โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

[ประมวลภาพ] นปช. ร่วมรำลึก 3 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุม 10 เม.ย.

Posted: 10 Apr 2013 01:30 PM PDT

10 เม.ย. 56 - ราวเวลา 16.00 น. บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้จัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 3 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 53 โดยมีผู้ชุมนุมเข้าร่วมกว่า 4,000 คน และมีแกนนำอาทิ ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานกลุ่มนปช. นพ. เหวง โตจิราการ วิภูแถลง พัฒนภูมิไท ณัฐวุฒิ ใสเกื้อ รวมทั้งแกนนำจากภาคต่างๆ สลับกันร่วมปราศรัยบนเวที โดยกล่าวถึงเรื่องการนิรโทษกรรมว่า นปช. มีจุดยืนจะผลักดันให้การนิรโทษกรรมออกเป็นพระราชกำหนดเพราะสามารถทำได้รวดเร็ว 
 
 
นายก่อแก้ว พิกุลทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. ให้สัมภาษณ์ว่า ในขณะนี้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กำลังอยู่ในขั้นตอนรอการพิจารณาของสภา ซึ่งในแม้ตอนนี้จะเผชิญจากความล่าช้าเนื่องจากรัฐบาลต้องการจะผลักดันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการผ่านร่างเงินกู้ 2.2 ล้านบาท แต่ตนก็ยังคาดว่า ร่างนิรโทษกรรมน่าจะผ่านในปีนี้ เนื่องจากมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่ที่เห็นด้วย เพียงแต่อยากมั่นใจว่าถ้าเดินหน้าแล้วจะไม่ส่งผลกระทบต่อศักยภาพของรัฐบาล 
 
ต่อคำถามว่าร่างนิรโทษกรรมจะรวมถึงนักโทษจากคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยหรือไม่ เขากล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่า อะไรก็ตามที่ทำให้สังคมลดการขัดแย้งลง สังคมดีขึ้น สมควรให้ผ่านการพิจารณา เพราะพวกเขาไม่ใช่อาชญากรที่ถือว่ากระทำความผิดร้ายแรง หรือเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย
 
 

 
 
นางสุพรรณี ผู้เข้าร่วมชุมนุมจากจังหวัดอุทัยธานี กล่าวถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อ 10 เม.ย. 56 ว่า คนเสื้อแดงไม่มีอาวุธเลย ตนเองได้ใช้กล้องมองไปตามตึก เห็นทหารพร้อมอาวุธอาวุธสงครามครบมือ ตนจึงเชื่อว่าทหารเป็นคนฆ่าเพื่อน นปช. ของตน เพราะกลุ่มคนเสื้อแดงไม่สามารถที่จะไปอยู่บนที่สูงได้ และทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์ทราบดีอยู่แล้วว่าคนเสื้อแดงรักกัน และจะไม่มีวันฆ่ากันตาย
 
"กฎหมายประเทศไทยควรมีความศักดิ์สิทธิ์ อยากให้เคารพกฎหมาย  อันไหนผิดก็ต้องว่าไปตามผิด อยากให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยที่เต็มใบ ถึงมันจะไม่ได้ในสมัยเราแต่เราสู้เพื่อลูกหลาน อยากให้ลูกหลานมีประชาธิปไตย พวกเราจะได้ใช้ชีวิตแบบไม่ต้องตกเป็นทาส ประเทศไทยเลิอกทาสมาตั้งนานแล้ว แต่การกระทำมันไม่ใช่ ยังเป็นทาสซ่อนรูปอยู่เลย ตอนนี้ประชาชนพูดอะไรไม่ได้เลย" นางสุพรรณีกล่าว
 
 
 
 
ด้านนางโสภา ศรีอรัญ พี่สาวนายยอดชาย ศรีอรัญ ซึ่งเป็นผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกล่าวว่า สาเหตุที่ออกมาร่วมงานรำลึก 3 ปี 10เมษายน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เนื่องจากรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและอยากมาร่วมรำลึกถึงผู้ที่จากไปจากเหตุการณ์นี้ด้วย เพราะทุกคนเป็นเหมือนพี่น้องกัน ส่วนอาการของนายยอดชาย ยังไม่สามารถออกเสียงได้ชัดเจน เนื่องจากสมองสั่งการไม่ปกติ ซึ่งจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นน้องชายตนได้รับค่าเยียวยาเป็นจำนวนเงิน 1,500,000 บาท จากรัฐบาลแล้ว
 
 
 
ด้านนายกิตติชัย หอมชื่นจิตร ประธาน นปช. อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า รู้สึกคิดถึงพี่น้องประชาชนชาว นปช. ทั้งที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุม และต้องการออกมาที่จะยืนยันว่าพวก ชาว นปช. ยังยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไป ด้านคำตัดสินของศาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม หรือศาลรัฐธรรมนูญนั้น กลุ่ม นปช. มองว่า ไม่เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม เพราะเวลากลุ่มคนเสื้อแดงมีคดี จะไม่ได้รับการประกันตัวและต้องติดคุก และมองว่าเป็นเรื่องสองมาตรฐาน 
 
 
นายกิตติชัย ยังกล่าวอีกว่า คนเสื้อแดงไม่ได้ชมว่าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลที่ดี แต่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลที่ถูกต้อง ซึ่งประชาชนชาวไทยที่เป็น นปช. ยึดหลักประชาธิปไตย คือความถูกต้องอยู่แล้ว ถ้าหากว่านักการเมืองของประเทศไทยยึดหลักประชาธิปไตยที่ถูกต้องคือเคารพเสียงส่วนใหญ่ เลือกตั้งแล้วแล้วใครได้เสียงข้างมากได้เป็นรัฐบาลพรรคการเมืองที่สู้ไม่ได้ก็เป็นฝ่ายค้าน  ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดเรื่องวุ่นวาย ตรงไหนที่รัฐบาลทำไม่ดีพรรคฝ่ายค้านควรทำหน้าที่ค้าน เมื่อครบวาระ 4 ปี เลือกตั้งใหม่แล้วจึงหานโยบายที่ดีมาต่อสู้กัน ส่วนเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม ตนมีความเห็นว่า อยากให้ปล่อยตัวทันทีเลย แต่เข้าใจว่ารัฐบาลต้องทำตามขั้นตอน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกโจมตี
 
 
 
 
 
 
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สาระ+ภาพ: ความทรงจำ 'คนที่ตายเมื่อ 10 เมษา'

Posted: 10 Apr 2013 12:43 PM PDT


คลิกดูภาพขนาดใหญ่ที่นี่



ผ่านไป 3 ปี สถานการณ์การเมืองเริ่มเข้าสู่ความมีเสถียรภาพ มีประเด็นร้อนต่างๆ เข้ามาสู่ความสนใจของเรามากมาย แต่ในวาระ 10 เมษายน ถือเป็นโอกาสที่จะทบทวนเรื่องนี้อีกครั้งผ่าน "แผนที่คนตาย"

เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต 25 ราย เป็นประชาชน 20 ราย ทหาร 5 ราย (ดูรายละเอียดในตารางด้านล่าง) แต่รายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 หรือ ศปช. รายงานเพิ่มเติมว่า ผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย คือ

1.นายอนันต์ สิริกุลวาณิชย์ อายุ 54 ปี ถูกยิงด้วยเอ็ม 16 ที่ลำคอในเหตุการณ์ 10 เม.ย.53 และได้เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลกลางเสียชีวิตเมื่อ 15 พ.ค.53
2.นายอนันท์ ชินสงคราม อายุ 38 ปี โดนแก๊สน้ำตาที่สะพานมัฆวานในช่วงบ่าย หลังจากนั้นมีอาการหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก หมอวินิจฉัยว่ามีอาการปอดอักเสบ จากนั้นป่วยจนทำงานไม่ได้ และเสียชีวิตจากอาการปอดติดเชื้อเมื่อวันที่ 6 ต.ค.53

โดยส่วนใหญ่เสียชีวิตใน 2 จุดหลัก ได้แก่ ถนนตะนาว สี่แยกคอกวัว และ ถนนดินสอ บริเวณโรงเรียนสตรีวิทยา ในเหตุการณ์มี "ชายชุดดำ" โผล่เข้ามาด้วยทำให้ลำดับเวลาของการเสียชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งรายงานของแต่ละองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องนี้ก็มีส่วนสำคัญบางจุดก็ยังไม่ตรงกัน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเบื้องต้นจากปากคำประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุและข้อมูลของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการการสลายการชุมนุมเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 (ศปช.) ก็ระบุตรงกันว่าเริ่มมีผู้ชุมนุมถูกยิงเสียชีวิตทั้งแต่ช่วงหัวค่ำก่อนการปรากฏตัวของชายชุดดำ


ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553

1.นายอำพน ตติยรัตน์ 26 ปี กรุงเทพ กระสุนปืนทำลายสมองจากด้านหลังศีรษะ ทะลุด้านหน้า
2.นายยุทธนา ทองเจริญพูลพร 23 ปี ราชบุรี กระสุนปืนทำลายสมองจากด้านหลังศีรษะทะลุด้านหน้า
3.นายไพรศล ทิพย์ลม 37 ปี ขอนแก่น กระสุนปืนทำลายสมองจากด้านหน้าทะลุท้ายทอย
4.นายสวาท วางาม 43 ปี สุรินทร์ กระสุนปืนทำลายสมองจากด้านหลังทะลุด้านหน้า
5.Mr.Hiroyuri Muramoto 43 ปี ญี่ปุ่น กระสุนปืนยิงทะลุปอดหลอดเลือดแดงใหญ่ เลือดออกในช่องเยื้อหุ้ม หัวใจ
6.นายธวัฒนะชัย กลัดสุข 36 ปี นนทบุรี กระสุนปืนทะลุปอด ตัดเส้นเลือดแดงใหญ่ ทะลุหลัง (ข้อมูล นปช.ระบุบาดแผลที่ต้นขาซ้าย)
7.นายทศชัย เมฆงามฟ้า 44 ปี กรุงเทพ บาดแผลกระสุนปืนทะลุหัวใจ เข้าหน้าอกซ้ายไปทะลุหลัง
8.นายจรูญ ฉายแม้น 46 ปี กาฬสินธุ์ กระสุนปืนทำลายปอดและตับ เข้าด้านขวาทะลุปอดและตับและทะลุหลัง
9.นายวสันต์ ภู่ทอง 39 ปี สมุทรปราการ กระสุนปืนทำลายสมอง ด้านหลังศีรษะทะลุด้านหน้า
10.นายสยาม วัฒนนุกุล 53 ปี นครสวรรค์ กระสุนปืนทะลุช่องอกและปอด เส้นเลือดใหญ่ฉีกขาด
11.นายคะนึง ฉัตรเท 50 ปี กรุงเทพ กระสุนเข้าซี่โครงขวา เลือดออกที่ช่องท้อง
12.นายเกรียงไกร คำน้อย 23 ปี ชลบุรี ถูกยิง
13.นายบุญธรรม ทองผุย47 ปี ชัยภูมิ สมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง (ข้อมูล นปช.ระบุกระสุนปืนเข้าที่ศีรษะ)
14.นายสมศักดิ์ แก้วสาน 34 ปี หนองคาย ถูกแรงอัดกระแทกเข้าที่ท้อง (ข้อมูล นปช.ระบุถูกยิงช่องท้อง เสียโลหิตมาก เส้นเลือดใหญ่ฉีกขาด)
15.นายเทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ 29 ปี ปทุมธานี แผลที่หน้าอกซ้าย ทะลุหัวใจและปอด
16.นายนภพล เผ่าพนัส 30 ปี ชลบุรี ถูกยิงที่ท้อง
17.นายมานะ อาจราญ 23 ปี เป็นเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ดุสิต เสียชีวิตจากวัตถุความเร็วสูงเข้าที่ศีรษะ
18.นายสมิง แตงเพชร 49 ปี นนทบุรี ถูกยิงที่ศีรษะ (ข้อมูล นปช.ระบุสมองบวมช้ำ)
19.นายมนต์ชัย แซ่จอง 54 ปี สมุทรปราการ ระบบการหายใจล้มเหลว โดยผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวถุงลมโป่งพอง และสัมผัสแก๊สน้ำตา
20.นายบุญจันทร์ ไหมประเสริฐ 50 ปี รพ.รามาธิบดี ถูกยิงที่ขาหนีบซ้าย
21.สิบเอกอนุพล หอมมาลี ถูกสะเก็ดระเบิดที่ศีรษะ
22.พลฯภูริวัฒน์ ประพันธ์ ถูกยิงเสียชีวิตก่อนถึงรพ.
23.ส.ท.อนุพงษ์ เมืองอำพัน
24.พลฯสิงหา อ่อนทรง ถูกยิงเข้าที่หน้าอกซ้าย
25.พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ถูกสะเก็ดระเบิดเข้าที่กระโหลกศีรษะ

ข้อมูลจากศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: 3 ปี 10 เมษา ภาพรวมไต่สวนการตาย และเรื่องเล่าจากคำเบิกความ

Posted: 10 Apr 2013 12:24 PM PDT

 

ผู้คนทั่วไปน่าจะยังจดจำเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 ได้ในฐานะหนึ่งในเหตุการณ์ความรุนแรงในยุคการเมืองสมัยใหม่ มันเป็น "จุดแตกหักแรก" ที่เกิดความสูญเสียชีวิตมากมายในพื้นที่ทางการเมืองเดิมๆ บริเวณใกล้ถนนราชดำเนิน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ผ่านไป 3 ปี สถานการณ์การเมืองเริ่มเข้าสู่ความมีเสถียรภาพ มีประเด็นร้อนต่างๆ เข้ามาสู่ความสนใจของเรามากมาย แต่ในวาระ 10 เมษายน ถือเป็นโอกาสที่จะทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง ในแง่มุมของการประมวลภาพ "กระบวนการยุติธรรม" ที่เกี่ยวข้องกับความตายทางการเมืองครั้งนี้

เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต 25 ราย เป็นประชาชน 20 ราย ทหาร 5 ราย (ดูรายละเอียดในล้อมกรอบด้านล่าง)  แต่รายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 หรือ ศปช. รายงานเพิ่มเติมว่า ผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย คือ

1.นายอนันต์ สิริกุลวาณิชย์ อายุ 54 ปี ถูกยิงด้วยเอ็ม 16 ที่ลำคอในเหตุการณ์ 10 เม.ย.53 และได้เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลกลางเสียชีวิตเมื่อ 15 พ.ค.53

 2.นายอนันท์ ชินสงคราม อายุ 38 ปี โดนแก๊สน้ำตาที่สะพานมัฆวานในช่วงบ่าย หลังจากนั้นมีอาการหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก หมอวินิจฉัยว่ามีอาการปอดอักเสบ จากนั้นป่วยจนทำงานไม่ได้ และเสียชีวิตจากอาการปอดติดเชื้อเมื่อวันที่ 6 ต.ค.53

โดยส่วนใหญ่เสียชีวิตใน 2 จุดหลัก ได้แก่ ถนนตะนาว สี่แยกคอกวัว และ ถนนดินสอ บริเวณโรงเรียนสตรีวิทยา ในเหตุการณ์มี "ชายชุดดำ" โผล่เข้ามาด้วยทำให้ลำดับเวลาของการเสียชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งรายงานของแต่ละองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องนี้ก็มีส่วนสำคัญบางจุดก็ยังไม่ตรงกัน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเบื้องต้นจากปากคำประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุและข้อมูลของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการการสลายการชุมนุมเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 (ศปช.) ก็ระบุตรงกันว่าเริ่มมีผู้ชุมนุมถูกยิงเสียชีวิตทั้งแต่ช่วงหัวค่ำก่อนการปรากฏตัวของชายชุดดำ

 

 

นอกจากนี้แล้ว ในจำนวน 25 รายนั้น ยังมีผู้เสียชีวิต 1 รายคือ นายเกรียงไกร คำน้อย ที่ถูกยิงตั้งแต่ช่วงบ่ายที่มีการปะทะกันที่บริเวณกระทรวงศึกษาธิการ และอีก 1 รายคือ นายมนต์ชัย แซ่จอง  ถูกแก๊สน้ำตาและเสียชีวิตที่โรงพยาบาล

ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด มีส่วนที่อยู่ในขั้นต่อนของการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ หรือที่เรียกว่า ไต่สวนการตายแล้ว 5 ราย แยกเป็น 2 คดี

คดีแรก  ประกอบด้วย ฮิโรยูกิ มูราโมโต้ ชาวญี่ปุ่น ช่างภาพรอยเตอร์ , วสันต์ ภู่ทอง, ทศชัย เมฆงามฟ้า

คดีที่สอง ประกอบด้วย จรูญ ฉายแม้น , สยาม วัฒนานุกูล

โดยทั้งสองคดีนี้ใช้พยานร่วมกัน แต่เหตุที่ไม่อาจรวมกันได้เนื่องจากตำรวจส่งเรื่องให้อัยการล่าช้ากว่ากันมาก

อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญมากคือ คดีของ มานะ อาจราญ ซึ่งนับเป็นคดีเดียวของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 ที่ศาลมีคำสั่งแล้วว่า "เสียชีวิตโดยไม่ทราบผู้ยิง"

 

 

มานะ อาจราญ เสียชีวิตขณะอายุ 24 ปี เป็นพนักงานสวนสัตว์ดุสิต (เขาดิน) ถูกยิงที่ศีรษะกลางดึกของวันที่ 10 เม.ย.53 ภายในสวนสัตว์ขณะที่เพิ่งออกเวรจากการเฝ้าบ่อเต่าและเกิดเหตุการณ์ชุลมุนขึ้นพอดี

คดีของมานะนับเป็นกรณีที่ 2 ที่ศาลมีคำสั่งไม่ทราบผู้ยิง ส่วนคดีแรกคือ คดีของนายบุญมี เริ่มสุข

ส่วนการไต่สวนการตายอีก 4 กรณีก่อนหน้านั้นส่วนใหญ่เป็นเหตุการณ์บริเวณถนนพระราม 4 ในช่วงเดือนพฤกษภาคมปีเดียวกัน โดยศาลมีคำสั่งชัดเจนว่ากระสุนมาจากทหารที่ปฏิบัติการในพื้นที่ คือ นายคำ พันกอง, นายชาญณรงค์ พลสีลา, นายชาติชาย ชาเหลา, ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือ น้องอีซา

มาโนช อาจราญ พ่อของเขาเคยเบิกความต่อศาลว่า เชื่อว่าความตายของบุตรชายเกิดจากการกระทำของทหาร เนื่องจากในวันดังกล่าวทหารเข้ามาในสวนสัตว์และถืออาวุธปืนเอ็ม 16 เข้ามาด้วย อย่างไรก็ตาม ที่่ผ่านมาได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จำนวน 400,000 บาท กองคลัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม 50,000 บาท ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 30,000 บาท และจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 7.2 ล้านบาท โดยแบ่งจ่ายสองงวด จึงไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มและไม่ติดใจดำเนินคดีต่อ (อ่านข่าวที่นี่)

พลอากาศตรี นพ.วิชาญ เปี้ยวนิ่ม แพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพมานะ ระบุว่า มานะเสียชีวิตจากการถูกกระสุนปืนลูกโดด ที่มีความเร็วสูงที่บริเวณศีรษะ ทำลายเนื้อสมองฉีกขาด ในทางปฏิบัติกระสุนชนิดดังกล่าวจะพบในปืนที่ใช้ในการสงคราม เช่น ปืนเอ็ม 16 และปืนอาก้า  (อ่านข่าวที่นี่)

"บาดแผนกระสุนปืนลูกโดด 1 แห่ง เข้าที่ศีรษะซีกขวาหลัง กะโหลกศีรษะแตกหลายชิ้นกระจายทั่วกะโหลก เนื้อสมองฉีก เลือดออกใต้เยื้อหุ้มสมองชั้นในกระจายไปทั่วสมอง" แพทย์เบิกความ 

เหตุการณ์ในค่ำคืนนั้นเกิดขึ้นหลังจากความรุนแรงที่ถนนดินสอและสี่แยกคอกวัวในช่วงหัวค่ำจบลงแล้ว แต่ยังมีทหารอีก 4 กองร้อยพักอยู่ในลานจอดรถของสวนสัตว์ดุสิต จนกระทั่งกลางดึกก็เกิดความวุ่นวายเมื่อทหารบริเวณนั้นวิ่งหนี "อะไรบางอย่าง" จากลานจอดรถด้านนอกเข้าสู่ด้านในสวนสัตว์

ร.ต.ต.ณรงค์ คำโพนรัตน์ ตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในกองร้อยปราบจลาจลในวันเกิดเหตุ เบิกความไว้ว่า ทหารเริ่มเข้ามาบริเวณสวนสัตว์ดุสิต ตั้งแต่เวลา 18.00 น. มีทั้งสิ้น 4 กองร้อย กองร้อยละ 120 นาย อาวุธประจำกายประกอบด้วย ปืนเอ็ม-16 ปืนทาโว่ (TAR-21 หรือ Tavor) ปืนลูกซอง และกระบอง ต่อมาในเวลาประมาณ 23.00 น. ขณะผูกเปลนอนอยู่ใต้ต้นโพธิ์สวนสัตว์ดุสิตใกล้ลานจอดรถ ทหารได้วิ่งเข้ามาจากประตูทางเข้าสวนสัตว์ฝั่งรัฐสภา ถือปืนวิ่งเข้ามา ต่างคนต่างหลบที่ลานจอดรถ ชนเก้าอี้ระเนระนาด จากนั้นก็มีเสียงปืนดังขึ้น ทหารที่นอนหมอบอยู่ได้ยิงปืนในทิศทางเฉียงขึ้นฟ้า 45 องศา พยานได้ยินเสียงปืนมาจากรอบทิศทาง ดังเป็นชุดๆ เงียบไปสักพักหนึ่งก็ดังขึ้นมาอีก จากนั้นทหารก็สั่งว่า "แนวยิงให้หยุดยิง" เสียงปืนซึ่งดังเป็นเวลา 30 นาทีจึงสงบลง

ขณะที่ รปภ.ของสวนสัตว์เบิกความไว้ว่า  เวลาประมาณ  23.00 น. ทหารตะโกนว่า "มันมาแล้ว" ทหารด้านนอกสวนสัตว์ได้วิ่งเข้าไปในสวนสัตว์และได้ยินเสียงปืนมาจากข้างนอก ส่วนทหารหลบอยู่ในอาคารจอดรถ ที่วิ่งเข้าไปในสวนสัตว์ก็มี และยังมีทหารที่นอนหมอบอยู่ด้วยกันที่ยิงปืนประจำกายไปทางรัฐสภา นอกจากนี้ในกล้องวงจรปิด เมื่อเปิดดูพบว่ามีรถกระบะคันหนึ่งขับมุ่งหน้ามาทางพระที่นั่งอนันตสมาคม แล้วขับกลับไป แต่ไม่สามารถยืนยันว่าคนที่อยู่ในรถมีลักษณะอย่างไร และมีอาวุธหรือไม่

ส่วนเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ พ.ต.ท.สราวุธ บุญศิริโยธิน เบิกความว่า จากการสอบสวนเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติตามหน้าที่ พร้อมระบุว่า คืนเกิดเหตุ เวลาประมาณ 23.00-23.30น. ขณะทหารหลายร้อยนาย ซึ่งบางส่วนพักใต้อาคารจอดรถสวนสัตว์ บางส่วนกั้นรถอยู่ที่ถนนอู่ทองใน มีรถกระบะสีเข้ม วิ่งจากแยกอู่ทองในผ่านสวนสัตว์ ไปที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ครู่หนึ่งแล่นกลับมาชะลอตรงข้ามประตูทางเข้าสวนสัตว์ หน้ารัฐสภา จากนั้นมีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด ทหารแตกตื่นวิ่งเข้าสวนสัตว์

ขณะที่ปากของทหารนั้น มีทั้งระดับปฏิบัติการและผู้บังคับบัญชาซึ่งมาจากค่ายสุรนารี

ร.ท.จักรพันธ์ ตัณฑสมบูรณ์ ผู้บังคับหมวดกองร้อยทหารปืนใหญ่ อยู่ที่กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่สอง ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา เบิกความไว้ว่า ขณะกำลังพลได้พักบริเวณอาคารจอดรถของสวนสัตว์ดุสิต หลังพักได้ 15 นาที ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัดจากฝั่งสภา กำลังพลที่อยู่ด้านหน้าประตูวิ่งเข้ามาด้านในที่จอดรถบอกว่า "มันมาแล้ว" ทำให้กำลังพลที่พักอยู่วิ่งไปหลบทางด้านหลัง ระหว่างนั้น ได้ยินเสียงปืนเป็นระยะ ไม่ทราบทิศทาง แต่แยกได้ว่าเป็นเสียงปืนเล็ก ไม่ใช่ปืนกล พร้อมยืนยันว่าเฉพาะกองร้อยของเขาไม่มีการยิงตอบโต้เพราะเจ้าหน้าที่ที่มีปืนจะยิงเมื่อได้รับอนุญาตเท่านั้น โดยนอกจากกองร้อยของตนแล้วก็มีกองอื่นที่เข้ามาพักพร้อมกัน

นอกเหนือจากนั้น ยังมีการตรวจพบหลักฐานในคดี คือ ปลอกกระสุน .223 จำนวน 2 ปลอกตกอยู่ห่างจากจุดพบศพ 25 เมตร และพบโล่ปราบจลาจล กระบอง และเสื้อสีเขียวระบุชื่อ "บารมี ชีพไธสง" ในที่เกิดเหตุ

พ.ต.อ.ณัฎฐ์ บูรณศิริ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สตช. เบิกความ กระสุนขนาด 5.56 มม. หรือ .223 ใช้ได้กับปืน M16 HK33 ซึ่งทั้งทหารและตำรวจมี และใช้ได้กับทราโว่ ซึ่งมีแต่ทหารเท่านั้นที่มีใช้ ส่วนอาก้านั้นใช้ไม่ได้ 

พ.ต.ท.มานิต เกษมศิริ รอง ผกก.สน.ดุสิต ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนในคดีนี้ เบิกความว่า  มีการขออาวุธปืนจากกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 ซึ่งมีการเบิกจ่ายปืน M16 จำนวน 29 กระบอกมาใช้ในช่วงดังกล่าว แต่พบว่าปลอกกระสุนไม่ได้มาจากปืนทั้ง 29 กระบอก ทั้งนี้ ในช่วงดังกล่าว ทหารแจ้งว่าอาวุธปืนที่ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ถูกแย่งปืนไป โดยได้แจ้งความไว้ด้วย แต่ภายหลังก็ตรวจยึดคืนได้จากสถานที่ชุมนุมของ นปช.

อดีตพลทหารบารมี ชีพไธสง ซึ่งมีของกลางที่ระบุชื่อของเขาตกในที่เกิดเหตุ เบิกความว่า  หลังเหตุการณ์วุ่นวายจบลง เมื่อมีการรวมตัวเพื่อเช็คยอดคนและอาวุธ ปรากฏว่ากระบองของตนหายไปตอนไหนไม่ทราบ โดยก่อนหน้านั้นพกไว้ที่เอว ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุ ดีเอสไอเคยมาสอบที่กองพัน เนื่องจากพบเสื้อลายพรางชุดฝึกมีชื่อของตนตกอยู่ในที่เกิดเหตุ ซึ่งได้ให้การว่าเป็นเสื้อที่นายนพพลหยิบผิดไป

อดีตพลทหารนพพล ป้ายนอก  ซึ่งถูกพาดพิง เบิกความว่า เวลาประมาณ 23.00น. ได้ยินเสียงปืน 1 นัด และมีทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ วิ่งเข้ามา ตนเองได้หยิบเสื้อฝึกและชุดเกราะวิ่งไปทางด้านหลัง เสื้อฝึกซึ่งเป็นของพลทหารบารมี ชีพไธสง ที่เขาหยิบผิดมานั้นไปเกี่ยวกับเก้าอี้จึงทิ้งไว้  เมื่อไปถึงริมสระน้ำเห็นชายคนหนึ่งเดินมาจากรถมอเตอร์ไซค์มาที่ช่องขายตั๋ว ซึ่งอยู่ด้านขวามือที่เขาหมอบอยู่ ชายคนดังกล่าวสวมเสื้อสีขาว กางเกงยีนส์สีฟ้า พร้อมพูดว่า "มึงจะออกมาหรือไม่ออกมา ไม่ออกมากูจะยิง"  ซึ่งไม่ทราบว่าพูดกับใคร พอพูดจบชายคนดังกล่าวก็ยิงปืนพกสั้นสีเงินเฉียงขึ้นฟ้า 3 นัด เมื่อเห็นท่าไม่ดีเขาจึงถอยลงสระ จากนั้นก็ไม่เห็นชายคนนั้นอีกเพราะปูนที่ขอบสระบังไว้ แช่น้ำอยู่เกือบชั่วโมงจึงมีทหารจากกองพันอื่นมาเรียกให้ขึ้นไป    (อ่านข่าวที่นี่)

จากคำเบิกความของอดีตพลทหารฯ นพพล ป้ายนอก นับเป็นครั้งแรกที่ปรากฏ "ชายชุดขาว" ในเหตุการณ์ภายในสวนสัตว์ดุสิต และเป็นเหตุผลสำคัญที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาล

อีกส่วนหนึ่งคือคำเบิกความของ พ.ต.ท.สราวุธ บุญศิริโยธิน พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ดีเอสไอ ซึ่งเบิกความเกี่ยวกับการตรวจสอบวิถีกระสุนว่า พบรอยกระสุนปืนที่ต้นหมากเขียวและใบวาสนา ซึ่งมีความสูงในระดับเดียวกับความสูงของศีรษะผู้ตาย เมื่อลองลากดูพบว่าเป็นแนวเดียวกันไปถึงบริเวณที่พบปลอกกระสุนและบริเวณที่ ทหารหมอบอยู่ จากวิถีกระสุนคาดว่าเป็นการยิงในท่ายืน และไม่สามารถยิงจากระยะไกลได้ เพราะมีซุ้มใหญ่และต้นไม้บัง วันดังกล่าวไม่มีรายงานว่ามีบุคคลตกค้างในสวนสัตว์ 

ท้ายที่สุด ศาลมีคำสั่งในคดีนี้ว่า ยังไม่ทราบใครผู้ยิงนายมานะจนเสียชีวิต

"ศาลพิเคราะห์จากการเบิกความที่ผ่านมาว่า ผู้ร้องไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุว่าผู้ยิงเป็นทหารหรือ บุคคลใด ไม่มีพยานยืนยันการใช้อาวุธปืนของทหาร" (อ่านข่าวที่นี่)

ศาลระบุด้วยว่า แม้มีการนำสืบว่ามีพยานอยู่ใกล้ที่เกิด เหตุแต่ก็ไม่ใช่จุดที่นายมานะถูกยิงเสียชีวิตและไม่ใช่จุดที่พบทหารหมอบอยู่ อีกทั้งเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ที่เข้าเวรคู่กับนายมานะได้วิ่งออกมาหลังได้ยินเสียงปืนก็พบกับทหารที่หมอบอยู่ ทหารก็ไม่ได้มีท่าทีจะทำร้ายเขา หากทหารกลุ่มดังกล่าวเป็นผู้ทำร้ายนายมานะ เจ้าหน้าที่อีกคนก็คงถูกยิงเช่นกัน

นอกจากนี้ ศาลยังให้เหตุผลเกี่ยวกับวิถีกระสุนว่า ผู้ตรวจแนววิถีกระสุนนั้นจำลองแนววิถีกระสุนได้เพียงจุดยิงกว้างๆ ไม่อาจสันนิษฐานว่าเป็นจุดเดียวกับที่ทหารหมอบอยู่ อาจเป็นการยิงมาจากที่อื่นได้อีก ส่วนปลอกกระสุน 2 ปลอกที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุนั้น ไม่อาจระบุได้ว่าเป็นกระสุนที่ใช้ยิงผู้ตายหรือไม่ เพราะไม่มีหัวกระสุนมาตรวจสอบ และจากการตรวจสอบอาวุธปืน 29 กระบอกที่กองกำลังค่ายสุรนารีเบิกใช้ก็ไม่ตรงกับปลอกในที่เกิดเหตุ

 

สำหรับการไต่สวนการตายของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 10 เมษา ส่วนที่คืบหน้าที่สุดขณะนี้เห็นจะเป็น ชุดคดีของ ฮิโรยูกิ - วสันต์ - ทศชัย ซึ่งเสียชีวิตที่บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ

คดีนี้เริ่มกระบวนการไต่สวนมาตั้งแต่ราวเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว และสืบพยานไปแล้วหลายปาก ยังคงเหลือพยานซึ่งเป็นกลุ่มประชาชนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ พยานเจ้าหน้าที่ ของรัฐที่เป็นผู้เชียวชาญการตรวจพิสูจน์และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไป ปฏิบัติหน้าที่ในการชุมนุม รวมถึงพนักงานสอบสวน รวมกันแล้วเหลือไม่เกิน 20 ปาก จึงมีการบริหารคดีโดยกำหนดการสืบพยานอีก 7 นัด ในวันที่ 18 และ 19 มิ.ย.56 ซึ่งจะเป็นพยานฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารเข้าเบิกความ หลังจากนั้นจะเป็นวันที่ 16, 17 และ 24 ก.ค. และ 6, 7 ส.ค. 56

คดีนี้น่าสนใจตรงที่ที่ผ่านมามี "ประจักษ์พยาน" ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุ ขึ้นเบิกความหลายราย ซึ่งล้วนระบุไปในทิศทางเดียวกันว่ากระสุนมาจากแนวทหาร เห็นฮิโรยูกิกำลังถ่ายภาพทหารที่บาดเจ็บ 2 ราย และถ่ายภาพผู้ชุมนุมที่ถูกยิงกะโหลกเปิดก่อนเขาจะถูกยิงล้มลง

ร.ต.ต.ชาตรี อุตสาหรัมย์ จากกองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งเข้าไปติดตามและหาข่าวในที่ชุมนุมขณะเกิดเหตุ เบิกความไว้ว่า

เวลา 19.00 น. เศษ ซึ่งขณะนั้นมีการปะทะกันของกลุ่มผู้ชุมนุมระหว่างทหารกับ นปช. หลังจากนั้นทราบว่าบริเวณสี่แยกคอกวัวมีการปะทะกันเช่นกันจึงได้เดินไป และเดินกลับมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอีกครั้ง เมื่อเดินมาถึงร้านแมคโดนัลด์ซึ่งอยู่บริเวณหัวมุมถนนก่อนเลี้ยวเข้าถนน ดินสอ โรงเรียนสตรีวิทยา พบว่าบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีการนำศพคลุมธงชาติ 2 ศพ ในขณะนั้นได้ยินเสียงคล้ายระเบิดและเสียงปืนในลักษณะต่อเนื่อง แต่ไม่ถี่ จากประสบการณ์ เสียงปืนที่ได้ยินเป็นเสียงปืนยาว ส่วนเสียงคล้ายประทัดเห็นว่าเกิดจากการที่กลุ่ม นปช. ใช้ระเบิดขวดที่ทำจากขวดเครื่องดื่มชูกำลังใส่น้ำมันขว้างไปยังที่ทหาร ปฏิบัติการอยู่ จากการสังเกตการณ์ไม่พบมีกลุ่ม นปช. ยิงปืนใส่เจ้าหน้าที่ทหาร

จากนั้นได้เดินไปฝั่งตรงข้ามโรงเรียนสตรีวิทยาโดยเดินตาม กลุ่มผู้ชุมนุมที่มีประมาณ 30 กว่าคน บริเวณนั้นมีรถทหารจอดขวางประมาณ 2 คันในลักษณะป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินผ่านไปได้ ขณะที่กลุ่ม นปช.ขว้างระเบิดขวดข้ามแนวรถที่ขวางนั้น ก็มีเสียงปืนยาวดังจากแนวหลังรถของทหารที่เป็นลักษณะตอบโต้กันไปมา เห็นกลุ่ม นปช. แบกร่างผู้บาดเจ็บย้อนออกมาทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 2 คน คาดว่าน่าจะถูกกระสุนที่ยิงมาจากหลังแนวรถของทหาร หลังจากนั้นพยานได้เดินกลับไปบริเวณฝั่งหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา โดยยืนบริเวณบาทวิถีหน้าโรงเรียน ซึ่งขณะนั้นกลุ่ม นปช. ได้เดินผลักดันไปถึงกลางถนนดินสอ พยานเห็นเจ้าหน้าที่แต่งกายทหาร โดยเห็นครั้งละ 1 คน ทหารชะโงกหน้าดูเหตุการณ์อยู่บนบาทวิถีข้างถนน ฝั่งไปทางสะพานวันชาติและถืออาวุธปืนยาวที่ปากกระบอกปืนชี้ขึ้นฟ้า ขณะนั้นมีแสงสว่างจากหลอดไฟหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา อาวุธปืนยาวนั้นไม่น่าจะออกมาจากทางด้านข้าง แต่เป็นลักษณะที่พุ่งตรงมายัง นปช. หลังจากที่กลุ่ม นปช.ได้เดินผ่านโรงเรียนสตรีวิทยา ได้มีเสียงปืนยาวยิงตอบโต้กลับมาทำให้ กลุ่ม นปช. ต้องถอยร่นกลับที่บริเวณหัวถนนดินสออีกครั้งหนึ่ง ซึ่งระหว่างพยานได้ยืนสังเกตการณ์ที่บริเวณบาทวิถีหน้าโรงเรียน ขณะนั้นได้ยินเสียงของหนักกระแทกพื้นห่างจากพยาน 1 เมตร และเห็นชายร่างใหญ่ ทราบภายหลังว่าเป็นนายฮิโรยูกิ มูราโมโต้ ในลักษณะนอนหงาย สะพายกล้องแบบนักข่าว หันมุมกล้องชี้ไปบนท้องฟ้า ร่างนั้นนอนบนบาทวิถีหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาศีรษะหันไปทางโรงเรียน ปลายเท้าชี้ไปทางบ้านเลขที่ 149 ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามโรงเรียนสตรีวิทยา ในเบื้องต้นจะเข้าไปปฐมพยาบาล แต่เห็นร่างนายฮิโรยูกิมีจุดแดงบริเวณหน้าอกซ้าย จากนั้นจุดแดงดังกล่าวได้ขยายออกและมีเลือดไหล จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาคิดว่าแผลลักษณะนี้เกิดจากอาวุธปืนที่มีความเร็ว สูง จึงได้ประคองนายฮิโรยูกิ และตะโกนแจ้งให้ผู้ชุมนุมบริเวณนั้นทราบว่ามีนักข่าวถูกยิง ผู้ชุมนุมได้ช่วยกันแบกร่างนายฮิโรยูกิ ไปที่รถพยาบาล ขณะนั้นฮิโรยูกิมีลักษณะตาค้าง

นายอุดร วรรณสิงห์ แนวร่วม นปช. มีอาชีพทำนา จากจังหวัดร้อยเอ็ด  เบิกความว่า

เขาเป็นผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณถนนดินสอ กลุ่มผู้ชุมนุมผลักดันทหารให้ออกจากบริเวณนั้น แต่ทหารได้ยิงแก๊สน้ำตาหลายนัดจากหลังรถถังมาเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม จึงทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมแตกออก ระหว่างนั้นมีกระแสลมตีแก๊สน้ำตาย้อนกลับไปทางเจ้าหน้าที่ทหารๆ จึงได้ถอยร่นไปทางสะพานวันชาติ ขณะนั้นพยานได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้น 2 ครั้งท้ายรถหุ้มเกราะของทหาร โดยพยานยืนอยู่บริเวณทางม้าลายปากถนนดินสอ หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา จุดที่ระเบิดลงนั้นห่างจากตัวพยานประมาณ 10 เมตร ทหารก็แตก พากันวิ่งหนีกันไปทางสะพานวันชาติ ส่วนผู้ชุมนุมและพยานก็ได้ตามเข้าไปด้วย พอวิ่งตามไปหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ตรงทางม้าลาย เห็นทหาร 2 นายนอนบาดเจ็บร้องขอความช่อยเหลือบริเวณบาทวิถี ฝั่งตรงข้ามโรงเรียน หลังรถถัง ขณะที่ผู้ชุมนุมกำลังเข้าไปช่วยเหลือได้ยินเสียงปืนดังจากทางแนวทหารทางสะพานวันชาติ โดยทหารตั้งแนวทั้ง 2 ข้างบาทวิถี ส่วนตรงกลางจะมีรถถังที่ถอยกลับไปกลับมาอยู่ ทหารจ้องเล็งอาวุธปืนมาทางกลุ่มผู้ชุมนุม เหตุที่สามารถเห็นได้เนื่องจากมีแสงสว่างจากหลอดไฟตามถนน รวมทั้งเห็นประกายไฟซึ่งคาดว่าออกมาจากปลายกระบอกปืนด้วย แนววิถีที่ทหารยิงมานั้นสูงประมาณหน้าอกและศีรษะ จากนั้นมีคนร้องว่า "โดนแล้วๆ" ขณะนั้นตนเองยืนอยู่ตรงทางม้าลายเข้าโรงเรียน ขณะนั้นหันไปดูต้นเสียง เห็นผู้ชายสวมเสื้อสีแดงถือธงแดง ทราบชื่อภายหลังว่านายวสันต์ ภู่ทอง(ผู้ตายที่ 2) ล้มลง หันหัวมาทางโรงเรียน นอนตรงทางม้าลายนั้น ปลายเท้าหันไปทางตรงข้ามโรงเรียน ขเห็นเลือดและมันสมองกลิ้งมาที่พยานยืนห่างไปเพียง 3-4 เมตร

เมื่อเห็นนายวสันต์ล้มลง จึงวิ่งไปหลบที่บริเวณต้นไม้ ต้นที่ 2 หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ขณะนั้นมีชายแบกกล้องในลักษณะนักข่าวมาถ่ายภาพตรงนั้น เดินอยู่หน้าพยานห่างไปประมาณ 3 เมตร ทราบภายหลังว่าเป็นนายฮิโรยูกิ พอเสียงปืนดังขึ้น ชายคนดังกล่าวก็ล้มบริเวณบาทวิถีหน้าโรงเรียน ก่อนที่จะล้มชายคนดังกล่าวหันหน้าไปทางทหาร 2 นายที่นอนเจ็บอยู่ฝั่งตรงข้ามโรงเรียน การล้มเป็นการล้มแบบนอนหงาย โดยกระสุนมาจากแนวทหาร เสียงปืนดังและมีประกายไฟพุ่งมาทางชายที่แบกกล้องแล้วก็ล้มลงในจังหวะเดียว กัน

ในระหว่างที่จะเข้าไปช่วยนายฮิโรยูกิ ปรากฏเสียงปืนดังขึ้นอีก พยานจึงหลบเข้าที่เดิม ในระหว่างหมอบหลบเห็นชายอีกคนล้มลงอยู่เลยร่างนายวสันต์ไปทางแนวทหารประมาณ 3 เมตร บนถนนฝั่งตรงข้ามโรงเรียน ทราบชื่อภายหลังว่า

นายสยาม  วัฒนานุกูล และใกล้ตรงที่ทหารบาดเจ็บ 2 นายนั้นก็มีชายที่ได้รับบาดเจ็บนอนอยู่ตรงนั้นอีกคน ทราบชื่อภายหลังว่านายจรูญ ฉายแม้น หลังจากนั้นเนื่องจากเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยจึงหาทางวิ่งออกจากบริเวณที่เกิด เหตุมาที่ร้านแมคโดนัลด์

(อ่านข่าว ที่นี่  และ ที่นี่ )

นายเพชรพงษ์ โพธิยะ ประจักษ์พยานอีกคนหนึ่ง เบิกความว่า

ตลอดการชุมนุมไม่พบว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธร้ายแรง มีแต่หนังสติ๊ก และไม่พบว่ามีการทำลายสถานที่ราชการ หรือเผาทำลายทรัพย์สินแต่อย่างใด ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 18.00 น. เห็นรถหุ้มเกราะ 3 คัน มาจอดบริเวณถนนดินสอ และมีเจ้าหน้าที่เดินตามหลังรถ ถืออาวุธปืนยาว บางนายชี้ปากกระบอกปืนขึ้นฟ้า บางนายชี้ปากกระบอกปืนในแนวระนาบมาทางผู้ชุมนุม ก่อนปะทะกับผู้ชุมนุม แต่ยังไม่ใช้อาวุธปืนยิงเข้ามา

หลังจากปะทะกัน 20 นาที กลุ่มนปช.ที่ถอยร่นไปบริเวณอนุสาวรีย์ประชา ธิปไตย รวมตัวผลักดันเจ้าหน้าที่และยึดรถหุ้มเกราะ บางคนใช้ไม้เสียบล้อรถไม่ให้ขับต่อไปได้ บางคนขึ้นไปบนรถหุ้มเกราะ และตะโกนเรียกเจ้าหน้าที่ออกมา ก่อนพาเจ้าหน้าที่ 5 นาย ไปเวทีสะพานผ่านฟ้าฯ เจ้าหน้าที่บางนายในรถหุ้มเกราะแต่งชุดสีดำ ระหว่างที่ผู้ชุมนุมพาไปบนเวทีนั้น ก็มีผู้ชุมนุมถืออาวุธปืนตามหลังไปด้วย แต่ไม่ทราบว่าเอามาจากในรถหุ้มเกราะหรือไม่ จากนั้นพยานและกลุ่มผู้ชุมนุมถ่ายรูปกับรถหุ้มเกราะเป็นที่ระลึก สักพักได้ยินเสียงระเบิด 2 ครั้งติดต่อกัน บริเวณโรงเรียนสตรีวิทยา พยานจึงนั่งหมอบอยู่ข้างรถหุ้มเกราะ ก่อนได้ยินเสียงปืนยิงไล่มาตามพื้นจากฝั่งสะพานวันชาติ

ขณะนั้นเห็นผู้สื่อข่าวคนหนึ่งถูกยิงที่ต้นขา ส่วนผู้ชุมนุมอีกรายโดนยิงที่แขนจนขาดรุ่งริ่ง และเห็นชายที่โบกธงขึ้นไปอยู่บนรถหุ้มเกราะ ก่อนถูกยิงตกลงมา ขณะที่หันหน้าไปทางผู้ชุมนุม ก็เห็นผู้ชุมนุมขว้างขวดน้ำตอบโต้เจ้าหน้าที่ พยานหลบอยู่จนกระทั่งเสียงปืนสงบลงในเวลา 20.30 น. จึงเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมหามร่างของชายคนหนึ่งไปบนเวทีสะพานผ่านฟ้าฯ สภาพกะโหลกศีรษะเปิด ทราบภายหลังว่าเป็นนายวสันต์ และเห็นผู้ชุมนุมหามร่างชายที่มีสัญลักษณ์ค ล้ายผู้สื่อข่าว ไปที่รถพยาบาลที่จอดอยู่บริเวณร้านแมคโดนัลด์ ระหว่างนั้นได้ยินเสียงผู้ชุมนุมตะโกนว่าผู้สื่อข่าวถูกยิงตาย ทราบภายหลังว่าเป็นนายฮิโรยูกิ

(อ่านข่าว ที่นี่)

 

สำหรับอีกการไต่สวนการตายอีกคดีหนึ่ง คือ กรณีของ จรูญ - สยาม นั้น เพิ่งสืบพยานนัดแรกไปเมื่อ 12-13 มี.ค.ที่ผ่านมา และนัดต่อไปในวันที่ 30 เม.ย.นี้ ซึ่งจะเป็นวันเดียวกับที่ศาลจะมีคำสั่งคดีไต่สวนการตายของพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ (ยศขณะเสียชีวิต) ซึ่งถูกยิงบริเวณอนุสรณ์สถาน ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อ 28 เม.ย.53

หนึ่งในพยานที่เบิกความ คือบุตรสาวของจรูญ ฉายแม้น ซึ่งระบุว่า ในวันที่ไปรับศพพ่อเพื่อนำไปประกอบพิธีทางศาสนานั้นได้พบกับนายไพบูลย์ อดีตเจ้าหน้าที่ธนาคาร ซึ่งให้ข้อมูลว่า ไปร่วมชุมนุมอยู่หน้า ร.ร.สตรีวิทยา ใกล้กับพ่อ ขณะนั้นมีการปะทะกันระหว่างผู้ร่วมชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ผู้ร่วมชุมนุมไม่มีอาวุธ นายไพบูลย์เป็นคนให้พ่อไปช่วยทหารที่ได้รับบาดเจ็บ แต่พ่อถูกทหารยิงล้มไปหน้า ร.ร.สตรีวิทยา

นายบดินทร์ วัชโรบล ช่างภาพอิสระจากสมาคมผู้บริโภคสื่อสีขาว ซึ่งบันทึกภาพและถูกยิงบาดเจ็บในเหตุการณ์ ซึ่งมีวิดีโอคลิปเผยแพร่ทางยูทูปด้วยนั้นเบิกความว่า

หลังเคารพธงชาติ ทหารเปิดเพลงชาติ หลังจากนั้นมีรถหกล้อของแกนนำเข้ามา โดยมี พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ เป็นแกนนำมาประจันหน้ากับทหาร โดยวิ่งมาจากทางสะพานผ่านฟ้า พร้อมพูดผ่านเครื่องกระจายเสียงบอกทหารด้วยว่า 'ให้ใจเย็นๆ เราพี่น้องกัน เป็นคนไทยด้วยกัน เราอย่าทำร้ายกันและกัน' และเปิดเพลงเสื้อแดง พยานจึงมีการถ่ายวีดิโอไว้ หลังจากนั้นทหารได้ยิงปืนขู่ขึ้นฟ้าเป็นร้อยๆ นัด ซึ่งพยานอยู่ไกลไม่เกิน 10 เมตร และได้บันทึกทั้งภาพและเสียง โดยขณะนั้นยังไม่มีใครเจ็บหรือตาย หลังจากนั้นผู้ชุมนุมได้กว้างขวดน้ำไปยังแนวทหาร สักพักได้ยินเสียงระเบิด หลังแนวทหารและหลังรถหุ้มเกราะ มีสะเก็ดไฟ ตรงข้ามโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอหลังจากนั้นไม่เกิน 10 วินาทีก็มีเสียงดังบริเวณนั้นอีกลูก โดยหลังระเบิดทหารถอยร่นไปทาง สะพานวันชาติ มีผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านหน้าบางส่วนตามกลุ่มทหารเข้าไป แต่พยานยังอยู่จุดเดิมไม่กล้าเข้าไป โดยหลังเสียงระเบิดแล้วมีเสียงปืนบ้าง เสียงปืนนั้นมาจากทิศทางไหน พยานไม่ทราบ จึงยืนถ่ายจากด้านนอก

หลังจากนั้น เวลาประมาณ 19.00 น.  เห็นมีคนหามคนตายจากด้านในถนนดินสอมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คนตายดังกล่าวศีรษะเปิด พยานได้ถ่ายรูปไว้ หลังจากนั้นเสียงปืนเริ่มเบา พยานจึงเดินเข้าไปดูสภาพด้านใน โดยเลาะด้านขวาถึงหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ซึ่งตรงนั้นมีทางม้าลาย 2 จุด มีแสงไฟ ขณะยืนถ่ายรูปอยู่นั้นบริเวณหน้าประตูโรงเรียน ข้างหน้ามีคนนอนอยู่บนพื้นถนน 1 คน ซึ่งคิดว่าคงเสียชีวิต และทหารนอนเจ็บ 1 นาย โดยที่ขณะนั้นได้ยินเสียงปืนจากแนวบริเวณสะพานวันชาติ  และเมื่อพยานหันหน้าไปทางนั้น เห็นแสงไฟจากปืนยิงมาทางผู้ชุมนุมที่จะออกไปทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังจากนั้นพยานได้เดินออกไปตามหน่วยพยาบาลเพื่อมาช่วยทหารนอนบาดเจ็บอยู่ โดยพยานได้พบกับอาสาพยาบาลคนหนึ่ง ทราบชื่อภายหลังว่า นายอิทธิกร ตันหยง จึงได้เข้ามาช่วยทหารคนดังกล่าวกับพยาน พร้อมด้วยผู้ชุมนุม 2-3 คนที่ตามมาช่วยด้วย โดยพยานเริ่มช่วยเหลือจากการพยายามแกะรองเท้าเจ้าหน้าที่ทหารคนดังกล่าวและ เอาไม้มาดามขาทหาร ระหว่านั้นทางพยานและผู้ที่เข้ามาช่วยก็พยายามบอกทหารว่าอย่าพึ่งยิงมาทาง ที่เราอยู่  แต่ยังมีเสียงปืนจากแนวทหารเข้ามาอีก จนอิทธิกร ตันหยง ถูกยิงที่เท้า และกระสุนอีกนัดโดนที่ท้องของพยานเองด้วย

(อ่านข่าว ที่นี่)

ทั้งหมดนี้คือความคืบหน้าของคดีไต่สวนการตายของผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งในเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 ในขณะที่อีกจำนวนมากยังไม่มีความคืบหน้า  และอาจกล่าวได้ว่า นี่คือเรื่องเล่าผ่าน "คำเบิกความ" หลังม่านฝุ่นที่ตลบฟุ้งได้จางลงไปแล้ว  

 


======================

ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553

1.นายอำพน ตติยรัตน์ 26 ปี กรุงเทพ กระสุนปืนทำลายสมองจากด้านหลังศีรษะ ทะลุด้านหน้า

2.นายยุทธนา ทองเจริญพูลพร 23 ปี ราชบุรี กระสุนปืนทำลายสมองจากด้านหลังศีรษะทะลุด้านหน้า

3.นายไพรศล ทิพย์ลม 37 ปี ขอนแก่น กระสุนปืนทำลายสมองจากด้านหน้าทะลุท้ายทอย

4.นายสวาท วางาม 43 ปี สุรินทร์ กระสุนปืนทำลายสมองจากด้านหลังทะลุด้านหน้า

5.Mr.Hiroyuri Muramoto 43 ปี ญี่ปุ่น กระสุนปืนยิงทะลุปอดหลอดเลือดแดงใหญ่ เลือดออกในช่องเยื้อหุ้ม หัวใจ

6.นายธวัฒนะชัย กลัดสุข 36 ปี นนทบุรี กระสุนปืนทะลุปอด ตัดเส้นเลือดแดงใหญ่ ทะลุหลัง (ข้อมูล นปช.ระบุบาดแผลที่ต้นขาซ้าย)

7.นายทศชัย เมฆงามฟ้า 44 ปี กรุงเทพ บาดแผลกระสุนปืนทะลุหัวใจ เข้าหน้าอกซ้ายไปทะลุหลัง

8.นายจรูญ ฉายแม้น 46 ปี กาฬสินธุ์ กระสุนปืนทำลายปอดและตับ เข้าด้านขวาทะลุปอดและตับและทะลุหลัง

9.นายวสันต์ ภู่ทอง 39 ปี สมุทรปราการ กระสุนปืนทำลายสมอง ด้านหลังศีรษะทะลุด้านหน้า

10.นายสยาม วัฒนนุกุล 53 ปี นครสวรรค์ กระสุนปืนทะลุช่องอกและปอด เส้นเลือดใหญ่ฉีกขาด

11.นายคะนึง ฉัตรเท 50 ปี กรุงเทพ กระสุนเข้าซี่โครงขวา เลือดออกที่ช่องท้อง

12.นายเกรียงไกร คำน้อย 23 ปี ชลบุรี ถูกยิง

13.นายบุญธรรม ทองผุย47 ปี ชัยภูมิ สมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง (ข้อมูล นปช.ระบุกระสุนปืนเข้าที่ศีรษะ)

14.นายสมศักดิ์ แก้วสาน 34 ปี หนองคาย ถูกแรงอัดกระแทกเข้าที่ท้อง (ข้อมูล นปช.ระบุถูกยิงช่องท้อง เสียโลหิตมาก เส้นเลือดใหญ่ฉีกขาด)

15.นายเทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ 29 ปี ปทุมธานี แผลที่หน้าอกซ้าย ทะลุหัวใจและปอด

16.นายนภพล เผ่าพนัส 30 ปี ชลบุรี ถูกยิงที่ท้อง

17.นายมานะ อาจราญ 23 ปี เป็นเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ดุสิต เสียชีวิตจากวัตถุความเร็วสูงเข้าที่ศีรษะ

18.นายสมิง แตงเพชร 49 ปี นนทบุรี ถูกยิงที่ศีรษะ (ข้อมูล นปช.ระบุสมองบวมช้ำ)

19.นายมนต์ชัย แซ่จอง 54 ปี สมุทรปราการ ระบบการหายใจล้มเหลว โดยผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวถุงลมโป่งพอง และสัมผัสแก๊สน้ำตา

20.นายบุญจันทร์ ไหมประเสริฐ 50 ปี  รพ.รามาธิบดี ถูกยิงที่ขาหนีบซ้าย

21.สิบเอกอนุพล หอมมาลี ถูกสะเก็ดระเบิดที่ศีรษะ

22.พลฯภูริวัฒน์ ประพันธ์  ถูกยิงเสียชีวิตก่อนถึงรพ.

23.ส.ท.อนุพงษ์ เมืองอำพัน

24.พลฯสิงหา อ่อนทรง ถูกยิงเข้าที่หน้าอกซ้าย

25.พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ถูกสะเก็ดระเบิดเข้าที่กระโหลกศีรษะ

 

ข้อมูลจากศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: มิใช่เกิดแต่แดดลมแล้งร้อน

Posted: 10 Apr 2013 12:22 PM PDT

กวีรำลึก 10 เมษายน 2553 โดย 'ทางเท้า'

 

ระไอแดดระอุร้อนกลางเดือนเมษา
ขับเหงื่อข้นเหนียวจากรูผิวหนัง
แผดเผาวิญญาณเสรีเสียจนหม่นไหม้
ไม่ว่าจะกระสุนจริงปลอม
ปากกระบอกปืนก็ไม่ควรหันสู่ประชาชน

ความตายของเมษาคือกำเนิดความตายของพฤษภา
มิใช่เกิดแต่สายลมร้อนแล้ง
มิใช่เกิดแต่แสงแดดจ้าจัด

อาชญากรรมแห่งความยินยอมพร้อมใจ
โปรยหว่านเมล็ดพันธุ์มโนสำนึกต่ำช้า
งอกงามจากหัวใจหวาดระแวง
แตกกิ่งก้านเป็นความเกลียดชัง
แล้วผลิดอกเป็นความตายของผู้คนช้ำแล้วซ้ำเล่า

มือไหนที่ไถพรวนเลือดเนื้อประชาชน
มือไหนที่รินรดน้ำตาผู้สูญเสีย
คอยตวงตักกักเกี่ยวผลประโยชน์
หล่อเลี้ยงความลวงอันศักดิสิทธิ์แห่งกาลสมัย

...
ความตายของประชาชนไม่เคยเกิดเพราะแดดลมร้อนแล้ง
...

ทางเท้า
เพื่อรำลึก 3 ปี 10 เมษายน 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคประชาสังคมมินดาเนากับเส้นทางสู่กระบวนการสันติภาพ

Posted: 10 Apr 2013 12:15 PM PDT


              
แม้คนทำงานในองค์กรภาคประชาสังคมในฟิลิปปินส์ต้องเผชิญหน้ากับกระบวนการสันติภาพที่หยุดชะงักครั้งแล้วครั้งเล่า แต่พวกเขาก็มีความพยายามยืนหยัดในการสร้างสันติภาพท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทางตอนใต้ของประเทศ การก่อตัวของภาคประชาสังคมที่ได้ดำเนินมาอย่างยาวนานนับแต่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์และกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร  (MNLF) แสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องและความเปลี่ยนแปลงต่องานด้านสันติภาพของพวกเขา
              
เมื่อกล่าวถึงความบาดหมางที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ปกครองและกลุ่มมุสลิมโมโรในเรื่องข้อพิพาททางดินแดนมินดาเนาทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์  ถือว่าเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานตามห้วงเวลาของประวัติศาสตร์ ตั้งแต่การต่อต้านการรุกรานของจักรวรรดินิยมสเปน (ระหว่าง ค.ศ.1521-1898)  และการต่อต้านนักล่าอาณานิคมชาวอเมริกัน (ระหว่าง ค.ศ.1898-1946)  จนมาถึงในยุคปัจจุบัน (ตั้งแต่ ค.ศ.1970) ที่มีการต่อต้านรัฐบาลฟิลิปปินส์นำโดยแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร (Moro National Liberation Front - MNLF) ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นในการสู้รบทำให้ผู้คนราว 120,000 ราย ถูกสังหารและอีกกว่า 2 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้อพยพ
            
แม้มีความพยายามในการสร้างสันติภาพมาตลอดหลายรัฐบาลที่ผ่านมา แต่ก็ยังถือว่ามีความยากลำบากในการแสวงหาสันติภาพอย่างยั่งยืน นับตั้งแต่ ฟิเดล รามอส ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี (1992-1998) เขามีความพยายามเป็นครั้งแรกในการบรรลุข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่ม MNLF ในข้อตกลงสันติภาพฉบับสมบูรณ์ (Final Peace Agreement) ในปี 1996  แต่ด้วยการอ้างว่าข้อตกลงดังกล่าวบิดเบือนไปจากกรอบที่รัฐบาลทำไว้ตั้งแต่ต้น กลับทำให้กลุ่มย่อยภายใน MNLF ไม่พอใจ นำมาสู่การเรียกร้องเอกราชจากฟิลิปปินส์ และแยกตัวออกมาก่อตั้งแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front - MILF) กลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดทางที่เกาะมินดาเนาทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์          
            
ความพยายามของเครือข่ายภาคประชาสังคมในช่วงเวลานั้นเป็นไปในลักษณะของการเปิดพื้นที่การพูดคุยระหว่างศาสนา ซึ่งเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1970  นำโดยกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนที่ต้องการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างชาวคริสต์และชาวมุสลิมในประเทศ ต่อมาในสมัยของประธานาธิบดี ฟิเดล รามอส ช่วงปี 1992 ความพยายามดังกล่าวได้รับการสนับสนุนต่อโดยรัฐบาลซึ่งมีการก่อตั้งคณะกรรมการเพื่อเอกภาพแห่งชาติ (National Unification Commission - NUC)  ตามมาด้วยสัมมนาระหว่างผู้นำศาสนาคริสต์และมุสลิม (Bishops-Ulama Conference) ในปี 1996 



   Peace Zone - ในปี 2003 ผู้นำชาวคริสต์และมุสลิมที่เมือง Davoa จังหวัด Davao del Sur ซึ่งติดกับจังหวัด Cotabato ในมินดาเนา กำลังเรียกร้องพื้นที่สันติภาพให้กับชุมชนของพวกเขาที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการ (ที่มา -
http://www.gbgm-umc.org)
       








อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกรอบของความขัดแย้งทางศาสนาทั้งหมด เพราะการต่อสู้ของกลุ่ม MNLF ที่เขาอ้างว่าเป็นตัวแทนชาวโมโรมุสลิมส่วนใหญ่เป็นการเคลื่อนไหวในแบบชาติพันธุ์นิยมไม่ใช่ปัญหาทางศาสนา ดังนั้น การสนับสนุนให้มีการพูดคุยระหว่างศาสนาจึงยังไม่สะท้อนการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด  นอกจากนี้สถานการณ์ความรุนแรงยังกระตุ้นให้ชาวฟิลิปปินส์ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีความยากลำบากและไม่ไว้วางใจชาวมุสลิมที่เป็นชนส่วนน้อยในประเทศ
             
เนื่องจากภาคประชาสังคมท้องถิ่นไม่สามารถรีรอรัฐบาลและฝ่ายขบวนเป็นฝ่ายสร้างสันติภาพได้อีกต่อไป พวกเขาจึงมีความพยายามอีกครั้งในช่วงหลังของทศวรรษที่ 1990 ในการผลักดันและประกาศให้มีเขตสันติภาพ หรือ "Peace Zones" โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งบางครั้งก็มีหน่วยงานรัฐในระดับท้องถิ่นให้การสนับสนุน ช่วงเวลานี้จัดได้ว่าเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงการทำงานสร้างสันติภาพในระดับรากหญ้า เช่น มีความพยายามในการจัดให้มีที่พำนักเพื่อสันติ หรือ "Sanctuaries for Peace" ใน 42 ชุมชน
             
เมื่อประธานาธิบดี โจเซฟ เอสตราดา (1998-2001) เข้ารับตำแหน่ง แม้เขาจะสานต่อการพูดคุยอย่างเป็นทางการ แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ได้ประกาศมาตรการที่แข็งกร้าวในการทำสงครามกับกลุ่ม MILF (all-out war) นำมาสู่ความไม่พอใจกับฝ่ายตรงข้ามและเกิดเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างสองฝ่ายอยู่บ่อยครั้ง ในขณะที่ภาคประชาสังคมสานต่อความพยายามในการจัดตั้งเขตสันติภาพต่อไป เช่น ชาวคริสต์และชาวมุสลิมนำโดยบาทหลวงคาทอลิกที่เมือง Nalapaan จังหวัด North Cotabato ได้พยายามตอบโต้มาตรการดังกล่าวด้วยการสร้างตัวอย่างเขตสันติภาพที่เมือง Nalapaan ซึ่งถือเป็นเมืองหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ศาสนา และเศรษฐกิจสูง การสร้างเขตสันติภาพดังกล่าวนับว่าเป็นการเยียวยาบาดแผลจากสงครามและดึงเอาชุมชนต่างๆ เข้ามาอยู่ด้วยกันจนชุมชนรอบข้างเอาเป็นแบบอย่าง ด้วยความช่วยเหลือขององค์กรระหว่างประเทศ แต่ความรุนแรงที่ปราศจากสัญญาณแห่งการมีข้อตกลงสันติภาพจากรัฐบาล ทำให้เขตสันติภาพของพวกเขายังไร้หลักประกันด้านความปลอดภัย
           
ครั้งเมื่อประธานาธิบดี กลอเรีย มาคาปากัลป์ อาร์โรโย เข้ามาบริหารประเทศ (2001-2010) ก็มีความพยายามอีกครั้งในกรอบข้อตกลงทั่วไปเพื่อเริ่มต้นการพูดคุยเพื่อสันติภาพครั้งใหม่ (Agreement for the General Framework for the Resumption of Peace Talks) ซึ่งมีการลงรายละเอียดในการให้อำนาจเขตปกครองตนเองของชาวมุสลิมมินดาเนา (Autonomous Region of Muslim Mindanao: ARMM) แต่เมื่อกองกำลังความมั่นคงของรัฐบาลบุกโจมตีกลุ่ม MILF ในปี 2003 ที่ Buliok Complex ซึ่งเป็นค่ายและฐานบัญชาการที่ใหญ่ที่สุดของขบวนการ MILF  ความรุนแรงครั้งใหญ่จึงได้เกิดขึ้นอีกครั้ง ต่อมาในปี 2008 การต่อสู้กันก็เกิดขึ้นอีกเมื่อ MILF ตอบโต้อย่างรุนแรงต่อการออกบันทึกความตกลงร่วมกันเกี่ยวกับอาณาเขตที่เป็นของบรรพบุรุษ หรือ Memorandum of Agreement on Ancestral Domain (MOA-AD) ซึ่งบันทึกดังกล่าวมีปัญหาติดขัดอยู่ที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายของฟิลิปปินส์
           
ในช่วงการบริหารประเทศของประธานาธิบดีอาร์โรโย องค์กรภาคประชาสังคมมีบทบาทโดยตรงมากขึ้นที่จะเข้าไปมีอิทธิพลโดยตรงต่อรัฐบาล เช่น การจัดให้มีเวทีสันติภาพในระดับประเทศนำโดยนักรณรงค์ภาคประชาสังคมคนสำคัญอย่างไอรีน ซานติอาโก (Irene Santiago) ผู้ก่อตั้งองค์กรมารดาเพื่อสันติภาพ (Mothers for peace) หรือ การจัดให้มีเวทีสันติภาพร่วมกันทั้งจากองค์กรภาคประชาสังคมและฝ่ายรัฐบาลในช่วงกลางปี 2001 แต่เมื่อความรุนแรงได้เกิดขึ้นในช่วงปี 2003 ที่ค่าย Buliok Complex ภาคประชาสังคมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับระหว่างประเทศก็รีบพัฒนาให้เกิดข้อตกลงหยุดยิง Bantay Ceasefire โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กร IID (The Initiatives of International Dialogue) และสำนักเลขาธิการสภาประชาชนมินดาเนา (Secretariat of the Mindanao Peoples Caucus) เพื่อพัฒนาคณะทำงานประเมินและติดตามในระดับท้องถิ่น (Local Monitoring Team) ในการติดตามกลไกการหยุดยิงของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ความพยายามดังกล่าวยังมีลักษณะของการปิดลับและไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนทางการเมือง อีกทั้งยังขาดแคลนการสนับสนุนทางด้านการเงินอีกด้วย


Bantay Ceasefire - ภาคประชาสังคมรวมตัวกันเรียกร้องให้มีการหยุดยิงหรือเรียกว่า Bantay Ceasefire ในปี 2003 (ที่มา -
http://www.caritas.org.au/learn/countries/philippines)


             
หลังจากนั้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาตัวแทนจากภาคประชาสังคมที่โดดเด่น เริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพที่เป็นทางการมากขึ้น เช่น ซิลเวีย ปารากูยา (Sylvia Paraguya) ได้เข้าไปเป็นประธานสภาการพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชนของมินดาเนา (Mindanao Caucus of Development NGOs - MinCODE) ส่วน เทเรซิต้า ควินโตส เดลส์ (Teresita  Quintos Deles) เข้าไปในฐานะผู้ช่วยประธานาธิบดีในกระบวนการสันติภาพ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ค่อนข้างเป็นความลับมีช่องทางในการพูดคุยเป็นการเฉพาะ อีกทั้งยังมีเทคนิคในกระบวนการพูดคุยค่อนข้างสูง ทำให้ภาคประชาสังคมโดยทั่วไปรู้สึกตึงเครียดและปราศจากความมั่นใจในสิ่งที่พวกเขาสามารถจะพูดได้ในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับรัฐบาลเพื่อเป็นที่ปรึกษาได้อย่างอิสระ 
            
ไม่นานมานี้ ความหวังเริ่มมีมากขึ้นเมื่อรัฐบาลของประธานาธิบดี เบนิกโน อากีโน ที่ 3  (2010 – ปัจจุบัน) เดินหน้ากระบวนการเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการทันที หลังจากที่มีการส่งสัญญาณจากกลุ่ม MILF ว่าพวกเขาไม่ต้องการแบ่งแยกดินแดนอีกต่อไป แต่ต้องการการปกครองตัวเองอย่างจริงจังที่ไม่เหมือนกับการจัดตั้งเป็นเขตปกครองตนเองของชาวมุสลิมมินดาเนา (ARMM) จนมาถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2012 รัฐบาลได้เซ็นกรอบข้อตกลงบังซาโมโร (Framework Agreement on the Bangsamoro) ที่ให้อำนาจมากกว่าการเป็นเขตปกครองตนเองแบบเดิม ซึ่งรวมเอาประเด็น "การแบ่งสรรอำนาจและความมั่งคั่ง" อยู่ในนั้นด้วย
 


Framework  Agreement - หญิงชาวโมโรกำลังร่วมเซ็นกรอบข้อตกลงสันติภาพบังซาโมโรจำลอง ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของการมีส่วนร่วมของประชาชน (ที่มา -
http://www.mindanews.com/top-stories/2012/10/16/davaoenos-stage-symbolic-signing-of-framework-agreement/)
             
ในกรอบข้อตกลงบังซาโมโร ซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐานเบื้องต้น ในเนื้อหาของข้อตกลงนี้ได้ให้อำนาจในการมีคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านที่มีลักษณะความร่วมมือในแบบประชาธิปไตยที่ให้ภาคประชาสังคมสามารถเสนอกฎหมายจากภาคประชาชนได้เอง แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการทำงานของภาคประชาสังคมและแง่มุมในการจัดการความขัดแย้ง ควบคู่กันไปนั้น ภาคประชาสังคมก็ผนึกความเข้มแข็งมากขึ้น เช่น การที่สภาประชาชนมินดาเนาได้เข้าไปร่วมกับคณะทำงานระหว่างประเทศเพื่อประเมินและติดตามการปกป้องพลเรือน (Mindanao People's Caucus involvement in the Civilian Protection Component of the International Monitoring Team) ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนสองแห่ง คือ ศูนย์ปฏิบัติการสิทธิมนุษยชนมินดาเนา (Mindanao Human Rights Action Center - MinHRAC)  และองค์กรมุสลิมในภาครัฐและภาควิชาชีพต่างๆ (Muslim Organization of Government and Other Professionals - MOGOP)
        
ในการนี้รัฐบาลอากีโน เดินหน้าตามนโยบายความมั่นคงของประเทศ เพื่อสร้างความร่วมมือและทำงานในเชิงการบูรณาการกระบวนการสันติภาพอย่างจริงจัง โดยก่อตั้งสำนักที่ปรึกษาประธานาธิบดีในกระบวนการสันติภาพ (Office of the Presidential Adviser on the Peace Process - OPAPP)  หน่วยงานดังกล่าวมีหน้าที่ผลักดันกระบวนการสันติภาพให้อยู่ในกระแสหลักของสังคม เพื่อหาความสนับสนุนจากสาธารณชนในการผลักให้รัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธรักษาโต๊ะเจรจาและก่อร่างข้อตกลงสันติภาพให้เร็วเท่าที่สามารถจะทำได้ ความพยายามดังกล่าวประกอบไปด้วยการสื่อสารมวลชน การรณรงค์ขับเคลื่อนทางสังคม ร่วมกับภาคส่วนที่หลากหลายในการสนับสนุนโครงการและกิจกรรมเพื่อสันติภาพ เพื่อให้กระบวนการสันติภาพอยู่ในความตระหนักรู้แก่สาธารณชน
 


Teresita - เทเรซิต้า ควินโตส เดลส์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพคนสำคัญในฟิลิปปินส์ เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดีในกระบวนการสันติภาพ ทั้งในปี 2003 และ ได้รับเลือกอีกครั้งโดยประธานาธิบดีอากิโนในปี 2003  ในข้อความนี้เธอกล่าวว่า "กระบวนการสันติภาพนั้นถูกรักษาไว้ด้วยความหวัง ซึ่งเป็นเครื่องหมายของผู้สร้างสันติภาพทั้งหมด และคุณสามารถอธิบายได้ดีกว่าฉันว่าความหวังนั้นเชื่อมโยงกับความศรัทธาอย่างใกล้ชิดกันอย่างไร" (ที่มา -
https://www.facebook.com/peace.opapp)

         
สิ่งนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าภาคประชาสังคมโมโรและรัฐบาล เริ่มเข้าใจถึงความสำคัญต่อกระบวนการสันติภาพมากขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้ประเด็นความขัดแย้งที่ซูลูและบาซิลันจะฉุดรั้งการพัฒนาภาคประชาสังคมให้น้อยกว่าในมินดาเนาส่วนกลาง แต่ภาคส่วนประชาสังคมมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นอูลามาอ์และอลีมัต (ผู้รู้ศาสนาหญิง) ก็เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในการช่วยแก้ปัญหา เช่น การมีสภาอูลามาอ์เพื่อสันติภาพและการพัฒนา (Sulu Ulama Council for Peace and Development) เกิดขึ้นในปี 2010 ที่ทำงานร่วมกับจังหวัดในประเด็นการพัฒนาและกองกำลังความมั่นคงการรักษาสันติภาพและความสงบเรียบร้อย
         
นอกจากนี้ก็ยังมีภาคประชาสังคมที่ได้รับการสนับสนุนและทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิเอเชีย (Asia Foundation) หรือศูนย์สนทนาเพื่อมนุษยธรรม (Centre for Humanitarian Dialogue - HD) ก็เพื่อที่จะเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างกลุ่ม MNLF และ MILF โดยให้ความสำคัญกับรากหญ้า เพื่อนำเสนอวาระของชาวโมโร "Moro Agenda" ร่วมกัน อีกทั้งกระบวนการสันติภาพได้รวมเอาพลังของผู้หญิงในภาคประชาสังคมด้วย เช่น ศาสตราจารย์มีเรียม โคโรเนล-เฟอเรอร์ (Professor Miriam Coronel-Ferrer) เป็นผู้หญิงคนแรกที่ขึ้นเป็นประธานเวทีสันติภาพของรัฐบาลในการพูดคุยกับขบวนการ MILF
        
โดยสรุปแล้ว แม้ภาคประชาสังคมมินดาเนาจะมีข้อจำกัดในตัวเองอยู่มากและบ่อยครั้งอาจมีอิทธิพลน้อยในการทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี แห่งความขัดแย้ง แต่จากการเดินทางของภาคประชาสังคมที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของวิธีการของพวกเขาในการพิสูจน์ว่าวิธีทางการทหารนั้นใช้ไม่ได้อีกต่อไป แต่เรียกร้องให้หันหน้ามายึดมั่นต่อแนวทางของสันติภาพ ความพยายามตลอดมาแสดงให้เห็นว่าพวกเขาคือส่วนสำคัญในการเกื้อหนุนการทำงานด้านสันติภาพของรัฐบาลที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน จากที่เคยทำงานในแนวราบ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพื้นที่พูดคุยกันระหว่างคนต่างศาสนา การสร้างพื้นที่สันติให้แก่ชุมชนของตนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง กลับก้าวเข้ามาสู่การเดินหน้าเข้าสู่การมีส่วนร่วมเพื่อกำหนดนโยบายสันติภาพร่วมกับรัฐบาล

 

 

แหล่งอ้างอิง

Mindanao People Caucus. What Is Bantay Ceasefire? [Online]. 2012. Available from: http://www.mpc.org.ph/index.php?option=com_content&view=article&id=105&Itemid=87 [2013, April 9]

Rood,S. Civil Society More Ready Than Ever to Play Role in Forging Peace in Mindanao [Online]. 2013. Available from: http://asianphilanthropy.org/?p=3017 [2013, April 8]

Rood,S. Forging sustainable peace in Mindanao : the role of civil society. Washington, D.C.: East-West Center Washington, 2005.

The Office of the Presidential Adviser on the Peace Process. About OPAPP [Online]. 2010. Available from: http://www.opapp.gov.ph/what-is-opapp [2013, April 10]

Wikipedia. Peace process with the Bangsamoro in the Philippines [Online]. 2013. Available from: http://en.wikipedia.org/wiki/Peace_process_with_the_Bangsamoro_in_the_Philippines [2013, April 10]

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เภสัชชนบท' เสนอคงเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ใช้ P4P เฉพาะบางบริการ

Posted: 10 Apr 2013 11:42 AM PDT

เภสัชชนบทออกแถลงการณ์ เสนอให้คงเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายแต่ปรับให้เป็นธรรม ใช้ P4P แบบ On Top เฉพาะบางบริการที่ประชาชนยังเข้าไม่ถึง ด้านเครือข่ายแพทย์ รพ. 3 จว. ออกแถลงการณ์หนุน จี้เลิก P4P แนะหมอประดิษฐลงใต้ รักษาผู้ป่วยช่วงสงกรานต์


จากกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขจะ "ตัดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย" ในโรงพยาบาลชุมชน และจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายค่าตอบแทนเป็นการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน (Pay for Performance- P4P) ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งในกระทรวงสาธารณสุขในขณะนี้นั้น

ล่าสุด (10 เม.ย.56) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  มูลนิธิเภสัชชนบท และชมรมเภสัชชนบท ออกแถลงการณ์ลงนามโดย ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ ประธานมูลนิธิเภสัชชนบท และ ภก.ภาณุโชติ  ทองยัง ประธานชมรมเภสัชชนบท ชี้ว่า ขณะนี้ความขัดแย้งกำลังลุกลามไปทั่ว มีทั้งผู้สนับสนุน เพราะเชื่อในหลักการที่รัฐมนตรีประกาศ  ควบคู่กับผู้ต่อต้านเพราะตระหนักถึงผลเสียที่จะเกิดกับผู้ป่วยในชนบทที่จะตามมาเพราะขาดแคลนทีมสุขภาพ  การตัดสินใจใช้ระบบใหม่ครั้งนี้ ขาดการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานทุกสาขาวิชาชีพ  การเร่งรีบดำเนินการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยนำเอาพีฟอร์พี มาใช้แทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายครั้งนี้  ดำเนินการบนความไม่พร้อมของทั้งของฝ่ายนโยบายและฝ่ายผู้ปฏิบัติ จนทำให้สงสัยว่ามีวาระซ่อนเร้นแอบแฝงอยู่หรือไม่

ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ ประธานมูลนิธิเภสัชชนบท กล่าวว่า ทั้งมูลนิธิฯ และชมรมเภสัชชนบทจึงได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว เห็นว่า เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ยังมีความสำคัญในการที่จะเป็นขวัญกำลังใจให้ทีมสุขภาพทุกสาขาวิชาชีพในโรงพยาบาลชุมชนและ รพ.สต.(สถานีอนามัย)

"เพื่อลดความขัดแย้ง ที่กำลังลุกลามบานปลายในขณะนี้และเพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ รักษาบุคลากรสาธารณสุขให้ดำรงอยู่ พวกเราจึงเสนอข้อเสนอ 3 ข้อ ต่อสังคม ประชาชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้

1.คงการจ่ายค่าตอบแทนในลักษณะเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายไว้ แต่ให้มีการปรับอัตราของแต่ละวิชาชีพ ให้มีความเหลื่อมล้ำน้อยลง

2.ควรนำพีฟอร์พี มาทดลองใช้แบบจ่ายเพิ่มเติม (On Top) โดยเฉพาะในบริการบางอย่างที่ประชาชนยังเข้าไม่ถึงและยังไม่เข้าใจ เช่น การป้องกันการเกิดโรคเรื้อรัง(primary prevention) การคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชน รวมทั้งงานสร้างเสริมสุขภาพ และ ป้องกันโรคอื่นๆ ที่พบว่าได้ผลดีในการเพิ่มการเข้าถึงบริการจำเป็นที่ประชาชนเข้าไม่ถึง ภายใต้ระบบบริการสุขภาพในปัจจุบัน

3.สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการพัฒนาระบบการประเมินผลงานและการพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนโดยเฉพาะในระดับกระทรวง โดยจำเป็นต้องมีตัวแทนจากกลุ่มวิชาชีพต่างๆ เข้าร่วม  การสั่งการไม่เกิดประโยชน์แต่สร้างปัญหา"

ทางด้าน ภก.ภาณุโชติ  ทองยัง ประธานชมรมเภสัชชนบท เจ้าของรางวัลเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคมกล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขาวิชาชีพต้องการทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นหลักเสมอ  ไม่ใช่เพียงต้องการรายได้หรือผลประโยชน์เพื่อความสุขสบายของตนเท่านั้น

"หน้าที่ของผู้บริหารคือการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งหากผู้บริหารไม่สามารถสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานได้  แต่กลับยังสั่นคลอนให้ขาดขวัญกำลังใจแล้ว   ถือว่าผู้บริหารนั้นไม่ผ่านการประเมิน"

 

เครือข่ายแพทย์ รพ. 3จว. จี้เลิก P4P แนะหมอประดิษฐลงใต้ รักษาผู้ป่วยช่วงสงกรานต์
วันเดียวกัน เครือข่ายแพทย์ รพ.ชุมชนสามจังหวัดภาคใต้ ลงนามโดย นพ.รอซาลี ปัตยะบุตร ผู้อำนวยการ รพ.รามัน จ.ยะลา และผู้ประสานงานเครือข่ายแพทย์ รพ.ชุมชนสามจังหวัดภาคใต้ ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 เรื่องย้าย นพ.ประดิษฐ  ออกจากกระทรวงสาธารณสุข โดยระบุว่า เครือข่ายแพทย์ รพ.ชุมชนสามจังหวัดภาคใต้ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย มีความเป็นห่วงในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและเรียกร้องให้มีการแก้ไขโดยเร็ว พร้อมประกาศสนับสนุนการเคลื่อนไหวของชมรมแพทย์ชนบท  ทันตแพทย์ เภสัชกร วิชาชีพสาธารณสุขอื่น เครือข่ายผู้อำนวยการ รพ.สมเด็จพระยุพราช และเครือข่ายแพทย์ดีเด่น ศิริราชพยาบาล และขอเรียกร้องให้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย เร่งแก้ปัญหาที่ นพ.ประดิษฐ เป็นผู้ทำให้เกิดขึ้น โดยมีข้อเรียกร้อง ดังนี้

1.ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี  เรื่องการจ่ายค่าตอบแทนตามปริมาณงานหรือ พีฟอร์พี และกลับใช้ระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนแบบเหมาจ่ายสำหรับ รพ.ชุมชน เหมือนเดิม ก่อนที่แพทย์ ทันตแพทย์ และวิชาชีพอื่นที่ปฏิบัติงานใน รพ.ชุมชน ในพื้นที่ชนบทและในสามจังหวัดภาคใต้ จะหมดกำลังใจและลาออกหรือขอย้ายเข้า รพ.ใหญ่ในเมือง หรือย้ายช่วยราชการที่กระทรวงสาธารณสุข

2.ในช่วงเทศกาลสงกรานต์หยุดยาว ขอให้กระทรวงสาธารณสุขส่ง นพ.ประดิษฐ  สินธวณรงค์ ไปปฏิบัติงานร่วมให้บริการ ตรวจรักษาผู้ป่วยใน รพ.ชุมชนสามจังหวัดภาคใต้ เพื่อให้มีประสบการณ์และเห็นปัญหาสาธารณสุขที่แท้จริงของพื้นที่

3.หลังหยุดยาวขอให้ย้าย หรือ ปลด นพ.ประดิษฐ  สินธวณรงค์ ออกจากกระทรวงสาธารณสุข โดยทันที

 

 

ทั้งนี้ จากเอกสารข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน(Pay for Performance - P4P) ของมูลนิธิเภสัชชนบท และชมรมเภสัชชนบทชี้ว่า แนวทางการดำเนินการ P4P ยังมีช่องโหว่และจุดอ่อนในการนำไปปฏิบัติในหน่วยงาน ตัวอย่างดังต่อไปนี้

1.ปิดกั้นการพัฒนางานเชิงรุกและงานเชิงพัฒนา  เนื่องจากกิจกรรมที่ให้เก็บแต้มได้ ตามคู่มือเป็นกิจกรรมที่เป็น งานตั้งรับในสถานบริการ ยกตัวอย่าง จากงานของเภสัชกรรม ได้แก่งานจ่ายยา งานบริหารเวชภัณฑ์ งานเภสัชกรรมคลินิก แต่งานเชิงรุกและงานพัฒนา ไม่มี(วิธีคิด)คะแนน เช่น กิจกรรมการแก้ปัญหายาไม่เหมาะสมในชุมชน การสร้างเสริมสุขภาพ การสนับสนุนสาธารณสุขมูลฐานที่จะเป็นงานสำคัญที่จะทำให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพได้ด้วยตัวเอง หรืองานสมุนไพร การแพทย์แผนไทย  งานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค หรืองานเชิงรุกในชุมชน ซึ่งขัดกับทิศทาง "สร้างนำซ่อม" ของระบบสุขภาพของประเทศไทย

2.ส่งผลให้คนดีไหลออกจากระบบ การทำงานเป็นทีมเพื่อคนไข้หมดไป  เนื่องจากการจัดสรรเงิน P4P ในที่สุด กระทรวงเองมีความคิดที่จะให้มีการจัดสรรจากเงินเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายทั้งหมด และประกัน(Guarantee)วงเงินภาพรวมของโรงพยาบาล อาจทำให้เกิดความขัดแย้งที่ระดับโรงพยาบาล เกิดการถกเถียงว่าวิชาชีพใดจะได้เงินมาก-น้อยเป็นการตอบแทน ย่อมต้องมีการเปรียบเทียบภาระงานของแต่ละวิชาชีพ แน่นอนว่าความขัดแย้งจะเกิดขึ้นจนร้าวฉานไปทั้งโรงพยาบาลได้ หากทีมเกิดความรู้สึกว่า ไม่เป็นธรรมในการให้ค่าคะแนน หรือค่าน้ำหนักของงาน จนเกิดความรู้สึกว่า ใคร หรือ กลุ่มไหนเสียงดัง สามารถดึงผลประโยชน์เข้ากลุ่มตัวเองได้มากกว่า ลักษณะคล้ายมือใครยาวสาวได้สาวเอา เมื่อนั้น ความสุขในการร่วมกันดูแลผู้ป่วยและชุมชน จะถดถอยลงไป จนอาจเหือดแห้งได้ในที่สุด ซึ่งถ้าเจ้าหน้าที่ไม่มีความสุขคงยากที่จะทำงานเพื่อผู้ป่วยที่กำลังทุกข์ได้ และในที่สุด "คนดี" ก็ต้องล่าถอยออกจากระบบ เพราะความเบื่อหน่ายกับการแย่งชิงคะแนน

3. การเร่งรีบสั่งให้ปลัด...ดำเนินการ "เสียมากกว่าดี" เนื่องจากรายละเอียดการคิดค่าตอบแทนตามแนวคิดพีฟอร์พียังไม่ชัดเจน ขณะที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่ยังไม่เคยทราบวิธีการ จนสามารถจะเอาไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงานของตัวเองได้ แต่คณะรัฐมนตรีกลับมีมติให้หักเงินเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย แล้วให้นำเงินนั้น ไปคิดพีฟอร์พี ทั่วทั้งประเทศแล้ว ย่อมหลีกเลี่ยงความเห็นต่างได้ยาก  หากผู้ปฏิบัติไม่เข้าใจ

4.บิดเบือนการจ่าย On Top สำหรับพีฟอร์พี จากการศึกษาในโรงพยาบาลนำร่องต่างๆกว่า ๑๐ แห่งนั้น เป็นการทดลองรูปแบบการจ่าย พีฟอร์พี. ในลักษณะการจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มเติม (On Top) นอกเหนือจากการจ่ายค่าตอบแทนในรูปแบบพื้นฐานอื่นๆ(รวมถึงเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายด้วย) แต่การสั่งการของกระทรวงฯกลับให้นำเงินเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายมาจ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานพีฟอร์พี ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมที่มากกว่านี้

นอกจากนี้ จะมีผลกระทบต่อวัฒนธรรมความสุขในการทำงานของทีมสุขภาพด้วยหัวใจมนุษย์ เพราะในระยะยาว อาจทำให้บุคลากรเกิดทัศนคติการทำงานที่คำนึงถึงประโยชน์ตอบแทนที่เป็นตัวเงินมากเกินไป ดังที่เคยปรากฏในรายงานต่างประเทศ(Russell Mannion and Huw Davies. Payment for performance in healthcare.BMJ.February 2008.) หลงลืมจิตวิญญาณดั้งเดิมของความเป็น"หมอ"  กลายเป็นวัฒนธรรมของระบบทุน เกิดกลายเป็นแพทย์พาณิชย์ เกิดปัญหาในเชิงจริยธรรม ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่าง "หมอ-คนไข้" จนอาจส่งผลกระทบต่อไปถึงสุขภาพและชีวิตของคนไข้ได้

อีกทั้งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพของการดูแลผู้ป่วย เนื่องจากหัวใจสำคัญของระบบสุขภาพคือ การดูแลรักษาให้ผู้ป่วยแบบองค์รวม แต่พีฟอร์พีคำนวณการจ่ายค่าตอบแทนให้เฉพาะบางกิจกรรมของบริการทางการแพทย์ งานวิจัยที่ทบทวนระบบพีฟอร์พี ของ Bruin และคณะตีพิมพ์ใน British Medical Journal พบว่า พีฟอร์พีอาจทำให้ผลผลิต (productivity) เพิ่มขึ้นได้จริง แต่ไม่สามารถประกันได้ว่าจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาดีขึ้น  โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพการรักษา อาจทำให้คุณภาพการรักษาลดลง จากการต้องการให้บริการมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะค่าตอบแทนที่เป็นแรงจูงใจให้มุ่งที่ปริมาณบริการ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทีดีอาร์ไอเสนอแก้ กม.ประกันสังคม ลดงบบริหารเหลือ 5%

Posted: 10 Apr 2013 11:09 AM PDT

ทีดีอาร์ไอชี้กรณี ส.ส.ไม่รับหลักการร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับคนงาน เสียโอกาสในการปฏิรูประบบประกันสังคม แนะเพิ่มระบบธรรมาภิบาลและการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งควรลดค่าใช้จ่ายด้านบริหารเหลือร้อยละ 5

 

ในการเสวนาสาธารณะ เรื่อง "ติดตามร่างกฎหมายประกันสังคม" ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 เม.ย.56 มีการเปิดเผยบทวิเคราะห์ร่างกฎหมายประกันสังคมของโครงการวิเคราะห์และติดตามร่างกฎหมาย (ThaiLawWatch) ของทีดีอาร์ไอ โดยระบุว่า  ระบบประกันสังคมในปัจจุบันยังขาดแรงจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้าร่วมระบบประกันสังคมโดยสมัครใจ เนื่องจากเงินสมทบจากภาครัฐที่ให้แก่ผู้ประกันตนอยู่ในอัตราที่ต่ำ ขณะเดียวกันที่มาและหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคมในปัจจุบันยังมีลักษณะที่ไม่ครอบคลุม ส่งผลให้ผู้ประกันตนจำนวนมากขาดตัวแทนที่จะเข้าไปเรียกร้องสิทธิและดำเนินงานเพื่อผลประโยชน์ของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ โครงการวิเคราะห์และติดตามร่างกฎหมาย ได้เสนอแก้ไขปรับปรุงร่างกฎหมายประกันสังคม 4 ข้อสำคัญ คือ (1) รัฐบาลควรจ่ายเงินสมทบเท่ากับผู้ประกันตนในสิทธิขั้นพื้นฐาน (2) ผู้ประกันตนควรมีสิทธิเลือกตัวแทนฝ่ายผู้ประกันตนโดยตรง (3) ควรมีการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการของสำนักงานประกันสังคมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และปรับลดการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารสำนักงาน เช่น จากไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินสมทบในแต่ละปี ให้เหลือไม่เกินร้อยละ 5 เป็นต้น และ (4) ควรมีการออกแบบระบบตรวจสอบที่มีธรรมาภิบาล ได้แก่ การจัดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ ผู้ตรวจสอบบัญชีและผู้ตรวจสอบภายในที่มีความเป็นอิสระ และการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่างๆ อย่างโปร่งใสต่อสาธารณะ

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีจำนวนแรงงานนอกระบบอยู่ถึง 24.6 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานภาคเกษตร 15.1 ล้านคน ซึ่งไม่มีสิทธิเข้าสู่ระบบ จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าไทยมีแรงงานนอกระบบที่มีสิทธิเข้าสู่ระบบประกันสังคมจำนวน 9.5 ล้านคน แต่ตัวเลขของแรงงานนอกระบบตามมาตรา 40 ที่รายงานโดยสำนักงานประกันสังคมปี พ.ศ. 2554 มีเพียง 590,046 คน หรือเพียงร้อยละ 6.21 ของจำนวนแรงงานนอกระบบที่มีสิทธิเท่านั้น  เนื่องจากสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้รับเป็นสัดส่วนที่น้อย แม้ว่าร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับคณะรัฐมนตรีได้แก้ไขเพิ่มเติมให้รัฐสมทบครึ่งหนึ่งของเงินสมทบจากผู้ประกันตน แต่ยังสร้างแรงจูงใจไม่ได้มากนัก รัฐควรจ่ายเงินสมทบเท่ากับผู้ประกันตนในสิทธิพื้นฐานเป็นอย่างน้อย เพื่อสร้างแรงจูงใจ

ด้านนางวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านประกันสังคม ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า ปัญหาที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ต้องเร่งแก้ไข คือ องค์กรขาดความเป็นอิสระเนื่องจากโครงสร้างองค์กรเป็นระบบราชการไม่มีความเป็นอิสระ โดยเฉพาะการใช้เงินกองทุนประกันสังคมอย่างไม่มีประสิทธิภาพ จึงควรมีการปรับปรุง สปส.ให้เป็นองค์กรอิสระ มีการบริหารงานคล่องตัวโดยเฉพาะทางด้านการลงทุนที่จะต้องคำนึงถึงความมั่นคงของกองทุนในระยะยาว เนื่องจากอัตราการจัดเก็บเงินสมทบในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับการจ่ายเงินบำเหน็จและบำนาญชราภาพ

ผู้อำนวยการวิจัยด้านประกันสังคม ทีดีอาร์ไอ ยังกล่าวอีกว่า ตัวแทนของผู้ประกันตนในคณะกรรมการล้วนมาจากสภาองค์การลูกจ้างซึ่งเป็นแค่ตัวแทนของผู้ใช้แรงงานภาคเอกชนไม่เกิน 3 แสนคนหรือร้อยละ 3 ของผู้ประกันตนเท่านั้น และถือว่าเป็นสัดส่วนที่ต่ำมากเมื่อเทียบจำนวนผู้ประกันตนอีกกว่า 10 ล้านคนที่ไม่มีตัวแทนในคณะกรรมการเพื่อดูแลผลประโยชน์ของฝ่ายลูกจ้าง

โดยจากบทวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับ พบว่า ร่าง พ.ร.บ.เหล่านี้มิได้กำหนดถึงคุณสมบัติและที่มาของผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนไว้ชัดเจน เพียงแต่เพิ่มจำนวนผู้แทนฝ่ายต่างๆ ให้มากขึ้นจากกฎหมายฉบับเดิมเท่านั้น รวมทั้งเสนอว่า ตัวแทนของผู้ประกันตนควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากผู้ประกันตนกว่า 10.5 ล้านคนในปัจจุบัน โดยผู้ประกันตนในมาตรา 33 สามารถเลือกตั้งผ่านสถานประกอบการที่ตนเองสังกัด และผู้ประกันตนในมาตรา 39 และ 40 สามารถเลือกตั้งได้ผ่านวิธีการที่เข้าถึงได้สะดวก เช่น เลือกตั้งผ่านเว็บไซต์ ผ่านจดหมาย หรือที่สำนักงานประกันสังคมประจำจังหวัด เป็นต้น นอกจากนี้ ควรมีการกำหนดคุณสมบัติที่พึงปรารถนาและคุณสมบัติต้องห้ามของผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกเป็นผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนให้เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม วงเสวนาเห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะให้มีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานรวมถึงงบประมาณต่างๆ ของ สปส.พร้อมทั้งเสนอแนะให้ตั้งสำนักงานหลักประกันสังคมแห่งชาติ โดยดูแลเฉพาะผู้ประกันตนในมาตรา 40 ควบคู่ไปกับการศึกษาความเหมาะสมในด้านต่างๆด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘กรรม’ กับการนิรโทษกรรม (ตรรกะผิดๆของ “ศิษย์พระพุทธเจ้า”)

Posted: 10 Apr 2013 08:07 AM PDT

คราวที่แล้วผมทิ้งท้ายว่า "เนื้อหาสาระแห่งคำสอนของพุทธะนั้น ให้ความสำคัญแก่ราษฎรมากกว่าชนชั้นบน และสนับสนุนความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าราชาธิปไตย"

โปรดสังเกตนะครับ ผมใช้คำว่า "เนื้อหาสาระแห่งคำสอนของพุทธะ" ไม่ใช่คำสอนพุทธที่นำมาอ้างกันเพื่อยกย่องชนชั้นปกครองอย่างเกินจริง หรือนำมาอ้างเพื่อประณามฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างเลวร้ายเกินจริง หรือนำมาอ้างอย่างสับสน ซึ่งมีให้เห็นอยู่บ่อยๆ เช่น คำให้สัมภาษณ์สยามธุรกิจ (ฉบับ 27 ก.พ.-1 มี.ค.56) ของคุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย ที่ว่า

"สำหรับเรื่องนิรโทษกรรม ผมไม่เห็นด้วย ในฐานะที่ผมเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ...กรรมมีจริง และไม่มีใครเก่งเกินกรรม แล้วจะนิรโทษกรรมได้อย่างไร เพราะสิ่งใดที่ได้ทำไปแล้ว...สิ่งนั้นย่อมต้องส่งผลแน่นอน ถ้าสรุปในเชิงพระพุทธศาสนาคือ 'กรรม ใคร กรรมมัน' แต่ถ้าบุคลใดสำนึกได้ก็ควรจะได้รับโอกาส แต่ต้องสำนึกอย่างถ่องแท้ อย่างกรณีองค์คุลิมาล"

ผมคิดว่าการอ้างคำสอนเรื่อง "กรรม" เพื่อโต้แย้ง "การนิรโทษกรรม" เป็นการอ้างตรรกะที่ผิดฝาผิดตัว เพราะกรรมในคำสอนพุทธศาสนา (ตามที่คุณดนัยเข้าใจ) นั้นเป็น "การกระทำเฉพาะตัวบุคคล" แต่กรรมในความหมายของการนิรโทษกรรม หมายถึง "การกระทำทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ" ซึ่งอยู่ในอำนาจของรัฐบาลว่าจะนิรโทษกรรมหรือไม่ โดยต้องมีหลักความชอบธรรมทางกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตย และหลักสิทธิมนุษยชนรองรับ ฉะนั้น เมื่อการนิรโทษกรรมเป็นการกระทำทางการเมือง หากจะอ้างคำสอนพุทธศาสนาอย่างสอดคล้องต่อกรณีเช่นนี้ เราต้องอ้างหลักคุณธรรมของผู้ปกครอง ซึ่งเป็น "คุณธรรมทางการเมือง" หรือ "คุณธรรมเชิงสาธารณะ" 

เมื่อพิจารณาที่ "เนื้อหาสาระ" ของคุณธรรมของผู้ปกครองตามคำสอนของพุทธะ (เช่นทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร หรือวัชชีธรรม) ล้วนแต่มีสาระสำคัญอยู่ที่ "การรับใช้ราษฎร" หรือการจัดการปกครองให้ราษฎรได้รับประโยชน์สุขสูงสุด ไม่ว่าผู้ปกครองจะเป็นพระราชา คณะบุคคล หรือเป็นรัฐบาลในสังคมประชาธิปไตยก็ตาม พุทธศาสนาถือว่า "ผู้ปกครองมีหน้าที่รับใช้ราษฎร" โดยยึดประโยชน์สุขสูงสุดของราษฎรเป็นตัวตั้ง

ฉะนั้น คุณธรรมของผู้ปกครองตามที่พุทธะสอน จึงให้ความสำคัญแก่ราษฎรมากกว่าชนชั้นปกครอง

และเมื่ออ้างคุณธรรมของผู้ปกครองในกรณีนิรโทษกรรม  เราต้องอ้างเพื่อเรียกร้องให้ผู้ปกครองปกป้องราษฎรให้ได้รับความเป็นธรรมตาม "หลักการปกครอง" ที่เรียกว่า "ธัมมิการักขา"  ในจักรวรรดิวัตรที่ว่า "ผู้ปกครองมีหน้าที่ปกป้องราษฎรให้ได้รับความเป็นธรรม" และความเป็นธรรมในความหมายทางสังคมการเมืองสมัยใหม่นั้น หัวใจอยู่ที่การปฏิบัติตาม "หลักนิติรัฐ" โดยหลักนิติรัฐต้องยึดโยงอยู่กับหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

เราจึงต้องเริ่มจากการยอมรับความจริงก่อนว่า คนระดับชาวบ้านธรรมดาจำนวนมากที่ถูกดำเนินคดีในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น รายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) ระบุว่า เหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 53 มีการจับกุมประชาชนดำเนินคดีทั่วประเทศถึง 1,857 คน ซึ่งบางคนไม่ได้ร่วมชุมนุม และในจำนวนนี้ถูกดำเนินคดีถึง 1,763 คน การดำเนินการของรัฐถูกอธิบายด้วยคำ 3 คำคือ "อำพราง อัปลักษณ์ และอำมหิต"

คำถามคือ ทำไมสังคมนี้ยอมรับได้กับการที่พวกทำรัฐประหารครั้งต่างๆ ที่ผ่านมาที่สั่งสลายการชุมนุมจนประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากนิโทษกรรมตนเองให้พ้นผิด แต่ยอมรับไม่ได้กับการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองระดับชาวบ้านธรรมดา ซึ่งพวกเขาไม่ได้ฆ่าใคร นี่มันสะท้อนทรรศนะ "ความเป็นธรรมที่บิดเบี้ยว" ใช่หรือไม่!

พูดตรงไปตรงมา ปัญหาความขัดแย้งที่ไม่จบสิ้น สาเหตุพื้นฐานเลยอยู่ที่ "ทรรศนะเรื่องความเป็นธรรมที่บิดเบี้ยว" จึงนำไปสู่รัฐประหารทำลายหลักประชาธิปไตย เมื่อทำลายหลักประชาธิปไตยก็เท่ากับทำหลายหลักนิติรัฐลงไปด้วย กระบวนยุติธรรมที่ผูกโยงกับรัฐประหารจึงไม่มีหลักนิติรัฐรองรับ จึงไม่มี "ความเป็นกลาง" หรือ "ความเสมอภาคทางกฎหมาย" มีการใช้ "สองมาตรฐาน" ซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดมาจนทุกวันนี้

เป็นไปได้อย่างไรที่ฝ่ายเสียงข้างมากและฝ่ายต่อสู้สนับสนุนเสียงข้างมากในสภา ถูกกระบวนการยุติธรรมยุบพรรคการเมืองครั้งแล้วครั้งเล่า ถูกถอดถอนจากตำแหน่งนายกฯ แกนนำถูกจับกุมต้องนอนคุก คนระดับชาวบ้านธรรมดาถูกจับกุมไม่ได้รับการประกันตัว ขณะที่ฝ่ายเสียงข้างน้อยและฝ่ายสนับสนุนเสียงข้างน้อยในสภา ทำอะไรก็ไม่ผิด ลอยนวล ไม่เคยนอนคุก ได้ประกันตัวตลอดเวลา ฉะนั้น แม้แต่คนที่ไม่เลือกข้าง หากมี "สามัญสำนึกปกติ" ย่อมมองเห็น "ความยุติธรรมที่บิดเบี้ยว" นี้อย่างชัดแจ้งอยู่แล้ว และสามารถคาดการณ์ได้ว่าความยุติธรรมที่บิดเบี้ยวจะเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งไม่สิ้นสุด

มันจึงไม่ใช่อย่างที่คุณดนัย จันทร์เจ้าฉายอ้างคำสอนเรื่อง "กรรม" ในพุทธศาสนาอย่างผิดฝาผิดตัวเพื่อปฏิเสธการนิรโทษกรรมชาวบ้านธรรมดาที่ตกเป็นนักโทษการเมืองอย่างอยุติธรรม แต่เราต้องอ้างคำสอนของพุทธศาสนาเรื่อง "ธัมมิการักขา" ปกป้องความเป็นธรรมเพื่อประชาชน

และเมื่อยึด "ความเป็นธรรมเพื่อประชาชน" เป็นตัวตั้ง เราต้องไม่ติดประเด็นว่าฝ่ายนั้นฝ่ายนี้จะได้หรือเสียประโยชน์ แต่ต้องกลับไปหา "หลักการที่ถูกต้อง คือ "กติกากลาง" ที่ทุกฝ่ายสามารถยอมรับร่วมกันได้ ซึ่งต้องเป็นกติกาที่ "free and fair" กับทุกฝ่าย นั่นคือกติกาที่สามารถอธิบายได้ว่า ยึดโยงอยู่กับหลักนิติรัฐตามระบอบประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนอย่างไร นี่จึงเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน ศาล สื่อมวลชน นักวิชาการ กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกฝ่ายที่จะต้องร่วมกันปกป้อง "ความเป็นธรรมเพื่อประชาชน" ในความหมายดังกล่าว

แน่นอน ถ้าปกป้องความเป็นธรรมเพื่อประชาชนอย่างสุจริตใจ ย่อมต้องช่วยกัน "ผลักดัน" การนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง แม้กระทั่งนักโทษ 112 ด้วย และต้องแก้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปโครงสร้างอื่นๆให้เป็นประชาธิปไตยต่อไป

 

 

 

หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม "พุทธศาสนากับประชาธิปไตย (2) กรรมกับการนิรโทษกรรม" เผยแพร่ใน "โลกวันนี้วันสุข" ฉบับที่ 406 (6-12 เมษายน 2556)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

10 เมษา ผบ.ทบ.จี้ธาริตหาคนยิงทหาร ภรรยา ‘ร่มเกล้า’ วอนดีเอสไออย่าถอยหลัง

Posted: 10 Apr 2013 07:49 AM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จี้ 'ธาริต' แจงคดีทหารดับ 10 เม.ย. 53 ลั่นหาคนผิดให้ได้ ชี้จนท.-ปชช.ต่างสูญเสีย ภรรยา 'ร่มเกล้า' นำญาติทหารผู้เสียชีวิตทำบุญ วอนดีเอสไอนำหลักฐานทุกฝ่ายพิจารณา สังคมเลิกเสพติดความรุนแรง 'อนุพงษ์-พะจุณณ์-นพ.ตุลย์' ร่วมทำบุญ

10 เม.ย. 56 ข่าวสดออนไลน์  รายงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ กลุ่ม นปช. มีการชุมนุมในวันครบรอบ 3 ปี เพื่อรำลึกเหตุการณ์สลายการชุมนุม 10 เม.ย.53 ว่า ก็รำลึกไป เพราะมีคนสูญเสียและตนก็รำลึกอยู่เหมือนกัน เพราะทหารก็สูญเสียและต้องไปหาว่าใครเป็นคนทำ อย่ามาพูดเพียงฝ่ายเดียว ตนไม่อยากทะเลาะขัดแย้งกับใคร แต่ตนต้องให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่และลูกน้องของตน ที่มีทั้ง ตำรวจ พลเรือน ทหาร ที่สูญเสียว่าใครทำ หากรำลึกตนก็รำลึกเหมือนกัน ถ้ายังไม่จบก็ไม่จบ

ส่วนความคืบหน้าคดีของกำลังพลที่บาดเจ็บและเสียชีวิตนั้นกำลังดำเนินการอยู่ เพราะได้รับหนังสือร้องเรียนจากผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสูญเสียจากเหตุการณ์ 10 เม.ย.53 ให้ช่วยติดตาม โดยตนจะให้คณะทำงานที่ปรึกษาทางกฎหมายของกองทัพบกทำหนังสือถึงกรมสอบสวนพิเศษ(ดีเอสไอ) ชี้แจงความก้าวหน้าของคดีดังกล่าวด้วย เพราะจะรู้สึกเหมือนเราไม่ได้ดูแลผู้บังคับบัญชา ความจริงแล้วเราพยายามเร่งรัดติดตาม แต่รู้สึกไม่ค่อยก้าวหน้าเท่าไหร่ ต้องหาให้ได้ว่าใครทำ หากฝ่ายหนึ่งบอกไม่ได้ทำ ก็ต้องมีอีกฝ่ายที่ทำ ต้องหามา เพราะทหารก็เป็นประชาชนเหมือนกัน

 

ภรรยา 'ร่มเกล้า' นำญาติทหารผู้เสียชีวิตทำบุญ วอนดีเอสไอนำหลักฐานทุกฝ่ายพิจารณา

คมชัดลึกออนไลน์ รายงาน ที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 เม.ย.2556 นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม อดีตรองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (รองเสธ.พล.ร.2 รอ.) พร้อมครอบครัว ได้ร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลในโอกาสครบรอบ 3 ปีของการเสียชีวิตพล.อ.ร่มเกล้าและทหารที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยและขอคืนพื้นจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณสี่แยกคอกวัว และหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา เมื่อคืนวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2553

นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภาพจากเฟซบุ๊ก 'Wassana Nanuam'

โดยมีอดีตผู้บังคับบัญชาของพล.อ.ร่มเกล้ามาร่วมงานด้วยอาทิ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพน้อยที่ 1 และอดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์(ผบ.พล.ร.2รอ.) พ.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.21รอ.) รวมถึงเพื่อนเตรียมทหารรุ่น 25 นอกจากนี้ยังมีบุคคลสำคัญต่างๆมาร่วมงานด้วยอาทิ พล.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตหัวหน้าสำนักงานประธานองคมนตรี นพ.ตุลย์ ศรีสมวงศ์ แกนนำเสื้อหลากสี

นางนิชา กล่าวว่า เหตุการณ์ผ่านไป 3 ปี คดีของพล.อ.ร่มเกล้ายังไม่คืบหน้า ซึ่งผลสรุปของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนวุฒิสภา เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ระบุว่ามีพยานและ เอกสารจำนวนมากไม่ถูกนำมาประกอบคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยปีแรกดีเอสไอแถลงว่า พ.อ.ร่มเกล้าเสียชีวิตจาก นปช. จากนั้นมาเปลี่ยนเป็นฝีมือของชายชุดดำ ต่อมาเปลี่ยนมาสรุปว่าไม่สามารถสืบหาพยานหลักฐานได้

"ดีเอสไอต้องทำความกระจ่างให้กับเราและสังคมว่าเพราะอะไร การแถลงทิศทางคดีถึงเป็นไปในทางที่ถอยหลัง ผลสรุปของคณะกรรมาธิการฯ ประเด็นหนึ่ง คือ การคืนความชอบธรรมให้กับเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งไม่ได้ตั้งใจที่จะใช้อาวุธ คือกรณีที่ช่างภาพญี่ปุ่น และนายวสันต์ ภู่ทอง ไม่ได้เสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่ทหาร เรามายืนอยู่ตรงนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว ทุกคนรู้สึกเบื่อ เหนื่อย ท้อ หวังว่าปีหน้าไม่ต้องกลับมายืนอยู่ตรงนี้และคุยเรื่องนี้อีก"  นางนิชา กล่าวและว่า

ผู้เสียชีวิตทุกคนมีคุณค่าเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นทหารยศใด หรือ พี่น้องสีใด แต่ที่จำเป็นต้องหยิบคดี พ.อ.ร่มเกล้า ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการเรียกร้องความยุติธรรม และเรียกร้องให้สังคมไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา เป็นหลักประกันในอนาคตว่าสังคมไทยไม่เสพติดการใช้ความรุนแรง และหากรัฐบาลตั้งใจ จริงใจที่ทำให้เรื่องนี้ให้คลี่คลายไปได้ก็เป็นสิ่งที่เรารอคอย ก็จะสร้างความเชื่อมั่นต่อคนในสังคมต่อระบบนิติรัฐ อยากขอร้องให้รัฐบาล และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในเรื่องการติดตามคดี

"ส่วนที่มองว่าผู้นำกองทัพอาจจะมีท่าทีอ่อนลงในการช่วยเหลือผู้ใต้บังคับบัญชานั้น คิดว่าสังคมทหารมีความใกล้ชิด และ เป็นครอบครัวเดียวกัน ในงานทำบุญวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ก็ร่วมเป็นเจ้าภาพให้กับพี่น้องที่เสียชีวิตในวันนี้ด้วย แม้ท่านจะไม่ได้มาเอง ส่วนตัวเชื่อมั่นต่อผู้บังคับบัญชาของพล.อ.ร่มเกล้า" นางนิชา กล่าว 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรรมการสิทธิเผย เปิดรายงานสลายชุมนุมปี 53 ภายในเดือน เม.ย.

Posted: 10 Apr 2013 02:24 AM PDT

10 เม.ย.56 อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กรรมการสิทธิกำลังพิจารณาร่างรายงานเกี่ยวกับการตรวจสอบเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือน เม.ย.- พ.ค.53 ซึ่งใกล้จะแล้วเสร็จแล้ว และจะมีการตรวจสอบจุดที่แก้ไขกันอีกครั้งในวันพุธหน้า (17 เม.ย.) คาดว่าจะสามารถเผยแพร่รายงานฉบับสมบูรณ์ได้ภายในเดือนเมษายนนี้

ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวหยุดชะงักไปตั้งแต่ปลายปี 54 หลังจากมีข่าวการหลุดรอดของร่างรายงานและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 8 ก.ค. ได้เปิดเผยเนื้อหาโดยสรุป 9 กรณีสำคัญ  

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิด 'อ่าน' 10 เมษา (อีกคร้ัง) : บทบันทึกโฉมหน้า 'มวลชน'

Posted: 10 Apr 2013 02:10 AM PDT


เนื่องในวันครบรอบสามปีของเหตุการณ์ที่รัฐได้ใช้กำลังทหารและอาวุธสงคราม เข้าสังหารผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง ณ บริเวณ กระทรวงศึกษา สี่แยกคอกวัวและโรงเรียนสตรีวิทย์ เราเห็นว่าความทรงจำและความรู้สึกของผู้อยู่ในเหตุการณ์มีคุณค่าควรที่จะถูกบันทึกและเผยแพร่เช่นกันกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ต้องชำระและจารึก

หลังการสลายการชุมนุม บทบรรณาธิการจากวารสาร"อ่าน" เป็นบทบันทึกที่อธิบายสิ่งที่ผู้เขียนพบเห็นและความรู้สึกของผู้ร่วมชุมนุมในฐานะมนุษย์คนหนึ่งได้เป็นอย่างดี ทางประชาไทจึงได้ขออนุญาตนำบทบันทึกชิ้นนี้มาเผยแพร่อีกครั้งท่ามกลางคำถามว่าเราจะจัดวางความทรงจำที่เกิดขึ้นเมื่อสามปีที่ผ่านมาไว้ที่ไหน อย่างไร ในสังคมไทย

 

 

ผู้หญิงคนนั้นก้มลงมองปลายเท้าตัวเองที่จ่ออยู่ตรงแนวตัดแบ่งระหว่างเงาสีดำใต้อาคารกับแดดขาวจัดจ้านั้นอย่างลังเลอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนตัดสินใจข้ามเส้นนั้นไปราวกับไม่ยี่หระ  หามิได้ หล่อนจับจังหวะให้แน่ใจก่อนจะกดปุ่มร่มในมือให้กางผึงพร้อมขาที่ก้าวออกไปนั้น

ลงจากแท็กซี่แล้วหล่อนก็ต่อรถมอเตอร์ไซค์เข้าไปในถนนเส้นที่ถูกปิด อากาศยังร้อนโหดร้ายเหมือนวันก่อนๆ  หล่อนยังไม่แน่ใจว่าจะให้รถพาไปถึงจุดไหน ก็พอดีได้ยินเสียงประกาศจากเวทีขอให้ "พี่น้อง" จัดกำลังไปที่สี่แยกคอกวัวเพราะมีทหารกำลังเคลื่อนเข้ามาด้านนั้น หล่อนบอกมอเตอร์ไซค์ให้จอดตรงสี่แยกนั่น ลงจากรถแล้วก็ควานหาผ้าขนหนูในกระเป๋าที่พกเตรียมมาสำหรับชุบน้ำเช็ดหน้าหากมีการใช้แก๊สน้ำตา แล้วเดินเข้าไปที่แนวปะทะด้วยอาการราวกึ่งรู้ตัวกึ่งฝัน

ตรง "สมรภูมิ" บนถนนเล็กๆ ณ สี่แยกแห่งนั้น หล่อนเห็นทหารตั้งแถวพร้อมโล่และกระบอง ยืนประจันหน้ากับคนเสื้อแดงที่รวมตัวกันอยู่หลวมๆ  หล่อนสาวเท้าเข้าไปรวมกลุ่มกับเขาด้วย  แล้วโดยที่ไม่ต้องมีใครสั่งการอย่างหนึ่งอย่างใด เมื่อทหารเริ่มดาหน้าเข้ามา กลุ่มคนเสื้อแดงก็ถลาเข้าไปผลักดันไว้ สองฝ่ายออกแรงผลักยันกันไปมา จำนวนที่เห็นอยู่ตำตาว่าน้อยนิดนั้นไม่อนุญาตให้หล่อนลังเลอีกต่อไป หล่อนพรวดเข้าไปผลักดันกับเขาด้วย ออกแรงสุดชีวิตเท่าที่ร่างต้วมเตี้ยมนั้นจะอนุญาตให้  คนเสื้อแดงแถวหน้าดันกับโล่นั้นอย่างสุดแรง แล้วคนที่อยู่แผงแถวหลังก็ขึ้นไปรับช่วงยันต่อเมื่อแถวหน้าดูท่าจะไม่ไหว สลับกันไปมาอยู่อย่างนั้น  แล้วจังหวะหนึ่งก็ถึงคิวของหล่อน เมื่อแถวหน้ามีช่องโหว่ หล่อนเข้าไปอุดไว้ เสียงร้องด่าทออื้ออึงอยู่ทั้งสองฝ่าย หล่อนมองผ่านโล่ไปเห็นสีหน้าของทหารที่ผลักยันอย่างเข่นเขี้ยวดุดัน ทหารอีกนายตะโกนด่าและทำท่าเงื้อแขนผ่านแผงโล่จะมาซัดใส่หญิงเสื้อแดงที่ทั้งดันทั้งด่าอยู่ข้างๆ หล่อน หล่อนตวาดเสียงแทรกกลับไป "อย่าทำอย่างนี้ !" ทหารรายนั้นหันมามองแล้วชะงักราวเด็กถูกจับได้ว่ากำลังเล่นโกง จากนั้นทุกอย่างก็ชุลมุน หล่อนต้านแรงไม่ไหว ใครบางคนรุนให้หล่อนล่าถอยออกมา

ขณะยืนตั้งหลักอยู่อย่างนั้น พลันหล่อนรู้สึกถึงความโล่งบางอย่าง นี่เองกระมัง ความ "สะใจ"  นึกแล้วหล่อนก็กระดาก แต่ไม่อาจปฏิเสธได้  ความรู้สึกประเภทที่เรียกว่าสะใจ ที่ไม่เพียงไม่สูงค่าหากยังต่ำราคา  แต่สำหรับคนที่ต้องทนดูทนฟังการประสานเสียงอย่างกระหายเลือดของรัฐบาลและสื่อมวลชนมาหลายอาทิตย์ ถูกปิดกั้นจนง่อยเปลี้ยเสียขา ได้แต่ลงชื่อแถลงการณ์ที่ล้วนไร้ค่า จะอาศัยเครื่องมืออย่างเว็บบอร์ดหรือเฟซบุ๊กก็ต้องเจอกับความเห็นจากบรรดาเสรีปัญญาชนชั้นกลางทั้งหลายที่รักษาฉากหน้าของความเป็นกลางอย่างกลัวเอียงซ้าย ความรู้สึกอัดอั้นที่ได้ระบายผ่านสองแขนสองมือที่ออกแรงผลักโล่เหล่านั้น ช่างเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้แม้

จะดูไร้สง่าราศีที่สุด  ขออภัยเถิด ท่านที่เคารพทั้งหลาย หล่อนสะใจจริงๆ

แล้วหล่อนก็เห็นก้อนหินลอยมาจากฝั่งทหาร เล็กบ้างใหญ่บ้าง คนเสื้อแดงตะโกนด่าแล้วขว้างกลับไปทั้งอิฐหิน ขวดน้ำ ด้ามธง ก่อนจะแตกฮือเมื่อทหารระดมขว้างหินก้อนใหญ่กลับมา พวกเขายังกรูกลับไปช่วยกันยันโล่ทหารไว้ หล่อนตัดสินใจเข้าไปเสริมกำลังชุลมุนระหว่างหลังของคนที่หล่อนดันไปหน้ากับหลังของหล่อนที่ถูกดันมาจากข้างหลัง  จังหวะหนึ่งหล่อนเห็นชายคนหนึ่งถือโล่ที่น่าจะคว้ามาได้จากฝั่งทหาร กว่าจะรู้ตัวอีกที หล่อนก็ไปอยู่ตรงกลางระหว่างโล่ในมือทหารกับโล่ทหารในมือชายเสื้อแดง แรงอัดจากทั้งสองด้านทำให้หล่อนขยับไม่ได้และหายใจไม่ออก หล่อนคงตายอย่างคนที่อยู่ตรงกลางอย่างนั้นหากไม่ถูกดึงตัวออกมาอย่างหวุดหวิด แล้วหล่อนก็รู้สึกถึงกลิ่นแสบที่ลอยมา ชายเสื้อแดงคนหนึ่งรีบหยิบกระป๋องแก๊สน้ำตาบนพื้นขว้างกลับไปฝั่งทหาร ในภาวะชุลมุนนั้น การ์ดเสื้อแดงไม่เป็นอันทำอะไรเพราะต้องคอยไล่คว้าไล่ดึงตัวคนเสื้อแดงที่ขว้างหินขว้างไม้กลับไป  ดูเถิด อีกฝ่ายจะเล่นนอกเกมอย่างไรก็ได้ แต่คนเสื้อแดงต้องต่อสู้โดยระมัดระวังตลอดเวลาว่าผู้ชมอันทรงเกียรติทั้งประเทศพร้อมจะพิพากษาทันทีถ้ามีการ "ฟาวล์"

แต่แล้วทหารก็ต้องถอยร่นเมื่อกระแสลมพัดแก๊สน้ำตาไปทางฝั่งทหารจนเห็นเป็นกลุ่มควันขาว คนเสื้อแดงกรูเข้าไปยึดรถทหาร  เสียงโห่ร้องกึกก้องในอากาศ พื้นถนนเกลื่อนด้วยเศษรองเท้าขาด ขวดน้ำ ขาแว่นกันแดด ท่อนไม้ไผ่  อีกพักใหญ่การเจรจาก็เริ่มขึ้น ทั้งสองฝ่ายสงบศึกแต่ยังคุมเชิง ฝรั่งนักท่องเที่ยวบนถนนข้าวสารพากันยืนดูอย่างตื่นตะลึงตลอดเหตุการณ์ กล้องถ่ายรูปทำงานกันง่วน ฝรั่งห้าวสองสามคนเอาผ้าแดงคาดหัวแล้วไปอยู่แถวหน้าราวจะช่วยรับมือหากปะทะรอบใหม่ Welcome to Thailand !

หล่อนเดินสะโหลสะเหลออกมาจากแนวรบนั้นราวไม่กี่สิบเมตร ทรุดลงนั่งกับขอบฟุตบาธ  คนอื่นๆ ที่ล้วนใส่เสื้อสีแดงพากันจับกลุ่มนั่งบ้างยืนบ้างเป็นหย่อมๆ  หล่อนไม่เพียงมาคนเดียวลำพัง แต่ยังอยู่ในข่ายดูไม่เข้าพวก คนพวกนี้ไม่มีอะไรที่ดูเหมือนหล่อน พวกเขาใส่เสื้อสีแดง แดงอย่างที่ผู้หลักผู้ใหญ่ของหล่อนมักใช้คำขยายว่า "ตลาดๆ"  หล่อนไม่นิยมใช้สีแบบนั้น มันจะต้อง "มีเฉด" ไม่ว่าจะแดงเลือดหมู เลือดนก แดงปูน บานเย็น มันไม่เคย "ตลาด"  พวกเขาหลายคนใส่แว่นดำ ที่น่าขำกว่านั้นคือใส่หมวกคาวบอย วัยรุ่นตัวดำบางคนย้อมผมทอง ผูกผ้าพันคอผ้าโพกหัวเนื้อหยาบอยู่อีเหละเขละขละ  รูปพรรณสัณฐานอย่างนี้ คนไทยการศึกษาดีและรสนิยมดีที่ไหนจะเอาเป็นพวก แน่ละ พวกเขาเป็น "ชาวบ้าน" แต่ไม่ใช่ชาวบ้านอย่างที่ทีวีไทยพีบีเอสของชนชั้นกลาง โดยชนชั้นกลาง เพื่อชนชั้นกลางชอบเสนอ  หล่อนนึกถึงงานศิลปะประเภทที่เอาถังพลาสติคสีแจ๋นๆ ราคาถูกหรือสารพัดสิ่งสะท้อนความเป็นไทยแบบ "venacular" มาจัดแสดงให้ฝรั่งฮือฮา ให้คนไทยขบขันในอารมณ์ nostalgia  บางทีคงต้องรอจนกว่าจะมีศิลปินเหล่านั้นมาจับภาพคนเหล่านี้ไปเสนอแบบเดียวกัน พวกเขาจึงจะดูมี "คลาส" ขึ้นมาได้ ให้ผู้ชมอุทานพร้อมรอยยิ้มเอ็นดูที่มุมปาก มายก้อด !  นี่แหละ very Thai !

หล่อนเหยียดขาออกไป มองดูเท้าที่เลอะเขลอะ "รอยตีนชาวบ้าน" เหล่านั้นที่เหยียบทับกันไปมา พื้นรองเท้าข้างขวาเลื่อนหลุด นี่ขนาดหล่อน "รู้งาน" พอจะเลือกรองเท้าที่เหมาะกับการไปม็อบมาแล้วเชียว  หล่อนเริ่มประหวัดถึงอดีตอันไม่ยาวนานนักตัวเองที่เคยอยู่ในขบวนคนทำงาน "เพื่อชาวบ้าน" และเคยต้องเผชิญการปะทะมาหลายครั้งกระทั่งกับ ตชด. อาวุธครบมือ เพียงแต่สมรภูมินั้นอยู่ในผืนแผ่นดินอ้างว้างไกลปืนเที่ยง  หล่อนสลัดความหลังโรแมนติคออกจากหัว ในสมรภูมิที่ไม่มีใครออกมา "เพื่อชาวบ้านเหล่านี้" ทางที่ดีหล่อนควร "ลดตัว" ลงมาเป็นชาวบ้านเสียเองบ้าง และรู้จักช่วยตัวเอง

ชายคนหนึ่ง หน้าตาไม่เข้าพวกกับคนเหล่านั้น เดินมายืนหันรีหันขวางอยู่ตรงหน้า เขาดูเป็นคนเชื้อสายจีน ผิวขาว ร่างสูงผอม ใส่แว่น สวมเสื้อเชิ้ตสีสะอาด แต่บนศีรษะนั้นสวมหมวกแดงติดแบรนด์ "ความจริงวันนี้" แล้วเขาก็หันมาเห็นหล่อน เขายิ้มให้ หล่อนยิ้มตอบ เขาขอมานั่งข้างๆ อย่างสุภาพ แล้วบทสนทนาอันไม่อาจหลีกเลี่ยงก็เริ่มขึ้น

เขาบอกว่าเขามาม็อบเสื้อแดงเป็นประจำ เขาไม่ได้ชอบทักษิณ แต่เขาทนไม่ได้ตั้งแต่ที่มีปฏิวัติ ทนไม่ได้กับการไม่เคารพสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย แน่นอน นี่ไม่ใช่สนามแรกของเขา เขามองไปยังกลุ่มเสื้อแดงที่เปิดเพลงปลุกขวัญอย่างครึกครื้นระหว่างคุมเชิงกับทหาร  "สมัยผม บรรยากาศเครียดกันกว่านี้มาก"  เขาหันมาถามว่าหล่อนอายุเท่าไหร่ หล่อนตอบไปอย่างรู้งานเช่นเคย "เกิดไม่ทันยุคของคุณหรอกค่ะ"  "เมื่อปี 19 ผมอยู่มหาลัยปีสอง"  หลังจากนั้นเขาก็เริ่มเล่าถึงอดีตนั้น หล่อนไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะเสียงเพลงในจังหวะลูกทุ่งโฉ่งฉ่างของคนเสื้อแดง หรือเสียงอื้ออึงในหัวของหล่อนเองกันแน่ที่มากลบเสียงเล่าจากอดีตของเขา หล่อนเริ่มไม่ได้ยินอะไรอีกต่อไป  หล่อนมองไปยังมวลชนเสื้อแดงเหล่านี้ที่ไม่เพียงไม่ใช่ปัญญาชน แต่ยังเป็นมวลชนมีผู้นำที่เป็นแค่นักการเมืองอีกด้วย มันช่างห่างไกลกับ "พลังบริสุทธิ์" เหล่านั้นที่หล่อนเกิดทันบ้างไม่ทันบ้างเสียเหลือเกิน

ช่างเป็นเรื่องตลกร้าย หนึ่งในแกนนำนักการเมืองเหล่านั้นก็เคยเป็นนักศึกษาร่วมสมัย "ยุคพฤษภา" กับหล่อน  หล่อนยังจำได้ถึงการประชุมครั้งหนึ่ง ที่หล่อนซึ่งยังเป็นเด็กปีหนึ่งซื่อๆ จากมหาวิทยาลัยที่บริสุทธิ์ถึงขั้นพรหมจรรย์ด้วยการตีกรอบกระทั่งเสรีภาพในการใส่หรือไม่ใส่ถุงเท้า ต้องปากกล้าขาสั่นเถียงกับเขาผู้มาจากมหาวิทยาลัยที่ "เปิด" จนไม่มีอะไรศักดิ์สิทธิ์  เขาเสนอว่าองค์กรนักศึกษาควรจะสามารถรับเงินสนับสนุนจากพรรคการเมืองได้ เพียงแต่ให้ประกาศโดยเปิดเผยและต้องกำหนดเงื่อนไขไม่ยอมให้ผู้บริจาคมีสิทธิแทรกแซง  หล่อนจำได้ถึงความตกใจต่อข้อเสนอของเขา และรีบคัดค้านว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้นพลังอย่างเดียว

ของขบวนการนักศึกษา คือ "พลังบริสุทธิ์" นั้น จะหมดความชอบธรรมทันที  หล่อนจำได้ถึงความโกรธของเขาที่รู้สึกว่าหล่อนพูดราวกับว่าเขาเป็นคนเห็นแก่เงิน  หล่อนพอจะรู้อยู่หรอกในตอนนั้น ถึงความรู้สึกเหลื่อมล้ำต่ำชั้นระหว่างอันดับของมหาวิทยาลัยในหมู่ขบวนนักศึกษา ที่สะท้อนความต่างทางพื้นฐานเศรษฐกิจของแต่ละคนด้วย ในขณะที่ผู้นำจากมหาวิทยาลัยปิด (เสมอ) สามารถเอารถยนต์ของที่บ้านมาใช้ทำงานได้ แต่นักศึกษาอีกจำนวนไม่น้อยที่มีสถานะต่ำกว่าทั้งในทางเศรษฐกิจและลำดับชั้นผู้ปฏิบัติงาน ต้องกระเบียดกระเสียรเพียงใดเพื่อให้สามารถทำ "กิจกรรม" อันฟุ่มเฟือยอย่างการเรียกร้องประชาธิปไตย

หากต้องตอบคำถามเดิมนั้นในวันนี้ หล่อนก็ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองจะ cynical พอ ที่จะยอมรับข้อเสนอของเขาได้ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างหนึ่งก็คือ หล่อนไม่แน่ใจอีกต่อไปแล้วว่าคำว่า "พลังบริสุทธิ์" จะมีความจริงแท้แตกต่างจาก "นักการเมือง" อย่างไร  มวลชนเหล่านี้ที่ออกมาใส่เสื้อแดง พวกเขาก็ไม่ได้เริ่มต้นด้วย "อุดมการณ์" อัน "บริสุทธิ์" เหมือนปัญญาชน พวกเขาต่อสู้เพราะรู้ว่ากำลังเสีย "ผลประโยชน์" อันได้แก่ความหวังที่จะได้มีชีวิตที่อยู่ดีกินดีและลืมตาอ้าปากได้บ้าง และผลประโยชน์นั้นมันก็ผูกกันกับการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่อนุญาตให้พวกเขามีสิทธิเลือกว่าจะให้นักการเมืองคนไหนมาจัดสรรและจัดการให้ และโดยตระหนักรู้ด้วยว่าทั้งหมดนั้นคือกระบวนการต่อรองทางผลประโยชน์ระหว่างพวกเขากับนักการเมืองเหล่านั้น  นั่นเป็นน้อยครั้งในชีวิตที่พวกเขาจะได้เป็นผู้มีสิทธิมีเสียงบ้าง  "ทำให้กูสิ แล้วกูจะเลือกมึง"  หรือกระทั่ง "ทำให้กูสิ แล้วกูจะสู้เพื่อมึง"

มันเป็นกระบวนการที่สาธารณ์นักเมื่อเทียบกับคำว่า "ทำเพื่อประชาชน" ของอุดมการณ์แบบปัญญาชน ที่ราวกับว่าไม่ได้ต้องการประโยชน์โภชผลอันใดตอบแทน แต่ข้อเท็จจริงที่ว่าบรรดาปัญญาชนอดีตผู้นำนักศึกษาจำนวนมากในทุกวันนี้ เสพสุขจากสถานะและบารมีอันได้มาจากการต่อสู้ทางอุดมการณ์ในอดีตเหล่านั้น แล้วเหยียดปากเย้ยหยันทั้งปลุกระดมทำลายความชอบธรรมในการต่อสู้ของมวลชนเหล่านี้ ยังไม่ใช่หลักฐานที่ฟ้องอยู่ตำตาอีกหรือว่าพวกเขามือถือสากปากถืออุดมการณ์กันเพียงใด  ที่สำคัญ หลังจากที่เคยฟูมฟายมานานว่าพวกเขาทำไมถึง "เปลี่ยนไป"  หล่อนก็ได้เห็นว่ามวลชนเองก็เปลี่ยนไป และไม่ได้ต้องการผู้นำแบบพวกเขาอีกแล้ว

ทั้งบนเวทีและข้างล่าง พวกเขาพูดจาหยาบคาย ไม่ "PC" จนต้องมีการเตือนกันอยู่หลายครั้ง  แกนนำขวัญใจของพวกเขาไม่ใช่สุภาพบุรุษนักคิด ไม่ใช่ปัญญาชนเสรีชนแอบติสต์ แต่เป็นเหมือนการคืนชีพของผู้นำพระเอกลูกทุ่งในนวนิยายแบบ "ไม้ เมืองเดิม" ที่เน้นภาพความเด็ดเดี่ยว ใจนักเลง และแน่นอนต้องมีแง่มุมของความขี้เล่นมาหยอดแม่ยกได้เป็นระยะ น้ำเสียง ภาษา เนื้อหา กระทั่งสาธกนิทานหรือวรรณคดีที่นำมาเล่าบนเวที เข้ากันได้กับวัฒนธรรมและรสนิยมของมวลชนของเขา ที่เกือบๆ จะกลายเป็นของ exotic สำหรับปัญญาชนไปแล้ว เพลงเพื่อชีวิตที่เล่นกันบนเวทีต่อสู้ของมวลชนชั้นกลางคนละฝั่งสี ดูเป็นสิ่งแปลกปลอม (และของปลอม) ไป

ทันทีบนเวทีที่มีแต่เพลงลูกทุ่งแห่งนี้ บางครั้งก็มีเพลงในทำนองดนตรีวงใหญ่ที่มีกลิ่นอายการเรียบเรียงแบบจีนเหมือนเพลงของยุคสมัยอุดมการณ์เกรียงไกร มาทำให้ครึ้มอกครึ้มใจที่ได้มีอะไรคล้ายๆ เพลงมาร์ชสำหรับมวลชนไร้สังกัดสถาบันอย่างพวกเขาบ้าง

หล่อนนึกถึงภาพที่ได้เห็นขณะไปยืนรอคิวเข้าห้องน้ำที่โรงพยาบาลตำรวจ ณ ที่ชุมนุมที่ราชประสงค์ ชายคนหนึ่งที่หล่อนจำหน้าได้ว่าเป็นหนึ่งในบรรดานักการเมืองที่อยู่ในกลุ่มนำ เดินเข้ามาในโถงเล็กๆ ของโรงพยาบาลที่อยู่หน้าห้องน้ำหญิงคิวยาวนั้น เขาทรุดนั่งแปะลงกับพื้นอย่างหมดท่า สารรูปมอมแมมชุ่มเหงื่อ  พวกผู้หญิงเสื้อแดงที่ยืนต่อคิวอยู่พากันชี้ดูอย่างขบขัน แล้วหนึ่งในจำนวนนั้นที่มีรูปร่างอ้วนใหญ่ก็เดินเข้าไปนั่งข้างๆ ให้อีกสองสามคนช่วยกันจับตัวชายคนนั้นตั้งพิงกับหลังของเธอ อีกคนก็เข้ามาช่วยพัดวีให้  ชายคนนั้นยันหลังอยู่ได้ครู่เดียวก็ทนไม่ไหว หงายผลึ่งลงไปนอนแผ่หรากับพื้น พวกผู้หญิงพากันไปนั่งรุมล้อมเป็นเพื่อน บ้างก็ยืนชี้มือแซวสนุกสนาน ชายคนนั้นยังมีแก่ใจผงกหัวขึ้นมาชูสองนิ้วยิ้มให้ แล้วหงายลงไปแนบหัวกับพื้นโรงพยาบาลเหมือนเดิม

ไม่แปลกที่มวลชนเหล่านี้จะเทหัวใจให้นักการเมืองเหล่านี้ที่ร่วมสู้กันมา เพราะคนที่มีสถานะบริสุทธิ์สูงส่งกว่านั้นล้วนเบือนหน้าหนี ไม่มาคลุกคลีแปดเปื้อนกับ "ประชาชนผู้ถูกกดขี่" เหล่านี้ที่อยู่นอกร่มโพธิ์ร่มไทร  และอย่างน้อยก็มีแนวโน้มว่าพวกเขาอาจไม่ต้องผิดหวังเหมือนผู้นำที่อ้างตัวว่าบริสุทธิ์กว่านั้น เพราะนี่คือเรื่องผลประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างประชาชนกับนักการเมือง มันรับรู้ชัดๆ เท่าๆ กันอย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องซ่อนอยู่หลังฉากหน้าที่ดูดีหรือดูมีโวหารกว่านั้น  หากว่าสุดท้ายพวกเขาจะถูกทอดทิ้งหรือหักหลังไม่ต่างกัน เขาก็จะสามารถด่าประณามได้อย่างเต็มปากเต็มคำ พร้อมไพ่ตายในมือคือสิทธิในการเลือกตั้ง  ทำไม่ดีก็อย่าหวังว่าจะได้รับเลือกมาเป็นผู้นำอีกต่อไป  มวลชนที่ลุกขึ้นมาสู้แค่ตายขนาดนี้ มีหรือจะปล่อยให้คนพวกนี้เอาสิทธิของเขาไปปู้ยี่ปู้ยำโดยง่าย

ความคิดในหัวที่ดำเนินไปยืดยาวราวกระแสความคิดตัวละครในวรรณกรรมสร้างสรรค์ทั้งหลาย ถูกขัดจังหวะเมื่อเพื่อนโทรมาบอกว่ารัฐบาลประกาศจะสลายภายในหกโมงเย็น หล่อนดูนาฬิกาแล้วเห็นว่ายังเหลือเวลาอีกพักหนึ่ง จึงตัดสินใจกลับบ้านไปชาร์จโทรศัพท์ และออกมาใหม่ให้ทันก่อนเส้นตายนั้น เวลาสำคัญอีกครั้งในประวัติศาสตร์ประเทศนี้ ที่ใครๆ จะออกมา "ตายเพื่อประชาธิปไตย"


"คุณผู้หญิงออกมาครับ มันอันตราย" การ์ดเสื้อแดงคนนั้นพูดอย่างสุภาพแต่เฉียบขาด หล่อนยิ้มแห้งๆ แล้วถอยออกมา หล่อนจำเป็นต้องเชื่อฟัง ต้องเป็นมวลชนที่มีวินัย  พื้นที่ ณ สี่แยกเดิมแห่งนั้นในยามค่ำตอนนี้กำลังเข้าสู่สงครามที่เข้มข้นกว่าเมื่อภาคบ่ายมากนัก  เสียงปืน เสียงระเบิดตูมตาม  ตรงแถวหน้าระหว่างทหารกับคนเสื้อแดงนั้นเกลื่อนไปด้วยเศษสิ่งของและนองน้ำ มีแต่พวกผู้ชายที่ยืนอยู่แถวหน้า  หล่อนเห็นฝรั่งและคนที่ดูท่าทางเป็นสื่อมวลชนต่างชาติยืนถือกล้องอยู่ใกล้ๆ  แต่ไม่เห็นกล้องทีวีของสื่อมวลชนไทยขี้ขลาดขี้ข้าหน้าไหน หล่อนถอยออกมาตรงปากทาง คนยืนจับกลุ่มห้อมล้อมกัน บ้างชี้ขึ้นไปบนตึกแถวนั้นให้ระวังว่ามีคนซุ่มยิงลงมาใส่ประชาชน  ระหว่างนั้นหล่อนก็เห็นชายอีกคนหนึ่งเดินกะเผลกออกมาจากซอยที่ปะทะกันนั้น เขาสวมรองเท้าบู๊ตทหาร มือถือโล่ ตั้งหน้าตั้งตาเดินลากขาต่อไป ไม่ทันมีใครสนใจ หล่อนสงสัยว่าเขาเป็นใคร ทหารหรือ แล้วออกมาทำไม บาดเจ็บหรือว่าอย่างไร หล่อนตามเขาไป แต่เขาเดินไวมากทั้งที่กะเผลกอย่างนั้น หล่อนพยายามจะวิ่งแต่หายใจไม่ค่อยทัน พยายามเพ่งมองไปข้างหน้าไม่ให้เขาคลาดสายตา แล้วในที่สุดเขาก็ไปหยุดอยู่ตรงแยกนั้นเบื้องหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เขาทรุดตัวลงบนฟุตบาธ นอนแผ่ร่างหราอยู่อย่างนั้น หล่อนปราดเข้าไป มีคนเสื้อแดงอีกสามสี่คนเข้ามามุง ดูเหมือนเขาจะเป็นลม

ผู้ชายเสื้อแดงช่วยกันเลิกเสื้อของเขาขึ้น หล่อนหยิบยาดมออกมา เอาผ้าชุบน้ำที่พาดคอตัวเองอยู่เช็ดหน้าเขา หันไปอีกทางก็พบทหารอีกคนมาล้มตัวนอนข้างกัน คนเสื้อแดงเรียกให้หล่อนไปช่วยดู มีคนเอาขวดน้ำเย็นมาให้หล่อนชุบผ้าแล้วค่อยๆ ลูบหน้าลูบตัวเขา ผู้ชายสองสามคนช่วยกันถอดเสื้อเกราะหนักๆ ออก เขายังดูเด็กอยู่มาก ออกปากร้องขอน้ำ มีคนส่งมาให้แล้วบอกให้ค่อยๆ จิบ แต่เขาผงกหัวขึ้นยกกรอกอย่างกระหาย หล่อนประคองให้เขาดื่มจนอึกใหญ่ เขาค่อยลงนอนให้หล่อนเอาผ้าชุบน้ำลูบผมลูบหน้าต่อไป

แล้วในที่สุด เขาก็พูด "ผมรับไม่ได้ ผมไม่ไหว มันให้ใช้กระสุนจริง กระสุนจริงๆ เลยนะพี่ ผมไม่อยากมาทำแบบนี้ ผมรับไม่ได้"  หล่อนรู้ว่าถ้าหล่อนคว้ากล้องในกระเป๋าขึ้นมาถ่ายรูปหรือถ่ายวิดีโอไว้ หล่อนก็จะได้มีหลักฐานว่ามีการใช้กระสุนจริง แต่หล่อนทำไม่ลง  ลำพังที่เขาทิ้งออกมาแบบนี้ ก็ไม่รู้จะโดนโทษทัณฑ์อย่างไรบ้างแล้ว เขาอาจจะมาจากครอบครัวยากจนที่ไหนซักแห่ง เป็นแต่เพียงเด็กวัยรุ่นที่ถูกเกณฑ์เป็นทหาร ไม่ได้รับสิทธิให้ใช้วิจารณญาณว่าจะทำตามผู้บังคับบัญชาหรือไม่  ผู้หญิงเสื้อแดงคนหนึ่งที่มาช่วย พร่ำพูดกับเขาว่า ประชาชนมาเรียกร้องประชาธิปไตย มาทำแบบนี้กับเราทำไม ประชาชนมือเปล่าทั้งนั้น  เด็กหนุ่มพูดซ้ำ ผมไม่ได้อยากทำ

สีหน้าเขาเจ็บปวดเสียจนหล่อนต้องค่อยๆ พูดปลอบ ไม่เป็นไร ไม่มีอะไรแล้วนะ น้องทำดีที่สุดแล้ว ไม่เป็นไรแล้ว แล้วก็ราวกับยามที่แม่ซักคนปลอบลูกชาย ทหารหนุ่มคนนั้นน้ำตาไหล หล่อนรีบเอาผ้าขนหนูอีกผืนปาดน้ำตาให้ แต่หยดน้ำเม็ดกลมๆ นั้นยังไม่ยอมหยุดไหล หล่อนได้แต่เอาผ้าลูบหน้าลูบหัวเขาอยู่อย่างนั้น

พักหนึ่งเด็กหนุ่มมีอาการผวา ผงกหัวขึ้นดูว่าโล่ กระบอง และหมวกของเขายังอยู่ครบหรือไม่ เขาถามหาหมวก ชายคนหนึ่งที่เอาไปสวมไว้ชี้บอกเขาว่าอยู่นี่ ไม่ได้หายไปไหน ทหารหนุ่มจึงค่อยเอนลงนอนต่อไป แต่แล้วเสียงปืนก็ดังรัวเป็นชุดมาจากถนนตรงแยกอนุสาวรีย์แห่งนั้น ทุกคนลุกแตกตื่น ทหารหนุ่มลุกพรวดถามหาหมวกของเขา ผู้ชายที่เอาหมวกทหารไปสวมคนนั้นวิ่งปราดเข้าไปตรงจุดปะทะเสียแล้ว ทหารหนุ่มร้องอย่างสิ้นหวัง พี่ครับ พี่เอาหมวกมาให้ผมได้ไหมครับ หล่อนวิ่งตามชายคนนั้นไป เขาเข้าไปจนเกือบแถวหน้า หล่อนเข้าไปสะกิดเขาที่บ่า ขอหมวกคืนให้ทหารได้ไหมคะ พูดไปแล้วหล่อนก็รู้ตัวว่ามันออกจะผิดกาละเทศะ ชายคนนั้นหันมามองแล้วบอกให้หล่อนถอยไป ผมเป็นการ์ดนะ ผมจัดการตรงนี้ก่อน หล่อนได้แต่หันหลังกลับมา ทหารหนุ่มสองคนนั้นหายไปแล้ว

หล่อนยืนหันรีหันขวางอยู่ตรงกลางอย่างนั้น ผ้าขนหนูสองผืนที่เปียกชื้นยังคาอยู่ในมือ เสียงปืนดังรัวเป็นชุด เสียงรถหวอดังลั่น ร่างคนเจ็บถูกหามออกมาคนแล้วคนเล่า เสียงคนตะโกนให้หมอบ "มันใช้กระสุนจริง"  หล่อนก้มลงหมอบช้าๆ ขายังไม่ขยับไปที่อื่น เห็นกระสุนปืนนัดหนึ่งไปกระทบอนุสาวรีย์เกิดประกายไฟแลบ เสียงปืนไม่ยอมหยุด หล่อนก็ไม่ยอมไปไหน หล่อนไม่รู้จะอยู่ทำไม หล่อนไม่ได้ช่วยอะไรเขาได้ แต่หล่อนหนีไม่ได้ มวลชนคือมวลชน อยู่ยืนปะปนอย่างนั้นจนกว่าทุกคนจะหายไป

หล่อนนึกถึงเมื่อคราวพฤษภาที่หล่อนยังเป็นนักศึกษา ในวงประชุมอันเคร่งเครียด รุ่นพี่คนหนึ่งบอกว่าอดีตผู้นำนักศึกษารุ่นใหญ่คนหนึ่งฝากมาบอกว่าอย่าเคลื่อนต่อเลย เรารับผิดชอบชีวิตประชาชนไม่ได้ หล่อนฟังแล้วตอบกลับไปด้วยใจซื่อว่าพูดแบบนั้นไม่ได้ ประชาชนตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่ใช่เราตัดสินใจให้ เราไม่ได้เป็นอะไรยิ่งใหญ่ขนาดนั้น การอ้างว่าเราเป็นผู้รับผิดชอบการตัดสินใจของพวกเขา ก็เท่ากับเราสำคัญตนพร้อมๆ กับดูเบาว่าพวกเขาไม่ได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง  แต่ภายหลังเหตุการณ์เมื่อเกิดความสูญเสียแล้ว หล่อนไม่รู้จะอธิบายตัวเองอย่างไร มวลชนตัดสินใจเองเหมือนที่หล่อนก็ตัดสินใจเอง แล้วทำไมพวกเขาตาย

แต่ในวันนี้ หล่อนไม่ใช่ผู้ปฏิบัติงานในขบวนนำ หล่อนเป็นมวลชน หล่อนเป็นคนที่ถูกชวนออกมา และตัดสินใจแล้วว่าจะมา จะเป็นตายอย่างไรไม่มีใครต้องรับผิดชอบการตัดสินใจแทนหล่อน หล่อนยืนนิ่งอยู่ท่ามกลางเสียงกระสุน ระเบิด รถพยาบาล ที่อึงมี่ตั้งแต่ที่สี่แยกคอกวัว ที่หล่อนจงใจหันหลังให้อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา และบัดนี้ก็มายืนเผชิญหน้ากับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย  หล่อนยืนอยู่ท่ามกลางสิ่งเหล่านี้ในฐานะมวลชน โอกาสเจ็บและตายเท่ากันกับทุกคน  หล่อนรู้ว่าคราวนี้หล่อนจะไม่ต้องอยู่กับฝันร้ายเหมือนเมื่อหลังพฤษภา หล่อนจะไม่ให้ใครไล่ล่าตามหลังได้ เพราะหล่อนจะไม่วิ่ง หล่อนจะเผชิญหน้าและพร้อมรับ  หล่อนไม่ได้จะมาเพื่อ "ตาย

เพื่อประชาธิปไตย"  ปัญญาชน "ฉลาด" เกินกว่าที่จะทำอะไรที่สูญเปล่าอย่างนั้น แต่หล่อนจะมาเคียงบ่าเคียงไหล่กับคนเหล่านี้ที่ยังเชื่ออย่างนั้นไม่ว่าเขาจะถูกมองว่าโง่ (และโง่ซ้ำซาก) อย่างไร และรับความเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายนั้นเท่าๆ กัน ไม่ว่ามันจะเป็นการตายอย่างที่พวกเขาเรียกว่าวีระอาจหาญ หรือตายเพราะความเฟอะฟะที่ปล่อยให้ตัวเองถูกอัดอยู่ตรงกลางระหว่างโล่สองอัน  หล่อนเพียงต้องการยกระดับตัวเองจากความเป็นปัญญาชนนั้นไปสู่ความเป็นมวลชน มวลชนเหล่านี้ที่ไม่มีอะไรเหมือนกับหล่อนทั้งรสนิยมและอุดมการณ์ เป็นประชาชนที่ไม่แยกระหว่างนามธรรมอย่างประชาธิปไตยกับผลประโยชน์อันจะทำให้ชีวิตพวกเขาลืมตาอ้าปากได้  พวกเขาไม่ได้มาต่อสู้เพื่อระบอบการปกครองที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างยิ่งใหญ่ พวกเขาเจียมตัวเกินไป พวกเขาเพียง

เรียกร้องให้ระบอบการปกครองนั้นมันได้รับใช้เขาบ้าง และหากการเรียกร้องจากเรื่องปากท้องของพวกเขา จะส่งผลต่อเนื่องไปสั่นสะเทือนอำนาจใหญ่ที่ฉกฉวยและบงการอยู่หลังฉากนองเลือดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาอย่างไร พวกเขาก็ไม่ได้รู้หรอกว่าชีวิตและเลือดเนื้อของพวกเขาอาจจะกำลังพลอยแบกรับประวัติศาสตร์ที่เหล่า "พลังบริสุทธิ์" พากันหลงลืมละทิ้งไปเสียอีกด้วย

เสียงแกนนำบนเวทีประกาศขอร้องให้ทหารหยุดยิง และเรียกให้ประชาชนถอยออกมาจากแนวปะทะซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่อย่างนั้น แต่เสียงปืนก็ยังดังสนั่นต่ออีกนาน หล่อนไม่กล้านับจำนวนคนที่ถูกหามออกมา  อีกเนิ่นนานให้หลัง เมื่อเสียงปืนสงบลง เพื่อนที่เฝ้าตามหาตัวหล่อนพาหล่อนเดินไปนั่งพักแถวใกล้ๆ เวที คนยังเนืองแน่นอยู่ตรงนั้น รอฟังว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป  แล้วบนเวทีก็เริ่มประกาศรายชื่อผู้เสียชีวิต หล่อนวางผ้าขนหนูเปียกชื้นสองผืนนั้นลง ยกมือขึ้นปิดหน้า  มันบัดซบนักประเทศนี้ ที่ผู้มีอำนาจพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์แห่งอิทธิฤทธิ์บารมีด้วยชีวิตเลือดเนื้อและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนและพลทหาร  และเชื่อเถอะ เขาก็จะยังได้รับความสนับสนุนและเห็นใจจากบรรดา "คนดีมีศีลธรรม" ของประเทศนี้ต่อไป  รายชื่อคนตายยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  หล่อนรู้สึกแสบตาขึ้นมากะทันหัน กลั้นน้ำตาไม่ให้ไหล แล้วหล่อนก็นึกได้ว่าคงเพราะผ้าชุบน้ำที่หล่อนเช็ดหัวเช็ดหน้าให้ทหารนั้น ได้เช็ดเอาแก๊สน้ำตาที่ติดอยู่กับผมและใบหน้าของเขามาด้วย เมื่อหล่อนยกมือขึ้นปิดหน้า แก๊สน้ำตาที่ติดมากับมือจึงออกฤทธิ์

 

เช้าวันรุ่งขึ้น หล่อนตื่นขึ้นมาด้วยความอ่อนเปลี้ยและจิตใจที่กังวลเหมือนทุกเช้าที่ผ่านมา ที่ต้องคอยแหวกหาช่องทางฟังคลื่นถ่ายทอดการชุมนุมทางอินเตอร์เน็ต ว่าเช้านี้พวกเขายังอยู่ดีกันหรือไม่  หล่อนละอายที่หล่อนไม่เคยทำได้ขนาดพวกเขาจำนวนมากที่อยู่เฝ้า ณ ที่ชุมนุมแห่งนั้นข้ามคืนข้ามวัน หล่อนกลับมาอยู่ในพื้นที่อันปลอดภัยของตัวเองได้เสมอ หล่อนมองไปที่กองกระเป๋าข้าวของที่ระกะอยู่ตั้งแต่เมื่อคืน เดินไปหยิบผ้าขนหนูสองผืนนั้น หล่อนควรจะทำอย่างไรกับมัน  สันดาน "กระฎุมพี" อย่างหล่อนที่ถูกอบรมสั่งสอนมา ทำให้หล่อนไม่อยากนำผ้าที่เปรอะเปื้อนนั้นกลับมาใช้อีกแม้สำนึกอีกด้านจะบอกว่าเพียงแต่นำมาซักให้สะอาดก็จะยังใช้ได้  หล่อนตัดสินใจจะทิ้งมันไป แต่ก่อนจะทิ้ง หล่อนหยิบมันไปที่อ่าง เปิดน้ำไหลผ่านชะล้างคราบแก๊สน้ำตานั่นให้เกลี้ยงและจะซักตากให้สะอาดก่อนเก็บทิ้งลงถัง  ใครจะรู้ อาจมีคนเก็บขยะหรือคนจนๆ ที่ไหนที่มาคุ้ยกองขยะแล้วพบผ้าสองผืนนี้ และอาจจะอยากนำไปใช้ต่อไป

หล่อนไม่อยากให้เขาหรือเธอต้องน้ำตาไหลเพราะของใช้แล้วทิ้งจากมวลปัญญาชน

 

------------------------------------------

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อวัตถุศึกษากับอธิป: Games of Thrones ยอดโหลดสูงสุดของบิตทอร์เรนต์

Posted: 10 Apr 2013 02:07 AM PDT

 

ประมวลข่าวสารด้านทรัพย์สินทางปัญญากับ 'อธิป จิตตฤกษ์' สัปดาห์นี้นำเสนอเรื่องอเมริกาเตรียมเปิดห้องสมุดดิจิตัล, ซีรีส์ Games of Thrones ทะลุ 160,000 ยอดดาวน์โหลด ฯลฯ 

 

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก

 

Week 12

02-04-2013

ศาลชั้นต้นนิวยอร์คตัดสินแล้วว่าการขาย mp3 มือสองนั้นถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์

บริการที่เป็นคดีความนี้คือ ReDigi

ReDigi คือโปรแกรมให้บริการขาย mp3 ที่ซื้อมาอย่างถูกต้องทาง iTunes โดยเมื่อผู้ใช้ติดตั้งโปรแกรม ReDigi แล้วจะขาย mp3 ผ่านโปรแกรม ทางโปรแกรมจะตรวจสอบไฟล์ว่าซื้อมาอย่างถูกต้องจริงหรือไม่ก่อน แล้วค่อยดึงไฟล์ขึ้นไปบนคลาวด์ไดรฟ์ก่อนการซื้อขาย หลังการซื้อขายเสร็จไฟล์ก็จะไปอยู่ในคอมพิวเตอร์ของผู้ซื้อ และหายไปจากคอมพิวเตอร์ของผู้ขาย ซึ่งกระบวนการทั้งหมดก็ทำมาเพื่อที่จะจำลองการซื้อของในทางกายภาพ

อย่างไรก็ดีทางศาลก็เห็นว่ารูปแบบการซื้อขายนี้ละเมิดลิขสิทธิ์ การอ้าง "หลักการขายครั้งแรก" ของจำเลยดูจะฟังไม่ขึ้นเพราะกระบวนการทั้งหมดจำเป็นต้องมีการทำสำเนาไฟล์หรือการ "ผลิตซ้ำ" ซึ่งเป็นสิทธิที่ไม่ได้อยู่ภายใต้หลักการขายครั้งแรก

ศาลยังเสริมอีกว่าการตัดสินครั้งนี้ไม่ได้ทำลาย "หลักการขายครั้งแรก" ของทรัพย์สินดิจิตัล เพราะผู้ซื้อทรัพย์สินดิจิตัลยังสามารถขายฮาร์ดดิสก์ที่โหลดไฟล์เพลงมาอย่างถูกต้องได้โดยไม่ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ (เพราะขายแบบนั้นไม่ต้องทำสำเนา)

แน่นอนว่า ReDigi ก็จะสู้คดีในระดับศาลอุทธรณ์ต่อไป แต่ในขณะนี้ตลาด "ไฟล์มือสอง" ในอเมริกาทั้งหมดก็ดูจะชะงักลงก่อน ซึ่งนี่ต่างจากทางยุโรปที่การศาลตัดสินแล้วว่าการซื้อขาย "ไฟล์มือสอง" ในลักษณะเดียวกับ ReDigi เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายและได้รับการคุ้มครองภายใต้หลักการขายครั้งแรก

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130401/11341622538/redigi-loses-selling-used-mp3s-online-infringes-first-sale-doesnt-apply-to-digital-transfers.shtml, https://www.eff.org/deeplinks/2013/04/testing-limits-first-sale-court-holds-redigi-music-re-sale-service-illegal, http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2013/20130401usedmp3s , http://paidcontent.org/2013/04/01/court-slams-shut-music-locker-redigi-says-first-sale-doesnt-apply/

 

Game of Thrones ตอนแรกของ Season ล่าสุดทำลายสถิติไฟล์บิตทอร์เรนต์ที่คนดาวน์โหลดเยอะที่สุดไปแล้วเมื่อมีคนดาวน์โหลดพร้อมกันกว่า 160,000 คน

News Source: http://torrentfreak.com/game-of-thrones-pirates-break-bittorrent-swarm-record-130401/

 

03-04-2013

ศาลอุทธรณ์เท็กซัสตัดสินว่าก่อนตำรวจจะค้นโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาได้ต้องมีหมายศาลก่อน

มีเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งถูกจับเข้าคุกในคดีลหุโทษ และระหว่างคุมขังเจ้าหน้าที่ก็เข้าไปค้นของกลางซึ่งก็คือมือถือของเขา เพื่อหาหลักฐานว่าเขาเกี่ยวข้องกับคดีอุกฉกรรจ์คดีอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่ทำให้เขาโดนคุมขังเลย ศาลชั้นต้นปฏิเสธการใช้หลักฐานจากมือถือทั้งหมดด้วยเหตุผลว่าเจ้าหน้าที่มีเวลาเหลือเฟือที่จะขอหมายศาลมาค้น และก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องค้น

ทางรัฐจึงยื่นอุทธรณ์เพื่อใช้หลักฐานจากมือถือ และศาลอุทธรณ์ก็ยืนยันเหมือนกับศาลชั้นต้นว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิ์ไปค้นโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหา

คำตัดสินนี้สอดคล้องกับคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ภาคที่ 9 ก่อนหน้านี้ที่ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ต้องมีหมายศาลก่อนค้นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยศาลให้เหตุผลว่าการค้นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้นต่างจากการค้นกระเป๋า เพราะถ้าเทียบกันแล้วมันไม่ใช่การค้นสิ่งที่อยู่ในกระเป๋าเท่านั้น แต่เป็นการค้นทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยอยู่ในกระเป๋ามาก่อน

News Source: https://www.eff.org/deeplinks/2013/04/eff-texas-high-court-cell-phone-isnt-pair-pants

 

04-04-2013

Timo Vuorensola ผู้กำกับ Iron Sky ประกาศว่าเขาจะดาวน์โหลด Game of Thrones ทาง The Pirate Bay เนื่องจากบริการ HBO ในฟินแลนด์คุณภาพแย่มาก

Vuorensola บอกว่า HBO ที่เคลมว่าเป็น HD ก็ไม่ใช่ HD จริงๆ คุณภาพของภาพแย่มากๆ

เขาเลยบอกว่าเขาจะไปโหลดซีรี่ส์ดังเรื่องนี้มาดูจาก The Pirate Bay ดีกว่าเพราะภาพจะชัดกว่า อย่างไรก็ดี เขาบอกว่าเขาจะจ่ายเงินค่าเคเบิลต่อไปเพราะเขาสนับสนุนงานที่มีรสนิยมดี

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ทางผู้สร้าง Game of Thrones ก็บอกว่าการที่ซีรีส์ของเขาถูกดาวน์โหลดเถื่อนเยอะก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะมันสร้างชื่อเสียงให้ซีรีส์ และยอดการจ่ายเงินเพื่อดูทางเคเบิลก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใดด้วย และล่าสุดตอนแรกของซีซั่นที่ 3 ของ Game of Thrones ก็ทำลายสถิติเก่าๆ และได้กลายเป็นไฟล์บิตทอร์เรนต์ที่คนดาวน์โหลดพร้อมกันมากที่สุดในโลกไปเรียบร้อยแล้ว

News Source: http://torrentfreak.com/ill-download-game-of-thrones-from-the-pirate-bay-iron-sky-director-tells-hbo-130403/

 

National Digital Public Library (NDPL) หรือหอสมุดแห่งชาติดิจิตัลของอเมริกาจะเปิดให้บริการ 18 เมษายนนี้แล้ว โดยคาดว่าจะมีหนังสือ รูปภาพและหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ให้บริการกว่า 2 ล้านชิ้น

Robert Darnton นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง (ซึ่งยุคนี้คงไม่ได้รับความนิยมเท่าไรเพราะดันไปมีชื่อเสียงจากเรื่องที่เขียนถึงการสังหารหมู่แมว) ซึ่งนั่งเป็นกรรมการของห้องสมุดออนไลน์นี้ เล่าว่ามีการเตรียมการห้องสมุดนี้กว่า 3 ปี

เขากล่าวว่าตอนนี้มีแหล่งทุนและห้องสมุดจำนวนมากสนใจ แต่ความสมบูรณ์แบบยังห่างไกล เพราะคงต้องมีห้องสมุดอีกจำนวนมากอุทิศคอลเล็คชั่นดิจิตัลให้กับ NDPL ห้องสมุดนี้ถึงจะสมบูรณ์ใกล้เคียงกับห้องสมุดแห่งสภาคองเกรสได้ ซึ่งนั่นก็อาจใช้เวลาเป็นสิบปี

ทั้งนี้ Darnton ยังบอกอีกว่าปัญหาใหญ่จริงๆ ไม่ใช่เรื่องเงินทุน เท่ากับเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ที่ไม่เอื้อให้กับการแพร่กระจายเอกสารจำนวนมากที่ยังไม่หมดลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นเอกสารส่วนใหญ่ในศตวรรษที่ 20 แต่เขาก็ยังเห็นว่ามีช่องของ "หลักการใช้ที่เป็นธรรม" ที่ศาลเริ่มตีความกว้างขึ้นว่าอาจทำให้ห้องสมุดเผยแพร่เอกสารร่วมสมัยได้มากขึ้น เขายังเสริมอีกว่าผู้ถือครองลิขสิทธิ์ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนหรือสำนักพิมพ์นั้นก็สามารถมอบสิทธิ์ในการเผยแพร่ให้ห้องสมุดได้ และเสริมอีกว่าหนังสือที่ตีพิมพ์ออกมานั้นจริงๆ ก็มีอายุในทางการค้าอยู่ไม่กี่ปีเท่านั้น (ซึ่งไม่สอดคล้องกับลิขสิทธิ์ที่คุ้มครองยาวนานไปอีกอย่างต่ำๆ ก็ 70 ปี - กฎหมายลิขสิทธิ์อเมริกามีระยะการคุ้มครองงานเขียนยาวนานถึง 70 ปีหลังผู้เขียนตาย)

News Source: http://www.nybooks.com/articles/archives/2013/apr/25/national-digital-public-library-launched/



อเมริกายังเป็นตลาดงานบันทึกเสียงดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ 2 รองลงมาคือญี่ปุ่น ส่วนอันดับ 3 ที่ทิ้งมาห่างมากๆ คืออังกฤษ

ตัวเลขส่วนแบ่งตลาดของงานดนตรีบันทึกเสียงของสมาพันธ์อุตสาหกรรมบันทึกเสียงนานาชาติหรือ IFPI ชี้ว่ายอดขายงานบันทึกเสียงของอเมริกาและญี่ปุ่นนี่รวมกันน่าจะมีมูลค่าเกินครึ่งของยอดขายดนตรีทั้งโลกด้วยซ้ำ ด้วยมูลค่ากว่า 8,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าตลาดงานบันทึกเสียงทั้งโลกกว่า 16,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ถ้านับจากขนาดประเทศและกำลังซื้อของคนในประเทศแล้วแล้วไม่น่าแปลกใจเลยที่อเมริกาจะเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด

แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือญี่ปุ่นที่เป็นตลาดอันดับสองทั้งๆ ที่ขนาดประเทศและจำนวนประชากรน้อยกว่ามาก ซึ่งสะท้อนถึงความเข้มข้นของการบริโภคงานดนตรีของคนญี่ปุ่น

ที่น่าตื่นเต้นอีกเรื่องก็คืออัตราส่วนของรายได้ ถ้าดูในอเมริกา ภาพจะชัดเจนมากว่ายอดขาย Digital นั้นเป็นอัตราส่วนกว่าครึ่งของยอดขายทั้งหมดไปแล้ว

แต่ที่ญี่ปุ่นยอดขายแบบ Physical (ส่วนใหญ่น่าจะเป็น CD และแผ่นเสียง) ยังถือว่าเป็นร้อยละ 80 ของยอดขายทั้งหมดอยู่ และยอดขายทั้งหมดของญี่ปุ่นก็ยังอยู่ขาขึ้นอยู่ ซึ่งเป็นประเทศเดียวที่มูลค่าตลาดเกิน 1000 ล้านดอลลาร์ที่ยอดขายงานดนตรียังอยู่ในขาขึ้นอยู่

ที่น่าสนใจคือเกาหลีที่ขนาดโตมามากแล้วหลังๆ ยังขนาดไม่ถึง 1 ใน 20 เท่าของญี่ปุ่น แถมว่ายอดขายที่สูงสุดแล้วยังถือว่าอยู่ขาลงด้วยซ้ำ (เกาหลีอยู่แค่อันดับ 11 ของโลกด้วยซ้ำถ้าว่าด้วยยอดขายงานดนตรี)

และที่น่าสนใจที่สุดคือ ญี่ปุ่นเป็นแบบนี้ได้ โดยไม่มีการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น (เกาหลีรัฐลงมาปราบการ "โหลดเพลง" เป็นประเทศแรกในโลกในปี 2009 ส่วนญี่ปุ่นเพิ่งออกกฎหมายมาปี 2012 แต่เริ่มบังคับใช้ในปี 2013 ดังนั้นผลของกฎหมายจึงน่าจะอยู่นอกสถิตินี้)

http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2013/20130408world

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ฮิวแมนไรท์วอทช์' กังวลกรณีโรงงานฟ้องหมิ่นประมาท 'อานดี้ ฮอลล์'

Posted: 10 Apr 2013 01:54 AM PDT

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ชี้การตั้งข้อหาหมิ่นประมาทนักสิทธิแรงงานชาวอังกฤษโดยบริษัทบริษัทผลิตสับปะรด ละเมิดเสรีภาพแสดงออกและสร้างบรรยากาศข่มขู่ต่อการสอบสวนการละเมิดสิทธิอื่นๆ

10 เม.ย. 56 - องค์กรฮิวแมนไรท์ วอทช์ องค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีสำนักงานใหญ่ที่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์ต่อกรณีการตั้งข้อหาหมิ่นประมาท อานดี้ ฮอลล์ นักสิทธิแรงงานชาวอังกฤษซึ่งถูกฟ้องจากบริษัทเนเชอรัล ฟรุต โดยเรียกค่าเสียหาย 300 ล้านบาทว่า เป็นการจำกัดเสรีภาพการแสดงออก และสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวต่อการสืบสวนกรณีการละเมิดสิทธิในบริษัทเอกชนอื่นๆ ในประเทศไทย

ทั้งนี้ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา อานดี้ ฮอลล์ ร่วมกับองค์กรวิจัยชื่อ ฟินวอทช์ เผยแพร่รายงานที่ชื่อ "Cheap has a high price: Responsibility problems relating to international private label products and food production in Thailand" ซึ่งสอบสวนกรณีการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติจากพม่าและกัมพูชาในโรงงานผลิตทูน่ากระป๋องและสับปะรดกระป๋อง 3 แห่ง ในจังหวัดสมุทรสาครและประจวบคีรีขันธ์

ต่อมา บริษัทเนเชอรัล ฟรุต หนึ่งในโรงงานที่ปรากฏในรายงานดังกล่าว ฟ้องร้องหมิ่นประมาททางแพ่งและอาญา ร่วมกับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พร้อมเรียกค่าเสียหายจำนวน 300 ล้านบาท โดยระบุว่าเป็นการเผยแพร่ความเท็จและทำให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจ

หากฮอลล์ถูกตัดสินว่าผิดจริงในข้อหาดังกล่าว เขาอาจถูกจำคุกสูงสุดเป็นเวลา 5 ปี และต้องจ่ายค่าเสียหายให้บริษัทโจทก์อีกสูงสุด 300 ล้านบาท

"การตั้งข้อหาทางอาญาต่ออานดี้ ฮอลล์ สะท้อนถึงความพยายามที่จะปิดกั้นรายงานดังกล่าวซึ่งระบุว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยโรงงานบริษัทผลไม้ชั้นนำของไทย" แบรด อดัมส์ กล่าวและว่า "เสรีภาพในการสอบสวนการละเมิดสิทธิโดยบรรษัทนั้นสำคัญต่อการตรวจสอบและให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายไทยและมาตรฐานสิทธิมนุษยชน"

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ยังระบุด้วยว่า มีประเทศและหน่วยงานระหว่างประเทศจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เชื่อว่าควรยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา เนื่องจากมีการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนต่อความผิด เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง และจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก นอกจากนี้ ยังตกเป็นเครื่องมือการกลั่นแกล้งด้วย

"บริษัทต่างประเทศที่จัดซื้อจัดจ้างจากประเทศไทย ควรหารือเรื่องนี้กับรัฐบาลไทยว่า การใช้กฎหมายหมิ่นประมาทอาญาเพื่อปิดปากนักสิทธิจะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ และรัฐบาลไทยควรยินดีต่อความพยายามพิทักษ์สิทธิของแรงงาน มิใช่ลงโทษ" แบรด อดัมส์ กล่าว

ทั้งนี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้มีกำหนดนัดพร้อมคดีดังกล่าวในวันพรุ่งนี้ (11 เม.ย. 56)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กกต. มาเลเซีย ประกาศวันเลือกตั้งทั่วไป 5 พ.ค. นี้ ให้เวลาหาเสียง 15 วัน

Posted: 10 Apr 2013 01:19 AM PDT

ประธาน กกต. มาเลเซียประกาศจะจัดเลือกตั้งทั่วไป 5 พ.ค. หาเสียงได้ 15 วัน นับตั้งแต่วันรับสมัคร ส.ส. 20 เม.ย. คาดจะเป็นการเลือกตั้งที่แข่งขันสูงสุดครั้งหนึ่งของการเมืองมาเลเซียที่พรรครัฐบาลแม้จะชนะการเลือกตั้งมาตลอดนับตั้งแต่ตั้งประเทศในปี 2510 แต่การเลือกตั้งครั้งหลังสุดพรรคฝ่ายค้านได้ที่นั่งมากขึ้น และชนะพรรครัฐบาลได้ในกัวลาลัมเปอร์และอีกหลายรัฐ

คณะกรรมการการเลือกตั้งมาเลเซีย ประกาศวันเลือกตั้งทั่วไปเป็นวันที่ 5 พฤษภาคม 2556 ที่มา: Kini.tv

นาจิป ราซัก (ซ้าย) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และผู้นำพรรครัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ" หรือ BN และอันวาร์ อิบราฮิม (ขวา) ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน "ภาคีประชาชน" หรือ PR (ที่มา: Wikipedia/ประชาไท/แฟ้มภาพ)

วันนี้ (10 เม.ย.) เมื่อเวลา 12.43 น. ตามเวลาท้องถิ่นมาเลเซีย คณะกรรมการการเลือกตั้งมาเลเซีย ได้ประกาศทางสถานีโทรทัศน์ว่าการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 13 ของมาเลเซียจะจัดในวันที่ 5 พฤษภาคม และวันรับสมัครผู้สมัครเลือกตั้งจะจัดในวันที่ 20 เมษายน โดยการประกาศวันเลือกตั้ง เกิดขึ้นหลังจากนายอับดุล อัซซิส โมฮัมหมัด ยูซูป ประธาน กกต. มาเลเซียประชุมกันที่สำนักงาน กกต. ที่ปุตราจายาวันนี้ โดยก่อนหน้านี้เมื่อสัปดาห์ก่อนนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจิป ราซัก ประกาศยุบสภา (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

โดยการเลือกตั้งครั้งนี้กำหนดวันหาเสียงไว้ 15 วัน นับเป็นการเลือกตั้งที่เปิดให้มีการหาเสียงยาวนานที่สุดในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2525 ส่วนการเลือกตั้งล่วงหน้า สำหรับตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่ กกต. และสมาชิกครอบครัว กำหนดไว้ในวันที่ 30 เม.ย.

สำหรับการเลือกตั้งในวันที่ 5 พ.ค. จะมีการเลือกตั้งทั้งรัฐบาลระดับชาติ และรัฐบาลระดับท้องถิ่นพร้อมกันทั่วประเทศ ยกเว้นรัฐซาราวัก บนเกาะบอร์เนียว ทางตะวันออกของมาเลเซียจะมีการเลือกตั้งรัฐบาลระดับท้องถิ่นในปี 2559

อนึ่ง การเลือกตั้งครั้งที่ 13 นี้ มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 13 ล้านคน และมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก 2.6 ล้านคน และในจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งนี้จะมีผู้มีสิทธิประมาณ 2.7 แสนคนจากกองทัพ จะใช้สิทธิผ่านช่องทางไปรษณีย์

โดยประธาน กกต. มาเลเซีย กล่าวว่าที่เลือกวันที่ 5 พ.ค. เป็นวันเลือกตั้งเพราะเป็นวันที่ไม่ตรงกับวันสำคัญอะไร และคาดหมายว่าทั้งวันรับสมัคร ส.ส. และวันเลือกตั้ง สภาพอากาศน่าจะดี และเขายืนยันว่าถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้กลายเป็นการเลือกตั้งสกปรก ก็ไม่ได้เป็นเพราะ กกต. และพรรคการเมืองรวมทั้งผู้สนับสนุนควรจะปฏิบัติกฎข้อบังคับในการหาเสียงเลือกตั้ง และเขาหวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ

ทั้งนี้พรรครัฐบาลมาเลเซีย "แนวร่วมแห่งชาติ" หรือ BN ชนะการเลือกตั้งและครองอำนาจในมาเลเซียมานับตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี พ.ศ. 2510 อย่างไรก็ตามพรรคฝ่ายค้าน "ภาคีประชาชน" หรือ PR ก็ได้เสียงในสภามากขึ้น โดยการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดในปี 2551 พรรคฝ่ายค้านได้ ส.ส. 82 ที่นั่ง ส่วนฝ่ายรัฐบาลได้ 140 ที่นั่ง ซึ่งลดลง 58 ที่นั่ง จากเดิมที่เคยได้ 198 ที่นั่งในการเลือกตั้งปี 2547 โดยฝ่ายค้านสามารถชนะการเลือกตั้งที่รัฐเคดะห์ กลันตัน ปีนัง สลังงอร์ และเขตกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งทำให้พรรครัฐบาลสูญเสียการเป็นเสียงข้างมาก 2 ใน 3 เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี

สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด พรรครัฐบาล ได้คะแนนนิยมราว ร้อยละ 50.27 ส่วนพรรคฝ่ายค้านได้รับคะแนนนิยมราว ร้อยละ 46.75 

 

ที่มา: เรียบเรียงจาก GE13: Nominations on April 20, polls on May 5, Ram Anand, Malaysiakini, April 10, 2013

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ฯ ชี้ไทยเป็นประเทศส่วนน้อยในโลกที่ยังใช้โทษประหารชีวิต

Posted: 09 Apr 2013 10:22 PM PDT

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตในปี 2555 พบไทยเป็นหนึ่งใน 58 ประเทศทั่วโลกที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิต ในขณะที่แนวโน้มทั่วโลกมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต




สถานการณ์โทษประหารชีวิตโดยแอมเนสตี้ ประเทศไทย


(10 เม.ย.56) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยแพร่รายงาน "สถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิต ในปี 2555" (Death Sentences and Executions in 2012) ระบุว่า แนวโน้มทั่วโลกมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยในปี 2555 มีเพียง 21 ประเทศหรือหนึ่งใน 10 ของประเทศทั่วโลกเท่านั้นที่ยังทำการประหารชีวิต

เมื่อ 35 ปีที่แล้ว มีเพียง 16 ประเทศ ที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต แต่ในปัจจุบันมี 140 ประเทศทั่วโลกหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของทุกประเทศที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว นั่นแสดงให้เห็นว่าทัศนคติและความเชื่อดั้งเดิมสามารถเปลี่ยนแปลงได้

อย่างไรก็ตามในปี 2555 ได้เกิดความถดถอยเช่นกัน กล่าวคือมีการรื้อฟื้นการประหารชีวิตในประเทศแกมเบีย อินเดีย ญี่ปุ่น และปากีสถาน รวมทั้งการเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจของการประหารชีวิตตามการรายงานข่าวในอิรัก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง 

สำหรับประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศนั้น กัมพูชาและฟิลิปปินส์ ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท ส่วนลาว พม่า และบรูไน ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ   ส่วนประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนาม ยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่

สำหรับประเทศไทยในปี 2555 มีบันทึกการตัดสินประหารชีวิตอย่างน้อย 106 คดี และจนถึงสิ้นปี 2555 มีนักโทษประหารชีวิตอยู่กว่า 650 คน โดยกว่าครึ่งเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อย่างไรก็ตามเป็นปีที่ 3 ที่ไม่มีการประหารชีวิตในประเทศไทย

ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2555 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติรับรองผลการพิจารณาการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (UPR) ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2554 อย่างไรก็ตามทางการไทยปฏิเสธข้อเสนอแนะที่ให้ทบทวนหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิต และแม้ว่ารัฐไทยได้แสดงเจตจำนงในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (2552-2556) ที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิต และเปลี่ยนเป็นจำคุกตลอดชีวิตแทน แต่ตลอดทั้งปีที่ผ่านมากลับมีเสียงเรียกร้องให้เร่งการประหารชีวิตในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด รวมทั้งการกดดันที่มาจากหน่วยงานของรัฐบาลด้วย

ปริญญา ระบุว่า ในปี 2555 ประเทศไทยได้ "งดออกเสียง" เป็นปีที่ 2 ต่อมติพักการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าอีกครั้งหนึ่งเมื่อเทียบกับการลงมติ "คัดค้าน" เมื่อปี 2550 และ 2551 การประชุมครั้งต่อไปในปี 2557 เราคาดหวังว่าประเทศไทยจะลงมติ "เห็นชอบ" รับมติพักการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวอย่างเป็นทางการ

"แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ดำเนินการตามเจตน์จำนงที่ระบุไว้ในแผนสิทธิมนุษยชน ประกาศพักการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวอย่างเป็นทางการ รวมทั้งให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติกา ICCPR" ปริญญากล่าว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตและเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม

 

โทษประหารปี 2555: ข้อเท็จจริงและตัวเลข

ข้อมูลระดับโลก

  • มีผู้ถูกประหารชีวิตอย่างน้อย 682 คน ใน 21 ประเทศ ในปี 2555 เมื่อปี 2554 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรายงานว่ามีการประหารชีวิต 680 คน ใน 21 ประเทศทั่วโลก
  • การประหารชีวิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ประเทศจีน อิรัก อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอเมริกา และเยเมน ตามลำดับ
  • จีนประหารชีวิตบุคคลเป็นจำนวนมากกว่าการประหารชีวิตในประเทศที่เหลือในโลกรวมกัน แต่เราไม่ทราบข้อมูลการใช้โทษประหารที่แท้จริงในจีน เพราะทางการถือเป็นความลับทางราชการ และตัวเลข 682 ครั้งนั้นยังไม่รวมถึงการประหารนับพันครั้งที่เกิดขึ้นในจีน
  • ในอิรัก การประหารชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก มีผู้ถูกประหารชีวิตอย่างน้อย 129 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2554 เกือบสองเท่า ที่มีผู้ถูกประหารชีวิต 68 คน
  • ในปี 2555 มีเพียง 21 ประเทศ หรือประมาณหนึ่งในสิบประเทศทั่วโลกที่ประหารชีวิต จำนวนเท่ากับปี 2554 แต่ลดลงประมาณหนึ่งในสี่จากทศวรรษที่ผ่านมา (28 ประเทศมีการประหารชีวิตในปี 2546)
  • 140 ประเทศทั่วโลก หรือมากกว่าสองในสาม ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางกฎหมายหรือทางปฏิบัติ
  • เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 111 ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติลงมติเห็นชอบมติพักการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราว เป็นครั้งที่สี่
  • มีข้อมูลว่ามีการแปลงโทษหรือการอภัยโทษสำหรับโทษประหารใน 27 ประเทศในปี 2555 ลดลงจาก 33 ประเทศในปี 2554
  • มีคำตัดสินลงโทษประหารชีวิต 1,722 ครั้ง ใน 58 ประเทศ ลดลงจาก 1,923 ครั้ง ใน 63 ประเทศในปี 2554
  • จนถึงปลายปี 2555 มีผู้ต้องโทษประหารอย่างน้อย 23,286 คน
  • ในปี 2555 บางประเทศที่ไม่ได้ใช้โทษประหารชีวิตเป็นเวลานาน กลับมารื้อฟื้นการประหารชีวิตอีกครั้ง เช่น ปากีสถาน (มีการประหารชีวิตครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี) อินเดีย (มีการประหารชีวิตครั้งแรกในรอบกว่า 8 ปี) และ แกมเบีย (มีการประหารชีวิตครั้งแรกในรอบ 3 ทศวรรษ)
  • มีการประหารชีวิตบุคคลอย่างน้อยสองคนในเยเมนสำหรับความผิดที่กระทำตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 18 ปี ซึ่งถือว่าขัดกับกฎบัตรระหว่างประเทศ
  • สำหรับประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่มีการประหารชีวิตหรือมีการลงโทษประหาร กระบวนการไต่สวนที่เกิดขึ้นมักไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศในการไต่สวนคดีอย่างเป็นธรรม ในบางประเทศ มีการบังคับให้สารภาพโดยใช้การทรมาน หรือการกดดันอย่างอื่น อย่างเช่นในประเทศอัฟกานิสถาน เบลารุส จีน อิหร่าน อิรัก เกาหลีเหนือ ซาอุดิอาระเบีย และไต้หวัน
  • ในประเทศเบลารุสและญี่ปุ่น นักโทษไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้าว่าจะมีการประหารชีวิต รวมถึงทนายความและครอบครัวด้วย ในประเทศเบลารุสและบอตสวานาทางการไม่ส่งคืนร่างของนักโทษที่ถูกประหารให้กับครอบครัวเพื่อทำพิธีฝัง
  • ทราบกันว่ามีการประหารชีวิตต่อหน้าสาธารณะในประเทศอิหร่าน เกาหลีเหนือ ซาอุดิอาระเบีย และโซมาเลีย
  • ยังมีการใช้โทษประหารกับความผิดที่ไม่นับเป็น "อาชญากรรมร้ายแรงที่สุด" ซึ่งหมายถึง "การเจตนาฆ่าผู้อื่น" ตามที่นิยามไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น ความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในหลายประเทศ ข้อหาการผิดประเวณีและการมีเพศสัมพันธ์วิตถารในอิหร่าน การหมิ่นศาสนา (blasphemy) ในปากีสถาน ความผิดด้านเศรษฐกิจในจีน และ การข่มขืนในซาอุดีอาระเบีย

แอฟริกา

  • มีการประหารชีวิตอย่างน้อย 40 ครั้ง ใน 5 ประเทศในทวีปแอฟริกาส่วนที่ต่ำกว่าทะเลทรายสะฮาราลงมา
  • ในเดือนสิงหาคม ภายในหนึ่งวันมีผู้ถูกประหารชีวิตเก้าคนในแกมเบีย ถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบเกือบสามทศวรรษ
  • มีการประหารชีวิตอย่างน้อย 19 ครั้งในซูดาน ในปี 2555 และมีคำตัดสินลงโทษประหารชีวิตอย่างน้อย 199 ครั้ง
  • เบนินให้การรับรองต่ออนุสัญญาของยูเอ็นที่มุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม
  • มาดากัสการ์ ร่วมลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 กันยายน แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน
  • รัฐบาลกานายอมรับข้อเสนอแนะที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิตในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
  • ไม่มีคำตัดสินลงโทษประหารชีวิตในประเทศบูร์กินาฟาโซ มาลาวี หรือเซียร์ราลีโอน และหลังจากการอภัยโทษในเดือนเมษายน ไม่มีนักโทษประหารชีวิตในเซียร์ราลีโอนอีกต่อไป

อเมริกา

  • สหรัฐฯ ยังเป็นประเทศเดียวที่มีการประหารชีวิตในทวีปอเมริกา มีการประหารชีวิต 43 ครั้งในปี 2555 (เท่ากับปี 2554) มีเพียงเก้ารัฐที่มีการประหารชีวิตในปี 2555 เทียบกับ 13 รัฐ ในปี 2554 ในเดือนเมษายน 2555 รัฐคอนเนตติคัตเป็นรัฐลำดับที่ 17 ที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต
  • นอกเหนือจากคำตัดสินลงโทษประหารชีวิต 12 ครั้ง ในสี่ประเทศ (บาร์เบโดส กายอานา และตรินิแดดและโตเบโก) ไม่ปรากฎว่ามีการใช้โทษประหารชีวิตในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ รวมถึงในเขตทะเลแคริบเบียน
  • กัวเตมาลามีคำสั่งลดโทษประหาร 53 ครั้ง หลังจากแผนกอาญาของศาลฎีกาพิจารณาคดีของนักโทษประหารใหม่ทั้งหมด

เอเชีย-แปซิฟิก

  • มีการประหารชีวิตอย่างน้อย 38 ครั้ง ใน 8 ประเทศในภูมิภาคนี้ ตัวเลขดังกล่าวไม่นับรวมการประหารชีวิตอีกหลายพันครั้งที่คาดว่าได้เกิดขึ้นในประเทศจีน จีนประหารชีวิตบุคคลเป็นจำนวนมากกว่าการประหารชีวิตในประเทศที่เหลือในโลกรวมกัน แต่เราไม่ทราบข้อมูลการใช้โทษประหารที่แท้จริงในจีน เพราะทางการถือเป็นความลับทางราชการ
  • อินเดีย รื้อฟื้นการประหารชีวิตครั้งแรกในรอบกว่า 8 ปี ในเดือนพฤศจิกายน มือปืนเพียงคนเดียวที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์โจมตีเมืองมุมไบเมื่อปี 2551 ถูกแขวนคอ
  • ปากีสถาน รื้อฟื้นการประหารชีวิตครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี ในขณะที่ อัฟกานิสถานและญี่ปุ่นนำการประหารชีวิตกลับมาใช้อีกครั้งหลังจากพักใช้เป็นเวลา 17 และ 18 เดือน ตามลำดับ
  • เวียดนาม ไม่มีการประหารชีวิตในปี 2555 ในขณะที่ สิงคโปร์ พักการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวระหว่างพิจารณาแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต
  • มองโกเลียให้การรับรองต่ออนุสัญญาของยูเอ็นที่มุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต เมื่อวันที่ 13 มีนาคม

ยุโรปและเอเชียกลาง

  • เบลารุสยังเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่มีการประหารชีวิต และข้อมูลการประหารชีวิตถูกเก็บเป็นความลับอย่างเข้มงวด โดยมีชายอย่างน้อยสามคนที่ถูกประหารในปี 2555
  • ลัตเวียเป็นประเทศลำดับที่ 97 ในโลกที่ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดทางอาญาทุกประการ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2555

ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

  • มีการประหารชีวิตอย่างน้อย 557 ครั้ง ในหกประเทศในภูมิภาคนี้ อิหร่าน อิรัก ซาอุดิอาระเบีย และเยเมน ยังคงมีสถิติประหารชีวิตมากถึง 99% ของจำนวนการประหารชีวิตทั้งหมดในภูมิภาค
  • ไม่สามารถยืนยันว่ามีการใช้โทษประหารชีวิตในอียิปต์ หรือ ซีเรีย หรือไม่
  • ในตูนีเซีย มีคำสั่งลดโทษสำหรับนักโทษประหาร 125 คน แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังไม่ได้ตัดโทษประหารชีวิตออกไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น