ประชาไท | Prachatai3.info |
- คมนาคม เตรียมตั้ง ‘กรมการขนส่งทางราง’ พัฒนาขนส่งทางรถไฟ รองรับเงินกู้ 2 ลล.
- สนทนาภาษานิเทศศาสตร์: ก้าวพ้นมุมมองแบบดราม่าในสถานการณ์ความขัดแย้ง
- ฝ่ายไทยให้การที่ศาลโลกหักล้างกัมพูชา กรณีพื้นที่พิพาทรอบปราสาทพระวิหาร
- มติพท.ชี้ศาลรธน.ไม่มีอำนาจรับพิจารณาแก้ไขรธน.ม.68–เลื่อนวาระนิรโทษกรรม
- ‘ในหลวง’ มีพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัยเหตุระเบิดบอสตัน
- หมอมงคล เตือน รมว.สาธารณสุข ถอยพีฟอร์พี ก่อนสายเกินไป
- สิ้น ‘ศรีฟ้า ลดาวัลย์’ ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของนวนิยาย ‘บ่วง-ข้าวนอกนา’
- เงินเฟ้อต่ำ-ความเสี่ยงศก.โลกลด-หุ้นพุ่ง-ดอกเบี้ยจ่อขยับขึ้นฉุดทองต่ำสุดรอบ30ปี
- 'พล.อ.ปรีชา' ยุติชุมนุมที่ชายแดนแล้ว - 'สันติอโศก' แต่งเพลงโจมตีกัมพูชา
- จักรภพ เพ็ญแข
- ฝ่ายสอบสวนระบุ ระเบิดในบอสตันทำจากหม้อตุ๋นแรงดันสูง
- 'จักรภพ' ชี้สัมพันธ์สร้างสรรค์กับชาติเพื่อนบ้าน จะเกิดได้ต่อเมื่อปฏิรูปการเมืองเสียก่อน
คมนาคม เตรียมตั้ง ‘กรมการขนส่งทางราง’ พัฒนาขนส่งทางรถไฟ รองรับเงินกู้ 2 ลล. Posted: 17 Apr 2013 01:04 PM PDT
กระทรวงคมนาคม เตรียมพิจารณาตั้งกรมการขนส่งทางราง ทำหน้าที่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางรถไฟรองรับพระราชบัญญัติเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท รวมทั้งแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินของการรถไฟฯ
17 เม.ย.56 - สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า พลตำรวจเอกวิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการจัดตั้งส่วนราชการเพื่อพัฒนาระบบขนส่งทางราง ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการจัดตั้งส่วนราชการระดับกรม เบื้องต้นจะปฏิรูปการบริหารการขนส่งทางรถไฟ โดยจัดตั้งเป็นกรมการขนส่งทางราง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางรถไฟ ควบคุมดูแลระบบความปลอดภัยในการเดินรถ กำหนดมาตรฐานทางเทคนิคของโครงสร้างพื้นฐาน ตัวรถ คนประจำรถไฟ การเดินรถไฟ และกำกับดูแลการประกอบธุรกิจ และการเดินรถ โดยจะเสนอเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการและจัดตั้งส่วนราชการระดับกรม หรือ องค์กรอื่นที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งและการเดินทาง ทางราง พิจารณาอีกครั้งปลายเดือนเมษายนนี้ ก่อนที่จะเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ ก.พ.ร.เป็นผู้พิจารณาจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง เพื่อขออนุมัติอัตราบุคลากรจำนวน 200 อัตรา คาดว่าจะบรรจุอยู่ในงบประมาณปี 2558 ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องดำเนินการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง เนื่องจากรัฐบาลตัดสินใจลงทุนในระบบขนส่งทางรางครั้งใหญ่ โดยงบประมาณถึง 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จ 7-10 ปี โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่สามารถที่จะแบกรับต้นทุนของโครงสร้างพื้นฐานในลักษณะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อีกต่อไป ดังนั้นหากไม่มีการปฏิรูปการบริหารงาน การดำเนินโครงการจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย รวมถึงการรองรับการดำเนินโครงการตาม พระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... วงเงิน 2 ล้านล้านบาท หรือ ร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่มีความรวดเร็วด้วย ทั้งนี้ การจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง อำนาจหน้าที่จะมีลักษณะเดียวกันกับกรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง กรมเจ้าท่า และกรมการบินพลเรือน ส่วนองค์กร ของ ร.ฟ.ท. จะยังมีอยู่ แต่พนักงานในส่วนงานโครงสร้างพื้นฐานของ ร.ฟ.ท. ที่มีอยู่กว่า 1,000 คน จะโอนย้ายหน่วยงานไม่สามารถรับอัตรากำลังได้หมด เนื่องจากอัตราค่าตอบแทนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจกับราชการต่างกันมาก จึงมีแนวทางที่จะกำหนดเป็นการว่าจ้าง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
สนทนาภาษานิเทศศาสตร์: ก้าวพ้นมุมมองแบบดราม่าในสถานการณ์ความขัดแย้ง Posted: 17 Apr 2013 07:50 AM PDT ชีวิตจริงของเรามักดำเนินไปตามกรอบการรับรู้ข้อมูลข่าวสารแบบเรื่องเล่าแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะผ่านการพบปะสนทนากับผู้คน การมีปฏิสังสันท์ และการบริโภคข่าวสารจากสื่อมวลชน ธรรมชาติของเรื่องเล่าจะมีโครงสร้างการดำเนินเรื่องแบบละคร (the dramatic construction) ด้วยการเกริ่นนำเรื่อง การเกิดปมความขัดแย้งในเรื่อง จุดพลิกผันเหตุการณ์ที่เร้าอารมณ์ และความต่อเนื่องของเหตุการณ์ย่อย ๆ ที่นำพาไปสู่การคลี่คลายปมอันเป็นจุดจบของเรื่อง เรื่องเล่าจะดำเนินไปไม่ได้เลยหากขาดปมความขัดแย้งที่ชักนำไปสู่การกระทำของตัวละคร เห็นได้จากตัวอย่างในขนบการเล่าเรื่องที่มักมีปมความขัดแย้งพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความชัง ความอิจฉาริษยา ความโลภ โกรธ หลง หรือโชคชะตา ปมความขัดแย้งเหล่านี้จะคลี่คลายไม่ได้หากขาดตัวละครในเรื่องที่ต้องสวมบทบาทในฐานะเป็นผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำและผู้ต่อต้านการกระทำตามแต่ปมของเรื่องเล่าจะผูกไว้เช่นไร การดำเนินเรื่องแบบละครหรือดราม่าถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของบุคคลในสถานการณ์ความขัดแย้ง บทความหนึ่งที่น่าสนใจชื่อว่า Conflict Drama : Victim, Villain or Hero ? ของ Gary Harper (2003) ได้วิเคราะห์สถานการณ์ที่บุคคลมักตกอยู่ในกับดักของความเป็นละคร ซึ่งประกอบด้วยมุมมอง 3 ส่วนหลักคือ มุมมองในฐานะเหยื่อ, ผู้ร้าย และวีรบุรุษ ที่เรียกว่า สามเหลี่ยมดราม่า (The Drama Triangle)[1]เราสามารถเห็นองค์ประกอบเหล่านี้ได้อย่างชัดเจนในเทพนิยายที่มักมีตัวละครหลักสวมบทบาทเป็นตัวแทนของความดีงาม ความชั่วร้าย และผู้ได้รับผลกระทบ ในเรื่องเล่ามักมีการใช้เทคนิคการวางตัวละครตามมุมมองทั้งสามนี้เพื่อดึงดูดความสนใจและสร้างอารมณ์ร่วมแก่ผู้รับสาร และบ่อยครั้งที่พบว่าเรื่องราวที่แสดงอารมณ์มักถูกขยายความรู้สึกร่วมจนเกินไปจากความเป็นจริง ในวัฒนธรรมการดูละคร โรงละครเป็นพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนมาพบปะกันและขณะที่ผู้ชมรับรู้เรื่องราวผ่านคำพูดและการกระทำของตัวละคร ก็ให้เกิดปฏิสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างผู้ชมกับผู้เล่าเรื่อง ผู้ชมกับตัวละคร ผู้ชมกับผู้ชมด้วยกัน รวมทั้งแม้แต่ผู้ชมกับตัวเอง เรื่องเล่าจึงเป็นพื้นที่การสื่อสาร (mediation) อันหลากหลายทั้งในมิติของเวลาและสถานที่ และในมิติของความเป็นตัวตน (subjectivity) การวิเคราะห์เรื่องเล่าจะช่วยทำให้เราเข้าใจมุมมองของผู้เล่าเรื่องในฐานะผู้มอง ผู้เฝ้าดู ผู้กระทำหรือผู้ตัดสินจากเรื่องราวที่เล่า ในทางกลับกัน เมื่อพิจารณาในมุมของผู้รับสาร ในขณะที่ฟังเรื่องเล่านั้น ผู้รับสารก็มักจะวางตัวเองอยู่ในบทบาทใดบทบาทหนึ่งในเรื่องซึ่งจะส่งผลให้ผู้รับสารมีกรอบการมองเหตุการณ์ มีอารมณ์ร่วม และมีการใช้เหตุผลที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น เมื่อบุคคลตกอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง (ไม่ว่าจะในตัวบทเรื่องเล่าหรือในชีวิตจริงก็ตาม) บุคคลนั้นก็มักวางตัวเองในกรอบการมองปัญหาแบบใดแบบหนึ่งตามลักษณะตัวละครทั้งสามในเรื่องเล่าที่กล่าวมาข้างต้น เหยื่อผู้อาภัพและบริสุทธิ์ ตัวอิจฉาที่ชั่วร้าย และวีรบุรุษผู้กล้าและเสียสละ ทั้ง 3 ตัวละครนี้เราพบเห็นอยู่ทุกวันไม่ว่าจะเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์หรือละครโทรทัศน์ ความเป็นดราม่าอยู่รายรอบตัวเราจนดูเหมือนเราจะคุ้นชินกับมัน บ่อยครั้งที่เราเห็นตัวเองอยู่ในบทบาทของเหยื่อที่ไร้อำนาจและบริสุทธิ์ในขณะที่เราอ่านข่าวอาชญากรรมหรือข่าวเหตุการณ์รุนแรง แต่บางครั้งเราอาจสวมบทบาทเป็นวีรบุรุษและยอมรับที่จะใช้ชีวิตอยู่ในความขัดแย้งเพื่อเอาชนะด้วยความเชื่อมั่นในความดีงามและความยุติธรรม หรือบางครั้งเราก็อาจสวมบทบาทเป็นตัวอิจฉาเพื่อแสดงความโกรธและฉุนเฉียวคนอื่น แต่ละบทบาทเหล่านี้ Harper วิเคราะห์ว่า "มันทำให้เกิดมุมมองที่จำกัดเกี่ยวกับความขัดแย้ง ในสถานการณ์ความขัดแย้ง ผู้คนมักพูดว่าพวกเขา "ติดกับ" และถูกผลักให้จนมุม แต่จริง ๆ แล้วพวกเขาไม่ได้ติดกับดักของความขัดแย้ง แต่พวกเขาติดกับดักของสามองค์ประกอบของความเป็นดราม่านี้มากกว่า" The Drama Triangle (Harper, 2003) ในสถานการณ์ความขัดแย้ง เมื่อเราเห็นตัวเองเป็นเหยื่อหรือวีรบุรุษ เราก็จะสร้างศัตรูที่เป็นผู้ร้ายโดยอัตโนมัติ แต่เมื่อเราสร้างบทบาทผู้ร้ายให้แก่ใคร ในทางกลับกัน เขาก็จะรู้สึกว่าตัวเขาตกเป็นเหยื่อของเราและเห็นเราเป็นศัตรูด้วยเช่นกัน ดังนั้น จะเกิดปฏิกิริยาต่อต้านเพื่อปกป้องตัวเองของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งดูเหมือนว่าเป็นการตอบโต้โจมตีเรา หรือแสดงให้เห็นว่าเราไม่สามารถทำให้เขาไว้ใจได้อีกต่อไป ในที่สุดสามเหลี่ยมดราม่าและบทบาทที่เชื่อมต่อกันนี้จะทำให้เราเกิดทัศนคติอย่างหนึ่งโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคือต้องมี "ผู้ชนะ" และ "ผู้แพ้" ในความขัดแย้ง และในเมื่อไม่มีใครอยากแพ้ก็จะมีการตอบโต้เอาคืนอย่างไม่รู้จบ กลายเป็นวงจรของการแก้แค้นในที่สุด ความเป็นดราม่าในสื่อมวลชน เรื่องเล่าในมุมมองแบบดราม่านี้ถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์การนำเสนอข่าวสารในสื่อมวลชนและวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาทของสื่อมวลชนกันอย่างกว้างขวาง สื่อมวลชนถูกเรียกร้องให้หลีกเลี่ยงการนำเสนอข่าวสารที่มีความเป็นดราม่า และยิ่งต้องตระหนักอย่างจริงจังเมื่อต้องนำเสนอข่าวสารในสถานการณ์ความขัดแย้ง คำถามก็คืออะไรคือความเป็นดราม่าในสื่อ ? และสื่อมวลชนควรแสดงบทบาทอย่างไร ? ความเข้าใจโดยทั่วไป ความเป็นดราม่าคือรูปแบบการนำเสนอเรื่องราวหรือสารที่เน้นสร้างความสนใจและเร้าอารมณ์ของผู้รับสาร หากเป็นสถานการณ์การสื่อสารโดยทั่วไป เป็นธรรมดาที่ผู้ส่งสารย่อมมีเจตนาที่จะดึงความสนใจและสร้างการยอมรับของผู้รับสาร แต่การนำเสนอแบบดราม่าไม่ควรนำมาใช้กับการนำเสนอข่าวสารในสื่อมวลชน เนื่องจากการรายงานข่าวอยู่ภายใต้กรอบพันธะสัญญาระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารในเรื่องของ "ข้อเท็จจริง" (fact) และ "ความเป็นจริง" (reality)[2] ดังนั้น การทำให้ข้อมูลข่าวสารมีความเป็นดราม่าจึงถือเป็นการบิดเบือน (manipulation) ข้อมูลข่าวสารแบบหนึ่ง (Charaudeau, 2011 : 219) อย่างไรก็ตาม ในมุมมองแบบวาทกรรมวิเคราะห์กลับเห็นว่า เหตุการณ์ที่เราคิดว่า"จริง"ตามที่ปรากฏในสื่อมวลชนนั้น มันเป็นเพียงเหตุการณ์ของสื่อมวลชน (media event) ที่ไม่อาจเป็นแทนที่เหตุการณ์จริงได้ทั้งหมด เหตุการณ์ของสื่อมวลชนอาจใกล้เคียงหรือห่างไกลความเป็นจริงที่เกิดขึ้นภายนอกพื้นที่สื่อก็ได้ เนื่องจากมันเป็นผลรวมของข้อมูลข่าวสารที่ถูกประกอบสร้างขึ้น ผ่านหลักการเลือกสรร การจัดลำดับความสำคัญ การจัดระบบตามกลไกลการทำงานของโต๊ะข่าวและตามกรอบทัศนะของนักข่าว บรรณาธิการ และฝ่ายต่างๆในองค์กรสื่อ เหตุการณ์ของสื่อมวลชนสะท้อนถึงการตัดสินใจของสื่อว่าข้อมูลข่าวสารอะไรควรนำเสนอและนำเสนออย่างไร (หรือกล่าวอีกแง่หนึ่งคือ เรื่องราวอะไรที่สาธารณะควรรู้และไม่ควรรู้) ในที่สุด ข้อมูลข่าวสารที่ถูกจัดการแล้วจะเปลี่ยนสถานะกลายเป็นเหตุการณ์ก็ต่อเมื่อมันถูกรับรู้และถูกตีความโดยสาธารณะ[3] เหตุการณ์ของสื่อมวลชนแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ประเภทแรกคือ เหตุการณ์ที่ถูกรายงานผ่านสื่อ (Reported event) เป็นการประกอบสร้างพื้นที่ให้กับประเด็นข่าว ผ่านการกระทำและคำพูดที่ถูกรายงานโดยผู้สื่อข่าว ทั้งสองส่วนนี้อาจมาในรูปของเทคนิคการเล่าเรื่อง การบรรยาย และการอธิบาย รวมทั้งการนำเสนอปฏิกิริยาตอบสนองจากสาธารณะเกี่ยวกับข่าวสารนั้น การเลือกประเด็นข่าวและแหล่งข่าว การเลือกใช้ภาษาที่เร้าอารมณ์ การจัดวางลำดับของเหตุและผล รวมทั้งเทคนิคของภาพและเสียง มุมมองแบบดราม่าอาจเข้ามามีอิทธิพลในกระบวนการเหล่านี้ ประเภทที่สอง เหตุการณ์ที่ถูกให้ความเห็น (Commented Event) คือการสร้างพื้นที่ข่าวสารเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่สืบเนื่องจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ประเด็นปัญหาที่สื่อมวลชนชูขึ้นมานี้จะมาในรูปแบบของการวิเคราะห์วิจารณ์บนฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์ หลากหลาย และเปิดกว้างให้มีการตรวจสอบได้ แต่ความเป็นดราม่าจะเกิดขึ้นหากข้อมูลข่าวสารแฝงด้วยอคติ อารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวของผู้สื่อข่าวหรือแหล่งข่าว และประเภทสุดท้ายคือ เหตุการณ์ที่ถูกทำให้เป็นวาระ (Provoked Event) เป็นการสร้างพื้นที่ของการถกเถียงในสื่อมวลชน เช่น การแสดงความคิดเห็นในเวทีอภิปราย การสัมภาษณ์ในรายการสนทนา การวิพากษ์วิจารณ์ในคอลัมน์หนังสือพิมพ์ พื้นที่ของความคิดเห็นและการถกเถียงนี้ได้กระตุ้นให้เกิดความสนใจของสาธารณะ เกิดเป็นกระแสหรือวาระทางสังคม และได้กลายเป็นเหตุการณ์ในตัวมันเอง เช่น การพูดคุยถึงแนวทางการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการจัดวาระข่าวสารในเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาด้านการเมืองการปกครอง การอำนวยความยุติธรรม และการยอมรับในอัตลักษณ์ของชาวมลายูมุสลิม เหตุการณ์ประเภทหลังนี้เปิดโอกาสให้มีความเป็นดราม่าน้อยกว่าประเภทอื่นเนื่องจากการวิพากษ์วิจารณ์และการตรวจสอบซึ่งจะเข้มข้นมากน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับความคิดที่หลากหลายเพียงพอในสื่อ ทั้งสามประเภทเหตุการณ์ของสื่อมวลชนนี้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงและสนับสนุนซึ่งกันและกันจนกลายเป็นปฏิบัติการทางวาทกรรมของสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นการรายงานข่าวในสื่อโทรทัศน์หรือหน้าหนังสือพิมพ์ล้วนแล้วแต่ประกอบไปด้วยข่าว บทความ คอลัมน์ รายการพิเศษ ฯลฯ ที่มีประเด็นข่าวและความหมายของเหตุการณ์ในข่าวที่สอดประสานกัน[4] การทำให้ข่าวสารกลายเป็นดราม่า (a dramatizing scenario) จึงอาจเกิดขึ้นได้ในเหตุการณ์ของสื่อมวลชนทั้งสามประเภทนี้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ความขัดแย้งหลายกรณี มีการศึกษาพบว่าการรายงานข่าวสารในสื่อมวลชนมักประกอบด้วยโครงเรื่องหลักคือ (1) การแสดงให้เห็นถึงความสับสนวุ่นวายในสังคมผ่านการกระทำของตัวแสดงคือ ผู้ร้าย เหยื่อและวีรบุรุษ (2) การเรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหา กำจัดสิ่งเลวร้ายหรือหาตัวผู้รับผิดชอบ และ (3) แสดงถึงการเข้ามาแก้ไขปัญหาของผู้ช่วยเหลือหรือวีรบุรุษ (Charaudeau, 2011 ; Gerbner, 1989) สื่อมวลชนจะหลุดพ้นจากกับดักดราม่าได้อย่างไร ? เมื่อกลับมาพิจารณาการนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ในสื่อมวลชนไทย โดยเฉพาะกรณีการแถลงข่าวการทำข้อตกลงทั่วไประหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มก่อความไม่สงบ (BRN) เพื่อเดินหน้ากระบวนการพูดคุยสันติภาพ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ณ ประเทศมาเลเซีย เหตุการณ์นี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของบริบทการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือน จนกระทั่งมีการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการรอบแรกเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา สื่อมวลชนต่างรายงานเหตุการณ์รวมทั้งนำเสนอความคิดเห็นและการวิเคราะห์จากทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่อง เนื้อหาข่าวสารที่ปรากฏในสื่อมวลชนส่วนใหญ่มีแนวโน้มสนับสนุนแนวทางการพูดคุยสันติภาพ แต่ก็ยังมีการตั้งข้อสังเกต วิเคราะห์สถานการณ์ และตั้งคำถามหลายประเด็นทั้งจากนักข่าวเองหรือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น การพูดคุยจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้หรือไม่ กลุ่มขบวนการที่มาพูดคุยเป็นตัวจริงหรือไม่ ในฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการมีแนวคิดและการทำงานที่เป็นเอกภาพหรือไม่ การดำเนินการของรัฐบาลมีเจตนาเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองบางคนหรือไม่ ชาวมุสลิมในพื้นที่มีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพมากน้อยแค่ไหน เป็นต้น หากพิจารณาถึงธรรมชาติของเหตุการณ์ของสื่อมวลชน เราจะพบว่าคำถามเหล่านี้ยังไม่หลุดพ้นจากกับดักของสามเหลี่ยมดราม่า กล่าวคือ สื่อมวลชนยังมุ่งความสนใจไปที่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสามตัวละครหลักของมุมมองแบบดราม่าคือ ความคลางแคลงใจในตัวผู้ร้าย (กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ) ความไม่เชื่อมั่นในฝีมือของผู้แก้ปัญหา (รัฐบาล) และการมองเห็นเหยื่อเป็นฝ่ายที่อ่อนแอ (ประชาชนในพื้นที่) เรื่องราวในสื่อมวลชนเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้ที่ยังคงติดอยู่ในกรอบการมองเช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่พึงตระหนักและระมัดระวัง เนื่องจากเราอาจตกอยู่ในวังวนของสามเหลี่ยมดราม่าและมองไม่เห็นทางออกของความขัดแย้ง ทั้ง ๆ ที่บริบทของสถานการณ์ในภาคใต้ขยับเปลี่ยนไปตลอดเวลา ข้อสนอของ Harper นั้นน่าสนใจ เขามองว่าเราควรสร้างบทบาทใหม่ในเรื่องเล่าเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้ง โดย (1) เปลี่ยนบทบาทจากการเป็นเหยื่อที่ถูกกระทำ (Victimisation) ไปสู่บทบาทของคนที่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง (2) เปลี่ยนบทบาทจากวีรบุรุษ (Hero) ไปสู่บทบาทของผู้เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาและทำงานร่วมกับทุกฝ่าย และ (3) เปลี่ยนจากการมองศัตรูเป็นตัวอุปสรรค (Villain) ที่คอยควบคุมหรือคิดร้ายมาเป็นผู้ประสานความร่วมมือ (Collaborator) ข้อเสนอนี้คือการลดขนาดปัญหาหรือวงกลมในสามเหลี่ยมดราม่าให้สมดุล ไม่เอนเอียงไปยังคู่บทบาทใดบทบาทหนึ่ง เราต้องค้นหาพื้นที่ของการฟังคนอื่น รับฟังจุดยืนบทบาทของคนอื่นบ้างเพื่อก่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการพูดคุยสันติภาพ ความเข้าใจร่วมกันและลดเงื่อนไขของความขัดแย้ง กระบวนการพูดคุยสันติภาพกำลังดำเนินไปและนั่นก็ทำให้เราและสื่อมวลชนต้องปรับเปลี่ยนมุมมองสถานการณ์นี้ใหม่ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าเราจะเคยแสดงบทบาทใดในสามเหลี่ยมดราม่านี้ก็ตาม แต่หากเรา รวมทั้งสื่อมวลชนก้าวพ้นกรอบดราม่าและเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ นำเสนอข่าวสารที่แสดงถึงพลังของสังคม เปลี่ยนจากการมองประชาชนผู้ถูกกระทำไปสู่บทบาทของผู้มีความสามารถในการแก้ปัญหา เปลี่ยนจากการแสวงหาวีรบุรุษมากอบกู้สถานการณ์ไปสู่การแสวงหาผู้ที่สามารถประสานความร่วมมือกับทุกฝ่ายได้ และเปลี่ยนจากการมองกลุ่มผู้มีความเห็นต่างจากรัฐเป็นศัตรูมาเป็นการเชื้อเชิญและสร้างความมั่นใจให้กลุ่มเหล่านั้นเข้ามาสู่สนามแห่งสันติภาพ เราและสื่อมวลชนก็จะเป็นกลไกที่สำคัญที่ทำให้เกิดสันติสุขในภาคใต้ได้ในเวลาอันใกล้. รายการอ้างอิง Barthes, Roland. "L'introduction à l'analyse structurale des récits", in Communications, 8, 1966, pp:1-27. Breton, Philippe. « L'argumentation dans la communication ». Paris : La Découverte, 1996. Charaudeau, Patrick. « Les médias et l'information : l'impossible transparente du discours ». 2nd ed. Paris : De Boeck, 2011. Gerbner, George. « Violence et terreur dans les médias ». Paris : Unesco, 1989. Harper, Gary. « Conflict Drama : Victim, Villain or Hero ?", 2003. Available : http://www.garyharper.ca/Articles/ConflictDrama-VictimVillainHero.pdf [1] สามเหลี่ยมดราม่า เป็นตัวแบบการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่เสนอโดย Stephen Karpman (1968). Available : http://www.karpmandramatriangle.com/articles.html [2] มี "ความจริง" อีกประเภทหนึ่งที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้คือ ความจริงที่หมายถึงสิ่งที่ประจักษ์แจ้งแก่เรา (truth) ซึ่งมีการถกเถียงในทั้งทางญาณวิทยาและทางปรัชญาถึงความจริงที่แท้นั้นมีหรือไม่ ความจริงในความหมายนี้อยู่นอกเหนือจากขอบเขตของพื้นที่สื่อ แต่เป็นขอบเขตของการรับรู้และการตีความของผู้รับสาร อ่านแนวคิดเรื่องความจริงเพิ่มเติมได้ "ความรุนแรงกับการจัดการ "ความจริง" : ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ" โดยศาสตราจรย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, 2551. [3] เหตุการณ์ในสื่อมวลชนคือเหตุการณ์ที่สัมพันธ์กับการรับรู้และตีความของผู้รับสารเท่านั้น กล่าวคือ อุบัติการณ์ใดก็ตาม หากเกิดขึ้นโดยไม่มีใครรับรู้หรือไม่มีใครตระหนักว่ามันเกี่ยวพันกับชีวิตเราอย่างไร ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์ (event) ตัวอย่างเช่น ภูเขาไฟระเบิดบนเกาะในไอซ์แลนด์เป็นอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่มันจะกลายเป็นเหตุการณ์ก็ต่อเมื่อมันถูกรับรู้และตีความว่าละอองเถ้าถ่านจากการระเบิดของภูเขาไฟนั้นส่งผลกระทบต่อมนุษย์ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม เป็นต้น [4] เป็นการสอดประสานของหน่วยของความหมายในทุกระดับของเรื่องเล่า ได้แก่ ระดับของภาษา ระดับความหมายและวาทกรรม และการจัดระดับชั้นของหน่วยของความหมายเหล่านั้น ได้แก่ ระดับของหน้าที่ (function) และระดับของการกระทำ (action/index) ของความหมาย (Barthes, 1966)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ฝ่ายไทยให้การที่ศาลโลกหักล้างกัมพูชา กรณีพื้นที่พิพาทรอบปราสาทพระวิหาร Posted: 17 Apr 2013 07:42 AM PDT ระบุพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ที่กัมพูชายกไม่เคยปรากฏในคดีเดิมเมื่อปี 2505 และพื้นที่ซึ่งเรียกร้องคราวนี้กว้างกว่าพื้นที่ "บริเวณใกล้เคียง" ปราสาท ตามคำพิพากษาปี 2505 ที่มีขนาด 0.35 ตร.กม. ยืนยันปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวศาลโลก 18 ก.ค. 54 แล้ว และหลังจากนั้นความสัมพันธ์สองชาติดำเนินไปด้วยดี มีช่องทางหารือเพื่อแก้ไขปัญหาระหว่างกัน ที่มา: เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ วันนี้ (17 เม.ย.) ในการให้การโดยวาจารอบแรกของฝ่ายไทยต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ในคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 นั้น เว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ในฐานะตัวแทนประเทศไทยและคณะที่ปรึกษากฏหมายชาวต่างชาติของฝ่ายไทย ได้แก่ โดนัลด์ เอ็ม แมคเรย์ และอลินา มิรอง ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อศาลฯ ย้ำท่าทีของฝ่ายไทยและหักล้าง คำแถลงทางวาจาของฝ่ายกัมพูชาเมื่อวันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ผู้ให้การด้วยวาจาประกอบด้วย นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ขึ้นชี้แจงทางวาจาต่อศาลโลกแล้ว ตามด้วยทนายความได้แก่ นายโดนัลด์ เอ็ม แมคเรย์ และอลินา มิรอง ผู้ช่วยของศาสตราจารย์แปลเลต์ เป็นผู้ที่ทำงานและศึกษาเรื่องแผนที่ โดยหลังเสร็จสิ้นการแถลงทางวาจาของไทยในช่วงเช้า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว สรุปประเด็นสำคัญในคำแถลงของฝ่ายไทย ดังนี้ 1. การขอตีความของกัมพูชาบิดเบือนกระบวนการของศาลฯ ไม่ใช่การขอตีความ แต่มีลักษณะเป็นการอุทธรณ์ เพื่อให้ศาลฯ ตัดสินในเรื่องที่เคยปฏิเสธที่จะตัดสินเมื่อ 50 ปีที่แล้ว 2. พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรที่กัมพูชาเรียกร้องเป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏในคดีเดิม กัมพูชา กล่าวอ้างเพราะต้องการนำพื้นที่ดังกล่าวไปใช้ในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก 3. พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรที่กัมพูชาเรียกร้องในครั้งนี้ มีขนาดกว้างกว่าพื้นที่ "บริเวณใกล้เคียง"ปราสาท ในคำพิพากษาฯ ปี 2505 ที่กัมพูชาเคยอ้างสิทธิไว้ในคดีเดิม ซึ่งมีขนาดแค่ 0.35 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น 4. เส้นมติคณะรัฐมนตรีปี 2505 ที่ไทยใช้ในการปฏิบัติตามคำพิพากษาฯ สอดคล้องกับพื้นที่ "บริเวณใกล้เคียง" ปราสาทในคำพิพากษาฯ และกัมพูชาไม่เคยทักท้วงว่าไทยไม่ได้ถอนกำลังจากบริเวณดังกล่าว ซึ่งแสดงว่า ทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกัน จึงไม่จำเป็นต้องตีความ 5. ไทยแสดงให้ศาลฯ เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลของเอกสารหลักฐานที่กัมพูชาใช้ในศาลฯครั้งนี้ โดย "แผนที่ภาคผนวกหนึ่ง" ที่กัมพูชาใช้อ้างมีด้วยกันหลายชุด แผนที่ชุดที่กัมพูชายื่นต่อศาลฯ ในคดีเดิมแตกต่างจากแผนที่ชุดที่นำมาใช้ครั้งนี้ และเส้นบนแผนที่ก็ไม่สามารถถ่ายทอดลงบนภูมิประเทศจริงได้อย่างถูกต้อง นอกจากนั้น กัมพูชายังนำแผนที่ที่ไทยเคยนำไปยื่นต่อศาลฯ ในคดีเดิมมาแต่งเติม 6. ไทยได้ยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวที่ศาลฯ สั่งเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2554 แล้ว ซึ่งก็บรรลุผลที่ศาลฯ ต้องการ คือ ไม่มีเหตุปะทะทางอาวุธในบริเวณชายแดน ไม่มีการสูญเสียชีวิต และไทยกับกัมพูชาได้ประชุมหารือกันและเห็นพ้องเรื่องขั้นตอนการดำเนินการ นอกจากนั้น ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาดำเนินไปด้วยดี มีช่องทางหารือเพื่อแก้ไขปัญหาระหว่างกัน รวมถึงในเรื่องเขตแดนที่กัมพูชาพยายามขอให้ศาลฯ ตีความก็มีกลไกการเจรจาภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำเขตแดนทางบก พ.ศ. 2543 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวด้วยว่า สิ่งที่ฝ่ายไทยแถลงต่อศาลฯ เป็นไปตามแนวทางการต่อสู้คดีที่ได้เตรียมไว้ล่วงหน้าอย่างรอบคอบ โดยขอให้ศาลฯ ไม่รับคดีไว้พิจารณา หรือหากศาลฯ เห็นว่า ศาลฯ มีอำนาจรับคดีไว้พิจารณา ก็ขอให้ตัดสินว่าไม่มีประเด็นที่จะต้องตีความ เพราะคำพิพากษาฯ ชัดเจน และไทยได้ปฏิบัติตามแล้ว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
มติพท.ชี้ศาลรธน.ไม่มีอำนาจรับพิจารณาแก้ไขรธน.ม.68–เลื่อนวาระนิรโทษกรรม Posted: 17 Apr 2013 05:36 AM PDT ชี้ "ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการรับพิจารณาเรื่องนี้" กรณีรับคำร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 พรรคเพื่อไทย เห็นชอบและสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของ ส.ส. วรชัย เหมะ และขอให้มีการพิจารณาเลื่อนระเบียบวาระขึ้นมาในการประชุม 18 เม.ย.นี้
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งโดยมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 3 รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยกรณีนายบวร ยสินทร กับคณะ ขอให้ศาลฯ พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ ม.65 ว่า ประธานรัฐสภากับพะวก 312 คน กระทำการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตัดสิทธิของบุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่ยกคำขอคุ้มครองชั่วคราว เนื่องจากไม่ปรากฏมูลกรณีอันเป็นเหตุฉุกเฉินหรือเหตุอันสมควรเพียงพอที่จะต้องใช้วิธีการชั่วคราว รวมทั้งเมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 รับคำร้อง นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กรณีขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 64 ว่า "นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ กับคณะ กระทำการที่ส่อไปในทางกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและส่อว่าจงใจใช้ อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญโดยการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย การตัดสิทธิบุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรือไม่" อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา กรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนา ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ ม.68 ว่า นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ผู้ถูกร้องที่ 1 กับคณะ 11 คน และพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ถูกร้องที่ 12 กระทำการร่วมกันใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีการตัดสิทธิของบุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยศาลเห็นว่าคำร้องไม่ปรากฏว่ามีการกระทำฝ่าฝืนหรือต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ม.68 วรรคหนึ่ง ดังนั้นคำขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉินย่อมตกไปด้วย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
‘ในหลวง’ มีพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัยเหตุระเบิดบอสตัน Posted: 17 Apr 2013 04:41 AM PDT 17 เม.ย.56 เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Information Division of OHM' ของ กองข่าว สำนักราชเลขาธิการ เผยแพร่พระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปยังประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กรณีเหตุระเบิดระหว่างการแข่งขันวิ่งมาราธอน ที่เมืองบอสตัน ดังนี้
จากเฟซบุ๊กแฟนเพจ Information Division of OHM ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
หมอมงคล เตือน รมว.สาธารณสุข ถอยพีฟอร์พี ก่อนสายเกินไป Posted: 17 Apr 2013 04:15 AM PDT
นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์ข้อความแสดงความเห็น เกี่ยวกับนโยบายจ่ายค่าตอบแทนตามผลงาน หรือ พีฟอร์พี ของนพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุขว่า "ประวัติศาสตร์ได้จารึกความแตกแยกในกระทรวงสาธารณะสุขไว้แล้วด้วยความขมขื่น ผู้บริหารทั้งการเมืองและข้าราชการประจำ ยังภูมิใจในการเป็นผู้นำองค์กรที่แตกแยกอยู่หรือ ใครผิดใครถูกยังไม่ต้องพิสูจน์ แต่การรักษาความเป็นเอกภาพทางการบริหารองค์กรเป็นบทบาทหลักของผู้บริหารมิใช่หรือ หากยังฝืนยื้อให้กลุ่มต่างๆ มาชนกันจะยิ่งสร้างความเสียหายให้ใหญ่หลวงยิ่งขึ้น ถอยออกมาอย่างผู้ที่มีสติสูง หาทางพูดคุยกันใหม่ระหว่างผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย หากปล่อยให้ผู้ที่ไม่เคยสัมผัสการทำงานบริการสาธารณสุขในชนบท มาให้ความเห็นจะทำให้หลงทางกันไปใหญ่" อดีต รมว.สาธารณสุขให้ความเห็นต่อนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการให้บริการว่า "อยากยกตัวอย่างการแก้ปัญหาวัยรุ่นท้องก่อนวัยอันควร ที่มีสถิติว่าการคลอดอายุต่ำกว่า 20 ปี มีวันละ 370 ราย 10ราย อายุต่ำกว่า 15 ปี ผู้อำนวยการ รพ.ชุมชนต้องไปทำงานร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม ชุมชน ท้องถิ่น วัด โรงเรียน เพื่อแก้ปัญหาที่ยากสาหัส ใช้เวลา ประสานงานหลายทิศ ถามว่ามีตัวชี้วัดไหม ถ้ามีให้แต้มเท่าไร งานอย่างนี้มีมากในชนบท แม้แต่งานบวช งานศพ งานแต่งงาน ผู้อำนวยการ รพ.ชุมชนจะได้รับเชิญ และต้องไปร่วม เพราะต้องเชื่อมไว้ประสานงานแก้ปัญหาสาธารณะสุขในชุมชน จะทำตัวชี้วัดให้ครอบคลุม และให้แต้มที่เป็นธรรมทำได้ยาก" "การถอยอย่างผู้เจริญแล้วในขณะนี้ดูเหมือนจะสายเกินไป แต่เชื่อว่าจะได้รับการยกย่องมากกว่าปล่อยให้ทุกอย่างพังทลายลงไป" นพ.มงคลกล่าว แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ขณะนี้มีการเคลื่อนไหวของผู้อาวุโสในระบบสาธารณสุข ที่เคยเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันการพัฒนาระบบบริการ ส่งต่อแบบเครือข่ายของ รพ. ระดับต่างๆ และบุกเบิกงานสาธารณสุขมูลฐานในยุคสมัย นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว อดีต รมว.สาธารณสุข ต่อเนื่องถึงสมัย นพ.อมร นนทสุต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำลังหารือเพื่อปกป้องระบบสาธารณสุขของไทยที่เคยเป็นเอกภาพ โดยหลายคนเป็นห่วงว่าการปล่อยให้อำนาจทางการเมืองเข้าแทรกแซงหน่วยงานต่างๆ และผลักดันนโยบายจ่ายค่าตอบแทนตามผลงาน หรือ พีฟอร์พี แบบไม่มีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ และอาจไม่สอดคล้องกับสภาพงานของพื้นที่ รวมทั้งนโยบายเมดิคอลฮับจะเอื้อประโยชน์กับธุรกิจเอกชน และทำให้ระบบสาธารณสุขของรัฐอ่อนแอลง ประชาชน ผู้ป่วยในชนบทเดือดร้อน ซึ่งจะกระทบต่อความมั่นคงของสังคม โดยเฉพาะความมั่นคงในสามจังหวัดภาคใต้ โดยจะมีการเคลื่อนไหวให้รัฐบาลทบทวนนโยบายดังกล่าว มีรายงานข่าวว่ากลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคไต ผู้ติดเชื้อ HIV และเครือข่ายคนพิการกำลังจะเคลื่อนไหวขอให้ รมว.สาธารณสุข ทบทวนบทบาทของตัวเอง เพราะความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการออกนโยบายที่ผิดพลาดมีผลโดยตรงต่อผู้ป่วยและประชาชน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
สิ้น ‘ศรีฟ้า ลดาวัลย์’ ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของนวนิยาย ‘บ่วง-ข้าวนอกนา’ Posted: 17 Apr 2013 04:08 AM PDT 17 เม.ย.56 เนชั่นแชลแนล รายนงานว่า นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า หม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ได้เสียชีวิตลงแล้วเนื่องจากอาการป่วยเส้นเลือดในสมองตีบ เมื่อวันที่ 16 เม.ย. เวลาประมาณ 17.45 น. ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า สิริรวมอายุ 83 ปี ซึ่งขณะนี้ทายาทและลูกศิษย์ได้กำหนดจัดสวดพระอภิธรรมที่ ณ ศาลาภาณุรังษี วัดเทพศิรินทราวาส แขวงเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ ในระหว่างวันที่ 18- 24 เม.ย. เวลา 19.00 น. ทั้งนี้ จะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ในวันพฤหัสบดีที่ 18 เม.ย. เวลา 18.30 น. ซึ่งทายาทจะเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศลเป็นเวลา 100 วัน และจะขอพระราชทานเพลิงศพต่อไป "รู้สึกเสียใจที่ได้สูญเสียบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิที่อุทิศตนทำงานเพื่อสังคม ทั้งในด้านวรรณศิลป์ อีกทั้งยังมีความคิดริเริ่ม มีคุณธรรม เสียสละเพื่อส่วนรวม ในการนี้ สวธ. ได้จัดสวัสดิการช่วยเหลือเพื่อร่วมบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน 20,000 บาท และเงินค่าช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท" นายชาย กล่าว หม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2539 เกิดเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2473 ที่วังมหาสวัสดิ์ เป็นธิดาของหม่อมราชวงศ์สนั่น ลดาวัลย์ กับนางบัวจันทร์ ลดาวัลย์ ณ อยุธยา หม่อมหลวงศรีฟ้าเขียนนวนิยายไว้ประมาณกว่า 100 เรื่องโดยเริ่มงานเขียนเรื่องสั้นตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมปลายเมื่อ พ.ศ. 2489 ใช้นามปากกา "ภัฏฏินวดี" ตีพิมพ์ในนิตยสารเดลิเมล์ และไทยใหม่ ต่อมาได้ใช้นามปากกา "จุลลดา ภักดีภูมินทร์" เขียนนวนิยายเรื่อง "ปราสาทมืด" ตีพิมพ์ในนิตยสารศรีสัปดาห์ เมื่อ พ.ศ. 2498 ได้รับความนิยมมาก ตีพิมพ์ใหม่หลายสิบครั้ง และมีผู้นำไปสร้างภาพยนตร์ไทยและละครโทรทัศน์หลายครั้ง ต่อมาได้ใช้นามปากกา "ศรีฟ้า ลดาวัลย์" เขียนเรื่องสั้น และนวนิยาย ส่วนนามปากกา จุลลดา ภักดีภูมินทร์ ใช้เขียนนวนิยายชีวิตครอบครัว ในระยะหลังได้ใช้นามปากกานี้ เขียนสารคดีเกี่ยวกับชีวิตของเชื้อพระวงศ์ในวัง ตีพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทย หม่อมหลวงศรีฟ้าเขียนนวนิยายสะท้อนสังคม โดยใช้นามปากกาว่า "สีฟ้า" ตั้งแต่ พ.ศ. 2499 ตั้งให้โดย มานิต ศรีสาคร (สีน้ำ) เป็นนามปากกาที่สร้างชื่อเสียง ผลงานได้รับรางวัล และถูกนำไปสร้างภาพยนตร์เป็นจำนวนมาก เช่นเรื่อง วงเวียนชีวิต ข้าวนอกนา ทำไม แผ่นดินนี้ยังรื่นรมย์ ใต้ฟ้าสีคราม เศรษฐีนี ตะวันไม่เคยเลยลับ โดยเฉพาะเรื่องข้าวนอกนา และใต้ฟ้าสีคราม ได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นโดยมูลนิธิโตโยต้า และถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ สำหรับผลงานที่มีชื่อเสียงเช่น ขมิ้นกับปูน ปราสาทมืด บ่วง ข้าวนอกนา ใต้ฟ้าสีคราม กนกลายโบตั๋น อรุณสวัสดิ์ คนกลางเมือง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
เงินเฟ้อต่ำ-ความเสี่ยงศก.โลกลด-หุ้นพุ่ง-ดอกเบี้ยจ่อขยับขึ้นฉุดทองต่ำสุดรอบ30ปี Posted: 17 Apr 2013 02:53 AM PDT "เงินเฟ้อต่ำ-ความกังวลเศรษฐกิจโลกลดลง-หุ้นพุ่ง-ดอกเบี้ยจ่อขยับขึ้น " 4 ปัจจัยเสี่ยงทุบราคาทองคำในตลาดโลก ดำดิ่งวันเดียวหนักสุดในรอบ 30 ปี ขณะที่ในประเทศเปิดตลาดดิ่งเหว 2,350 บาท ร่วงแรงเป็นประวัติการณ์ สมาคมค้าทองคำรายงานราคาทอง 96.5% ประจำวันที่ 17 เม.ย.2556 เวลา 09:30 น. (ครั้งที่ 1) ทองคำแท่ง รับซื้อคืนบาทละ 18,900 บาท ขายออก19,000 บาท ทองรูปพรรณรับซื้อคืน 18,631.64บาท ขายออก 19,400 บาท ลดลง 2,350 บาท เทียบปิดตลาดวันที่ 12 เม.ย. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานถึง 4 ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ราคาทองต่ำสุดในรอบ 30 ปี ด้วยว่าราคาทองคำร่วงภายในวันเดียวหนักสุดในรอบกว่า 30 ปี ราคาลดลงไปถึง 140.30 ดอลลาร์ หรือ 9% มาอยู่ที่ 1,361 ดอลลาร์ ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์ก สหรัฐ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (15 เม.ย.) แม้ราคาจะค่อยๆ ปรับตัวลงมา นับแต่พุ่งไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เมื่อเดือนส.ค. 2554 แต่กระแสการเทขายอย่างหนักเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนราคาในตลาดโลกจะร่วงลงมาอย่างหนัก ราคาทองคำไต่ระดับขึ้นมาทุกปี เนื่องจากนักลงทุนพากันเข้าซื้อทองคำ เพื่อเป็นเกราะป้องกันจากเงินเฟ้อ และในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งสวรรค์สำหรับการลงทุนอย่างปลอดภัย ราคาทองคำพุ่งขึ้นไปทำสถิติสูงสุดเมื่อครั้งที่รัฐสภา สหรัฐกำลังงัดข้อกันในเรื่องการเพิ่มเพดานหนี้ จนทำให้เกิดความเสี่ยงว่า สหรัฐ ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลกจะผิดนัดชำระหนี้ แต่การชะลอตัวของเงินเฟ้อ ประกอบกับกระแสคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำลังพิจารณาลดการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จุดชนวนให้บรรดานักลงทุนพากันเทขายทองคำ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (12 เม.ย.) ตลาดยังได้แรงกระตุ้นจากรายงานข่าวที่ว่า ไซปรัสอาจเทขายทองคำสำรองบางส่วน เพื่อหาเงินมาจ่ายหนี้ หลังจากได้รับการอัดฉีดจากนานาประเทศแล้ว สาเหตุที่ทำให้ราคาทองคำร่วงลง และการปรับตัวลดลงที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อาจเป็นไปได้ดังต่อไปนี้
1. เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ นักลงทุนเข้าซื้อทองคำ เพราะเกรงว่าเงินเฟ้อจะพุ่งสูงขึ้นเร็วเกินไป จากการที่เฟดดำเนินความพยายามกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมา ผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล โดยต้นทุนสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น จะบั่นทอนกำลังการซื้อของเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ เงินเฟ้อยังคงอยู่ภายใต้การควบคุม แม้เศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นแล้วก็ตาม ทั้งเมื่อเร็วๆ นี้ เงินดอลลาร์ ยังแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ทำให้ทองคำกลายเป็นแหล่งลงทุนที่มีความน่าสนใจน้อยลง
2. ความกังวลเศรษฐกิจโลกลดลง การเข้าซื้อทองคำ ยังเกิดจากการที่ทองคำเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย เป็นเสมือนสินทรัพย์ที่สร้างความอุ่นใจให้กับนักลงทุน ในช่วงเวลาที่เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดการล่มสลายในผลิตภัณฑ์การเงินต่างๆ สถานการณ์ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดความวิตกต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น วิกฤติการเงิน ความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะผิดนัดชำระหนี้ หรือการล่มสลายในยุโรป ซึ่งล้วนแต่เป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้เกิดการเข้าลงทุนในทองคำมากขึ้น จนดันให้ราคาพุ่งสูงขึ้น แต่เมื่อความกังวลเริ่มหายไป หลังธนาคารกลางประเทศต่างๆ พากันเข้าอัดฉีดเศรษฐกิจที่มีปัญหารายแล้วรายเล่า จึงทำให้การเข้าซื้อทองคำลดลง นายนิโคลาส บรูคส์ หัวหน้าฝ่ายวิจัย และกลยุทธ์การลงทุน จากอีทีเอฟ ซิเคียวนริตีส์ ระบุว่า ทองคำเป็นเหมือนหลักทรัพย์ค้ำประกัน เมื่อสถานการณ์การลงทุนอยู่ในสภาวะย่ำแย่อย่างหนัก และตอนนี้ที่ราคาลดลง ก็เป็นเพราะผู้คนรู้สึกว่า ไม่จำเป็นต้องมีการค้ำประกันในขณะนี้แต่อย่างใด
3. ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น แม้ตลาดหลักทรัพย์เกือบทั่วโลก จะปรับลดลงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา แต่ตลอดทั้งปีนี้ ตลาดหุ้นอยู่ในขาขึ้นเป็นส่วนใหญ่ เพราะนักลงทุนต่างมองแง่ดีว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะหลุดพ้นจากภาวะซบเซา หลังหลุดพ้นจากภาวะถดถอยครั้งใหญ่ ซึ่งก่อนหน้าที่จะเกิดการเทขายทองคำครั้งใหญ่นั้น ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับขึ้นมาแล้วถึง 11% นายปีเตอร์ ชิฟฟ์ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) จากยูโร แปซิฟิก แคปิตัล แสดงความเห็นว่า ในโลกของเงินร้อนนั้น ผู้คนมักไม่ค่อยมีความอดทน และเมื่อดาวโจนส์ เริ่มขยับขึ้นทำสถิติใหม่ ทำให้นักลงทุนเริ่มคิดว่า การอยู่ในตลาดทองคำ ทำให้พวกเขาพลาดโอกาสไป จึงเกิดการเทขายทองคำ เพื่อนำเงินมาลงทุนในตลาดหุ้น
4. ดอกเบี้ยจ่อขยับขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐ เริ่มพิจารณาถึงการปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลงมา ถ้าหากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจรวมถึง การปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อรักษาสภาพเศรษฐกิจไม่ให้ร้อนแรงจนเกินไป ซึ่งนักวิเคราะห์ชี้ว่าการถือครองทองคำในช่วงเวลาที่ดอกเบี้ยใกล้ถึงระดับ 0% เหมือนในขณะนี้ เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล เพราะเงินฝากในบัญชีจะไม่ได้ให้ผลตอบแทนใดๆ แต่หากดอกเบี้ยสูงขึ้น ก็จะทำให้ความน่าสนใจในทองคำลดลง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
'พล.อ.ปรีชา' ยุติชุมนุมที่ชายแดนแล้ว - 'สันติอโศก' แต่งเพลงโจมตีกัมพูชา Posted: 17 Apr 2013 02:26 AM PDT แกนนำผู้ชุมนุมหวังปักเสาธงขนาด 21 เมตรในพื้นที่พิพาทไทย-กัมพูชา ประกาศยุติชุมนุมแล้วหลังถูกเจ้าหน้าที่-ชรบ.ภูมิซรอลตั้งด่านสกัด โดยแกนนำมอบเสาธงให้ทหารนำไปปักแทน ด้าน youtube ช่องสันติอโศก นำทำนอง 'กังนัมสไตล์' แต่งเพลงโจมตีกัมพูชา พร้อมกล่าวหาว่าจะมาแย่งที่ทำกิน ผู้ชุมนุมรายหนึ่งห้ามปรามผู้ชุมนุมด้วยกัน ไม่ให้มีปากเสียงกับเจ้าหน้าที่บริเวณด่านตรวจอาวุธ ก่อนถึงชายแดนไทย-กัมพูชา ระหว่างการชุมนุมซึ่งนำโดย พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ เพื่อจะนำธงชาติไปปักที่ชายแดนวันนี้ (17 เม.ย.) (ที่มาของภาพ: สถานีโทรทัศน์ช่อง 3) ตามที่ผู้ชุมนุมกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ นำโดย พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณซึ่งเคยปราศรัยบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้นัดหมายผู้สนับสนุนที่หน้าศาลหลักเมือง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีษะเกษ ในวันที่ 17 เม.ย. เพื่อเดินทางไปที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ชายแดนไทย-กัมพูชา และเตรียมธงชาติไทยและเสาธงสูง 21 เมตร เข้าไปปักบริเวณพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร โดยระบุว่าเป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์นั้น ล่าสุดวันนี้ (17 เม.ย.) ผู้ชุมนุมได้ใช้รถ 6 ล้อนำขบวนพร้อมรถยนต์อีกประมาณ 20 คัน รวมตัวกันที่ศาลหลักเมือง อ.กันทรลักษ์ ก่อนเคลื่อนขบวนไปที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านปราสาทพระวิหารดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งด่านค้นอาวุธ 2 จุด และยึดคีบตัดเหล็กจากผู้ชุมนุมได้ด้วย โดยผู้ชุมนุมได้เคลื่อนมาถึงบริเวณหน้า ร.ร.บ้านภูมิซรอล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ และมีการตั้งด่านสกัดของ ชรบ. และเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมผ่านขึ้นไปยังบริเวณผามออีแดง อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ล่าสุด เนชั่นทันข่าว รายงานเมื่อเวลา 14.34 น. ว่า ผู้ชุมนุมได้เจรจากับตัวแทนฝ่ายเจ้าหน้าที่ และมอบธงชาติให้ฝ่ายทหารขึ้นไปปักแทนโดยมี พ.อ.ธัญญา เกียรติสาร รองผู้บังคับการกองกำลังสุรนารี (ผบ.กกล.) กองทัพภาคที่ 2 เป็นตัวแทนมารับมอบธง โดยจะให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปเป็นพยาน ด้าน พล.อ.ปรีชา ประกาศบนรถปราศรัยว่าภารกิจได้เสร็จสิ้นแล้ว และอวยพรให้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางกลับภูมิลำเนาโดยสวัสดิภาพ มีการร้องเพลงชาติไทยก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การเดินทางมาชุมนุมบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านปราสาทพระวิหารไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดเป็นครั้งแรก แต่ก่อนหน้านี้ในปี 2552 เคยมีผู้สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในนาม "ภาคีเครือข่ายประชาชนทวงคืนดินแดนไทยรอบปราสาทพระวิหาร" นำโดยนายวีระ สมความคิด พาผู้สนับสนุนไปชุมนุมที่ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เพื่อไปอ่าน "ประกาศเจตนารมณ์ทวงคืนดินแดนไทย" ที่ผามออีแดง ในอุทยานแห่งชาติปราสาทเขาพระวิหาร ชายแดนไทย-กัมพูชา เมื่อ 19 ก.ย. 2552 และเกิดการปะทะกับตำรวจและชาวบ้านในพื้นที่บ้านภูมิซรอล ก่อนถึงทางเข้าอุทยานแห่งชาติ จนทหารต้องประกาศกฎอัยการศึกและต่อรองให้นายวีระส่งตัวแทนขึ้นไปอ่านประกาศแทนในวันที่ 20 ก.ย. 2552 และต่อมาในวันที่ 29 ก.ย. 2552 นายวีระ ได้พาผู้สนับสนุนไปที่ปราสาทพระวิหารจำลอง ภายในเมืองโบราณ จ.สมุทรปราการแทน เพื่ออ่านแถลงการณ์ทวงคืนปราสาทพระวิหาร (ข่าวที่เกี่ยวข้อง) อนึ่งในเดือนกันยายนปี 2552 นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. เคย เสนอให้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านภูมิซรอล ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ใกล้กับเขาพระวิหาร โดยนายไพบูลย์ให้เหตุผลที่เสนอเปลี่ยนชื่อว่าเนื่องจากชื่อหมู่บ้านเป็นภาษากัมพูชา ภาพจากมิวสิควิดีโอเพลง "ฮาโคตรเศร้า ชายแดนสิตาย" ซึ่งเผยแพร่ทางยูทิวป์ของ FMTV ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมของกลุ่มสันติอโศก นอกจากนี้ ยูทิวป์ของ FMTV ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมของกลุ่มสันติอโศกได้เผยแพร่มิวสิควิดีโอเพลง "ฮาโคตรเศร้า ชายแดนสิตาย" โดยนำทำนองเพลงกังนัมสไตล์ของปาร์ก แจ ซัง (PSY) มาดัดแปลง แต่ใส่เนื้อร้องในทำนองว่า บอกว่าประชาชนทำไร่ทำสวนบริเวณชายแดน แต่ถูกกัมพูชาเข้ามาขับไล่ พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนมาขับไล่ชาวกัมพูชา และใส่ท่อนฮุกว่า "คนชายแดนกำลังจะตาย" ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
Posted: 17 Apr 2013 01:18 AM PDT "ความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์และยั่งยืนกับกัมพูชาและประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราปฏิรูปการเมืองไทยเสียก่อน ใครๆ ก็อยากพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันก็จริง แต่ถ้าท่าทีทางการเมืองแปรปรวน เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เพราะอำนาจในบ้านเราเองยังแปรปรวนนั้น ใครเขาก็คบกับเราจริงจังไม่ได้ ต้องเข้ามาหนึ่งก้าวแล้วถอยไปอีกสองก้าว ดังนี้แล" 17 เม.ย.56 | |
ฝ่ายสอบสวนระบุ ระเบิดในบอสตันทำจากหม้อตุ๋นแรงดันสูง Posted: 17 Apr 2013 01:09 AM PDT เอ็นบีซีรายงานโดยอ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าระเบิดที่ใช้ก่อเหตุในการบอสตัน มาราธอน ประกอบจากหม้อตุ๋นแรงดันสูงที่บรรจุกระสุนระเบิดดาวกระจายเอาไว้ องค์ประกอบของหม้อตุ๋นแรงดันสูง ภาพจากเว็บไซต์ discoverpressurecooking ในส่วนของผู้ก่อเหตุนั้น เอ็นบีซีรายงานว่าฝ่ายสืบสวนสอบสวนยังไม่ยืนยันเรื่องผู้ต้องสงสัยและยังไม่มีกลุ่มหรือบุคคลใดที่กล่าวอ้างความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 176 คนในครั้งนี้ โดยเว็บไซต์ป๊อบไซน์ซึ่งเป็นเวบไซต์ที่นำเสนอข่าวสารด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระบุว่า ระเบิดหม้อตุ๋นแรงดันสูงเป็นระเบิดที่ทำง่ายและต้นทุนต่ำ และตัวหม้อตุ๋นแรงดันสูงก็เป็นสิ่งที่ใช้กันทั่วไปไม่ใช่วัตถุผิดกฎหมาย ทั้งสามารถประยุกต์ใช้เป็นทั้งระเบิดที่ตั้งเวลาหรือระเบิดที่ใช้ตัวจุดชนวน ป๊อบไซน์ระบุว่าเหตุระเบิดที่ทำจากหม้อตุ๋นความดันสูงเกิดครั้งล่าสุดในปี 2549 ในมุมไบ อินเดีย และอีกครั้งหนึ่ง มีการวางระเบิดหม้อตุ๋นที่ไทม์สแควร์ในปี 2553 แต่ครั้งนั้นระเบิดไม่ทำงาน สำหรับเหตุการณ์ระเบิดที่มุมไบ เมื่อปี 2549 นั้น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม โดยการวางระเบิดสถานีรถไฟย่านชานเมืองติดต่อกัน 7 สถานี ภายในเวลา 11 นาที ระเบิดประกอบขึ้นโดยใช้หม้อตุ๋นแรงดันสูง ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 209 คน และบาดเจ็บ 700 คน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
'จักรภพ' ชี้สัมพันธ์สร้างสรรค์กับชาติเพื่อนบ้าน จะเกิดได้ต่อเมื่อปฏิรูปการเมืองเสียก่อน Posted: 17 Apr 2013 12:39 AM PDT จักรภพ ระบุในอดีตไทยแพ้คดีพระวิหารเพราะกัมพูชายึดมุมมองระหว่างประเทศ ส่วนไทยเหมือนอันธพาลท้องถิ่นพร้อมใช้กำลังเสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยจะต้องละทิ้งมุมมองนี้ให้ได้ แนะควรส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวก อย่าสร้างภาพกระเหี้ยนกระหือรือใช้กำลังทหาร ด้านทูตไทยที่กรุงเฮกระบุให้การศาลโลกวันนี้ ทนายฝ่ายไทยจะแสดงแผนที่หลายฉบับ วันนี้ (17 เม.ย.) นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งลี้ภัยต่างประเทศ ได้แสดงความเห็นกรณีการให้การที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศกรณีไทย-กัมพูชา ทางเฟซบุคบัญชีส่วนตัว ตอนหนึ่งระบุว่า "พี่น้องหลายท่านถามผมเรื่องคดีปราสาทพระวิหารในศาลสถิตย์ยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ขณะนี้ ซึ่งฝ่ายกัมพูชาเบิกความโดยการแถลงด้วยวาจาไปก่อนเมื่อวันจันทร์ (15 เมษายน) ที่ผ่านมาและฝ่ายไทยเราจะใช้สิทธิ์อย่างเดียวกันในวันนี้ ท่านอยากให้ผมวิเคราะห์ท่าทีของกัมพูชาตามที่นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฯ กัมพูชานำคณะแถลงไป รวมถึงสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อไปด้วย"
"จักรภพ" ระบุไทยแพ้คดีพระวิหารเพราะอ้างกรรสิทธิแบบท้องถิ่น ขณะที่กัมพูชายึดมุมมองระหว่างประเทศ "ยินดีช่วยตอบครับ ผมขอตัวที่จะไม่อธิบายความตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แต่จะอธิบายตามสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ การเมืองระดับภูมิภาค และการเมืองในประเทศ ซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์อันแท้จริง เราต้องรู้ก่อนอะไรอื่นว่าคดีความนี้เกิดขึ้นเพราะนโยบายการเมืองของแต่ละฝ่าย ไม่ใช่ข้อพิพาททางกฎหมายล้วนๆ ผมกล้าพูดไว้ตรงนี้เลยว่า ไม่ว่าผลคำวินิจฉัยของ ICJ จะออกมาอย่างไร เรื่องนี้ก็จะไม่จบสิ้นอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะถ้าการเมืองไทยยังแตกแยกกันเป็นจุลถึงขนาดนี้" "ทบทวนสั้นๆ ในเงื่อนปมที่สำคัญกันเล็กน้อยนะครับ ไทยเราแพ้คดีปราสาทพระวิหารในศาลเดียวกันนี้เมื่อ พ.ศ. 2505 หรือหนึ่งปีก่อนที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จะถึงแก่อสัญกรรมในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านั้นมีเหตุการณ์ 2 ครั้ง 2 ยุคที่นำมาสู่ความพ่ายแพ้ในการสู้คดี หนึ่งคือเมื่อครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นนายกราชบัณฑิตยสถาน และเสด็จทอดพระเนตรปราสาทพระวิหารใน พ.ศ. 2472 จนฝ่ายกัมพูชานำมาอ้างว่า เจ้านายองค์สำคัญในพระราชวงศ์และรัฐบาลไทย (ขณะนั้นยังเป็นรัฐบาลของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช) ยังทรง "รับเชิญ" ซึ่งแสดงว่าทรงยอมรับว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของกัมพูชา สองคือระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามถือโอกาสชุลมุนในช่วงนั้นส่งกำลังทหารเข้ายึดครองพื้นที่พิพาทกับกัมพูชาไว้หลายจุด รวมทั้งเขาพระวิหาร (ตามชื่อเรียกในขณะนั้น) ด้วย แต่เมื่อสงครามเลิกก็ถูกบังคับให้ส่งคืนหมด เหตุการณ์หลังนี่เอง ที่กระตุ้นกัมพูชายื่นฟ้องต่อ ICJ ดังกล่าวข้างต้น" "วิเคราะห์ตรงนี้สักเล็กน้อยครับ ไทยเราต่างจากกัมพูชาในขณะนั้นตรงที่ว่า เราพยายามอ้างกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินผืนนั้นโดยใช้มุมมองแบบท้องถิ่น (Local approach) ในขณะที่กัมพูชาผู้ร่วมผลประโยชน์กับฝรั่งเศสเดินเกมโดยใช้มุมมองระหว่างประเทศ (International approach) มาตั้งแต่ต้น ทำให้ภาพต่อสายตาโลกกลายเป็นว่า กัมพูชาเป็นฝ่ายที่ยึดกฎหมาย แต่ไทยเป็นเสมือนอันธพาลท้องถิ่นที่พร้อมใช้กำลังเสมอ ถ้าฟังคำพูดของนายฮอร์ นัมฮงเมื่อสองวันก่อนให้ดีจะพบว่ากัมพูชายังเดินเกมเดิม นั่นคือทำให้เกิดภาพว่าไทยเป็นฝ่ายหาเรื่องก่อนและพร้อมใช้กำลังกับกัมพูชา นี่คือข้อหนึ่งที่ฝ่ายไทยในวันนี้ต้องปลดเปลื้องลงให้ได้ โดยลำดับเรื่องให้เห็นพฤติกรรมของทั้งสองฝ่ายให้ชัด"
แนะส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวก อย่าสร้างภาพกระเหี้ยนกระหือรือใช้กำลังทหาร นายจักรภพเขียนด้วยว่า "ไทยเราจึงควรระวังอย่างยิ่งไม่ให้ภาพทหารหรือการใช้กำลังใดๆ ปรากฎออกไป แค่แสดงความพร้อมรบก็ไม่ควรเพราะยังไม่ใช่เวลา แม่ทัพนายกองทั้งมวลจะทำอะไรก็ทำไป แต่ไม่ควรออกมาแสดงความเห็นใดๆ ในขณะนี้เลย ความจริงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทยไม่ควรไปนั่งอยู่ในศาลด้วยซ้ำ อย่าลืมว่า เราแพ้คดีเมื่อ พ.ศ.2505 ส่วนหนึ่งเพราะถูกกล่าวหาว่ากระเหี้ยนกระหือรือที่จะใช้กำลังทหารอยู่ตลอดเวลา แล้วเราจะส่งเสริมภาพลักษณ์ที่เป็นเชิงลบนั้นทำไมในเวลานี้ เสียคะแนนไปเปล่าๆ" "เมื่อไหร่ผู้มีอำนาจไทยจะเข้าใจสักทีว่า โลกเขานับถือว่าพลเรือนต้องเหนือกว่ากองทัพและต้องควบคุมกองทัพได้ ขนาดผู้นำทหารที่กลายมาเป็นผู้นำทางการเมืองเขายังเลิกใช้ยศทหารกันเลย คนที่เอะอะก็อวดสรรพกำลังอยู่เรื่อยนั้นเขามองว่าด้อยพัฒนาและยังมีสัญชาติญาณสัตว์สูงไปหน่อย คำแนะนำคือซ่อนเอาไว้เสียหน่อยครับ อย่าออกอาการมากนัก" "ยิ่งเมื่อเกิดการปะทะกันอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2551 หลังจากกัมพูชานำปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้ไม่นาน จนมีคนตาย บาดเจ็บ และต้องอพยพหนีตายกันเป็นร้อยคน ก็ยิ่งทำให้อาการในช่วงก่อนของเราปรากฏชัดขึ้นมาอีก อย่าลืมว่าเมื่อเขายื่นขอเป็นมรดกโลก ไทยเราก็ยื่นคัดค้านและขอให้ปราสาทพระวิหารเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างสองประเทศ แต่เราก็ถอนออก เหตุปะทะทางทหารก็เกิดขึ้นตามมา ลองนึกภาพดูก็ได้ว่าครับใครเสียเปรียบในเรื่องภาพลักษณ์ ทำไมผมถึงห่วงนักในเรื่องภาพลักษณ์? ก็เพราะภาพลักษณ์นี่ล่ะครับจะส่งผลมากต่อเสียงสนับสนุนทางการเมืองในอนาคตต่อไป ไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะหรือแพ้ก็ตาม ชาติต่างๆ เขาจะสนับสนุนใครก็มิใช่เพราะข้อกฎหมายแต่อย่างเดียวหรอกนะครับ ควรระลึกว่าเขาเทคะแนนให้คนที่เป็นพระเอกและไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอ" "กัมพูชาใช้ประโยชน์เต็มที่จากเรื่องนี้ ดูได้จากเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551 ที่รัฐบาลพนมเปญเสนอต่อ ICJ ให้ประกาศบริเวณที่ดินพิพาทให้เป็นเขตปลอดกำลังทหาร (de-militarised zone) และเขาก็ได้สมใจ ยิ่งต่อมาคณะทำงานของอาเซียนที่นำโดยอินโดนีเซีย (ผู้เป็นประธานอาเซียนปีนั้น) ประสบความล้มเหลวในการควบคุมให้เป็นไปตามคำสั่งของ ICJ ก็ยิ่งเสริมภาพความไม่น่าไว้วางใจฝ่ายไทยขึ้นอีก" "พูดให้สั้นที่สุดคือเกมนี้ไม่ใช่เกมกฎหมาย แต่เป็นเกมสร้างภาพว่าใครเป็นคนดีและใครเป็นฝ่ายหาเรื่อง ในแง่กฎหมายนั้น ยากมากครับที่ฝ่ายไทยจะใช้เหตุผลใดๆ มาคัดง้างคำวินิจฉัยเดิมๆ ที่มีมา เพื่อให้ได้ชัยชนะที่ขาวสะอาด เมื่อสองวันก่อน ฝ่ายกัมพูชาก็ลำดับความนโยบายไทยตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชเรื่อยมาจนถึงยุคที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ได้ภาพรวมออกมาอย่างที่ผมเล่าสรุปไว้ข้างต้น ฝ่ายไทยเราเดินเกมดีและได้คะแนนบ้าง ก็เฉพาะในช่วงที่เรามีรัฐบาลของประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริงเท่านั้นเอง ปัญหาคือภาพรวมในแง่ลบนั้น ฝ่ายอำมาตย์ศักดินาเขาควบคุมได้เด็ดขาด และเขาก็มีอำนาจในปัจจุบันมากกว่าเรา" "สิ่งที่ฝ่ายไทยควรเตรียมการในขณะนี้คือ 1. ยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาพื้นที่ในบริเวณนั้นร่วมกัน ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ตาม 2. การจัดคิวให้สัมภาษณ์ ให้ฝ่ายพลเรือนออกหน้าและซ่อนฝ่ายทหารไว้ให้มิดชิด 3. ทำความเข้าใจกับประชาชนและเชิญชวนให้คิดสร้างธุรกิจพัฒนาพื้นที่ 4. แสดงท่าทีที่เป็นพลโลกที่มีอารยะและมีมารยาท ใช้หลักน้ำขุ่นไว้ข้างใน น้ำใสไว้ข้างนอก แล้วเราจะได้รับประโยชน์ระยะยาวจากกรณีปราสาทพระวิหาร" โพสต์ของนายจักรภพระบุ นอกจากนี้นายจักรภพแนะนำด้วยว่า "ผมขอจบลงตรงนี้ว่า ความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์และยั่งยืนกับกัมพูชาและประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราปฏิรูปการเมืองไทยเสียก่อน ใครๆ ก็อยากพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันก็จริง แต่ถ้าท่าทีทางการเมืองแปรปรวน เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เพราะอำนาจในบ้านเราเองยังแปรปรวนนั้น ใครเขาก็คบกับเราจริงจังไม่ได้ ต้องเข้ามาหนึ่งก้าวแล้วถอยไปอีกสองก้าว ดังนี้แล"
ทูตไทยระบุให้การศาลโลกวันนี้ จะแสดงแผนที่หลายฉบับ ส่วนความคืบหน้าการขึ้นให้การทางวาจาที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กรณีพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งวันนี้ (17 เม.ย.) ทนายฝ่ายไทยจะให้การเป็นวันแรกนั้น สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำเนเธอร์แลนด์ ให้สัมภาษณ์ว่าสิ่งที่กัมพูชาพูดเมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่อยู่ในข้อเขียนอยู่แล้ว เรื่องใหม่น้อยมาก คือเรื่องแผนที่ ที่นอกเหนือจากแผนที่ภาคผนวกหนึ่ง ซึ่งเป็นผนวกคำฟ้องเมื่อปี 2505 แต่ไม่ใช่ผนวกคำพิพากษา นายวีรชัยกล่าวว่า หลังจากฟังทางกัมพูชาแล้ว ทีมของเราได้นั่งไล่ทีละประเด็นที่คิดว่าจำเป็นต้องตอบในวาจา เพราะหลายประเด็นได้ตอบไปแล้วในข้อเขียน ซึ่งใช้อ้างได้ แต่บางประเด็นต้องพัฒนาข้อโต้แย้งข้อต่อสู้ เหมือนกังฟูว่าเราต้องปรับให้เข้ากับที่เขาออกอาวุธมาก เมื่อคืนจึงนอนน้อยมาก เพราะวันที่เขากล่าว ยากที่สุด ฟังแล้วต้องมาคิดและเขียนออกมา เมื่อคืนเขียนใหม่และส่งร่างใหม่ในวันนี้ ตอนนี้เป็นการแก้ไขขั้นสุดท้าย ของผมตอนนี้ 99.99% คืนนี้ก็จะไปซักซ้อมการพูดอีกครั้ง เรามีอะไรให้ศาลดูเยอะ เชิญชวนดูช่วงแผนที่ จะมีการนำเสนอแผนที่มาใช้หลายฉบับ นายวีรชัย กล่าว และทนายฝ่ายไทยที่จะขึ้นพูดเรื่องแผนที่ คือ ทนายความหญิง อลินา มิรอง ผู้ช่วยของนายอแลน แปลเล่ต์ เพราะเป็นผู้ที่ทำงานเรื่องแผนที่โดยเฉพาะกว่า 60 ฉบับ และทำงานเรื่องแผนที่ร่วมกับตัวเขามาถึง 3 ปี นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่อย่างมากจากมหาวิทยาลัยเดอรัมอีก 2 คน คือ นายมาร์ติน แครป และนายอสาสแตร์ เม็กโคนัล โดยนายวีรชัย จะขึ้นพูดเป็นลำดับแรก จากนั้นนายโดนัล เอ็ม แม็คเรย์ น.ส.อลินา มิรอง ศ.เจมส์ ครอว์ฟอร์ด และสุดท้ายคือนายแปลเล่ต์ ส่วนที่มีการสลับลำดับขึ้นพูดหลายครั้ง เพื่อให้ตรงกับสถานการณ์ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น