โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นัดแรกดัน มธ.ออกนอกระบบ อธิการบดีเผย กมธ.เสนอเปลี่ยนชื่อ “ธรรมศาสตร์และการเมือง”

Posted: 24 Apr 2013 01:49 PM PDT

 

มติชนออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 24 เม.ย.56 ว่า นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับ คณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ....ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) เป็นประธาน ว่า การประชุมนัดนี้ถือเป็นนัดแรก โดยที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยที่ มธ.จะออกมาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ หรือ ม.นอกระบบ โดยมีการเสนอให้ มธ.เปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง โดยเพิ่มคำว่า "การเมือง" เข้าไป ให้เหมือนกับชื่อเดิม (มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง) แต่ตัดคำว่า "วิชา" ออก โดยให้เหตุผลว่า ชื่อธรรมศาสตร์และการเมือง สะท้อนเอกลักษณ์ของความเป็นคนธรรมศาสตร์ ที่มักจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง ช่วยสังคมสะท้อนปัญหา รวมถึงให้ข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขในเวลาที่เกิดสถานการณ์ต่างๆ ขณะเดียวกันยังถือเป็นชื่อเดิมที่ตั้งโดยนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ก่อตั้งและผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองด้วย

อธิการบดี มธ.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ก่อตั้งมาตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2477 แต่เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะรัฐประหาร ได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ ด้วยเหตุผลทางการเมืองและการปกครองของคณะรัฐประหาร และเห็นว่า มธ.เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากเกินไป จึงเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัย โดยตัดคำว่า "การเมือง" ออก เปลี่ยนเป็น "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ดังปัจจุบัน  ซึ่งที่จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า การตัดคำว่าการเมืองออก ไม่มีผลกระทบ เพราะคนธรรมศาสตร์ยังคงมีบทบาทในเรื่องการเมืองอยู่เสมอ  และที่ผ่านมาศิษย์เก่า มธ.หลายคนก็อยากให้กลับไปใช้ชื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

"ส่วนผมเองก็มีความลังเลใจบ้าง เพราะชื่อเดิม มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองที่ตั้งโดยนายปรีดี ใช้ตั้งแต่ก่อตั้งถึง พ.ศ.2490 ขณะที่ชื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ใช้มาถึงปัจจุบันนี้ หากจะเปลี่ยนจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจนถึงประวัติศาสตร์ความ เป็นมาของมหาวิทยาลัย แต่โดยภาพรวมผมเห็นด้วยว่าควรเปลี่ยนไปใช้ชื่อเดิม เพราะเหมือนกับเป็นชื่อที่พ่อ แม่ตั้งให้ และยังเป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นคนธรรมศาสตร์ ได้ชัดเจน ซึ่งศิษย์เก่า มธ.ส่วนใหญ่ก็อยากให้เปลี่ยน" นายสมคิดกล่าว และว่า นอกจากนั้น คณะกรรมาธิการยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมด้วยว่า ให้ใส่คำว่าประชาธิปไตยไว้ใน พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฉบับใหม่ด้วย เพราะ มธ.เกิดจากความเป็นประชาธิปไตย แต่ใน พ.ร.บ.ฉบับเดิมไม่มีคำนี้ ดังนั้นเพื่อแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของ มธ. ที่ประชุมคณะกรรมาธิการจึงเสนอว่าควรเพิ่มคำนี้เข้าไปด้วย 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครูอาสา-นักศึกษา เรียกร้อง กอ.รมน.ภาค 4 ชี้แจงมาตรการควบคุมตัวครูตาดีกา

Posted: 24 Apr 2013 12:57 PM PDT

เครือข่ายอาสาสมัครครูตาดีกาและภาคี จดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ชี้แจงมาตรการควบคุมการคุกคามครูตาดีกา ที่หน้ามัสยิดกลางประจำจังหวัดยะลา เมื่อ 24 เม.ย. ที่มาของวิดีโอ สำนักสื่อ WARTANImedia

เมื่อวานนี้ (24 เม.ย.) ที่บริเวณมัสยิดกลางจังหวัดยะลา อ.เมือง จ.ยะลา นักศึกษาจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PERMAS) เครือข่ายอาสาสมัครครูตาดีกาและภาคี มีนายกริยา บิน วันอาห์หมัด มูซอ เลขาธิการ PERMAS  นายสุไฮ มี ดูละสะประธานสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดยะลา นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก หัวหน้าฝ่ายการต่างประเทศสถาบันเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (YDA) เป็นแกนนำ เดินทางไปยื่นจดหมายเปิดผนึกและซักถามข้อเท็จจริง กรณีเจ้าหน้าที่ทหารพรานกรมทหารพรานที่ 41 อ.รามัน จ.ยะลา จับกุม น.ส.พาดีล๊ะ เสาะหมาน ครูตาดีกาชุมชนบ้านบูกิต ต.โคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ขณะพร้อมเพื่อนครูร่วมจัดกิจกรรม ค่ายจริยธรรมภาคฤดูร้อน เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา

ต่อมาเวลาประมาณ 11.00 น. นายกริยา บินวันอาห์หมัด มูซอ เลขาธิการ PERMAS และตัวแทน 15 คน เดินทางไปยื่นจดหมายเปิดผนึกให้แก่เจ้าหน้าที่ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี อย่างไรก็ตาม เมื่อเดินทางไปถึงบริเวณหน้าค่ายสิรินธร มีกลุ่ม "พลังมวลชนรวมพลังเพื่อยุติการใช้ความรุนแรง" ประมาณ 200 คน ที่ต้องการจะเข้าไปยื่นหนังสือให้กับ กอ.รมน.ภาค 4 สน.เช่นเดียวกัน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ตัวแทนทั้ง 2 กลุ่ม เข้ายื่นหนังสือพร้อมกัน แต่ทางสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และครูตาดีกา ไม่ยอมรับข้อเสนอ เพราะมายื่นหนังสือคนละเรื่องและคนละประเด็น จึงขอแยกการเข้ายื่นหนังสือ แต่ทางเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าต้องยื่นหนังสือพร้อมกัน ทำให้กลุ่มผู้แทนของ PERMAS และครูตาดีกา กลับไปรวมตัวกันที่บริเวณหน้ามัสยิดกลางจังหวัดยะลาอีกครั้ง พร้อมกันนี้นายอาเต็ฟ โซ๊ะโกได้ขึ้นปราศรัย และชี้แจงถึงกรณีที่มาชุมนุมเรียกร้องในครั้งนี้ให้กับพี่น้องประชาชนได้รับฟัง พร้อมๆ กับมีการชูป้ายเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่หยุดคุกคามครูตาดีกา

ต่อมามีการอ่านจดหมายเปิดผนึกโดยเครือข่ายอาสาสมัครครูตาดีกาและภาคี "เรียกร้องให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ชี้แจงมาตรการควบคุมการคุกคามครูตาดีกา" โดยมีข้อเรียกร้องว่า "เพื่อไม่ให้เป็นการบั่นทอนและทำลายบรรยากาศของกระบวนการสร้างสันติภาพที่กำลังจะเกิดขึ้น และนำไปสู่ความขัดแย้งระลอกใหม่ ทางเครือข่ายอาสาสมัครครูตาดีกาและภาคีจึงขอเรียกร้องให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ชี้แจงถึงมาตรการการควบคุม คุกคาม ครูตาดีกาในฐานะนักสร้างสันติภาพ โดยเจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านความมั่นคงระดับปฏิบัติการ เพื่อไม่ให้รัฐไทยใในฐานะผู้ที่เสนอตัวหยิบยื่นสันติภาพให้คนปัตตานีถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ทำลายสันติภาพเสียเอง"

ด้าน สปริงนิวส์ สัมภาษณ์ พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ซึ่งระบุว่าการควบคุมตัว น.ส.ฟาดีละ นั้น ทางเจ้าหน้าที่ต้องการนำตัวไปซักถามตามกระบวนการสืบ เนื่องจากมีข้อมูลหลักฐานการใช้โทรศัพท์ว่า อาจมีความเชื่อมโยงกับเหตุระเบิดทหารพรานชุดปฏิบัติการลาดตระเวนครู สังกัดร้อย ทพ. 4203 เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ผ่านมา จึงมีความจำเป็นที่เจ้าหน้าที่จะต้องเชิญตัวไป

พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ยืนยันได้ว่าไม่ได้ดำเนินการด้วยอคติใดๆ การดำเนินการทุกอย่างตามกรอบอย่างตรงไปตรงมาด้วยความบริสุทธิ์ใจ และระมัดระวังต่อการทำหน้าที่ไม่ได้มีการละเมิดในเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่นั้นยังคงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก นอกจากนี้ พ.อ.วินธัย ยังกล่าวหาด้วยว่า ยังคงมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีบางกลุ่มพยายามใช้รูปแบบและวิธีเดิมๆ คือตำหนิการกระทำของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะหยิบยกไปบิดเบือน เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือหรือใส่ร้ายเจ้าหน้าที่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นนทวัฒน์ นำเบญจพล

Posted: 24 Apr 2013 11:54 AM PDT

"ผมขอเรท 18+ โดยผมมองว่าคนที่อายุ 18 ปีขึ้นไปเขามีสิทธิที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งได้แล้ว น่าจะมีวิจารณญาณในการรับชม เลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อในชุดข้อมูลที่ผมนำเสนอได้โดยตัวของเขาเอง ผมพยายามจะเรียกร้องข้อนี้ว่า ถ้ามีการจัดเรทติ้งแล้วไม่ควรจะมีการแบน"

24 เม.ย.56, ผู้กำกับหนัง 'ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง' ที่ถูกคณะอนุกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์สั่ง "ห้ามฉาย" ในราชอาณาจักร

เปิดใจผู้กำกับ ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง: หนังแห่ง ‘พรมแดน’ ประเทศ-ความคิด ที่ 18+ อดดู

Posted: 24 Apr 2013 11:20 AM PDT

The Boundary หรือ ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง นับเป็นภาพยนตร์เรื่องที่ 3 แล้วที่ถูกคณะอนุกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์สั่ง "ห้ามฉาย" ในราชอาณาจักร ตามหลังรุ่นพี่อย่าง Insects in the Backyard และ Shakespeare Must Die

ประชาไท พูดคุยกับผู้กำกับหนุ่มวัย 30 ปี นนทวัฒน์ นำเบญจพล ไล่ไปตั้งแต่การสำรวจแนวคิดเบื้องหลังการสร้าง แรงบันดาลใจ เส้นทางวิบากในการเข้าถึงข้อมูล การตีความชื่อเรื่อง พล็อตเรื่องและข้อโต้แย้งต่อเหตุผลในคำพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งหยิบยกประเด็นอ่อนไหวสูงสุด 2 ประการในสังคมเรื่อง สถาบันมหากษัตริย์และความมั่นคงของชาติ

 

แรงบันดาลใจในการทำเรื่องนี้คืออะไร?

หนังโฟกัสไปที่ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา แต่ว่าตอนแรกผมไม่ได้สนใจประเด็นกัมพูชาเลยแม้แต่นิดเดียว ผมสนใจปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เสียมากกว่า จากกรณีของม็อบแดงที่ราชประสงค์

เมื่อก่อนผมก็เป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่ไม่ได้สนใจการเมือง แต่วันหนึ่งก็พบว่าการเมืองเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้นทุกวัน จนมา peak สุดก็ตอนที่มีการปราบปรามการชุมนุม มีคนตายไปเกือบร้อย ผมรู้สึกว่ามันเศร้า สะเทือนใจมาก บวกกับช่วงนั้นพอเปิด facebook แล้วเจอเพื่อนเก่าที่สนิทกัน นิสัยดีๆ หลายๆ คนเขาสนับสนุนและรู้สึกยินดีที่มันเกิดการฆ่ากันเกิดขึ้น ผมเลยรู้สึกตกใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย แล้วก็เกิดการตั้งคำถามตรงจุดนั้น

จนวันหนึ่งผมได้เจอกับทหารคนหนึ่ง เขาเลือกส่งตัวเองไป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่นราธิวาสประมาณปีหนึ่ง แล้วเขาก็ถูกส่งมาในการสลายการชุมนุมม็อบแดงเมื่อเดือนเมษายน 2553 แต่เขาปลดประจำการไปก่อนเดือนพฤษภาที่มีการฆ่ากันเยอะๆ ช่วงนั้นที่เจอเขาคิดจะเดินทางกลับบ้านเกิดเขาที่ศรีสะเกษ ก็เลยสนใจว่าคนที่อยู่ในเหตุการณ์จริงๆ ในเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองไทยเขามีทัศนคติยังไง พบเจออะไรมาบ้าง ก็ขอตามเขาไปที่จังหวัดศรีสะเกษด้วยซึ่งเขาก็ยินดี ได้ไปตามถ่ายสารคดี ไปอยู่บ้านเขา ถ่ายชีวิตเขา คุยกับเขาว่าคิดยังไง เขาก็เล่าเรื่องการเป็นทหารว่าทำอะไรบ้าง

ผมอยู่ศรีสะเกษ ตอนนั้นปี 2011 พอดีจังหวะนั้นเกิดกรณีพิพาทขึ้น มีการปะทะกันระหว่างไทยกับกัมพูชา ผมก็เลยไปถ่ายชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ มีชาวบ้านอพยพ มีคนที่บ้านไฟไหม้ มีคนที่สามีตาย ไปถ่ายที่จังหวัดสุรินทร์ แถวปราสาทตาควายที่กลายเป็นหมู่บ้านร้าง มีรอยกระสุน

พอได้มุมมองทางฝั่งไทยที่ถูกกระทำเยอะๆ ผมก็รู้สึกว่ามันมีข้อมูลด้านเดียวถ้าออกไปสู่สายตาชาวโลกจะดูไม่ดีเพราะเราก็เป็นคนไทย ผมเลยคิดว่าควรไปถ่ายจากฝั่งกัมพูชาด้วย สุดท้ายก็ได้มุมมองจากฝั่งกัมพูชา เป็นชาวบ้านและทหารบริเวณชายแดน

เข้าไปถ่ายในกัมพูชา เขาอนุญาตหรือ ?

ตอนแรกผมพยายามข้ามไปทางชายแดนแต่ก็เข้าไม่ได้ ผมเลยบินไปที่พนมเปญแล้วก็พยายามหาคนพาไปชายแดน ก็ไม่มีใครยอมพาไป เพราะเราเป็นคนไทย เขาก็กลัวว่าเป็นสปายมาหรือเปล่า

ค่อนข้างเสี่ยงนะ

สนุกดี จนหนังผมได้ไปได้ทุนที่เทศกาลหนังปูซานที่เกาหลี พอดีมีผู้กำกับที่ไปฉายหนังในเทศกาลหนังปูซานเหมือนกัน ชื่อ ดาวี่ เขาเป็นคนกัมพูชาที่ไปโตที่ฝรั่งเศสก็มาช่วยเป็น co-producer และช่วยหา connection ให้ ตอนแรกก็แนะนำให้ทำ permit ขอเป็นทางการก่อนว่าอยากไปถ่ายที่ไหนบ้าง อะไรบ้าง แต่ปรากฏว่าสิ่งที่ผมเขียนมาเขาบอกว่ามันไม่สามารถไปขอได้ ก็เลยต้องไปแบบกองโจร ใช้กล้องเหมือนนักท่องเที่ยว

จริงๆ ตอนแรกใช้เวลานานมากกว่าจะหา connection ได้ พอดีว่าดาวี่ไปฉายหนังที่นิวยอร์กแล้วเจอคนกัมพูชาซึ่งมีครอบครัวอยู่จังหวัดพระวิหารพอดี แต่เราก็ต้องบอกทุกคนว่าไม่ใช่คนไทย ไม่อย่างนั้นจะถ่ายทำลำบาก เลยบอกว่าเป็นนักท่องเที่ยว สัญชาติ Chinese American  

พอเราไม่ใช่คนไทยแล้ว ทุกอย่างก็ very easy ง่ายสุดๆ เขาก็พร้อมจะบอกว่าคนไทยทำอะไรกับเขาไว้บ้าง

 

 

สรุปแล้วเรื่องนี้เป็นสารคดีหรือภาพยนตร์

มันเป็นสารคดี เพราะทุกอย่างถ่ายจากเหตุการณ์จริง ความต่างของสารคดีกับภาพยนตร์แบบเล่าเรื่องทั่วไป คือ ภาพยนตร์จะมีการควบคุมสภาพแวดล้อม มีการใส่บทพูดให้กับนักแสดง แต่เรื่องนี้ไม่ เรื่องนี้ให้สภาพแวดล้อมพาเราไป

หนังยาวเท่าไร

96 นาที

ชื่อเรื่องดูเหมือนจะเป็นอีกจุดที่มีการตีความเยอะ ที่มาของชื่อเรื่องมาจากไหน ต้องการหมายถึงอะไร

ชื่อเรื่อง Boundary หรือเขตแดนนั้น นอกจากมันจะเป็นเรื่องของเขตแดนไทย-กัมพูชาแล้ว มันก็ยังพูดถึงเรื่องเขตแดนในความคิดของผู้คน มันมี fact อย่างหนึ่งแต่คนก็ยังมอง fact นั้นต่างกัน คนหนึ่งก็ว่าอย่าง อีกคนก็ว่าอย่าง

ตอนแรกผมตั้งชื่อเรื่องก็ไม่ได้คิดเลยว่าแรง และคนจะโยงไปถึงสถาบัน  ตอนแรกพยายามหาชื่อไทยให้เหมาะ ภาษาอังกฤษมันชื่อว่า boundary ซึ่งแปลว่าเขตแดน ก็พยายามคิดอยู่ จะชื่อพรมแดนจะดีไหม ยังดูสะเหร่อนะ (หัวเราะ) วันหนึ่งก็ไปถามแม่ แม่ผมก็เป็นอาจารย์สอนมนุษยศาสตร์ ปรัชญา เขาก็นึกๆ ให้ แล้วจู่ๆ ก็ร้องเพลงสมัยเขาขึ้นมาชื่อเพลงฟ้าต่ำแผ่นดินสูง เป็นเพลงที่ดังมากในยุค 70 รุ่นป้าๆ เขาจะร้องคาราโอเกะกัน เนื้อหาของเพลงพูดถึงความรักที่แม้ว่าจะมีพรมแดนมากั้นก็สามารถข้ามพรมแดนมาอยู่ร่วมกันได้ ออกแนวปรองดอง ร้องโดยคุณเกศิณี วงษ์ภักดี แต่งโดยคุณรัก รักพงศ์ คือ สมณะโพธิรักษ์ ที่ก่อตั้งสันติอโศก

อีก moment หนึ่งที่ชอบชื่อฟ้าต่ำแผ่นดินสูง คือ วันที่ผมไปยืนที่เขาพระวิหาร ตรงจุดที่สูงที่สุดแล้วผมไปยืนตรงหน้าผา ผมเห็นว่าจุดที่ผมยืนอยู่มันเห็นแผ่นดินสูงกว่าเส้นขอบฟ้า ผมเลยเลือกชื่อนี้ แล้วความหมายมันก็ดูย้อนแย้งกับเรื่องเส้นเขตแดน แล้วก็ตีความได้หลากหลายดี
 


ถ้าดูจากคำพิจารณาของคณะกรรมการเซ็นเซอร์ก็มีการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ด้วย คาดหมายอยู่แล้วไหมว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ไม่น่าผ่านการพิจารณา

อย่างที่เขายกมาในข้อที่พูดถึงสถาบัน ผมตกใจมาก มันเป็น scene ที่ผมถ่ายที่ราชประสงค์ปี 2010 ช่วงปีใหม่ มีคนไปร่วมฉลองปีใหม่เต็มไปหมด แล้วพิธีกรบนเวทีก็พูดก่อนที่จะ countdown กันว่าร่วมฉลองให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสพระชนมายุครบ 84 พรรษา ซึ่งเสียงมันแทบจะเป็นบรรยากาศ เบามากๆ เบาขนาดที่ผมไม่ได้แปล subtitle ภาษาอังกฤษไว้

แปลว่าไม่ได้มีเนื้อหาที่เชื่อมโยงสถาบันชัดเจน

ไม่เลยๆ มีแค่นั้น ถ้าคนได้ดูจริงๆ จะเห็นว่าไม่ได้พูดประเด็นสถาบันเลย แต่ถ้าคนจะตีความเรื่องฟ้าต่ำแผ่นดินสูงไปในทางนั้น ก็จะตีความไปในทางการปกครองได้ เช่น มีคนบริเวณชายแดนพูดว่า สุดท้ายคนที่ซวยก็คือพวกเขาที่อยู่ในพื้นที่ตรงนั้น แต่คนที่เย้วๆ ก่อเรื่อง หรือสร้างสถานการณ์ขึ้นมามันไม่ใช่พวกเขา เป็นคนที่อยู่สูงกว่าพวกเขา แค่นั้น

ในคำพิจารณาแบนยังระบุชัดเจนว่า "เหตุที่นำมาเผยแพร่อ้างว่าเป็นสารคดี แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นการสรุปความคิดเห็นของผู้จัดทำ" เรื่องนี้คิดยังไง

แล้วสารคดีจะต้องเป็นยังไงล่ะครับ คือคณะกรรมการเขียนเหตุผลในการแบนว่าเป็นเรื่องการเขียน caption ไม่สอดคล้องกับภาพ ซึ่ง caption เหล่านั้นมันจะแทนทัศนคติของผม อันที่จริงมันก็ไม่ชิงสรุปความ มันไม่ได้มีมุมมองของผมคนเดียว ถ้าไปถามคนที่เคยดูหนังเรื่องนี้ เขาจะบอกว่าเรื่องนี้ค่อนข้างที่จะพยายามนำเสนอให้เป็นกลางที่สุดแล้ว นอกจากจะมีทัศนคติของผมในช่วงต้นๆ อย่างที่ได้อธิบายไปแล้วว่าผมเกิดความสงสัย แต่ตัวผมในเรื่องก็ค่อยๆ fade หายไป กลายเป็นมุมมองของคนในพื้นที่ กลายเป็นมุมมองของชาวบ้านพูดแทน แถมชาวบ้านก็ไม่ใช่แค่ฝั่งไทย ไปฟังชาวบ้านเขมรด้วยซ้ำ

ถึงมันจะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่คนไทยพูดว่าเขมรเขาเอาเขตแดนรุกเข้ามาทางฝั่งไทย และฝั่งไทยก็เขตแดนกระเถิบเข้าไปทางฝั่งเขา คณะกรรมการก็เขียนให้เหตุผลในการแบนบอกว่ามันเป็นข้อมูลที่ยังอยู่ในชั้นศาล ยังไม่ได้เป็นข้อมูลที่ออกมาเป็นเอกสารสรุปชัดเจนเหมือนกรณีที่มีคนตายที่ราชประสงค์ คือ มันเป็นมุมมองของชาวบ้าน ชาวบ้านเขาคิด ชาวบ้านเขาพูด แล้วไม่ได้มีแค่มุมมองเดียวด้วย แต่มีหลายมุมมอง debate กันอยู่ในหนัง

ผมก็ เอ๋ มันยังไง ต้องเป็นเอกสารด้วยเหรอ แล้วการขึ้น caption มาไม่สอดคล้องกับภาพ มันทำไม ทำไมได้เหรอ ผมก็สงสัยอยู่เหมือนกัน

หนังเรื่องนี้ใช้เวลาถ่ายทำนานเท่าไร

ประมาณ 2 ปีกว่า ส่วนใหญ่จะนานตอนหา connection ในเขมร

คณะกรรมการใช้เวลาพิจารณาเท่าไร

ผมส่งเป็นดีวีดีไป ใช้เวลาพิจารณาอาทิตย์กว่า เพราะตามกฎหมายต้องพิจารณาในเวลา 15 วัน ถ้าเกิดเลยจากนั้นยังไม่ได้รับการพิจารณาจะยกประโยชน์ให้กับผู้ยื่น ถือว่าผ่านไปเลย พออาทิตย์กว่าๆ เขาก็โทรมา

เข้าใจว่าโดยกระบวนการต้องมีการให้คนทำหนังเข้าไปชี้แจง/หารือกันว่าจะมีการเซ็นเซอร์หรือไม่ จุดไหน

ตอนแรกพอรู้ว่าหนังไม่สามารถฉายได้ ก็คุยกับคนหนึ่ง เหมือนเขาจะเป็นคณะกรรมการด้วย เขาบอกเหตุผลมาอย่างที่ได้เห็นกันอยู่ในข่าว ผมก็พยายามขอไปชี้แจงแต่เขาไม่ยอม ผมถามเขาว่าจะตัดส่วนไหนได้บ้าง เพื่อแก้ไข เขาก็บอกว่ามันแทบจะทั้งเรื่อง น่าจะแก้ไม่ได้

สักพักก็มีผู้ชายอีกคนชื่อคุณประดิษฐ์ เป็นผู้ใหญ่สักคนในกองพิจารณา เขาก็ให้คำพิจารณามาดูได้ แล้วบอกว่าเราสามารถปรับแก้ตามนี้แล้วยื่นมาใหม่ได้อีกครั้ง ซึ่งพอคุณประดิษฐ์เดินไป คุณคนแรกก็บอกเลยว่า ถึงจะปรับแก้ยังไง กรรมการก็ชุดเดิมอยู่ดีนะคะ ผมก็เลยตีความไปเองว่า เขาคงต้องการบอกว่าแก้ไปก็เท่านั้นแหละ

แล้วตัดสินใจได้หรือยังว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ หลังจากที่ผลออกมาแบบนี้

ปรึกษาผู้ใหญ่แล้ว เขาก็แนะนำให้อุทธรณ์เหมือนทุกเรื่องที่ผ่าน  แม้ว่าทั้งสองเรื่องที่ผ่านมามา  (เชคสเปียร์ต้องตาย, insects in the backyard) อุทธรณ์ไปแล้วจะไม่คืบหน้าอันใด ชะงักอยู่อย่างนั้น ก็คงต้องทำไปในทางกฎหมาย แต่ในด้านอื่น ผมก็คงจะใช้การพูด การเขียนข้อมูลที่ผมได้มาและเพื่อเคลื่อนไหวให้คนไทยได้รู้ว่า การทำอย่างนี้ถือว่าไม่ให้เกียรติคนไทยได้คิด

ผมขอเรท 18+ โดยผมมองว่าคนที่อายุ 18 ปีขึ้นไปเขามีสิทธิที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งได้แล้ว น่าจะมีวิจารณญาณในการรับชม เลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อในชุดข้อมูลที่ผมนำเสนอได้โดยตัวของเขาเอง ผมพยายามจะเรียกร้องข้อนี้ว่า ถ้ามีการจัดเรทติ้งแล้วไม่ควรจะมีการแบน

ผมอยากให้เคารพสติปัญญาแล้วก็ให้เกียรติผู้ชมได้ตัดสินด้วยตัวเขาเอง

มองวงการภาพยนตร์ไทยยังไง โดยเฉพาะเมื่อเจอกรณีนี้ด้วยตัวเอง

ผม ว่าช่วงนี้หนังไทยเป็นช่วงขาขึ้น มีหนังดีๆ ออกมาเยอะเลยแล้วก็ทำเงินกัน ในต่างประเทศก็ให้ความสนใจดี ถ้ากองตรวจสอบพิจารณาภาพยนตร์ยังคงมีทัศนคติหรือมุมมองต่อภาพยนตร์อย่างนี้ ผมคิดว่ามันจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วงการภาพยนตร์ถอยหลัง

 

 

คิดว่าโดยรวมหนังตัวเองแรงไหม

ไม่คิดว่าแรงเลย เพราะผมถามคนที่ดูมา เขาก็ไม่ได้ว่ามันแรง หลายคนก็บอกว่าเป็นหนังที่คนไทยควรได้ดูด้วยซ้ำ เพราะน่าจะทำให้สถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้น และโดยความตั้งใจแล้วก็ตั้งใจว่าอยากให้คนยอมรับความเห็นต่าง ความคิดต่าง ผมพยายามนำเสนอ fact หนึ่งขึ้นมา และจะมีคนที่พูดในมุมมองที่ตรงข้ามกันอยู่ตลอดในหนัง

คิดว่าหนังเรื่องนี้ คนที่มีแนวคิดชาตินิยมมากๆ อนุรักษ์นิยม หรือแม้แต่กลุ่มเคลื่อนไหวทวงคืนปราสาทพระวิหารดูได้ไหม

นี่คือกลุ่มที่ผมต้องการที่สุดเลยที่อยากให้ดูหนังเรื่องนี้ ผมก็อยากรู้มากเลยว่าเขาจะคิดยังไง

หนังการเมืองที่เป็น mass ไม่ค่อยมี ถ้ามีก็เป็นลักษณะแนวมาก สัญญะซับซ้อนมาก ตอนทำมีแอบกังวลกับโจทย์เรื่องว่าจะไปสร้างความแตกแยกทางความคิด เหมือนที่คนบางส่วนเป็นห่วงไหม

กังวลไหม ผมรู้สึกว่าหนังผมมีแค่คนกลุ่มเดียวที่ผมไม่มั่นใจว่าเขาจะรู้สึกยังไง คือ กลุ่มทวงคืนเขาพระวิหาร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผมอยากให้ดูที่สุด ผมมองว่าถ้ามันออกไปจริงๆ มันน่าจะเกิดการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กัน เกิด debate ในหนังผมพยายามจะนำเสนอให้เข้าใจความเห็นต่างและการอยู่ร่วมกันด้วย คนดูน่าจะได้ย้อนมองตัวเอง โดยเฉพาะคนที่อาจจะมองอะไร bias สุดๆ มันน่าจะมีแง่มุมที่ทำให้เขาเปิดใจกว้างมากขึ้น ผมก็เลยไม่ค่อยกังวลและอยากให้คนได้ดูมากกว่า

หลังจากเป็นประเด็นขึ้นมาได้รับผลกระทบในทางสังคมอย่างไรไหม ท่ามกลางสภาวะที่มีความขัดแย้งกันทางความคิดค่อนข้างสูง

วันนี้ยังไม่ค่อยมีผลกระทบในชีวิตเท่าไร ยกเว้นรับโทรศัพท์ทั้งวัน (หัวเราะ)  เท่าที่ดู feedback จาก facebook อะไรอย่างนี้ ส่วนใหญ่น่าจะร้อยละ 95 เลยที่เชียร์เรา แต่ก็มีบางคนที่อาจจะอนุรักษ์นิยมมากๆ ที่ฟังชื่อเรื่องแล้วแบบว่า เรียกว่ายังไงดีล่ะ แทบดิ้นอะไรแบบนี้ เขาก็ด่าเลยว่าสมควรแล้ว ทั้งที่เขายังไม่ได้ดูเลยว่าเป็นยังไง

สุดท้าย ขอถามถึงแบ็คกราวน์ในการทำหนังว่าเข้ามาสู่เส้นทางนี้อย่างไร

สำหรับเรื่องนี้ก็อย่างที่บอกว่าแต่ก่อนก็เหมือนวัยรุ่นกรุงเทพฯ ทั่วไป ไปเที่ยวเล่นกับเพื่อน แล้วมาถึงจุดที่บอกว่า วันหนึ่งมีคนตายเยอะๆ แล้วเพื่อนที่สนิทสนมกันเขาไปสนับสนุนการฆ่าล้าง ผมว่ามันไม่ใช่แล้ว

ส่วนการเข้าสู่เส้นทางการทำหนัง จริงๆ ตอนเรียนผมเรียน visual design เป็นออกแบบ graphic design อยากเรียนภาพยนตร์แหละแต่เอ็นไม่ติด เรียนไป 2-3 ปีก็เบื่อแต่โชคดีว่าเราเรียน visual design เลยทำอะไรก็ได้ที่เป็น visual ส่งอาจารย์ตอนจบ  ผมเลยเลือกทำสารคดี ตอนนั้นกลุ่มเพื่อนเป็นเด็กเล่น sketboard เขาเล่ากันเก่งมาก เล่นทั้งวี่ทั้งวัน แต่ประเด็นของเรื่องคือ เขาไปเล่นที่ไหนก็ยังโดนคนไล่ พ่อแม่ก็ด่า แต่เขาก็ยังเล่นอยู่ หนังก็เลยพูดถึงกลุ่มคนเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่ต้องการหาพื้นที่ยืน  อันนั้นเรื่องแรกที่ทำกับเพื่อน หนังยาว 40 นาที เสร็จแล้วก็ไปยื่นขอทุนดู ได้ทุนก้อนเล็กๆ จาก GTH ก็ทำต่อไปจนเสร็จ ชื่อ 'โลกปะราชญ์' มาจากคำว่าปราชญ์ผสมประหลาด ใน youtube ก็มีอยู่ part หนึ่งสั้นๆ

จากนั้นก็ได้เจอพี่ปุ่น (ธัญสก พันสิทธิวรกุล) ที่ทำหนังอิสระ ตอนนั้นมีกลุ่มไทยอินดี้ เขาเห็นก็ชอบแล้วก็เอาหนังเรื่องนี้ไปฉายตามงานเทศกาลหนังต่างๆ เราก็เลยได้รู้จักคนที่อยู่ในสังคมทำหนังอิสระ สืบเนื่องต่อกันมาเรื่อยๆ ทำหนังสั้นมาเรื่อยๆ

เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่ทำแบบเต็มรูปแบบฉายตามโรงทั่วไป

ใช่แล้ว เรื่องนี้ได้ทุนมาจากเทศกาลภาพยนตร์ปูซาน ได้ทุนมาจากสิงคโปร์ แล้วก็ฉายเปิดตัวที่ Berlin เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติของที่นั่นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  แล้วก็มาฉายที่มูลนิธิหนังไทย หอภาพยนตร์ เพิ่งจัดไปเมื่อเดือนเมษายนนี้เอง ก็มีคนได้ดูพอสมควร แล้วก็ไปฉายที่ธรรมศาสตร์ทีที่ห้องเรียนประวัติศาสตร์ ในชั้นเรียนของอาจารย์ชาญวิทย์ (เกษตรศิริ) และอาจารย์อัครพงษ์ (ค่ำคูณ) มีการพูดคุยกันถึงหนังและ background ของผู้คนในพื้นที่นั้น

ทีนี้เราก็รู้สึกว่าให้คนได้ดูส่วนหนึ่งแล้ว อยากจะลองให้วงมันกว้างขึ้น เพราะมี feedback ในทางที่ดี คนก็ชอบและเชียร์ให้เราได้ฉายในวงกว้าง ก็เลยส่งเซ็นเซอร์ดูเพื่อจะเอาเข้าโรงภาพยนตร์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรฯ เดินสาย จี้ผู้ว่าฯ-นายก อบจ.ตอบปมดูงานโปแตชลาวกับบริษัทเหมือง

Posted: 24 Apr 2013 10:41 AM PDT

พ่อเมืองแจงเพิ่งทราบ คณะข้าราชการ-ผู้นำท้องถิ่นเตรียมเดินทางไปดูงานโครงการเหมืองแร่โปแตช ในลาว ด้านนายก อบจ.อุดรธานียันไม่เกี่ยวข้อง แต่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมของสำนักงานฯ ร่วมเดินทางไปดูเป็นประสบการณ์

 
เมื่อวันที่ 23 เม.ย.56 เวลา 11.00 น.ที่ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 40 คน เข้ายื่นหนังสือต่อนายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เพื่อให้ตรวจสอบกรณีการเดินทางไปศึกษาดูงานโครงการเหมืองแร่โปแตช ที่ประเทศลาว ของคณะข้าราชการในจังหวัด และผู้นำท้องถิ่น
 
เนื่องจากกลุ่มชาวบ้านได้รับทราบข่าวว่า ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี (อบจ.) ร่วมกับบริษัท เอเชียแปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ผู้ยื่นขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี จะนำพาคณะไป
 
นางมณี บุญรอด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า กลุ่มอนุรักษ์ฯ ไม่ได้ขัดขวางการไปดูงานของข้าราชการ และผู้นำ ซึ่งหากเป็นงบของ อบจ. กลุ่มฯ จะขอเดินทางไปด้วย เพราะเป็นเงินที่มาจากภาษีของพวกเราเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นเงินของบริษัทโปแตช กลุ่มฯ จะคัดค้าน เพราะถือว่าไม่เป็นกลาง ซึ่งเขาจะต้องพาไปดูแต่สิ่งที่ดีๆ ที่บริษัทจะได้ประโยชน์
 
"อยากขอให้ผู้ว่าฯ ตรวจสอบกับทางนายก อบจ.ว่าจะมีการพาผู้นำเดินทางไปดูงานเหมืองโปแตช ที่ประเทศลาวจริงหรือไม่ และได้งบประมาณจากที่ใด นอกจากนี้ อยากขอโอกาสนั่งคุยกับผู้ว่าฯ เพื่อติดตามปัญหาที่กลุ่มเคยร้องเรียนเรื่องการประชาคมหมู่บ้านที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ชาวบ้านได้มายื่นหนังสือแล้วหลายครั้งก็ไม่ได้รับคำตอบ" นางมณีกล่าว
 
ด้านนายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้รับหนังสือร้องเรียนและกล่าวกับกลุ่มชาวบ้าน ว่า ไม่ทราบเรื่องดังกล่าวว่าจะมีคณะข้าราชการและผู้นำไปศึกษาดูงาน ที่เหมืองแร่โปแตช ประเทศลาว แต่อย่างไรก็จะสอบถามกับทางนายก อบจ. และจะแจ้งให้ชาวบ้านทราบอีกครั้ง
 
"ผมพึ่งทราบเรื่องจากที่ชาวบ้านมาบอกในวันนี้ ส่วนประเด็นที่ทางกลุ่มฯ ร้องเรียนเรื่องการประชาคมหมู่บ้านว่าไม่ถูกต้องนั้น ขณะนี้เรื่องยังอยู่ที่อุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งต้องรอให้อุตสาหกรรมจังหวัดชงเรื่องมาก่อน แล้วจะนัดหมายพูดคุยกับกลุ่มฯ อีกครั้ง" นายเสนีย์กล่าว
 
หลังจากนั้นเวลา 13.00 น. กลุ่มชาวบ้านได้เดินทางไปยังสำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวกับ นายก อบจ.อุดรธานี
 
นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี กล่าวกับกลุ่มชาวบ้านว่า บริษัทโปแตชจะจัดให้มีการไปศึกษาดูงานเหมืองแร่โปแตช ที่ประเทศลาว ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ โดยบริษัทเป็นผู้จัดพาไปเอง และงบประมาณทั้งหมดก็เป็นของบริษัท อบจ. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่รู้ก็เพราะได้มีเจ้าหน้าที่บริษัทโปแตชมาพบและเชิญให้ร่วมคณะไปด้วย แต่ปฏิเสธ เพราะเคยไปดูที่ประเทศแคนนาดา และเยอรมันมาแล้ว อย่างไรก็ตาม มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมของสำนักงานฯ ร่วมเดินทางไปด้วย เพราะอยากให้ไปดูเป็นประสบการณ์ และนำมาใช้ในการทำงานในอนาคต
 
"ผมเคยไปดูมาแล้วเหมืองโปแตชที่แคนนาดา และเยอรมัน สมัยที่เป็นกรรมาธิการอุตสาหกรรม ของ ส.ส. ซึ่งพบว่าเขามีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี มีมาตรการคุ้มครองประชาชน และกำหนดสิทธิในการมีส่วนร่วมต่างๆ ไว้มากมาย แต่ไม่รู้ว่าที่ลาวจะเป็นอย่างนี้หรือไม่ และที่สำคัญที่บ้านเราบริษัทฯ ไม่สามารถตอบคำถาม และสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าจะไม่มีผลกระทบ หรือถ้ามีผลกระทบแล้วจะมีหลักประกันอะไรให้กับชาวบ้าน ซึ่งผมก็เข้าใจการคัดค้านของชาวบ้าน" นายวิเชียรกล่าว
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แพทย์ชนบท-เครือข่ายผู้ป่วยประท้วง P4P รมว.สธ.สวนข้อประท้วงไม่สามารถรับได้

Posted: 24 Apr 2013 07:11 AM PDT

กลุ่มแพทย์ชนบท-เครือข่ายผู้ป่วยแต่งดำบุก สธ. ต้านระบบจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน สหภาพฯ อภ. ร้อง ปกป้ององค์กร ยุติให้ข่าวโจมตีรายวัน ด้าน รมว.สธ.ชี้ข้อเสนอผู้ชุมนุมขัดหลักการไม่สามารถรับได้ ยันระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน ยืดหยุ่น ปรับได้ตามพื้นที่ แจงกรณี อภ. ต้องการให้เกิดความโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นประชาชน

24 เม.ย.56 สำนักข่าวไทย รายงาน ชมรมแพทย์ชนบทกว่า 300 คน ร่วมกับเครือข่ายประชาชนผู้เสียหายทางการแพทย์ เครือข่ายผู้ป่วยโรคเอดส์ โรคไต และโรคมะเร็ง รวมตัวกันแต่งชุดดำ ที่ห้องโถงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จังหวัดนนทบุรี เรียกร้องพร้อมแสดงการคัดค้านแนวทางการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน (Pay for Performance : P4P) รวมทั้งพบการเข้าแทรกแซงองค์กรอิสระทางสาธารณสุข เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเชื่อว่าจะกระทบภาคประชาชนในระยะยาว

รวมทั้งมีการประกาศเจตนารมณ์ไม่ยอมรับนายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมทั้งจะมีการไปยื่นเรื่องให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ สำนักงานการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย

ขณะที่หน้าสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรม (อภ.) รวมตัวกันปราศรัยเรียกร้องให้ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  และ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม ปกป้องไม่ให้มีการออกข่าวโจมตีองค์การเภสัชกรรมรายวัน เพราะอาจจะกระทบต่อการบริโภคยาของประเทศจนทำให้ประชาชนไม่มั่นใจในยาที่ผลิตภายในประเทศ แล้วหันไปใช้ยาที่นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพงกว่า

 

หมอประดิษฐ ชี้ข้อเสนอผู้ชุมนุมขัดหลักการไม่สามารถรับได้ ยันระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน ยืดหยุ่น ปรับได้ตามพื้นที่

วันเดียวกัน เว็บไซต์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รายงาน ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม และคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันแถลงเกี่ยวกับกรณีที่ชมรมแพทย์ชนบท กลุ่มสหภาพองค์การเภสัชกรรม กลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยโรคเอดส์ โรคไต และมะเร็ง มาชุมนุมเรียกร้องเรื่องประกาศการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขและเรื่องขององค์การเภสัชกรรม

นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์

นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า ในวันนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้เชิญตัวแทนผู้ชุมนุมมาพูดคุยทำความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งได้รับข้อเสนอจากกลุ่มผู้มาชุมนุมว่าจะเจรจากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต่อเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยอมรับในข้อเสนอ 2 ข้อ คือ

1.ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเรื่อง การทบทวนหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนภาครัฐกระทรวงสาธารณสุข

และ2.ให้ใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 4 และ 6 เหมือนเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการ จึงไม่สามารถรับข้อเสนอได้ ที่ผ่านมา สิ่งที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องมาโดยตลอด เป็นรายละเอียดปลีกย่อยในทางปฏิบัติ ซึ่งในระเบียบได้ยืดหยุ่นให้สามารถปรับได้ตามความเหมาะสม และให้อยู่ในอำนาจของเขตและพื้นที่พิจารณา ทั้งเรื่องของจำนวนเงิน หลักเกณฑ์ในแง่ของพื้นที่และจำนวนปีที่ทำงานในพื้นที่  สามารถมาคุยหารือกันได้

สำหรับข้อกังวลต่างๆ ในทางปฏิบัติหลังจากมีการปรับระบบการจ่ายค่าตอบแทน เช่น จะทำให้แพทย์ลาออกมากขึ้นนั้น จากข้อมูลพบว่าขณะนี้การลาออกไม่แตกต่างจากปกติ สาเหตุส่วนใหญ่ของการลาออกคือไปศึกษาต่อ และมีผลการวิจัยของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขพบว่า การจ่ายค่าตอบแทนแบบเหมาจ่ายไม่ได้มีผลต่อการลาออกของแพทย์ เพราะแพทย์ส่วนใหญ่ไม่ได้มองเรื่องเงินเป็นหลัก แต่มีจุดมุ่งหมายในชีวิต เช่น ไปเรียนต่อในระดับที่เชี่ยวชาญขึ้น โดยระบบการจ่ายค่าตอบแทนนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพการบริการประชาชน ไม่ใช่ทำให้เกิดการแก่งแย่งผลงาน หรือการทำงานเพื่อล่าแต้ม โดยรัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณค่าตอบแทนอย่างเต็มที่ ซึ่งครม.มีมติชัดเจนว่าถ้าเงินไม่พอให้ขอเพิ่มเติมจากครม.ได้อีก ซึ่งความวิตกกังวลต่างๆ ที่เกิดขึ้นขณะนี้ คล้ายกับช่วงการเริ่มต้นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มีหลายฝ่ายวิตกกังวลและบอกว่าไม่ดี จนกระทั่งขณะนี้ประชาชนได้รับสิ่งที่ดีขึ้น และกลายเป็นความภาคภูมิใจร่วมกันของทุกฝ่าย รวมทั้งแพทย์ชนบทด้วย

"อยากขอให้ทุกฝ่ายมองไปข้างหน้า ว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เราจะทำในอนาคตจะดีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นเรื่องของความไม่เข้าใจกันในเรื่องของรายละเอียดปลีกย่อยที่ปรับได้ ซึ่งมติครม.ได้พูดชัดว่าให้มีการประเมินผลการดำเนินการช่วง 1 ปี และทบทวนในช่วง 3-4 เดือนนี้ เพราะจะมีการใช้เงินผ่านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและจะให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพเข้ามาร่วมเป็นตัวกลาง"นายแพทย์ประดิษฐกล่าว

แจงกรณี อภ. ต้องการให้เกิดความโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นประชาชน

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องที่สมาพันธ์องค์การเภสัชกรรมและเครือข่ายผู้ป่วยร้องเรียนเรื่องการเข้าไปตรวจสอบองค์การเภสัชกรรม ขอยืนยันว่าทำด้วยความตั้งใจดีและทำเพื่อประชาชน ต้องการให้องค์การเภสัชกรรมซึ่งเป็นองค์กรของรัฐมีความโปร่งใส และเกิดความเชื่อมั่นแก่ประชาชน ส่วนความห่วงใยว่าอาจเกิดปัญหาการทุจริตในการจัดซื้อเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดนั้น ขอให้ช่วยกันจับตาดูต่อไป หากพบหลักฐานว่ามีการทุจริตก็ขอให้ทำบันทึกแจ้งเข้ามา หรือเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสอบสวน ไม่ได้มีการปิดกั้น ซึ่งแพทย์ชนบทก็มีชื่อเสียงในเรื่องการสะสางการทุจริตต่างๆ ยินดีที่จะมาช่วยกันส่งเสริมให้กระทรวงฯขาวสะอาด

ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ก่อนที่จะออกประกาศฉบับที่ 8 และ 9 กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการ 3 ประเด็น ได้แก่ 1.เรื่องการปรับพื้นที่ โดยเปิดโอกาสให้โรงพยาบาลที่คิดว่าจะเปลี่ยนแปลงพื้นที่ส่งเข้ามาภายในวันที่ 19 เมษายน 2556 ขณะนี้ได้รับแล้ว และคณะกรรมการที่มีนายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ร่วมกับหน่วยงานภายนอก เช่น สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานอื่นๆ จะพิจารณาภายในสัปดาห์หน้า

ประเด็นที่ 2 คือรายละเอียดของประกาศฉบับที่ 9 ซึ่งเป็นเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน กระทรวงฯได้รับฟังความคิดเห็นและพยายามจะปรับหลักเกณฑ์การเก็บคะแนน ได้เปิดให้ยืดหยุ่นให้คณะกรรมการระดับเขตพิจารณาปรับแก้ได้ตามความเหมาะสม โดยประกาศฉบับดังกล่าวครอบคลุมทั้งเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาและการฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมทั้งการออกชุมชน งานด้านบริหารและวิชาการด้วย ส่วนรายละเอียดของการเก็บคะแนน หากจะปรับเปลี่ยนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ให้อยู่ในการวินิจฉัยของคณะกรรมการระดับเขต

ส่วนเรื่องที่ 3 คือวงเงินค่าตอบแทน ในเบื้องต้นนี้ ได้กำหนดให้ใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาลเพิ่มเติมให้   ร้อยละ 1 เป็นขั้นต่ำ หากจะขอเพิ่มเป็นร้อยละ 2 ก็อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการเขตเช่นกันแต่หากมากกว่า ร้อยละ 2 ให้อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการระดับกระทรวงเป็นผู้พิจารณา ซึ่งเมื่อวานนี้ (23 เมษายน 2556) ได้ชี้แจงนโยบายให้แก่ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้แทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนทุกเขตไปแล้ว และได้เน้นย้ำนโยบายของรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุขว่า ให้มีการบริหารจัดการยา เวชภัณฑ์และเรื่องอื่นๆ ให้เกิดประสิทธิภาพ หากแห่งใดดำเนินการได้ดี  ก็สามารถนำเงินส่วนที่ประหยัดได้ให้ผู้ตรวจราชการฯ นำมาบริหารจัดการเป็นค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานด้วย และได้ให้เดินหน้าทำความเข้าใจเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ โดยในวันพรุ่งนี้ตนจะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และในเดือนหน้าจะประชุมชี้แจงบุคลากรทั่วประเทศอีกครั้ง จำนวน 6 รุ่น ทั้งเรื่องแนวทางปฏิรูประบบของกระทรวงสาธารณสุข และค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน

นายแพทย์ณรงค์ได้ชี้แจงกรณีของการจัดซื้อเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดให้อสม.ทั่วประเทศ งบประมาณ 153 ล้านบาท ว่า เป็นงบประมาณที่ตั้งโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อซื้อชุดอุปกรณ์ที่จำเป็นสนับสนุนการทำงานของอสม.จากการประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวานนี้ นายแพทย์สาธารณสุขหลายท่านมีความกังวลถึงความไม่ชัดเจน จึงได้ให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพไปทบทวนให้ชัดเจน และชะลอการจัดซื้อไปก่อน และให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขลงไปดูแลในพื้นที่ ว่าจังหวัดใดดำเนินการจัดซื้อไปแล้วบ้าง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีหนังสือกำชับไปยังจังหวัดอย่างชัดเจนให้ดำเนินการจัดซื้อตามระเบียบพัสดุให้ถูกต้อง และรายงานผลให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขรับทราบ นอกจากนี้ ยังได้ให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพพิจารณาเรื่องขอบเขตการทำงานของอสม.ว่าสามารถเจาะเลือดได้หรือไม่ โดยหารือกับสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาเทคนิคการแพทย์ และแพทยสภา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กิตติ ประเสริฐสุข: 4 เรื่องที่ไม่เหมือนเดิม ในวิกฤตคาบสมุทรเกาหลีรอบใหม่

Posted: 24 Apr 2013 07:00 AM PDT

วานนี้ (23 เม.ย.) ที่ห้อง 202 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาหัวข้อ "วิกฤตคาบสมุทรเกาหลีรอบใหม่: ความไม่มั่นคงในภูมิภาคและทางออก" มีวิทยากรประกอบด้วย รศ.ดร. จุลชีพ ชินวรรโณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร. นภดล ชาติประเสริฐ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผศ.ดร. กิตติ ประเสริฐสุข คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย อ.ดร. จันจิรา สมบัติพูนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ โดยประชาไทได้นำเสนอในส่วนของการนำเสนอโดย รศ.ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ ไปแล้วนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

คลิปการอภิปรายโดย ผศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข ในการเสวนา "วิกฤตคาบสมุทรเกาหลีรอบใหม่: ความไม่มั่นคงในภูมิภาคและทางออก" เมื่อ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ด้าน ผศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งอภิปรายต่อจาก รศ.ดร.จุลชีพนั้นตอนหนึ่งกล่าวว่า ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เกิดขึ้นตลอด 20 ปีที่ผ่านมาหลังสงครามเย็น เพราะเกาหลีเหนืออยู่ในภาวะที่ไม่มั่นคง หลังขาดมหาอำนาจอย่างอดีตสหภาพโซเวียตสนับสนุน ขณะที่จีนก็มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจแบบตลาด ดังนั้นเกาหลีเหนือจึงคิดเรียกร้องความสนใจเพื่อให้ได้ความช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นจึงใช้นโยบาย "Threat for Aid" หรือ ข่มขู่เพื่อให้ได้ความช่วยเหลือ เช่น บอกจะพัฒนานิวเคลียร์ พลังงานนิวเคลียร์ และอาจจะเป็นอาวุธนิวเคลียร์ก็ได้ หรือจะเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ จะทดสอบจรวดส่งดาวเทียม ซึ่งเป็นการทดสอบจรวดมิสไซล์หลายครั้ง และหลังจากนั้นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ก็จะให้ความช่วยเหลือ เช่น ให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร และพลังงาน แลกกับการยุติเรื่องการทดลองเกี่ยวกับนิวเคลียร์ หรือแลกกับการเปิดให้ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรปรมาณูระหว่างประเทศเข้าไปตรวจสอบว่าเกาหลีเหนือจะผลิตอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่

โดย ผศ.ดร.กิตติ กล่าวว่าความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีมีความแตกต่างจากความตึงเครียดครั้งก่อนๆ 4 ประการ

ประการแรก คึม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือคนใหม่ ยังอ่อนวัย ขาดประสบการณ์ และมีพฤติกรรมซึ่งไม่สามารถคาดทำนายได้ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้คนญี่ปุ่นซึ่งมีความระแวดระวัง ก็กังวลสูงว่าผู้นำใหม่คนนี้จะทำอะไร และเกรงว่าอาจจะวู่วาม

ขณะเดียวกัน ในเกาหลีเหนือ ทางฝ่ายทหารก็ต้องการท้าทายอำนาจคิม จอง อึน และอำนาจอีกส่วนหนึ่งก็อยู่ที่จาง ซุง แต็ก อาเขยของคิม จอง อึน คำถามคือคิม จอง อึน จะกุมสภาพไว้ได้มากน้อยแค่ไหน

ประการที่สอง จีนไม่ได้มีท่าทีสนับสนุนเกาหลีเหนือมากเช่นเดิม จะเห็นได้จากสุนทรพจน์ของสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีนที่โป๋อ่าวฟอรั่ม และการที่นายจอห์น เคอร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ หารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงและประธานาธิบดีของจีน โดยเกาหลีเหนือต้องจับสัญญาณจากจีนว่าจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน

ประการที่สาม ทั้งเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกาก็ทำการซ้อมรบแบบจัดเต็ม มีการใช้ยุทโธปกรณ์สำคัญเช่น เครื่องบินล่องหนแบบ B2 ที่หลบเลี่ยงการตรวจจับเรดาห์ได้ ซึ่งหมายความว่าเครื่องบินนี้สามารถบินเข้าไปสอดแนมในเกาหลีเหนือเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่เกาหลีเหนือไม่ชอบเป็นอย่างยิ่ง และการซ้อมรบก็ยาวนานมาก โดยการซ้อมรบเกาหลีใต้-สหรัฐอเมริกามี 2 ช่วง โดยในวันที่ 11-21 มีนาคม ภายใต้รหัส "Key Resolve" และที่กำลังดำเนินอยู่ตั้งแต่ 1 มีนาคม - 30 เมษายน เป็นเวลา 2 เดือน ภายใต้รหัส "Exercise Foal Eagle" ทำให้ทางเกาหลีเหนือไม่พอใจ

และปัจจุบันที่มีข่าวว่า เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกาพร้อมเจรจา ทางเกาหลีเหนือก็ยื่นเงื่อนไขว่าให้ยกเลิกการฝึกซ้อมทางทหารและยกเลิกการคว่ำบาตรจากสหประชาชาติก่อนถึงจะยอมเจรจา

ในด้านการเตรียมการรับมือเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้มีการเตรียมเรือพิฆาต 2 ลำ และสหรัฐอเมริกาก็เตรียมเรือพิฆาต 2 ลำ ถ้ามีการยิงขีปนาวุธมาจากเกาหลีเหนือก็จะมีการยิงสกัด

ประการที่สี่ ก็คือ  ญี่ปุ่นเองก็มีการเตรียมตั้งรับ เพื่อตอบสนองต่อวิกฤตเกาหลีเหนือ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่พึ่งพาตัวเอง และพึ่งต่างประเทศ

ส่วนที่พึ่งพาตัวเองนั้น ทั้งนี้เนื่องจากเกาหลีเหนือมีขีปนาวุธที่ชื่อว่า มูซูดาน รัศมีทำการ 3,000 - 4,000 กิโลเมตรซึ่งยิงถึงเกาะกวมได้ และครอบคลุมประเทศญี่ปุ่นด้วย ทำให้ญี่ปุ่นมีการติดตั้งจรวดต่อต้านขีปนาวุธแบบ PAC-3 ที่โตเกียว 4 เครื่อง ตั้งที่โอกินาว่า 1 เครื่อง และหากมีการยิงขีปนาวุธมาจริง ญี่ปุ่นก็จะยิงสกัดทันที

อย่างไรก็ตามยังไม่เคยมีการทดสอบขีปนาวุธ มูซูดาน ซึ่งถ้ายิงมาแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เกาหลีเหนือก็จะเสียหน้า อย่างไรก็ตามอิหร่านก็พัฒนาขีปนาวุธในเทคโนโลยีเดียวกัน ซึ่งถ้าอิหร่านทดสอบแล้วสำเร็จ เกาหลีเหนือเห็นก็คงพร้อมใจที่จะทำเช่นนั้นบ้าง

แต่ปัจจุบันที่เกาหลีเหนือทำอยู่คือการเคลื่อนย้ายขีปนาวุธ Scud ที่เราเคยเห็นในสมัยสงครามอ่าวเปอร์เซีย โดย ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ประเมินวันที่เกาหลีเหนืออาจจะใช้งานขีปนาวุธได้แก่ วันที่ 25 เมษายน เป็นวันสถาปนากองทัพเกาหลีเหนือ หรือวันที่ 17 มิถุนายน วันครบรอบหยุดยิงสงครามเกาหลี แต่อย่างไรก็ตามตอนนี้สถานการณ์ที่คาบสมุทรเกาหลีก็คลี่คลายมากขึ้น

ในส่วนของการพึ่งพาต่างประเทศนั้น ญี่ปุ่นก็ร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา และร่วมมือกับสหประชาชาติในการสนับสนุนมติของคณะมนตรีความมั่นคงในเรื่องการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ ญี่ปุ่นก็ญาติดีกับเกาหลีใต้มากขึ้น จะเริ่มจับมือกันมากขึ้น โดยเกาหลีใต้ก็ได้กล่าวกับญี่ปุ่นว่าเราพร้อมจะลงนามในข้อตกลงทางการทหารระหว่าง 2 ประเทศ ที่เคยจะลงนามตั้งแต่กรกฎาคมปีที่แล้ว เกาหลีใต้ไม่ยอมลงนาม เนื่องจากมีกรณีพิพาทเรื่องตำราเรียนทางประวัติศาสตร์ และมีการไปเยือนเกาะพิพาทด็อกโดหรือทาเคชิมาโดยประธานาธิบดีลี เมียง บัก

แต่เร็วๆ นี้เกาหลีใต้ประกาศว่าจะหันมาลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางทหารระหว่าง 2 ประเทศ ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ โดยมีการซ้อมรบ มีเรื่องสนับสนุนด้านโลจิติกส์ซึ่งกันและกัน ซึ่งที่จริงแล้วรัฐมนตรีต่างประเทศของเกาหลีใต้ มีกำหนดเยือนญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้ แต่เลื่อนเนื่องจากตรงกับเทศกาลที่ศาลเจ้ายาสุคุนิของญี่ปุ่นพอดี สำหรับเทศกาลจะมีขึ้นประจำในเดือนเมษายนและสิงหาคม และความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่น-จีน ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ จะตกต่ำช่วงเวลานี้ทุกปี เนื่องจากจะมีนักการเมืองญี่ปุ่นไปเยือนศาลเจ้ายาสุคุนิ โดยในเดือนเมษายนปีนี้ มีรัฐมนตรีบางคนในญี่ปุ่นไปเยือนศาลเจ้า และนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นชินโสะ อาเบะ ก็เพิ่งส่งต้นสนที่เป็นไม้มงคลไปสักการะศาลเจ้า ซึ่งถ้านายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น หรือผู้มีตำแหน่งทางการเมืองไปเยือน จะถูกรัฐบาลจีน และเกาหลีใต้ประท้วงทันที

นอกจากนี้ที่น่าสนใจคือญี่ปุ่นกับนาโต้ โดยเลขาธิการนาโต้ (NATO) เพิ่งลงนามกับญี่ปุ่นเพื่อต่อต้านภัยคุกคามร่วมกันและนาโต้ได้ประณามเกาหลีเหนือ และข้อสังเกตก็คือนาโต้เองระยะหลังมีบทบาทนอกภูมิภาคอย่างมาก เช่น ในกรณีอัฟกานิสถาน

และในกรณีรัสเซีย ซึ่งเดิมญี่ปุ่นกับรัสเซีย มีปัญหาเขตแดนกันในพื้นที่ 4 เกาะทางตอนเหนือของฮอกไกโด แต่ในการประชุม G8 ที่ลอนดอน นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นชินโสะ อาเบะ ได้ขอคุยกับรัสเซียนอกรอบว่าต้องร่วมมือกันเรื่องเศรษฐกิจ และพลังงาน และขอให้ร่วมมือกันอย่างแข็งขันในการตอบโต้การกระทำของเกาหลีเหนือ จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นพยายามหามิตรมากขึ้น พยายามไม่ให้มีปัญหากับรัสเซีย เพื่อไม่ให้เผชิญศึกหลายด้าน เพราะญี่ปุ่นขัดแย้งกับจีนกรณีเกาะพิพาทเซนกากุ/เตี้ยวหวี อยู่แล้ว

ในช่วงท้าย ผศ.ดร.กิตติ ได้กล่าวถึง บทบาทของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโสะ อาเบะ ซึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้วสมัยที่เป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสมัยนายกรัฐมนตรีจุนอิชิโระ โคะอิสุมินั้น อาเบะเคยตามคณะไปเยือนเกาหลีเหนือ แล้วพบว่ามีเครื่องดักฟังในห้องประชุม นอกจากนี้เขาก็มีบทบาทอย่างแข็งขันในการเรียกร้องให้เกาหลีเหนือออกมายอมรับว่าลักพาตัวพลเมืองชาวญี่ปุ่นไปเกาหลีเหนือ ซึ่งเกาหลีเหนือจะลักพาชาวญี่ปุ่นเพื่อสอนภาษาให้กับสายลับ และเพื่อการสวมรอยปลอมตัว ซึ่งในที่สุดคิม จอง อิล ผู้นำเกาหลีเหนือคนก่อนก็อ้อมแอ้มยอมรับว่ามีการลักพาตัวจริง มีการส่งกระดูกของผู้ที่ลักพาตัวไปคืนแต่สุดท้ายพบว่าเป็นการปลอมแปลง

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนนี้ยังมีความเป็นนักชาตินิยมที่แข็งกร้าว และประกาศอย่างแข็งขันว่าจะมีมาตรการเต็มที่ในกรณีเกาหลีเหนือด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นายพลซูฮาร์โต ติดโผ พิจารณาเป็นวีรบุรุษแห่งชาติของอินโดนีเซีย

Posted: 24 Apr 2013 06:42 AM PDT

นายพลผู้ปกครองประเทศอินโดนีเซียด้วยระบอบเผด็จการทหารยาวนานถึง 32 ปี ได้รับการเสนอชื่อเป็นวีรบุรุษแห่งชาติ ขณะที่เจ้าหน้าที่กระทรวงกิจการสังคมเผยต้องผ่านการพิจารณาของคณะทำงานและนักประวัติศาสตร์ก่อน

24 เม.ย.อันตารานิวส์ รายงานว่า กระทรวงกิจการสังคมของอินโดนีเซียจะหารือกันอีกครั้งว่าจะยกย่องให้อดีตประธานาธิบดี ซูฮาร์โต และอับดุล เราะห์มาน วาฮิด  เป็นวีรบุรุษของชาติหรือไม่

อานดิ ฮานินดิโต ผู้อำนวยการด้านการคัดเลือกวีรบุรุษแห่งชาติ ของกระทรวงกิจการสังคมเปิดเผยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (23 เม.ย.)ว่า รายชื่อบุคคลที่ได้รับการเสนอให้เป็นวีรบุรุษของชาติซึ่งเคยถูกเสนอเข้ามา แต่ไม่ได้รับการพิจารณารอบปีที่ผ่านมาขณะนี้มีอยู่ทั้งสิ้น 9 คน โดย 2ใน 9 นั้นคือ ซูฮาร์โต และอับดุลเราะห์มาน วาฮิด โดยรายชื่อทั้ง 9 นั้นไม่ได้ถูกนำมาอภิปรายในวาระที่แล้วคือระหว่างปี 2554-2555 แต่จะมีการอภิปรายกันอีกครั้งหลังจากที่รัฐมนตรีได้รับข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลเหล่านี้ 

ทั้งนี้กระบวนการเสนอชื่อวีรบุรุษแห่งชาติ มาจากการเสนอจากจังหวัดต่างๆ ซึ่งเสนอชื่อบุคคลที่หลากหลายเพื่อให้กระทรวงกิจการสังคมได้พิจารณาข้อเสนอ ส่วนคณะกรรมการที่จะพิจารณานั้นจะประกอบไปด้วยคณะทำงานจากกระทรวงกิจการสังคม และนักประวัติศาสตร์อีก 13 คน เพื่อร่วมกันพิจารณาว่าใครสมควรจะได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษของชาติ

ซูฮาร์โตเป็นผู้นำที่มาจากกองทัพ และมีบทบาทสำคัญในการกวาดล้างและสังหารแนวร่วมสังคมนิยมจำนวนนับล้านคน เขาก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากซูการ์โนในปี 1968

ภายใต้การปกครองของซูฮาร์โต เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเชิงบวกและลบ ยุค "ระเบียบใหม่" ของซูฮาร์โต ทำให้เกิดการปกครองรวมศูนย์และกองทัพมีอิทธพลแทรกแซงรัฐบาล ขณะเดียวกันก็ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพอยู่ได้บนความแตกต่างหลากหลายทั้งทางชาติพันธุ์ ภาษาและวัฒนธรรม แนวทางต่อต้านคอมมิวนิสต์ของทำให้เขาได้รับการสนับสนุนทางทั้งทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับตะวันตก ภายใต้การปกครองของเขา มีการใช้กำลังทหารในการจัดการปัญหาในติมอร์ตะวันออก ซึ่งเรียกร้องอิสรภาพ โดยมีผู้เสียชีวิตนับแสนคน

ในช่วงทศวรรษที่ 2540 ปัญหาการคอร์รัปชั่นขนานใหญ่ที่ดำเนินมายาวนานผนวกกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำจาก "พิษต้มยำกุ้ง" ที่เริ่มจากประเทศไทย เป็นตัวกระตุ้นให้นักศึกษาและประชาชนออกมาขับไล่รัฐบาล โดยวันที่ 16 พ.ค. 2541 นักศึกษาทั่งประเทศกว่าแสนคนออกมาเดินขบวนครั้งใหญ่และเข้ายึดรัฐสภาได้สำเร็จเรียกร้องให้เขาลาออก แม้ว่าจะมีการพยายามใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม แต่ซูฮาร์โตไม่มีฐานสนับสนุนที่มากพอในประเทศ ที่สุดแล้ว เขาประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 21 พฤษภาคม 2541 เป็นการสิ้นสุดระบอบเผด็จการทหารที่ยาวนานกว่า 32 ปี 



 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เครือข่ายประชาชนอีสาน' ร่วมถอดบทเรียนศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง 'คดีเจริญ วัดอักษร'

Posted: 24 Apr 2013 06:27 AM PDT

เครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรมและตัดสินคดีความในภาคอีสาน ร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นกรณีการยกฟ้องของศาลอุทธรณ์ในคดีจ้างวานฆ่าเจริญ วัดอักษร เพื่อนำสู่การถอดบทเรียนกระบวนการยุติธรรมไทย

 
วันที่ 22 เม.ย.56 ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน (ศสส.) ร่วมกับ โครงการประสานงานและความร่วมมือเครือข่ายส่งเสริมสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดเวทีเสวนา "วิพากษ์คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดี เจริญ วัดอักษร สู่การถอดบทเรียนขบวนการประชาชนภาคอีสาน" ณ ห้องมงกุฎเงิน โรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น โดยมีตัวแทนจากกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ เครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรมและตัดสินคดีความในภาคอีสานกว่า 10 เครือข่าย เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นจำนวนกว่า 100 คน
 
สืบเนื่องจากการตัดสินของศาลอุทธรณ์กลางมีคำพิพากษาในคดีจ้างวานฆ่า นายเจริญ วัดอักษร ประธานกลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก แกนนำกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าบ่อนอก จ.ประจวบคิรีขันธ์ โดยศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมดที่เหลือในคดีนี้ ทั้ง 3 คน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จ้างวานฆ่า ด้วยเหตุผลพยานและหลักฐานไม่เพียงพอ ทำให้ขบวนการภาคประชาชนเกิดคำถามขึ้นกับคำตัดสินว่า มีความยุติธรรมเพียงพอหรือไม่ กับการต่อสู้ของชาวบ้านที่ลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของชุมชนจากการรุกรานของนายทุนและโครงการพัฒนาของภาครัฐ
 

บรรยากาศในช่วงเริ่มงาน นางสาวกรณ์อุมา พงษ์น้อย แกนนำกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้เล่าสถานการณ์ความเป็นมาของคดี พร้อมทั้งฉายวิดีทัศน์การให้การและการทำแผนประกอบคำรับสารภาพของ นายเสน่ห์ เหล็กล้วน และ นายประจวบ หินแก้ว 2 มือปืน ที่เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้ในช่วงระหว่างการตัดสินคดีความ โดยนางสาวกรณ์อุมา กล่าวในเวทีเสวนาว่า
 
"ไม่ได้คาดหวังว่าจะสามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้ แต่ต้องการต่อสู้เพื่อให้ได้กระบวนการตัดสินคดีความที่เป็นธรรมและถูกต้องตามความเป็นจริง และเชื่อว่าการตัดสินคดีความของศาลในคดีนี้มีทัศนคติบางอย่างที่ถูกครอบงำโดยอำนาจ ทุน รัฐ และ เงิน ที่มองไม่เห็นขบวนการต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรของภาคประชาชนเลย" นางสาวกรณ์อุมากล่าว
 

ด้านทนายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ที่ติดตามคดีนี้มาโดยตลอด ได้ให้ข้อคิดเห็นต่อคดีนี้ภายในเวทีเสวนาว่า จากคำให้การและการทำแผนประกอบคำรับสารภาพของ 2 มือปืนที่เสียชีวิตไปแล้ว ทำให้มีความเชื่อได้ว่าพยานและหลักฐานมีความแน่นหนาเพียงพอ และที่ผ่านมาไม่เคยมีการหักล้างคำให้การของ 2 มือปืนจากจำเลยทั้งสามก่อนการตัดสินคำพิพากษาในครั้งนี้เลย และความแวดล้อมในคดีมีความสำคัญและเหตุผลเพียงพอที่น่าเชื่อถือได้ แต่คำให้การของ 2 มือปืน กลับถูกตัดทิ้งในการพิจารณาครั้งนี้
 
"คดีนี้เชื่อได้ว่ามีการปักธงไว้ล่วงหน้าแล้วก่อนการตัดสิน เนื่องจากไม่สอดคล้องกับคำให้การของ 2 มือปืนก่อนหน้านี้ ซึ่งข้อมูลแวดล้อมมีความแน่นหนาอย่างมาก และการให้การมีลักษณะของการสำนึกผิดของจำเลย ไม่ได้ถูกบังคับขู่เข็ญใดๆ แต่กลับถูกตัดสินออกมาโดยไม่อยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรมและข้อเท็จจริง" ทนายแสงชัยกล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประมวลภาพ: ‘รักท้องถิ่นบ่อนอก’ ร้องถามความเป็นธรรมอัยการ-ศาลอุทธรณ์ คดีฆ่า ‘เจริญ วัดอักษร’

Posted: 24 Apr 2013 05:31 AM PDT

'กรณ์อุมา' นำกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก ยื่นหนังสือศาลอุทธรณ์ เชิญร่วมเสวนาวิชาการคดีฆ่า 'เจริญ วัดอักษร' เปิดโอกาสผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ชี้แจงข้อมูล สร้างบรรทัดฐานสังคมไทย ทั้งยื่นอัยการ ร้องแจ้งกำหนดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา

 
 
วันที่ 23 เม.ย.56 กรณ์อุมา พงษ์น้อย ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก พร้อมกลุ่มชาวบ้านเสื้อเขียวกว่า 200 คนเดินทางจากจังหวัดประจวบฯ หวังพบประธานศาลอุทธรณ์ยื่นหนังสือเชิญร่วมเสวนาวิชาการคดีฆ่า 'เจริญ วัดอักษร' เปิดโอกาสผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ชี้แจงข้อมูลและร่วมสร้างบรรทัดฐานต่อสังคมไทย
 
จากกรณีศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 มี.ค.56 กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.51 ให้ประหารชีวิตไปเป็นให้ยกฟ้องจำเลยในคดีจ้างวานฆ่า เจริญ วัดอักษร ประธานกลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก แกนนำกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าบ่อนอก จ.ประจวบคิรีขันธ์ ด้วยเหตุผลพยานและหลักฐานไม่เพียงพอ
 

กรณ์อุมาระบุด้วยว่า การเดินทางมาของชาวบ้านในวันนี้ไม่ได้มาเพื่อขอให้ศาลเปลี่ยนคำพิพากษา เพราะชาวบ้านรู้อยู่แล้วว่าคำพิพากษาศาลที่มีออกมาแล้วไม่สามารถแก้ไขได้ ที่ต้องสู้ต่อไปคือคดีความในชั้นศาลฎีกาซึ่งมีอัยการเป็นผู้ฟ้องคดี ส่วนชาวบ้านนั้นเป็นผู้ตรวจสอบและนำเสนอการต่อสู้ให้กับศาลได้รับทราบ
 
ทั้งนี้ งานเสวนาวิชาการ 'แกะรอยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีเจริญ วัดอักษร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์' จะจัดในวันที่ 28 เม.ย.56 ที่ห้อง LT1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เวลา 13.00-16.00 น.
 
 
อย่างไรก็ตาม กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกไม่ได้ยื่นหนังสือเชิญต่อประธานศาลอุทธรณ์โดยตรง เนื่องจากตัวแทนศาลเข้าไปเจรจาให้ส่งตัวแทนเข้ายื่นหนังสือไม่เกิน 10 คน แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอม โดยจะขอเข้าไปด้านในทั้งหมด หรือไม่ก็ให้ทางฝ่ายศาลอุทธรณ์ส่งตัวแทนออกมานอกศาล ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้
 
 
นางกรณ์อุมากล่าวกับผู้ชุมนุมว่ากำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากทำให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่กล้าเข้าไปยื่นจดหมายเอง แต่จะส่งหนังสือเชิญให้ทางไปรษณีย์แทน อีกทั้งได้มีการประกาศเชิญทางวาจาไปแล้วเชื่อว่าศาลอุทธรณ์จะได้รับทราบ แล้วจึงสลายการชุมนุม
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้าที่จะเดินขบวนมายังศาลอุทธรณ์ กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกชุมนุมกันบริเวณสำนักงานอัยการสูงสุด และยื่นหนังสือต่อนายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะเจ้าของสำนวนคดี ระบุร้องเรียนจาก 2 ข้อ คือ 1.ขอให้พนักงานอัยการขยายเวลาการยื่นฎีกาออกไปอีก 30 วัน และให้ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ เพื่อให้ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีฆ่านายเจริญ 2.ขอให้พนักงานอัยการแจ้งกำหนดการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้แก่ผู้ชุมนุมทราบเพื่อเข้าร่วมรับฟัง
 
กรณ์อุมากล่าวว่า ในฐานะผู้สูญเสียผู้นำในการต่อสู้เพื่อรักษาบ้านเกิด แม้ไม่ได้เป็นโจทย์ร่วมฟ้อง แต่จะขอเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา โดยขอให้อัยการสูงสุดแจ้งกำหนดการนัดอ่านคำพิพากษาให้ชาวบ้านได้รับทราบ
 
 
 
 
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“อาชญากรรม” 5อย่างที่อาจทำให้คุณถูกประหารชีวิต

Posted: 24 Apr 2013 04:45 AM PDT


ในบางประเทศ การมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส การดูหมิ่นศาสนา หรือแม้กระทั่งการดื่มสุรา อาจถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิตได้ © Michael Matuzak

แม้ว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกหันหลังให้กับโทษประหารชีวิต แต่บางประเทศยังกำหนดโทษนี้ให้กับการมีเพศสัมพันธ์อย่างยินยอมนอกสมรส การต่อต้านรัฐบาล การดูหมิ่นศาสนา และแม้กระทั่งการดื่มสุรา แม้ว่ากฎหมายระหว่างประเทศห้ามไม่ให้รัฐกำหนดโทษประหารชีวิตให้กับอาชญากรรมเหล่านี้ก็ตาม

ต่อไปนี้เป็นรายชื่อ "อาชญากรรม" ในบางประเทศที่มีผลให้คุณถูกประหารได้


1. การมีเพศสัมพันธ์อย่างยินยอมนอกสมรส 

ในซูดาน อินติซาร์ ชารีฟ อับดุลลาห์ (Intisar Sharif Abdallah) และไลลา อิบราฮิม อิสซา จูมูล (Layla Ibrahim Issa Jumul) ผู้หญิงสองคนถูกศาลตัดสินประหารชีวิตด้วยการขว้างก้อนหินในข้อหา "มีชู้" เป็นสองคดีที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมและกรกฎาคม 2555 คำตัดสินในทั้งสองคดีเกิดขึ้นจากการไต่สวนคดีอย่างไม่เป็นธรรม โดยมีการบังคับให้ "สารภาพ" และต่อมาศาลอุทธรณ์ได้กลับคำพิพากษาและให้ปล่อยตัวผู้หญิงทั้งสองคน 
ในอิหร่าน มีนักโทษในแดนประหารอย่างน้อย 10 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ซึ่งถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการขว้างก้อนหินสำหรับอาชญากรรมที่เป็น "การมีชู้"


2. การค้ายาเสพติด

ในวันที่ 30 มีนาคม 2555 โรเบิร์ต เฉินเสี้ยวเม (Robert Shan Shiao-may) จากฮ่องกง และเหลียนซุงชิง (Lien Sung-ching) จากไต้หวัน ถูกประหารชีวิตที่จีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งคู่ถูกศาลสั่งลงโทษเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2552 ในข้อหาค้ายาเสพติดหลังถูกจับกุมเมื่อเดือนธันวาคม 2548 โดยถูกกล่าวหาว่าส่งยาไอซ์จากจีนแผ่นดินใหญ่ผ่านฮ่องกงไปฟิลิปปินส์

ในประเทศไทย อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของการสั่งลงโทษประหาร 106 ครั้งในปี 2555 เป็นการสั่งประหารชีวิตในคดียาเสพติด ทั้งนี้ตามตัวเลขของกรมราชทัณฑ์ของไทย

ในทำนองเดียวกันกว่า 70% ของการประหารชีวิตตามตัวเลขของทางการในอิหร่านเมื่อปี 2555 เป็นการประหารชีวิตตามความผิดด้านยาเสพติด

ในซาอุดิอาระเบีย ในปี 2555 มีการประหารชีวิตในคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมีการประหารชีวิตบุคคลอย่างน้อย 22 คน (จากจำนวนผู้ที่ถูกประหารชีวิต 79 คนในปี 2555) เปรียบเทียบกับสามคนเมื่อปี 2554 (จากจำนวนผู้ถูกประหารชีวิตทั้งหมด 82 คน) และมีเพียงคนเดียว (จากจำนวนผู้ถูกประหารชีวิตทั้งหมด 27 คน) ในปี 2553


3. อาชญากรรมของคนทำงานออฟฟิศ

ในเดือนเมษายน 2555 ศาลสูงสุดแห่งประชาชนจีนสั่งให้มีการไต่สวนคดีใหม่ในคดีที่สำคัญต่อหวูชิง (Wu Ying) นักธุรกิจหญิง ซึ่งเคยถูกศาลสั่งลงโทษประหารในข้อหา "ฉ้อโกงจากการระดมทุน" ซึ่งมีโทษถึงขั้นประหารชีวิต และต่อมาศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนเมื่อเดือน มกราคม 2555

ในอิหร่าน ศาลสั่งประหารชีวิตชายสี่คนในเดือนกรกฎาคม 2555 ในข้อหาคอร์รัปชั่นและ "สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจประเทศ" เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับความการฉ้อโกงในวงการธนาคาร


4. การต่อต้านรัฐบาล

จาลิลา คามิส โคโค (Jalila Khamis Koko) ครูและนักเคลื่อนไหวชาวซูดานถูกจับกุมเมื่อเดือนมีนาคม 2555 และถูกตั้งข้อหาในเดือนธันวาคม ส่วนหนึ่งได้แก่ "การล้มล้างระบอบรัฐธรรมนูญ" และ "การทำสงครามกับรัฐ" ซึ่งมีโทษประหารชีวิตตามกฎหมายของซูดาน ในปี 2554 เธอสมัครเป็นอาสาสมัครให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการขัดกันด้วยอาวุธในรัฐโคโดฟานใต้ของซูดาน และมีภาพอยู่ในคลิปวีดิโอในยูทิวบ์ โดยเธอได้ประณามสภาพความเป็นอยู่ในพื้นที่ที่มีสงคราม และเรียกร้องให้มีการหยุดยิง หลังได้รับการยกฟ้องในข้อหาดังกล่าว และถูกตัดสินลงโทษในข้อหาที่เบากว่าเธอได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนมรกาคม 2556

ในปี 2555 ศาลสูงสุดของอิหร่านพิพากษายืนให้ประหารชีวิตโคลัมเรซา โคซาวี ซาหวัดจานี (Gholamreza Khosravi Savadjani) ในข้อหา "เป็นปฏิปักษ์กับพระเจ้า" เขาถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรโมจาฮีดินแห่งประชาชนของอิหร่าน (Peoples' Mojahedin Organization of Iran - PMOI) ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอิหร่านที่ถูกทางการประกาศว่าผิดกฎหมาย เดิมเขาถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุก และภายหลังการไต่สวนคดีใหม่สองครั้ง ศาลกำหนดโทษประหารให้กับเขา


5. การดูหมิ่นหรือการละทิ้งศาสนา

ในอิหร่าน ซาอีด มาเล็กปูร์ (Saeed Malekpour) นักจัดทำเว็บไซต์ถูกศาลสั่งประหารชีวิตในปี 2553 ในข้อหา "ดูหมิ่นและเหยียดหยามศาสนาอิสลาม" หลังจากที่เขาได้จัดทำซอฟต์แวร์ และต่อมามีการนำซอฟต์แวร์นั้นไปใช้เพื่อเผยแพร่ภาพลามกอนาจารทางอินเตอร์เน็ต โดยเขาไม่มีส่วนรู้เห็น มีรายงานข่าวว่า ในเดือนธันวาคม มีการสั่งพักโทษประหารของเขา หลังจากเขาได้เข้าสู่ขั้นตอนการขออภัยโทษ โดยมีรายงานข่าวว่าเขา "แสดงความสำนึกผิด" ต่อการกระทำของตนเอง แต่ครอบครัวปฏิเสธข่าวดังกล่าว

ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาราอีฟ บาดาวี (Raif Badawi) นักเคลื่อนไหวทางอินเตอร์เน็ตได้ถูกฟ้องดำเนินคดีในข้อหา "ละทิ้งศาสนา" ในซาอุดิอาระเบีย หลังจากที่เขาจัดทำเว็บไซต์เพื่อให้มีการถกเถียงด้านการเมืองและสังคม ต่อมาในปี 2556 มีการเพิกถอนข้อหาของเขา ดูเหมือนว่าการตั้งข้อหากับเขาเป็นความพยายามของรัฐที่จะข่มขู่คุกคามคนที่พยายามส่งเสริมให้มีการถกเถียงอย่างเปิดเผย


นอกจากอาชญากรรมทั้งห้าประการแล้ว ยังมีความผิดทางอาญาอื่น ๆ อีก ในบางประเทศ การดื่มสุราอาจทำให้ถูกประหารชีวิตก็ได้

เมื่อเดือนมิถุนายนที่แล้ว ศาลสูงสุดแห่งอิหร่านพิพากษายืนให้ประหารชีวิตผู้ชายสองคนที่ถูกไต่สวนว่ามีความผิดในข้อหาดื่มสุราเป็นครั้งที่สาม ซึ่งเป็นการลงโทษที่ไม่ค่อยพบเห็น และในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมายังไม่เคยมีการประหารชีวิตตามความผิดดังกล่าว

และในเกาหลีเหนือ มีรายงานที่ไม่ยืนยันว่ามีการประหารชีวิตเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงกลาโหมเมื่อเดือนตุลาคมที่แล้วในข้อหาดื่มสุรา ในช่วงที่ทางการประกาศให้ไว้อาลัยเป็นเวลา 100 วันหลังการถึงแก่อสัญกรรมของนายคิมจองอิล ผู้นำประเทศ

 
 
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฟ้าต่ำ แผ่นดินสูง : “เขาพระวิหาร” ในภาพยนตร์ที่ห้ามคนไทยดู

Posted: 24 Apr 2013 04:38 AM PDT

ช่วงการต่อสู้ทางการศาลเพื่อแย่งชิงสิทธิในการครอบครองพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรใกล้ชิดติดกับปราสาทเขาพระวิหาร ฟ้าต่ำ แผ่นดินสูง หรือ Boundary ภาพยนตร์สารคดีเล็ก ๆ โดยนนทวัฒน์ นำเบญจกุล ได้รับเลือกเป็นภาพยนตร์ฉายเปิดในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีศาลายา อีกราวสี่วันต่อมาจากพิธีเปิด ฟ้าต่ำ แผ่นดินสูง ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้ชมแทบเต็มความจุของห้องประชุมชั้นห้าของหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ และปิดท้ายด้วยการฉายที่ธรรมศาสตร์พร้อมการเสวนาของชาญวิทย์ เกษตรศิริ

น่าเสียดายว่าผู้ชมที่ได้ชมไปอย่างเป็นทางการในสามรอบที่ว่าน่าจะเป็น "ผู้โชคดี" เพราะล่าสุดภาพยนตร์เรื่องนี้โดยคณะกรรมการเซนเซอร์ให้เรทห้ามฉายด้วยเหตุผลเกี่ยวกับความมั่นคงและอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ซึ่งนนทวัฒน์จะยื่นอุทธรณ์อีกเช่นเดียวกับท่านอื่นที่โดนก่อนหน้า)

มีภาพยนตร์ไทยน้อยเรื่องที่นำเขาพระวิหารมาเป็นใจกลางการเล่าเรื่อง โดยมากมักเป็นสารคดีทางโทรทัศน์ที่ถูกผลิตในทิศทางการสูญเสียดินแดนและเรียกร้องนำดินแดนทับซ้อนเหล่านี้คืน มีวาทกรรมมากมายถูกผลิตขึ้นในช่วงพันธมิตรประชาชนประชาธิปไตยกลับมาแสดงบทบาททางการเมืองช่วงรัฐบาลประชาธิปัตย์

จุดเริ่มต้นของฟ้าต่ำ แผ่นดินสูงเกิดขึ้นเมื่อนนทวัฒน์เดินทางตามทหารเกณฑ์นายหนึ่งกลับไปยังบ้านเกิดที่อยู่ใกล้ ๆ ภูมิซรอล เดิมทีนนทวัฒน์ตั้งใจเล่าเรื่องของทหารที่ต้องปฏิบัติภารกิจทั้งในภาคใต้และเหตุการณ์ที่คอกวัวในเดือนเมษายน 2553 ดังนั้นในช่วงแรกฟ้าต่ำฯ จึงคล้ายสำรวจชีวิตความเป็นอยู่ในท้องถิ่นที่ทหารคนนี้ใช้ชีวิต ทว่าจุดเปลี่ยนของเรื่องก็เปลี่ยนไปเมื่อเขาพบว่าพื้นที่หมู่บ้านแห่งนี้อยู่ในเขตได้รับผลกระทบจากการเรียกร้องเขาพระวิหารเช่นเดียวกัน

หนังสำรวจความคิด ความรู้สึก และความเสียหายทั้งเชิงกายภาพและความรู้สึกของชาวบ้านในเขตพื้นที่นั้น กล้องแบบแฮนด์เฮลด์ติดตามการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารหลังการยิงถล่มกันไป แม้เหตุการณ์ผ่านไปพักใหญ่แต่เรื่องราวและร่องรอยยังหลงเหลือเหมือนเกิดขึ้นเมื่อราวสิบนาทีที่แล้ว เจ้าหน้าที่ต่างเล่าเหตุการณ์เฉียดตาย  พร้อมพาไปดูร่องรอยกระสุนที่สถานที่ราชการ บ้านเรือนของชาวบ้าน พวกเขาต่างอยู่ด้วยกำลังใจพร้อมมีองค์ความรู้ที่หลายคนในเมืองไม่มีวันรู้ เช่น ถ้าได้ยินเสียงปืนดังขึ้นจากอีกฝั่ง ให้รีบหมอบ ถ้านับเวลาถึงกำหนดแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ถือว่ารอด

บทสนทนากับชาวบ้านเต็มไปด้วยความโกรธแค้นและคำถามมากมาย พวกเขาไม่เคยต้องการพื้นที่ดังกล่าวเหมือนที่คนในเมืองกลุ่มหนึ่งเรียกร้อง แล้วทำไมพวกเขาต้องมาเป็นคนรับผลกรรมด้วย (พร้อมโบ้ยกลาย ๆ ว่าเป็นเพราะรัฐบาลในเวลานั้นที่ทำให้เกิดการยิงต่อสู้กัน) บางบ้านหายไปในพริบตาจนเจ้าของบ้านร้องไห้ด้วยความสิ้นหวัง แม้เวลาต่อมาจะได้เงินบริจาคมาสร้างบ้านหลังใหม่ได้ แต่ก็มิอาจทดแทนบ้านหลังเดิมที่เธอมีควาทรงจำมากมายจากการเก็บหอมรอมริบสร้างขึ้น

นนทวัฒน์ใช้เทคนิคบางอย่างทำให้ได้ความคิดเห็นของผู้คนฝั่งกัมพูชามาด้วย ความรู้สึกของคนที่ต้องผจญกับเสียงปืนนั้นไม่ต่างกัน ทว่าในข้อมูลเรื่องเล่าเหล่านั้นต่างมีน้ำเสียงแค้นเคืองอยู่บ้างที่รัฐไทยกระทำกับรัฐกัมพูชามาเสมอ จากข้อมูลของนนทวัฒน์ ชาวบ้านไม่ได้ทราบความขัดแย้งภายในประเทศของไทย คนกัมพูชาส่วนใหญ่ก็มักเหมารวมว่ารัฐบาลไทยต้องการดินแดนเพิ่มเติม

เหตุผลหนึ่งที่ออกจากปากทหารในเขมรได้น่าสนใจมากคือเรื่องหลักเขตแดนที่โดยทำลายหรือโดนโยกย้าย (พวกเขาบอกว่าหลักถูกเลื่อนเข้าไปในเขตแดนกัมพูชา) สำหรับพวกเขาแล้วพรมแดนไม่เคยมีอยู่จริง มีเพียงหลักเขตแดนที่โดยทำลายไปในช่วงเขมรแดงและโดนเคลื่อนย้ายจากฝ่ายทหารไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม ดังนั้นสำหรับพวกเขา พรมแดนก็เป็นแค่เส้นสมมติที่เคลื่อนที่ได้และไม่เคยมีอยู่จริง

หนังสารคดีไม่ใช่ความจริงแท้ คนทำหนังสารคดีทุกคนล้วนมีประเด็นที่ต้องการเล่า และจุดมุ่งหมายสำคัญก็คือโน้มน้าวให้คนเชื่อในสิ่งที่เขาต้องการบอก ผ่านการใช้ข้อมูลและภาพฟุตเตจจริง และเมื่อชมเราก็พบว่าสายตาของนนทวัฒน์และสายตาที่เขาเล่าคือสายตาเดียวกัน สายตานั้นมุ่งต้องการให้คนที่ได้ชมหันมาสนใจคนที่อยู่ในพื้นที่บ้าง พวกเขาไม่เคยเรียกร้องอะไรจากเขาพระวิหารและดินแดนดังกล่าว แต่ทำไมถึงต้องมาซวยทั้งที่ต้นเหตุเกิดขึ้นจากใครไม่รู้ในเมืองกรุงผู้โดนชาตินิยมขวาจัดกัดกลืน

อย่างน้อย ๆ ที่สุด ความดีงามของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการได้พาไปเห็นชีวิตที่ได้รับผลกระทบ และก่อให้เกิดการถกเถียงกันว่าการเรียกร้องพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรนั้น คุ้มค่าหรือเปล่า (ยิ่งเมื่อเทียบกับสิ่งที่สูญเสียของคนย่านนั้นไม่ว่าไทยหรือกัมพูชา)

น่าเสียดายที่ภาพยนตร์เรื่องนี้โดนแบนด้วยข้อหาอันแสนใจแคบว่ามีปัญหาต่อความมั่นคงและอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่หากพินิจพิเคราะห์กันแล้ว ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้แสนมนุษยนิยม มุ่งให้ความสำคัญกับชีวิตคนมากเสียกว่าดินแดนที่เรียกร้อง ซึ่งในทัศนะผู้เขียน ถึงได้ไปแล้วก็ยังไม่รู้ว่าจะนำไปทำประโยชน์อะไรต่อ ความมั่นคงจะมีไปทำไมถ้าชีวิตคนในชายแดนไม่มีความสุขในชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะสนใจไปทำไมทั้ง ๆ ที่คนในประเทศไม่น้อยต่างซวยเพราะผลของนโยบายต่างประเทศ ณ เวลานั้น ๆ (จนมีคนพูดว่าแล้วหนังอย่างพระนเรศวร / บางระจันที่ประกาศว่าหงสาวดี ที่ประวัติศาสตร์ไทยประกาศชัดว่า คือพม่า ศัตรู อันดับหนึ่ง มิยักเคยถูกข้อหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศบ้าง)

ผู้เขียนก็ขอให้กำลังใจกับนนทวัฒน์ (ซึ่งก็เคยพูดคุยกันเป็นการส่วนตัว) และขอให้การอุทธรณ์นั้นผ่าน ส่วนสำคัญคืออยากให้ผู้ชมได้ชมในโรงภาพยนตร์ตามความหวังของผู้กำกับ และขอแสดงความไม่นับถือต่อผู้ที่แบนหนังเรื่องนี้ ที่แสดงความไร้อารยธรรมเป็นครั้งที่สามนับแต่ที่พระราชบัญญัติภาพยนตร์อันแสนขัดแย้งต่อแนวคิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกประกาศใช้

ท้ายที่สุด ฎีกาแล้วยังไม่ได้ผล  ช่องทาง new media จะทลาย boundary ทางกฎหมายและท้าทายอำนาจที่รัฐมอบให้คนงี่เง่าอย่างชนิดคนเหล่านั้นไม่มีวันคาดถึง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลอังกฤษตัดสินให้นักธุรกิจขาย GT200 มีความผิดฐานต้มตุ๋น

Posted: 24 Apr 2013 04:00 AM PDT

"เจมส์ แมคคอร์มิค" ซึ่งค้าเครื่องที่อ้างสรรพคุณว่าสามารถตรวจระเบิดและวัตถุนานาชนิด ในนาม ADE651 - Alpha6 - GT200 ฯลฯ ล่าสุดศาลอังกฤษได้ตัดสินว่ามีความผิดฐานฉ้อโกง โดยจะพิพากษาลงโทษในวันที่ 2 พ.ค. นี้ ขณะที่ในไทยมีผู้ถูกดำเนินคดีความมั่นคงหลังถูกค้นบ้านแล้วชี้ด้วยเครื่อง GT200

ภาพเผยแพร่โดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เมื่อเดือนมีนาคมปี 2550 เป็นภาพทหารไทยในพื้นที่ชายแดนใต้ระหว่างสาธิตการใช้อุปกรณ์ GT200 ล่าสุดศาลอังกฤษตัดสินให้นายเจมส์ แมคคอร์มิค ผู้ที่จำหน่ายอุปกรณ์ดังกล่าวมีความผิดฐานฉ้อโกง (แฟ้มภาพ/ประชาไท/กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า)

The Independent รายงานวานนี้ (23 เม.ย.) ว่าอดีตตำรวจ ซึ่งผันตัวมาเป็นนักธุรกิจชาวอังกฤษ "เจมส์ แมคคอร์มิค" อายุ 57 ปี ถูกศาลอาญากลางของอังกฤษและเวลส์ ตัดสินให้มีความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งสร้างรายได้จากการขายอุปกรณ์ที่ตั้งต้นมาจาก "ไม้หาลูกกอล์ฟ" ซึ่งราคาขายอยู่ที่ 20 เหรียญสหรัฐ หรือราว 600 บาท แต่นำไปขายกว่าชิ้นละ 40,000 เหรียญสหรัฐ หรือกว่า 1.2 ล้านบาท โดยกำไรสูงสุดเกิดจากการขายในสงครามอิรัก ซึ่งเขาขายได้ถึง 75 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2,250 ล้านบาท

โดยนายเจมส์ แมคคอร์มิค อ้างด้วยว่าเครื่องตรวจขอบเขาสามารถตรวจจับได้ทุกสิ่งตั้งแต่ระเบิดจนถึงช้าง รวมถึงสารเสพติด ของเหลวหลายชนิด อัญมณี งาช้าง และคนหาย และอุปกณ์สามารถตรวจทะลุกำแพง ใต้น้ำ และใต้ดิน อย่างไรก็ตามอุปกรณ์ที่ระบุว่าสามารถช่วยให้ผู้คนปลอดภัยจากการวางระเบิดนั้นไร้ประโยชน์ โดยสายอากาศที่อ้างว่าใช้ตรวจจับวัตถุต่างๆ ก็ไม่ได้มีวงจรเชื่อมต่ออะไร และไม่มีแหล่งพลังงาน และมีการทดสอบจากนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากและพบว่าเครื่องดังกล่าวไม่อาจใช้ได้จริงอย่างที่มีการอ้างคุณสมบัติโดยบริษัท ATSC ของนายเจมส์ แมคคอร์มิค

นอกจากอิรักแล้ว ปากีสถาน เลบานอน เม็กซิโก และไทย ซึ่งมีเหตุฆาตกรรม และความรุนแรงทางการเมือง ก็เป็นลูกค้าของเจมส์ แมคคอร์มิคด้วย นอกจากนี้ อย่างน้อยในกรณีของอิรัก ยังพบการติดสินบนในการซื้อขายอุปกรณ์นี้ด้วย โดย พล.ต.ญิฮัด อัล จาบิรี หัวหน้าศูนย์เก็บกู้วัตถุระเบิด ของกระทรวงมหาดไทยอิรัก ขณะนี้ต้องโทษจำคุกในข้อหาคอรัปชั่น โดยตัวเขาเคยกล่าวปกป้องอุปกรณ์นี้ว่า "ผมไม่แคร์ว่าพวกเขาจะพูดว่าอะไร ผมรู้จักเรื่องระเบิดมากกว่าพวกอเมริกัน และในข้อเท็จจริงผมรู้เรื่องระเบิดมากกว่าใครในโลก"

ไนเจล ร็อค ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนประจำสถานีตำรวจ Avon and Somerset  ซึ่งสืบสวนในคดีดังกล่าวได้เตือนว่า "อุปกรณ์ตรวจจับ" ยังคงถูกใช้ในบางประเทศ "อุปกรณ์ตรวจจับซึ่งถูกใช้และยังคงใช้ที่จุดตรวจนั้น คนที่ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวยังเชื่อว่ามันใช้งานได้ จริงๆ มันใช้งานไม่ได้ พวกเรารับทราบหลักฐานจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ และผู้นำในสาขานั้นๆ จำนวนมาก และผู้ที่ระบุว่าอุปกรณ์นี้เป็นการฉ้อโกงและปลอมแปลง"

โดยนายเจมส์ แมคคอร์มิค เป็นเจ้าของบ้านมูลค่า 3.5 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 155.75 ล้านบาท ที่เซอร์คัส เมืองซัมเมอร์เซ็ท ซึ่งมีนิโคลัส เคทเป็นเพื่อนบ้าน เขายังเป็นเจ้าของเรือยอร์ชมูลค่า 6 แสนปอนด์ หรือ 26.7 ล้านบาท และยังเป็นเจ้าของบ้านไร่พร้อมคอกม้ามูลค่า 2 ล้านปอนด์ หรือ 89 ล้านบาท ทั้งนี้ศาลตั้งวงเงินของคำสั่งห้ามเอาไว้ 7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ทรัพย์สินอื่นๆ ของเขากำลังถูกสืบสวน อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่พบทรัพย์สินที่เป็นเงินสดจำนวนมาก

ขณะที่ ศาลกำหนดอ่านคำพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีนี้ ในวันที่ 2 พ.ค.

 

GT200 ในกองทัพไทย และผู้ได้รับผลกระทบ

ก่อนหน้านี้ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ให้สัมภาษณ์เรื่อง GT200 ในรายการ เรื่องเด่นเย็นนี้ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เมื่อปี 2553 ว่า "ผมอยากขยายความหลักการทำงานนิดหนึ่ง สสารทุกอย่างในโลกมนุษย์ จะมีสนามแม่เหล็กของมัน ซึ่งจะแตกต่างกัน หลักการของการใช้เครื่อง GT200 ก็คือ เราจะตรวจหาอะไร เราก็เอาสารชนิดนั้นมาทำเป็นเซ็นเซอร์การ์ดแล้วใส่เข้าไปในนี้ ซึ่งก็จะมีสนามแม่เหล็กเกิดขึ้น สมมติว่าเราใส่เรื่องของยาเสพติด ยาไอซ์เข้าไป เมื่อเครื่องทำงานก็จะไปตรงกับยาไอซ์ ซึ่งอยู่ในภูมิประเทศที่เรากำลังหา เนื่องจากมีสนามแม่เหล็กที่ตรงกัน ตัวเสาสัญญาณจะเบนไปหา แต่ลักษณะการใช้เครื่อง GT200 จะเหมือนการใช้แผนที่เข็มทิศ ก็คือต้องเดินสอบ เขาเรียกสอบแนวเส้นเล็ง เดินตามแกน X แกน Y เพื่อให้แนวเส้นเล็กตัดกัน จะกำหนดเป็นพื้นที่คร่าวๆ ได้ อาจจะรัศมี 3 เมตร จริงๆ แล้วในการปฏิบัติเพื่อกำหนดพื้นที่ให้แคบลง ว่าตรงไหนมีความน่าจะเป็นที่จะมีวัตถุระเบิดหรือวัสดุที่เราจะหาอยู่"

อนึ่ง เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 53 พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เคยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ช่วงทันข่าวเด่น โดยยืนยันว่าทางหน่วยงานจะยังใช้เครื่อง จีที 200 ต่อไปเป็นส่วนเสริม เพื่อตีวงการตรวจสอบวัตถุระเบิดให้แคบลง และว่าเครื่องจีที 200 นั้นหน่วยงานยังใช้ได้ผล และยืนยันว่าหน่วยงานจะยังใช้ต่อไป ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นห้ามซื้อ แต่ไม่ได้ห้ามใช้ ในปัจจุบันยังไม่มีอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพมาทดแทน นอกจากนี้มีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ดังกล่าว เพราะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถตรวจสอบวัตถุระเบิดได้ยาก

ขณะเดียวกัน มีราษฎรใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา อย่างน้อย 4 ราย เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องตรวจวัตถุระเบิด หรือ จีที 200 ด้วย โดยถูกออกหมายจับและดำเนินคดี เนื่องจากถูกตรวจค้นบ้านและถูกชี้ด้วยเครื่องจีที 200 โดยประชาไทเคยนำเสนอเรื่องมาแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2553 (อ่านต่อที่นี่)

โดยนายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ หัวหน้าศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดยะลา เคยให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่เครื่อง GT 200 ชี้ไปยังบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการตั้งข้อสมมติฐานว่า น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดคือมีการพบสารระเบิดติดอยู่ที่เสื้อผ้า จากนั้นผู้ที่ถูกเครื่อง GT200 ชี้ จะถูกนำตัวไปสอบสวนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้  โดยบุคคลเหล่านั้นจะถูกข่มขู่ หรือบังคับให้รับสารภาพ หรือบางกรณีก็ถูกทำร้ายร่างกาย โดยไม่สามารถหาข้อมูลมาหักล้างได้เลย ขณะที่ไม่มีการกล่าวอ้างในชั้นศาล ว่าได้ตัวบุคคลเหล่านี้มาดำเนินคดีด้วยการใช้ GT 200 แต่อย่างใด

โพสต์ทูเดย์ ระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐที่จัดซื้อเครื่อง GT 200 และ ALPHA 6 มีทั้งสิ้น 13 หน่วยงาน คือ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์  จังหวัดพิษณุโลก กรมการปกครอง กรมศุลกากร กรมสรรพาวุธทหารบก ตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท ตำรวจภูธรจังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดยะลา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดเพชรบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กองบัญชาการกองทัพไทยโดยศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์  และกรมราชองครักษ์

ส่วน พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ในวันนี้ก็ระบุว่า ผบ.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ระบุว่ามีคำสั่งให้เลิกใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว และขณะนี้มีการจัดหาเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด Fido มาทดแทน GT 200

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไต่สวนการตายอากง ‘หนุ่ม เรดนนท์’ เบิกความ ระบบสุขภาพในเรือนจำย่ำแย่

Posted: 24 Apr 2013 02:59 AM PDT

 

24 เม.ย. 56 ที่ศาลอาญารัชดา ศาลนัดสืบพยานไต่สวนการตายของนายอำพล ตั้งนพกุล หรืออากง ผู้ต้องขังตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 ที่เสียชีวิตจากการถูกคุมขังในเรือนจำ โดยมีพยานขึ้นเบิกความเพียงคนเดียว คือนายธันย์ฐวุฒิ หรือ หนุ่ม เรดนนท์ ผู้ต้องขังในคดีเดียวกัน  โดยในวันนี้มีนางรสมาลิน ตั้งนพกุล ภรรยาของนายอำพล และนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมรับฟังการสืบพยานด้วย

ทั้งนี้ นายอำพล ถูกจับกุมฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาทและแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตั้งแต่กลางปี2553  จากและเสียชีวิตลงในวันที่ 8 พ.ค.55 ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์

นายธันย์ฐวุฒิ เบิกความถึงสภาพความเป็นอยู่และการรักษาพยาบาลภายในเรือนจำ ว่านายอำพลถูกคุมขังสองครั้งก่อนจะเสียชีวิต โดยถูกคุมขังครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคมปี53 (ชั้นสอบสวน) โดยถูกจำแนกไปอยู่แดน 8 ภายในเรือนจำ ซึ่งแดนที่มีความมั่นคงสูงสุด ผู้ต้องขังในแดนนี้เป็นผู้ต้องขังคดีร้ายแรง และผู้ต้องขังที่ป่วยเป็นโรคติดต่อร้ายแรง เช่น วัณโรค ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น

ธันย์ฐวุฒิเบิกความว่า เมื่อเข้ามาอยู่ในเรือนจำ นายอำพลได้ทำงานปั่นแก้วกระดาษใส่น้ำดื่ม ซึ่งตามปกติแล้ว ผู้ต้องขังทุกคนจะมีหน้าที่ประจำของตัวเอง หากใครได้รับมอบหมายให้ปั่นแก้วกระดาษ จะต้องปั่นในปริมาณ 1 กิโลกรัม หรือแก้วกระดาษ 500 ใบ แต่นายอำพลถูกผู้คุมสั่งให้ปั่นถึง 5 กิโลกรัม คิดเป็นแก้วกระดาษถึง 2500 ใบตั้งแต่วันแรกที่ถูกคุมขังเป็นต้นมา และถูกสั่งให้นั่งทำหน้าห้องผู้คุม ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้ที่ถูกลงโทษจะต้องมานั่งทำงานหน้าห้องผู้คุม  อย่างไรก็ตาม นายอำพลสุขภาพไม่แข็งแรงจึงไม่เคยทำสำเร็จถึง 2500 ใบ แต่ก็ไม่เคยถูกทำโทษ เนื่องจากผู้ต้องขังคนอื่นสงสารจึงแอบเข้าไปช่วยทำจนสำเร็จ สำหรับการปั่นแก้วกระดาษนี้จะได้ค่าแรง เป็นเงิน 120 บาทต่อเดือน

ในด้านการพักผ่อน นายธันย์ฐวุฒิ เบิกความว่า ห้องนอนแดน 8 มี 32 ห้อง เป็นห้องขนาด กว้าง 3 เมตร ยาว 5 เมตร มีผู้ต้องขังพักอยู่  20 – 24 คน และหากในกรณีพิเศษ เช่นน้ำท่วม จะมีผู้ต้องขังมากที่สุด 35 คนต่อหนึ่งห้อง และมีการเปิดปิดเป็นเวลา ส่วนอาหารการกินจัดไว้วันละสามมื้อ มีการแยกประเภทอาหารตามศาสนาเท่านั้น ไม่มีการแยกประเภทแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นอาหารของผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุก็ตาม

นายธันย์ฐวุฒิกล่าวถึงการรักพยาบาลในเรือนจำว่า สถานพยาบาลในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีแห่งเดียว แต่ผู้ต้องขังในเรือนจำจากทุกแดนรวมกันมีกว่า 5,000 คน ในเรือนจำจะมีแพทย์เข้ามาวันอังคารและวันพฤหัส นอกเหนือจากนี้จะมีบุรุษพยาบาลหรือพยาบาลประจำอยู่ ในแต่ละวันหากผู้ต้องขังต้องการไปเรือนพยาบาลจะกำหนดให้ไปได้ 20 คน แต่เมื่อผู้ต้องขังคนใดออกไปแล้วครั้งหนึ่งก็จะออกไปไม่ได้อีก ในสัปดาห์นั้น หากเจ็บป่วยจะต้องรอสัปดาห์ถัดไป ตัวเขาเองเคยไปรักษาแล้วพบว่า แพทย์ไม่ตรวจอาการแบบใกล้ชิด และการร้องขอไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่รองรับเรือนจำหลายๆ แห่งที่อยู่ด้านนอกก็ยากลำบากมาก หากไม่ปรากฏอาการป่วยชัดเจนขั้นรุนแรงก็จะไม่ได้ไป ส่วนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน เช่นในเวลากลางคืน จะมีระบบแจ้งเตือนเป็นกล่องไม่ไผ่ไว้เคาะเรียกผู้คุม

นายธันย์ฐวุฒิ เคยรับฟังคำบอกเล่าของนายอำพลที่ได้ไปตรวจรักษาที่สถานพยาบาลของเรือนจำว่า ครั้งแรกที่ตรวจรรักษา แพทย์ไม่ได้วินิจฉัยอาการ แต่ให้ยาแก้ปวดท้องมา ครั้งที่สองนายอำพลโวยวายให้แพทย์ตรวจ แพทย์จึงตรวจให้ แต่มีการพูดจาเหยียดหยามดูหมิ่นก่อน  แพทย์ให้นายอำพลแบมือออก เมื่อเห็นมือสั่นจึงบอกว่า  "อย่าหมิ่นสิ เพราะหมิ่นเลยต้องมาอยู่ที่นี่" 

หลังจากนั้นอำพลก็มีอาการปวดท้อง ท้องแข็ง ไม่สามารถขับถ่ายตามปกติ กินอาหารไม่ได้ เดินไม่ได้ ก่อนที่จะเสียชีวิตนายอำพลมีอาการตาเหลืองไร้แวว ท้องบวมใหญ่ หลังจากนั้นจึงถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในวันที่ 4 พ.ค. 55

นอกจากนี้นายธันย์ฐวุฒิ ยังเบิกความถึงการส่งยารักษาให้ผู้ต้องขังว่า ญาติสามารถส่งยาให้ได้ แต่ต้องใช้เวลาตรวจสอบนานมากกว่าที่ผู้ต้องขังจะได้รับยา ผู้ป่วยที่มีอาการรุณแรง เช่น โรคหัวใจ ก็อาจได้รับการรักษาไม่ทันเวลา นอกจากนี้ในเรือนจำยังไม่มีการตรวจสุขภาพประจำปี  จะมีการตรวจบางโรค เช่น วัณโรค และภูมิคุ้มกันบกพร่อง เท่านั้น และหากเกิดโรคระบาด เช่น ตาแดง ก็อาจมีการตรวจให้

ธันย์ฐวุฒิเห็นว่า  สภาพการณ์รักษาพยาบาลที่เป็นอยู่ถือว่าไม่ดี ไม่ให้เกียรติ์ความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง ทั้งที่แม้ว่าในบางคดี ผู้ต้องขังเพียงแต่ถูกคุมขัง ศาลยังไม่ได้พิพากษาว่ากระทำความผิด

ทั้งนี้ การไต่สวนการตายของนายอำพลเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ก.พ.55 และล่าสุดเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 56 มีการสืบพยาน 4 ปาก คือ นางรสมาลิน ภรรยาของนายอำพล พนักงานสอบสวน แพทย์ และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ โดยนางรสมาลินเบิกความถึงการอาการป่วยของนายอำพล การขอนำตัวออกมารักษานอกเรือนจำไม่ได้และส่งยาเข้าไปในเรือนจำไม่ได้ และจากนี้ไปจะมีการสืบพยานแพทย์ผู้ชันสูตรศพนายอำพลอีกครั้งในวันที่ 8 ส.ค. 56

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จริงหรือไม่ ที่การประเมินคนอื่นจากเชื้อชาติเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้

Posted: 24 Apr 2013 02:01 AM PDT

ทอม สแตฟฟอร์ด ผู้เขียนคอลัมน์นิวโรแฮ็กของเว็บไซต์ BBC กล่าวถึงการทดลองทางจิตวิทยาเรื่องการตัดสินคนอื่นจากเชื้อชาติ ที่ทำแสดงให้เห็นว่าการตัดสินคนจากเชื้อชาติไม่ใช่เรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และคนเรามักจะมองปัจจัยด้านเชื่อชาติก็ต่อเมื่อมันส่งผลต่อการโยงสังกัดบุคคลเท่านั้น

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2013 คอลัมน์นิวโรแฮ็กของเว็บไซต์ BBC กล่าวถึงการทดลองทางจิตวิทยาเรื่องการตัดสินคนอื่นจากเชื้อชาติ โดยอาศัยวิธีการ 'ล่อหลอก' ความทรงจำเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกของบุคคล ทำให้พบว่า แม้คนเราจะด่วนประเมินผู้คนจากภาพลักษณ์ภายนอก แต่ไม่จำเป็นเสมอไปที่มนุษย์จะเริ่มประเมินคนอื่นโดยการตัดสินจากเชื้อชาติ

ทอม สแตฟฟอร์ด ผู้เขียนคอลัมน์ใน BBC กล่าวว่า หลายปีมาแล้วที่นักจิตวิทยาคิดว่าคนเราต่างแปะป้ายให้คนอื่นผ่านทางเรื่องเชื้อชาติ แต่ก็มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เปิดเผยว่าเรื่องการตัดสินคนจากเรื่องเชื้อชาติไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเสมอไป ซึ่งเรื่องนี้อาจนำมาใช้พัฒนาต่อสู้กับแนวคิดเหยียดเชื้อชาติได้

ทอม กล่าวว่า คนเรามักจะแปะป้ายให้คนอื่นในลักษณะต่างๆ เช่น "ชายร่างสูง" หรือ "เด็กขี้เหร่" งานวิจัยทางด้านจิตวิทยาสังคมจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าการแบ่งแยกประเภทที่เกิดขึ้นในความคิดคนเรามีลำดับก่อนหลัง เช่นว่า เรามักจะมองเห็นเพศก่อนว่าคนๆ นั้นเป็นชายหรือหญิง อีกตัวอย่างหนึ่งคือเรื่องอายุ ทำให้บางครั้งคุณต้องระบุถึงเพศหรืออายุคนๆ หนึ่งก่อนที่จะเล่าเรื่องของคนนั้นๆ ให้ผู้อื่นฟัง

อย่างไรก็ตามมีหลักฐานช่วงปี 1980s และ 1990s บ่งบอกว่าคนเรามักจะจัดระเภทคนจากเชื้อชาติ และระบุตัวคนอย่างง่ายๆ และฉาบฉวยจากเชื้อชาติที่กลุ่มหรือบุคคลนั้นๆ สังกัด ทอมบอกว่าเรื่องนี้ถือเป็นเรื่อง 'โชคร้าย' เพราะการรับรู้เช่นนี้เป็นพื้นฐานของแนวคิดแบบแบ่งแยกเชื้อชาติ และทำให้ความพยายามลดอคติหรือรณรงค์ให้ความรู้ให้คนเลิกแบ่งแยกเชื้อชาติยากขึ้น

นานราวสิบปีที่นักวิจัยไม่สามารถค้นพบสภาพการณ์ที่ทำให้คนเลิกแบ่งแยกคนอื่นโดยเชื้อชาติ จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้มีนักจิตวิทยาวิวัฒนาการ (evolutionary psychologists) ทดลองค้นพบเรื่องนี้ในอีกแง่มุมหนึ่ง ทอมกล่าวว่า ปกติแล้วนักจิตวิทยาวิวัฒนาการ มักจะเอียงไปในทางอนุรักษ์นิยมเมื่อถูกโยงในด้านแนวคิดการเมือง และถูกผู้มีแนวคิดเหยียดเชื้อชาติเอาไปใช้ตัดต่ออ้างความเชื่อของตน จึงเป็นเรื่องน่าประหลาดใจและน่ายินดีเมื่อมีนักจิตวิทยาวิวัฒนาการส่วนหนึ่งสร้างข้อถกเถียงว่า พวกเขาได้ทำการทดลองที่แสดงให้เห็นว่า การแปะป้ายผู้คนเรื่องเชื้อชาติไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติและไม่ใช่สิ่งที่เกิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทอมอ้างถึงงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ด กล่าวว่านักวิจัยได้ใช้วิธีการที่เรียกว่า "การล่อหลอกความทรงจำ" โดยการให้ผู้เข้าร่วมจำชุดภาพของบุคคลต่างๆ ที่มีความแตกต่างกันหลายแง่มุม เช่น ในด้านเพศหรือสีผม และเมื่อมีการทดสอบความจำของผู้เข้าร่วมพวกเขาจะเผยออกมาให้เห็นว่าพวกเขาตัดสินภาพของคนๆ หนึ่งอย่างไร มีอะไรที่ยึดติดอยู่ในความคิดเขามากที่สุดและน้อยที่สุด เช่น ถ้าหากคนๆ หนึ่งจำผู้ชายผมดำสลับกับผู้ชายผมบลอนด์ นั่นแสดงให้เห็นว่าสีผมมีความสำคัญในการจัดประเภทน้อยกว่าเรื่องเพศ เป็นต้น

นักวิจัยจากสแตนฟอร์ดได้ใช้วิธีการดังกล่าวมาใช้ตรวจวัดการแบ่งแยกคนโดยเชื้อชาติ พวกเขาค้นพบว่าผู้เข้าร่วมมักจะจดจำคนจากสีเสื้อที่เขาใส่และคำพูดบ่งบอกว่าเขาอยู่ในสังกัดทีมใดมากกว่า เว้นแต่หากไม่มีเสื้อแล้วผู้เข้าร่วมถึงจะจดจำคนนั้นๆ ผ่านทางเชื้อชาติ ทำให้เห็นว่าสังกัดของคนนั้นๆ สำคัญกว่าเรื่องเชื้อชาติ โดยที่การทดลองในครั้งนั้นไม่ได้บอกให้ผู้เข้าร่วมทราบว่าพวกเขาต้องการตรวจวัดเรื่องการแบ่งแยกเชื้อชาติ

"ดังนั้น ไม่ว่าการทดลองก่อนหน้านี้จะแสดงผลออกมาอย่างไรก็ตาม การทดลองที่กล่าวถึงนี้ทำให้เรื่องการแบ่งคนด้วยเชื้อชาติกลายเป็นเรื่องรอง" ทอมกล่าว

นักวิจัยอธิบายว่าเรื่องเชื้อชาติจะมีความสำคัญก็ต่อเมื่อมันใช้นำโยงกับข้อมูลเกี่ยวกับสังกัดของบุคคล เช่นว่าอยู่ทีมอะไร ถ้าหากเรื่องเชื้อชาติไม่มีความเกี่ยวข้องกับสังกัดมันก็ไม่มีความสำตัญ นักวิจัยกล่าวอีกว่าเรื่องนี้ฟังดูมีเหตุผลในแง่วิวัฒนาการ เนื่องจากบรรพบุรุษของมนุษย์มักจะใช้อายุและเพศเป็นเครื่องประเมินพฤติกรรมคนมากก่ว่า ขณะที่เชื้อชาติไม่มีผลมากนัก เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่ไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ ที่ใหญ่มากพอจะเรียกว่า "เชื้อชาติ" ตามความหมายในทุกวันนี้

ทอมกล่าวว่า นับตั้งแต่มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยชิ้นนี้ก็ไม่มีการโต้ตอบใดๆ จากนักจิตวิทยาสังคม แต่ก็มีงานวิจัยที่สนับสนุนในประเด็นนี้

"เป็นข้อเท็จจริงที่น่าเศร้าในเรื่องจิตวิทยามนุษย์ที่ว่ามนุษย์เรามักจะชอบด่วนแบ่งแยกคนเป็นกลุ่ม เพียงแค่มีหลักฐานเกี่ยวกับคนๆ นั้นเล็กน้อย และเมื่อเราระบุกลุ่มให้บุคคลนั้นๆ แล้วเราก็มักจะด่วนสรุปว่าคนนั้นๆ เป็นอย่างไร แต่งานวิจัยชิ้นนี้เสนอว่าแม้ว่าการแบ่งแยกคนตามเชื้อชาติจะเป้นเรื่องง่าย แต่ก็ไม่ได้สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้" ทอมกล่าว


เรียบเรียงจาก

Is race perception automatic?, BBC, 23-04-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น