โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

บรูไนจัด "อาเซียนภาคประชาชน 2013" ฟิลิปปินส์-อินโดนีเซียงดร่วม

Posted: 06 Apr 2013 12:29 PM PDT

สภาสตรีบรูไนจัดอาเซียนภาคประชาชน 2013 ภายใต้หัวข้อ "อาเซียน: อนาคตของเราร่วมกัน" รมต.กระทรวงวัฒนธรรมย้ำรัฐบาลร่วมมือกับประชาสังคมใกล้ชิดเพื่อขยายโอกาสทางสังคม-เศรษฐกิจ ขณะที่ผู้แทนจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียประกาศถอนตัวจากการประชุม หลังเจ้าภาพกำหนดหัวข้อประชุมเอง และงดถกประเด็นประชาธิปไตยและเรื่องละเอียดอ่อน

ฮาซาร์ อับดุลลาห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เยาวชน และกีฬา ได้กล่าวเปิดการประชุม มภาคประชาสังคมอาเซียน หรืออาเซียนภาคประชาชน 2013 (ACSC/APF 2013) ซึ่งกำหนดจัดระหว่างวันที่ 6-8 เม.ย. ที่บรูไน ก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนวันที่ 24-25 เม.ย. นี้ (ที่มา: ประชาไท)

ผู้เข้าร่วมการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน หรืออาเซียนภาคประชาชน 2013 (ACSC/APF 2013) ที่กรุงบันดา เสรี เบกาวัน ประเทศบรูไน เมื่อวันที่ 6 เม.ย. (ที่มา: ประชาไท)

 

บันดาร์ เสรี เบกาวัน - เมื่อวานนี้ (6 เม.ย.) ที่ประเทศบรูไน มีการจัดการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน หรืออาเซียนภาคประชาชน 2013 (ACSC/APF 2013) ภายใต้หัวข้อ "อาเซียน: อนาคตของเราร่วมกัน" (ASEAN: Our Future Together) โดยกำหนดจัดระหว่างวันที่ 6-8 เม.ย. ที่โรงแรมแอลอาร์ อัสมา ถ.เจรูตัน ประเทศบรูไน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันในหมู่ประชาชนของประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน และสร้างความสามัคคี ความเป็นเอกภาพ และความร่วมมือในหมู่ประชาชนในอาเซียน

สำหรับเจ้าภาพประชุมดังกล่าวคือ สภาสตรีแห่งบรูไนดารุสซาลาม (CWBD) และได้รับการสนับสนุนจากองค์กรทางสังคมในบรูไน โดยเป็นการจัดขึ้นก่อนที่จะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่กรุงบันดาร์ เสรี เบกาวัน ประเทศบรูไน ในวันที่ 24-25 เม.ย.

โดยการเน้นหนักของเวที ACSC/APF 2013 ของบรูไนในปีนี้อยู่ที่เรื่องการพัฒนา เศรษฐกิจแบบยั่งยืน สิ่งแวดล้อม การคุ้มครองสิทธิสตรีและเยาวชน การทำความเข้าใจประเทศบรูไน

 

รมต.บรูไนย้ำรัฐบาลส่งเสริมสวัสดิการสังคมเพื่อความเท่าเทียม

ในพิธีเปิด นายฮาซาร์ อับดุลลาห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เยาวชน และกีฬา ได้กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาองค์กรประชาคม และองค์กรพัฒนาเอกชนในบรูไน ได้สนับสนุนความพยายามของเราในการสร้างหลักประกันที่ว่า ความมั่งคั่งของชาติ และความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม โดยรัฐบาลได้สนับสนุนสวัสดิการสังคม และความเท่าเทียมกันทางสังคม โดยวิธีการให้ความสนับสนุนในหลายประเด็นสำคัญ เราแข็งขันในการสร้างความตระหนักต่อผู้พิการ ความก้าวหน้าทางสังคม-เศรษฐกิจของสตรี ศักยภาพของเยาวชน พวกเรายังสนับสนุนความเป็นเลิศทางกีฬา ความตระหนักรับรู้ต่อโรคเอชไอวีและเรื่องยาเสพย์ติด รวมไปถึงเรื่องการพัฒนามนุษย์โดยการพัฒนาทักษะของบุคคล

"รัฐบาลภายใต้สุลต่านบรูไน ดารุสซาลาม ทำงานใกล้ชิดกับองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐ และผู้ที่ทำประเด็นสตรี เด็ก ผู้พิการ ฯลฯ  ความร่วมมือเช่นนี้มีความจำเป็นต้องขยายโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจ และสนับสนุนสิ่งที่ประชาชนเห็นว่าจำเป็น เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์และเป็นการอุทิศต่อสังคม" นายฮาซาร์ อับดุลลาห์กล่าวตอนหนึ่งของพิธีเปิด

ทั้งนี้นางมัสนี โมฮัมหมัด อาลี รองประธานสภาสตรีแห่งบรูไน ได้กล่าวระหว่างแถลงข่าวว่าผู้แทนจากบรูไนจะร่วมนำเสนอในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสามเสาหลักของอาเซียน คือในประเด็นเรื่องความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม นอกจากนี้นางมัสนียังกล่าวว่าประเด็นทางสังคม สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชนก็จะเป็นประเด็นที่มีการพูดคุยในระหว่างการประชุม ACSC/APF 2013 ด้วย โดยสมาชิกองค์กรพัฒนาเอกชน โดยเฉพาะสภาสวัสดิการชุมชนของบรูไน หรือ CWC และองค์กรที่รณรงค์เรื่องเอชไอวีในบรูไนจะนำเสนองานวิจัยด้วย

"หวังว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นสะพานเชื่อมความหวังและเสียงของประชาชนในอาเซียนผ่านผู้แทน รัฐบาล และผู้นำของพวกเขา" นางมัสนี กล่าว

 

เรียกร้องประเทศอาเซียนเลิกเกรงใจ พูดถึงปัญหาตรงๆ พร้อมถามหา "สมบัติ สมพอน "

ด้านนางเด็บบี สโตธาร์ด ชาวมาเลเซีย จากกลุ่ม ALTSEAN Burma กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเป็นวิทยากรหัวข้อ "อาเซียน: อนาคตของเราร่วมกัน" (ASEAN: Our Future Together) ว่าประเทศในอาเซียนต่างมีวัฒนธรรม "ความเกรงใจ" ซึ่งทำให้ไม่ยอมพูดถึงปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในภูมิภาค นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ภาคประชาสังคมตระหนักต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในภูมิภาคทั้งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในรัฐอาระกันของพม่า การหายตัวไปของนักสิทธิมนุษยชนอย่างนายสมบัติ สมพอน นักพัฒนาใน สปป.ลาว หรือการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนชาวไทย ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรมของคนทั้งสอง

 

อินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์งดเข้าร่วม - ด้านประเด็นการเมือง-LGBT ถูกเจ้าภาพปัดตก

อนึ่ง ในการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนที่บรูไนเป็นเจ้าภาพปีนี้ ผู้แทนจากประเทศอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ได้ประกาศไม่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เนื่องจากการประชุมในปีนี้เจ้าภาพบรูไนไม่ให้ประเทศสมาชิกอาเซียนมีส่วนร่วมในการมีส่วนร่วมในการจัดหัวข้อการประชุม โดยเจ้าภาพเป็นฝ่ายกำหนดเอง ซึ่งผิดหลักการจัดประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนก่อนหน้านี้ที่ผู้แทนแต่ละประเทศจะตัดสินใจร่วมกันในการจัดหัวข้อการประชุม นอกจากนี้เจ้าภาพยังไม่นำประเด็นทางสังคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาพูดคุยในการประชุม เช่น ไม่มีหัวข้อความหลากหลายทางเพศ ไม่มีการพูดเรื่องประชาธิปไตย และปัญหาความมั่นคงในภูมิภาค โดยเฉพาะกรณีพิพาทชายแดนโดยเฉพาะกรณีทะเลจีนใต้ และปัญหาของขบวนการเรียกร้องเอกราชในพื้นที่ต่างๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรณีการหายตัวนายสมบัติ สมพอน เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศลาว เป็นต้น

นอกจากนี้สมาชิกกลุ่มที่เรียกร้องสิทธิด้านความหลากหลายทางเพศหลายกลุ่มในอาเซียน ไม่ได้มาเข้าร่วม รวมทั้งร่วมอภิปราย ในการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน (ACSC/APF 2013) ที่บรูไนเช่นกัน เนื่องจากผู้จัดงานไม่ยอมให้มีการพูดคุยในประเด็นความหลากหลายทางเพศ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Asean Weekly : วิเคราะห์การจลาจลทางศาสนาในพม่า

Posted: 06 Apr 2013 09:21 AM PDT

การจลาจลทางศาสนาระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมในประเทศพม่าครั้งล่าสุด เกิดขึ้นช่วงปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาที่เมืองเมกติลา ซึ่งอยู่ตอนกลางของพม่า การจลาจลดังกล่าวลุกลามขยายตัวไปอีก 15 เมือง ทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 40 คน ที่อยู่อาศัยและมัสยิดของชาวมุสลิมถูกเผาทำลายเป็นจำนวนมาก

ก่อนหน้านั้น ช่วงปลายปี 2555 เกิดการจลาจลทางเชื้อชาติและศาสนาอย่างรุนแรงระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมโรฮิงยาในรัฐอาระกันของพม่า เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตราว 80 คน และบ้านเรือนถูกเผาเป็นจำนวนมากเช่นกัน  ย้อนหลังไปในปี 2001 ก็เกิดเหตุการณ์จลาจลทางศาสนาในลักษณะเดียวกันนี้ที่เมืองตองอู และในปี 1997 ก็มีเหตุการณ์เช่นเดียวกันนี้เกิดขึ้นที่เมืองมัณฑะเลย์

อาเซียนวีคลี่ย์สัปดาห์นี้ มาชมการวิเคราะห์ปัจจัยหรือสาเหตุของการจลาจลทางเชื้อชาติและศาสนาที่รุนแรงระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมในพม่า มาฟังการวิเคราะห์บทบาทและตำแหน่งแห่งที่ทางการเมืองของพระสงฆ์พม่าซึ่งเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวการเมืองครั้งสำคัญๆ และบทบาทครั้งล่าสุดของพระสงฆ์พม่าที่เกี่ยวข้องการเหตุจลาจลทางศาสนาในอาระกันและเมกติลา กับสุลักษณ์ หลำอุบล และดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิติม่อน

Posted: 06 Apr 2013 06:57 AM PDT

"..สิ่งที่แอคทิวิสต์ทำ สิ่งที่เขาหวังคืออะไร คือเกิดแอ็คชั่นอย่างเดียว หรือว่าเกิดการไปคิดต่อ คือบางกิจกรรมเหมือนแค่ทำให้เกิด เพราะว่ากระแสมันมา กลัวตกกระแส"

ใน โลกทัศน์ของนิติม่อน

แง้มร่างใหม่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ยันคงเจตนาเน้นความปลอดภัยระบบคอมฯ

Posted: 05 Apr 2013 11:47 PM PDT

หลังบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มา 5 ปี มีแนวคิดแก้ไขกฎหมายนี้อีกครั้ง โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)(สพธอ.) เป็นผู้ดำเนินการ จากเอกสารของ สพธอ. ระบุว่า มีการตั้งคณะทำงานปรับปรุง พ.ร.บ.คอมฯ รวมถึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับกฎหมายฉบับนี้

ล่าสุด (3 เม.ย.56) กระทรวงไอซีที ร่วมกับ สพธอ. จัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นเรื่อง "การปรับปรุง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ : ความสมดุลระหว่างเสรีภาพกับความมั่นคงปลอดภัย" ซึ่งเป็นการเปิดเวทีต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม มีการเปิดให้แสดงความเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนาเพียง 20 นาทีก่อนจะปิดการสัมมนา (ดูร่าง พ.ร.บ.ได้ที่ท้ายหน้า)

ในการสัมมนา สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สพธอ. กล่าวว่า จากผลสำรวจของศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ไทยเซิร์ท) พบว่า เมื่อปี 55 ภัยคุกคามอันดับหนึ่งคือ การฉ้อโกงทางออนไลน์ 69% อันดับสองคือ การรวบรวมข้อมูลเพื่อบุกรุกระบบ ดังนั้น เมื่อจะทบทวนกฎหมาย จึงคำนึงถึง security หรือความมั่นคงปลอดภัย เป็นหลักด้วย ขณะเดียวกัน เวลาภาคสังคมเรียกร้องให้ทบทวนกฎหมาย กลุ่มที่เสียงดังคือ กลุ่มเรื่องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งกังวลว่าการใช้อำนาจปิดเว็บ หรือกำหนดความรับผิดชอบของผู้ให้บริการหรือตัวกลาง ไม่เหมาะสมหรือไม่

สุรางคณา กล่าวว่า หัวใจของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นั้นอิงกับหลักการใหญ่ 3 ข้อคือ การรักษาความลับ การรักษาความครบถ้วน และการรักษาสภาพพร้อมใช้งาน แต่เมื่อบังคับใช้จริงปรากฏว่า มีปัญหาระหว่างการบังคับกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์โดยแท้หรือกรณีที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ การบัญญัติกฎหมายที่ซ้ำซ้อน ทำให้เกิดความสับสน และการปิดเว็บไซต์ ที่มีอัตราการปิดเว็บขึ้นกับสถานการณ์ทางการเมือง ศาลไม่ตรวจสอบเว็บตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และไม่มีกำหนดระยะเวลาในการปิด

สุรางคณา ระบุว่า นอกจากนี้ มาตรา 14(1) ยังถูกใช้ในกรณีหมิ่นประมาท ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์กฎหมาย มาตรา 14(2)(3) เป็นเครื่องมือในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชน และประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าใจได้ว่าข้อมูลที่มีเนื้อหาอย่างใดจึงจะเข้าข่ายเป็นความผิดดังกล่าว มาตรา 15 มีคำนิยามที่กว้างเกินไป มุ่งเอาผิดตัวกลางโดยไมพิจารณาถึงความเกี่ยวข้องของตัวกลางต่อผู้กระทำความผิด เจ้าพนักงานรัฐมุ่งดำเนินคดีกับเจ้าของเว็บมากกว่าสืบหาผู้กระทำผิด ระยะเวลาของการแจ้งเตือนเนื้อหาที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายเพื่อให้ผู้ให้บริการดำเนินการกับเนื้อหาเหล่านั้น

ในร่าง พ.ร.บ.ใหม่ มีการเพิ่มเติมมาตราความผิดเกี่ยวกับการทำซ้ำ ทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยระบุว่า "ผู้ใดทำซ้ำหรือทำโดยวิธีอื่นใดอันค้ลายคลึงกันต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นเพื่อให้ได้ไปซึ่งสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" ซึ่ง ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มาตรานี้เป็นเรื่องการลอกเลียนข้อมูลคอมพิวเตอร์ ไม่เกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์ ส่วนกรณีที่เป็นการทำแคชค้างอยู่ในเครื่องก็ไม่น่าจะเข้าข่ายการทำซ้ำ อย่างไรก็ตาม ถ้าเอาเรื่องลิขสิทธิ์เข้ามาเกี่ยวหรือตีความให้เข้ากับ พ.ร.บ.คอมฯ จะทำให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจมากและนี่เป็นปัญหาที่ต้องดูกันให้ละเอียด

นอกจากนี้ ในร่าง พ.ร.บ.ใหม่ ยังมีการเพิ่มเติมมาตรการแจ้งเตือนและเอาออก (notice and take down) ให้ผู้ให้บริการดำเนินการแก้ไข หรือระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ภายในเวลาอันเหมาะสมนับแต่วันที่รู้หรือได้รับแจ้งหรือในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด ซึ่ง พิเชษฐ์ ฤกษ์ปรีชา ผู้จัดการฝ่ายนโยายสาธารณะและรัฐสัมพันธ์  กูเกิลประเทศไทย กล่าวว่า กฎหมายปัจจุบันนั้น กำหนดโทษของผู้ให้บริการเท่าผู้กระทำผิด เสมือนเป็นผู้กระทำผิดไปด้วยโดยปริยาย ขณะที่ในร่างใหม่ มาตรการ notice and take down จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการกับรัฐ เพื่อจับผู้กระทำผิดจริง ทั้งนี้ ในเรื่องที่ไม่ชัดเจน-เป็นสีเทา ไม่ควรให้อำนาจเอกชนชี้ว่าอะไรถูกหรือผิดกฎหมาย เพราะอาจเกิดความไม่เป็นกลางขึ้นได้

พิเชษฐ์ กล่าวว่า สำหรับกูเกิล การจะมองว่าจะลงทุนประเทศไหน ต้องมั่นใจว่าจะปฏิบัติตามกฎหมายได้ ปัจจุบัน มีบริการจีเมลที่ยังไม่สามารถเอามาใช้ได้เต็มที่ในไทย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน เช่น กูเกิลแฮงเอ้าท์ ซึ่งเป็นการประชุมทางโทรศัพท์ ที่ทำได้ทุกที่ ยืดหยุ่น หรือ ยูทูบ ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนยูทูบประเทศไทย เพราะความไม่ชัดเจนของกฎหมาย มาตรา 15 กรณีร่างใหม่ที่ใช้คำว่า "ควรจะรู้" ควรต้องดูรายละเอียดมากกว่า เช่น ถ้าเว็บที่มีคนขายของได้ จะรู้ได้อย่างไรว่าปลอม หรือขโมยมาหรือไม่ หรือเกิดการซื้อขายแต่ไม่ส่งของ ก็คงไม่มีทางรู้ได้ หรือต่อให้รู้ว่าอะไรผิดไม่ผิด ก็ยากจะรู้ทั้งหมด ยกตัวอย่างใน 1 นาที มีการอัปโหลดวิดีโอในยูทูบแล้ว 72 ชั่วโมง นี่เป็นปัญหาใหญ่มาก

เขากล่าวว่า กฎหมายพวกนี้มีผลต่อการลงทุนของหน่วยงานธุรกิจ ได้คุยกับบริษัทแห่งหนึ่งเขาก็อยากมาเมืองไทย เพราะมีผู้ใช้บริการโซเชียมีเดียในกรุงเทพฯ อยู่อันดับต้นๆ ของโลก เป็นเป้าหมายการลงทุน ซึ่งรัฐบาลก็จะได้ประโยชน์จากภาษี แต่เมื่อกฎหมายไม่ชัดเจน คนก็ไม่กล้ามาลงทุน

ด้าน จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท กล่าวถึงกรณีมีการเพิ่มเติมหลักแจ้งเตือนและเอาออก มองว่าจะช่วยลดภาระผู้ให้บริการลงไปพอสมควร ส่วนการเปลี่ยนถ้อยคำ จากเดิมที่ว่า ผู้ให้บริการ "จงใจ ยินยอม สนับสนุน" ซึ่งเปิดโอกาสให้ตีความกว้างขวางโดยดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่และอาจมีปัญหาเมื่อมีการบังคับใช้ มาเป็น "รู้ ควรได้รู้ หรือได้รับแจ้งจากพนักงานเจ้าหน้าที่" นั้น ยังมีประเด็นที่กังวล  เนื่องจากอินเทอร์เน็ตนั้นมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจำนวนมาก ผู้ใช้บริการวันละหลายแสนหลายล้านคน การจะคาดหวังให้ผู้ให้บริการรับรู้ถึงการมีอยู่ของข้อความ รวมถึงรู้ว่าผิดกฎหมาย เป็นภาระที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ให้บริการ

กรณีคำตัดสินคดีของประชาไท ซึ่งตนเองเป็นจำเลยในฐานะผู้ดูแลระบบนั้น แม้กฎหมายเขียนว่าฐานความผิดคือ ผู้ให้บริการ "จงใจ สนับสนุน ยินยอม" แต่คำพิพากษาใช้ว่า "ยินยอมโดยปริยาย" ตั้งคำถามว่าถ้าเปลี่ยนถ้อยคำแล้ว จะกลายเป็นส่วนที่มีปัญหาหรือไม่ 

กรณีปรับแก้ถ้อยคำในมาตรา 14(1) จีรนุช มองว่า แม้จะปรับแก้เอาเรื่องหมิ่นประมาทออกแล้ว แต่ยังมีฐานความผิดเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคง ความปลอดภัย ความตื่นตระหนก ระดับประเทศ ทำให้กังวลว่าจะยังกลายเป็นปมปัญหาที่แก้ไม่ตกในร่างใหม่อยู่ดี ทั้งนี้ เสนอว่า ในเมื่อเรื่องของความมั่นคงมีอยู่ในประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว ก็น่าจะบังคับใช้ที่กฎหมายอาญาทีเดียว ไม่จำเป็นต้องเอามาใส่จะดีหรือไม่

ในช่วงเปิดให้แสดงความเห็น พ.ต.ท.โอฬาร สุขเกษม กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แสดงความเห็นว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่ใช้กันอยู่เขียนครอบคลุมไปถึงกฎหมายทางอาญา ซึ่งไม่ควรเอามารวมกัน เพราะกฎหมายที่บัญญัติเฉพาะ จะบัญญัติเฉพาะเรื่องนั้นๆ ไม่เอากฎหมายอื่นมาพ่วงรวมด้วย เพราะอาจก่อให้เกิดความสับสนในการตีความของเจ้าพนักงาน ตนเองในฐานะผู้ปฏิบัติ การต้องตีความเป็นภาระรับผิดชอบที่ไม่อยากทำ ยกตัวอย่างเช่น มีบางประโยค เช่น มาตรการการเข้าถึงโดยเฉพาะ มันแค่ไหน? เช่น กดสวิทช์เปิดคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นจะถือว่า เป็นการเข้าถึงโดยไม่ชอบหรือยัง

พ.ต.ท.โอฬาร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ เมื่อมีความเห็นของผู้ร่างกฎหมายต่อท้ายด้วย อาจก่อให้เกิดปัญหาการตีความ ถ้าต่อสู้คดีในชั้นศาลจะใช้ตรงไหนตัดสินว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายคืออะไร เพราะตามหลัก กฎหมายจะตีความตามตัวอักษร แต่ก็มีความเห็นต่อท้ายเรื่องเจตนารมณ์ ซึ่งขัดแย้งกันเองอยู่ในตัว

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต แสดงความเห็นว่าเรื่อง notice and take down นั้นยังกำกวมมาก ว่ากำลังพูดเรื่องข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์ หรือเนื้อหา ทั้งนี้ ควรต้องแยกสองเรื่องออกจากกัน ถ้าเป็นเรื่องของระบบคอมพิวเตอร์ ต้องจัดการโดยรวดเร็ว ซึ่งคำที่เจาะจงกว่าและไม่เหมารวมคือ in emergency response

อาทิตย์ กล่าวต่อว่า notice and take down ไม่ใช่ยาครอบจักรวาล และจะเวิร์คเมื่อเนื้อหามีลักษณะขาวกับดำชัดเจน ตัดสินได้ง่าย เช่น การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ละเมิดลิขสิทธิ์ การปลอมแปลงตัวตน ไม่มีใบอนุญาต อ.ย. เป็นต้น แต่เมื่อใดที่เป็นเรื่องหมิ่นประมาท จะไม่เวิร์ค เพราะจะเป็นการผลักภาระ-อำนาจตัดสินใจไปอยู่ที่เจ้าหน้าที่ ผู้ให้บริการ ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปดูแนวคิดเรื่อง  notice and take down ในอเมริกาจะเห็นว่าถูกนำมาใช้ครั้งแรกกับกฎหมายลิขสิทธิ์

อาทิตย์กล่าวว่า ส่วนการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้น ในกรณีหมิ่นประมาททั่วไป จะดูที่ข้อเท็จจริงของข้อความ ดูว่าทำให้เกิดความเสียหายหรือไม่ และต้องมีการสื่อสาร-ป่าวประกาศ  ถ้ายังยืนยันจะให้กฎหมายคอมพิวเตอร์รวมถึงเนื้อหา ซึ่งอาจนำสู่การฟ้องร้องความมั่นคงอื่นได้ เช่น การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  ตั้งคำถามว่า ถ้ามีการเขียนโน้ตส่วนตัว แล้วบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์ แต่ไม่ได้สื่อสารออกไป จะถือว่าเข้าองค์ประกอบตามกฎหมายหรือไม่

 

แนวทางปรับปรุง พ.ร.บ.คอมฯ -สพธอ.

ร่าง พ.ร.บ.คอมฯ 3 เม.ย.56

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การปะทะระหว่างกลุ่มศาสนาลามจากพม่าไปอินโดแล้ว

Posted: 05 Apr 2013 10:53 PM PDT

เกิดการทะเลาะวิวาทในสนง. ตรวจคนเข้าเมืองในจ.สุมาตรา ระหว่างชาวพม่าเชื้อสายโรฮิงญาและชาวประมงศาสนาพุทธ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8 ราย บาดเจ็บอีก 15 ราย 

6 เม.ย. 56 - เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ราว 12.45 น. ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศอินโดนีเซีย มีรายงานว่าเกิดการทะเลาะวิวาทระหว่างชาวพม่าศาสนาพุทธและมุสลิมในศูนย์ผู้อพยพในจังหวัดสุมาตรา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8 ราย และบาดเจ็บอีก 15 ราย 
 
นายเฮเรียนโต้ โฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในกรุงจาการ์ตา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ผู้ลี้ภัยชาวพม่าเชื้อสายโรฮิงญาจำนวน 117 คน และชาวประมงอีก 11 คน ซึ่งถูกจับกุมจากการประมงผิดกฎหมาย ถูกเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียกักตัวไว้ที่ศูนย์กักกันในเมืองเบลาวัน ซึ่งเป็นเมืองท่าในจังหวัดสุมาตราเหนือ 
 
เขาระบุว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 8 คน เป็นชาวประมง และผู้บาดเจ็บเป็นชาวโรฮิงญา 
 
ซาบาริต้า กินติ้ง โฆษกของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในเมืองเมดาน เมืองหลวงของจังหวัดสุมาตราเหนือ ให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์กไทมส์ว่า การทะเลาะวิวาทดังกล่าว เกิดขึ้นราวเวลา 12.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยผู้ถูกกักขังใช้อาวุธเหล็กและไม้จากเก้าอี้โจมตีทำร้ายอีกฝ่าย
 
แอสโซซิเอต เพรส รายงานคำพูดของตำรวจในท้องถิ่นว่า การวิวาทดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ชาวมุสลิมโรฮิงญาเผชิญหน้ากับชาวประมงศาสนาพุทธเกี่ยวกับเรื่องการจลาจลทางศาสนาในพม่าที่เกิดขึ้น 
 
รัฐบาลพม่ากล่าวว่า จะตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุความรุนแรงดังกล่าว
 
"ผมไม่ค่อยเข้าใจว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียจึงกักขังคนกลุ่มนี้ไว้รวมกันในช่วงที่มีความตึงเครียดเช่นนี้" อู ซอว์ เต ผู้อำนวยการสำนักงานของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง กล่าว
 
ความตึงเครียดระหว่างชาวพุทธและมุสลิมในพม่ายังคงตึงเครียด หลังจากเกิดจลาจลระหว่างกลุ่มศาสนาปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมาในเมืองมิตตีลา ภาคมัณฑะเลย์ ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 40 คน 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิชาการจี้สภาแก้ ม.291 หลังการแก้ ม.68

Posted: 05 Apr 2013 10:29 PM PDT

 
6 เม.ย. 56 - นักวิชาการกลุ่มติดตามการจัดการสาธารณะ ซึ่งประกอบไปด้วยนายวสันต์ ลิมป์เฉลิม, นายชุมพล อุ่นพัฒนาศิลป์ และนายวัชรพล ยงวณิชย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ได้ออกแถลงการณ์ "เรียกร้องให้รัฐสภามุ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ ภายหลังการแก้ไขมาตรา ๖๘ แล้ว" โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
หลังจากที่รัฐสภาชะงักงันในการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ ที่ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญไปจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วให้ประชาชนลงประชามติ เมื่อกลางปีที่แล้ว (๒๕๕๕)เนื่องจากได้มีผู้ไปร้องยังศาลรัฐธรรมนูญว่า การดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ ดังกล่าวเป็นการล้มล้างการปกครอง  ซึ่งปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตามมาตรา ๖๘ ในการรับคำร้องโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุดในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคำร้องก่อน นั้น   สถานการณ์ล่าสุดรัฐสภาได้ใช้เวลาประชุมระหว่าง ๑-๓ เมษายน ๒๕๕๖ ผ่านวาระที่ ๑ ขั้นรับหลักการในการเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ (นอกเหนือจากมาตราอื่นๆ ได้แก่ มาตรา 190 มาตรา 237 และมาตราที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกวุฒิสภา) ที่ยืนยันว่า การใช้เสรีภาพในการกล่าวหาว่ามีการล้มล้างการปกครองนั้น ต้องยื่นต่ออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาก่อน  หากอัยการเห็นว่ามีมูล  จึงส่งต่อยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป  การดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ ของรัฐสภาที่ทอดเวลายาวนานกว่า ๘ เดือนนี้ (กรกฏาคม ๒๕๕๕-ต้นเมษายน ๒๕๕๖) แสดงให้เห็นลักษณะการพยายามเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีลักษณะปะทะตอบโต้อย่างแข็งกร้าว
 
กลุ่มติดตามการจัดการสาธารณะเห็นว่า หลังจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ แล้ว รัฐสภาต้องดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ ที่ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญไปจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป ด้วยเหตุผล ๔  ประการ ดังนี้
 
๑.รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันซึ่งมีที่มาจากการรัฐประหารล้มล้างการปกครองประชาธิปไตยเมื่อ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ นั้น มีโครงสร้างเนื้อหาจำนวนมากที่ขัดแย้งกับหลักการนิติรัฐและประชาธิปไตย การบังคับใช้ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวทำให้ดุลอำนาจหนักไปทางองค์การตุลาการมากเกินไปจนขัดกับหลักการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย และปรากฏการตัดสินคดีจำนวนมากมีลักษณะที่ผิดปกติจากหลักกฎหมาย ดังเช่น คดีปลดนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช คดียุบพรรคการเมือง ๓ พรรคเมื่อปลายปี ๒๕๕๑ ฯลฯ
 
๒.ประเทศไทยและประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียนที่จะเข้าสู่ประชาคมทางเศรษฐกิจอาซียนในปี ๒๕๕๘ ต่างมีความจำเป็นเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ดังกรณีการที่ปัจจุบันรัฐสภาผ่านมติขั้นรับหลักการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน ๒.๒ ล้านล้านบาท (ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ....) ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าใลกปัจจุบันนั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาการเมืองแบบประชาธิปไตยรองรับควบคู่กัน เพราะระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ทำให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจพลังต่างๆในสังคมด้วยการใช้เหตุผล และสันติ  ทำให้แก้ปัญหาการเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม และทำให้ประเทศสามารถมีเสถียรภาพความมั่นคงทางการเมืองได้  หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ เศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าอย่างมั่นคงไปไม่ได้จริงหากการเมืองยังเป็นปัจจัยถ่วง  การออกแบบรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับพลังการเติบโตของกลุ่มพลังชนชั้นกลางใหม่จึงมีความสำคัญ ไม่ให้ดุลอำนาจเอียงไปยังกลุ่มชนชั้นสูงมากเกินไป 
 
๓.ในสภาพที่วิกฤตความขัดแย้งของสังคมไทยยังค้างคาอยู่นั้น ขณะที่ประเทศต้องเดินหน้า วิธีการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้มีการแยกลู่ทางหรือมีช่องทาง หรือมีเวทีที่เปิดกว้างแก่สังคมในการการสานเสวนา หากติกาทางออกที่สร้างสรรค์ในการอยู่ร่วมกันในสังคม โดยอาศัยกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับเป็นเครื่องมือสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดจนเป็นเครื่องมือประสานความขัดแย้งที่เกิดจากความคิดความเชื่อที่แตกต่างกันของคนไทยกลุ่มต่างๆ แล้วกำหนดวิสัยทัศน์ของคนไทยทั้งประเทศร่วมกันที่จะขับเคลื่อนบ้านเมืองไปสู่จุดหมายในอนาคต ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญที่คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการยกร่างและให้ความเห็นชอบ
 
๔.ตามหลักประชาธิปไตย ประชาชนมีฉันทานุมัติมอบหมายให้ตัวแทนไปใช้ "อำนาจอธิปไตย" แทนประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจนั้น ในขณะเดียวกัน ประชาชนย่อมมีสิทธิ์จะมอบหมายตัวแทนไปทำหน้าที่แทนตนได้เป็นเรื่องๆไปในกรณีที่เป็นเรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่ของชาติอย่างมาก ดังการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสาระสำคัญถึงขั้นยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่เพื่อคลี่คลายวิกฤตความขัดแย้งในบ้านเมืองที่ยืดเยื้อมานานกว่า ๘ ปีเช่นนี้ จึงเป็นการสมควรที่ประชาชนจักพึง "มอบอำนาจ" ให้กับตัวแทนของประชาชนอีกชุดหนึ่งเป็นการเฉพาะต่างหากจากสมาชิกรัฐสภา (ที่อาจมองได้ว่า มีส่วนได้ส่วนเสียกับการแก้ไขกฎกติกาของการแข่งขันเลือกตั้งเข้าสู่อำนาจและควบคุมการใช้อำนาจของตัวเองนั้นๆ) เพื่อให้เป็นผู้เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่อย่าง " เป็นกลาง " โดยปราศจากข้อครหาว่ามีปัญหา "ผลประโยชน์ทับซ้อน"  และในท้ายที่สุด ก่อนร่างรัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ ต้องผ่านการลงมติเห็นชอบจากประชาชนก่อน 
 
จึงขอเรียกร้องให้รัฐสภามุ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ ต่อไป เพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยอันเป็นพื้นฐานการสร้างความมั่นคงในการพัฒนาเติบโต และก้าวหน้าของเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
 
กลุ่มติดตามการจัดการสาธารณะ
 
นายวสันต์ ลิมป์เฉลิม อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี
นายชุมพล อุ่นพัฒนาศิลป์ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี
นายวัชรพล ยงวณิชย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โสภณ พรโชคชัย: วิพากษ์ความเห็นของนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์

Posted: 05 Apr 2013 10:18 PM PDT

 
ตามที่นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้แสดงปาฐกถาความตอนหนึ่งว่า "ถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์ฮิตเลอร์ยังได้เป็นผู้นำที่ได้มาจากการเลือกตั้ง เมื่อชนะการเลือกตั้งได้พรรคพวกมาในสภาก็ได้แก้ไขกฎหมายเพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง ในที่สุดผู้นำเสียงข้างมากก็นำพาเยอรมันไปสู่หายนะก็คือประเทศเยอรมัน" {1} ข้อความนี้ไม่สอดคล้องกับความจริง
 
แม้ฮิตเลอร์จะมาจากการเลือกตั้ง ก็เป็นการเลือกตั้งที่โกงมา รวมทั้งการทำลายคู่แข่ง และที่สำคัญไม่ได้ชนะด้วยเสียงส่วนใหญ่ ในการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2476 ฮิตเลอร์ได้คะแนนเสียง 44%  ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง  และแม้ฮิตเลอร์จะชนะการเลือกตั้งใน 33 จาก 35 เขตเลือกตั้ง ก็ไม่ใช่โดยเสียงส่วนใหญ่อยู่ดี {2}  ดังนั้นการที่ฮิตเลอร์นำเยอรมนีเข้าสู่สงครามจึงไม่ใช่มติของชาวเยอรมันส่วนใหญ่
 
บางคนเข้าใจว่าคนส่วนน้อยเห็นได้ถูกต้องกว่าคนส่วนใหญ่ เช่น คดี Perry v. Schwarzenegger ซึ่งศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาพิพากษาไปเมื่อ 4 สิงหาคม 2553 ว่า ผลการลงประชามติของชาวมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2551 ที่มีมติห้ามคนเพศเดียวกันสมรสกันนั้น ขัดต่อหลักความเสมอภาคและขัดต่อรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา  คำพิพากษานี้ดูประหนึ่งว่าศาลตัดสินไปในทางที่ขัดต่อมติมหาชน (Anti-Majoritarian Decision) คล้ายกับว่า "เมื่อเสียงส่วนมากใช้ไปในทางที่ผิด ศาลซึ่งแม้เป็นเสียงข้างน้อยที่แสนจะน้อยก็มีหน้าที่ชี้ถูกชี้ผิดให้เสียงข้างมากรับรู้ไว้" {3}
 
ข้อนี้ก็เป็นความเข้าใจผิด ความจริงก็คือประชามติของชาวมลรัฐหนึ่งจะไปขัดกับรัฐธรรมนูญของทั้งประเทศ (ซึ่งมาจากฉันทามติของคนทั้งประเทศ) ย่อมไม่ได้อยู่แล้ว ประชามติของคนกลุ่มย่อยเช่นนี้ย่อมไม่มีผล เช่น ชาวฮาวายจะลงประชามติแยกออกจากสหรัฐอเมริกาคงไม่ได้  หรือกรณีมติของคณะโจรว่าจะไปปล้นบ้านไหน ชุมชนไหน ย่อมใช้ไม่ได้เพราะโจรไม่ใช่คนส่วนใหญ่ในสังคม
 
อย่างไรก็ตาม หากมีการลงประชามติกันทั่วประเทศห้ามการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน สหรัฐอเมริกาก็ต้องแก้กฎหมายตามเสียงส่วนใหญ่  ผู้พิพากษาก็คงไม่อยู่ในวิสัยที่จะออกมาพูดเป็นอื่นในที่สาธารณะหรือมาตัดสินเป็นอื่นได้  ดังนั้นมันจึงเป็นคนละเรื่องกัน จะกล่าวว่าศาล (ผู้พิพากษาไม่กี่คน) ซึ่งแม้เป็นเสียงข้างน้อยก็มีหน้าที่ชี้ถูกชี้ผิดให้เสียงข้างมากไม่ได้
 
เสียงส่วนใหญ่คือความถูกต้องนั้นเป็นสัจธรรม (แต่กฎทุกกฎก็มีข้อยกเว้น ในกรณีศิลปวิทยาการ เช่นจะสร้างจรวดไปดวงจันทร์ ก็ต้องถามผู้รู้ เป็นต้น)  ทั้งนี้ยกเว้นกรณีถูกโฆษณาชวนเชื่อ หรืองมงายเอง ซึ่งไม่ใช่พบเห็นแต่ในหมู่ปุถุชน แม้แต่อาจารย์ระดับดอกเตอร์ชื่อดังยังหลงคารมเปรตกู้มาแล้ว หรือกรณีพวกคุณหญิงคุณนาย นายทหารใหญ่ ๆ ก็ไปหลงเคารพอลัชชี เป็นต้น
 
ยิ่งกว่านั้นนายวสันต์ยังกล่าวว่า "เยอรมันจึงมีศาลรัฐธรรมนูญและมีอำนาจมาก และมีบทบัญญัติพิทักษ์รัฐธรรมนูญสำหรับประชาชน"  การที่ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีมีเกียรติภูมิสูงนั้นเป็นเพราะสภาเป็นผู้เลือกตั้งผู้พิพากษาที่สมัครเข้ามาตามคุณสมบัติที่กำหนด {4}  แต่กรณีศาลรัฐธรรมนูญของไทย กลับแตกต่างกัน โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 204 ระบุที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกา 3 คน  ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 2 คน โดยทั้งสองกลุ่มนี้ได้รับเลือกโดยวิธีลงคะแนนลับ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องอื่นอีก 2 คน {5}
 
อีกประเด็นหนึ่งที่พึงวิพากษ์การแสดงปาฐกถาของนายวสันต์ก็คือ ความไม่สมควรในวิจารณ์หรือเหน็บแนมการเมืองในฐานะที่เป็นตุลาการ  ทั้งนี้ตามประกาศศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องจริยธรรมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่าตุลาการต้อง "ระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นต่อสื่อมวลชนหรือสาธารณชนในเรื่องที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่เสนอหรืออาจจะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย" {6}
 
นอกจากนั้นในประมวลจริยธรรมขาราชการตุลาการยังระบุว่า "ผู้พิพากษาไม่พึงแสดงปาฐกถา บรรยาย สอน หรือเข้าร่วมสัมมนา อภิปรายหรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต่อสาธารณชน ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา" {7}  ดังนั้นการแสดงปาฐกถาครั้งนี้ซึ่งพาดพิงถึงบุคคลและพรรคการเมืองต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก จึงไม่ควรทำ เว้นแต่จะลาออกจากสถานะตุลาการ
 
หากผู้เป็นตุลาการออกมาพูดการเมือง จะถูกติเตียนว่าเอนเอียงได้  ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชน โดยผลจากการสำรวจเมื่อปี 2554 {4} พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ (57%) ไม่เชื่อมั่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ (ร้อยละ 37.62 ไม่ค่อยเชื่อมั่น ส่วนร้อยละ 19.31 ไม่เชื่อมั่น) และมีส่วนน้อยที่เชื่อมั่น  เหตุผลที่ไม่เชื่อมั่นก็เพราะ "เพราะการตัดสินคดีที่ผ่านมา มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย บางคดีมองว่าเป็นการตัดสินแบบ 2 มาตรฐาน" {8}
 
ผู้เขียนเป็นห่วงใยต่อความมั่นคงของสถาบันตุลาการจึงแสดงความเห็นข้างต้นมาด้วยความเคารพและด้วยความบริสุทธิ์ใจ
 
 
อ้างอิง
 
{1} ข่าว "ปธ.ศาลรธน. ชี้ เสียงข้างมากหากยึดติดอำนาจ ประเทศจะหายนะ" ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 5 เมษายน 2556 ณ www.thairath.co.th/content/pol/337042
 
{2} การเลือกตั้งในเยอรมนี German federal election, March 1933. http://en.wikipedia.org/wiki/German_federal_election,_March_1933
 
{3} กิตติศักดิ์ ปรกติ. สิ่งที่คล้ายกันพึงได้รับการปฏิบัติอย่างเดียวกัน แต่ไม่พึงปฏิบัติอย่างเดียวกันกับสิ่งที่ต่างกัน ปรกติ 28 กันยายน 2554 www.manager.co.th/daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000123483
 
{4} ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนี www.mpil.de/shared/data/pdf/constguarantjudindep_germany.pdf หน้า 276 และจากเว็บไซต์ของศาลดังกล่าว ณ www.bundesverfassungsgericht.de/en/organization/organization.html
 
{5} ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ www.constitutionalcourt.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=151&Itemid=82&lang=thindex.php
 
{6} ประกาศศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง จริยธรรมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (พ.ศ.2548) http://www.constitutionalcourt.or.th/index.php?option=com_docman&task=cat_view&gid=175&Itemid=101&lang=th และ พ.ศ.2555 ณ www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2555/A/106/40.PDF
 
{7} ประมวลจริยธรรมขาราชการตุลาการ http://elib.coj.go.th/Article/copy%20of%20judge.pdf
 
{8} ดุสิตโพลคนกรุง 37.62% ไม่เชื่อศาล รธน.-"วสันต์" แนะตั้ง ส.ส.ร.แก้ รธน. ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 สิงหาคม 2554 18:51 น. www.manager.co.th/Politics/Viewnews.aspx?NewsID=9540000103816
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: คดีประหลาดยิ่งจริงยิ่งหมิ่น

Posted: 05 Apr 2013 10:05 PM PDT

เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ที่ผ่านมานี้ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ได้อ่านคำพิพากษา คดี นายเอกชัย หงส์กังวาน ที่ถูกฟ้องในความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ และ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดิทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ คือ การประกอบกิจการจำหน่ายวีดีทัศน์ฯโดยไม่ได้รับอนุญาต ในที่สุด ศาลก็ตัดสินว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง จึงให้ลงโทษจำคุก ๕ ปี และปรับ ๑ แสนบาท แต่เนื่องจากจำเลยเบิกความเป็นประโยชน์ลดโทษให้ ๑ ใน ๓ คงเหลือโทษจำคุก ๓ ปี ๔ เดือน และปรับ ๖๖,๖๖๖ บาท และหลังจากนั้น นายเอกชัยก็ถูกนำตัวเข้าคุกทันที
 
คงต้องอธิบายไว้ในที่นี้ว่า คดีนี้เป็นอีกกรณีหนึ่งของข้อถกเถียงในทางวิชาการเรื่องความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากการตัดสินของศาล เพราะความจริงแล้ว กรณีนี้ในทางเหตุผลและหลักฐานไม่อาจจะอธิบายได้เลยว่า นายเอกชัยมีความผิด
 
นายเอกชัย หงส์กังวาน เดิมมีอาชีพขายหวยบนดิน หลังรัฐประหารใน พ.ศ.๒๕๔๙ เขาเริ่มสนใจการเมือง และเริ่มเข้าฟังการปราศรัยทางการเมืองเป็นระยะ เหตุการณ์การจับกุมนายเอกชัย หงส์กังวาน เกิดขึ้นในวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ในขณะที่มีการชุมนุมของกลุ่มแดงสยามที่บริเวณอนุสาวรีย์ทหารอาสาข้างสนามหลวง นายเอกชัยได้นำเอาซีดีที่บันทึกรายการโทรทัศน์ของสำนักข่าวเอบีซี (the Australian Broadcasting Corporation) ของออสเตรเลีย และข้อมูลของวิกิลีกส์มาจำหน่าย ทางตำรวจจาก สน.ชนะสงคราม คือ พ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ เห็นว่าเป็นเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จึงได้มอบหมายให้ ดาบตำรวจนคร คงกลิ่น ได้ทำการล่อซื้อซีดีที่เขาขายราคาแผ่นละ ๒๐ บาท จากนั้นก็จับกุมโดยแจ้งข้อหาคดีตามความผิดตามมาตรา ๑๑๒ ยังได้ยึดของกลางเป็นวีซีดีอีก ๑๔๑ แผ่น พร้อมเอกสารวิกิลีกส์อีก ๒๖ ฉบับ นายเอกชัยถูกขังอยู่ ๘ วัน จึงได้รับการประกันตัวออกไป แต่นายเอกชัยก็ยังถูกดำเนินคดีต่อมา
 
ประเด็นสำคัญคือ ในซีดีที่เป็นหลักฐานนี้ เป็นรายการสารคดีเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย โดยสำนักข่าวเอบีซี ซึ่งเผยแพร่ในออสเตรเลียเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๓ ซึ่งเป็นเรื่องข้อมูลธรรมดาที่เผยแพร่ทั่วไป และไม่มีคำหยาบหรือหมิ่นประมาทใครเลย ส่วนที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นองค์รัชทายาท ก็เป็นเพียงภาพเคลื่อนไหวที่เรียกกันว่า คลิปริมสระ ซึ่งเป็นไปในทางชื่นชมพระบารมีของสมเด็จเจ้าฟ้าชายและพระองค์เจ้าศรีรัศม์ พระวรชายา ที่ประทับในงานเลี้ยงริมสระแห่งหนึ่ง แต่ พ.ต.ท.สมยศ ผู้ดำเนินการจับกุมอธิบายว่า การนำคลิปริมสระมาออกรายการ และการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมขององค์รัชทายาทและราชินีองค์ต่อไป เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยเฉพาะซับไตเติลที่กล่าวถึงการมีชายาหลายพระองค์ ซึ่งถือเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติ
 
ในกรณีนี้ คงต้องขออธิบายว่า ในเมื่อรายการสถานีโทรทัศน์ของออสเตรเลียครั้งนี้ ไม่เคยถูกประกาศที่ไหนให้เป็นรายการที่ผิดกฎหมายไทย นอกจากนี้ คงจะต้องย้ำว่า ในคำบรรยายของรายการที่เป็นภาษาอังกฤษ ก็เป็นไปโดยสุภาพและไม่ได้มีการหมิ่นประมาทใครเลย ดังนั้น การเผยแพร่รายการนี้ จึงไม่น่าจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย เพราะคุณเอกชัยก็ไม่ได้ผลิตรายการนี้เอง หรือถ้าจะผิด ก็คงต้องให้สำนักข่าวออสเตรเลียฟ้องเรื่องลิขสิทธิ์เสียมากกว่า
 
นอกจากนี้ การอ้าง พ.ต.ท.สมยศที่ว่า ในรายการของเอบีซี มีการกล่าวถึงเรื่อง การมีพระชายาหลายคนเป็นเรื่องเสื่อมเสียพระเกียรติ ก็เป็นเรื่องเข้าใจผิดของทางตำรวจเอง เพราะพระมหากษัตริย์ของไทยในอดีตนั้น มีชายามากเป็นเรื่องธรรมดา ดังจะเห็นได้จากสมัยรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ เป็นต้น พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ก็ได้เคยอธิบายเรื่องนี้ไว้ในเรื่อง เจ้าชีวิต ว่า การมีชายามากก็เป็นเรื่องปกติของกษัตริย์ในเอเชียด้วยซ้ำ เช่น กษัตริย์จีนในอดีตก็มีชายามากเช่นกัน ดังนั้น การมีชายามากในสายตาของเจ้านายจึงไม่ใช่เรื่องเสื่อมเสีย สรุปแล้ว การที่คุณเอกชัยนำเอารายการโทรทัศน์ของออสเตรเลียมาเผยแพร่จึงไม่น่าที่จะมีความผิดได้
 
ในส่วนที่สองเป็นส่วนข้อมูลรั่วไหลของวิกิลีกส์ ซึ่งเป็นคำปรารถด้วยความห่วงใยบ้านเมืองของบุคคล ๓ คน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา และ อานันท์ ปันยารชุน ต่อเอกอัครทูตสหรัฐประจำประเทศ ในเรื่องเกี่ยวกับสมเด็จเจ้าฟ้าชาย การรัฐประหาร พ.ศ.๒๕๔๙ และอนาคตทางการเมืองไทย เป็นที่น่าแปลกอย่างมากว่า ทางการตำรวจไม่เคยมีการดำเนินการล่อซื้อหรือจับกุมบุคคลทั้ง ๓ คน เพื่อมาดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระเดชานุภาพเลย ราวกับเป็นที่ยอมรับกันว่า บุคคลทั้งสามมีสิทธิพิเศษทางกฎหมายเหนือกว่าคุณเอกชัย และผู้พิพากษาในคดีนี้เอง ก็ยืนยันสิทธิพิเศษนี้ เพราะในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ ทนายฝ่ายจำเลยได้ยื่นเรื่องขอให้ศาลเชิญ พล.อ.เปรม พล.อ.สิทธิ และนายอานันท์ มาเป็นพยานในศาลอย่างเป็นทางการ เพื่อต่อสู้ในเชิงข้อเท็จจริงตามฟ้อง ผู้พิพากษาได้ทักท้วงเรื่องนี้เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๕ โดยเฉพาะผู้พิพากษาที่ชื่อ นายอภิสิทธิ์ วีระมิตรชัย ได้ย้ำกับทนายจำเลยว่า การพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่มีความจำเป็นต่อการต่อสู้คดีเลย เพราะ"ยิ่งจริงยิ่งหมิ่น" การเชิญทั้งสามคนนั้นมาจึงไม่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี ด้วยท่าทีของผู้พิพากษาในลักษณะนี้ ทนายจำเลยจึงต้องถอนคำร้อง
 
แต่กระนั้น คงต้องอธิบายว่า การที่ศาลไม่เอาความผิดบุคคลทั้งสามในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การดำเนินคดีเพื่อเอาความผิดต่อบุคคลอื่น ที่นำคำพูดของบุคคลทั้งสามมาเผยแพร่ ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุผล
 
แต่กระนั้นศาลไทยก็ยังอุตส่าห์ตัดสินว่า จำเลยมีความผิด โดยอ้างว่า "รัฐและประชาชนมีหน้าที่ต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ผู้ใดจะล่วงละเมิดหรือใช้สิทธิเสรีภาพให้เป็นปฏิปักษ์ในทางหนึ่งทางใดมิได้" แต่ข้อความในซีดีและในเอกสารวิกิลีกส์ ศาลเห็นเองว่า เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท องค์รัชทายาท และยังกล่าวหาว่า พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ว่ามีความเชื่อมโยงกับการรัฐประหารพ.ศ.๒๕๔๙ และเกี่ยวข้องกับความยุ่งเหยิงของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งมีลักษณะจาบจ้วงล่วงเกิน หรือเสียดสีเปรียบเปรยทำให้พระองค์เสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง นายเอกชัยผู้เผยแพร่จึงถือว่ามีความผิด
 
ในคำพิพากษายังอธิบายด้วยว่า แม้ว่าจะอธิบายได้ว่า สำนักข่าวต่างประเทศเผยแพร่ข่าวสารจากประเทศไทย"มีความน่าเชื่อถือ มีมุมมองเชิงลึก และเป็นกลาง" ซึ่งหมายถึงว่าสำนักข่าวต่างประเทศนั้น ไม่ได้ตั้งใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ศาลเห็นว่าจะพิจารณาในลักษณะนี้ไม่ได้ "ต้องดูความเข้าใจของวิญญูชนทั่วไปที่ได้อ่านข้อความนั้น" ซึ่งเหตุผลของศาลในข้อนี้ ต้องถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะคำว่า "วิญญูชนทั่วไป"คงจะให้ความหมายได้ยาก ในกรณีที่บุคคลมีความเห็นแตกต่างกัน อย่างน้อยพยานโจทย์และพยานจำเลยก็มีความเห็นต่างกัน ถ้าอธิบายตามคำพิพากษาของศาล ย่อมหมายถึงว่า พยานโจทย์ที่ปรักปรำจำเลยให้มีความผิดเท่านั้นที่เป็น"วิญญูชน" หรืออธิบายใหม่ว่า วิญญูชนคือคนที่มีความเห็นสอดคล้องกับคณะผู้พิพากษา การพิจารณาคดีจึงไม่ได้ถือหลักนิติปรัชญาอันถูกต้องแต่ประการใด
 
นอกจากนี้ ในส่วนโทษปรับที่ศาลก็ขาดความสมเหตุผลอย่างมาก เพราะจากข้อมูลก็จะเห็นได้ว่า คุณเอกชัยขายซีดีเพียง ๒๐ บาท แต่ศาลปรับข้อหาขายซีดีไม่ได้รับอนุญาตกว่า ๖.๖ หมื่นบาทเป็นมูลค่าของซีดีมากกว่า ๓ พันแผ่น ถ้าพิจารณาว่า คนขายซีดีในประเทศไทยจำนวนมากก็ไม่มีใบอนุญาตจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มาตรฐานการปรับตำนวนเช่นนี้จึงเป็นการลงโทษคนยากจนโดยไม่เป็นธรรม
 
สรุปแล้ว การตัดสินให้นายเอกชัยถูกลงโทษ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และสะท้อนความไม่เป็นธรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากศาลเอง และเป็นการสะท้อนอีกครั้งว่า คำพิพากษาของศาลนั้นขาดความยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น