ประชาไท | Prachatai3.info |
- เม้าท์มอย: ที่สุดแห่งปี 54 และการเมืองไทย 555
- 6 กลุ่มนักศึกษาประณามเครือผู้จัดการกรณีข่าวก้านธูป
- สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี: การเมืองแบบราชานิยม
- ส่งท้ายปี Quotes of the Year (2): “ดีแต่พูด” และ “เอาอยู่”
- 'คอป.' เสนอรัฐสภาแก้ 'ม.112' หนักสุดคุกไม่เกิน 7 ปี
- 'ไอซีที' ย้ำอีก นักท่องเว็บอย่า 'ไลค์-แชร์-เม้นต์' เว็บหมิ่นฯ
- โฆษก สปสช. วอนโรงพยาบาลเร่งส่งข้อมูลมาเบิกจ่าย
- เยียวยาเหยื่อไฟใต้ สู่กระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ (1)
เม้าท์มอย: ที่สุดแห่งปี 54 และการเมืองไทย 555 Posted: 30 Dec 2011 12:16 PM PST เม้าท์มอยเทปส่งท้ายปี 54 ส่งท้ายปีเก่าด้วยการจัดอันดับ “ที่สุดแห่งปี” ตามใจชอบในสไตล์หลิ่มหลีและชามดอง ข่าวสารบ้านเมืองไหนน่าสนใจที่สุดในรอบปี และข่าวไหนที่ประชาไทไม่นำเสนอ และข่าวไหนน่าสนใจแต่ไม่มีพื้นที่ในสื่อหลัก และต้อนรับปีใหม่กับแนวโน้มการเมืองไทยปี 2555 ที่อาจจะไม่ค่อย ฮ่า ฮ่า ฮ่า เท่าไหร่นัก ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 ตอนที่ 3 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
6 กลุ่มนักศึกษาประณามเครือผู้จัดการกรณีข่าวก้านธูป Posted: 30 Dec 2011 11:46 AM PST นักศึกษา 6 กลุ่มนำโดย สนนท. ออกแถลงการณ์ประณามเครือผู้จัดการกรณีเสนอข่าวละเมิดสิทธิ "ก้านธูป" พร้อมเรียกร้องให้สมาคมนักข่าว-กรรมการสิทธิ์ออกมาทำงาน หมายเหตุ: เมื่อวานนี้ (30 ธ.ค.) องค์กรนักศึกษา 6 กลุ่ม ได้แก่ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย กลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน กลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาชน กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มประชาคมมหิดลเสรีเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ ได้เผยแพร่แถลงการณ์กรณีเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ นำเสนอข่าว “ธรรมศาสตร์ในวันที่อ้าแขนรับ “ก้านธูป”” มีรายละเอียดดังนี้ 000 จากกรณีที่เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์หรือ ASTV ได้นำเสนอข่าวในวันที่ 26ธันวาคม 2554 เวลา 16:46 น. โดยใช้หัวเรื่องว่า “ธรรมศาสตร์ในวันที่อ้าแขนรับ “ก้านธูป”” ซึ่งเนื้อหามีการเขียนถ้อยคำโจมตีตัวบุคคลอย่างรุนแรง นำเสนอข้อความอย่างเป็นเท็จ และยังเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลผู้อื่นอย่างร้ายแรง โดยไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อสาธารณะ และยังเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ตามรัฐธรรมนูญในมาตราที่ 35 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง ตลอดจนความเป็นอยู่ส่วนตัวย่อมได้รับความคุ้มครอง การกล่าวหรือไขข่าวแพร่ หลายซึ่งข้อความหรือภาพไม่ว่าด้วยวิธีใดไปยังสาธารณชน อันเป็นการละเมิดหรือกระทบถึงสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวจะกระทำมิได้ เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากการแสวงประโยชน์โดยมิชอบจากข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ เราเห็นว่าบทบาทของผู้จัดการออนไลน์ในฐานะสื่อมวลชนควรนำเสนอข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาไม่บิดเบือนและสร้างข้อมูลที่เป็นเท็จอันนำไปสู่ความแตกแยกของประชาชน การนำข้อมูลมาบิดเบือน แต่งเติม เพื่อโจมตีตัวบุคคลนั้น เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจและกล่าวได้ว่าไร้จรรยาบรรณของสื่อมวลชนอย่างยิ่ง แม้ว่าสิ่งที่ทางผู้จัดการออนไลน์กล่าวหาจะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม หรือบุคคลที่ถูกกล่าวหาจะกระทำการดังเช่นว่าจริงหรือไม่ก็ตาม แต่มันก็เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลตามรัฐธรรมนูญ เราขอแสดงจุดยืนในการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลในการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวโดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอมของผู้ถูกกล่าวหา และจะไม่ยอมให้ผู้จัดการออนไลน์ในฐานะสื่อมวลชนกระทำการที่เห็นแก่ความสะใจ เพียงอย่างเดียว เหยียบย่ำความเป็นมนุษย์และริดรอนสิทธิเสรีภาพของนักศึกษาประชาชนอย่างเป็นอันขาด เราขอประณามการกระทำเหล่านี้และเรียกร้องให้ผู้จัดการออนไลน์ในฐานะสื่อมวลชนแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลนี้ด้วยการนำข่าวดังกล่าวออก และหยุดการเผยแพร่ข่าวดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจผิดและนำไปใช้ในการเผยแพร่หรืออันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลต่อไป และยังเป็นการส่งเสริมการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตย ทั้งนี้เราขอเรียกร้องไปยังสามองค์กรหลักต่อไปนี้ที่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว ไม่ให้นิ่งเฉยต่อการกระทำที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นนี้ ได้แก่ 1. สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ต้องออกมาตรวจสอบจรรยาบรรณของสื่อที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลโดยการนำข้อมูล ส่วนบุคคลมาเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งยังนำเสนอข้อมูลอันไม่มีหลัก ฐานยืนยันว่าเป็นความจริง และก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลในข่าว 2. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ต้องออกมาปกป้องสิทธิส่วนบุคคลที่มนุษย์ทุกคนพึงมี และตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนว่าด้วยการหมิ่นประมาทและเผยแพร่ข้อมูลส่วน บุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต 3. องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องออกมาแสดงจุดยืนในการปกป้องนักศึกษาของตนที่ถูกคุกคาม เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้จัดการออนไลน์ในฐานะสื่อมวลชน จะมีจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม ตระหนักถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากพอที่จะทำตามข้อเรียกร้องของเรา และเราหวังอย่างยิ่งว่าองค์กรหลักที่เกี่ยวข้องดังที่กล่าวมาข้างต้นจะไม่ นิ่งเฉยกับปัญหาเหล่านี้ มิฉะนั้นแล้ว องค์กรเหล่านี้จะมีไว้เพื่ออะไร ด้วยจิตคารวะ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี: การเมืองแบบราชานิยม Posted: 30 Dec 2011 11:38 AM PST ดูท่าสังคมไทยคงจะต้องถกเถียงกันเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ไปอีกนาน ทั้งๆที่สถาบันนี้อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่ตั้งประเทศแล้ว แต่สังคมไทยกลับแสดงออกราวกับว่ายังหาตำแหน่งแห่งที่ให้ไม่ได้หรือได้ก็ไม่เหมาะสมเสียที แต่สาเหตุหลักที่จะต้องทุ่มเถียงหรือบางคราวอย่างเช่นในปัจจุบันก็เกินเลยไปถึงขั้นทะเลาะเบาะแว้ง ดูๆไปอาจจะถึงทะเลาะตบตีกันให้เลือดตกยางออกก็ได้ เพราะเหตุว่าเถียงไปคนละเรื่อง และประการสำคัญการถกเถียงนั้นไม่ได้มุ่งหวังหาทางออกให้กับสังคม หากแต่มุ่งจองล้างจองผลาญกันเสียมากกว่า สภาพเช่นนี้ไม่เพียงแต่ไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ หากแต่เป็นผลเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เองด้วย ปัญหาสำคัญในเวลานี้ซึ่งทำให้การถกเถียงเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ หรือ หากได้คงไม่ได้คำตอบเพราะมีคนกลุ่มหนึ่งหวังใช้สถาบันพระมหากษัตริย์ที่ปากตัวเองบอกว่าจงรักภักดีเสียเต็มประดานั้นเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตนเองมากกว่าอย่างอื่น สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่ใช้กำจัดคู่แข่งทางการเมือง การกล่าวหาหรือแม้แต่ป้ายสีว่าอีกฝ่ายหนึ่งขาดความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ทำได้ง่ายกว่าบ้วนน้ำลายตามท้องถนนเสียอีก ใครๆก็สามารถเดินไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพี่อให้จับใครก็ได้ด้วยข้อหาหมิ่นพระมหากษัตริย์ ด้วยพยานหลักฐานเพียงเล็กน้อย หรือแทบจะไม่มีเลยก็ได้ อาจจะเป็นถ้อยคำทางอินเตอร์เน็ต หรือ โทรศัพท์มือถือ (ซึ่งไม่แน่นักว่าใครเขียนหรือใส่เข้าไป) และเจ้าพนักงานก็แทบไม่ต้องใช้ดุลยพินิจใดๆ เลย นอกจากดำเนินคดีตามที่ได้รับแจ้ง ไล่จับผู้ต้องหายัดคุกไว้ก่อน ที่เหลือไปพิสูจน์กันชั้นศาล ตำรวจที่ไม่รับแจ้งความ หรืออัยการที่สั่งไม่ฟ้องคดีนี้ จะตกเป็นจำเลยเสียเอง ยิ่งไปกว่านั้นความผิดฐานหมิ่นพระมหากษัตริย์ก็มีปรากฏเพ่นพ่านอยู่ในกฎหมายฉบับนั้นฉบับนี้เต็มไปหมด แม้แต่กฎหมายว่าด้วยคอมพิวเตอร์ก็ยังสามารถใช้เป็นกฎหมายที่เอาผิดฐานหมิ่นพระมหากษัตริย์ได้ด้วย ทั้งๆที่เจตนารมณ์ของกฎหมายน่าจะเอาไว้ปกป้องระบบคอมพิวเตอร์จากพวกแฮกเกอร์หรือการก่อการร้ายผ่านคอมพิวเตอร์มากกว่า นับวันคดีความอันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ขัดกับวาทกรรมที่พยายามสร้างกันเหลือเกินว่า ประชาชนไทยทั้ง 65 ล้านคนล้วนแล้วแต่รักเทิดทูลและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ด้วยกันทั้งสิ้น เวลานี้ไม่มีใครกล้าพูดถึงบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทยได้เลยจริงๆ แม้แต่ในวงวิชาการ กระแสทางการเมืองที่เชี่ยวกราก บีบบังคับให้การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยนั้นทำได้เพียงทางเดียวคือ การแซ่ซ้องสรรเสริญ หรือ เขียนบทอาเศียรวาท เท่านั้น ผิดไปจากนี้พวกนั้นจะถูกจัดอยู่ในประเภทที่ขาดความจงรักภักดี หรือ หนักเข้าเป็นพวกจ้องทำลายสถาบันอันเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย ความผิดสถานเบาของคนพวกนี้คือต้องโทษจำคุก หนักไปกว่านั้นพวกเขาจะถูกไล่ออกนอกประเทศ หรือ ถูกตัดสิทธิความเป็นพลเมืองไทย หรือ จริงๆแล้วถูกตัดสินว่าไม่สมควรจะอยู่ในฐานะสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์อีกต่อไป ความจริง แม้แต่ในหมู่ชนชั้นสูงหรือกลุ่มที่จงรักภักดีจริงๆและต้องการเห็นสถาบันพระมหากษัตริย์มีการพัฒนาให้ก้าวหน้าวัฒนาถาวรก็ยอมรับกันบ้างแล้วว่า สังคมไทยมีความจำเป็นที่จะต้องพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างถึงรากถึงแก่นในเรื่องการจัดวางฐานะ ตำแหน่ง ความสัมพันธ์ทางการเมืองกับสถาบันอื่นๆ และรวมถึงพระราชอำนาจด้วย แต่พวกเขาเหล่านั้นคงไม่กล้าที่จะทำประเด็นเหล่านี้ให้กลายเป็นเรื่องถกเถียงในสาธารณะหรือแย่ไปกว่านั้นพวกเขาเองอาจจะได้ประโยชน์จากการสถานะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย จึงได้แต่พล่ามเตือนห้ามมิให้ใครพูด ทั้งๆที่วิญญูชนต่างรู้กันทั่วโลกแล้วว่า พวกเขาเมาท์เรื่องนี้กับจนน้ำลายแตกฟองในที่รโหฐาน เวลานี้ประเด็นการถกเถียงเรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เข้มข้นที่สุด กลับไม่ใช่ปัญหาเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์เองเลยแม้แต่น้อย หากแต่เป็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองกษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น ถึงอย่างนั้นก็ดูท่าว่าจะทำไม่ได้ด้วยซ้ำไป บรรดานักวิชาการที่เสนอให้มีการแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นพระมหากษัตริย์ (ส่วนใหญ่นิยมเรียกว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทั้งๆที่ไม่ใช่) ถูกโจมตีอย่างสาดเสียเทเสียว่า เป็นพวกเสียสติ มุ่งล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้บัญชาการทหารของประเทศไทยถึงกลับขับไสไล่ส่งให้พวกเขาออกไปอยู่นอกประเทศ สิ่งที่บรรดานักวิชาการเสนอนั้น ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์โดยตรงเลย หากแต่พยายามจะปกป้องสถาบันกษัตริย์ให้รอดพ้นจากการถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือพยายามทำให้การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ปลอดการเมือง (depoliticise) เท่านั้นเอง ในทางวิชาการดูเหมือนจะเป็นที่ตกกันแล้วว่า พระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในฐานะที่ทำหน้าที่ประมุขแห่งรัฐนั้น จะต้องได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายให้รอดพ้นจากการถูกหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือ อาฆาตมาดร้าย ไม่มีใครสักคนเสนอให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรานี้เพื่อจะบอกว่า การกระเช่นว่านั้นจะไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย เพราะพื้นฐานสิทธิมนุษยชนทั่วๆไป อย่าว่าแต่จะเป็นกษัตริย์หรือประมุขแห่งรัฐเลย คนธรรมดาสามัญ ก็ไม่สมควรที่จะถูก หมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้าย หรือทำให้ได้รับความเกลียดชังได้ ประเด็นสำคัญที่กำลังมีการเสนอกันในเวลานี้คือ กฎหมายมาตรา 112 นี้จะใช้อย่างไรจึงจะเหมาะสมเข้ากับยุคสมัยและคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างเต็มที่และไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือต่างหาก ปัญหาที่จะต้องพิเคราะห์คือ ใครบ้างที่มีอำนาจในการใช้กฎหมายนี้ สมควรที่จะให้ “ใครก็ได้” แจ้งความจับ “ใครก็ได้” ในฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือ องค์รัชทายาทหรือไม่ และโทษอันเกิดแต่การใช้วาจาหรือลายลักษณ์อักษรทำละเมิดพระมหากษัตริย์สมควรจะสูงเสมอเหมือนกับการฆาตกรรมเลยหรือ และเจ้าพนักงานมีดุลยพินิจเพียงใดในการจะพิจารณาว่า ถ้อยคำอย่างไร เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือ อาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ การวิพากษ์วิจารณ์โดยสุภาพและสุจริต หรือแม้แต่การศึกษาทางวิชาการในสถาบันการศึกษา เป็นสิ่งที่ละเมิดพระมหากษัตริย์หรืออย่างไร ความจริงในประมวลกฎหมายอาญาหมวดความผิดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ มาตรา 133 นั้นคุ้มครองกษัตริย์ต่างประเทศด้วย ผู้ใด หมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาทหรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศต้องระวางโทษตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี แต่ทำไมไม่เห็นมีใครแจ้งความจับบุคคลที่ด่าทอกษัตริย์กัมพูชาบ้างเลยหรือว่าประเทศไทยใช้กฎหมายแบบเลือกปฏิบัติแบบนี้เสมอมา แต่เหลือเชื่อว่า ทั้งผู้บัญชาการทหาร พรรคฝ่ายค้าน หรือ แม้แต่ผู้พิพากษาระดับประธานศาล กลับตอบสนองต่อข้อเสนอทางวิชาการเหล่านั้นราวกับว่าบรรดาผู้ที่เสนอแก้ไขกฎหมายมาตรานี้กำลังเสนอให้ยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ ครั้นจะว่าบุคคลเหล่านี้ไม่เข้าใจข้อเสนอ ฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียดก็ใช่ที คนเหล่านี้ไม่ใช่เด็กนักเรียนอนุบาลพอจะฟังเรื่องแค่นี้ไม่เข้าใจหรือไขว้เขว ท่านเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เจริญด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิ สติปัญญาด้วยกันทั้งนั้น แต่การตอบสนองข้อเสนอให้ปรับปรุงกฎหมายถูกเบี่ยงเบนไปได้ไกลขนาดนั้น ทำให้เข้าใจได้ว่า พวกเขาเหล่านี้เองนั่นแหละที่ต้องการจะใช้อำนาจของกฎหมายนี้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตัวเองเสียมากกว่าอยากจะคุ้มครองพระมหากษัตริย์จริงๆ กฎหมายเปิดช่องให้ใครก็ได้เป็นผู้เสียหายในคดีหมิ่นพระมหากษัตริย์โดยไม่ต้องมีการกลั่นกรองเลย ย่อมทำให้พวกเขาเองอยู่ในฐานะผู้มีอำนาจใช้กฎหมายนี้ได้ ความก็ปรากฏชัดเมื่อกองทัพแจ้งความดำเนินคดีนักวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์ความเห็นของเจ้าฟ้าหญิง ซึ่งคดีนี้แม้นักเรียนกฎหมายชั้นต้นก็เข้าใจได้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า ไม่เข้าองค์ประกอบของความผิดเลยแม้แต่น้อย ยังไม่นับว่าถ้อยคำที่นักวิชาการท่านนั้นใช้ก็ล้วนเป็นไปโดยสุภาพ และเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตธรรมดาๆเท่านั้น ไม่อาจจะนับได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายใครเลย พรรคการเมืองฝ่ายค้านก็ไม่อยากให้แก้ไขกฎหมายมาตรานี้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก้ไขแล้วพวกเขาไม่มีสิทธิจะใช้กฎหมายนี้แจ้งความเอาผิดคู่แข่งทางการเมืองฐานหมิ่นพระมหากษัตริย์ได้ บางทีเมื่อหมดปัญญาจะเสนอนโยบายทางการเมืองที่โดนใจผู้ลงคะแนนเสียงได้ พรรคฝ่ายค้านคงอาจจะเห็นว่า มาตรา 112 นี้ดูจะเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดที่จะใช้สยบคู่แข่งทางการเมืองได้ เพราะพรรคการเมืองนี้เคยใช้เครื่องมือนี้มาแล้วอย่างได้ผลในประวัติศาสตร์ก็จึงอยากจะรักษาเอาไว้ ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่มีความกล้าหาญพอจะเสนอทางเลือกอื่นใด นอกเสียงจากแสดงการปกป้องกฎหมายมาตรานี้อย่างไม่ลืมหูลืมตา ราวกับว่ากฎหมายนี้คือสถาบันพระมหากษัตริย์เสียเอง เพราะเชื่อว่านี่เป็นวิธีเดียวที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่ารัฐบาลที่ถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีหรือได้รับการสนับสนุนโดยพวกไม่จงรักภักดีนั้น มีความจงรักภักดีมากกว่าใครทั้งหมดในโลกนี้ บางทีเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลนี้อาจจะจำเป็นต้องทำตัวเป็นพวกที่ more royalist than prince
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ส่งท้ายปี Quotes of the Year (2): “ดีแต่พูด” และ “เอาอยู่” Posted: 30 Dec 2011 07:32 AM PST ส่งท้ายปี ทีมประชาไท รวบรวมคมคำเด็ดๆประจำปีที่กลายเป็นวลีและประโยคฮิตทั้งในสังคมออฟไลน์และออนไลน์ ย้อนความทรงจำที่มาที่ไป และแรงกระเพื่อมจากถ้อยคำ ซึ่งหลายคำกลายเป็นผลสะเทือนต่อคนพูดเอง ขณะที่อีกหลายถ้อยคำ ก่อให้เกิดการอภิปรายอย่างหลากหลาย แต่ที่แน่ๆ ล้วนถูกพูดขึ้นมาในจังหวะร้อนและสะท้อนความสนใจของสังคมไทยในสถานการณ์ที่ช่วยก่อกำเนิดถ้อยคำเหล่านี้ขึ้นมา 0 0 0 สำหรับ Quotes of The year ประจำปีนี้ ประชาไทขอยกให้กับวลี/ประโยคเหล่านี้
"ดีแต่พูด" จากแผ่นกระดาษสู่ป้ายประท้วง
วลีนี้ถูกใช้โดยจิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เพื่อส่งสารถึงอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (เมื่อครั้งยังเป็นนายกฯ) ซึ่งถูกเชิญไปพูดบนเวทีงานวันสตรีสากล ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 มี.ค. โดยจิตราเคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า เธอมองว่าอภิสิทธิ์ไม่สามารถทำตามนโยบายด้านต่างๆ ที่เคยให้ไว้ ที่สำคัญคือไม่สามารถให้คำตอบกรณีสลายการชุมนุมเม.ย.-พ.ค.53 ได้ จึงยกแผ่นกระดาษเอสี่มีข้อความ "ดีแต่พูด" ให้อภิสิทธิ์ หลังจากนั้น ชื่อของ "จิตรา" เป็นที่พูดถึงกันในวงกว้าง ส.ส.ประชาธิปัตย์ถึงขนาดออกมาเรียกร้องให้ขบวนการแรงงานตัดชื่อจิตราออกจากผู้ร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนการแรงงาน โดยระบุว่าเธอเคลื่อนไหวทางการเมืองอิงแอบกับพรรคการเมืองหนึ่ง ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง อภิสิทธิ์ต้องเจอป้ายประท้วง "ดีแต่พูด" อีกหลายระลอก ในบทหนึ่งของบันทึกบนเฟซบุ๊ก อภิสิทธิ์เองเขียนโต้ "วาทกรรม" นี้ด้วยเพื่อชี้แจงว่าในฐานะรัฐบาล เขาได้เคยลงมือดำเนินนโยบายอะไรบ้าง ทุกวันนี้ วลี "ดีแต่พูด" ยังคงถูกใช้เมื่อต้องการสื่อว่าอีกฝ่าย "พูดเก่ง" กว่า "ทำ" และสติ๊กเกอร์ "ดีแต่พูด" ก็ยังมีให้เห็นได้ตามท้องถนน สำหรับ จิตรา คชเดช เป็นอดีตคนงานบริษัทบอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งผลิตชุดชั้นในและชุดว่ายน้ำยี่ห้อไทรอัมพ์ ก่อนจะถูกบริษัทขออำนาจศาลแรงงานเลิกจ้าง ด้วยเหตุผลว่าใส่เสื้อยืดรณรงค์ "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม" ออกรายการทีวี ทำให้บริษัทเสียชื่อเสียง ต่อมา จิตราร่วมกับอดีตคนงานไทรอัมพ์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่ถูกบริษัทเลิกจ้าง ผลิตชุดชั้นในยี่ห้อ "Try Arm" เพื่อสื่อถึงการต่อสู้ของแขนของกรรมาชีพผู้มีความพยายามอย่างไม่ลดละ นอกจากนี้ เธอยังร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนการคนเสื้อแดงด้วย ข่าวที่เกี่ยวข้อง
0 0 0
“เอาอยู่ค่ะ"
เป็นวลีที่นายกยิ่งลักษณ์ พูดเพื่อให้ความมั่นใจว่า สามารถรับมือกับการจัดการน้ำท่วมจนกลายเป็นวลีคุ้นหู แต่ก็ได้รับการพิสูจน์ว่าเอาไม่อยู่ นี่เป็นส่วนหนึ่งของการถูกวิพากษ์การทำงานของรัฐบาล และศปภ. ว่าควรบอกความจริง เพื่อประกอบการตัดสินใจเพื่อให้ประชาชนเพื่อให้รับมือได้ ไม่ใช่การให้ความหวังบนพื้นฐานที่ไม่มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ น้ำท่วมใหญ่ประเทศไทย เป็นสิ่งทีช่วยเผยให้เห็นศักยภาพและข้อจำกัดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กลบภาพ “นารีขี่ม้าขาว” เป็นดาวดวงเด่นในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ปัญหาการจัดการน้ำไม่เพียงสะท้อนความล้มเหลวของราชการไทยที่ขาดประสิทธิภาพ มีหน่วยงานที่ทำงานซ้ำซ้อนกันในเรื่องการจัดการน้ำถึงสิบกว่าหน่วยงาน แต่ก็ขาดการประสานงานและข้อมูล น้ำท่วมครั้งนี้ก็ยังสะท้อนการทำงานที่ไม่เป็นเอกภาพของรัฐบาล และไม่สามารถดึงศักยภาพของคนที่ทำงานได้ออกมาใช้ และคนที่อยู่ในตำแหน่งก็ไม่ได้พิสูจน์ตัวเองว่าทำงานได้ ทำงานเป็นแต่อย่างใด “เอาอยู่” กลายเป็นคำที่ถูกนำไปล้อเลียน ประชดประชัน รวมไปถึงการแต่งเพลงเสียดสีหลายเวอร์ชั่น ไม่นับการวิพากษ์วิจารณ์ที่แพร่หลายในโลกออนไลน์ วลี “เอาอยู่” ยังได้รับการเลือกให้เป็นวลีประจำนี้จากโพลล์ของชุมนุมรัฐศาสตร์ สโมสรนิสิตคณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ด้วย
หลังน้ำลด ก็เป็นโอกาสอีกครั้งสำหรับนายกหญิงคนแรกของไทยว่า เธอจะสามารถเป็นผู้นำในการฟื้นฟูประเทศได้มีประสิทธิภาพเพียงใด ขณะที่คะแนนนิยมกำลังตกต่ำลงและความขัดแย้งในการเมืองไทยรอบหลายปีที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้ยุติลง และฝ่ายตรงข้ามของพรรคเพื่อไทยก็เตรียมมาตรการไว้หลายแนวทางในการเขย่ารัฐบาลในปีหน้า ก็ต้องพิสูจน์กันอีกทีว่า ยิ่งลักษณ์ ในฐานะผู้นำประเทศที่ได้รับเสียงข้างมากจากประชาชนจะ “เอาอยู่” หรือไม่ ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
'คอป.' เสนอรัฐสภาแก้ 'ม.112' หนักสุดคุกไม่เกิน 7 ปี Posted: 30 Dec 2011 02:49 AM PST 'คอป.' เสนอแก้ ม.112 เสนอต่อรัฐสภา โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 14,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ การสอบสวนดำเนินคดีจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอำนาจจากเลขาธิการพระราชวัง ด้านประธานศาล รธน.ค้านแก้ 30 ธ.ค. 54 - เว็บไซต์คมชัดลึก รายงานว่านายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.ที่ผ่านมา คอป.ได้ประชุมหารือร่วมกันเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานในปี 2555 โดยคณะกรรมการเห็นตรงกันที่จะเน้นการทำงานในด้านการออกเดินสายรับฟังข้อมูลจากทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับมาสังเคราะห์ เพื่อแก้ไขปัญหาให้บ้านเมืองเกิดความสงบ นอกจากนี้ในวันที่ 15-17 ก.พ.55 นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ(ยูเอ็น) จะเดินทางมายังประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้สังคมไทยรับรู้ว่าการแก้ปัญหาในประเทศแอฟริกาใต้ที่เคยทำได้สำเร็จนั้น ทำอย่างไร แม้ว่านายโคฟีจะเคยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคอป.แล้ว แต่เพื่อให้สังคมได้รับทราบนายโคฟีจึงต้องการเผยแพร่ความคิดเห็นในวงกว้างให้สาธารณะและคนไทยได้รับทราบอย่างทั่วถึง นายคณิต กล่าวอีกว่า ล่าสุดคอป.ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 30 ธ.ค. 54 เรื่องข้อเสนอแนะของคอป.เกี่ยวกับความผิดที่ต้องให้อำนาจหรือการดำเนินคดีมาตรา 112 ซึ่งสังคมมีความสับสนมาก ฝ่ายหนึ่งได้ใช้ความผิดฐานดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการดำเนินการทางการเมืองของตน อ้างว่าเพื่อเป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์โดยเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหา ม.112 อย่างเคร่งครัด ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องของการใช้เสรีภาพในทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากกระทำเป็นความผิดอาญาย่อมขัดต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นจึงเสนอให้ยกเลิก ม.112 ทั้งนี้คอป.ได้รับแต่งตั้งโดยฝ่ายการเมืองและดำรงอยู่โดยฝ่ายการเมืองหรือได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลก่อนและดำรงอยู่ได้เพราะได้รับการยอมรับจากรัฐบาลปัจจุบัน ที่ผ่านมาคอป.ทำงานอยู่บนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อรัฐ และประชาชน ข้อเสนอแนะจึงเป็นการเสนอต่อทุกภาคส่วนของสังคม โดยตระหนักดีว่าสังคมปัจจุบันไม่ว่าความสงบจะเกิดขึ้นในประเทศใดก็ย่อมกระทบกับสังคมนานาประเทศด้วย นายคณิต ระบุในหนังสือคอป.ด้วยว่า ในส่วนของความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น คอป.ได้ทำการศึกษาในแง่มุมของกฎหมายควบคู่ไปด้วย เพราะประโยชน์ในการแก้ไขปรับปรุงตัวบทกฎหมาย เพื่อให้เกิดความปรองดองต่อคนในชาติ โดยได้ทำการศึกษาถึงพื้นฐานความแตกต่างในสังคมประชาธิปไตยในต่างประเทศกับในสังคมไทย พบว่าในประเทศประชาธิปไตยคนในกระบวนการยุติธรรมจะมีความเป็นเสรีนิยมสูงแต่คนในกระบวนการยุติธรรมของไทยมีความเป็นอำนาจนิยมสูง ในส่วนของพรรคการเมืองประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ พรรคการเมืองจะมีหน่วยที่ปรึกษาด้านกฎหมาย และเศรษฐกิจทำงานอย่างต่อเนื่องจนเป็นสถาบันควบคู่กับพรรคการเมือง เพื่อศึกษาและแก้ปัญหาของชาติโดยใช้กฎหมาย แต่ในประเทศไทยพรรคการเมืองยังไม่พัฒนาไปถึงสถาบันทางการเมือง มีลักษณะเป็นพรรคเฉพาะกิจ หน่วยที่ปรึกษากฎหมายจึงมีฐานะเฉพาะกิจตามไปด้วย ความแตกต่างด้วยพื้นฐานจึงส่งผลถึงการแก้ปัญหาของประเทศที่แตกต่างกันไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐประสบปัญหาทางการเมือง ที่ต้องแก้ปัญหาความรุนแรงในทางการเมือง คอป. ได้ศึกษาเหตุการณ์ในอดีตจากกลุ่มกองทัพแดงในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มที่นิยมคอมมิวนิสต์และนิยมความรุนแรงในรัฐบาล ซึ่งหัวหน้ากลุ่มกองทัพแดงถูกดำเนินคดี เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมของญี่ปุ่นมีประสิทธิภาพสูงหรือกรณีกองทัพแดงในเยอรมันที่ใช้ความรุนแรงล้มล้างรัฐบาลในลักษณะอาชญากรก่อการร้าย ซึ่งนำไปสู่การแก้กฎหมายของเยอรมันในเวลาต่อมา ครั้งนี้การที่คอป.หยิบยกเหตุการณ์ที่แสดงถึงบทบาทของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติของประเทศต่างๆ ขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นว่าในระบอบประชาธิปไตยย่อมมีทางแก้ปัญหาในระบบในทางการเมืองอย่างมีหลักการหลักเกณฑ์ได้เสมอ เพียงแต่นักการเมืองของประเทศต้องมีเจตจำนงในการเมืองที่ถูกต้องและจริงจังเท่านั้น ในประเทศไทยทุกฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยมาตลอด ประชาชนก็เบื่อหน่ายการยึดอำนาจของทหาร ครั้งหลังสุดกลุ่มนิติราษฎร์ได้เสนอให้ประกาศให้การกระทำบางอย่างอันเกี่ยวกับการยึดอำนาจให้เป็นโมฆะ ซึ่งถือเป็นการตื่นตัวที่ดีมาก นายคณิต ระบุด้วยว่า เกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่กำลังเป็นที่โต้เถียงและขัดแย้งกันมา คอป.เห็นว่าการจะยกเลิก ม.112 เสียเลยน่าจะยังไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย แต่การที่จะคงสภาพเป็นความผิดอาญาในลักษณะปัจจุบันโดยไม่มีทางออกใดๆ ในการดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน เพราะยังมีการใช้ความผิดฐานนี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง จากการศึกษาของคอป.พบว่าความผิดฐานนี้มีช่องทางในทางกฎหมายที่จะสร้างความสมดุลได้ เช่น ในเยอรมันมีการบัญญัติความผิดอาญาบางฐานที่ไม่ร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความผิดที่ผู้เสียหายเป็นบุคคลสาธารณะ ซึ่งอาจแปลเป็นภาษาไทยได้ว่าเป็นความผิดที่ต้องให้อำนาจกล่าวคือ แม้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจะเป็นความผิดอาญาแต่การดำเนินคดีขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้เสียหายเป็นสำคัญ เช่นการดูหมิ่นประธานาธิบดี การสอบสวนจะเริ่มได้ต่อเมื่อประธานาธิบดีให้อำนาจดำเนินการเท่านั้น นโยบายทางอาญาในระบบกฎหมายเยอรมันแสดงให้เห็นว่าประเทศที่เป็นประชาธิปไตย นโยบายทางอาก็ต้องเป็นนโยบายที่ส่งเสริมการฝึกและพัฒนาคน นักการเมืองก็ต้องฝึกและพัฒนา นักการเมืองในด้านจิตสำนึกความเป็นประชาธิปไตยในเมืองไทยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ได้กล่าวไว้ว่า กฎหมายมีสองแบบ ถ้าเน้นอำนาจก็เป็นกฎหมายที่เด่นในด้านกำจัดคนชั่ว แต่ถ้าเป็นกฎหมายที่เน้นการศึกษาซึ่งมุ่งสร้างคนดีจะมีลักษณะในการจัดสรรโอกาส ในทางปกครองและกฎหมายจะต้องทำหน้าที่สองด้านคือ ส่งเสริมคนดีและกำราบคนร้าย แต่คอป.เห็นว่ากฎหมายของไทเน้นที่การบังคับด้านเดียว ส่วนมากจะจบลงด้วยบทกำหนดโทษ นโยบายทางอาญาของไทยทำให้เกิดสภาพกฎหมายอาญาเฟ้อ รัฐควรวางเป็นนโยบายเพื่อให้กฎหมายและระบบกฎหมายเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องและดีขึ้น สำหรับการแก้ปัญหาของชาติโดยเฉพาะการสร้างความปรองดอง คอป.เห็นว่านอกจากฝ่ายกระบวนการยุติธรรมแล้ว ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติควรพิจารณาร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยคอป.ขอยื่นข้อเสนอแนะดังนี้ 1.ควรตรากฎหมายกำหนดให้ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นความผิดที่ต้องให้อำนาจ โดยถือว่าการตรากฎหมายดังกล่าวมีความสำคัญและเร่งด่วน 2.ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นความผิดที่คุ้มครองความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อันเป็นคุณธรรมทางกฎหมายที่เป็นส่วนรวม เป็นเรื่องของสถาบันหาใช่เรื่องส่วนพระองค์ไม่ ดังนั้น การจะให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้มอบอำนาจให้ดำเนินคดีย่อมเป็นการไม่เหมาะสมและขัดต่อจารีตประเพณีของบ้านเมืองที่ต้องเทิดทูนสถาบัน เลขาธิการพระราชวังเป็นข้าราชการพลเรือนในประองค์ที่ได้รับการแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัยจึงอาจกำหนดให้เลขาธิการพระราชวังเป็นผู้ให้อำนาจดำเนินคดี 3.ในส่วนของระวางโทษตาม ม.112 ควรมีความเป็นเสรีนิยมมากกว่าในปัจจุบันหรือโทษควรเบาลง อย่างน้อยควรกลับไปนำโทษที่เคยกำหนดไว้เดิมมาใช้ 4.คอป.เสนอให้แก้กฎหมายอาญา ม.112 เสนอต่อรัฐสภา ดังนี้ ใครหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 14,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดตามวรรค 1 เป็นความผิดที่ต้องให้อำนาจ การสอบสวนดำเนินคดีจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอำนาจจากเลขาธิการพระราชวัง 5.ความผิดตาม ม.112 และ ม.133 เป็นเรื่องที่ยึดโยงกันเมื่อแก้ ม.112 ก็ต้องแก้ ม.133 ในคราวเดียวกัน โดยให้บัญญัติว่าผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาต มาดร้ายต่อราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ นายคณิต ระบุท้ายข้อเสนอว่า คอป.ทำงานตั้งอยู่บนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อประชาชนข้อเสนอแนะของคอป.ข้างต้นถือเป็นข้อเสนอแนะของทุกฝ่ายต่อรัฐสภาและประชาชนด้วย ในส่วนของรับสภานั้นคอป.เห็นว่าเหมาะสมที่จะผลักดันกฎหมายดังกล่าวและประชาชนเองก็ควรที่จะผผลักดันให้กฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นด้วย เพื่อช่วยกันสร้างสันติและความปรองดองของคนในชาติ โดยคอป. ได้ส่งเอกสารแนบท้ายข้อเสนอแนะประกอบด้วยหนังสือรวมบทความการก่อการร้ายกับการมอบอำนาจให้ดำเนินคดี หนังสือนิติศาสตร์แนวพุทธของป.อ.ปยุตโต เอกสารเกี่ยวกับกลุ่มก่อการร้ายญี่ปุ่นและเอกสารเกี่ยวกับกลุ่มก่อการร้ายในเยอรมัน ประธานศาลรธน.ค้านแก้ '112' ย้อนถาม 'คุ้มครองเฉพาะประมุขตปท.เหรอ'? ด้านกรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่านายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ แสดงความคิดเห็น กรณีที่มีข้อเสนอให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เกี่ยวกับเรื่องหมิ่นสถาบัน ว่า ไม่เห็นด้วย ในประมวลกฎหมายอาญามีหมวดความผิดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ อยู่ในมาตรา 130-135 ที่บัญญัติในลักษณะเป็นการคุ้มครองประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ หรือผู้แทนรัฐต่างประเทศ ว่าใครจะดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายมิได้ มีทั้งโทษจำคุกและปรับ ดังนั้น ถ้ายกเลิกป.วิอาญามาตรา 112 ถามว่า เราจะคุ้มครองแต่ประมุขรัฐต่างประเทศเท่านั้นใช่หรือไม่ จะไม่คุ้มครองประมุขรัฐไทยใช่หรือไม่ ซึ่งตนเห็นเหมือนกับนักกฎหมายหลายคนที่แสดงความเห็นก่อนหน้านี้ว่า คนที่คิดจะเลิกมาตรา 112 เขาต้องการที่จะหมิ่นสถาบัน โดยไม่ผิดกฎหมายใช่หรือไม่ กฎหมายอยู่ดี ๆ ถ้าเขาไม่ไปหมิ่นก็ไม่มีใครเดือดร้อน “ถ้าจะยกเลิกมาตรา 112 มันก็ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 8 ที่บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ด้วย และถ้าเราทำจริง ประเทศไทยก็จะเป็นประเทศแรกที่ยกย่องประมุขต่างประเทศ ยิ่งกว่าประมุขของเราเอง แล้วก็จะได้ลงบันทึกกินเนสส์บุ๊คเลย” นายวสันต์ กล่าว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
'ไอซีที' ย้ำอีก นักท่องเว็บอย่า 'ไลค์-แชร์-เม้นต์' เว็บหมิ่นฯ Posted: 30 Dec 2011 12:56 AM PST เผยพบการนำพระบรมฉายาลักษณ์ พระบรมสาทิสลักษณ์ ดัดแปลง ตัดต่อ แสดงข้อความ ความคิดเห็นไม่เหมาะสม หมิ่นสถาบันฯ ตามเว็บไซต์ เฟสบุก หรือ ทวิตเตอร์ ชี้อย่ากด “ถูกใจ” (like) “แบ่งปัน” (shared) หรือ “แสดงความคิดเห็น” (comment) อาจจะผิด กม. เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 54 ที่ผ่านมา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (หรือ ICT) แจ้งข่าวว่า น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า ปัจจุบันในเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้มีการนำพระบรมฉายาลักษณ์ พระบรมสาทิสลักษณ์ มาดัดแปลง ตัดต่อ รวมถึงแสดงข้อความ หรือความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสม มีลักษณะหมิ่นสถาบันฯ ตามเว็บไซต์ เฟสบุก หรือ ทวิตเตอร์ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่กระทบต่อจิตใจของประชาชนชาวไทย และสร้างความแตกแยกในสังคม โดยการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ได้ ดังนั้น กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จึงขอความร่วมมือประชาชนหากพบเห็นสื่อออนไลน์ เว็บไซต์ หรือเฟสบุก ที่มีภาพหรือมีการแสดงข้อความอันมีลักษณะดูหมิ่น หรือไม่เหมาะสมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โปรดอย่ากด “ถูกใจ” (like) “แบ่งปัน” (shared) หรือ “แสดงความคิดเห็น” (comment) ไม่ว่าจะเป็นการตำหนิ ตอบโต้ในรูปแบบใดก็ตาม เพราะการกระทำดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นโดยความตั้งใจ หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์เหล่านั้น ล้วนแต่เป็นการสร้างความแตกแยกในสังคมให้มากขึ้น และยังเป็นการบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติ นอกจากนั้นยังเป็นการทำให้ภาพหรือข้อความอันไม่เหมาะสม แพร่กระจายเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน หากมีการพบเห็นเว็บไซต์ เฟสบุค ทวิตเตอร์ หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ เผยแพร่ภาพ หรือมีข้อความหมิ่นสถาบันฯ ซึ่งอาจสร้างความไม่พอใจให้ผู้พบเห็น หรือรู้สึกว่าไม่ถูกต้องตามจารีตประเพณีอันดีงาม ก็อย่าได้ด่วนแสดงความคิดเห็นตำหนิติเตียน ตอบโต้ เนื่องจากเว็บไซต์ เฟสบุค ทวิตเตอร์ สื่อออนไลน์อื่นๆ นั้น อาจเกิดจากการที่กลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดีแอบอ้างใช้ภาพ รวมทั้งข้อมูลส่วนตัวของบุคคลอื่นมาปลอมแปลงในลักษณะที่เรียกว่า Impersonation ซึ่งเป็นภัยออนไลน์ที่เกิดจากการที่ผู้ไม่ประสงค์ดีสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ปลอมเพื่อหลอกลวงให้ผู้อื่นเชื่อว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์ดังกล่าวเป็นของบุคคลผู้นั้น การแสดงความคิดเห็นตอบโต้หรือตำหนิ จึงอาจเป็นการให้ร้ายตำหนิผู้บริสุทธิ์และสร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่ผู้ถูกแอบอ้าง รวมถึงอาจทำให้ความเป็นธรรมในสังคมเสื่อมลง ดังนั้น ผู้พบเห็นจึงควรพิจารณาและต้องตระหนักอย่างรอบคอบ หากประชาชนผู้ใดพบเจอเว็บไซต์ หรือสื่อออนไลน์ที่มีลักษณะดังกล่าวโปรดแจ้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผ่านทางหมายเลขโทรศัพท์ 1212 หรือ อีเมล์ 1212@mict.mail.go.th เพื่อดำเนินคดีหรือยุติการเผยแพร่ตามกฎหมาย ส่วนผู้ที่ถูกกระทำ Impersonation ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ควรดำเนินการเก็บรวบรวมหลักฐานเมื่อทราบว่ามีผู้กระทำ Impersonation โดยแอบอ้างชื่อเรา และควรจะแจ้งให้ผู้ใช้อื่นที่ติดตามเราในเครือข่ายทราบว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์ดังกล่าวไม่ใช่ตัวตนของเราพร้อมแจ้งให้ทราบว่าการสนทนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นการสนทนาของเราด้วย จากนั้นดำเนินการแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ เช่น สำนักป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย และให้หน่วยงานดังกล่าวดำเนินการออกหนังสือในการยื่นคำร้องขอ IP Address จากทางบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อเป็นหนึ่งในหลักฐานในการสืบหาตัวผู้กระทำผิดและเป็นหลักฐานในการดำเนินการทางกฎหมายต่อไป สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
โฆษก สปสช. วอนโรงพยาบาลเร่งส่งข้อมูลมาเบิกจ่าย Posted: 30 Dec 2011 12:32 AM PST 30 ธ.ค. 54 - โฆษก สปสช.ชี้แจงไม่ใช่เงินค้างท่อ แต่เป็นเงินที่กันไว้ร้อยละ 5 เพื่อใช้ในการจ่ายเงินชดเชยกรณี รพ. ส่งข้อมูลเบิกจ่ายล่าช้าและกรณีการอุทธรณ์ ชี้ปี 55 เป็นปีที่สองที่ สปสช. ปรับอัตราจ่ายเงินล่วงหน้าให้หน่วยบริการสังกัด สธ.เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง โดยโอนเงินไปแล้วในไตรมาสแรกร้อยละ 50 คิดเป็นวงเงินที่จัดสรรรวม 22,500 ล้านบาท ย้ำรพ.สังกัด สธ. ทุกแห่งได้รับมาตรฐานคุณภาพโรงพยาบาลส่งผลให้ประชาชนได้บริการมีคุณภาพตามมาตรฐานแน่นอน นายแพทย์ปรีดา แต้อารักษ์ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวชี้แจงกรณีข่าว สปสช.บริหารงบประมาณแล้วมีเงินค้างท่อและมีการกันเงินไว้เป็นกองทุนย่อยที่ส่วนกลางเยอะเกินไปว่า สปสช. ได้กันเงินไว้เป็นกองทุนย่อยจริงประมาณร้อยละ 5 ของงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวทั้งหมดเพื่อ ปรับปรุงงบประมาณที่จ่ายให้หน่วยบริการตรงตามผลงานบริการจริง ทั้งนี้ในแต่ละปีงบประมาณ ได้มีการประมาณการผลงานจากข้อมูลที่มีการให้บริการจริงในปีงบประมาณก่อนหน้า บวกส่วนเพิ่มตามประมาณการ อย่างไรก็ตามในปี 2554 สปสช เปิดโอกาสให้โรงพยาบาลสามารถส่งข้อมูลเพื่อเบิกเงินชดเชยได้ถึง 360 นับแต่วันให้บริการ สปสช จึงต้องเตรียมงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อรอการเรียกเก็บจากหน่วยบริการ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับส่วนที่หน่วยบริการต่างๆได้รับไปก่อนหน้าแล้ว โฆษกสปสช. ยังชี้แจงถึงกรณีการปรับปรุงระบบการจ่ายเงินในปี 2554 ว่า สปสช. ปรับระบบการจ่ายเงินชดเชยใหม่ โดยคำนวณผลงานที่คาดว่าโรงพยาบาลจะทำได้ทั้งกองทุนผู้ป่วยใน อุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน และค่าใช้จ่ายสูง และจ่ายชดเชยล่วงหน้าให้กับโรงพยาบาล และเมื่อมีข้อมูลการให้บริการจริง สปสช จะใช้ระบบการหักล้างทางบัญชีโดยไม่กระทบระบบการเงินของโรงพยาบาล เมื่อดำเนินการเช่นนี้แล้ว สปสช. เหลือเงินงบประมาณอยู่เพียงเล็กน้อย สำหรับรองรับการขอแก้ไขและอุทธรณ์ข้อมูลเท่านั้น จากกรณีผู้ป่วยใน อุบัติเหตุ - ฉุกเฉิน และค่าใช้จ่ายสูง ในปี 2554 จนถึงขณะนี้มีเงินที่กันสำรองไว้สำหรับกรณีนี้อีกไม่เกิน 100 ล้าน เพื่อให้หน่วยบริการที่เรียกเก็บเข้ามา ทั้งนี้ก็ขึ้นกับหน่วยบริการแต่ละแห่งที่จะต้องเร่งจัดทำข้อมูลที่ให้บริการผู้ป่วยในโรคดังกล่าวส่งมาที่ สปสช. เพื่อจะได้นำงบประมาณส่วนที่เหลืออยู่นี้ส่งไป คาดว่าไม่น่าจะเกิน 2 เดือนนับจากนี้ นายแพทย์ปรีดากล่าวต่อว่า สำหรับการเบิกจ่ายของหน่วยบริการที่ส่งมายัง สปสช.นั้น ตั้งแต่ปี 2553 สปสช. ได้ปรับวิธีการจ่ายเงินให้รวดเร็วมากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นกับหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลรัฐและเอกชนเองที่จะต้องส่งข้อมูลการให้บริการทันตามกำหนดเวลา ซึ่งในปัจจุบัน สปสช.มีการนำเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์ โดยบันทึกเฉพาะข้อมูลการให้บริการที่สำคัญ ประกอบด้วยหมายเลขบัตรประชาชนผู้รับบริการ รหัสการวินิจฉัยโรค ฯลฯ ทางเวบไซต์ออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถคลิกเข้ามาใส่ข้อมูลได้ ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้สะดวกสบายต่อหน่วยบริการมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หน่วยบริการบางแห่งอาจจะยังไม่พร้อมในการใช้คอมพิวเตอร์หรือมีปัญหาในการใช้งาน สปสช. ยังมีสำนักงานสาขาเขต 13 เขตทั่วประเทศที่สามารถติดต่อเพื่อให้การแก้ไขปัญหา ซึ่งจะทำให้เกิดการคล่องตัวได้มากขึ้น “ปัจจุบัน สปสช อำนวยความสะดวกให้โรงพยาบาลสามารถส่งข้อมูลตามแฟ้มข้อมูลมาตรฐาน (12/18 แฟ้ม) ได้ทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ส่งเสริมป้องกัน” โฆษกสปสช.กล่าว นอกจากนี้แล้วกรณี ในปี 2555 เป็นปีที่สองที่ สปสช. ได้ปรับอัตราการจ่ายเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพให้หน่วยบริการใหม่ จากเดิมที่จ่ายให้ล่วงหน้าครั้งละร้อยละ 25 จำนวน 4 งวด เป็น จ่ายล่วงหน้าให้ร้อยละ 50 ของประมาณการค่าใช้จ่ายทั้งปีไปก่อนเลยตั้งแต่ต้นปี ทั้งนี้ในส่วนของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขนั้น สปสช.ได้โอนงบประมาณไปแล้ว 22,500 ล้านบาท เชื่อว่างบประมาณจำนวนนี้จะทำให้หน่วยบริการสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิและแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องได้เป็นอย่างดี “ส่วนกรณีที่มีการระบุว่า โรงพยาบาลในโครงการหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีปัญหาด้านคุณภาพ ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพต่ำนั้น เท่าที่ทราบเป็นการให้ข้อมูลจากวิทยากรท่านหนึ่งจากกระทรวงสาธารณสุข และไม่ทราบว่าใช้เกณฑ์อะไร คงต้องไปสอบถามผู้พูดเอาเอง” โฆษกสปสช.กล่าวและว่า นอกจากนี้แล้ว สำหรับหน่วยบริการที่อยู่ในโครงการฯ มีการตรวจรับรองมาตรฐานทุกปี ซึ่งโรงพยาบาลทุกแห่งก็มีการพัฒนาคุณภาพ ตามเกณฑ์มาตรฐานการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จากผลการประเมินและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) พบว่าในปีงบประมาณ 2554 มีโรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพซึ่งเป็นหน่วยบริการและส่วนมากเป็นรพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีจำนวน 955 แห่งหรือ ร้อยละ 99.4 ของรพ.ทั้งหมดมีระบบคุณภาพ แบ่งเป็น รพ.ที่ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานร้อยละ 28.4 , รพ.ที่ผ่านขั้นที่ 2 (ระบบบริหารความเสี่ยง ) ร้อยละ 64.7 ทั้งนี้โรงพยาบาลทั้งหมดมีการพัฒนาและการประเมินตนเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับทั่วไป
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เยียวยาเหยื่อไฟใต้ สู่กระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ (1) Posted: 30 Dec 2011 12:25 AM PST
ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ กระบวนการสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดฉากด้วยการจัดงานใหญ่ ระดมคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถึง 1,000 คน ใช้งบประมาณสูงถึง 1 ล้านบาท ในวันที่ 4 – 5 มกราคม 2555 เริ่มต้นด้วย 2 ประเด็นหลัก หนึ่ง ประเด็นยุติธรรมสมานฉันท์ สอง ประเด็นปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ (กระจายอำนาจ) ในการนี้ สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ซึ่งเป็นองค์กรจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับสำนักงานปฏิรูป ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 ชุด เพื่อจัดทำข้อเสนอ สำหรับ ประเด็นยุติธรรมสมานฉันท์ สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ได้มีคำสั่งที่ 01/2554 ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2554 ลงนามโดยนายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาสังคมชายแดนใต้ แต่งตั้งคณะทำงานจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะทำงานด้านยุติธรรมสมานฉันท์ มี สมนึก ระฆัง เป็นประธาน คณะทำงานประกอบด้วย นายอิสกันดาร์ ธำรงทรัพย์ นางโซรยา จามจุรี นางสาวลม้าย มานะการ นางสาวมาเรียม ชัยสันทนะ นายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ นายอนุกูล อาแวปูเตะ นายอับดุลอาซิซ ตาเดอินทร์ นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา นางแยน๊ะ สะแลเม นายประยูรเดช คณานุรักษ์ นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ นายมะรอนิง สาและ นางกัลยา เอี่ยวสกุล คณะทำงานชุดนี้ มีหน้าที่ออกแบบและวางแผนการดำเนินงาน เพื่อจัดเวทีสมัชชาเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในประเด็นยุติธรรมสมานฉันท์ สนับสนุนข้อมูลความรู้ ตลอดจนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ในการเตรียมการและการจัดงานสมัชชาฯ ร่วมขับเคลื่อนงานตามแผนงานที่วางไว้ และเข้าร่วมการจัดสมัชชาฯ ทว่า ภารกิจที่สำคัญของคณะทำงานด้านยุติธรรมสมานฉันท์คือ การพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในประเด็นยุติธรรมสมานฉันท์ ซึ่งคณะทำงานชุดนี้ได้แยกออกเป็นประเด็นย่อย 2 ประเด็น หนึ่ง ประเด็นการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง และผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงหลายฉบับ สอง ประเด็นการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ฉบับต่างๆ ตั้งแต่กฎอัยการศึก 2457 ไปจนถึงพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พุทธศักราช 2551 โดยเฉพาะการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548 ที่ให้อำนาจฝ่ายทหารในการตรวจค้นและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยอย่างกว้างขวาง ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของ 2 ประเด็นข้างต้น จะมีตัวแทนคณะทำงานด้านยุติธรรมสมานฉันท์คือ นางสาวลม้าย มานะการกับนายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ขึ้นนำเสนอบนเวทีสมัชชาเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” ในวันที่ 4 มกราคม 2555 ซึ่งเป็นวันแรกของงาน ตัว แทนคณะทำงานด้านยุติธรรมสมานฉันท์ทั้งสอง มีกำหนดรายงานรายละเอียดของข้อเสนอทั้งหมด ต่อคณะทำงานด้านยุติธรรมสมานฉันท์อีกครั้ง ในวันที่ 30 ธันวาคม 2554 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนขึ้นเวทีสมัชชาเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” ในวันที่ 4 มกราคม 2555 อันเป็นการเปิดฉากสู่กระบวนการปฏิรูป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะเริ่มขึ้นและดำเนินต่อไปตลอดทั้งปี 2555
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น