โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เสนอ 'พ.ร.บ.คู่ชีวิต' สำหรับชีวิตคู่ทุกเพศวิถี

Posted: 22 Apr 2013 12:04 PM PDT

คลิปจากการเสวนา "ความหลากหลายทางเพศกับกฎหมายการจดทะเบียนคู่ชีวิตของไทย" เมื่อ 19 เม.ย. ที่ห้องโถง อาคารรัฐสภา และการยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ สำหรับ พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิตฯ โดยเครือข่ายความหลากหลายทางเพศแห่่งประเทศไทย

คณะกรรมาธิการการกฏหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน จัดงานเสวนา "ความหลากหลายทางเพศกับกฎหมายการจดทะเบียนคู่ชีวิตของไทย" เมื่อ 19 เม.ย. ที่ห้องโถง อาคารรัฐสภา (ภาพ: อรทัย ตามยุทธ)

เครือข่ายความหลากหลายทางเพศแห่่งประเทศไทยยื่นจดหมายเปิดผนึกยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ สำหรับร่าง พ.ร.บ.จดทะเบียนคู่ชีวิต (ภาพ: อรทัย ตามยุทธ)

 

เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมา ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการกฏหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ "ร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิตของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ" หรือ พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต โดยจัดรับฟังเป็นครั้งที่ 5 หลังจากก่อนหน้านี้ได้ตระเวนรับฟังความคิดเห็นมาทั่วประเทศ

สำหรับกฎหมายดังกล่าวโดยสาระสำคัญของกฎหมายนี้เพื่อรับรองสถานภาพของผู้มีความหลากหลายทางเพศในฐานะที่เป็นคู่ชีวิตเยี่ยงคู่สามีภรรยาทั่วไป ขณะที่เครือข่ายความหลากหลายทางเพศแห่งประเทศไทย ได้มายื่นข้อเสนอเพิ่มเติมกับรัฐสภาผ่าน พล.ต.อ.วิรุณห์ พื้นแสน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ ด้วย โดยพวกเขาเห็นว่าร่างปัจจุบันยังมีข้อจำกัดหลายเรื่อง โดยเฉพาะ "ข้อกำหนดเรื่องบุตร" ที่ยังไม่ถูกระบุ นอกจากนี้ยังหวังให้กฎหมายดังกล่าวสามารถขจัดการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศได้อย่างแท้จริง

โดยข้อเสนอของเครือข่ายความหลากหลายทางเพศแห่งประเทศไทยมี 5 ข้อ ประกอบด้วย 1. ร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิตดังกล่าวจะต้องระบุถึงหลักการที่จะสร้างความเท่าเทียมและยุติการเลือกปฏิบัติที่มีอยู่ในระบบกฎหมายและสังคมไทย เพื่อให้มีการรับรองทางกฎหมายแก่คู่ชีวิตและครอบครัวของคนทุกเพศอย่างเท่าเทียมกันในทุกด้าน เนื่องจากในปัจจุบันระบบกฎหมายยังคงรับรองคู่ชีวิตและครอบครัวเฉพาะคู่ชายหญิงต่างเพศเท่านั้น เป็นเหตุให้คู่ชีวิตและครอบครัวที่ประกอบด้วยเพศอื่นจำนวนมากไม่สามารถได้รับการคุ้มครองและเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ เช่นเดียวกับคู่ที่ได้รับการรับรองทางกฎหมาย

2. ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังขาดข้อกำหนดเรื่องบุตร ทำให้เกิดช่องว่างทางกฎหมายและไม่สามารถนำมาใช้แก้ไขสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากบุคคลจำนวนมากที่สามารถจดทะเบียนตาม พ.ร.บ. นี้มีบุตร ซึ่งอาจจะเป็นบุตรจากการสมรสครั้งก่อน บุตรบุญธรรม หรือบุตรทางสายเลือดที่เกิดขึ้นในระหว่างการใช้ชีวิตคู่กับคู่ที่จดทะเบียนคู่ชีวิต

3. เงื่อนไขเกี่ยวกับอายุของบุคคลที่จะจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ ควรใช้เงื่อนไขเดียวกับบุคคลที่จะจดทะเบียนสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดย 1) ให้ผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว จดทะเบียนคู่ชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ได้ และ 2) ให้ผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะแต่มีอายุ 17 ปีขึ้นไปสามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ โดยใช้หลักการเดียวกับการจดทะเบียนสมรสในปัจจุบัน

4. ดังที่ปรากฏในมาตรา 4 ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ว่าด้วยการที่กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินั้น ขอให้เพิ่มเติมว่า "โดยมิให้มีความแตกต่างจากระเบียบขั้นตอนการจดทะเบียนสมรสที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน" เพื่อมิให้เกิดมาตรฐานการปฏิบัติที่แตกต่างกันสำหรับประชากรสองกลุ่มสืบไป

และ 5. มีการใช้คำว่า "อนุโลม" หลายครั้งในร่าง พ.ร.บ. นี้ ซึ่งแม้ว่าในทางกฎหมาย การนำกฎหมายอื่นมาใช้บังคับโดยอนุโลมนั้นจะหมายถึงการนำหลักการและรายละเอียดของกฎหมายอื่นมาใช้บังคับเพื่อให้การดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัตินี้บรรลุผล โดยไม่ขัดหรือแย้งกับเจตนารมณ์และหลักการของร่างพระราชบัญญัตินี้ก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติ การระบุเช่นนี้อาจเป็นให้เกิดการตีความผ่านดุลยพินิจส่วนบุคคลของผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดการตีความไปในเชิงจำกัดสิทธิ เนื่องจากสังคมในวงกว้างยังไม่ได้รับการสนับสนุนให้มีความเข้าใจในความหลากหลายทางเพศวิถี อัตลักษณ์ทางเพศ ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายไปในทางที่รับรองคุ้มครองความเสมอภาคทางเพศในทุกกรณี ดังนั้น ภาครัฐควรจัดการอบรมในเรื่องดังกล่าวกับผู้บังคับใช้กฎหมายในทุกระดับ อันจะยังให้การบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองสิทธิเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศเป็นไปได้จริง อย่างยุติธรรม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บาห์เรนจัดแข่งกรังด์ปรีซ์รถสูตรหนึ่งตามปกติ แม้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลประท้วง

Posted: 22 Apr 2013 10:03 AM PDT

การจัดแข่งรถสูตรหนึ่งกรังด์ปรีซ์ยังคงดำเนินต่อไปในกรุงมานามา ประเทศบาห์เรน แม้กลุ่มด้านสิทธิมนุษยชนอ้างว่าชนชั้นนำบาห์เรนต้องการใช้การแข่งขันนี้เพื่อปกปิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศจากการสังหารกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยนับตั้งแต่ช่วงอาหรับสปริงปี 2011

21 เม.ย. 2013 - กลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาลบาห์เรน ได้มาชุมนุมนอกสนามแข่งรถสูตรหนึ่ง (ฟอร์มูล่าวัน) ที่เริ่มจัดแข่งขันกรังด์ปรีซ์ ในกรุงมานามา ประเทศบาห์เรน แต่ก็ถูกกองกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่วางกำลังอย่างแน่นหนาเข้าสลายการชุมนุมจนมีการปะทะกับผู้ชุมนุมที่ประท้วงปิดถนน โดยที่นักกิจกรรมอ้างว่าว่าการจัดแข่งฟอร์มูล่าวันเป็นเรื่องไม่เหมาะสมท่ามกลางการละเมิดสิทธิมนุษย์ชนโดยชนชั้นนำในระบอบราชาธิปไตย

อย่างไรก็ตามการแข่งขันรถสูตร 1 กรังด์ปรีซ์ ยังคงดำเนินต่อไปตามปกติโดยไม่มีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้นในการแข่งขันที่สนามซาคีร์ มีผู้ประท้วงเผายางรถยนต์และปิดถนนพื้นที่รอบนอกเมืองมานามา ศูนย์สิทธิมนุษยชนบาห์เรนกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ได้สลายการชุมนุมกลุ่มเล็กๆ ตามหมู่บ้านต่างๆ โดยมีการจับกุมตัวผู้ประท้วงไว้ได้ 13 ราย และมีการยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่กลุ่มนักเรียนที่ชุมนุมกันที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง

ก่อนหน้านี้กลุ่มนักกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนิกายชีอะห์ที่ต่อต้านรัฐบาลบาห์เรนได้ชุมนุมเรียกร้องให้มีการยกเลิกการแข่งขันโดยอ้างการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยชนชั้นนำในระบอบราชาธิปไตยซึ่งเป็นกลุ่มนิกายซุนนี

กลุ่มชาวบาห์เรนส่วนหนึ่งเริ่มประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยตั้งแต่ช่วงเดือน ก.พ. 2011 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากปรากฏการณ์อาหรับสปริงซึ่งเป็นกระแสการลุกฮิอต่อต้านรัฐบาลของประชาชนในกลุ่มประเทศอาหรับ โดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวว่ามีประชาชนชาวบาห์เรน 80 คนถูกสังหารนับตั้งแต่ที่มีการประท้วง องค์กรนิรโทษกรรมสากลกล่าวว่าการจัดงานกรังด์ปรีซ์ในครั้งนี้เป็นการแสดงเพื่อพยายามปกปิดภาพลักษณ์แย่ๆ ด้านสิทธิมนุษยชนของบาห์เรน

แม้ว่าจะมีการกดดันจากกลุ่มต่อต้านรัฐบาลภายในประเทศ และนักการเมืองอังกฤษส่วนหนึ่ง แต่ผู้จัดแข่งขันรถสูตรหนึ่ง ก็ปฏิเสธจะยกเลิกการแข่งขัน เบอร์นี เอคเคิลสโตน ผู้มีฉายา 'เจ้าพ่อวงการรถสูตรหนึ่ง' กล่าวว่ามันไม่ใช่หน้าที่ของเขาที่จะตั้งคำถามกับกฏหมายของประเทศต่างๆ

"ผมถามผู้คนอยู่เสมอว่า 'สิทธิมนุษยชนคืออะไร' ผมไม่รู้ว่ามันคืออะไร" เบอร์นีกล่าว "สิทธิคือการที่คนที่อยู่ในประเทศหนึ่งๆ เคารพกฏหมายของคนในประเทศนั้นไม่ว่าเขาจะเป็นใคร"

ขณะที่ซาเยด ยูซีฟ อัล-มูฮาฟดา จากศูนย์สิทธิมนุษยชนบาห์เรนวิจารณ์ผู้จัดว่าพวกเขาละเลยการกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ

"รัฐบาลบาห์เรนต้องการแสดงให้โลกเห็นว่าที่นี่ไม่มีปัญหาอะไร แต่ก็มีการปฏิวัติและการปราบปรามผู้ชุมนุมในบาห์เรน ประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยถูกสังหาร" ซาเยดกล่าว

ก่อนหน้านี้เจ้าฟ้าชายซัลมาน อัล-คาลิฟา ก็เคยกล่าวเรียกร้องให้ประชาชนอยู่ในความสงบในช่วงก่อนการแข่งขัน

 

เรียบเรียงจาก

Bahrain Grand Prix motors on as Formula One boss Bernie Ecclestone says: 'What human rights? – I don't know what they are', The Independent, 21-04-2013

'Race for blood': Police clash with protesters ahead of Bahrain Grand Prix, Russia Today, 21-04-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: คดีมะละกอจีเอ็มโอ(เกือบ)จบ ความกังวลเรื่องการปนเปื้อนไม่จบ

Posted: 22 Apr 2013 09:51 AM PDT

จากกรณีที่กรีนพีซมีข้อพิพาทกับกรมวิชาการเกษตรฯ ที่อนุญาตให้บริษัทมอนซานโต้ (ไทยแลนด์)จำกัด นำเข้าเมล็ดพันธุ์ฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรมเข้ามาปลูกทดสอบแบบแปลงเปิดในประเทศไทยครั้งแรก เมื่อปี 2538 ซึ่งตลอดเวลากรีนพีซพยายามยับยั้งการการทดลองพืชจีเอ็มโอในพื้นที่แปลงเปิดเนื่องจากเห็นว่าพืชจีเอ็มโอดังกล่าวจะทำให้เกิดผลกระทบด้านการปนเปื้อน โดยครั้งแรกที่พบการปนเปื้อนของฝ้ายจีเอ็มโอ (บีที) จังหวัดเลย ในปี 2542 ซึ่งกระทรวงเกษตรฯเอง ยอมรับว่าเกิดการปนเปื้อนจริง

หลังจากนั้นเรื่องราวเกี่ยวกับจีเอ็มโอก็หายไปนาน จนกระทั่งเป็นข่าวอีกครั้งในกรณีของ มะละกอจีเอ็มโอ เมื่อราวปี 2547 ตัวละครหลักคือ กรีนพีซ ซึ่งบุกแปลงทดลองมะละกอจีเอ็มโอของกรมวิชาการเกษตรจนเป็นข่าวดังเพื่อบอกว่ามะละกอจีเอ็มโอในแปลงนี้ได้หลุดรอดออกไปภายนอกและอาจผสมกับมะละกอทั่วไปกระทบต่อพันธุกรรมดั้งเดิม และด้วยความห่วงกังวลว่าเรายังไม่รู้ผลระยะยาวของอาหารที่ตัดต่อพันธุกรรม

กรณีนี้สู้กันยาวทั้งในทางการรณรงค์และคดีที่ขึ้นสู่ศาลปกครอง โดยกรีนพีซฟ้องร้องกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในข้อหาละเลยต่อหน้าที่ในการจัดการการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอ สายพันธุ์แขกดำท่าพระ จนปล่อยให้หลุดออกสู่นอกแปลงทดลองแบบเปิด

ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง

จากนั้นกรีนพีซได้ยื่นอุทธณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อ 31 กรกฎาคม 2551 อีกครั้ง จนกระทั่ง 5 ปีกต่อมา เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2556 ตุลาการผู้แถลงคดีได้ออกมาแถลงแนวทางคดีให้ยกฟ้อง ก่อนจะมีคำพิพากษาอีกครั้งในเร็ววันนี้

นายวรศักดิ อารีเปี่ยม ตุลาการผู้แถลงคดี ได้แถลงความเห็นในคดีดังกล่าวว่า จากข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เห็นว่า กรมวิชาการเกษตรไม่ได้ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการมะละกอปนเปื้อนจีเอ็มโอ ซึ่งมีหลักฐานทางหนังสือและการแถลงทางวาจาที่ระบุว่าหลังจากพบการปนเปื้อนในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ มหาสารคาม ยโสธร ก็มีการประกาศเขตควบคุมศัตรูพืช และใช้วิธีการทำลายโดยการฝังกลบ ซึ่งแม้จะไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องที่สุดตามที่กลุ่มกรีนพีซร้องไว้ แต่ก็ยังมีการติดตามตรวจสอบปัญหาการปนเปื้อนอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2547-2550 ในหลายพื้นที่ เช่น นครสวรรค์ นครนายก ชุมพร ระยอง ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ระยอง เป็นต้น ส่วนกรณีที่กลุ่มกีรนพีซอ้างว่าพบการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอที่ จ.กาญจนบุรีในปี 2552 นั้นพบว่าเป็นมะละกอพันธุ์ฮาวาย ซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์กับมะละกอที่กรมวิชาการเกษตรทดลองในแปลงเปิด จึงไม่สามารถใช้เป็นข้อเท็จจริงใหม่ จึงเห็นควรที่ศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษายกฟ้อง

ด้านนางสาวณัฐวิภา อิ้งสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์เกษตรกรรมยั่งยืน กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า กรีนพีซไม่มีช่องทางในการดำเนินคดีเพิ่มเพราะว่าผลการตัดสินถึงศาลปกครองสูงสุดแล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กรีนพีซจะทำต่อไปคือ นำไปเป็นบทเรียนให้กับสังคมและกรมวิชาการเกษตรเห็นว่าการทดลองจีเอ็มโอ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนได้ ทั้งยังทำให้เกิดผลกระทบด้านอื่นๆ ในเชิงสังคม เพราะพืชจีเอ็มโอมีสิทธิบัตรและผูกขาดการขายเมล็ดพันธุ์

ในทางนโยบายเกี่ยวกับจีเอ็มโอ ประเทศไทยยังอยู่ในขั้นอนุญาตให้ทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอเท่านั้น ขณะที่ในมุมของผู้บริโภค กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศบังคับใช้กฎติดฉลากจีเอ็มโอเมื่อ 11 พ.ค.2546  อย่างไรก็ตาม ไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศทั่วโลกที่มีกฎติดฉลากอาหารจีเอ็มโอที่อ่อนแอ ขณะที่ประเทศในสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นล้วนแต่ปฏิเสธอาหารจีเอ็มโอ

กฎติดฉลากที่บังคับใช้ในปัจจุบันกำหนดเงื่อนไขว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของถั่วเหลืองและข้าวโพดจีเอ็มโอใน 3 ส่วนประกอบหลักร้อยละ 5 ขึ้นไปเท่านั้นต้องติดฉลาก (หากมีถั่วเหลืองและข้าวโพดจีเอ็มโออยู่ในส่วนประกอบที่ 4, 5, 6 เกินร้อยละ 5 ไม่ต้องติดฉลาก) ส่วนพืชจีเอ็มโอชนิดอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ไม่อยู่ในข่ายที่ต้องติดฉลาก

ในส่วนของสถานการณ์การทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอนนั้น กรีนพีซระบุว่า ตลอดเวลาที่กรีนพีซพยายามยับยั้งไม่ให้มีการทดลองพืชจีเอ็มโอ บริษัทมอนซานโต้ก็ยังคงเดินหน้าทำการทดลองพืชจีเอ็มโอแบบแปลงเปิดตลอดมา โดยเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมมือกับบริษัทมอนซานโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อดำเนินโครงการวิจัย "ทดสอบข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมสายพันธุ์ NK603 ในแปลงทดลองเปิด" อีกครั้งหนึ่ง โดยได้ยื่นเอกสารเพื่อขออนุญาตทดลองโครงการดังกล่าว อย่างไรก็ตามได้มีการจัดให้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชนอย่างรวบรัดตัดตอนและขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

กรีนพีซจึงได้ยื่นหนังสือคัดค้านไปยังมหาวิทยาลัยนเรศวร และส่งสำเนาถึงบริษัท มอนซานโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2556 เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านและเรียกร้องให้ยุติความพยายามผลักดันให้เกิดโครงการวิจัยจีเอ็มโอดังกล่าวโดยทันทีด้วยเกรงว่าจะเกิดปัญหาการปนเปื้อนสู่ธรรมชาติอีก

 

 

ข้อดีของ พืช GMO คือ
 

ประโยชน์ต่อเกษตรกร
1. ทำให้เกิดพืชสายพันธุ์ใหม่ที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม เช่น ทนต่อศัตรูพืช หรือมีความสามารถในการ ป้องกันตนเองจากศัตรูพืช หรือแม้แต่ยาฆ่าแมลง และยาปราบวัชพืช หรือในบางกรณีอาจเป็นพืชที่ทนแล้ง
2. ทำให้เกิดพืชสายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติเหมาะแก่การเก็บรักษาเป็นเวลานาน ทำให้สามารถอยู่ได้นานวัน และขนส่งได้เป็นระยะทางไกลโดยไม่เน่าเสีย
 

ประโยชน์ต่อผู้บริโภค
3. ทำให้เกิดธัญพืช ผัก หรือผลไม้ที่มีคุณสมบัติเพิ่มขึ้นในทางโภชนาการ เช่น ส้มหรือมะนาวที่มีวิตามินซีเพิ่ม มากขึ้น หรือผลไม้ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ให้ผลมากกว่าเดิม ลักษณะเหล่านี้เป็นการเพิ่มคุณค่าเชิงคุณภาพ
4. ทำให้เกิดพันธุ์พืชใหม่ๆ ที่มีคุณค่าในเชิงพาณิชย์ เช่น ดอกไม้หรือพืชจำพวกไม้ประดับสายพันธุ์ใหม่ที่มี รูปร่างแปลกกว่าเดิม ขนาดใหญ่กว่าเดิม สีสันแปลกไปจากเดิม หรือมีความคงทนกว่าเดิม
 

ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม
เมื่อพืชมีคุณสมบัติสามารถป้องกันศัตรูพืชได้เอง อัตราการใช้สารเคมีเพื่อ ปราบศัตรูพืชก็จะลดน้อยลงจนถึงไม่ต้องใช้เลย ทำให้มีลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น จากการใช้สารเคมี ปราบศัตรูพืช และลดอันตรายต่อเกษตรกรเองที่เกิดขึ้นจากพิษของการฉีดสารเหล่านั้นในปริมาณมาก

ข้อเสียของพืช GMO คือ
 

ความเสี่ยงต่อผู้บริโภค
1.ความกังวลต่อการเกิดสารภูมิแพ้ (allergen) ซึ่งอาจได้มาจากแหล่งเดิมของยีนที่นำมาใช้ทำ GMOs นั้น ตัวอย่าง ที่เคยมีเช่น การใช้ยีนจากถั่ว Brazil nut มาทำ GMOs เพื่อเพิ่มคุณค่าโปรตีนในถั่วเหลืองสำหรับเป็นอาหารสัตว์ จากการศึกษาที่มีขึ้นก่อนที่จะมีการผลิตออกจำหน่าย พบว่าถั่วเหลืองชนิดนี้อาจทำให้คนกลุ่มหนึ่งเกิดอาการแพ้ เนื่องจากได้รับโปรตีนที่เป็นสารภูมิแพ้จากถั่ว Brazil nut
 

2.สารอาหารจาก GMOs อาจมีคุณค่าทางโภชนาการไม่เท่าอาหารปกติในธรรมชาติ เช่น รายงานที่ว่าถั่วเหลืองที่ ตัดแต่งพันธุกรรมมี isoflavone มากกว่าถั่วเหลืองธรรมดาเล็กน้อย ซึ่งสารชนิดนี้เป็นกลุ่มของสารที่เป็น phytoestrogen (ฮอร์โมนพืช) ทำให้มีความกังวลว่า การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมน estrogen อาจทำให้เป็นอันตรายต่อ ผู้บริโภคหรือไม่ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กทารก จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาผลกระทบของการเพิ่มปริมาณของสาร isoflavine ต่อกลุ่มผู้บริโภคด้วย
 

ความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม
3. มีความกังวลว่า สารพิษบางชนิดที่ใช้ปราบแมลงศัตรูพืช เช่น Bt toxin ที่มีอยู่ใน GMOs บางชนิดอาจมีผล กระทบต่อแมลงที่มีประโยชน์ชนิดอื่นๆ เช่น ผลการทดลองของ Losey แห่งมหาวิทยาลัย Cornell ที่กล่าวถึงการ ศึกษาผลกระทบของสารฆ่าแมลงของเชื้อ Bacillus thuringiensis (บีที) ในข้าวโพดตบแต่งพันธุกรรมที่มีต่อผีเสื้อ Monarch ซึ่งการทดลองเหล่านี้ทำในห้องทดลองภายใต้สภาพเงื่อนไขที่บีบเค้น และได้ให้ผลในขั้นต้นเท่านั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการทดลองภาคสนามเพื่อให้ทราบผลที่มีนัยสำคัญ ก่อนที่จะมีการสรุปผลและนำไปขยายความ

 

 

อ้างอิงจาก http://digital.lib.kmutt.ac.th/magazine/issue4/articles/article2.html

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฮุน เซน

Posted: 22 Apr 2013 09:07 AM PDT

"ไม่ว่าคำตัดสินของศาลโลกจะออกมาเป็นเช่นไร ไทยและกัมพูชาก็จะไม่เป็นศัตรูกันเพราะทั้งสองประเทศนั้นผูกพันกันเหมือน "ลิ้นกับฟัน"

22 เม.ย.56, นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวระหว่างรอคำตัดสินศาลโลกกรณีพื้นทับซ้อนบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร

ชายแดนใต้: ขึ้นป้ายผ้ากว่า 50 ผืนระบุ "สันติภาพไม่เกิด ถ้าไม่ยอมรับความเป็นเจ้าของ"

Posted: 22 Apr 2013 08:58 AM PDT

สามจังหวัดชายแดนใต้ พบติดป้ายผ้าข้อความภาษามลายู แปลว่า "สันติภาพจะไม่เกิดขึ้น ตราบใดที่ความเป็นเจ้าของยังไม่ได้รับการยอมรับ" จำนวนมาก ขณะ จนท. ผ่าพิสูจน์วัตถุต้องสงสัยกลายเป็นระเบิดวงจรสองชั้น ระเบิดสนั่นเป็นเหตุตาย 3 สาหัส 6

 

ในช่วงเช้าของวันที่ 22 เมษายน 2556 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการพบป้ายผ้าที่มีข้อความภาษามลายูแขวนตามพื้นที่ต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และบางส่วนของจังหวัดสงขลา โดยบางจุดมีวัตถุต้องสงสัยวางอยู่ด้วย โดยข้อความในป้ายผ้าดังกล่าว ส่วนใหญ่เขียนข้อความด้วยอักษรรูมีว่า "Kedamaian tak kan lahir selama pertuanan tidak diakui" แปลได้ว่า "สันติภาพจะไม่เกิดขึ้น ตราบใดที่ความเป็นเจ้าของยังไม่ได้รับการยอมรับ" 
 

ป้ายผ้าภาษามลายู แปลว่า "สันติภาพจะไม่เกิด ตราบใดที่ความเป็นเจ้าของยังไม่ได้รับการยอมรับ"
 
ส่วนปฏิบัติการและรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ศูนย์ปฏิบัติการร่วมทางยุทธวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค4 สน.) ได้สรุปเหตุการณ์ดังกล่าวว่า เป็นการสร้างสถานการณ์ก่อกวน รวมจำนวน 119 ผืน เชื่อว่าเป็นการกระทำของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง 
 
โดยพบในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส 52 ผืน พบมากที่สุดในพื้นที่อำเภอสุไหงปาดี จำนวน 10 ผืน พื้นที่จังหวัดยะลา 26 ผืน โดยพบมากที่สุดในพื้นที่อำเภอรามัน จำนวน 10 ผืน ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี 33 ผืน โดยพบมากที่สุดในพื้นที่อำเภอหนองจิก จำนวน 13 ผืน และพื้นที่จังหวัดสงขลา 8 ผืน ในพื้นที่อำเภอเทพา 4 ผืน และพื้นที่อำเภอสะบ้าย้อย 4 ผืน
 
นักวิชาการให้ความหมาย ระบุไม่ได้แปลว่าต้าน 
 
นายชินทาโร่ ฮารา อาจารย์ประจำภาคภาษามลายู มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี วิเคราะห์ข้อความในป้ายผ้าดังกล่าวว่า ประการแรกข้อความดังกล่าวไม่มีคำว่า การเจรจาหรือกระบวนการสันติภาพ จึงไม่สามารถรู้ได้ว่า ผู้ที่ก่อเหตุสนับสนุนการสร้างกระบวนการสันติภาพหรือต่อต้านกระบวนการสันติภาพ ดังนั้นอย่าไปมองว่าเป็นการต่อต้าน
 
ประเด็นที่ 2 คิดว่าเป็นการบ่งบอกถึงความไม่พอใจของชาวมลายูที่สิทธิต่างๆยังถูกจำกัดอยู่ ตัวอย่างเช่น สิทธิที่จะมีระบบการศึกษาที่เป็นของคนมลายูในพื้นที่ โดยเฉพาะหรือสิทธิที่จะตั้งชื่อสถานีต่างๆในพื้นที่ ที่เป็นชื่อที่ตามความต้องการของชาวมลายู เป็นต้น
 
"ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผมคิดว่าการก่อเหตุครั้งนี้ เป็นการเรียกร้องสิทธิต่างๆข้างต้นของชาวมลายู ที่ยังถูกจำกัดอยู่ในขณะนี้" นายชินทาโร่กล่าว
 
ต่อวงจรสองชั้น เจ้าหน้าผ่าพิสูจน์ระเบิดตายเจ็บอื้อ
 
ต่อมาเวลา เวลา 13.15 น. เกิดเหตุระเบิดภายในหน่วยเฉพาะกิจ (ฉก.) นราธิวาสที่ 32 อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 3 นาย ได้รับบาดเจ็บ 8 นาย เหตุเกิดจากกรณีคนร้ายก่อกวนติดป้ายผ้าข้อความดังกล่าวผูกไว้กับต้นไม้บริเวณริมถนนบ้านจำปากอ หมู่ที่ 1 ต.กาเยาะมาตี อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD) เข้าตรวจสอบ พบเป็นระเบิดแสวงเครื่อง บรรจุในถังแก๊สปิกนิก น้ำหนัก 25 กิโลกรัม จุดชนวนด้วยวิทยุสื่อสาร แต่สามารถเก็บกู้ไว้ได้
 
ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้นำวัตถุระเบิดดังกล่าว กลับไปยังกองบังคับการหน่วย ฉก.นราธิวาสที่ 32 และมีการผ่าพิสูจน์จนเกิดระเบิดขึ้น เนื่องจากวงจรภายในยังทำงานอยู่ ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตและบาดเจ็บดังกล่าว โดยมีรายงานว่าเป็นระเบิดที่มีการต่อวงจรอีกชั้นหนึ่งภายในวัตถุระเบิดดังกล่าว
 
สำหรับเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิต 3 นาย ได้แก่ เรือโท ชัยสิทธิ์ เตชะสว่างวงศ์ เจ้าหน้าที่ EOD พ.จ.อ.เรวัตร คงนาค เจ้าหน้าที่.EOD และ พ.จ.อ.ทัศนัย ชมพูทวีป ส่วนที่เหลือได้รับบาดเจ็บสาหัส ได้แก่ พ.จ.อ.สมเพชร กาญปัญญา จ.อ.ธีรวัฒน์ สุขรอดรู้ จ.อ.สายัณห์ ชินบุตร จ.อ.ธงชัย สุยวงค์ จ.อ.องอาจ ศักดิ์ดา จ.อ.สราวุฒิ ตาละนานนท์ ส่วนพลทหารสมชาย มะมัย และพลทหารมังกร สาระบุญ ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย
 
ส่วนที่อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เมื่อเวลา 08.20 น.เกิดลอบวางระเบิดทหารพราน ร้อย.ทพ.4801 หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 48 (ฉก.ทพ.48) ขณะเข้าตรวจสอบเหตุแขวนป้ายผ้าและวางวัตถุต้องสงสัย บริเวณบ้านโต๊ะเด็ง หมู่ที่ 1 ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี ทำให้ ร.ท.ไกรศักดิ์ รอดไกรทุกข์ ผบ.ร้อย.ทพ.ทพ.4801 ถูกสะเก็ดระเบิดที่ต้นขาขวาได้รับบาดเจ็บ
 
วันเดียวกัน เวลา 10.50 น. คนร้ายยิงนางนพารัตน์ สะนิ อายุ 43 ปี และนางวันเพ็ญ อินทองแก้ว อายุ 45 ปี สองพี่น้องได้รับบาดเจ็บ เหตุเกิดบริเวณหน้าโรงเรียนบ้านป่าไร่ หมู่ที่ 2 ต.ทุ่งพลา อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี โดยเจ้าหน้าที่เชื่อว่าผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มเดียวกับที่ก่อเหตุยิงผู้หญิงชาวไทยพุทธในพื้นที่อ.โคกโพธิ์ เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 1 ราย เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2556
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จีนเซ็นเซอร์คำว่า 'การเซ็นเซอร์'

Posted: 22 Apr 2013 07:25 AM PDT

เฟิง เสี่ยวกัง ผู้กำกับภาพยนต์ชื่อดัง หรือสปีลเบิร์กเมืองจีน ถูกเซ็นเซอร์คำว่า "การเซ็นเซอร์" ระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์รับรางวัลผู้กำกับแห่งปี วิจารณ์การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ของจีน



 

เฟิง เสี่ยวกัง ผู้กำกับภาพยนต์ชื่อดังชาวจีน ซึ่งได้รับการขนานนามจากนิตยสารนิวส์วีคว่าเป็นสปีลเบิร์กเมืองจีน ถูกเซ็นเซอร์คำพูด ระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์รับรางวัลผู้กำกับแห่งปีของสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ของจีน เมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา

"20 ปีที่ผ่านมา ผู้กำกับจีนทุกคนต้องประสบกับการทรมานครั้งใหญ่และการทรมานนั้นก็คือ [ดูดเสียง]" เฟิง เสี่ยวกังกล่าว

รายงานข่าวระบุว่า คำที่ถูกดูดเสียงไปนั้นคือคำว่า "การเซ็นเซอร์" (หลังนาทีที่ 3.45 ในคลิปด้านบน)

จากนั้น เขากล่าวต่อไปว่า "หลายๆ ครั้งที่เราได้รับคำสั่ง มันน่าตลกมากที่คุณไม่รู้ว่าจะหัวเราะหรือร้องไห้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณรู้ว่ามันดี แต่คุณถูกบังคับให้เปลี่ยนให้มันแย่ ผู้กำกับฮอลลิวู้ดถูกทรมานแบบเดียวกันไหม ... เพื่อที่จะได้รับอนุมัติ ผมต้องตัดหนังแบบที่ทำให้มันแย่ ถามว่าพวกเรายังทนกันอยู่ได้อย่างไร ผมคิดว่ามีเพียงเหตุผลเดียว นั่นคือ เพราะเหล่าคนโง่อย่างพวกเรานั้นรักการทำหนัง ลุ่มหลงในการทำหนังมากเกินไป"

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าแม้จะไม่ได้ยินคำดังกล่าวทางทีวี แต่สารของเฟิง เสี่ยวกังก็สร้างความประทับใจให้กับผู้ที่ชมการมอบรางวัลและชาวเน็ตจีนที่รีทวีตวิดีโอคลิปดังกล่าวหลายครั้งผ่านเวยป๋อ (เว็บไซต์ไมโครบล็อกของจีน ซึ่งมีลักษณะคล้ายทวิตเตอร์)

ทั้งนี้ การเซ็นเซอร์ดังกล่าวอยู่ใต้ความรับผิดชอบของสำนักกิจ​การวิทยุ ภาพยนต์ ​และ​โทรทัศน์​แห่งชาติจีน (The State Administration of Radio, Film, and Television: SARFT) ซึ่งปัจจุบันขยับมาดูแลเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตด้วย ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา สื่อภายใต้การควบคุมของรัฐได้เผยแพร่ประกาศของ SARFT ว่าด้วยการควบคุมกิจกรรมออนไลน์ของบรรณาธิการ ทั้งขั้นตอนการบรรณาธิการ การจัดการเว็บไซต์ข่าว รวมถึงการใช้โซเชียลมีเดีย โดยรัฐบาลจีนระบุว่า การกำกับดูแลดังกล่าวเพื่อทำให้อินเทอร์เน็ตมีบทบาทเท่าที่เป็นไปได้ และสนับสนุนการสร้างระเบียบการจัดการข่าวที่เหมาะสม โดยประกาศดังกล่าวมีอาทิ การห้ามใช้ข่าวหรือข้อมูลจากสื่อต่างประเทศหรือเว็บไซต์ต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก SARFT หน่วยงานสื่อที่สร้างแอคเคานท์บนเวยป๋อจะต้องเก็บข้อมูลการใช้งานบนเวยป๋อ รวมถึงแต่งตั้งบุคคลที่รับผิดชอบในการโพสต์ข้อมูล

 

ที่มา: http://stream.aljazeera.com/story/201304182102-0022686

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 16-22 เม.ย. 2556

Posted: 22 Apr 2013 07:06 AM PDT

 

ธุรกิจแบงก์สู่ยุคบูมเปิดรับพนักงานครั้งใหญ่ คาดไม่ต่ำกว่า 7 พันคน

นายสุรศักดิ์ ดุษฎีเมธา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปีนี้เป็นปีที่ธนาคารรับพนักงานมากที่สุดตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 คือ 4,500 คน โดยในจำนวนนี้เป็นการรับพนักงานใหม่ 1,000 คน ที่เหลือ 3,500 คน รับทดแทนพนักงานที่ลาออก เนื่องจากทรัพยากรบุคคลธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันสูง

นายสุรศักดิ์ เปิดเผยว่า การรับพนักงานส่วนใหญ่ยังเน้นไปที่งานในสาขา ตามแผนการขยายสาขาของธนาคาร รวมทั้งการขยายสาขาบนรถไฟฟ้าที่ให้บริการหลังเวลาทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป โดยปีก่อนธนาคารรับพนักงานกว่า 3,000 คน

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าขณะนี้ธุรกิจธนาคารพาณิชย์เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานเพศชาย ซึ่งน่าจะคล้ายกับธุรกิจอื่นๆ พนักงานส่วนใหญ่จะเป็นเพศหญิง ถือเป็นโจทย์ใหญ่การทำธุรกิจของธนาคาร หากพนักงานสาขามีแต่เพศหญิง แล้วมีงานที่ต้องใช้แรงอาจเกิดปัญหา รวมทั้งหากพนักงานมีการลาคลอดพร้อมกันจะวางแผนอย่างไร ซึ่งปัจจุบันพนักงานหญิงในสาขามีถึง 70-80% สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ที่ต้องคำนึงถึง

ด้านนายกรพัฒน์ บุญเสริมสมบัติ ผู้จัดการอาวุโส สายทรัพยากรบุคคลสัมพันธ์ กลุ่มลูกค้าบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปีนี้ธนาคารเปิดรับพนักงาน 2,500 คน เพิ่มจากปีก่อนรับ 2,300 คน ซึ่งหลังจากมีการเปิดรับสมัครพนักงานเป็นระยะ ปรากฏว่าปัญหาหนึ่งคือ ผู้สมัครเพศชายมีจำนวนน้อยมากอยู่ที่ 5-10% ของจำนวนผู้สมัครทั้งหมด

นายกรพัฒน์ เปิดเผยว่า ทัศนคติของแรงงานเพศชายส่วนใหญ่เมื่อศึกษาจบจะเลือกเข้าทำงานกับบริษัท มากกว่าหันสู่ธุรกิจธนาคาร ยกเว้นกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่ยังพอหาพนักงานเพศชายได้

นายกรพัฒน์ เปิดเผยว่า ทางแก้ปัญหาของธนาคารขณะนี้คือ การเข้าร่วมกับมหาวิทยาลัยเพื่อเปิดรับนักศึกษาฝึกงานระหว่างศึกษา และรับเข้าทำงานหลังจบการศึกษา โดยมุ่งไปที่คณะวิชาเศรษฐศาสตร์การเงินการธนาคาร และบริหารธุรกิจ

อย่างไรก็ดี ปัญหาเรื่องทัศนคติต่อการเลือกเรียนในคณะที่จบมามีงานทำเฉพาะทางนั้น ถือว่าเป็นปัญหาระดับโครงสร้างของประเทศ เพราะคนรุ่นใหม่มักเลือกเรียนสาขาศิลปศาสตร์

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 16-4-2556)

 

"เผดิมชัย" วอนนายจ้างหารือปัญหาขาดทุน-ลดจำนวนการเลิกจ้าง

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการเฝ้าระวังการเลิกจ้างหลังเทศกาลสงกรานต์ว่า หากมีการเลิกจ้างจะต้องได้รับแจ้งข้อมูลการปิดกิจการสถานประกอบการ จากกระทรวงพาณิชย์ หรือกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีตัวแทนอยู่ในคณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้าง ซึ่งมีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน หรือหากปิดกิจการโดยไม่ได้แจ้งก็จะต้องมีลูกจ้างมาร้องเรียน เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยการเลิกจ้างอยู่แล้ว  ทั้งนี้ ขอให้นายจ้างที่จะปิดกิจการไม่ว่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ค่าเงินบาทแข็งตัว การขาดทุนสะสม หรือไม่มียอดการสั่งซื้อ เป็นต้น เข้ามาปรึกษากับกระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ หรือกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะของรัฐบาลจะต้องแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการ แต่ขอให้นำเสนอปัญหาที่แท้จริงเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด

สำหรับข้อมูลของศูนย์สนับสนุนผู้ประกอบการให้พร้อมจ่ายอัตราค่าจ้างขั้น ต่ำ กระทรวงแรงงาน พบว่าตั้งแต่ปลายสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน (6 เม.ย.) จนถึงขณะนี้ไม่มีการเลิกจ้างหรือปิดกิจการอันเนื่องมาจากผลกระทบการปรับค่า จ้างขั้นต่ำ 300 บาท มีเพียงการแจ้งขึ้นทะเบียนกรณีว่างงานจำนวน 766 คน ในสถานประกอบการ 645 แห่ง เนื่องจากนายจ้างเพิ่งแจ้งผลการเลิกจ้าง ขณะที่ยอดสะสมตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงวันที่ 5 เมษายน พบว่ามีสถานประกอบการ 3 แห่งปิดกิจการ จำนวนลูกจ้าง 333 คน

นอกจากนี้ยังมีสถานประกอบการที่ยังไม่ปิดกิจการแต่เลิกจ้างจำนวน 38 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 1,053 คน ส่วนการเลิกจ้างปิดกิจการอีก 23 แห่ง ลูกจ้าง 1,629 คน เกิดจากผลกระทบอื่นๆ ส่วนยอดการขึ้นทะเบียนว่างงานสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-5 เมษายน มีผู้ประกันตน 25,183 คน ในสถานประกอบการ 20,492 แห่ง

(สำนักข่าวไทย, 18-4-2556)

 

สปส.แก้แนวปฏิบัติเลิกจ้าง-รับบำเหน็จ

นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงความคืบหน้าในเรื่องการแก้ปัญหากรณีแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตาม มาตรา 33 ที่อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งถูกเลิกจ้างแล้วได้รับเงินบำเหน็จชราภาพไม่ครบตามสิทธิที่ควรได้ เนื่องจากนายจ้างค้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมว่า ล่าสุด นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการ สปส.ได้ลงนามในร่างแก้ไขแนวปฏิบัติการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพของ สปส.เรียบร้อยแล้ว ซึ่งแนวปฏิบัติใหม่นั้น เมื่อผู้ประกันตนยื่นขอรับเงินบำเหน็จชราภาพ เจ้าหน้าที่จะต้องจ่ายเงินให้ครบถ้วนตามสิทธิที่ควรได้รับตามที่ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 กำหนด รวมทั้งเงินส่วนที่เป็นดอกผลจากการนำเงินของผู้ประกันตนไปลงทุนด้วย แต่จะต้องมีการคำนวณและจะจ่ายให้กับผู้ประกันตนในภายหลัง ซึ่งผู้ประกันตนจะมาติดต่อรับเงินเองที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ หรือให้โอนผ่านบัญชีธนาคารก็แล้วแต่ความสะดวก

"สปส.จะแจ้งแนวปฏิบัติดังกล่าวไปยังสำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศภายใน เดือนเมษายนนี้ และตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ขอให้ผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้างและมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ หรือได้รับไม่ครบตามสิทธิ เนื่องจากนายจ้างค้างจ่ายเงินสมทบ สามารถยื่นเรื่องรับเงินได้ที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่" รองเลขาธิการ สปส. กล่าว และว่า ส่วนปัญหานายจ้างค้างจ่ายเงินสมทบกว่า 4,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้เหลือเงินที่นายจ้างค้างจ่ายอีกกว่า 3,650 ล้านบาท ซึ่งแต่ละปีเฉลี่ย 3-4,000 ล้านบาท โดยปัญหาส่วนหนึ่งที่ทำให้นายจ้างค้างจ่ายเงินสมทบเป็นจำนวนมาก เพราะ สปส.คิดค่าปรับการจ่ายเงินล่าช้าในอัตราที่สูง ทำให้นายจ้างไม่อยากชำระเงินสมทบที่ค้างส่ง

นายอารักษ์กล่าวอีกว่า สปส.ได้เสนอแก้ไขกฎหมายประกันสังคมโดยกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าปรับไม่เกิน เงินต้นที่ค้างชำระ เช่น ค้างชำระเป็นเงิน 2 แสนบาท คิดค่าปรับไม่เกิน 2 แสนบาท จากปัจจุบันคิดค่าปรับ 3-4 แสนบาท ซึ่งขณะนี้ร่างแก้ไขกฎหมายอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ซึ่งเป็นวาระที่ 2 ของสภาผู้แทนราษฎร และคาดว่าหากแก้ไขกฎหมายแล้วเสร็จ ปัญหาการจ่ายเงินสมทบของนายจ้างจะลดลง

(ประชาชาติธุรกิจ, 18-4-2556)

 

สภาวะสุขภาพแรงงานไทยพบอุบัติเหตุจากการทำงานมากถึงร้อยละ 93

20 เม.ย. 56 - สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม เผยสภาวะสุขภาพแรงงานไทย ในภาคอุตสาหกรรมพบเจ็บป่วยเฉลี่ย 200,000 คนต่อปี  เป็นการบาดเจ็บอุบัติเหตุมากที่สุด ถึงร้อยละ 93 รองลงเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อ และมีแรงงานเจ็บป่วยถึงขั้นพิการ 4 คน ขณะที่สูญเสียอวัยวะถึง 1,630 คน แนะทุกภาคส่วนร่วมดูแล วางมาตรการการทำงาน เพื่อความปลอดภัย

นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โรค และสุขภาพในกลุ่มแรงงานว่า จากข้อมูลกองทุนเงินทดแทน ปี 2554 มีแรงงานภาคอุตสาหกรรม เจ็บป่วยและเข้ารับการรักษาพยาบาลมากถึงเกือบ 200,000 คนต่อปี โดยพบมีการบาดเจ็บจากการทำงาน หรืออุบัติเหตุมากถึง 129,000 คน คิดเป็นร้อยละ 93 รองลงมา เป็นโรคจากการทำงาน ทั้งแบบเรื้อรัง และเฉียบพลัน ในกลุ่มอาการจากโรคกระดูก และข้อ เช่น อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ  ผิวหนัง แต่หากเป็นแรงงานในกลุ่มภาคการเกษตร จะได้รับการเจ็บป่วย จากสารเคมี กำจัดศัตรูพืช

นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลยังพบว่า แรงงานที่มีการบาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุระหว่าง 20-30 ปี การบาดเจ็บ เนื่องจากไม่เชี่ยวชาญในการงาน ขาดทักษะ และประมาท ส่วนกลุ่มอายุการทำงานมากกว่า 30 ปีขึ้น เริ่มมีความชำนาญ ทำงานเป็นเวลานานก็จะพบปัญหาโรคเรื้อรัง  ส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงที่สุด ในกลุ่มแรงงาน ได้แก่ การผ่าตัดจากการบาดเจ็บ และอุบัติเหตุ ซึ่งพบในชายมากกว่าหญิง และพบว่ามีการบาดเจ็บถึงขึ้นทุพพลภาพ จำนวนทั้งสิ้น 4 คน สูญเสียอวัยวะ 1,630  คน ต้องหยุดงานเกิด 3 วัน 35,000 คน

นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า การป้องกันโรคในกลุ่มแรงงานนั้น ต้องอาศัยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบการ  นายจ้าง และตัวพนักงาน เริ่มจากการกำหนดระเบียบแบบแผนการทำงาน มีการอบรมให้พนักงานเกิดความเชี่ยวชาญในงาน เครื่องจักร มีการวางมาตรฐานการทำงาน เช่น งานที่มีความเสี่ยง ต้องปฏิบัติงานกี่ชั่วโมง หยุดงานกี่ชั่วโมง เพื่อให้เกิดการพักร่างกาย เช่น ในงานที่ความร้อนจัด เสียงดังมาก และในโรงงานควรมีห้องปฐมพยายาม และแพทย์ประจำ เพื่อให้ความช่วยเหลือ หากมีการเจ็บป่วยขึ้นทันที เพราะหากให้พนักงาน ระมัดระวังตัวเองเพียงอย่างเดียว ก็ถือว่าเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ส่วนการเจ็บป่วยของพนักงานบริษัท มักพบในรูปแบบของออฟฟิศซินโดรม  เช่น การปวดเมื่อยจากการทำงาน สำหรับการรณรงค์ในวันแรงงานปีนี้ จะเน้นเรื่องโรคกระดูกและข้อมากขึ้น เพื่อให้แรงงานรู้จักดูแลตนเอง

(สำนักข่าวไทย, 20-4-2556)

 

เผยผลสำรวจ แรงงานไทยไร้สุข ทำงานเกินเงินเดือน

เว็บไซต์หางานจ็อบสตรีทดอทคอม เผยผลสำรวจลูกจ้างจากกลุ่มตัวอย่าง 4,621 คน พบว่า 62% ไม่มีความสุขกับงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน โดยลูกจ้าง 30% จากจำนวน 2,870 คน ระบุถึงเหตุผลหลักที่ทำให้ไม่มีความสุข และส่วนใหญ่อยากเปลี่ยนงาน คือ เงินเดือนน้อยเกินไป...

นางสาวฐนาภรณ์ สถิตพันธุ์เวชา ผู้จัดการสาขาประเทศไทย บริษัท จ็อบสตรีท (ประเทศไทย) จำกัด  เปิดเผยว่า จ็อบสตรีทดอทคอมได้จัดทำแบบสำรวจ "ความสุขของแรงงานไทยในปัจจุบัน" โดยเก็บผลสำรวจในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา (ตั้งแต่วันที่ 11–18 เมษายน 2556) จากกลุ่มตัวอย่างลูกจ้างจำนวน 4,621 คน พบว่า ลูกจ้าง 62% หรือจำนวน 2,870 คน ไม่มีความสุขกับงานที่ทำอยู่ สาเหตุหลักมาจาก เงินเดือนที่น้อยเกินไป, ขอบเขตของงานที่ไม่ชัดเจนและไม่ตรงกับความถนัด และความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับหัวหน้างานตามลำดับ และเมื่อสอบถามถึงทางออกที่พวกเขาจะเลือกทำ เพื่อให้ความสุขกลับคืนมา 58% เลือกที่จะมองหางานใหม่ ในขณะที่ 37% เลือกที่จะหาความสุขอื่นๆ นอกเวลางาน เช่น พักผ่อนหย่อนใจ ทำงานอดิเรก ส่วนที่เหลือ เลือกที่จะพูดคุยกับเพื่อนที่คอยให้กำลังใจ หรือคุยกับนายจ้างเพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น

ผจก.สาขาประเทศไทย บ.จ็อบสตรีท กล่าวต่อว่า หากวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ลูกจ้างไม่มีความสุขในการทำงาน โดยแบ่งตามระดับตำแหน่งงาน กลุ่ม Fresh/Entry Level, Junior Executive และ Senior Executive หรือลูกจ้างอายุโดยเฉลี่ยระหว่าง 21–34 ปี ระบุถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้ไม่มีความสุข คือ เงินเดือนน้อยเกินไป ในขณะที่กลุ่ม Manager และ Senior Manager หรือลูกจ้างที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ให้ความสำคัญกับงานที่รับผิดชอบมากกว่าเงินเดือน โดยระบุถึงปัจจัยที่ทำให้ไม่มีความสุข คือ ขอบเขตของงานที่ไม่ชัดเจนและการทำงานที่ไม่ตรงกับความถนัด

จากผลการสำรวจระบุว่า สำหรับลูกจ้าง 38% ที่ระบุว่ามีความสุขดีกับงานปัจจุบัน พบว่าเกิดจากปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ 49% มีความสุขกับประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำงานและโอกาสที่ได้ทำงานท้าทาย 24% มีความสุขที่มีเพื่อนร่วมงานดีๆ และ 14% มีความสุขที่หัวหน้างานไว้วางใจและเห็นคุณค่าของงานที่ทำอยู่ โดยหากวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ลูกจ้างมีความสุข โดยแบ่งกลุ่มตามระดับตำแหน่งงาน กลุ่ม Fresh/Entry Level และ Junior Executive หรือกลุ่มอายุระหว่าง 21–29 ปี โดยเฉลี่ย จะมีความสุขเมื่อมีเพื่อนร่วมงานที่ดี ในขณะที่กลุ่ม Senior Executive, Manager และ Senior Manager หรือลูกจ้างที่มีอายุโดยเฉลี่ย 30 ปีขึ้นไป จะมีความสุขกับประสบการณ์จากงานที่ได้ทำและโอกาสที่ได้ทำงานที่ท้าทาย

นางสาวฐนาภรณ์ กล่าวอีกว่า จากผลสำรวจพบว่า รายได้เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบทำให้ความสุขของคนทำงานลดลง ในขณะที่กลุ่มลูกจ้างที่ตอบว่า มีความสุขดีกับงานปัจจุบัน กลับมีเพียง 13% ที่พอใจกับรายได้ที่ได้รับ เมื่อให้ลูกจ้างให้คำจำกัดความเงินเดือนที่ได้รับในปัจจุบัน 65% ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ทำงานเกินเงินเดือน และเงินเดือนไม่พอใช้ มีเพียง 9% เท่านั้นที่ตอบว่า เงินเดือนที่ได้รับเพียงพอและทำให้มีสถานะทางการเงินที่ดี ที่เหลืออีก 26% คิดว่าเป็นรายได้ที่สมเหตุผล นอกจากนี้ ปัจจัยที่สำคัญรองลงมาจากเรื่องเงินเดือนที่มีผลกระทบต่อความสุขของคนทำงาน คือ ขอบเขตและลักษณะของงานที่ทำ โดยพบว่า 50% ของกลุ่มตัวอย่างเห็นว่า งานที่ทำอยู่เป็นงานที่จำเจและน่าเบื่อ และอีก 50% ได้ทำงานที่ท้าทายและใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งปัจจัยที่กล่าวมาทั้ง 2 ข้อนี้ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนทำงานตัดสินใจที่จะมองหางานใหม่ เพื่อเรียกความสุขในการทำงานคืนกลับมา

เนื่องในวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันเมย์เดย์ (May Day) หรือคนไทยรู้จักกันดีว่า วันแรงงานแห่งชาติ เป็นวันหนึ่งที่เราจะให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงานเป็นพิเศษ ในฐานะที่เป็นแรงสำคัญในการผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาและเจริญ ก้าวหน้า จ็อบสตรีทดอทคอมจึงสอบถามถึงสิ่งที่ลูกจ้างอยากเรียกร้องจากนายจ้างให้มีการ เปลี่ยนแปลงเพื่อให้ชีวิตการทำงานในฐานะแรงงานไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมี ความสุขมากขึ้น และพบว่ามี 3 ประเด็นที่ลูกจ้างอยากฝากไปถึงนายจ้างดังนี้

อับดับ 1        ต้องการให้นายจ้างเพิ่มเงินเดือน รวมถึงสวัสดิการต่างๆ
อับดับ 2        ต้องการความก้าวหน้าในการทำงาน
อันดับ 3        ต้องการชีวิตที่สมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว

นางสาวฐนาภรณ์ กล่าวด้วยว่า เนื่องในเดือนแห่งวันแรงงาน เดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ จ็อบสตรีทดอทคอมเว็บไซต์จัดหางานที่มุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทำ งานให้ดีขึ้น ได้จัดกิจกรรม Resume and Career Clinic ขึ้น โดยจะให้คำแนะนำด้านการเขียนเรซูเม่และคำปรึกษาด้านอาชีพ เพื่อช่วยผู้ที่กำลังหางานนำไปใช้ปรับปรุงเรซูเม่ให้โดดเด่นและมีโอกาสถูก เรียกสัมภาษณ์งานมากขึ้น กิจกรรมนี้จะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม–ตุลาคมนี้ ที่สถานี MRT สุขุมวิท บริเวณประตูทางออก 3 (ทางเชื่อม BTS) ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมฟรี สำหรับผู้ลงทะเบียนล่วงหน้า 200 ท่าน/คน จะได้รับ SMS เพื่อไปรับหนังสือ "คู่มือล่างานอย่างมืออาชีพ" ที่หน้างานฟรีอีกด้วย.

(ไทยรัฐ, 22-4-2556)

 

ปชช.ติดหนี้กองทุนแรงงาน 300 ล.กพร.ออกเกณฑ์ประนอมหนี้

นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ก่อนที่จะมี พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 นั้นได้มีกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานอยู่ก่อนแล้วและกองทุนนี้มีเงินอยู่ประมาณ 700 ล้านบาท โดยในช่วงปี พ.ศ.2541-2545 กองทุนได้ปล่อยเงินกู้ยืมให้แก่ประชาชนเพื่อนำไปอบรมพัฒนาทักษะวิชาชีพรายละ 2-5 หมื่นบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี และมีประชาชนมายื่นกู้ทั้งหมดกว่า 2.8 หมื่นคน ขณะนี้ผู้กู้ได้ชำระเงินคืนกองทุนมาแล้วประมาณ 400 ล้านบาท ยังมีประชาชนค้างชำระหนี้วงเงินรวมกว่า 300 ล้านบาท
      
นายนคร กล่าวอีกว่า ก่อนที่จะดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กู้ที่ยังไม่ได้ชำระเงินคืน เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานได้กำหนดหลักเกณฑ์การประนอมหนี้เงิน กู้ยืมกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้กู้ยืมเงินกองทุน โดยเกณฑ์ดังกล่าวมีข้อกำหนดดังนี้ หากผู้กู้ขอประนอมหนี้โดยชำระหนี้คืนทั้งหมดในคราวเดียว จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 1 ต่อปีและเบี้ยปรับร้อยละ 15 ต่อปี หรือหากขอผ่อนชำระหนี้ภายใน 3 ปี ก็ให้ชำระหนี้คืนเฉพาะเงินต้นและดอกเบี้ยโดยไม่ต้องจ่ายเบี้ยปรับ
      
"การออกเกณฑ์การประนอมหนี้เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ เชื่อว่าจะช่วยจูงใจให้ประชาชนชำระหนี้กองทุนมากขึ้น เพราะเบี้ยปรับร้อยละ 15 ต่อปีถือว่าสูงมาก ทั้งนี้ ผู้กู้ที่ค้างชำระเงินกู้ติดต่อได้ที่กองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานของ กพร.และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาคและศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด" อธิบดี กพร.กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 22-4-2556)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'คปก.' จัดถกเหตุ 'พ.ร.บ. ประกันสังคม' ฉบับประชาชน ถูกปัดตก

Posted: 22 Apr 2013 05:33 AM PDT

ภาคประชาชน-นักวิชาการถกปัญหากฎหมายเข้าชื่อฯ 'บรรเจิด สิงคะเนติ' ชี้ช่องต่อสู้ร่างฯประกันสังคมฉบับประชาชน หนุนชงร่างฯ ใหม่ และเตรียมยื่นคัดค้านต่อรัฐสภา

 

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2556  คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจัดประชุมรับฟังความเห็น "การผลักดันการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยภาคประชาชน : หลังรัฐสภาไม่รับหลักการของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับภาคประชาชน" ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคารซอฟต์แวร์ปาร์ค
 
คลี่ปม 4 กรณีตีตกร่างกฎหมายภาคปชช.ชี้ช่องทางต่อสู้
 
ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดเผยว่า การเสนอกฎหมายของประชาชนแม้จะเป็นกระบวนการที่ยาก แต่อย่างน้อยก็เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ศึกษาในวงกว้าง  ถือเป็นการรุกคืบในอำนาจของประชาชนอีกก้าวหนึ่ง กระบวนการตรากฎหมายหากไม่มีการถ่วงดุลก็เท่ากับเป็นการให้อำนาจแก่รัฐมากเกินไป เช่น ม.291 ซึ่งกำหนดอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญมาถ่วงดุลระบบเสียงข้างมากของรัฐสภา จึงเปิดประเด็นว่า เป็นเรื่องของเสียงข้างมาก เป็นเรื่องของประชาธิปไตย และเป็นเรื่องของประชาชน ซึ่งขอเน้นย้ำว่าระบบพรรคการเมืองของประเทศไทย ซึ่งเป็นระบบเจ้าของ จำเป็นต้องมีการส่วนร่วมของประชาชนเข้ามาถ่วงดุล
 
ศ.ดร.บรรเจิด กล่าวว่า  ร่างกฎหมายของประชาชนอาจตกลงไปในช่วงใดช่วงหนึ่งใน 4 กรณี ดังต่อไปนี้ได้ 
 
1. กรณีประธานรัฐสภาวินิจฉัยว่าร่างพ.ร.บ.ไม่อยู่ไม่ในขอบเขตหมวดสามและหมวดห้าที่ให้ประชาชนเสนอกฎหมายได้ 
2.กรณีรัฐบาลหรือ ส.ส.เสนอร่างพ.ร.บ.เข้ามาแล้วและไม่สามารถรอร่างพ.ร.บ.ของประชาชนได้ ตัวอย่างเช่น ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งฯ
3.กรณีนายกรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นร่างเกี่ยวกับการเงินและนายกรัฐมนตรีไม่รับรอง 
4. กรณีบทเรียนการที่สภาไม่รับหลักการของร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งมีการเสนอร่างพ.ร.บ.นี้เข้ามา 4 ร่างมีหลักการเดียวกัน กรณีนี้สภาฯใช้เทคนิคในการโหวตทีละฉบับ เพราะเกรงว่าหากประชาชนเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการ 1 ใน 3 แล้วจะไม่สามารถบังคับทิศทางของกฎหมายได้ จะเห็นว่าเทคนิคในกระบวนการที่ทำให้ร่างพ.ร.บ.ของประชาชนตกไปยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก
 
"ประเด็นในเชิงกฎหมาย ของการตกไปของทั้ง 4 กรณี กรณีแรก หากมองว่า การวินิจฉัยของประธานรัฐสภาเป็นคำสั่งที่ไปกระทบสิทธิของผู้เสนอกฎหมาย จึงนับได้ว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง หากศาลปกครองยอมวินิจฉัยรับว่ามติหรือคำสั่งของรัฐสภา ก็เท่ากับว่าคำสั่งถูกถ่วงดุลและตรวจสอบด้วยศาลปกครอง ในกรณีที่ประธานรัฐสภาพิจารณาล่าช้า จนเกิดผลกระทบตาม ม.9 วรรค 3 อาจยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ซึ่งสภาอาจต้องรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าทำให้เกิดความเสียหาย อาจนำไปสู่การเรียกค่าเสียหายในทางละเมิดได้
 
ส่วนกรณีที่นายกไม่รับรองเพราะเป็นร่างทางการเงินนั้น โดยปกติกระบวนการแล้ว สามารถแยกเป็น 2 กรณี คือ ประชาชนเสนอร่างพ.ร.บ.ไปเดี่ยวๆไม่มีร่างพ.ร.บ.ของทั้งส.ส.หรือรัฐบาลเสนอด้วย กรณีนี้จะลำบากในการเรียกร้อง แต่หากเป็นกรณีมีร่างของ ส.ส.ด้วยเสนอเข้ามาด้วย แล้วนายกรับรองฉบับที่เสนอโดย ส.ส.แต่ไม่รับรองฉบับที่เสนอโดยประชาชน ก็ถือว่านายกเลือกปฏิบัติ สามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้" 
 
ผ่าทางตันร่างฯ ประกันสังคม คปก.แนะ 2 แนวทางดันร่างฯปชช.เข้าสภาฯ
 
ศ.ดร.บรรเจิด กล่าวว่า  ส่วนกรณีของร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ไม่ได้เป็นการกระทำทางปกครอง แต่เป็นดุลยพินิจของสส.สว. ในการลงมติไม่รับหลักการ กรณีนี้มีหลักว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด มีผลผูกพันองค์กร  ดังนั้น กระบวนการในการตราและเนื้อหาต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กรณีที่สภาไม่รับหลักการของร่างที่มีหลักการเดียวกันบางฉบับ ก็สะท้อนว่า กระบวนการตรากฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 163 เพราะแม้เพียงกระบวนการตราที่ขัดเล็กน้อยก็ถือว่าขัด ทำให้ร่างกฎหมายที่ถูกพิจารณาตามกระบวนการนี้ตกไปทั้งฉบับ เพราะถือว่าขัดกับรากฐานของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้ประชาชนมีสิทธิเสนอกฎหมาย
 
"ทางออกกรณีร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม คือ 1.การที่สภาผู้แทนฯไม่รับร่างประกันสังคม โดยให้เหตุผลว่า หลักการไม่ตรงกัน นับเป็นผลดีกับการดำเนินการต่อสู้ของภาคประชาชน เพราะเท่ากับว่าร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับประชาชนนี้มีหลักการต่างกัน จึงสามารถยื่นกลับเข้าไปได้อีกครั้งได้ ดังนั้น สภาจะอ้างเหตุไม่ใช้ยื่นเพราะหลักการเป็นอย่างเดียวกันไม่ได้ ทางออกที่ 2 หากปฏิบัติตามข้อ 1 แล้วยังไม่ได้ผล ก็ควรโต้แย้งให้ติดในสำนวนเอาไว้ โดยทำเป็นหนังสือคัดค้านไปที่รัฐสภา อย่างไรก็ตาม กรณีนี้จะไม่สามารถฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้ในทันที เพราะต้องรอให้เสร็จสิ้นในกระบวนการพิจารณาในสภาก่อน" ศ.ดร.บรรเจิด กล่าว
 
ตั้งข้อสังเกตถึงสิทธิกับผลผูกพันผู้ใช้อำนาจรัฐ
 
นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดเผยว่า ปมปัญหาการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยภาคประชาชน เป็นปัญหาทั้งในเรื่องแนวคิดและเป็นปัญหาในเชิงกระบวนการ โดยจะเห็นว่ากฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชนมีความเป็นไปได้ที่จะตกไปได้ในทุกขั้นตอน จึงเป็นที่มาของการรับรองสิทธิประชาชนตามรัฐธรรมนูญ แต่ดูเหมือนว่ายังมีข้อพิจารณาอยู่ว่า การรับสิทธิดังกล่าวจะมีผลผูกพันกับผู้ใช้อำนาจรัฐมากน้อยแค่ไหน หรือเป็นเพียงเครื่องประดับว่าเรามีรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้าอย่างมากเท่านั้นหรือไม่
 
"สิทธิที่รับรองอยู่ในรัฐธรรมนูญจะต้องผูกกับการตีความกฎหมาย การตรากฎหมาย และผูกพันหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงาน โจทย์ใหญ่ในครั้งนี้ คือ จะถ่วงดุลการใช้อำนาจนี้อย่างไร" นายไพโรจน์ กล่าว
 
นักวิชาการ-ภาคประชาชนสางปัญหากฎหมายเข้าชื่อภาคปชช.
 
นายภูมิ มูลศิลป์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า ในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายมีปัญหาสำคัญอย่างน้อย 4 ประการคือ ปัญหาเรื่องระยะเวลา,องค์กรให้ความช่วยเหลือ,เอกสารหลักฐาน,ประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายและประเด็นปัญหาที่ส.ส.,ส.ว.ไม่ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในชั้นกรรมาธิการมักจะมีปัญหาอคติของส.ส.,ส.ว. ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ประเด็นเรื่องการผลักดันให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการจัดให้มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายนั้นตกไป
 
รศ.วนิดา แสงสารพันธ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยว่า การเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนเป็นเพียงตัวเสริมในกระบวนการประชาธิปไตย แต่ทัศนคติของนักการเมืองในสภาฯ ยังเป็นอุปสรรคสำคัญในกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน
 
นางสาวกรนุช แสงแถลง มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยว่า พยายามเสนอให้กำหนดระยะเวลาให้ชัดเจนว่าสภาต้องพิจารณาเสร็จเมื่อใด แต่ก็ถูกโต้แย้งว่าต้องเสนอในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่อยู่ในกฎหมายเข้าชื่อนี้ ในการโหวตและการพิจารณาของนักการเมืองในสภา ไม่ใช้ข้อมูลและความเป็นเหตุเป็นผลประกอบการโหวตลงมติ และจากประสบการณ์การเสนอกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่ผ่านมา แม้ภาคประชาชนจะได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งในชั้นกรรมาธิการร่วมสองสภา แต่ก็มาจากพื้นฐานแนวคิดที่ว่า  การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการร่วมเป็นเรื่องของ ส.ส.และส.ว. ไม่ใช่เรื่องของประชาชน อย่างไรก็ตามพบว่า ในชั้นกรรมาธิการร่วมยังมีความพยายามในการแก้ไขกฎหมายนอกเหนือไปจากประเด็นที่ยังมีความแตกต่างกันด้วย อุปสรรคเหล่านี้เป็นที่มาของการที่ภาคประชาชนใช้วิธีกดดันและเคลื่อนไหวอื่นๆ  ท้ายที่สุด ประชาชนจึงต้องใช้วิธีการฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ยังมีความรู้ไม่เพียงพอว่ากรณีใดสามารถฟ้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้หรือไม่
 
นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ผู้แทนร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับภาคประชาชน กล่าวว่า การเสนอร่างกฎหมายของภาคประชาชนที่ผ่านมาประสบความยุ่งยาก ลำบาก ต้องเตรียมการอย่างเข้มข้นเพื่อรับมือกับส.ส.ที่ไม่ฟังเสียงของประชาชน ซึ่งถึงที่สุดรัฐสภาก็ไม่ใช่ที่พึ่ง เพราะเกิดเผด็จการรัฐสภา ใช้เสียงข้างมากรับหลักการร่างฯ ฉบับรัฐบาลแต่ไม่ปฏิเสธร่างฯ ภาคประชาชน โดยเบื้องหลังของการไม่รับหลักการร่างฯดังกล่าว ตนเชื่อว่าน่ามาจากประเด็นเรื่องกรรมาธิการหนึ่งในสาม ซึ่งเป็นเหตุให้ร่างฯ ของภาคประชาชนตกไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ท่าทีกัมพูชาต่อกรณีศาลโลกวันนี้ รอคำตัดสิน รักษาสันติภาพ

Posted: 22 Apr 2013 05:09 AM PDT

ฮอร์ นัมฮง เดินทางถึงกัมพูชาวันนี้ ปฏิเสธออกแถลงการณ์ใดๆ เกี่ยวกับกรณีปราสาทพระวิหารรอคำตัดสินศาลโลก ขณะสมเด็จฮุน เซน ระบุไม่ว่าคำตัดสินเป็นเช่นไรไทย-กัมพูชาจะไม่เป็นศัตรูกัน

ท่าทีของฝ่ายกัมพูชาต่อกรณีการร้องขอให้ศาลโลกตีความคำตัดสินกรณีพื้นทับซ้อนบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร พ.ศ. 2505 ซึ่งทั้งไทยและกัมพูชาเพิ่งจบการแถลงด้วยวาจาไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา วันนี้ นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชาเดินทางกลับถึงกัมพูชา และระบุว่าทางกัมพูชาจะไม่มีแถลงการณ์ใดๆ เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวออกมาระหว่างนี้ โดยจะรอคำตัดสินของศาลโลก โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชากล่าวว่า ทั้งไทยและกัมพูชาได้เห็นพ้องต้องกันที่จะรักษาความสงบและมิตรภาพระหว่างกัน

โดยสำนักข่าว AKP ของกัมพูชาได้รายงานคำสัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีฮุนเซนด้วยว่า ประเด็นในศาลโลกระหว่าง 2 ประเทศมีเพียงสองประเด็น คือ ฝ่ายกัมพูชาขอให้ศาลโลกตีความคำตัดสินเมื่อปี 2505 ขณะที่ฝ่ายไทยโต้แย้งอำนาจศาลโลกในการตีความคำตัดสินดังกล่าว

นายกรัฐมนตรีของกัมพูชากล่าวด้วยว่า ไม่ว่าคำตัดสินของศาลโลกจะออกมาเป็นเช่นไร ไทยและกัมพูชาก็จะไม่เป็นศัตรูกันเพราะทั้งสองประเทศนั้นผูกพันกันเหมือน "ลิ้นกับฟัน" 


ที่มา
DPM Hor Namhong Holds a Press Conference Upon His Return from The Hague
Cambodia Not To Make Any Statement on Preach Vihear Temple Case

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกร็ดข่าว: คำนิยมจากยิ่งลักษณ์ถึงปาร์ค กึน เฮ

Posted: 22 Apr 2013 04:41 AM PDT

นายกรัฐมนตรีของไทย เขียนถึงประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ในมิติผู้นำหญิงมักต้องเผชิญกับบททดสอบในวิถีทางที่ผู้ชายไม่ต้องเผชิญ สำหรับไทมส์ฉบับนี้ได้เชิญบุคคลสำคัญระดับโลก เขียนถึงบุคคลที่พวกเขาเห็นว่ามีความสำคัญ อาทิเช่น นางฮิลลารี คลินตัน เขียนถึงประธานาธิบดี โอบามา ขณะที่บารัค โอบามาเขียนถึง ทอม โคเบิร์น วุฒิสมาชิกของสหรัฐ โดยประชาไทจะทยอยนำเสนอต่อไป

สำหรับข้อความที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เขียนถึงประธานาธิบดีแห่งเกาหลีใต้มีดังนี้

ตีพิมพ์ในนิตยสารไทม์ ฉบับ "บุคคล 100 คนที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ปี 2013"
29 เมษายน – 6 พฤษภาคม 2013

ปาร์ค กึน เฮ
กิ่งพันธุ์ที่มั่นคงแห่งกรุงโซล
โดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร


ในฐานะที่เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้ มาดามปาร์คกึนเฮเป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้หญิงทุกคนที่พยายามจะฝ่าฟันเพดานแก้วและสำหรับผู้ที่ได้รับมอบหมายให้รับใช้ประชาชน

ดิฉันพบกับประธานาธิบดีปาร์คครั้งแรกในพิธีรับตำแหน่งของท่านและได้รับเกียรติเป็นผู้นำต่างชาติคนแรกที่ท่านให้การต้อนรับ พื้นเพทางการเมืองที่ดีพร้อมอย่างหาผู้ใดเทียบไม่ได้ ในฐานะธิดาของอดีตประธานาธิบดีนั้นสะท้อนในประสบการณ์มากมายที่ท่านนำมาใช้ในการเมืองและการต่างประเทศ และในวิสัยทัศน์ที่จะสร้างสรรค์ "มหัศจรรย์ครั้งที่สองบนแม่น้ำฮัน" เพื่อที่จะปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนของท่าน

ผู้นำหญิงมักต้องเผชิญกับบททดสอบในวิถีทางที่ผู้ชายไม่ต้องเผชิญ ประธานาธิบดีปาร์คมีคุณสมบัติที่จำเป็นที่จะนำพายุคแห่งความหวังและความสุขเพื่อประชาชนเกาหลีและนำมาซึ่งความมั่นคงและความเปลี่ยนแปลงบนคาบสมุทรเกาหลีและภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกอันยังประโยชน์ให้กับประเทศของท่านพร้อมไปกับเอเชียตะวันออกและประชาคมอาเซียน

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสท.มีมติ 3:2 ใช้เกณฑ์พิจารณาภายในให้ใบอนุญาตทีวีดิจิตอลช่องสาธารณะ

Posted: 22 Apr 2013 04:08 AM PDT

กสท.ลงมติ 3:2 ออกหนังสือเชิญชวน แทนประกาศคัดเลือกทีวีดิจิตอลช่องสาธารณะ ด้าน 'สุภิญญา' ชี้กำหนดคุณสมบัติกว้างไป ไร้หลักเกณฑ์คัดเลือก ไม่มีตัวชี้วัด เตรียมรวบรวมความเห็นนักวิชาการ เสนอบอร์ด 29 เม.ย.นี้


วันนี้ (22 เม.ย.56) ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช.และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสท. ได้มีการพิจารณาข้อเสนอจากสภาวิชาชีพและโทรทัศน์ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และเวทีรับฟังความคิดเห็นภาคสาธารณะ ที่ขอให้เลื่อนกรอบเวลาในกระบวนการยื่นขอใบอนุญาตทีวีดิจิตอลช่องสาธารณะจำนวน 12 ช่อง โดยผู้ร้องได้ตั้งข้อสงสัยถึงเกณฑ์การพิจารณาผู้ยื่นขอช่องรายการ ซึ่งจะใช้วิธีการพิจารณาตามความเหมาะสม พร้อมขอให้มีการนำเกณฑ์ดังกล่าวไปทำการประชาพิจารณ์

โดยที่ประชุม กสท. มีมติเห็นชอบแนวทางของสำนักงาน กสทช.ออกประกาศเชิญชวนหรือ ไอเอ็ม สำหรับให้ผู้สนใจยื่นใบอนุญาตทีวีดิจิตอลเพื่อบริการสาธารณะเข้ามายื่นขอรับใบอนุญาต  แทนการออกหลักเกณฑ์หรือประกาศคัดเลือกผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อให้บริการสาธารณะ  เนื่องจาก กสท. มีประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ.2555 ที่ครบถ้วนเพียงพอ อาทิ กระบวนการ กรอบแนวทาง การจัดสรรนโยบาย คุณสมบัติผู้ขอรับใบอนุญาต ลักษณะผังรายการ และการหารายได้ จึงไม่ต้องออกกฎ กติกาใหม่

สำหรับหนังสือเชิญชวนคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือนเพื่อเปิดให้ประชาชน หรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมแสดงความคิดเห็น  ในขณะเดียวกันหนังสือเชิญชวนดังกล่าว จะระบุประกาศทั้งหมดของ กสท. รายละเอียดของบริการและช่องรายการ แต่ละประเภทที่มีความแตกต่างกันออกไป  แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อกรอบระยะเวลาในการให้ใบอนุญาตทีวีดิจิตอลช่องสาธารณะช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. 56

นอกจากนี้แล้ว กสท.ยังได้มีประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล พ.ศ.2556 ที่ได้กำหนดกรอบระยะเวลา แนวทางและระยะเวลาการพิจารณาใบอนุญาต โดยพิจารณาข้อมูล เอกสารหลักฐานการยื่นคำขอตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ที่กำหนดให้บริการสาธารณะต้องคำนึงกฎหมายที่จำเป็นเพื่อการให้บริการสาธารณะให้กับภาครัฐ

ด้าน สุภิญญา กลางณรงค์  กสทช.และ กสท.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยถึงกรณีมติบอร์ดดังกล่าวว่า วันนี้มติ 3:2 ส่วนตัวมองว่าแม้ กสท.จะมีประกาศออกมารองรับ แต่เป็นการกำหนดคุณสมบัติกว้างเกินไป ไม่มีความชัดเจนของเกณฑ์การคัดเลือกคุณสมบัติ ทั้งนี้ หากมีผู้ประกอบการเข้ามาขอยื่นมากกว่าที่กำหนด กสท. จะใช้เกณฑ์อะไรตัดสิน โดยเบื้องต้นเตรียมจะนำเอาความคิดเห็นนักวิชาการที่จะมีการจัดสัมมนาเรื่อง ทีวีดิจิตอล จุดเปลี่ยนประเทศไทย ตอน ทีวีดิจิตอลสาธารณะ กลับเข้ามาเสนอที่ประชุมในวันจันทร์ที่ 29 เม.ย.56 อีกครั้ง

สุภิญญา กล่าวว่า สำหรับบอร์ด กสท.ให้มีการออกหนังสือเชิญชวนนั้น มองคล้ายกับประกาศรับสมัครงาน หรือจัดสัมมนาของระดับสำนักงาน ไม่ใช่การออกประกาศเพื่อจะนำไปสู่การมีผลบังคับทางปกครอง ซึ่งการคัดเลือกการให้คะแนนต่างๆ ไม่มีตัวชี้วัดใดๆ จึงมองเป็นการลดระดับฐานะการจัดสรรคลื่นความถี่

 


ที่มา: เดลินิวส์ และมติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทิศทาง LGBT ไทย: ก้าวใหญ่เตรียมคลอดกฎหมาย แต่สังคมไทยยอมรับแล้วจริงหรือ?

Posted: 22 Apr 2013 04:02 AM PDT

เมื่อวันศุกร์ที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา รัฐสภาร่วมกับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และเครือข่ายผู้มีความหลากหลายทางเพศ ได้จัดเสวนาทางวิชาการ "เพื่อรับฟังความคิดประชาชนต่อร่าง พ.ร.บ. จดทะเบียนคู่ชีวิตของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ" ที่ในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการร่าง โดยมีคณะกรรมาธิการกฎหมาย ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับผิดชอบ และหากไม่มีข้อผิดพลาด ร่างนี้จะถูกนำเข้าสู่สภาในการเปิดสมัยประชุมเดือนสิงหาคมนี้

กฎหมายฉบับนี้เป็นผลพวงจากเหตุการณ์ที่นายนที ธีระโรจนพงษ์ หรือที่รู้จักในนาม "เกย์นที" จูงมือคู่รักเพศชายของตนไปยื่นขอจดทะเบียนสมรส ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2555 แต่ถูกปฏิเสธเนื่องจากกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ระบุไว้ว่าชายและหญิงเท่านั้นมีสิทธิ์จดทะเบียนสมรสได้ ซึ่งนทีได้โต้แย้งว่าการปฏิเสธดังกล่าวเป็นการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 30 ที่มีใจความว่า บุคคลมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเพศ เชื้อชาติ ศาสนา การศึกษา จะมิสามารถทำได้ หลังจากนั้นนทีได้ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองแต่ศาลตัดสินว่าไม่มีความผิด จึงหันมาผลักดันกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยเริ่มจากการร้องเรียนไปที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนผู้เป็นคนรับเรื่องร้องเรียนจึงแนะนำให้นทีติดต่อไปยัง กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และคณะคณะกรรมาธิการกฎหมาย ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎรร่างกฎหมายฉบับนี้จึงเกิดขึ้น

นับได้ว่าเป็นก้าวย่างที่น่าจับตาอย่างยิ่งมองสำหรับภาคประชาชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ในประเทศไทย เนื่องจากที่ผ่านมาเรามักจะเห็นการเรียกร้องสิทธิ LGBT ที่ค่อนข้างกระจัดกระจาย เช่น การเดินพาเหรดเกย์ไพรด์ที่จังหวัดเชียงใหม่ การทำคลิ๊ปต่อว่าสภากาชาดกรณีไม่รับเลือดเพศที่สาม หรือการเรียกร้องความเป็นธรรมเป็นระยะๆ ของนายนที ประเด็นส่วนใหญ่เป็นการเรียกร้องสิทธิ ความเท่าเทียม และการยอมรับ แต่ยังไม่มีประเด็นที่ชัดเจน หรือการนำเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม ครั้งนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองมากกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา (รายละเอียดเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. : http://www.prachatai.com/journal/2013/04/46314)

นอกจากการนำเรื่องเข้าสู่สภาแล้ว สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของการเคลื่อนไหวครั้งนี้คือการเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่ม "หญิงรักหญิง" อีกด้วย ที่ผ่านมาเรามักจะเห็นการเรียกร้องที่เป็นประเด็นของเกย์ และกลุ่มรักร่วมเพศที่มีเพศตามกำเนิดเป็นชาย เช่นเรื่องห้องน้ำเพศที่ 3 เรียกร้องให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศเครื่องแบบราชการผู้หญิงได้ แต่กฎหมายฉบับนี้ยังให้ประโยชน์แก่ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มีเพศตามกำเนิดเป็นหญิงอีกด้วย เรียกได้ว่านี่เป็นการเคลื่อนไหวแบบ LGBT อย่างแท้จริงของประเทศไทย

เมื่อพิจารณาดูตัวกฎหมายฉบับดังกล่าวจากท่าทีของผู้ร่วมเสวนาทั้งสี่ท่าน กฎหมายฉบับนี้จะทำให้คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิเฉกเช่นคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ "โดยอนุโลม" เช่นสิทธิในการแบ่งมรดก การกู้เงิน การเซ็นเอกสารเข้ารับการรักษาพยาบาลแทนกัน ฯลฯ ซึ่งโดยหลักการแล้วถือเป็นหมุดหมายที่แสดงถึงการยอมรับเพศที่ 3 ในสังคมไทย แต่ในที่นี้มีข้อสังเกตอยู่ 3 ประการได้แก่

  1. หากกฎหมายฉบับนี้แสดงออกถึงการยอมรับว่าการแต่งงานของผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมาย เหตุใดจึงใช้คำว่า "คู่ชีวิต" แทนคำว่าการสมรส ซึ่งเหตุการณ์แบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งออกกฎหมาย "Civil union" มาเพื่อประกันสิทธิในการแต่งงานให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ถึงแม้ประเด็นนี้อาจเป็นเรื่องหยุมหยิมเล็กๆ น้อยๆ แต่มันก็แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยยังไงสงวนสถาบันการสมรสตามธรรมเนียมประเพณีให้กับผู้มีรักต่างเพศ (heterosexual) อยู่หรือไม่?
     
  2. อำนาจในการต่อรองของเครือข่าย LGBT มีมากแค่ไหนในร่างกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากผู้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นคณะกรรมาธิการของรัฐสภา ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีตัวแทนจากกลุ่ม LGBT อยู่ในนั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงต้องวางอยู่บนความเชื่อใจว่าคณะกรรมาธิการไม่กี่คนจะสามารถเป็นตัวแทนของผู้มีความหลากหลายทางเพศทั้งประเทศซึ่งเป็นเดิมพันที่สูงทีเดียว
     
  3. มีหลายฝ่ายตั้งคำถามกับคำว่า "อนุโลม" ที่ระบุไว้หลายจุดในร่างกฎหมายว่าอาจจะทำให้เกิดการตีความโดยดุลยพินิจส่วนบุคคลจนอาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติและจำกัดสิทธิของคู่ชีวิตหรือไม่ ?

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ตัวแทนจากฝ่ายคณะกรรมาธิการสภา ได้กล่าวถึงประเด็นคำว่า "อนุโลม" บนเวทีเสวนาว่า "คำว่าอนุโลมมีไว้เพื่อความยืดหยุ่นในการตีความกฎหมาย หลักการและเหตุผลของกฎหมายยังคงเหมือนเดิม คือคู่สมรสได้อย่างไร คู่ชีวิตได้อย่างนั้น และที่สำคัญคุณต้องไม่ลืมว่าบางประเทศการมีความหลากหลายทางเพศมีโทษถึงประหารชีวิต บางประเทศก็มีโทษอาญาต้องจำคุก เสียค่าปรับ คุณต้องไม่ลืมว่ามันมีกระแสต่อต้านอยู่ เราเลยต้องใส่คำว่า 'โดยอนุโลม'เอาไว้เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย"

"อย่าโลภ หากคุณโลภจะเอาทุกอย่างที่ต้องการ กฎหมายฉบับนี้อาจไม่ผ่าน" วิรัตน์กล่าว

คำว่าโลภนี้ควรจะใช้กับผู้ดิ้นรนเรียกร้องในสิ่งที่ไม่ใช่ของตน ไม่ควรใช้กับผู้เรียกร้องสิทธิที่ตนพึงมีในฐานะมนุษย์ นั่นหมายความว่าสุดท้ายแล้วสังคมไทยก็ยังคงมีกลุ่มที่ต่อต้าน ไม่ยอมรับ และมอง LGBT ว่าเป็นบุคคลชายขอบที่ต้องรอการช่วยเหลือจากสังคมกระแสหลัก และไม่มีสิทธิจะเรียกร้องอะไรมากมายจากการช่วยเหลือนั้น

ความคิดนี้เห็นได้ชัดเจนหลังจากที่ คุณดนัย ลินจงรัตน์ ตัวแทนจากเครือข่าย LGBT ได้พูดถึงข้อเสนอ 5 ข้อของกลุ่มเขาและถูกตอบโต้จากผู้ร่วมเสวนาในทำนองว่า "ถ้าคุณต้องการเช่นนั้น ก็รวบรวมรายชื่อ 15,000 ชื่อ แล้วร่างกฎหมายส่งมาเองเลย ผมจะรอ"

นายดนัย ลินจงรัตน์ ตัวแทนเครือข่าย LGBT ขึ้นกล่าวข้อเสนอของเครือข่าย
(ภาพโดย อรทัย ตามยุทธ)

 

ข้อเสนอ 5 ข้อ ของเครือข่าย LGBT ได้แก่

1. ร่างพระราชบัญญัติจดทะเบียนคู่ชีวิตจะต้องระบุหลักการและเหตุผล ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายว่า ประสงค์จะสร้างความเท่าเทียมและยุติการเลือกปฏิบัติที่มีอยู่ในระบบกฎหมาย และสังคมไทย

2. ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังขาดข้อกำหนดเรื่องบุตร ซึ่งบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายนี้อาจมีบุตรได้ไม่ว่าจะเป็นบุตรจากการสมรส ครั้งก่อน บุตรบุญธรรม

3. เงื่อนไขเกี่ยวกับอายุของบุคคลที่จะจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ ควรใช้เงื่อนไขเดียวกับบุคคลที่จะจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์

4. หลักการตามพระราชบัญญัตินี้ที่กำหนดให้กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจออกกฎกระทรวง เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินั้น อันปรากฏในมาตรา 4 ซึ่งควรเพิ่มเติมไปว่า "โดยมิให้แตกต่างจากระเบียบขั้นตอนการจดทะเบียนสมรสที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน" เพื่อให้เกิดมาตรฐานในหลักการปฏิบัติ

และ 5. การใช้คำว่า "อนุโลม" ตามพระราชบัญญัตินี้ อาจเปิดช่องให้มีการตีความผ่านดุลยพินิจส่วนบุคคลของผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งอาจเป็นการตีความในลักษณะจำกัดสิทธิ ดังนั้นจึงควรให้ภาครัฐจัดอบรมแก่ผู้บังคับใช้กฎหมายในทุกระดับ อันจะนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริงได้

หลังการเสวนาจบลงประชาไทได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณดนัย ลินจงรัตน์ เกี่ยวกับทัศนคติของกลุ่มต่อ กฎหมายและการเสวนาในวันนี้

ประชาไท: ทางเครือข่าย LGBT คิดเห็นอย่างไรกับร่างกฎหมาย และการเสวนาในวันนี้

ดนัย: เป็นก้าวที่สำคัญมาก และน่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง จริงๆ เราไม่ได้ต้องการขัดกฎหมายร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่ก็มีข้อเสนอที่อยากให้เพิ่มเติม แต่พอเราเสนอเขากลับมองว่าเราเป็นฝ่ายตรงข้ามกับเขาทั้งๆ ที่ความจริงไม่ใช่ เราเห็นด้วย แต่เมื่อนี่เป็นเวทีเสวนาเราก็อยากมีข้อเสนอบ้าง เมื่อซักครู่หลังเวทีเสวนาจบ เขาก็มารับปากว่าจะปรับให้ตามที่เราเสนอ

ประชาไท: ทางคณะกรรมาธิการได้ให้ช่องทางการมีส่วนร่วมกับทางเครือข่ายในการร่างกฎหมายฉบับนี้มากน้อยแค่ไหน

ดนัย: ในการแก้ไขร่างครั้งสุดท้าย ทางคณะกรรมาธิการให้สัญญาทางวาจาว่าจะให้ตัวแทนจากเครือข่ายเข้าไปนั่งอยู่ในที่ประชุมด้วย

ประชาไท: ทางกลุ่มจะมีการรวบรวม 15,000 รายชื่อและยื่นร่างกฎหมายของตัวเองหรือไม่

ดนัย: มีแน่นอน เพราะฉะนั้นในท้ายที่สุดจะมีร่างกฎหมายนี้ 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งร่างโดยคณะกรรมาธิการ อีกฉบับหนึ่งร่างโดยเครือข่าย LGBT

ประชาไท: รู้สึกอย่างไรกับการใช้คำว่า "คู่ชีวิต" แทนคำว่า "สมรส"

ดนัย: จริงๆ เราเป็นคนเสนอให้ใช้คำนี้เอง เนื่องจาก 1.สถาบันการสมรสมีสถาบันเก่าแก่มีมายาวนาน เราก็ให้เกียรติปู่ย่าตายายเราที่เขาอาจจะรักและหวงแหนสถาบันของเขา และเราก็ไม่อยากเข้าไปยุ่ง 2. เราเห็นว่ากฎหมายการสมรสเองก็ยังมีปัญหาอยู่เรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ เราจึงร่างกฎหมายใหม่ขึ้นมาเลยดีกว่า เพื่อหวังให้คู่รักต่างเพศสามารถใช้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ได้ด้วย

ประชาไท: นอกจากเรื่องคู่ชีวิตแล้ว ทางเครือข่ายมีแนวโน้มที่จะเรียกร้องในประเด็นอื่นหรือไม่

ดนัย: เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่เราเห็นว่าเป็นปัญหาคือเรื่องเครื่องแบบราชการ ผู้มีความหลากหลายทางเพศบางคนเขามีเรือนร่างตรงตามเพศที่เขาอยากเป็นแล้ว แต่เขายังต้องถูกบังคับให้ต้องแต่งเครื่องแบบที่ตรงกับเพศตามกำเนิดของเขา ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถเขาที่ทำงาน ไม่สามารถเข้าห้องสอบได้ ทั้งๆ ที่เรื่องเครื่องแต่งกายกับสติปัญญา ความสามารถ มันไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย  

ประชาไท: สุดท้ายนี้อยากจะฝากอะไรถึงผู้ที่ยังคงต่อต้านร่างกฎหมายฉบับนี้บ้าง

ดนัย: อยากจะฝากเรื่องความรู้สึก ความรักไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ว่าคุณเป็นเพศอะไร มันเป็นสิทธิของประชาชนทุกคน ความรักมันเริ่มได้และก็จบได้ กฎหมายฉบับนี้ก็ไม่ได้รับประกันว่าความรักของของเรายืนยาวขึ้น แต่มันให้หลักประกันว่าความรักของเราจะมั่นคงเหมือนคู่สมรสทั่วไป และมันเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องดูแลคู่สมรสทุกคู่อย่างเท่าเทียม

 

การเสวนาและร่างกฎหมายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าประเด็นเรื่องสิทธิ LGBT เป็นประเด็นสาธารณะในสังคมไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่จากสิ่งที่เกิดขึ้นในเวทีเสวนา เราคงยังไม่สามารถพูดได้ว่าสังคมไทยยอมรับ LGBT โดยสดุดี หากเครือข่าย LGBT ไทยต้องการเรียกร้องสิทธิของตนในระยะยาว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผนึกกำลังภาคประชาสังคมของตนให้เข้มแข็ง สร้างความตื่นตัวในสังคม จนกระทั่งมีบทบาทเป็นตัวแสดงสำคัญหนึ่งของสังคม เฉกเช่นเครือข่าย LGBT ในต่างประเทศ นอกจากนี้บรรดาผู้ที่ไม่ใช่ LGBT แต่เล็งเห็นถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นก็เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการเรียกร้องสิทธิให้กับ LGBT

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'แอมเนสตี้' ประณามการประหารชีวิตครั้งล่าสุดในไต้หวัน

Posted: 22 Apr 2013 03:06 AM PDT

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลชี้การประหารชีวิตนักโทษครั้งล่าสุด 6 คนในไต้หวันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นสัญญาณของการเอาโทษประหารกลับมาใช้ หลังจากที่รัฐเคยแถลงว่าจะยกเลิกโทษประหารชีวิต 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ออกแถลงการณ์ประณามการประหารชีวิตในไต้หวันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งประหารนักโทษจำนวน 6 คน โดยเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ไต้หวันได้ประหารชีวิตนักโทษอีก 6 คน ในปี 2554 ประหารชีวิต 5 คน และในปี 2553 ประหารชีวิต 4 คน ซึ่งนับป็นครั้งแรกหลังจากมิได้ประหารชีวิตเลยตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พร้อมทั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอื่นๆ ได้เรียกร้องให้ไต้หวันปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่จะนำไปสู่การยุติโทษประหารชีวิตอย่างเป็นขั้นตอน

ทั้งนี้ ไต้หวันเป็นหนึ่งในแปดประเทศหรือดินแดนในเอเชีย-แปซิฟิกที่มีการประหารชีวิตบุคคลเมื่อปี 2555 และการที่ไต้หวันประหารชีวิตนักโทษหกคนเมื่อปีที่แล้วทำให้กลายเป็นประเทศที่มีการประหารชีวิตมากสุดอันดับห้าของภูมิภาค
 
0000
 
ไต้หวัน การประหารชีวิตเพิ่มอีกหกครั้งเป็นสัญญาณการกลับคืนมาของโทษประหาร
 
ทางการไต้หวันประหารชีวิตชายหกคนเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา (19 เม.ย.) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากที่รัฐเคยแถลงจุดยืนที่จะยกเลิกการกระทำอันโหดร้ายเช่นนี้
 
ผู้ที่ถูกประหารประกอบด้วยเจิ้งตุงชุง (Chen Tung-Jung) เจิ้งชุยจิ้น (Chen Jui-Chin) หลินจิ้นเต (Lin Chin-Te) จาเป่าฮุย (Chang Pao-Hui) ลีเจียชวน (Li Chia Hsuan) และจี้จุนอ้าย (Chi Chun-I) 
 
การประหารชีวิตล่าสุดครั้งนี้เกิดขึ้นไม่กี่เดือนหลังมีการประหารชีวิตนักโทษหกคนเมื่อเดือนธันวาคม 2555 ซึ่งเป็นการประหารชีวิตเพียงครั้งเดียวในปีที่แล้ว 
 
"การประหารชีวิตบุคคลถึง 12 ครั้งในไต้หวันในเวลาไม่ถึงหกเดือน ทำให้เกิดคำถามที่จริงจังต่อรัฐเกี่ยวกับจุดยืนที่จะยกเลิกโทษประหาร" แคเธอลีน เบเบอร์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว 
 
"ประธานาธิบดีหม่ายิ่งเฉียวควรประกาศใช้ความตกลงเพื่อยุติการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวโดยทันที และจัดให้มีการอภิปรายระดับชาติเพื่อยกเลิกการใช้โทษดังกล่าวในอนาคต"
 
ในเดือนกุมภาพันธ์ มานเฟรด โนวัก (Manfred Nowak) อดีตผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และไอดี้ ริเดล (Eibe Riedel) จากคณะกรรมการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ได้ไปเยือนประเทศไต้หวัน และเรียกร้องให้มีความตกลงยุติการใช้โทษประหารดังกล่าว
 
ทั้งโนวักและริเดลต่างเป็นส่วนหนึ่งของคณะผู้เชี่ยวชาญอิสระที่ได้รับเชิญจากรัฐบาลให้พิจารณารายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในรายงานที่พวกเขาเขียนและเผยแพร่ที่กรุงไทเปเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2556 คณะผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศมีข้อเสนออย่างจริงจังให้รัฐบาลไต้หวันเพิ่มความพยายามมุ่งไปสู่การยกเลิกโทษประหาร และสำหรับขั้นตอนแรกที่สำคัญ ควรนำความตกลงเพื่อยุติการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวมาใช้ ทั้งยังกระตุ้นให้รัฐบาลปฏิบัติตามมาตรการเชิงปฏิบัติและเชิงสารบัญญัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้โทษประหาร และให้ลดโทษประหารในทุกคดีกรณีที่เป็นการลงโทษโดยอาศัยหลักฐานที่ได้จากการบังคับให้สารภาพโดยการทรมาน ในระหว่างที่อยู่ในขั้นตอนยกเลิกโทษประหาร
 
รัฐบาลไต้หวันแสดงปฏิกิริยาต่อข้อสังเกตดังกล่าว โดยระบุว่าเป็นเรื่องที่ "ยาก" สำหรับไต้หวันที่จะยกเลิกโทษประหารในปัจจุบัน และได้จัดตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อทบทวนความเป็นไปได้ของการยกเลิกโทษประหารอย่างค่อยเป็นค่อยไป
 
ในรายงานประจำปีว่าด้วยการลงโทษประหารและการประหารชีวิตของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมือต้นเดือนที่แล้วระบุว่า ไต้หวันเป็นหนึ่งในแปดประเทศหรือดินแดนในเอเชีย-แปซิฟิกที่มีการประหารชีวิตบุคคลเมื่อปี 2555 และการที่ไต้หวันประหารชีวิตนักโทษหกคนเมื่อปีที่แล้วทำให้กลายเป็นประเทศที่มีการประหารชีวิตมากสุดอันดับห้าของภูมิภาค
 
ในปัจจุบัน มีนักโทษประหาร 50 คนในไต้หวันซึ่งรอที่จะถูกประหารเนื่องจากได้ดำเนินการตามขั้นตอนขออภัยโทษต่าง ๆ จนหมดแล้ว
 
ปรกติแล้วทางการจะไม่แจ้งให้สมาชิกในครอบครัวทราบถึงกำหนดการประหารชีวิตล่วงหน้า โดยจะทราบข่าวก็ต่อเมื่อได้รับแจ้งให้ไปรับศพจากที่เก็บศพ
 
นอกจากนั้น ยังมีข้อกังวลอย่างร้ายแรงต่อการไต่สวนคดีอย่างเป็นธรรม สำหรับคดีที่มีการใช้โทษประหารในไต้หวัน 
 
เมื่อเดือนเมษายน 2555 ศาลสูงไต้หวันเพิกถอนคำสั่งประหารชีวิตชายสามคนในคดีฆาตกรรมสามีภรรยาเมื่อ 21 ปีที่แล้ว เพราะพบว่าเป็นการลงโทษโดยอาศัยคำรับสารภาพที่ไม่น่าเชื่อถือ
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต่อต้านโทษประหารทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด  
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประวัติศาสตร์แห่งศรัทธาเพื่อที่จะฆ่าความแตกต่าง ว่าด้วยการยืนเคารพเพลงสรรเสริญฯ

Posted: 22 Apr 2013 01:27 AM PDT

สิ่งที่ผู้เขียนต้องการอธิบายปรากฏการณ์ความผิดปรกติของสังคมไทยที่มีต่อความเห็นมุมมองที่แตกต่างในสังคมไทยด้วย "ชุดความเชื่อที่ปิดตาย" ที่ปิดกั้นไม่ให้เปิดรับสิ่งที่เรียกว่าความแตกต่างทางความคิด รวมทั้งเป็นสิ่งที่จะอธิบายเหตุผลในการกระทำในครั้งนี้ที่ได้โพสไปในแฟนเพจของโรงภาพยนต์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ ให้เป็นที่กระจ่างแจ้ง และแสดงความจำนงให้ประเทศไทยมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ(Constitutional Monarchy) สามารถปรับตัวสถาบันให้เข้ากับสภาพของสังคมประชาธิปไตยในนานาอารยประเทศที่ปกครองด้วยระบอบนี้อย่างแข็งแกร่งเพื่อความเจริญแก่สถาบันกษัตริย์ไทยนั้นเองมิใช่ด้วยจุดประสงค์อื่นใด

จากอาทิตย์ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ดราม่าระลอกใหญ่เกี่ยวกับเรื่องการให้บริการของผู้จัดการโรงภาพยนตร์ของเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์ วิจารณ์อย่างมากในประเด็น ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่าง ลูกค้า-พนักงาน ในเรื่อง service mind ว่าควรมีลักษณะประพฤติเช่นไรในงานบริการ ซึ่งได้มีการด่าว่ากล่าวรวมทั้งเหยียดหยามคุณค่าความเป็นมนุษย์ในตัวเธอที่เป็นพนักงานผู้หญิง โดยเฉพาะในแฟนเพจของทางโรงภาพยนต์เมเจอร์ฯ ที่มีคนชั้นกลางเข้าไปด่าทอเธออย่างรุนแรง ทำให้ผู้เขียนเกิดตั้งคำถามต่อสังคมโดยเฉพาะคนชั้นกลางที่ชอบเรียกร้อง "สิทธิ" "

ผู้เขียนตั้งคำถามว่า เหตุใดที่ผู้เขียนและเพื่อนหลายๆคนต้องมาทนกับการบังคับยัดเยียดความรัก ความรู้สึกต่างๆผ่านพื้นที่อย่างโรงภาพยนตร์ ที่ยังกำหนดให้มีการยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี เหตุใดประเทศที่ขึ้นชื่อว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ยังจำเป็นต้องใช้ "เครื่องมือ" อย่างบทเพลงมายัดเยียดอารมณ์ ความรู้สึก ความเชื่อให้กับประชาชน โดยที่หากใครคิดแตกต่างแน่นอนว่าจะมีพระบารมีของผู้คลั่งเจ้ามาถล่มอย่างแน่นอน เช่นคุณหมอกัมปนาทที่ขู่อาฆาต นำรูปภาพผู้ที่มีความคิดต่างมาประณาม ก็ในเมื่อผู้ชมท่านอื่นสามารถเรียกร้องในสิทธิการได้รับบริการจากโรงภาพยนต์ได้  ผู้เขียนก็ย่อมสามารถตั้งคำถามถึงการยัดเยียดบทเพลงที่เต็มไปด้วยการสอดแทรกความเชื่อ ความรัก ความจงรักภักดี ได้ด้วยเช่นกัน

 https://www.facebook.com/photo.php?fbid=359579104147912&set=a.337942942978195.63209.337926936313129&type=1&theater

"ผมเอารูปมาให้ดูกันอีกครั้ง(ตอนนี้หน้าอาจจะ เปลี่ยนเป็นตูดเพราะมีปากเน่าๆอยู่ตรงหน้า) จากเหตุการณ์วันอาทิตย์ที่ 13 ม.ค. 56 จำหน้ามันไว้ดีๆนะครับ ...วันที่เสียดายไม่ได้เอาเท้าตบปากเด็กเวรตะไล (ขอความกรุณาอย่าด่าสถาบันนะ ครับ สถาบันไม่เกี่ยวครับ)" https://www.facebook.com/photo.php?fbid=398361636938269&set=a.187334648040970.40202.160858877355214&type=1&theater

":: มันไม่สมควรอยู่ประเทศไทยอีสัสสส
คนแบบนี้ต้องจับมันแก้ผ้า เอาเชือกมัดให้รถลากประจานไปรอบเมือง แล้วให้หมามันเอาแบบรุมโทรม...

// เห็นแล้วปี๊ดเลยกุ!!!" ต้นเหตุมาจากเพจนี้ https://www.facebook.com/photo.php?fbid=183251525159937&set=a.126019607549796.27536.126000124218411&type=1&theater

เมื่อพิจารณาจากมิติทางประวัติศาสตร์ของเพลงสรรเสริญพระบารมีแต่แรกเริ่มในสมัยราชาธิปไตย – สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ด้วยข้อมูลทางประวัติศาสตร์มากมายในการกล่าวถึงผู้แต่งทำนองซึ่งทุกท่านมีข้อสรุปตรงกันว่าตัวทำนองประพันธ์มิใช่คนแต่งที่เป็น "ชาวสยาม" เลย นั้นคือ ประเพณีเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นล้วนเป็นประดิษฐกรรมนำเข้าเพื่อที่จะสถาปนาอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำให้มีความเป็นอารยะทัดเทียมกับเจ้าตะวันตกในสมัยนั้น  

เพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นก็ถูกใช้ในการเปิดในงานมหรสพจนกระทั่งมาสู่ยุคประชาธิปไตยหลัง 2475 ที่มีการสถาปนาเพลงชาติสยามของขุนวิจิตรมาตรา-นายฉันท์ ขำวิไล ขึ้นเป็นครั้งแรกที่ไม่ใช่เพลงสรรเสริญพระบารมี จนกระทั่งเปลี่ยนชื่อประเทศในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพลงชาติก็ถูกแก้ไขใหม่ การสร้างเพลงชาตินี้ล้วนเพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ "สถาบันชาติ" กระนั้นคณะราษฎรก็ยังมิได้แก้ไขกฎประเพณีการยืนเคารพเพลงสรรเสริญในงานมหรสพ[1] จนกระทั่งรัฐบาลของ จอมพล ป. ได้เน้นย้ำถึงเรื่องนี้ในรัฐนิยมฉบับที่ 4[2] ซึ่งในขณะแรกที่สยามนำเข้าประเพณีนี้นั้นเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นได้ถูกนำไปเปิดหลังจากจบงานมหรสพ จนกระทั่งช่วงทศวรรษ 1970s/2510s เป็นต้นมาจึงทำการเปลี่ยนมาไว้นำก่อนภาพยนตร์จะฉายจนถึงทุกวันนี้[3]

ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องมาทบทวนถึงเรื่องประวัติศาสตร์ "การยืน" เคารพเพลงสรรเสริญในประเทศไทย นอกจากเราจะได้เรียนรู้ว่าประดิษฐกรรมเพลงสรรเสริญพระบารมีแรกเริ่มของสยาม-ไทยนั้นก็นำมาจากตะวันตก ประเพณีการยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีก็เช่นกันเป็นสิ่งที่ถูกนำเข้าและเลียนแบบมาจากเจ้าจักรวรรดินิยมอย่างอังกฤษโดยสยามได้นำเข้าจากเมืองอาณานิคมอย่างสิงค์โปร มาเลเซีย พม่า อินเดีย ซึ่งในประเทศของจักรวรรดินิยมอังกฤษเวลานั้นเมื่อมีการฉายภาพยนตร์ในตอนจบ จะมีรูปของกษัตริย์จอรจ์ถูกนำฉายอยู่บนหน้าจอพร้อมกับเริ่มการเปิดเพลง "God Save The King" อันเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีและเป็นเพลงชาติของอังกฤษด้วย [4] ซึ่งอาจารย์ชาญวิทย์ได้เขียนถึงว่า ประเพณีนี้ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อที่จะสนับสนุนนโยบายคำขวัญของเหล่าผู้ที่ชาตินิยมและจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ที่ว่า God, King and Country ซึ่งก็เป็นมรดกตกทอดจากเจ้าจักรวรรดินิยมอีกอย่างที่เจ้าสยามนำมาใช้

ซึ่งประเพณีการยืนในโรงหนังนั้นถูกบังคับใช้อย่างทั่วถึงทั้งในสหราชอาณาจักรและบรรดาประเทศในอาณานิคม จนกระทั่งราชินีอลิซาเบธขึ้นครองราชย์เพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติอังกฤษจึงเปลี่ยนเป็น "God Save the Queen" ซึ่งธรรมเนียมประเพณีการยืนเคารพก็ยังคงอยู่

จนกระทั่งในปลายทศวรรษปี 1950s – 1960s(พุทธศักราช 2493-2513) ได้มีกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย Oxford และ Cambridge เริ่มที่จะต่อต้านระเบียบประเพณีเหล่านี้  พวกเขารวมตัวประท้วงโดยการไม่ยืนในขณะบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและเดินออกไปจากโรงภาพยนตร์เมื่อภาพยนตร์จบ ด้วยเหตุนี้บรรดารัฐและทางการ รวมทั้งเจ้าของโรงภาพยนตร์จึงหาทางออกด้วยการ "บังคับยัดเยียด" ทางใหม่โดยนำเพลงสรรเสริญพระบารมีมาเปิดก่อนที่ภาพยนตร์จะฉาย แต่ทว่าไม่มีประโยชน์อันใด

กระทั่งในปัจจุบันประเทศอังกฤษได้ยกเลิกประเพณีอันล้าสมัยที่เต็มไปด้วยอำนาจเผด็จการทางความคิดออกไปตั้งแต่ประมาณ  ค.ศ.1968(พ.ศ.2511)   แต่ทว่าในประเทศไทยนั้นจะเห็นได้ชัดเจนว่านอกจากรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ของเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ถูกบังคับใช้ให้มีการยืนเคารพ มาจากสมัยเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ต่อมาในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนถึงปัจจุบัน "ตัวอุดมการณ์" ของการยัดเยียดความรัก ความรู้สึก ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

 

คำถามคือ ยังมีประโยชน์อันใดที่ประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 จะต้องบังคับให้คนไทยฟังเพลงสรรเสริญพระบารมีทุกครั้งก่อนชมภาพยนตร์

ประเทศไทยนิยมที่จะใช้ระเบียบประเพณีต่างๆรวมทั้งโฆษณาชวนเชื่อด้านเดียวของสถาบันกษัตริย์ที่กรอกหูคนไทยอยู่ทุกวันตั้งแต่ถือกำเนิดมาเป็นเครื่องมือในการสร้าง "ความจงรักภักดี" โดยที่ประชาชนคนไทยไม่มีความรู้สึกที่ว่าความรัก ความศรัทธาของตนนั้นถูกผลิตซ้ำโดยเครื่องมือที่เป็นกลไกของรัฐในการจะสร้างอุดมการณ์แบบ "ราชาชาตินิยม" ขึ้นมา บรรดาผู้จงรักภักดียินดีที่จะอ้าง "พระบารมี" ในการจัดการกับผู้ที่คิดแตกต่างในสังคมด้วยความรุนแรงตั้งแต่ในอดีตเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่นักศึกษาถูกใส่ร้ายและถูกสังหารหมู่โดยประชาชนผู้คลั่งในสถาบันกษัตริย์ นี่คือการกระทำของ "คนบาปในคราบนักบุญ"

จนในปัจจุบัน เมื่อความศรัทธาถูกนำมาใช้มากกว่าปัญญาและเหตุผล บรรดาผู้จงรักภักดีเหล่านี้นี่เองที่เป็นคนทำให้สถาบันกษัตริย์อ่อนแอลงไปโดยการอ้างความชอบธรรมในการจะปกป้องสถาบันโดยการใช้ความรุนแรงจัดการกับผู้อื่นที่คิดต่าง  การถกเถียงมักเต็มไปด้วยอารมณ์และปฏิเสธหลีกเลี่ยงที่จะใช้เหตุผล  หากจะกล่าวว่าความศรัทธาที่มากจนเรียกว่า "คลั่ง" จะกลายมาเป็นเครื่องมือในการทำร้ายตัวสถาบันเสียเองก็คงไม่ผิด ต่างจากมุมมองของประชาชนที่นิยมระบบเสรีนิยมประชาธิปไตยที่ต้องการให้สถาบันกษัตริย์ไทยอยู่ได้อย่างสง่างามด้วยการเปิดกว้างให้สามารถวิพากษ์ วิจารณ์ ตรวจสอบได้ อันนำมาสู่ความชอบธรรมและความโปร่งใสของสถาบันกษัตริย์ไทยให้เจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ

เหตุผลใดที่จะต้องยกเลิกเพลงสรรเสริญพระบารมีออกจากการบังคับให้ฟังอยู่ในโรงภาพยนตร์ในประเทศไทยทุกวันนี้ทั้งจากแง่มุมทางประวัติศาสตร์ที่ได้อธิบายไว้แล้ว กล่าวคือสิ่งเหล่านี้คือกระบวนการหนึ่งที่ "บังคับ ยัดเยียด" ความรัก ความรู้สึกผ่านเข้าไปยังผู้ชมภาพยนตร์ในเมืองไทย มันมิใช่เสรีภาพที่แท้จริงที่ว่าคุณจะเลือกยืนหรือไม่ยืนในโรงภาพยนตร์  แต่มันคือการบังคับนำเอาชุดความเชื่อชุดหนึ่งมาสถาปนาให้ทุกคนจำต้องรับรู้หรือรู้สึกตามกันไป ซึ่งไม่ใช่วิถีที่รัฐสมัยใหม่ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

การมีเพลงสรรเสริญในโรงหนังในประเทศไทยก็มิใช่วิถีทางในระบอบประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่การที่จะใช้เสียงส่วนใหญ่มาเบียดเบียน "สิทธิขั้นพื้นฐาน" ของคนกลุ่มอื่น จริงอยู่ที่ว่าประชาธิปไตยต้องเคารพของเสียงส่วนใหญ่และเคารพในสิทธิของคนกลุ่มน้อย แต่ฐานของการกระทำต่างๆของคนส่วนใหญ่ต้องไม่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้อื่นโดยเฉพาะ "สิทธิที่จะรัก จะชอบ จะรู้สึก จะศรัทธา" ซึ่ง "ไม่สามารถบังคับกันได้ และไม่ควรที่จะบังคับ"

ดังนั้น รัฐต้องดำเนินจัดการปัญหาเหล่านี้ให้อยู่ในหลักการ "ความเป็นกลางทางความเชื่อ" เพื่อให้สังคมมีความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย จะไม่มีใครที่อ้างความเป็นส่วนใหญ่แล้วจะสามารถยัดเยียดความรักความใคร่ทั้งในตัวสถาบันกษัตริย์ ศาสนา ความเชื่อใดๆ ลงไปได้เพื่อที่จะกลบกลืนความเชื่ออื่นๆของคนในชาติได้ มิฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ต่างจากการเป็นเผด็จการเสียงส่วนมาก มิใช่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงอย่างที่บรรดาผู้คลั่งเจ้าได้กล่าวไว้

ดังนั้นการที่ประเทศไทยที่ยังคงมีเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์นั้นก็ไม่ต่างจากประเทศอังกฤษเมื่อศตวรรษที่แล้วที่ได้ยกเลิกกระบวนการยัดเยียดความรักความเชื่อที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายเผด็จการแบบที่ประเทศไทยกำลังเป็นอยู่ลงไปผ่านสถานที่ที่เป็นสาธารณะหรือมีมวลชนมากอย่างในโรงภาพยนตร์และที่อื่นๆไปเรียบร้อย แต่ประเทศไทยกลับชอบที่จะจองจำความรักความรู้สึกเหล่านี้ ให้เป็นสิ่งที่จะนำมาเป็นข้ออ้างในการใช้ "ศรัทธา ฆ่า ความแตกต่าง"

ไม่เพียงแต่เรื่องสถาบันกษัตริย์ ในเรื่องศาสนาและความเชื่อเราก็จำเป็นที่จะต้องทำให้มีความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย อย่างที่ในบรรดาประเทศประชาธิปไตยโลกที่ 1 ได้ทำให้รัฐของตนเป็นรัฐทางโลกย์ (Secular State) คือแยก ศาสนา ออกจากรัฐ และที่สำคัญในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบสถาบันกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญก็ต้องแยก สถาบันกษัตริย์ออกจากการปกครอง ด้วยเช่นกัน กล่าวคือ "กษัตริย์ครองราชย์ แต่มิได้ปกครอง" ซึ่งสิ่งเหล่านี้ประเทศไทยประชาชนคนไทยต้องตั้งคำถามว่า หากต้องการให้สถาบันกษัตริย์ไทยอยู่ได้และได้รับความเคารพจากประชาคมโลก สิ่งใดที่เราต้องปรับแก้ไข และคนไทยใจกว้างพอหรือยังที่จะยอมรับการวิพากษ์ วิจารณ์ ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ในระบอบด้วยความชอบธรรมและโปร่งใส และยกเลิกกระบวนการยัดเยียดความรัก 24 ชม. ทั้งจากแบบเรียน โรงเรียน ข่าวในพระราชสำนัก รูปภาพ สิ่งต่างๆรวมทั้ง การบังคับให้ฟังเพลงสรรเสริญในโรงภาพยนตร์

 

ถ้าสถาบันกษัตริย์ไทยเข้มแข็งจริง จำเป็นด้วยหรือที่ต้องมี "สิ่งเหล่านี้" ?




[1] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. "ความเป็นมาของเพลงชาติไทยในปัจจุบัน" ใน วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 1; 2547 . น.62-64

[2] ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ ๔ เรื่อง การเคารพธงชาติ, เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี ลงวันที่ ๘ กันยายน ๒๔๘๒

[3] บทความข่าวชิ้นนี้มีที่มาจาก การอีเมล์เรื่องประวัติศาสตร์ของเพลงสรรเสริญพระบารมีในสยาม โดย อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ . Subhatra Bhumiprabhas. "The history of standing for the Royal Anthem" The Nation, May 6, 2008

[4]  "'God Save The King' was a patriotic song first publicly performed in London in 1745, which came to be known as the National Anthem at the beginning of the nineteenth century." ดูใน "National Anthem" ใน The Official Website of British Monarchy : http://www.royal.gov.uk/MonarchUK/Symbols/NationalAnthem.aspx

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

Posted: 22 Apr 2013 12:56 AM PDT

"ความเชื่อในบ้านเราว่าฮิตเลอร์ชนะการเลือกตั้งแล้วนำเยอรมันไปสู่รัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จ ในด้านหนึ่งก็เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย เพราะเป็นการพยายามจะบอกว่าเสียงข้างมากอาจจะหลงผิดจนนำไปสู่หายนะของประเทศ เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยอาจไม่ดีเสมอไป แต่คำถามก็คือ หากประชาธิปไตยใช้ไม่ได้จริง เหตุใดเยอรมันยังคงใช้ระบอบประชาธิปไตย หลังจากแพ้สงคราม"

21 เม.ย.56 ใน ชำแหละวาทกรรม "ฮิตเลอร์มาจากการเลือกตั้ง" กับ วรเจตน์-โสรัจจ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น