โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

หลังจลาจลเมกติลา: ศาลพม่าสั่งจำคุกชาวมุสลิมเจ้าของร้านทอง

Posted: 13 Apr 2013 09:36 AM PDT

หลังจลาจลที่เมืองเมกติลาในพม่า ซึ่งทำให้ชุมชนมุสลิมได้รับความเสียหายและต้องอพยพนั้น ล่าสุดศาลพม่าตัดสินจำคุก 14 ปี เจ้าของร้านทองชาวมุสลิม ภรรยา และลูกจ้าง ที่วิวาทกับลูกค้าชาวพุทธ ในข้อหาปล้นและประทุษร้าย ขณะที่อัยการพม่าระบุ เตรียมฟ้องทั้งชาวพุทธและมุสลิมที่เกี่ยวข้องกับเหตุความไม่สงบอีกหลายสิบคน

ภาพเผยแพร่จากฮิวแมนไรท์วอช แสดงภาพถ่ายจากดาวเทียม เผยให้เห็นความเสียหายของชุมชนมุสลิมในเมืองเมกติลา ภาคมัณฑะเลย์ของพม่า ก่อนและหลังจลาจล โดยภาพล่าสุดถ่ายวันที่ 27 มี.ค. 56 ส่วนภาคก่อนหน้านี้เป็นภาพวันที่ 13 ธ.ค. 55 (ที่มา: Human Rights Watch)

 

จากกรณีที่เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เกิดการจลาจลที่เมืองเมกติลา ตอนกลางของพม่า โดยชาวพุทธกลุ่มหนึ่งในพม่าไล่รื้อถอน ทำลายข้าวของ ที่พักอาศัยและร้านค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นของชาวมุสลิม จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 40 รายนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง [1], [2])

โดยสาเหตุความขัดแย้ง ขยายบานปลายมาจากเหตุการณ์วิวาทในร้านทองของชาวมุสลิมที่ย่านใจกลางเมืองเมื่อวันที่ 20 มี.ค. โดยมีคู่สามีภรรยาชาวพุทธคู่หนึ่งไปขายเครื่องเพชรให้กับร้านดังกล่าว มีการถกเถียงกันเรื่องราคาจนลามไปถึงขั้นลงไม้ลงมือกัน โดยมีรายงานว่าเจ้าของร้านได้ทุบศีรษะของลูกค้า และความขัดแย้งได้ลุกลามออกสู่ชุมชน โดยก็พระรูปหนึ่งถูกทำร้าย และต่อมาเสียชีวิตที่โรงพยาบาล และทำให้ความขัดแย้งขยายตัวจนนำไปสู่การเผาและไล่ทำร้ายชุมชนมุสลิมในเมืองเมกติลา

ล่าสุด บีบีซีรายงานว่า เมื่อวันพฤหัสบดี (11 เม.ย.) ที่ผ่านมา ศาลพม่าได้ตัดสินจำคุกชาวมุสลิม 3 รายได้แก่ เจ้าของร้านทอง ภรรยา และลูกจ้าง โดยสั่งจำคุกเป็นเวลา 14 ปี ในข้อหาปล้นและประทุษร้าย ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนดังกล่าว

ทั้งนี้หลังเกิดความรุนแรงดังกล่าว มีการประกาศห้ามออกนอกเคหะสถานในเวลากลางคืนในเมืองเมกติลา และอีก 3 เมือง  โดยมีชาวมุสลิมมากกว่า 12,000 คนต้องอพยพ ขณะที่จากรายงานของฮิวแมนไรท์ ว็อทซ์พบว่าอาคารบ้านเรือนของชาวมุสลิมถูกเผาทำลาย อย่างน้อย 823 หลัง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

บีบีซีรายงานโดยอ้างจากสำนักข่าวเอพี โดยอัยการพม่าระบุว่า พวกเขากำลังเตรียมสำนวนหลายคดีเพื่อฟ้องประชาชนหลายสิบคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุความไม่สงบ ซึ่งผู้ที่จะถูกฟ้องมีทั้งชาวพุทธและมุสลิม

ทั้งนี้เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ของพม่าได้เตือนว่ารัฐบาลพม่าอาจใช้กำลังหากมีความจำเป็นเพื่อหยุดยั้ง "ผู้ฉวยโอกาสทางการเมือง และกลุ่มสุดโต่งทางศาสนา" จากการสร้างความเกลียดชังระหว่างศาสนิกชนของศาสนาต่างๆ

"ผู้ก่อความรุนแรงทุกคนจะถูกดำนินคดีและได้รับโทษตามกฎหมายสูงสุด" เต็ง เส่ง กล่าว

ทั้งนี้ความขัดแย้งระลอกล่าสุดในเมืองเมกติลา ภาคมัณฑะเลย์ นับว่าร้ายแรงที่สุด นับตั้งแต่เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนขึ้นในรัฐยะไข่หรือรัฐอาระกันเมื่อปีก่อน ซึ่งความขัดแย้งรอบนั้นมีผู้เสียชีวิตเกือบ 200 ราย และทำให้ประชาชนหลายหมื่นต้องอพยพออกจากบ้านเรือน โดยความขัดแย้งในรัฐยะไข่ก่อตัวขึ้นระหว่างชาวพุทธอาระกัน และชาวมุสลิมโรฮิงยา ซึ่งชาวโรฮิงยานั้นไม่ถูกรับรองว่ามีสถานะเป็นพลเมืองพม่า และมีชาวโรฮิงยาจำนวนมากพากันลี้ภัยออกจากพม่า หลบหนีจากสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นการ "ไล่สังหาร" ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หนังสือพิมพ์ภาษาทมิฬในศรีลังกา ถูกกลุ่มติดอาวุธบุกเผาแท่นพิมพ์

Posted: 13 Apr 2013 09:17 AM PDT

 

หนังสือพิมพ์ภาษาทมิฬที่มักวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลศรีลังกาถูกกลุ่มคนติดอาวุธขู่ไล่พนักงานและจุดไฟเผาแท่นพิมพ์กับหนังสือพิมพ์ บก.คาดว่าน่าจะเป็นกลุ่มกองกำลังฝ่ายรัฐบาล เป็นการบุกโจมตีสื่อครั้งที่ 5 แล้วนับตั้งแต่เดือน ม.ค. ที่ผ่านมา

 
 
13 เม.ย. 2013 - กลุ่มคนติดอาวุธสามคนเข้าโจมตีที่ทำการหนังสือพิมพ์ 'อุทยาน' ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาทมิฬในศรีลังกาที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและมักจะตกเป็นเป้าโจมตีอยู่เป็นประจำ โดยการจู่โจมในครั้งนี้มีการจุดไฟเผาแท่นพิมพ์เพื่อบีบบังคับให้หยุดการตีพิมพ์ข่าว
 
The Independent ระบุว่าชายสามคนเข้าไปในสำนักงานหนังสือพิมพ์ในเมืองจาฟนา ทางตอนเหนือของศรีลังกา ช่วงเช้ามืดของวันที่ 13 เม.ย. พวกเขาข่มขู่ให้พนักงานกลัว มีการยิงอาวุธและจุดไฟเผาแท่นพิมพ์และกองหนังสือพิมพ์ที่กำลังรอนำส่ง
 
"เมื่อช่วงเช้าราว 4.45 น. มีชายสามคนพร้อมด้วยอาวุธ มีสองคนใช้ปืนพก อีกคนหนึ่งใช้ปืนที่ดูเหมือนปืนอาก้า พวกเขาเข้ามาในอาคารและขู่ไล่เจ้าหน้าที่" อัสวาราปธัม สราวาณาปวัณ บรรณาธิการและเจ้าของหนังสือพิมพ์อุทยานกล่าว 
 
บก.หนังสือพิมพ์อุทยานกล่าวอีกว่า "พวกเขายิงแผงไฟ และใช้น้ำมันก๊าดราดไปทั่ว มีเครื่องพิมพ์ตัวอักษร 4 ชิ้นถูกเผา แกนหลักของเครื่องถูกทำลาย พวกเขายังเอาหมึกพิมพ์เททิ้งไปทั่วด้วย"
 
หนังสือพิมพ์อุทยานเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาทมิฬที่มักวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดี มหินทะ ราชปักษา และกองทัพศรีลังกา โดยก่อนหน้านี้ในปี 2006 ก็เคยเกิดเหตุการสำนักงานในจาฟนาถูกโจมตี โดยมีการบุกยิงพนักงาน 2 ราย และในรอบสิปปีที่ผ่านมามีพนักงานหนังสือพิมพ์ถูกสังหารไปแล้ว 6 ราย
 
สำนักข่าวอัลจาซีร่าเปิดเผยว่า นับตั้งแต่เดือน ม.ค. ที่ผ่านมามีการโจมตีสำนักงานสื่อในศรีลังกา 5 ครั้งแล้ว ในเขตที่เคยเป็นเขตสงครามทางตอนเหนือของประเทศ และการโจมตีสำนักงานสื่อ 'อุทยาน' เป็นครั้งที่สองนับตั้งแต่ทางสหประชาชาติได้มีมติเรียกร้องให้รัฐบาลศรีลังการายงานเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยยังไม่มีใครถูกจับกุมจากการก่อเหตุก่อนหน้านี้
 
บก.หนังสือพิมพ์อุทยานคิดว่าคนที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีในครั้งนี้น่าจะเป็นกองทัพรัฐบาลหรือไม่ก็กองกำลังที่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาล ขณะที่โฆษกกองทัพศรีลังกากล่าวว่าข้อกล่าวหานี้ไม่มีมูล ทั้งยังบอกอีกว่ากองทัพกับตำรวจจะให้ความร่วมมือในการสืบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และหน่วยงานด้านสื่อของกระทรวงกลาโหมศรีลังกาก็กล่าวว่าจากการสืบสวนเบื้องต้นพบว่าเหตุโจมตีดังกล่าวเป็นอาชญากรรมภายในเพื่อทำลายภาพลักษณ์ของรัฐบาล
 
อัลจาซีร่าเปิดเผยว่า บก. สราวาณาปวัณ เป็น ส.ส. ของพรรคสหพันธ์ชาติทมิฬ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับอดีตกบฏแบ่งแยกดินแดนชาวทมิฬ และการเลือกตั้งสภาระดับจังหวัดกำลังจะมีขึ้นในเขตพื้นที่ทางเหนือของศรีลังกาในปีนี้
 
ความรุนแรงทางการเมืองในศรีลังกาลดลงหลังจากที่กองทัพศรีลังกาสามารถเอาชนะกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลมลงได้ในปี 2009 แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติก็บอกว่ายังคงมีการโจมตีกลุ่มคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอยู่
 
โดยคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (CPJ) ของสหรัฐฯ กล่าวว่ามีนักข่าวอย่างน้อย 19 รายถูกสังหารในศรีลังกาตั้งแต่ปี 1992 ซึ่งมีอยู่ 9 รายถูงสังหารในช่วงที่ปธน.ราชปักษาดำรงตำแหน่ง
 
 
เรียบเรียงจาก
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนงานเหมาช่วงท่าเรือฮ่องกงประท้วงขอขึ้นค่าแรง

Posted: 13 Apr 2013 02:34 AM PDT

คนงานเหมาช่วงของท่าเรือใหญ่ที่สุดอันดับสามของโลกในฮ่องกง ตั้งแค้มป์หยุดงานประท้วงเรียกร้องขอขึ้นค่าแรง - ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดีขึ้น หลังค่าแรงไม่ได้ขึ้นมาเป็น 10 ปีแต่ค่าครองชีพสูงขึ้น ด้านท่าเรืออ้างไม่ได้ขัดแย้งกับพนักงาน เป็นเรื่องของบริษัทเหมาช่วงกับคนงานเอง

คลิปข่าวการประท้วงจาก BBC

 
 
13 เม.ย. 56 - ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สื่อต่างประเทศรายงานว่าคนงานท่าเรือ Hutchison International Terminals ในฮ่องกง รวมทั้งแรงงานจากที่อื่นๆ, นักศึกษา และนักกิจกิจกรรมแรงงาน ได้ตั้งแคมป์และหยุดงานประท้วงบริเวณถนนด้านหน้าท่าเรือ ซึ่งกลุ่มคนงานได้เรียกร้องขอขึ้นค่าแรง 20% สวัสดิการเกี่ยวกับเรื่องเวลาการทำงาน และปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดีขึ้น แต่บริษัทรับเหมาช่วงที่จัดหาคนงานให้ผู้ประกอบการท่าเรือ ยอมรับที่จะขึ้นค่าแรงให้พวกเขาได้แค่ 5% เท่านั้น
 
ทั้งนี้ Hutchison International Terminals เป็นบริษัทในเครือของ มหาเศรษฐี Li Ka-shing และทางท่าเรือได้ออกมาอ้างตัวเลขว่าการหยุดงานประท้วงครั้งนี้ทำให้ท่าเรือต้องสูญเสียรายได้วันละ 5 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (หรือประมาณ 644,000 ดอลลาร์สหรัฐ) แต่ท่าเรือเองก็ย้งอ้างว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งกับคนงาน เพราะกลุ่มคนงานเหล่านี้ไม่ได้เป็นพนักงานของท่าเรือโดยตรง แต่เป็นความขัดแย้งระหว่างบริษัทเหมาช่วงกับตัวคนงาน
 
ทั้งนี้ในการเรียกร้องคนงานระบุว่าไม่ได้รับการขึ้นค่าแรงมานานกว่า 10 ปี ในขณะที่ค่าครองชีพต่างๆ ในฮ่องกงได้ถีบตัวสูงขึ้น แต่รายได้ของพวกเขากลับถูกแช่แข็งมานาน โดยจากข้อมูลของ Bloomberg พบว่าดัชนีราคาผู้บริโภค* ในเดือนกุมภาพันธ์ของฮ่องกงเพิ่มขึ้นถึง 4.4% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว 
 
 
...........
 
* จากข้อมูลของวิกิพีเดีย "ดัชนีราคาผู้บริโภค" หมายถึง ตัวเลขทางสถิติที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการที่ครอบครัวหรือผู้บริโภคซื้อหามาบริโภคเป็นประจำ ในปัจจุบันเปรียบเทียบกับราคาในปีที่กำหนดไว้เป็นปีฐาน
 
ทั้งนี้  "ดัชนีราคาผู้บริโภค" แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านราคาสินค้าและบริการมักถูกนำไปใช้ในการปรับปรุงค่าจ้างและเงินเดือนให้สอดคล้องกับราคาของที่เพิ่มขึ้น เพราะถ้าไม่มีการปรับค่าจ้างและเงินเดือนเพิ่มขึ้น จะทำให้เงินจำนวนเดิมซื้อของได้น้อยลง นอกจากการต่อรองอัตรา ค่าจ้างและเงินเดือนของสหภาพแรงงาน
 
 
 
เนื้อข่าวสรุปความบางส่วนจาก:
 
Workers Continue Protests at Li's Hong Kong Port Operator (Bloomberg, 3-4-2013)
http://www.bloomberg.com/news/2013-04-02/hongkong-intl-terminals-faces-hk-5-million-daily-loss-on-strike.html
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นวพล ลีนิน: ถามภาคประชาสังคม ใครคือประชาชน? ใครสมควรถูกฆ่า?

Posted: 13 Apr 2013 01:06 AM PDT

คำกล่าวอ้างถึงแหล่งที่มาของปัญหาความทุกข์ร้อนที่เรามักได้ยินคือ "ประชาชน" อย่างที่เข้าใจกันว่าประชาธิปไตยของประเทศไทยต้องล้มลุกคลุกคลานมากว่า 80 ปี จากการใช้อำนาจทหารเข้าจัดการการเมืองการปกครอง ทั้งที่แนวคิดประชาธิปไตยเชื่อว่าอำนาจมีฐานรากมาจากประชาชน ดั่งสำนวนที่กล่าวว่า  "เสียงสวรรค์คือเสียงของประชาชน" ตามกระบวนการประชาธิปไตย ผู้ใดได้ยินเสียงสวรรค์ เสียงนั้นย่อมนำทางผู้นั้นไปสู่ความเข้าใจอำนาจรัฐ ด้วยความเข้าใจว่าเขาสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมใดๆที่ขับเคลื่อนไปโดยรัฐได้อย่างไร ระหว่างมีส่วนร่วมด้วยตัวของเขาเอง หรือมีส่วนร่วมผ่านผู้อื่น ในฐานะตัวแทนประชาชนผู้รับฟังเสียงสวรรค์นั้น นั้นคือแนวทางประชาธิปไตยซึ่งมีอุดมคติเชื่อมโยงกับความศรัทธาในพลังมหาประชาชน ด้วยการยึดโยงกันอย่างซับซ้อน

ประชาชน(People)  พลเมืองหรือประชากร ( Population) มวลชน ( masses) คำสามคำนี้ มีความเหมือนกันคือเป็นเซตใหญ่ของเซตย่อยของคนหรือมนุษย์ (Human) แม้คนคนเดียวพูดว่าเขาคือประชาชนเสียงของเขาจะเป็นเสียงสวรรค์หรือไม่นั้น คำตอบยิ่งซับซ้อนมากกว่า เพราะคนหนึ่งคนเชื่อมโยงสู่ความเป็นครอบครัว กลุ่มเครือญาติ กลุ่มสายใยอุปถัมภ์ กลุ่มท้องถิ่น กลุ่มสังคมชนเผ่า ในความเป็นคนเพียงคนเดียว ในบทบาทชีวิตของเขา พระ ตำรวจ ทหาร ผู้พิพากษา ผู้ติดเชื้อโรคร้าย นายกรัฐมนตรี โจรผู้ร้าย โสเภณี นักกีฬาฟุตบอล พ่อค้า นักการเมือง นักมวย พระราชา ข้าราชการ คนตกงาน รองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ต้องหา ทหารพราน ผู้ต้องโทษ ทนายความ  นักการเมือง นักธุรกิจ  หรือบทบาทใดก็ตามที่ชีวิตมอบให้คนนั้น ต่างหนีไม่พ้นความเป็นคนหรือมนุษย์ (Human)

 
ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมเวทีภาคประชาสังคมสรุปเดินทางเข้าร่วม การหารือแนวทางสนับสนุนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพDiscussion on Approaches to supporting the Peace Dialogueวันพุธที่ 10 เมษายน 2556 เวลา 9.00 – 12.00 น. ณ ห้องมะปราง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานีโดยสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ร่วมกับองค์กรประชาสังคม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกเดินเท้าทางจากบ้านที่นราธิวาสเวลา 6 โมงเช้า ไปถึงสถานีขนส่งนราธิวาส ซึ่งระยะทางระหว่างบ้านกับสถานีขนส่งห่างกันราว 500 เมตร ก่อนถึงประตูรั้วทางเข้าสถานีขนส่ง ผมเห็นรถบัสขนส่งคันเก่าสีน้ำเงินวิ่งออกมา แวบความคิดแรกว่าผมควรโบกรถคันนี้ดีไหม เพราะจะได้นั่งรถชมเส้นทางสายนราธิวาสปัตตานีไปเรื่อยๆ แต่อีกความคิดหนึ่งท้วงขึ้นว่ารถตู้น่าจะเร็วกว่า และในจังหวะความคิดนั้นความหิวก็ท้วงขึ้นว่า "ไปกินข้าวแกงกับกาแฟที่ร้านกะห์สถานีก่อน" เมื่อชั่งน้ำหนักการโต้เถียงโดยความคิดตัวเอง จึงตัดสินใจด้วยตัวเอง เพื่อประโยชน์ของตัวเองว่าไปรถตู้ดีกว่า แล้วจึงรู้ว่านั้นเป็นการตัดสินใจที่ทำให้แผนการเดินทางคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอยู่มาก เพราะกว่ารถตู้ออกจากสถานี รถต้องรอผู้โดยสารจนถึง 9 โมงเช้า ทำความเข้าใจว่าเจ้าของรถตู้มีความจำเป็นต้องรอผู้โดยสาร หากผู้โดยสารไม่มากพอในแต่ละเที่ยวโดยสารมันไม่คุ้มค่าน้ำมัน แม้ผู้โดยสารส่วนหนึ่งเห็นว่ามันนานมากแล้ว แต่อำนาจสิทธิขาดเป็นของเจ้าของรถตู้ เป็นความลำบากใจของเขาด้วยที่ต้องรอผู้โดยสารให้มากพอ ร่วมเส้นทางจากบ้านถึงสถานที่ประชุมประมาณร้อยกว่ากิโลเมตรผมต้องตื่นตั้งแต่ตีห้าครึ่ง  
 
นั้นเป็นสาเหตุให้ผมมาถึงสถานที่ประชุมสักสิบโมงกว่าๆ งานนี้เจอคนรู้จักหลายคน  และหลายท่านเป็นเพื่อนกันทางเฟสบุ๊คโดยไม่เคยเจอตัวจริงเลย คนแน่นห้องประชุมมะเดื่อ ทางคณะผู้จัดเปลี่ยนห้องประชุมจากมะปรางมาเป็นห้องมะเดื่อเพื่อความสะดวก คาดว่าน่าจะไม่ต่ำกว่าสองร้อยคนโดยประมาณ เวทีด้านหน้าห้องประชุม ดร.นอเบิร์ต โรเปอร์ส กำลังบรรยายเรื่อง " การหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ" ผมไปทันช่วงที่กำลังบรรยายถึงเปรียบเทียบสถานการณ์ความขัดแย้ง กระบวนการสันติภาพที่กำลังเกิดขึ้นว่าอยู่ในระดับไหน ความเป็นไปได้ของการพูดคุย จากหลายแห่งทั่วโลกนำมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดน
 
ในเวทีได้เปิดพื้นที่แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ให้บรรดาผู้เข้าร่วม โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้เคลื่อนไหวประเด็นความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สรุปประเด็นจากที่ประชุมเป็นที่น่าชื่นชมว่า ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับความหมายของคำว่าภาคประชาสังคมชายแดนใต้ โดยผู้เข้าร่วมหลายท่านได้ตั้งคำถามถึงความเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ ทำอย่างไรให้เสียงของผู้คนในระดับรากหญ้าได้ดังขึ้นมา โดยสรุปประเด็นสำคัญ 3 ประเด็นคือ
 
1.จุดร่วมที่สำคัญคือภาคประชาสังคมเดินหน้าต่อไปภาคประชาสังคมทำงานอย่างเป็นระบบมาก  ขึ้นสร้างข้อเสนอทีเป็นรูปธรรม
 
2.ทำอย่างไรให้  องค์กรภาคประชาสังคม (CSO, Civil Society Organization ) สามารถปรับสภาพ กลายเป็น party C หรือกลุ่มตัวแทนของฝ่ายประชาชนที่มีส่วนร่วมในกระบวนการนำสู่การเจรจาเพื่อสันติภาพจัดตั้งสภาประชาสังคม
 
3.ทำอย่างไรให้การพูดคุยในกระบวนการสันติภาพเข้าไปถึงประชาชนในระดับรากหญ้า การเปิดพื้นที่รับฟังเสียงชาวบ้านให้มากพอ จนพัฒนาเป็นข้อเสนอจากภาคประชาชน
 
โดยภาพรวมการจัดเวทีประชุมครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ แม้บททิ้งท้ายของท่านประธานเวทีภาคประชาสังคม ที่ฟังแล้วผมรู้สึกตกใจ ที่สื่อไปถึงฝ่ายขบวนการว่าให้กลุ่มขบวนการเลือกเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่ที่แขวนปืนแทนเป้าหมายชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ เข้าใจได้ว่าท่านมีความประสงค์ที่ดี ในประโยคที่ทีเล่นทีจริงนั้น
 
ใครกันแน่คือประชาชนหากเราขบคิดเพียงมุมที่ว่า ประชาชนคือคนธรรมดาทั่วไป ผู้มีชีวิตด้วยศักดิ์ศรีในฐานะผู้บริสุทธิ์ ในฐานะผู้ประกอบอาชีพสุจริตเลี้ยงครอบครัว คนพิการ ผู้ด้อยโอกาสในสังคม เด็กและเยาวชน ในขณะเดียวกันฝ่ายกองกำลังของขบวนการ ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ระดับสูงนั้นพวกเขามีสิทธิที่จะถูกกำหนดให้เป็นกลุ่มเป้าหมายในการทำลายล้าง หรือพูดให้ง่ายขึ้นคือคือ "สมควรตาย"ด้วยหรือ ในสภาวะความขัดแย้งที่รุนแรง เวทีภาคประชาสังคมกำลังเป็นความหวังหนึ่งที่คนระดับล่างสามารถมีส่วนร่วมได้ โดยเฉพาะเวทีภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งก่อเกิดขึ้นจากผลของสถานการณ์ความรุนแรง ชีวิตและทรัพย์สินผู้คนในพื้นที่สูญเสียในระดับที่มากพอ มากพอกระทั่งผลักดันให้ผู้คนส่วนหนึ่งเห็นว่าพวกเขาไม่สามารถนิ่งเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น จึงเริ่มสานเครือข่ายเชื่อมต่อผู้ที่ต้องการให้สถานการณ์ความรุนแรงยุติลง เชื่อมต่อคนกับคน คนกับองค์กร ดำเนินการไปสู่ความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสภาภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ความย้อนแย้งของประชาธิปไตย นั้นคือสังคมประชาธิปไตยเป็นสังคมที่เกิดจากการรวมตัวของเผด็จการหน่วยย่อย นั้นคือความหลากหลายในปัจเจกบุคคล เพราะเราต่างคือประชาชน อำนาจแห่งปัจเจกชนในการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดด้วยตัวเอง อำนาจในสิทธิที่จะกำหนดใจตัวเอง (Right to Self Determination) เรามีสิทธิในตัวแห่งตน นั้นแน่นอนว่าในความเป็นจริงแล้ว เสียงส่วนใหญ่ไม่มีสิทธิชี้ขาดว่าใครหรือคนกลุ่มใดสมควรมีชีวิตอยู่หรือสมควรตาย หากเราต่างเป็นประชาชนไม่อาจส่งเสียงในนามประชาชนเพียงโดดๆได้ดังมากนัก ผู้มีอำนาจมักกล่าวอ้างที่มาของเสียงประชาชน ความขัดแย้งเกิดจากการนำพลังมวลชนมาสร้างฐานอำนาจ โดยยกความสูญเสียเลือดเนื้อของมวลชนฝ่ายตน เพื่อสร้างความชอบธรรมในการเรียกร้องความยุติธรรม ในทางรัฐศาสตร์การชุมนุมเคลื่อนไหวเป็นวิถีทางหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตย เท่าที่ผ่านมาการชุมนุมเรียกร้องในประเทศไทยนั้น ต้องเกิดความสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อและทรัพย์สินเสียก่อนจึงจะบรรลุเป้าหมาย ทั้งที่วิถีการที่มีขั้นตอนและมีแบบแผนในการขับเคลื่อนพลังภาคประชาสังคมนั้นถูกกำหนดไว้ชัดเจนตามรัฐธรรมนูญ  นั้นพิสูจน์ได้ว่าประชาชนและรัฐไทยมีบทเรียนในการปะทะสังสรรค์กันไม่เพียงพอ และสะท้อนเรื่องตลกร้ายที่ว่าพลังอำนาจของประชาชนนั้นแม้ตายไปแล้วก็ยังส่งผลได้หากปลุกขึ้นมา เป็นตลกร้ายที่เราอาจหัวเราะกันไม่ออกในความเป็นความตาย และความทุกข์ยากลำบากนั้น
 
สำหรับภาคประชาสังคมการชุมนุมโดยสงบ หากขับเคลื่อนตามขั้นตอนยื่นข้อเสนอที่ถูกต้องมักไม่ได้รับการใส่ใจจากรัฐบาลมากเท่าที่ควร ฝ่ายนำจึงมักใช้วิธีการระดมพลังมวลชนให้มากที่สุดเพื่อการกดดันรัฐบาล ยอมรับหรือไม่ก็ตาม ประชาชนส่วนหนึ่งต้องสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อเพื่อรักษาอำนาจของผู้คนกลุ่มหนึ่งไว้ แม้กระทั่งตำรวจทหารเจ้าหน้าที่อีกด้านหนึ่งของพวกเขาคือประชาชน ทหารหาญผู้เสียชีวิตในสงครามตามท้องเรื่องในประวัติศาสตร์ ที่เรามักได้ยินว่าบรรพบุรุษเสียสละเลือดเนื้อเพื่อแลกแผ่นดินมา ส่วนใหญ่ของทหารในกองทัพคือไพร่ศักดินาที่ถูกเกณฑ์ไปรบ ซึ่งก็คือลูกหลานของประชาชนระดับล่างนั้นเอง
 
ทั้งนี้ภาคประชาสังคมจำเป็นต้องวิวัฒน์ไปเพื่อให้เกิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากที่สุด เพื่อสร้างบทเรียนที่ดีให้รัฐปรับตัว หากเราต้องการทราบว่าประชาชนมีส่วนร่วมต่อสังคมและชุมชนของเขามากน้อยแค่ไหน ตัวชี้วัดหนึ่งที่สามารถสังเกตได้ง่ายคือ การดูแลรักษาทรัพย์สินสาธารณะประโยชน์ของรัฐ ร่วมถึงการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐอย่างเต็มใจ ชุมชนใดที่ผู้คนในชุมชนใส่ใจปัญหาของชุมชนตนเอง นั้นแสดงว่าชุมชนนั้นเปิดพื้นที่มากพอจนผู้คนในชุมชนเกิดความรู้สึกรักในชุมชน รักด้วยความเข้าใจว่าเขาก็เป็นผู้หนึ่งที่เป็นเจ้าของชุมชนนั้น และการวิวัฒน์ไปสู่การเมืองภาคประชาสังคมในท้ายที่สุด คือความหวังในการจัดการอยู่ร่วมกันของผู้คนทั่วโลก ทั้งในปัจจุบันและอนาคตด้วย
 
โจทย์ที่สำคัญของภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้คือสร้างพื้นที่ให้ประชาชนร่วมหาทางออก โดยไม่ต้องฆ่ากันอีก ในคำถามข้อ 1) (ตอบแบบอัตนัยว่า) ใครกันคือประชาชน? ข้อ 2) ใครกันคือผู้สมควรถูกฆ่า? จากตัวเลือก 4 ข้อ คือ
 
a) เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐโดยเฉพาะผู้ติดอาวุธ
b) กองกำลังฝ่ายขบวนการ
c) ประชาชนผู้บริสุทธิ์
d) ไม่มีข้อถูก     
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สายส่งไฟฟ้าแรงสูงจากหงสารุกป่าลุ่มน้ำชั้นที่ 1 B ท้าทายพลังของคนฮัก (ป่า) เมืองน่าน

Posted: 13 Apr 2013 12:49 AM PDT

 

1. ภูมิปัญญาในการอนุรักษ์ป่าของชาวน่าน

ชาวน่านได้รับการยอมรับถึงพลังรักษ์ป่าและภูมิปัญญาที่สืบทอดจิตสำนึกอนุรักษ์ป่าต้นน้ำจากรุ่นสู่รุ่น จากพ่อปั๋น อินหลี ซึ่งเป็นผู้นำการต่อสู้ ที่ได้รับการยอมรับเป็น "เฒ่าทระนง คนหวงป่า" พระครูพิทักษ์นันทคุณ ผู้ก่อตั้งกลุ่มฮักเมืองน่าน พระอาจารย์ระดับเจ้าอาวาส พร้อมพระภิกษุ สามเณรหลายรูป  เครือข่ายชุมชนต่าง ๆ เช่น กลุ่มบ้านหลวงหวงป่า กลุ่มอนุรักษ์ป่าศิลาแลง ชุมชนบ้านดงผาปูน ไปจนถึงกลุ่มเยาวชนบ้านโป่งคำ นักวิจัยท้องถิ่นรุ่นเยาว์ ฯลฯ  รวมตัวกันเป็น "เครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดน่าน"  พลังแห่งคนรักป่าเมืองน่านทำให้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวหลายปีต่อเนื่องทั้งในนามบุคคลและกลุ่ม ที่สำคัญคือสามารถอนุรักษ์ป่าได้อย่างยั่งยืน จึงได้รับรางวัล "สิปปนนท์ เกตุทัต 5 ปีแห่งความยั่งยืน" หลายพื้นที่ โดยสามารถรักษาป่าต้นน้ำและจัดการป่าในชุมชนเพื่อให้คนและป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน คนปลายน้ำที่มิได้มีบทบาทในการรักษาป่าต้นน้ำและดูแลป้องกันไฟป่าที่อยู่บนภูเขาในฤดูแล้งย่อมเข้าไม่ถึงความเหนื่อยยากของคนรักษาป่า การ บูรณาการด้านวัฒนธรรมเข้ากับการจัดการป่าชุมชนทั้งการบวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ การกันพื้นที่ป่าสองข้างลำน้ำ ข้อตกลงของชุมชน และการแบ่งพื้นที่ป่าใช้สอยเพื่อเป็นธนาคารอาหารของชุมชนทำให้คนน่าน 456 หมู่บ้าน 98 ตำบล จาก 15 อำเภอ ร่วมกันดูแลรักษาป่าไว้ได้กว่า 600,000 ไร่  ทั้งป่าบนพื้นที่สูง ที่ราบ และป่าต๋าว (ลูกชิด) ครอบคลุมทั้งจังหวัดน่าน เป็นการรักษาผืนป่าไว้ให้คนเมืองน่านและคนไทยทุกคน

บัดนี้ป่าต้นน้ำสำคัญที่คนน่านหวงแหนกำลังถูกรุกรานจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง การใช้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญและสิทธิของคนดูแลรักษาป่าเป็นหนทางเดียวที่จะปกป้องต้นไม้ใหญ่หลายคนโอบที่กำลังจะถูกตัดทิ้งถึง 50 ไร่ เป็นระยะทาง 1.4 กิโลเมตรไว้ได้ การตัดไม้เปิดพื้นที่ป่าต้นน้ำย่อมยากต่อการควบคุมให้มีการตัดไม้เท่าที่จำเป็น จึงเสี่ยงต่อการลักลอบสวมรอยตัดไม้ทำลายป่า การลักลอบล่าสัตว์และนำทรัพยากรออกจากป่า ดังนั้นการใช้สิทธิชุมชนเปลี่ยนแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงให้กระทบป่าต้นน้ำน้อยที่สุด และถ้าจำเป็นต้องแลกก็ต้องยอมกระทบป่าโซน C บ้าง เพราะป่านี้มติคณะรัฐมนตรีให้ออก ส.ป.ก. กับผู้ที่ครอบครองมาก่อนและใช้ประโยชน์สำหรับโครงการของรัฐได้ ับการยอมรับเป็น "

 

2. การสูญเสียป่าไม้ในป่าต้นน้ำชั้นที่ 1 B ประมาณ 50 ไร่

กลุ่มฮักเมืองน่านกำลังรวมพลังเพื่อหาหนทางรักษาป่าต้นน้ำไว้ให้ได้ หลังจากทราบแนวสายส่งไฟฟ้าจะผ่านป่าต้นน้ำชั้นที่ 1 B และตัดต้นไม้ใหญ่ 50 ไร่ เพื่อส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ (เควี) เชื่อมต่อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ โดยภาคเอกชนไทยได้ร่วมลงทุนกับสาธารณรัฐประชา ธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) รับซื้อไฟฟ้ามาใช้ในประเทศไทย จึงต้องวางระบบสายส่งไฟฟ้าผ่านชายแดนจังหวัดน่านและจังหวัดแพร่เพื่อไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงแม่เมาะ 3 จังหวัดลำปาง รวมระยะทาง 245 กิโลเมตร โครงการระบบสายส่งนี้ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ หรือ EIA) แต่ประชาชนพบว่าการจัดทำรายงานอีไอเอนี้ ผู้ได้รับผลกระทบไม่ทราบข้อมูลแนวสายส่งมาก่อนและไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการศึกษาทางเลือกของแนวสายส่งไฟฟ้าฯ  จึงเป็นข่าวต่อสาธารณะถึงการทำรายงานอีไอเอที่ไม่เป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ประชาชนยังเผยแพร่ข้อมูลว่าผู้จัดทำรายงานอีไอเอของโครงการฯ ได้จัดเวทีนำเสนอผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กกวล.) เห็นชอบรายงานอีไอเอของโครงการฯ แล้วเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2552  ดังนั้นการรับฟังความเห็นของชุมชนจึงเป็นการจัดตามขั้นตอนว่าได้ทำแล้ว มากกว่าการรวบรวมข้อห่วงกังวลของชุมชนเพื่อนำไปสู่การลดผลกระทบอย่างแท้จริง กรณีนี้ถ้าข้อมูลของประชาชนเป็นจริง ย่อมแสดงให้เห็นความไม่ปกติของการจัดทำรายงานอีไอเอฯ ซึ่งมีหลักการสำคัญ คือ ทำเพื่อศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการและเสนอแนวทางป้องกันและลดผลกระทบดังกล่าว โดยให้ครอบคลุมมิติด้านผลกระทบทางสังคมและสุขภาพของชุมชนด้วย จึงไม่น่าเชื่อว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเป็นจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งรายงานอีไอเอของโครงการนี้จัดทำโดยสถาบันอุดมศึกษาที่เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนด้านการเกษตร และเปิดสอนคณะวนศาสตร์ซึ่งทำหน้าที่ผลิตบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ ชาวน่านจำนวนมากจึงตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการจัดทำรายงานอีไอเอนี้เป็นการดำเนินการบนหลักวิชาการหรือไม่ เพราะผู้รับผิดชอบเน้นการให้นักศึกษามาเก็บข้อมูลที่ต้องการโดยใช้แบบสอบถาม มากกว่าการศึกษาผลกระทบของโครงการ และเสนอมาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ชาวน่านจึงต้องการให้อเอะไม่มีการศึกษาทางเลือกของการกำหนดแนวสายส่งร่วมกับชุมชน จึงเป็นข่าวต่อสาธารณะถึงกามหาวิทยาลัยฯ ตรวจสอบและยืนยันต่อสาธารณะชนว่ากระบวนการจัดทำรายงานอีไอเอของผู้รับผิดชอบโครงการในนามของมหาวิทยาลัยฯ ยึดมั่นในความถูกต้องของหลักวิชาและสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะด้านสิทธิชุมชนหรือไม่ และมหาวิทยาลัยฯได้ทำหน้าที่เป็นที่พึ่งทางวิชาการให้กับชุมชนหรือไม่ (รูปที่ 1)

 

รูปที่ 1 การประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเขตอำเภอสองแคว (ที่มา "ความเสี่ยงสายส่งไฟฟ้าแรงสูงหงสา ถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (ตอนแรก)" โดย รจนา อันน์ศิริ)     

 

3. รายงานอีไอเอขาดการศึกษาวิเคราะห์ทางเลือกในการกำหนดแนวปักเสาสายส่งไฟฟ้าฯ

รายงานอีไอเอฯ โดยหลักการทั่วไปจะต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ทางเลือกของโครงการในปัจจัยที่ส่งผลกระทบสำคัญ ดังนั้นรายงานต้องแสดงข้อมูลวิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียบผลกระทบของแนวปักเสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 2-3 ทางเลือก มิใช่เป็นการกำหนดแนวปักสายส่งฯ ตามอำเภอใจ จากการศึกษารายงานอีไอเอไม่พบว่ามีการศึกษาทางเลือก พบเพียงข้อมูลสั้นๆ ว่า ที่ต้องปักเสาสายส่งผ่านป่าต้นน้ำชั้นที่ 1 B นั้น เพราะพยายามหลีกเลี่ยง ป่าต้นน้ำชั้นที่ 1 A อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากภาพแผนที่ในรายงานอีไอเอ (รูปที่ 2) แล้วจะเห็นภาพชัดว่า กฟผ. ต้องศึกษาทางเลือกของแนวปักเสาสายส่งไฟฟ้าฯ ใหม่ โดยหลีกเลี่ยงป่าต้นน้ำชั้นที่ 1 B และเกิดผลกระทบน้อยที่สุด เพื่อสงวนไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร และถ้าจำเป็นให้ผ่านป่าโซน C แทน

รูปที่ 2 แนวสายส่งไฟฟ้าโครงการระบบส่งไฟฟ้า 500 เควี สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ (ส่วนที่พาดผ่านพื้นที่ป่าชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 B) ต. ชายแดน อ. สองแคว จ. น่าน 

ชาวน่านย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ กฟผ. ปักเสาสายส่งไฟฟ้าฯ ในป่าโซน C ซึ่งจะทำให้สูญเสียป่าต้นน้ำชั้นที่ 1 B ลดลง และเมื่อยึดแนวป่าโซน C แล้วจะช่วยให้ กฟผ. ย่นระยะทางในการปักเสาสายส่งไฟฟ้าฯ ไปถึงลำปางสั้นลง รวมทั้งลดผลกระทบต่อชุมชนลงด้วย  ด้วยเหตุผลดังกล่าว กฟผ. จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่เปลี่ยนแนวปักเสาสายส่งใหม่ เพราะการหลีกเลี่ยงการทำลายป่าลุ่มน้ำชั้น 1 B เป็นระยะทาง 1.4 กิโลเมตร จะช่วยคงสภาพป่าและระบบนิเวศที่สมบูรณ์ไว้ ช่วยลดผลกระทบของโครงการต่อการทำลายป่าซึ่งเป็นการทำลายที่อยู่อาศัยและวงชีวิตของสัตว์ป่า การตัดป่าต้นน้ำเพื่อปักสายส่งไฟฟ้าฯ เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศที่ไม่อาจปรับปรุงให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ ทั้งยังเปิดหน้าดิน จึงทำให้เกิดการพังทลายของดินและคุณภาพน้ำผิวดิน นอกจากนี้การเลือกแนวปักเสาสายส่งไฟฟ้าฯ ที่หลีกเลี่ยงชุมชนยังช่วยลดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต วิถีและขนบธรรมเนียมของชุมชนด้วย

 

4. ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

รายงานการศึกษาวิจัยในต่างประเทศได้ชี้ให้เห็นถึงอันตรายของประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้แนวเสาไฟฟ้าฟ้าแรงสูง รัฐบาลอังกฤษวิตกกังวลในปัญหานี้ จึงตั้งคณะกรรมการตรวจสอบปัญหา "คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า" ที่แผ่ออกมาจากสายส่งกระแสไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งพบว่าเพิ่มความเสี่ยงของคนอยู่ใกล้สายส่งในการเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งสมอง โรคระบบประสาท และทำให้หญิงมีครรภ์แท้งง่ายขึ้น รวมทั้งคณะกรรมการได้เสนอให้ประชาชนอยู่ห่างจากสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 60 เมตร องค์การอนามัยโลกอธิบายถึงผลกระทบของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าว่ามีผลรบกวนการทำงานของระบบประสาท การทำงานของกล้ามเนื้อและกระบวนการทางชีววิทยาในร่างกาย (รูปที่ 3) สถิติของการไฟฟ้านครหลวงรายงานว่ามีคนเสียชีวิต บาดเจ็บทุพพลภาพจากไฟฟ้าแรงสูงปีละ 100 คน

รูปที่ 3  ภายในร่างกายคนมีกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ เมื่อได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า จะมีผลรบกวนการทำงานของระบบประสาท กล้ามเนื้อ และกระบวนการทางชีววิทยา (ภาพจากเว็บไซต์องค์การอนามัยโลก)

นอกจากผลกระทบต่อสุขภาพด้านการเจ็บป่วยแล้ว ประชาชนที่แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านที่ดินบริเวณนั้นถูกรอนสิทธิ ทำให้ต้องรื้อถอนบ้านเรือน ไม่สามารถใช้ที่ดินทำกินได้ตามปกติและไม่สามารถปลูกอาคารบ้านเรือนและต้นไม้ใหญ่ได้ตลอดไป ยกเว้นพืชล้มลุกที่ได้รับอนุญาต แม้ว่าที่ดินนี้จะตกเป็นมรดกสู่รุ่นลูกหลาน  การรอนสิทธินี้ยังคงอยู่ตลอดไป เพราะการไฟฟ้ามีสิทธิที่จะปักเสาไฟฟ้า ตัดต้นไม้ ในที่ดินของประชาชนภายหลังจากที่แจ้งให้ประชาชนทราบ โดย กฟผ. มิได้ซื้อที่ดินจากประชาชน แต่จะจ่ายเงินให้เจ้าของที่ดินจำนวนหนึ่งเป็นค่าทดแทน โดยทั่วไปต่ำกว่าราคาประเมิน และพื้นที่ทำนาได้รับค่าทดแทนต่ำ โดยอาศัยพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 ที่ให้ กฟผ. ดำเนินการได้เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม สำหรับประชาชนที่ไม่พึงพอใจกับเงินค่าทดแทนที่ กฟผ. อาจส่งมอบให้เจ้าของที่ดินโดยตรง หรือฝากธนาคารออมสินไว้ให้เจ้าของที่ดินก็ถือว่า กฟผ. ได้จ่ายเงินให้เรียบร้อยแล้ว ถึงแม้เจ้าของที่ดินจะไม่ยินดีรับเงินก็ตาม แต่ประชนมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลเมื่อไม่พึงพอใจกับเงินค่าทดแทน ฟ้องได้ทั้งประชาชนกลุ่มที่จะรับหรือไม่รับเงินค่าทดแทนที่ กฟผ. ส่งมอบ เพราะเป็นกรณีที่จ่ายค่าทดแทนต่ำ แต่ต้องฟ้องศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ กฟผ. ได้ส่งมอบเงิน  และหลังจากถูกรอนสิทธิแล้ว ถึงแม้โฉนดที่ดินจะยังคงเป็นของเจ้าของที่ดินอยู่ แต่ กฟผ. ห้ามมิให้ปลูกโรงเรือนและต้นไม้ยืนต้นในเขตเดินสายไฟฟ้านั้น จึงขอแนะนำให้ผู้ที่จะถูกรอนสิทธิอ่านมาตราที่ 28-35 ของ พรบ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 รวมทั้งคำพิพากษาที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจสิทธิตามกฎหมาย

 

5. มลพิษข้ามพรมแดน

การเดินทางไปเมืองหงสาในเดือนเมษายน 2556 พบว่าโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์มีขนาดใหญ่มากและก่อสร้างไปได้เร็วกว่าแผน ประชาชนซึ่งอาศัยในพื้นที่ใช้ทำเหมืองลิกไนต์ได้ถูกย้ายถิ่น โดยย้ายไปอยู่ยังหมู่บ้านใหม่ที่ไม่ไกลจากโรงไฟฟ้ามากนัก และประชาชนรอบโรงไฟฟ้าเป็นกลุ่มที่จะต้องถูกย้ายออกในลำดับต่อไป แต่ปัญหาสำคัญคือในหมู่บ้านที่จัดให้อยู่มีแต่บ้านพักไม่มีที่ทำกิน มีการจัดที่ดินให้เพาะปลูกแต่อยู่ห่างไกลจากที่พักอาศัยมาก จึงไม่สามารถใช้พื้นที่เพาะปลูกเพื่อมีอาหารยังชีพตามปกติ ทำให้มีชีวิตที่ยากลำบากและมีปัญหาสังคมคล้ายกับมาบตาพุด ส่วนตลาดสดหงสาซึ่งมีอาหารธรรมชาติวางขายคล้ายตลาดในชนบทของไทยนั้น อยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าประมาณ 2 กิโลเมตร เพื่อป้องกันผลกระทบต่อชุมชนทางโรงไฟฟ้าจึงสร้างปล่องระบายมลพิษในระดับที่สูงกว่าปกติ ส่วนฝั่งไทยด้านชายแดนจังหวัดน่านนั้นอยู่ไม่ไกลจากโรงไฟฟ้าหงสาซึ่งไม่มีต้นไม้ใหญ่ล้อมรอบ ดังนั้นชาวน่านจึงมีโอกาสได้รับมลพิษจากโรงไฟฟ้าหงสาทั่วทั้งจังหวัดขึ้นกับฤดูกาล เพราะที่ตั้งของโรงไฟฟ้าหงสาอยู่สูงกว่าฝั่งไทยรวมทั้งมีปล่องระบายมลพิษสูง ลมจึงพัดพามลพิษไปได้ไกล ป่าไม้สามารถเป็นกำแพงกรองมลพิษได้อย่างดี แต่แนวชายแดนไทย-ลาวที่นั่งรถผ่านตลอดเส้นทาง พบแต่ภูเขาหัวโล้นและมีร่องรอยการเผาหญ้าบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อเตรียมการเพาะปลูกข้าวโพดในต้นฤดูฝน การตกเขียวข้าวโพดอาหารสัตว์ของบริษัทผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ของประเทศนับเป็นกระบวนการส่งเสริมให้เกิดการทำลายป่าและการเผาป่า ปัญหานี้แก้ไขได้ถ้าบริษัท จะคิดใหม่ว่าทำอย่างไรจะลดการทำลายป่าและยังมีผลผลิตข้าวโพดป้อนโรงงานอย่างยั่งยืน เพราะถ้าปล่อยให้บุกรุกป่าและเผาหญ้าทำลายดินก็จะทำให้ดินเสื่อมโทรม ให้ผลผลิตข้าวโพดต่ำ และทำลายระบบนิเวศในภาพรวม

ในช่วงที่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขณะนี้ มีการขนส่งวัสดุก่อสร้างผ่านจังหวัดน่านไปยังฝั่งลาว ซึ่งสร้างปัญหาให้กับชุมชน เพราะมีการรีบเร่งขนวัสดุและเครื่องจักรในเวลากลางคืน รบกวนการพักผ่อนของชุมชน มีรถวิ่งผ่านชุมชนมากทำให้รถติด ถนนพังและมีฝุ่นมาก รถบางคันมีล้อจำนวน 200 ล้อ ทำให้รถติดเป็นเวลานานและพบอุบัติเหตุจากรถบรรทุก ชาวน่านจึงเริ่มรู้สึกว่าถูกรอนสิทธิเพราะธุรกิจนี้ตามข่าวระบุว่าผู้ลงทุนจะได้กำไรปีละ 700-800 ล้านบาท และจะคืนทุนใน 15 ปี ส่วนผลกระทบนั้นชุมชนได้รับเต็มที่และยาวนาน นอกจากนี้ชุมชนยังตั้งคำถามถึงรัฐบาลไทยที่ใช้เงินปรับปรุงถนนฝั่งไทยด้วยเงินภาษีราษฎร เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนสินค้าผ่านด่านห้วยโกร๋น จ. น่าน ไปลาว จากถนนเดิมซึ่งแคบและสูงชันถูกปรับเป็นถนนอย่างดีและเปิดพื้นที่บนเขาเพื่อลดความชันของถนนไว้รองรับการขนส่งด้วยรถบรรทุกขนาดใหญ่ ในขณะที่ความต้องการของชุมชนซึ่งขาดแคลนแหล่งน้ำในฤดูแล้งไม่ได้รับการสนับสนุน รวมทั้งขาดแผนป้องกันและลดผลกระทบของประชาชนโดยเฉพาะชาวน่านที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของโรงไฟฟ้าหงสา  

ถ่านหินลิกไนต์เป็นถ่านหินคุณภาพต่ำ มีราคาถูกและมีมลพิษมาก จึงไม่คุ้มค่ากับการส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ เอกชนไทยจึงไปสร้างโรงไฟฟ้าที่หงสาและได้สัมปทานไฟฟ้าขายให้ กฟผ. 95%  มลพิษจากการเผาถ่านหินลิกไนต์ที่ปล่อยออกมาในอากาศเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลลิกไนต์ของ กฟผ. พบว่าปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1200 ไนโตรเจนออกไซด์ 5.80 ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 5.27 และฝุ่นละออง 0.62 กรัม/กิโลวัตต์/ชั่วโมง จึงเป็นเชื้อเพลิงที่ปล่อยมลพิษสูงกว่าชนิดอื่นๆ นอกจากนี้ยังปนเปื้อนสารปรอทซึ่งเป็นโลหะหนักที่ทำลายสมองทำให้เด็กมีสติปัญญาต่ำ รวมทั้งปนเปื้อนโลหะหนักชนิดอื่น ๆ ที่เป็นสารก่อมะเร็งด้วย เช่น โครเมียม นิกเกิล สารหนู และแคดเมียม ส่วนสารที่พบมากและก่อให้เกิดการระคายเคืองและทำลายระบบประสาท คือ แมงกานีส และคลอรีน การเผาลิกไนต์ทำให้มีขี้เถ้าเกิดขึ้นคิดเป็นร้อยละ 25 ของถ่านหินที่ใช้ ถ้าขาดการจัดการที่ดี ขี้เถ้าถ่านหินจะเป็นกากของเสียที่สร้างปัญหาสำคัญให้ สปป.ลาว เพราะนักวิจัยไทยได้ทดลองนำขี้เถ้าไปผสมดินปลูกลิ้นจี่ พบว่าดินในสวนลิ้นจี่มีโลหะหนักเพิ่มขึ้นหลายชนิดโดยเฉพาะชนิดที่เป็นสารก่อมะเร็ง แสดงให้เห็นว่าขี้เถ้าถ่านหินมีโลหะหนักปนเปื้อน จึงหวังว่า สปป. ลาว จะมีการควบคุมการกำจัดกากขี้เถ้าที่ดี ไม่ปล่อยให้เกิดการลักลอบนำไปทิ้งไว้ตามที่ดินของชาวบ้านเหมือนในประเทศไทย  เกษตรกรที่ปลูกส้มใน อ. ทุ่งช้าง จ. น่าน  ได้เล่าถึงผลกระทบที่เริ่มก่อเค้าให้เห็นบ้างแล้ว คือ ส้มร่วงจากต้นก่อนเก็บเกี่ยว ปัญหานี้น่าจะสอดคล้องกับผลกระทบของพี่น้องลาวจากซัลเฟอร์ไดออกไซด์เพราะมีการเปิดบ่อถ่านหินลิกไนต์แล้ว ปัญหามลพิษข้ามพรมแดนนี้คนไทยเรียนรู้ผ่านกรณีไฟไหม้ป่าในประเทศอินโดนีเซียที่ส่งผลกระทบมาถึงพี่น้องภาคใต้หลายจังหวัด   

ด้านผลกระทบจากการทำเหมืองลิกไนต์นั้นถึงแม้เหมืองลิกไนต์จะตั้งอยู่ในฝั่งลาว ซึ่งห่างจากชายแดนจังหวัดน่านเพียง 50 กิโลเมตร มลพิษข้ามพรมแดนย่อมเกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกับมลพิษที่ชาวแม่เมาะและพื้นที่ห่างไกลจากโรงไฟฟ้า เพราะลมได้พัดพามลพิษที่มีก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์จำนวนมากไปรวมกับออกซิเจน และละลายในน้ำฝนเกิดเป็นฝนกรด ทำให้ชุมชนไม่สามารถใช้น้ำฝนได้ตามปกติ จึงเพิ่มค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ฝนกรดทำให้ใบพืชเกิดจุดแผลจึงให้ผลผลิตลดลง และฝนกรดยังทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ ทำให้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดินตาย พืชขาดธาตุอาหารเพราะธาตุอาหารบางชนิดเคลื่อนลึกลงใต้ดิน แหล่งน้ำธรรมชาติเมื่อมีภาวะเป็นกรดมาก สัตว์น้ำที่หายใจด้วยเหงือก เช่น ปลา ลูกอ๊อดและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กตายลง จึงทำลายระบบนิเวศในแหล่งน้ำ  ทำให้สัตว์น้ำธรรมชาติที่เคยเป็นแหล่งอาหารของชุมชนลดน้อยลง ฝนกรดมิได้ทำลายแต่บ้านเรือนแต่จะทำลายวัดที่สวยงามและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดน่าน จึงกังวลกับช้างรอบองค์พระธาตุในวัดพระธาตุช้างค้ำ จังหวัดน่าน ว่าจะถูกฝนกรดกัดกร่อนคล้ายรูปปั้นในกรุงเอเธน (รูปที่ 4) นั้นจะใช้เวลานานกี่ปี

รูปที่ 4 ฝนกรดทำลายวัดที่สวยงาม อาคารและอนุสาวรีย์ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะที่ก่อสร้างด้วยหินปูน หินอ่อน และวัสดุที่มีแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นองค์ประกอบ (ภาพจาก http://claremontgeography12.blogspot.com/2011/04/monument-ruined-by-acid-rain.html)

ส่วนปัญหาต่อสุขภาพของประชาชนรอบเหมืองถ่านหินนั้น ผลกระทบน่าจะเกิดขึ้นในฝั่งลาวมากกว่า ยกเว้นเจ้าของสัมปทานขนถ่านหินข้ามพรมแดนมาฝั่งไทย เพราะประชาชนตั้งข้อสังเกตว่ารถบรรทุกวัสดุก่อสร้างไปส่งฝั่งลาว ขากลับมาฝั่งไทยขนอะไรกลับมาบ้างทำไมรถจึงดูหนัก ล้อรถไม่ลอยเหมือนรถเปล่า ถ้ามีการขนถ่านหินข้ามมาฝั่งไทย ฝุ่นผงถ่านหินเล็ก ๆ ที่เข้าสู่ปอดจะก่อให้เกิดโรคปอดดำ (black lung disease)  จากรายงานของ ดร. เฮนดริกซ์ (Michael Hendryx) ในอเมริกาในปี 2551 พบว่ามีโรคไตเพิ่มขึ้นถึง 70% ในคนที่อาศัยอยู่รอบเหมืองถ่านหินลิกไนต์ และในปี 2552 แพทย์พบว่าสารพิษที่ปนเปื้อนรอบเหมืองและฝุ่นผงจากถ่านหินลิกไนต์สัมพันธ์กับโรคโรคหัวใจ มะเร็ง ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว โรคในระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง และโรคปอดดำที่พบในคนที่อาศัยรอบเหมืองถ่านหินลิกไนต์  

 

6. ถึงเวลาทบทวนทิศทางการพัฒนาประเทศหรือยัง

การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมโดยขาดการวางผังเมืองและการจัดการที่ดี นำไปสู่ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม ได้สะท้อนภผลลัพธ์ของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ว่าเป็นการพัฒนาที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักจึงมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 25% เป็น 40% ของจีดีพีในช่วง ปี 2523-2551  และสัดส่วนของภาคเกษตรหดตัวลงจาก 19% เหลือเพียง 9% ของจีดีพีในช่วง ปี 2523-2551  ในขณะที่รัฐพึงพอใจกับผลการส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมและเฝ้ามองจีดีพีที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีปัญหาการความเจ็บป่วยของประชาชนจากมลพิษอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น มีพื้นที่ของประเทศไทยถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษเพิ่มขึ้น และมีข่าวการลักลอบทิ้งสารพิษและขยะพิษจากอุตสาหกรรมรายวันจนดีเอสไอ (DSI) ต้องเพิ่มแผนกพิเศษขึ้นรองรับ จึงบ่งชี้ว่าการพัฒนาของประเทศที่ผ่านมาขาดความยั่งยืนและทำให้ประชาชนไม่มีความสุขเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดของกลไกรัฐ ทั้งด้านความสามารถทางเทคโนโลยี การพัฒนาศักยภาพของประชาชนทั้งด้านองค์ความรู้และความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ความตระหนักรู้ถึงคุณค่าสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรต่อความยั่งยืนของประเทศ รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมาย

ประเทศไทยในอดีตเคยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตอาหารเลี้ยงคนทั้งในประเทศและส่งออกอาหารที่สำคัญ แต่ในปี 2555 เมเปิ้ลครอฟต์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงในอังกฤษ จัดประเทศไทยไว้ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงภัยขาดแคลนอาหารระดับปานกลาง ยกเว้นภาคตะวันออก เฉียงเหนือนั้นถูกจัดอยู่ในระดับความเสี่ยงสูง ในขณะที่อัฟกานิสถานและพื้นที่ส่วนใหญ่ของ แอฟริกาถูกจัดอยู่ในช่วงความเสี่ยงสูงที่สุด  ประชาชนชาวไทยในหลายจังหวัดได้ประกาศจุดยืนถึงการเป็นพื้นที่สร้างความมั่นคงทางอาหาร และเป็นแหล่งผลิตอาหารเลี้ยงคนระดับประเทศและระดับโลก  เพราะตระหนักถึงความสำคัญของอาหารวันละ 3 มื้อ ที่ทุกคนรับประทาน ว่ามาจากผลผลิตการเกษตรและการประมง จึงไม่ต้องการมลพิษจากอุตสาหกรรมมาปนเปื้อนในอาหาร ซึ่งความต้องการนี้สอดคล้องกับนิยามของคำว่าความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งการประชุมสุดยอดอาหารโลกได้กำหนดไว้ในการประชุม ปี 1996 ว่า "เป็นภาวะที่ประชากรทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างพอเพียง โดยปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการและรักษาสุขภาพและชีวิตที่ดีได้ไม่ว่าเวลาใด"

ถึงเวลาที่รัฐจะทบทวนทิศทางการพัฒนาประเทศบนฐานทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงหรือยัง

 

 

7. แหล่งข้อมูล

 

กรวิภา วีระพันธ์เทพา. ความมั่นคงทางอาหาร โลกร้อน พลังงาน แหล่งน้ำ : ทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน. ข่าวสิ่งแวดล้อม : เรื่องต่างประเทศ. มูลนิธิโลกสีเขียว. http://www.greenworld.or.th/greenworld/foreign/829
 
รางวัลลูกโลกสีเขียว http://pttinternet.pttplc.com/greenglobe/index.html
 
มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์. รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบไฟฟ้า500 เควี สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าลิกไนต์ (การปรับปรุงข้อมูลสภาพแวดล้อมปัจจุบันและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม) รายงานฉบับสมบูรณ์ (2552) เสนอการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
 
รจนา อันน์ศิริ. ความเสี่ยงสายส่งไฟฟ้าแรงสูงหงสา ถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (ตอนแรก)  http://localtalk2004.com/V2005/detail.php?file=1&code=h1_30/04/2011_01
 
ศุภวุฒิ สายเชื้อ เศรษฐกิจต้องรู้.ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4193 http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2010q1/2010march18p4.htm
 
สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีม. (2553) ฝนกรด http://siweb.dss.go.th/repack/fulltext/IR16.pdf
 
Cuff, D. and Goudie, A. Acid rain and its ecological consequences. The Oxford
 
Companion to Global Change (2012 ). Oxford University Press, New York. http://www.oxfordreference.com/view/10.1093/acref/9780195324884.001.0001/acref-9780195324884-e-1?rskey=iTvCYr&result=1&q=
 
Environmental Health & Engineering. Emissions of hazardous air pollutants from coal-fired power plants.(2011) EH & E Report 17505. Needham, USA.
 
Inthasan, J.; Hirunburana, N.; Herrmann, L. and Stahr, K. (2006) Effect of Lignite Fly Ash Application on the Amount of Certain Heavy Metals in Lychee Orchard's Soils of Northern Thailand.  In The 18th World Congress of Soil Science. http://www.ldd.go.th/18wcss/techprogram/P15766.HTM
 
Lignite Combustion - US Environmental Protection Agency. www.epa.gov/ttnchie1/ap42/ch01/final/c01s07.pdf
 
Lignite mining proposal. http://www.forestandbird.org.nz/node/79202
 
Monument Ruined by Acid Rain. http://claremontgeography12.blogspot.com/2011/04/monument-ruined-by-acid-rain.html
 
Singh, A.  and Agrawal, M. (2008) Acid rain and its ecological consequences. Journal of Environmental Biology, 29(1), 15-24.
 
Singh, G.. Environmental assessment of coal combustion residues from some thermal
 
power stations for reclamation of mined out areas. http://flyashbricksinfo.com/construction/environmental-assessment-of-coal-combustion-residues-from-some-thermal-power-stations-for-reclamation-of-mined-out-areas.html
 
Sooksamiti, P. and Totirakul, V. Hydro-chemical Characteristics and Environmental
 
Impacts of Water Sample Around Mae Lai Lignite Mine, Hot District, Chiang Mai Province. The Office of Primary Industries and Mines Region 3 , Amphur Maung,Chiang Mai, 50202, Thailand. http://www.aseanenvironment.info/Abstract/43005004.pdf
 
WHO. What happens when you are exposed to electromagnetic fields? http://www.who.int/peh-emf/about/WhatisEMF/en/index1.html


      

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บุญสังขาน: วันเถลิงศกปีใหม่ลาว ประจำปีนี้

Posted: 13 Apr 2013 12:21 AM PDT

 

ตามการคำนวณของพระอาจารย์บุญทัน ปุญญกาเถระ ประธานองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว แขวงหลวงพระบาง เจ้าอาวาสวัดป่าโพนเพาวนาราม ให้ทราบว่า

วันเถลิงศกปีใหม่ลาวนั้นตรงกับวันอังคาร (เต่าใจ้) ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 พ.ศ. 2556(ลาวยังนับเป็น พ.ศ. 2555) ตรงกับวันที่ 16 เมษายน 2013 เวลา 5 นาฬิกา 56 นาที 24 วินาที ผู้ใดประสงค์ฉลองทำบุญปีใหม่ให้ถูกต้องแม่นยำต้องทำตามการคำนวณ รายละเอียดของการคำนวณปีใหม่ลาวมีดังนี้

ปีมะเส็ง ก่าไส้ เบญจศก ปกติมาส พ.ศ. 2555-56(ลาว) จ.ศ. 1374-75 ค.ศ. 2013

-          วันสังขานล่วง วันอาทิตย์ (กดเส็ง) –ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 5 พ.ศ. 2556 ตรงกับวันที่ 14 เมษายน 2013 เวลา 1 นาฬิกา 58 นาที 48 วินาที (หลังเที่ยงคืน)

-          วันสังขานเนา – วันจันทร์ (ฮ่องไค้) ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 พ.ศ. 2556 ตรงกับวันที่ 15 เมษายน 2013

-          วันสังขานขึ้น – วันอังคาร (เต่าใจ้) ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 พ.ศ. 2556 ตรงกับวันที่ 16 เมษายน 2013 เวลา 5 นาฬิกา 56 นาที 24 วินาที เปลี่ยนพุทธศักราช(ลาว)เป็น พ.ศ. 2556 จุลศักราชเป็น จ.ศ. 1375

นางสังขาน - ปีมะเส็ง ก่าไส้ เบญจศก ทางจันทรคติเป็นปกติมาส ปิกติวาร ปกติสุรทิน ทางสุริยคติเป็นปกติสุรทิน ตรงกับนามเทพธิดานางมหาสงกรานต์ที่ 1 นามทุงษะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกพิลา อาภรณ์ประดับด้วยแก้วปัทมราค (แก้วพิลา) เสวยอุทุมพร(มะเดื่อ) เป็นภักษาหาร พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จนั่งมาบนหลังครุฑเป็นพาหนะ

เกณฑ์พิรุณศาสตร์ – พระศุกร์เป็นอธิบดี นาคเล่นน้ำ 1 ตัว บันดาลให้เกิดฝน 600 ห่า ตกในขอบจักรวาล 240 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 180 ห่า ตกในมหาสมุทร 120 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 60 ห่า

เกณฑ์ธาราธิคุณ – ตกราศีอาโป น้ำจะมีมาก ฝนจะตกเสมอกันตลอดปี นาดอนและนาลุ่มจะดีเสมอกัน มีลมพัดมาเสมอกันจากทิศทั้ง 4 ตามฤดูกาล

เกณฑ์ธัญญาหาร – ชื่อว่า ลาภะ ข้าวกล้าไร่นาจะได้ผล 10 ส่วนเสียเพียงส่วนเดียว ประชาชนมีความสุขสบาย ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์อุดมดี เกลือจะแพง ผลามัจฉะมังสาหาร ลูกหมากรากไม้จะดกดี

รุกขชาติ – ไม้ป่าแป้ง (ไม้โพ) เป็นพญาบ้านเมือง จะเกิดความเดือดร้อนไปทุกแห่งหนสากลโลก

เกณฑ์กาลโยค – วันพฤหัสเป็นธงไชย วันอาทิตย์เป็นอธิบดี วันพุธเป็นอุบาทว์ วันอังคารเป็นโลกาวินาศ

 

หมายเหตุ : การคำนวณปีใหม่ลาวและวันต่างๆ รวมถึงนางสงกรานต์และพุทธศักราชนั้น ไม่ตรงกับไทย  ซึ่งนางสงกรานต์ของไทยปีนี้ นามนางมโหธรเทวี ทรงไสยาสน์(นอน) เหนือหลังนกยูงมาเป็นพาหนะ และเกณฑ์ธัญญาหารของไทยตกชื่อว่า ปาปะ ได้หนึ่งส่วน เสียสิบส่วน เกณฑ์กาลโยคไทย วันจันทร์เป็นธงไชย วันเสาร์เป็นอธิบดี วันอาทิตย์เป็นอุบาทว์ วันจันทร์เป็นโลกาวินาศ

บุญปีใหม่ลาวนั้น เดิมเรียกกันว่า บุญสังขาน ບຸນ­ສັງ­ຂານ จนกระทั่งประมาณปี 1990 ได้รับอิทธิพลจากไทยมากขึ้น จึงเกิดควาเปลี่ยนแปลงมาเรียกว่า บุญสงกรานต์ ບຸນ­ສົງ­ການ 


ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/LaosPictures

คำว่า สังขาน นี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ สังขาร แต่เป็นรูปบาลีของคำว่า สงกรานต์ ซึ่ง ลาว ล้านนา เชียงตุง เชียงรุ่ง สิบสองจุไท เรียกว่า "สังขาน" ด้วยกันทั้งหมด ในขณะที่ไทย เขมร มอญ พม่า เรียก"สงกรานต์" ผู้รู้ชาวลาวก็แสดงความกังวลว่า เป็นการเสียเอกราชทางภาษาไปอีกอย่างหนึ่ง จึงพยายามรณรงค์ให้กลับมาเรียกบุญสังขานเหมือนสมัยเก่า

บุญสังขานนี้ปกติแล้วจะมีทั้งหมด 3 วัน แต่หากปีใดมีวันสังขานเนา 2 วัน บุญสังขานปีใหม่ลาวก็จะยาวเพิ่มเป็น 4 วัน โดยไม่กำหนดว่าเป็นวันใดแน่นอน ตามแต่จะคิดไล่คำนวณในแต่ละปี

บุญสังขานปีใหม่ลาวนี้ ประกอบด้วยวันต่างๆ เรียกชื่อและมีประเพณีปฏิบัติแตกต่างกันไป ดังนี้


1. วันสังขานล่วง หรือ วันสังขานล่อง ( ວັນ­ສັງ­ຂານລ່ວງ ຫຼືສັງ­ຂານລ່ອງ) เป็นวันที่เริ่มการจรของพระอาทิตย์เข้าสู่ราศีใหม่ ซึ่งชาวลาวจะนำพระพุทธรูปลงจากหิ้งมาสรงน้ำ (ເອົາ­ພຣະ­ລົງ­ສົງ) และไปสรงน้ำพระที่วัด 

2. วันสังขานเนา (ວັນສັງຂານເນົາ) เป็นวันที่พระอาทิตย์อยู่ระหว่างการเปลี่ยนราศี บางปีมีหนึ่งวัน บางปีมีสองวัน แล้วแต่การคำนวณ ซึ่งวันนี้เป็นวันพักผ่อน ห้ามเอาเงินออกใช้จ่าย ห้ามทำการงานต่างๆ ห้ามนอนกลางวัน ให้ไปทำบุญที่วัด รดสรงน้ำพ่อแม่ผู้สูงอายุ และเที่ยวเล่น

3. วันสังขานขึ้น หรือ วันฉลองปีใหม่ (ວັນ­ສັງ­ຂານ­ຂຶ້ນ ຫຼື ວັນສະ­ຫຼອງ­ປີໃໝ່) เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราช และพุทธศักราชของลาว เป็นวันทำบุญฉลองปีใหม่โดยการนิมนต์พระสงฆ์มาฉันภัตตาหารที่บ้าน รดน้ำมนต์หรือสวดพระสูตรปริตรมงคลแก่บ้านเรือน (ສູດ­ມຸງ­ຄຸນເຮືອນ) ตอนบ่ายเก็บดอกไม้ไปวัดก่อเจดีย์ทราย ชดใช้ดินคืนแก่วัดที่ได้เหยียบเอาดินทรายออกจากวัด หรือได้กระทำลบหลู่แก่วัดมาตลอดปี

เดิมทีการนับศักราชขึ้นปีใหม่ลาวจะมีสองแบบคือ เปลี่ยนพุทธศักราชในวันสังกาศสังขาน ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 และเปลี่ยนจุลศักราชในวันสังขานขึ้น (พระอาทิตย์เปลี่ยนราศีเข้าสู่ราศีเมษ) แต่ทางรัฐบาลลาวได้เปลี่ยนมาใช้วันเปลี่ยนศักราชเป็นวันเดียวกันภายหลังการปฏิวัติประชาชน 2 ธันวาคม ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518 – ลาว)

 

ขอให้ทุกท่านฉลองปีใหม่ด้วยความเบิกบานม่วนซื่น

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ถ้ากลัวสันติภาพชายแดนใต้ล่ม ภาคประชาสังคมต้องทำอะไร’ ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส

Posted: 13 Apr 2013 12:18 AM PDT

'การเจรจาแสนจะเปราะบางมีสิทธิล่มได้ทุกเมื่อ' ดร.โนเบิรต์ โรเปอร์ส บรรยายสถานการณ์สันติภาพในโลกบทเรียนต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ ชี้กุญแจสู่ความสำเร็จมี 2 ปัจจัยหลัก 5 ปัจจัยรอง ผู้นำต้องมุ่งมั่นและได้รับแรงหนุนจากสาธารณะ ย้ำภาคประชาสังคมต้องสร้างตาข่ายรองรับ เพื่อให้กระบวนการเดินหน้าต่อไปได้


ดร.โนเบิรต์ โรเปอร์ส อดีตผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อส้นติภาพเบอร์ฮอพแห่งเยอรมัน

 

"ภาคประชาสังคมจะหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ได้อย่างไร" เป็นหัวข้อที่ ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส นักวิจัยอาวุโสของสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี บรรยายให้เครือข่ายประชาสังคมในพื้นที่กว่า 20 องค์กรฟัง เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2556 ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี แปลโดยนายเมธัส อนุวัตรอุดม

ดร.โนเบิร์ต อดีตผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อส้นติภาพเบอร์ฮอพแห่งเยอรมัน มีประสบการณ์ทำงานด้านสันติภาพในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในทวีปยุโรปและเอเชียมา 15 ปี เมื่อ 2 ปีที่แล้วได้รับเชิญจาก ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการ CSCD ให้ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในฐานะนักวิจัยอาวุโส

 

สันติภาพทั่วโลก"นาน-ช้า-ยาก"

"ช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญ สำหรับคนทำงานสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นจังหวะแห่งประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีการพูดคุยเพื่อสันติภาพเกิดขึ้น

เราได้บทเรียนอะไรบ้างจากกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพื่อนำมาปรับใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเราอยู่ในพื้นที่คือคนสำคัญในกระบวนการสันติภาพ จะทำอย่างไรให้กระบวนการพูดคุยระหว่างรัฐไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นโอกาสในการสร้างสันติภาพ และเราจะหนุนเสริมอย่างไร

ในกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นทั่วโลก พบว่ามีบางอย่างที่เหมือนกัน ใช้เวลา "นาน" "ช้า" และ "ยาก" ไม่ได้เป็นเส้นตรง ไม่ได้เป็น 1 – 2 – 3 และ 4 แต่มันจะกลับไปกลับมา มีคนที่ไม่เห็นด้วย มีคนท้าทายกระบวนการสันติภาพอยู่เสมอ

เมื่อปี ค.ศ.2011 มีการศึกษากระบวนการสันติภาพทั่วโลก 36 แห่ง โดยมีการแบ่งกระบวนการสันติภาพแต่ละแห่งว่าอยู่ในระดับไหน พบว่ามี 5 แห่ง ที่อยู่ในระดับ"การค้นหา"ว่า จะเอาอย่างไรกันดี จะคุยหรือไม่คุยกันดี โดยมี 3 แห่งที่รู้สึกว่ามีความหวัง หลังจากคุยกันแล้วเริ่มเห็นแสงสว่าง

1 ใน 5 แห่งนี้คือ จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้วอยู่ในช่วงของการค้นหา

มีอีก 16 แห่งอยู่ในระดับที่"ยาก" คือมีอุปสรรค ยังไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือออกก้อย มี 7 แห่งที่"แย่" และมี 5 แห่งที่ประสบความ"สำเร็จ"

ใน 36 แห่งที่มีการศึกษานั้น จะพบว่าส่วนใหญ่อยู่ในช่วงที่ยาก เพราะเป็นช่วงที่มีแต่อุปสรรค พบความยากลำบาก

ความขัดแย้งที่มีการใช้ความรุนแรงทั่วโลกที่เกิดขึ้นในรอบปี 1960-2010 จำนวน 82 แห่ง พบว่า เป็นความขัดแย้งที่ยังเกิดความรุนแรงต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันถึง 30 แห่ง

ในจำนวนนี้มี 28 แห่ง ที่มีข้อตกลงสันติภาพแล้ว ถามว่าเกิดขึ้นด้วยปัจจัยอะไร พบว่ามี 2 คือ ผู้นำมีความมุ่งมั่นชัดเจนที่จะทำให้เกิดสันติภาพ และได้รับแรงสนับสนุนจากสาธารณะและจากกลุ่มต่างๆในสังคมที่จะหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ

นอกจากนี้บังพบว่า ในจำนวน 82 แห่ง มี 10 แห่งที่เป็นการแช่แข็ง คือไม่มีการดำเนินการใดๆ และไม่มีทางออก เช่น ความขัดแย้งที่เกาะไซปรัส เพราะไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไรแต่ไม่มีความรุนแรง

ยังมีอีก 7 แห่งที่จบลงด้วยการใช้กำลังทหารซึ่งเป็นชัยชนะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

แต่ชัยชนะแบบนี้ ก็ถูกตั้งคำถามว่า จะยั่งยืนจริงหรือไม่ เช่น ความขัดแย้งที่ประเทศศรีลังกาที่จบลงด้วยชัยชนะของรัฐบาลในแง่การทหาร แต่ท้ายที่สุดก็ยังมีความพยายามต่อสู้อยู่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และมีความพยายามในการสร้างสันติภาพในรูปแบบอื่นด้วย"

 

2 ปัจจัยหลัก 5 ปัจจัยรอง กุญแจสู่สันติภาพ

"จากการศึกษากระบวนการสันติภาพทั่วโลก ยังพบปัจจัยแห่งความสำเร็จอีก 5 ข้อ นอกเหนือจากปัจจัยหลัก คือผู้นำมีความมุ่งมั่นกับได้รับแรงสนับสนุนจากสาธารณะ

ปัจจัยแรกคือ กระบวนการสันติภาพใช้เวลานาน เป็นงานมาราธอน โดยทั่วไปใช้เวลา 5 – 6 ปี

ปัจจัยที่ 2 แต่ละฝ่ายเข้าใจถึงความขับข้องใจหรือความอึดอัดใจของแต่ละฝ่ายว่า ทำไมถึงเกิดความขัดแย้งขึ้นมา อะไรที่เป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรง

ในการพูดคุยกัน ปัจจัยที่ทำให้เกิดความสำเร็จ คือ ทั้ง 2 ฝ่ายต่างรับฟังกันอย่างจริงจัง และทำความเข้าใจอีกฝ่ายว่า มีอะไรที่ไม่สบายใจ ถ้าเข้าใจกันโอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็มีสูง

ปัจจัยที่ 3 คนส่วนใหญ่ของทั้ง 2 ฝ่าย ต้องสนับสนุนและเห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพ ถ้าไม่สนับสนุนเต็มที่หรือไม่ดำเนินใดๆเต็มที่ อย่างน้อยๆก็เข้าใจ หรือมีมุมมองบวกต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

คนที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจได้มากก็คือสื่อ สื่อจะต้องทำให้สังคมเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร เช่น ทำไมความรุนแรงจึงยังไม่หยุดในขณะที่มีกระบวนการสันติภาพ ทำไมกระบวนการสันติภาพจึงใช้เวลานาน ถ้าสื่อเข้าใจสังคมใหญ่ก็จะเข้าใจ ประชาชนส่วนใหญ่ก็เข้าใจตามไปด้วย

ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ของทั้ง 2 ฝ่ายเข้าใจตามไปด้วยแล้ว กระบวนการสันติภาพก็จะประสบความสำเร็จ

ปัจจัยที่ 4 ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องถอยคนละเก้า เมื่อเข้าสู่กระบวนการสันติภาพแล้ว จะคาดหวังว่าจะได้ทุกอย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่มีทางสำเร็จ โดยทั่วไปของกระบวนการสันติภาพในช่วงแรกๆ แต่ละฝ่ายต่างคาดหวังให้อีกฝ่ายยอมตัวเอง แต่ท้ายที่สุดแล้วไม่มีทาง

มีการสัมภาษณ์คนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพในต่างประเทศ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายที่ต่อสู้กับรัฐว่า ทำไมถึงคุยกันรู้เรื่องและปัญหาจบลงได้ ทั้ง 2 ฝ่ายตอบตรงกันว่า ช่วงแรกๆ คาดหวังว่าจะได้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์และตั้งใจจะให้อีกฝ่ายยอม

แต่เมื่อคุยไปคุยมากันแล้วก็ต้องถอย เพราะโดยธรรมชาติมันไปต่อไม่ได้ ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ยอมถอยเลย กระบวนการก็ไปต่อไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องยอมถอยทั้งคู่ ต้องประนีประนอมกัน ถ้าหวังจะได้ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม ปัญหาก็ไม่มีวันจบ

ปัจจัยที่ 5 กลุ่มที่เคลื่อนไหวหรือกลุ่มที่ต่อสู่อยู่ในพื้นที่ จะต้องมองเห็นอนาคตของตัวเองว่า หลังจากคุยไปแล้วอนาคตของตัวเองจะมีหรือไม่ คุยไปแล้วบทบาทของตัวเองจะอยู่ตรงไหนในสังคม ตัวเองจะต้องมีที่ยืนต่อไปในสังคม หลังจากเกิดข้อตกลงสันติภาพแล้วจะต้องมีความชอบธรรม จะต้องมีบทบาทในสังคม กระบวนการสันติภาพจึงจะเกิดขึ้นได้"

 

การเจรจามีสิทธิล่ม ภาคประชาชนต้องรองรับ

"กล่าวเฉพาะในเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาคประชาสังคมในพื้นที่จะมีส่วนอย่างไรในกระบวนการสันติภาพ

การพูดคุยระหว่างตัวแทนรัฐไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็นบวกกับขบวนการต่อสู้อื่นๆ ที่ชัดเจนแน่นอนครั้งนี้ คือ ฝ่ายไทยได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจในรัฐบาลแล้ว และหน่วยงานของรัฐส่วนใหญ่เห็นด้วยและสนับสนุน

ในขณะที่ฝั่งของกลุ่มขบวนการ ยังไม่ชัดเจนว่า ผู้ที่สนับสนุนอยู่ข้างหลัง ให้การสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน และมีกลุ่มอื่นๆที่สนับสนุนอีกมากน้อยแค่ไหน

แน่นอน ทั้ง 2 ฝ่ายย่อมมีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หรือคนที่สงสัยลังเล ซึ่งการแสดงความไม่เห็นด้วยในส่วนของกลุ่มเคลื่อนไหวก็อาจสะท้อนมาในรูปของการก่อเหตุรุนแรงบางส่วน

ส่วนการแสดงความไม่เห็นด้วยของฝ่ายไทย ก็อาจจะสะท้อนออกมาผ่านหน่วยงานบางส่วน หรือกระทั่งนักการเมืองบางคนที่รู้สึกว่า ว่าเรามาถูกทางหรือเปล่า เราคุยถูกตัวหรือไม่ หรือตั้งคำถามว่าความรุนแรงจะลดลงเมื่อไหร่ นี่คือความไม่แน่ใจ ลังเล หรือไม่เห็นด้วยในกระบวนการพูดคุย

ภายใต้สถานการณ์ที่มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เราจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพเดินหน้าต่อไปได้จริงๆ อย่างต่อเนื่อง

เรามีฐานของประชาชนอยู่ 2 ส่วนใหญ่ๆ คือประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกฐานหนึ่งคือประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้ง 2 ฐานนี้ต้องส่งเสริมกระบวนการสันติภาพ ไม่อย่างนั้นกระบวนการสันติภาพจะไปต่อไม่ได้

สำหรับคนทำงานภาคประชาสังคมในพื้นที่ ไม่ว่ากลุ่มที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลไทย หรือกลุ่มที่สามารถสื่อสารกับขบวนการได้ หรือสามารถสื่อสารกับคนหลายๆกลุ่มได้ จะทำอะไรได้บ้าง

กระบวนการสันติภาพในช่วงแรกๆ พบว่า จะมีคนเกี่ยวข้องเยอะ มีความสลับซับซ้อนในตัวมันเอง ในการพูดคุยของทั้ง 2 ฝ่าย คือฝ่ายรัฐไทยกับฝ่ายขบวนการนั้น จะมีส่วนที่เพิ่มเข้ามา คือที่ปรึกษา

ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องมีที่ปรึกษาเพื่อคอยอธิบาย ให้คำแนะนำว่า จะต้องพูดคุยกันอย่างไร เพื่อให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าต่อไปได้ นี่คือกลไกแรก

กลไกที่ 2 นอกจากทีมที่ปรึกษาแล้ว คือต้องมีคณะทำงานย่อย เนื่องจากเมื่อทีมเจรจาของทั้ง 2 ฝ่ายพูดคุยไประดับหนึ่งแล้ว ก็จะต้องตั้งคณะทำงานเพิ่มขึ้น เพื่อพูดคุยในรายละเอียด เพื่อหาคำตอบที่ทั้ง 2 ฝ่ายรับได้ จะให้ทีมเจรจาหลักคุยกันอย่างเดียวคงเป็นไปไม่ได้

ต้องมีคณะทำงานย่อย เช่น ในเรื่องความมั่นคง การปกครอง ภาษา อัตลักษณ์ วัฒนธรรม แต่ละเรื่องจะเอาอย่างไร ต้องตั้งคณะทำงานย่อยที่เป็นคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นโดยตรง เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการจากทั้ง 2 ฝ่ายมานั่งคุยกัน

การพูดคุยในคณะทำงานย่อย จะลงลึกในรายละเอียดมากขึ้น แล้วนำไปสู่ข้อตกลงที่ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับได้"

 

3 สิ่งต้องทำ เพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ

"บางท่านอาจอยู่ในทีมที่ปรึกษาหรือในคณะทำงานย่อยก็ได้ แต่ถ้าไม่ได้ไปในส่วนนี้ ก็ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยได้ คือ ยังมีอีก 3 พื้นที่ที่จะเข้าไปหนุนเสริมการพูดคุยเพื่อสันติภาพได้ ที่จริงยังมีอีกที่สามารถคิดขึ้นได้

พื้นที่แรก คณะทำงานย่อยที่ตั้งขึ้นย่อมเกี่ยวข้องกับทีมเจรจาหลัก เพราะฉะนั้นเป็นไปได้สูงที่คณะทำงานย่อยจะคุยกันลำบาก เพราะเป็นตัวแทนของทีมเจรจาหลักทั้ง 2 ฝ่าย และแต่ละเรื่องก็เป็นเรื่องยากๆ ที่จะหาทางออกร่วมกัน จึงมีโอกาสสูงที่การพูดคุยของคณะทำงานจะหยุดลง หรือสะดุด คุยกันต่อไม่ได้

ดังนั้นภาคประชาสังคมก็ตั้งคณะทำงานขึ้นมาได้ เป็นคณะทำงานเงา ล้อไปกับคณะทำงานของทีมเจรจา โดยคุยกันไปเลยว่า เรื่องนั้นเรื่องนี้เราเห็นอย่างไร หากการเจรจาหลักล่มลง แต่คณะทำงานเงาก็ยังอยู่ ถึงที่สุดแล้วการพูดคุยทั้ง 2 ระดับอาจจะต้องรับฟังกันและกัน

การพูดคุยในระดับล่างหรือระดับคณะทำงานเงานั้น จะพูดคุยและทำอะไรได้บ้าง มีหลายอย่าง เช่น เรื่องการกระจายอำนาจก็อาจจะหาคนที่หลากหลาย คนที่มีความเห็นแตกต่างกันมานั่งคุยกัน เสมือนเป็นวงเจรจาอีกวงหนึ่งแต่เป็นของภาคประชาสังคม

ตรงนี้จะเป็นเหมือนตาข่ายหนึ่งที่ใช้ป้องกันหรือรองรับกรณีการเจรจาข้างบนมันล้มลงหรือพังลงมา เมื่อยังมีตาข่ายรองรับ การเจรจาก็สามารถเดินหน้าต่อไป เมื่อการเจรจาสามารถเดินหน้าต่อไป แม้การเจรจาข้างบนจะพังลงไปแล้ว สิ่งที่คุยกันในวงเจรจาข้างล่างนี้ก็จะถูกส่งต่อขึ้นไปข้างบนโดยอัตโนมัติ

ตัวอย่างในประเทศอาหรับ เช่น เลบานอน ทำได้แม้กระทั่งคณะทำงานภาคประชาสังคมบอกคณะเจรจาหลักว่า ทำไมไม่คุยเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถ้าสร้างอย่างนี้ได้ กระบวนการสันติภาพก็จะไม่ขึ้นอยู่กับคณะเจรจาหลักเท่านั้น เราจะมีสิทธิที่จะกำหนด มีสิทธิมีเสียงที่จะสะท้อนเรื่องราวขึ้นไปได้

พื้นที่ที่ 2 ดึงเสียงของประชาชนในชุมชนขึ้นมาให้ได้ว่า แท้ที่จริงแล้วประชาชนฐานล่างต้องการอะไร อยากเห็นอะไร หน้าที่ของภาคประชาสังคมคือดึงเสียงเหล่านี้ขึ้นมา แล้วสะท้อนขึ้นไปข้างบน

พื้นที่ที่ 3 ขยายผลของกระบวนการสันติภาพให้มากที่สุด ลงลึกไปสู่ชุมชนให้มากที่สุดและขยายผลไปสู่สังคมใหญ่ให้ได้ มีเครือข่ายเท่าไหร่ก็ทำให้ได้ ระดมคนให้สนับสนุนกระบวนการสันติภาพให้ได้

ตัวอย่างเช่น ไปยืนหน้ามัสยิดทุกวัน แสดงพลังสนับสนุนสันติภาพ เพราะการเจรจาข้างบนจะต้องล้มลงแน่นอน แต่จะยืนขึ้นมาได้หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่มันจะต้องมีสะดุดแน่นอน ไม่ได้เดินไปเรื่อยๆ อย่างราบเรียบ เพราะสันติภาพทั่วโลกบอกไว้อย่างนั้น ของเราก็น่าจะไม่ต่างกัน วันหนึ่งก็ต้องสะดุด

ถ้ากระบวนการสันติภาพสะดุด โดยที่เราไม่มีมวลชนคอยรอบรับ กระบวนการทั้งหมดก็จะล้มไปเลย เพราะฉะนั้นบทบาทของภาคประชาสังคม ต้องทำ 3 อย่างนี้เพื่อให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าต่อไปได้

การพูดคุยในระดับบนมันเปราะบางมาก เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างพลังจากฐานราก หวังว่าตรงนี้จะเป็นตัวจุดประกาย"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ช่วง 7 วันระวังอันตรายวันที่ 2 ยอดเสียชีวิตพุ่งเป็น 101 คน

Posted: 12 Apr 2013 11:58 PM PDT

7 วันระวังอันตรายวันที่สอง มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 465 ครั้ง บาดเจ็บ 496 คน เสียชีวิต 62 คน ขณะที่ยอดอุบัติเหตุสะสมเกิดขึ้น 791 ครั้ง บาดเจ็บ 838 คน เสียชีวิต 101 คน

<--break->13 เม.ย. 56 - สำนักข่าวไทยรายงานว่ากรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแถลงสถิติอุบัติเหตุสงกรานต์ช่วง 7 วันระวังอันตรายวันที่สอง มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 465 ครั้ง บาดเจ็บ 496 คน เสียชีวิต 62 คน ขณะที่ยอดอุบัติเหตุสะสมเกิดขึ้น 791 ครั้ง บาดเจ็บ 838 คน เสียชีวิต 101 คน โดยกาญจนบุรีและประจวบคีรีขันธ์ มีผู้เสียชีวิตสูงสุดจังหวัดละ 6 คน บาดเจ็บสูงสุดที่ จ.เชียงใหม่ 34 คน สาเหตุส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 40 มาจากเมาแล้วขับ

ส่วนที่ จ.สุราษฎร์ธานี เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนหลายรายจากรถมากและฝนตกถนนลื่น โดยที่ ต.เสวียด อ.ท่าฉาง ขาล่องใต้ รถกระบะ รถยนต์และรถบรรทุกเฉี่ยวชนกัน ระหว่างที่เจ้าของรถทั้ง 3 คัน ลงมาดูความเสียหาย กลับถูกรถทัวร์โดยสารที่วิ่งมาด้วยความเร็วชนกวาดรถทั้งหมดไปกองริมถนน มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส 4 คน นอกจากนี้ ยังมีรถเสียหลักพลิกคว่ำ และผู้ได้รับบาดเจ็บ 9 คน ส่งผลให้การจราจรติดขัดนานกว่า 3 ชั่วโมง

ที่ จ.สุโขทัย ประเดิมศพแรกในช่วง  7 วันระวังอันตราย กับอุบัติเหตุรถกระบะแหกโค้งบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 2-3 ถนนสายสวรรคโลก-ทุ่งเสลี่ยม ต.วังไม้ขอน อ.สวรรคโลก ขณะกำลังไปเที่ยวงานสงกรานต์ในเมือง มีผู้ติดอยู่คาซากรถ 5 คน อาการสาหัส และกระเด็นออกมานอกรถคอหักเสียชีวิตคาที่ 1 คน คือ นายนิรุธ แฝงชมพู

ที่ จ.กาญจนบุรี รถกระบะทะเบียนลำปางชนท้ายรถสิบล้อที่จอดรอไฟแดงบริเวณถนนสายบายพาสบ้านมะกอกหมู่ ต.ท่าม่วง ทำให้นายศุภกิจ ทองไหลมารวม เสียชีวิตคาที่ เบื้องต้นคาดคนขับหลับใน เนื่องจากไม่พบรอยเบรกของรถ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทสนทนาในห้วงยามเปลี่ยน(ไม่)ผ่าน: กระบวนการสันติภาพในมุมมองของนักธุรกิจ (1)

Posted: 12 Apr 2013 08:55 PM PDT

 

ปาตานี ฟอรัม สะท้อนมุมมองและผลกระทบของนักธุรกิจในพื้นที่ต่อสถานการณ์ปัญหาชายแดนใต้

หมายเหตุ : รายงานชิ้นนี้ได้นำมาจาก "บทสนทนาในห้วงยามเปลี่ยน(ไม่)ผ่าน"กระบวนการสันติภาพในมุมมองของนักธุรกิจ ในวันที่ 11 เม.ย. 2556 ณ ร้านบูคู ปัตตานี

บทความชิ้นนี้มีด้วยกัน 2 ตอน โดยตอนแรกจะเป็นการกล่าวถึง ภาคธุรกิจกับความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และตอนที่ 2 จะเป็นทัศนะ มุมมอง ของนักธุรกิจที่มีต่อ การเจรจา, พูดคุยสันติภาพ

 

ตลอดระยะเกือบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โอกาสทางธุรกิจ บางธุรกิจได้หายไปเนื่องด้วยจากความรุนแรง มีบางธุรกิจที่เติบโตขึ้น มันมีทั้งวิกฤติและโอกาส ความยากจน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำ คนทำงานในภาคธุรกิจภายในพื้นที่อย่างไร

ปาตานี ฟอรั่มได้จัดวงพูดคุย ในประเด็นที่ว่า "บทสนทนาในห้วงยามเปลี่ยน(ไม่)ผ่าน"กระบวนการสันติภาพในมุมมองของนักธุรกิจ ซึ่งจะเป็นภาพสะท้อนจากนักธุรกิจภายในพื้นที่ต่อความเป็นไปในสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ธุรกิจห้องพักท่ามกลางความรุนแรง

เริ่มต้นจากการพูดคุยของผู้ประกอบการกิจการโรงแรม จากสถานการณ์ความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากดูในส่วนงบประมาณที่นำมาใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปรียบเปรยได้ว่าหากเอาทหารหรือกำลังพลทั้งหมดมายืนเรียงแถว ซึ่งจะครอบคลุมถนนทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่หากครอบคลุมทั้งสามจังหวัดจริง เหตุการณ์รุนแรงไม่น่าเกิดขึ้น การประกอบธุรกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างที่บอกว่า ทุกวิกฤติ ถ้ามองให้เป็นโอกาสก็สามารถที่จะเป็นโอกาสได้ ซึ่งในส่วนของห้องพัก เดิมทีที่มีนักธุรกิจ หรือนักท่องเที่ยว มาพักในช่วงเทศกาล แต่ ณ ปัจจุบันนี้กลุ่มที่มาพักในโรงแรมกลับกลายเป็นคนรอบนอกอำเภอ ที่เดินทางมาในอำเภอเมือง จากเดิม 3-4 ทุ่ม หรือเที่ยงคืน ชาวอำเภอรอบนอกสามารถที่จะเดินทางกลับสู่บ้านของตัวเองในต่างอำเภอได้ แต่ทุกวันนี้เพียงแค่ 6 โมงกว่าก็ไม่สามารถที่จะเดินทางกลับบ้านได้ โดยเฉพาะในช่วงของการแข่งขันฟุตบอล เมื่อมาแข่งบอลกันแล้ว เขาไม่เดินทางกลับแล้ว พวกเขาเหล่านี้ได้เดินทางมาเปิดห้องพักในโรงแรม  ในส่วนของคาราโอเกะในโรงแรมที่มีอยู่ 60 ห้อง เมื่อเปิดบริการแล้วเต็มทุกห้อง เนื่องจากว่า ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในตอนกลางวัน เดินทางมาใช้บริการ

อานิสงค์ที่ได้ก็คือเรื่องภาษี เพราะธนาคารแห่งชาติสนับสนุนให้ธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 1.5 จากธรรมดาไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5-7 แต่จะมีผู้ยื่นกู้เท่าไหร่สามารถที่จะกู้ผ่านในตรงนี้

 

เศรษฐีใหม่ กับ กำลังจ่ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้

จากการนำเสนอของคุณฟาเดล เจ้าหน้าที่สินเชื่อ ธนาคารอิสลามแห่งประทศไทย จากข้อมูลเท่าที่ทราบและจากการสังเกตก็คือ ภาวะทางเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ค่อนข้างเปลี่ยนแปลง จากระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา โดยแต่ละปีในการเปลี่ยนแปลงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มักจะไม่มีอะไรที่หวือหวา ชาวบ้านที่เป็นลูกจ้างกรีดลูกจ้างอยู่เหมือนเดิม ไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงในระยะเวลา 20-30 ปีที่แล้ว แต่ในช่วง 15-20 ปี กระบวนการมันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เป็นการยกระดับของชาวบ้านโตขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยส่วนตัวจะเห็นสวนยาง จากการสังเกตในอดีตลูกจ้างในสวนยาง จะเป็นลูกจ้างจริงๆ เป็นกลุ่มคนที่หาเช้ากินค่ำ มีเงินพอเก็บ พอจ่าย  ในทางกลับกัน โดยปัจจุบันนี้ ลูกจ้างกรีดยางมีรายได้มากกว่าเจ้าของสวนยาง เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วเจ้าของสวนยางจะได้รับมรดกที่ดินจากพ่อ แม่ จะมีการแบ่งรายได้แบ่ง 6-7 คน หรือมากกว่านั้น แต่ในส่วนของลูกจ้างสวนยาง โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีการแบ่งกันอย่างมากคือ 4 คน รายได้ทั้งหมดจะมีการปันผลในอัตราส่วน 60:40 เจ้าของสวนได้รับร้อยละ 60 ส่วนลูกจ้างได้รับร้อยละ 40 แต่ในส่วนร้อยละ 60 ของเจ้าของสวนยางมันโดยกว่าร้อยละ 40 ของลูกจ้างเมื่อถูกแบ่งปันแล้ว ลูกจ้างจึงยกระดับตัวเองขึ้นมาเรื่อยๆ ท่ามกลางภาวะของการโตที่ช้าลงของเจ้าของสวนยาง

ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ ก่อให้เกิดการกลับกัน โดยที่กลุ่มลูกจ้างสวนยางสามารถที่จะสะสมทุน เพื่อใช้จ่ายได้เพิ่มมากขึ้นในระดับเดียวกันกับกลุ่มเจ้าของสวนยาง และในปัจจุบันนี้ทุนโดยส่วนใหญ่อยู่ในมือของผู้ที่เพิ่งสร้างฐานะขึ้นมาใหม่ จนกลายเป็นว่าเศรษฐกิจเติบโตขึ้นมาก ตัวชี้วัดที่ได้นำมาวิเคราะห์ประกอบกับการใช้จ่ายของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือ  บิ๊กซี ปัตตานี เป็นตัวชี้วัดที่ง่ายมาก เคยเข้าไปซื้อสินค้า แต่สิ่งที่ได้รับก็คือ สินค้าขาดสต็อก เป็นไปได้อย่างไรที่ห้างขนาดใหญ่ หมดสต็อก กำลังจ่ายของผู้คนที่นี้เกิดขึ้นอย่างน่าตกใจ

จากตรงนี้กล่าวได้ว่า สังคมและภาวะเศรษฐกิจที่นี้ เปลี่ยนไปแล้ว เราจะใช้มุมมองเก่า มองไม่ได้อีกแล้ว ในนโยบายทางการเงินของสถาบันการเงินจะมองมายังผู้ประกอบการรายย่อย รวมทั้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือเป็นตลาดใหม่ ซึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดูเหมือนว่าเป็นพื้นที่ที่เป็นวิกฤติ แต่หากมองอีกแง่หนึ่งมันคือโอกาสที่ดีมาก เพราะสภาวะดังกล่าวนี้ ทำให้คู่แข่งทางธุรกิจที่ไม่มีความชำนาญการในพื้นที่ หากแต่ธุรกิจใดที่รู้จักนำเอาศักยภาพของคนในพื้นที่มาใช้ เพราะในทางเศรษฐกิจแล้ว คนที่นี้ไม่ได้มีความซับซ้อนใดๆ เพราะว่าชั้นเชิงธุรกิจ ชั้นเชิงทางการเงินที่ไม่ซับซ้อนคือ มีแล้วใช้ ใช้แล้วหา ความไม่ซับซอนนี้จะถือเป็นโอกาสอย่างมากสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่

การเติบโตของเมืองและธุรกิจอสังหาฯ

นิมะ ยานยา ก่อนอื่นขอแย้งในส่วนที่มีการกล่าวถึงเศรษฐกิจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าไม่ดีนั้น มันไม่เป็นความจริง การเกิดขึ้นของงานก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์เติบโตขึ้น มีการเปิดโครงการบ้านต่างๆ ก็มีคนซื้อ รวมถึงโครงการต่างๆ เช่นในรูสะมิแลก็เกิดขึ้นอย่างมากมาย อีกทั้งยังมีโครงการก่อสร้างห้างสรรพสินค้าโลตัสในพื้นทีบริเวณสี่แยกดอนรักถึงปัตตานี จายา และในทุกวันนี้ในส่วนของธุรกิจก่อสร้างมีการจดทะเบียนเพิ่มมากขึ้น ทั้งการซื้อขายก็มีเพิ่มมากขึ้น ในโครงการก่อสร้างต่างๆ ผู้ที่ซื้อบ้านเป็นคนในพื้นที่

ค้าปลีก กับ ตลาดการซื้อขาย

ผู้ประกอบการไดอาน่า ได้กล่าวว่า ไดอาน่าเปิดปี 2532 เป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น การให้บริการในส่วนของการค้าปลีกหลังจากเหตุการณ์ในปี 2547 มีความกลัวว่าประชาชนจะไม่เข้าห้าง รวมถึงอัตราการซื้อขายที่จะลดลง อย่างไรก็ตามธุรกิจก็ยังคงดำเนินอยู่และเติบโตขึ้นมาอย่างเรื่อยๆ กระทั่งถึง ณ ปัจจุบันนี้ที่มีร้านค้าปลีกเพิ่มเข้ามา แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบให้กับเรา สิ่งสำคัญสำหรับร้านค้าปลีกนั่นก็คือ การลดหย่อนภาษีในส่วนของจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นเป็นตัวช่วยอย่างหนึ่งสำหรับธุรกิจในพื้นที่ตรงนี้

 

ยุคเฟื่องฟูของธุรกิจรถในจังหวัดชายแดนภาคใต้

คุณฮาดี ที่ปรึกษามูลนิธิเอเชีย ได้ให้ข้อสังเกตต่อธุรกิจรถในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า สิ่งที่สังเกตว่า วิถีชีวิตได้เปลี่ยนไป ก่อนหน้านี้ผู้คนในจังหวัดชายแดนใต้ไม่นิยมใช้รถยนต์ แต่ในทุกวันนี้สามารถที่จะพบเห็นรถได้ทุกประเภท รถดี รถหรู รถยุโรปแพงๆ โผล่ในสามจังหวัดทั้งสิ้น ส่วนตัวได้ตั้งคำถามไว้สองคำถามคือ ใครคับ และ ธุรกิจในสามจังหวัดชายแดนใต้เฟื่องฟู กระทั่งทำให้สามารถที่จะถอยรถเหล่านี้ได้ รวมไปถึงสถาบันการเลือกเปิดโอกาสในตรงนี้ หรือว่ามันเป็นแฟชั่น

แต่เท่าที่ทราบธุรกิจรถในสามจังหวัดเป็นยุคที่เฟื่องฟูมาก จากการเปิดเผยของบริษัทอีซูซุ คิวการจองรถเยอะมาก เช่นเดียวกับบริษัทโตโยต้า สิ่งที่น่าแปลกใจ ธุรกิจรถใหญ่ๆ เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยบริษัทมาสด้า เป็นโชว์รูมที่ใหญ่ระดับประเทศ

ทางด้านคุณแวหามะ จากธุรกิจรถจักรยาน โดยส่วนตัวมองธุรกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสองเรื่องใหญ่ๆ คือ วิกฤติและโอกาส มันเป็นสองมิติ ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีเพียงแค่มิติเดียว เป็นไปไม่ได้ที่จะมีโอกาสเพียงอย่างเดียว มิติของวิกฤติมีทั้งภายในและภายนอก โดยในส่วนขององค์กรใหญ่ๆ เช่นไดอาน่า รัฐได้ให้โอกาสในการลดหย่อนภาษี แต่วิกฤติที่เกิดขึ้นจริงๆ คือ คนในพื้นที่ไม่มีโอกาสที่จะได้รับการช่วยเหลือในตรงนี้ ในเรื่องของดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 คนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากส่วนนี้มากน้อยเพียงใด รัฐควรที่จะมอง SMEs ให้มากขึ้น ซึ่งรัฐให้สิทธิพิเศษสำหรับองค์กรธุรกิจที่อยู่ได้แล้ว นี้คือวิกฤติ

ต่อมาในวิกฤติที่สองคือ ความไม่เป็นมืออาชีพของนักธุรกิจเอง ซึ่งมันมีปัญหาจริงๆ ในพื้นที่ ตอนนี้หากไปดูทะเบียนที่เกิดขึ้นใหม่ในกรมพัฒนาธุรกิจ เราจะเห็นกราฟสถิติ ที่มีการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น แต่อยากให้มองดูอีกต่อไปว่า จากผู้ที่จดทะเบียนนั้นมีจำนวนเท่าไหร่ ที่ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ นั่นคือ ดัชนีชี้วัดความสำเร็จของธุรกิจจริงๆ  ไม่มีใครทำธุรกิจได้ดีเท่ากับคนในพื้นที่ เพราะในช่วงเวลาวิกฤติถือเป็นโอกาสของคนในพื้นที่

โอกาสอีกประการต่อผู้คนที่นี้ก็คือ ความชอบอวด  ถ้าจักรยาน ถ้ายี่ห้อไม่ดี ผมจะไม่ซื้อ ปัตตานีราคาแสนกว่าที่ปัตตานีมีกี่สิบคัน ตลาดขายจักรยานในหาดใหญ่ หากถามว่าคนที่ไปซื้อ และกลุ่มคนที่ขายดีที่สุดคือคนกลุ่มใด คำตอบคือ จากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะการปั่นจักรยาน ปั่นคนเดียวไม่ได้ ต้องปั่นเป็นกลุ่ม ฉันต้องดีกว่าเพื่อน ซึ่งที่มาของเงินจะมาจากไหนไม่สามารถทราบได้

นักธุรกิจรายย่อย รอวันตาย หรือรอวันโต อันนี้เรามาดูกัน

สหกรณ์อิสลาม กับความสำเร็จของสถาบันการเงินทางเลือกของมุสลิม

สหกรณ์ออมทรัพย์อิสลามก่อตั้งในปี  2530 คนส่วนใหญ่ในสองสามจังหวัดมีความเป็นห่วงเรื่องดอกเบี้ย ตอนนั้นนักการเมืองก็เริ่มพูดถึงธนาคารอิสลาม แต่ไม่สามารถเกิดขึ้น การก่อตั้งสหกรณ์อิสลาม เริ่มต้นที่คุณเด่น โต๊ะมีนา ได้รวบรวม ผู้ทรงคุณวุฒิทางศาสนา และได้มีมติให้จัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์อิสลามจังหวัดปัตตานี หลังจากนั้นประมาณ 20 ปี ได้เปลี่ยนแปลง ความคิดของคณะกรรมการ ต้องขยายสาขา และจัดทำระเบียบสหกรณ์ขึ้นมา

การทำงานของสหกรณ์ตั้งแต่เริ่มต้น เราไม่เคยที่จะขาดทุน ในปีแรก เราได้กำไร 6,000 บาท แต่ปีที่แล้วเราได้กำไร 30 ล้านบาท

การเดินทางที่เปลี่ยนไปในสามจังหวัด

ทางด้านธุรกิจประเภทบริษัทท่องเที่ยว รวมทั้งบริษัทจำหน่ายตั๋วเครื่องบิน คนในสามจังหวัดจะเดินทางบ่อย โดยในอดีตหากคนปัตตานีจะเดินทางไปส่วนกลาง (กรุงเทพมหานคร) จะโดยสารรถไฟที่สถานีโคกโพธิ์ แต่มาถึงปัจจุบันการวิถีการเดินทางของผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานี ได้ใช้การเดินทางโดยเครื่องบิน จากการสังเกตจะพบว่า ในการเดินทางในแต่ละเที่ยวบินนี้จะมีคนปัตตานีประมาณร้อย ละ 20-30 ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงการสะพัดของเงินมีมากขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นภาพสะท้อนจากผู้ประกอบภายในพื้นที่ ในโอกาสต่อไปทางกองบรรณาธิการจะนำเสนอเรื่องราวของความคิดเห็นต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพ โปรดติดตาม

 

 

ที่มา: PATANI FORUM

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Asean Weekly : MY ASEAN HERO ตอน 1

Posted: 12 Apr 2013 06:34 PM PDT

อาเซียนวีคลีย์ช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ เปลี่ยนบรรยากาศมาฟังการเสวนาวิชาการเกี่ยวกับเรื่องราววีรบุรุษของอาเซียนในหัวข้อ "MY ASEAN HERO ก้าวข้ามความขัดแย้งสู่ประชาคมอาเซียน" ซึ่งจัดโดยนิยสารสารคดี เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2556 ที่ร้านหนังสือริมขอบฟ้า ถนนราชดำเนิน โดยมีผู้ร่วมร่วมเสวนา ประกอบด้วย ดุลยภาค ปรีชารัชช จากโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มธ. ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การเมืองพม่า, โซ อ่อง ตัวแทนภาคประชาชนพม่า Forum Democracy in Burma และอดีตนักศึกษาพม่ารุ่น 8888, สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ อาจารย์พิเศษประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มธ. ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย และ มรกตวงศ์ ภูมิพลับ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มธ. ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การเมืองเวียดนาม ดำเนินรายการโดย สุเจน กรรพฤทธิ์ นักเขียนประจำกอง บก. นิตยสารสารคดี

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น