง ด้วยข้อหาแปลความบางบทบางตอนจากหนังสือภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่งเพื่อเผยแพร่ในพื้นที่ออนไลน์ส่วนตัว และด้วยข้อหาแสดงความเห็นทางการเมืองของตนบนเวทีสาธารณะ สังคมสองประเภทที่ว่าคือ สังคมเผด็จการกับสังคมลัทธิ (cult) ที่คลั่งคลุ้มในความเชื่อเบ็ดเสร็จสำเร็จรูปโดยปราศจากการตั้งคำถาม และโดยมิแยแสต่อเหตุผล สิทธิมนุษยชน และความจริง สังคมเผด็จการกับสังคมลัทธิ อาจดูเหมือนมีความคล้ายคลึงคล้องเกี่ยวกันอยู่ไม่น้อย ทว่าจุดแข็งทางอำนาจของสังคมสองประเภทนั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิง สังคมเผด็จการ คือสังคมที่ปกครองโดยกำลัง โดยการบังคับข่มขู่ หรืออาจกล่าวรวมได้หลวมๆ ว่าเป็นการปกครองด้วย “ความกลัว” โดยคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่เห็นคนอื่นที่เหลือเป็นเพียงฝูงสัตว์ สมาชิกในสังคมเผด็จการอาจเต็มไปด้วยความอัดอั้นตันใจ และไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ ที่คุ้มค่ากับการต้องใช้ชีวิตอยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้นำทรราชย์กับสมุนถืออาวุธ ทว่าไม่มีทางเลือก ต้องดำรงอยู่ในกรอบขังนั้นด้วยความจำทน สังคมลัทธิมีคุณสมบัติแทบตรงกันข้าม สมาชิกส่วนใหญ่ในสังคมลัทธิต่างค่อนข้างสุขีปรีดา ซึ้งซาบในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและความมั่นคงกลมเกลียวของความเป็นสาวกภายใต้การปกครองของผู้นำ ซึ่งมักได้รับการยกชูอยู่สูงจนมีสถานะเหนือมนุษย์ หรือมีภาพลักษณ์เป็นวีรชนไร้ผู้เทียมทาน และตราบใดที่สถานการณ์ในสังคมลัทธิดำเนินราบรื่นตามสูตรสำเร็จ ที่ถูกสถาปนาขึ้นด้วยการอ้างอิงความเห็นชอบของผู้นำ หรืออุปโลกน์ว่าเป็นการทำเพื่อผู้นำ สมาชิกส่วนใหญ่ต่างอิ่มเอมภาคภูมิกับการได้เกิดมารับใช้และปกป้องลัทธิของตนโดยถ้วนหน้า และด้วยเชื่อมั่นว่าคำสอนของลัทธิคือสัจธรรมแห่งชีวิต สมาชิกทั้งหลายจึงมั่นใจว่า สิ่งที่ลัทธิสอนสั่งให้ตนเป็นและปฏิบัติคือ “ความถูกต้อง” คือ “ความดี” คือความ “มีศีลธรรม” กระทั่งถึงขั้นให้คุณสืบสานข้ามรุ่นไปยังชาติภพอื่น เมื่อมีสมาชิกหัวแข็ง ริอ่านแตกแถว คิดต่าง ตั้งคำถามสงสัย และหาญกล้าแสดงทีท่าผิดแผกไปจากข้อบังคับหรือความเชื่อของลัทธิ ทั้งในทางรุนแรงและนุ่มนวล ทั้งโดยตั้งใจและโดยไร้เดียงสา สาวกข้างมากมักเกิดอาการใจสั่น หวั่นหวาดว่าฐานความเชื่อของพวกตนจะถูกลบหลู่ดูแคลน กังวลวิตกว่าสมาชิก “กบฏ” ส่วนน้อยนั้นจะสร้างรอยร้าวและส่งผลให้เสาหลักของลัทธิล้มครืนลง ข้อกล่าวหาที่ดีที่สุดเท่าที่สาวกลัทธิจะนำมาใส่ร้ายข่มขู่ผู้คิดต่าง มักมีเพียงข้อกล่าวหาไร้น้ำหนักและปราศจากเหตุผล อาทิ ผู้คิดต่างเป็นคนเลวทรามเพราะตั้งคำถามกับผู้นำหรือกับความศรัทธาในตัวผู้นำผู้ประเสริฐ ผู้คิดต่างต้องการทำร้ายผู้นำหรือทำลายลัทธิเพราะคนหวังดีที่ไหนจะเสือกคิดต่าง การคิดต่างแปลว่าผู้คิดต่างเนรคุณต่อลัทธิซึ่งเปรียบเสมือนบ้านของผู้คิดต่าง ดังนั้นผู้คิดต่างจึงควรออกไปจากบ้านหรือปลดตัวเองออกจากลัทธิเสีย สาวกลัทธิผู้มีจิตใจเหี้ยมโหดมักมีความเห็นถึงขั้นที่ว่าผู้คิดต่างทั้งหลายสมควรถูกฆ่าล้างโคตร นอกจากนั้นยังมีการกีดกั้นขัดขวาง ประณามความเห็นหรือความช่วยเหลือจากคนนอก โดยประกาศว่าคนนอกไม่เข้าใจในพื้นฐานวัฒนธรรมอันลึกซึ้ง (ซึ่งไม่ต้องการตรรกะ) ของลัทธิตน ทั้งหมดนั้นล้วนมิใช่ “เหตุผล” ที่เกิดจากการคิด (ตามความหมายของการ “ใช้เหตุผล”) หากแต่เป็นเหตุผลที่เกิดจากการบังคับไม่ให้คิด ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแม้แต่น้อย เนื่องเพราะกฎข้อที่หนึ่งของการเป็นสมาชิกลัทธิคือ “ถอดสมองส่วนที่ใช้ตรรกะและเหตุผลทิ้งไปเสียก่อน” ตามด้วยกฎข้อที่สอง “กฎระเบียบและคำสอนของลัทธิย่อมถูกต้องหมดจด” และแม้ว่าสาวกลัทธิจะนิยมใช้ถ้อยคำขับไล่ไสส่งผู้คิดต่างให้ออกห่างไปจากลัทธิ ทว่าในทางปฏิบัติพวกเขาพอใจกับการคุมขัง ทำร้าย หรือบังคับข่มขู่ให้ผู้คิดต่างต้องถอนคำพูด กลับใจ หรือปิดปากไว้ด้วยความกลัวเสียมากกว่า เป็นที่รู้กันดีในหมู่ผู้มีประสบการณ์เข้าร่วมลัทธิ ว่าการสมัครเข้าเป็นสมาชิกเป็นเรื่องง่ายดาย ทว่าการลาออกหรือการปลดปล่อยตนเองจากสถานะของความเป็นสาวกนั้นเป็นเรื่องที่แทบต้องเอาชีวิต (ทั้งของตนเองและคนใกล้ชิด) เข้าแลก สังคมลัทธิทนไม่ได้ที่จะปล่อยให้ผู้คิดต่างลอยนวล ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างสังคมเผด็จการกับสังคมลัทธิ จึงอยู่ที่สถานภาพทางจิตใจของสมาชิกในสังคม สมาชิกในสังคมเผด็จการส่วนมากมีชีวิตอยู่อย่างจำยอม รอคอยการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบการปกครองที่เสรีกว่าอย่างลำบากยากไร้และไม่เห็นอนาคต ในขณะที่สมาชิกของสังคมลัทธิมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะถูกครอบงำ มิหนำซ้ำยังพากันเสนอตัวเป็นผู้ตรวจตราความเรียบร้อยในลัทธิอย่างบ้าคลั่งเสียเอง โดยมิต้องรับคำสั่งจากเบื้องบน นั่นหมายความว่า ปัญหาส่วนใหญ่ของสังคมเผด็จการอยู่ที่ตัวผู้นำ ในขณะที่ปัญหาสำคัญของสังคมลัทธิอยู่ที่ตัวสมาชิกเอง ทั้งสมาชิก “วงใน” ที่ได้ผลประโยชน์มหาศาลจากการบริหารลัทธิ และบรรดาสาวกคลั่งจัดที่หลับหูหลับตาศรัทธาลัทธิและพร้อมจะทำการกำจัดผู้เป็นกบฏ (หรือผู้ที่ถูกพวกเขากล่าวหาว่าเป็นกบฏ) ให้ราบคาบ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ความเกลียดชัง ความรุนแรง และความอัปรีย์ที่เกิดขึ้นในสังคมลัทธิจึงไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากการเห็นชอบหรือจากความประสงค์โดยตรงของผู้นำ บ่อยครั้งมันเกิดจากสาวกผู้เสนอหน้าแสดงความรัก ความภักดี และใช้ข้ออ้างอันปราศจากเหตุผลทั้งหลาย สร้างความชอบธรรมให้กับพฤติกรรมล่าแม่มดและการข่มขู่ผู้คิดต่างอย่างปลอดซึ่งจริยธรรมหรือความยุติธรรมใดๆ ในยุคสมัยนี้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี หรือเกาหลีเหนือ อาจเป็นตัวอย่างชัดเจนที่สุดของสังคมที่มีส่วนผสมของทั้งสังคมเผด็จการและสังคมลัทธิ (บูชาประธานาธิบดี คิม อิล ซุง ผู้มีสถานะเป็นประธานาธิบดี “ตลอดกาล” แม้ว่าเขาได้ตายไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537) ทว่าจากสภาวะที่ปรากฏชัดในสังคมไทยปัจจุบัน นอกจากกรณีการกล่าวหา ใส่ร้าย ข่มเหง ฟ้องร้อง และลงโทษผู้คิดต่างอย่างเกินเลยหนักหน่วง (ยังไม่นับว่าในบางกรณีผู้ถูกลงโทษอาจเป็นผู้บริสุทธิ์) ยังมีกรณีการเกิดรัฐประหารที่ขัดขวางการก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงมาหลายต่อหลายครั้ง นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 และยังคงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ จะมีก็เพียงผู้นิยมหลอกลวงตนเองอย่างล้ำลึก หรือสาวกคลั่งจัดในลัทธิ (ซึ่งในแง่หนึ่งก็คือคนประเภทเดียวกัน) เท่านั้นที่จะไม่สรุปว่าสังคมไทยก็มีคุณสมบัติที่มิเพียงละม้ายสังคมเผด็จการ มิเพียงคล้ายสังคมลัทธิ หากแต่ดูเหมือนจะมีส่วนผสมของสังคมทั้งสองประเภทอยู่อย่างกลมกลืนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม คงเกินเลยความจริงและไม่เป็นธรรมนัก หากจะวางสังคมไทยไว้บนแท่นฐานเดียวกันกับเกาหลีเหนือ อย่างน้อยจากภาพบนเปลือกภายนอก สังคมไทยยังคงเป็นสังคมเปิด ให้เสรีภาพในการใช้ชีวิตกับสมาชิกในสังคม มีการถ่ายเทและสานต่อทางปัญญากับนานาประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศเสรีนิยมที่มีความมั่นคงทางประชาธิปไตยและสนับสนุนสิทธิพื้นฐานทางความคิดและการแสดงออกของปัจเจกชนอย่างเข้มแข็งมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ สังคมไทยยังขึ้นชื่อในสากลโลกว่าเป็นประเทศที่มี “ความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง” (tolerance) มากที่สุดประเทศหนึ่ง จึงมิอาจกล่าวได้ว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่สมาชิกส่วนใหญ่ตกอยู่ในความหวาดกลัว ถูกปิดหูปิดตา หรือถูกกีดกันกดข่มมิให้ได้สัมผัสการคิดต่างและแนวทางเสรี สมาชิกในสังคมไทยส่วนใหญ่มีิอิสระในการเดินทางออกนอกประเทศ มีทางเลือกในการประกอบอาชีพ มีอิสระในการนับถือศาสนา มีโอกาสปรนเปรอตนเองด้วยความบันเทิงนานาชนิด (ทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย) ด้วยความสุขสบาย หรูหราฟุ่มเฟือย ได้ง่ายดายกว่าสมาชิกในสังคมอื่นหลายเท่า แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์บ่อยครั้งโดยปัญญาชนร่วมชาติว่าสังคมไทยเป็นสังคม “ปากว่า ตาขยิบ” หรือ “มือถือสาก ปากถือศีล” และแม้ว่าจะเป็นคำวิจารณ์ที่น่ารับฟังอยู่มากในหลายบริบท (แต่จะว่าไป สังคมไหนๆก็มีคุณสมบัติของความเสแสร้ง สร้างภาพ ตอแหล ผสมอยู่ทั้งนั้น) ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยใดก็ตาม สังคมไทยยังถือว่าห่างไกลจากการตกอยู่ภายใต้สภาวะขั้นวิกฤตของความเป็นสังคมเผด็จการและความเป็นสังคมลัทธิสุดโต่งอย่างไม่ต้องสงสัย เช่นนั้นแล้ว เหตุใดเมื่อมีการพูดถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ เหตุใดเมื่อมีการตัดสินลงโทษผู้ถูกกล่าวหาว่าลบหลู่ดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ เหตุใดเมื่อสมาชิกบางคนมีพฤติกรรมขัดแย้งกับธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวเนื่องกับสถาบันกษัตริย์ที่ “สังคม” เรียกร้องแกมบังคับให้ปฏิบัติ (ทั้งที่บางธรรมเนียมมิได้เป็นกฎหมายหรือระเบียบกำหนดอย่างเป็นทางการ) บรรยากาศและอารมณ์ของสังคมไทยจึงเคลื่อนเข้าใกล้เส้นขีดของความเป็นสังคมเผด็จการและสังคมลัทธิได้ทันทีอย่างน่าวิตก ความเป็นสังคม “อดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง” ดังที่ชาวโลกเยินยอสรรเสริญไว้ เหือดหายในพริบตา ปัญญาชนผู้ชาญฉลาด ได้รับการศึกษาขั้นสูงสุดจากประเทศโลกที่หนึ่ง กลับกลายเป็นผู้สนับสนุนโฆษณาชวนเชื่อและพิธีกรรมไร้ตรรกะโดยปราศจากยางอาย ศิลปินผู้ชื่นชม “การมองมุมกลับ” “การแหกคอก” “การคิดนอกกรอบ” ต่างแปรร่างเป็นนักอนุรักษ์นิยมผู้ปกป้องทัศนคติสำเร็จรูปใส่ผงชูรส นักสื่อสารมวลชนที่ดิ้นรนเรียกร้องเสรีภาพสื่อ ต่างเอาหูฟังไปนา เอาตากล้องไปไร่ มิกล้าเปิดพื้นที่ให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกริดรอนเสรีภาพและผู้ถูกกลั่นแกล้งรังแก ครูบาอาจารย์ นายแพทย์ พระสงฆ์ผู้พร่ำเทศนาวิถีแห่งพุทธอันเปี่ยมด้วยเมตตา กรุณา ต่างกลายเป็นกระบอกเสียงให้กับสาวกวงในของลัทธิ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม กระทั่งทนายและผู้พิพากษาซึ่งเป็นความหวังสุดท้ายทางกฎหมายของประชาชน ต่างตัดสินใจแทบเป็นเสียงเดียวกันว่าการปกป้องตรรกะผิดเพี้ยนสำคัญกว่าการรักษาความยุติธรรม หากความ “เป็นคนไทย” คือการอยู่ในศีลธรรมอันดี รักสามัคคี มีความโอบอ้อมอารี ดังที่ป่าวประกาศกันอยู่ทุกเช้าค่ำ เมื่อมีการพูดถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา กลับดูเหมือนว่าประเทศนี้จะมี “คนไทย” อาศัยอยู่ไม่มากเท่าไรเลย เหตุใดความเป็น “สังคมอารมณ์ดี” เป็น “สังคมใจกว้าง” เป็น “สังคมไม่เป็นไร” ของไทย จึงบอบบางและผันปรวนได้ง่ายดายเพียงนั้น หากคำตอบคือ “ความรัก” ย่อมเป็นเรื่องวิปริตพิสดารไม่น้อยที่ความรักกลับบันดาลให้แผ่นดินไทยเจิ่งนองไปด้วยอุทกภัยแห่ง “ความเกลียดชัง” หลากล้นท่วมท้นหนทางแห่งเหตุผลจนไม่มีใครเอาอยู่เช่นนี้ หากยังสามารถสันนิษฐานด้วยความหวังว่าสังคมไทยไม่สุดขั้วในความเป็นเผด็จการและเป็นสังคมลัทธิเทียบเท่าเกาหลีเหนือ เหตุผลที่มีความเป็นไปได้ที่สุดข้อหนึ่ง คือสมาชิกในสังคมบางส่วนยังไม่เข้าใจความสำคัญและบทบาทของเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก (freedom of speech) ที่แท้จริงดีพอ ยังไม่รู้ซึ้งว่าอิสรภาพในการเลือก ในการใช้ชีวิต ในการดำรงสถานะของความเป็น “ปัจเจกชน” ในสังคม เป็นอิสรภาพที่งอกเงยขึ้นจากรากแห่งเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกทั้งสิ้น คุณสมบัติที่น่ายินดีที่สุดของมนุษยชาติไม่ใช่การสามารถก้าวขึ้นสู่สถานะของสัตว์ผู้ครองโลก แต่คือการสามารถก้าวขึ้นสู่สถานะของสัตว์ผู้รู้จักเรียนรู้จนมีเหตุผลเพียงพอที่จะหาหนทางอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างทางความคิดอย่างเป็นธรรมและสันติ ประเทศที่ขึ้นชื่อว่า “เจริญแล้ว” มิได้เจริญเพราะก้าวหน้าทางวัตถุเท่านั้น ตรงกันข้าม การใช้เหตุผล การยอมรับในตรรกะ การให้ความสำคัญกับการมองโลกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ การเข้าใจว่าความแตกต่างหลากหลายคือธรรมชาติของโลกและสังคมมนุษย์ (ประชาธิปไตยจึงเป็นระบอบที่เปิดโอกาสให้มนุษย์แสดงออกตาม “ธรรมชาติ” ของตนได้มากที่สุดโดยไม่ต้องรบราฆ่าฟันกัน) คือความ “เจริญ” ทางปัญญา ที่เอื้อให้เกิดความเจริญทางวัตถุและการพัฒนาด้านอื่นๆตามมาอีกมากมาย ในขณะที่การปิดปาก การเซ็นเซอร์ การบังคับข่มขู่ให้อยู่ในกรอบกำหนดกักขัง คือต้นเหตุสำคัญของความหยุดนิ่ง ความล้าหลัง ความแร้นแค้น จนอาจเลยเถิดถึงการล่มสลายของสังคม แสงสว่างจากไฟฟ้าจะไม่สามารถเกิดขึ้น ไม่สามารถได้รับการแพร่กระจายแจกจ่ายความสะดวกสบายกับมนุษย์ไปทั่วทุกมุมโลก หากผู้คิดประดิษฐ์มันไม่ได้รับการคุ้มครองจากแสงสว่างทางปัญญาที่มาพร้อมกับเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก แสงไฟแห่งเหตุผลจึงมีความสำคัญต่อมนุษย์ยิ่งกว่าแสงไฟสังเคราะห์ แสงไฟแห่งปัญญาจึงเป็นแสงไฟดวงสำคัญที่เราจำเป็นต้องยึดมั่นหมั่นดูแลรักษามิให้มอดดับ หากเรายังต้องการดำรงชีวิตร่วมกันอย่างสงบและเสรี กลียุคจะเกิดขึ้นจริงก็ต่อเมื่อเสรีภาพของการไม่เชื่อในกลียุคถูกริดรอนไปเท่านั้น ตราบใดที่แสงไฟแห่งเหตุผลยังคงมีช่องทางส่องสว่าง ความหวังที่สังคมจะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆนานาไปได้ย่อมยังเรืองรองอยู่เสมอ สมาชิกในสังคมผู้สามารถถือตนเป็น “ปัจเจกชน” อยู่ได้ทุกวันนี้ ล้วนเป็นหนี้บุญคุณบรรพบุรุษที่ต่อสู้โดยเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก นับตั้งแต่การต่อสู้กับทรราชย์ กับอำนาจปกครองของศาสนา กับสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับเผด็จการทหาร กับทรราชย์ในคราบสังคมนิยม พวกเขาคือสถาปนิก วิศวกร และช่างก่อสร้างตัวจริงของ “บ้าน” เสรี หลังที่เราใช้พำนักพักพิงโดยไม่ต้องสำนึกว่าความเป็นปัจเจกคือความหรูหราฟุ่มเฟือยของสังคมมนุษย์ยุคสมัยใหม่ที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากมิใช่เพราะการเสียสละและการสังเวยตนของบรรพบุรุษ บรรพบุรุษที่ว่านั้นไม่จำกัดเฉพาะ “บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ” หากคือบรรพบุรุษของโลก ต่างยุคต่างสมัย ต่างภูมิประเทศ ต่างยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ การออกแบบ และการก่อสร้าง แสงไฟในบ้านหลังนี้จึงใช้เวลาไม่น้อย ใช้สมองไม่น้อย ใช้ความกล้าบ้าบิ่นไม่น้อย และใช้เลือดใช้เนื้อไม่น้อย กว่าที่มันจะทำงานส่องสว่างอย่างค่อนข้างเสถียร ให้เราได้ประโยชน์จากมันอย่างเป็น “ปัจเจก” ในห้องเล็กๆส่วนตัวของเราเอง ท่ามกลางธรรมชาติดิบเปลือย การเป็นปัจเจกอย่างปลอดภัยและสุขสบายมิอาจเกิดขึ้นได้ในสังคมมนุษย์ โดยเฉพาะในสังคมก่อนสมัยใหม่ ผู้ใดประสงค์จะอยู่อย่างเป็นปัจเจกถือเป็นสมาชิกนอกคอก นอกรีต ผิดเพี้ยน และหากยืนยันจะอยู่อย่างปัจเจกจริง ก็จำต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้อย่างเรียบง่ายสมถะในสภาพแวดล้อมที่ไร้ความปราณีต่อการอยู่อย่างสันโดษ กาลเวลาได้ดำเนินมาถึงช่วงกลับตาลปัตร เมื่อการเป็นปัจเจกชนคือความปลอดภัย ความสงบ สบาย ไร้รอยด่าง และการแสดงออกร่วมกันทางสังคมกลายเป็นกิจกรรมของนักเคลื่อนไหว น่ารำคาญ ชวนตั้งข้อสงสัยว่ามีนัยยะแฝง เสี่ยงต่อการถูกใช้ “เป็นเครื่องมือทางการเมือง” ถูกกล่าวหาว่าเป็นกิจกรรมของคนสร้างภาพ เรียกร้องความสนใจ อยากเท่ หรือกระทั่งจิตวิปลาส ถึงกระนั้น ความเป็นปัจเจกก็จะมิอาจดำรงอยู่อย่างถาวร หากรากฐานของมันมีโอกาสถูกสั่นคลอนได้เสมอ เสรีภาพในการใช้ชีวิตของปัจเจกชนจะมืดหม่น หากแสงไฟแห่งเหตุผลถูกละเลยและได้รับการยินยอมให้ถูกกลบดับโดยอำนาจเผด็จการและระบบลัทธิ สมาชิกในสังคมผู้ยังมีสติ ยังมีความหวัง และยังเชื่อมั่นว่าสังคมของตนมิใช่เผด็จการ มิใช่ลัทธิ จึงจำเป็นต้องสละความปลอดภัยและความสงบสบายในห้องส่วนตัวชั่วครู่ เพื่อแสดงเจตจำนงว่าจะปกปักรักษาแสงไฟแห่งปัญญา แสงไฟแห่งเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกที่มีค่าทว่าเปราะบางดวงนี้ไว้ด้วยกัน หากสังคมจำเป็นต้องสร้างสะพานอย่างเป็นรูปธรรม การกล่าวว่าเห็นด้วยกับการสร้างสะพาน แต่ขอเก็บตัวอยู่ในห้องเพื่อสร้างสะพาน “ด้วยวิถีทางของตนเอง” จึงเป็นการแสดงออกอย่างผิดเพี้ยนในเชิงตรรกะ โดยสมาชิกผู้ไม่เข้าใจในความหมายของวาระสำนึกทางสังคม ปัจเจกนิยมสร้างสะพานขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมไม่ได้ สะพานต้องถูกสร้างขึ้นด้วยการร่วมแรงร่วมใจ ลงไม้ร่วมมือ ด้วยการพักวางเรื่องส่วนตัวและเว้นวรรคจากความขัดแย้งเล็กๆน้อยๆหรืออคติระหว่างกันชั่วขณะ จนกระทั่งสะพานเสร็จสำเร็จสมบูรณ์เสียก่อน ปัจเจกนิยมจึงจะสามารถหวนคืนฟื้นฟู และปัจเจกชนทั้งหลายจึงจะสามารถกลับคืนสู่ห้องหับของตนเพื่อเสพแสงไฟแห่งเสรีภาพในมายาของความไม่เกี่ยวดองข้องกันทางสังคมและการเมืองได้ดังเดิม สมาชิกบางส่วนในสังคมไทยผู้จดจ้องจะกลบดับแสงไฟแห่งปัญญาและเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก คือกลุ่มคนผู้หวังร้ายต่อสังคมและอนาคตของชาติที่แท้จริง พวกเขาก่อตั้งขบวนการให้ร้ายหมายหัวสมาชิกผู้คิดต่าง อ้างว่าความคิดต่างเห็นต่างคือความต้องการโค่นล้มสถาบันกษัตริย์และระบอบการปกครองของชาติ นำพลังแห่งรักและศรัทธาของสมาชิกจำนวนมากในสังคมมาใช้เป็นเหตุผลและเครื่องมือในการข่มเหงรังแกผู้คิดต่าง บิดเบือนความจริงและข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์ด้วยสื่อชวนเชื่อและวาทกรรมซ้ำซากที่พยายามฉุดลากความเห็นต่างให้ตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ของความเป็นขบถ เป็นผู้เนรคุณ เป็นคนชั่วช้า เป็นขี้ข้านักการเมือง หากสมาชิกส่วนใหญ่ในสังคมเชื่อมั่นว่าสังคมไทยไม่ใช่สังคมเผด็จการ ไม่ใช่สังคมลัทธิที่ิมืดบอดทางเหตุผล ทว่าเป็นสังคมเสรีที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และหากความ “เป็นคนไทย” จะเป็นสถานะที่น่าภาคภูมิใจในสากลโลกโดยแท้จริง ถึงเวลาแล้วที่แสงไฟแห่งเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกที่มักถูกหรี่ดับลง ต้องได้รับการกอบกู้ให้หลุดพ้นจากกำมือของกลุ่มคนผู้เป็นปรปักษ์ต่อปัญญาและความก้าวหน้าของสังคม สังคมที่ได้รับการปกครองโดยธรรมไม่มีความจำเป็นต้องหวาดกลัวความจริง ไม่ต้องกักขังผู้เห็นต่าง ไม่ต้องใช้คำว่า “กบฏ” ปรักปรำสมาชิกด้วยกัน การมอบเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกอย่างหมดจดให้กับสังคมคือบทพิสูจน์ที่จะสะท้อนภาพได้แจ่มชัดที่สุดว่า ตัวตนที่แท้ของสังคมนี้เป็นเช่นไร หากสมาชิกในสังคมกล้ายืนยันว่าสังคมไทยไม่ใช่สังคมเผด็จการ ไม่ใช่สังคมลัทธิ วิธีพิสูจน์ที่จะปราศจากข้อกังขาโดยสิ้นเชิง คือต้องปรับระดับแสงไฟแห่งเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกให้เจิดจำรัสถึงขีดสุด ความถูกต้องที่แท้ย่อมกล้าปรากฏตัวในที่แจ้ง ความจริงที่แท้ย่อมกล้าสบตากับแสงไฟ หากสมาชิกในสังคมร่วมแรงร่วมใจรักษาแสงไฟแห่งเหตุผลและปัญญาดวงสำคัญดวงนั้นไว้ด้วยกัน สังคมไทยก็ยังมีหวังที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
คัดค้านกรมอุทยานฯปลุกผี-ชงโครงการกระเช้าขึ้นภูกระดึง Posted: 27 Dec 2011 08:02 AM PST ตามที่นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ขอคัดค้านโครงการดังกล่าวอย่ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนิ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เวที ‘ปลุกพลังพลเมือง' ประกาศเจตนาทวงคืนสิทธิชุมชน Posted: 27 Dec 2011 07:51 AM PST
มสช. เปิดเวที ‘ปลุกพลังพลเมืองปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด’ แกนนำภาคประชาชนและนักวิชาการทั่วประเทศกว่า 200 คนร่วมถกหาทางออกเพื่อต่อสู้กับชะตากรรมซ้ำซากของประชาชน พร้อมเชื่อมร้อยเครือข่ายไขปัญหาคุกคามสิทธิชุมชน ปลุกพลังความเชื่อมั่นสร้างความเข้มแข็ง เน้นครอบคลุมทุกปัญหาสู่การมีส่วนร่วมพัฒนาท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 54 ที่โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และเครือข่าย ร่วมกันจัดเวทีปลุกพลังพลเมืองปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด โดยมีแกนนำภาคประชาชนและนักสิทธิชุมชนจาก 32 ชุมชนทั่วประเทศ พร้อมนักวิชาการเข้ารวมกว่า 200 คน เข้าร่วมเวที เพื่อระดมความคิดและร่วมกันหาทางขับเคลื่อนจากสภาพปัญหาที่ดำรงอยู่ ว่าพลเมืองจะร่วมกันอย่างไร แก้ปัญหาชุมชนไทยที่ได้รับผลกระทบจากการคุกคามสิทธิชุมชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรม ธุรกิจเหมือง และแผนพัฒนาที่ขาดการมีส่วนร่วม ซึ่งที่ผ่านมานอกจากแนวโน้มการคุกคามสิทธิชุมชนจะรุนแรงขึ้นแล้ว ยังมีการกระทำรุนแรงและเกิดความสูญเสียในหมู่ภาคประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง นายสุทธิ อัชฌาศัย เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก หนึ่งในผู้เข้าร่วมเวที เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาประชาชนเผชิญปัญหาจากการหยิบยื่นความคิดของภาครัฐที่จะเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ในต่างกรรมต่างวาระ แต่สิ่งที่เป็นอยู่แม้จะต่างเวลาก็ตามแต่ ผลกระทบและชะตากรรมของแต่ละชุมชนก็ไม่แตกต่างกัน และเกิดขั้นในทุกหย่อมหญ้าไปแล้ว ดังนั้น การที่แต่ละพื้นที่เกิดการเชื่อมร้อยกันก็จะเห็นมิติในการผลักดันเชิงนโยบายซึ่งเป็นรูปธรรม รวมถึงการผลักดันกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนจากภาครัฐในแต่ละภูมิภาคในรูปแบบที่เป็นจริงมากกว่าแค่การเชิญไปร่วมรับฟัง นั่นหมายถึงว่าเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมที่ให้คนพื้นที่ได้มีโอกาสตัดสินใจ ทั้งนี้ ไม่ใช่การผูกขาดแต่ในพื้นที่ แต่ยังหมายรวมถึงประเด็นในเชิงนโยบายสาธารณะมากขึ้น ซึ่งนับเป็นประเด็นร่วมกันของทุกพื้นที่ในการพยายามสะท้อนให้รัฐบาลคิดทบทวนและคิดเครื่องมือที่ตรงกับสภาพพื้นที่จริง จึงจะทำให้การพัฒนาพื้นที่นั้นเดินไปข้างหน้าได้อย่างลงตัวกับทุกภาคส่วน “อีกหนึ่งประเด็นสำคัญของการเปิดเวทีนี้คือการแลกเปลี่ยนสถานการณ์ของปัญหาในแต่ละพื้นที่ในคราวเดียวกัน เนื่องจากทุกคนต่างแบกปัญหาต่างๆ นาๆ มาด้วย และครอบคลุมในทุกปัญหา ไม่ว่าจะเป็นนิคม เขื่อน ขยะล้น หรือเหมืองแร่ก็ตาม แต่ละโครงการพัฒนาทั้งหลายจากรัฐเต็มไปด้วยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมาก แล้วยังจะกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่นำมาสู่การพูดคุยกัน” นายสุทธิกล่าว ทั้งนี้ จากข้อมูลของโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม พบว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีแกนนำภาคประชาชนถูกยิงหรือทำร้ายจนเสียชีวิตถึง 20 ราย เฉลี่ยปีละ 2 ราย และมีจำนวนมากที่ถูกฝ่ายทุนหรือรัฐฟ้องเป็นคดีความ บางกรณีถูกจับกุมคุมขังระหว่างดำเนินคดี โดยล่าสุด เมื่อเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา นางจินตนา แก้วขาว แกนนำเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด ถูกศาลสั่งจำคุก 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนและหลายฝ่ายเกิดความตื่นตัว หาทางที่จะผลักดันแนวทางที่ทำให้นักต่อสู้ด้านสิทธิชุมชน ได้รับการคุ้มครอง ในการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนตามรับธรรมนูญ นางจินตนา เปิดใจว่า ปัญหาของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่าง การดำเนินวิถีแห่งการต่อสู้จึงแตกต่างตาม การเชื่อมร้อยเครือข่ายจะช่วยสร้างความเข็มแข็งของการต่อสู้เพื่อสิทธิได้ เช่น หากสถานการณ์ในพื้นที่ใดส่อเค้าความรุนแรง เครือข่ายประชาชนจากต่างพื้นที่ก็สามารถเคลื่อนไหวแสดงพลังได้แม้จะต่างที่ต่างถิ่น “สิ่งที่ต้องเรียกร้องด่วนในนาทีนี้คือการผลักดันให้มีศาลสิ่งแวดล้อมในกระบวนการยุติธรรมที่จะช่วยให้ความเป็นธรรมกับคดีที่สืบเนื่องจากสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ ขณะนี้พี่น้องประชาชนที่ต่อสู้กับสิทธิชุมชนต้องต่อสู้คดีอาญาไปด้วยในเวลาเดียวกัน แล้วยังต้องต่อสู้เสี่ยงกับลูกปืน ณ วันนี้ถึงเวลาหรือยังที่จะมีศาลสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นในประเทศไทย” นางจินตนากล่าว ทางด้านนายทิวา แตงอ่อน กลุ่มอนุรักษ์บ่อวิน กล่าวว่า การเชื่อมร้อยเครือข่ายในวันนี้ พี่น้องประชาชนชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ขอกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง ด้วยมองว่าการที่ทุกเครือข่ายลุกขึ้นมารวมตัวกันนั้นเพราะไม่เห็นด้วยกับการถูกนายทุนและรัฐกำหนดชะตา แต่ต้องการกำหนดวิถีชีวิตของตัวเองอย่างชัดเจน นอกจากนี้ นายทิวายังได้กล่าวถึงความคาดหวังจากเวทีนี้ว่า ต้องการเห็นความเข้มแข็งของประชาชนและการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การต่อสู้ให้เข้มข้นโดยไม่ขัดต่อกฎหมายด้วย ทั้งนี้ เวทีปลุกพลังพลเมืองปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด ได้มีการบรรยายพิเศษเรื่องภัยพิบัติจากการพัฒนาและการคุกคามสิทธิชุมชน การเสวนาสภาพปัญหานิคมอุตสาหกรรมไทย ภัยคุกคามจากเหมืองแร่ และปัญหาแผนการพัฒนาขนาดใหญ่ โดยแกนนำภาคประชาชนและตัวแทนสื่อพลเมืองผลัดกันหยิบยกแง่คิดและประสบการณ์ในพื้นที่ของตนมาหารือร่วมกัน นอกจากนี้ ยังมีการปาฐกถาพิเศษ เรื่องพลังพลเมืองทางรอดของประเทศ โดย นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ กรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ รวมทั้ง มีพิธีกรรมเสริมพลังพลเมือง อันเป็นพิธีกรรมในวิถีชุมชนท้องถิ่น ตามฐานความเชื่อและศรัทธาว่าผู้เข้าร่วมจะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นส่วนหนึ่งของการปลุกพลังความเชื่อมั่น และความมุ่งมั่น ให้กับเครือข่ายภาคประชาชนที่เป็นเพียงชาวบ้านแต่ต้องต่อสู้กับอำนาจทุนและความฉ้อฉลและอ่อนแอของกลไกภาครัฐ ในตอนท้ายชาวบ้านได้ร่วมกันปิดเวทีด้วยการประกาศเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนเพื่อทวงคืนสิทธิชุมชนทั่วประเทศและปกป้องชุมชนอื่นที่กำลังจะถูกรุกราน เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสุขภาวะ ไม่ถูกทำลายไปมากกว่าที่เป็นอยู่ ก่อนแยกย้ายกันไปพร้อมพกพาพลังในการต่อสู้ในแต่ละถิ่นฐานบ้านเกิดของตน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
2555 ‘สามจังหวัดชายแดนภาคใต้’ เดินหน้าปฏิรูป Posted: 27 Dec 2011 07:43 AM PST
ปิดฉากปี 2554 ชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็พบกับงานใหญ่ในแทบจะทันที เนื่องเพราะส่งท้ายปีเก่า 2554 ได้ไม่กี่วัน พอถึงวันที่ 4–5 มกราคม 2555 ก็จะมีการระดมพลคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากถึง 1,000 คน มาร่วมงาน “สมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ด้วยจำนวนคนมากมายขนาดนี้ จึงไม่แปลกที่งานนี้จะใช้งบประมาณสูงถึง 1 ล้านบาท คำถามก็คือว่า คนจำนวนนี้มาจากไหนกัน เมื่อดูถึงกลุ่มเป้าหมายที่ผู้จัดงานวางไว้ก็พบว่า ประกอบด้วย กลุ่มคนทำงานภาคประชาสังคมใน 3 จังหวัด กลุ่มผู้ได้รับการเยียวยาและครอบครัว กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และกลุ่มนักศึกษา นับว่าครอบคลุมกลุ่มคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกกลุ่ม ประเด็นหลักในการระดมพลคราวนี้ ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” เนื้อหาของงานมีอยู่ 5 ประเด็นหลักๆ ประเด็นแรก รำลึก 8 ปีไฟใต้ ประเด็นต่อมา สำรวจทบทวนกระบวนการช่วยเหลือเยียวยาผู้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงหลายฉบับในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548 และปัญหาการใช้ที่ดินและทรัพยากร ประเด็นที่สาม ร่วมกันประกาศข้อเสนอเชิงนโยบาย ให้ยกเลิกการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548 ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเด็นที่สี่ ประกาศปฏิญญาเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคมชายแดนใต้ “การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจเพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเลื่อมล้ำ” ภายใต้กระบวนการสมัชชาปฏิรูป ประเด็นที่ห้า เป็นการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนทั่วประเทศ ในส่วนของรูปแบบ เริ่มต้นวันแรก วันที่ 4 มกราคม 2554 เปิดด้วยการรำลึก 8 ปีไฟใต้ ผ่านการแสดงโหมโรง ในรูปของละครและการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ตามด้วยปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” โดยนายแพทย์ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป จากนั้นเข้าสู่กระบวนการ “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” ผ่านเสียงสะท้อนความรู้สึกจากผู้ได้รับผลกระทบต่อการได้รับการเยียวยา และบอกเล่าผลการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยลม้าย มานะการ และอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ต่อด้วยการประกาศข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการใช้กฎหมายพิเศษ และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548 จากสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ปิดท้ายวันแรกด้วยคำถาม เราคิดอย่างไรกับการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงหลากหลายฉบับในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านเวทีอภิปรายที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ไล่มาตั้งแต่พรเพ็ญ คงสกุลเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม อนุกูล อาแวปูเต๊ะ จากศูนย์ทนายความมุสลิม และตัวแทนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มีนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ประธานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย เริ่มต้นวันที่สอง วันที่ 5 มกราคม 2554 ด้วยปาฐกถาพิเศษ “สิทธิเสรีภาพของประชาชนในศาสนาอิสลาม” โดยดร.อิสมาแอลลุตฟี จะปะกียา ต่อด้วยการแสดงอานาซีดกอมปัง เข้าสู่เนื้อหาการปฏิรูป ด้วยวีดีทัศน์ “ทำไมต้องกระจายอำนาจ” ตามด้วยการนำเสนอรูปแบบการกระจายอำนาจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี จากนั้นเป็นการอภิปรายเรื่อง “ทางเลือกการกระจายอำนาจในรูปแบบพิเศษจังหวัดชายแดนใต้: มุมมองที่หลากหลาย” ผู้อภิปรายประกอบด้วย พงศ์โพยม วาศภูติ อดีตปลัดกระทรวงมาหดไทย สวิง ตัยอุด ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการทางสังคม ผศ.ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ นายกสมาคมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม จากภาคประชาสังคมชายแดนใต้ มีอาจารย์ฮาฟิส สาและ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย ปิดท้ายด้วยการประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ จากนั้นตลอดปี 2555 กระบวนการปฏิรูป ก็จะเคลื่อนพลลงสู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านการจัดเวทีระดมความเห็นจากชาวบ้านจำนวน 200 เวที ครอบคลุมทุกพื้นที่ และทุกกลุ่มคน ความคิดความเห็นที่ได้ทั้งหมด จะถูกนำมาประมวลวิเคราะห์และสังเคราะห์ จัดทำเป็นข้อเสนอแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเป็นข้อเสนอที่จะถูกระดมขึ้นมาจากเสียงของคนในพื้นที่แท้ๆ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ความพยายามทำรัฐประหาร 'ล้มเหลว' ในประเทศกินีบิเซา Posted: 27 Dec 2011 07:38 AM PST มีการพยายามทำรัฐประหารอีกครั้งในประเทศ กินีบิเซา ประเทศยากจนในแอฟริกา ที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและขาดเสถียรภาพทางการเมือง แต่ความพยายามในครั้งนี้ล้มเหลวเนื่องจากผู้นำทหารกลุ่มปฏิวัติถูกจับตัวได้เสียก่อน 26 ธ.ค. 2011 - สำนักข่าวอัลจาซีร่ารายงานว่า ในขณะที่ประธานาธิบดีของประเทศกินีบิเซา ประเทศในแถบแอฟริกาตะวันตกเดินทางออกไปรักษาตัวที่ต่างประเทศ ก็มีเจ้าหน้าที่ทหารพยายามก่อรัฐประหารแต่ไม่สำเร็จ ในช่วงวันจันทร์ (26) ที่ผ่านมามีการปะทะกันระหว่าง 2 ฝ่าย ในกองทัพของกินีบิเซา จนทำให้นายกรัฐมนตรีต้องหนีไปอยู่ในสถานเอกอัครราชทูต ผู้พักอาศัยย่านที่เกิดเหคุบอกว่าพวกเขาได้ยินเสียงปืนกลและเสียงอาวุธยิงจรวดจากฐานทัพซานต้าลูเซีย ในกรุงบิเซา แต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ทูตของกินีบิเซาบอกว่า เหตุรุนแรงในครั้งนี้เป็นความขัดแย้งกันระหว่างเสนาธิการทหารบก กับผู้นำกองทัพเรือ ทางเสนาธิการทหารบกให้กล่าวแถลงข่าวในวันจันทร์ (26) ที่ผ่านมาว่า ทางกองทัพและรัฐบาลนายกฯ คาร์ลอส โกเมส จูเนียร์ ควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้แล้ว แหล่งข่าวด้านความมั่นคงของกินีบิเชาบอกว่าการปะทะเกิดขึ้นหลังจากที่มีข่าวว่า เสนาธิการทหารบกถูกจับตัวโดยคำสั่งจากผู้นำกองทัพเรือ แต่ต่อมาก็มีการปล่อยตัว อันโตนิโอ อินด์ไจ เสนาธิการกองทัพบกกล่าวว่า เขาได้ควบคุมตัว นาชูโต บูโบ ผู้นำกองทัพเรือเอาไว้แล้วในฐานะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ แต่นาชูโตก็ปฏิเสธว่าเขาไม่ได้เป็นผู้สั่งให้จับตัวเสนาธิการทหารบก "ตลอดหนึ่งสัปดาห์มาจนถึงตอนนี้ ผมค้างคืนที่บ้านมาโดยตลอด ไมได้ค้างที่ค่ายทหาร ผมได้รับรายงานสถานการณ์เช่นกัน ผมไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น" นาชูโตบอกกับผู้สื่อข่าว ประธานาธิบดีของกินีบิเชา มาลาม บาไค ได้เดินทางไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในกรุงปารีสตั้งแต่เดือน พ.ย. ที่ผ่านมา แต่กระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศสก็ปฏิเสธจะบอกว่าเขายังอยู่ในประเทศฝรั่งเศสหรือไม่ รัฐประหารมายาวนานตั้งแต่อดีต อดีตประธานาธิบดีของประเทศ โจอาว เบอนาโด "นีโน่" วีเอร่า ถูกสังหารเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2009 หลายชั่วโมงถัดมาหลังจากที่ผู้นำกองทัพถูกสังหารโดยวัตถุระเบิด อีกไม่ถึงปีถัดมา กลุ่มทหารกบฏก็จับตัวผู้นำกองทัพ และบังคับกักบริเวณนายกรัฐมนตรีอยู่ภายในบ้าน ซึ่งเป็นการพยายามทำรัฐประหารอย่างชัดเจน พวกมาเฟียค้ายาเสพติดจากต่างประเทศก็ฉวยโอกาสที่รัฐบาลอ่อนแอและเต็มไปด้วยการฉ้อโกง ทำให้ประเทศกินีบิเชากลายเป็นจุดส่งผ่านสินค้ายาเสพติดจำพวกโคเคนจากละตินอเมริกาไปยังยุโรป โดยที่จริงๆ แล้วกินีบิเชาก็มีสินค้าส่งออกที่ถูกกฏหมายอย่างมะม่วงหิมพาน ประเทศกินีบิเชา ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งเป็นประมุขแห่งรัฐ ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี ไม่มีข้อจำกัดวาระของการดำรงตำแหน่ง ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน เม.ย. ปี 2010 ก็เคยมีการพยายามทำรัฐประหารโดยในครั้งนั้น นาชูโต บูโบ ซึ่งยังดำรงตำแหน่งเป็นพลเรือเอก ร่วมมือกับอันโตนิโอ อินด์ไจ ซึ่งในตอนนั้นดำรงตำแหน่งรองเสนาธิการ โดยมีการควบคุมตัวนายกฯ คาร์ลอส โกเมส จูเนียร์ไว้ เมื่อมีประชาชนหลายร้อยคนออกมาเดินขบวนตามท้องถนนเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายกฯ อันโตนิโอ อินด์ไจ ก็ขู่ว่าถ้าหากประชาชนยังไม่เลิกชุมนุม เขาจะสังหารนายกฯ คาร์ลอส ประเทศกินีบิเซาอยู่ในระดับรั้งท้ายในด้านเศรษฐกิจและดัชนีชี้วัดด้านสุขภาวะ ประชาชนส่วนใหญ่อยู่โดยไม่มีไฟฟ้าหรือระบบประปา คนหนุ่มสาวหางานทำยาก และอายุโดยเฉลี่ยของประชากรมีอยู่แค่ 46 ปี ที่มา ข้อมูลประกอบจาก สาธารณรัฐกินีชิเซา : เว็บไซต์ไทยแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
กวีตีนแดง: ผู้ไม่สูญเสียความกล้าหาญ Posted: 27 Dec 2011 07:33 AM PST
สู้เถิดพี่, แม้ถนนสายนี้ปวดร้าวนัก นี่คือทุกข์คือยาก คือความแน่นหนักของนักต่อสู้ อุทิศอิสรภาพ แลกความล้มเหลวของศัตรู คือหินถมทางพาเราเดินสู่ ดวงแสงแห่งเสรี
สู้เถิดพี่, ราชอาณาจักรนี้ไม่มีทางออก สู้ให้คนจนตรอก ทั้งไพร่ขี้ครอกได้มีศักดิ์ศรี ขมขื่นกลืนลงคอ อยู่เพื่อรอความหวังที่มี ปักหมุดลงถนนนี้ ว่าไม่อาจประนีประนอม
สู้เถิดพี่, แม้เหนื่อยมีมาพอแรง เมื่อดอกไม้ต้องแสง ภูเขาน้ำแข็งจักละลายหลอม ผู้ไม่สูญเสียความกล้าหาญ ขบถเพื่อฝันจนโลกยอม ตำนานนี้จักขับกล่อม หัวใจคนแพ้ให้เบิกบาน
สู้เถิดพี่, ไม่ว่าวันนี้ใครจะทิ้งเราไป โดดเดี่ยวกลางผู้ประกาศชัย ยืนหยัดไว้ให้โลกกล่าวขาน ชัยชนะของเลนิน มิย่อยลยินต่อความร้าวราน กรงเหล็กมิใช่กำแพงบ้าน อีกไม่นานมันจะพังลง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
รองโฆษก ปชป. อัด "นิติราษฎร์" ไม่ควรถือสัญชาติไทย Posted: 27 Dec 2011 05:07 AM PST เพราะรณรงค์แก้ไข ม.112 เป็นการสร้างความขัดแย้งในบ้านเมือง พร้อมไล่ให้โอนสัญชาติไปเคลื่อนไหวในประเทศที่ให้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ ลั่นที่ผ่านมาไม่เคยมีผู้บริสุทธิ์ถูกยัดเยียดความผิด ขู่ถ้าเคลื่อนไหวต่อไปจะต้องเผชิญหน้า "พลังของความจงรักภักดี" มติชนออนไลน์ รายงานวันนี้ (27 ธ.ค.) ว่า นายอรรถพร พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี ในฐานะรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์ ที่จะรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในวันที่ 15 มกราคมนี้ว่า กรณีนี้จะสร้างความขัดแย้งในบ้านเมืองให้มากยิ่งขึ้น และขอให้กลุ่มนิติราษฎร์โอนสัญชาติไปเคลื่อนไหวในประเทศที่ให้เสรีภาพในการ วิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ ไม่ควรถือสัญชาติไทย ซึ่งถือว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นแกนหลักของบ้านเมืองที่ผู้ใดจะล่วง ละเมิดมิได้ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ยัง ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีการแก้ไขมาตรา 112 เป็นประเด็นละเอียดอ่อนและจะนำไปสู่ชนวนความขัดแย้งจนบ้านเมืองลุกเป็นไฟ จนกระทั่งพรรคเพื่อไทยยังหลีกเลี่ยงที่จะแตะต้องมาตราดังกล่าว แต่กลุ่มนิติราษฎร์ยังไม่ยอมหยุด "ผมจึงไม่เข้าใจความนึกคิดของอาจารย์กลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้ว่า การที่กฏหมายห้ามหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ จะทำให้บ้านถล่มดินทลายหรือทำให้คนกลุ่มนี้ขาดใจตายหรืออย่างไร จึงต้องดิ้นรนทุกวิถีทางที่จะแก้ไขมาตรา 112 และบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีนี้ทุกคน ล้วนแต่มีพฤติการณ์ที่เข้าข่ายความผิดมีพยานหลักฐานชัดเจน ซึ่งมีสิทธิที่ต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความถูกผิดของตนเอง ไม่เคยปรากฏว่า คนบริสุทธิ์ก็ถูกยัดเยียดความผิดหรือตกเป็นเหยื่อของมาตรา 112 คำพูดดังกล่าวจึงการบิดเบือนเพื่อตอบสนองเป้าหมายที่ก้าวไปไกลกว่าการแก้ไข มาตรา 112 ผมขอให้กลุ่มนิติราษฎร์หยุดการเคลื่อนไหวโดยเด็ดขาด และถ้ายังเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ต่อไปก็จะเผชิญหน้ากับพลังของความจงรักภักดีที่กำลังหมดความอดทนต่อการกระทำของคนกลุ่มนี้ นายอรรถพรกล่าว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นิธิ เอียวศรีวงศ์:นิติธรรมอีกที Posted: 26 Dec 2011 08:08 PM PST เมื่อสองสามสัปดาห์ก่อน ผมได้ตั้งคำถามในบทความชื่อ "นิติธรรม" ว่า หากมีการลงประชามติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างชัดเจน แล้วมีการร่าง พ.ร.บ.ตามประชามติขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้ลงพระปรมาภิไธย พระมหากษัตริย์ยังทรงพระราชอำนาจที่จะใช้พระบรมราชวินิจฉัยอยู่อีกหรือไม่ เพียงใด แต่เนื่องจากความขัดข้องทางเทคนิคบางประการ ทำให้คำตอบของปัญหานี้ไม่อาจลงต่อเนื่องกันได้ ผมจึงขอนำกลับมาเสนอในครั้งนี้ และขอย้ำว่านี่เป็นความเห็นส่วนตัวซึ่งอาจผิดหรือถูกก็ได้ ผู้รู้อาจกรุณาชี้แจงได้ในภายหลัง ในประเทศอื่น นี่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนในระบอบประชาธิปไตยที่มีสถาบันกษัตริย์ แต่ก่อนจะตอบปัญหาว่า พระมหากษัตริย์ยังทรงมีพระราชอำนาจที่จะใช้พระบรมราชวินิจฉัยหรือไม่ หากปวงชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้แสดงเจตจำนงอย่างแน่ชัดแล้วผ่านการลงประชามติ ผมขอพูดถึงบทบาททางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของประเทศอื่นก่อน นอกจากเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชน ซึ่งทำให้กฎหมายทุกฉบับที่ผ่านสภาต้องประกาศใช้ในพระปรมาภิไธยแล้ว หลายประเทศยังให้พระราชอำนาจที่จะถ่วงดุลอำนาจนิติบัญญัติระดับหนึ่ง (บางประเทศเช่นสวีเดน ไม่ได้ให้พระราชอำนาจนี้ไว้เลย บางประเทศให้ไว้มากหน่อย บางประเทศให้ไว้น้อย แต่ไม่มีประเทศประชาธิปไตยใดที่ให้พระราชอำนาจนี้ไว้เด็ดขาด) การให้พระราชอำนาจนี้ไว้มาจากเหตุใด? ผมคิดว่ามาจากสองเหตุคือ 1.สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันทางการเมืองที่สืบเนื่องที่สุดในระบอบประชาธิปไตย จึงอาจสั่งสมประสบการณ์ทางการเมืองได้มากที่สุด (ไม่ใช่สั่งสมไว้กับตัวบุคคลนะครับ แต่สั่งสมไว้กับสถาบัน) ด้วยเหตุดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า สถาบันอาจมองการณ์ไกลได้มากกว่าพรรคการเมือง การท้วงติงของสถาบัน จึงมีค่าในการที่นักการเมือง (ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน แต่ไม่ได้ถืออำนาจอธิปไตยแทนปวงชน) จะนำกลับไปไตร่ตรอง 2.ระบอบปกครองอะไรก็เกิดความผิดพลาดได้ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ จึงต้องมีอำนาจอะไรสักอย่างที่สามารถแก้ไขความผิดพลาดนั้นได้ โดยไม่ต้องไปรื้อระบบลงทั้งระบบ กรณีพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษนั้นเป็นตัวอย่างอันดี ผู้ต้องขังซึ่งถูกพิพากษาให้ต้องโทษ 20 ปี เมื่อแก่ชราลงจนอายุครบ 60 แล้ว ความจำเป็นที่จะแยกบุคคลผู้นั้นออกจากสังคมไม่มีอีกต่อไป จะปล่อยเขาได้อย่างไร โดยไม่ต้องไปรื้อกฎหมายและระบบตุลาการลงทั้งหมด ก็ให้อำนาจแก่สถาบันไว้ในการพระราชทานอภัยโทษ สถาบันกษัตริย์หรือพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นเพียง "เจว็ด" แน่ แต่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใช้สติปัญญาอย่างสูง ในการใช้และไม่ใช้พระราชอำนาจ เพื่อให้เกิดผลดีแก่ส่วนรวมในฐานะผู้ "ใช้" อำนาจอธิปไตยของปวงชน เรากำลังพูดถึงสถาบันนะครับ ไม่ใช่บุคคล ฉะนั้นการละเมิดพระราชอำนาจจึงเกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะมีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน และย่อมไม่ให้ผลดีแก่ผู้ตั้งใจจะละเมิด เช่นรัฐบาลที่ไม่ส่งร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านสภาแล้วไปให้ลงพระปรมาภิไธย ผลก็คือร่าง พ.ร.บ.นั้นไม่มีวันประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ จึงไม่มีประโยชน์แก่รัฐบาลที่อุตส่าห์เข็นร่างกฎหมายฉบับนั้นให้ผ่านสภามาได้ สถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยทุกแห่ง ย่อมมีกฎหมายที่กำหนดและธำรงพระราชอำนาจนี้ไว้อย่างละเอียดชัดเจน (บางประเทศอาจเป็นประเพณีที่มีสถานะเท่ากฎหมาย) ตราบเท่าที่ทำตามกฎหมายทั้งเจตนารมณ์และตัวอักษร ก็ไม่มีวันที่จะเกิดการละเมิดพระราชอำนาจของสถาบันได้อย่างแน่นอน ยิ่งกว่านี้ หากเข้าใจได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ตราบเท่าที่การกระทำนั้นเป็นไปตามกระบวนการซึ่งมีฐานอยู่ที่อธิปไตยของปวงชน ย่อมจะละเมิดพระราชอำนาจไม่ได้ เพราะอธิปไตยของปวงชนจะขัดแย้งกันเองย่อมเป็นไปไม่ได้ การยกสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นมาต่อสู้กันทางการเมือง เป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้การใช้พระบรมราชวินิจฉัยเพื่อประโยชน์สุขของปวงชน ทำได้ยาก เช่นจะทรงใช้ประสบการณ์ทางการเมืองที่สั่งสมมาอย่างยาวนานและสืบเนื่อง เพื่อลงหรือไม่ลงพระปรมาภิไธย ก็อาจถูกเข้าใจว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ลำเอียงเข้าข้างการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ ทุกวันนี้ เมื่อความขัดแย้งทางการเมืองแหลมคมขึ้น ใครๆ ต่างอ้างความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม แต่ส่วนใหญ่แล้วก็อ้างความจงรักภักดีโดยขาดหลักความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ เพราะมักพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เหมือนเป็นอีกสถาบันทางการเมืองหนึ่ง ที่ไม่สัมพันธ์ยึดโยงอยู่กับอธิปไตยของปวงชน แท้จริงแล้วสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอธิปไตยของปวงชน แยกออกจากกันไม่ได้
ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หมายถึงความจงรักภักดีต่ออธิปไตยของปวงชน ความจงรักภักดีใดๆ ก็ตาม ที่ทำให้สองสิ่งนี้ขัดแย้งกัน คือการบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง ในทางตรงกันข้าม การทำให้สองสิ่งนี้ประสานสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียว คือการจรรโลงให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่อย่างมั่นคงสืบไป เพราะเมื่อดูจากประวัติศาสตร์ทั่วโลกแล้ว สถาบันกษัตริย์ในหลายประเทศได้อันตรธานไปจนเหลืออยู่ไม่เกิน 40 ประเทศทั่วโลก แต่ระบอบประชาธิปไตยซึ่งประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย กลับแพร่หลายไปมากขึ้นในทุกประเทศ สถาบันพระมหากษัตริย์จึงต้องเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ขั้วตรงข้ามที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว การแสดงความจงรักภักดีที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นอีกอำนาจหนึ่งที่เป็นอิสระจากอธิปไตยของปวงชน จึงกลับบ่อนทำลายความมั่นคงของสถาบันเสียเอง สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สมยศ พฤกษาเกษมสุข: แรงงานสร้างโลก Posted: 26 Dec 2011 05:35 PM PST
แรงงานไทยสร้างโลก สดใส มูลค่าล้ำอำไพ แผ่นฟ้า นำเงินตรามาไทย รวยยิ่ง ขึ้นนา เศรษฐกิจเลิศล้ำ ทั่วทั้ง แผ่นดิน
ทุกข์ของคนงานไทย สุดแสน ต้อยต่ำผลตอบแทน ถิ่นท้อง สามร้อยบาทคลอนแคลน โคตรต่ำ ยังยาก รัฐเลื่อนผลัดเดือนให้ เศร้าใจ ฉิบหาย
จะอยู่คอยเทวา มาหนุน หรืออาศัยใบบุญ อุ่นเกล้า ขอเมตตานายทุน รอรับ ชาติหน้า ได้แน่มีแต่แห้ว ห่าเหี้ย ช่างมัน
มีแต่ต้องรวมตัว จัดตั้ง ไม่แยกแตกกำลัง เรียกร้อง รวมหมู่สร้างพลัง หนักแน่น ได้แน่ โลกทั้งผองแซ่ซ้อง ก้องไกร ไชโย......
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
"""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""" หมายเหตุ: ประชาไทได้รับการเห็นชอบจากนายสุวิทย์ ทองนวล ทนายความของ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น