โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

โมซิน ฮามิด : การสร้างภาพเหมารวมศาสนาอิสลาม

Posted: 20 May 2013 09:43 AM PDT

โมซิน ฮามิด ผู้เขียนเรื่อง "ศาสนิกชนผู้ลังเล" กล่าวถึงการมองโลกแบบเหมารวมว่าชาวมุสลิมเป็นกลุ่มคนที่คิดแบบเดียวกันหมด แต่จริงๆ แล้วพวกเขามีความเคร่งไม่เท่ากัน บ้างก็ตีความคำสอนต่างกัน เช่นเดียวกับชาวพุทธ และศาสนาอื่นๆ

เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2013 โมซิน ฮามิด ผู้เขียนหนังสือเรื่อง "ศาสนิกชนผู้ลังเล" (The Reluctance Fundamentalist) ได้นำเสนอบทความที่กล่าวว่าชาวตะวันตกมักจะมองภาพชาวมุสลิมแบบเหมารวมเป็นพวกเดียวกันหมด ทั้งที่จริงๆ แล้วชาวมุสลิมกว่าหลายล้านคนทั้วโลกต่างก็มีแนวคิดความเป็นปัจเจกบุคคลในตัวเอง

ฮามิดเล่าถึงประสบการณ์เมื่อปี 2007 หกปีหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ในสหรัฐฯ หลังจากตีพิมพ์หนังสือเรื่อง "ศาสนิกชนผู้ลังเล" เขาก็เดินทางไปในยุโรปและอเมริกาเหนือ โดยสื่อที่สัมภาษณ์เขามักจะพูดถึงศาสนาอิสลามราวกับเป็นสิ่งที่มีความเป็นเอกภาพหนึ่งเดียว เป็นระบบการมองโลกที่มีความชัดเจนราวกับ 'ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์' ที่ต่างกับ 'ระบบปฏิบัติการ' ของสิ่งที่เรียกว่า "โลกตะวันตก"

"ผู้คนมักจะพูดซ้ำๆ ว่า 'พวกเราชาวยุโรป' มีมุมมองต่างจาก 'พวกคุณชาวมุสลิม' อย่างไร มันทำให้ผมโมโหจนถึงขั้นต้องเอาหนังสือเดินทางประเทศอังกฤษออกมาโบกเหนือศีรษะ" ฮามิดกล่าว

อย่างไรก็ตามฮามิดบอกว่าหลังจากที่มีภาพยนตร์ที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือของเขาเข้าฉาย คำถามดังกล่าวก็ลดน้อยลง แต่ยังคงมีบางแห่งที่มีแนวคิดเหมารวมว่าคนศาสนาอิสลามต้องคิดเหมือนกันหมดอยู่

"เมื่อไม่นานมานี้มีเพื่อนผมในลอนดอนที่ชอบเดินทางไปหลายที่บอกผมว่า ขณะที่ชาวมุสลิมอาจจะมีความก้าวร้าว แต่พวกเขาก็มีการรวมกลุ่มด้วยความเกื้อกูลต่อกัน" ฮามิตกล่าวในบทความ "ผมก็ตอบกลับไปโดยเล่าเรื่องขณะกำลังยืนต่อแถวในสนามบินกรุงริยาร์ด เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของซาอุฯ ขว้างหนังสือเดินทางใส่หน้าของแรงงานชาวปากีสถาน ถ้านั่นเรียกว่าความเกื้อกูล ผมก็รู้สึกว่าเราคงให้ความหมายคำนี้ไม่ตรงกัน"

ฮามิดกล่าวอีกว่า อิสลามไม่ใช่เชื้อชาติ แต่แนวคิดหวาดกลัวอิสลามมีลักษณะในเชิงการเหยียดเชื้อชาติอยู่ ฮามิดบอกว่าชาวมุสลิมส่วนใหญ่ไม่ได้ 'เลือก' ว่าจะเป็นอิสลามแบบเดียวกับการเลือกอาชีพ หรือเลือกชื่นชมวงดนตรี ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ก็เหมือนกับกลุ่มความเชื่ออื่นๆคือเกิดมาพร้อมกับศาสนาติดตัว แต่พวกเขาก็มีการปรับเปลี่ยนพัฒนาความสัมพันธ์กับศาสนาในแบบของตัวเอง และมีมุมมองแนวคิดแบบปัจเจกบุคคลซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็น "ศาสนาย่อยๆ" ของพวกเขาเอง

"มีความเชื่อหลากหลายกว่าพันล้านความเชื่อในหมู่คนที่เรียกตัวเองว่าเป็นมุสลิม แต่ละคนก็มีต่างกัน เช่นเดียวกันคนที่เรียกตัวเองว่าชาวคริสต์ ชาวพุทธ หรือฮินดู แต่แนวคิดหวาดกลัวอิสลามก็ไม่ได้เล็งเห็นถึงความหลากหลายนี้ ไม่ได้เห็นความเป็นมนุษย์ในแต่ละปัจเจกบุคคล มันคือความพยายามป้ายสีสมาชิกในกลุ่มหนึ่งๆ ด้วยสีเดียวกันหมด ถ้าเช่นนั้นแล้วมันก็เหมือนกับแนวคิดเหยียดสีผิวดีๆ นี่เอง" ฮามิดกล่าว

ในบทความระบุว่าแนวคิดหวาดกลัวอิสลามมาจากความคิดของพวกนักคิดสายทหารในสหรัฐฯ ของกลุ่มพรรคการเมืองในยุโรปที่หวาดกลัวต่างชาติ และแม้แต่ในวาทกรรมของกลุ่มอเทวนิยม ซึ่งในการถกเถียงของพวกเขามักจะให้ภาพอิสลามว่าเป็นสิ่งที่ 'เลวร้ายกว่า' ศาสนาทั่วไป "ราวกับกำลังพูดว่าพวกโจรจี้ปล้นเป็นคนไม่ดี แต่โจรจี้ปล้นที่เป็นคนดำนั้นแย่ยิ่งกว่า เพราะคนผิวดำถูกมองว่ามีความรุนแรงเป้นนิสัยติดตัวมากกว่า" ฮามิดกล่าว

ฮามิดกล่าวอีกว่า แนวคิดหวาดกลัวอิสลามเกิดขึ้นซ้ำๆ ในข้อถกเถียงสาธารณะ ตั้งแต่กรณ๊การสร้างศูนย์วัฒนธรรมอิสลามในย่านดาวน์ทาวน์ของแมนฮัตตัน (ที่เรียกว่า "มัสยิดกราวน์ซีโร่") หรือการสั่งห้ามการสร้างหอคอยสุเหร่าในสวิตซ์เซอร์แลนด์ นอกจากข้อถกเะถียงสาธารณะแล้วมันยังเกิดขึ้นกับการปฏิสัมพันธ์ในชีวิตประจำวันด้วย

โดยฮามิดได้เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวตอนที่เขาไปงานวันเกิดเพือนในกรุงมะนิลา โดยนั่งข้างผู้หญิงชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งหลังจากแนะนำตัวกันแล้วอีกฝ่ายหนึ่งก็พูดขึ้นมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยว่าเธอจะไม่มีทางแต่งงานกับชายชาวมุสลิม "ผมตอบติดตลกกลับไปว่า 'มันเร็วไปสำหรับเรานะที่จะหารือกันเรื่องแต่งงาน' แต่ผมก็รู้สึกโกรธเคือง"

"ในอเมริกาช่วงก่อนเหตุการณ์ 9/11 ที่ผมใช้ชีวิตอยู่ มีบรรทัดฐานทางสังคมเรื่องความสุภาพทำให้ผมไม่เคยได้ยินเรื่องแบบนี้มาก่อน ไม่ว่าจะมีคนคิดแบบเดียวกับผู้หญิงคนนั้นมากแค่ไหนก็ตาม" ฮามิดกล่าว

ฮามิดบอกว่า แนวคิดหวาดกลัวอิสลามมักจะลดความสำคัญของปัจเจก และให้ความสำคัญกับคนเป็นกลุ่ม เขาจึงหันมามองเรื่องภาพเหลารวมที่คนมองศาสนาอิสลาม เช่นแนวคิดที่ว่าชาวมุสลิมเชื่อเรื่องการขลิบอวัยวะเพศหญิง "แต่ในช่วงตลอด 41 ปี ที่ผมมีชีวิตอยู่ ผมได้คุยกับคนที่บอกว่าตัวเองเป็นมุสลิมแต่ทุกคนต่างก็เชื่อว่าพิธีกรรมแบบนี้เป็นเรื่องไร้มนุษยธรรม" ฮามิดกล่าว เขาบอกอีกว่าตัวเขาเองไม่เชื่อว่าพิธีกรรมแบบนี้จะมีอยู่จริงมาก่อนจนกระทั่งอ่านเจอในหนังสือพิมพ์เมื่อช่วงประมาณอายุ 20 ปี

ขณะที่เมื่อพูดถึงบทบาทของผู้หญิงในการเมือง ฮามิดบอกว่าจริงอยู่ที่มีชาวมุสลิมหลายล้านคนไม่เชื่อว่าผู้หญิงควรจะมีบทบาททางการเมือง แต่ก็มีอีกหลายล้านคนที่ไม่มีปัญหาอะไรกับการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีหญิงขึ้นมาบริหารประเทศเช่นในประเทศที่มีชาวมุสลิมอยู่เป็นส่วนใหญ่อย่างปากีสถานหรือบังกลาเทศ ซึ่งการเลือกตั้งในปากีสถานเมื่อไม่นานมานี้ก็มีผู้หญิงได้รับเลือกตั้ง 448 คนทั้งในสภาระดับชาติและระดับจังหวัด

ฮามิดเล่าว่ายายทวดของเขาส่งลูกสาวไปเรียนในมหาวิทยาลัย ยายของเขาก็เป็นประธานของสมาคมสตรีปากีสถาน ที่มำหน้าที่พัฒนาสิทธิสตรีในประเทศ แต่ขณะเดียวกันในหมู่ญาติๆ ของเขาก็มีบางคนที่อยู่ในกรอบอนุรักษ์ไม่ยอมเจอผู้ชายที่ไม่ใช่คนในสายเลือดตัวเอง บางคนสวมผ้าคลุมหัวขณะที่บางคนก็สวมมินิสเกิร์ต บางคนเป็นอาจารย์หรือมีธุรกิจของตนเองขณะที่บางคนก็แทบไม่ได้ออกจากบ้าน

"ถ้าคุณถามถึงศาสนาของพวกเธอ พวกเธอก็จะตอบเหมือนกันหมดว่า 'อิสลาม' แต่เมื่อคุณพยายามเอาคำๆ มาอธิบายแนวคิดทางการเมือง อาชีพ และค่านิยมทางสังคม พวกคุณคงรู้สึกลำบากมากในการพยายามสรุปพวกเธอให้อยู่ในมุมมองเดียว" ฮามิดกล่าว

"ศาสนาในชีวิตจริงต่างจากการข้อกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรในพระคัมภีร์ที่ถูกตีความอย่างเคร่งครัด มีน้อยคนมากที่จะดำเนินชีวิตตามการตีความคำสอนตามตัวอักษร มีหลายคนที่ไม่มีความรู้หรือมีความรู้เรื่องพระคัมภีร์เพียงน้อยนิด ส่วนคนที่รู้มากก็เลือกตีความตามที่ตนเห็นสะดวกหรือเป็นไปตามสามัญสำนึกทางจริยธรรมของตนเองว่าสิ่งไหนที่ดี" ฮามิดกล่าว "แล้วก็มีคนอื่นๆ ที่มองศาสนาของตัวเองเหมือนเป็นเชื้อชาติที่เขารับมาด้วยตนเอง แต่ก็ใช้ชีวิตแบบไม่ได้อยู่กับความเชื่ออะไร"

ผู้เขียนบทความยังได้เล่าถึงกรณ๊ที่กลุ่มตอลีบันถ่ายวีดิโอเฆี่ยนผู้หญิงโดยอ้างว่าเป็นการลงโทษพฤติกรรม 'ละเมิดศีลธรรม' คนขับรถของครอบครัวฮามิดแสดงความเห้นในเรื่องนี้ว่าการกระทำของตอลีบันไม่เป็นอิสลามเพราะอิสลามบอกให้คนทำความดีโดยที่เขาไม่ได้อ้างอิงหรือตีความอะไรซับซ้อนเพื่อสนับสนุนความคิดตน ดังนั้นฮามิดจึงคิดว่ามาตรวัดด้านจริยธรรมของคนขับรถผู้นี้ไม่ใช่สิ่งที่มาจากคำสอนแต่เป็นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีจากภายใน

มีบางคนกล่าวถึงหนังสือศาสนิกชนผู้ลังเลว่าเป็นเรื่องของคนที่เปลี่ยนแปลงตัวเองกลายเป็นผู้เคร่งครัดในหลักการศาสนาอิสลาม แต่ฮามิดก็ยืนยันว่าสิ่งที่ตัวละครเอกในเรื่องคือเฉงจิสกระทำไม่มีเรื่องใดเลยที่เป็นเรื่องในเชิงศาสนา ความเชื่อของตัวละครตัวนี้เหมือนนักมนุษย์นิยมฆราวาสนิยม แม้กระนั้นเองเฉงจิสก็ยังคงเรียกตัวเองว่าเป็นชาวมุสลิมและรู้สึกไม่พอใจนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามคนอ่านจำนวนกลับมองว่าเฉงจีสเป้นตัวละครผู้เคร่งศาสนาอิสลาม

มีคำถามว่าทำไมผู้อ่านถึงตีความเช่นนี้ ฮามิดผู้เขียนเรื่องนี้อธิบายว่าเขาเขียนนิยายเล่มนี้โดยใส่ใจกับการแยกแยะเรื่องจุดยืนทางการเมืองออกจากเรื่องความเชื่อและศาสนาที่แฝงอยู่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าคนๆ หนึ่งสามารถแสดงตัวตนทางการเมืองเป็นเรื่องได้โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อในหลักศาสนาร่วมไปด้วย แต่คนก็มักจะอ่านมันกลับกันคือเห็นว่าคนๆ นี้มีระบบปฏิบัติการทางศาสนาเช่นนี้ เขาจึงคิดเช่นนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วคนๆ หนึ่งอาจจะไม่มีระบบปฏิบัติการที่ว่าอยู่เลยก็ได้

"พอคิดเช่นนี้ พวกเราจึงกลายเป็นผู้สร้างภาพเหมารวมขึ้นมา ถ้าพวกเรามองศาสนาในแง่ของการปฏิบัติในโลกภายนอก พวกเราก็จะเห็นความหลากหลาย" ฮามิดกล่าว "บางทีการพยายามมองเหมารวมมันก็เป็น"


เรียบเรียงจาก

Mohsin Hamid: 'Islam is not a monolith', The Guardian, 19-05-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีตผู้พิพากษาศาลอาญา โต้ทักษิณคดีเผาเซ็นทรัลเวิร์ลด์ยังไม่สิ้นสุด

Posted: 20 May 2013 08:54 AM PDT

ทวี ประจวบลาภ อดีตผู้พิพากษาศาลอาญา โต้โฟนอินทักษิณบอกการชุมนุมนปช.ไม่ใข่ก่อการร้ายอ้างการยกฟ้องคดีเผาเซ็นทรัลเวิร์ลด์ ชี้ศาลอุทธรณ์อาจกลับคำพิพากษา ย้ำคดีอาญาก่อการร้ายของแกนนำก็ยังดำเนินอยู่

20 พ.ค. 56 - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โฟนอินงานรำลึกครบรอบ 3 ปีการชุมนุมสี่แยกราชประสงค์ของกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ระบุการชุมนุมของ นปช. ไม่ใช่ก่อการร้าย โดยยกตัวอย่างที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษายกฟ้องคดีเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ และคดีที่ศาลแพ่งให้บริษัท เทเวศประกันภัยฯ จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เนื่องจากเห็นว่าการชุมนุมเป็นเพียงการจลาจลไม่ใช่ก่อการร้าย ว่า ที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ได้นำคดีในศาลอาญากรุงเทพใต้มากล่าวอ้างนั้น คดียังไม่ถึงที่สิ้นสุดซึ่งหากมีการสู้คดีกันต่อก็ยังต้องใช้เวลาหลายปี และศาลอุทธรณ์ก็อาจกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ได้ ขณะที่จำเลยที่ถูกฟ้องในศาลอาญากรุงเทพใต้ก็ยังเป็นคนละชุดกัน กับคดีอาญาที่แกนนำ นปช. ถูกฟ้องข้อหาก่อการร้ายต่อศาลอาญา ซึ่งพยานหลักฐานในการเอาผิดคดีก่อการร้ายที่ศาลอาญานั้นก็มีมากมายกว่า จึงเอามาเทียบเคียงและมีผลผูกพันกันไม่ได้ ส่วนคำพิพากษาศาลแพ่งนั้นก็จะวินิจฉัยคดีที่เป็นทางแพ่งอย่างเดียวเท่านั้น อย่างที่ตนเคยให้สัมภาษณ์ไปก่อนหน้านี้แล้วว่าจะไม่ส่งผลต่อคดีอาญา ขณะที่ตนคิดว่าทั้งสองคดีก็คงจะสู้กันต่อในชั้นอุทธรณ์และฎีกาซึ่งต้องใช้เป็นเวลาอีกหลายปีแน่นอน

ขณะที่แหล่งข่าวอัยการระดับสูง กล่าวว่า การฟ้องคดีก่อการร้ายกับ แกนนำ นปช.นั้น ไม่ได้มีประเด็นแค่เรื่องการเผาเซ็นทรัลเวิลด์เพียงอย่างเดียว ซึ่งการฟ้องคดีนี้ยังมีเหตุการณ์อื่นที่เกี่ยวพันอีกหลายอย่าง เช่น การยิงอาวุธสงครามเข้าสถานที่ราชการหรือสถานที่สำคัญต่างๆ , การปิดถนนกีดขวางการจราจร , การเผาศาลากลางจังหวัด ซึ่งบางคดีศาลมีคำพิพากษาไปแล้วว่ากระทำความผิดจริงและตัดสินลงโทษจำคุกจำเลยบางคนไปแล้ว ขณะที่การฟ้องคดีของอัยการ ก็มั่นใจในหลักฐานว่า ยืนยันถึงการกระทำความผิดได้ว่ามีการสั่งการ ชักจูงจากแกนนำให้ก่อเหตุ
 
ด้านนายอาคม รัตนพจนาร์ถ ทนายความฝ่ายจำเลยคดีเผาเซ็นทรัลเวิล์ด ที่ศาลอาญากรุงทพใต้ยกฟ้อง ก็กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ระยะเวลาที่คู่วามสามารถขยายเวลาอุทธรณ์ได้ คดีจึงยังไม่มีที่สิ้นสุด ส่วนคดีที่ศาลแพ่งให้บริษัท เทเวศ ประกันภัยฯ จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้ห้างเซ็นทรัลเวิลด์นั้น ทราบว่า บริษัทยื่นขอขยายเวลาอุทธรณ์เพื่อต่อสู้คดีต่อไป
 
ทั้งนี้ ในการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา อดีตนายกฯ กล่าวถึงวาทกรรมเผาบ้านเผาเมืองด้วยว่า วาทกรรมนี้ควรจะจบลงได้แล้ว เนื่องจากศาลอาญาพิพากษายกฟ้องจำเลยเผาเซ็นทรัลเวิลด์ในทุกคดี เนื่องจากหลักฐานอ่อนและวันนี้ต้องบอกว่า วาทกรรมเผาบ้านเผาเมืองควรจะจบได้แล้ว สรุปอีกครั้ง ศาลอาญาพิพากษาจำเลยเผา CTW ทุกคดี ชี้หลักฐานอ่อน รวมทั้งหยิบยกคำเบิกความของ พ.ต.ท.ชุมพล บุญประยูร ที่ปรึกษาด้านอัคคีภัยของห้างเซ็นทรัลที่ระบุว่า หากเจ้าหน้าที่ห้างไม่ถูกไล่ออก ไม่มีห้างไม่มีทางไหม้ได้เนื่องจากระบบการป้องกันดีเยี่ยม แต่เพราะถูกกลุ่มผู้ถืออาวุธไล่เจ้าหน้าที่ออก นอกจากนี้ยังหยิบยกกรณีที่ศาลแพ่งพิพากษาให้บริษัทเทเวศน์ประกันภัยจ่ายเงินสินไหมให้ CTW โดยชี้ว่าไม่ใช่การก่อการร้าย 
 
"ประชาธิปัตย์ใช้วาทกรรมเผาบ้านเผาเมืองไปสองรอบ รอบแรก กิน ส.ส.กทม. รอบสองกินผู้ว่ากทม. เพราะเขารู้ว่าคนกรุงเทพขี้ตกใจ ธรรมชาติมนุษย์ ถ้าช่วยตัวเองได้ดี จะเกิดความระแวงความกลัวได้ง่ายกว่าเกิดความรักความผูกพัน เวลาบอกว่าจะทำอะไรดีๆ เขาพิจารณาทีหลัง แต่เอาเรื่องที่กลัวไว้ก่อน ประชาธิปัตย์รู้จุดอ่อนนี้ดี จึงสร้างให้กลัวพวกเราตลอดเวลา แต่ตอนนี้ความจริงเปิดเผยแล้วก็อยากให้พี่น้อง กทม.ตื่นเถิด" ทักษิณกล่าวพร้อมระบุว่า ใครก็ตามหรือพรรคประชาธิปัตย์ชี้ช่องให้จับกุมผู้วางเพลิงตัวจริงได้ เขาพร้อมจะมอบเงินรางวัลให้ 10 ล้านบาท  
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีก่อการร้ายที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 ยื่นฟ้อง 24 แกนนำ นปช.นั้น ขณะนี้ได้สืบพยานโจทก์ไปแล้ว 2 ปาก คือ พ.อ.ธนากร โชติพงษ์ นายทหารปฏิบัติการ กรมข่าวทหารบก ที่เบิกความเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นก่อน ศอฉ.จะประกาศใช้ พ.ร.บ.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่ได้เบิกความยืนยันว่า ยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยเจรจากับแกนนำ นปช.แต่ไม่สำเร็จ ซึ่งการชุมนุมของ นปช.นั้นผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ คือ พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะที่ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มนปช. คือ มีคนกลุ่มที่ใช้อาวุธสงครามคุกคามสถานที่ราชการและสถานที่ต่างๆ ด้วย เช่น เหตุการณ์คนร้ายยิงจรวดอาร์พีจีใส่กระทรวงกลาโหม การยิงปืนเข้าไป ธ.กรุงเทพฯ หลายสาขา
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 14 - 20 พ.ค. 2556

Posted: 20 May 2013 07:45 AM PDT

ก.แรงงาน ยันไม่มีศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ ไม่กระทบเจ็บป่วยจากการทำงาน

นายอาทิตย์ อิสโม รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวยืนยันว่า การที่สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนนี้ แม้จะไม่มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ก็จะไม่กระทบต่อการรับเรื่องร้องเรียน ตามที่สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กังวล เนื่องจากหากมีศูนย์ฯ ในสถาบันฯ ก็ต้องส่งเรื่องต่อไปให้หน่วยงานราชการที่มีอำนาจในการตรวจสอบ เพราะองค์กรอิสระซึ่งเปรียบเสมือนเอกชนไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบเอกชนด้วยกัน ได้

ดังนั้น การร้องเรียนที่หน่วยงานราชการ เช่น สำนักความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) หรือหน่วยงานราชการอื่น ๆ จะสามารถดำเนินการตรวจสอบข้อร้องเรียนได้รวดเร็วกว่า อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบความคืบหน้าได้ เพราะแต่ละหน่วยงานจะมีระเบียบที่กำหนดให้ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด ไว้อยู่แล้ว

(สำนักข่าวไทย, 16-5-2556)

 

ปธ.ส.อ.ท.แจ้งจับอดีตอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกับพวก

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 17 พฤษภาคม ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เข้าพบ พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รอง ผบก.ป. เพื่อแจ้งความดำเนินคดีนายประพันธ์ มณทการติวงศ์ อดีตอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และนายสนอง ป่าธนู ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ลพบุรี กับพวกรวม 13 ราย กรณีทุจริตเงินในโครงการ ยกระดับฝีมือแรงงานลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยกลับสู่สถานประกอบการ ใน จ.ลพบุรี เหตุเกิดตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2555 รวมมูลค่าความเสียหาย 6 ล้านบาท
 
นายพยุงศักดิ์กล่าวว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2555 เจ้าหน้าที่ได้รับการร้องเรียนถึงความไม่โปร่งใสในโครงการดังกล่าว เนื่องจากมีการจ่ายเงินงบประมาณให้ผู้เข้าร่วมโครงการที่เป็นสมาชิกของสภา อุตสาหกรรมไม่ครบจำนวน จึงทำการตรวจสอบกระทั่งพบว่าคดีมีมูล ซึ่งงบประมาณที่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐจำนวน 12 ล้านบาท แต่มีการทุจริตไป 6 ล้านบาท โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐและกลุ่มบุคคลเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย จึงเข้าแจ้งความดังกล่าว

(มติชนออนไลน์, 17-5-2556)

 

นายกฯ ย้ำเร่งพัฒนาใต้ให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เผยหลังประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เน้นย้ำให้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยเฉพาะเส้นทางคมนาคม รวมทั้งพัฒนาการศึกษา ที่จะส่งเสริมให้เรียนภาษามลายูและภาษาไทยควบคู่กัน เพื่อให้การศึกษานำไปสู่การจ้างงานในพื้นที่ได้

ด้านผู้บัญชาการทหารบกได้ชี้แจงเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยว่า ขณะนี้มีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเปิดภาคเรียน ที่สำคัญได้รับความร่วมมือจากสมาพันธ์ครูฯ การปฏิบัติหน้าที่จึงได้ผลน่าพอใจ เบื้องต้นยอมรับมีกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบทยอยเข้ามอบตัวต่อเนื่อง ส่วนแนวทางพูดคุยสันติภาพกลุ่มบีอาร์เอ็นยังไม่มีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุย ซึ่งเรื่องนี้ยังอยู่ในความรับผิดชอบของ สมช.

(สำนักข่าวไทย, 17-5-2556)

 

ปลดวิกฤติ 'เหลื่อมล้ำ' ด้านสุขภาพ งานวิจัยเสนอตั้งกลไกอภิบาลระบบมาตรฐานเดียว

ข้อมูลจากเวที "กลไกอภิบาลระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ" ในงานประชุมวิชาการการวิจัยระบบสุขภาพ ประจำปี 2556 "จัดการความรู้สู่ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม" จัดโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้ฉายภาพปัญหาโครงสร้างการบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพของประเทศไทยให้ เห็นว่า ยังมีความแตกต่างหลากหลายของกองทุนสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประกันสังคม ประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว พนักงานส่วนท้องถิ่นและข้าราชการ กทม. และหน่วยงานที่มีระบบประกันสุขภาพเป็นของตัวเอง ส่งผลให้ผู้รับบริการในแต่ละกองทุนได้รับสิทธิประโยชน์ไม่เท่าเทียมกัน และนำมาสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปรียบเทียบให้เห็นว่า ในต่างประเทศแม้จะมีกองทุนสุขภาพหลายกองทุนเหมือนประเทศไทย แต่ก็มีหน่วยงานที่กำกับดูแลเพียงหน่วยงานเดียว จึงทำให้การบริหารจัดการมีมาตรฐานเดียว แตกต่างกับประเทศไทยที่มีหน่วยงานทำหน้าที่ในการกำกับดูแลและมีวิธีการ บริหารที่หลากหลาย ซึ่งส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทั้งวิธีการจ่ายเงิน การเข้าถึงคุณภาพบริการ เป็นต้น

นักวิจัยจาก TDRI ยังได้สรุปประเด็นปัญหาความเหลื่อมล้ำของระบบสุขภาพ พบปัญหาใน 3 มิติที่มีความลักลั่นกันอย่างชัดเจน ได้แก่ 1.สิทธิประโยชน์ เช่น สวัสดิการรักษาพยาบาลราชการ ให้การคุ้มครองบิดา มารดา ภรรยา และบุตร ขณะที่สิทธิประโยชน์ของประกันสังคมให้เฉพาะผู้ประกันตน นอกจากนี้แม้เกิดการเจ็บป่วยโรคเดียวกันหากใช้ระบบประกันสุขภาพที่ต่างกัน การคุ้มครองก็ยังแตกต่างกัน 2.คุณภาพในการรักษา เช่น สิทธิการคลอดบุตร ระบบสวัสดิการข้าราชการ สามารถเบิกจ่ายได้ตามจริง ขณะที่ระบบประกันสังคมเหมาจ่ายได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ส่วนระบบประกันสุขภาพแห่งชาติเบิกตาม DRG ไม่เกิน 2 ครั้ง 3.ค่าใช้จ่าย คือ แต่ละกองทุนมีภาระค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน เช่น ประกันสังคม ภาระค่าใช้จ่ายมี 3 ส่วน ได้แก่ ผู้ประกันตน ผู้ประกอบการ และรัฐบาล"

ดร.เดือนเด่น ชี้ว่าจากบทเรียนในต่างประเทศแม้จะมีระบบประกันสุขภาพหลายระบบ แต่ก็มีการจ่ายเพียงระบบเดียว ทำให้มีสิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมกันหรือเกือบเท่าเทียมกัน ดังนั้น ในประเทศไทยควรมีระบบสุขภาพเดียวดูแลครอบคลุมประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย โดยอาจไม่ต้องรวมกองทุน เพื่อให้ระบบการเบิกจ่าย การคุ้มครอง และสิทธิประโยชน์เป็นแบบเดียวกัน ส่วนสิทธิประโยชน์อื่นๆ เพิ่มเติมได้โดยให้ผู้ประกันตนหรือนายจ้างที่ไม่ใช่รัฐเป็นผู้จ่าย โดยหลักการสิทธิพิเศษเพิ่มเติมต้องไม่ไปแย่งชิงทรัพยากรด้านสุขภาพที่มีอยู่ อย่างจำกัดของรัฐ แต่เน้นสิทธิประโยชน์ทางสังคม เช่น การใช้บริการใน รพ.เอกชน

"ถ้าต้องเลือกให้มีเพียงระบบเดียว ระบบที่เหมาะ คือ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากคนไทยเป็นสมาชิกของระบบนี้อยู่แล้วถึง 47 ล้านคน เป็นการง่ายที่จะขยายให้ครอบคลุมประชากรทั้งหมดในประเทศ ขณะที่ระบบอื่นๆ เช่น ประกันสังคมดูแลเฉพาะผู้ที่มีงานทำเท่านั้น"

อย่างไรก็ตาม ดร.เดือนเด่น เสนอว่า การยกเลิกสิทธิ์ของข้าราชการเลยนั้นอาจไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม หากจะยกเลิกต้องหาวิธียกเลิกแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น การไม่ขยายระบบนี้ให้กว้างออกไปโดยจำกัดวงเท่าที่มีอยู่ จัดให้ข้าราชการบรรจุใหม่อยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการชดเชยการเสียสิทธิ์ นอกจากนั้นเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีสุขภาพเพื่อมีแหล่งเงินด้านสุขภาพที่แน่ นอน และเสนอระบบการเบิกจ่ายที่ใช้ DRG และเหมาจ่ายรายหัว โดยมีศูนย์ข้อมูลและ Case mix Center ทั้งนี้ต้องมีระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการรวมการบริหารจัดการทั้ง 3 กองทุนไว้ด้วยกัน จะมีผลดีทั้งด้านบริหารจัดการ การให้บริการ และการตรวจสอบได้ โดยสร้าง clinical audit ที่ดีมีคุณภาพ

น.พ.วิเชียร เทียนจารุวัฒนา สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในมุมมองของแพทย์ผู้ให้บริการต้องการที่จะให้การรักษาที่เท่าเทียมกัน สาเหตุที่ต้องถามสิทธิ์ของผู้ป่วยเนื่องจากอาจต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่มาก เกินไป นอกจากนี้สิทธิ์เพิ่มเติมของแต่ละกองทุนก็มีความแตกต่างกันชัดเจน จากการที่ผู้วิจัยได้เสนอให้มีการบูรณาการระบบสุขภาพให้เป็นระบบเดียวนั้น เป็นไปได้ยากเนื่องจากแต่ละกองทุนมีที่มาที่แตกต่างกันจึงต้องได้รับความ ชัดเจนและการสนับสนุนจากรัฐ

น.ส.ชุณหจิต สังข์ใหม่ รองอธิบดีกรมบัญชีกลางแสดงความเห็นด้วยกับแนวคิดที่จะมีการรวม 3 กองทุนไว้ภายใต้การบริหารจัดการของหน่วยงานเดียว เป็นแนวคิดที่ดีเพราะจะได้ข้อมูลของประชาชนทั้งประเทศ เช่น ข้อมูลการรักษา ข้อมูลการใช้ยา สามารถนำมาใช้ในการกำหนดสิทธิ์พื้นฐาน และถ้าสามารถควบคุมเงินได้จะทำให้ช่องว่างของความเท่าเทียมลดลง แต่สำหรับแนวคิดที่จะยกเลิกระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการโดยมี การทดแทนด้วยวิธีการต่างๆ นั้น มองว่าเป็นไปได้ยากที่จะเกิดขึ้น แต่อาจทำได้โดยการลดรายจ่ายในบางส่วนให้เหมาะสมกับการเบิก

น.พ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มองว่า ในประเทศไทยปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิประโยชน์ไม่มีความต่างกันมาก แต่การเข้าถึงบริการยังคงเหลื่อมล้ำกันอยู่ เช่น ข้าราชการสามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐที่ไหนก็ได้ แต่กองทุนอื่นต้องไปใช้ในหน่วยบริการที่ได้ลงทะเบียนไว้เท่านั้น จึงต้องมีกลไกในการอภิบาลระบบ โดยต้องเป็นกลไกที่กำหนดให้ผู้ให้บริการ และผู้ซื้อบริการแยกออกจากกัน และสร้าง National clearing house ให้เป็นระบบบริการของประชาชนรวมเป็นที่เดียว ให้สามารถบริหารจัดการและพัฒนาระบบสุขภาพภายใต้ทิศทางและมาตรฐานเดียวกัน

นางสุพัขรี มีครุฑ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เห็นด้วยถ้ามีการกำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานที่เท่ากันหมดทั้ง 3 กองทุน และหากกองทุนใดต้องการพิจารณาให้เพิ่มเติมจะมีการเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นควร โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรทำอย่างไรไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน เช่น เรื่องข้อมูล ที่จะทำให้ระบบไม่แตกต่างกันมากนัก ทั้งนี้ส่วนที่ควรให้ความสำคัญคือมีการจัดตั้งหน่วยงานกำหนดนโยบายกำกับทิศ ทางระบบสุขภาพ โดยแยกจากบทบาทการให้บริการของกระทรวงสาธารณสุข และควรมีหน่วยงานกลางกำหนดมาตรฐานการรักษาให้เป็นแบบเดียวกันในทุกสิทธิ์

ทางด้าน น.พ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้แทนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)กล่าวสรุปสาระสำคัญและข้อเสนอว่า พบปัญหาอุปสรรคและช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในระบบสุขภาพมาจาก 1.ความเหลื่อมล้ำระหว่างระบบประกันสุขภาพที่ขาดกลไกอภิบาลระบบในภาพรวม 2.ความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่จากปัญหาการกระจายทรัพยากรและความพร้อมของ ระบบบริการในแต่ละพื้นที่ และ 3.ขาดประสิทธิภาพในการบริการและการใช้ทรัพยากร รวมถึงการบริหารระบบประกันสุขภาพ โดย สวรส.ได้สรุปประเด็นและพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย "สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำด้านระบบสุขภาพ" มีข้อเสนอที่สำคัญ คือ  1.มีกลไกการอภิบาลระบบสุขภาพระดับชาติที่เป็นเอกภาพ และมีธรรมาภิบาล ระบบประกันสุขภาพมีชุดสิทธิประโยชน์พื้นฐานที่จำเป็น และมีการออกแบบระบบให้มีมาตรฐานเดียวกัน เช่น พัฒนากลไกการเงินการคลังด้านสุขภาพ รวมถึงการสร้างกลไกการจัดการเพื่อรองรับระบบการพัฒนา ซึ่งขณะนี้ยังขาด National clearing house ที่จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่าง 3 กองทุน

2.การกระจายอำนาจบริหารไปสู่ระดับเขต โดยแบ่งพื้นที่บริหารเป็น 12 เขตบริการ ยกเว้นกรุงเทพฯ จะทำให้การบริการด้านสุขภาพมุ่งเน้นไปสู่ประชาชนได้มากที่สุด

3.พัฒนาระบบประกันสุขภาพและระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และมีความยั่งยืน ประเด็นการพัฒนาต้องคำนึงถึงผู้ให้บริการและการให้บริการ ข้อจำกัดทางการแพทย์ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น Medical hub การเคลื่อนไหวของกำลังคนในยุค AEC เป็นต้น

(บ้านเมือง, 18-5-2556)

 

พนักงาน สวทช.ยกเลิกประท้วง แฉการเมืองสั่งสกัด

ความคืบหน้ากรณีมีการแจกใบปลิวในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)โจมตีการทำงานของนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งเรื่องความไร้ธรรมาภิบาล การตัดงบฯวิจัย และกล่าวหาถึงความไม่ชอบมาพากลในเรื่องต่างๆโดยพนักงานสวทช.นัดประท้วงในวัน จันทร์ที่20 พฤษภาคมนั้น

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเคลื่อนไหวประท้วงของพนักงานในสวทช.ดังกล่าว สร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายการเมืองเป็นอย่างมาก โดยหลังข่าวแพร่สะพัดออกไปมีการเรียกนายทวีศักดิ์ ?กออนันตกูล ผอ.สวทช. เข้าพบเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง ก่อนสั่งให้นายทวีศักดิ์ ไปสั่งไม่ให้พนักงาน สวทช.เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว พร้อมกับชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่งปรากฎในใบปลิวให้กับพนักงาน สวทช.

นอกจากนี้ฝ่ายการเมืองยังสั่งให้นายทวีศักดิ์ ไปสอบหาตัวคนทำใบปลิวและแกนนำในการประท้วงมาให้ได้ พร้อมกับตำหนินายทวีศักดิ์อย่างรุนแรงกรณีไม่สามารถขอความร่วมมือให้พนักงาน ยุติการเคลื่อนไหวได้โดยเด็ดขาดเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมายังมีการล่าชื่อพนักงาน สวทช.กว่า 800 คน เพื่อเตรียมยื่นให้กับนายวรวัจน์ลงมาพบปะและชี้แจงปัญหาต่อพนักงานในวัน ที่20 พฤษภาคมนี้

"ผู้มีอำนาจโกรธเรื่องพนักงานล่าชื่อมาก ถึงกับเรียกผอ.สวทช.ไปพบ ตำหนิว่า"ปากว่าตาขยิบ" ทำให้ผอ.สวทช.ต้องทำอีเมล์ขึ้นอีกหนึ่งฉบับส่งถึงผู้บริหารฝ่ายต่างๆในสวทช. เพื่อให้ขอความร่วมมือไปยังพนักงานยุติการประท้วงในวันที่ 20 พฤษภาคมและให้ยุติการสื่อสารใดๆที่จะทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในสวทช."แหล่ง ข่าวระบุ

ทั้งนี้ในส่วนของพนักงานสวทช.หลังได้รับอีเมล์แล้ว เห็นว่าจะยุติการประท้วงในวันที่ 20 พฤษภาคมออกไปก่อนเพื่อรอดูท่าทีของฝ่ายการเมืองว่าจะแก้ไขปัญหาต่างๆใน สวทช.ได้อย่างไร ส่วนการยื่นหนังสือถึงนายวรวัจน์ที่จะให้ลงมาพบปะพนักงานนั้น ก็ยกเลิกเช่นกันพร้อมกันนำรายชื่อพนักงานที่ร่วมลงชื่อนั้นไปทำลายทิ้งแล้ว เพราะเกรงว่าจะถูกผู้มีอำนาจตามเช็คบิลภายหลังเนื่องจากมีการประกาศว่า งานนี้จะต้องเอาคืนแน่

แหล่งข่าวระบุด้วยว่า แม้ว่าจะไม่มีการออกมาประท้วงอย่างเป็นทางการ แต่พนักงานจะใช้วิธีการประท้วงเงียบเป็นการภายในเพื่อสะท้อนให้ผู้มีอำนาจ รับทราบถึงความไม่พอใจที่เกิดขึ้น ซึ่งเดิมได้นัดหมายกันว่าจะแต่งชุดดำประท้วงก็ถูกสกัดกั้นจึงเปลี่ยนมาเป็น นัดกันใส่เสื้อสีขาว กางเกงดำ สายคล้องคอสีดำแทน แต่ก็ยังถูกขอร้องอีก ทางพนักงานเลยเปลี่ยนมาเป็นใส่เสื้อผ้าสีสันสดใสในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ ส่วนวันอื่นๆ อาจจะมีบางส่วนที่ใส่แต่งชุดดำประท้วงก็ได้

สำหรับประเด็นที่พนักงานสวทช.ไม่พอใจและประท้วงนายวรวัจน์ครั้งนี้ อาทิ 1.การตัดงบฯวิจัยของสวทช.เกือบ 1พันล้านบาท 2. การประชุมบอร์ด กวทช.ที่ไม่ต่อเนื่องเพราะผ่านมา? 6 เดือนนัดประชุมแค่ 2ครั้ง ทำให้เกิดภาวะความชะงันในการทำงานและ3. ความล่าช้าในการพิจารณาแต่งตั้งผอ.สวชท.คนใหม่แทนคนเก่าที่จะหมดวาระลงวัน ที่ 30 มิถุนายนนี้ส่งผลให้เกิดสูญญาการในการทำงานเจ้าหน้าที่ขาดขวัญและกำลังใจ ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของ สวทช.

(แนวหน้า, 18-5-2556)

 

คืนสภาพผู้ประกันตน ม.39 ขาดส่งเงินสมทบ กลับมาเป็นผู้ประกันตน

20 พ.ค. 56 - สปส.เตรียมพิจารณาให้ผู้ประกันตน ม.39 ที่ขาดส่งเงินสมทบ ด้วยเหตุสุดวิสัย กลับเข้าเป็นผู้ประกันตน หลังมีผู้ยื่นขออุทธรณ์เป็นจำนวนมาก ขณะที่จำนวนผู้ประกันตน ม.39 ที่ยังไม่คืนสภาพกว่า 300,000 คน

นายอารักษ์  พรหมณี  รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในฐานะโฆษก สปส. เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39  ของกองทุนประกันสังคม ซึ่งต้องสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน เนื่องจากขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกันหรือภายใน 12 เดือนส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือนได้อุทธรณ์มายัง สปส. จำนวนมาก  เพื่อขอกลับเข้ามาเป็นผู้ประกันตน โดยร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ... ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นการพิจารณาในวาระที่ 2  ได้เขียนกำหนดให้ผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย  ทำให้ขาดส่งเงินสมทบได้สามารถกลับเข้ามาเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39  ได้โดยให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ สปส.

ทั้งนี้ เมื่อร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคมผ่านสภาฯ แล้ว สปส.จะต้องมาออกระเบียบรองรับในกรณีข้างต้น โดยคาดว่า สปส.อาจจะต้องมอบอำนาจให้สำนักงานประกันสังคมจังหวัด และสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครเขตพื้นที่ต่าง ๆ เป็นผู้พิจารณาคืนสภาพความเป็นผู้ประกันตนให้แก่ผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนมา ตรา 39 ที่มีเหตุสุดวิสัย เช่น ไปต่างประเทศ  เจ็บป่วย  ทำให้ขาดส่งเงินสมทบ ซึ่งในกรณีเจ็บป่วยจะต้องเคยส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือนก่อนขาดสิทธิ ส่วนการคืนสิทธิ์เงินชราภาพจะคำนวณให้เฉพาะระยะเวลาที่นำส่ง

โดยช่วงเวลาที่สามารถกลับมาใช้สิทธิประโยชน์กรณีต่าง ๆ นั้น เป็นไปตามเงื่อนไขที่ สปส. กำหนด อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สปส. ได้ออก พ.ร.บ.การกลับเป็นผู้ประกันตน พ.ศ.2554 โดยให้ผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 มายื่นเรื่องเพื่อขอกลับเข้ามาเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ภายใน 1 ปี โดยสิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 12 พ.ค.2555  ซึ่ง สปส. ก็ได้มีจดหมายแจ้งไปยังผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่มีอยู่ทั้งหมด  389,418  คน  แต่ในจำนวนนี้มีผู้มายื่นเรื่องขอกลับเข้ามาเป็นผู้ประกันตนเพียง 58,487 คนซึ่งทั้งหมดได้รับการคืนสภาพความเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39  เรียบร้อยแล้ว  ทำให้ยังเหลืออีกประมาณ 330,931  คนที่ยังไม่ได้คืนสภาพความเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39

(สำนักข่าวไทย, 20-5-2556)

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลปัตตานีเตรียมไต่สวนกรณีทหารยิงชาวบ้านดับ 4 รายที่ปุโละปุโย

Posted: 20 May 2013 07:38 AM PDT

ศาลปัตตานีมีกำหนดนัดไต่สวนเหตุการตายของชาวบ้าน 4 ราย ที่เสียชีวิตจากการยิงของทหารพรานขณะถูกสกัดตรวจรถที่ต.ปุโละปุโย จ.ปัตตานี ในขณะที่ญาติเตรียมฟ้องกองทัพบกเหตุได้ค่าเยียวยาไม่เพียงพอ 

20 พ.ค. 56 - มีรายงานจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมว่า ในวันที่ 22 - 23 พ.ค. 56 เวลา  9.00-16.00 น. ศาลจังหวัดปัตตานี  จะนัดไต่สวนพยานคดีชันสูตรพลิกศพ  กรณีเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืนยิงทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ศพ ตามมาตรา 150 ป.วิ อาญา เนื่องจากเป็นความตายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ เหตุดังกล่าวเกิดเมื่อวันที่  29  ม.ค. 55  ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี 
 
นอกจากนี้ ในคดีที่ผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 5 รายในเหตุการณ์เดียวกันนี้ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ต่อศาลปกครองสงขลานั้น  ผู้ได้รับบาดเจ็บทั้ง 5 รายในฐานะผู้ฟ้องคดี ได้ร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลด้วย ต่อมาเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 56 ศาลปกครองสงขลาได้ไต่สวนผู้ฟ้องคดีไปแล้ว 4 ราย และจะได้ไต่สวนผู้ฟ้องคดีอีกหนึ่งรายในวันที่ 22 พ.ค. 56 เวลา 09.30 น. เพื่อพิจารณาว่าสมควรที่จะมีคำสั่งให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าหรือไม่  โดยภายหลังจากการไต่สวนเรื่องการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลแล้ว ศาลจึงจะได้พิจารณาเรื่องรับฟ้องและตามกระบวนพิจารณาต่อไป  ทั้งนี้  การพิจารณาคดีของศาลปกครองสงขลาดังกล่าวบุคคลภายนอกจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ารับฟังการพิจารณาคดีแต่อย่างใด  
 
สำหรับเหตุของคดีนี้ เจ้าหน้าที่ทหารพราน กองร้อยทหารพรานที่ 4302 บ้านน้ำดำ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ. ปัตตานี อ้างว่าได้นำกำลังเข้าติดตามคนร้าย และตั้งจุดสกัดกั้นทางเบี่ยงบนถนนสี่เลนส์เข้าหมู่ที่ 1 ต.ปุโละปุโย พบรถยนต์กระบะของชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ทหารพรานได้สกัดกั้นรถยนต์คันดังกล่าวและได้ยิงเข้าใส่จนเป็นเหตุให้ชาวบ้านเสียชีวิต 4 ราย และชาวบ้านได้รับบาดเจ็บอีก 5 ราย ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี ได้ยื่นคำร้องขอไต่สวนชันสูตรพลิกศพทั้ง 4 ราย เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ตามมาตรา 150 ป.วิ อาญา เนื่องจากเป็นความตายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ 
             
ทั้งนี้ ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ได้รับเงินเยียวยาจากทาง ศอ.บต.แล้ว รายละจำนวน 7.5 ล้านบาท แต่กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 5 รายนั้นได้รับเงินเยียวยา 500,000 – 765,000 บาท ซึ่งมูลนิธิฯ มองว่ายังไม่เพียงพอต่อความเสียหายที่ได้รับ ทางครอบครัวจึงได้ยื่นฟ้องกองทัพบกและสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนทางละเมิดต่อศาลปกครองสงขลา เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมต่อไป  
 
 

        

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมาคมพิทักษ์รธน. ฟ้อง 'ปลอดประสพ' ฐานละเมิดประมวลจริยธรรม

Posted: 20 May 2013 06:11 AM PDT

สมาคมองค์การพิทักษ์รธน.ไทย ยื่นฟ้องปลอดประสพ สุรัสวดี ต่อศาลปกครอง ฐานกระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากการตำหนิภาคประชาชนที่ต้านการประชุมด้านน้ำแห่งเอเชียแปซิฟิกว่าเป็น "พวกขยะเกะกะ" ชี้เข้าข่ายละเมิดสิทธิและเสรีภาพปชช.

20 พ.ค. 56 - นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า วันนี้เวลา 10.00 น. สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน เดินทางไปศาลปกครองกลางเพื่อยื่นฟ้องนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยการให้สัมภาษณ์ตำหนิภาคประชาชนที่จะใช้สิทธิในการชุมนุมประท้วงแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในเวทีการประชุมด้านน้ำแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 ที่เชียงใหม่ ว่า "จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการจับกุมดำเนินคดีทั้งหมด" และเปรียบเปรยผู้ที่จะมาชุมนุมว่าเป็น "พวกขยะเกะกะ" 

นายศรีสุววรณระบุว่า พฤติการณ์ดังกล่าวเข้าข่ายจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 29 ให้การคุ้มครองไว้ ผนวกกับมาตรา 63 ก็ได้บัญญัติสิทธิของประชาชนว่าสามารถทำได้ ซึ่งคำพูดดังกล่าวเข้าข่ายผิดประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 297 ประกอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2551 ข้อ 11 และข้อ 12 ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องใช้อำนาจตามข้อ 30 ในการสั่งลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือต้อง "สั่งปลด" รัฐมนตรีที่กระทำการละเมิดประมวลจริยธรรมดังกล่าว แต่นายกรัฐมนตรีก็เพิกเฉย หาได้กระทำการใด ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไม่ สมาคมฯ จึงร่วมกับภาคประชาชนมายื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา 3 ข้อ คือ
 
1) ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดี ห้ามการกระทำหรือให้สัมภาษณ์ในลักษณะดูถูก เหยียดหยาม หรือละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนและผู้ฟ้องคดี ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในตำแหน่งทางปกครองหรือทางการเมือง และให้รายงานให้ศาลและผู้ฟ้องคดีทราบทุก ๆ 3 เดือน หรือตามดุลยพินิจศาล
 
2) ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวคำขอโทษประชาชนและผู้ฟ้องคดี ผ่านสื่อโทรทัศน์สาธารณะของรัฐและเอกชน รวมทั้งประกาศถ้อยคำขอโทษในหนังสือพิมพ์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดของประเทศไล่เรียงกันลงมาอย่างน้อย10 ฉบับ เป็นระยะเวลาติดต่อกันอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 15 วัน โดยค่าใช้จ่ายของผู้ถูกฟ้องคดี หรือตามดุลยพินิจศาล
 
3) ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการลงโทษผู้ถูกฟ้องคดีตามความร้ายแรงแห่งการกระทำตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2551 ภายใน 7 วัน หรือตามแต่ศาลจะเห็นสมควร
 
นายศรีสุวรรณกล่าวว่า ล่าสุด ศาลปกครองกลางได้รับคดีไว้พิจารณาเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1039/2556 แล้ว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: หลากทัศนะ “นิรโทษกรรม-ปรองดอง” จากเสื้อแดง @ราชประสงค์

Posted: 20 May 2013 05:47 AM PDT

 

หลังรองนายกฯ เฉลิม อยู่บำรุง นำเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เวอร์ชั่นเหมายกเข่ง แข่งกับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทยและคณะที่กำหนดนิรโทษกรรมเฉพาะประชาชน ก็ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ข้อขัดแย้งในสังคมรวมทั้งคนเสื้อแดงกลุ่มต่างๆ ว่าจะเลือกทางออกแบบใด เพื่อตอบโจทย์หลักเรื่องนักโทษการเมืองที่ยังหลงเหลือในเรือนจำจำนวนไม่น้อย ต่างคนต่างแนวทาง ส.ส.เพื่อไทยจำนวนมากลงนามให้การสนับสนุนฉบับเฉลิม ขณะที่ นปช.เองก็แสดงจุดยืนสนับสนุนฉบับวรชัย แม้กระทั่งทักษิณ ชินวัตร ก็ออกมาลดกระแสร้อนด้วยการสนับสนุนฉบับวรชัยเช่นกัน 'ประชาไท'สุ่มคุยกับผู้ชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมาว่าพวกเขาคิดอย่างไร มองเรื่องนี้อย่างไร

 

นัยนา น่วมศิริ อายุ 40 ปี อาชีพแม่บ้าน จังหวัดสมุทรปราการ

คนผิดก็ต้องว่าไปตามผิด จะไปเหมาคนเสื้อแดงรวมกับประชาธิปัตย์ไม่ได้ ไม่เห็นด้วยเลยกับกฎหมายปรองดองของเฉลิม เพราะคนเสื้อแดงเราไม่ได้ทำผิดอะไร ออกมาชุมนุมโดนข้อหา จับเข้าคุก มันสมควรได้นิรโทษกรรม แต่คนปราบปรามเข่นฆ่าคนเว้นโทษไม่ได้ ถึงแม้ของเฉลิมจะบอกว่ารวมทักษิณด้วยก็ไม่ได้ ทักษิณก็ไม่เกี่ยวอะไร จะไปรวมกับเขาไม่ได้ ไม่ต้องเอาเขามาข้องเกี่ยว แต่นักโทษการเมือง น่าจะปล่อยเขาให้หมด จะกักขัง หน่วงเหนี่ยวเขาไว้ มันไม่ถูก

3 ปีที่ผ่านมา เราก็ไม่ได้พอใจพรรคเพื่อไทย แต่ก็ดีกว่าประชาธิปัตย์ ไม่พอใจแทบจะทุกเรื่อง เขากลัวไปหมด อะไรที่ประชาชนเรียกร้องก็ทำไม่ค่อยจะได้ แต่ก็ดีกว่าประชาธิปัตย์ในสายตาประชาชนอย่างเราเห็นว่ายังไม่เข้มแข็งพอ เขาเป็นคนที่ประชาชนเลือกมาน่าจะแข็งแรง เข้มแข็งกว่านี้ อยากให้มีจุดยืนที่แข็งแกร่งกว่านี้ แต่เขาอ่อนแอ อ่อนไหวเกินไป แต่ก็ต้องให้เขาเป็นไปเรื่อยๆ ก่อน จนกว่าบ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ก็ทรงๆ ไปเราก็ช่วยหนุนเต็มที่ไม่ให้ใครมาทำลายระบอบ นปช.เองก็ยังไม่ค่อยเข้าตา ไม่ค่อยมาทางประชาชน แบบที่สู้ไม่ต้องอ่อนไหวเลย ไม่ค่อยแฮปปี้เท่าไหร่แต่ก็ต้องมา เราไม่ได้ทำเพื่อพรรคเพื่อไทย แต่เราทำเพื่อประเทศชาติ เพื่อคนข้างหลัง ถ้าสำเร็จคนข้างหลังก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเรา

 

ดวงพร ราชนาวี อายุ 64 ปี จังหวัดสงขลา

ถ้าเหมาเข่งก็ต้องให้หมด จะเว้นไม่ได้ ถ้ายกโทษทั้งหมดก็น่าจะเห็นด้วยอยู่ แต่เว้นใครไม่ได้ เว้นทักษิณไม่ได้ หัวเด็ดตีนขาดก็ไม่ได้ แต่แบบที่ให้เฉพาะประชาชนก็เห็นด้วย  จริงๆ ทักษิณเขาอยู่ต่างประเทศ ไม่เกี่ยว ไม่ใช่แกนนำ ที่เขาทำกฎหมายปรองดองนี่เขาก็คงอยากให้มันสงบ นักโทษการเมืองก็น่าจะปล่อยๆ ออกมาได้แล้ว จะขังเขาทำไม เขาก็เหมือนกับเรา แล้วจะไปปรักปรำเขาทำไม คนที่ลูกตาย ถ้าลูกเราตายจะรู้สึกยังไง ต้องคิดถึงหัวอกคนอื่นมั่ง วันนี้ถึงต้องมา มาให้เขารู้ว่านี่แหละ ของจริง ไม่ใช่ของปลอม

 

โพธิ์คิน ขวาอุ่นหล้า อายุ 31 ปี อาชีพลูกจ้างบริษัทเอกชน จังหวัดบึงกาฬ

ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับของคุณเฉลิม แต่เห็นด้วยกับของคุณวรชัย เหมะ ที่สนับสนุนในส่วนผู้ร่วมชุมนุมที่ไม่เกี่ยวกับผู้นำ ผมมองว่าคุณอภิสิทธิ์ มีความผิดโดยตรงจากการสั่งสลายการชุมนุม คนที่มีความผิดก็ควรได้รับความผิด ไม่ต้องการปรองดองด้วย ส่วนที่สนับสนุนการนิรโทษกรรมเพราะคนที่มาร่วมชุมนุม ส่วนมากมาเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย แล้วมาเจอการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง ความรู้สึกของผมจึงอยากให้นิรโทษกรรมพี่น้องเราเพื่อให้เกิดการปรองดองอย่างแท้จริง แล้วก็อยากให้รวมคดี 112 ด้วย คดีนี้เป็นคดีที่ตัดสินคนที่มีความเห็นต่างด้านการเมือง คนที่เห็นต่างแค่คำว่า รัก หรือ ไม่รักแค่นั้นเอง ถ้าผมเห็นต่างแล้วจะจับผมเข้าคุก อย่างนี้ผมก็เห็นว่าไม่เป็นธรรม

ส่วนของทักษิณนั้น ผมมองว่าทักษิณไม่ผิด เอาคนที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองมาตัดสิน กรณีทักษิณก็ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติไป

วาระ 3 ปี ให้มองบทบาทแกนนำ ผมมองว่าแกนนำยังอยู่ข้างประชาชน เป็นแนวร่วม ไม่ได้แตกแยกอะไร พร้อมจะต่อสู้ไปด้วยกันในระบอบประชาธิปไตย ทั้งที่มีคนเสี้ยมก็ไม่รู้สึกอะไร พวกเรายังเป็นกลุ่มเป็นก้อนจะพร้อมสู้ไปด้วยการให้เกิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ส่วนบทบาทของรัฐบาล ผมมองกว่า รัฐบาลยังไม่มีอำนาจโดยแท้จริง การจะตัดสินนโยบาย ปฏิบัติให้ได้ตามนโยบายที่วางไว้ ยังไม่สามารถทำได้อย่างที่หาเสียงไว้ ไม่มีอำนาจแท้จริง อยากให้รัฐบาลมองว่ายังไงประชาชนยังสนับสนุนนโยบายที่วางไว้ เช่น สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นต้น พวกเราพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ คนมองว่ารัฐบาลมีอำนาจล้นมือ ถ้ามีอำนาจจริงก็เอาคุณทักษิณกลับบ้านมาได้แล้ว

 

อภิวัฒน์ เดชคุณมาก อายุ 66 ปี อาชีพแพทย์แผนโบราณ จังหวัดชลบุรี  

แบบนั้นก็ดีนะ ยกให้หมดเลยแล้วหลังจากนั้นใครผิดก็เล่นเลย ที่ผ่านมากูก็จะจับมึง มึงก็จะจับกู ตามความเห็นส่วนตัวใช้ได้เลย เพราะสองฝ่ายต่างก็ตาย แต่สัดส่วนอาจต่างกันอยู่ แต่มันก็ดีกว่าหลายๆ วิธี เราหยวนๆ แล้วเริ่มต้นใหม่ ถ้าใครแหลมทำผิดอีกก็เอาเลยกลุ่มนั้น

ส่วนฉบับของเหมะ เห็นเขาพูดกันทุกวัน แต่ดูเหมือนประชาธิปัตย์เขาไม่ได้ยินกับทฤษฎีของวรชัย มันใช้ได้ทั้งสองฉบับ แต่คิดว่าของเฉลิมน่าจะดีกว่า ไหนๆ เหตุการณ์มันก็เลยไปแล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับทักษิณด้วย เพราะเขาก้าวล่วงจะกลับหรือไม่กลับไปแล้ว เขาอยู่ได้ทุกตารางนิ้วในโลก แค่พื้นที่นิดเดียวประเทศไทยในแผนที่โลก เขาอาจจะเบื่อก็ได้ ที่เห็นด้วยกับของเฉลิมเพราะอยากให้มันเริ่มต้นใหม่ได้ เป็นแนวคิดที่ดีที่สุด ส่วนคนตายเราก็ต้องเยียวยา ดูแล ไม่ใช่ดูแลแต่คนที่ตาย คนบาดเจ็บ พิการก็ควรให้เขาด้วย เขาหากินไม่ได้ ตายกับอยู่มันพอกันหรืออาจทรมานกว่าด้วยซ้ำ

บทบาทพรรคเพื่อไทย พอใจเป็นส่วนใหญ่แต่ยังคาใจว่าทำไมยังลังๆ เลๆ เกี่ยวกับการตัดสินใจอะไรบางอย่างที่เป็นโชคชะตาของประเทศ พอมีองค์กรที่ไม่ได้สังกัดอยู่กับอำนาจอธิปไตยสามอย่างของชาติ มาร่วมตัดสินความเป็นไปของชาติ มันไม่น่าจะถูกต้อง มันนานมากแล้วเรื่องที่ทะเลาะกัน ความผิดความถูกอะไรนี่ เรามาตั้งต้นใหม่ เดินเกมกันใหม่ดีกว่า ดีมั้ย


อังคณางค์ (ไม่ขอเปิดเผยนามสกุล) อาชีพแม่บ้าน จังหวัดสมุทรปราการ

เรื่องพ.ร.บ. ปรองดองฉบับของเฉลิม มองว่าไม่อยากให้ผ่าน เพราะการอภัยโทษทุกคนแบบเหมาเข่งจะทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เป็นบทเรียนต่อประชาชนและอนาคต เพราะที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองทีไร ผู้กระทำผิดก็ไม่เคยได้รับการลงโทษ ส่วนเหตุการณ์ในปี 53 ก็ขอให้นิรโทษกรรมชาวบ้านเสื้อแดง ส่วนแกนนำการชุมนุม หากผิดจริงก็ต้องรับผิดชอบ ถือว่าเป็นการมีสปิริต รับผิดชอบสิ่งที่ทำ 

ส่วนเรื่องบทบาทของพรรคเพื่อไทย ยอมรับว่ามาจากการเลือกตั้งของประชาชนจริง แต่บทบาทที่ต้องเป็นรัฐบาล ทำให้ไม่สามารถเข้ามาโอบอุ้มความต้องการหรือผลประโยชน์ของคนเสื้อแดงมากเกินไปได้ ทำให้บทบาทค่อนข้างอ่อนไปในจุดนี้ และยังเห็นว่ารัฐบาลยังมีความกลัวอำนาจมืด เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์ประกอบอื่นๆ ที่อยู่ในระบบซึ่งหวังจะบ่อนเซาะอำนาจของพรรคเพื่อไทย  แต่การกล่าวปาฐกถาของนายกรัฐมนตรีที่มองโกเลีย ก็ทำให้เห็นว่ารัฐบาลเริ่มมีความกล้าที่จะต่อสู้เพื่อความยุติธรรมมากขึ้น แต่ก็มองว่ายังเป็นเรื่องยาก เพราะเพียงแค่การแก้เรื่องส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ยังเป็นไปได้ยาก 

สิ่งที่จำเป็นต้องทำมากที่สุดตอนนี้คือการปล่อยนักโทษการเมือง ให้พวกเขาได้ออกมาต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม ให้มีสิทธิได้ประกันตัว หากผิดก็ว่าไปตามผิด ควรให้กระบวนการยุติธรรมเป็นผู้ตัดสิน 

 

สำเนา บุญมาแย้ม อายุ 67 ปี อดีตคนขับรถแท็กซี่ จังหวัดสุพรรณบุรี

จริงๆ ก็ไม่ได้อยากได้หรอก พ.ร.บ.ปรองดองนี่ ทำไปแล้วมันไม่ถาวร ปกติเราใช้ฉบับ 40 รัฐบาลหมาบ้ามันมาเปลี่ยนเป็น 50 บ้านเมืองมันถึงได้วุ่นวาย ใจอยากได้ 40 กลับมาทั้งฉบับ

อ๋อ เขาทำให้นักโทษการเมืองเหรอ พวกนักโทษการเมืองนี่อยากให้เอาออกมาให้หมดเลย เอาออกมาให้หมดก่อนทักษิณกลับบ้าน ทักษิณยังไงรากหญ้าก็ชอบ เพราะเขาสร้างประโยชน์ให้เยอะ ไม่เบี่ยงเบน ไม่รักลำเอียง เขาชอบคนรากหญ้า คนยากคนจน

(ถามถึงบรรหาร) บรรหารเป็นพรรคประชาธิปัตย์ เขาหมดไปแล้ว คนเขาไม่ศรัทธาแล้ว แต่เสื้อแดงสุพรรณก็ยังไม่เยอะเท่าไหร่หรอกนะ แต่เขาก็เลือกเพื่อไทย ดูคะแนนเสียงเพื่อไทยในสุพรรณสิ

ตอนนี้ประชาธิปไตยมันเดินหน้าไม่ได้ เพราะมันยังปลอม ไม่ใช่ประชาธิปไตยแท้จริง ยิ่งลักษณ์เป็นมาปีกว่ายังไม่ไปถึงไหน เพราะมันมีไอ้นู่นมาแทรกตรงนู้น ไอ้นี่มาแทรกตรงนี้ ทำอะไรไม่ได้ มันสุดระทม

 

ณัฐสิรี ประสานทวีผล อาชีพทำงานอิสระ กรุงเทพฯ

ของเฉลิมเขาจะรวมหมดใช่มั้ย ไม่ชอบ คนสั่งฆ่าเราก็ไม่ได้ติดคุกสิ ก็ได้ใจฆ่าเราตลอดเวลา เราเอาของวรชัยดีกว่า เอาแต่ประชาชนออกมา แกนนำให้เขาจัดการกันเอง เรารักแกนนำเรา แต่แกนนำเราก็ต้องเข้าตามกระบวนการ แต่ประชาชนเขามาด้วยความบริสุทธิ์ใจ ถ้าทำอย่างของเฉลิมคนสั่งก็ลอยนวลเลย

ถ้าอยากได้ทักษิณกลับ ทักษิณคอยเวลาก่อน จะมารวมกับพวกเลวๆ อย่างนี้ไม่ได้ ทักษิณจะเอาชีวิตประชาชนไปแลกกับการได้กลับมาเหรอ ถ้าทำอย่างนี้ทักษิณจะไม่มีค่า ถ้าเขาทำอย่างนั้นจะหมดค่าทันที ฉันบอกได้เลย

ป้าไม่ได้บ้าทักษิณ ไม่ได้สนใจ ไม่เคยยุ่งการเมืองเลย ตอนทักษิณถูกเอาออกไปก็ยังไม่สนใจ คิดว่าคนนี้ไปคนนั้นมามันเรื่องธรรมดา แต่ป้าออกมาครั้งแรกตอนสมัครโดนคดีผัดกับข้าว ตกใจว่าทำสมัครผัดข้าวตกกระทะ ป้าเลยเริ่มออกมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ นั่นครั้งแรก เรามาดูว่าทำไมแค่ผัดกับข้าวทำไมต้องปลดจากนายกฯ ไม่ได้ชอบสมัครเป็นพิเศษด้วย หลังจากนั้นก็ออกมาทุกครั้งที่มีชุมนุม ป้ามารู้มากตอนสุรชัย แซ่ด่าน ป้าเลยมาตาสว่างแล้วเริ่มสนใจการเมือง ลองมาถามตอนนี้ป้าตายแทนประชาชนที่เขาออกมาสู้ได้เลย ที่ทำเนียบก็อยู่ ที่ราชประสงค์ก็อยู่จนตำรวจมาลากไป ที่ผ่านฟ้าก็โดนแก๊สน้ำตากับเขา เราเห็นความชั่วร้ายแล้วทนไม่ได้ น้องเคยเห็นไหม มอเตอร์ไซด์เอาคนเจ็บพาดมา ไม่มีคนซ้อนด้วย ป้านั่งอยู่ข้างโรงพยาบาล  คนแล้วคนเล่า คนที่สั่งฆ่าเรามันใช่คนหรือเปล่า มันรักประชาชนของมันไหม

เรื่องรัฐบาลเขาอ่อน ป้าก็เข้าใจ แต่มันอ่อนเกินไป ไม่ทันเกมเขาเลย ส่วนนปช. คนอื่นคิดยังไงไม่รู้ แต่ป้ายังตามนปช.ส่วนกลาง เราก็คิดแตกต่างกันได้ แต่เมื่อถึงเวลา เราก็มารวมกันได้อีกเหมือนกับวันนี้

 

ไพรัช แสงศรี อายุ 49 ปี อาชีพเจ้าของร้านอาหาร กรุงเทพฯ  

ไม่ค่อยได้ตามนะ เรื่องพรบ.ปรองดอง คือ ถ้ามองแบบเดิมพัน การนิรโทษยกเข่ง คุณทักษิณได้ประโยชน์น้อยกว่าคุณอภิสิทธิ์ กับคุณสุเทพแน่นอน เพราะจะพูดถึงความผิดแล้วมันแรงกว่าเยอะ ถามว่าเห็นด้วยไหม มันก็บางอารมณ์ ถ้าอยากให้สงบก็โอเค แต่บางทีก็มีความแค้น คนเสื้อแดงจะเข้าใจความรู้สึกนี้ว่าเขาทำอะไรไว้บ้าง

ฉบับคุณวรชัย เหมะ มันก็เหมือนกับที่คุณจตุพรบอกไว้ว่าแกนนำเขาจะไม่รับ พี่ก็ว่าโอเค นักโทษการเมืองก็ควรจะนิรโทษกรรมให้หมด พวกประชาชนมาด้วยใจ จะไปตั้งข้อหารุนแรงอะไรกับเขา แล้วเสื้อแดงก็ถูกกระทำอยู่ฝั่งเดียว อย่างที่เขาพูดกันว่าสองมาตรฐาน

พี่ชอบทักษิณมาตั้งแต่สมัยไทยรักไทยนะ ชอบผลงานเขา เราสัมผัสได้จริงๆ ที่บ้านฐานะพี่ก็โอเค สามสิบบาทก็ไม่ได้พึ่งพา แต่ไม่ใช่ว่าเราจะชอบเขาเพราะเขาดีต่อเราคนเดียว แต่เราชอบเพราะเขาดีกับคนเยอะ และเป็นคนที่ต่ำต้อยกว่า หลายๆ นโยบายเราก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ที่เขาโดนวิจารณ์ ภาคใต้มันซับซ้อนและแก้ไขยาก ใครมาทำก็โดนหมดแหละ ส่วนสงครามยาเสพติด มันเป็นนโยบายที่ดี แต่มันมีปัญหาในขั้นตอน เกิดการฆ่าตัดตอน จริงๆ มันก็ไม่เกี่ยวกับทักษิณ

บทบาทรัฐบาลเพื่อไทย พอใจมาก ยิ่งลักษณ์ต้องมาแก้ของเก่าเยอะ เลยเดินหน้าช้าหน่อย แต่ถึงช้าก็ยังไวกว่าอีกรัฐบาลนึง

 

รพินทร์ (ไม่ขอเปิดเผยนามสกุล) ประธานแกนนำจังหวัดระยอง อาชีพ ทำการประมง 

เห็นด้วยกับพ.ร.บ. นิรโทษกรรมของรองนายกฯ เฉลิม อยู่บำรุง เพราะเห็นว่าเป็นรูปแบบที่คล้ายกับกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศแอฟริกาใต้ และกัมพูชา หากว่าพ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่าน แม้ในช่วงแรกอาจนำมาซึ่งความวุ่นวายบ้าง แต่ในระยะยาวก็อาจทำให้ประเทศสงบขึ้นได้ เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ที่จะนำสันติภาพมาสู่ประเทศไทย ไม่งั้นก็จะมีแต่ความแตกร้าว 

ที่มีคนกล่าวว่ากฎหมายนี้ทำเพื่อจะนำทักษิณกลับประเทศนั้นไม่จริง เพราะคนที่ได้ประโยชน์จากการนิรโทษกรรมจะมีจำนวนมากทั้งจากฝั่งเสื้อเหลืองและฝั่งเสื้อแดง และก็จะทำให้ประชากรที่เหลืออยู่เกิดความยอมรับ แต่ทั้งหมดก็อยู่ที่รัฐสภาว่าจะตัดสินว่าจะผ่านพ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับไหน

 

"สายลมรัก" จากแดงไซเบอร์ เว็บบอร์ดบ้านราษฎร์, ประชาทอล์ค ฯลฯ อาชีพ ข้าราชการ 

สนับ สนุนร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมของวรชัย เหมะ ที่ให้นิรโทษเฉพาะประชาชนทั่วไป ไม่รวมแกนนำและเจ้าหน้าที่รัฐ ในกรณีของทักษิณ มองว่าหากเขาทำผิดก็ต้องรับผิด ไม่จำเป็นต้องนิรโทษกรรม คนเสื้อแดงในโลกไซเบอร์กว่าร้อยละ 90 ก้าวข้ามทักษิณไปแล้ว ไม่ได้ต่อสู้เพื่อทักษิณ เพียงแต่มองว่าทักษิณเป็นผู้ถูกกระทำคนหนึ่งเท่านั้น หากรัฐบาลจะนิรโทษกรรมให้แก่คนสั่งการฆ่าประชาชน จะรับไม่ได้เด็ดขาด หากพรรคเพื่อไทยทำจริง คิดว่าคนเสื้อแดงพร้อมจะยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาล 

ร่างพ.ร.บ. ของนายกฯ เฉลิม เสมือนเป็นการหวังดีประสงค์ร้าย ยิ่งทำให้เกิดการต่อต้านร่างนี้ และยิ่งต่อต้านการกลับมาของ ทักษิณ ชินวัตร 

สำหรับ 3 ปีที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยมีวิสัยทัศน์ที่อ่อนลง มีท่าทีประนีประนอมมากขึ้น และมองสิ่งต่างๆ จากผลประโยชน์ของตนเองมากกว่าของสาธารณะ โดยเฉพาะของคนเสื้อแดง  อาจเป็นเพราะว่าอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าและคายไม่ออกที่ต้องถูกจับตาจากองค์กรอย่างศาลรัฐธรรมนูญ เช่น เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ถึงแม้เพื่อไทยจะยอมศาลบ้างในบางเรื่อง แต่ก็ไม่ได้ยอมหมด หากว่ายอมทั้งหมดมวลชนจะไม่พอใจและเริ่มเสียความเชื่อมั่น 

ส่วนนปช. มองว่าเพียงแค่เป็นกลุ่มผลประโยชน์เท่านั้น เพราะหลังจากการต่อสู้จบลง เกิดการเลือกตั้งปี 54 แกนนำเสื้อแดงบางส่วนได้เข้าไปมีตำแหน่งในรัฐบาล นปช. ก็พยายามจะไม่ขัดใจรัฐบาล และการจัดการชุมนุมแต่ละครั้งก็รู้สึกว่าเป็นไปแบบพอเป็นพิธีเท่านั้น แถมยังมาต่อว่าเสื้อแดงกลุ่มอื่นทำกิจกรรมไม่ตรงแนวทางเดียวกับตนอีก

บางทีก็สงสัยว่ามีนปช. อยู่ไปทำไม หรือมีไปเพื่ออะไร

 

โบว์ (ไม่เปิดเผยชื่อจริง) อายุ 48 ปี อาชีพรับจ้างทั่วไป กรุงเทพฯ

ปรองดองแบบของเฉลิม (อยู่บำรุง) คลุมทั้งหมดแต่ญาติผู้เสียชีวิตเขาจะยอมไหม ประชาชนทั่วไปจะรับได้ไหม ถึงผมจะรับได้ก็ต้องมี "แต่" อีก ความเห็นผมนะ คนเสียชีวิตเสียแล้วก็ไม่ได้กลับมา แต่มันก็อยู่ว่าญาติผู้เสียชีวิตจะยอมไหม ต้องคุยกันยาว ถ้ายอม สองคนอภิสิทธิ์ สุเทพก็ลอยนวลอีก ผมก็ไม่ค่อยชอบใจ แต่ที่แน่ๆ ฉบับวรชัย (เหมะ) น่าจะดีกว่า ณ เวลานี้ อย่างทักษิณเขาไม่ได้ฆ่าคนตาย แต่คนฆ่าคนตายเราก็ยอมไม่ไหว ที่ถึงที่สุด ต่อให้มีกฎหมายปรองดองแบบไหนก็ตาม ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ได้แก้ มันก็เท่านั้นเอง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สารี' ร่อนจดหมายเปิดผนึก ชวนลงชื่อต้านการปลดผอ.องค์การเภสัช

Posted: 20 May 2013 05:30 AM PDT

'สารี อ๋องสมหวัง' เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดแคมเปญค้านการปลดหมอวิทิต ผอ.องค์การเภสัช ชี้เป็นเกมส์ของกลุ่มธุรกิจยาข้ามชาติเพื่อทำลายองค์การเภสัชกรรม ร้องร่วมลงชื่อผ่าน change.org

20 พ.ค. 56 - ทางเว็บไซต์ change.org ได้มีการสร้างแคมเปญรณรงค์เชิญชวนให้บุคคลร่วมลงชื่อต้านการปลดนพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ. องค์การเภสัชกรรม ที่ถูกปลดเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา จากมติของกรรมการบริการองค์การเภสัชกรรม ที่มีนพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ซึ่งแถลงว่านพ.วิทิต บกพร่องต่อหน้าที่ จากกรณีการสำรองวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล 148 ตัน อย่างไรก็ตาม ในแคมเปญระบุว่า การปลดนพ.วิทิต เป็นไปอย่างไม่เป็นธรรม โดยไม่มีกระบวนการสืบสวนสอบสวนอย่างโปร่งใส และไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง

แคมเปญรณรงค์ ซึ่งริเริ่มโดยสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า การปลดนพ.วิทิต เป็น "เกมส์ของกลุ่มธุรกิจยาข้ามชาติและการแพทย์พาณิชย์ เพื่อทำลายองค์การเภสัชกรรม" เนื่องจากองค์การเภสัขกรรม เป็นกำลังหลักในการผลิตยาชื่อสามัญราคาถูก คุณภาพดี ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาได้ง่าย นอกจากนี้ ยังชี้ว่า นพ. วิทิตยังมีผลงานที่ชัดเจนหลายอย่าง อาทิ การทำให้ราคายาเป็นธรรม การจัดหาเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่จำเป็นอย่างทันท่วงทีในช่วงเกิดอุทกภัย
 
แคมเปญดังกล่าว เรียกร้องให้ประชาชนทั่วไปร่วมลงชื่อผ่านทางเว็บไซต์ change.org เพื่อยุติการปลดนพ.วิทิต อรรถเวชกุล จากตำแหน่งผอ.องค์กรเภสัชกรรมโดยทันที
 
0000
 
นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี: ยุติการปลดหมอวิทิต จากตำแหน่ง ผอ.องค์การเภสัชฯ
 
คุณหมอวิทิต อรรถเวชกุล ถูกปลดจากตำแหน่ง ผอ.องค์การเภสัชกรรม ไม่ใช่แค่อีกหนึ่งเรื่องน้ำเน่าทางการเมือง แต่เป็นเกมส์ของกลุ่มธุรกิจยาข้ามชาติและการแพทย์พาณิชย์ เพื่อทำลายองค์การเภสัชกรรม
 
องค์การเภสัชกรรมเป็นกำลังหลักในการผลิตยาชื่อสามัญราคาถูกคุณภาพดี โดยเฉพาะยาจำเป็นช่วยชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และยังเป็นกำลังหลักในการจัดหายาของประเทศเพื่อประกันความมั่นคงว่า ต้องมียาใช้ยามจำเป็นหรือยามภัยพิบัติ
 
คุณหมอวิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เป็นผู้ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ มีความรู้ความสามารถ ดังกรณีบุกเบิกงานที่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว เมื่อมาอยู่องค์การเภสัชกรรมได้ทำให้องค์กรพัฒนาอย่างก้าวกระโดดบนผลประโยชน์ของชาติ
 
คุณหมอวิทิตได้ทำงานร่วมกับบุคลากรเจ้าหน้าที่และสหภาพองค์การเภสัชอย่างทุ่มเท มีผลงานเป็นที่ประจักษ์มากมาย เช่น ทำให้ราคายาเป็นธรรม ส่งผลให้ราคายาทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่าง ประเทศต้องลดราคาลง ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ เข้าถึงยามากขึ้น อาทิ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลาสซีเมีย ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ในช่วงมหาอุทกภัยมีบทบาทโดดเด่นในการจัดหาเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่าง ๆ ทันที เช่น น้ำเกลือ วัคซีน น้ำยาล้างไต รวมถึงโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยาที่ได้การรับรองระดับมาตรฐานองค์การ อนามัยโลก WHO GMP ดำเนินโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก และการวิจัยวัคซีนทั้งชนิดเชื้อตายและเชื้อเป็นของไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก อีกทั้งยังทำหน้าที่จัดหาและสำรองยากำพร้าซึ่งเป็นยาที่มีการใช้ในจำนวนน้อย แต่จำเป็นต่อชีวิตของผู้ป่วย
 
ท่ามกลางความก้าวหน้าขององค์การ เภสัชกรรมที่มีคุณหมอวิฑิตเป็นผู้บริหารเช่นนี้ ได้สร้างผลสะเทือนต่อบริษัทยาข้ามชาติที่กำไรหดหายมหาศาล บริษัทวัคซีนที่ไม่ต้องการเห็นไทยพึ่งตัวเองได้ การแสวงหากำไรจากการจ่ายยาราคาแพงอย่างไม่สมเหตุสมผล และนักเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่หวังทำกำไรจากการแปรรูปองค์การเภสัชกรรม
 
แต่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวอย่างผิดปกติของผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนักการเมืองและข้าราชการประจำระดับสูง ทำให้องค์การเภสัชกรรมและคุณหมอวิทิตเสื่อมเสียชื่อเสียง และทำลายความเชื่อมั่นในคุณภาพของยาชื่อสามัญอย่างต่อเนื่อง
 
จนเมื่อวันศุกร์ที่ 17 พ.ค. 56 บอร์ดองค์การเภสัชกรรม ที่มีนพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เป็นประธานมีมติปลด คุณหมอวิทิต ออกจากตำแหน่งอย่างไม่เป็นธรรม ไม่มีกระบวนการสืบสวนสอบสวนอย่างโปร่งใสเป็นธรรม และไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง นอกจากนี้ บอร์ดพิจารณาวาระสำคัญเช่นนี้โดยที่ไม่มีรายงานเป็นลายลักษณ์อักษร มีเพียงการรายงานผลการสอบสวนทางวาจาเท่านั้น
 
ตามกฎหมาย บอร์ดจะต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่คณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบ เราเชื่ออย่างจริงใจว่า ท่านนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีคนอื่นๆ ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นในการแสวงประโยชน์ครั้งนี้ จึงขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคนยับยั้งการปลดหมอวิทิต โดยไม่เห็นชอบกับบอร์ด แล้วสั่งให้นำกลับไปสอบสวนอย่างโปร่งใส่ โดยให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับสิทธิพื้นฐานและได้รับความเป็นธรรมอย่างแท้จริง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘พีมูฟ’ ยกกรณีปากมูน ร้อง ‘ประชุมน้ำโลก’ จัดการน้ำต้องมอง ‘คนรากหญ้า'

Posted: 20 May 2013 04:16 AM PDT

 

 
วันที่ 19 พ.ค.56 เวลา 13.30 น.ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 29 'ในสังคมประชาธิปไตย การชุมนุม คือการใช้ประชาธิปไตยทางตรง' ในโอกาส ที่เดือนพฤษภาคมเคยมีเหตุการณ์สำคัญต่อประวัติศาสตร์ทางการเมืองของประเทศ ยืนยันความเชื่อมั่นในแนวทางของการใช้ประชาธิปไตยทางตรง คือการชุมนุม การเรียกร้อง ว่าเป็นวิถีทางที่ภาคประชาชน คนเล็ก คนน้อย สามารถกระทำได้ในระบอบสังคมประชาธิปไตย โดยผู้มีอำนาจจำเป็นที่จะต้องสนับสนุน และคุ้มครองการแสดงออกดังกล่าว และไม่ควรให้เกิดเหตุการณ์เลวร้ายเช่นในอดีตที่ผ่านมาอีกในสังคมไทย
 
พร้อมกันนี้ พีมูฟได้ออกจดหมายเปิดผนึก 'การบริหารจัดการน้ำต้องเป็นไปเพื่อทุกคน ยั่งยืนและเป็นธรรม' เรียกร้องให้ผู้นำแต่ละประเทศที่เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่จัดขึ้นระหว่างวันที่
14-20 พ.ค.56 ณ จ.เชียงใหม่ ต้องบริหารจัดการน้ำเพื่อประโยชน์ของทุกคนอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
 
รายละเอียด ของแถลงการณ์และจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว มีดังนี้
 
000
 
 
แถลงการณ์ฉบับที่ 29
ในสังคมประชาธิปไตย การชุมนุม คือการใช้ประชาธิปไตยทางตรง

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้ปักหลักชุมนุมอย่างสงบ มาตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2556 แล้ว ตลอดเวลาของการเรียกร้องเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหา พวกเราต้องชุมนุมทั้งในท้องถนนและในสถานที่ราชการ หน่วยงานต่างๆ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องต่อการแก้ไขปัญหาของพวกเรา 

ในโอกาสที่เดือนนี้ (เดือนพฤษภาคม) ซึ่งเคยมีเหตุการณ์สำคัญต่อประวัติศาสตร์ทางการเมืองของประเทศ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นได้มีการสูญเสีย ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นเลย ณ ที่นี่ พวกเรา ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ขอคารวะและน้อมรำลึกถึงดวงวิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ที่ผ่านมาด้วย

พวกเรายืนยันว่า วิถีทางที่พวกท่านได้กระทำไว้นั้น พวกเราขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เชื่อมั่นในแนวทางของการใช้ประชาธิปไตยทางตรง คือ การชุมนุม การเรียกร้อง ว่าเป็นวิถีทางที่ภาคประชาชน คนเล็กคนน้อย สามารถกระทำได้ในระบอบสังคมประชาธิปไตย 

อย่างไรก็ตาม ในเส้นทางประชาธิปไตย ประชาชนทุกคนมีสิทธิ และเสรีภาพ ซึ่งสามารถแสดงออกได้อย่างอิสระ โดยที่ผู้มีอำนาจ จำเป็นที่จะต้องสนับสนุน และคุ้มครองการแสดงออกดังกล่าวด้วย

โอกาสแห่งเดือนประวัติศาสตร์นี้ ขอให้เหตุการณ์อันเลวร้ายในอดีต ได้กลายเป็นอดีต และหวังว่าทุกภาคส่วนในสังคม จะคุ้มครอง ปกป้องระบอบประชาธิปไตยนี้ร่วมกัน พร้อมกันนี้พวกเรายังหวังว่าเหตุการณ์ในอดีตจะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคตในสังคมไทย 
 
ขอคารวะ แด่ดวงวิญญาณผู้กล้าหาญ 
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
19 พฤษภาคม 2556
 
000
 
จดหมายเปิดผนึก
 
การบริหารจัดการน้ำต้องเป็นไปเพื่อทุกคน ยั่งยืนและเป็นธรรม
 
รายการรัฐบาลท่านยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้เป็นเจ้าภาพการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำ แห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
ครั้งที่2 (Asia Pacific water summit) หรือประชุมน้ำโลก ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวัน ที่ ๑๔ - ๒๐ พฤษภาคม ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่
 
การประชุมครั้งนี้จะมีการออกปฏิญญาเชียงใหม่ซึ่งชัดเจนว่า จะมีการส่งเสริมความร่วมมือมีเครือข่ายร่วมกัน
ซึ่งรัฐบาลไทยได้เตรียมกองทุน และจะเสนอตัวเองเป็นศูนย์สำหรับเป็นตัวประสานงานในเรื่องการพัฒนาด้านน้ำ เป็นเครือข่ายข้อมูล การจัดตั้งศูนย์บูรณาการด้านข้อมูลเรื่องน้ำ ซึ่งอยู่ในแผนงบประมาณ 3.5 แสนล้านแล้ว (รศ.ดร.อภิชาต อนุกุลอำไพ) ที่เรียกว่า A6 B4 วงเงิน 4 พันล้าน เพื่อนำไปพัฒนาเครือข่ายข้อมูล ระบบข้อมูล และศูนย์
บัญชาการ
 
การประชุมเรื่องน้ำ ที่กำลังดำเนินการของรัฐบาลไทยและรัฐบาลหลายประเทศในขณะนี้พวกเรามีข้อกังวล
จากประสบการณ์ที่เจ็บปวดในเรื่องการจัดการน้ำของรัฐบาล ที่มักสร้างโครงการขนาดใหญ่เข้าไปละเมิดวิถีชีวิตและ
สิทธิของชุมชน ดังเช่น เขื่อนปากมูลได้ทำลายอาชีพประมงของชาวบ้านปากมูน ซึ่งยืดเยื้อเรื้อรังมายาวนานกว่า ๒๔ ปีขณะที่ยังไม่มีรัฐบาลชุดไหน ตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาที่พวกท่านเป็นผู้สร้างเลย
 
พวกเราขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) อยากเรียกร้องต่อผู้นำที่มาจากหลายประเทศดังนี้
 
๑.การดำเนินการการบริหารจัดการน้ำ ของแต่ละประเทศควรผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้
เสียก่อนดำเนินงานโครงการ
 
๒.รัฐบาลแต่ละประเทศต้องตระหนักว่าประชาชนรากหญ้าต้องเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้รับผลประโยชน์จาก
การบริหารจัดการน้ำ
 
๓.รัฐบาลแต่ละประเทศ ต้องมีมาตรการในการรับผิดชอบต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม
 
พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พวกท่านที่เป็นผู้นำของแต่ละประเทศ จะได้เข้าใจข้อกังวล และได้คำนึงถึง
ประสบการณ์อันเลวร้ายของชาวบ้านที่ปากมูน ไปประกอบการพิจารณาตัดสินใจ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดอีกต่อไป
 
ด้วยจิตคารวะ
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'พีมูฟ' จี้รัฐบาล ตามความคืบหน้า 'โฉนดชุมชน'

Posted: 20 May 2013 01:53 AM PDT

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) มอบผลผลิตให้รัฐบาล เป็นสัญลักษณ์แทนความมั่นคงทางอาหารของชาวบ้าน ทวงความคืบหน้ากรณีโฉนดชุมชน และการนำปัญหาอีก 4 เรื่องเข้าประชุมครม. ในวันพรุ่งนี้

วันนี้ (20 พ.ค. 56) เวลา 13.00 น. ผู้ชุมนุมขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือที่รู้จักในนามพีมูฟได้เคลื่อนขบวนไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล ประตู4 (ตรงข้ามก.พ.) นำผลผลิตจากแปลงโฉนดชุมชนซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์และความมั่งคงทางอาหารมอบให้แก่รัฐบาล โดยมีสุภรณ์ อัตถาวงศ์ (แรมโบ้อีสาน) รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรับมอบพืชผลและผลไม้จากขปส.

พร้อมกันนั้น ขปส.ได้อ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 30 แถลงขอเป็นกำลังให้รัฐบาลในการแก้ไขปัญหาของคนจน และเดินหน้าขจัดทุกข์คนจนด้วยการเดินหน้าโฉนดชุมชน และนำกรณีปัญหา ทั้ง ๔ เรื่องเข้า ครม. พรุ่งนี้ (21 พ.ค. 56) และหวังว่าในการประชุมคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ที่จัดขึ้น ณ ตึกบัญชาการ ชั้น 3  ห้อง 301 ทำเนียบรัฐบาลในเวลา 13.30 น. วันนี้ จะเป็นการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม
 
 
0000
 
แถลงการณ์ฉบับที่ 30
ทุกข์ของคนจน คือทุกข์ของรัฐบาล 
ขจัดทุกข์คนจนด้วยการเดินหน้าโฉนดชุมชน และนำกรณีปัญหา ทั้ง 4 เรื่องเข้า ครม. พรุ่งนี้
 
ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง) เป็นตัวแทนรัฐบาล มาเจรจากับตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2556 ที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น ซึ่งการเจรจาครั้งดังกล่าว ได้ข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้
 
1. จะเร่งนำกรณีปัญหาที่ได้ข้อยุติแล้วเข้าสู่การพิจารณาในการประชุม ครม. 
2. จะเร่งเดินหน้านโยบายโฉนดชุมชนด้วยการเปิดประชุมคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 (วันนี้)
3. จะเร่งแก้ไขปัญหาที่คั่งค้าง ให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว เพื่อนำเข้าพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 (ต่อมาเลื่อนเป็นวันที่ 28 พฤษภาคม 2556)
 
ในช่วงเวลา 20 วันที่ผ่านมา ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายเรื่องและหลายครั้ง ติดขัดกับขั้นตอน และระบบราชการที่ไม่ค่อยจะตอบสนองนโยบายของรัฐบาลอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้กรณีปัญหาทั้ง 4 เรื่องที่มีข้อยุติแล้ว 1.) การแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล 2.) โครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 5 พื้นที่ 3.) การคุ้มครองพื้นที่โฉนดชุมชน 4.) การก่อสร้างบ้านในโครงการบ้านมั่นคง ไม่ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในการประชุม ครม. ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา
 
ในวันนี้ (20 พ.ค.56) ซึ่งจะเป็นวันประชุมคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ประชุมเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาของพวกเรา ตามแนวนโยบายโฉนดชุมชน และนอกจากนี้แล้ว วันนี้ก็จะเป็นวันสุดท้ายในการเตรียมการเพื่อบรรจุกรณีปัญหาทั้ง 4 เรื่อง เข้าสู่วาระการประชุม ครม. ในวันพรุ่งนี้ (21 พ.ค.56) 
 
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เห็นว่าช่วง 20 วันที่ผ่านมา รัฐบาลได้เร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาของพวกเรามาด้วยดีแล้วนั้น ในวันนี้ พวกเราหวังว่าการประชุมคณะกรรมการประสานงาน ฯ (ปจช.) จะประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกันนี้ พวกเรายังหวังว่า คงไม่มีอุปสรรค หรือข้อขัดข้องประการใด ที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ จนทำให้กรณีปัญหาทั้ง 4 เรื่อง ไม่สามารถนำเข้าสู่การพิจารณาใน ครม. ในวันพรุ่งนี้ได้
 
ดังนั้น ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ขอเป็นกำลังให้รัฐบาลในการแก้ไขปัญหาของคนจน และเดินหน้าขจัดทุกข์คนจนด้วยการเดินหน้าโฉนดชุมชน และนำกรณีปัญหา ทั้ง 4 เรื่องเข้า ครม. พรุ่งนี้ 
 
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
20 พฤษภาคม 2556
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ญี่ปุ่นเตรียมขึ้นค่าจ้าง หวังกระตุ้นเศรษฐกิจให้แรงงานได้จับจ่าย

Posted: 19 May 2013 06:38 PM PDT

เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 56 ที่ผ่านมานาย Akira Amari รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ของญี่ปุ่น ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่าเขามีแผนการที่จะเปิดเจรจากับผู้แทนภาคธุรกิจและกลุ่มสหภาพแรงงาน ในการที่จะโน้มน้าวให้ภาคธุรกิจปรับขึ้นค่าแรงในประเทศ
 
Amari เปิดเผยในรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งว่าบริษัทต่างๆ ได้กำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายเศรษฐกิจ "Abenomics" ของนายกรัฐมนตรี Shinzo Abe รวมทั้งค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง แต่ภาคธุรกิจก็ยังไม่ได้ปรับระดับค่าจ้างให้สูงขึ้นแต่อย่างใด
 
โดยขณะที่ยอดขายรถยนต์นั่งประเภทหรูหราและเครื่องประดับกลับมากระเตื้องขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นก็เชื่อมั่นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับค่าจ้างขึ้นเพื่อเพิ่มความมั่นใจของผู้บริโภค ทั้งนี้ Amari ยังเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าเขามีความหวังว่าการเจรจาสามฝ่ายที่เขาจะนำเสนอนี้จะช่วยให้เกิดการปฏิรูประบบการจ้างงานอีกด้วย
 
Amari ระบุต่อไปว่าเขากำลังประสานงานกับนายกรัฐมนตรี Abe ในรายละเอียด ทั้งนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี Abe ก็เคยโยนหินถามทางเกี่ยวกับประเด็นนี้มาก่อนแล้วแต่ผู้นำทางภาคธุรกิจก็ยังไม่เต็มใจนักในการเพิ่มค่าแรงขึ้น เขากล่าวต่อไปว่ารัฐบาลกำลังพิจารณามาตรการเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ และคาดว่ารายละเอียดของมาตรการนี้จะมีการประกาศในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้
 
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี Abe พึ่งจะแถลงยุทธศาสตร์กระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีการลงทุนให้มากขึ้น  รวมทั้งสนับสนุนให้มีการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพิ่ม โดยรัฐบาลญี่ปุ่นจะตั้งเป้าการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศประจำปีที่ 70 ล้านล้านเยน (682 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) 
 
นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์กระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่นี้ยังจะกระตุ้นการจ้างงานให้แก่กลุ่มผู้หญิง มีการฝึกอบรมทักษะให้กับคนหนุ่มสาวเพื่อแก้ไขวิกฤตขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งแผนปรับปรุงระบบประกันสุขภาพ และการตั้งเขตผ่อนผันเศรษฐกิจพิเศษ (Special Deregulation Zones) อีกด้วย
 
 
ที่มาเรียบเรียงจาก:
 
http://www.japantimes.co.jp/news/2013/05/20/business/amari-wants-wage-talks-with-bigwigs/#.UZlqBKLwkXo
 
http://www.bloomberg.com/news/2013-05-17/abe-s-growth-strategy-to-support-investment-in-japan-technology.html
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น