โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

Posted: 12 Apr 2013 01:51 PM PDT

"ให้ผมพูดชัดๆ สั้นๆอีกทีนะ รัฐบาล และพรรคเพื่อไทย และ นปช. ที่เป็นกลไกของ รบ.และพรรคเพื่อไทย ไม่มีความจริงใจ ในการช่วยให้มวลชน นักโทษการเมืองของตัวเอง ทีปลุกระดมมาเอง ออกจากคุก ปัญหานี้ เป็น LOW PRIORITY มากๆสำหรับพวกเขา หวังว่า คงความจำไม่เสื่อมกันว่า ตอนพวกเขาเองติดคุก พวกเขาเคลื่อนไหวหนักแค่ไหน เปรียบเทียบกันดูเอง"

11 เม.ย.56, โพสต์สถานะในเฟซบุ๊กตัวเอง

เผยอุบัติเหตุสงกรานต์วันแรกเสียชีวิตแล้ว 39 ราย

Posted: 12 Apr 2013 06:06 AM PDT

อุบัติเหตุทางถนนวันแรกช่วงเทศกาลสงกรานต์ 11-17 เมษายน 2556 มีจำนวน 326 ครั้ง ตาย 39 ราย เชียงใหม่-นครศรีธรรมราช เกิดอุบัติเหตุสูงสุด รถจักรยานยนต์ครองแชมป์ ส่วนสาเหตุยังคงเป็นเมาแล้วขับ

12 เม.ย. 56 - สำนักข่าวไทยรายงานว่านายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ก่อนแถลงผลการติดตามสถานการณ์อุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ปี 2556 ของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายนว่า วันนี้ซึ่งเป็นวันแรกของวันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ คาดว่าประชาชนจำนวนมากจะทยอยเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิเนา ทำให้ถนนสายหลักหลายสายมีปริมาณรถหนาแน่น จึงได้เน้นย้ำให้จังหวัดต่างๆ กำชับเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการรักษาชีวิตของประชาชนเป็นเป้าหมายสูงสุด โดยจัดตั้งจุดตรวจบนเส้นทางสายหลัก บังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องปรามผู้กระทำผิดที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ รถตู้โดยสาร ต้องมีระดับแอลกอฮอล์เป็น "ศูนย์" และควบคุมการใช้ความเร็วเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารทุกประเภท โดยเฉพาะรถที่วิ่งระยะทางไกล กำชับให้นายตรวจเข้มงวดการตรวจสอบความพร้อมของพนักงานขับรถ และต้องมีพนักงานขับรถผลัดเปลี่ยน  รวมทั้งขอให้จังหวัดรณรงค์ประชาสัมพันธ์มาตรการการบังคับใช้กฎหมายและการจัดตั้งจุดตรวจผ่านสื่อทุกประเภท เพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงความมุ่งมั่นของภาครัฐในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อสร้างความปลอดภัยช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตลอดจนให้นำข้อมูลผลการปฏิบัติงานในแต่ละวันมาวิเคราะห์สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงสำคัญ เพื่อปรับแนวทางกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์อุบัติเหตุ นอกจากนี้ให้บังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด
 
นายชัชชาติ กล่าวว่า สำหรับสถิติข้อมูลในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนวันที่ 11 เม.ย. 56 มีจำนวน 326 ครั้ง จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 14 ครั้ง เชียงใหม่ 14 ครั้ง นครราชสีมา 13 ครั้ง พัทลุง 11 ครั้ง สงขลา 10 ครั้ง มีจังหวัดที่ยังไม่เกิดอุบัติเหตุเลย 10 จังหวัด คือ หนองคาย ชัยนาท  ฉะเชิงเทรา อำนาจเจริญ สมุทรสงคราม ปัตตานี ตราด ศรีสะเกษ ชัยภูมิ และยะลา มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 39 ราย จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดจังหวัดละ 3 ราย มี 6 จังหวัด คือ กาญจนบุรี  ยโสธร สมุทรสาคร  ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา และพระนครศรีอยุธยา จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 342 ราย เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บสูงสุด 17 ราย รองลงมาคือนครศรีธรรมราช 15 ราย  
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดมาจากเมาสุราร้อยละ 29  รองลงมาคือการขับรถเร็ว และตัดหน้ากระชั้นชิด รวมถึงขับรถอย่างไม่ปลอดภัย
 
อย่างไรก็ดี สาเหตุจากการเมาสุรามีสัดส่วนลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 1 พฤติกรรมหลักที่ทำให้เกิดความเสี่ยงคือการไม่สวมหมวกนิรภัย การเมาสุรา การไม่คาดเข้มขัดนิรภัย ส่วนประเภทรถที่ประสบอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ รองลงมาคือรถกระบะ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยคลิปรำลึกร่มเกล้าถูกบล็อก มีเมนท์โจมตีพาดพิงสถาบัน

Posted: 12 Apr 2013 03:47 AM PDT

แนวหน้าเผยคลิปวีดิโอที่นางนิชา ธุวธรรม หิรัญบูรณะ ทำขึ้นเพื่ออุทิศและระลึกถึง พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ถูกบล็อก เพราะ มีการโพสต์ข้อความโจมตีที่พาดพิงไปถึงสถาบัน

12 เม.ย. 56 - หนังสือพิมพ์แนวหน้ารายงานว่า บนโลกออนไลน์ ได้มีการนำเอาคลิปวีดิโอที่นางนิชา ธุวธรรม หิรัญบูรณะ ทำขึ้นเพื่ออุทิศและระลึกถึง พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม อดีตนายทหารซึ่งเสียชีวิตจากการเข้าระงับเหตุการประท้วงที่เริ่มรุนแรงจนถึงการใช้อาวุธของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไคยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง จนเป็นเหตุให้ พล.อ.ร่มเกล้าเสียชีวิต ซึ่งนางนิชาได้แจกจ่ายให้แก่ผู้ที่เข้ามาร่วมในงานครบรอบ 3 ปีของการจากไปของ พล.อ.ร่มเกล้า
 
ต่อมา มีผู้นำคลิปวีดิโอนี้เข้าไปเผนแพร่ใน You Tube และมีผู้เข้ามาแชร์ พร้อมแสดงความคิดเห็นกันอย่างมากมาย มีกลุ่มคนที่เข้าใจและเห็นใจเข้ามาโพสต์แสดงความอาลัยกันอย่างมาก ขณะเดียวกัน?มีการโพสต์โจมตี พล.อ.ร่มเกล้า ,นางนิชา และทหารที่สูญเสียชีวิต มีการโพสต์ข้อความโจมตีที่พาดพิงไปถึงสถาบัน
 
ล่าสุด มีกระแสข่าวแจ้งว่า มีการบล็อกคลิปวีดิโอนี้ใน You Tube แล้ว ขณะที่ข้อความที่ถูก share ต่อๆ กันในเฟซบุ๊ค ก็ถูกลบออกไปจำนวนหนึ่งด้วยเช่นกัน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.ออกหนังสือเชิญทหารให้ปากคำคดี “เกรียงไกร คำน้อย” 26 เม.ย.นี้

Posted: 12 Apr 2013 03:39 AM PDT

12 เม.ย. 56 - มติชนออนไลน์รายงานว่าพ.ต.อ.สุคุณ พรหมายน รอง ผบก.น.1 เปิดเผยความคืบหน้าคดีชันสูตรพลิกศพเหยื่อเหตุการณ์สลายการชุมนุม 53 ว่า คดีของนายเกรียงไกร คำน้อย คนขับรถตุ๊กตุ๊ก ที่เสียชีวิตจากการถูกยิงบริเวณริมฟุตปาธด้านหน้ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นั้น  เจ้าหน้าที่ได้ทำหนังสือเชิญนายทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เกี่ยวข้องมาสอบปากคำเพิ่มเติมแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเดินทางมาได้ เนื่องจากติดภารกิจอยู่   โดยจะเดินทางมาให้ปากคำอีกครั้งในวันที่ 26 เมษายน นี้ ส่วนกรณีการเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง  ที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณใกล้ทางเข้าสถานีรถไฟฟ้าลุมพินี ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนพยานเพิ่มเติม เพราะยังไม่มีใครสามารถให้ข้อมูลได้ว่าใครเป็นคนยิง อย่างไรก็ตาม ทางพนักงานสอบสวน บก.น.1 จะเร่งดำเนินการรวบรวมหลักฐาน เพื่อสรุปสำนวนคดีโดยเร็วที่สุดต่อไป

 

เกรียงไกร คำน้อย ขณะได้รับการช่วยเหลือ

ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวนายเกรียงไกร คำน้อย ถูกยิงตั้งแต่ 15.30 น.

ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 ระบุว่า

อายุ :  23 ปี

อาชีพ :  รับจ้าง/ขับรถตุ๊กตุ๊ก

ที่อยู่ตามบัตรประชาชน :  21/34 หมู่ที่ 1 ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

วัน/เวลาเกิดเหตุ :  วันที่ 10 เม.ย. 53 เวลา 15.30 น.

สถานที่เกิดเหตุ :  บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ข้างกระทรวงศึกษาธิการ

ถูกส่งโรงพยาบาล/สถานที่ชันสูตร :  โรงพยาบาลวชิรพยาบาล/โรงพยาบาลวชิรพยาบาล

สาเหตุการเสียชีวิต :  ถูกยิงที่สะโพกด้วยอาวุธปืนสงคราม กระสุนฝังในช่องท้อง และเสียชีวิตจากสาเหตุ เลือดออกในช่องท้องจากบาดแผลถูกยิง ทำให้อวัยวะในช่องท้องฉีกขาด

วัน/เวลา/สถานที่เสียชีวิต :  วันที่ 11 เม.ย. 53 เวลา 3.30 น. โรงพยาบาลวชิรพยาบาล

ชนิดกระสุน :  จากรายงานการตรวจศพ วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล สำนักการแพทย์ ระบุเป็นกระสุนปืนความเร็วสูง

 

ทั้งนี้ในเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่ในวันที่ 10 เม.ย.53 นั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยืนยันว่าตั้งแต่บ่ายโมงถึง 18.00 น. ไม่มีการสูญเสีย โดยเขียนใน จากใจอภิสิทธิ์ถึงคนไทยทั้งประเทศ 3 เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.54 ระบุว่า "..ในวันที่ 10 เมษายน เมื่อมีการขอคืนพื้นที่ เจ้าหน้าที่ก็ปฏิบัติตามกฎการใช้กำลังอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่บ่ายโมงจนถึงหกโมงเย็นไม่มีการสูญเสีย เมื่อเริ่มมืดก็เริ่มมีการเจรจาให้สองฝ่ายอยู่กับที่แต่ไม่เป็นผล จึงมีการสั่งการให้ถอนกำลังกลับ จากนั้นสงครามเต็มรูปแบบก็เกิดขึ้นที่สี่แยกคอกวัว.."

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พาณิชย์ตั้งคณะทำงานร่วม 3 ฝ่ายแก้ปัญหาอ่อนไหวในเอฟทีเอ

Posted: 12 Apr 2013 03:23 AM PDT

กระทรวงพาณิชย์ตั้งคณะทำงานร่วม 3 ฝ่ายแก้ปัญหาอ่อนไหวในเอฟทีเอ หมอประเวศเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชน 3 คน

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 56 ที่ผ่านมา นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวง พาณิชย์ได้ทำหนังสือถึง ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธาน คณะกรรมการปฏิรูป แจ้งว่า นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อแก้ไขประเด็นอ่อนไหว/ปัญหาอุปสรรคในการเจรจาความตกลงการค้าเสรี โดย มี ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน โดยระบุว่า เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการเสนอแนะข้อคิดเห็นเชิงนโยบาย และ แนวทาง การ แก้ไขปัญหาทางการค้า แนวทางการขับเคลื่อนการเจรจาการค้าเสรีให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศในภาพรวม และเพื่อเป็นการสร้างกลไกความร่วมมืออย่างต่อเนื่องในการแก้ไขประเด็นอ่อนไหว/ปัญหาอุปสรรคในการเจรจาความตกลงการค้าเสรี ทั้งนี้ได้ขอให้ ศ.นพ.ประเวศร่วมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชน และเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คน
       
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ศ.นพ.ประเวศ ได้ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงพาณิชย์ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาแจ้งว่า ไม่สามารถทำหน้าที่ผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชนในประเด็นดังกล่าว จึงขอเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญเรื่องการเจรจาความตกลงการค้าเสรี 3 คน คือ รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์, ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ และ นายจักรชัย โฉมทองดี ให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชนในคณะทำงานฯ
       
ทั้งนี้ คณะทำงานดังกล่าวประกอบไปด้วย อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, อธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ, อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา, อธิบดีกรมการค้าภายใน,อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า, ประธานสภาอุตสาหกรรม, ประธานสภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย, ประธานสมาคมธนาคารไทย, ผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชน 3 คน โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรุงเทพโพลล์: บทเรียนชั่วชีวิตของผู้สูงอายุ ที่อยากบอกลูกหลานในวันสงกรานต์

Posted: 12 Apr 2013 03:17 AM PDT

กรุงเทพโพลล์เผยผลสำรวจ ผู้สูงอายุบอกสงกรานต์สมัยนี้เล่นกันรุนแรง และคึกคะนองเกินไป แต่อยากสอนลูกหลานจากบทเรียนชั่วชีวิตให้เป็นคนดีอยู่ในศีลธรรม และใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังไม่ประมาท 

ด้วยวันที่ 13 เมษายนของทุกปี นอกจากจะเป็นวันสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ของไทยแล้ว รัฐบาลยังกำหนดให้เป็น "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ" อีกด้วยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ(กรุงเทพโพลล์)  จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง"บทเรียนชั่วชีวิตของผู้สูงอายุ ที่อยากบอกลูกหลานในวันสงกรานต์" โดยเก็บข้อมูลกับผู้สูงอายุ จำนวน 1,183 คน เมื่อวันที่ 5-8 เมษายน ที่ผ่านมา พบว่า
 
ผู้สูงอายุร้อยละ 71.5 บอกว่าได้รับความสำคัญ ความสนใจ และความเอาใจใส่ จากลูกหลานอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 21.8  บอกว่าอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ส่วนร้อยละ 6.7 บอกว่าไม่ได้รับความสนใจเลย และเมื่อถามต่อว่า "กลัวจะถูกลูกหลานทอดทิ้งหรือไม่" ร้อยละ 87.7 บอกว่าไม่กลัว ขณะที่ร้อยละ 12.3 บอกว่ากลัวจะถูกทอดทิ้ง
 
สำหรับสิ่งที่อยากได้จากลูกหลานเนื่องในวันผู้สูงอายุในปีนี้ ร้อยละ 37.6  บอกว่าอยากให้ลูกหลานมาอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ทำกิจกรรมร่วมกันที่บ้าน รองลงมาร้อยละ 18.3 บอกว่าอยากให้ลูกหลานเคารพและฟังคำตักเตือนของผู้ใหญ่ และร้อยละ 16.6 บอกว่าอยากให้พาไปทำบุญตามวัดต่างๆ 
 
เมื่อถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการเล่นสงกรานต์สมัยนี้ว่ามีความแตกต่างจากสมัยก่อนอย่างไร ร้อยละ 35.5 บอกว่าสมัยนี้เล่นกันรุนแรง และคึกคะนองเกินไป รองลงมาร้อยละ 22.7 บอกว่า เล่นไม่สุภาพ แต่งตัวโป๊ ล่วงเกินและลวนลามผู้หญิง และร้อยละ 13.5 บอกว่าเล่นกันเอาสนุกเข้าว่า ทำให้ประเพณีดั้งเดิมหายไปหมด 
 
ส่วนเรื่องที่อยากให้ลูกหลานระมัดระวังมากที่สุดขณะออกไปเที่ยวในวันสงกรานต์ปีนี้ คือ ระวังอุบัติเหตุทางรถยนต์ ถนนลื่น (ร้อยละ 53.2) รองลงมาคือระวังคนเมาสุรา ทะเลาะวิวาท ตีกัน (ร้อยละ 14.1) และระวังการเล่นสาดน้ำรุนแรงเกิดขอบเขต (ร้อยละ 11.6)
 
สำหรับบทเรียนสำคัญที่สุดชั่วชีวิตที่ผู้สูงอายุต้องการจะบอกแก่ลูกหลานในสังคมคือ ให้ทำตัวเป็นคนดี อยู่ในศีลธรรม (ร้อยละ 26.7) รองลงมาคือให้รู้จักวางแผนการใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง มีสติ ไม่ประมาท (ร้อยละ10.8) และให้ขยัน ตั้งใจ และอดทน ทั้งในเรื่องการเรียนและการทำงาน (ร้อยละ10.1)
 
สุดท้ายเรื่องที่ผู้สูงอายุอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือ ดูแลมากที่สุดคือ เพิ่มเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุให้สูงขึ้นจากเดิม (ร้อยละ 36.7) รองลงมาคือ ให้ผู้สูงอายุรักษาฟรีทุกโรงพยาบาล และได้รับการบริการที่ดีและรวดเร็ว (ร้อยละ 30.3) และให้จัดหน่วยแพทย์ตรวจและดูแลสุขภาพผู้สูงอายุตามชุมชนต่างๆ (ร้อยละ 8.1)
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วันสงกรานต์ของ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ : ครอบครัว = ความเข้าใจ

Posted: 12 Apr 2013 03:08 AM PDT

ใกล้เข้าสู่วันสงกรานต์ ที่ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยแล้ว ยังเป็นวันผู้สูงอายุและวันครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหายหลาย ๆ คนพากันเดินทางกลับบ้านเพื่อมาเติมพลัง เติมกำลังใจ ในบ้านของเรา คนต่างจังหวัดที่มาทำงานในเมืองก็กลับบ้านไปหาญาติผู้ใหญ่ที่เคารพ เติมรัก เติมความอบอุ่น ก่อนที่จะเดินทางกลับมาต่อสู้ในเมือง 

แต่เมื่อย้อนมามองคนที่อิสรชนทำงานด้วย คือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ คนที่นอนตามท้องถนน นอนตามสวนสาธารณะ หรือหลาย ๆ คนมองว่าเขาเป็นคนบ้า คนที่น่ากลัว อยากกลับบ้านแต่ก็กลับไม่ได้ หรือไม่มีบ้านให้กลับ สิ่งที่เป็นครอบครัวของเขา คือ ความเข้าใจ
 
หลายคนคงสงสัยว่าทำไม เขากลับบ้านไม่ได้ หรือ ความเข้าใจ ทำไมคือครอบครัวของคนที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ อันดับแรก คนที่ออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ โดยส่วนหนึ่งเป็นคนที่มีอาการทางสมอง ความจำจางหาย ตัวอย่างเช่นนี้ต้องทำการรักษา หรือฟื้นฟู ก่อนที่จะส่งกลับสู่ครอบครัว แต่ถ้าเป็นคนปกติอย่างเรา ๆ พูดคุยกันรู้เรื่อง นั้นสิ่งที่เขาไม่กลับบ้าน เพราะบ้านของเขาไม่มีความเข้าใจ มันมีเพียงตัวบ้าน เพราะฉะนั้นบ้านของเขาคือ สนามหลวง เพราะสนามหลวง มีความเข้าใจ มีเพื่อนที่คอยรับฟัง มีเพื่อนที่คุยกันได้ทุกเรื่อง
 
หลายคนถามว่า ทำไม คนที่มีฐานะ สุดท้ายออกมาเร่ร่อน อิสรชนพบคำตอบที่ว่า มนุษย์ทุกคนต้องการเพื่อน เพื่อนที่ค่อยเข้าใจ เพื่อนที่คุยกันได้ทุกเรื่อง มีทุกข์ร่วมทุกข์ มีสุขร่วมสุข แต่อยากให้มองกลับไปที่ครอบครัวของตนเองนั้น มีความเข้าใจกันหรือยัง ถามอย่างไม่เข้าข้างตนเองนะ ถามคนรอบข้างในบ้านด้วย เพราะบางทีเราอาจจะลืมดูแลกัน เพราะต่างคนก็ต่างทำงาน คุณนับได้ไหมว่า ในครอบครัวกินข้าวเย็นอย่างพร้อมหน้ากันด้วยกันกี่ครั้งต่ออาทิตย์ และคุยกัน ปรึกษากันได้ทุกเรื่องหรือเปล่า สิ่งที่มองว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ กลับเป็นเรื่องใหญ่ได้ของอีกฝ่าย เพราะคนสนามหลวงที่ออกจากบ้านจำนวนไม่น้อยที่ครอบครัวไม่เข้าใจและมองว่าเป็นปัญหาเพียงเล็ก ๆ แต่เพราะปัญหาเพียงเล็ก ๆ นี่แหละ พอเก็บสะสมไว้นาน มันระเบิด จนทำให้คนในครอบครัวหนีออกมาอยู่ข้างถนน ณ วันนี้คุณดูแลคนที่บ้านคุณดีหรือยัง
 
ในฐานะของผู้เขียนเอง เคยมองว่าตนเองดูแลคนที่บ้านดีแล้ว ทำงาน โทรศัพท์กลับบ้านทุกวัน แต่เมื่อครั้งแรก ๆ ที่เจอ เพื่อนเราข้างถนน ในพื้นที่ หลาย ๆ คน เพื่อนเราข้างถนน ถามคำถามมายังตัวเราเองกับหลายคำถามที่เราอึง หรือบางทีไปไม่ถูกว่าจะตอบอย่างไร หรือให้กำลังใจอย่างไรดี เช่น "คำว่าแม่หาซื้อได้ไหมที่รอบสนามหลวง" หรือ "ถึงแม้เรากลับบ้าน ญาติพี่น้องก็ต้องด่าว่า เรากลับไม่ได้หรอก กลับไปครอบครัวก็อับอายคนอื่นเขา ทำให้ครอบครัวเสียหาย เพราะเราทำตัวไม่ดี ทั้งๆ ที่ไม่อยากเป็นแบบนี้" หลาย ๆ คำถาม หลาย ๆ คำพูด ที่ทำให้คนทำงานเมื่อเจอแบบนี้ก็ต้องย้อนมามองตัวเองว่า ณ วันนี้ เราดูแลความรู้สึก หรือไปคาดหวังอะไรกับคนในบ้านมากหรือน้อยเกินไปหรือเปล่า การคุยกัน การให้ความเข้าใจกัน เป็นเรื่องที่จำเป็นที่สุด
 
ทำไม ในฐานะคนที่ทำงาน ถึงนิยาม คำว่า "ครอบครัว" ของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ว่า "ความเข้าใจ" ในส่วนตัวเชื่อว่า เป็นเพราะความเข้าใจ เพราะว่าคนสนามหลวง หรือมองอย่างกว้าง ๆ คือ มนุษย์ทุกคนต้องการเพื่อน คนสนามหลวงหรือผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ เขาต้องการเพื่อน เพื่อนที่เข้าใจเขา เพื่อนที่เป็นทุกอย่างสำหรับเขา ไม่มีใครเข้าใจเขามากที่สุดนอกจากเพื่อนคนคนนี้ของเขา และมิตรภาพเหล่านี้จะหาได้ในกลุ่มที่เห็นปัญหาเหมือนกันเอง คนที่ท้อแท้ หลงทางออกจากบ้าน พอมาที่สนามหลวง มานั่ง มาคุย แล้วรู้สึกถูกคอ มิตรภาพเกิด จนกลายเป็นความเข้าใจ รู้ใจกัน เขารู้สึกว่ามิตรภาพที่สนามหลวงเป็นมิตรภาพที่จริงใจ เมื่อมีคนเจ็บ คนป่วยเขาไม่ทิ้งกันดูแลกันจนถึงวินาทีสุดท้าย คือการลอยกระดูก สิ่งเหล่านี้แหละคือ ครอบครัว ของคนสนามหลวง
 
เนื่องในวันสงกรานต์ อยากเชิญชวนคนในสังคม มาร่วมมอบความเข้าใจ มิตรเชิญชวนคนในสังคม มาร่วมมอบความเข้าใจ มิตรภาพในฐานะ เพื่อนมนุษย์ร่วมสังคม กับอิสรชน ในการลงมาเป็นอาสาสมัครเรียนรู้ และสร้างมิตรภาพ กับคนที่ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ หรือถ้าใครไม่มีเวลาแต่อยากร่วมสร้างความเข้าใจ ความรัก แบ่งปันมิตรภาพ หรือสนับสนุนการลงพื้นที่ ช่วยต่อยอดการทำงานให้กับอิสรชน ได้ที่
 
ธ.กรุงไทย สาขาเซ็นทรัลปิ่นเกล้า เลขที่บัญชี 031-0-03432-9
 
ชื่อบัญชี สมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน
 
ร่วมทำบุญ เนื่องในวันครอบครัว สร้างมิตรภาพและครอบครัวให้คนที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะร่วมกันนะค่ะ 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยผลสำรวจความคิดเห็น ผลกระทบภาคอุตสาหกรรม 1 ไตรมาส หลังปรับค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ

Posted: 12 Apr 2013 02:27 AM PDT

12 เม.ย. 56 - สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเปิดเผยรายงาน "ผลสำรวจความคิดเห็น ผลกระทบภาคอุตสาหกรรม 1 ไตรมาส หลังปรับค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ " โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

สืบเนื่องจาก รัฐบาลได้มีนโยบายปรับค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 ซึ่งเป็นเวลาครบ 3 เดือน หรือ 1 ไตรมาส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นจากสมาชิกอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เกี่ยวกับผลกระทบที่ได้รับจากการปรับค่าจ้าง โดยจัดทำระหว่างวันที่ 3 เมษายน 2556 – 11 มิถุนายน 2556 พบว่าผู้ประกอบการซึ่งส่วนใหญ่เป็น SME ได้รับผลกระทบจนถึงธุรกิจประสบการขาดทุน คิดเป็นร้อยละ 80 ขณะที่ผู้ประกอบการกว่าร้อยละ 23.33 ขาดสภาพคล่อง และผู้ประกอบการร้อยละ 10.42 แจ้งว่าอาจจะต้องถึงขั้นปิดกิจการ ซึ่งหากรัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมอาจทำให้ต้องมีการลดปริมาณการผลิต ซึ่งนำไปสู่การลดจำนวนพนักงาน/แรงงานรวมไปถึงการเลิกจ้าง (แต่การว่างงานในปีนี้คงไม่เห็นภาพชัดเจน เพราะแรงงานสามารถเคลื่อนย้ายไปในโรงงานขนาดใหญ่และโรงงานต่างชาติซึ่งกำลังเข้ามาลงทุนในประเทศไทยตามการสนับสนุนของ BOI)

          
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ซึ่งเป็น SME ซึ่งแจ้งว่าได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างครั้งนี้กว่าร้อยละ 58 ก็ยังคิดว่าสามารถประคองธุรกิจได้ ในด้านการปรับตัวของภาคเอกชนได้ให้น้ำหนักการลดจำนวนพนักงาน/แรงงาน รวมทั้งลดการทำงานล่วงเวลาและลดสวัสดิการ ขณะเดียวกันก็เพิ่มประสิทธิภาพแรงงานและปรับปรุงกระบวนการผลิต เช่นการลดขั้นตอนการผลิตและการนำเครื่องจักรมาทดแทนแรงงาน รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ การใช้วัสดุให้น้อยลงหรือวัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำ ส่วนแนวคิดในด้านการลงทุนไปต่างประเทศ ส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 60 แจ้งว่าไม่เคยคิดที่จะย้ายฐานการผลิต แต่ผู้ประกอบการร้อยละ 26 มีแนวคิดจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน คือ ประเทศกัมพูชา พม่า และลาว
          
ทั้งนี้ เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือของรัฐฯ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 50 แจ้งว่าไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ มีเพียงร้อยละ 28 ที่เห็นว่ามาตรการของรัฐฯพอช่วยได้บ้างแต่น้อยมาก ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่ามาตรการที่รัฐฯช่วยได้มากที่สุดคือ การชดเชยส่วนต่างของค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการช่วยเหลือสภาพคล่องด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่ง SME สามารถเข้าได้ถึงจริง 
          
รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างในช่วง 1 ไตรมาสแรกของปี 2556 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
          
ประเภทของธุรกิจที่ตอบแบบสอบถาม : 
          
ผู้ที่ตอบแบบสอบถาม พบว่าเป็นผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 85.54 และภาคธุรกิจให้บริการร้อยละ 13.46 โดยลักษณะธุรกิจของผู้ตอบแบบสอบถามพบว่า ขายในประเทศร้อยละ 47.83 เป็นผู้ประกอบการส่งออกร้อยละ 37.68 และเป็นธุรกิจรับจ้างการผลิต (OEM) ร้อยละ 14.49 นอกจากนี้พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามอยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กร้อยละ 66 และขนาดกลางซึ่งมีแรงงานอยู่ระหว่าง 300-500 คน คิดเป็นร้อยละ 26 และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่คิดเป็นร้อยละ 8.0
          
ด้านผลกระทบที่มีต่อผู้ประกอบการ :
          
1. ค่าแรงที่ปรับขึ้นมีผลกระทบต่อต้นทุนรวม (Total Cost) 
          
พบว่าผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับค่าแรง 300 บาท ส่งผลให้ต้นทุนรวมสูงขึ้นมากเกินกว่า 15% มีอยู่ร้อยละ 54 ผลกระทบปานกลางระหว่าง 7-10% คิดเป็นร้อยละ 24 และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบน้อยโดยมีต้นทุนรวมสูงขึ้นระหว่าง 3-5% คิดเป็นร้อยละ 18 สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบต่อการปรับค่าจ้างครั้งนี้คิดเป็นร้อยละ 4
          
2. ความสามารถในการปรับราคาสินค้าในช่วงเดือน ม.ค. - มี.ค. 56
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่แจ้งว่าไม่สามารถปรับราคาสินค้าได้ คิดเป็นร้อยละ 47.06 ส่วนที่สามารถปรับราคาได้ร้อยละ 52.94 โดยแบ่งเป็นปรับราคาได้น้อย 43.14% ปรับราคาได้ปานกลาง 7.84% และปรับราคาได้เท่ากับหรือมากกว่าต้นทุนที่สูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 1.96
          
3. ผลกระทบต่อสถานะ กำไร/ขาดทุน ของธุรกิจ
         
จากแบบสอบถาม พบว่าผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับค่าแรง 300 บาททั่วประเทศจนทำให้ธุรกิจประสบปัญหาขาดทุนคิดเป็นร้อยละ 80 โดยแบ่งเป็น ขาดทุนน้อยจนถึงปานกลาง 52% และขาดทุนมาก 28% ส่วนผู้ประกอบการซึ่งธุรกิจยังคงรักษาระดับกำไรคิดเป็นร้อยละ 20 โดยแบ่งเป็น กำไรคงเดิม 12% และกำไรลดลง 8%
          
4. ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ขาดทุนต่อธุรกิจในอนาคต
          
ผู้ประกอบการซึ่งแจ้งว่าได้ผลกระทบต่อการปรับค่าจ้างครั้งนี้ พบว่าร้อยละ 58.33 สามารถประคองธุรกิจได้ ผู้ประกอบการร้อยละ 16.67 แจ้งว่าอาจต้องหยุดการผลิตชั่วคราว ขณะที่ต้องถึงขั้นเลิกกิจการร้อยละ 10.42 และมีเพียงร้อยละ 6.25 เท่านั้นที่แจ้งว่าไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการประกอบธุรกิจ
          
5. แนวทางการแก้ไขและปรับตัวของธุรกิจ
          
จากแบบสอบถามในลักษณะเป็นคำถามเปิด ผู้ประกอบการได้แจ้งแนวทางการแก้ปัญหาและการปรับตัวของธุรกิจ เรียงลำดับความสำคัญก่อนหลัง ดังนี้
 
1. ลดจำนวนพนักงาน/แรงงาน คาดว่าจะลดลงเฉลี่ย 10-50% โดยเริ่มลดตั้งแต่ปลายปี 2555
2. เพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน เช่น การอบรมทักษะแรงงาน สามารถทำงานได้หลายตำแหน่ง และเพื่อเพิ่มผลผลิต
3. ลดการทำงานล่วงเวลาและลดสวัสดิการ
4. ปรับปรุงกระบวนการผลิต เช่น การลดขั้นตอนการผลิต, ใช้เครื่องจักรทดเพื่อแทนแรงงาน
5. ลดต้นทุนการผลิต เช่น นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้, ใช้วัสดุน้อยลงหรือใช้วัสดุที่มีต้นทุนต่ำ
 
6. อื่นๆ เช่น เพิ่มหรือเปลี่ยนประเภทสินค้า, ย้ายฐานการผลิตไปยังกลุ่มประเทศ CLMV, และการปรับราคาขาย
          
6. แนวคิดในการย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ
          
ในด้านการย้ายฐานการผลิตไปลงทุนในต่างประเทศ พบว่า ผู้ประกอบการร้อยละ 59.18 ไม่มีแนวคิดในการย้ายฐานการผลิตไปในต่างประเทศ และร้อยละ 14.29 ตอบว่ามีแนวคิดแต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นหรือดำเนินการอย่างไร 
สำหรับผู้ที่แจ้งว่ามีแนวคิดและแผนงานที่จะไปลงทุนในต่างประเทศมีร้อยละ 26.53 โดยส่วนใหญ่มีแผนที่จะเริ่มไปศึกษาและลงทุนอย่างจริงจังในกลางปี 2556 โดยเกือบทั้งหมดมีแผนจะไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งประเทศที่น่าสนใจ เรียงลำดับความสำคัญดังต่อไปนี้ 1.กัมพูชา 2.พม่า 3.ลาว 4.อินโดนีเซีย และ 5.เวียดนาม
          
มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ :
          
แบบสอบถามเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐสามารถช่วยเหลือเยียวยาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการได้มากน้อยเพียงใด สามารถแบ่งได้ดังต่อไปนี้
          
1. ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลมากน้อยเพียงใด
          
ผู้ประกอบการร้อยละ 54.39 แจ้งว่าไม่ช่วยอะไร ขณะที่ตอบว่าช่วยได้น้อย คิดเป็นร้อยละ 28.07 และช่วยได้ปานกลางร้อยละ 3.51 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่แจ้งว่า ไม่รู้ว่ารัฐฯมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาอะไร คิดเป็นร้อยละ 14.03 ซี่งการชี้แจงเช่นนี้ ทางรัฐบาลควรจะรับไปประกอบการพิจารณา
          
2. ผลกระทบที่มีต่อธุรกิจ หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลที่เป็นรูปธรรม 
          
จากแบบสอบถามของผู้ประกอบการเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อธุรกิจ หากรัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาที่เห็นชัดเจน พบว่าร้อยละ 42.05 จะมีการลดจำนวนคนงาน ร้อยละ 20.28 ลดปริมาณการผลิต ขณะที่ผู้ประกอบการร้อยละ 15.94 แจ้งว่าอาจต้องถึงขั้นเลิกจ้างงาน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่บอกว่าอาจต้องเลิกกิจการหรือย้ายฐานการผลิต คิดเป็นร้อยละ 13.04 อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการร้อยละ 8.69 แจ้งว่าไม่ได้รับผลกระทบใดๆ
          
3. ผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลืออะไรมากที่สุด
          
จากแบบสอบถาม ผู้ประกอบการร้อยละ 23.33 ประสบปัญหาสภาพคล่อง อันเกิดจากผลประกอบการขาดทุน โดยมาตรการที่ภาคเอกชนต้องการจากรัฐฯ เรียงลำดับความสำคัญดังต่อไปนี้
1. ชดเชยส่วนต่างค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นในระยะแรก, ลดภาษีต่างๆ และลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคม
2. สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่สามารถเข้าถึงได้ และส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศในทุกๆ ด้าน
3. งบประมาณส่งเสริมประสิทธิภาพแรงงานและเครื่องจักร
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ สัมภาษณ์ Joe Gordon: ประชาธิปไตยกับมาตรา 112

Posted: 12 Apr 2013 01:07 AM PDT

 

สัมภาษณ์พิเศษ Joe Gordon (นายเลอพงษ์ วิไชยคำมาตย์)

ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ณ นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา วันที่ 24 มีนาคม 2556

โดย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์

รองศาตราจารย์ ศูนย์เอเชียตะวันออกฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต

 

ปวิน -- ตั้งแต่ที่คุณ Joe Gordon กลับมาที่สหรัฐฯ ได้ทำอะไรบ้าง

Joe Gordon – ยังคงต้องปรับตัวเองอยู่ขณะนี้ เพราะประสบกับปัญหาหลายอย่างในระหว่างอยู่ในเรือนจำ และยังนึกอยู่เสมอว่า ตัวเองไม่เคยได้รับความเป็นธรรม ในกรณีการใช้กฏหมายมาตรา 112 ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใดก็ได้แจ้งความฟ้องร้องต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งผมเองไม่เคยได้รู้เรื่องการถูกฟ้องร้องมาก่อน และศาลตุลาการของไทยก็ขาดซึ่งความยุติธรรม ไม่เปิดโอกาสให้ผมสู้คดี ประสบการณ์ครั้งนี้เป็นเรื่องที่สะเทือนใจผมมาก แสดงถึงความป่าเถื่อนของกฎหมายฉบับนี้ หลังจากที่ผมได้รับการปล่อยตัวตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2555 ผมได้เดินทางกลับมาถึงสหรัฐฯ และได้พักฟื้นร่างกายและบำบัดสภาพจิตใจ

 

ปวิน – คิดว่าจะเดินทางกลับไทยอีกไหม

Joe Gordon – ผมเดินทางกลับไปเมืองไทยครั้งที่แล้วในฐานะนักท่องเที่ยวอเมริกัน และใช้หนังสือเดินทางอเมริกัน แต่เมื่อทางการไทยต้องการดำเนินคดีกับผม เขาอ้างว่าผมยังเป็นคนไทย เพราะเกิดในเมืองไทย เขายัดเยียด "ความเป็นไทย" ให้ผม ผมไม่ได้รับความยุติธรรม กระบวนการตุลาการของไทยขาดมาตรฐาน ตราบใดก็ตามที่ยังมีมาตรา 112 อยู่ ประเทศไทยจะยังไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะมาตรา 112 นี้ ริดรอนเสรีภาพ ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาต่อสถาบัน ตรงกันข้าม ประชาชนกำลังตกอยู่ในสภาวะที่หวาดกลัวและถูกคุกคาม

 

ปวิน – ความเห็นเกี่ยวกับมาตรา 112

Joe Gordon – หากไทยต้องการก้าวไปสู่ความเป็นอารยะ จำเป็นต้องมีการยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ ไทยเราก้าวมาสู่ความทันสมัยมากขึ้นแล้ว เราไม่ได้อยู่ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกต่อไป สถาบันกษัตริย์จำเป็นต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ สถาบันกษัตริย์ต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมไทย ในกรณีของสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษ ก็ยังต้องปรับตัว และก็ประสบความสำเร็จพอควรในการอยู่ร่วมกับสถาบันประชาธิปไตย การปรับตัวนี้ยังต้องรวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ของสถาบันกษัตริย์ รวมถึงงบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาลนั้น ต้องตรวจสอบได้ การที่พระบรมวงศานุวงศ์เป็นบุคคลสาธารระ จำเป็นต้องเปิดให้มีการวิจารณ์ได้ ติชมได้ แต่ไม่ใช่การยกยอจนอยู่เหนือนอกเหตุผล สถาบันต้องไม่เอาเปรียบประชาชน แต่หากดูในสภาพความเป็นจริง ประเทศไทยยังเสมือนตกอยู่ภายใต้ระบอบราชาธิปไตย นอกจากนี้ ต้องมีการปรับตัวของหน่วยงานของรัฐอื่นๆ อาทิ หน่วยงานด้านตุลาการ ที่ตกเป็นเครื่องมือของสถาบันกษัตริย์ ตราบใดที่ปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข ประชาธิปไตยของไทยคงไม่ได้รับการพัฒนา

 

ปวิน – ความเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงในสหรัฐอเมริกา

Joe Gordon – อยากให้ชาวเสื้อแดงในนครลอสแอนเจลิสได้รวมตัวเป็นกลุ่มเป็นก้อนมากขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพให้มากขึ้น แต่ที่ผ่านมา กลุ่มเสื้อแดงในแอลเอก็ทำหน้าที่ได้อย่างดีแล้ว หากมีกิจกรรมที่พบปะกับเรื่อยๆ ผมก็จะเดินทางมาร่วมด้วย ส่วนตัว ผมเองก็มีส่วนช่วยรณรงค์ให้มีการตื่นตัวเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 โดยผ่านทาง social media อาทิ ผ่านช่องทาง Facebook  ของผม จะพยายามรณรงค์ให้ปัญหาที่เกิดกับมาตรา 112 ได้รับการรับรู้มากขึ้นในแวดวงต่างประเทศ ผมไม่อาจละทิ้งประเด็นนี้ไปได้ ผมใช้ชีวิตในเรือนจำนานถึง 14 เดือน เป็นไปไม่ได้ที่ผมจะเพิกเฉยต่อประเด็นปัญหาที่เกิดจากมาตรา 112

 

ปวิน – สภาพเรือนจำที่อยู่ในระหว่างการกักขัง

Joe Gordon – สภาพแย่อย่างมาก เรือนจำไม่ได้รับการปรับปรุงมานาน ไม่มีการปรับสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น ไม่มีแพทย์ ถึงมี แพทย์ส่วนใหญ่ก็ไร้จรรยาบรรณ ยิ่งเป็นผู้ต้องหาคดี 112 แล้ว แพทย์ส่วนใหญ่ปฏิเสธการรักษาพยาบาลในทันที นักโทษมีสภาพเยี่ยงสัตว์เดรัจฉาน นอกจากนี้ ผู้คุมขังส่วนใหญ่ยังมีอคติอีกด้วย การรักเจ้าของผู้คุมขังเหล่านี้ ทำให้พวกเขาปฏิบัติต่อนักโทษ 112 อย่างเลวร้าย แต่หลังจากที่สมาชิกเสื้อแดงได้เรียกร้องให้รัฐบาลหยิบยื่นการช่วยเหลือนักโทษ ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงบ้าง โดยเฉพาะการปรับสภาพเรือนจำใหม่ ไม่ให้มีการทุบตีนักโทษ กลั่นแกล้ง หรือมีอคติ อาหารการกินดีขึ้น การเยี่ยมเยียนมีความสะดวกมากขึ้น ผมได้เรียกร้องให้ไม่มีการแยกนักโทษมาตรา 112 ออกจากนักโทษการเมือง ที่ผ่านมา นักโทษมาตรา 112 ต้องถูกขังรวมกับนักโทษคดีอาญชกรรมอื่นๆ ที่มีความแออัด บ้างครั้ง มีนักโทษมากถึง 50 คนในห้องขังเดียว ต้องถูกขังรวมกับนักโทษที่ป่วยเป็นโรคไวรัสเอดส์และวัณโรค เป็นต้น

 

ปวิน – ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ หลังออกจากเรือนจำ

Joe Gordon – ทางการสหรัฐฯ ไม่ได้ติดต่อผมอีกหลังจากที่ผมเดินทางออกจากประเทศไทย แต่ตอนที่ออกจากเรือนจำ ทางสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ที่กรุงเทพฯ ก็ให้การดูแลผมดี ตอนที่อยู่ในเรือนจำ ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ให้ไปเยี่ยมเยียนผมประมาณเดือนละครั้ง และถี่มากขึ้นในช่วงที่ผมใกล้ได้รับอิสรภาพ คอยเฝ้าตามเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษ เมื่อได้รับการปล่อยตัวแล้ว เจ้าหน้าที่สถานทูตได้มารับตัวผมตอนกลางคืนเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นข่าว ดูแลผมตลอดและต้องการให้ผมเดินทางออกจากไทยโดยทันที แต่ก่อนออกเดินทาง ผมได้ไปพำนักใน safe house ชั่วคราวเพื่อตรวจสุขภาพ ก่อนที่จะมารับผมและไปส่งขึ้นเครื่องบินกลับสหรัฐฯ (และอยู่ส่งผมจนแน่ใจว่าเครื่องบินได้เดินทางออกจากสุวรรณภูมิแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ถูกกลั่นแกล้ง ผมเดินทางด้วยสายการบิน United Airlines ครับ) จากนั้นก็จบภารกิจ

 

ปวิน --- ท้ายสุด ความเห็นต่อความเคลื่อนไหวในแวดวงนักวิชาการเกี่ยวกับกฏหมายมาตรา 112 และการถกกระเด็นเรื่องสถาบันกษัติรย์

Joe Gordon – เป็นเรื่องดีที่เหล่านักวิชาการได้ออกมาแสดงจุดยืนมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติ แรงผลักดันจากนักวิชาการเท่านั้นไม่พอ แต่ยังต้องอาศัยมวลชน อาจกล่าวได้ว่า เรายังไม่มี "นักปฏิบัติ" แต่ผมต้องยอมรับว่า นักวิชาการส่วนหนึ่งมีความกล้าหาญ ให้ความรู้และแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะต่อการแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนมองหนัง: พี่มากพระโขนง

Posted: 11 Apr 2013 08:15 PM PDT

 
(มีสปอยล์นะครับ ถ้าใครยังไม่ได้ดู ก็แชร์เก็บไว้ก่อน แล้วค่อยมาอ่านทีหลังก็ได้ 555)
 
ขอเขียนถึง "พี่มากพระโขนง" บ้างครับ หลังจากได้อ่านรีวิวของ อ.เกษียร ซึ่งแกตั้งข้อสังเกตไว้เฉียบคมมากๆ และผมรู้สึกเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง
 
หนึ่ง ก่อนหน้ากลับเมืองไทย เมื่อราวสองสัปดาห์ก่อนผมนั่งรถไฟไปเที่ยวที่ Warwick เนื่องจากวันที่ไปถึงนั้นมีฝนตกตลอดเวลา ผมจึงหมกตัวอยู่แถวๆ ปราสาท Warwick ในปราสาทดังกล่าว มีพื้นที่จัดแสดงส่วนหนึ่งที่ทำเป็น "บ้าน/ปราสาทผีสิง" เอาไว้ด้วย ซึ่งเป้าหมายหลักส่วนใหญ่ของโชว์นี้ก็ดูเหมือนจะเป็นพวกเด็กๆ
 
ขณะยืนต่อคิวอยู่หน้าพื้นที่จัดแสดง ก็มีเด็กผู้หญิงญี่ปุ่น 2-3 กลุ่มย่อยๆ ยืนต่อคิวเข้าปราสาทผีสิงก่อนหน้าผม (จริงๆ ผมเดาว่า พวกเธออาจเป็นเด็กนักเรียนกลุ่มเดียวกันที่มาเรียนซัมเมอร์ที่นี่ แต่เพราะโชว์บ้านผีสิง จะจำกัดผู้ชมให้เข้าไปได้ครั้งละประมาณ 10-15 คน เด็กญี่ปุ่นเหล่านี้เลยต้องถูกซอยออกเป็นกลุ่มย่อยๆ โดยมีครูชาวอังกฤษคอยเทคแคร์นักเรียนแต่ละกลุ่ม) 
 
พวกเธอมีอาการร่าเริงเป็นอย่างยิ่งก่อนเข้าไปในตัวปราสาทผีสิง เท่าที่สังเกตจากกริยาเล่นหัวหยอกล้อหัวร่อในหมู่พวกเดียวกันเอง และกับนักแสดงตลกหน้าประตูปราสาทอย่างสนุกสนาน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ หลังจากพวกเธอเข้าไปในตัวปราสาทแล้ว ในแต่ละกลุ่มย่อยจะต้องมีเด็กมีอาการช็อกร้องไห้โฮออกมาก่อนชมการแสดงจบ กลุ่มละอย่างน้อยหนึ่งคนเสมอ
 
เมื่อถึงรอบผม ผมก็ไม่รู้สึกกลัวอะไรมากน่ะนะ แล้วคนในกลุ่มผม (ซึ่งเป็นฝรั่ง -ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และคนแก่- เสียส่วนใหญ่ และดูเหมือนจะมีสาวๆ ฟิลิปปินส์ที่มากับผู้ชายฝรั่งคนหนึ่งอีก 2-3 คน) ก็ไม่มีใครมีอาการช็อกตกใจต้องขอออกจากปราสาทผีสิงดังกล่าวกลางคัน
 
ตามความเห็นของผม เด็กผู้หญิงญี่ปุ่น 2-3 คนที่มีอาการช็อกออกมาจากปราสาทผีสิงกลางคัน น่าจะมีอาการเหมือน culture shock คือ ด้านหนึ่ง ไอ้ "ผีหลอก" ในปราสาทที่ Warwick นี่ มันคงไปกระตุกต่อมกลัวต่อมตกใจของพวกเธอพอดี โดยเป็น "ความกลัว" ในแบบที่พวกเธอไม่คุ้นเคย และรับมือคาดการณ์ไม่ทัน อีกด้านหนึ่ง อาจเป็นเพราะ พวกเธอเป็นคนญี่ปุ่นยกแก๊งที่เดินเข้าไปในปราสาทผีสิงอังกฤษ (โดยมีครูพี่เลี้ยงชาวอังกฤษตามประกบหนึ่งคน) เพราะฉะนั้น ทั้งหมดดูจะมีความเป็น "อันหนึ่งอันเดียวกัน" ทางวัฒนธรรมร่วมกันอยู่ แต่อยู่ดีๆ พอเดินเข้าไปในตัวปราสาท ก็มี "ผีอังกฤษ" โผล่มาหลอกหลอน กระตุกขวัญ ป่วนปั่นให้จิตใจ อารมณ์ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวดังกล่าวแตกกระเจิง กระทั่งพวกเธอบางคน ไม่สามารถตั้งรับกับภาวะแตกกระเจิงแบบนั้นได้ทันท่วงที
 
ทั้งหมดนี้ อาจถือเป็นการหลอกหลอนของ "ผี" ที่ถูกวางอยู่บนพื้นฐานเรื่อง "ความแตกต่าง" (ทางวัฒนธรรม)
 
สอง ก่อนหน้าจะดูหนังเรื่อง "พี่มากพระโขนง" ไม่นาน ผมมีโอกาสได้อ่านบทความภาษาอังกฤษสั้นๆ ของ "ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช" ที่เขียนถึง "ผี" ในหนังของ "อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล"
 
ฤกษ์ฤทธิ์อ้างอิงถึงประสบการณ์ของตนเองที่เติบโตมากับละครโทรทัศน์ยุค 1970 เขาเชื่อมโยงข่าว-สารคดีปลุกใจต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลฝ่ายขวา/ทหารในโทรทัศน์ยุคนั้น เข้ากับละครทีวีหลังข่าว ซึ่งมักจะเป็น "เรื่องผี" 
 
"ผี" (และ/หรือคอมมิวนิสต์) ที่ฤกษ์ฤทธิ์เติบโตมาด้วย จึงหลอกหลอนผู้คนให้ตกอยู่ในความกลัว บนพื้นฐานเรื่อง "ความแตกต่าง"
 
นอกจากนั้น "ผี" ยังเป็นกลไกของชนชั้นปกครองในการครอบงำให้คนตกอยู่ภายใต้อำนาจ (สื่อ) ที่ใช้สร้างความกลัวดังกล่าว และเป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์ให้สามัญชนเชื่อฟัง/ยอมรับอำนาจแห่งความเหลื่อมล้ำ/ความไม่เท่าเทียมในสังคม ("ผี" จึงมีหน้าที่คล้ายๆ ความเชื่อเรื่อง "กรรม" แม้ฤกษ์ฤทธิ์จะไม่ได้กล่าวถึงเรื่องหลังไว้ในบทความของเขาก็ตาม)
 
แต่ "ผี" ในหนังของอภิชาติพงศ์กลับมีความแตกต่างออกไปตามมุมมองของฤกษ์ฤทธิ์ กล่าวคือ "ผี" ของอภิชาติพงศ์ไม่ได้หลอกคนผ่านสถานะอัน "แตกต่าง" ของตนเอง แต่ "ผี" ดังกล่าวกลับบ่งชี้ให้เห็นถึงสภาวะที่มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันกับ "ความแตกต่าง" ของผีได้อย่างปกติ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว
 
"ผี" จึงยังคงดำรงอยู่ในจอโทรทัศน์/ภาพยนตร์และสังคมไทย แต่ผู้คนไม่ได้กลัว "ผี" ที่ "แตกต่าง" จากตนเอง รวมทั้งเป็นกลไกอำนาจของชนชั้นปกครองอีกต่อไปแล้ว เพราะพวกเขาสามารถอยู่ร่วมกับ "ความแตกต่าง" ดังกล่าวได้อย่างปกติและด้วยความเข้าใจ
 
คิดต่อจากบทความของฤกษ์ฤทธิ์ "ผี" ประเภทหลังนี้มิได้ดำรงอยู่แต่เพียงในหนังอิสระรางวัลปาล์มทองคำของอภิชาติพงศ์เท่านั้น หากมันยังดำรงอยู่ในหนังร้อยล้าน (อาจถึงสองร้อยล้านหรือมากกว่านั้น) เรื่องล่าสุดอย่าง "พี่มากพระโขนง" อีกด้วย
 
สาม มาถึง "พี่มากพระโขนง" ผมคิดว่า มันน่าสนใจไม่น้อย หากนำ "พี่มากฯ" ไปเปรียบเทียบกับ "นางนาก" ผลงานการกำกับของ "นนทรีย์ นิมิบุตร" เมื่อปี พ.ศ.2542
 
เนื่องจาก "พี่มากฯ" อ้างอิงตนเอง (รวมถึงยั่วล้อ) เข้ากับโครงเรื่องและเกร็ดเรื่องราวหลายอย่างของ "นางนาก" อย่างชัดเจน ไม่นับว่าผู้อำนวยการผลิตของ "นางนาก" อย่าง "วิสูตร พูลวรลักษณ์" ก็ยังมารับหน้าที่เป็นหนึ่งในผู้อำนวยการผลิตของ "พี่มากฯ" (กระทั่ง "ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์" ที่เริ่มโด่งดังในฐานะคนทำดนตรีประกอบภาพยนตร์มือวางอันดับต้นๆ ของเมืองไทยจาก "นางนาก" ก็ยังคงเป็นหนึ่งในคนทำดนตรีประกอบให้ "พี่มากฯ" เช่นกัน) 
 
ถ้า "นางนาก" เป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของวงการหนังไทยหลังยุควิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ที่พยายามเผชิญหน้า/วิพากษ์วิกฤตที่เกิดขึ้น (จาก "ภัยภายนอก" เช่น ไอเอ็มเอฟ หรือ ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ของฝรั่ง ตามความเข้าใจทั่วๆ ไป) ด้วยอารมณ์ความรู้สึก "โหยหาอดีต" "หวนหารากเหง้าความเป็นไทยดั้งเดิม" (ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นในโลกภาพยนตร์)
 
"พี่มากพระโขนง" ก็อาจเป็นหนึ่งในหนังไทยร่วมสมัยที่พยายามพูดถึงวิกฤตการเมืองนับแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา และยังดำเนินสืบเนื่องมาจนถึงช่วงกลางทศวรรษ 2550 หากแต่หนังเรื่องนี้มิได้วิพากษ์วิกฤตอันเกิดขึ้นจาก "ความขัดแย้งภายใน" ด้วยท่าทีของการกลับไปแสวงหาหรือรื้อฟื้นรากเหง้าอันดีงามในอดีต ทว่ากลับพยายามยั่วล้อ/กลับหัวกลับหางท่าทีดังกล่าวที่ถูกสร้างขึ้นโดยนางนาก (และหนังไทยเรื่องอื่นๆ ที่อยู่ร่วมสมัยกับนางนาก) และพยายามนำพาตัวเองให้หลุดพ้นไปจากกับดักดังกล่าว
 
ถ้าคนทำหนังไทยเชิงพาณิชย์ถือเป็น "ชนชั้นกลางวัฒนธรรม" (ตามความเห็นของ "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล") อันเป็นกลุ่มคนที่ยึดกุมอำนาจนำในพื้นที่ "สื่อ" และมีความสำคัญยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม-การเมือง แต่คนกลุ่มนี้ในสังคมไทยกลับไม่ค่อยเลือกอยู่ข้างฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม-การเมืองไทยร่วมสมัยมากนัก 
 
การเกิดขึ้นและการประสบความสำเร็จของ "พี่มากฯ" อาจบ่งชี้ถึง "ชนชั้นกลางวัฒนธรรมไทย" ที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามความเปลี่ยนแปลงทางสังคม-การเมืองที่เคลื่อนตัวไปอย่างมหาศาลในช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา แต่แน่นอนว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นย่อมเป็นผลมาจากการที่คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญหน้ากับ "ปัญหา" ที่วางอยู่บนพื้นฐานและอยู่ในบริบท/ช่วงเวลาที่แตกต่างกันด้วย 
 
(จริงๆ เวลาพูดถึง "ชนชั้นกลางวัฒนธรรมไทย" ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ เราคงต้องยอมรับว่า คนกลุ่มนี้ไม่ได้มีความเป็นหนึ่งเดียว เช่น นนทรีย์ กับ "บรรจง ปิสัญธนะกูล" ก็เป็นคนทำหนังต่างรุ่นกัน ขณะเดียวกันคนรุ่นเดียวกันอย่างนนทรีย์ "เป็นเอก รัตนเรือง" และ "วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง" ก็มีท่าทีต่อปัญหาการเมืองไทยร่วมสมัยแตกต่างกันไป)
 
สี่ พิจารณาในเชิงรายละเอียด "นางนาก" ฉบับนนทรีย์ พยายามสถาปนา "ความจริงทางประวัติศาสตร์" ขึ้นมาให้กับตำนาน "แม่นาคพระโขนง" ผ่านการใส่บริบทจริงๆ ทางประวัติศาสตร์ เช่น ศึกเชียงตุง หรือบุคคลที่มีตัวตนจริงๆ ทางประวัติศาสตร์ อย่าง "สมเด็จโต" ลงไปในหนัง ผนวกด้วยการสร้างบรรยากาศของ "ความสมจริงทางประวัติศาสตร์" ตามโลกทัศน์ของ "ชนชั้นกลางวัฒนธรรม" ยุคนั้น ผ่านการออกแบบงานสร้าง ตลอดจนการประพันธ์/เรียบเรียงดนตรีประกอบให้กับหนัง 
 
ถ้าจำไม่ผิด "อ.ทรงยศ แววหงษ์" ถึงกับเคยเขียนบทความทำนองว่าหนัง "นางนาก" ของนนทรีย์ ได้ทำให้ความเป็นตำนานของ "แม่นาคพระโขนง" สิ้นสุดลงไป
 
ขณะเดียวกัน บทบาทสำคัญของตัวละคร "สมเด็จโต" ในหนังของนนทรีย์ ก็ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงบทบาทอำนาจของพุทธศาสนากระแสหลัก ในการแบ่งแยกชี้นำว่ามนุษย์ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับ "ความแตกต่าง" อย่าง "ผีนางนาก" ได้
 
อย่างไรก็ตาม การย้อนกลับไปหา "รากเหง้าทางประวัติศาสตร์" อันทรงพลังและงดงามในแบบ "นางนาก" ก็ถูกกร่อนเซาะลงโดยการมาถึงของหนังตลก "พี่มากพระโขนง"
 
ห้า "พี่มากฯ" ทำลายองค์ประกอบอะไรของ "นางนาก" ลงบ้าง?
 
ประการแรก "พี่มากฯ" ทำลายองค์ประกอบ "ความสมจริงทางประวัติศาสตร์" ลงไปอย่างสิ้นซากย่อยยับ มีงานโปรดักชั่นดีไซน์และมุขตลกที่ผิดยุคผิดสมัยดำรงอยู่ทั่วไปและอย่างจงใจในหนังเรื่องนี้ (ขณะที่ตัวสกอร์ประกอบหนังเอง แม้ชาติชาย คนทำสกอร์ "นางนาก" จะมาร่วมงานกับ "หัวลำโพง ริดดิม" ในการทำสกอร์ "พี่มากฯ" แต่กลิ่นอายแบบเพลงไทยเดิมหรือเพลงกล่อมลูกพื้นถิ่น ก็ไม่ได้ถูกขับเน้นออกมาให้โดดเด่นเหมือนเดิม) สงครามที่มากและสี่สหายไปร่วมรบ ไม่ได้ถูกระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นศึกอะไร อยู่ในปีไหน ไม่มี "สมเด็จโต" ในหนังเรื่องนี้ มีแต่พระตลกๆ ที่พบได้ในหนังตลกไทยทั่วไป
 
ที่เด็ดขาดที่สุด ก็คือ ไดอะล็อกช่วงต้นของหนัง ที่เล่นงานซะ บทพูดแบบ "โบราณประดิษฐ์" ซึ่งแพร่หลายในหนังไทยมาตั้งแต่ยุค "นางนาก" "บางระจัน" เรื่อยมาจนถึง "สุริโยไท" หรือ "ตำนานสมเด็จพระนเรศวร" แทบจะหมดความชอบธรรมหรือมนต์ขลังในเชิงภาพยนตร์ไปอย่างสิ้นเชิง (เข้าใจว่า อ.เกษียร น่าจะชอบซีนนี้เป็นพิเศษ ส่วนผมนี่ตอนดูฉากนี้ถึงกับตบเข่าฉาดใหญ่เอาเลย)
 
ประการต่อมา หาก "นางนาก" เป็นการพยายามหันมาเพ่งมองพินิจพิเคราะห์ภูมิปัญญาหรือรากฐานทางประวัติศาสตร์ของ "ปัจจัยภายใน" ในยามที่สังคมไทยช่วงปี 2540 เผชิญกับภัยเศรษฐกิจ (ที่ถูกเข้าใจว่าเกิดจาก) จาก "ปัจจัยภายนอก" "พี่มากฯ" กลับไม่ได้ปฏิเสธ "ปัจจัยภายนอก" ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ลุ่มหลง "ปัจจัยภายใน" อย่างเกินเลย
 
ตัวละครพี่มากหรือมาร์คในหนัง มีหน้าตาเป็นฝรั่ง เพราะเป็นลูกของมิชชันนารีอเมริกัน และเขาก็สามารถดำรงอยู่ในสังคมไทยได้อย่างไม่มีปัญหา (หนังที่พูดถึงประเด็น "มิชชันนารี" ในยุครัชกาลที่ 5 ได้อย่างสนุกและชวบขบคิดอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ "สาบเสือที่ลำน้ำกษัตริย์" ของ "บัณฑิต ฤทธิ์ถกล" ผู้ล่วงลับ) ส่วน "ความเป็นชาติ" ของสยาม/ไทย ก็ถูกตั้งคำถามผ่านมุขตลก ทหารสยามที่ได้รับการปลุกใจสไตล์ชาวบ้านบางระจัน จนควงดาบด้วยท่าทีหาญกล้าออกไปสู้รบกับอริราชศัตรู (ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร เพราะหนังไม่ได้ฉายภาพให้เห็น) ก่อนจะพบว่าข้าศึกแม่งมือปืน ส่วนเรามีแค่ดาบ กระทั่งถูกยิงและต้องหนีเอาตัวรอดกันจ้าละหวั่น
 
และแน่นอนว่า หนึ่งในไดอะล็อก "จำ" ของหนังเรื่องนี้ ก็คือตอนที่มากกลับไปอ้อนนาคว่า ตอนออกศึกนั้น "เค้าไม่เคยคิดถึงสยามเลย เค้าคิดถึงแต่ตัวเอง" (เล่นเอา "พี่ชมพู ฟรุตตี้" แทบจะร้อง "ออกศึกข้านึกแต่รบและรบ จบศึกข้านึกแต่รักเจ้าเท่านั้น" ไม่ออกเอาเลยทีเดียว)
 
ประการสุดท้าย "พี่มากฯ" ไม่ได้แค่ทำลายโครงเรื่องของ "นางนาก" แต่ทำลายโครงเรื่องของตำนาน "แม่นาคพระโขนง" ลงไปด้วย ตอนช่วงท้ายๆ หนังตั้งคำถามหรือเล่นหัวกับโครงเรื่องดั้งเดิมอย่างสนุกสนานว่าตกลงใครกันแน่ที่เป็นผีหรือเป็นคน (จนทำให้คนดูสามารถ "หลงทาง" ไปถึงขั้นที่ว่า นาคอาจไม่ใช่ผี) แม้จะไม่ได้ทำลายโครงเรื่อง "แม่นาคฯ" ลงอย่างถอนรากถอนโคน คือ ปฏิเสธความเป็น "ผี" ของนาคอย่างสิ้นเชิง แต่หนัง "พี่มากพระโขนง" ก็เดินทางไปไกลพอที่จะทำให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันกับ "ผี" (หรือ "ความแตกต่าง") ได้อย่างเข้าใจและเป็นมิตร ภาพนาคยืนกลับหัวบนเพดานศาลาการเปรียญวัดมหาบุศย์ไม่ได้นำไปสู่การตัดสินใจขั้นเด็ดขาดว่า ชาตินี้นาคและมากจะไม่มีวันอยู่ร่วมกันได้ หากเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเข้าใจว่า "คน" และ "ผี" สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ต่างหาก
 
หก ผมเข้าใจ (หรือพยายามตีความไปเอง) ว่า ฉากจบของหนังเรื่องนี้ ที่ฉายภาพชาวบ้านชุมนุมขับไล่ "ผีแม่นาค" (ซึ่งสามารถอยู่ร่วมกับพี่มากและสี่สหายได้อย่างปกติสุข) อาจมี "สารทางการเมือง" อยู่บ้างไม่มากก็น้อย เช่น คนทำหนังอาจพยายามยั่วถามคนดูว่า เราจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคมเดียวกันกับคนที่มีความเห็นทางการเมือง "แตกต่าง" กับเราได้หรือไม่? และทำไมเราต้องขับไล่คนที่มีความเห็นต่างออกไปจาก "บ้าน" หลังนี้?
 
อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่น่าตั้งคำถามถึงสถานะการดำรงอยู่ของ "นาค" ในหนังเรื่องนี้เช่นกัน กล่าวคือ สุดท้าย แม้จะมีคนเปิดรับความ "แตกต่าง" ของนาค แต่พวกเขาก็คือมากและสี่สหาย ไม่ใช่คนทั้งชุมชน อีกทั้งพื้นที่ที่เปิดต่อการดำรงอยู่ของ "นาค" จริงๆ กลับเป็น "ซุ้มผีสิง" ในงานวัด ราวกับว่า "ความแตกต่าง" ของ "ผีแม่นาค" จะดำรงอยู่ในสังคมไทยได้ก็ต่อเมื่อ มันเลือกจำกัดศักยภาพในการยั่วล้อ/พลิกหัวกลับหางความเชื่อทางสังคม-การเมืองกระแสหลักของตนเอง ให้อยู่ใน "โลกใต้ดินเสมือน" อันเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลคาร์นิวัลอะไรสักอย่าง ไม่ใช่ในการดำเนินวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนแต่อย่างใด
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วาด รวี ถาม สมศักดิ์ เจียมฯ: ทำไมต้องเถียงกันเรื่อง"ยกเลิก”หรือ“แก้ไข" ม.112

Posted: 11 Apr 2013 06:49 PM PDT

บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นเพื่อตั้งคำถามและวิพากษ์ความคิดของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลที่วิจารณ์ข้อเสนอเรื่อง 112 ของคณะนิติราษฎร์และ ครก.112 ในช่วงปีกว่าที่ผ่านมา ตลอดเวลาที่สมศักดิ์วิจารณ์ข้อเสนอเรื่อง 112 ของคณะนิติราษฎร์ มีประเด็นสำคัญเพียงประเด็นเดียวเท่านั้น คือ สมศักดิ์เห็นว่าข้อเสนอที่ถูกต้องนั้นคือการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 เท่านั้น เพื่อยืนยันว่า "กฎหมายที่ดีพอสำหรับคนธรรมดา ก็ต้องดีพอสำหรับเจ้า" และข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์มาจากฐานคิดเดียวกับรอยัลลิสต์คือ "เจ้าไม่เท่ากับคนธรรมดา"

โปรดสังเกตว่าข้อวิจารณ์นิติราษฎร์และ ครก.112 ของสมศักดิ์นั้น มองไม่เห็นข้อเท็จจริงสำคัญอันหนึ่ง  คือ ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะภายใต้การบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างที่เป็นอยู่ ทุกคนล้วนถูกบังคับให้ต้องเสนอภายใต้กรอบของระบอบ constitutional monarchy ทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ตัวสมศักดิ์เองซึ่งอ้างอยู่ตลอดเวลาว่า ข้อเสนอ 8 ข้อเพื่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของตนนั้น เป็นไปเพื่อทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันสมัยใหม่

พูดง่าย ๆ คือสมศักดิ์เองก็อ้างอยู่เสมอว่าตัวเองกำลังเสนอให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เพื่อความยั่งยืนในระยะยาว (สมศักดิ์พูดหลายครั้งว่าเป็นไปเพื่อเป็น "ผลดี" ต่อสถาบันกษัตริย์เอง รวมทั้งในการพูดครั้งหลังสุดที่งาน 80 ปี ส.ศิวรักษ์)

คำถามก็คือ ข้อเสนอ 8 ข้อของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ไม่ตั้งอยู่บนฐานคิดของรอยัลลิสต์กระนั้นหรือ? (ยังเสนอให้มีสถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันประมุขของประเทศ)

ข้อเสนอของสมศักดิ์มีความแตกต่างอย่างไรกับข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ในเมื่อทั้งสองข้อเสนอตั้งอยู่บนฐานคิดว่าให้มีสถาบันกษัตริย์ (และรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ในระยะยาวในกรณีของสมศักดิ์)

โปรดสังเกตว่า เหตุผลที่เสนอให้แก้ไข 112 ของคณะนิติราษฎร์นั้นเป็นเหตุผลในทางกฎหมาย โดยให้สถาบันกษัตริย์ (ตามกรอบเดิมคือ กษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) ถือเป็นสถาบันประมุขที่อาจทำหน้าที่เป็นตัวแทน (representative) รัฐ ดังนั้นจึงให้มีการแยกแยะกฎหมายไว้ต่างหาก และให้โทษเฉพาะตำแหน่งกษัตริย์มากกว่าคนธรรมดาอยู่ 1 ปี ส่วนเหตุผลของสมศักดิ์ที่ให้ยกเลิกนั้นคือ เพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้เป็นสมัยใหม่ (ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนหรือเป็นผลดีต่อสถาบันกษัตริย์เอง – คำพูดของสมศักดิ์เองที่อ้างอยู่เสมอ)

ถามตรง ๆ ว่าเหตุผลใครเป็นรอยัลลิสต์มากกว่ากัน? สามารถพิสูจน์สิ่งนี้ภายใต้สภาพบังคับปัจจุบันได้ไหม?

 "หลักการ" อะไรที่สมศักดิ์เอามาประเมิน (ว่าข้อเสนอ 112 ของนิติราษฎร์เป็นประชาธิปไตยหรือไม่) ภายใต้สภาพบังคับของระบอบ constitutional monarchy ?

ถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่สมศักดิ์เองและปัญญาชนที่เคลื่อนไหวในเรื่อง 112 ทราบกันดีอยู่แก่ใจก็คือ ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันนี้ กรอบการปฏิรูปโครงสร้างการเมืองเดียวที่เสนอได้ก็คือกรอบของระบอบ constitutional monarchy ไม่สามารถเสนอระบอบอื่นนอกเหนือจากนี้ได้ ทั้งที่ในสังคมประชาธิปไตยย่อมเป็นเรื่องปรกติที่ประชาชนจะมีความเห็นหรือแสดงออกว่าอยากให้มีระบอบการปกครองแบบใดก็ได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็น constitutional monarchy เท่านั้น ดังนั้นข้อเสนอทุกข้อเสนอย่อมถูกบังคับ (ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่) ให้ต้องเสนอในกรอบของรอยัลลิสต์ (คือต้องมีสถาบันกษัตริย์) ไม่มากก็น้อย

ถามว่าภายใต้สภาพบังคับแบบนี้ การที่สมศักดิ์วิจารณ์ข้อเสนอของนิติราษฎร์ว่าเป็นรอยัลลิสต์นี้ ขัดแย้งกับตัวเองหรือไม่? มองไม่เห็นสภาพบังคับ และมองไม่เห็น "ความเป็นรอยัลลิสต์" ในข้อเสนอ 8 ข้อของตนเองหรือ?

สถาบันกษัตริย์นั้นเป็นสถาบันที่ "ไม่เท่ากับคนธรรมดา" โดยธรรมชาติ (ไม่เช่นนั้นจะเรียกสถาบันกษัตริย์ได้อย่างไร?) และความสืบเนื่องของสถาบันกษัตริย์ (สายตระกูล) ก็เป็นอะไรที่ขัดแย้งกับระบอบประชาธิปไตยโดยธรรมชาติ นี่เป็นประเด็นสำคัญ ดังนั้น เนื้อหาที่แท้จริงของการพยายามปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยภายใต้กรอบของระบอบ constitutional monarchy นั้นก็คือ การที่คุณกำลังพยายามเสนอให้สิ่งที่ขัดแย้งกับประชาธิปไตยโดยธรรมชาติสามารถอยู่ภายใต้หลักประชาธิปไตย (ทุกคนเท่ากัน) ได้ นี่คือโจทย์ ถ้าคุณยังต้องการเสนอในที่สาธารณะโดยถูกกฎหมาย โจทย์ก็คือ คุณจะเสนออย่างไรให้สิ่งที่ไม่เท่ากันโดยธรรมชาตินี้ ดำรงอยู่ได้โดยไม่ละเมิดความเท่าเทียมกันภายใต้หลักการประชาธิปไตย

เพราะฉะนั้น หากจะวิจารณ์ข้อเสนอเรื่อง 112 ของคณะนิติราษฎร์และ ครก.112 ว่า "ไม่เป็นประชาธิปไตย" (สมศักดิ์ใช้คำนี้ในเฟซบุค) อย่างไร คุณก็ต้องประเมินบนฐานคิดภายใต้สภาพบังคับคือ "จะทำให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ หรือ ทำให้สถาบันที่โดยธรรมชาติไม่เท่ากับคนธรรมดา ดำรงอยู่ภายใต้หลักประชาธิปไตย (ทุกคนเท่ากัน)" อย่างไร  ไม่ใช่หลักว่า "ทำให้เจ้าเท่ากับคนธรรมดา" อย่างไร

การเสนอให้ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 และให้ใช้กฎหมายร่วมกับคนธรรมดาก็คือหนทางหนึ่ง การเสนอให้ปฏิรูปกฎหมายหมิ่นกษัตริย์โดยใช้โครงสร้างเดียวกับกฎหมายที่ใช้กับคนธรรมดาดังเช่นร่างกฎหมายที่นิติราษฎร์เสนอก็คือหนทางหนึ่ง

แต่การจะบอกว่าหนทางไหนผิด หนทางไหนถูก สามารถบอกได้โดยใช้หลัก "เจ้าเท่ากับคนธรรมดา" ได้กระนั้นหรือ?

ถ้าจะบอกว่าใช้หลัก "เจ้าเท่ากับคนธรรมดา" มาเป็นตัวชี้วัด ถามว่า แล้วการเสนอให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 8 ข้อของสมศักดิ์ เป็นการเสนอให้ "เจ้าเท่ากับคนธรรมดา" อย่างไร ในเมื่อสุดท้ายแล้วสาระของข้อเสนอก็คือยังคงมี "เจ้า" (ไม่ใช่คนธรรมดา) อยู่ จะเห็นได้ว่า ถ้าจะ apply หลักให้เจ้าเท่ากับคนธรรมดาจริง ๆ ก็คือต้อง "ไม่มีเจ้า" นั่นก็เท่ากับเป็นการเสนอระบอบอื่นที่ไม่ใช่ constitutional monarchy แต่เสนอไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย ในเมื่ออยู่ในสภาพที่เสนอไม่ได้แล้วจะเอาหลักนี้มาประเมินได้อย่างไร?

ภายใต้ระบอบ constitutional monarchy คุณจะวัดว่าแนวคิดหรือข้อเสนอใด เป็น หรือ ไม่เป็น ประชาธิปไตย คุณใช้หลัก "เจ้าเท่ากับคนธรรมดา" มาเป็นตัวชี้วัดไม่ได้ เพราะโดยสภาพของระบอบไม่อนุญาตให้หลักนี้ดำรงอยู่ เพราะฉะนั้น หลักที่ถูกต้องในการชี้วัดคือ "เจ้าจะอยู่กับคนธรรมดาได้อย่างไร" นี่คือคำถามที่แท้จริงของสถานการณ์ที่กำลังถูกบังคับ แต่สมศักดิ์ก็วิจารณ์ร่างแก้ไข 112 ของนิติราษฎร์โดยใช้หลัก "เจ้าเท่ากับคนธรรมดา" มาตลอด โดยไม่ตระหนักเลยว่าเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับข้อเสนอของตัวเอง ในกรณีข้อเสนอ 8 ข้อเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สาระของข้อเสนอทั้ง 8 ข้อ นั้น ถึงที่สุดยังคงเป็นการเสนอให้มี "สถานภาพที่ไม่เท่ากับคนธรรมดา" อยู่นั่นเอง ไม่ใช่ข้อเสนอที่ให้ "เจ้าเท่ากับคนธรรมดา"  จริง ๆ (ไม่มีเจ้า)  เพราะเสนอไม่ได้ ในเมื่อรู้ว่าตัวเองเสนอไม่ได้ รู้ว่ากรอบบังคับคืออะไร หลักไหนที่ไม่สามารถใช้ได้โดยตลอด แล้วทำไมจึงใช้หลักนั้นมาประเมินข้อเสนอของคนอื่น? (โดยยกเว้นตัวเอง)

ภายใต้การบังคับนี้ เราจะสามารถตัดสินได้ว่า ข้อเสนอเรื่อง 112 ของคณะนิติราษฎร์ เป็น หรือ ไม่เป็น รอยัลลิสต์ เช่นนั้นหรือ? ตราบใดที่กรอบเดียวที่เสนอได้คือ constitutional monarchy  และในเมื่อตัวกฎหมายที่เสนอนั้นก็มีดีกรีของความเป็นประชาธิปไตยไม่น้อยไปกว่ากฎหมายที่มีอยู่ในประเทศที่ (ใช้กรอบเดียวกันและ) ได้รับการยอมรับว่าเป็นประชาธิปไตย คุณจะประเมินว่าร่างกฎหมายนี้เป็นการเสนอที่ผิดด้วยหลักอะไร?

วิวาทะเรื่อง "ยกเลิก" หรือ "แก้ไข" กฎหมายอาญามาตรา 112 นี้มีสภาพที่ paradox เหมือนกับการพยายามเปิดล็อกประตูเพื่อเอากุญแจที่อยู่ในประตู กล่าวคือ เป็นการกระทำเพื่อจุดมุ่งหมายที่หากกระทำสำเร็จแล้วจุดหมายนั้นก็จะกลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมายโดยทันที หากว่าสามารถ "เปิด" ประตูได้ การได้มาซึ่ง "กุญแจ" ก็ไม่มีความหมาย ในขณะที่ระหว่างที่พยายามเปิดประตูเรากลับคิดถึง "กุญแจ" อยู่ตลอดเวลา สังเกตว่าในประเทศยุโรปที่มีกฎหมายหมิ่นกษัตริย์ใน "มาตรฐานเดียวกับร่างแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์" การ "ยกเลิก" กฎหมายฯ ไม่เป็นประเด็นสำคัญทางการเมืองที่จะส่งผลกับความเป็นประชาธิปไตยเลยแม้แต่น้อย ในกรณีของไทย ความ paradox คือ ถ้าเมื่อไรที่สังคมสามารถแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายนี้ได้ นั่นก็เท่ากับสังคมนี้มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าปัจจุบัน (มาก) และอาจจะมากถึงจุดที่ว่า การยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ใช่ประเด็นสำคัญอีกต่อไป ขณะเดียวกันในสภาพปัจจุบันที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยก็ทำให้การแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง (ยิ่งไม่สามารถเปิดประตูกุญแจก็ยิ่งสำคัญ) หากเราเข้าใจสภาวะที่ paradox นี้ ก็จะเห็นว่า การโต้เถียงกันเรื่อง "ยกเลิก" หรือ "แก้ไข" กฎหมายอาญามาตรา 112 นี้เป็นสิ่งที่สูญเปล่า และไม่ใช่ประเด็นสำคัญของสถานการณ์ เพราะประเด็นสำคัญคือ "ความเป็นประชาธิปไตย" ไม่ว่าจะได้มาก่อนหรือหลังการ "แก้ไข" หรือ "ยกเลิก" กฎหมาย (ประเด็นคือ ความสามารถที่จะเปิดประตู ไม่ใช่การได้กุญแจ)

คำถามที่ผมอยากจะถามสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล คือ ประเด็นของการถกเถียงเรื่อง "ยกเลิก" หรือ "แก้ไข" กฎหมายอาญามาตรา 112 ในสภาพแบบนี้ สภาพที่ถูกบังคับให้เสนอได้เพียงกรอบเดียว และสภาพที่มีความเป็น paradox นี้ คืออะไร จะเถียงกันเพื่ออะไร?

 

 

 

จากบทความเดิมชื่อ: ถามสมศักดิ์ เจียมฯ: ภายใต้สภาพบังคับของระบอบ constitutional monarchy  และความ paradox ของสถานการณ์กฎหมายอาญามาตรา 112 จะเถียงกันเรื่อง "ยกเลิก" หรือ "แก้ไข" เพื่ออะไร?

 

 

AttachmentSize
constitutional monarchy.pdf83.07 KB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

The Guardian เผยเอกสารลับทางการอียิปต์ ระบุกองทัพเกี่ยวข้องกับการใช้กำลังกับผู้ชุมนุม

Posted: 11 Apr 2013 05:56 PM PDT

 

คณะกรรมการนำเสนอรายงานสืบสวนข้อเท็จจริงเรื่องการสังหาร ทรมาน และการสาบสูญของผู้ชุมนุมช่วงปฏิวัติให้แก่ปธน. มอร์ซีของอียิปต์ตั้งแต่ เดือน ม.ค. แต่ถูกเก็บเงียบ ทางสำนัก The Guardian ได้นำเสนอข้อมูลรั่วไหลบางส่วนพบว่าทหารมีส่วนในการใช้กำลังและการสาบสูญของผู้ชุมนุม

 
 
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2013 สำนักข่าว The Guardian ของอังกฤษได้เผยแพร่ข้อมูลจากเอกสารลับของประธานาธิบดีอียิปต์ซึ่งรั่วไหลออกมา เอกสารดังกล่าวเป็นรายงานเกี่ยวกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการปฏิวัติโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ในปี 2011 โดยเอกสารระบุว่ากองทัพของอียิปต์มีส่วนในการการสังหาร ทรมาน และทำให้บุคคลหายตัวไป
 
The Guardian ระบุว่า รายงานชุดนี้มาจากคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งโดย โมฮัมเหม็ด มอร์ซี ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของอียิปต์ ซึ่งเป็นรายงานที่ถูกส่งให้ปธน.ในช่วงเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีการเผยแพร่แก่สาธารณะ แต่ทาง The Guardian ได้รับทราบข้อมูลส่วนหนึ่งจากในรายงานที่กล่าวถึงการที่กองทัพอียิปต์ก่ออาชญากรรมต่อพลเรือนนับตั้งแต่ที่พวกเขาถูกสั่งให้วางกำลังรับมือกับผู้ชุมนุมบนท้องถนนเป็นครั้งแรก
 
เนื้อความส่วนหนึ่งจากเอกสารดังกล่าวแนะนำให้รัฐบาลไต่สวนผู้บัญชาการทหารระดับสูงเพื่อหาว่าใครมีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์รุนแรงดังกล่าว ในเนื้อความของรายงานยังระบุอีกว่า มีประชาชนมากกว่า 1,000 คน รวมถึงนักโทษจำนวนมากหายตัวไปในช่วงการปฏิวัติ 18 วัน มีหลายคนเสียชีวิตจากการถูกยิงหรือแสดงให้เห็นหลักฐานการถูกทรมาน
 
The Guardian กล่าวว่าข้อมูลดังกล่าวนี้จะเป็นการกดดันมอร์ซี ประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งที่รับตำแหน่งผู้นำต่อจากสภาคณะทหารสูงสุดแห่งอียิปต์ (Supreme Council of the Armed Forces) ซึ่งขึ้นเป็นผู้นำช่วงคราวหลังการปฏิวัติ โดยที่มอร์ซีปฏิเสธสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่แม้ว่าเจ้าหน้าที่บางส่วนจะมีข้อกล่าวหาเรื่องการใช้กำลัง
 
ขณะเดียวกันหลักฐานใหม่ชุดนี้ก็อาจถูกนำมาใช้กับการพิจารณาคดีครั้งใหม่ของอดีตปธน. ฮอสนี มูบารัค และอดีตรมต.มหาดไทย ฮาบิบ อัล-อัดลี ว่าพวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องในการสังหารผู้ประท้วงในช่วงที่มีการปฏิวัติ
 
บทที่กล่าวถึงผู้สูญหายในรายงานระบุถึงการที่ผู้สืบสวนค้นพบว่าสมาชิกกองทัพอียิปต์ได้จับกุมตัวพลเรือนจำนวนมากซึ่งไม่สามารถระบุจำนวนให้ชัดเจนได้ที่ด่านตรวจบนถนนทางตอนใต้ของกรุงไคโร โดยที่ไม่มีใครเห็นพวกเขาอีก มีผู้ประท้วงบางส่วนถูกกักขังและทรมานในพิพิธภัณฑ์อียิปต์ก่อนถูกนำตัวไปที่คุกของทหาร มีรายหนึ่งถูกสังหาร และยังมีการส่งร่างของบุคคลที่ไม่สามารถระบุตัวตนให้กับเจ้าหน้าที่ชันสูตรศพของรัฐบาล โดยเชื่อว่าพวกเขาเคยเป็นนักโทษและหลังจากเสียชีวิตแล้วก็ถูกนำไปฝังในหลุมศพถูกๆ ในรายงานยังระบุอีกว่าแม้จะมีหลักฐานให้เห็นเรื่องการทรมานแต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ทำการสืบสวนก่อนนำไปฝัง
 
ในวันที่ 11 เม.ย. สำนักข่าว The Guardian ยังได้เปิดเผยข้อมูลรายงานเพิ่มเติมว่าทีมแพทย์ระดับสูงของกองทัพอียิปต์ได้สั่งให้มีการผ่าตัดผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บโดยไม่มีการให้ยาสลบหรือยาฆ่าเชื้อก่อน ในช่วงที่มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทหารในช่วงปี 2012 นอกจากนี้เจ้าหน้าที่แพทย์ระดับสูงของกองทัพยังได้สั่งให้กักตัวผู้ชุมนุมไว้ที่ชั้นใต้ดิน และมีแพทย์ พยาบาลบางรายที่ทุกตีผู้ชุมนุมผู้ได้รับบาดเจ็บ
 
รายงานฉบับดังกล่าวนี้มาจากคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงซึ่งแต่งตั้งโดยมอร์ซี พวกเขาทำการสืบสวนเหตุการณ์รุนแรง 19 เหตุการณ์ จากการรวบรวมคำให้การของพยาน จากญาติของผู้สูญหาย จากข้อมูลของนักกฏหมายและแผนกนิติเวชของรัฐ พวกเขานำเสนอรายงานความยาว 800 หน้าให้กับมอร์ซีและ ทาลัท อับดัลลาห์ อธิบดีกรมอัยการ แต่ก็ยังไม่มีการนำเสนอต่อสาธารณะ หรือมีการแสดงความเห็นจากสาธารณชน
 
ทางกองทัพอียิปต์ปฏิเสธจะแสดงความเห็นต่อรายงานฉบับนี้ โดยบอกว่าจะให้คำตอบภายในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า ขณะที่แหล่งข่าวจากทำเนียบปธน. บอกว่ามอร์ซียังไม่เห็นรายงานดังกล่าว โดยที่รายงานในตอนนี้กำลังถูกตรวจสอบโดยอธิบดีกรมอัยการและเมื่อมีผลออกมาแล้วจะนำเสนอต่อสาธารณชน แหล่งข่าวบอกอีกว่าเอกสารลับดังกล่าวยังอยู่ในการพิจารณาและยังไม่ใช่ฉบับจริง
 
ก่อนหน้านี้กลุ่มผู้ประท้วงและนักการเมืองฝ่ายค้านได้เรียกร้องให้กองทัพออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อข้อกล่าวหาเรื่องการสังหารและการทรมานทั้งในช่วงที่มีการปฏิวัติและในช่วงที่ทหารขึ้นเป็นรัฐบาลชั่วคราว 16 เดือนหลังจากนั้น โดยที่ทางกองทัพอียิปต์เคยสั่งฟ้องบุคคล 4 คน เป็นทหารเกณฑ์ระดับล่าง 3 นาย จากเหตุการณ์ช่วงปลายปี 2011 แต่ยังไม่มีสมาขิกกองทัพรายใดที่ถูกฟ้องในข้อหาใช้กำลังหรือสังหารในช่วงที่มีการปฏิวัติ
 
ทางด้านนักกฏหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนในอียิปต์กล่าวว่ารัฐธรรมนูญใหม่ของอียิปต์ที่ผ่านร่างเมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ทำให้กองทัพมีอำนาจในการไต่สวนสมาชิกกองทัพเอง ทำให้การฟ้องร้องดำเนินคดีกับทหารเป็นไปไม่ได้
 
และแม้ว่านักกฏหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนบางคนและคณะกรรมการรายหนึ่งคืออาห์เม็ด ราเกบ จะเรียกร้องให้มีการตั้งเจ้าหน้าที่พิเศษเพื่อการสั่งฟ้องคดีที่ก่อโดยทั้งจากฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร แต่ก็ไม่มีการฟ้องร้องคดีใหม่ อีกทั้งฝ่ายมอร์ซียังได้รับรองให้มี "ทีมฟ้องร้องคดีเพื่อปกป้องการปฏิวัติ" ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของอธิบดีกรมอัยการ ซึ่งทีมงานดังกล่าวบอกว่าพวกเขากำลังสืบสวนคดีใหม่แต่ไม่สามารถสั่งฟ้องร้องทหารได้
 
"คณะกรรมการค้นพบข้อมูลสำคัญแล้ว แต่โชคไม่ดีที่มอร์ซีไม่ได้ทำหน้าที่ประกาศข้อมูลในรายงานให้สาธารณชนทราบ และไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจังต่อหน่วยงานความมั่นคงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมต่อผู้ชุมนุม" ราเกบกล่าว
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
 
 
ข้อมูลเอกสารที่รั่วไหล
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มวลชนหลายพันชุมนุมหน้ารัฐสภาสหรัฐฯ สนับสนุนการปฏิรูปผู้อพยพ

Posted: 11 Apr 2013 05:51 PM PDT

กลุ่มชาวฮิสแปนิคและกลุ่มสนับสนุนการปฏิรูปผู้อพยพชุมนุมหน้ารัฐสภาสหรัฐฯ เรียกร้องสิทธิความเป็นพลเมืองขณะที่วุฒิสมาชิกจากทั้งสองพรรคกำลังหารือกันเรื่องปฏิรูปซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นท้าทายรัฐบาลโอบาม่าสมัยที่สอง


เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา มวลชนชาวฮิสแปนิคและกลุ่มสนับสนุนการปฏิรูปผู้อพยพในสหรัฐฯ หลายพันคนชุมนุมที่หน้าอาคารรัฐสภาในขณะที่วุฒิสมาชิกของสหรัฐฯ กำลังประชุมเจรจาในประเด็นเดียวกัน โดยการปฏิรูปดังกล่าวมีโอกาสทำให้ผู้อพยพอย่างผิดกฏหมายจำนวน 11 ล้านคนในสหรัฐฯ ได้รับสิทธิความเป็นพลเมืองในระยะยาว

การปฏิรูปผู้อพยพเข้าเมืองของสหรัฐฯ เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญสำหรับการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สองของบารัค โอบาม่า ซึ่งอาจจะมีผลต่อการขยายโควต้าแรงงานข้ามชาติและเรื่องความมั่นคงของเขตแดนที่เพิ่มขึ้น

วุฒิสมาชิกซึ่งมีตัวแทน 4 คนจากพรรคเดโมแครต และ 4 คนจากพรรคริพับริกัน ได้ประชุมเจรจาเรื่องนี้ตั้งแต่เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา หลังการเรียกร้องของสมาชิกพรรครีพับรีกันส่วนหนึ่ง วุฒิสมาชิกผู้ไม่ประสงค์เปิดเผยนามกล่าวว่าอาจจะมีการนำเสนอร่างกฏหมายปฏิรูปเร็วๆ นี้ ขณะที่โพลล์สำรวจความเห็นก่อนหน้านี้เปิดเผยว่าประชาชนต้องการให้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างครอบคลุม

อลัน ฟิชเชอร์ ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่ารายงานจากกรุงวอชิงตันดีซีกล่าวว่า เหตุที่ผู้ประท้วงยังคงปักหลักชุมนุมเนื่องมาจากพวกเขาไม่อยากให้ลืมว่ายังมีผู้คนอีกมากที่อาศัยอยู่ในประเทศอย่างผิดกฏหมายต้องการสิทธิความเป็นพลเมือง อลันเปิดเผยอีกว่าเรื่องที่มีการหารือกันที่ในประชุมประกอบด้วยเรื่องการเพิ่มมาตรการความปลอดภัยที่เขตพรมแดน ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของผู้อพยพ เรื่องอัตราการก่ออาชญากรรม และประเด็นอื่นๆ

ขณะที่ทางรัฐบาลหารือกันเรื่องความมั่นคง ทางกลุ่มนายจ้างและสหภาพแรงงานหลายส่วนก็จัดการประชุมเจรจาคู่ขนานในประเด็นเรื่องการขยายและปรับปรุงโควต้าแรงงานในภาคส่วนต่างๆ

ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เคยมีการปฏิรูปผู้อพยพครั้งใหญ่ในปี 1986 สมัยที่โรนัลด์ เรแกน เป็นประธานาธิบดี มีผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฏหมาย 3.5 ล้านคนได้รับการนิรโทษกรรมในครั้งนั้น

สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ส่งตัวผู้อพยพที่ไม่ได้มีการลงทะเบียนราว 400,000 คนออกนอกประเทศโดยเฉลี่ยในทุกๆ ปี


เรียบเรียงจาก

Thousands rally for US immigration reform, Aljazeera, 10-04-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น