โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ส.ส.เพื่อไทยชี้แจ้งไฟดับไม่ได้จุดประกายใช้สร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่

Posted: 05 Apr 2013 05:12 AM PDT

กฟผ.ยันเมษาอีสานไฟฟ้าไม่ดับ ส.ส.เพื่อไทยชี้แจ้งไฟดับไม่ได้จุดประกายใช้สร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ แค่รัฐต้องการเตือนให้ชาวบ้านประหยัดใช้ไฟ ด้านประชาชนเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลพลังงานในประเทศ เพราะไม่ต้องการตกเป็นเหยื่อของกลุ่มธุรกิจพลังงานต่อไป

 
 
5 เม.ย. 56 - สื่อสร้างสุขอุบลราชธานีรายงานว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่โรงละครคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี โดยโครงการสะพานเพื่อประชาธิปไตย จากการสนับสนุนของ USAID จัดเวทีเสวนาปัญหาไฟฟ้าดับเดือนเมษายน เพราะแหล่งพลังงานก๊าซธรรมชาติในประเทศพม่าปิดซ่อมแซม และท่อก๊าซไทย-มาเลเซียในทะเลรั่ว เป็นวิกฤตไฟฟ้าหรือเป็นเรื่องดราม่า
 
โดยมีนักวิชาการอิสระ ส.ส.ในพื้นที่ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยร่วมเสวนา และมีประชาชนที่ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟัง พร้อมแสดงความเห็นจำนวนมาก
 
นายอนุชิต เจริญพันธ์ วิศวกรฝ่ายปฏิบัติการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ช่วงวันที่ต้องจับตาคือวันที่ 5 เมษายน เพราะจะมีกำลังสำรองไฟฟ้าต่ำสุดเพียง 700 เมกกะวัตต์ หากเกิดเหตุขัดข้องในโรงผลิตกระแสไฟฟ้าโรงใดโรงหนึ่ง จะทำให้เสียการควบคุมในการจ่ายไฟฟ้า จึงมีการเตรียมไฟฟ้าสำรองซื้อจากประเทศมาเลเซีย และจากโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศเพิ่มอีกวันละกว่า 310 เมกกะวัตต์
 
แต่หลังจากวันที่ 5 เมษายนกำลังไฟฟ้าสำรองในประเทศจะมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับปกติในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ส่วนภาคอีสานไม่น่ามีปัญหาไฟฟ้าดับ เพราะมีเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำหลายแห่ง และยังมีการซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาวเข้ามาสำรองจำนวนมาก จึงคาดว่าจะไม่เกิดไฟฟ้าดับในช่วงวันเวลาดังกล่าว
 
สำหรับปัญหาว่าทำไมประเทศไทยต้องใช้ก๊าซใช้พลังไฟฟ้าคิดเป็นร้อยละ 68 ทั้งที่อดีตตั้งเป้าใช้ไม่เกินร้อยละ 50 ของกำลังผลิตทั้งหมด เพราะพลังงานบางชนิดประชาชนยังไม่ยอมรับ ส่วนการไปใช้พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงามลม ปัจจุบันยังมีต้นทุนสูง ไม่สามารถนำมาใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่อนาคต กฟผ.มีนโยบายจะใช้พลังงานก๊าซไม่เกินร้อยละ 45 ของกำลังการผลิตทั้งหมด โดยหาพลังงานชนิดอื่นมาทดแทน สำหรับปัจจุบัน กฟผ.มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 33,000 เมกกะวัตต์ต่อวัน
 
ขณะที่นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.อุบลราชธานี กล่าวว่าการที่รัฐบาลออกมาเตือนประชาชน เพราะต้องการให้เตรียมตัวและประหยัดการใช้ไฟฟ้า แต่ขณะนี้ทราบว่ามีกำลังสำรองไฟฟ้าเพียงพอ จึงไม่น่ามีปัญหาไฟฟ้าดับในช่วงวันดังกล่าว รวมทั้งรัฐบาลไม่มีจุดประสงค์จุดประกายวิกฤตไฟฟ้าเดือนเมษายนใช้เป็นเงื่อนไขอนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่
 
สำหรับกรณีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีโครงการมาสร้างที่จังหวัดอุบลราชธานีและอีก 4 แห่งในประเทศไทย ปัจจุบันยังไม่มีความเป็นไปได้ เพราะประชาชนไม่ยอมรับ
 
ขณะที่ ผศ.ประสาท มีแต้ม นักวิชาการอิสระกล่าวถึงปัญหาการจัดหาพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย อดีตการนำพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลมมาใช้มีต้นทุนที่แพงจริง แต่ปัจจุบันพลังงานทั้งสองชนิดถูกลงเรื่อยๆ โดยยกตัวอย่างเช่นเดียวกับการซื้อโทรศัพท์มือถือในอดีตมีราคาถึงเครื่องละ 2-3 แสนบาท แต่ปัจจุบันมีราคาไม่กี่พันบาท และพลังงานทั้งสองชนิดเป็นพลังงานที่ไม่มีวันหมด สามารถใช้ไปได้ตราบที่มนุษย์ยังมีชีวิตอยู่
 
"ประการสำคัญคือ พลังงานทั้งสองชนิดโกงไม่ได้ ไม่เหมือนพลังงานนิวเคลียร์ ที่โกงได้จากโครงสร้างที่มีมูลค่าเป็นแสนล้านบาท และอนาคตจะเป็นพลังงานที่แพงขึ้นไปเรื่อยๆ"
 
ส่วนพลังงานก๊าซ พลังถ่านหิน ไม่เชื่อเป็นพลังงานสะอาด เพราะนำซากฟอสซิลขึ้นมาใช้ ย่อมมีผลต่อมลภาวะของโลกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่พลังงานลมและแสงอาทิตย์เป็นพลังานธรรมชาติ และประเทศไทยเหมาะที่ใช้ เพราะในบางพื้นที่ร้อนเป็นบ้า ส่วนชายทะเลก็ลมแรง ปัจจุบันมีคนในเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี มีรายได้เดือนละ 5,000 บาท จากการนำพลังงานลมมาใช้ผลิตไฟฟ้า
 
ด้านนายอิฐบูรณ์ อ้นวงศา จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคระบุว่า เรื่องที่รัฐบาลพยายามประโคมข่าวไฟฟ้าดับในเดือนเมษายนมองได้หลายมุม เพราะความจริงการปิดหลุมก๊าซซ่อมแซมของแหล่งก๊าซยานาดา และเยตากุน รัฐบาลพม่าแจ้งให้ไทยทราบมาตั้งหลายปีแล้ว และจำนวนพลังงานที่หายไปก็มากเกินความจริง จึงสงสัยมีการนำตัวเลขก๊าซจากท่อส่งไทย-มาเลเซียที่รั่วเมื่อปลายปีมาบวกรวมเข้าไปให้ดูน่ากลัว  ประการสำคัญคือ แหล่งก๊าซทั้งยานาดาและเยตากุนในพม่า มี ปตท.สผ.ซึ่งเป็นบริษัทลูกเป็นผู้ผลิตและส่งขายให้บริษัท ปตท.ใหญ่ที่เป็นบริษัทแม่ ก่อนนำมาขายให้ กฟผ. ประเด็นนี้ ความจริงไทยจึงไม่ต้องไปคุยกับพม่าเรื่องวันเวลาในการปิดหลุมซ่อมแซม เพราะก๊าซทั้งหมดเป็นของ ปตท.ที่เป็นรัฐวิสาหกิจของไทย
 
"วิกฤตไฟฟ้าตามที่รัฐบาลบอก จะเป็นเรื่องดราม่าหรือเรื่องจริง แค่นี้ก็สามารถพิสูจน์เรื่องทั้งหมดที่กระทรวงพลังงานพยายามประโคมข่าวให้ดูใหญ่โตแล้ว" นักวิชาการรายนี้ ยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันคนไทยตกเป็นเหยื่อของธุรกิจพลังงานที่นำโดย ปตท.มีการถ่ายเทพลังงาน เพื่อทำกำไร รัฐบาลจึงต้องมีความชัดเจนเรื่องการบริหารจัดการพลังงานของประเทศ ไม่ให้ตกอยู่ในมือของกลุ่มทุน ไม่ใช่แค่มาณรงค์ให้ชาวบ้านปิดไฟ
 
รัฐต้องจัดการเรื่องการจัดซื้อพลังงานไม่ให้มีการคอรับชั่น หรือโก่งราคาซื้อขายพลังงาน เพราะท่อก๊าซที่ศาลตัดสินให้กลับคืนเป็นของประชาชน แต่รัฐยังปล่อยให้เอกชนไปค้ากำไรอยู่ในปัจจุบัน
 
ด้านประชาชนที่เข้ารับฟังได้เสนอข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลความจริงทั้งหมดในเรื่องพลังที่มีอยู่ในประเทศ และให้นำพลังงานทั้งก๊าซและน้ำมันกลับมาเป็นของประชาชน ไม่ใช่ปล่อยให้กลุ่มทุนธุรกิจเป็นผูกขาด เพราะเริ่มส่งผลกระทบกับประชาชนที่เป็นผู้บริโภคมาหลายปีและนับวันจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รอลงอาญา 2 ปี 'ปราโมทย์' คดีหมิ่น 'ทักษิณ' กรณี 'ปฏิญญาฟินแลนด์'

Posted: 05 Apr 2013 04:50 AM PDT

ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนรอลงอาญา 2 ปี "ปราโมทย์ นาครทรรพ" เขียนบทความปฏิญญาฟินแลนด์หมิ่น"ทักษิณ" ศาลระบุเป็นนักวิชาการ-นักประชาธิปไตย เคยสร้างคุณงามความดีให้กับประเทศชาติ ที่กระทำผิดเพราะต้องการปกป้องสถาบันที่เคารพ ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอลงอาญาไว้

 
5 เม.ย. 56 - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่าศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.1747/2549 ที่พรรคไทยรักไทย และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอิสระและคอลัมนิสต์ ,บริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) , น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ ผู้บริหารแผนฟื้นฟู บมจ.แมเนเจอร์ , นายขุนทอง ลอเสรีวานิช บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.ผู้จัดการรายวัน และนายปัญจภัทร อังคสุวรรณ ผู้ดูแลเว็บไซต์ผู้จัดการ เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาและดูหมิ่นด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 , 328 , 332 , 393
 
โดยคดีนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า ระหว่างวันที่ 17 - 25 พ.ค.49 จำเลยทั้งห้า ร่วมกันตีพิมพ์และเผยแพร่บทความ " ยุทธศาสตร์ฟินแลนด์ : แผนการเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย ? " ของจำเลยที่ 1 ลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน และเว็บไซต์ ซึ่งใส่ร้ายโจทก์ทั้งสองเสื่อมเสียชื่อเสียง
 
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 มี.ค.52 เห็นว่า บทความเรื่องปฏิญญาฟินแลนด์ 5 ตอนที่เผยแพร่ใน นสพ. ผู้จัดการและเผยแพร่ในเว็บไซต์ ที่จำเลยที่ 1 เขียนพาดพิงถึงโจทก์ทำนอง ว่ามีนโยบายที่ต้องการทำลายระบบราชการไทย การสร้างระบบการเมืองพรรคเดียว และล้มล้างสถาบันเบื้องสูง แต่ชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 กลับไม่นำสืบว่าโจทก์ทั้งสองกระทำการล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด ขณะที่ท้ายบทความยังได้ให้ประชาชนต่อต้านโจทก์ทั้งสองที่กำลังลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 2 เม.ย.49 ซึ่งไม่ได้เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ส่วนจำเลยที่ 4 เป็น บก.ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.ผู้จัดการรายวัน มีหน้าที่กลั่นกรองเนื้อหาก่อนตีพิมพ์
 
จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 4 มีส่วนรู้เห็นและทราบว่าบทความดังกล่าวมีเนื้อหาดูหมิ่นโจทก์ด้วย จึงให้จำคุกจำเลยที่ 1 และ 4 คนละ 1 ปี และปรับคนละ 100,000 บาทแต่จำเลยที่ 1 เป็นนักวิชาการ นักประชาธิปไตยและจำเลยที่ 4 เป็นนักหนังสือพิมพ์ เคยสร้างคุณงามความดีให้กับประเทศชาติ ที่กระทำผิดเพราะต้องการปกป้องสถาบันที่เคารพ ประกอบกับจำเลยทั้งสองไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี และให้จำเลยทั้งสองร่วมกัน โฆษณาคำพิพากษาย่อในหนังสือพิมพ์รายวัน 5 ฉบับเป็นเวลา 7 วันติดต่อกันด้วย โดยให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 5
 
ต่อมาจำเลยทั้งสอง ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามฟ้องที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้วจึงพิพากษายืน แต่ในส่วนจำเลยที่ 4 เห็นว่า ยังไม่มีมูลว่ากระทำการที่เป็นความผิด จึงพิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ลอบบึ้มรองผู้ว่ายะลาดับ สถิติชี้ ‘เป้าแข็ง’ถูกโจมตีมากสุดหลังริเริ่มพูดคุยสันติภาพ

Posted: 05 Apr 2013 04:38 AM PDT

วางบึ้มรถรองผู้ว่ายะลาเสียชีวิตพร้อมปลัดจังหวัด ส่วนคนขับเจ็บหนัก เหตุเกิดบนถนนอันตรายสาย 410 ขณะที่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนใต้ สรุปสถิติเหตุไม่สงบช่วงรอยต่อการริเริ่มพูดคุยสันติภาพ เผยมี 131 ครั้ง เสียชีวิต 38 ราย เจ็บ 101 ราย ผลการวิเคราะห์ชี้ มุ่งโจมตีเป้าหมายทางทหารหรือ hard target สูงสุด

 
ในช่วงเที่ยงของวันที 5 เมษายน 2556 เกิดเหตุลอบวางระเบิดรถยนต์ของนายอิศรา ทองธวัช รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา บนถนนสาย 410 ยะลา – เบตง บ้านกาโสด หมู่ที่ 5 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา ทำให้นายอิศราบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา 
 
ส่วนนายเชาวลิต ไชยฤกษ์ ปลัดฝ่ายป้องกันจังหวัดยะลาที่นั่งมาด้วยกันเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ขณะที่นายสะตอปา เจ๊ะเลาะ คนขับบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดขณะนายอิศราเดินทางไปเปิดงานเทศกาลไก่เบตง ที่อ.เบตง จ.ยะลาด้วยรถเก๋งโตโยต้าคัมรี่ ซึ่งเป็นรถประจำตำแหน่ง โดยมีรถทหารจากหน่วยเฉพาะกิจยะลาที่ 15 และอาสาสมัครรักษาดินแดนจังหวัดยะลาคอยคุ้มกัน

 
 
ขณะที่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนใต้ (Deep South Watch) สรุปข้อมูลสถิติเหตุไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ภาคใต้ ประจำเดือนมีนาคม 2556 ระหว่างวันที่ 1 – 31 มีนาคม 2556 ซึ่งเป็นช่วงเวลาระหว่างการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐไทยกับขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชของฟาฏอนีย์ ที่นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) ครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ กับครั้งที่ 2 ในวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมาที่ประเทศมาเลเซีย 
 
สถิติในช่วงดังกล่าวชี้ว่า มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 131 ครั้ง จำแนกเป็นเหตุก่อกวนโดยไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต มากที่สุดคือ 64 ครั้ง ตามด้วยเหตุยิง 39 ครั้ง วางระเบิด วางเพลิง อย่างละ 9 ครั้ง เหตุจักรยานบอมบ์ 4 ครั้ง โจมตีฐานทหาร 2 ครั้ง ในขณะที่เหตุคาร์บอมบ์ การยิงปะทะ ยิงและเผา และระเบิดและยิง อย่างละ 1 ครั้ง
 
สำหรับเหตุคาร์บอมบ์ที่เกิดขึ้นครั้งเดียวนั้น พบว่าไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ส่วนเหตุจักรยานบอมบ์ทั้ง 4 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 5 ราย เป็นทหาร 4 รายและเด็กชายวัย 9 ปี 1 ราย และมีผู้บาดเจ็บทั้งหมด 40 ราย
 
จากสถิติดังกล่าว พบว่ามีนัยเชื่อมโยงกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่กำลังริเริ่มขึ้นอย่างเปิดเผยทั้ง 2 ครั้งระหว่างตัวแทนรัฐไทย ที่นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. กับ ตัวแทนกลุ่มต่อต้านรัฐ นำโดยนายฮัสซัน ตอยยิบ ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่มขบวนการต่อต้านรัฐทั้งหมด
 
จากสถิติการก่อเหตุทั้ง 131 ครั้ง พบว่า ทหารเป็นผู้ที่ถูกโจมตีมากที่สุด 57 ราย โดยได้รับบาดเจ็บ 48 ราย เสียชีวิต 9 ราย รองลงมาคือราษฎร เสียชีวิต 16 ราย บาดเจ็บ 40 ราย
 
เมื่อรวมข้อมูลจากฝั่งรัฐทั้งหมด พบว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่ติดอาวุธหรือเรียกว่าเป้าหมายทางทหารนั้น ตกเป็นเป้าถูกโจมตีมากขึ้น ประกอบด้วย ตำรวจ ตำรวจตระเวนชายแดน หน่วยปฏิบัติการพิเศษ ทหาร ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน กองอาสารักษาดินแดน (อส.) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ทั้งหมดเสียชีวิต 14 ราย ได้รับบาดเจ็บ 57 ราย รวม 71 ราย
 
เมื่อคำนวณรวมสถิติการโจมตีเป้าหมายทางทหารหรือ Hard target ในรอบเดือนมีนาคม 2556 เดือนเดียว คิดเป็นร้อยละ 51.08 จากจำนวนผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บทั้งหมด 139 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บคิดเป็นร้อยละ 56.44 จากจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด 101 ราย และเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 36.84 จากจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด  38 ราย
 
รศ.ดร.ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ อธิบายว่า สถิติดังกล่าวเชื่อมโยงกับความเคลื่อนไหวในการริเริ่มกระบวนการสันติภาพว่า มีแนวโน้มว่าจะมีการมุ่งโจมตีเป้าหมายทางทหาร หรือ Hard target อย่างเช่นทหาร ตำรวจ
 
"อาจจะสะท้อนให้เห็นสัญญาณความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่น่าจะสอดคล้องกับเงื่อนไขขั้นต้นของการพูดคุยสันติภาพในรอบเดือนที่ผ่านมา" รศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว
 
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ศรีสมภพ ก็ยังไม่มั่นใจนักว่า การวิเคราะห์ผ่านตัวเลขและสถิติดังกล่าว จะสามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ทั้งนี้อาจมีเงื่อนไขอื่นๆ มาประกอบสาเหตุการเปลี่ยนเป้าหมายมาสู่การโจมตีเป้าหมายทางทหารหรือ hard target มากขึ้นในรอบเดือนที่ผ่านมา 
 
รศ.ดร.ศรีสมภพ ระบุว่า นี่เป็นเพียงการคาดการณ์เบื้องต้น แต่การมุ่งโจมตีเป้าหมายทางทหารหรือ hard target ยังส่งสัญญาณเชิงบวกในแง่ของการเลือกเป้าหมายที่ไม่ใช่ประชาชนที่ถือเป็นเป้าพลเรือนหรือ Soft target ซึ่งจะทำลายความชอบธรรมในการต่อสู้ของกลุ่มขบวนการเอง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูเอ็นเอชซีอาร์หวั่นผู้อพยพพม่าทะลักเข้าไทยอีกระลอก

Posted: 05 Apr 2013 04:07 AM PDT

ยูเอ็นเอชซีอาร์ เร่งฟื้นฟูศูนย์ลี้ภัยบ้านแม่สุริน จ.แม่ฮ่องสอน หลังไฟใหม่ครั้งใหญ่ เผยเกาะติดสถานการณ์การเมืองในพม่าอย่างใกล้ชิด หวั่นผู้ลี้ภัยทะลักเข้าไทยมากขึ้น ขณะที่ "คนโรฮิงยา" ยังเคว้ง เพราะประเทศที่ 3 ไม่ยอมรับ

5 เม.ย. 56 - นายคริสตอฟ เกลนนิสชั่น (Christophe Glenission) เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการระดมทุนประจำภูมิ (Senior Regional Private Sector  Fundraising Officer)  กล่าวว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์)มีความเป็นห่วงสถานการณ์ศูนย์อพยพผู้ลี้ภัยหลายแห่งที่อยู่ในจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศพม่า  เนื่องจากอาจมีผู้ลี้ภัยชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น
 
ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมยังกำลังดำเนินไป จนลุกลามกลายเป็นความรุนแรงขนาดใหญ่ กลายเป็นเหตุการณ์จลาจลในหลายเมืองทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก จนทำให้รัฐบาลพม่าต้องประกาศเคอร์ฟิวส์
 
"สถานการณ์ในขณะนี้ ไม่เป็นที่แน่นอน เพราะเหตุการณ์ในพม่าเปลี่ยนแปลงตลอด ทางยูเอ็นเอชซีอาร์ ได้พยายามให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยอย่างดีที่สุดเท่าที่สามารถทำได้  เรามีศูนย์ฯถึง 9 แห่งในประเทศไทย แม้มีทุนช่วยเหลือจากส่วนของยูเอ็นเอชซีอาร์ แต่ก็ยังต้องการความช่วยเหลือจากคนไทย หรือคนในประเทศด้วย โดยเฉพาะศูนย์แม่สุริน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ที่ประสบกับเหตุการณ์ไฟไหม้เมื่อเร็วๆนี้ เรากำลังเร่งฟื้นฟูศูนย์กันอยู่" นาย Glenission กล่าว
 
นาย Glenission กล่าวด้วยว่า ผู้ลี้ภัยในประเทศไทยมีจำนวนมาก  เฉพาะค่ายแม่สุรินที่เดียวมีจำนวนประมาณ 4,000 คน และยังคงได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์เพลิงไหม้อยู่ โดยการรับบริจาคเงินเป็นไปตามระเบียบของการจัดสรรเงินเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยของยูเอ็นเอชซีอาร์ ที่ระบุไว้ว่า หากได้รับเงินบริจาคจากประเทศเจ้าของพื้นที่ที่ศูนย์อพยพนั้นตั้งอยู่ ก็ให้ใช้เงินบริจาคนั้นช่วยเหลือศูนย์ผู้อพยพในประเทศนั้น
 
"ในประเทศไทยมีศูนย์ผู้ลี้ภัยทั้งหมด 9 ศูนย์ มีผู้อพยพจำนวนหนึ่ง รอเดินทางไปประเทศที่ 3 เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย  ซึ่งเราก็ทำตามความประสงค์ของผู้อพยพเหล่านั้น หากผู้อพยพมั่นใจว่าสามารถเดินทางกลับบ้านและอยู่อย่างปลอดภัยเราก็ดำเนินการให้ แต่หากยังต้องการอยู่ในศูนย์ ในประเทศไทยต่อไป ทางยูเอ็นเอชซีอาร์ก็มีค่าใช้จ่าย  โดยเฉพาะศูนย์แม่สุริน เราต้องการสร้างที่พักทดแทนที่พักที่เพลิงเสียหายไป เป็นการด่วน" นาย Glenission กล่าว
 
ส่วนประเด็นผู้อพยพชาวโรฮิงยาในประเทศไทย ซึ่งลี้ภัยการเมืองมาจากรัฐยะไข่ของพม่า นาย Glenission กล่าวว่า ขณะนี้ชาวโรฮิงยาอาศัยอยู่ในศูนย์ลี้ภัยต่างๆในประเทศไทยจำนวนหนึ่ง และยูเอ็นเอชซีอาร์อยู่ระหว่างการประสานงานกับประเทศที่ 3 เพื่อให้รับผู้อพยพชาวโรฮิงยา แต่ก็เป็นเรื่องยากสำหรับการช่วยเหลือผู้อพยพชาติพันธุ์นี้ เพราะยังไม่มีประเทศใดแจ้งความจำนงอย่างเป็นทางการว่าจะรับตัวผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ไปตั้งถิ่นฐาน(Resettlement)ในประเทศของตน
 
ก่อนหน้านั้น (3 เม.ย. 56) นาย Glenission ได้เดินทางไปรับมอบเงินจำนวน 200,000 บาท จากพระสุธีธรรมา นุวัตร (เทียบ สิริญาโณ) คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.)  โดยเงินที่ได้รับบริจาคจากมจร. จะนำไปใช้จ่ายเพื่อเป็นค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า เวชภัณฑ์ และการสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในค่าย เช่น  บ้านพักผู้อพยพ เป็นต้น  โดยเฉพาะเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ศูนย์แม่สุริน จ.แม่ฮ่องสอน
 
พระสุธีธรรมานุวัตร กล่าวว่า เงินที่มอบให้ยูเอ็นซีอาร์ แม้เป็นจำนวนไม่มาก แต่เป็นการแสดงถึงน้ำใจกับผู้อพยพที่ลี้ภัยมาอยู่ในประเทศไทยและกำลังประสบความเดือดร้อน โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ศูนย์แม่สุริน เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งได้ทราบข่าวจากสื่อบางสำนัก ขณะที่การช่วยเหลือครั้งนี้ยังถือเป็นการปฏิบัติตามหลักธรรมของชาวพุทธ อย่างเช่น หลักพรหมวิหาร 4 อีกด้วย
 
"การให้ความช่วยเหลือผู้อพยพเกิดจากความปรารถนาในลักษณะการแสดงออกซึ่งความกรุณา โดยเฉพาะการครองชีวิตของภิกษุเพศที่ว่าโดยหลักการของพระพุทธศาสนาแล้วจะต้องอุทิศตนเสียสละเพื่อช่วยเหลือคนทั่วไปเท่าที่สามารถช่วยได้  และการช่วยเหลือดังกล่าว ไม่จำกัดชาติพันธุ์ หรือศาสนา  เพราะทุกคนเป็นมนุษย์เท่าเทียมเหมือนกันหมด" พระสุธีรรมานุวัตร ซึ่งเคยเป็นไกด์ให้กับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บารัก โอบามา และเจ้าชายฟิลิป แห่งเบลเยี่ยม  กล่าว
 
สำหรับเหตุเพลิงไหม้ที่ศูนย์พักพิงผู้หนีภัยจากการสู้รบบ้านแม่สุริน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 37 ราย และมีผู้ที่ไร้ที่อยู่อาศัย 2,300 คน
 
ข้อมูลของยูเอ็นเอชซีอาร์ ระบุว่า ศูนย์อพยพหรือศูนย์ผู้ลี้ภัยแม่สุริน มีจำนวนผู้ลี้ภัยจำนวน 3,826คน จดทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ยูเอ็นเอชซีอาร์แล้ว 1,705 คน ศูนย์แบ่งพื้นที่เป็น คุ้มๆ จำนวน 4 คุ้ม แต่ละคุ้มมีประมาณ 100 หลังคาเรือน  
 
ยูเอ็นเอชซีอาร์เริ่มดำเนินการในประเทศไทยโดยคำเชิญของรัฐบาลไทยในปีพ.ศ. 2518 สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ผู้ลี้ภัยนับแสนคนจากประเทศกัมพูชา ลาว และเวียดนามอพยพเข้ามาในประเทศไทย ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยในภูมิภาคอินโดจีน ช่วงเวลานั้น มีผู้ลี้ภัยกว่า1.3 ล้านคนอยู่ในความดูแลของรัฐบาลไทยเป็นเวลาหลายปี
 
ปัจจุบัน ผู้ลี้ภัยที่ลงทะเบียนในประเทศไทยมีจำนวนเกือบ 113,000 คน และผู้ที่ลงทะเบียนขอลี้ภัยอีก 12,500 คน โดยส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อย ชาวกะเหรี่ยง และกะเหรี่ยงแดงจากประเทศพม่า ผู้ลี้ภัยในประเทศไทยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่ง ใน 4 จังหวัด รัฐบาลไทยดูแลบริหารที่พักพิงทั้งหมด โดยความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราว เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาล เอ็นจีโอ และยูเอ็นเอชซีอาร์ โดยยูเอ็นเอชซีอาร์มีบทบาทหลักในการให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยเพื่อให้มีสภาพ ความเป็นอยู่ที่มั่นคงปลอดภัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาระหว่างที่อาศัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราว
 
น.ส.จำลองลักษณ์ สุจริตจันทร์  ในฐานะตัวแทนของนิสิตมจร. กล่าวว่า การบริจาคเงินให้กับยูเอ็นเอชซีอาร์ดังกล่าว นับว่าสมความประสงค์ของผู้บริจาค เนื่องจากก่อนหน้านี้ตนและเพื่อนๆ ได้พยายามติดต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อเดินทางไปบริจาคเงินและข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นถึงศูนย์ผู้ลี้ภัยด้วยตัวเองที่แม่ฮ่องสอน แต่ทราบว่าทางการไม่อนุญาต  จึงได้พยายามหาหนทางอื่นเพื่อให้ความช่วยเหลือ การบริจาคให้ยูเอ็นเอชซีอาร์ครั้งนี้จึงเป็นการบริจาคให้กับองค์กรระหว่างประเทศที่ดูแลในเรื่องผู้ลี้ภัยโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านหน่วยงานอื่น
 
ทั้งนี้  ยูเอ็นเอชซีอาร์ ได้มีหนังสือ HCR/BKK/PSFR/012  วันที่  3 เมษายน ค.ศ.1013  ลงนามโดย Mireille Girard –ตัวแทนของยูเอ็นเอชซีอาร์  ขอบคุณบัณฑิตวิทยาลัย มจร. สำหรับการบริจาคเงินครั้งนี้  โดยองค์กรของสหประชาชาติแห่งนี้จะนำเงินบริจาคดังกล่าว ไปใช้ดูแลเด็ก สตรี คนพิการ ตลอดถึงคนสูงอายุในศูนย์ลี้ภัย จำนวน 9 แห่งในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ศูนย์ฯกำลังดำเนินการหลายโครงการ เช่น การฝึกอาชีพให้กับผู้ลี้ภัย การฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย  การสอนภาษา เป็นต้น เพื่อให้ผู้ลี้ภัยสามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยเฉพาะกรณีเหตุการณ์เพลิงไม้ที่ศูนย์บ้านแม่สุริน ทางยูเอ็นเอชซีอาร์ สามารถนำเงินที่ได้รับบริจาคครั้งนี้ ไปให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยโดยตรงได้ทันที
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' จี้ ทบทวน 'P4P'

Posted: 05 Apr 2013 02:56 AM PDT



ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสการยกเลิกเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย และปรับไปใช้แนวทางการจ่ายเงินตามผลงาน หรือ พีฟอร์พี (P4P) ซึ่งประกาศโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยที่ยังไม่มีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน ก่อให้เกิดกระแสการวิจารณ์ จากบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอย่างกว้างขวาง

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า แนวทางการจ่ายค่าตอบแทนมีผลต่อประชาชน เพราะพื้นที่ห่างไกลมักจะประสบปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพออยู่แล้ว โรงพยาบาลชุมชนบางแห่ง มีหมอ 1-2 คน แต่ต้องดูแลประชาชนทั้งอำเภอหลายหมื่นคน หากการจ่ายค่าตอบแทนแบบนับแต้มตามผลงาน หรือพีฟอร์พี ออกมาใช้ ไม่จูงใจให้บุคลากรอยากจะอยู่ประจำในพื้นที่ห่างไกล หรือพื้นที่เสี่ยง กระทบต่อการรับบริการของประชาชนแน่นอน

"กลุ่มสนับสนุนแนวทางการใช้นโยบายทางการเงิน เป็นเครื่องมือในการกระจายบุคลากรเพื่อให้ครอบคลุมประชาชนทุกพื้นที่ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องพื้นที่ คือเรื่องทุรกันดาร ร่วมกับแนวคิดเรื่องภาระงาน และค่าตอบแทนการอยู่นานเป็นเรื่องสุดท้าย และต้องให้ความสำคัญกับทุกวิชาชีพเท่าๆ กัน เนื่องจากการดูแลสุขภาพคนหนึ่งคน ทุกวิชาชีพต่างสำคัญและมีภาระงานในส่วนที่รับผิดชอบต่อชีวิตใกล้เคียงกัน ต้องทำงานเป็นทีม แนวทางที่น่าจะเป็นไปได้คือ กำหนดการจ่ายตามพื้นที่ส่วนหนึ่ง แล้วเพิ่มเติมด้วยการคิดตามภาระงานเป็นเงินส่วนเพิ่ม (Top up) ไม่ใช่ตัดอย่างใดอย่างหนึ่งออกไป และต้องไม่ให้การกำหนดแนวทางการจ่ายค่าตอบแทนเป็นชนวนให้เกิดความแตกแยกของทีมบุคลากรทางการแพทย์" สุรีรัตน์ กล่าว

สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่าต้องทวงถามเจตนารมณ์ของการนำระบบพีฟอร์พี มาใช้ว่าอยู่ที่ไหนกันแน่ระหว่างต้องการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการสาธารณสุข หรือต้องการตัดงบประมาณลง หากต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ก็จะเห็นว่าการตัดสินใจเชิงนโยบายครั้งนี้ รีบร้อน เร่งทำ โดยไม่อาศัยหลักวิชาการ ส่อเจตนาทุจริตเชิงนโยบาย กระทบต่องบประมาณของประเทศ โดยไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า P4P ทำให้เกิดผลดีต่อสุขภาพของประชาชนอย่างชัดเจนและประหยัดงบประมาณในการรักษาพยาบาลได้จริงหรือไม่

"การตัดสินใจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หลายเรื่องดูรีบร้อน รวบรัด เร่งทำ ไม่มีการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาก่อนเลย รวมถึงวิธีการที่จะปรับใช้ วิธีการปฏิบัติในพื้นที่ก็ยังไม่ชัดเจน ไม่ได้มีแนวทางที่ชัดเจน นอกจากนี้ผลการศึกษาจากทั้งในและต่างประเทศก็ชี้ให้เห็นว่า การใช้พีฟอร์พีเพียงมาตรการเดียว เป็นผลเสียมากกว่าผลดี การตัดสินใจใดๆ จึงต้องอยู่บนข้อมูลทางวิชาการ และทำด้วยความรอบคอบรัดกุม ไม่ใช่ไม่มีแนวทางใดๆ ที่ชัดเจน ก็ประกาศออกมาอย่างเร่งรีบ โดยไม่ฟังคำทัดทาน" โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพกล่าว

นอกจากนี้ โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันฯ ยังกล่าวต่อว่า ในต่างประเทศ การแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ใช้วิธีการกำหนดเพดานค่าตอบแทน และจำนวนโรงพยาบาลเอกชน เพื่อไม่ให้เกิดภาวะสมองไหลอย่างเช่นที่ไทยกำลังประสบ แต่นโยบายรัฐบาลชุดนี้กลับสนับสนุนการเติบโตของโรงพยาบาลเอกชน  ให้มีการนำเรื่องสุขภาพมาซื้อขายในตลาดหุ้นได้ และส่งเสริมนโยบายเมดิคัล ฮับ ให้เป็นโครงการที่นำรายได้เข้าประเทศ แต่ก็เป็นประโยชน์เฉพาะกับแพทย์พาณิชย์ และธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน  ย่อมส่งผลต่อทำให้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในพื้นที่ห่างไกลรุนแรงมากขึ้น  ประกอบกับนโยบายพีฟอร์พี ซึ่งน่าจะเป็นตัวเร่งให้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรในพื้นที่ห่างไกล เข้าสู่จุดวิกฤติเร็วขึ้นอีก

จรรยา แสนสุภา ผู้ใช้บริการโรงพยาบาลชุมชน จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ส่วนตัวในฐานะผู้ใช้บริการ มีความกังวลว่าประชาชนจะไม่ได้รับการบริการ เพราะภาพที่เกิดขึ้นขณะนี้คือ หลายโรงพยาบาลขึ้นป้ายไม่ยอมรับแนวทาง P4P มีข้อความว่าในอนาคต ประชาชนอาจจะต้องรอนานขึ้น เพราะกระทรวงใช้การคิดแต้ม ทำให้ที่นี่ไม่มีบุคลากร

"จากเดิมบุคลากรก็น้อยมากอยู่แล้ว เมื่อมีแนวนโยบายแบบนี้ ทำให้เราเองกังวลจริงๆว่าจะไม่มีหมอ ไม่มีพยาบาลในพื้นที่ พวกเราก็ต้องเดินทางกว่า 100 กิโลเมตร เข้าไปรับการรักษาในโรงพยาบาลจังหวัดทั้งที่บางครั้งไม่มีความจำเป็น" จรรยากล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มี 'วิญญูชน' ในกฎหมายอาญา : วิเคราะห์คำพิพากษาคดีเอกชัย คนขายซีดี

Posted: 05 Apr 2013 01:23 AM PDT

28 มีนาคม 2556 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาตัดสินจำคุกนายเอกชัย 5 ปี ปรับ 100,000 บาท เนื่องจากทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ ลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือ จำคุก 3 ปี 4 เดือน ปรับ 66,666 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชทายาท และตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 53 ประกอบมาตรา 82 ฐานประกอบธุรกิจจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน

การลงโทษในความผิดตามมาตรา 112 เป็นจำนวน 5 ปีก็ดี การลงโทษปรับขั้นต่ำฐานประกอบธุรกิจจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาตก็ดี เป็นแนวทางการกำหนดโทษที่เดินตามคำพิพากษาที่มีมาก่อนหน้านี้ทั้งสิ้น แต่การปรับใช้กฎหมายของศาลในคำพิพากษาคดีนี้ ยังมีประเด็นข้อสังเกตอยู่บ้างดังจะกล่าวต่อไป


การใช้อุดมการณ์สถาบันกษัตริย์ในสังคมไทย มาลงโทษจำเลย
คำพิพากษาคดีนี้กล่าวไว้ว่า การจะพิจารณาว่าเนื้อหาของสารคดีของสำนักข่าวเอบีซี ออสเตรเลีย ในแผ่นซีดี กับเนื้อหาในเอกสารจากเว็บไซต์วิกิลีกส์ ที่จำเลยนำมาขาย เป็นความผิดต่อกฎหมายหรือไม่นั้น..."...จะต้องพิจารณาถึงฐานะที่ทรงดำรงอยู่ในความรู้สึกของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ประกอบข้อความดังกล่าวด้วย ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 2 บัญญัติว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา 8 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ มาตรา 70 บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา 77 บัญญัติว่า รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์"

จากการให้เหตุผลข้อนี้ของศาล มีประเด็นที่ควรพิจารณาว่า ตามคำพิพากษา ความผิดของจำเลยในคดีนี้ คือการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินีและรัชทายาท เนื่องจากเนื้อหาในแผ่นซีดีและในเอกสารวิกิลีกส์พาดพิงถึงพฤติกรรมของพระราชินีและรัชทายาทสองพระองค์ แต่ศาลกลับกล่าวอ้างว่าความผิดของจำเลยต้องพิจารณารัฐธรรมนูญมาตรา 2 และมาตรา 8 ซึ่งกล่าวถึงสถานะของ "พระมหากษัตริย์" ในฐานะ "บุคคล" ที่ดำรงตำแหน่งนั้น ไม่ใช่ตัว "สถาบันพระมหากษัตริย์" ซึ่งไม่รวมความถึง "พระราชินี" และ"รัชทายาท"

การที่ศาลกล่าวอ้างเรื่องหน้าที่ของบุคคลและรัฐในการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 70 และมาตรา 77 นั้น ก็ไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้อีกเช่นกัน เพราะจำเลยเองเบิกความไว้แล้วว่า การเผยแพร่ข้อความก็เพื่อต้องการชี้ให้เห็นว่ามีนักการเมืองกล่าวพาดพิงพระราชินีไว้อย่างไร ให้ประชาชนช่วยกันประณาม หากศาลลงโทษจำเลยโดยอ้างว่า เพราะบุคคลและรัฐมีหน้าที่รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์จึงเท่ากับศาลผูกขาดวิธีการทำหน้าที่รักษาสถาบันฯ ไว้เพียงแบบของตนเท่านั้น

การกล่าวอ้างเช่นนี้ จึงเป็นการเชิดชูอุดมการณ์ทางการเมืองการปกครองตามทัศนคติของตุลาการในคดี โดยไม่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงในคดีโดยตรง ซึ่งไม่ควรเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักมากพอจะนำมาใช้ลงโทษจำเลย

สำหรับประเด็นที่ว่า เนื้อหาในซีดีและเอกสารวิกิลีกส์เป็นความผิดต่อกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากผู้เขียนไม่สามารถนำข้อความมาเปิดเผยต่อสาธารณะได้เพราะอาจเป็นการกระทำผิดซ้ำ เมื่อไม่มีข้อมูลเพียงพอต่อการคิดวิเคราะห์ ผู้เขียนจึงไม่สามารถวิเคราะห์วิจารณ์ประเด็นนี้ แต่ศาลซึ่งเป็นผู้พิจารณาคดีและมีอำนาจเข้าถึงข้อเท็จจริงประกอบการกระทำในคดีทุกอย่าง ไม่มีเหตุต้องอ้างอุดมการณ์ทางการเมืองมาเป็นหลักในการวินิจฉัย การจะพิจารณาว่าเนื้อหาในซีดีและเอกสารที่จำเลยขายเป็นความผิดหรือไม่ ศาลต้องวินิจฉัยตามองค์ประกอบของกฎหมายเป็นหลัก หากเป็นการใส่ความต่อบุคคลที่สาม เป็นเหตุให้ผู้ถูกใส่ความเสียหายก็ย่อมเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท หากเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีของผู้ถูกกล่าวหาก็ย่อมเป็นการดูหมิ่น และศาลเป็นผู้ที่มีทั้งอำนาจและหน้าที่ในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในส่วนนี้อยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องหยิบยกบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงในคดีขึ้นมากล่าวอ้างอีก

ผลเสียของการใช้อุดมการณ์สถาบันพระมหากษัตริย์มาอธิบายเหตุผลของคำพิพากษา ทั้งที่อ้างอิงผิดพลาดหรือตอบไม่ตรงคำถาม มีแต่เป็นการลากเอาความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้กลายมาเป็นเหตุในการลงโทษบุคคล ใช้อุดมการณ์ความเชื่อเป็นเหตุลงโทษคนที่ไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และอาจขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 77 เรื่องหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เสียเอง

ศาลยังกล่าวด้วยว่า "ไม่เพียงแต่ในกฎหมาย ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ให้ความเคารพสักการะเทิดทูนไว้เหนือเกล้าตลอดมาตั้งแต่โบราณ การกล่าววาจาจาบจ้วงล่วงเกิน เปรียบเปรย หรือเสียดสีให้เป็นที่ระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาทนั้นไม่สามารถทำได้" ประเด็นนี้ก็น่าตั้งคำถามด้วยว่า การอ้างถึงความรู้สึกนึกคิดของประชาชนในสังคม ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆ เพื่อประกอบการตีความกฎหมายและตัดสินคดีนั้น เป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่ เพราะความรู้สึกนึกคิดของประชาชนผูกพันกับประสบการณ์ของแต่ละยุคสมัย ซึ่งหากยึดตามความรู้สึกนึกคิดย่อมทำให้การตีความตัวบทกฎหมายเปลี่ยนแปลงได้ตามบรรยากาศของสังคม


ความผิดทางอาญา ต้องพิเคราะห์ที่ "เจตนา" ของจำเลย ไม่ใช่ความเข้าใจของ "วิญญูชน"
จำเลยและพยานจำเลยเบิกความยืนยันว่า เมื่อชมสารคดีในซีดีและอ่านข้อความในเอกสารที่จำเลยขายแล้วไม่รู้สึกว่าทำให้พระราชินี รัชทายาท เสียหาย เท่ากับ จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย

ศาลอาจจะเชื่อข้อกล่าวอ้างของจำเลยหรือไม่ก็ได้ แต่ที่น่าสนใจคือ ศาลวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาว่า

"จำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นหรือไม่ ต้องดูความเข้าใจของวิญญูชนทั่วไปที่ได้อ่านข้อความนั้น ไม่ใช่ตามความเข้าใจหรือความรู้สึกของจำเลย"

การพิจารณาความผิดในคดีอาญาซึ่งมีโทษเป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพนั้น ต้องพิจารณาเจตนาที่อยู่ภายในใจของจำเลยเป็นหลัก หากจำเลยไม่มีเจตนาก็ย่อมไม่มีความผิด การพิจารณาถึงเจตนาซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ภายในใจต้องดูจากพฤติการณ์ของการกระทำและองค์ประกอบแวดล้อมอื่นๆ หากศาลกล่าวอ้างถึงประวัติการศึกษา การทำงานของจำเลย วิธีการขายซีดีในวันเกิดเหตุ ประวัติการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง การแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีของจำเลยที่ผ่านมา ฯลฯ มาเป็นเหตุผลเพื่อชี้ถึงเจตนาภายในของจำเลย สิ่งเหล่านี้ถือเป็นพฤติการณ์แวดล้อมที่อาจนำมาใช้วิเคราะห์เจตนาได้ ดังเช่นที่ศาลวิเคราะห์ว่าจำเลยขายซีดีและเอกสารในที่ชุมนุมของกลุ่มแดงสยาม ช่วงที่นายสุรชัย แซ่ด่านถูกจับ ซึ่งถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 นั้น ศาลจึงตีความว่าจำเลยมีเจตนาให้ผู้รับสารรู้สึกเกลียดชัง กรณีนี้ ไม่ว่าจำเลยหรือผู้ใดจะเห็นด้วยกับการใช้ดุลพินิจของศาลหรือไม่ แต่อย่างน้อยศาลก็วิเคราะห์ตามหลักการการพิจารณาคดี

แต่การที่ศาลอ้างว่า การพิจารณาเจตนาของจำเลยไม่อาจพิจารณาตามความเข้าใจของจำเลยได้ แต่ต้องดูความเข้าใจของ "วิญญูชน" นั้น การวินิจฉัยเช่นนี้ขัดต่อหลักความรับผิดทางอาญาของจำเลยอย่างร้ายแรง

คดีนี้ฝ่ายโจทก์ไม่ได้นำสืบถึงความเข้าใจของ "วิญญูชน" เลย คือไม่นำสืบบุคคลทั่วไปหรือผู้เชี่ยวชาญว่า เมื่อได้ชมสารคดีในซีดีและอ่านข้อความในเอกสารแล้วรู้สึกอย่างไร มีเพียงปากคำของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ตัดสินใจดำเนินคดี ซึ่งย่อมไม่ใช่ตัวแทนของวิญญูชน การกล่าวอ้างความเข้าใจของ "วิญญูชน" ในคำพิพากษา จึงเป็นความเข้าใจตามมาตรฐาน "ส่วนตัว" ของผู้พิพากษาในคดีนี้เท่านั้น ในเมื่อศาลเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยอยู่แล้ว ศาลจึงควรแสดงออกถึงมาตรฐานนี้ด้วยการวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่มีอยู่ปรับให้เข้ากับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยกล่าวไว้ในคำพิพากษาให้ชัดเจนว่า เนื้อหาส่วนใดในซีดีและเอกสารที่ทำให้พระราชินีและรัชทายาทเสื่อมเสีย และเสื่อมเสียอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ศาลควรทำแต่ก็ไม่ได้ทำ กลับอ้างความเข้าใจของ "วิญญูชน" ขึ้นมาลอยๆ ทั้งที่ไม่มีหลักวิชาการใดทางกฎหมายรองรับ

การพิจารณามาตรฐานของ "วิญญูชน" นั้น เป็นหลักการที่ปรากฏในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันเกี่ยวข้องกับเรื่องทรัพย์สิน เช่น มาตรฐานการดูแลทรัพย์สินที่รับฝาก มาตรฐานการจัดการทรัพย์สินแทนผู้เยาว์ มาตรฐานการใช้ความระมัดระวังก่อนตกลงทำสัญญา ฯลฯ หากมีข้อพิพาทระหว่างบุคคลสองฝ่ายว่าอีกฝ่ายหนึ่งทำหน้าที่ด้วยความระมัดระวังเพียงพอแล้วหรือไม่ ฝ่ายหนึ่งคงกล่าวอ้างว่าตนทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว แต่ฝ่ายที่เสียหายคงกล่าวอ้างว่า ยังใช้ความระมัดระวังไม่เพียงพอ จึงต้องใช้มาตรฐานความระมัดระวังเยี่ยง "วิญญูชน" มาเป็นมาตรฐานในการตัดสิน ซึ่งมาตรฐานนี้แม้จะไม่ชัดเจนแต่ก็เป็นมาตรฐานระดับกลางๆ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงแวดล้อมของกรณีนั้นๆ แต่ไม่ใช่การก้าวล่วงเข้าไปกล่าวว่าภายในจิตใจของแต่ละคนคิดอย่างไร

แต่หลักการในคดีอาญานั้นแตกต่างกัน เพราะเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพของจำเลย ไม่ใช่ข้อพิพาททางทรัพย์สิน ความรับผิดของจำเลยในคดีอาญาต้องพิจารณาที่ "เจตนา" ของจำเลย ด้วยเหตุนี้ คำว่ามาตรฐานของ "วิญญูชน" จึงไม่ปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายอาญาเลย และไม่ใช่หลักการของกฎหมายอาญา หากจำเลยกล่าวอ้างว่าตนไม่มีเจตนา โจทก์ไม่ได้นำสืบจนปราศจากข้อสงสัย และศาลไม่เห็นพฤติการณ์แวดล้อมอื่นๆ ที่ส่อให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยได้ การจะอ้างอิงหลักในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มากล่าวว่า ตามความเข้าใจของ "วิญญูชน" ทั่วไปจำเลยย่อมมีความผิด จำเลยจึงมีความผิดนั้นเป็นการให้เหตุผลที่ไม่ถูกต้อง


การขายซีดีที่อาจเข้าข่ายหมิ่นฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำครั้งเดียวจึงเป็นความผิดกรรมเดียว
คดีนี้ศาลวิเคราะห์เพียงสั้นๆ ว่า "...การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91"

ศาลไม่ได้ให้เหตุผลประกอบเลยว่า การขายซีดีเป็นการกระทำหลายกรรมอย่างไร ในเมื่อการกระทำที่ถูกฟ้องเป็นการขายซีดีในครั้งเดียวกัน วันเดียวกัน แผ่นเดียวกัน โดยจำเลยมีหนึ่งเจตนา แต่ศาลกลับวินิจฉัยว่าเป็นความผิดหลายกรรมต้องลงโทษทุกกรรมทั้งสองฐานความผิด

คดีนี้ ศาลอาจวินิจฉัยไปตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 3218/2549 และคำพิพากษาอื่นๆ ทำนองเดียวกัน ซึ่งเป็นกรณีพรากผู้เยาว์ไปทำอนาจาร ศาลวินิจฉัยไว้ว่าการพรากผู้เยาว์กับการทำอนาจารนั้นเป็นความผิดคนละกรรม เพราะความผิดฐานพรากผู้เยาว์เป็นความผิดต่ออำนาจปกครองของบิดามารดา ส่วนความผิดฐานทำอนาจารเป็นความผิดต่อตัวผู้เยาว์เอง กฎหมายมุ่งคุ้มครองผู้เสียหายที่ต่างกัน การกระทำของจำเลยจึงมีหลายเจตนาแยกต่างหากจากกัน เป็นความผิดหลายกรรม ต้องลงโทษทุกกรรมแยกเป็นกระทงความผิดไป

แต่ที่ฎีกา 3218/2549 ลงโทษจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันนั้น ไม่ใช่เพียงเพราะกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีวัตถุประสงค์คุ้มครองผู้เสียหายที่ต่างกันเท่านั้น แต่ยังมี "การกระทำ" ที่เกิดขึ้นหลายครั้งด้วย คือ มีทั้งความผิดฐานพรากผู้เยาว์ ซึ่งความผิดสำเร็จเมื่อมี "การพราก" และ ความผิดฐานอนาจารซึ่งความผิดสำเร็จเมื่อมี "การทำอนาจาร" ที่อาจเกิดต่างบริบทต่างเวลากัน พอจะสามารถแยกออกจากกันได้ เมื่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องคุ้มครองผู้เสียหายต่างกัน จึงมองว่าเป็นความผิด "หลายกรรม" หรือหลายการกระทำได้

ข้อเท็จจริงตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น ต่างจากข้อเท็จจริงในคดีของนายเอกชัย เพราะความผิดฐานหมิ่นประมาทพระราชินี หรือรัชทายาท จะเป็นความผิดสำเร็จก็ต่อเมื่อข้อความที่หมิ่นฯ นั้นถูกเผยแพร่ออกไปยังบุคคลที่สามแล้ว และความผิดฐานจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาตจะเป็นความผิดสำเร็จก็ต่อเมื่อมีการ "จำหน่าย" สำเร็จสมบูรณ์แล้วเท่านั้น หากจำเลยเพียงแค่ดาวน์โหลดข้อมูลมาไรท์ลงแผ่นซีดี ย่อมไม่เป็นความผิดทั้งสองฐาน กรณีของนายเอกชัยนั้น ความผิดทั้งสองฐานจะสำเร็จเป็นความผิดพร้อมกันด้วยการกระทำเดียวกันคือ เมื่อจำเลย "จำหน่าย" ซีดีไปยังบุคคลที่สามแล้ว ดังนั้นข้อเท็จจริงในคดีนี้จึงต่างจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3218/2549 จึงไม่สามารถนำหลักในคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับดังกล่าวและฉบับอื่นๆ ทำนองเดียวกันนั้นมาปรับใช้ได้

แม้ข้อหาตามคำฟ้องในคดีนี้ทั้งสองข้อหา จะมุ่งคุ้มครองคุณธรรมคนละประการ กล่าวคือ ความผิดฐานจำหน่ายซีดีโดยไม่ได้รับอนุญาตมุ่งคุ้มครองจัดระเบียบการประกอบธุรกิจ ส่วนความผิดตามมาตรา 112 มุ่งคุ้มครองพระเกียรติยศของพระราชินี และรัชทายาท แต่เมื่อการกระทำของจำเลยที่ถูกฟ้องเป็นคดีนี้ คือ การ "จำหน่าย" เป็นการกระทำในทางกายภาพเพียงครั้งเดียวจริงๆ จึงมองไม่เห็นเหตุที่จะนับว่าเป็นการกระทำความผิด "หลายกรรม" ต่างกันตามคำพิพากษาในคดีนี้ได้เลย หากวินิจฉัยโดยชอบแล้วว่าเป็นความผิด การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ศาลต้องลงโทษบทหนักที่สุด คือ มาตรา 112 เพียงบทเดียว ไม่สามารถลงโทษจำเลยในความผิดฐานจำหน่ายซีดีโดยไม่ได้รับอนุญาตอีก


จำเลยจำหน่ายซีดี "ภาพยนตร์" ไม่ใช่ "วีดิทัศน์" และไม่ได้ประกอบธุรกิจ
การที่ศาลวินิจฉัยในคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานประกอบธุรกิจจำหน่ายวีดิทัศน์หรือซีดีโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 54 นั้นเป็นการปรับบทกฎหมายที่ผิดโดยชัดแจ้ง

ประการที่หนึ่ง ตามความเข้าใจของคนทั่วไปอาจเรียกแผ่นซีดีว่า "วีดิทัศน์" แต่ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 กำหนดคำนิยามเอาไว้ ว่า

"ภาพยนตร์" หมายความว่า วัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่รวมถึงวีดิทัศน์

"วีดิทัศน์" หมายความว่า วัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องในลักษณะที่เป็นเกมการเล่น คาราโอเกะที่มีภาพประกอบหรือลักษณะอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง"

แผ่นซีดีตามฟ้องในคดีนี้บรรจุสารคดีภาพเคลื่อนไหวที่มีทั้งภาพและเสียงของสำนักข่าวเอบีซี ออสเตรเลีย เกี่ยวกับการเมืองไทยและกฎหมายอาญามาตรา 112 สามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ชมสามารถชมได้อย่างเดียว ไม่สามารถตอบโต้ได้ ไม่มีลักษณะเป็นเกมการเล่นหรือคาราโอเกะหรือสิ่งอื่นใดที่มีลักษณะคล้ายกัน ดังนั้น ในคดีนี้ จำเลยจำหน่ายแผ่นซีดีบรรจุ "ภาพยนตร์" ไม่ใช่ "วีดิทัศน์"

การที่ศาลสั่งลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 54 ประกอบมาตรา 82 ฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน โดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นการปรับใช้กฎหมายที่ผิด เพราะเป็นมาตราที่เกี่ยวข้องกับวีดิทัศน์เท่านั้น หากตีความตามกฎหมายต้องลงโทษจำเลยฐานจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 38 ซึ่งว่าด้วยการประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน ซึ่งจะมีผลให้โทษต่างกัน

ประการที่สอง การกระทำของจำเลยซึ่งขายซีดีแผ่นละ 20 บาท ขายมาเพียงแค่สองครั้ง โดยวิธีการขายไม่มีการตั้งร้านแต่เอาซีดีใส่กระเป๋าแล้วเดินขาย ซึ่งจำเลยต่อสู้คดีว่าตนมีเจตนาจะเผยแพร่ข้อมูลมากกว่าหารายได้จากการขาย และในการชุมนุมทางการเมืองตามปกติก็มีการวางขายซีดีเป็นจำนวนมากโดยไม่มีใครต้องขออนุญาต การกระทำของจำเลยย่อมไม่อาจถือว่าเป็นการ "ประกอบกิจการ" ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ จำเลยจึงไม่ควรจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ไม่ว่าจะตามมาตรา 38 หรือ 54 ก็ตาม

พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 เป็นกฎหมายฉบับหนึ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากในสังคม จากกรณีที่เป็นข่าวว่าคนเก็บขยะเก็บซีดีเก่าแล้วนำไปขายโดยไม่ขออนุญาต ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 38 ประกอบ มาตรา 79 เช่นเดียวกับจำเลยในคดีนี้ และศาลลงโทษปรับ 200,000 บาท จำเลยรับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือปรับ 100,000 บาท ซึ่งกรณีดังกล่าวเคยสร้างแรงสั่นสะเทือนให้สังคมเห็นแล้วว่ากฎหมายนี้ควรถูกแก้ไข ดังนั้นในระหว่างที่กฎหมายยังไม่ได้รับการแก้ไข ศาลจึงไม่ควรบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างเคร่งครัดจนเกินไปและควรตีความในทางที่เป็นประโยชน์กับสิทธิเสรีภาพของจำเลย

คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งเพราะเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา 112 เกี่ยวเนื่องกับสำนักข่าวของประเทศออสเตรเลีย และข้อมูลจากเว็บไซต์ชื่อดังอย่างวิกิลีกส์ อีกทั้งยังเป็นคดีอาญาที่ผลของคำพิพากษาจำกัดสิทธิของจำเลยโดยตรง ข้อสังเกตต่างๆ ที่กล่าวมานี้จึงมุ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาการตีความกฎหมายและการจำกัดเสรีภาพของประชาชนที่อาจตามมา หากยึดคำพิพากษาข้างต้นเป็นแนวทางในการวินิจฉัยคดีความต่างๆ ต่อไป

 

 

อ้างอิง: คดีนายเอกชัย คนขายซีดีสารคดีเอบีซีและเอกสารวิกิลีกส์
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://freedom.ilaw.or.th/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น