โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ประชาชนสเปนหลายพันเดินขบวนต้านสถาบันกษัตริย์

Posted: 14 Apr 2013 11:17 AM PDT

ในวันครบรอบ 82 ปีสาธารณรัฐที่ 2 แห่งสเปน ประชาชนหลายพันเดินขบวนใจกลางกรุงมาดริดเพื่อเรียกร้องให้ตำแหน่งประมุขของรัฐมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งสะท้อนความนิยมที่ตกต่ำลงของกษัตริย์ฮวน คาร์ลอส 

14 เม.ย. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ประชาชนชาวสเปนหลายพันคนร่วมกันเดินขบวนมายังจตุรัสปูแอร์ตา เดล ซอล ใจกลางกรุงมาดริด เพื่อประท้วงต่อต้านสถาบันกษัตริย์ และเรียกร้องให้นำตำแหน่งประมุขของรัฐที่มาจากการเลือกตั้งกลับมาอีกครั้ง

การประท้วงดังกล่าว เกิดขึ้นในวันครบรอบ 82 ปีแห่งสาธารณรัฐที่ 2 แห่งสเปน ซึ่งเป็นสาธารณรัฐสุดท้ายของสเปนก่อนจะถูกโค่นล้มโดยเผด็จการทหาร พลเอกฟรานซิสโก ฟรังโกในปี 2479 ซึ่งปกครองประเทศในระบอบเผด็จการต่อมาถึง 36 ปี โดยก่อนเขาจะหมดจากอำนาจ ฟรังโกได้แต่งตั้งให้กษัตริย์ฮวน คาร์ลอส ดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ และรื้อฟื้นระบอบกษัตริย์กลายเป็น "ราชอาณาจักรสเปน" นับตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา 
 
การประท้วงในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมในราชวงศ์สเปนที่ลดต่ำลงเรื่อยๆ ในหมู่ประชาชนชาวสเปน เนื่องมาจากเหตุการณ์หลายครั้งในรอบปีที่ผ่านมา อาทิ การเดินทางไปล่าช้างที่ประเทศบอตสวานาของกษัตริย์ฮวน คาร์ลอส ซึ่งถูกเปิดเผยเมื่อพระองค์ต้องเข้ารับการรักษาตัวจากอาการบาดเจ็บ ซึ่งขัดกับบทบาทของพระองค์ในฐานะประธานขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund) สาขาสเปน และถูกตั้งคำถามเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจของสเปน
 
และล่าสุดคือกรณีอื้อฉาวของเจ้าหญิงคริสตินา พระธิดาของพระองค์ ซึ่งกลายเป็นผู้ต้องสงสัยมีส่วนรู้เห็นในคดีการยักยอกเงินของพระสวามี อินากิ เออร์ดันการิน ซึ่งถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินของรัฐบาลท้องถิ่น ราว 5 ล้านยูโร (ราว 190 ล้านบาท) เข้าสถาบันนูส์ มูลนิธิด้านการกีฬาซึ่งนายเออร์ดันการินเป็นประธานอยู่ระหว่างปี 2547-2549 ทั้งนี้ เจ้าหญิงคริสตินาและนายเออร์ดันการิน ยังมิได้ถูกตั้งข้อกล่าวหา แต่ศาลได้มีอำนาจเรียกให้ทั้งสองไปให้การที่ศาล ในฐานะส่วนหนึ่งของขั้นตอนการสอบสวนคดีคอร์รัปชั่น  
 
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กษัตริย์ของสเปนได้รับความเคารพโดยประชาชนส่วนใหญ่นานหลายศตวรรษ จากบทบาทของกษัตริย์ฮวน คาร์ลอสในการพิทักษ์ประชาธิปไตยสมัยใหม่จากเผด็จการทหาร เนื่องมาจากเหตุการณ์ความพยายามก่อรัฐประหารนำโดยพันโทอันโตนิโอ เตเคโรในปี 2524 แต่ก็ไม่สำเร็จเนื่องจากกษัตริย์ฮวน คาร์ลอสได้ออกแถลงการณ์ยับยั้งไว้  
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทสนทนาในห้วงยามเปลี่ยน(ไม่)ผ่าน: กระบวนการสันติภาพในมุมมองของนักธุรกิจ (2)

Posted: 14 Apr 2013 08:13 AM PDT

จากการลงนามในเอกสารแสดงเจตจำนงเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพ (General Consensus on Peace Dialogue Process) โดยตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นลงนามร่วมกับเลขาธิการสภาความมั่นคง (สมช.) ของไทย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะนำไปสู่กระบวนการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากนั้นข้อเสนอและการเจรจาระหว่างรัฐไทย (โดยมี สมช. เป็นตัวแทน) และจากตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่า การพูดคุย จะนำไปสู่สันติภาพอย่างแท้จริงได้หรือไม่
 
การเจรจาในครั้งนี้ ได้นำไปสู่ข้อถกเถียงที่หลากหลาย ต่างเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ปลายทางในการเจรจาอาจจะไม่สามารถนำไปสู่สันติภาพอย่างแท้จริงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปาตานี ฟอรั่มได้จัดเวทีเพื่อให้เกิดการพูดคุยเพื่อที่จะนำความคิดเห็น มุมมอง รวมทั้งข้อเสนอที่เกิดขึ้นจากเวที เพื่อที่จะนำเสนอสู่สาธารณะ
 
ผู้เข้าร่วมท่านแรกได้ตั้งสมมุติฐานไว้อย่างน่าสนใจ คือ สิ่งที่น่ากลัวหากมีการเจรจาแล้วนำไปสู่ การลดจำนวนทหารหรือส่งทหารออกนอกพื้นที่ทั้งหมด จะเป็นเรื่องที่น่าตกใจ ทุกภาคส่วนทั้งจะเจ๊ง ทั้งตลาดสด บิ๊กซี รวมทั้งคาราโอเกะ
 
ต่อมาผู้เข้าร่วมอีกท่านได้ยกตัวอย่างกรณีของไอร์แลนด์เหนือ โดยในช่วงระหว่างที่มีการทำข้อตกลงระหว่างอังกฤษกับไอร์แลนด์เหนือ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยบางกลุ่มได้สร้างสถานการณ์ขึ้นมา เช่นเดียวกันในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการพูดคุยอย่างเปิดเผย ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุด อยากจะให้มองเป็นที่เป้าหมายถึงการพูดคุยว่า รัฐไทยต้องการอะไร ขบวนการต้องการอะไร ทั้งสองฝ่ายนี้มีต้องทำเป้าหมายของตัวเองให้เป็นผล
 
ผู้เข้าร่วมอีกหนึ่งท่านได้ตั้งข้อสังเกตว่า การคุยครั้งนี้ รัฐคุยกับใคร แน่ใจได้อย่างไรว่า ผู้ที่คุยด้วยสามารถที่บัญชาอะไรก็ได้ ซึ่งเราไม่สามารถรับรู้ได้ว่า ใครเป็นหัวหน้าที่แท้จริง
 
ต่อมาผู้เข้าร่วมได้เริ่มตั้งคำถามที่น่าสนใจที่ว่า สำหรับการเจรจาในครั้งนี้ เป็นการเจรจากับตัวจริงหรือว่าตัวปลอม แต่การเจรจาไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือ หลังเจรจา จะเอาอย่างไร ในการเจรจาคำตอบมีเพียงแค่ 3 แบบคือ แบบแรกคือ พัง แบบที่ 2 คือรัฐบาลสามารถทำให้อีกฝ่ายวางอาวุธได้ โดยไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ แบบที่ 3 ออกกฎหมาย 1 ฉบับ ซึ่งสองแบบนั้นไม่ได้มีปัญหาต่อวิถีชีวิตผู้คนเท่าใดนัก แต่ในแบบนี้สามนั้นจะสร้างผลกระทบต่อสังคมได้มากที่สุด ตัวอย่างจากไอร์แลนด์เหนือ อาเจะห์ มินนาเดา รวมทั้งประเทศที่ได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์เช่น ปากีสถาน ตอนที่แยกออกมาจากอินเดีย บังกลาเทศ หรือแม้แต่ประเทศในสหภาพโซเวียต ทุกพื้นที่เกิดภาวะช็อก ภาวะช็อกในพื้นที่นี้หมายถึง หลังบรรลุเป้าหมายของตนเองแล้ว ไปต่อไม่เป็น
 
ถ้าเราได้สันติภาพจริงๆ แล้วได้รับกฎหมายพิเศษขึ้นมา ถามว่า กฎหมายฉบับนั้นจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้กับเราในฐานะคนในพื้นที่
 
หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมอีกท่านได้นำเสนอมุมมองที่ต่างไปจากข้างต้น กล่าวคือ ความรุนแรงไม่ใช่การแก้ปัญหา ทางรอดของมันก็คือการเจรจา ซึ่งจะเป็นการเจรจาในรูปแบบใด เจรจากับตัวจริงหรือไม่ เวลาจะเป็นคำตอบ มันไม่มีวิกฤติที่ไหนในโลกจบด้วยการใช้อาวุธ อย่างน้อยการพูดคุยที่กัวลาลัมเปอร์นี้ ตั้งความหวังว่า มันน่าจะเป็นความจริง มันน่าจะเป็นโอกาส ส่วนต้องใช้เวลาอีกนานมากน้อยเพียงใด ไม่มีใครสามารถตอบได้ ในนามของชาวปัตตานี และนักธุรกิจที่อยู่ที่นี้ คิดว่าทุกฝ่ายเริ่มที่จะเบื่อความรุนแรง วิธีที่จะหยุดความรุนแรงคือ การหาทางเพื่อที่จะเจรจา หาต้นเหตุ ต้นตอให้เจอ
 
ปัญหาที่ปัตตานี เป็นปัญหาที่หมักหมมมานาน ไม่ใช่เพียงเกิดมา 9 ปีที่แล้ว ถ้าจะให้จบคงใช้เวลาเพียงแค่ 2-3 วันไม่ได้ มันต้องใช้เวลา ความสำคัญระหว่างรัฐกับขบวนการเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง จะทำอย่างไรให้ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ที่จะต้องรับรู้ชะตากรรมของตัวเอง น่าจะเข้ามามีบทบาทในการกำหนดชะตากรรม กำหนดวิถีชีวิตตัวเอง อันนี้ต่างหากที่น่าจะถึงเวลา ภาครัฐเองควรที่จะเปิดพื้นที่ให้กับชาวบ้าน ขบวนการเองก็ควรที่จะเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้แสดงความเห็น
 
ข้อคิดเห็นสำคัญในการพูดคุยครั้งนี้ก็คือ แม้ว่าการเจรจาจะเป็นไปในรูปแบบใด ทั้งสองฝ่ายควรที่จะคำนึงถึงผลประโยชน์และทรัพย์สินของประชาชนเป็น ทั้งสองฝ่ายควรที่จะมีข้อเสนอในเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย มันควรที่จะมีข้อเสนอในเรื่องของรายได้ เรื่องของอาชีพ และธุรกิจ ไม่ใช่มองแต่เพียงเรื่องการเมืองอย่างเดียว
 
ไม่ว่าสันติภาพปัตตานีจะออกมาในรูปแบบใด นักธุรกิจจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไปในแนวทางใด
 
ประเด็นที่คุยกันมาทั้งหมดไม่ใช่ข้อสรุป ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่คุยกับภาคธุรกิจ การเสวนาในครั้งนี้เป็นเสียงที่เกี่ยวข้องกับผู้คน จากคนเล็กถึงคนระดับใหญ่ เข้าใจผู้คนในมุมมองที่แตกต่างหลากหลายมากยิ่งขึ้น การพูดคุยถึงความเป็นสภาวะสมัยใหม่ของสังคมปัตตานี การกลับไปกลับมาของผู้ใช้แรงงาน สิ่งเหล่านี้ไม่เคยได้ยินในกระบวนการสันติภาพ แต่สิ่งเหล่านี้มีอยู่จริงและสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 
 
 
 
ที่มา: PATANI FORUM
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใจ อึ๊งภากรณ์: ทำไมพวกเราที่อังกฤษฉลองวันตายของทรราชแทชเชอร์

Posted: 14 Apr 2013 07:32 AM PDT

 

พวกเราชาวสหภาพแรงงานและฝ่ายซ้าย รวมถึงกรรมาชีพธรรมดาๆ ในอังกฤษ รอวันตายของทรราช "แม่มดชั่วแทชเชอร์" อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษมานาน ในวันตายของเขาและวันต่อๆ มา มีการจัดงานฉลองกันในเมืองต่างๆ และในประเทศอื่นเช่นออสเตรเลีย และหลายประเทศของยุโรปเช่นไอร์แลนด์ ก็มีคนที่ดีใจจำนวนมาก นอกจากนี้เพลง "แม่มดชั่วตายแล้ว" จากภาพยนต์เด็กสมัยก่อนขึ้นมาเป็นเพลงยอดนิยมอันดับหนึ่งในอังกฤษ ทำไม?
 
แทชเชอร์ช่วงชิงการนำในพรรคนายทุน(พรรคคอนเซอร์เวทิฟ) หลังจากที่นายกรัฐบมนตรี เอดเวอร์ด ฮีธ จากพรรคเดียวกันพ่ายแพ้การเผชิญหน้ากับสหภาพเหมืองถ่านหินในปี 1972 ก่อนหน้านั้นแทชเชอร์ขึ้นชื่อว่าเป็น "แทชเชอร์ขโมยนมเด็ก" ในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีการศึกษา เพราะไปตัดนมฟรีที่เด็กอังกฤษเคยได้ในโรงเรียนภายใต้รัฐสวัสดิการ
 
แทชเชอร์เป็นนักการเมืองขวาจัดที่คลั่งกลไกตลาดเสรี เขามองว่าภารกิจอันยิ่งใหญ่ของเขาคือการทำลายอำนาจต่อรองของสหภาพแรงงาน และการทำลายรัฐสวัสดิการ ก่อนที่จะชนะการเลือกตั้งในปี 1979 เขาออกมาปลุกกระแสเหยียดคนต่างชาติ โดยพูดทำนองว่าคนอังกฤษรู้สึกถูกคลื่นคนต่างชาติท่วมบ้านเมือง คำพูดแบบนี้จากนักการเมืองย่อมนำไปสู่การที่คนผิวดำโดนทำร้ายฆ่าตามถนน และทำให้พวกฟาสซิสต์มั่นใจมากขึ้น ผมเองก็เป็น "คนต่างชาติ" ในอังกฤษ เพราะพ่อเป็นคนไทยและผมเกิดที่กรุงเทพฯ
 
แทชเชอร์เป็นนักการเมืองที่คลั่งสงคราม คู่หูหลักของเธอคือประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐที่พยายามสร้างสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างหนักกับรัสเซีย โดยการเร่งสร้างอาวุธใหม่ๆ ซึ่งเสี่ยงกับการก่อสงครามนิวเคลียร์ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่สหรัฐนำอาวุธนิวเคลียร์รุ่นใหม่มาไว้ในฐานทัพอเมริกาที่อังกฤษ หลายคนจึงมองว่าอังกฤษกลายเป็นแค่เรือบรรทุกเครื่องบินรบของสหรัฐ ผมก็เคยไปประท้วงฐานทัพทหารสหรัฐในยุคนั้น
 
ในปี 1982 เมื่อเผด็จการทหารอาเจนตินา ส่งทหารไปบุกหมู่เกาะมัลวีนาส ใกล้ๆ อาเจนตินา เพื่อปลุกกระแสชาตินิยมและให้ความชอบธรรมกับเผด็จการ แทชเชอร์มองว่า "ยอมไม่ได้" ทั้งๆ ที่อังกฤษขายอาวุธเป็นประจำให้เผด็จการทหารทั่วโลก แทชเชอร์จึงส่งกองทัพไป "กู้" หมู่เกาะที่ชนชั้นปกครองอังกฤษมองว่า "เป็นของอังกฤษ" ทั้งๆ ที่อยู่คนละขั้วโลกกัน ในสงครามครั้งนั้น แทชเชอร์ไม่ยอมเจรจาสันติภาพ และจงใจยิงเรือรบ "เบล์กรานโน" ล่มไปทั้งๆ ที่เรือรบลำนั้นหันหน้ากลับ ไม่ได้มุ่งหน้าไปสู่หมู่เกาะมัลวีนาสอย่างที่แทชเชอร์โกหกในรัฐสภา เมื่อเรือลำนี้จม หนุ่มอาเจนตินาวัย 17 ที่ถูกเกณฑ์เป็นทหาร จมน้ำตายเป็นร้อยๆ และแทชเชอร์ก็แสดงความดีใจ
 
ชนชั้นปกครองอังกฤษไม่เคยแคร์อะไรกับชาวบ้าน "อังกฤษ" ที่อาศัยบนหมู่เกาะเหล่านั้น เพราะทุกวันนี้เขาไม่มีสิทธิเป็นพลเมืองอังกฤษเต็มตัวและไม่มีสิทธิ์ย้ายบ้านมาอยู่อังกฤษ สงครามนั้นทำเพื่อหนุนคะแนนเสียงของแทชเชอร์ และ "พิสูจน์ความยิ่งใหญ่" ของชนชั้นปกครองอังกฤษเท่านั้น
 
เมื่อแทชเชอร์ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เขากับคณะรัฐมนตรีร่วมกันวางแผนเพื่อที่จะเผชิญหน้ากับขบวนการแรงงาน โดยมีความหวังว่าจะตัดค่าจ้างกรรมาชีพอังกฤษถึง 20% เพื่อเพิ่มอัตรากำไรของกลุ่มทุนอังกฤษ มีการสร้างสถานการณ์เพื่อแบ่งแยกและจัดการกับสหภาพแรงงานทีละแห่ง คือยอมบางส่วนไปก่อน และเลือกรบเมื่อมีโอกาส สงครามทางชนชั้นครั้งยิ่งใหญ่เกิดขึ้นในปี 1984 เมื่อแทชเชอร์จงใจประกาศปิดเหมืองแร่ถ่านหินจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ยังมีถ่านหินใต้ดินมากมาย ข้ออ้างที่ใช้คือเรื่องของการสร้างกำไรที่ไม่พอ แต่เป้าหมายจริงคือการทำลายสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งที่สุด ในชุมชนเหมืองแร่ทางเหนือ มีการส่งตำรวจเข้าไปยึดครองพื้นที่เสมือนภาวะสงคราม และมีการใช้ตำรวจม้าทำลายการชุมนุมของคนงานด้วยความรุนแรงสุดขั้ว
 
สหภาพเหมืองแร่ต่อสู้ด้วยความอดทนถึงหนึ่งปี และมีนักสหภาพแรงงานอื่นๆ สนับสนุนมากมายทั่วประเทศ ผมเองซึ่งตอนนั้นเป็นผู้แทนสหภาพแรงงานของคนทำงานในห้องแล็บวิทยาศาสตร์ก็มีส่วนร่วมมาแต่แรก ทุกวันเสาร์เราจะไปถือถังพลาสติคเรี่ยรายเงินสำหรับสหภาพเหมืองแร่ในเมืองอ็อกซ์ฟอร์ด และในหมู่เพื่อนร่วมงาน บางวันเราจะตื่นตั้งแต่ตีสามเพื่อไปชุมนุมหน้าโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินใกล้ๆ อ็อกซ์ฟอร์ด และครั้งหนึ่งผมก็ไปเยี่ยมเพื่อนนักสหภาพถ่านหินที่เวลส์ (ภาพสุดท้าย) พวกเขาโทรศัพท์ติดต่อกับผมแต่แรก เมื่อมีการนัดหยุดงาน เพื่อไปตั้งค่ายหน้าโรงไฟฟ้า เพื่อไม่ให้คนขับรถไฟขนถ่านหินเข้าโรงไฟฟ้า
 
ตลอดเวลาที่มีการนัดหยุดงานของสหภาพเหมืองแร่ สื่อกระแสหลักจะโกหกและโจมตีนักสหภาพแรงงานอย่างต่อเนื่อง และพรรคแรงงานซึ่งตอนนั้นเป็นพรรคฝ่ายค้านก็ร่วมโจมตีเช่นกัน เพราะพรรคแรงงานมองว่าต้องเลียก้นแทชเชอร์ เพื่อพิสูจน์ต่อชนชั้นนายทุนว่าพรรคแรงงานจะรับผิดชอบต่อผลประโยชน์กลุ่มทุนเสมอ แทชเชอร์อาจมีชื่อว่าเป็น "สตรีเหล็ก" แต่เธอเกือบแพ้หลายครั้ง และไม่มีวันชนะถ้าพรรคแรงงานกับผู้นำสหภาพแรงงาน "หมูอ้วน" ระดับชาติ ไม่คอยหักหลังผู้ที่ต้องการสู้เพื่อปกป้องการทำงานหรือรัฐสวัสดิการ ทุกวันนี้พรรคแรงงาน ตั้งแต่สมัย โทนี่ แบลร์ ก็ชื่นชมและเลียก้น แทชเชอร์ เมื่อทรราชแทชเชอร์ตายหัวหน้าพรรค เอด มิลิแบน สั่งไม่ให้ สส.คนไหนกล่าวโจมตี
 
ผลของการทำลายสหภาพแรงงานเหมืองแร่คือชุมชนเหมืองแร่ในที่ต่างๆ ที่ไม่มีงานอื่นทำ กลายเป็นชุมชนที่หมดความหวัง หมดงานทำ นอกจากนี้มีการทำลายอุตสาหกรรมเหล็กกล้า มีการปิดโรงงานประกอบรถยนต์รวมถึงที่อ็อกซ์ฟอร์ดด้วย และในท่าเรือซึ่งเคยสู้กันมานานเพื่อให้มีงานถาวรที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรี ก็มีการหมุนนาฬิกากลับสู่ยุคที่จ้างคนแบบรายวัน
 
สภาพการทำงานในอังกฤษทุกวันนี้ยากลำบากกว่าเดิม หลายคนกลัวที่จะลาป่วยเพราะอาจโดนไล่ออก คนรุ่นใหม่บางคนไม่รู้จักสหภาพแรงงาน
 
การพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกถึงการที่รัฐบาลต้อง "รักษาวินัยทางการคลัง" เหมือนที่พรรคประชาธิปัตย์ในไทยชอบพูด เป็นนโยบายเสรีนิยมสุดขั้ว ที่หวังบีบเศรษฐกิจอังกฤษเพื่อบังคับให้นายทุนบีบลูกจ้างอีกที แทชเชอร์มองว่ากิจกรรมไหนไม่สร้างกำไรก็ควรกำจัดทิ้ง ซึ่งหมายความว่าคนต้องตกงานยากลำบาก อุตสาหกรรมอังกฤษถูกทำลายไปมาก และเศรษฐกิจอังกฤษมีการหันมาพึ่งพาพวกธนาคารและกิจกรรมไฟแนนส์มากขึ้น ซึ่งในที่สุดช่วยปูทางไปสู่วิกฤษเศรษฐกิจโลกปี 2008
 
แทชเชอร์เป็นหัวหอกของกระแสแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั่วโลก ซึ่งได้แต่สร้างกำไรมหาศาลให้กลุ่มทุนท่ามกลางความยากจนและการขาดเสถียรภาพในชีวิตของประชาชน วิสาหกิจก๊าซ ไฟฟ้า และรถไฟอังกฤษในปัจจุบันเต็มไปด้วยเรื่องอื้อฉาว การกอบโกยกำไร และความไร้ประสิทธิภาพในการบริการประชาชนธรรมดา
 
อย่างไรก็ตาม แทชเชอร์ ไม่สามารถทำลายสหภาพแรงงานไปหมด และรัฐสวัสดิการยังอยู่ สหภาพครู ไปรษณีย์ ข้าราชการ และสหภาพช่างไฟในสถานที่ก่อสร้าง ขึ้นมาเป็นหัวหอกในการต่อสู้ในยุคนี้ และความหวังของแทชเอชร์ที่จะตัดค่าจ้างคนงานอังกฤษถึง 20% เขาทำไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นงบประมาณรัฐและหนี้สาธารณะก็เพิ่มขึ้นจากการทำลายการทำงานและอุตสาหกรรมหลักๆ ซึ่งตรงข้ามกับเป้าหมายของพวกเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้ว
 
ในปี 1989 แทชเชอร์มั่นใจในตนเองมากเกินไปและเสนอให้มี "ภาษีหัว" ที่เก็บจากประชาชนอังกฤษทุกคนในอัตราเดียวกันหมด ภาษีนี้เข้ามาแทนที่ภาษีบ้านที่เคยเก็บในอัตราก้าวหน้า คือใครมีบ้านแพงเคยต้องจ่ายมาก ใครยากจนก็จ่ายน้อย ภาษีปฏิกิริยาใหม่ของแทชเชอร์ก่อให้เกิดความไม่พอใจทั่วประเทศ มีการประท้วงใหญ่ในลอนดอน และคนจำนวนมากไม่ยอมจ่าย ในที่สุดพรรคคอนเซอร์เวทิฟตัดสินใจผลักแทชเชอร์ออกไป เพราะกลัวว่าถ้าเขาอยู่ต่อพรรคจะไม่มีวันชนะการเลือกตั้งอีก
 
ในความเป็นจริง ทั้งๆ ที่แทชเชอร์ชนะการเลือกตั้งมาหลายรอบ เขาไม่เคยได้เสียงสนับสนุนของประชาชนส่วนใหญ่ คะแนนสูงสุดของเขาอยู่ในระดับสามสิบกว่าเปอร์เซนเท่านั้น เพียงแต่แต่พรรคอื่นน้อยกว่าเท่านั้น
 
แทชเชอร์เป็นนายกรัฐมนตรีสตรีคนแรกของอังกฤษ แต่ผลงานของเขาคือการที่ค่าจ้างชายกับหญิงมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น และแน่นอนสำหรับผู้หญิงคนทำงานส่วนใหญ่ นโยบายของเขาตรงข้ามกับผลประโยชน์คนธรรมดา นอกจากนี้แทชเชอร์เป็นคนที่เกลียดคนรักเพศเดียวกันและรัฐบาลเขานำกฏหมายใหม่เข้ามาเพื่อปราบเกย์
 
แทชเชอร์เป็นเพื่อนสนิทกับเผด็จการป่าเถื่อน พิโนเช ของชิลี และเขามองว่า เนลสัน แมนเดลา เป็น"ผู้ก่อการร้าย" ในกรณีไอร์แลนด์ แทชเชอร์ปล่อยให้นักโทษการเมือง "ไออาร์เอ" อดอาหารตายไปหลายคนด้วยหัวใจเย็นชา หนึ่งในนั้นเป็น สส. ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน
 
ทั้งหมดที่ผมเล่าไปครั้งนี้เป็นสาเหตุที่ผมและคนจำนวนมากในอังกฤษ ดีใจฉลองวันตายของทรราชแทชเชอร์ งานศพของเขาเป็นสมรภูมิทางชนชั้น มันเป็นการช่วงชิงประวัตฺศาสตร์ เพื่อช่วงชิงรูปแบบสังคมในอนาคต เพราะพวกประจบสอพลอที่ไปร่วมงานศพ และชื่นชมแทชเชอร์ เป็นศัตรูทางชนชั้นของพวกเราทั่วโลก ส่วนคนไทยบางคนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่เกี่ยวกับการเมืองอังกฤษ และคล้อยตามคำชื่นชมของพวกประจบสอพลอ ผมมองด้วยความสมเพชเท่านั้น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พี่มาร์ค มองผีลอดหว่างขา และการโหยหาความปรองดอง

Posted: 14 Apr 2013 06:55 AM PDT

ภาพยนตร์เรื่อง พี่มากกกก... พระโขนง  มีคุณูปการให้เขียนบทความเรื่องนี้อย่างเสียมิได้ ด้วย 3 เหตุผล คือ

 
1) ทีมงานผู้สร้างประกาศ "ตีความ" บทประพันธ์เสียใหม่ และนำเสนอในรูปแบบ/เนื้อหา ที่ต่างออกไปจากเรื่องที่ผ่านมา
2) การแอบแฝงสัญลักษณ์ และปฏิบัติการทางการเมือง ไม่ว่าจะตั้งใจ หรือได้รับอิทธิพลทางอ้อม
3) ผลตอบรับจากผู้บริโภคสะท้อนความโหยหาบางอย่างด้วยปริมาณผู้ชมล้นหลาม และอาจมีผู้ชมซ้ำมากกว่าหนึ่งรอบ
 
สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทำอย่างชัดเจน คือ การสลายเส้นตัดแบ่งเดิมๆ ที่ผู้สร้างภาพยนตร์แม่นากพระโขนงเรื่องก่อนๆ ได้ยึดถือและถ่ายทอดจนเป็นความเชื่อ ความศรัทธา และความคาดหวังของคนในสังคมที่รู้จักแม่นากพระโขนงไว้อย่างยาวนาน   การเล่าเรื่องโดยกลับหัวกลับหาง ยั่วเย้ากระเซ้าแหย่ บทประพันธ์และความคุ้นชินของผู้ชมผ่านแนวทางของภาพยนตร์ตลก จึงเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับการสลายเส้นแบ่งที่ถูกขีดไว้อย่างแน่นหนาโดยผู้สร้างภาพยนตร์และที่ฝังอยู่ในหัวของผู้ชม
เส้นแบ่งที่ถูกสลายนั้นแต่เดิมได้สร้างขึ้นเพื่อแบ่งแยกว่าอะไร ถูก – ผิด, ทำได้-ทำไม่ได้, รับได้-รับไม่ได้   ซึ่งแต่เดิมเส้นแบ่งเหล่านี้สังคมซึ่งเป็นผู้อื่นได้ขีดให้กับตัวเอกซึ่งเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจโดยตรง และบีบให้ตัวแสดงทั้งหลายต้องแบ่งแยกและ "เลือกข้าง" เอา   แต่ในเวอร์ชั่นนี้กลับทำให้เกิดการพลักผันอย่างน่าสนใจดังตัวอย่างต่อไปนี้
 
- ชาติ – ส่วนตัว   ความรักชาติยอมเสียสละชีพอาจไม่สำคัญเท่าการรักษาชีพกลับมาหาคนที่ตนรัก

- คน – ผี แต่เดิมอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ แต่ตอนนี้ถ้าอยากจะอยู่ด้วยกันก็ไม่ต้องสนใจสังคมหรือคนอื่นจะว่ากระไร

- เป็น – ตาย เป็นเส้นขีดขวางวิถีชีวิตให้เลือกดำเนินไปในแนวทางที่บรรจบกันไม่ได้ แต่ "ความตาย" อาจไม่ใช่จุดจบแห่งความรักความผูกพันที่มีระหว่างคนเป็นกับคนตายอีกต่อไป (อนึ่งจะพบว่าในช่วงหลังจะมีภาพยนตร์คนอยู่กับผี)

- พุทธ – ผี เป็นเสมือนธรรมะชนะอธรรม   หากพระ ธรรมะ ปรากฏผีต้องถอย แต่นี่พระถ้าไม่แน่จริงต้องถอย คนแก้ไขปัญหาอาจจะไม่ใช่พระ แต่อาจเป็นคนธรรมดาที่ตกลงกับผี หรือผีที่ตกลงกับคน โดยไม่ต้องมีพุทธศาสนาเป็นสะพาน

- ไสย อาคม ลี้ลับ – การกระทำของตัวละครที่มุ่งมั่นเปิดเผย   แต่เดิมวิชาอาคมที่เป็นความเชี่ยวชาญจะถูกควบคุมและใช้แก้ปัญหาโดยผู้มีบารมี   ปัจจุบันนี้ผู้มีบารมีอาจไม่ใช่คนสำคัญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่างหากที่ต้องแก้ไขปัญหา

- รัก – เห็นแก่ตัว นิยามความรักเดิมที่ต้องปล่อยคนรักไปให้มีชีวิตที่ดี(ในสายตาสังคม) อาจไม่สำคัญเท่ากับให้อยู่กับเราและดูแลกันไปตราบเท่าที่ยังรักกันอยู่ โดยไม่ต้องสนใจสายตาสังคม และนิยามความรักเดิมๆ

- โบราณ – ปัจจุบัน ภาษาและเสื้อผ้า หน้า ผม ไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกยุค เพราะในความเป็นจริงก็หมุนวนเปลี่ยนเสมอ

- เชย – แฟชั่น กำหนดได้ด้วยตัวเอง อะไรที่ปัจเจกชนคนที่อยากทำคิดว่าดีก็ทำ ไม่ต้องตามแฟชั่นที่คนอื่นกำหนด 
 
ภาพโดยรวมของการสลายเส้นแบ่งที่แต่เดิมสังคมเป็นคนขีด   ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเปลี่ยนอำนาจและการกำหนดอนาคตตนเองไปให้กับปัจเจกชน ซึ่งเป็นการทำลายเส้นแบ่งที่สังคม รัฐ ผู้มีอำนาจกำหนด ไปสู่การกำหนดและให้นิยาม "ความดี ความงาม ความจริง" ด้วยปัจเจกชน
 
สัญลักษณ์ และ นัยยะ ทางการเมืองปรากฏอยู่ใน สัญญะ และ ฉาก จำนวนหนึ่ง หยอกล้อหรืออาจได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่เป็นบริบทแวดล้อมภาพยนตร์และผู้สร้างในยุคสมัยนี้อย่างชัดเจน   อาทิ

- พี่มาก – พี่มาร์ค   ผู้ปกป้องชาติให้พ้นจากความพ่ายแพ้สงคราม แต่พอสิ้นสุดสงครามก็ต้องกลับมาซบตักเมีย

- มาก 2 สายเลือด – มาร์ค 2 สัญชาติ   ตัวเอกของเรื่องที่มีสายเสือดมากกว่าหนึ่ง

- นาก สไบแดง หน้าเหมือนสตรีคนดังทางการเมืองคนใด ลองนึกดู

- ไอ้แดง ลูกนางนาก

- ความเป็นผี – การใส่ร้าย หลอกผี   ผีเป็นสิ่งที่เป็นเองน่ากลัวอยู่ในตัวมันเอง หรือสังคมทำให้ผีน่ากลัวกันแน่

- ความเป็นผี – ใช้เวทมนตร์บังตาคนได้   ผีหลอกให้คนงมงาย แต่คนจะถูกผีหลอกให้งมงายได้ตลอดไปจริงหรือ

- การมองลอดใต้หว่างขา – การมองทะลุไปเห็นความจริง   เป็นวิธีการสำคัญที่จะมองทะลุเวทย์มนตร์บังตาไปเห็นความจริง
 
ซึ่งการมองลอดหว่างขานี่เองที่เป็น สัญญะหลักในหนังผี และสอดคล้องกับเรื่องการสร้างวาทกรรมครอบงำทางการเมือง และข้อสังเกตที่เกี่ยวกับการเมืองไทย   เพราะการมองลอดหว่างขาต้องทำให้ถูกวิธีจึงจะเข้าถึงความจริง  ต้องรู้ว่ามองลอดหว่างขาใคร "ตัวเอง" หรือ "ผี"  การเข้าถึงความจริงนั้นไม่ง่าย และอาจเข้าใจผิดเนื่องจากมีปัญหาจาก "วิธีการ" ได้   โดยหนังก็ล้อเลียนด้วยว่า ใครมันจะไม่รู้ล่ะ คนดูผิดวิธีมันโง่มาก แต่มีคนดูผิดและไม่รู้วิธี ซึ่งเงียบไว้
 
ความจริง/ความลวงเกี่ยวกับการตาย และนำไปสู่การใส่ร้ายผีนางนากจึงเป็น ข้ออ้างหลัก ที่ทำให้ผีนางนากเป็นสิ่งน่ากลัว และต้องกีดกันนางนากออกไปจากสังคม และบีบให้พี่มากและเพื่อนๆ ต้องรังเกียจและหนีไปให้พ้นจากนางนาก การพูดความเท็จหรือการใส่ความนี่เองที่ตรงกับทฤษฎีมานุษยวิทยาสายปรากฏการณ์นิยม (Phenomenology) ที่ปลอกเปลือกวิธีการสร้างความคิดหรือจิตสำนึก/จิตใต้สำนึกให้ไปฝังอยู่ในหัวของคนสังคมนั้นๆ    ซึ่งเรื่อง ผี และ ความกลัว แต่เก่าก่อนก้เป็นสิ่งที่สังคมไทยได้สร้างไว้สืบมา   ไอ้เจ็กปิง นายทุนน้อยผู้เสียประโยชน์ จึงใส่ร้ายนางนากเพราะเสียประโยชน์จากการที่นางนากไม่สมยอมตน และกลายมาเป็นแกนนำปลุกระดมมวลชนด้วยการใส่ความเท็จต่อนางนาก และทำให้นางนากกลายเป็น "ผี" ที่น่ากลัว น่ารังเกียจ ไม่ควรให้อยู่ร่วมกับคนและสังคม
 
การลงทุนกับจิตไร้สำนึกของคนในสังคมไทยอย่างหนักหน่วงดังปรากฏ ผี นานัปการ รวมถึงผีทางการเมืองในหลายยุคสมัย   จึงไม่น่าแปลกใจที่ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารนั้นไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงทางความคิดและสังคมมากนัก   กลับกันคนในสังคมกลับยิ่งกลัว เพราะความกลัวคือเครื่องมือหลักในการควบคุม มวลชน แรงงาน และผู้บริโภคในระบบทุนนิยมเผด็จการ ให้ก้มหน้าจำนนกับจักรวรรดิทุนนิยมที่ควบคุมคนลึกลงไปที่จิตไร้สำนึก   และไม่กล้าที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตนเองและเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสังคม ซ้ำร้ายอาจจะกลัวการเปลี่ยนแปลง และเกลียดผู้ที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยซ้ำ
 
ผู้ปลุกระดมมวลชนด้วยความเท็จที่ว่าแน่ แต่ถ้าเจอเจ้าตัวที่ถูกกล่าวหาลงมาประจันหน้าพร้อมมวลชน ก็วงแตกได้  เพราะขาด "ความสัตย์" และตั้งอยู่บน "ความเกลียดชัง"    ส่วน "ความจริง" และ "ความรัก" ย่อมเป็นจุดเริ่มต้นของการตัดข้ามเส้นแบ่งขวางกั้น ให้กลับกลาย มาอยู่ร่วมกันได้ หากยังปรารถนาที่จะเชื่อมต่อกันอยู่
 
ตัวเลขรายรับ การเข้าชมซ้ำ และอัตราการขายสินค้าต่อเนื่อง/การโหลดหนังผิดกฎหมาย ของภาพยนตร์เรื่องนี้จะสะท้อนให้เห็นความปรารถนาต่อ "ความรักที่ก้าวข้ามเส้นแบ่งที่สังคมแห่งความเกลียดชังขีดไว้" และ "อารมณ์ขันที่หายไป" ของสังคมไทยได้ไม่น้อย
 
ขนบของหนัง/วรรณกรรม ผี ในยุคโบราณ/ยุคศักดินา เช่น แดร็กคิวล่า มนุษย์หมาป่า มีขึ้นเพื่อเสียดสีสังคมมูลนายที่กดขี่ชาวนา เรื่อยมาจนการกดขี่ชนชั้นแรงงานของนายทุนในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม/เทคโนโลยี เช่น มนุษย์หมาป่า และแฟรงค์เก้นสไตน์    ส่วนหนังซอมบี้ นั้นพลิกเอา ซอมบี้มาเป็นตัวแทนของคนในระบบทุนนิยมที่ถูกครอบงำเสมือนติดเชื้อไวรัสบริโภคนิยมและการล่องลอยอย่างไร้ความหมายของคนในระบบตลาด    จุดจบของหนังมักจบด้วยความตายและแตกหัก ไม่ว่าจะคนตายเป็นผี หรือผี่โดนคนปราบ   แต่ภาพยนตร์ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ คือ Shawn of The Death หนังซอมบี้ครองเมืองไล่ล่าผู้เหลือรอด ที่ลงเอยด้วยการประนีประนอมและหาทางอยู่ร่วมกันระหว่างซอมบี้กับคนที่เคยเป็น "เพื่อน" กันมาก่อนจะเกิดเรื่อง เพราะในท้ายที่สุด   "ความรักชนะทุกอย่าง" และตัดข้ามเส้นแบ่งเดิมๆที่กำหนดไว้ตามจารีต
 
อย่างไรก็ดี การล้อเลียน และเสียดสีด้วยความขำขัน มุทะลุดุดัน และก้าวขนบเดิมๆ ย่อมสร้างแรงกระเพื่อมอย่างมีนัยยะสำคัญต่อการ สร้าง "ผี" และความหวาดกลัวให้แก่คนในระบบทุนนิยม   ผลตอบรับของมวลชนอย่างถล่มทลายย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความอึดอัดต่อกลไกบงการที่กดทับความปรารถนาต่อความรักและความสนุกสนานที่ต้องการเชื่อมต่อกับบุคคลอื่น สิ่งอื่นๆ โดยไม่มีเส้นของศีลธรรม กระแสสังคม ที่ขีดกั้นไว้
 
ภาพยนตร์แม่นากเรื่องก่อนๆ นั้นการยุติเหตุการณ์สยองขวัญอาศัย พระในศาสนาพุทธซึ่งมาให้ศีลให้พร ทำให้ผีนางนากคิดได้ กลับใจ และละทางโลก เข้าหาทางธรรม หรือสะกดวิญญาณไว้ใต้การควบคุมของวิชาและบารมีของพระสงฆ์   ซึ่งก็คือ การคลี่คลายความรุนแรงทั้งปวงในเรื่องด้วยธรรมะและนักบวชแห่งพุทธศาสนา   แต่ในฉบับใหม่นี้ พระ วัด พระพุทธรูป หรืออาคมคาถาใดๆ ไม่อาจจัดการหรือยุติความรุนแรงในเรื่อง   แต่ความรุนแรงได้มลายไปด้วยการเปิดใจยอมรับความเป็นไปของอีกฝ่ายและตัดสินใจที่จะอยู่ร่วมกันโดยอาศัยความรักที่มีต่อกันในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคู่รัก หรือเพื่อน   และไม่ยอมให้สังคมหรือใครมาทำลายหรือขัดขวางความรักและความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน   และไม่ต้องรอผู้มีบารมีใดๆมาสร้างความปรองดองให้ แต่คนในสังคมต้องลุกขึ้นมาสร้างเอง   ภาพยนตร์เรื่องนี้และกระแสตอบรับของสังคมก็อาจเป็นเสียงสะท้อนหนึ่งที่อาจเป็นแนวทางในการสร้างความปรองดองในสังคมไทย
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่ม '42 ส.ส.' ชี้ได้ไฟเขียว เตรียมเร่งวาระร่างนิรโทษกรรม

Posted: 14 Apr 2013 05:57 AM PDT

สมคิด เชื้อคง แกนนำกลุ่ม 42 ส.ส. เพื่อไทยที่เสนอร่างนิรโทษกรรม ระบุจะใช้เอกสิทธิ์เลื่อนวาระดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา คาดน่าจะผ่านได้ในการประชุมสภา 18 เม.ย. นี้

14 เม.ย. 56 - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย แกนนำกลุ่ม 42 ส.ส.ที่เสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของสภา กล่าวว่า ในวันที่ 18 เม.ย.ที่มีการนัดประชุมสภา เป็นตายร้ายดีอย่างไร พวกตนจะใช้เอกสิทธิ์เสนอให้เลื่อนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาแน่ เพราะได้รับสัญญาณมาแล้วจากผู้หลักผู้ใหญ่ อาจจะต้องชวนส.ส.มาเล่นเกมวัดใจในสภา ใครไม่โหวตก็เป็นสิทธิ
 
แต่ตนเห็นว่าทุกวันนี้คนทุกสีเสื้อยังเดือดร้อน ต้องช่วยเขา อย่าไปกลัวการต่อต้านอะไร เพราะเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วไม่ว่าทำเรื่องใดๆ ก็จะมีอยู่ตลอด ตนมั่นใจว่าการเสนอให้เลื่อนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมครั้งนี้จะผ่าน เพราะจนถึงขณะนี้พบว่าสัญญาณ 80% เป็นไปในทางบวก
 
ในวันเดียวกัน เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีส.ส.พรรคเพื่อไทยจะใช้เอกสิทธิ์ส.ส.เสนอเลื่อนวาระการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาในสภาวันที่ 18 เม.ย.นี้ ว่า เป็นสิทธิส่วนบุคคล ในฐานะหัวหน้าพรรคคงไม่ยับยั้ง เพราะพรรคเพื่อไทยขับเคลื่อนเรื่องนี้มานานแล้ว เพื่อให้เกิดความยุติธรรมขึ้นในประเทศ ที่ถูกดำเนินการด้วยกฎหมายสองมาตรฐานมาเกือบ 6 ปีแล้ว ตั้งแต่รัฐประหาร 19 ก.ย. 49 ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างกติกาของกฎหมาย ทั้งนี้ ยอมรับว่าการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอาจทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้น ก็ต้องยอม เพื่อให้ได้ข้อยุติเรื่องความยุติธรรม
 
 "เราคงไม่หยุดยั้ง เป็นการเดินหน้าของพรรคเพื่อไทยที่ต้องหาความยุติธรรม และอย่าติดยึดพิธีกรรม ใช้ทางใดก็ได้ และความยุติธรรมต้องไม่มีสองมาตรฐาน เราทนและยอมให้ถูกกระทำต่างๆ นานา ตั้งแต่เกิดรัฐประหารปี 49 ครั้งนี้ที่ส.ส.ใช้เอกสิทธิ์เสนอ อย่าไปมองว่าจะวุ่นวาย ต้องมาแก้กติกากันใหม่แก้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ให้ประชาชนมีส่วนกำหนดกติกาในฐานะเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ เรายอมให้ผู้มาจากคณะปฎิวัติเป็นผู้แต่งตั้งคนนั้นคนนี้มาเล่นงาน 6 ปีแล้ว เป็นฝ่ายอื่นจะยอมให้ข่มขืนต่ออีกหรือไม่ หากสถานการณ์การเมืองจะร้อนก็ร้อนไป จะได้จบๆ ไปเสียที แต่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการวางกติกาของบ้านเมืองนี้ในฐานะเป็นเจ้าของประเทศ" นายจารุพงศ์ กล่าว
 
ด้านนายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เตรียมใช้เอกสิทธิ์ส.ส.เสนอเลื่อนระเบียบวาระร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่า ไม่เห็นด้วย เพราะเนื้อหาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ใช่มุ่งเน้นการปรองดอง แต่นำไปสู่ความขัดแย้ง และที่สำคัญการปรองดองไม่ได้เกิดจากการออกกฎหมาย ต้องเกิดจากการทำความเข้าใจ ขณะนี้การค้นหาความจริงและความยุติธรรมยังไม่เกิด เอาแค่ว่าสิ่งที่นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำคนเสื้อแดงได้ประกาศ สอดคล้องกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ที่มีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง หรือแม้แต่การโฟนอินของพ.ต.ท.ทักษิณในหลายครั้ง ซึ่งต้องทำความจริงให้ปรากฎ ดังนั้น ถ้ามานิรโทษกรรมก็จะเกิดความขัดแย้งขึ้นมา แล้วกระบวนการรับโทษต้องเกิดขึ้นก่อน ถึงจะนิรโทษกรรมได้ และต้องเขียนให้ชัดว่านิรโทษกรรมให้ใคร กลุ่มใด
 
 เมื่อถามว่า มองการดำเนินการครั้งนี้ของพรรคเพื่อไทยจะสำเร็จหรือไม่ นายถาวร กล่าวว่า เขาชนะมา 2 เรื่องแล้ว ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการกู้เงิน 2 ล้านล้าน ดังนั้น ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและรัฐบาลจึงย่ามใจ โดยลืมเรื่องอื่นหมด ทั้งความสงบ และเรื่องของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ระบบทักษิณกำลังฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง แบบประเภทสร้างความหายนะให้กับประเทศมากกว่าเดิม เพราะพ.ต.ท.ทักษิณได้รับบทเรียนและรู้นิสัยคนไทยว่าลืมง่าย ซึ่งก็ต้องดูว่าเขาจะทำสำเร็จหรือไม่ เพราะฝ่ายค้านเราเสียงข้างน้อย สู้ไม่ได้ โหวตในสภาก็แพ้ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือให้ความรู้กับประชาชน
 
ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับดังกล่าว เสนอโดยกลุ่มส.ส. พรรคเพื่อไทยนำโดยนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ โดยจะนิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 แต่ ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว
 
ที่มา: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ, ข่าวสด

 

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

24 ศัพท์บัญญัติด้านสันติภาพและความขัดแย้ง ที่ควรทำความเข้าใจก่อนและหลังการพูดคุยสันติภาพ 28 มี.ค.

Posted: 14 Apr 2013 01:34 AM PDT

 

"มาเลเซียเป็น "ผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดการพูดคุย" หรือ Facilitator ไม่ใช่ "ผู้เจรจาไกล่เกลี่ย" หรือ Mediator"

พล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตร

 

นับเป็นการชี้ชัด สถานะและบทบาทของประเทศเพื่อนบ้านต่อการพูดคุยเพื่อสันติภาพภายหลังคณะทำงานนำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เดินทางไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อซักซ้อมความเข้าใจทั้งหมด โดยเน้นประเด็นที่ว่าภายหลังจากที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยและทางการมาเลเซียได้ยกร่างหนังสือแสดงเจตจำนงการเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพ หรือ General Consensus on Peace Dialogue Process ร่วมกัน ระหว่างเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับ นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อกำหนดกรอบ กติกาและการนัดวันพูดคุย ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิด"มีความหวัง"รวมทั้งทิศทางจากผู้นำรัฐบาล ผู้นำกองทัพและภาคส่วนต่างๆทั้งในและนอกพื้นที่แสดงออกถึงความสนใจที่"เอาด้วย"กับการเข้าสู่กระบวนการดังกล่าว

ระหว่างขั้นตอนก่อนการเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพ เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลภายหลังการแสดงเจตจำนงการเข้าสู่กระบวนการสำคัญนี้ รวมทั้งการแต่งตั้งคณะทำงานพูดคุยสันติภาพโดยรัฐบาลแล้ว ประเด็นสำคัญอีกประการ คือ การกำหนดบทบาทที่ชัดเจนของแต่ละฝ่ายรวมทั้งการทำความเข้าใจศัพท์เฉพาะทาง(Technical Terms)ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facilitator(ผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดการพูดคุย) หรือ Mediator (ผู้เจรจาไกล่เกลี่ย) ซึ่งนับได้ว่าศัพท์เฉพาะด้านสันติภาพและการจัดการความขัดแย้งซึ่งได้ถูกนำมาหยิบใช้เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันและสร้างความชัดเจนแก่ทุกๆฝ่าย

ก่อนการเริ่ม "พูดคุยสันติภาพ" การเตรียมตัวที่สำคัญของทั้งฝ่ายรัฐ ฝ่ายตัวแทนก่อการ คนกลางหรือกลุ่มภาคประชาสังคมที่ติดตามปัญหาควรให้ความสำคัญ คือ การทำความเจ้าใจศัพท์แสงด้านสันติภาพและความขัดแย้ง เพื่อการเตรียมตัวและสร้างความเข้าใจเบื้องต้นต่อคำศัพท์เหล่านั้นให้ตรงกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งสามฝ่ายจะต้องเข้าใจและเห็นร่วมถึงความหมายของศัพท์พื้นฐานเหล่านี้ในทิศทางเดียวกัน เพระความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความสลับซับซ้อนระหว่างเหตุการณ์เฉพาะท้องถิ่นที่จำเป็นต้องใช้หลักวิชาในการแก้ปัญหาและเชื่อมโยงเข้ากับหลักศาสตร์สันติภาพสากล

ในการนี้จึงขอหยิบยก 10 ศัพท์บัญญัติด้าน สันติภาพและการจัดการความขัดแย้ง(พร้อมคำศัพท์เทียบเคียงในภาษามลายูกลาง) ที่ถูกระบุใน"glossary of key terms"(ศัพท์ที่เป็นกุญแจสำคัญ) ซึ่งได้รับการนิยามโดย School of Peace and Conflict Management แห่ง Royal Roads University ประเทศแคนาดา (ซึ่งเคยจัดการเรียนการสอนร่วมกับสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้าและสถาบันเครือข่าย) มาใช้เป็นตัวอย่างในการยกร่างการนิยามความหมายศัพท์เฉพาะดังกล่าว พร้อมทั้งการขยายความเนื้อหาสาระที่เชื่อมโยงกับบริบทความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเทศไทย

 

1. Peace Building การเสริมสร้างสันติภาพ (ภ.มลายูกลาง pembangunan, binaan/keamanan) คือ กระบวนการพื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ในการสร้างความสันตินั้นต้องการการยอมรับความแตกต่าง การขอโทษ และการให้อภัย ในการกระทำที่ไม่เหมาะสมหรือรุนแรงที่ผ่านมาและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทุกฝ่ายให้มาแทนที่ความสัมพันธ์แบบศัตรูคู่แข่งขัน การเสริมสร้างสันติภาพ ต่างจากคำว่า Peacekeeping การรักษาสันติภาพ (ภ.มลายูกลาง menjaga, mengawal/ keamanan) ตรงที่ศัพท์คำหลังหมายถึง การป้องกันหรือการยุติความรุนแรงระหว่างประเทศ หรือภายในรัฐชาติ (nation-state) โดยมีบุคคลที่สาม/ฝ่ายที่สามจากภายนอกเข้ามาทำหน้าที่ เพื่อไม่ให้คู่ขัดแย้งมีการปะทะต่อสู้กัน การรักษาสันติภาพ (peacekeeping) แตกต่างจากการสร้างสันติภาพ (peacemaking) ที่เป็นการเจรจาต่อรองหาทางแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งหนึ่งๆ โดยจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการรักษาสันติภาพ คือการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีกเท่านั้น ในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ประเทศไทย เป็นการป้องกันและการพยายามที่จะยุติการใช้ความรุนแรงภายในประเทศ โดยมีทางการมาเลเซียเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายที่สามที่ไม่ใช้เจรจาต่อรอง หากแต่ใช้การพูดคุยปรึกษาหารือเพื่อการป้องกันไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก อันเป็นส่วนหนึ่งที่นับได้ว่าอยู่ในเงื่อนไขของการรักษาสันติภาพ

 

2. Negotiation การเจรจาต่อรอง (ภ.มลายูกลาง Perundingan) สามารถกล่าวได้ว่า การเจรจาต่อรอง เป็นรูปแบบพื้นฐานของการแก้ปัญหาข้อพิพาท ในการเจรจา จำเป็นต้องมี คู่กรณีเข้ามาร่วมกันในการพิจารณาถึง ความสนใจ (interests) และความต้องการ (needs) ของพวกเขา และร่วมมือกันในการหาทางแก้ปัญหาที่เป็นไปได้และให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดต่อทุกฝ่าย การเจรจาต่อรองสามารถสำเร็จลุล่วงได้เพราะความร่วมมือ ดังเช่นในหลักการเจรจาต่อรอง (principled negotiation) อีกทั้งยังสามารถเป็นไปในรูปแบบของการแข่งขันดังเช่นในการจำแนกเนื้อหาสาระของการเจรจาต่อรอง(distributive bargaining) การเจราต่อรองเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จำเป็นอย่างขาดไม่ได้ในกระบวนการสร้างสันติภาพ เช่นเดียวกับการพูดคุยสันติภาพระหว่างทางการไทยและตัวแทนกลุ่มขบวนการผู้ก่อการในชายแดนใต้ประเทศไทย

 

3. Third Party ฝ่ายที่สาม (ภ.มลายูกลาง pihak ketiga.) คือ บุคคลหนึ่งซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวพันกับความขัดแย้ง และพยายามที่จะช่วยให้คู่ขัดแย้งสามารถหาทางแก้ไขปัญหา  หรืออย่างน้อยที่สุดก็ช่วยให้สถานการณ์ความขัดแย้งทุเลาลง เช่น คู่ขัดแย้งมีการพูดคุยกันในทางที่ดีขึ้น หรือมีความเข้าใจที่ตรงกันมากขึ้น  บทบาทตัวอย่างของฝ่ายที่สาม ได้แก่ ผู้ไกล่เกลี่ย (mediators) อนุญาโตตุลาการ (arbitrators) ผู้ส่งเสริมการประนีประนอม(conciliators) และผู้อำนวยความสะดวก(facilitators) ในการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับตัวแทนฝ่ายขบวนการปลายเดือนมีนาคมนี้ ฝ่ายที่ทำงานในบทบาทนี้คือ ทางการมาเลเซีย

 

4. Positions จุดยืน/ตำแหน่ง (ภ.มลายูกลาง kedudukan, posisi) คือ สิ่งที่ผู้คน/แต่ละฝ่ายบอกว่าพวกเขาต้องการอะไร  ซึ่งก็คือความต้องการคร่าวๆที่พวกเขาต้องการจากฝ่ายตรงข้ามนั่นเอง ผู้ที่จำแนกความแตกต่างระหว่าง ความสนใจเฉพาะ(interests)กับ จุดยืน/ตำแหน่ง (positions) เช่น นักวิชาการด้านการจัดการความขัดแย้งอย่าง Fisher และ Ury สรุปไว้ว่า "จุดยืน/ตำแหน่ง" เป็นสิ่งที่ผู้คนได้ทำการตัดสินใจเลือก ในขณะที่ "ความสนใจเฉพาะ" เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้พวกเขาเลือกเช่นนั้น บ่อยครั้งที่จุดยืน/ตำแหน่งของคู่กรณีมีความขัดแย้งกัน แม้ว่าจริงๆแล้วแต่ละฝ่ายมีความสนใจเฉพาะที่เหมือนกัน  ในกรณีปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ประเด็นนี้สำคัญมาก แม้ทั้งสองฝ่ายจะแสดง "สิ่งพวกเขาต้องการจากฝ่ายตรงข้าม"ออกมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังนับว่าเป็นการเผยท่าทีเบื้องต้น  ซึ่งเมื่อเกิดการพูดคุยกันแล้วจุดยืน/ตำแหน่ง อาจขยับเขยื้อนได้บ้างตามกรอบกติกาและความเป็นไปได้ของแต่ละฝ่าย เป้าหมายของการพูดคุยสันติภาพในครั้งนี้คงต้องแสวงหาและเผยออกถึง จุดยืน/ตำแหน่งของทั้งสองฝ่าย ทั้งทางการไทยและฝ่ายขบวนการ ซึ่งฝ่ายหลังอาจมีความแตกต่างหลากหลายตามเป้าหมายของ(แต่ละ)กลุ่มขบวนการของตน(รวมถึงฝ่ายอำนวยความสะดวกอย่างมาเลเซียก็จำเป็นที่จะต้องเปิดเผยจุดยืน/ตำแหน่งให้ชัดเจน) แต่การพูดคุยอย่างเป็นกระบวนการเป็นขั้นเป็นตอนจะส่งผลให้ทุกฝ่ายสามารถกำหนดจุดยืน/ตำแหน่ง ใหม่ ที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาและความเป็นจริงของสังคมที่เปลี่ยนไป และอาจเกิดการน้าวโน้ม การสร้างการยอมรับหรือปฏิเสธในสิ่งที่แต่ละฝ่ายคาดหวังและต้องการการตอบสนองจากฝ่ายตรงข้าม

 

5. Mediation การไกล่เกลี่ย (ภ.มลายูกลาง pengantaraan) คือ การที่บุคคลที่สามเข้าไปมีส่วนในการแทรกแซง (intervention) คู่กรณีในการเจรจาหาข้อตกลงหนึ่งๆ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่คู่กรณีมีทางเลือกที่จะยอมรับหรือไม่ก็ได้ ในบางกรณี ผู้ไกล่เกลี่ย mediators (ภ.มลายูกลาง pengantara) ทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาในรูปแบบของการเจรจาหาข้อตกลงให้แก่คู่พิพาทที่กำลังมีข้อพิพาทกันอยู่ ในกรณีอื่นๆ การไกล่เกลี่ยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาความสัมพันธ์เพราะคาดว่าหากความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีดีขึ้น อาจนำไปสู่ทางออกของข้อขัดแย้ง หรือการเผชิญหน้าอย่างสร้างสรรค์ ในกรณีการพูดคุยสันติภาพในวันที่ 28 มี.ค.นี้ ยังไม่ใช่ขั้นของการไกล่เกลี่ยเพราะยังเป็นช่วงของการเริ่มต้นพูดคุยอย่างเป็นทางการ ไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะต่อรอง หรือหาข้อตกลงแต่ยังอยู่ในขั้นการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณี

 

6. Facilitation การอำนวยความสะดวก (ภ.มลายูกลาง Fasilitasi, pemudahan) การอำนวยความสะดวก เป็นหน้าที่ของบุคคลที่สาม ในการช่วยให้คู่กรณีได้พบปะพูดคุย ผู้อำนวยความสะดวก(facilitor) จะช่วยคู่กรณีในการกำหนดกติการ่วมพื้นฐานที่บังคับใช้ต่อทุกฝ่าย และระเบียบวาระการประชุมในแต่ละครั้ง ช่วยให้คู่กรณีทุกฝ่ายได้รับข่าวสารตลอดเวลาและดำเนินการค้นหาเป้าหมายของแต่ละฝ่ายที่ตรงกัน ผู้อำนวยความสะดวก 'facilitor' อาจคล้ายคลึงกับผู้ไกล่เกลี่ย 'mediator' ในเรื่องของการมีส่วนช่วยเหลือในการหาทางแก้ไขปัญหา แต่ข้อยุติจากการหาทางออก(resolution) ไม่ใช่จุดมุ่งหมายหลักของผู้อำนวยความสะดวก ในกรณีนี้ตรงกับบทบาทและหน้าที่ของทางการมาเลเซียที่ต่อมีการพูดคุยสันติภาพในครั้งนี้

 

7. Identity  อัตลักษณ์ (ภ.มลายูกลาง identiti) หมายถึง รูปแบบที่ผู้คนยึดถือด้วยตัวเขาเอง เช่น ความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งในหมู่เหล่าต่างๆ หรือจุดยืนของตนที่ผู้คนใช้เพื่ออธิบายความเป็นตัวตนให้ผู้อื่นรับรู้ ประเด็นนี้ชัดเจนในกรณีปัญหาชายแดนใต้ ส่วนหนึ่งของปัญหาเป็นเรื่องการกดทับและบังคับให้เป็นระหว่างเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่แตกต่างและหลายประเด็นขัดกับอัตลักษณ์ของชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ ส่วนความขัดแย้งด้านอัตลักษณ์ Identity Conflict (ภ.มลายูกลาง konflik identity) คือ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเมื่อบุคคลหนึ่งหรือคนกลุ่มหนึ่งมีความรู้สึกว่า ความเป็นตัวตนของพวกเขา 'sense of self' ถูกคุกคาม ไม่ได้รับความชอบธรรม หรือไม่ได้รับความเคารพ ชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รู้สึกถึงการไม่เป็นที่ยอมรับตัวตน อัตลักษณ์และรูปแบบการดำเนินชีวิตที่มีลักษณะและระบบคุณค่าในแบบเฉพาะจากรัฐไทยที่ปกครองคนในพื้นที่

 

8. Problem Solving การแก้ไขปัญหา (ภ.มลายูกลาง penyelesaian masalah) การแก้ไขปัญหาในบางครั้งหมายถึง การ วิเคราะห์ปัญหาเพื่อนำสู่การแก้ไข โดยผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อหาทางวิเคราะห์และแก้ไขความขัดแย้งที่มุ่งเน้นไปที่การระบุและจัดหาการตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์(the underlying human needs) ในสถานการณ์อื่นๆ การแก้ไขปัญหาหมายถึง วิธีการเข้าหาการไกล่เกลี่ยที่มุ่งความสนใจไปที่การแก้ไขความขัดแย้ง  ซึ่งการปรับปรุงความสัมพันธ์ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งจะเป็นส่วนสำคัญของการแก้ไขปัญหา นิยามความหมายของคำว่า Problem solving ในภาษามลายูกลาง คือ "Kaedah dan proses yang dilakukan untuk menyelesaikan masalah yang dihadapi" หมายถึง "วิธีการและกระบวนการ สำหรับใช้ในการแก้ไข/คลี่คลายปัญหาที่ต้องเผชิญอยู่ข้างหน้า"

 

9. Reconciliation ความสมานฉันท์ (ภ.มลายูกลาง  berdamai) คือ การปรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือกลุ่มคนหนึ่งๆให้อยู่ในรูปแบบปกติ  John Paul Lederach นักวิชาการคนสำคัญด้านการสร้างสันติภาพกล่าวไว้ว่า ความสมานฉันท์ เกี่ยวพันกันสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆกัน 4 อย่างคือ การหาความจริง ความยุติธรรม สันติภาพและความเมตตา เมื่อปัจจัย 4 ประการนี้มารวมกันความสมานฉันท์ก็จะสามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ ในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศัพท์คำนี้ถูกใช้บ่อยครั้ง ใช้ตั้งชื่อ "คณะกรรมการอิสระ" ในสมัยรัฐบาลอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร แม้คณะกรรมการชุดดังกล่าวมีรายงานที่เป็นข้อเสนอแก่รัฐบาลและกองทัพหลายประการ แต่ไม่เป็นผลในทางปฏิบัติมากนัก แม้คำศัพท์คำนี้จะสร้างความชาชินผู้คนในพื้นที่แก่ผู้ติดตามข่าวปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้ แต่ยังเป็นคำศัพท์ที่ไม่ควรถูกละเลย เพราะหากบรรลุผลทั้ง 4 ปัจจัยของคำๆนี้แล้วความสันติสุขย่อมมีโอกาสกลับคืนมาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

10. World View  มุมมอง/โลกทัศน์ (ภ.มลายูกลาง pandangan dunia.) คือ ภาพลักษณ์พื้นฐานของโลกในมุมมองของบุคคลหนึ่งๆ หรือ ความเชื่อหลักของบุคคลหนึ่งเกี่ยวกับลักษณะของสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เขาอยู่ มุมมอง/โลกทัศน์ ยังเกี่ยวพันถึงคุณค่าพื้นฐาน (fundamental values) ของบุคคลหนึ่งๆเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับ ความรู้สึกถึงตัวตน/อัตลักษณ์ของบุคคล (person sense of identity) เนื่องจากมนุษย์เชื่อว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มของตัวเอง ไม่ใช่กลุ่มอื่น เป็นส่วนหนึ่งของการมีบทบาทเฉพาะในสังคมดังกล่าวและมีความสัมพันธ์แบบเฉพาะกับสมาชิกในกลุ่มนั้น ภาพลักษณ์ของบุคคลหนึ่งเป็นผลมาจากมุมมองของบุคคลนั้นที่มีต่อโลกและภาพลักษณ์ของเขาจะออกมาเป็นเช่นไรนั้นสัมพันธ์กับสมาชิกคนอื่นๆในสังคมที่เขาอาศัยอยู่ ในประเด็นนี้สำคัญมากทั้งสำหรับคณะผู้เจรจาฝ่ายไทยเพราะมีมุมมองการพูดคุยหรือการเจรจาบนฐานของกฎหมาย รัฐธรรมนูญและกรอบอธิปไตยมีภาพลักษณ์ความเป็นรัฐชาติที่เป็นทางการกำกับ แต่ฝ่ายขบวนการปาตานีมีภาพลักษณ์ของหน่วยจรยุทธ์ใต้ดินมีมุมมองทั้งประวัติศาสตร์ ดินแดนและอัตลักษณ์ เป็นเครื่องมือต่อรองที่สำคัญในการสร้างความชอบธรรมในการบรรลุเป้าหมายการพูดคุยสันติภาพ

 

11. Political context บริบททางการเมือง (ภ.มลายูกลาง konteks politik) คือ สถานการณ์ที่ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ของความขัดแย้ง ถูกกระทบโดยระบอบทางการเมืองหรือโครงสร้างการตัดสินใจของชุมชน ท้องถิ่น หรือเชื้อชาติที่มีความขัดแย้งหรือไม่อย่างไร ใครเป็นผู้กุมอำนาจในการเมือง ในชุมชนหรือสังคมดังกล่าว การลงมติหรือการหาทางออกจากความขัดแย้งในรูปแบบต่างๆนั้น เป็นไปอย่างประชาธิปไตยหรือเผด็จการหรือไม่อย่างไร หากมองประเด็นนี้บริบททางการเมืองในกรณีปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การใช้อำนาจทางการเมืองฝ่ายรัฐในกรณีที่ส่งผลต่อความขัดแย้งในพื้นที่ ครอบคลุมถึงการใช้อำนาจทางการเมือง อำนาจทางการเงิน ทางการทหารในการใช้สรรพกำลังและการชี้ขาดปัญหาทั้งทางด้านการเมืองและปกครอง โดยมีโครงสร้างการตัดสินใจที่รวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง หรือที่นักข่าวต่างชาติเรียกว่า "รัฐบาลกรุงเทพฯ" บริบททางการเมืองในพื้นที่เป็นผลมาจากการใช้อำนาจในการบังคับใช้ ออกกฎหมายพิเศษควบคุมจากรัฐส่วนกลาง การเลือกใช้กฎหมายชนิดต่างๆ และการใช้ระบบรัฐสภาเพื่อร่วมตัดสินใจหาทางออกที่ควรจะเป็นจากความขัดแย้ง รวมทั้งปัญหาที่มาจากการถือครองทรัพยากร บุคลากร กลไกและงบประมาณด้านการพัฒนาในพื้นที่

 

12. Social Context บริบททางสังคม (ภ.มลายูกลาง . konteks sosial) หมายถึง ความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีอยู่ภายในกลุ่มบุคคลหนึ่งๆที่กำลังอยู่ในภาวะของความขัดแย้ง ตัวอย่างเช่น กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจทางสังคมหรือทางการเงินเหนือกว่าหรือไม่  ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งประสบความสำเร็จน้อยกว่า หรือเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับอีกฝ่ายหรือไม่ กรณีปัญหาชายแดนใต้บริบททางสังคมอาจพิจารณาได้ถึงความสัมพันธ์ทางสังคมที่ล้มเหลวที่ต่างฝ่ายเลือกใช้ความรุนแรงตอบโต้กัน ความไม่ไว้วางใจลดลงระหว่างกันหรืออาจหมายรวมถึงสภาพความหลากหลายของผู้คนในสังคมและวัฒนธรรม การเป็นอยู่ การทำมาหากิน การอพยพย้ายถิ่น การรวมกลุ่มของสตรีหรือภาคประชาสังคม รวมทั้งประเด็นผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

 

13. Brainstorming การระดมสมอง (ภ.มลายูกลาง pemerahan otak) คือ กระบวนการที่คู่พิพาทถูกระบุให้คิดหาวิธีต่างๆ เพื่อให้มีตัวเลือกในการเข้าถึงปัญหาหนึ่งๆ มากเท่าที่จะทำได้ คู่พิพาทจะได้รับการกระตุ้นให้คิดอย่างสร้างสรรค์และต่อยอดความคิด (ideas) ของกันและกัน ซึ่งจุดมุ่งหมายคือการได้มาซึ่งวิธีการใหม่ๆในการเข้าถึงปัญหา นอกเหนือจากวิธีการเดิมที่มีอยู่แล้ว

 

14. Consensus ฉันทามติ (ภ.มลายูกลาง sepersetujuan, konsensus,หรือ ijmak : คำหลังสุดมีรากศัพท์จาก ภ.อาหรับ) การหาข้อสรุปแบบ ฉันทามติ คือการที่ทุกคนมีความเห็นสอดคล้องกันในข้อสรุปหนึ่งๆ ไม่ใช่แค่เพียงเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยเหมือนแนวทางปฏิบัติเรื่องเสียงข้างมาก ในกระบวนการหาฉันทามติ สมาชิกทุกคนต้องร่วมกันสร้างข้อตกลงที่ดีพอ (ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบเสมอไป) และเป็นข้อตกลงที่ทุกคนยินดียอมรับพร้อมทั้งปฏิบัติตาม ฉันทามติเป็นผลในระหว่างการพูดคุยในแต่ละครั้งและเป็นผลปลายทางการพูดคุยที่สำคัญทั้งสำหรับทางการไทยและตัวแทนกลุ่มขบวนการผู้ก่อการ รวมทั้งฝ่ายอำนวยความสะดวกอย่างมาเลเซีย

 

15. Stakeholders ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (ภ.มลายูกลาง  pemegang taruh) คือ ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากข้อขัดแย้งหนึ่งๆ หรือข้อสรุปของข้อขัดแย้งนั้น ในที่นี้รวมไปถึงคู่กรณีที่กำลังมีความขัดแย้งกันอยู่ในขณะนั้น และผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งดังกล่าวโดยตรง แต่อาจจะเข้ามามีส่วนร่วมเพราะพวกเขาจะได้รับผลกระทบจากผลลัพธ์ของความขัดแย้งที่จะมีขึ้นในอนาคต ในกรณีนี้หลายฝ่ายมองว่าบทบาทนี้หมายถึง ประเทศมาเลเซียเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นมุมมองที่แคบไป ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกรณีปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจครอบคลุมถึงประชาชนในพื้นที่ ประชาชนชาวไทยและมาเลเซียโดยรวม รวมทั้งสมาชิกของประเทศในกลุ่มอาเซียนทั้งภูมิภาค ย่อมได้ประโยชน์เช่นเดียวกันหากการพูดคุยสันติภาพ บรรลุผลเกิดการหยุดการใช้ความรุนแรง การพัฒนาที่มุ่งสู่สันติภาพอันจะส่งผลดีแก่ทุกฝ่าย

 

16. Values คุณค่า (ภ.มลายูกลาง nilai.) คือ แนวคิดที่ผู้คนมีอยู่ เกี่ยวกับเรื่องการแยกแยะดีชั่ว และสิ่งต่างควรจะเป็นไปในรูปแบบใดจึงเรียกได้ว่าเหมาะสม ผู้คนมีคุณค่าในเรื่องของความสัมพันธ์ในครอบครัว เช่น บทบทของสามีที่ให้เกียรติภรรยา ในเรื่องของความสัมพันธ์ในที่ทำงาน เช่น แนวทางที่นายจ้างควรปฏิบัติต่อลูกจ้าง และ ในเรื่องของความสัมพันธ์ส่วนบุคคล เช่น แนวทางที่เด็กควรจะปฏิบัติตนต่อผู้อาวุโส หรือ มนุษย์กับการนับถือศาสนา ในกรณีปัญหาชายแดนใต้แนวคิดเรื่องระบบคุณค่าของคนในพื้นที่มีรากฐานจากศาสนา อัตลักษณ์มลายูและประวัติศาสตร์ปาตานี ซึ่งเป็นแนวคิดที่มักขัดกับแนวคิด แนวปฏิบัติหลักของรัฐที่พยายามชูเรื่อง "ความเป็นไทย"ที่มีลักษณะเฉพาะและยึดประเพณีในศาสนาพุทธเป็นหลักทั้งในพิธีกรรมรัฐ การปกครองและระบบราชการ

 

17. Deadlines, กำหนดเวลาสิ้นสุด (ภ.มลายูกลาง Tarikh Akhir ) การกำหนด 'deadlines' และบทลงโทษของผู้ที่ไม่สามารถทำบางสิ่งบางอย่างสำเร็จภายในกำหนด สามารถช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่คู่กรณี ว่าการสรรหาข้อตกลงหนึ่งๆจะสำเร็จลุล่วง การกำหนด 'deadlines' ยังสามารถลดความเสี่ยงเรื่องคู่กรณีไม่ที่ซื่อสัตย์ทำการขัดขวางข้อตกลงที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่าย 'deadlines' ในกระบวนการเจรจาต่อรองช่วยสร้างความมั่นใจวาคู่กรณีฝ่ายใดที่ต้องการคงไว้ซึ่ง สถานะเดิม (status quo) ไม่สามารถยืดเวลาการเจรจาออกไปได้อย่างไม่มีกำหนด เมื่อคู่กรณีที่ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันยินดีที่จะแสดงความรับผิดชอบ ก็มีทางเป็นได้ที่จะออกแบบทางแก้ปัญหาตามที่มีข้อตกลงกันไว้ว่าขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของอีกฝ่าย การแสดงความรับผิดชอบยังสามารถนำไปสู่ความสำเร็จของข้อตกลงหนึ่งๆอีกด้วย การมีกำหนดเวลาสิ้นสุด เป็นเครื่องมือที่แสดงการให้โอกาสและการแสวงหาเส้นความเด็ดขาดที่สำคัญ ทั้งสำหรับทางการไทยและฝ่ายก่อการ เพราะเกี่ยวข้องกับการค้ำประกันผลที่ควรเกิดขึ้นการพูดคุย และเพื่อให้สิ่งที่ตกลงกันมีผลในทางปฏิบัติตามตามข้อตกลงและมีผลในการบังคับใช้ร่วมกัน เพื่อให้กระบวนการพัฒนาสันติภาพไปข้างหน้าได้

 

18. Conciliation การประนีประนอม (ภ.มลายูกลาง pendamaian) เกี่ยวเนื่องกับความพยายามของบุคคลที่สามในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างคู่พิพาทให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น การประนีประนอมนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หรืออยู่เดี่ยวๆก็ได้ (independently) โดยปกติแล้ว บุคคลที่สามจะเป็นผู้ทำหน้าที่แก้ไขข้อเข้าใจผิด ลดความหวาดกลัวและความไม่ไว้วางใจกันระหว่างคู่พิพาท ในบางครั้งการประนีประนอมเพียงอย่างเดียวก็สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ หรืออย่างน้อยก็เป็นการปูทางไปสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยขั้นต่อไป ซึ่งการประนีประนอมนี้สำคัญทั้งสำหรับทางการไทยและฝ่ายขบวนการ

 

19. Impartiality ความเป็นกลาง (ภ.มลายูกลาง adil, saksama, tidak berat sebelah คำแรกมีรากศัพย์มาจากภาษาอาหรับ) ในที่นี้หมายถึง ทัศนคติของบุคคลที่สาม 'a impartial third party' จะต้องไม่เลือกเข้าข้างใดข้างหนึ่ง แต่ต้องเข้าหาและทำความรู้จักคุ้นเคยกับคู่กรณีทุกฝ่ายอย่าเท่าเทียมกัน ในทางปฏิบัติแม้ว่าบุคคลที่สามจะสามารถปฏิบัติต่อทุกฝ่ายได้อย่าเท่าเทียม แต่ก็ถือเป็นเรื่องยากที่บุคคลผู้นั้นจะสามารถให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่ายถ้าบุคคลผู้นั้นมีความโน้มเอียงไปยังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือโน้มเอียงไปทางเหตุผลของฝ่ายหนึ่งมากกว่าอีกฝ่าย ประเด็นความเป็นกลางนี้สำคัญมากสำหรับทางการมาเลเซียที่อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพในทุกครั้งนับจากนี้

 

20.  Dialogue การสานเสวนา (ภ.มลายูกลาง percakapan, dialog) คือ กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับความเชื่อ ความรู้สึกนึกคิด ความสนใจและความต้องการระหว่างกลุ่มคน ในรูปแบบที่เป็นมิตรและเปิดกว้าง โดยปกติแล้วจะมีบุคคลที่สามทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ การสานเสวนาแตกต่างจากการไกล่เกลี่ย (mediation) ซึ่งมีเป้าหมายคือการได้มาซึ่งข้อสรุปหรือทางแก้ไขปัญหาของข้อพิพาทหนึ่งๆ ในขณะที่จุดมุ่งหมายของการสานเสวนาเพียงแค่ต้องการเสริมสร้างความเข้าใจและความไว้วางใจระหว่างบุคคลเท่านั้นในกรณีปัญหาจังหวัดชานแดนใต้กระบวนการนี้เครื่องมือสำคัญที่ถูกหยิบใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งแวดวงวิชาการ ภาคราชการและภาคประชาคม ที่ใช้การสานเสวนาระหว่างเพื่อนต่างศาสนิก ระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ ระหว่างนักการเมืองกับชาวบ้าน อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เน้นการรับฟังซึ่งกันและกัน อันจะนำสู่การเปิดใจละสร้างการยอมรับระหว่างกัน

 

21. Human needs ความต้องการของมนุษย์ (ภ.มลายูกลาง keperluan manusia) คือ สิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการ เพื่อการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการในสภาวะที่ปกติ Abraham Maslow นักจิตวิทยาคนสำคัญ ได้ให้ความหมายไว้ว่า ความต้องการของมนุษย์ เป็นสิ่งที่เหนือกว่าความต้องการที่แสดงออกทางกายภาพ อันได้แก่ ความต้องการอาหารและที่อยู่อาศัย เพราะความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ครอบคลุมถึงความต้องการทางด้านจิตใจ เช่น ความมั่นคงปลอดภัย ความรัก อัตลักษณ์ ศักดิ์ศรี และความสามารถในการบรรลุเป้าหมาย นักทฤษฎีทางด้านความขัดแย้งบางท่านเสนอทฤษฎีเกี่ยวกับ 'human needs' ไว้ว่า ความขัดแย้งที่มีความซับซ้อนและรุนแรงที่สุด คือความขัดแย้งทางด้านเชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์ เกิดจากการปฏิเสธใน ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ อาทิ อัตลักษณ์ ความมั่นคงปลอดภัย และการเป็นที่ยอมรับ ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่าย ในการที่จะแก้ไขความขัดแย้งดังกล่าวจะต้องคิดหาทางเพื่อตอบสนองความต้องการของทุกฝ่าย โดยปราศจากการประนีประนอม ดังคำกล่าวที่ว่า "human needs are not for trading" "ความต้องการของมนุษย์ไม่ได้มีไว้สำหรับการซื้อขาย"

 

22. Interests ความสนใจแบบเฉพาะเจาะจง (ภ.มลายูกลาง kepentingan) คือ ความต้องการและความกังวลอันเด่นชัด ที่กระตุ้นผู้คนให้ระบุในจุดยืน(position) คือสิ่งที่คู่ขัดแย้งระบุว่าเขาต้องการเช่น "ฉันต้องการจะสร้างบ้านตรงนี้" ความสนใจแบบเฉพาะเจาะจง คือเหตุผลที่สนับสนุนว่าคนๆหนึ่งเลือกจุดยืนนั้น "เพราะว่าที่ตรงนี้เป็นจุดที่มีทัศนียภาพสวยงามจุดหนึ่งในเมืองนี้" บ่อยครั้งที่ความสนใจแบบเฉพาะเจาะจงของคู่ขัดแย้งแต่ละฝ่ายสามารถเข้ากันได้และสามารถเจรจาต่อรองได้ แม้ว่าความสนใจแบบเฉพาะเจาะจงของแต่ละฝ่ายจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงก็ตาม ความสนใจแบบเฉพาะเจาะจงของทางการไทยคือ ในเบื้องต้นต้องการการยุติการใช้ความรุนแรงทั้งรายวันและการสร้างสันติภาพระยะยาว รวมถึงร่วมค้นหารูปแบบปกครองท้องถิ่นที่เหมาะสมสำหรับชายแดนใต้ในกรอบรัฐธรรมนูญ สำหรับฝ่ายกลุ่มกระบวนอาจเปิดเผยชัดในประเด็นเฉพาะเจาะจง แต่อาจยังสงวนท่าที่ที่สามารถผ่อนปรน ซึ่งยังไม่ว่าจะมีทางออกเช่นไรก็ต้องพยายามน้าวโน้มการยอมรับและการเห็นด้วยจากทางการไทยด้วยเช่นกัน

 

23. Goal Clarification เป้าหมายที่ชัดเจน (ภ.มลายูกลาง Matlamat yang Penjelasan การประสบความสำเร็จในการจัดการความขัดแย้งหนึ่งๆ ถือเป็นเรื่องยาก ถ้าหากบุคคลในความขัดแย้งเหล่านั้นไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับเป้าหมายของเขาตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม เพราะฉะนั้นขึ้นตอนแรกสุดในการเผชิญหน้าอย่างสร้างสรรค์ คือ การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนของแต่ละฝ่ายเพื่อสรุปว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไรและวิธีไหนคือทางแก้ปัญหาที่เหมาะสม ในประเด็นนี้ชัดเจนว่าทางการไทยใช้การต่อรอง เจรจาพูดคุยสันติภาพตามกรอบของรัฐธรรมนูญไทย หากแต่ฝ่ายกลุ่มขบวนการอาจมีความแตกต่างหลากหลายในการพูดคุย ทั้งกลุ่มที่ต้องการเอกราช การปกครองตนเองหรือการปกครองในรูปแบบพิเศษที่เป็นที่ยอมรับหรือทางการไทยเห็นว่าเหมาะสม

 

24. Amnesty นิรโทษกรรม (ภ.มลายูกลาง pengampunan) คือ การอภัยโทษแก่ผู้เคยกระทำความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกระทำความผิดทางการเมือง เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชนและอาชญากรสงคราม การนิรโทษกรรมเป็นอีกทางออกหนึ่งของปลายทางการพูดคุยสันติภาพที่ทางการไทยสามารถหยิบมาใช้ในกรณีที่ฝ่ายกลุ่มขบวนการให้ความร่วมมือ ซึ่งทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถเบาบางอดีตที่ทั้งสองฝ่ายเคยกระทำผิดต่อการโดยเป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมการเดินหน้าสู่อนาคตร่วมกัน

 

 

สรุป

สำหรับวันที่ 28 มี.ค.นี้ การจะเรียกว่า "การพูดคุยสันติภาพ" หรือเรียกว่า "การเจรจา" เพียงแค่สองคำนี้ก็ต่างทั้งวิธีการ ขั้นตอน เนื้อหา สาระ รวมถึงเป้าหมายและผลที่คาดหวังของแต่ละฝ่าย ที่สำคัญทั้งสามฝ่ายยังต้องรักษาความไว้วางใจระหว่างกันในการหาทางออกต่อปัญหาความขัดแย้งที่มีอีกหลายๆฝ่ายในวงนอกที่คอยตามผลความก้าวหน้า ก้าวอยู่กับที่หรือความถดถอยซึ่งเป็นไปได้ทั้งสามทาง อีกทั้งยังมีกองเชียร์ ฝ่ายคัดค้านและผู้ติดตาม ทั้งนักการเมืองและประชาชนทั้งที่สนับสนุนและเป็นกังวล หรือที่อยู่ข้างใดข้างหนึ่งของฝ่ายคู่ขัดแย้งที่คอยติดตามผลพูดคุยที่จะตามมา การทำความเข้าใจเบื้องต้นในการใช้ชื่อเรียกหรือศัพท์แสงด้านสันติภาพและความขัดแย้งจึงสำคัญ เพราะด้วยการพูดคุยหรือเจรจาในภาษาและศัพท์ที่เขาเข้าใจ และเรากับเขาเข้าใจตรงกันในเนื้อหาสาระ จึงจะบรรลุผล จะด้วยภาษาไทยภาษามลายูหรือภาษากลางอย่างภาษาอังกฤษ หากจำเป็นต้องเลือกใช้ศัพท์เทคนิคเฉพาะที่มาจากภาษาอังกฤษแล้วควรอย่างยิ่งที่ทั้งสองฝ่ายและทางการมาเลเซียที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกต้องเข้าใจนิยามความหมายที่ตรงกันทั้งหมด

แต่อาจเป็นได้ที่ศัพท์เทคนิคเฉพาะ (Technical Terms) บางคำอาจสร้างความไม่เข้าใจต่อเนื้อหาสาระทั้งหมด หรือสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนแก่กลุ่มขบวนการที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังผู้ก่อการ อีกทั้งในฝ่ายขบวนการเองก็ไม่แน่ชัดว่าจะสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ทางการไทยด้วยภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษได้ทั้งหมดหรือไม่ หรืออาจใช้หลายๆภาษาผสมกัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยสันติภาพหรือเจรจาในภาษาใดก็ตามประเด็นสำคัญคือต้องให้ทางการมาเลเซียเข้าใจด้วย ทั้งสามฝ่ายและผู้ติดตามวงนอกจึงจะมีความเข้าใจที่ตรงกัน ทั้งเนื้อหาและสาระของทางออกในระยะเบื้องต้นและทิศทางในระยะยาวของกระบวนการสันติภาพที่หลายฝ่ายคาดหวังจะให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลที่จะก่อให้เกิดแนวทาง(Road Map)สู่ความสันติสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น