ประชาไท | Prachatai3.info |
- อ่านสารจาก BRN หลังเปิดฉากการพูดคุยเพื่อสันติภาพ
- กสทช. รอหนังสือจากเพื่อไทยก่อนพิจารณาช่องดาวเทียมด่านายก
- ข้อสังเกตต่อข้อสังเกต: วิจารณ์บทบรรณาธิการอิศรา "ได้เวลาทบทวนเจรจาโหมไฟใต้"
- แนวทางการพัฒนากฎหมายจักรยานของสหภาพยุโรป
- จดหมายเปิดผนึกถึง บรรณาธิการ มติชนรายสัปดาห์
- รมว.ไอซีทีระบุโพสต์ด่านายกผิดกฎหมายอาญา-ปิดเว็บ
- FT MEDIA: มูฮัมหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะกับคำพิพากษาว่าเป็น บีอาร์เอ็น
- สาเหตุที่ยูเนสโกยกประเทศคอสตาริก้าเป็นเจ้าภาพร่วมวันเสรีภาพสื่อโลกปี 2013
- คนพุทธปัตตานีประณามเหตุยิง 6 ศพ ยันหนุนเจรจาสันติภาพ แต่ขอที่ยืนบ้าง
- ‘จะถอนคดีไฟใต้ทั้งหมด’ อัยการสูงสุดชี้ช่องเดินคู่พูดคุยสันติภาพ
- เคลื่อนขบวนสู่หน้าทำเนียบ Pmove จี้ 2 ปี รัฐล้มเหลวแก้ปัญหาคนจน
- สุรพศ ทวีศักดิ์ : บทพิสูจน์ ‘ธรรมราชา’
- ประวิตร โรจนพฤกษ์: ใครอยากเห็น ชัย ราชวัตร ติดคุกบ้าง?
- มาเลเซียต่อแถวยาวรอเลือกตั้งวันนี้ - ฝ่ายค้านหวังให้กระบวนการมีความยุติธรรม
อ่านสารจาก BRN หลังเปิดฉากการพูดคุยเพื่อสันติภาพ Posted: 05 May 2013 09:27 AM PDT สหายท่านหนึ่งที่ติดตามกระบวนการสันติภาพอย่างใกล้ชิดเขียนเปรยว่าไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนจ้องล้มสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่มากขนาดนี้ ผู้เขียนเองก็เฝ้าติดตามการวิเคราะห์และความเห็นของนักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์ นายทหารและนักการเมืองหลายท่านในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่มีการลงนามเปิดฉากการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จึงอยากจะร่วมแสดงทัศนะและร่วมถกเถียงในคำถามที่ถูกตั้งขึ้นในพื้นที่สาธารณะดังนี้ บางท่านอธิบายว่าที่ความรุนแรงยังไม่ลดลงหรือหยุด แสดงว่าคุมกองกำลังไม่ได้ ผู้เขียนคิดว่าไม่มีการเจรจาสันติภาพที่ไหนในโลกที่เสียงปืนจะหยุดลงทันที หลังมีการตกลงว่าจะเริ่มพูดคุยกัน ซึ่งยังไม่ได้มีการเริ่มนับหนึ่งกันเลยว่าจะเจรจาเรื่องอะไรกันบ้าง แค่เป็นการตกลงเพียงว่าเราเลือกที่จะนั่งคุยกันมากกว่ารบกันด้วยอาวุธ (เพียงอย่างเดียว) ในการประชุมครั้งแรกในวันที่ 28 มีนาคม 2556 ทาง BRN ก็ไม่ได้รับปากว่าจะลดความรุนแรงกับเหยื่อที่เป็นเป้าหมายอ่อนแอและในเขตชุมชนเมืองตามที่รัฐบาลไทยร้องขอ เพียงแต่บอกว่าจะไปหารือกับ "สภา" ก่อน ในการพูดคุยรอบที่สองในวันที่ 29 เมษายน 2556 ทางด้านนายฮัสซัน ตอยิบ ตัวแทนหลักของฝ่าย BRNได้ยืนยันว่ามีสายการบังคับบัญชาถึงกลุ่มติดอาวุธที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ ซึ่งฝ่ายไทยก็ได้เรียกร้องให้มีการแสดงให้เห็นความสามารถในการควบคุมกองกำลังให้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งก็เป็นประเด็นที่จะต้องติดตามกันต่อไป บ้างเสนอว่าที่ BRN ออกมาตั้งเงื่อนไข 5 ข้อ ก็เพราะต้องการหาทางลง เป็น exit strategy เพราะคุมกองกำลังไม่ได้ ผู้เขียนคิดว่าการออกมาแถลงอย่างเป็นทางการครั้งแรกต่อสาธารณะของ BRN ผ่านทางยูทูปนั้นมีนัยที่สำคัญหลายประการ (ดูรายละเอียดที่ http://www.deepsouthwatch.org/node/4197) การมองว่าเป็นเพียงแค่ exit strategy นั้นเป็นการปฏิเสธที่จะไม่พิจารณาสิ่งที่เขาพูดอย่างจริงจังเพราะได้ปักใจไปแล้วว่าพวกเขาไม่มีทางเป็นตัวจริงไปได้ ในทัศนะของผู้เขียน สิ่งที่เห็นจากข้อเสนอของ BRN คือความรู้สึกไม่เชื่อใจฝ่ายที่พวกเขาเรียกว่า "นักล่าอาณานิคมสยาม" (ที่ขบวนการเรียกในภาษามลายูว่า penjajah Siam) ซึ่งฝังรากลึก (deep mistrust) กล่าวคือ ถ้าให้คุยกันสองต่อสองก็กลัวจะถูกหลอกหรือเบี้ยว จึงต้องการฝ่ายที่สามเข้ามาร่วมเป็นผู้ไกล่เกลี่ย (มาเลเซีย) และพยาน (อาเซียน โอไอซี เอ็นจีโอ) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่ากระบวนการนี้จะไม่เป็นการปิดประตูตีแมวของฝ่ายไทย นอกจากนี้ เป็นที่ชัดเจนว่าทางฝ่าย BRNได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์จากการเคลื่อนไหวด้วยอาวุธใต้ดินมาสู่การพูดคุยแบบเปิดเผยทั้งบนโต๊ะเจรจากับคู่ขัดแย้งและกับกลุ่มผู้สนับสนุนของพวกเขาเอง นี่เป็นนิมิตรหมายที่ดีที่จะเป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้มีการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี หากเราเลือกที่จะคุยกันเพื่อแก้ปัญหามากกว่าฆ่ากัน นั่นก็นับได้ว่าเป็นพัฒนาการทางบวกที่สำคัญมากอย่างหนึ่งแล้ว บ้างว่าฝ่าย BRN กำลังแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวกลายเป็นผู้มายื่นข้อต่อรองกับรัฐไทย ผู้เขียนคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ในเวทีการต่อรอง ทั้งสองฝ่ายก็ย่อมมีสิทธิที่จะยื่นข้อเสนอให้กับคู่ขัดแย้งพิจารณา ซึ่งในที่สุดเราปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมแวดล้อมก็ต้องมีส่วนร่วม ไม่ใช่เรื่องของผู้แทนบนโต๊ะเจรจาเท่านั้น สิ่งที่เห็นคือฝ่าย BRN เองกำลังพยายามสร้างความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้สนับสนุน (constituents) ของพวกเขาเอง ซึ่งบางคนในขบวนการก็ยังคลางแคลงหรือกระทั่งปฏิเสธการพูดคุยนี้ ฉะนั้น พวกเขาจึงจำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่าได้ยื่นเงื่อนไขที่หนักแน่นไปกับรัฐบาลไทยและที่ต้องเลือกใช้วิธีการพูดแบบเปิดเผยในที่สาธารณะก็เพื่อให้สารนั้นส่งไปถึงคนในทุกระดับของขบวนการ สิ่งที่ทั้งฝ่ายไทยและ BRN ต้องทำงานอย่างหนักในช่วงนี้คือการทำอย่างไรให้คนในฝ่ายของตัวเองที่ยังไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้และมีแนวโน้มว่าจะกระทำการใดๆ ที่เป็นอุปสรรคหรือขัดขวางกระบวนการนี้ (ในภาษาอังกฤษเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า spoilers) ให้เปิดใจรับฟัง น่าสังเกตว่า BRN ไม่ได้ปฏิเสธข้อตกลงที่ว่าการเจรจาในครั้งนี้อยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งหมายถึงพวกเขามีแนวโน้มว่าจะไม่ได้เอกราชตามเป้าหมายสูงสุดที่ตั้งไว้ ฉะนั้น จะเรียกว่าเป็นท่าทีที่แข็งกร้าวก็คงจะไม่เชิง สิ่งที่พวกเขาพูดนั้นมีนัยของความพยายามที่จะประนีประนอมและพร้อมที่จะหาทางออกร่วมกันอยู่มากทีเดียว ถ้าให้มาเลเซียเป็นผู้ไกล่เกลี่ย (mediator) และโอไอซี อาเซียนหรือเอ็นจีโอมาเป็นพยาน จะเป็นการยกระดับการเจรจาซึ่งเป็นสิ่งที่ทหารไทยกังวลมาโดยตลอดว่าอาจนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน ผู้เขียนคิดว่าการให้ประเทศที่สามหรือองค์กรระหว่างรัฐหรือเอ็นจีโอระหว่างประเทศเข้ามาร่วมเป็นคนกลางในสถานะต่างๆ ในกระบวนการสันติภาพนั้นอาจจะเป็นการยกระดับให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นสากลมากขึ้นจริง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนเสมอไป แต่ละความขัดแย้งมีบริบททางการเมืองที่แตกต่างกัน ไม่ใช่ทุกกรณีจะจบแบบติมอร์ตะวันออกที่มีการแยกประเทศออกไปจากอินโดนีเซียซึ่งนับว่าเป็นบทสรุปที่ยากที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน ควรกล่าวด้วยว่าเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ข้อเสนอนี้มีความชอบธรรมมากในสายตาของประชาคมโลกก็คือการปราบปรามอย่างรุนแรงโดยรัฐ กระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นในกรณีอาเจะห์ในอินโดนีเซียและมินดาเนาในประเทศฟิลิปปินส์นั้นนำไปสู่ข้อตกลงในการตั้งเขตปกครองพิเศษ ซึ่งนับได้ว่าเป็นชัยชนะของทั้งสองฝ่าย (win win) กล่าวคือ รัฐไม่เสียบูรณภาพแห่งดินแดน ส่วนฝ่ายขบวนการก็ได้รับอำนาจในการจัดการปกครองในพื้นที่ตามแบบที่พวกเขาต้องการมากขึ้น ในกรณีมินดาเนามีการเจรจาสองกรอบในต่างช่วงเวลา โอไอซีเป็น mediator ในการเจรจาระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่ม MNLF (Moro National Liberation Front) ในช่วงค.ศ. 1975 - 1996 ส่วนมาเลเซียเข้ามาทำหน้าที่นี้ในกรณีของ MILF (Moro Islamic Liberation Front) ซึ่งเริ่มต้นในค.ศ. 1997 แต่มาเลเซียเข้ามามีบทบาทในช่วงหลัง ค.ศ. 2001 เป็นต้นมาซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องของ MILF ฉะนั้นบทบาทของต่างประเทศหรือองค์กรที่สามเหล่านี้ไม่ได้เป็นเหตุให้นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนแต่อย่างใด พวกเขาอาจไม่ได้น่ากลัวอย่างภาพที่ทหารไทยวาดไว้กระมัง รัฐไทยไม่อาจทำตามเรื่องการปล่อยนักโทษคดีความมั่นคงทั้งหมดและผู้ที่มีหมายจับได้ ผู้เขียนคิดว่าฝ่ายการเมืองเอง (โดยหลักคือ สมช. และศอ.บต.) กำลังดำเนินการในเรื่องการอภัยโทษผู้ต้องขังและการล้างหมายจับบางส่วนเท่าที่อำนาจตามกฎหมายอนุญาตไว้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (capacity building) ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ควรสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกอาจจะยังคงมีท่าทีที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ แต่ว่าในที่สุดแล้ว ประเด็นนี้จะต้องเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐต้องจัดการอย่างเป็นระบบซึ่งต้องพัฒนาต่อไปอีกมากและต้องดำเนินไปพร้อมกับข้อตกลงในประเด็นอื่นๆ โดยหลักคือข้อตกลงเช่นนี้ต้องมาเป็นชุด (package) ไม่ใช่ข้อตกลงเดี่ยวๆ และน่าจะเกิดขึ้นในช่วงท้ายๆ ของการเจรจา ในทางวิชาการ ได้มีการพัฒนาทฤษฏีเรื่อง "การปลดอาวุธ การเลิกเคลื่อนไหวต่อต้านและการกลับคืนสู่สังคม" (Disarmament, Demobilization and Reintegration - DDR) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากภาวะของการความขัดแย้งด้วยอาวุธไปสู่ช่วงหลังความขัดแย้ง (post-conflict) ซึ่งในกระบวนการนี้ก็อาจรวมถึงการนิรโทษกรรมกลุ่มติดอาวุธด้วย ยังมีอีกหลายประเด็นที่ถกเถียงกันต่อไปได้ แน่นอนว่ายังมีข้อบกพร่องอีกมากและมีอีกหลายสิ่งที่ควรทำเพื่อให้กระบวนการนี้มีประสิทธิภาพและได้รับความเชื่อถือมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนเชื่อว่านักวิเคราะห์อิสระเรื่องภาคใต้ทั้งหลายอยากเห็นในตลอดเกือบสิบปีที่ผ่านมาก็คือ กระบวนการสันติภาพ ที่กำลังดำเนินอยู่นี้ไม่ใช่หรือ การวิจารณ์ใดๆ น่าจะเกิดจากเจตนาเพื่อให้กระบวนการนี้เดินไปได้โดยเป็นพื้นที่การต่อรองอย่างสันติที่มีความหมาย หลายข้อวิจารณ์ทำให้ผู้เขียนกังขาว่ามีเจตนาในการทำลายความชอบธรรมเพื่ออยากเห็นมันพังในเร็ววัน แล้วพวกเราก็กลับไปนั่งนับศพกันต่อไปกระนั้นหรือ รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช เป็นนักวิจัยที่ติดตามสถานการณ์ภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง เธอเป็นอดีตนักวิเคราะห์ของ International Crisis Group บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 6 พฤษภาคม 2556, หน้า 7 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กสทช. รอหนังสือจากเพื่อไทยก่อนพิจารณาช่องดาวเทียมด่านายก Posted: 05 May 2013 09:21 AM PDT กสทช. เผยยังไม่ได้รับหนังสือขอความร่วมมือมาจากทางพรรคเพื่อไทยเอาผิดกับช่องรายการในทีวีดาวเทียม ที่มีเนื้อหาใช้ถ้อยคำหยาบคายรุนแรงด่าทอคนอื่น โดยไม่สุจริตใจ หากมีหนังสือมาก็พร้อมจะนำเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาทันทีเช่นกัน 5 พ.ค. 56 - มติชนออนไลน์ รายงานว่า พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์(กสท.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ทางพรรคเพื่อไทย เตรียมประสานของความช่วยเหลือมายัง กสทช. ในการเอาผิดกับช่องรายการในทีวีดาวเทียม ที่มีเนื้อหาใช้ถ้อยคำหยาบคายรุนแรงด่าทอคนอื่น โดยไม่สุจริตใจ โดยเฉพาะกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งกรณีดังกล่าวในขณะนี้ตนจะยังไม่ขอออกความเห็นใดๆทั้งสิ้น ทั้งในเรื่องการดำเนินการตรวจสอบ เฝ้าระวัง และเอาผิดช่องรายการที่เข้าข่ายดังกล่าวหรือใกล้เคียง เนื่องจากเพื่อไม่ต้องการให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันในเวลานี้ ทั้งนี้ขอยืนยันว่าขณะนี้ทาง กสทช. ยังไม่ได้รับหนังสือขอความร่วมมือมาจากทางพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด ซึ่งหากมีหนังสือส่งมาจริงทาง กสท. ก็พร้อมจะนำเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาทันทีเช่นกัน ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 56 ที่ผ่านมาเว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่านายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ทีมกฎหมาย แจ้งความดำเนินคดีกับ นายสมชัย กตัญญุตานันท์ หรือ "ชัย ราชวัตร" การ์ตูนนิสต์ชื่อดัง ฐานหมิ่นประมาท กรณีโพสต์ข้อความเสียดสีและไม่เหมาะสม ว่า วันนี้กลายเป็นว่าเรากำลังสร้างและสั่งสมความรุนแรงให้เกิดขึ้นกับเยาวชนและประเทศ ใครอยากเด่นดังก็ต้องออกมาด่าทอด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ซึ่งขณะนี้ฝ่ายกฎหมายของพรรค กำลังประสานกับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)เพื่อให้จับตาดูรายการต่าง ๆ โดยเฉพาะทางทีวีดาวเทียม ซึ่งมีการใช้ถ้อยคำหยาบคายรุนแรงด่าทอคนอื่น โดยไม่สุจริตใจ โดยเฉพาะกับนายกรัฐมนตรี ซึ่ง ส.ส.ของพรรคได้รับการร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมาก หากพบว่าเข้าข่ายผิดกฎหมาย เราจะดำเนินการอย่างเด็ดขาดต่อไป ทั้งนี้ยืนยันว่าพรรคไม่ได้ต้องการก้าวก่ายการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในฐานะฐานันดรที่ 4 การวิพากษ์วิจารณ์ทำได้ แต่ต้องไม่ก้าวร้าว ใช้ถ้อยคำหยาบคาย เพราะจะยิ่งเป็นการสะสมความรุนแรงให้เกิดขึ้นในประเทศมากขึ้น นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า การปาฐกถาของ นายกรัฐมนตรี ที่ประเทศมองโกเลีย และ ยกอุทาหรณ์การรัฐประหารมาพูดนั้น ไม่ได้ทำให้ประเทศถอยหลังเข้าคลอง เป็นการพูดที่ถูกจังหวะเวลาในเวทีประชาธิปไตย จึงไม่จำเป็นต้องออกมาขอโทษ ทำไมการที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เคยไปออกรายการบีบีซี เวิลด์ นิวส์ ของอังกฤษ แล้วไปสารภาพเสียสิ้นว่าใช้กำลังทหารและใช้กระสุนจริงระหว่างการสลายการชุมนุม 2553 จึงไม่มีใครออกมาโวยวายเอาบ้าง หรือ เข้าใจว่าการให้สัมภาษณ์แบบนั้น เป็นผลดีกับประเทศ ขณะที่ น.ส.อนุตตมา อมรวิวัฒน์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยขอยกย่องปาฐกถาของ นายกรัฐมนตรี ว่าเป็นคำกล่าวที่ทรงพลังที่สุดด้านประชาธิปไตยในรอบ 10 ปี บนพื้นฐานของความจริงและไม่ได้ผิดวัตถุประสงค์อย่างที่คนบางกลุ่มพยายามบิดเบือน ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลยังคงยึดมั่นในแนวทางประชาธิปไตย เพราะเป็นแนวทางที่จะสร้างความเติบโตให้ประเทศ และพัฒนาเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ข้อสังเกตต่อข้อสังเกต: วิจารณ์บทบรรณาธิการอิศรา "ได้เวลาทบทวนเจรจาโหมไฟใต้" Posted: 05 May 2013 08:33 AM PDT ผมไม่เห็นด้วยในบางประเด็นต่อข้อสังเกตของ @Pakorn Puengnet บก.อิศรา เรื่องที่ว่าต้องทบทวนเจรจาสันติภาพ ผมว่าเป็นการด่วนสรุปโดยที่ไม่ให้โอกาสต่อแนวทางการเมืองที่มากพอ (ตามนี้ครับบทบรรณาธิการ:ได้เวลาทบทวนเจรจาโหมไฟใต้/ปกรณ์ พึ่งเนตร) ที่ผ่านมา รัฐไม่พยายาม "ตระหนัก" หรือ "ให้ความสำคัญ" กับตัวแสดงอันเป็นคู่ต่อสู้ของตน เพื่อที่จะ "กด" ในทางการเมือง และเบี่ยงประเด็นไปสู่ปัญหาอื่นๆ ที่ทำให้การวางลำดับความสำคัญต่อการแก้ปัญหาบิดเบือนไป พูดอีกอย่างก็คือเจตนารมณ์ทางการเมืองของทางการไทยไม่หนักแน่นเพียงพอ อาศัยยุทธวิธีปฏิบัติการข่าวสารปกปิดปัญหาใจกลาง และมีผลสำคัญให้ความขัดแย้งยึดเยื้อเรื้อรังถึงปัจจุบัน การลงทุนเดินหน้าการพูดคุยนั้นแต่ละฝ่ายต้องทุ่มเทต้นทุนมหาศาล แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนอีกไม่น้อยที่ทั้ง "ไม่พอใจ" และ "ไม่มีส่วน" ที่พร้อมจะบ่อนทำลายการลงทุนเหล่านี้ เรื่องตลกร้ายก็คือมันมีท่าทีอย่างนี้จากทั้งฝ่ายทางการไทยและพวกขบวนการปาตานี ที่บางครั้งก็มีเหตุผลที่ใกล้ๆ กัน ปัญหาคือการทุบทำลายกระบวนการพูดคุยเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์ต่อหลายฝ่าย แต่มันก็ต้องทำให้เราสูญเสียโอกาสที่จะเดินหน้าสร้างความเป็นไปได้ในการยุติเหตุรุนแรงและทำให้ผู้คนได้รับความยุติธรรมตามสภาพด้วย การเริ่มต้นใหม่ ด้วยช่องทางใหม่ๆ คนใหม่ๆ อาจสอดคล้องกับประโยชน์บางคนบางกลุ่ม แต่มันก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ไม่ได้ต่างกันมากนัก เช่นว่าการสู้รบในสนามที่กำลังดำเนินอยู่ก็ยังไม่มีทิศทางว่าจะยุติ (เว้นเสียแต่ว่าจะลุยรบให้ตกทะเลกันไปข้าง ซึ่งเราเดินมาถึงจุดที่ว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้แล้ว) คำถามที่ว่ามีสิ่งที่เรียกว่า "เวลาอันควร" หรือไม่? มีสิ่งที่เรียกว่าจังหวะอัน "สุกงอม" หรือไม่? ไม่มีใครตอบได้ ถึงตอบได้ก็เป็นไปตามจุดสนใจของตนเองอ้างมาเป็นเหตุผลรองรับเท่านั้น เรื่องเวลาเป็นเรื่องการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างต้องต่อรองให้ได้ประโยชน์มากที่สุด (เรื่องนี้ ผมเห้นด้วยกับ ข้อ 2 ที่ว่าฝ่ายบีอาร์เอ็นฉวยใช้จังหวะเวลาเหล่านี้ในการรุกทางการเมือง สร้างความได้เปรียบ) และผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าในเกมการพูดคุยในตอนนี้ ฝ่ายทางการไทยกำลังเพลี่ยงพล้ำ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นอย่างนี้ต่อไป สำคัญคือเสียงสนับสนุนจากสังคมไทยที่มากพอด้วยครับ สำหรับทางการไทย คงต้อง "ทบทวน" อย่างหนัก แต่ต้องไม่ "ยุติ" การเดินหน้าต่อ (แม้ว่าจะมีหลายฝ่ายทั้งรั้งทั้งดึงก็ตาม!!) ส่วนข้อ 3 คงต้องดูทีข้อมูลครับ การประเมินตามข้อสังเกตนั่นอาจจะหลวมไปหน่อย ตอนนี้ DSWกำลังประมวลข้อมูลให้เห็นอยู่ครับ พอจะมาโต้แย้งได้ อีกสักพักครับ!!
ที่มา: http://www.deepsouthwatch.org
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
แนวทางการพัฒนากฎหมายจักรยานของสหภาพยุโรป Posted: 05 May 2013 08:09 AM PDT [1] บทนำ ประชาชนในประเทศสมาชิกในกลุ่มสหภาพยุโรปหลายประเทศได้หันมาสนใจการใช้งานจักรยาน ภายใต้การสนับสนุนภาครัฐหรือองค์กรรณรงค์ให้มีการใช้งานจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการใช้งานจักรยานเพื่อการเดินทางในบริเวณพื้นที่ชุมชนเมืองส่งผลดีต่อธรรมชาติ สุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่ชุมชนเมือง เช่น การขับขี่จักรยานย่อมไม่ก่อให้เกิดไอเสียจากการเผาไหม้ของน้ำมันจนทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศเช่นเดียวกันกับยานพาหนะประเภทรถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์ แม้ว่าในอดีตที่ผ่านมาสหภาพยุโรปได้กำหนดระเบียบและข้อบังคับ ที่กำหนดความผูกพันด้านต่างๆ (European Union's commitments)[1] ที่เอื้อหรือสนับสนุนต่อการใช้งานจักรยานในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป ไม่ว่าจะเป็นข้อบังคับสหภาพยุโรปที่กำหนดมาตรการสนับสนุนการใช้งานยานพาหนะที่ก่อให้เกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุมชนเมือง มาตรการสนับสนุนความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ทั่วไปที่รวมความถึงความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์จักรยาน รวมไปถึงหลักเกณฑ์เฉพาะอื่นๆ ที่ได้กำหนดเอาไว้ในปทานุกรมจักรยานสหภาพยุโรป (European Cycling Lexicon)[2] อย่างไรก็ดี ข้อบังคับสหภาพยุโรปต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่ได้กำหนดมาตรการเกี่ยวกับการสนับสนุนการใช้งานจักรยานในสหภาพยุโรปเป็นการเฉพาะโดยตรง คงมีแค่เพียงข้อบังคับที่สนับสนุนหรือเอื้อต่อการใช้งานจักรยาน ด้วยเหตุนี้ จึงอาจยกเป็นข้อถกเถียงทางวิชาการได้ว่าสหภาพยุโรปควรพัฒนานโยบาย ระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการใช้งานจักรยานเป็นการเฉพาะอย่างไร เพราะจักรยานก็ถือเป็นพาหนะประเภทหนึ่งซึ่งมีหรือใช้กันในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป นอกจากนี้ บางประเทศได้พยายามเสริมสร้างและพัฒนาการใช้งานจักรยานในชีวิตประจำวันให้เป็นวัฒนธรรมการใช้งานจักรยาน (cycling culture) หรือรูปแบบการใช้งานพาหนะประเภทจักรยานที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชุมชนเมือง ซึ่งไม่เพียงมีความสำคัญในแง่ของการคมนาคมในบริเวณพื้นที่ชุมชนเมืองเท่านั้น หากแต่ยังอาจสร้างความสำคัญในการส่งเสริมเสรีภาพในการเลือกการเดินทางในรูปแบบต่างๆ (freedom to make travel choices) ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปอีกด้วย[3] [2] การรณรงค์สำหรับการใช้งานจักรยานในสหภาพยุโรป สหภาพยุโรปได้พยายามกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมสิทธิในการขี่จักรยาน (right to ride) โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรจักรยานหลายองค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือใช้งานจักรยานในยุโรป ดังเช่น สมาพันธ์นักปั่นจักรยานยุโรป (European Cyclists' Federation - ECF)[4] ที่เป็นองค์กรที่คอยผลักดันให้ประชาชนในสหภาพยุโรปมีการใช้งานจักรยานที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสุขภาพประชาชน เพื่อประโยชน์ทั้งในแง่ของการใช้งานจักรยานในการเดินทางและการใช้งานจักรยานในการประกอบกิจกรรมนันทนาการ นอกจากนี้ องค์กรดังกล่าวยังได้ผลักดันให้สหภาพยุโรปและประเทศต่างๆในกลุ่มสหภาพยุโรป ก่อสร้างหรือจัดให้มีทางจักรยานในท้องถิ่น ภูมิภาคและประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (European cycle route network หรือ EuroVelo routes)[5] ที่มีลักษณะอันเป็นทางจักรยานที่เชื่อมต่อถึงกันและเป็นโครงข่ายทางจักรยานที่เชื่อมต่อกันระหว่างท้องถิ่น ภูมิภาคและประเทศที่อยู่ในกลุ่มสหภาพยุโรป โดยการผลักดันให้ประเทศต่างๆในกลุ่มสหภาพยุโรปสร้างทางจักรยานที่มีลักษณะเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงถึงกันระหว่างท้องถิ่น ภูมิภาคและประเทศย่อมส่งผลดีต่อการคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยวโดยอาศัยจักรยานในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป นอกจากนี้ สมาพันธ์นักปั่นจักรยานยุโรปยังได้พยายามผลักดันให้สหภาพยุโรปและประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของกลุ่มสหภาพยุโรปหันมาจัดทำทางจักรยานสาธารณะในประเทศหรือท้องถิ่นของตน ให้มีคุณภาพระดับสูง (high quality European-grade cycle routes) ที่ไม่เพียงจะเอื้อต่อการเดินทางในบริเวณพื้นที่ชุมชนเมืองของประชาชนในท้องถิ่นในระยะสั้นๆ การสร้างทางจักรยานในท้องถิ่นหรือการสร้างทางจักรยานสาธารณะคู่ขนานกับทางสัญจรยานพาหนะอื่นๆ ยังอาจส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวโดยอาศัยการปั่นจักรยาน (Cycle tourism) อีกประการหนึ่ง[6] แม้ว่าสหภาพยุโรปจะได้ให้การสนับสนุนแนวคิดและโครงการ EuroVelo routes ของสมาพันธ์นักปั่นจักรยานยุโรปดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้น ทั้งในด้านการศึกษาวิจัยและการให้งบประมาณสนับสนุน ตัวอย่างเช่น การจัดสรรงบประมาณของสหภาพยุโรปสนับสนุนการก่อสร้างทางจักรยานให้กับท้องถิ่นของบางประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป เพื่อเป็นตัวอย่างในการพัฒนาโครงข่ายทางจักรยานของประเทศต่างๆ[7] อย่างไรก็ดี อาจมีข้อโต้แย้งหลายประการเกี่ยวกับการสนับสนุนของสหภาพยุโรปต่อการรณรงค์ให้ประชาชนในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปหันมาใช้งานจักรยานว่า ไม่มีมาตรการอื่นๆ เป็นการเฉพาะนอกเหนือไปจากการรณรงค์ในกรอบแบบกว้างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาโครงข่ายทางจักรยานสหภาพยุโรปผ่านโครงการ EuroVelo routes อีกประการหนึ่ง แม้ว่าสหภาพยุโรปมีนโยบายอื่นๆ ที่สนับสนุนการใช้งานจักรยานเป็นการเฉพาะ แต่กลับไม่ได้มีมาตรการทางกฎหมายสหภาพยุโรปเพื่อที่จะให้รัฐสมาชิกได้ปฏิบัติตามกรอบหรือแนวทางที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้เกี่ยวกับเรื่องการสนับสนุนให้มีการใช้งานหรือการพัฒนาสาธารณูปโภคอื่นๆ ให้เอื้อต่อการใช้จักรยานเพื่อการเดินทางระยะสั้นๆ ในชุมชนเมืองกับการใช้จักรยานในเชิงท่องเที่ยว ซึ่งในปัจจุบันคงมีเพียงข้อบังคับสหภาพยุโรป (EU Directives) อื่นๆ ที่เป็นเพียงบทบัญญัติสนับสนุนในเรื่องของสิ่งแวดล้อมชุมชนเมือง (urban environment) ที่ต้องการอาศัยการใช้งานยานพาหนะที่ไม่ก่อมลภาวะทางเสียงและมลภาวะทางอากาศอันมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุมชนเมืองกับ บทบัญญัติเกี่ยวกับความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์ (product safety) ซึ่งรวมไปถึงผลิตภัณฑ์หรือจักรยานที่ผลิตออกจากโรงงานอุตสาหกรรมผลิตจักรยานในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปและบทบัญญัติที่กำหนดมาตรฐานจักรยานไฟฟ้าสองล้อและสามล้อเท่านั้น (electric bicycles) ดังนั้น บทบัญญัติของสหภาพยุโรปในปัจจุบันอาจไม่ได้มีมาตรการเฉพาะให้รัฐสมาชิกกำหนดนโยบายและมาตรการทางกฎหมายในประเทศของตนให้สอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับสหภาพยุโรป (harmonisation) เกี่ยวกับการใช้จักรยานหรือการสร้างสาธารณูปโภคอื่นๆ[8] ให้สอดคล้องกับการใช้งานจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองในสหภาพยุโรปแต่อย่างใด [3] ข้อบังคับของสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการใช้งานจักรยานในปัจจุบัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ในปัจจุบันสหภาพยุโรปได้มีข้อบังคับกำหนดมาตรการเสริมทางอ้อมสนับสนุนการใช้งานจักรยานในประเทศสมาชิกกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งบางมาตรการในปัจจุบันอาจเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนากฎหมายจักรยานสหภาพยุโรปในอนาคตหรืออาจเป็นพื้นฐานที่จะทำให้สหภาพยุโรปได้ตระหนักถึงประโยชน์ของการใช้งานจักรยานอย่างยั่งยืนได้ อันสอดคล้องต่อประโยชน์โดยภาพรวมการขี่จักรยาน[9] [3.1] ข้อบังคับสหภาพยุโรปเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในชุมชนเมืองกับการใช้งานจักรยาน สหภาพยุโรปได้ตราข้อบังคับสหภาพยุโรปว่าด้วยมาตรฐานคุณภาพอากาศและอากาศที่ดีกว่าสำหรับสหภาพยุโรป ค.ศ. 2008 (Directive 2008/50/EC of the European Parliament and of the Council of 21 May 2008 on ambient air quality and cleaner air for Europe) ที่ได้วางหลักเกณฑ์สำหรับสร้างแนวทางการประเมินมาตรฐาน แนวทางควบคุมคุณภาพอากาศของประเทศสมาชิกในกลุ่มสหภาพยุโรปและวางแนวทางให้ประเทศสมาชิกกำหนดนโยบายและมาตรการที่เอื้อต่อการลดแหล่งกำเนิดมลภาวะทางอากาศประเภทต่างๆ (sources of air pollution) อนึ่ง มาตรการของสหภาพยุโรปดังกล่าวยังมีส่วนช่วยให้แนวทางกับประเทศสมาชิกได้จัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชนเมือง (urban environment) ให้เอื้อต่อการลดมลภาวะทางอากาศ ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนให้อากาศในพื้นที่ชุมชนเมืองปลอดจากมลภาวะทางอากาศอันส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนในบริเวณพื้นที่ชุมชนเมืองและท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้ การที่รัฐสมาชิกหรือท้องถิ่นของรัฐสมาชิกสหภาพยุโรปสนับสนุนให้มีการก่อสร้างสาธารณูปโภคด้านคมนาคมที่ช่วยลดมลภาวะทางอากาศ เช่น สาธารณูปโภคที่เกี่ยวกับการเดินและการใช้จักรยาน (bicycle and pedestrian infrastructure)[10] จึงอาจส่งผลดีต่อสภาพอากาศในประเทศสมาชิก หากประชาชนหันมาใช้งานจักรยานและเดินเท้าในระยะทางสั้นๆ ในพื้นที่ชุมชนเมืองตามที่รัฐหรือท้องถิ่นได้จัดสาธารณูปโภคที่อำนวยความสะดวกต่อการปั่นจักรยานและการเดินเท้าในบริเวณพื้นที่ชุมชนเมือง ทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้เป็นการลดมลภาวะทางอากาศในพื้นที่ชุมชนเมืองอีกทางหนึ่ง เพราะฉะนั้นการปรับการคมนาคมขนส่งสาธารณะโดยวิธีการต่างๆและการสนับสนุนการใช้งานจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง[11]ที่เอื้อประโยชน์ต่อต่อการลดมลภาวะทางอากาศในพื้นที่ชุมชนเมือง[12] จึงเป็นการช่วยสนับสนุนให้รัฐหรือท้องถิ่นสามารถปริมาณมลภาวะทางอากาศภายใต้หลักการของข้อบังคับสหภาพยุโรปว่าด้วยมาตรฐานคุณภาพอากาศและอากาศที่ดีกว่าสำหรับสหภาพยุโรป ค.ศ. 2008 ได้อีกทางหนึ่ง อีกประการหนึ่งการใช้งานจักรยานนอกจากจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมอากาศในบริเวณพื้นที่ชุมชนเมืองแล้ว[13] การใช้งานจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองยังอาจช่วยลดมลภาวะทางเสียง (noise pollution) หรือเสียงที่ดังเกินไปกว่าปกติหรือเสียงดังจนอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญหรือก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบโสตประสาทและระบบการได้ยินของมนุษย์ เพราะการปั่นจักรยานย่อมก่อให้เกิดมลภาวะทางเสียงในพื้นที่ชุมชนเมืองได้น้อยกว่ายวดยานพาหนะประเภทอื่นๆ[14] ซึ่งสหภาพยุโรปได้ตราข้อบังคับสหภาพยุโรปว่าด้วยเสียงในสิ่งแวดล้อม ค.ศ. 2002 (Directive 2002/49/EC on Environmental Noise) ที่ไม่เพียงแค่กำหนดมาตรการและยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการลดมลภาวะทางเสียงสำหรับประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป ข้อบังคับดังกล่าวยังกำหนดหลักการพัฒนายุทธศาสตร์ระยะยาว (Developing a long-term EU strategy) ในการต่อสู้กับปัญหามลภาวะทางเสียงโดยกำหนดแนวทางให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปสนับสนุนการใช้จักรยานหรือการเดินทางอื่นๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางเสียงที่อาจกระทบต่ออนามัยของมนุษย์ [3.2] ข้อบังคับสหภาพยุโรปเกี่ยวกับความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์ สหภาพยุโรปได้ตราข้อบังคับสหภาพยุโรปว่าด้วยความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์ทั่วไป ค.ศ. 2001 (Directive 2001/95/EC on general product safety) ที่ได้วางหลักเกณฑ์กำหนดมาตรการคุ้มครองสุขภาพและเสริมสร้างความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค จากการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่วางขายในท้องตลาดประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป โดยมุ่งให้ประเทศต่างๆ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์โดยทั่วไป (general safety requirements)[15] ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายจำต้องมีหน้าที่ผูกพันต่อผู้บริโภคในกรณีที่สินค้าที่ผลิตไม่ได้มาตรฐานหรืออาจก่ออันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคจากการใช้งานโดยทั่วไป รวมไปถึงหน้าที่ในการแจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการใช้งานหรือความปลอดภัยในสินค้าดังกล่าวต่อผู้บริโภค[16] อนึ่ง จักรยานประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจักรยานถีบทั่วไปและจักรยานไฟฟ้าก็ถือเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าที่วางขายในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป อุปกรณ์ในจักรยานประเภทต่างๆ ย่อมประกอบไปด้วยกลไกการทำงานที่ต้องการความปลอดภัยกับการบำรุงรักษาอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ผลิตภัณฑ์จักรยานจึงถือเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งในท้องตลาดสหภาพยุโรปที่ประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรปจำต้องมีมาตรการความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์ขึ้นมารองรับการบริโภคผลิตภัณฑ์จักรยานของผู้ใช้งานหรือผู้ขับขี่จักรยาน ดังนั้น การกำหนดมาตรการให้ผู้ผลิต ผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีกจักรยานต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้ซื้อจักรยานหรือผู้บริโภคผลิตภัณฑ์จักรยานภายหลังการขาย โดยทั้งผู้ผลิต ผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีกจักรยานต้องจัดหาผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย (safe product) อันเป็นการส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคในตลาดการค้าจักรยานในสหภาพยุโรปว่าประชาชนจะได้รับความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ซื้อมาจากร้านค้า [3.3] ข้อบังคับสหภาพยุโรปว่าด้วยจักรยานไฟฟ้า ข้อบังคับสหภาพยุโรปว่าด้วยระบบรับรองเฉพาะแบบสำหรับยานยนต์สองล้อหรือสามล้อ ค.ศ. 2002 (Directive 2002/24/EC of the European Parliament and of the Council of 18 March 2002 relating to the type-approval of two or three-wheel motor vehicles)[17] ได้กำหนดมาตรฐานสินค้ายานยนต์สองล้อหรือสามล้อในตลาดสหภาพยุโรปสำหรับประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปให้มีมาตรฐานเป็นไปในแนวทางเดียวกัน (conformity) นอกจากนี้ ข้อบังคับดังกล่าวยังตอบสนองต่อการคุ้มครองผู้บริโภคในสหภาพยุโรปทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในความปลอดภัยในการใช้งานยานยนต์สองล้อหรือสามล้อที่ผลิตหรือวางจำหน่ายในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งข้อบังคับสหภาพยุโรปฉบับนี้ได้วางหลักเกณฑ์สำหรับการรับรองเฉพาะแบบสำหรับยานยนต์สองล้อหรือสามล้อ เพื่อให้สมาชิกประเทศต่างๆ ได้อนุวัตรการข้อบังคับฉบับนี้และตรากฎหมายโดยมาตรการต่างๆ ในการคุ้มครองผู้บริโภคต้องไม่ต่ำไปกว่าที่ข้อบังคับสหภาพยุโรปฉบับนี้ได้บัญญัติเอาไว้ ตัวอย่างเช่น ระบบเครื่องหมายรับรองเฉพาะแบบสำหรับยานยนต์สองล้อหรือสามล้อ (type-approval mark) สำหรับสินค้าที่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตภายในประเทศที่มีมาตรฐานตามที่สหภาพยุโรปได้กำหนดเอาไว้ และระบบการออกหมายเลยประจำสินค้ายานยนต์สองล้อหรือสามล้อ (vehicle identification number) ที่ทำให้ง่ายต่อการควบคุมมาตรฐานการผลิตและควบคุมภายหลังจากมีการใช้งานสินค้าไปแล้ว เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคว่าจะได้รับความปลอดภัยจากการใช้งานยานยนต์สองล้อหรือสามล้อ รวมไปถึงเงื่อนไขของสินค้าอื่นๆ เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภคกับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ตามที่ข้อบังคับได้ระบุเอาไว้ อาจมีคำถามตามมาว่าข้อบังคับสหภาพยุโรปว่าด้วยระบบรับรองเฉพาะแบบสำหรับยานยนต์สองล้อหรือสามล้อ ค.ศ. 2002 ฉบับนี้เกี่ยวข้องกับจักรยานอย่างไร ซึ่งอาจอธิบายได้ว่าข้อบังคับสหภาพยุโรปฉบับนี้ได้กำหนดมาตรการครอบคลุมไม่เพียงแต่รถมอเตอร์ไซค์สองล้อและสามล้อกับยานยนต์อื่นๆ ที่เดินด้วยจักรกลสองล้อและสามล้อที่วางขายในท้องตลาดสหภาพยุโรปเท่านั้น แต่ข้อบังคับสหภาพยุโรปดังกล่าวยังได้วางหลักเกณฑ์รวมไปถึงจักรยานไฟฟ้า (Electrically Assisted Pedal Cycles - EAPCs) ที่สามารถวิ่งความเร็วสูงสุดได้เกินกว่า 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (design speed exceeding 6 km/h)[18] เหตุที่ข้อบังคับสหภาพยุโรปบัญญัติเอาไว้เป็นเช่นนี้ก็เพื่อส่งเสริมมาตรฐานผลิตภัณฑ์ประเภทจักรยานไฟฟ้าที่มีความเร็วตามที่กฎหมายกำหนดและไม่เข้าข้อเว้นของข้อบังคับดังกล่าวที่ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับฉบับนี้[19]
[4] วิเคราะห์ข้อบังคับของสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการใช้งานจักรยานในปัจจุบัน ในปัจจุบันแม้ว่าสหภาพยุโรปได้กำหนดข้อบังคับที่เกี่ยวเนื่องกับประโยชน์ของการใช้งานจักรยานต่อสิ่งแวดล้อม มาตรฐานความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์จักรยานทั่วไปและมาตรฐานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์จักรยานไฟฟ้า แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจุบันไม่มีมาตรการสหภาพยุโรปเป็นการเฉพาะในเรื่องอื่นๆ ที่สนับสนุนการใช้งานจักรยานหรือวัฒนธรรมการใช้งานจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง ตัวอย่างเช่น ประการแรก สหภาพยุโรปไม่ได้กำหนดมาตรการสนับสนุนสิทธิของประชาชนไว้เป็นการเฉพาะในการสัญจรโดยจักรยานถีบในช่องทางจักรยานหรือเลนจักรยานที่รัฐหรือท้องถิ่นได้จัดไว้ให้ (right of way on pedal cycles) ซึ่งในการสนับสนุนสิทธิของประชาชนประการนี้ สหภาพยุโรปขาดการกำหนดข้อบังคับว่าด้วยการจัดการผังเมืองและการพัฒนาเมืองที่สอดคล้องกับการสนับสนุนการใช้งานจักรยานเป็นการเฉพาะ โดยยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำเกี่ยวกับจำนวนเลนจักรยานกับสาธารณูปโภคที่สนับสนุนการใช้งานจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองให้สอดคล้องกับจำนวนประชากรและขนาดพื้นที่ชุมชนเมือง ประการที่สอง สหภาพยุโรปไม่ได้กำหนดข้อบังคับเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่จักรยานเป็นการเฉพาะ ที่กำหนดมาตรการขั้นต่ำให้ผู้ขับขี่รถจักรยานในทางจักรยานประเภทต่างๆ ต้องสวมหมวกนิรภัยในขณะขับขี่ รวมไปถึงอุปกรณ์อื่นๆ ที่เอื้อต่อการขับขี่จักรยานให้ปลอดภัย ซึ่งแม้ว่าในหลายๆ ประเทศในสหภาพยุโรปได้ออกมาตรการบังคับให้มีการสวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่จักรยาน แต่สหภาพยุโรปกลับไม่ได้วางหลักเกณฑ์ไว้เฉพาะในเรื่องนี้แต่อย่างใด คงมีเพียงมาตรการตามที่ข้อบังคับสหภาพยุโรปว่าด้วยอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยส่วนตัว (Directive 89/686/EEC on personal protective equipment) ที่กำหนดหลักเกณฑ์ว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของหมวกนิรภัยจักรยาน[20] อนึ่ง สหภาพยุโรปได้กำหนดนโยบายหลายประการและสถาปนาโครงการหลายโครงการเกี่ยวกับการวางโครงข่ายทางจักรยานสหภาพยุโรปเพื่อการกีฬาและการนันทนาการจักรยาน สหภาพยุโรปจึงควรคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ขับขี่จักรยานตามโครงการต่างๆ ที่สหภาพยุโรปได้เข้าไปสนับสนุน ประการที่สาม สหภาพยุโรปไม่ได้กำหนดมาตรการอื่นๆ ให้สอดรับกับการรณรงค์ของสหภาพยุโรปให้ประชาชนหันมาใช้จักรยานอันเป็นยานพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุมชนเมือง เช่น การวางมาตรการให้รัฐสมาชิกสร้างเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อสนับสนุนการขี่จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง (economic instruments) ซึ่งไม่เพียงแค่ส่งผลดีต่อการจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้จักรยานสำหรับการเดินทางในพื้นที่ชุมชนเมืองในระยะสั้นๆเท่านั้น หากแต่เป็นการสร้างการลดมลภาวะทางอากาศกับมลภาวะทางเสียงของชุมชนเมือง ผ่านการรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองด้วย
[5] สรุป: หนทางพัฒนากฎหมายจักรยานของสหภาพยุโรปในอนาคต การพัฒนากฎหมายจักรยานในลักษณะที่เป็นข้อบังคับเดียว (single directive) ที่รวมเอามาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อต่อการใช้งานจักรยาน น่าจะเป็นหนทางที่ดีสำหรับการสร้างทิศทางของบทบัญญัติของประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานจักรยานให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยกฎหมายจักรยานของสหภาพยุโรปควรบรรจุหลักการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการใช้งานจักรยานหรือโครงการจักรยานอื่นๆ ที่สหภาพยุโรปให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของมาตรการผังเมืองที่เอื้อต่อการใช้งานจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง มาตรการความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์จักรยาน มาตรการความปลอดภัยสำหรับผู้ขับขี่จักรยาน และมาตรการจูงใจอื่นๆ ให้ผู้คนหันมาใช้งานจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง อนึ่ง อาจมีความเห็นโต้แย้งว่าการพัฒนากฎหมายจักรยานในลักษณะที่เป็นข้อบังคับเดียวดังที่ได้กล่าวมาอาจเป็นการยากและอาจเผชิญอุปสรรคหลายประการ เช่น ค่านิยมหรือทัศนคติของประชาชนต่อการใช้จักรยานในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน สภาพภูมิประเทศกับภูมิอากาศที่เอื้อต่อการใช้งานจักรยานแตกต่างกัน วัฒนธรรมการใช้งานจักรยานในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน และการกระจัดกระจายของบทบัญญัติสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง เป็นต้น ดังนั้น การพัฒนากฎหมายจักรยานของสหภาพยุโรปจึงถือเป็นความท้าทายของสหภาพยุโรปและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการจักรยานต่างๆ ที่สหภาพยุโรปให้การสนับสนุน รวมไปถึงประเทศสมาชิกที่ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้จักรยานและวัฒนธรรมการใช้จักรยานในชุมชนเมือง ในการร่วมกันสร้างหลักเกณฑ์หรือแนวทางการใช้จักรยานสำหรับสหภาพยุโรปในอนาคต [1] Dekoster, J. & Schollaert, U. (1999). Cycling: the way ahead for towns and cities. Brussels: European Commission, p 5. [2] European Economic and Social Committee. (2011). European Cycling Lexicon Edition 2011. Brussels: European Economic and Social Committee, Retrieved April 29, 2013, from http://www.eesc.europa.eu/resources/docs/eesc-2011-27-en.pdf [3] Pucher, J. & Buehler, R. (2007). At the Frontiers of Cycling: Policy Innovations in the Netherlands, Denmark, and Germany. New Jersey: Bloustein School of Planning and Public Policy, p. 2. [4] European Cyclists' Federation. (2013). European Cyclists' Federation Manifesto. Retrieved April 29, 2013, from http://www.ecf.com/about-us/manifesto/ [5] University of Central Lancashire & Breda University. (2009). The European Cycle Route Network EUROVELO: Challenges and Opportunities for Sustainable Tourism. Brussels: European Parliament, p 16. [6] โปรดดูความก้าวหน้าและการตอบสนองของประเทศต่างๆ ต่อแนวคิดของการสร้างทางจักรยานที่มีลักษณะเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงถึงกันภายใต้โครงการ EuroVelo routes และตัวอย่างของกิจกรรมของประเทศต่างๆ ที่ได้จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนโครงการ EuroVelo routes ช่วงระหว่าง ค.ศ. 2003-2004 ได้ใน หน้า 6 ของเอกสาร Larsen, E. J. (2004). Route report EuroVelo Route 7 Middle Europe Route or The Sun Route. Frederikberg: EuroVelo & Foreningen Frie Fugle, Retrieved April 29, 2013, from http://www.friefugle.dk/Eurovelo_rute_7.pdf [7] โปรดดู โครงการทางจักรยาน Granby Street gateway scheme ของเมืองเลสเตอร์ สหราชอาณาจักร ที่ได้รับเงินอุดหนุนจากสหภาพยุโรปเพื่อสร้างโครงข่ายทางจักรยานเชื่อมต่อกันระหว่างพื้นที่ชุมชนเมืองของท้องถิ่นเมืองเลสเตอร์ โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Leicester City Council. (2013). Granby Street gateway scheme. Retrieved April 29, 2013, from http://www.leicester.gov.uk/granbystreetgateway/ [8] ตัวอย่างเช่น การสร้างทางจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง ที่จอดจักรยานในพื้นที่หรืออาคารสถานที่บริเวณชุมชนเมือง ป้ายที่เกี่ยวข้องกับการสัญจรโดยจักรยาน และสัญญาณไฟควบคุมการจราจร เป็นต้น โปรดดูเพิ่มเติมจาก Fietsberaad. (2009). Bicycle policies of the European principals: continuous and integral Fietsberaad Publication number 7.Utrecht: Fietsberaad (Expertise Centre for Cycling Policy), Retrieved April 29, 2013, from http://www.fietsberaad.nl/library/repository/bestanden/Fietsberaad_publicatie7_Engels.pdf [9] ประโยชน์ของการใช้งานจักรยานย่อมส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยและการคมนาคมในประเทศต่างๆ กล่าวคือ รัฐหรือท้องถิ่นสามารถเพิ่มการใช้พื้นที่ผังเมืองด้านคมนาคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ (efficient use of space) โดยการใช้งานจักรยานสามารถทำให้ท้องถนนมีที่ว่างในการใช้ประโยชน์มากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ยานพาหนะประเภทอื่นๆ เช่นรถยนต์ การใช้งานจักรยานย่อมส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม (good for the environment) เพราะจักรยานขับเคลื่อนไปโดยกำลังของกล้ามเนื้อมนุษย์โดยที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ในทางตรงกันข้าม การขับขี่รถยนต์ย่อมมีไอเสียจากการเผาไหม้ของน้ำมันจนทำให้เกิดไอเสียที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ ดังเช่น คาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) และคาร์บอนไดออกไซด์ ( CO2) นอกจากนี้ การขี่จักรยังส่งผลดีต่อสุขภาพ (good for the body) เพราะการถีบจักรยานเท่ากับเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่งทำให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ได้ทำงาน โปรดดูเพิ่มเติมใน Cambridge Cycling Campaign. (2008). A Vision for 2020 from Cambridge Cycling Campaign. Cambridge: Cambridge Cycling Campaign, p 2. และ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง. (2013). กฎหมายสนับสนุนวัฒนธรรมการขี่จักรยานของประเทศอังกฤษ. Retrieved April 29, 2013, from http://prachatai.com/journal/2013/02/45423 [10] European Commission. (2008). Commission Communication on notifications of postponements of attainment deadlines and exemptions from the obligation to apply certain limit values pursuant to. Article 22 of Directive 2008/50/EC on ambient air quality and cleaner air for Europe. Retrieved April 29, 2013, from http://ec.europa.eu/environment/air/quality/legislation/pdf/sec_2008_2132_en.pdf [11] อาจหมายความรวมถึงการสนับสนุนการใช้งานจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองโดยการสร้างเครือข่ายทางจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง ภูมิภาคและประเทศตามโครงการต่างๆ ที่สหภาพยุโรปได้เคยสนับสนุนมาก่อนที่ข้อบังคับฉบับนี้ได้ออกมาบังคับใช้ โปรดดู BYPAN Bicycle Policy Audit. (2008).Cycling, the European approach Total quality management in cycling policy. Results and lessons of the BYPAD-project. EIE/05/016 – deliverable wp 6 – dissemination. Retrieved April 29, 2013, from http://bypad.org/docs/BYPAD_Cycling_The_European_approach.pdf และ Mobilität mit Zukunft. (2011). Factsheet Managing traffic and transport in urban areas, Retrieved April 29, 2013, from http://www.cleanair-europe.org/fileadmin/user_upload/redaktion/downloads/VCOE/VCOE_FS_CityMaut_engl.pdf [12] European Commission. (2012). Opinion of the Committee of the Regions on 'Review of EU air quality and emissions policy (2012/C 225/03). Official Journal of the European Union. C 225/11, Retrieved April 29, 2013, from http://eur-lex.europa.eu/LexUriServ/LexUriServ.do?uri=OJ:C:2012:225:0011:0019:EN:PDF [13] European Commission Institute for Environment and Sustainability Transport and Air Quality Unit & European Environment Agency. (2011). The application of models under the European Union's Air Quality Directive: A technical reference guide. Copenhagen: European Environment Agency, p 12. [14] European Environmental Bureau. (2012). A more effective Environmental Noise Directive EEB recommendations for the review of Directive 2002/49/EC on Environmental Noise. Brussels: European Environmental Bureau, p 4. [15] Europa. (2010). Product safety: general rules. Retrieved April 29, 2013, from http://europa.eu/legislation_summaries/consumers/consumer_information/l21253_en.htm [16] European Commission Directorate General for Health & Consumers. (2012). STANDARDISATION MANDATE ISSUED TO THE EUROPEAN STANDARDISATION ORGANISATIONS (ESOS) TO DEVELOP EUROPEAN STANDARDS FOR BICYCLES, BICYCLES FOR YOUNG CHILDREN AND LUGGAGE CARRIERS FOR BICYCLES Brussels, 6th September 2012, M/508 EN, Retrieved April 29, 2013, from http://www.cen.eu/cen/Sectors/Sectors/Consumer%20products/Documents/m508%20EN.pdf [17] Europa. (2010). Two or three-wheeled motor vehicles: EC type-approval system. Retrieved April 29, 2013, from http://europa.eu/legislation_summaries/internal_market/single_market_for_goods/motor_vehicles/motor_vehicles_technical_harmonisation/l21024_en.htm [18] Department for Transport. (2005). Fact sheet: Electronically assisted pedal cycles (EAPCs) in Great Britain October 2005. London: Department for Transport, pp 1-4. [19] สำหรับตัวอย่างของยานยนต์สองล้อหรือสามล้อที่ข้อบังคับสหภาพยุโรปว่าด้วยระบบรับรองเฉพาะแบบสำหรับยานยนต์สองล้อหรือสามล้อ ค.ศ. 2002 ยกเว้นการบังคับใช้เอาไว้ เช่น จักรยานไฟฟ้าสามารถวิ่งความเร็วสูงสุดได้ไม่เกินไปกว่า 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (vehicles with a maximum design speed not exceeding 6 km/h) และจักรยานไฟฟ้าสำหรับผู้พิการ (vehicles used by the physically handicapped) เป็นต้น [20] European Commission. (2013). Mechanical engineering Directive 89/686/EEC on personal protective equipment. Retrieved April 29, 2013, from http://ec.europa.eu/enterprise/sectors/mechanical/documents/legislation/personal-protective-equipment/ และโปรดดู European Commission. (2013). Traffic rules and regulations for cyclists and their vehicles. Retrieved April 29, 2013, from http://ec.europa.eu/transport/road_safety/specialist/knowledge/pedestrians/special_regulations_for_pedestrians_and_cyclists/traffic_rules_and_regulations_for_cyclists_and_their_vehicles.htm
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
จดหมายเปิดผนึกถึง บรรณาธิการ มติชนรายสัปดาห์ Posted: 05 May 2013 08:09 AM PDT เรียน ท่านบรรณาธิการ มติชนรายสัปดาห์ ที่เคารพ ตามข้อมูลของหน่วยการข่าว ระบุว่า นายอับดุลการิม คนนี้ เป็นหัวหน้าฝ่ายการเมืองของขบวนการ BRN ในปัตตานี และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ในย่อหน้าที่สามที่ขีดเส้นใต้ ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ ใส่ร้ายป้ายสี ร.ร. ปอเนาะ ร.ร. เอกชนสอนศาสนา PNYS-Pattani-Narathiwas-Yala-Songkla ในมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่กรุงเทพฯ รวมทั้งสหพันธ์นักศึกษามุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนไทย (Permas) ว่าเป็น "แนวร่วม" โดยไม่มีหลักฐาน แต่นี่เป็นเพียงสิ่งที่คนบางคน "เชื่อกัน" เท่านั้น แต่นักข่าวมืออาชีพในสื่อกระแสหลักควรเข้าใจว่า การกระจาย "ความเชื่อ" เช่นนี้มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อบรรดาเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกระบุในย่อหน้าดังกล่าว
นาย ชินทาโร ฮารา อาจารย์ประจำ ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รมว.ไอซีทีระบุโพสต์ด่านายกผิดกฎหมายอาญา-ปิดเว็บ Posted: 05 May 2013 04:15 AM PDT 5 พ.ค. 56 - มติชนออนไลน์รายงานว่า น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) กล่าวว่า จากกรณีที่มีการตรวจพบผู้โพสต์ข้อความตามเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีเนื้อหาด่าทอผู้นำประเทศ หรือใครๆก็ตาม ทางกระทรวงไอซีทีนั้นถือเป็นผู้ที่มีหน้าที่โดยตรง หากได้รับแจ้ง หรือตรวจพบ จะทำการติดต่อขอให้เจ้าของเว็บไซต์นั้นๆทำการลบข้อความดังกล่าวทันที หรือหากเป็นเว็บไซต์ที่ตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ในการด่าทอ ว่าร้าย หมิ่นประมาทโดยเฉพาะ ทางกระทรวงก็ถือได้ว่า มีอำนาจในการระงับการใช้งานเว็บไซต์ดังกล่าวทันทีเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาไอซีทีเองก็มีการตรวจสอบและดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด "อย่างไรก็ตามโทษ จากการโพสต์ข้อความด่าทอ ว่าร้ายผู้อื่นให้เกิดความเสียหาย ทางเว็บไซต์ จะเข้าข่ายมีความผิดข้อหาหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตราที่ 326 มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
FT MEDIA: มูฮัมหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะกับคำพิพากษาว่าเป็น บีอาร์เอ็น Posted: 05 May 2013 02:46 AM PDT การรณรงค์ของคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งกำลังก่อตัวขึ้นในปัตตานี เพื่อแสวงหาอิสรภาพให้กับนักกิจกรรมในพื้นที่ภาคใต้คนหนึ่ง หลังจากที่ศาลฎีกาที่ปัตตานีอ่านคำพิพากษาคดีของนายมะกอรี ดาโอะกับคนอื่นๆอีก 7 คนเมื่อ 1 พค. ที่ผ่านมา ซึ่งหนึ่งในบรรดาจำเลยเหล่านี้ที่ถูกศาลตัดสินรับโทษจำคุกคนละ 12 ปีนั้นปรากฎชื่อของมูฮัมหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะหรือที่รู้จักกันในนาม อันวาร์ รวมอยู่ด้วย ลักษณะของคดีที่สร้างความมึนงงให้กับผู้คนที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับการที่อันวาร์เป็นบุคคลที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในแวดวงคนทำงานภาคประชาสังคมและสื่อทั้งในและนอกพื้นที่ บุคลิกที่เอาจริงเอาจังบวกผลงานของเขาที่ผ่านมาในฐานะคนที่ทำกิจกรรมอย่างสันติ ยิ่งดึงดูดคนรอบข้างให้หันมาระดมสมองเพื่อช่วยเหลือ สิ่งที่เป็นประเด็นด้วยสำหรับคนที่สนใจในเรื่องการที่กระบวนการยุติธรรมไทยยังไม่ตอบโจทก์ปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือวิธีพิจารณาคดีของศาล คดีของอันวาร์ ไม่ใช่แค่ส่งผลกระทบกับอันวาร์และคนที่ทำงานกับเขาเท่านั้น แต่บรรดาผู้คนที่ต่อสู้เคลื่อนไหวกับปัญหาด้วยหนทางอันสันติอย่างอันวาร์อีกหลายคน ที่กำลังต้องคิดหนักว่าจะหวังพึ่งกระบวนการยุติธรรมของไทยได้อีกต่อไปหรือไม่ สกัดเนื้อหาจากคำพิพากษาสองศาล คดีของอันวาร์เริ่มต้นขึ้นในเดือนสิงหาคมปี 2548 เมื่อมีการจับกุมกลุ่มบุคคลทีละรายแต่รวมแล้วสิบเอ็ดคน (โดยใช้อำนาจพรก.ฉุกเฉิน ซึ่งเพิ่งประกาศใช้เป็นครั้งแรกในพื้นที่) อันวาร์เองก็ถูกจับในเดือนนี้ด้วย พวกเขาถูกแยกฟ้องเป็นสี่สำนวน ด้วยข้อหาหลักๆอย่างเดียวกันคือ ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร ซึ่งจำเลยทั้งหมดปฏิเสธ ในการพิจารณา ศาลถือเป็นเรื่องเดียวกันจึงพิจารณาไปพร้อมกัน เดือนกค. 2550 ศาลชั้นต้นออกคำพิพากษา โดยศาลตัดสินว่าผิดฐานเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนท ตระเตรียมการอันเป็นกบฏ ให้ลงโทษจำคุกคนละ 12 ปี แต่ให้ยกฟ้องจำเลยสองคนเพราะเห็นว่าหลักฐานไม่เพียงพอ จำเลยอุทธรณ์ 16 มิย. 2552 ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้ยกฟ้องอันวาร์พร้อมจำเลยอีกคนหนึ่งคืออัรฟาน บินอาแว แต่ให้ลงโทษคนอื่นๆที่เหลือ อัยการอุทธรณ์คำสั่ง ดันคดีต่อถึงศาลฎีกา จำเลยทั้งหมดต่างสู้คดีอุทธรณ์คำสั่งของศาลอุทธรณ์เช่นกัน อ้างความไม่น่าเชื่อถือของพยานของอัยการว่าเป็นพยานบอกเล่า ซัดทอด และไม่มีการนำพยานที่ยอมรับว่าเป็นสมาชิกบีอาร์เอ็นมาเบิกความในศาล ส่งแต่เพียงสำนวนสอบสวนในชั้นซักถามและในชั้นสอบสวนเท่านั้น ทั้งยังไม่มีหลักฐานอื่นๆมาสนับสนุน ระยะเวลาผ่านไปเกือบ 4 ปี 1 พค. 2556 ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาให้บรรดาจำเลยและครอบครัวฟัง ศาลฎีกาได้กลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องอันวาร์และอัรฟาน และยืนตามคำตัดสินของศาลชั้นต้นคือให้ลงโทษทุกคน จำคุกคนละ 12 ปี ที่น่าแปลกใจสำหรับเรา แต่อาจจะไม่แปลกสำหรับศาลก็คือ ในเอกสารคำพิพากษาของศาลฎีกานั้น ลงวันที่เอาไว้ตั้งแต่เมื่อ 4 ก.ย. 2555 ลงนามโดยนายฐานัน วรรณโกวิท รองประธานศาลฎีกา ที่ปฎิบัติหน้าที่แทนประธานศาลฎีกา แทนผู้พิพากษาที่ร่างคำสั่งไว้ก่อนหน้านี้ โดยอธิบายท้ายเอกสารคำพิพากษาว่า ผู้พิพากษาท่านนั้นพ้นตำแหน่งไปก่อน ส่วนการลงนามแทนนี้กระทำเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2556 (ก่อนวันลงนามพูดคุยสันติภาพกับกลุ่ม BRN เพียงหนึ่งวัน – เรื่องบังเอิญ อย่าได้คิดมาก) ในขณะที่ครอบครัวอันวาร์บอกว่า พวกเขาได้รับจดหมายจากศาลให้ไปฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2556 ก่อนวันนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 1 พฤษภาคม สำหรับเนื้อหาคดี สรุปอย่างหยาบก็คือ ข้อกล่าวหาต่อคดีความมั่นคงอันนี้กล่าวหาว่าอันวาร์กับบุคคลที่เหลือเป็นสมาชิกของบีอาร์เอ็น ในตัวคำฟ้องไม่มี "แอคชั่น" หรือการกระทำความผิดอื่นใดนอกเหนือจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกบีอาร์เอ็น สิ่งที่ศาลต้องตัดสินใจคือ บีอาร์เอ็นมีอยู่จริงหรือไม่ อันวาร์และพวกเป็นสมาชิกจริงหรือไม่ (ขอใช้คำว่าอันวาร์และพวกตามแบบนักกฎหมาย ถึงแม้ว่าอันที่จริงพวกเขาจะไม่ใช่ "พวก" กันก็ตาม แต่ขออนุโลมนำมาใช้เพื่อความสะดวกในการกล่าวถึง) ในส่วนแรกว่ามีบีอาร์เอ็นจริงหรือไม่ ในคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จะมีการยกคำให้การของเจ้าหน้าที่และพยานขึ้นมานำเสนออย่างละเอียดลออ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็น่าสนใจสำหรับคนที่อยากรู้ว่าภาพของบีอาร์เอ็นในสายตาของกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างไร คำพิพากษายกคำให้การที่บรรยายถึงบีอาร์เอ็นตั้งแต่ของเนื้อหาการชักจูงด้วยเรื่องประวัติศาสตร์ไปจนถึงการดึงคนเข้าร่วม กิจกรรมการอบรมและฝึกร่างกาย ตลอดจนการวางแผนตระเตรียมก่อการ แน่นอนว่าศาลเชื่อว่าบีอาร์เอ็นมีจริง (ถ้าพิจารณาว่านี่เป็นคำตัดสินของศาลที่ออกมาในปี 2550 ก็จะเห็นว่ายิ่งน่าสนใจมากขึ้นไปอีก) ส่วนประเด็นว่าอันวาร์และคนอื่นๆเป็นสมาชิกบีอาร์เอ็นจริงหรือไม่นั้น ศาลมีหลักฐานหลัก คือคำซัดทอดจากการให้การของบุคคลสี่คน คนเหล่านี้คือมะตอเห สะอะ อับดุลเลาะ สาแม็ง สะตอปา ตือบิงหมะ และมะสุกรี สารอ ทั้งสี่คนยอมรับสารภาพกับเจ้าหน้าที่ว่ามีส่วนร่วมในการฆ่าตัดคอดาบตำรวจสัมพันธ์ อ้นยะลา ตำรวจยะรัง แม้ว่าคนที่ยิงและตัดคอดาบตำรวจนั้นจับไม่ได้และไม่ได้อยู่ในกลุ่มสี่คนนี้ก็ตาม จากเอกสารคำพิพากษาสรุปข้อมูลออกมาได้ว่า ทั้งหมดนี้เป็นผลจากการสอบสวนของจนท.ตร.ที่ทำคดีฆ่าดาบตำรวจ นำไปสู่การสอบสวนกลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนปอเนาะสองแห่งคือประสานวิทยาหรือปอเนาะพงสตา กับโรงเรียนบุญบันดานหรือปอเนาะแนบาแด โดยตร.ได้ตามรอยการใช้โทรศัพท์ของดาบตำรวจสัมพันธ์และพบว่ามีนักเรียนคนหนึ่งนำโทรศัพท์ไปใช้ และมีการติดต่อกับนักเรียนหลายคนของทั้งสองโรงเรียน ตร.จึงได้เข้าตรวจค้นและจับกุม แล้วนำตัวนร.ทั้งสี่บวกกับอีกหลายคนไปสอบปากคำ เป็นที่มาของการได้คำให้การต่างๆของคนทั้งสี่ที่ยอมรับว่าเป็นบีอาร์เอ็นซึ่งเป็นหลักฐานหลัก นอกจากนี้ยังมีคำให้การของนักเรียนอีกสามคนที่ดูเหมือนว่าจะเป็นหลักฐานประกอบ ซึ่งก็เป็นคำให้การที่ให้ไว้ทั้งในขั้นตอนการซักถามข้อมูลและขั้นตอนการใช้พรก.ฉุกเฉินเช่นกัน และพวกเขาก็ได้ไปให้ปากคำในชั้นศาลด้วย แต่คนกลุ่มหลังนี้ถือว่า "ไม่ใช่สมาชิกบีอาร์เอ็น" ในคำซัดทอดของกลุ่มคนสี่คนที่ยอมรับว่าเป็นสมาชิกบีอาร์เอ็นนั้นระบุว่า ในบรรดาคนที่ไปร่วมรับการอบรมมีอันวาร์และกลุ่มคนที่ถูกฟ้องพร้อมอันวาร์อยู่ด้วย ที่น่าสนใจคือ ในจำนวนคนทั้งสี่นี้มีเพียงคนเดียวเท่านั้น คือมะตอเหที่ได้ให้การในชั้นศาลเพิ่มเติม ส่วนที่เหลืออีกสามคนนั้นมีแต่คำให้การที่พวกเขาให้ไว้กับจนท.ในขั้นตอนการซักถามตามพรก.ฉุกเฉินฯ กับคำให้การที่ให้ไว้กับตำรวจเท่านั้น ไม่มีการไปเบิกความในศาลเพราะพวกเขาหลบหนีเสียก่อน หนึ่งในสี่คนที่ว่านี้ คนหนึ่งคือมะสุกรี ระบุว่าเป็นเพื่อนร่วมห้องของอันวาร์ จากคำให้การของพวกเขาสี่คน เล่าถึงการได้ไปทำกิจกรรมรับการอบรมของบีอาร์เอ็นด้วยกัน และระบุด้วยว่าอันวาร์กับอัรฟาน จำเลยอีกรายหนึ่ง เคยกระทั่งเอามอเตอร์ไซค์ส่วนตัวไปใช้ในการทำกิจกรรมร่วมกัน และอันวาร์ยังมีการไปมาหาสู่กับสะตอปา ตือบิงหมะ หนึ่งในสี่คนที่หลบหนีไป ส่วนคำให้การของนักเรียนอีกสามคนจากโรงเรียนปอเนาะแนบาแดที่ศาลบอกว่าไม่ใช่สมาชิกของบีอาร์เอ็นนั้น เป็นการ "ให้การเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว" ของสมาชิกบีอาร์เอ็นในการวางแผนสังหารดาบตำรวจให้การไว้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ว่าในการเบิกความในชั้นศาล พวกเขากลับคำให้การ โดยบอกว่าไม่รู้เรื่องการวางแผนใดๆของสมาชิกบีอาร์เอ็นที่ไปก่อเหตุ แต่ศาลกลับเห็นว่า การกลับคำให้การของนักเรียนทั้งสามน่าจะเป็นเพราะต้องการช่วยเหลือจำเลย หรือไม่ก็เพราะหวาดกลัวมากกว่า และเชื่อว่าคำให้การในชั้นซักถามและชั้นสอบสวนของพวกเขานั้น "จริงยิ่งกว่าคำเบิกความ" พูดง่ายๆว่าที่เบิกความกับศาลนั้นศาลเห็นว่าเป็นเท็จ แต่ที่ให้การกับตำรวจศาลเห็นว่าเป็นของจริง เพราะว่าสอดคล้องกับการให้การของอีกสี่คนแรกที่ยอมรับว่าตัวเองเป็นสมาชิกบีอาร์เอ็น แน่นอนว่าอาจมีประเด็นคำถามว่า คำให้การต่างๆที่ได้มานอกศาลนั้นเชื่อได้แค่ไหน ศาลบอกว่าไม่มีกฎหมายห้ามใช้คำให้การประเภทนี้ และศาลเชื่อมั่นในกระบวนการว่าจนท.ทำอย่างตรงไปตรงมา เพราะในขั้นตอนนั้นไม่มีการ "แจ้งข้อกล่าวหา ไม่มีการเสนอเงื่อนไขจะไม่ดำเนินคดี และซักถามร่วมกับผู้นำศาสนาที่ทางการจัดให้" ในการซัดทอดนั้นก็ไม่ได้ทำชนิดที่โยนความผิดให้คนอื่นทั้งหมด เจ้าตัวเองก็ยอมรับว่าผิดด้วย จึงเป็นสิ่งที่ศาลให้น้ำหนัก ศาลบอกว่าจนท.ที่เป็นผู้จับกุมและสอบสวนก็ "ไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคือง" กับพวกเขาจึงไม่มีเหตุที่จะไป "สร้างเรื่อง ปรักปรำหรือข่มขู่ บังคับ หรือว่าจูงใจ" ให้บรรดาคนที่ให้ปากคำแหล่านั้นพูดตามที่ให้การ นอกจากนั้นศาลเห็นว่า การที่พวกเขาสามารถให้รายละเอียดของกระบวนการที่สมาชิกบีอาร์เอ็นทำก็ทำให้คำให้การนั้นสมจริง เพราะเป็นองค์กรที่ปิดลับ ต้องเป็นคนในเท่านั้นจึงจะรู้ได้ การเข้าเป็นสมาชิกบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนทนี้ ศาลเห็นว่าเป็นความผิดอย่างสำคัญเพราะบีอาร์เอ็นต้องการแบ่งแยกดินแดนและด้วยวิธีการอันรุนแรง มีการทำร้ายประชาชน จนท.รัฐ ทรัพย์สินสาธารณะและอื่นๆ อัน"เป็นการกระทำในลักษณะของการก่อการร้าย" ศาลตัดสินให้พวกเขามีความผิดฐาน "อั้งยี่ ตระเตรียมการอันเป็นกบฏ" แต่พวกเขาไม่มีความผิดฐานกระทำการอันเป็นกบฏ ก่อการร้ายและซ่องโจร เนื่องจากยังไม่ได้กระทำการใดๆเพียงแต่ไปร่วมรับการฝึกฝนอบรม – เตรียมการ - เท่านั้น พูดโดยสรุปก็คือคดีนี้อาศัยหลักฐานจากการซัดทอดของคนสี่คน เป็นการซัดทอดในระหว่างการให้การในชั้นซักถามตามอำนาจพรก.ฉุกเฉิน และกับตำรวจในชั้นสอบสวน มีเพียงคนเดียวในกลุ่มนี้ที่ได้เบิกความกับศาล นอกจากนั้นคำให้การของกลุ่มคนสามคนที่นำมาประกอบการพิจารณาก็ได้มาจากการซักถามในชั้นตำรวจและพวกเขากลับคำให้การในชั้นศาล แต่ศาลก็ไม่นับ กลับไปใช้คำให้การที่ให้ไว้ครั้งแรกกับเจ้าหน้าที่แทน มีข้อสังเกตด้วยว่า ในคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีการเอ่ยชื่อบุคคลหรือนักเรียนของโรงเรียนปอเนาะทั้งสองรายอีกหลายคนอีกหลายคนว่าเข้าร่วมรับการอบรมเข้าเป็นสมาชิกบีอาร์เอ็น คนเหล่านี้ บัดนี้ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร เนื้อหาหลักๆของคดีจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลฏีกาก็มีดังที่ว่านี้เอง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สาเหตุที่ยูเนสโกยกประเทศคอสตาริก้าเป็นเจ้าภาพร่วมวันเสรีภาพสื่อโลกปี 2013 Posted: 05 May 2013 02:43 AM PDT แม้ว่าจะไม่ได้มีเสรีภาพสื่อมาตั้งแต่แรก แต่คอสตาริก้าก็เป็นประเทศที่องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนยกย่องว่าคุ้มครองเสรีภาพสื่อได้ดีกว่าประเทศเจริญแล้วอย่าง อังกฤษ แคนาดา หรือสหรัฐฯ พัฒนาการที่ดีขึ้นของคอสตาริก้ารวมถึงหลายประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกาทำให้องค์กรยูเนสโกยกให้คอสตาริก้าเป็นเจ้าภาพร่วม เมื่อวันที่ 2-4 พ.ค. ที่ผ่านมาองค์กรยูเนสโกร่วมกับรัฐบาลประเทศคอสตาริก้าร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองวันเสรีภาพสื่อโลกในกรุงซาน โฮเซ่ ประเทศคอสตาริก้า โดยประธานาธิบดีลอร่า ชินชิลา ผู้ได้รับการยกย่องเรื่องพันธกิจในการให้เสรีภาพสื่อและเสรีภาพการแสดงออกในประเทศ ได้ประกาศเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา วาระการประชุมเสรีภาพสื่อของปีนี้ให้ความสำคัญเรื่องแผนการของสหประชาชาติต่อความปลอดภัยของนักข่าวและประเด็นเรื่องการที่ผู้กระทำผิดไม่ได้รับโทษ (Impunity) โดยเน้นความสนใจไปยังส่วนภูมิภาคละตินอเมริกาเป็นพิเศษ โดยสาเหตุที่องค์กรยูเนสโก้เลือกประเทศคอสตาริก้าเป็นประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมในปีนี้เนื่องมาจากการที่ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคละติกอเมริกามีพัฒนาการอย่างมีนัยสำคัญเรื่องการปกป้องเสรีภาพสื่อและความปลอดภัยของนักข่าว แม้ว่าประเทศอย่างเม็กซิโกและฮอนดูรัสยังคงเป็นประเทศที่อันตรายที่สุดสำหรับการทำงานข่าว อิรินา โบโควา ผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโกกล่าวว่า "การจัดงานที่มีความโดดเด่นมากอย่างงานวันเสรีภาพสื่อโลก จะช่วยเน้นย้ำความสำเร็จของประเทศคอสตาริก้าและประเทศละติดอเมริกาทั้งหมดในเขตนี้ รวมถึงเป็นการส่งสัญญาณเรื่องพันธกิจต่อเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อ" องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) ยกย่องให้ประเทศคอสตาริก้าเป็นประเทศสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนท่ามกลางความไร้ขื่อแปที่เกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่ในหมู่ประเทศอเมริกากลาง และยังเป็นประเทศที่คุ้มครองเสรีภาพสื่อได้ดีกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศรวมถึง สหรัฐฯ, อังกฤษ, แคนาดา และ ออสเตรเลีย คอสตาริก้า ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 18 ของการจัดอันดับเสรีภาพสื่อประจำปี 2013 ของ RSF เพิ่มขึ้นมาหนึ่งอันดับจากปี 2012 โดยที่ไม่มีนักข่าว คนทำงานสื่อ หรือชาวเน็ตคนใดที่ถูกสังหารหรือถูกจำคุกเลย ล่าสุดในที่ประชุมพิเศษขององค์การรัฐอเมริกัน (OAS) เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2013 คอสตาริก้าได้ร่วมกับประเทศโคลัมเบีย, ปานามา, อุรุกวัย, เม็กซิโก, จาไมกา, แคนาดา และสหรัฐฯ ในการลงมติไม่เห็นชอบต่อความพยายามของเอกวาดอร์ในการปฏิรูปคณะกรรมการพิเศษเพื่อเสรีภาพในการแสดงออกของคณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนรัฐอเมริกัน (IACHR) ซึ่งมีผู้โหวตสนับสนุนคือ เวเนซุเอลลา, โบลิเวีย และนิคารากัว ข้อเสนอปฏิรูปของเอกวาดอร์จะเป็นการลดบทบาทของคณะกรรมการพิเศษฯ ในการปฏิบัติงานอย่างเป็นอิสระน้อยลง ในแง่ของการสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกและปกป้องนักข่าวในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ประเทศคอสตาริก้าก็เพิ่งแสดงผลงานสนับสนุนเสรีภาพสื่ออย่างจริงจังเมื่อไม่นานมานี้เอง โดยการอภิปรายและมีมติให้ปฏิรูปกฏหมายที่ละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อ โดยเฉพาะในกฏหมายด้านการหมิ่นประมาท ซึ่งก่อนหน้านี้มีนักข่าวของคอสตาริก้าจำนวนหนึ่งถูกสั่งจำคุกตามมาตราที่ 7 ของกฏหมายการพิมพ์ปี 1902 ที่ระบุให้มีการลงโทษจำคุกนักข่าว บรรณาธิการ และเจ้าของสื่อเป็นเวลา 120 วัน หากพบว่ามีการกระทำผิดจริงในข้อหาหมิ่นประมาทและ 'ดูแคลน' โดยที่ข้อกล่าวหาผู้สื่อข่าวทั้งสองรายถูกสั่งยกฟ้อง และศาลสูงของคอสตาริก้าก็มีการสั่งยกเลิกข้อบัญญัติการจำคุกในกรณ๊การหมิ่นประมาทในวันที่ 17 ก.พ. 2010 รัฐบาลคอสตาริก้ายังได้เคยออกกฏหมายอาชญากรรมข้อมูลข่าวสารเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2012 ซึ่งเป็นที่ต่อต้าน โดยกฏหมายฉบับนี้ระบุว่าผู้ที่เผยแพร่ 'ข้อมูลลับทางการเมือง' จะต้องโทษจำคุก 10 ปี ในมาตรา 288 ของกฏหมายฉบับนี้ระบุอีกว่าข้อมูลดังกล่าวรวมถึง 'ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือเรื่องที่เกี่ยวพันกับความมั่นคงทางกองทัพหรือความสัมพันธ์กับนานาชาติ' แต่หลังจากที่มีประชาชนออกมาต่อต้านกฏหมายฉบับดังกล่าว รัฐบาลคอสตาริก้าก็ให้คำมั่นว่ากฏหมายใหม่จะไม่ถูกนำมาใช้กับผู้สื่อข่าว จนกระทั่งศาลสูงของคอสตาริก้าได้สั่งยกเลิกมาตราดังกล่าวหลังจากที่นักข่าวแรนดอล ริเวร่า ฟ้องว่ามาตราดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ และเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ก็มีการลงมติในสภาให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกกฏหมาย 'ข้อมูลลับทางการเมือง' ทั้งหมด เมื่อปี 1993 องค์การสหประชาชาติได้จัดให้วันที่ 3 พ.ค. ของทุกปีเป็นวันเสรีภาพสื่อโลกเพื่อเป้นการสร้างความตระหนักในการรักษาเสรีภาพในการแสดงออกตามมาตราที่ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่กำหนดให้เป็นวันที่ 3 พ.ค. เนื่องจากเป็นวันเดียวกับที่มีการประกาศปฏิญญาวินด์ฮุค (Declaration of Windhoek) ซึ่งเป็นแถลงการณ์ว่าด้วยหลักการของเสรีภาพสื่อร่างโดยกลุ่มนักข่าวหนังสือพิมพ์ชาวแอฟริกันในปี 1991
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คนพุทธปัตตานีประณามเหตุยิง 6 ศพ ยันหนุนเจรจาสันติภาพ แต่ขอที่ยืนบ้าง Posted: 05 May 2013 01:35 AM PDT คนพุทธปัตตานีออกแถลงประณามเหตุยิง6ศพ ยันหนุนเจรจาสันติภาพ แต่ขอที่ยืนบ้าง เรียกร้องบีอาร์เอ็นออกมติออกมติไม่ทำร้ายผู้บริสุทธิ์และคุมกำลังของขบวนการไม่ให้ก่อเหตุกับประชาชน เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2556 กลุ่มคนไทยพุทธในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ได้ออกแถลงการณ์ในนามเครือข่ายชาวพุทธจังหวัดปัตตานี ฉบับที่ 1/2556 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2556 เรื่อง ประณามการกระทำที่โหดเหี้ยมของผู้ก่อเหตุ ต่อกรณีเหตุการณ์คนร้ายกราดยิงใส่ร้านขายของชำที่บ้านโคกม่วง ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 คน เมื่อค่ำวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 แถลงการณ์ระบุแสดงความเสียใจอย่างสูงต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้ง 6 รายดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องชาวพุทธชาวมุสลิม ซึ่งถือเป็นการกระทำที่อำมหิต จึงขอประณามการกระทำครั้งนี้ของผู้ก่อการ และเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ครอบครัวผู้ถูกกระทำ แถลงการณ์ระบุด้วยว่า "เรายังยืนยันสนับสนุนการพูดคุยเพื่อสันติภาพต่อไป โดยหวังว่าเป็นทางออกสำคัญในการลดและยุติความรุนแรงในที่สุด โดยเข้าใจดีว่ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพต้องใช้เวลาและความอดทน จึงขอให้เดินหน้าการพูดคุยและขอให้กำลังใจคณะเจรจาทั้งฝ่ายรัฐไทยและฝ่ายบีอาร์เอ็น(BRN)ให้พยายามต่อไป" พร้อมกันนี้ ยังเรียกร้องให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นรับข้อเสนอของรัฐไทย ที่ไม่ให้ทำร้ายผู้บริสุทธิ์ในท่ามกลางการเจรจาเพื่อสันติภาพ และให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นออกเป็นมติของสภาฝ่ายบีอาร์เอ็นว่า ไม่ทำร้ายผู้บริสุทธิ์และมีความพยายามสูงสุดที่จะควบคุมกำลังของขบวนการฯ อย่างเคร่งครัดไม่ให้ก่อเหตุความรุนแรงแก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์อีก นางสาวลม้าย มานะการ ตัวแทนเครือข่ายชาวพุทธจังหวัดปัตตานี กล่าวถึงเหตุที่ออกแถลงการณ์ครั้งนี้ว่า อยากออกแถลงการณ์มานานแล้ว เพราะคิดว่าชาวพุทธในพื้นที่เป็นเป้าหมายหลักของการก่อเหตุมานานแล้ว แต่ก่อนหน้านี้ชาวพุทธไม่มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกเพราะรู้สึกว่ามีการให้ความสำคัญกับคนพุทธน้อยมาก "เหตุการณ์ล่าสุดที่มีผู้เสียชีวิต 6 คน ส่งผลสะเทือนมาก โดยเฉพาะกับคนพุทธในพื้นที่ แต่เราพูดกันว่า เราขอที่ยืนให้คนพุทธบ้าง อย่าให้เราต้องไปอยู่ที่อื่นเลย ขอแผ่นดินให้เราอยู่ด้วย เราอยากอยู่อย่างสงบ ไม่มีความปรารถนาที่จะย้ายออกนอกพื้นที่" นางสาวลม้าย กล่าว "ที่เราเรียกร้องอย่างนี้ เพราะจากที่มีการเจรจาสันติภาพที่นายฮาซัน ตอยิบ ตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็นที่ได้ออกมากล่าวถึงข้อเรียกร้อง 5 ข้อ และมีการพูดถึงชาวสยามและชาวจีนด้วย ทำให้เรารู้สึกดีที่เขาพูดอย่างนั้น เป็นการให้ความสำคัญกับชาวพุทธ ชาวจีนและยอมรับในการเป็นพลเมืองของที่นี่" นางสาวลม้าย ระบุ นางสาวลม้าย กล่าวว่า คนพุทธที่เราสัมพันธ์ด้วยก็รู้สึกดีต่อการเจรจาสันติภาพ เช่น เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2556 ที่มีการจัดงานสมัชชาปฏิรูปชายแดนภาคใต้ ได้ประสานงานเชิงลึกเพื่อเชิญชวนชาวพุทธมาร่วมกันกำหนดเป้าหมายด้วยกันในเรื่องสันติภาพ ซึ่งมีมีคนพุทธเดินทางมาเยอะพอสมควร แต่ก็มาด้วยความกลัวที่ต้องออกจากพื้นที่ของตัวเองกลัวที่จะตกเป็นเหยื่อ เพราะอย่างที่รู้กันว่า วันที่ 28 เมษายน เป็นวันครบรอบเหตุการณ์กรือเซะ ส่วนใหญ่จะกลัวมากไม่กล้าออกไปไหนในวันนี้ นางสาวลม้าย เปิดเผยด้วยว่า เวลาออกเยี่ยมเยียนคนพุทธที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ บ่อยครั้งที่เขาจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงและเหมารวมว่าคนมุสลิมเป็นผู้ก่อเหตุ แต่ครั้งนี้มีมุสลิมเสียชีวิตด้วย จึงไม่ได้มีการกล่าวหาที่รุนแรง "เพราะจริงๆ แล้วเราเป็นเพื่อนกัน เราไม่จำเป็นต้องแบ่งแยก" นางสาวลม้าย เปิดเผยอีกว่า หลังจากนี้จะมีชุดเยี่ยมเยียนเล็กๆ เดินสายเยี่ยมเยียนพี่น้องไทยพุทธในพื้นที่ เพื่อทำความเข้าใจ อธิบายกระบวนการสันติภาพและรับฟังเสียงของคนพุทธ "ยอมรับว่าเจ็บปวดกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น รู้สึกว่าทำร้ายจิตใจกันมากเกินไป เรารอสันติภาพได้ แต่ระหว่างรอ อย่าทำร้ายจิตใจกัน อยากให้ลดความรุนแรงโดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่มีอาวุธ" นางสาวลม้าย กล่าว
แถลงการณ์ เครือข่ายชาวพุทธจังหวัดปัตตานี ฉบับที่ 1/2556 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2556 เรื่อง ประณามการกระทำที่โหดเหี้ยมของผู้ก่อเหตุ เครือข่ายชาวพุทธจังหวัดปัตตานี ขอแสดงความเสียใจอย่างสูงต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้ง 6 ราย ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องชาวพุทธชาวมุสลิม กรณีคนร้ายกราดและจ่อยิงผู้บริสุทธิ์ที่ร้านขายของชำในตำบลรูสะมิแลด้วยอาวุธสงคราม ซึ่งถือเป็นการกระทำที่อำมหิตโหดร้ายสุดจะทนได้ เราจึงขอประณามการกระทำครั้งนี้ของผู้ก่อการและเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ครอบครัวผู้ถูกกระทำโดยการขอให้เจ้าหน้าที่รัฐทำการสืบสวน สอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริงและนำคนผิดมาลงโทษโดยเร็ววัน เครือข่ายฯ ยังคงยึดมั่นว่าการอยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้องระหว่างชาวพุทธและมุสลิมในพื้นที่ว่า เป็นความปรารถนาร่วมกันของพวกเรา หากมีสิ่งใดที่อาจเป็นเหตุให้มีความแตกแยก ขอให้ใช้ความเมตตา-กรุณา ตามหลักคำสอนของพระศาสดา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นที่ตั้ง การคิดแบบเหมารวมต้องไม่เกิดขึ้นในใจของพวกเรา อนึ่ง เรายังยืนยันสนับสนุนการพูดคุยเพื่อสันติภาพต่อไป โดยหวังว่าเป็นทางออกสำคัญในการลดและยุติความรุนแรงในที่สุด เราเข้าใจดีว่าหนทางของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างมาก ต้องพบแรงเสียดทาน ปัญหาอุปสรรคและความท้าท้ายต่าง ๆ นานา แต่เราขอให้เดินหน้าการพูดคุยนี้และขอให้กำลังใจแก่คณะเจรจาทั้งฝ่ายรัฐไทยและฝ่ายบีอาร์เอ็น ให้พยายามต่อไป และเรียกร้องให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นรับข้อเสนอของรัฐไทย ที่ไม่ให้ทำร้ายผู้บริสุทธิ์ในท่ามกลางการเจรจาเพื่อสันติภาพและให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นออกเป็นมติของสภาฝ่ายบีอาร์เอ็นว่าไม่ทำร้ายผู้บริสุทธิ์และมีความพยายามสูงสุดที่จะควบคุมกำลังของขบวนการฯ อย่างเคร่งครัดไม่ให้ก่อเหตุความรุนแรงแก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์อีก เครือข่ายชาวพุทธจังหวัดปัตตานี ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
‘จะถอนคดีไฟใต้ทั้งหมด’ อัยการสูงสุดชี้ช่องเดินคู่พูดคุยสันติภาพ Posted: 05 May 2013 01:25 AM PDT อัยการสูงสุดชี้ช่องทางอำนาจ ตั้งแต่สั่งไม่ฟ้องไปจนถึงถอนฎีกาคดีไฟใต้ได้ทั้งหมด ตามมาตรา 21 พ.ร.บ.องค์กรอัยการ ชี้สามารถเดินหน้าควบคู่กับกระบวนการสันติภาพ ยกเว้นคดีที่ถึงที่สุดแล้ว แต่มีเงื่อนให้ผู้ต้องหาทั้งหมดสัญญาจะเลิกก่อเหตุและร่วมพัฒนาพื้นที่ เชื่อคนไทยไม่คัดค้าน เพราะทุกคนต้องการสันติสุข จุลสิงห์ วสันตสิงห์ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2556 นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด กล่าวในพิธีพิธีมอบเอกสาร "แนวทางการดำเนินคดีความมั่นคงสำหรับพนักงานอัยการในสถานการณ์ชายแดนใต้" และการนำเสนอผลการวิจัยเรื่อง "ประสิทธิภาพของรัฐในการดำเนินคดีความมั่นคงกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน : ศึกษากรณีสี่จังหวัดชายแดนใต้" ที่โรงแรมราชมังคลาพาวีเลี่ยนบีชรีสอร์ท อ.เมือง จ.สงขลา ตอนหนึ่งว่า อัยการสูงสุดมีอำนาจตามมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 ที่จะสั่งไม่ฟ้องในคดีอาญาได้ ถ้าเห็นว่า การฟ้องจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ นายจุลสิงห์ กล่าวอีกว่า ถ้าผู้ต้องหาคดีความมั่นคงสัญญาว่าจะกลับใจ สำนึกผิด จะไม่เข้าร่วมขบวนการและสามารถที่จะดึงคนในครอบครัวและเพื่อนออกมาได้ ตนจะถอนฟ้องให้ทั้งหมด เพราะอำนาจดังกล่าวเป็นของอัยการสูงสุดเพียงคนเดียว จะมอบหมายให้คนอื่นทำแทนไม่ได้ แต่มีระเบียบวิธีการที่ต้องมีการเสนอตามลำดับขั้นตอน ซึ่งมีใช้ทั่วประเทศแต่ยังไม่มีระเบียบที่ใช้เฉพาะในคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ "ผมได้ประสานงานกับพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือศอ.บต.แล้วว่า หากจับคนที่กระทำผิดจริงอาจจะไม่ลงโทษ ถ้าผู้กระทำผิดนั้นสำนึกผิดจริงๆ จะไม่เข้าไปร่วมกับขบวนการอีก แต่หากทำผิดไปโดยสันดารก็คงจะไม่ยกโทษให้ เพราะถ้ายกโทษก็จะกระทำผิดอีก" นายจุลสิงห์ กล่าว นายจุลสิงห์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า การใช้อำนาจตามมาตรา 21 ดังกล่าว สามารถเดินหน้าควบคู่ไปกับกระบวนการสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ได้ เพราะกฎหมายให้อำนาจอัยการกว้างมาก แต่ต้องมาคุยกัน มาสัญญากันว่าจะไม่กระทำผิดอีก ถ้าผู้ต้องหาคดีความมั่นคงทั้ง 5,000 กว่าคนมาสัญญากันได้ ตนก็จะถอนคดีให้ทั้งหมด แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ต้องยอมรับและร่วมการพัฒนาเพื่อให้เกิดความสงบสุข ความมั่นคงที่ยื่นยาว นายจุลสิงห์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่จะต้องทำหลังจากนี้ คือ ต้องทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในพื้นที่ว่าสามารถดำเนินการในเรื่องนี้ได้ ซึ่งคนในพื้นที่ต้องไปปรึกษากันว่าจะเอาอย่างไร จะให้เป็นมติคณะรัฐมนตรีก็ต้องทำ แล้วเสนอมาว่าจะมีเงื่อนไขอะไรบ้าง แต่ต้องทำประโยชน์กับคนในพื้นที่ การทำงานต้องมาจากความร่วมจากองค์กรที่ทำงานในพื้นที่ นายจุลสิงห์ กล่าวว่า แต่ถ้าเป็นคดีฟ้องศาลไปแล้ว อัยการสูงสุดก็ยังสามารถถอนฟ้องได้ รวมทั้งถอนอุทธรณ์และถอนฎีกาได้ "แต่ถ้าเป็นคดีที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้วก็ต้องเป็นเรื่องของกรมราชทัณฑ์ต่อไปที่จะสามารถดำเนินการภายใต้กฎหมายเกี่ยวกับการขอพระราชทานอภัยโทษ แต่มีข้อตกลง สมมุติว่าคนที่เป็นผู้นำถูกตัดสินโทษไปแล้ว แต่เขายังมีลูกสมุนอีกหลายคนที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ เขาสัญญาว่าจะทำให้ลูกสมุนกลับใจได้ ก็ปล่อยดีกว่าที่จะเก็บตัวเขาเอาไว้ เก็บไว้บ้านเมืองจะได้อะไร" นายจุลสิงห์ กล่าวด้วยว่า เชื่อว่าคนไทยต้องการความสงบ หลายคนต้องการที่จะเดินทางไปเที่ยวในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสจะตาย โดยไม่มีอะไรต้องกังวล นายจุลสิงห์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความรักความเข้าใจระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่จะทำให้เหตุการณ์ดีขึ้น ทั้งนี้ หนึ่งในเงื่อนไขของขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นกลุ่มเห็นต่างจากรัฐและเป็นหนึ่งในขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นแกนหลักในการพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลไทยขณะนี้ คือ ให้ปล่อยผู้ถูกควบคุมตัวทุกคนและยกเลิกหมายจับทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคงทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข มาตรา 21 พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่า การฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ ให้เสนอต่ออัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด โดยความเห็นชอบของ ก.อ.(คณะกรรมการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ) ให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับกับกรณีที่พนักงานอัยการไม่ยื่นคำร้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ถอนฟ้อง ถอนคำร้อง ถอนอุทธรณ์ และถอนฎีกา ด้วยโดยอนุโลม ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เคลื่อนขบวนสู่หน้าทำเนียบ Pmove จี้ 2 ปี รัฐล้มเหลวแก้ปัญหาคนจน Posted: 05 May 2013 01:11 AM PDT ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม Pmove เคลื่อนขบวน เตรียมชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่ 6 พ.ค. เป็นต้นไป ร้องทุกข์ต่อการแก้ปัญหาที่ล้มเหลวตลอดสองปีที่ผ่านของรัฐบาล 5 พ.ค. 56 - เช้าวันนี้ สมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม Pmove เครือข่ายสลัม 4 ภาค สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ อยู่ระหว่างเดินทางมายังสถานีรถไฟหัวลำโพง ส่วนสมาชิก Pmove ผู้ได้รับความเดือดร้อน อาทิ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล (สคจ.) เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.) สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา เครือข่ายสิทธิสถานะบุคคล และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล จ.อุบลราชธานี ได้ทยอยเดินทางจากพื้นที่ โดยสารรถไฟ รถประจำทาง รถบัส มีจุดนัดพบร่วมกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในเช้าวันที่ 6 พ.ค. 2556 ผู้เข้ามาร่วมชุมชนเปิดใจว่า การชุมนุมของผู้ได้รับความเดือดร้อนหน้าทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่ วันที่ 6 พ.ค. เป็นต้นไปนี้ มีจุดหมายเพื่อร้องทุกข์ต่อการแก้ปัญหาที่ล้มเหลวตลอดสองปีที่ผ่านของรัฐบาล ซึ่งเป็นปัญหาด้านนโยบายที่ไม่สาเร็จลุล่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายโฉนดชุมชน ๕๓ พื้นที่ ที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบ และผ่านความเห็นชอบของ คณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาล แต่หน่วยงานราชการ 5 กระทรวงหลักรวมทั้งกรุงเทพมหานคร ยังไม่ยอมอนุญาตให้ใช้พื้นที่ทาโฉนดชุมชน ส่วนปัญหาคดีความคนจน ปัญหาที่ดินชุมชนทับซ้อนกับที่รัฐ หรือปัญหาที่อยู่ที่ดินทำกินถูกเอกชนนาไปขอเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ ปัญหาคนไร้บ้าน ปัญหาชาวเล รวมถึง ปัญหาสัญชาติและชาติพันธุ์ ปัญหาผลกระทบจากเหมืองแร่ โรงไฟฟ้า และโรงโม่หิน ปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งเป็นกรณีปัญหาทั้งหมดอยู่ในกระบวนการพิจารณา แก้ไขปัญหาและเยียวยาจากรัฐบาลทั้งหมดแล้ว แต่ความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลทำให้สถานการณ์ในพื้นที่อยู่ในภาวะวิกฤต ชาวบ้านในหลายพื้นที่ถูกฟ้องร้อง ไล่รื้อ ติดคุก และถูกคุกคามด้วยความรุนแรงทุกรูปแบบ แม้ที่ผ่านมารัฐบาลได้แต่งตั้งกรรมการ และอนุกรรมการหลายคณะ เพื่อศึกษาการแก้ปัญหาจนได้ข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน แต่กลไกการแก้ปัญหาที่ประชาชนมีส่วนร่วมสร้างขึ้น รัฐบาลกลับไม่ดาเนินตาม ไม่สั่งการ ไม่สนใจ จนการแก้ปัญหาแทบทั้งหมดไม่มีความคืบหน้า นายดิเรก กองเงิน ชาวบ้านบ้านโป่ง หมู่ 2 ตำบลแม่แฝก อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงกรณีพื้นที่พิพาทที่ดินทำกินระหว่างเกษตรกรใน จ.ลำพูน-เชียงใหม่ กับนายทุนและรัฐ หลังกลุ่มชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินทำกินเข้าไปใช้ที่ดินซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์ จากนั้นจึงถูกนายทุนใช้เอกสารสิทธิ์ แจ้งความดาเนินคดี จากนั้นกลุ่มชาวบ้านได้รวมตัวเจรจากับรัฐบาล และได้เสนอให้จัดตั้ง สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน และโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน ในพื้นที่ 5 ชุมชนภาคเหนือ ได้แก่ บ้านไร่ดง หมู่ 3 ตำบลน้าดิบ อำเภอป่าซาง จังหวัดลาพูน บ้านแม่อาว หมู่ 3 ตำบลนครเจดีย์ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน บ้านแพะใต้ หมู่ 7 ตำบลหนองล่อง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลาพูน บ้านท่ากอม่วง ตำบลหนองปลาสะวาย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน และบ้านโป่ง หมู่ 2 ตาบลแม่แฝก อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อกระจายการถือครองที่ดิน ให้สามารถจัดซื้อที่ดินให้แก่เกษตรกรรายย่อยไร้ที่ทำกิน ในกรอบงบประมาณ 167 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 22 ก.พ. 2554 และ 8 มี.ค.2554 ได้ และเร่งการร่างกฎหมายเกี่ยวกับจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดิน ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน พ.ศ. 2553 ซึ่งรัฐบาลรับปากจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี "2 ปี ที่ผ่านมา สิ่งที่รัฐบาลประกาศนโยบายไว้ รับปากกับชาวบ้านไว้กลับไม่มีการสั่งให้ดำเนินการ รวมถึงยังพยายามหลีกเลี่ยงที่จะนัดประชุมเพื่อสอบสาเหตุ อธิบายปัญหา ส่วนในพื้นที่ที่เคยเจรจาจะซื้อที่กับคู่กรณีไว้ เจ้าของที่ยอมตกลงจะขายที่ดินให้ และชะลอการฟ้องดาเนินคดีไว้ก่อน ถ้าได้งบประมาณมาจากโครงการธนาคารที่ดินมาซื้อ แต่ตอนนี้เจ้าของที่ยื่นฟ้องชาวบ้านแล้ว วันที่ 9 พ.ค. นี้ต้องไปรับทราบข้อกล่าวหาที่อัยการ ถ้าชาวบ้านไม่มีญาติซึ่งมีตาแหน่งราชการก็ไม่สามารถประกันตัว ต้องติดคุกไม่รู้เมื่อไหร่ถึงจะประกันตัวได้" นายดิเรกกล่าว สำหรับการเดินทางมาร่วมชุมนุมในครั้งนี้ นายดิเรก กล่าวว่า "แม้จะไม่มีความหวัง ท้อแท้กับความพยายามที่กี่ครั้งๆ รัฐบาลรับปากแต่ไม่ยอมทา ทำแต่นโยบายของตัวเอง ไม่สนใจการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ก็เป็นหนทางเดียวที่จะให้ปัญหาได้รับการแก้ไข คือต้องมาเจรจากับรัฐบาล ด้วยอำนาจของนายกรัฐมนตรีต้องสั่งการให้ปัญหาคลี่คลายไปได้" นายดิเรก พูกล่าว ด้านผู้ได้รับความเดือดร้อนจากเขื่อนปากมูนที่ผ่านการเจรจาอย่างต่อเนื่องกับรัฐบาลมาหลายครั้ง ในที่สุด 23 มกราคม 2556 สามารถบรรลุข้อตกลง 3 ข้อกับรัฐบาล ประกอบด้วย 1.ยกเลิกมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2554 ในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่ให้สานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทำการศึกษาเพิ่มเติม 2.ให้ยกเลิก คณะกรรมการฯ อนุกรรมการ และคณะทำงาน ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ที่มีอยู่ทั้งหมด และ 3.ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลขึ้นมา 1 คณะ ที่มีอำนาจเต็ม เพื่อเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหาองค์รวม นางสมปอง เวียงจันทร์ แกนนำสมัชชาคนจน หนึ่งในกรรมการแก้ปัญหาเขื่อนปากมูล กล่าวถึงการมาร่วมชุมนุมในครั้งนี้ว่า ข้อตกลงในครั้งนั้นกับรัฐบาล รัฐบาลรับปากจะนาเรื่องเข้า ค.ร.ม.ในเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา มาถึงปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการ นางสมปอง กล่าวว่า "เรารอมานานแล้วเพื่อให้รัฐบาลแก้ปัญหา 13 นายก 16 รัฐบาล แต่รัฐบาลนี้ก็ไม่แตกต่างเหมือนกันหมด เราไม่ได้อยากมาชุมนุม แต่มันตกลงกันไม่ได้ เรื่องการแก้ปัญหาปากมูนไม่เข้า ค.ร.ม. เราก็ต้องรวมพลังกันเพื่อต่อรองเท่านั้นถึงจะเจราจาต่อรองปัญหาได้ เพื่อผลักดันการแก้ปัญหาปากมูนเข้า ค.ร.ม. ให้ได้" ทั้งนี้ การชุมนุมของผู้เดือนร้อนจาก 4 ภาคของประเทศ ภายใต้ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม Pmove หน้าทำเนียบรัฐบาล ผู้เดือดร้อนทั้งหมดได้เตรียมพร้อมมาเพื่อยืนยันจะปักหลักรอคาตอบจากรัฐบาลให้ถึงที่สุด สายอีสาน สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล (สคจ.) ร่วมพันรวมพลเคลื่อนขบวนขึ้นรถไฟมุ่งหน้าทาเนียบรัฐบาล 5 พ.ค. 56 - สายอีสาน สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล (สคจ.) ร่วมพันคน รวมพลเคลื่อนขบวนขึ้นรถไฟมุ่งหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อร่วมชุมนุมในวันพรุ่งนี้ (6 พ.ค.56) จี้! รัฐบาลล้มเหลวแก้ปัญหาคนจน ถามปัญหาเขื่อนปากมูล ผ่าน 13 นายก 16 รัฐบาล จะสาเร็จได้ในรัฐบาลปูที่รับปากแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้หรือไม่ แม้จะมีอุปสรรคต้องเจราจากับนายสถานีรถไฟเพื่อขึ้นรถไฟฟรี ตามนโยบายรถไฟฟรีเพื่อช่วยเหลือคนไทย และถูกคุมเข้มจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในพื้นที่ แต่ชาวบ้านก็สามารถเจรจาขึ้นรถไฟได้สาเร็จ ในระหว่างรอขึ้นขบวนรถไฟและทุกช่วงของการเดินทาง ยังได้แจกใบปลิว เพื่ออธิบายสถานการณ์ปัญหาความเดือดร้อนจากเขื่อนปากมูล เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ที่สัญจรไปมาและสังคม โดยจุดมุ่งหมายของขบวนที่มาร่วมในการชุมนุมครั้ง คือ ความเดือดร้อนหลายสิบปีของชาวบ้านต้องได้รับการแก้ไข ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สุรพศ ทวีศักดิ์ : บทพิสูจน์ ‘ธรรมราชา’ Posted: 05 May 2013 12:39 AM PDT พุทธศาสนาถือว่าผู้ปกครองที่ดีคือ "ธรรมราชา" นักวิชาการสมัยใหม่มักโจมตีว่านี่เป็นความคิดทางการเมืองที่เน้น "ตัวบุคคล" เท่านั้น แต่ที่จริงหากพิจารณาความหมายว่า ธรรมราชาคือ "ผู้ปกครองโดยธรรม" และถ้าเข้าใจความหมายของ "ธรรม" ตามนัยอัคคัญญสูตรที่เราอภิปรายกันมาในตอนที่แล้วว่า พุทธะไม่เห็นด้วยกับความหมายของธรรมแบบพราหมณ์ที่ถือว่า "ธรรมคือหลักเกณฑ์การแบ่งชนชั้นตามระบบวรรณะสี่" จึงเสนอธรรมแบบพุทธที่มีความหมายใหม่ว่า "ธรรมคือหลักเกณฑ์ความเสมอภาคในความเป็นคน" เราย่อมเข้าใจได้ว่า ปกครองโดยธรรมมีนัยสำคัญสนับสนุนการจัดระบบสังคมการเมืองที่มีความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ด้วย นอกเหนือจากการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของราษฎรอย่างเป็นธรรม ตามนัยจักรวรรดิวัตร ราชสังคหวัตถุ และทศพิธราชธรรม ในหนังสือ "ความเข้าใจในเรื่องพระเจ้าอโศกและอโศกาวทาน" (2552) สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ชี้ให้เห็นว่า ที่พระเจ้าอโศกได้รับยกย่องว่าเป็นธรรมราชา ก็เพราะพระองค์เปลี่ยนปฏิปทาของกษัตริย์ตามทฤษฎีเทวโองการที่ยึด "ราชธรรม" ในคัมภีร์อรรถศาสตร์ของเกาฏิลยะที่คล้ายกับ The Prince ของมาเคียเวลลี ซึ่งถือว่าชนชั้นปกครองมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะทำอะไรๆอย่างโหดร้ายทารุณก็ได้เพื่อรัฐและเศรษฐทรัพย์ หากพระเจ้าอโศกเปลี่ยนมาปกครองโดยธรรมตามนัยพุทธพจน์แห่งอังคุตตรนิกายที่ว่า พระราชาผู้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ และธรรมิกราชาย่อมพึ่งพระธรรม ยกย่องพระธรรม และถือเอาพระธรรมเป็นคำตัดสิน ถือเอาพระธรรมเป็นดังธง ถือเอาพระธรรมเป็นมาตรฐาน ถือเอาพระธรรมเป็นนาย เพื่อปกป้องและดูแลรักษาผู้คนในพระราชอาณา "ธรรม" ที่ธรรมราชายึดถือเป็น "หน้าที่" ที่ต้องปฏิบัติก็คือ "จักรวรรดิวัตร" ได้แก่ 1) ธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่ ยึดความถูกต้องเป็นธรรมเป็นหลักในการปกครอง 2) ธรรมิการักขา จัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองอันชอบธรรมแก่คนทุกหมู่เหล่า 3) อธรรมการนิเสธนา จัดการป้องกันและแก้ไขการกระทำความผิดต่างๆในบ้านเมือง 4) ธนานุประทาน เฉลี่ยทรัพย์ให้แก่คนยากไร้ มิให้ราษฎรขัดสน 5) ปริปุจฉา ปรึกษาสอบถามปัญหาต่างๆ กับสมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติชอบ รวมถึงนักปราชญ์ ผู้รู้ เพื่อให้รู้ชัดแจ้งการควรประกอบหรือไม่ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของราษฎรหรือไม่ นอกจากนี้ธรรมราชายังมีหน้าที่รับใช้ราษฎรตามหลัก "ราชสังคหวัตถุ" คือ 1) สัสสเมธะ การบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ความกินดีอยู่ดี 2) ปุริสเมธะ การบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ 3) สัมมาปาสะ ผูกผสานรวมใจราษฎรด้วยการส่งเสริมอาชีพเป็นต้น 4) วาชเปยะ หรือ วาจาเปยยะ รู้จักพูดดี มีเหตุผล มีประโยชน์ ทำให้เกิดความเข้าใจอันดี และความนิยมเชื่อถือ และต้องยึด "ทศพิธราชธรรม" คือ 1) ทาน สละทรัพย์สิ่งของช่วยเหลือราษฎร 2) ศีล ประพฤติดีงาม ประกอบแต่การสุจริต 3) ปริจจาคะ เสียสละความสุขส่วนตน ตลอดจนชีวิตของตน เพื่อประโยชน์สุขของราษฎรและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง 4) อาชชวะ ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริตซื่อตรง ไม่หลอกลวงราษฎร 5) มัททวะ อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่งถือตัว 6) ตปะ ระงับยับยั้งข่มใจได้ ไม่หมกมุ่นในความสุขสำราญ มีความเป็นอยู่อย่างสามัญ 7). อักโกธะ ไม่ลุอำนาจความโกรธ จนเป็นเหตุให้วินิจฉัยความและกระทำการต่างๆ ผิดพลาดเสียความเป็นธรรม 8) อวิหิงสา ไม่เบียดเบียนกดขี่ราษฎร 9) ขันติ มีความอดทนต่องานที่ตรากตรำ ต่อถ้อยคำเสียดสีถากถาง ทนต่อการวิพากษ์วิจารณ์ 10) อวิโรธนะ ไม่คลาดธรรม มีความยุติธรรม เที่ยงธรรมตามนิติธรรม และระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม แต่จะอย่างไรก็ตาม หากพิจารณาบริบททางประวัติศาสตร์ จะเห็นได้ว่าทฤษฎีธรรมราชาเป็นทฤษฎีที่พุทธะเสนอเพื่อโต้แย้งทฤษฎีเทวโองการของพราหฒณ์อันเป็นรากฐานของระบอบ "ราชาธิปไตย" ที่มีอยู่ก่อนสมัยพุทธกาลมาแล้วหลายพันปี โดยราชาธิปไตยเช่นนั้นถือว่ากษัตริย์ไม่ใช่คนธรรมดา หากเป็น "เทวราช" ที่อวตารมาจากเทพเจ้า กษัตริย์จึงทรงไว้ซึ่งอำนาจสิทธิ์ขาดแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตามเทวโองการ แต่ธรรมราชา คือ "สมมุติราช" หรือคนธรรมดาที่ได้อำนาจปกครองมาจากความยินยอมของราษฎร (ตามนัยอัคคัญญสูตร) อิงความชอบธรรมจาก "การรับใช้ราษฎร" (ตามนัยจักรวรรดิวัตร, ราชสังคหวัตถุ, ทศพิธราชธรรม) ฉะนั้น เมื่อว่าโดยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ "ธรรมราชา" เช่นที่ว่านี้ ก็ดูจะคล้าย "ราชาปราชญ์" ของเพลโต (แม้รายละเอียดจะต่างกัน) คืออาจจะมีอยู่แต่ในทางทฤษฎี ส่วนในทางปฏิบัติ กษัตริย์ชาวพุทธในยุคต่างๆ ที่ยกย่องกันว่าเป็นธรรมราชานั้น ที่จริงแล้วก็คือกษัตริย์ที่มีสถานะเหนือคนธรรมดา และมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ตามเทวโองการแบบพราหมณ์นั่นเอง (แม้แต่พระเจ้าอโศกก็มีสถานะกษัตริย์ตามเทวโองการในจารีตราชาธิปไตยแบบพราหมณ์ เพียงแต่ปรากฏหลักฐานใน "จารึกอโศก" ว่าในทางปฏิบัติ พระองค์ทรงดำเนินราชกิจตามทฤษฎีธรรมราชามากเป็นพิเศษ) ไม่ใช่กษัตริย์ที่เป็นคนธรรมดาเสมอกันกับราษฎรตามนัยอัคคัญสูตรแต่อย่างใด ที่เป็นเช่นนี้เพราะสังคมการเมืองยุคนครรัฐโบราณ ส่วนใหญ่แล้วเป็น "รัฐศาสนา" ที่ประกอบด้วยผู้มีส่วนร่วมทางการเมืองคือ "กษัตริย์ ขุนนาง พราหมณ์ และพระ" คนส่วนใหญ่คือไพร่ ทาส หาได้มีส่วนร่วมตัดสินใจในทางการเมืองไม่ ในบรรดาผู้มีส่วนร่วมทางการเมืองนั้น พวกพราหมณ์มีสถานะเป็นขุนนาง เป็นปุโรหิตหรือที่ปรึกษาของกษัตริย์ มีบทบาทในการกำหนดอุดมการณ์รัฐ วางระเบียบการปกครอง แบบแผนขนบธรรมเนียมของสังคม สอนศาสนา ความรู้ และพิธีกรรมต่างๆ เพื่อรักษาอุดมการณ์รัฐ รูปแบบการปกครอง และขนบจารีตของสังคม ฉะนั้น พวกพราหมณ์จึงมีอำนาจถ่วงดุลอำนาจทางการเมืองของกษัตริย์ เพราะพวกเขาวางจารีตการปกครองว่า กษัตริย์ต้องปกครองโดยราชธรรมตามเทวโองการ แต่ผู้ที่จะตัดสินว่ากษัตริย์ปกครองอย่างชอบธรรมตามราชธรรมหรือไม่นั้น คือพวกพราหมณ์ปุโรหิตผู้แตกฉานคัมภีร์พระเวท และพระธรรมศาสตร์อันเป็นกฎหมายปกครองบ้านเมือง ถึงขนาดออกกฎว่า "พระราชาจะทรงลงทัณฑ์แก่พวกพราหมณ์ไม่ได้" ส่วนพระซึ่งได้แก่พุทธะ คณะสงฆ์ และบรรพชิตในศาสนาอื่นๆ มิได้มีตำแหน่งและอำนาจทางการเมืองแต่อย่างใด มีบทบาทเพียงเสนอแนวคิดทางปรัชญาการเมืองและคุณธรรมของผู้ปกครองแก่กษัตริย์ที่หันมานับถือพุทธ และแก่ชาวบ้านทั่วไป สุลักษณ์เรียกบทบาทเช่นนี้ว่าเป็น "เสียงแห่งมโนธรรมสำนึก" แก่ชนชั้นปกครองแทนราษฎรทั้งหลาย ซึ่งก็ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง เขาเองก็เคยพูดว่า ทฤษฎีธรรมราชาที่นำมาประยุกต์ใช้นั้น ต้องยอมรับความจริงว่า "ล้มเหลวมากว่าสำเร็จ" เพราะมักถูกชนชั้นปกครองใช้เป็นเครื่องมือรักษาสถานะ อำนาจ (ตามเทวโองการ) ของพวกตนมากกว่า ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงที่มาของคำว่า "ธรรมราชา" ด้วยแล้ว จะเห็นว่าเดิมทีคำนี้เป็น "สมญานามของพุทธะ" โดยความเป็นธรรมราชาของพุทธะนั้นไม่ใช้อำนาจ ไม่ใช้อาชญา แม้พุทธะจะบัญญัติวินัยสงฆ์ก็บัญญัติขึ้นจากการ "ฟังเสียง" ของคณะสงฆ์และชาวบ้านทั่วไป ไม่ใช่ "คิดแทน" แล้วบัญญัติวินัยสงฆ์ไว้ล่วงหน้า หากแต่บัญญัติขึ้นเมื่อสงฆ์และชาวบ้านชี้ให้เห็นปัญหาภายในคณะสงฆ์และการหาทางป้องกัน อีกทั้งยังบัญญัติขึ้นท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ พร้อมกับให้สงฆ์ปกครองกันเองโดยยึดธรรมวินัยเป็นหลักแห่งมโนธรรมสำนึก ในฐานะธรรมราชานอกจากจะไม่ใช้อำนาจ อาชญา หรือกฎหมายปกครองสงฆ์แล้ว พุทธะยังไม่เคยเรียกร้องให้รัฐออกกฎหมายคุ้มครองตัวท่านเอง และคณะสงฆ์ (หรือธรรมราชาที่เป็นกษัตริย์) จากการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบ แม้กระทั่งจากการด่า การดูหมิ่นเหยียดหยามใดๆ ธรรมราชาอย่างพุทธะดำเนินชีวิติย่าง "คนเหมือนกัน" กับสามัญชน ฉะนั้น สำหรับพุทธะแล้ว บทพิสูจน์ความเป็น "ธรรมราชาที่แท้" อยู่ที่ "ทองแท้ไม่กลัวไฟ" ด้วยประการฉะนี้แล หมายเหตุ: จากบทความเดิม พุทธศาสนากับประชาธิปไตย (6): บทพิสูจน์ 'ธรรมราชา' เผยแพร่ใน "โลกวันนี้วันสุข" (ฉบับวันที่ 4-10 พฤษภาคม 2556)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ประวิตร โรจนพฤกษ์: ใครอยากเห็น ชัย ราชวัตร ติดคุกบ้าง? Posted: 04 May 2013 11:10 PM PDT
บางคนที่ผมรู้จักในทวีตภพ และเคยเข้าใจว่าไม่เห็นด้วยกับ ม.112 และการขังคนเพียงเพราะแสดงความเห็นต่าง หมิ่น หรือหยาบคาย กลับออกอาการมีความเห็นสนับสนุนการฟ้องนายชัย ทั้งๆ ที่ก็น่าจะรู้ว่าในไทย โทษหมิ่นประมาทคนทั่วไปและการหมิ่นเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่นั้น รวมถึงโทษทางอาญาด้วย ผู้เขียนเกรงว่า บางคนที่คิดว่าตนไม่เห็นด้วยกับ ม.112 ลึกๆ แล้วกลับอาจเป็นผู้ที่เห็นด้วยกับ 'ตรรกะ' แบบ ม.112 ดังปรากฏในบทโต้แย้งทางทวีตภพระหว่างผู้เขียนบทความกับผู้ใช้ทวีตเตอร์คนหนึ่ง (ขอเรียกว่า นาย ก.) ที่ผมเคยเชื่อว่าแกยืนหยัดกับเสรีภาพการแสดงออก
นาย ก. ทวีตถึงผม > 'กม.หมิ่นมีเพื่อความสงบของสังคม มีโทษอาญาแค่ลหุโทษ ถ้าเลิกโทษอาญา คนพึ่ง กม.ไม่ได้ อาจเกลียดโกรธจนยกพวกฆ่ากัน' ประวิตร > 'ฟังแล้วอึ้ง +อึดนึกมิได้ว่าที่คุณเพิ่งทวีตมา คล้ายคนคลั่งเจ้าปกป้อง ม.112 มาก > กรุณาทบทวนความคิดด่วน' 'ลองปรับ [ที่คุณเขียนในทวีตเมื่อกี้ดู] > ม.112 'มีเพื่อความสงบของสังคม… ถ้าเลิก ม.112 อาจเกลียดโกรธจนยกพวกฆ่ากัน' 'ยังจำได้ไหม บรรดาคนคลั่งเจ้าพูดประจำว่าโดน ม.112 รีบขอพระราชทานอภัยโทษ ในหลวงก็ไม่เคยทรงปฏิเสธ' นาย ก. > 'free speech มิได้ให้คนพูดเหยียดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ละเมิด หมิ่นประมาทคนอื่นได้ตามอำเภอใจ นั่นมันอนาธิปไตย' ประวิตร > 'นั่นแหละครับ 'คำอธิบาย' เหมือนที่คนคลั่งเจ้าอธิบายว่าทำไม ดา ตอร์ปิโด หรือ อากง [จึง] ต้องติดคุก' 'ผมลองปรับอีกที > 'free speech มิได้ให้คนพูดเหยียดศักดิ์ศรีความเป็นเจ้า ละเมิด หมิ่นประมาทเจ้าได้ตามอำเภอใจ นั่นมันอนาธิปไตย' 'ผมไม่มีปัญหาว่า [คุณ ก.] อยากเลือกจุดยืนอะไร แต่อย่าลืมว่าคนที่สะใจที่ ดา ตอร์ปิโด ติดคุก ก็บอกเช่นกันว่า ถ้าไม่ขัง [ดา] ก็ออกมาพูดอีก' นาย ก. > 'เช่นนั้น ผมก็ว่า ตรรกะคุณประวิตรคล้ายพวกอานาคิสต์-ผู้นิยมอนาธิปไตยที่ก่อความวุ่นวาย ล้มเหลวมาแล้วทั่วโลก' ประวิตร > 'ผมบอกแล้ว ผมเห็นด้วยแค่โทษปรับ [สำหรับการหมิ่นประมาท] –อย่าลืมนะ ก่อนแจกกระสุนจริง [ปี 53] เขาก็อ้างว่าแดงก่อ anarchy กลางเมือง > ระวัง!' 'โทษอาญาสำหรับการกล่าววาจาหรือเขียนหมิ่นเป็นโทษเผด็จการ > ยังไม่สายที่คุณจะสนับสนุนโทษอาญา ม.112 –ผมไม่ว่าอะไร' นาย ก. > 'โทษอาญาจำเป็นในการรักษา peace & order ของสังคม @PravitR ไม่เข้าใจ เข้าใจผิดมากที่ว่าโทษอาญาเป็นเผด็จการ มันคนละเรื่องกันแล้ว' 'โลกนี้ไม่มีเสรีภาพด้านเดียวไร้ขีดจำกัดตามอำเภอใจ นั่นเป็นแต่ความคิดไร้เดียงสาของพวกอนาคิสต์/บุปผาชน ไม่มีในโลกจริง' 'ทุกสิทธิมีหน้าที่อยู่ด้วย ทุกเสรีภาพมีความรับผิดชอบอยู่ด้วย เอาแต่เสรีภาพด้านเดียวโดยปฏิเสธนิติรัฐคืออนาคิสต์' 'ผมกำลังพูดว่า ในสังคมไทยปัจจุบัน โทษอาญายังจำเป็นสำหรับ กม.หมิ่นคนทั่วไป อย่ามั่วลากไป ม.112 สิครับ' ประวิตร > 'ตกลงหมิ่นคนธรรมดา ควรเจอโทษอาญา แต่หมิ่นเจ้าไม่ต้องโทษอาญา? > คุณ [ก.] พักผ่อนก่อนเถอะครับ' ------
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
มาเลเซียต่อแถวยาวรอเลือกตั้งวันนี้ - ฝ่ายค้านหวังให้กระบวนการมีความยุติธรรม Posted: 04 May 2013 10:19 PM PDT คนแห่ฟังแน่นพรรคฝ่ายค้านมาเลเซีย หาเสียงเป็นคืนสุดท้าย ด้านผู้สมัครพรรคกิจประชาธิปไตยมั่นใจว่าจะชนะ แต่ต้องมี "การเลือกตั้งที่ยุติธรรม" ขณะที่มาเลเซียเปิดคูหาเลือกตั้งแล้ว คนรอคิวแต่เช้า ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดระหว่างพรรครัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านที่ต้องการหยุดรัฐบาลที่ปกครองประเทศมายาวนานถึง 57 ปี ผู้สนับสนุนพรรคกิจประชาธิปไตย "DAP" และแนวร่วมฝ่ายค้าน "ภาคีประชาชน" (PR) หลายพันคน ฟังการปราศรัยของพรรคฝ่ายค้านที่ย่าน IJM Promenade รัฐปีนัง เมื่อคืนวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่การเลือกตั้งมาเลเซียเริ่มต้นในวันนี้ (5 พ.ค.) ตั้งแต่เวลา 8.00 น. - 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น คาปาล สิงห์ (Karpal Singh) ประธานระดับชาติของพรรคกิจประชาธิปไตย "DAP" และผู้สมัคร ส.ส. ปราศรัยที่ IJM Promenade รัฐปีนังเมื่อคืนวานนี้ (4 พ.ค.) คาปาล สิงห์ ปัจจุบันอายุ 72 ปี เป็นนักการเมืองฝ่ายค้านอาวุโส และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในรัฐปีนังครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2521 ชาวปีนังเข้าแถวยาวแต่เช้าวันนี้ (5 พ.ค.) ที่หน่วยเลือกตั้งโรงเรียนประถม Kong Ming Pusat ถนน Air Hitam เพื่อรอใช้สิทธิเลือกตั้งวันนี้ (5 พ.ค.) สำหรับหน่วยเลือกตั้งนี้อยู่ในเขต Air Putih เป็นการแข่งขันระหว่างหลิม กวน อิง (Lim Guan Eng) พรรคกิจประชาธิปไตย DAP ซึ่งอยู่ภายใต้พรรคฝ่ายค้าน "ภาคีประชาชน" (PR) และตัน เค็ง คอง (Tan Ken Keong) พรรคสมาคมชาวจีนแห่งมาเลเซีย (MCA) ซึ่งอยู่ในพรรครัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ" (Barisan Nasional - BN) หน้าสำนักงานโครงการ 1Malaysia Development Berhad ที่ย่าน Air Puteh เกาะปีนัง วันนี้ (5 พ.ค.) ซึ่งเป็นสำนักงานขายของโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สำหรับสถานที่นี้ ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 พ.ค. บล็อกเกอร์ในปีนังรายหนึ่ง ได้เผยแพร่คลิปความยาว 2.40 นาที (ชมคลิป) แสดงให้เห็นภาพคนจำนวนมากยืนเข้าแถวเพื่อรอรับสิ่งของ ทั้งนี้มาเลเซียกินีอ้างรายงานของมาเลย์เมล์ ว่า ผู้คนที่มายืนเข้าแถวดังกล่าวให้สัมภาษณ์ว่าพวกเขาไม่ได้มาเข้าแถวเพื่อลงทะเบียนจองโครงการอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว แต่มารับเงินสดจำนวน 500 ริงกิต (ประมาณ 4,800 บาท)
เมื่อคืนวานนี้ (4 พ.ค.) ซึ่งเป็นคืนสุดท้ายสำหรับการหาเสียงก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปมาเลเซียที่จัดวันนี้ (5 พ.ค.) มีการหาเสียงของพรรคกิจประชาธิปไตย "DAP" ที่ย่าน IJM Promenade รัฐปีนัง มีผู้เข้าร่วมหลายพันคน ทั้งนี้กฎหมายกำหนดให้สามารถหาเสียงได้ถึงวันที่ 4 พ.ค. ในเวลาไม่เกิน 24.00 น. โดยเจฟ อุ่ย หรือ อุ่ย ชวน อัน (Ooi Chuan Aun) ผู้สมัคร ส.ส.พรรคกิจประชาธิปไตย "DAP" ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าเขาและพรรคฝ่ายค้านคนอื่นๆ มีความมั่นใจว่าจะชนะเลือกตั้ง ส.ส. หลายพื้นที่ในมาเลเซีย โดยหวังว่าจะได้รับเสียงข้างมาก อย่างไรก็ตามเขาหวังว่าจะมีการเลือกตั้งจะเป็นไปอย่างยุติธรรม ซึ่งการเลือกตั้งที่ยุติธรรมนี้ถือเป็นหลักประกันที่สำคัญ ขณะที่ซาอิริล เคอร์ โจฮารี (Zairil Khir Johari) แกนนำเยาวชนและผู้สมัคร ส.ส.พรรค DAP กล่าวปราศรัยว่า มาเลเซียได้รับเอกราชเมื่อ 57 ปีที่แล้วและตั้งเป็นประเทศที่มีเอกราช แต่อีก 57 ปีต่อมาในวันนี้ ประเทศของเรายังไม่มีเสรี ชาวมาเลเซียยังไม่มีเสรีภาพ ไม่ม่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่มีเสรีภาพในการรวมตัวสมาคม และพรุ่งนี้ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งจะเป็นการนำเสรีภาพของเรากลับคืนมา และสร้างมาเลเซียขึ้นใหม่ ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรครัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ" หรือ "BN" นั้น ก่อนหน้านี้ นาจิป ราซัก รักษาการณ์นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และผู้นำพรรครัฐบาลได้ให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ เดอะสตาร์ โดยเขาเชื่อว่าผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกที่เป็นเยาวชนส่วนใหญ่จะตัดสินใจเลือกพรรครัฐบาล โดยกล่าวด้วยว่าในประเทศอื่นคนรุ่นใหม่มักเรียกร้องให้เปลี่ยนรัฐบาล ที่เขาเป็นแบบนั้นเพราะผู้นำไม่ใส่ใจพวกเขา แต่ที่มาเลเซีย เราปกครองประเทศนี้อย่างดี เราสร้างงานหลายแสนตำแหน่ง และระบุว่าให้หลักประกันว่าจะมีการจ้างงาน 3.3 ล้านตำแหน่งในปี 2020 โดยนาจิป อ้างด้วยว่า เยาวชนไม่ได้โกรธรัฐบาลและพวกเขารู้ว่ามีเพียง "แนวร่วมแห่งชาติ" เท่านั้นที่ให้หลักประกันกับอนาคตของเขาได้ สำหรับการเลือกตั้งในมาเลเซียวันนี้ (5 พ.ค.) จะเริ่มในเวลา 8.00 น. - 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง เป็นการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งหมด 222 ที่นั่ง และที่นั่งในสภาของรัฐบาลท้องถิ่นอีก 505 ที่นั่ง สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส. พรรคที่ชนะตั้งรัฐบาลได้ต้องรวมเสียงข้างมากให้ได้ตั้งแต่ 112 ที่นั่งขึ้นไป โดยมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 13 ล้านคน และมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก 2.6 ล้านคน และในจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งนี้จะมีผู้มีสิทธิประมาณ 2.7 แสนคนจากกองทัพ จะใช้สิทธิผ่านช่องทางไปรษณีย์ ขณะที่บรรยากาศเลือกตั้งในเช้าวันนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในหลายหน่วยเลือกตั้งของรัฐปีนัง ประชาชนมาเข้าแถวรอใช้สิทธิเลือกตั้งแต่เช้า เช่นเดียวกับในพื้นที่อื่นๆ ของมาเลเซีย ทั้งนี้ การเลือกตั้ง 5 พ.ค. นี้ ถือเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างพรรคพรรครัฐบาลมาเลเซีย "แนวร่วมแห่งชาติ" หรือ BN และพรรคฝ่ายค้าน "ภาคีประชาชน" หรือ PR ทั้งนี้พรรครัฐบาลชนะการเลือกตั้งและครองอำนาจในมาเลเซียมานับตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี พ.ศ. 2510 อย่างไรก็ตามเมื่อการเลือกตั้งปี 2551 ที่ผ่านมา พรรคฝ่ายค้าน "ภาคีประชาชน" หรือ PR ก็ได้เสียงในสภามากขึ้น โดยพรรคฝ่ายค้านได้ ส.ส. 82 ที่นั่ง ส่วนฝ่ายรัฐบาลได้ 140 ที่นั่ง ลดลง 58 ที่นั่ง จากเดิมที่เคยได้ 198 ที่นั่งในการเลือกตั้งปี 2547 โดยฝ่ายค้านสามารถชนะการเลือกตั้งที่รัฐเคดะห์ กลันตัน ปีนัง สลังงอร์ และเขตกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งทำให้พรรครัฐบาลสูญเสียการเป็นเสียงข้างมาก 2 ใน 3 เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา พรรครัฐบาล ได้คะแนนนิยมราว ร้อยละ 50.27 ส่วนพรรคฝ่ายค้านได้รับคะแนนนิยมราว ร้อยละ 46.75 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น