โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

"ทวิภาษา" แบบการเรียน "มอญ-ไทย" "เรียน" เพื่อ "รู้" อย่างไร้รากเหง้าและอัตลักษณ์

Posted: 29 Apr 2013 12:11 PM PDT

 

วันที่ 18 เมษายน 2556 ณ ศาลาวัดวังก์วิเวการาม อำเภอสังขละ จังหวัดกาญจนบุรี ชาวบ้านยกมือวิพากษ์โครงการทวิภาษาของกระทรวงศึกษาธิการด้วยความอัดอั้น เหตุเพราะรูปแบบการเรียนการสอนสองภาษาส่งผลกระทบต่อเด็กๆในชุมชนเป็นอย่างมาก ชุมชนไม่ต้องการอยากให้ทางการยกเลิกระบบดังกล่าวให้เร็วที่สุด

"เด็กๆ ทุกคนเกิดที่นี่ พูดภาษาไทยได้ชัด การจัดการเรียนแบบทวิภาษาจึงไม่จำเป็นและไม่เหมาะสมสำหรับโรงเรียนที่นี่" คุณพ่อสัญชาติมอญจากชมรมส่งเสริมวัฒนธรรมไทย-มอญ กล่าวย้ำถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกๆ ของตนอย่างกังวลใจ

การลงพื้นที่เพื่อรับทราบปัญหาเพื่อช่วยเหลือด้านสถานะบุคคลสิทธิของคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความในครั้งนี้จึงไม่จำกัดไว้แค่เพียงเรื่องสัญชาติ หากแต่พื้นที่นี้เรื่องระบบการศึกษากลับเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ชาวบ้านเห็นตรงกันว่าควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตของลูกหลาน

โครงการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย โดยใช้ภาษาท้องถิ่นร่วมจัดการเรียนรู้ เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปีงบประมาณ 2554 หลังจากได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลภาษาของนักเรียนโรงเรียนพื้นที่แนวชายแดน 30 จังหวัด 45 เขตพื้นที่ พบว่ามีภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน(ภาษาแม่/ภาษาบ้าน/ภาษาชาติพันธุ์) กว่า 30 ภาษา โรงเรียนบางแห่งมีการใช้ภาษามากกว่า 3 ภาษา และเนื่องจากภาษาที่นักเรียนใช้ประจำวัน/คุ้นเคย กับภาษาในการจัดการเรียนการสอนนั้นแตกต่างกัน มีผลให้นักเรียนในพื้นเหล่านั้นมีความยากลำบากในการเรียนรู้เนื้อหาสาระตามหลักสูตร และไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงได้จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนภาษาไทยโดยนำภาษาท้องถิ่นร่วม จัดการเรียนรู้ขึ้นโดยเน้นดำเนินการพัฒนากระบวนการสอนภาษาไทยในโรงเรียนแนวชายแดนและพื้นที่พิเศษ

ในปัจจุบัน สพฐ. มีโรงเรียนนำร่องในโครงการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยโดยนำภาษาท้องถิ่นร่วมจัดการเรียนรู้ (ทวิภาษาเต็มรูป) 11 โรงเรียน ได้แก่ที่ปัตตานี เขต 2 , ยะลา เขต 1, นราธิวาส เขต 1, สตูล, กาญจนบุรี เขต 3, เชียงราย เขต 4 , และที่เชียงใหม่ เขต 5, โครงการทวิภาษา(เต็มรูป) นี้ สพฐ. ดำเนินงานร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล, มูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ และ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษาของแต่ละพื้นที่

โดยจัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย(ทวิภาษาเต็มรูป) ในโรงเรียนนำร่อง 11 โรงเรียน ร่วมกับมูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ และมหาลัยมหิดล ซึ่งได้แก่โรงเรียนวัดวังก์วิเวการาม (ภาษาไทย-มอญ), โรงเรียนบ้านรักแผ่นดิน บ้านแผ่นดินทอง บ้านห้วยหาน และบ้านห้วยคุ (ภาษาไทย-ม้ง), โรงเรียนบ้านพุย (ภาษาไทย-กะเหรี่ยงโปว์,) โรงเรียนบ้านประจัน บ้านบึงน้ำใส ไทยรัฐวิทยา ๑๐ (บ้านใหม่) โรงเรียนบ้านตำมะลังเหนือ (ภาษาไทย-มลายู), และโรงเรียนบ้านโพธิ์กอง (ภาษาไทย-เขมรถิ่นไทย)

"ทวิภาษาคือการเรียนสองภาษา มอญกับไทย เพื่อให้คนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกันอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ทำลายวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ส่งเสริมในทุกภาษาและวัฒนธรรม การจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างภาษาของคนมอญโดยอ้างว่าเด็กมอญมีภาษาแม่อยู่แล้วขณะเดียวกันต้องรู้ภาษาไทยด้วยปัญหาคือระหว่าง ปัญหาแม่กับภาษาไทยจะเชื่อมกันอย่างไร มีการส่งเสริมให้เรียนภาษาไทยด้วย โดยใช้ภาษาไทยสะกดเป็นภาษามอญ ทำให้เรียนรู้ภาษาไทยได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดและเป็นการทำลายรากเง้าและอัตลักษณ์ของคนมอญ" นายสุรพงษ์ กองจันทึกประธานการลงพื้นที่เพื่อรับทราบปัญหาเพื่อช่วยเหลือด้านสถานะบุคคลสิทธิของคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวเสริม พร้อมเปิดหนังสือแบบเรียนทวิภาษาตัวปัญหาเพื่อพิสูจน์ข้อสงสัยพบว่าแบบเรียนดังกล่าวใช้ภาษาไทยเขียนสะกดเป็นคำภาษามอญ ที่ไม่สามารถแปลความได้ในแง่ภาษาศาสตร์ของทั้งไทยและมอญ อ่านไม่ออกและไม่สามารถเข้าใจตัวหนังสือดังกล่าวได้ เมื่อสอบถามคนไทย หากต้องให้แบบเรียนภาษาไทยสะกดด้วยภาษาอังกฤษจะยอมรับได้หรือไม่

"คนไทยก็ไม่เอาเพราะว่าเรามีภาษาของตัวเองอยู่แล้ว คนมอญเองก็มีภาษาของตัวเองอยู่แล้วเช่นกันไม่จำเป็นต้องเอาภาษาอื่นมาใช้สะกดเพื่อให้ลูกหลานได้เรียนรู้ คนมอญควรอนุรักษ์ภาษามอญไว้เสนอให้มีการจัดหลักสูตรของตัวเอง เข้าไปสอนในโรงเรียน ทางสภาฯจะช่วยประสานงานให้ ชาวบ้านไม่เอาทวิภาษา ไม่เอาภาษามอญ เอาแต่ตัวหนังสือมอญ และต้องเป็นอาจารย์มอญ สอนแบบมอญ" นายสุรพงษ์กล่าวย้ำเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้าน

"ภาษามอญเป็นภาษาที่เก่าแก่ที่สุดในอาเซียน สมัยก่อนวิทยาการความรู้ล้วนเขียนไว้ด้วยภาษามอญ ทั้งพระไตรปิฎก ตำรายา สมุนไพร มีแต่คนมาเรียนภาษามอญ ทั้งนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ คนมอญต้องรักษาและภูมิใจในภาษาที่เป็นรากเหง้าของคนอาเซียน"

หญิงสาวชาวมอญที่เคยเรียนภาษามอญกล่าวสนับสนุนว่า "หนูเป็นเด็กรุ่นแรกที่ได้เรียนภาษามอญ หลักสูตรแตกต่างจากปัจจุบันมาก แต่ก่อนได้เรียนกับอาสาสมัครที่เป็นคนมอญ มาสอนให้หลังเลิกเรียน ยอมรับว่าภาษาไทยเป็นภาษาหลักอยู่แล้ว กลัวว่าวัฒนธรรมและภาษามอญจะหายไป อยากให้เด็กมอญเขียน อ่าน และเข้าใจในภาษามอญจริง ๆภาษาราชการเด็กๆไม่สามารถพูดเป็นภาษามอญได้แล้ว แบบเรียนปัจจุบันอ่านไม่ออก ภาษามอญมีประโยชน์คือทำให้เราเข้าใจในภาษาของเราอย่างลึกซึ้งมากกว่า เราร้องเพลงชาติมอญไม่ได้ อยากให้น้องๆร้องเพลงชาติมอญได้ เข้าใจภาษามอญอย่างลึกซึ้ง"

ภาษามอญควรมีการเรียนการสอนในชุมชนมากกว่าแบบเรียนแบบทวิภาษา ง่าย สอดคล้อง เชื่อมโยง เข้าใจด้วยสายใยทางชาติพันธุ์ สิ่งสำคัญที่ชาวบ้านต้องการคือ "ภาษามอญ ตัวอักษรมอญที่คนมอญเป็นสอนเท่านั้น" ใครจะรู้จักและเข้าใจความหมายของอักษรแต่ละตัวได้เท่ากับสายเลือดนักสู้มอญอีกแล้ว

คงไม่มี..เสียงสะท้อนจากชุมชนในหุบเขาชายแดนตะวันตกที่อยากบอกเล่าถึงผู้เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความ เข้าใจอันดีต่อกัน อย่างคนมีวัฒนธรรมและเคารพซึ่งความแตกต่างทางภาษาและชาติพันธุ์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชำแหละคำพิพากษาศาลอาญา ‘คดีจ้างวานฆ่าเจริญ วัดอักษร’ ตามหาความเป็นธรรม?!?

Posted: 29 Apr 2013 11:12 AM PDT

9 ปี คดีความจ้างวานฆ่า 'เจริญ วัดอักษร' ความหวังต่อกระบวนการยุติธรรมในจิตใจของชาวบ้านยิ่งนานวันยิ่งเหมือนจะริบหรี่
 
จากเหตุสะเทือนขวัญเมื่อช่วงค่ำวันที่ 21 มิ.ย.2547 มือปืน 2 คนกระหน่ำยิง 'เจริญ วัดอักษร' ผู้นำชาวบ้านกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกอย่างอุกอาจ จนเสียชีวิตคาที่ ชาวบ้านต่างลงความเห็นว่า ความสูญเสียนี้เป็นผลมาจากการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ ต.บ่อนอก และเปิดโปงการบุกรุกที่ดินสาธารณะของกลุ่มอิทธิพล และยิ่งเน้นย้ำ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิต 'ธนู หินแก้ว' จำเลยที่ 3 ในคดี ฐานะผู้จ้างวานฆ่า จากหลักฐานพยานผูกมัดชัดเจน
 
จนมาเกิดเหตุพลิกผัน เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้ประหารชีวิต เป็นให้ยกฟ้องจำเลยในคดี
 
ด้วยเหตุผล "โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่สำคัญอันมีเหตุผลแน่นอนหรือมีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีมาสนับสนุน พยานหลักฐานโจทก์ไม่อาจฟังลงโทษนายธนูได้ จึงพิพากษายกฟ้องปล่อยตัวนายธนูพ้นความผิดไป" 
 
กรณีดังกล่าวสร้างข้อกังขาต่อบรรทัดฐานการพิพากษา ให้เกิดขึ้นในสังคม
 
และคำพูดที่ว่า "หลักฐานครบ แต่จบที่ยกฟ้อง" จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ชาวบ้านตั้งคำถาม
 
 
วันที่ 28 เม.ย.56 กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก ร่วมกับกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย และสมาคมนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ 'ชำแหละคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีเจริญ วัดอักษร' แจกแจงข้อมูลในมุมวิชาการและชาวบ้านต่อคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
 
คดีจ้างวานฆ่า 'เจริญ วัดอักษร'
 
โจทก์: พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1
 
จำเลย: นายเสน่ห์ เหล็กล้วน และนายประจวบ หินแก้ว เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน
 
อย่างไรก็ตาม มือปืนทั้งสองได้เสียชีวิตขณะถูกคุมขังในเรือนจำ จากอาการระบบหายใจไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ก่อนขึ้นให้การต่อศาล โดยนายประจวบ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 มี.ค.49 ส่วนนายเสน่ห์ เสียชีวิต เมื่อวันที่ 3 ส.ค.49
 
นายธนู หินแก้ว ทนายความ, นายมาโนช หินแก้ว สจ.ประจวบคีรีขันธ์ และนายเจือ หินแก้ว อดีตกำนัน ต.บ่อนอก บิดาจำเลยที่ 3 และ 4 ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 3-5 ในความผิดฐานร่วมกันใช้จ้างวานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน
 
พิพากษาศาลชั้นต้น: วันที่ 30 ธ.ค.2551ศาลอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีหมายเลขดำที่ 2945/2547 พิพากษาว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามฟ้องให้ประหารชีวิต ส่วนจำเลยที่ 4-5 ให้ยกฟ้อง
 
ต่อมาจำเลยที่ 3 ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง โดยโจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4-5
 
พิพากษาศาลอุทธรณ์: วันที่ 15 มี.ค.56 ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ 2865/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 22467/2555 เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 และในส่วนจำเลยที่ 4 และ 5 พิพากษายืนยกฟ้อง 
 
 

แจงคำพิพากษาศาลชั้นต้น ชี้ช่องโหว่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์

 
ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ แจงกรณีที่มือปืนรับสารภาพในชั้นสืบสวน แต่ตายไปเสียก่อน ไม่มีโอกาสขึ้นเบิกความในศาล ทำให้แม้จะมีหลักฐานอื่นๆ แวดล้อมแต่ก็ไม่สามารถลงโทษผู้จ้างวานฆ่าได้ จากคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่มีความแตกต่างกัน
 
ศาลชั้นต้นได้อาศัยคำให้การของจำเลยที่ 1 และ จำเลยที่ 2 ซึ่งมีพยานหลักฐานระบุชัดเจนว่าเป็นผู้ลงมือฆ่านายเจริญ วัดอักษร และได้รับสารภาพแล้ว แม้ว่าทั้งสองไม่ได้มีโอกาสมาให้การในชั้นศาล ซึ่งศาลเรียกพยานนี้ว่า 'พยานบอกเล่า' โดยเจ้าพนักงานสอบสวน นำเอาสำนวนสอบสวนมาแสดงต่อศาลว่าจำเลยที่ 1 และ จำเลยที่ 2 ซึ่งตายไปแล้ว ได้ให้การเจ้าพนักงานสอบสวนว่าอย่างไรบ้าง
 
และแม้ว่า จำเลยทั้งสองจะมาให้การต่อศาลในฐานะ 'ประจักษ์พยาน' ว่าได้มีการจ้างวานฆ่าจริงหรือไม่ แต่คำให้การที่เป็นประจักษ์พยานนี้ก็มีข้อโต้แย่งได้ เพราะเป็น 'พยานซัดทอด' ของผู้ที่ร่วมกันกระทำความผิด ซึ่ง 'พยานซัดทอด' นี้มีฐานะเช่นเดียวกันกับ 'พยานบอกเล่า'
 
นั่นคือ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาถือว่า เป็นพยานที่มีน้ำหนักน้อยแต่รับฟังได้ หากมีส่วนช่วยในการแสวงหาความจริง
 
คำพิพากษาศาลชั้นต้น นำเอา 'พยานบอกเล่า' มาประกอบเข้ากับพยานหลักฐานอื่นๆ อาทิ 1.ปืนที่ใช้ก่อเหตุเป็นปืนที่อยู่ความครอบครองของครอบครัวจำเลยที่ 3 2.ความสัมพันธ์พิเศษระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 กับ จำเลยที่ 3 ในฐานะคนที่มีความสนิทชิดเชื้อ 3.จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถูกจับกุมได้ ณ สถานที่ทำการของจำเลยที่ 3
 
การที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 อยู่ใต้ความอุปถัมภ์ของจำเลยที่ 3 และจำเลยคนอื่นๆ เมื่อกระทำความผิดยังไปอาศัยอยู่ในบ้านของผู้อุปถัมภ์ ทำให้เข้าใจได้ว่าเพราะบุคคลซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์นั้นจะสามารถให้ความคุ้มครองได้ หรือหากหนีไปจะทำให้ผู้อุปถัมภ์ตกเป็นผู้ต้องสงสัยร่วมด้วย
 
และ 4.มีเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน อันเนื่องมาจากผู้ตายได้กระทำการซึ่งทำให้จำเลยที่ 3 และพรรคพวกได้รับความเสียหาย หรือโกรธแค้นเป็นเหตุจูงใจ
 
นอกจากนี้ การให้การของ 'พยานบอกเล่า' เป็นการให้การต่อหน้าทนายของจำเลยซึ่งก็ไม่ได้คัดค้านหรือให้ข้อแนะนำเพื่อโต้แย้ง อีกทั้งมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในขณะนั้นร่วมรับฟังด้วย ดังนั้นการที่ 'พยานบอกเล่า' หรือ 'พยานซัดทอด' มีบุคคลอื่นนั่งรวมอยู่ด้วย จึงเป็นข้อที่แสดงได้ว่าไม่ได้ถูกชักนำ การข่มขู่ หรือชักจูงใจ เป็นการให้การโดยสมัครใจและมีโอกาสที่จะโต้แย้งคำซักถามของตำรวจ
 
ศาลชั้นต้น ยังพิจารณาด้วยว่า คำให้การของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ที่ซัดทอดไม่น่าจะเป็นการใส่ร้าย เพราะมีความสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์กันมาก่อน อีกทั้ง แม้ให้การไปก็ไม่พ้นผิด เพราะไม่ได้มีคำมั่นสัญญาว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ลงมือฆ่าจะถูกกันไว้เป็นพยานแต่อย่างใด
 
พยานหลักฐานมีน้ำหนักมากพอ ศาลอาญาในชั้นต้นจึงเชื่อโดยสนิทใจว่าจำเลยกระทำความผิด ให้ลงโทษประหารชีวิต
 
ขณะที่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จำนวน 26 หน้า มีสาระสำคัญคือ
 
1.ข้อเท็จจริงทั้งหลายทั้งปวงที่ว่ามานั้น เป็นแต่เพียงพยานบอกเล่า แม้มีหลักฐานอื่นระบุว่าจำเลยที่ 3 ขับรถไปที่ปั๊มน้ำมันของนายเจือ หินแก้ว ก่อนที่จะมีการยิงกัน และจำเลยที่ 3 เป็นผู้มอบอาวุธปืนให้กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่ใช้ในการกระทำความผิด นอกจากนั้นแล้วโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นอีก
 
2.คำให้การต่างๆ ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่ว่าในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน หรือการชี้นำที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพล้วนเป็นพยานบอกเล่าทั้งสิ้น และก็เป็นคำซัดทอดที่อ้างว่าผู้อื่นร่วมกระทำความผิดด้วยกัน อันเป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักให้รับฟังน้อย และศาลต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง
 
3.นอกจากนั้นแล้วไม่มีพยานหลักฐานอีก
 
"เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่สำคัญอันเป็นเหตุผลอันแน่นอน หรือมีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีมาสนับสนุนให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 5 ร่วมกระทำความผิดฐานจ้างวานให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่อาจฟังลงโทษจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 5 ได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์จำเลยที่ 3 ฟังขึ้น" ผศ.ดร.กิตติศักดิ์อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
อาจารย์นิติศาสตร์ กล่าวด้วยว่า ศาลอุทธรณ์ยกเหตุเพียงเหตุเดียว นั่นคือ คำให้การเป็นคำให้การแบบ 'พยานบอกเล่า' และ 'พยานซัดทอด' ในขณะที่ศาลชั้นต้นระบุเหตุผลประกอบหลักฐานเพื่อชั่งนำหนัก ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็ไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพียงแต่เขียนว่า 'ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย'
 
ทั้งนี้ โดยหลักของการวินิจฉัยคดีแล้ว การวินิจฉัยคดีดังกล่าวถือว่าไม่ได้ให้เหตุผลประกอบคำพิพากษาให้ชัดแจ้ง
 
"เมื่อศาลไม่ได้หยิบยกเอาข้อซึ่งเป็นข้อสาระสำคัญในกฎหมาย ว่าจะต้องชั่งน้ำหนักประกอบกับพยานหลักฐานอื่น แล้วทำคำพิพากษาไปเลย คำพิพากษานี้จึงเป็นคำพิพากษาที่บกพร่อง"  ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ชี้ช่องโหว่ของคำพิพากษาศาลปกครองที่ไม่ได้ทำตามที่กฎหมายกำหนด
 
พร้อมระบุว่า ตรงนี้อาจเป็นไปได้ที่ศาลฎีกาจะหยิบยกมาพิจารณา ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับข้อความในสำนวน
 
ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวอีกว่าไม่เห็นด้วยกับการที่ชาวบ้านคิดและสรุปเอาเองว่าไม่สามารถเชื่อถือต่อกระบวนการยุติธรรมได้ และการนำเรื่องนี้มาพูดกันถือว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ซึ่งจะมีประโยชน์มากขึ้นอีกหากศาลในชั้นสูงขึ้นไปอาจหยิบยกประเด็นที่พูดคุยกันมาพิจารณาด้วย พร้อมยกตัวอย่างคดีใหญ่ คือคดีจ้างวานฆ่าโกโหลน (2526-2530) ซึ่งศาลฎีกาตัดสินโดยใช้พยานซัดทอดและพยานบอกเล่ามาชั่งนำหนักตัดสินโทษผู้กระทำผิด และคดีกำนันเปาะ (2546-2555)
 
ส่วนนายสุรสีห์ โกศลนาวิน อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเป็นอดีตอัยการ มองว่าเมื่อเอาเรื่องมาร้อยเรียงกันจะเห็นการกระทำผิดเป็นขบวนการของจำเลยทั้ง 5 คน และในส่วนพนักงานอัยการเห็นคดีมีมูลจึงสั่งฟ้องได้ ส่วนในกระบวนการต่อไปเชื่อว่าอัยการจะยื่นฎีกาคดีอย่างแน่นอน
 
นายสุรสีห์ แสดงความเห็นต่อมาว่า ในชั้นศาลฎีกามีแนวโน้มที่คดีอาจพลิกอีกครั้ง หากพิจารณาดูเหตุจูงใจ หลักฐาน พยานบุคคล และเพียงพอจะลงโทษจำเลยทั้ง 5 คนในคดีนี้ด้วยซ้ำไป
 

เติมประเด็นเหตุการณ์ 'วันปลิดชีพ' ถึง 'การอุทธรณ์คดี'

 
ด้านนางสาวกรณ์อุมา พงษ์น้อย ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ภรรยาผู้เสียชีวิต เล่าถึงลำดับเหตุการณ์ของคดีว่า มือปืนไม่ได้ถูกจับได้ในวันก่อเหตุ แต่มีประจักษ์พยาน 2 คน อยู่ในที่เกิดเหตุ โดยมือปืนทั้งสองมานั่งกินเหล้าเพื่อรอดักยิงนายเจริญ ตั้งแต่เวลา 1 ทุ่ม ถึงประมาณ 3 ทุ่ม ทำให้พยานจำหน้าจำเลยได้ และมีพยานคนหนึ่งที่รู้จักกับผู้ก่อเหตุเป็นการส่วนตัว
 
ต่อมา นายเสน่ห์ เหล็กล้วน และนายประจวบ หินแก้ว สองมือปืนยอมรับว่ามีพยาน 2 คนอยู่ในที่เกิดเหตุด้วย มีหลักฐานบันทึกการสอบสวนในทุกขั้นตอน บันทึกเป็นวีดิโอ 8 ม้วน ถูกส่งขึ้นสู่ศาล
 
หลังจากนั้นมีการออกหมายจับกุม โดยนายเสน่ห์จำเลยที่ 1 ถูกจับในวันที่ 29 มิ.ย.2547 และนายประจวบ ถูกจับในวันที่ 1 ก.ค.2547 ที่บ้านนายธนูเช่นเดียวกัน
 
ในชั้นสอบสวน จำเลยทั้งสองรับสารภาพว่าเป็นมือปืนยิ่งนายเจริญ โดยคนที่ใช้และสังการคือนายธนู จำเลยที่ 3 ส่วนอาวุธปืนนายธนูเป็นผู้จัดหามาให้มี 2 กระบอก และในวันที่เกิดเหตุนายธนูเป็นผู้ขับรถมาส่งนายประจวบให้เจอกับนายเสน่ห์ที่ปั๊มของกำนันเจือ หินแก้ว (จำเลยที่ 5) ซึ่งนายเสน่ห์พักอาศัยอยู่ และห้องพักดังกล่าวเคยเป็นสถานที่ใช้วางแผนร่วมกันกับนายธนู ก่อนก่อเหตุ 1 สัปดาห์
 
นางสาวกรณ์อุมา กล่าวด้วยว่า ตามคำรับสารภาพในชั้นสอบสวน นายประจวบ พักอาศัยอยู่กับนายธนูเนื่องจากเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ช่วยเหลือนายธนูโดยช่วยเลี้ยงหมู ส่วนนายเสน่ห์นอกจากมีอาชีพทำไร่ ช่วงหนึ่งเคยเป็นยามของโรงไฟฟ้า หลังจากหมดการว่าจ้างจากโรงไฟฟ้าได้มารับใช้นายธนู และสจ.มาโนช (จำเลยที่ 4) โดยเป็นคนขับรถ
 
หลังก่อเหตุจำเลยทั้งสองหลบหนีและนำปืนไปทิ้งที่หนองน้ำ ซึ่งเมื่อถูกจับกุมก็นำเจ้าหน้าที่ตำรวจไปเก็บเอาอาวุธปืนทั้ง 2 กระบอกคืนมาได้ และพาไปชี้ปั๊มน้ำมันของกำนันเจือว่าเป็นสถานที่ซึ่งนำวัตถุพยานคือเสื้อผ้าที่สวมใส่ขณะก่อเหตุไปเผาทำลาย
 
เหล่านี้คือหลักฐานซึ่งบรรจุอยู่ในสำนวนที่ส่งขึ้นศาล และมีการรับรองจากกองพิสูจน์หลักฐานว่า ปืนที่ยึดมาได้ทั้ง 2 กระบอก ปลอกกระสุนที่เก็บได้ในที่เกิดเหตุ หัวกระสุนที่ผ่าออกมาได้จากศพเจริญและที่เก็บได้ในที่เกิดเหตุ สามารถพิสูจน์ได้ว่ามาจากปืนกระบอกเดียวกัน
 
ส่วนมูลเหตุจูงใจ พนักงานสอบสวนได้รวบรวมหลักฐานที่ระบุได้ว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้า และสูญเสียประโยชน์จากการคัดค้านโรงไฟฟ้า จากเอกสารของบริษัทโรงไปป้า แสดงให้เห็นว่ากำนันเจือเป็นประธานกองทุนโรงไฟฟ้า หากโรงไฟฟ้าไม่ได้สร้างก็จะไม่ได้รับ และมูลเหตุจูงใจอีกข้อหนึ่ง คือเสียผลประโยชน์จากกรณีการบุกรุกที่ดินสาธารณะคลองชายธง 937 ไร่ ซึ่งจำเลยที่ 3-5 ได้เข้าไปทำนากุ้งและเดินเรื่องออกโฉนด แต่ถูกกลุ่มชาวบ้านคัดค้านและเรียกร้องเอาผิดฐานบุกรุกจนเป็นคดีความ
 
ทั้งนี้ ในคดีของนายเจริญมีหลายหน่วยงานเข้ามามีส่วนร่วมในการทำคดี ทั้งกองปราบ ตำรวจสืบสวนกลาง ตำรวจภาค 7 และตำรวจในพื้นที่ หลังจากนั้นจึงโอนคดีไปกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ
 
นางสาวกรณ์อุมา กล่าวถึงของสังเกตต่อการพิจารณาคดีของศาลที่มีความแตกต่างกันด้วยว่า ในศาลชั้นต้นระบุว่า 'จำเลยที่ 3 ไม่สามารถมีพยานหลักฐานมาหักล้างกับพยานฝ่ายโจทก์ได้' เพราะเป็นการสืบจำเลยที่ 3 เพียงคนเดียว รับรองตัวเองว่าไม่ได้ทำผิด ขณะที่ฝ่ายโจทก์มีพยานแวดล้อม ประจักษ์พยาน และหลักฐานมากมาย 
 
แต่ศาลอุทธรณ์กลับระบุว่า 'โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่สำคัญอันมีเหตุผลแน่นอนหรือมีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีมาสนับสนุน'  
 
ดังนั้น วันนี้ชาวบ้านจึงต้องการมานำเสนอข้อเท็จจริงและกระบวนการให้รับรู้กัน
 

ชี้ความเป็นธรรม ไม่ควรถูกชี้ขาดโดยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง

 
นางสาวกรณ์อุมา แสดงความเห็นว่า โดยกลไกลของอำนาจรัฐ และกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถนำตัวคนผิดมาลงโทษได้ เพราะเชื่อว่าคดีออกแบบได้ จากประสบการณ์ที่ได้เห็นการทำหน้าที่ของอัยการ การที่จำเลย 2 คนที่เป็นมือปืนตายในระหว่างคุมขัง
 
อีกทั้ง จำเลยซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ได้รับการประกันตัวมาในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ชั้นจับกุมที่นายธนูเข้ามอบตัว จนเมื่อศาลชั้นต้นตัดสินพิพากษาประหารชีวิตก็ยังได้รับการประกันตัว ท่ามกลางการมาคัดค้านของชาวประจวบ 6 คันรถบัส และล่าสุด คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้พยานหลักฐานต่างๆ ไม่มีนำหนักพอที่จะรับฟังได้
 
นางสาวกรณ์อุมา กล่าวว่า สำหรับชาวบ้านที่อยู่ในห้องประชุมวันนี้เห็นตรงกันว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่มีความเป็นธรรม และมีหลักฐานพยานมากมายที่คิดว่าหากไม่มีการนำเอาข้อเท็จจริง เอาหลักฐานที่อยู่ในสำนวนคดีของศาลมาพูดคุยให้สังคมรับรู้ในวันนี้ ชาวบ้านคงแค่ได้พูดไปต่างๆ นานาว่าไม่เป็นธรรม และคนหลายๆ คนในสังคมนี้ก็อาจเข้าใจได้ว่าเราคิดเอาแต่อารมณ์ความรู้สึกเป็นตัวตั้ง
 
ดังนั้น คำพิพากษาที่มันแตกต่างกันกับศาลชั้นต้น แตกต่างกันแบบขาวกับดำ ควรได้รับการตีแผ่สู่สังคม
 
"วันนี้ความเป็นธรรม และความชอบธรรมที่นำไปสู่ความเป็นธรรม ไม่ควรถูกชี้ขาดโดยองค์กรใดองค์กรหนึ่งที่มักใช้คำว่า 'ชอบด้วยกฎหมาย' หรือ 'ถูกต้องตามกฎหมาย' มาเป็นผู้ชี้ขาด" นางสาวกรณ์อุมา ให้ความเห็น
 
ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก กล่าวด้วยว่า กรณีการตายของเจริญที่วันนี้หลายคงกังขา ควรเอาข้อเท็จจริงออกสู่สังคม เพื่อให้สังคมชี้ขาดว่ามีความชอบธรรมหรือเป็นธรรมหรือไม่ กับคำพิพากษาที่ออกมาเช่นนี้ ซึ่งส่วนตัวคงมีความเห็นเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้
 
พร้อมย้ำ เป้าหมายของชาวบ้านไม่ได้ต้องการประท้วงคำพิพากษา แต่ต้องการสร้างบรรทัดฐานและความกล้าหาญของสังคม หากเจอความอยุติธรรมต้องกล้าที่จะตรวจสอบ ทั้งระบุ หากปล่อยกระบวนการยุติธรรมทั้งศาล ตำรวจ อัยการทำหน้าที่อย่างบกพร่อง สังคมจะอยู่กันอย่างสงบสุข สันติสุขได้อย่างไร
 
"ตอนนั้นที่เจริญเสียชีวิต เรามีการพูดคุยกันว่า ถึงที่สุดความเป็นธรรมอาจจะไม่เกิด เรามาคิดกันดีกว่าว่าทำอย่างไรให้การตายหรือศพของเจริญ ให้การเรียนรู้เกิดคุณูปการต่อสังคมมากที่สุดโดยเฉพาะกับกระบวนการยุติธรรม" ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกในวันนี้กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กต.-ชาญวิทย์-สุรชาติ-ธำรงศักดิ์-อัครพงษ์ ถก "ศาลโลกกับปัญหาไทย-กัมพูชา"

Posted: 29 Apr 2013 10:03 AM PDT

24 เม.ย.56 ที่ห้อง 301 ชั้น 3 คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับ วิชา อศ.453 ประเทศศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(ประเทศอินโดจีน) และโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดเสวนา"ศาลโลกกับปัญหาไทย - กัมพูชา"โดยวิทยากร ประกอบด้วย ศ.(พิเศษ) ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์อาวุโสด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดามพ์ บุญธรรม ผอ.กองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะเลขานุการของคณะดำเนินคดีเขาพระวิหารฝ่ายไทย ผศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ ม.รังสิต และ อัครพงษ์ ค่ำคูณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีอดิศักดิ์ ศรีสม เป็นผู้ดำเนินการ (ดูวิดีโอคลิปทั้งหมดด้านล่าง)

00000

ดามพ์ บุญธรรม(ดูวิดีโอคลิป)

ดามพ์ เริ่มต้นด้วยการย้อนกลับไปเมื่อปี 2502 ว่าในตอนนั้นมีการฟ้องเรื่องอะไร โดยฝ่ายกัมพูชาขอให้ศาลตัดสินเกี่ยวกับเขาปราสาทเขาพระวิหาร 2 ประเด็น

1. ขอให้ไทยถอนกำลังออกจากบริเวณปราสาท

2. อธิปไตยเหนือปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา

ต่อมาดำเนินคดีไปใกล้จะจบคดีในปี 2505 กัมพูชาขอเพิ่มอีก 3 ประเด็น คือ

1. ขอให้ศาลตัดสินชี้ขาดเรื่องเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา

2. ขอสถานะของแผนที่ 1 ต่อ 200,000 หรือแผนที่ภาคผนวก 1 ที่กัมพูชาแนบมาในคำฟ้องตั้งแต่แรก

3. ขอให้ไทยคืนวัตถุโบราณที่อาจมีการโยกย้ายออกมา

วันที่ 15 มิ.ย. 2505 ศาลตัดสินให้ 3 ประเด็นจาก 5 ประเด็น คือ

1. ปราสาทเขาพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา

2. ไทยมีพันธะที่จะต้องถอนทหาร ตำรวจและคนเฝ้าออกจากปราสาทหรือบริเวณใกล้เคียงปราสาท

3. ไทยมีพันธะที่จะต้องคืนวัตถุโบราณ

ประเด็นที่ศาลไม่ได้ตัดสินชี้ขาดคือเรื่องเส้นเขตแดนไทยกับกัมพูชาและสถานะของแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ในการฟ้องคดีขณะนั้นมันจำกัดอยู่เฉพาะอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารและบริเวณเท่านั้นเอง ไม่ได้เกี่ยวกับบริเวณอื่น

ลำดับเหตุการณ์เมื่อตัดสินไปแล้วรัฐบาลไทยก็ปฏิบัติตาม แม้ไม่ได้เห็นด้วย โดยดำเนินการถอดทหารออกมาและล้อมรั้ว มาเกิดเหตุการณ์เมื่อปี 2550 กัมพูชาเอาปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อไปขึ้นทะเบียนแล้วตัวแผนที่ที่ใช้แนบท้ายไปขอขึ้นนั้นมีพื้นที่ปราสาทพระวิหารที่กินบริเวณเข้ามาในบริเวณที่เกินจากที่ไทยล้อมรั้วไว้และล้ำเข้ามาในพื้นที่ที่เราถือว่าเป็นดินแดนของไทย เราจึงท้วงไป หลังจากนั้นความสัมพันธ์เริ่มเลวร้ายลง มีเหตุการณ์การปะทะกันต่างๆ ในที่สุดฝ่ายกัมพูชาก็ได้ยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2554 โดยอาศัยข้อ 60 ของธรรมนูญศาลโลกที่กำหนดว่า "คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศถือเป็นที่สุดและอุทธรณ์ไม่ได้ หากมีข้อพิพาทในความหมายและขอบเขตของคำพิพากษา ศาลจะตีความตามคำขอของคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง" ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานที่กัมพูชานำเรื่องสู่ศาลเพื่อขอตีความ

ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

28 เม.ย.54 กัมพูชาขอยื่นให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาเดิม(Request for interpretation)และขอให้ศาลมีคำสั่งมาตรการชั่วคราว

30-31 พ.ค.54 ศาลนั่งพิจารณามาตรการชั่วคราว

18 ก.ค.54 ศาลมีคำสั่งมาตรการชั่วคราว กำหนดพื้นที่ถอนทหาร

21 พ.ย.54 ไทยยื่นข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษร(Written Observations)

8 มี.ค.55 กัมพูชายื่นคำตอบ(Response) หักล้างข้อสังเกตของไทย

21 มิ.ย.55 ไทยยื่นคำอธิบายเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษร((Further Written Explanations)

ทำไมต้องยอมรับอำนาจศาลโลก

ที่เราไปเพราะคดีตีความเป็นอำนาจที่มาจากคดีเดิม คดีเดิมเรายอมรับอำนาจศาลโลกดังนั้นการตีความเราก็ถือว่าเป็นอำนาจที่ส่งมาจากคดีเดิม คำพิพากษาก็ผูกพันเราในอดีต และคดีตีความจะต่างจากคดีหลัก เนื่องจากคดีหลักยังเปิดโอกาสให้เราแก้คำฟ้องหรือตัดฟ้อง

คดีตีความนี้เราไม่ไปก็ได้ แต่ศาลก็จะพิจารณาลับหลังเรา แต่ก็มีผลผูกพันเพราะคำพิพากษาเดิมมีผลผูกพันคู่ความ และเราก็เป็นสมาชิกสหประชาชาติ ธรรมนูญศาลโลกเป็นส่วนหนึ่งของกฎบัตรสหประชาชาติ เราจะรับอำนาจศาลหรือไม่ไม่จำเป็น แต่ว่าในกฎบัตรสหประชาชาตินั้นระบุว่ารัฐภาคีสหประชาชาติมีหน้าที่เคารพต่อคำพิพากษาของศาลโลก

คำขอของกัมพูชาเมื่อ 28 เม.ย.54

(1) คดีหลัก/คดีตีความ

- คำพิพากษาเดิมมิได้ระบุว่าบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร ซึ่งไทยต้องถอนทหารและตำรวจออกเมื่อปี 2505 ครอบคลุมพื้นที่แค่ไหน

- กัมพูชาขอให้ศาลตีความว่า ขอบเขตบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร จะต้องเป็นไปตามเส้นเขตแดนบนแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ระวางดงรัก ที่กัมพูชาแนบคำฟ้องในคดีเดิมเมื่อปี 2505

(2) คำขอมาตรการชั่วคราว

- ในระหว่างรอคำตัดสินตีความ ให้ไทยถอนทหารออกจากบริเวณปราสาทพระวิหาร และห้ามไม่ให้ไทยดำเนินกิจกรรมทางทหารในบริเวณปราสาทฯ

- เป็นคำขอให้ไทยดำเนินการฝ่ายเดียว

ฝ่ายไทยมีการแต่งตั้งคณะดำเนินคดีโดยมีนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก เป็นตัวแทนฝ่ายไทย ทีมทนายมี 5 คน ในนั้นมีผู้ช่วยของ ศ.Pellet คือคุณ Alina Miron ทั้งหมดถูกตั้งมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีการดำเนินคดีหลายปี Alina Mironได้ขึ้นพูดด้วยเนื่องจากเป็นผู้ที่ศึกษามาทางด้านแผนที่ ส่วนฝ่ายกัมพูชามีนายฮอร์นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นตัวแทนของกัมพูชา

ข้อต่อสู้ของฝ่ายกัมพูชา

1. ศาลมีอำนาจตีความในคดีนี้ เพราะคู่กรณีมีความข้อพิพาทในขอบเขตและความหมายของคำพิพากษาเดิม (ศาลได้ตัดสินเรื่องเขตแดนและสถานะของแผนที่ภาคผนวก 1 หรือไม่)

2. ศาลได้รับรองเส้นเขตแดนที่มีอยู่แล้ว อันเป็นไปตามแผนที่ภาคผนวก 1

3. บทปฏิบัติการของคำพิพากษากับเหตุผลของคำพิพากษาไม่สามารถแยกออกจากกันได้ต้องนำมาตีความร่วม

ข้อต่อสู้ของไทย(ข้อต่อสู้หลัก)

1. ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาตีความ เพราะคู่กรณีมิได้มีข้อขัดแย้งกันในขอบเขตและคำพิพากษาของศาลเมื่อปี 2505

2. ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาครบถ้วนและกัมพูชาก็ได้ยอมรับแล้ว

3. ข้อพิพาทไทยกัมพูชาเป็นเรื่องเขตแดน ซึ่งมิได้อยู่ในกรอบของคดีเดิม การที่กัมพูชายื่นขอตีความโดยอ้างว่าศาลได้ตัดสินเรื่องเขตแดนแล้ว เป็นคำขอให้ศาลทบทวน อันเป็นเสมือนการอุทธรณ์(ซึ่งไม่มีในวิธีการพิจารณาของศาลโลก ซึ่งคำพิพากษาของศาลโลกไม่สามารถอุทธรณ์ได้)

ที่สุดแล้วกัมพูชาขออะไร

พิจารณาว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนของกัมพูชา(วรรค 1 ของบทปฏิบัติการ) ซึ่งเป็นผลทางกฎหมายจากข้อเท็จจริงที่ว่าปราสาทตั้งอยู่ในเขตแดนฝั่งกัมพูชาซึ่งศาลได้รับรองในคำพิพากษาและบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและข้อต่อสู้ของกัมพูชา กัมพูชาจึงขอให้ศาลตัดสินว่า พันธกรณีของไทยที่ "ต้องถอนกำลังทหารตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลซึงประเทศไทยส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหารหรือในบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา" (วรรค 2 บทปฏิบัติการ) เป็นผลมาจากพันธกรณีทั่วไปและถาวรที่จะต้องเคารพบูรณภาพแห่งดินแดนของกัมพูชา ดินแดนที่ได้ปักปันไปแล้วในบริเวณปราสาทและบริเวณใกล้เคียงโดยเส้นในแผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งเป็นพื้นฐานของคำพิพากษา

1 ต่อ 200,000 ที่หักล้างไป

1 ต่อ 200,000 ที่เราหักล้างไปเพื่อให้เห็นว่าไม่มีประโยชน์ในการนำมาพิจารณาเรื่องเขตแดนตรงนี้ แต่กัมพูชานำมาใช้เพื่อพิจารณาเรื่องเขตแดนตรงนี้ ซึ่งไทยบอกว่าในคดีเดิมไม่ได้มีการชี้ว่าเส้นเขตแดนอยู่ตรงไหน ดังนั้นในคดีตีความจะมาตีความเรื่องเขตแดนไม่ได้

 

ผศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข(ดูวิดีโอคลิป)

ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาหลังศาลโลก กับ "พื้นที่พัฒนาร่วมทางวัฒนธรรม"

สุรชาติ กล่าวว่า กระทรวงต่างประเทศควรจะทำคู่มือการชมการถ่ายทอดสดการพิจารณาคดีศาลโลก เพราะถ้าเราไม่คิดดีๆ คนก็จะสงสัยว่าเราดูศาลโลกเหมือนกับเราดูบอลหรือดูมวย แล้วเราก็เชียร์ เวลาทนายฝ่ายไทยพูดจาหนักๆก็สะใจ ประมาณว่านักมวยไทยต่อยโดนหน้านักมวยฝ่ายตรงข้ามเต็มๆ แต่ถ้าคิดว่าศาลโลกไม่ใช่เวทีมวย ศาลโลกสนามฟุตบอลมันอาจจะต้องเริ่มคิดเรื่องเขาพระวิหารเรื่องใหญ่ที่สุดคือสติ ถ้าเราเริ่มด้วยสติผมว่าหลายอย่างพอตั้งหลักได้

พอดูถ่ายทอดสดเรื่องนี้สิ่งที่ตระหนักที่สุดคือฟังแทบไม่รู้เรื่องเลย หลายครั้งเป็นศัพท์กฎหมายสูง เพราะฉะนั้นสิ่งที่คนไทยรับรู้เรารับรู้ผ่านสื่อที่ถ่ายทอดเป็นภาษาไทยทั้งสิ้น ดังนั้นความรู้ที่ผ่านสื่อจริงๆ มีคำถามหมายอย่าง เช่น เวลาเราบอกว่า "เขมรยื่นแผนที่ปลอม" ตกลงฝ่ายไทยพูดคำว่า "แผนที่ปลอม" หรือพูดว่า "แผนที่คลาดเคลื่อน" หรือว่าสิ่งที่เราเห็นในศาลทั้งหมดคือการโต้คารม ต้องยอมรับว่าคณะทำงานฝ่ายไทยเก่งและทำงานได้หนักแน่นพอสมควร เราได้เห็นหลักฐานหลายชิ้นที่น่าเสียดายที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในวงวิชาการ

ย้อนกลับไปอ่านคำตัดสินของศาลโลกปี 2505

สุดยอดของปัญหาทั้งหมดพัวพันอยู่กับเรื่องเรื่องเดียว คือ แผนที่ภาคผนวกที่ 1 ถ้าเราย้อนกลับไปอ่านคำตัดสินของศาลโลกปี 2505 คิดว่าสิ่งที่ต้องเรียกร้องให้โดยเฉพาะพวกที่อยู่ในวงวิชาการด้วยกันต้องย้อนกลับไปอ่าน เพราะคำตัดสินดังกล่าว ทนายฝ่ายไทยก็หาทางทุกวิธีเพื่อทำลายน้ำหนักของแผนที่ภาคผนวกที่ 1 เพราะฉะนั้นยุทธศาสตร์ของไทยนั้นเราเห็นชัดคือจะทำอย่างไรเพื่อให้แผนที่ดังกล่าวไม่มีเครดิต สมติถามกลับว่าแล้วถ้ามันยังมีจะทำอย่างไร

ถ้าเราดูคำตัดสินปี 2505 จะเห็นชัดว่าศาลเอาแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นหลัก แล้วก็พูดหลายอย่าง เช่นบอกว่า "วัตถุประสงค์ของการปักปันซึ่งการกำหนดเส้นเขตแดน เว้นแต่สามารถแสดงได้ว่าการปักปันนั้นไม่สามารถปักปันได้หรือไม่เป็นผล" คำถามก็เกิดมาว่าเราจะยอมรับได้ไหมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในแผนที่ 11 ระวางจากเหนือจรดกลางนั้นมันเกิดการปักปันจริง แล้วแผนที่นี้จะเอาย่างไรในเมื่อเหมือนกับว่าในอดีตเหมือนกับว่าไทยยอมรับ เช่น คำตัดสินของศาลโลกในปี 2505 มีอยู่ประโยคหนึ่ง ศาลอนุมานว่าไทยได้ยอมรับแผนที่ภาคผนวก 1 ไม่ว่าจะถูกต้องหรือไม่ และการสำรวจปี 1934 – 1935 ไทยก็ไม่เคยแย้ง หรือว่ามีการขอแก้เส้นเขตแดนหลายครั้ง แต่ไม่เคยร้องเรื่องพระวิหารเลย หรือไทยไม่เคยโต้แย้งแผนที่ชุดนี้มาก่อน แม้จะไม่ถูกแต่ก็ไม่โต้แย้ง

ประโยคหนึ่งศาลเขียนไว้ในคำตัดสินปี 2505 "ไทยได้ยอมรับข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสหรือยอมรับเส้นเขตแดน ณ พระวิหาร ตามที่ได้ลากไว้บนแผนที่" หรืออีกประโยคหนึ่ง "ศาลมีความเห็นว่าประเทศไทยใน ค.ศ.1908 –1909 ได้ยอมรับแผนที่ในภาคผนวก 1 ว่า เป็นผลงานของการปักปันเขตแดน และด้วยเหตุนี้จึงได้รับรองเส้นเขตแดนบนแผนที่ว่าเป็นเส้นเขตแดน อันเป็นผลให้พระวิหารตกอยู่ในดินแดนกัมพูชา" เราจะเห็นประเด็นพวกนี้ซ้อนอยู่ในหลายคำตัดสินปี 2505

ไม่รับจุดเขาพระวิหาร = ไม่เอาระวางดงรักทั้งหมด แล้วเส้นเขตแดนสยามอยู่ตรงไหน

"และถ้าแผนที่ภาคผนวก 1 ไม่มีน้ำหนัก แล้วแผนที่ภาคผนวก 1 ยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่ปักปัน 1 ต่อ 200,000 หรือไม่ เพราะถ้าดูตัวแผนที่ปักปัน 1 ต่อ 200,000 เฉพาะระวางดงรักจุดที่มันมีปัญหามันเหลืออยู่จุดเดียว จุดที่เป็นส่วนติ่งของขอบหน้าผาตรงตัวปราสาทพระวิหาร ตัวส่วนอื่นผมคิดว่ามันได้มีการลงแรงกันพอสมควร คือไม่อยากคิดไปไกลว่าไม่เอาตรงจุดเขาพระวิหารนัยยะคือไม่เอาระวางดงรักทั้งหมด แต่คำถามคือไม่ใช่เฉพาะเส้นเขตแดนไทยศูนย์นะครับ คำถามคือแล้วเส้นเขตแดนสยามอยู่ตรงไหน"

ปัญหาคือในความยาวของเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา 700 กว่ากิโลเมตร แม้จะยังมีกรณีพิพาทแต่วันนี้เรามีการปักปันอย่างน้อย 73 หลัก แล้วถ้าบอกว่าไม่เอาหมด คนปวดหัวก็จะเป็นกรมสนธิสัญญาจะไปปักปันอะไร

ศาลโลกจะรับแผนที่ที่เป็นตัวแนบท้ายสนธิสัญญา

วันนี้สิ่งที่เราเห็นจากทนายฝ่ายไทยก็ไม่ได้สู้เรื่องสันปันน้ำเท่าไหร่ สู้เรื่องน้ำหนักของแผนที่ เรื่องการหาแผนที่มาแย้งกัน แต่ถึงแม้แผนที่แย้ง แต่เมื่อศาลโลกในปี 2505 ถือเอาแผนที่ภาคผนวกที่ 1 เป็นหลัก นอกจากนั้นทางกระทรวงต่างประเทศยังพูดถึงแผนที่ที่ผู้เชียวชาญไทยทำขึ้นเป็นแผนที่หมายเลข 49 เราทำขึ้นแล้วลากเส้นตามแนวสันปันน้ำขอบหน้าผาแล้วก็ทำทั้งแนว แต่ปัญหาคือระหว่างแผนที่ที่เป็นแผนที่จะต้องเป็นแผนที่แนบท้ายสนธิสัญญา 1907 - 1908 กับแผนที่ที่รัฐบาลไทยทำขึ้นในปี 2505 เพื่อสู้ในศาลผมคิดว่าสุดท้ายศาลโลกรับแผนที่ที่เป็นตัวแนบท้ายสนธิสัญญา

การจบ 4 แบบของคดีและทางออกกลางๆ "พื้นที่พัฒนาร่วมทางวัฒนธรรม"

แม้ว่าจะไม่พูดเรื่องเส้นเขตแดน แต่หากกลับไปอ่านคำพิพากษาปี 2505 คำพิพากษาปี 2505 พูดเรื่องเส้นเขตแดน คดีนี้มีการจบ 4 แบบ

1. ศาลไม่ตัดสิน บอกว่าศาลไม่มีอำนาจ อย่างที่พวกเราในสังคมไทยอยากให้เป็น

2. กัมพูชาได้ ไม่อยากใช้คำว่า "ชนะ" แต่ใช้คำว่า "กัมพูชาได้"

3. ไทยได้

4. เป็นไปได้ไหมออกแบบกลางๆ เพื่อที่ว่าศาลโลกจะทำให้ 2 ประเทศ ที่เป็นคู่พิพาทกันนั้นไม่นำไปสู่ความขัดแย้งและทำสงความ เช่น หากใช้พื้นที่สี่เหลี่ยมคางหมูเป็นเกณฑ์ก็ใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ปลอดทหารถาวร ให้ทั้ง 2 ฝ่ายถอนทหารออก และทำเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม

เรามีพื้นที่พัฒนาร่วมแก้ปัญหากรณีความขัดแย้งระหว่างไทยกับมาเลเซียในแง่ของพื้นที่ทางทะเลเราเรียก JDA (Joint Development Area)ปี 51 ผมเสนอคลายๆกันเป็น JCDA หรือ Joint CulturalDevelopment Area "พื้นที่พัฒนาร่วมทางวัฒนธรรม" เพื่อให้เกิดความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่าง 2 ประเทศ หรือ JTA - Joint TourismAreaเอาไว้ขายทัวร์ด้วยกัน

อนาคตความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาหลังศาลโลก

เราพูดถึงโจทย์นี้น้อย เนื่องจากโจทย์ทั้งหมดมันไปพันอยู่กับการแข่งขันกีฬาที่กรุงเฮก(ศาลโลก) ดังนั้นเราไม่ค่อยตอบโจทย์อนาคต คน 2 บ้านจะอยู่กันอย่างไร เป็นไปได้หรือไม่ที่จะลดกระแสชาตินิยมลงด้วยกันทั้ง 2 ข้าง ยอมถอนทหารทั้ง 2 ส่วนออกด้วยกัน อาจจะมีกำลังตำรวจรักษาการ เป็นต้น นี่เป็นโจทย์ที่จะอยู่กับเรานานโดยเฉพาะวงวิชาการไทย เพราะโจทย์ทั้งหมดทีเราพูดถึงโจทย์ใหญ่คือ "ยุทธศาสตร์ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน"

เราพูดย้อนกลับไปปี 44 เราไม่พูดเรื่องเขาพระวิหาร แต่เราดูบางระจันเสร็จ แล้วเราอยากรบ เพราะปี 44 เรามีวิกฤตการณ์ที่เชียงราย พฤษภา 45 วิกฤตการณ์ที่บ้านเวียงแห เชียงใหม่ เราเกือบเข้าสู่สงครามใหญ่และของจริง ตามแนวชายแดนตะวันตก 2401 กม. ของเส้นเขตแดนไทย-พม่า เป็นเขตแดนทางบก ใน 2401 เป็นเส้นเขตแดนที่ปักปันแล้วประมาณเท่าไหร่ เข้าใจว่าอยู่ประมาณ 50 กว่ากิโลเมตร

ปัญหาเส้นเขตแดนเป็นปัญหาอยู่ต่อไปกับเราแน่ๆ แต่เราก็เห็นสหภาพยุโรปวันนี้เดินข้ามปัญหาเส้นเขตแดน เวทีนี้ หลายๆเวทีรวมทั้งผมชอบยกตัวอย่างร้านกาแฟระหว่างเนเธอร์แลนด์กับเบลเยียมที่ค่อมอยู่บนเส้นเขตแดน วันนี้เปิดร้านกาแฟที่ค่อมบริเวณเส้นเขตแดนที่ภูมิซรอลเอาไหม ขายกาแฟด้วยกัน เป็นกาแฟไทยหรือกัมพูชาไม่รู้ ตกลงชื่อ "เปรี๊ยะ วิเฮียร์" และ อีกข้างชื่อ "พระวิหาร" แก้วมี 2 ด้านก็ทำ 2 ด้าน

เราสามารถสร้างทัวร์ทางวัฒนธรรมเชื่อมปราสาทหินหรือขอมที่อยู่บริเวณ 3 ประเทศคือ กัมพูชา ไทยและลาวด้วยกัน พัฒนาถนนให้ดี และยังหวังว่าคำตัดสินของศาลโลกจะไม่ใช่โจทย์ของความขัดแย้ง แต่เป็นโจทย์ที่ให้ 2 ประเทศทำงานร่วมกัน และที่สำคัญต้องบังคับด้วย จะได้ไม่ทะเราะกันและขอให้ลดกระแสชาตินิยมลง

 

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์(ดูวิดีโอคลิป)

เมื่อคนเมามันกับ 'ลีลา'

ธำรงศักดิ์ เริ่มด้วยการกล่าวถึงบรรยากาศการถ่ายทอดสดการพิจารณาในศาลว่า งานนี้เหมือนดูการชกมวยบนเวที มีเสียงโห่ร้องของสองฝ่าย ทีมทนายความก็เหมือนรู้ว่าตัวเองไม่ได้คุยกับศาลแต่คุยกับคนในประเทศตัวเอง ผมคิดว่ามันเป็นลีลา แต่ลีลาตรงนั้นกลายเป็นสิ่งซึ่งดูเหมือนสื่อไทยจะประทับใจว่าเราได้เสียดสีกระแนะกระแหน

พอผลออกมามันกลายเป็นว่า คุณหญิงสาวคนนั้นกลายเป็นนางเอกของเรื่องอย่างฉับพลัน ผมคิดว่าที่จริงแล้ว เธอต้องรับบทระกำลำบากที่สุด ต้องคุยเรื่องที่ไม่มีใครรู้เรื่องและสร้างเรื่องหลายเรื่องเพื่อให้คนฟังทั้งที่รู้เรื่องและไม่รู้เรื่อง และท้ายที่สุดทุกคนรู้สึกว่าเธอประสบความสำเร็จ ไม่ว่าสิ่งที่เธอเสนอมันคืออะไร

การต่อสู้ครั้งนี้น่าเร้าใจมาก ในฐานะของคนดูที่ปล่อยวางการเป็นประชากรของประเทศใดประเทศหนึ่ง เมื่อไรดูในฐานะการเป็นประชากรของประเทศไทย เมื่อนั้นท่านจะรู้สึกเชียร์ลีลาของฝ่ายไทยและรู้สึกว่ากัมพูชา "ไม่แมน" ซึ่งฝ่ายไทยพยายามชี้ลักษณะนี้โดยตลอด

วาทกรรมการเสียดินแดนเกิดเมื่อไร

ตอนนี้คนฟังแต่สถานการณ์ปัจจุบันโดยลืมคิดถึงภาพรวม จึงขออ้างอิงบทความ "วาทกรรมเสียดินแดน" โดยดำรงศักดิ์ เพชรเลิศอานันท์ ในหนังสือ หนังสือ "สยามประเทศไทย: ได้ดินแดน-เสียดินแดน กับลาว และกัมพูชา" ประเด็นของบทความดังกล่าวตั้งคำถามว่าทำไมเราถึงรู้สึกว่าเราเสียดินแดน และในยุคที่คุยกันเรื่องนี้ในรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 ชนชั้นนำหรือผู้ปกครองสมัยนั้นรู้สึกไหมว่าตัวเองเสียดินแดน

ประเด็นของมันอยู่ตรงที่ว่า สิ่งซึ่งเรียกว่า "เส้นเขตแดนประเทศไทย" ใช้กระบวนการถึง 83 ปี (ตั้งแต่รัชกาลที่ 3 ถึง รัชกาลที่ 5) กว่าจะลากเส้นทั้งหมดเป็นรูปขวานได้ เส้นแรกเริ่มเมื่อสนธิสัญญาเบอร์นี คือ เมื่ออังกฤษ ได้มะริด ทวาย ตะนาวศรี อังกฤษจึงส่งเบอร์นีมาทำการเจรจากับไทยว่าให้สองฝ่ายตั้งคณะกรรมการร่วมกันเพื่อชี้เส้นเขตแดนที่แน่ชัด แล้วเส้นก็เดินไปเรื่อยๆ ตามสนธิสัญญาต่างๆ ทำให้แผนที่นั้นมีเยอะมาก ใครก็ตามที่ไปหยิบแผนที่ใดแผนที่หนึ่งมา ต้องชี้ให้มั่นถึงบริบทของการทำแผนที่ในยุคนั้นๆ เพราะข้อตกลงมันไม่เคยหยุดนิ่ง เคลื่อนอยู่ตลอดเวลา แต่แผนที่ที่ศาลโลกจะใช้คือแผนที่ที่เป็นแผนที่ทางการที่ยอมรับทั้งสองฝ่าย

งานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า สมัยรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 5 ชนชั้นผู้ปกครองไทยรู้สึกเพียงแค่ว่าเป็น "การเสียประเทศราช" ซึ่งนับเป็นการเสียพระเกียรติยศ แต่ไม่ใช่การเสียประเทศไทยแท้ ในการอธิบายของชนชั้นนำสยามคือ ประเทศไทยแท้มีประมาณสุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก ไปจนถึงปราจีนบุรี แม้แต่โคราชเองก็ไม่ได้ถูกระบุ ส่วนทางใต้ลงไปถึงประมาณสงขลา

แล้วทำไมความรู้สึกเสียดินแดนจึงเกิดขึ้น คำตอบคือ นักวิชาการก่อนปี2475 ซึ่งไปเรียนในตะวันตกกลับมามีวิธีคิดอีกแบบหนึ่งว่า ประเทศไทยมีดินแดนที่แน่ชัด และดินแดนที่เสียไปนั้นคือดินแดนของประเทศไทยเดิม

เหตุที่คุณมิรองต้องมาแถลงในศาลโลก เพราะแผนที่ประเทศไทยสัมพันธ์กับสนธิสัญญาทุกฉบับ ไล่ตั้งแต่สนธิสัญญาเบอร์นีเป็นต้นมา และสนธิสัญญาที่คุณมิรองพยายามโจมตี คือ สนธิสัญญาในปี 1904 ที่มีคณะกรรมการปักปัน เธอต้องทำให้แผนที่ภาคผนวกที่1 ของกัมพูชาดูไม่น่าเชื่อถือ นี่คือภารกิจอันดับแรกของมิรอง ภารกิจอันที่สองคือ พยายามทำให้ศาลเชื่อว่า สิ่งซึ่งรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ได้เตรียมไว้แล้วในปี 2505 คือ สิ่งซึ่งถูกต้องตามภูมิศาสตร์ เพื่อบอกว่าเรามีเหตุผล

เห็นอะไรในการแถลงต่อศาลโลก

ประเด็นสำคัญก็คือ การดูการแถลงทางวาจาของสองฝ่าย เราได้ประโยชน์อะไร

  1. ฝ่ายไทย ไม่ว่าพรรคไหนได้เข้ามามีอำนาจเป็นรัฐบาล ได้บทสรุปร่วมกันว่า พื้นที่อธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารมีอยู่เท่ากับในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ทั้งที่ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2551 เมื่อแถลงการณ์ร่วมเรื่องมรดกโลกเริ่มต้นขึ้น กลับไม่ยอมรับเรื่องนี้และมีแนวคิดที่แตกต่างหลายทางไม่ว่า 1. ปราสาทพระวิหารเป็นของไทย ไม่ใช่กัมพูชา 2.จะเอาก็เอาแต่ซากปรักหักพังไป ดินใต้ปราสาทเป็นของเรา 3.ทั้งซากปรักหักพังกับพื้นดินเป็นของกัมพูชา 4. ให้เป็นไปตามแนวเขตที่คณะรัฐมนตรีปี 2505 ให้ไว้

"ตีกันมานานหลายปีแต่พอขึ้นศาลโลกก็สรุปว่าเอาตามที่คณะรัฐมนตรีปี 2505 ให้ ลงตัวแล้วในกรณีของฝ่ายไทย"

  1. ระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาได้คลี่คลายประเด็นข้อขัดแย้งเรื่องปราสาทพระวิหารลงไปจำนวนมาก และจุดสุดยอดอยู่ที่การชุมนุมไล่รัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี 2554 เป็นประเด็นที่ชี้ว่าความขัดแย้งเรื่องปราสาทพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชานั้นถูกใช้กระตุ้นปลุกเร้าในทางการเมืองได้ในระยะแรก แต่ไม่สามารถใช้ได้ในระยะยาว ดังนั้น ใครก็ตามที่ต้องการเคลื่อนไหวล้มรัฐบาลต้องหาประเด็นอื่นมาสำรองไว้ เพราะประเด็นนี้ กระสุนด้าน
     
  2. สำหรับฝ่ายกัมพูชา ในการแถลงต่อศาลโลก สิ่งที่น่าทึ่งมากคือ กัมพูชาบอกว่า การที่ครม.ไทยตีรั้วลวดหนามที่ฝ่ายไทยบอกว่า 1 ส่วน 4 ตารางกิโลเมตรนั้น ที่ไทยคิดเอาเองหรือไม่ ตีความฝ่ายเดียวหรือไม่ ใช้หลักฐานอะไร เรื่องนี้ทำให้แม้แต่คนที่ศึกษาประวัติศาสตร์ก็ต้องกลับมาฉุกคิด และเป็นที่มาที่มิรอง ต้องออกมายันเรื่องนี้อย่างหนักประเด็นเดียวโดยฝ่ายไทยมีการตอบโต้ว่า องค์ประมุขของกัมพูชาก็เคยเสด็จขึ้นไปที่นั่นและถูกนำเสนอในสื่อทั่วไป อย่างไรก็ตาม ในทางประวัติศาสตร์และการตัดสินของศาลโลกที่ผ่านมาก หลักฐานที่น่าเชื่อถือคือ เอกสารทางการ ไม่ใช่ข้อมูลจากสื่อสิ่งพิมพ์

ปลุกกระแส ไม่ยอมรับศาลโลก

ตอนนี้ฝ่ายไทยเริ่มเคลื่อนมาสู่แนวทางว่า ศาลโลกเชื่อไม่ได้ นี่เป็นประเด็นใหญ่ของสังคมว่าเราจะทำให้คนไทยรู้จักศาลโลกไหม

ศาลโลกมีชีวิตมาเกือบ 1 ศตวรรษ ล้มลุกคลุกคลานมา จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงโดยระเบิดปรมาณูเกิดความเสียหายใหญ่หลวงโลกทั้งใบเห็นพ้องและพยายามทำให้ศาลโลกเป็นที่ยอมรับ กระบวนการคัดเลือกผู้พิพากษาก็พยายามให้เป็นที่ยอมรับมากที่สุดโดยเกาะเกี่ยวจากทุกภูมิภาค ไม่ใช่คัดเลือกจากมหาอำนาจ การมองว่าศาลโลกเป็นศาลการเมืองของคนไทยบางกลุ่มอาจเพราะเคยชินกับศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ในเกือบ 70 ของศาลโลก มีคดีทั้งหมด 152 คดี ทั้งที่ตัดสินไปแล้วและกำลังพิจารณา เป็นอีกตัวชี้วัดความน่าเชื่อถือและการรับการยอมรับในความยุติธรรม คดีที่ใกล้กับไทยมากที่สุดคือการตัดสินข้อพิพาทระหว่างสิงคโปร์กับมาเลเซียที่แย่งชิงโขดหิน 3 โขดในช่องแคบมะละกา ศาลโลกตัดสินในกลางปี 2551สองประเทศนี้ทะเลาะกันมายาวนานมาก แต่ทั้งสองก็ยอมรับและต้องมาเจรจาคุยเรื่องการปักปันกันต่อ

 

อัครพงษ์ ค่ำคูณ(ดูวิดีโอคลิป)

อัครพงษ์ เริ่มจากคำถามที่น่าสนใจมากของผู้พิพากษาโซมาเลีย มันเหมือนกับว่าเราต้องไปพล็อตพิกัดภูมิศาสตร์เพื่อส่งไปให้ ถ้ากลับไปดูคำพิพากษาศาลโลก 2505 เวลาอธิบายจะหยุดแค่คำว่า "vicinity"(พื้นที่ใกล้เคียง) แต่ในคำพิพากษาเขาเขียนว่า "vicinity on Cambodian Territory' (พื้นที่ใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา) ถ้ามีคนไปเล่นแง่มุมนี้ แปลว่ากลาโหมไทยกับกระทรวงการต่างประเทศกำลังแบ่งแผ่นดินให้กัมพูชา

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไทย มีปัญหา

ปลายปี 2551 รัฐธรรมนูญไทยมีคำวินิจฉัยเรื่องคุณนพดล ปัทมะ ผมไม่แคร์ว่าฝ่ายการเมืองจะบอกว่าปราสาทเป็นของไทย แต่การที่ศาล รัฐธรรมนูญบอกว่าไทยสงวนสิทธิ์เรื่องต่างๆ เหล่านี้อยู่ และการที่คุณนภดลไปเซ็นแถลงการณ์ร่วม  "อาจมีผลเปลี่ยนแปลงเขตแดนของประเทศ" ผิดมาตรา 190 ทำให้นภดลลาออก ถามว่าการที่ทนายไปครั้งนี้ผิดรัฐธรรมนูญหรือเปล่า เป็นการไปยืนยันสิทธิของกัมพูชาเหนือพื้นที่ ที่ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่ามีผลเปลี่ยนแปลงเขตแดนของไทย

อยากถามทางกระทรวงการต่างประเทศว่า เรื่องกฎหมายอย่างนี้มีปัญหาในประเทศไหม หรือไม่เป็นไร แปลว่าตอนนี้ประเด็นชัดแล้วว่า ไปยืนยันอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา ไม่ใช่ของไทย แต่ที่ผ่านมาถ้าเราไม่ความจำสั้นเกินไปนัก เคยมีการล่ารายชื่อของผู้มีชื่อเสียง 100 กว่าชื่อที่คัดค้านยูเนสโกบอกว่ากาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารนั้นกระทบอธิปไตยของไทย ส.ว.บางคนพูดอย่างกับว่าเอาระเบิดไปทิ้งที่ตัวปราสาท ไม่มีก้อนหินแล้ว พื้นดินก็เป็นของเรา

ข้อหนึ่งที่กัมพูชาไปยื่นศาลโลก เพราะปัญหาเรื่องดินใต้ปราสาท ไม่ใช่เรื่อง 4.6 ตารางกิโลเมตร เพราะถ้ามีปัญหา 4.6 ตารางกิโลเมตรนั้นเขาคงไม่ยอมเซ็นกับคุณนภดล การที่ยอมเซ็นแปลว่าเขาต้องรับแล้วว่าไทยต้องเป็น 1 ในคณะกรรมการบริหารร่วม ทิศเหนือกับทิศตะวันตกจะไม่ขึ้นทะเบียน โดยการบริหารร่วมมี 3 โซน ตอนแรกเขาก็เอาตามมติ ครม.ปี 2505 และคุณวีรชัย พลาดิศัย ก็แถลงไว้ว่า สิ่งที่คุณนภดลไปทำไว้ไม่ล้ำมติครม.ปี 2505 แปลว่างานนี้ที่เราไปถ้าเอามาตรฐานศาล รัฐธรรมนูญไทยแปลว่าเราเจ๊งแล้ว เพราะระบุไว้ว่าพื้นดินใต้ปราสาทเราสงวนอยู่ ต้องเป็นไปตาม ม.190ของรัฐธรรมนูญ การไปครั้งนี้กัมพูชาพอใจ 4.6 ตร.กม.นั้นกำไร ตามแนวคำวินิจฉัยเหมือนเราไม่แน่ใจว่าดินใต้ปราสาทเป็นของใคร เพราะท่านศาสตราจารย์คนหนึ่งที่มีชื่อเสียงซึ่งเป็นทนายหนุ่มสมัยโน้นบอกว่าดินใต้ปราสาทเป็นของเรา เพราะเราสงวนไว้ตลอดชาติ ซึ่งจริงๆ ในแง่กฎหมายนักกฎหมายก็บอกว่าทำได้ สงวนไป

ประเด็นที่สำคัญมาก เรื่องมรดกโลกที่กำลังจะออกมาในเดือนกรกฎาคมเกี่ยวกับเรื่องนี้เต็มที่ การที่กัมพูชาไปศาลโลกในครั้งนี้เพื่อไปยืนยันมติ ครม.ของไทยปี 2505 แต่เราไม่เข้าใจกันเองว่าดินใต้ปราสาทเป็นของใคร อย่างไรก็ตาม ถ้อยคำของทนายฝ่ายเราก็ได้ยืนยันแล้วว่าเราก็ได้ถอนทหารออกมา ภายในเส้นปฏิบัติการนั้น แต่ป้ายทั้งหลายก็ชี้ กัมพูชาก็ชี้ได้ว่าเลยจุดนี้ไปคือ vicinity (พื้นที่ใกล้เคียง) on Cambodian Territory (บนอาณาเขตของกัมพูชา) ด้วย และอย่าลืม  "on Cambodian Territory" เพราะคำพิพากษามีคำนี้ด้วย ไม่ใช่มีเพียง คำว่า "vicinity" อย่างเดียว เพราะฉะนั้นประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นที่ใหญ่มากๆ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นประเด็นที่ถูกเอามาเล่นการเมืองไม่จบสิ้น

การสู้กันเรื่องพื้นที่ทับซ้อนสำหรับที่กัมพูชาอ้างนั้น ถ้าพูดตามหลักการเขียนแผนที่นั้นหายากมากๆ เพราะเจตนาของการเขียนสนธิสัญญา 1904 มีทั้งหมด 5 ฉบับ อินโดจีน ฝรั่งเศส สยาม และเหมือนที่ อ.ธำรงศักดิ์ว่าว่า เราใช้ชื่อไทย แต่ใช้หลักฐานสยาม เจตนาของการเขียนสนธิสัญญา คือ การเขียนแผนที่เพื่อเป็นเส้นแดนบนสนธิสัญญา เวลาเราดูแผนที่ เอาเข้าจริงเป็นแค่เพียงตัวแทนบนพื้นที่และบทพรรณนาในสนธิสัญญาเท่านั้นเอง ถ้าผู้พิพากษาโซมาเลียออกมาอย่างนี้ กัมพูชาก็ตกที่นั่งลำบากว่าจะขีดตรงไหน บางทีพูดถึงร่องน้ำแต่ไม่ปรากฏในแผนที่สมัยใหม่ แม้คุณมิรองจะพูดอะไรมากมายเท่าไร แต่กัมพูชาก็ตบมาหมัดเดียวว่าไม่สน จะเอาแผนที่ 1 ต่อ 200,000 เพราะไทยได้รับรองไว้เรียบร้อยแล้ว ฉะนั้น ข้อต่อสู้ของไทยในประเทศเองพูดเสมอว่าไม่ยอมรับ 1 ต่อ 200,000 ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เราต้องต่อสู้ว่าเรารับมา แต่มีความคลาดเคลื่อนในรายละเอียดทางภูมิศาสตร์เหล่านั้น

ดังนั้น จึงคาดว่าศาลจะไม่รับตีความ เพราะมันจะยุ่งมาก ถ้าพูดถึงพื้นที่ทับซ้อน มันจะหลีกไม่ได้ที่จะใช้แผนที่ 1 ต่อ 200,000 ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่บอกว่าปราสาทพระวิหารเป็นอาณาเขตที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา แต่ถ้าลงไปดูในรายละเอียดของการทำแผนที่แล้ว เส้นที่เกิดขึ้นในแผนที่ 1 ต่อ 200,000 นั้นมันไม่มีอยู่จริง

กัมพูชาสู้แค่นี้ว่า ดินใต้ปราสาทเป็นของใคร ที่มีปัญหากันเพราะไทยเถียงอยู่นี่แหละว่าดินใต้ปราสาทยังเป็นของไทยอย่าเพิ่งไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก การไปครั้งนี้กัมพูชาก็ดีใจแล้วเพราะได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกสำเร็จแล้ว ก็ขึ้นทะเบียนสำเร็จแล้ว ที่เคยขีดในฝั่งตะวันตกและเหนือก็ร่วมมือกันแล้ว กัมพูชาก็เสมอตัวหรือได้ด้วยซ้ำไป

ถ้าไม่เข้าข้างไทยหรือเขมรเกินไป กัมพูชาตีพุงรอแล้ว ขึ้นมรดกโลกสำเร็จแล้ว ถนนมันเข้ามาใน 4.6 ตร.กม.แน่นอน เขาก็อ้างว้าสร้างไปแล้ว โครงสร้างพื้นฐานมีอยู่แล้วจะไปเอาออกทำไม แต่คุณจะสร้างอะไรก็สร้างไป

ผมคิดว่าศาลจะไม่รับ เพราะมันจะยุ่งมากเลยในการตีความ

ปัญหาตอนนี้ไม่ใช่ปัญหาเขตแดน แต่เป็นปัญหาการพัฒนามรดกโลก กัมพูชาแคร์แค่ว่าเงินจะมาหรือไม่มา

อย่างไรก็ตาม บางคนก็ตั้งข้อสังเกตว่าเรากำลังชมมหากาพย์ เพราะก่อนหน้านี้ทนายของทั้งฝ่ายกัมพูชาและไทย ก็เคยร่วมมือกันทำคดีอื่น ทนาย 1 ใน 3 ของเราก็เคยช่วยเยอรมนีฟ้องไทยมาแล้ว

 

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ(ดูวิดีโอคลิป)

ทำให้พนมดงรักเป็นมรดกโลกร่วมกัน ระหว่างไทย ลาว กัมพูชา

ชาญวิทย์ กล่าวว่าเรื่องนี้จะอยู่กับเราไปอีกนาน เพราะมันขึ้นอยู่กับพลังของลัทธิชาตินิยม และพลังนี้เราไป underestimate ไม่ได้ว่ามันจะจางหรือหายไป ข้ามชาติ มีอาเซียน เรื่องนี้อย่างไรก็จะแรงอยู่ จึงขอเสนอว่าเราน่าจะมีข้อสรุปว่า ในระยะยาวทางออกของกรณีนี้คือ การเปลี่ยนพื้นที่บริเวณนี้ทั้งหมดให้กลายเป็นสิ่งซึ่งเรียกว่าเป็น Asean Eco-Cultural World heritage หรือ มรดกโลกทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของอาเซียน ที่มีทั้งไทย กัมพูชาและลาว ผมไม่เชื่อว่าเราจะสามารถตกลงกับกัมพูชาได้ต้องเอาบุคคลที่ 3 เข้ามา โดยเราน่าจะทำให้ทั้งพื้นดิน ภูเขา น้ำ ตลอดแนวของพนมดงรักเป็นมรดกโลกร่วมกัน ระหว่างไทย ลาว กัมพูชา

สำหรับผม สิ่งที่น่าสนใจและน่าเสียใจมากสำหรับคนไทยคือ มรดกที่เราได้มาจากขอม เขมรโบราณ เขาสร้างปราสาทวัดพู ลาวได้รับเป็นมรดกไปนำไปขึ้นมรดกโลก ปราสาทวัดพูเป็นแม่ของปราสาทเขาพระวิหาร กัมพูชาได้ไปและนำไปขึ้นมรดกโลก ปราสาทเขาพระวิหารเป็นแม่ของปราสาทพนมรุ้ง แล้วไทยทำอะไรอยู่กับปราสาทเขาพระวิหาร ในขณะที่เขาใหญ่ก็เป็นมรดกโลกแล้ว จากเขาใหญ่ถึงคอนพะเพ็ง ถ้า 3 ประเทศร่วมกัน บรรดากรรมการทั้งหลายนักวิชาการช่วยกันสนับสนุนเราจึงจะแก้ปัญหานี้ได้ ทำให้ครอบคลุมทั้งเทือกเขานี้เลย มองให้ใหญ่ไปเลย และดินแดนแห่งนี้จะเป็นดินแดนสันติภาพมากกว่านี้

 

ปัญหาไล่ที่ทำกินชาวบ้านบริเวณเขาพระวิหารและใกล้เคียง

อัครพงษ์ กล่าวถึงปัญหาที่ทำกินของชาวบ้านบริเวณเขาพระวิหารและใกล้เคียงด้วยว่า เนื่องจากเพิ่งกลับไปเมื่อช่วงสงกรานต์แล้วพบว่าชาวบ้านบางคนเพิ่งไปขึ้นศาลและโดนจำคุก เพราะเลยจากพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร เป็นภูเขาสลับซับซ้อน ชาวบ้านเข้าไปทำกิน สมัยปี 2518-19 รัฐบาลไทยใช้เขาไปตายเอาดาบหน้า กรณีปัญหากับกัมพูชา เขมรแดงยึด พอปี 2522 เขมรแดงแตก เขมรแดงก็ไหลออกมา ทหารไทยก็บอกว่าชาวบ้านออกไปก่อน เสร็จแล้วพอชาวบ้านจะกลับเข้าไปปรากฏว่าก็ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติในปี 2541 สมัยคุณชวน หลีกภัย ชาวบ้านก็เสียค่าบำรุงพื้นที่ ภาษีบำรุงท้องที่ตลอด แต่พอเจ้าหน้าที่อุทยานเข้าไปดูแลพื้นที่ ชาวบ้านเขาปลูกมะเขือกับพริกแค่นี้ จับเขาและเผาเถียงนาเขาเลย บอกว่าบุกรุกพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ และที่เจ็บแสบไปกว่านั้น โควทคำชาวบ้านเลย คือ อ้างว่าเป็นพื้นที่โครงการพระราชดำริ เป็นการอ้าง แต่พอพื้นที่ข้างๆ ปลูกสวนยางพาราได้ ไม่เป็นไร

ตอนนี้ปัญหาไม่ใช่แค่พื้นที่เขาพระวิหาร แต่ทั้งเทือกเลย ตั้งแต่อำเภอน้ำขุ่น ตำบลน้ำอ้อ เสาธงชัย ภูผาหมอก ประมาณ  81,000  ไร่ ที่ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ตอนนี้เป็นปัญหามาก มันง่ายต่อการปลุกระดม คนกรุงเทพฯบอกว่าจะเอาพื้นที่คืนๆ ไปช่วยกันเอาเขาพระวิหาร พวกเขาไปสำเร็จความรักชาติบ้านเมืองแล้วก็กลับบ้าน แต่ชาวบ้านอยู่ที่เดิม

ชาญวิทย์ กล่าวเสริมว่า เป็นเรื่องไม่ยุติธรรมต่อชาวบ้าน เขาถูกใช้ให้ไปอยู่ชายแดนในช่วงสงคราม เป็นเกราะป้องกันประเทศ แต่เมื่อสงครามสงบแล้ว ราชการก็เข้าไปประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ราว 81,000 ไร่ ชาวบ้านภูมิซรอล เคยไม่พอใจต่อการปลุกระดมแล้วตีกัน เขารักชาติคนละแบบกับคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ที่ราชดำเนิน แต่ตอนนี้การเมืองอาจทำให้เขาเปลี่ยนใจแล้ว เปลี่ยนสีเสื้อได้ ตรงนี้ถ้ารัฐบาลไม่เข้าไปแก้จะเป็นปัญหาอีก

 

วิดีโอคลิปเสวนา :

ช่วง ดามพ์ บุญธรรม นำเสนอ :

ช่วง ผศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นำเสนอ :

ช่วง ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นำเสนอ :

ช่วง อัครพงษ์ ค่ำคูณ นำเสนอ :

ช่วง ศ.(พิเศษ) ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นำเสนอ :

กต.ประเมิน 4 Scenario คำสั่งศาลโลก :

อ.พนัส ทัศนียานนท์ ร่วมอภิปราย และข้อเสนอ มรดกร่วม ของ ชาญวิทย์ :

ปัญหาไล่ที่ทำกินชาวบ้านบริเวณเขาพระวิหาร :

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 23 - 29 เม.ย. 2556

Posted: 29 Apr 2013 09:29 AM PDT

ลูกจ้างแห่กู้นอกระบบเพิ่ม หลังค่าแรง 300 ไม่พอกินอนุมัติมาตรการ

นายวชิร คูณทวีเทพ อา จารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐ กิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการ ค้าไทย เปิดเผยถึงสถานะภาพแรง งานไทยหลังจากการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ ว่า รายได้ของลูกจ้างส่วนใหญ่ 35% ระบุว่า ได้รับเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ แต่มี 26% ระบุว่าได้ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นลูกจ้างรายวันภาคการเกษตร ซึ่งพบว่าลูกจ้าง 90% ที่มีภาระหนี้ ปัจจุบันมีหนี้เฉลี่ย 98,428 บาทต่อครัวเรือน สูงกว่าปีก่อนที่มีหนี้เฉลี่ย 91,710 บาท

ทั้งนี้ ส่วนของหนี้ที่เพิ่มขึ้น นั้น พบว่า เป็นการกู้ในระบบ 48.1% ซึ่งลดลงจากปีก่อนที่มีสัดส่วน 52.3% ขณะที่การกู้เงินนอกระบบ มีเพิ่มขึ้นเป็น 51.9% จากปีก่อนที่มีสัดส่วน 47.7% ซึ่งการผ่อนชำระ หนี้นั้น กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน มีการผ่อนชำระหนี้ ตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท มีสัด ส่วนสูงถึง 56.8% ซึ่งพบว่ากลุ่มนี้ประสบปัญหาในการชำระหนี้ค่อนข้างเยอะ

เมื่อถามว่ามีปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่ายหรือไม่ 62.8% ตอบว่ามีปัญหา โดย 74% ระบุว่าเป็นเพราะราคาสินค้าแพงขึ้น ขณะที่ 13% ระบุว่าเป็นเพราะดอกเบี้ยสูง และ 10.4% ระบุว่าเป็นเพราะรายได้ลดลง

ทั้งนี้ ลูกจ้างมีความเห็นว่าหลังการปรับค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศแล้ว รัฐบาลควรจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างทุกปี โดยอัตราที่เหมาะสมในปัจจุบันอย่างน้อยควรอยู่ที่ 385 บาทต่อวัน  ขณะที่ในอีก 3 ปีข้างหน้าควรอยู่ที่ 456 บาทต่อวัน และอีก 5 ปีข้างงหน้าควรอยู่ที่ 574 บาทต่อวัน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า แม้ว่าจะมีการ ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่พบว่าแรง งานส่วนใหญ่ยังคงเป็นหนี้ โดยเฉพาะ หนี้นอกระบบที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เป็นเพราะว่าค่าครองชีพสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่ม และการกู้ในระบบไม่สามารถเข้าได้ถึงแหล่งเงินกู้เต็มที่ จึงต้องหันไปกู้นอกระบบ

"จุดนี้เป็นสิ่งที่ต้องเป็นห่วงว่าอาจจะเกิดปัญหาฟองสบู่ในภาคแรงงานก็ เป็นได้ เพราะรายได้ที่ได้มาไม่พอกับรายจ่าย ทำให้ต้องก่อหนี้เพิ่ม" นายธนวรรธน์กล่าว

นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐ มนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบมาตรการบรร เทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบ ธุรกิจขนาด กลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ตามกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรร เทาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ เช่น การจัดโครงการคลินิกอุตสาหกรรม และปรับแผนดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรมในปีงบประมาณ 56 เช่น ใช้งบ 201 ล้านบาท จัดหาผู้เชี่ยวชาญจัดทำแผนธุรกิจและให้คำปรึกษาการขอสินเชื่อ, การส่งเสริมเอสเอ็มอีเข้าโครงการปรับการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุน

ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน โดยร่วมกับสถาบันการเงินสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% ในปีแรก เพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย คิดเป็นสินเชื่อ 6,300 ล้านบาท โดยใช้งบที่มีอยู่จากกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) 200 ล้านบาท รวมทั้งยกเว้นค่าธรรมเนียมและค่าบริการรายปี ตาม พ.ร.บ.โรงงาน รวมทั้งมีโครงการปรับปรุงและฟื้น ฟูสภาพเครื่องจักร อีกทั้งยังมียุทธ ศาสตร์เพิ่มประสิทธิภาพและผลิต ภาพภาคอุตสาหกรรมด้วย.

(ไทยโพสต์, 23-4-2556)

 

"นครปฐม"อบรม แรงงานคนพิการ

นายสุเทพ โชคบุญธิยานนท์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จังหวัดนครปฐม เปิดเผยว่า พม.นครปฐม จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิด้านอาชีพของคนพิการ จังหวัดนครปฐม วันที่ 30 เม.ย.นี้ เพื่อให้ความรู้ผู้พิการ และเจ้าของสถานประกอบการที่สนใจ เพื่อสร้างความรู้เกี่ยวกับสิทธิด้านอาชีพของผู้พิการ ส่งผลให้ผู้พิการมีงานทำ

ขอเชิญชวนผู้พิการ และเจ้าของสถานประกอบการที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 มาตรา 33 กำหนดสัดส่วนการจ้างงานคนพิการทำงานในอัตรา 100 ต่อ 1 แต่ปัจจุบันสถานประกอบการหลายแห่งยังไม่มีความพร้อมจ้างงานคนพิการ ส่วนคนพิการที่มีความพร้อมเข้าสู่สถานประกอบการมีจำนวนจำกัด

(ข่าวสด, 25-4-2556)

 

กรมการจัดหางานผนึก 3 มหาวิทยาลัยดัง ดึงนักศึกษาเข้าทำงานในโรงแรมมาเก๊า

นายวินัย ลู่วิโรจน์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า ขณะนี้โรงแรมต่างๆ ในมาเก๊าเช่น โรงแรมแซนด์ส ไชน่า (Sands China) โรงแรมวิน มาเก๊า (Wynn Macau) โรงแรมเอ็มจีเอ็ม มาเก๊า(MGM Macau) มีความต้องการจ้างงานแรงงานในตำแหน่งต่างๆ เช่นพนักงานต้อนรับส่วนหน้า พนักงานต้อนรับพนักงานแผนกอาหารและเครื่องดื่มรวมทั้งหมดประมาณ 100 ตำแหน่ง แต่ที่ผ่านมาได้มาเปิดรับสมัครและสอบสัมภาษณ์แรงงานไทยและมีแรงงานไทยผ่าน การคัดเลือกจำนวนน้อย เนื่องจากมีคุณสมบัติไม่ตรงกับความต้องการเมื่อเร็วๆ นี้ กกจ.จึงได้ประสานไปยังมหาวิทยาลัย 3 แห่ง ในภาคเหนือได้แก่?ม.ราชภัฏเชียงราย ม.ราชภัฏเชียงใหม่และม.แม่โจ้ เพื่อให้แจ้งนักศึกษาชั้นปีที่ 4สาขาภาษาอังกฤษ ภาษาจีนและสาขาการโรงแรมและการท่องเที่ยวที่มีความประสงค์จะไปทำงานโรงแรมใน มาเก๊าให้มาเข้ารับการอบรมจากเจ้าหน้าที่กกจ. เพื่อเตรียมความพร้อมเข้ารับการสอบสัมภาษณ์จากตัวแทนโรงแรมต่างๆ ในมาเก๊า เช่น โรงแรมแซนด์ส ไชน่า ภายในเดือนเมษายนนี้

"กกจ.จะส่งเจ้าหน้าที่ไปอบรมให้ความรู้แก่นักศึกษาทั้ง 3 มหาวิทยาลัยทั้งในเรื่องบุคลิกภาพ การแต่งกายการสอบสัมภาษณ์ ตำแหน่งงาน สัญญาจ้างเงินเดือนและการใช้ชีวิตในมาเก๊า รวมทั้งจะประสานไปยังโรงแรมต่างๆ ในมาเก๊าให้ส่งตัวแทนขึ้นไปสัมภาษณ์นักศึกษาที่ผ่านมาอบรมถึงสถาบันด้วยคาด ว่าน่าจะมีนักศึกษามีโอกาสได้งานทำในโรงแรมมาเก๊าอย่างน้อย 50-60 คน หลังจากนี้เมื่อโรงแรมในมาเก๊าติดต่อมายังกกจ.เพื่อมาเปิดรับสมัครแรงงาน ไทยกกจ.จะจัดอบรมการเตรียมตัวให้แก่แรงงานไทยที่สนใจสมัครเข้ารับการ สัมภาษณ์ล่วงหน้าอย่างน้อย 1-3 วัน เพื่อให้มีโอกาสได้งานทำสูงขึ้น" รองอธิบดีกกจ. กล่าว

(แนวหน้า, 25-4-2556)

 

ปธ.สภาองค์การลูกจ้างฯ ยื่น 11 ข้อเรียกร้องต่อรบ. จี้แก้ปัญหาด้านแรงงาน เตรียมจัดงานใหญ่

วันที่ 28 เม.ย. นายชินโชติ  แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานจัดงานวันแรงงานแห่งชาติปี 2556 ได้เสนอข้อเรียกร้องที่ผู้ใช้แรงงานต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาโดยแร่งด่วน 11 ข้อ ประกอบด้วยดังนี้
 
1.ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98
 
2.ออกกฎหมายตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้แก่ลูกจ้างที่ตกงานเพราะโรงงานผิดกิจการ โดยไม่จ่ายค่าชดเชย
 
3.ให้รัฐบาลยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้กรณีค่าชดเชยของลูกจ้างเอกชน และเงินตอบแทนของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ
 
4.ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไข พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานกรรมการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2550 ให้มีการมาตรฐานเดียวกับข้าราชการพลเรือน
 
5.ผลักดันกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจและยุติการแปรรูปหรือยุบเลิกรัฐวิสาหกิจ
 
6.ให้รัฐบาลเร่งตรา พ.ร.ฎ.สถาบันความปลอดภัยฯ
 
7.ปฏิรูประบบประกันสังคมและเพิ่มสิทธิประโยชน์ รวมทั้งยกระดับสำนักงานประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ
 
8.จัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็ก และศูนย์เก็บน้ำนมแม่ในโรงงาน โดยผู้ที่เข้าร่วมโครงการ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
 
9.แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 59 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงในวันลาเพื่อตรวจรักษา สุขภาพก่อนคลอดบุตร และคลอดบุตรเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 90 วัน และให้ลูกจ้างซึ่งเป็นชายมีสิทธิลาเพื่อดูแลภรรยาในการคลอดบุตรได้ 15 วันโดยได้รับค่าจ้าง และมาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างเป็น 2 เท่าจากเดิมที่บัญญัติไว้
 
10.ออก พ.ร.ฎ.การจัดเก็บเงินสะสม และเงินสมทบ เพื่อเป็นกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง และ
 
11.ตั้งคณะทำงานติดตาม และประสานงานข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติปี พ.ศ. 2556

สำหรับการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติในวันที่ 1 พ.ค. นี้ จะเริ่มขึ้นเวลา 07.00 น. เป็นพิธีสงฆ์ ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธาน จากนั้น เวลา 08.30 น. จะเคลื่อนขบวนผู้ใช้แรงงานไปตามถนนราชดำเนินสู่ท้องสนามหลวง เวลา 10.45 น. นายกรัฐมนตรี เดินทางมาถึงบริเวณงาน จากนั้น นายชินโชติ กล่าวรายงานข้อเรียกร้องและยื่นต่อนายกรัฐมนตรี จากนั้น นายกรัฐมนตรี จะกล่าวสุนทรพจน์ต่อผู้ใช้แรงงานก่อนจะกดปุ่มผ้าแพรเปิดงานวันแรงงานอย่าง เป็นทางการ ส่วนช่วงเย็นจะจัดกิจกรรม คอนเสิร์ตของศิลปินดารา จนถึงเวลา 22.00 น.
   
ส่วนกลุ่มผู้ใช้แรงงานในนามคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำโดยนายชาลี ลอยสูง และนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ได้แยกจัดงานวันแรงงานแห่งชาติที่บริเวณด้านหน้ารัฐสภา เวลา 09.00 น. จากนั้น จะเริ่มเคลื่อนขบวนไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยตั้งเวทีปราศรัยบริเวณประตูหน้า 5 และจัดกิจกรรมรำลึกถึงวันกรรมกรสากลสลับกับไฮปาร์คบนเวที

(มติชน, 28-4-2556)

 

โพลชี้ค่าแรง 300 บาทไม่ทำให้ชีวิตของแรงงานดีขึ้น

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้แรงงานเรื่อง "มุมมองแรงงานหลังได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท" เนื่องในวันที่ 1 พ.ค.ที่จะถึงนี้เป็นวันแรงงานแห่งชาติโดยเก็บข้อมูลจากแรงงานที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 75.1  ไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะที่ร้อยละ 24.9 มีภูมิลำเนาอยู่ ทั้งนี้เมื่อถามถึงสาเหตุที่ผู้ใช้แรงงานไม่ทำงานในภูมิลำเนาที่เกิด ร้อยละ 64.8 ระบุว่ามีงานให้เลือกน้อย รองลงมาร้อยละ 33.4 ระบุว่าในกทม. และปริมณฑลมีสวัสดิการที่ดีกว่า  และร้อยละ 33.3 ระบุว่าได้ค่าแรงต่ำกว่า 300 บาท  โดยเมื่อถามต่อว่า "หากสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้นได้  ตั้งใจที่จะกลับไปทำงานในภูมิลำเนาเกิดหรือไม่" ร้อยละ 80.0  ตั้งใจว่าจะกลับ ขณะที่ร้อยละ 20.0 ตั้งใจว่าจะไม่กลับ

ส่วนผลกระทบที่มีต่อการทำงาน หลังจากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท  แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 65.4 ระบุว่าไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่ร้อยละ 34.6 ระบุว่าได้รับผลกระทบ  ในจำนวนนี้ร้อยละ 16.5 ระบุว่าทำงานล่วงเวลา (OT) ได้น้อยลง  ร้อยละ 9.2 ระบุว่าต้องทำงานหนักมากขึ้น  และร้อยละ 4.2 ระบุว่าไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างในช่วงที่ผ่านมา

เมื่อถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ หลังจากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 45.9 เห็นว่ามีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนเดิม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 จากการสำรวจในปี 55) ขณะที่ร้อยละ 44.2 เห็นว่าดีขึ้น (ลดลงร้อยละ 16.5) และร้อยละ 9.9 เห็นว่าแย่ลง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1) โดยเมื่อถามสาเหตุที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ไม่ดีขึ้นอันดับแรกคือ ข้าวของแพงขึ้น (ร้อยละ 85.9) รองลงมาคือ ขาดสวัสดิการช่วยเหลือ/สวัสดิการแย่ลง ( ร้อยละ 7.1) และงานไม่มั่นคง ไม่รู้จะถูกเลิกจ้างตอนไหน (ร้อยละ 4.4) สุดท้ายเมื่อถามว่า "มีความกังวลว่าจะตกงานมากน้อยเพียงใด หลังจากการขึ้นค่าแรง 300 บาทมีผลทำให้ผู้ประกอบการ SME มีการลดพนักงานลง 15% (ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมฯ) เพื่อประคองกิจการให้อยู่รอด" ร้อยละ 73.2 กังวลน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 26.8 กังวลมากถึงมากที่สุด.

(เดลินิวส์, 29-4-2556)

 

คสรท.ยื่นข้อเรียกร้องเร่งด่วน 5 ข้อ ในวันแรงงานแห่งชาติปี 56

29 เม.ย.- คสรท. ร่วมกับ สรส. และเครือข่ายแรงงานทั่วประเทศยื่นข้อเรียกร้องเร่งด่วน 5 ข้อ ในวันแรงงานแห่งชาติปี 56 ต่อนายกรัฐมนตรี เน้นให้รับรองอนุสัญญาไอแอลโอ 87 , 98  รวมถึงการยุตินโยบายและกฎหมายละเมิดสิทธิแรงงาน  ส่วนข้อเรียกร้องติดตาม ขอให้ทบทวนมติ ครม. ที่ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ในปี 57 และ 58
 
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่า คสรท.ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และเครือข่ายแรงงานทั่วประเทศยื่นข้อเรียกร้องวันแรงงาน โดยแบ่งเป็นข้อเรียกร้องเร่งด่วนดังนี้  1. ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง 
 
2. ยุตินโยบายและกฎหมายที่ละเมิดสิทธิแรงงาน  ที่ขัดต่ออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98 เช่น กรณีผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย 13 คน  3. สร้างระบบสวัสดิการสังคม เช่น มีมาตรการควบคุมราคาสินค้า ลดค่าครองชีพ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม  4. ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ ยุติการแทรกแซงการบริหารงานรัฐวิสาหกิจ โดยขาดความเป็นธรรม และ 5. ต้องเร่งปฏิรูประบบประกันสังคม  ประกันสุขภาพคนทำงานถ้วนหน้า ให้โครงสร้างเป็นอิสระตรวจสอบได้  ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม
 
ส่วนข้อเรียกร้องติดตาม 1. ต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม  รวมถึงทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2554  ที่ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ในปี 57 และ 58   2. แก้กฎหมายเลือกตั้งทุกระดับ ให้แรงงานที่ทำงานในสถานประกอบการในพื้นที่ ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป มีสิทธิเลือกตั้งและลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่นั้น ๆ  3. เร่งพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ์ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ อย่างจริงจัง  4. จัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน  เมื่อมีการเลิกจ้างหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม และเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง 5. สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กหรือศูนย์พัฒนาเด็ก ในเขตพื้นที่อุตสาหกรรม 6. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการคุ้มครองสิทธิแรงงานและสวัสดิการสังคม ของแรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ

(สำนักข่าวไทย, 29-4-2556)

 

"เผดิมชัย"รับลูกดันข้อเรียกร้องวันแรงงาน

( 29 เม.ย.) ที่กระทรวงแรงงาน  นายเผดิมชัย  สะสมทรัพย์  รมว.แรงงาน  กล่าวถึงกรณีสภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทยจะยื่นข้อเรียกร้อง  11 ข้อต่อนายกรัฐมนตรีเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค.นี้ ว่า ข้อเรียกร้องในเรื่องการให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ  98  เพื่อให้ได้รับสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอรัฐบาลพิจารณาให้การรับรอง  ส่วนการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็ก และศูนย์เก็บน้ำนมแม่ในสถานประกอบการ หรือใกล้กับนิคมอุตสาหกรรม  รวมทั้งการให้ลูกจ้างซึ่งเป็นชายมีสิทธิลาเพื่อดูแลภรรยาในการคลอดบุตรได้ เป็นเวลา  15  วันโดยได้รับค่าจ้างนั้น  รัฐบาลยืนยัน ว่า จะส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กและศูนย์เก็บน้ำนมแม่ในสถานประกอบ การขนาดใหญ่ให้มากขึ้น  และขอความร่วมมือไปยังสถานประกอบการให้พิจารณาให้สิทธิลาเพื่อดูแลภรรยาคลอด บุตรได้เป็นเวลา 15 วัน  แต่เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนายจ้างว่าจะให้ลาได้กี่วัน

"ทั้งสองเรื่องข้างต้น ขณะนี้กระทรวงแรงงานคงดำเนินการได้ในลักษณะของการขอความร่วมมือไปยังสถาน ประกอบการต่างๆ    ส่วนระยะยาวจำเป็นจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่นั้น ผมจะต้องมาหารือกับทั้งฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้างและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนว่ามีความเห็นเป็นอย่างไร   เพื่อให้ได้ข้อสรุปและการดำเนินการที่เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย" รมว.แรงงาน กล่าว

นายเผดิมชัย  กล่าวอีกว่า ส่วนข้อเรียกร้องเรื่องให้ปรับระบบประกันสังคมเช่น กำหนดในกฎหมายประกันสังคมให้ขยายสิทธิผู้รับงานไปทำที่บ้านเข้าเป็นผู้ ประกันตนในมาตรา 33 ได้ โดยให้ถือว่าผู้จ้างเป็นนายจ้าง พร้อมทั้งให้นิรโทษกรรมให้แก่ผู้ประกันตน มาตรา 39 กลับมาเป็นผู้ประกันตนได้ และนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ประกันตน มาตรา 40 ในอัตราร้อยละ 50 ในทุกกรณีนั้น  จะให้ สปส.ศึกษาในเรื่องการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมเพื่อรองรับในเรื่องเหล่านี้

ด้านนายจีรศักดิ์  สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.)   กล่าวว่า วันแรงงานปีนี้ สปส.ได้มอบของขวัญให้แก่ผู้ประกันตนด้วยการสั่งเพิ่มสาขาสำนักงานประกัน สังคมให้บริการเพิ่มขึ้น ในจังหวัดที่มีการขยายตัวด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และมีสถานประกอบการ ลูกจ้าง ผู้ประกันตน เพิ่มขึ้น โดยได้เปิดสาขาให้บริการอีก 2 แห่ง ที่ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาหัวหิน ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 27/70   ซอยหัวหิน 11 ถนนเพชรเกษม ตำบลบ่อฝ้าย อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้บริการนายจ้างผู้ประกันตนในเขตพื้นที่ รวม 2 อำเภอ คือ อำเภอหัวหิน และอำเภอปราณบุรี  ส่วนอีก   1 แห่ง คือที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐม สาขาอำเภอสามพราน ซึ่งมีที่ตั้งอยู่เลขที่    16/16 – 19 หมู่ที่ 1 ถนนเพชรเกษม ตำบลท่าตลาด อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม โดยได้เปิดให้บริการ นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนในพื้นที่ อำเภอสามพราน และอำเภอพุทธมณฑล

นายจีรศักดิ์  กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สปส.ได้ขยายเวลาการให้บริการของสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-12 โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป ซึ่ง ได้เพิ่มระยะเวลาให้บริการออกไปอีกวันละ 1 ชั่วโมง 30 นาที ในวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 18.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ที่ไม่สามารถมารับบริการในเวลาราชการได้ ทั้งนี้หากนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 12 แห่ง/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ หรือโทร 1506 ให้บริการทุกวันตลอด    24 ชั่วโมง หรือติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง ให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ.

(เดลินิวส์, 29-4-2556)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อวัตถุศึกษากับอธิป: สนพ.วิชาการตะวันตกฟ้องมหาลัยอินเดียฐานซีร็อกส์ชีตขายนศ.

Posted: 29 Apr 2013 08:57 AM PDT

ติดตามข่าวสารด้านลิขสิทธิ์รอบโลกกับ 'อธิป จิตตฤกษ์' สัปดาห์นี้นำเสนอข่าวสนพ.ชื่อดังฟ้องมหาลัยเดลีฐานละเมิดลิขสิทธิ์, ยอดทวิตเตอร์สำนักข่าวเอพีลดฮวบหลังโดนแฮ็ก ฯลฯ

 

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก

 

17-04-2013

นักเขียนและนักวิชาการอินเดียกว่า 300 คนส่งจดหมายเปิดผนึกให้ 3 สำนักพิมพ์วิชาการชื่อดังถอนฟ้องมหาวิทยาลัยเดลีและร้านถ่ายเอกสารหนังสือและวารสารวิชาการอันมีลิขสิทธิ์ของสำนักพิมพ์

ในปี 2012 สำนักพิมพ์วิชาการชื่อดัง Cambridge University Press , Oxford University Press และ Taylor & Francis ได้ร่วมกันฟ้องมหาวิทยาลัยเดลีและร้านถ่ายเอกสารในมหาวิทยาลั ยฐานละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือของสำนักพิมพ์โดยการถ่ายเอกสาร "คอร์สแพ็ค" หรือถ่ายเอกสารรวมเอกสารที่ใช้ในรายวิชาหนึ่งๆ ทั้งหมด มาขายให้นักศึกษา

ล่าสุดนักวิชาการและนักเขียนกว่า 300 คน (ในนั้น 33 คนเป็นเจ้าของหนังสือที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์) ก็ยื่นจดหมายเปิดผนึกให้ 3 สำนักพิมพ์ถอนฟ้อง

ความคิดเห็นของนักวิชาการนั้นมีความแตกต่างในรายละเอียด แต่ในภาพรวมเห็นตรงกันว่าการกระทำของสำนักพิมพ์เหล่านี้เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของสำนักพิมพ์ ไม่ใช่บรรดานักเขียนและนักวิชาการเจ้าของหนังสือ รายได้จากหนังสือวิชาการนั้นถือว่าเป็นรายได้น้อยนิดของนักวิชาการที่มีรายได้หลักจากเงินเดือนมหาวิทยาลัยและการวิจัยอยู่แล้ว หากพวกสำนักพิมพ์ชนะคดีและส่งผลให้นักศึกษาซื้อหนังสือถ่ายเอกสารไม่ได้อีกรายได้พวกเขาก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะนักศึกษาก็ไม่มีเงินซื้อหนังสือจริงๆ อยู่ดี และเมื่อพวกเขาเข้าถึงหนังสือไม่ได้แล้ว มันก็จะส่งผลร้ายต่อการศึกษาเสียมากกว่า

ซึ่งในมุมของข้อกฎหมายนั้นก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าการถ่ายเอกสารเพื่อการศึกษานั้นเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ เพราะกฎหมายลิขสิทธิ์อินเดียก็มีบรรจุ "การใช้เพื่อการศึกษา" ไว้เป็นส่วนหนึ่งของ "การใช้โดยชอบธรรม" หรือการใช้ที่ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

ทั้งนี้การไล่ล่าปราบการถ่ายเอกสารในมหาวิทยาลัยโลกที่สามของเหล่าสำนักพิมพ์วิชาการนั้นก็ดูจะเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นตามติดมากับการลดลงของรายได้ของสำนักพิมพ์เหล่านี้ในโลกตะวันตก อันเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่ได้แปลกอะไรกับอุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างธุรกิจบนฐานของสื่อเก่าในช่วงยุคหลังปฏิวัติดิจิตัลที่เริ่มส่งผลกับอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์โดยรวมๆ อย่างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ มาราวกว่าสิบปีแล้ว

News Source: http://www.aljazeera.com/indepth/features/2013/03/2013317104829368899.html, http://www.techdirt.com/articles/20130409/09562322635/western-publishers-sue-delhi-university-over-photocopied-textbooks-students-authors-fight-back.shtml

 

23-04-2013

บรรดาแผ่นเสียงที่ทำมาจำหน่ายในจำนวนจำกัดใน Record Store Day ขายหมดอย่างรวดเร็วและถูกนำมาขายใหม่บน E-Bay ด้วยราคาแพงกว่าเดิม 2-10 เท่า

วันเสาร์ที่ 20 เมษายน 2013 ที่ผ่านมาเป็นวัน Record Store Day ทั่วโลกซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลองธุรกิจงานบันทึกเสียงดนตรีที่จับต้องได้ (พูดภาษาชาวบ้านก็คือร้านเทป ร้านซีดี ฯลฯ) ที่เหลือรอดอยู่ และทางค่ายเพลงจำนวนไม่น้อยก็ทำผลิตแผ่นเสียงเก่าๆ ที่หายไปจากท้องตลาดแล้วมาขายเพื่อสร้างความคึกคักให้งานด้วย

ในอังกฤษและไอร์แลน์ก็จัดงานนี้ ซึ่งคนก็ให้ความสนใจมาก "ร้านแผ่น" หลายๆ ร้านมีคนมาต่อคิวตั้งแต่คืนก่อนหน้าเพื่อซื้อพวกไวนีลที่มีขายจำนวนจำกัดนี้ และก็คาดเอาได้ว่าแผ่นไวนีลเหล่านี้ขายหมดอย่างรวดเร็ว

และในเวลาไม่นานแผ่นไวนีลเหล่านี้ก็มีขายบนอีเบย์ในราคาที่สูงกว่าราคาขายที่ร้าน 2-10 เท่า

News Source: http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2013/20130422recordstoreday

 


รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมและการศึกษาสเปนยอมรับว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ใหม่ร่างมาเพื่อให้สเปนหลุดจาก "บัญชีดำ" ของประเทศที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์สูงที่สหรัฐทำ

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130415/03110122707/spain-admits-new-copyright-law-is-designed-to-keep-it-off-uss-naughty-list.shtml

 

24-04-2013

สำนักข่าว AP พักการใช้งาน Twitter อย่างไม่มีกำหนดหลังโดนแฮค

ทั้งนี้เรื่องเกิดจากในวันที่ 23 เมษายน 2013 มีการแฮคบัญชี Twitter ของ AP และโพสต์ข้อความว่า "มีเหตุระเบิดเกิดขึ้นสองครั้งที่ทำเนียบขาว บารัค โอบามาได้รับบาดเจ็บ" ซึ่งข้อความนี้ก็ถูกรีทวีตไปกว่า 500 ครั้งก่อนที่ทาง AP จะระงับการใช้งาน

ทั้งนี้ทาง AP ก็กล่าวว่าจะไม่กลับมาใช้งานใหม่หากยังไม่มีความมั่นใจด้านมาตรการความปลอดภัย

การแฮคครั้งนี้ทำให้หุ้นตกลงอย่างรวดเร็วด้วย และหุ้นก็ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังจากเป็นที่ทราบทั่วกันว่าข่าวเหตุระเบิดทำเนียบขาวเป็นเพียงข่าวลวง

News Source: http://gigaom.com/2013/04/23/aps-twitter-account-suspended-after-hacking-incident-roils-markets/, http://www.popsci.com/technology/article/2013-04/syrian-electronic-armys-hackers-are-less-dangerous-reddit, http://www.techdirt.com/articles/20130423/14043222810/fake-tweet-algorithmically-twitchy-financial-markets-lead-to-market-swing-is-that-so-bad.shtml

 

ศาลตุรกีตัดสินเป็นครั้งแรกว่าการแพร่ข้อความทาง Twitter นั้นเทียบได้กับการแพร่สารทางสื่อมวลชนอื่นๆ

สืบเนื่องจากการตัดสินคดีเมื่อเร็วๆ นี้ 2 คดี ซึ่งเกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาท-หมิ่นศาสนา ศาลพิจารณาว่าเนื่องจากโจทก์ทั้งสองคน "ตีพิมพ์" เนื้อหาและข้อความดังกล่าวในทวิตเตอร์ ก็เทียบเท่ากับการเผยแพร่ต่อสาธารณะในระดับเดียวกับสื่อประเภทอื่นๆ เช่นหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร ซึ่งมีผลทำให้บทลงโทษหนักขึ้นไปอีก

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130417/04412522739/double-blow-against-freedom-speech-twitter-users-turkey.shtml

 

25-04-2013

บริษัท Txtr จากเยอรมันขาย the Beagle ซึ่งเป็น e-reader ในราคาเพียง 59 ยูโร (ประมาณ 2,250 บาท) เท่านั้น

และที่มากไปกว่านั้นทาง Txtr ก็มีแผนจะหาเงินช่วยเหลือจากด้านต่างๆ เพื่อให้ขาย The Beagle ได้ในราคาต่ำว่า 10 ยูโร (คือประมาณต่ำกว่า 380 บาท)

ทั้งนี้ Kindle รุ่นที่ถูกที่สุดของ Amazon นั้นก็ขายอยู่ในท้องตลาดยุโรปที่ราคา 79 ยูโร (ประมาณ 3,000 บาท)

News Source: http://gigaom.com/2013/04/24/txtrs-e-reader-goes-on-sale-in-europe-but-hasnt-found-mobile-carriers-to-subsidize-it-yet/

 

หลังจากหายไปเกือบ 1 วัน ล่าสุดบัญชี Twitter ของสำนักข่าว AP กลับมาแล้วหลังการแฮค อย่างไรก็ดีบรรดา Follower ของ AP ก็ลดลดจากเกือบ 2 ล้านคน ไปเหลือไม่ถึง 1 แสนคน

อย่างไรก็ดีคนที่กลับมา Follow ทาง AP ก็ค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้น ทาง Twitter บอกว่าคนน่าจะกลับมาเท่าเดิมภายใน 24 ช.ม.

News Source: http://gigaom.com/2013/04/24/ap-returns-to-twitter-after-hack-but-where-are-its-2-million-followers/

 

Netflix ช่องทีวีออนไลน์มีคนสมัครสมาชิกมากกว่าช่องเคเบิลชื่อดังอย่าง HBO ไปเรียบร้อยแล้วในอเมริกาในไตรมาสแรกของปี 2013 ที่ผ่านมา

News Source: http://paidcontent.org/2013/04/24/netflix-long-term-view-reed-hastings/

 

28-04-2013

New York Times และ Bloomberg News ปฏิเสธที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองและยอมโดนบล็อคในจีน

ในกรณีของ New York Times ทางการจีนทั้งปิดบริการข่าวภาษาจีนกลางของ Times บล็อคเว็บ ไซต์ภาษาอังกฤษและปฏิเสธวีซ่านักข่าว ส่วนในกรณีของ Bloomberg ทางการจีนนั้นบล็อคเว็บไซต์หลักและ BusinessWeek

ทั้งนี้อดีตบรรณาธิการบริหารของ New York Times ก็กล่าวว่าการยอมเสียผู้อ่านในตอนนี้ในระยะยาวมันจะทำให้ได้มาซึ่งความน่าเชื่อถือ

News Source: http://gigaom.com/2013/04/26/banned-in-china-bloomberg-and-new-york-times-say-they-had-no-choice/

 

ผู้พิพากษาวิสคอนซินปฏิเสธที่จะออกคำสั่งศาลให้ผู้ต้องหาให้พาสเวิร์ดแก่เจ้าหน้าที่รัฐและถอดรหัสคอมพิวเตอร์เนื่องจากเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้รัฐธรรมนูญที่ละเมิดคือ "การแก้ไขครั้งที่ห้า" (Fifth Amendment) ที่ว่าด้วยสิทธิของบุคคลที่จะไม่ถูกรัฐใช้อำนาจโดยมิชอบในกระบวนการยุติธรรม

อย่างไรก็ดีในกรณีก่อนหน้านี้ศาลก็เคยสั่งให้จำเลยให้พาสเวิร์ดแก่เจ้าหน้าที่รัฐเนื่องจากมีหลักฐานชัดเจนว่ามีข้อมูลในคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับคดี

กล่าวคือหลัก "การแก้ไขครั้งที่ห้า" ดูจะใช้ได้ต่อเมื่อรัฐไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีข้อมูลในคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับคดีเท่านั้น

News Source: http://www.wired.com/threatlevel/2013/04/encrypt-your-data/ , http://www.techdirt.com/articles/20130425/08171522834/judge-says-giving-up-your-password-may-be-5th-amendment-violation.shtml

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รถไฟความเร็วสูง..ไม่ใช่ภาระหนี้สิน แต่คือโอกาสใหม่ของการสร้างรายได้

Posted: 29 Apr 2013 08:30 AM PDT

จากการเสนอบทวิเคราะห์เรื่อง "ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เดินหน้าอย่างไรให้ถูกทาง คุ้มค่า และเป็นประชาธิปไตย?" โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และจากการรายงานข่าวเกี่ยวกับบทวิเคราะห์ดังกล่าวในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ทางคณะทำงานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีมีความประสงค์ที่จะชี้แจงข้อมูล ซึ่งเกี่ยวข้องกับแนวทางการประเมินความคุ้มค่าของการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง และแนวยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่อง ดังนี้

คุ้มไม่คุ้ม............ไม่ได้ตัดสินแค่เพียงจำนวนผู้โดยสาร

เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา มติชนออนไลน์ได้รายงานข่าวเรื่อง "ทีดีอาร์ไอค้าน ไฮสปีดเทรนมีผู้โดยสาร 9 ล้านถึงจะคุ้ม จี้รัฐเลิกประชานิยมสุดกู่" โดยนายสุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการทีดีอาร์ไอได้วิเคราะห์ว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงจะคุ้มค่าการลงทุนได้ ก็ต่อเมื่อมีผู้โดยสารต่อปีอย่างน้อย 9 ล้านคน[1]

ทั้งนี้ หากพิจารณาตามหลักเกณฑ์การประมาณการณ์ของนายสุเมธ (ซึ่งอ้างอิงมาจากการประเมินต้นทุนการก่อสร้างและการเดินรถไฟความเร็วสูง ในเส้นทางต่างๆของทวีปยุโรป)[2] จะพบว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงของไทยมีความคุ้มค่าแก่การลงทุนอย่างแน่นอน เพราะเมื่อพิจารณาถึงผลการประมาณการณ์จำนวนผู้โดยสารขั้นตำ่ซึ่งได้จัดทำออกมาแล้ว เช่น ผลการวิจัย Pre-Feasibility Study ของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย ซึ่งจัดทำโดย Third Railway Survey and Design Institute Group Corporation (TSDI) เมื่อเดือนสิงหาคมและตุลาคม 2555 ได้แสดงให้เห็นว่า เพียงแค่เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-หนองคายรวมกัน ก็จะมีปริมาณผู้โดยสารสูงถึง 23.8 ล้านเที่ยว-คน ในปี 2563[3]

รถไฟความเร็วสูง กับการกระจายโอกาสในการสร้างรายได

สำหรับในเรื่องการจัดประเภทการลงทุนให้บริการทางสังคม (Social Services) ซึ่งประชาไทได้รายงานข้อเสนอของทีดีอาร์ไอ เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา[4] ทางคณะทำงานฯมีความประสงค์ที่จะชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมด้วยกัน 2 ประเด็น คือ

1.      ข้อกังวลของทีดีอาร์ไอที่ว่า ภาครัฐไม่ควรอุดหนุนโครงการรถไฟความเร็วสูง และใช้เรื่องบริการทางสังคมเป็นข้ออ้างว่ากิจการประเภทนี้สามารถขาดทุนได้นั้น ทางคณะทำงานฯขอชี้แจงว่า รัฐบาลมีแนวนโยบายให้โครงการรถไฟความเร็วสูงสามารถสร้างรายได้ด้วยตนเองได้อย่างเพียงพอ โดยได้มีการวางรูปแบบทางธุรกิจ (Business Model) แบบ "ลูกผสม" คือ นอกจากการสร้างรายได้ทางตรงจากการให้บริการขนส่งมวลชนและสินค้าทางรถไฟความเร็วสูงแล้ว ยังได้วางแนวทางในการสร้างรายได้จากการบริหารสินทรัพย์ภายใต้โครงการรถไฟความเร็วสูงเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด (generating revenue from cargo & passengers services + affiliated business from existing assets) ตัวอย่างเช่น แนวทางการสร้างรายได้จากพื้นที่การค้าภายในตัวอาคารสถานีรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น (สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมของแนวทางรูปแบบธุรกิจดังกล่าว สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จากบทความ "รถไฟความเร็วสูงและระบบรางคู่ คือการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่คุ้มค่า"[5] และสามารถชมตัวอย่างการดำเนินรูปแบบทางธุรกิจดังกล่าวที่ประสบความสำเร็จ ได้ที่งานนิทรรศการ "รถไฟสายความสุข.......เศรษฐกิจใหม่จากรางสู่เมือง" ที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC)

2.      ข้อกังวลของทีดีอาร์ไอที่ว่า รถไฟความเร็วสูงไม่ควรถือเป็นบริการทางสังคม เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายไม่ใช่ผู้มีรายได้น้อย ทางคณะทำงานฯขอแสดงความคิดเห็นว่า การวิเคราะห์ดังกล่าวไม่ได้พิจารณาถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้างที่จะเกิดขึ้นภายหลังการเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง และเป็นการวิเคราะห์ที่มุ่งเน้นพิจารณาถึงแต่เพียงผลประโยชน์ทางตรงที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ใช้บริการรถไฟความเร็วสูงเพียงเท่านั้น (Transport User Benefit) ทั้งนี้ ทางคณะทำงานฯจะขอยกตัวอย่างโอกาสในการสร้างรายได้ของผู้ประกอบการและภาคธุรกิจรายย่อยในระดับท้องถิ่นที่จะเพิ่มสูงขึ้น เมื่อรถไฟความเร็วสูงเปิดให้บริการ ได้แก่

2.1 การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง เช่น รถไฟความเร็วสูง จะสามารถช่วยกระตุ้นและรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาคต่างๆของประเทศไทย และจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Products, GPP) เพิ่มสูงขึ้น จากผลการสำรวจของกระทรวงคมนาคมชิ้นล่าสุดพบว่า จำนวนผู้ใช้บริการสายการบินต้นทุนตำ่ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อการขยายตัวของ GPP ในจังหวัดต่างๆในระดับภูมิภาค[6] ทั้งนี้ รถไฟความเร็วสูงจะทำหน้าที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว และการขยายตัวของ GPP รวมทั้งเป็นระบบคมนาคมทางเลือกในยุคที่ราคานำ้มันปรับตัวสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง

และเพื่อกระจายโอกาสในการสร้างรายได้ จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับภูมิภาค รัฐบาลจึงได้วางแนวนโยบายจัดสรรพื้นที่การค้าภายในตัวอาคารสถานีรถไฟความเร็วสูง ให้ผู้ประกอบการและภาคธุรกิจรายย่อยระดับท้องถิ่น

2.2 ระบบขนส่งสินค้าทางรถไฟความเร็วสูงที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แบบ "Just-in-Time" จะช่วยขยายฐานลูกค้าให้ผู้ประกอบการและภาคธุรกิจรายย่อยระดับท้องถิ่น ทั้งนี้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้มีการวางแนวทางส่งเสริมภาคธุรกิจในกลุ่ม SMEs และ OTOP โดยจะเปิดให้บริการจัดส่งพัสดุ และบริการจัดส่งแบบ LTL (Less Than Truckload) ผ่านทางรถไฟความเร็วสูงและระบบ Feeder เพื่อยกระดับมาตรฐานการนำจ่ายพัสดุถึงมือผู้รับภายใน 24 ชั่วโมง และมาตรฐานการนำจ่ายแบบ "Same Day Delivery" นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยยังมีแผนงานในการขยายการให้บริการจัดส่งสินค้าอาหาร ซึ่งผลิตโดยผู้ประกอบการท้องถิ่นจากภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ โดยบริการดังกล่าวจะเป็นการพัฒนาต่อยอดจาก "บริการอร่อยทั่วไทยสั่งได้ที่ไปรษณีย์" ซึ่งมีอยู่แล้วในยุคปัจจุบัน[7]

ในส่วนของแนวยุทธศาสตร์การกระจายโอกาสในการสร้างรายได้จากโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงซึ่งได้กล่าวไว้ข้างต้นนี้ ทางคณะทำงานฯขอเสนอว่า ไม่ควรมองแนวนโยบายดังกล่าวเป็นเพียงนโยบายประชานิยม (Populist Policies) แต่ควรพิจารณาในแง่ของการเป็น "Propulsive Policies" ที่จะสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการและภาคธุรกิจรายย่อย พัฒนาและยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการของตน

 

 




[1] "ทีดีอาร์ไอค้าน ไฮสปีดเทรนมีผู้โดยสาร 9 ล้านถึงจะคุ้ม จี้รัฐเลิกประชานิยมสุดกู่", มติชนออนไลน์, 24 เมษายน 2556 (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1366817466&grpid=01&catid=&subcatid=)

[2] บทวิเคราะห์ของทีดีอาร์ไอได้อ้างอิงถึงผลการศึกษาของ Chris Nash, "When to Invest in High-Speed Rail Links and Networks?, OECD/IFT Joint Transport Research Center Discussion Paper, No. 2009-16 (2009) และดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Gines de Rus and Gustavo Nombela, "Is Investment in High Speed Rail Socially Profitable", Journal of Transport Economics and Policy, Vol. 41, No. 1 (Jan., 2007), pp. 3-23

[3] Third Railway Survey and Design Institute Group Corporation (TSDI), "High Speed Railway Bangkok to Chiang Mai: Pre-Feasibility Study" (August 2012) และ Third Railway Survey and Design Institute Group Corporation (TSDI), "High Speed Railway Bangkok to Nong Khai: Pre-Feasibility Study" (October 2012)

[4] ""ควรเดินหน้า แต่...." ข้อเสนอทีดีอาร์ไอโครงการกู้เงิน 2 ล้านล้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน", ประชาไท, 19 เมษายน 2556 (http://www.prachatai.com/journal/2013/04/46298)

[5] คณะทำงานประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี, "รถไฟความเร็วสูงและระบบรางคู่ คือการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่คุ้มค่า", ประชาไท, 7 เมษายน 2556 (http://prachatai3.info/journal/2013/04/46133?utm_source=dlvr.it&utm_medium=facebook)

[6] ข้อมูลจากกระทรวงคมนาคม

[7] สัมภาษณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านระบบปฏิบัติการ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด, 6 สิงหาคม 2555

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรุงเทพโพลล์ เผยค่าแรง 300 ยังไม่ทำชีวิตดีขึ้น เหตุข้าวของแพง

Posted: 29 Apr 2013 08:13 AM PDT

นโยบายค่าแรง 300 บาทไม่ทำให้ชีวิตของแรงงานดีขึ้น เหตุเพราะข้าวของแพง  และ 80% บอกอยากกลับไปทำงานที่บ้านเกิด หากต่างจังหวัดมีงานไม่ต่างจากกรุงเทพฯ


(29 เม.ย.56)  เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พ.ค. ของทุกปี ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้แรงงาน เรื่อง "มุมมองแรงงานหลังได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท" โดยเก็บข้อมูลจากแรงงานที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 75.1  ไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะที่ร้อยละ 24.9 มีภูมิลำเนาอยู่

ทั้งนี้เมื่อถามถึงสาเหตุที่ผู้ใช้แรงงานไม่ทำงานในภูมิลำเนาที่เกิด ร้อยละ 64.8 ระบุว่ามีงานให้เลือกน้อย รองลงมาร้อยละ 33.4 ระบุว่าในกทม. และปริมณฑลมีสวัสดิการที่ดีกว่า  และร้อยละ 33.3 ระบุว่าได้ค่าแรงต่ำกว่า 300 บาท  โดยเมื่อถามต่อว่า "หากสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้นได้  ตั้งใจที่จะกลับไปทำงานในภูมิลำเนาเกิดหรือไม่" ร้อยละ 80.0  ตั้งใจว่าจะกลับ ขณะที่ร้อยละ 20.0 ตั้งใจว่าจะไม่กลับ

ส่วนผลกระทบที่มีต่อการทำงาน หลังจากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท  แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 65.4 ระบุว่าไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่ร้อยละ 34.6 ระบุว่าได้รับผลกระทบ  ในจำนวนนี้ร้อยละ 16.5 ระบุว่าทำงานล่วงเวลา (OT) ได้น้อยลง  ร้อยละ 9.2 ระบุว่าต้องทำงานหนักมากขึ้น  และร้อยละ 4.2 ระบุว่าไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างในช่วงที่ผ่านมา 

เมื่อถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ หลังจากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 45.9 เห็นว่ามีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนเดิม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 จากการสำรวจในปี 55) ขณะที่ร้อยละ 44.2 เห็นว่าดีขึ้น (ลดลง ร้อยละ 16.5) และร้อยละ 9.9 เห็นว่าแย่ลง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1) โดยเมื่อถามสาเหตุที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ไม่ดีขึ้นอันดับแรกคือ ข้าวของแพงขึ้น (ร้อยละ 85.9) รองลงมาคือ ขาดสวัสดิการช่วยเหลือ/สวัสดิการแย่ลง (ร้อยละ 7.1) และงานไม่มั่นคง ไม่รู้จะถูกเลิกจ้างตอนไหน (ร้อยละ 4.4)

เมื่อถามว่า "มีความกังวลว่าจะตกงานมากน้อยเพียงใด หลังจากการขึ้นค่าแรง 300 บาทมีผลทำให้ผู้ประกอบการ SME มีการลดพนักงานลง 15% (ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมฯ) เพื่อประคองกิจการให้อยู่รอด" ร้อยละ 73.2 กังวลน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 26.8 กังวลมากถึงมากที่สุด

อนึ่ง การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสุ่มจากเขตการปกครองทั้งเขตชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก ได้แก่ เขตคลองเตย ดอนเมือง บางขุนเทียน บางเขน บางบอน บางรัก ปทุมวัน พระโขนง ภาษีเจริญ มีนบุรี ยานนาวา ราษฎร์บูรณะ ลาดกระบัง สาทร หลักสี่และปริมณฑล ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 1,052 คน เป็นเพศชาย ร้อยละ 51.3 และเพศหญิงร้อยละ 48.7 ใช้การสัมภาษณ์แบบพบตัว  โดยใช้แบบสอบถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

10 ปี ข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากลของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย : ถดถอย หรือ ก้าวหน้า

Posted: 29 Apr 2013 05:45 AM PDT


แฟ้มภาพ: ประชาไท

 

16 มีนาคม 2546 ถือได้ว่าเป็นวันเปิดตัวคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) อย่างเป็นทางการต่อสาธารณชน คสรท.เป็นพื้นที่การรวมตัวขององค์กรแรงงานและองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานกว่า 34 องค์กร และองค์กรสมาชิกสหภาพแรงงาน 207 องค์กร โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อรณรงค์ประเด็นปัญหาแรงงานที่เป็นปัญหาร่วมของแรงงานทุกกลุ่ม โดยเฉพาะการรณรงค์เชิงนโยบาย  การยื่นข้อเรียกร้อง และติดตามความก้าวหน้าของข้อเรียกร้องต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมในสังคมระหว่างผู้ใช้แรงงานกับรัฐและทุน

งานหนึ่งที่สำคัญของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทุกปี คือ การจัดงานวันกรรมกรสากล (1 พฤษภาคมของทุกปี) และการยื่นข้อเรียกร้องประจำปี ร่วมกับองค์กรเครือข่ายแรงงานต่างๆ โดยเฉพาะร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) อีกไม่กี่วันจะครบรอบ 10 ปี ของการจัดงานวันกรรมกรสากล ที่นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 เป็นต้นมา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้มีแนวทางที่ชัดเจนในการแยกจัดงานจากสภาองค์การลูกจ้างต่างๆ ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนการจัดงานจากกระทรวงแรงงาน ในนามของ "คณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ" ทั้งนี้งบประมาณที่ คสรท. และองค์กรเครือข่ายใช้ในการจัดงานมาจากวิธีลงขันบริจาคจากองค์กรสมาชิกใน คสรท.และองค์กรร่วมจัดงาน (ยกเว้นเพียงปี 2553 ที่ คสรท. และ สรส.ตัดสินใจร่วมจัดงานวันกรรมกรสากลกับ 12 สภาองค์การลูกจ้าง และสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย เพื่อรวมพลังเรียกร้องรัฐบาลเร่งให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 และจุดเปลี่ยนอีกครั้งในปี 2554 ที่ในตอนแรกก่อนเดือนเมษายน คสรท. และ สรส. ได้เข้าร่วมประชุมกับสภาองค์การลูกจ้างมาตลอด แต่พอมีมติให้จัดประกวดเทพธิดาแรงงานในวันที่ 1 พฤษภาคม ทาง คสรท. และ สรส. จึงถอนตัวจากการจัดงานดังกล่าว)

ประเด็นสำคัญที่ คสรท. มีการแยกจัดงานจากสภาองค์การลูกจ้างต่างๆ ที่คงเน้นเพียงกิจกรรมบันเทิงสนุกสนาน คือ ต้องการสื่อสารต่อสาธารณชนให้เห็นปัญหาผู้ใช้แรงงาน ที่ในรอบปีที่ผ่านมาวิถีชีวิตของแรงงานจำนวนมหาศาลยังถูกขูดรีด เอารัดเอาเปรียบจากรัฐและทุน ถูกเลือกปฏิบัติจากนโยบายเศรษฐกิจด้านการลงทุนของรัฐ ต้องเผชิญกับรายได้ต่ำ ไร้สิทธิ ไร้โอกาส ไร้อำนาจ และไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้นกระบวนการลดทอนความเหลื่อมล้ำและหยุดยั้งความอยุติธรรมที่ถั่งโถมสู่ผู้ใช้แรงงาน คือ การที่รัฐต้องเปิดโอกาสให้แรงงานได้รวมตัว-เจรจา-ต่อรองอย่างเสมอภาค และนั่นถึงนำมาสู่การเข้าถึงสิทธิแรงงานและความเป็นธรรมที่แรงงานพึงได้รับอย่างแท้จริง

เพื่อให้เห็นพัฒนาการและความเคลื่อนไหวของข้อเรียกร้องที่ทาง คสรท. ร่วมด้วย สรส. และองค์กรเครือข่ายแรงงานได้ยื่นต่อรัฐบาลในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และเป็นประโยชน์ต่อการติดตามข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและกระทรวงแรงงานต่อไป บทความนี้จะนำเสนอใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ

(1) จุดเริ่มต้นวันกรรมกรสากลในประเทศไทย: จากชิคาโกถึงวังสราญรมย์และสวนลุมพินี

(2) เปิดข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากลของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ปี 2547-2556: 10 ประเด็นสำคัญในรอบ 10 ปี

(3) 5 ข้อเรียกร้องที่เสนอมาตลอด 10 ปี ดูเหมือนว่าจะ "ก้าวหน้า" แต่แท้จริง "ถดถอย"

 

จุดเริ่มต้นวันกรรมกรสากลในประเทศไทย : จากชิคาโกถึงวังสราญรมย์และสวนลุมพินี

แน่นอนการจัดงานวันกรรมกรสากลหรือวันแรงงานแห่งชาติในประเทศไทย ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2489 ซึ่งเริ่มหลังจากที่เกิดเหตุการณ์จลาจลที่ "เฮย์มาร์เก็ต" ไปถึง 60 ปี

"จัตุรัสเฮย์มาร์เก็ต" ณ ที่แห่งนี้ คือ ที่มาของวันกรรมกรสากล ที่ประเทศทั่วโลกส่วนใหญ่ต่างยึดถึงวันดังกล่าวเป็นวันรำลึก เพราะย้อนไปเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1886 (หรือ พ.ศ.2429) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา สหพันธ์แรงงานในสหรัฐอเมริกาได้นัดหยุดงานครั้งใหญ่ และจัดการชุมนุมเดินขบวนเพื่อเรียกร้อง "ระบบสามแปด" คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง การประท้วงที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่เมืองชิคาโกที่บริเวณจัตุรัสเฮย์มาร์เก็ต

ล่วงมาถึง ค.ศ. 1889 (พ.ศ.2432) ซึ่งในขณะนั้นการนัดหยุดงานของคนงานในแทบทุกกิจการอุตสาหกรรมได้ขยายไปทั่วโลก จึงทำให้ในที่ประชุมสภาสังคมนิยมสากล ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส จึงมีมติให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็น "วันกรรมกรสากล" เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ "เฮย์มาร์เก็ต" และการตระหนักร่วมกันถึงคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานทั่วโลกที่ยังถูกกดขี่จากรัฐและทุนอยู่ และรวมถึงการเรียกร้องสิทธิและสวัสดิการที่เป็นธรรม

สำหรับในประเทศไทยแล้ว มีการจัดงานวันกรรมกรสากลครั้งแรกในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2489 ที่สนามหน้าสำนักงานสมาคมไตรจักร์ (สามล้อ) พระราชวังอุทยานสราญรมย์ จัดโดยสมาคมกรรมกรสงเคราะห์กรุงเทพร่วมกับสมาคมไตรจักร์

ปีต่อมา พ.ศ.2490 การชุมนุมวันกรรมกรสากลมีขึ้นที่สนามหลวง ในปีนี้ถือเป็นการแสดงพลังของชนชั้นกรรมาชีพไทยครั้งใหญ่ที่สุด เพราะมีการจัดตั้งสหพันธ์กรรมกรระดับชาติแห่งแรกในประเทศไทย คือ "สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย"

แต่แล้วเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ก็เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจโดยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม และห้ามจัดงานวันกรรมกรสากล ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้เริ่มต้นอย่างชัดเจนในการเข้ามาแทรกแซงการรวมตัวของกรรมกร โดยรัฐบาลจัดตั้ง "สหบาลกรรมกรแห่งประเทศไทย" ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "สมาคมกรรมกรไทย" และ "สมาคมแรงงานเสรีแห่งประเทศไทย" โดยให้เงินสนับสนุนและจัดหาสำนักงานให้ จากจุดนี้จึงทำให้กรรมกรเกิดความแตกแยก และในที่สุด สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นเป้าหมายของการทำลายก็ล่มสลายลง

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ.2499 มีผู้นำกรรมกรหัวก้าวหน้าจำนวนหนึ่ง ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายแรงงานเพื่อคุ้มครองคนงาน กลุ่มนี้รวมตัวกันในนาม "กรรมกร 16 หน่วย" เรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายเพื่อให้กรรมกรตั้งสหภาพแรงงานได้ จนในที่สุด 1 มกราคม พ.ศ.2500 ประเทศไทยก็มีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับแรก รวมทั้งในปีนี้รัฐบาลยังได้เปลี่ยนชื่อจาก "วันกรรมกรสากล" เป็น "วันแรงงานแห่งชาติ"

แต่กรรมกรมีโอกาสได้เฉลิมฉลองดีใจกันไม่นาน 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยกเลิกกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ การเคลื่อนไหวของกรรมกรกลับเข้าสู่ยุคมืดอีกครั้ง ผู้นำกรรมกรจำนวนมากถูกจับกุมคุมขัง

จนกระทั่ง พ.ศ.2517 หลังยุคเบิกบานประชาธิปไตย รัฐบาลโดยกรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทย จึงได้กลับมาจัดงานวันแรงงานแห่งชาติขึ้นอีกครั้งที่สวนลุมพินี เน้นการเฉลิมฉลอง ทำบุญตักบาตร การแสดงนิทรรศการความรู้และกิจกรรมของแรงงาน ตลอดจนมีการอภิปรายต่างๆ รวมทั้งให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้กล่าวคำปราศรัยแก่ผู้ใช้แรงงาน

ต่อมาในปี พ.ศ.2536 มีการจัดตั้งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมขึ้น การจัดงานวันแรงงานแห่งชาติจึงอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงแรงงานฯ มาโดยตลอด ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา กระทรวงแรงงานได้จัดสรรงบประมาณประจำปีสนับสนุนการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติแก่คณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปีละ 1.6 ล้านบาท และในปี 2555 สูงถึง 5.1 ล้านบาท ส่วนปี 2556 รวม 3.5 ล้านบาท

จากจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2489 จนถึงปัจจุบัน 67 ปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าวันกรรมกรสากลของไทยถูกแทรกแซงจากรัฐบาลมาโดยตลอด เนื้อหาและรูปแบบของการจัดงานเน้นไปในเรื่องกิจกรรมบันเทิงสนุกสนาน เช่น แข่งขันกีฬา ตอบปัญหาชิงรางวัล การแสดงดนตรีจากนักร้องชื่อดัง มากกว่าการสะท้อนปัญหาและวัฒนธรรมของผู้ใช้แรงงาน และการยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในวันที่ 1 พฤษภาคม ก็เป็นเพียงพิธีกรรมประกอบงานให้สมบูรณ์เพียงเท่านั้น

 

เปิดข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากลของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ปี 2547-2556 : 10 ประเด็นสำคัญในรอบ 10 ปี

นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน (2556) นับได้ว่าเป็นเวลา 10 ปีพอดี ที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้ร่วมกับองค์กรเครือข่ายแรงงานต่างๆ โดยเฉพาะสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จัดงานวันกรรมกรสากลที่แยกออกมาจากคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ

แน่นอนข้อเรียกร้องแต่ละปีมีทั้งความเหมือนและความต่างจากคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ เช่น ข้อเรียกร้องหนึ่งที่เหมือนกันทุกปีของทั้ง 2 ฝ่าย คือ การให้รัฐรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 และการยกเลิกนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้ง คสรท. และคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ต่างก็ต้องเผชิญกับบริบทและสถานการณ์แวดล้อมเดียวกัน ความต่างอาจอยู่เพียงที่ว่า "ฝ่ายหนึ่งรับทุนกระทรวงแรงงานมาจัดงาน แต่อีกฝ่ายสมาชิกลงขันบริจาคเงินกันเอง"  ดังนั้นข้อเรียกร้องแต่ละปีๆ จึงมีทั้งต้อง (ยอม) ประนีประนอมกับรัฐและทุน กับการแข็งขืนต่อต้านไม่สยบยอม นำเสนอต่อสาธารณชนไปพร้อมๆ กัน (นี่ไม่นับในบางปีมีการเดินขบวนสวนทางกันอีก)[1]

ตัวอย่างที่ประจักษ์ชัด เช่น ในปี 2550 ฝ่ายคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ เสนอให้รัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ฉบับที่ไม่มีการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ แต่ปีเดียวกันนี้เอง คสรท.เสนอให้รัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย (ฉบับบูรณาการแรงงาน) ที่ระบุถึงเรื่องการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ อย่างชัดเจน

หรือในกรณีเรื่องค่าจ้างที่เป็นธรรม ในปี 2549 คณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติเสนอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามอัตราเงินเฟ้อในแต่ละจังหวัด แต่ คสรท.กลับเสนอให้รัฐบาลปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นธรรม โดยยึดหลักมาตรฐานสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่กำหนดไว้วันละ 233 บาท เป็นต้น

ทั้งนี้เมื่อมาพิจารณาข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากลของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ระหว่างปี 2547-2556 พบว่ามีลักษณะสำคัญ 10 ประการ ดังนี้

(1) ข้อเรียกร้องของ คสรท. มีที่มาจากสถานการณ์ของวิกฤติปัญหาที่แรงงานต้องเผชิญ ซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละปี และความเข้มข้นของวิกฤติปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าปีนั้นๆ สถานการณ์ปัญหาเด่นสุดที่ผู้ใช้แรงงานเผชิญคือเรื่องใด (ยกเว้นเพียงปี 2554 ซึ่งจะอธิบายต่อไป) ส่วนข้ออื่นๆ ในลำดับถัดมาเป็นข้อเรียกร้องเชิงประเด็นติดตามจากปีก่อนๆ มากกว่า ได้แก่

1. ปี 2547 รัฐบาลเร่งรีบนำร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.….. ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของกฤษฎีกาเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จงใจทำลายสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานของคนงานทุกประเภท ดังนั้นข้อเรียกร้องข้อแรกในปีนี้ คือ ให้รัฐบาลรับร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์….ฉบับขบวนการแรงงาน [2]

2. ปี 2548 รัฐบาลประกาศแนวนโยบายเรื่องการแปรรูปการประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าภูมิภาค และการนำบริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) เข้าไปกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีการยกร่างพ.ร.บ.แปรรูปรัฐวิสาหกิจ พ.ศ….เพื่อเสนอต่อ ครม.พิจารณา ดังนั้นข้อเรียกร้องข้อแรก คือ ให้รัฐบาลหยุดการขาย หรือแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่สำคัญต่อการดำรงชีพของประชาชน ไปขายในตลาดหลักทรัพย์ ให้กับนายทุนไทยและนายทุนข้ามชาติ

3.ปี 2549 ปีนี้พบว่าเป็นปีที่ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง น้ำมัน และสินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาแพงมากจากปีที่ผ่านๆ มา ค่ารถโดยสารขยับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ดังนั้นข้อเรียกร้องข้อแรก คือ ให้รัฐบาลควบคุมราคาน้ำมันและราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นผลกระทบจากราคาน้ำมัน

4.ปี 2550-51 มีสถานการณ์เลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะการเลิกจ้างแกนนำและสมาชิกสหภาพแรงงานจำนวนมาก เช่น กรณีการเลิกจ้างประธานและแกนนำสหภาพแรงงานบริษัทซัมมิท เอ็นจีเนียริ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตแม่พิมพ์ชิ้นส่วนรถยนต์ ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นธุรกิจยานยนต์มีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ดังนั้นข้อเรียกร้องข้อแรกของทั้ง 2 ปี จึงคล้ายคลึงกัน คือ ให้รัฐบาลประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ … (ฉบับผู้ใช้แรงงาน) ในปี 2550 กับ ให้รัฐบาลประกาศ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับเดียว ในปี 2551

5. ปี 2552 -2553 เกิดสถานการณ์คล้ายคลึงกันอย่างต่อเนื่อง คือ วิกฤติการณ์เศรษฐกิจทุนนิยมโลก ที่ส่งผลกระทบโดยตรงมายังผู้ใช้แรงงานในประเทศไทย ทั้งการเลิกจ้าง การลดเวลาการทำงาน การใช้มาตรา 75 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ในการจ้างงาน อีกทั้งนายจ้างที่ไร้มนุษยธรรมได้ฉวยวิกฤตการณ์เศรษฐกิจนี้เป็นข้ออ้างของเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน ภายใต้เป้าหมายในการคุกคามสหภาพแรงงานและสิทธิแรงงาน ดังที่เกิดขึ้นกับคนงานบริษัทเวิร์ลเวลการ์เม้นท์, สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย), สหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และแม็คคานิคส์ ในเครือบริษัทเอนี่ออนอิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด, สหภาพแรงงานแคนนาดอล ประเทศไทย, สหภาพแรงงานคาวาซากิยานยนต์แห่งประเทศไทย, สหภาพแรงงานเอ็นทีเอ็นนิเด็ค ประเทศไทย, สหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทย ฯลฯ  ดังนั้นข้อเรียกร้องข้อแรกของ คสรท.ใน 2 ปีนี้ คือ ให้กระทรวงแรงงานตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสถานประกอบการที่มีปัญหา เพื่อตรวจสอบปัญหาที่แท้จริง และหากมีสาเหตุจากวิกฤตทางเศรษฐกิจจริงก็ให้หามาตรการในการช่วยเหลือฟื้นฟูที่เหมาะสมต่อไป

6. ปี 2554 ข้อเรียกร้องข้อแรกของ คสรท.ในปีนี้ คือ รัฐต้องให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งจะเห็นได้ว่าปีนี้เป็นปีแรกที่ คสรท. ไม่ได้ใช้สถานการณ์ปัญหานำขึ้นมาชูเป็นประเด็นข้อเรียกร้อง ทั้งนี้กล่าวได้ว่า เป็นผลมาจากการที่คณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เห็นชอบการดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2553 และรัฐบาลได้นำเสนอต่อรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนตามมาตรา 190 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ในช่วงต้นปี 2554 รวมถึงในช่วงปลายปี 2553 ต่อด้วยต้นปี 2554 คสรท., สรส. รวมถึงสภาองค์การลูกจ้างต่างๆ ได้รวมตัวกันในนาม "คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98" และมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว

7. ปี 2555 เป็นปีที่นโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ถูกใช้ใน 7 จังหวัดแรก ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน แม้ว่าจะทำให้แรงงานมีรายได้สูงขึ้นจากเดิม แต่ก็ยังพบว่าแรงงานจำนวนมากไม่ได้รับประโยชน์จากค่าจ้างที่ปรับขึ้น เพราะค่าครองชีพกลับพุ่งสูงขึ้นตามการปรับค่าจ้าง โดยเฉพาะราคาสินค้าอุปโภคบริโภค แทนที่แรงงานจะมีกำลังซื้อมากขึ้นแต่กลับซื้อของได้น้อยลง ดังนั้นทำให้ในปีนี้ คสรท.จึงนำเสนอข้อเรียกร้องที่แบ่งเป็น 2 เรื่องอย่างชัดเจน คือ ข้อเรียกร้องเร่งด่วน กับข้อเรียกร้องติดตาม โดยข้อเรียกร้องเร่งด่วนข้อแรก คือ รัฐต้องควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและราคาอาหาร ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร การสนับสนุนงบประมาณสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อการลดค่าครองชีพ ส่วนข้อเรียกร้องติดตามข้อแรก คือ รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ฉบับที่ 98

8. ปี 2556  ข้อเรียกร้องของ คสรท.ยังคงแบ่งเป็น 2 เรื่อง ดังเช่นในปี 2555 คือ ข้อเรียกร้องเร่งด่วน กับ ข้อเรียกร้องติดตาม โดยข้อเรียกร้องเร่งด่วนข้อแรกในปีนี้ คือ รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ฉบับที่ 98 ส่วนข้อเรียกร้องติดตาม คือ การกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม ให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน รวมทั้งการเสนอให้รัฐทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ที่ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ในปี พ.ศ.2557 และปี พ.ศ.2558

กล่าวได้ว่าตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นมาบริหารประเทศ ความชัดเจนของรัฐบาลต่อการรับรองอนุสัญญากลับไม่ปรากฏเมื่อเทียบกับสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีเพียงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2555 เท่านั้น ที่กระทรวงแรงงานมีการจัดทำเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นใน 4 ภูมิภาค ทั้งๆ ที่ประเด็นนี้ผู้ใช้แรงงานทั้ง คสรท. และคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติได้เรียกร้องมาโดยตลอด

นอกจากนั้นแล้วการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาท เมื่อ 1 มกราคม 2556 ได้มาพร้อมกับสถานการณ์ที่นายจ้างใช้ข้ออ้าง 300 บาท มาเลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่เป็นธรรมในหลายพื้นที่ อีกทั้งมีการเปลี่ยนสภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นคุณ ทั้ง "วีณาการ์เม้นต์" จ.สระบุรี  "มาสเตอร์พีซ การ์เม้นท์แอนด์เท็กไทล์" จ.นครปฐม "แอร์โร่เวิร์ค เอเชีย" จ.ชลบุรี  "อีเลคโทรลักซ์" จ.ระยอง "เจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย" จ.ระยอง "ลินฟ๊อกซ์ ทรานสปอร์ตแห่งประเทศไทย" จ.ปทุมธานี "เอ็นเอ็กซ์พี แมนูแฟคเจอริ่ง" กรุงเทพฯ

(2) ในช่วงเกิดวิกฤติการณ์ภัยธรรมชาติ เช่น เหตุการณ์สึนามิในปลายปี 2547 หรือวิกฤตอุทกภัยในปลายปี 2554  ข้อเสนอของ คสรท.ในปีต่อมา คือ ปี 2548 และ ปี 2555 จะมีการระบุถึงข้อเรียกร้องให้รัฐบาลต้องเข้ามาแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดกับผู้ใช้แรงงาน เช่น ในปี 2548 เสนอให้รัฐบาลเร่งแก้ไปปัญหาของลูกค้าที่ประสบภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์สึนามิ โดยให้กองทุนประกันสังคมอนุมัติงบประมาณ เพื่อปล่อยกู้ให้แก่ลูกจ้างที่ประสบภัยเช่นเดียวกับการอนุมัติปล่อยกู้ให้นายจ้าง และให้กระทรวงแรงงานมีมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างผู้ประสบภัยอย่างจริงจัง รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเท่าเทียมกัน หรือในปี 2555 เสนอให้รัฐต้องมีมาตรการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาต่อผู้ใช้แรงงานที่ถูกละเมิดสิทธิแรงงานโดยเฉพาะในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติอุทกภัย และมีการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย การตัดลดสวัสดิการ การสั่งย้ายให้ทำงานต่างพื้นที่ การปิดสถานประกอบการ [3]

(3) ในปี 2547 – 49 และ 2554 มีข้อเรียกร้องที่น่าสนใจ 3 ข้อ ที่สะท้อนถึงสถานการณ์ปัญหาในช่วงนั้นได้เป็นอย่างดี คือ การทำสัญญาข้อตกลงเขตการค้าเสรี ในระดับทวิภาคี และพหุภาคี กับนานาชาติอันจะมีผลกระทบต่อประชาชน สังคม และประเทศชาติโดยรวม รัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยทำการประชามติตามรัฐธรรมนูญ กับ ให้สำนักงานประกันสังคมขยายความคุ้มครองด้านสุขภาพไปยังแรงงานที่ติดเชื้อ HIV โดยไม่มีเงื่อนไข (2 เรื่องนี้ปรากฏในข้อเรียกร้องปี 47-49) และในปี 2554 มีการเสนอให้ยกเลิก พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ

(4) ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน คสรท. มีการระบุข้อเรียกร้องเรื่องการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ รวมถึงแรงงานภาคเกษตร โดยเฉพาะการขยายความคุ้มครองประกันสังคมให้คุ้มครองแรงงานนอกระบบอย่างทั่วถึงในมาตรฐานเดียวกับแรงงานในระบบ และการจ่ายเงินสมทบตามอัตราส่วนที่เหมาะสม รวมถึงผู้ประกันตนในมาตรา 39  และตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน มีการระบุเรื่องแรงงานข้ามชาติ โดยให้มีการคุ้มครองโดยใช้มาตรฐานเดียวกับการคุ้มครองแรงงานในประเทศ เช่น ค่าจ้าง การรวมตัวเจรจาต่อรอง สิทธิในการเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขและอาชีวอนามัย เป็นต้น

(5) ในปี 2549 เป็นช่วงที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มทุนจำนวนมากเข้ามายึดกุมอำนาจรัฐ และร่วมมือกับกลุ่มทุนต่างชาติกำหนดนโยบายสาธารณะที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนของตนเอง ทำให้ในปีนี้ข้อเสนอของ คสรท. ต่อรัฐบาล จึงมีข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปการเมืองเพิ่มขึ้นจากข้อเรียกร้องประจำปีอยู่แล้ว โดยเฉพาะการเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานที่ทำงานพื้นที่นอกทะเบียนบ้าน สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ที่ทำงานได้ และการยกเลิกการกำหนดคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส., ส.ว. ว่าต้องจบปริญญาตรี เป็นต้น

(6) ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ในประเด็นประกันสังคม คสรท. เสนอว่าต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคมให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม ไม่นับว่าในปี 2555 มีการระบุชัดเจนว่า รัฐบาลต้องนำ ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ เข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรโดยเร่งด่วน แต่ต่อมาในปี 2556 หลังจากที่เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2556 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเสียงข้างมากไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ คสรท.จึงทำให้ข้อเสนอเรื่องประกันสังคมคล้ายคลึงกับข้อเสนอปี 2554 แทน

(7) ในช่วงที่มีการเสนอข้อเรียกร้องเรื่องผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจและจากการลงทุน โดยเฉพาะในช่วงปี 2552-2553 รวมทั้งปี 2555 คสรท.มีข้อเสนอเรื่องการให้กระทรวงแรงงานต้องตั้งกองทุนให้ความช่วยเหลือจ่ายเงินชดเชยแก่คนงานที่ไม่ได้รับค่าชดเชย หรือกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน โดยใช้เงินกองทุนนั้นซึ่งเป็นของกระทรวงแรงงานจ่ายให้ลูกจ้างได้ทันทีเพื่อเป็นค่าชดเชย และให้กระทรวงแรงงานไปเรียกเก็บกับนายจ้างหรือเจ้าของประกอบการเพื่อนำกลับคืนกองทุนต่อไป ประกอบข้อเรียกร้องอื่นๆ ด้วยทุกครั้ง

(8) มีข้อสังเกตเพิ่มขึ้นในปี 2556 ที่ทาง คสรท. มีข้อเรียกร้องเร่งด่วนข้อที่ 2 ที่ระบุชัดเจนว่า รัฐต้องยุตินโยบายและกฎหมายที่ละเมิดสิทธิแรงงาน โดยเฉพาะกรณีผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) 13 คน ที่ถูกเลิกจ้าง และแรงงานในภาคเอกชนเป็นจำนวนมาก กล่าวได้ว่า ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2554 ที่ศาลมีคำพิพากษาให้การรถไฟเลิกจ้างแกนนำ สร.รฟท. ทั้งๆ ที่การเลิกจ้างเป็นผลมาจากเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 ได้เกิดเหตุการณ์ขบวนรถด่วนที่ 84 เกิดอุบัติเหตุตกรางที่สถานีเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเหตุให้มีผู้โดยสารเสียชีวิต 7 ราย และได้รับบาดเจ็บกว่า 100 คน จึงทำให้ทาง สร.รฟท.เคลื่อนไหวหยุดให้บริการ ใน จ.สงขลา และนราธิวาส ระหว่างวันที่ 16 – 27 ต.ค.2552 เพื่อตรวจสอบอุปกรณ์ ซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ตามปกติก่อน

กรณีดังกล่าวนี้เป็นภาพสะท้อนชัดเจนว่า รัฐไทยยังคงไม่ยอมรับในสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองของคนงานกลุ่มนี้ แม้รัฐวิสาหกิจจะมีกฎหมายรองรับสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง แต่ก็เป็นไปอย่างจำกัดและขัดกับหลักการในอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ แต่ผ่านมากว่าหนึ่งปีรัฐบาลหาได้มีความพยายามที่ชัดเจนที่จะคืนความเป็นธรรมให้กับนักสหภาพแรงงานทั้ง 13 คน

(9) ในปี 2556 มีข้อเรียกร้องหนึ่งที่น่าสนใจ คือ รัฐต้องยกเว้นภาษี กรณีเงินก้อนสุดท้ายของคนงานผู้เกษียณอายุ เพราะเป็นที่ทราบดีว่าลูกจ้างที่ออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ไม่ใช่เพราะตายหรือทุพพลภาพ ลูกจ้างจะต้องเสียภาษีจากเงินก้อนที่ได้รับในตอนเกษียณอายุนั้น ทั้งๆ ที่เงินก้อนดังกล่าวนี้ถือได้ว่าเป็นเงินออมที่จะไว้ใช้จ่ายดูแลตัวเองได้ในยามเกษียณ เป็นภาระของรัฐบาลที่จะต้องดูแลคนชราลดน้อยลง อีกทั้งเป็นการทุ่นเงินงบประมาณของชาติ ซึ่งข้อเรียกร้องนี้ คสรท.ไม่เคยมีการเสนอกับรัฐบาลมาก่อนไม่ว่าจะปีใดๆ ก็ตาม

(10) สำหรับข้อเรียกร้องเรื่องการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กในย่านอุตสาหกรรม คสรท.มีการเสนอข้อเรียกร้องดังกล่าวเฉพาะปี 2547, 2549, 2555 และ 2556 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า คสรท., สรส. กับกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดในการทำงานเคลื่อนไหวรณรงค์ร่วมกันอยู่แล้ว ดังนั้นจึงพบว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวได้ถูกหยิบยกไปเสนอในข้อเรียกร้องวันสตรีสากลทุกวันที่ 8 มีนาคมแทน


5  ข้อเรียกร้องที่เสนอมาตลอด 10 ปี ดูเหมือนว่าจะ "ก้าวหน้า" แต่แท้จริง "ถดถอย"

จากการประมวลข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากลของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2556 พบว่า มีข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเสนอทุกปี ได้แก่

(1) ให้รัฐบาลรับร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.…..ฉบับขบวนการแรงงาน

(2) ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญา ILO ที่ 87 และ 98 ซึ่งว่าด้วยการเจรจาต่อรอง และการรวมตัวอย่างเป็นอิสระ

(3) ให้รัฐบาลปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นธรรม โดยยึดหลักมาตรฐานสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

(4) ให้รัฐบาลจัดตั้งสถาบันความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

(5) ให้รัฐบาลยุติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

ทั้งนี้เมื่อมาพิจารณาสถานการณ์การดำเนินงานของรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน กลับพบว่ามีความก้าวหน้าที่เป็น "คุณ" ต่อผู้ใช้แรงงานน้อยมาก หรือกล่าวได้ว่ามีความถดถอยมากกว่า กล่าวคือ

(1) ในเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ … ฉบับขบวนการแรงงาน พบว่า หลังจากปี 2546 เป็นต้นมารัฐบาลไม่มีการดำเนินการใดๆ ต่อร่างฯที่ได้ยื่นไปแม้ว่าจะมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงทำให้ในปี 2552 คสรท.จึงได้ร่วมกับ สรส.ยกร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หรือที่เรียกกันว่า "แรงงานสัมพันธ์ฉบับวังน้ำเขียว"[4] และ คสรท.ได้ใช้ร่างกฎหมายฉบับนี้ในการยกร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ (ฉบับบูรณาการแรงงาน) ต่อมาในปี 2554 และในที่สุดเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2555 คสรท. นำโดยนายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท. และองค์กรสมาชิกใน คสรท. รวบรวมรายชื่อพี่น้องแรงงานจำนวน 12,567 คน เสนอร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.…. ฉบับบูรณาการแรงงานต่อประธานรัฐสภา

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2556 ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้มีจดหมายมาถึงประธาน คสรท. โดยแจ้งว่าเนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 143 (2) ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรต้องส่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไปให้นายกรัฐมนตรีพิจารณารับรองก่อนเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรบรรจุวาระต่อไป ซึ่งทางสำนักงานฯได้รับแจ้งจากเลขาธิการนายกรัฐมนตรีว่ายังไม่สามารถให้คำรับรองได้ในขณะนี้ ซึ่งจะไม่ทันการพิจารณาในสมัยประชุมนิติบัญญัตินี้ เนื่องจากต้องส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาก่อน

(2) การรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนต้นแล้วว่า มีความคืบหน้าในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2553 แต่ต่อมาในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ท่าทีการผลักดันอนุสัญญาไม่มีความชัดเจน มีเพียงกระทรวงแรงงานจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นใน 4 ภูมิภาค เมื่อเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมาเท่านั้น

(3) ไม่มีความคืบหน้าในข้อเสนอเรื่องการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นธรรม แม้ว่ารัฐบาลจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศแต่ก็พบว่า ในหลายสถานประกอบการมีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นคุณ-ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง และมีการเลิกจ้างแรงงานในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่องติดตามมา ดังนั้น ค่าจ้าง 300 บาทที่ปรับขึ้น จึงยังไม่สามารถทำให้แรงงานมีรายได้เพียงพอเพื่อการใช้จ่ายให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคม เป็นไปเพื่อประทังชีวิตของคนงานได้เพียงคนเดียวเท่านั้น อีกทั้งยังไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกวันอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลก็ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงกลุ่มแรงงานนอกระบบ ขณะที่ราคาสินค้าและค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากมาตรการดังกล่าวได้ส่งผลต่อคนงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

(4) มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2554 ที่มีการบรรจุเรื่องการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ขณะนี้กระทรวงแรงงานอยู่ในระหว่างการจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ แต่ร่างดังกล่าวมีความแตกต่างอย่างมากในเชิงหลักการและวิธีคิดการจัดตั้งสถาบันฯ จากข้อเสนอของสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานฯ อีกทั้งทางคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายก็ได้มีการส่งบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเพื่อประกอบการพิจารณาในเรื่องนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

(5) รัฐบาลยังคงมีนโยบายเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ปตท. และ การบินไทย

นอกจากนั้นแล้วเมื่อมาพิจารณาในข้อเรียกร้องข้ออื่นๆ ก็กลับพบความถดถอยมิแตกต่าง โดยเฉพาะในเรื่องดังต่อไปนี้

- การสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ.… ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการและพิจารณากฎหมายฉบับนี้ เพราะนับตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 คสรท.และองค์เครือข่ายพันธมิตรด้านแรงงาน ได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.… (ฉบับบูรณาการแรงงาน) ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้รับหลักการและพิจารณากฎหมายฉบับนี้ ทั้งนี้นับตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2554 จนถึง 20 มีนาคม 2556 รวมเวลา 1 ปี 4 เดือน ทางสภาผู้แทนราษฎรจึงมีการพิจารณารับหลักการเห็นชอบในวาระ 1 อย่างไรก็ตาม การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2556 ได้ลงมติในวาระที่ 1 ไม่รับหลักการร่างดังกล่าว ทั้งๆ ที่เป็นกฎหมายแรงงานฉบับแรกของประเทศไทยที่เสนอสู่รัฐสภาที่กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิใช้อำนาจอธิปไตยทางตรงเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

- การแก้ไขปัญหาของแรงงานที่ประสบวิกฤติอุทกภัยมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ให้ลุล่วง พบว่า แรงงานที่เป็นกำลังการผลิตส่วนสำคัญของภาคอุตสาหกรรมต่างได้รับความเดือดร้อนถ้วนหน้า สถานประกอบการต้องปิดตัวลง การหยุดงานเป็นเวลานาน ความไม่ชัดเจนของการจ่ายค่าจ้าง หรือแม้กระทั่งการเลิกจ้าง เหล่านี้เป็นปัญหาที่รุมเร้าแรงงานตลอดช่วงเวลาที่เกิดอุทกภัย ซึ่งเป็นผลมาจากการที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามหรือใช้ช่องว่างทางกฎหมาย เช่น การใช้มาตรา 75 ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กับลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรม หรือในกรณีการไม่มีระยะเวลาที่แน่นอนในการเปิดสถานประกอบการ ทำให้แรงงานไม่สามารถใช้สิทธิทดแทนการว่างงาน จาก พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้  หรือการเลิกจ้างแรงงาน การล้มสหภาพแรงงาน โดยอ้างเหตุจากวิกฤติอุทกภัย นี่ไม่นับว่ามีการเลิกจ้างแรงงานกลุ่มเหมาช่วง เหมาค่าแรงเป็นกลุ่มแรกๆ เพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่กระทรวงแรงงานก็กลับไม่มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว รวมถึงผลกระทบจากนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ด้วยเช่นกัน

- การควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็น ในทุกครั้งที่มีการประกาศปรับค่าจ้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นของภาคข้าราชการหรือเอกชน สิ่งที่ตามมาเสมอคือการขอปรับขึ้นราคาสินค้าที่ผู้ประกอบการอ้างว่ารับภาระการขาดทุนไม่ไหว ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั่วไป ที่ต้องมีค่าครองชีพที่สูงขึ้น ขณะที่ค่าจ้างเพิ่มเพียงน้อยนิดนั้นกลับไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับราคาสินค้าที่ปรับราคาขึ้นไป นั่นก็ทำให้การปรับขึ้นค่าจ้างไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงแต่กลับเพิ่มภาระในค่าครองชีพที่สูงขึ้น และรัฐบาลก็ไม่มีมาตรการรองรับที่ชัดเจนในการควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็น เช่น สินค้าอุปโภค บริโภค น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม เป็นต้น

ดังนั้น จากสถานการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมดจึงเห็นได้ชัดว่า ทุกวันนี้แม้การยื่นข้อเรียกร้องจะยังคงเป็นภาพสะท้อนของ "พิธีกรรมประจำปีที่รัฐและทุนไม่ใส่ใจ" แต่อย่างน้อยเมื่อมาพิจารณาข้อเรียกร้องก็เห็นได้ชัดว่า การปรับปรุงเพียงเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหรือการเข้าถึงสวัสดิการแรงงาน ไม่ได้ทำให้สิทธิแรงงานเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้การเปิดโอกาสให้แรงงานได้รวมตัว-เจรจา-ต่อรอง อย่างเสมอภาค โดยเฉพาะการที่รัฐบาลไทยต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 โดยเร็ววัน รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว นี้ต่างหากที่จะนำไปสู่การปรับสัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างผู้ได้เปรียบกับเสียเปรียบทางสังคม และสุดท้ายจะนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำต่อผู้ใช้แรงงานลงได้จริง

 

 

เชิงอรรถ

[1] แต่ในประเด็นนี้ยังจำเป็นต้องแสวงหาข้อถกเถียงต่อไป เพราะไม่สามารถสรุปได้เป็นเนื้อเดียวกันว่า ข้อเรียกร้องของคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติประนีประนอมกับรัฐและทุนทุกปี เพราะเมื่อมาพิจารณาข้อเรียกร้องของคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติตั้งแต่ปี 2547-2555 กลับพบว่า ข้อเรียกร้องแต่ละปีบางครั้งขัดแย้งในเชิงจุดยืนกันเอง เช่น

ปี 2549-50 เสนอให้รัฐบาลจัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในสถานประกอบการ โดยให้เป็นหน่วยงานอิสระ แต่พอปี 2551-53 กลับเสนอให้รัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ฉบับรัฐบาล ซึ่งเป็นฉบับที่ไม่มีการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ

หรือในปี 2551 เสนอให้รัฐบาลปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้กับลูกจ้างตามอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น  แต่หลังจากนั้นปี 2552-53 ก็ไม่มีประเด็นค่าจ้างในข้อเรียกร้อง แต่ต่อมาในปี 2554 กลับเสนอให้รัฐบาลปรับค่าจ้างที่เป็นธรรม พร้อมกำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้างและรายได้แห่งชาติทุกสาขาอาชีพ ส่วนปี 2555 ไม่มีข้อเรียกร้องเรื่องนี้  เป็นต้น

[2] ต้องอธิบายเพิ่มเติมว่า ในช่วงนั้นย้อนไปเมื่อปี 2545 ที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยสมัยที่มีนายศรีโพธิ์ วายุพักตร์ เป็นประธาน คสรท. ได้ร่วมกับนายมนัส โกศล ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย (ในสมัยนั้น) ยกร่าง พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.….. (ฉบับขบวนการแรงงาน) ขึ้นมา และมีการปรับปรุงให้ทันสมัยกับสถานการณ์ในช่วงนั้น (จริงๆ ยกร่างมาตั้งแต่ปี 2541 เพราะเมื่อปี 2540 รัฐบาลได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.ขึ้นมาใหม่ และนำเสนอสู่สภาผู้แทนราษฎร) โดยก่อนการปรับปรุงได้นำร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.….. (ฉบับขบวนการแรงงาน) ไปดำเนินการประชาพิจารณ์เพื่อขอรับฟังความคิดเห็นจากผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศร่วมกับคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎรและศูนย์อเมริกันเพื่อแรงงานนานาชาติ (ACIL) รวม 9 ครั้ง และเมื่อทำการประชาพิจารณ์เสร็จสิ้นแล้ว จึงนำร่าง พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.….. (ฉบับขบวนการแรงงาน) มาทำการปรับปรุงแก้ไขใหม่ และเมื่อปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว ต่อมาในวันที่ 18 มิถุนายน 2546 จึงได้มีการยื่นร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อให้รัฐบาลนำไปตราเป็นพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.…..ต่อไป

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้มีหลักการที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 และหลักการของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรของลูกจ้างเพื่อให้สามารถสร้างแรงงานสัมพันธ์กับนายจ้างได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งต่างกับร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.…. ฉบับของรัฐบาลเนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ของรัฐบาลมีหลักการและเนื้อหาหลายมาตราที่ขัดกับหลักการของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศและลิดรอนสิทธิการรวมตัวของผู้ใช้แรงงานในภาคราชการบางส่วน

[3] ในประเด็นนี้เป็นที่น่าแปลกใจว่าทางคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติไม่มีการระบุถึงเรื่องดังกล่าวทั้งในปี 2548 และ 2555 ทั้งๆ ที่ผู้ใช้แรงงานต่างได้รับผลกระทบทั่วหน้า

[4] เวทีการยกร่างที่สำคัญ คือ เวทีซึ่งจัดเมื่อวันที่ 27-28 กันยายน 2553 ที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ทั้งนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสภาแรงงานแห่งชาตินอร์เวย์ (LO – NORWAY) และเวทีแห่งนี้เองที่ทำให้ได้ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ขึ้นมา หรือที่เรียกกันว่า "แรงงานสัมพันธ์ฉบับวังน้ำเขียว" และใช้ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นตัวตั้งในการยกร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ (ฉบับบูรณาการแรงงาน) ฉบับที่ยื่นต่อรัฐสภาเมื่อสิงหาคม 2555
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคภูมิ แสงกนกกุล: การแต่งงานของเพศเดียวกันในฝรั่งเศส

Posted: 29 Apr 2013 03:15 AM PDT

เมื่อวันอังคารที่ 23 เมษายน 2013 รัฐสภาฝรั่งเศสได้ผ่านกฎหมายประวัติศาสตร์ให้สิทธิการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ด้วยคะแนนเสียง 331 เสียง ต่อ 225 เสียง และเป็นประเทศที่เก้าของสหภาพยุโรปและเป็นประเทศที่สิบสี่ของโลกที่อนุญาตให้มีการแต่งงานของคนเพศเดียวกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

การต่อสู้ที่ยาวนาน
การต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิการแต่งงานของคนเพศเดียวกันอย่างถูกกฎหมายเป็นการต่อสู้ที่ใช้เวลาหลายทศวรรษในทุกประเทศบนโลก โดยเฉพาะประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์หรืออิสลามที่ข้อบัญญัติทางศาสนาเป็นปฏิปักษ์ต่อกลุ่มบุคคลรักร่วมเพศและไม่อนุญาตให้แต่งงานได้ ซึ่งงานแต่งงานเป็นการประกาศอย่างเป็นทางการต่อสาธารณชนว่าบุคคลทั้งสองจะใช้ชีวิตร่วมกันฉันท์สามีภรรยาโดยมีพิธีกรรมทางศาสนาเป็นผู้ผูกขาดการตัดสินว่าบุคคลใดควรถูกอนุญาตการแต่งงานแบบที่สังคมยอมรับ เมื่อศาสนาเข้ามายุ่งยากชีวิตส่วนตัวเรื่องการแต่งงานและห้ามการแต่งงานเพศเดียวกันแล้ว คู่แต่งงานเพศเดียวกันจึงทำได้แค่การอยู่รวมกันโดยมิให้สังคมรับรู้และไม่ได้รับการอนุญาตจากศาสนา และหลายๆประเทศความคิดการเลือกปฏิบัติกลุ่มรักเพศเดียวกันรุนแรงถึงนิยามว่าการแต่งงานหรืออยู่กินของเพศเดียวกันเป็นการกระทำผิดกฎหมายและถูกลงโทษด้วยการจำคุกหรือประหารชีวิต นอกจากนี้การเลือกปฏิบัติยังถูกนำเสนอแอบแฝงสู่สังคมด้วยวิธีวิทยาศาสตร์และการแพทย์โดยนิยามว่าการรักเพศเดียวกันเป็นกลุ่มโรคบกพร่องทางจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งองค์กรระหว่างประเทศอย่างองค์กรอนามัยโลกเพิ่งจะถอนการนิยามดังกล่าวเมื่อปี 1990 และการต่อสู้ของสิทธิเพษเดียวกันถูกกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของเชื้อ เอชไอวีในทศวรรษ 1980 ซึ่งสามารถพบได้ในกลุ่มคนรักเพศเดียวกันมากกว่ากลุ่มอื่นๆ และเปิดโอกาสให้พวกฝ่ายขวาเคร่งศาสนามองว่าการแต่งงานของเพศเดียวกันเป็นผลอันตรายต่อสุขภาพชุมชนและการแต่งงานของเพศเดียวกันเป็นการแพร่ระบาดของเชื้อโรค(เอดส์) อย่างไรก็ตามความซับซ้อนของสังคมทำให้ศาสนาและหมอมิอาจเป็นผู้ผูกขาดการนิยามได้อีกต่อไป เมื่อการแต่งงานมีมิติอื่นๆ เช่น มิติทางกฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีการแพทย์ ชีวจริยศาสตร์ การเมือง สิทธิมนุษยชน เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

การต่อสู้ของกลุ่มรักเพศเดียวกันในฝรั่งเศสเป็นการต่อสู้อย่างยาวนานและประสบความสำเร็จในขั้นตอนแรกเมื่อปี 1999 โดยรัฐสภาผ่านกฎหมายสัญญาทางแพ่งเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันของสังคม (Pacte civil de Solidarité, PACS) ภายใต้ประธานาธิบดีฝ่ายขวา Jacques Chirac และนายกรัฐมนตรีฝ่ายซ้ายคือ Lionel Jospin และแน่นอนว่าในช่วงเริ่มต้นย่อมมีการต่อต้านจากฝ่ายขวารวมถึงตัวประธานาธิบดี Chirac ด้วย แต่เนื่องจากความต้องการของสังคมและทรรศนะที่เปลี่ยนไปบ้างของคนในสังคม และฝ่ายซ้ายครองเสียงข้างมากในสภาทำให้ออกกฎหมายฉบับนี้ได้ อย่างไรก็ตามกฎหมายดังกล่าวก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน เพราะกฎหมายรับรองสิทธิระหว่างคนเพศเดียวกันหรือต่างเพศ 2 คนในการทำสัญญาว่าทั้งคู่จะใช้ชีวิตร่วมกัน โดยมิใช่หมายความว่าเป็นการแต่งงาน ผู้ที่ทำสัญญาจึงมีสถานภาพเป็น Pacsé (ผู้ทำสัญญา) มิใช่ผู้สมรส (Marié) สิทธิของผู้ทำสัญญาก็ไม่เหมือนกับสิทธิของผู้สมรส เริ่มแรกสัญญาให้สิทธิเฉพาะการคิดรวมรายได้ของคู่ทำสัญญาทั้งสองคน  ซึ่งส่งผลดีในแง่การลดการจ่ายภาษีและการมีสวัสดิการที่ดีกว่า ดังนั้นคู่ต่างเพศบางคู่ที่ไม่อยากแต่งงานก็นิยมทำสัญญาPACS กัน และมีจำนวนมากกว่าคู่ทำสัญญาที่เป็นเพศเดียวกันซะอีก (สัดส่วนของผู้ที่ทำสัญญาPACS ที่เป็นเพศเดียวกันคิดเป็นประมาณ 2% ของการจดทะเบียน PACS ทั้งหมด) กฎหมาย PACS จึงเป็นกฎหมายที่ประนีประนอมระหว่างฝ่ายที่ต่อต้านและฝ่ายสนับสนุนการแต่งงานของเพศเดียวกันโดยมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนไม่ว่าจะต่างเพศหรือเพศเดียวกัน

การให้ทำสัญญา PACS เป็นเพียงการประนีประนอมแต่ก็ยังไม่ยอมรับการแต่งงานของเพศเดียวกันอยู่ดี และต้องมีการต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิดังกล่าว และเมื่อปี 2004 ได้เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการทบทวนกฎหมายอีกครั้งเมื่อ Noël Mamère นายกเทศมนตรีของ Bègles ได้ใช้ช่องโหว่ของกฎหมายอนุญาตให้คู่สมรสเพศเดียวกัน Bertrand Charpentier และ Stéphan Chapin โดยMamère ชี้ว่ากฎหมายทางแพ่งไม่ได้ระบุเพศของคู่สมรส อย่างไรก็ตามพวกต่อต้านการแต่งงานเพศเดียวกันก็ไม่เห็นด้วยและมีการประท้วงโดยผู้ชุมนุมกำไม้กางเขนอยู่ที่หน้าเทศบาลในขณะมีพิธีแต่งาน ศาลขั้นต้น อุทรณ์และฎีกาแห่ง Bordeaux ต่างยืนยันคำตัดสินว่า กฎหมายพ่งให้การแต่งงานเป็นพิธีเฉลิมฉลองของชายและหญิง โดยกฎหมายดังกล่าวไม่ขัดกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนยุโรป และสั่งห้ามการแต่งงานของเพศเดียวกัน เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดการแพร่ขยายของการณรงค์ต่อต้านการเกลียดพวกรักร่วมเพศและเกิดประเด็นต้องทบทวนความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายและสิทธิมนุษยชนในประเทศฝรั่งเศสอีกครั้ง

นอกจากประเด็นข้อกฎหมายในประเทศแล้ว  องค์กรเหนือชาติอย่างศาลสหภาพยุโรปด้านสิทธิมนุษยชนก็มีอิทธิพลต่อกฎหมายในประเทศฝรั่งเศสและเกิดประเด็นว่ากฎหมายห้ามการแต่งงานของเพศเดียวกันขัดแย้งกฎหมายของสหภาพยุโรปหรือไม่ นอกจากนี้การที่มีประเทศอื่นในสมาชิกสหภาพยุโรปอนุญาตเกิดการแต่งงงานเพศเดียวกันอย่างถูกกฎหมายแล้ว ก็ส่งผลให้เกิดการหลีกเลี่ยงข้อห้ามในฝรั่งเศสโดยคู่รักร่วมเพศมักจะไปจดทะเบียนสมรสในประเทศ เนเธอร์แลนด์ อย่างไรก็ตามการกระทำดังกล่าวก็ส่งผลให้เกิดความยุ่งยากตามมาโดยเฉพาะเมื่อคู่สมรสตายไป ทรัพย์สินของผู้ตายย่อมตกเป็นของคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เมื่อเป็นปัญหาว่าการรับรองที่ถูกกฎหมายของเนเธอร์แลนด์มีผลผูกพันต่อกฎหมายในฝรั่งเศสและส่งผลต่อเกิดสิทธิในทรัพย์สินของผู้ตายหรือเปล่า?

และในปี 2010 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีกฎหมายการแต่งงานเฉพาะคนต่างเพศเป็นการขัดแย้งกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลรฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการขัดแย้งรัฐธรรมนูญซึ่งเปิดโอกาสให้ทางรัฐสภาสามารถยื่นแก้ข้อกฎหมายดังกล่าวได้ ประเด็นการแก้กฎหมายเพื่อการแต่งงานของเพศเดียวกันจึงเป็นประเด็นหาเสียงในสมัยเลือกตั้ง 2012 โดยบรรดาฝ่ายซ้ายต่างสนับสนุนให้มีการแก้กฎหมาย ส่วนฝ่ายขวากลางเห็รด้วยว่าควรมีกฎหมายที่เท่าเทียมแต่ไม่เห้นด้วยกับการแต่งงานเพศเดียวกัน ส่วนฝ่ายขวาตกขอบย่อมต่อต้านกฎหมายนี้ และเมื่อผลการเลือกตั้งพรรคฝ่ายซ้ายเป็นผู้ชนะและผลักดันให้เกิดการบัญญัติกฎหมายการแต่งงานเพศเดียวกันเป็นผลสำเร็จเมื่อ 23 เมษายน 2013 ในระหว่างขั้นตอนการร่างกฎหมายนั้นบรรยากาศภายนอกก็เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้เห็นด้วยกับกลุ่มผู้ต่อต้านการแต่งงานเพศเดียวกัน และบางพื้นที่มีการใช้ความรุนแรงอีกด้วย อย่างไรก็ตามการผ่านกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกันเป็นแค่อีกก้าวหนึ่งซึ่งต้องการก้าวต่อไปอีก เมื่อคำถามเรื่องการใช้วิทยาการทางการแพทย์เพื่อช่วยการมีลูกซึ่งโดยปกติแล้วกฎมายอนุญาตให้คู่สามีภรรยาต่างเพศที่มีปัญหาการเจริญพันธุ์สามารถได้รับการช่วยเหลือได้ แต่กรณีของคู่เลสเบี้ยนยังต้องมีการพิจาณากันอีกต่อไป หรือการรับจ้างการตั้งครรภ์แทนผู้อื่นซึ่งกฎหมายฝรั่งเศสห้ามในทุกกรณี หรือการผ่าตัดแปลงเพศซึ่งเป็นข้อห้ามในประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น 

แนวโน้มประเทศไทย
การยอมรับการความหลากหลายทางเพศและการยอมรับการแต่งงานของเพศเดียวกัน มีสองระดับที่ต้องพิจารณาคือ การยอมรับภาคปฏิบัติในสังคม และการยอมรับให้เป็นสิทธิภายใต้กฎหมาย ในกรณีประเทศฝรั่งเศสซึ่งประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย ทั้งทางด้านเชื้อชาติ ความเชื่อ และเพศ มีกลุ่มที่รังเกียจและกลุ่มที่ยอมรับความหลากหลายทางเพศต่างฝ่ายต่างแสดงความเห็นและผลักดันความเห็นเต็มที่จนบางครั้งเกิดความรุนแรงตามมา และการต่อสู้ทั้งสองฝ่ายต่างต่อสู้ไปจนถึงระดับโครงสร้างกฎหมาย การต่อสู้เรื่องดังกล่าวจึงเป็นการต่อสู้ทั้งทางภาคปฏิบัติและเป็นการต่อสู้ทางด้านกฎหมายที่ต้องอาศัยผู้แทนในรัฐสภา การร่างกฎหมายที่เอื้อต่อกลุ่มคนรักเพศเดียวกันต่างออกในสมัยที่รัฐสภาเสียงข้างมากเป็นฝ่ายซ้าย และศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายที่เอื้อต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

สำหรับประเทศไทยความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งที่ยอมรับในทางฏิบัติในสังคม ผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นที่ยอมรับในสังคมมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ พวกเขาสามารถประกอบอาชีพสำคัญๆ เช่น นักแสดง ครู หมอ นักการเมืองท้องถิ่น เป็นต้น แต่ยังคงมีบางสายอาชีพที่ยังปิดกั้นไม่ให้โอกาส เช่น ผู้พิพากษา เป็นต้น  กรุงเทพฯ กลายเป็นศูนย์กลางของกลุ่มความหลากหลายทางเพศในภูมิภาค ผู้คนจากหลากหลายภูมิภาคต่างหลั่งไหลเข้ามา เพิ่มสีสันให้สังคมกลุ่มคน Transgender เป็นกลุ่มคนทำงานด้านบันเทิงเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ การผ่าตัดแปลงเพศเป็นเรื่องเสรีและมีการเปิดคลีนิคกันอย่างเป้นล่ำเป็นสันเพื่อรับลูกค้าทั้งจากต่างประเทศและในปะเทศรวมถึงมีการโฆษณาในสื่อต่างๆโดยไม่มีการตั้งคำถามถึงความสมควรหรือความถูกต้องตามจริยธรรมหรือไม่ การยอมรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในประเทศไทยจึงเกิดคำถามว่าเป็นการยอมรับที่อยู่ภายใต้ความเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ด้วยกันหรือเป็นการยอมรับในฐานะพวกเขาเหล่านั้นเป็นวัตถุทางด้านบันเทิงหรือเปล่า?

การยอมรับความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยจึงยังขาดแคลนการยอมรับภายใต้ความเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์และคามเท่าเทียมกันทางกฎหมาย และต้องการการต่อสู้เพื่อให้ได้มาถึงสิทธิตามทางกฎหมาย ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ต้องอาศัยกลไกรัฐสภา ถึงแม้ภาคประชาชนจะยื่น พรบ คู่ชีวิต แต่ก็ต้องอาศัยผู้แทนเสียงข้างมากในการโหวตผ่านกฎหมาย ซึ่งประเด็นดังกล่าวยังไม่เป็นที่สนใจของผู้แทนราษฎร

คลิกดูภาพขนาดใหญ่ขึ้น

ภาพจาก 10 Bangkok Future Policies

 

เชิงอรรถ

http://www.liberation.fr/societe/2013/04/23/la-france-autorise-le-mariage-homosexuel_898329

http://www.lemonde.fr/societe/article/2013/04/24/pour-les-anti-mariage-pour-tous-ce-n-est-que-le-debut-d-un-long-chemin_3165439_3224.html

http://trendsoutheast.org/2011/all-issues/issue-08/rainbow-over-the-mekong-trends-for-lgbt-identities-in-thailand-cambodia-and-laos/

http://tempsreel.nouvelobs.com/mariage-gay-lesbienne/20121031.OBS7682/la-bataille-du-mariage-homosexuel-une-longue-histoire.html

http://www.lemonde.fr/politique/article/2013/01/29/la-lecon-d-histoire-de-taubira-la-fronde-de-la-droite_1824145_823448.html

http://fr.wikipedia.org/wiki/Mariage_homosexuel_en_France

http://www.siamintelligence.com/agenda-bangkok-10-future-policie/

http://prachatai.com/journal/2013/02/45250

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Prachatai Eyes View: เคนย่า ซาฟารี สลัม และท่านผู้นำคนใหม่

Posted: 29 Apr 2013 02:32 AM PDT

Prachatai Eyes View: เคนย่า ซาฟารี สลัม และท่านผู้นำคนใหม่

ช่วงต้นเดือนเมษายนนี้ มูลนิธิร็อกเกอะเฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) ได้เชิญผมไปร่วมประชุมประจำปี เครือข่าย Searchlight ที่เน้นการบ่งชี้และศึกษาแนวโน้มอนาคตของความยากจนและการพัฒนา ที่ นครไนโรบี เมืองหลวงของประเทศเคนย่า เริ่มต้นการเดินทางก็ทำตัวเป็นนักท่องเที่ยว ไปบ้าน Karen Blixen เจ้าของตำนานและต้นกำเนิด Out of Africa ที่ลือลั้น ไปเที่ยวดูฝูงยีราฟ และดูความเป็นอยู่ของคนชั้นสูงและนักการเมืองเคนย่า คนขับรถของโรงแรมที่พัก ก็ช่างเจรจา โดยเฉพาะตอนที่ผมกับเพื่อนชาวไทยและสิงคโปร์ไปแวะรับประทานอาหารกลางวันที่ภัตตาคารสุดหรู ของพิพิธภัฑธ์ Karen ที่ได้บรรยากาศเจ้าอาณานิคมเสียนี้กระไร คนขับรถ ก็สุดจะตาดี ชี้ไปที่คนโน้นคนนี้ บอกว่า นั้นเป็น รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคง มาพักรับประทานอาหารกับภรรยา (ตัวจริง) อีกคนเป็น สส. พรรครัฐบาล แถมยังเล่าอีกว่า ท่านสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติของรัฐสภาเคนย่านี่รำรวยมาก ได้เงินเดือน รวมค่าใช้จ่ายประมาณ 400,000 บาทต่อเดือน (มากกว่าพี่ไทย 5 เท่า) แถมไม่พอ ยังเคยเสนอเป็นกฎหมายในสภา ว่า หลังจากหมดวาระ แล้ว รัฐสภาต้องจ่ายเบี้ยบำเหน็จ ให้ อีก 110,000 เหรียญ หรือประมาณ 3 ล้านบาท เป็นโบนัส แถมไม่พอ ไม่ต้องเสียภาษีด้วย (ฟังแล้วรัก สส. ไทยขึ้นเป็นกอง) สรุปว่ามาวันแรก ๆ ได้เห็นทั้ง สัตว์ในซาฟารี และ นักการเมืองซาฟารีไปพร้อมกัน เหนือคำบรรยาย

ช่วงต้น ๆ ของที่ประชุม เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทรนด์ที่เกิดขึ้นมาในแต่ล่ะทวีป เพื่อมองหาแนวทางประยุกต์เข้ากับบริบทของกาฬทวีป แต่ Highlight ไปตกอยู่ที่วันท้าย ๆ ผู้จัด Society of International Development (SID) พาผมไปเที่ยว สลัมมูคูรู (Mukuru slum) ที่กว่าร้อยล่ะ 60 ของประชากร หกแสนคนเป็นเด็กและเยาวชน ช่วงที่ไปฝนตกหนัก ถนนกลางสลัมทั้งแชะเหม็น เพราะมีขยะเกลื่อน ไฟฟ้าและน้ำปะปา ชาวสลัมต้องจ่ายให้กับผู้มีอิทธิพลที่ไปดึงเอาไฟกับน้ำมาจากรัฐ (คุ้นไหมพี่น้อง) เด็ก ๆ ดูมีความน่ารัก และสดใส ดี ในสลัมมีทั้งโบสถ์ ผับ ร้านดูฟุตบอล ไอทีสแควร์ และคลินิก เหมือนเป็นอีกโลกหนึ่งและ ผมเคยไปสลัมที่ South Africa และ Mumbai มาแล้ว แต่ที่นี่ โหดสัดดดดดดดดดดดดดดดดด

วันเดียวกัน เป็นวันที่มีการฉลองประธานาธิบดีคนใหม่ (คนที่ 4) อูฮูรู เคนยัตต้า (Uhuru Kenyatta) ลูกชายของ โจโม้ เคนยัตต้า (Jomo Keyatta) ประธานาธิบดีคนแรก หลังหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร (เส้นทางชีวิตการเมือง ไม่ต่างจาก ปาร์ค กึน เฮ และ คิม จอง อึน ของ สองเกาหลี เลย) เฮ่อ ๆ ชาติหน้ามีจริงเถอะ ....

ตามท้องถนนขายรูปพร้อมกรอบ เหมือนแถวนี้เลย หรือว่าไวรัสมันติดกันมาเนี่ย

สรุป จบท้าย คนขับรถอีกคนเล่าว่า "มีนักการเมืองเคนย่าไปเยี่ยมนักการเมือง เอเชีย นั่งรถผ่านถนนสวยงามใหญ่โต มาถึงบ้านพักท่าน สส ผู้มาเยื่อนเอ่ยปาก ชมเปาะ ถนนสวยมาก ๆ ท่าน เจ้าภาพ กระซิบแบบเหนียมอายว่า ถนนนี้ ฉามฉิบ น่ะ ฉามฉิบ (เปอร์เซ็นต์) ว่าแล้ว ก็ถึงคราวสส. เอเซียไปเยือนเคนย่าบ้าง เจ้าภาพส่ง ฮ. ไปรับ (ดีที่ไม่ตก) ผู้มาเยือนเห็นบ้านและการต้อนรับถึงกับเอ่ยปาก โอ้ว ท่านช่างร่ำรวยเสียจริง เจ้าภาพถามว่าเห็นถนนระหว่างทางบินมาไหม ผู้มาเยือนกล่าวไม่เห็น เจ้าภาพกระซิบกว่า เอาหมดเบย เอาหมดเบย" จบ

  • ภาพที่ 1: ประชาคมอัฟริกาตะวันออก (East African Community, EAC) มีมากกว่า ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community, AC) นานแล้ว
  • ภาพที่ 2: On Her Majesty Service (OHMS) แปลเองพี่น้อง
  • ภาพที่ 3: IT Square ณ Mukuru Slum
  • ภาพที่ 4: ถนนใน Mukuru Slum
  • ภาพที่ 5: โบสถ์ใน Mukuru Slum
  • ภาพที่ 6: คนขายภาพพร้อมกรอบ ปธน. คนใหม่ (ภาพชินตา คนแถวนี้แน่เบย)
  • ภาพที่ 7: คลินิค 24 ชั่วโมง Mukuru Slum
  • ภาพที่ 8: เด็กนักเรียนที่ รร. แห่งหนึ่งใน Mukuru Slum
  • ภาพที่ 9: ผู้นำกลุ่มสตรีใน Mukuru Slum
  • ภาพที่ 10: อนาคตนายแบบ Mukuru Slum
  • ภาพที่ 11: MPESA เงินด่วนมือถือ ที่แพร่หลายมากในอัฟริกา จัดเป็นนวัตกรรมทางการเงินสำหรับคนจนที่ได้ผลมาก
  • ภาพที่ 12: ภาพ Graffiti ที่เปรียบนักการเมืองเป็นอีแร้ง ของกลุ่มศิลปิน Creative economy ใน ไนโรบี
  • ภาพที่ 13: No Posters VS No Vultures ศิลปะการเมือง ต่อต่างคอร์รัปชั่นที่เสี่ยงกับการโดนจับ
  • ภาพที่ 14 Vulture อีแร้งนรก ตัวแทนนักการเมืองคอร์รัปชั่นในเคนย่า
  • ภาพที่ 15: Do you have Hope? Creative Economy Hub

 

 

 

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

Posted: 29 Apr 2013 02:31 AM PDT

"ก็เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยในโลกนี้ที่ไม่เชื่อในแนวคิดประชาธิปไตย คนเหล่านี้พร้อมที่จะให้ได้มาด้วยอำนาจและด้วยการกดขี่การมีเสรีภาพนั่นหมายความว่าพวกเขาพร้อมที่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น เขาไม่เคารพสิทธิมนุษยชนหรือความเสรีภาพ พวกเขาพร้อมจะใช้กำลังเพื่อกดขี่ให้คนอยู่ใต้อำนาจ และยังใช้อำนาจในทางที่ผิด สิ่งนี้ได้เกิดขึ้นในอดีตและยังคงท้าทายเราทุกคนในปัจจุบัน"

29 เม.ย.56, ปาฐกถาพิเศษ ใน การประชุมประชาคมประชาธิปไตย อูลัน บาตอ, มองโกเลีย

ภาคธุรกิจหนุนคปก.คลอดกฎหมายหลักประกันธุรกิจ

Posted: 29 Apr 2013 01:43 AM PDT

คปก.ลงพื้นที่ขอนแก่น ระดมความเห็นร่างกม.หลักประกันธุรกิจ ภาคธุรกิจ-ธนาคารหนุนคลอดกม. แนะตั้งสำนักงานทะเบียนภูมิภาคเอื้อประโยชน์คู่สัญญา

29 เมษายน 2556 - คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านกฎหมายเอกชนและธุรกิจในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดเสวนา เรื่อง"ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. .... กับทรัพย์สินทางปัญญา"เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมมงกุฎพลอย โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น

 
คปก.แจงร่างฯหลักประกันธุรกิจ เผยภาคธุรกิจ-ธนาคารหนุนคลอดกม.
 
ศาสตราจารย์ ดร. กำชัย จงจักรพันธ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมายและประธานกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านกฎหมายเอกชนและธุรกิจ กล่าวบรรยายในหัวข้อ "คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายกับภารกิจในการปฏิรูปกฎหมาย" ว่า ระบบกฎหมายหลักประกันในประเทศไทยมีเพียง 3 ประการ คือ ค้ำประกัน จำนำ จำนอง หลักประกันอย่างอื่นนั้นเป็นเพียงความพยายามของนักกฎหมายที่จะต้องดัดแปลงข้อกฎหมายเพื่อความสะดวกในวงการธุรกิจเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องมีกฎหมายเกี่ยวข้องกับหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีหลักประกันในรูปแบบที่ 4 ขึ้น กล่าวคือ ให้สามารถนำสังหาริมทรัพย์ เช่น สินค้าคงคลัง มาเป็นหลักประกันได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้ผู้รับหลักประกันยึดถือไว้ นอกจากนี้ยังได้เปิดให้ผู้ประกอบกิจการสามารถนำกิจการทั้งกิจการมาเป็นหลักประกันได้ เช่น กิจการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กิจการร้านขายอาหาร รวมไปถึงการนำทรัพย์สินทางปัญญา อันมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากทรัพย์สินชนิดอื่นมาเป็นหลักประกัน
 
"ในเชิงนโยบาย ร่างฯ ฉบับนี้ มีผู้เห็นด้วยหลายภาคส่วน ทั้งวงการธนาคาร ภาคธุรกิจต่าง ภาคการเมือง รวมไปถึงภาคประชาชนที่เป็นลูกหนี้ ซึ่งทางคณะกรรมการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจได้นำร่างฯ ออกรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ในคราวนี้เป็นครั้งที่ 11 แล้ว"
 
ศ.ดร.กำชัย กล่าวด้วยว่า กฎหมายร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจนี้ เป็นกฎหมายที่ไม่เป็นโทษแก่ใครเลย เนื่องจากเป็นเพียงเครื่องมือให้คู่สัญญาสามารถนำมาเลือกใช้ได้ และช่วยเสริมสร้างความพร้อมในการแข่งขันเมื่อประเทศไทยจะต้องเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
 
ร่างฯหลักประกันธุรกิจประสานประโยชน์เจ้าหนี้ ลูกหนี้เข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำ
          
รศ.ไพฑูรย์ คงสมบูรณ์ อาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ร่างฯ นี้มีขึ้นเพื่อใช้กับสินเชื่อหรือหนี้ทางการค้า ไม่ใช่หนี้ทางครัวเรือน เพื่อนำเงินมาใช้ในการลงทุนทำธุรกิจการค้า และให้ผู้ขอสินเชื่อนั้นสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบจากสถาบันการเงินได้ โดยในการปล่อยเงินกู้ของสถาบันการเงินนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการบริหารความเสี่ยงโดยการเรียกหลักประกัน เนื่องจากสถาบันการเงินนั้นมีความรับผิดชอบต่อเงินของผู้ฝากเงินกับธนาคาร ไม่ใช่เงินของธนาคารเอง โดยหลักประกันที่ดีที่สุด คือการนำทรัพย์สินมาเป็นหลักประกัน
            
"กฎหมายฉบับนี้จะเป็นการประสานประโยชน์ระหว่างฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้ คือ เจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินนั้นมีความต้องการที่จะได้รับเงินต้นคืนภายในเวลาที่กำหนดพร้อมดอกเบี้ย ส่วนลูกหนี้ก็ต้องการที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยมีต้นทุนต่ำ ทั้งนี้ การที่ลูกหนี้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยต้นทุนต่ำนั้นก็จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้"
            
รศ.ไพฑูรย์ กล่าวว่า ปัจจุบันระบบกฎหมายหลักประกันด้วยทรัพย์ของไทยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบไปด้วยการจำนอง จำนำ ซึ่งยังมีอุปสรรค ข้อจำกัดอยู่ กล่าวคือ การจำนองนั้นจำกัดเพียงทรัพย์สินบางประเภทเท่านั้นที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันได้ การจำนำนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการส่งมอบทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันให้แก่ผู้รับจำนำซึ่งทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถนำทรัพย์สินนั้นไปใช้เพื่อหาประโยชน์ในทางเศรษฐกิจได้จึงมีแนวคิดการร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยมีหลักการสำคัญ คือ การให้ลูกหนี้สามารถนำทรัพย์สินต่างๆ รวมถึงกิจการทั้งกิจการมาเป็นหลักประกันได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินให้ผู้รับหลักประกันและให้ผู้รับหลักประกันมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันนั้น เป็นรูปแบบการประกันด้วยทรัพย์โดยไม่มีการยกเลิกระบบหลักประกันของเดิม คือ จำนอง จำนำ แต่อย่างใด
 
ผู้รับหลักประกันบังคับหลักประกันโดยไม่ต้องผ่านศาล
          
นายสม กุมศัสตรา รองอธิบดีผู้พิพากษา ภาค 4 กล่าวว่า เหตุผลหนึ่งของการมีกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ นอกจากเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความไม่เหมาะสม ความไม่เพียงพอของระบบกฎหมายหลักประกันที่มีอยู่เดิม ยังมีเหตุผลในเรื่องความช้าของกระบวนพิจารณาของศาลและกระบวนการบังคับคดี ร่างฯ ฉบับนี้โดยภาพรวมกฎหมายทั้งฉบับ เห็นว่าเป็นกฎหมายลูกครึ่งคือ เป็นกฎหมายสารบัญญัติคือการบัญญัติให้บุริมสิทธิเพิ่มเติมจากที่มีปรากฏในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และวิธีสารบัญญัติ โดยกำหนดกระบวนวิธีพิจารณาของศาล และเป็นกฎหมายลูกครึ่งระหว่างกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญาอีกด้วย
 
"โดยหลักแล้ว การบังคับชำระหนี้นั้น เจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ได้เอง จะต้องมาอาศัยกระบวนพิจารณาของศาลเพื่อทำการบังคับให้ แต่ตามร่างฯ นี้ ผู้รับหลักประกันสามารถบังคับหลักประกันได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของศาล"นายสม  กล่าว
 
แนะตั้งสำนักงานทะเบียน-ผู้บังคับหลักประกันในภูมิภาค
          
นายเพทาย ศูนย์จันทร์ เลขาธิการชมรมธนาคารจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า หลักประกันที่ธนาคารรับเป็นประจำอยู่ในปัจจุบันนั้น ส่วนมากก็เป็นการจำนอง แต่ในส่วนของธนาคารนั้นก็มีการรับหลักประกันอื่นๆ เช่นกัน เช่น ที่ราชพัสดุ ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการกำหนดเงื่อนไขเป็นพิเศษ มีกระบวนการที่จะต้องดำเนินการมากและมีความล่าช้า  จะเห็นว่าภาคธนาคารนั้นไม่ได้ต้องการที่จะต้องยึดทรัพย์ลูกค้า แต่ต้องการที่จะได้รับเงินต้นและดอกเบี้ยคืนครบถ้วนเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วทั้งธนาคารและลูกค้าก็ไม่ได้มีความต้องการที่จะให้คดีความขึ้นสู่ศาลเนื่องจากจะเกิดค่าใช้จ่ายตามมา
            
"แต่เดิมนั้น กรณีของกิจการนั้นไม่สามารถนำกิจการทั้งกิจการมาเป็นหลักประกันได้ หากร่างฯ ฉบับนี้ออกมาใช้บังคับแล้วก็จะทำให้เกิดทางเลือกมากขึ้น ทั้งนี้เห็นว่าควรจะมีสำนักงานทะเบียนรวมไปถึงผู้บังคับหลักประกันในส่วนของภูมิภาคเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คู่สัญญาด้วย ไม่ต้องไปติดต่อที่กรุงเทพเท่านั้นดังที่เคยเป็น"
          
นายปรีชา พันธ์นิกุล รองประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ร่างฯ นี้จะเป็นการอุดช่องว่างของกฎหมายหลักประกันที่มีอยู่เดิม ในส่วนของผู้รับหลักประกันนั้น ที่มีการกำหนดไว้เฉพาะสถาบันทางการเงินนั้น เห็นว่าน่าจะมีการเปิดโอกาสให้บุคคลต่างๆ สามารถเป็นผู้รับหลักประกันได้ด้วย ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดช่องให้บุคคลอื่นใช้ประโยชน์ได้ด้วยไม่เฉพาะแต่สถาบันการเงินย่อมเป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้ การให้สถาบันการเงินเป็นผู้บังคับหลักประกันแม้ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ย่อมก่อให้บุคคลกลุ่มอื่นๆอีกหลายคนไม่ได้รับประโยชน์
 
เรือตรีรัฐศาสตร์ ไหลหลั่ง ผู้วิเคราะห์อาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้จะทำให้เกิดผู้ประกอบวิชาชีพ 2 ประเภท คือ 1.ผู้บังคับหลักประกัน 2.ผู้ประเมิน และจะต้องมีการทำนิติกรรมโดยการไปจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งจะต้องมีการเชื่อมโยงระบบกับเครดิตบูโรด้วยและต้องเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้มีการตรวจสอบได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำว่าลูกหนี้รายนั้นๆมีการนำทรัพย์สินมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจแล้วหรือไม่ และในแต่ละขั้นตอนซึ่งมีค่าใช้จ่าย เช่น การตรวจสอบข้อมูล ต้นทุนการจัดการระบบเชื่อมโยงข้อมูล การทำสัญญาหลักประกัน เป็นต้น ซึ่งท้ายที่สุดลูกหนี้หรือผู้ให้หลักประกันต้องรับภาระ ตรงนี้ค่าธรรมเนียมจะต่างจากระบบอื่นมากน้อยเพียงใด อาทิ เมื่อเทียบกับการจดทะเบียนจำนองกับกรมที่ดิน ค่าธรรมเนียมจะต่างกันหรือไม่
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แรงงานไทยเผชิญการเปลี่ยนผ่านที่การดูแลยังไม่ดีพอ

Posted: 29 Apr 2013 01:14 AM PDT

ผอ.วิจัยทีดีอาร์ไอเผย ภาพรวมแรงงานไทยในช่วงที่ผ่านมา เผชิญการเปลี่ยนผ่านหลายเรื่องที่ยังไม่มีการดูแลที่ดีพอ ตั้งแต่ช่วงผลกระทบน้ำท่วมใหญ่ และการปรับค่าจ้าง 300 บาท/วันทั่วประเทศ  พบว่าแรงงานที่ไหลกลับไปสู่ภาคเกษตรกลับเข้ามาสู่แรงงานในระบบน้อยเกินคาด กลายเป็นการไปเพิ่มจำนวนแรงงานที่ขาดความมั่นคงในภาคเกษตร เป็นทั้งนายจ้างและแรงงานนอกระบบ จึงเรียกร้องให้เพิ่มความคุ้มครองให้ครอบคลุมกลุ่มของคนทำงาน

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาในภาพรวมดูเหมือนแรงงานได้รับการดูแลมากขึ้นในเรื่องค่าจ้างพื้นฐาน 300 บาท แต่ในด้านการคุ้มครองแรงงานยังเป็นไปอย่างเชื่องช้าและมีความเหลื่อมล้ำลักลั่นกันตั้งแต่การเข้าสู่ระบบ การได้รับบริการจากระบบ และสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากระบบ  ทั้งกองทุนประกันสังคมที่ดูแลเฉพาะแรงงานในระบบหลัก  ส่วนกองทุนเงินทดแทนซึ่งลูกจ้างจะได้รับเมื่อเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุจากการทำงานของลูกจ้างที่ทำงานเต็มเวลา ขณะที่มีนายจ้างที่มีการจ้างแรงงานจำนวนมากเป็นบางช่วงเวลาหรือช่วงฤดูกาล ไม่ใช่ลูกจ้างประจำ  ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้ไม่ได้รับการสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน ถึงเวลาที่เราควรสร้างระบบที่ครอบคลุม เป็นธรรม และไม่เหลื่อมล้ำ
 
 
"ปัญหาตอนนี้ถ้าดูในรายละเอียดจะเห็นว่าในรูปแบบการคุ้มครองแรงงานระหว่างแรงงานในระบบกับแรงงานนอกระบบนั้นยังมีความเหลื่อมล้ำหรือเขย่งกันอยู่ค่อนข้างชัดเจน   แรงงานในระบบได้รับการดูแลค่อนข้างดีมาตลอด แต่ในส่วนของแรงงานนอกระบบยังไม่ได้รับการเอาใจใส่ที่จริงจังนัก จะเห็นได้จากการให้ความคุ้มครองทั้งหลายซึ่งก็จะมีข้อยกเว้นอยู่หลายเรื่องและหากดูสิทธิประโยชน์ระยะยาวที่จะได้รับจากประกันชราภาพและกองทุนเงินออมแห่งชาติก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะเริ่มอย่างจริงจังเมื่อไร ข้อตกลงในการเก็บอัตราสมทบก็ยังไม่มีข้อยุติและดำเนินไปอย่างล่าช้า  แม้แต่แรงงานในระบบเมื่อถึงวัยได้รับสิทธิประโยชน์ชราภาพถึงจะรวมกับเบี้ยยังชีพชราภาพแล้วก็จะมีรายได้เพื่อการยังชีพเพียง 3,000-4,000 บาทต่อเดือนซึ่งนับว่าไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงไป"
 
ผอ.วิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า คนกลุ่มนี้ได้แก่  คนทำงานบ้าน แรงงานประมง  แรงงานภาคเกษตร ที่ไม่ได้ทำงานต่อเนื่องตลอดปี หรือทำงานตามฤดูกาล รวมถึงแรงงานพาร์ทไทม์  คนกลุ่มนี้มีสัดส่วนค่อนข้างสูงล้วนแต่จะมีปัญหาความมั่นคงในระยะยาว   ตรงนี้เป็นจุดอ่อนซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหารูปแบบที่เหมาะสมเพื่อการคุ้มครองแรงงานให้ครอบคลุม เพราะโดยหลักการตามกฎหมายคนทำงานทุกคนมีสิทธิได้รับการคุ้มครองโดยกองทุนประกันสังคมควรปรับปรุงการบริหารจัดการกองทุนให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิมสามารถนำสัดส่วนของผลประโยชน์มาสมทบ เพื่อทำให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์มากขึ้น   ขณะที่กองทุนเงินทดแทนยังมีช่องว่างไม่ครอบคลุมการคุ้มครองของกลุ่มแรงงานพาร์ทไทม์ซึ่งมีจำนวนหลายล้านคน ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมกำลังพิจารณาให้ทีดีอาร์ไอศึกษาแนวทางการขยายความคุ้มครองกลุ่มเหล่านี้
 
ดร.ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับแรงงานคือ มีการเปลี่ยนผ่านหลายอย่างที่ยังไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ  คือตั้งแต่น้ำท่วมเรื่อยมาจนถึงการขึ้นค่าจ้างรอบแรกและรอบที่สอง (300 บาททั่วไทย)  ซึ่งมีผลกระทบค่อนข้างกว้างขวางต่อภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ   การประเมินผลกระทบรอบแรกพบข้อมูลสำคัญ ภาคเกษตรที่ควรได้รับผลกระทบน้อยกลับกลายเป็นภาคที่ถูกผลกระทบมาก  เพราะภาคเกษตรไทยซึ่งยังใช้เทคโนโลยีที่ช่วยผ่อนแรงน้อยยังคงใช้แรงงานเป็นหลัก  ค่าแรงจึงเป็นต้นทุนสำคัญที่เพิ่มภาระ ในขณะที่ผู้ประกอบการในภาคเกษตรซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายเล็กรายย่อยไม่มีศักยภาพในการจ่ายค่าจ้างพื้นฐานที่ปรับขึ้นเป็น 300 บาทต่อวัน ประกอบกับสภาพการทำงานที่หนัก เหนื่อยไม่จูงใจ ไม่มีสวัสดิการในการทำงาน ดังนั้นปัญหาของภาคเกษตรเผชิญปัญหาต้นทุนสูง พร้อมๆกับการยังขาดแคลนแรงงาน และในด้านการคุ้มครอง แรงงานภาคเกษตรส่วนใหญ่คือแรงงานอายุมาก  อมโรค ในระยะยาวจึงมีปัญหาความมั่นคงในชีวิตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการดูแลสุขภาพ มีเกษตรกรเพียงไม่ถึง 10%ที่จะมีเงินออมเพียงพอจะช่วยเหลือตัวเองได้เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ  จึงอยากให้ใส่ใจแรงงานหรือคนทำงานภาคเกษตรที่สิทธิสวัสดิการยังเหลื่อมล้ำกับแรงงานในระบบ  และถูกละเลยมาตลอด
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยิ่งลักษณ์ ปาฐกถาที่อูลัน บาตอ ประชาธิปไตยไทยได้มาจากเลือดเนื้อประชาชน

Posted: 29 Apr 2013 01:00 AM PDT

ปาฐกถาพิเศษในการประชุมประชาคมประชาธิปไตย นายกไทยระบุ ประชาชนเสียเลือดเนื้อ ถูกยิงด้วยสไนเปอร์ พี่ชายถูกรัฐประหาร ชี้ เพราะเมืองไทยยังมีคนไม่เชื่อมั่นประชาธิปไตย ไม่เคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2556 เฟซบุ๊คของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เผยแพร่ ปาฐกถาพิเศษ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร การประชุมประชาคมประชาธิปไตย อูลัน บาตอ, มองโกเลีย ดังนี้

ท่านประธาน,
ท่านผู้มีเกียรติ,
ท่านผู้เข้าร่วมประชุม,

ดิฉันขอเริ่มด้วยการขอบคุณท่านประธานาธิบดีแห่งมองโกเลียที่ได้เชิญให้ดิฉันมาปาฐกถาณ การประชุมประชาคมประชาธิปไตยแห่งนี้

ดิฉันได้ตอบรับเชิญไม่เพียงเพราะดิฉันต้องการที่จะได้มีโอกาสเยือนมองโกเลียประเทศที่ประสบความสำเร็จในความเป็นประชาธิปไตย หรือไม่ได้มาเพียงที่จะได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยแต่ดิฉันเดินทางมาที่นี่เพราะความเป็นประชาธิปไตยมีความสำคัญต่อดิฉันอย่างมากและที่สำคัญยิ่งกว่าคือความไม่เป็นประชาธิปไตยมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศบ้านเกิดของดิฉันประเทศไทยที่ดิฉันรัก

ประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่เป็นแนวคิดอุดมการณ์ใหม่ในช่วงเวลาที่ผ่านมายาวนานแนวทางประชาธิปไตยได้นำมาซึ่งความก้าวหน้าและความหวังสำหรับผู้คนจำนวนมากและในขณะเดียวกัน ผู้คนจำนวนมากได้เสียสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อปกป้องรักษาและสร้างความเป็นประชาธิปไตย

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่ารัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ไม่ได้ได้มาฟรีๆ สิทธิ เสรีภาพและความเชื่อที่ว่า มนุษย์ทุกคนไม่ว่าชายหรือหญิงมีความเท่าเทียมกันนั้นได้มาด้วยการต่อสู้และที่น่าเศร้าใจคือ ทำให้ต้องมีผู้เสียชีวิต

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นหรือ? ก็เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยในโลกนี้ที่ไม่เชื่อในแนวคิดประชาธิปไตย คนเหล่านี้พร้อมที่จะให้ได้มาด้วยอำนาจและด้วยการกดขี่การมีเสรีภาพนั่นหมายความว่าพวกเขาพร้อมที่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น เขาไม่เคารพสิทธิมนุษยชนหรือความเสรีภาพพวกเขาพร้อมจะใช้กำลังเพื่อกดขี่ให้คนอยู่ใต้อำนาจ และยังใช้อำนาจในทางที่ผิด สิ่งนี้ได้เกิดขึ้นในอดีตและยังคงท้าทายเราทุกคนในปัจจุบัน

มีหลายประเทศที่ความเป็นประชาธิปไตยได้หยั่งรากลึกแล้วซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและเป็นความรู้สึกสดชื่นที่ได้เห็นกระแสประชาธิปไตยที่นำความเปลี่ยนแปลงสู่ประเทศต่างๆจากปรากฏการณ์อาหรับสปริงค์ถึงช่วงผ่านเปลี่ยนในเมียนมาร์ภายใต้ผลักดันของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศของดิฉัน ด้วยพลังของประชาชนคนไทยที่ทำให้ดิฉันมายืนอยู่ที่นี่ได้ในวันนี้

ในระดับภูมิภาคหลักการสำคัญๆในปฏิญญาอาเซียนก็ยึดมั่นในหลักนิติธรรม, ประชาธิปไตยและรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกันเราทุกคนต้องระมัดระวังว่าแรงปฏิกิริยาต่อต้านประชาธิปไตยไม่เคยที่จะถดถอยลดน้อยลงดิฉันขอยกเรื่องของดิฉันเองเป็นอุทาหรณ์

ในปี1997 ประเทศไทยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งร่างขึ้นโดยที่ประชาชนมีส่วนร่วม เราทุกคนคิดว่ายุคใหม่ของประชาธิปไตยไทยมาถึงแล้วและจะเป็นยุคสมัยที่ไร้การรัฐประหาร

แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งถึงสองครั้งสองหนด้วยเสียงส่วนใหญ่ถูกล้มลงในปี 2006 ประเทศไทยเสมือนรถไฟตกรางและประชาชนคนไทยใช้เวลาเกือบ10 ปีกว่าที่จะได้เสรีภาพแห่งประชาธิปไตยกลับคืนมา

หลายคนที่อยู่ในที่ประชุมแห่งนี้รู้ว่ารัฐบาลที่ดิฉันพูดถึงคือรัฐบาลที่พี่ชายของดิฉันพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการเลือกตั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

หลายคนที่ไม่รู้จักดิฉันอาจบอกว่า เธอจะบ่นไปทำไม? เป็นเรื่องปกติในกระบวนการการเมืองที่รัฐบาลมาแล้วก็ไปซึ่งหากตัวดิฉันและครอบครัวของดิฉันต้องเจ็บปวดแต่ฝ่ายเดียว ดิฉันก็คงจะปล่อยวาง

แต่นั่นก็ไม่ใช่ความเป็นไปที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหาร ประเทศไทยต้องถอยหลังและสูญเสียความน่าเชื่อถือต่อนานาชาติหลักนิติธรรมและกระบวนการกฎหมายถูกทำลาย โครงการและแผนงานที่พี่ชายของดิฉันริเริ่มตามที่ประชาชนต้องการถูกยกเลิกประชาชนเกิดความรู้สึกว่าสิทธิเสรีภาพของเขาถูกปล้นไป

คำว่า"ไทย" หมายความว่า "อิสระ" และประชาชนคนไทยก็ได้ลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้เสรีภาพคืนมาแต่ในเดือนพฤษภาคม 2553 มีการสลายการชุมนุมของผู้เรียกร้องกลุ่มคนเสื้อแดง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง91 คนในใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ

คนบริสุทธิ์ถูกลอบยิงโดยสไนป์เปอร์แกนนำการชุมนุมต้องติดคุกหรือหลบหนีไปต่างประเทศ และแม้แต่ทุกวันนี้ยังคงมีเหยื่อทางการเมืองจากการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ติดคุกอยู่

ประชาชนคนไทยไม่ท้อถอยและยืนยันที่จะเดินไปข้างหน้าจนในที่สุดรัฐบาลในขณะนั้นต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งก็มีฝ่ายปฏิกิริยาต่อต้านประชาธิปไตยที่เชื่อว่าจะบริหารจัดการและบิดเบือนเจตนารมณ์ประชาธิปไตยได้ต่อแต่ในที่สุดพวกเขาก็ไม่สามารถปฏิเสธความต้องการของประชาชนได้ดิฉันได้รับการเลือกตั้งด้วยเสียงส่วนใหญ่ขอประเทศ แต่เรื่องราวนั้นยังไม่จบ

มีความชัดเจนว่าผู้ที่มีปฏิกิริยาต่อต้านประชาธิปไตยยังคงอยู่รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นในรัฐบาลภายใต้คณะรัฐประหารได้ใส่กลไกที่ตีกรอบเพื่อจำกัดความเป็นประชาธิปไตย

ตัวอย่างหนึ่งที่ดีในประเด็นนี้จะเห็นได้จากที่จำนวนครึ่งหนึ่งของวุฒิสภาไทยมาจากการเลือกตั้ง แต่อีกครึ่งหนึ่งกลับได้รับการแต่งตั้งโดยกลุ่มคนเล็กๆกลุ่มหนึ่งยิ่งกว่านั้น กลไกที่เรียกว่าองค์กรอิสระได้ใช้อำนาจเกินขอบเขตแทนประชาชนเจ้าของอำนาจที่แท้จริงเป็นการดำเนินการเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหนึ่งมากกว่าเพื่อคนส่วนใหญ่ของสังคม

นี่คือความท้ายทายของประชาธิปไตยไทยในปัจจุบันดิฉันนั้นต้องการเห็นความปรองดองเกิดขึ้นในประเทศไทยและประชาธิปไตยของไทยพัฒนาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยหลักนิติธรรมและกระบวนการทางกฎหมายที่แข็งแรงมีขั้นตอนที่ชัดเจนโปร่งใสและเมื่อนั้นทุกคนจะสามารถมั่นใจได้ว่าเขาจะได้รับการดูแลที่ยุติธรรมเจตจำนงนี้ ดิฉันได้แสดงออกโดยประกาศเป็นนโยบายต่อที่ประชุมของรัฐสภาก่อนการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล

ความมีประชาธิปไตยทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองเกิดสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดการลงทุน นำมาสู่การสร้างงานสร้างรายได้ที่สำคัญดิฉันเชื่อว่าเสรีภาพทางการเมืองเป็นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยการเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจและนำมาซึ่งการลดช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนจนคนรวย

นี่คือเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นความสำคัญที่จะต้องสร้างความแข็งแกร่งให้กับประชาชนในระดับรากหญ้าเราจะต้องเดินหน้าปฏิรูปการศึกษา เพราะการศึกษาสร้างโอกาสด้วยความรู้ และปลูกฝังวัฒนธรรมทางประชาธิปไตยในวิถีชีวิตของประชาชน

เมื่อประชาชนมีความรู้ประชาชนจะสามารถตัดสินใจด้วยข้อมูลที่ครบถ้วนและสามารถปกป้องความเชื่อของตนจากผู้ที่ต้องการกดขี่และนี่คือเหตุผลที่ประเทศไทยสนับสนุนข้อเสนอของมองโกเลียในที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติเกี่ยวกับการศึกษาและประชาธิปไตย

การลดช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนก็สำคัญเช่นกันมนุษย์ทุกคนควรมีโอกาสที่เท่าเทียมกันเราต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สิ่งนี้จะทำให้ประชาชนเป็นผู้มีส่วนร่วมที่แท้จริงในการพัฒนาเศรษฐกิจและเสริมสร้างประชาธิปไตยของประเทศ

นี่คือเหตุผลที่รัฐบาลต้องริเริ่มนโยบายที่จะเพิ่มโอกาสให้ประชาชนสร้างชีวิตที่ดีกว่าและมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม ดิฉันได้เริ่มต้นไว้หลายโครงการ รวมถึงการสร้างกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และวิสาหกิจขนดกลางขนาดย่อม ในขณะที่ได้กำหนดมาตรการยกระดับรายได้ของเกษตรกร

และดิฉันเชื่อว่าเราต้องการการนำที่มีประสิทธิภาพและมีความสร้างสรรค์ประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายและหลักนิติธรรมตลอดจนความสร้างสรรค์ในการหาทางออกที่สันติในการแก้ไขปัญหาของประชาชน

เราต้องการการนำที่ไม่จำกัดอยู่เฉพาะในซีกรัฐบาลแต่ในฝ่ายค้านและประชาชนทุกคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนต้องเคารพกฎหมายและช่วยกันสร้างประชาธิปไตย

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ,

อีกบทเรียนที่ได้เรียนรู้คือเพื่อนในต่างประเทศมีความสำคัญการกดดันจากนานาชาติที่เชื่อในระบอบประชาธิปไตยทำให้กระบวนการประชาธิปไตยในประเทศไทยคงอยู่ได้การคว่ำบาตรและการไม่ยอมรับเป็นกลไกที่สำคัญที่จะหยุดกระบวนการปฏิกิริยาที่ต่อต้านประชาธิปไตย

เวทีนานาชาติอย่างประชาคมประชาธิปไตยแห่งนี้มีบทบาทที่จะช่วยให้ประชาธิปไตยยืนหยัดอยู่ได้การส่งเสริมและปกป้องประชาธิปไตยด้วยการหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นประสบการณ์และสร้างความร่วมมือหากประเทศใดก็ตาม ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย ทุกคนต้องร่วมกันกดกันเพื่อการเปลี่ยนแปลงและนำเสรีภาพกลับคืนสู่ประชาชน

ดิฉันขอยืนยันว่าจะให้การสนับสนุนเวที่นี้เวทีนี้และการดำเนินงานของสภาบริหาร( GoverningCouncil ) เพื่อจะได้ช่วยให้ประชาธิปไตยแข็งแกร่งขึ้นทั่วโลกนอกจากนี้ดิฉันขอชื่นชมประธานาธิบดีมองโกเลียสำหรับข้อริเริ่มความเป็นหุ้นส่วนเอเชียเพื่อประชาธิปไตย( Asian Partnership Initiative for Democracy ) และทางรัฐบาลไทยพร้อมที่จะส่งเสริมความร่วมมือในส่วนนี้

ท่านผู้มีเกียรติ,

ดิฉันขอปิดท้ายด้วยการประกาศว่าดิฉันหวังว่าความเจ็บปวดที่ครอบครัวของดิฉันได้รับที่ครอบครัวของเหยื่อทางการเมืองไทย และครอบครัวของผู้เสียชีวิตทั้ง 91 คนในเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม2553 ต้องเผชิญจะเป็นความเจ็บปวดครั้งสุดท้ายสำหรับประเทศไทย

ขอให้เราทุกคนสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยเพื่อที่เสรีภาพและอิสรภาพของมนุษย์ได้รับการปกปักษ์รักษาเพื่อลูกหลานและคนรุ่นต่อๆไป

ขอบคุณค่ะ

ที่มา: คำแปลปาฐกถาพิเศษ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร การประชุมประชาคมประชาธิปไตย อูลัน บาตอ, มองโกเลีย 29 เมษายน 2013

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

2 กสท.เล็งเสนอเกณฑ์ประกวดให้ใบอนุญาตทีวีดิจิตอลสาธารณะ เวอร์ชั่นเสียงข้างน้อย

Posted: 29 Apr 2013 12:59 AM PDT

กสท.เสียงข้างน้อย สุภิญญา – ธวัชชัย เตรียมเสนอหลักเกณฑ์การประกวด หรือบิวตี้คอนเทสต์ ทีวีดิจิตอลประเภทสาธารณะเข้าบอร์ด กสท.อังคารหน้า หลังที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปการทำหลักเกณฑ์ตามข้อเสนอภาคประชาสังคมและนักวิชาการ

          
สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวหลังจากที่ประชุมมีมติบอร์ด กสท. นำวาระข้อเสนอด้านนิเทศศาสตร์ นิติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ที่ได้จากเวทีวิชาการ ทีวีดิจิตอล...จุดเปลี่ยนประเทศไทย" ตอน ทีวีดิจิตอลสาธารณะ ที่ตนได้เสนอไป มอบหมายให้สำนักงาน กสทช.ฝ่ายกฎหมาย นำไปพิจารณาก่อนนำกลับเข้าเสนอบอร์ด กสท.อีกครั้ง ทั้ง 3 ข้อ ได้แก่ 1. ให้ กสท. เร่งจัดทำประกาศ หลักเกณฑ์พิจารณาการคัดเลือกผู้ขอรับใบอนุญาตทีวีดิจิตอลประเภทกิจการบริการสาธารณะ  เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องตามกระบวนการศาลปกครองจากผู้ที่เสียผลประโยชน์ หรือไม่ได้รับใบอนุญาตจาก กสท.  2. คำนึงถึงหลักการทีวีบริการสาธารณะตามมาตรฐานสากล (Public Service Broadcasting) คำนึงถึงผู้ชมในฐานะที่เป็นพลเมือง การนำเสนอเนื้อหาสาระต้องเป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะให้แก่พลเมืองให้มีความเห็นที่หลากหลาย  ควรมีการศึกษาวิจัยเพื่อวิเคราะห์ความต้องการของประชาชน และวิเคราะห์ผลกระทบจากการกำกับดูแลในมาตรการสำคัญ โดยพิจารณาทางเลือกต่างๆ อย่างเหมาะสมรอบด้าน และเปิดให้ภาคส่วนต่างๆ ของสังคมมีส่วนร่วม ก่อนที่จะพิจารณาให้ใบอนุญาตในการประกอบกิจการทีวีดิจิตอลสาธารณะ และ 3. คำนึงถึงด้านเศรษฐศาสตร์ในทีวีดิจิตอลสาธารณะ  ได้แก่ ต้นทุนโครงข่ายที่เหมาะสม ศักยภาพผู้ขอรับใบอนุญาตในการผลิตรายการตลอดจนการจัดทำตัวชี้วัดเพื่อประเมินวัตถุประสงค์โดยรวมของการให้ใบอนุญาต เพื่อไม่ให้ทรัพยากรคลื่นความถี่ถูกนำไปใช้อย่างไม่คุ้มค่า

สุภิญญา กล่าวว่า แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุปหรือมีความคืบหน้าต่อความคิดเห็นที่ได้รวบรวมและเสนอไป ในวันพรุ่งนี้ (อังคาร 30 เม.ย.) ตนได้ร่วมกับ ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กสทช. จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็น "หลักเกณฑ์พิจารณาการคัดเลือกผู้ขอรับใบอนุญาตทีวีดิจิตอลประเภทกิจการบริการสาธารณะ" เวลา 9.30 – 12.00 น. ณ  ห้องประชุม 3 ชั้น 2  สำนักงาน กสทช.  เพื่อรวบรวมข้อเสนอและข้อคิดเห็นต่อ (ร่าง)หลักเกณฑ์บิวตี้คอนเทสต์ และจะเตรียมเสนอต่อ กสท. ในการประชุมวันอังคารที่ 7 พ.ค. นี้.

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น