ประชาไท | Prachatai3.info |
- สัมภาษณ์กนกวรรณ ระลึก: ‘คนภูมิซรอล’ เหยื่อนิยาม ‘รักชาติ’ ของแนวคิดรัฐ-ชาติ
- อภิสิทธิ์ปราศรัยที่ศรีสะเกษ เจอ นปช. ฮือต้าน
- นัก ปวศ. สหรัฐฯ เตือนอย่าด่วนสรุปผู้ต้องสงสัยเป็นกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ
- แจ้งเอาผิดแดงเชียงใหม่ ดูหมิ่นหลังบุกเวทีปราศรัยหาเสียงประชาธิปัตย์
- ภาคประชาชนจี้รัฐยุติทำลายทรัพยากร ด้วยแผนการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท
- งาน "เปิดกบาลสานสร้าง สื่อสร้างสรรค์เมืองสุขภาวะ" แรงบันดาลใจในการออกแบบสร้างสรรค์สื่อ
- ดัน 'พ.ร.บ.คู่ชีวิต' เข้าสภา-เครือข่าย LGBT ติงยังมีข้ออ่อน
- เสียงจาก ‘เป้าอ่อน’ ครูชายแดนใต้ ก็อยากได้สันติภาพ
- 'ผู้บุกรุก' แพร่คลิปแจงกราฟฟิติต้องขบถ หลังสาดสีใส่งานเทศกาลสตรีทอาร์ต
- สุรินทร์เร่งแก้ไขปัญหากลุ่มเลี้ยงช้างป้องกันการนำช้างออกเร่ร่อนสร้างปัญหาให้สังคม
- ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "ประชาธิปไตย ไม่หลุดจากปาก"
- ทหารพม่าโจมตี SSA “เหนือ” รับปีใหม่สงกรานต์
- กสม.จัดเสวนาเสริมความรู้เรื่องสิทธิฯ ในกระบวนการยุติธรรมให้ผู้นำชุมชน
- คนไทยตายจากอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์มากถึงร้อยละ 8.5
- นัดไต่สวนพยาน คดีชันสูตรพลิกศพกรณี 4 ศพ ปุโละปุโย 23-24 เม.ย.56 นี้
สัมภาษณ์กนกวรรณ ระลึก: ‘คนภูมิซรอล’ เหยื่อนิยาม ‘รักชาติ’ ของแนวคิดรัฐ-ชาติ Posted: 20 Apr 2013 12:21 PM PDT ท่ามกลางบรรยากาศของการแถลงด้วยวาจา ณ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ กรณีที่รัฐบาลกัมพูชายื่นขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 กำลังดำเนินไป ขณะที่ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ชุมนุมภายใต้ชื่อ 'คนไทยหัวใจรักชาติ' ก็หวังจะปักเสาธงขนาด 21 เมตรในพื้นที่พิพาทไทย-กัมพูชา โดยนับเป็นกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มธรรมยาตรา ที่เคยเผชิญหน้ากับชาวบ้านภูมิซรอล จนเกิดการปะทะกับชาวบ้าน ในเดือนกรกฎาคม 2551 และกันยายน 2552 อาจกล่าวได้ว่า ความรักชาติจากแนวคิดรัฐชาตินี้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวชุมชนภูมิซรอลให้เดือดร้อนเรื่อยมา จนกระทั่งเกิดการยิงปะทะกันระหว่างทหารไทยและทหารกัมพูชาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ชาวบ้านต้องหนีตายแบบ 'ยางตายออก' อันหมายถึงความกลัวที่เป็นที่สุดของความกลัวนั่นเอง ทำไมชาวบ้านภูมิซรอลจึงต่อต้านการประท้วงของ 'กลุ่มคนไทยรักชาติ' นิยามความรักชาติของชาวบ้านภูมิซรอลเป็นอย่างไร เราไปหาคำตอบจากนักวิจัยในพื้นที่ กนกวรรณ ระลึก มหาบัณฑิตสาขาวิชาชนบทศึกษาและการพัฒนา สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง 'การประกอบสร้างอัตลักษณ์ชุมชนภูมิซรอล' วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ได้รับทุนสนับสนุนการทำวิจัยจากสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เธอเล่าสภาพความเป็นอยู่ของคนภูมิซรอลให้ฟังว่า ชุมชนภูมิซรอลอยู่ห่างจากเขาพระวิหารอันเป็นที่ตั้งของปราสาทพระวิหารเพียง 10 กิโลเมตร และสาระสำคัญของวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ ต้องการเปิดพื้นที่ให้ 'ชาวภูมิซรอล' ได้ส่งเสียงต่อคนนอกว่าพวกเขาได้รับความเดือดร้อนจากนิยามความรักชาติตามแนวคิดรัฐ-ชาติ รวมทั้งชาวบ้านภูมิซรอลได้ให้ความหมายความเป็นชาติไทย นิยามตัวเองว่า เป็นคนไทยผู้รักชาติเช่นเดียวกับคนไทยทุกคน และผลการศึกษายังพบว่าความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยและรัฐกัมพูชาส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน ให้เดือดร้อนอย่างแสนสาหัส จุดสนใจในการเข้าไปทำวิจัย ?จุดสนใจจริงๆ แล้วคือ รู้สึกว่าชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม อยากส่งเสียงให้กับชาวบ้าน จริงๆ แล้วการเข้าไปทำวิจัยเริ่มจากคำถามที่ว่า ทำไมชาวบ้านจึงต่อต้านกลุ่มคนไทยรักชาติ? โดยดิฉันได้รับข้อมูลความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มคนไทยรักชาติจากสื่อกระแสหลัก แต่เมื่อเข้าไปเห็นสภาพหมู่บ้านจริงๆ แล้วนั้นถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์ มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ด้วยการมีคนต่างถิ่นเข้ามาเยอะตลอดกว่า 70 ปีที่ผ่านมา อาทิ การแต่งงานระหว่างคนไทยอีสานกับไทยเขมร, คนไทยเขมรกับชาวกัมพูชา ฯลฯ วิถีการผลิตการผลิตก็ดำเนินไป 2 แบบ ทั้งการบริโภคและเมื่อเหลือจากการบริโภคก็จำหน่าย แรงงานรับจ้างกับธุรกิจขนาดย่อมก็ดำเนินคู่กันมาตลอด ทำให้เราเกิดคำถามว่า เวลาชาวบ้านต่อต้านกลุ่มคนไทยรักชาติที่เข้าไปในพื้นที่ในปี 2551 ชาวบ้านเขาก็บอกว่าเขาก็รักชาติเช่นเดียวกัน ความหมายของคำว่ารักชาติแตกต่างกันตรงไหน ขณะที่อีกฝ่ายก็บอกว่าชาวบ้านนั้นไม่รักชาติ จนถึงขั้นที่มี ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง เสนอให้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน เป็นชื่อว่า 'หมู่บ้านแผ่นดินอุดมสมบูรณ์' เพราะ ส.ว.ท่านนั้นบอกว่า ชื่อภูมิซรอลเป็นชื่อเขมร และให้เปลี่ยนเป็นภาษาไทย แต่ ส.ว. คนนั้นคงไม่ทราบว่า 'ภูมิซรอล' ตามความหมายของชาวบ้านคือ ความดี ความงาม ความรัก คือถ้าจะเปลี่ยนคงต้องเปลี่ยนชื่อกันทั้งจังหวัดศรีษะเกษเพราะเป็นชื่อที่มาจากภาษาเขมร ชาวบ้านก็บอกว่าไม่เปลี่ยน เพราะความหมายของภูมิซรอลนั้นดีมาก ก่อนหน้านั้นการทำมาหากินท่ามกลางบรรยากาศความพร่ามัวของเขตแดน แม้จะมีอยู่ แต่การทำมาหากินของชาวบ้านก็ยังคงดำเนินไปตามปกติ ชีวิตที่ทำการเกษตร ค้าขายกับชาวกัมพูชา ด้านสังคมลักษณะความสัมพันธ์ก็เหมือนญาติ พี่น้อง กันตามปกติ การแต่งงานข้ามไปมาระหว่างชาวบ้าน 2 ฝั่งประเทศ ก็ถือเป็นเรื่องปกติมาก เขตแดนในความรู้สึกของชาวบ้านแทบจะไม่มี จากการพูดคุยจึงพบว่าในอดีตชาวบ้านได้รับผลกระทบจากสงครามมาโดย ชาวบ้านอธิบายว่า ความรักชาติของชาวบ้านคือการปฏิบัติตามนโยบายรัฐ ปัญหาคือความรักชาติของชาวบ้านกับ 'กลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ' นั้นถือคนละชุดความหมาย ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่เจตนารมณ์ของ 'กลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ' จะได้รับการต่อต้านจากชาวบ้านภูมิซรอล เพราะการกระทำที่ยั่วยุให้เกิดการปะทะกันในพื้นที่นั้นส่งผลต่อวิถีชีวิตอันปกติสุขของชาวบ้าน ปรากฏการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวยืดเยื้อกว่า 3 ปี ถามว่ากระแสความรักชาติที่อยู่นอกพื้นที่ภูมิซรอลนั้นส่งผลแค่ไหน ก็ต้องบอกว่ารุนแรงมาก ทั้งในมิติที่เห็นว่าชาวบ้านภูมิซรอลกลายเป็นผู้ไม่รักชาติ และชาวบ้านภูมิซรอลเป็นพวกนิยมก่อความรุนแรง จากผู้ที่ยึดกุมข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ผลกระทบต่อคนภูมิซรอลมีอย่างมาก นับตั้งแต่ความตรึงเครียดได้เกิดตลอดหลัง พ.ศ.2551 เช่นการเดินทางไปทำไร่ ทำนา ชาวบ้านทั้ง 2 ฝั่งต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ และต้องกลับเข้ามาในหมู่บ้านก่อนเวลา 16.00 น. การดำเนินชีวิตเช่นนี้สวนทางกับวิถีการผลิตของผู้อยู่ในภาคการเกษตรแบบชาวบ้าน การลงไร่ ลงนา ในช่วงฤดูฝนถือเป็นช่วงสำคัญที่จำเป็นต้องไม่จำกัดเวลาการทำงาน นอกจากนี้ ช่วงเวลาประเพณี วันสารท หรืองานบุญก็ต้องเปลี่ยนไปตามคำสั่งรัฐทั้งหมดอีกด้วย ซึ่งก่อนหน้าความขัดแย้ง การเดินทางไปทำบุญร่วมกันของคนทั้ง 2 ประเทศที่วัดชายแดนเขาพระวิหารก็เกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว พิธีกรรมที่จำเป็นต่อชาวบ้านที่อยู่ในวิถีการผลิตแบบเกษตรกรรมก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ส่วนผลกระทบในปี 2554 นั้น ชาวบ้านมีคาถาท่องประจำใจคือเตรียมของให้พร้อมและวิ่งให้เร็ว หลังจากชาวบ้านขัดแย้งกับกลุ่มผู้นิยามว่าเป็นคนไทยรักชาติใน พ.ศ.2551 และ 2552 ผ่านไปไม่นานนักในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ได้เกิดเหตุการณ์ ที่ชาวบ้านเรียกว่าบ้านแตกครั้งที่ 2 ซึ่งหมายถึงการยิงถล่มกันอย่างหนักระหว่างทหารไทยและทหารกัมพูชา หมู่บ้านโดนลูกปืนใหญ่และระเบิด ชาวบ้านต้องอพยพหนีตายบ้านแตกสาแหรกขาด โดยชาวบ้านนิยามความกลัวของพวกเขาว่า 'กลัวยางตายออก' นิยามความรักชาติของชาวบ้านภูมิซรอลเป็นอย่างไร ?ชาวบ้านเขาถือว่าเป็นคนรักชาติเช่นเดียวกัน มีการทำงานตอบแทนเพื่อสนองนโยบายรัฐมาตลอดทุกยุคสมัย อย่างเป็นอาสาสมัครด้านความมั่นคงของหมู่บ้าน ที่นี่มีเยอะมาก เยอะจนไม่สามารถจำชื่อได้ว่ามีอะไรบ้าง คำถามสำคัญของการศึกษาคือ ชาวบ้านภูมิซรอลรู้สึกอย่างไรเมื่อถูกให้นิยามว่า 'เป็นคนไทยไม่รักชาติ เป็นคนไทยหัวใจเขมร' คำถามต่อมาคือชาวบ้านภูมิซรอลอธิบาย ตลอดจนให้ความหมายความรักชาติของพวกเขาอย่างไร และพวกเขาแสดงความรักชาติอย่างไร จากการสนทนากลุ่มและสัมภาษณ์รายบุคคล ชาวบ้านภูมิซรอลเป็นจำนวน 97 คน สรุปได้ว่า ชุมชนภูมิซรอลได้เริ่มก่อตัวจากชุมชนที่มีวิถีการผลิตแบบยังชีพหรือสังคมประเพณี (traditional society) ขยายตัวไปสู่ชุมชนที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับรัฐ ซึ่งมีบริบททางสังคมแตกต่างกันออกไปในแต่ละยุคสมัย กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายกัมพูชาเข้ามาก่อตั้งชุมชนแห่งนี้ประมาณ พ.ศ.2484 และจดทะเบียนเป็นหมู่บ้านตามกฎหมายในปี พ.ศ.2492 แม้ว่าก่อนที่ชุมชนจะเป็นหมู่บ้านภายใต้การควบคุมของรัฐ ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายกัมพูชา แต่เมื่อชุมชนมีการขยายตัวรวมกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทยอีสานและกลุ่มข้าราชการที่ย้ายเข้ามาในพื้นที่ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงเป็นปัจจัยหลัก ทำให้ชุมชนได้มีความเป็นพหุวัฒนธรรมค่อนข้างชัดเจน โดยภาพรวมแล้วทุกคนบอกว่า ความรักชาติคือการทำตามนโยบายรัฐ 'เจ้านายบอกว่ารักชาติต้องทำอย่างไรชาวบ้านก็ทำตามอย่างนั้น' ชาวบ้านได้เล่าถึงประสบการณ์คนบ้านภูมิซรอลกับสงครามและความรักชาติว่า บ้านภูมิซรอล จำนวนมากต้องรับใช้ชาติทำงานที่มีความเสี่ยงให้กับรัฐ เช่น เป็นสายลับให้เจ้านายไปสืบข่าวเมืองลุ่ม[1] เป็นทหารรับจ้างไปรบในสงครามเวียดนาม เป็นทหารพราน เป็นทหารรับจ้างกองทัพเฮงสัมริน เป็นนักเก็บกู้ระเบิด[2] คนที่ไม่ได้อยู่ในสถานะดังกล่าวก็เป็นอาสาสมัครไทยอาสาป้องกันชาติมาตั้งประมาณทศวรรษ 2500 ซึ่งเรียกว่าอาสาสมัครไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.) เพิ่งเปลี่ยนมาเรียกว่า ชุดอาสาสมัครป้องกันหมู่บ้าน (ชรบ.) เมื่อไม่นานมานี้ มีคนพิการ ขาขาด แขนขาด ตาบอด และเสียชีวิตจากการทำงานที่เสี่ยงที่กล่าวมานี้เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านบอกว่าเจ้านายอยากให้เป็นแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านไทยอาสาป้องกันชาติหรือ หมู่บ้านแห่งเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ชาวบ้านล้วนทำตาม การเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว สร้างรายได้นำเงินเข้าประเทศมากมาย แล้วกลุ่มผู้นิยามตนเองว่ารักชาติมาทำให้ทั้งชาวบ้านและรัฐสูญเสียรายได้ส่วนนี้ แล้วใครกันแน่ที่ไม่รักชาติ นี่คือการตอบโต้และคำอธิบายความรักชาติของชาวบ้าน นอกจากนี้ชาวบ้านยังบอกว่า คนบ้านภูมิซรอลทุกคนรักชาติ ถ้าไม่รักชาติก็คงหนีไปอยู่ที่อื่นหมดแล้ว ทุกคนเป็นคนไทย มีสัญชาติไทย ในกรณีคนที่ยังไม่มีสถานะบุคคลก็มีการพิสูจน์สัญชาติกันทั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าโรงเรียนเพื่อให้อ่านออกเขียนภาษาไทยได้ รวมทั้งเป็นหมู่บ้านอาสาสาสมัครปกป้องชายแดนมาทุกยุคทุกสมัย คำย่อว่าด้วยชื่ออาสาสมัครมีมากจนแทบจำไม่ได้มานานแล้ว ชาวบ้านทำทุกอย่างตามที่เจ้านายบอกว่าคนไทยที่รักชาติจำเป็นต้องทำเพื่อความมั่นคงของชาติ เป็นเหตุผลเพียงพอในการอธิบายความรักชาติหรือไม่ เป็นคำถามย้อนกลับของชาวบ้าน อัตลักษณ์ชุมชนภูมิซรอลเป็นอย่างไร ?บ้านภูมิซรอลมีอายุการก่อตั้งหมู่บ้านประมาณ พ.ศ. 2484 หรือประมาณ 70 ปีที่ผ่านมา หลังจากนั้นมีการจดทะเบียนเป็นหมู่บ้านในการควบคุมของรัฐในปี 2492 คนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งรกรากก็จะเรียกตัวเองว่าเป็น 'คนเมืองลุ่ม' โดยมีความหมายว่า เป็นคนจากข้ามแดนจากมาจากฝั่งประเทศกัมพูชา ที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ลุ่มหรือต่ำกว่าฝั่งประเทศไทย คำว่าลุ่มไม่ได้มีนัยการเหยียดหยามทางชาติพันธุ์แต่ประการใด เมื่อย่างเข้าปี พ.ศ.2492 บ้านภูมิซรอลจึงได้เข้าไปจดทะเบียนหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ ช่วงนี้เองมีหน่วยงานด้านความมั่นคงคือตำรวจตระเวนชายแดนเข้าไปทำงาน ร่วมกับ 'นายฝรั่ง' นายฝรั่งในความหมายของชาวบ้านนี้มีความเป็นไปได้ว่าคือทหารจากประเทศฝรั่งเศสและทหารจากหน่วยสืบราชการลับประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐไทยได้ประกอบสร้างให้หมู่บ้านในแถบนั้นเป็นหมู่บ้านกันชนมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น นิยามให้เป็นหมู่บ้านกันชนที่ต้องรักชาติ คนรุ่นนั้นหลายคนยังมีชีวิตอยู่ จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านที่เปิดเผยตัวตน 97 คน และไม่เปิดเผยตัวตนจำนวนหนึ่ง ผลการศึกษานั้นแบ่งอัตลักษณ์ชุมชนออกเป็น 4 ยุค หรืออาจกล่าวได้ว่า ชุมชนและรัฐได้ประกอบสร้างอัตลักษณ์ชุมชนหลายความหมายคือ 1.ชุมชนหมู่บ้านวิถีสังคมประเพณี (traditional society) (พ.ศ.2484-2492) เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านไทยและชาวบ้านกัมพูชา 2.ยุคชุมชนหมู่บ้านกันชนที่ต้องรักชาติ (พ.ศ.2492-2532) เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐไทย ผลกระทบคือชาวบ้านต้องเปลี่ยนจากวิถีชีวิตที่สงบสุขไปทำงานที่มีความเสี่ยง เช่น เป็นสายลับ เป็นทหารรับจ้างในสงครามเวียดนาม เป็นทหารรับจ้างกองทัพเฮงสัมริน เป็นทหารเกณฑ์ เป็นทหารพราน เป็นอาสาสมัครไทยอาสาป้องกันชาติ เป็นนักเก็บกู้ทุ่นระเบิด บางคนโดนจับไปเป็นเชลยสงคราม บางคนพิการ ขาขาด ตาบอดและเสียชีวิตจากทุ่นระเบิด 3.ยุคชุมชนหมู่บ้านแห่งเศรษฐกิจการท่องเที่ยว (พ.ศ.2532-2551) เป็นอัตลักษณ์ที่รัฐประกอบสร้างขึ้นในยุคเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ชาวชุมชนทำมาหากินตามแนวชายแดนภายใต้การเฟื่องฟูของธุรกิจท่องเที่ยว 4.ยุคชุมชนหมู่บ้านคนไทยไม่รักชาติ เป็นคนไทยหัวใจเขมร (พ.ศ.2551-2555) เป็นยุคความร้าวฉานระหว่างรัฐไทยและรัฐกัมพูชา กรณีประเทศกัมพูชาเสนอปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก หรืออาจกล่าวได้ว่า ยุคนี้ชุมชนท้องถิ่นถูกขับให้หลุดจากชุมชนจินตกรรมการเมืองของรัฐไทย ขณะเดียวกันชุมชนพยายามต่อสู้ด้วยการนำเสนออัตลักษณ์ตัวเองว่าเป็น 'คนไทยรักชาติ' ซึ่งผลกระทบที่ชุมชนได้รับในยุคนี้มีความรุนแรงมากที่สุด โดยเป็นผลพวงมาจากนโยบายความมั่นคงของรัฐล้วนๆ [1] เมืองลุ่มในคำอธิบายของชาวบ้านคือประเทศกัมพูชา ที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มหรือตั้งอยู่ต่ำกว่าบริเวณบ้านภูมิซรอล [2] การเก็บกู้ระเบิดในบ้านภูมิซรอล มีทั้งนักเก็บกู้ระเบิดที่ผ่านการฝึกหัด แบะนักการเก็บกู้ระเบิดไปขายให้กรอ.มน. ลูกละ 25 บาทโดยไม่ต้องผ่านการฝึกหัด ชาวบ้านเล่าว่าทุ่นระเบิดมีจำนวนมาก บางเดือนเก็บมาขายให้กรอ.มน.จำนวนมากถึง 200,000.-บาท/เดือน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
อภิสิทธิ์ปราศรัยที่ศรีสะเกษ เจอ นปช. ฮือต้าน Posted: 20 Apr 2013 09:22 AM PDT อภิสิทธิ์ลั่นจะไม่ยอมให้สังคมกลัวอันธพาล-อำนาจเถื่อน มากกว่ากฎหมาย-ศาล ระหว่างเดินสายปราศรัยที่ จ.ศรีสะเกษ ขณะที่ นปช. จัดชุมนุมประชันใกล้เวที ด้านที่ 'ข่าวสด' รายงานเหตุกระทบกระทั่ง เมื่อชายเสื้อแดงเดินไปตะโกนถามอภิสิทธิ์ว่าสั่งฆ่าประชาชนทำไม จนทำให้ผู้สนับสนุนอภิสิทธิ์ฮือเข้ากลุ้มรุม ร้อนถึงตำรวจต้องมาจับแยก ที่มา: เฟซบุคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ วันนี้ (20 เม.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เดินทางไปที่โรงเรียนเทศบาล 7 ต.โพธิ์ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ เพื่อปราศรัยในรายการ "เดินหน้าผ่าความจริง-ความจริงไม่มีวันตาย" มีผู้สนบัสนุนหลายร้อยคนมาฟังการปราศรัย โดยนอกจากนายอภิสิทธิ์แล้ว ยังมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ฯลฯ ร่วมปราศรัย โดยตอนหนึ่งนายอภิสิทธิ์ ปราศรัยว่า "เราจะไม่ยอมให้คนทำให้สังคมนี้กลัวอันธพาลอำนาจเถื่อน มากกว่ากลัวกฎหมาย กลัวศาล เราจะเดินหน้าบอกว่าบ้านเมืองเรา แผ่นดินเรา ลูกหลานเรา จะเดินไปข้างหน้า พัฒนาตนเอง พัฒนาสังคมได้ ทุกคนต้องอยู่กับความจริง และทุกคนจะต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตนเอง ไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน พรรคการเมืองใด" อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนเสื้อแดงใน จ.ศรีษะเกษ ได้เคลื่อนขบวนมาประท้วงการปราศรัยของนายอภิสิทธิ์ด้วย โดยตั้งรถติดเครื่องขยายเสียงบริเวณริมถนนหน้าโรงเรียนเทศบาล 7 และปราศรัยประชันกับเวทีของนายอภิสิทธิ์ ระหว่างนั้น ข่าวสด รายงานว่า นายสุวรรณ จีบสุวรรณ อายุ 60 ปี ชาว จ.ศรีสะเกษ สมาชิกกลุ่ม นปช.ศรีสะเกษ สวมเสื้อสีครีมทับเสื้อ นปช.สีแดง แล้วเดินเข้าไปหน้าเวทีปราศรัย พร้อมทั้งร้องตะโกนถามนายอภิสิทธิ์ว่า สั่งฆ่าประชาชนทำไม ทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ที่นั่งอยู่บริเวณด้านหน้าเวทีไม่พอใจ พากันร้องตะโกนด่า และกรูเข้าไปรุมทำร้ายตบตีนายสุวรรณนานประมาณ 1 นาที ตำรวจต้องรีบเข้ามาระงับเหตุนำตัวนายสุวรรณออกไปนอกบริเวณ พร้อมทั้งปิดกั้นรั้วประตูโรงเรียนไว้ ทั้งนี้หลังนายอภิสิทธิ์ปราศรัยเสร็จ ได้ลงจากเวทีและเดินทางโดยรถยนต์มุ่งหน้าไปทาง จ.อุบลราชธานี โดยให้รถตำรวจทางหลวงคุ้มกัน ส่วนแกนนำพรรคยังปราศรัยกันต่อ ขณะที่กลุ่ม นปช. ได้สลายตัวหลังทราบว่านายอภิสิทธิ์ออกจากพื้นที่ปราศรัยแล้ว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นัก ปวศ. สหรัฐฯ เตือนอย่าด่วนสรุปผู้ต้องสงสัยเป็นกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ Posted: 20 Apr 2013 08:04 AM PDT ชาร์ลส์ คิง นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ เตือนไม่ควรด่วนสรุปกรณีการพยายามเชื่อมโยงผู้ต้องสงสัยวางระเบิดการวิ่งมาราธอนในบอสตันกับกลุ่มก่อการร้ายชาวเชชเนีย แต่ควรพิจารณาผู้ต้องสงสัยในฐานะผู้ก่อการร้ายที่โตมาในสหรัฐฯ มากกว่า จากที่ทางการรัฐบอสตันได้ระบุตัวผู้ต้องสงสัยเหตุระเบิดในการวิ่งมาราธอนเมื่อวันที่ 15 เม.ย. ว่าเป็นสองพี่น้องซานาเยฟ และมีการยิงต่อสู้ปะทะกันกับตำรวจจนเป็นเหตุให้ทาเมอร์ลัน ซานาเยฟ ผู้พี่ถูกยิงเสียชีวิต โดยมีการโยงว่าผู้ต้องสงสัยทั้งสองรายเป็นผู้ก่อการร้ายที่มีพื้นเพมาจากเชชเนีย แต่ขณะเดียวกัน ชาร์ลส์ คิง นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ก็ได้เขียนบทความแสดงความเห็นในเว็บไซต์ The Daily Beast เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมาว่า ยังไม่ควรด่วนสรุปว่าพี่น้องซานาเยฟมีส่วนเกี่ยวข้องกับกับขบวนการหรือประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของเชชเนีย หลังจากที่มีการเปิดเผยว่าสองพี่น้อง ทาเมอร์ลัน และจอคคาร์ ซานาเยฟ มีพื้นเพมาจากรัฐเชชเนีย ทำให้นักวิจารณ์หลายคนเริ่มค้นหาต้นตอหรือเบาะแสในทางประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์โจมตีในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาร์ลส์ กล่าวว่ามุมมองดังกล่าวเป็นเรื่องหลงผิด อย่างน้อยก็ในขั้นตอนการสืบสวนที่ยังคงไม่มีข้อสรุปและยังคงมีการติดตามตัวผู้ต้องสงสัยอยู่ ชาร์ลส์แสดงความเห็นว่ามุมมองเรื่องพี่น้องซานาเยฟในแง่ของชาวเชชเนีย ยังไม่เด่นชัดเท่าความเป็นอเมริกันในตัวของทั้งสองคน "พี่น้องซานาเยฟ ดูเหมือนเป็นผู้ก่อการร้ายที่เติบโตมาในอเมริกา เป็นกลุ่มอนุรักษ์สัตว์อย่างสุดโต่ง*, เชื่อว่าคนผิวขาวดีที่สุด, เป็นนักอนาธิปัตย์ เป็นนักอุดมคตินิยมผู้โดดเดี่ยว มากกว่าจะเป็นนักรบศาสนาที่ต่อสู้ในดินแดนที่ไกลออกไปและพื้นที่พรมแดนต่างประเทศ" ชาร์ลส์กล่าว ในรายงานข่าวของเคทลิน ดิกสัน ของ The Daily Beast เปิดเผยว่า ครอบครัวซานาเยฟอพยพมาจากเชชเนียในช่วงที่มีความขัดแย้งต้นยุค 1990s พวกเขาอยู่ที่คาซัคสถานก่อนที่จะอพยพมาอยู่สหรัฐฯ ในปี 2002 หรือ 2003 สำนักข่าว NBC เปิดเผยว่าทาเมอร์ลัน ซานาเยฟ กลายเป็นผู้อาศัยถาวรตามกฏหมายในปี 2007 เขาเป็นนักมวยผู้ที่เคยให้สัมภาษณ์ว่าหากเขาชนะการชกมากพอ เขาจะได้ร่วมทีมชกมวยโอลิมปิกของสหรัฐฯ และทำให้เขาเป็นพลเมืองสหรัฐฯ ได้โดยการแปลงสัญชาติ รายงานข่าวของเคทลิน ระบุอีกว่า ทาเมอร์ลันเป็นชาวมุสลิมที่ไม่ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ และเคยกล่าวว่าเขาไม่มีเพื่อนชาวอเมริกัน เพราะเขาไม่เคยเข้าใจชาวอเมริกันเลย อย่างไรก็ตามชาร์ลส์กล่าวว่ายังไม่มีหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ว่าพี่น้องซานาเยฟเป็นสมาชิกของกลุ่มหรือเครือข่ายก่อการร้ายของเชชเนียหรือพื้นที่คอเคซัสแถบตอนเหนือของรัสเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่เทือกเขาที่มักจะมีปัญหาด้านความมั่นคง ชาร์ลส์ให้ข้อมูลว่า รัสเซียมีการสู้รบในสงครามสองครั้งในช่วงปี 1990s และช่วงต้น 2000s เพื่อควบคุมลัทธิแบ่งแยกดินแดนของรัฐเชชเนีย และผู้ก่อการร้ายในแถบพื้นที่นี้เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายอย่างโหดเหี้ยมจากกรณีวางระเบิดรถไฟฟ้าใต้ดินจนทำให้เด็กนักเรียนหลายร้อยคนเสียชีวิต แต่การที่เชื่อมโยงซานาเยฟกับอดีตในขั้นตอนที่การสืบสวนกำลังดำเนินอยู่นี้เหมือนการพยายามโยงเรื่องจริงสองเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกัน อีกประการหนึ่งที่ชาร์ลส์ชี้ให้เห็นคือ ยังไม่แน่ว่าพี่น้องทั้งสองคนนี้จะมาจากเชชเนียจริง ชาร์ลส์กล่าวว่าเมื่อพิจารณาจากช่วงเวลาที่พี่น้องสองคนนี้มีชีวิตอยู่ เขาคาดว่าทั้งคู่น่าจะมาจากรัฐดาเกสถานมากกว่า และชนชาติเชชเชนจากดาเกสถานกับชนชาติเชชเชนจากเชชเนียก็เป็นกลุ่มชนที่ต่างกันมาก แม้จะมีบางครอบครัวที่เชื่อมโยงกันแต่พวกเขาก็เป็นกลุ่มชนที่ระแวงกัน มีวัฒนธรรมค่อนข้างต่างกัน เพราะสงครามเชชเนียครั้งล่าสุดที่เพิ่งจบไปในปี 2009 รัสเซียทำทุกอย่างเพื่อทำให้สองชุมชนนี้แตกแยกกัน ชาร์ลส์กล่าวอีกว่า พี่น้องซานาเยฟถูกระบุว่าเป็นพลเมืองสหรัฐฯ โดยการแปลงสัญชาติ คำถามที่ควรจะถามจริงๆ คืออะไรที่ทำให้พวกเขากลายเป็นคนที่แนวคิดถอนรากถอนโคน อะไรที่ทำให้พวกเขาก่อเหตุในบอสตัน และพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสมคบคิดในสหรัฐฯ หรือในต่างประเทศหรือไม่ "หรืออีกนัยหนึ่งคือพวกเราควรเน้นมองพี่น้องซานาเยฟในฐานะผู้ก่อการร้ายที่เติบโตในสหรัฐฯ ไม่ใช่มองที่เชื้อชาติหรือพื้นเพด้านภูมิภาคของครอบครัวพวกเขา" ชาร์ลส์กล่าว เขาชี้ให้เห็นข้อสนับสนุนในเรื่องนี้จากบทสัมภาษณ์ครอบครัวของพี่น้องซานาเยฟที่ดาเกสถาน ซึ่งเป็นเรื่องน่าตกใจว่าเหตุใดคนสองคนที่มาเรียนในอเมริกาจึงกลายเป็นคนที่ก่อเหตุรุนแรงเช่นนี้ได้ และการที่จอคคาร์ ซานาเยฟ ผู้เป็นน้องซึ่งเป็นนักมวยปล้ำชิงแชมป์และนักศึกษาที่ประสบความสำเร็จจากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ เป็นคนแบบที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับกลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนาในต่างประเทศ ชาร์ลส์กล่าวว่าการมองคนที่มีพื้นเพครอบครัวในแถบคอเคซัสว่าเป็นพวกขบถและเป็นพวกมีแนวโน้มสร้างความขัดแย้ง เป็นแนวคิดฝังหัวมาจากวัฒนธรรมรัสเซีย รวมถึงการปฏิบัติต่อคนเหล่านี้ในแง่อาชญากรรมและการเชื่อว่าพวกเขาเป็นผู้ก่อการร้าย ทางการรัสเซียเองก็มักจะมี 'ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย' ที่โหดเหี้ยม ในเมืองและหมู่บ้าน ของรัฐในพื้นที่คอเคซัสอย่าง ดาเกสถาน, คาบาร์ดีโน-บัลคาเรีย, ออสเซเตียเหนือ "ความจริงที่น่าเศร้าคือ ภาพที่เห็นในบอสตันช่วงเช้าวันนี้ คือการที่หน่วยสวาทติดอาวุธเต็มที่ออกไปยิงสู้กับผู้ต้องสงสัยบนท้องถนน ซึ่งตัวผู้ต้องสงสัยน่าจะสวมชุดระเบิดหรือมีเครื่องมือระเบิดพลีชีพอื่นๆ อยู่ ภาพเช่นนี้เป็นภาพทั่วไปในเขตทางเหนือของคอเคซัส" ชาร์ลส์กล่าว "แต่ที่ต่างไปจากในรัสเซียคือ ปฏิบัติการณ์เหล่านี้เป็นมากกว่าปฏิบัติการสังหาร ในรัสเซียนั้นพวกเขาจะตั้งเป้ากับผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายก็ต่อเมื่อมีหลักฐานแน่นหนาเท่านั้น" "และแน่นอนว่ามันไม่ใช่เลยในกรณีของบอสตัน" ชาร์ลส์กล่าว "แต่การพยายามคาดเดาโดยอาศัยพื้นเพเชื้อชาติของสองพี่น้องผู้นี้ ก็เป็นการตกหลุมพรางการเหมารวมที่เลวร้ายที่สุด ที่เคยสร้างปัญหายาวนานให้กับพยายามนำสันติภาพ เสถียรภาพ และการควบคุมจัดการที่ดีมาสู่พื้นที่พรมแดนรัสเซียใต้" ชาร์ลส์กล่าว
Don't Judge the Chechens Yet, The Daily Beast, 19-04-2013 Boston Bombing Suspects: What We Know About the Tsarnaev Brothers, The Daily Beast, 19-04-2013
หมายเหตุ* กลุ่มอนุรักษ์สัตว์แบบสุดโต่ง เป็นกลุ่มพิทักษ์สิทธิสัตว์ที่ใช้ความรุนแรง โดย 5 ปีมานี้มีข้อสังเกตว่าเริ่มหันมาใช้วิธีการเหมือนนักก่อการร้ายโดยทำอันตรายบุคคลหรือทรัพย์สิน เช่นการปาระเบิดใส่รถยนต์ หรือบ้านเรือนของคนที่เป็นเป้าหมายของการต่อต้าน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
แจ้งเอาผิดแดงเชียงใหม่ ดูหมิ่นหลังบุกเวทีปราศรัยหาเสียงประชาธิปัตย์ Posted: 20 Apr 2013 05:57 AM PDT "มัลลิกา" จี้เอาผิด ดีเจอ้อม-แดงเชียงใหม่ 51 ข้อหาดูหมิ่นหลังบุกเวทีปราศรัยใหญ่ ปชป. พร้อมเผยคลิปหลักฐาน ด้านคนเสื้อแดงศรีสะเกษปิดถนนทางเข้ามหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ต้าน "อภิสิทธิ์" 20 เม.ย. 56 - เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่าที่สถานีตำรวจภูธร อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ พรรคประชาธิปัตย์โดยนายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก และน.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ นางเดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ เป็นตัวแทนพรรคเข้าแจ้งความดำเนินคดีหมิ่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 393 กับนางกัญญาภักดิ์ มณีจักร หรือดีเจอ้อม แกนนำเสื้อแดงรักเชียงใหม่ 51 พร้อมพวกรวม 4 คน ทั้งนี้ดีเจอ้อมพร้อมพวกได้เข้มมานั่งฟังการปราศรัยของพรรค ที่ตลาดนัดวัวชน อ.ดอยสะเก็ด และได้ตะโกนขับไล่นายอภิสิทธิ์ ว่า "ไอ้ฆาตรกร" 2 ครั้ง น.ส.มัลลิกา กล่าวว่า ร้อยเวร สภ.ดอยสะเก็ด ได้รับแจ้งดำเนินคดีต่อนางกัญญาภักดิ์ โดยได้สอบปากคำพยานเห็นเหตุการณ์ โดย น.ส.มัลลิกาได้นำคลิปหลักฐานวันเกิดเหตุมาแสดงด้วย "การดูหมิ่นซึ่งหน้าเป็นอาญาแผ่นดิน ไม่ว่าใครกระทำขึ้นเมื่อใดก็ต้องรู้ว่านั่นเป็นความผิด เราจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุดและนี่คือสิ่งที่ต้องดำเนินการ ประกอบกับเรื่องนี้พรรคและผู้สมัครได้รับความเสียหายถูกเกลียดชังจากการดูหมิ่นใส่ร้ายนี้ในขณะเลือกตั้งด้วย" นางสาวมัลลิกากล่าว คนเสื้อแดงปิดถนนทางเข้ามหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ต้านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ด้านเว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าวันนี้ (20 เม.ย.) เมื่อเวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณสี่แยกปากทางเข้ามหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ต.โพธิ์ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ได้มีกลุ่มคนเสื้อแดงในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ จำนวนประมาณ 500 คน นำโดย นายพรชัย มณีนิล ประธานกลุ่มลำดวนแดงเพื่อประชาธิปไตย จ.ศรีสะเกษ เดินทางมารวมตัวกันเพื่อเตรียมสกัดกั้นคณะของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะเดินทางมาเปิดเวทีปราศรัยในหัวข้อเรื่อง เดินหน้าผ่าความจริง ความจริงไม่มีวันตาย ที่จะจัดขึ้นในวันนี้ (20 เม.ย.) เวลา 16.30 น. ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ โดยมีการนำโลงศพ ยางรถยนต์ พร้อมการขึ้นป้ายข้อความด่าทอ นายอภิสิทธิ์ และรถติดตั้งเครื่องขยายเสียง โดยมีการสลับเปลี่ยนหมุนเวียนพูดปราศรัยของแกนนำคนเสื้อแดงเพื่อกล่าวโจมตีการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งนี้ กลุ่มคนเสื้อแดงได้ปิดถนนเส้นทางเข้ามหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษทุกเส้นทางเข้าออก โดยมีกลุ่มการ์ดคนเสื้อแดง ได้นำรถกระบะมาจอดขวางปิดเส้นทางไว้ ทำให้ นักศึกษา และคณะครูอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ที่มีตารางการเรียนการสอน ในวันนี้ไม่สามารถเดินทางเข้าไปในพื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษได้ นายพรชัย มณีนิล ประธานกลุ่มลำดวนแดงเพื่อประชาธิปไตย จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า หลังจากที่กลุ่มเสื้อแดงทราบข่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และคณะ จะเดินทางมาพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ เพื่อเปิดเวทีปราศรัยที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ สร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มคนเสื้อแดงในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ เป็นอย่างมาก จึงได้พากันเดินทางมารวมตัวเพื่อแสดงจุดยืนทางประชาธิปไตย และขับไล่ นายอภิสิทธิ์ ให้ออกจากพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ โดยจะทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้สามารถขึ้นเวทีปราศรัย ในขณะนี้ตนและกลุ่มคนเสื้อแดง จ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วยกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยที่อยู่ข้างความถูกต้อง ได้ทำการปิดถนนทุกจุดที่สามารถเดินทางเข้า-ออก มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ เพื่อไม่ให้กลุ่มของนายอภิสิทธิ์ เข้ามาทำการปราศรัยได้ แต่ต้องเป็นไปด้วยการปราศจากอาวุธ และการใช้ความรุนแรง ซึ่งในช่วงเวลาประมาณ 13.00 น. มีกลุ่มคนเสื้อแดงจากพื้นที่จังหวัดต่างๆ ในเขตภาคอีสานอีกประมาณ 1,000 คน เดินทางมาร่วมชุมนุมในครั้งนี้ด้วย นายพรชัย กล่าวต่อไปว่า ตนขอถามนายอภิสิทธิ์ว่า ยังจะกล้ามาพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ อีกหรือ ทั้งๆ ที่รู้ว่า จ.ศรีสะเกษ เป็นพื้นที่สีแดง ในอดีตที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ สร้างความสูญเสียให้แก่กลุ่มคนเสื้อแดง และความบอบช้ำให้แก่ประเทศชาติมากเท่าใด ทำไมกล้าเดินทางมาเปิดเวทีผ่าความจริง ทั้งๆ ที่ความจริงประชาชนทั้งประเทศเขารู้กันหมดแล้วว่าเป็นอย่างไร จะมาสร้างเรื่องโกหกขึ้นเพื่อให้ได้ประโยชน์อะไรขึ้น การมาชุมนุมในวันนี้แสดงให้เห็นแล้วว่ากลุ่มคนเสื้อแดง และชาว จ.ศรีสะเกษ ไม่ต้องการให้นายอภิสิทธิ์ มาเหยียบพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ทำการปิดถนน ปรากฏว่า มีรถยนต์ขยายเสียงซึ่งเป็นรถของกลุ่มพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 2 คัน ที่พยายามจะเดินทางเข้าไปในมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มผู้แดงบางส่วน โดยมีการเข้าไปเอามือทุบกระจก และตะโกนด่าทอ เพื่อให้รถยนต์ขยายเสียงทั้ง 2 คัน ออกไปจากพื้นที่ตรงนี้ แต่โชคดีที่สุดท้ายไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ยางรถยนต์ และโลงศพที่กลุ่มคนเสื้อแดงนำมาตั้งที่บริเวณ 4 แยก ทางเข้ามหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ในขณะนี้ยังไม่มีการเผาแต่อย่างใด แต่จากการสอบถามผู้ชุมนุมบางส่วน ทำให้ทราบว่า โลงศพนี้จะนำมาเผาเพื่อต้อนรับ นายอภิสิทธิ์ ในช่วงที่เดินทางมาถึงพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ เพื่อแสดงออกถึงจุดยืนในการขับไล่ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ภาคประชาชนจี้รัฐยุติทำลายทรัพยากร ด้วยแผนการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท Posted: 20 Apr 2013 05:43 AM PDT กลุ่มภาคประชาชนภาคเหนือ ออกแถลงการณ์ร่วม "ยุติการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยแผนการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท" ระบุการดำเนินโครงการขัด รธน.เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน ชี้หากไม่ทำตามข้อเรียกร้อง จะไม่ให้ความร่วมมือในการดำเนินการของภาครัฐ 20 เม.ย. 56 - กลุ่มภาคประชาชนภาคเหนือ ที่ดำเนินกิจกรรมเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากร ได้ออกออกแถลงการณ์ร่วม "ยุติการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยแผนการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท" โดยมีรายละเดียดดังต่อไปนี้ แถลงการณ์ร่วมภาคประชาชนภาคเหนือ "ยุติการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยแผนการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท" ตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้ทำแผนแม่บทเพื่อการบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ โดยใช้เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท และว่าจ้างบริษัทเอกชนโดยเฉพาะจากต่างประเทศมาออกแบบและจัดการน้ำของคนไทยทั้งประเทศ แผนงานดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของแม่น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ ดังรายชื่อที่แนบมาตอนท้ายเป็นอย่างมาก พวกเรามีความเห็นร่วมกันอย่างชัดเจนว่าแผนงานดังกล่าวสร้างขึ้นโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และจะสร้างผลกระทบอย่างมากต่อชาวบ้าน พวกเราขอเรียกร้องให้มีการยุติโครงการที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและชุมชนในแผนโครงการงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาทดังกล่าว พวกเราไม่เห็นด้วยในหลายเรื่อง ดังนี้ ประการแรก การดำเนินโครงการของ กบอ.ผิดขั้นตอนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 การดำเนินงานตามโครงการของกบอ. มีความเร่งรีบ รวบรัดขั้นตอนไม่ได้ทำตามกระบวนการของการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และผลกระทบด้านสุขภาพ (EHIA) โดยละเลยขั้นตอนการวิเคราะห์โครงการ การจัดทำยุทธศาสตร์ การจัดทำแผนแม่บท การวิเคราะห์การลงทุน เป็นต้น ประการที่สอง ภายใต้แผนทั้ง 9 โมดูล ตามข้อเสนอและขอบเขตของงาน บางโครงการขาดรายละเอียดของโครงการ และไม่มีกรอบเวลาดำเนินงานที่ชัดเจน ประการที่สาม ความไม่ชัดเจนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ องค์กรใดหรือองค์กรเอกชนผู้รับจ้าง(บริษัท) จะเป็นองค์กรหลักรับผิดชอบภายใต้แผนทั้ง 9 โมดูล ตามข้อเสนอและขอบเขตของงาน ประการที่สี่ การละเลยกระบวนการมีส่วนร่วม และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบอย่างรอบด้าน รวมถึงการละเลยที่จะรับฟังเสียงของทุกฝ่ายถึงข้อกังวล ข้อห่วงใยตามหลักวิชาการ และสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น ประการที่ห้า ภายใต้แผนงานทั้ง 9 โมดูล บางโมดูลไม่มีความจำเป็นและเร่งรีบดำเนินโครงการ นอกจากนี้โครงการยังใช้งบประมาณที่สูง ไม่มีความคุ้มทุน และมีความซ้ำซ้อนของการใช้งบประมาณในหลายหน่วยงาน ซึ่งมีแผนงานอยู่แล้ว และเห็นควรใช้งบประมาณประจำปีที่มีอยู่แทน ประการที่หก ตามข้อเสนอและขอบเขตของงาน (TOR) ทั้ง 9 โมดูล ที่ได้มีการจ้างบริษัทจากต่างประเทศมาออกแบบก่อสร้างระบบบริหารการจัดการน้ำและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัย กบอ.ได้ปรับเปลี่ยนระบบการทำงานจากเดิมที่ให้หน่วยงานภาครัฐรับผิดชอบ มาเป็นให้บริษัทที่ได้รับสัมปทานเป็นฝ่ายจัดการเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจนถึงการออกแบบ และก่อสร้าง รวมไปถึงให้บริษัทรับผิดชอบการเวนคืนที่ดิน การหาพื้นที่อพยพ ซึ่งจะกระทบต่อชุมชนและวิถีชีวิตอย่างรุนแรงยากแก่การเยียวยา พวกเราขอย้ำอย่างชัดเจนว่า ขอให้รัฐบาลยุติโครงการที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและชุมชน โดยแผนการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท หากรัฐบาลไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังกล่าว เรามีมติร่วมกันอย่างชัดเจนว่า 1. จะทำหนังสือคัดค้านอย่างเป็นทางการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2. ไม่ให้ความร่วมมือในการดำเนินการของภาครัฐ 3. จะดำเนินการตามมาตรการอื่นๆ ตามมติของเครือข่ายต่อไป ภาคประชาชนภาคเหนือ 20 เมษายน 2556 ริมกว๊านพะเยา ลงชื่อ 1. กลุ่มคัดค้านเขื่อนโป่งอาง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ 2. กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ 3. กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการแม่ขาน ต.ออบขาน จ.เชียงใหม่ 4. กลุ่มรักบ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง 5. เครือข่ายลุ่มน้ำอิงตอนบน จ.พะเยา 6. เครือข่ายลุ่มน้ำอิงตอนปลาย จ.เชียงราย 7. คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ จ.แพร่ 8. เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
งาน "เปิดกบาลสานสร้าง สื่อสร้างสรรค์เมืองสุขภาวะ" แรงบันดาลใจในการออกแบบสร้างสรรค์สื่อ Posted: 20 Apr 2013 05:29 AM PDT สสย.จับมือ สสส.จัดงานร่วมมือร่วมใจ เปิดกบาลสานสร้าง สื่อสร้างสรรค์เมืองสุขภาวะ ขยายงานพื้นที่นี้...ดีจัง เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ขับเคลื่อน และจุดประการความคิด แรงบันดาลใจในการออกแบบสร้างสรรค์สื่อ รวมทั้งเสริมศักยภาพภาคีเครือข่าย ในการสื่อสารสาธารณะ ระดมพลังสังคมให้กับเครือข่าย
20 เม.ย. 56 - สถาบันสื่อสร้างสุขภาพเยาวชน (สสย.) ได้รับมอบหมายจาก สสส. ให้ดูแลยุทศาสตร์พื้นที่สุขภาวะ จัดงาน "เปิดกบาลสานสร้าง สื่อสร้างสรรค์เมืองสุขภาวะ" ระหว่างวันที่ 20 – 22 เม.ย. 56 ณ โรงแรมรอยัลเจมส์ลอดจ์ นครปฐม น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อสร้างสุขภาพเยาวชน กล่าวถึง ที่มาของการจัดให้มีพื้นที่สร้างสรรค์ว่าสสย. มองว่าการทำงานที่สำคัญที่จะพัฒนาเยาวชนได้ก็คือการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ ซึ่งเมื่อปี 2555 ได้จัดงานชุมชน 3 ดี (พื้นที่ดี สื่อดี ภูมิดี) โดยมองว่า การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ที่มีลักษณะหลากหลายและสอดคล้องกับบริบทของชุมชนจะส่งผลให้เกิดภูมิดี และสื่อดี "สสย. มีชุดโครงการที่ว่านี้ก็คือโครงการ พื้นที่นี้ดีจัง ซึ่งมีภาคีอยู่หลายพื้นที่ และผ่านการทำงานที่ยาวนานและมีบทเรียนหลากหลาย มีกลยุทธ์ที่สำคัญที่จะทำให้เกิดพื้นที่ที่ดี สื่อดี และภูมิดีได้ วันนี้มีพื้นที่ใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยทำงานพื้นที่สร้างสรรค์เข้ามาร่วมเรียนรู้ด้วย เรื่องพื้นที่สร้างสรรค์เป็นงานที่กำลังมีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก หลายพื้นที่กำลังเริ่มต้นทำงานเรื่องของเมืองสุขภาวะ งานนี้จะนำจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละพื้นที่มารวมกัน และในวันสุดท้ายจะมีการร่วมสรุปเป็นภาพใหญ่ที่มีพลัง มีความชัดเจน และสามารถปฏิบัติได้จริง ขอให้ทุกคนร่วมกันเปิดสมอง เปิดจินตนาการเพื่อการทำพื้นที่สร้างสรรค์แก่เด็กและเยาวชนของเรา" น.ส.เข็มพร กล่าว ร.ศ.ดร.วิลาสินี อุดลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส.กล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องมีพื้นที่สุขภาวะก็เพราะว่า สสส. ให้ความสำคัญกับพื้นที่สุขภาวะ เครือข่ายพื้นที่นี้ดีจังเป็นเครือข่ายต้นๆ ที่มีส่วนผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม ก่อนหน้านี้ สสส. เคยทำแต่งานรณรงค์สุขภาพในเชิงประเด็น เช่น ลดเหล้า บุหรี่ ออกกำลังกาย ยาเสพติด และพบว่ามีผลในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ได้ปรับปัจจัยแวดล้อมที่จะทำให้คนอยู่ในสภาพที่มีวิถีสุขภาพได้อย่างยั่งยืน จึงต้องย้อนกลับมาทำงานพื้นที่ เพื่อสร้างปัจจัยสุขภาวะที่จะโอบอุ้มคนให้มีวิถีชีวิตที่สร้างสุขภาวะได้ ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก คนหนึ่งคนควรจะมีพื้นที่สีเขียวประมาณ 9 ตร.ม. ต่อคน แต่คนในกรุงเทพมีพื้นที่สีเขียวเพียง 3 ตร.ม. ต่อคน ในขณะที่ประเทศมาเลเซียมี 44 ตร.ม. ต่อคน ในขณะที่ควรมีสวนสาธารณะเฉลี่ยคิดเป็นพื้นที่ 15 ตร.ม. ต่อคน แต่กรุงเทพมหานครมีพื้นที่สวนสาธารณะเพียง 0.7 ตร.ม. ต่อคนเท่านั้น ในความเป็นจริง ประเทศไทยมีสวนสาธารณะครบทุกจังหวัด แต่มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่มีการใช้ประโยชน์จริง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก ผลของการขาดพื้นที่ดีๆ คือเกิดวิกฤตด้านสุขภาพ คนไทยมีภาวะอ้วนลงพุงแล้วประมาณ 34.7% และประชากร 1 ใน 4 มีภาวะน้ำหนักเกิน ซึ่งนำไปสู่การเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ มากมายที่เรียกว่า "โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง" เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง เบาหวาน ความดัน ฯลฯ สาเหตุเกิดจากการขาดกิจกรรมทางกายและพฤติกรรมการกิน ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนี้เป็นสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ด้วยตนเองทั้งนั้น "ทางหนึ่งของ สสส. ที่จะแก้ปัญหานี้ก็คือการสร้างพื้นที่สุขภาวะให้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นสนามกีฬา ฟิตเนส หรือสถานที่ที่คนต้องมีค่าใช้จ่ายหรือเข้าถึงยาก อาจจะเป็นทางเท้าที่ปลอดภัย สามารถเดินจากบ้านไปที่ต่างๆ ได้อย่างสบายใจ พื้นที่ในโรงเรียนที่รองรับให้เด็กนักเรียนสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้มากๆ หรือพื้นที่ต่าง ๆ ที่ส่งเสริมกิจกรรมทางกายหลากหลายรูปแบบ การมีพื้นที่สร้างสรรค์นั้น จากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ ยกตัวอย่าง การนำดอกไม้ไปวางในห้องพักผู้ป่วยนั้น พบว่าผู้ป่วยหายป่วยรวดเร็ว" ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม กล่าว พร้อมกล่าวถึงนิยามของพื้นที่สุขภาวะว่า เป็นที่พื้นที่ที่เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดสุขภาพที่ดีของคน ที่อยู่ในย่านพื้นที่ ถูกวางแผนออกแบบและดำเนินการด้วยความตั้งใจตามหลักสุขภาวะ โดมีกระบวนการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืนของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นอกจากการสร้างพื้นที่แล้วก็ต้องเปิดให้สังคมการมีส่วนร่วม มีการใช้ประโยชน์และกิจกรรม รวมถึงมีความสะดวกและเข้าถึงและมีความน่าใช้ "ตัวอย่างเมืองที่มีการเปลี่ยนพื้นที่เมืองฮาเลมในนิวยอร์ก ซึ่งเป็นกลุ่มคนผิวสีที่ไม่ได้รับการดูแล หลังจากมีการเปลี่ยน Healem Children'sZone ซึ่งริเริ่มโดยเด็กๆ ที่ไปดูงานข้างนอก และกลับเข้ามาเขียนโครงการของบประมาณมาเริ่มดำเนินงานโดยเชิญชวนคนที่พื้นที่ โดยเริ่มจากครอบครัวของตัวเองให้มาช่วยคิดช่วยทำ เชิญชวนคนที่ออกไปข้างนอกกลับมา และกิจกรรมแรกก็คือเด็กฮาเลมต้องจบการศึกษาทุกคน มีการวางแผนการจัดการผังเมืองและปัจจุบันก็กลายเป็นเมืองต้นแบบของทั่วโลก อีกตัวอย่างก็คือพื้นที่รกร้างบริเวนใต้ทางด่วนประเทศแคนาดา ซึ่งเปลี่ยนพื้นที่ทางด่วนที่รกร้างและกลายที่เป็นที่มัวสุม ให้เปลี่ยนพื้นที่สีเขียว มีทั้งสนามเด็กเล่น รองรับทุกวัย กลางคืนก็มีแสงไฟส่องสว่าง แล้วพื้นที่รกร้างก็หายไป" ร.ศ.ดร.วิลาสินี กล่าว นอกจากนี้ยังกล่าวถึงแผนการดำเนินงานพื้นที่สุขภาวะในอนาคตว่า มีกลไกสนับสนุนทางวิชาการด้านพื้นที่สุขภาะโดยมีทั้งด้านการออกแบบและพัฒนาพื้นที่ ด้านการจัดกระบวนการมีส่วนร่วมและสร้างศักยภาพเครือข่ายพื้นที่ ด้านการประเมินผลลัพธ์ตามเป้าหมายพื้นที่สุขภาวะเพื่อการสร้างพื้นที่สุขภาวะอย่างมีคุณภาพ อ.สุคนธจิต วงษ์เผือก คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ย้อนรอยถึงการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ หรือที่เรียกกันว่า "พื้นที่นี้...ดีจัง" ได้ดำเนินการมา 3 ปีแล้ว และกำลังขึ้นปีที่ 4 "การเริ่มต้นทำนั้นใจต้องมาก่อน จะใช้พื้นที่ที่ไหนก็ได้ เพียงแต่ต้องมีส่วนร่วม ปัจจัยความสำเร็จ ยุทธศาสตร์พื้นที่นี้ดีจังนั้นก็คือ ทำงานแนวลึก สร้างเด็กเป็นนักพัฒนา ทำให้เด็กเติบโตในชุมชน ทำงานแนวกว้าง มีเครือข่าย มีภาพเป็นข่าว สร้างกระแสในสังคม ทำงานด้วยพลังบวก ต่อยอดได้หลายอย่าง ซึ่งพื้นที่นี้...ดีจังนั้นต้องมีพื้นที่ทางกายภาพ นั่นก็คือพื้นที่สำหรับเล่นและทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งบ้าน โรงเรียน และชุมชน พื้นที่ทางความคิด ให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออก แสดงความสามารถ มีส่วนในการตัดสินใจ จัดกระบวนการ จัดกิจกรรมของตัวเอง" อ.สุคนธจิต กล่าว นอกจากนี้ยังบอกถึงแนวคิดในการทำพื้นที่สร้างสรรค์นั่นคือแนวคิด SPACES ซึ่งต้องมีพื้นที่รูปธรรม ที่จะทำให้เกิดกิจกรรมต่างๆ แนวคิดนี้ประกอบด้วย Space พื้นที่หรับเด็กและเยาวชน Play and Participation การเล่นและมีส่วนร่วม Arts and Activities ศิลปะและกิจกรรม Community ความเป็นชุมชน Empowerment การเรียนรู้ เสริมพลัง ทั้งในระดับของคนทำงาน เครือข่าย เด็กๆ และคนในชุมชนและ Sharing การแบ่งปัน หากเป็นไปได้อยากให้เกิดพื้นที่นี้...ดีจังทั่วประเทศ" อ.สุคนธจิต กล่าว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ดัน 'พ.ร.บ.คู่ชีวิต' เข้าสภา-เครือข่าย LGBT ติงยังมีข้ออ่อน Posted: 20 Apr 2013 05:25 AM PDT สภาจัดรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต รับรองสถานภาพชีวิตคู่ LGBT - "เครือข่ายความหลากหลายทางเพศฯ" ยื่นข้อเสนอต่อกรรมาธิการสภาฯ 5 ข้อ ระบุตัวร่างยังขาดเรื่องการรับรองบุตร และขอให้มีการอบรมผู้ใช้กฎหมายทุกระดับ หวังให้กฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติ และมีการคุ้มครองความหลากหลายทางเพศขึ้นจริง เครือข่ายอัตลักษณ์ทางเพศนำโดยนายนที ธีระโรจนพงษ์ ยื่นรายชื่อประชาชน 3 พันรายชื่อต่อนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฏร คนที่ 1 เพื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต เมื่อ 19 เม.ย. ที่รัฐสภา (ภาพ: อรทัย ตามยุทธ) คณะกรรมาธิการการยุติธรรม การกฏหมาย และสิทธิมนุษยชน จัดงานเสวนา "ความหลากหลายทางเพศกับกฎหมายการจดทะเบียนคู่ชีวิตของไทย" เมื่อ 19 เม.ย. ที่ห้องโถง อาคารรัฐสภา (ภาพ: อรทัย ตามยุทธ) เมื่อวานนี้ (19 เม.ย.) คณะกรรมาธิการการยุติธรรม การกฏหมาย และสิทธิมนุษยชน จัดงานเสวนา "ความหลากหลายทางเพศกับกฎหมายการจดทะเบียนคู่ชีวิตของไทย" เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต อันมีสาระสำคัญเพื่อรับรองสถานภาพของผู้มีความหลากหลายทางเพศในฐานะที่เป็นคู่ชีวิตเยี่ยงชายหญิงทั่วไป นที ธีระโรจนพงษ์ ตัวแทนกลุ่มกิจกรรมความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า เขาก็เสียภาษี พอมีการเลือกตั้ง ก็ไปใช้สิทธิทุกครั้ง แล้วทำไมจะไม่สามารถจูงมือคู่รักไปจดทะเบียนสมรสได้ ทำไมศักดิ์ศรีของพวกเราไม่ได้รับการดูแลกับเท่ากับคู่ชายหญิงทั่วไป พอไปจดทะเบียนสมรสที่ เขาก็ปฏิเสธจะทะเบียนสมรสให้ โดยอธิบายว่า เป็นคนเพศเดียวกัน แต่รัฐธรรมนูญ มาตรา 30 ซึ่งมีสาระสำคัญหนึ่งว่า "การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศ จะกระทำมิได้" และยังมีการบันทึกในเจตนารมณ์ไว้ด้วยว่า เพศ ไม่ได้หมายความเฉพาะ ชายหรือหญิง คือรวมถึงเพศสภาพอื่นๆ คำถามคือ แล้วมีเหตุผลอะไรอีกที่เราจะไปจดทะเบียนกันไม่ได้ เหตุผลสำคัญในการผลักดัน พ.ร.บ. คู่ชีวิต คือเราต้องการศักดิ์ศรีความเป็นคนไทยเหมือนอย่างชายหญิงทั่วไป นอกจากนี้ก็ต้องการความคุ้มครองทางกฎหมายด้วย หากใครคนหนึ่งเกิดประสบอุบัติเหตุ เกิดต้องมีการผ่าตัด คู่ชีวิตของเราก็เซ็นให้ไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไร และเหตุผลสุดท้าย คือ อยากเห็นเมืองไทยเป็นบ้านเมืองที่เจริญ มีสิ่งดีงามมากมายเกิดขึ้น รอบโลกกว่า 30 ประเทศเขามีกฎหมายคู่ชีวิตแล้ว อยากเห็นสายตาของโลกมองมาที่ไทยแล้วบอกว่า เป็นประเทศที่เจริญ โอบอ้อมอารี และเคารพความเท่าเทียมของมนุษย์ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพมีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของคนทุกกลุ่ม แน่นอนว่ารวมถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย กรณีกฎหมายแพ่ง มาตรา 1448 "การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว" เกิดคำถามว่า ถ้าไปผ่าตัดแปลงเพศแล้ว จะสามารถสมรสกันได้หรือไม่ ตรงนี้มีคำตอบตามคำพิพากษาศาลฏีกาว่า "หญิง" ตามพจนานุกรมคือ คนที่ออกลูกได้ หมายความว่าคนที่แปลงเพศมาแล้ว แม้จะสามารถมีเพศสัมพันธุ์ได้ ก็ไม่อาจจะเป็นหญิงได้ เพราะไม่สามารถออกลูกได้ นี่ก็เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข แต่หากมองไปประเทศต่างๆ ประเทศที่ดูจะเป็นอนุรักษ์นิยมมากๆ อย่างเนปาล ก็ออกกฎหมายให้สามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามตามเพศสภาพที่ปรากฏตามจริง แม้แต่ศาลฏีกาของเนปาลก็อนุญาตให้สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ บางประเทศเขากำหนดให้มีเรื่อง LGBT อยู่ในหลักสูตรการศึกษาเลย ส่วนประเทศเรายังอยู่เพียงขั้นตอนของการผลักดันกฎหมายอยู่ ปัจจุบันยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการกำหนดให้การรักเพศเดียวกันเป็นความผิดอาญา หลายประเทศมีโทษถึงประหารชีวิต เช่น เยเมน โซมาเลีย ซูดาน อิหร่าน หรือบางประเทศก็กำหนดให้มีโทษขั้นสูงให้จำคุกตลอดชีวิต เช่น มาเลเซีย แต่ทั้งนี้ก็มีประเทศที่มีความก้าวหน้ามากเกี่ยวกับการเป็นคู่ชีวิตของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ อาจแบ่งได้ 3 ระดับ อย่างแรกคือประเทศที่เปิดกว้างให้จดทะเบียนสมรสกันได้เลย เช่น อาเจนติน่า โปรตุเกส สวีเดน สเปน ระดับที่สองคือเป็นประเทศที่อนุญาตเฉพาะบางรัฐ เช่นบางรัฐในอเมริกา เม็กซิโก บราซิล ส่วนระดับที่สาม คือไม่ใช่การจดทะเบียนสมรส แต่เป็นการรับรองการเป็นคู่ชีวิต เช่น ฟินแลนด์ เยอรมัน อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศไทยกำลังจะเดินตามโมเดลนี้ นพ.แท้จริง ศิริพานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ในเรื่องการแต่งงานเขาก็ต้องได้รับสิทธิตรงนั้น ใครก็ไปปฏิเสธไม่ได้ แต่สังคมดันสร้างอะไรบางอย่างไว้ เช่นไปบอกว่า ในโลกมีแค่เพศหญิงหรือชายเท่านั้น แต่ความจริงมันเยอะกว่านั้น ก็เหมือนสีที่ไม่ได้มีแค่ขาวกับดำ แต่มีเขียว แดง อะไรอีกมากมาย แม้แต่ในวงการแพทย์เอง ในอดีตก็เคยถือว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นผู้ที่มีพฤติกรรมผิดปกติ แต่ปัจจุบันดีกว่าเดิมมาก คือถือว่าเป็นลักษณะการใช้ชีวิตอย่างหนึ่ง แล้วเวลาที่กล่าวว่าหญิงแท้ชายจริง นี่ก็ต้องมีคำถามว่ามันเป็นลักษณะอย่างไร ซึ่งในอนาคตอาจจะไม่ต้องมาติ๊กช่องว่าเป็นชายหรือหญิงด้วยซ้ำ เขาจะอยู่ด้วยกันก็เป็นสิทธิของเขา เดี๋ยวนี้ก็ไม่ค่อยมีใครคิดอะไรมากแล้ว แต่ถึงที่สุดเขาก็ต้องการความคุ้มครองทางกฎหมาย ต้องการสิทธิเกี่ยวกับครอบครัว แต่เรื่องนี้ยังถือเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย ถ้าเราก้าวข้ามจุดนี้ไปได้ มันจะมีอีกหลายเรื่องที่พัฒนาตามไปด้วย วิรัตน์ กัลยาศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กล่าวว่า ฝ่ายนิติบัญญัติได้ให้ความสนใจกฎหมายนี้เป็นอย่างยิ่ง และกฎหมายนี้ก็เป็นกฎหมายที่ให้ประชาชนเขียนขึ้นมาเองด้วย ในสมัยก่อน ประเทศไทยถือว่าคนเหล่านี้เป็น "โรคจิตถาวร" มันก็เจ็บปวด ซึ่งต้องขอบคุณรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เปิดช่องทางไว้ให้แล้วตาม มาตรา 30 "การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศ จะกระทำมิได้" เพียงแต่อาจมีปัญหาในเรื่องการเรียบเรียงถ้อยคำ ทำให้กลายเป็นว่ามีแค่ชายหญิง แต่ในเนื้อแท้ของการพูดคุยนั้น มีการพูดคุยถึงความหลากหลายทางเพศด้วย เครือข่ายความหลากหลายทางเพศแห่่งประเทศไทยยื่นจดหมายเปิดผนึกยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ สำหรับร่าง พ.ร.บ.จดทะเบียนคู่ชีวิต (ภาพ: อรทัย ตามยุทธ) ในช่วงท้ายของงานเสวนา เครือข่ายความหลากหลายทางเพศแห่งประเทศไทยได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกอันเป็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว ต่อ พล.ต.อ.วิรุณห์ พื้นแสน ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย ระบุข้อเรียกร้องว่า 1. ร่างพระราชบัญญัติจดทะเบียนคู่ชีวิตจะต้องระบุหลักการและเหตุผล ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายว่า ประสงค์จะสร้างความเท่าเทียมและยุติการเลือกปฏิบัติที่มีอยู่ในระบบกฎหมายและสังคมไทย 2. ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังขาดข้อกำหนดเรื่องบุตร ซึ่งบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายนี้อาจมีบุตรได้ไม่ว่าจะเป็นบุตรจากการสมรสครั้งก่อน บุตรบุญธรรม 3. เงื่อนไขเกี่ยวกับอายุของบุคคลที่จะจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ ควรใช้เงื่อนไขเดียวกับบุคคลที่จะจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 4. หลักการตามพระราชบัญญัตินี้ที่กำหนดให้กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินั้น อันปรากฏในมาตรา 4 ซึ่งควรเพิ่มเติมไปว่า "โดยมิให้แตกต่างจากระเบียบขั้นตอนการจดทะเบียนสมรสที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน" เพื่อให้เกิดมาตรฐานในหลักการปฏิบัติ และ 5. การใช้คำว่า "อนุโลม" ตามพระราชบัญญัตินี้ อาจเปิดช่องให้มีการตีความผ่านดุลยพินิจส่วนบุคคลของผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งอาจเป็นการตีความในลักษณะจำกัดสิทธิ ดังนั้นจึงควรให้ภาครัฐจัดอบรมแก่ผู้บังคับใช้กฎหมายในทุกระดับ อันจะนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริงได้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เสียงจาก ‘เป้าอ่อน’ ครูชายแดนใต้ ก็อยากได้สันติภาพ Posted: 20 Apr 2013 05:11 AM PDT สัมภาษณ์ครูชายแดนใต้ กับความต้องการในกระบวนการสันติภาพ ทุกเสียงย้ำอยากให้ยุติทำร้ายครูและประชาชน ขอให้ครูได้ทำหน้าที่ต่อไปโดยไม่มีความรู้สึกกลัว ชี้การพูดคุยสันติภาพความนี้เป็นความหวังของคนในพื้นที่ (ที่มาภาพ: kroothaiban.blogspot.com) "ขอให้ยุติการทำร้ายครูและประชาชน" นี่คือคำขอจากครูต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เพราะทุกครั้งที่ครูตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากสถานการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ มักเป็นข่าวใหญ่และส่งผลสะเทือนไปทั่วประเทศ เช่นกรณีครูจูหลิง ปงกันมูล ครูโรงเรียนบ้านกูจิงลืปะ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ที่ถูกรุมทำร้ายเมื่อปี 2549 และเสียชีวิตในเวลาต่อมา เป็นคำขอต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่กำลังเกิดขึ้นระหว่างตัวแทนรัฐไทยที่นำโดยพล.ท.ภารดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติกับตัวแทนขบวนการต่อสู่เพื่อเอกราชในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือฟาฏอนีย์ ที่นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งกำลังจะมีการนัดพูดคุยกันเป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 29 เมษายน 2556 ที่ประเทศมาเลเซีย เป็นคำขอจากสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2556 ที่โรงแรมซีเอส.ปัตตานี นายบุญสม ทองศรีพลาย ประธานสมาพันครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีข้อเสนอ 3 ข้อในเวทีการสร้างปรองดองและสันติภาพที่มีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการนั่งอยู่ด้วย ข้อที่ 1.ขอให้ยุติการก่อเหตุต่อประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะต่อครู ซึ่งไม่มีครูที่ไหน (ในพื้นที่ความขัดแย้ง) ในโลกที่เสียชีวิตจำนวนเท่านี้ ข้อที่ 2. รัฐบาลต้องจริงใจในการแก้ปัญหารุนแรงในพื้นที่ เพื่อให้คนไทยพุทธกับมุสลิมในพื้นที่กลับมาใช้ชีวิตอย่างสงบสุขอีกครั้ง เนื่องจากความไม่สงบได้ทำให้เกิดความหวาดระแวงต่อกัน ซึ่งเป็นห่วงว่าอาจจะขยายเป็นความกลัว เกลียดชังต่อกัน และในที่สุดอาจทำให้เกิดการทำลายต่อกัน "แม้ว่าเราจะมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน แต่เราเป็นพี่น้องกันและเคยอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขมาเป็นร้อยๆ ปีในพื้นที่แห่งนี้" ข้อที่ 3. ขอเป็นกำลังใจให้รัฐบาลที่มีแนวความคิดในเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติภาพในครั้งนี้ ที่ผ่านมาสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รวบรวมสถิติครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ถูกทำร้ายจนเสียชีวิตไปแล้ว 159 ราย ในระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดคำถามว่าทำไมต้องฆ่าครู ทั้งที่เป็นผู้ให้ความรู้ โดยเฉพาะครูที่นับถือศาสนาพุทธที่กลายเป็นเป้าหมายที่ของการฆ่า และเป็นเป้าหมายที่ไม่ได้ถืออาวุธหรือ Soft target ตามการจำแนกของนักวิชาการ เช่น ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นายบุญสม กล่าวว่า ขอเสนอต่อทั้ง 2 ฝ่ายที่พุดคุยกันครั้งนี้ ให้ยุติทำร้ายครูและประชาชนในพื้นที่ เพราะจะเป็นเงื่อนไขให้ครูเกิดความกลัว ทำให้ครูไม่สามารถสอนเด็กนักเรียนในพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ "ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา การพูดคุยสันติภาพครั้งนี้เป็นครั้งสำคัญที่สุด ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงมากที่สุด เพราะหากการพูดคุยครั้งนี้ล้มเหลวก็ตัวใครตัวมัน ท่านไปตามทางของท่าน ผมก็ไปตามเส้นทางของผม การพูดคุยครั้งนี้เป็นความหวังของคนในพื้นที่อย่างมาก ดังนั้นรัฐบาลต้องมีความจริงใจในการพูดคุยเพื่อให้เกิดสันติภาพ" นายบุญสม เสนอด้วยว่า รัฐบาลต้องให้ประชาชนในพื้นที่รับรู้และรับทราบถึงผลของการพูดคุย โดยเฉพาะครู พร้อมๆ กับสร้างความยุติธรรมแก่ประชาชนในพื้นที่ เพราะความขัดแย้งในที่เกิดขึ้น มีสาเหตุมาจากความไม่เป็นธรรม "การพูดคุยเพื่อสันติภาพครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการหาทางออกสำหรับการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ ส่วนผลการพูดคุยจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับทั้ง 2 ฝ่าย" นายบุญสม ระบุ ในขณะที่ครูที่นับถือศาสนาอิสลาม อย่างนางสาวนูรีมาน หะมะ ครูโรงเรียนแสงธรรมวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามใน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ระบุว่า ติดตามข่าวเกี่ยวกับการพูดคุยสันติภาพมาตลอด ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีในการแก้ปัญหา เธอบอกว่า เพราะครูเป็นเป้าหมายหนึ่งในการก่อเหตุ ดังนั้นครูต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจว่า อะไรเป็นสิ่งที่ผู้ก่อเหตุต้องการ ดังนั้นจึงอยากให้มีการพูดคุยกันให้มากกว่านี้ "สิ่งที่อยากได้จากกระบวนการสันติภาพคือ ขอความสงบกลับมาเหมือนเดิมอย่างที่เคยเป็น และอยากให้ครูเป็นได้เป็นแม่พิมพ์ของชาติต่อไป แต่ไม่ใช่เป็นเครื่องมือในการต่อรองของใครในการพูดคุยเจรจา" นางสาวรุสณีย์ กาเซ็ง ครูประจำศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือครู กศน. อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี มองว่า การพูดคุยเพื่อสันติภาพครั้งนี้ ยังคลุมเครือและไม่ชัดเจนกับสิ่งที่เกิดขึ้น จึงรู้สึกยังไม่มั่นใจเต็มร้อยกับการพูดคุยครั้งนี้ "แต่ในทางกลับกัน การพูดคุยดังกล่าวทำให้รับรู้ถึงการเดินหน้าไปอีกขั้นของการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ เพราะโดยปกติรัฐไทยจะให้ทหารแก้ปัญหา แต่ปัจจุบันนับว่ามีการนำการเมืองมาแก้ปัญหาในพื้นที่แล้ว" นางสาวรุสณีย์ มองว่า แม้การพูดคุยครั้งแรกคนอาจจะเข้าใจว่าเป็นการจัดฉาก แต่เมื่อมีการพูดคุยกันหลายครั้ง คนก็จะเชื่อว่าคงจะเป็นความจริง เมื่อกระบวนการสันติภาพเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ต้องการเสนอคือ การตัดสินใจใดๆ ของฝ่ายที่มีอำนาจ ต้องให้ประชาชนรับรู้ ซึ่งการศึกษาเป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถให้เด็กเผยแพร่ความรู้เรื่องสันติภาพให้คนในครอบครัวและคนรอบข้างได้ "ปัจจุบันเมื่อพูดถึงการสื่อสารสร้างความเข้าใจ ทุกคนจะนึกถึงสื่อมวลชนและภาคประชาสังคม แต่มองข้ามครู กศน.ทั้งที่มีนักศึกษาทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เยาวชนขึ้นไป มวลชนเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญและเป็นพลังให้กับการแก้ปัญหาในพื้นที่" นางสาวรุสณีย์ กล่าวทิ้งท้าย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'ผู้บุกรุก' แพร่คลิปแจงกราฟฟิติต้องขบถ หลังสาดสีใส่งานเทศกาลสตรีทอาร์ต Posted: 20 Apr 2013 04:44 AM PDT มือดีที่พ่นคำว่า "บุกรุก" และสาดสีใส่งานกราฟฟิติในเทศกาลสตรีทอาร์ตที่หอศิลปกรุงเทพ เผยแพร่คลิปแจง เห็นต่างการสร้างงานสตรีทอาร์ต ยัน "บุกรุก" ต้องเท่ากับ ลักลอบ ซุ่มโจมตี นิรนาม
ก่อนหน้านี้ มีผู้พ่นคำว่า "บุกรุก" และสาดสีใส่งานกราฟฟิติในเทศกาลสตรีทอาร์ตชื่อ "บุกรุก - เทศกาลสตรีทอาร์ต การเชื่อมต่อไทย-ยุโรป" ซึ่งสนับสนุนโดยหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) โดยมีการจัดพื้นที่ไว้ให้ศิลปินวาดภาพบนกำแพง ล่าสุด (19 เม.ย.) มีผู้โพสต์คลิปในเว็บยูทูบ โดยชี้แจงว่าเป็นผู้พ่นคำว่า "บุกรุก" และสาดสีลงบนภาพวาดดังกล่าว เนื่องจากมองว่า ผลงานที่เกิดขึ้นได้ทำลายความหมายของคำว่า "บุกรุก" "การ "บุกรุก" ของเรา คือกระบวนการสร้างสรรค์ คือ "ตัวงาน" ที่โต้ตอบไปกับงานนิทรรศการนี้ เรารักษาจิตวิญญาณของการบุกรุก เพราะไม่มีใครเชิญ และไม่มีใครต้องการ เรายืนยันความขบถ โดย บุกรุก = ลักลอบ ซุ่มโจมตี นิรนาม เราต้องการปลดปล่อย graffiti จากระบบธุรกิจและราชการ ให้ graffiti ยังคงความขบถและบริสุทธิ์ เป็นอาวุธที่ศิลปินใช้ส่งสารสู่สังคมอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง" กลุ่ม "ผู้บุกรุก" ระบุและชี้แจงว่า ไม่ได้มีความแค้นเคืองเป็นการส่วนตัวกับเจ้าของผลงานคือ P7 แต่อย่างใด แต่บังเอิญ งานของเขาอยู่ในเงื่อนไขที่ตรงกับยุทธศาสตร์พอดี ขณะที่ในยูทูบที่โพสต์คลิปดังกล่าว มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยกับกลุ่ม "ผู้บุกรุก" เนื่องจากมองว่า งานกราฟฟิตินั้นต้องเกี่ยวข้องกับความเร็วและการฝ่าฝืนข้อบังคับ ขณะที่บางฝ่ายก็เห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการทำลายงานของผู้อื่น
พวกเราคือ ผู้พ่นคำว่า บุกรุก และ สาดสีลงบนภาพวาดบนผนังหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
และนี่คือ คำประกาศจากเรา หนึ่งในกระบวนการนี้ คือ นิทรรศการ Bukruk – Street Art Festival ที่เชิญผู้เยี่ยมยุทธศิลป์
มาวาดภาพตามสถานที่ต่างๆ โดยขออนุญาต "ตระเตรียม" กันไว้ก่อน เราเคารพในความคิดเห็นของพี่น้องศิลปินทุกท่าน แต่สีที่เราสาด แทนคำถามที่เราสาดใส่สังคมไทย ที่กำลังหน้ามืดตามัว ยึดติดอยู่กับ "รูปแบบ" ที่นำมาโดยมิได้มีรากความคิดติดมาด้วย สถาบันทางศิลปะของไทยกำลัง คิดเอง อวยเอง ว่านี่คือ street art ว่านี่คือ จิตวิญญาณแห่ง graffiti ทั้งที่สิ่งมันเป็นจริงๆ คือ รูปวาดฝาผนัง สีสันสดใส สวยงาม และงาน "Bukruk – Street Art Festival" ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เราออกไปตั้งคำถามครั้งนี้เพราะผลงานที่เกิดขึ้นนี้ ได้ทำลายความหมายของ คำว่า "บุกรุก" นี่คือ ความคับข้องใจที่เราซึ่งเป็นศิลปินเหมือนกัน ไม่อาจปล่อยผ่านไปได้จริงๆ การ "บุกรุก" ของเรา คือกระบวนการสร้างสรรค์
คือ "ตัวงาน" ที่โต้ตอบไปกับงานนิทรรศการนี้
หรือคุณเป็นใคร
แต่นี่คือสิ่งที่เราจะตั้งคำถามให้กับหอศิลป์และนักวาดภาพ
ว่า ขอความสุขสุนทรีย์ จงมีแด่ทุกท่าน จงทั่วกัน ผู้บุกรุก ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สุรินทร์เร่งแก้ไขปัญหากลุ่มเลี้ยงช้างป้องกันการนำช้างออกเร่ร่อนสร้างปัญหาให้สังคม Posted: 20 Apr 2013 04:44 AM PDT ผู้ว่าฯ สุรินทร์เผยเร่งแก้ปัญหาของชุมชนคนเลี้ยงช้าง อ.ชุมพลบุรี หาอาชีพเสริมหลังจากการทำนา หาแหล่งน้ำในการทำการเกษตร แก้ไขปัญหาคนนำช้างออกไปเร่ร่อนนอกพื้นที่ เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 56 ที่ผ่านมาผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลาวัดบ้านขุนไชยทอง หมู่ที่ 4 ตำบลหนองเรือ อ. ชุมพลบุรี จ. สุรินทร์ นายยุทธนา วิริยะกิตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เรียกตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับอำเภอ และจังหวัดเข้าประชุมระดมความคิดเห็นร่วมกับตัวแทนกลุ่มเลี้ยงช้าง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าง ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนผู้เลี้ยงช้าง ของอำเภอชุมพลบุรี เพื่อหาทางออกร่วมกันในการแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มเลี้ยงช้าง ของอำเภอชุมพลบุรี ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งที่มีประชาชนเลี้ยงช้างอยู่เป็นจำนวนมากกว่า 300 เชือกและยังไม่ได้รับการก้ำไขปัญหาและหาทางช่วยเหลือเหมือนช้างที่อยู่ในศูนย์คชศึกษา อ. ท่าตูม จึงทำให้ชาวเลี้ยงช้างของอำเภอชุมพลบุรีได้รับความเดือดร้อน ขาดรายได้ และอาชีพเสริมแก่ครอบครัว ส่งผลทำให้ต้องกระจายกันนำช้างออกหากิน ขายอาหารไปตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และสร้างปัญหาให้กับสังคมมาจวบจนปัจจุบัน ทางจังหวัดสุรินทร์พยายามเข้าไปแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องแต่เนื่องจากมีปัญหาทางด้านงบประมาณ และการบริหารจัดการที่ดี ทำให้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขให้เป็นรูปธรรม จนกระทั่งตัวแทนกลุ่มเลี้ยงช้างได้อำเภอชุมพลบุรีได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้พิจารณาช่วยเหลือและเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มเลี้ยงช้าง และได้เรียกประชุมคณะกรรมการในระดับจังหวัด เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2556 ที่ผ่านมาที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล และมีหนังสือจาก สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่อนผันการจับกุมช้างเร่ร่อน จนกว่าจะหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวเกิดเป็นรูปธรรมสามารถสร้างรายได้ให้กับช้างและเจ้าของ และมอบหมายให้จังหวัดพิจารณาความเป็นไปได้ในการสร้างศูนย์จัดแสดงช้างและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม (Home Stay ) ในพื้นที่โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการ และการหาอาชีพเสริมให้กับชุมชนคนเลี้ยงช้างควบคู่กันไป นายยุทธนา วิริยะกิตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า จากสภาพปัญหาของชุมชนคนเลี้ยงช้างของอำเภอชุมพลบุรี ทางจังหวัดสุรินทร์พยายามเข้ามาหาทางช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะหาอาชีพเสริมหลังจากการทำนา หาแหล่งน้ำในการทำการเกษตรโดยเฉพาะนาปรังเพราะพื้นที่ของอำเภอชุมพลบุรีเหมาะสำหรับการทำนาปลูกข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุรินทร์พร้อมจะดำเนินการสร้างศูนย์จัดการแสดงช้าง และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม ( Home Stay ) แต่ต้องเข้าไปศึกษาการบริหารจัดการให้ดีเพราะเป็นเรื่องยากกว่าจะได้ผลก็ต้องใช้เวลา อย่าง 1–2 ปี ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "ประชาธิปไตย ไม่หลุดจากปาก" Posted: 20 Apr 2013 04:31 AM PDT |
ทหารพม่าโจมตี SSA “เหนือ” รับปีใหม่สงกรานต์ Posted: 20 Apr 2013 04:24 AM PDT ทหารกองทัพพม่าสนธิกำลังโจมตีฐานกองกำลังไทใหญ่ SSA "เหนือ" ช่วงปีใหม่สงกรานต์ การปะทะสองฝ่ายดำเนินต่อเนื่อง ขณะที่ทหารพม่าใช้ปืนใหญ่โจมตีหมู่บ้านทำชาวบ้านเจ็บหลายราย เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 56 ที่ผ่านมา พ.ต.จายละ โฆษกพรรครัฐฉานก้าวหน้า SSPP องค์กรการเมืองกองทัพรัฐฉาน SSA "เหนือ" เปิดเผยว่า เมื่อช่วงวันปีใหม่สงกรานต์วันที่ 15-16 เมษายน ที่ผ่านมา ทหารกองทัพพม่าสังกัดกองพันทหารราบ 33 (เมืองก๋าว) และกองพันทหารราบ 291 (น้ำป้อง) สนธิกำลังเข้าโจมตีฐานประจำการของกองทัพรัฐฉาน SSA "เหนือ" ที่บริเวณดอยเจ ในเขตเมืองต้างยาน รัฐฉานภาคเหนือ โดยการโจมตีในวันที่ 15 เม.ย. ใช้เวลานานหลายชั่วโมงเริ่มตั้งแต่เวลา 9.00 ถึง 12.00 น. ซึ่งทางฝ่าย SSA "เหนือ" ได้ระดมยิงตอบโต้อย่างหนัก ผลฝ่ายทหารพม่าเสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บอีก 8 นาย โดยทหารพม่าได้ใช้ปืนใหญ่ยิงจากหลายที่สนับสนุนการโจมตีอีกด้วย ทั้งนี้ มีรายงานจากแหล่งข่าวโดยอ้างคำเปิดเผยของนายทหารพม่านายหนึ่งในกองทัพภาคตะวันออก (ประจำเมืองล่าเสี้ยว) ว่า กองทัพพม่ามีแผนจะเข้ายึดครองเอาพื้นที่ด้านตะวันตกฝั่งแม่น้ำสาละวิน เขตเมืองต้างยาน และเมืองสู้ รัฐฉานภาคเหนือ เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ มีเส้นทางผ่านเชื่อมพื้นที่กองกำลังว้า UWSA ทางภาคตะวันออกรัฐฉาน ขณะเดียวกัน มีรายงานอีกว่า เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา ทหารพม่าได้ยิงปืนใหญ่เข้าใส่หมู่บ้านดอยเจ เขตเมืองต้างยาน จำนวน 5 ลูก ส่งผลให้มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ 2 ราย รายหนึ่งชื่ออาหลู่ ชาวจีนฮ่อ อายุ 17 ปี ถูกสะเก็ดกระสุนปืนใหญ่เข้าที่บริเวณน่องขา อีกรายเป็นเด็กชายอายุขวบเศษ ได้รับบาดเจ็บที่มือและที่สะโพก นอกจากนี้ในวันเดียวกัน ทหารพม่ายังได้ยิงกระสุนปืนใหญ่เข้าใส่หมู่บ้านเก่าหลวง ซึ่งอยู่ในเขตเมืองต้างยานเช่นเดียวกัน เป็นเหตุให้บ้านเรือนอย่างน้อย 2 หลังถูกเพลิงไหม้วอด ทั้งนี้ จากเหตุเกิดการสู้รบกันอย่างต่อเนื่องระหว่างทหารพม่าและทหารกองกำลังไทใหญ่ SSA "เหนือ" ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบพากันอพยพออกนอกพื้นที่เป็นจำนวนมาก ล่าสุดมีรายงานว่า มีชาวบ้านจากหลายหมู่บ้านหลายพื้นที่ในเมืองต้างยานกว่า 1000 คนพากันอพยพไปอยู่ตามวัดต่างๆ ในตัวเมือง เฉพาะที่วัดอ่องหมั่งกะหล่า ขณะนี้มีผู้อพยพอาศัยอยู่กว่า 400 คน โดยผู้อพยพมีทั้งเด็กเล็กคนเฒ่าคนแก่ซึ่งกำลังต้องการความช่วยเหลือทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค อย่างมาก ผู้ประสงค์บริจาคช่วยเหลือผู้อพยพสามารถติดต่อได้ที่ เครือข่ายประสานงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในรัฐฉาน หมายเลขโทรศัพท์ 08-9636-6895 / 08-5708-9547 ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ http://www.khonkhurtai.org/ "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) สำนักข่าวอิสระของไทยใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า และตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กสม.จัดเสวนาเสริมความรู้เรื่องสิทธิฯ ในกระบวนการยุติธรรมให้ผู้นำชุมชน Posted: 20 Apr 2013 04:07 AM PDT เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมทับทิม ๒ โรงแรมสุนีย์ จังหวัดอุบลราชธานี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจัดสัมมนาเรื่อง "การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมให้แก่เครือข่ายผู้นำชุมชนและผู้นำท้องถิ่น จังหวัดอุบลราชธานี" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และเสริมสร้างความตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม และเพื่อสร้างเครือข่ายในการเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งส่งเสริมการเคารพและการปกป้องสิทธิมนุษยชนพร้อมกับการเสริมสร้างศักยภาพของเครือข่ายผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่นและภาคประชาชน เพื่อนำไปเผยแพร่สู่ประชาชนในชุมชนของตนเอง มีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย ผู้นำชุมชน นายกองค์กรปกครองท้องถิ่น สื่อมวลชน จำนวนรวมทั้งสิ้น ๒๕๐ คน วิทยากรร่วมอภิปรายประกอบด้วย รศ.ดร.ประธาน วัฒนวานิชย์ รองประธานอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม นายพิทยา จินาวัฒน์ อดีตอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ศ.พ.ต.อ.(พิเศษ) ดร.จักรพงษ์ วิวัฒน์วานิช คณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ และนายสุกรี เกษอมรวัฒนา อัยการจังหวัด (สคช.) สำนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินการอภิปรายโดย นายขรรค์เพชร ชายทวีป คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายสุทธินันท์ บุญมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อผู้นำชุมชนและผู้นำท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิด้านต่างๆ ของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม สร้างเครือข่ายทั้งภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาครัฐและเอกชน ในการเสริมสร้างวัฒนธรรมการเคารพ สิทธิมนุษยชนในสังคมไทย รวมทั้งนำไปถ่ายทอดแนะนำให้สมาชิกในชุมชนและท้องถิ่นได้ทราบถึงสิทธิของตนเองและผู้อื่น อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคมและชุมชน พลตำรวจเอก วันชัย ศรีนวลนัด กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและประธานอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่าสิทธิมนุษยชนมีหลายมิติที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของมนุษย์ สิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมจะเกี่ยวข้องกับประชาชนในการดำเนินชีวิตประจำวัน เมื่อผู้เข้าร่วมสัมมนานำความรู้ความเข้าใจไปเผยแพร่สู่ประชาชนก็จะเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันตนเองมิให้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งการดำเนินการสัมมนา เรื่องการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมให้แก่เครือข่ายผู้นำชุมชนและผู้นำท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี ในครั้งนี้ถือว่าได้รับความร่วมมือจากจังหวัดอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นอย่างดียิ่ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะได้พิจารณากำหนดยุทธศาสตร์ดำเนินโครงการให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคต่อไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คนไทยตายจากอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์มากถึงร้อยละ 8.5 Posted: 20 Apr 2013 04:01 AM PDT สพฉ. สรุปอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบ 5 ปี คนไทยตายจากอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์มากถึงร้อยละ 8.5 พบวันที่ 13 เม.ย. เป็นวันที่เกิดอุบัติมากที่สุด ภาคอีสานครองแชมป์อุบัติเหตุสูงสุด ชี้เตรียมพัฒนามาตรฐานการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้ครอบคลุมและทันกาล 20 เม.ย. 56 - นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สรุปยอดของการเข้ารับบริการสายด่วน 1669 ในรอบ 7 วันอันตรายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาว่าวันที่เกิดอุบัติเหตุและประชาชนใช้บริการผ่านสายด่วน 1669 มากที่สุดคือวันที่ 13 เมษายน และในวันสุดท้ายของระยะเวลา 7 วันอันตรายคือวันที่ 18 เมษายนนั้นพบว่าเวลาเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือเวลา 16.00 น.- 18.00 น. และพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุจากมากที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคเหนือและภาคใต้ ตามลำดับ ทั้งนี้จากข้อสังเกตพบว่าผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่ยังมารับการรักษาโดยญาติ หรือผู้พบเหตุ ซึ่งประเด็นนี้ในอนาคต สพฉ.จะต้องมีการรณรงค์และเร่งประชาสัมพันธ์ต่อไป เนื่องจากการได้รับการช่วยเหลือโดยผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินผ่านสายด่วน 1669 จะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมีโอกาสรอดและปลอดภัยมากกว่า "แม้ปีนี้เทศกาลสงกรานต์จะมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุและผู้บาดเจ็บลดลง แต่เมื่อเทียบสถิติทั้งหมด 5 ปี ตั้งแต่ปี 2551-2555 พบว่ามีผู้เสียชีวิตในเทศกาลสงกรานต์กว่า 1,693 คน จากตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทั้งหมดที่รวบรวมโดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน 19,891 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 8.5 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทั้งหมด ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก ดังนั้นในอนาคตจะต้องมีการรณรงค์และหาแนวทางในการแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งในส่วนของ สพฉ.เองก็จะเร่งประชาสัมพันธ์สายด่วน 1669 และพัฒนามาตรฐานการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินภายใน 8 นาทีให้ได้มากที่สุด รวมทั้งจะเร่งขยายหน่วยกู้ชีพให้มีความครอบคลุมในแต่ละพื้นที่มากขึ้นด้วย" นพ.อนุชากล่าว เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวต่ออีกว่า สำหรับสถานะของผู้บาดเจ็บนั้นพบว่าเป็นผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะเองร้อยละ 65.8 ผู้โดยสารร้อยละ 28.9 และผู้เดินเท้าร้อยละ 4.4 ส่วนพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือรถจักรยานยนต์ คิดเป็นร้อยละ 78.71 รถปิคอัพร้อยละ11.80 เปอร์เซ็นต์ และรถเก๋งร้อยละ 4.24 ซึ่งในจำนวนของผู้ที่ได้รับอุบติเหตุนี้พบว่ามีผู้สวมหมวกนิรภัยเพียงแค่ร้อยละ 9.1 และมีผู้คาดเข็มขัดนิรภัยเพียงร้อยละ 1.8 และดื่มสุราร้อยละ 39.11 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นัดไต่สวนพยาน คดีชันสูตรพลิกศพกรณี 4 ศพ ปุโละปุโย 23-24 เม.ย.56 นี้ Posted: 20 Apr 2013 03:42 AM PDT 20 เม.ย. 56 - มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมแจ้งข่าวว่าในวันที่ 23-24 เมษายน 2556 เวลา 9.00-16.00 น. ศาลจังหวัดปัตตานี นัดไต่สวนพยานของพนักงานอัยการผู้ร้องขอไต่สวนชันสูตรพลิกศพ จากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนยิงชาวบ้านที่ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย โดยพยานที่พนักงานอัยการนำมาสืบเป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่ในเหตุการณ์ โดยคดีนี้ ญาติผู้เสียชีวิตทั้ง 4 คน ได้แต่งตั้งทนายความเพื่อซักถามและนำเสนอพยานหลักฐานเพิ่มเติมในชั้นศาลด้วย จึงขอเชิญผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีของศาลตามวันและเวลาดังกล่าว สำหรับเหตุของคดีนี้ เจ้าหน้าที่ทหารพราน กองร้อยทหารพรานที่ 4302 บ้านน้ำดำ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อ้างว่าได้นำกำลังติดตามคนร้าย และตั้งจุดสกัดกั้นบริเวณทางเบี่ยงจากถนนสี่เลนส์ เข้าบ้านหมู่ที่ 1 ตำบลปุโละปุโย พบรถยนต์กระบะของชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ทหารพรานได้สกัดกั้นรถคันดังกล่าว และได้ยิงปืนเข้าใส่ จนเป็นเหตุให้ชาวบ้านเสียชีวิต 4 ราย และ ชาวบ้านรับบาดเจ็บอีก 5 ราย ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี ได้ยื่นคำร้องขอไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้ตายทั้ง 4 ราย เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ตามม. 150 ป.วิฯอาญา เนื่องจากเป็นความตายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ สืบเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 5 ราย ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ต่อศาลปกครองสงขลาด้วยอีกคดีหนึ่ง ซึ่งในวันที่ 23 เม.ย.2556 เวลา 14:00 น. ศาลปกครองสงขลาได้นัดไต่สวนยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ญาติผู้เสียชีวิตได้รับเงินเยียวยาจาก ศอ.บต. แล้ว รายละ จำนวน 7.5 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอแก่ความเสียหายที่ได้รับแล้ว แต่กรณีผู้บาดเจ็บนั้น ได้รับเงินเยียวยาจำนวน 500,000-765,000 บาท ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความเสียหายที่ได้รับ จึงได้ยื่นฟ้องโดยฟ้องกองทัพบกและสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนทางละเมิดต่อศาลปกครองสงขลา เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมต่อไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น