โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

'เอฟทีเอ ว็อทช์' จี้แก้ม. 190 เตือนกระทบประชาชน

Posted: 01 Apr 2013 10:31 AM PDT

ระบุแสดงความไม่เป็นประชาธิปไตยและขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนและฝ่ายนิติบัญญัติ ร้องผู้เสนอแก้ไขกม.​ชี้แจงรายละเอียดต่อสาธารณะให้ชัดเจน 

 

1 เม.ย. 56 - กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ เอฟทีเอ ว็อทช์ ออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญม.190 ว่าด้วยการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ของนายประสิทธิ์ โพธิสุธน ร่วมกับส.ว. และส.ส. 314 คน โดยตัดสาระสำคัญของมาตราดังกล่าวโดยเฉพาะลักษณะหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่เข้าข่ายต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ เห็นว่า จะเป็นการตัดช่องทางที่ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรง และเรียกร้องให้ผู้เสนอร่างการแก้ไข ชี้แจงโดยละเอียดกับสาธารณชนให้เร็วที่สุด
 
0000
 
แถลงการณ์ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์)
 
"แก้รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตยต้องไม่ถดถอย ประชาชนไม่ถูกเบียดขับ บทพิสูจน์มาตรา 190"
 
ตามนายประสิทธิ โพธิสุธน ได้ร่วมกับสมาชิกวุฒิสภาและ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 314 คน เสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190 ว่าด้วยการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ โดยตัดสาระสำคัญของมาตราดังกล่าวโดยเฉพาะลักษณะหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่เข้าข่ายต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา กล่าวคือ หนังสือสัญญาที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ, หนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต่อจากนี้ไป ไม่ต้องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภานั้น
 
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ เอฟทีเอ ว็อทช์ เห็นว่า การแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญนั้นสามารถทำได้ แต่ต้องไม่ทำให้หลักการประชาธิปไตยถดถอย และต้องดำเนินการอย่างเปิดกว้างและมีส่วนร่วมจากประชาชน
 
ที่ผ่านมา มาตรา 190 เกิดขึ้นมาเนื่องจากปัญหาที่สะสมอย่างยาวนานจากการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่แสดงอย่างชัดเจนถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยและขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนและฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่เพียงแต่นักวิชาการเท่านั้นแต่ภาคประชาสังคมในวงกว้างก็มีจุดยืนต้องการเห็นกระบวนการที่ สะท้อนความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้นโดยตั้งอยู่บน 3 หลักการสำคัญ คือ 1. บทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติ 2.ความโปร่งใส-ตรวจสอบได้ และ 3. การมีส่วนร่วมของประชาชน โดยไม่ลดทอนประสิทธิภาพการเจรจา
 
อย่างไรก็ตามสาระของ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190 ของ ส.ว.และ ส.ส. 314 คน ดังกล่าว เป็นการทำลายกระบวนการประชาธิปไตยซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมไทย ถึงแม้ในร่างแก้ไขฯ จะเขียนให้ออกกฎหมายลูก ภายใน 1 ปีและเขียนรายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล ก็ไม่มีความหมายใดๆ เพราะไม่มีข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญต้องรับฟังหรือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ อีกทั้ง หนังสือสัญญาที่มีผลผูกพันทางงบประมาณ ผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง ก็จะไม่เข้าข่าย จึงเท่ากับเป็นเขียนหลอกประชาชนให้รู้สึกดีขึ้น น่าเป็นห่วงว่า ส.ส.จากรัฐบาลทั้งที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนกลับมีทัศนะรังเกียจการมีส่วนร่วมของประชาชน เข้าข่ายเป็นประชาธิปไตยถดถอย
 
การเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ในสาระเช่นนี้ จะเป็นการสร้างอำนาจผูกขาดให้กับฝ่ายบริหาร โดยปิดพื้นที่ประชาธิปไตยทางตรงที่ประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วม และตัดบทบาทของรัฐสภาออกไปโดยเกือบสิ้นเชิง ทั้งๆ ที่เมื่อครั้งรัฐบาลประชาธิปัตย์ เสนอกฎหมายลูกเข้าสู่สภาเมื่อ พ.ค.2553 ส.ส.พรรคเพื่อไทยเคยวิพากษ์ในสภาอย่างเผ็ดร้อน ถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยของพรรคประชาธิปัตย์ รัฐบาลในขณะนั้น ที่ตัดหนังสือสัญญาเงินกู้ ไม่เข้าข่ายมาตรา 190 จนทำให้รัฐบาลในขณะนั้น ต้องถอนร่างกฎหมายลูกในที่สุด
 
ข้อกล่าวหาที่ว่า มาตรา 190 ทำให้การเจรจาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศต่างๆ ล่าช้านั้น เป็นการกล่าวหาที่เลื่อนลอย  ไม่เป็นความจริง จากงานศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ว่า หากมีการตราพระราชบัญญัติตามมาตรา 190 ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะสามารถแก้ไขและคลี่คลายข้อจำกัดที่มีอยู่ นอกจากนี้ยังสามารถแก้ไขปัญหาการใช้มาตรา 190 มาเป็นอาวุธทิ่มแทงพรรครัฐบาลได้ แต่ความเป็นจริงนี้ไม่พูดถึง เนื่องจากแท้ที่จริงชนชั้นนำทุกฝ่ายต้องการฉวยโอกาสเบียดขับประชาชนออกไปจากพื้นที่ทางนโยบาย
 
ดังนั้น กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ เอฟทีเอ ว็อทช์ ขอให้ทุกฝ่ายมองเรื่องมาตรา 190 ว่า ไม่ใช่การช่วงชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างพรรคหรือการขับเคี่ยวกับฝ่ายค้าน แต่เป็น การต่อสู้ระหว่างประชาชนกับชนชั้นนำทุกฝ่ายที่สมประโยชน์กัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ ดังนั้นเรื่องนี้เป็นผลประโยชน์ส่วนรวมที่จะกระทบกับประชาชนโดยตรงในวงกว้าง จึงขอเรียกร้องให้ผู้เสนอแก้ไขมาตรา 190 ออกมาชี้แจงโดยละเอียดและแลกเปลี่ยนกับภาคประชาชนในที่สาธารณะโดยเร็วที่สุด
 
ทั้งนี้ การแก้ไขหรือปรับปรุงรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิที่ประชาชนชาวไทย หรือผู้แทนปวงชนชาวไทยย่อมกระทำได้ภายใต้หลักการประชาธิปไตย และด้วยเจตจำนงค์ที่จะผลักดันให้รัฐธรรมนูญเป็นกรอบการปกครองเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาล และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่ควรผูกขาดแค่ในรัฐสภาเพียงองค์กรเดียว เนื่องจากฝ่ายการเมืองเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง การแก้ไขจึงไม่ควรเป็นเรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นกระบวนการแก้ไขและปรับปรุงรัฐธรรมนูญ จะต้องมีกระบวนการที่ชัดเจน ในการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะต้องประกอบไปด้วย ตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ทั้งนักวิชาการ กลุ่มประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญนี้จะต้องจัดให้มีการศึกษาอย่างรอบคอบและจัดรับฟัง ความคิดเห็นประชาชนเจ้าของประเทศอย่างกว้างขวางและทั่วถึงในทุกภูมิภาค รวมทั้งนำความคิดเห็นนั้นมาประกอบกับเนื้อหาการแก้ไขฯ เพื่อให้รัฐสภามีมติต่อไป ทั้งนี้ นอกจากนี้ หากการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการปรับเปลี่ยนในสาระสำคัญจะต้องจัด ให้มีการลงประชามติรายมาตรา
 
เมื่อดำเนินการเช่นนี้แล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นที่ยอมรับได้ มิเช่นนั้นจะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและสังคมต่อไปได้
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ปัญหาแบ่งแยกดินแดนภาคใต้

Posted: 01 Apr 2013 09:09 AM PDT

 

ในวันที่ ๒๘ มีนาคม นี้ จะมีการเปิดเจรจาที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ระหว่างฝ่ายรัฐบาลไทยกับตัวแทนของฝ่ายบีอาร์เอ็น.เพื่อแก้ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งแม้ว่า โอกาสที่สถานการณ์ในภาคใต้คืนสู่ความสงบสันติจะยังไม่ง่ายนัก เพราะปัญหาความขัดแย้งยืดเยื้อมาเป็นเวลาช้านาน แต่การเจรจานี้ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี อย่างน้อยก็น่าจะดีกว่าการใช้วิธีการปราบปรามทางการทหารแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งแก้อะไรไม่ได้ และสร้างปัญหามานานแล้ว

บีอาร์เอ็น คือชื่อย่อของ ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๓ และทำการต่อสู้เพื่อเอกราชของปาตานีมาเป็นเวลานาน และเคยเป็นองค์กรนำในการตั้งกองกำลังอาวุธต่อสู้เพื่อแยกดินแดนในระยะหลัง พ.ศ.๒๕๑๐ แม้ว่าต่อมา จะเกิดความแตกแยกภายในองค์กร และอิทธิพลในการต่อสู้ลดลงมาก แต่ทางฝ่ายรัฐบาลไทยก็ยังเห็นว่า บีอาร์เอ็นยังเป็นองค์กรสำคัญอันหนึ่งที่จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์

การเจรจานี้เริ่มต้นอย่างไม่เป็นทางการครั้งแรกมาแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลมาเลเซียมีส่วนช่วยประสานงานให้เกิดการพูดคุยระหว่างทั้งสองฝ่าย ฝ่ายไทยนั้นมี พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นตัวแทน ส่วนฝ่ายขบวนการปาตานี มี นายฮัสซัน ตอยิบ เป็นตัวแทน และบรรลุข้อตกลงที่จะเปิดพื้นที่แห่งการเจรจาให้มีการ"พบกันครึ่งทาง"เพื่อแสวงหาแนวทางสู่สันติภาพ ดังนั้น การดำเนินการนี้ จึงได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย เพราะเห็นว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นและยืดเยื้อมานานกว่า ๙ ปี สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมาก แม้กระทั่งองค์การการประชุมอิสลาม หรือ โอไอซี. ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศของประเทศอิสลาม ๕๗ ประเทศ ก็ยังแสดงท่าทีสนับสนุนการเจรจาครั้งนี้

แต่กระนั้น ความพยายามในการแก้ปัญหาด้วยการเจรจาครั้งนี้ ถูกตั้งข้อสงสัยและคัดค้านจากภายในประเทศ โดยข้อโจมตีก็มีตั้งแต่รัฐบาลไปเปิดเจรจากับโจรซึ่งไม่ถูกต้อง หรือโจมตีว่า บีอาร์เอ็นไม่ใช่ตัวจริงที่อยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายในสามจังหวัด เพราะกลุ่มที่มีส่วนก่อการมีอย่างน้อย ๙ กลุ่ม การเปิดเจรจากับกลุ่มเดียวจึงไม่ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ แต่ที่สำคัญที่สุด คือพรรคประชาธิปัตย์ได้คัดค้านการเจรจา โดยอ้างว่า การเจรจาจะเป็นการรับรององค์การก่อการร้าย และจะปูทางไปสู่การแบ่งแยกดินแดน เช่นเดียวกับไอร์แลนด์แยกตัวจากอังกฤษ และปาเลสไตน์แยกตัวจากอิสราเอล

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อ้างว่า พรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วยในเชิงหลักการในการแสวงหาสันติในภาคใต้ แต่ต้องเป็นไปตามแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ คือ "ยึดหลักความเป็นธรรม หลักนิติรัฐ และหลักรัฐธรรมนูญ เป็นตัวตั้ง" นอกจากนี้ ยังห่วงเรื่องร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชน ท้องถิ่น และพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งซ้ำซ้อนกับการทำงานของ ศอ.บต. ทำให้เกิดการเบิกเงินซ้ำซ้อน ผิดประเภท ขาดวินัย และอาจเกิดช่องว่างให้มีการทุจริต เพราะตรวจสอบยาก ออกนอกกรอบงบประมาณ ซึ่งทำให้มีการใช้เงินผิดประเภท หรือไปใช้หาเสียงเกินขอบเขต จึงอยากฝากข้อเสนอเหล่านี้ไปยังรัฐบาลให้ทบทวน

นอกเหนือจากนี้ ก็คือ นายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ที่เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ก็อธิบายว่า การเจรจาระหว่างรัฐบาลกับบีอาร์เอ็น เป็นการดำเนินการกันเอง โดยไม่เคยรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการความยุติธรรม การแก้ปัญหายาเสพติด และการแก้ปัญหาปากท้อง มากยิ่งกว่า และอธิบายว่า บีอาร์เอ็น.นั้นต้องการที่จะแยกสามจังหวัดเป็นนครรัฐปัตตานี แต่สำหรับประชาชนสามจังหวัด เรื่องการปกครองตัวเองมีความสำคัญในอันดับท้าย เพราะประชาชนไม่เข้าใจว่าจะเป็นในรูปแบบใด การจะจัดรูปแบบการปกครองพิเศษ ต้องคำนึงถึงความหลากหลายของประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีทั้งไทยพุทธและมุสลิม จึงต้องมีพื้นที่ให้กับชาวไทยพุทธด้วย

ความจริงแล้ว ปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้มีที่มาจากทั้งรากฐานทางประวัติศาสตร์ และปัญหาปัจจุบัน ซึ่งทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะส่วนหนึ่งมาจากอคติหรือความโน้มเอียงทางการเมืองที่ถูกสร้างกันมาเป็นเวลานานว่า คนมลายูมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้เป็นพวกที่ไว้ใจไม่ได้ ต่อต้านการปกครองของไทย สนับสนุนการก่อการร้าย และยังมีผู้ที่ไร้เดียงสาถึงขนาดเสนอว่า ถ้าชาวมลายูมุสลิมเหล่านี้ ไม่รักชาติไม่อยากเป็นคนไทย ก็ให้ย้ายไปอยู่ประเทศอื่น แทนที่จะมาก่อการร้ายกันแบบนี้ ด้วยอคติเช่นนี้ จึงมีคนอีกไม่น้อยที่เห็นว่า ภารกิจของทหารไทยที่เข้าไปปฏิบัติการในสามจังหวัดภาคใต้ คือ การช่วยเหลือประชาชน และสนับสนุนให้ใช้การกำลังในการปราบปราม"โจรใต้"ให้ราบคาบ

แต่ที่เราไม่ทราบกัน ก็คือปัญหาจริงในทางประวัติศาสตร์ว่า ปาตานีนั้นเป็นอาณาจักรอิสระ มีสุลต่านของตนเองปกครองมานาน เป็นอาณาจักรอิสลามที่มีภาษาของตนเอง ไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรไทย และไม่เคยใช้ภาษาไทย อาณาจักรนี้เพิ่งจะถูกโจมตีบังคับเข้าเป็นรัฐบรรณาการของสยามในสมัยรัชกาลที่ ๑ นี้เอง

จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่มีการรวมศูนย์อำนาจการปกครอง ก็ได้ยกเลิกสถานะของสุลต่านหัวเมืองเหล่านี้ และเมื่อสุลต่านปัตตานีมีท่าทีคัดค้าน พระองค์ก็ได้ใช้นโยบายเรือปืนปิดอ่าวปัตตานี แล้วจับกุมตัวสุลต่านนำไปขังที่พิษณุโลก แล้วผนวกดินแดนปัตตานีทั้งหมดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม จนในที่สุด อดีตสุลต่านที่ได้รับการปล่อยตัว ก็ต้องไปลี้ภัยตลอดชีวิตที่มลายา

ในสมัยต่อมา รัฐบาลกลางของประเทศไทยยังได้ใช้มาตรการบังคับอีกหลายประการที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง เช่น ส่งข้าราชการจากส่วนกลางที่ไม่รู้เรื่องมลายูมุสลิมไปปกครอง เอาการศึกษาแบบตะวันตกที่แอบแฝงการสอนศาสนาพุทธไปเผยแพร่ และต่อมา หลัง พ.ศ.๒๔๙๐ ก็เริ่มใช้ความรุนแรงในการจัดการสังหารผู้นำท้องถิ่นที่มีความคิดแตกต่างจากส่วนกลาง สถานการณ์เหล่านี้ทำให้การต่อต้านส่วนกลางขยายตัว รัฐบาลกลางก็แก้ปัญหาโดยการเพิ่มการติดตั้งทหารตำรวจเข้าไปปราบปราม ซึ่งยิ่งทำให้ความไม่เข้าใจกันเพิ่มทวีมากขึ้น

ในช่วงหลัง พ.ศ.๒๕๒๐ ความขัดแย้งผ่อนคลายลงชั่วขณะ เพราะรัฐบาลสมัยนั้น พยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีการทางการเมือง ผ่อนปรนต่อสถานการณ์ และใช้มาตรการนิรโทษกรรมให้ฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลมาใช้ชีวิตแบบปกติได้ สถานการณ์ค่อนข้างราบรื่นมาจนถึงวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๗ ที่เกิดกรณีปล้นปืนที่ค่ายปีเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง นราธิวาส ซึ่งในขณะนี้ ก็ยังไม่มีคำอธิบายเหตุการณ์นี้ได้ชัดเจน แต่กรณีนี้กลายเป็นจุดเริ่มของความขัดแย้งครั้งใหม่ หลังจากการจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาลกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดกรณีการสังหารประชาชน เช่น เหตุการณ์มัสยิดกรือเซาะ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๗ และตามมาด้วยกรณีตากใบ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๗ ความผิดพลาดเหล่านี้กลายเป็นร้อยร้าวที่ยากจะประสาน และทำให้ความรุนแรงขยายตัว รัฐบาลกลางก็แก้ปัญหาโดยการนำกำลังทหารและตำรวจติดตั้งในพื้นที่เพิ่มเติม และประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อให้อำนาจพิเศษแก่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการ ก็ยิ่งทำให้ความขัดแย้งแก้ไขได้ยากมากขึ้น

ตั้งแต่แรกที่เกิดความขัดแย้ง ก็มีนักคิดและนักวิชาการที่เสนอทางเลือกอื่นในการแก้ไขปัญหา เช่น การใช้แนวทางสันติวิธี แทนที่จะเพิ่มทหารก็ให้มีการถอนทหารจากพื้นที่ และให้สิทธิอัตวินิจฉัยตนเองแก่สามจังหวัดภาคใต้ และอาจจะเป็นจุดเริ่มของการให้สิทธิปกครองตนเองแก่จังหวัดอื่นทั่วประเทศ ตลอดจนข้อเสนอที่จะให้ปัตตานีเป็นเขตปกครองพิเศษ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า รัฐไทยมีกรอบความคิดอันแข็งตัวมากเกินกว่าที่จะรับข้อเสนอเหล่านี้ สถานการณ์จึงลุกลามและสลับซับซ้อนจนแก้ไขได้ยาก

ดังนั้น การเปิดเจรจาครั้งนี้ อย่างน้อยก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นอันดีแห่งความหวังที่จะนำมาซึ่งสันติภาพในระยะยาว ในที่นี้จะขอจบด้วยการโฆษณาว่า หนังสือเล่มหนึ่งที่จะช่วยทำความเข้าใจกับความเป็นมาของปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ได้ดี คือเรื่อง "ความเป็นมาของทฤษฏีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทย"(๒๕๔๙) โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ซึ่งอยากชวนให้อ่านเพื่อเพิ่มมุมมองสำหรับปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ให้ชัดเจนขึ้น

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

จากโลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ ๔๐๕ วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๖

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คปก.ชี้จุดต่างเทียบ 3 ร่างกม.ด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ

Posted: 01 Apr 2013 09:03 AM PDT

เผยร่างฯ รัฐบาลมีช่องโหว่กำหนดข้อยกเว้น "เลือกปฏิบัติ" เสี่ยงขัดหลักสิทธิมนุษยชน ระบุทั้งที่มาคณะกรรมการ, ความเป็นอิสระ และบทลงโทษยังมีปัญหา 

 

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2556 คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดการสัมมนา "เปรียบเทียบ 3 ร่างกฎหมายด้านเสมอภาคระหว่างเพศ" ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น
 
คปก.เผยปฏิรูปกม.สอดคล้องรธน. ดันกม.เสมอภาคระหว่างเพศฉบับปชช.
 
รศ.วิระดา สมสวัสดิ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย และประธานคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ เปิดเผย "บทบาทของคปก.เกี่ยวกับการขับเคลื่อนกฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ" ว่า คปก.มีบทบาทสำคัญในการสำรวจ ศึกษา และวิเคราะห์ทางวิชาการ ตลอดจนปรับปรุงและพัฒนากฎหมายของประเทศ รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน นอกจากนี้มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอความเห็นและข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง โดยอาจจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงาน และประชาชนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
 
รศ.วิระดา กล่าวอภิปรายเปรียบเทียบข้อแตกต่างของ 3 ร่างกฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศที่มีอยู่ในปัจจุบันว่า ขณะนี้มีร่างพ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับความเสมอภาคระหว่างเพศจำนวน 3 ฉบับที่สำคัญ โดยอยู่ระหว่างรอบรรจุวาระในรัฐสภา คปก.โดยคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ จึงได้จัดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับความเสมอภาคระหว่างเพศ ทั้งนี้เนื่องจากเห็นว่า ความเสมอภาคระหว่างเพศและการไม่ถูกเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตยที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้รวมถึงบัญญัติให้มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ
 
ชี้จุดต่าง "เลือกปฏิบัติ" ร่างฯ รัฐบาลระบุข้อยกเว้น เสี่ยงขัดหลักสิทธิมนุษยชน
 
รศ.วิระดา กล่าวว่า ในร่างฯฉบับคปก.ได้ให้คำนิยามเรื่อง "เพศ" หมายถึง ความเป็นหญิง ความเป็นชาย ที่ถูกกำหนดโดยสรีระ หรือความประสงค์ของเจ้าของสรีระนั้น และยังหมายรวมถึงเพศภาวะและเพศวิถีด้วย ฉะนั้นร่างฯ ฉบับนี้จะให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ โดยต้องการส่งเสริมโอกาสและความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ กล่าวคือ องค์กร หน่วยงาน ที่กำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์จะต้องไม่เลือกปฏิบัติจะต้องส่งเสริมให้บุคคลเข้าถึงสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน
 
รศ.วิระดา กล่าวว่า ประเด็นที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก คือ เรื่องการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ โดยในร่างฯฉบับคปก. ระบุว่า เป็นการกระทำหรือไม่กระทำการใดอันเป็นการแบ่งแยก การกีดกัน การไม่ยอมรับ การจำกัดหรือทำให้เสียสิทธิประโยชน์ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเพราะเหตุแห่งเพศ แต่ในร่างฯ ฉบับรัฐบาล ได้เพิ่มเติมไปว่า โดยปราศจากความชอบธรรมเพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลทางวิชาการ ทางศาสนา หรือประโยชน์สาธารณะ จะเห็นว่าถ้อยคำดังกล่าวไม่ชัดเจนว่ากรณีดังกล่าวนั้นเป็นอย่างไร  ดังนั้นข้อยกเว้นนี้จึงเป็นความแตกต่างที่สำคัญที่ทำให้ประชาชนร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ และคปก.ได้ยืนยันตามร่างฯ ฉบับประชาชน เพราะจะเห็นว่าในข้อยกเว้นดังกล่าวนี้อาจขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและขัดต่อหลักประชาธิปไตย  
 
"สาระสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ประเด็นเรื่องที่มาของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในร่างฯ คปก.มาจากการสรรหา ซึ่งมีขั้นตอนที่แสดงให้เห็นว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ขณะที่ร่างฯรัฐบาล กำหนดให้มาจากคณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง นอกจากนี้ประเด็นเรื่องที่มาของคณะกรรมการวินิจฉัย คปก.ระบุว่าต้องมาจากการสรรหาจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศขณะที่ร่างฯของรัฐบาลมาจากรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งตรงจุดนี้ยังมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน"
 
ร่างฯ รัฐบาลระบุบทลงโทษ – ที่มาเงินทุนไม่ชัดเจน คปก.เห็นต่างให้สำนักงานเป็นนิติบุคคล
 
รศ. วิระดา กล่าวด้วยว่า กรณีบทกำหนดโทษ ในร่างฯ คปก.ระบุ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 360,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีการเพิ่มโทษหากเป็นกรณีที่เป็นการกระทำแก่ผู้สืบสันดาน ศิษย์ ลูกจ้าง ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ผู้มีหน้าที่ให้บริการตามวิชาชีพ และผู้อยู่ในความปกครอง ขณะที่บทกำหนดโทษในร่างฯรัฐบาล เป็นเพียงการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ วลพ. ตามมาตรา 20(1) และ 22 (2) เท่านั้น เช่นเดียวกับกรณีกองทุนฯ ในร่างฯ คปก.กำหนดเป็นร้อยละ 1 ของงบประมาณแผ่นดิน เป็นทุนใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ดังนั้นทุนที่จะใช้จ่ายจำเป็นต้องมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน ไม่ใช่ระบุไว้แต่เพียงกรอบกว้างๆ ตามร่างฯ รัฐบาลที่ระบุเพียงเงินสนับสนุนจะมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศเท่านั้น
 
"เรื่องที่เกี่ยวกับความเสมอภาคระหว่างเพศ ไม่สามารถให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้าไปจัดการได้เพียงลำพัง ในจุดนี้คปก.เห็นว่า งานนี้ค่อนข้างกว้างและจำเป็นต้องมีความเป็นอิสระ ดังนั้นในแง่ของสำนักงาน จึงควรเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจที่จะเข้ามารับผิดชอบในงานธุรการและงานวิชาการ" รศ.วิระดา กล่าว
 
แก้ไขร่างฯ ปชช.ให้มีผลในทางปฏิบัติ
 
นางสาวนัยนา สุภาพึ่ง  ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษรและกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ  กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ. เท่าเทียมระหว่างเพศฉบับของรัฐบาลยังมีช่องโหว่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในหลายประการ ที่สำคัญได้แก่ ข้อยกเว้นให้สามารถเลือกปฏิบัติได้โดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศได้ ภาคประชาชนเกิดความกังวลจึงเข้าชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ. ...ขึ้นแสดงถึงหลักเกณฑ์และวิธีการที่เป็นธรรม ในฐานะที่ตนเองเป็นผู้มีส่วนในการร่างกฎหมายด้านความเสมอภาคฯทั้งฉบับประชาชนและฉบับของคปก. เห็นว่าร่างของภาคประชาชนเป็นร่างที่ดีมาก แต่ก็ยังมีข้อบกพร่องบางประการ ทั้งที่มีสาเหตุมาจาก ความเปลี่ยนแปลงของสภาพและความเข้าใจที่คาดเคลื่อน ดังนั้น คณะกรรมการฯ ด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ จึงใช้ร่างฯฉบับของประชาชนมาพัฒนาและแก้ไขให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นตามหลักวิชาการและหลักกฎหมาย
 
"ประเด็นสำคัญที่ยังเป็นข้อแก้ไขของร่างภาคประชาชน ได้แก่ วิธีการเขียนกฎหมายให้เกิดความเข้าใจชัดเจนและมีผลในทางปฏิบัติ ซึ่งพบว่าร่างภาคประชาชนใช้ถ้อยคำค่อนข้างยาว จึงทำให้เกิดความสลับซับซ้อนในการอธิบาย สาเหตุมาจากวิธีการเขียนกฎหมายซึ่งใช้วิธีการเทียบเคียงวิธีการปฏิบัติตามกฎหมายของอื่นที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น กฎหมายครอบครัว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญ แต่คนทั่วไปมักกลัวว่า กฎหมายนี้จะทำให้เกิดการเลียนแบบและความปั่นป่วนในสังคม ซึ่งความเป็นจริงแล้วความแตกต่างระหว่างเพศมีอยู่แล้วในทุกสังคม" นางสาวนัยนา กล่าว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้อเสนอ BRN “ขอให้อดทนและรับฟังในสิ่งที่เราพูดและข้อเรียกร้องของเรา”

Posted: 01 Apr 2013 08:46 AM PDT

เผยบรรยากาศของการพุดคุยสันติภาพเมื่อ 28 มี.ค. บีอาร์เอ็นหลั่งน้ำตาอัดอั้นต่อชะตากรรมชาวมลายูปาตานีตั้งแต่อดีต พร้อมขานรับข้อเสนอลดการก่อเหตุความรุนแรง ด้าน สมช. ศอ.บต.รับดำเนินการให้ความยุติธรรมต่อพี่น้องชาวมลายูปาตานี ยอมรับมีสัญญาณเชิงบวกและบุคคลที่เข้าร่วมพูดคุยมาในนามองค์กร ไม่ใช่ในนามส่วนตัวมีโอกาสที่จะแก้ปัญหาในอนาคตได้

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2556 ที่ห้องประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัด "สัมมนาเพื่อสร้างความปรองดองและสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้" โดยมีพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ร่วมด้วย พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และมีผู้นำศาสนาและประชาชนทั้งไทยพุทธและมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมประมาณ 300 คน

 
 
พ.ต.อ.ทวี ได้ให้ ผศ.ดร.ศรีสมภพ ได้เล่าถึงบรรยากาศของพูดคุยกันระหว่างคณะเจรจาของรัฐบาลไทย ที่นำโดยพล.ท.ภราดร กับฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็น ที่นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2556 ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย  เพื่อที่จะให้ผู้นำศาสนาและประชาชนที่เข้าร่วมกันสัมมนาครั้งนี้รับทราบถึงบรรยากาศของการพูดคุย
 
ผศ.ดร.ศรีสมภพ เล่าถึงบรรยากาศของการพูดคุยการพูดคุยครั้งนี้ว่า คณะเจรจาของฝ่ายไทยประกอบด้วย 9 คน เป็นตัวแทนจากหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง จำนวน 6 คน และตัวแทนจากภาคประชาสังคม จำนวน 2 คน ส่วนฝ่ายขบวนการ มีตัวแทนที่มาเจรจาในครั้งนี้จำนวน 6 คน โดยเป็นตัวแทนที่มาจากขบวนการบีอาร์เอ็น จำนวน 5 คน และตัวแทนของพูโล (PULO) 1 คน
 
"การพูดคุยครั้งนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับผม เพราะไม่เคยมีประสบการณ์อย่างนี้มาก่อน ผมมีความรู้ในเรื่องทฤษฎีเท่านั้น  สิ่งที่ประทับใจคือ ทางรัฐบาลมาเลเซียมีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี ทั้งการจัดเวที การจัดกระบวนการพูดคุย  ตลอดจนสถานที่การประชุมก็มีความลึกลับซับซ้อน กว่าจะเข้าไปถึง รถต้องวนกันหลายรอบ ประธานในที่ประชุมเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ในการจัดประชุมลักษณะนี้ ทำให้บรรยากาศในการพูดคุยเป็นบรรยากาศที่ไปด้วยดี มีความเป็นมิตรต่อกัน ไม่ได้ตึงเครียดแต่อย่างใด" 
 

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
 
ศรีสมภพ เล่าว่าในช่วงเช้ามีการพูดคุยกันในเรื่องของเงื่อนไขข้างต้นหรือ TOR ในประเด็นว่าจะมีการจัดกระบวนการพูดคุยอย่างไร พูดถึงเรื่องของสมาชิกที่เข้าร่วมในการพูดคุยอย่างไร การประสานงานทั้ง 2 ฝ่าย จะทำกันอย่างไร ต่อด้วยการพูดถึงประเด็นการขอความคุ้มครองทางกฎหมาย หรือหลักประกันการคุ้มครองทางกฎหมายสำหรับตัวแทนของฝ่ายขบวนการที่จะออกมาพูดคุยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบุคคลที่มีหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ป.วิอาญา) หรืตามหมายพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (หมาย ฉฉ) ว่าจะทำอย่างไรในเรื่องนี้ เพื่อความสะดวกในการดำเนินการในระหว่างที่มีการเจรจากัน
 
ในช่วงบ่ายใช้เวลาในการพูดคุยกันนานมาก ตั้งแต่เวลา 14.00 น. จนถึงช่วงคำ เริ่มด้วย พ.ต.อ.ทวี เสนอต่อฝ่ายการขบวนการบีอาร์เอ็น จำนวน 3 ข้อ คือ 1.ทำอย่างไรที่จะให้ความรุนแรงลดลง โดยเฉพาะความรุนแรง ต่อ เด็ก สตรี ครู พระ และผู้หญิง 2.ทำอย่างไรที่หลีกเลี่ยงการก่อเหตุในเขตเมือง เขตชุมชน และเขตเศรษฐกิจ เพราะจะทำให้คนบริสุทธิ์ได้รับผลกระทบด้วย 3.สร้างความเชื่อมั่นโดยการมาร่วมกันช่วยหาสาเหตุของความรุนแรง
 
"ในช่วงนี้เป็นส่วนที่ใช้เวลามากที่สุดในการพูดคุย โดยตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็นกล่าวว่า ปัญหารากเหง้าของความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นความผิดของขบวนการบีอาร์เอ็นอย่างเดียว แต่จะต้องพูดถึงว่ารัฐไทยก็เป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความรุนแรง ตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็นได้ระบายความรู้สึกสะเทือนใจที่รัฐไทยกระทำต่อพี่น้องประชาชนมลายูปาตานี ตั้งแต่อดีต อาทิเช่น กรณีของนายหะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ กรณีเหตุการณ์กบฏดุซงญอ เมื่อ 2491 กรณีเหตุสังหาร 6 ศพที่สะพานกอตอเมื่อปี 2518 เหตุการณ์ประท้วนที่ปัตตานีเมื่อปี 2518 เหตุการณ์ตากใบ เมื่อปี 2547 เหตุการณ์กรือเซะ เมื่อปี 2547 เป็นต้น"
 
ศรีสมภพกล่าวว่า ในการระบายและสะท้อนความรู้สึกสะเทือนใจต่อชะตากรรมของชาวมลายูปาตานีที่ต้องถูกรัฐไทยกระทำในเหตุการณ์ต่างๆ ของตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นด้วยความตึงเครียด โดยพูดด้วยภาษามลายูถึงความรู้สึกเจ็บปวด เจ็บช้ำ อัดอั้น สะเทือนใจโดยระหว่างการบอกเล่านั้นผู้พูดและเพื่อนร่วมคณะไม่อาจกลั้นน้ำตาในสิ่งที่ได้บอกเล่าและได้ยิน กระทั่งผู้เล่าได้ร้องไห้โฮต่อหน้าที่ประชุม และต้องออกนอกห้องประชุมเพื่อระงับอารมณ์ความรู้สึกจึงสามารถเข้าร่วมพูดคุยได้ 
"การแสดงความรู้สึกนี้ผมคิดว่าเป็นความรู้สึกที่แท้จริงของเขา เป็นความรู้สึกของนักต่อสู้ปาตานีที่ต้องการต่อสู้เพื่อประชาชนของเขา ความรู้สึกเจ็บปวดที่เคยถูกกระทำจากรัฐในอดีต โดยที่คณะเจรจาของฝ่ายไทยทุกคนรับฟังอย่างสงบ ไม่มีการตอบโต้กันแต่อย่างใด ทุคคนมีความตั้งใจที่จะรับฟังกันถึงความเจ็บปวดของพี่น้องประชาชนปาตานี"
 
ทางด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.ได้ชี้แจ้งถึงการดำเนินการของรัฐบาลที่ผ่านมาในการแก้ปัญหาต่างๆต่อประชาชนในพื้นที่ เช่น การเยียวยาต่อผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความไม่สงบอย่างเต็มที่ การเปิดพื้นที่สนับสนุนด้านวัฒนธรรม ภาษา โดยการเปิดสถานีโทรทัศน์ภาษามลายู ร่วมทั้งการแก้ปัญหาเรื่องของความยุติธรรมต่อประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนการออกมาตรการต่างๆ ไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไปทำร้ายประชาชน เป็นต้น ส่วนเรื่องของเหตุการณ์ในอดีต อาทิเช่น กรณีหะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ กรณีเหตุการณ์กบฏดุซงญอ เป็นต้น เป็นเรื่องที่ทางเจ้าหน้าที่ของรัฐที่นั่งอยู่ที่นี้ ไม่ได้อยู่ในช่วงนั้น จึงไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้
 
"เมื่อมาถึงจุดนี้ ผมเองในฐานะที่เป็นนักวิชาการหรือตัวแทนภาคประชาชนที่เข้าไปร่วมในกระบวนการนี้ พยายามที่จะพูดให้เห็นว่า ผมมีความเข้าใจต่อความรู้สึกของผ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นหรือต่อพี่น้องมลายูปาตานี เพราะผมมีคนรู้จักในพื้นที่ และมีลูกศิษย์ที่เป็นชาวมลายูหลายคน และมีความรู้สึกในความเจ็บปวดต่างๆ ขณะเดียวกันผมชี้ให้เห็นว่าความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่มีเฉพาะคนมลายูอย่างเดียว เพราะเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้ที่เสียชีวิตแล้วกว่า 5,500 คน บาดเจ็บเป็นหมื่นคน คนที่เสียชีวิตมีทั้งทหาร ตำรวจ ไทยพุทธ มุสลิม และประชาชนผู้บริสุทธิ์ ดังนั้นความเจ็บปวดจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ เป็นความเจ็บปวดของทุกฝ่าย เราไม่อยากที่จะให้คนในพื้นที่เสียชีวิตมีจำนวนมากกว่านี้ เรามีหนทางหาทางออกกันหรือไม่ในตอนนี้"
 
ในการพูดคุยในครั้งนี้ ขบวนการบีอาร์เอ็นเสนอว่ารัฐต้องแสดงให้เห็นถึงรูปธรรมที่ชัดเจนในเรื่องของการให้ความยุติธรรมต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในเรื่องกฎหมายและต่อผู้ต้องหาในคดีทางการเมือง ซึ่งทางฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นรับจะพิจารณาเรื่องของการลดการก่อเหตุการณ์ความรุนแรง โดยจะนำเรื่องนี้เข้าไปพิจารณาในสภาของเขา แต่ยังไม่สามารถที่พูดคุยในรายละเอียดได้ เนื่องจากเวลาไม่เพียงพอ จึงมีการนัดให้มีการพุดคุยกันอีกครั้งในวันที่ 29 เมษายน 2556 โดยมีการฝากการบ้านแก่ทั้ง 2 ฝ่ายว่า ทางฝ่ายรัฐไทยรับที่จะไปดำเนินการในเรื่องของความยุติธรรม ส่วนขบวนการบีอาร์เอ็นทำอย่างที่จะทำให้ความรุนแรงลดลง
 
"การพูดคุยครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าทางฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นมาในฐานะตัวแทนองค์กรหรือตัวแทนจากสภาซึ่งเป็นองค์กรนำของขบวนการ ไม่ใช่มาในนามส่วนตัว ดังนั้นหากจะมีข้อตกลงอะไรกับรัฐไทย จึงต้องเป็นข้อตกลงที่ผ่านมติของสภาของเขา โดยองค์กรต่างๆ ทุกระดับต้องรับทราบ สำหรับประเด็นที่วิตกกังวลว่าการพูดคุยครั้งนี้จะแก้ปัญหาความรุนแรงได้จริงหรือไม่ คงมีหลักประกันมากพอสมควรว่า ครั้งนี้เป็นการพูดคุยในนามองค์กร หรือเป็นกลไกที่เรามีความเชื่อมั่นว่าน่าจะเป็นตัวช่วยในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้"
 
ศรีสมภพกล่าวอีกว่า ในช่วงท้ายของการพูดคุย ตนมีความประทับใจในคำพูดของทั้ง 2 ฝ่าย โดยนายฮัสซัน ตอยิบ ได้พูดว่าขอขอบคุณที่ทางรัฐไทยรับฟังความรู้สึกเจ็บปวดของนักสู้ปาตานี แม้ว่าจะมีปัญหาบ้างในกระบวนการสร้างสันติภาพก็ตามเราจะพยายามทางออกให้ได้ ส่วน พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ความสำเร็จในวันนี้คือการได้รับรู้ความจริงใจระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งเป็นโอกาสที่จะให้มีการพูดคุยต่อไป ดังนั้นการพูดคุยครั้งต่อไปต้องดีขึ้นเมื่อรับทราบความรู้สึกของทั้ง 2 ฝ่ายด้วยความจริงใจ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

14 คนงานจีเอ็มโกนหัวประท้วง หลังเจรจาไม่คืบ ชี้รัฐไม่บังคับใช้ กม.

Posted: 01 Apr 2013 08:02 AM PDT

นัดเจรจาสามฝ่ายระหว่างนายจ้าง-สหภาพแรงงานจีเอ็ม-กระทรวงแรงงาน ล่ม หลังนายจ้างไม่มาเจรจา เหตุกังวลไม่ปลอดภัย ด้านคนงาน 14 คนโกนหัวประท้วง จี้รัฐจัดการตามกฎหมาย


กรณีสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ (จีเอ็ม) ประเทศไทย ใช้สิทธิหยุดงาน เพื่อประท้วงที่บริษัทต้องการเปลี่ยนสัญญาจ้างจากกำหนดวันทำงานปกติ 5 วันเป็น 6 วัน โดยให้วันเสาร์เป็นวันบังคับทำงานปกติ ขณะที่บริษัทฯ สั่งปิดงานในส่วนของสมาชิกสหภาพ ตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา จากนั้น สมาชิกสหภาพฯ ได้ร้องเรียนกระทรวงแรงงานเข้ามาแก้ปัญหา โดยมีการเจรจาแล้ว 1 ครั้งเมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่ระยอง แต่ไม่มีความคืบหน้า

ล่าสุด วันนี้ (1 เม.ย.56) มีการนัดเจรจาสามฝ่าย ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานชลบุรี (ศรีราชา) ชัยวัฒน์ วงษ์สุวรรณ รองประธานสหภาพแรงงานจีเอ็ม ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการสหภาพแรงงานฯ และทีมเจรจา  14 คน ได้โกนผมประท้วง เพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่านายจ้างเอาเปรียบ ขณะที่กระทรวงแรงงานเองก็ไม่เด็ดขาดพอในการบังคับใช้กฎหมาย โดยมีพนักงาน 200-300 คน มาให้กำลังใจ แต่นายจ้างไม่มาตามนัด โดยให้เหตุผลว่ากังวลเรื่องความปลอดภัย

ชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า คนงานพร้อมเจรจา แต่นายจ้างกลับเล่นแง่ และไปทำสัญญารายบุคคล ทั้งที่เรื่องนี้ต้องคุยกันบนโต๊ะเจรจา มีคนงานหลายคนที่ไม่ได้ยินยอม แต่สายป่านการต่อสู้ไม่ยาวพอจึงต้องกลับเข้าทำงาน นอกจากนี้ จากการเก็บข้อมูลของสหภาพฯ พบว่าล่าสุด มีพนักงานที่ปฏิเสธทำสัญญารายบุคคล โดนเลิกจ้างแล้ว 70-80 คน

ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ถ้านายจ้างทำแบบนี้ เท่ากับไม่สุจริตในการเจรจา แต่ต้องการล้มล้างสหภาพแรงงาน ลูกจ้างไม่ได้ขออะไรเลย เพียงแต่พยายามรักษาสภาพการจ้างเท่านั้น ทั้งนี้ ย้ำถึงรัฐบาลว่า ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ การเปลี่ยนสัญญาจ้างจะทำได้ต่อเมื่อเป็นคุณกับลูกจ้างยิ่งกว่าเท่านั้น ดังนั้น รัฐเองต้องกล้าบังคับใช้กฎหมาย ไม่ใช่บอกว่าไม่มีสิทธิบีบคอนายจ้าง ซึ่งทำแบบนี้ ลูกจ้างที่สายป่านไม่ยาวพอ ย่อมเสียเปรียบอยู่แล้ว

รองประธานสหภาพแรงงานฯ ระบุว่า ในวันพุธที่ 3 เม.ย. สหภาพแรงงานฯ จะเข้าให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการการแรงงาน รัฐสภา ต่อกรณีดังกล่าว ทั้งนี้ มีการเรียกนายจ้างเข้าชี้แจงด้วย แต่ไม่มั่นใจว่านายจ้างจะมา ส่วนการเจรจาสามฝ่ายครั้งต่อไป กระทรวงแรงงานจะเป็นผู้ประสานให้อีกที

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ปัญหาแบ่งแยกดินแดนภาคใต้

Posted: 01 Apr 2013 07:50 AM PDT

ในวันที่ 28 มีนาคม นี้ จะมีการเปิดเจรจาที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ระหว่างฝ่ายรัฐบาลไทยกับตัวแทนของฝ่ายบีอาร์เอ็น.เพื่อแก้ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งแม้ว่า โอกาสที่สถานการณ์ในภาคใต้คืนสู่ความสงบสันติจะยังไม่ง่ายนัก เพราะปัญหาความขัดแย้งยืดเยื้อมาเป็นเวลาช้านาน แต่การเจรจานี้ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี อย่างน้อยก็น่าจะดีกว่าการใช้วิธีการปราบปรามทางการทหารแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งแก้อะไรไม่ได้ และสร้างปัญหามานานแล้ว

บีอาร์เอ็น คือชื่อย่อของ ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.2503 และทำการต่อสู้เพื่อเอกราชของปาตานีมาเป็นเวลานาน และเคยเป็นองค์กรนำในการตั้งกองกำลังอาวุธต่อสู้เพื่อแยกดินแดนในระยะหลัง พ.ศ.2510 แม้ว่าต่อมา จะเกิดความแตกแยกภายในองค์กร และอิทธิพลในการต่อสู้ลดลงมาก แต่ทางฝ่ายรัฐบาลไทยก็ยังเห็นว่า บีอาร์เอ็นยังเป็นองค์กรสำคัญอันหนึ่งที่จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์

การเจรจานี้เริ่มต้นอย่างไม่เป็นทางการครั้งแรกมาแล้วตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลมาเลเซียมีส่วนช่วยประสานงานให้เกิดการพูดคุยระหว่างทั้งสองฝ่าย ฝ่ายไทยนั้นมี พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นตัวแทน ส่วนฝ่ายขบวนการปาตานี มี นายฮัสซัน ตอยิบ เป็นตัวแทน และบรรลุข้อตกลงที่จะเปิดพื้นที่แห่งการเจรจาให้มีการ"พบกันครึ่งทาง"เพื่อแสวงหาแนวทางสู่สันติภาพ ดังนั้น การดำเนินการนี้ จึงได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย เพราะเห็นว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นและยืดเยื้อมานานกว่า 9 ปี สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมาก แม้กระทั่งองค์การการประชุมอิสลาม หรือ โอไอซี. ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศของประเทศอิสลาม 57 ประเทศ ก็ยังแสดงท่าทีสนับสนุนการเจรจาครั้งนี้

แต่กระนั้น ความพยายามในการแก้ปัญหาด้วยการเจรจาครั้งนี้ ถูกตั้งข้อสงสัยและคัดค้านจากภายในประเทศ โดยข้อโจมตีก็มีตั้งแต่รัฐบาลไปเปิดเจรจากับโจรซึ่งไม่ถูกต้อง หรือโจมตีว่า บีอาร์เอ็นไม่ใช่ตัวจริงที่อยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายในสามจังหวัด เพราะกลุ่มที่มีส่วนก่อการมีอย่างน้อย 9 กลุ่ม การเปิดเจรจากับกลุ่มเดียวจึงไม่ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ แต่ที่สำคัญที่สุด คือพรรคประชาธิปัตย์ได้คัดค้านการเจรจา โดยอ้างว่า การเจรจาจะเป็นการรับรององค์การก่อการร้าย และจะปูทางไปสู่การแบ่งแยกดินแดน เช่นเดียวกับไอร์แลนด์แยกตัวจากอังกฤษ และปาเลสไตน์แยกตัวจากอิสราเอล

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อ้างว่า พรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วยในเชิงหลักการในการแสวงหาสันติในภาคใต้ แต่ต้องเป็นไปตามแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ คือ "ยึดหลักความเป็นธรรม หลักนิติรัฐ และหลักรัฐธรรมนูญ เป็นตัวตั้ง" นอกจากนี้ ยังห่วงเรื่องร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชน ท้องถิ่น และพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งซ้ำซ้อนกับการทำงานของ ศอ.บต. ทำให้เกิดการเบิกเงินซ้ำซ้อน ผิดประเภท ขาดวินัย และอาจเกิดช่องว่างให้มีการทุจริต เพราะตรวจสอบยาก ออกนอกกรอบงบประมาณ ซึ่งทำให้มีการใช้เงินผิดประเภท หรือไปใช้หาเสียงเกินขอบเขต จึงอยากฝากข้อเสนอเหล่านี้ไปยังรัฐบาลให้ทบทวน

นอกเหนือจากนี้ ก็คือ นายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ที่เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ก็อธิบายว่า การเจรจาระหว่างรัฐบาลกับบีอาร์เอ็น เป็นการดำเนินการกันเอง โดยไม่เคยรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการความยุติธรรม การแก้ปัญหายาเสพติด และการแก้ปัญหาปากท้อง มากยิ่งกว่า และอธิบายว่า บีอาร์เอ็น.นั้นต้องการที่จะแยกสามจังหวัดเป็นนครรัฐปัตตานี แต่สำหรับประชาชนสามจังหวัด เรื่องการปกครองตัวเองมีความสำคัญในอันดับท้าย เพราะประชาชนไม่เข้าใจว่าจะเป็นในรูปแบบใด การจะจัดรูปแบบการปกครองพิเศษ ต้องคำนึงถึงความหลากหลายของประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีทั้งไทยพุทธและมุสลิม จึงต้องมีพื้นที่ให้กับชาวไทยพุทธด้วย

ความจริงแล้ว ปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้มีที่มาจากทั้งรากฐานทางประวัติศาสตร์ และปัญหาปัจจุบัน ซึ่งทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะส่วนหนึ่งมาจากอคติหรือความโน้มเอียงทางการเมืองที่ถูกสร้างกันมาเป็นเวลานานว่า คนมลายูมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้เป็นพวกที่ไว้ใจไม่ได้ ต่อต้านการปกครองของไทย สนับสนุนการก่อการร้าย และยังมีผู้ที่ไร้เดียงสาถึงขนาดเสนอว่า ถ้าชาวมลายูมุสลิมเหล่านี้ ไม่รักชาติไม่อยากเป็นคนไทย ก็ให้ย้ายไปอยู่ประเทศอื่น แทนที่จะมาก่อการร้ายกันแบบนี้ ด้วยอคติเช่นนี้ จึงมีคนอีกไม่น้อยที่เห็นว่า ภารกิจของทหารไทยที่เข้าไปปฏิบัติการในสามจังหวัดภาคใต้ คือ การช่วยเหลือประชาชน และสนับสนุนให้ใช้การกำลังในการปราบปราม"โจรใต้"ให้ราบคาบ

แต่ที่เราไม่ทราบกัน ก็คือปัญหาข้อเท็จจริงจริงในทางประวัติศาสตร์ว่า ปาตานีนั้นเป็นอาณาจักรอิสระ มีสุลต่านของตนเองปกครองมานาน เป็นอาณาจักรอิสลามที่มีภาษาของตนเอง ไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรไทย และไม่เคยใช้ภาษาไทย อาณาจักรนี้เพิ่งจะถูกโจมตีบังคับเข้าเป็นรัฐบรรณาการของสยามในสมัยรัชกาลที่ 1 นี้เอง

จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการรวมศูนย์อำนาจการปกครอง ก็ได้ยกเลิกสถานะของสุลต่านหัวเมืองเหล่านี้ และเมื่อสุลต่านปัตตานีมีท่าทีคัดค้าน พระองค์ก็ได้ใช้นโยบายเรือปืนปิดอ่าวปัตตานี แล้วจับกุมตัวสุลต่านนำไปขังที่พิษณุโลก แล้วผนวกดินแดนปัตตานีทั้งหมดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม จนในที่สุด อดีตสุลต่านที่ได้รับการปล่อยตัว ก็ต้องไปลี้ภัยตลอดชีวิตที่มลายา

ในสมัยต่อมา รัฐบาลกลางของประเทศไทยยังได้ใช้มาตรการบังคับอีกหลายประการที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง เช่น ส่งข้าราชการจากส่วนกลางที่ไม่รู้เรื่องมลายูมุสลิมไปปกครอง เอาการศึกษาแบบตะวันตกที่แอบแฝงการสอนศาสนาพุทธไปเผยแพร่ และต่อมา หลัง พ.ศ.2490 ก็เริ่มใช้ความรุนแรงในการจัดการสังหารผู้นำท้องถิ่นที่มีความคิดแตกต่างจากส่วนกลาง สถานการณ์เหล่านี้ทำให้การต่อต้านส่วนกลางขยายตัว รัฐบาลกลางก็แก้ปัญหาโดยการเพิ่มการติดตั้งทหารตำรวจเข้าไปปราบปราม ซึ่งยิ่งทำให้ความไม่เข้าใจกันเพิ่มทวีมากขึ้น

ในช่วงหลัง พ.ศ.2520 ความขัดแย้งผ่อนคลายลงชั่วขณะ เพราะรัฐบาลสมัยนั้น พยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีการทางการเมือง ผ่อนปรนต่อสถานการณ์ และใช้มาตรการนิรโทษกรรมให้ฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลมาใช้ชีวิตแบบปกติได้ สถานการณ์ค่อนข้างราบรื่นมาจนถึงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2547 ที่เกิดกรณีปล้นปืนที่ค่ายปีเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง นราธิวาส ซึ่งในขณะนี้ ก็ยังไม่มีคำอธิบายเหตุการณ์นี้ได้ชัดเจน แต่กรณีนี้กลายเป็นจุดเริ่มของความขัดแย้งครั้งใหม่ หลังจากการจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาลกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดกรณีการสังหารประชาชน เช่น เหตุการณ์มัสยิดกรือเซาะ 28 เมษายน พ.ศ.2547 และตามมาด้วยกรณีตากใบ 25 ตุลาคม พ.ศ.2547 ความผิดพลาดเหล่านี้กลายเป็นร้อยร้าวที่ยากจะประสาน และทำให้ความรุนแรงขยายตัว รัฐบาลกลางก็แก้ปัญหาโดยการนำกำลังทหารและตำรวจติดตั้งในพื้นที่เพิ่มเติม และประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อให้อำนาจพิเศษแก่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการ ก็ยิ่งทำให้ความขัดแย้งแก้ไขได้ยากมากขึ้น

ตั้งแต่แรกที่เกิดความขัดแย้ง ก็มีนักคิดและนักวิชาการที่เสนอทางเลือกอื่นในการแก้ไขปัญหา เช่น การใช้แนวทางสันติวิธี แทนที่จะเพิ่มทหารก็ให้มีการถอนทหารจากพื้นที่ และให้สิทธิอัตวินิจฉัยตนเองแก่สามจังหวัดภาคใต้ และอาจจะเป็นจุดเริ่มของการให้สิทธิปกครองตนเองแก่จังหวัดอื่นทั่วประเทศ ตลอดจนข้อเสนอที่จะให้ปัตตานีเป็นเขตปกครองพิเศษ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า รัฐไทยมีกรอบความคิดอันแข็งตัวมากเกินกว่าที่จะรับข้อเสนอเหล่านี้ สถานการณ์จึงลุกลามและสลับซับซ้อนจนแก้ไขได้ยาก

ดังนั้น การเปิดเจรจาครั้งนี้ อย่างน้อยก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นอันดีแห่งความหวังที่จะนำมาซึ่งสันติภาพในระยะยาว ในที่นี้จะขอจบด้วยการโฆษณาว่า หนังสือเล่มหนึ่งที่จะช่วยทำความเข้าใจกับความเป็นมาของปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ได้ดี คือเรื่อง "ความเป็นมาของทฤษฏีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทย"(2549) โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ซึ่งอยากชวนให้อ่านเพื่อเพิ่มมุมมองสำหรับปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ให้ชัดเจนขึ้น

 

 

 

ที่มา: โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 405  วันที่ 30 มีนาคม 2556

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 26 มี.ค.- 1 เม.ย. 2556

Posted: 01 Apr 2013 07:31 AM PDT

 

คสรท.ประณามสภาไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ ปชช.

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) จัดแถลงข่าว "ประณามกระบวนการนิติบัญญัติไทยที่ใช้อำนาจทางอ้อม ทำลายหลักการประชาธิปไตยทางตรง" เนื่องจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับประชาชน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมลงชื่อผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวถึง 14,264 คน 
             
น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธาน คสรท. กล่าวว่า คสรท.ขอประณามกระบวนการนิติบัญญัติไทยที่ใช้อำนาจทางอ้อม ทำลายหลักประชาธิปไตยทางตรง เพราะการที่สภาผู้แทนราษฎรไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับประชาชนนั้น สะท้อนว่าถ้ากฎหมายฉบับใดที่ประชาชนร่างขึ้นมาแล้วสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่เห็นด้วย ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวก็จะไม่ถูกพิจารณาในรัฐสภา ถือเป็นการกีดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชน

จากเหตุการณ์ดังกล่าวเห็นได้ว่า สภาผู้แทนราษฎรจะให้ความเห็นชอบกับร่างกฎหมายที่ใกล้เคียงกับความต้องการของ ตนมากกว่าความต้องการของประชาชน และ ส.ส.จำนวนมากยังขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงต่อสาระสำคัญของร่างกฎหมาย ฉบับนี้ จึงไม่สามารถพิจารณากฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

น.ส.วิไลวรรณกล่าวว่า ขอปฏิเสธการเข้าเป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ...ในวาระที่ 2 เพราะในเมื่อร่าง พ.ร.บ.ภาคประชาชนไม่ได้รับการพิจารณา ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเป็น กมธ.วิสามัญ และขอเรียกร้องให้ผู้ใช้แรงงานทุกคนเลือกผู้แทนที่คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 3 เมษายน เวลา 09.00 น. คสรท.ร่วมกับผู้ใช้แรงงานประมาณ 1,000-2,000 คน จะไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับประชาชน ที่หน้ารัฐสภา โดย คสรท.จะเคลื่อนไหวอย่างถึงที่สุด เพื่อแสดงจุดยืนไม่ยอมรับกระบวนการของรัฐสภาที่ไม่ใส่ใจถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ของประชาชน

(มติชนออนไลน์, 26-3-2556)

 

ดึง 1.3 ล.แรงงานนอกระบบ "ออมเงิน" กับประกันสังคม

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบแห่งชาติ (คนช.) มีมติเห็นชอบให้กระทรวงแรงงานและกระทรวงการคลังร่วมกันบูรณการกองทุนการออม แห่งชาติ (กอช.) เข้ากับกองทุนประกันสังคม เพื่อทำให้ระบบการออมชราภาพของประเทศเป็นเอกภาพ โดยนำมาเป็นทางเลือกที่ 3 ของโครงการประกันสังคม มาตรา 40 ที่ให้ความคุ้มครองเฉพาะกรณีชราภาพเท่านั้น โดยจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเดือนละ 200 บาท แบ่งเป็น ผู้ประกันตนคนละ 100 บาท รัฐบาลจ่ายสมทบให้คนละ 100 บาท ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญชราภาพ หรือเงินบำเหน็จชราภาพเมื่ออายุครบ 60 ปี และแจ้งออกจากการเป็นผู้ประกันตน

"กระทรวงแรงงานจะเสนอเรื่องนี้ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 2 เมษายนนี้ หาก ครม.พิจารณาเห็นชอบจะเริ่มดำเนินการทันที ตั้งเป้าส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ทางเลือกที่ 3 ของประกันสังคม มาตรา 40 จำนวน 1 ล้านคน ส่วนการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม มาตรา 40 ของรัฐบาลนั้น ขณะนี้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร" นายเผดิมชัยกล่าว

ด้าน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด สปส. เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ได้มีมติเห็นชอบในเรื่องดังกล่าวแล้ว

"ขณะนี้มีผู้ประกันตน มาตรา 40 มีทั้งสิ้น 1.3 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ประกันตนที่เลือกจ่ายเงินสมทบทางเลือกที่ 1 หรือจ่ายเงินสมทบเดือนละ 100 บาท ผู้ประกันตนจ่าย 70 บาท รัฐบาลอุดหนุน 30 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และกรณีเสียชีวิต ส่วนผู้ประกันตนที่เลือกจ่ายเงินสมทบทางเลือกที่ 2 หรือจ่ายเงินสมทบเดือนละ 150 บาท ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท รัฐบาลอุดหนุน 50 บาท ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับทางเลือกที่ 1 แต่เพิ่มเงินบำเหน็จชราภาพ ซึ่งผู้ประกันตนเหล่านี้สามารถสมัครทางเลือกที่ 3 เพิ่มเติมจากทางเลือกที่ 1 หรือ 2 ได้ตามความสมัครใจและยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ทางเลือกที่ 1 หรือ 2 เช่นเดิม" นพ.สมเกียรติกล่าว และว่า สปส.จะเร่งจัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการ จ่ายเงินสมทบประเภทประโยชน์ทดแทนของระบบประกันสังคมมาตรา 40 พ.ศ.2554 เพื่อเสนอ ครม.ในเดือนเมษายนนี้ คาดว่าเดือนมิถุนายนนี้เริ่มเปิดรับสมัครผู้ประกันตน มาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 ได้

(ประชาชาติธุรกิจ, 27-3-2556)

 

โพลล์ระบุพนง.มหาวิทยาลัยกว่า 80%ไม่พึงพอใจในสถานภาพ,จี้รบ.แก้ปัญหาเงินเดือน สวัสดิการ

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานภาพของพนักงานมหาวิทยาลัยโดย ผู้ตอบแบบสอบถามคือพนักงานมหาวิทยาลัย

โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 485 คน เก็บข้อมูลในวันที่ 29 - 30 มีนาคม 2556 ซึ่งการเก็บข้อมูลในครั้งนี้ใช้การเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสำรวจออนไลน์

นายสิงห์ สิงห์ขจร อาจารย์ประจำสาขาวิชาการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารองค์การในฐานะประธานคณะ กรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ทางศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานภาพของพนักงานมหาวิทยาลัยโดยผู้ตอบ แบบสอบถามคือพนักงานมหาวิทยาลัย เนื่องจาก "พนักงานมหาวิทยาลัย" มีขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดจ้างพนักงานทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนใน มหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการออกนอกระบบในปี พ.ศ. 2545 โดยให้ได้รับเงินเดือนในอัตราที่มากกว่าฐานเงินเดือนของข้าราชการในปัจจุบัน คือ เพิ่มขึ้น 1.7 เท่า สำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ และเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า สำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน

แต่ในความเป็นจริงพนักงานมหาวิทยาลัย ได้รับเงินเดือนไม่เต็ม 1.5-1.7 เท่าตามมติคณะรัฐมนตรีปีพ.ศ. 2542   ไม่มีสวัสดิการแบบระบบราชการ มีการใช้สัญญาจ้างที่สั้น 1-3, 1-5 ปี ไม่มีระยะยาวถึงอายุ 60 ปี ทำให้พนักงานมหาวิทยาลัยไม่มีความมั่นคงในอาชีพ ไม่มีสวัสดิการ ทั้งๆที่ ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศมีบุคลากรที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยมากกว่า 100,000 คน สิ่งที่แปลกใจมากกว่านั้นพนักงานมหาวิทยาลัย ในแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นมีอัตราเงินเดือน สัญญาจ้าง และสวัสดิการที่แตกต่างกัน ทั้งๆที่ได้รับงบประมาณจากรัฐเหมือนกัน

ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 5% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 400 กลุ่มตัวอย่าง
   
เมื่อถามว่า  ท่านทราบหรือไม่ว่าพนักงานมหาวิทยาลัยมีอัตราเงินเดือนไม่เท่ากันในแต่ละ มหาวิทยาลัย    ร้อยละ 93 ทราบ , ร้อยละ 4 ไม่ทราบ

ขณะที่ ร้อยละ 95 ทราบว่าพนักงานมหาวิทยาลัยไม่มีสวัสดิการและผลประโยชน์เกื้อกูลเหมือนกับข้า ราชการ มีเพียง ร้อยละ 3 ที่ไม่ทราบ ขณะที่ร้อยละ 83 ทราบว่าพนักงานมหาวิทยาลัยมีสัญญาจ้างที่ไม่เหมือนกันในแต่ละมหาวิทยาลัย

เมื่อถามว่า ท่านพึงพอใจในความมั่นคงของการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยในปัจจุบันหรือไม่ มีเพียงร้อยละ6 ที่ตอบว่าพึงพอใจ ขณะที่ร้อยละ 88 บอกไม่พึงพอใจ

และเมื่อถามว่า ท่านคิดว่าท่านพึงพอใจในอัตราเงินเดือนของการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยใน ปัจจุบันหรือไม่    ร้อยละ 8 เท่านั้นที่ตอบว่าพึงพอใจ ส่วนอีกร้อยละ 88 บอกไม่พึงพอใจ   

ถามต่อว่า ท่านคิดว่าท่านพึงพอใจในสวัสดิการและผลประโยชน์เกื้อกูลของการเป็นพนักงาน มหาวิทยาลัยในปัจจุบันหรือไม่ ร้อยละ2 บอกพึงพอใจ แต่ร้อยละ 94 บอกไม่พึงพอใจ

ถามว่า ท่านคิดว่าท่านพึงพอใจในสถานภาพของพนักงานมหาวิทยาลัยในปัจจุบันหรือไม่    ร้อยละ 8พึงพอใจ    8, ร้อยละ 87 ไม่พึงพอใจ

เมื่อถามว่า ท่านคิดว่ารัฐบาลควรเข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยอย่างเร่งด่วนหรือไม่    ร้อยละ95 ตอบว่าใช่

(ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์, 30-3-2556)

 

เตรียมแผนอพยพคนงานไทยในเกาหลีใต้

31 มี.ค. 56 - นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมอพยพคนไทยในเกาหลีใต้หลังจากประเทศเกาหลีเหนือ ประกาศภาวะสงครามอย่างเป็นทางการกับเกาหลีใต้ ว่า ได้สั่งการให้ทูตแรงงานไปสำรวจจำนวนแรงงานรวมถึงคนไทยที่อยู่ทางตอนเหนือของ ประเทศเกาหลีใต้ ที่ติดกับประเทศเกาหลีเหนือว่ามีจำนวนเท่าใด พร้อมทั้งชี้แจงแผนการซักซ้อมการอพยพที่กระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงการต่าง ประเทศให้กับคนไทย ที่อยู่ในประเทศเกาหลีใต้ทั้งหมด ทั้งแรงงานที่เดินทางไปทำงานโดยผ่านกระทรวงแรงงาน แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานกับญาติ นักเรียน นักศึกษา รวมถึงหญิงไทยที่แต่งงานกับชาวเกาหลีใต้ ที่มีประมาณ 44,000 คน โดยเบื้องต้นได้กำหนดจุดอพยพไว้ 4 จุด เช่นเมืองปูซาน รวมถึงการเตรียมความพร้อมเครื่องบินเช่าเหมาลำ และการเตรียมเรืออพยพไปที่ประเทศญี่ปุ่นในกรณีที่มีเหตุการณ์รุนแรง โดยให้รายงานความคืบหน้าในการซักซ้อมแผนอพยพกลับมาที่ตนด้วย

ขณะที่นายมนัสวี ศรีโสดาพล อธิบดีกรมสารนิเทศกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่ายังไม่อยากให้เกิดความตระหนกตกใจ ซึ่งกระทรวงก็ได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ว่าประชาชนส่วนใหญ่ในกรุงโซล และพื้นที่ต่างๆในเกาหลีก็ใช้ชีวิตอย่างปกติ โดยขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศ ได้ประสานและติดตามข่าวสาร จากสถานทูตในโซล สถานทูตไทยในปักกิ่ง สถานทูตไทย ณ กรุงวอชิงตันดีซี และ สถานทูตไทยนิวยอร์ก อย่างไรก็ตามเราได้มีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะๆ และมีแผนอพยพที่ใช้ในการดูแลคนไทยทั่วโลก โดยจะนำมาปรับใช้ให้เข้าสถานการณ์ และคำนึงถึงความปลอดภัยของคนไทยเป็นหลัก ทั้งนี้ในเกาหลีใต้มีคนไทยประมาณ 40,000 คน และกระจายอยู่ทั่วประเทศ ขณะที่ในเกาหลีเหนือมีคนไทย 10 คน เป็นพนักงานที่ทำงานในบริษัทเอกชน

นายมนัสวีกล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงได้ประเมินสถานการณ์เป็นระยะ ส่วนที่ยังไม่ประกาศแผนอพยพช่วงนี้เนื่องจากจะเกิดความวิตกกังวล นอกจากนี้หากประกาศออกไปจะเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้ทางกาหลีเหนือ ทั้งนี้อยากให้เกาหลีเหนือจะใช้ความยับยั้งชั่งใจในการดำเนินการและปฏิบัติ ตามมติคณะมนตรีความมั่นคง สหประชาชาติ เพื่อคำนึงถึงสันติภาพและความสงบสุขของภูมิภาค

(เนชั่นทันข่าว, 31-3-2556)

 

คนอุดรฯ แห่สมัครงานไปเกาหลีใต้ ไม่หวั่นปัญหาขัดแย้งระหว่างประเทศ

ผู้สื่อข่าวจังหวัดอุดรธานีรายงานว่า วันนี้ (1 เม.ย.) ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดอุดรธานี มีคนหางานจำนวนมากเดินทางมาสมัครงานเพื่อไปทำงานที่ประเทศเกาหลี ในตำแหน่งประเภทกิจการอุตสาหกรรมการผลิต กิจการเกษตรกรรมและปศุสัตว์ กิจการก่อสร้าง
      
นางพงศวัฒน์ เพชรวิเชียร จัดหางานจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานร่วมกับสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เกาหลี ได้เปิดรับสมัครสอบความสามารถพิเศษ (EPS - TOPIK) เพื่อจัดส่งไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ตามระบบจ้างแรงงานต่างชาติ(EPS) ในวันที่ 1-4 เมษายน 2556
      
ทั้งนี้ มีตำแหน่งงานประเภทกิจการอุตสาหกรรมการผลิต จำนวน 2,000 คน กิจการเกษตรกรรมและปศุสัตว์ จำนวน 1,600 คน และกิจการก่อสร้างจำนวน 2,700 คน โดยเสียค่าสมัครสอบภาษาเกาหลี 790 บาท ซึ่งล่าสุดมียอดผู้มาสมัครงานแล้วในวันแรกกว่า 1,400 คน
      
ผู้ที่มีสิทธิ์สอบจะมีการประกาศสถานที่และเวลาสอบในวันที่ 22 พฤษภาคม 2556 และจะทำการสอบในวันที่ 2 มิถุนายน 2556 และประกาศผลในวันที่ 14 มิถุนายน 2556หรือติดตามข่าวสารได้ที่ทางเว็บไซต์ www.epsthailand.wordpress.com www.doe.go.th และ http://epstopik.hrdkorea.or.kr และที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2245-9429, 0-2245-6716, 0-2245-1186
      
นายมานิตย์ บุญสิทธิ์ อายุ 28 ปี อยู่บ้านเลขที่ 11 หมู่ 11 ต.พังงู อ.หนองหาร จ.อุดรธานี กล่าวว่า สาเหตุที่ตนอยากไปทำงานที่ประเทศเกาหลีนั้น ก็เพราะมีค่าตอบแทน มีสวัสดิการ มากกว่าประเทศไทย ในส่วนเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศกับเกาหลีใต้ที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ก็ ไม่น่าห่วงอะไร เพราะตนเคยไปทำงานที่เกาหลีแล้วเคยผ่านประสบการณ์นั้นมาแล้ว
      
ด้านน.ส.จามจุรี วงศ์ษาบุตร อายุ 24 ปี อยู่บ้านเลขที่ 37 หมู่ 2 บ้านหัวสวย อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี บอกว่า ตนเองไม่เคยไปทำงานที่ประเทศเกาหลีมาก่อน เห็นคนอื่นไปทำงานแล้วมีเงินส่งกลับมาบ้าน ตนเองจึงอยากไปทำงานบ้าง ซึ่งงานที่ตนเองมองไว้คือ กิจการอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเปิดรับสมัครถึง 2,000 ตำแหน่ง
      
สำหรับเหตุการณ์ขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ก็ไม่วิตกกังวล เพราะหากเกิดเหตุการณ์รุนแรงจริง รัฐบาลคงจะประกาศแจ้งเตือนประชาชนไม่ให้เข้าประเทศ คงจะไม่เปิดรับสมัครคนงานเข้าไปทำงาน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 1-4-2556)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้จัดรายการล้อการเมืองในอียิปต์เข้ามอบตัวข้อหาหมิ่นศาสนา-ประธานาธิบดี

Posted: 01 Apr 2013 07:28 AM PDT

นักจัดรายการล้อเลียนการเมืองชื่อดังทางโทรทัศน์ของอียิปต์ แบสเซม ยุสเซฟ ถูกออกหมายจับจากกรมอัยการทำให้ต้องเข้ามอบตัวเพื่อสอบปากคำก่อนจะประกันตัวออกมา นักสิทธิมนุษยชนกังวลว่าอียิปต์หลังยุคมูบารัคกำลังพยายามจำกัดพื้นที่เชิงวิพากษ์วิจารณ์

 แบสเซม ยุสเซฟ นักจัดรายการล้อเลียนการเมืองชื่อดังทางโทรทัศน์ของอียิปต์

31 มี.ค. 2013 - แบสเซม ยุสเซฟ นักล้อเลียนการเมืองและผู้ประกาศข่าวทางโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงของอียิปต์ เข้ามอบตัวสอบปากคำกับเจ้าหน้าที่จากข้อกล่าวหาเรื่องหมิ่นศาสนาอิสลามและประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี

 
อธิบดีกรมอัยการออกหมายจับเขาเมื่อวันเสาร์ (30 มี.ค.) ที่ผ่านมา หลังจากที่มีการมีการฟ้องร้องอย่างน้อย 4 ครั้งจากฝ่ายผู้สนับสนุนมอร์ซี ทำให้ยุสเซฟเข้ามอบตัวในวันอาทิตย์ (31 มี.ค.) และมีการประกันตัวเป็นวงเงิน 2,200 ดอลลาร์ (ราว 64,000 บาท) 
 
อัลจาซีร่าระบุว่า การออกหมายจับในครั้งนี้เป็นมาตรการล่าสุดที่มุ่งเป้าไปยังผู้วิพากษ์วิจารณ์โมฮัมเหม็ด มอร์ซี หนึ่งในข้อหาของยุสเซฟคือข้อหาทำให้ประธานาธิบดีมอร์ซีเสื่อมเสีย แบสเซม ยุสเซฟเป็นผู้จัดรายการรายสัปดาห์ที่มีผู้ชมจำนวนมากอย่าง ElBernameg หรือ The Programme รายการเหล่านี้กลายเป็นพื้นที่วิพากษ์วิจารณ์ทั้งรัฐบาล, ฝ่ายค้าน, สื่อ และผู้นำศาสนา 
 
อัลจาซีร่าเปิดเผยอีกว่า ก่อนหน้านี้ยุสเซฟเคยตกเป็นเป้าฟ้องร้องมาก่อนหลายคดีทั้งในข้อหา "ทำลายศีลธรรม" หรือข้อหา "ละเมิดหลักศาสนา" และเคยขึ้นศาลจากหลายกรณีก่อนหน้านี้ กามาล อีด ทนายของยุสเซฟบอกว่านี่เป็นครั้งแรกที่มีการออกหมายจับยุสเซฟ
 
ยุสเซฟเข้ามอบตัวที่สำนักงานกรมอัยการโดยสวมหมวกรับปริญญาขนาดใหญ่เกินจริง ที่สร้างโดยอ้างอิงจากหมวกรับปริญญาที่เขาได้รับจากประธานาธิบดีเมื่อเขาเข้ารับปริญญากิตติมศักดิ์ในประเทศปากีสถานช่วงต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ยุสเซฟมักจะสวมหมวกนี้ออกรายการซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการเสียดสีประธานาธิบดี
 
การเรียกตัวนักจัดรายการล้อเลียนไปไต่สวนทำให้เกิดความกังวลเรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็นในอียิปต์ใน 'ยุคหลังมูบารัค' อดีตประธานาธิบดีเผด็จการถูกโค่นล้มในการลุกฮือของประชาชนเมื่อปี 2011
 
โดย เฮบา โมราเยฟ ผู้อำนวยการกลุ่มสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำอียิปต์กล่าวว่า "มันเป็นการยกระดับความพยายามจำกัดพื้นที่แสดงความเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์"
 
นักการเมืองฝ่ายเสรีนิยมของอียิปต์ โมฮาเหม็ด เอลบาราดีย์ วิจารณ์ว่าการกระทำเช่นนี้มีให้เห็นในระบอบเผด็จการฟาสซิสต์เท่านั้น และแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการสานต่อการปฏิวัติ
 
โดยก่อนหน้านี้อธิบดีกรมอัยการของอียิปต์ได้ออกหมายจับนักกิจกรรมทางการเมืองที่มีชื่อเสียง 5 คน ในข้อหายุยงให้มีการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มภราดรภาพมุสลิม กลุ่มที่ฝ่ายต่อต้านเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังปธน.มอร์ซี นอกจากนี้ยังมีเรียกตัวผู้มีชื่อเสียงในวงการสื่อหลายคนไปสอบปากคำในข้อหาดูหมิ่นประธานาธิบดี
 
กามาล อีด ทนายของยุสเซฟกล่าวอีกว่าฝ่ายสำนักงานอัยการกลายเป็นเครื่องมือในการไล่จับคนต่อต้านรัฐบาลและใช้ข่มขู่พวกเขา
 
 
เรียบเรียงจาก
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์: แก้รัฐธรรมนูญ ‘เพื่อใคร’ หรือ ‘เพราะใคร’ ?

Posted: 01 Apr 2013 06:53 AM PDT

ความพยายามล่าสุดในการแก้ไข 'รัฐธรรมนูญ' รายมาตราที่กำลังดำเนินการอยู่ แท้ที่จริงแล้ว เป็นเรื่องที่มีนัยเกี่ยวกับ 'ฝ่ายตุลาการ' ทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นกรณี มาตรา 68 ที่ให้ 'ศาลรัฐธรรมนูญ' ตรวจสอบผู้ใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง

หรือ กรณี มาตรา 190 ที่ให้ 'ศาลรัฐธรรมนูญ' ตรวจสอบการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ

หรือกรณี มาตรา 237 ที่ให้ 'ศาลรัฐธรรมนูญ' ยุบพรรค-ตัดสิทธิ ทางการเมืองได้

หรือแม้แต่กรณีสมาชิกวุฒิสภา ก็ไม่พ้นประเด็น 'กระบวนการสรรหา' ที่มี 'ฝ่ายตุลาการ' เกี่ยวข้องเช่นกัน

ผู้เขียนเห็นว่า แม้มาตราเหล่านี้อาจมีปัญหาเชิงหลักการที่ถกเถียงกันได้ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจไม่จำเป็นเสมอไป ตราบใดที่เรายังพึ่งพา 'หลักคิด' และ 'คุณภาพ' ของ 'ศาลรัฐธรรมนูญ' ในฐานะ 'ผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ' ได้

ศาลสามารถทำหน้าที่ 'พิทักษ์รัฐธรรมนูญ' ได้โดยการตีความ 'รัฐธรรมนูญ' อย่างพอเพียงและไม่เกินตัว กล่าวคือ ตีความให้สมเจตนารมณ์ตามขอบเขตของดุลแห่งอำนาจ บนพื้นฐานของตรรกะเหตุผลที่ลึกซึ้งหนักแน่นจนแม้ไม่เห็นด้วยกับศาลแต่ก็พร้อมเคารพต่อการตีความของศาล

คำถามคือ ที่ผ่านมา 'ศาลรัฐธรรมนูญ' ได้ทำหน้าที่ 'พิทักษ์รัฐธรรมนูญ' มากน้อยเพียงใด หรือ 'รัฐธรรมนูญ' กำลังมีปัญหาเพราะ 'ศาลรัฐธรรมนูญ' เสียเองหรือไม่ ?

ด้วยความเคารพต่อ 'รัฐธรรมนูญ' ผู้เขียนจำต้องกล่าวอย่างไม่อ้อมค้อมว่า การพยายามแก้ไข 'รัฐธรรมนูญรายมาตรา' ครั้งนี้ ในทางหนึ่ง ก็คือปรากฏการณ์ 'แรงสะท้อนกลับ' (backlash) ที่ฝ่ายการเมืองจำเป็นต้องแก้ปัญหาที่ 'ศาลรัฐธรรมนูญ' เป็นผู้สร้างขึ้นมานั่้นเอง

ผู้เขียนขอยกตัวอย่าง 'ปัญหา' ที่เกิดจากการตีความ มาตรา 68 โดย 'ศาลรัฐธรรมนูญ' ดังนี้

กรณีการตีความ มาตรา 68  นั้น หลายฝ่ายหลงเข้าใจว่ามีปัญหาเฉพาะประเด็น 'สิทธิการยื่นคำร้อง' ว่าต้องฟ้องโดย 'อัยการสูงสุด' เท่านั้นหรือไม่ แต่ปัญหาเชิงหลักการที่หนักหนายิ่งกว่าก็คือ การบิดเบือนตัวบทรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจให้ 'ศาลรัฐธรรมนูญ' กลายเป็น 'องค์กรอภิรัฐธรรมนูญ' ที่มีอำนาจอยู่เหนือรัฐธรรมนูญและองค์กรอื่นใดทั้งปวง

รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคแรก บัญญัติว่า

"บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้"

ผู้เขียนย้ำว่า ถ้อยคำของ มาตรา 68 ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเฉพาะการกระทำที่เป็นการ "ใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ" เพื่อล้มล้างการปกครอง...ฯ เท่านั้น ซึ่ง "การใช้สิทธิเสรีภาพ" ย่อมเป็นคนละเรื่องกับ "การใช้อำนาจหน้าที่" เช่น การลงมติสนับสนุนหรือเห็นชอบการแก้ไข มาตรา 291

ลักษณะสำคัญของ "การใช้สิทธิเสรีภาพ" คือ ผู้กระทำได้อ้าง "สิทธิเสรีภาพ"  เพื่อประโยชน์ของตนตามที่ตนปราถนาโดยปลอดจากสภาพบังคับ และจะใช้หรืออ้าง "สิทธิเสรีภาพ" หรือไม่ก็ได้

เช่น การที่พรรคการเมืองจัดกิจกรรมเพื่อยุยงให้ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือ การที่ประชาชนนัดชุมนุมเพื่อทำให้คณะรัฐมนตรี รัฐสภาหรือศาลไม่อาจทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

แต่ "การใช้อำนาจหน้าที่"  นั้น หมายถึง ผู้กระทำมิอาจเลือกได้อย่างอิสระว่า ตนจะกระทำหรือไม่กระทำเพื่อประโยชน์ของตนตามที่ปรารถนาโดยปลอดจากสภาพบังคับ แต่เป็นกรณีที่ผู้กระทำถูกกำหนดให้กระทำไปเพราะมีอำนาจหน้าที่ต้องกระทำ หรือต้องใช้ดุลพินิจและกระทำไปตามกลไกตามรัฐธรรมนูญ

เช่น การที่สมาชิกรัฐสภาจะเสนอญัตติ หรือออกเสียงลงคะแนน หรือกระทำการอื่นที่เกี่ยวกับการแก้ไข มาตรา 291  ก็ถือเป็น "การใช้อำนาจหน้าที่"  ซึ่งการใช้ดุลพินิจย่อมไม่อิสระ แต่อยู่ภายใต้ มาตรา 122  กล่าวคือ จะอ้างว่ามีเสรีภาพใช้ดุลพินิจเพื่อตนเองหรือผู้ใดผู้หนึ่งไม่ได้ ส่วนผู้ที่ไม่ได้ร่วมเสนอญัตติ จะอ้างสิทธิเสรีภาพว่าขอละเว้น ไม่รับรู้ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการประชุมพิจารณาญัตติในสภาก็ไม่ได้ เช่นกัน เป็นต้น

ข้อที่สำคัญกว่านั้น คือ หากมี "การตีความปะปน" ว่า "การใช้อำนาจหน้าที่" ตามรัฐธรรมนูญ กลายเป็น "การใช้สิทธิเสรีภาพ" ตาม มาตรา 68 ไปเสียแล้ว ก็จะส่งผลแปลกประหลาดทำให้ 'ศาลรัฐธรรมนูญ'  กลายเป็นองค์กรที่มีเขตอำนาจล้นพ้น สามารถรับเรื่อง 'การใช้อำนาจหน้าที่' ขององค์กรต่างๆ มาวินิจฉัย ได้มากมาย เช่น

- การใช้อำนาจของคณะองคมนตรีในการเสนอชื่อผู้สมควรเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตาม มาตรา 19

- การใช้อำนาจตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อยุบสภาตาม มาตรา 108

- การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีตาม มาตรา 158

- การใช้อำนาจของรัฐสภาในการเห็นชอบการประกาศสงครามตาม มาตรา 189

กรณีเหล่านี้ ตลอดกรณี 'การใช้อำนาจหน้าที่' อื่นตามรัฐธรรมนูญนั้น ก็ล้วนอาจถูกตีความให้กลายเป็น 'การใช้สิทธิเสรีภาพ' ให้ศาลตรวจสอบได้

หรือแม้แต่การเสนอร่างกฎหมายในระบบสภาก็ตาม หากมีผู้อ้างว่าเป็นการ "ใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ" เพื่อล้มล้างการปกครอง...ฯ ก็จะกลายเป็นว่า การตรากฎหมายใดๆ ก็สามารถถูกตรวจสอบโดยศาลได้ โดยไม่ต้องรอให้มีการพิจารณาตามวาระของรัฐสภาเสียด้วยซ้ำ และอาจนำไปสู่การยุบพรรคหรือตัดสิทธิทางการเมืองได้อีกด้วย !

การตีความเช่นนี้เอง ก็คือ การบิดเบือนตัวบท มาตรา 68 เพื่อเพิ่มอำนาจให้ 'ศาลรัฐธรรมนูญ' กลายเป็น 'องค์กรอภิรัฐธรรมนูญ' ที่มีอำนาจอยู่เหนือรัฐธรรมนูญและองค์กรอื่นใด

ส่วนข้ออ้างว่าเป็นการเพิ่มอำนาจหรือขยายสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนนั้น ไม่อาจรับฟังได้ เพราะไม่มีการขยายสิทธิเสรีภาพใดที่เกิดขึ้นได้จากการบิดเบือนตัวบทรัฐธรรมนูญของประชาชนเสียเอง

ส่วนเรื่อง 'สิทธิการยื่นคำร้อง' ที่ไม่ควรฟ้องโดยตรงไปยังศาลได้นั้น ก็สำคัญเช่นกัน สมควรย้ำว่าเหตุที่ 'อัยการสูงสุด' มีบทบาทจำเป็นในการกรองคดี เป็นเพราะศาลไม่มีทรัพยากรที่จะไปตรวจสอบหรือสืบสวนการ 'ล้มล้างการปกครองฯ...' ซึ่งอาจมีข้อเท็จจริงและพฤติกรรมที่ต้องอาศัยพยานหลักฐานจำนวนมาก การแบ่งหน้าที่การทำงานเช่นนี้ คือ หลักการถ่วงดุลสำคัญในกระบวนการยุติธรรมมิให้ศาลเป็นผู้เลือกคดีมาตัดสินได้เอง

เห็นได้จากคดีอื่นในทางมหาชน เช่น คดีทุจริต หรือ คดีพรรคการเมือง ก็จะมี อัยการ ป.ป.ช. หรือ กกต. เป็นผู้นำคดีมาสู่ศาล หรือ หากเป็นคดีที่ฟ้องตรงได้ต่อศาล ก็จะต้องเป็นกรณีที่วินิจฉัยข้อกฎหมายและมีข้อจำกัดในเรื่องผู้มีสิทธินำคดีมาสู่ศาล อีกทั้งป้องกันการกล่าวอ้างสารพัดมาเพื่อสร้างภาระคดีต่อศาลโดยตรง

ยิ่งไปกว่านั้น การที่ มาตรา 68 ให้ศาลมีอำนาจ 'ยุบพรรคการเมือง' หรือ 'ตัดสิทธิทางการเมือง' ก็คือการให้ตุลาการถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ โดยมี 'อัยการ' เป็นกลไกในการกรองคดี แต่หากศาลตีความเพิ่มอำนาจให้ตนเองได้อย่างกว้างขวางแล้ว ก็จะเป็นช่องทางให้มีผู้ใช้ตุลาการเป็นอาวุธทางการเมือง ซึ่งก็จะกลับมาทำร้ายตุลาการในที่สุด

ที่น่าหนักใจที่สุดก็คือ หาก 'สิทธิการยื่นคำร้อง' ตามมาตรา 68 ถูกตีความอย่างพร่ำเพรื่อ เช่น อ้างอำนาจตุลาการมายับยั้งการใช้ดุลพินิจของผู้แทนปวงชนได้ทุกกรณีแล้วไซร้ 'สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ' นี้เองอาจกลับกลายมาถูกนำมาใช้ในทางที่เป็น 'ปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ' ทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจ ละเมิดประชาธิปไตย ดูถูกเจตจำนงและสติปัญญาทางการเมืองของประชาชน ส่งผลให้เป็นการตัดโอกาสการเรียนรู้ที่ประชาชนและองค์กรอื่นจะตรวจสอบผู้ใช้อำนาจตามครรลองรัฐธรรมนูญ อันล้วนขัดต่อหลักการใช้สิทธิตาม มาตรา 28 ในที่สุด

แต่เมื่อ 'รัฐสภา' ทราบดีว่าตนไม่มีอาจแก้ต้นเหตุแห่งปัญหาได้ 'รัฐสภา' จึงต้องร่วมพิทักษ์รัฐธรรมนูญเท่าที่ทำได้ โดยการแก้ไข 'รัฐธรรมนูญ' เช่น มาตรา 68 ซึ่งชัดเจนอยู่แล้ว ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเสียจนไม่อาจถูกนำไปบิดเบือนได้ แม้จะไม่มีสิ่งใดประกันผลแห่งเจตนานี้ได้ก็ตาม.

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วสันต์ พานิช

Posted: 01 Apr 2013 06:51 AM PDT

"โดยหลักการคุณสมยศไม่ควรเข้ามารับผิดในฐานะ บก. ทั้งโดยกฎหมาย โดยรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อศาลตัดสินอย่างนี้ ผมก็ต้องถือว่าคุณสมยศเป็นผู้ถูกกระทำในกรณีนี้ ถามว่าผมเห็นด้วยกับการกระทำคุณสมยศไหม เปล่า นี่คือความต่าง แต่ผมไม่ได้เลือกว่าจะช่วยคดีต่อเมื่อแนวความคิดทางการเมืองเหมือนกัน นี่คือหลักการของผมซึ่งผมทำมาตลอดชีวิต"

ทนายคนใหม่ของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ที่ถูกศาลตัดสินจำคุก 10 ปีในความผิดตามมาตรา 112 จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาล พร้อมกับยื่นประกันตัวลูกความ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 13

กสทช.ย้ำ เปล่าออกใบอนุญาตทีวีดิจิตอลสาธารณะ แจงแค่ให้ทดลองออกอากาศ

Posted: 01 Apr 2013 04:41 AM PDT

(1 เม.ย.56) ในการแถลงผลการประชุม กสทช. วันนี้ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (ประธาน กสท.) ชี้แจงว่า กสท. ยังไม่ได้มีการออกใบอนุญาตโทรทัศน์ประเภทบริการสาธารณะในระบบดิจิตอลใดๆ เลย มีเพียงอนุญาตให้ทดลองออกอากาศแบบคู่ขนานในช่วงเปลี่ยนผ่านเท่านั้น จนกว่าจะยุติการออกอากาศแบบอนาล็อก ซึ่งเป็นเรื่องปกติของทุกประเทศที่มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอล

พ.อ.นที กล่าวย้ำว่า การออกอากาศแบบคู่ขนานไม่ใช่การให้สิทธิแก่รายเดิม แต่เป็นการบังคับให้รายเดิมนำเนื้อหาจากระบบอนาล็อกมาออกอากาศในระบบดิจิตอลด้วย เพื่อให้ประชาชนที่เปลี่ยนมารับสัญญาณในระบบดิจิตอลในช่วงแรกได้รับชมเนื้อหาบนระบบอนาล็อก

อนึ่ง เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมบอร์ด กสท. มีมติอนุมัติกำหนดช่องรายการสำหรับกิจการโทรทัศน์ดิจิตอล ประเภทสาธารณะ จำนวน 12 ช่อง แบ่งเป็น 1-3 จะเป็นสิทธิของผู้ประกอบการรายเดิมคือ ช่อง 5, 11 และไทยพีบีเอส โดยทุกช่องจะคงผังรายการเดิม และอายุการอนุญาตขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความต้องการของช่อง 5 และ 11 ส่วนช่อง 4 ไทยพีบีเอส ได้สิทธิ 2 ช่อง เนื่องจากได้ยื่นข้อเสนอแลกเปลี่ยนมายัง กสท.โดยจะยุติการออกอากาศระบบอนาล็อกและเปลี่ยนเป็นดิจิตอลภายใน 3 ปี, คืนความถี่ UHF ทั้งหมดให้ กสทช.เพื่อนำไปจัดสรรใหม่ เพราะทำให้มีช่องรายการแบบความคมชัดสูง (HD) เพิ่มมากขึ้น ส่วนช่อง 5-12 จะเป็นผู้ประกอบการรายใหม่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แรงงานนอกระบบติง รมต.แรงงานอ้างเห็นชอบรวมกองทุนออมกับประกันสังคม

Posted: 01 Apr 2013 02:27 AM PDT



ตัวแทนแรงงานนอกระบบ ยื่นหนังสือท้วงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกรณีอ้างมติประชุม คนช. "เห็นชอบให้กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการคลังร่วมกันบูรณาการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เข้ากับกองทุนประกันสังคม มาตรา 40 เพื่อทำให้ระบบการออมชราภาพเป็นเอกภาพ" ด้านผู้แทนภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชน เสนอให้กระทรวงการคลังเร่งประกาศรับสมัครสมาชิกกองทุนการออม โดยเร่งด่วนเพื่อไม่ให้แรงงานนอกระบบเสียโอกาสจาก พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ที่มีการเตรียมความพร้อมของระบบและกลไกการนำกฎหมายสู่การปฏิบัติเรียบร้อยแล้ว โดยควบคู่กับการดำเนินการบูรณาการ กอช.ร่วมกับ กองทุนประกันสังคม มาตรา 40

วันนี้ (1 เมษายน 56) ตัวแทนแรงงานนอกระบบในคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบแห่งชาติ เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เรื่อง กองทุนการออมเพื่อการชราภาพ วันที่ 25 มีนาคม 2556 โดยอ้างถึงกรณีที่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชนเรื่องการบูรณาการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เข้ากับกองทุนประกันสังคม มาตรา 40 โดยอ้างมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบแห่งชาติ (คนช.) วันที่ 25 มีนาคม 2556 ระเบียบวาระว่าด้วยการพิจารณาการบังคับใช้พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ว่า

"เห็นชอบให้กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการคลังร่วมกันบูรณาการกองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.)เข้ากับกองทุนประกันสังคม มาตรา 40 เพื่อทำให้ระบบการออมชราภาพเป็นเอกภาพ"

จากการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ในนามผู้แทนภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชน ได้มีข้อเสนอเพื่อพิจารณาเพิ่มเติมประกอบการลงมติตามที่อ้างถึง คือ

"ให้กระทรวงการคลังเร่งประกาศรับสมัครสมาชิก กองทุนการออม โดยเร่งด่วนเพื่อไม่ให้แรงงานนอกระบบเสียโอกาสจาก พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ที่มีการเตรียมความพร้อมของระบบและกลไกการนำกฎหมายสู่การปฏิบัติเรียบร้อยแล้ว" โดยควบคู่กับการดำเนินการบูรณาการ กอช.ร่วมกับ กองทุนประกันสังคม มาตรา 40 และได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางจากกรรมการฯ ผู้แทนภาคประชาชนต่อข้อเสนอของกระทรวงการคลัง โดยที่ประชุมยังไม่มีการลงมติที่ชัดเจนต่อข้อเสนอและการอภิปรายในประเด็นดังกล่าว และได้มีการนำเสนอข้อมูลดังกล่าวต่อสื่อสาธารณะตามที่อ้างถึง :ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับผลการประชุมคณะกรรมการฯ ทางกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ในสัดส่วนผู้แทนภาคประชาชน ทางคณะกรรมการจึงขอชี้แจงว่ามติดังกล่าวตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานอ้างถึงนั้น (การเสนอข่าวจากหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 28 มีนาคม 2556 หน้าที่ 10) ยังไม่เป็นมติที่ได้รับการรับรองจากที่ประชุมคณะกรรมการ

ทั้งนี้ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้นายสง่า ธนสงวนวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้รับหนังสือแทน พร้อมจะนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานโดยด่วน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สาธารณสุขภูฏานให้มีถุงยางฟรีในโรงเรียนสงฆ์ เพื่อยับยั้งโรคระบาดทางเพศ

Posted: 01 Apr 2013 02:21 AM PDT

สาธารณสุขภูฏานจัดให้มีถุงยางในหลายที่รวมถึงโรงเรียนสงฆ์และวิทยาลัยสงฆ์ หลังพบกรณีที่พระและเณรมีโรคติดต่อทางเพศ รวมถึงเชื้อ HIV บางส่วน จากรายงานเรื่องเอดส์ในปี 2009 และรายงานในปี 2012 ของยูเอ็น

 
เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าว The Huffington Post รายงานว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของประเทศราชอาณาจักรภูฏานจัดให้มีถุงยางฟรีแม้กระทั่งในโรงเรียนสงฆ์ เพื่อลดอัตราการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV ในหมู่เณร
 
"พวกเรากำลังทำให้ถุงยางฟรีมีอยู่ทุกที่ แม้แต่ในโรงเรียนสงฆ์หรือวิทยาลัยสงฆ์" รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข แซงลีย์ ดุกปา กล่าว โดยบอกอีกว่าเขาได้จัดตั้งกลุ่มปฏิบัติการพิเศษเพื่อจัดการกับปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในวัด
 
สื่อรัฐบาลภูฏาน Kuensel เปิดเผยว่าพฤติกรรมเสี่ยงของพระในภูฏานปรากฏเป็นครั้งแรกในปี 2009 จากรายงานเรื่องความเสี่ยงและการติดเชื้อในหมู่วัยรุ่น ซึ่งในรายงานดังกล่าวระบุว่าพระได้มีเพศสัมพันธ์โดยใช้ส่วนโคนขา (thigh sex)
 
สื่อรัฐของภูฏานกล่าวอีกว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขของภูฏานแสดงความกังวลเมื่อมีการวินิจฉัยพบว่าพระราวสิบรูปรวมถึงที่เป็นเด็กอายุ 12 ปี มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีอย่างน้อย 5 รูปที่ตรวจพบเชื้อ HIV โดยผู้ติดเชื้อเด็กสุดอายุอยูที่ 19 ปี นอกจากนี้แล้วในรายงานปี 2012 ขององค์กรด้านเอดส์ของยูเอ็นยังได้กล่าวถึงกรณีการติดเชื้อ HIV ในหมู่พระภูฏาน
 
ขณะที่คณะกรรมการกิจการสงฆ์ของภูฏานเสนอว่าทางออกของปัญหาคือการมีธรรมวินัยที่เคร่งครัดมากขึ้น
 
ทางด้านจิตแพทย์กล่าวว่าการแพร่ระบาดของโรคอาจจะมาจากความเครียดทางจิตใจ โดยที่พระและแม่ชีในช่วงอายุ 15-25 ปี ส่วนใหญ่ก็เข้าพบจิตแพทย์ หรือในพระอาวุโสก็แสดงอาการของโรคเครียดอย่างหนัก โดยเฉพาะเมื่อต้องทำสมาธิเป็นเวลานาน ขณะที่แพทย์ด้านกระเพาะปัสสาวะบอกว่าพระอายุมากร้อยละ 70 ถึง 80 เป็นโรคอ้วน, ความดันโลหิตสูง และอาการปวดหลังเนื่องจากท่านั่งและวิถีชีวิตที่ไม่ได้ขยับตัวมากนัก
 
ปัจจัยอีกด้านคือด้านภูมิประเทศ เนื่องจากโรงเรียนสงฆ์มีเครื่องสันทนาการน้อยมาก การ์มา เพนเจอร์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการสงฆ์กล่าวว่า การทำให้มีพื้นที่สนามเด็กเล่นเป็นเรื่องยาก แต่ก็มีการจัดหาวอลเลย์บอลและไม้แบดมินตันให้
 
ภูฏานเป็นประเทศที่อยู่ระหว่างจีนกับอินเดียมีประชากรราว 700,000 คน และถือเป็นประเทศเดียวในโลกที่นับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ มีโรงเรียนสงฆ์ 388 แห่ง มีพระ 7,240 รูป แม่ชี 5,149 รูป
 
 
เรียบเรียงจาก
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์ วสันต์ พานิช: การยื่นอุทธรณ์ให้ ‘สมยศ’-สำรวจประสบการณ์คดีหมิ่นฯ

Posted: 31 Mar 2013 10:56 PM PDT

 

วันนี้ (1 เมษายน 2556) วสันต์ พานิช ในฐานะทนายคนใหม่ของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ที่ถูกศาลตัดสินจำคุก 10 ปีในความผิดตามมาตรา 112 จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาล พร้อมกับยื่นประกันตัวลูกความ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 13 แล้ว

วสันต์ พานิช เป็นอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนของสภาทนายความ เขาเข้ามาทำคดีนี้ในฐานะ "ส่วนตัว" และเป็นทนายซึ่งเคยว่าความกรณีนี้มาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้งคือ คดีในช่วง 6 ตุลาคม 2519 อันสืบเนื่องมาจากละครแขวนคอ ซึ่งกลายเป็นชนวนสำคัญของเหตุการณ์ และกรณีของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ จากการวิพากษ์วิจารณ์ รสช. เชื่อมโยงกับสถาบันกษัตริย์  ในคดีแรกไต่สวนกันไม่ทันไรก็มีกฎหมายนิรโทษกรรมออกมา คดีหลังสุลักษณ์ชนะคดี

 

 

ครั้งนี้ แม้เขาจะไม่ได้ว่าความให้สมยศ แต่ก็ได้รับเขียนอุทธรณ์ต่อสู้คดีให้เขา และน่าสนใจมากขึ้นเมื่อผู้ที่ติดตามการเมืองคงรู้ดีว่า จุดยืนทางการเมืองทั้งสองนั้นไม่เหมือนกัน

ก่อนวันยื่นอุทธรณ์ 'ประชาไท' ได้พูดคุยกับวสันต์ ถึงที่มาที่มาของการรับคดี แนวทางในการต่อสู้ มุมมองต่อคดี 112 ในปัจจุบัน และประสบการณ์คดีมาตรา 112 ในอดีต

 

00000

 

อยากทราบถึงที่มาที่ไปของการรับทำคดีนี้ ?

ต้องบอกก่อนว่าคุณสมยศกับผมนั้นความคิดต่าง แต่ที่เราเข้ามาช่วย เพราะตามหลักกฎหมายแล้วคุณสมยศไม่น่าจะผิด อันนี้ผมยืนยันในหลักการ ไม่ได้เลือกข้างว่าสีไหนๆ ผมเองทำคดีเราเลือกที่ความถูกมากกว่า เช่น กรณีช่วยเรื่องโรงไฟฟ้าที่เชียงราย แดงตัวแม่เลย ใส่เสื้อยิ่งลักษณ์เชียร์เต็มที่ แต่เราถือว่าคุณปกป้องชุมชนของคุณ ต่อต้านโรงไฟฟ้าไม่ให้เข้ามาทำลายวิถีของชุมชน หรือกรณีบุ่งไหม นั่นแกนนำแดงของอุบลราชธานีเลย แต่แกใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณะประโยชน์หาเลี้ยงชีวิต แต่วันดีคืนนี้ ราชธานีอโศก ของสันติอโศกไปซื้อที่ดินสาธารณะและมีการปล่อยเอกสารสิทธิในที่ดินสาธารณะก็พิพาทกันระหว่างชาวบ้านกับราชธานีอโศก ผมก็ช่วยชาวบ้าน ในเมื่ออยู่ดีๆ คุณออกเอกสารสิทธิในที่ดินสาธารณะที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน

นี่คือแนวคิดที่ผมเข้ามาทำคดีคุณสมยศ เพราะโดยหลักการคุณสมยศไม่ควรเข้ามารับผิดในฐานะ บก. ทั้งโดยกฎหมาย โดยรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อศาลตัดสินอย่างนี้ ผมก็ต้องถือว่าคุณสมยศเป็นผู้ถูกกระทำในกรณีนี้

ถามว่าผมเห็นด้วยกับการกระทำคุณสมยศไหม เปล่า นี่คือความต่าง แต่ผมไม่ได้เลือกว่าจะช่วยคดีต่อเมื่อแนวความคิดทางการเมืองเหมือนกัน นี่คือหลักการของผมซึ่งผมทำมาตลอดชีวิต

 

กรณีสมยศ ภรรยาเป็นคนติดต่อมาใช่ไหม ตอนนั้นเห็นสำนวนหรือยัง?

ใช่ คุณจุ๊บ(สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข) มาติดต่อก่อนศาลมีคำพิพากษา ผมเองก็ยังไม่เห็นสำนวนเลย แต่ไม่มีปัญหา เพราะโดยหลักการแล้วคุณสมยศไม่ควรถูกลงโทษ ผมยินดีจะช่วย และไม่หนีความคาดหมาย ศาลชั้นต้นลงโทษ หนักเสียด้วย

 

ทำไมถึงไม่หนีความคาดหมาย?

ก่อนหน้านี้ก็มีตัวอย่างคดีอากง คดีอากงก็ลงไม่ได้ต่างกัน กรรมละ 5 ปี โดน 4 กรรมก็ 20 ปี คดีอากงผมเข้าไปช่วยตอนอุทธรณ์เหมือนกันแต่ไม่ได้เป็นข่าวเหมือนกรณีสมยศ พอดีน้องๆ ทีมทนายคดีอากงมาปรึกษา เขาก็มีข้ออ่อนตรงที่ว่ามีใจ แต่ประสบการณ์ยังน้อย คดีพวกนี้มันต้องค้นคว้ามาก่อน ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ คดีสมยศก็เหมือนกัน

 

แสดงว่าติดตามคดีสมยศมาตลอดเหมือนกัน

ไม่ อันที่จริงไม่ว่าคดีไหนถ้าเราเห็นว่าถูก เราพร้อมจะช่วยเหลือถ้าเขาขอร้องมา กรณีเสื้อแดงเหมือนกัน ตอนนั้นเขาเองมีการร้องขอ คุณกันระหว่างหมอนิรันดร์ (พิทักษ์วัชระ-กรรมการสิทธิฯ) อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพคนเดิม ผม คุยกันว่าในเมื่อสภาทนายความเขาประกาศว่าไม่ช่วย แต่ผมเองในฐานะประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน ของสภาทนายความ ผมไม่ได้ติดว่าสีไหน แต่ถ้าคุณเผาศาลากลาง ก็.... เจรจาผ่อนหนักเป็นเบา แต่สำหรับชาวบ้านที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ผมพร้อมช่วยเต็มที่ ไม่ได้ปฏิเสธแบบนายกฯ สภาฯ ซึ่งทำให้เสื้อแดงก็รู้สึกว่า อะไร มีการเลือกข้างด้วยหรือ ผมไม่ใช่ แต่ผมก็กำลังจะหมดวาระเดือนหน้าแล้ว และไม่อยากใช้ตำแหน่งนี้ เพราะเขาปฏิเสธไปแล้ว ผมเลยช่วยคุณสมยศในฐานะส่วนตัว

 

กรณีมาตรา 112 มีความคิดต่อคดีลักษณะนี้อย่างไร

ผมว่าความมาหลายคดี ไม่ใช่คดีนี้คดีแรก ผมมองเห็นว่า มาตรา 112 ควรจะมีปรับปรุง แต่ผมอาจเห็นต่างจากคนอื่น ต่างจากนิติราษฎร์ ตรงที่มองว่า เดิมมีข้อหานี้อยู่แล้ว ก่อนมีเหตุการณ์ 6 ตุลาซึ่งใช้มาตรานี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่จะเอามาทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมือง หรือคนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง เป็นอย่างนี้มาตลอด

ยกตัวอย่าง ผมว่าความคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคดีแรกเลย สมัยก่อนแกเข้าป่า พูดชื่อไปคนก็ไม่รู้จัก เป็นคดีดึกดำบรรพ์มากตั้งแต่ยังเป็นสมคมทนายความนั่นเลย คุณคนนี้แกเข้าป่า เผารถแทรกเตอร์แล้วถูกจับได้ พอไปอยู่เรือนจำก็เปิดโปงเรือนจำว่า ผู้คุม ผู้บัญชาการทุจริตกันหมด ข้าวปลาอาหารของนักโทษมันกระเหม็ดกระแหม่ กินอย่างเลวร้าย พอจับได้ว่าจดหมายเป็นของคุณคนนี้ สุดท้ายก็ให้ผู้ต้องหาด้วยกันกล่าวหาว่า ผู้ต้องหาคนนี้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

คดี 6 ตุลา ขบวนการฝ่ายขวาอยากทำลายขบวนการฝ่ายซ้าย ขวาพิฆาตซ้าย ตอนนั้นมี 3 ประสาน ขบวนการนักศึกษา (ศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย) ขบวนการแรงงาน (สหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย) และขบวนการชาวนา (สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย) เคลื่อนไหวร่วมกัน ขบวนการขวาทั้งหลายกลัวขบวนการฝ่ายซ้าย คุณนิสิต จิรโสภณ แกก็เป็นนักศึกษาออกไปเผยแพร่ประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลา แกถูกถีบตกรถไฟตาย

ด้านแรงงานก็มีการจับกุม ก่อน 6 ตุลา ก็มีกรรมการอ้อมน้อย คดีคุณสุภาพ พัสอ๋อง มีนักศึกษา 4 คน ผู้ใช้แรงงาน 5 คนถูกแจ้งข้อหาคอมมิวนิสต์ หรือ ดร.บุญสนอง บุญโยทยาน อยู่ปีกฝ่ายซ้ายถูกฆ่า พรรคพลังใหม่ถูกปาระเบิดโดยกลุ่มกระทิงแดง คนขว้างระเบิดผิดพลาดตายไปคนหนึ่ง คนนิ้วขาด คุณสมหวัง ศรีชัย รองหัวหน้าพรรคพลังใหม่ ไปหาเสียงที่ชัยนาทถูกขว้างระเบิดคนตายไป 8 คน จะเห็นว่าขบวนการฝ่ายซ้ายถูกกระทำ ฝ่ายขวากลัวมาก หัวขบวนฝ่ายขวาก็คือ พรรคชาติไทยในสมัยนั้น พวกนี้จะเปิดเพลงหนักแผ่นดิน

ในที่สุดนักศึกษาก็เล่นละครล้อ เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา และมีการทำรัฐประหารในวันนั้นโดยสงัด ชะลออยู่ แล้วก็แก้ไขกฎหมายมาตรานี้กันในวันที่ 21 ตุลาคม 2519 จากเดิมมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ซึ่งศาลจะลง 1 ปี 2 ปี รอลงอาญาก็มีเยอะแยะ แต่พอแก้ไขกฎหมาย โทษใหญ่ขึ้นมา จำคุก 3-15 ปี ดังนั้นในความเห็นผม ช่วงนั้นสงัด ชะลออยู่ คือปฏิกิริยาขวาจัดแน่ๆ ธานินทร์ กรัยวิเชียร บอกว่าประชาธิปไตย 12 ปีค่อยเป็นค่อยไป ในที่สุดก็แก้ไขกฎหมายเพื่อเอาโทษนักศึกษาในขณะนั้น ถามว่ามันมีฐานวิธีคิดอะไรที่ถูกต้องบ้าง

ในทางหลักการ โอเค เทียบกับต่างประเทศซึ่งเราลอกกฎหมายเขามา เขาก็มีกฎหมายนี้อยู่ ดังนั้น โทษที่มีอยู่เดิมมันก็เหมาะสมแล้ว อันนี้ไม่ได้พูดถึงแนวความคิดว่าจะเปลี่ยนอะไร ยกเลิกอะไร นั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่พูดในฐานคิดว่าตรงนี้ควรปรับแก้มาอยู่ที่เท่าเดิมคือไม่เกิน 7 ปี

ความต่างอีกนิดคือ ไม่ใช่ว่าใครคู่ต่อสู้ทางการเมืองก็แจ้งความได้ อย่างกรณี 6 ตุลา คณะรัฐประหารเป็นคนแจ้ง กรณีสุลักษณ์ ศิวรักษ์ คนที่แจ้งคือ รสช. เพราะอ.สุลักษณ์ไปด่า รสช. ชุดสุจินดรา (คราประยูร) บอกว่า ไอ้พวกนี้มันทำรัฐประหารเพื่อจะเถลิงอำนาจ ต่อไปมันจะขึ้นมาปกครองประเทศอีก ซึ่งผลสุดท้ายก็เป็นอย่างนั้น โดนข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และผมเป็นทนายความ

อันที่จริงผมเป็นทนายคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตั้งแต่คดี 6 ตุลา ซึ่งมีสองกลุ่ม กลุ่มแรก สุธรรม (แสงประทุม) กับพวก และอีกส่วนแยกไปคนเดียวคือ บุญชาติ เสถียรธรรมมณี ซึ่งเป็นคนชักรอก (เวทีละครล้อ) ผมเป็นทนายความให้เขา ซึ่งมันเกิดขึ้นจากทางการเมืองหมดเลย กรณีอ.สุลักษณ์ ก็ รสช.แจ้ง กรณีคุณสมยศ ก็ ศอฉ. เป็นคู่ตรงข้ามทางการเมืองทั้งนั้น

ทำไมเปิดโอกาสให้กลุ่มตรงข้ามซึ่งอ้างความจงรักภักดีแจ้งความได้ง่าย ดังนั้น มันควรจะมี กลุ่มบุคคล ยกตัวอย่างเป็นตุ๊กตาก็ได้ เช่น สำนักราชเลขาฯ อาจจะเว่อร์ไปเพราะคนอาจมองว่าสำนักราชเลขาฯ ก็ใกล้ชิดกษัตริย์ เอาเป็นคนที่เป็นกลางไม่มีส่วนได้เสียทางการเมืองก็ได้ขึ้นมาตรวจสอบว่า คดีนี้ควรจะถูกแจ้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือเปล่า เพราะเราจะเห็นว่ามีการเมืองอยู่เบื้องหลังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทั้งหมดเลย

ผมพูดมาซักเป็นสิบปีขึ้น ในประเด็นนี้ ผมยังยืนยันในความคิดผมอยู่

 

ในสมัยนั้นการต่อสู้ในศาลในคดีนี้มีความยากลำบากไหม อย่างไร และส่วนใหญ่ได้รับโทษอย่างไร?

เผอิญตอนปลายผมไม่ได้ว่าความคดีคนที่เปิดโปงเรื่องทุจริตในคุกนั้น โดนหนัก 7 หรือ 8 ปี เพราะหลายกรรม แต่พอมาถึงคดี 6 ตุลา จริงๆ แล้วสืบไม่ได้เลย ว่าจะเอาคดีนี้มาเขียนตำราวิชาว่าความ คดีนี้เตรียมคดีหนักมาก เผอิญเขาไปทำลายทิ้งแล้วบอกว่าอายุเกิน 10 ปี ต้องเผาทิ้ง ความจริงเรื่องนี้น่าสนใจ ให้เห็นว่ามีการตบแต่งภาพ ตบแต่งฟิล์มสารพัดมันทำได้ มีหนังสือพิมพ์แค่ 2 ฉบับที่เหมือน นักข่าวคนอื่นถ่ายออกมาไม่เหมือน ตอนถ่ายก็ไม่รู้สึกว่าเหมือนเลย เรื่องนี้ไม่ได้จบที่ยกฟ้อง พอเริ่มสืบ ก็มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดี 6 ตุลาทั้งหมดเลย อ้างว่ายกโทษให้นักศึกษา แต่จริงๆ ยกโทษให้ตัวเองเพราะนักศึกษาถูกฆ่าตายไปมาก ทุกอย่างจบเพราะนิรโทษกรรม

 

แสดงว่าในยุคนั้น การนิรโทษกรรมนั้นรวมถึงคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย

ใช่ ฉะนั้น บอกว่านิรโทษกรรมไม่เคยรวมถึง 112 ตอแหล (หัวเราะ)  เพราะอย่าง 6 ตุลา คุณสุธรรมกับพวก 18 คน ก็ถูกฟ้องดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ก็โดนข้อหาด้วย เลยพิจารณาคดีที่ศาลทหาร

ที่ผมได้ว่าความนั้น นายกรัฐมนตรีคนแรกที่ผมได้ซักคือ หม่อมเสนีย์ ปราโมทย์ ที่มาเป็นพยาน คดีที่สองที่ได้ซักคือ สุจินดา คราประยูร คดีอ.สุลักษณ์ คนที่สามคือคุณสมัคร สุนทรเวช ที่แกฟ้องอาจารย์ใจ เพราะอาจารย์ใจบอกว่าคุณสมัครมือเปื้อนเลือดจากเหตุการณ์ 6 ตุลา แต่ตอนหลังคุณสมัครแกไม่สู้ไปถอนฟ้องก่อน อันนี้ช่วงปีก่อนแกลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ก

กรณีของ อ.สุลักษณ์ก็จบด้วยการยกฟ้อง เป็นกรณีที่ค่อนข้างดัง แม้กระทั่งคดีนักศึกษากลุ่มสัจธรรมของรามคำแหง ประเดิม ดำรงเจริญ ก็จบด้วยการยกฟ้องแต่คดีนั้นผมไม่ได้ทำ อันนี้เป็นเหตุการณ์ก่อน 6 ตุลา จากกรณีของบทกวี จากชาวฟ้าถึงข้าชาวดิน

 

แต่เท่าที่ดูคดีเกี่ยวกับ 112 แทบจะไม่มีคดีไหนสู้ในทางเนื้อหา

ผิด คดีอ.สุลักษณ์สู้ในทางเนื้อหาล้วนๆ เป็นคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อปี 2535 ต่อ 2536  เขาแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 กันวันที่ 21 ต.ค.2519 พอ อ.สุลักษณ์โดนก็เลยโดนเข้าไปเต็มที่เลย  ถ้อยความที่โดนคือ "มีการคลานยั้วเยี้ย"  "หมอบคลาน" ในที่สุดศาลมีคำพิพากษาว่า ถึงแม้อ.สุลักษณ์จะใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม แต่หลักของอ.สุลักษณ์เป็นการติติงในทำนองติชมเพื่ออยากจะให้สถาบันดำรงอยู่คู่บ้านเมือง แต่ไม่ใช่การให้ร้ายป้ายสี แม้ถ้อยคำติชมจะรุนแรงไปบ้าง ไม่เหมาะสมบ้าง ยกตัวอย่างคำของอ.สุลักษณ์ คือ คลานยั้วเยี้ยเข้ารับพระราชทานปริญญา ตอนนั้นเราก็ค้นกฎหมาย ร.5 มีพระบรมราชโองการให้เลิกหมอบคลาน เนื่องจากช่วงนั้นต่างประเทศเริ่มเข้ามาและเห็นว่าประเพณีนี้ล้าหลัง พระบรมราชโองการในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชก็ถือเป็นกฎหมาย เมื่อเป็นกฎหมายก็มีผลใช้บังคับ ห้ามหมอบคลาน แต่ใครจะหมอบคลานก็เป็นเรื่องของคุณ แต่โดยหลักก็ไม่ต้อง จุฬาฯ ตั้งแต่อดีตไม่มีการหมอบคลาน รับพระราชทานปริญญาบัตรก็เดิน แล้วก็มีอีกหลายประเด็นที่เราค้นให้เห็นประวัติศาสตร์เพื่อให้เห็นว่าไม่ได้กล่าวร้ายพาดพิงในหลวง ในที่สุดศาลก็พิพากษายกฟ้อง

ยกตัวอย่างในคดีสมยศง่ายๆ กรณีคาร์บ๊อง กรณีลอบวางระเบิดโบอิ้งที่คุณทักษิณนั่ง เหตุการณ์เหล่านี้โยงไปหมดเลย รวมตลอดทั้งเหตุการณ์ 6 ตุลา หลวงนฤบาล จะตีความได้อะไรขนาดนั้น

 

ในอดีตไม่แน่ใจว่ามีมาตรฐานอย่างไร แต่เคสนี้ใช้พยานโจทย์ที่เชื่อมโยงและตีความ

ใช่ ใช้พยานโจทก์และพยานโจทก์เบิกความก็ไม่แน่นอน อย่างกรณี 6 ตุลา ผมจับคดีเหล่านี้มาแต่ต้น มันเป็นเรื่องของขบวนการฝ่ายขวา ไม่ได้เกี่ยวกับสถาบันแล้วคุณจะไปโยงได้อย่างไร ถ้าหมายถึงอำมาตย์ ก็ต้องถามว่าตีความอย่างไร บรรดาขุนศึกถือเป็นอำมาตย์ไหม อย่าตีความไปเลยเถิด แม้แต่ศาลเองก็สับสนว่ากรณีพระเจ้าตากสินเสียชีวิตอย่างไร โดยหลักแล้วพระเจ้าตากสินถูกประหารชีวิต ที่นักประวัติศาสตร์เบิกความที่ศาลว่าถูกตีด้วยท่อนจันทน์แล้วก็ใส่ถุงแดงเพื่อไม่ให้เลือดตก เพ้อเจ้อ ไม่ใช่

 

เท่าที่สังเกตการณ์คดีของสมยศ จะเห็นว่า ประวัติศาสตร์มีหลายเวอร์ชั่น ฝ่ายโจทก์ฝ่ายจำเลยก็คนละเวอร์ชั่น ถ้าเราพยายามจะอธิบายในเรื่องประวัติศาสตร์ ก็เป็นการต่อสู้ในล็อคเดิมซึ่งศาลได้พิพากษามาแล้ว

เรากำลังพูดว่า เวอร์ชั่นนี้ก็ไม่ได้หมายถึงต้นตระกูล เป็นตระกูลอำมาตย์อะไรก็ได้ เพราะในหนังสือเล่มนี้ก็พูดถึงอำมาตย์มาโดยตลอด ซึ่งหมายถึง พล.อ.เปรม (ติณสูลานนท์) และในเมื่อมันยังคลุมเครือแบบนั้นทำไมศาลถึงไปสั่งลงโทษเขาได้ ในเมื่อยังพิสูจน์ไม่ได้ มีหลายสำนักแบบนี้ ทำไมไม่ยกประโยชน์ให้จำเลย ต้องชัดตรงนี้

 

โดยสรุปแล้ว กรอบการอุทธรณ์คดีสมยศเป็นอย่างไร ?

1.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 "บุคคล ไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่า โทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้

ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด

ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้น เสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้"

คือ คนที่จะถูกลงโทษ ต้องมีกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำของคุณเป็นความผิดตามกฎหมาย และโทษที่กำหนดไว้ก็ต้องเป็นโทษในขณะนั้น ไม่ใช่ต่อมากฎหมายแก้โทษให้หนักขึ้นแล้วจะมาลงโทษ ต้องเป็นกฎหมาย ณ ขณะนั้น

2.พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484  บก.ผู้พิมพ์ผู้โฆษณาต้องรับผิดด้วยสำหรับการตีพิมพ์บทความของผู้อื่น แต่กฎหมายยกเลิกไปแล้ว เหลือ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 เมื่อกฎหมายบอกว่า บก.ผู้พิมพ์ผู้โฆษณาไม่มีความผิด แล้วทำไมคุณสมยศจึงมีความผิด

 

พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ไม่ได้เขียนชัดๆ ไม่ใช่หรือ ว่า บก.ไม่ต้องรับผิดชอบ ?

เขาบอกว่า บก.ผิด แต่ไม่ได้ใช่ผิดในฐานะที่เป็น บก. แต่ผิดในฐานะที่ สมมติถ้าจะลงบทความ เจตนารมณ์ของกฎหมายก็คือ คุณจะลงบทความนี้แล้วไม่ยอมเปิดเผยว่า นายหมู นายหมา นายแมวคือใคร ผิดตรงนั้น แต่ บก.ไม่ได้มีหน้าที่เหมือนแต่เดิม ไม่มีหน้าที่คัดหา ตรวจ กลั่นกรองก่อนลงพิมพ์เพื่อโฆษณาเผยแพร่ อันนั้นเป็นหน้าที่ตามกฎหมายเดิม เมื่อกฎหมายยกปั๊บ ก็ไม่มีความผิด พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ความผิดที่ระบุไว้ก็ไม่ใช่ในฐานะ บก.ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา

3.ถ้าอย่างนั้นต้องอีกบทบาทหนึ่ง คุณต้องดูก่อนเผยแพร่ แต่เท่าที่ดูคำเบิกความพยานโจทก์  หนังสือ Voice fo Taksin คุณสมยศเป็น บก. และเขียนบทความของตัวเองด้วย

บทความที่มาถึงของจิตร พลจันทร์ เป็นบทความประจำ เคยลงตีพิมพ์มาก่อน ไม่เคยมีปัญหา และเมื่อเป็นบทความประจำ ไม่มีเวลามานั่งตรวจ เมื่อมาก็มักมานาทีสุดท้าย ซึ่งก็จะมีเจ้าหน้าที่ประจำตรวจคำผิด หาภาพมาเติม คุณสมยศก็ไม่มีโอกาสดูรายละเอียดทั้งหมด ส่งพิมพ์เลย จะผิดได้ต้อง "เสมือนหนึ่งเป็นคนเขียนเอง" แต่โอกาสจะทำแบบนั้นไม่มี

นี่คือประเด็นหลักที่เราจะยื่นอุทธรณ์  ประเด็นรองมาคือ ถ้อยคำทั้งหลายนั้นเป็นการตีความที่คาดการณ์เอาเองของศาลว่าหมายถึงสถาบัน ข้อความนั้นก็น่าจะไม่ผิดด้วย เป็นการตีความขยายเพื่อเอาผิดกับคนที่เขียน

 

เท่าที่ดูรายงานกระบวนพิจารณา ทนายเองก็พยายามต่อสู้เรื่อง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์เหมือนกัน

แต่ว่าต่าง ไปอ้างว่าเคยมีคำพิพากษาฎีกา แต่ไม่ได้อ้างรัฐธรรมนูญ ต้องถามว่าพอยกรัฐธรรมนูญแล้ว เป็นกฎหมายสูงสุดไหม ศาลต้องบังคับใช้ด้วยไหม ต้องบังคับใช้ด้วยเนื่องจากเป็นไปตามมาตรา 27 "สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยายหรือ โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง"

ดูคำพิพากษา จะบอกว่าสมยศมีหน้าที่คัดเลือกบทความ กลั่นกรองก่อนโฆษณาเผยแพร่ นั่นมันหน้าที่ของ บก.ผู้พิมพ์ผู้โฆษณาชัดๆ เลย เมื่อไม่มีกฎหมายแล้วไปลงโทษได้อย่างไร

 

แต่คำพิพากษาเขียนชัดเจน มีท่อนหนึ่งระบุว่า แม้จะพ้นผิดตามพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ แต่ไม่พ้นผิดตามม.112

ก็ 112 จะผิดได้ต้อง "เสมือนหนึ่งว่าเป็นคนเขียน" แต่พฤติกรรมมันพิสูจน์ไม่ได้แบบนั้น เพราะส่งมาท้ายๆ ตาลีตาเหลือกมา และเป็นบทความที่ลงประจำ ไม่ได้อ่านให้เข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วจะลงโทษได้อย่างไร ดังนั้น จึงย้ำว่า ต้องเสมือนหนึ่งเป็นคนเขียน ถ้าจะให้รับผิด แต่พยานโจทก์ก็บอกว่าไม่ได้มีเวลาทำอย่างนั้น โรงพิมพ์แรกยังไม่รับเลย เพราะงานมันด่วน ทำไม่ทัน

 

ส่วนใหญ่ผู้ที่โดนคดีนี้ มีแนวทางการต่อสู้ 2 แบบ ถ้าสู้คดีดูเหมือนโทษจะหนัก ยิ่งอุทธรณ์ด้วยยิ่งน่าจะมีความหวังไม่มาก จึงมีคนอยากให้เลือกแนวทางการขออภัยโทษ

ไม่เห็นด้วย ไม่รู้สิ ของสมยศอาจจะต่างจากกรณีอื่นๆ ที่มีเจตนาชัดเจน แต่กรณีของสมยศต่างออกไป เขาเขียนบทความลงใน Voice of Taksin ใช้ชื่อว่า สมยศ พฤกษาเกษมสุข และไม่เคยพาดพิงสถาบันเลย ก็พิสูจน์โดยตัวเองว่าเขาไม่ได้หมิ่น ทำไมต้องขอพระราชทานอภัยโทษด้วย ผมทำคดี หรือจะรับ ก็ต้องมั่นใจในข้อกฎหมายหรือสิ่งที่ผมทำอยู่ว่านั่นคือ ความถูก ถ้าลองผมเขวนิดหนึ่งผมไม่มีปัญญาเขียนอุทธรณ์ได้ ต้องเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองเชื่อก่อน

 

ในวันยื่นอุทธรณ์จะยื่นประกันด้วยไหม?

โดยหลักแล้ว คดีจะยืดเยื้อยังไงเราไม่ว่า เมื่อถือว่าคุณสมยศบริสุทธิ์ พฤติกรรมที่จะไม่ให้ประกันตัว คือ มีพฤติกรรมจะหลบหนี ข่มขู่หรือยุ่งเหยิงพยาน ต้องถามว่าจะข่มขู่พยานได้ไหม กระบวนการเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนเรื่องหลบหนี ที่จับได้ที่ด่านกัมพูชาก็เพราะจะพาลูกทัวร์ไปเที่ยว และหลังออกหมายจับคุณสมยศก็เข้าออกกัมพูชาหลายเที่ยว ก็ปรากฏในพาสปอร์ต แล้วโดยหลักการแล้วไทยไปรับรองกติการะหว่างประเทศสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองตั้งแต่ 29 ตุลาคมปี 2539 รัฐธรรมนูญ 50 จะต่าง ฉบับอื่นจะต่าง ใน 50 มีม. 82 บอกว่า "รัฐต้องส่งเสริมสัมพันธไมตรีและความร่วมมือกับนานาประเทศ และพึงถือหลักในการปฏิบัติต่อกันอย่างเสมอภาค ตลอดจนต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี รวมทั้งตามพันธกรณีที่ได้กระทำไว้กับนานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศ..." ในกติการะหว่างประเทศนั้นเขียนชัดเจนว่า ปล่อยตัวเป็นหลัก ควบคุมตัวเป็นข้อยกเว้น ถ้าจะควบคุมตัวไว้ก็โดยเงื่อนไขของกฎหมาย

ในทางกลับกันลองดูคดี เกียรติศักดิ์ เด็กนักเรียนที่กาฬสินธุ์ถูกแขวนคอ ถามว่าคดีนี้โหดไหม ศาลชั้นต้นตัดสินประหารชีวิต อีกส่วนหนึ่งจำคุกตลอดชีวิต แต่ศาลก็ให้ประกันตัว ผมไม่ได้กล่าวหาตำรวจ ในช่วงเดียวกัน ในกาฬสินธุ์เป็นเมืองปลอดอาชญากรรม เด็กอายุ 14-15 ปีทำผิดติดคุกหมด ครั้งที่สองพบ 22-23 ศพ หาตัวคนกระทำความผิดไม่ได้ มีเกียรติศักดิ์หาได้รายเดียว ร้ายแรงไหม ได้ประกันตัวไหม แล้วถ้าเทียบคดีนี้ ทำไมคดีนั้นให้ประกันตัว  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุเนตร ชุตินธรานนท์: วัฒนธรรมหนังสือในอุษาคเนย์

Posted: 31 Mar 2013 10:41 PM PDT

การปาฐกถาพิเศษ "วัฒนธรรมหนังสือในอุษาคเนย์" โดย รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์

ในงานประชุมวิชาการ Thailand Conference on Reading 2013 จัดโดยสำนักงานอุทยานการเรียนรู้หรือ TK Park ระหว่างวันที่ 21 และ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญที่มีบทบาทด้านการส่งเสริมการอ่านของไทยเพื่อนบ้านอาเซียนอีก 3 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย พม่า และเวียดนาม และมีการบรรยายโดยผู้เชี่ยวชาญจากอินเดียนั้น

โดยในวันที่ 22 มี.ค. มีการปาฐกถาพิเศษ "วัฒนธรรมหนังสือในอุษาคเนย์" โดย รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยตอนหนึ่งของปาฐกถาอาจารย์สุเนตรกล่าวว่า ทุกชาติไม่เฉพาะประเทศไทย มักมองเพื่อนบ้านในฐานะที่ไม่ได้มองโดยเน้นความเป็นมนุษย์ แต่เน้นที่มิติการเป็นศัตรูในประวัติศาสตร์ หรือเฉพาะด้านเศรษฐกิจการค้า ดังนั้น ประตูสู่ความเข้าใจความเป็นมนุษย์และมีความสำคัญที่จะทำความเข้าใจประเทศเพื่อนบ้านอีกด้านหนึ่งก็คือ โลกของการอ่านหนังสือ

ในการปาฐกถาตอนหนึ่งอาจารย์สุเนตรยกตัวอย่างวรรณกรรมของประเทศเพื่อนบ้าน 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ มาลาดวงจิต นวนิยายในกัมพูชา ที่สะท้อนเรื่องราวความรักของนักศึกษาชาวกัมพูชาในวิทยาลัยสีสุวัติ กับนิสิตหญิงที่เรียนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในเรื่องได้สะท้อนภาพความรับรู้ของชาวกัมพูชาต่อชาวไทยอย่างน่าสนใจ

นอกจากนี้ เรายังสามารถเรียนรู้ภูมิหลังทางสังคมของประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านวรรณกรรมได้ด้วย โดยอาจารย์สุเนตรยังกล่าวถึงวรรณกรรมเด็กของเวียดนาม เรื่อง "ขอตั๋วหนึ่งใบกลับไปสู่วัยเด็ก" ผลงานของ "เหงวียน เหญิต อั๋นห์" ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยแล้วโดย มนธิรา ราโท โดยวรรณกรรมนี้ได้รับรางวัลซีไรต์ในปี 2554 ซึ่งเป็นเรื่องไม่บ่อยครั้งนักสำหรับเวียดนาม ที่วรรณกรรมเยาวชน และไม่ใช่เรื่องราวของการปฏิวัติจะได้รับรางวัลในเวียดนาม

ท้ายของการปาฐกถา อาจารย์สุเนตรกล่าวว่าหนังสือคือหน้าตาที่เผยความเป็นมนุษย์ ทำให้มนุษย์เข้าใจมนุษย์อย่างที่เป็นมนุษย์ และการศึกษาหนังสือ ไม่ใช่ศึกษาแต่ตัวหนังสือ แต่ต้องทำศึกษาบริบทที่มาของหนังสือด้วย เพื่อให้เข้าใจว่าเพราะเหตุใดหนังสือเล่มนั้นจึงถูกพิมพ์ จึงเป็นที่นิยม และในขณะที่หนังสือมีบริบทของสังคมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดหนังสือ หนังสือเองก็ผลักดันให้สังคมเปลี่ยนแปลงด้วยพร้อมกันไปด้วย

โดยอาจารย์สุเนตรหวังว่าการอ่านหนังสือจะเป็นพาหนะที่จะทำความเข้าใจจิตวิญญาณภูมิภาคอาเซียน และเปิดพื้นที่ให้กับสังคมไทยและเพื่อนบ้านอาเซียน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น