โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เจริญ ภักดีวานิช

Posted: 07 Apr 2013 06:22 AM PDT

"ถ้าเราไม่วางใจ ไม่เชื่อมั่นประชาชน ผมคิดว่า ระบอบประชาธิปไตยของประเทศนี้ก็เดินไปได้ยาก"

3 เม.ย.56, ส.ว.พัทลุง อภิปรายสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง

รัฐสภากับการเปลี่ยนรัชกาล จาก ร.7 สู่ ร.8 และ ร.8 สู่ ร.9

Posted: 07 Apr 2013 05:55 AM PDT

             การสืบราชสมบัติในอดีตอย่างน้อยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มักมีความไม่แน่นอน มีการแย่งชิงราชสมบัติจนเกิดความรุนแรงนองเลือดบ่อยครั้ง ปัญหาดังกล่าวยังคงตกทอดมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยรัชกาลที่ 5 มีการยกเลิกตำแหน่งวังหน้าและสถาปนาตำแหน่งมกุฎราชกุมารขึ้นแทน สมัยรัชกาลที่ 6 กฎเกณฑ์การสืบราชสมบัติได้รับการปฏิรูปให้มีความชัดเจนแน่นอนมากขึ้นด้วยการประกาศใช้กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 การประกาศใช้กฎมณเฑียรบาลสะท้อนให้เห็นความกังวลของรัชกาลที่ 6 ต่อปัญหาใหญ่หลวงที่อาจนำหายนะมาสู่ราชตระกูลและราชอาณาจักรอันเนื่องจากการที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงเลือกและแต่งตั้งรัชทายาทไว้ก่อนสวรรคต ซึ่งอาจทำให้เกิดการแย่งชิงอำนาจและราชสมบัติเหมือนในอดีต รวมทั้งเป็นการป้องกันพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีข้อบกพร่องสำคัญมิให้อยู่ในเกณฑ์การสืบราชสันตติวงศ์[1] อย่างไรก็ตาม ตลอดทั้งสามรัชกาลในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์  คือ จากร. 5 ถึง ร.7 ก็ยังคงเกิดความตึงเครียดในราชสำนักทุกครั้งในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนรัชกาล นอกจากนั้นผู้มีอำนาจในการกำหนดการสืบราชสันตติวงศ์ก็เป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆไม่กี่คนในราชสำนักเท่านั้น

            ปัญหาดังกล่าวข้างต้นได้รับการแก้ไขสำเร็จลุล่วงโดยคณะราษฎร ด้วยการเปลี่ยนให้อำนาจส่วนนี้มาอยู่ที่รัฐสภา เมื่อคณะราษฎรก่อการปฏิวัติ 2475 ล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เปลี่ยนมาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญและจำกัดอำนาจกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ การปฏิวัติก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลักการพื้นฐานจากอำนาจสูงสุดเป็นของกษัตริย์มาเป็นของประชาชน และนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์การสืบราชสันตติวงศ์ครั้งใหญ่  กล่าวคือ นอกจากจะต้องเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 แล้ว ยังต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาอีกด้วย

            รัฐธรรมนูญสามฉบับแรก คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 (มาตรา 4) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475(มาตรา 9) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489(มาตรา 9) บัญญัติให้การสืบราชสันตติวงศ์ต้องเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา(รัฐธรรมนูญสองฉบับแรกบัญญัติให้มีสภาเดียวคือสภาผู้แทนราษฎร จึงถือว่าสภาผู้แทนราษฎรก็คือรัฐสภา) พระมหากษัตริย์สองพระองค์แรกที่ได้ขึ้นครองราชย์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กฎเกณฑ์การสืบราชสันตติวงศ์ดังกล่าวยังคงได้รับการสืบทอดในรัฐธรรมนูญต่อมาอีกหลายฉบับ จนกระทั่งภายหลังการรัฐประหารของ รสช. ก็ถูกปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่อีกครั้งในรัฐธรรมนูญ 2534(มาตรา 20  และมาตรา 21 ) และกฎเกณฑ์นี้ยังคงใช้เรื่อยมาในรัฐธรรมนูญ 2540(มาตรา 22 และมาตรา 23 ) และรัฐธรรมนูญ 2550 (มาตรา 22 และมาตรา 23 ) กล่าวคือ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 และในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งรัชทายาทไว้แล้วก็ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ เพื่อให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อ"รับทราบ" ส่วนกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงแต่งตั้งรัชทายาทไว้ก็ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อรัฐสภาให้ความ "เห็นชอบ"

            อย่างไรก็ตาม กฎเกณฑ์การสืบราชสันตติวงศ์ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งรัชทายาทไว้แล้วรัฐสภามีหน้าที่เพียงรับทราบเท่านั้น และแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และมีกษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ ซึ่งการเลือกหรือให้ความเห็นชอบผู้ใดขึ้นเป็นประมุขแห่งรัฐล้วนเป็นอำนาจของรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังพยายามก้าวไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อีกทั้งมีเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยมากขึ้นด้วยเช่นกัน จึงควรจะได้ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาว่าสถาบันรัฐสภาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกรัฐสภาทั้งหลายมีบทบาทอย่างไรในการอภิปรายถกเถียงและลงมติเลือกพระมหากษัตริย์

 

การขึ้นครองราชย์ของพระองค์เจ้าอานันทมหิดลโดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร

            หลังการปฏิวัติ 2475 คณะราษฎรสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นปกครองประเทศสยามแทนระบอบสมบูรณาญาสิทธิธิราชย์ ทำให้กษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่คณะราษฎรบริหารประเทศได้เพียงปีเศษก็เกิดกบฏบวรเดชซึ่งเป็นการโต้กลับของฝ่ายเจ้าและขุนนางระบอบเก่า หรือเป็นผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งของระบอบเก่ากับระบอบใหม่ ได้แก่ ความขัดแย้งเรื่องการตั้งสมาคมคณะชาติ ปัญหาเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจ การทำรัฐประหารของพระยามโนปรกรณ์นิติธาดาโดยการออกพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา จนถึงการรัฐประหารของพระยาพหลพลพยุหเสนาและคณะเมื่อ 20 มิถุนายน 2476 และประเด็นสำคัญที่สุดคือ ข้อโต้แย้งเรื่องพระเกียรติยศและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ หลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชสงบลงความสัมพันธ์ระหว่างคณะราษฎรกับรัชกาลที่ 7 ก็เสื่อมทรามลง เกิดข้อสงสัยในบทบาทของรัชกาลที่ 7 ต่อกบฏบวรเดช ระหว่างที่เกิดกบฏบวรเดช ทรงประทับอยู่ที่หัวหิน แต่เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้นก็เสด็จด้วยเรือเร็วไปประทับที่สงขลาซึ่งเป็นจังหวัดใกล้พรมแดนมลายู รัฐบาลพยายามกราบบังคมทูลเชิญเสด็จกลับพระนครก็ไม่สำเร็จ ทรงประทับที่สงขลานานถึงสองเดือนจนเสด็จกลับในเดือนธันวาคม รวมทั้งปรากฏหลักฐานทางทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ว่ารัชกาลที่ 7 พระราชทานเงินให้แก่พระองค์เจ้าบวรเดชสองแสนบาท[2]

หลังจากเสด็จกลับจากสงขลาเพียงเดือนเดียวรัชกาลที่ 7 ก็เสด็จไปรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษ และใช้เวลาขณะประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษต่อรองขอเพิ่มพระราชอำนาจ แต่เมื่อรัฐบาลไม่สามารถตอบสนองจนเป็นที่พอพระทัยได้พระองค์จึงมีพระราชประสงค์ที่จะสละราชสมบัติ รัฐบาลรู้สึกวิตกกังวลเป็นอย่างมากต่อการที่พระองค์อาจจะสละราชสมบัติจึงส่งคณะผู้แทนไปเจรจาแต่ไม่เป็นผล ทรงสละราชสมบัติเมื่อ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477

ต่อมาเมื่อรัฐบาลได้นำเสนอเรื่องการสละราชสมบัติให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาและสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเลือกพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่แล้ว รัฐบาลจึงได้ออกคำแถลงการณ์ให้ประชาชนทราบถึงที่มาที่ไปโดยสังเขป และสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้รัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติว่า[3]

"...ทรงขอร้องต่อรัฐบาลหลายประการ ในประการที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็ได้จัดสนองพระราชประสงค์เท่าที่จะจัดถวายได้ ในส่วนที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็เป็นอันนอกเหนืออำนาจที่รัฐบาลจะจัดถวายได้ตามพระราชประสงค์ ...รัฐบาล...ได้พยายามทุกทางจนสุดความสามารถที่จะทานทัดขัดพระราชประสงค์มิให้ทรงสละราชสมบัติ แต่ก็หาสมตามความมุ่งหมายไม่"

 

ต่อไปนี้คือการอภิปรายและการลงมติเลือกพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

           

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 33/2477(สามัญ) สมัยที่ 2 (ประชุมวิสามัญ) วันที่ 6-7 มีนาคม พ.ศ. 2477 รัฐบาลเสนอเป็นญัตติด่วนและขอให้สภาผู้แทนราษฎรประชุมลับ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละพระราชสมบัติ และการเลือกตั้งพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ รัฐบาลโดยพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ทำจดหมายแจ้งสภาผู้แทนราษฎรว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติเมื่อ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 โดยเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลได้โทรเลขแจ้งข้อความในพระราชหัตถเลขามาโดยละเอียด รัฐบาลจึงขอส่งคำแปลโทรเลข พร้อมสำเนาหนังสือและโทรเลขที่เกี่ยวข้องมาให้สภาผู้แทนพิจารณาเรื่องการสละราชสมบัติต่อไป[4]

เมื่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางและรับทราบเรื่องการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว[5] ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจึงพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้ที่จะสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ต่อไป แต่ก่อนหน้าที่จะเริ่มพิจารณาเรื่องกษัตริย์พระองค์ใหม่อย่างจริงจัง พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล เสนอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรโทรเลขไปแสดงความอาลัยของสมาชิกสภาต่อรัชกาลที่ 7 [6] แต่พระพินิจธนากร ผู้แทนจังหวัดเชียงใหม่ ไม่เห็นด้วย โดยกล่าวว่า[7]

...ในฐานที่ข้าพเจ้าเป็นสมาชิกและเป็นผู้แทนราษฎรผู้หนึ่งก็อยากจะได้กราบเรียนถึงความจริงใจ ก็เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติด้วยพอพระทัยเช่นนี้แล้ว เราจะไปวิงวอนและโทรเลขไปดังที่ท่านผู้แทนสกลนคร และผู้แทนจังหวัดสตูลนั้นทำไมกัน...

          ท่านบอกให้โทรเลขเสียใจอะไรกัน

ข้าพเจ้าคัดค้านในเรื่องนี้... ข้าพเจ้าเห็นไม่เป็นการสมควรที่จะโทรเลขไปเสียใจอะไรให้เสียอัฐเปล่าๆ โทรเลขทุกคำที่มีไปเงินไปตกอยู่แก่ต่างประเทศ ...เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องพูดถึงในเรื่องนี้ เราพูดในฐานสมาชิก ข้าพเจ้าขอแสดงความรู้สึกอย่างจริงใจทีเดียว ในชีวิตของเราจะหาโอกาสเช่นนี้ยาก เพราะฉะนั้นเหตุใดที่จะแสดงความเสียใจ ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบเลย เหตุผลที่ข้าพเจ้าคัดค้านว่าไม่ควรจะแสดงความเสียใจนั้น ข้าพเจ้าจะได้กราบเรียนดังต่อไปนี้ เราไม่มีโอกาสจะได้พบโอกาสเช่นนี้เลย โดยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราได้มีเงินสำหรับส่วนพระองค์...

 

แต่ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวตัดบทว่า "ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่จำเป็นต้องอธิบายต่อไป" หลังจากนั้นผู้ทำการแทนประธานสภาฯก็ให้ลงมติ ในที่สุดที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ลงมติให้ประธานสภาฯ ส่งโทรเลขไปแสดงความอาลัยต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

หลังจากนั้นจึงเข้าสู่การเลือกพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ โดยพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง กล่าวแถลงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า[8]

ผู้ที่จะสืบราชสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาลตามที่สมเด็จกรมพระนริศฯ[9]ได้ทรงสืบสวนแล้ว ได้แก่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลาฯ ซึ่งได้สิ้นพระชนม์แล้ว กับมีพระราชโอรส คือ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลนั้นเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาล...

 

ขณะที่ พระยาพหลพลพยุหเสนา  นายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า  "ที่รัฐบาลเสนอพระองค์แรก  คือ  พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สภาฯนี้จะรับหรือไม่รับ"[10]

แต่ น.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. ชี้แจงว่า[11] รายนามที่แจกให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นบัญชีรายนามที่จัดทำขึ้นโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวังซึ่งเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ และได้รับการตรวจสอบและรับรองว่าถูกต้องแล้วโดยผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ รัฐบาลปฏิบัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวังเสนอรายนามผู้ซึ่งควรจะมีสิทธิตามกฎมณเฑียรบาลนั้นลดหลั่นกันลงไป "เพราะฉะนั้นลำดับที่ควรจะเป็นอย่างไรนั้นได้ดำเนินตามกฎมณเฑียรบาล หาใช่ฝ่ายรัฐบาลเสนอขึ้นไม่"

          หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ กล่าวเสริมว่า[12] ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 9 การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 และประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร เป็นหน้าที่ของเสนาบดีที่จะอัญเชิญเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์องค์ที่ 1 ในลำดับสืบราชสันตติวงศ์ตามมาตรา 8 ของกฎมณเฑียรบาลขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ ซึ่งเจ้านายเชื้อพระวงศ์ลำดับที่ 1 คือ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล แต่ถ้าสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบกับลำดับที่ 1 ก็ให้พิจารณาลำดับที่ 2 ต่อไปตามลำดับ


 บัญชีลำดับสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467[13]


หมายเหตุ :  ที่ขีดเส้นสัญประกาศไว้ใต้พระนามพระองค์ใด หมายความว่า พระมารดาของท่านพระองค์นั้นเป็นเจ้า                                                                                 คือเป็น อุภโตสุชาติ

ด.ยู่เกียง ทองลงยา ผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี อภิปรายว่า[14] "...กฎมณเฑียรบาลนั้นวางขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าซึ่งเป็นกฎหนึ่งแห่งครอบครัวเท่านั้น จึงไม่สามารถจะบังคับสภาผู้แทนราษฎรให้จำต้องปฏิบัติตามกฎมณเฑียรบาลนั้นได้..."

ขณะที่ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวแย้งว่า[15] "...ถ้ากฎหมายใดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ใช้ไม่ได้ รัฐธรรมนูญให้ใช้กฎมณเฑียรบาล"

นายไต๋ ปาณิกบุตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร ถามว่า[16] พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลมีพระชนมายุเท่าไหร่ และมีคุณสมบัติอย่างไร

เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง กล่าวตอบว่า "10 พรรษา คุณสมบัติก็เรียนอยู่สวิทเซอร์แลนด์..."

ร.ท.ทองคำ คล้ายโอภาส ผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี ได้อภิปรายถึงหลักการทั่วไปในการเลือกพระมหากษัตริย์ขึ้นครองราชสมบัติเป็นประมุขของชาติว่า [17] โดยหลักของการเลือกตั้งไม่ว่าระดับใดทั่วโลกต้องมีการวางหลักเกณฑ์คุณสมบัติของบุคคล แต่การเลือกพระมหากษัตริย์มีความสำคัญกว่าหลายร้อยหลายพันเท่า ฉะนั้นถ้าสภาผู้แทนราษฎรเลือกเจ้านายที่ไม่สมควรขึ้นเป็นกษัตริย์ ทั้งรัฐบาล สภาผู้แทนราษฎร และประชาราษฎรต้องหวานอมขมกลืนรับความขมขื่นตลอดรัชกาล หากเลือกเจ้านายที่คุณสมบัติบกพร่องก็จะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงในอนาคตดังเคยเกิดขึ้นมาแล้วในประวัติศาสตร์ทั้งในและนอกประเทศและนำไปสู่จุดหมายที่คล้ายคลึงกัน อาจมีคนเถียงว่าพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับสมัยปริมิตตาญาสิทธิราช[18]มีพระราชอำนาจแตกต่างกัน แต่ขอให้จำไว้ว่า

ถึงแม้พระมหากษัตริย์จะไร้พระราชอำนาจโดยพฤตินัย แต่พระองค์ก็หาทรงไร้พระราชอิทธิพลไม่ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ รัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎร มีวัตถุประสงค์ตรงกันในอันที่จะจรรโลงสยามรัฐสีมาอาณาจักรให้เจริญรุ่งเรืองตามกาลสมัย บุคคลและคณะบุคคลทั้งสามนี้จะต้องมีความคิดเห็นเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเป็นส่วนมาก[19]

 

ถ้าทั้งสามส่วนไม่สมานฉันท์กันก็น่าวิตกว่ารัฐนาวาสยามจะไปไม่ตลอดรอดฝั่ง เพื่อบรรลุเจตนารมณ์ดังกล่าว การเลือกตั้งพระมหากษัตริย์ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ คือ สภาผู้แทนราษฎรทรงไว้ซึ่งอำนาจสูงกว่ากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 โดยเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกเจ้านายที่มีคุณสมบัติดังนี้[20]

1.ทรงเลื่อมใสในระบอบรัฐธรรมนูญ

2.ทรงเป็นผู้มีวิทยาคุณ รอบรู้ประวัติศาสตร์ ในการปกครองมนุษยชาติ

3.ทรงมีความรู้ในวิชาทหารบกหรือทหารเรืออย่างน้อยในตำแหน่งชั้นสัญญาบัตร

4.ทรงมีพระอุปนิสสัยรักใคร่ราษฎร และเป็นที่นิยมนับถือของประชาชนทั่วไป

5.ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว

โดยที่คุณสมบัติข้อ 1 เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเลือกเจ้านายที่นิยมรักการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ "เพราะการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญจะต้องจิรังกาลไปชั่วฟ้าดินสลาย" ต้องพยายามอย่างยิ่งมิให้มีการปฏิวัติกลับไปกลับมาอย่างเช่นในฝรั่งเศสและอังกฤษ หากมีการปฏิวัติบ่อยครั้งจะทำให้จำนวนพลเมืองร่อยหรออาจเป็นเหตุให้อำนาจภายนอกเข้าแทรกแซงจนเสียอิสรภาพได้[21]

คุณสมบัติข้อที่ 2 จะเป็นหลักประกันให้กับคุณสมบัติข้อที่ 1 เพราะความรอบรู้ประวัติศาสตร์จะทำให้พระมหากษัตริย์ทรงระลึกอยู่เสมอว่าหากฝ่าฝืนประวัติศาสตร์ผลร้ายจะตกอยู่กับพระองค์และประเทศชาติ[22]

คุณสมบัติข้อที่ 3 เพราะเหตุว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นจอมทัพสยามตามรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องรอบรู้วิชาการรบ ซึ่งต้องร่ำเรียนสำเร็จมาจริงๆไม่ใช่แค่มียศเป็นนายทหารพิเศษ[23]

คุณสมบัติข้อที่ 4 สำคัญที่สุดในความวัฒนาถาวรของชาติและความมั่นคงแห่งราชบัลลังก์ พระมหากษัติรย์ต้องทรงเห็นความทุกข์ยากของราษฎร และทรงเผื่อแผ่อารีรักในปวงประชาชาติ หากพระมหากษัตริย์ไร้ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าว  พงศาวดารได้บอกเราว่าจะเกิดอะไรขึ้นในภายภาคหน้า  "...การปฏิวัตรองค์พระมหากษัตริย์นั้นเกือบนับครั้งไม่ถ้วน และปฏิวัตรครั้งไรก็เกิดนองเลือดทุกครั้ง"[24]

คุณสมบัติข้อที่ 5 ไม่ได้หมายความว่าจะเลือกพระมหากษัตริย์ที่ทรงชราภาพ แต่จะไม่เลือกกษัตริย์เด็กที่ไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่เคยปรากฏว่ากษัตริย์ที่ทรงพระเยาว์จะนำความราบรื่นมาสู่ประเทศชาติ นอกจากนั้นราษฎรจะกล่าวหาเอาได้ว่าตั้งกษัตริย์ที่ไม่บรรลุนิติภาวะเพื่อเอาไว้ใช้เป็นเครื่องมือ ถึงแม้จะมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่าผู้สำเร็จราชการจะไม่ขัดขวางรัฐประศาสโนบายของรัฐบาลหรือนโยบายของสภาผู้แทนราษฎร "ในที่สุดเราควรวางกฎเกณฑ์ว่าต้องเลือกเจ้านายที่สามารถประกอบพระราชกรณียกิจได้อย่างทันสมัยไม่ใช่ล่วงสมัย และยังไม่ถึงสมัย..."[25]

อย่างไรก็ตาม พ.ต.หลวงรณสิทธิพิชัย ไม่เห็นด้วยกับ ร.ท.ทองคำ คล้ายโอภาส ผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี ที่จะให้ถือความเห็นของสภาผู้แทนราษฎรเหนือกฎมณเฑียรบาล เพราะมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นไปตามนัยของกฎมณเฑียรบาลประกอบกับความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร หน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงควรพิจารณาแค่ว่าพระองค์เจ้าอานันท์ไม่สมควรอย่างไร ถ้าสมควรแล้วก็ไม่ต้องอภิปรายต่อไป ส่วนกรณีที่พระมหากษัตริย์ยังไม่บรรลุนิติภาวะหากสภาผู้แทนราษฎรเลือกพระองค์เจ้าอานันทมหิดลเป็นกษัตริย์ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรา 10 คือ แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์[26]

ร.ท.ทองคำ คล้ายโอภาส ผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี อภิปรายชี้แจงว่า[27] ตนมิได้หมายความว่าจะต้องเลือกเจ้านายองค์ที่อยู่นอกกฎมณเฑียรบาล แต่ควรเลือกเจ้านายที่รักชาติ รักประเทศ และรักราษฎรในเวลาที่ราษฎรกำลังคับขัน นอกจากนั้น ร.ท.ทองคำ คล้ายโอภาส ยังกล่าวอีกว่า "ข้าพเจ้าไม่อยากจะไหว้เด็กหรอก ข้าพเจ้าอยากไหว้คนที่มีอายุพรรษามากกว่าเด็ก" คนที่เป็นเด็กราษฎรจะไม่ค่อยเคารพนับถือแต่จะเคารพผู้ใหญ่มากกว่า "ถ้าหากว่าเจ้านายที่อยู่ห่างไกลหรือไปอยู่ต่างประเทศแล้ว ราษฎรจะไว้ใจหรือเคารพนับถือได้อย่างไร ...ถ้าเรารักรัฐธรรมนูญ เราต้องการเจ้านายที่มีคุณสมบัติดีเอามาช่วยดำเนินประเทศชาติให้เป็นไปตามระบอบรัฐธรรมนูญ"

ที่ประชุมรัฐสภาได้อภิปรายกันต่อไปพอสมควร ซึ่งโดยมากแล้วจะถกเถียงกันว่าควรจะปฏิบัติตามกฎมณเฑียรบาลโดยเคร่งครัดหรือไม่

จากนั้นนายไต๋ ปาณิกบุตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร ได้สอบถามรัฐบาลถึงการไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระพันวัสสาว่าได้ผลว่าอย่างไรบ้าง[28]

พระสารสาสน์ประพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ จึงได้อ่านบันทึกเรื่องนายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า[29] วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2477 ให้ที่ประชุมได้รับทราบ โดยมีใจความสำคัญว่า[30]

วันที่4 มีนาคม พ.ศ. 2477 พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี น.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า ณ วังตำบลปทุมวัน โดยนายกรัฐมนตรีได้กราบทูลสมเด็จพระพันวัสสาฯ ถึงการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัฐบาลเห็นว่าไม่มีวิถีทางใดที่จะอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้กลับคืนสู่พระนครได้ จึงจำเป็นต้องนำเรื่องขึ้นสู่การพิจารณาวินิจฉัยของสภาผู้แทนราษฎร และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะแนะนำผู้ที่สมควรขึ้นครองราชสมบัติแทนต่อไป เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสละพระราชอำนาจในการแต่งตั้งผู้สืบราชสมบัติ จึงเท่ากับว่าพระองค์มีพระราชประสงค์จะให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์และรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็มีความเห็นเช่นเดียวกัน จึงมาเข้าเฝ้าขอพระราชทานกราบทูลให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองพระบาทในอันที่จะอัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นครองราชสมบัติต่อไป สมเด็จพระพันวัสสาฯทรงรับสั่งว่า "เรื่องนี้ฉันไม่มีเสียงอะไร ฉันพูดอะไรไม่ได้ การจะเป็นไปอย่างไรย่อมแล้วแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นประมุขแห่งพระราชวงศ์" หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์กราบทูลว่า ตนได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหนึ่งครั้งที่กรุงลอนดอน และกราบบังคมทูลเรียนพระราชปฏิบัติว่าหากลาออกจากราชสมบัติแล้วจะทรงตั้งผู้ใดขึ้นครองราชสมบัติแทนต่อไป ทรงรับสั่งว่าจะไม่ตั้งผู้ใด เพราะจะเป็นการกระทบกระเทือน ทรงพระราชดำริเห็นว่าควรให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ เพราะจะเป็นการป้องกันมิให้มีเหตุยุ่งยากในภายหน้า ซึ่งรัฐบาลก็มีดำริเช่นนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่าได้มอบให้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย มาเฝ้ากราบทูล(สมเด็จพระพันวัสสาฯ)แล้วว่า เพื่อเห็นแก่พระราชวงศ์ขอให้ทรงรับ สมเด็จพระพันวัสสาฯรับสั่งว่า "ถ้าหากพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นดังนั้นก็ต้องทรงรับอยู่เอง ...กรมเทววงศ์ฯได้มาบอกแล้ว ฉันก็ได้รับทราบไว้ แต่ฉันไม่มีเสียงอะไร ทั้งนี้ก็แล้วแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"

จากนั้น ร.ต.เนตร์ พูนวิวัฒน์ ขอให้รัฐบาลแถลงเรื่องที่หลวงธำรงไปเข้าเฝ้าพระองค์เจ้าอานันท์ที่สวิทเซอร์แลนด์เพื่อประกอบการวินิจฉัย[31]

น.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. รัฐมนตรี แถลงโดยย่อมีใจความว่า[32] วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ได้ไปเข้าเฝ้าหม่อมสังวาลย์[33] พระองค์เจ้าอานันท์(ได้เข้าเฝ้าพระองค์หญิงใหญ่ และพระองค์น้องสุดด้วย) แต่มิได้มีอะไรอภิปรายกันมากนักเพราะพระองค์เจ้าอานันท์มีชันษาแค่ 10 ขวบ ยังพูดกันไม่ได้เนื้อถ้อยกระทงความ เป็นแต่เพียงเยี่ยมอาการทุกข์สุขเท่าที่เป็นอยู่ เท่าที่สอบสวนดูทรงสบายดี มีผิดปกติเล็กน้อยคือร่างกายเติบโตไม่ได้ขนาด มีหน้าอกแคบกว่ากำหนดเล็กน้อย แต่หาได้เป็นวัณโรคหรือโรคอื่นใดไม่ เมื่อได้พูดถึงเรื่องการที่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์เจ้าอานันท์ท่านบอกว่าไม่อยากเป็นด้วยเหตุผล 6 หรือ 7 ประการ แต่จะไม่ขอแถลงในสภาแห่งนี้

แต่นายมังกร สามเสน ขอให้แถลง น.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ จึงขออย่าให้จดในรายงานการประชุม ที่ประชุมอนุญาตให้หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์แถลงถึงเหตุผลที่พระองค์เจ้าอานันทมหิดลไม่อยากเป็นพระเจ้าแผ่นดินโดยไม่มีการจดในรายงานการประชุม[34]

หลังจากนั้น น.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ กล่าวถึงการสนทนากับหม่อมสังวาลย์ว่า[35] ตนได้ถามหม่อมสังวาลย์ว่า มีความขัดข้องหรือไม่ในการที่พระองค์เจ้าอานันท์ฯจะขึ้นครองราชสมบัติ หม่อมสังวาลย์ตอบว่า "เรื่องนี้ย่อมสุดแล้วแต่พระพันวัสสาฯ สำหรับท่านไม่มีการขัดข้องหรือมีความเห็นอย่างไร" นอกจากนั้นก็เป็นการสนทนาเรื่องการทุกข์สุขและการศึกษาเล่าเรียน ถ้าเป็นพระเจ้าอยู่หัวแล้วพระองค์เจ้าอานันท์จะทรงประทับที่ไหน ควรจะศึกษาที่ไหน ควรจะรักษาตัวที่ไหน และควรมีมหาดเล็กอย่างไร

เมื่อ น.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ แถลงผลการเข้าเฝ้าฯเสร็จแล้ว ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็อภิปรายกันต่อ ซึ่งโดยมากจะเน้นไปที่คุณสมบัติที่พระองค์เจ้าอานันท์ทรงพระเยาว์ว่าจะมีความเหมาะสมกับตำแหน่งพระมหากษัตริยห์หรือไม่ เป็นต้นว่า

นายไต๋ ปาณิกบุตร อภิปรายว่า "ดูเหมือนว่าถ้าเราตั้งพระเจ้าแผ่นดินที่ยังทรงพระเยาว์เป็นกษัตริย์แล้ว ยังจะต้องตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีก ซึ่งในที่สุดผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั่นเองเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ใช่พระเจ้าอยู่หัวองค์นั้น แล้วก็ทำอะไรไม่ได้เป็นเวลา 10 ปี..."[36] นายไต๋ ยังได้เสนอสภาผู้แทนราษฎรให้วางหลักเกณฑ์ในมาตรา 9 ว่าประเทศสยามขณะนี้ยังไม่ควรมีพระมหากษัตริย์ที่เป็นเด็ก[37]

ร.ต.ถัด รัตนพันธุ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า[38] พระองค์เจ้าอานันทมหิดลเป็นผู้อยู่ต้นที่สุดจึงสมควรเป็นพระมหากษัตริย์แม้จะเป็นเด็กก็ตาม แต่ก็สามารถตั้งผู้รักษาราชการแผ่นดินแทนพระองค์ได้ ผู้รักษาราชการแผ่นดินสามารถตั้งเป็นคณะได้ไม่จำเป็นต้องมีคนเดียว

นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ แสดงความเห็นแย้ง นายไต๋ ปาณิกบุตร ว่า[39] การวางหลักเกณฑ์ว่าควรเลือกพระมหากษัตริย์ที่เป็นผู้เยาว์หรือไม่นั้นเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ

นายสรอย ณ ลำปาง ผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง อภิปรายว่า[40] พระองค์เจ้าอานันทมหิดลเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ลำดับต้นสมควรได้ครองราชสมบัติ ถ้าเลือกผู้อื่นต่อไปเมื่อพระองค์เจ้าอานันทมหิดลบรรลุนิติภาวะพระองค์จะทรงเสียพระทัย และอาจเกิดความแตกร้าวระหว่างพระบรมวงศานุวงศ์หรืออาจเป็นภัยแก่บ้านเมืองก็ได้ การเลือกข้ามไปข้ามมาจึงไม่เหมาะ จะติดอยู่ก็เป็นผู้เยาว์เท่านั้นจึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

นายสวัสดิ์ ยูวะเวส ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ อภิปรายว่า[41] ได้ยินเสียงสมาชิกหลายคนกล่าวถึงความสำคัญของพระมหากษัตริย์ ซึ่งกล่าวเป็นที่วิตกห่วงใยต่างๆนานาและต้องการความสำคัญต่างๆ ความจริงความสำคัญของพระมหากษัตริย์จะมีหรือไม่ก็อยู่ที่พวกเรา เราถือตามรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ทำอะไรไม่ผิด และพระมหากษัตริย์ไม่ได้ทำอะไรเลย พระมหากษัตริย์ไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ความสำคัญของพระมหากษัตริย์ไม่มีเท่าไรนัก เพราะฉะนั้นเราก็เลือกได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นเด็ก

ขุนเสนาสัสดี ผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า[42] การเลือกพระมหากษัตริย์นั้นสำคัญยิ่งต้องให้ราษฎรทั้งประเทศนิยมด้วย พระองค์เจ้าอานันทมหิดลยังไม่บรรลุนิติภาวะ ถ้าตั้งท่านเป็นพระมหากษัตริย์ก็ต้องตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกเป็นการเสียเวลามิใช่น้อย

พระพินิจธนากร ผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า[43] เคยรู้จักกับกรมหลวงสงขลาฯพระบิดาของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลว่าเป็นผู้ที่รักประชาธิปไตยอย่างยิ่ง ถ้าได้ลูกซึ่งเหมือนกับพระบิดาก็เป็นเรื่องน่ายินดียิ่ง อีกประการหนึ่งพระองค์เจ้าอานันทมหิดลยังเด็กคงใช้จ่ายเงินน้อย ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นคนมีความสามารถหรืออะไร เรามีรัฐธรรมนูญปกครองตามแบบ เราทำไปโดยสภาทั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงทำผิดมิได้เลย คือ เดอะคิงแคนดูโนรอง(The King can do no wrong)

ในที่สุดสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ลงมติ โดยผู้ทำการแทนประธานสภาฯ ได้ถามมติของที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า "สำหรับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลองค์นี้ ท่านผู้ใดเห็นด้วย เห็นด้วยหมายความว่าควรจะเป็นพระมหากษัตริย์ โปรดยืนขึ้น" ผลปรากฏว่า "มีสมาชิกยืนขึ้น 127 นาย" จากนั้นผู้ทำการแทนประธานสภาฯ ถามมติของที่ประชุมอีกครั้งว่า "ท่านผู้ใดเห็นว่าเจ้านายพระองค์นี้ไม่ควรจะเป็นพระมหากษัตริย์ โปรดยืนขึ้น" ผลปราฏว่า "มีสมาชิกยืนขึ้น 2 นาย"[44] โดยที่ในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรมิได้ระบุชื่อว่าเป็นผู้ใด

เป็นอันว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรให้ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยคะแนนเสียงไม่เอกฉันท์ 127 ต่อ 2 เสียง นับเป็นครั้งแรกที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติให้ความเห็นชอบผู้สืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ประมุขแห่งรัฐสยาม

        หลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 10 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 จำนวน 3 คน ประกอบด้วย นาวาตรี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ร.น. พันเอก พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัฒน์จาตุรนต์ และเจ้าพระยายมราช(ปั้น สุขุม)[45] โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัฒน์จาตุรนต์ เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชแทนพระองค์[46]

ช่วงเวลา 12 ปี ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเป็นช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาล กับ สถาบันกษัตริย์ทั้งโดยผ่านผู้สำเร็จราชการและโดยองค์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 มีความราบรื่นมากที่สุดนับตั้งแต่การปฏิวัติ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบรัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรได้วางรากฐานไว้ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลกับสถาบันกษัตริย์ที่มีความโน้มเอียงไปในทางที่เป็นประชาธิปไตยและมีความลงตัวมากขึ้นโดยลำดับ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเกิดเหตุสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสียก่อน และสิ่งที่ตามมาหลังการผลัดแผ่นดินเปลี่ยนรัชกาลได้ปีเศษคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 ต้องพบจุดจบด้วยรัฐประหารอย่างน่าเสียดายทั้งๆ ที่เพิ่งถือกำเนิดลืมตามาดูโลกได้เพียงไม่นาน และนั่นไม่เพียงเป็นหายนะของรัฐธรรมนูญที่เพิ่งประกาศใช้ได้เพียงปีเศษและหายนะของระบอบประชาธิปไตยที่มีความก้าวหน้าขึ้นเท่านั้น แต่เป็นจุดเริ่มต้นความเปลี่ยนแปลงของสถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อย่างสิ้นเชิงในเวลาต่อมา

 

การขึ้นครองราชย์ของเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชโดยความเห็นชอบของรัฐสภา

            เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 แล้ว ในวันเดียวกันนั้นรัฐสภาก็ได้จัดประชุมเพื่อเลือกพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา โดยในการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 1 ระเบียบวาระที่ 2 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี แจ้งให้สมาชิกรัฐสภาทราบข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล โดยมีใจความว่า[47] ด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มประชวรตั้งแต่วันที่  2 มิถุนายน เป็นต้นมาด้วยอาการพระนาภีไม่เป็นปกติ และทรงเหน็ดเหนื่อยไม่มีพระกำลัง อย่างไรก็ตาม พระองค์ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเสด็จเยี่ยมราษฎรตามปรกติ เมื่ออาการพระนาภียังไม่ทุเลาลงจึงต้องประทับรักษาพระองค์อยู่โดยมิได้เสด็จออกงานตามหมายกำหนดการ ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน  เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตื่นพระบรรทมตอนเช้าเวลา 6 นาฬิกา ได้เสวยพระโอสถแล้วเข้าห้องสรงซึ่งเป็นพระราชกิจประจำวัน จากนั้นจึงเสด็จเข้าพระที่ ครั้นเวลาประมาณ 9 นาฬิกา "มหาดเล็กห้องพระบรรทมได้ยินเสียงปืนดังขึ้นในพระที่นั่ง จึงรีบวิ่งเข้าไปดูเห็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรทมอยู่บนพระที่ มีพระโลหิตไหลเปื้อนพระองค์และสวรรคตเสียแล้ว" มหาดเล็กห้องบรรทมจึงไปกราบทูลให้สมเด็จพระราชชนนีทรงทราบแล้วเสด็จไปถวายบังคมพระบรมศพ ต่อมาพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ได้เข้าไปกราบถวายบังคม และอธิบดีกรมตำรวจกับอธิบดีกรมการแพทย์ ถวายตรวจพระบรมศพและสอบสวน ได้ความสันนิษฐานได้ว่าคงจะทรงจับคลำพระแสงปืนตามพระราชอัธยาศัยแล้วเกิดอุปัทวเหตุขึ้น จากนั้นประธานรัฐสภาก็ขอให้สมาชิกรัฐสภายืนขึ้นไว้อาลัย "ที่ประชุมยืนขึ้นไว้อาลัยเป็นเวลานานพอสมควร"[48]

            หลังจากนั้นสมาชิกได้ซักถามรายละเอียดรัฐบาลเกี่ยวกับการสวรรคต เช่น มีสิ่งใดหรือไม่ที่ชี้ชัดเจนว่าพระเจ้าอยู่หัวมิได้สวรรคตโดยพระองค์เอง ลักษณะบาดแผลจากการชัณสูตรพลิกศพ เหตุผลและวิธีการสอบสวนสืบสวนคดี การเข้าออกห้องบรรทมนอกจากพระญาติวงศ์แล้วมีใครเข้าออกได้อีกบ้าง เป็นต้น โดยที่พล.ต.ท.พระรามอินทรา อธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งอยู่ในที่ประชุมด้วยเป็นผู้ทำหน้าที่ตอบคำถาม[49]

            อย่างไรก็ตาม หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช สมาชิกสภาผู้แทน(พระนคร) เห็นว่าไม่ควรจะพูดเรื่องนี้กันต่อเพราะ

"เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยและข้าพเจ้าเข้าใจว่ารัฐบาลคงจะต้องทำคำแถลงการณ์โดยละเอียดเมื่อทำการสืบสวนโดยละเอียดภายหลัง เพราะฉะนั้นขอความกรุณาท่านสมาชิกทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่ใช่เจ้าถ้อยหมอความ ขออย่าให้มีการพิสูจน์หรือพลิกพระศพกันที่นี่ ขอความกรุณาอย่าซักถามเรื่องนี้ และพูดเรื่องอื่นกันต่อไป"[50]

เมื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เสนอดังนี้ นายวิลาศ โอสถานนท์ ประธานรัฐสภาจึงให้รัฐบาลแถลงเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ในวาระที่ 3 ต่อไป

        การประชุมในระเบียบวาระที่ 3 รัฐบาลแถลงเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์โดยนัยแห่งกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 และขอความเห็นชอบของรัฐสภาตามมาตรา 9 แห่งรัฐธรรมนูญ[51] โดยนายทวี บุณยเกตุ ผู้สั่งราชการแทนนายกรัฐมนตรี แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า ตามมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติว่าการสืบราชสมบัติ ให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ซึ่งตรงกับมาตรา 9 ข้อ 8 โดยนายทวีได้กล่าวถึงกฎมณเฑียรบาลข้อดังกล่าวให้สมาชิกฟังว่า "ข้อ 8 ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไร้พระราชโอรสและพระราชนัดดา ท่านก็ให้อัญเชิญสมเด็จพระอนุชาที่ร่วมพระราชชนนีพระองค์ที่มีพระชนมายุถัดลงมาจากพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์" เมื่อมีความชัดเจนเช่นนี้ "รัฐบาลจึงเห็นว่าผู้ที่สมควรจะสืบราชสันตติวงศ์ควรได้แก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงขอเสนอและขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญต่อไป"

            ประธานรัฐสภาจึงขอมติจากที่ประชุมรัฐสภาว่า "ข้าพเจ้าขอความเห็นของรัฐสภา ถ้าท่านผู้ใดเห็นชอบด้วย ขอได้โปรดยืนขึ้น" ผลปรากฏว่า"สมาชิกยืนขึ้นพร้อมเพรียงกัน" เป็นอันว่ารัฐสภาลงมติให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อจากพระเชษฐาธิราช โดย"มีผู้เห็นชอบเป็นเอกฉันท์"[52]

            จากนั้นนายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี จึงขอให้สมาชิกรัฐสภาถวายพระพรชัยขอให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจงทรงพระเจริญ โดย "ที่ประชุมได้ยืนขึ้นและเปล่งเสียงไชโย 3 ครั้ง"[53]

            ต่อมาประธานรัฐสภาแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ตามมาตรา 10 และมาตรา 11 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 กำหนดให้สมาชิกพฤฒสภาที่มีอายุสูงสุด 3 คน เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว ซึ่งประกอบด้วย พระสุธรรมวินิจฉัย เจ้าคุณนนท์ราชสุวัจน์ และนายสงวน จูฑะเตมีย์ มีอายุสูงตามลำดับ และให้ทั้งสามยืนขึ้นแสดงตัวต่อที่ประชุมรัฐสภา[54]

จากนั้นนายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีก็ได้แจ้งต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า ตนได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีโดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลซึ่งบัดนี้พระองค์ได้เสด็จสวรรคตแล้ว จึงได้ยื่นใบลาออกต่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว[55]

-----------------

การเลือกพระมหากษัตริย์สองครั้งแรกโดยการให้ความเห็นชอบของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาผ่านพ้นไปอย่างราบรื่น ไม่ปรากฏความขัดแย้งรุนแรงหรือมีเหตุเภทภัยอันตรายถึงขั้นเสี่ยงที่จะเกิดความล่มจมต่อราชอาณาจักรอย่างที่เคยเกิดขึ้นบ่อยครั้งเมื่อมีการผลัดแผ่นดินมาแต่ครั้งโบราณ และเป็นที่น่าสังเกตว่าในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเรื่องการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และการเลือกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ (ตลอดจนการเลือกคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่างอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอภิปรายในเชิงตำหนิติเตียนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนอภิปรายถึงคุณสมบัติด้านลบของพระองค์เจ้าอานันทมหิดล (รวมถึงคุณสมบัติด้านลบของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วย) ยังไม่นับว่ามีการแสดงจุดยืนของฝ่ายฝ่ายรัฐบาลว่าให้การสนับสนุนผู้ใดให้สืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ดังที่พระยาพหลพลพยุหเสนา กล่าวว่า "ที่รัฐบาลเสนอพระองค์แรก คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล..."(ซึ่งสอดคล้องกับที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวในเวลาต่อมาว่ารัฐบาลให้การสนับสนุนพระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์เพราะพระบิดาของพระองค์เจ้าอานันทมหิดล "...ได้ทรงทำคุณประโยชน์แก่ราษฎร และเป็นเจ้านายที่บำเพ็ญพระองค์เป็นนักประชาธิปไตย เป็นที่เคารพรักใคร่ของราษฎรส่วนมาก คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบพร้อมกันเสนอสภาผู้แทนราษฎรขอความเห็นชอบ..."[56]) แม้ น.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์จะปฏิเสธในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่าเป็นการเสนอตามลำดับของกฎมณเฑียรบาลก็ตาม แต่สิ่งที่หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์อธิบายนั้นอาจจะมีความถูกต้องเพียงบางส่วน เพราะหากรัฐบาลไม่ประสงค์จะให้พระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นเป็นกษัตริย์ก็ย่อมจะสามารถรวบรวมคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรได้มากพอที่จะลงคะแนนเสียงไม่เห็นชอบได้ สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นอย่างน้อยที่สุดน่าจะเป็นการยืนยันได้ว่ารัฐบาลให้การสนับสนุนด้วยการไม่คัดค้าน ขณะที่การเลือกเจ้าฟ้าภูมิพลขึ้นครองราชย์นั้น สมาชิกรัฐสภามิได้อภิปรายถึงคุณสมบัติของเจ้าฟ้าภูมิพลกันอย่างกว้างขวางเหมือนกรณีพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าขณะนั้นกำลังอยู่ในบรรยากาศของความโศกเศร้าจากกรณีสวรรคต หรือไม่บรรดาผู้มีอำนาจในขณะนั้นอาจไม่ติดใจในคุณสมบัติของเจ้าฟ้าภูมิพลก็เป็นได้

        อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลหรือสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งประชาชนทั่วไปจะแสดงจุดยืนในการสนับสนุนหรือคัดค้านผู้ใดถือเป็นเรื่องปกติธรรมดามากในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอภิปรายและการลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพราะคนเหล่านั้นในฐานะผู้แทนของประชาชนกำลังใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชนในการเลือกประมุขของรัฐ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าการเลือกพระมหากษัตริย์โดยรัฐสภาในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำได้เฉพาะกรณีที่พระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนมิได้ทรงแต่งตั้งองค์รัชทายาทเอาไว้เท่านั้น แต่ถ้าเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์องค์ก่อนหน้าทรงแต่งตั้งรัชทายาทไว้รัฐสภาก็มีหน้าที่เพียงรับทราบเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่ว่าหากในอนาคต รัฐธรรมนูญกำหนดให้การเลือกพระมหากษัตริย์เป็นอำนาจของรัฐสภาในทุกกรณี ไม่ว่าพระมหาษัตริย์องค์ก่อนหน้าจะทรงแต่งตั้งองค์รัชทายาทไว้ก่อนหรือไม่ก็ตาม จะมีสมาชิกรัฐสภาคนใดกล้าอภิปรายถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะขึ้นสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่อย่างตรงไปตรงมาเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีตหรือไม่

 

 

*******************************************




[1] คำปรารถ กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 41, ตอน 0ก, 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2467, หน้า 197-198.

        [2] คำพิพากษาศาลพิเศษ พ.ศ. 2482 เรื่องกบฏ, กรมโฆษณาการ, หน้า 30.

        ขณะที่หลักฐานจากฝ่ายเจ้า โดยหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ได้บันทึกไว้ตรงกันว่า รัชกาลที่ 7 ทรงพระราชทานเงินจากพระคลังข้างที่ให้กับพระองค์เจ้าบวรเดชจำนวนสองแสนบาท(พูนพิศมัย ดิศกุล, 2543 : 126-127)

        [3] คำแถลงการณ์ของรัฐบาล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 51, ตอน 0ก, 7 มีนาคม พ.ศ. 2477, หน้า 1337-1338.

        [4] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 19 ถึง ครั้งที่ 34 สมัยสามัญ สมัยที่สอง,เล่ม 2, 12 กุมภาพันธ์ ถึง 8 มีนาคม พ.ศ. 2477, หน้า 2242-2244.

        [5] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2244-2328.

        [6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2329.

        [7] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2329-2331.

        [8] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2328-2329.

        [9] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

        [10] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2331.

        [11] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2331-2332.

        [12] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2332-2333.

      [13] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 19 ถึง ครั้งที่ 34 สมัยสามัญ สมัยที่สอง วันที่ 12 กุมภาพันธ์ – 8 มีนาคม พ.ศ. 2477 เล่ม 2 หน้า 2430-2433.

        [14] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2333.

        [15] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2334.

        [16] เรื่องเดียวกัน

        [17] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2334-2335.

        [18] ราชาธิปไตยแบบอำนาจจำกัด(limited monarchy) หรือที่คณะราษฎรใช้คำว่า "ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ"

        [19] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2335-2336.

        [20] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2336.

        [21] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2336-2337.

        [22] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2337.

        [23] เรื่องเดียวกัน

        [24] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2337-2338.

        [25] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2338-2339.

        [26] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2339-2340.

        [27] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2340-2341.

        [28] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2345.

        [29] สมเด็จย่าของในหลวงรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9

        [30] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2346-2348.

        [31] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2348.

        [32] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2348-2349.

        [33] พระชนนีของพระองค์เจ้าอานันทมหิดล และพระองค์เจ้าภูมิพล

        [34] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2349-2350.

        [35] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2350.

        [36] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2352.

        [37] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2354.

        [38] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2355-2356.

        [39] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2356.

        [40] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2356-2357.

        [41] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2358-2359.

        [42] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2359-2360.

        [43] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2362 -2363.

        [44] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2364.

        [45] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2386.

        [46] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2405.

        [47] รายงานการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 1-10, 9 มิถุนายน 2489 - 12 สิงหาคม 2490, หน้า 1-2.

        [48] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2.

        [49] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2-5.

        [50] เรื่องเดียวกัน, หน้า 5.

        [51] เรื่องเดียวกัน, หน้า 5-6.

        [52] เรื่องเดียวกัน, หน้า 6.

        [53] เรื่องเดียวกัน

        [54] เรื่องเดียวกัน

        [55] เรื่องเดียวกัน, หน้า 5-6.

        [56] ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นไปภายในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, ใน บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพ : คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาลฯ และสภาบันปรีดี พนมยงค์, 2543), หน้า 26.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'กลุ่มนักอ่านฯ' จี้สมาคมผู้จัดพิมพ์ ขยับปกป้องเสรีภาพคนในวงการ

Posted: 07 Apr 2013 05:26 AM PDT

หลังป่วนทางวัฒนธรรมลุยงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติหลายวัน "กลุ่มนักอ่านเพื่อเสรีภาพในการอ่าน เขียน พิมพ์ และเผยแพร่" ออกจดหมายเปิดผนึกถึงสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่วยหนังสือแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้เป็นตัวแทนยื่นเรื่องต่อรัฐบาล หลังมี นักเขียน นักแปล บรรณาธิการ โดนมาตรา 112 หลายราย


(7 เม.ย.56)  ก่อนวันสุดท้ายของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปีนี้ "กลุ่มนักอ่านเพื่อเสรีภาพในการอ่าน เขียน พิมพ์ และเผยแพร่" อ่านจดหมายเปิดผนึกถึงสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้สมาคมฯ  แสดงท่าทีต่อการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการพิมพ์และการจำหน่ายหนังสือ โดยเป็นตัวแทนในการเสนอความคิดเห็น หรือยื่นเรื่องต่อรัฐบาล ตามวัตถุประสงค์ข้อ 7 ของสมาคมฯ ในส่วนของการพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือ หลังจากมีผู้เกี่ยวข้องในวงการหนังสือถูกลงโทษจำคุกด้วยมาตรา 112 (อ่านรายละเอียดด้านล่าง)

ทั้งนี้  "กลุ่มนักอ่านเพื่อเสรีภาพในการอ่าน เขียน พิมพ์ และเผยแพร่" เป็นการรวมตัวกันผ่านเฟซบุ๊ก เพื่อทำกิจกรรมเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก โดยตลอดงานสัปดาห์หนังสือฯ ที่ผ่านมา ได้ปฏิบัติการป่วนทางวัฒนธรรม (culture jamming) ด้วยการใส่หน้ากากสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ถูกดำเนินคดีตาม ม.112 ในฐานะบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Thaksin ทำกิจกรรมต่างๆ

กิจกรรมวันนี้ ประกอบด้วยการเดินซื้อหนังสือ นั่งอ่านหนังสืออย่างสงบ ถ่ายรูปกับนักเขียนชื่อดัง ทำตัวแข็งหุ่นนิ่ง สะดุดบันไดล้มใบปลิวว่อนกระจาย ก่อนจะถูก รปภ. กรูกันมาล้อมเพื่อให้หยุดกิจกรรมและถอดหน้ากากออก จากนั้น กลุ่มนักอ่านฯ จึงแยกย้ายไปรวมตัวหน้าประตูโซน C และนั่งอ่านจดหมายเปิดผนึกพร้อมกันจนจบ ท่ามกลางความสนใจของผู้คนละแวกนั้น 

 

 

จดหมายเปิดผนึกถึงสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

ในโอกาสที่สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เป็นเจ้าภาพจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 41 และในปี 2556 นี้กรุงเทพมหานครได้รับเลือกเป็นเมืองหนังสือโลก เราในนาม "กลุ่มนักอ่านเพื่อเสรีภาพในการอ่าน เขียน พิมพ์ และเผยแพร่" จึงถือโอกาสนี้มาร่วมงานสัปดาห์หนังสือฯ เพื่อสะท้อนให้ท่านและเพื่อนนักอ่านได้ตระหนักถึงสถานการณ์การจัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือในบ้านเรา

ท่านคงทราบดีว่า ในรอบ 5-6 ปีมานี้ มีนักเขียน นักแปล บรรณาธิการ ผู้จัดพิมพ์ คนขายหนังสือ ถูกจับกุมดำเนินดคีด้วยข้อหาเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามการตีความอย่างกว้างของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งระบุว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี" คนเหล่านี้ประกอบสัมมาชีพด้านหนังสือและการพิมพ์อย่างสุจริตแต่ถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมจากกฎหมายมาตรา 112 ไม่ว่าจะเป็นคุณบัณฑิต อานียา "นักเขียนผู้ต่ำต้อยที่สุดในประเทศสยาม" ที่เขียนและแจกเอกสารอันเข้าข่ายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ในงานสัมมนา (คดีอยู่ในชั้นศาลฎีกา), คุณเลอพงษ์ (โจ กอร์ดอน) ถูกจำคุกโดยไม่รอลงอาญาในฐานะเจ้าของบล็อกที่เปิดให้ดาวน์โหลดหนังสือ The King Never Smiles (เขียนโดย Paul Handley ตีพิมพ์โดย Yale University Press เมื่อปี 2549) อันเป็นหนังสือต้องห้ามในประเทศไทย (ปัจจุบันคดีถึงที่สุดแล้ว), คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ถูกพิพากษาจำคุก 10 ปีจากการตีพิมพ์บทความ 2 ชิ้นอันเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ถูกจำคุกมาร่วม 2 ปี ยื่นขอประกันตัว 14 ครั้งไม่เคยได้รับสิทธิ), คุณเอกชัย หงส์กังวาน ผู้จำหน่ายซีดีสารคดีเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทยเผยแพร่ทางช่อง ABC ประเทศออสเตรเลีย ถูกตัดสินจำคุก 3 ปี 4 เดือนโดยไม่รอลงอาญา ทั้งที่เขาเป็นเพียงคนจำหน่าย และสารคดีดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก รวมถึงคนตัวเล็กตัวน้อยอีกมากที่ถูกจับกุมคุมขังเพียงเพราะพิมพ์ โพสต์ เขียน เผยแพร่ จำหน่าย โดยไม่ได้สิทธิประกันตัวมาสู้คดีในชั้นศาลเพื่อพิสูจน์เจตนาบริสุทธิ์ของตน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในรอบ 2 ปีมานี้มีการแสดงท่าทีวิตกกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าวของนักเขียนและบรรณาธิการอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกของนักเขียนกว่าร้อยรายชื่อ เรียกร้องให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และยุติการใช้ข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของเพื่อนร่วมวิชาชีพ ล่าสุดเมื่อต้นปีมานี้ ผู้ประกอบวิชาชีพบรรณาธิการ (บางส่วน) ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีการพิพากษาจำคุกสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นเวลาถึง 10 ปี ในฐานะบรรณาธิการที่ต้องความผิดฐานตีพิมพ์บทความ 2 ชิ้น ทั้งที่ พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ 2550 ได้มีบทบัญญัติยกเลิก พ.ร.บ. การพิมพ์ 2484 ไปแล้ว การตัดสินจำคุกบรรณาธิการ 10 ปีท่ามกลางความเงียบงันของสมาคมฯ ที่ไม่ควรเพิกเฉยต่อสถานการณ์คุกคามคนในวงการหนังสือ นั่นหมายความว่าอย่างไร?

ท่ามกลางบรรยากาศความกลัวในสังคมไทยเพราะมีคนในแวดวงหนังสือและการพิมพ์ถูกจับกุม ท่ามกลางสภาพที่มีหนังสือจำนวนมากถูกต้องห้าม ถูกเซ็นเซอร์ในประเทศไทย ท่ามกลางบรรยากาศจำกัดเสรีภาพในการอ่านและเผยแพร่บทความ บทวิจารณ์ ข้อเขียนใดก็ตามที่ถูก "ห้ามอ่าน" "ห้ามเผยแพร่" "ห้ามวิวาทะทางปัญญา" ในสภาพการณ์ดังกล่าวนี้ เราจะก้าวสู่เมืองหนังสือโลกอย่างสมศักดิ์ศรีได้อย่างไร?

เราเพียงหวังว่าสมาคมฯ จะเป็นตัวแทนในการเสนอความคิดเห็น หรือยื่นเรื่องต่อรัฐบาล ตามวัตถุประสงค์ข้อ 7 ของสมาคมฯ ในส่วนของการพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือ

เราเพียงหวังให้สมาคมฯ แสดงท่าทีต่อการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการพิมพ์และการจำหน่ายหนังสือ เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือผู้ใดต้องโทษจำคุกเพียงเพราะพิมพ์หรือจำหน่ายหนังสือ หรือเมื่อถูกจับกุมก็จักต้องได้รับสิทธิประกันตัวตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล เพราะพวกเขามิใช่นักโทษคดีอุกฉกรรจ์ หากมีเพียงปากกาและแท่นพิมพ์ดังที่พวกท่านมี

สุดท้ายนี้เราไม่มีเจตนาหรือความประสงค์ร้ายใดๆ ต่อการจัดงานครั้งนี้ เราเป็นเพียงกลุ่มนักอ่านจำนวนหนึ่งที่อยากรณรงค์ให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ด้วยการอ่านอย่างแท้จริง สมดังคำขวัญกรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก และสมดังเจตนารมณ์ของการก่อตั้งสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

กลุ่มนักอ่านเพื่อเสรีภาพในการอ่าน เขียน พิมพ์ และเผยแพร่
วันที่ 7 เมษายน 2556
แถลงที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชมรมคนรักในหลวง เคลื่อนใหญ่ประณาม 'ตอบโจทย์-ไทยพีบีเอส' ค้านแก้ ม.112

Posted: 07 Apr 2013 04:04 AM PDT

 

บริเวณสวนสาธารณะรัชดานุสรณ์ จ.ขอนแก่น ภาพจาก ชมรมคนรักในหลวง

6 เม.ย.56 ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 13.30 น. ที่หลังสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ หรือ ลานประวัติศาสตร์ เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ชมรมคนรักในหลวง จ.สงขลา จัดกิจกรรมปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีชมรมคนรักในหลวงทั้ง 16 อำเภอของ จ.สงขลา และประชาชนสวมเสื้อสีชมพู เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เพื่อแสดงพลังปกป้องสถานบันพระมหากษัตริย์ เวทีกิจกรรมเริ่มด้วยการแนะนำชมรมคนรักในหลวง จ.สงขลา โดย นางรติรส กาญจนธาร ประธานชมรมคนรักในหลวง จ.สงขลา จากนั้น พล.ต.ท.พิงพันธุ์ แนตรรังสี อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธร 4 (สงขลา) ขึ้นเวทีปราศรัยเรื่อง ในหลวงของเราและพระมหากรุณาธิคุณ และ พ.อ.นิมิตร อักษรเกิด อดีตสัสดี จ.สงขลา ปราศรัยเรื่อง การบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

นายสุมิตร นวลมณี จากสถานีวิทยุท้องถิ่นสงขลารวมใจ FM 95.50 MHz พูดถึงเรื่อง กฎหมาย ม.112 และความสำคัญ และนำหนังสือร้องเรียนที่พี่น้องประชาชนทนไม่ไหวได้ไปยื่นร้องเรียนให้กับสถานีโทรทัศน์ ไทย พีบีเอส กรณีรายการตอบโจทย์ ว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา พี่น้องกลุ่มประชาชนทนไม่ไหว ได้ไปติดตามความคืบหน้ากรณีที่ได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส แต่ทางสถานีได้ตอบหนังสือกลับมาโดยลงวันที่ 4 เม.ย. ทั้งๆ ที่พี่น้องไปติดตามเรื่องในวันที่ 5 เม.ย. จะเห็นได้ว่าไทยพีบีเอส ไม่ได้ความสำคัญกับประชาชนและดูถูกประชาชนเป็นอย่างมาก และยังบอกอีกว่า เรื่องที่เกิดขึ้น เป็นเพราะไทยพีบีเอส มีเจตนารมณ์นำเสนอเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สถาบันฯ ยั่งยืน โดยการนำประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาเผยแพร่และขยายผล แต่ได้เชิญวิทยากรที่คิดจะล้มล้างสถาบันฯ มาออกรายกาย เพราะฉะนั้นในฐานะที่เราประชาชนเป็นข้าพระบาท เราจะไม่ยอมต้องดำเนินการตามกฎหมายกับไทยพีบีเอสต่อไป หรืออาจจะถึงขั้นต้องปิดสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอสก็เป็นได้

นายสุมิตร กล่าวต่ออีกว่า ถ้าไม่มี กฎหมาย ม.112 แล้วจะมีอะไรมาเป็นกรอบปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ พวกที่ต้องการจะล่วงละเมิดเลยต้องการที่จะยกเลิกกฎหมาย เช่นเดียว นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์ และพวก เป้าหมายของคนกลุ่มนี้มี 8 ข้อด้วยกันคือ 1. ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 2.ยกเลิกประมวลกฎหมาย มาตรา 112 3.ยกเลิกองคมนตรี 4. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 5.ยกเลิก ประชาสัมพันธ์ด้านเดียว และการศึกษาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 6. ยกเลิกพระราชอำนาจแสดงความเห็นทางการเมือง 7.ยกเลิกพระราชอำนาจโครงการหลวงทั้งหมด และ 8.ยกเลิกการบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล

"เพราะฉะนั้น เราในฐานะประชาชนคนไทย เราจำเป็นต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะพระมหากษัตริย์คอยปกป้องประชาชนในแผ่นดินไทย ปกป้องคุ้มครองประเทศชาติมาด้วยพระปรีชาสามารถ หากมีการยกเลิก ม.112 เพื่อให้พวกที่คิดจะล้มล้างสถาบันฯ พ้นความผิด ต่อไปหากโจรที่ทำผิดก็มีการเรียกร้องแก้ กฎหมายเพื่อที่จะได้ทำชั่วต่อไปได้เช่นกัน" นายสุมิตร กล่าว

จากนั้น ชมชมคนรักในหลวง จ.สงขลา ได้นำหนังสือแถลงการณ์ประณามไทยพีบีเอส แจกจ่ายให้กับประชาชนที่มาเข้าร่วมกิจกรรม ก่อนที่จะแยกย้ายเดินทางกลับบ้าน

บริเวณสวนสาธารณะรัชดานุสรณ์ จ.ขอนแก่น ภาพจาก ชมรมคนรักในหลวง

ชมชมคนรักในหลวง อีสาน สาปแช่งเผาหุ่น "ภิญโญ-ส.ศิวรักษ์-สมศักดิ์"

นอกจากชมรมคนรักในหลวงจะมีการจัดกิจกรรมที่ ลานประวัติศาสตร์ เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา แล้ว ก่อนหน้านั้น วันที่ 5 เม.ย. ศูนย์ข่าวขอนแก่น ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า เมื่อเวลาประมาณประมาณ 16.30 น. ที่บริเวณสวนสาธารณะรัชดานุสรณ์ จ.ขอนแก่น พี่น้องประชาชนเครือข่ายชมรมคนรักในหลวงในพื้นที่ภาคอีสานหลายร้อยคนได้มารวมตัวเพื่อแสดงพลังถวายความจงรักภักดีสถาบันพระมหากษัตริย์

นอกจากนี้ ตัวแทนแต่ละจังหวัดได้ผลัดกันขึ้นเวทีกล่าวปราศรัยเทิดทูนพระมหากรุณาธิคุณพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ทุ่มเทพระวรกายเพื่อช่วยเหลือดูแลพสกนิกรชาวไทยมาอย่างยาวนาน

ต่อมา ในเวลา 18.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมเครือข่ายคนรักในหลวงที่มาชุมนุมได้ร่วมร้องเพลงชาติร่วมกัน

ในตอนท้ายของกิจกรรมการชุมนุมครั้งนี้ ได้มีการนำหุ่นฟาง นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ผู้ดำเนินรายการตอบโจทย์ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มาขังในสุ่มไก่ และทำพิธีสาปแช่งและจุดไฟเผา เพื่อประณามการกระทำอันมิควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย

 

พิษณุโลก – สระบุรี- ชุมพร ร่วมประณาม ค้านแก้ ม.112

นอกจากนี้ ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า ค่ำวันที่ 5 เม.ย. ที่สวนชมน่าน หลังสถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก ชมรมคนรักในหลวง พิษณุโลก นำโดยนางจุฑาทิพย์ สิทธิวงศ์ ประธานชมรมฯ และสมาชิกพร้อมกลุ่มลูกเสือชาวบ้านประมาณ 300 คน ได้ร่วมกันจัดเวทีแสดงพลังจงรักภักดี เทิดทูนและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

โดยในกิจกรรมมีการเชิญ พล.อ.ศิริ ทิวะพันธุ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 3 ผศ.สุพจน์ พฤกษะวัน อดีตประธานกกต. พิษณุโลก พล.ท.วิเชียร ไชยปกรณ์ อดีต ผบ.บชร.3 พล.ต.ท.วสันต์ วัสสานนท์ อดีต ผบช.ตำรวจภูธรภาค 6 พ.จ.อ.เอกนพดุล ใจอารีย์ นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย และอาจารย์ ม.นเรศวรขึ้นเวที พูดถึงพระราชกรณีกิจและโครงการพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก่อนฉายภาพยนต์สารคดีเฉลิมพระเกียรติพระราชกรณียกิจของในหลวง

ซึ่งวิทยากรที่ร่วมเวทีครั้งนี้ได้มีการพูดถึงกรณีรายการ "ตอบโจทย์ประเทศไทย" ว่า สถานีโทรทัศน์ Thai PBS ไม่เหมาะสม ไม่ควรทำ ไม่ควรสนับสนุนกลุ่มที่ไม่จงรักภักดี อีกทั้งผู้บริหารสถานียังปล่อยให้มีการทำเทปออกอากาศ โดยไม่มีการแก้ไข ทั้งๆ ที่ควรต้องออกมารับผิดชอบ คนพวกนี้เพิ่งเกิดแค่รุ่นเดียว แต่คนรุ่นก่อนๆ เขาผ่านมาหลายยุคหลายสมัย อย่าให้คนกลุ่มเดียวมาทำลายสถาบัน พร้อมระบุว่า กลุ่มคนพวกนี้มีความผิดซ้ำซาก และเสนอให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทยอีกด้วย

สำหรับในช่วงเช้าของวันเดียวกัน หน้าศาลากลางจังหวัดสระบุรี ชมรมคนรักในหลวงสระบุรี นำโดย พลตรี ณรงค์ นาคปรีชา ประธานชมรมฯ ได้จัดกิจกรรมชุมนุมต่อต้านและขอประณาม สถานีโทรทัศน์ไนพีบีเอส รายการ ตอบโจทย์ ประเทศไทย ตอนสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ด้วยเช่นกัน โดยให้เหตุผลด้วยว่า สร้างความไม่พอใจต่อประชาชนคนรักในหลวงทั่วประเทศ รายการดังกล่าว มีผลกระทบต่อความรู้สึก และ สภาพจิตใจของคนไทยอย่างรุนแรง ซึ่งพวกเรายึดมั่น และ เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ มาช้านาน รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขหรือยกเลิก ม. 112 รายการดังกล่าวก่อให้เกิดความเห็นต่าง และแตกแยกในกลุ่มคนไทยด้วยกัน คนรักในหลวงต้องการการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และอยู่คู่ประเทศไทยตลอดไป

เช่นเดียวกับที่จังหวัดชุมพร ชมรมคนรักในหลวงชุมพร นำโดย นายธรรมนูญ เศวตเวช ประธานชมรมคนรักในหลวงจังหวัดชุมพร ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดฯ และผู้นำทหารในจังหวัดชุมพร ประณามสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ด้วย

ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ 'ชมรมคนรักในหลวงจังหวัดสระบุรี'

ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ 'ชมรมคนรักในหลวง จังหวัดชุมพร'

 

เปิดแถลงการณ์ชมรมฯ ประณามตอบโจทย์ฯ สาบานยอมพลีชีพปกป้องในหลวง

สัญลักษณ์ของความเป็นไทยที่สำคัญประการหนึ่ง คือการดำรงอยู่ของ "สถาบันพระมหากษัตริย์" ที่มีความต่อเนื่องยาวนานมากว่า 700 ปีแล้ว ชาวไทยทุกคนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันที่ทรงตรากตรำประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อปวงชนชาวไทย และประเทศชาติมาตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ แม้ขณะทรงพระประชวรก็ยังทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของประชาชนอยู่เสมอ

รายการตอบโจทย์ ของสถานีโทรทัศน์ Thai PBS เมื่อวันที่ 11 - 14 และ 18 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ผู้ร่วมรายการได้แก่ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ และนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้แสดงความคิดเห็นต้องการให้ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 อันเป็นกฎหมายคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งประเทศต่างๆ ในโลกนี้ก็มีกฎหมายคุ้มครองประมุขของเขาเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นยังได้วิจารณ์ให้ร้ายต่อสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชดำรัสสดต่อปวงชนชาวไทย

จึงเห็นได้ชัดเจนว่า รายการตอบโจทย์ ของสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ซึ่งมีพฤติกรรมแสดงออกที่กล่าวมาแล้วนั้น มีวัตถุประสงค์เคลือบแฝงที่ต้องการทำลายความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การกระทำของสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อจิตใจของคนไทยทุกคนที่จงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสมือนกับน้ำมันเข้าไปราดในกองไฟแห่งความแตกแยกของคนไทยที่ยังคุกรุ่นอยู่

พวกเราชมรมคนรักในหลวงได้สาบานไว้แล้วว่าจะยอมพลีชีพเพื่อปกป้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอประณามการกระทำของสถานีโทรทัศน์ Thai PBS พร้อมทั้งจะดำเนินการเอาผิดทั้งทางกฎหมาย และทางสังคมกับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างถึงที่สุด

ชมรมคนรักในหลวง ?

สำหรับชมรมคนรักในหลวง นอกจากมีเฟซบุ๊กแฟนเพจ ทั้งที่เป็นเฟซบุ๊กชื่อ 'ชมรมคนรักในหลวง' ซึ่งประกอบด้วยเพจประจำจังหวัดต่างๆ เช่น ชมรมคนรักในหลวง จังหวัดสกลนคร จังหวัดสระบุรี และ จังหวัดชุมพร แล้ว ชมรมยังมีเว็บไซต์ของตัวเองด้วยในชื่อ welovethaiking.com โดยในเว็บไซต์ดังกล่าวระบุว่า ชมรมนี้ได้รับการสนับสนุนการจัดตั้งโดย 'คณะบุคคลพอเพียง' ในจังหวัดต่างๆ มาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2554 เพื่อเป็นองค์กรที่จะรวบรวมคนไทยที่รักในหลวงให้ปรากฏเป็นกลุ่มก้อน เป็นการแสดงตนให้คนในสังคมเห็นว่า "คนรักในหลวง" มีตัวตนจริงอยู่ทั่วประเทศ

สำหรับกิจกรรมของชมรมนี้ระบุว่า ประการที่หนึ่ง คือ การเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยการพร้อมใจกันแสดงออกถึงความจงรักภักดีในวันสำคัญคือ วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ

การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ที่ได้รับการอบรมจากวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ ไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและครอบครัว โดยคณะบุคคลพอเพียงจะเป็น "พี่เลี้ยง" ให้ในกรณีที่ ชุมชนนั้น ๆ ยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชนใด ๆ เข้าไปดูแลหรือสนับสนุน

ส่วนกิจกรรมรองที่ คณะบุคคลพอเพียง ฝากไว้ให้ "ชมรมคนรักในหลวง" ทุกแห่งใส่ใจก็คือ ช่วยกันสอดส่องความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่จะเป็นภัยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หากพบเห็นการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนั้นที่ใด ขอให้ "ชมรมคนรักในหลวง" แสดงตนต่อต้านอย่างสงบในทันที เหมือนที่ "ชมรมคนรักในหลวง" ในทุกจังหวัดได้ดำเนินการมาแล้ว ทั้งเดินขบวนต่อต้านหรือยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อคัดค้านกลุ่มนิติราษฎร์ที่ออกมาปลุกระดมให้มีการยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 และคัดค้านกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวปลุกปั่นให้คนไทยในชนบทที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์

ภาพกิจกรรมชองชมรม ภาพจาก : www.welovethaiking.com

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มนักสิทธิฯ พัฒนา 'กำไลข้อมือไฮเทค' ช่วยคุ้มครองนักกิจกรรม

Posted: 07 Apr 2013 12:18 AM PDT

กลุ่มองค์กรพิทักษ์สิทธิพลเมือง (Civil Rights Defenders) พัฒนากำไลข้อมือที่สามารถส่งสัญญาณได้ทั้งโดยการสั่งการเองและการสั่งการอัตโนมัติเมื่อถูกปลดออก ซึ่งจะส่งข้อความเตือนเข้าไปในโซเชียลมีเดียให้คนอื่นๆ ทราบเมื่อนักกิจกรรมเหล่านี้ตกอยู่ในอันตราย เช่นการโดนลักพาตัว หรือถูกโจมตี

เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2013 สำนักข่าว BBC รายงานเรื่องกำไลข้อมือไฮเทคของกลุ่มองค์กรพิทักษ์สิทธิพลเมือง (Civil Rights Defenders) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้คุ้มครองนักกิจกรรมด้านสิทธิฯ และอาสาสมัครช่วยเหลือจากการถูกลักพาตัวและจากการถูกสังหาร

กำไลข้อมือดังกล่าวสามารถส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือและสัญญาณผ่านดาวเทียมเพื่อเตือนว่าผู้สวมใสกำลังอยู่ในอันตราย ข้อความเตือนดังกล่าวจะถูกส่งเป็นข้อความเข้าไปที่เฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ เพื่อให้มีการส่งความช่วยเหลือและทำให้แน่ใจว่าบุคคลนั้นๆ จะไม่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย

โดยที่กำไลข้อมือตัวนี้จะมีเทคโนโลยีของโทรศัพท์มือถือฝังอยู่ข้างใน และจะส่งข้อความที่เตรียมไว้แล้วเมื่อมีการกระตุ้นหรือมีการสั่งการ โดยผู้ใช้งานสามารถสั่งให้มีการส่งข้อความได้ด้วยตนเองเมื่อรู้สึกอยู่ในอันตราย ขณะเดียวกันตัวกำไลข้อมือนี้ก็จะส่งข้อความโดยอัตโนมัติเมื่อถูกบังคับให้ถอดออก ข้อความเตือนจะส่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้ใช้และสถานที่ที่ผู้ใช้ถูกจู่โจม ขณะเดียวกันผู้ร่วมงานในระยะใกล้เคียงก็จะได้รับการเตือนด้วยเพื่อให้พวกเขาปฏิบัติการช่วยเหลือคนที่กำลังประสบปัญหาได้

กำไลมือส่งสัญญาณตัวนี้พัฒนาโดยกลุ่มองค์กรพิทักษ์สิทธิพลเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่มีฐานในสวีเดน คอยช่วยเหลือผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่สงครามและพื้นที่อื่นๆ ที่มีปัญหาความขัดแย้ง โดยกำไลมือชุดแรกได้ถูกส่งออกไปให้ใช้แล้ว และกำลังดำเนินการหางบประมาณเพื่อผลิตเพิ่ม

กลุ่มองค์กรพิทักษ์สิทธิพลเมืองกล่าวว่าพวกเขาต้องการให้ประชาชนมาลงทะเบียนเพื่อเป็นผู้คอยสอดส่องข้อความจากกำไลข้อมือของนักกิจกรรมด้านสิทธิ์ผ่านโซเชียลมีเดีย พวกเขาหวังว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วโลก จะกลายเป็นเครื่องคุ้มกันไม่ให้มีใครวางแผนโจมตีนักกิจกรรม

"คนเราส่วนใหญ่ ถ้ามีโอกาสก็อยากช่วยเหลือคนที่อยู่ในอันตรายอยู่แล้ว" โรเบิร์ต ฮาร์ดห์ ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรพิทักษ์สิทธิพลเมืองกล่าว "ผู้ทำงานปกป้องสิทธิพลเมืองเหล่านี้กำลังเสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ให้ผู้อื่นได้มีสิทธิในการได้เลือกตั้ง หรือสิทธิในการปฏิบัติตามหลักศาสนา รวมถึงเสรีภาพในการแสดงความเห็น"

นอกจากนี้แล้วกำไลมือตัวนี้ยังสามารถช่วยเป็นเครื่องมือกดดันรัฐบาลให้ออกค้นหาคนที่ถูกลักพาตัวหรือปล่อยตัวถูกจับอยู่ได้ โดยมีแผนว่าจะมอบกำไลข้อมือไฮเทคออกไป 55 ชุดภายในปี 2014

กลุ่มองค์กรพิทักษ์สิทธิพลเริ่มพัฒนาอุปกรณ์ตัวนี้ในช่วงที่เกิดกรณีการลักพาตัวและสังหารนาตาเลีย เอสเตมิโรว่า นักกิจกรรมด้านสิทธิ์ในเชชเนีย เมื่อปี 2009 โดยนาตาเลียเคยทำงานรวบรวมข้อมูลกรณีการกล่าวหาเรื่องการใช้กำลังข่มเหงประชาชนของกองกำลังติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ


เรียบเรียงจาก

Smart bracelet protects aid workers, BBC, 05-04-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักศึกษา-ประชาชน ตั้งห้องสมุดประชาชนปาตานี

Posted: 06 Apr 2013 11:30 PM PDT

นักศึกษา-ประชาชนชายแดนใต้คึกคัก ร่วมงาน สมทุบทุน-จัดตั้งห้องสมุดประชาชนปาตานี (Maktabah Rakyat Patani)

 
 
เมื่อวันเสาร์ที่ 6 เมษายน 2556 ที่ผ่านมานักศึกษา นักเคลื่อนไหว นักวิชาการ และประชาชนปาตานี (จังหวัดชายแดนภาคใต้) ทยอยเข้าร่วมงานสมทบทุนเพื่อหารายได้ต่อเติมอาคารห้องสมุดประชาชนในโครงการ "จัดตั้งห้องสมุดประชาชนเพื่อศูนย์กลางการเรียนรู้จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปาตานี)"  ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-7 เมษายน 2556 ณ บ้านเงาะกาโป อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา
 
เมื่อเวลา 08.30 น. เริ่มต้นด้วยการเดินขบวนพาเหรด แห่ขบวนช้าง ในรูปแบบวัฒนธรรมมลายูปาตานี โดยมีนากยกเทศมนตรี เทศบาลอำเภอบันนังสตา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบันนังสตา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประธานชมรมอีหม่ามอำเภอบันนังสตา ร่วมเป็นเกียรติในการเดินขบวนพร้อมกับนักเรียนโรงเรียนมลายู (ตาดีกา) เยาวชนในพื้นที่ กลุ่มแม่บ้าน และชาวบ้านประมาณ 400 กว่าคน โดยมีประชาชนในพื้นที่ออกมาร่วมชมและต้อนรับขบวนแห่ช้างอีกหลายร้อยกว่าคน
 
สีสันในการเดินขบวนครั้งนี้มีความหลากหลาย มากมาย หลายสไตล์ ภายใต้คอนเซ็ป "วัฒนธรรมมลายูปาตานี" อาทิเช่น การแห่ช้างนำขบวน การแต่งกายชุดมลายูปาตานี การแต่งกายชุดทำงานของคนในพื้นที่ และปิดท้ายด้วยการแห่ขบวนรถโบราณประมาณ 100 คัน เป็นต้น แต่ที่สะดุดตามากที่สุดในการเดินขบวนในรูปแบบของคนมลายูปาตานีทุกครั้งคงหนีไม่พ้นวาทกรรม หรือคำคมสอนใจให้กับท่านผู้ชมและทุกท่านที่มาร่วมงาน อาทิเช่น 
 
• Melayu Language of Asian / Bahasa Melayu Bahasa Asian (ภาษามลายู ภาษาอาเซี่ยน) 
• I Love Melayu Patani / Aku Cinta Melayu Patani (ฉันรักมลายูปาตานี)
• Tadika Melibar, Agama Tersibar (ตาดีกา (โรงเรียนมลายู) เบิกบาน ศาสนาอิสลามก็ทั่วถึง)
• Tadika Membebaskan Umat (ตาดีกา (โรงเรียนมลายู) สามารถปลดปล่อยประชาชาติจากสิ่งเลวร้าย)
• Taman Asuhan, Tunas Bangsa (สถานบ่มเพาะ คือความหวังของชาติ)
• Membaca Budaya Kita (การอ่าน คือ วัฒนธรรมของเรา)
• Canakan Bahasa, Julangkan Budaya 
• Ganti Sebelim Patah, Patah Sebelum Hilang 
 
ซาการียา  กูเต๊ะ ประธาน คณะทำงานโครงการจัดตั้งห้องสมุดประชาชนเพื่อศูนย์กลางการเรียนรู้จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปาตานี) กล่าวว่า "เราริเริ่มสร้างห้องสมุดประชาชนด้วยการพูดคุยในวงย้อยระหว่างชาวบ้านและนักศึกษาที่ตระหนักถึงการอ่านที่เป็นหลักสำคัญในการศึกษา ซึ่งวันนี้การเรียนรู้ผ่านศาสตร์ต่างๆที่มีไม่เพียงพอกับความต้องการของคนในพื้นที่"
 
ซาการียา กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2553 เป็นวันแรกตอกเสาและสร้างห้องสมุดประชาชน โดยมีนักศึกษาจากสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย (สนมท.) ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่อำเภอบันนังสตาภายใต้ชื่อโครงการ "ห้องสมุดที่ปลายฝัน จุดประกายทางปัญญา สู่สันติภาพที่ยั่งยืน" ซึ่งจากการดำเนินงานในครั้งนั้นสามารถสร้างฐานและเสาอาคาร แต่ก็ยังไม่แล้วเสร็จจนถึงปัจจุบัน"
 
ต่อมาก็มีการพูดคุยเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งเพื่อที่จะสานฝันที่ได้วาดไว้ตั้งแต่ต้นให้สำเร็จ จึงได้จัดกิจกรรมสมทบทุนเพื่อหารายได้ในการต่อเติมอาคารห้องสมุดประชาชนในโครงการ "จัดตั้งห้องสมุดประชาชนเพื่อการเรียนรู้จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปาตานี)" ขึ้น เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์สำหรับเป็นศูนย์กลางการศึกษาเรียนรู้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปาตานี) ตามวิสัยทัศน์ที่ได้วางไว้ต่อไป"   
 
สมศักดิ์ เจริญใบกูล นายอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา กล่าวว่า "รู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมเปิดงานในวันนี้ ขอชื่นชมพี่น้องประชาชนในพื้นที่ทุกคนที่ตระหนักถึงการสร้างแหล่งเรียนรู้เพื่อการศึกษา 
 
ซึ่งแหล่งเรียนรู้ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง สามารถสอนให้เรารู้เท่าทันคนอื่น วันนี้คนกรุงเทพฯรู้อะไร คนเชียงใหม่รู้อะไร คนบันนังสตาก็ต้องรู้เช่นเดียวกัน ผมขอเชิญชวนให้ทุกคนเล็งเห็นถึงความสำคัญของการอ่านหนังสือทุกศาสตร์ ทุกแขนง และขอทิ้งท้ายด้วยคำว่า "ฐานของตึก คือ อิฐ ฐานของคน คือ การศึกษา"" สมศักดิ์ กล่าว
 
อับดุลเราะห์มาน บิน ฮัจยีอูเซ็ง นายก องค์การบริหารส่วนตำบลบันนังสตา กล่าวว่า "การจัดงานในครั้งนี้คงไม่เกิดขึ้นหากขาดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ ผมขอกล่าวขอบพระคุณทุกท่านที่ให้ความร่วมมือตั้งแรกเริ่มจนถึงวินาทีนี้ ขอบคุณครับ Terima Kasih" ซาการียา กล่าว
 
ภาพรวมงานในครั้งนี้มีกิจกรรมอีกมากมาย อาทิเช่น เวทีเสวนา เวทีบรรยายศาสนา โดยนักเคลื่อนไหว นักวิชาการ จากในประเทศและต่างประเทศ ในหัวข้อ "บทบาทผู้นำศาสนา ในการสร้างสรรค์สังคมอุดมปัญญา" / "ภาษามลายู...ความสำคัญในการเสริมสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม" / "ภาวะผู้นำ...ความท้าทายแห่งยุคโลกาภิวัฒน์" / "วาระประชาชนกับการสร้างสรรค์สันติภาพ"  และหัวข้อ "สังคมคุณธรรม...ความหวังสู่การพัฒนาภาวะผู้นำในชุมชน"
 
โดยซุ้มนิทรรศการต่างๆจากองค์กรภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรนักศึกษา และองค์กรภาคประชาชนปาตานี มีดังต่อไปนี้
 
1. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ [PERMAS]
2. สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย (สนมท.)
3. สถาบันอิสลาม และอาหรับศึกษา ม.นราธิวาสราชนครินทร์
4. ชมรมสังคมศาสตร์ มอ.ปัตตานี
5. ชมรมภาษามลายู มอ.หาดใหญ่ [BMC]
6. ชมรมสันติศึกษา มอ.หาดใหญ่
7. ชมรมภาษาและวัฒนธรรมมลายู ม.วลัยลักษณ์ [MLCC]
8. กลุ่มนักศึกษาอนุรักษ์วัฒนธรรมชายแดนใต้ มรภ.นครศรีธรรมราช [SELATAN]
9. กลุ่มกิจกรรมนักศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมชายแดนใต้ มอ.หาดใหญ่ [Kawan-Kawan]
10. เครือข่ายนักศึกษาสานสัมพันธ์ จังหวัดยะลา [RESTU]
11. เครือข่ายเยาวชนอิสระจังหวัดชายแดนใต้ มอ.ปัตตานี [IRIS]
12. องค์กรนักศึกษามลายูอิสลามสุราษฎร์ธานี [OMIS]
13. กลุ่มนักศึกษา JISDA วิทยาลัยอิสลามเชคดาวูดอัลฟาตอนี จังหวัดยะลา
14. สำนักสื่อ Wartani
15. มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม [MAC]
16. เครือข่ายอาสาสมัครผู้ช่วยทนายความมุสลิมศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ [SPAN]
17. สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ [Deep Peace] 
18. ส่งเสริมสิทธิและเข้าถึงความยุติธรรม (HAP)
19. กลุ่มบุหงารายา [Bunga Raya Group]
20. มูลนิธิฮีลาลอะห์มัร อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา
21. กลุ่มนักสาธารณสุขเพื่อสังคม [PHOS]
22. สหกรณ์ออมทรัพรย์อิสลามฟาตอนี [KUPRASI]
23. แหล่งการเรียนรู้ชุมชน พิพิธพนธ์พื้นบ้านกือเม็ง ต.ซ่อง อ.รามัน จ.ยะลา
24. โรงพยาบาลบันนังสตา
25. โรงไฟฟ้าเขื่อนบางลาง อำเภอบังนังสตา (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย)
 
 
ดูวิดีโอในงาน คลิ๊ก
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์ชุดนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยกับความหลากหลายทางเพศ

Posted: 06 Apr 2013 11:11 PM PDT

ในประเทศไทยนั้นนอกจากการทำงานในอาชีพที่ต้องใส่เครื่องแบบ เช่น ทหาร ตำรวจ หรือข้าราชการและพนักงานเอกชนบริษัทบางบริษัทแล้ว นักเรียนและนิสิตนักศึกษาจะต้องใส่ชุดเครื่องแบบตามที่สถานศึกษาได้กำหนดไว้สำหรับ "ชาย" และ "หญิง" หากแต่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคือยังมีนิสิตนักศึกษาหลายท่านที่ไม่สามารถ หรือไม่ต้องการระบุตนเองเข้าสู่ความเป็นชายหรือเป็นหญิงตามเพศสรีระ (Sex) ตามกำเนิดของตน หากแต่ต้องการระบุตนเองเข้ากับเพศสภาวะ (Gender) ของตน ซึ่งหลายมหาวิทยาลัยได้อนุญาตให้นักศึกษาแต่งเครื่องแบบตามเพศสภาวะของตนเองได้ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น กล่าวคือนักศึกษาชายที่มีจิตใจเป็นหญิง ก็มาสามารถใส่เครื่องแบบนักศึกษาหญิงได้ ในขณะเดียวกัน นักศึกษาหญิงที่มีจิตใจเป็นชาย ก็สามารถใส่ชุดเครื่องแบบชายได้ แต่ชุดนักศึกษานั้นต้องถูกกฎระเบียบของมหาวิทยาลัย หรือบางสถานศึกษาก็อนุโลมให้นักศึกษาแต่งกายไปรเวทที่สุภาพเข้าเรียนได้

หากแต่ว่าการอนุญาตหรืออนุโลมดังกล่าวมักเป็นการอนุญาตด้วยคำพูด (Verbal) โดยไม่มีการทำความตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร (Written) ดังนั้นจึงเป็นการเปิดช่องว่างให้ผู้ที่มีอำนาจในพื้นที่ใช้วิจารณญาณของตนเองในการจัดการกับนักศึกษาที่มีความหลากหลายทางเพศเหล่านี้ เช่น อาจารย์บางท่านอาจไม่อนุญาตให้นักศึกษาที่แต่งเครื่องแบบข้ามเพศเข้าเรียน เป็นต้น และปัญหาที่พบบ่อยคือนักศึกษาที่แต่งกายข้ามเพศจะต้องแต่งกายให้ตรงกับเพศสรีระของตนในวันสอบด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันการทุจริต และวันรับพระราชทานปริญญาบัตร ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัยและการถวายพระเกียรติต่อองค์ประธานในพิธี แม้ว่านักศึกษานั้นๆ จะแต่งกายข้ามเพศในวันที่มีการเรียนการสอนตามปกติ

ในประเด็นการเข้าสอบนั้น ระเบียบในการเข้าสอบได้ระบุชัดเจนว่านักศึกษาชายและหญิงต้องใส่ชุดนักศึกษาที่ถูกต้องตามกฎระเบียบ แต่ในทางปฏิบัติ อาจารย์และเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะให้นักศึกษาเข้าสอบหรือไม่ ทำให้อาจารย์และเจ้าหน้าที่ใช้การตีความและใช้อคติส่วนตัวของตนเองในการตัดสินได้ เช่น อาจารย์บางท่านอาจอนุญาตให้นักศึกษาเข้าสอบ บางท่านอาจไม่ให้ ทำให้นักศึกษาที่มีความหลากหลายทางเพศต้องเลือกระหว่างการทำตามกฎระเบียบของสถานศึกษาด้วยการบังคับตัวเองให้ใส่เครื่องแบบตามเพศสรีระของตน หรือการละเมิดกฎระเบียบของสถานศึกษาและใส่เครื่องแบบตามเพศสภาวะของตนเอง

นอกจากนี้ในกรณีของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีเหตุการณ์ที่นิสิตชายใส่ชุดนิสิตหญิงเข้าสอบและเป็นประเด็นถกเถียงทั้งภายในคณะ มหาวิทยาลัย และในพื้นที่สื่อมวลชนว่าสรุปแล้ว เรื่องเครื่องแบบกับความหลากหลายทางเพศนั้นควรมีทางออกอย่างไร หรือกรณีนักศึกษาทอมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยอนุญาตให้ใส่ชุดนักศึกษาชายได้ เพราะนักศึกษากระเทยสามารถใส่ชุดนักศึกษาหญิงได้แต่เมื่อนักศึกษาทอมใส่ชุดนักศึกษาชายกลับโดนอาจารย์ต่อว่าว่า "ยังดูเป็นผู้หญิงอยู่" หรือกรณีที่นักศึกษาทอมใส่กางเกงเข้าสอบที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง แล้วโดนปฏิเสธให้เข้าสอบ[2] โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมออกหนังสือราชการอธิบายถึงเหตุผลการไม่อนุญาตให้เข้าสอบ แต่กลับระบุว่านักศึกษาขาดสอบ อีกทั้งกระบวนการในการรับเรื่องการร้องเรียนของนักศึกษาเป็นไปอย่างไม่เห็นอกเห็นใจ (Insensitive)[3] ต่อตัวนักศึกษาและมองว่านักศึกษาเป็นตัวปัญหา

ในเรื่องพิธีเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรนั้น สถานศึกษาส่วนใหญ่ออกกฎเกณฑ์ชัดเจนว่าบัณฑิตชายและหญิงต้องแต่งกายอย่างไร อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อนุญาตให้บัณฑิตที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถใส่ชุดบัณฑิตหญิงเข้าพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรได้ โดยต้องทำเรื่องขออนุญาตเป็นรายบุคคลและต้องแนบใบรับรองแพทย์ว่ามีสภาพจิตใจบกพร่องเพราะเพศสภาวะไม่ตรงกับเพศสรีระ หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตที่อนุญาตให้นักศึกษากระเทยสามารถใส่วิกเข้าพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรได้ แทนที่จะต้องตัดผมสั้น

ดังนั้นทางเลือกของนักศึกษาที่มีความหลากหลายทางเพศในปัจจุบันจึงมีเพียงแค่ การยอมรับว่าตนเองมีสภาพจิตใจบกพร่องและเป็นภาระหรือเป็นตัวปัญหาของระบบราชการในมหาวิทยาลัย และการร้องเรียนผ่านกระบวนการและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่สถานศึกษายอมรับได้เป็นกรณีๆ ไป ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเรื่องความเป็นอยู่ของนิสิตนักศึกษาที่มีความหลากหลายทางเพศยังมีเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องเครื่องแต่งกายอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เรื่องห้องน้ำที่มีเพียงแค่ห้องน้ำสำหรับชายและหญิง ซึ่งการที่นักศึกษาที่มีความหลากหลายทางเพศต้องตัดสินใจใช้ห้องน้ำตามเพศหรือข้ามเพศนั้นนอกจากเป็นเรื่องที่กระทบตนเองแล้วยังกระทบต่อนิสิตนักศึกษาชายหญิงที่ต้องใช้ห้องน้ำร่วมกับนักศึกษาที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นๆด้วย

หรือเรื่องการถูกรังแก (Bully) และการถูกเหยียดหยามหรือเลือกปฏิบัติ (Discrimination) อื่นๆ ในชีวิตประจำวันที่ทำให้นักศึกษาที่มีความหลากหลายทางเพศอาจต้องใช้เวลาไปกับการจัดการปัญหาเหล่านี้จนไม่มีเวลาและกำลังใจในการศึกษาอย่างเหมาะสม เช่น ความกังวลว่าตนเองจะได้เข้าห้องสอบหรือไม่ ซึ่งเป็นความเครียดที่ไม่ควรเกิดขึ้นในวันสอบเพราะนักศึกษาทุกท่านควรได้รับการปฏิบัติต่อเหมือนๆ กันไม่ว่าพวกเขาจะมีฐานะอย่างไร สังกัดอยู่ในชาติพันธุ์ใด นับถือศาสนาใด หรือเป็นเพศใดๆ

การเรียกร้องสิทธิในความหลากหลายทางเพศในเรื่องชุดเครื่องแบบ หรือการแต่งกายนั้นอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เรื่องการแต่งกายเป็นสิ่งที่แสดงอัตลักษณ์ของมนุษย์แต่ละคนให้ออกมาปรากฏได้ชัดเจนที่สุด และการแต่งกายเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคน หรือหลายท่านอาจตั้งคำถามว่าทำไมนักศึกษาไม่เรียกร้องให้ยกเลิกชุดเครื่องแบบไปเสียเลยเพราะการบังคับให้มนุษย์ใส่เครื่องแบบอะไรก็ตามต่างก็ถือว่าเป็นการลดทอนอัตลักษณ์ของมนุษย์เหมือนกัน หากแต่สังคมนั้นมีความแตกต่างเพราะนักศึกษาหลายท่านก็ภาคภูมิใจและต้องการใส่เครื่องแบบนักศึกษาของมหาวิทยาลัยตน

ดังนั้น การเรียกร้อง "สิทธิที่จะเลือกใส่เครื่องแบบตามเพศสภาวะ" หรือสิทธิที่จะใส่ชุดสุภาพจึงเป็นการเรียกร้องสิทธิทางเพศของนักศึกษาที่มีความหลากหลายทางเพศโดยไม่ละเมิดสิทธิของนักศึกษาท่านอื่นๆ และไม่ใช่การไม่ให้เกียรติสถาบันการศึกษา

สิ่งที่น่าจะเป็นข้อเสนอให้กฎระเบียบของมหาวิทยาลัยมองเห็นความแตกต่างในอัตลักษณ์ของมนุษย์มากขึ้นคือการยอมรับว่าความแตกต่างทางเพศนั้นมีอยู่ และการสร้างข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรและการสื่อสารข้อมูลอย่างชัดเจนระหว่างผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิตนักศึกษาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อให้เกิดพื้นที่การประนีประนอมระหว่างความหลากหลายทางเพศและกฎระเบียบในการอยู่ร่วมกันในพื้นที่สถานศึกษานั้นๆ เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงมีการเปลี่ยนแปลง มีพลวัตรและพัฒนาการในเรื่องความหลากหลายทางเพศ และความแตกต่างในอัตลักษณ์ของมนุษย์ ดังนั้นสถานศึกษาศึกษารวมถึงสังคมต้องยอมรับและปรับตัวเข้ากับความแตกต่างและการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเพื่อให้กฎระเบียบและการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองสอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในโลกปัจจุบัน




[1] อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และนิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[2] นักศึกษาหญิงจะต้องใส่ "กระโปรง" เข้าสอบเท่านั้น ซึ่งหากนักศึกษาใส่กางเกงมาจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสอบ และต้องไปเปลี่ยนชุดจากกางเกงเป็นประโปรงมาเข้าสอบ โดยที่ทางมหาวิทยาลัยได้มีบริการให้เช่ากระโปรงบริเวณด้านหน้าห้องสอบ

[3] เช่น การตั้งคำถามว่า "ตอนเป็นเมนส์ รู้สึกยังไง" "เกิดมาไม่เคยใส่กระโปรงเลยเหรอ" "ฝืนใจแค่นิดเดียวทำไมทำไม่ได้" หรือการตอบโต้กับการอธิบายของนักศึกษาด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล เช่น "นี่คุณพูดจาคล่องมาก อธิบายเก่งมาก ผมจะเขียนว่าคุณก้าวร้าวเจ้าหน้าที่ก็ได้นะ" เป็นต้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รถไฟความเร็วสูงและระบบรางคู่ คือการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่คุ้มค่า

Posted: 06 Apr 2013 10:13 PM PDT

เศรษฐกิจไทยจะโงหัวไม่ขึ้น ถ้าไม่เริ่มโครงการรถไฟความเร็วสูงวันนี้
 
ประเทศไทยจะขาดศักยภาพในการแข่งขัน และคงจะสายเกินไปหากจะต้องรออีก 10 ปี ถึงจะเริ่มต้นยกระดับระบบคมนาคมขนส่งทางราง โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เพราะราคาน้ำมันที่กำลังพุ่งทะยานสูงขึ้นเรื่อยๆ ย่อมส่งผลให้ภาคธุรกิจไทยเผชิญภาวะความเสี่ยงมากยิ่งขึ้นตามลำดับ
 
ผู้ประกอบการไทยคงไม่สามารถพึ่งพิงการขนส่งทางถนนเป็นหลักได้อีกต่อไป หากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นถึง 150 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2020 และอาจไต่ระดับขึ้นเป็น 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลภายหลังปี 20301
 

รูปที่ 1: ประมาณการราคาน้ำมันโดย U.S Energy Information Administration (EIA)2
 
โครงการรถไฟความเร็วสูงและการพัฒนาระบบรางคู่เป็นไปเพื่อปลดปล่อยภาคธุรกิจ ทั้งรายเล็กและรายใหญ่จากปัญหาต้นทุนโลจิสติกส์ โดยโครงการดังกล่าวไม่ได้เพียงแค่สร้างผลประโยชน์ต่อผู้รับเหมา โรงปูนและโรงเหล็กเพียงเท่านั้น แต่จะสร้างโอกาสในการเข้าถึงระบบโลจิสติกส์สาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และเกษตรกรอีกด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้ดำเนินการวางยุทธศาสตร์การขนส่งสินค้าน้ำหนักเบาและมีมูลค่าต่อหน่วยสูงทางรถไฟความเร็วสูง โดยตัวอย่างของสินค้าประเภทดังกล่าว ได้แก่ สินค้าต่างๆที่สามารถจัดส่งแบบพัสดุไปรษณีย์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อะไหล่รถยนต์ยารักษาโรค และสินค้าเกษตรเกรด AAA เป็นต้น
 
การลงทุนพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงไม่ได้เพียงแค่กระตุ้นให้เกิดการจ้างงานและการลงทุนในช่วงระยะเวลาการก่อสร้างเพียงเท่านั้น แต่ยังจะเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานซึ่งสามารถก่อให้เกิดการกระจายโอกาสในการสร้างรายได้ และการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคต่างๆ ปัจจุบัน รัฐบาลได้ดำเนินการวางแนวนโยบายการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง เพื่อให้เศษเหล็กราคาแพงที่วิ่งด้วยความเร็ว 250 กม./ชม. สามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ที่คุ้มค่าแก่ประเทศ
 
 
 
อนาคตความมั่งคั่ง จะเกิดจากความเชื่อมโยงภาคพื้นทวีปผ่านทางราง
 
ระบบรถไฟไทยเป็นระบบรางขนาด 1 เมตรที่เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยการล่าอาณานิคม เช่นเดียวกับในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ ลาว มาเลเซีย เวียดนาม อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือ มาเลเซียตัดสินใจลงทุนสร้างระบบรางแบบสแตนดาร์ดเกจหรือระบบรางขนาด 1.4 เมตร เพื่อเชื่อมต่อกับประเทศสิงค์โปร์3 รวมถึงเวียดนามที่ได้เจรจากับประเทศญี่ปุ่นถึงการลงทุนสร้างเส้นทางรถไฟระหว่างเมืองฮานอยและโฮจิมินห์ซิตี้4 นอกจากนี้ อินเดียยังเป็นอีกหนึ่งประเทศ
ที่พึ่งทำการตกลงใช้เทคโนโลยีชินคันเซ็นในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงในประเทศ เพื่อใช้วิ่งบนรางขนาด1.4 เมตรเช่นกัน5
 
สำหรับผู้ที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเส้นทางการขนส่งใหม่ต้นทุนต่ำระหว่างประเทศ จะพบว่า ตั้งแต่ปี 2011 โรงงาน Hewlett-Packard (HPQ) ในเมืองฉงชิง (Chongqing) ได้ทำการจัดส่งคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คกว่า 4 ล้านเครื่อง ผ่านเส้นทางรถไฟที่มีระยะทางยาวมากกว่า 10,000 กม. สู่ยุโรป ในทางกลับกัน โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จากค่าย BMW ได้ทำการจัดส่งอะไหล่ดังกล่าวทางรถไฟ สัปดาห์ละ 3 ถึง 7 ขบวน จากไลพ์ซิก (Leipzig) ประเทศเยอรมนี สู่โรงงานประกอบรถยนต์ในเมืองเสิ่นหยาง (Shenyang) ประเทศจีน6
 
ความเป็นไปได้ในการสร้างความเชื่อมโยงภาคพื้นทวีปผ่านทางราง ทำให้ข้อถกเถียงเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูงของประเทศไทยจะไปถึงจังหวัดหนองคายหรือไม่คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะรัฐบาลมีนโยบายแน่ชัดในการเชื่อมต่อกับระบบรางสู่ยุโรป แต่ประเด็นที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญคือการผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันในระดับภูมิภาค
 
รูปที่ 2: แผนที่โครงการเชื่อมโยงระบบรางระหว่างทวีปเอเชียและยุโรป7
 
เมื่อกล่าวถึงผลประโยชน์จากความเชื่อมโยงทางด้านการคมนาคมขนส่ง จะต้องมองภาพใหญ่ถึงการเชื่อมโยงระบบรางขนาด 1.4 เมตรระหว่างทวีปเอเชียและยุโรปซึ่งกำลังเกิดขึ้นจริง8 การเชื่อมโยงดังกล่าวถือเป็นการปฏิวัติรูปแบบการค้าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจะรองรับแพลตฟอร์มการค้าปลีกออนไลน์โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคซึ่งขยายตัวสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 1.48 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ9 การพัฒนาบริการขนส่งสินค้าทางรถไฟความเร็วสูงจึงเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญ ที่จะสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายตลาดผ่านการค้าปลีกระยะไกล (Long-Distance Retail Trade) ทั้งนี้ การขนส่งสินค้าทางรถไฟความเร็วสูง ไม่ใช่ความคิดแปลกประหลาดพิศดารหากพิจารณาถึงความเคลื่อนไหวในต่างประเทศ ได้แก่
 
1. Flet GV บริษัทไปรษณีย์ฝรั่งเศสเริ่มส่งพัสดุไปรษณีย์มาแล้วกว่า 28 ปี ทางรถไฟ TGV ปัจจุบันขนส่งเอกสารและพัสดุกว่า 56,000 ตันต่อปี10
 
2. Euro Carex ซึ่งเป็นโครงการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟความเร็วสูงในทวีปยุโรป ได้เริ่มทดสอบวิ่งครั้งแรกในเส้นทางฝรั่งเศส-อังกฤษเมื่อปีที่แล้ว โครงการดังกล่าวจะเปิดให้บริการจริงในอีกสองปีข้างหน้า โดยจะเชื่อมโยงโครงข่ายขนส่งสินค้าในประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ และในอนาคตจะขยายโครงข่ายสู่ประเทศอิตาลีและสเปน11
 
3. รถไฟความเร็วสูงในประเทศญี่ปุ่นสาย Hokkaido Shinkansen จะเปิดให้บริการขนส่งสินค้าในปี 2016 12
 
 
เจ๊งไม่เจ๊ง....... อยู่ที่ศักยภาพในการบริหารสินทรัพย์
 
เป็นเรื่องจริงที่ว่า "รถไฟ กำไรยาก" แต่นั่นหมายถึงเฉพาะในกรณีที่รายได้ของกิจการรถไฟมาจากการขายตั๋วอย่างเดียว
 
รูปแบบธุรกิจ (Business Model) ของกิจการรถไฟที่ทำแล้วมีกำไร จะต้องเป็นแบบ "ลูกผสม" คือ มีรายได้ทางตรงจากการขนส่งผู้โดยสาร/สินค้า และรายได้เสริมที่เกิดจากการบริหารสินทรัพย์ของกิจการรถไฟเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Cargo & Passengers + Affiliated businesses from existing assets)
 
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณีของบริษัท JR Kyushu ซึ่งเป็นบริษัทประกอบกิจการเดินรถไฟในพื้นที่เกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันมีรายได้กว่า 3.3 แสนล้านเยนต่อปี แต่ธุรกิจที่ทำรายได้หลักให้กับบริษัท JR Kyushu ไม่ใช่ธุรกิจที่มาจากการเดินรถไฟโดยตรง กลับกลายเป็นธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจบริหารสถานี ธุรกิจร้านค้าย่อย ร้านอาหารและเครื่องดื่ม โรงแรม รีสอร์ท และอื่นๆ อีกมากมาย ที่สร้างรายได้กว่าร้อยละ 57.5 ให้กับบริษัท13
 
รูปที่ 3: แผนภูมิแสดงรายได้ของบริษัท JR East และ JR Kyushu
 
แม้กระทั่งบริษัท JR East ที่สามารถสร้างรายได้เฉพาะจากการขายตั๋วแก่ผู้โดยสาร (16.7 ล้านคนต่อวัน!!) อย่างเดียวก็รวยเละแล้ว ยังทำการสรรหารายได้เสริมจากการลงทุนปรับปรุงสถานีรถไฟโตเกียว ส่วนเงินที่ JR East เอาไปลงทุนในสถานีโตเกียว ก็ไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากภาครัฐหรือไปกู้หนี้ยืมสินมาจากไหน แต่ใช้ "สิทธิในการขึ้นอาคารสูง" ที่บริษัทได้รับมาเมื่อครั้งแปรรูป ไปขายให้กับอาคารสูงอื่นๆ ที่ต้องการสร้างให้สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด เอาชัดๆ ก็คือ กฎหมายผังเมืองของญี่ปุ่นกำหนดให้ตึกบริเวณสถานีโตเกียวมีความสูงได้เพียง 180 เมตร บริษัทฯจึงปรับปรุงสถานีรถไฟโตเกียวให้มีความสูงเพียง 4 ชั้น ทั้งๆที่สามารถสร้างได้สูงถึง 10 ชั้น และได้ขายสิทธิในการสร้างอาคารสูงในส่วนที่ไม่ได้สร้างอีก 6 ชั้นนี้ ให้กับอาคารที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ทำให้อาคารสามารถขึ้นสูงได้ถึง 200 เมตร การใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่อย่างชาญฉลาดนี้ทำให้บริษัทฯ มีเงินไปลงทุนในสถานีโตเกียวถึง 5 หมื่นล้านเยน ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม เพราะปัจจุบัน สถานีโตเกียวกลายเป็นพื้นที่การค้าที่มีราคาต่อตารางเมตรแพงที่สุดในกรุงโตเกียว14
 

รูปที่ 4: เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานีโตเกียวโดนถล่มจากการทิ้งระเบิดอย่างหนัก อาคารสถานีเสียหายเกือบทั้งหลัง ยกเว้นแต่ส่วนฐานรากเท่านั้น
 
รูปที่ 5: หลังจาก 5 ปีของการบูรณะปรับปรุงสถานีโตเกียวในปัจจุบันได้กลับคืนสู่สภาพอันโอ่อ่าสวยงามเหมือนเมื่อครั้งแรกเปิดทำการเมื่อปี 1914
(ภาพจาก http://www.japantimes.co.jp/news/2012/10/23/reference/tokyo-stations-marunouchi-side-restoredto-1914-glory/#.UVxCLcsaySM (accessed 4 April 2013)
 
เห็นตัวอย่างแบบนี้แล้ว ก็หันมาคิดถึงกรณีของประเทศไทย เมื่อรัฐบาลจะยอมลงทุนเพื่อ "ยกเครื่อง"ระบบรางของประเทศทั้งที คงไม่ได้คิดแค่จะเก็บแต่ค่าตั๋วเป็นรายได้แต่เพียงอย่างเดียว ทำไมเราจะปั่น cash flow แบบญี่ปุ่นไม่ได้ อยากเห็นสถานี "ชุมทางบางซื่อ" เป็น "บางซื่อแกรนด์ สเตชั่น" แบบโตเกียวสเตชั่นคงไม่น่าจะเป็นได้เพียงแค่ฝันที่ไกลเกินเอื้อม
 
ต่อประเด็นคำถามที่คุณกานดา นาคน้อย แสดงความห่วงใยต่อปัญหาร่าง พรบ. เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท คณะทำงานประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ขอชี้แจงในแต่ละประเด็น ดังต่อไปนี้
 
ในประเด็นข้อ 1 ที่คุณกานดาเขียนไว้ว่า รมว. คมนาคมเสนอว่าประเทศอื่นเขาก็กู้กันแบบนี้ แต่คุณกานดายกตัวอย่างให้เห็นว่าหลายประเทศไม่ได้กู้แต่ใช้วิธีการให้เอกชนร่วมทุนกับรัฐ อย่างเช่นในกรณีของประเทศไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณกานดาศึกษา model นี้อย่างละเอียดจะเห็นว่า ในที่สุดแล้ว model นี้ของทั้ง 2 ประเทศนั้นล้มเหลว15 ทุกโครงการมีปัญหา ทำให้รัฐต้องเข้าไป takeover ในที่สุด จะเห็นว่าการให้เอกชนลงทุนเองก่อนนั้นไม่ประสบความสำเร็จ ฉะนั้นในกรณีของการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานของไทย รัฐบาลควรเป็นผู้ริเริ่มลงทุนเอง
 
ที่คุณกานดาอ้างว่าเกาหลีใต้ตั้งบริษัทร่วมทุนกับรัฐและเอกชนนั้น เป็นข้อกล่าวอ้างที่ผิด เพราะอันที่จริงแล้วรัฐบาลเกาหลีใต้เป็นผู้ริเริ่มลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเอง ผ่านการกู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ16 เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นเมื่อครั้งแรกที่มีการลงทุนทำโครงการรถไฟฟ้ารางคู่และรถไฟฟ้าความเร็วสูงนั้น รัฐบาลก็เป็นผู้ลงทุน โดยใช้วิธีการ finance โครงการผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลแบบระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมา ญี่ปุ่นก็ไม่มีปัญหาทางการคลังแม้จะมีหนี้สาธารณะสูง ซึ่งประเทศไทยเองก็มีแนวคิดที่จะใช้วิธีการออกพันธบัตรเช่นกัน เพราะนอกจากที่ประชาชนจะได้ประโยชน์จากการลงทุนเพื่ออนาคต (Infrastructure project for the future) แล้ว ยังได้ประโยชน์จากผลตอบแทนของการถือครองพันธบัตรด้วย17
 
ส่วนในกรณีที่คุณกานดาอ้างว่ารัฐบาลญี่ปุ่นเดินรถขาดทุนจนโดนแปรรูปนั้น อยากจะเรียนให้ทราบว่าที่ญี่ปุ่นเจ๊ง เพราะเน้นการทำธุรกิจแบบขายตั๋วอย่างเดียว ไม่มีการหารายได้จากสินทรัพย์อื่นนอกเหนือจากการเดินรถ (Non rail affiliated businesses) 
 
รูปแบบธุรกิจที่ว่า "รถไฟ as a stand-alone business makes money" เป็น business model ที่ผิด รายได้ที่มาจากการขายตั๋วอย่างเดียวเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง
 
รูปแบบธุรกิจ (Business Model) ของกิจการรถไฟที่ทำแล้วมีกำไร จะต้องเป็นแบบ "ลูกผสม" คือมีรายได้ทางตรงจากการขนส่งผู้โดยสาร/สินค้า และรายได้ที่เกิดจากการบริหารสินทรัพย์ของกิจการรถไฟเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Cargo & Passengers + Affiliated businesses from existing assets) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณีของบริษัท JR Kyushu และบริษัท JR East ซึ่งได้ชี้แจงแล้วข้างต้น
 
กล่าวโดยสรุป เพื่อให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้นจริงและไม่ล้มเหลว ภาครัฐจำเป็นที่จะต้องเป็นเจ้าภาพลงทุนก่อน ส่วนการกู้หรือไม่กู้ไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่รูปแบบธุรกิจ (Business Model)
 
ต่อคำถามในข้อ 2 ที่ว่า รมว. คมนาคมปฏิเสธข้อเสนอของรัฐบาลจีนซึ่งเสนอให้ร่วมทุนด้วยกันเพราะต้องการให้ประเทศไทยมีตัวเลือกเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงมากกว่า 2-3 ตัวเลือก เพื่อประโยชน์สูงสุดที่ประเทศจะได้รับ
 
นอกจากนี้ ความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจที่จะเกิดจากโครงการรถไฟความเร็วสูงนี้ ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน อย่างที่คุณกานดากล่าวอ้าง เพราะความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจสามารถเกิดขึ้นได้ โดยที่ประเทศไม่จำเป็นจะต้องผลิต หรือพัฒนาเทคโนโลยีเอง กรณีของรถไฟอังกฤษ โดยเฉพาะเส้น Southeastern ที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ไปดูงานที่ St Pancras International มานั้น ถือเป็นตัวอย่างที่ดี คุณกานดาคิดว่าการที่อังกฤษ ประเทศผู้ปฏิวัติระบบรางในศตวรรษที่ 19 ได้กลายเป็นอาณานิคมของประเทศญี่ปุ่นหรือไม่ เพราะปัจจุบันรถไฟที่วิ่งไปมาบนเกาะอังกฤษกลับผลิตโดยบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น เพียงแต่รถไฟอังกฤษใช้กระบวนการ"maximizing the existing tracks" หรือการสร้างอรรถประโยชน์จากระบบรางเก่า การเลือกใช้เทคโนโลยี Hitachi ซึ่งสามารถใช้ระบบส่งไฟแบบเก่าและระบบส่งไฟแบบใหม่ของยุโรปได้พร้อมกัน ถือเป็นการสร้างมูลค่าให้แก่สินทรัพย์เก่าของประเทศ
 
นอกจากนี้ ในกรณีประวัติศาตร์ที่เกิดการร่วมทุน จะมีข้อจำกัดและเงื่อนไขตามมาอยู่เสมอ รบกวน คุณกานดาไปศึกษา option ที่ทางประเทศจีนเสนอให้กับลาว ตามรายงานข่าวเมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาตามเชิงอรรถนี้ ว่า model การลงทุนดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่18 (อย่างไรก็ตาม ทางคณะทำงานฯ เชื่อว่า อาจจะมี model ใหม่ที่ทางประเทศจีนเสนอให้กับประเทศลาวและไทย ซึ่งจะต้องดูกันต่อไป)
 
สำหรับประเด็นคำถามข้อ 3 เรื่องตกผลึกว่าใครจะเป็นคนเดินรถ ทางคณะทำงานฯ จะขอชี้แจงในเบื้องต้นว่า ทางรัฐบาลมีแนวคิดที่จะแยกการบริหารรางและการบริหารจัดการสินทรัพย์ออกจากการเดินรถ โดยจะมีการตั้งองค์กรบริหารจัดการ และสร้างมูลค่าจากระบบราง อสังหาริมทรัพย์ และสินทรัพย์อื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง ซึ่งการบริหารธุรกิจรถไฟจะมีลักษณะคล้ายการบริหารจัดการของบริษัท JR ของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดต่างๆ ขอให้คุณกานดารอคำชี้แจงจากกระทรวงคมนาคม
 
ในส่วนของคำถามที่ว่าทำไมรัฐบาลจะต้องลงทุนพร้อมกันทุกสาย คณะทำงานฯ จะขอชี้แจงในเบื้องต้นว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานลักษณะนี้ ไม่ได้สร้างเสร็จภายในเวลาอันสั้น ถ้าจะรอสร้างทีละสาย กว่าจะครบทุกเส้นก็อีก 30 กว่าปี ทำให้เกิดการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ (Opportunity lost) นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงเงื่อนไขของเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน จะพบว่า ประเทศไทยไม่เคยพร้อมจะลงทุนขนาดใหญ่ไปมากกว่านี้แล้ว จากข้อมูลกระทรวงการคลัง (ณ กันยายน 2555) ธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องส่วนเกินสูงถึงกว่า 2 ล้านล้านบาท การลงทุนพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง จะเป็นการสร้าง future assets ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับภาคธุรกิจไทยในอนาคตไปอีก 80-100 ปี
 
สำหรับประเด็นคำถามข้อที่ 4 ในส่วนของวิธีการคำนวณผลกระทบทางเศรษฐกิจ ขอให้คุณกานดารอคำชี้แจงจากกระทรวงคมนาคม ทางคณะทำงานฯ ขอแสดงความคิดเห็นในเบื้องต้นว่า เนื่องจากรถไฟความเร็วสูงใช้พลังงานจากไฟฟ้าเป็นหลัก ซึ่งถูกกว่าน้ำมัน และปัจจุบันทางรัฐบาลมีแผนที่จะจัดหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าในระยะยาว โดยได้ทำการตกลงซื้อไฟฟ้าเพิ่มจากลาว รวมถึงการวางแผนซื้อไฟฟ้าจากประเทศจีนด้วย19 ซึ่งการทำสัญญาระหว่างรัฐต่อรัฐดังกล่าว จะทำให้ไทยมีพลังงานไฟฟ้าเพียงพอ ทั้งต่อการบริโภคและจ่ายให้ระบบรถไฟความเร็วสูงในราคาที่คงที่เมื่อเทียบกับราคาน้ำมัน
 
ท้ายที่สุดนี้ หวังว่าคุณกานดาคงจะช่วยเราศึกษาเรื่องนี้ต่อไป หากท่านมีโอกาส ขอให้ท่านกลับมาดู งานนิทรรศการความสุขจากรางสู่เมือง ที่แสดงอยู่ที่ Thailand Creative and Design center (TCDC) ซึ่งเป็นตัวอย่างของการบริหารจัดการสินทรัพย์ของบริษัท JR Kyushu ทั้งที่การขายตั๋วไม่ได้ทำกำไรแต่มีการใช้asset ที่ได้มาจากการแปรรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทและมีกำไร
 
 
 
 
 
 

1 U.S. Energy Information Administration (EIA), Annual Energy Outlook 2013 Early Release (Washington DC, 2013)

2 อ้างแล้ว

3 "Singapore-KL High-Speed Rail Link Back on the Drawing Board", Bangkok Post, 26 February 2013, http://www.bangkokpost.com/business/economics/337746/singapore-kl-high-speed-rail-link-back-on-the-drawing-board (accessed 4 April 2013)

4 Arno Maierbrugger, "Vietnam Revamps High-Speed Train Project", Investvine, 23 August 2012, http://investvine.com/vietnam-revamps-high-speed-train-project/ (accessed 4 April 2013)

5 "India Looks to Adopt Shinkansen Technologies", The Asahi Shimbun, 21 November 2012, http://ajw.asahi.com/article/economy/business/AJ201211210030 (accessed 4 April 2013)

6 Dexter Roberts, Henry Meyer, and Dorothee Tschampa, "The Silk Railroad of China-Europe Trade", Bloomberg Businessweek, 20 December 2012, http://www.businessweek.com/articles/2012-12-20/the-silk-railroad-of-chinaeurope-trade (accessed 4 April 2013)

7 Yonah Freemark, "China Promotes Its Transcontinental Ambitions with Massive Rail Plan", The Transport Politic, 9 March 2010, http://www.thetransportpolitic.com/2010/03/09/china-promotes-its-transcontinentalambitions-with-massive-rail-plan/ (accessed 4 April 2013)

8 F. William Engdahl, "Eurasian Economic Boom and Geopolitics: Chinaʼs Land Bridge to Europe: The China-Turkey High Speed Railway", Global Research, 27 April 2012, http://www.globalresearch.ca/eurasian-economicboom-and-geopolitics-china-s-land-bridge-to-europe-the-china-turkey-high-speed-railway/30575 (accessed 4 April 2013) และ Retrack, Report on Inventory and Assessment of Rail Freight Strategies and Developments in China and Russia (2012)

9 Euromonitor International, Retailing: Euromonitor from Trade Sources/National Statistics (2013)

10 Mathias Emmerich, "Flet GV: Rail High Speed Cargo in France and Europe" (paper presented at UIC High Speed 2008, Amsterdam, 17-18 March 2008)

11"Project of High-Speed European Rail Freight Service Connected to Airports and Logistics Areas", http://www.eurocarex.com/pdf/pressreview/100103240178_carex-pressreview.pdf (accessed 4 April 2013)

12 Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism, "Rail Cargo Transport for Thailand" (March 2013)

13 TCDC, ข้อมูลประกอบงานนิทรรศการ "รถไฟสายความสุข.......เศรษฐกิจใหม่จากรางสู่เมือง"

14 East Japan Railway Company, "Outline of JR East" (November 2012)

15 กรณีศึกษาไต้หวัน Kien-Hong, PY., 2010. Near-Bankruptcy of the Taiwan High Speed Rail Corporation: What Went Wrong? International Journal of Business and Management. No. 5 Vol 12., pp. 14 – 22

16 กรณีศึกษาเกาหลีใต้ Lee Hyo-sik, "Govʼt, Korail Clash Over KTX Privatization", The Korea Times, http://koreatimes.co.kr/www/news/nation/2012/01/113_102756.html) และ Moodyʼs Investors Service, http://www.kisrating.com/report/moodys_rating/Korea%20Rail%20Network%20Authority/Korea%20Rail%20Network%20Authority20090522.pdf (accessed 4 April 2013)

17 http://news.thaipbs.or.th/content/กิตติรัตน์-ยันรัฐบาลกู้เงิน-2-ล้านล้านบาท-ไม่พาไทยประสบวิกฤติเศรษฐกิจแบบยุโรป (accessed 4 April 2013)

18 http://www.oknation.net/blog/print.php?id=835769 (accessed 4 April 2013)

19 http://www.thaigov.go.th/th/news-ministry/item/4747-.html (accessed 4 April 2013)

 
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น