ประชาไท | Prachatai3.info |
- เม้าท์มอย: Occupy Wall Street เทวดาไขปัญหาน้ำท่วม และเขื่อนไม่ได้มีไว้เก็บน้ำ
- ‘ภาณุ อุทัยรัตน์’ ไป ‘ทวี สอดส่อง’ มา แต่นั่งทำงาน ศอ.บต.ที่กรุงเทพฯ?
- มอง 100 ปีกฎหมายสัญชาติไทย ผ่าน 100 ปีของ ‘ปกาเกอะญอเฒ่าโคอิ’ แห่งผืนป่าแก่งกระจาน
- 'ใบตองแห้ง' Voice TV: การเมืองเรื่องน้ำ แยกมิตรแยกศัตรู
- กรรมตาม concept พุทธศาสนา (พระพุทธเจ้าไม่งี่เง่า)
- ความเห็นทางวิชาการคดีจินตนา แก้วขาว
- ร้ายสไตล์บายรุ้งรวี: Flood On Facebook : น้ำท่วมบนเฟซบุ๊ก
- 'ยึดครองวอลล์สตรีท' เป็นการอุบัติทางการเมืองสำคัญที่สุดในอเมริกาตั้งแต่ 1968
- มุมต่างหลังภัยน้ำท่วม จีดีพีโตบนความสูญเสีย
- ศปภ.ภาคประชาชน วอนดึงศักยภาพผู้ได้รับผลกระทบ เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส
- Wall Street Journal: ผู้นำใหม่ของไทยสะดุดน้ำท่วม
- ชมภาพน้ำล้นสันเขื่อนป่าสัก-หลังเก็บน้ำ 137% จากความจุ
- ใจ อึ๊งภากรณ์: เราจะฟื้นสังคมจากวิกฤตน้ำท่วมอย่างไร?
เม้าท์มอย: Occupy Wall Street เทวดาไขปัญหาน้ำท่วม และเขื่อนไม่ได้มีไว้เก็บน้ำ Posted: 20 Oct 2011 09:02 AM PDT เม้าท์มอยสัปดาห์นี้ คุยกันถึงปรากฏการณ์ occupy wall street ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศทั่วโลก และฟังเรื่องของมนุษย์ถอดจิตไปคุยกับเทวดาเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมประเทศไทย ปิดท้ายด้วยวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของเขื่อนเพื่ออะไร ช่วงที่ 1 ดาวน์โหลดไฟล์เสียง mp3 ช่วงที่ 1 ช่วงที่ 2 ดาวน์โหลดไฟล์เสียง mp3 ช่วงที่ 2 ช่วงที่ 3 ดาวน์โหลดไฟล์เสียง mp3 ช่วงที่ 3 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
‘ภาณุ อุทัยรัตน์’ ไป ‘ทวี สอดส่อง’ มา แต่นั่งทำงาน ศอ.บต.ที่กรุงเทพฯ? Posted: 20 Oct 2011 07:33 AM PDT ในที่สุด การเปลี่ยนตัวเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ก็เกิดขึ้นในห้องประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554 ที่สนามบินดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ท่ามกลางมวลน้ำมหาศาลที่กำลังจ่อท่วมเมืองหลวงของไทย เป็นมติคณะรัฐมนตรีที่ให้โยกย้ายนายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปนั่งเก้าอี้ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี แล้วแต่งตั้ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ดำรงตำแหน่งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้แทน มีผลตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2554 เป็นการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารสูงสุดครั้งแรกของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในตำแหน่งเลขาธิการ ตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553
ภาณุ อุทัยรัตน์ ภาณุ อุทัยรัตน์ เกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499 ที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และระดับปริญญาโท สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ภาณุ อุทัยรัตน์ เริ่มรับราชการครั้งแรกในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส โดยเป็นปลัดอำเภอประจำอำเภอระแงะ ปลัดอำเภอแว้ง จ่าจังหวัดนราธิวาส เป็นปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายบริหารงานปกครอง (ปลัดอาวุโส) อำเภอเจาะไอร้อง จากนั้นขยับเป็นนายอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส และนายอำเภอเมืองสงขลา ต่อมาได้โอนมาสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าสำนักงานจังหวัดสงขลา ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง เป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคง (ระดับ 10) และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี จากนั้นย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ในช่วงสั้นๆ กระทั่งในปี พ.ศ.2552 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ควบตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อมาในปี พ.ศ.2554 เมื่อพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2554 โดยยกฐานะศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นนิติบุคคล อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี และนายภาณุ อุทัยรัตน์ เป็นรักษาการเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านไปเกือบ 3 เดือน ภาณุ อุทัยรัตน์ จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้จากคณะรัฐมนตรีในวันที่ 4 เมษายน 2554 ภาณุ อุทัยรัตน์ ได้นั่งทำงานในตำแหน่งเลขาธิการฯ ได้เพียง 6 เดือนเศษ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติโยกไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดทางให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้แทน
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นชาวจังหวัดอ่างทอง เคยเป็นตำรวจสืบสวนมือดีของกองปราบปราม เคยเป็นทีมสืบสวนคดีสำคัญๆ เช่น คดีแก๊งล็อคหวยของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือกองสลาก เมื่อปี 2544 ซึ่งนำมาสู่การพิพากษาลงโทษจำคุกผู้กระทำผิดในเครือกลม บางกรวย เป็นทีมสืบสวนที่มี พ.ต.ท.ชัดชัย เลี่ยมสงวน ซึ่งต่อมาตกเป็นคำเลยคดีอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมทนายความมุสลิม ร่วมอยู่ด้วย เป็นคดีที่เกิดขึ้นในยุคที่พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ เป็นผู้บังคับการกองปราบปราม และพล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการกองสลากด้วย ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี พ.ต.อ.ทวี ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม และมีบทบาทเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีสำคัญหลายคดี อาทิ คดีเช่าตึกทีพีไอทาวเวอร์ คดีปั่นหุ้นปิคนิค คดีทุจริตขายสินทรัพย์ขององค์กรเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกปฏิวัติยึดอำนาจ พ.ต.อ.ทวี ถูกย้ายไปเป็นรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. จนกระทั่งเมื่อนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ พี่ชายของพล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี จึงได้ถูกโยกย้ายกลับมารักษาการอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษอีกครั้งในที่สุด เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2551 พร้อมกับมีคำสั่งโยกย้ายนายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษไปช่วยราชการในตำแหน่งรักษาการเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) จากนั้น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำรงตำแหน่งนี้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2551 - 29 กันยายน 2552 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ถูกฝ่ายตรงข้ามระบุว่า เป็นคนของระบอบทักษิณ คอยช่วยเรื่องคดีความต่างๆ ที่อยู่ในมือของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษและโยงใยถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและเครือข่าย เช่น คดีอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร คดีหุ้นเอสซีเอสเสท คดีฆ่าตัดตอนในช่วงสงครามยาเสพติด ฯลฯ กระทั่งวันที่ 29 กันยายน 2552 คณะรัฐมนตรีที่มีนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งย้ายพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ไปดำรงเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม และแต่งตั้งนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดีกรมสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษแทน อันเป็นตำแหน่งล่าสุดก่อนที่จะเป็นเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทว่า หากการตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศบก.จชต. ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่เกิดขึ้นในเร็ววัน ตำแหน่งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง นั่งอยู่ อาจไม่มีที่นั่งทำงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะภายใต้ศูนย์นี้ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะถูกโยกไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนกลาง มีเพียงระดับรองเลขาธิการเท่านั้นที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่เท่านั้น ขณะที่เสียงจากคนในพื้นที่บางส่วน อย่างนายอับดุลรอนิ กาหามะ สมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) ที่พูดถึงการเปลี่ยนเลขาธิการว่า หากยังรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมีประสิทธิภาพ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
มอง 100 ปีกฎหมายสัญชาติไทย ผ่าน 100 ปีของ ‘ปกาเกอะญอเฒ่าโคอิ’ แห่งผืนป่าแก่งกระจาน Posted: 20 Oct 2011 06:35 AM PDT -1- เรื่องเล่าของปกาเกอะญอเฒ่าแห่งผืนป่าแก่งกระจาน [1] การสอบถามเรื่องราวของปู่คออี้ หรือนายโคอิ หรือนายจออี้ เป็นเรื่องที่ยาก ลำบาก(ใจ) ด้วยเพราะปู่คออี้มีอาการอ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา สาเหตุหลักน่าจะเป็นเพราะวัยที่ยืนยาวมาถึงร้อยปี ประกอบกับล่าสุดเพิ่งเข้ารับการผ่าตัดต้อตา ยิ่งไปกว่านั้นทุกคนรู้ดีว่ายังมีความทุกข์ในใจที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสังขารที่ถดถอย ด้วยคำบอกเล่าจากลูกชายถึงบ้านที่ถูกเผาและยุ้งข้าวที่ถูกรื้อทำลาย ข้าวเปลือกร่วม 400ถังถูกทำลายและสูญหาย โดยเจ้าหน้าที่(ไม่ทราบหน่วยงานแน่ชัด) ลูกหลานต้องแตกกระสานซ่านเซ็น นอแอะ-ลูกชายคนโตก็มาถูกจับ ถูกตั้งข้อหาว่ามีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง (แม้มันจะเป็นปืนแค่ปืนแก๊ปก็ตาม) [2] นอแอะหรือหน่อแอะ-ลูกชายคนโตช่วยแปลและเสริมข้อมูลว่า พ่อเล่าให้ฟังว่าพ่อเกิดที่บ้านบางกลอยบน หรือคีลอในภาษากะเหรี่ยง และไม่เคยโยกย้ายไปอยู่ที่อื่น ประกอบกับการพูดคุย เมื่อตรวจสอบกับเอกสารฉบับสำเนา-ทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้าน หรือท.ร.ชข.-พยานเอกสารชิ้นเดียวที่บอกถึงที่มาที่ไปของผู้เฒ่าปาเกอะญอ-มันเป็นเอกสารที่ถูกจัดทำขึ้นโดยกรมประชาสงเคราะห์ในปีพ.ศ.2531 ภายใต้โครงการสำรวจข้อมูลประชากรชาวเขาหรือโครงการสิงห์ภูเขา (เป็นการสำรวจชาวเขาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2527) พบชื่อของผู้เฒ่าคออี้ ถูกเขียนว่านายโคอิ เป็นหัวหน้าครอบครัว บันทึกว่าเกิดเมื่อปีพ.ศ.2454 ที่จังหวัดเพชรบุรี ประเทศไทย พ่อชื่อ มิมิ แม่ชื่อพินอดี ทุกคนเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง และนับถือผี ข้อมูลฉบับนี้เป็นหนึ่งในทะเบียนท.ร.ชข.ของบ้านบางกลอย 4 ครอบครัวของผู้เฒ่าถูกนับเป็นครอบครัวที่สามจากยี่สิบครอบครัว เวลานั้นบ้านบางกลอย 4 ขึ้นกับพื้นที่กิ่งอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี นายกระทง โชควิบูลย์ (นามสกุลเดิม-จีโบ้ง) ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย นายลอย จีโบ้ง ผู้ใหญ่บ้านโป่งลึก นายนิรันดร์ พงษ์เทพ ประธานองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี [3] -ทุกคนเกิดที่บ้านบางกลอยบนและรู้จักผู้เฒ่าคออี้เป็นอย่างดีตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะผู้ใหญ่กระทง สมัยเด็กๆ เคยอาศัยอยู่ที่บ้านญาติคือนายจอโจ่ [4] ซึ่งตั้งบ้านอยู่ใกล้กับบ้านของผู้เฒ่าคออี้ (ห่างกันประมาณหนึ่งชั่วโมงเดินเท้า) ไม่เฉพาะสามคนนี้ คนอื่นๆ ในชุมชนบางกลอยบนต่างก็รู้จักและจดจำผู้เฒ่าคออี้ได้ดี ด้วยร่างกายที่สูงใหญ่ เป็นพรานที่มีชื่อเสียงและเป็นคนที่ชุมชนให้การนับถือ ในทางกลับกัน ด้วยวัยที่ยืนยาวมาถึงร้อยปี จึงไม่เกินเลยที่จะกล่าวว่า ผู้เฒ่าโคอิต่างหากที่เป็นผู้รู้เห็นความเป็นไปของผืนป่าใจแผ่นดิน บางกลอยเป็นอย่างดี ทั้งยังรู้เห็นการเกิดและการเติบโตของผู้ใหญ่กระทง ผู้ใหญ่ลอย รวมถึงประธานอบต.นิรันดร์ และอีกหลายชีวิตในผืนป่าใจแผ่นดิน-บางกลอย นอกจากนี้ผู้เฒ่าโคอิยังมีเหรียญชาวเขา นอแอะเล่าว่าตั้งแต่เด็กจนโต “มันเป็นของพ่อ” พ่อเล่าว่าประมาณหนึ่งหรือสองปีหลังเขื่อนแก่งกระจานสร้างเสร็จใหม่ๆ (เขื่อนสร้างเสร็จเมื่อปี 2509) นายอำเภอท่ายางในสมัยนั้นเรียกชาวบ้านไปรับเหรียญชาวเขา ตรงกับคำบอกเล่าของผู้ใหญ่กระทงและนายดุ๊อู จีโบ้ [5] ที่เล่าว่า นายอำเภอคนนั้นชื่อถวัลย์ แต่จำนามสกุลไม่ได้ เรียกให้ชาวบ้านไปรับมอบเหรียญชาวเขาจากทางอำเภอ ผู้ใหญ่กระทงเล่าว่า หลังจากนั้นประมาณช่วงปี 2526 นายอำเภอท่ายางได้เรียกให้ชาวบ้านมาทำบัตรประชาชนคนไทย ผู้ใหญ่กระทงเป็นหนึ่งในคนที่ไปทำบัตรประชาชน เวลานั้นเขาไม่เข้าใจว่าบัตรประชาชนคนไทยหมายถึงอะไร แต่ตอนนั้นเขาลงจากบางกลอยบนมาขายพริกที่อำเภอท่ายาง เมื่อเจ้าหน้าที่เรียกให้ไปทำบัตร ก็ไป-แน่นอนว่าเขามีเหรียญชาวเขา-นับจากนั้น ผู้ใหญ่กระทงก็มีบัตรประชาชนไทยที่รับรองว่าเขาเป็นผู้มีสัญชาติไทย และได้รับการกำหนดเลข 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 3 [6] แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่สนใจที่จะลงมาทำบัตรประชาชน เหตุผลนั้นไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะหลายคนเห็นว่า “ไม่จำเป็น” ด้วยเหตุผลที่ว่าวิถีชีวิตประจำวันแทบจะไม่ได้พึ่งพิงกับการมีหรือไม่มีบัตรประชาชนคนไทย ปู่คออี้, นอแอะ รวมถึงผู้ใหญ่กระทง ผู้ใหญ่ลอย และนายนิรันดร์ พงษ์เทพ ให้ข้อมูลตรงกันว่า โดยเฉพาะกับคนปกาเกอะญอ หรือจะกอ หรือสกอว์ หรือกะเหรี่ยงที่บ้านใจแผ่นดิน-บางกลอยบนแล้ว วิถีชีวิตของพวกเขายังคงหาพอกิน-อยู่-ไม่สะสม ข้าวไร่ พริกและพืชผักอื่นๆ ที่ปลูกแซมอันเป็นผลผลิตจากระบบไร่หมุนเวียนทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้เงินซื้อหา และเห็นจะเป็นพริก-ที่ตลาดท่ายาง แก่งกระจาน สองพี่น้องฯลฯ ให้ความนิยม เมื่อมันมีน้ำหนักเบา เอาใส่กระสอบขึ้นหลัง เดินแบกลงมาขายก็สามารถแลกเป็นเงินเพื่อเปลี่ยนเป็นเกลือและของใช้อื่นที่จำเป็นอีกทอด และนี่อาจเป็นเหตุผลในไม่กี่ข้อที่ปกาเกอะญอที่บ้านใจแผ่นดิน-บางกลอยบนติดต่อกับโลกข้างนอก แคบลงมา-การติดต่อสื่อสารหรือการโยกย้ายเพื่อตั้งบ้านเรือน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้บนสายสัมพันธ์ของเครือญาติหรือความเป็นเพื่อนร่วมชุมชน โลกของปกาเกอะญอที่บ้านใจแผ่นดิน-บางกลอยบนสามารถคำนวณผ่านพื้นที่และระยะทางโดยการเดินเท้า โดยเส้นทางหลักๆ ได้แก่ จากบ้านใจแผ่นดินใช้เวลาหนึ่งวันเดินเท้าลงมายังบ้านบางกลอยบน และอีกหนึ่งวันเดินเท้าต่อลงมาถึงบ้านบางกลอยล่าง และไม่เกินครึ่งวันก็จะถึงบ้านโป่งลึก-บางกลอย หรือหากเดินจากจังหวัดราชบุรี เริ่มต้นเดินทางด้วยรถยนต์จากลำน้ำพาชี จะผ่านห้วยม่วง บ้านห้วยน้ำหนัก สิ้นสุดทางรถยนต์-เริ่มต้นเดินทางจากบ้านพุระกำ แล้วก็จะได้พบว่าตัวเองกำลังไต่ไปตามเทือกเขาตะนาวศรีจุดที่เป็นสันปันน้ำ ซึ่งมีความสูงในระดับร่วมพันเมตรจากน้ำทะเล สำหรับปกาเกอะญอแล้ว ไม่เกินหนึ่งวันก็จะถึงบ้านใจแผ่นดิน เมื่อนอแอะอายุได้ 30 ปี พ่อก็ให้เหรียญชาวเขาแก่เขา จนถึงปัจจุบันนอแอะยังไม่แต่งงานและยังคงอาศัยอยู่กับปู่คออี้ โดยนอสะและนอโพริ-ภรรยาของนายนอสะ ซึ่งมีลูกด้วยกัน 9 คน ทุกคนอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน-บ้านของผู้เฒ่าโคอิ นอแอะบอกว่า หากจะนับเป็นการโยกย้ายบ้านในชีวิตของพ่อ รวมถึงตัวเขาและคนอื่นๆ ในครอบครัว ก็น่าจะเป็นช่วงประมาณปี 2539 ที่เจ้าหน้าที่บอกให้กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ที่บางกลอยบนอพยพลงมายังบ้านโป่งลึก-บางกลอย ครอบครัวของเขาจึงต้องจำใจโยกย้ายลงมา พร้อมกับกะเหรี่ยง 57 ครอบครัว หรือ 391 คน แต่อยู่ไปได้ประมาณสามเดือน นอแอะบอกว่าพ่อทนอากาศร้อนไม่ไหว และคิดถึงเสียงของป่า จึงอพยพกลับไปอยู่ที่บ้านหลังเดิมที่บางกลอยบน และครั้งที่สองของการ(ถูกบังคับให้)อพยพโยกย้ายคือเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา นอแอะถูกจับเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2554 ถูกนำขึ้นเฮลิคอปเตอร์มาส่งที่สถานีตำรวจ และถูกส่งต่อไปยังเรือนจำ ในวันรุ่งขึ้นพ่อของเขาและหลานถูกนำขึ้นเฮลิคอปเตอร์ลงมาที่บ้านบางกลอยล่าง เกือบสองอาทิตย์ต่อมาทุกคนในครอบครัวจึงรับรู้ว่าทั้งบ้านและยุ้งฉางถูกเผาจนไม่เหลืออะไร
-2- ผู้เฒ่าโคอิ : ‘คนตกหล่น’(ทะเบียนราษฎร) แห่งผืนป่าแก่งกระจาน ไม่น่าแปลกใจ-ที่ผู้เฒ่าคออี้จะมีสถานะบุคคลตามกฎหมายทะเบียนราษฎรเป็น “คนตกหล่น” เป็นคนไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆ (undocumented person) เพราะแม้การสำรวจจำนวนประชากรและครัวเรือนจะเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่รัตนโกสินทร์ศก 128 แต่การสำรวจภายใต้หลักการที่ว่าเป็นการสำรวจและจัดทำทะเบียนราษฎรทั่วราชาอาณาจักรนั้นเพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปีพ.ศ. 2499-2500 (ตามพ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2499 [7]) แต่ในทางปฏิบัติแล้ว เป็นเรื่องที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยก็ยอมรับมาตลอดว่า ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างครอบคลุมพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรไทยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ห่างไกลอำเภอหรือกิ่งอำเภอ ที่มีภูมิประเทศเป็นภูเขา ในปีพ.ศ.2531 ที่มีการดำเนินการสำรวจทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้านหรือท.ร.ชข ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดกาญจนบุรี ในปีพ.ศ.2531 ภายใต้โครงการสำรวจข้อมูลประชากรชาวเขาหรือโครงการสิงห์ภูเขา (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2527) ผู้เฒ่าโคอิจึงได้รับการบันทึกตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐไทยเป็นครั้งแรก โดยนายโคอิเป็นครอบครัวลำดับที่สามจากยี่สิบครอบครัวของบ้านบางกลอย 4 ในเวลานั้น มีอย่างน้อยอีก 7 ชุมชนที่ได้รับการสำรวจพร้อมกับบ้านบางกลอย 4 คือบ้านบางกลอย 1 บางกลอย 2 บางกลอย 3 บางกลอย 4 บางกลอย 5 บางกลอย 6 บ้านโป่งลึก 1 และบ้านโป่งลึก 2 รวมแล้ว 71 ครอบครัว 367 คน ทั้ง 71 ครอบครัว 367 คน ล้วนถูกบันทึกว่าเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง นับถือผีและเกิดที่จังหวัดเพชรบุรี ในระหว่างปีพ.ศ.2533-2534 กรมการปกครองได้มีโครงการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงและบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูง (บัตรสีฟ้า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2533) [8] รวมถึงโครงการสำรรวจและเพื่อทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวชุมชนบนพื้นที่สูง (บัตรสีเขียวขอบแดง) ซึ่งมีการดำเนินการในช่วงปีพ.ศ.2542 [9] ผู้เฒ่าโคอิ และนอแอะผู้เป็นลูก ก็ยังตกหล่นการสำรวจบัตรสีฟ้า และบัตรเขียวขอบแดงนี้ เมื่อถาม คำตอบจากนอแอะคือ “ไม่ได้ไป” “กะเหรี่ยงบ้านเราเป็นคนไทย เลยไม่อยากไปถือบัตรคนต่างด้าว” เป็นคำอธิบายเพิ่มเติมจากผู้ใหญ่กระทง
-3- ผู้เฒ่าโคอิ : ปกาเกอะญอที่เกิดในสยาม หลักกฎหมายสัญชาตินับแต่สยามจนถึงปัจจุบันมีหลักอยู่ว่าการได้มาหรือเสียสัญชาติไทย ย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติฉบับที่บังคับใช้อยู่ในขณะที่บุคคลเกิด ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่ากฎหมายสัญชาติฉบับแรกของสยามที่กำหนดหลักเกณฑ์การได้มา-เสียสัญชาติไทย คือพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2456 นั้น ไม่ครอบคลุมถึงผู้เฒ่าโคอิ หรือกล่าวได้ว่าผู้เฒ่าโคอิไม่ได้-ไม่มีสัญชาติไทยโดยผลกฎหมายสัญชาติฉบับปีพ.ศ.2456 ด้วยเพราะผู้เฒ่าเกิดปีพ.ศ.2454-ก่อนที่กฎหมายสัญชาติฉบับนี้จะประกาศและใช้บังคับประมาณ 2 ปี ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่สยามประกาศและบังคับใช้พ.ร.บ.แปลงชาติ ร.ศ.130 หรือกฎหมายแปลงชาติ ร.ศ.130 [10] ณ ช่วงเวลาที่ไม่มีกฎหมายสัญชาติบังคับใช้ สถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติของผู้เฒ่าจึงไม่มีอยู่ สำหรับผู้เฒ่าโคอิ ณ ช่วงเวลา ปี 2454-2456 จึงเป็นกะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอที่เกิดและเติบโตขึ้นในพระราชอาณาจักรฝ่ายสยาม [11] เฉกเช่นเดียวกับชนชาวประเทศมีเพศภาษาต่างๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมา สยาม/รัฐไทยยอมรับว่าปกาเกอะญอหรือกะเหรี่ยงเป็นชาวเขาหรือชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลานานแล้ว [12] หรือเป็นชาวเขาที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานราชการ เช่น กรมประชาสงเคราะห์ ฯลฯ [13] หรือเป็นชาวไทยภูเขาในความหมายของ “บุคคลดั้งเดิมซึ่งเป็นชาวเขาที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนพื้นที่สูง ซึ่งเป็นป่าเขาในประเทศไทย มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี เชื้อชาติ ภาษา ความเชื่อ ตลอดจนวิถีทางการดำเนินชีวิตแตกต่างไปจากชาวไทยพื้นราบ ได้แก่ ...กะเหรี่ยง...” [14] ที่ปรากฏตัวใน 20 จังหวัด [15] หรือชาวไทยภูเขาในความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยทำกิน หรือบรรพชนอาศัยทำกินอยู่บนพื้นที่สูงในราชอาณาจักร ซึ่งมีวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ภาษาและการดำเนินชีวิตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว [16] โดยปกาเกอะญอ หรือชาวเขา/ชาวไทยภูเขาสามารถยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านได้หากประสงค์ ในแง่ของกระบวนการรับรองความเป็นคนไทย(ผู้มีสัญชาติไทย) กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดระเบียบที่เกี่ยวข้องจำนวน 3 ฉบับใน 3 ช่วงเวลาคือ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพิจารณาลงสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านให้แก่ชาวเขา พ.ศ.2517, ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านให้แก่ชาวไทยภูเขา พ.ศ.2535 และระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ.2543
-4- ถ้อยคำจากคนนอกพื้นที่ถึงผู้เฒ่าโคอิ วุฒิ บุญเลิศ ปราชญ์ชาวบ้าน และเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงให้ข้อมูลว่า [17] พ่อของอาจารย์วุฒิคือนายระเอิน บุญเลิศ ได้บันทึกไว้ว่าครั้งหนึ่งเคยพาพรานกะเหรี่ยงไปขายนอแรดที่ราชบุรี “ปู่ของผมเป็นกำนัน พ่อผมเป็นครูประชาบาล สอนหนังสือ รู้ภาษาไทย อ่านออก พี่น้องคนปกากะเญอ เอาของไปขาย ก็จะให้คุณพ่อพาไป จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นเพื่อนกับพรานกะเหรี่ยงคนนั้น” ปลายปี 2553 ที่ผ่านมา อาจารย์วุฒิเพิ่งทราบข่าวว่าพรานคนนั้นยังมีชีวิตอยู่และมีอายุประมาณหนึ่งร้อยปีเศษแล้ว นั่นก็คือผู้เฒ่าโคอินั่นเอง อาจารย์วุฒิ บุญเลิศ ไปพบผู้เฒ่าโคอิ หลังจากทราบว่าพรานที่ถือปืนในภาพ ยับมีชีวิตอยู่ และเป็นคนๆ เดียวกับผู้เฒ่าโคอิ ถ่ายเมื่อปี พ.ศ.2493 หน้าร้านยาไทยสมบูรณ์ ร้านของพ่อค้าคนจีนขุนพรรคพานิช (ก๋งบ๋งเตี่ย) ที่รับซื้อนอแรด (ปัจจุบันอยู่ตรงข้ามกับ โรงรับจำนำเก่า ของเทศบาลเมืองราชบุรี) ปีนั้นนายระเอิน บุญเลิศ บิดาของนายวุฒิ บุญเลิศ ได้พากลุ่มนายพรานกะเหรี่ยงไปขายนอแรดที่จังหวัดราชบุรี [18] นายทัศน์กมล โอบอ้อม [19], นายดุลยสิทธิ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, ผู้เฒ่าโคอิและนอแอะ วันที่ 3 กันยายน 2554 นายดุลยสิทธิ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา [20] หลานชายในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เป็นอีกหนึ่งคำยืนยันว่าผู้เฒ่าโคอิ มิมี คือปาเกอญออาวุโสผู้เป็นที่นับถือของปาเกอะญอ แก่งกระจานเป็นสหายของเสด็จตา-พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ในระหว่างการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง [21] นายดุลยสิทธิ์ได้เดินทางมาพบกับผู้เฒ่าโคอิอีกครั้ง และยืนยันว่า “จำปู่คออี้ได้” ว่าเป็นคนเดียวกันซึ่งในสมัยเด็กนั้นตนเรียกว่า “จออี้” โดยจดจำลักษณะรูปร่าง หน้าตา รวมทั้งรอยสักที่แขนได้
นายดุลยสิทธิ์เล่าว่า สมัยนั้นผู้เฒ่าโคอิเดินทางนำเนื้อสัตว์ พริก มาถวายให้เสด็จตาเสมอ และเป็นพรานที่ได้นำเสด็จตาและคณะเข้าป่าล่าสัตว์ ซึ่งมีครั้งหนึ่งได้นำช้างเผือกมาถวาย ซึ่งต่อมาในภายหลังให้ชื่อว่า “จะเด็จ” และมีผู้เฒ่าโคอิเป็นผู้ที่ช่วยแนะนำวิธีการเลี้ยงดูช้างตามวิธีของปาเกอญอ “ผมได้รับการดูแลมากับป่า เพราะความรู้ของกะเหรี่ยงทำให้ผมเลี้ยงช้างรอดชีวิต และเห็นว่าชาวกะเหรี่ยงเป็นตัวอย่างของคนที่ไม่ทำลายป่า ผมอยากย้ำเจตนาของโครงการพระราชดำริว่าให้เอาตัวอย่างคนกะเหรี่ยงเพราะเป็นคนที่ไม่ทำลายป่า และไม่เคยมีนโยบายให้ไล่คนออกจากป่า ชาวบ้านเขาอยู่มานาน บรรพบุรุษเขาก็ฝังกันอยู่ตรงนั้น”
-5- “เหมือนเรามีพระจันทร์อีกดวงหนึ่ง และมีดวงดาวอีกดวงหนึ่ง” “มีบัตรประชาชนก็ต้องกินข้าว ไม่มีบัตรประชาชนก็ต้องกินข้าว” นอแอะเล่าถึงคำพูดของพ่อที่เคยพูดไว้เมื่อครั้งที่เคยคุยกันถึงการไปดำเนินเรื่องเพื่อให้มีสัญชาติไทยหรือมีบัตรประชาชน นอแอะเข้าใจดีว่าพ่อของเขาต้องการสอนให้เขาเป็นคนขยันทำมาหากิน ยึดถือในวิถีชีวิตของกะเหรี่ยง มันคือความหมายของประโยคของพฤ โอ่โดเชา ปกากะญอแห่งบ้านป่าคาใน ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ที่พยายามจะอธิบายถึงสิ่งที่ปู่คออี้ รวมถึงปกากะญออย่างเขากำลังคิดอยู่ “ถ้าพูดถึงสัญชาติไทย จินตนาการเรื่องสัญชาติไทย เขาคิดอะไรไม่ออกหรอกว่าสัญชาติไทยมันหมายถึงอะไร เขาคิดแค่ว่าเขาเป็นกะเหรี่ยง เป็นปกากะญอ ที่เกิดที่นี่ (ใจแผ่นดิน บางกลอย) อยู่-กินไป เห็นคนที่พูดปกากะญอหรือจะกอ พูดโปว์ เห็นพูดไทย พูดไม่เหมือนกัน แต่ก็คุยกันรู้เรื่อง” [22] ด้วยเพราะวิถีชีวิตของกะเหรี่ยงแห่งผืนป่าแห่งนี้ ด้วยผลผลิตข้าวไร่ในปริมาณที่เพียงพอสำหรับอาหารแต่ละมื้อของสมาชิกในครอบครัวในแต่ละปี จากไร่หมุนเวียนที่พวกเขายังดำรงรักษาไว้จุนเจือให้เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับป่า สนับสนุนให้พวกเขายังคงสามารถรักษาระยะห่างกับความเป็นเมืองพวกเขาสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงระบบเศรษฐกิจที่รวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพ ที่อำเภอแก่งกระจาน หรือแม้แต่อำเภอท่ายางที่พวกเขามักเอาพริกมาขาย จึงไม่เกินเลยที่จะพูดว่าผู้เฒ่าโคอิ นอแอะหรือปกาเกอะญออีกจำนวนไม่น้อยแห่งผืนป่าแห่งนี้ ไม่รู้ ไม่เข้าใจ (รวมถึงอาจจะไม่สนใจ)ด้วยซ้ำไปว่าพวกเขามีสัญชาติไทยหรือไม่ หลายคนที่ได้ยินได้ฟังคำพูดของผู้เฒ่าโคอิข้างต้น แม้จะเห็นด้วย แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าถ้าปกาเกอะญอกลุ่มนี้ได้รับการรับรองความมีสัญชาติไทยจากอำเภอแก่งกระจานไปก่อนหน้านี้ จริงหรือไม่ว่า-บ้าน ข้าวไร่และยุ้งฉางคงไม่ถูกเผา-ทำลายเสียหายขนาดนี้ รวมถึงจิตใจของพวกเขา
-6- ร้อยปีผู้เฒ่าปกาเกอะญอโคอิ กับร้อยปีกฎหมายสัญชาติไทย เมื่อร้อยปีที่แล้ว สัญชาติไทยได้เริ่มต้นขึ้นจากการที่สยามเปิดให้คนต่างประเทศที่มีอายุเต็มบริบูรณ์ตามกฎหมายแห่งชาติของตน [23] ยื่นคำร้องขอแปลงชาติต่อเสนาบดีว่าการต่างประเทศ และเข้าถือน้ำพิพัฒน์สัตยานุสัตย์เพื่อให้ได้มาซึ่งสถานะ “คนในบังคับสยาม” มีคนอังกฤษ คนในบังคับโปรตุเกส ฮอลันดา จีนฯลฯ จำนวนไม่น้อยยื่นคำร้องขอแปลงชาติและได้รับอนุญาตให้แปลงชาติเป็นคนในบังคับสยาม ในปีเดียวกันนั้น ผู้เฒ่าโคอิไม่ได้ไปดำเนินการใดๆ เพื่อให้ตนมีสถานะเป็นคนในบังคับสยาม แน่นอนผู้เฒ่าโคอิซึ่งเกิดที่ป่าแก่งกระจานย่อมไม่รู้ได้ว่าสยามได้ประกาศบังคับใช้กฎหมายแปลงชาติ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นปกาเกอะญอที่เกิดและเติบโตในผืนป่าแก่งกระจานที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเพ็ชร์บุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในหกหัวเมืองของมณฑลราชบุรี [24] หรือชาวเกรี่ยงในเวลานั้น ได้รับการยอมรับว่าเป็นราษฎรในจังหวัดเพ็ชร์บุรี [25] การเป็นคนในบังคับสยามจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับพวกเขา สำหรับผู้เฒ่าโคอิ-ในวันที่ชีวิตเดินทางมาถึงปีที่หนึ่งร้อย การที่รัฐไทยจะได้รับรองว่าผู้เฒ่าเป็นเป็นบุคคลตามกฎหมาย โดยการออกเอกสารแสดงตนสักฉบับ หรือรัฐไทยจะรับรองว่าผู้เฒ่าเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทย โดยการเพิ่มชื่อผู้เฒ่าเข้าในทะเบียนบ้านประเภทคนไทยหรือท.ร.14 พร้อมกับออกบัตรประจำตัวประชาชนคนไทยให้กับผู้เฒ่าหรือไม่ ย่อมไม่ใช่คำถามจากปากผู้เฒ่าโคอิเลย แต่อาจกล่าวได้ว่ามันเป็นคำถามของนักกฎหมาย(ที่วุ่นวายไปเอง) ที่เกิดความสงสัยว่า หากคิดตามหลักวิชาคือกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลแล้ว หากจะต้องยืนยันถึงความมีสัญชาติไทยของผู้เฒ่าโคอิจริงๆ ลำพังเหรียญชาวเขา และท.ร.ชข. –มันจะได้รับการยอมรับในฐานะของพยานที่มีน้ำหนักได้หรือไม่ แนวคำตอบที่รอการโต้แย้งมีดังนี้
ดังนั้น น้ำหนักของพยานเอกสารชิ้นนี้จึงควรถูกรับฟังจากมุมที่ว่า ผู้ทำการสำรวจคือเจ้าหน้าที่ของรัฐทำหน้าที่ในการสำรวจข้อมูลประชากร โดยบันทึกตามข้อมูลที่ชาวบ้านให้ถ้อยคำ โดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือมีผลประโยชน์ใดๆ กับผู้ให้ข้อมูล อีกทั้งในช่วงเวลานั้นประเด็นความต้องการมีสัญชาติไทยของคนต่างด้าวยังไม่เกิดเป็นประเด็นน่าห่วงใยในสายตาของภาครัฐ ข้อมูลที่ปรากฎในท.ร.ชข. จึงย่อมสามารถรับฟัง-เชื่อถือได้ และเหรียญชาวเขาสมควรได้รับการพิจารณาในฐานะพยานหลักฐานยืนยันที่อยู่
-7- ร้อยปีผู้เฒ่าปกาเกอะญอโคอิ กับอาเซียนที่กำลังเริ่มต้น ท่ามกลางความตื่นตัวไปกับการเชี่อมโยงตัวเองของภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไทยเพื่อพร้อมที่จะเป็นหนึ่งเดียวกับนานารัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations-ASEAN) หรืออาเซียนในปีพ.ศ.2558 กรณีของผู้เฒ่าโคอิและความเป็นชุมชนดั้งเดิมของปกาเกอะญอแห่งผืนป่าแก่งกระจานนี้ยิ่งมีความน่าสนใจ เพราะกรณีนี้เปิดประเด็นที่ชวนให้กลับมามองถึงการดำเนินการของรัฐในสอง-สามประเด็นที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น อาทิการรับรองตัวบุคคลในฐานะที่คนๆ หนึ่งเป็นบุคคลตามกฎหมาย, การรับรองความเป็นผู้มีสัญชาติไทยและการรับรองความเป็นชุมชนดั้งเดิม และแน่นอนว่า-มันเกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการพิสูจน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ...ความน่าสนใจต่อไปก็คือในอาเซียนหรือดินแดนอุษาคเนย์แห่งนี้ รัฐเพื่อนบ้านของเรามีหลักเกณฑ์หรือลงมือดำเนินการอย่างไรบ้างกับคนดั้งเดิมในดินแดนของรัฐ
------------------------------------------ อ้างอิง:
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
'ใบตองแห้ง' Voice TV: การเมืองเรื่องน้ำ แยกมิตรแยกศัตรู Posted: 20 Oct 2011 05:45 AM PDT พลันที่นวนครแตก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ศปภ.พร้อมกับรัฐมนตรีเกษตรฯ และอธิบดีชลประทานเพิ่งแถลงว่า “มวลน้ำก้อนใหญ่ไหลลงทะเลแล้ว” ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลดำดิ่ง ตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย เอแบคโพลล์ให้คะแนน ศปภ.แค่ 3.36 เต็ม 10 ทั้งที่ก่อนหน้านั้น เพิ่งให้คะแนนความเห็นใจยิ่งลักษณ์ 9 เต็ม 10 และร้อยละ 56.8 ยังให้โอกาสรัฐบาล ศปภ.ถูกถล่มหนัก ตั้งแต่ปลอดประสพแถลงข่าวให้ประชาชนเตรียมพร้อม แล้วต้องมาแถลงแก้ เพราะกลัวประชาชนแตกตื่น สื่อต่างๆ ได้โอกาสเยาะเย้ย “ปลอดประสบการณ์” แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราจะเห็นได้ว่า พื้นที่ที่ปลอดประสพเตือนภัยนั้น ถูกน้ำท่วมจริงทั้งหมด เพียงแต่ปลอดประสพตกคำว่า “ในเวลา 3-4 วันข้างหน้า” และออกอาการ “ลน” จนทำให้คนแตกตื่น นี่เป็นภาพสะท้อนว่า ศปภ.สอบตกในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทำความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งอันที่จริงควรบอกประชาชนว่าอาจเกิดอะไรขึ้น แม้ ณ วันนี้ยังไม่เกิด แม้ ณ วันนี้รัฐบาลได้พยายามป้องกันอยู่ แต่มันก็มีความเป็นไปได้ทางร้าย ขอให้พ่อแม่พี่น้องเตรียมพร้อม และติดตามคำเตือนทุกระยะ การแถลงข้อมูลที่เป็นจริง เมื่อเกิดสถานการณ์เลวร้ายขึ้น ประชาชนยังยอมรับได้ ดีกว่าแถลงว่า “มวลน้ำก้อนใหญ่ไหลลงทะเลแล้ว” ปัญหาที่เกิดขึ้นยังสะท้อนว่า ศปภ.ไม่เป็นเอกภาพ ไม่เป็นระบบ ทั้งการประเมินสถานการณ์และการตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเบรกกันหัวทิ่มบ่อ ปลอดประสพก็ดูจะน้อยใจ พอ พล.ต.อ.ประชามาพลาดกับนวนครที่ตอนเช้ายังยืนยันว่า “เอาอยู่” ก็ดูเหมือนจะเกิดความขัดแย้งภายใน จน ศปภ.ไปไม่เป็น แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือการฉวยโอกาสทางการเมืองของกรุงเทพมหานครและพรรคประชาธิปัตย์ ที่หลังจากนวนครล่ม ผู้ว่าฯ ก็ออกมาเกทับ “ขอให้ฟังข้าพเจ้าแต่ผู้เดียว” ตามด้วยการทำสงครามน้ำลายกันเรื่องกระสอบทราย โดยมีสื่อมือไม่พายเอา teen ราน้ำจำนวนหนึ่งคอยกระชุ่น หมายจะเอาวิกฤติน้ำโค่นรัฐบาล ประสิทธิภาพต่ำใต้กรอบจำกัด ถ้าวิจารณ์ตามเนื้อผ้า รัฐบาลไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้อยู่แล้ว เพราะความเป็นจริงที่ปีนี้น้ำมากกว่าปกติ 40% แต่ถ้ารัฐบาลเข้าใจสถานการณ์ได้เร็วกว่านี้ ก็จะเตรียมพร้อมรับมือได้มากกว่านี้ น้ำท่วมจังหวัดน่านตั้งแต่ยังไม่ทันหย่อนบัตรเลือกตั้ง รัฐบาลกว่าจะจัดตั้งได้ก็เดือนสิงหาคม แน่นอน ตอนนั้นโทษกันไม่ได้ แต่หลังจากตั้งรัฐบาล เกิดพายุถล่มหลายระลอก ถามว่า ณ ตอนนั้นมีใครตระหนักไหมว่า มวลน้ำปริมาณมหาศาลจะเคลื่อนตัวเข้ากรุงเทพฯ ไม่มีครับ ทำไมถึงไม่มีใครเตือนภัย พลิกหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ย้อนหลังไม่ต้องถึง 7 เดือนหรอก เอาแค่ 3 เดือนหลังเลือกตั้งนี่แหละ หน่วยราชการที่รับผิดชอบไปงมอยู่ที่ไหน เป็นปัญหาประสิทธิภาพหรือปัญหาอะไร จึงไม่บอกรัฐบาล ไม่บอกสาธารณชน ว่าน้ำจะท่วมหนักยิ่งกว่าปีที่แล้ว พอน้ำท่วมหลายพื้นที่ นายกรัฐมนตรีไปตรวจเยี่ยมบางระกำ ผุด “บางระกำโมเดล” รัฐบาลตั้งคณะกรรมการรับมือ แต่ตอนนั้นก็ดูเหมือนจะยังไม่ตระหนักถึงความหนักหนาสาหัส รัฐบาลมาตั้ง ศปภ.เอาในตอนที่วิกฤติจ่อแล้ว ตรงนี้อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลตื่นช้า และต้องไปซักไซ้ไล่เลียงกันว่า รัฐบาลได้รับข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ รัฐบาลมีปัญหาที่เข้ามาทำงานใหม่ๆ ยังไม่รู้ใจรู้มือกัน กระทั่งใน ครม.ด้วยกันเอง อย่าว่าแต่การรู้จักใช้หน่วยราชการ ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ใครเชื่อถือได้ ใครเชื่อไม่ได้ ใครมั่ว ใครรู้จริง (หรือกระทั่งใครวางยา) นี่คือปัญหาของรัฐบาลที่เข้ามาเจอวิกฤติกะทันหัน อย่างที่หมอเลี้ยบพูด รัฐบาลทักษิณรับมือสึนามิในปี 47 โดยทำงานมาแล้ว 3 ปี รู้หน้ารู้ใจรู้ฝีมือทั้งคนใน ครม.ด้วยกันและข้าราชการฝ่ายต่างๆ นี่คือความจริงแต่ก็ไม่ใช่ข้อแก้ตัว เพราะประเด็นสำคัญคือระหว่างรัฐมนตรีด้วยกันต้องเป็นเอกภาพ ต้องทำงานเข้าขากันให้ได้ นี่เป็นปัญหาของ ศปภ.(ซึ่งผมก็ยังไม่เข้าใจจนบัดนี้ว่าทำไมไม่ตั้ง มท.1 เป็น ผอ.ศปภ.) ศปภ.มีปัญหาเรื่องจัดวางตัวบุคคล ดูง่ายๆ โฆษกคือนายวิม (ผู้ต้องหาอีเมล์ซื้อสื่อ คริคริ) ทั้งที่วิกฤตน้ำไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ นายวิมอาจเข้าใจเรื่องการสื่อสารกับสื่อ แต่อย่างน้อยก็ควรมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะมาชี้แจงร่วม เช่นกัน ประชา ปลอดประสพ ก็ควรแถลงข่าวโดยมีนักวิทยาศาสตร์หรือผู้เชี่ยวชาญของกรมชลประทานประกบ งานหนักของรัฐบาลและ ศปภ.นับจากนี้ไปคือต้องฟื้นความเชื่อมั่น โดยพึ่งนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ เริ่มจากการให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับประชาชน ว่าสถานการณ์ขณะนี้หนักหนาอย่างไรและควรเตรียมตัวอย่างไร รัฐบาลต้องบอกประชาชนว่า รัฐบาลจะสู้เต็มที่ แต่ก็ต้องเตือนภัยว่าถ้าสู้ไม่ไหวจะเกิดอะไรขึ้น ยกตัวอย่างนวนคร รัฐบาลต้องบอกว่าพยายามป้องกัน แต่ก็ควรเตรียมอพยพ ขนย้ายข้าวของมีค่า เอารถยนต์ออกไปก่อน เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้น เกิดจากการไม่ได้เตรียมพร้อม เช่นคันกั้นน้ำแตกที่บางบัวทอง หรือหมู่บ้านหรูราคาหลายล้านที่ปทุมธานี รถเบนซ์จมน้ำเกลื่อน อย่าทำให้คนตื่นตระหนก แต่ก็อย่าทำให้คนตายใจ อย่าฟันธง แค่บอกความจริง ทีวีไทยเมื่อบ่ายวันอังคาร ออกแผนผังพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมใน กทม.ถ้าน้ำทะลักเข้ามา แถบไหนจะโดนบ้าง นั่นคือหน้าที่ ศปภ.ควรทำ ซึ่งไม่ใช่การทำให้ประชาชนแตกตื่น แต่บอกให้ชัดเจนว่า ถ้าน้ำตีโอบเข้ากรุงเทพฯ มาได้ พื้นที่ไหนจะท่วมสูงกี่เมตร และใช้เวลาเท่าไหร่กว่าน้ำจะมาถึง คนโซนไหนควรย้ายรถหรือเก็บข้าวของไว้ก่อน คนที่อยู่ไกลหน่อย จะมีเวลากี่ชั่วโมง แน่นอน ศปภ.จะสู้เต็มที่ก่อนถึงเวลานั้น แต่บอกประชาชนเตรียมตัว ถึงเวลาค่อยเป่านกหวีด การทำเช่นนี้ได้ ศปภ.ต้องตัดสินใจอย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งมาจากการประเมินสถานการณ์ถูกต้อง และได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ประสิทธิภาพของ ศปภ.ไม่ใช่ประสิทธิภาพที่จะป้องกันน้ำท่วมได้ ทำให้ตายก็ป้องกันไม่ได้ แต่อยู่ที่การรับมืออย่างไรให้เสียหายน้อยที่สุด ทั้งยังต้องมองไปข้างหน้า ถึงการบรรเทาทุกข์และการฟื้นฟู น้ำท่วมครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งอื่นๆ ที่น้ำมาแล้วก็ไป มีวงจรของการรับมือป้องกัน การช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เมื่อน้ำท่วม และการฟื้นฟูเมื่อน้ำลด แต่ครั้งนี้รัฐบาลต้องรับมือทั้ง 3 อย่างพร้อมกัน ในขณะที่ป้องกันกรุงเทพฯ ก็ต้องบรรเทาทุกข์คนนครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อยุธยา ปทุมธานี แล้วอีกไม่กี่วันในขณะที่น้ำยังนองกรุงเทพฯ ก็ต้องเริ่มฟื้นฟูนครสวรรค์ งานหนักนะครับ นอกจากการปรับปรุงประสิทธิภาพ อีกข้อสำคัญที่ต้องเตือนกัน คือการเอานักการเมืองเข้าไปทำงานใน ศปภ.ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.พื้นที่ ส.ส.สอบตก แกนนำเสื้อแดง นี่เป็นข้อพึงระวัง บางท่านมีความสามารถ มีประสบการณ์ เช่น บก.ลายจุด ซึ่งมูลนิธิกระจกเงาทำงานด้านนี้มาตั้งแต่สึนามิ แต่บางคนไม่น่าจะเกี่ยวข้อง กลับไปนั่งคุมเรื่องแจกของ หรือให้ ส.ส.นำขบวนไปแจกถุงยังชีพ หรือไปทำตัวให้เป็นข่าว (กระทั่งเป็นข่าวถีบกัน) นี่เป็นจุดอ่อนที่ต่อให้พวกคุณจริงใจ ก็ถูกโจมตีง่าย ทำลายความเชื่อมั่นได้ง่าย เอ้อ แล้วมันก็มีส่วนให้เขาวิพากษ์วิจารณ์จริงๆ เช่นเท่าที่รู้ ในแต่ละพื้นที่ ส.ส.เพื่อไทยก็ต่อสายตรง ศปภ. ขอกำลังขออุปกรณ์ไปป้องกันฐานเสียงของตัว ศัตรูผู้ต่ำช้า ในภาวะที่ประชาชนเดือดร้อน อารมณ์อ่อนไหว สื่อบางส่วนก็เอาเรื่องการเมือง เรื่องความเหลื่อมล้ำไปขยายผล ซึ่งถ้าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ให้ปรับปรุง ก็ถือว่าสื่อทำหน้าที่ได้น่าชื่นชม แต่บางรายไม่ใช่อย่างนั้น อาทิ เอาเรื่องปกป้องนวนครไปเขียนว่าเป็นนิคมการเมือง เพราะบอร์ดส่วนใหญ่ใกล้ชิดรัฐบาล ประธานบอร์ดคือเสธแอ๊ว น้องชาย รมว.กลาโหม ฯลฯ ทั้งที่ความจริง รัฐบาลก็ปกป้องทุกนิคมอุตสาหกรรมไล่ลงมา ไม่ว่าจะญาติใครใกล้ชิดใคร นวนครมีคนงานคนอยู่อาศัยเป็นแสนๆ รัฐบาลจะไม่ดูแลได้อย่างไร สื่อบางรายนอกจากถล่มรัฐบาลแล้ว ยังแช่งชักหักกระดูก ยกโหราพยากรณ์ คำทำนายดั้นเมฆ หรือการวิเคราะห์เหลวไหล มาปลุกใจกัน เช่นทำนายว่า “นารีขี่ม้าขาว” จะต้องวิบัติฉิบหายในช่วงเวลานั้นๆ หรือไม่ก็วิเคราะห์ว่าวิกฤตน้ำท่วมจะทำให้เสื้อแดงไม่พอใจแกนนำ แกนนำแตกแยก คะแนนนิยมทหารพุ่ง ประชาชนหนุนทหารปฏิวัติ ฯลฯ คนพวกนี้อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ บ้างก็โจมตีรัฐบาลว่าไม่ยอมประกาศ พรก.ฉุกเฉินตามข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ อ้างว่านี่มันกลียุคแล้ว ไม่ใช่แค่ฉุกเฉิน โทษรัฐบาลมัวแต่ห่วงภาพลักษณ์ กลัวกระทบการท่องเที่ยว หรือกลัวทหารเป็นฮีโร่ ทั้งที่ความจริง รัฐบาลก็บอกอยู่ว่าการแก้ไขปัญหาขัดแย้งในหมู่ประชาชนควรใช้การทำความเข้าใจมากกว่า คุณจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่ออะไร เพื่อปราบ “ชุมชนเข้มแข็ง” อย่างชาวหมู่บ้านกฤษณา ชาวบ้านคลองหนึ่งคลองสอง อย่างนั้นหรือ ต่อให้ประกาศแล้วชาวบ้านไม่พอใจ ออกมาประท้วงปิดถนนไม่ให้รัฐบาลระบายน้ำ คุณจะใช้กำลังทหารเข้าไปสลายม็อบหรือ คุณจะประกาศให้ประชาชนอพยพ ใครไม่ออกจากบ้านมีความผิด อย่างนั้นหรือ ผมไม่ปฏิเสธว่าเมื่อสถานการณ์ย่ำแย่ลงอีกระดับหนึ่ง ถ้ามันเกิดจลาจล เกิดการแย่งชิงข้าวของ รัฐบาลอาจจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ยังไม่ใช่ช่วงที่ผ่านมา ซึ่งควรใช้การเจรจากันเป็นหลัก ถ้าจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็สมควรประกาศเพื่อปิดปากผู้ว่า กทม. ปิดปากพรรคประชาธิปัตย์ และสื่อจ้องโค่นรัฐบาลนี่แหละครับ สื่อบางรายหนักกว่านั้นอีก พอรัฐบาลประกาศว่าจะต้องใช้คลองทางฝั่งตะวันตกตะวันออกระบายน้ำ ก็บอกว่า “มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์” โห เมริงจะบอกว่าระบอบประชาธิปไตยไร้ประสิทธิภาพ กลับไปใช้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ดีกว่า อย่างนั้นเลยหรือ อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าขบวนการโค่นล้มรัฐบาลครั้งนี้จะใหญ่โตกว้างขวาง เพราะเห็นได้ว่า หลายคนที่เคยร่วมขบวนการเสื้อเหลือง เขาไม่ได้ร่วมมือด้วย ไม่ได้ฉวยโอกาสโจมตีรัฐบาล เพราะพวกเขายังมีสำนึกที่เห็นแก่ส่วนรวม เห็นว่าการเล่นเกมการเมืองในสถานการณ์วิกฤติ มีแต่จะทำให้เกิดผลร้ายกับประชาชน หลายคนก็ร่วมใจป้องภัยพิบัติโดยไม่คำนึงถึงสีเสื้อ (คนเสื้อเหลืองจำนวนไม่น้อยไปช่วยรัฐบาลแพคถุงยังชีพที่ดอนเมืองหรือช่วยบรรจุกระสอบทรายตามที่ต่างๆ แต่ก็มีพวกสุดขั้วสุดโต่งนั่งแช่งนั่งด่าอยู่ตามกระดานข่าวในเน็ต พวกนี้ดีใจที่เห็นเพื่อนมนุษย์ฉิบหาย) พันธมิตรสำคัญของรัฐบาล ยังได้แก่นักวิชาการ ซึ่งช่วยอธิบายว่าปีนี้มีน้ำมากกว่าปกติ 40% ภัยพิบัติแตกต่างจากปี 38 เพราะมีสิ่งปลูกสร้างบ้านเรือนโรงงานเข้าไปอยู่ในพื้นที่รับน้ำ ฯลฯ นักวิชาการที่มาออกทีวีวิทยุช่วงนี้น่าทึ่งนะครับ เพราะเป็นคนหน้าใหม่ๆ ที่พูดตรงไปตรงมา ให้ความรู้ ให้ความคิด และให้เห็นปัญหาว่ามันหมักหมมมานานทั้งการบริหารจัดการน้ำ และการบริหารจัดการภัยพิบัติ บังเอิญ นักวิชาการที่พูดเรื่องน้ำส่วนใหญ่เป็นนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งพูดตรงไปตรงมาตามเนื้อผ้า ไม่แหลเหมือนพวกนักนิติศาสตร์นักรัฐศาสตร์ รัฐบาลควรสนับสนุนให้นักวิชาการออกมาพูดเยอะๆ ให้ความเห็น ให้ความรู้ประชาชน กว้างขวางหลากหลาย แม้วิจารณ์รัฐบาลบ้างก็ไม่เป็นไร ถ้าเขาพูดความจริง ในภาพรวม รัฐบาลยืนอยู่บนจุดหักเห ยังมีโอกาสที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน แล้วบริหารความร่วมมือร่วมใจสู้ภัยพิบัติ “เปลี่ยนน้ำท่วมเป็นน้ำใจ” ซึ่งถ้าทำได้ รัฐบาลก็จะชนะสงครามสื่อทำให้พวกที่จ้องโค่นล้มถูกโดดเดี่ยว คลั่งใจตายอยู่หน้าจอมืดดำเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าช่องสัญญาณ ศัตรูสุภาพบุรุษ ภาพที่น่าชื่นชมยิ่งกว่าภาพยิ่งลักษณ์กับอภิสิทธิ์หารือกัน คือภาพที่ยิ่งลักษณ์กับ พล.อ.ประยุทธ์เคียงคู่กันตรวจน้ำท่วมและกำลังทหารเข้ามาช่วยเหลือรัฐบาลอย่างเต็มที่ ถ้าสังเกตให้ดี จะพบว่าภาพยิ่งลักษณ์กับ พล.อ.ประยุทธ์ ค่อยๆ เปลี่ยนแปรจากความเหินห่างมาสู่ความร่วมมือร่วมใจกันมากขึ้น ในระยะแรกของวิกฤติ ผมสังเกตว่าทหารไม่ได้เข้ามาช่วยรัฐบาลเต็มที่ อาจเป็นเพราะรัฐบาลยังไม่ตระหนักความร้ายแรงของสถานการณ์และยังไม่รู้ว่าจะให้ทหารทำอะไร แต่อีกสาเหตุ คงเพราะมีกำแพงที่มองไม่เห็นระหว่างพรรคเพื่อไทยกับผู้นำเหล่าทัพ ซึ่งกล่าวได้เต็มปากว่าอยู่ในภาวะที่เป็น “ศัตรู” กัน แต่เมื่อบ้านเมืองวิกฤติ น้ำถล่มอยุธยา ทะลักมาจ่อกรุงเทพฯ กระแสข่าวฝ่ายเพื่อไทยก็บอกว่าความจริงใจของยิ่งลักษณ์โน้มน้าวให้กองทัพโดดเข้ามาช่วยเต็มที่ ขณะที่กระแสข่าวฝ่ายทหาร ก็บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ท่านเป็นคนใจอ่อน ไปกับยิ่งลักษณ์หลายๆครั้งก็เห็นใจรัฐบาล ไม่ว่าจะเชื่อใคร มันก็สะท้อนภาพที่รัฐบาลกับทหารร่วมมือกันอย่างเต็มอกเต็มใจขึ้น ขณะเดียวกัน มันก็สะท้อนให้เห็นว่า ชายชาติทหารอย่าง พล.อ.ประยุทธ์และแม่ทัพนายกองส่วนใหญ่ ต่างเห็นแก่ส่วนรวม ตระหนักในภาระหน้าที่ ที่จะต้องเป็นกำลังสำคัญของรัฐบาล นี่คือข้อแตกต่างระหว่างสุภาพบุรุษชายชาติทหาร กับพวกต่ำช้าที่เอาวิกฤติมาเล่นเกมการเมือง “เราอย่าพูดว่าใครผิดใครถูก แต่ต้องดูว่าจะบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนอย่างไร อย่าไปโทษกัน” คำพูดของ ผบ.ทบ.ในวันหลังจากนวนครล่ม เป็นคำพูดที่ควรปรบมือให้ บางคนอาจจะคิดว่าทหารเล่นเกมเหนือชั้น สร้างภาพ สร้างคะแนนนิยม แต่ผมไม่คิดเช่นนั้น การมองทหารขึ้นกับเราทำความเข้าใจเขาแบบมองสองด้าน มองอย่างแยกแยะหรือเปล่า ทหารส่วนใหญ่ไม่ใช่คนเลวร้าย พวกเขาได้รับการอบรมให้ปกป้องประชาชน ยอมตายเพื่อชาติ ยอมตายก่อนประชาชน แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็เชื่อว่าตนเองมีอภิสิทธิ์เหนือประชาชน มีอภิสิทธิ์ที่จะใช้กำลังปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยมองไม่เห็นความสำคัญของสิทธิเสรีภาพ อำนาจอธิปไตยของปวงชน พวกเขาจึงทำรัฐประหาร จัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร และใช้กำลังสลายการชุมนุม โดยเชื่อว่านั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ ที่พูดเช่นนี้ไม่ใช่จะบอกให้เรายกย่องทหารชื่นชมทหาร แล้วเชื่อว่าทหารคิดถูกทำถูก แต่เราควรจะทำความเข้าใจ และมองสองด้าน ไม่ใช่มองโลกสีขาวดำ มองคนเป็นพระเอกผู้ร้ายในหนังการ์ตูน เราต้องยืนหยัดต่อสู้ทางความคิดกับทหาร เป็น “ศัตรู” กันทางความคิด ซึ่งต้องสู้กันต่อไปในเรื่องแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกลาโหม หรือการลบล้างผลพวงรัฐประหาร ตามข้อเสนอของ “นิติราษฎร์” แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องแยกแยะ ให้ความยกย่องชื่นชมเมื่อเขาทำหน้าที่ ที่ควรจะทำในฐานะส่วนราชการซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของรัฐบาล ที่ต้องพูดเรื่องนี้เพราะผมเชื่อว่าแกนนำเสื้อแดงบางส่วน คงปั่นป่วนรวนเรอยู่เหมือนกัน กลัวทหารจะเป็นฮีโร่ กลัวทหารจะได้ความนิยมจากมวลชน แต่มันก็ขึ้นกับคุณทำความเข้าใจมวลชนอย่างไร ถ้าที่ผ่านมา คุณปลุกมวลชนให้โกรธเกลียดทหารเหมือนผู้ร้ายในหนังการ์ตูน ก็ลำบากละครับ แต่ถ้าคุณทำความเข้าใจได้ว่าเราต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป็นเรื่องของความขัดแย้งทางความคิด ไม่ใช่เรื่องตัวบุคคล เรายอมรับที่เขาทำความดี แต่ต้องต่อสู้ความคิดกันต่อไป มวลชนก็ไม่หวั่นไหว และยกระดับขึ้นด้วยซ้ำ ผมไม่ได้บอกว่าต้องหยุดพูดเรื่อง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกลาโหม แม้อาจต้องปรับท่าทีบ้าง โดยเน้นพูดเรื่องหลักการ แต่ข้อสำคัญคือต้องแยกแยะระหว่างทหารกับศัตรูผู้ต่ำช้าที่เห็นวิกฤติของชาติเป็นเครื่องมือทางการเมือง สิ่งที่ต้องระวังคือพวกแกนนำขายหนังการ์ตูนอาจจะก่อกระแสโทษทหารเป็นแพะ ว่าทหารไม่ช่วยเต็มที่ ไม่ 100% เลื่อยรัฐบาลอยู่ลึกๆ ซึ่งการพูดเช่นนั้นไม่ทำให้อะไรดีขึ้น นอกจากหวังจะดึงมวลชนให้ดูหนังของตัวเองต่อไป ต่อให้คุณเชื่อว่าทหารเล่นเกม รัฐบาลก็ต้องเล่นเกม ไม่ว่าจะเชื่ออย่างไร รัฐบาลก็ต้องใจกว้าง ยกย่อง ชื่นชมทหาร ที่เข้ามาช่วยรัฐบาลเต็มที่ รัฐบาลจำเป็นต้องพึ่งกองทัพต่อสู้ภัยพิบัติ และปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าในสถานการณ์อย่างนี้ ทหารคือฮีโร่ ประชาชนจะเสื้อสีไหนจมน้ำอยู่เห็นทหารเข้าไปช่วยก็ต้องดีอกดีใจ รัฐบาล พรรคเพื่อไทย และแกนนำเสื้อแดง จะเล่นบทฮีโร่ด้วยกันหรือเล่นบทตัวอิจฉา ถ้ารัฐบาลแสดงให้เห็นว่าสามารถทำงานร่วมกับกองทัพ ร่วมมือกันแล้วเกิดประสิทธิภาพ และสามารถบริหารความร่วมมือร่วมใจของคนทั้งสังคมได้ ก็จะโดดเดี่ยวพวกที่จ้องโค่นล้มดังกล่าว ประธานเหมาสอนว่า แยกมิตรแยกศัตรูให้แจ่มชัด การปฏิวัติจึงได้ชัย แต่โก้วเล้งสอนว่า ในมวลหมู่ศัตรูก็มีทั้งศัตรูที่ต่ำช้า และศัตรูที่ควรคารวะ ใบตองแห้ง 19 ต.ค.54 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
กรรมตาม concept พุทธศาสนา (พระพุทธเจ้าไม่งี่เง่า) Posted: 20 Oct 2011 05:23 AM PDT คำอธิบายของดังตฤณที่ว่า “ขนาดของอวัยวะเพศเป็นผลของกรรมเก่า” (ดูดังตฤณ “ขนาดอวัยวะเพศชาย เล็กหรือใหญ่ บุญทำกรรมแต่ง !?” http://men.mthai.com/content/4970) และทัศนะเรื่องกรรมแบบ ท.เลียงพิบูลย์ หลวงพ่อจรัญ แม่ชีทศพร เป็นต้น เป็นคำอธิบายที่ตรงกับ “ลัทธิกรรมเก่า” ที่เรียกในภาษาบาลีว่า “ปุพเพกตวาท” คือลัทธิที่เชื่อว่า “ทุกอย่างที่เป็นตัวตนทางกายภาพ/จิตใจของเรา และความเป็นไป หรือชะตากรรมทั้งหมดในชีวิตเราเป็นผลของกรรมเก่า” ความเชื่อเรื่องกรรมเก่าในความหมายนี้มีอยู่ในวัฒนธรรมทางศาสนาของอินเดียโบราณ หรือดินแดนที่เรียกว่า “ชมพูทวีป” ที่มีศาสนาพราหมณ์เป็นแกนหลัก ศาสนาพราหมณ์นั้นเป็นศาสนาเก่าแก่ (ต่อมาพัฒนามาเป็นศาสนาฮินดู) เกิดก่อนพุทธศาสนาราว 5,000-3,000 ปี จะว่าไปศาสนาหรือลัทธิความเชื่ออื่นๆ (เช่นพุทธศาสนา ศาสนาเชน ลัทธิครูทั้ง 6 เป็นต้น) ที่เกิดในอินเดียล้วนแต่มีพัฒนาการมาจาก และ/หรือมีปฏิกิริยาแอนตี้ความเชื่อบางประการของศาสนาพราหมณ์ทั้งสิ้น แต่ที่น่าสังเกตคือทุกศาสนาที่มีคำสอนเรื่องกรรม ล้วนรับเอาความเชื่อเรื่อง “กรรมเก่า” มาจากศาสนาพราหมณ์ แต่มีรายละเอียดบางแง่มุมแตกต่างกันไป พุทธศาสนาแบบดั้งเดิม (ที่ยังไม่ผ่านการเติมแต่งสีสันมากเกิน) ปฏิเสธความเชื่อกรรมเก่าที่ว่า “ทุกอย่างที่เป็นตัวตนทางกายภาพ/จิตใจของเรา และความเป็นไป หรือชะตากรรมทั้งหมดในชีวิตเราเป็นผลของกรรมเก่า” แม้พุทธศาสนาจะสอนเรื่องกรรมเก่า แต่ก็มีสาระสำคัญคือ 1) ไม่เชื่อว่าความเป็นไป หรือชะตากรรมทุกอย่างในชีวิตเป็นผลของกรรมเก่าทั้งหมด แต่ขึ้นอยู่กับกรรมใหม่ที่เราทำอยู่ทุกวันในปัจจุบันด้วยอย่างมีนัยสำคัญ หมายความว่า เราสามารถกำหนดชะตากรรมของตนเองจากการกระทำในปัจจุบันมากกว่า 2) เชื่อว่ากรรมเก่ามีความสัมพันธ์กับคุณภาพทางจิตใจและการมีชีวิตที่มีคุณค่าในลักษณะเชิงพัฒนาการต่อเนื่อง (เช่น พัฒนาการทางจิตใจของพระโพธิสัตว์ที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ จากการสะสมกรรมดีในภพชาติต่างๆ) เราจะเข้าใจชัดขึ้น ถ้าวิเคราะห์ตามที่พระพุทธเจ้าพูดถึง “กรรม” (แปลว่า “การกระทำ/actions”) สองความหมาย คือ 1. การกระทำในเชิงข้อเท็จจริง (factual actions) เช่น การกระทำอาชีพการงานต่างๆ การกระทำในความหมายนี้สัมพันธ์โดยตรงกับสถานภาพทางสังคม เช่น พระพุทธเจ้ากล่าวว่า คนทำโครักขกรรมก็เป็นคนเลี้ยงโค คนทำหน้าที่นักรบก็เป็นกษัตริย์ คนสอนศาสนาก็เป็นพราหมณ์ คนค้าขายก็เป็นแพศย์ คนทำงานรับใช้ก็เป็นศูทร เป็นต้น 2. การกระทำทางศีลธรรม (moral actions) คือ การกระทำที่มีค่าดี ชั่ว ถูก ผิด ควร ไม่ควร การกระทำทางศีลธรรมสัมพันธ์โดยตรงกับการมีชีวิตที่มีคุณค่า “ความเชื่อเรื่องกรรม” (กรรมสัทธา) ตามที่พระพุทธเจ้าสอน หมายถึง ความเชื่อกรรมในความหมายที่ 2 คือให้เราเชื่อว่า การกระทำทางศีลธรรมจะส่งผลให้ชีวิตเรามีคุณค่า เมื่อเรากระทำความดี (กุศลกรรม) จะส่งผลให้ชีวิตเรามีคุณค่า และเมื่อเรากระทำความชั่ว (อกุศลกรรม) จะเป็นการบั่นทอนคุณค่าชีวิตลง ข้อสังเกตคือ เวลาเราพูดถึง “ความเชื่อ” มันมีสองความหมาย คือ 1) ความเชื่อ (faith ) ในคุณค่า (value) เช่น เชื่อในคุณค่าของความรัก เชื่อในคุณค่าของความยุติธรรม เชื่อในคุณค่าของความดีงาม ฯลฯ และ 2) ความเชื่อ (belief) เกี่ยวกับข้อเท็จจริง (facts) เช่น เชื่อว่าชมพูรักขาว เชื่อว่าพรุ่งนี้น้ำจะท่วม กทม.ฯลฯ ประเด็นคือ สิ่งที่เรียกว่า “คุณค่า” นั้นสัมพันธ์โดยตรงกับศรัทธา/faith หรือความเชื่อมั่น ความรู้สึกซาบซึ้ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ในเชิงข้อเท็จจริงเสมอไป (เช่น ศรัทธาในพระเจ้า เพราะเราเชื่อว่าพระเจ้าคือสิ่งสูงส่ง ไม่ใช่เพราะเราพิสูจน์แล้วว่าพระเจ้ามีหน้าตาอย่างไร ศรัทธาในความรัก ก็ไม่ใช่เพราะเรารู้ว่าหน้าตาของความรักเป็นอย่างไร เป็นต้น) แต่ “ข้อเท็จจริง”สัมพันธ์กับความรู้หรือความเชื่อแบบ belief ซึ่งต้องพิสูจน์ได้ เช่น เชื่อว่าชมพูรักขาว ก็ต้องตรวจสอบได้ก่อนว่าเป็นเช่นนั้นจริงไหม เชื่อว่าพรุ่งนี้น้ำจะท่วม กทม.ก็ต้องถามว่าเชื่อจากหลักฐานอะไร และวันถัดมาน้ำท่วม กทม.จริงหรือไม่ ความเชื่อเรื่องกรรม คือความเชื่อในคุณค่า ได้แก่เชื่อในหลักการว่า “ทำดีได้ (ความ) ดี” “ทำชั่วได้ (ความ) ชั่ว” ฉะนั้น concept เรื่องกรรมในพุทธศาสนา จึงมุ่งหมายให้เราศรัทธาในความดีว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตเรามีคุณค่า แต่ภาษาที่สอนหรือธิบายกันในเรื่องกรรม เป็นภาษาที่พูดถึงทั้งเรื่องคุณค่าและข้อเท็จจริงปะปนกันอยู่ (ซึ่งมักทำให้เกิดความสับสนเสมอ) เช่น “ให้ทานแล้วจะมีความสุข และได้ไปสวรรค์” ตามวิธีอธิบายดังกล่าว คำว่า “ทาน” หมายถึง การทำความดีอย่างหนึ่ง เมื่อเรามีศรัทธาหรือเชื่อมั่นว่า ทานเป็นสิ่งที่ดีและจึงให้ทาน การให้ทานนั้นเป็นการทำสิ่งที่ดีเสร็จสิ้นในตัวมันเองแล้ว หรือเท่ากับ “ทำดีได้ (ความ)ดี” เสร็จสิ้นในตัวแล้ว แต่คำว่า “มีความสุข” และ “ไปสวรรค์” เป็นคำที่ระบุถึงข้อเท็จจริงที่สัมพันธ์กับความรู้ หรือการพิสูจน์ เช่น เราจะรู้ว่าให้ทานแล้ว “มีความสุข” ก็ต่อเมื่อให้ทานแล้วเกิดความสุขขึ้นในใจของเรา และเราจะรู้ว่าให้ทานแล้วไปสวรรค์จริงหรือไม่ เมื่อเราตายแล้วได้ไปจริงๆ (หรือนายแดงตายแล้วไปสวรรค์ แล้วกลับมาบอกทุกคนได้จริงๆ) ประเด็นตรงนี้คือ นตรงนี้คือ ตาม concept ของพุทธศาสนา เราต้องแยกระหว่าง “ความดี” กับ “ข้อเท็จจริง” และต้องไม่ใช้ข้อเท็จจริงมาเป็นเกณฑ์ตัดสินค่าของความดี เช่น เมื่อเราให้ทานก็หมายความว่า การให้ทานของเราเป็นความดีเสร็จสิ้นในตัวของมันเองแล้ว แม้ว่าตามข้อเท็จจริงความสุขจะเกิด หรือไม่เกิดขึ้นในใจของเราก็ตาม หรือเราจะได้ไปสวรรค์หรือไม่ก็ตาม ซึ่งหมายความว่า ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำที่เป็นความดีทางศีลธรรม กับผลที่เป็นข้อเท็จจริงต่างๆ ในชีวิตและสังคมไม่ได้มีความสัมพันธ์ “อย่างจำเป็น” (necessary) แต่การกระทำที่ดีสัมพันธ์อย่างจำเป็นกับชีวิตที่มีค่า หรือการสร้าง/การรักษา/การปกป้องค่านิยม บรรทัดฐานที่ถูกต้องต่างๆ ในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น พระพุทธเจ้าเคยเกิดเป็นพระโพธิสัตว์ในชาติต่างๆ นับไม่ถ้วน แต่ไม่ว่าจะเกิดเป็นสัตว์ต่างๆ เป็นคนที่มีสถานะทางสังคมต่างๆ เช่น เป็นจัณฑาล เป็นทาส เป็นพราหมณ์ เป็นกษัตริย์ ฤาษี หน้าตาดี หรืออัปลักษณ์ แต่คุณสมบัติที่คงเส้นคงวาของพระองค์คือ "การทำความดี การมีจิตใจดีงาม และการมีชีวิตในภพชาตินั้นๆ อย่างมีคุณค่า" ผมไม่แน่ใจว่า เรื่องราวการเกิดในภพชาตินับไม่ถ้วนของพระโพธิสัตว์เป็น "ข้อเท็จจริง" หรือไม่ แต่ "ความคิดหลัก" ของตัวอย่างที่ยกมานี้คือ เป็น “การยืนยันความสัมพันธ์อย่างจำเป็นระหว่างการกระทำที่ดีกับการมีชีวิตที่มีคุณค่า และ/หรือพัฒนาการทางจิตใจ" นี่หมายความว่า เมื่อเราทำความดี หรือเป็นคนดีแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตจะมีแต่ความสุขสบาย มีแต่ความเจริญก้าวหน้า ไม่มีทุกข์ใดๆ เสมอไป แต่เป็นไปได้ว่าเมื่อทำดี หรือเป็นคนดีแล้วอาจต้องเผชิญ หรือฟันฝ่าความทุกข์ และอันตรายอย่างแสนสาหัสก็ได้ เช่น โสเครตีส พระเยซู มหาตมะ คานธี ที่แม้จะทำความดีอย่างมากแล้ว แต่ก็ต้องเผชิญกับความลำบากและจบชีวิตลงด้วยการถูกฆ่า ทว่าไม่ได้หมายความว่า การทำความดี หรือการเป็นคนดีของคนเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่าในตัวมันเอง ย้อนไปกรณีการให้ทาน เมื่อให้ทานแล้วเราอาจทุกข์ใจก็ได้ (เช่น พระเวสสันดรบริจาคลูกให้ไปเป็นทาส ย่อมทุกข์ใจอย่างแสนสาหัส) แต่ไม่ได้หมายความว่าการให้ทานนั้นไม่ใช่สิ่งที่ดี หรือเปรียบเทียบได้กับการเสียสละบางอย่างที่ส่งผลเชิงข้อเท็จจริงให้ผู้เสียสละต้องเจ็บปวด หรือกระทั่งตาย (เช่น กรณีการเสียสละของลุงนวมทอง ไพรวัลย์) แต่ผลอันเป็น “ความทุกข์เชิงข้อเท็จจริง” นั้น ก็ไม่ใช่สิ่งตัดสินว่าการเสียสละนั้นไม่ใช่ “สิ่งที่ดี” ปัญหาของวิธีอธิบายเรื่องกรรมของดังตฤณ ท.เลียงพิบูลย์ หลวงพ่อจรัญ แม่ชีทศพร (เป็นต้น) คือการไปนิยาม “สิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงทุกอย่างที่คนต้องการ” ว่าเป็น “สิ่งที่ดี” และเข้าใจว่า การกระทำความดีเป็นเพียง “วิถี” (means) หรือ เป็นอุปกรณ์ เป็นเครื่องมือไปสู่สิ่งที่ดีต่างๆ นั้น เช่น การทำความดีด้วยการให้ทานเป็นวิถีไปสู่สิ่งที่ดี (ที่เป็นข้อเท็จจริง) เช่น การมีความสุขสบาย ร่ำรวย เจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน มี “อวัยวะเพศขนาดพองาม” (ที่ดังตฤณกล่าวว่า “ขนาดกลาง เกิดจากกรรมอันสมควรแก่ความเป็นชาย”) ไปสวรรค์ ฯลฯ แต่ตามหลักเหตุผลแล้ว “ข้อเท็จจริงที่คนถือว่าเป็นสิ่งที่ดี” (เพราะคนชอบสิ่งพวกนั้น) เช่น รวย สวย หล่อ ก้าวหน้าในการงาน กระทั่ง “อวัยวะเพศขนาดพองาม” ฯลฯ สัมพันธ์โดยตรงกับ “กรรมในเชิงข้อเท็จจริง” เช่น การกระทำอาชีพการงาน (ปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรม) หรือ ข้อเท็จจริงทางชีวภาพ การทำศัลยกรรม ฯลฯ (ในคัมภีร์อรรถกถาอธิบายการให้ “ผลเชิงข้อเท็จจริง” ของกรรมว่า ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหรือตัวแปรต่างๆ เช่น กาลเวลา สถานที่ สถานการณ์ทางสังคม ฯลฯ ซึ่งแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำทางศีลธรรมกับผลเชิงข้อเท็จจริงว่า เป็น “ความสัมพันธ์แบบบังเอิญ/contingent”) ประเด็นสำคัญคือ การอ้าง "ผลลัพธ์เชิงข้อเท็จจริงที่คนชอบ" เป็นเกณฑ์ตัดสินกรรมดี และอ้าง "ผลลัพธ์เชิงข้อเท็จจริงที่คนไม่ชอบ" เป็นเกณฑ์ตัดสินกรรมชั่ว ทำให้มีปัญหามาก เช่น 1) กรณีการทำดีของคานธี มาร์ติน ลูเธอร์คิงส์ จูเนียร์ (เป็นต้น) ที่ส่งผลลัพธ์เชิงข้อเท็จจริงให้บางคนเกลียดชังและฆ่าพวกเขาตาย ทำให้เกิดปัญหาว่า "ทำไมทำดีไม่ได้ดี" 2) กรณีคนบางชนชั้นมีอำนาจล้นฟ้า โกง รวยอย่างตรวจสอบไม่ได้ และได้รับการยกย่องสรรเสริญ ทำให้เกิดปัญหาว่า "ทำไมทำชั่วแล้วได้ดี" 3) ทำให้คนไม่เห็นคุณค่าของ “การทำความดีเพื่อความดี” หรือเพื่อการมีชีวิตที่มีคุณค่า เช่น ชาวพุทธไม่มีวัฒนธรรมปลูกฝังให้คนเห็นคุณค่าของการทำความดีในความหมายของการต่อสู้เสียสละเพื่อความเสมอภาค ความเป็นธรรมทางสังคมซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการมีชีวิตอยู่อย่างมีค่าและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นต้น โดยนัยที่กล่าวมา ขนาดของอวัยวะเพศจึงสัมพันธ์โดยตรง/อย่างจำเป็นกับข้อเท็จจริงทางชีวภาพ คือพันธุกรรม ที่เกี่ยวโยงกับการกระทำกรรมเชิงข้อเท็จจริงอีกที คือ “การร่วมรัก” ของพ่อแม่เรา ไม่เกี่ยวโดยตรง/อย่างจำเป็นกับการให้ทานแต่อย่างใด ที่อธิบายแบบที่ว่ามานี้ เพราะผมยึด "หลักการทั่วไป" ของพุทธศาสนา ที่ว่า “ธรรมะคือสิ่งที่เราสามารถตรองตามให้เห็นจริงได้” หมายความว่า เราสามารถไตร่ตรองให้เห็นความสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผลของคำสอนเรื่องต่างๆ ของพระพุทธเจ้าได้ (ไม่ว่าจะเป็นอริยสัจ ไตรลักษณ์ ฯลฯ เราสามารถไตร่ตรองเห็นความเป็นเหตุเป็นผลได้ทั้งนั้น) แต่เรื่อง “การทำความดี” ด้วยการให้ทาน กับ “ขนาดของอวัยวะเพศ” ผมตรองแล้วตรองอีกจนหัวจะระเบิด ก็ไม่อาจเห็นความสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผลที่พอจะทำให้เชื่อว่าจะเป็นจริงตามที่ดังตฤณอธิบายได้ ผมจึง “งึดแสนงึด” ว่า “กูรูทางพุทธศาสนา” ยุคปัจจุบันเขาอธิบายกันแบบนั้นได้อย่างไร แต่ที่แน่ๆ ผมไม่เชื่อเด็ดขาดว่า คนที่เป็นถึง “พระพุทธเจ้า” จะสอนอะไรงี่เง่าทำนองนี้! แต่ถ้าถามว่า คำสอนเรื่องกรรมในสังคมพุทธทำไมจึงถูกใส่สีตีไข่อย่างวิจิตรพิสดาร (กระทั่งวิตถาร?) ผมเข้าใจว่าพุทธศาสนาในอินเดียระยะหลังรับอิทธิพลความเชื่อเรื่องกรรมเก่าแบบพราหมณ์มาเต็มๆ ดังคำสอนเรื่องกรรมเก่าแบบพราหมณ์ปรากฏเต็มไปหมดในคัมภีร์อรรถกถา (ราว 900 ปี หลังพุทธปรินิพพาน) ที่แต่งโดยพระพุทธโฆษาจารย์ซึ่งท่านเคยเป็นพราหมณ์มาก่อน หลักสูตรการศึกษาปริยัติธรรมของสงฆ์ไทย ตั้งแต่เปรียญ 1-2 ถึงเปรียญ 9 ก็ศึกษาคัมภีร์ที่แต่งโดยพระพุทธโฆษาจารย์เป็นส่วนใหญ่ อีกส่วนหนึ่ง ชาวพุทธเราก็มี “วัฒนธรรมโปรโมทการทำบุญ” อย่างเข้มข้น โดยอ้าง “ผลลัพธ์เชิงข้อเท็จจริงที่คนชอบ” เป็นแรงจูงใจมากกว่าที่จะอ้างคุณค่าทางศีลธรรมที่ส่งผลต่อการมีชีวิตที่มีคุณค่า เช่น สร้างโบสถ์ วิหาร ฯลฯ ตายไปจะเกิดในสวรรค์เป็นเทพบุตรมีนางฟ้า 500 เป็นบริวาร เป็นต้น นี่เป็นการโปรฯ ภายใต้วัฒนธรรมผู้ชายเป็นใหญ่ แต่ที่ดังตฤณโปรฯนี้เป็นการโปรฯ ภายใต้ค่านิยมที่ผู้ชาย (หรือหญิง?) ให้ความสำคัญกับ “ขนาดของอวัยวะเพศ” และอีกอย่างที่ผมคิดว่าสำคัญไม่แพ้กันคือ มันเป็นนิสัยของ “พวกกู (ไม่) รู้ทางพุทธศาสนา” ที่ต้องการแสดงภาพลักษณ์ความเป็น “สัพพัญญู” ของตนเอง! สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ความเห็นทางวิชาการคดีจินตนา แก้วขาว Posted: 20 Oct 2011 04:41 AM PDT มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จัดทำความเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมต่อคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่จินตนา แก้วขาว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด ถูกตัดสินจำคุก 4 เดือนโดยไม่รอลงอาญาในข้อหาบุกรุก โดยเสนอว่า การลงโทษจำคุกจินตนา แก้วขาวในข้อหาบุกรุก เป็นการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด เพราะจินตนาอ้างเหตุที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แต่ในเมื่อการกระทำนั้น ผิดกฎหมายบ้านเมือง แต่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ศาลย่อมต้องหาเหตุผลแห่งความยุติธรรมในการลงโทษด้วยวิธีอื่น เพราะการกระทำของจินตนา ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเป็นความชั่วร้าย แต่เพื่อปกป้องชุมชน
พร้อมระบุว่า หากบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช้กฎหมายให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว อาจเป็นการผลักให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ยอมรับและหนีออกไปจากกระบวนการยุติธรรม โดยหันไปพึ่งวิธีการอื่น ซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการยุติธรรม สิทธิมนุษยชนและสังคมประชาธิปไตยที่กำลังร่วมกันพัฒนาขึ้นก็ได้
มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ตามที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาจำคุก 4 เดือน นางจินตนา แก้วขาว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด ในข้อหาบุกรุก โดยไม่รอลงอาญา นั้น ก่อให้เกิดคำถามในเชิงวิชาการถึงการขัดกันของการบังคับใช้กฎหมาย กับหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม ในแง่ที่ว่า เมื่อความผิดทางอาญาที่เป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมืองขัดกันกับหลักความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนแล้ว กระบวนการยุติธรรมจะมีการพิจารณาโดยใช้หลักการหรือหลักเกณฑ์อย่างไร เพื่อธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ด้วยความเคารพในคำพิพากษาของศาล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญในกระบวนการยุติธรรม ก่อนอื่นคงต้องเข้าใจว่า หลักการดำเนินคดีอาญาของไทยนั้นเป็นการดำเนินคดีโดยรัฐ คือ รัฐหรือตัวแทนของรัฐ(ตำรวจ อัยการ ศาล)เป็นผู้รับผิดชอบ โดยเฉพาะศาลเองก็ทำให้คดีของรัฐเสียหายไม่ได้ แม้ว่าในคดีนี้เป็นกรณีการบุกรุกที่ดินเอกชน (บริษัทยูเนียนเพาเวอร์ดีเวล ลอฟเม้นท์จำกัด) แต่เอกชนซึ่งสามารถเป็นผู้เสียหายดำเนินการฟ้องคดีเองได้ ไม่ประสงค์ดำเนินคดีเอง มอบให้รัฐเป็นผู้ฟ้องคดี ดังนั้นเมื่อรัฐเป็นผู้ดำเนินคดี บุคลากรของรัฐในกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่ายตั้งแต่ ตำรวจ อัยการ ศาล จึงมีหน้าที่ในการ ตรวจสอบค้นหาความจริงในเนื้อหา หมายความว่าเจ้าพนักงานมีหน้าที่ต้องตรวจสอบค้นหาความจริงโดยไม่ผูกมัดกับคำขอหรือคำร้องขอของผู้ใด และในการดำเนินคดีอาญาชั้นศาล ศาลเองก็จะวางเฉย(passive) ไม่ได้ [1] ศาลต้องมีส่วนร่วมในการค้นหาความจริงในคดีที่ฟ้องต่อจำเลย หากพบในทางการพิจารณาคดีว่าจำเลยไม่ใช่ผู้กระทำความผิด หรือไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิดจำเลย หรือหลักฐานที่นำมาฟ้องจำเลยมีความน่าสงสัย ศาลต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย หลักการดำเนินคดีอาญาอีกหลักการหนึ่ง คือ ในคดีอาญา จำเลยเป็นประธานในคดี ดังนั้น จำเลยอาจไม่ต้องค้นหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและอัยการและศาล นั้นเอง นี่เป็นหลักการดำเนินคดีอาญาในคดีปกติ แต่กรณีของนางจินตนา แก้วขาว เป็นคดีอาญาที่มีสาเหตุมาจากการรณรงค์เรียกร้องสิทธิชุมชนและสิทธิในการพัฒนาที่ได้รับความคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ 2540 (ที่ใช้ในขณะกระทำความผิด) และสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี การดำเนินกระบวนพิจารณาคดี จำเป็นต้องคำนึงว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด บทบัญญัติหรือกฎหมายใดจะขัดแย้งไม่ได้ [2] การต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิชุมชนของนางจินตนา แก้วขาว และกลุ่มอนุรักษ์ฯได้อ้างอิงความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด ซึ่งมีรัฐธรรมนูญมาตราที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรา 46 สิทธิชุมชน [3] การรับรองสิทธิของชุมชนตามมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญ หมายถึง การรับรองคุ้มครองสิทธิของชุมชน ที่เกิดจากการรวมตัวของบุคคล จึงเป็นสิทธิร่วมเหนือทรัพย์สินของชุมชน ไม่ใช่สิทธิของส่วนบุคคลแต่ละคน การรับรองสิทธิชุมชนตามมาตรา 46 มีสองลักษณะ คือ (1) สิทธิการดำรงความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน โดยชุมชนสามารถมีความเป็นอิสระในการสืบทอดความเป็นชุมชน โดยการอนุรักษ์ ฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น รวมทั้งการสืบทอดวัฒนธรรมของชาติด้วย (2) ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน รัฐจะต้องดำเนินการให้มีกฎหมายรับรองเพื่อกำหนดรายละเอียดในการให้ชุมชนใช้สิทธิร่วมจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสืบทอดวัฒนธรรม ประเพณีของชุมชนเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและชุมชนในการบริหารจัดการ หากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์อาจกล่าวได้ว่าสิทธิของประชาชนในชุมชนเหนือทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิทธิที่ดำรงอยู่ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นรัฐชาติในสมัยรัฐกาลที่ 5 ชุมชนท้องถิ่นมีอำนาจอิสระจากรัฐส่วนกลาง ในการถือครองและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ โดยรัฐส่วนกลางให้การรับรอง แต่รัฐส่วนกลางจะให้อำนาจในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี การชี้ขาดข้อขัดแย้งและการบังคับเวนคืนที่ดินให้แก่ชุมชน จึงทำให้ชุมชนต่างๆ สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน ตามประเพณี ความเชื่อของชุมชนที่มีความหลากหลายตามลักษณะเฉพาะของแต่ละชุมชน แต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงเป็นรัฐชาติ รัฐได้ออกกฎหมายให้รัฐมีอำนาจ เหนือทรัพยากรธรรมชาติ โดยโอนทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นของรัฐและรัฐมีอำนาจจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยเด็ดขาด ทำให้ชุมชนต้องสูญเสียสิทธิความชอบธรรมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่เคยมีมาและการผูกขาดอำนาจการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยรัฐ ได้ก่อให้เกิดการจัดการการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่ยุติธรรม โดยมีคนส่วนน้อยเท่านั้นได้ใช้ประโยชน์ ขณะที่คนส่วนใหญ่ หรือชุมชนไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งการที่ชุมชนมีสิทธิเหล่านี้ นอกจากได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญของไทยแล้ว ยังได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม ว่าด้วยสิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตตนเอง [4] ทั้งในแง่สิทธิทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม กติกาทั้ง 2 ฉบับนี้ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีแล้วมีผลให้ผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กรให้ต้องปฏิบัติตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อ 1 ของกติการะหว่างประเทศทั้งสองฉบับ ระบุไว้ชัดเจนว่ารัฐมีหน้าที่ต้องปกป้องดูแลมิให้หนทางดำรงชีวิตของประชาชน (means of subsistence) ได้รับการกระทบกระเทือน สิ่งที่นางจินตนา แก้วขาวและคนในชุมชนพยายามปกป้อง คือสิทธิในการกำหนดวิถีชุมชนและหนทางดำรงชีวิตของคนในชุมชน หาใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตนไม่ นอกจากนี้สิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตตนเอง ยังได้รับการยอมรับในระดับสากลในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในการพัฒนาโดยปฏิญญาเวียนนาและแผนปฏิบัติการ ที่ได้มีการรับรองในการประชุมระดับโลกว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 1993 ระบุไว้ในข้อ 10 ที่ว่า
นอกจากนี้ปฏิญญาเวียนนาฯ ยังได้บัญญัติคุ้มครองเป็นหลักการทั่วไปว่า ประชาธิปไตย การพัฒนา และสิทธิมนุษยชน ถือเป็นหลักการที่สำคัญในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ หลักการเหล่านี้พึ่งพิงและเกื้อกูลกัน [5] จะเห็นได้ว่าการรณรงค์เพื่อสิทธิชุมชน ที่ได้รับอาณัติจากรัฐธรรมนูญและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของกลุ่มอนุรักษ์บ้านกรูด ของจินตนา แก้วขาว มีความสำคัญและควรได้รับการคุ้มครอง มากกว่ากลายเป็นการกระทำความผิดกฎหมายบ้านเมือง เพราะศักดิ์ของกฎหมายบ้านเมือง แม้จะมีเหตุผลเพื่อความสงบสุขของเอกชนหรือสังคม แต่หากพิจารณาในรายละเอียด การดำเนินการของจินตนา ที่ถูกฟ้องในข้อหาบุกรุก อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 นี้ เป็นความผิดที่สามารถยอมความได้ การที่ฝ่ายรัฐในกระบวนการยุติธรรม ตั้งข้อหาและมีการฟ้องร้องนางจินตนา นั้น มิได้คำนึงถึงหลักนิติธรรมหรือหลักสิทธิมนุษยชน แต่เป็นเพียงหลักความชอบด้วยกฎหมายของการลงโทษด้วย แม้ว่าหลักการหนึ่งของหลักนิติธรรมจะระบุว่า บุคคลทุกคนเสมอกันในกฎหมาย ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย แต่การบังคับใช้กฎหมายต้องคำนึงถึงความยุติธรรมด้วย โดยหลักการนี้ในเมื่อรัฐธรรมนูญ ได้คุ้มครองสิทธิชุมชนแล้ว ยังรับรองต่อไปด้วยว่า สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยาย ย่อมได้รับความคุ้มครอง และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมายและการตีความกฎหมายทั้งปวง (มาตรา 27) นางจินตนา แก้วขาวจึงได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ โดยสามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้ (มาตรา 28) เมื่อความผิดตามกฎหมายบ้านเมือง และการใช้สิทธิเสรีภาพของชุมชนหรือบุคคลตามรัฐธรรมนูญขัดแย้งกัน ศาลต้องนำหลักนิติธรรมในการบังคับใช้และตีความกฎหมายมาใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดี นั่นคือ หลักแห่งความได้สัดส่วน ซึ่งหมายถึงหลักความเหมาะสม หลักความจำเป็น และหลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ ซึ่งหลักแห่งความได้สัดส่วนนี้จะเป็นกรอบและวิธีการที่จะให้ได้มาซึ่ง “รัฐที่เป็นธรรม” ในทางเนื้อหานั่นเอง ดังนั้น ศาลน่าจะต้องใช้ดุลพินิจ ตัดสินคดีนี้โดยอาศัยหลักนิติธรรม หลักการ และกฎหมายตลอดจนจารีตประเพณีและกฎหมายระหว่างประเทศประกอบกันด้วย การลงโทษจำคุกนางจินตนา แก้วขาวในข้อหาบุกรุก เป็นการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด เพราะจินตนา อ้างเหตุที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แต่ในเมื่อการกระทำนั้น ผิดกฎหมายบ้านเมือง แต่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ศาลย่อมต้องหาเหตุผลแห่งความยุติธรรมในการลงโทษด้วยวิธีอื่น เพราะการกระทำของจินตนา ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเป็นความชั่วร้าย แต่เพื่อปกป้องชุมชน ซึ่งหากบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช้กฎหมายให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว อาจเป็นการผลักให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ยอมรับและหนีออกไปจากกระบวนการยุติธรรม โดยหันไปพึ่งวิธีการอื่น ซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการยุติธรรม สิทธิมนุษยชนและสังคมประชาธิปไตยที่เรากำลังร่วมกันพัฒนาขึ้นก็ได้ มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หมายเหตุ: รัฐธรรมนูญที่ใช้อ้างอิงในบทความนี้ เป็นฉบับปี 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้ในขณะที่ฟ้องร้องคดีนี้ อ้างอิง:
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ร้ายสไตล์บายรุ้งรวี: Flood On Facebook : น้ำท่วมบนเฟซบุ๊ก Posted: 20 Oct 2011 04:24 AM PDT พลันที่เห็นข่าว (จะเรียกว่าข่าวได้หรือเปล่าก็ไม่รู้) นายกฯ ปู ใส่รองเท้าบู๊ต Burberry ลุยน้ำท่วม ตามมาด้วยคุณเจ จาติกวนิช ภรรยาคนสวยของคุณกรณ์ จาติกวนิช อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ใส่บู๊ตสีเขียวซ้วย...สวยของ Chanel (อ่านออกเสียงว่า ‘ชาเนล’ สระเอ นะคะ ไม่ใช่ ‘ชาแนล’ สระแอ อ้างอิงตามชาเนล ประเทศไทย) ลุยน้ำท่วมเช่นเดียวกัน ดิฉันก็รีบเปิดตู้รองเท้าค้นหารองเท้าบู๊ตมาใส่ เพราะไม่แน่ว่าอีกไม่นานแถวบ้านก็คงท่วม จะได้มีบู๊ตสวยๆ เก๋ๆ เหมือนสุภาพสตรีทั้งสองไว้ใส่บ้าง จะได้ไม่ต้องไปหาซื้อใหม่ให้เปลืองสะตุ้งสตางค์ เพราะจำได้เลาๆ ว่าที่บ้านมีเรนบู๊ตฮันเตอร์ของ Jimmy Choo อยู่คู่หนึ่งนี่นา...ต้องรีบเอามาปัดฝุ่นขัดเงาเสียแล้ว เพราะไม่นานคงได้ใช้ ข่าวไม่เป็นข่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนายกฯ ปูใส่รองเท้าบู๊ต Burberry หรือตามมาด้วยภาพคู่ระหว่างรองเท้า Burberry ของนายกฯ ปู และรองเท้าบู๊ต Chanel ของคุณเจนั้น นอกจากยี่ห้อ ราคา แล้ว ดิฉันยังหาประเด็นไม่ได้ว่า แท้จริงแล้วประเด็นของข่าวคืออะไร ? และการนำเสนอข่าวนี้มุ่งหวังอะไร หรือได้ประโยชน์อะไร (ต่อผู้อ่าน) ? (ขอแอ๊บแบ๊วชั่วขณะนะคะ...นะคะ) โอเค...ถ้าหากพิจารณาว่ามันเป็นเพียงเกร็ดข่าวสนุกๆ อย่างที่เคยทำกันอย่างเช่น นายกฯ ปูใช้ชิเชโด้ อดีตนายกฯ พี่มาร์ค ใช้ลาแมร์ หรือใครแต่งหน้าให้นายกฯ ปู มันก็คงเป็นเกร็ดข่าวสนุกๆ เหมือนนิตยสารกอสซิปเมืองนอกทั้งหลายที่ปาปารัสซี่ชอบไปถ่ายภาพเซเล็บดารา ว่าเธอใส่เสื้อผ้าอะไร ถือกระเป๋าอะไร (เหมือนเคท มิดเดลตันไงคะ) แล้วนำมาลง แต่ประเด็นนี้มันกลับลุกลามไปมากกว่า ‘เกร็ดข่าว’ เพราะเรื่องนายกฯ ปูใส่รองเท้าบู๊ต Burberry ถูกนำมาพูดถึงในเชิงเสียดสี ล้อเลียน ด่าทอ ดังที่ปรากฏในเฟซบุ๊กมากมาย รวมถึงภาพการ์ตูนที่มีคำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษที่ตามออกมา แต่จนแล้วจนรอดดิฉันก็ยังไม่เห็นประเด็นว่า แล้วรองเท้าบู๊ต Burberry ที่นายกฯ ปูใส่ มันมีประเด็นตรงไหน ? หรือว่ารองเท้ายี่ห้อนี้ใส่แล้วทำให้น้ำท่วม หรือว่ารองเท้ายี่ห้อนี้ใส่แล้วทำให้โง่ อย่างที่ในเฟซบุ๊กโพสต์กัน การขาดประเด็น เนื้อข่าว (ไม่ใช่น้ำข่าว) หรือข้อเท็จจริง กลายเป็นเรื่องฮิตที่ปรากฏอยู่บนหน้าเฟซบุ๊กในทุกวันนี้ การใส่รองเท้าบู๊ต Burberry ของนายกฯ ปู ถูกนำไปใช้โจมตี หรือนำไปล้อเลียนเสียดสีอย่างไม่มีประเด็น หรือมีประเด็นอย่างเช่น ความไม่เหมาะสมที่เธอใช้ของแบรนด์ราคาแพงในขณะที่ประชาชนกำลังทุกข์ยากจากภัยน้ำท่วม ฯลฯ ถ้าหากเราไม่นาอีฟ (หรืออคติ) จนปัญญาอ่อน เราก็พอจะเข้าใจได้ว่า ไม่ว่านายกฯ ปู หรือคุณเจ ที่ใส่รองเท้าบู๊ตแบรนด์หรูนั้น จากฐานะของทั้งสองที่พอมีเงินจับจ่ายก็น่าจะเข้าใจได้ และเป็นไปได้ว่ามันเป็นรองเท้าที่ทั้งคู่มีอยู่ในแล้วในตู้ที่บ้าน จะหยิบจับมาใส่โดยไม่ต้องซื้อหามาใหม่ให้เสียเงินเสียทองทำไมกัน หรือว่าเรายังติดกับมายาคติว่าด้วยความ ‘โรแมนติก’ อยู่ว่าจะไปหาเสียง ไปหาประชาชนต้องใส่ม่อฮ่อม ผ้าไหมทอมือ ผูกผ้าขาวม้าไปด้วยทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าในตู้เสื้อผ้าคนเหล่านี้ก็มีแต่ของแบรนด์ที่เขามีกำลังซื้อมาสวมใส่ทั้งนั้น จากภาพข่าวดังกล่าว หากจะทำเป็นประเด็นเชิงแฟชั่น ก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย ไม่ใช่แค่เพียงความถูกแพงของราคา จะเห็นได้ว่านายกฯ ปู เลือกใส่รองเท้า Burberry ซึ่งแฟชั่นนิสต้าทั้งหลายรู้ดีว่า Burberry เป็นแบรนด์เก่าแก่ของอังกฤษที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1856 และที่เราเห็นปุ๊บรู้ปั๊บว่าเป็นแบรนด์ Burberry นั้น ก็เพราะลวดลายอันเป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่าลาย ‘Tartan’ หรือลายตารางนั่นเอง อันประกอบไปด้วยลายตารางสลับสีทั้งกากี น้ำตาลคาเมล ดำ ขาว อันเป็นสีพื้นสุดคลาสสิคของแบรนด์ ในอดีตแบรนด์ Burberry นั้นเป็นที่ชื่นชอบและได้รับความนิยมด้วยซิกเนเจอร์ 2 อย่างคือ อย่างแรกเนื้อผ้าแบบ Waterproof หรือกันน้ำ ซึ่งเป็นผลพวงของนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในการผลิตเนื้อผ้า ที่เจ้าของแบรนด์ Thomas Burberry คิดค้นได้เมื่อปี ค.ศ. 1879 และอย่างที่สองคือลาย Tartan ที่มาพร้อมกับซิกเนจอร์อีกอย่างของแบรนด์นั่นก็คือ Trench Coat ซึ่งเป็นที่รู้จักในปี ค.ศ. 1924 ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นเพราะสภาพภูมิอากาศของอังกฤษ ที่ต้องเจอกับฝนทุกเมื่อเชื่อวัน และไอเท็มเบสิคอย่างร่มลายตาราง เทรนช์โค้ตลายตาราง กระเป๋าสตางค์ หรือรองเท้าบู๊ตลายตางนั่นก็เป็นไอเท็มคลาสสิคและเบสิคที่ Burberry มีให้ช้อปทุกซีซั่นอยู่แล้ว ส่วนไอเท็มที่เป็นแฟชั่นขึ้นมาหน่อย จะเป็นแบรนด์ Burberry Prorsum ที่อยู่ในสังกัดเดียวกัน ส่วนรองเท้าบู๊ตแบรนด์ Chanel ของคุณเจ นั้น สิ่งที่ทำให้เราเป็นปุ๊บแล้วรู้ปั๊บว่าเป็นแบรนด์ Chanel ก็คือการประดับประดาด้วยดอก ‘คามิเลีย’ ซึ่งชื่อรุ่นของรองเท้าบู๊ตคู่นี้คือ CHANEL Camellia CC Jelly Rain Boots เป็นรุ่นที่เพิ่งออกมาในปี 2010 นี่เอง นอกจากแจ๊กเก็ตผ้าทวีด น้ำหอม Chanel No.5, Little Black Dress หรือสร้อยไข่มุกแล้ว ดอกคามิเลีย ยังเป็นอีกหนึ่งซิกเนเจอร์ของแบรนด์ Chanel ที่โคโค่ ชาเนลชอบนำมาผสมผสานในการทำเสื้อผ้า เริ่มตั้งแต่ต้นยุค 1920s แล้ว ไม่ว่าจะเป็นดอกคามิเลียที่ทำด้วยผ้าที่นำมาประดับบนปกเสื้อ ตามมาด้วยต่างหูดอกคามิเลีย สร้อยดอกคามิเลีย แหวนดอกคามิเลีย และในสองคอลเล็กชั่นที่ผ่านมา รองเท้าแตะพลาสติกใสดอกคามิเลียนั้นเป็นไอเท็มที่ฮอตสุดๆ ของ Chanel ซึ่งบู๊ตอันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในคอลเล็กชั่นนี้ ไม่มีข้อเท็จจริงที่แน่นอนว่าทำไมโคโค่ ชาเนลถึงชอบดอกคามิเลียนัก บ้างว่าโคโค่ ชาเนล ได้แรงบันดาลใจมาจาก Alexandre Dumas ตัวละครนำใน La Dame aux Camellias บ้างก็ว่า หรือเพลงของ Giuseppe Verdi ในโอเปร่าเรื่อง La Traviata หรือไม่มีเหตุผล เป็นความชอบส่วนตัวของเธอ หากจะนำมาวิเคราะห์เล่นๆ ต่อจากนั้น อาจบอกได้ว่า นายกฯ ปู ค่อนข้างจะเป็นคนเซอร์เวทีฟ เรียบง่ายชอบความคลาสสิค และชอบฟังก์ชั่นมากกว่าแฟชั่น เมื่อดูจากแบรนด์ที่ใช้ หรือรูปแบบความคลาสสิคแบบลายตาราง และการเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งในเรื่องไอเท็ม Waterproof ของ Burberry ในขณะที่คุณเจ เป็นคนทันสมัย ชอบความโมเดิร์นคลาสสิค มีความเป็นเฟมินีนสูง และมีความเป็นแฟชั่นนิสต้า ดูได้จากรองเท้ารุ่นนี้ ที่เธอเลือก ที่จริงรุ่นนี้มีหลายสี ส่วนมากที่เห็นคือขาว ดำ ชมพูชานม แต่เธอมีคลาสมากๆ ที่เลือกสีเขียวเข้มมะกอก เพราะสีเบสิคที่ผลิตมามัน Look Cheap มากๆ (ขอดัดจริตนี้ดดด...นึงนะคะ) และหากให้โหวตไอเท็มสองชิ้นของผู้หญิงสองคนนี้ดิฉันขอโหวตให้รองเท้าบู๊ต Chanel ของคุณเจ ที่สวย มีกิมมิคน่ารักๆ อย่างดอกคามิเลีย สีสวย มีคลาส แต่แน่ละว่าหากมันเป็นเพียงประเด็นแฟชั่น (ซึ่งก็ถูกตราหน้าว่าไร้สาระอยู่ดี) ก็คงไม่ได้รับความสนใจอยู่ดี เพราะตอนนี้เรื่องน้ำท่วม หรือเรื่องอะไรก็ตามที่เกี่ยวพันกับเรื่องนี้ท่วม มันถูกนำไปใช้เป็นประเด็นทางการเมืองเสียหมด ดังจะเห็นได้จากรูป+ข้อความบรรยาย บนหน้าวอลเฟซบุ๊กในทุกวันนี้ ที่มีอยู่เต้มหน้าจอ ถูกโพสต์ ถูกแชร์ ถูกฟลัด (Flood) ขึ้นซ้ำๆ เช้าเย็นจนเต็มหน้าจอ (ไม่รู้ว่าของคนอื่นเป็นอย่างไร แต่หน้า Home ของดิฉันเป็นประมาณนี้) เริ่มต้นด้วยแค่ถ้อยคำด่าทอนายกฯ รัฐบาล คปภ. ฯลฯ ซึ่งมีทั้งการให้รายละเอียดข้อมูลว่าตำหนิ ติเตียน ด่าทอ ด้วยเหตุผลกลใด หรือในแบบที่ไม่มีเหตุผลกำกับ (ก็เข้าใจได้ว่ามันเป็นเพียงวอลเฟซบุ๊ก ไม่ใช่เนื้อหาอย่างข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์) แต่หนักไปกว่านั้นเมื่อเริ่มมีการแชร์ รูป+เรื่อง ที่เสมือนเป็น ‘ข่าว หรือข้อเท็จจริง’ ตามหน้าเฟซบุ๊กขึ้นมาอย่างบ้าคลั่ง เริ่มต้นด้วยเรื่องนายกฯ ปูเดินบนสะพานไม้ ที่กลายเป็นประเด็นอยู่สักพัก ตามมาด้วยเรื่องรองเท้า Burberry ที่ไม่มีเนื้อความอะไรมากนัก หนักกว่านั้นคือความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในเชิงคอมพิวเตอร์ต่างๆ นานา ไม่ว่ะเป็นการทำเป็นแบนเนอร์ หรือการตัดต่อภาพอย่างสนุกสนาน แต่นั่นก็ยังไม่เท่าไหร่ เพราะใครๆ ที่เห็นก็รู้ได้ว่ามันเป็นการ ‘เล่น’ แต่ (อาจจะ) ไม่ได้หวังผลให้เกิดการบิดเบื้อข้อเท็จจริง แต่ก็เริ่มมี ‘รูปแบบ’ ข่าวหรือข้อเท็จจริงแบบ รูป+เรื่อง ที่พยายามจะบิดเบือนข้อเท็จจริงมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น 1. รูปเมืองทั้งเมืองที่จมน้ำจากเฟซบุ๊กของผู้ที่ใช้ชื่อว่า Happy Richy รูปในอัลบั้มที่ชื่อว่า ‘Photos of เกลียดควาย [[แดง]] เชี่ยแม้ว "กบฎ" แผ่นดิน’ โดยมีที่มีข้อความต่อมาว่า
ซึ่งในข้อความนั้นก็ไม่ปรากฏหลักฐาน ข้อเท็จจริงอะไรเลย นอกจากคำกล่าวลอยๆ และที่โอละพ่อไปกว่านั้นคือรูปที่ใช้ประกอบการอ้างอิงเป็นภาพน้ำท่วมนั้น ไม่ใช่ภาพที่เกิดในเมืองไทยในขณะนี้ แต่เป็นภาพที่เกิดจากพายุเฮอริเคน แคทริน่า ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเราสามารถเสิร์จคำว่า ‘hurricane katrina’ ในกูเกิ้ลส่วนของรูปภาพได้ และจะปรากฏภาพนี้ออกมา เหมือนกันเปี๊ยบ... หรือจะเป็น 2. รูปนายกฯ ปู กำลังถือมือถือถ่ายรูปบนเฮลิคอปเตอร์ ของผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ชื่อ ‘NooAnn Subthamrong’ ในอัลบั้มที่ชื่อ ‘การเมืองไทย ??’ โดยมีข้อความประกอบว่า
โดยเนื้อหาก็ไม่มีประเด็น หรือข้อเท็จจริงอะไร ไม่ได้ลิ้งก์กับรูป แต่ที่โอละพ่อกว่านั้นคือรูปที่หยิบยืมมาใช้นั้นเป็นรูปในช่วงที่ยิ่งลักษณ์ยังไม่ได้เป็นรัฐบาล ยังอยู่ในช่วงหาเสียง ซึ่งเป็นรูปจากข่าวของหนังสือพิมพ์แนวหน้า ในวันที่ 14 มิถุนายน 2544 ใช้ชื่อว่าว่า ‘แอ๊กชั่น’ มีบรรยายประกอบภาพว่า “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัครสส.ระบบบัญชีรายชื่อ อันดับ 1 พรรคเพื่อไทย ใช้กล้องมือถือถ่ายภาพทิวทัศน์ ขณะขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปปราศรัย ที่โรงเรียนศรีจอมทอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่” (http://www.naewna.com/news.asp?ID=266017) หรือล่าสุดที่เลยเถิดไปกว่านั้นคือ มีการโพสรูปพระบาทสมเด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2 แบบ แบบแรกมาจากเจ้าของเฟซบุ๊กใช้ชื่อว่า ‘Supakorn Nok เรารักในหลวง’ มีข้อความประกอบรูปประหนึ่งเป็นพระราชดำรัส ว่า
และอีกรูปแบบหนึ่งจากผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ‘เล็ก รักพ่อหลวง’ ในหัวข้อ ‘การเมืองเรื่องผลประโยชน์' โดยมีข้อความแตกต่างจากรูปแบบแรกเล็กน้อยว่า
ซึ่งในเวลาต่อมา สำนักพระราชวังปฏิเสธข่าวลือเฟซบุ๊ก เรื่องในหลวงรับสั่งฯ ให้น้ำผ่านสวนจิตรฯ ตามข่าวที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ออนไลน์ต่างๆ (http://prachatai.com/journal/2011/10/37486) ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าผู้ที่กระทำการดังกล่าว โดยนำรูปพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นรูปที่มาจากเหตุการณ์ใด วันเวลาใด มาประกอบกับพระราชดำรัสที่สำนักพระราชวังออกมาปฏิเสธแล้วว่าในหลวงทรงมิได้รับสั่งฯ เช่นนั้น จะมีความผิดทางกฎหมายหรือไม่ ไม่ว่าจะอย่างไร ประเด็นนี้ที่น่าสนใจสำหรับดิฉันก็คือ อะไรที่ทำให้เรา ‘เชื่อ’ บรรดาข้อความ (บวกรูปภาพ) เหล่านั้น แชร์ต่อจนกลายเป็นแชร์ลูกโซ่บนหน้าวอลเฟซบุ๊ก อะไรที่ทำให้เรา ผู้ที่มีการศึกษาทั้งหลาย ที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ ไม่คิดที่จะใช้สติหยุดคิด เพื่อตรวจสอบ แหล่งที่มา ข้อเท็จจริง ของโพสต์นั้นๆ แต่กลับรีบแชร์รีบแสดงความคิดเห็นอย่างบ้าคลั่ง และที่สำคัญในขณะที่บ้านเมืองกำลังเกิดวิกฤติน้ำท่วม และผู้ที่ใช้เฟซบุ๊กอีกหลากหลายคนที่ใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางในการให้ข้อมูลข่าวสาร การแจ้งเตือน การขอความช่วยเหลือ ฯลฯ แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งกลับกำลังสนุกสนานในการสร้างสรรค์ข้อเท็จจริงที่บิดเบือนขึ้นมา และคนอีกกลุ่มหนึ่งก็หลงงมงาย ขาดสติ รีบแชร์ รีบคอมเมนต์โดยปราศจากคิดใคร่ครวญ ตั้งคำถาม ประเมิน ตรวจสอบว่าโพสนั้นๆ จริงเท็จอย่างไร และแม้จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จะเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่การแชร์ต่อ การฟลัดเรื่องราวเหล่านี้อย่างต่อเนื่องมันก็เท่ากับการโหมกระพือข้อเท็จจริงอันบิดเบือนสู่สังคม (ที่กำลังวุ่นวายและทุกข์ด้วยภัยพิบัติ) อยู่ดี แทนที่เราจะได้รับรู้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์เพื่อป้องกัน รับมือ หรือช่วยเหลือกันและกันในยามทุกข์ยากนี้ แต่กลับกลายเป็นว่าบนหน้าเฟซบุ๊กมันกลับท่วมท้นไปด้วยข้อเท็จจริงอันบิดเบือน ที่ถูกโพสต์ ถูกแชร์ ก่นด่าด้วยความสะใจ หยาบคาย ไร้สติไร้เหตุผลอย่างสนุกสนาน มันคืออคติทางการเมืองใช่หรือไม่ ? มันคือเกมทางการเมืองบนความทุกข์ร้อนและคราบน้ำตาของประชาชนใช่หรือเปล่า ? อคติทางการเมือง การสาดโคลนทางการเมือง มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในสังคมการเมืองนี้ สิ่งที่น่าเสียใจที่สุด ไม่ใช่การยอมรับไม่ได้ที่มีการสาดโคลนกัน เพราะเราคงไม่นาอีฟที่จะไม่เข้าใจปรากฏการณ์นี้ขนาดนั้น แต่เป็นการที่บรรดาคน คนแชร์รูป+เรื่องนั้นๆ ทั้งหลาย ที่มืดบอดต่อการตรวจสอบข้อเท็จจริง เอนเอียงไปด้วยอคติจนหลงลืมทั้งกาละเทศะในวิกฤติบ้านเมืองที่กำลังเผชิญ และบรรดาคนที่แชร์รูป+เรื่องนั้นๆ ที่ไม่ว่าคุณจะ ‘เลือกข้าง’ หรือ ‘นิยมชมชอบ’ หรือ ‘เกลียด’ ใคร ฝ่ายใด ข้างใด ก็ตาม การตั้งคำถาม การประเมิน การตรวจสอบ ว่าอันไหนเท็จ อันไหนจริง ก่อนที่จะแสดงความคิดเห็น การเป็นเจ้าของอความคิด อุดมการณ์นั้นๆ ในรูปแบบการชอแชร์เรื่องราวนั้นๆ มันก็เป็นพื้นฐานของผู้ที่มีการศึกษา มีอารยะ วัฒนธรรม ในสังคมประชาธิปไตยไม่ใช่หรือ ทำไมเราถึงหลงลืมที่จะตรวจสอบ ความถูกผิดบิดเบือนแล้วรีบประโจนลงไปเล่นสนุกสนานอย่างง่ายดายได้ขนาดนั้น หรือว่าแท้ที่จริงแล้ว เราไม่สนหรอกว่า อันไหนจะเท็จ อันไหนจะจริง แต่เราล้วนบูชาลัทธิความเชื่อส่วนตัวของเราและพร้อมจะมืดบอดต่อตรรกะ เหตุผล ความจริงเท็จ ทุกประการ ในขณะที่หน้าเฟซบุ๊กยังเต็มไปด้วยข้อความที่ว่า ไม่อยากได้ผู้นำ หรือนายกฯ ‘โง่’ ในประเทศนี้ เรา...ประชากร พลเมืองในประเทศก็อย่าได้แชร์ข้อความที่บืดเบือนข้อเท็จจริงด้วยอคติทางการเมืองต่อด้วยความ "โง่ๆ" โดยไม่ดู ไม่หยุดคิดสักนิดที่จะตั้งคำถาม ตรวจสอบ เลยว่ารูปกับเรื่อง ตรงกันไหม ข้อความเหล่านั้นเป็นเท็จเป็นจริงประการใด จงวิพากษ์วิจารณ์ด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริง สติ และเหตุผล กันดีกว่า อย่าได้ปล่อยไก่ แสดง (หรือตกเป็นเหยื่อ) ความ ‘โง่’ ของตัวเองโดยการแชร์ การฟลัด สิ่งที่บิดเบือนข้อเท็จจริงด้วยอคติ หรือประเด็นทางการเมืองออกมาอีกเลย น้ำท่วมประเทศครั้งนี้ คงไม่ใช่เพียงแค่ผู้นำที่โง่อย่างที่มีการกล่าวอ้าง แต่ประชากร (ในเฟซบุ๊ก ?) ในประเทศก็ไม่ได้ฉลาดเท่าไหร่ น้ำเลวทางการเมืองที่บิดเบือนและสกปรกโสมมจึงท่วมเฟซบุ๊กเช่นเดียวกั สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
'ยึดครองวอลล์สตรีท' เป็นการอุบัติทางการเมืองสำคัญที่สุดในอเมริกาตั้งแต่ 1968 Posted: 20 Oct 2011 04:00 AM PDT นักคิดสังคมวิทยาฝ่ายซ้าย 'อิมมานูเอล วอลเลอร์ชไตน์' อธิบายปรากฎการณ์ของการ 'ยึดครองวอลล์ตรีท' ว่าเป็นอุบัติทางการเมืองครั้งสำคัญที่สุดในสหรัฐ นับตั้งแต่การลุกฮือในปี 1968 ที่ได้ทิ้งมรดกตกทอด และส่งสารต่อคนรุ่นหลังว่า 'โลกใบใหม่นั้นเป็นไปได้' เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่ผ่านมา 'อิมมานูเอล วอลเลอร์ชไตน์' (Immanuel Wallerstein) นักสังคมวิทยาฝ่ายซ้ายชาวสหรัฐ เจ้าของทฤษฎี 'ระบบโลก' เขียนบทความในเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ 'Verso' ถึงขบวนการ 'ยึดครองวอลล์สตรีท' ที่เริ่มจากคนไม่กี่ร้อยในกรุงนิวยอร์ค และลามไปหลายเมืองในหลายประเทศ ว่าเป็นการอุบัติขึ้นทางการเมืองที่สำคัญที่สุดในอเมริกาครั้งสำคัญที่สุด นับตั้งแต่การลุกฮือของประชาชนครั้งใหญ่ในปี 1968 ที่เรียกร้องสิทธิพลเมือง และต่อต้านสงครามเวียดนามในช่วงทศวรรษ 1960 ทางกลุ่มเฟซบุ๊ก 'Newer Left Review' ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ที่สนใจงานเขียนของนักวิชาการฝ่ายซ้าย จึงได้นำบทความดังกล่าวมาแปลเป็นภาษาไทย ประชาไทจึงนำมาเรียบเรียงและนำเสนอแก่ผู้อ่าน ดังนี้ 00000 "การยึดครองวอลสตรีทคือการอุบัติขึ้นทางการเมืองครั้งสำคัญในอเมริกานับแต่ปี 1968" แปลโดยทีมงานกลุ่ม Newer Left Preview [แปลจาก "Occupy Wall Street is the most important political happening in American since 1968" โดย Immanuel Wallerstein http://www.versobooks.com/blogs/752-immanuel-wallerstein-occupy-wall-street-is-the-most-important-political-happening-in-america-since-1968] การเคลื่อนไหวยึดครองวอลสตรีทคือการอุบัติขึ้นทางการเมืองครั้งสำคัญในอเมริกานับแต่การจลาจลในปี 1968 ซึ่งมรดกสืบทอดหรือความต่อเนื่องของมันยังคงอยู่ เหตุใดการเคลื่อนไหวถึงเริ่มอุบัติขึ้นในอเมริกา และด้วยเหตุใดทำไมถึงไม่ใช่สามวัน สามเดือน สามปีก่อนหน้านั้นหรือหลังจากนั้น นี่เป็นเรื่องที่เราไม่อาจแน่ใจได้ แต่เงื่อนไขของการเกิดขึ้นก็มีอยู่จริง: ความเจ็บปวดรวดร้าวที่สาหัสทางเศรษฐกิจ ไม่เพียงต่อกลุ่มที่ยากจนแสนสาหัสเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มคนทำงานที่จน ซึ่งขยายมากขึ้นเรื่อยๆ (ที่บางครั้งรู้จักการในนามของ “ชนชั้นกลาง”); ความฟุ้งเฟ้ออันเหลือเชื่อ (จากการกดขี่ขูดรีด, ความละโมบ) ของคนเพียงจำนวน 1% ของประชากรสหรัฐ ("วอลล์สตรีท"); ตัวอย่างของการทวีจำนวนความโกรธที่เกิดขึ้นทั่วโลก (การก่อประท้วงในอาหรับ, การชุมนุมของผู้ไม่พอใจรัฐบาลในสเปน, การเดินขบวนของนักศึกษาในชิลี, การเรียกร้องของสหภาพแรงงานวิสคอนซิน ฯลฯ) มันไม่สำคัญว่าอะไรคือประกายไฟที่ทำให้เปลวเพลิงลุกไหม้ มันได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ในช่วงแรก – สองสามวันแรก – การเคลื่อนไหวอยู่ในกำมือของผู้กล้า, โดยมากเป็นคนหนุ่มสาว, กลุ่มคนผู้ซึ่งพยายามที่จะสำแดงพลังของการเคลื่อนไหว แต่สื่อมวลชนก็เพิกเฉยพวกเขาอย่างไม่ดูดำดูดี จากนั้นก็มีพวกหัวหน้าตำรวจผู้แสนบัดซบ ที่เชื่อว่าการสำแดงความโหดเหี้ยมเสียบ้างจะสามารถหยุดยั้งการชุมนุมได้ แต่สิ่งที่ตำรวจกระทำลงไป ถูกจับภาพได้เป็นวีดีโอ และคลิปดังกล่าวก็เผยแพร่ไปอย่างรวดเร็วในยูทิวบ์ นั่นเองที่นำเรามาสู่ช่วงที่สอง – การได้รับความสนใจจากสื่อ สื่อมวลชนไม่อาจเพิกเฉยต่อผู้ชุมนุมได้อีกต่อไป ดังนั้น สื่อมวลชนจึงพยายามแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ชุมนุม (สื่อมวลชนถามผู้ชุมนุมว่า) พวกคนหนุ่มสาวที่แสนโง่งม (รวมถึงหญิงสูงอายุอีกนิดหน่อย) เหล่านี้ มีความรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับเศรษฐกิจ? พวกคนเหล่านี้ทำอะไรที่มีประโยชน์บ้าง? พวกคนเหล่านี้ “มีวินัย” บ้างไหม? เราถูกกรอกหูโดยสื่อมวลชนว่าการชุมนุมเรียกร้องจะกลายเป็นความล้มเหลวในไม่ช้า สิ่งที่สื่อมวลชนและผู้มีอำนาจทั้งหลายไม่เคยศรัทธา (จริงแล้วคือพวกเขาไม่ยอมเรียนรู้เลยต่างหาก) ก็คือประเด็นหลักของการชุมนุมต่อต้านซึ่งดำเนินเป็นไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็วนั้นคือองคาพยพเดียวกันหมด "การยึดครอง" ที่คล้ายคลึงกันนี้ ได้เกิดขึ้นในเมืองแล้วเมืองเล่า คนตกงานอายุ 50 กว่าเริ่มที่จะเข้ามาเป็นแนวร่วม ไม่นานก็มีพวกดารานักร้องผู้มีชื่อเสียง จากนั้นก็มีพวกสหภาพแรงงานเข้ามาร่วม รวมไปถึงคนที่ไม่ด้อยเลยอย่างประธานของสหพันธ์แรงงานอเมริกันและสภาองค์กรอุตสาหกรรม (AFL-CIO) สื่อมวลชนนอกอเมริกาเริ่มที่จะติดตามสถานการณ์ พวกเขาถามผู้ชุมว่าผู้ชุมนุมต้องการอะไร ผู้ชุมนุมตอบว่า “ความยุติธรรม” นี่ดูเหมือนว่าจะเป็นคำตอบที่มีความหมายมากต่อคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ นี่เองที่นำเรามาสู่ช่วงที่สาม – ความชอบธรรม นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงโด่งดังเริ่มที่จะเสนอแนะว่าการโจมตีวอลล์สตรีทมีความสมเหตุสมผล โดยทันใดนั้นเอง สื่อสายกลางที่ได้รับความน่าเชื่อถืออย่างหนังสือพิมพ์ The New York Times (หรือ The Times) ได้เขียนบทบรรณาธิการเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม บทบรรณาธิการเขียนว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้มี “การส่งสารข้อความที่ชัดเจนพร้อมข้อเสนอทางนโยบายที่เจาะจง” และขบวนการดังกล่าว "เป็นมากกว่าแค่การลุกฮือของคนหนุ่มสาว" หนังสือพิมพ์ The Times เขียนต่อไปว่า “ความไม่เท่าเทียมอย่างสุดขั้วคือเครื่องหมายของระบบเศรษฐกิจที่ไร้ประสิทธิภาพ และถูกครอบงำอย่างมากด้วยภาคการเงิน ซึ่งขับเคลื่อนด้วยการคาดเดาและการเก็งกำไร ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล มากๆ พอกับการลงทุนที่ให้ผลผลิต” สำหรับ The Times แล้วนี่ถือเป็นภาษาที่แรงไม่เบาทีเดียว หลังจากนั้น คณะกรรมการการรณรงค์สภาพรรคเดโมแครต (Democratic Congressional Campaign Committee) ก็เริ่มที่จะเวียนหนังสือคำร้องเพื่อหาแนวร่วมภายในพรรคที่จะประกาศว่า “พวกเรายืนข้างผู้ชุมนุมยึดครองวอลสตรีท” การเคลื่อนไหวได้รับการตอบรับมากขึ้น และก็ด้วยการตอบรับที่ดี ก็มาพร้อมกับภยันตราย – ช่วงที่สี่ การชุมนุมประท้วงหลักๆ ที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องได้ มักจะต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามสองเรื่อง ภัยคุกคามแรก คือการชุมนุมต่อต้านขององค์กรฝ่ายขวาบนท้องถนน อิริก คานเทอร์ ผู้นำสภาพรรครีพับบลิกันผู้ซึ่งเป็นพวกหัวรุนแรง (และเล่ห์เหลี่ยมพอตัว) ได้เรียกร้องให้เงื่อนไขนั้นบังเกิดขึ้นแล้ว การชุมนุมต่อต้านผู้ชุมนุมค่อนข้างรุนแรงทีเดียว พวกผู้ชุมนุมเคลื่อนไหวยึดครองวอลล์สตรีท จำเป็นต้องตระเตรียมการเพื่อสิ่งนี้และคิดให้ตกว่าจะตั้งใจที่จะรับมือหรือหยุดยั้งเรื่องนี้อย่างไร กระนั้นก็ตาม ภัยคุกคามที่สองและมีอันตรายมากกว่าภัยแรก มาจากความสำเร็จของขบวนการเคลี่อนไหวนั้นเอง ยิ่งขบวนการยึดครองวอลล์สตรีทดึงดูดการสนับสนุนมากขึ้นเท่าไร ความหลากหลายของมุมมองของผู้ชุมนุมก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น ปัญหาตอนนี้ (ซึ่งมันก็ปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง) ก็คือ จะทำอย่างไรที่จะหลีกเลี่ยงการทำให้การชุมนุมกลายเป็นลัทธิของกลุ่มคนเฉพาะ ที่อาจจะพ่ายแพ้เพราะฐานแคบเกินไป พร้อมๆ กับไม่ให้มันเป็นการชุมนุมที่ไร้ความเหนียวแน่นทางการเมืองเนื่องมาจากข้อเรียกร้องที่กว้างเกินไป ไม่มีสูตรสำเร็จรูปที่เรียบง่ายในการหลีกเลี่ยงที่จะเพลี่ยงพล้ำไปข้างใดข้างหนึ่ง มันเป็นเรื่องยาก สำหรับอนาคต อาจจะเป็นไปได้ว่า การเคลื่อนไหวจะขับเคลื่อนจากความแข็งแกร่งสู่ความแข็งแกร่ง มันอาจจะทำได้อยู่สองอย่าง: สร้างแรงกดดันให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระยะสั้น เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดที่ คนหลายคนกำลังเกิดความรู้สึกอย่างแรงกล้า; และนำพาการเปลี่ยนแปลงระยะยาวต่อวิธีคิดของอเมริกันชนถึงความเป็นจริงของวิกฤตเชิงโครงสร้างของระบบทุนนิยม และการเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิศาสตร์การเมืองซึ่งกำลังดำเนินอยู่ เพราะทุกวันนี้ เราอยู่ในโลกที่ประกอบด้วยหลายขั้วอำนาจ ถึงแม้ว่าการเคลื่อนไหวยึดครองวอลล์สตรีทเริ่มที่จะมอดจางหายไปเนื่องด้วยความเหนื่อยล้าหรือการถูกปราบปราม แต่ตัวมันก็ได้ประสบผลสำเร็จแล้วและจะทิ้งเป็นมรดกสืบต่อไป เช่นเดียวสิ่งที่การจลาจลในปี 1968 ทำเอาไว้ สหรัฐอเมริกาจะต้องเปลี่ยนแปลงและเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เฉกเช่นเดียวกับคำกล่าวที่ว่า “กรุงโรมมิได้ถูกสร้างขึ้นภายในวันเดียว” ระบบโลกที่ใหม่และดีกว่า อเมริกาที่ใหม่และดีกว่า คือภารกิจที่เรียกร้องให้เกิดความพยายามซ้ำแล้วซ้ำเล่าของคนรุ่นหลัง แต่ว่าโลกอีกใบนั้นเป็นไปได้อย่างแน่นอน (แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ก็ตามที) และเราสามารถสร้างความแตกต่างได้ การยึดครองวอลล์สตรีทคือการสร้างความแตกต่าง ความแตกต่างอันยิ่งใหญ่ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
มุมต่างหลังภัยน้ำท่วม จีดีพีโตบนความสูญเสีย Posted: 20 Oct 2011 03:23 AM PDT รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษา ฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างมาก ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย วันที่ 18 ต.ค. 54 ระบุมีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบอุทกภัยในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง 62 จังหวัด 621 อําเภอ ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 2,742,310 ครัวเรือน 8,795,516 คน เสียชีวิต 315 ราย สูญหาย 3 คน มีการประมาณการเบื้องต้นว่าน้ำท่วมครั้งนี้จะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่า 100,000 ล้านบาท จะฉุดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดไว้ว่าจะโตร้อยละ 4 ให้ลดลง ซึ่งเป็นการคาดประมาณตามที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกล่าวไว้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในความเป็นจริงสิ่งที่เกิดขึ้นมักตรงข้าม โดยจะพบว่า เมื่อประเทศเกิดปัญหาภัยพิบัติอย่างรุนแรง เผชิญความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล ในไตรมาสต่อๆ มากลับมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น เช่น จากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ร้อยละ 4 มาเป็นร้อยละ 4.5 เป็นต้น ซึ่งสาเหตุแท้จริงก็ไม่ได้เป็นเพราะปัญหาพิบัติภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น โดยดูจากรายได้ประชาชาติปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่เป็นเพราะบัญชีรายได้ประชาชาติมิได้ถูกออกแบบมาเพื่อวัดมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติเหล่านี้ สิ่งที่มักพบช่วงหลังภัยพิบัติหรืออุทกภัยคือ แน่นอนมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างรายได้บางประเภทประสบปัญหาและทำให้รายได้ประชาชาติปรับลดลง เช่น รายได้จากภาคอุตสาหกรรมการผลิตในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ลดลง แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีกิจกรรมที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเกิดขึ้นอีกมาก เช่น อุปกรณ์และวัสดุก่อสร้าง อิฐ หิน ปูน ทราย ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่มบรรจุขวด ปั๊มน้ำ สูบน้ำ อุปกรณ์ไฟฟ้า ตู้เย็น ทีวี เครื่องซักผ้า ธุรกิจจัดสวน ไม้ดอกประดับ อู่ซ่อมรถ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจประกันภัย เวชภัณฑ์ การรักษาพยาบาล รวมไปถึงการเร่งจ่ายงบประมาณภาครัฐ เพื่อชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากภาวะน้ำท่วม ซึ่งการเพิ่มขึ้นของยอดขายเหล่านี้ จะมีผลทำให้รายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นและทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP เพิ่มสูงขึ้นด้วย ที่ปรึกษาฯทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า แม้ประชาชนจะสูญเสียทรัพย์สินมีค่าที่ใช้เวลาสะสมมานานอย่างบ้าน ที่อยู่อาศัย สถานประกอบการ เครื่องจักรอุปกรณ์ ที่สวน ไร่นา มูลค่าทรัพย์สินเหล่านี้ไม่ได้ถูกบันทึกในรายการในบัญชีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ จึงไม่ส่งผลฉุดให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ลดลง อย่างที่นายกรัฐมนตรีกล่าวไว้ อย่างไรก็ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นและให้ผลบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจซึ่งในภาวะปรกติจะสะท้อนความกินดีอยู่ดี แต่ในสภาวะการณ์ภายหลังภัยพิบัติ GDP ที่เติบโตจะสะท้อนความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ประเทศต้องนำทรัพยากรไปใช้ในกิจกรรมอันไม่พึงประสงค์ ดังนั้นรัฐบาลจึงควรประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากปัญหาน้ำท่วมโดยไม่ต้องอิงการเปลี่ยนแปลงของบัญชีรายได้ประชาชาติ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ศปภ.ภาคประชาชน วอนดึงศักยภาพผู้ได้รับผลกระทบ เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส Posted: 20 Oct 2011 02:43 AM PDT 20 ต.ค.54 เวลา 15.30น. ฝ่ายข้อมูล มูลนิธิกระจกเงา เผยแพร่จดหมายข่าวภาคประชาชน มูลนิธิกระจกเงา ระบุว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมที่ขยายวงกว้าง และทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายพื้นที่บริเวณรอบๆ กรุงเทพมหานครกลายเป็นพื้นที่วิกฤติ เช่น อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี จึงเป็นเหตุให้ขณะนี้มีประชาชนในพื้นที่ร้องขอความช่วยเหลือเข้ามาจำนวนมาก โดยขณะนี้ ทีมประสานงานฉุกเฉิน มูลนิธิกระจกเงา กำลังดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีเร่งด่วนที่ call center 1111 ของภาครัฐ ส่งต่อเข้ามาเป็นจำนวนประมาณ 400 กรณีเร่งด่วน (เฉพาะวันที่ 20 ตุลาคม ณ เวลา 14.00น.) สถานการณ์ความวิกฤติและความชุลมุนในขณะนี้ มูลนิธิกระจกเงาในฐานะ ศปภ.ภาคประชาชน จึงขอเสนอแนวคิด "จัดการภัยพิบัติภาคประชาชน" โดยเสนอว่า ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หรือภาคประชาสังคม โดยเริ่มจากการดึงศักยภาพและกำลังของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในครั้งนี้ มาเป็นจุดสำคัญเพื่อเชื่อมโยงไปยังหน่วยงานภาครัฐ และเพื่อเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสสำหรับการแก้ไขปัญหา โดยใช้ฐานของภาคประชาชนเป็นกำลังสำคัญ ร่วมแก้ไขปัญหาและฝ่าวิกฤติไปด้วยกันอย่างเชื่อมโยงและมีประสิทธิภาพโดยมีเป้าหมายสูงสุด คือการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทุกคน ทุกพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนในขณะนี้
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
Wall Street Journal: ผู้นำใหม่ของไทยสะดุดน้ำท่วม Posted: 19 Oct 2011 09:53 PM PDT ผู้สื่อข่าววอลล์สตรีทเจอนัล ชี้สถานการณ์น้ำท่วมในไทยส่งผลต่อภาพลักษณ์รัฐบาลยิ่งลักษณ์ แม้จะมีความพยายามสกัดน้ำท่วมจาก 'วอร์รูม' ที่ประสานกันจากรัฐบาลประชานิยม-กลุ่มอนุรักษ์นิยม-ผู้นำเหล่าทัพก็ตาม ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญตั้งคำถามถึง จนท.กรมชลประทานที่ไม่ยอมปล่อยน้ำที่ล้นเกินตั้งแต่แรก กระทั่งมีพายุฝนกระหน่ำ ขณะที่ในปีก่อนเจ้าหน้าที่กลับได้ปล่อยน้ำจากแหล่งเก็บน้ำตั้งแต่เดือน ก.ค. 19 ต.ค. 2554 เจมส์ ฮุกเวย์ ผู้สื่อข่าววอลล์สตรีทเจอนัลรายงานเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยรายงานข่าวระบุว่า การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการรับมือกับปัญหาน้ำท่วมครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษ ทำให้ความน่าเชื่อถือของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรเสื่อมลง จากการที่มูลค่าความเสียหายจากน้ำท่วมมากขึ้นเรื่อยๆ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ยืนยันแผนการอัดฉีดเงินกว่าพันล้านเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจซบเซา นักวิเคราะห์กล่าวว่าปัญหาใหญ่ที่สุดของนางยิ่งลักษณ์คือการปล่อยข้อมูลเรื่องน้ำท่วมอย่างส่งเดช จนเป็นเหตุให้รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ต้องออกประกาศด่วนในสัปดาห์ก่อนให้มีการอพยพบางส่วนในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ การไหลบ่าของข้อมูลที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ทำให้ผู้อยู่อาศัยที่ตื่นตระหนกและบริษัทต่างชาติที่หวาดกลัวต่างพากันปิดโรงงานทั่วประเทศไทยเพื่อยื้อเวลาการแก้ไขวิกฤติในครั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่าเหตุอุทกภัยในครั้งนี้ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 315 รายและทำให้สูญเสียงานไปกว่าหลายแสน จะทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศลดลงร้อยละ 1.7 เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักไปทั่วเอเชียและที่อื่นๆ เมื่อวันอังคาร (18 ต.ค.) ที่ผ่านมารัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็อนุมัติแผนทุ่มงบประมาณขาดดุลเพิ่ม 4 แสนล้าน บาทในปีงบประมาณใหม่เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. นี้ เทียบกับเงินเป้าหมายตั้งต้น 3 แสน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ซบเซาของไทนและเพื่อช่วยเหลือประชาชนกว่าแสนคนที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก่อนหน้านี้เคยบอกว่ากรุงเทพฯ ได้ผ่านวิกฤติน้ำท่วมครั้งที่เลวร้ายที่สุดมาแล้ว ก็ออกมาแถลงข่าวในภาวะเร่งด่วนเมื่อคืนวันจันทร์ (17 ต.ค.) บอกว่ากรุงเทพจะประสบกับน้ำท่วมภายในอีก 2 วันถัดไป โดยบอกให้ประชาชนคอยระวังตัวและอย่างตื่นตระหนก ก่อนจะขอความช่วยเหลือด้านกระสอบทราย ในวันอังคารมีทหารและอาสาสมัครพลเรือนรุดไปช่วยกันสร้างทำนบกั้นน้ำโดยใช้กระสอบทรายกั้นช่วงตอนเหนือกรุงเทพฯ เป็นความพยายามสุดท้ายในการสกัดกั้นน้ำ ตามทฤษฎีแล้ว ความพยายามสกัดกั้นน้ำท่วมในไทยจะมาจากการ 'วอร์รูม' กันในเขตสนามบินเก่าของกรุงเทพ ที่ซึ่งกลุ่มคนที่มีความขัดแย้งทางการเมืองมานั่งร่วมโต๊ะหารือกันอย่างรอบคอบไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลประชานิยมกับอำมาตย์อนุรักษ์นิยมและผู้นำเหล่าทัพซึ่งทำรัฐประหารเมื่อ 5 ปีก่อน รวมถึงสังหารประชาชนผู้ชุมนุมประท้วงทางการเมืองกว่า 90 ราย ในความเป็นจริงแล้ว นักวิเคราะห์บอกว่า ยิ่งลักษณ์ต้องเผชิญหน้าและจัดการกับสถานการณ์ "คุณยิ่งลักษณ์หน้าที่ของเธอได้ดีสมกับความน่าเชื่อถือเราเห็นเธอไปทุกที่" ปวิน ชัชวาลย์พงศ์พันธ์ จากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในสิงคโปร์กล่าว "แต่รัฐบาลเอง ทั้งๆ ที่รู้ว่าจะเกิดน้ำท่วมจากเมื่อสองเดือนก่อน แต่ก็ยังคงทำอะไรน้อยมากในการป้องกัน นี่เป็นภาวะวิกฤติผู้นำ" นับตั้งแต่ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ ทำตัวแตกแถวในวันพฤหัสฯ (13 ต.ค.) โดยรุดออกจากห้องประชุมเกี่ยวกับวิกฤติการณ์เพื่อบอกกับชาวกรุงเทพฯ ตอนเหนือว่าให้ออกจากบ้านทันทีเพื่อหนีน้ำท่วม เรื่องนี้ทำให้ชาวไทยหลายคนแปลกใจจากการที่คุณปลอดประสพเคยเป็นผู้บริหารที่ทำกิจการอันน่าตื่นเต้นอย่างที่รู้จักกันดีคือการนำเมนูเนื้อสัตว์แปลกๆ อย่างม้าลายและจระเข้ลงในเมนูของไนท์ ซาฟารี ในจังหวัดเชียงใหม่ การป้องกันน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ยังคงดีอยู่ ซึ่งต่อมาคุณปลอดประสพได้ขอโทษเรื่องที่เขาสับสน แต่ก็ทำให้มีประชาชนจำนวนมากหนีออกจากบ้านในตอนกลางคืนและเกิดความแตกตื่นไปทั่วเมือง และหลังจากนั้น ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ ก็บอกให้ชาวกทม. ฟังเขาและเชื่อเชาคนเดียว หลังจากนั้นมาการโต้เถียงกันเรื่องวิกฤติน้ำท่วมในประเทศไทยก็เริ่มเผ็ดร้อนมากขึ้น อดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เคยเจอกับปัญหาน้ำท่วมในสเกลที่เล็กกว่าเมื่อปีที่แล้วก็แนะนำให้ยิ่งลักษณ์ประกาศภาวะฉุกเฉินและเลื่อนการออกงบประมาณสำหรับโครงการประชานิยมซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการณรงค์หาเสียงจนชนะการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ การประกาศภาวะฉุกเฉินนั้นจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับทหารไทยในการบรรเทาสาธารณภัยและช่วยให้สามารถเป็นมือที่สามเวลามีความขัดแย้งชองชาวบ้านเวลาที่ออกตามหาของหายหลังน้ำท่วม จนบัดนี้ยิ่งลักษณ์ยังคงปฏิเสธการประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยบอกว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหวาดกลัวเนื่องจากประเทศไทยกำลังเตรียมการเข้าสู่ช่วงฤดูท่องเที่ยว นักสังเกตการณ์รายอื่นๆ ตั้งคำถามว่าทำไมเจ้าหน้าที่ชลประทานถึงไม่ทำการปล่อยน้ำที่ล้นเกินจากแหล่งเก็บน้ำตั้งแต่แรก จนกระทั่งเกิดผลกระทบจากพายุฝนที่โหดกระหน่ำผิดปกติในปีนี้แล้ว ซึ่งในปีก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ชลประทานได้ปล่อยน้ำออกจากเขื่อนและแหล่งเก็บน้ำตั้งแต่เดือน ก.ค. ในระหว่างนั้นรัฐบาลก็ส่งสัญญาณออกมาหลายอย่าง ขณะที่น้ำท่วมเขตโรงงานเพิ่มมากขึ้น มีโรงงานแหล่งที่ 6 ต้องปิดไปเมื่อวันจันทร์ (17 ต.ค.) ที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจก็เริ่มสงสัยว่าวิกฤติในครั้งนี้จะเกิดอีกนานแค่ไหน หนึ่งในนั้นคือโรงงานบริษัทฮอนด้ามอเตอร์ของไทย ซึ่งถูกน้ำท่วม และโตโยต้ามอเตอร์ก้บอกว่าจะปิดโรงงานในไทยเพิ่มเมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงช่วงปลายสัปดาห์เป็นอย่างน้อย เนื่องจากผู้ผลิตวัตถุดิบรายสำคัญยังคงประสบกับภาวะน้ำท่วม กลุ่มผู้ผลิต อุปกรณ์กึ่งตัวนำ (Semiconductors) และฮาร์ดไดรฟ์ (hard drives) ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย โดยกลุ่มธุรกิจกล่าวตำหนิว่ารัฐบาลไทยไม่ออกวิธีแก้ปัญหาในระยะยาวให้กับปัญหาน้ำท่วมไทย กลุ่มธุรกิจของญี่ปุ่นเคยกล่าวไว้แล้วว่าบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากรวมถึงผู้ลงทุนรายใหญ่ในไทยจำนวนมากไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นและข้อมูลใดที่แม่นยำ "พวกเขาได้รับคำเตือนแต่ก็มีข้อมูลไม่มากพอและมีเวลาไม่มากพอจะตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร" เซยะ ซุเกะกาว่า นักเศรษฐศาสตร์ประจำองค์กรส่งเสริมการค้าธุรกิจระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan External Trade Organization-JETRO) ประจำประเทศไทยกล่าว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ชมภาพน้ำล้นสันเขื่อนป่าสัก-หลังเก็บน้ำ 137% จากความจุ Posted: 19 Oct 2011 09:24 PM PDT เผยภาพน้ำที่เก็บกักบริเวณเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เริ่มล้นสันเขื่อน สูงเกินกว่าระดับเก็บกักสูงสุด 137% เนื่องจากมีการลดการะบายน้ำลงสู่พื้นที่ราบภาคกลางเหลือ 34.61 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน ขณะที่มีน้ำเข้าเขื่อน 40.25 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน ด้านกรมชลประทานยังยืนยันว่าตัวเขื่อนแข็งแรงแม้จะรับน้ำจนเกินความจุ ภาพถ่ายวันที่ 19 ต.ค. 54
ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (19 ต.ค.) ปริมาณน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุีรี ได้เริ่มวิกฤติล้นทะลักเข้าสู่บริเวณสันเขื่อนด้านบนแล้ว หลังจากกรมชลประทานประกาศลดการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทำให้ระดับน้ำหน้าเขื่อนและปริมาณน้ำยังสูงและวิกฤติ จากการสอบถามแม่ค้าขายอาหารปลาบริเวณสันเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า น้ำในเขื่อนได้สูงขึ้นและไหลล้นมาได้สามสี่วันแล้ว คงเป็นเพราะว่าทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้ปล่อยน้ำลงไป เพราะจะทำให้น้ำท่วมข้างล่างมากขึ้น แต่ถ้าน้ำมันเยอะมากขนาดนี้ เขาก็คงต้องปล่อยน้ำลงไป เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์คนหนึ่ง ก็กล่าวว่า ที่ปริมาณในเขื่อนเต็มจนล้นทะลักเข้าบริเวณแนวเขื่อน ก็เพราะว่าทางเขื่อนได้ชะลอการระบายน้ำลง เพราะกลัวทำให้น้ำท่วมภาคกลางมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าปริมาณมากเกินก็คงต้องปล่อยลงไป นายธนู จันทรังษี นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาดูปริมาณน้ำในเขื่อน กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า พอเห็นปริมาณน้ำในเขื่อนตอนนี้แล้ว อดเป็นห่วงไม่ได้ เพราะถ้าปล่อยน้ำลงไป ก็ยิ่งไปซ้ำเติมชาวบ้านในภาคกลางและกรุงเทพฯ ที่กำลังจมน้ำกันอยู่ในขณะนี้ แต่ถ้าไม่ระบายน้ำ ปล่อยน้ำลงไปก็อาจทำให้เขื่อนแตกได้ ในขณะที่ เว็บไซต์ของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ได้รายงานสถานการณ์น้ำประจำวัน (20 ต.ค.2554) ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำอยู่ที่ +43.75 ม.รทก. มีปริมาตรน้ำ 1,083.06 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 137.97 % ของความจุอ่างที่ระดับเก็บกักปกติ โดยมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างทั้งหมดเท่ากับ 465.86 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที หรือ 40.25 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ขณะที่ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนอยู่ที่ 25.57 ม.รทก. ขณะที่ปริมาณการระบายเวลา 06.00 น. วันนี้อยู่ที่ 400.50 ลบ.ม. ต่อ วินาทีหรือ 34.61 ล้านลบ.ม.ต่อวัน ในเว็บไซต์ของเขื่อนยังระบุด้วยว่า “ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์สูงกว่าระดับเก็บกักสูงสุด (ที่ระดับ+43.000 ม.รทก.) แต่เนื่องจากขณะนี้สภาพน้ำในลำน้ำป่าสักด้านท้ายน้ำยังล้นตลิ่งประกอบกับมีน้ำ จากคลองชัยนาท-ป่าสัก ไหลมาสมทบที่หน้าเขื่อนพระรามหก ทำให้ระดับน้ำหน้าเขื่อนและปริมาณน้ำยังสูงและวิกฤติ จึงลดการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ลงเป็น 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเพื่อ ช่วยลดผลกระทบปริมาณน้ำและระดับน้ำที่หน้าเขื่อนพระรามหกซึ่งจะต้องระบาย ผ่านเขื่อนพระรามหกไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้ลดปริมาณน้ำลงต่อไป” โดยก่อนหน้านั้น ได้เคยมีข่าวลือ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์แตก ซึ่งต่อมา ทางกรมชลประทานได้ออกมาปฏิเสธว่า เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แม้รับน้ำเข้าอ่างถึง 130% แต่ต้องเร่งพร่องน้ำรอน้ำเหนือ จึงทำให้บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำในแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่ด้านท้ายเขื่อนในเขต จ.สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะยังคงเพิ่มสูงขึ้น และกรมชลประทานได้ยืนยันว่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ถึงแม้ว่าจะรับน้ำจนเกินความจุที่สามารถเก็บกักได้ก็ตาม แต่ตัวเขื่อนและอาคารประกอบยังมีความมั่นคงแข็งแรงดี และยังสามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากกรมชลประทานมีการตรวจวัดพฤติกรรมและความปลอดภัยเขื่อนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความมั่นใจและเชื่อมั่นว่า เขื่อนจะไม่มีการพังทลายลงมา สำหรับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นเขื่อนดินเก็บน้ำ รับผิดชอบโดยกรมชลประทาน สร้างในปี 2537 แล้วเสร็จในปี 2542 เพื่อแก้ปัญหาการเกิดน้ำท่วมในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักในฤดูน้ำหลาก และขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูร้อน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ใจ อึ๊งภากรณ์: เราจะฟื้นสังคมจากวิกฤตน้ำท่วมอย่างไร? Posted: 19 Oct 2011 08:10 PM PDT น้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้นในหลายจังหวัดของ ประเทศไทย เป็นวิกฤตร้ายแรงมากสำหรับประชาชนไทย พอๆกับวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๓๙ หรือวิกฤตเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน น้ำท่วมครั้งนี้กระทบพลเมืองกว่า 2 ล้านคน บ้านเรือนเสียหายกว่า 700,000 หลัง ยอดคนตายเกิน 300 ราย และกระทบ 27 จังหวัด โรงงานอุตสาหกรรมของบริษัทขนาดใหญ่ต้องปิด 200 กว่าแห่งและน้ำท่วมที่นาของเกษตรกรมากมาย ดังนั้นจะมีผลต่อการส่งออก การเลี้ยงชีพของพลเมืองจำนวนมาก และทำให้เศรษฐกิจโดยทั่วไปหดตัวลง คาดว่าเศรษฐกิจจะชลอลงอย่างน้อย 1% อาจมากกว่านั้น สมาคมหอการค้าไทยประเมินว่าค่าเสียหายจะสูงถึง 150 พันล้านบาท ดังนั้นทั้งๆ ที่ต้องมีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่นการแจกถุงยังชีพอย่างเร่งด่วน หรือการหาทางระบายน้ำ แต่พอน้ำลงเรียบร้อยแล้ว จะมีปัญหาใหญ่กว่าที่ตามมาคือ บ้านเรือนทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงถนนหนทางและสาธารณูปโภค จะเสียหายมหาศาล เกษตรกรจะติดหนี้มากขึ้น และสำหรับลูกจ้างหลายแสนคน เขาจะตกงานหรือขาดรายได้เพราะสถานที่ทำงานถูกน้ำท่วม ถ้าเป็นรัฐบาลเดิมๆ ที่จงรักภักดีกับอำมาตย์หรืออยู่ภายใต้อิทธิพลทหาร จะมีการช่วยเหลือเล็กๆ น้อย แบบผักชีโปรยหน้า แล้วก็ปล่อยวาง ปล่อยให้ประชาชนต่างคนต่างหาตัวรอดในวิกฤต ตัวอย่างเป็นรูปธรรมคือนโยบายรัฐบาลประชาธิปัตย์ของนายกชวนหลังวิกฤต เศรษฐกิจปี 2539 นโยบายรัฐบาลประกอบไปด้วยการบอกให้ประชาชนที่ตกงาน “กลับบ้าน” ไปพึ่งญาติพี่น้องที่ยากจนอยู่แล้วในชนบท บวกกับการสอนประชาชนคนจนให้เจียมตัวรู้จักพอเพียง ไม่มีมาตรการการสร้างงานหรือการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเป็นระบบแต่อย่างใด ในขณะเดียวกันมีการปกป้องเงินออมของคนรวยและธนาคารด้วยงบประมาณรัฐ นี่คือสาเหตุสำคัญที่พรรคไทยรักไทยสามารถเสนอนโยบาย “คิดใหม่ทำใหม่” และโฆษณาว่าจะช่วยทุกคน ไม่ใช่แค่คนรวย และนโยบายดังกล่าวนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้งบประมาณรัฐอีกด้วย แต่ในขณะเดียวกันเนื่องจากรัฐบาลไทยรักไทยไม่สนใจที่จะเก็บภาษีจากคนรวยหรือ นายทุนในอัตราสูง งบประมาณในโครงการต่างๆ ไม่เพียงพอที่จะกำจัดความยากจนไปหมด และรัฐบาลไม่ได้มีความประสงค์ที่จะกำจัดความเหลื่อมล้ำด้วยการสร้างรัฐ สวัสดิการครบวงจรเลย สิ่งที่จะช่วยกู้สถานการณ์วิกฤตน้ำท่วมสำหรับสังคมไทย มีสองอย่างคือ (1) ในระยะยาวต้องมีการพัฒนาระบบชลประทานให้ดีกว่านี้ เช่นการสร้างคลองลำน้ำพิเศษที่จะระบายน้ำลงทะเลอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องผ่านแม่น้ำหรือท่วมเขตชุมชน อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณประเมินว่าโครงการดังกล่าวจะใช้งบประมาณ 4 แสนล้านบาท ซึ่งน่าจะคุ้มค่า เพราะนอกจากจะแก้ปัญหาน้ำท่วมแล้วจะสร้างงานในอุตสาหกรรมการก่อสร้างอีกด้วย (2) ในระยะสั้นหลังน้ำลงรัฐบาลควรจะเร่งโครงการก่อสร้างซ่อมแซม และชดเชยทรัพย์สินของประชาชนที่สูญหายไป เรื่องนี้จะสร้างประโยชน์สองด้านคือ กู้สถานการณ์ และสร้างงานพร้อมกันด้วย และรัฐบาลต้องมีโครงการสร้างงานที่นอกเหนือจากนั้นอีกด้วย และต้องมีการเสริมรายได้กับประชาชนด้วยการขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท และ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศอย่างเร่งด่วน ซึ่งก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังจะหดตัว ผ่านการเสริมกำลังซื้อ และจะพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนพร้อมกันอีกด้วย นอกจากนี้ต้องมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร รัฐบาลควรจะหารายได้เพิ่มมหาศาล สำหรับการกู้สถานการชีวิตประชาชนหลังจากน้ำลง เงินนี้หาจากรายได้ที่มีอยู่แล้วไม่ได้ และการตัดงบประมาณทุกกระทรวง 10% จะยิ่งทำให้ปัญหาเลวร้ายมากขึ้นและมีผลกระทบในด้านลบกับชีวิตคนส่วนใหญ่ ดังนั้นถ้าจะทำกันอย่างจริงจัง ต้องมีการ “คิดใหม่ทำใหม่” นอกกรอบคิดเดิมของอำมาตย์คือ ต้องเพิ่มการเก็บภาษีทางตรงจากเศรษฐี คนรวย และนายทุนทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น แต่ไม่ควรมีการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มที่คนจนต้องจ่าย พร้อมกันนั้นต้องมีการตัดงบประมาณฟุ่มเฟือยของทหารอีกด้วย ในรูปธรรมหมายถึงการงดซื้ออุปกรณ์ รถถัง เครื่องบิน เรือรบ ฯลฯ อย่าลืมว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ใช้ในการช่วยเหลือชาวบ้านเลย ถ้าใช้ก็ใช้เพื่อฆ่าประชาชนอย่างเดียว และต้องมีการตัดงบประมาณฟุ่มเฟือยในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ในหลายปีข้างหน้า ถ้าใครโวยวายว่าโครงการแบบนี้ “ผิด” เราจะต้องเตือนย้ำว่า ในสภาพวิกฤตปัจจุบันมันไม่มีโครงการเฉพาะหน้าอะไรที่ถือว่า “เพื่อประโยชน์ชาติ” “หรือเพื่อประโยชน์ของคนไทยส่วนใหญ่” มากกว่านี้ จะผิดได้อย่างไร? หรือประชาชนไม่สำคัญ? จะเห็นได้ทันทีว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมแยกออกไม่ได้จากการลบล้างผลพวงของอำนาจ อำมาตย์ หรือผลพวงของรัฐประหาร แต่เราทำได้ถ้ารัฐบาลพร้อมจะคิดใหม่และจับมือกับคนเสื้อแดงซึ่งเป็นคนส่วน ใหญ่ของประเทศ ในการกู้สังคมไทยจากวิกฤตน้ำท่วม เราจะต้องถกเถียงอย่างถึงที่สุดกับพวกคลั่งกลไกตลาดเสรี ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในพรรคประชาธิปัตย์ หรือในสำนักงานวิจัยอย่าง “ทีดีอาร์ไอ” ที่พูดเหมือนนกแก้วว่า “รัฐบาลไม่ควรใช้งบประมาณในการพัฒนาชีวิตประชาชน ต้องปล่อยให้มือที่มองไม่เห็นของตลาดเสรีดำเนินการไปแทน” จะมีอะไรที่ศักดิ์สิทธิ์และเพื่อชาติบ้านเมืองมากกว่าการกู้สังคมและชีวิต ของคนส่วนใหญ่จากวิกฤตน้ำท่วม? คำถามใหญ่คือรัฐบาลพรรคเพื่อไทยพร้อมจะทำหรือไม่? สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น