โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ชำนาญ จันทร์เรือง: ทั่วโลกมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต

Posted: 16 Apr 2013 11:23 AM PDT

 "ถ้าโทษประหารไม่มีผลเชิงป้องปราม ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น และถ้าโทษประหารไม่ทำให้เราปลอดภัยขึ้น และมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ ต้องถือว่าโทษประหารเป็นเพียงการแก้แค้นที่มีต้นทุนสูง(If the death penalty is not a deterent,and it is not,and if the death penalty does not make us safer,and it does not,the it is only high-cost revenge.)"

ชารลส์ เอ็ม แฮร์ริส (Charles M. Harris) ผู้พิพากษาอาวุโสรัฐฟลอริดา/เม..55

 

จากรายงานประจำปีของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่เผยแพร่ออกไปทั่วโลกเมื่อ 10 เมษายน 2556 ที่ผ่านมาแสดงถึงสถิติโทษประหารในปี 2555 ว่า แนวโน้มทั่วโลกยังคงมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหาร โดยมีเพียงหนึ่งในสิบของประเทศทั่วโลกที่ยังมีการตัดสินลงโทษประหารอยู่ อย่างไรก็ตามก็ได้เกิดความถดถอยในปี 2555 เช่นกัน กล่าวคือมีการรื้อฟื้นการประหารชีวิตขึ้นในประเทศแกมเบีย อินเดีย ญี่ปุ่น และปากีสถาน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรวบรวมข้อมูลการประหารชีวิตได้ใน 21 ประเทศ พบว่ามีการประหารชีวิต 682 ครั้ง ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลข 680 ครั้งในปี 2554 ใน 21 ประเทศเช่นกัน ตัวเลข 682 ครั้งยังไม่รวมการประหารชีวิตหลายพันครั้งในประเทศจีนที่ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือว่ามากกว่าจำนวนการประหารชีวิตของทั้งโลกรวมกัน 3 ใน 4 ของการประหารชีวิตที่ยืนยันได้ เกิดขึ้นใน 3 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ อิหร่าน อิรัก และซาอุดิอาระเบีย

ประเทศที่ประหารชีวิตบุคคลมากสุดในโลก 5 ประเทศ ได้แก่ จีน อิหร่าน อิรัก ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐฯ โดยมีเยเมนตามมาติดๆ

วิธีการประหารชีวิตในปี 2555 ได้แก่ การแขวนคอ การตัดศีรษะ การยิงเป้า และการฉีดสารพิษ ที่ซาอุดิอาระเบีย มีการนำศพของชายคนหนึ่งที่ถูกตัดศีรษะเพื่อประหารชีวิตไปประจาน โดยถือว่าเป็น "การตรึงกางเขนเพื่อให้ตายอย่างทรมาน" อย่างหนึ่ง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีข้อมูลความก้าวหน้าของการยกเลิกโทษประหารในทุกภูมิภาคของโลกที่ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ จะเป็นเพียงประเทศเดียวในทวีปอเมริกาที่ยังคงประหารชีวิตในปี 2555 แต่ก็เกิดขึ้นใน 9มลรัฐเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับ 13 มลรัฐ ในปี 2554 คอนเนกติกัตเป็นรัฐลำดับที่ 17 ที่ยกเลิกโทษประหารเมื่อเดือนเมษายน 2555 ที่ผ่านมา

ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว อินเดียประหารชีวิตบุคคลเป็นครั้งแรกนับจากปี 2547 โดยการแขวนคอนายอัชมาล กาสับ (Ajmal Kasab) มือปืนที่รอดมาได้จากเหตุการณ์ระเบิดที่กรุงมุมไบเมื่อปี 2551

ที่ญี่ปุ่น มีการประหารชีวิตนักโทษสามคนเมื่อเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา และอีกสี่คนในเวลาต่อมา หลังจากที่งดเว้นมาเป็นเวลา 20 เดือน

ปัจจุบันยังคงมีผู้ที่ต้องโทษประหารหรือถูกประหารสำหรับความผิดที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการฆ่าโดยเจตนา ซึ่งย่อมไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขการเป็น "อาชญากรรมร้ายแรงที่สุด" ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 6 ของกติกา ICCPR(International Covenant on Civil and Political Rights ) เช่น การใช้โทษประหารสำหรับความผิดในคดียาเสพติดในหลายประเทศรวมทั้งจีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิหร่าน, มาเลเซีย, ปากีสถาน, ซาอุดิอาระเบีย, สิงคโปร์, ไทย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยเมน เป็นต้น

ความผิดที่ลงโทษด้วยการประหารชีวิตยังประกอบด้วย "การผิดประเวณี" และ "การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชาย" (อิหร่าน) ความผิดเกี่ยวกับศาสนา อย่างเช่น "การละทิ้งศาสนา" (อิหร่าน) และ "การหมิ่นศาสนา" (ปากีสถาน) "การใช้เวทย์มนต์" (ซาอุดิอาระเบีย) ความผิดทางเศรษฐกิจ (จีน) การข่มขืนกระทำชำเรา (ซาอุดิอาระเบีย) และการลักทรัพย์ในรูปแบบที่ "ร้ายแรง" (ซาอุดิอาระเบีย, เคนยา, แซมเบีย)

นอกจากนี้ยังมีการลงโทษประหารสำหรับความผิดรูปแบบต่าง ๆ ที่ถือว่าเป็น "กบฏ" "การกระทำที่คุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ" และ "อาชญากรรมต่อรัฐ" เช่น ในแกมเบีย, คูเวต, เลบานอน, เกาหลีเหนือ, ปาเลสไตน์ (เวสต์แบงก์; เขตยึดครองของปาเลสไตน์บริเวณฉนวนกาซาที่อยู่ใต้การปกครองของกลุ่มฮามัส) และโซมาเลีย

ส่วนของประเทศไทยเรา มีการบันทึกข้อมูลการตัดสินประหารชีวิตเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 106 คดี และจนถึงสิ้นปีมีนักโทษประหารอยู่กว่า 650 คน ตัวเลขจากกรมราชทัณฑ์ชี้ให้เห็นว่า อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของนักโทษประหารเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด (แต่ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาไทยเราไม่มีการประหารชีวิตแต่อย่างใด)

ในวันที่ 15 มีนาคม2555 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติรับรองผลการพิจารณาการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ (UPR) ของไทยที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2554 ซึ่งทางการไทยปฏิเสธข้อเสนอแนะให้ทบทวนหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีการยกเลิกโทษประหาร โดยต้องการให้รอผลการศึกษาเพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการยกเลิกโทษประหารเสียก่อน ที่น่าเศร้าคือตลอดทั้งปีที่ผ่านมามีเสียงเรียกร้องให้เร่งการประหารชีวิตในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เร็วขึ้น(นำโดยรองนายกรัฐมนตรีที่จบดอกเตอร์ด้านกฎหมาย ???) รวมทั้งการกดดันที่มาจากหน่วยงานของรัฐบาลเอง

ในวันที่ 20 ธันวาคมปีที่แล้ว ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีการพิจารณามติที่ 67/176 รับรองมติฉบับที่ 4 ว่าด้วยความตกลงเพื่อยุติการใช้โทษประหารชั่วคราว โดยมีการรับรอง 111 เสียง ค้าน 41 เสียง และงดออกเสียง 34 เสียง(รวมไทยที่งดออกเสียงเป็นปีที่ 2 แต่ก็ถือว่าเป็นความก้าวหน้าที่จากเดิมที่เคยลงมติคัดค้านมาก่อน) ซึ่งเป็นการเรียกร้องให้รัฐต่าง ๆ เคารพมาตรฐานระหว่างประเทศที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่ต้องโทษประหาร มีแนวทางจำกัดการใช้โทษประหาร และลดจำนวนความผิดสำหรับโทษประหาร และเป็นการจัดทำความตกลงเพื่อยุติการใช้โทษประหารชั่วคราว

มีการเพิ่มถ้อยความกำหนดให้รัฐควรเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้โทษประหาร เรียกร้องไม่ให้รัฐใช้โทษประหารกับหญิงตั้งครรภ์หรือผู้เยาว์ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ในขณะที่กระทำความผิด ทั้งนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกเลิกโทษประหารในที่สุด และมติดังกล่าวได้เรียกร้องให้รัฐที่ยกเลิกโทษประหารไปแล้ว ไม่ให้นำกลับมาใช้อีก สุดท้ายจะมีการพิจารณาประเด็นนี้อีกครั้งในสมัยประชุมที่ 69 ในปี 2557

กล่าวโดยสรุปแม้ว่าจะมีการรื้อฟื้นโทษประหารขึ้นมาในบางประเทศ แต่สถานการณ์โดยทั่วไปของโลกถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น และจะดีขึ้นเรื่อยๆ ที่น่าภูมิใจที่สุดก็คือในภูมิภาคอาเซียนของเราในรอบปี 2555 ที่ผ่านมาไม่มีการประหารชีวิตนักโทษเลยครับ


 

----------------

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 17 เมษายน 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"เรือนจำกวนตานาโมกำลังจะฆ่าผม" เรื่องราวของผู้ประท้วงอดอาหารในคุกโหด

Posted: 16 Apr 2013 11:16 AM PDT

เสียงหนึ่งจากผู้ต้องขังในเรือนจำกวนตานาโมของสหรัฐฯ เรื่องของซามีร์ ชาวเยเมนผู้เดินทางไปแสวงโชคในอัฟกานิสถาน แต่ถูกจับกุมโดยไม่มีการไต่สวนตั้งแต่ปี 2002 และเมื่อเขาร่วมประท้วงอดอาหาร เขาก็ถูกจับสอดท่อ 'บังคับป้อนอาหาร' และถูกมัดเอาไว้


ซามีร์ นาจี อัล ฮะซัน มอกเบล ผู้ต้องขังในเรือนจำกวนตานาโมตั้งแต่ปี 2002 ได้เล่าเรื่องราวของตนผ่านล่ามภาษาอาหรับ ให้กับทนายความของเขาผ่านทางโทรศัพท์ ข้อความดังกล่าวถูกนำเสนอในหน้าบทความของเว็บไซต์นิวยอร์กไทม์เมื่อวันที่ 14 เม.ย. ในหัวข้อชื่อ "เรือนจำกวนตานาโมกำลังจะฆ่าผม" เนื้อความกล่าวถึงการที่เขาถูกจับเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำโดยที่ไม่ได้มีการไต่สวนหรือถูกตั้งข้อหาใดๆ มาจนถึงเหตุการณ์การประท้วงอดอาหารของนักโทษในเรือนจำครั้งล่าสุด

ซามีร์ กล่าวว่าเขาเริ่มอดอาหารประท้วงเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ทำให้น้ำหนักลดลงไปจากเดิม 30 ปอนด์ (ราว 13 กก.) "ผมจะไม่ยอมกินจนกว่าผมจะเรียกร้องศักดิ์ศรีกลับคืนมาได้" ซามีร์กล่าว

ซามีร์ เปิดเผยว่าเขาถูกขังในเรือนจำกวนตานาโมมาเป็นเวลา 11 ปี 3 เดือนแล้วโดยไม่ได้ถูกตั้งข้อกล่าวหาใดๆ และไม่มีการไต่สวนตามกระบวนการ

"ผมควรจะได้กลับบ้านเมื่อหลายปีที่แล้ว ไม่มีใครคิดว่าผมเป็นภัย แต่ตอนนี้ผมยังอยู่ที่นี่" ซามีร์กล่าว "เมื่อหลายปีที่แล้ว ทหารบอกว่าผมเป็นผู้อารักขาโอซามา บิน ลาเดน แต่นี่เป็นเรื่องไร้สาระ เหมือนมาจากภาพยนตร์อเมริกันที่ผมเคยดู เหมือนว่าพวกเขาไม่เชื่อมันอีกแล้ว แต่พวกเขาก็ไม่สนใจว่าผมจะอยู่ที่นี่นานเท่าไหร่เหมือนกัน"

ซามีร์เล่าว่า เมื่อปี 2000 ตอนที่เขายังอยู่ในประเทศเยเมน เพื่อนของเขาบอกว่าเขาควรไปทำงานที่อัฟกานิสถานเพราะรายได้ดีกว่างานที่เขาทำในโรงงานซึ่งได้ค่าจ้างเดือนละ 50 ดอลลาร์ (ราว 1,500 บาท) และสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ ตัวเขาเองไม่เคยเดินทางและไม่รู้อะไรเกี่ยวกับอัฟกานิสถานมาก่อน แต่เขาก็ลองทำตามที่เพื่อนเสนอแนะ แต่เมื่อไปถึงที่หมายเขากลับไม่มีงานทำที่นั่น แต่ก็ไม่มีเงินพอจะบินกลับบ้าน

จากคำบอกเล่าในบทความ หลังจากการบุกอัฟกานิสถานของสหรัฐอเมริกาในปี 2001 ซามีร์ก็หนีไปยังปากีสถานเช่นเดียวกับคนอื่นๆ แต่หลังจากนั้นเขาก็ถูกจับกุมตัว เขาพยายามเรียกร้องให้มีคนจากสถานทูตเยเมนมาพบเขา หลังจากนั้นเขาถูกส่งไปที่เมืองกันดาฮาร์ของอัฟกานิสถาน ก่อนจะถูกส่งขึ้นเครื่องบินไปที่เรือนจำกวนตานาโม

ซามีรืเล่าถึงสภาพย้ำแย่ที่เกิดขึ้นในกวนตานาโม เมื่อวันที่ 15 มี.ค. เขาป่วยอยู่ในศูนย์พยาบาลของเรือนจำและปฏิเสธจะรับอาหาร ทำให้ 'หน่วยโต้ตอบระดับรุนแรง' (Extreme Reaction Force) ที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ 8 นายในชุดปราบจลาจลเข้ามามัดมือและเท้าเขาไว้กับเตียง บังคับต่อท่อของเหลวเข้าสู่เส้นเลือดโดยตรงผ่านมือของซามีร์ เขาถูกผูกติดกับเตียงและถูกบังคับให้อยู่ในสภาพนั้นราว 26 ชั่วโมง เขาไม่ได้รับอนุญาตให้ไปเข้าห้องน้ำเขาถูกบังคับให้ต่อท่อดึงของเหลวออกจากร่างกาย (catheter) ซึ่งสร้างความเจ็บปวด สร้างความอับอาย ให้กับเขาโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ยังถูกสั่งห้ามไม่ให้ละหมาด

"ผมจะไม่ลืมครั้งแรกที่เขาเอาสายยางป้อนอาหารสอดใส่จมูกผมเลย การถูกบังคับให้รับอาหารแบบนี้มันเจ็บปวดจนผมไม่อาจบรรยายได้ ตอนที่มันแทงเข้าไป ผมรู้สึกอยากจะอาเจียน แต่ก็อาเจียนไม่ได้ มีความรู้สึกเจ็บทรมานที่หน้าอก ที่คอ และที่ท้อง ผมไม่เคยรู้สึกเจ็บปวดในแบบนี้มาก่อน ผมหวังว่าจะไม่มีใครถูกลงโทษอย่างโหดเหี้ยมแบบนี้" ซามีร์กล่าว

ซามีร์เล่าว่าเขายังถูกบังคับป้อนอาหารอยู่ ในวันหนึ่งเขาจะถูกจับมัดไว้กับเก้าอี้ในห้องขังของตัวเอง เขาถูกมัดแขน ขา และหัว โดยไม่รู้ว่าพวกเขาจะมาเวลาไหน บางครั้งพวกเชาก็มาในเวลา 5 ทุ่มเมื่อซามีร์หลับไปแล้ว ในเรือนจำตอนนี้มีนักโทษจำนวนมากกำลังอดอาหารประท้วง มีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ไม่มากพอจะทำการบังคับป้อนอาหารได้ทั้งหมด ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในช่วงพัก พวกเขาแค่ป้อนอาหารนักโทษอยู่ตลอดเวลาเพื่อทำให้พวกเขายังมีชีวิตอยู่เท่านั้น

"มีอยู่ครั้งหนึ่งในช่วงบังคับป้อนอาหาร พยาบาลสอดท่อราว 18 นิ้วเข้าไปที่ถึงกระเพาะ มันเจ็บมากกว่าปกติ เพราะเธอรีบทำมาก ผมเรียกให้ล่ามช่วยถามว่าเธอทำถูกต้องตามกระบวนการไหม" ซามีร์กล่าว

"มันเจ็บมากกระทั่งผมขอร้องให้พวกเขาหยุดป้อนผม นางพยาบาลไม่ยอมให้หยุด พอเขาป้อนเสร็จมีสิ่งที่เรียกว่า 'อาหาร' บางส่วนหกเลอะเสื้อผม ผมขอให้เขาเปลี่ยนเสื้อผ้า แต่ผู้คุมก็ไม่อนุญาตให้ผมรักษาศักดิ์ศรีส่วนสุดท้ายนี้เอาไว้" ซามีร์กล่าว

จากคำบอกเล่าของซามีร์ เขาเคยปฏิเสธไม่ยอมถูกมัดแต่ก็โดนเรียกตัว 'หน่วยโต้ตอบระดับรุนแรง' มาจัดการ เขามีทางเลือกอยู่สองทาง คือการรักษาสิทธิในการประท้วงการที่เขาถูกขังและกับการถูกทุบตี หรือยอมให้มีการบังคับป้อนอาหารอย่างเจ็บปวด

"สาเหตุเดียวที่ผมยังคงอยู่ที่นี่เพราะประธานาธิบดีโอบาม่าปฏิเสธจะส่งตัวผู้ต้องขังกลับประเทศเยเมน มันไม่มีเหตุผลเลย ผมเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่พาสปอร์ท และผมก็ควรได้รับการปฏิบัติเหมือนมนุษย์คนหนึ่ง" ซามีร์กล่าว "ผมไม่อยากตายที่นี่ แต่จนกว่าประธานาธิบดีโอบาม่าและประธานาธิบดีเยเมนจะทำอะไรสักอย่าง ผมก็ต้องเสี่ยงอยู่อย่างนี้ทุกวัน"

ซามีร์บอกว่า เขายอมทำตามข้อตกลงทุกอย่างเพื่อแลกกับการปล่อยตัวเขา รวมถึงยอมรับ 'มาตรการความมั่นคง' เพื่อให้ส่งตัวเขากลับบ้าน "ผมอายุ 35 แล้ว สิ่งเดียวที่ผมต้องการคือกลับไปเห็นหน้าครอบครัวอีกครั้ง และเพื่อสร้างครอบครัวของตนเอง" ซามีร์กล่าว

ซามีร์เล่าถึงสภาพการประท้วงอดอาหารในเรือนจำว่า ตอนนี้สถานการณ์เลวร้ายมาก นักโทษทุกคนรู้สึกทุกข์ทรมาน มีอย่างน้อย 40 คนที่ยังคงอดอาหารประท้วง มีคนหมดสติเพราะความเหนื่อยล้าทุกวัน ตัวเขาเองก็เคยอาเจียนออกมาเป็นเลือด

ขณะเดียวกันซามีร์ก็คิดว่าพวกเขายังไม่เห็นหนทางว่าจะได้รับการปล่อยตัวใดๆ การปฏิเสธอาหารและการเสี่ยงตายทุกวันๆ จึงเป็นทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่

"ผมหวังว่า จากความเจ็บปวดทรมานที่พวกเราได้รับในตอนนี้ โลกจะหันมามองเราอีกครั้ง และเล็งเห็นปัญหาของคุกกวนตานาโมจนกว่าจะสายเกินไป" ซามีร์กล่าว


เรียบเรียงจาก
 
Gitmo Is Killing Me, The New York Times, 14-04-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กระบวนการสันติภาพในมุมมองของข้าราชการ (1)

Posted: 16 Apr 2013 07:59 AM PDT

รายงานชิ้นนี้ได้นำมาจาก "บทสนทนาในห้วงยามเปลี่ยน(ไม่)ผ่าน"กระบวนการสันติภาพในมุมมองของข้าราชการ ในวันที่ 11 เม.ย. 2556 ณ ร้านบูคู ปัตตานี

 

ภายหลังจากมีการนำเสนอถึงมุมมองของนักธุรกิจต่อกระบวนการสันติภาพที่ได้นำเสนอมาก่อนหน้า ทางปาตานี ฟอรั่ม ยังคงได้นำประเด็นดังกล่าวนี้มาพูดคุย แลกเปลี่ยน กับกลุ่มราชการ ซึ่งเป็นภาพตัวแทนของรัฐ ผู้นำนโยบายของรัฐมาปฏิบัติใช้ต่อประชาชน และในขณะเดียวกันเดียวกัน ภาพของคนกลุ่มนี้บางช่วงเวลา คือ คนใน ผู้รับรู้ถึงปัญหาและความเป็นไปในชุมชนท้องถิ่น ความเคลื่อนไหว ทัศนคติและมุมมองของประชาชนที่มีต่อรัฐ และนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการเจรจาที่เกิดขึ้นมาไม่นานมานี้ งานเขียนชิ้นนี้จึงเป็นงานที่ถอดมุมมอง จากการถ่ายทอดของกลุ่มข้าราชการที่ได้นำข้อคิดเห็นของตนเอง มานำเสนอ เพื่อให้รับรู้ถึงปัญหาและข้อเสนอในเบื้องต้นต่อสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

หลังจากการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มขบวนการ ในประเทศมาเลเซียที่ผ่านมา ในมุมมองของข้าราชการ มองกระบวนการสันติภาพอย่างไร

ข้าราชการท่านแรก ได้นำเสนอในประเด็นของการปกครองรูปแบบพิเศษ มีความเป็นไปได้ในส่วนของการปกครองรูปแบบพิเศษที่ปัตตานี จะมีลักษณะเหมือนกับกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา กล่าวคือ มีการเลือกตั้งผู้ราชการจังหวัด รวมถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดและสมาชิกสภาเขต โดยส่วนตัวมองว่าการปกครองในลักษณะเช่นนี้จะมีมากขึ้นในการบริหารปกครองภายในประเทศ แต่ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญก็คือ ความพร้อมของประชาชนแต่ละชุมชนมีความพร้อมมากน้อยเพียงใด เป็นเพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบการปกครองพิเศษจริงๆ แล้ว การแข่งขันในด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ย่อมที่จะมีความเข้มข้นเป็นลำดับ

ทางด้านความหวังในการเจรจานั้น คิดว่าทุกความขัดแย้งก็จบลงด้วยการเจรจา การพูดคุยเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเป็นสิ่งที่ดี

ข้าราชการท่านที่สอง ได้เสนอประเด็นแรกไว้คือ ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างการปกครอง หรือโครงสร้างเดิมนี้ ขอเพียงอย่างเดียวคือ ผู้ปกครอง ต้องเป็นคนดีและคนเก่ง ประเด็นที่สองในเรื่องของการเจรจาสันติภาพ ที่ผ่านมาในการเกิดความรุนแรงนั้นทุกฝ่ายได้รับความเสียหายมาโดยตลอด ความสำคัญของการพูดคุย เจรจานั่นก็คือ ความจริงใจรัฐเองก็ควรที่จะมีความจริงใจ ฝ่ายตรงข้ามก็ต้องมีความจริงใจเช่นเดียวกัน

ข้าราชการท่านที่สาม ได้ชี้ให้เห็นถึง ช่องว่างระหว่างข้าราชการกับประชาชน แม้ว่ากระบวนการเจรจาสันติภาพจะดำเนินไปอย่างไร ก็ไม่ได้ส่งผลหรือความคาดหวังในตัวของชาวบ้านมากนัก อันเนื่องจากมาจากทัศนคติที่ไม่ดีของประชาชนที่มีต่อข้าราชการ

ข้าราชการท่านต่อมา ได้นำเสนอถึงเป้าหมายของการเจรจา แม้ว่าผลที่จะออกมานั้น ใครจะได้ประโยชน์ ไม่อยากที่จะรับรู้ แต่ให้สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าสู่ความสงบ แม้ว่าจะมีความเชื่อมั่นไม่เต็มร้อย แต่อยากให้เกิดความสงบ สำหรับพื้นที่ของตนเองกับความเห็นเรื่องของสันติภาพนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกประชาชนทั่วไป ขอเพียงว่าไม่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงก็เพียงพอแล้ว ทางด้านอีกกลุ่ม กล่าวโดยง่ายคือ ปัญญาชนและเจ้าของกิจการต่างๆ จะมีการพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์การเจรจา และมีความสนใจต่อประเด็นดังกล่าวนี้

ต่อมาได้นำเสนอในส่วนของการปกครองท้องถิ่น ซึ่งในปัจจุบันจะเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น มากกว่าการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ เป็นสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของชาวบ้านได้โดยตรง หากเป็นการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจจะมีจุดอ่อนที่ไม่สามารถเข้าถึงความต้องการของชาวบ้านได้โดยตรง

ข้าราชการท่านต่อมา ได้นำเสนอถึงที่มาของผู้นำในรูปแบบของการปกครองท้องถิ่นว่า ควรมีการทดสอบ รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลือกตั้งให้มีความสอดคล้องกับท้องถิ่นนั้นๆ บนพื้นฐานองค์ความรู้ของชุมชน ผู้นำของท้องถิ่นควรมีความรู้ในเรื่องของกฎหมายเกี่ยวกับการปกครองและสิทธิของประชาชารวมทั้งระเบียบการต่างๆ  ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในปัจจุบันผู้นำท้องถิ่นจะใช้ระบบพรรคพวกเป็นส่วนใหญ่

ข้าราชการท่านต่อมา ได้ตั้งข้อสังเกตต่อการเจรจาว่า เป็นเพียงแค่การจัดฉาก เพราะว่า หากเจรจาถูกตัวจริง ความรุนแรงก็น่าที่จะลดลง โดยส่วนตัวแล้วไม่เชื่อในสิ่งที่รัฐกำลงแสดงผ่านสื่อให้ประชาชนเห็น ถึงตัวเราเองไม่สามารถรับรู้ได้ว่า ใคร เป็นผู้ก่อเหตุ แต่ก็มั่นใจว่าไม่ใช่ ข้อสังเกตอีกประการคือ ทำไมไม่คุยกันภายในประเทศ อยากให้คุยกันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในส่วนข้อมูล หากว่าข้อมูลเป็นความลับ ในส่วนนี้ประชาชนจะรับรู้ได้อย่างไรว่า การพูดคุยมีข้อเสนออะไรบ้าง

ข้าราชการอีกท่านได้นำเสนอในประเด็นของต้นตอของปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยส่วนตัวมองว่า ปัญหาของโครงสร้างระบบราชการ เป็นต้นเหตุของความรุนแรงมากกว่า ที่ความรุนแรงจะเป็นปัญหาต่อการทำงานของระบบราชการ ราชการทำงานไม่ตรงตามนโยบาย แม้แต่ระบบการศึกษายังคงมีการทุจริต และมองว่าการเจรจาที่มาเลเซีย เป็นการแก้ไขปัญหาทางตรง แต่ไม่มีใครที่จะกล่าวถึงการแก้ปัญหาสังคมที่เรื้อรังมานานได้อย่างไร

ข้าราชการท่านต่อมา ได้กล่าวว่า ในการกระบวนการพูดคุยนั้น ได้มองออกเป็นประเด็นต่างๆ เช่น การพูดคุยนั้นดูเหมือนว่า กำลังเล่นเกมกันอยู่ ประเด็นต่อมาคือ กำลังเจรจาด้วยใจที่บริสุทธิ์หรือไม่ โดยอยากนำเสนอว่า ฝ่ายใดระหว่างรัฐกับขบวนการที่จะเปิดโอกาสให้กับประชาชนได้แสดงความคิดเห็นมากที่สุด

ข้าราชการท่านต่อมา ได้กล่าวสนับสนุนเห็นด้วยต่อวิธีการเจรจา แต่ประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตก็คือ ว่าการเจรจาเป็นตัวจริงหรือไม่ จากการที่สัมผัสในชุมชน กรณีร้านน้ำชา จะพบเห็นเสียงสะท้อนมาว่า ผู้ที่มาเจรจากับรัฐเป็นใคร

ข้าราชการท่านต่อมา ได้นำเสนอว่า เมื่อมีการเจรจาเกิดขึ้นแล้ว ใช่ว่าจะนำความสงบให้เกิดขึ้นภายในช่วงระยะเวลาที่รวดเร็ว การเจรจาที่เกิดขึ้นถือเป็นรูปแบบใหม่ที่รัฐนำมาใช้ในการแก้ปัญหา ซึ่งต่างจากเดิมก็คือ การนำกำลังทหารลงมาแก้ปัญหาในพื้นที่ การใช้กำลังในการจัดการความขัดแย้ง โดยการแก้ปัญหาเช่นนี้ก็หมุนเวียนกลับมาที่เดิม ซึ่งได้ก่อปัญหาที่ขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น ความรุนแรงก็เกิดซ้ำขึ้นมาอีก แม้ว่าการเจรจายังคงไม่ปรากฏคำตอบ หรือการรับรองสันติภาพ ในความเป็นจริงแล้ว การเกิดขึ้นของสันติภาพย่อมที่จะเกิดจากความร่วมมือของหลายฝ่าย อยากจะให้มองไปถึงกลุ่มเยาวชน ที่จะกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวสันติภาพในวันข้างหน้า เราในฐานะผู้ใหญ่ในวันนี้ได้เตรียมเครื่องมือใดให้กลุ่มคนเหล่านี้ในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพในอนาคต

 

 

ที่มา: PATANI FORUM

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ระลึกพระเจ้าตากสินมหาราช

Posted: 16 Apr 2013 07:31 AM PDT

เมื่อวันที่ 6 เมษายน ที่ผ่านมานี้ กลุ่มแดงกรุงธนบุรี กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กลุ่ม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมืองและเครือข่าย ร่วมจัดงานรำลึก 231 ปี แห่งการสวรรคตของพระเจ้าตากสินมหาราช ที่บริเวณอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสหนึ่งแห่งการทบทวนเรื่องราวของพระองค์ ในฐานะวีรบุรุษผู้กอบกู้บ้านเมือง อันเป็นที่มาของประเทศไทยปัจจุบันนี้

ในระยะที่ผ่านมา การศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องราวของพระเจ้าตากสินมหาราชในวงการวิชาการมีความก้าวหน้าพอสมควร โดยเฉพาะหลังจากที่มีการพิมพ์เรื่อง "การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี" เมื่อ พ.ศ.2529 ที่เขียนโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ หนังสือเล่มนี้กลายเป็นหนังสือขายดี แต่เป็นที่น่าผิดหวังว่า การอธิบายเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้ากรุงธนบุรีในสังคมไทยหลังจากนั้น ก็ยังมิได้มีได้รับผลกระทบจากหนังสือเล่มนี้ แต่ก็เป็นน่ายินดีว่าในขณะนี้ ความสนใจในเรื่องพระเจ้าตากสินมีเพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างน้อยการจัดงานระลึกถึงพระองค์ในครั้งนี้ ก็สะท้อนความสนใจดังกล่าว

พระเจ้ากรุงธนบุรี เกิดเมื่อ พ.ศ.2277  เป็นลูกจีนที่เกิดในกรุงศรีอยุธยา บิดาของพระองค์เป็นจีนแต้จิ๋ว มีความเป็นไปได้ว่า พระองค์เป็นพ่อค้าเกวียน ได้วิ่งเต้นเข้ารับราชการและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองตาก เท่ากับว่าพระองค์มีความก้าวหน้าในราชการอย่างมากในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ ก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2

ในเรื่องการเสียกรุง ในคำอธิบายดั้งเดิมกล่าวว่า ความพ่ายแพ้ของกรุงศรีอยุธยานั้นมาจากความอ่อนแอของพระเจ้าเอกทัศน์และเหล่าขุนนาง แต่ความจริงแล้ว คงต้องอธิบายว่า เป็นเพราะแสนยานุภาพของฝ่ายกรุงศรีอยุธยาด้อยกว่าพม่ามาก เพราะพม่าเพิ่งรวบรวมอาณาจักรในสมัยพระเจ้าอลองพญา ต้องทำสงครามพิชิตเมืองต่างๆ เพื่อรวบรวมอาณาจักร ทำให้พม่ามีความเชียวชาญในการทำสงครามมากกว่าฝ่ายไทยอย่างมาก ยิ่งกว่านั้นในสงครามครั้งเสียกรุง พม่าเตรียมการด้านยุทธศาสตร์มาอย่างดี โดยใช้ยุทธการตีกระหนาบแบบคีม ให้ เนเมียวสีหบดี เป็นแม่ทัพยกผ่านเชียงใหม่มาทางเหนือ และมังมหานรธา เป็นแม่ทัพยกเข้ามาทางตะวันตก กองทัพทั้งสองปราบหัวเมืองรายทาง และยกมาประชิดพระนครเมื่อต้นปี พ.ศ.2309

ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาพยายามส่งกองทัพไปสกัดกั้นพม่า แต่ไม่ประสบผล เพราะระบบการป้องกันหัวเมืองอ่อนแอ ในที่สุดต้องใช้การตั้งรับในกำแพงพระนครเป็นหลัก และคอยให้ถึงฤดูน้ำหลาก ฝ่ายพม่าจะต้องถอยกำลังไปเอง แต่ในครั้งนี้ ฝ่ายพม่ามีการเตรียมการอย่างดี โดยให้มีการรวบรวมเสบียงสำรองไว้ เมื่อน้ำหลากมาก็ถอยไปตั้งในที่ดอน แล้วต่อเรือรบจำนวนมากติดปืนใหญ่มาโจมตีพระนคร  จนกระทั่งน้ำลด ฝ่ายพม่าก็กลับมาตั้งค่ายล้อมพระนคร แล้วระดมเข้าตีเมืองอีกครั้ง พร้อมทั้งใช้การขุดอุโมงค์เพื่อหาทางเข้าโจมตี ในที่สุด กองทัพพม่าก็สามารถเข้าเมืองได้สำเร็จในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2310

หลังจากนั้น ฝ่ายพม่าก็เผาเมือง กวาดต้อนทรัพย์สินและผู้คน รวบทั้งจับขุนนางและพระราชวงศ์ไปยังเมืองพม่า พระเจ้าเอกทัศน์หนีไปซ่อนตัวที่ป่าบ้านจิก แต่ต่อมา ฝ่ายพม่าจับมาได้ พระองค์สวรรคตเพราะอดอาหารมาถึง 10 วัน

เป้าหมายของฝ่ายพม่า ไม่ได้ต้องการให้กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองออก แต่ต้องการที่จะทำลายศูนย์อำนาจของอยุธยาให้ราบคาบ ดังนั้นจึงไม่ได้ตั้งใครไว้เป็นกษัตริย์แทน เมื่อพม่าถอนกำลังกลับไปแล้ว จึงก่อให้เกิดช่องว่างแห่งอำนาจ มูลนายจำนวนมากตั้งตัวเป็นอิสระ จึงก่อให้เกิดการเมืองแบบชุมนุม คือ มูลนายสำคัญได้ควบคุมกำลังเป็นอิสระต่อกัน มีความเป็นไปได้ว่า เกิดการตั้งตนเป็นอิสระในลักษณะนี้จำนวนมาก แต่ที่เป็นชุมนุมใหญ่ก็เช่น สุกี้พระนายกองหรือนายทองสุก ที่ค่ายโพธิสามต้น พระยาพิษณุโลก เจ้าพระฝาง ที่สวางคบุรี เจ้านครศรีธรรมราช กรมหมื่นเทพพิพิธ ที่เมืองพิมาย และ พระเจ้าตาก ที่เมืองจันทบูรณ์ เป็นต้น

ในบรรดาชุมนุมเหล่านี้ พระเจ้าตาก น่าจะเป็นผู้ที่มีทัศนะกว้างไกลที่สุด และมีความสามารถในด้านการรบ พระองค์ยกกำลังมาปราบกองทัพสุกี้พระนายกอง เพื่อยึดศูนย์กลางอำนาจไว้เสียก่อน ทรงเลือกใช้กรุงธนบุรีเป็นที่มั่นแทนที่กรุงศรีอยุธยา และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2310 จากนั้น พระองค์ก็ดำเนินการ 3 อย่าง คือ ฟื้นฟูเศรษฐกิจแก่บ้านเมือง  เตรียมการป้องกันกองทัพพม่า และปราบปรามชุมนุมขนาดใหญ่ชุมนุมอื่น เพื่อรวมศูนย์อำนาจและความภักดีมาที่ราชสำนักใหม่ของพระองค์

พระองค์ประสบความสำเร็จในการรบกับพม่าเป็นครั้งแรกที่บางกุ้ง เมื่อ พ.ศ.2311 ต่อมา พระองค์ได้ทำศึกกับพม่าได้รับชัยชนะอีกหลายครั้ง โดยเฉพาะสงครามที่ใหญ่ที่สุด คือ ศีกอะแซหวุ่นกี้ เมื่อ พ.ศ.2318 ซึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรีสามารถเอาชนะในการสู้รบ ทำให้อะแซหวุ่นกี้ต้องถอนทัพกลับไป ยุทธศาสตร์ในการรบของพระองค์ ก็คือ ยกกองทัพไปยับยั้งพม่าเสียก่อน โดยไม่ยอมให้เข้ามาล้อมกรุงอีก แต่ก็ได้เตรียมทางถอยไว้ด้วย ในกรณีที่พม่ายกมาถึงธนบุรีได้ ก็จะถอยไปตั้งรับที่จันทบูรณ์ แต่ตลอดรัชกาลพระองค์ประสบความสำเร็จ ไม่เคยมีข้าศึกใดยกลงมาได้ถึงกรุงธนบุรีเลย นอกเหนือจากการทำสงครามกับพม่า พระองค์ได้ขยายอาณาเขตไปปราบปรามเชียงใหม่ กัมพูชา เวียงจันทน์ หลวงพระบาง และจำปาศักดิ์ ซึ่งเท่ากับเป็นการฟื้นฟูจักรวรรดิของกรุงศรีอยุธยาขึ้นใหม่ และขยายอำนาจมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

หลังจากศึกอะแซหวุ่นกี้ ภัยคุกคามจากพม่าถือว่าลดลง การเมืองแบบชุมนุมที่พระเจ้าตากทรงคุ้นเคยจะเริ่มเสื่อมลง การสร้างความมั่นคงกับพระราชอาณาจักรกลายเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้น ขุนนางสำคัญที่ช่วยเหลือพระองค์ในการรักษาอาณาจักร คือ เจ้าพระยาสุรสีห์(บุญมา) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองพิษณุโลก นอกจากนี้ ก็คือ เจ้าพระยาจักรี(ทองด้วง) ซึ่งเป็นตำแหน่งสมุหนายก ในภาวะแห่งการฟื้นฟูพระราชอาณาจักร เจ้าพระยาจักรีกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญมากขึ้นทุกที เพราะเจ้าพระยาจักรีสืบเชื้อสายมาจากขุนนางเก่าสมัยอยุธยา มีความรู้และความคุ้นเคยในด้านแบบแผนประเพณีมากกว่า และด้วยความเสื่อมของการเมืองแบบชุมนุมนี้เอง ทำให้พระเจ้ากรุงธนบุรี จะต้องแสวงหาความชอบธรรมทางเมืองมากยิ่งขึ้นพระองค์มีความสนใจด้านการคณะสงฆ์มาตั้งแต่ต้น และนี่น่าจะเป็นต้นเหตุที่พระองค์อธิบายว่า ตนเองบรรลุโสดาบัน ทั้งที่เป็นฆราวาส แต่การอ้างความชอบธรรมลักษณะนี้ กลับไม่ได้ผลตามแบบแผนประเพณี พระองค์จึงถูกกล่าวหาว่า วิกลจริต และสูญเสียการสนับสนุนในกลุ่มขุนนางและคณะสงฆ์

ในภาวะเช่นนี้เองทำให้เจ้าพระยาจักรีต้องวางแผนยึดอำนาจ โดยการหาเหตุไปราชการทัพที่กัมพูชา เมื่อ พ.ศ.2324 การยกไปตีกัมพูชาครั้งนี้ พระเจ้ากรุงธนบุรีได้แต่งตั้งให้เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ โอรสองค์โต ซึ่งเป็นพระมหาอุปราช เป็นแม่ทัพยกไปด้วย ในระหว่างที่เจ้าพระยาจักรีไปราชการทัพ พระยาสรรค์ก่อการกบฏ และยึดอำนาจได้สำเร็จในเดือนมีนาคม พ.ศ.2325 แล้วอัญเชิญให้พระเจ้ากรุงธนบุรีให้ทรงผนวช พระยาสรรค์ออกว่าราชการชั่วคราว

ในขณะนั้น พระยาสุริยอภัย(ทองอิน)ซึ่งเป็นหลานของเจ้าพระยาจักรี ซึ่งตั้งกองทัพอยู่ที่นครราชสีมา ได้ยกกำลังเข้ามาปราบปรามฝ่ายพระยาสรรค์ได้สำเร็จ ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 เจ้าพระยาจักรียกกองทัพกลับมาถึงกรุงธนบุรี และได้รับการอัญเชิญจากกลุ่มขุนนางให้ปราบดาภิเษกขึ้นครองสมบัติเพื่อรักษาความสงบของบ้านเมือง พระยาสรรค์และพวกที่ก่อการกบฎถูกประหารชีวิต

นอกจากนี้ เพื่อป้องกันไม่ได้เกิดปัญหายุ่งยาก พระมหากษัตริย์องค์ใหม่ จึงโปรดให้ประหารชีวิตพระเจ้ากรุงธนบุรีโดยการตัดศีรษะที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ และนำพระศพไปฝังที่วัดบางยี่เรือใต้ พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จสวรรคตในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2325 สำหรับเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ ต่อมาได้ถูกจับกุมและประหารชีวิต เช่นเดียวกับพระโอรสของพระเจ้ากรุงธนบุรีที่เป็นชายอีกหลายพระองค์ โดยสรุปแล้ว การผลัดแผ่นดินครั้งนี้ มีขุนนางและเจ้านายฝ่ายธนบุรีถูกประหารชีวิตราว 150 คน

มีการเล่าในเชิงตำนานว่า พระองค์ได้หลีกทางให้เจ้าพระยาจักรีขึ้นครองราชย์ แล้วทรงหนีไปผนวชที่เมืองนครศรีธรรมราชตลอดชีวิต ส่วนผู้ถูกประหาร เป็นเพียงคนที่มีหน้าเหมือนพระเจ้าตาก เรื่องเล่าเช่นนี้ ไม่มีหลักฐานรองรับทางประวัติศาสตร์ และไม่น่าจะเป็นจริงไปได้

 

 

ที่มา: โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 406 วันที่ 13 เมษายน 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พวงทอง ภวัครพันธุ์: กรณีให้การไทย-กัมพูชาเรื่องเขาพระวิหารที่ศาลโลก

Posted: 16 Apr 2013 06:22 AM PDT

ขอสรุปเรื่องพระวิหารให้คนที่สนใจ แต่ยังงงๆ ว่าประเด็นคืออะไรบ้าง

ปัญหาเริ่มจาก ในคำร้องที่กัมพูชายื่นฟ้องต่อศาลโลกในปี ค.ศ.1959/ พ.ศ.2502 กัมพูชาได้ขอให้ศาลพิพากษาและชี้ขาดว่า

1. แผนที่ตอนเขาดงรักหรือแผนที่ภาคผนวก 1 (หรือแผนที่ 1: 200,000) นั้นได้ถูกจัดทำในนามของคณะกรรมการปักปันเขตแดนผสมที่ตั้งขึ้นโดยสนธิสัญญา ค.ศ. 1904 และว่าแผนที่นี้ตรงตามมติของคณะกรรมการดังกล่าว และด้วยความตกลงและการปฏิบัติของฝ่ายไทยและกัมพูชาในเวลาต่อมา จึงทำให้ แผนที่นี้มีลักษณะเป็นสนธิสัญญาอย่างหนึ่ง

2. เส้นเขตแดนระหว่างกัมพูชากับไทยในเขตพิพาทกันในบริเวณปราสาทพระวิหารเป็นเส้นเขตแดนที่ลากไว้บนแผนที่ภาคผนวก 1

3. ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนอันอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา

4. ไทยมีพันธะกรณีที่จะต้องถอนทหารที่ได้ส่งไปประจำ ณ ตัวปราสาทพระวิหาร

5. รัฐบาลไทยต้องส่งคืนโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่ฝ่ายไทยได้โยกย้ายออกไปจากปราสาทพระวิหาร

ปรากฎว่า ศาลปฏิเสธที่จะตัดสิน 2 ข้อแรก เพราะกัมพูชายื่นสองข้อนี้เข้าไปในภายหลัง โดยศาลบอกว่าตนจะจำกัดขอบเขตการพิจารณาไว้ที่เรื่อง "อำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเท่านั้น" จะไม่พิจารณาเรื่องเส้นเขตแดน ฝ่ายไทยจึงถือว่าตนไม่จำเป็นต้องยอมรับเส้นเขตแดนตามแผนที่ภาคผนวก 1 และยังสามารถยึดเส้นสันปันน้ำได้ต่อไป

แต่ศาลได้ตัดสินข้อ 3-4 ให้เป็นคุณแก่กัมพูชา คือ "ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา", ไทยมีภาระที่จะต้องถอนกำลังของตนออกจากบริเวณโดยรอบ (vicinity) ปราสาท, และต้องส่งโบราณวัตถุต่าง ๆ คืนไป

แต่ปัญหามิได้ยุติเพียงเท่านี้ เพราะแม้ว่าศาลจะไม่ได้ชี้ขาดสองข้อแรก แต่ศาลก็เห็นว่า

"จะสามารถวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือบริเวณพระวิหารได้ก็ต่อเมื่อได้ตรวจสอบแล้วว่าเส้นเขตแดนนั้นคือเส้นใด" ซึ่งศาลมีความเห็นว่า:

"ประเทศไทยใน ค.ศ. 1908-09 ได้ยอมรับแผนที่ในภาคผนวก 1 ว่าเป็นผลงานของการปักปันเขตแดน และด้วยเหตุนี้ จึงได้รับรองเส้นบนแผนที่ว่าเป็นเส้นเขตแดน อันเป็นผลให้พระวิหารตกอยู่ในดินแดนกัมพูชา"

ศาลมีความเห็นต่อไปว่า "เมื่อพิจารณาโดยทั่ว ๆ ไป การกระทำต่อ ๆ มาของไทยมีแต่ยืนยัน และชี้ให้เห็นชัดถึงการยอมรับแต่แรกนั้น และว่าการกระทำของไทยในเขตท้องที่ก็ไม่พอเพียงที่จะลบล้างข้อนี้ได้ คู่กรณีทั้งสองฝ่าย โดยการประพฤติปฏิบัติของตนเองได้รับรองเส้นแผนที่นี้ และดังนั้นจึงถือได้ว่าเป็นการตกลงให้ถือว่าเส้นนี้เป็นเส้นเขตแดน "

"ศาลมีความเห็นว่าการยอมรับแผนที่ภาคผนวก 1 โดยคู่กรณี เป็นผลให้แผนที่นั้นเข้ามาเกี่ยวข้องกับความตกลงโดยสนธิสัญญาและกลายเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงนั้น"

(ประโยคนี้สำคัญ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า แผนที่เข้ามาเป็น integral part of the treaty คำว่า integral part นี่ชี้ว่าแผนที่เป็นส่วนสำคัญของสนธิสัญญา 1904 ทีไทยยึดถือ!!! หมายความต่อว่า มันผูกพันไทย)

ศาลยังกล่าวต่อว่า "ไม่มีเหตุผลที่จะให้คิดว่าคู่กรณีได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่เส้นสันปันน้ำโดยเจาะจง เมื่อเปรียบเทียบกับความสำคัญที่เหนือกว่าของการยึดเส้นเขตแดนในแผนที่ซึ่งได้ปักปันกันในเวลาต่อมาและเป็นที่ยอมรับแก่คู่กรณี ทั้งนี้ เพื่อให้เรื่องได้เป็นที่ยุติกันไป ฉะนั้น อาศัยหลักในการตีความสนธิสัญญา ศาลจึงจำต้องลงความเห็นให้ถือเส้นเขตแดนตามแผนที่ของบริเวณพิพาท"

ข้อความที่ยกมาข้างต้นคือ "เหตุผล" หลักที่ทำให้ศาลตัดสินว่าพระวิหารอยู่ในเขตแดนของกัมพูชานั่นเอง ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าในปี 2505 ศาลมีความเห็นชัดเจนแล้วว่าเส้นเขตแดนอยู่ตรงไหน

กัมพูชาเห็นว่านี่คือจุดแข็งของตน จึงใช้ประเด็นนี้ ยื่นขอให้ศาลตีความว่า ที่ศาลบอกว่าไทยมีภาระหน้าที่ต้องถอนทหารออกไปนั้น ขอให้ศาลอธิบายว่าจะต้องถอนออกไปแค่ไหน ใช้เส้นบนแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นเกณฑ์ใช่หรือไม่ เพราะเมื่อศาลมีคำพิพากษาว่า ไทยต้องถอนกำลังทหารออกไปจากบริเวณปราสาทนั้น ศาลจะต้องมีความเห็นอยู่ในใจแล้วว่า ขอบเขตที่ไทยจะต้องถอนออกไปนั้นมีแค่ไหน ขอบเขตที่ว่านี้เป็นไปตามเส้นบนแผนที่ใช่หรือไม่

กัมพูชาเห็นว่า แม้ว่าการระบุในคำพิพากษาว่า เส้นเขตแดนในบริเวณพิพาทคือเส้นบนแผนที่ จะเป็นเพียง "เหตุผล" (ที่รองรับการตัดสินให้พระวิหารเป็นกัมพูชา) และเหตุผลนี้ ไม่ใช่คำพิพากษาที่มีผลบังคับให้คู่กรณีต้องปฏิบัติตาม (operative clause) แต่เหตุผลนี้ไม่สามารถแยกออกจากคำพิพากษาได้

ฝ่ายไทยสู้คดีว่า ศาลไม่มีอำนาจที่จะรับตีความ ตามที่กัมพูชาร้องขอ เพราะคำร้องของกัมพูชา เป็นการเสนอให้ศาลตีความเรื่องเส้นเขตแดน ซึ่งในคำพิพากษา 2505 ศาลไม่ได้ตัดสินเรื่องเส้นเขตแดน

นอกจากนี้ ไทยโต้แย้งว่าหลังคำพิพากษา ไทยและกัมพูชาไม่มีความขัดแย้งในการตีความคำพิพากษา ว่าขอบเขตที่ไทยจะต้องถอนทหารออกไปจากบริเวณใกล้เคียงปราสาท (vicinity) นั้นแค่ไหน เพราะเมื่อรัฐบาลไทยได้ตั้งรั้วลวดหนามขึ้นมา กัมพูชาก็ไม่ได้โต้แย้งนับแต่นั้นมา ไทยได้แสดงหลักฐานที่แสดงว่ากัมพูชายอมรับการปฏิบัตินี้ เช่น คำพูดที่เจ้าสีหนุแถลงข่าวในหนังสือพิมพ์และกล่าวกับทูตสหรัฐฯ

แต่จากการแถลงเมื่อวานนี้ (15 เม.ย.) จะเห็นว่ากัมพูชาได้แสดงเอกสารหลักฐานหลายชิ้นว่าตนได้ทำการประท้วงคัดค้านการตั้งรั้วของไทยตั้งแต่ปี 2505 หลายครั้ง และว่ารั้วลวดหนามนั้นเป็นการกระทำและตีความคำพิพากษาของไทยโดยลำพัง กัมพูชาไม่ได้ยอมรับด้วย

มาถึงจุดนี้ ก็ขึ้นอยู่กับศาลว่าจะให้น้ำหนักแก่หลักฐานของฝ่ายใดมากกว่ากัน และในการแถลงวันที่ 17-19 ทั้งสองฝ่ายจะเสนอหลักฐานอะไรเพิ่มเติมอีก 

000

เมื่อคดีพระวิหารกลับไปสู่ศาลโลกอีกครั้ง ความกลัวว่าไทยอาจเสียพื้นที่ทับซ้อนให้กัมพูชา ทำให้สื่อมวลชนเริ่มพูดว่า ไทย-กัมพูชาควรหันมาพัฒนาพื้นที่ร่วมกันดีกว่า แต่อยากจะบอกว่า โอกาสที่ว่านี้เคยเกิดขึ้นแล้ว และได้ถูกทำลายโดยกลุ่มคลั่งชาติและรบ.อภิสิทธิ์ไปแล้วเช่นกัน เรื่องนี้ได้ถูกบรรจุไว้ใน "แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก" ลงนามโดยนายนพดล ปัทมะ และนายสก อัน ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ

a. ด้วยเจตนารมณ์แห่งไมตรีจิตและการประนีประนอม ราชอาณาจักรกัมพูชายอมรับว่าปราสาทพระวิหารจะได้รับการเสนอให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยในชั้นนี้ไม่มีเขตอนุรักษ์ในพื้นที่ทางทิศตะวันตกและทิศเหนือของตัวปราสาท...

b. ในระหว่างที่ยังไม่มีผลของการปฏิบัติงานของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ในพื้นที่รอบตัวตัวปราสาทพระวิหารทางทิศตะวันตกและทางทิศเหนือ แผนบริหารจัดการในพื้นที่ดักล่าวจะได้รับการจัดทำขึ้นร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของกัมพูชาและของไทย โดยสอดคล้องกับมาตรฐานการอนุรักษ์ระดับสากล...ทั้งนี้ ให้บรรจุแผนการบริหารจัดการดังกล่าวไว้ในแผนบริหารจัดการฉบับสุดท้ายสำหรับตัวปราสาทและพื้นที่รอบ ๆ ตัวปราสาทซึ่งจะต้องเสนอต่อศูนย์มรดกโลกภายในวันที่ 1 กุมภาพันธุ์ 2553 สำหรับการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกในสมัยที่ 34 ในปี 2553

c. การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกจะไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของราชอาณาจักรกัมพูชาและราชอาณาจักรไทยในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ของทั้งสองประเทศ

ขอขยายความข้อ a เขตอนุรักษ์ในพื้นที่ทางทิศตะวันตกและทิศเหนือของตัวปราสาท. ก็คือ พื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.นั่นเอง เท่ากับว่าในการขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลก กัมพูชายอมตัดพื้นที่นี้ออกไปตามที่ไทยต้องการ และยอมรับ "เป็นครั้งแรก" ว่ามันคือพื้นที่ที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนกัน ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ จนท.ไทยในขณะนั้น ประสบความสำเร็จสามารถกดดันให้กัมพูชายอมรับได้เป็นครั้งแรก ... แต่กลับถูกโจมตีว่าเป็นคนทรยศต่อชาติ

แต่ที่น่าเศร้าคือ พวกคลั่งชาติกลับยืนกระต่ายขาเดียวว่า กัมพูชาเอาพื้นที่ทับซ้อนไปขึ้นทะเบียนด้วย ไม่ว่ารบ.สมัครจะอธิบายอย่างไร ก็ไม่ฟัง และทั้งๆ ที่กัมพูชาเผยแพร่เอกสารทางการที่ระบุว่าได้ตัดพื้นที่ออกไปแล้วก็ตาม พวกนี้ก็ไม่ต้องการยอมรับข้อเท็จจริงนี้

จึงขอตัดหน้าที่เกี่ยวข้องมาให้ดูดังนี้

กรุณาดูรูปแผนผังหรือแผนที่ที่แนบมาข้างล่างนี้ มีข้อความระบุชัดว่าส่วนที่ขอขึ้นทะเบียนคือ โซน 1 (ตัวปราสาท) และโซน 2 (เขตกันชนสีเขียว) เท่านั้น (ส่วนสีเหลือง อันเป็นพื้นที่ทับซ้อน ไม่ถูกเอ่ยถึง)

และมีเนื้อหาที่ชี้ว่า ได้มีการปรับปรุงพื้นที่ของทรัพย์สินที่เสนอขอขึ้นทะเบียนมีขนาดลดลง และมีการแก้ไขเส้นรอบพื้นที่ที่ขอขึ้นทะเบียนดังนี้คือ พื้นที่ของตัวทรัพย์สินหรือปราสาทพระวิหารตาม "zone 1" มีเนื้อที่เหลือเพียง 11 เฮกแตร์เท่านั้น โดยลดลงจากขนาด 154.70 เฮกแตร์อันเป็นพื้นที่ยื่นไปในการประชุมครั้งที่ 31 ปี พ.ศ. 2550 ส่วนพื้นที่กันชน "zone 2" มีพื้นที่ลดลงเหลือ 644.113 เฮกแตร์ จากขนาดเดิม 2,642,50 เฮกแตร์

หมายเหตุ

1. กัมพูชายื่นขอจดทะเบียนครั้งแรกปี 2007/2550 แต่รัฐบาลสุรยุทธ์คัดค้าน เพราะแผนที่ที่แนบไป ได้รวมพื้นที่ทับซ้อนไว้ในเขตกันชนด้วย (ย้ำว่า รัฐบาลสุรยุทธ์ค้านเฉพาะตัวแผนที่ ไม่ได้ค้านการขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลก) เมื่อไทยค้านแผนที่ คณะกรรมการมรดกโลก ก็ชะลอการขึ้นทะเบียน บอกให้สองประเทศไปเจรจากันก่อน ในทีสุด รัฐบาลสมัครก็เจรจาจนกัมพูชาก็ยอมตัดพื้นที่ทับซ้อนออก ไทยจึงสนับสนุนการขึ้นทะเบียนในปี 2551

2. ข้อความและรูปที่ยกมาประกอบ นำมาจาก The Office of the Council of Ministers, Cambodia, The Temple of Preah Vihear Inscribed on the World Heritage List (UNESCO) since 2008, Phnom Penh, 2010. ซึ่งปกติจะปรากฏในเว็บไซต์ของ The Office of the Council of Ministers ของกัมพูชา แต่วันนี้ ผู้เขียนหาไม่เจอ สงสัยว่ากัมพูชาจะเอาออกไปแล้ว ไม่แน่ใจว่าเพราะเห็นว่าเขตกันชนที่ขอขึ้นทะเบียนนี้ อาจทำให้ตนเสียเปรียบในการอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ทับซ้อนหรือไม่ เพราะตอนนี้ เขากำลังสู้เอาพื้นทีนี้มาเป็นของตนฝ่ายเดียว ไม่ต้องการแบ่งกับไทยอีกต่อไปแล้ว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มุมมองจากชายแดนใต้: ‘ความหวัง’ ในสถานการณ์ความรุนแรงอันยืดเยื้อใต้ร่มเงาแห่ง ‘สันติภาพ’

Posted: 16 Apr 2013 04:53 AM PDT

ประชาชนเห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพ?

เมื่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐกับกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างซึ่งเลือกใช้ความรุนแรงต่อสู้กับรัฐ (กลุ่มบีอาร์เอ็น) ปรากฎขึ้นอย่างเปิดเผย ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเชื่อมั่นว่าการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้เกิดสันติภาพจริงๆ ได้มากน้อยเพียงใด? คำถามที่ว่านี้น่าสนใจและมีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (CSCD) จึงได้ดำเนินการศึกษาโดยสุ่มตัวอย่างจากตำบลทั้งหมดที่มีอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เพื่อพยายามค้นหาคำตอบดังกล่าวผ่านการสำรวจความคิดเห็น (Deep South Poll) [1]

สิ่งที่เราค้นพบก็คือประชาชนร้อยละ 67.17 ให้คะแนนผ่านเกณฑ์หรือให้การยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่กับกลุ่มบีอาร์เอ็น ส่วนอีกร้อยละ 32.83 ให้คะแนนไม่ผ่านเกณฑ์ การยอมรับและเชื่อมั่นกระบวนการสันติภาพนี้มีตัวเลือกในการให้คะแนนโดยประเมินจาก 0-10 ซึ่งหากผู้ประเมินให้คะแนนตั้งแต่ 5-10 ถือว่าผ่านเกณฑ์หรือยอมรับ และให้ความเชื่อมั่นหรือเกณฑ์ผ่านมากกว่าร้อยละ 50 แต่ถ้าให้คะแนนต่ำกว่านี้ให้ถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์หรือไม่ให้การยอมรับเชื่อมั่นกระบวนการสันติภาพ

ประเด็นน่าสนใจก็คือว่า เมื่อพิจารณาจากคะแนนเฉลี่ยในการประเมินดังกล่าวโดยรวมแล้ว พบว่ามีระดับคะแนนที่ 5.16 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีคะแนนที่ให้ผ่านเกณฑ์ในระดับปานกลาง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสันติภาพที่ "ริเริ่ม"การพูดคุยสันติภาพกัน จึงเป็นไปได้ที่จะยังคงมีปัจจัยความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนอยู่ไม่น้อย ขณะที่ในบางส่วนก็จำต้องได้รับการแก้ไขเพื่อที่จะให้ประชาชนมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น

 

แผนภาพที่ 1 – ผลการให้คะแนนต่อการยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ

การวิจัยสำรวจในครั้งนี้ได้สุ่มตัวอย่างประชากรในระหว่างวันที่ 21-25 มีนาคม 2556 หรือหลังจากการลงนามในฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างสองฝ่ายเกือบหนึ่งเดือน และก่อนหน้าจะมีการพูดคุยอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 28 มีนาคม เพียงประมาณหนึ่งสัปดาห์ การสุ่มตัวอย่างดังกล่าวมาจากฐานตำบลทั้งหมดที่มีอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เพื่อให้ได้ตำบลจำนวน 187 ตำบล จากนั้นก็สุ่มตัวอย่างหมู่บ้านในตำบลดังกล่าว โดยได้กำหนดหมู่บ้านตัวอย่างจำนวน 374 หมู่บ้าน จากนั้นจึงได้เก็บตัวอย่างประชากรหมู่บ้านละ 5 คน รวมเป็นกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดประมาณ 1,870 ตัวอย่าง จึงพอเชื่อได้ว่าได้มีการสุ่มตัวอย่างตามหลักวิชาการทางสถิติที่ค่อนข้างกระจายทั้งพื้นที่และสัดส่วนประชากร เพราะฉะนั้น ความเห็นของกลุ่มตัวอย่างจึงน่าจะสะท้อนใกล้เคียงความเป็นตัวแทนของประชากรทั้งหมดได้

 

ปัญหาที่สำคัญที่สุดในชุมชนคืออะไร?

การสำรวจฯ ยังได้ตั้งคำถามให้ประชาชนระบุปัญหาที่สำคัญที่สุดในชุมชน แมัจะมีหลายประเด็นปัญหาแต่เมื่อลำดับความสำคัญแล้ว ปัญหายาเสพติดเป็นประเด็นที่สำคัญมากที่สุดเป็นลำดับแรก (ร้อยละ 70) ลำดับที่สองคือปัญหาการว่างงาน (ร้อยละ 49) ปัญหาสำคัญลำดับที่สามคือปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบ (ร้อยละ 30) ในขณะที่ปัญหาความยากจนตามมาเป็นลำดับที่สี่ (ร้อยละ 26) ส่วนปัญหาสำคัญในลำดับที่ห้าคือปัญหาการไม่มีที่ดินทำกิน (ร้อยละ 17) นอกจากนั้น ยังมีการกล่าวถึงปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาความขัดแย้งส่วนตัวหรือระหว่างกลุ่มในชุมชน รวมไปถึงปัญหาความไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ กล่าวโดยสรุปก็คือ ประชาชนระบุว่าปัญหาที่สำคัญในระดับชุมชนก็คือปัญหายาเสพติด การว่างงาน และปัญหาความไม่สงบ ตามลำดับ

เมื่อให้ลำดับความต้องการเร่งด่วนในการช่วยเหลือหรือแก้ปัญหาจากภาครัฐ ความต้องการของประชาชนเรียงลำดับความสำคัญดังต่อไปนี้ คือ การจ้างงานและอาชีพของเยาวชน (ร้อยละ 24.1) การแก้ปัญหายาเสพติด (ร้อยละ 17.5) การเพิ่มรายได้ของครัวเรือน (ร้อยละ 16.4) และการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์ (ร้อยละ 10.8)

 

ประเด็นปัญหาเรื่องการก่อความไม่สงบ

แม้ว่าในระดับชุมชน ประชาชนจะกล่าวถึงปัญหายาเสพติดและปัญหาการว่างงาน แต่เมื่อกล่าวถึงปัญหาการก่อความไม่สงบในภาคใต้ มีผู้ตอบถึงร้อยละ 43.1 ระบุว่าในหมู่บ้านหรือชุมชนของตนเองเคยเกิด เหตุการณ์ความไม่สงบซึ่งถือได้ว่ามีอยู่ในระดับค่อนข้างสูง เมื่อพิจารณาจากกลุ่มตัวอย่างการศึกษาครั้งนี้ที่กระจายไปกว่า 50 อำเภอ และ 187 ตำบล ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ภาพจะยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อตั้งคำถามว่าเคยมีประสบการณ์ส่วนตัวต่อเหตุการณ์ความไม่สงบหรือไม่ พบว่า ร้อยละ 71 บอกว่า "ไม่เคย" มีประสบการณ์โดยตรงกับปัญหาความไม่สงบ แต่ว่าในกลุ่มตัวอย่างของผู้ที่ระบุว่า "เคยมี" ประสบการณ์กับเหตุการณ์ความไม่สงบนั้น ปรากฏว่ามีคนซึ่งมีเพื่อนหรือคนรู้จักเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บหรือหายตัวไปมีจำนวนสูงถึงร้อยละ 25 ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือว่ามีผู้ที่สมาชิกในครัวเรือนหรือญาติสนิทเสียชีวิตจากเหตุการณ์มีอยู่ประมาณร้อยละ 6 ส่วนผู้ที่เคยอยู่ในเหตุการณ์ปราบปรามหรือปิดล้อมตรวจค้นก็พบว่ามีอยู่ประมาณร้อยละ 4 และเป็นผู้ที่มีสมาชิกในครัวเรือนหรือญาติสนิทถูกจับหรือถูกเชิญตัวไปสอบสวนอยู่ร้อยละ 4

ดังนั้น ข้อมูลการสำรวจชุดนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่าความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้กระจายไปทั่วทั้งพื้นที่ในปัจจุบัน โดยหลังจากที่คลื่นความรุนแรงได้ผ่านมากว่า 9 ปี และมียังผลกระทบไม่น้อยต่อผู้คนในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในภาพรวม มีผู้ที่รายงานว่าเคยมีประสบการณ์โดยตรงต่อเหตุการณ์ความไม่สงบในทุกประเภทรวมกันอยู่ประมาณร้อยละ 29 ซึ่งถ้าคิดย้อนกลับค่าความเป็นตัวแทนของประชากรจริงๆ ในพื้นที่ซึ่งมีประชากรมากกว่า 2 ล้านคนแล้ว ก็น่าจะเป็นตัวเลขที่สูงเป็นอย่างมาก โดยอาจเป็นจำนวนหลักแสนคนหรือมากกว่านั้น

เมื่อถามว่าสถานการณ์ความไม่สงบมีผลกระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจและการทำมาหากินของท่านเพียงใด? ประชาชนมากถึงร้อยละ 78.2 เชื่อว่าเหตุการณ์ความไม่สงบมีผลอย่างมากถึงมากที่สุดต่อเศรษฐกิจ และ ชีวิตความเป็นอยู่ทำมาหากินของตนเอง แสดงว่าในรอบปีที่ผ่านมา ความรุนแรงมีผลกระทบต่อประชาชน ส่วนมาก โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจ ในการนี้รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณจำนวนมากถึงกว่าสองแสนล้านบาท ในรอบ 9 ปีที่ผ่านมาเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถาม ประมาณร้อยละ 50.7 พึงพอใจกับการแก้ปัญหาดังกล่าว ส่วนที่เหลืออีกด้านหนึ่งไม่พึงพอใจกับนโยบายการพัฒนาของรัฐ โดยมีอยู่ประมาณร้อยละ 49 ที่มีความพึงพอใจน้อย จึงกล่าวได้ว่าความพยายามของรัฐในการแก้ปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากเหตุความไม่สงบได้ผลทั้งในด้านความพึงพอใจและไม่พึงพอใจมากพอๆ กัน ซึ่งอาจจะนับได้ว่าเป็นผลกระทบของนโยบายที่ก้ำกึ่งกันมาก

 

มุมมองด้านลึกต่อ 'กระบวนการสันติภาพ'

ในความเชื่อมั่นที่มีต่อกระบวนการสันติภาพดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นนั้น ผู้ให้คำตอบส่วนใหญ่มีระดับความเชื่อมั่นยอมรับกระบวนการสันติภาพถึงร้อยละ 67 และส่วนใหญ่มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยประมาณ 5 หรือ 6 จากคะแนนเต็ม 10 เพื่อให้เข้าใจภาพให้ละเอียดขึ้น คณะผู้วิจัยจึงเปรียบเทียบกับผู้ตอบแบบสอบถามสองกลุ่มใหญ่ที่เป็นองค์ประกอบหลักของประชากรในพื้นที่ อันประกอบด้วยคนมุสลิมและคนพุทธ ผลการวิจัยพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นคนมุสลิมมีแนวโน้มจะให้คะแนนความเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพสูงกว่ากลุ่มชาวไทยพุทธ กล่าวคือผู้ที่เป็นมุสลิมให้คะแนนความเชื่อมั่น "ผ่านเกณฑ์" ความเชื่อมั่นในระดับค่าเฉลี่ย 5.24 ส่วนผู้ตอบ ส่วนผู้ที่เป็นชาวพุทธให้คะแนนความเชื่อมั่นโดยเฉลี่ย 4.70 น่าสังเกตว่ากลุ่มหลังนี้ระดับความเชื่อมั่นอยู่ในระดับ "ไม่ผ่านเกณฑ์" คะแนนความเชื่อมั่น ความแตกต่างกันระหว่างสองกลุ่มนี้มีนัยสำคัญทางสถิติ สะท้อนว่า พี่น้องชาวพุทธในพื้นที่อาจจะยังมีความลังเลใจอยู่บ้างต่อกระบวนการสันติภาพในระยะเริ่มต้น แต่ก็ควรสังเกตด้วยว่าคะแนนเฉลี่ยก็ไม่ต่ำมากนัก และยังอาจจะปรับสูงขึ้นได้ถ้ามีการชี้แจงทำความเข้าใจต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ตลอดจนมีสัญญาณที่พอจะให้หลักประกันต่อความมั่นคงปลอดภัยของชุมชนไทยพุทธมากขึ้นจากกระบวนการสันติภาพ

 

แผนภาพที่ 2 – ระดับคะแนนความเชื่อมั่นและยอมรับต่อการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มที่มีความเห็นต่างจากรัฐที่เลือกใช้ความรุนแรงในการต่อสู้กับรัฐ

 

ตารางที่ 1 – เปรียบเทียบคะแนนความเชื่อมั่นกระบวนการสันติภาพกับภูมิหลังศาสนา

 
ศาสนา Mean N Std. Deviation
อิสลาม 5.24 1480 1.945
พุทธ 4.70 325 2.200
Total 5.15 1805 2.004
 

ผลการวิจัยยังพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามซึ่งเคยมีประสบการณ์เหตุการณ์ความไม่สงบมีแนวโน้มจะให้ คะแนนความเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพสูงกว่ากลุ่มผู้ไม่เคยมีประสบการณ์ กล่าวคือผู้ที่มีประสบการณ์ ให้คะแนนความเชื่อมั่น "ผ่านเกณฑ์" ในระดับค่าเฉลี่ย 5.38 ส่วนผู้ตอบแบบสอบถามที่ไม่มีประสบการณ์ดังกล่าวให้คะแนนความเชื่อมั่นโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5.07 ซึ่งอยู่ในระดับ "ผ่านเกณฑ์" คะแนนความเชื่อมั่น ความแตกต่างระหว่างสองกลุ่มนี้มีนัยสำคัญทางสถิติเช่นกัน สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่ายิ่งมีประสบการณ์เหตุการณ์ความไม่สงบด้วยตัวเองก็ยิ่งจะเห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพ

 

ตารางที่ 2 – เปรียบเทียบกับผู้ตอบสองกลุ่มที่เป็นผู้เคยมีประสบการณ์ความรุนแรงจากความไม่สงบและไม่มีประสบการณ์ฯ

 
  Mean N Std. Deviation
มีประสบการณ์ 5.38 540 2.062
ไม่มีประสบการณ์ 5.07 1305 1.992
Total 5.16 1845 2.017
 

นอกจากนี้ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามยังมีข้อเสนอประเด็นการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐกับกลุ่มที่มีความเห็นต่างจากรัฐ โดยเรียงตามลำดับความสำคัญหกอันดับแรกได้ดังต่อไปนี้ อันดับแรก เรื่องการหยุดยิงและยุติความรุนแรงโดยทันทีของทุกฝ่าย (ร้อยละ 67) อันดับที่สอง เรื่องการถอนทหารออกจากพื้นที่ (ร้อยละ 35)อันดับที่สาม คือการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เจริญรุ่งเรือง (ร้อยละ 30) อันดับที่สี่ ควรมีการแก้ ปัญหายาเสพติดร่วมกัน (ร้อยละ 23) อันดับที่ห้า ควรมีการการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ร้อยละ 20) และอันดับหก ให้มีการอยู่ร่วมกันระหว่างคนต่างศาสนาและวัฒนธรรม (ร้อยละ 17)

 

แผนภาพที่ 3 – กราฟแสดงการให้น้ำหนักต่อประเด็นในการพูดคุยเจรจาที่ควรจะเป็นในมุมมองของประชาชนชายแดนใต้

ประเด็นสำคัญจากการสำรวจครั้งนี้อีกประการก็คือ ประชาชนยังเห็นด้วยและสนับสนุนบทบาทของการสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อให้เป็นตาข่ายนิรภัยเสริมกระบวนการสันติภาพในระหว่างการพูดคุยกับกลุ่มที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐ (Safety Net) [2] เมื่อถูกถามในเรื่องนี้มีผู้ที่เห็นด้วยหรือสนับสนุนสูงมากถึงร้อยละ86.2

 

แผนภาพที่ 4 – ความคิดเห็นของประชาชนชายแดนใต้ต่อการสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ

 

ความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อกลุ่มคนหรือองค์กรต่างๆ ในพื้นที่

การสร้างบรรยากาศที่ดีในกระบวนการสันติภาพเป็นกระบวนการของการสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจ ของผู้คนในสังคม การสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจนี้ควรจะต้องเกิดขึ้นในทุกระดับ เพื่อที่จะให้เกิดบรรยากาศการพูดคุยหรือสานเสวนาระหว่างคนในสังคมที่มีความขัดแย้ง ซึ่งไม่เพียงเฉพาะเป็นการพูดคุยของผู้คนในระดับสูงหรือผู้กำหนดทิศทางของคู่ขัดแย้งหลักเท่านั้น หากแต่ยังต้องสร้างกระบวนการพูดคุยในระดับของเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมและระหว่างผู้คนในระดับรากหญ้าด้วยเช่นกัน ดังนั้น การทดสอบระดับของความเชื่อมั่นไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อบุคคล กลุ่มและองค์กรต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงมีความสำคัญ

การสำรวจในที่นี้จะเป็นการประเมินความเชื่อมั่นไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อกลุ่มบุคคลและกลุ่มองค์กรทั้งเอกชนและรัฐ โดยการสำรวจความเชื่อมั่นไว้วางใจจะพิจารณาจากภารกิจงานในสองประเภท คือในงานด้านการพัฒนาและในงานด้านกระบวนการสันติภาพ เมื่อถามเกี่ยวกับความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อกลุ่มคนหรือองค์กรในด้านการพัฒนา ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามวางลำดับความเชื่อมั่นไว้วางใจลำดับที่ 1 ให้กับกลุ่มหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารสุข เจ้าหน้าที่อนามัย ลำดับที่ 2 คือ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและผู้นำศาสนา (อิหม่ามหรือพระ) ลำดับที่ 3 คือ ครูโรงเรียนรัฐบาล ลำดับที่ 4 คือ ศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต).และลำดับ ที่ 5 คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอ เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มที่มีคะแนนต่ำสุดในด้านความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อการพัฒนา คือ กองกำลัง อส. และทหารพราน ทั้งสองกลุ่มนี้มีค่าระดับความเชื่อมั่นไว้วางใจต่ำที่สุด

 

แผนภาพที่ 5 – ลำดับความเชื่อมั่นไว้วางใจกลุ่มคนหรือองค์กรเกี่ยวกับการพัฒนา

 

 

เมื่อถามความเชื่อมั่นไว้วางใจเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยและการสร้างสันติภาพ กลุ่มที่ประชาชน ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเชื่อมั่นไว้วางใจลำดับที่ 1 คือ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ลำดับที่ 2 คือครูโรงเรียนรัฐบาล ลำดับที่ 3 คือ หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่อนามัย ลำดับที่ 4 คือ ศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) และ ลำดับที่ 5 คือ กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน ส่วนกลุ่มที่มีคะแนนต่ำมากคือ เจ้าหน้าที่ทหารและทหารพราน ซึ่งมีระดับค่าความเชื่อมั่นไว้วางใจต่ำสุด

 

แผนภาพที่ 6 - ลำดับความเชื่อมั่นไว้วางใจกลุ่มคน หรือองค์กรเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยและการสร้างสันติภาพ

 

ความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อผู้นำศาสนาที่มีอยู่สูง รวมทั้งกลุ่มเจ้าหน้าที่ในด้านสาธารณสุข และกลุ่มครู แสดงให้เห็นว่า ผู้นำศาสนามักจะได้รับความเชื่อมั่นไว้วางใจมาก ซึ่งเป็นแบบแผนที่มักปรากฎขึ้นทุกครั้งเมื่อมี การศึกษาสำรวจความเชื่อมั่นไว้วางใจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อนหน้านี้ (กรุณาดูผลสำรวจในปี 2552,2553 และ 2554 [3] แต่เมื่อพิจารณาในส่วนของกลุ่มบุคคลหรือ องค์กรของรัฐ จะเห็นได้ชัดว่างานบริการที่ใกล้ชิดชุมชน เช่น งานสาธารณสุขและการศึกษา ก็ยังได้รับการยอมรับค่อนข้างสูง แม้ว่ากลุ่มครูซึ่งมักเป็นเป้าหมายของการทำร้ายในบางครั้ง แต่ในระยะหลังผลจากการสำรวจความคิดเห็นก็แสดงให้เห็นว่าครูอาจจะมีระดับความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชุมชนมากขึ้น อาจจะเป็นผลสะท้อนจากการที่มีการปรับตัวในองค์ประกอบของครูน้อยหรือผู้ที่มีตำแหน่งในระดับล่าง ซึ่งมีบุคลากรท้องถิ่นเข้าไปทำงานมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้องค์กรที่มีบทบาทสูงเด่นจนได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในระยะหลังคือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งได้รับการยอมรับมากในลำดับที่สี่ ทั้งในด้านการพัฒนาและในด้านความมั่นคงปลอดภัยกับในด้านการผลักดันสันติภาพ บทบาทในกระบวนการสันติภาพของ ศอ.บต. จึงได้รับการยอมรับมากและสอดคล้องกับนโยบายในปัจจุบัน ส่วนองค์กรที่ได้รับความเชื่อมั่นไว้วางใจต่ำสุด ยังคง เป็น อส. เจ้าหน้าที่ทหาร และทหารพราน ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาในด้านความมั่นคงของรัฐที่ยังคงแก้ไม่ตก โดยเฉพาะทหารพรานซึ่งได้รับความไว้วางใจต่ำสุดตลอดมา

นอกจากนี้ เป็นที่น่าสนใจที่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งในอดีตเคยได้รับความเชื่อมั่นไว้วางใจต่ำมากในระดับที่ใกล้เคียงกับทหารและทหารพราน จากการสำรวจในครั้งนี้ได้คะแนนความเชื่อมั่นไว้วางใจในระดับกลางๆ ไม่ต่ำมาก แสดงให้เห็นว่าตำรวจได้รับการปรับปรุงบทบาทและพฤติกรรมมากขึ้น ทำให้มีความคาดหวังในแง่บวก ซึ่งแสดงให้เห็นศักยภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจในกระบวนการสันติภาพ หากได้รับการยกระดับให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้นต่อไป

 

การกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ?

หนึ่งในข้อเสนอทางออกในการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือการกระจายอำนาจหรือการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษ ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการสนองตอบจากประชาชนในรอบปีที่ผ่านมา ในการสำรวจครั้งเดียวกันนี้ เมื่อตั้งคำถามเกี่ยวกับความคิดเห็นว่าควรใช้การกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มประชาชนที่ตอบแบบสอบถามร้อยละ 17.2บอกว่าเห็นด้วยอย่างยิ่ง อีกร้อยละ 37.9บอกว่าเห็นด้วย ในจำนวนนี้มีผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 30.4ตอบว่ามีความเห็นกลางๆ ส่วนผู้ที่บอกว่าไม่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งมีจำนวนรวมกันเพียงแค่ร้อยละ 14เท่านั้น

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือหากรวมเอาจำนวนผู้ที่ตอบว่าเห็นด้วยและเห็นด้วยอย่างยิ่งจะอยู่ในจำนวนถึงร้อยละ 55 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนผู้ตอบมากกว่าครึ่งเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษเพื่อแก้ปัญหาภาคใต้ มีเพียงแค่ร้อยละ14เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย นี่เป็นแนวโน้มที่ดีที่คนส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เห็นด้วยกับข้อเสนอในการปฎิรูปการปกครองท้องถิ่นเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาความขัดแย้งในวิธีการสันติ

 

แผนภาพที่ 7 - ควรใช้การกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

ความรุนแรงยังคงดำรงความยืดเยื้อเรื้อรังและซับซ้อน

อีกด้านหนึ่ง เมื่อพิจารณาความคิดเห็นของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อสถานการณ์ที่มีการพูดคุยสันติภาพ สิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาด้วยก็คือ ในปัจจุบันสถานการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่มีความคลี่คลายไปอย่างไร? ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) แสดงว่า ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 9 ปี นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 จนถึงเดือนมีนาคม 2556 มีจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นแล้ว 12,946 เหตุการณ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมกันเป็นจำนวน 15,578 คน ในจำนวนความสูญเสียดังกล่าวประกอบไปด้วยผู้เสียชีวิต 5,617 ราย และบาดเจ็บ 9,961 ราย เวลากว่า 9 ปีจนถึง ณ เวลานี้ ความรุนแรงที่เกิดจากขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้กลายเป็นหนี่งในเหตุการณ์ทางการเมืองภายในที่นำมาซึ่งความสูญเสียและความบาดเจ็บล้มตายกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ในรอบ 80 ปี นับตั้งแต่มีการเลี่ยนแปลงทางการเมือง พ.ศ. 2475 โดยการประมาณการณ์ดังกล่าวนั้นจะมีก็แต่เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2508-2523 จากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เท่านั้นที่มีความสูญเสียมากกว่า [4]

 

แผนภาพที่ 8 - สถิติจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 - มีนาคม 2556

 

ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547-2550 มีระดับที่สูงมาก จึงเรียกได้ว่าเป็นสงครามขนาดเล็ก (small war) ในลักษณะความขัดแย้งที่มีความเข้มข้นทางการทหารต่ำ (low-intensity conflict) สถานการณ์ก่อรูปเป็นสงครามการก่อความไม่สงบอย่างค่อนข้างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในห้วงเวลา 4 ปีแรก ซึ่งในบางห้วงเวลามีการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบสูงถึง 300 ครั้งต่อเดือน กล่าวโดยรวมแล้ว เหตุการณ์ ระหว่างปี พ.ศ. 2547-2550 จะเกิดความรุนแรงมากถึง 160.47 ครั้งต่อเดือนโดยเฉลี่ย แต่ถ้านับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551เป็นต้นมาจนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 นี้ จำนวนครั้งของความรุนแรงจะลดลงอย่างชัดเจนจนถึง ประมาณเดือนละ 81.92 ครั้งต่อเดือน แต่แบบแผนความต่อเนื่องของความรุนแรงพัฒนาไปเป็นลักษณะ "ยืดเยื้อเรื้อรัง" ซึ่งเริ่มเห็นภาพชัดเจนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551-2556 เมื่อมีการใช้กำลังทหารและกองกำลังของรัฐมากกว่า 60,000นาย ลงมากดดันในพื้นที่มากขึ้น รวมทั้งการจัดตั้งกองกำลังกึ่งทหารและอาสาสมัคร พลเรือนติดอาวุธป้องกันตนเอง รวมทั้งหมดแล้วกองกำลังของฝ่ายรัฐในทุกชนิดจะสูงถึงกว่า 150,000 นาย ลักษณะความยืดเยื้อเรื้อรังของความรุนแรงและการใช้มาตรการทางทหารและกฏหมายพิเศษทำให้ความรุนแรงดูเหมือนจะลดลงในทางปริมาณ แต่มีความซับซ้อนและยอกย้อนมากขึ้น ในแง่ที่ว่า ด้านหนึ่ง มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในเชิงคุณภาพ กล่าวคือ จำนวนความถี่ของความรุนแรงลดลงแต่การสูญเสียทั้งจากการเสียชีวิตและบาดเจ็บไม่ลดลง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เกิดความรุนแรงที่สูงขึ้นบางครั้ง บางช่วงขึ้นสูงต่ำสลับกันไปตลอดเวลา แนวโน้มความรุนแรงต่อเนื่องแบบนี้ไม่เคยยุติลงเลย

 

แผนภาพที่ 9 – กราฟแสดงแนวโน้มของเหตุการณ์ก่อความไม่สงบตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 -มีนาคม 2556โดยเปรียบเทียบเป็นรายเดือน

 

นอกจากนี้ ภาวะดังกล่าวได้ก่อตัวขึ้นเป็นลักษณะความซับซ้อนยอกย้อนของความรุนแรง ความหมาย ก็คือรัฐใช้กำลังในการปราบปรามการก่อความไม่สงบอย่างค่อนข้างรุนแรงเข้มข้นด้วยการส่งกำลังและจัดตั้ง กองกำลังติดอาวุธเพื่อต่อสู้กับการก่อความไม่สงบ และยังใช้มาตรการบังคับใช้กฏหมายพิเศษในการต่อสู้กับ สถานการณ์ เช่น การประกาศกฏอัยการศึกในทั่วทั้งพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอของจังหวัด สงขลา ซึ่งได้ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 นอกจากนี้ ยังประกาศบังคับใช้กฏหมายพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เพื่อยับยั้งการขยายตัวของการก่อความไม่สงบ การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวมีผลทำให้ระดับความรุนแรงในแง่ความถี่ของการเกิดเหตุการณ์ลดลงก็จริง แต่ในทางกลับกันก็มีแรงต้านอย่างเป็นระบบของอีกฝ่าย ทำให้ความรุนแรงได้ก่อเกิดสภาพของความยืดเยื้อเรื้อรังที่มีลักษณะต่อเนื่องและมีแบบแผนกระโดดขึ้นสูงต่ำอยู่ตลอดเวลา ภาพที่สะท้อนให้เห็นก็คือ นี่เป็นการต่อสู้ระหว่างพลังของสองฝ่ายอย่างชัดเจน

 

แผนภาพที่ 10 – กราฟแสดงแนวโน้มและสัดส่วนของจำนวนครั้งของเหตุการณ์และจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายที่บ่งชี้ให้เห็นความรุนแรงเชิงคุณภาพ

 

ความต่อเนื่องของเหตุการณ์อาจจะมาถึงจุดเปลี่ยนของการพัฒนาการความขัดแย้งในจังหวัดชายแดน ภาคใต้ ซึ่งเริ่มเห็นได้ชัดในช่วงปี พ.ศ. 2555-2556 ดังจะเห็นได้ว่าในปี พ.ศ. 2555 ความรุนแรงในพื้นที่เริ่ม ขยับสูงหรือเพิ่มระดับขึ้น จากที่มีเหตุการณ์ครั้งใหญ่ประมาณ 8 ครั้ง(ดูรายละเอียดใน "9 เดือนของปีที่ 9: ในสถานการณ์ความรุนแรงอันยอกย้อน กระบวนการสันติภาพปาตานียังคงก้าวเดินไปข้างหน้า") [5] โดยครั้งที่สำคัญคือการระเบิดที่เมืองหาดใหญ่และยะลาในวันที่ 31 มีนาคม ซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากถึงประมาณ 600 คน นอกจากนี้ ในเดือนกรกฏาคมยังมีการโจมตีชุดลาดตระเวณของตำรวจที่ตำบลท่าธง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา และการโจมตีชุดปฏิบัติเคลื่อนที่ของทหารที่อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่สูญเสียรวม 9 นาย ทั้งสองกรณีเป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่กลายเป็นข่าวดัง ต่อมาในเดือนสิงหาคมมีการก่อเหตุก่อกวนทั่วทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอในสงขลารวมประมาณ 300 กว่าจุด และในเดือนกันยายนปีเดียวกันก็มีเหตุการณ์ระเบิดอีกครั้งที่ตลาดในอำเภอสายบุรีทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 รายและบาดเจ็บอีก 44 ราย

ดังนั้น ภาพรวมของสถานการณ์ในปี พ.ศ. 2555 จึงดูเหมือนว่าเหตุการณ์ความรุนแรงจะเพิ่มมากขึ้น และเมื่อขึ้นต้นปี พ.ศ. 2556 ก็มีแนวโน้มของสถานการณ์ที่น่าสนใจ เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมกราคมที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นถึง 117 ครั้ง ขณะที่ในเดือนกุมภาพันธ์ก็เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง 101 ครั้ง และเดือนมีนาคมสูงถึง 131 ครั้ง นับเป็นการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบที่ "สูงกว่าค่าเฉลี่ยต่อเดือน" ของเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ถ้านับจากเดือนมกราคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นมาจนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 ซึ่งมีค่าเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 81.92 ครั้ง ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ความรุนแรงครั้งสำคัญที่กลายเป็นข่าวใหญ่ก็คือเหตุการณ์ในวันที่ 13 กุมพาพันธ์ที่มีการโจมตีฐานปฏิบัติการของกองกำลังนาวิกโยธินที่บ้านยือลอ ตำบลบาเระเหนือ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส โดยกองกำลังของขบวนการบีอาร์เอ็นจำนวนประมาณ 30 คน ผลจากการสู้รบดังกล่าว ทำให้ฝ่ายที่เข้าโจมตีเสียชีวิตถึง 16 คน

 

แผนภาพที่ 11 – กราฟแสดงแนวโน้มของระดับความรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้นในระยะหลัง

 

แผนภาพที่ 12 – กราฟแสดงพัฒนาการและช่วงเวลาของความรุนแรงซึ่งพิจารณาจากค่าเฉลี่ยต่อเดือน

 

 

พลวัตและพัฒนาการของสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ชี้ให้เห็นแรงเหวี่ยง (momentum) ของความรุนแรงที่เคลื่อนตัวสลับพลิกไปมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ในช่วงระยะแรกนับตั้งแต่ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2547-2550ที่ความรุนแรงมีความเข้มข้นสูง โดยเฉลี่ยเหตุการณ์ต่อเดือนในช่วงนี้มีจำนวนประมาณ 160.47 ครั้งต่อเดือน ต่อมาในช่วงระยะหลังคือในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2551-2556 มีเหตุการณ์เกิดขึ้นโดยเฉลี่ย 81.92 ครั้งต่อเดือน ซึ่งดูเหมือนจะลดลงในภาพรวม แต่ไม่ควรมองข้ามการเปลี่ยนแปลงระดับความรุนแรงในเชิงคุณภาพและความซับซ้อนยอกย้อนของสถานการณ์ซึ่งทำให้ในช่วงเวลานี้บังเกิดพลวัตหรือการไหวตัวของความรุนแรงและความขัดแย้งที่สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วงย่อยๆ คือ

1) ช่วงแรกระหว่างปี พ.ศ. 2551-2554 อันเป็นช่วงระยะแรกที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นโดยเฉลี่ย77.29 ครั้งต่อเดือน ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวทางนโยบายการทหารหรือวิธีการจัดการของกองกำลังแห่งรัฐที่มีความเข้นข้นและนูนขึ้น รวมทั้งมาตรการการใช้กฏหมายพิเศษซึ่งได้ "กด" ความรุนแรงลงไปได้ระดับหนึ่ง

2) ช่วงหลังระหว่างปี พ.ศ. 2555-2556 อันเป็นช่วงระยะปัจจุบัน ซึ่งพบว่ามีเหตุการณ์ความรุนแรงสูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่งอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ค่าเฉลี่ยเหตุการณ์จำนวน 102.2 ครั้งต่อเดือน ในแง่นี้จะเห็นได้ชัดเจนว่า "อีกฝ่าย" ก็มีการปรับตัวด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าการเพิ่มระดับของความรุนแรงในช่วงหลังนี้มีนัยความหมายที่จะต้องพิจารณาในแง่พัฒนาการของสถานการณ์อันเกิดจากตัวแปรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหลายตัว ซึ่งสะท้อนให้เห็นการปรับตัวของพลังจากหลายฝ่ายในพื้นที่ความรุนแรงแห่งนี้นั่นเอง

 

จุดเปลี่ยนสถานการณ์: การทหารยัน พื้นที่ทางการเมืองเปิด

ข้อสังเกตที่น่าพิจารณาก็คือการปรับตัวทางการทหารไม่ใช่เกิดกับฝ่ายรัฐเท่านั้น ฝ่าย "ขบวนการ" ก็ดูเหมือนมีการปรับตัวด้วย การดำรงรักษาระดับความรุนแรงและความมุ่งหมายของตนเองแสดงให้เห็นจาก การที่มีการใช้ความรุนแรงที่เน้นเป้าหมายการโจมตีชัดเจนยิ่งขึ้น ดังที่อธิบายไปแล้วว่าได้ปรากฎสภาวะของความรุนแรงเชิงคุณภาพขึ้นนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 โดยในความหมายนี้ก็คือระดับความถี่ของความรุนแรงลดลงแต่การบาดเจ็บและเสียชีวิตของเหยื่อหรือเป้าหมายของความรุนแรงไม่ลดลง แต่กลับมีแนวโน้มคงที่และแกว่งไกวสูงต่ำในระดับที่เหมือนเดิม

นอกจากนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา ความยืดเยื้อเรื้อรังของความรุนแรงและยอดของผู้บาดเจ็บล้มตายสะสมส่งผลสร้างแรงกดดันที่ทำให้เราได้เห็นแนวโน้มของการยอมรับและการเปิดเผยตัวออกมาอย่างชัดเจนและอย่างเป็นทางการของ "ตัวแสดงหลัก" ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐซึ่งก่อความรุนแรงนั่นคือขบวนการBRN (Barisan Revolusi Nasional – National Liberation Front) นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งที่สำคัญ หลังจากที่คู่ต่อสู้ของรัฐดังกล่าวนี้ถูกปิดบังจากฝ่ายรัฐมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยที่ก่อนหน้านี้มีความพยายามหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงอย่างเฉพาะเจาะจง แต่กลับใช้คำกว้างๆ ว่าเป็น "ผู้ก่อความไม่สงบ" หรือ "ผู้ก่อความรุนแรง" เท่านั้น

การเปิดตัวแสดงหลักดังกล่าวทำให้การอธิบายถึงสาเหตุแห่งความรุนแรงที่พาดพิงถึงขบวนการค้ายาเสพติดหรือน้ำมันเถื่อนอ่อนตัวลง เพราะถึงแม้ว่าจะมีความพยายามอธิบายว่าเหตุการณ์ความไม่สงบภาคใต้ที่วุ่นวายสับสนอย่างมากเพราะมี "เงื่อนไขที่ซับซ้อนไม่ได้จำกัดวงอยู่ที่อุดมการณ์ของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน" แต่ยังมีเรื่องของขบวนการค้ายาเสพติดและพวกค้าของเถื่อนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ทุกวันนี้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่พบหลักฐานรูปธรรมที่โยงใยอย่างชัดเจนและอย่างเป็นระบบระหว่างขบวนการบีอาร์เอ็น พูโล เครือข่ายต่างๆ ของขบวนการเหล่านี้กับการค้ายาเสพติดและค้าน้ำมันเถื่อน เท่าที่พบก็มีแต่เป็นบางส่วนที่เป็น จุดย่อยๆ ในระดับล่างเท่านั้น จึงไม่มีหลักฐานมารองรับคำอธิบายเชื่อมโยงโดยตรงของสมมติฐานดังกล่าว

ในขณะที่ภาพที่เราสามารถเห็นได้ชัดเจนกว่าก็คือความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการต่อสู้ที่เรียกว่าความขัดแย้งที่ใช้กำลังอาวุธ (armed conflict) ระหว่างรัฐกับองค์กรต่อต้านรัฐที่มีฐานการสนับสนุนจากองค์กรเครือข่ายและมีกองกำลังอาวุธเพื่อปฏิบัติการใช้ความรุนแรงอย่างเป็นระบบ มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองและอุดมการณ์เพื่อแบ่งแยกดินแดนหรือมุ่งต่อสู้ในประเด็นทางการเมืองอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และศาสนา

ทิศทางในทางการเมืองปัจจุบันจะพบว่าจากการที่สถานการณ์ความรุนแรงมีการปรับตัวในการใช้กำลังของสองฝ่ายก็คือจากการที่รัฐใช้การปรับตัวและระดมกำลังเข้ากดสถานการณ์ความรุนแรงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551จนถึงปี พ.ศ. 2554 สถานการณ์การสู้รบได้เปลี่ยนไปเป็นภาวะตรึงกำลังในทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ลักษณะของการตรึงกำลังกันดังกล่าวทำให้สถานการณ์เริ่มมีความรุนแรงขึ้นนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ด้วยพลังของแรงกดและแรงดึงกำลังสู้กันระหว่างสองฝ่าย

ในสถานการณ์เช่นนี้เราจึงเห็นภาพของการสร้างดุลกำลังของสองฝ่าย เริ่มจากการปรับตัวทางการทหารของฝ่ายรัฐในการใช้กำลังอย่างหนักควบกับงานการเมืองในแนวทางสานใจสู่สันติ และอีกด้านหนึ่งการปรับตัวทางยุทธวิธีของบีอาร์เอ็น โดยมีการเปิดเผยการใช้กำลังอย่างโจ่งแจ้ง เช่น การโจมตีอย่างเปิดเผยและหนักหน่วง โดยมุ่งเน้นไปที่การโจมตีเป้าหมายเข้มแข็งแข็ง (hard targets) ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือกองกำลังของฝ่ายรัฐอื่นๆ สลับกับการโจมตีเป้าหมายอ่อนแอ (soft targets) ที่เป็นชุมชนเมือง โดยใช้การโจมตีใหญ่ ข้อมูลในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2556 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนของการโน้มเอียงไปในทางการโจมตี เป้าหมายเข้มแข็ง เช่น ทหาร ตำรวจ ทหารพราน และ อส.

ดังสามารถพิจารณาจากสัดส่วนผู้เสียชีวิตที่เป็นฝ่ายกองกำลังของรัฐต่อผู้เสียชีวิตทั้งหมด ในเดือนมกราคมเท่ากับร้อยละ 21.88 ต่อมาในเดือนมีนาคมก็สูงขึ้น ถึงร้อยละ 36.84 ถ้ารวมทั้งผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บที่เป็นกองกำลังทหาร ตำรวจ ทหารพราน และ อส. ในเดือนมกราคม จะพบว่ามีถึงประมาณร้อยละ 46.84 แต่ในเดือนมีนาคมกลับสูงขึ้นถึงร้อยละ 54.56 สภาพเช่นนี้ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ดูเหมือนยกระดับความเข้มข้นมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันปฏิบัติการของฝ่ายขบวนการก็ถูกตรึงไว้ด้วยกำลังของฝ่ายรัฐที่กระจายตัวไปทั่วทั้งพื้นที่ ในทางยุทธศาสตร์จึงกล่าวได้ว่าเป็นการยันกันทั้งในทางการทหารและในทางการเมือง

 

แผนภาพที่ 13 – สัดส่วนของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เป็นหมายเข้มแข็ง (กลุ่มทหาร ตำรวจ ทหารพราน และ อส.) โดยเปรียบเทียบกับผู้สูญเสียทั้งหมดในช่วงเดือนมกราคม, กุมภาพันธ์ และมีนาคม 2556

 

อย่างไรก็ตาม แรงถ่วงดุลที่มีสำคัญอย่างยิ่งในสถานการณ์การยันกันในทางการทหารก็คือการปรับตัวทางนโยบายสันติภาพของรัฐด้วยการออก "นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555-2557" โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ นโยบายดังกล่าวประกาศชัดเจนว่าจะต้องมุ่งสร้างสภาวะแวดล้อม ที่เอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง และให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ ทางฝ่ายทหารก็มีการเดินนโยบายสันติภาพ ผ่านกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4 สน.) ที่ได้ประกาศนโยบาย "สานใจสู่สันติ" ซึ่งเน้นการเปิดโอกาสให้ผู้มีความเห็นต่างจากรัฐได้มีช่องทางสามารถแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ในขณะที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ก็เดินหน้านโยบายเปิดพื้นที่จัดการ "พูดคุยสันติภาพ" ตามแนวนโยบายดังกล่าว

ในอีกด้านหนึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เองก็เกิดการตื่นตัวของภาคประชาสังคมและ นักวิชาการเพื่อสร้างพื้นที่กลางเพื่อสันติภาพตามแนวทางที่เรียกว่า "กระบวนการสันติภาพปาตานี" หรือ "Pa(t)tani Peace Process, PPP" และแนวทางการสร้าง "พื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนใน" หรือ "Insider Peacebuilders Platform, IPP" ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน

กระบวนการสันติภาพเป็นพลังที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งในการถ่วงดุลการใช้ความรุนแรงในสถานการณ์ที่มีการยันกันในทางการทหาร เพราะเป็นการการสร้างพื้นที่กลางและสร้างพื้นที่การสื่อสารสาธารณะ กล่าวในอีก แง่หนึ่ง สันติภาพเป็นการเปิดพื้นที่และสนามในทางการเมืองให้กับทุกฝ่ายให้เข้ามาร่วมกันแก้ปัญหาความ ขัดแย้งด้วยวิธีการสันติ ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือสนามแห่งสันติภาพถูกสร้างขึ้นและพื้นที่ทางการเมืองที่ไม่ใช้ ความรุนแรงก็จะถูกเปิดออก กล่าวโดยสรุปก็คือการยันกันทางการทหารและการเปิดพื้นที่ทางการเมืองที่ตาม มาในปัจจุบันจะนำมาซึ่ง "จุดเปลี่ยนของสถานการณ์" (turning point) ที่นำไปสู่แนวทางสันติภาพที่กำลังเดินหน้าอยู่ในปัจจุบัน

 

การแก้ปัญหาภายใต้ร่มเงาของสันติภาพที่ยั่งยืน

แม้กระบวนการสันติภาพในปัจจุบันจะมีความเสี่ยงแฝงอยู่ด้วย กระนั้นก็ตาม จากการสำรวจความคิด เห็นของประชาชนในพื้นที่ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นก็สอดคล้องกับการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในโพลสำนักอื่นที่ประชาชนประมาณสองในสามสนับสนุนกระบวนการสันติภาพที่ริเริ่มอย่างเป็นทางการในวันที่ 28กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา(กรุณาดูรายละเอียดในนิด้าโพล และสวนดุสิตโพล) [6] นี่เป็นฐานที่เข้มแข็งสำหรับฝ่ายต่างๆ ที่เข้าร่วมกระบวนการอันจะถือได้ว่าเป็นอาณัติสัญญานโดยปริยายที่สนับสนุนกระบวนการสันติภาพและพยายามสนับสนุนซึ่งกันและกันในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับกระบวนการสันติภาพ แต่เราก็ต้องตระหนักว่าจากประสบการณ์ของที่อื่น ความสนับสนุนต่อกระบวนการนี้อาจจะลดลงได้เมื่อกระบวนการสันติภาพไปพบกับอุปสรรคที่เป็นวิกฤติ สิ่งท้าทายที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือกระบวนสันติภาพที่จะสำเร็จได้นั้นต้องอาศัยการยินยอมและผ่อนปรนประนีประนอมจากทุกฝ่าย การประนีประนอมดังกล่าวอาจทำให้คนของแต่ละฝ่ายผิดหวังที่ตั้งตารอคอยผลลัพท์ที่วาดหวังมานานและคาดหวังจะได้รับการตอบแทนเยียวยาจากความเจ็บปวดและขมขื่นในอดีตของฝ่ายตน

ปัญหาอีกประการหนึ่งของกระบวนการสันติภาพทุกแห่งก็คือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะยังคงตกอยู่ภายใต้ความเชื่อหรือทัศนคติที่ถูกสร้างสมมานานในเรื่อง "ความไม่เชื่อมั่นไว้วางใจ ความระแวงสงสัย และความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์"ต่อฝ่ายอื่น สันติภาพสำหรับพวกเขาแต่ละฝ่ายอาจจะมีความหมายต่างกัน รัฐบาลและฝ่ายสนับสนุนรัฐต้องการให้ฝ่ายขบวนการผู้ก่อการยุติความรุนแรงก่อนเป็นลำดับแรก "เมื่อใดที่ยุติความรุนแรงได้สำเร็จ เราจึงจะพูดเรื่องอื่นกันได้ เช่นการประนีประนอมทางการเมืองอื่นๆ" ส่วนฝ่ายขบวนการและแนวร่วมก็ต้องการ "ความยุติธรรม ความเสมอภาค และรูปแบบการปกครองร่วมกันบางประเภทในดินแดนของตนเอง" เมื่อใดที่พวกเขามองเห็นความก้าวหน้าที่มีความหมายสำคัญและน่าเชื่อถือในเรื่องดังกล่าว พวกเขาจึงจะยอมยุติความรุนแรง เป็นต้น

เพื่อจัดการกับปัญหาที่ยอกย้อนดังกล่าว ความก้าวหน้าไปสู่สันติภาพเชิงลบ (negative peace, การยุติความรุนแรง) และสันติภาพเชิงบวก (positive peace, ความยุติธรรม ความเสมอภาค และการจัดการตามเจตนารมณ์ของตนเอง) จึงไม่อาจจะแก้ไขได้ด้วยเพียงแค่มีกลุ่มผู้สร้างสันติภาพ (peacebuilders) เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการเท่านั้น (หรือที่เรียกกันว่าเส้นทางสายที่ 1) กระบวนการสันติภาพจักต้องมีการระดมการสนับสนุนจากประชาชนในวงกว้างเพื่อสร้างพลังสันติภาพทั้งในแง่มุมของสันติภาพเชิงบวกและสันติภาพเชิงลบ

อันที่จริง การสร้างสันติภาพได้เดินมาสองสามปีก่อนหน้านี้แล้วจาก "คนใน" หลายฝ่ายที่ประกอบด้วยองค์กรภาคประชาสังคมและขบวนการเคลื่อนไหวในระดับรากหญ้า (ที่เรียกกันว่าเส้นทางสายที่ 2 และเส้นทางสายที่ 3) ในขณะนี้ จึงเป็นห้วงเวลาอันเหมาะสมที่กระบวนการสันติภาพจากคนในดังกล่าวจะสร้างสะพานเชื่อมกับกระบวนการสันติภาพในเส้นทางสายที่ 1 หรือการพูดคุยเจรจรสันติภาพอย่างเป็นทางการ

กล่าวโดยสรุปก็คือการจะทำให้กระบวนการสันติภาพยั่งยืนในขณะนี้ กระบวนการสันติภาพจำต้องแผ่ร่มเงาออกไปให้มากที่สุด จะต้องให้ความสำคัญกับความต้องการและความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งสร้างสันติภาพก้าวเล็กๆ ในจำนวนที่มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในหมู่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ช่วยกันสร้าง เครือข่ายความปลอดภัยที่สนับสนุนการพูดคุยสันติภาพโดยภาคประชาสังคมให้เข้มแข็ง รวบรวมและขยายการ สนับสนุนกระบวนการสันติภาพจากทุกฝ่าย สร้างแรงหมุนหรือแรงเหวี่ยงที่ดึงดูดใจเพื่อสนับสนุนการเปิดเผย กระบวนการสันติภาพไปสู่สาธารณะ กระบวนการสันติภาพของจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องศึกษาบทเรียน จากประเทศอื่น เช่น ในกรณีไอร์แลนด์เหนือที่กลุ่มผู้สนุบสนุนสันติภาพจากหลายฝ่ายร่วมมือกันกับองค์กรภาค ประชาสังคมและสื่อมวลชนที่มีจิตใจเปิดกว้างเพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะและการสนับสนุนจากประชาชนในวงกว้าง เพื่อหนุนช่วยกระบวนการเจรจาสันติภาพให้ยั่งยืนในที่สุด

 

เชิงอรรถ

[1] การสำรวจความคิดเห็นหรือ "โพล" ครั้งนี้จัดทำขึ้นโดยคณะผู้วิจัยซึ่งประกอบด้วย ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี, เชาวเลิศ ล้อมลิ้ม, ดุษณ์ดาว เลิศพิพัฒน์ และวารุณี ณ นคร สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

[2] Safety Net ในที่นี้หมายถึงเครือข่ายหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพที่เป็นเหมือนตาข่ายนิรภัยที่คอยเสริมให้กระบวนการพูดคุยหรือเจรจาสันติภาพซึ่งดำเนินการในระดับบนระหว่างฝ่ายรัฐกับขบวนการเดินหน้าต่อไปได้ แต่การหนุนเสริมที่ว่านี้จะพัฒนาจากภาคประชาสังคมและเครือข่ายประชาชนในระดับรากหญ้า เครือข่ายหนุนเสริมดังกล่าวยังทำหน้าที่ในการดำเนินกิจกรรมป้องกันความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในกรณีที่การพูดคุยสันติภาพเกิดความล้มเหลวหรือพบกับอุปสรรค(กรุณาดูรายละเอียดใน คณะทำงานพื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนใน, "ริเริ่มพูดคุย: บทประเมินกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีหลังการลงนามในฉันทามติทั่วไปฯ," http://www.deepsouthwatch.org/node/4014)

[3] กรุณาพิจารณาผลการสำรวจก่อนหน้านี้ที่เกี่ยวข้องกับระดับความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อกลุ่มคนและองค์กรต่างๆ โดย CSCD ได้แก่ ปี 2554 (ดูใน "เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในท่ามกลาง 8 ปีของความรุนแรง" http://www.deepsouthwatch.org/node/2871); ปี 2553 (ดูใน "เมื่อก้าวข้ามหนึ่งร้อยเดือนของสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้: เรากำลังจะไปทางไหน?"http://www.deepsouthwatch.org/node/3354); และปี 2552 (ดูใน "ห้าปีห้าเดือน : รายงานวิเคราะห์สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 65 เดือน"http://www.deepsouthwatch.org/node/343)

[4] International Crisis Group (ICG), Thailand: The Evolving Conflict in the South, 11 December 2012, http://www.crisisgroup.org/~/media/Files/asia/south-east-asia/thailand/241-thailand-the-evolving-conflict-in-the-south.pdf [accessed 10 April 2013]

[5] กรุณาดูรายละเอียดใน ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี, "9 เดือนของปีที่ 9: ในสถานการณ์ความรุนแรงอันยอกย้อน กระบวนการสันติภาพปาตานียังคงก้าวเดินไปข้างหน้า", 2 พฤศจิกายน 2555,http://www.deepsouthwatch.org/node/3670

[6] กรุณาดูผลสำรวจความคิดเห็นในบางสำนัก อาทิเช่น นิด้าโพล (ดูใน "รัฐบาลไทยกับการนั่งโต๊ะเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็น (BRN)," http://nidapoll.nida.ac.th/main/index.php/en/2012-08-06-13-57-45/400-28-1-56) และสวนดุสิตโพล (ดูใน " 'การแก้ปัญหาภัยใต้' ในสายตาประชาชน,"http://dusitpoll.dusit.ac.th/polldata/2556/25561363485254.pdf

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช.ชี้กองทุนทันตกรรมช่วยประหยัดค่ารักษา 300 ล้าน - คาด 6 ปีเด็กลดฟันผุ 1.6 ล้านซี่

Posted: 16 Apr 2013 02:17 AM PDT

สปสช.พบเด็กไทยฟันผุลดลง จำนวนเด็กที่มีสุขภาพฟันดีไม่มีฟันผุพุ่งสูงขึ้นกว่า 10 % ส่งผลประหยัดค่ารักษาได้กว่า 300 ล้านบาท หลังปี 54 บอร์ด สปสช. จัดงบส่งเสริมทันตกรรมม ส่งผลดีสามารถจัดการทำได้ง่ายขึ้น จังหวัดมีความคล่องในการกำหนดทิศทางนำไปสู่ผลการดำเนินงานที่ชัดเจน มีความคล่องตัวในการจัดงบประมาณ

นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีมติแยกการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายตั้งเป็นกองทุนทันตกรรมส่งเสริมป้องกันในเด็กและฟันเทียมสำหรับผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ซึ่งจากการตั้งกองทุนทันตกรรมฯส่งผลให้เกิดความสำเร็จที่ทำให้เด็กไทยฟันผุลดน้อยลง เนื่องจากได้จัดงบประมาณส่งเสริมป้องกันตามแนวทางของสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัยส่งผลให้เด็กไทยมีคุณภาพฟันดีขึ้น

ทั้งนี้ โรคฟันผุเป็นภาระสำคัญของประเทศมานานหลายสิบปี ซึ่งตามแนวทางสำคัญคือ การส่งเสริมป้องกันโดยเฉพาะกลุ่มเด็กก่อนวัยเรียนและเด็กวัยเรียน โดย ในปี 2556 ได้จัดสรรงบประมาณทางดำเนินการทางด้านทันตกรรมส่งเสริมป้องกัน 16.60 บาทต่อประชากร หรือประมาณ 796 ล้านบาท อย่างไรก็ตามงานของกองทุนทันตกรรมมี 2 ส่วนหลัก คือ ทันตกรรมส่งเสริมป้องกัน กลุ่มเป้าหมายหลักคือ เด็กประถมศึกษา กลุ่มเด็กปฐมวัย และกลุ่มหญิงมีครรภ์ และอีกส่วนคือ ทันตกรรมประดิษฐ์หรือฟันเทียมให้ความสำคัญกลุ่มผู้สูงอายุ ส่วนค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาในช่องปากรวมอยู่ในงบบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในที่โรงพยาบาลได้รับอยู่แล้ว ซึ่งการดำเนินงานมีเป้าหมายเพื่อควบคุมสภาวะสุขภาพช่องปากในกลุ่มเด็กปฐมวัย เด็กประถมศึกษา โดยบูรณาการสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก ป้องกันโรค และรักษาทางทันตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลสุขภาพช่องปากในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ และให้ผู้สูงอายุได้รับฟันเทียมอย่างทั่วถึง

เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า กิจกรรมที่ดำเนินการ คืองานเชิงรุกในโรงเรียนและชุมชน ดำเนินการโดยรพ.สต. กองทุนสุขภาพตำบล โรงพยาบาล เช่น การเคลือบหลุมร่องฟันเด็ก ป.1 การให้ทันตสุขศึกษาการทาฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุ การตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำปีละ 2 ครั้ง เป็นต้น ที่ผ่านมาผลการดำเนินงานในปี 2555 ที่ผ่านมาพบว่า จากผลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากเด็กปราศจากฟันผุในกลุ่มอายุ 3 ขวบ มีข้อมูลยืนยันได้ว่าในกลุ่มเด็กในวัยดังกล่าว มีสุขภาพฟันดีเพิ่มมากขึ้นกว่าร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับผลการสำรวจก่อนหน้านั้นมีข้อมูลที่สำรวจในปี 2532 เป็นต้นมาพบว่า เด็กอายุ 3 ปีจะมีฟันผุประมาณร้อยละ 33- 38 แต่ล่าสุด ผลการสำรวจปี 2555 หลังจากที่เริ่มต้นกองทุนทันตกรรมในปี 2554 พบว่ามีเด็กในกลุ่มอายุ 3 ขวบที่ปราศจากฟันผุเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48.3

นายแพทย์วินัย กล่าวว่า ผลการดำเนินงานเมื่อปี 2555 พบว่า สามารถตรวจฟันในกลุ่มเด็ก ป.1 ได้ถึง 456,181 คน คิดเป็นร้อยละ 60 ของจำนวนเด็กป.1 และในจำนวนนี้ให้การรักษาและป้องกัน102,709 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 22.51 จากจำนวนผู้ได้รับการตรวจ ซึ่งช่วยส่งเสริพัฒนาการสมวัยและกิจกรรมเคลือบหลุมร่องฟันส่งผลให้เด็ก ป.6 มีฟันผุลดลง และคาดว่าภายใน 6 ปี เด็กประถมศึกษาทั่วประเทศจะฟันผุลดลงกว่า 1.6 ล้านซี่ โดยผลจากการส่งเสริมป้องกันโรคและรณรงค์ให้เด็กไทยฟันผุน้อยลงส่งผลให้รัฐบาลประหยัดค่ารักษาไปได้กว่า 300 ล้านบาท ขณะที่การให้บริการฟันเทียม ในกลุ่มอายุไม่เกิน 59 ปี มีผู้เข้ารับบริการ 26,251 ราย และในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป 36,619 ราย

"จากผลสำเร็จนี้สะท้อนว่า การแยกงบทันตกรรมจัดการเฉพาะ ส่งเสริมให้เด็กมีสุขภาพช่องปากที่ดีขึ้นทำให้ประหยัดงบการรักษาในอนาคต สอดคล้องกับการวิเคราะห์ข้อดีการมีกองทุนทันตกรรม โดยสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ความชัดเจนของงบประมาณทำให้จังหวัดมีความคล่องในการกำหนดทิศทางนำไปสู่ผลการดำเนินงานที่ชัดเจน เกิดระบบข้อมูลทันตสาธารณสุขระดับจังหวัด เกิดการทำงานเป็นภาคีเครือข่ายในจังหวัด และเกิดพื้นที่นำร่อง เช่น ตำบลสุขภาพฟันดี และการสร้างนักส่งเสริมทันตสุขภาพพันธุ์ใหม่ เป็นต้น ทั้งหมดบ่งชี้ว่า การบริหารงานทันตกรรมอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งจำเป็น คุ้มค่า และได้ประโยชน์ในระยะยาว" เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อวัตถุศึกษากับอธิป: Pirate Bay ย้าย url ไปอยู่เกาะกรีนแลนด์

Posted: 16 Apr 2013 01:50 AM PDT

ประมวลข่าวสารด้านทรัพย์สินทางปัญญากับ 'อธิป จิตตฤกษ์' - รัสเซียระบุไม่มีแผนไล่เอาผิดคนแชร์ไฟล์แบบ 'พวกอเมริกา' - แต่จะเล่นงานเว็บละเมิดลิขสิทธิ์ให้หนัก - สตูดิโอหนังซอมบี้ สามารถคืนทุนการผลิตได้จากการเรียก 'ค่ายอมความ' คนโหลดบิตทอร์เรนต์เพียง 4 คน!

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก

 

 

09-04-2013

รัฐบาลรัสเซียประกาศแล้วว่าไม่มีแผนจะไล่เอาผิดคนแชร์ไฟล์แบบที่ 'พวกอเมริกา' ทำ

อย่างไรก็ดีทางรัสเซียมีแผนที่จะเล่นงานพวกเว็บละเมิดลิขสิทธิ์ให้หนักขึ้น

News Source: http://torrentfreak.com/file-sharers-will-not-be-held-liable-for-piracy-russia-says-130408/

 

The Pirate Bay ย้าย url หนีไปเป็น .gl ของประเทศกรีนแลนด์แล้ว

เนื่องจากยูอาร์แอล .se ของสวีเดนมีความเสี่ยงและแนวโน้มสูงว่าจะถูกยึด หลังจากที่กลุ่มต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์สามารถกดดันให้ Pirate Party ของสวีเดนเลิกการให้บริการแบนด์วิธแก่ The Pirate Bay (ที่นำมาสู่การหนีไปขอแบนด์วิธของ Pirate Party ของนอร์เวย์และสเปนแทน ก่อนโดนไล่เล่นงานอีก ส่งผลให้ The Pirate Bay หนีไปเกาหลีเหนือแบบปลอมๆ อันเป็นข่าวไปทั่ว และตอนนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าใครโฮสต์แบนด์วิธให้ The Pirate Bay กันแน่)

ล่าสุด The Pirate Bay ก็ได้ย้ายหนีไปที่ http://thepiratebay.gl/ ซึ่งเป็นยูอาร์แอลของประเทศกรีนแลนด์แล้ว

News Source: http://torrentfreak.com/the-pirate-bay-moves-to-gl-domain-in-anticipation-of-domain-seizure-130409/


 

อดีตนักเรียนกฎหมายวิจารณ์โรงเรียนกฎหมายอย่างนิรนามเลยโดนทางโรงเรียนฟ้องหมิ่นประมาท

ศาลชั้นต้นตัดสินว่าโรงเรียนกฎหมายมีสิทธิจะเปิดเผยตัวนักวิจารณ์นิรนามผู้นี้ได้ แต่ศาลอุทธรณ์กลับคำตัดสินว่าทางโรงเรียนไม่มีสิทธิ์จะทำแบบนั้น

อย่างไรก็ดีคำตัดสินของศาลมิชิแกนก็มีปัญหาเพราะไม่ยอมชี้ประเด็นว่ามันต้องมี "หมายแจ้ง" (Notice) ไปก่อนจะมี "หมายเรียก" (Subpoena) ซึ่งในศาลอื่นๆ เมื่อจำเลยในกรณีแบบนี้โดนหมายแจ้งแล้วก็จะยังมีสิทธิในการสู้เพื่อความนิรนามของตนอยู่ และนี่เป็นกระบวนการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกทั่วๆ ไปที่ศาลอื่นๆ คุ้มครอง

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130405/15314122604/appeals-court-protects-anonymity-critics-cooley-law-school-could-have-done-more.shtml


 

10-04-2013

สตูดิโอหนังซอมบี้เกรดบี Night of the Living Dead: Resurrection สามารถได้ต้นทุนการผลิตหนังคืนทั้งหมดจากการเรียกค่ายอมความจากคนโหลดหนังเถื่อนทางบิตทอร์เรนต์พียง 4 คน

ต้นทุนหนังเรื่องนี้อยู่ที่ราวๆ 20,000 ดอลลาร์เท่านั้น แต่ทางสตูดิโอฟ้องคนที่โหลดหนังทางบิตทอร์เรนต์ในแบบ "เกรียนลิขสิทธิ์" ไป 21 คน โดยการเรียกค่ายอมความ 5,000 ดอลลาร์ต่อคน

ซึ่งนั่นหมายความว่าสตูดิโอของหนังเรื่องนี้ก็น่าจะได้ค่ายอมความอย่างต่ำๆ 105,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 5 เท่าของต้นทุนการสร้างหนังเกรดบีเรื่องนี้

News Source: http://torrentfreak.com/four-alleged-movie-pirates-set-to-cover-entire-horror-movie-budget-130409/


 

11-04-2013

Apple เอา App อ่านหนังสือเกี่ยวกับทิเบตลงจาก App Store ตามคำขอของรัฐบาลจีน

News Source: http://www.telegraph.co.uk/technology/apple/9971655/Apple-censors-Tibet-book-app-in-latest-concession-to-Chinese-government.html

 

ศาลชั้นต้นอาร์เจนตินาตัดสินว่าจะใช้ "สิทธิธรรม" (Moral right) มาขัดขวางการเผยแพร่งานที่หลงเหลือของนักเขียนการ์ตูนที่ตายไปสู่สาธารณะไม่ได้

ทั้งนี้ Roberto Fontanarrosa นักเขียนการ์ตูนชาวอาร์เจนตินาตายไปในปี 2007 และไม่ได้เขียนพินัยกรรมเกี่ยวกับการ์ตูนที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ไว้ ตามกฎหมายอาร์เจนตินา ศาลต้องเป็นผู้ตัดสินว่าทรัพย์สินของผู้ตายจะไปเป็นของใครบ้าง ซึ่งในกรณีนี้คือภรรยาใหม่ และลูกที่ติดจากภรรยาเก่า

ตอนนี้ศาลให้ภรรยาใหม่เป็นผู้จัดการมรดกไปพลางๆ ก่อน ซึ่งเธอก็ได้ไปเซ็นสัญญากับสำนักพิมพ์ท้องถิ่นเพื่อพิมพ์การ์ตูนที่เหลือของสามี แต่ปรากฏว่าลูกชายจากภรรยาเก่าไม่เห็นด้วย และแย้งบนฐานของ "สิทธิธรรม" โดยอ้างว่าไม่รู้ว่างานที่ตีพิมพ์นั้นเป็นของพ่อเขาจริงหรือไม่ หากตีพิมพ์ไปอาจทำให้พ่อเขาเสื่อมเสียชื่อเสียง

เรื่องถึงศาล สุดท้ายศาลตัดสินว่าสิทธิธรรมนั้นไม่เหนือไปกว่า "สิทธิชุมชน" ในการเข้าถึงงาน

ตรงนี้ตรรกะอาจงงๆ เล็กน้อย แต่ถ้าลูกอ้างว่าการ์ตูนที่เหลือไม่ใช่ของพ่อจริงๆ การอ้างลิขสิทธิ์จึงเป็นไปไม่ได้ ลูกเลยอ้างสิทธิธรรมของการ "ไม่ให้ใส่ชื่อคนเขียนผิดๆ" แทนเพื่อยับยั้งการพิมพ์การ์ตูน แต่ศาลก็มองว่าการอ้างแบบนี้เป็นการอ้างโดยมิชอบ และตัดสินให้ตีพิมพ์ได้

ทีน่าสนใจกว่านั้นคือศาลอาร์เจนตินาได้กล่าวถึง "สิทธิชุมชน" ซึ่งในที่นี้ก็น่าจะเทียบเท่าสิทธิของสาธารณชน และนี่ก็เป็นสิ่งทีไม่ค่อยจะมีการกล่าวถึงกันนักในสารบบการพิจารณาคดีลิขสิทธิ์ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม

News Source: http://www.ip-watch.org/2013/04/11/community-right-to-access-unpublished-works-trumps-moral-rights-of-heir-argentine-court-says/


 

12-04-2013

มีการเสนอกฎหมายในวอชิงตันที่จะอนุมัติให้นายจ้างสามารถขอพาสเวิร์ด Facebook ของลูกจ้างเมื่อมีการตรวจสอบภายในบริษัทได้

ฝ่ายสนับสนุนกฎหมายนี้อ้างว่าการที่กิจกรรมบนโซเชียลเน็ตเวิร์คเป็นความลับซึ่งเอื้อให้ลูกจ้างทำสิ่งผิดกฎหมายและผิดสัญญากับบริษัทได้

ทั้งนี้ การเสนอกฎหมายนี้เกิดขึ้นทั้งๆ ที่หลายๆ รัฐในอเมริกาได้ทำให้การที่นายจ้างขอพาสเวิร์ด Facebook ของผู้เข้ามาสมัครงานนั้นผิดกฎหมายไปแล้ว นอกจากนี้ในกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์เองก็ยังมีการระบุว่าการเข้าไปในบัญชีผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นเป็นความผิดทางอาญาด้วยซ้ำ

News Source: http://seattle.cbslocal.com/2013/04/03/washington-bill-would-allow-employers-to-seek-workers-facebook-passwords/ , http://www.techdirt.com/articles/20130405/09461122596/wa-bill-allowing-employers-to-request-facebook-passwords.shtml

 

สถิติจากกรมสถิติแรงงานของอเมริกาชี้ว่า จำนวนผู้ได้รับการจ้างงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และบันทึกเสียสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนธันวาคม 2012

ซึ่งนี่เป็นตัวเลขที่ดูจะขัดกับการกล่าวอ้างของสองอุตสาหกรรมที่มีมาอย่างต่อเนื่องว่า "การโหลดเพลง" และ "การโหลดหนัง" นั้นทำให้เกิดการ "สูญเสียอาชีพ" ของผู้คนในสองอุตสาหกรรม

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130411/11122622680/oh-look-number-people-employed-movie-music-recording-business-just-hit-all-time-high.shtml

 

รายได้จากการโฆษณาของอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์อเมริกันลดจากจุดสูงสุดในปี 2000 เหลือแค่ 1 ใน 3 แล้ว

กล่าวคือลดจากกว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2000 ลงไปเหลือแค่ราวๆ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน (ปรับอัตราเงินเฟ้อแล้ว) ซึ่งเป็นมูลค่าเท่าๆ กับตอนปี 1950 และมีแนวโน้มลดลงอีก

มีการวิเคราะห์กันว่าเหตุผลส่วนใหญ่น่าจะเป็นเพราะเงินโฆษณาไหลไปที่พวกสื่อออนไลน์แทน เพราะอย่างน้อยๆ รายได้จากการโฆษณาของ Google บริษัทเดียวก็แทบจะเท่ารายได้จากการโฆษณาอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ทั้งอุตสาหกรรมแล้ว และก็ยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

ดังนั้นการที่หลายๆ คนกล่าวว่าหนังสือพิมพ์เป็น "อุตสาหกรรมที่กำลังจะตาย" ก็ดูจะไม่เกินเลยไปเท่าใดนัก

News Source: http://paidcontent.org/2013/04/11/two-charts-that-tell-you-everything-you-need-to-know-about-the-future-of-newspapers/


 

15-04-2013

CD Baby พยายามจะสร้าง CD Baby Pro องค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์นักแต่งเพลงระดับโลกขึ้น

ประเด็นนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าภายใต้ระบบลิขสิทธิ์ของอเมริกา ความคิดเรื่อง "สิทธิ" ของนักแต่งเพลงที่มีเหนือบทประพันธ์ดนตรีของตนนั้นมันมีประวัติยาวนานมากๆ ตอนต้นศตวรรษที่ 20 นักแต่งเพลงก็มี 1909 สิทธิเหนือบทประพันธ์เรียบร้อยแล้ว

แต่ต้องเข้าใจว่านี่คือสิทธิของนักแต่งเพลงเท่านั้น นักดนตรีไม่ได้มีสิทธิ์เหนืองานบันทึกเสียงเลยจนถึงการแก้กฎหมายในปี 1970 (คาดว่าการคุ้มครองงานดนตรีในฐานะบทประพันธ์เกิดขึ้นในการแก้กฎหมายสักครั้งในศตวรรษที่ 19 เพราะตอนอเมริกามีกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกในปี 1790 ลิขสิทธิ์คุ้มครองแค่หนังสือ แผนที่และแผนภูมิด้วยซ้ำ ส่วนภาพยนตร์เพิ่งจะได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ผ่านการแก้กฎหมายลิขสิทธิ์ปี 1912)

ในปี 1909 มีการแก้กฎหมายลิขสิทธิ์ที่สำคัญของอเมริกา ที่ทำให้เกิดระดับใบอนุญาตบังคับ (compulsory license) กับบทประพันธ์เพลง คือบังคับให้หลังจากที่บทประพันธ์เพลงไปสู่สาธารณะแล้ว ใครก็สามารถเอาไปคัฟเวอร์ได้โดยจ่ายค่าลิขสิทธิ์ในเรตตายตัวให้กับนักแต่งเพลง นักแต่งเพลงไม่มีสิทธิ์ห้ามคนบันทึกเสียงเพลงตัวเอง ส่วนแนวทางของค่าลิขสิทธิ์การแสดงสาธารณะเกิดขึ้นจากคำตัดสินของศาลสูงในปี 1917 ที่ศาลตัดสินให้พวกองค์กรธุรกิจทั้งหลายต้องจ่ายเงินให้กับนักแต่งเพลงถ้าองค์กรเหล่านี้แต่งเพลงให้ลูกค้าฟัง นี่ทำให้พวกร้านอาหารและร้านค้าต่างจ่ายค่าลิขสิทธิ์ และทำให้สถานีวิทยุที่เกิดในเวลาต่อมาก็ต้องจ่าย ซึ่งก็รวมถึงสถานีโทรทัศน์ที่เอาเพลงของนักแต่งเพลงไปใส่ในรายการโทรทัศน์ด้วย (ซึ่งเป็นคนละส่วนกับใบอนุญาตการซิงค์ภาพเข้ากับเสียง)

สิ่งเหล่านี้เป็นค่าลิขสิทธิ์ที่มีองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ในอเมริกาเก็บมาตลอด

อย่างไรก็ดีผลประโยชน์ของนักแต่งเพลงอเมริกันก็ไม่ได้รับการคุ้มครองไปทั่วโลกแต่อย่างใด โดยเฉพาะบรรดาพวกนักแต่งเพลงอิสระที่ไม่ได้มีพวกค่ายเพลงระดับโดย "ดูแลผลประโยชน์" ให้ ดังนั้นเว็บไซต์ CD Baby จึงพยายามจะสร้าง CD Baby Pro เพื่อเสนอตัวดูแลค่าลิขสิทธิ์ระดับโลกให้นักแต่งเพลงอิสระในอเมริกา

กล่าวง่ายๆ คือ CD Baby Pro จะทำให้เงินค่าลิขสิทธิ์เมื่อเกิดการขายงานดนตรีในอังกฤษ การเปิดเพลงในร้านกาแฟในฝรั่งเศส การสตรีมเพลงฟังในสวีเดน กลับไปสู่นักแต่งเพลงในอเมริกา (ต้องย้ำว่านี่เป็นคนละเรื่องกับค่าลิขสิทธิ์งานบันทึกเสียงที่มีประวัติคนละชุดกัน)

ซึ่งเอาจริงๆ แล้วนี่ก็เป็นประเด็นน่าสนใจอยู่ เพราะกฎหมายลิขสิทธิ์ในหลายๆ ประเทศก็ไม่ได้มีความชัดเจนที่จะเอื้อให้เกิดการเก็บค่าลิขสิทธิ์แบบยิบย่อยยุ่บยั่บแบบในอเมริกา

News source: http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2013/20130416cdbaby

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประวิตร โรจนพฤกษ์: แบบสอบถาม ‘บริการ’ ม.112

Posted: 16 Apr 2013 12:05 AM PDT

1. คุณรู้จัก ม.112 จากสื่อใด?  

O จากคุก   O จากเพื่อนล้มเจ้า  O จากเพื่อนคลั่งเจ้า  O จากโฆษณาชวนเชื่อ  O จากสื่อที่อ้างว่าอยู่ข้างประชาชน  O อื่นๆ

2. คุณมาใช้บริการ ม.112 บ่อยแค่ไหน? 

O ครั้งแรก  O บ่อยกว่านั้นแต่ไม่อยากบอก  O ครั้งหนึ่งในคุกก็เกินพอแล้ว

3. คุณภาพของโทษ ม.112  

O ดี   O ดีเกินจริง  O ดีเกินไป  O ดีอย่างไม่รู้จักพอเพียง  O หาดีกว่านี้ไม่ได้แล้วในโลกนี้

4. ความรวดเร็วของบริการ  

O เร็วเกินคาด  O ทั้งเร็วและแรง  O หนีบริการแทบไปต่างประเทศไม่ทัน  O เกลียดบริการ ม.112 –ไม่เอามิได้หรือ?

5. ความสะอาด บรรยากาศภายในคุก  

O ดี  O ดีแบบที่อากงประสบ  O ไม่ดี  O จะดีมากถ้าไม่ต้องอยู่กินบรรยากาศนานๆ

6. บริการที่ชอบเป็นพิเศษ  

O การปิดหูปิดตาปิดปาก   O การปิดหูปิดตาปิดปากแล้วยังหน้าด้านอ้างว่าไม่มีการปิดหูปิดตาปิดปากใดๆ  O การปิดหูปิดตาแล้วอ้างว่าทำเพราะรักประชาชนที่โง่ แยกแยะจริงเท็จไม่ออก  O บริการเสริมไล่ออกจากแผ่นดินไทย  O บริการแบบยุค 6 ตุลาคม 2519 เลิกแล้วหรือ?  O บริการฟรีแบบไม่อยากได้ก็ยังยัดเยียดให้ทั้งสังคม ตลอดชีวิตชั่วชีวิตลูกหลาน

7. ท่านคิดจะกลับมาใช้บริการ ม.112 อีกไหม?  

O ทำไมต้องอยาก?  O คงไม่ เพราะหนีไปต่างประเทศแล้ว  O ครั้งเดียวก็เกินพอ  O มีโปรโมชั่นเสริมไหม?  O คนถามซาดิสท์หรือเปล่า?  O อยากให้เลิกบริการนี้ไปเลย ได้ป่าว?  O ไม่อยากให้ต้องมีคนที่ไม่รู้จักไปเดินใส่หน้ากากหน้าตนเองเที่ยวงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติแบบสมยศ

ขอบคุณในความคิดเห็นอันมีค่าของท่าน เราหวังว่าจะได้บริการ ม.112 แก่ท่านและลูกหลานสืบต่อไปอย่างไม่จบสิ้น

หากท่านต้องการติดตามข้อมูลข่าวสารบริการพิเศษเฉพาะสมาชิก ม.112 กรุณาใส่ชื่อนามสกุล ที่อยู่และ e-mail พร้อมทั้งเขียนทิ้งท้ายแบบสอบถามนี้ให้ชัดเจนว่าท่านเป็น O คนรักเจ้า  O คนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง  O คนเท่าทันเจ้า  O คนไม่รักเจ้า  O คนกลัว ม.112  O ฯลฯ แล้วทางเราจะให้ตำรวจพร้อมอัยการติดต่อกลับไปยังท่านโดยด่วนถ้าจำเป็น

หากท่านยังมีข้อสงสัยใดๆ ติดต่อ Call Centre ได้ที่โทร 112 หรือ e-mail มาที่ kalaland@torlaeland.th ได้ตลอดชีวิตเพราะเรารับรองว่าบริการ ม.112 ไม่หนีท่านไปไหนแน่

ขอบคุณที่มาใช้บริการของเราโดยไม่ขัดขืนใดๆ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

28 เมษาฯจัดงานใหญ่ สมัชชาปฏิรูป หนุนเสริมสันติภาพชายแดนใต้

Posted: 15 Apr 2013 08:23 PM PDT

สำนักงานปฏิรูป ร่วมกับ 3 องค์กร จัดงานใหญ่ เวทีสมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้ 28 เมษาฯ เปิดปราศรัยสาธารณะพลังพลเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลง ศาสนา-เยาวชน-ผู้หญิงและภาคประชาสังคมกับสันติภาพ ออกปฏิญญา 3 ข้อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ ตั้งองค์การมหาชนพัฒนาชายแดนใต้

 

นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานปฏิรูป (สปร.) เปิดแถลงข่าวเตรียมจัดงานเวทีสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 2 ใช้ชื่อ"เสียงเพรียกเพื่อสันติภาพชายแดนใต้" ในวันที่ 28 เมษายน 2556 ที่สนามกีฬาและอาคารอเนกประสงค์ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดปัตตานี

การแถลงข่าวดังกล่าว มีขึ้นหลังจากการประชุมคณะกรรมการชุดดังกล่าว เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2556 ที่สนามกีฬาและอาคารอเนกประสงค์ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดปัตตานี โดยมีผศ.ดร.ชิดชนก ราฮิมมูลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี กรรมการจัดสมัชชาปฏิรูปฯ นางโซรยา จามจุรี ตัวแทนเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ และนายมันโซร์ สาและ กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ร่วมแถลงข่าว

นายแพทย์พลเดช แถลงว่า การจัดสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งที่ 2 ทางสำนักงานปฏิรูป สภาประชาสังคมชายแดนใต้และสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เป็นเจ้าภาพหลัก ภายในงานประกอบด้วย การปราศรัยในหัวข้อต่างๆ ที่เป็นการปราศรัยสาธารณะพลังพลเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลงและสันติภาพ ได้แก่ ศาสนากับสันติภาพ โดยนายอิบรอเฮม ยานยา ผู้หญิงกับสันติภาพ โดยนางสุไบดะห์ ดอเลาะ เยาวชนกับสันติภาพ และบทบาทของภาคประชาสังคมต่อกระบวนการสันติภาพ โดยนายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ

นายแพทย์พลเดช แถลงต่อไปว่า จากนั้นจะเป็นการประกาศปฏิญญาสมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้ รวม 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1.เรื่องร่วมมือกันสร้างบรรยากาศสันติภาพ ฉบับที่ 2.เรื่องการสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรมหาชน เสริมพลังพลเมืองท้องถิ่น สร้างสันติสุขยั่งยืน และฉบับที่ 3.เรื่องการกระจายอำนาจต้องฟังเสียงประชาชนทุกหมู่เหล่าในพื้นที่

"ปฏิญญาทั้ง 3 ฉบับ จะมีการยื่นให้เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนใต้ นำไปเพื่อพิจารณาเนื่องจากเป็นข้อเสนอส่วนหนึ่งจากพื้นที่ที่จะแสดงความมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน ซึ่งรัฐต้องฟังเสียงจากพื้นที่" นพ.พลเดช กล่าว

นายแพทย์พลเดช แถลงอีกว่า นอกจากนี้จะมีการนำเสนอสาระสำคัญจากการจัดเวทีนโยบายสาธารณะ "ชายแดนใต้จัดการตนเอง" หรืองาน 200 เวที ที่ลงไปรับฟังเสียงจากประชาชนในพื้นที่ต่อรูปแบบการเมืองการปกครองในพื้นที่ตามชุมชนต่างๆ รวมทั้งเวทีเฉพาะกลุ่มประมาณ 200 เวที

จากนั้นจะมีการมอบข้อเสนอและรายชื่อผู้สนับสนุนการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมและการฟื้นฟูละพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ (องค์การมหาชน) ต่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนใต้

นายแพทย์พลเดช กล่าวว่า คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 5,000 คน และขอเชิญกลุ่มอื่นๆที่ต้องการแสดงออกว่า เห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพ ให้มารวมตัวกันในโอกาสนี้ด้วย

นายแพทย์พลเดช กล่าวอีกว่า เหตุผลที่เลือกวันที่ 28 เมษายนในการจัดสมัชชาดังกล่าว เนื่องจากเป็นวันสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ความรุนแรงที่กระทำทั้งสองฝ่าย หรือที่เรียกว่าเหตุการณ์กรือเซะ เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ที่ต้องการยุติความรุนแรง โดยตั้งชื่อวันงานว่า "เสียงเพรียกเพื่อสันติภาพ"

นายมันโซร์ สาและ กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ แถลงว่า สภาประชาสังคมได้ลงพื้นที่ถามความต้องการของประชาชนถึงรูปแบบการเมืองการปกครองที่ประชาชนต้องการ ซึ่งจะนำเสนอผลการสอบถามดังกล่าวในวันงานด้วย

"คนสามจังหวัดเป็นกลุ่มคนที่ต้องเตรียมตัวเองในฐานะผู้เชื่อมสองกลุ่มประเทศหลักในภูมิภาคอาเซียน คือ โลกประเทศสุวรรณภูมิที่เป็นคนพุทธเป็นหลัก และ โลกประเทศมลายูที่มีมลายูมุสลิม เป็นประชากรหลัก และประชากรสำคัญของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งคนในสามจังหวัดชายแดนใต้ต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพราะเป็นคนสำคัญในการจะเชื่อมต่อสองโลกดังกล่าว และการพัฒนาจะเกิดขึ้น สันติภาพจะยั่งยืน" นายมันโซร์กล่าว

นางโซรยา จามจุรี จากเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ และกรรมการจัดงานดังกล่าว กล่าวว่า 9 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีผู้หญิงเสียชีวิตกว่า 400 คน เป็นหญิงหม้ายกว่า 5,000 คน ซึ่งทำให้เห็นว่า ผู้หญิงได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ฉะนั้นผู้หญิงจึงชอบธรรมในการเรียกร้องให้สันติภาพเกิดขึ้นในพื้นที่และขอให้ยุติความรุนแรง

"ผู้หญิงสามารถก้าวข้ามจากเหยื่อสู่ผู้ขับเคลื่อนสันติภาพได้ ส่วนหนึ่งคือการเข้าร่วมสภาประชาสังคมที่เข้ามาร่วมผลักดันนโยบายที่กระทบผู้หญิงในสภาประชาสังคม เพราะลำพังผู้หญิงคนเดียวไม่สามารถต่อรองได้ แต่สภาประชาสังคมเป็นพื้นที่รวมตัวของผู้หญิง ผู้ชาย ที่มีพลังในการต่อรอง ซึ่งกลุ่มผู้หญิงได้ใช้การรวมตัวนี้ในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายมาตลอด" นางโซรยา กล่าว

ผศ.ดร.ชิดชนก แถลงว่า เข้าร่วมจัดงานครั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าคณะรัฐศาสตร์ไม่ควรจะอยู่เฉย เพียงรับรู้เหตุการณ์อย่างเดียว แต่ควรให้ความร่วมมือทางการเมืองเพื่อให้เกิดพลังในการยุติความรุนแรงได้จริงด้วย โดยจะมีองค์กรที่ทำงานในพื้นที่ เครือข่ายสภาซูรอ 41 ตำบล เครือข่ายชุมชนศรัทธา 110 ชุมชน ซึ่งจะพาองค์กรร่วมจัด 45 องค์กร เข้าร่วม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โลกภายใต้คณาธิปไตยเปียงยาง

Posted: 15 Apr 2013 07:53 PM PDT

บางคนคิดว่า นายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือเป็นบ้าไปแล้ว

แต่ผมคิดว่า หากเขาเป็นบ้าไปจริง ทุกอย่างก็ดูจะปลอดโปร่งขึ้น เพราะเผด็จการบุคคลที่เป็นบ้านั้นอยู่ไม่ได้ เดี๋ยวก็มีคนจัดการให้พ้นไป แม้แต่ถูกกล่าวหาว่าเป็นบ้ายังอยู่ไม่ได้เลย ถ้าฝ่ายกล่าวหามีพรรคพวกมากกว่า

คิม จอง อึน ไม่ใช่คนที่ถูกหมายให้ดำรงตำแหน่งผู้นำสืบจากบิดามาแต่แรก เขาคงใช้ชีวิตที่สุขสบายไปอย่างเงียบๆ หากพี่ชายขึ้นดำรงตำแหน่ง แต่ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของพี่ชาย ทำให้หมดโอกาสจะสืบทอดตำแหน่งผู้นำ ในที่สุดก็มาลงที่นายจอง อึน ส่วนหนึ่งก็เพราะนายคิม จอง อิล ได้ยกเขาขึ้นเป็นทายาทมาตั้งแต่เริ่มป่วยหนัก กลุ่มที่จงรักภักดีต่อตระกูลคิมในคณาธิปไตยเกาหลีเหนือจึงยืนยันที่จะต้องเป็นเขา ด้วยเหตุดังนั้น การขึ้นดำรงตำแหน่งของคิม จอง อึน - แม้เป็นการชั่วคราว - ก็ช่วยรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของคณาธิปไตยไว้ได้

เปรียบเทียบกับนายคิม จอง อิล บิดาของเขา นายคิม จอง อิล มีโอกาสอยู่นานที่จะค่อยๆ สร้าง "บารมี" ในกลุ่มคณาธิปไตย ก่อนจะขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำต่อจากนายคิม อิล ซุง ผู้บิดา แต่นายคิม จอง อึน ต้องอาศัยความภักดีของกลุ่มที่จงรักต่อตระกูลคิมในคณาธิปไตย โดยยังไม่มี "บารมี" หนุนหลังเพียงพอ เขาอาจเป็นผู้นำเกาหลีเหนือคนแรกที่ไร้บารมีส่วนตัวถึงเพียงนี้ การต้องอาศัยการสนับสนุนของคนอื่นอย่างมาก เป็นอันตรายทั้งต่อตัวผู้นำและต่อตัวระบอบ

คิม จอง อึน ขึ้นดำรงตำแหน่งในระยะแรกด้วยการส่งสัญญาณความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เช่นการนำภรรยาไปร่วมงานสาธารณะอย่างเปิดเผย อันเป็นสิ่งที่ผู้นำเกาหลีเหนือไม่ทำมาก่อน สถานที่และกิจกรรมที่เขาไปเยี่ยมให้เป็นข่าว ก็มักเป็นเรื่องเกี่ยวกับสวัสดิการของประชาชน คล้ายกับจะส่งสัญญาณว่าเกาหลีเหนือกำลังจะให้ความสำคัญด้านนี้มากขึ้นกว่าด้านความมั่นคงอย่างเดียว

แต่เขาไม่ได้มี "บารมี" มากพอจะเป็นเติ้ง เสี่ยว ผิง ของเกาหลีเหนือได้ เข้าใจว่านโยบายผ่อนคลายเช่นนี้ไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มต่างๆ ในคณาธิปไตยเกาหลีเหนือ ประเด็นความมั่นคงเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจของเผด็จการคณาธิปไตยทุกแห่งในโลก จะลดความสำคัญของประเด็นความมั่นคงลงได้ ก็ต้องมีเงื่อนไขความสำเร็จสองอย่าง คือหนึ่งต้องมีความสำเร็จทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และสองต้องมีความสำเร็จที่จะรักษาความแข็งแกร่งของกองกำลัง เพื่อบดขยี้ศัตรูทั้งภายในและภายนอก หากไม่แน่ใจในความสำเร็จทั้งสองเงื่อนไขนี้ สู้อยู่ไปอย่างเดิมดีกว่าจะมาโคลงเรือเล่น

และด้วยเหตุดังนั้น คิม จอง อึน จึงหันมาแสดงบทบาทผู้นำด้านความมั่นคง อย่างแข็งกร้าวและอย่างก้าวร้าว ซึ่งทำความตระหนกแก่คนทั้งโลก ผมอยากเดาว่าทำความตระหนกแก่บางกลุ่มในคณาธิปไตยเกาหลีเหนือเองด้วย ก็ไหนๆ จะเล่นเกมส์นี้กันแล้ว กูก็ต้องเล่นให้เหนือมึง เป็นธรรมดา

แนววิเคราะห์อย่างนี้ดูเหมือนทำให้ความวิตกกังวลว่าจะเกิดสงครามเกาหลีรอบใหม่ลดลง เพราะทั้งหมดเป็นเรื่องของการเมืองภายในของเกาหลีเหนือเอง แต่เกมส์นี้มีปัญหาในตัวเองที่น่าวิตกอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน นั่นคือเมื่อยกระดับความแข็งกร้าวและก้าวร้าวแข่งกัน ทุกฝ่ายจะมองไม่เห็นขีดจำกัดได้ชัดว่าอยู่ตรงไหน จึงง่ายที่จะยกระดับจนเลยขีดนั้นเมื่อไรก็ได้ โดยไม่มีใครคาดคิดถึงผลที่เกิดขึ้นจากการละเมิดขีดจำกัดนั้น

โดยส่วนตัวผมเอง ผมวิตกตรงนี้มากกว่า อันที่จริง สงครามขนาดใหญ่หลายครั้ง ก็เกิดขึ้นโดยผู้นำไม่ได้ตั้งใจ แต่เก็งปฏิกิริยาของฝ่ายตรงข้ามผิด คิดว่าเส้นที่เป็นขีดจำกัดนั้นอยู่เลยไปจากที่มันอยู่จริง

คนเกาหลีใต้ในเมืองไทยที่ผมมีโอกาสสอบถาม บอกว่าเขาเองไม่วิตกอะไร และในเกาหลีใต้ทุกวันนี้ ทุกอย่างก็ดำเนินไปเป็นปกติ เพราะเกาหลีเหนือแสดงอาการคุกคามอย่างนี้เสมอมา แต่ผมอดนึกแย้งในใจไม่ได้ว่า การคุกคามครั้งอื่นที่ผ่านมา ผู้นำเกาหลีเหนือมองเห็นขีดจำกัดชัดเจนว่า อยู่ตรงไหน และจะข้ามเส้นนั้นไปไม่ได้ แต่ครั้งนี้ผิดจากครั้งอื่นตรงที่ ผู้นำเกาหลีเหนืออาจมองไม่ค่อยเห็นเส้นที่เป็นขีดจำกัดนั้นชัดนัก

สหรัฐเพิ่งสารภาพไม่นานมานี้ว่า คาดเดาเกาหลีเหนือได้ยากขึ้น ในขณะที่แต่เดิมมาข้อมูลเกี่ยวกับเกาหลีเหนือนั้นมีพอที่จะทำให้สหรัฐพอจะคาดเดาได้ออกว่า เกาหลีเหนือกำลังคิดจะทำอะไรอยู่ แต่ครั้งนี้ค่อนข้างมืดแปดด้าน

แม้ว่าสหรัฐและมหาอำนาจตะวันตกพอจะประเมินศักยภาพด้านเทคโนโลยีจรวดและนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือได้ เช่นแม้มีจรวดที่พอจะส่งหัวรบนิวเคลียร์ไปถึงฮาวายและอลาสกาได้ แต่ก็เป็นจรวดที่อาจถูกตรวจจับและสกัดกั้นได้ไม่ยาก ซ้ำยังมีปัญหาด้านความแม่นยำอีกด้วย ยิงจรวดได้ไกลนั้นเป็นเทคโนโลยีอย่างหนึ่ง ยิงให้ตกเป้าอย่างแม่นยำ เป็นเทคโนโลยีอีกอย่างหนึ่งซึ่งเกาหลีเหนือครอบครองไว้ได้แค่ไหนยังน่าสงสัยอยู่

ความสามารถป้องกันตัวของสหรัฐนั้นไม่มีอะไรน่าวิตก แต่สหรัฐจะป้องกันญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้เท่ากับป้องกันตนเองหรือไม่ นี่เป็นปัญหากว่า สหรัฐคงมีกำลังพอจะหยุดการถล่มเกาหลีใต้และญี่ปุ่นด้วยนิวเคลียร์ได้เด็ดขาดในเร็ววัน แต่นั่นหมายถึงนิวเคลียร์บางส่วนของเกาหลีเหนือได้เล็ดลอดระบบป้องกัน ตกลงที่กรุงโซลและกรุงใหญ่อื่นๆ ของญี่ปุ่นไปแล้ว แค่ลูกเดียวก็มีผลมโหฬารต่อยุทธศาสตร์โลกของสหรัฐอย่างมากแล้ว (ทั้งในทางทหารและเศรษฐกิจ)

ฉะนั้น ความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลดังกล่าว จึงเท่ากับตัดการโจมตีก่อนเพื่อป้องกัน (preemptive strike) ของฝ่ายสหรัฐไปได้เลย

จีนคงไม่อยากให้เกิดสงครามแน่นอน แม้ไม่คิดจะปกป้องตระกูลคิม แต่เป็นไปไม่ได้ที่จีนจะไม่คิดปกป้องเกาหลีเหนือให้พ้นจากอิทธิพลของสหรัฐ แค่มีเพื่อนบ้านเป็นรัสเซียอย่างเดียวก็นอนหลับไม่สบายแล้ว จะมีสหรัฐเป็นเพื่อนบ้านอีกข้างหนึ่ง ก็เป็นอันไม่ต้องนอนกันแน่ ฉะนั้นถ้าจะเกิดสงครามเกาหลีรอบใหม่ สหรัฐต้องทำสงครามชนิดที่จีนไม่รู้สึกว่าตัวถูกคุกคามไปด้วย

ดังนั้น ถ้าจะเกิดสงครามขึ้น สงครามนั้นจะไม่เกิดผลอะไรนอกจากแพ้ชนะกันในสนามรบ เป็นเกมส์ฆ่าคนเล่นๆ ไม่มีประโยชน์อันใด

ทั้งสงครามนั้นก็ไม่อาจทำในนามของสหประชาชาติได้อีกแล้ว เพราะจีนนั่งอยู่ในคณะมนตรีความมั่นคง แม้นำเรื่องเข้าสู่การตัดสินใจของสมัชชาใหญ่ (อย่างที่เคยทำในสงครามเกาหลีครั้งแรก) ก็ไม่แน่ว่าสหรัฐจะชนะ เพราะหลายประเทศ (เช่นไทย) คงเลือกการงดออกเสียง

ในทางตรงข้าม ถ้าให้จีนเป็นฝ่ายดึงเกาหลีเหนือไว้ไม่ให้ล้ำเส้น จะเป็นไปได้แค่ไหน ผมออกจะสงสัยว่า แม้จีนอยากทำอย่างยิ่ง และจีนก็ได้แสดงท่าทีค่อนข้างชัดเจนแล้ว ในแถลงการณ์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ แต่จีนยังมีเครื่องมืออื่นๆ อีกหรือไม่ ที่ผมสงสัยก็คือถึงมีจีนก็ไม่อยากใช้ เพราะถ้าบีบเกาหลีเหนือจนเกิดความวุ่นวายทางการเมืองในเกาหลีเหนือ (เช่นบางกลุ่มในคณาธิปไตยก่อการกบฏ) ก็เท่ากับเปิดเกาหลีเหนือให้แก่การแทรกแซงจากมหาอำนาจอื่นๆ ไปพร้อมกัน จีนก็แทรกได้ และแทรกได้ถนัดกว่าคนอื่นด้วย แต่ต้องไปปะทะกับการแทรกแซงของคนอื่น ก่อให้เกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์และกระทบต่อการเซ็งลี้ของจีนแน่นอน

จากความพยายามจะรักษาอำนาจของผู้นำเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นการเมืองภายในโดยแท้ ก่อให้เกิดสถานการณ์ที่มหาอำนาจจัดการอะไรไม่ค่อยได้ ต้องปล่อยให้ความเสี่ยงดำรงอยู่ต่อไปอย่างสิ้นท่าเช่นนี้ ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็คงต้องคิดว่าตัวต้องมีศักยภาพในการป้องกันตนเองดีกว่านี้ รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังจะเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสให้กองกำลังรักษาตนเองสามารถปฏิบัติการในประเทศอื่นได้ และอาจมีใครกำลังคิดอย่างลับๆ ว่าต้องพัฒนาอาวุธที่สามารถทำลายล้างได้สูงๆ ด้วย เช่นเดียวกับเกาหลีใต้

ทั้งสองประเทศล้วนมีสมรรถนะจะทำได้ทั้งคู่ สนธิสัญญาห้ามการแพร่ระบาดของอาวุธนิวเคลียร์จะดำรงอยู่ต่อไปได้หรือไม่

และหากสองประเทศนี้มีสมรรถนะทางทหารของตนเองที่แข็งแกร่งขึ้น สองประเทศนี้จะดำเนินนโยบายต่างประเทศสอดคล้องกับสหรัฐมากน้อยเพียงไร และจะมีความสัมพันธ์กับจีนเปลี่ยนไปอย่างไร

คิม จอง อึน ไม่ได้บ้า แต่เราทุกคนนั่นแหละต่างต้องมีชีวิตอยู่ในโลกบ้าๆ ใบนี้ด้วยกัน

 

 

 

ที่มา: มติชนออนไลน์
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น