โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เวทีคู่ขนานจัดการน้ำที่เชียงใหม่-เรียกร้องการมีส่วนร่วมของชุมชน

Posted: 19 May 2013 12:05 PM PDT

เครือข่ายลุ่มน้ำเหนือ-อีสานจัดเสวนาคู่ขนานเวทีจัดการน้ำที่เชียงใหม่ พร้อมอ่านแถลงการณ์-ทำหุ่นล้อ 'ปลอดประสพ' - 'หาญณรงค์' ห่วงใช้เงินกู้ 3.5 แสนล้าน แต่ชุมชนลุ่มน้ำยังขาดข้อมูลและไม่มีส่วนกำหนดนโยบาย ด้าน 'Thai Flood' ติงเวทีประชุมเรื่องน้ำที่เชียงใหม่ขาดเรื่องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมประชาชน

19 พ.ค. 56 เวลา 10.00 น. ณ ร้านหนังสือ Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสานได้จัดเวทีประชาชน "การจัดการน้ำ: ผู้นำต้องฟังเสียงจากรากหญ้า" ณ ร้านหนังสือ Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่

โดยเวทีครั้งนี้เป็นการจัดคู่ขนานไปกับการจัดประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Water Summit) ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่เช่นกัน ระหว่างวันที่ 14-20 พฤษภาคม ภายใต้หัวข้อ "ความมั่นคงด้านน้ำ" โดยเวทีประชาชนได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดประชุมระดับนานาชาติครั้งนี้ และแสดงความคิดเห็นเรื่องการจัดการน้ำแบบรวมศูนย์อำนาจ ขาดการเคารพต่อประชาชนในท้องถิ่น และไม่เปิดโอกาสให้มีประชาชนมีส่วนร่วม

 

000

หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวว่าได้ติดตามการจัดประชุมนานาชาติมาตั้งแต่ต้น แต่มีความจำเป็นของการจัดเวทีคู่ขนานนี้ เพราะการจัดนิทรรศการและไฮไลต์ของงานในครั้งนี้ เราเคยนึกว่าจะพูดเรื่องการจัดการน้ำของชุมชน วิธีอยู่กับน้ำหรือสู้กับน้ำของชุมชนต่างๆ แต่ปรากฏว่าเราเห็นแต่นิทรรศการของบริษัทเค-วอเตอร์ บริษัทจีน ซึ่งร่วมทุนกับบริษัทอิตาเลียนไทย หรือบริษัทขนาดใหญ่ต่างๆ แต่ไม่เห็นว่าการทำงานของประชาชนว่าจะมีมีส่วนร่วมได้อย่างไร

แผนการจัดการน้ำที่เป็นอยู่ ซึ่งใช้งบเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท มีลักษณะเป็นการจัดการจากข้างบนลงข้างล่าง คนในพื้นต่างๆ ซึ่งอยู่ในแผนของพื้นที่การจัดการน้ำนี้แทบไม่ทราบข้อมูลและไม่มีส่วนร่วมใดๆ ไม่มีการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ภาคประชาชนจึงเรียกร้องให้มีการจัดประชุม ให้มีการนำเสนอข้อมูลทางเทคนิคจากทั้งนักวิชาการ และภาคประชาชนในพื้นที่ แต่ไม่มีการหารือในเรื่องนี้เลย ทั้งที่จะมีการเซ็นสัญญาโครงการแล้ว และนำเรื่องเข้าครม. นี่คือสิ่งที่ตนกังวล และรัฐบาลกลับมองการเรียกร้องเรื่องนี้ในอีกแง่มุมหนึ่ง โดยอยากให้มีการเสียสละ แต่กลับมองว่าเราเป็นขยะทางสังคม

ตนยืนยันว่าการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ไม่ได้ไปก่อความวุ่นวาย หรือทำลายการประชุม แต่เห็นว่ากระบวนการที่ควรจะเป็นในแผนการจัดการน้ำ 3.5 หมื่นล้าน นั้น ต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจนก่อน และค่อยไปดำเนินการเรื่องการออกแบบและผู้รับเหมา นอกจากนั้นยังต้องมีการคิดถึงการจัดการน้ำระหว่างประเทศ ที่มีพรมแดนใกล้กัน เช่น แม่น้ำโขง หรือสาละวิน แต่กลับไม่มีหัวข้อหรือท่าทีเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ในการประชุม

 

000

มนตรี จันทรวงศ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.เหนือ) ได้ตั้งคำถามถึงแผนการจัดการน้ำโดยภาครัฐในสามประเด็นใหญ่ ได้แก่ หนึ่ง ระบบที่รัฐบาลพัฒนาขึ้นมาหลังน้ำท่วมในปี 2554 ที่เรียกว่า "Single command" ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักนิติรัฐ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับลุ่มน้ำ โดยเฉพาะการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสุขภาพ (EIA/HIA) ทำให้เกิดคำถามในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างรัฐบาลกับบริษัทที่เข้ามาประมูลต่างๆ

แผนนี้ยังได้ทำลายโครงสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการน้ำ ในรูปของ "คณะกรรมการจัดการน้ำแห่งชาติ" และ "คณะกรรมการลุ่มน้ำ" แต่กลับไปตั้ง "คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ" (กบอ.) ขึ้นมาแทน และแผนบริหารยังมุ่งที่ผลลัพธ์ คือน้ำต้องไม่ท่วมภาคกลางและกทม.ตลอดไป มากกว่าให้ความสำคัญกับกระบวนการ ทั้งกระบวนการวางแผน กระบวนการมีส่วนร่วม หรือกระบวนการตรวจสอบ ซึ่งขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย อีกทั้งระบบ Single command นี้ยังสะท้อนความผิดพลาดในระดับปฏิบัติมาแล้ว เมื่อปี 2555 ที่มีการสั่งให้ระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์อย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งที่สองในอยุธยา ทั้งที่สามารถผันออกไปตามประตูระบายน้ำต่างๆ ได้ แต่กลับไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบจากความผิดพลาดนี้ได้

ประเด็นที่สอง คือ คำถามเรื่องประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา ก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยได้ให้องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นมาช่วยศึกษาการจัดการน้ำ โดย JICA ทำร่วมกับสภาพัฒน์ และได้รายงานเสนอแนะแผนการจัดการน้ำท่วมที่ใช้งบแสนกว่าล้านบาท โดยไม่จำเป็นต้องเงินถึง 3.5 แสนล้าน แต่มีประสิทธิภาพ และเน้นการใช้โครงสร้างเดิมที่มี ไม่เลือกวิธีการสร้างเขื่อนใหม่ แต่รัฐบาลยังไม่ได้ให้เหตุผลที่ชัดเจนใดๆ ต่อสังคม ในการที่ไม่เลือกใช้วิธีการแก้ปัญหาจากงานศึกษาของ JICA แต่กลับเลือกใช้แผนของ กบอ. แทน

ประเด็นที่สาม คือประเด็นสิทธิของประชาชนในทรัพยากรน้ำ รัฐบาลได้อาศัยโอกาสนี้อ้างว่าไม่มีหน่วยงานกลางในการจัดการน้ำ จึงต้องมีการตั้งกระทรวงน้ำหรือออกกฎหมายน้ำ โดยน้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติเดียวที่ยังไม่มีกฎหมายมาควบคุม ถ้ากฎหมายนี้ออกมา ส่งผลทำให้ประชาชนทุกระดับมีภาระที่จะต้องจ่ายค่าน้ำ และค่าขอใบอนุญาตใช้น้ำ เช่นเดียวกับการเก็บค่าน้ำบาดาล รวมทั้งทำลายความรู้ในการใช้น้ำของประชาชนออกไป

รวมทั้งปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่งคือการจัดการลุ่มน้ำในระดับข้ามพรมแดน ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่น กรณีของคุณสมบัด สมพอน นักพัฒนาของลาว ที่ได้ถูกอุ้มหายตัวไป โดยเขาเป็นตัวตั้งตัวตีในการวิพากษ์วิจารณ์การสร้างเขื่อนไซยะบุรีในลาว เป็นตัวอย่างหนึ่งของความรุนแรงของรัฐในการเข้ามาแก้ปัญหา หวังว่าประเทศไทยจะไม่เกิดเรื่องเหล่านี้ขึ้น และเรายังต้องมีการพัฒนาดูแลปัญหาเรื่องนี้ในระดับภูมิภาคด้วย

 

000

ปรเมศวร์ มินศิริ จากศูนย์ข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (Thai Flood) ได้เล่าถึงการเข้าไปชมนิทรรศการของงานประชุมเรื่องการจัดการน้ำ และพบบูธของบริษัทต่างประเทศขนาดใหญ่ เช่น บูธเกาหลีแต่งชุดเกาหลีเลย แต่ว่าเล่าเรื่องที่จะทำในเมืองไทย ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าเขาได้รับงานแล้วหรือ ในกรณีเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเกิดน้ำท่วม แม้ว่าเขาจะต้องรีบแก้ปัญหามาก แต่เขาตั้งกรรมการ 600 กว่าคน โดยไม่ได้มีแต่มุมมองด้านวิศวะ แต่มีมุมมองด้านสังคม เกษตร กฎหมาย สุขภาพ ทุกสิ่งทุกอย่างรวมกัน แล้วจึงบอกว่าอันนี้มีผลกระทบอะไร แต่วิธีที่ไทยใช้คือรีบๆ ทำ ให้บริษัทหนึ่งมารับไป แล้วคิดไปทำไป  ในเวทีของสภาวิศวกร ในที่ประชุมน้ำครั้งนี้ ก็มีการพูดถึงความเป็นห่วงในเรื่องเหล่านี้ เช่น เรื่องเขตระยะเวลาที่ใช้ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชน

ตอนแรกระหว่างดูงานนิทรรศการเรื่องน้ำ ตนคาดหวังว่าจะเจอว่ารัฐบาลทำบูธบอกว่าหนึ่งปีหลังประสบปัญหาน้ำท่วมมา เราได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง และแผนงานที่จะให้ประชาชนดู แล้วซีกหนึ่งจะให้เอกชนเช่าบูธขายของ หรือให้หน่วยงานต่างๆ มาออกก็ได้ แต่ปรากฏว่าพอเดินเข้าไปกลับอินเตอร์มาก มีบริษัทเกาหลี-จีน และบอร์ดนิทรรศการของรัฐบาลกลับเป็นเนื้อหาเดิมที่จัดเมื่อปีที่แล้ว แต่ย่อส่วนลง เราได้ข่าวว่ารัฐบาลบอกว่าอยากจะเป็นผู้นำทางด้านน้ำในประเทศแถบนี้ ก็เลยร่างปริญญาเชียงใหม่ขึ้นมา ซึ่งเขาบอกว่า ครม.อนุมัติแล้ว แต่ประชาชนยังไม่ได้เห็น แล้วจะเอาร่างนี้ไปให้ผู้นำโลกที่มาร่วมงานเซ็น โดยไม่ได้ใช้ความรู้นำในการเชิญชวนคนมาร่วมกันคิดกันทำเลย

นอกจากนั้นการพิจารณาเรื่องน้ำ จำเป็นต้องพิจารณาสามเรื่องร่วมกัน คือเรื่องน้ำ เรื่องอาหาร และเรื่องพลังงาน สามส่วนนี้แนวโน้มของโลกคือการคิดและพิจารณาร่วมกัน การขยายเครือข่ายเรื่องนี้จึงน่าจะคิดเรื่องเหล่านี้ด้วย

ในเวทีช่วงต่อมายังได้มีชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนต่างๆ เช่น ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนแม่ขาน เขื่อนแม่แจ่ม เขื่อนชมพู เขื่อมปากมูน และเขื่อนโป่งอาง ได้กล่าวถึงผลกระทบของเขื่อนต่างๆ ต่อวิถีชีวิตชาวบ้าน ผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ รวมทั้งยังมีตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนในลุ่มน้ำโขงและสาละวิน ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาระบบการจัดการน้ำในระดับภูมิภาคด้วย

 

หลังจากนั้นในเวลาราว 12.00 น. เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสานได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ "การจัดการทรัพยากรน้ำต้องมีส่วนร่วม เคารพสิทธิชุมชน สร้างมาตรฐานสิ่งแวดล้อมภูมิภาค" (ดูรายละเอียดด้านล่าง) นอกจากนั้นทางเครือข่ายยังได้มีกิจกรรมการชูป้ายเรียกร้องสิทธิการจัดการลุ่มน้ำต่างๆ การแสดงออกล้อเลียนนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธานบริหารกบอ. ซึ่งออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวของภาคประชาชน

ทั้งนี้ จากที่มีข่าวก่อนหน้านี้ว่าทางกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ได้มีการจัดตั้ง "กองกำลังอาสาสมัครพิทักษ์เมืองเชียงใหม่" และประกาศว่าจะต่อต้านหากมีการชุมนุมของเอ็นจีโอใกล้กับประชุมผู้นำน้ำโลกนั้น ล่าสุดกลุ่มดังกล่าวไม่ได้เดินทางมาในเวทีการประชุมคู่ขนานของภาคประชาชนนี้แต่อย่างใด แต่มีการชุมนุมอยู่บริเวณโรงแรมแกรนด์วโรรสแทน โดยในเวทีคู่ขนานครั้งนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลรักษาความปลอดภัยอีกด้วย

 

000

แถลงการณ์ เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน

การจัดการทรัพยากรน้ำต้องมีส่วนร่วม เคารพสิทธิชุมชน สร้างมาตรฐานสิ่งแวดล้อมภูมิภาค

19 พฤษภาคม 2556

ในวาระที่มีการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Water Summit) ที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 14-20 พฤษภาคม 2556 นั้น แม้ว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้นำจากหลายประเทศ แต่พบว่าการประชุมกลับมิได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และปัญหาผลกระทบต่อประชาชนแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีความพยายามข่มขู่ คุกคาม ไม่ให้มีการจัดกิจกรรมแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาล เป็นการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเป็นหลักปฏิบัติของประเทศประชาธิปไตย

เครือข่ายภาคประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน มีข้อกังวลและข้อเสนอต่อปัญหาด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งในประเทศและในระดับภูมิภาค ดังนี้

กรณีโครงการแก้ปัญหาอุทกภัย ภายใต้เงินกู้ 3.5 แสนล้าน เป็นโครงการที่รัฐบาลเป็นผู้วางแผนและตัดสินใจเองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ปราศจากการปรึกษาหารือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดความคิดและข้อมูลที่หลากหลาย ขั้นตอนกระบวนการทั้งหมดที่ผ่านมา เป็นไปอย่างเร่งรีบ ไม่มีขั้นตอนและมาตรการที่รับรองว่าจะสามารถดำเนินโครงการไปจนสามารถแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้จริง และมีการตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่ายว่า นอกจากการคอรัปชั่นแล้ว โครงการ 3.5 แสนล้าน อาจนำไปสู่ความล้มเหลวในที่สุด

โครงการภายใต้ชุดโครงการ 3.5 แสนล้านบาท อาทิ  เขื่อนแม่แจ่ม เขื่อนแม่ขาน เขื่อโป่งอาง เขื่อนแก่งเสือเต้น (หรือเขื่อนยมบน ยมล่าง) เขื่อนคลองชมพู และเขื่อนแม่วงศ์ ถูกนำมาบรรจุในแผน โดยยังไม่มีการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ ที่ชี้ชัดว่าสามารถแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้จริง ที่สำคัญ รัฐบาลไม่สร้างกระบวนการปรึกษาหารือกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ชาวบ้านในพื้นที่ต่างไม่ได้รับข้อมูลโครงการ ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ

กรณีแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติของ 6 ประเทศ คือ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม เป็นปัญหาเรื้อรังยาวนานมานับตั้งแต่เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแห่งแรกในประเทศจีนสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2542 ผลกระทบข้ามพรมแดนต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาว การขึ้นลงของน้ำผิดธรรมชาติเนื่องจากการใช้งานเขื่อนทางตอนบนส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อพันธุ์ผลาธรรมชาติแม่น้ำโขงทางท้ายน้ำ โดยเฉพาะพรมแดนไทย-ลาวที่จังหวัดเชียงราย สร้างความเสียหายต่อการประมง การเก็บไก การปลูกผักริมน้ำ และวิถีชีวิตพึ่งพาแม่น้ำโขง

นอกจากนี้ยังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันในปี 2551 และเหตุการณ์แม่น้ำโขงแห้งขอดในรอบ 60 ปีในปี 2553 จวบจนปัจจุบัน ยังไม่มีการเจรจาการแก้ไขปัญหาข้ามพรมแดนดังกล่าวระหว่างรัฐบาลประเทศท้ายน้ำและรัฐบาลจีนแต่อย่างใด คนหาปลาและชาวบ้านริมโขงจำนวนมากต้องเผชิญปัญหาเพียงลำพัง

แม่น้ำโขงทางตอนล่างยังมีโครงการเขื่อนไซยะบุรี ในประเทศลาว และอีก 11 โครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่จะสร้างกั้นแม่น้ำโขง เขื่อนไซยะบุรีเริ่มก่อสร้างอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2555 ท่ามกลางเสียงคัดค้านมากมายจนกลายเป็นกรณีความขัดแย้งในระดับนานาชาติ โครงการเขื่อนแห่งนี้ก่อสร้างโดยบริษัทไทย เงินกู้จากธนาคารไทย 6 แห่ง ไฟฟ้าส่งขายประเทศไทย เป็นเขื่อสัญชาติไทยในดินแดนลาว ที่จะส่งผลกระทบเสียหายร้ายแรงต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงและพันธุ์ปลาธรรมชาติ ซึ่งข้อมูลระบุว่าร้อยละ 70 ของพันธุ์ปลาแม่น้ำโขงเป็นปลาอพยพทางไกลวางไข่และหากิน

เขื่อนไซยะบุรี เดินหน้าอย่างรวดเร็วทั้งๆที่ยังไม่ผ่านข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 ที่4ประเทศแม่น้ำโขงตอนล่างลงนามไว้ คณะมนตรีแม่น้ำโขงยังไม่ให้ความเห็นชอบ ขณะที่เขื่อนอื่นๆ อาทิ เขื่อนปากแบง เขื่อนสานะคาม เขื่อนปากลาย กำลังจะเริ่มกระบวนการเร็วๆ นี้

แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำนานาชาติระหว่างจีน พม่า ไทย ก็เกิดโครงการเขื่อนขนาดใหญ่กว่า 30 โครงการตลอดลุ่มน้ำ ทั้งในเขตทิเบตและยุฯนานของจีน ในรัฐชาติพันธุ์ของพม่า อาทิ เขื่อนกุ๋นโหลง เขื่อนท่าซางในรัฐฉาน เขื่อนยวาติ๊ดในรัฐคะเรนนี และเขื่อนฮัตจีในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งทั้งหมดนี้ลงทุนโดยบริษัทและรัฐวิสาหกิจจากไทยและจีน เพื่อส่งออกไฟฟ้า

สถานการณ์ในพม่าพบว่าทุกเขื่อนที่วางแผนบนแม่น้ำสาละวิน เป็นเขื่อนกลางสนามรบ ที่ยังคงมีความขัดแย้งและการปะทะกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ขณะที่ชาวบ้านเจ้าของพื้นที่ ทั้งชาวไทใหญ่ คะยา กะเหรี่ยง ต้องหนีภัยความตายมายังชายแดนไทย ไม่มีสิทธิที่จะออกเสียงเพื่อปกป้องทรัพยากรของตน

การเปิดเสรีการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหลักธรรมภิบาล มีกฎหมายสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุนข้ามพรมแดน โดยเฉพาะในโครงการขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชุมชน ดังเช่นโครงการเขื่อนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น

เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน ขอแสดงจุดยืนคัดค้าน การพัฒนาทรัพยากรน้ำที่ไม่เคารพสิทธิของชุมชน และระบบ single-command หรือ ระบบสั่งการแบบรวมศูนย์ ไม่ใช่คำตอบของการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญ

เพื่อความยั่งยืนและความเป็นธรรม เพื่อทรัพยากรน้ำที่เราจะรักษาให้ลูกหลาน

เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน

 

 

รายชื่อผู้ลงนามแถลงการณ์

1.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ)

2.สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

3.เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา

4.เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง

5.เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.)

6.เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ

7.ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)

8.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.พอช.อีสาน)

9.เครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

10.มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ(ประเทศไทย)

11.สมัชชาองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ

12.ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน (ศสส.)

13.ศูนย์พัฒนาเด็กเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแม่น้ำโขง

14.กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี

15.คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 kv. จ.อุดรธานี

16.กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง

17.กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขง อ.ปากชม จ.เลย

18.กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

19.มูลนิธิฮักเมืองแจ่ม จ.เชียงใหม่

20.เครือข่ายลุ่มน้ำแม่แจ่ม 19 สาขา จ.เชียงใหม่

21.สถาบันอ้อผะญา

22.คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ จ.แพร่

23.กลุ่มคัดค้านใหม่

24.กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่ขาน ต.ออบขาน จ.เชียงใหม่

25.กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่ขาน หมู่บ้านแม่ขนินใต้ ต.บ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่

26.เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอง จ.พะเยา และจ.เชียงใหม่

27.เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก

28.สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล

29.สหพันธ์เกษตรภาคเหนือ (สกน.)

30.สหพันธ์เกษตรภาคใต้ (สกต.)

31.เครือข่ายสลัม 4 ภาค

32.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)

33.เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.)

34.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปท.)

35.เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา

36.เครือข่ายสิทธิสถานะบุคคล

37.กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล

38.ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ

39.กลุ่มตะกอนยม ต.สะเอียบ จ.แพร่

40.โครงการเสริมศักยภาพองค์กรชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า

41.เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า จ.ขอนแก่น

42.กลุ่มพิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง

43.กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาว

44.เครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ จ.อุบลฯ

45.เครือข่ายนักวิชาการนิเวศวัฒนธรรมอีสาน

46.สถาบันปัญญาปีติ

47.กลุ่มเยาวชนจิตอาสาหญ้าแพรกสาละวิน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทักษิณ ชินวัตร

Posted: 19 May 2013 11:15 AM PDT

"วันนี้กฏหมายนิรโทษกรรมของวรชัย ผมไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้นผมถือว่าให้พี่น้องเราหลุดออกจากห้องขังมาก่อน เพราะเขาเหล่านั้นคือผู้บริสุทธิ อย่าทำร้ายเขาเลย เขาคนจน แค่นี้เขาก็แย่อยู่แล้ว ทำร้ายเขาทำไม ขอเห็นใจ ศาลให้ประกันตัวเถอะ บางคนก็ไม่ยอมให้ประกัน มันจะหนีไปไหน จนจะตาย"

19 พ.ค. 56, โฟนอินมายังสี่แยกราชประสงค์ที่ชุมนุมเสื้อแดงรำลึก 3 ปีสลายการชุมนุม

ประมวลภาพ: คนเสื้อแดงรำลึก 3 ปี สลายการชุมนุมที่ราชประสงค์

Posted: 19 May 2013 10:04 AM PDT

วันที่ 19 พ.ค.56 บรรยากาศการชุมนุมครบรอบ 3 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงบริเวณแยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ เมื่อปี 2553 เริ่มคึกคักต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนเวลา 9.30 น.โดยมีประชาชนทยอยเข้าร่วมเป็นระยะๆ มีการตั้งเวทีปราศรัยขนาดใหญ่  และเวทีย่อยไม่ต่ำกว่า 3 แห่ง คาดว่ามีผู้เข้าร่วมการชุมนุมไม่ต่ำกว่า 20,000 คน

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทักษิณโฟนอิน ดันนิรโทษกรรมประชาชน ไม่ได้กลับบ้านไม่เป็นไร

Posted: 19 May 2013 09:23 AM PDT

ญาติผู้เสียชีวิต,นักวิชาการ ประสานเสียงนิรโทษกรรมประชาชน เร่งรัดดำเนินคดี  เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว ศปช.ชี้รัฐบาลเพิกเฉยต่อข้อเสนอ นักวิชาการ มธ.ทวงรายงานการละเมิดสิทธิจาก กสม. สมศักดิ์ เจียมฯ ชี้หากนิรโทษกรรมให้กับผู้สั่งการ จะมีการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมไม่สิ้นสุด

 
 
19 พ.ค.2556  กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ได้จัดกิจกรรมชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เนื่องในโอกาสครบรอบ 3 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ที่บริเวณแยกราชประสงค์ เมื่อปี 2553โดยกิจกรรมได้เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าและมีกำหนดสิ้นสุดในเวลา 01.00 น. 
 
คนเสื้อแดงส่วนใหญ่เดินทางมาจากต่างจังหวัดตั้งแต่เช้าและกระจายตัวอยู่เต็มพื้นที่ราชประสงค์ โดยเวทีปราศรัยมีเวทีใหญ่ของ นปช. กลางแยกราชประสงค์ และยังมีเวทีย่อยอีกอย่างน้อย 3 จุด คือ เวทีของนักกิจกรรมนำโดย กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลของ สุดา รังกุพันธุ์ บริเวณBTS ราชดำริ ซึ่งมีนิทรรศกาลภาพของฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพอิตาลีที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์ด้วย , เวทีของกลุ่ม กวป. บนถนนราชดำริ และเวทีกลุ่มญาติผู้สูญเสียในเหตุการณ์ บริเวณหน้าวัดปทุมฯ นำโดย นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของพยาบาลอาสา กมนเกด อัคฮาด หน่วยกู้ชีพที่ถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมฯ 
 
ต่อไปจะเป็นประเด็นในการปราศรัยจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าวที่ได้นำเสนอในการชุมนุมครั้งนี้ 
 
 
 

น.ส.อลิซาเบต้า โปเลงกี น้องสาวของนายฟาบิโอ โปเลงกี  ช่างภาพชาวอิตาลี ที่เสียชีวิตในการสลายการชุมนุมเมื่อ 19 พ.ค. 2553 ได้เข้าร่วมรำลึกกิจกรรม 3 ปี การสลายการชุมนุม โดยได้กล่าวรำลึกบริเวณ นิทรรศการ 'ภาพสุดท้าย กรุงเทพ 2553' ซึ่งเป็นภาพถ่ายของนายฟาบิโอ โปแลนกี ในช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดงระหว่างเดือนเม.ย. - พ.ค. 53 ก่อนที่เขาจะถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 19 พ.ค. 53 ณ บริเวณสถานีรถไฟฟ้าราชดำริ

หลังจากแนะนำตัว เธอกล่าวสั้นๆ ว่าขอบคุณคนเสื้อแดง และรู้สึกตื้นตันมากกับกิจกรรมวันนี้ จนพูดไม่ออก นอกนั้นเธอก็ได้เล่าเรื่องพี่ชายไปลาก่อนมาเมืองไทย ว่าพี่ชายของเธอเป็นช่างภาพที่มีแนวคิดช่วยคนทุกข์ยาก แต่ในที่สุดก็ต้องมาจบชีวิตเช่นนี้  เธอไม่ได้คาดหวังให้คนฆ่าพี่ชายต้องถูกลงโทษรุนแรงหรือประหารชีวิต แต่เพียงขอให้ความจริงปรากฎออกมา เธอกล่าวอีกว่า รู้สึกผิดคาดที่ กระบวนการยุติธรรมที่นี่เป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าที่คิด

 
 
ต่อจากการกล่าวรำลึกของ น.ส.อลิซาเบต้า สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการจาก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวถึงกรณีการแสดงความสะใจของคนบางส่วนต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 2553 และประเด็นเรื่องการผลักดันกฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จากเหตุการณ์ดังกล่าวว่า รู้สึกแย่ที่ยังเห็นคนชั้นกลางบางส่วนยังรู้สึกสะใจกับความสูญเสียของคนเสื้อแดง แม้ว่าเวลาจะผ่านมาแล้วถึง 3 ปี และสำหรับกกหมายนิรโทษกรรมเป็นเหมือนการเปิดโอกาสให้เกิดการใช้ความรุนแรง กำลังทหาร อาวุธในการสลายการชุมนุมซ้ำได้เรื่อยๆ เจ้าหน้าที่รัฐฆ่าคนไม่เป็นไร เมื่อไหร่ที่ประเทศไทยจึงจะพ้นวงจรนี้เสียที

"ผมอยากให้สังคมตระหนักว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้วนั้นเป็นสิ่งที่ผิดหลักการอย่างรุนแรงที่เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธกับคนธรรมดาโดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไร" สมศักดิ์ระบุ
 
 

ณ เวทีใหญ่ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ เวลาประมาณ 16.00 น. นาย โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม  ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยชี้แจงเหตุผลว่าคนเสื้อแดงไม่ควรไปทำอะไรที่เป็นการคุกคามนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เนื่องเพราะ ข้อแรก นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเหมือนกันกับคนทุกๆ คน  สำหรับเหตุผลข้อต่อมาก็คือการออกมาพูดดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อคนเสื้อแดง เช่นการพูดว่าเหตุการณ์เมื่อปี 53 มีการแทรกแซง

คนเสื้อแดงมีหน้าที่ทำให้โลกเข้าใจว่าการที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลได้คือการหลีกเลี่ยงการเลือกตั้ง ไม่ใช่ชนะการเลือกตั้ง อัมสเตอร์ดัม ประกาศขอให้เรียกพรรคประชาธิปัตย์ว่า พรรคแห่งทหาร ที่ไม่ค่อยมีคนสนับสนุน และพยายามทำทุกอย่างเพื่อริดรอนอำนาจของประชาชน  เป็นหน้าที่ของคนเสื้อแดงที่จะทำให้โลกเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ความจริงประพฤติตัวอย่างไร

เขาประกาศว่าในการเดินทางไปพูดในนานาประเทศ จะบอกว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีพฤติกรรมเป็นพรรคเสรีนิยม และเรียกร้ององค์กรพรรคเสรีนิยมขับไล่พรรคประชาธิปัตย์ออกจากการเป็นสมาชิก

อัมสเตอร์ดัมยังได้เสนอต่ออีกว่า คนเสื้อแดงต้องเรียกร้องให้ต่างชาติสนใจคดีก่อการร้ายของ นปช. เพราะคนที่ก่อการร้ายก็คือคนที่เอาผู้นำของเราเข้าคุก  หากต้องการพัฒนาประชาธิปไตยในไทย ต้องมาช่วยกันเรียกร้องการประกันตัวนักโทษการเมือง และนักโทษ 112 เพื่อกู้คืนชื่อเสียงด้านสิทธิเสรีภาพ นอกจากนั้นแล้วยังต้องปฏิรูปสภาพภายในเรือนจำ ปลดปล่อยนักโทษการเมือง

อัมสเตอร์ดัมบอกด้วยว่า เขากำลังจะไปพบนักโทษการเมืองเผาศาลากลางอุดร และเป็นหน้าที่ของคนเสื้อแดงที่จะไปเยี่ยมนักโทษการเมืองเหล่านี้ เป็นหน้าที่ที่จะทำทุกอย่างให้นักโทษการเมืองได้รับการปล่อยตัว ถึงเวลาแล้วที่จะพูดถึงเหตุการณ์ปี 53 ด้วยความภาคภูมิใจ  สำหรับเขา เขาภูมิใจในตัวอดีตนายกฯ ทักษิณ และรอคอยวันเวลาที่ทักษิณจะได้รับการยอมรับในประวัติศาสตร์อย่างที่ควรจะเป็น และคนเสื้อแดงไม่สามารถให้พรรคประชาธิปัตย์เขียนประวัติศาสตร์ของเรา เป็นหน้าที่ที่เราต้องควบคุมประวัติศาสตร์

"เราควรพูดถึงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญและต่อสู้ใต้กรอบของกฏหมายเพื่อสิทธิของเราทุกคน" เขากล่าวทิ้งท้าย

 
 
ญาติฯจี้รัฐบาลเร่งรัดคดี สนับสนุนร่างนิรโทษกรรมของวรชัยและให้เร่งลงนาม ICC
 
ในช่วงเย็น กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมทางการเมือง เม.ย.-พ.ค.2553 ได้อ่านแถลงการณ์บนเวทีย่อยหน้าวัดปทุมวนาราม โดยมีข้อเสนอสามข้อคือให้เร่งสืบสวนสอบสวนคดีที่ยังติดค้างอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)  กระทรวงการต่างประเทศ เร่งดำเนินการลงนามตามขอบเขตศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เพราะเหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่มีหลักฐานชัดเจนว่ารัฐบาลที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ทำการสั่งการให้ใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธสงครามครบมือ เข้าสลายการชุมนุม  นอกจากนั้นดยังประกาศจุดยืนสนับสนุน พรก.นิรโทษกรรมประชาชน ของนายวรชัย เหมมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย เพราะจะเป็นการนิรโทษเฉพาะประชาชนโดยไม่เกี่ยวกับฝ่ายการเมืองและผู้สั่งการให้ฆ่าประชาชน เพราะประชาชนต่างเป็นเหยื่อทางการเมืองด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคนสีเสื้ออะไร แต่ทุกคนก็คือประชาชน 
 
 
ทักษิณโฟนอิน หนุน กม.นิรโทษ ฉบับ วรชัย เหมะ ช่วยนักโทษการเมือง ไม่ได้กลับบ้านไม่เป็นไร
 
เวลาประมาณ 20.40 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้โฟนอินมายังที่ชุมนุมเพื่อปราศรัยสดกับคนเสื้อแดงที่เวทีราชประสงค์โดยกล่าวว่า วันนี้เป็นการรำลึกถึงพี่น้องที่เสียชีวิตไป 90 กว่าศพ และยังเสียชีวิตต่อเนื่องเพราะการบาดเจ็บหรือแก๊สน้ำตา มันเป็นโศกนาฏกรรมที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในยุคปัจจุบันที่ผู้มีอำนาจใช้กำลังทหารอย่างเกินกว่าเหตุในการปราบปรามประชาชนของตัวเอง และยังแสดงความเสียใจกับครอบ คุณไข่กี วงษ์ราศรี ที่เสียชีวิตเมื่อเช้ามืดหลังเดินทางมาถึงกทม.จากโรคหัวใจล้มเหลว และขอบคุณคนเสื้อแดงที่ยังเดินทางมาร่วมรำลึกอย่างหนาแน่นอีกครั้ง 
 
อดีตนายกฯ กล่าวถึงนักโทษการเมืองด้วยว่า ยังมีนักโทษการเมืองในเรือนจำอีกจำนวนหนึ่ง บางคนเป็นไทยมุงแต่ถูกตัดสินจำคุก 30 กว่าปี วรชัย เหมะ กับคณะจึงมาหารือเพื่อออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งเขาก็เห็นด้วยแม้จะไม่ได้กลับบ้านก็ไม่เป็นไร แต่อยากให้ประชาชนได้รับการนิรโทษกรรม 
 
"ขวางทักษิณกลับบ้านไม่เป็นไร แต่ขอเอาประชาชน เอาเจ้าหน้าที่ระดับล่างก่อน แต่ไม่ยกเว้นแกนนำ ซึ่งก็เป็นกฎหมายที่อาจจะถกเถียงกันหน่อยว่า กรรมเดียววาระเดียวกันแต่ให้คนนี้ ไม่ให้คนนี้ แต่ไม่เป็นไร ให้พี่น้องได้ออกมา เพราะพี่น้องออกมาสู้ด้วยจิตบริสุทธิ์ ควรได้รับการนิรโทษกรรม" 
 
"วันนี้กฏหมายนิรโทษกรรมของวรชัย ผมไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้นผมถือว่าให้พี่น้องเราหลุดออกจากห้องขังมาก่อน เพราะเขาเหล่านั้นคือผู้บริสุทธิ อย่าทำร้ายเขาเลย เขาคนจน แค่นี้เขาก็แย่อยู่แล้ว ทำร้ายเขาทำไม ขอเห็นใจ ศาลให้ประกันตัวเถอะ บางคนก็ไม่ยอมให้ประกัน มันจะหนีไปไหน จนจะตาย" ทักษิณกล่าว
 
 
ประกาศเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ/องค์กรอิสระควรมีอยู่ แต่ต้องใช้อำนาจในขอบเขต มีการถ่วงดุลตรวจสอบ 
 
อดีตนายกฯ กล่าวถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยว่า จะต้องผลักดันให้มีการดำเนินการต่อเพื่อให้ประชาธิปไตยกลับมาเบ่งบานอย่างแท้จริงอีกครั้ง พร้อมยืนยันว่ายังสนับสนุนให้มีองค์กรอิสระ แต่จะต้องถูกตรวจสอบถ่วงดุลโดยหน่วยงานอื่น ไม่ใช่แค่เพียงจาก ส.ว. ซึ่งจำนวนมากก็มาจากการแต่งตั้ง จะต้องใช้อำนาจในขอบเขตของกฎหมาย ไม่ขัดหลักการแบ่งแยกอำนาจ 
 
"ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ศาลรัฐธรรมนูญจะห้ามสภานิติบัญญัติออกกฎหมาย ในฝรั่งเศสมีบทบัญญัติไม่ให้ทำลายหลักแบ่งแยกอำนาจชัดเจน วันนี้ต้องขอร้องศาลรัฐธรรมนูญว่า ขอให้สภานิติบัญญัติเขาทำหน้าที่ของเขา แบ่งแยกอำนาจชัดเจน เขามาจากประชาชน ถ้าเขาไม่ดี ประชาชนก็ไม่เลือกเขาเอง การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเดินต่อ" อดีตนายกฯ กล่าว 
"วันนี้เราต้องสามัคคีกัน ความเห็นต่างได้ แต่เมื่อถึงเวลาต้องรวมกันเป็นหนึ่งให้ได้ เพื่อรักษาประชาธิปไตยของเรา เพื่อคืนความเป็นธรรมให้สังคมไทย เราเสียสละ พร้อมต่อสู้ แต่เป้าหมายเราเพื่อคนไทยทั้งประเทศ และต้องต่อสู้กันแบบอหิงสา ไม่มีการใช้อาวุธ ให้รู้ว่าเรามีจิตวิญญาณของความรักประเทศไทย อยากเห็นประเทศมีความเป็นธรรม ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเสียหายมาก หลายประเทศที่ใช้กระบวนการตุลาการภิวัตน์ ต้องใช้เวลาเป็นร้อยปีกว่าจะแก้ไขเรียกความศรัทธาคืนได้ ผู้พิพากษาส่วนใหญ่เป็นคนดี รักวิชาชีพของตัวเอง แต่มีผู้พิพากษาบางท่านโดยเฉพาะผู้ใหญ่บางท่าน เป็นผู้ที่ขายจิตวิญญาณของตนเองเรียบร้อยแล้ว"ทักษิณกล่าว
 

เลิกวาทกรรมเผาบ้านเผาเมืองได้แล้ว เพราะศาลยกฟ้อง คนกทม.ควรเลิกเชื่อ ปชป.
 
เขายังพูดถึงวาทกรรมเผาบ้านเผาเมืองด้วยว่า วาทกรรมนี้ควรจะจบลงได้แล้ว เนื่องจากศาลอาญาพิพากษายกฟ้องจำเลยเผาเซ็นทรัลเวิลด์ในทุกคดี เนื่องจากหลักฐานอ่อนและ
วันนี้ต้องบอกว่า วาทกรรมเผาบ้านเผาเมืองควรจะจบได้แล้ว สรุปอีกครั้ง ศาลอาญาพิพากษาจำเลยเผา CTW ทุกคดี ชี้หลักฐานอ่อน รวมทั้งหยิบยกคำเบิกความของ พ.ต.ท.ชุมพล บุญประยูร ที่ปรึกษาด้านอัคคีภัยของห้างเซ็นทรัลที่ระบุว่า หากเจ้าหน้าที่ห้างไม่ถูกไล่ออก ไม่มีห้างไม่มีทางไหม้ได้เนื่องจากระบบการป้องกันดีเยี่ยม แต่เพราะถูกกลุ่มผู้ถืออาวุธไล่เจ้าหน้าที่ออก นอกจากนี้ยังหยิบยกกรณีที่ศาลแพ่งพิพากษาให้บริษัทเทเวศประกันภัยจ่ายเงินสินไหมให้ CTW โดยชี้ว่าไม่ใช่การก่อการร้าย 
 
"ประชาธิปัตย์ใช้วาทกรรมเผาบ้านเผาเมืองไปสองรอบ รอบแรก กิน ส.ส.กทม. รอบสองกินผู้ว่ากทม. เพราะเขารู้ว่าคนกรุงเทพขี้ตกใจ ธรรมชาติมนุษย์ ถ้าช่วยตัวเองได้ดี จะเกิดความระแวงความกลัวได้ง่ายกว่าเกิดความรักความผูกพัน เวลาบอกว่าจะทำอะไรดีๆ เขาพิจารณาทีหลัง แต่เอาเรื่องที่กลัวไว้ก่อน ประชาธิปัตย์รู้จุดอ่อนนี้ดี จึงสร้างให้กลัวพวกเราตอลดเวลา แต่ตอนนี้ความจริงเปิดเผยแล้วก็ยากให้พี่น้องกทม.ตื่นเถิด" ทักษิณกล่าวพร้อมระบุว่า ใครก็ตามหรือพรรคประชาธิปัตย์ชี้ช่องให้จับกุมผู้วางเพลิงตัวจริงได้ เขาพร้อมจะมอบเงินรางวัลให้ 10 ล้านบาท  
 
ทักษิณยังพูดถึงแรงตอบโต้กรณีที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไปพูดในเวทีประชาธิปไตยที่มองโกเลียว่า พอนายกฯ ไปพูดก็ออกมาตอบโต้กันใหญ่ ทั้งที่สิ่งที่พูดนั้นเป็นความจริง
 
"จะให้นายกฯ ไทยพูดเรื่องโอท็อปบนเวทีประชาธิปไตยหรือไง ประเทศที่มีอารยธรรมเขาไม่โกหก ต้องพูดความจริง มันยังไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มที่จะบอกว่าเป็นประชาธิปไตยเต็มที่แล้วได้ยังไง ถามว่ามันหายไปไหน ก็หายเพราะไปปล้นมันตอนปฏิวัติ คนถูกปล้นเป็นผมที่บังเอิญเป็นพี่ชายนายกฯ พูดความจริงก็เต้นกันใหญ่ โดยเฉพาะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์" ทักษิณกล่าวและว่า แม้แต่การโพสต์เฟซบุ๊คของเขาเรื่องธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นการเข้ามาแทรกแซง โดยเขาระบุว่า เป็นเพียงการโพสต์เสนอความคิดเห็นในฐานะที่เคยบริหารจนแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้มาก่อน หากจะนับว่าเป็นการแทรกแซงก็เป็นการแทรกแซงทางความคิด  
 

ย้อนประวัติศาสตร์ตั้งแต่ไทยรักไทยจนปัจจุบัน
 
นอกจากนี้อดีตนายกฯ ยังพูดถึงประวัติศาสตร์การถูกโค่นล้มอำนาจที่ผ่านมา โดยเริ่มตั้งแต่การตั้งพรรคไทยรักไทยในปี 2542 ซึ่งหลังเดินสายหาเสียงจนได้รับเสียงตอบรับที่ดีก็มี "ลูกน้องเก่าเฉลิม(อยู่บำรุง)" ร้องทุกข์กับป.ป,ช.กล่าวหาเรื่องซุกหุ้น จากนั้นเขาก็กล่าวหาว่า มีคนจาก ป.ป.ช. ระบุว่าจะช่วยเหลือเรื่องคดี โดยเรียกค่าใช้จ่าย 600 ล้าน แต่เขาปฏิเสธ จนเมื่อถึงชั้นศาลรัฐธรรมนูญ แต่ประชาชนก็ยังไว้วางใจ ทำให้พรรคไทยรักไทยได้ที่นั่งถึง 250 ที่นั่ง โดนใบแดง 2 ที่นั่ง เหลือ 248 ที่นั่ง เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่พรรคการเมืองได้ที่นั่งถึงครึ่งเนื่องจากประชาชนอยากทดลองกับพรรคที่มีนโยบายชัดเจน จากนั้นในชั้นศาลรัฐธรรมนูญก็ตัดสินให้เขาไม่มีความผิด ด้วยมติ 8 ต่อ 7 จึงได้มีโอกาสมาทำงานให้เกิดขึ้นจริงตามที่หาเสียง อยู่ในวาระครบ 4 ปีเป็นคนแรก การเลือกตั้งครั้งต่อมาปี 2548 ได้รับเลือกตั้งสูงถึง 377 จาก 500 เสียง และนั่นคือที่มาของปัญหาจนถึงทุกวันนี้ เพราะได้รับความไว้วางใจมากเกินไป โตเกินไป 
 
มี รมต.คนหนึ่งเป็น รมต.คนนอก มาบอกทันทีว่าเราโตเกินไป เราจะมีปัญหา เพราะเราเป็นรัฐบาลพรรคเดียวเป็นครั้งแรก อยู่ครบวาระแล้วยังได้เสียงสนับสนุนเยอะ ขณะที่ประชาธิปัตย์เหลือน้อยไม่มีศักยภาพ เขาจะเริ่มต้นโจมตีรัฐบาลผ่านสื่อก่อน แล้วตอนนั้นสื่อก็ไม่ให้ความเป็นธรรม"ทักษิณกล่าวและว่า จนในที่สุดเมื่อครอบครัวขายหุ้นชินคอร์ปก็จึงเป็นที่มาของ "ฝีแตก" ทั้งที่การขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้นมีกฎหมายรองรับว่าไม่ต้องเสียภาษี ไม่เหมือนการซื้อขายสินค้าทั่วไป เพื่อดึงดูดนักลงทุน เป็นการปฏิบัติกันโดยทั่วไป
 
เขากล่าวต่อว่าหลังจากนั้นก็มีม็อบนำโดยสนธิ ลิ้มทองกุล อีกเกือบปีจนเขาประกาศยุบสภาเลือกตั้งใหม่ในเดือน เม.ย.49 แต่พรรคฝ่ายค้านก็บอยคอตเลือกตั้ง 
 
"พรรคการเมืองทั้งหมดที่เป็นฝ่ายค้านในวันนั้น ถูกสั่ง ถูกชี้นำให้บอยคอตการเลือกตั้ง หวังที่จะให้มีกระบวนการโนโหวต และให้เห็นว่าพรรคไทยรักไทยได้คะแนนน้อยกว่าโนโหวต ไม่มีความชอบธรรมเป็นรัฐบาล แต่พี่น้องก็เลือกเราถึง 16 ล้านเสียง โนโหวตทุกพรรครวมกันยังแค่ 14 ล้านเสียง จึงเป็นรัฐบาลต่อ ต่อมาก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญยกเลิกผลการเลือกตั้ง อ้างว่าหันก้นออกนอกคูหา ผิดกฎหมาย ไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วก็ยืดเยื้อจนประกาศเลือกตั้งในเดือน ธ.ค.49 แต่ปฏิวัติเมื่อ 19 ก.ย.49 เหตุผลในวันนั้นก็อ้างว่ามีคนปล่อยข่าวว่าเสื้อเหลืองจะมาเป็นล้าน ผู้สนับสนุนรัฐบาลจะมาปะทะกัน ซึ่งไม่มี แต่เป็นข้ออ้าง และก่อนปฏิวัติเดือนสิงหาคม วาทกรรมของสลิ่มทั้งหลายคือ "คาร์บ๊อง" ก็เกิดขึ้น มันคือ คาร์บอมจริงๆ จับได้คาหนังคาเขา" ทักษิณกล่าวและว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นขบวนการที่วางไว้แล้วว่าหากลอบสังหารไม่สำเร็จจะทำการรัฐประหาร หลังรัฐประหาร 19 ก.ย.49 คนร่วมขบวนก็ได้รับผลประโยชน์กันถ้วนหน้า พรรคประชาธิปัตย์ก็คิดว่าจะชนะการเลือกตั้ง แต่ก็ยังไม่ชนะ 
 
"ที่ประชาธิปัตย์ไม่ชนะการเลือกตั้ง เพราะคิดอย่างเดียวว่า ทักษิณใช้ตังค์ ทักษิณมีตังค์ ยึดอำนาจแล้ว ยึดตังค์ก็แล้ว แต่ที่ยังยึดไม่สำเร็จมีสองอย่าง คือ ยึดพี่น้องประชาชน และอีกอันหนึ่งคือ หัว ผมไม่ใช่รวยมาโดยไม่ใช้หัว เขาถึงได้แพ้ซ้ำซาก และไม่ยอมเชื่ออลงกรณ์ (เรื่องปฏิรูปพรรค)...ประชาธิปัตย์ทั้งพรรคก้าวไม่เคยพ้นทักษิณเสียที แต่ยิ่งกว่านั้น หัวหน้าพรรคติดหล่มทักษิณเลย ผมอยากให้พรรคประชาธิปัตย์หันมาแข่งขันในระบบที่มีกติกาเท่าเทียม กติกาประชาธิปไตยอย่าไปอิงทหาร อย่าไปหวังว่าเขาจะจัดตั้งให้เป็นรัฐบาลอีกในค่ายทหาร มันไม่มีแล้ว พวกเราไม่ยอม รัฐบาลต้องมาจากประชาชนแล้วพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้า" อดีตนายกฯ กล่าว
 
นอกจากนี้เขายังตอบโต้พรรคประชาธิปัตย์ด้วยว่า กล่าวหาเขาเรื่องคอรัปชั่น แต่พรรค ปชป.เองก็มีปัญหาคอรัปชั่นมากมาย ไม่ว่าหนี้ปรส. สปก.4-01 ยางพารา หรือแม้แต่การประมูลก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่แพงกว่าในสมัยเขาถึง 1.8 หมื่นล้านในขณะที่รองรับคนได้น้อยกว่ามาก 
 
"ผมพูดมาทั้งหมด ไม่ได้ต้องการอะไร ไม่กลับก็ไม่ว่ากัน แค่ขอทวงคืนประชาธิปไตยให้คนไทยเท่านั้น แล้วผมจะไม่เลิกทวงคืนประชาธิปไตยและความเป็นธรรม ตราบใดที่ยังมีชีวิตและลมหายใจอยู่ จะกี่ปีก็ไม่สาย ถ้าเราได้มีส่วนทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เป็นมรดกที่ดีที่สุดให้ลูกหลาน  ได้สังคมที่มีประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้คนอย่างเสมอหน้า ให้ความเป็นธรรมให้คนไทยทุกคนไม่ว่าลูกเต้าเหล่าใคร สังคมแบบนี้ที่เราอยากได้ ลูกหลานเรามีสมองทุกคน มันหากินได้ถ้าให้โอกาสมัน ไม่กีดกันมัน" ทักษิณกล่าว 
 
 
นักวิชาการทวงรายงานการสลายการชุมนุมจากกรรมการสิทธิฯ
 
ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ลงวันที่ 17พฤษภาคม 2556  ตั้งคำถามถึงการรวบรวมหลักฐานข้อมูลในเหตุการณ์เมื่อสามปีที่แล้วของ กสม. ว่ามีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าการที่ อมราและคณะไม่แสดงท่าทีใดๆ ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว เหตุผลอย่างเลวร้ายที่สุดนั้นเป็นเพราะต้องการปกป้องชื่อเสียงของตัวเองหรือไม่
 
"ประชาชนย่อมสงสัยว่า การที่อาจารย์และคณะอาจารย์ยังไม่แสดงท่าทีใดๆ ต่อเหตุการณ์ดังกล่่าวเสียทีจะแสดงให้เห็นได้หรือไม่ว่า อาจารย์ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักการสากลของหลักสิทธิมนุษยชนโดยแท้ หากแต่กลายเป็นว่า อาจารย์เลือกปกป้องใครบางคน ปกป้องคนบางกลุ่ม บางสถาบันทางการเมือง บางสถาบันทางราชการหรือไม่ หรืออย่างเลวร้ายที่สุดซึ่งผมยังหวังว่าจะเป็นการกล่าวหาที่เกินเลยจากความเป็นจริงไปก็คือ การที่อาจารย์แสดงท่าทีเฉยเมยต่อกรณีดังกล่าวก็เพื่อปกป้องหน้าตาชื่อเสียงของอาจารย์ในแวดวงสังคมที่ใกล้ชิดอาจารย์เพียงเท่านั้น" ยุกติระบุ
 
สำหรับรายงานของ กสม. นั้น ก่อนหน้านี้ (10 เม.ย.56) อมรา ให้สัมภาษณ์ "ประชาไท" ว่า กรรมการสิทธิฯ กำลังพิจารณาร่างรายงานเกี่ยวกับการตรวจสอบเหตุการณ์สลายการชุมนุมฯ ซึ่งใกล้จะแล้วเสร็จแล้ว และจะมีการตรวจสอบจุดที่แก้ไขกันอีกครั้ง คาดว่าจะสามารถเผยแพร่รายงานฉบับสมบูรณ์ได้ภายในเดือนเมษายน อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายงานดังกล่าวหยุดชะงักไปตั้งแต่ปลายปี 54 หลังจากมีข่าวการหลุดรอดของร่างรายงานและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 8 ก.ค. ได้เปิดเผยเนื้อหาโดยสรุป 9 กรณีสำคัญ  
 
อนึ่ง เมื่อปี 2553  ยุกติ เคยเขียนจดหมายเปิดผนึกถึง อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) หลังสลายการชุมนุมไม่กี่วันตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ในฐานะประธาน กสม. ในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าว ต่อมา อมราได้เขียนจดหมายเปิดผนึกชี้แจงว่า ในการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ต้องคำนึงถึงความคิดเห็นของกรรมการร่วมคณะอีก 6 ท่าน และในกรณีที่ข้อมูลไม่ชัดเจน การแสดงออกจึงมีความล่าช้า รอบคอบ และคำนึงถึงองค์กรมากกว่าส่วนตัว
 
 
ศปช.ไม่ออกแถลงการณ์ ระบุข้อเสนอเนื่องในเหตุการณ์ครบรอบสองปีไม่มีความคืบหน้า
 
พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ประสานศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 (ศปช.) เปิดเผยว่า ศปช.ไม่ได้ออกแถลงการณ์ใดๆ ในวาระ 3 ปีการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 53 เนื่องจากเมื่อกลับไปดูข้อเรียกร้องของ ศปช. เมื่อปีที่แล้ว ก็ปรากฏว่ายังไม่ได้รับการตอบสนอง
 
โดยเนื้อหาแถลงการณ์ระบุถึงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ พรรคเพื่อไทย และ นปช. ว่า ต้องไม่มีการนิรโทษให้กับผู้นำของทุกฝ่ายโดยเด็ดขาด 
 
"การนิรโทษกรรมจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีการเปิดเผยความจริงและดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องเสียก่อน นี่เป็นเงื่อนไขต่ำสุดของการนิรโทษกรรม เป็นเงื่อนไขต่ำสุดที่จะทำให้เกิดเยียวยาเหยื่อและการปรองดองได้จริง"
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มแนวร่วมสหภาพในอิตาลีประท้วงนโยบายลดงบประมาณ

Posted: 19 May 2013 07:09 AM PDT

ผู้ประท้วงราว 100,000 คน นำโดยกลุ่มสหภาพแรงงานช่างโลหะ เดินขบวนโบกธงแดงต่อต้านนโยบายลดงบประมาณของรัฐบาลผสมชุดล่าสุดของอิตาลี โดยเรียกร้องให้หันมาใส่ใจเรื่องการสร้างอาชีพในประชาชนหลังประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจอย่างหนักรองจากกรีซ

เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่กรุงโรมประเทศอิตาลี มีผู้ประท้วงราว 100,000 คน นำโดยกลุ่มสหภาพแรงงาน ออกมาชุมนุมเดินขบวนต่อต้านนโยบายปรับลดงบประมาณของรัฐบาลผสมชุดล่าสุด

โดยผู้ชุมนุมได้ออกมาชูธงและป้ายสีแดงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเอนริโก เลตตา ซึ่งมีแนวคิดซ้าย-กลาง ยกเลิกมาตรการตัดงบประมาณและหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างอาชีพให้กับประชาชน

การชุมนุมในครั้งนี้จัดโดยกลุ่มสหภาพคนงานช่างโลหะ FIOM และ CGIL การชุมนุมและเดินขบวนเป็นไปอย่างสงบ และมีผู้สนับสนุนจากทั่วประเทศเข้าร่วมการชุมนุมด้วย

เมาริซิโอ แลนดินี ผู้นำสหภาพ FIOM กล่าวว่าพวกเขาได้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีสองคนก่อนหน้านี้คือนโยบายสมัย มาริโอ มอนติ และซิลวิโอ แบร์ลุคโคนี หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นที่ผู้ลงคะแนนเสียงเรียกร้อง ประเทศก็ไม่มีทางเดินหน้าไปไหน

โพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลผสมที่มีการควบรวมกับพรรคแนวขวา-กลาง ในอิตาลีเริ่มลดลง ประเทศอิตาลีกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างหนัก ภาวะหนี้สินของประเทศในตอนนี้อยู่ที่ราวร้อยละ 127 ของผลผลิตทางเศรษฐกิจทั้งหมด ซึ่งถือว่ามากเป็นอันดับสองในกลุ่มประเทศยุโรปรองจากกรีซ

นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจพบว่ากลุ่มคนอายุต่ำกว่า 25 ปี อยู่ในภาวะว่างงานราวร้อยละ 11.5 ถึงร้อยละ 38

ก่อนที่นายกฯ เลตตาจะเข้ารับตำแหน่ง เขาให้คำมั่นว่าจะเน้นการสร้างอาชีพให้กับประชาชนก่อน แต่นักวิจารณ์ก็มองว่าเขาหันไปให้ความสำคัญกับการปฏิรูปภาษีที่ดิน

สองเดือนหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในอิตาลีก็มีการตั้งรัฐบาลผสมขึ้น เนื่องจากภาวะตีบตันทางการเมืองหลังจากที่ไม่มีกลุ่มการเมืองใดมีคะแนนเสียงมากพอจะชนะการเลือกตั้ง หลังจากที่เลตตาเข้ารับตำแหน่งไม่นานเขาก็ได้เข้าหารือกับกลุ่มผู้นำยุโรปในเรื่องที่ประชาชนแสดงความไม่พอใจในเรื่องนโยบายลดงบประมาณ แต่ขณะเดียวกันเลตตาก็ต้อง

ในที่ชุมนุมกรุงโรมยังมีบางส่วนที่เป็นกลุ่มซ้ายจัด มีการนำโปสเตอร์ภาพตัดต่อล้อเลียนนายกรัฐมนตรีแองเจล่า เมอเคิล ของเยอรมนีในชุดนาซีในฐานะที่เมอเคิลเป็นต้นแบบของคนที่ใช้นโยบายประหยัดงบประมาณในยุโรป

อย่างไรก็ตามเมอเคิลได้ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวหลังเข้าพบกับพระสันตปาปาฟรานซิสโดยกล่าวว่า วิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นจากการที่ไม่มีการตรวจสอบกฏเกณฑ์กลไกการตลาดเพื่อสังคม "เป็นเรื่องจริงที่ว่าระบบเศรษฐกิจควรจะรับใช้ประชาชน แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเสมอไป หากกล่าวถึงกรณ๊เมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา" แองเจลา เมอเคิลกล่าว เมอเคิลได้เข้าพบพระสันตปาปาองค์ล่าสุดโดยมีการหารือเรื่องโลกาภิวัฒน์ สหภาพยุโรป และบทบาทของยุโรปต่อชาวโลก


เรียบเรียงจาก

Italy coalition: Thousands rally in Rome against cuts, BBC, 18-06-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับ 'สุพัฒน์' แฝดที่เคยทำร้าย 'วรเจตน์' ข้อหาพกปืน

Posted: 19 May 2013 05:16 AM PDT

19 พ.ค. 56 - เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า เมื่อเวลาเมื่อเวลา 16.00 น. ของวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา พ.ต.อ.อำนาจ จันทร์เจริญ รอง.ผบก.จ.ปทุมธานี พ.ต.อ.สามารถ ศิริวิบูรณ์ชัย รอง.ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี พ.ต.อ.สุนทร หิมารัตน์ ผกก.สส.ภ.จว.ปทุมธานี พ.ต.อ.เพิ่มเกียรติ สุริยวงศ์ ผกก.สภ.คลองหลวง และพ.ต.ท.จีรวัฒน์ เปี่ยมปิ่นเศรษฐ สว.สส.สภ.คลองหลวง ยกกำลังชุดสืบสวนจังหวัดปทุมธานีและชุดสืบสวน สภ.คลองหลวง กว่า 100 นาย นำหมายศาลจังหวัดธัญบุรีเข้าตรวจค้นบ่อนตีไก่ชนคลองสี่ หมู่ 6 ต.คลองสี่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีคนพกพาอาวุธปืนเข้ามาเล่นพนันตีไก่ชน

ที่เกิดเหตุ เป็นบ่อนไก่ขนาดใหญ่ เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ เจ้าหน้าที่แบ่งกำลังกันปิดล้อม และขอกำลังสนับสนุนสายตรวจจราจรร่วมกันค้นรถทุกคันที่เข้ามาจอดภายในบ่อน ซึ่งมีจำนวนกว่า 300 คัน จากนั้นกำลังอีกชุดเข้าไปตรวจค้นภายในบ่อนและห้องพักผู้ดูแลบ่อน ผลปรากฎว่าพบตัวนายสุพัฒน์ หรือนายเบนซ์ ศิลารัตน์ อายุ 32 ปี ผู้ต้องหาคดีร่วมกับนายสุพจน์ หรือนายแบงค์ ศิลารัตน์ พี่น้องฝาแฝด อายุ 32 ปี ทำร้ายร่างกายนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และแกนนำนักวิชาการนิติราษฎร์ ล่าสุดเพิ่งก่อคดียิงนายจงกล พิจิตรพลากาศ หรือ ทนายเปี๊ยก ได้รับบาดเจ็บ
 
จากการตรวจค้นพบว่า นายสุพัฒน์พกพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตจำนวน 2 กระบอก คือ ปืนยี่ห้อซีแซด ขนาด 9.มม เหน็บอยู่ที่เอว พร้อมกระสุน 12 นัดอยู่ในรังเพลิงขึ้นลำพร้อมยิง อีกกระบอกเป็นปืนขนาด 11 ม.ม. ยี่ห้อโคลท์ และกระสุน 13 นัด ส่วนนายสุพจน์ ฝาแฝดอีกคน ยืนคุมเชิงอยู่ปากทางเข้าหน้าบ่อนไก่ ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย 
 
นอกจากนั้น ตำรวจยังตรวจค้นรถยนต์ของผู้ที่มาเล่นตีไก่ พบอาวุธปืนอีก 6 กระบอก ควบคุมตัวผู้ต้องหาอีก 6 คนนำมาสอบสวนที่โรงพัก แจ้งข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พกพาอาวุธปืนติดตัวเข้าไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควรเร่งด่วนแก่พฤติการณ์ 
 
พ.ต.อ.สุนทร ผกก.สส.ภ.จว.ปทุมธานี หัวหน้าชุดจับกุมเปิดเผยว่า บ่อนไก่แห่งนี้เป็นของผู้ใหญ่ลี อดีตผู้ใหญ่บ้านผู้กว้างขวางในเรื่องวงการตีไก่ ร่วมหุ้นกับสจ.เมืองนนทบุรีคนหนึ่ง เปิดตีไก่มาราวๆ 5-6 เดือนแล้ว ทั้งสองคนได้ชักนำนายสุพจน์และนายสุพัฒน์ พี่น้องฝาแฝดมาคอยติดตามและคุมบ่อนไก่ดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมามีชาวบ้านร้องเรียนว่าเห็นพี่น้องฝาแฝดพกพาอาวุธปืนและข่มขู่ผู้เล่นอยู่เป็นประจำ เกรงจะเกิดเหตุไม่คาดคิด ตำรวจจึงรีบนำกำลังเข้ามาตรวจค้นเสียก่อน และยังจับกุมนายสุชาติ สาดและ อายุ 31 ปี หรือนายบัง อยู่บ้านเลขที่ 24 หมู่ 13ต.คลองสอง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานีเพื่อนสนิทของฝาแฝดทั้งสองได้อีกด้วยฐานพกพาอาวุธปืน 2 กระบอก 
 
"จากการตรวจสอบพบว่า นายสุพัฒน์มีอาวุธปืนขนาด 9มม. อย่างถูกต้อง โดยเพิ่งจะขอใบอนุญาตเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 56 ออกให้โดยนายสุวิทย์ คำดี นายอำเภอคลองหลวง เซ็นอนุมัติออกไปอนุญาติเลขที่ 345/2556 ส่วนอีกกระบอกเป็นขนาด 11 มม.ยังไม่ทราบว่าเป็นของใคร แต่นายสุพัฒน์รับว่าเป็นของตัวเองทั้งสองกระบอก" พ.ต.อ.สุนทร กล่าว
 
ด้านพ.ต.อ.สามารถ รอง.ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี ระบุว่า การตรวจค้นและจับกุมครั้งนี้ปฏิบัติตามนโยบายของพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ที่มอบหมายผ่านมาทางพล.ต.ท.นเรศ นันทโชติ ผบช.ภ.1 และพล.ต.ต.สมิทธิ มุกดาสนิท ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี เป็นการตรวจค้นเพื่อป้องกันและปรามปรามอาชญากรรมในปทุมธานี สถานที่ดังกล่าวมีคนและอาวุธปืนจำนวนมากจึงเสี่ยงต่อการก่อเหตุอาชญากรรม อย่างไรก็ตาม ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นสนามชนไก่มีเอกสารใบอนุญาตถูกต้อง 
 
"ตำรวจได้ประชาสัมพันธ์เรื่องการควบคุมอาวุธเพื่อป้องกันเหตุอาชญากรรม รวมทั้งกวดขันในเรื่องอาวุธปืน เพราะช่วงหลังการก่อเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะปล้นธนาคาร จี้ชิงทรัพย์ พยายามฆ่า หรือแม้กระทั่งการก่อนเหตุทะเลาะวิวาทนั้นนำไปสู่การใช้อาวุธปืนยิงกัน" พ.ต.อ.สามารถ กล่าว
 
สำหรับประวัตินายสุพัฒน์ และนายสุพจน์ ศิลารัตน์ พี่น้องฝาแฝด มีคดีถูกจับกุมข้อหาทำร้ายร่างกายหลายท้องที่ อาทิ สน.สายไหม สน.ดอนเมือง สภ.ธัญบุรี และสภ.คูคต ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนก.พ. 2555 ทั้งสองคนก่อเหตุบุกชกต่อยทำร้ายร่างกายนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หลังโดนจับกุมอ้างว่าไม่พอใจที่นายวรเจตน์เคลื่อนไหวสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ตำรวจส่งฟ้องในข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย หรือจิตใจ โดยไตร่ตรองไว้ก่อน ศาลตัดสินจำคุกและอยู่ระหว่างประกันตัวต่อสู้คดี 
 
ล่าสุด เมื่อเดือนเม.ย. 2556 เข้ามอบตัวสู้คดีใช้ปืน 9 มม. ยิงนายจงกล พิจิตรพลากาศ หรือทนายเปี๊ยก อยู่บ้านเลขที่ 512/14 หมู่ 4 ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี อยู่ระหว่างประกันตัวสู้คดี สาเหตุสอบเบื้องต้นพบว่า ฝาแฝดมาแก้แค้นให้กับอดีตผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นเจ้าของบ่อนไก่ที่ตร.เข้าตรวจค้นวันนี้ หลังจากนายจงกลรับว่าความให้อดีตผู้ใหญ่บ้านแล้วทำเรื่องประกันตัวให้ไม่ได้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พบสถานการณ์ไม่ปกติในพื้นที่สมาชิก 'พีมูฟ' หลังออกมาชุมนุม

Posted: 19 May 2013 03:59 AM PDT

 
19 พ.ค. 56 - ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) รายงานว่าเป็นเวลากว่า สองอาทิตย์ที่พี่น้อง ขปส. ได้มาชุมนุมโดยสงบเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เรื้อรังมาอย่างยาวนาน  นับตั้งแต่ช่วงต้นที่ได้มาชุมนุมจนถึงบัดนี้รัฐบาลกับ ขปส.ก็ได้มีท่าทีที่ดีต่อกัน โดยรัฐบาลได้รับปากจะเร่งแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน แต่ในระดับพื้นที่ชุมชน กลับพบว่ามีความพยายามในการเข้าไปตรวจสอบผู้ชุมนุม และมีเหตุการณ์ไม่ปกติอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนี้
 
1)  วันพฤหัสบดี ที่ 9 พฤษภาคม 2556 ทางสำนักงานตำรวจภูธรภาค 5 ได้มีการสื่อสารผ่านวิทยุสื่อสารให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ตรวจสอบผู้เข้าร่วมชุมนุมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล และในวันดังกล่าวก็ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย เข้าไปยังพื้นที่บ้านพรสวรรค์ หมู่ 14 ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ที่มีชาวบ้านเข้าร่วมชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยโดยใช้รูปแบบโฉนดชุมชน แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่พบบุคคลใดจึงเดินทางออกจากพื้นที่ไป
 
2) เมื่อวันเสาร์ ที่ 18 พฤษภาคม 2556  เวลาประมาณ 12.00 น. มีกลุ่มเจ้าหน้าที่รังวัดที่ดิน กลุ่มนายทุน ประมาณ 6 คน ใช้รถยนต์ส่วนตัว 3 คัน เข้าไปในพื้นที่ที่บ้านโป่ง ม.2 ต.แม่แฝก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เพื่อเข้ามาสำรวจแนวเขตและรังวัดที่ดิน ระหว่างที่จะดำเนินการสำรวจแนวเขตและรังวัดนั้นมีชาวบ้านที่ทำประโยชน์อยู่กินแล้วนั้นรวมตัวกันเข้าสอบถามรายละเอียดและคัดค้านการดำเนินการ กลุ่มนายทุนดังกล่าวจึงได้ยอมถอยออกจากพื้นที่   ทั้งนี้ชุมชนบ้านโป่ง เป็นพื้นที่นำร่องโครงการธนาคารที่ดินที่แก้ไขปัญหาที่ดินตามนโยบายการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลรับปากจะดำเนินการนำเข้าพิจารณาอนุมัติในการประชุม ครม.วันที่ 21 พฤษภาคมที่จะถึงนี้
 
โดยทาง ขปส. ระบุว่าเหตุการณ์การเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและการเข้ารังวัดตรวจสอบที่ดินของเจ้าหน้าที่ที่ดินในช่วงระยะนี้ แสดงให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นในระดับชุมชน ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างที่ชาวบ้านออกมาชุมนุมเรียกร้องกับรัฐบาล หากรัฐบาลจริงใจในการแก้ปัญหาเหตุการณ์ทำนองนีไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกในระหว่างที่ ขปส.และรัฐบาลกำลังร่วมกันแก้ไขปัญหา 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'พีมูฟ' เตรียมล่าชื่อเสนอ 3 กม. ด้านที่ดิน หวังแก้ปมระยะยาว

Posted: 19 May 2013 03:53 AM PDT

ถอดบทเรียนจาก 'พีมูฟ' ชี้ช่องว่างรัฐบาลใหม่-เก่า กระทบปัญหาชาวบ้าน แก้ไม่ถูกจุด 'สาทิตย์' เสนอตัวช่วย 'เฉลิม' ดันโฉนดชุมชน ขณะที่ 'สุภรณ์' ยืนยัน แก้จบภายในรัฐบาลนี้แน่ ด้าน 'พีมูฟ' เตรียมล่าชื่อเสนอ กม.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า-กม.โฉนดชุมชน-กม.ธนาคารที่ดิน



(19 พ.ค.56) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดเวทีราชดำเนินเสวนา "รัฐบาลกับการแก้ปัญหาคนจน บทเรียนจากพีมูฟ" โดยมี นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม นายกฤษกร ศิลารักษ์ ผู้ประสานงานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ร่วมเป็นวิทยากร พร้อมกันนางสาวจิตติมา บ้านสร้าง เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายประยงค์ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องเร่งด่วน 4 เรื่องที่ต้องการให้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือ 1.การแก้ปัญหาผลกระทบจากเขื่อนปากมูลซึ่งเกิดปัญหายืดเยื้อมานาน 24 ปี 2.การสานต่อโครงการธนาคารที่ดิน 3.การออกมติคุ้มครองชั่วคราวพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการออกโฉนดชุมชน และ 4.การอนุญาตก่อสร้างบ้านมั่นคง ซึ่งทั้งหมดเป็นปัญหาที่ได้ข้อยุติในการแก้ไขแล้ว แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลปัญหาดังกล่าวกลับไม่ได้รับการสานต่อ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นปัญหาทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับผลงานรัฐบาลชุดเก่า

นายประยงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เวลานี้พีมูฟอยู่ระหว่างการปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับประชาชน 3 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า กฎหมายโฉนดชุมชน และกฎหมายธนาคารที่ดิน โดยตั้งเป้าล่ารายชื่อให้ได้ 1 ล้านรายชื่อ เพื่อมิให้รัฐสภาใช้จำนวนรายชื่อน้อยเป็นข้ออ้างในการปัดตกร่างกฎหมายฉบับประชาชน เช่นเดียวกับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม โดยหวังว่าการมีกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาด้านที่ทำกินจะช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มพีมูฟได้ในระยะยาว

ด้านนายกฤษกร กล่าวว่า แม้นายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาของพีมูฟเป็นการเฉพาะแล้วก็ตาม แต่ที่ผ่านมาการประชุมของคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 10 ชุด ส่วนใหญ่ไม่มีความคืบหน้า เช่น คณะอนุกรรมการแก้ปัญหาที่ดินฯ และคณะอนุกรรมการแก้ปัญหาที่สาธารณะประโยชน์ฯ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทยไม่เคยมีการประชุม

"อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประชาชนต้องออกมาชุมนุม คือ ระบบราชการที่ไม่เอื้อต่อการสานต่อนโยบายรัฐ เช่น กรณีเขื่อนปากมูล แม้มีมติ ครม. มากมายให้เร่งแก้ไข แต่ฝ่ายราชการไม่ส่งเรื่องไป โดยอ้างว่าติดขัดข้อกฎหมาย นโยบายก็ไม่เคาะ ดังนั้น ฝ่ายการเมืองจึงต้องเห็นอุปสรรคข้อนี้และฝ่ากำแพงความล้าหลังของระบบราชการให้ได้" นายกฤษกร กล่าว

ขณะที่ นายสุภรณ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาให้เครือข่ายพีมูฟที่ล่าช้าในชุดรัฐบาลปัจจุบัน สาเหตุหนึ่งมาจากผลกระทบของอุกภัยใหญ่ปลายปี 2554 ซึ่งรัฐบาลต้องใช้เวลากว่า 1 ปีในการแก้ปัญหา เวลานี้เมื่อกลุ่มพีมูฟออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา รัฐบาลโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้สั่งการเร่งด่วนให้ร.ต.อ.เฉลิม รีบดำเนินการแก้ไขและเร่งรัดการทำงานของคณะอนุกรรมการทุกชุด เพื่อให้ได้ข้อสรุปและนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของครม.ในเร็ววัน ทั้งนี้ รับปากว่าการแก้ไขปัญหาให้พีมูฟโดยเฉพาะ 4 ประเด็นหลักจะไม่ยื้ดเยื้อและแล้วเสร็จในรัฐบาลชุดนี้อย่างแน่นอน

ด้านนายสาทิตย์ กล่าวว่า อุปสรรคทางการเมืองทำให้การแก้ไขปัญหาของพีมูฟไม่ถูกสานต่อ แท้จริงแล้วทั้งเรื่องการคุ้มครองพื้นที่โฉนดชุมชนและการดำเนินโครงการธนาคารที่ดินมีมติ ครม.ออกมาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน แต่ก็ไม่ถูกนำไปใช้และประชาชนต้องนำกลับมาเสนอ ครม.ใหม่ในปัจจุบัน ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่ารัฐบาลชุดนี้มีโอกาสและอำนาจสั่งการในการแก้ปัญหาในกลุ่มพีมูฟได้มากกว่ารัฐบาลชุดก่อน เนื่องจากเป็นรัฐบาลพรรคใหญ่ที่มีเสถียรภาพและมีสมาชิกพรรคอยู่ในกระทรวงสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหา เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรฯ กระทรวงคมนาคม ทั้งนี้ตนในฐานะที่มีส่วนขับเคลื่อนนโยบายโฉนดชุมชน-ธนาคารที่ดินในรัฐบาลชุดก่อนพร้อมให้ข้อมูลและคำปรึกษาในโครงการดังกล่าวแก่ร.ต.อ.เฉลิม ที่มีหน้าที่ดูแลโดยตรง เพื่อให้กระบวนการแก้ปัญหาเดินหน้าไปได้ อย่างไรก็ตาม ขอเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะทำงานเกี่ยวข้องกับคดีความคนจนโดยเฉพาะเพื่อแก้ปัญหาให้รัดกุมต่อไปด้วย

นางสุนี กล่าวว่า กรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมพีมูฟเป็นบทเรียนสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงการกระจายอำนาจผ่านการดำเนินโครงการพัฒนาของรัฐโดยขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน ประกอบกับยังมีกฎหมายที่ล้าหลังหลายฉบับ เช่น กฎหมายป่าไม้ กฎหมายผังเมือง ที่ทำให้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญไม่เกิดขึ้น ขณะที่รัฐบาลมักลอยตัวอยู่เหนือปัญหา เมื่อเกิดกรณีพิพาทการใช้ที่ดินระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานรัฐ หรือกับเอกชน ก็โยนภาระให้ศาลซึ่งใช้เพียงข้ออ้างทางกฎหมายในการตัดสินความผิด นอกจากนี้ วิธีการแก้ปัญหาของทุกรัฐบาลคือการเริ่มต้นนับหนึ่งตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาชุดใหม่ และไม่พยายามสานต่องานเดิม ทำให้ปัญหาไม่จบสิ้น

"ทุกข้อเรียกร้องของพีมูฟคือการทำให้ชาวบ้านสามารถพึ่งตนเองได้ รักษาทรัพยากรที่ทำกินไว้ โดยไม่ต้องแบมือขอ ถ้ารัฐบาลเข้าใจในจุดนี้และส่งเสริมชาวบ้าน รัฐก็จะประหยัดงบประมาณในการให้ความช่วยเหลือไปได้มาก" รองประธาน คปก. กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยแพทย์ชนบทขาดแคลน ไหลสู่ รพ.เอกชน-ธุรกิจเสริมความงาม แถม P4P ซ้ำเติมปัญหา

Posted: 19 May 2013 03:35 AM PDT

อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท ชี้แพทย์ชนบทขาดแคลนหนัก ไหลเข้าโรงพยาบาลเอกชนและบริการเสริมความงาม แถม P4P ยังซ้ำเติมปัญหา ถาม รมว.สาธารณสุข มีนโยบายแก้ปัญหาหรือไม่

จากกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขจะตัดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในโรงพยาบาลชุมชน และจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายค่าตอบแทนเป็นการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน (Pay for Performance- P4P) ซึ่งก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากบุคลากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง 

ล่าสุด (19 พ.ค.56) นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนชุมพวง โคราช อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวถึงปัญหาการขาดแคลน์แพทย์ในชนบทว่า หากเข้าไปหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต จะพบว่า ธุรกิจความงามนั้นขยายตัวอย่างมาก และเป็นธุรกิจที่กฎหมายบังคับที่ต้องมีแพทย์อยู่ประจำในการสั่งจ่ายยา  ซึ่งทำให้เป็นอีกปัจจัยสำคัญในการดูดแพทย์ไปจากทั้งชนบทและเมือง วุฒิศักดิ์คลินิกมีกว่า 140 สาขา นิติพลคลินิกก็ขยายตัวจนมีกว่า 150 สาขา  เงินเดือนแพทย์ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 150,000 บาท  ส่วนโรงพยาบาลเอกชนก็มีการขยายตัวอย่างมาก เฉพาะโรงพยาบาลกรุงเทพมีแพทย์กว่าเต็มเวลาและแพทย์พาร์ทไทม์ กว่า 7,000 คนใน 32 สาขา อีกทั้ง รพ.กรุงเทพยังมีแผนจะขยายสาขาให้ครบ 50 สาขาในปี 2558 ซึ่งต้องการแพทย์รวมทั้งสิ้นกว่า 11,000 คน แม้ว่าปัจจุบันผลิตแพทย์เพิ่มได้ปีละเกือบ 2,000 คน

นพ.วชิระกล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแพทย์ 40,000 คน มีแพทย์อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนราว 750 อำเภอทั่วประเทศเพียง 3,000 คน ดูแลประชาชนในชนบทกว่า 40 ล้านคน โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งรวมกันยังมีแพทย์ไม่ถึงครึ่งของโรงพยาบาลกรุงเทพเสียอีก นับเป็นเรื่องเศร้าของสังคมไทย ที่ละเลยการดูแลสุขภาพคนชนบท ยิ่งกระทรวงสาธารณสุขภายใต้การนำของ รมต.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ที่หนุนนโยบายเมดิคัลฮับอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ก็จะยิ่งสร้างการเติบโตแก่ภาคเอกชน ดูดแพทย์จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจังหวัดและโรงพยาบาลชุมชน อีกทั้งนโยบาย P4P เองสิ่งซ้ำเติมคนทำงานในชนบท เพราะจะเก็บแต้มที่โรงพยาบาลอำเภอไกลๆ กันดารหรือโรงพยาบาลจังหวัดในเมืองใหญ่ก็ได้แต้มแลกเงินเหมือนกัน เผลอๆ แต้มของโรงพยาบาลใหญ่มีมากกว่าด้วย อีกทั้งงานในโรงพยาบาลชุมชนมีความหลากหลายยากต่อการเก็บแต้มอย่างเป็นธรรม เช่นนี้แล้วใครจะอยู่ทำงานในชนบทในระยะยาว

"ผมขอถาม รมต.ประดิษฐ สินธวณรงค์ และปลัดกระทรวง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบาย รวมทั้งเป้าหมายในการเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ในชนบทหรือไม่ หากมีจะใช้แนวทางใด แต่จากปัจจุบันเรื่องนี้ไม่มีอยู่ในสมองของ รมต.และปลัดกระทรวง แบบนี้จะเรียกว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสนับสนุนแพทย์พาณิชย์กันแน่ เมื่อรัฐมนตรีไม่เคยใส่ใจการปกป้องสุขภาพคนจน การพัฒนาโรงพยาบาลชุมชน จึงสมควรไล่ออกไปให้คนอื่นที่มีความสามารถและมีสติปัญญามาทำหน้าที่เป็น รมต.สาธารณสุขแทน" นพ.วชิระกล่าว

นพ.ปองพล วรปาณิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า โรงพยาบาลชุมชนเป็นหน่วยบริการที่สำคัญยิ่ง แต่ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขกลับไม่ดูแล เสมือนลูกเมียน้อย ขาดแคลนเรื้อรังทั้งบุคลากร งบประมาณ อุปกรณ์การแพทย์ แต่นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 ที่มีการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้กับแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลและวิชาชีพสุขภาพที่ทำงานในโรงพยาบาลชุมชน  ทำให้มีแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนเพิ่มขึ้นถึง 1,289 คน หรือเพิ่ม 46.6%  แต่ผู้บริหารกระทรวงในวันนี้กลับคิดแต่จะยกเลิกเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายและใช้ P4P แทน ซึ่งเป็นค่าตอบแทนคนละส่วนกันแทนกันไม่ได้ จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงคงเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายจากประกาศฉบับ 4, 6 เหมือนเดิม  และให้เป็นความสมัครใจของโรงพยาบาลชุมชนในการทำ P4P หาก P4P ดีจริงก็จะมีคนทำโดยสมัครใจ หากไม่ดีไม่เหสมาะสมกับบริบทของโรงพยาบาลชุมชน ก็ไม่มีคนสมัครใจทำ กระทรวงก็ต้องทำใจ อย่ายัดเยียด อย่ามาบังคับให้ต้องยอมรับนโยบายที่ไม่เหมาะสมกัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"กะหรี่" ...ผู้รับจ้างทำชำเราแก่บุรุษเพศ?

Posted: 19 May 2013 02:29 AM PDT

 
ช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา "กะหรี่" ได้กลายเป็นวลีเด็ดใช้กระชากหน้ากาก พวก "หน้าตัวผู้" ที่ยกขบวนออกมารังแกเพศแม่ของตนเองอย่างไร้สติ โดยหารู้ไม่ว่าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น เคยเรียกขานหญิงบริการว่าเป็นอาชีพ "รับจ้างกระทำชำเราแก่บุรุษ"
 
คงไม่ต้องเสียเวลาท้าวความสาธยายถึงที่มาที่ไปแห่งวลีฮิตฮ็อต "กะหรี่" ในห้วงเวลานี้ดอกนะคะ เพราะมันได้กลายเป็น "บูมเมอแรง" ที่กำลังถูกเหวี่ยงกระหน่ำคืนกลับ พร้อมที่จะหักหน้าขยี้ปลายปากกานักเขียนการ์ตูนรายนั้นให้ปิดฉากไปเรียบร้อยแล้ว
 
ปูผัดผงกะหรีี่เกี่ยวอะไรด้วย?
 
เมื่อวาทะ "กะหรี่แค่ขายตัว แต่หญิงชั่วเร่ขายชาติ" ได้กลายเป็นคำพูด "โดนใจ" สลิ่มเหลืองอย่างแรงส์ ไม่นานนักก็เกิดกระบวนการ "แถต่อ" ด้วยการขยายความและคำที่เกี่ยวข้องกับ "กะหรี่" โดยนำมาจับคู่กับ "นายกปู" แตกออกไปอีกหลายวาทะหลากเว็บเพจ
 
ประเด็นฮือฮาที่สุดมีอยู่สองประเด็น ประเด็นแรกนั้นค่อนข้างต่ำหยาบโลน ผู้โพสต์ในเฟสบุ๊กมีสถานะทางสังคมเป็นถึงอดีตอาจารย์ด้านสื่อสารมวลชนของมหาวิทยาลัยชื่อดัง ทั้งยังเป็นเด็กบ้านสี่เสา อับจนปัญญาล้วงมาเล่นเรื่องใต้สะดือ ในทำนองให้ผู้อ่านร่วมชิงโชค (ซ้ำอ้างว่าเป็นรางวัลจาก "โออิชิ") หากใครตอบคำถามลามกจกเปรตของเขาได้ (หมายเหตุมันหยาบคายเกินกว่าจะนำคำถามมาเผยแพร่ในพื้นที่สาธารณะเช่นนี้)
 
ผลปรากฏว่า มีผู้โยนก้อนหินเข้ามาถล่มทลาย มากกว่าหยิบยื่นดอกไม้ โดยเจ้าของเพจไม่รู้หนาวรู้ร้อนเพราะได้บำบัดความใคร่ทางอารมณ์สมใจอยากไปแล้ว
 
ทิ้งปริศนาให้คนทั่วไปสงสัยใน "ตรรกะวิบัติ" ที่ว่า นิยามของคำว่า "กะหรี่" นั้นตกลงหมายถึงอะไรกันแน่ เป็นอาชีพหนึ่งของผู้หญิงขายบริการทางเพศ หรือว่าหมายถึง "การเสียตัวเสียสาวให้กับผู้ชาย"
 
หากเจ้าของเพจจักยืนยันว่าการใช้คำ "กะหรี่" ในกะทู้ที่ตั้งไว้หมายถึงประการหลัง ถ้าเช่นนั้นผู้หญิงทั้งโลกที่เคยมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่ากับใครก็ตาม ทั้งรัก-ไม่รัก ก่อนแต่ง-หลังแต่ง มิต้องกลายเป็น "กะหรี่" กันถ้วนหน้าดอกรึ
 
มาถึงประเด็นที่สองร้อนแรงไม่แพ้กัน นั่นคือการโพสต์ภาพอาหาร "ปูผัดผงกะหรี่" ว่อนเน็ตแล้วมีข้อความว่า "เมนูเด็ด" ที่นายกฯ และสมุนเพื่อไทยคงแสลงใจไม่อยากกิน
 
เป็นการดึงเอาคำว่า "ปู" กับ "กะหรี่" มาผสมกันเชิงสัญลักษณ์ที่ดูเหมือนว่าน่าจะลงตัวโหนกระแสได้ในระดับหนึ่ง แถมยังทิ้งท้ายว่า "กะหรี่นี่กลิ่นแรงจริงๆน่าจะดับคาวปูได้"
 
ทว่ากลับกลายเป็นกะทู้ที่สร้างความสับสนให้แก่ผู้กดแชร์ พลอยหลงเข้าใจตามไปว่า "กะหรี่ "ทั้งสองคำนั้นมีรากที่มาจากคำเดียวกัน
 
อันคำว่า "กะหรี่" ที่หมายถึงโสเภณีกับ "กะหรี่" ที่เป็นเครื่องเทศของอินเดียนั้นมันคนละความหมายกันโดยสิ้นเชิงแน่ล่ะ ด้วยข้อจำกัดของการแปล-แปลง-และแปรเป็นภาษาไทยอาจทำให้มันกลายเป็นคำที่พ้องทั้งรูปและเสียงกันโดยบังเอิญ
 
กะหรี่คือ"ช็อกการี"ไม่ใช่"Curry"
 
แกงกะหรี่หรือผงกะหรี่นั้น เป็นการเรียกทับศัพท์ภาษาเปอร์เซียนว่า "Kari" เป็นคำเดียวกันกับเคอร์รี่ (Curry) ในภาษาอังกฤษซึ่งก็แผลงมาจาก Kari เช่นเดียวกัน
 
แต่พอภาษาอังกฤษแปล Kari เป็น Curry ความหมายกลับไม่ใช่ชื่อเฉพาะกลายเป็นภาพรวมของเครื่องแกงทั้งหมดซึ่งก็ถูกต้องสำหรับความเข้าใจในสายตาชาวตะวันตกที่ไม่อาจแยกแยะความแตกต่างของเครื่องเทศระหว่างมัสมั่น กะหรี่ กุรุหม่าที่อิมพอร์ตจากโลกตะวันออก (ญี่ปุ่นเรียกคาเร) ฯลฯ
 
สรุปแล้ว "กะหรี่" ในความหมายของโสเภณีนั้นไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับแกงที่ใส่เครื่องเทศของอินเดีย-เปอร์เซีย
 
ถ้าเช่นนั้นจะเกี่ยวข้องกับเจ้าแม่กาลี Kali เทพีผู้โด่งดังของศาสนาฮินดูหรือไม่
 
Kali เป็นภาคหนึ่งของพระนางอุมาผู้เป็นชายาของพระอิศวร (พระศิวะ) เทพเจ้าแห่งการทำลายล้างหนึ่งในเทพเจ้าสูงสุดของฮินดู (ตรีมูรติ)
 
โดยพระนางอุมานั้นมีหลายภาคหรือหลายปางแล้วแต่สถานการณ์จะกำหนด ปางสง่างามยามปกติเรียก "อุมา" ปางรักเด็กเรียก "ปารพตี" (คล้ายมาดอนนาของศาสนาคริสต์) ปางเสน่หาในตัวสวามีเรียก "สตี "ปางปราบอสูรเรียก "ทุรคา "และปางล้างโลกเรียก "กาลี"
 
กาลีเมื่อแปลตรงตัวก็หมายถึงผู้มีอำนาจเหนือกาลเวลา มักทำเป็นรูปเคารพในลักษณะเปลือยผิวกายดำ น่าสยดสยอง ในมือถือหัวอสูรที่นางกาลีต้องดื่มโลหิตให้หมด เพราะหากเลือดอสูรหยดลงสู่พื้นดินแม้เพียงหยาดเดียวอสูรก็จักหวนกลับมาบังเกิดใหม่ในโลก ส่งผลให้นางทุรคาต้องเหนื่อยคอยปราบอีก
 
บางคนสันนิษฐานว่า ที่มาของคำว่า "กะหรี่ "อาจเป็นคำเดียวกันกับ "กาลี "ใช่หรือไม่
 
เจ้าแม่กาลีที่ชาวฮินดูเคารพกันนั้น แท้คือสัญลักษณ์ของการป้องกันภูติผีปีศาจ หาใช่สัญลักษณ์ของ "หญิงโหดโฉดช้า" ไม่
 
และความหมายที่แท้จริงของหญิงขายบริการนั้น ก็ถูกเรียกว่า "หญิงงามเมือง" หรือ "หญิงนครโสเภณี" อันเป็นความหมายที่แตกต่างจาก "กาลี" โดยสิ้นเชิง
 
เป็นอันว่า "กะหรี่" นอกจากจะไม่ใช่ "Kari" แล้วยังไม่เกี่ยวข้องกับ "Kali" อีกด้วย
 
ถ้าเช่นนั้น "กะหรี่" มาจากไหน ข้อสันนิษฐานที่ราชบัณฑิตท่านหนึ่ง อ.จำนงค์ ทองประเสิรฐ เสนอไว้เห็นว่าน่าจะแผลงมาจาก"ช็อกกะรี" ของภาษาฮินดีที่ใช้เรียกเด็กผู้หญิงว่า "โฉกกฬี" (Chokari) และเรียกเด็กผู้ชายว่า"ช็อกกะรา"หรือ "โฉกกฬา" (Chokara)
 
การเรียกหญิงโสเภณีว่า "โฉกกฬี" หรือ "ช็อกกะรี" นั้นน่าจะเป็นทำนองเดียวกันกับที่มีการเรียกหญิงบริการอย่างหยอกเย้าว่า "อีหนู" นั่นเอง
 
จากโรง "รับจ้างทำชำเราแก่บุรุษ" ถึงวาทกรรม "กะหรี่ "กับ "การเมือง"
 
คำเรียก "อีหนู" ด้วยคำว่า "โฉกกฬี" หรือ "ช็อกการี" แล้วแผลงเป็น "กะหรี่" ในภาษาไทยนั้นมาได้อย่างไร และมีตั้งแต่เมื่อไหร่ ยังไม่มีนักภาษาศาสตร์คนไหนระบุคำตอบแน่ชัด แต่คิดว่าไม่เกินศตวรรษที่ผ่านมา
 
ทว่าเรื่องราวของ "หญิงนครโสเภณี" นั้นปรากฏขึ้นบนแผ่นดินสยามนานเกือบ 600 ปีแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ดังระบุไว้ในกฎหมายตราสามดวงได้กล่าวถึง "หญิงนครโสเภณี" หลายตอน
 
อาทิ ระบุว่าหญิงนครโสเภณีนั้นถือเอาเป็นพยานเวลาขึ้นศาลมิได้ มีค่าเทียบได้กับคนหูหนวก คนตาบอด  เป็นโจร คนเป็นนักเลงบ่อนเบี้ยเลยทีเดียว พูดให้ง่ายก็คือ คนชายขอบดีๆ นี่เอง 
 
หรืออีกแห่งกล่าวถึง
 
"มาตราหนึ่ง ชายใดสู่ขอเอาหญิงคนขับคนรำ เที่ยวขอทานเลี้ยงชีวิตแลหญิงนครโสเภณีมาเลี้ยงเป็นเมียทำชั่วเหนือผัวก็ดี ทำชู้เหนือผัวก็ดี ผัวรู้ด้วยประการใดๆ พิจารณาเป็นสัจไซร้ ท่านให้ผจาน (ประจาน) หญิงชายนี้ด้วยไถนา ส่วนหญิงอันร้ายนั้นใ ห้เอาเฉลวปะหน้า ทัดดอกชบาแดงทั้งสองหู ร้อยดอกชบาแดงเป็นมาลัยใส่ศีรษะ แล้วให้เอาหญิงนั้นเทียมแอกข้างหนึ่ง ฝ่ายชายเทียมแอกอีกข้างหนึ่ง ผจานด้วยไถนาสามวัน ถ้าแลชายผัวผู้นั้นยังรักเมียอยู่ มิให้ผจานไซร้ ท่านให้เอาชายชู้ผัวนั้นเข้าเทียมแอกข้างหนึ่งหญิงข้างหนึ่ง อย่าให้ปรับไหมชายชู้นั้นเลย"
 
เห็นได้ชัดว่าตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว "สถานะทางสังคม" ของหญิงขายบริการนั้น ถูกกดขี่เหยียดหยามให้กลายเป็นพลเมืองชั้นล่างสุดแม้แต่ "เมื่อริจะมีรักมีผัวเป็นตัวเป็นตน" วิถีชีวิตก็ไม่อาจดำรงได้อย่างปกติ ธรรมดากลับถูกจับผิดทุกฝีก้าว ห้ามทำอะไรตามใจตัวเอง ต้องทนเป็นทาสผัวทั้งชีวิต ว่างั้นเถอะ
 
ในจดหมายเหตุของราชทูต เดอ ลาลูแบร์ สมัยสมเด็จพระนารยณ์ ช่วงอยุธยาตอนปลาย พรรณนาถึงที่ตั้งโรงหญิงนครโสเภณี ว่ามีหลักแหล่งอยู่นอกเขตพระนคร คือที่ท้ายตลาดบ้านจีน ปากคลองขุนละครไชยมีโรงหญิงนครโสเภณีตั้งอยู่ถึง 4 โรง ประกาศชื่อหน้าโรงว่า "รับจ้างทำชำเราแก่บุรุษ" โรงเหล่านี้ต้องจ่าย "อากรโสเภณี "ส่งคลังหลวงทุกปี  แสดงว่ามีลูกค้าและรายได้ดีมาก ข้อสำคัญเป็นกิจการที่ถูกต้องตามกฎหมาย
 
ล่วงมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ หลังจากเก็บกิน "อากรโสเภณี" สืบเนื่องต่อจากสมัยอยุธยากันจนเป็นล่ำเป็นสันแล้ว นโยบายเกี่ยวกับการค้าประเวณีของไทยก็เพิ่งจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะในสมัยรัชกาลที่ 5 ตามรูปแบบที่รับอิทธิพลมาจากสังคมตะวันตก ภายใต้ชื่อ "พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรครัตนโกสินทร์ศก 127" มีสาระสำคัญอยู่ 5ข้ อหลักๆ คือ
  1. หญิงนครโสเภณีให้เป็นได้แต่โดยใจสมัคร ใครจะบังคับหรือล่อลวงมามิได้
  2. ต้องเสียค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตราคาสิบสองบาท มีอายุสามเดือนต่อใบ (ถือว่าแพงลิบลิ่วมากในสมัยนั้น)
  3. นายโรงหญิงนครโสเภณี (ที่ต่อมานิยมเรียกว่า "แม่เล้า") ต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการดูแลกันเอง
  4. หญิงนครโสเภณีต้องไม่สร้างความรำคาญวุ่นวายแก่บุคคลภายนอก เช่น ฉุดลาก ยื้อแย่ง ล้อเลียน เป็นต้น
  5. เจ้าพนักงานมีอำนาจเข้าไป เพื่อนำสมาชิกมาตรวจ ถ้าพบโรคก็ให้ส่งไปรักษาจนกว่าจะหาย แลอาจเพิกถอนหรือสั่งพักใช้ใบอนุญาต (น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของแมงดา?)
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ พ.ศ. 2492 ยุคจอลพลสฤษฏิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา รัฐบาลไทยได้ประกาศห้ามจัดตั้งสำนักโสเภณีอย่างเด็ดขาดตามแนวคิด "คืนคนดีศรีสังคม" เดินตามรอยองค์การสหประชาชาติซึ่งไทยก็เป็นรัฐภาคีแห่งอนุสัญญานี้
 
สุดท้ายนครโสเภณี ซึ่งแปลตรงตัวว่า หญิงงามเมือง หรือ หญิงผู้ทำเมืองให้งาม แต่นิยมเรียกสั้นๆ ว่า "โสเภณี" นั้นได้สูญหายไปจากสังคมไทยเพราะเป็นอาชีพที่ผิดกฎหมาย
 
จาก "หญิงงามเมือง" ปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนคำเรียกตามสมัยนิยมในยุคที่มีการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ให้ทุกๆ อาชีพนั้นมีศักดิ์ศรีทัดเทียมกันจนกลายเป็น" ผู้ประกอบอาชีพขายบริการ" แม้ต้องอยู่ในสภาพแบบลับๆล่อๆ ก็ตามที
 
แต่วันดีคืนดี ก็ยังมีคนชอบแอบเกาะชายประโปรงของพวกเธอ ด้วยการขุดเอาสรรพนามที่แฝงไว้ซึ่งอาการเสียดเย้ยแสร้งมาตีวัวกระทบคราด เปรียบเปรยว่าพวกเธอยังมีคุณค่าสูงส่งกว่่านักการเมืองหญิงบางคน
 
...โคมเขียว กะหรี่ อีตัว อีหนู ดอกทอง ชื่อเรียกแต่ละคำ ล้วนเป็นภาพสะท้อนถึง "ระดับจิต" ของผู้เปล่งถ้อยเหล่านั้นชนิดล่อนจ้อนว่าเขาเป็นคนระดับไหน
 
 
 
 
 
ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ 17 พค.56 ปริศนาโบราณคดีตอนที่ 130
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ญาติเหยื่อ เม.ย.-พ.ค.53 ทำบุญครบ 3 ปี ราชประสงค์เสื้อแดงชุมนุมคึกคัก

Posted: 18 May 2013 11:49 PM PDT

ตอนสายของวันนี้ (19 พ.ค.56) ที่เกาะกลางถนนพระราม 1 หน้าวัดปทุมวนาราม กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมทางการเมือง เม.ย.-พ.ค.2553 ร่วมกันจัดพิธีทำบุญครบรอบ 3 ปีให้กับผู้เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุมในเดือน เม.ย.และ พ.ค.53 นำโดยนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาซึ่งถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนารามในตอนเย็นของวันที่ 19 พ.ค.53

พิธีเริ่มขึ้นในเวลา 10.00 น.เศษ โดยมีพิธีสงฆ์ และการถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ มีการนำภาพถ่ายของผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมมาตั้งบนเวทีที่จัดงาน และมีกลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งมาร่วมพิธี รวมทั้ง น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก และ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยซึ่งเดินทางมาร่วมพิธีด้วย

 

 

 

ทั้งนี้ ในเวลา 16.00 น.จะมีการแถลงข่าวของกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมทางการเมือง เม.ย.-พ.ค.2553 ต่อสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ ถึงจุดยืนของกลุ่มญาติต่อฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนางพะเยาว์กล่าวว่า จะมีการแถลงเพื่อแสดงจุดยืนของกลุ่มญาติต่อ ร่าง พรบ.ปรองดองแห่งชาติ ที่นำเสนอโดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ด้วย ส่วนรายละเอียดนั้นขอให้ผู้สื่อข่าวติดตามฟังจากการแถลงข่าวในเวลา 16.00 น.

สำหรับความคืบหน้าคดีการเสียชีวิตของ น.ส.กมนเกด นางพะเยาว์กล่าวว่า ในวันที่ 6 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ จะมีการเบิกตัวนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) มาให้การกับศาลที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ส่วนการเคลื่อนไหวอื่นๆ ของกลุ่มญาติ นางพะเยาว์กล่าวว่า จะเดินหน้าเรียกร้องให้ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมในเดือน เม.ย.และพ.ค.53 ได้รับการเยียวยาทั้งหมด

ในขณะที่บรรยากาศบริเวณสี่แยกราชประสงค์ในช่วงก่อนเที่ยง คนเสื้อแดงจากจังหวัดต่างๆ ทยอยเดินทางมารวมตัวกันหนาแน่นจนเต็มถนนราชดำริ ฝั่งด้านหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ มีการตั้งเวทีขนาดใหญ่ที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ บรรยากาศในช่วงก่อนเที่ยงท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวเป็นไปอย่างคึกคัก

 

การแถลงจุดยืนของกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมทางการเมือง เม.ย.-พ.ค.2553
 เนื่องในโอกาสครบรอบ 3 ปีของเหตุการณ์

วันที่ 19 พฤษภาคม 2556

 

เนื่องด้วยเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 10 เมษายน -19 พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมาเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 91 ศพ บาดเจ็บร่วม 2000 คน ข้าพเจ้าคือกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตส่วนหนึ่งจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ร่วมประชุมและหารือกัน แล้วได้จัดเป็นถ้อยแถลงออกมาเป็นแถลงการณ์ฉบับนี้ เพื่อที่จะแสดงจุดยืนของญาติผู้เสียชีวิต เนื่องในโอกาสครบรอบ 3 ปีของเหตุการณ์ โดยมีจุดยืนทั้งหมด 3 ข้อ ดังนี้

 

1)    ขอให้ดำเนินการเร่งสืบสวนสอบสวนคดีที่ยังติดค้างอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อให้มีการก้าวไปสู่การดำเนินการในชั้นศาล เพื่อที่จะได้ไปสู่การหาผู้กระทำความผิดโดยเร็ว เนื่องจากผ่านมาเป็นเวลา 3 ปีเต็มแล้ว หลายๆ คดียังไม่คืบหน้าไปไหน เป็นที่ทุกข์ใจของญาติผู้เสียชีวิตไม่น้อย จึงขอให้เร่งจัดการในการดำเนินการในชั้นพนักงานสอบสวนเพื่อความจริงจะได้ปรากฏเร็วขึ้น

 

2)    ขอให้ทางรัฐบาลโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กระทรวงการต่างประเทศ เร่งดำเนินการลงนามตามขอบเขตศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เพราะเหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่มีหลักฐานชัดเจนว่ารัฐบาลที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ทำการสั่งการให้ใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธสงครามครบมือ เข้าสลายการชุมนุมหรือที่ทั่วโลกต่างเห็นพ้องต้องกันว่า นี่คือการฆาตกรรมหมู่ประชาชนใจกลางเมือง แม้แต่อาสาพยาบาล ผู้สื่อข่าว และผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องทางการเมือง ต่างก็มาเสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทางกลุ่มญาติจึงเห็นตรงกันว่าควรจะนำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อไม่ให้ผู้นำทุกประเทศทั่วโลกดูเป็นตัวอย่างว่าไม่ควรที่จะดวงตามืดบอด เพราะหวงแหนอำนาจจนถึงขั้นฆ่าประชาชนในชาติตนเองที่เห็นต่างจากตน

 

3)    ทางกลุ่มญาติมิได้นิ่งนอนใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเหลือประชาชนที่ถูกจับกุมคุมขังตามเรือนจำต่างๆ โดยทางญาติได้ทำการตกลงและเห็นพ้องต้องกันว่า ทางกลุ่มญาติจะสนับสนุน พรก.นิรโทษกรรมประชาชน ของนายวรชัย เหมมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย เพราะจะเป็นการนิรโทษเฉพาะประชาชนโดยไม่เกี่ยวกับฝ่ายการเมืองและผู้สั่งการให้ฆ่าประชาชน เพราะประชาชนต่างเป็นเหยื่อทางการเมืองด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคนสีเสื้ออะไร แต่ทุกคนก็คือประชาชน พวกเราจึงสนับสนุนให้ พรก.ฉบับนี้ออกมาโดยเร็วเพื่อช่วยประชาชนที่ถูกจองจำจากเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ ได้ออกมา พบญาติพี่น้องและแสดงสิทธิของความเป็นประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศ

 

ทั้ง 3 ข้อเสนอดังกล่าว ทางกลุ่มญาติหวังว่า จะได้เห็นการตอบรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทำให้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนโดยเร็ว ขอให้เป็นของขวัญให้กับทางกลุ่มญาติในวาระครบ 3 ปีของเหตุการณ์ ทางเรารู้ว่าเราไม่มีทางร้องขอให้ท่านนำชีวิตและเลือดเนื้อของญาติพี่น้องของเราที่เสียชีวิตไปกลับคืนมาได้ แต่ก็อยากให้ท่านเห็นใจคนที่ยังอยู่ว่า ทุกคนต่างมีความหวังว่าญาติพี่น้องของพวกเราที่เสียชีวิตไปจะได้ตายตาหลับ ถ้าได้รับรู้ว่าผู้ที่ทำการสั่งฆ่าพวกเค้านั้นได้รับโทษทัณฑ์จากการสั่งฆ่าประชาชนตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด แต่ถ้าเหตุการณ์ไม่ได้เป็นอย่างที่พวกเราตั้งใจไว้ ไม่ได้เป็นอย่างที่ควรจะเป็น ชีวิตของญาติพี่น้องที่สูญเสียไปรวมถึงชีวิตของพวกเราก็คงไม่ต่างอะไรกับ "เศษเนื้อ...ทางการเมือง" ชิ้นหนึ่งที่มีไว้เพื่อเซ่นสังเวยให้กับผู้ที่กระหายอำนาจและการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองเท่านั้นเอง ไม่ได้มีความหมายอะไรในสายตาของพวกท่าอย่างที่พวกท่านเคยบอกไว้เลยแม้แต่น้อย สุดท้ายอยากจะฝากประโยคบางประโยคไว้เตือนใจผู้นำที่มีอำนาจทั้งหลายว่า "ถ้าท่านทำงานเพื่อชาติ ก็จงอย่าแสวงหาอำนาจเพื่อตัวเอง"

 

ด้วยความเคารพอย่างสูง

กลุ่มญาติฯ เมษา-พฤษภา 53

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทแทรก | 23 เมษายน 2553

Posted: 18 May 2013 10:39 PM PDT

ขออนุญาตพึมพำต่อสถานการณ์บ้านเมืองสักครั้งเถอะครับ ก่อนอื่นต้องสารภาพว่าผมหม่นหมองหดหู่จนไม่เป็นอันทำการทำงานอะไรได้อย่างมีสมาธิเหมือนเดิม

โดยส่วนตัว ผมเห็นว่าข้อมูลข่าวสารที่เรารับรู้รับทราบกันนั้น เอาเข้าจริงก็แตกต่างห่างไกลตามระดับความใส่ใจใคร่รู้ข้อเท็จจริงของแต่ละคน อย่างปฏิเสธไม่ได้

ยังไม่ต้องพูดถึงว่า ในหมู่ผู้ขัดแย้งทั้งหลาย ต่างก็นิยมใส่ร้ายป้ายสี หรือตีความเรื่องนั้นเรื่องนี้เพื่อชี้ชวนให้มวลชนเข้าร่วมสมทบส่วนความเชื่อกับฝ่ายตนด้วยกันแทบทั้งนั้น

แถมถ้อยวาจาที่ต่างใช้สื่อสารก็ปนเปื้อนไปด้วยความโกรธความชังเป็นเจ้าเรือน

ผมยังอยากอนุญาตให้ตนเองเชื่อว่า ผู้คนส่วนใหญ่ในบ้านเมืองของเรา ไม่วิกลจริตพอที่จะไม่รู้ร้อนรู้หนาว หรือสบายใจต่อเหตุการณ์ที่ดำเนินมาจนกระทั่งมีความตายเพิ่มขึ้นอีกบนถนนสีลม

อย่างไรก็ตาม ผมยังไม่พร้อมประณามฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ตราบเท่าที่ยังไม่พบความแน่ใจว่าใครเป็นผู้กระทำการสามานย์ดังกล่าว และถ้าจะพูดกันอย่างถึงที่สุด ก็มิใช่ต่อเฉพาะกรณีนี้เท่านั้น หากหมายรวมถึงทุกเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผู้กระทำแลเห็นชีวิตผู้ร่วมชุมนุม เป็นเครื่องเซ่นสังเวยบนจังหวะก้าวแห่งกลเกมส์

ผมไม่อายที่จะเรียนให้ทราบ ว่าเพิ่งปาดน้ำตาเป็นรอบที่สองในเดือนเมษายนปีนี้ ความตายแห่งราชดำเนินและสีลมสำหรับผม แม้ดูเหมือนผู้จากไปจะสังกัดกันคนละฝ่าย หากท้ายที่สุดแล้ว ผมยังคงเห็นท่านผู้วายชนม์ทั้งหลายต่างเป็นพี่น้องร่วมสายพันธุ์เดียวกัน!

ถามว่า ผมปรารภเรื่องนี้ขึ้นมาทำไม?

ตอบได้ว่า เพราะผมยังคงเชื่อมั่นในสามัญสำนึกของเพื่อนพี่น้องทั้งหลายอยู่ครับ และเชื่อว่าเรามีศักยภาพมากพอที่จะช่วยกันคนละไม้ละมือ อย่างน้อยก็เพื่อฉุดรั้งมิให้สถานการณ์ก้าวรุดไปสู่จุดหายนะที่รออยู่ข้างหน้าตามปรารถนาของอมนุษย์ทุกฝ่าย

แล้วเราจะทำอะไรกันได้บ้าง?

ผมใคร่เรียนเชิญทุกท่านให้เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป! ด้วยหลักคิดสองสามประการเท่านั้น กล่าวคือ เราจะเตือนตนเองอยู่ทุกขณะจิตที่จะไม่ผลิตความชังลงสู่สังคมไทย ไม่ว่าด้วยรูปแบบใดหรือกรณีไหนทั้งสิ้น และจะไม่ด่วนพิพากษาตัดสินฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดโดยไม่มีประจักษ์พยานหลักฐานชี้ชัดมากพอ รวมทั้งระมัดระวังอย่างยิ่งยวดที่จะไม่ยุงยงส่งเสริมให้ใครก้าวเดินไปบนถนนแห่งความมืดบอด

ต้องขออภัยท่านทั้งหลายด้วยครับที่อาจทำให้เครียดเพิ่มขึ้น.

23 เมษายน 2553

 

 

ที่มา:  Vieng-Vachira Buason

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: 3 ปีพฤษภาเลือด เสียงจากนักโทษการเมือง (ที่ไม่ได้มาร่วมรำลึก)

Posted: 18 May 2013 10:19 PM PDT

 

ในวาระครบรอบ 3 ปี การสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง ประชาไทถือโอกานี้สะท้อนเสียงของนักโทษการเมืองที่ยังอยู่ในเรือนจำ ทั้งเรือนจำโรงเรียนตำรวจหลักสี่ที่นับว่าเป็น "คุกการเมือง" และเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครที่ผู้ต้องขังตามมาตรา 112 ทั้งหมดยังอยู่ที่นั่น

 

เอกชัย (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 อดีตคนขายหวยออนไลน์คนนี้เริ่มสนใจการเมืองหลังเกิดการรัฐประหาร เขาถูกจับกุมและแจ้งข้อหานี้เนื่องจากนำซีดีสารคดีการเมืองไทย จัดทำโดยสถานีโทรทัศน์เอบีซี ประเทศออสเตรเลีย  และเอกสารวิกิลีกส์ฉบับภาษาไทยไปขายในที่ชุมนุมของกลุ่มแดงสยาม หลังจากนอนคุกไม่กี่วันและได้รับการประกันตัว เขาออกมาทำงานที่เกี่ยวข้องกับข่าวสารข้อมูลคนเสื้อแดง โดยเฉพาะในระยะหลังเขาได้สัมภาษณ์ผู้ต้องขังหลายคนเพื่อจัดทำประวัติชีวิตของนักโทษการเมือง ขณะนี้คดีของเขาอยู่ระหว่างอุทธรณ์ :

ในโอกาสที่ครบ 3 ปีเหตุการณ์นองเลือด เราจะเห็นว่าผลกระทบที่เกิดกับคนเสื้อแดงโดยเฉพาะคนที่ตกเป็นผู้ต้องหาอยู่ในเรือนจำเขาประสบความยากลำบาก ส่วนใหญ่ที่ยังเหลืออยู่เป็นโทษหนัก สิ่งที่พวกเขาหวังมากที่สุดตอนนี้คือ การประกันตัว เท่าที่เคยสัมภาษณ์พวกเขา เขาเห็นว่าการประกันตัวอาจเป็นไปได้ยาก จึงหวังการนิรโทษกรรม หลายคนยืนยันว่าไม่ได้ทำผิด เช่น เพชร แสงมณี (คนกัมพูชา) ที่เดินเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์พอดี ตอนนี้อัยการก็อุทธรณ์อยู่ อยากให้พรรคเพื่อไทยผลักดันเรื่องนี้ เพราะเป็นหนทางเดียวที่พวกเขาจะได้ชีวิตปกติสุขกลับคืน ได้กลับไปอยู่กับครอบครัว แต่พวกเขาก็ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมแบบเหมายกเข่ง

ในเรื่องความช่วยเหลือ เราจะเห็นชัดเจนว่าช่วงปี 53 นี่ย่ำแย่ ไม่เวิร์ค เรียกว่า กนห. หรือ แกนนำหาย ตอนนั้นเป็นรัฐบาลอภิสิทธิ์ด้วย ไม่มีใครยื่นมือเข้าช่วย พวกที่อยู่ในเรือนจำโดนรังแกสารพัด ไม่มีใครเหลียวแล แต่ปี 54 สถานการณ์ก็เริ่มดีขึ้น มีการย้ายเรือนจำ

 

สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์  ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ที่อายุมากที่สุดและเป็นโรคประจำตัวหลายโรค เขามีประวัติการต่อสู้ทางการเมืองมายาวนาน ได้รับฉายาว่า นักโทษคดีคอมมิวนิสต์คนสุดท้าย เขาหวนกลับมาสู่การเมืองใหญ่อีกครั้งหลังรัฐประหาร เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มแดงสยาม และถูกพิพากษาจาก 5 คดีซึ่งล้วนแต่เป็นการเดินสายปราศรัยเรื่องประชาธิปไตยกับคนเสื้อแดงในเวทีย่อยๆ คำพิพากษาจำคุกรวมแล้ว 12 ปีครึ่ง หากเขาต้องถูกจำคุกอีกครั้ง รวมกับในอดีตที่เคยถูกจองจำแล้วหลายครั้ง เท่ากับเขาใช้ชีวิตกว่า 30 ปีหรือ 1 ใน 3 ของชีวิตในเรือนจำ :

ทุกวันนี้เราเข้าใจแล้วว่า การต่อสู้ทางรัฐสภาชนะแล้วไม่จบ ดังนั้น เราก็ต้องรู้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน เราควรสรุปบทเรียนที่ผ่านมา อย่าอาย ถ้าที่สิ่งที่ทำที่ผ่านมามีความผิดพลาด ผมคิดว่าการต่อสู้ที่ผ่านมาไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ต้องรู้ว่าเรื่องนี้ต้องจบอย่างไรก่อน แล้วจึงค่อยกำหนดยุทธศาสตร์ ที่ผ่านมาเราค่อนข้างคิดว่าเลือกตั้งแล้วจะจบ มาวันนี้มีข้อสรุปชัดเจนว่าไม่ใช่ เราเตรียมแค่ต่อต้านรัฐประหารเท่านั้น แต่ไม่มีการเตรียมการต่อสู้เชิงรุก เมื่อเป็นรัฐบาลก็เดินไม่ถูก ไม่รู้จะเดินไปทางไหน

 

ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล  ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เขาถูกกล่าวหาเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์นปช.ยูเอสเอและถูกตัดสินจำคุก 13 ปี เขาเป็นคนชั้นกลางทั่วไปอีกคนหนึ่งที่เริ่มสนใจการเมืองไม่นานนัก มีทักษะหลายด้าน และเป็นผู้บุกเบิก มีบทบาทอย่างสูงในการต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนในเรือนจำ โดยเฉพาะประเด็น "การรับน้อง" สำหรับผู้ต้องขังคดีหมิ่นฯ ที่มักเกิดขึ้นเสมอ นอกจากนี้เขายังเป็นคุณพ่อใบเลี้ยงเดี่ยว ที่ลูกชายวัยสิบกว่าขวบต้องอยู่ในอุปการะของคนรู้จักยาวนาน :

สปีชนายกฯ ที่มองโกเลีย ผมได้อ่านครั้งแรก สิ่งแรกที่คิดในใจคือ เราจำเป็นต้องอยู่ในนี้กันถึง 3 ปีเพื่อให้ข้างนอกพูดคำนี้ได้ ผมรู้สึกว่าการช่วยเหลือนั้นทำได้ตั้งแต่แรกๆ ที่เป็นรัฐบาลด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรม แม้เวลานี้เราได้ขออภัยโทษแล้วก็ยังไม่ได้คำตอบอะไร แต่เมื่อไรที่มีกระแสปฏิวัติหรืออะไรก็ตามที่กระเทือนเสถียรภาพคุณก็ค่อยออกมาพูด

ผมอยากบอกประชาชนว่า แม้เรารักประชาธิปไตย แต่ไม่ต้องมีสีก็ได้ ผมไม่เหลือความภูมิใจในความเป็นคนเสื้อแดงแล้ว เราเหมือนถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ผมคิดอย่างนี้จริงๆ  อย่างปรีชา (สงวนนามสกุล) ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เขาโดนโทษจำคุก 30 กว่าปีกรณีขับรถชนตำรวจก็เหมือนกัน เขาก็เป็นคนเล็กๆ ที่แกนนำและมวลชนเสื้อเหลืองไม่สนใจแล้วเหมือนกัน ดังนั้น การจะเชื่อใครควรคิดให้ลึก อย่าเชื่อตามการปลุกกระแส เราไม่จำเป็นต้องลงทุนมากขนาดที่เอาอิสรภาพหรือชีวิตของเราไปแลกกับเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งเรามองไม่เห็นว่าความหมายคืออะไร ตอนนี้พ่อผมยังต้องวิ่งหาเงินห้าร้อน พันนึงเพื่อช่วยค่าเทอมลูกผม นี่คือประชาธิปไตยที่ผมได้รับ  ทุกวันนี้ผมไม่ได้เปลี่ยนจุดยืน ความคิด เพียงแต่หมดศรัทธากับกระบวนการที่ผ่านมา

 

สมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 นักต่อสู้สายแรงงานที่ผันตัวเองมาต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยเต็มตัวหลังรัฐประหาร เป็นแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ที่จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ มากมาย และเป็นบรรณาธิการ Voice of Taksin ซึ่งต่อมาโดนปิดและเปลี่ยนเป็น Red Power เขาถูกพิพากษาจำคุก 10 ปีจากการตีพิมพ์บทความ 2 ชิ้นซึ่งเขาไม่ได้เขียนในนิตยสาร ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ โดยเขาให้เหตุผลว่า "เพราะผมยังเชื่อในกระบวนการยุติธรรม"

สั้นๆ เลยคือ วันนี้คนเสื้อแดงยังขาดความมุ่งมั่นด้านประชาธิปไตย ความเป็นธรรมทางสังคม เพราะเล่นบทบาทเป็นหางเครื่องของพรรคเพื่อไทย ล้มเหลวในการนำทักษิณกลับบ้าน ทำไม? เพราะทักษิณก็เป็นส่วนหนึ่งของความไม่เป็นธรรมเช่นกัน ล้มเหลวในการปล่อยนักโทษการเมือง ความล้มเหลวนี้เกิดจากยังขาดความมุ่งมั่น ดูง่ายๆ การประกาศนโยบายที่โบนันซา 3 ข้อ ทั้งโหวตวาระ3 แก้รัฐธรรมนูญ การปล่อยนักโทษการเมือง การลงสัตยาบันศาลอาญาระหว่างประเทศ ทั้งหมดเงียบหายไป ไม่ทำต่อเนื่อง ทั้งหมดที่พูดนี้หมายถึงแกนนำ ซึ่งมีแนวโน้มพูดมากกว่าทำ

ส่วนมวลชนเห็นว่าควรรวมกันเป็นกลุ่มย่อย เป็นองค์กรอิสระที่สนใจมุ่งมั่นในประเด็นประชาธิปไตย และสนใจประเด็นความเป็นธรรมด้วย

 

เรือนจำหลักสี่

ทองสุข หลาสพ : พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ, พ.ร.บ. ควบคุมยุทธภัณฑ์, พาอาวุธไปในเมือง ศาลจำคุก 1 ปี 6 เดือน

3 ปีที่ผ่านมา คนที่เป็นเสื้อแดงมีหลายกลุ่มต่างๆ กันไป  ทำให้มีความขัดแย้งกันบ้าง ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปของขบวนการประชาชน หากเป็นไปได้ก็อยากให้ยึดถือแนวร่วมสำคัญที่ทำมาตั้งแต่ต้น คือการการเรียกร้องประชาธิปไตยเต็มใบ ต่อต้านรัฐประหาร และเรียกร้องให้องค์กรตุลาการมีความเป็นธรรมด้วย สิ่งที่อยากจะให้เกิดขึ้นต่อๆ ไปในขบวนการเสื้อแดงคือการเตรียมพร้อม รวมมวลชนเพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อเรื่องต่างๆ และต้องการให้กระจายความรู้เรื่องประชาธิปไตยสู่ชุมชน ให้ประชาชนมีความรู้การเมืองมากขึ้น แต่ไม่ใช่พูดความจริงด้านเดียว หรือพูดเข้าข้างใดข้างหนึ่ง แต่ควรสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนได้เห็นด้วยตัวเอง และตัดสินใจเลือกเองว่าจะมีทัศนคติทางการเมืองแบบใด เพราะประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องเห็นคล้อยตามกันหมด ขอเพียงเสียงส่วนน้อยยอมรับเสียงส่วนใหญ่ เสียงส่วนใหญ่เคารพเสี่ยงส่วนน้อยที่คิดต่าง สังคมก็จะก้าวหน้าไปได้

 

สนอง เกตุสุวรรณ  :  พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก่อความวุ่นวาย ทำให้เกิดเพลิงไหม้ (อุบลราชธานี)  ศาลอุทธรณ์ยืนจำคุก 33 ปี 12 เดือน

3 ปีแล้วที่เราไม่ได้รับความยุติธรรม ความเป็นธรรม ตั้งแต่การประกันตัว เราไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐานเลย ทำให้จิตใจพวกเราบอบช้ำ เราเป็นประชาชนอยากออกมาเรียกร้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เรียกร้องประชาธิปไตย เราไม่ได้กระทำความผิด

ที่ผ่านมาเราไม่เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เราน้อยใจกับกระบวนการยุติธรรม เราเรียกร้องประชาธิปไตยด้วยตัวเราเอง ถึงตอนนี้ให้ย้อนกลับไปอีกผมก็ต้องออกมาอีก ยังไงผมก็ต้องออกมาปกป้องประชาชน ถ้ายังมีการเข่นฆ่าประชาชนตาดำๆ ที่เขาออกมาชุมนุม ใครอยากเป็นรัฐบาลก็ควรใช้สติปัญญาของตัวเอง ไม่ใช่อาศัยการยึดอำนาจ

อยากให้แกนนำจริงใจกับคำพูดของเขา พูดแล้วทำจริง เราอยากเห็นรูปธรรม ส่วนรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ประชาชนเขาต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญ ก็ควรต้องผลักดันอย่างจริงจัง

สุดท้าย ขอให้มวลชนอดทนและเข้มแข็งในการต่อสู้ต่อไป หนทางยังอีกยาวไกลมากกับประชาธิปไตยที่แท้จริง คนข้างในส่งกำลังใจให้คนข้างนอกเสมอ ผมเชื่อว่าจิตใจเราเชื่อมโยงถึงกันได้

 

ปัทมา มูลนิล : พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก่อความวุ่นวาย ทำให้เกิดเพลิงไหม้ (อุบลราชธานี) ศาลอุทธรณ์ยืน จำคุก 33 ปี 12 เดือน

เรื่องนิรโทษกรรมเราพูดกันมานาน แต่เพิงมาเด่นชัดปี 56 นี้เอง เราจะเห็นความจริงใจกว่านี้ ไม่ใช่มัวรอจังหวะ แต่อย่างน้อยมันก็เกิดขึ้นแล้ว เราก็ยังรู้สึกมีความหวัง จากที่เคยสิ้นหวังมาโดยตลอด

รัฐบาลนี้มีคนเสื้อแดงอยู่ข้างหลัง คนเสื้อแดงสู้ให้ได้เลือกตั้ง เมื่อคุณมีโอกาสลงเลือกตั้ง คุณได้รับเลือกตั้ง คุณก็ควรทำเพื่อพวกเราบ้าง  เท่าที่ผ่านมาก็เห็นว่าพยายามทำเพื่อคนเจ็บคนตาย เราก็ขอบคุณแทนพวกเขา แต่เราอยากให้หันมองคนติดคุกด้วย เพราะเราออกมาสู้เพื่อให้การเมืองมันดีขึ้น ไม่ได้สู้เพื่อตัวเอง แต่ว่าก็ว่า เราสู้แทบตายสุดท้ายก็ยังไม่ได้ประชาธิปไตยจริงๆ

ถามว่าเข็ดไหมกับการเมือง คือ จริงๆ ก็ไม่อยากยุ่ง แต่ถ้าประเทศยังเป็นแบบนี้เราจะถอยได้ยังไง ถ้าประเทศมันเป็นประชาธิปไตยจริงๆ พวกเราก็ไม่ต้องติดคุก เราถึงต้องเดินต่อไป อย่างน้อยก็เพื่อคนรุ่นหลังจะได้ไม่ต้องออกมาสู้ มาเจ็บ ติดคุกกับเรื่องแบบนี้อีก

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: แล้ง

Posted: 18 May 2013 07:19 PM PDT

ลมแล้ง ระอุอั่ง ระบัดดอก  -ซ่านสีสันทะลัก ลิ่มเลือดไม่เหือดหาย แม้แสงสูรย์เพียรระเหิด เป็นผงเป็นหมอกเป็นไอ เพรียกหาสายฝนสนิทนิล หลั่งเทบอบเบา ก่อนกระหน่ำหนักหนัก หักปลิดใบปลดขั้วสรรพสี นานาปลิวล่องซบดินกัมปนาท แข่งท้าอสุนีบาตหลงฤดูฟาดซัด บนกองภูตผี ที่คุณขุดขึ้นมาโบยตีด้วยนัำลาย  จัดจ้าในตา อำมหิต สมคะเน.  19.5.13
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น