โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

บอร์ดควบคุมคุณภาพ สปสช. หนุนตั้ง 'เครือข่ายโรคอัตราตายสูง'

Posted: 23 Apr 2013 12:04 PM PDT

บอร์ดควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สปสช. หนุนเครือข่ายบริการกลุ่มโรคที่มีอัตราตายสูง โดยเฉพาะเครือข่ายโรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรมส่งผลให้มีอัตราการรอดชีวิตมากขึ้นหลังได้รับการบริการทันท่วงทีในการรักษา

เมื่อวานนี้ (23 เม.ย.) รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข กล่าวว่า คณะกรรมการฯชุดนี้เห็นด้วยและสนับสนุนการดำเนินงานให้มีการพัฒนาระบบเครือข่ายบริการกลุ่มโรคที่มีอัตราตายสูง ทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือดเนื่องจากมีข้อมูลระบุว่า โรคหัวใจเป็นโรคที่มีอัตราการตายติดอันดับ 1ใน 10 ของโรคที่มีอัตราการตายสูงที่สุดในประเทศไทย และยังก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการป่วยเป็นโรคดังกล่าว ถึงปีละประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นโรคที่ใช้งบประมาณในการรักษาสูงมากอีกโรคหนึ่งด้วย ดังนั้นจึงเล็งเห็นและให้ความสำคัญของการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มโรคที่มีอัตราตายสูง เพื่อจะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระดับปฐมภูมิจนถึงตติยภูมิ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่อย่างคุ้มค่า และเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาในแต่ละระดับหน่วยบริการ

ประธานคณะกรรมการฯกล่าวว่า  สปสช.จึงให้ความสำคัญของการดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคที่มีอัตราการตายสูงซึ่งตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 ที่ผ่านมา สปสช.มีนโยบายสนับสนุนการให้บริการโรคที่มีอัตราการตายสูง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึง  จากผลการดำเนินงานเครือข่ายโรคหัวใจและหลอดเลือด ตั้งแต่ปี2552-2555 พบว่า มีหน่วยบริการแม่ข่ายที่มีศักยภาพให้บริการได้จำนวน 18 แห่งและมีหน่วยบริการลูกข่ายที่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดให้กับผู้ป่วยในโรคดังกล่าวได้ถึง 265แห่ง ขณะที่มีหน่วยบริการที่เป็นลูกข่ายที่ไม่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ แต่สามารถวินิจฉัยโรคได้จำนวน 650 แห่ง

อย่างไรก็ตามตั้งแต่ในปี 2553-2555  พบว่า มีหน่วยบริการให้ยาละลายลิ่มเลือดและสวนหัวใจกับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองในระบบหลักประกันสุขภาพ กล่าวคือ ปี 2553 คิดเป็นร้อยละ43.92 ปี 2554 ร้อยละ 49.09 และปี 2555 จำนวน 52.77  ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อมีนโยบายการให้บริการโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงทำให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงบริการในโรคค่าใช้จ่ายสูงแล้ว ยังส่งผลให้มีอัตราการเสียชีวิตลดลง  เนื่องจาก โรคที่ทำให้เกิดความพิการในระดับต้นๆ  ซึ่งเป็นปัญหาของระบบสาธารณสุขไทย เมื่อเกิดอาการโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันแล้ว การรักษาโดยการให้ยาละลายลิ่มเลือด ภายใน 3 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิต และทุพพลภาพของผู้ป่วยลงได้  

"การพัฒนาให้มีเครือข่ายบริการให้กับผู้ป่วยได้รับยาละลายลิ่มเลือดได้รวดเร็วและทันเวลา และมีหน่วยบริการที่มีศักยภาพจะช่วยลดการสูญเสียชีวิตให้กับผู้ป่วยแล้ว ยังลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยที่ไม่ต้องล้มละลายจากครัวเรือนอีกด้วย  ขณะเดียวกันยังช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งทั้งนี้เกิดความสำเร็จและกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเครือข่ายหน่วยบริการ  โดยขอให้ผู้ป่วยมั่นใจหน่วยบริการที่เป็นเครือข่ายบริการนั้นได้คุณภาพ มาตรฐานในการดูแลเพราะมีคณะกรรมการควบคุมฯดูแลและขอสนับสนุนและชื่นชมในการจัดให้มีเครือข่ายบริการทางด้านโรคค่าใช้จ่ายสูง " รศ.ประสบศรีกล่าว

อย่างไรก็ตาม  ในอนาคตจะต้องสนับสนุนให้มีการพัฒนาเครือข่ายบริการในระดับโรงพยาบาลชุมชนต่อไป โดยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดระบบการบริการให้มีเครือข่ายมากขึ้น   ทั้งนี้ การดำเนินการของเครือข่ายยังมุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพด้านระบบการบริหารจัดการ การร่วมมือกันภายในเครือข่าย และระหว่างเครือข่ายเพื่อให้เกิดความคล่องตัว ต่อเนื่องและยั่งยืน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนเชียงดาวและเครือข่ายลุ่มน้ำเหนือ เตรียมจัดพิธีสืบชะตาขุนน้ำแม่ปิง

Posted: 23 Apr 2013 11:44 AM PDT

เตรียมจัดพิธีสืบชะตาต้นแม่น้ำปิง 9 - 10 พ.ค.นี้ ที่ต้นน้ำปิง บ้านโป่งอาง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ด้านผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเตรียมนัดหมายจัดรำลึกครบรอบ 1 ปีที่ได้ร่วมกันคัดค้านให้รัฐยุติการสร้างเขื่อนบริเวณต้นน้ำปิงด้วย

จากสถานการณ์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยในขณะนี้ ทำให้ในหลายๆ ฝ่ายวิเคราะห์ประเมินกันว่า ในหลายพื้นที่ต่างเผชิญกับปัญหาอันเกิดขึ้นทั้งจากภัยธรรมชาติ รวมทั้งยังได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ และจากกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งด้านอุตสาหกรรม ระบบการผลิตทางการเกษตรมุ่งเน้นเพื่อการค้ามากกว่าเพื่อการยังชีพ ส่งผลทำให้ทรัพยากรโดยรวมของประเทศไทยถูกนำไปใช้ประโยชน์เกินขีดความสามารถและข้อจำกัดในการบริหารจัดการทรัพยากร

ในพื้นที่ภาคเหนือก็เช่นกัน ในหลายจังหวัด หลายอำเภอ หลายลุ่มน้ำ ล้วนมีลักษณะของพื้นที่ป่าที่เป็นผืนป่าขนาดใหญ่ เป็นแหล่งต้นน้ำ แหล่งความหลากหลายทางระบบนิเวศน์ แหล่งความมั่นคงทางด้านอาหารของชุมชนที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับป่า โดยเฉพาะชุมชนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงและในเขตพื้นที่ป่าซึ่งบางแห่งได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย ทั้งอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรี ส่งผลทำให้หลายพื้นที่ที่ชุมชนตั้งถิ่นฐานมาก่อนการประกาศพื้นที่ป่า ได้ถูกจำกัดการเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรดิน น้ำ ป่า

ผืนป่าต้นน้ำแม่ปิง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เป็นผืนป่าขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งอยู่ระหว่างรอยต่อผืนป่าระหว่างไทย– พม่า โดยมี "ดอยถ้วย" เป็นขุนน้ำ หรือ "ตาน้ำ" แหล่งกำเนิดสายน้ำแม่ปิงที่หล่อเลี้ยงผู้คน ชุมชน ตั้งแต่ อ.เชียงดาวจนถึงที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา

แต่ก็นั่นแหละ ในหลายๆ พื้นที่ทางตอนเหนือ พื้นที่ป่าส่วนใหญ่ไม่อาจหลีกพ้นที่จะเผชิญกับความพยายามในการขยายพื้นที่รองรับการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ การใช้ปัจจัยการผลิตที่ส่งเสริมให้พืชหลายชนิดมีน้ำหนัก และตรงกับความต้องการของตลาด เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้ความต้องการในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพิ่มสูงขึ้น จนเกิดภาวะน้ำแล้งในบางแห่ง น้ำไหลหลาก น้ำท่วม ในบางพื้นที่ รวมทั้งแนวคิดของการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ส่งผลต่อแนวคิด แนวทางและรูปแบบโครงสร้างที่มีขนาดใหญ่เกินความต้องการของชุมชนจนนำมาสู่ความคิดเห็นต่างของคนในชุมชน ยกตัวอย่างกรณี การศึกษาความเหมาะสมในการดำเนินการโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ฐานทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชุมชนที่ต้องหาอยู่หากินกับผืนป่า ผืนดินและแหล่งน้ำ จึงจำเป็นต้องรักษาคงไว้มากกว่าที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทางผู้นำชุมชน สมาชิกชุมชนในพื้นที่เครือข่ายลุ่มน้ำซุ้ม ต้นน้ำปิง ซึ่งเป็นพื้นที่ปฏิบัติงานของสมาคมเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อ.เชียงดาว ที่ก่อเกิดขึ้นมาจากการรวมกลุ่ม รวมตัวกันเป็นเครือข่ายลุ่มน้ำซุ้ม อันเป็นลำน้ำเล็กๆ ที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับชุมชนที่ได้ใช้ประโยชน์และอาศัยลำน้ำซุ้มในการหล่อเลี้ยงพืชผลทางการเกษตรของชุมชนที่อยู่บริเวณสองฝั่งลำน้ำ และมีพื้นที่เกษตรที่มีลำน้ำซุ้มไหลผ่าน ตั้งแต่บ้านนาหวาย บ้านน้ำรู บ้านโล๊ะป่าหาญ บ้านห้วยไส้ บ้านห้วยเป้า และบ้านโป่งอาง ได้ริเริ่มหาแนวทางในการที่จะร่วมมือกันบริหารจัดการทรัพยากรโดยใช้ฐานวัฒนธรรม สร้างความศรัทธาร่วม ภายใต้การคิดโครงการที่ชื่อ "สายธรรมค้ำสายธาร" ซึ่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อการเชื่อมร้อยการสืบชะตาแม่น้ำซึ่งเป็นพิธีกรรม ที่ผู้ประกอบพิธีมีความต้องการให้เป็นมงคล มีชีวิตอย่างสุขสบายปราศจากโรคภัยทั้งหลาย หรือการทำให้ชีวิตมีความรุ่งเรือง การสืบชาตานั้นเป็นความเชื่อดั้งเดิมของชุมชนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับความเชื่อเรื่องของผี คือ เรื่องของขวัญ ในเชิงจิตวิทยา ซึ่งเป็นทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่า คน สัตว์ พืช สิ่งของ ล้วนแล้วแต่มีขวัญอันเป็นพลังชีวิตประจำตนอยู่

น.ส.นุจิรัตน์ ปิวคำ เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ ในฐานะที่เป็นคนในพื้นที่ ต.เมืองนะ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการจัดกิจกรรมพิธีสืบชะตาขุนน้ำปิง ปีละ 1 ครั้ง โดยในปี พ.ศ. 2553 ครั้งที่ 1 ณ บ้านห้วยเป้า ต.ทุ่งข้าวพวง ในปี พ.ศ. 2554 ครั้งที่ 2 ณ บ้านห้วยไส้ ต.เมืองนะ พร้อมกับส่งต่อกิจกรรมจากบ้านหนึ่งไปสู่อีกหมู่บ้านหนึ่งในพื้นที่เครือข่ายลุ่มน้ำเดียวกัน โดยมีข้อตกลงร่วมกันด้วยการลงนามความร่วมมือของ 5 หมู่บ้านเพื่อเป็นสักขีพยานจากหน่วยงานต่างๆในการที่จะร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟู จัดการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการทรัพยากรฯ เชื่อมประสานภาคีหน่วยงานเข้ามาหนุนเสริมให้เกิดการปฏิบัติการในระดับพื้นที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

"ในปีนี้ชาวบ้านได้หารือร่วมกันที่จะจัดกิจกรรมสืบชะตาขุนน้ำแม่ปิง ณ บ้านโป่งอาง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ในระหว่างวันที่ 9-10 พ.ค.นี้"

การจัดพิธีสืบชะตาขุนน้ำแม่ปิงในครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการรณรงค์ ปลูกจิตสำนึกให้สังคม ชุมชน เกิดความตระหนักในการดูแลรักษา ฟื้นฟูและจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่ปิงตอนบน อีกทั้งเพื่อเป็นพื้นที่สร้างการเรียนรู้ให้กับกลุ่มเด็ก เยาวชน รวมถึงชาวบ้านในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ร่วมกันของคนในชุมชน รวมไปถึงการรวมกลุ่ม เพื่อเสริมสร้างพลัง ความเข้มแข็งให้กับกลุ่มแก่เหมืองแก่ฝาย กลุ่มผู้ใช้น้ำ กลุ่มองค์กรต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนให้เกิดความต่อเนื่องการดำเนินงานในระยะยาวต่อไป

ด้านนายวิรินทร์ บิดาแปง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านโป่งอาง กล่าวว่า การจัดพิธีสืบชะตาขุนน้ำปิงในครั้งนี้ นอกจากจะมีพิธีกรรมการบวชป่า สืบชะตาแม่น้ำปิงแล้ว ทางชาวบ้านโป่งอางก็อยากจะเชิญชวนทุกท่านไปร่วมเนื่องในวันครบรอบ 1 ปีที่พี่น้องชาวบ้านได้ร่วมกันคัดค้านให้รัฐยุติการสร้างเขื่อนด้วย

ทั้งนี้ หมู่บ้านโป่งอาง ปัจจุบันมีทั้งหมด 102 หลังคาเรือน เป็นชุมชนชาวไทยพื้นราบ ชาวไทยใหญ่ และชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง มีการตั้งรกรากถิ่นฐานมานับกว่าร้อยปี โดยพื้นที่ตั้งนั้นอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำปิง การดำรงชีวิตของคนในชุมชน จึงอาศัยและพึ่งพาระบบนิเวศจากดินน้ำป่า มาช้านาน

และถือว่าเป็นหมู่บ้านแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำห้วยหก ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาย่อยของแม่น้ำปิงตอนบน อันเป็นป่าต้นน้ำสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่เกิดจากแนวเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนรอยต่อระหว่างเทือกเขาดอยปุกผักกา แนวเขตบ้านโป่งอาง และบ้านแกน้อย ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยลุ่มน้ำห้วยหก มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 27,500 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทางกรมชลประทานเคยมีแนวคิดโครงการโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบนหรือเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง จนกระทั่งถูกชาวบ้านบ้านโป่งอาง เจ้าของพื้นที่ลุกขึ้นคัดค้านต่อต้านจนโครงการนั้นล้มพับไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

SEAPA แนะจะให้สื่อกำกับดูแลกันเอง อย่าลืมทบทวน กม.ความมั่นคง

Posted: 23 Apr 2013 10:14 AM PDT


(22 เม.ย.56) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ จัดการสัมมนา เรื่อง จรรยาบรรณในมุมมองของสื่อและองค์กรกำกับดูแลในต่างประเทศ โดย รดี ธนารักษ์ อาจารย์ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ระบุว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้เพื่อพัฒนาแนวทางจรรยาบรรณและจริยธรรมและแนวทางกำกับดูแลกันเองขององค์กรวิชาชีพด้านกระจายเสียงและโทรทัศน์ ให้เป็นคู่มือกลางสำหรับองค์กรวิชาชีพต่างๆ ที่จะตั้งขึ้นใหม่ในอนาคต โดยมีการจัดแลกเปลี่ยนความรู้กับองค์กรกำกับดูแลในต่างประเทศ เช่น จากอังกฤษ ออสเตรเลีย หลังจากนี้จะถอดบทเรียน นำเสนอในเวทีไตรภาคี เสนอต่อองค์กรสื่อดั้งเดิม รวมถึงจัดเวทีสี่ภาค ให้สื่อท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม ก่อนจะสรุปเสนอต่อบอร์ด กสท. ซึ่งหากผ่านก็จะมีการนำไปประชาพิจารณ์ต่อไป

กายาทรี เวนกิทสวารัน ผู้อำนวยการสมาพันธ์ผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) กล่าวถึงความท้าทายของการกำกับดูแลสื่อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า ได้แก่ หนึ่ง ความเป็นเจ้าของและการถือครองข้ามสื่อ ซึ่งยังไม่มีกฎหมายกำหนดชัดเจน ทำให้ 20 ปีที่ผ่านมา เกิดบริษัทใหญ่ที่มีทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อทีวี อินเทอร์เน็ต รวมถึงเอเจนซีโฆษณา ส่งผลให้มีเจ้าของสื่อไม่กี่รายที่เข้ามากำหนดมาตรฐานการกำกับดูแล นอกจากนี้ บริษัทใหญ่หลายแห่งก็ยังมีบทบาททางการเมืองด้วย

ผู้อำนวยการ SEAPA กล่าวต่อว่า ความท้าทายอีกข้อคือ หากมีองค์กรกำกับดูแลกันเอง แต่ไม่มีการจูงใจให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมก็คงเปล่าประโยชน์ พร้อมยกตัวอย่างองค์กรวิชาชีพของสื่อทีวีในฟิลิปปินส์ที่มีสมาชิกเพียง 10 สถานี ทั้งที่มีกว่า 800 สถานี ซึ่งส่งผลให้การตัดสินใจขององค์กรวิชาชีพ ไม่อาจเป็นตัวแทนเสียงของอุตสาหกรรมได้

กายาทรีระบุด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่มีอำนาจเหนือการกำกับดูแลกันเอง เช่น เรื่องความมั่นคงภายใน กบฏ การลบหลู่ศาสนา แนวปฏิบัติ กฎกระทรวง ทำให้รัฐเข้ามาแทรกแซงได้เสมอ ดังนั้น หากไม่ทบทวนกฎหมายเหล่านี้ด้วย เรื่องของจรรยาบรรณที่พูดกันก็ไม่มีความหมาย

ด้านพิรงรอง รามสูต ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การกำกับดูแลกันเองของสื่อไทย เริ่มขึ้นหลังจากการยกเลิกคณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กบว.) ในปี 2535 และตั้งคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กกช.) ขึ้น ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า หลังยกเลิก กบว.แล้วพบฉากแสดงความรัก เช่น ฉากจูบ ในละครมากขึ้น  ด้านโฆษณา มีการตั้งคณะกรรมการตรวจพิจารณาโฆษณาทางโทรทัศน์ในปี 2537 ซึ่งมีการตรวจทั้งเนื้อหาก่อนและหลังผลิต โดยในการกำกับดูแลกันเองนี้ หลายครั้งมีการเซ็นเซอร์ตัวเอง สะท้อนให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สื่อยังเป็นสัมปทานที่ได้จากรัฐ ทำให้สื่อวิตกเกินเหตุว่าภาครัฐจะไม่พอใจจึงเซ็นเซอร์ตัวเอง

พิรงรอง กล่าวด้วยว่า เมื่อวิเคราะห์ในแง่ผู้เล่นต่างๆ มองว่า กสทช. น่าจะมีบทบาทจัดสรรกองทุนเพื่อช่วยให้สื่อกำกับดูแลกันเองได้ ขณะที่อุตสาหกรรมทีวีซึ่งแบ่งเป็นฟรีทีวีและเปย์ทีวี (ทีวีแบบเสียเงิน) นั้น ฟรีทีวี มีตลาดขนาดใหญ่ที่มีผู้เล่นไม่กี่ราย มีประสบการณ์กำกับตัวเองมาระยะหนึ่ง แต่เปย์ทีวี มีจำนวนผู้เล่นรายเล็กจำนวนมาก ไม่เหมาะจะกำกับกันเอง ทั้งยังมีรูปแบบธุรกิจและจุดยืนที่ไม่ชัดเจน เห็นได้จากในการทำแบบสำรวจ เมื่อให้เลือกว่า ช่องของตัวเองประกอบกิจการประเภทใด กลับมีการเลือกตอบทั้งธุรกิจ สาธารณะ ชุมชน คละกันไป ส่วนองค์กรวิชาชีพที่ตั้งขึ้นเพื่อกำกับดูแลยังเป็นการรวมตัวเพื่อต่อรองผลประโยชน์มากกว่าจะดูแลรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งยังไม่มีกลไกรับเรื่องร้องเรียน ขณะที่ผู้บริโภคเองดูเหมือนยังไม่เห็นความสำคัญของการกำกับดูแล

พิรงรอง กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตอลนี้ มองว่าจะเกิดการทำลายอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างต่างๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดการกำกับดูแลกันเองแบบใหม่ๆ ขึ้นได้ ความท้าทายและโอกาสจึงขึ้นกับผู้เล่นต่างๆ ว่าจะแบ่งความรับผิดชอบต่อกันแค่ไหน ทั้งนี้ ย้ำว่า องค์กรวิชาชีพที่ทำหน้าที่กำกับดูแลต้องเร่งเรียนรู้ ดูแลตัวเอง เพื่อไม่ให้รัฐเข้ามายุ่งได้

 

 


หมายเหตุ: ติดตามประสบการณ์กำกับดูแลสื่อจากประเทศอื่นๆ ได้ที่นี่เร็วๆ นี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จุลชีพ ชินวรรโณ: วิกฤตคาบสมุทรเกาหลีรอบใหม่

Posted: 23 Apr 2013 09:17 AM PDT

วันนี้ (23 เม.ย.) ที่ห้อง 202 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาหัวข้อ "วิกฤตคาบสมุทรเกาหลีรอบใหม่: ความไม่มั่นคงในภูมิภาคและทางออก" มีวิทยากรประกอบด้วย รศ.ดร. จุลชีพ ชินวรรโณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร. นภดล ชาติประเสริฐ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และ ผศ.ดร. กิตติ ประเสริฐสุข คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย อ.ดร. จันจิรา สมบัติพูนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์

โดย รศ.ดร.จุลชีพ ชิรวรรโณ เริ่มต้นอภิปรายในเรื่องภูมิหลังความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี นับตั้งแต่เกาหลีถูกแบ่งออกเป็นเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และต่อมาเกิดสงครามเกาหลีในปี พ.ศ. 2493 - 2496 ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ฝ่ายตึงเครียดมาตลอด โดย รศ.ดร.จุลชีพ วิเคราะห์ว่าสำหรับเหตุที่ทำให้เกิดการเผชิญหน้าในคาบสมุทรเกาหลีครั้งล่าสุด ในยุคที่คิม จอง อึน ขึ้นมาเป็นผู้นำเกาหลีเหนือรุ่นสาม ก็เพราะ หนึ่ง คิม จอง อึน ซึ่งเพิ่งขึ้นมาเป็นผู้นำหลังการอสัญกรรมของคิม จอง อิล ไม่นาน มีความต้องการสร้างความยอมรับในกองทัพ เพราะชนชั้นนำในกองทัพยังไม่ยอมรับในคิม จอง อึน เหมือนที่ยอมรับในคิม อิล ซุง หรือคิม จอง อิล สอง เป็นการทดสอบว่าจีนในปัจจุบันจะสนับสนุนเกาหลีเหนือหรือไม่ ซึ่งที่สุดนายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีคนใหม่ของจีนก็ส่งสัญญาณผ่านการปาฐกถาในการประชุมโป๋อ่าวฟอรั่มในเชิงปรามเกาหลีเหนือ และสาม เกาหลีเหนือต้องการเรียกร้องความสนใจจากสหรัฐอเมริกา ให้หันมาเจรจาทวิภาคี แทนการเจรจาหกฝ่าย

สำหรับรายละเอียดของการอภิปรายโดย รศ.ดร.จุลชีพ มีรายละเอียดตามวิดีโอท้ายนี้ 

วิดีโอการอภิปรายโดย รศ.ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ ในวงเสวนา "วิกฤตคาบสมุทรเกาหลีรอบใหม่: ความไม่มั่นคงในภูมิภาคและทางออก" เมื่อ 23 เม.ย. ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จัดอันดับงานอเมริกันยอดเยี่ยม-แย่ปี 2013 พบ 'นักข่าวนสพ.' รั้งท้ายสุด

Posted: 23 Apr 2013 08:42 AM PDT

การจัดอันดับโดยเว็บไซต์ CareerCast สำรวจงานในสหรัฐจำนวน 200 ตำแหน่งโดยใช้ข้อมูลจากสำนักสถิติแรงงาน พบ "นักสถิติประกัน" เป็นงานที่ดีที่สุด ในขณะที่ "นักข่าวนสพ." โหล่สุด 

เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 56 เว็บไซต์ CareerCast.com ได้เผยแพร่การจัดอันดับงานยอดเยี่ยม-ยอดแย่ในสหรัฐอเมริกา 200 ตำแหน่ง โดยคำนวณข้อมูลจากสำนักงานสถิติแรงงาน รายได้ แนวโน้มการจ้างงาน และความเครียด พบว่า ตำแหน่งที่ได้คะแนนสูงที่สุดคืออาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย รองลงมาคือวิศวกรชีวการแพทย์ และวิศวกรด้านซอฟท์แวร์ตามลำดับ  และที่แย่ที่สุดคือนักข่าวหนังสือพิมพ์ รองขึ้นมาคือช่างเลื่อยไม้ และทหารเกณฑ์

โทนี่ ลี ผู้ตีพิมพ์บทความในเว็บไซต์ CareerCast.com กล่าวว่า ในปีนี้ อาชีพที่เน้นการบริการทางการเงินและสุขภาพแก่ประชากรผู้สูงวัยติด 10 อันดับแรกค่อนข้างมาก อาทิ นักโสตสัมผัสวิทยา (audiologist) ผู้วางแผนทางการเงิน และนักกายภาพบำบัด 
 
ส่วนอาชีพนักข่าวหนังสือพิมพ์ ร่วงลงจากปีที่แล้ว 4 อันดับ จากตำแหน่งที่ 196 เป็นตำแหน่งที่ 200 โดยลีกล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้อาชีพนักข่าวลดอันดับลงเกิดจากแนวโน้มการจ้างงานที่ลดต่ำลง รายได้เฉลี่ยยังคงลดลง ในขณะที่ช่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ความเครียดในการทำงานเพิ่มมากขึ้น 
 
การจัดอันดับอาชีพอื่นๆ ได้แก่ อาจารย์มหาวิทยาลัย อันดับที่ 14, นักสังคมวิทยา อันดับ 19, นักประวัติศาสตร์ อันดับ 25, นักสังคมสงเคราะห์ อันดับ 49, ผู้พิพากษา อันดับ 79, คนขับรถบรรทุก อันดับ 107, ทนายความ อันดับ 117, นักเศรษฐศาสตร์ อันดับ 119, ศิลปิน อันดับ 118, ภารโรง อันดับ 153, นักเขียน อันดับ 156, ช่างภาพ อันดับ 172, พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน อันดับ 191 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นปช.สุรินทร์มอบไหปลาร้าชาวกัมพูชาเพื่อแสดงมิตรภาพ

Posted: 23 Apr 2013 08:24 AM PDT

กลุ่ม นปช.สุรินทร์ และกลุ่มประชาชนกัมพูชาด้านช่องจอม จัดกิจกรรมสานสัมพันธ์ พร้อมแลกเปลี่ยนไหปลาร้า ระบุคำตัดสินเรื่องปราสาทพระวิหารจะออกมาในรูปใด คนไทยและคนกัมพูชาก็คงต้องอยู่บนดินแดนที่เป็นประเทศไทยและกัมพูชาตลอดไป และอยู่แบบฉันมิตรย่อมดีกว่าอยู่อย่างศัตรูคู่อาฆาต

วันนี้ (23 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ได้มีสมาชิกกลุ่ม นปช.สุรินทร์ กว่า 30 คน นำโดยนายเทพพนม นามลี จัดกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีระหว่างคนไทยและคนกัมพูชา หลังคดีปราสาทพระวิหาร ด้วยการนำไหปลาแดกมามอบให้กัมพูชาเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนใจเชื่อมไมตรี 2 ประเทศ สื่อให้เป็นภาชนะรวมใจคนไทยและเขมร

ทั้งนี้มีกลุ่มชาวกัมพูชากว่า 20 คน จาก จ.อุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา นำโดยนายจันทร์ สร้อย เดินทางข้ามแดนเข้ามาในเขตแดนไทย ผ่านจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม โดยมีกลุ่ม นปช.สุรินทร์ ให้การต้อนรับ มีการจับมือกัน เพื่อกระชับไมตรีและมิตรภาพระหว่างประชาชนทั้งสองชาติที่บริเวณรอยต่อเขตแดนไทย-กัมพูชา พร้อมประกาศเจตนารมณ์ว่าคนไทยและคนกัมพูชาไม่ต้องการสงครามอีกต่อไป

นายเทพพนม กล่าวว่า วันนี้ต้องการให้คนไทย คนกัมพูชาและคนทั่วโลก ได้เห็นว่าคน จ.สุรินทร์ ประเทศไทย และคน จ.อุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา ยังรักกัน ยังมีการไปมาหาสู่กันอยู่ และมีมิตรภาพที่ยั่งยืน ยังต้องการสันติภาพ ไม่ต้องการสงคราม เรื่องศาลโลกกรณีคดีเขาพระวิหารเป็นเรื่องของรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ คนไทยและคนกัมพูชา อยากอยู่กันอย่างบ้านพี่เมืองน้อง จึงพากันเดินทางมาเยี่ยมให้กำลังใจ มอบไหปลาแดกมิตรภาพและนำผ้าขาวม้ามาผูกเสี่ยว พร้อมจัดแถงข่าวต่อสื่อมวลชนไทย สื่อมวลชนกัมพูชา และสื่อต่างประเทศ ให้เห็นว่าคนชายแดน ไทย-กัมพูชา  ไม่ต้องการสงคราม

หลังการมอบไหปลาแดกมิตรภาพ คาดผ้าขาวม้าผู้เสี่ยว ได้มีกิจกรรม พูดคุยแลกเปลี่ยน พร้อมมีกิจกรรมสันทนาการร่วมกันโดยการร้องเพลงร่วมกันระหว่างเยาวชนไทย-กัมพูชา สร้างสีสัน ความสนุกสนานและรอยยิ้มแห่งมิตรภาพเป็นอย่างมาก

นายเทพพนมกล่าวด้วยว่า ความสัมพันธ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ด้าน จ.สุรินทร์ และพื้นที่อีสานใต้ ตั้งแต่ด้านโอเสม็ด อุดรมีชัย และช่องจอม ฝั่งกัมพูชา เป็นสิ่งที่ดีงาม ตัวเขาและคนเสื้อสุรินทร์เดินทางมาที่ชายแดนในวันนี้ เพื่อแสดงให้รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ ได้ตระหนักว่าภาคประชาชาทั้งคนเสื้อแดงในกัมพูชาและคนเสื้อแดงอีสานใต้ ยังรักกันแน่นแฟ่นกันอยู่และมีความผูกพันกันอยู่  เราไม่ต้องการสงคราม และจะมีการทำกิจกรรมรณรงค์ระหว่างพี่น้องเรา พรมแดนไม่อาจขวางกันเราได้ วันนี้ได้นำปลาแดก หรือปลาร้า มาฝากแกนนำและภาคประชาชนกัมพูชา ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี  คาดว่าอนาคตจนถึงวันตัดสินของศาลโลกเราจะทำกิจกรรมร่วมกันต่อไปเรื่อยๆ

โดยนายเทพพนมวิงวอนถึงรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาว่าประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ไม่ต้องการสงคราม เราต้องการมิตรภาพ หากรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ ดื้อดึงหรือไม่ฟัง ประชาชนสองประเทศจะออกมาแสดงพลัง เพราะทั้งสองประเทศปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย เรารักกันผูกพันดั่งสายน้ำสายเลือด บ้านพี่เมืองน้อง ประวัติศาสตร์เส้นทางสายปลาแดกจะดำเนินการต่อไป สู่สันติภาพ ไม่ต้องการสงคราม

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคำตัดสินเรื่องปราสาทพระวิหารจะออกมาในรูปใด คนไทยและคนกัมพูชา ก็คงต้องอยู่บนดินแดนที่เป็นประเทศไทยและกัมพูชาตลอดไป และการอยู่ร่วมกันฉันมิตรย่อมดีกว่าการอยู่อย่างศัตรูคู่อาฆาต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการเป็นศัตรูนั้นเกิดจากนโยบายของรัฐบาล ที่มาแล้วก็จากไป หรือความไม่รู้จักแยกแยะมิตรและศัตรู

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ห้ามฉาย "ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง" เหตุขัดต่อความมั่นคงของชาติ

Posted: 23 Apr 2013 07:53 AM PDT

คณะอนุกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ มีมติไม่อนุญาตให้เผยแพร่ "ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง" ในไทย เพราะเนื้อหาขัดความมั่นคง และสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ การนำเสนอข้อมูลบางอย่างยังอยู่ในการพิจารณาของศาล ด้านผู้กำกับจะยื่นอุทธรณ์ต่อไป และแม้ภาพยนตร์จะไม่ได้ฉายก็จะเดินหน้าถ่ายทอดสิ่งที่ได้พบเห็น

ที่มาของภาพ: เพจฟ้าต่ำแผ่นดินสูง

เพลงประกอบภาพยนตร์ "ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง" ที่มา: http://youtu.be/fst_kzROXwM

 

วันนี้ (23 เม.ย.) นนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับภาพยนตร์ "ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง" เปิดเผยผ่านเฟซบุคเพจ "ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง" ว่าผลการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ ของคณะอนุกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ เรื่องฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ไม่อนุญาตให้เผยแพร่ในราชอาณาจักรไทย โดยให้เห็นว่า เนื้อหาขัดต่อความมั่นคงของชาติ และความสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ และการนำเสนอข้อมูลบางเหตุการณ์ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาล โดยไม่มีบทสรุปทางเอกสาร

ทั้งนี้ผู้กำกับภาพยนตร์ได้โพสต์สเตตัสด้วยว่า "โดยข้อมูลทั้งหมดที่ผมได้จากการลงไปยังพื้นที่จริงจากมุมมองของประชาชนในพื้นที่จริงที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดน ไทย - กัมพูชา ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากข้อพิพาทกรณีเขาพระวิหาร ส่วนหนึ่งทางผู้สร้างต้องการให้ภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง เป็นพื้นที่การแสดงออกให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจริงๆได้แสดงมุมมอง ทัศนคติ และ ความคิดเห็นที่พวกเค้าไม่มีโอกาสได้สื่อและได้พูดออกมาสู่สาธารณชนได้รับรู้ ประชาชนควรมีสิทธิได้พูดในสิ่งที่คิด และภาพยนตร์ฟ้าต่ำแผ่นดินสูงเป็นการนำสารของประชาชนทุกฝ่ายมาสู่สาธารณชน และอยากให้ฟังความคิดเห็นที่ต่างกันและอยู่ร่วมกันได้ในสังคม และยังคงเชื่อว่าประชาชนไทยมีวิจารณญาณในการทำความเข้าใจในชุดข้อมูลนี้ด้วยตัวของพวกเขาเอง

ถึงแม้ว่าภาพยนตร์จะไม่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ ผมจะยื่นอุธรณ์ในขั้นต่อไป และแม้ในท้ายที่สุด ภาพยนตร์จะไม่ได้รับอนุญาต ผมก็จะถ่ายทอดสิ่งที่ผมได้พบเห็น ได้พูดคุย ได้เข้าใจ จากการลงพื้นที่จริงบริเวณชายแดนทั้งฝั่งไทยและฝั่งกัมพูชา ผ่านการพูดและการเขียนของผมต่อไป"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คปก.ดันปฏิรูป กม.และบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม

Posted: 23 Apr 2013 04:32 AM PDT

คปก.จัดเวทีสาธารณะ 'ปฏิรูปการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย' เน้นปฏิรูปกฎหมายให้สอดคล้องหลักสิทธิมนุษยชน เสนอทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานร่วมกัน

23 เม.ย.56 คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านกระบวนการยุติธรรม ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดเวทีสาธารณะเรื่อง การปฏิรูปการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "การส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมโดยการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย" ว่าตามกฎหมายแล้วกระบวนการยุติธรรมไทยในปัจจุบัน สามารถคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้ดีตามสมควร แต่ในทางปฏิบัติมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่บ่อยครั้งทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ดังนั้นในการปฏิรูปกฎหมายต้องทำพร้อมกัน 3 อย่าง คือ 1) ปฏิรูปตัวบทกฎหมาย 2) ปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย และ 3) ปฏิรูปความคิดของบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรม โดยเห็นว่าบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่ายควรมีการทบทวนโดยเฉพาะในทางปฏิบัติที่ยังเป็นปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวและขอให้ช่วยกันสร้างความเชื่อถือศรัทธาต่อประชาชน

 

คณิต กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมดั้งเดิมเป็นกระบวนการยุติธรรมในระบบไต่สวน โดยระบบไต่สวนไม่แยกอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนฟ้องร้อง และอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาออกจากกัน ให้องค์กรที่ต่างหากจากกันเป็นผู้ทำหน้าที่ทั้งสอง การตรวจสอบความจริงในระบบไต่สวนจึงมีชั้นเดียว คือ การตรวจสอบโดยศาล ทั้งนี้จะเห็นว่าในระบบไต่สวน ผู้ถูกกล่าวหาเป็นกรรมในคดีจึงขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน พอมาถึงกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่เป็นกระบวนการยุติธรรมในระบบกล่าวหา ที่มีการแยกอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบความจริงในกระบวนการยุติธรรมเป็น 2 ชั้น คือการตรวจสอบความจริงชั้นเจ้าพนักงาน และการตรวจสอบความจริงชั้นศาล ซึ่งการตรวจสอบความจริงทั้งสองชั้นต้องกระทำอย่างมีความเป็นภาวะวิสัย โดยในระบบกล่าวหาซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่นั้น ผู้ถูกกล่าวหาต้องเป็น "ประธานในคดี" จึงมีสิทธิต่างๆ ในคดีสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน

"วิธีพิจารณาความอาญาที่ดีต้องมีความเป็นเสรีนิยม มีความเป็นประชาธิปไตย และกระทำเพื่อสังคม โดยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นกฎหมายที่ควรมีคุณลักษณะสำคัญสองประการ คือ เป็นกฎหมายที่รักษาความสงบเรียบร้อย และเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิ นอกจากนี้ในแง่ผู้ถูกกล่าวหาเป็น 'ประธานในคดี' การกระทำใด ๆ กับผู้ถูกกล่าวหาจึงต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นประธานในคดีของเขาด้วย"

คณิต กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันการขอหมายจับยังไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายเท่าที่ควร โดยคำร้องขอให้ออกหมายจับต้องระบุรายละเอียดแห่งการกระทำ และมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลนั้นได้กระทำการดังกล่าว ขณะเดียวกันการตรวจสอบในการออกหมายจับของศาลในทางปฏิบัติก็ยังขาดความเป็นเสรีนิยมอยู่มาก แสดงถึงความไม่เข้าใจต่อบทบาทความเป็นเสรีนิยม เช่นเดียวกับการแจ้งข้อหาแม้กฎหมายจะได้แก้ไขไปบ้างแล้วแต่ก็ยังไม่สมบูรณ์อยู่ดี

"หากการตรวจสอบความจริงของเจ้าพนักงานมีความเป็นภาวะวิสัย และการฟ้องของพนักงานอัยการถูกกฎหมายแล้ว ก็ย่อมจะเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาที่ดี เพราะศาลจะพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องไม่ได้" ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมายกล่าว

สมชาย หอมลออ กรรมการปฏิรูปกฎมายและประธานคณะกรรมการเฉพาะเรื่องด้านกระบวนการยุติธรรมกล่าวว่า  กระบวนการยุติธรรมที่ทั่วโลกใช้อยู่ที่ถูกกำหนดโดยมาตรฐานของสหประชาชาติ (United Nation) เป็นกระบวนการที่ดีที่สุดในการสร้างความเป็นธรรม แม้ในบางสถานการณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องอาจจะไม่พอใจอยู่บ้าง แต่ถือว่าเป็นกระบวนการที่ดีที่สุดเพราะเคารพสิทธิมนุษยชน การที่ทุกฝ่ายจะได้รับความยุติธรรมนั้น ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ และต้องคำนึงว่าประชาชนต้องสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือทางกฎหมายได้ กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 ได้ตระหนักถึงความเท่าเทียมของประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมและทั่วถึงโดยเฉพาะคดีอาญา หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 วงการกฎหมายมีความตื่นตัวอยู่ระยะหนึ่ง แต่ด้วยการขาดการบูรณาการจากแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร

"คปก.เห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ ประกอบกับบทเรียนการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในประเทศไทยยังมีความไม่เท่าเทียมอยู่มาก เช่น คดีสิ่งแวดล้อม คดีผู้บริโภค คดีภาคใต้ เป็นต้น และยังเห็นว่าการเข้าถึงการช่วยเหลือทางกฎหมายยังเป็นส่วนผลักดันในการปกป้องสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม ทำให้กฎหมายรัฐธรรมนูญมีผลในทางปฏิบัติ และมีผลอย่างมากกับการพัฒนากระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย การประชุมครั้งนี้จึงเป็นการเข้ามาสำรวจ ตรวจสอบ และการสร้างเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อที่จะทำให้การช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในประเทศไทยเป็นจริง" สมชายกล่าว

 


ถอดบทเรียนให้ความช่วยเหลือประชาชนยังไร้ทิศทาง เสนอบูรณาการทำงานร่วมกัน

ชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวในการอภิปรายหัวข้อ "การช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย การดำเนินการ ปัญหาอุปสรรคและแนวทางการแก้ไข" ว่า การให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนทางกฎหมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับศาลได้แก่ การจัดหาทนายความ ซึ่งมีปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือเรื่องค่าตอบแทนทนายความในการดำเนินคดี การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายต้องมีทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีแพ่ง กำลังทุนทรัพย์ของคู่ความแต่ละฝ่ายทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน ซึ่งกระทบถึงระบบการค้นหาความจริงเพื่อนำเสนอต่อศาลได้ ดังนั้น จึงต้องบูรณาการทั้งในทางแพ่งและทางอาญาประกอบกัน

"ข้อเสียของการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในปัจจุบัน คือเรื่องมาตรฐานการดำเนินการว่าสมบูรณ์หรือไม่ หากจัดให้มีหน่วยงานหรือเจ้าภาพเข้ามาจัดการเชิงระบบก็จะเป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยที่สุดก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐ ส่วนอัตราค่าตอบแทนของทนายความอาสาหรือทนายความขอแรงก็สมควรที่จะอยู่ในอัตราที่สูงกว่านี้ ขณะเดียวกันก็ควรจะเพิ่มศักยภาพของทนายความใหม่ด้วย เรื่องนี้ต้องคิดกันใหม่ทั้งระบบและต้องกระทำทั้งสองมิติควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง" ชาญณรงค์กล่าว

ไพฑูรย์ สว่างกมล รองอธิบดีกรรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพกล่าวว่า หากมี พ.ร.บ.ช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายออกมา เชื่อว่าจะทำให้หน่วยงานที่มีภารกิจที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรฐานและมีกลไกในการช่วยเหลือประชาชนเป็นมาตรฐานเดียวกัน กลไกการช่วยเหลือประชาชนจะชัดเจนมากขึ้น ดังนั้นการบูรณาการทำงานร่วมกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ ประชาชนจึงจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการโครงการเข้าถึงความยุติธรรม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่เราคงต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน และมีมาตรการป้องกันข้อพิพาทที่จะเกิดขึ้นด้วย ขณะเดียวกันส่วนตัวมีความเห็นว่า การให้ความช่วยเหลือกฎหมายบางประเภท เช่น สถานการณ์ยาเสพติด หรือในสถานการณ์ฉุกเฉินอาจทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ตรงนี้อาจจะต้องมีการให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือทางกฎหมายในกรณีนี้ด้วย

สมสุข มีวุฒิสม อธิบดีอัยการ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า สคช.ทำหน้าที่การเผยแพร่กฎหมายและให้การช่วยเหลือแก่ประชาชน โดยมุ่งช่วยเหลือคนจนและผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมเป็นหลัก งานของ สคช.ที่ดำเนินการ เช่น การดำเนินคดีแพ่ง การทำนิติกรรมสัญญา การไกล่เกลี่ยประนอมและระงับข้อพิพาท ด้านคุ้มครองสิทธิทางศาล เช่น คดีอุทลุม การจัดตั้งผู้จัดการมรดก เป็นต้น การให้คำปรึกษาแก่คนไทยในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังมีอุปสรรคคือมีบุคลากรจำนวนน้อยและงบประมาณไม่เพียงพอ

พรรณรายรัตน์ ศรีไชยรัตน์ หัวหน้าศูนย์ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า แต่ละสถาบันการศึกษาอาจมีวิธีการดำเนินงานในการช่วยเหลือทางกฎหมายที่แตกต่างกันไป แต่จุดร่วมของงานที่สำคัญ ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย ทั้งนี้การดำเนินงานมีปัญหาที่สำคัญคือ ความเข้มแข็งและความยั่งยืน บุคคลากรไม่สามารถทุ่มเทและให้เวลากับงานด้านนี้ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากการระบบการประเมินผลงานของมหาวิทยาลัยไม่รวมงานส่วนนี้เข้าไว้ด้วย จึงเห็นควรต้องบูรณาการงานส่วนนี้เข้ากับการศึกษาเพื่อเป็นการช่วยเหลือคนที่ทำงานด้านนี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คลังเผยครึ่งแรกปีงบฯ ‘รถคันแรก’ ส่งรบ.เก็บรายได้สูงกว่าเป้า ฐานะการคลังแข็งมาก

Posted: 23 Apr 2013 03:44 AM PDT

สมชัย สัจจพงษ์ ผอ.สนง.เศรษฐกิจการคลัง (ที่มาภาพ : สนง.เศรษฐกิจการคลัง)

23 เม.ย.56 ข่าวกระทรวงการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง รายงาน นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม  2555  –  มีนาคม 2556) ว่า รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 957,192  ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 145,045 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.9 ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากภาษีสรรพสามิตรถยนต์ และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงเศรษฐกิจภายในประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่องและผลจากโครงการรถยนต์ใหม่คันแรก ในขณะที่การเบิกจ่ายเงินงบประมาณมีจำนวนทั้งสิ้น 1,371,578 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 102,260 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.1 ทำให้ดุลเงินงบประมาณขาดดุล 414,386 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล 115,556 ล้านบาท (สาเหตุหลักจากการไถ่ถอนตั๋วเงินคลัง 102,135 ล้านบาท) ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดรวม 529,942 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 163,758 ล้านบาท ทำให้ดุลเงินสดหลังกู้ขาดดุลทั้งสิ้น 366,184 ล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 มีจำนวนทั้งสิ้น 194,153 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 160.5

 นายสมชัยฯ สรุปว่า "ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้ได้สูงกว่าเป้าหมายและสูงกว่าปีก่อน ภายใต้การเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้วกว่าร้อยละ 50 ของวงเงินงบประมาณ ในขณะที่ฐานะการคลังยังอยู่ในระดับที่เข้มแข็งมาก โดยระดับเงินคงคลังสูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วกว่าแสนล้านบาท ทั้งนี้คาดว่าฐานะการคลังตลอดปีงบประมาณจะสามารถรองรับการดำเนินการของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2556 ได้อย่างต่อเนื่อง"

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดประจำเดือนมีนาคม 2556และในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม 2555 – มีนาคม 2556)

ในเดือนมีนาคม 2556 รัฐบาลขาดดุลเงินสดจำนวน 76,673 ล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลเงินงบประมาณ 74,069 ล้านบาท ในขณะที่ดุลเงินนอกงบประมาณขาดดุล 2,604 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2556 รัฐบาลขาดดุลเงินสดจำนวน 529,942 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 163,758 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 มีจำนวนเท่ากับ 194,153 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่มีความมั่นคงต่อฐานะการคลังของรัฐบาลโดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ฐานะการคลังเดือนมีนาคม 2556

1.1 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง 151,408 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 9,893 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 7.0)

1.2 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 225,477 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 144,501 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 39.1) เนื่องจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 มีผลบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ทำให้หน่วยงานต่างๆ เร่งการเบิกจ่ายในเดือนมีนาคม 2555 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายเดือนมีนาคม ประกอบด้วยรายจ่ายประจำ 125,923 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 55.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว และรายจ่ายลงทุน 75,355 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว ส่วนการเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณปีก่อนจำนวน 24,199 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 33.7 (ตารางที่ 1)

การเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่สำคัญในเดือนนี้ ได้แก่ รายจ่ายเงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 67,818 ล้านบาท รายจ่ายเงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 21,935 ล้านบาท รายจ่ายชำระหนี้ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ 10,108 ล้านบาท และรายจ่ายของกระทรวงกลาโหม 5,309 ล้านบาท

1.3 จากรายได้นำส่งคลังและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลข้างต้น ส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณในเดือนมีนาคม 2556 ขาดดุล 74,069 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล 2,604 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดจำนวน 76,673 ล้านบาท ทั้งนี้รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 8,266 ล้านบาทส่งผลให้ดุลเงินสด (หลังกู้ชดเชยการขาดดุล) ขาดดุลเท่ากับ 68,407 ล้านบาท (ตารางที่ 2)

2. ฐานะการคลังในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม 2555 – มีนาคม 2556)

2.1 รายได้นำส่งคลัง รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 957,192 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปี

ที่แล้ว 145,045 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 17.9) ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ได้สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน

2.2 รายจ่ายรัฐบาล การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 1,371,578 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 102,260 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 8.1) ประกอบด้วยรายจ่ายปีปัจจุบัน 1,212,687 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 50.5 ของวงเงินงบประมาณ (2,400,000 ล้านบาท) สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.6 และรายจ่ายปีก่อน 158,891 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 61.5 (ตารางที่ 3)

รายจ่ายปีปัจจุบันจำนวน 1,212,687 ล้านบาท ประกอบด้วยรายจ่ายประจำ 1,063,598 ล้านบาทสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.2 และรายจ่ายลงทุน 149,089 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 24.4

2.3 ดุลการคลังรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ขาดดุล 529,942 ล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลเงินงบประมาณ 414,386 ล้านบาท และการขาดดุลเงินนอกงบประมาณจำนวน 115,556 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการไถ่ถอนตั๋วเงินคลัง 102,135 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้บริหารเงินสดให้สอดคล้องกับความต้องการใช้เงิน โดยชดเชยการขาดดุลด้วยการกู้จำนวน 163,758 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (หลังการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล) ขาดดุลเท่ากับ 366,184 ล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 มีจำนวนทั้งสิ้น 194,153 ล้านบาท (ตารางที่ 4)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มหาดไทยแจง สำเนาบัตร ปชช.เฉพาะด้านหน้าใช้ติดต่อราชการได้

Posted: 23 Apr 2013 03:26 AM PDT

สำเนาบัตรประชาชนเฉพาะด้านหน้าใช้เป็นหลักฐานติดต่อราชการและหน่วยงานต่างๆ ได้แล้ว โดยเฉพาะบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด

23 เม.ย.56 มีหนังสือจากกระทรวงมหาดไทยถึงหน่วยงานต่างๆ ลงวันที่ 22 มี.ค.56 แจ้งว่าหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนที่ต้องขอสำเนาบัตรประชาชนเป็นหลักฐาน เฉพาะบัตรประชาชนแบบอเนกประสงค์หรือสมาร์ทการ์ด ให้ถ่ายสำเนาบัตรด้านหน้าเพียงด้านเดียว เนื่องจากมีข้อมูลสำคัญครบถ้วน

 

ดูภาพขนาดใหญ่ https://farm9.staticflickr.com/8401/8673995897_89d059dc4e_o.jpg

ดูภาพขนาดใหญ่ https://farm9.staticflickr.com/8405/8675099046_f2a9125914_o.jpg

 

ในหนังสือราชการของกระทรวงมหาดไทยถึงหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนต่างๆ ระบุว่าได้รับแจ้งจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินว่า มีการร้องเรียนจากประชาชนที่มาติดต่อราชการกับหน่วยงานของรัฐ เรื่องภาระที่ต้องถ่ายสำเนาบัตรประชาชนทั้งด้านหน้าและหลังทุกครั้ง ทำให้เสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น จากการประชุมร่วมกันของผู้ตรวจการแผ่นดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความเห็นว่าควรให้มีการถ่ายสำเนาบัตรเฉพาะด้านหน้าที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักเท่านั้น โดยเฉพาะในปัจจุบันมีการใช้บัตรประชาชนแบบอเนกประสงค์หรือสมาร์ทการ์ด เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีข้อมูลสำคัญครบถ้วนแล้วที่ด้านหน้าของบัตร

ในหนังสือดังกล่าว กระทรวงมหาดไทยระบุว่า ได้พิจารณาแล้วมีความเห็นสอดคล้องกับมติที่ประชุมร่วมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงเห็นว่าหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนต่างๆ หากจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคล หรือขอคัดสำเนาบัตรเพื่อประกอบการพิจารณา หรือต้องขอสำเนาบัตรประชาชน โดยเฉพาะสมาร์ทการ์ด ควรให้มีการถ่ายสำเนาบัตรประชาชนด้านหน้าเพียงด้านเดียว เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ในตอนท้ายของหนังสือระบุว่า ให้หน่วยงานต่างๆ ประชาสัมพันธ์ให้องค์กรในสังกัดและประชาชนทั่วไปทราบด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กมธ.วิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญ เห็นด้วยให้เลือกตั้ง ส.ว.

Posted: 23 Apr 2013 02:06 AM PDT

กมธ.วิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญ สนับสนุนที่มา ส.ว.จากการเลือกตั้งทั้งหมด และไม่เห็นด้วยหากห้ามเครือญาตินักการเมืองลงสมัคร

23 เม.ย.56 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ... อภิปรายกันถึงประเด็นที่มาและคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภา ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการที่ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่มีความเห็นแตกต่างกันในประเด็นแวดล้อมต่างๆ

นางอานิก อัมระนันทน์ กรรมาธิการสัดส่วนจากพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ ส.ว.มีที่มาจากการเลือกตั้งในรูปแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 150 คน และไม่ควรดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกัน 2 สมัย เพื่อให้ห่างไกลจากการเมืองและคงไว้ซึ่งความเป็นกลางเพื่อถ่วงดุลในสภา

นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ กรรมาธิการสัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่าควรมีการเปลี่ยนระเบียบและหลักการที่เกี่ยวข้องกับ ส.ว.โดยอธิบายเงื่อนไขให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี หรือจะสามารถเป็น ส.ว.ติดต่อกันได้หรือไม่ รวมไปถึงเรื่องคุณสมบัติของคนที่จะมาเป็น ส.ว.ด้วย

นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม กรรมาธิการสัดส่วนพรรคเพื่อไทย เห็นว่าไม่ควรจำกัดเรื่องของสมัยหรือวาระการดำรงตำแหน่งของ ส.ว. หรือการห้ามเครือญาตินักการเมืองลงสมัคร โดยเห็นว่าควรปล่อยให้การสมัครเลือกตั้ง ส.ว.เป็นไปอย่างอิสระ

ขณะที่นายมงคล ศรีกำแหง กรรมาธิการสัดส่วน ส.ว. สนับสนุนให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เนื่องจากเป็นการคืนอำนาจให้กับประชาชนในการเลือกผู้แทนของตัวเอง  และไม่เห็นด้วยที่จะกำหนดห้ามเครือญาตินักการเมืองลงสมัครเป็น ส.ว.

ที่มา สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มติ กสทช.เห็นชอบช่อง 3 ยุติ ‘เหนือเมฆ’ สั่งชี้แจงเหตุสังคม

Posted: 23 Apr 2013 12:53 AM PDT

กสทช. มีมติเห็นชอบผลการพิจารณาของอนุกรรมการฯ ช่อง 3 ยุติออกอากาศละครเรื่อง 'เหนือเมฆ' เป็นไปตามการดำเนินการของสถานี โดยคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคเป็นสำคัญ  สั่งชี้แจงเหตุผลให้สังคมรับทราบและให้แจ้งให้บอร์ดรับทราบใน 15 วัน

22 เม.ย.56 ไทยพีบีเอส รายงาน ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์  พิจารณากรณีที่ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ยุติออกอากาศ ละครเรื่อง"เหนือเมฆ 2" โดยบอร์ดมีมติที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ให้สถานีโทรทัศน์ทุกช่อง แต่งตั้งผู้อำนวยการสถานี เพื่อพิจารณากำหนดหลักการเนื้อหารายการที่ออกอากาศ เพื่อไม่ให้ขัดต่อตามาตรา 29, 37 พระราชบัญญัติประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ปี  2551 โดยให้เจ้าของสถานี หรือ ผู้ได้รับใบอนุญาต แต่งตั้งผู้อำนวยการประจำสถานี เพื่อดูแลการออกอากาศ และจัดรายการ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งผู้รับใบอนุญาต จะต้องรับผิดหากมีการออกอากาศขัดตามมาตรเกี่ยวข้อง  ยกเว้นพิสูจน์ได้ว่าไม่รู้เห็น และได้ดำเนินการตามสมควรไปแล้ว

เห็นชอบผลการพิจารณาของอนุกรรมการพิจารณาเนื้อหารายการ  กรณี ยุติออกอากาศเหนือเมฆ 2 เนื่องจากาการพิจารนายุติออกอากาศ เป็นไปตามการดำเนินการของสถานี โดยคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ดังนั้นการสั่งระงับ ช่อง 3 ต้องชี้แจงข้อเท็จจริง และผลการดำเนินการต่อสังคมอย่างสมเหตุผล โดยต้องคำนึงถึงหลักความโปร่งใสในการเสนอข่าวสาร โดยให้ กสทช.แจ้งให้ช่อง 3 ทราบผล และดำเนินการ พร้อมรายงานให้กรรมการ กสท. ทราบ ภายใน 15 วัน

"ทางช่อง 3 หากเห็นว่าชี้แจงสังคมเหมาะสมแล้ว ก็ต้องแจ้งมายังกสทช.ว่า ได้ชี้แจงสังคมอย่างไรไปบ้างแล้ว ซี่งมติบอร์ดเรื่องนี้ เกี่ยวข้องกับอำนาจและหน้าที่ของผู้อำนวยการสถานี  ในการจะบอกว่าเนื้อหาไหนเหมาะสม หรือไม่เหมาะสมอย่างไร หากพบไม่เหมาะสม  ซึ่งมติที่เกิดขึ้น จะทำให้จากนี้ สถานีโทรทัศน์ทุกช่อง ต้องใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจเพื่อไม่ให้มีเนื้อหาขัดต่อกฎหมาย และกสทช.เอง ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของแต่ละช่อง หากตัดสินใจยุติออกอากาศ"

เดลินิวส์ รายงานด้วยว่า พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกสทช.และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.)เปิดเผยว่า ได้มีการพิจาณากรณีที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ยุติออกอากาศ ละครเรื่อง"เหนือเมฆ 2 มือปราบจอมขมังเวทย์" ตามที่อนุกรรมการพิจารณาเนื้อหารายการและให้สำนักงานกสทช.แจ้งให้ช่อง 3 รับทราบผลการพิจารณา ว่าเป็นไปตามการดำเนินงานของสถานี ที่ได้คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่ทั้งนี้ขอให้ช่อง 3 ดำเนินการชี้แจงต่อสังคมอย่างสมเหตุสมผลในการสั่งระงับดังกล่าวอย่างกระทันหัน โดยคำนึงบนพื้นฐานความโปร่งใส ธรรมภิบาล และสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร   และให้ช่อง3 รายงานกลับมายัง กสท ภายใน 15 วัน

นอกจากนี้ให้สถานีโทรทัศน์ทุกช่อง ดำเนินการแต่งตั้งผู้อำนวยการสถานีเพื่อกำหนดหลักการ เนื้อหา รายการ เพื่อไม่ให้ขัดต่อ ม.37 และ ม.30 พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551และให้เจ้าของสถานี หรือผู้ได้รับใบอนุญาต ดูแลการออกอากาศไม่ให้ผิดกฎหมาย

พ.อ.ดร.นที กล่าวว่า  กสท.ยังอนุญาตให้วิทยุกระจายเสียงเพิ่มเติมจำนวน 74 ราย รวมอนุญาตไปแล้วจำนวน 1,473 ราย และอนุมัติใบอนุญาตช่องรายการในกิจการที่ไม่ใช่คลื่นความถี่เพิ่มเติมอีกจำนวน 67 ช่องรายการ และให้ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติตามกฎหมายการโฆษณาอาหารและผลิตภัณฑ์ยาอีกด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ระลึกสงกรานต์เลือด 2552

Posted: 22 Apr 2013 11:53 PM PDT

เหตุการณ์นองเลือดในระยะเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ.2553 ถือได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์สงกรานต์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2552 ก็ถือว่าเป็นกรณีหนึ่งที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เช่นกัน เพราะถือเป็นการต่อสู้ของประชาชนคนเสื้อแดงครั้งใหญ่เป็นครั้งแรก และเป็น "การเคลื่อนไหวซ้อม"ที่ปูทางมาสู่เหตุการณ์ใหญ่ในปีต่อมา

กรณีสงกรานต์เลือด พ.ศ.2552 เริ่มต้นตั้งแต่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2551 จากการที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยรวมรวมเสียงสนับสนุนจากพรรคขนาดเล็กและอาศัยการเปลี่ยนข้างของกลุ่มเนวิน ชิดชอบ จากพรรคพลังประชาชน กลุ่มคนเสื้อแดงเห็นว่ากระบวนการทั้งหมดไม่มีความชอบธรรม จึงได้เคลื่อนไหวคัดค้าน

การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญเกิดขึ้นในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2552 เมื่อแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)ได้จัดการชุมนุมแดงทั้งแผ่นดิน ที่ท้องสนามหลวง ผู้นำการชุมนุมก็เช่น วีระ มุสิกพงษ์ ในฐานะประธาน นปช. นอกจากนี้ก็คือ จตุพร พรหมพันธ์ ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ จักรภพ เพ็ญแข และ นพ.เหวง โตจิระการ เป็นต้น ในวันต่อมา นปช.ก็เคลื่อนพลมาตั้งเวทีประท้วงยืดเยื้อที่ข้างทำเนียบรัฐบาล ทางแกนนำเสนอหลักการที่จะให้มีการปฏิวัติประชาธิปไตยโดยประชาชนด้วยสันติวิธี ปรากฏว่ามีประชาชนมาเข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก โดยเฉพาะจุดสูงสุดของการชุมนุมคือ วันที่ 8 เมษายน ประมาณกันว่ามีผู้เข้าร่วมการชุมนุมมากถึง 3 แสนคน ซึ่งถือเป็นการชุมนุมที่มีคนเข้าร่วมมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย

แกนนำ นปช. ได้ตั้งข้อเรียกร้อง คือ  1. พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ และนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ต้องพิจารณาตัวเองด้วยการลาออกจากตำแหน่งองคมนตรี  2. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 3. การบริหารราชการแผ่นดินต้องดำเนินไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยตามหลักสากล โดยยื่นคำขาดให้รัฐบาลตอบภายใน 24 ชั่วโมง

สถานการณ์ยกระดับไปสู่การเผชิญหน้ามากขึ้น เริ่มจากเหตุการณ์ในวันที่ 9 เมษายน เมื่อครบกำหนด 24 ชั่วโมง ผู้ชุมนุมเสื้อแดงได้ขยายการชุมนุมไปหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ และที่สำคัญคือ กลุ่มแท็กซี่คนเสื้อแดง ได้ปิดถนนประท้วงรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รัฐบาลถือโอกาสประกาศให้วันที่ 10 เมษายนเป็นวันเริ่มต้นหยุดยาวช่วงสงกรานต์ กลุ่มคนเสื้อแดงจึงถูกโจมตีอย่างหนักจากสื่อกระแสหลักและกลุ่มเสื้อเหลืองว่าเป็นตัวการทำให้การจลาจรติดขัด ขณะที่ประชาชนกำลังกลับบ้านสงกรานต์ และถูกใส่ร้ายว่า ปิดทางเข้าโรงพยาบาลราชวิถี อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายแกนนำ นปช.ก็ตัดสินใจถอนการปิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในคืนวันนั้น โดยให้ประชาชนกลับไปรวมตัวกันที่ข้างทำเนียบรัฐบาล

จากนั้น ได้เกิดเหตุการณ์สับสนที่ทำให้สื่อกระแสหลักโหมโจมตีการเคลื่อนไหวของประชาชนคนเสื้อแดงมากขึ้น คือ วันที่ 10 เมษายน กลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งเดินทางไปยังโรงแรมรอยัล คลีฟ บีช รีสอร์ท พัทยา ในขณะที่กำลังมีการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอาเซียน ในวันรุ่งขึ้น กลุ่มคนเสื้อแดงนำโดย อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง และ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ มุ่งที่จะยื่นข้อเรียกร้องต่อตัวแทนเลขาธิการสมาคมอาเซียน เพื่อคัดค้านความชอบธรรมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่เกิดการปะทะกับกองกำลังจัดตั้งเสื้อน้ำเงินของฝ่ายคุณเนวิน ชิดชอบ เหตุการณ์ลุกลามจนทำให้การประชุมสุดยอดต้องยุติกลางคัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงถือโอกาสอ้างเป็นเงื่อนไขในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่เมืองพัทยา และจังหวัดชลบุรี

วันที่ 12 เมษายน มีรายงานข่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อสลายการชุมนุม ที่กระทรวงมหาดไทย กลุ่มคนเสื้อแดงนำโดย คุณสุพร อัตถาวงศ์ จึงเดินทางไปคัดค้าน และได้เกิดเหตุการณ์ล้อมรถยนต์ของนายอภิสิทธิ์ ซึ่งเหตุการณ์ถูกนำมาสร้างกระแสทำลายภาพลักษณ์ของกลุ่มคนเสื้อแดงมากขึ้น

ในวันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพฯและปริมณฑล จับกุมนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง และได้ถือโอกาสตัดสัญญานสถานีโทรทัศน์ดี สเตชั่น ของฝ่ายคนเสื้อแดง พร้อมทั้งใช้อำนาจปิดสื่อของฝ่ายเสื้อแดงทั้งหมด พร้อมกันนั้น ก็ได้สั่งเคลื่อนกำลังทหารเพื่อมาปราบปรามการชุมนุมของประชาชนคนเสื้อแดง เหตุการณ์รุนแรงเกิดในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 13 เมษายน เมื่อกำลังทหารนำโดย พล.ต.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 เคลื่อนกำลังเข้าปะทะกับประชาชนคนเสื้อแดงที่สามเหลี่ยมดินแดง เป็นครั้งแรกภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่ฝ่ายทหารสลายกำลังโดยใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนจริงกับประชาชน มีรายงานว่ามีผู้บาดเจ็บ 70 คน แต่ต่อมา รัฐบาลอภิสิทธิ์อ้างว่า เหตุการณ์นี้ไม่มีผู้เสียชีวิต สำหรับในฝ่ายคนเสื้อแดงมีความเชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่ทหารนำศพไปซ่อนไว้

สถานการณ์ในกรุงเทพฯตึงเครียด เพราะมีข่าวตลอดเวลาว่า ฝ่ายทหารจะเข้าสลายการชุมนุมที่ข้างทำเนียบรัฐบาล ฝ่ายคนเสื้อแดงได้ยึดรถเมล์และยางรถยนต์มาเผา เพื่อสร้างแนวป้องกัน อย่างไรก็ตาม แกนนำ นปช.โดย คุณวีระ มุสิกพงศ์ ได้ประกาศสลายการชุมนุมในเวลากลางวันวันที่ 14 เมษายน ให้ประชาชนเดินทางกลับบ้าน ส่วนแกนนำ นปช.ถูกควบคุมตัวดำเนินคดีโดยทันที

ถึงกระนั้น กรณีที่มีผู้เสียชีวิตอย่างแน่นอนจากกรณีนี้ คือ นายนัฐพงษ์  ปองดี และ นายชัยพร กันทัง ซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย เดินทางมาเข้าร่วมการชุมนุมกับคนเสื้อแดงในวันที่ 12 เมษายน แล้วหายสาบสูญ ต่อมาได้พบว่าถูกสังหาร แล้วโยนลงแม่น้ำเจ้าพระยา เจ้าหน้าที่ตำรวจวินิจฉัยว่า ถูกฆาตกรรมด้วยสาเหตุทางการเมือง แต่จนถึงขณะนี้คดีความก็ยังไม่มีความคืบหน้า

บทเรียนจากกรณีสงกรานต์เลือด พ.ศ.2552 ในด้านหนึ่งก็คือ เห็นถึงเจตจำนงอันแน่วแน่ของฝ่ายประชาชนคนเสื้อแดงทั้งชายและหญิง ที่พร้อมที่จะต่อสู้และเสียสละเพื่อประชาธิปไตยด้วยจิตใจที่อาจหาญ แม้วิธีการต่อสู้อาจจะดูไม่มีระบบ แต่ก็เป็นไปโดยธรรมชาติของการต่อสู้ และจะเห็นได้ว่าการต่อสู้ด้วยจิตใจแบบเดียวกันจะเกิดขึ้นอีกในปีต่อมา ส่วนในอีกด้านหนึ่งก็เห็นได้ว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พร้อมที่จะใช้ความรุนแรงเต็มรูปแบบกับประชาชน ด้วยการใช้กำลังทหารติดอาวุธกระสุนจริงในการปราบปราม นอกจากนี้ ก็คือการใช้วิธีปิดล้อมด้านการสื่อสาร คือ ใช้อำนาจปิดกั้นข่าวสารทั้งหมดจากฝ่ายคนเสื้อแดง เพื่อใช้การโฆษณาชวนเชื่อสร้างความชอบธรรมกับการปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดโดยฝ่ายรัฐ แต่ข้อสังเกตจากเรื่องนี้ก็คือ ชนชั้นกลางจำนวนมากและสื่อกระแสหลักกลับสนับสนุนให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้วิธีการเช่นนี้ได้ และให้ความร่วมมือสร้างกระแสปิดล้อมบิดเบือนภาพลักษณ์ของประชาชนคนเสื้อแดง เท่ากับว่าคนเหล่านี้ ให้"ใบอนุญาตฆ่า"แก่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดซ้ำอีกครั้งใน พ.ศ.2553

นี่เป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์ยุคใกล้ตัวเราครับ

 

 

 

จากโลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 407  วันที่ 20 เมษายน 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: ความย้อนแย้งของ ‘ศาสนา-เสรีภาพ’

Posted: 22 Apr 2013 11:45 PM PDT

 

ไม่มีหลักฐานว่า พุทธะอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับ "ระบบการปกครองที่พึงประสงค์" เอาไว้อย่างชัดเจน พอที่จะสรุปอย่าง "ฟันธง" ได้ว่า ระบบการปกครองตามทรรศนะของพุทธะเป็นราชาธิปไตยหรือประชาธิปไตย

คราวที่แล้วผมพูดถึงข้อสังเกตของ Alexis de Tocqueville ว่าในสหรัฐอเมริกา "เสรีภาพ" มอง "ศาสนา"  เป็น "สหายที่ร่วมกันต่อสู้..." นี่เป็นความจริงในรัฐฆราวาส (Secular State) ที่รัฐกับศาสนาเป็นอิสระจากกัน รัฐถือว่าศาสนาเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ไม่ก้าวก่ายศาสนจักร ขณะที่ศาสนาอยู่ได้ด้วยศรัทธาของเอกชน เคารพและสนับสนุนสิทธิพลเมือง นักบวชหรือศาสนจักรก็ระมัดระวังที่จะไม่แสดงความเห็นทางการเมืองที่ก้าวล่วงกิจการของรัฐ

แต่กว่าที่จะมาถึงจุดนี้ได้ รายทางช่างเต็มไปด้วยเรื่องราวย้อนแย้ง (irony) ของศาสนากับเสรีภาพ หากเราไปอ่าน "ความคิดทางการเมืองจากเปลโต้ถึงปัจจุบัน" ของ เอ็ม.เจ.ฮาร์มอน (แปลโดยเสน่ห์ จามริก, 2555) จะพบว่า แรกทีเดียวพระเยซูไม่ได้สอนแนวคิดทางการเมืองเลย คำสอนของท่านที่ถูกมองว่ามีนัยทางการเมืองมีเพียงว่า "ดังนั้นจงมอบแด่เซซาร์ ในสิ่งที่เป็นของเซซาร์ และจงมอบแด่พระเจ้า ในสิ่งที่เป็นของพระเจ้า" (Matthew XXII: 21) และที่ว่า "อาณาจักรของตูข้าไม่ใช่ของโลกนี้" (John XVIII:36)

บรรดาสาวกในระยะต่อมาต่างหากที่ตีความคำสอนของพระเยซูสนับสนุนอำนาจทางการเมืองอย่างจะแจ้ง ดังทรรศนะของเซนต์ปอล (St.Paul) ที่ว่า

...อำนาจทั้งปวงที่เป็นอยู่ตั้งขึ้นโดยพระเจ้า ดังนั้นใครก็ตามที่ขัดขืนอำนาจเท่ากับขัดขืนพระบัญญัติของพระเจ้า...จงมอบสิ่งทั้งหมดที่พึงเป็นของตัวแทนพระเจ้า คือ มอบความเคารพแด่ผู้ที่ความเคารพพึงเป็นของเขา มอบธรรมเนียมแด่ผู้ที่ธรรมเนียมพึงเป็นของเขา มอบความกลัวแด่ผู้ที่ความกลัวพึงเป็นของเขา มอบเกียรติแด่ผู้ที่เกียรติพึงเป็นของเขา (Romans XIII:1-7)

นี่คือที่มาของความคิดทางการเมืองแบบ "เทวสิทธิ์" ที่ถือว่าอำนาจสูงสุดเป็นของพระเจ้า และอำนาจในการปกครองทั้งปวงในโลกนี้มาจากพระเจ้า คือพระเจ้ามอบอำนาจให้ศาสนจักรปกครองอาณาจักรทางจิตวิญญาณ เพื่อความรอดชองชีวิตในโลกหน้า และให้อำนาจแก่กษัตริย์ปกครองอาณาจักรทางโลก เพื่อความรอดของชีวิตในโลกนี้ นี่คือทฤษฎี "ดาบสองเล่ม" ที่ให้ศาสนจักรมีอำนาจควบคู่กับอาณาจักร โดยที่อาณาจักรต้องคล้อยตามศาสนจักร เพราะความรอดในโลกนี้เป็นสิ่งชั่วคราว แต่ความรอดในโลกหน้าเป็นนิรันดร์

ต่อมาศาสนจักรและอาณาจักรเกิดความขัดแย้งกัน และภายในศาสนจักรเองก็มีความขัดแย้งจนเกิดขบวนการปฏิรูปศาสนา เกิดนิกายโปรเตสแตนต์ที่ต่อต้านการผูกขาดอำนาจของศาสนจักรแห่งโรม มาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther) คือหนึ่งในนักคิดคนสำคัญในขบวนการปฏิรูป เขาเสนอให้ "หวนกลับไปหาศาสนาที่บริสุทธิ์ธรรมดา และดั้งเดิมกว่า กล่าวคือ ศาสนาที่คนทั้งปวงสามารถเข้าใจและยึดมั่น โดยไม่ต้องตกอยู่ภายใต้การแปลความลัทธิอย่างบิดเบือนของวงการอำนาจฝ่ายนักบวช"

ทุกคนมีเสรีภาพที่จะเข้าใจพระวัจนะในคัมภีร์ และเข้าถึงพระเจ้าโดยตรงด้วยตนเอง โดยไม่ต้องผ่านสื่อกลางคือพวกนักบวชหรือศาสนจักร เขากล่าวว่า "คนทั้งปวงเสมอกันในสายตาของพระเจ้า และในความสามารถที่จะเข้าใจพระวัจนะของพระองค์"

แต่แม้ลูเธอร์จะเสนอให้มี "เสรีภาพทางศาสนา" เขากลับมีความคิดทางการเมืองแบบเทวสิทธิ์ เขาเห็นว่า "คริสตศาสนิกเสมอกันในสายตาของพระเจ้า แต่ไม่เสมอกันในความสามารถที่จะทำการปกครอง เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยจึงเป็นไปไม่ได้ และอำนาจต้องรวมอยู่ในมือของเจ้าผู้ปกครอง ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจในนามของพระเจ้า"

และเมื่อปล่อยให้ปัจเจกแต่ละคนมีเสรีภาพตีความพระวัจนะในคัมภีร์ ปรากฏว่ามีการตีความผิดไปจากคัมภีร์เดิมมากขึ้นเรื่อยๆ ลูเธอร์จึงเรียกร้องให้รัฐเข้ามามีบทบทควบคุม ข้อเสนอให้คนมีเสรีภาพทางศาสนาตั้งแต่แรกจึงถูกข้อเสนอหลังทำให้ศาสนาขึ้นต่อรัฐ หรือเป็น "ศาสนาแห่งรัฐ"  และรัฐกลายเป็นผู้ผูกขาดการตีความศาสนาแทนศาสนจักรไป

ต่อมาฝ่ายที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็ได้อ้างคำพูดของลูเธอร์ว่า "ถ้าคนทั้งปวงเสมอกันในสายตาของพระเจ้าได้ แล้วทำไมจะเสมอกันในความสามารถทางการปกครองไม่ได้" ฉะนั้น ประโยคว่า "คนทั้งปวงเสมอกันในสายตาของพระเจ้า" ที่ผู้พูดไม่ได้ตั้งใจสนับสนุนประชาธิปไตยตั้งแต่แรก ได้ถูกนำมาอ้างสนับสนุนประชาธิปไตยในระยะต่อมา

แล้วในที่สุด ความเสมอภาคและเสรีภาพก็กลายเป็นสิ่งที่พระเจ้าให้มาเพื่อสนับสนุนอิสรภาพและประชาธิปไตย ดังปรากฏใน "คำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา" วรรคสองที่ว่า "เราถือว่าความจริงต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ประจักษ์แจ้งอยู่ในตัวเอง นั่นคือมนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกัน และพระเจ้าผู้สร้างได้มอบสิทธิบางประการที่จะเพิกถอนมิได้ไว้ให้แก่มนุษย์ ในบรรดาสิทธิเหล่านั้น ได้แก่ ชีวิต เสรีภาพ และการแสวงหาความสุข" นี่น่าจะเป็นรากฐานที่มาของความคิดที่ว่า เสรีภาพและศาสนาคือ "สหายร่วมกันต่อสู้..." ตามที่ Tocqueville ตั้งข้อสังเกต

เมื่อหันมาดูพุทธศาสนา มีหลักฐานในพระไตรปิฎกชัดเจนว่า คำสอนของพุทธะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองมากกว่าคำสอนของพระเยซู คือมีทั้งเนื้อหาเกี่ยวกับการเริ่มต้นของ "สังคมการเมือง" และเกี่ยวกับ "คุณธรรมทางการเมือง"

เช่น ในอัคคัญญสูตรที่พุทธะเล่าถึงการเกิดสังคมการเมืองว่า เกิดจากการที่สมาชิกของประชาคมมาประชุมตกลงกันเลือกผู้ปกครองขึ้นมา (ซึ่งบ่งว่า "อำนาจของผู้ปกครองมาจากความยินยอมของประชาชน") ผู้ปกครองคนแรกที่ถูกประชาคมเลือก เรียกว่า "มหาชนสมมติ" ต่อมาผู้ปกครองเช่นนั้นกลายเป็นเจ้าที่ดินสำหรับทำการเกษตรจำนวนมาก จึงถูกเรียกว่า "กษัตริย์" และเมื่อปกครองดีราษฎรรัก จึงเรียกว่า "ราชา"

แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่า พุทธะอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับ "ระบบการปกครองที่พึงประสงค์" เอาไว้อย่างชัดเจน พอที่จะสรุปอย่าง "ฟันธง" ได้ว่า ระบบการปกครองตามทรรศนะของพุทธะเป็นราชาธิปไตยหรือประชาธิปไตย

ผิดจากแนวคิดทางการเมืองของคริสต์ที่อธิบายเรื่องอำนาจของผู้ปกครองเอาไว้อย่างชัดเจน เช่น จอห์น แคลวิน (John Kalvin) ผู้ต่อยอดความคิดปฏิรูปศาสนาของลูเธอร์อธิบายว่า อำนาจทั้งปวงมาจากพระเจ้า และเป็นอำนาจเด็ดขาดที่ต่อต้านไม่ได้ ถ้าประชาชนถูกกดขี่ เขาอาจร้องเรียนต่อผู้ปกครอง แต่เขาก็ยังต้องให้ความเคารพเชื่อฟังอยู่นั่นเอง "ผู้ปกครองที่เลวมีสิทธิ์ได้รับความเคารพเชื่อฟังเท่ากับผู้ปกครองที่ดี" เพราะพระเจ้าไม่ได้ทำอะไรโดยปราศจากจุดประสงค์ จึงชัดแจ้งว่าผู้ปกครองที่เลวนั้น พระเจ้าประทานมาให้อยู่เหนือเรา เพื่อเป็นการลงโทษสำหรับบาปของเรา

แต่แทนการอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับอำนาจและระบบการปกครอง พุทธะกลับสอน "คุณธรรมทางการเมือง" มากเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นการเสนอให้ผู้ปกครองหรือรัฐใช้ "พระคุณ" มากกว่า "พระเดช"

ปัญหามีว่าเนื้อหาสาระของคุณธรรมทางการเมืองที่พุทธะสอนมีรายละเอียดอย่างไร จึงทำให้ตีความกันไปว่า "พุทธศาสนาค่อนไปทางสมบูรณาญาสิทธิราชย์มากกว่าประชาธิปไตย" เราจะอภิปรายประเด็นนี้ในฉบับหน้า

 

 

 

หมายเหตุ : ชื่อบทความเดิม พุทธศาสนากับประชาธิปไตย (4): ความย้อนแย้งของ 'ศาสนา-เสรีภาพ'

เผยแพร่ใน "โลกวันนี้วันสุข" ปีที่ 8 (14) ฉบับที่ 408 (20 -26 เมษายน 2556)

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ออกจากหมู่บ้านเสียที

Posted: 22 Apr 2013 11:37 PM PDT

เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา วอยซ์ทีวีทำสิ่งที่น่าสนใจมาก กล่าวคือส่งนักข่าวออกไปยัง 5 ย่านของกรุงเทพฯ รวมทั้งสี่แยกคอกวัวด้วย เพื่อถามคนแถบนั้น 5 คน (ผมเดาเอาเองว่า คงมีหลักในการกระจายผู้ให้ข้อมูลที่ไม่ได้รายงานไว้ เช่น ถามเฉพาะคนสวมเสื้อลายดอก) ว่า เกิดอะไรขึ้นในวันที่ 10 เมษายน 2553 สาเหตุที่เกิด และความคิดของเขาเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ปรากฏว่า มีเพียง 3 ใน 25 คนเท่านั้น ที่รู้หรือยังจำได้ว่า เกิดอะไรขึ้นเมื่อสามปีที่แล้ว

ผมคิดว่า วอยซ์ทีวีน่าจะทำอย่างนั้นบ้างในเมืองใหญ่ของทุกภาค เช่น นครศรีธรรมราช, ขอนแก่น และเชียงใหม่ เพื่อเปรียบเทียบสถิติ บางทีคนกรุงเทพฯ จะเข้าใจได้ว่า คนนอกกรุงเทพฯ เป็น "ควาย" น้อยกว่า หรือเป็น "ควาย" พอๆ กัน (อันที่จริงควายเป็นสัตว์ที่ฉลาดและรอบรู้มากทีเดียว แต่สำนวนไทยใช้มาอย่างนี้เสียแล้ว)

ผู้อ่านข่าวสรุปว่า คำกล่าวที่ว่าคนไทยขี้ลืม ก็ยังคงเป็นเช่นนั้นจริง

อย่างไรก็ตาม นักจิตวิทยารู้จากการทดสอบมานานแล้วว่า ความจำและความลืมเป็นกระบวนการที่ถูกสร้างขึ้น โดยเจ้าตัวเองบ้าง, โดยคนแวดล้อมบ้าง หรือโดยสังคม-วัฒนธรรมบ้าง ไม่ใช่การทำงานของสมองโดยธรรมชาติ ไม่เชื่อลองไปถามคนกรุงเทพฯ ว่า พระนเรศวรเป็นใคร ผมเชื่อว่าสถิติจะดีกว่านี้มาก ทั้งที่พระนเรศวรเป็นเรื่องเก่าแก่บรมสมกัลป์แล้วก็ตาม

กระบวนการลืม 10 เมษายน 2553 ถูกสร้างขึ้นอย่างไร

บางคนบอกว่าสื่อเป็นผู้สร้างขึ้น ผมมานึกดูก็ไม่สู้จะเห็นด้วย 100% นัก เพราะเอาเข้าจริง สื่อ (รวมที่เรียกว่ากระแสหลักด้วย) พูดถึง 10 เมษายน 2553 อยู่บ่อยๆ เพราะต้องพูดถึงการดำเนินคดีที่ดีเอสไอทำอยู่ หรือต้องพูดถึงคำพิพากษาของศาล (เช่นกรณีผู้ที่ถูกยิงเสียชีวิตในสวนสัตว์ดุสิต) แม้แต่ในช่วงเดือนเมษาฯปีนี้ วอยซ์ทีวีเองก็ทำข่าวญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์หลายครั้ง ทำให้ทางพีบีเอสต้องทำบ้าง แต่เน้นไปที่ญาติทหาร ซึ่งก็ดีที่เป็นการสร้างสมดุลของข่าว เสียแต่เป็นสมดุลกันคนละช่อง

กระบวนการลืมจึงไม่ได้ถูกสร้างขึ้นโดยไม่มีใครยอมพูดถึงเลย แต่เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนกว่านั้นมาก

ผมอยากพูดถึงความซับซ้อนตรงนี้ เท่าที่สติปัญญาผมพอจะหยั่งได้

ผมขอเริ่มที่วัฒนธรรมไทยก่อน คนไทยเพิ่งออกจากหมู่บ้านไม่เกิน 100 ปีมานี้เอง รวมทั้งคนกรุงเทพฯ ด้วย เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 5 กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ก็จริง แต่ประชากรกรุงเทพฯ อาศัยอยู่ใน "ย่าน" ต่างๆ ซึ่งมีความเป็นชุมชนสูง แม้ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมก็ตาม พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ กรุงเทพฯ ในตอนนั้นเป็นที่ประชุมของ "หมู่บ้าน" ต่างๆ มากที่สุด ความสัมพันธ์ของคนในแต่ละชุมชนก็ยังคล้ายกับชุมชนในชนบท

ส่วนคนไทยนอกกรุงเทพฯ ก็ล้วนมีชีวิตในชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรรมทั้งสิ้น 

วัฒนธรรมหมู่บ้านเกษตรกรรมนั่นแหละ เป็นพื้นฐานของวัฒนธรรมไทยปัจจุบัน

ความสัมพันธ์ของชีวิตชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรรม คือความราบรื่น อย่างน้อยโดยผิวหน้า เพื่อไม่ให้เกิดความตึงเครียดในชุมชนรุนแรง จนเป็นอันตรายต่อกลไกทางวัฒนธรรมแห่งการผลิต ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคนในหมู่บ้านไม่เหม็นขี้หน้ากัน หรือไม่ได้ต่อยตีฆ่าฟันกันเลย แต่ความขัดแย้งทั้งหลายจะถูกกดไว้หรือแก้ไขโดยไม่ให้กระทบต่อความร่วมมือที่จำเป็นในชีวิตของหมู่บ้านเกษตรกรรม

ความขัดแย้งอย่างเปิดเผยจึงเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะประสานให้กดความขัดแย้งนั้นไว้ได้ยาก เนื่องจากถูกเปิดเผยเสียแล้ว ย่อมทำให้มีราคาของ "หน้า" ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องเสีย ยิ่งเป็นความขัดแย้งเปิดเผยระหว่างกลุ่มบุคคลหรือ "พวก" ไม่ใช่ระหว่างบุคคล ยิ่งเป็นอันตราย เพราะประสานให้จำกัดความขัดแย้งเพื่อไม่ให้ทำลายความร่วมมือในการผลิตและการใช้ชีวิตในหมู่บ้านทำได้ยาก หรือทำไม่ได้เลย

วัฒนธรรมไทยปัจจุบันจึงกลัวความขัดแย้งประเภทนี้ ขัดแย้งอย่างเปิดเผยแก่สาธารณชน และเป็นความขัดแย้งระหว่างองค์กรหรือกลุ่มคน อีกทั้งไม่ใช่บุคคลต่อบุคคลขัดแย้งกันเอง มีเหตุผลที่ควรกลัวความขัดแย้งประเภทนี้ เพราะวัฒนธรรมไทยปัจจุบัน ไม่ได้สร้างกลไกเพื่อรองรับความขัดแย้งประเภทนี้ขึ้น เราไม่มีวิธีจัดการ นอกจากปล่อยให้สู้กันจนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะขาด หรือมิฉะนั้นก็ "อ่าน" ความขัดแย้งประเภทนี้ให้เป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคล เพราะมีกลไกในทางวัฒนธรรมไทยหลายอย่างที่สามารถระงับหรือบรรเทาความขัดแย้งประเภทนี้ได้ เช่น "จับเข่าคุยกัน" หรือ "เกี้ยเซี้ย" กันให้รู้แล้วรู้รอดไปเป็นต้น

วันหนึ่งเราตื่นขึ้นมาพบตัวเองในสังคมสมัยใหม่ ซึ่งความขัดแย้งอย่างเปิดเผยเป็นสาธารณะ และขัดแย้งระหว่างกลุ่มคน เป็นเรื่องปรกติธรรมดา โดยไม่มีวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งประเภทนี้เลย

วิธีเดียวที่วัฒนธรรมไทยปัจจุบันจัดการกับความขัดแย้งประเภทนี้คือ ปฏิเสธหรือปิดบังความเป็นสาธารณะของความขัดแย้ง และแม้มีกลุ่มคนจำนวนมากเข้ามาอยู่ในความขัดแย้ง เราก็ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เป็นเพียงเครื่องมือของบุคคลที่ขัดแย้งกัน

กระบวนการลืมที่เราสร้างขึ้นให้แก่ 10 เมษายน 2553 ไม่ใช่ลืมเหตุการณ์ แต่ลืมมิติทางสังคมของความขัดแย้งต่างหาก

เราส่งทอดความสามารถในการหลับตาให้แก่ความขัดแย้งของสังคมสมัยใหม่ผ่านการศึกษา เป็นเวลานานกว่ากระทรวงศึกษาจะหาวิถีทางผนวก 14 ตุลา เข้าไปในหลักสูตรได้เจอ นั่นคือยอมรับหนังสืออ่านประกอบที่เล่าถึง 14 ตุลา จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน ผมคงไม่จำเป็นต้องพูดถึงความพยายามกลบเกลื่อนความขัดแย้งประเภทนี้ในแบบเรียนของกระทรวงศึกษาไปมากกว่านี้ ขอยกข้อสอบโอเน็ตของนักเรียนชั้น ป.6 ใน พ.ศ.2553 ข้อหนึ่งให้ดูเป็นตัวอย่าง

คำถามถามว่า "การกระทำอะไรที่ไม่สอดคล้องกับกระบวนการประชาธิปไตย" คำตอบที่ให้เลือก 1/ ประท้วงด้วยการนัดหยุดงาน 2/ ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง 3/ ยอมรับเสียงของคนส่วนใหญ่ 4/ กล่าวแสดงความเห็นทางการเมือง คำตอบที่ถูกคือข้อ 1/ การนัดหยุดงานเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับกระบวนการประชาธิปไตย (!!!) 

เห็นได้ชัดเลยว่า การนัดหยุดงานคือความขัดแย้งที่ตั้งใจทำให้เป็นสาธารณะ อีกทั้งไม่ใช่เรื่องหัวหน้าสหภาพเหม็นขี้หน้าฝ่ายบริหารเป็นส่วนตัว ความขัดแย้งประเภทนี้แหละที่การศึกษาพยายามฝังหัวนักเรียนว่า ไม่เป็นประชาธิปไตย และคนดีๆ ไม่ควรทำ

กลับมาสู่กระบวนการลืมเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 ใหม่ สื่อนำเสนอเรื่องราวของญาติผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร เพราะในทุกความขัดแย้ง นอกจากมีมิติทางสังคมแล้ว ยังมีมิติทางบุคคลอยู่ด้วยเสมอ และเราไม่ควรลืมว่าเหยื่อทุกฝ่ายล้วนเป็นคนจริงๆ ซึ่งการจากไปของเขาก่อให้เกิดผลกระทบแก่คนอื่นอีกไม่น้อย แต่การปะทะกันในวันที่ 10 เมษายน 2553 มีอะไรที่ลึกกว่าการสูญเสียของบุคคล ซึ่งสื่อจำเป็นต้องสืบค้นมาเสนอให้หลากหลายมิติมากขึ้น เช่น ผมอยากรู้เหมือนกันว่า หลังจาก 3 ปีผ่านไป อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, สนธิ ลิ้มทองกุล, จำลอง ศรีเมือง ฯลฯ ยังมองเหตุการณ์นั้นเหมือนกับเมื่อตอนเกิดเหตุการณ์หรือไม่ หากให้เลือกได้ใหม่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, จตุพร พรหมพันธุ์ และพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา จะเลือกใช้ยุทธวิธีเดิมหรือไม่

จนถึงที่สุด คำถามที่สื่อลืมไม่ได้ก็คือ มันมีช่องโหว่ตรงไหนในระบบของไทยปัจจุบัน ที่ทำให้เราไม่สามารถจัดการกับความขัดแย้งประเภทนี้ได้ นักกฎหมายคิดอย่างไร นักรัฐศาสตร์

คิดอย่างไร นักมานุษยวิทยาคิดอย่างไร นักบริหารเอกชนคิดอย่างไร ฯลฯ เราคงตีกันฆ่ากันอย่างนี้ตลอดไปไม่ได้ เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป 3 ปี มีสัญญาณตรงไหนที่แสดงว่า ระบบของเราเริ่มเรียนรู้ และพบวิธีจัดการกับความขัดแย้งประเภทนี้โดยสันติและอย่างประชาธิปไตยบ้างหรือไม่

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ สื่อ (และสังคม) ต้องเผชิญกับความขัดแย้งประเภทนี้อย่างตรงไปตรงมา เราต้องช่วยกันหยุดกระบวนการลืมที่ซับซ้อน ซึ่งทำให้ความขัดแย้งเป็นเรื่องส่วนตัวไม่มีพื้นที่สาธารณะอีกต่อไป ในทางตรงกันข้าม ช่วยกันสร้างกระบวนการจำที่จะทำให้สังคมเข้มแข็งพอจะร่วมกันสร้างกลไกทางวัฒนธรรม, กฎหมาย, กติกาการเมือง, กติกาการบริหารรัฐ, สถาบันและกระบวนการระงับความขัดแย้ง (ประเภทนี้) ฯลฯ เพื่อให้เรามีชีวิตที่เป็นสุขในสังคมสมัยใหม่

และแน่นอนว่า ควรเลิกฝันถึงความสัมพันธ์อันราบรื่นของชุมชนหมู่บ้านได้เสียที เพราะนั่นคือการหลบเลี่ยงปัญหาจริงของปัจจุบันอย่างหนึ่ง ได้แก่การลืมความขัดแย้งที่เป็นสาธารณะและระหว่างกลุ่มคน

 

 

ที่มา: คอลัมน์กระแสทรรศน์ มติชน 22 เมษายน 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น