ประชาไท | Prachatai3.info |
- มูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมอบรางวัลบุคคลคุณภาพแด่ ว.วชิรเมธี
- “ศปภ.ภาคประชาชน” รับสมัครด่วน! คนอาสาทำฐานข้อมูล ช่วยน้ำท่วม
- สภาที่ปรึกษาอึ้ง‘ยงยุทธ’ เล็งเลือกตั้งผู้ว่าชายแดนใต้
- จาก “FWD Mail” สู่ “กดแชร์” และ “รีทวีต” เทคโนโลยีเปลี่ยนไป แต่การใช้งานไม่เคยเปลี่ยนแปลง
- สัมภาษณ์พิเศษครูนก ‘อย่าเอาฟอสซิลไปถมทะเลปากบารา’
- บัญญัติ 21 ประการ “บ้านหลังน้ำท่วม”
- บันทึกของคนที่ไม่รู้จักใครในนวนคร
- ชำนาญ จันทร์เรือง: ต้องวิพากษ์ ปรีดี พนมยงค์ ได้
- ประชาธิปัตย์เล็งฟ้องหมิ่นประมาท "โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม"
- โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัมให้สัมภาษณ์ ม.ล.ปลื้ม: "เรากำลังตามหาคนที่ออกคำสั่ง"
- โรเบิร์ท ริชช์ ตอบโต้ 7 วาทกรรมลวงว่าด้วยเรื่องเศรษฐศาสตร์
- ครั้งหนึ่งของพี่จินตนา แก้วขาว ณ ชายแดนใต้
- พิภพ อุดมอิทธิพงศ์
- สำนักพระราชวังปฏิเสธข่าวลือเฟซบุ๊ก เรื่องในหลวงรับสั่งฯ ให้น้ำผ่านสวนจิตรฯ
- เลขาฯมูลนิธิสืบแนะคน กทม.ด้านเหนือติดตามสถานการณ์คันกั้นน้ำใกล้ชิด
มูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมอบรางวัลบุคคลคุณภาพแด่ ว.วชิรเมธี Posted: 19 Oct 2011 01:27 PM PDT เว็บไซต์ jusci.net รายงานว่า วานนี้ (19 ต.ค.54) สถาบันวิมุตตยาลัยเผยแพร่ว่า พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ว.วชิรเมธี ได้รับรางวัล "บุคคลคุณภาพแห่งปี 2011" จากมูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.)
ทั้งนี้ ล่าสุด (เวลา 03.00 น. ของวันที่ 20 ต.ค. 54) รายละเอียด เหตุผล และสาขาของรางวัลที่ ว.วชิรเมธีได้รับยังไม่ได้เผยแพร่อย่างเป็นทางการที่หน้าเว็บ มสวท. อนึ่ง มูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2551 โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินกิจกรรมและบริการสังคมโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ปัจจุบันมูลนิธิ มสวท.ได้รับการสนับสนุนจากสภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สสวทท.) และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับโครงการ "บุคคลคุณภาพแห่งปี 2011" จัดทำขึ้นเพื่อประกาศเกียรติคุณและเป็นการยกย่องบุคคลที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต ทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานและการอุทิศตนทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติในด้านต่างๆ ซึ่งสมควรเป็นแบบอย่างที่ดี และควรค่าต่อการส่งเสริมเพื่อประกาศเชิดชูเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจ ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2552 ว.วชิรเมธี เคยให้สัมภาษณ์ออกรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งว่าคนเหาะได้ และเทศน์สอนพิธีกรว่าอย่างมงายในวิทยาศาสตร์ (อ้างอิงคลิปนี้นาทีที่ 2:40 เป็นต้นไป) คำพูดดังกล่าวสร้างกระแสถกเถียงอย่างรุนแรงในหมู่คนที่สนใจในวิทยาศาสตร์และหลักคำสอนของศาสนาพุทธ (อ้างอิงจากเว็บ drama-addict.com เนื่องจากกระทู้ต้นเรื่องถูกลบไปแล้ว)
-------------------------------------- สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
“ศปภ.ภาคประชาชน” รับสมัครด่วน! คนอาสาทำฐานข้อมูล ช่วยน้ำท่วม Posted: 19 Oct 2011 01:19 PM PDT วันนี้ (19 ต.ค.54) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ภาคประชาชน ประกาศรับอาสาสมัครจัดทำฐานข้อมูล เพื่อจัดตั้ง “ศปภ.ตำบล” ด้วยวัตถุประสงค์ในการรวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้าน ทันสถานการณ์ และสร้างระบบส่งต่อให้เกิดการช่วยเหลือที่ตรงความต้องการของพื้นที่ ในเวลาที่ทันท่วงที โดยจะเริ่มต้นจาก จังหวัดที่ได้รับผลกระทบหลัก หรืออาจได้รับผลกระทบมากขึ้นในช่วง 1-2 วันนี้ คือ อยุธยา ปทุมธานี นครสวรรค์ นนทบุรี โดยศูนย์จัดการกลางจะจัดหาข้อมูลผู้ประสานงานตำบลเบื้องต้น และข้อมูลพื้นฐานไว้ให้ ทั้งนี้ สิ่งที่อาสาสมัครต้องดำเนินการ ประกอบด้วย 1.หาข้อมูลพื้นฐานของตำบล คือ 1.1 บุคคลที่จะทำการติดต่อ เช่น เบอร์ติดต่อผู้ใหญ่บ้าน หรือคนอยู่ในพื้นที่ที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ รายหมู่บ้าน 1.2 สถานการณ์ปัจจุบัน อาทิ ระดับน้ำ สภาพแวดล้อม ความช่วยเหลือที่ได้รับแล้ว 1.3 ทรัพยากรที่มี/จุดแข็ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน และอาจช่วยเหลือชุมชนอื่นๆ ได้ เช่น เรือ โทรโข่ง วิธีการดูแลชุมชน 1.4 ความต้องการความช่วยเหลือ เน้นที่ความช่วยเหลือเร่งด่วน 2.ประสานงานการขอความช่วยเหลือให้ทันที่เท่าที่ทำได้ โดยจะมีข้อมูลของช่องทางที่ทางศูนย์เราจัดการได้เลย เช่น การอพยพ การส่งถุงยังชีพ หรืออาหาร เครื่องใช้พื้นฐาน และ 3.อัพเดทสถานการณ์กับพื้นที่ทุกวัน และรายงานเข้าไปที่ศูนย์ข้อมูลกลาง ตามเวลาและรูปแบบที่จะตกลงกัน ลักษณะการทำงาน จะมีการทำงานเป็นทีม ตำบลละ 2-3 คน เพื่อให้ผลัดเปลี่ยนกันได้ และติดต่อได้ตลอดเวลาเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มได้ทันที และทำงานต่อเนื่อง 2 อาทิตย์ โดยจะเข้ามาทำงานที่ศูนย์ ศปภ.ภาคประชน ที่ดอนเมืองก็ได้ หรือจะเอางานกลับไปทำบ้านก็ได้ โดยจะให้ส่งข้อมูลอัพเดทสถานการณ์ทางอินเตอร์เน็ตทุกวัน แต่วันแรกต้องมาทำงานที่ดอนเมือง เพื่อรับเอกสาร ปฐมนิเทศ และหากพบว่ามีความต้องการเร่งด่วนในพื้นที่จะได้จัดการได้เลย นอกจากนั้นจะมีอุปกรณ์พื้นฐานให้คือซิมโทรศัพท์ที่เติมเงินให้แล้ว และโทรศัพท์ (เฉพาะใช้ที่ดอนเมือง) ส่วน คุณสมบัติอาสาสมัคร คือ 1.จัดตั้งทีมของตัวเองได้ 2.มีความสามารถในการประสานงาน สืบค้นข้อมูล และรับฟังอย่างลึกซึ้ง 3.สามารถทำงานได้ต่อเนื่อง อย่างน้อย 2 อาทิตย์ ผู้ที่ต้องการเข้าร่วมสามารถไปที่สนามบินดอนเมือง ชั้น 2 อาคารผู้โดยสารขาออก นอกจากนั้น สำหรับคนที่ไม่มีเวลาต่อเนื่อง ศปภ.ภาคประชาชน มีงานอาสาสมัครอีกจำนวนมาก อาทิ จัดกิจกรรมกับเด็กที่ศูนย์อพยพ งานแพคของช่วงกลางคืน ทำเสื้อชูชีพ คีย์ข้อมูลลงคอมพิวเตอร์ (ต้องเอาโน้ตบุ๊กไปเอง) ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ อาร์ตเวิร์ค ลงพื้นที่ช่วยคนในพื้นที่อพยพ อาสาสมัครกองเรือ กองรถ เป็นทีมหรือเป็นคนก็ได้ และงานด้านอื่นๆ ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือ เช่น ทีมเยียวยาจิตใจ ทีมบริการอาหารและน้ำ ทีมประดิษฐ์สิ่งของ ฯลฯ อนึ่ง มูลนิธิกระจกและเครือข่ายภาคประชาชน นำโดย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด อดีตประธานมูลนิธิกระจกเงา ได้ตั้ง ศปภ.ภาคประชาชน และระดมอาสาสมัครมาร่วมทำงานกับภาครัฐ โดยเฉพาะการรับช่วงขอความช่วยเหลือจากศูนย์รับเรื่องร้องเรียน 1111 กด 5 ของรัฐ ที่ทางเครือข่ายฯ จะเป็นผู้ประสานงานให้อาสาสมัครในพื้นที่เป็นผู้เข้าไปในช่วยเหลือ โดยขณะนี้ได้สร้างเครือข่าย ศปภ.ตำบลขึ้นมาเพื่อให้ง่ายต่อการประสานงาน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยเริ่มการทำงานตามกลยุทธ์ดังกล่าวจากใน 6 ตำบลของ จ.พระนครศรีอยุธยา ประมวลภาพ: บรรยากาศที่ ศปภ.ดอนเมือง วันที่ 19 ต.ค.54 องค์กรที่เข้าร่วมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ภาคประชาชน พื้นที่ตำบลเป้าหมายในการจัดทำฐานข้อมูล ซึ่งมีการตั้งเป้าไว้ทั้งหมด 250 ตำบล จุดรับข้อมูลเปิดพื้นที่ เพื่อการประสานงาน "น้องชู" ตัวต้นแบบ อาสาสมัครร่วมทำเสื้อชูชีพ หรือ น้องชู จากขวดน้ำพลาสติก ร่างโครงสร้างการทำงานของ ศปภ.ภาคประชาชน เพื่อเตรียมไว้ใช้อธิบายกับอาสาสมัคร ความคิดเห็นของผู้ที่ได้มาร่วมทำกิจกรรรม ห้องโถงชั้นล่างที่เปิดให้เป็นที่บรรจุถุงยังชีพ โซนด้านในของชั้น 1 ที่มีการบรรจุถุงยังชีพอีกจุดหนึ่ง อาสาสมัครขนถ่ายทำงานเป็นสายพาน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สภาที่ปรึกษาอึ้ง‘ยงยุทธ’ เล็งเลือกตั้งผู้ว่าชายแดนใต้ Posted: 19 Oct 2011 11:52 AM PDT เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 19 ตุลาคม 2554 ที่ทำเนียบรัฐบาล สมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) ได้เข้าพบนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งผู้กำกับดูแลศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อขอให้รัฐบาลทบทวนการปรับโครงสร้างการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่ โดยตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศบก.จชต. และให้ศอ.บต.อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)ภาค 4 ส่วนหน้า นำโดยนายอาซิส เบ็ญหาวัน ประธานสภาที่ปรึกษาฯ รวม 21 คน นายอับดุลรอนิ กาหะมะ สมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยหลังการเข้าพบนายยงยุทธว่า ได้มีการหารือหลายเรื่อง ซึ่งนายยงยุทธ กล่าวระหว่างการพบปะว่า การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเน้นการกระจายอำนาจ โดยจะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาสมาจากเลือกตั้ง ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งในระบบราชการปัจจุบันจะปรับเป็นมนตรีจังหวัดของแต่ละจังหวัด ขณะที่ปลัดจังหวัดจะปรับเป็นเลขานุการจังหวัด “นายยงยุทธ บอกอีกว่า ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบลและองค์การบริหารส่วนจังหวัดจะมีอยู่เหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง” นายอับดุลรอนิ กล่าว นายอับดุลรอนิ เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น นายยงยุทธ บอกว่า จะเพิ่มอำนาจมากกว่าการให้ปรึกษาอย่างเดียว โดยมติของสมาชิกปรึกษาฯ รวมทั้งขอเสนอของหน่วยงานราชการต่างๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะถูกนำมาแนวทางในการปฏิบัติงานด้วย แต่ต้องได้รับการสนับสนุนการประชาชนในพื้นที่ หากประชาชนไม่สนับสนุน ก็ไม่สามารถที่ดำเนินการได้ นายยงยุทธ กล่าวว่า ส่วนการยื่นข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อนายยงยุทธ ครั้งนี้เป็นที่น่าพอใจของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่นายยงยุทธบอกไว้นั้น หากเกิดขึ้นจริงมันก็จะมากกว่าที่สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการเสียอีก “นายยงยุทธยืนยันว่า ศอ.บต.จะยังมีอำนาจเหมือนเดิม ส่วนศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศบก.จชต. ซึ่งจะเป็นหน่วยงานใหม่ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ยังไม่มีความชัดเจน เพราะยังอยู่ในกระบวนการทำประชาพิจารณ์ของรัฐบาล” นายอับดุลรอนิ กล่าว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
จาก “FWD Mail” สู่ “กดแชร์” และ “รีทวีต” เทคโนโลยีเปลี่ยนไป แต่การใช้งานไม่เคยเปลี่ยนแปลง Posted: 19 Oct 2011 11:46 AM PDT จริงๆแล้ว ถ้าใครตามอ่านบล๊อกนี้มาตลอด ก็คงจะเข้าใจว่า นี่เป็นบล๊อกเกี่ยวกับดนตรีเป็นหลัก เพราะเป็นการรวมงานเขียนของผมที่ลงในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับวันจันทรฺ์ แต่นานๆที ก็คงต้องเขียนเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องบ้าง เพราะว่า ถ้าไม่เขียนก็คงไม่ไหวเหมือนกันครับ ในยุคสมัยที่การใช้อินเตอร์เน็ตเริ่มตั้งไข่ในบ้านเรา สิ่งแรกๆที่ทุกคนเห่อที่จะมีคือ อีเมล์ ของตนเอง ซึ่งผมเองเมื่อยังเป็นละอ่อนในมหาวิทยาลัย ก็สมัครเมล์ไว้ใช้กับเขาเหมือนกัน แต่ในตอนนั้น ไม่ได้ใช้ทำอะไรมากนัก เพราะว่า ยังไม่ได้มีการสื่อสารผ่านทางเมล์อะไรนัก และ เมล์บ๊อกซ์ของฟรีเมลอย่าง Hotmail ตอนนั้น ยังแค่ 2 เม็ก ย้ำ 2 เม็ก นะครับ เด็กรุ่นนี้คงคิดแทบไม่ออก เพราะว่า ทำอะไรแทบไม่ได้เลย จริงๆ ถ้าส่งแต่เมล์เท็กซ์น่ะ มันไม่มีปัญหาอะไรหรอกครับ แต่เมื่อกระแสเมล์ลูกโซ่ หรือ Forward Mail เริ่มแพร่กระจาย มันก็ทำให้เรามีความจำเป็นต้องพยายามลบเมล์บ่อยๆ ไม่งั้นเมล์จะเต็ม และเด้งไป ถึงขนาดที่ เจ้าแม่เมล์ลูกโซ่ชื่อดังในตอนนั้นอย่าง ลูกแก้ว ยังมีสโลแกนว่า ล้างเมล์บ๊อกซ์ให้ดี เพราะว่า เราจะระเบิดเมล์บ๊อกซ์ของคุณแล้ว แม้ในช่วงแรก เนื้อหาที่ส่งเวียนกันไปมา ฮาๆบ้าง ภาพโป๊บ้าง แต่เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเริ่มมีความแตกแยกทางความคิด ผมก็มักจะได้รับเมลจากเมืองไทยเสมอๆ (ตอนนั้นยังเรียนอยู่ญี่ปุ่นครับ) ซึ่งเนื้อหาก็โจมตีพี่หน้าเหลี่ยมอันเป็นที่รักยิ่งของหลายๆท่าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเลวเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องจาบจ้วง ผมเองก็งงว่า ไปเอามาจากไหนกันวะ เยอะขนาดนั้น ออกมาเป็นชุดยังกับพงศาวดาร มาไม่เบื่อ แต่สุดท้ายคือ ไม่เคยเจอต้นตอ แบบนี้ จะเรียกว่า บัตรสนเท่ห์ออนไลน์ก็ได้ครับ พอยุค Social Media บูมมากๆ (ผมขอนับยุค Facbook ที่เริ่มประมาณช่วงปี 2552 นะครับ เพราะตัวก่อนหน้าอย่าง Hi5 หรือ MySpace ยังไม่มีศักยภาพด้านการแชร์สารพัด พอคนไทยเริ่มใข้ Facebookเยอะขึ้นจนแทบเดือดในช่วงเหตุการณ์ พฤษภาคม 2553 รวมไปถึง Twitter ที่โด่งดังได้เพราะพี่เหลี่ยมอีกนั่นล่ะครับ (หรือไม่จริง) ทั้งสองตัวมีฟังค์ชั่นที่คล้ายกันอยู่คือ การแชร์ในเฟซบุ๊ค และการ รีทวีตในทวิตเตอร์ ที่สามารถแบ่งปันข้อมูลทีเราอยากแบ่งได้อย่างรวดเร็ว และ แท่นแท้น Forward Mail หายไปเลยครับ กลายเป็นกดแชร์ และรีทวีตกันอย่างสะดวกสบาย จนเรียกได้ว่า แทบไม่ต้องใช้สมองกัน แต่ใช้เพียงแค่ไขสันหลังในการแบ่งปัน ไม่ต้องคิดหาที่มาของสิ่งที่เราแบ่งปัน จนกลายเป็นเรื่องราวปัญหาที่ผมอยากเอามาเขียนในรอบนี้ กรณีที่ 1 พระราชดำรัสของในหลวงเรื่อง ปล่อยให้น้ำท่วมสวนจิตลดา "ถ้าน้ำเข้าพระนคร ให้น้ำผ่านวังสวนจิตรไปเลย อย่ากั้นให้ผ่านไปเลย"เป็นข้อความที่เป็นที่ฮือฮา และปลาบปลื่ม ของชนชาวไทยทัังหลายในโลกไซเบอร์ และถูกส่งต่อเป็นอย่างมาก กระทั่งคนดัง ก็ยังรีทวีตกันไปต่อ แต่ผมเอง รู้สึกแปลกใจที่ว่า ข้อความดังกล่าว ไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีบริบท ไม่มีในข่าวในพระราชสำนัก จนงงว่า มากจากไหน จนในที่สุด ความจริงขั้นแรก ก็กระจ่างว่า สำนักพระราชวังปฏิเสธในหลวงรับสั่งในน้ำผ่านสวนจิตรฯ (คลิก) สุดท้าย ก็กลายเป็น “พระราชดำรัสปลอม” กุขึ้นมาลอยๆ โดยไม่มีที่มาที่ไป และครั้งนี้ ผมตกใจมากที่ สำนักพระราชวังถึงต้องออกมาปฏิเสธอย่างเป็นทางการ แสดงให้เห็นได้เลยว่า ทางวังเองก็ลำบากใจเช่นกัน ผมขอบอกตรงๆครับว่า การกระทำเช่นนี้ เป็นการดึงฟ้าต่ำอย่างแท้จริง แม้คุณจะบอกว่า ทำด้วยความรัก แต่สิ่งที่คุณทำ มันยิ่งทำให้ระคายเคืองเบื้องสูงขึ้นไปอีก ซึงบางท่านถึงแสดงความเห็นว่า ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราช หากคุณอ้างคำพูดของกษัตริย์ขึ้นมาลอยๆ โดยมิได้เป็นความจริง คุณสามารถถูกประหารชีวิตได้ด้วยซ้ำ (โดยคุณ @tumbler_p) ซึ่งเมื่อคิดจริงๆแล้ว ก็เป็นไปได้ เพราะการกระทำเช่นนี้ เราไม่อาจบอกเจตนาที่แน่ชัดได้ว่า คิดอะไรอยู่ ใครคิดจะแชร์ ก็คิดให้ดีก่อนเถิดครับ
กรณีที่ 2 สมเด็จพระเทพทรงออกช่วยประชาขนที่ประสบภัยอย่างเงียบๆ เรื่องนี้ ผมหากระทู้ต้นตอไม่ได้ จึงต้องขออาศัยความจำเป็นหลัก โดยที่ เรื่องที่เกิดมีรายละเอียดประมาณนี้ครับ “สมเด็จพระเทพทรงออกช่วยประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมเป็นการส่วนตัว จึงมิได้เป็นข่าว แม้กระทั่งข่าวในพระราชสำนัก” เรื่องราวมาถึงบางอ้อ เมื่อรู้ว่าภาพที่ว่ามาจากที่นี้เองครับ พระเทพโปรดเกล้าฯ พระราชทานพันธุ์ข้าว แจกจ่ายให้เกษตรกร (คลิก)
จริงๆแล้วเป็นภาพข่าวจากปีก่อนที่ท่านทรงพระราชทานพันธุ์ข้าว กลายเป็นว่า"ภาพกับเนื้อหา" เป็นคนละเรื่องไป ลดความน่าเชื่อถือของข้อมูลไปครึ่งหนึ่ง และยิ่งไม่มีข่าวอย่างเป็นทางการ เราเองก็ไม่สามารถบอกอะไรได้เลย กลายเป็นอีกครั้งที่ เราแชร์ข้อมูลที่ไม่สามารถตรวจสอบอะไรได้ หวังว่าครั้งนี้คงจะไม่ไประคายเคืองเบื้องสูงถึงกับสำนักพระราชวังต้องออกมาแถลงข่าวอีกนะครับ กรณีที่ 3 กรณียิ่งลักษณ์ขี้เมา กรณีนี้ เป็นอีกด้านหนึ่งของโลกออนไลน์ครับจะว่าเป็นด้านมืดก็ว่าได้ โดยต้นตอมาจากภาพๆนี้ครับ โดยมีการบรรยายประกอบว่า นี่คือภาพนายกยิ่งลักษณ์ยกเหล้ากรอกปากสมัยเรียนที่มหาวิทยาลัย และด่าอย่างสาดเสียเทเสีย จริงๆแล้ว ถ้าเป็นเรื่องในอดีต ผมว่า มันไม่ใช่เรื่องอะไรเลยนะครับ ประธานธิบดีอเมริกาอย่างโอบาม่ายังยอมรับว่าพี้กัญชาสมัยเรียนเลย คนครับ อายุน้อย ทำอะไรก็มีโอกาสพลาด แต่ ประเด็นมันไม่ใช่ตรงนั้นครับนี่คือตัวอย่างของ Hate Speech โจมตีเรื่องส่วนตัวของบุุคคลสาธารณะ โดยใช้วิธีการใดก็ได้ที่จะสร้างความน่ารังเกียจให้เกิดกับบุคคลดังกล่าว และอีกประเด็นคือ นี่คือนายกยิ่งลักษณ์ในอดีตหรือไม่..? คำตอบคือ ไม่ และที่มาคือ ลิงค์นี้ครับ คลิก มันคือภาพจากเว็บรวมภาพสาวฟิลิปปินส์ ซึ่งหยิบมาเพียงภาพเดียวที่ดูคล้ายนายกฯ (ดูที่เหลือสิครับ เหมือนมั้ย) และเอามาโจมตี ทั้งๆที่ไม่ใช่เจ้าตัวเลยแท้ๆ นี่คือตัวอย่างของการใช้วิธีสกปรกสาดเสียเทเสียบุคคล โดยไม่ได้คิดเลยว่า วิธีที่ตัวเองใช้นั้นคือ อวิชชา ที่สกปรกจริงๆ แน่นอนครับว่า คนทำก็รู้ตัวอยู่แก่ใจว่ากำลังโกหกอยู่ แล้วคุณล่ะครับ จะร่วมขบวนคนโกหกไปกับพวกเขาหรือไม่ กรณีที่ 4 ทำเป็นหน้าเศร้าแต่ที่แท้ก็ระรื่นเฮฮา
จริงๆแล้ว รูปนี้ ถ้าใช้สมองคิดซักหน่อย ไม่ได้ถูกบังตาโดยความเกลียดชัง จะสังเกตได้ว่า 1. พื้นที่่เป็นป่า ไม่น่าจะใช้พื้นที่ประสบภัยตอนนี้ “โปรดมีสติและค้นหาความจริงก่อนแชร์หรือรีทวีต”
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สัมภาษณ์พิเศษครูนก ‘อย่าเอาฟอสซิลไปถมทะเลปากบารา’ Posted: 19 Oct 2011 11:45 AM PDT “ครูนก” หรือนายธรรมรัตน์ นุตะธีระ อาจารย์ผู้ริเริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา โรงเรียนกำแพงวิทยา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ผู้จุดประกายการศึกษาฟอสซิล หรือซากดึกดำบรรพ์ที่มีอยู่เต็มพื้นที่อำเภอละงู จังหวัดสตูล ผ่านเด็กนักเรียน เมื่อนำไปบวกรวมกับความต้องการของกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะผลักดันให้จังหวัดสตูลเป็นอุทยานธรณีที่มีความสำคัญระดับโลก ก็ส่งผลให้แหล่งฟอสซิลสตูล ส่องประกายเจิดจ้า เจิดจ้ากระทั่งเกิดความรู้สึกไม่ต้องการเห็นปฏิบัติการ ระเบิดฟอสซิลไปถมทะเล สร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ต่อไปนี้คือ ความรู้ ความเห็น ความรู้สึกของครูนก ต่อแหล่งฟอสซิลล้ำค่าแห่งนี้
...........
สนใจซากฟอสซิลตั้งแต่เมื่อไหร่ ผมสนใจมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา อยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตอนปี 2525 ผมสนใจศึกษาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเป็นพิเศษ รู้สึกสนุกกับความหลากหลายของสัตว์มาก เช่น พวกหอย ปลาหมึก กุ้ง ดาวทะเล แม่นทะเล ผมเก็บตัวอย่างสัตว์จากบริเวณท่าเรือปัตตานี สมัยนั้นมีพวกอวนรุน ซึ่งเป็นเครื่องมือประมงผิดกฎหมายทำลายล้างแบบถอนรากถอนโคน สัตว์หน้าดินที่ติดมากับอวน กลายเป็นขยะ ไม่มีประโยชน์ ถูกแยกคัดออกจากกุ้ง หอย ปูปลาที่ชาวประมงหาได้ สัตว์หน้าดินพวกนี้มีโปรตีนต่ำ เป็นแค่ปลาเป็ด หมายถึงเป็นอาหารสัตว์ ผมเห็นแล้วเสียดาย คิดว่า น่าจะเก็บไว้ศึกษา ผมคิดว่าผมเรียนครูต่อไปก็ต้องเป็นครู ผมจึงเริ่มเก็บตัวอย่างสัตว์หน้าดินมาเก็บจนเน่าเหม็น โดนที่บ้านด่า นำมาเก็บที่หอพักเพื่อนก็ต่อว่า สมัยนั้นผมไม่มีเงินซื้อฟอมาลีนมาสตัฟฟ์ ทำแบบตามมีตามเกิด
พอมารับราชการครูมาต่อยอดศึกษาเรื่องฟอสซิลได้อย่างไร ผมรับราชการครู ปี 2529 ที่โรงเรียนเวียงสุวรรณวิทยาคม อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส อยู่ 4 ปี ระหว่างปี 2528–25 31 ช่วงนั้นผมขับรถจักรยานยนต์จากอำเภอแว้ง ไปเก็บตัวอย่างสัตว์ที่ท่าเรือปัตตานีเป็นประจำ นำไปเก็บไว้ที่โรงเรียน ทำเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ เป็นตู้โชว์ 4 ตู้ ต่อมา ปี 2532 ย้ายมาที่โรงเรียนกำแพงวิทยา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ช่วงปี 2532–2534 อยู่ที่นี่ 2 ปี จากนั้น พอปี 2535–2538 ย้ายไปสอนที่โรงเรียนไม้แก่นประชาอุทิศน์ ตำบลสะพานไม้แก่น อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา 4 ปี ปี 2539 ก็ย้ายกลับมาอยู่โรงเรียนกำแพงวิทยาอีกครั้ง จนถึงปัจจุบัน จุดเริ่มต้นจริงๆ เริ่มที่โรงเรียนกำแพงวิทยา แรกๆ ก็เก็บซากสัตว์มาผ่าเอาเนื้อออกมาสตัฟฟ์ มาดองน้ำยา เริ่มสตัฟฟ์งูจงอางเป็นตัวแรก เก็บไว้ในห้องพักครู ครูคนอื่นๆ กลัวสั่งให้เด็กนักเรียนนำไปเผา ผมเสียใจมาก เพราะใช้เวลาสตัฟฟ์นานถึง 2 วัน 2 คืน ผมจึงหาที่หาทางย้ายสัตว์ที่ผมสตัฟฟ์ออกจากห้องพักครู บนอาคารชั้น 2 ลงมาใต้ถุนอาคารใช้เก็บของเก่า กั้นมุมหนึ่งเป็นห้องเล็กๆ นำหอย เม่นทะเล ปู ที่สะสมมาจัดแสดงให้เด็กนักเรียนศึกษาทั้งๆ ที่ไม่มีตู้ ปรากฏว่า เด็กนักเรียนซนๆ มานั่งทุบปู–เม่นทะเลเล่น เปลือกหอยหายไปครึ่งหนึ่ง ผมเสียใจมาก เพราะพยายามเก็บตัวอย่างสัตว์มาจากท่าเรือปัตตานี หาดทรายตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หาดทรายบ้านบ่อเจ็ดลูก บ้านปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ผมแก้ปัญหาด้วยการกั้นห้อง และหาตู้มาจัดแสดง
ประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษาค้นคว้าฟอสซิลกับกระบวนการสอนนักเรียนคืออะไร ต้องเข้าใจก่อนว่าเด็กอำเภอละงู เป็นเด็กต่างจังหวัด การจะมาจูงใจให้นั่งท่องศัพท์วิทยาศาสตร์มันค่อนข้างยาก แต่หลังจากที่ผมทำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา เด็กๆ ก็ช่วยกันวาดภาพการจำแนกหมวดหมู่สัตว์และพืช ที่ผนังด้านหน้าห้องพิพิธภัณฑ์ ทำให้เป็นเรื่องง่ายที่เด็กจะจดจำ กลายเป็นบรรยากาศการเรียนรู้ใหม่ในโรงเรียน การไล่ต้อนไล่ตีเด็กให้เข้าห้องเรียน เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ การสร้างบรรยากาศในการสอน ให้เด็กสนุกกับการเรียน วันไหนผมจำพานักเรียนไปสอนในห้องเรียน เด็กจะท้วงว่า ทำไมไม่สอนที่ห้องพิพิธภัณฑ์ ถึงแม้จะไม่มีเก้าอี้ นั่งกับพื้นมีแต่ฝุ่น แต่นักเรียนก็สนุก ถ้าอยากให้เด็กอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แต่ไม่รู้จัก–ไม่เคยเห็นสิ่งนั้นๆ จะส่งเสริมการอนุรักษ์ได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้ที่เด็กจะมีจิตใจอนุรักษ์ ปี 2549 ผมเคยพานักเรียนชุดแรกๆ ลงทะเล เป็นที่ประทับใจนักเรียนมาก ผมได้เรียนรู้พร้อมกับเด็กๆ บางคนมีพื้นฐานเรื่องหอยชักตีน บางคนไปหาคนสนใจหอยเต้าปูน ไปหาปะการัง ต่อมา มีนักเรียนไปเข้าค่ายลูกเสือจมน้ำทะเลตายที่จังหวัดสงขลา หลังจากนั้นมีมาตรการห้ามนำนักเรียนทำกิจกรรมทางน้ำ ห้องพิพิธภัณฑ์ของเรามีการบูรณาการการเรียนรู้ พัฒนานักเรียนเป็นวิทยากรประจำฐานตัวอย่างสัตว์แต่ละฐาน นักเรียนจะช่วยอธิบายและกระตุ้นให้เกิดความสนใจ เข้าใจตัวอย่างจัดแสดงในห้องพิพิธภัณฑ์ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละฐาน เป็นการจัดการเรียนแบบมีส่วนร่วม (Cooperative learning) จากนั้น มีการถ่ายทอดการเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่น จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง จนผมแทบไม่ต้องแนะนำอีกเลย เพราะเด็กวิทยากรชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เรียนกับเด็กวิทยากรชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เด็กวิทยากรชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เรียนกับเด็กวิทยากรชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ผมแค่คอยบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ ถ้ามีคณะนักเรียนนักศึกษา คณาจารย์จากโรงเรียน และมหาวิทยาลัยต่างๆ มาทัศนศึกษาดูงาน ก็คอยจัดการใครว่างให้ช่วยไปบรรยาย ให้ความรู้ สุดท้าย นักเรียนที่สนใจศึกษาฟอสซิลไทรโลไบต์เป็นการเฉพาะ ก็ต้องศึกษาฟอสซิลกลุ่มอื่นด้วย เผื่อกลุ่มที่สนใจฟอสซิลกลุ่มอื่นไม่มา ตัวเองต้องพร้อมที่จะไปบรรยายแทน เป็นกระบวนการทำให้เด็กนักเรียนเกิดการพัฒนา ส่งเสริมให้เด็กแสดงออก รู้จักพูด รู้จักสืบค้นหาความรู้ ตรงนี้เป็นผลมาจากการมีพิพิธภัณฑ์ ทำให้พิพิธภัณฑ์มีชีวิต มีกิจกรรม มีการเคลื่อนไหว สืบค้นและให้บริการอย่างต่อเนื่อง ผมภูมิใจเด็กที่ไปจากผม มีทักษะด้านการพูด การทำงานเป็นหมู่คณะ อีกกรณีตัวอย่างหนึ่งที่เราช่วยกันสตัฟฟ์งูเหลือม จาก 3 โมงเย็นถึง ตี 5 วันรุ่งขึ้น เนื่องจากการสตัฟฟ์แบบนี้หยุดไม่ได้หนังงูจะหดและเสื่อมสภาพ ก็จัดการแบ่งงานกันทำ ให้เด็กผู้หญิงลอกหนังงูถึง 6 โมงเย็นแล้วกลับบ้าน เด็กผู้ชายอีกทีมมารับช่วงต่อใส่วัสดุภายใน พอทีมนี้ไปพักผ่อน อีกทีมก็ตื่นมาช่วยกันเย็บหนังงูเหลือม กินอยู่คลุกคลีกันในห้องพิพิธภัณฑ์ ทำให้เรามีตัวอย่างจัดแสดง มีความผูกพันจากรุ่นต่อรุ่น บางคนจบจากโรงเรียนกำแพงวิทยาไปแล้ว กลับมาเยี่ยม ถามหาฟอสซิลที่ตัวเองพบว่า ฟอสซิลอยู่ไหนแล้ว ขอดูหน่อย วางผิดที่ไม่ได้ ถ้าหาไม่พบจะโดนทวงถาม ตอนนี้ผมเปิดวิชาธรณีวิทยา เป็นวิชาเลือกให้เด็กสายศิลป์ ส่วนสายวิทย์–คณิต เป็นวิชาบังคับ วิชานี้ไม่มีหนังสือเรียน เป็นหลักสูตรท้องถิ่น สร้างความรู้พื้นฐานให้คนรู้จักของดีๆ เป็นทรัพยากรโดดเด่นของท้องถิ่นตัวเอง ผมนึกภาพเด็กกรีดยางเสร็จตอนสายๆ สามารถเป็นมัคคุเทศก์ให้กับนักท่องเที่ยวหรือนักศึกษา ช่วยบรรยายความสำคัญของฟอสซิลตามแหล่งศึกษาทางธรณีวิทยาในท้องถิ่นได้ ผมฝันไว้ว่า สักวันหนึ่งจะทำโครงการอนุรักษ์ระดับใหญ่ โดยเด็กในท้องถิ่นที่เรียนจบมหาวิทยาลัย เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับสูง โดยคนในท้องถิ่นมีส่วนรับประโยชน์ร่วมกัน ปัจจุบันมีคณะนักเรียนนักศึกษา คณาจารย์จากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ มาทัศนศึกษาดูงานที่พิพิธภัณฑ์ ศึกษาถึงสภาพทางธรณีวิทยาที่บ่งบอกถึงที่ตั้งของประเทศไทยในอดีต ความเป็นมาและการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกอย่างต่อเนื่องไม่คงที่ หลักฐานต่างๆ ที่นักวิทยาศาสตร์รวบรวมกันมา แสดงให้เห็นว่า โลกมีการเปลี่ยนแปลงถึงขั้นสูญพันธุ์ล้างโลกมาแล้ว อย่างในยุคเพอร์เมียน มีการสูญพันธ์มากกว่ามหายุคมีโซโซอิก ซึ่งเป็นยุคสูญพันธ์ของไดโนเสาร์เสียอีก
พบร่องรอยมนุษย์โบราณในถ้ำสตูลด้วย นอกจากค้นพบฟอสซิลหลายชนิดแล้ว ยังพบด้วยว่าถ้ำหลายแห่งในจังหวัดสตูล พบหลักฐานของมนุษย์โบราณอาศัยอยู่ด้วย หลักฐานหลายชิ้นถูกนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา โรงเรียนกำแพงวิทยา ผมเริ่มสนใจศึกษามนุษย์ถ้ำ เมื่อปี 2534 ตอนนั้น มีนักเรียนคนหนึ่งบอกกับผมว่า ถ้ำบริเวณบ้านหนองราโพธิ์ ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู มีหอยหนีน้ำเข้าไปในถ้ำ ผมสงสัยในอดีตเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ หอยจึงถูกน้ำท่วมพัดพาเข้าไป แต่เมื่อผมเข้าไปสำรวจภายในถ้ำ พบเปลือกหอยโข่ง หอยข้าว หอยโล่ พบเขากวางผา เขากวาง เศษกระดูกสัตว์ เศษเขี้ยว ถูกหินงอกหินย้อยเคลือบหุ้มไว้ จนปี 2539 ผมย้ายกลับมาเป็นครูที่โรงเรียนกำแพงวิทยาอีกครั้ง จึงเข้าไปสำรวจถ้ำนี้อีกครั้ง พบพระสงฆ์เทปูนสร้างเป็นสำนักสงฆ์เรียบร้อยแล้ว ที่ผ่านมา ผมได้ร่วมกับกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม สำรวจร่วมกัน เบื้องต้น พบเครื่องมือหิน ขวานฟ้า หินลับ คล้ายหอกหิน ฆ้อนมือ เครื่องปั้นดินเผา ลูกปัดดินเผา พบเนื้อหินตะกอนทราย บางชิ้นชำรุด บางชิ้นยังดีอยู่ นอกจากนี้ ยังเจอฟันกรามเล็ก ฟันกรามใหญ่ของคนโบราณ อายุประมาณ 5–6 พันปี ฟันของคนโบราณกับฟันคนปัจจุบัน ต่างกันตรงที่ฟันคนโบราณจะเรียบ เพราะกินอาหารคลุกดินคลุกทราย บดเคี้ยวจนฟันเรียบ ส่วนฟันคนปัจจุบันมีรองฟันบดเคี้ยว เราเจอเศษกระดูกโคนหางปลาฉลามหลายขนาด แสดงว่ามนุษย์โบราณดำรงชีวิตด้วยการกินปลาฉลาม คำถามคือว่าเขาจับปลาฉลามได้อย่างไร เราพบเปลือกหอยมีรูปทรงคล้ายๆ ตาเบ็ด พบมากในหลายๆ ถ้ำในอำเภอละงู อำเภอทุ่งหว้า เจอเศษหอยเทียนฝังอยู่ในตะกอนหิน หอยเทียนอยู่ในป่าชายเลน มันไปอยู่ในถ้ำได้อย่างไร เป็นตัวชี้วัดว่า น่าจะมีคนนำเข้าไป ถ้ามากับน้ำท่วมก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะแต่ละถ้ำอยู่สูง คำถามคือน้ำทะเลในอดีตสูงเท่าไหร่
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา โรงเรียนกำแพงวิทยา ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานหรือองค์กรใดบ้าง โรงเรียนกำแพงวิทยาสนับสนุนอยู่ แต่พิพิธภัณฑ์ค่อนข้างจะโตช้า เพราะโรงเรียนจำเป็นต้องดูแลระบบสาธารณูปโภค และพัฒนาวิชาการ ทำกลุ่มสาระวิชา แต่เราพยายามแก้ปัญหาพึ่งพาตัวเองกันอยู่ ไม่ว่าเรื่องของตู้จัดแสดงฟอสซิล ผมไปขอบอร์ดที่ครูคนอื่นไม่ใช้แล้ว นำมาประยุกต์ใช้ สั่งทำฝากระจกครอบเก็บในพิพิธภัณฑ์ เฉพาะการปรับปรุงห้อง ระบบไฟแสงสว่าง และครุภัณฑ์ก็ปาเข้าไปแสนกว่าบาท ถ้าไม่มีโครงการโรงเรียนในฝัน ผมคงทำไม่ได้ ผมต้องขอบคุณ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนกำแพงวิทยา นายประเสริฐ ม่วงปลอด ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพิมานพิทยาสรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ท่านมีวิสัยทัศน์ ตอนเริ่มกันห้องใต้ถุนเป็นห้องพิพิธภัณฑ์ให้เป็นขนาด 3 ห้องเรียน ตอนแรกมองดูว่าใหญ่เกินไป เอาเข้าจริงๆ พอจัดตัวอย่างแสดง ห้องก็แคบไปเสียแล้ว ส่วนอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนกำแพงวิทยาอีกคนคือ นายแสง สังหาร ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว มาปรับปรุงปูกระเบื้องพื้นห้องพิพิธภัณฑ์ให้ จัดระบบแสงสว่างและตู้จัดแสดง จนพร้อมให้บริการอย่างที่เห็นในวันนี้ ส่วนนายเกษม ทองปัญจา ผู้อำนวยการโรงเรียนกำแพงวิทยาคนปัจจุบัน ก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างมาก ต้องเข้าใจว่าเราต้องค่อยๆ โต อยากโตเร็วเกินไปก็เป็นไปไม่ได้ เพราะการสร้างพิพิธภัณฑ์ตามรูปแบบ ต้องใช้งบประมาณมหาศาล อันที่จริงฟอสซิลควรอยู่ในที่ตามธรรมชาติ ไม่ควรเก็บมันมาไว้ในพิพิธภัณฑ์ แต่บางครั้งก็จำเป็น เช่น เขาจะขุดตักปรับหน้าดิน ถมที่ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การเก็บฟอสซิลไว้เป็นของสะสมส่วนตัว มันเหมือนหินก้อนหนึ่ง พอเคลื่อนย้ายออกจากที่ตั้งตามธรรมชาติ ก็หมดคุณค่าทางการศึกษาและประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงเปลือกโลกไปเลย น่าเสียดาย
ทัศนคติและแนวทางการสอน การบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งการสืบค้นจัดหาฟอสซิลมาจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์เป็นอย่างไร เรามีห้องเรียนธรรมชาติอยู่ใกล้ตัว ตามหลักสูตรใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ เปิดโอกาสให้นักเรียนใช้เวลาในห้องเรียนให้น้อยลง เข้าหาห้องเรียนธรรมชาติให้มากยิ่งขึ้น เป็นการพัฒนาทักษะวิทยาศาสตร์ กระบวนการคิด วิเคราะห์และกระบวนการให้เหตุผลของนักเรียน ทำให้เด็กมีคุณภาพ เกิดศักยภาพการบริหารจัดการศึกษามากขึ้น “สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์” ยึดตามคำขวัญจังหวัดสตูลไปเลย ถ้าดูแลทรัพยากรธรรมชาติอย่างถูกต้อง กินเท่าไหร่ ใช้เท่าไหร่ก็ไม่หมด แต่ถ้าทำลายไปก็หมดกัน ยกตัวอย่าง แนวปะการังที่เกาะไข่ ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา สิบปีที่แล้วตอนที่ผมดำน้ำดูปะการัง ที่นั่นสวยงามมาก ตอนนี้ปะการังบริเวณนั้น ตายหมด 100 เปอร์เซ็นต์ อดีตต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับปัจจุบัน เพราะผลพวงจากเรือนักท่องเที่ยวเข้าไปจอดแนวเขตปะการังน้ำตื้น ทำให้ปะการังพังหมด แรกๆ เคยมีทุ่นสำหรับจอดเรือบริเวณน้ำลึก ต่อมาทุ่นชำรุด ผุพัง น่าเสียดายปะการังที่เกาะไข่มาก ใครๆ ก็แวะไปถ่ายรูปสะพานธรรมชาติตรงนั้น แล้วก็ขึ้นเรือไปที่อื่นๆ เสียดายแหล่งท่องเที่ยวดีดีที่ต้องเสียไปอีกแหล่งหนึ่ง
ภัยคุกคามของฟอสซิลคืออะไร ในภาคอีสานเคยมีนักล่าฟอสซิลชาวเกาหลี มาขอซื้อฟอสซิลจากชาวบ้าน ชิ้นส่วนกระดูกไดโนเสาร์ราคาชิ้นละ 1–3 พันบาท แล้วขายคืนกลับให้รัฐบาลไทยไม่รู้กี่สิบล้านบาท โชคดีที่แถวสตูลมีฟอสซิลขนาดเล็กไม่โดดเด่นเหมือนชิ้นส่วนไดโนเสาร์ ถ้านำไปขายไม่รู้จะขายได้ 10–30 บาทหรือไม่ ยิ่งคนไม่รู้จักด้วย แต่อย่าเพิ่งไว้วางใจนักล่าฟอสซิลพวกนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่เขาไม่รู้หรอกว่า หน้าดินที่ตักขายไป เหมืองหินที่ระเบิดออกไป มีฟอสซิลอยู่ การที่กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะลงมาตั้งเป็นอุทยานธรณีวิทยา ถือว่าแก้ปัญหาได้ตรงประเด็น อย่างที่ดินของชาวบ้านที่ตักหน้าดินขาย หรือปรับพื้นที่เพื่อทำเกษตร เราไม่สามารถห้ามไม่ให้เขาทำได้ เพราะเป็นที่ดินของเขา แต่ทำอย่างไรถึงจะพบกันคนละครึ่งทาง บอกชาวบ้านว่า ผมขอหินฟอสซิลนี้ไปให้เด็กศึกษาได้ไหม ส่วนใหญ่ก็ไม่ขัดข้อง เพราะเขารู้จักโรงเรียนกำแพงและเห็นความสำคัญของการศึกษา อย่างเจ้าหน้าที่เหมืองหินบางแห่ง ถามผมเลยว่าใครอนุญาตให้เข้ามา ผมบอกว่ามาจากโรงเรียนกำแพงวิทยา เขาจึงบอกว่า ทีหลังถ้ามาให้บอกเขาด้วย หลังจากกรมทรัพยากรธรณี เข้ามาผลักดันเรื่องนี้ ความชัดเจนก็เกิดขึ้น โรงเรียนกำแพงวิทยามีบทบาทสำคัญเป็นองค์กรด้านการศึกษาที่สนับสนุนเยาวชนให้ทำงานด้านนี้ กรมทรัพยากรธรณี เริ่มทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้า องค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง องค์การบริหารส่วนตำบลนาทอน องค์การบริหารส่วนตำบลละงู เป็นต้น
เรื่องการเสนอเป็นอุทยานธรณีโลกมีที่มาอย่างไร ประมาณปี 2546–2547 ผมเริ่มพบและเริ่มสนใจศึกษาเรื่องฟอสซิล แต่มีความรู้แค่พื้นฐาน ที่ได้มาตอนเป็นนักศึกษา หลังจากศึกษาเกี่ยวกับฟอสซิลมา 6–7 ปี สืบค้นข้อมูลเพิ่มขึ้น ทำให้มีองค์ความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นกับตัวเอง การได้เรียนรู้พร้อมกับนักเรียน จากการสำรวจพื้นที่ต่างๆ เรียนรู้จากนักศึกษาและอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เข้ามาทัศนศึกษาดูพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ที่โรงเรียนกำแพงวิทยา เราแนะนำในส่วนที่เราค้นพบ เขามีความรู้จากการศึกษาค้นคว้า ก็เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันมากขึ้น ต่อมา ทางกรมทรัพยากรธรณี ลงพื้นที่มาประสานงานเตรียมทำอุทยานธรณีศึกษาระดับประเทศไทย และผลักดันเสนอเป็นอุทยานธรณีโลก ตอนแรกกรมทรัพยากรธรณีจะเอาเฉพาะเกาะตะรุเตา ช่วงปี 2552 หลังจากที่มีพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 กรมทรัพยากรธรณีมีโครงการประกวดซากดึกดำบรรพ์ ตอนนั้นผมประสานงานอยู่กับนักวิชาการด้านธรณีวิทยา ผมได้รวบรวมฟอสซิลตัวเด่นๆ ไปหนึ่งคันรถกระบะ ส่งประกวดในนามโรงเรียนกำแพงวิทยา ประเภทฟอสซิลสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ผลการประกวด เรากวาดรางวัลทั้งหมด 4 ประเภท คือ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นอติลอยด์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ไทรโลไบท์ สกุล Dalmanitina รางวัลรางวัลชมเชย 1 ได้แก่ แกรปโตไลต์ รางวัลชมเชย 2 ได้แก่ นอติลอยด์ (ดูการประกาศผลรางวัลได้ที่ http://www.krunok.net/index2.php/?p=1485 ภาพประกอบฟอสซิลที่น่าสนใจ http://www.krunok.net/index2.php/?p=1474 และบรรยากาศวันประกวด http://www.krunok.net/index2.php/?p=1512) ต่อมากรมทรัพยากรธรณีขอชิ้นส่วนฟอสซิลที่ชนะการประกวด ไปจัดแสดงนิทรรศการศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซนเตอร์ กรุงเทพมหานคร เมื่อได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณี ทำให้ทราบว่า กรมทรัพยากรธรณีได้สำรวจฟอสซิลในจังหวัดสตูล คู่ขนานกับเรามาตลอด เพียงแต่เราอยู่ในพื้นที่ ทำให้ได้แหล่งฟอสซิลใหม่ๆเพิ่มเติมอีกหลายแหล่ง กรมทรัพยากรธรณีเล็งเห็นความเป็นไปได้ในการจัดตั้งอุทยานทางธรณี และผลักดันเป็นอุทยานธรณีโลก โดยให้ชาวบ้านในชุมชนและท้องถิ่นมีบทบาทบริหารจัดการกันเอง ที่ตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล นายรณฤทธิ์ ทุ่งปรือ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้า พบซากขากรรไกรล่างขวา พร้อมฟันกรามซี่ที่ 2 และ 3 ของช้างดึกดำบรรพ์สกุลสเตโกดอนในถ้ำวังกล้วย อำเภอทุ่งหว้า กรมทรัพยากรธรณีจึงเลือกเอาพื้นที่อำเภอละงู อำเภอทุ่งหว้า อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จังหวัดสตูล จัดตั้งอุทยานธรณีเป็นพื้นที่การนำร่องระดับประเทศ ก่อนนำเสนอผลักดันเป็นอุทยานธรณีโลก ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรธรณีลงพื้นที่จังหวัดสตูลสม่ำเสมอ เพื่อดำเนินการจัดตั้งอุทยานธรณีให้เป็นรูปธรรม ตัวอย่าง Geo Park ใกล้ๆ เรา ที่บนเกาะลังกาวี ของประเทศมาเลเซีย มีชุดหินอยู่ไม่มาก ที่ละงูมีความหลากหลายมากกว่า มียุคทางธรณีครบทุกยุคในมหายุคพาลีโอโซอิก ในพื้นที่ไม่เกิน 30 ตารางกิโลเมตร อาจเรียกได้ว่า เป็นแหล่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ว่าได้ นอกจากนี้ยังมีทั้งหาดหิน หาดทราย หาดโคลน มีภูเขาหินปูน มีหินตะกอนต่างๆ มีป่าไม้ ป่าชายเลน ป่าพรุ มีความหลากหลายทางชีวภาพ–กายภาพสูง ทั้งภูเขา ทะเล น้ำตก หรือหลุมยุบ จะเห็นได้ว่า จังหวัดสตูล มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าอีกมาก
ผลกระทบต่อฟอสซิลหากมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ในอ่าวหน้าเกาะเขาใหญ่ ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา พบฟอสซิลหลายแห่ง เช่น เกาะลิดี เกาะเขาใหญ่ เป็นฟอสซิลแอมโมไนต์ ฟอสซิลนอติลอยด์ การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราหน้าเกาะเขาใหญ่ มีแรงสั่นสะเทือนรุนแรงหรือไม่ ผมยังไม่ทราบ แต่ฝุ่นละอองจากหิน ดิน ทราย จะส่งผลกระทบกับฟอสซิลแน่นอน ยิ่งต้องขุดทราย ระเบิดภูเขา นำไปมทะเลก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ผมคิดว่ายิ่งจะสร้างความเสียหายให้กับฟอสซิล ตัวอย่างเขาจุหนุงนุ้ย ในบริเวณเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าควนทัง–เขาขาว ที่อาจจะถูกระเบิดนำไปถามทะเล ที่นั่นมีฟอสซิลนอติลอยด์ชิ้นใหญ่ ไม่สามารถหาที่ไหนได้ในประเทศไทย เป็นเอกลักษณ์ที่เราไม่เคยเจอที่ไหน กำลังศึกษาอยู่ว่าอยู่ในกลุ่มไหน เนื่องจากโครงสร้างท่อปั๊มน้ำภายในโครงสร้างเปลือกภายใน อยู่ด้านข้าง แทนที่จะอยู่ตรงกลางเปลือก น่าสนใจมากครับ ภูเขาที่ตำบลป่าแก่บ่อหิน อำเภอทุ่งหว้า ก็เป็นอีกแห่งที่จะถูกระเบิดมาถมทะเลสร้างท่าเรือน้ำลึก พบไทรโลไบต์หลากหลายชนิด ส่วนหาดทรายบ้านบ่อเจ็ดลูก ตำบลปากน้ำ ที่จะมีการขุดทรายมาถมทะเลสร้างท่าเรือน้ำลึกเช่นกัน ก็พบฟอสซิลหอยตะเกียง และอื่นๆ อีกหลากหลายชนิด พูดตรงๆ ผมเสียดาย ไม่อยากให้ระเบิดภูเขาเอาฟอสซิลไปถมทะเล สร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
บัญญัติ 21 ประการ “บ้านหลังน้ำท่วม” Posted: 19 Oct 2011 11:21 AM PDT ผมเขียนหนังสือเรื่อง “บ้านหลังน้ำท่วม” เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี ๒๕๓๘ และมีการช่วยกันจัดพิมพ์กันไปหลายแสนเล่มแล้ว เพราะว่าเป็นหนังสือที่ประกาศชัดเจนว่า “ไม่มีลิขสิทธิ์” ใครอยากเอาไปทำอะไรก็ตามสบาย ยกเว้นแต่ “ห้ามนำไปจำหน่าย” เท่านั้น เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่ปัญหาทั้งหลายยังเป็นปัญหาเดิมๆอยู่ เมื่อมาถึงวันนี้ จึงขอยกบางหัวข้อที่เห็นว่าเหมาะกับเหตุการณ์น้ำท่วม ๒๕๕๔ มาจัดเรียงใหม่ เพื่อความกระชับและสามารถส่งกันทางอีเมล์ หรือลงใน website ต่างๆได้สะดวกขึ้น เอกสารนี้ยังคงเป็นที่ “ไม่มีลิขสิทธิ์” เหมือนเดิมครับ ท่านใดจะเอาไปสื่อสารกันอย่างไรก็ตามสบายครับ ไม่ต้องขออนุญาต ไม่ต้องแจ้งให้ทราบ ไม่ต้องอ้างอิงแหล่งที่มาหรือชื่อผู้เขียนใดๆก็ได้ครับ เพราะเพียงท่านเริ่มเผยแพร่ “บุญ” ก็เกิดกับตัวท่านแล้วครับ สังคมไทยจะต้องอยู่ร่วมกับธรรมชาติให้ได้ เพราะธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่เหลือเกิน การใช้เทคโนโลยีไปฝืนพลังแห่งธรรมชาติมากเกินไป การทำร้ายธรรมชาติ จะเกิดผลเช่นนี้เรื่อยไป 1. น้ำท่วมแล้ว น้ำลดแล้ว บ้านมีปัญหา เริ่มต้นที่ไหนดี ความทุกข์ยากลำบากฉากแรกเพิ่งกำลังจะผ่านไปหลังน้ำลด แต่ความทุกข์ใหม่ กำลังเข้ามาแทนที่ เพราะสภาพ ของบ้าน อันถือว่าเป็นหนึ่ง ในปัจจัย 4 ของเรา มีสภาพที่น่าอึดอัด น่าอันตรายและเป็นรอยแผลที่หลายคน อยากจะเมินหน้าหนี หากคิดจะแก้ปัญหาบ้านหลังน้ำท่วม เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าและปลอดภัยกว่าปัจจุบัน (แม้ไม่ สามารถ จะเปรียบเทียบ เท่ากับอดีต) แนะนำในฐานะลูกหลาน พี่น้องว่าน่าจะ เริ่มต้นดังนี้
2. น้ำไม่ท่วมบ้าน แต่ท่วมถนนซอยหน้าบ้าน ต้องทำอะไรมั๊ยหนอ น้ำไม่ท่วมตัวบ้าน หรือแม้แต่บริเวณสนามหญ้าในบ้าน แต่ท่วมที่ถนนหน้าบ้านอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ก็ไม่น่าจะวางใจนัก เพราะ ส่วนที่บ้านเรากับทางสาธารณะ จะต้องเชื่อมประสานกันมากที่สุด และเรามักจะมองข้ามไปก็คือ "ท่อระบายน้ำ" ที่ถ่ายเทน้ำจากบ้านเรา ระบายออกสู่ท่อระบายน้ำของหลวง ในยามที่น้ำท่วมทางสาธารณะ แน่นอนน้ำจะต้องท่วม ท่อระบายน้ำของหลวงท่านด้วย น้ำในบ้านเราก็เลยไม่ระบายออก แถมในทางกลับกัน น้ำในท่อระบายน้ำสาธารณะ อาจจะไหลกลับเข้าสู่บ้านเราได้ เมื่อมีการไหลกลับเช่นที่ว่า นอกจากจะพาเอาน้ำเข้ามาแล้ว ยังน่าจะพาเอาเศษดินโคลนต่าง ๆ เข้ามาด้วย เมื่อน้ำค่อย ๆ ลดลง เศษดิน โคลน ก็จะกองติดอยู่ในท่อระบายน้ำบ้านเรา ท่อระบายน้ำบ้านเราที่เล็กอยู่แล้ว ก็จะเกิดอาการอุดตัน หรือมีพื้นที่ว่างเหลือน้อยกว่าปกติ แนวทางในการแก้ไขและข้อควรจะระวัง น่าจะมีดังต่อไปนี้
3. รั้วคอนกรีตที่แข็งแรงของผม ต้องตรวจดูอะไรหลังน้ำลดไหม น้ำคือองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของธรรมชาติ และธรรมชาติเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เกินกว่าที่มนุษย์จะไปท้าทายแข่งขัน รั้วคอนกรีตของท่าน คงจะไม่สามารถฝืนกฎนี้ได้ ปัญหาที่อาจจะเกิดกับรั้วของท่านก็เป็นเรื่องจากยามน้ำท่วม ดินที่ฐานรั้วท่านอาจจะอ่อนตัวลง ความสามารถในการ รับน้ำหนัก อาจจะน้อยลง หรือระดับที่ดินในบ้านกับนอกบ้านท่านมีระดับแตกต่างกัน ยามเมื่อน้ำที่ท่วมลดลง อาจจะเกิดแรงดูด ทำให้รั้วของท่าน เอียงไปก็ได้ หรือในขณะที่น้ำท่วมรั้วของท่าน อาจต้องทำหน้าที่เป็น "เขื่อน" ที่ต้องรับน้ำหนักน้ำเป็นอย่างมาก ความสามารถในการรับน้ำหนักอาจ "คลาก" ความแข็งแรงลดลงไปได้ ดังนั้นเพื่อความมั่นใจกรุณาตรวจสอบ และหาแนวทางแก้ไขดังนี้
4. ช่วยด้วย ต้นไม้บ้านหนู เขากำลังจะตายกันหมด น้ำท่วมคราวนี้คร่าชีวิตต้นไม้ไปมากมาย ทั้งพืชทางเศรษฐกิจและพืชที่เราปลูกกันไว้ในบ้าน หากบ้านใดน้ำท่วมเป็นเวลานาน ต้นไม้ต้นหญ้าขนาดเล็ก จะต้องตายหมดแน่นอน แนวทางการแก้ไขก็คือ ต้องเริ่มต้นปลูกกันใหม่ (ต้นไม้เขาตายไปแล้ว เรามิใช่เทวดาที่จะเรียก ให้เขาฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้) แต่ต้นไม้บางต้นที่ยังไม่ถึงที่แต่ก็กำลังจะถึงที่ตาย มีแนวทางที่ เรา จะช่วยเหลือเยียวยาเขาได้ ลองทำดังนี้ดูนะครับคุณหนู
5. ปาร์เกต์บ้านดิฉัน กลายเป็นปลาลอยน้ำ น่าปาทิ้งมั๊ยคะ ? ก่อนอื่นต้องขอภาวนาว่าพื้นปาร์เกต์ที่บ้านคุณนั้น เป็นปาร์เกต์พื้นชั้นล่าง ไม่ใช่ปาร์เกต์พื้นชั้นบน แต่ที่ว่าน่าจะปาทิ้งหรือไม่นั้น ผมขออนุญาต เล่าและอธิบายดังนี้
6. ปลั๊กไฟบ้านผม น้ำท่วมไม่เป็นไร น้ำลดจะเป็นไรมั๊ย ? แม้คำถามของคุณออกจะกวนกวนอยู่บ้าง แต่เราก็พยายามเข้าใจและเห็นใจ ว่าในขณะที่ น้ำท่วม นั้นท่านปิดวงจรไฟฟ้าทั้งบ้าน (ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ปิดคัทเอ๊าท์) น้ำท่วมก็คงไม่เป็นไรอยู่แล้ว เพราะไม่มีกระแส ไฟฟ้าเดิน แต่พอ น้ำลด อยากจะเปิดไฟใช้ คงหวั่นเกรงเหมือนกัน ว่าจะเป็นอย่างไร เอาละ ครับ ผมขอสรุป แนวทาง ดังนี้ดีกว่า
7. น้ำลดแล้ว ประสาทเสียมาก พอมีกะตัง ทำยังไงกับระบบไฟฟ้าดี ถือว่าคุณเป็นคนหนึ่งที่ยังนับว่าโชคดีกว่าประชาชนอีกมาก ในประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเรา เพราะ ระบบไฟฟ้า เป็นสิ่งจำเป็นกับการดำรงชีพ แต่มีอันตรายสูง และเข้าใจยาก ตรวจสอบยาก เพราะเรา ไม่สามารถเห็น "ตัวกระแสไฟฟ้า" ได้เลย หากคุณพอจะมีงบประมาณ ในการปรับเปลี่ยน ระบบไฟฟ้า ในบ้านหลังน้ำท่วม เราขอแนะนำดังต่อไปนี้
ปล. ขอแถมนอกเรื่องน้ำท่วมนิดเดียวครับว่า “อย่าเดินสายไฟกับสายสัญญาณต่างๆ เช่นโทรศัพท์ ทีวี ฯลฯ รวมไว้ด้วยกัน เพระสายไฟจะมีคลื่นแม่เหล็กไปรบกวนสัญญาณ ทำให้การรับสัญญาณไม่ชัดเจน 8. งูเงี้ยวเขี้ยวขอตะกวดแย้มังกรกิ้งกือ หนีน้ำมาอยู่เต็มบ้านเลย กรณีมีสัตว์ที่เราไม่พึงประสงค์เข้ามาอยู่ในบ้านของเรา คงจะต้องค่อยๆแยกประเภทสัตว์ต่างๆออกเป็นประเภทเสียก่อน เพราะสัตว์เหล่านั้นไม่มีสูตรสำเร็จที่จะจัดการให้หมดไปได้ด้วยวิธีเดียวกัน ซึ่งอาจจะแยกเป็นประเภทและการดำเนินการได้ดังนี้
9. ส้วมเหม็น ส้วมเต็ม ส้วมราดไม่ลง ส้วม ส้วม ส้วม ส้วม หลังน้ำท่วม นอกจากปัญหาใกล้ตัวเรื่องระบบไฟฟ้า และวัสดุปูพื้นที่ถูกน้ำท่วมจะเป็นปัญหาที่พบเห็นเสมอ แล้ว เรื่องส้วม ๆ ดูจะเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าและหนักหนากว่ามาก เพราะเราไม่มีที่ จะถ่ายทุกข์ ทุกข์เลยบรรจุ อยู่เต็มตัวเรา พอเราถ่ายทุกข์ออกมาหน่อยทุกข์นั้นดันไม่ย่อยสลาย บ้านเรา ก็เลยมีทุกข์ ลอยตุ๊บป่องตุ๊บป่อง เต็มไปหมด เมื่อน้ำลดแล้ว ส้วมของบางท่านอาจจะยังคงมีปัญหาอยู่ บ้างอาจจะเป็นปัญหาดั้งเดิม บ้างก็เป็นปัญหา เกิดใหม่ บ้างก็จะ สอดประสานกลมเกลียวกัน ทั้งปัญหาเก่าและปัญหาใหม่ ผมใคร่ ขอสรุปรวมความ ปัญหาแห่งส้วม ออกเป็นข้อย่อย ๆ ได้ 8 ประการ (ทั้งปัญหาเก่าและปัญหาใหม่) ดังต่อไปนี้
10. ผมต้องตรวจสอบอะไรเกี่ยวกับระบบประปาบ้าง ระบบประปาเป็นระบบที่เหมือนกับไม่มีปัญหา เพราะเหตุเกิดจากน้ำท่วม แต่หากมองข้ามไป อาจทำให้คุณ สูญเสีย ชีวิต อันเป็นที่รักยิ่งไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านที่มีระบบประปา ที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ ขอแนะนำ การตรวจสอบดังต่อไปนี้
11. ผนังบ้านแช่น้ำนาน ๆ เป็นอะไรมั๊ย จะแก้ไขดูแลอย่างไร วัสดุที่ใช้ก่อสร้างอาคารบ้านเรือนเกือบทุกอย่าง หากแม้โดนแช่น้ำไว้นาน ๆ ย่อมต้องมีอาการเสื่อมสภาพไป มากบ้าง น้อยบ้าง ตอบคำถามที่ว่า ผนังและสีทาบ้านที่ถูกน้ำท่วมแล้วเป็นอะไรหรือไม่ คงตอบว่า "เป็นอะไรแน่นอน" ขอให้คำปรึกษา ในการแก้ปัญหาดังต่อไปนี้
12. สีทาบ้าน ทั้งสีน้ำ สีพลาสติก สีน้ำมัน ฯลฯ ต้องทำอะไรบ้าง เรื่องขอการแก้ไขเกี่ยวกับสีทาบ้าน ขอให้เป็นสิ่งสุดท้ายหรือเกือบสุดท้ายที่เราจะซ่อมแซมบ้าน กรุณา อย่าอายใคร ที่เขาจะมาหาว่า บ้านเราสีกระดำกระด่าง หรือสีลอกเป็นขี้กลาก ปล่อยคนที่เขาดูถูกเราไปเถอะ เพราะเรื่องน้ำท่วม มิใช่กรรมของเรา ที่ก่อขึ้นมา (อย่างน้อย ก็ไม่ใช่ทางตรง) เขาจะว่าอะไร จะดูถูกอย่างไร ก็ปล่อยเขาไป (แล้วทำบุญกรวดน้ำ ให้เขา ลดอวิชชา ที่ครอบงำจิตใจเขาด้วย) สีทุกชนิดที่เราใช้ทาบ้าน (ไม่รวมสีทาเรือ สีทาเครื่องบิน สีทาภายในถังน้ำ) เมื่อถูกความชื้นหนัก ๆ อย่างน้ำท่วมคราวนี้ จะต้อง มีอันเป็นไป เกือบทุกที่ …. ข้อคิดสำคัญ ในเรื่องของสีทาบ้าน ก็คือ ปัญหาของสีลอกสีล่อน หลัก ๆ ไม่เกิดเพราะ คุณภาพของสี แต่เกิดจาก ความไม่พร้อม ของพื้นผิวที่ทาสี หากพื้นผิว ที่จะทาสี เกิดความชื้น หรือมีสิ่งสกปรก ติดอยู่ ทาสีทับลงไปอย่างไร ก็ลอก ก็ล่อนออกหมด ดังนั้นขอให้ใจเย็น ๆ อย่าเพิ่งทาสี ทำความสะอาดหรือลอกสีเดิมออก ให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ (ลอกเฉพาะ ตรงที่มีปัญหา ไม่ใช่ลอกหมดทั้งบ้าน) ทิ้งไว้นาน ๆ (อาจจะหลายเดือน จนถึงหน้าแล้ง ฤดูร้อนก็นับว่าไม่สายเกินไป) 13. เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า จมน้ำหมดเลย ทำไงดี ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า มอเตอร์ หรือเครื่องกลต่าง ๆ (อาจจะรวมได้ ไปจนถึง รถยนต์ด้วยก็ได้) ล้วนแต่เป็น เครื่องจักรกล ที่อย่างเราอย่างท่าน ไม่น่าประมาท หรือรู้มาก เข้าไปแก้ไข ซ่อมแซมเอง ขอความกรุณาอย่าเพิ่งใช้ความสามารถส่วนบุคคล (หากไม่จำเป็นจริง ๆๆๆๆ) หากโดนน้ำท่วมแล้ว น้ำเจ้ากรรม ไหลเข้าไป ในเครื่องเรียบร้อยแล้ว (แถมยังแช่ไว้ด้วย) ถอดออกไปให้ช่างผู้รู้ เขาตรวจสอบดูก่อน ดีกว่า กรุณาอย่าประมาท เอาไปตากแดด แล้วคิดว่าแห้งแล้ว เลยนำไปใช้ต่อ เพราะความชื้นบางส่วน อาจจะฝังอยู่ข้างใน พอเครื่องกลนั้น ทำงาน โดยใช้กระแสไฟฟ้า อาจทำให้เกิดปัญหา กับตัวบ้าน หรือเป็นอันตราย ถึงชีวิตได้ นอกจากความชื้นที่ฝังอยู่ในตัวเครื่องแล้ว บรรดาฝุ่นผง เศษขยะ หรือแม้แต่สิ่งมีชีวิตบางประเภท ก็อาจจะฝังตัวหรือแอบซ่อนตัว (หรือเสียชีวิต) ค้างอยู่ภายในเครื่องด้วย หากเดินเครื่องจักรกลหมุน อาจจะเกิดการติดขัดและมีการฝืนกำลังกัน เครื่องอาจจะเสียหรือไฟไหม้ได้ (อาจจะไม่ได้เกิดโดยทันที แต่จะเกิดขึ้นภายหลังได้) หากแม้นจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องใช้เครื่องจักรกลนั้น(ซึ่งผมหวังว่าคงจะไม่มี) ยามจะใช้เครื่องกลเหล่านั้นน่ามีข้อคิด 3 ประการคือ
14. ประตูบ้านถูกน้ำท่วมบวมอลึ่งฉึ่ง ประตูเหล็กขึ้นสนิมหมดแล้ว ขอให้คิดว่าประตูหน้าต่างเวลาถูกน้ำท่วม จะเหมือนกับผนังที่ถูกน้ำท่วมเหมือนกัน การที่ประตูไม้บวมเป่งขึ้นมา ก็เหมือนกับ ผนังไม้ หรือผนังยิปซั่ม ที่ปูดโปนขึ้น ส่วนประตูเหล็กที่ขึ้นสนิมนั้น ก็เป็นเรื่องของโลหะที่แช่น้ำ เมื่อแห้งแล้วก็ต้องเป็นสนิมไปเป็นปกติธรรมดา แนวทางแก้ไขมีดังต่อไปนี้
15. บานพับ ลูกบิด รูกุญแจ เหล็กดัด หลังน้ำท่วมต้องทำอะไรบ้างดี เป็นคำถามที่ต่อเนื่องจากปัญหาที่แล้ว ซึ่งว่าด้วยเรื่องประตูหน้าต่างที่เกิดปัญหาขึ้นหลังน้ำท่วม บานพับ ลูกบิด กุญแจ เหล็กดัด ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ทำด้วยโลหะก็เกิดปัญหาตามมา ขอตอบสั้น ๆ ง่าย ๆ ดังต่อไปนี้
16. น้ำท่วมฝ้าเพดาน แก้ไขอย่างไรได้บ้าง ผมเชื่อว่าซีเรียสและเป็นเรื่องจริงครับ แต่ขอภาวนาให้เป็นการท่วมฝ้าเพดานของห้องใต้ดิน ไม่ใช่ฝ้าเพดาน ของบ้านชั้นที่สองนะครับ น้ำท่วมฝ้าเพดานนี้ คงจะต้องใช้แนวทางแก้ไขคล้ายกับน้ำท่วมพื้นและท่วมผนังปนกัน สรุปความอีกครั้ง ได้ว่า
17. มีน้ำผุดขึ้นกลางบ้าน แปลว่าอะไร ไม่เห็นสนุกเลย หากเป็นผมก็คงจะไม่สนุกเหมือนกันละครับ เพราะอยู่ดี ๆ ก็มีน้ำผุดขึ้นมากลางบ้าน ปัญหาที่คาดการณ์ (เพราะไม่ได้เห็น สถานที่จริง) น่าจะเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
กรุณาอย่าตกใจ กับสิ่งที่เกิดนี้ พยายามหาเหตุให้พบ แล้วแก้ไขเสีย หากยังหาเหตุไม่พบ หรือหาพบแล้ว แต่ แก้ไข ไม่ได้ กรุณาติดต่อผู้รู้ ( ผู้รู้แปลว่าผู้รู้ ไม่ได้แปลว่า ผู้ไม่ค่อยรู้แต่ช่างพูด) 18. เฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เตียง เก้าอี้ หลังน้ำท่วม ขอให้คิดเสมือนว่าเฟอร์นิเจอร์นั้นเป็นเครื่องใช้ เป็นพื้นบ้านและเป็นผนังบ้านอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้น การแก้ไข เฟอร์นิเจอร์หลังน้ำท่วม ก็คงจะคล้ายกับการแก้ปัญหา เรื่องประตูหน้าต่าง เครื่องไม้ เครื่องมือ พื้นบ้าน ฝ้าเพดานบ้าน และผนังบ้านปน ๆ กันไป สรุปข้อคิดและแนวทางการแก้ไขไว้ดังต่อไปนี้
19. น้ำท่วมช่องลิฟต์ ห้องเครื่อง หม้อแปลงไฟฟ้า น้ำท่วมลิฟต์ ห้องเครื่อง หม้อแปลงไฟฟ้า หรือส่วนที่เป็นเครื่องกลสำคัญต่างๆของอาคาร กรุณาอย่าซ่อมแซมเอง ให้เรียกบริษัท หรือช่างผู้รู้จริงมาตรวจสอบ และแก้ไขเสีย จะต้องเสียงบประมาณเท่าไรก็ต้องยอมนะครับ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และห้ามประมาทเด็ดขาดนะครับ 20. อยากยกบ้านทั้งบ้านให้สูงขึ้น ทำยังไง อย่างไร เท่าไร การยกบ้านให้สูงขึ้น หมายถึงการยกตัวโครงสร้างทั้งหมดของบ้านให้มีระดับหนีน้ำท่วมบ้าน เป็นสิ่งที่น่า สนใจ แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงหากจะทำเองถ้าบ้านของท่านไม่ใช่บ้านไม้ และไม่ใช่บ้านที่มีน้ำหนักเบา เพราะหากเป็นบ้านที่ทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก (ภาษาชาวบ้านเรียกว่าบ้านปูน) โครงสร้างของบ้านจะยึดติดเป็นเนื้อเดียวกัน หากยกบ้านขึ้น (ส่วนใหญ่จะด้วยแม่แรง แบบการยกรถยนต์) ตัวบ้านเอียง หรือบิด เพียงนิดเดียว บ้านก็จะแตกร้าว เสียหายวิบัติได้ นอกจากนั้น บ้านปูนจะมีน้ำหนักมาก ทำให้ต้องมีเสาเข็มยาว ๆ มารับน้ำหนักบ้าน เสาเข็มนี้ ส่วนใหญ่ จะเป็นเสาเข็มปูน ที่มีเหล็กเส้น ผูกติดยึด ไว้กับตัวฐานราก เมื่อยก ตัวบ้านขึ้น ก็เป็นเพียงการยกแต่ตัวบ้าน ไม่สามารถยกเสาเข็ม ขึ้นมาด้วย การต่อฐานราก กับเสาเข็มใหม่ จึงเป็นเรื่องยาก ในอนาคตอาจมีปัญหาเรื่องบ้านทรุดบ้านร้าวได้ นอกจากเรื่องโครงสร้างแล้ว เมื่อยกบ้านปัญหาพวกสายไฟ ท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ ก็จะเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องตามมา ที่จะต้องตัดออกทั้งหมด แล้วต่อใหม่เข้าไป เมื่อยกระดับบ้านเสร็จเรียบร้อย หากท่อเหล่านี้ อยู่ใต้พื้นบ้าน บริเวณกลางๆบ้าน ย่อมจะตัดออกจากกัน ตอนจะยกบ้าน ได้ยาก หากตัดไม่หมด แล้วยกขึ้น ก็อาจไปดึงโครงสร้างของบ้านส่วนอื่นๆเสียหายได้ การต้องการจะยกระดับบ้านทั้งหลังขึ้นมา (บ้านปูน) เป็นเรื่องที่ต้องปรึกษาผู้รู้จริง และมีประสบการณ์เท่านั้น และส่วนผู้รับเหมาก่อสร้าง ก็ต้องเป็นผู้รู้จริงด้วย มิเช่นนั้นท่านอาจจะเสียบ้านไปทั้งหลัง ส่วนราคาค่ายกบ้าน ก็แล้วแต่ระดับที่ยกขึ้น แล้วแต่ขนาดของตัวบ้าน แล้วแต่ลักษณะของตัวบ้าน โดยทั่วไป ราคาจะประมาณ 20% ถึง 400% ของราคาตัวบ้าน ส่วนบ้านไม้นั้น หากใช้เทคนิคไทยเดิมของเรา ผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ใช่เป็นเรื่องยากนัก (บ้านไม้ แปลว่า ทั้งโครงสร้าง และองค์ประกอบเป็นไม้ ไม่ใช่โครงสร้างเป็นปูน มีเพียงผนัง หรือพื้น เป็นไม้เท่านั้น) 21. “ฝ่าวิกฤติด้วยความคิดบวก” ความคิดบวกหรือ Positive Thinking ฟังเสมือนกับเป็นลัทธิแก้อย่างหนึ่ง แต่ความจริงแล้วการมองภายในตนให้ครบถ้วนทุกด้าน แล้วเอาด้านที่เป็นบวกมาพิจารณาเป็นประเด็นในการจัดการปัญหา ชีวิตเราก็จะมีความสุขขึ้นไปพร้อมๆกับผู้รอบข้าง และ สังคมที่เราอยู่ร่วมนั้น การแก้ปัญหาทั้งหลายย่อมไม่มี “สูตรสำเร็จ” เป็นธรรมดา.... หากเราฝึกตนให้เป็น “คนกล้า” ที่มิใช่ลืมตัวกลายเป็นคน “บ้าบิ่น” แก้ปัญหาตามอารมณ์ เราต้องไม่เป็นผู้ที่ “รู้มาก แล้ว คิดน้อย” หรือเป็นผู้ที่ “รู้น้อย แล้ว คิดมาก” ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
บันทึกของคนที่ไม่รู้จักใครในนวนคร Posted: 19 Oct 2011 11:16 AM PDT บ่ายวันพฤหัสที่แล้ว (12 ต.ค. 54) หลังจากได้ไปสังเกตการณ์การทำงานของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ. ผมก็ตระหนักว่า ทั้ง ศปภ.และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขาดซึ่งการทำงานเป็นระบบ และขาดฝีมือในการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่หนักที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษ หลายจังหวัดจมใต้บาดาล คนเกือบสามร้อยคนได้เสียชีวิต และนิคมอุตสาหกรรมสี่แห่งในอยุธยาถูกน้ำทะลักท่วมเสียหายยับเยิน ยังผลให้คนงานกว่าสองแสนคนอาจต้องตกงาน ณ ทางทิศใต้ของอยุธยาก็ยังมีนิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่มากตั้งอยู่ ซึ่งได้แก่ นิคมนวนครในจังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีโรงงานภายในนิคมถึง 227 โรง และหากนิคมโดนน้ำท่วมมิดก็จะกระทบต่อแรงงานอีกกว่า 170,000 ชีวิต ในวันรุ่งขึ้น ผมรู้สึกว่า ไม่อยากเห็นสิ่งเดียวกันกับที่เกิดกับนิคมอุตสาหกรรมในอยุธยา เกิดซ้ำกับนวนคร จึงตัดสินใจส่งข้อความทางทวิตเตอร์ขอให้อาสาสมัครไปช่วยกันเสริมคันกั้นน้ำที่นวนคร ผมได้ทวีตย้ำไปด้วยว่า เราควรจัดลำดับความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ และหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่สังคมกำลังเผชิญอยู่ คือจะทำอย่างไรไม่ให้คนอีกเป็นแสนต้องตกงานเพิ่ม สมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนอน กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ซึ่งเป็นผู้บริหารมูลนิธิกระจกเงาเป็นคนแรกที่ผมโทรไปหาเพื่อพยายามประสานงาน ซึ่งคุณสมบัติก็ได้พยายามช่วยเท่าที่จะทำได้ เพราะในส่วนของมูลนิธิกระจกเงานั้นก็มีงานอาสาที่ดอนเมืองล้นมืออยู่แล้ว หลังจากทวีตไปได้ระยะหนึ่ง ในที่สุดผมก็สามารถติดต่อทางโทรศัพท์กับนักข่าวหญิงจากสปริงนิวส์ ซึ่งอยู่ที่พื้นที่นวนครได้ในคืนวันเสาร์ ซึ่งผมไม่เคยรู้จักเธอมาก่อน และเธอก็ได้เล่าให้ผมฟังว่า ในนวนวนครเองมีความแตกแยกไม่ลงรอยกันเพียงใด ระหว่างส่วนกลางกับบางโรงงานว่าด้วยการจัดการกับภัยน้ำ แล้วเธอก็ได้ให้เบอร์โทรศัพท์กับผมมาสองเบอร์ เบอร์แรกเป็นเบอร์ของผู้จัดการโรงงานๆ หนึ่งในนวนคร ซึ่งหลังโทรไป เขาบอกว่ายินดีจะช่วยประสานนำอาสาไปช่วยเสริมกำแพงกั้นน้ำ ส่วนอีกคนชื่อคุณสุรีรัตน์ เป็นเจ้าหน้าที่ส่วนกลางของนวนคร ซึ่งก็ยืนยันกับผมว่า คันกั้นน้ำของนวนครจะเอาอยู่ พอผมถามว่า ต้องการอาสาไหม และหากมีอาสารวมตัวกันพร้อมที่ดอนเมือง ทางนวนครจะพร้อมส่งรถไปรับอาสาได้หรือไม่ เธอก็ตอบว่า ทางนวนครไม่ค่อยมีรถเท่าไหร่ ผมพยายามอธิบายให้เธอเข้าใจว่า พวกเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่อยุธยาที่ล่มไปแล้ว ก็เคยคิดเหมือนกันว่า พวกเขาจะสามารถกันน้ำไม่ให้ท่วมนิคมได้ แต่ในที่สุดก็จมบาดาลกันหมด ผมจึงบอกคุณสุรีรัตน์ว่า ผมเป็นห่วงนวนคร เพราะไม่อยากให้คนงานเกือบสองแสนคนต้องเสี่ยงต่อการตกงานเพิ่มเติมจากที่ตอนนี้ เสี่ยงต่อการตกงานไปกว่าสามแสนแล้วที่อยุธยา แต่ก็ดูเหมือนเธอจะไม่เข้าใจหรือเป็นห่วง วันรุ่งขึ้น วันอาทิตย์ ก็มีคนมาโต้ผมทางทวิตเตอร์ว่า ไม่เห็นจำเป็นต้องไปช่วยนิคมอุตสหกรรมนวนครเลย เพราะพวกเขามีทั้งเงินทั้งแรงงานมากอยู่แล้ว เขาคนนี้ยังบอกอีกว่า นวนครมีแรงงานประมาณแสนสอง หากเกณฑ์มาแค่หนึ่งเปอร์เซนต์ก็จะได้คนถึงหนึ่งพันสองร้อยคนแล้ว ผมก็ตอบไปว่า ผมไม่รู้หรอกว่าปัญหาข้างในเขามีอะไรบ้าง แต่ถ้าดูเหมือนว่าพวกเขาจะจัดการกันเองไม่ได้ เราคนนอกก็ควรจะเข้าไปช่วย เพื่อที่ว่าคนอีกจำนวนมากจะได้ไม่ต้องตกงาน ตอนสายๆ ของวันนั้น ในขณะที่มีอาสาหลายคนไปช่วยที่ดอนเมืองและที่อื่นๆ ถึงแม้จะเป็นวันหยุด ผมกลับเห็นคนไทยคนหนึ่งในทวิตเตอร์ ทวีตรูปรีสอร์ทริมทะเลที่หัวหินมา เพื่ออวดเป็นภาษาอังกฤษว่า ตนเองซึ่งเป็นชาวกรุงเทพฯ ได้ถือโอกาสเดินทางไปพักผ่อนริมทะเล ในขณะที่คนเช่นนี้ทวีตรูปขึ้นมาโอ้อวดผู้อื่น คนที่อยู่รอบนอกกรุงเทพฯ หลายจุดก็เริ่มตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ทำไมพวกเขาจึงต้องยอมเสียสละให้คนกรุงเทพฯ เพื่อคนกรุงจะได้เดินช้อปปิ้งหรือขับรถโดยไปดูหนังโดยไม่ต้องเปียกน้ำ และมันยุติธรรมหรือไม่ ที่พวกเขาจะต้องรับน้ำเพิ่ม เพียงเพื่อไม่ให้กรุงเทพฯ ต้องถูกน้ำท่วม หลังจากผมประณามการกระทำเช่นนี้ไปทางทวิตเตอร์ ก็มีผู้ใช้ทวิตเตอร์อีกคนหนึ่งคนตอบมาว่า เขา “ภูมิใจ” กับการกระทำแบบนั้น ช่วงนั้นไทม์ไลน์ของทวิตเตอร์ก็เต็มไปด้วยการด่าทอเสียดสีสาดโคลนกันระหว่างคนเสื้อต่างสีอย่างไม่รู้จบ หากวัดมวลน้ำลายที่สาดใส่กันอย่างไม่มีท่าทีจะสิ้นสุดมันก็อาจจะมากกว่ามวลน้ำที่กำลังล้อมรอบกรุงเทพฯ ก็ว่าได้ ช่วงสายของวันอาทิตย์นั้น ผมนึกขึ้นได้ว่า หากติดต่อกับผู้นำแรงงานเพื่อให้ทางสหภาพแรงงานต่างๆ ส่งคนมาเป็นอาสาช่วยเสริมคันกั้นน้ำที่นวนคร ก็อาจจะช่วยได้อีกแรง และมีประสิทธิภาพ สุดท้ายผมได้เบอร์โทรศัพท์ของคุณชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่คุณชาลีก็รับปากว่าจะทำเท่าที่ทำได้ ผมโทรไปหาคนอื่นสองสามคน รวมถึง นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เพื่อขอให้ช่วยจัดอาสาสมัครเสื้อแดงมาช่วยด่วน ซึ่ง นพ.เหวงก็รับปากว่าจะทำเท่าที่ทำได้ และก็มีเพื่อนอีกคนที่ผมติดต่อไป เขาตอบว่า ปัญหาตอนนี้มีอยู่เต็มไปหมด มันทำให้ผมนึกได้ว่า สังคมไทยเราจัดลำดับความสำคัญของปัญหาต่างๆ ได้มากน้อยเพียงใด ว่าอะไรควรให้ความสำคัญมากกว่า หรือเร่งทำก่อน ในช่วงสายของวันรุ่งขึ้น วันจันทร์ ทุกอย่างก็สายเกินไป มีรายงานข่าวออกมาว่า มวลน้ำมหาศาลทำให้ทำนบกั้นน้ำที่นวนครแตก ทั้งที่เมื่อประมาณ 40 ชั่วโมงก่อนหน้านั้น เจ้าหน้าที่นวนครยังบอกกับผมอยู่ว่า เธอไม่คิดว่าจะมีปัญหา ผมถามตัวเองว่าจริงๆ แล้ว สังคมไทยน่าจะปกป้องนวนครได้หรือไม่ หากพยายามมากกว่านี้และก่อนหน้านี้ ผมไม่มีคำตอบ ผมโทรหาคุณชาลีแล้วแกก็บอกผมว่า มันไม่ไหวแล้ว อาสาที่ส่งไปก็บอกว่าพวกเขาสู้น้ำไม่ไหวแล้ว พร้อมกับกล่าวเสริมว่า “ตอนนี้โรงงานใครโรงงานมัน” ณ เวลานั้น สิ่งที่ผมทำได้ก็มีเพียงการร้องขอให้พยายามยันเป็นครั้งสุดท้าย ณ เวลานั้น ผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่เคยเถียงกับผมว่า ทำไมต้องไปช่วยนวนครก็ตอบกลับมาว่า “นาทีนี้ก็ต้องช่วย เพราะนวนครไม่คิดช่วยตัวเองทั้งๆ ที่มีทั้งเงินและแรงงานที่สั่งได้ สองวันก่อนยังมีโรงงานเปิดอยู่เลย . . .” ในที่สุดผมก็ต้องส่งข้อความผ่านทวิตเตอร์สั้นๆ เพื่อขอบคุณทุกคนที่ได้ช่วยกัน RT ส่งต่อข้อความ หรือได้ช่วยไปเป็นอาสาช่วยที่นวนคร ผมส่งข้อความไปว่า ผมขอขอบคุณในฐานะผู้ที่ “ไม่เคยรู้จักใครในนวนครมาก่อน” หลังจากนั้นผมก็เปิดเช็คอีเมลดู แล้วก็พบจดหมายอิเลกทรอนิกส์จากผู้เชี่ยวชาญที่มหาวิทยาลัยมหิดล มีข้อความสั้นๆ ว่า โรงงานที่ได้รับผลกระทบจำนวนหนึ่งได้เริ่มกดดันให้คนงานเขียนจดหมายลาออก โดยบอกกับพนักงานเหล่าว่า จะไม่มีงานทำจนกว่าการฟื้นฟูโรงงานจะเสร็จสิ้น ผมอดสงสัยมิได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นอีกกับหลายนิคมอุตสาหกรรมที่กำลัง “รอ” น้ำที่กำลังจะไปเยือน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ชำนาญ จันทร์เรือง: ต้องวิพากษ์ ปรีดี พนมยงค์ ได้ Posted: 19 Oct 2011 09:50 AM PDT "ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่ อ.ปรีดีจะถูกวิพากษ์ แม้ว่าเราจะเคารพนับถือท่านอยู่อย่างเต็มเปี่ยมหัวใจก็ตาม ใช่ไหมครับ" อนุสนธิการตั้งคำถาม ๑๕ ข้อ ของ”สมคิด เลิศไพฑูรย์”อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีต่อ ”นิติราษฎร์” โดยคำถามข้อหนึ่งระบุว่า “ถ้าเรายกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้ เราจะล้มเลิกการกระทำทั้งหลายและลงโทษคณะรัฐประหารกี่ชุด สุจินดา ถนอม ประภาส สฤษดิ์ จอมพล ป.,อ.ปรีดี หรือจะลงโทษเฉพาะคณะรัฐประหารที่กระทำต่อนายกฯทักษิณ” ซึ่งส่งผลให้ลูกสาว อ.ปรีดี และผู้ที่เห็นแย้งกับ”สมคิด”ออกมาโต้แย้งอย่างมากมาย จนถึงกับเดินขบวนให้ปลดออกจากตำแหน่งอธิการบดีในข้อหาฝักไฝ่เผด็จการไปเลยก็มี แต่ประเด็นที่พูดถึงกันส่วนใหญ่แล้วก็มุ่งแก้ต่างไปในประเด็นของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ซึ่ง อ.ปรีดีเป็นแกนนำสำคัญของคณะราษฎร์ในฝ่ายพลเรือน และในกรณีนี้ก็เป็นที่ยุติในเชิงวิชาการแล้ว่าเป็นการ ”ปฏิวัติ (revolution)” มิใช่ ”รัฐประหาร (coup d'état)” เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งระบบโดยเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย มิใช่การใช้กำลังเข้าเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลแล้วฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ซึ่งหากทำสำเร็จก็เรียกว่า “รัฐประหาร(coup d'état)”หากทำไม่สำเร็จก็กลายเป็น “กบฏ(rebellion)”ไป น่าเสียดายและเสียเชิงเป็นอย่างยิ่งที่ “สมคิด”ไม่ยอมชี้แจงข้อสอบถามของลูกสาว อ.ปรีดีและนักวิชาการค่ายอื่นๆที่สนับสนุน”นิติราษฎร์” แต่ใช้วิธีการ”หนีหน้า”โดยการลบข้อความออกจากเฟซบุ๊กของตนเองทิ้งไปเสียอย่างน่าละอายและหมดรูปของนักวิชาการในระดับศาสตราจารย์ทางกฎหมายและอธิการบดีมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มี อ.ปรีดีเป็นผู้ประศาสน์การ ในความเห็นของผมแล้วประเด็นอยู่ที่มิใช่ว่า อ.ปรีดี จะถูกวิพากษ์ไม่ได้และก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ลูกสาว อ.ปรีดีจะออกมาตอบโต้ ผมคิดว่า เราเข้าใจอะไรผิดไปหรือเปล่า เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงวิชาการต่อ อ.ปรีดี ซึ่งนอกจากจะเป็นรัฐบุรุษแล้วยังเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะย่อมสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางวิชาการได้ เหมือนที่นักวิชาการหลายคนเคยวิพากษ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, พระยาอนุมานราชธนมาแล้วหรือแม้แต่รัชกาลที่ ๕ ก็ยังถูกวิจารณ์โดย ส.ศิวรักษ์ในที่สาธารณะในเชิงวิชาการในหลายต่อหลายครั้ง หากนักวิชาการเรายังมีความจำไม่สั้นเกินไปนัก เราน่าจะจำกรณี “กบฏวังหลวง”หรือที่เรียกว่า “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492”ซึ่งเป็นคำเรียกของ อ.ปรีดี โดยเป็นขบวนการต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ของกลุ่มประชาธิปไตยพลเรือนซึ่งก็คือกลุ่มการเมืองที่แวดล้อม อ.ปรีดี หรือกลุ่มที่ถือเอา อ.ปรีดี เป็นผู้นำและแกนกลาง โดยมุ่งที่จะประสานกำลังหลัก 2 ส่วนเข้าด้วยกัน คือ ฝ่ายทหารเรือและเสรีไทย ซึ่งเป็นความพยายามในการรื้อฟื้นอำนาจที่สูญเสียไปก่อนการรัฐประหารใน พ.ศ.2490 ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 เวลา 20.00น.อ.ปรีดี และเสรีไทยได้ขนอาวุธขึ้นฝั่งที่หาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองเพื่อเตรียมกำลัง จากนั้นเวลา 21.05 น. กำลังส่วนหนึ่งเข้ายึดสถานีวิทยุ กรมประชาสัมพันธ์พญาไท และเริ่มประกาศแต่งตั้งรัฐบาลใหม่โดยมี ดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรีฯ พร้อมกันนั้นได้ออกคำสั่งปลด พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ทั้งยังสั่งห้ามเคลื่อนย้ายกำลังพลไม่ว่าในกรณี ใด ๆ นอกจากจะได้รับคำสั่งโดยตรงจากแม่ทัพใหญ่ จากนั้นหน่วยอื่น ๆ ก็ลงมือปฏิบัติการในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ในพระบรมมหาราชวัง ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ได้นำทหารเรือและเสรีไทยส่วนหนึ่งเข้ายึดได้เมื่อเวลา 21.00 น. จากนั้น อ.ปรีดี, ทวี ตะเวทิกุล, พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต และกำลังส่วนอื่น ๆ ก็ได้เคลื่อนย้ายจากธรรมศาสตร์เข้าพระบรมมหาราชวังและใช้เป็นศูนย์บัญชาการ จนถึงครึ่งวันแรกมีแนวโน้มที่ขบวนการ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 จะได้รับชัยชนะ เพราะบุคคลสำคัญทั้งของฝ่ายคณะรัฐประหารและฝ่ายรัฐบาลรวมตัวกันไม่ติดและติดต่อกันไม่ได้เลย แม้ว่าหลายคนจะเตรียมการต่อสู้ แต่ก็ไม่รู้ทิศทางไม่รู้ที่มั่นของฝ่ายยึดอำนาจและไม่ทราบสถานการณ์ที่เป็นจริง แต่ความคลาดเคลื่อนของฝ่าย อ.ปรีดีอยู่ที่ว่า กำลังนาวิกโยธินจากสัตหีบ ซึ่งจะต้องเป็นกำลังหลักเข้ายึดและควบคุมตามสถานที่สำคัญนั้นมาไม่ทันตามกำหนดนัดหมายที่จะต้องเข้าควบคุมสถานการณ์เสียตั้งแต่ระยะครึ่งคืนแรก เพราะเนื่องจากยกกำลังมาแล้วมาติดน้ำลงที่ท่าข้ามแม่น้ำบางปะกงต้องรอเวลาน้ำขึ้น ทำให้ข้ามฝั่งแม่น้ำมาได้ไม่ทันเวลา ดังนั้น ตั้งแต่เวลา 23.00 น.ของวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 ฝ่ายรัฐบาลเริ่มติดต่อกันได้และตั้งตัวติด และได้ออกประกาศยืนยันว่ารัฐบาลเดิมยังคงบริหารประเทศอยู่ และได้มีการสู้รบกันจนในที่สุดฝ่าย อ.ปรีดีต้องถอนกำลังออกจากพระบรมมหาราชวัง ในท้ายที่สุดการสู้รบระหว่างฝ่ายทหารบกและทหารเรือก็ยุติลงในเวลาประมาณ 10.30 น.ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 และถือได้ว่าขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 ได้ล้มเหลวลง กลายเป็น “กบฏวังหลวง” และผลที่เกิดขึ้นตามมา คือ มีผู้เสียชีวิตเป็นทหารบก 4 คน ทหารเรือ 3 คน และประชาชนในเขตพญาไท 3 คน ส่วน อ.ปรีดี ได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายทหารเรือ โดยจัดเรือยนต์บรรทุกเพื่อนในขบวนการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังฟากธนบุรีโดยปลอดภัย หลังจากการพ่ายแพ้ครั้งนี้ อ.ปรีดีได้หลบอยู่ในประเทศไทยจนถึงวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2492 และลอบเดินทางไปยังประเทศจีน หลังจากนั้นก็ลี้ภัยอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่นานถึง 21 ปี และเดินทางไปลี้ภัยต่อที่ประเทศฝรั่งเศสจนสิ้นอายุขัย รวมเวลาที่ลี้ภัยนานถึง 34 ปี กล่าวโดยสรุป ก็คือ อ.ปรีดีก็เคยทำ “รัฐประหาร”เหมือนกัน ถึงแม้จะเรียกชื่อว่า “ขบวนการประชาธิปไตยฯ”โดยให้เหตุผลว่าเพื่อล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร พ.ศ.2490 ก็ตาม แต่ทำไม่สำเร็จจึงกลายเป็น “กบฏ”ไป ส่วนจะถูกต้องด้วยเหตุผลหรือไม่อย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอย่างไร ก็ว่ากันไป ซึ่งเราก็ควรที่จะวิพากษ์ได้ เพราะ อ.ปรีดีก็เคยวิพากษ์ตัวท่านเองไว้จนถือได้ว่าเป็นวาทะประวัติศาสตร์ว่า "เมื่อข้าพเจ้ามีอำนาจ ข้าพเจ้าไม่มีประสบการณ์ เมื่อข้าพเจ้ามีประสบการณ์ ข้าพเจ้าไม่มีอำนาจ" ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่ อ.ปรีดีจะถูกวิพากษ์ แม้ว่าเราจะเคารพนับถือท่านอยู่อย่างเต็มเปี่ยมหัวใจก็ตาม ใช่ไหมครับ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ประชาธิปัตย์เล็งฟ้องหมิ่นประมาท "โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม" Posted: 19 Oct 2011 09:34 AM PDT "เทพไท เสนพงศ์" เผยพรรคประชาธิปัตย์เล็งฟ้อง "โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม" ฐานหาว่าพรรคเป็น "พรรคทหาร" ถือเป็นการทำให้พรรคเสื่อมเีสีย โดยฝ่ายกฎหมายพรรคจะเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษวันที่ 20 ต.ค.นี้ที่กองปราบ วันนี้ (19 ต.ค.) นายเทพไท เสนพงศ์ รมต.ประจำสำนักนายกฯเงา ที่ตั้งโดยพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวหลังการประชุม ครม.เงาของพรรคว่า ที่ประชุมครม.เงา มีมติให้คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะที่พรรคเป็นนิติบุคคลให้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษ นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความส่วนตัวของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ทำให้พรรคเสื่อมเสียโดยการกล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคทหาร นายเทพไทกล่าวว่า ทั้งที่ข้อเท็จจริงพรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคการเมืองของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็น ประมุข โดยมอบอำนาจให้นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค ให้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบในเวลา 10.00 น.ของวันที่ 20 ต.ค. นี้ ในข้อหาหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 ประกอบ มาตรา 328 ของประมวลกฎหมายอาญา เพื่อให้เจ้าพนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อนายโรเบิร์ต และพรรคจะใช้ช่องทางยื่นฟ้องในนามพรรคต่อศาลในภายหลังอีกด้านหนึ่งด้วย
ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัมให้สัมภาษณ์ ม.ล.ปลื้ม: "เรากำลังตามหาคนที่ออกคำสั่ง" Posted: 19 Oct 2011 09:26 AM PDT ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุลสัมภาษณ์ทนายอัมสเตอร์ดัม เผยมาไทยเพื่อเยี่ยมคนเสื้อแดง-รวบรวมข้อมูลทำคดี ยันไม่ได้ตามหาทหารผู้ฝืนใจลั่นไก แต่เป็น “คนที่ออกคำสั่ง” เชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีจะต้องถูกจับมาลงโทษผ่านกระบวนการศาลที่มีความยุติธรรมและเชื่อถือได้ เผยไปเยี่ยมผู้ต้องขัง ม.112 พบสภาพเรือนจำเลวร้ายมาก-จี้รัฐบาลปัจจุบันปรับปรุง พร้อมอัดอภิสิทธิ์แสร้งเป็นนักประชาธิปไตย วันนี้ (19 ต.ค.) รายการ Wake Up Thailand ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม Voice TV โดย ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ได้สัมภาษณ์นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม จากสำนักงานกฎหมายอัมสเตอร์ดัม แอนด์ เปรอฟ ทนายความ นปช. ซึ่งขณะนี้เดินทางอยู่ภายในประเทศไทยเพื่อเก็บข้อมูลประกอบทางคดี โดยนายอัมสเตอร์ดัมให้สัมภาษณ์ว่า ภารกิจหลักในการเยือนประเทศไทยคือเยี่ยมคนเสื้อแดงเพื่อรวบรวมข้อมูล เพื่อที่จะได้ทำการสืบสวนคดีใหม่ ที่เกิดจากรัฐบาลที่แล้วเขายังกล่าวด้วยว่า “คนที่เราตามหาไม่ใช่ทหารที่ต้องฝืนใจลั่นไกสังหารผู้คน แต่เรากำลังตามหาคนที่ออกคำสั่งต่างหาก” ม.ล.ณัฏฐกรณ์ถามว่า เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่ในท้ายที่สุดแล้วที่เราจะได้เห็นอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) และผู้ที่เกี่ยวข้องในรัฐบาลที่แล้วถูกจับมาลงโทษ นายอัมสเตอร์ดัมชี้แจงว่า “ขอพูดให้กระจ่างเลยนะครับ ผมจะไม่ตัดสินจาก "ชื่อ" ที่ผู้คนพูดกันว่า คนโน้น คนนี้เป็นคนทำมันอาจจะดูไม่เป็นธรรมต่อพวกเขา แต่ผมมั่นใจว่าผู้ที่เกี่ยวข้องในคดี จะต้องถูกจับมาลงโทษอย่างแน่นอน แต่ว่าเราต้องใช้กระบวนการศาล ที่มีความยุติธรรม และเชื่อถือได้” ทนายความคนเสื้อแดง ตอบคำถามเรื่องความร่วมมือกับรัฐบาลว่า เป็นไปในบรรยากาศที่ดี ไม่ได้รู้สึกเหมือนไม่ให้ความร่วมมือแต่อย่างใด มันแตกต่างจากรัฐบาลที่แล้วโดยสิ้นเชิง ที่หวาดกลัว และไม่ให้ผมสอบสวน ให้ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศออกไปจากเรื่องนี้ มีรูปถ่ายของพวกเราติดไว้ที่สนามบิน เพื่อไม่อนุญาตให้เราเข้าประเทศได้ ต่อคำถามที่ว่า คนเสื้อแดงได้ตั้งข้อสงสัยใน Social Network ว่ารัฐบาลปัจจุบันไม่จริงจังในการสอบสวนกรณีที่ว่ารัฐบาลชุดที่แล้วเป็นผู้ออกคำสั่งปราบเสื้อแดง นายอัมสเตอร์ดัมตอนบว่า “ผมทำเรื่องนี้ในนามคนเสื้อแดงและท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าเป็นรัฐบาลชุดนี้หรือหน่วยงานระดับประเทศ เราจะต้องหาคนผิดมาให้ได้ ตอนนี้ผมจะยังไม่โทษว่าเป็นความผิดใคร เพราะมันยังเร็วไป” นายอัมสเตอร์กล่าวด้วยว่าคิดว่านายกฯฯ พยายามแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างสุดความสามารถ ดังนั้นเวลานี้จึงไม่เหมาะสมที่จะยกเรื่องนี้ขึ้นมา จนกว่าจะได้มาเมืองไทยครั้งหน้าเพื่อให้โอกาสรัฐบาลไตร่ตรองอีกครั้ง ทนายความ นปช. ยังเปิดเผยด้วยว่าการมาเมืองไทยในครั้งนี้เพื่อเยี่ยมผู้ต้องหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานภาพที่ถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำด้วย โดยเขาบอกว่า เรือนจำมีสภาพแย่มาก “เรือนจำที่ผมไปดูในกรุงเทพฯ มีพื้นที่คับแคบเกินไป ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของคุกในรัสเซียด้วยซ้ำ เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้เลย ผมได้บอกกับรัฐบาลและทุกคนที่ผมไปพบมาเมื่อวานว่าผู้คนเหล่านี้จะต้องได้รับการคุ้มครอง” ทนายความผู้นี้ยังเปรียบเทียบว่านายวลาดิเมียร์ ปูตินผู้นำรัสเซียมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี “แม้หลายคนที่ผมรู้จักถูกจับในรัสเซีย แต่ผมเชื่อว่าปูตินเป็นประชาธิปไตยมากกว่าอภิสิทธิ์ ผมไม่ได้ล้อเล่น เพราะว่ากับปูตินนั้นคุณจะได้เห็นความจริงบางอย่าง แต่กับอภิสิทธิ์นั้นคุณจะไม่ได้เห็นเลย อภิสิทธิ์แสร้งเป็นนักประชาธิปไตย และเป็นผู้นำประเทศที่จับคนเข้าคุกมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองของโลก” นายอัมสเตอร์ดัมได้กล่าวหาพรรคประชาธิปัตย์ด้วยว่า เขาเคยกล่าวในที่สาธารณะว่าพรรคประชาธิปัตย์ควรเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคทหาร พร้อมยังกล่าวว่าจะไปเสนอให้องค์กร “Liberal International” ถอนพรรคประชาธิปัตย์จากการเป็นสมาชิก ในตอนท้ายของการสัมภาษณ์เขากล่าวด้วยว่า จะเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างต่างประเทศกับประเทศไทย และจะเดินหน้าทำคดีคนเสื้อแดงต่อไป “ผมมีทีมงานที่ขยันขันแข็งในเมืองไทย และเราจะยังคงทำงานต่อไป ผมเคยพูดไว้ว่าถ้าเราแพ้ในศาลอาญาระหว่างประเทศ เราจะรวบรวมพยานและหลักฐานเพิ่มแล้วกลับไปสู้ใหม่ และถ้าเราได้รับความช่วยเหลือจากอัยการของไทยเราก็คงไม่แพ้ สิ่งที่เราจะต้องทำคือต้องไม่ให้มีการลบล้างมลทิน หมายความว่าเราจะต้องคนหาตัวคนที่ลั่นไกสังหารผู้ชุมนุมมาเป็นพยานให้ได้ แค่นี้ก็จบ” ส่วนคำถามที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์มากดดันให้ตำรวจจับกุมตนเองนั้น ทนายความ นปช. ผู้นี้ตอบว่า เขาไม่เคยประเมินความสามารถของพรรคประชาธิปัตย์ต่ำในการใช้อำนาจโดยมิชอบ “พวกเขาถนัดในเรื่องแบบนี้” นายอัมสเตอร์ดัมกล่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
โรเบิร์ท ริชช์ ตอบโต้ 7 วาทกรรมลวงว่าด้วยเรื่องเศรษฐศาสตร์ Posted: 19 Oct 2011 08:40 AM PDT แม้ร่างพระราชบัญญัติการจ้างงาน (jobs bill) ของประธานาธิบดีจะไม่ถูกพิ นี่เป็นความพยายามเล็กๆ เพื่อโต้ตอบวาทกรรมหลอกลวงที่ 2.) การเพิ่มภาษีให้กับคนรวยจะทำให้ 3.) ลดงบประมาณรัฐบาล สร้างงานมากขึ้น 4.) การลดการขาดดุลงบประมาณในตอนนี้ 5.) โครงการประกันสุขภาพของรัฐบาล (Medicare and Medicaid) เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ 7.) ไม่แฟร์เลยที่ชาวอเมริกันที่มี นักปลุกปั่นในอดีตทั้งหลายรู้ดี
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ครั้งหนึ่งของพี่จินตนา แก้วขาว ณ ชายแดนใต้ Posted: 19 Oct 2011 08:10 AM PDT เมื่อเดือนกันยายน 2552 คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพได้จัดให้มีการ อบรมอาสาสมัครชุมชน ณ. เทพาบีชรีสอร์ท อ.เทพา จ.สงขลา โดยมีวัตถุประสงค์การจัดงาน เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการทำงานในพื้นที่ให้แก่อาสาสมัครหัวข้อในการจัดงานครั้งนั้นคือ “ทักษะการเจรจาในสถานการณ์ความขัดแย้ง” ในครั้งนั้นคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพได้รับความร่วมมือจากวิทยากรต่างๆ เช่น คุณ จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย คุณสีละ จะแฮ ประธานสมาคมลาหู่เพื่อการพัฒนาและ คุณจินตนา แก้วขาว จากกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก หลังจากทราบข่าวว่าพี่จินตนา แก้วขาว ถูกศาลพิจารณาตัดสินจำคุก 4 เดือน พลันทำให้หวนคิดถึงภาพพี่จินตนาเมื่อสองปีก่อนที่ได้เดินทางมาเป็นวิทยากรให้แก่อาสาสมัครชุมชนสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมจำภาพคราวๆ ได้ว่า พี่จินตนาในวันนั้นได้เดินทางด้วยรถยนต์จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กับพรรคพวกทีมงานอีก 4-5 คน ระหว่างนั่งรอเวลาขึ้นเวทีสัมมนา พี่จินตนาบอกกับผมว่า “นั่งคิดตลอดทางว่า ขับรถมาทางใต้จะต้องเจอระเบิดไหม?” “พี่ไม่รู้ตัดสินใจถูกหรือปล่าว? มาถึงที่นี้” และภาวนาออกมาดังๆ ว่า “ขออย่าให้พี่เป็นอะไรก่อนตอนนี้เลย” ฯลฯ ผมสัมผัสได้ว่าพี่จินตนาก็รู้สึกกลัว ผมเลยถามพี่จินตนาว่า ทำไมพี่ถึงตกลงรับปากมาเป็นวิทยากร พี่จินตนาตอบผมว่า คิดว่าประสบการณ์การต่อสู้ของกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก น่าจะเป็นประโยชน์ต่ออาสาสมัครชาวบ้านในพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติ จึงได้ตัดสินใจเดินทางมา !!! การคุยและแลกเปลี่ยนของพี่จินตนาบนเวทีสัมมนาเต็มเปี่ยมไปด้วยความเชื่อมั่นและอิสระของความฝันที่จะพิทักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติให้แก่ลูกหลานชาวบ่อนอก พี่จินตนาได้ใช้ทักษะ ประสบการณ์ การต่อสู้ในพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์ วิเคราะห์ วิพากษ์ระบบทุนนิยมและความอวิชชาของหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบคุณภาพผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ระหว่างการแลกเปลี่ยนพูดคุย พี่จินตนา มักจะบอกเสมอว่า การต่อสู้ทุกที่มาพร้อมกับสิ่งที่ต้องแลก ไม่ว่าจะถูกชาวบ้านในหมู่บ้านตนเองเกลียด ไม่ชอบ ถูกกล่าวหาว่ารับเงินต่างประเทศมาต่อต้านการพัฒนา ถูกฟ้องร้องจากบริษัท ถูกติดตามถึงขั้นจะเอาชีวิตก็ตาม แต่ถึงที่สุดแล้วไม่ว่าอย่างไร เราก็ต้องต่อสู้ และต้องดูแลตัวเองให้ดี พี่จินตนาบอกเล่าเรื่องราวของการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมของพี่น้องกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก ประสบการณ์ของการต่อสู้ตั้งแต่ระดับในหมู่บ้านจนถึงระดับผู้นำประเทศ เทคนิคในการเจรจาต่อรอง การยื่นข้อเสนอ และให้ข้อมูลต่อภาครัฐถึงผลกระทบของปัญหา ที่กลุ่มของตนประสบอยู่ รวมถึงวิธีการใช้กลไกทางด้านกฎหมายของรัฐในบางส่วนที่ค่อนข้างเอื้อประโยชน์หรือเปิดช่องไว้สำหรับประชาชน ซึ่งบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเต็มไปด้วยอรรถรส สำหรับการเดินทางของพี่จินตนามาชายแดนใต้นั้น ได้สร้างแรงกระตุ้น และจินตนาการของการทำงานท่ามกลางความขัดแย้ง แม้ว่าความขัดแย้งระหว่างบ่อนอกกับชายแดนภาคใต้จะมีอากัปกิริยาทีแตกต่างกันก็ตาม สำหรับเรื่องชายแดนภาคใต้ ในมุมมองของพี่จินตนา บอกว่าไม่ทราบว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร เพราะได้ดูแต่ข่าว และได้รับฟังจากพี่น้องทางใต้บ้าง จึงไม่อยากจะวิเคราะห์ หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาชายแดนภาคใต้ แต่ได้กล่าวสั้นๆว่า ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้คงมีท่าว่าจะจบยาก วงสัมมนาแลกเปลี่ยนจบลงด้วยการให้กำลังใจแก่กันและกันระหว่างอาสาสมัครชุมชนชายแดนใต้กับ “นักสู้ต่างถิ่น” จินตนา แก้วขาว !!! สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
Posted: 19 Oct 2011 06:52 AM PDT |
สำนักพระราชวังปฏิเสธข่าวลือเฟซบุ๊ก เรื่องในหลวงรับสั่งฯ ให้น้ำผ่านสวนจิตรฯ Posted: 19 Oct 2011 06:18 AM PDT ที่ปรึกษาฝ่ายกิจกรรมพิเศษ สำนักพระราชวัง ปฏิเสธข่าวลือในเฟซบุ๊กชี้เป็นการตีข่าว-ดึงเจ้านายลงมา พร้อมชี้แจงว่าพระเจ้าอยู่หัวฯ ไม่เคยรับสั่งเรื่องให้น้ำผ่านสวนจิตรลดา ยันถ้าน้ำเข้ามาถึงวังได้จนท่วมแสดงว่า กทม. เอาน้ำไม่อยู่ ซึ่งไม่สามารถเป็นไปได้ เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ รายงานวันนี้ (19 ต.ค. 54) ว่า นายรัตนาวุธ วัชโรทัย ในฐานะที่ปรึกษาฝ่ายกิจกรรมพิเศษ สำนักพระราชวัง ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีที่มีการแชร์ข้อความในเฟซบุ๊กว่าในหลวงทรงรับสั่ง "ถ้าน้ำเข้าพระนคร ให้น้ำผ่านวังสวนจิตรไปเลย อย่ากั้นให้ผ่านไปเลย" ว่าเป็นการพูดไปเรื่อย ไม่น่าเป็นไปได้ และโดยส่วนตัวไม่เคยรู้เรื่องนี้ น้ำไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระนครอยู่แล้ว และถ้าน้ำเข้ามาถึงเขตวังได้จนท่วม ก็แสดงว่า กทม.ไม่สามารถเอาน้ำไว้อยู่ ซึ่งมันไม่สามารถเป็นไปได้อยู่แล้ว และจากการติดตามสถานการณ์ข่าวในขณะนี้ ทั้ง กทม. และรัฐบาลต่างร่วมมือกันอย่างแข็งขันไม่ให้น้ำเข้าท่วมได้ ตั้งแต่กทม.รอบนอก และ ตอนนี้พื้นที่รอบวังสวนจิตรลดาในรัศมี 1 ตร.กม. ก็ยังไม่มีกระสอบทราบซักใบ เพราะเราเชื่อว่า กทม. จะสามารถกั้นน้ำไว้ได้ ในส่วนของวังหลวงและวัดพระแก้ว ก็เป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่า น้ำที่ท่าราชวรดิษฐ์สูงกว่าเขตวัง แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงเชื่อมั่นว่ากำแพงวังสามารถเอาอยู่ ส่วนข้อความที่มีการแชร์ในเฟซบุ๊กนั้น คือ การตีข่าว ดึงเอาเจ้านายลงมา เพราะน้ำที่ท่วมทุกวันนี้มาไม่ถึงสวนจิตรลดา เพราะน้ำที่ท่วมทุกวันนี้ไม่ได้เกิดจากน้ำทะเลหนุน แต่เกิดจากคันดินพัง และ ไม่มีทางที่ถนนราชวิถีจะท่วม เพราะถ้า ถ.ราชวิถีท่วมวังสวนจิตรก็ต้องท่วมแน่นอน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เลขาฯมูลนิธิสืบแนะคน กทม.ด้านเหนือติดตามสถานการณ์คันกั้นน้ำใกล้ชิด Posted: 19 Oct 2011 05:21 AM PDT เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร วิเคราะห์สถานการณ์น้ำหลากเข้า กทม. แนะนำผู้อาศัยใกล้คันกันน้ำทิศเหนือปากเกร็ด-ดอนเมือง-หลักสี่ติดตามสถานการณ์ พร้อมเก็บของขึ้นที่สูงเนิ่นๆ เพราะมีโอกาสที่น้ำจะข้ามคันกั้นน้ำเข้ามา ขณะที่เขตชั้นในจะเก็บของไว้ก็ไม่เสียหลาย ชี้ถ้ากั้นน้ำไม่อยู่เสนอให้น้ำผ่านกรุงเทพฯ ลงทะเล ให้คนกรุงเตรียมรับมือน้ำท่วม ที่มา: Youtube.com/Sueb2010 ที่มา: sueb2010/youtube.com เมื่อช่วงกลางวันวันนี้ (19 ต.ค. 54) นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้นำเสนอสถานการณ์น้ำท่วมที่ลุ่มภาคกลาง ซึ่งปริมาณน้ำกำลังเข้าสู่ กทม. ผ่านทางเว็บไซต์ยูทิวป์ user ของมูลนิธิ โดยนายศศินนำเสนอว่า สถานการณ์น้ำที่ใช้คำว่า 10,000 ล้าน ลบ.ม. ที่อยู่ในทุ่งราบภาคกลาง วันนี้ข้ามนวนคร ล้อมโอบธรรมศาสตร์ อยู่ที่บางกระดี่ และคันกันน้ำบริเวณหลักหก โดยแนวกระสอบทรายที่ กทม. กั้นอยู่ จะอยู่ที่บริเวณลำลูกกา ถนนรังสิต-องครักษ์ หน้าตลาดรังสิต โดยมวลน้ำที่เข้ามาจะมาถึงบางกระดี่เหมือนตัวถนนเป็นกำแพงกั้นอยู่ ถ้าน้ำเลยพ้นมาแล้วจะเข้าถึงเขตดอนเมือง เข้าเขต อ.ปากเกร็ดของนนทบุรี ลงมาที่เขตหลักสี่ บางเขนและสายไหม สนามบินดอนเมืองจะอยู่ตรงกลาง โดยวันนี้กำลังต่อสู้กับน้ำที่แนวนี้ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่ารับมือกับระดับน้ำได้ถึง 3 เมตร ทั้งนี้นายศศินประเมินการกั้นกระสอบทรายในพื้นที่ กทม. และผลกระทบหากไม่สามารถกั้นระดับน้ำไว้ได้ว่า อาจจะสู้ได้หรือสู้ไม่ได้ หากดูจากที่นวนคร ซึ่งเป็นการป้องกันน้ำท่วมที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ถ้าแนวกระสอบทรายกั้นไม่อยู่ บริเวณที่จะท่วมหนักคือเขตสายไหม ดอนเมือง ตลาดรังสิต "ดังนั้นประชาชนที่อยู่ใกล้แนวกระสอบก่อนถึงถนนสายไหม ต้องเฝ้าระวังกระสอบ เพราะว่าถ้าน้ำทะลุลงมาจะเร็วและแรง จนอาจเกิดอันตราย แต่ถ้าระยะห่างลงมาระดับน้ำจะสูงประมาณครึ่งเมตรถึงหนึ่งเมตร ซึ่งเป็นระดับน้ำที่เราพออยู่กันได้ แล้วก็จะไม่แรงดังนั้นอย่าตื่นตกใจ คนที่อยู่ใกล้แนวกระสอบถ้าเกิดน้ำหลุดลงมาจะเกิดอันตรายจากน้ำแรง ต้องระมัดระวัง ส่วนน้ำถ้ามาถึงดอนเมืองคงไม่แรงเท่าไหร่แล้ว" สิ่งที่น่ากังวลมีสองส่วนคือ หนึ่ง กรุงเทพฯ ชั้นใน ถ้าผู้ว่าฯ กทม. สู้ไม่ได้น้ำจะเข้ามาทางคลองเปรมประชากร และถนนประชาชื่น-ปากเกร็ด จะทำให้น้ำตรงมาถึงเขตบางซื่อได้เลยเพราะคลองแถวนี้ไม่มีประตูน้ำ พื้นที่ๆ จะโดนก่อนคือปากเกร็ด ดอนเมือง หลักสี่ อาจจะถึงบางเขน ลาดพร้าว จตุจักร ต้องเฝ้าระวังคันกันน้ำอย่างใกล้ชิด กรณีที่น้ำเข้ามา กรุงเทพฯ ก็จะแบ่งเป็นโซนของดอนเมือง-หลักสี่ โซนบางซื่อ-จตุจักร กทม. จะพยายามรักษาพื้นที่โดยการสูบน้ำและกั้นกระสอบเป็นจุดๆ เราอาจจะป้องกันได้เป็นบางส่วน ซึ่งประเมินไม่ได้ว่าป้องกันได้หรือป้องกันไม่ได้ จะมีโอกาสถึงข้างล่างไหม ถ้ากรุงเทพฯ ทางตอนเหนือโดนน้ำท่วมจะมีถนนต่างๆ คั่นอยู่ ก็ใช้เวลาพอสมควรกว่าจะมาถึงด้านล่าง ถ้าแก้ไขได้กรุงเทพฯ ด้านล่างก็อาจจะปลอดภัยทั้งเขตวัดพระแก้ว บริเวณกลางเมือง ย่านอโศก สุขุมวิทต่างๆ โดยนายศศิน แนะนำให้ผู้อาศัยใน กทม. เก็บของขึ้นชั้นสองเพราะมีโอกาสที่น้ำจะข้ามคันกั้นน้ำเข้ามา โดยอยากให้เขตบางซื่อ จตุจักร เตรียมตัวหากเกิดกรณีฉุกเฉิน ถ้าคันกั้นน้ำแตกวันไหน ภายในวันเดียวน้ำก็จะถึง ส่วนผู้ที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ตอนล่าง จะเก็บของไว้ก็ไม่เสียหลาย ทั้งนี้แม้คันกั้นบริเวณอำเภอปากเกร็ด พระราม 3 จะค่อนข้างแข็งแรง แต่ที่เขตสัมพันธวงศ์คันกันน้ำยังไม่เสร็จดี โอกาสที่น้ำจะล้นเข้ามาก็มีอยู่ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรประเมินว่า หาก กทม. เกิดน้ำท่วม ไม่ว่าจะท่วมในเขตชั้นในหรือชั้นนอกก็ตาม จะเกิดน้ำท่วมประมาณหนึ่งหรือสองเดือนจนหลังวันลอยกระทง ดังนั้นต้องให้ระบายน้ำไปทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ให้เร็วที่สุด ทั้งนี้อุปสรรคของฝั่งตะวันออกอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อก่อนเป็นที่รับน้ำ วันนี้เอามาทำสนามบินแล้ว ศศินประเมินว่า บริเวณน้ำที่ด้านสุวรรณภูมิ จะต้องมีการระบายน้ำออกจากทุ่งคลองสามวา มีนบุรี และลาดกระบัง เพื่อให้น้ำลดระดับอย่างรวดเร็ว และดึงน้ำที่อยู่ด้านบนกรุงเทพฯ ลงมา โดยด้านดังกล่าวมีคลองลาดกระบัง คลองหนองงูเห่า คลองจรเข้ใหญ่ รวมถึงระบบคลองระบายน้ำจากสนามบินซึ่งมีความสามารถในการระบายน้ำได้เยอะ แต่อุปสรรคอยู่ที่มอเตอร์เวย์ กับถนนบางนา-ตราด บริเวณสะพาน บริเวณท่อต่างๆ โดยนายศศินเสนอว่าถ้าสามารถเปิดมอเตอร์เวย์ชั่วคราว หรือขุดถนนชั่วคราว ขุดถนนบางนา-ตราดบางส่วน เพื่อให้น้ำไหลออกตามคลองธรรมชาติ และคลองระบายน้ำสุวรรณภูมิ จะสามารถช่วยระบายน้ำได้มาก แต่ต้องบูรณาการกันระหว่างกรมทางหลวง กรมชลประทาน กทม. กับรัฐบาล ต้องเร่งทำ แต่อย่าให้ถนนขาดเพราะเป็นเส้นทางลำเลียงเสบียงอาหาร ดังนั้นต้องทำทางเชื่อมต่อด้วย ในท้ายคลิปนายศศินประเมินว่า "วันนี้มีความเสี่ยง ด้านนอกคงจะท่วมแน่ๆ แล้ว วันนี้อาจจะท่วมแล้วคลองสามวา แต่ด้านใน ผมว่าโอกาสท่วมไม่ใช่ 50 : 50 คิดว่าเราเผื่อใจให้ท่วม 60 : 40 เพราะแผ่นน้ำใหญ่มากเหลือเกิน แต่ถ้าคิดว่าเราต้องเอาใจช่วย กทม. กับรัฐบาลให้กันให้อยู่ ถ้ากันไม่อยู่เสนอให้ผ่าน ให้น้ำผ่าน ประชาชนเตรียมตัว เราจะพร้อมใจน้ำท่วมกันกับคนทั่งประเทศ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ให้น้ำผ่านลงทะเล แล้วกลับมาฟื้นฟูประเทศร่วมกัน" สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น