โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ชำแหละวาทกรรม “ฮิตเลอร์มาจากการเลือกตั้ง” กับ วรเจตน์-โสรัจจ์

Posted: 21 Apr 2013 02:09 PM PDT

 

The Reading Room จัดเสวนา "การขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ : รัฐธรรมนูญ เจตจำนง ความชอบธรรม" โดยวิทยากรหลักคือ  รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และ รศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ดำเนินรายการโดย จิตติพร ฉายแสงมงคล  เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา

งานนี้ได้รับความสนใจจนล้นห้องสมุดในซอยสีลม 19 โดยเฉพาะจากบรรดาคนรุ่นใหม่ 'ประชาไท' เก็บความการบรรยายเกือบ 3 ชั่วโมงโดยสรุป โดยขอแบ่งเนื้อหาเป็น 5 ส่วนหลัก

1.เกริ่นนำภาพรวมพื้นฐานของสาธารัฐไวมาร์ / time line ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงการขึ้นสู่อำนาจอย่างเต็มตัวของฮิตเลอร์ (จิตติพร)

2.อธิบายรายละเอียดการเมืองเยอรมันตาม time line ดังกล่าว เพื่อให้เห็นการก่อกำเนิดของสาธารณรัฐไวมาร์ ดุลยภาพและโครงสร้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ฮิตเลอร์ก้าวขึ้นสู่อำนาจเบ็ดเสร็จ โดยเฉพาะบทบาทของศาล  รวมถึง 'โชคชะตา' ที่ทำให้ฮิตเลอร์ได้เก็บเกี่ยวดอกผลกลายเป็นที่นิยม (วรเจตน์)

3. ปัญหาเศรษฐกิจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของก้าวย่างของฮิตเลอร์ เป็นปัญหาซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อความนิยมในแนวคิดขวาจัด รวมทั้งการแตกกันเองของพรรคฝ่ายซ้าย (โสรัจจ์)

4.ปรากฏการณ์สำคัญหลังการขึ้นครองอำนาจของฮิตเลอร์ (วรเจตน์)

5.การเปรียบเทียบเส้นทางฮิตเลอร์สู่การตั้งศาลรัฐธรรมนูญคุมอำนาจนักการเมืองในเยอรมัน ไม่สามารถเปรียบเทียบกับไทยได้ดังที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็นไว้ (วรเจตน์)

 

1.

Time Line การขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ ดราม่าการเมืองของช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจ

โดย จิตติพร ฉายแสงมงคล


 

หัวข้อเสวนาในวันนี้ตรงกับครบรอบ 80 ปีของการขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ ในปี ค.ศ. 1933 ที่มาของการเสวนาในครั้งนี้ก็คือ วาทกรรมได้รับการกล่าวอ้างและเผยแพร่ในสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวางในช่วงหลายปี ที่ผ่านมาว่า "ฮิตเลอร์มาจากการเลือกตั้ง" และ "ฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจโดยเจตจำนงประชาชนผ่านการลงประชามติในระบอบประชาธิปไตย" เราอยากจะมาคุยกันว่าชุดความคิดดังกล่าวมีความถูกต้องหรือไม่ หรือเป็นการตีความบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มากน้อยเพียงไร

ก่อนอื่นขอเท้าความถึงบริบททางประวัติศาสตร์คร่าวๆ
 


คลิ๊กดูภาพใหญ่


หลังจากพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1918-1919 เยอรมนีเปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐที่เรียกกันว่า สาธารณรัฐไวมาร์ (Weimarer Republik) สังคมช่วงนั้นเต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างฝ่ายซ้ายจัด ที่อยากให้เยอรมันเป็นแบบโซเวียตรัสเซียกับฝ่ายขวาจัดที่อยากกลับไปปกครองแบบเดิม ไหนจะต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร  และเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอีก ถึงกระนั้นรัฐบาลผสมนำโดยฝ่ายสังคมนิยมประชาธิปไตยก็ประคับประคองตัวมาได้

การขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์จะถือเริ่มเมื่อใด ในที่นี้ขอกำหนดจุดเริ่มต้นที่วิกฤตเศรษฐกิจโลก (Great Depression) เมื่อปลายปี 1929 ที่ทำให้ปัญหาต่างๆ ในสาธารณรัฐไวมาร์เพิ่มมากขึ้น รัฐบาลผสมตอนนั้นนำโดยพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยแห่งเยอรมนี (SPD) มีเสียงข้างมากในสภาเจอวิกฤตจนต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่ พรรคนาซีของฮิตเลอร์มีคะแนนเสียงในสภานี้แค่ 2.6% เท่านั้น หลังจากการเลือกตั้งสภาเยอรมันเดือนกันยายน 1930 พรรคนาซีได้คะแนนมากขึ้น เป็น 18.3% แต่ SPD ตั้งสามารถรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้
 


กราฟแสดงสัดส่วนเสียงของพรรคต่างๆในเยอรมัน 1920 - 1933
(ที่มา http://www.educationforum.co.uk/weimarrebellions.htm)


2 ปีต่อมาฮิตเลอร์ลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนเมษายน 1932 ได้คะแนนมามากพอสมควรแต่ยังแพ้ฮินเดนบวร์ก (Paul von Hindenburg) ผู้สมัครอิสระ ช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีนี้กองกำลัง SA (Sturmabteilung) และ SS (Schutzstaffel) ของฮิตเลอร์ไปก่อกวนการเลือกตั้งไว้มากจึงถูกสั่งห้ามหลังจากการเลือกตั้ง สิ้นสุดลงดูเหมือนครานี้สาธารณรัฐไวมาร์จะรอดพ้นจากเงื้อมมือฮิตเลอร์ไปได้ แต่ไม่วายเคราะห์ซ้ำกรรมซัดเพราะเกิดวิกฤติรัฐบาลอีก 2 เดือนต่อมาประธานาธิบดีฮินเดนบวร์กได้ตั้งนายกคนใหม่ที่ยอมให้ SS และ SA กลับมาปฏิบัติการอีกครั้งพร้อมทั้งให้ยุบสภาและสั่งเลือกตั้งใหม่ ในเดือนมิถุนาปีเดียวกัน ที่นี้พรรคนาซีได้คะแนนเพิ่มเป็น 37.3% แต่หลังการเลือกตั้งดูเหมือนว่าพรรคทั้งหลายจะตกลงกันไม่ได้ว่าจะตั้งรัฐบาลอย่างไร เพราะไม่มีใครกล้าจะไปยุ่งทั้งกับพรรคนาซีและพรรคคอมมิวนิสต์ มีการเลือกตั้งอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน คราวนี้คะแนนของพรรคนาซีลดลงเล็กน้อยแทนที่จะได้เสียงข้างมากเด็ดขาดอย่างที่หวังกันไว้ ทำให้การตั้งรัฐบาลเป็นไปด้วยความยากลำบากเหมือนเดิม

Franz von Papen นายกในตอนนั้นเสนอให้เลือกตั้งใหม่อีกเป็นรอบที่สามโดยให้เขาบริหารประเทศ โดยไม่มีสภาไปพลางๆ ก่อน Kurt von Schleicher รมต.กลาโหมในขณะนั้นเกรงว่าจะเกิดสงครามกลางเมืองจึงได้เสนอประธานาธิบดีฮิ นเดนบวร์ก ว่า เขาจะรับเป็นคนช่วยจัดตั้งรัฐบาลเองซึ่งฮินเดนบวร์กก็เห็นด้วยกับแผนของ Schleicher คือการทำให้พรรคนาซีแตกแยกกันโดย Schleicher จะไปคุยกับ Strasser คู่แข่งคนสำคัญของฮิตเลอร์ในพรรคนาซี แต่ Strasser โดนริบอำนาจเสียก่อน แผนทั้งหมดของ Schleicher จึงต้องเป็นอันพับไป ซ้ำร้าย Papen ก็แอบไปคุยกับฮิตเลอร์ลับหลัง Schleicher เสียอีก ฮิตเลอร์ที่ตอนแรกอยากได้อำนาจทั้งหมดถ้าให้พรรคนาซีเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เริ่มกลัวว่าถ้าเล่นตัวมากไปคงไม่ได้ขึ้นมามีอำนาจสักทีก็เริ่มโอนอ่อนมากขึ้น ฮิตเลอร์ยอมรับข้อเสนอของ Papen ที่ตนเองเคยปฏิเสธไปโดยมีเงื่อนไขว่าฮิตเลอร์จะต้องได้เป็นนายก รัฐบาล Hitler-Papen จึงได้เกิดขึ้นโดยประธานาธิบดีฮินเดนบวร์ก แต่งตั้งให้ ฮิตเลอร์ขึ้นเป็นนานกรัฐมนตรี (Kanzler) เมื่อวันที่ 30 มกราคม 1933 โดยมี Papen เป็นรองนายก พรรคนาซีได้ที่นั่งรัฐมนตรีไปเพียงสามที่นั่ง

เมื่อฮิตเลอร์ได้เป็นนายกแล้วเกิดอะไรขึ้น? มีเลือกตั้งใหม่! ฮินเดนบวร์กสั่งยุบสภาวันที่ 1 กุมภาพันธ์และมีการเลือกตั้งใหม่ต้นเดือนมีนาคม ชะรอยโชคชะตาจะเข้าข้างฮิตเลอร์และพรรคนาซีเพราะในวันที่ 27กุมภาพันธ์เกิดเหตุเพลิงไหม้รัฐสภาเยอรมันเสียราบคาบฮิตเลอร์ฉวยโอกาสกล่าวโทษฝ่ายคอมมิวนิสต์ว่าเป็นผู้วางเพลิง และได้ประกาศใช้กฤษฎีกาเพลิงไหม้ไรช์สทักในวันถัดมา เป็นกฎที่มีเนื้อหาสาระเป็นการจำกัดสิทธิส่วนบุคคลของพลเมืองเยอรมันอย่างมากและใช้กำลังนั้นปราบปรามจับกุมผู้นำและนักการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์โดยมีผลบังคับใช้มาตลอดถึงปี 1945 หลังจากเลือกตั้งในวันที่ 5 มีนาคม 1933 พรรคนาซีได้คะแนนเสียงมากที่สุดแต่ไม่ก็ยังเกินครึ่ง จึงต้องตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคฝ่ายขวาเล็กๆ จนได้คะแนนเสียงเกินครึ่งมาหน่อยหนึ่ง ที่เด็ดก็คือ รัฐบาลผสมนำโดยพรรคนาซีประกาศถอนสิทธิ์สส.จากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนี จำนวน 81 คนออกจากสภาไรช์สทักในวันถัดมา

ต่อมาในวัน ที่ 23 มีนาคม 1933 รัฐสภาเยอรมนีก็ลงมติสองในสามผ่านกฎหมายที่ให้อำนาจเต็มแก่ฮิตเลอร์พร้อม ทั้งอนุญาตให้คณะรัฐมนตรีสามารถผ่านกฎหมายได้โดยไม่ต้องผ่านรัฐสภาเป็นเวลา 4 ปี (Ermächtigungsgesetz) โดยพรรคฝ่ายค้านสายกลางๆ ร่วมลงมติเห็นชอบด้วยจะมีก็แต่สมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตยแห่งเยอรมนีและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนีที่ยังไม่ถูกอุ้มไปเท่านั้นที่ลงคะแนนเสียงคัดค้าน ผลงานของพรรคนาซีหลังจากนั้นก็มีมากมายทั้งการคว่ำบาตรนักธุรกิจชาวยิวงาน เผาหนังสือ การสั่งห้ามพรรคการเมืองต่างๆ รวมถึงออกกฎหมายห้ามตั้งพรรคใหม่นอกจากนั้นก็มีการเลือกตั้งในเดือน พฤศจิกายน 1933 โดยมีพรรคนาซีเพียงพรรคเดียวอยู่บนบัตรเลือกตั้งแน่นอนพวกเขาชนะด้วยคะแนน เสียงล้นหลามและมีการลงประชามติว่าจะรับรองหรือไม่รับรองการตัดสินใจของ รัฐบาลเยอรมันในการถอนตัวออกจากความผูกพันตามสนธิสัญญาแวร์ซายส์ที่จำกัด กำลังทหารของเยอรมันโดยได้รับคะแนนรับรองหรือเห็นชอบด้วยคะแนนสูงถึงร้อยละ 95

หลังจากที่ ฮิตเลอร์ได้คิดบัญชีกับศัตรูเก่าๆหลายคนในเดือนมิถุนายน 1934 ด้วยเหตุการณ์กบฏ Röhm แล้ว โอกาสของเขาก็ได้เข้ามาอีกครั้งเมื่อประธานาธิบดีฮินเดนบวร์กเสียชีวิตลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 1934 รัฐบาลของฮิตเลอร์เสนอให้มีการลงประชามติเห็นชอบกับการเข้าสู่อำนาจของฮิตเลอร์อันมีผลรับรองให้เขามีฐานะเป็นผู้นำสูงสุดตามกฎหมายในทุกฐานะตั้งแต่ฐานะนายกรัฐมนตรีและฐานะประธานาธิบดีพร้อมกันไป ในวันที่ 19 สิงหาคม 1934 โดยมีผู้มาออกเสียงทั้งหมดร้อยละ 95 และมีผู้รับรองข้อเสนอดังกล่าวร่วมร้อยละ 89 นับจากนี้ถือว่าฮิตเลอร์เป็น Führer และได้ขึ้นมามีอำนาจอย่างเสร็จสรรพสมบูรณ์


2.

เจาะลึกสาธาณรัฐไวมาร์ และบันไดแต่ละขั้นของฮิตเลอร์

โดย วรเจตน์ ภาคีรัตน์
 

 

ความเชื่อในบ้านเราว่าฮิตเลอร์ชนะการเลือกตั้งแล้วนำเยอรมันไปสู่รัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จ ในด้านหนึ่งก็เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย เพราะเป็นการพยายามจะบอกว่าเสียงข้างมากอาจจะหลงผิดจนนำไปสู่หายนะของประเทศ เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยอาจไม่ดีเสมอไป แต่คำถามก็คือ หากประชาธิปไตยใช้ไม่ได้จริง เหตุใดเยอรมันยังคงใช้ระบอบประชาธิปไตย หลังจากแพ้สงคราม ดังนั้นต้องศึกษาประวัติศาสตร์ให้ดีจึงจะพบว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้ฮิตเลอร์ขึ้นครองอำนาจได้

ค.ศ.1918 เป็นปีสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนระบอบ ซึ่งมีปัญหาแต่แรกเพราะจักรพรรดิไม่เต็มใจสละราชสมบัติ ทหารก็ยังคงเชื่อในระบอบกษัตริย์ แต่มีการช่วงชิงการประกาศความเป็นสาธารณรัฐ หลังจากนั้นมีการทำรัฐธรรมนูญขึ้นในเมืองไวมาร์ คือ รัฐธรรมนูญแห่งจักรวรรดิเยอรมัน ค.ศ.1919 เหตุที่ต้องร่างรัฐธรรมนูญที่เมืองไวมาร์เพราะขณะนั้นในเบอร์ลินเกิดความไม่สงบ มีการเดินขบวนต่อต้าน

รัฐธรรมนูญไวมาร์เป็นรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยฉบับแรกของประวัติศาสตร์เยอรมัน เป็นรัฐธรรมนูญที่ผสมกันระหว่างระบอบรัฐสภากับประธานาธิบดีและมีความก้าวหน้ามาก จัดโครงสร้างการปกครองเยอรมันเป็นสหพันธรัฐ มีรัฐเล็กๆ หลายรัฐรวมกันเป็นสหพันธรัฐหรือจักรวรรดิเยอรมัน ในบรรดามลรัฐเหล่านี้ มลรัฐปรัสเซียมีขนาดใหญ่ที่สุด มีประชากรมากถึง 30 กว่าล้านคน มีอาณาเขตราว 2 ใน 3 ของเยอรมันทั้งหมด จึงมีการแบ่งอำนาจระหว่างมลรัฐใหญ่กับสหพันธ์ รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้มีประธานาธิบดีซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยและมีอำนาจสูง คือ สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้ เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพ นอกจากนี้ยังสามารถออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและออกรัฐกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ประธานาธิบดีไม่ได้บริหารประเทศโดยตรง หากแต่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้บริหาร ซึ่งประกอบด้วยคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดีเอง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีก็ต้องบริหารประเทศโดยได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ตามที่มีพรรคการเมืองให้ประชาชนเลือกได้โดยตรง

การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีของประธานาธิบดีนั้น โดยปกติจะเลือกคนที่มีเสียงข้างมากในสภา เพื่อไม่ให้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจจนรัฐบาลล้มในภายหลัง จึงสามารถแต่งตั้งใครก็ได้ที่ได้เสียงสนับสนุนจากสภาผู้แทนราษฎร ส่วนในการออกกฎหมายก็เป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรกับสภาผู้แทนมลรัฐในสหพันธ์

หากรัฐธรรมนูญไวมาร์จะมีปัญหาก็อยู่ที่ระบบการเลือกตั้งเป็นระบบเดียว คือ แบ่งประเทศเยอรมันออกเป็น 35 เขต ผู้สมัครเลือกตั้งต้องลงสมัครแบบบัญชีรายชื่อ หากพรรคไหนได้คะแนนมากก็ได้เก้าอี้ในสภามาก ระบบนี้ทำให้เยอรมันมีพรรคการเมืองจำนวนมาก บางคราวมากถึง 16 พรรค ทำให้เกิดรัฐบาลผสม ไม่เคยมีรัฐบาลเดียวที่ได้เสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด การผสมจึงต้องรวมพรรคการเมืองที่มีแนวคิดทางการเมืองคล้ายกัน แม้ว่าตั้งแต่กำเนิดสาธารณรัฐจะมีความขัดแย้งสูงมาก เช่น ความขัดแย้งเรื่องธงชาติ ระหว่าง ดำ-แดง-ทอง กับ ดำ-แดง-ขาว และยังมีแดงล้วน  สีดำแดงทองไม่เป็นที่พอใจของกลุ่มนิยมกษัตริย์ แต่อยากได้แบบเดิมคือสีดำแดงขาว ในขณะที่กลุ่มคอมมิวนิสต์ก็ต้องการสีแดงล้วน จนถึงกับมีการฟ้องร้องห้ามติดธงในบางหน่วยงาน นั่นจึงหมายความว่าความรู้สึกต่อการปกครองของคนเยอรมันในขณะนั้นค่อนข้างแตกแยก มีคนศรัทธาระบอบใหม่ คือ รีพับบลิกไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น จำนวนหนึ่งอยากเป็นแบบรัสเซีย อีกฝ่ายหนึ่งก็ยืนยันจะตั้งสาธารณรัฐแบบมีสภา

สภาพการณ์ของไวมาร์จึงมีปัญหามาแต่ต้น

ในช่วงเวลาดังกล่าว ฮิตเลอร์เป็นคนหนึ่งที่มีความพยายามทำรัฐประหาร ในปีค.ศ.1923 เรียกว่า กบฏโรงเบียร์ แต่ไม่สำเร็จ ฮิตเลอร์ถูกจับและลงโทษสถานเบา ต่อมาใน ค.ศ.1924 จนถึง ค.ศ.1929 สถานการณ์จึงเริ่มคลี่คลาย ไวมาร์ในเวลานั้นมีผลงานศิลปะชั้นยอดออกมามากจนเรียกได้ว่าเป็นศตวรรษทองของเยอรมัน กระทั่งเกิดเหตุการณ์ตลาดหุ้นในสหรัฐอเมริกาซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เศรษฐกิจล้ม ส่งผลกระทบต่อเยอรมันอย่างรุนแรง ไวมาร์ต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมาก ทั้งที่ก่อหน้านั้นคนเยอรมันถูกทำให้เชื่อว่าไม่ได้แพ้สงครามโดยแท้จริง พวกนักการเมืองผู้ฝักใฝ่ประชาธิปไตยต่างหากที่ทำให้เยอรมันแพ้สงคราม คนกลุ่มที่มีความเชื่อดังนี้จึงกลายเป็นฝ่ายขวาจัดที่เห็นชอบกับรีพับบลิค

ปี ค.ศ.1928 ฮิตเลอร์ได้ออกมาฟื้นฟูพรรคนาซี ช่วงแรกยังมีคนสนับสนุนน้อยมาก ได้เสียงสนับสนุนเพียง 2-3 % และเพิ่มขึ้นเป็น 17 % ในปีต่อมา อย่างไรก็ตาม ฮิตเลอร์ได้คะแนนเลือกตั้งสูงสุด 44 % ในบรรยากาศที่การเลือกตั้งเป็นไปอย่างไม่บริสุทธิ์ พวก SS และSA (กองกำลังของพรรคนาซีและพรรคคอมมิวนิสต์) ก่อความวุ่นวาย ข่มขู่ศัตรูทางการเมือง จนพรรค SPD ไม่สามารถหาเสียงได้อย่างที่ควรจะเป็น แต่กล่าวได้ว่าตลอดเวลาที่มีการเลือกตั้ง ไม่เคยมีครั้งใดที่พรรคนาซีจะได้คะแนนเสียงข้างมากเกิน 50% เลย การที่พรรคนาซีได้รับคะแนนประชามติถึง 90% ให้เป็นผู้นำนั้น ก็ไม่สามารถนำมานับรวมได้เพราะเป็นการเลือกตั้งหลังยึดอำนาจแล้ว

การที่ฮิตเลอร์ขึ้นมาครองอำนาจได้เพราะในปีค.ศ.1930 เกิดปัญหาความขัดแย้งเรื่องการจัดการเศรษฐกิจ นายยกรัฐมนตรีจากพรรค SPD ต้องออกจากอำนาจไป  หลังจากนั้นประธานาธิบดีฮินเดนบวร์กก็เริ่มตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่โดยไม่สนใจสภา หากสภาไม่พอใจก็ออกรัฐกำหนดหรือยุบสภา ทำให้มีเวลาอย่างน้อย 3 เดือนที่มีนายกซึ่งไม่ผูกพันกับสภาผู้แทนราษฎร กระทั่งในปีค.ศ.1933 ฮิตเลอร์ขึ้นครองอำนาจได้จากการชนะเลือกตั้งกว่าร้อยละ30 แม้ว่าจะไมใช่เสียงข้างมากโดยแท้จริงแท้ แต่ก็มีบทบาทสำคัญให้ฮิตเลอร์ขึ้นครองอำนาจได้

อย่างไรก็ตาม ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการสนับสนุนของชนชั้นนำที่ล้อมรอบตัวประธานาธิบดีฮินเดนบวร์กทำให้ฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจได้ โดยเฉพาะลูกชายของเขา กลุ่มเจ้าผู้ถือครองที่ดิน คนเหล่านี้เห็นว่ารัฐธรรมมนูญไวมาร์ไม่เหมาะกับเยอรมัน จึงพยายามหาวิธีทำลายรีพับบลิก ในขณะเดียวกันคนกลุ่มนี้ก็ไม่ชอบฮิตเลอร์ แต่ต้องการใช้ฮิตเลอร์เป็นเครื่องมือ คนเหล่านี้โน้มน้าวจนฮินเดนบวร์กเห็นด้วยที่จะให้ฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งแน่นอนว่าฮินเดนบวร์กเองก็คิดฝันถึงระบอบกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่อยู่ตลอดเวลาเช่นกัน เขาจึงเป็นประธานาธิบดีที่ไม่รักระบอบที่ตัวเองเป็นใหญ่อยู่เลย เมื่อเห็นฮิตเลอร์ต้องการตำแหน่งรัฐมนตรีพียง 2 ตำแหน่ง พวกเขาก็คิดว่าฮิตเลอร์ย่อมไม่ใช่ปัญหาในภายหลัง แต่ในเวลาต่อมา เหตุการณ์ไฟไหม้รัฐสภากลับกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คนกลัวคอมมิวนิสต์ รัฐสภาออกกฎหมายให้กดข่มคอมมิวนิสต์ให้ได้ ฮิตเลอร์จึงเพิ่มอำนาจให้ตัวเองมากขึ้นในที่สุด ดังนั้นการขึ้นครองอำนาจของฮิตเลอร์จึงเป็นผลมาจากการสนับสนุนของชนชั้นนำ ฮิตเลอร์จึงอาศัยช่องทางการเสียดุลอำนาจเพื่อกุมอำนาจเบ็ดเสร็จให้ตัวเอง และเมื่อหลังขึ้นครองอำนาจแล้วฝ่ายศาลเองมีส่วนสำคัญเพราะได้ตีความกฎหมายเพื่อสนับสนุนความคิดแบบนาซีด้วย

ความผิดพลาดของ 'ตุลาการ' ตั้งแต่ก่อนฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจ

เวลาเราพูดถึงประวัติศาสตร์ เราอาจคิดว่าถ้าเกิดแบบนั้นขึ้น แบบนี้จะไม่เกิด ถ้าเหตุการณ์ไม่เป็นอย่างนั้น ฮิตเลอร์ก็อาจขึ้นสู่อำนาจไม่ได้

มีสองสามเรื่องอยากจะแลกเปลี่ยนและเล่าให้ฟัง อันแรกคือ กรณีการทำรัฐประหารที่เรียกว่า กบฏโรงเบียร์ของฮิตเลอร์ ในปลายปี 1923 ฮิตเลอร์ตอนนั้นมีบทบาทในพรรคนาซีแล้ว มีความพยายามยึดอำนาจโดยเดินระยะไกลจากบาวาเรียถึงไปถึงเบอร์ลินเลียนแบบมุสโสลินี แต่ความพยายามนั้นไม่สำเร็จเพราะทหารไม่เอาด้วยและแพ้ไปในที่สุด

ว่ากันว่าวันที่ฮิตเลอร์หลบหนีไปนั้นมีการยิงต่อสู้กัน และกระสุนพลาดฮิตเลอร์ไปไม่กี่องศา ถ้ากระสุนนัดนั้นตรงไปที่เขา ก็คงสิ้นชื่อฮิตเลอร์ไปตั้งแต่ปี 1923 แล้ว การที่กระสุนนัดนั้นไม่ถูกฮิตเลอร์ก็นับเป็นกระสุนเปลี่ยนประวัติศาสตร์ เหมือนกับบ้านเรา กระสุนนัดหนึ่งก็เปลี่ยนประวัติศาสตร์เหมือนกันในปีพ.ศ.2489  

เวลาต่อมาฮิตเลอร์ก็ถูกจับ คดีกบฏฮิตเลอร์นี้ เป็นคดีสำคัญอีกคดีหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าบทบาทของนักกฎหมาย ผู้พิพากษา มีส่วนสำคัญในการกำหนดโชคชะตาของรัฐ ตอนทำกบฏฮิตเลอร์ยังเป็นคนออสเตรีย ตามกฎหมายเวลานั้นเขาอาจถูกเนรเทศได้ แต่ผู้พิพากษาในคดีนี้ค่อนข้างขวา เขาปล่อยให้การพิจารณาคดีในศาลกลายเป็นที่โชว์ ideology ของฮิตเลอร์ และสุดท้ายตัดสินว่า แม้จะผิดตามกฎหมายและฮิตเลอร์ไม่ใช่คนเยอรมันแต่ก็มีจิตใจแบบคนเยอรมัน เคยร่วมรบในสงคราม และทำไปด้วยอุดมการณ์รักชาติรักแผ่นดิน จึงควรลงโทษสถานเบา จำคุกเพียง 5 ปีและกำหนดเงื่อนไขว่าหากประพฤติตัวดีก็ปล่อยได้ก่อน ฮิตเลอร์ถูกขังในปราสาทแห่งหนึ่ง บางคนพูดว่านี่เป็นเพียง 'การเปลี่ยนที่นอน' ของฮิตเลอร์ ราวกับไปนอนในโรงแรม เวลาต่อมาเมื่อฮิตเลอร์ครองอำนาจ ผู้พิพากษาคนนี้ได้รับการโปรโมตให้เป็นประธานศาลสูงในบาวาเรีย

การที่ฮิตเลอร์พ่ายแพ้หรือล้มเหลวในการทำรัฐประหาร ทำให้เขาเกิดความคิดหนึ่งขึ้นมาซึ่งสื่อแสดงในหลายวาระ นั่นก็คือ เขาเห็นว่าการได้มาซึ่งอำนาจรัฐไม่สามารถใช้วิธีเข้ายึดอำนาจได้ แต่ต้องใช้วิธีการให้เป็นไปตามกฎหมายมากที่สุด พยายามสร้างความชอบธรรมให้มากที่สุดในการยึดอำนาจ

 

3.

Great Depression และการความแตกแยกของฝ่ายซ้าย

โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์

 


ค่าปฏิกรรมสงครามกับการก่อตัวของพรรคนาซี

ในการพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1  ของกองทัพเยอรมันนั้น ทั้งฮินเดนบวร์กซึ่งเป็นผู้บัญชาการสูงสุด และลูเดนดอร์ฟที่เป็นเสนาธิการ รู้อยู่แล้วว่าเยอรมันไม่มีทางที่จะสู้ต่อไปได้ เลยมีแผนการเกิดขึ้นว่าจะหาทางเปิดการเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตร โดยที่รู้อยู่ว่าหากเยอรมันเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยจะทำให้โอกาสที่จะได้เปรียบในการเจรจามีมากขึ้นกว่าการยังเป็นระบอบจักรพรรดิ ก็เลยหลิ่วตาให้พวกนักการเมืองที่เรียกร้องอยากจะเป็นสาธารณะรัฐอยู่แล้วทำในสิ่งที่ต้องการ จึงเป็นที่มาของการเจรจาสงบศึก โดยการแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ของเยอรมัน ต่างจากครั้งที่ 2 มาก เนื่องจากในครั้งที่ 1 เป็นการแพ้ของกองทัพ ขณะที่ผู้คนในเยอรมันยังใช้ชีวิตปกติ

สำหรับการเกิดตำนานการลอบแทงข้างหลังนั้น จากการที่ผู้นำสูงสุดของกองทัพรู้อยู่แล้วว่ากองทัพเยอรมันไม่มีทางที่จะสู้ฝ่ายสัมพันธมิตรได้จึงปล่อยให้นักการเมืองเจรจากัน แต่เมื่อโดนฝ่ายสัมพันธมิตรยื่นเงื่อนไขมามาก เช่น การลดจำนวนกองทัพ เป็นต้น ทำให้เป็นเรื่องที่ช็อคคนเยอรมันมากๆ จึงเป็นช่องทางให้ฝ่ายขวายกมาเป็นประเด็นว่านักการเมืองพวกพรรค SPD  ไปลอบเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรโดยที่ฝ่ายเยอรมันเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างมาก

หากดูสิ่งที่เยอรมันต้องเสียไปในสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles) ซึ่งเซ็นหลังจากที่มีการสงบศึกครึ่งปีนั้น เยอรมันต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา หลายล้านมาร์ก เท่าที่คำนวณในเวลานั้นกว่าจะใช้หนี้หมดต้องใช้เวลาถึง 60-70 ปี และต้องเสียดินแดนแคว้นอาลซัส(Alsace)และลอเรน(Larraine)ในฝรั่งเศส ซึ่งเยอรมันยึดมาจากฝรั่งเศสก่อนหน้า และต้องอนุญาตให้ทหารสัมพันธมิตรไปประจำอยู่ดินแดนตะวันตกของแม่น้ำไรน์

สิ่งที่หนักที่สุดคือ ค่าปฏิกรรมสงคราม และการถูกบังคับให้ต้องจ่ายมากๆ เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการก่อตัวของพรรคนาซี และการขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์

เหตุการณ์เงินเฟ้ออย่างหนัก (Hyperinflation)

ราวต้นทศวรรษ 1920 รัฐบาลประสบปัญหาทางการเงิน จากเงื่อนไขสนธิสัญญาแวร์ซาย ที่ผู้ว่าการธนาคารชาติมีความคิดแปลกๆ ว่า อำนาจในการพิมพ์ธนบัตรเป็นอำนาจของธนาคารชาติ จึงมีการพิมพ์ธนบัตรขึ้นมาเพื่อใช้จ่ายค่าต่างๆ และใช้หนี้สัมพันธมิตรโดยพิมพ์ออกมาจำนวนมาก ทำให้ค่าเงินมาร์กเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐถูกลงเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว

เศรษฐกิจตกต่ำใหญ่ปี 1929 ตั้งแต่ตอนที่สหรัฐอเมริกาช่วยเหลือเยอรมันตอนประสบปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง เศรษฐกิจเยอรมันพึ่งพาธนาคารของสหรัฐอย่างมากมาโดยตลอด รวมทั้งการกู้เงินโรงงานธุรกิจต่างๆ ส่วนมากเป็นการกู้ระยะสั้น ทำให้ดอกเบี้ยแพง จึงต้องกังวลต่อการใช้หนี้ ไม่สามารถลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นที่ผลตอบแทนระยะยาวได้ ทำให้ไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ บวกกับธนาคารในสหรัฐที่ปล่อยกู้นั้นเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวนมากทั่วสหรัฐอเมริกา ทำให้ธนาคารเหล่านั้นเกิดความตื่นกลัวและไปเรียกคืนเงินจากลูกหนี้ธนาคารในต่างประเทศ และลูกหนี้ใหญ่ของสหรัฐก็คือเยอรมัน ส่งผลให้ธนาคารเยอรมันประสบปัญหาซ้ำไม่สามารถหาเงินพอเพื่อใช้หนี้ได้ และนโยบายเศรษฐกิจของบรือนิง (Heinrich Brüning) นายกรัฐมนตรีขณะนั้นพยายามรักษาดุลยภาพทางเศรษฐกิจ เมื่อเกิดปัญหาการใช้จ่ายของรัฐบาลก็จะทำการตัดการใช้จ่าย โดยการตัดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลด้านสวัสดิการ ทำให้คนเดือกร้อนกันทั้งประเทศ คนตกงานกันเป็นล้านๆ คน นำไปสู่ความคับข้องใจของคนเยอรมันจำนวนมาก จึงเป็นบ่อเกิดที่ทำให้พรรคหัวรุนแรงไม่ว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์หรือนาซีโตขึ้นมา นี่จึงเป็นเบื้องหลังที่ทำให้พรรคคอมิวนิสต์และนาซีรวมกันแล้วเกิดครึ่งในสภา

บรือนิงเขียนใว้ในบันทึกความทรงจำของเขาว่าธนาคารในสหรัฐรวมทั้งรัฐบาลฝ่ายสัมพันธมิตรให้เวลารัฐบาลเยอรมันน้อยเกินไปในการฟื้นตัว ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฮิตเลอร์ขึ้นมามีอำนาจเพราะว่าถ้าให้เวลามากขึ้นบรือนิงเชื่อว่าจะจัดการเศรษฐกิจเยอรมันได้

ความแตกแยกของฝ่ายซ้ายปฏิรูป กับ ซ้ายจัดคอมมิวนิสต์

ปัจจัยสำคัญในการขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ในสายตานักวิเคราะห์หลายคน คือ วิกฤตเศรษฐกิจ การเกิด Great Depression ในปี 1929 ดังที่กล่าวกันไปบ้างแล้ว

อีกเรื่องคือ การต่อสู้ระหว่าง พรรคนาซีกับพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งรุนแรงมาก เนื่องจากทั้งสองพรรคนั้นมีหน่วยทางทหารของตัวเอง พรรคนาซีการ์ดของตนคือ SS หรือหน่วยพายุ มีเครื่องแบบ มีห่วงโซ่การบังคับบัญชา มีการเดินพาเหรดแบบทหาร จนทำให้กองทัพเยอรมันกลัว และบอกฮิตเลอร์ให้ช่วยจัดการ ไม่อย่างนั้นพรรคนาซีจะไม่มีวันได้รับความร่วมมือจากกองทัพ

บทบาทของกองทัพก็เป็นอะไรที่นักประวัติศาสตร์สนใจมาก เป็นไปได้อย่างไรที่กองทัพจะไม่มีบทบาทเลย ถึงแม้สนธิสัญญาแวร์ซายจะบอกว่ามีกำลังทหารได้ไม่เกินแสนคน แต่ก็ยังเป็นอำนาจที่สำคัญ นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าเหตุที่กองทัพไม่มีบทบาทมากนักเป็นเพราะกองทัพได้สิ่งที่ต้องการไปแล้ว จากการที่ผู้บัญชาการกองทัพฮินเดนบวร์กได้มาเป็นประธานาธิบดี แล้วกองทัพเองก็มีบทบาททางการเมืองพอสมควรผ่านพวกชนชั้นนำต่างๆ ที่แวดล้อมฮินเดนบวร์ก แต่ไม่หนักหนาขนาดลุกมาทำปฏิวัติรัฐประหารเหมือนบางประเทศ กองทัพโดยส่วนใหญ่จึงเป็นกลาง แต่การเกิดของ SS คุกคามสถานะของกองทัพอย่างรุนแรง เพราะหน่วยทหารของ SS แข็งแกร่งมาก ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันก็มีหน่วยทางการทหารแบบเดียวกันกับ SA มีการจัดตั้ง "แนวร่วมแดง" ทำแบบเดียวกันทุกอย่าง อย่างไรก็ตาม มีผู้วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่พรรคคอมมิวนิสต์แพ้พรรคนาซี เพราะสู้การจัดตั้งและการโฆษณาชวนเชื่อของนาซีไม่ได้ เหตุที่สำคัญกว่านั้นคือ พวกชนชั้นนำผู้กุมเศรษฐกิจที่แท้จริงของเยอรมันนั้นกลัวพรรคคอมมิวนิสต์มากๆ จึงให้การสนับสนุนพรรคนาซี

ที่สำคัญ SPD ซึ่งเป็นพรรคหลักในการจัดตั้งสาธารณรัฐไวมาร์เป็นพรรคเอียงซ้าย มีอุดมการณ์แบบมาร์กซิสม์โดยตรง ตรงกันในภาพรวมกับพรรคคอมมิวนิสต์ แต่สองพรรคนี้เข้ากันไม่ได้ ไม่เคยทำงานร่วมกันเลยและตีกันด้วย มีเหตุการณ์สำคัญอันหนึ่งที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมกับ SPD อีกต่อไป คือ เมื่อจัดตั้งสาธารณรัฐใหม่ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นทางตะวันตกของเยอรมัน เป็นการนัดหยุดงานของคนงาน พรรค SPD เป็นรัฐบาลอยู่ในขณะนั้นได้ขอกำลังจากอดีตทหารเก่าสมัยสงครามโลกซึ่งเป็นพวกเอียงขวามาตีพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้พวกซ้ายหัวรุนแรงประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมกับพรรค SPD ผลก็คือ ทำให้พลังของฝ่ายซ้ายในเยอรมันไม่เป็นเอกภาพ ไม่เหมือนฝ่ายขวา ซึ่งฮิตเลอร์กลืนได้หมด ฉะนั้นการแตกแยกกันเองของฝ่ายซ้ายก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้ฮิตเลอร์ก้าวขึ้นสู่อำนาจเบ็ดเสร็จได้

(วรเจตน์ กล่าวเติมเพิ่มเรื่องความแตกแยกของฝ่ายซ้ายเยอรมัน)

พรรคคอมมิวนิสต์ไม่เคยทำงานร่วมพรรค SPD เลย สองพรรคนี้มีความหลังกินใจกันอยู่ เดิมทีทั้งคู่เป็นพวกเดียวกัน เป็น SPD เหมือนกัน เราอาจเคยได้ยินชื่อ Rosa Luxemburg และคู่หู Karl Liebknechtอยู่ SPD ก่อนก่อตั้งจักรวรรดิเยอรมัน นั้นทั้งสองได้แยกตัวออกมาเป็น USPD หรือสังคมนิยมประชาธิปไตยอิสระ เพราะไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนระบอบจักรพรรดิเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยในระบอบรัฐสภา แต่ควรเป็นแบบโซเวียต ตอนแรกช่วงเปลี่ยนระบอบ อำนาจอยู่ในมือฝ่ายซ้าย มีผู้นำคือ เอแบร์ท ตอนนั้น USPD ก็เข้ามาร่วมเป็น ครม.ชั่วคราวในช่วงร่างรัฐธรรมนูญ ทหารยอมให้มีการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ให้เอแบร์ทให้สัญญาว่าจะไม่ผลักให้เยอรมันเป็นคอมมิวนิสต์แบบโซเวียต จึงเกิดการแตกกันอย่างรุนแรง เพราะกลุ่มอิสระเห็นว่าเอแบร์ททรยศต่ออุดมการณ์ปฏิวัติ พวกซ้ายมองว่าเอแบร์ทคือคนทรยศต่อการปฏิวัติประชาชน เพราะไม่ทำให้เยอรมันเป็นคอมมิวนิสต์เต็มรูป

ช่วงก่อนจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติก่อนทำรัฐธรรมนูญนั้นมีการประท้วงกันอย่างมาก กลุ่ม USPD พยายามยึดอำนาจแต่ไม่สำเร็จจึงถูกปราบ นำมาซึ่งการฆ่าผู้นำอย่าง Rosa และ Karl โดยพวกทหารที่เป็นพวกขวา นี่จึงทำให้รอยร้าวยิ่งมากขึ้นระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายซ้ายจัด

หากไม่แตกกันแบบนี้อาจต้านกับนาซีหรือฝ่ายขวาได้มากกว่านี้ แต่แตกกันมาตั้งแต่ตอนตั้งระบอบแล้ว


4.

โชคชะตา กับ "ฮิตเลอร์" นักเก็บเกี่ยวดอกผล

วรเจตน์

เรื่องสำคัญที่มีส่วนสนับสนุนให้ฮิตเลอร์ขึ้นมาสู่อำนาจนั้น จะว่าเป็นเรื่องโชคชะตาก็ว่าได้ เรื่องหนึ่งคือการถึงแก่กรรมของประธานาธิบดีคนแรก ฟรีดริค เอแบร์ท  (Friedrich Ebert) และการถึงแก่กรรมของรัฐบุรุษคนหนึ่งซึ่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศมายาวนาน คือ กุสตาฟ สเตรเซอมันน์ (Gustav Stresemann) สองคนนี้เป็นนักการเมืองที่โดดเด่นมากในสาธารณรัฐไวมาร์

เอแบร์ทเป็นหัวหน้าพรรค SPD รับมอบอำนาจต่อจากนายกฯ คนเดิม เป็นผู้นำตอนเปลี่ยนระบอบและเป็นประธานาธิบดีคนแรก มีจิตใจทางประชาธิปไตย ตอนแรกเขาไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเยอรมันจะเป็น รีพับลิก แต่ต้องการให้คนเยอรมันตัดสินใจว่าจะเอากษัตริย์ไว้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เพื่อนของเอแบร์คือ ฟิลิปป์ ไชเดมันนท์ (Philipp Scheidemann)ได้ออกไปประกาศตรงรัฐสภาในเบอร์ลินว่า ระบอบกษัตริย์ล้มแล้ว กษัตริย์ลี้ภัยหนีไปแล้ว สาธารณรัฐจงเจริญ เป็นการบีบให้ระบบกษัตริย์เป็นอันไม่มี และไม่ต้องถกเถียงกันอีกตอนร่างรัฐธรรมนูญว่าจะมีกษัตริย์หรือไม่ เอแบร์ทเป็นประธานาธิบดีคนแรก มีชีวิตอยู่ถึงปี 1925 การจากไปของเขาส่งผลอย่างมากต่อระบบการเมืองเยอรมัน เพราะหลังจากนั้นคนที่ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคือ ฮินเดนบวร์ก เป็นทหาร อนุรักษ์นิยมสูงและเป็น monarchist ไม่เชื่อในระบอบรีพับลิกแต่ปฏิญาณตนว่าจะเคารพรัฐธรรมนูญ ซึ่งช่วงแรกเขาก็ทำเช่นนั้น แต่เมื่อถึงสถานการณ์คับขันสิ่งที่อยู่ในใจลึกๆ ก็จะโชว์ออกมา เขาจึงออกรัฐกำหนดต่างๆ และเป็นจุดพลิกผันให้ฮิตเลอร์ขึ้นมาครองอำนาจ ส่วนสเตรเซอมันน์เสียชีวิตปี 1929 ก่อนตลาดหุ้นในนิวยอร์กล้มไม่นาน เขาเป็นคนสำคัญในการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ และต่อมาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศยาวนานหลายปี เจรจากับประเทศต่างๆ จนเศรษฐกิจเยอรมันฟื้น และได้รับการยอมรับสูง ว่ากันว่าฮิตเลอร์เก็บเกี่ยวดอกผลที่สเตเซอมันน์ทำไว้ เพราะการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ การว่างงาน ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง เมื่อฮิตเลอร์ขึ้นมามีอำนาจก็เป็นช่วงที่ระบบเริ่มปรับดีขึ้นแล้วโดยผลอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศที่ทำไว้

อีกกรณีหนึ่ง หลายคนมักมองข้ามว่าไม่เกี่ยวกับฮิตเลอร์เพราะเกิดขึ้นก่อน แต่ในสายตานักกฎหมายเห็นว่าสำคัญมาก ถ้าไม่เกิดกรณีนี้ฮิตเลอร์อาจไม่ได้อำนาจเบ็ดเสร็จ นั่นคือกรณีปรัสเซีย ซึ่งเป็นมลรัฐใหญ่ที่สุดของจักรวรรดิเยอรมัน เมืองหลวงคือเบอร์ลินซึ่งเป็นเมืองหลวงของสหพันธรัฐด้วย หลังมีการก่อตั้งสหพันธรัฐแล้ว การเลือกตั้งมีทั้งระดับสหพันธรัฐ และมลรัฐ ในปรัสเซียนั้นพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเยอรมันหรือ SPD เป็นพรรครัฐบาล ผสมกับพรรคอื่น ครองอำนาจยาวนาน อาจกล่าวได้ว่าจนกระทั่งถึงช่วงก่อนฮิตเลอร์จะเถลิงอำนาจปี 1933 ปรัสเซียน่าจะเป็นแหล่งสุดท้ายที่ประชาธิปไตยยังเป็นหลักอยู่

ความน่าเกรงขามของปรัสเซียคือ ขณะที่สหพันรัฐมีกองกำลังทหารเพียง 1 แสนคนเพราะถูกบีบจากสัมพันธมิตรให้ปรับลดกำลังลง แต่ปรัสเซียมีตำรวจถึง 7 หมื่น จึงเป็นหนามยอกใจของชนชั้นนำในเยอรมัน รวมถึงประธานาธิบดีฮินเดนบวร์กด้วย ในเบอร์ลินนั้นมีทำเนียบนายกรัฐมนตรีอยู่ 2 แห่ง อันหนึ่งคือทำเนียบนายกรัฐมนตรีของปรัสเซีย ซึ่งเป็นฝ่ายประชาธิปไตย อีกอันคือทำเนียบนายกรัฐมนตรีของสหพันธรัฐ ซึ่งเป็นพวกขวา เหล่าชนชั้นนำต้องการหวนกลับไปสู่ระบอบเบ็ดเสร็จ จึงอยากกำจัด SPD ในปรัสเซีย แต่ไม่มีวิธี ถ้าแก้รัฐธรรมนูญต้องใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 และปรัสเซียเป็นรัฐใหญ่มีเสียงมากก็คงไม่ยอม ในที่สุด นายก Papen ก็ใช้วิธีเกลี้ยกล่อมประธานาธิบดีให้ออกรัฐกำหนดฉุกเฉิน โดยใช้เหตุบังเอิญที่มีการตีกันระหว่างคอมมิวนิสต์กับนาซีในเมืองหนึ่งของปรัสเซียและมีคนล้มตาย จนมีการออกรัฐกำหนดตั้งตำแหน่งใหม่ "ผู้บังคับการปรัสเซีย" ให้อำนาจนายกฯ ปรัสเซียมาอยู่ที่ผู้บังคับการแทน ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญเพราะขัดต่อความเป็นอิสระของมลรัฐ พรรค SPD พยายามต่อต้านเพราะมองว่านี่คือการทำรัฐประหาร จึงตัดสินใจฟ้องคดีต่อศาลขจัดความขัดแย้งระหว่างมลรัฐกับสหพันธรัฐ โดยฟ้องว่าสหพันกระทำการขัดกับรัฐธรรมนูญขอให้เพิกถอนและคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้ใช้รัฐบัญญัตินั้น แต่ศาลไม่คุ้มครองชั่วคราว และตัดสินโดยบิดเบือนกฎหมายอย่างชัดแจ้งว่า นายกฯ ปรัสเซียก็ดำรงตำแหน่งต่อไปและผู้บังคับการก็มีอำนาจด้วย พูดง่ายๆ ว่านายกฯ ก็ดำรงตำแหน่งไปเฉยๆ นี่คือการยึดอำนาจในมลรัฐปรัสเซีย เป็นการบิดเบือนกฎหมายครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เยอรมัน

ผลสะเทือนอย่างหนึ่งซึ่งไม่มีใครคาดคิดคือ รัฐบัญญัติมอบอำนาจให้ฮิตเลอร์ที่เกิดขึ้นในอีกปีเศษๆ ต่อมา หากไม่เกิดเหตุการณ์นี้ในปรัสเซีย ปรัสเซียก็จะมีผู้แทนมลรัฐอยู่ในสภาสหพันธรัฐ กรณีนั้นหากฮิตเลอร์จะแก้กฎหมายให้ตัวเองมีอำนาจเด็ดขาด แม้เขาจะคุมสภาล่างได้ แต่จะติดที่สภาสูงของสหพันธรัฐ เพราะปรัสเซียจะไม่ยอมแน่ แต่การณ์ก็เปลี่ยนไปเมื่อเกิดกรณีนี้  อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้โทษฮิตเลอร์ไม่ได้ เพราะเป็นผลจากพวกชนชั้นนำในเยอรมันก่อนที่ฮิตเลอร์จะขึ้นสู่อำนาจ แต่ฮิตเลอร์เป็นผู้เก็บเกี่ยวดอกผลจากเรื่องนี้ 

เมื่อฮิตเตอร์ได้อำนาจในสหพันก็เท่ากับได้อำนาจในปรัสเซียด้วยในตัว เมื่อสามารถผ่านกฎหมายจากสภาล่างได้ ก็ผ่านสภาสูงได้ง่ายดาย นี่คือผลสะเทือนจากการที่ผู้พิพากษาไม่ตัดสินไปตามหลักการที่ถูกต้อง โดยพวกเขาก็รู้ว่าผิดหลัก แต่ให้เหตุผลว่า ถ้าเขาเพิกถอนรัฐกำหนดจะทำให้ประธานาธิบดีฮินเดนบวก เสียหน้า เสีย authority ในการยึดโยงคนเยอรมันเข้าไว้ด้วยกัน เป็นการตัดสินใจโดยเอาการคาดหมายทางการเมืองแทนที่หลักการทางกฎหมาย ซึ่งส่งผลสะเทือนที่คาดไม่ถึงในอีกเกือบ 2 ปีต่อมาเพราะมันทำลายดุลยภาพระหว่างมลรัฐกับสหพันธรัฐ

การขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์จึงมีปัจจัยช่วยหลายอย่าง ไม่ใช่การเลือกตั้งอย่างเดียว ลำพังเพียงการเลือกตั้ง ไม่สามารถทำให้ฮิตเลอร์เป็น dictator ได้ มันเป็นไปไม่ได้เพราะกลไกรัฐธรรมนูญวางถ่วงดุลไว้ค่อนข้างดี แต่เพราะคนชั้นนำไม่เอารัฐธรรมนูญไวมาร์และทำลายกลไกต่างๆ ทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น

 

5.

ปัญหาเรื่องความชอบธรรม และการเปรียบเทียบแบบไทยๆ

วรเจตน์


ถามว่าการขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ ชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม?  วันที่ 30 ม.ค.1933 วันที่ฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าพูดในทางกฎหมาย เขาขึ้นครองอำนาจแบบถูกต้องตามกฎหมายเพราะมีพรรคที่สนับสนุนเขาในสภา รวมแล้วมีคะแนนเสียง 52%  สิ่งหนึ่งที่เขาเรียกร้องคือขอให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ทันที เพราะมั่นใจว่าภายใต้บรรยากาศเวลานั้นซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตยอีกแล้วเพราะเกิดเพลิงไหม้สภา เขาจะได้คะแนนเสียงมากขึ้นเกินกึ่งหนึ่ง แต่เมื่อยุบสภาเลือกตั้งใหม่ เขาก็ยังไม่ได้คะแนนเสียงอย่างที่ตัวเองต้องการ โดยได้เพียง 44% ทั้งที่ในขณะนั้นมีการ propaganda เต็มรูป สิทธิของฝ่ายค้านหายหมด

ฮิตเลอร์ไม่เคยชนะเลือกตั้งแบบเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นต้องชนะด้วยเสียงข้างมากไปแล้ว การได้รับการลงประชามติ เกิดขึ้นภายหลังซึ่งนับไม่ได้แล้ว มันไม่เป็นการลงประชามติในทางประชาธิปไตยที่เราจะพึงยึดถือว่ามันมีคุณค่า หรือนับว่าการตัดสินใจของคนตัดสินใจอย่างเสรีบนฐานของประชาธิปไตยแล้ว นี่รวมถึงการเลือกตั้งครั้งหลังๆ ด้วยที่ฮิตเลอร์ได้คะแนนเสียงมาก จริงๆ ตอนที่เขาได้ 44% ก็เป็นปัญหาแล้ว เพราะพรรคฝ่ายค้านไม่ได้โอกาสในการหาเสียงอย่างที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม เวลานั้นฮิตเลอร์ยังไม่ใช่เผด็จการเบ็ดเสร็จ สิ่งที่ทำให้เขามีอำนาจเด็ดขาดคือ รัฐบัญญัติมอบอำนาจ และมันเป็นปัญหาความชอบธรรมของฮิตเลอร์

ระเบียบประชุมอันเดียว + การตัดสินใจพลาดของพรรคเล็ก

การออกรัฐบัญญัติมอบอำนาจคือการยอมให้นายกรัฐมนตรีออกกฎหมายได้เอง ทั้งที่ควรเป็นอำนาจของสภาผู้แทนและสภาผู้แทนมลรัฐ การทำอย่างนี้ขัดรัฐธรรมนูญแน่ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญไวมาร์ไม่ได้พูดไว้ชัดเจนว่าต้องเป็นการแก้ไขตัวบทในรัฐธรรมนูญ แปลว่าในทางกฎหมายถ้าเกิดสภาออกกฎหมาย โดยใช้คะแนนเสียงตามรัฐธรรมนูญกำหนดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะมีผลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทันทีแม้จะไม่แตะในตัวบทรัฐธรรมนูญ

การออกรัฐบัญญัติมอบอำนาจ ไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญ แต่โดยผลคือการแก้รัฐธรรมนูญไวมาร์ เพราะทำให้กลไกในรัฐธรรมนูญใช้ไม่ได้ การทำอย่างนี้ต้องใช้คะแนนเสียง 2 สเต็ป 1.ต้องมีสมาชิกผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดเข้าประชุม และสมาชิกที่ประชุมนั้นต้องผ่านคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ที่มาประชุม โดยพรรคฮิตเลอร์รวมกับอีกพรรคคะแนนเสียงก็ยังไม่พอ แต่ฮิตเลอร์ tricky (เจ้าเล่ห์) กว่านั้น

เวลานั้น สภามี ส.ส.647 คน เป็นคนของพรรคคอมมิวนิสต์ 81 คน เป็นของพรรค SPD อีกร้อยกว่าคน พวกนี้จำนวนหนึ่งถูกตามล่าจากนาซี หนีออกไปนอกประเทศมาประชุมไม่ได้ ในบรรดาฝ่ายซ้ายถ้ารวมกันแล้วบวกกับ ส.ส.จากพรรคอื่นอีก 15 คนร่วมกันบอยคอตไม่มาประชุม เพียงเท่านี้ก็จะไม่มีทางผ่านกฎหมายได้ ดังนั้น ก่อนวันประชุมฮิตเลอร์เสนอให้แก้ระเบียบการประชุมสภาผู้แทนฯ ว่า ใครก็ตามที่ไม่มาประชุมโดยไม่มีเหตุอันสมควรให้ถือว่ามาประชุม และให้นับว่าคนนั้นเป็นองค์ประชุมร่วม เท่ากับบีบให้พวก SPD ต้องมา แต่พวกพรรคคอมมิวนิสต์มาไม่ได้มาเพราะโดนจับไปหมด คำนวณแล้วพรรค SPD พรรคเดียวไม่เพียงพอที่จะต้านการออกกฎหมายนี้ได้ และผลก็คือ มีคนออกเสียงเห็นด้วย 444 คน ไม่เห็นด้วย 94 คนซึ่งล้วนเป็นคนของพรรค SPD ทั้งหมด

คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมพรรคการเมืองอื่นจึงให้การสนับสนุนฮิตเลอร์ เพราะถ้าอีก 3-4 พรรคเล็กไม่สนับสนุน ลำพังเพียงเสียงของพรรคนาซีก็ไม่พอจะผ่านกฎหมาย คำตอบก็คือ พรรคอย่าง Zentum หรือพรรคกลางเขามองว่าถ้าไม่สนับสนุนฮิตเลอร์ เขาก็จะหาวิธีอื่นผ่านกฎหมายอยู่ดี การสนับสนุนเสียเลยจึงเป็นความชั่วร้ายที่น้อยกว่าและอย่างน้อยยังได้เข้าไปร่วมส่วนใช้อำนาจได้ สุดท้ายเวลาต่อมาพรรคเหล่านี้ถูกเชือดหมดโดยฮิตเลอร์อาศัยอำนาจที่ได้กดดันให้ยุบพรรค หรือกลืนเข้าพรรคนาซี ต่อมามีการออกรัฐบัญญัติอีกฉบับ ห้ามมีพรรคการเมืองอื่นใดนอกจากพรรคนาซี

บทบาทศาลหลังฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจ  

เมื่อควบรวมอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารได้ ก็เหลือเพียงอำนาจตุลาการ คำถามคือ บทบาทการใช้อำนาจของศาลเป็นอย่างไรในสมัยนาซี

ช่วงฮิตเลอร์เป็นนายกฯ ได้ไม่กี่วัน เกิดการเผาสภา Reichstag ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ เพราะมีการออกรัฐบัญญัติที่ให้อำนาจรัฐบาลในการกดขี่ข่มเหงปรปักษ์ทางการเมือง มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งชาวฮอลแลนด์  หลังเกิดการเผาสภา 1 วัน มีการออกรัฐบัญญัติที่เรียกสั้นๆ ว่า รัฐบัญญัติเพลิงไหม้ กำหนดโทษว่าคนที่วางเพลิงเป็นโทษประหารชีวิต แต่เดิมโทษไม่ถึงประหารชีวิต อย่างไรก็ตาม ศาลสูงสุดพิพากษาประหารชีวิตผู้ต้องสงสัยรายนี้ ซึ่งเท่ากับศาลใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่บุคคลในทางอาญา ซึ่งผิดหลักกฎหมายและขัดรัฐธรรมนูญไวมาร์ การตัดสินคดีนี้สะท้อนให้เห็นว่าองค์กรตุลาการไม่สามารถทานพลังฮิตเลอร์เอาไว้ เพราะไม่รักษาหลักการรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคดีที่สะท้อนปัญหาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ฮิตเลอร์ไม่พอใจผลคำพิพากษาคดีนี้ ตั้งศาลใหม่ขึ้นมาด้วยเอาไว้ตัดสินคดีทางการเมืองทั้งหลายทั้งปวง เรียกว่า ศาลสูงสุดของประชาชน หรือเราอาจเรียกได้ว่าศาลฮิตเลอร์

ท้ายที่สุด อยากกล่าวถึงกรณีในบ้านเรา บ้านเราเวลาพูดถึงฮิตเลอร์ มีบางท่านพยายามเปรียบเทียบสถานการณ์การเมืองในยุคไม่กี่ปีนี้กับสถานการณ์การเมืองในเยอรมันยุคฮิตเลอร์ เพื่อจะลดทอนคุณค่าของประชาธิปไตยลง ซึ่งผมบอกว่า มันเปรียบเทียบกันไม่ได้ สภาวะแบบไวมาร์นั้น unique

 บางท่านพูดถึงเมื่อไม่นานมานี้ว่า ฮิตเลอร์มาจากการเลือกตั้งและหลังจากเยอรมันแพ้สงคราม เยอรมันก็ตั้งองค์กรกำกับขึ้นมาควบคุมอำนาจของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น การตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาโดยทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากในการควบคุมนักการเมือง ประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พูดว่า ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันมีอำนาจมากเพราะเคยเกิดเรื่องแบบฮิตเลอร์ขึ้น ตรงนี้เป็นปัญหาและเป็นความไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ของเยอรมันและไม่ได้ศึกษาที่มาของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันให้ดี 

ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันไม่เหมือนกับของไทย ที่มาของเขาเชื่อมโยงกลับไปที่สภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนมลรัฐในสหพันธรัฐ

เราจะเห็นว่าคนเยอรมันไม่รู้สึกว่าประชาธิปไตยมันใช้ไม่ได้ หลังสงคราม เขาทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ตรงไหนของรัฐธรรมนูญไวมาร์ที่เขาเห็นว่ามันเป็นจุดอ่อนเขาก็ปรับแก้ แต่สิ่งหนึ่งที่ยึดถือไว้เสมอคือ องค์กรที่ใช้อำนาจของรัฐคุณต้องมีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตย ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเยอะได้ คุมการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เป็นเพราะรัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ และมีที่มาที่เชื่อมโยงไปหาประชาชนได้ผ่านนักการเมือง คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผ่านสภาผู้แทนมลรัฐในสหพันธ์

เยอรมันแม้จะประสบกับฮิตเลอร์ คนเยอรมันเรียนรู้จากฮิตเลอร์และทำให้ตัวเองเป็นประชาธิปไตยที่เป็นหลักเป็นฐาน เป็นที่อ้างอิง เป็นแบบแผนให้กับคนอื่นได้ แต่บ้านเราเวลาอ้าง ส่วนหนึ่งกลับอ้างถึงมันเพื่อมาทำลายตัวระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวมากๆ

แล้วก็พูดกันแต่ว่าศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันอำนาจเยอะ โดยไม่เคยไปดูเลยว่าเขามาจากไหน และไม่เคยรู้ว่าที่ฮิตเลอร์ขึ้นครองอำนาจ เพราะชนะการเลือกตั้งแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดขึ้นครองอำนาจไหม ไม่เคยศึกษาวิธีการที่ฮิตเลอร์ขึ้นมาครองอำนาจใช้เทคนิตอย่างไร tricky อย่างไร ไม่เคยศึกษาว่ากลไกในรัฐธรรมนูญไวมาร์มันล้มเหลวอย่างไร แล้วก็สรุปง่ายๆ ว่าฮิตเลอร์ชนะการเลือกตั้ง ฉะนั้นประชาธิปไตยใช้ไม่ได้ เสียงข้างมากหลงผิด

เป็นไปได้ในบางเวลาที่จะเห็นไม่ตรงกัน แต่โดยระบอบมันมีการคานกัน แต่คนที่จะมาคานดุลอำนาจนั้นต้องมีความชอบธรรมด้วย ดังนั้นปัญหาที่เราจบตรงความชอบธรรมนั้นสำคัญ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะองค์กรบริหาร นิติบัญญัติ แต่รวมถึงองค์กรตุลาการในทุกระบบศาล

ในปัจจุบันเยอรมันก็เป็นแบบนี้หมด ศาลเชื่อมโยงกลับมาถึงประชาชนได้หมด แล้วก็มีหลักการสำคัญอันหนึ่งด้วยที่เกิดขึ้นในเยอรมันคือ หลักการที่ไม่ให้ผู้พิพากษาคัดเลือกผู้พิพากษาด้วยกันเอง องค์กรที่จะคัดเลือกผู้พิพากษาต้องเป็นองค์กรนิติบัญญัติกับองค์กรบริหารร่วมกัน เพราะถือว่าจะเป็นองค์กรที่ไปตัดสินคดีซึ่งต้องการความชอบธรรมในระดับสูงในระบอบประชาธิปไตย

เราอาจกล่าวได้ว่า บทเรียนจากสาธารณรัฐไวมาร์ ทำให้เยอรมันเป็นประชาธิปไตยเต็มรูป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

WARTANImedia: เยี่ยมครูตาดีกา หลังถูกทหารพรานควบคุมตัว

Posted: 21 Apr 2013 09:24 AM PDT

ที่มาของคลิป: สำนักสื่อ Wartani

ตามที่เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารพราน ได้เข้าตรวจค้นสถาบันปอเนาะอิสลามศาสตร์วิทยา (ปอเนาะกำปงบูเกต) ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี โดยอ้างเหตุผลว่าได้มีคนร้ายวิ่งเข้ามาในบริเวณดังกล่าว ซึ่งสถานที่ดังกล่าวกำลังมีการจัดกิจกรรม "ค่ายอบรมเด็กและเยาวชนภาคฤดูร้อน ประจำปี 2556" ระหว่างวันที่ 14-18 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นการอบรมกลุ่มเด็กและเยาวชนในหมู่บ้านประมาณ 82 คน โดยมีประธานโครงการญาลานันบารู (โครงการในเครือ กอ.รมน.) มาเป็นประธานในพิธีเปิด และระหว่างการปิดล้อมได้มีการควบคุมตัว น.ส.พาดีล๊ะ เสาะหมาน ครูพี่เลี้ยงค่ายอบรมฯ และนักศึกษาสถาบันมะฮัดดารุลมาอาเรฟ อ.เมือง จ.ปัตตานี ไปสอบถาม

โดยมีการพา น.ส.พาดีล๊ะ ไปทำการสืบสวนที่หน่วยเฉพาะกิจ ที่ 24 ศูนย์ฝึกอาชีพวัดช้างไห้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และในเวลา 17.10 น. มีการย้ายไปควบคุมตัวที่หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารพรานที่ 41 ต.วังพญา อ.รามัน จ.ยะลา ดังกล่าว

ล่าสุดเมื่อวานนี้ (20 เม.ย.) เวลาประมาณ 10.00 น. นักศึกษาจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PERMAS) องค์กรประชาสังคม และผู้ปกครองของ น.ส.พาดีล๊ะ ได้ไปที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 เพื่อขอเข้าเยี่ยมและสอบถามถึงสาเหตุควบคุมตัว อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ไม่อธิบายสาเหตุการควบคุมตัว โดยระบุว่ายังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ เพราะอยู่ในระหว่างสอบสวนผู้ต้องสงสัย โดยขอให้ผู้ที่เดินทางไปที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารที่ 41 แบ่งทยอยเข้าเยี่ยมเป็นกลุ่มเล็ก ครั้งละ 5 คน เพื่อให้สะดวกในการเข้าเยี่ยม

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ มารดาของ น.ส.พาดีล๊ะ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ทางญาติ และผู้ใหญ่บ้าน ได้มีการเดินทางไปที่หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานดังกล่าวด้วย เพื่อขอเยี่ยม น.ส.พาดีล๊ะ แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่อนุญาตให้เยี่ยม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ลุฟท์ฮันซ่า' ยกเลิกพันกว่าเที่ยวบิน หลังสหภาพฯ นัดหยุดงานจันทร์นี้

Posted: 21 Apr 2013 08:21 AM PDT

ลุฟท์ฮันซ่า สายการบินของเยอรมนี ประกาศยกเลิกเที่ยวบินจำนวนมากในวันจันทร์ เนื่องจากสหภาพแรงงานกำหนดนัดหยุดงาน

สายการบินลุฟท์ฮันซ่าระบุว่า จะมีเพียง 30 เที่ยวบินเท่านั้นที่จะเปิดให้บริการตามปกติในวันจันทร์นี้ จากทั้งหมดกว่า 1,700 เที่ยวบิน

ทั้งนี้ การนัดหยุดงาน 1 วันดังกล่าวมีสาเหตุจากข้อพิพาทแรงงาน โดยเมื่อสัปดาห์ก่อน ลุฟท์ฮันซ่าปฏิเสธข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานในการขอขึ้นเงินเดือน 5.2% ของค่าจ้าง

นอกจากนี้ สหภาพแรงงานยังเรียกร้องให้มีการประกันการเลิกจ้างด้วย ทั้งนี้ ลุฟท์ฮันซ่านั้นไม่ต่างกับสายการบินหลายแห่งที่เตรียมลดต้นทุน หลังต้องเจอการแข่งขันอย่างหนักหน่วงกับสายการบินต้นทุนต่ำและสายการบินยักษ์ใหญ่อย่างกัลฟ์ รวมถึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่พุ่งขึ้นสูงด้วย

ทั้งนี้ สหภาพแรงงานหยุดงานประท้วงหนึ่งวันแบบเดียวกันนี้เมื่อเดือนก่อน โดยการผละงานในช่วงสั้นๆ เป็นเทคนิคปกติของสหภาพแรงงานเยอรมัน เพื่อสร้างแรงกดดันต่อการเจรจาขึ้นค่าจ้าง

 

 

 

ที่มา:
Lufthansa strike sees 'massive' flight cancellations
http://www.bbc.co.uk/news/business-22238511

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระราชสาส์นแสดงความเสียใจเหตุแผ่นดินไหวจีน

Posted: 21 Apr 2013 07:34 AM PDT

 

ที่มาของภาพ: เฟซบุคกองข่าว สำนักราชเลขาธิการ

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีข้อความพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัย ไปยังประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มณฑลเสฉวน เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมาว่า

"ข้าพเจ้าและพระราชินีเศร้าสลดใจอย่างยิ่งที่ได้ทราบข่าวเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มณฑลเสฉวน  ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ข้าพเจ้าและพระราชินีขอแสดงความเสียใจด้วยใจจริงมายังท่านและผุ้ประสบความสูญเสียจากภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งนี้"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จีนขอบคุณนานาชาติด้วยความจริงใจ แต่มีของบรรเทาทุกข์พร้อม จึงยังไม่ต้องการความช่วยเหลือ

Posted: 21 Apr 2013 06:33 AM PDT

หลังเหตุแผ่นดินไหวที่เสฉวนวานนี้ ล่าสุดประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ระบุต้องคำนึงถึงการกู้ชีวิตมาเป็นอันดับแรก ใช้ความพยายามเพื่อลดการบาดเจ็บล้มตายให้มากที่สุด ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ขอบคุณนานาชาติที่จะให้ความช่วยเหลือ แต่จีนยังมีกำลังเพียงพอ สามารถที่จะดำเนินงานช่วยเหลือและการรักษาพยาบาลเป็นปกติได้

แผ่นดินไหวที่มณฑลเสฉวนของจีน เมื่อวันที่ 20 เม.ย. (ที่มาของภาพ: CRI)

 

 

เว็บไซต์ของสถานีวิทยุเสียงสากลแห่งประเทศจีน (CRI) รายงานว่า วันนี้ (21 เม.ย.) นายฉิน กัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ประชาคมโลกต่างยินดีที่จะเสนอความช่วยเหลือเพื่อช่วยบรรเทาภัยแผ่นดินไหวเมืองหย่าอัน มณฑลเสฉวน ที่เกิดขึ้นในจีน แต่ปัจจุบันจีนมีกำลังเพียงพอ สามารถที่จะดำเนินงานช่วยเหลือและการรักษาพยาบาลเป็นปกติได้ สิ่งของบรรเทาภัยก็มีพร้อม ฉะนั้นยังไม่ต้องการความช่วยเหลือจากต่างชาติ

นายฉิน กังกล่าวว่า หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่อำเภอหลูซานแล้ว ประชาคมโลกต่างแสดงความเสียใจและว่าจะสนับสนุนงานกู้ภัย บางประเทศยังระบุว่าจะเสนอความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ด้วย รัฐบาลและประชาชนจีนขอขอบคุณด้วยความจริงใจ

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนกำลังพยายามดำเนินงานกู้ภัย ปัจจุบันงานช่วยเหลือและการรักษาโรคมมีหลักประกันที่ดี สิ่งของบรรเทาภัยมีพร้อม แต่พิจารณาถึงสภาพการจราจรและการสื่อสารยังไม่ค่อยพร้อม เลยยังไม่ต้องการคณะกู้ภัยและคณะแพทย์ต่างชาติเข้ามาช่วยเหลือ ถ้ามีความต้องการรัฐบาลจะติดต่อกับประเทศที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้เมื่อเวลา 8.02 น. วันที่ 20 เมษายน ตามเวลาท้องถิ่น ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ริกเตอร์ที่เมืองหย่าอันของมณฑลเสฉวน ศูนย์บัญชาการกู้ภัยแผ่นดินไหวมณฑลเสฉวนเผยเมื่อวานนี้ว่า จนถึงขณะนี้ ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้มีจำนวนอย่างน้อย 113 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 2,500 คน ซึ่งอาจเพิ่มขึ้นอีก โดยแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นทางใต้ของเทือกเขาหลงเหมินซัน ศูนย์กลางอยู่ลึกลงไปใต้ดิน 13 กิโลเมตร พื้นที่บริเวณใกล้ศูนย์กลางเกิดแผนดินไหวในรัศมี 100 กิโลเมตรเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5 ริกเตอร์ขึ้นไปถึง 12 ครั้ง ในจำนวนนี้ เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6- 6.9 ริกเตอร์ถึง 3 ครั้ง ที่รุนแรงที่สุดคือ แผ่นดินไหวขนาด 8.0 ริกเตอร์ที่เมืองเวิ่นชวนเมื่อปี 2551

โดยหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าว เว็บไซต์ของ CRI รายงานด้วยว่า ประชาคมโลกต่างพากันให้ความสำคัญต่อผลคืบหน้าของการกู้ภัยเหตุแผ่นดินไหวตลอดจนรัฐบาลจีนระดมกำลังจากวงการต่างๆ เข้าร่วมงานบรรเทาภัยอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ทางรัสเซีย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และแคนาดาต่างแสดงความเสียใจต่อการเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ของจีน และยินดีจะให้ความช่วยเหลือตามความต้องการของจีน

ขณะที่นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนสั่งการหลังเกิดแผ่นดินไหวว่า ต้องคำนึงถึงการกู้ชีวิตมาเป็นอันดับแรก ใช้ความพยายามเพื่อลดการบาดเจ็บล้มตายให้มากที่สุด นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนยังเดินทางไปยังเขตประสบภัยโดยเครื่องบินเพื่อชี้แนะและวางแผนงานบรรเทาภัย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

MIO: เสวนาสื่อมืออาชีพกับจรรยาบรรณ

Posted: 21 Apr 2013 03:39 AM PDT

เสวนาว่าด้วยความเป็นมืออาชีพกับจรรยาบรรณ สมเกียรติ อ่อนวิมล ระบุต้องเคารพความจริง ตรวจสอบความจริงและภักดีต่อประชาชน ขณะใบตองแห้งชี้วิกฤตของสื่อคืออยากเป็นผู้ชี้นำสังคมขณะที่สังคมไม่ต้องการพหูสูตมาชี้ถูกผิดแล้ว

วงเสวนาหัวข้อ "สื่อมืออาชีพกับจรรยาบรรณ....เรื่องที่สังคมอยากรู้" ซึ่งมีเดียอินไซด์ เอาท์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2556 เชิญสื่อมืออาชีพระดับอาวุโสจากหลายสำนักมาร่วมกันแสดงความเห็นต่อประเด็น สื่อมืออาชีพกับจรรยาบรรณ...เรื่องที่สังคมอยากรู้ โดยวิทยากรประกอบด้วย สมเกียรติ อ่อนวิมล จากสปริงนิวส์, นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ เครือมติชน, อธึกกิต แสวงสุข หรือใบตองแห้ง จากวอยซ์ทีวี และ จักร์กฤษณ์ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์ ดำเนินรายการโดย จอม เพชรประดับ

จอมเปิดประเด็นเรื่องความรู้สึกขัดแย้งระหว่างความเป็นมืออาชีพ กับจรรบาบรรณว่าเป็นสิ่งเดียวกันหรือเปล่า จากประสบการณ์ของเขาที่ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองโดยถูกอ้างเหตุผลเรื่องจรรยาบรรณ พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่าประเด็นสื่อกับจรรยาบรรณนั้นดูจะเป็นเรื่องน่าเบื่อและเป็นเรื่องอุดมคติ และน่าตั้งคำถามด้วยว่า สื่อทุกวันนี้กำลังเป็นมืออาชีพแบบไทยๆ อยู่หรือไม่

สมเกียรติ อ่อนวิมล: หน้าที่สื่อ จงรักภักดีต่อความจริง ตรวจสอบความจริง และภักดีต่อพลเมือง
สมเกียรติ อ่อนวิมล ตอบประเด็นความเป็นสื่อมืออาชีพ และจรรยาบรรณว่าเป็นสองเรื่องที่ไม่ใช่ประเด็นเดียวกัน
"ความเป็นมมืออาชีพ คือขีดความสามารรถ ทักษะในการทำงานตามความต้องการของอาชีพนั้นๆ เมื่อเราเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ก็ต้องรู้ว่าจะเขียนข่าว ผลิตข่าว กระบวนการออกแบบให้เป็นมืออาชีพ หรือถ้าทำโทรทัศน์ก็ต้องรู้เรื่องกล้อง มุมกล้อง แสง การลงเสียง การออกเสียง การมิกซ์ภาพเสียง ลำดับเรื่องให้สั้นยาวตามความเหมาะสมที่จะเอามาใช้ในข่าว คือทำอะไรให้ดีที่สุดตามที่เงื่อนไขของการผลิตงานนั้นๆ เขาทำ ไม่ใช่ทำอิเหละเขระขระ แต่ส่วนหนึ่งของการเป็นมืออาชีพ ก็มีกรอบการดำเนินชีวิต คือจรรยาบรรณหรือจริยธรรมวิชาชีพ 

สำหรับจรรยาบรรณสื่อนั้น เขาให้ความสำคัญกับหลักใหญ่  3 ประการคือ  สื่อมวลชนจะต้องจงรักภักดีต่อความจริง สองต้องตรวจสอบความจริง สามต้องภักดีต่อพลเมือง นอกนั้นคือต้องตรวจสอบผู้มีอำนาจในสังคม มีอิสระในการคิด และประชาชนมีส่วนร่วม

เขาบอกว่าสิ่งหนึ่งที่เขาทำและประสบการต่อต้านมากในการทำงานที่ผ่านมาคือ การพยายามสลายโต๊ะข่าว เพื่อให้ผู้สื่อข่าวทำข่าวได้หลากหลาย ไม่ยึดติดกับประเด็นเฉพาะเรื่องของตัวเอง และสลายหัวหน้าโต๊ะข่าว เพื่อไม่ให้เกิดลำดับชั้นทางความคิด

สมเกียรติ อ่อนวิมลกล่าวถึงข้อสังเกตเรื่องความคลุมเครือระหว่างการโฆษณาประชาสัมพันธ์กับข่าว เขากล่าวว่าจะพยายามไม่ให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับสริงนิวส์ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำได้นานแค่ไหน แต่เขาจะทำให้ชัดเจนว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่โฆษณาประชาสัมพันธ์

สำหรับประเด็นสื่อเลือกข้างที่เลือกแล้วบอกชัดเจนนั้นเขาเห็นว่เป็นเรื่องดี แต่ถ้าเลือกข้างแล้วไม่บอกเป็นประเด็นของความรู้ทันทันสื่อ (Media Literacy) แต่เขาเห็นว่าถ้าสื่อเลือกข้างควรจะบอกเลยว่าเลือกข้าง ตัวเขาเองอยากทำสปอต 1 นาทีเปิดเผยว่าใครถือหุ้นสปริงนิวส์ เพื่อให้คนอ่านได้พิจารณาว่าเป็นฝ่ายไหน 

อย่างไรก็ตาม แม้สื่อจะเผชิญกับวิกฤตความเชื่อมั่นและกำลังถูกท้าทายในด้านการปรับตัวให้อยู่รอดทางธุรกิจ และถูกตั้งคำถามด้านความเป็นมมืออาชีพและจรรยาบรรณ แต่เขาเชื่อว่าอาชีพสื่อจะไม่หายไปไหน 

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์: สื่อหมกมุ่นกับความดี แต่คำถามคือสื่อเคารพความจริง และพลเมืองแค่ไหน
นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ จากเครือมติชน แสดงความเห็นต่อเนื่องจาก สมเกียรติ อ่อนวิมล โดยเธอเห็นว่าสื่อต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด แต่ต้องประกอบด้วยจริยธรรมมืออาชีพ ไม่ใช่นึกจะด่าก็ด่า ต้องรู้ว่ามืออาชีพต้องทำงานอย่างไร แต่เมื่อนึกถึงสามข้อหลักที่สมเกียรติ อ่อนวิมลให้ความสำคัญ เธอตั้งคำถาทมว่า เวลาสื่อไทยให้ความสำคัญกับจริยธรรมเรามักจะหมกมุ่นกับเรื่องความเป็นคนดี ไม่รับอามิสสินจ้าง ไม่โกง จึงมีจริยธรรม แต่หลักเรื่องการตรวจสอบความจริง เคารพความจริง และเคารพพลเมืองนั้นได้รับความสำคัญแค่ไหน โดยตัวเธอเองเห็นว่าสื่อไทยไม่ได้ตระหนักในประเด็นหลังมากเท่ากับเรื่องโกงหรือไม่โกง ซึ่งกลายเป็นความหมายที่สำคัญของความมีจริยธรรมไปเสียแล้ว

เธอกล่าวว่าประเด็นสำคัญของสื่อในตอนนี้ที่ควรต้องทำคือประเด็น 112 ถ้าอยู่กันด้วยความกลัวไม่อาจจะเรียกได้ว่ามีเสรีภาพ สื่อเองก็เซ็นเซอร์ตัวเอง เสรีภาพไม่ได้หมายความว่าอยู่ๆ ก็ลุกมาด่ากัน แต่หมายถึงอยากมีความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ก็แลกเปลี่ยนกันได้

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ วิพากษ์ว่าสื่อตามโลกไม่ทัน คือโลกเป็นทุนนิยมแล้ว สื่อต้องทำความเข้าใจว่าสื่อก็เป็นธุรกิจ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะมีจริยธรรมไม่ได้ เธอกล่าวด้วยว่าคนไทยไม่เข้าใจเรื่องผลประโยชน์ พอพูดเรื่องผลประโยชน์กลายเป็นเรื่องโลภ เลว ทุกคนต้องทำธุรกิจต้องทำมาหากิน ก็ต้องมีจริยธรรมของการทำธุรกิจที่จะไม่เอาเปรียบผู้บริโภคของตัวเองมากเกิน ธรรมชาติธุรกิจต้องการกำไร แต่ไม่ใช่ว่าไปเอาเปรียบคนหรือขูดรีดคน

เธอกล่าวว่าสิ่งที่สื่อต้องตระหนักคือ หนึ่ง คนอ่านจะไม่อ่านข่าวห่วยๆ เพราะทุกวันนี้คนอ่านก็เป็น Gate Keeper เหมือนสื่อ ประการต่อมาคือ ยอมรับว่าสื่อทำธุรกิจ และประการที่สาม จริยธรรมทำได้ แต่ประเด็นสำคัญคือ สื่อเสนอความจริงหรือเปล่า ถ้าเสนอห่วยก็ล้มเหลว คนอ่านเขาจะบอกว่าเขาเขียนเองดีกวา

นิธินันท์กล่าวว่าเห็นด้วยกับสื่อเลือกข้าง ซึ่งเธอเห็นว่าไม่ใช่ความผิด สื่อมืออาชีพก็เลือกข้างได้ แต่ประเด็นสำคัญคือการเเลือกแล้วต้องไม่เห็นอีกข้างเป็นศัตรูต้องฟาดฟันให้ตายคามือคาเท้า ไล่ออกนอกประเทศ ไล่ไปอยู่คนละฟาก ต้องให้มีการเลือกข้างได้แต่ไม่โกรธกัน หรือฆ่ากัน

อธึกกิต แสวงสุข: สื่อที่จะเป็นพหูสูตไม่มีแล้ว เพราะโลกไม่ได้ต้องการพหูสูต
อธึกกิต แสวงสุข เจ้าของนามปากกาใบตองแห้ง กล่าวว่า ประเด็นผลประโยชน์ในสื่อของไทยมีมานานแล้ว แต่ได้รับการแก้ไขมาก่อนในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมาโดยเครือผู้จัดการ ซึ่งผู้งบริหาร คือสนธิ ลิ้มทองกุล ปรับฐานเงินเดือน ยกระดับครั้งใหญ่ แต่มีปัญหาตามมา สื่อหลักเงินเดือนสูง เปิดที่ให้คนมีอุดมการณ์ แต่ก็เข้าไปสู่ธุรกิจโฆษณา และเข้าไปพัวพันผลประโยชน์โฆษณา เขากล่าวด้วยว่าปัญหาปัจจุบันปัญหาผลประโยชน์ในวงการสื่อแพร่หลายไปกว้าง ในขณะที่นักข่าวการเมืองถูกจับตามาก แต่นักข่าวสายอื่นพัฒนาไปค่อนข้างหนัก เช่นสายอาชญากรรม ต้องไปกินเหล้ากับตำรวจ แต่ที่เป็นปัญหาคือ การทำข่าวเป็นผู้ช่วยตำรวจ ปรักปรำ หลายคดีน่าสงสัยว่าทำไมไปตามตำรวจ เป็นปัญหาความรับผิดชอบ"

เขากล่าวว่าปัญหาอีกประการคือ ผลประโยชน์ คือเส้นแบ่งที่เลือนลางระหว่างการชวนทำข่าวพีอาร์ และการสร้างพื้นที่ให้แหล่งข่าวที่ตัวเองเกี่ยวข้องซึ่งเป็นปัญหาทั้งสายข่าวธุรกิจ อาชญากรรม

อธึกกิตย้ำประเด็นเรื่องสื่อเลือกข้างว่าไม่ผิด ความเป็นกลางคือความเสแสร้ง โดยเขายกตัวอย่างสมเกียรติ อ่อนวิมลที่ประกาศตัวว่าเลือกประชาธิปัตย์ แต่คนเชื่อถือว่าเวลาทำงานไม่ได้เอาส่วนที่เลือกข้างมาเกี่ยวข้อง การเลือกข้างต้องอธิบายเหตุผลได้ ที่ผ่านมาสื่อไม่เลือกข้างแต่ปล่อยให้มีการทำข่าวแบบไม่รับผิดชอบในแง่ที่จะไปหาความจริงโดยอ้างว่าตัวเองไม่เลือกข้าง ปล่อยให้เป็นข่าวปิงปอง แต่อะไรคือความจริงสื่อก็ไม่บอก หรือถ้าบอกก็บอกด้วยข้อมูลที่เลือกข้าง

สำหรับวิกฤตการเมืองนั้นมีความไม่รับผิดชอบของสื่อคือการสร้างกระแสอารมณ์ก่อนที่จะล้มรัฐบาลทักษิณ ทั้งที่สื่อมีหน้าที่ต้องแยกแยะเหตุผลให้เห็น แต่สื่อกลับช่วยกระตุ้นอารมณ์ และสำหรับเขาสื่อเลือกข้างที่ร้ายแรงที่สุดมาเกิดเมื่อปี 2549 สื่อที่เลือกไล่รัฐบาลทักษิณและเลือกรัฐประหารคือสื่อที่คิดว่าตัวเองเป็นคนดี และเชื่อว่าตัวเองกำลังทำสิ่งที่ดีคือการโค่นล้มทำลายรัฐบาลทักษิณเสีย ซึ่งตอนแรกเขาเห็นด้วย แต่เมื่อมีการรัฐประหารเขาเห็นว่ามาผิดทางแล้ว จรรยาบรรณของสื่อ บทบาทสื่ออันดับแรกสุดสื่อเกิดมาพร้อมกับประชาธิปไตย จึงมีบทบาทหน้าที่ที่จะต้องปกป้องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ 

อธึกกิต วิจารณ์ว่าปัจจุบันนี้สื่อไม่ได้แค่กระโดดเข้าไปเป็นนักการเมือง แต่สื่อส่วนหนึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง บางช่วงสื่อไปอยู่กับมัชชาคนจนแล้วก็คิดว่าต้องต่อสู้กับสมัชชาคนจนจนกว่าจะชนะไปด้วยกัน สื่อไปทำหน้าที่เป็นมากกว่ากระจก แต่ก้าวไปเป็นตะเกียง เป็นผู้ชี้นำทางการเมือง  สื่อไม่สามารถจะต้องเป็นตะเกียงอีกต่อไปแล้ว ควรจะเป็นเพียงกระจก เพราะสังคมนั้นพัฒนาความรู้ไปหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ความรู้ของสื่อไม่ได้ทันกับสังคมแล้ว สื่อที่จะเป็นพหูสูตไม่มีแล้ว เพราะโลกไม่ได้ต้องการพหูสูตเพราะโลกไปสู่ประเด็นผู้เชี่ยวชาญที่มีเยอะมากในโซเชียลมีเดีย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้คือสื่อกระแสหลักกำลังดิ้นในแง่ที่ตัวเองควรจะมีอำนาจชี้นำสังคม ในความขัดแย้งเรื่องสี สื่อต้องการรักษาสถานภาพความเป็นตะเกียง

จักร์กฤษ เพิ่มพูน: สื่อทางเลือกเล็กๆ ที่ไม่ต้องอาศัยทุนใหญ่ จึงจะประคับประคองจรรยาบรรณไปได้
จักร์กฤษ เพิ่มพูน ประธานสภาการหนังสือพิมพ์ พูดในฐานะคนทำสื่อมายาวนานกว่าสิบสิบปีว่าได้เห็นพัฒนาการของสื่อมายาวนานพอสมควร จริยธรรมและจรรยาบรรณนั้นในธรรมนูญหรือข้อบังคับของสภาการหนังสือพิมพ์มีการระบุถึงสิ่งที่ต้องทำ หรือควรต้องทำ แต่ถ้อยคำตามตัวอักษรไม่ได้ปรากฏเป็นสาระตามที่เป็นจริงในสังคม สภาพการบังคับหรือการยึดมั่นในจรรยาบรรณนั้นเปลี่ยนไป เพราะสื่อก้าวเข้าสู่อุตสหากรรมสื่อซึ่งต้องหวังผลกำไร

"ผมคิดไปว่าต่อไปรูปแบบของสื่อจะเปลี่ยนไป จะเป็นจริงหรือไม่ยังไม่แน่ใจ คือมันต้องเป็นสื่อที่เป็นสื่อทางเลือกมากขึ้น คือไม่ต้องลงทุนใหญ่ เป็นสื่อออนไลน์อะไรต่างๆ ที่ไม่ต้องมีทุนใดทุนหนึ่งเป็นทุนใหญ่ อย่างนั้นผมคิดว่าน่าจะพอรักษาสถานภาพในเรื่องของจรรยาบรรณไว้ได้"

อย่งไรก็ตาม สื่อที่เป็นมืออาชีพอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ต้องมีความไม่ลำเอียง และความรับผิดชอบ นึกถึงใจเขาใจเราและเปิดโอกาสให้คนที่ถูกพาดพิงได้แก้ต่าง

เขากล่าวว่า ในเรื่องจริยธรรมนั้นต้องหาทางออกหรือช่องทางของสื่อโดยที่ไม่ต้องอิงแอบกับระบบทุนอย่างที่เป็นอยู่
สำหรับประเด็นสื่อเลือกข้าง เขาคิดว่าต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ สังคมต้องแยกแยะได้ 

จักกฤษณ์ กล่าวในท้ายสุดว่าสิ่งที่อยากเห็นในองค์กรสื่อปัจจุบัน คือนอกจากจุดยืนชัดเจนแล้วต้องใจกว้าง ยอมรับความเห็นอย่างหลากหลาย "คนฉลาดขึ้น โครงสร้างสังคมเปลี่ยนไป แต่คิดว่ามีสื่อจำนวนไม่น้อยที่ยึดอัตตาว่าฉันจะต้องเป็นคนชี้ผิดชี้ถูก สื่อเป็นอาชีพหนึ่งไม่ใช่อาชีพอภิสิทธิ์ ไม่มีอีกแล้ว 18 อรหันต์ที่จะมาบอกว่าฉันเท่านั้นที่ถูกต้อง" ประธานสภาการหนังสือพิมพ์ทิ้งท้าย

 

อ่านรายงานอย่างละเอียดที่ MIO

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวบ้านในรัฐฉานร้องเรียน เกิดเหตุข่มขืนโดยทหารพม่าช่วงสงกรานต์

Posted: 20 Apr 2013 10:48 PM PDT

สำนักข่าวฉานรายงานเหตุทหารพม่าก่อเหตุข่มขืนในรัฐฉาน 2 ราย ในขณะที่การสู้รบระหว่างทหารพม่ากับกองทัพรัฐฉาน SSA/SSPP ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง

แหล่งข่าวพลเมืองจากรัฐฉานแจ้งว่า เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2556 ช่วงเทศกาลปีใหม่สงกรานต์ที่ผ่านมา เกิดเหตุทหารพม่ารายหนึ่งจากสังกัดกองพันที่ 17 ได้พยายามข่มขืนเด็กหญิงชาวไทใหญ่วัย 8 ขวบ ที่หมู่บ้านหลี่ เมืองน้ำลั่น ทางภาคเหนือของรัฐฉาน ระหว่างเกิดเหตุพ่อแม่ของเด็กได้มาพบเข้าและได้ตะโกนให้เพื่อนบ้านมาทำการช่วยเหลือเด็กหญิงไว้ได้ทัน ขณะที่เด็กหญิงมีอาการร้องไห้หวาดกลัว

โดยทหารพม่าที่ก่อเหตุทราบชื่อคือ เทจ่อ ซึ่งหลังพ่อแม่เหยื่อร้องขอความช่วยเหลือจากทำให้เขาตกใจวิ่งหนีไป และต่อมาทหารพม่ารายนี้ได้มาเจรจาต่อรองขอมอบเงินให้ผู้ปกครองเหยื่อจำนวน 5 หมื่นจ๊าต (ราว 1,750 บาท) เพื่อหวังแลกกับการไม่เอาผิดและหวังเป็นค่าทำขวัญให้กับเด็กหญิงคนดังกล่าว

ขณะที่มีรายงานอีกว่า เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา ทหารพม่าชื่อจ่อหม่อง จากกองพันที่ 513 ได้ก่อเหตุข่มขืนนางสาวมน (นามสมมติ) หญิงสาวชาวไทใหญ่วัย 18 ปี ที่หมู่บ้านน้ำป๋าหลัม ต.เมืองออด เขตเมืองสู้ รัฐฉานภาคเหนือ ภายหลังเกิดเหตุทหารพม่ารายนี้ยอมรับผิดและกล่าวจะรับผิดชอบเรื่องที่เกิดขึ้น โดยขอร้องให้ทางพ่อแม่และญาติของฝ่ายหญิงอย่าได้ร้องเรียนไปยังผู้บัญชาการของตน

อย่างไรก็ตาม ทางญาติของนางสาวมนยืนยันจะร้องเรียนเรื่องนี้ต่อผู้บัญชาการของเขา ซึ่งภายหลังทหารพม่ารายนี้ได้ใช้ปืนยิงตัวเองเพื่อหนีความผิดไป

ทั้งนี้ มีรายงานว่า หลังเกิดการสู้รบกันระหว่างทหารพม่าและกองทัพรัฐฉาน SSA "เหนือ" หรือ SSA/SSPP ที่จนถึงขณะนี้ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง พบมีเหตุการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการกระทำของทหารพม่า ในพื้นที่ภาคเหนือของรัฐฉานเพิ่มมากขึ้น

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) สำนักข่าวอิสระของไทยใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า และตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น