โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

TDRI: ชวนคุยเรื่องรถไฟความเร็วสูง (ต่อ)

Posted: 02 May 2013 12:23 PM PDT

 
ตามที่คณะทำงานประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี (นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์) ได้เผยแพร่คำชี้แจงเรื่อง "รถไฟความเร็วสูงไม่ใช่ภาระหนี้สิน แต่คือโอกาสใหม่ของการสร้างรายได้" ผ่านสื่อสารมวลชน เพื่อแลกเปลี่ยนกับบทวิเคราะห์เรื่อง "ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ: เดินหน้าอย่างไรให้ถูกทาง คุ้มค่า และเป็นประชาธิปไตย" ของ ดร.สมชัย จิตสุชน และ ดร.สุเมธ องกิตติกุล แห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นั้น ผู้เขียนขอขอบคุณที่คณะทำงานฯ ให้ความสนใจบทวิเคราะห์ดังกล่าว และขอถือโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกลับ ดังนี้
 
 

ลงทุนหรือไม่ลงทุน ... อยู่ที่ 'ความน่าเชื่อถือและความโปร่งใส' ของการศึกษาความเป็นไปได้

 
จากที่คณะทำงานฯ ชี้แจงว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงของไทยมีความคุ้มค่าแก่การลงทุน โดยพิจารณาจากผลการประมาณการจำนวนผู้โดยสารขั้นต่ำซึ่งจัดทำโดย Third Railway Survey and Design Institute Group Corporation (TSDI) เมื่อเดือนสิงหาคมและตุลาคม 2555 ซึ่งระบุว่า เพียงแค่เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-หนองคาย 'รวมกัน' ก็จะมีปริมาณผู้โดยสารสูงถึง "23.8 ล้านคน-เที่ยว" ในปี 2563 ซึ่งสูงกว่าตัวเลขที่ผู้เขียนเคยระบุว่ารถไฟความเร็วสูงควรมีผู้โดยสารในปีแรกสูงถึง "9 ล้านคน-เที่ยว" เป็นอย่างน้อย จึงจะคุ้มค่ากับต้นทุนดำเนินงาน
 
ผู้เขียนขอชี้แจงว่า ตัวเลข "9 ล้านคน-เที่ยว" ของผู้เขียนเป็นตัวเลขของจำนวนผู้โดยสารคุ้มทุนสำหรับเส้นทางรถไฟหนึ่งเส้นทางที่มีระยะทาง 500 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่สั้นกว่ากรุงเทพฯ-หนองคาย (530 กิโลเมตร) การที่คณะทำงานฯ เปรียบเทียบตัวเลข "23.8 ล้านคน-เที่ยว" ซึ่งเป็นการรวม 2 เส้นทางเข้าด้วยกันและมีเส้นทางที่ยาวกว่า กับ "9 ล้านคน-เที่ยว" เพื่อบอกว่าแม้ใช้ตัวเลขของทีดีอาร์ไอเองก็ยังคุ้มทุน จึงเป็นการใช้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง
 
อย่างไรก็ตาม คณะทำงานฯ หรือผู้อ่านก็อาจแย้งว่าแม้จะปรับลดตัวเลข "23.8 ล้านคน-เที่ยว" ลงตามสัดส่วนระยะทางให้เหลือ 500 กิโลเมตรก็จะได้ตัวเลขสูงกว่า 9 ล้านคน-เที่ยวอยู่ดี แสดงว่ายังคงคุ้มทุน ซึ่งก็อาจถูกต้อง แต่ประเด็นนี้มิใช่สิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อ ผู้เขียนอยากจะตั้งข้อสังเกตมากกว่าว่า ในปีแรกๆ ที่เปิดดำเนินการ จำนวนผู้โดยสารจริงจะมีจำนวนเท่าใด เท่ากับจำนวนที่คุ้มทุนหรือไม่ ไม่ว่าตัวเลขนั้นจะเป็น 9 ล้านคน-เที่ยว หรือ 23.8 ล้านคน-เที่ยว
 
ตัวอย่างเช่น เมื่อพิจารณาจำนวนผู้เดินทางโดยสายการบินต้นทุนต่ำกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ในปัจจุบัน พบว่ามีเพียงปีละ 5 ล้านคน-เที่ยว ซึ่งหากรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้นจริง ก็คงแบ่งจำนวนผู้โดยสารจากสายการบินต้นทุนต่ำมาส่วนหนึ่ง (น้อยกว่า 5 ล้านคน) ในขณะที่จำนวนผู้โดยสารที่เปลี่ยนจากการเดินทางช่องทางอื่นหรือจำนวนผู้โดยสารใหม่ที่ไปเชียงใหม่เพิ่มขึ้นเพราะมีรถไฟความเร็วสูงให้ใช้บริการจะเป็นจำนวนเท่าไร ก็ยังไม่ทราบแน่ชัด
 
ผู้เขียนจึงเรียกร้องให้เปิดเผยวิธีการคำนวณ แบบจำลองที่ใช้ และสมมติฐานต่างๆ ที่นำไปสู่การคาดการณ์จำนวนผู้โดยสาร ซึ่งเป็นตัวกำหนดที่สำคัญต่อผลการวิเคราะห์ความเป็นไปได้
 
เหตุที่ผู้เขียนต้องการให้เปิดเผยรายละเอียดของการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการไม่ว่าจะเป็นระดับ Pre-Feasibility Study ระดับ Feasibility Study และไม่ว่าจะจัดทำโดยหน่วยงานใด เพราะต้องการให้การศึกษาความเป็นไปได้มี 'ความน่าเชื่อถือ' และ 'ความโปร่งใส' โดยเฉพาะในเรื่องการประมาณการต้นทุนโครงการและจำนวนผู้โดยสาร
 
งานวิจัยของ Flyvbjerg (2009) ระบุปัญหาของโครงการขนาดใหญ่ในอดีตว่ามีปัญหาด้านต้นทุนการก่อสร้างโครงการที่สูงกว่าที่คาดการณ์ (Cost overruns) และผลประโยชน์ที่ได้รับน้อยกว่าที่คาดการณ์ (Benefit shortfalls) หลังจากโครงการเริ่มดำเนินการไปแล้ว กล่าวคือ มีจำนวนผู้ใช้งานจริงน้อยกว่าจำนวนที่ระบุในการศึกษาความเป็นไปได้ ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ได้รวบรวมข้อมูลของโครงการขนาดใหญ่มากกว่า 200 โครงการ จาก 20 ประเทศ ใน 5 ทวีป พบว่าต้นทุนของโครงการด้านรถไฟมีค่าเฉลี่ยต้นทุนสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึงร้อยละ 44.7 และในส่วนของการคาดการณ์ผู้โดยสารที่ใช้บริการ พบว่าโครงการด้านรถไฟมีจำนวนผู้โดยสารจริงน้อยกว่าการคาดการณ์จำนวนผู้โดยสารมากถึงร้อยละ 51.4 โดยพบว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะการศึกษาความเป็นไปได้จัดทำหรือจัดจ้างโดยหน่วยงานที่จะเป็นผู้ดำเนินการเอง นี่จึงเป็นสาเหตุที่ผู้เขียนเสนอให้การศึกษาความเป็นไปได้จัดทำโดยหน่วยงานเป็นกลางและมีการตรวจสอบโดยองค์กรอิสระอีกชั้นหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยไม่ประสบปัญหาซ้ำรอยดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ
 
 

รถไฟความเร็วสูงกับ 'ค่าเสียโอกาส' และ 'ความเสี่ยง' ของการลงทุน

 
คณะทำงานฯ ระบุว่ารัฐบาลวางแผนสร้างรายได้อื่นนอกเหนือจากการให้บริการรถไฟความเร็วสูงจนทำให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้และไม่เป็นภาระต่อภาครัฐ
 
ผู้เขียนเห็นด้วยว่าการเพิ่มการพิจารณารายได้อื่นแบบ non-rail เพื่อเพิ่มรายได้รวมของโครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูงเป็นเรื่องที่ทำได้ และสามารถใช้เป็นเกณฑ์ 'เบื้องต้น' ในการตัดสินใจว่าควรสร้างรถไฟความเร็วสูงหรือไม่ กล่าวคือ หากรายได้รวมทั้งหมดสูงกว่าต้นทุนการก่อสร้างก็ควรสร้างรถไฟความเร็วสูง และในทางตรงข้าม หากรายได้รวมต่ำกว่าก็ไม่ควรสร้าง
 
อย่างไรก็ตาม การทุ่มเทเงินภาษีของประชาชนจำนวนมากในโครงการใดโครงการหนึ่งต้องคำนึงถึงปัจจัยที่มากกว่านั้น ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นสอนเราว่าการพิจารณาต้นทุนที่ถูกต้องควรคำนึงถึง 'ค่าเสียโอกาสในการลงทุน' มากกว่า กล่าวคือ หากนำเงินจำนวนเดียวกันไปลงทุนในโครงการอื่นจะได้ 'รายได้รวม' จากโครงการเหล่านั้นมากกว่ารายได้รวมจากการลงทุนในรถไฟความเร็วสูงหรือไม่
 
ตัวอย่างเช่น หากเพิ่มการลงทุนในระบบรถไฟทางคู่เพื่อการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารให้สมบูรณ์มากกว่าที่เสนอในร่าง พ.ร.บ. (ซึ่งอาจรวมทั้งการปรับปรุงระบบรางส่วนใหญ่ให้เป็นรางมาตรฐาน เพื่อให้สามารถเพิ่มความเร็วในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร) ก็สามารถมีรายได้อื่นแบบ non-rail เช่น รายได้จากส่วนของ 'สถานี' ได้เช่นกัน ในขณะที่ก็อาจได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากระบบรางของรถไฟทางคู่มากกว่าระบบรางรถไฟความเร็วสูง จนทำให้รายได้รวมสูงกว่าการนำเงินไปลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงก็เป็นได้
 
มิพักต้องกล่าวถึงว่า หากพิจารณาเรื่องความเสี่ยงของการลงทุนเข้าไปด้วย ดูเหมือนว่ารถไฟความเร็วสูงจะมีความเสี่ยงเรื่องการประมาณการจำนวนผู้โดยสารดังที่ได้กล่าวถึงแล้ว เพราะเป็นสิ่งที่คนไทยไม่เคยใช้บริการมาก่อนจึงประมาณการผู้โดยสารได้ยากกว่าการใช้รถไฟปกติ นั่นยิ่งทำให้เราต้องระมัดระวังในการด่วนสรุปว่ารถไฟความเร็วสูงคือการลงทุนที่ดีที่สุดจากเงินจำนวนเดียวกันนี้
 
 

รถไฟความเร็วสูงกับ 'ผลประโยชน์ทางอ้อม'

 
จากที่คณะทำงานฯ อ้างถึงผลการสำรวจของกระทรวงคมนาคม ซึ่งพบว่า "จำนวนผู้ใช้บริการสายการบินต้นทุนต่ำ ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อการขยายตัวของ GPP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด) ในจังหวัดต่างๆ ในระดับภูมิภาค" และระบุว่า "รถไฟความเร็วสูงจะทำหน้าที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว และการขยายตัวของ GPP" รวมทั้งประโยชน์อื่น ๆ เช่นการกระจายสินค้าของบริษัทไปรษณีย์ไทย
 
ผู้เขียนมีความเห็นว่าความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่าง GPP และจำนวนผู้ใช้บริการสายการบินต้นทุนต่ำนั้นเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้โดยปกติอยู่แล้ว แต่ไม่ชัดเจนว่าเป็นความสัมพันธ์ในทิศทางใด กล่าวคืออาจเป็นไปได้เช่นกันว่า GPP สูงขึ้นจากสาเหตุอื่นก่อน จากนั้นจึงมีผลทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นตาม อีกทั้งต่อให้ความสัมพันธ์เป็นไปในทิศทางที่คณะทำงานฯ โน้มน้าวให้เชื่อ แต่ความสัมพันธ์นั้นมาจากจำนวนผู้โดยสารสายการบินต้นทุนต่ำ มิได้เกี่ยวข้องกับรถไฟความเร็วสูงโดยตรง ในขณะที่รถไฟความเร็วสูงจะไปแย่งชิงผู้โดยสารจากสายการบินต้นทุนต่ำจำนวนหนึ่งซึ่งอาจมีผลทำให้จำนวนผู้โดยสารรวม (สายการบินต้นทุนต่ำรวมกับรถไฟความเร็วสูง) เพิ่มขึ้นไม่มากเท่าที่อยากเห็น ผลต่อ GPP จึงน้อยกว่าที่ประมาณได้เช่นกัน
 
เช่นเดียวกับกรณีรายได้รวม การวิเคราะห์ถึงผลประโยชน์รวมที่รวมผลทางอ้อมที่เกิดกับภาคเศรษฐกิจอื่นนั้นควรทำกับการลงทุนในทุกกรณี เพราะผลทางอ้อมมิได้เกิดขึ้นกับรถไฟความเร็วสูงเพียงเท่านั้น ตัวอย่างเช่น หากใช้เงินจำนวนเดียวกันไปลงทุนในระบบรถไฟทางคู่ ต้นทุนการขนส่งสินค้าที่ลดลงย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างต่อภาคธุรกิจอื่นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อภาคการส่งออกซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทยมาตลอด และเกี่ยวโยงกับหลายภาคการผลิตมากกว่าการท่องเที่ยว ประโยชน์ทางอ้อมจึงน่าจะสูงกว่ารถไฟความเร็วสูงด้วยซ้ำไป
 
นอกจากนี้ ประโยชน์ของการขนส่งสินค้าของรถไฟความเร็วสูงนั้นจำกัดกว่ารถไฟทางคู่ ตัวอย่างที่คณะทำงานฯ ยกมาเรื่องการจัดส่งพัสดุและสินค้าอาหารของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด นั้นชัดเจนว่ามีขนาดของประโยชน์น้อยกว่ากรณีรถไฟทางคู่ ซึ่งส่งเสริมการขนถ่ายสินค้าหลากหลายประเภทและในปริมาณและมูลค่าที่สูงกว่ามาก
 
อีกตัวอย่างที่ชัดเจนของประโยชน์ทางอ้อมที่น่าจะมากกว่าการลงทุนรถไฟความเร็วสูงคือการลงทุนด้านนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา โดยหากโยกเงินที่ใช้สำหรับสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงมาลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ก็จะทำให้สัดส่วนการลงทุน R&D ต่อรายได้ประชาชาติเพิ่มเป็นร้อยละ 1 ต่อเนื่องยาวนานถึงเกือบสิบปี ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าการลงทุน R&D เป็นหัวใจที่ตัดสินว่าประเทศจะหลุดพ้นหรือก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้หรือไม่ และเป็นที่ทราบเช่นกันว่ารัฐบาลยังมิได้แสดงความมุ่งมั่นชัดเจนกว่าการกล่าวด้วยวาจาว่าจะเพิ่มการใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง ยังมิพักต้องพูดถึงการใช้จ่ายด้านสังคมในการดูแลผู้สูงอายุที่ขาดลูกหลานดูแล เด็กพิการ เด็กกำพร้า และผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ ที่น่าจะได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยลงในระยะยาว
 
 

รถไฟความเร็วสูงกับ 'นโยบายประชานิยม'

 
การสร้างรถไฟความเร็วสูงไม่จำเป็นต้องเป็นนโยบายประชานิยม ส่วนหนึ่งเพราะยังไม่ชัดเจนว่าประชาชนจะ 'นิยม' มากน้อยเพียงใด (แม้ภาคธุรกิจก่อสร้างและนักการเมืองที่เกี่ยวข้องจะนิยมค่อนข้างแน่) แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าคือการวางแผนการใช้ทรัพยากรการเงินที่จำกัดของประเทศในทิศทางใดจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยความเสี่ยงน้อยสุดหรือในระดับที่รับได้มากกว่า
 
อย่างไรก็ตาม บทความของผู้เขียนที่คณะทำงานฯ กล่าวถึงรวมทั้งบทความนี้มิได้ต้องการชี้ชัดว่ารถไฟความเร็วสูงนั้นต้องเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าอย่างแน่นอนและไม่ควรสร้าง การยกตัวอย่างข้างต้นก็เป็นเพียงการคาดเดาไม่ต่างไปจากการกล่าวอ้างผลประโยชน์ทางบวกของรถไฟความเร็วสูง ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนต้องการสื่อคือเสนอให้มีการปรับปรุงกระบวนการตัดสินใจลงทุนตามร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ให้มีความรอบคอบ มีหลักเกณฑ์และใช้ข้อมูลที่ถูกต้อง มีความโปร่งใส และเป็นประชาธิปไตย
 
ผู้เขียนอยากเห็นการถกเถียงเพี่อร่วมกันสร้างกระบวนการตัดสินใจลักษณะดังกล่าวมากกว่าการโน้มน้าวเพื่อให้เชื่อ (rhetoric) ว่ารถไฟความเร็วสูงนั้นควรสร้างหรือไม่ควรสร้าง
 
            
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุนทรพจน์นายกฯ: เสียดายคนไทยไม่ได้ฟังเป็นภาษาไทย

Posted: 02 May 2013 12:04 PM PDT

1. ผมคิดว่าตัวสุนทรพจน์ของนายกยิ่งลักษณ์สื่อสารได้ดี สื่อสารสิ่งที่ควรสื่อ และผมยินดีดีเฟนด์ให้กับสุนทรพจน์นี้

2. แต่ผมยังไม่รู้สึกว่าตัวนายกยิ่งลักษณ์ ทักษิณ เพื่อไทย หรือใครก็ตาม ทำหน้าที่ได้ดีพอในฐานะรัฐบาล หรือกระทั่งในฐานะนักการเมืองอาชีพที่เข้าสู่อำนาจด้วยกระแสประชาธิปไตย เพราะลำพัง "การพูด" ไม่เพียงพอที่จะสอบผ่านในสายตาผม

3. ผมเสียดายที่คนไทยไม่ได้ฟังสุนทรพจน์ดีๆแบบนี้ในภาษาไทย ในประเทศไทย แม้ว่าคนไทยเกินครึ่งจะเทคะแนนให้นายกฯคนนี้ขึ้นสู่อำนาจ แต่มวลชนอีกหลายคนยังต้องติดคุกอยู่ และอีกหลายคนที่ต่อสู้ยอมที่จะบาดเจ็บหรือแม้กระทั่งเสียชีวิต

4. ถ้าให้เดา ผมเชื่อว่าการพูดครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อระบอบประชาธิปไตยหรือเพื่อผู้เดือดร้อนจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมา เพราะมีอีกหลายสิ่งที่เธอสามารถทำได้หากตั้งใจจะทำจริงๆ ผมเชื่อว่านี่เป็นเพียงไพ่อีกหนึ่งใบที่เอาออกมาเล่นเดิมพันบนโต๊ะแห่งอำนาจ

5. การวิพากษ์วิจารณ์สุนทรพจน์ เป็นคนละประเด็นกับการวิจารณ์นายกรัฐมนตรี และด้วยเหตุผล 1-4 ทำให้ผมยินดีจะดีเฟนด์ให้กับตัวสุนทรพจน์ แต่ไม่รู้สึกว่านายกฯทำคุณงามความดีขนาดต้องดีเฟนด์ให้แก ใครอยากด่าเธออย่างไรเชิญตามสะดวก

6. นายกรัฐมนตรี ก็เหมือนคนทั่วไป ด่าได้ ติได้ เกลียดได้ ไม่ใช่เทวดาที่ไหน ไม่มีใครบังคับให้ต้องรักนายก แต่ "ท่าทีการด่า" ใครหรืออะไรสักอย่างนั้น มันจะสะท้อนตัวผู้ด่า ผู้วิจารณ์เองในเวลาเดียวกั

7. จะเห็นว่ากลุ่มที่ด่าว่านายกฯพูดไม่หมด พูดความจริงครึ่งเดียว พูดโกหก คือกลุ่มที่ต้องการแย่งชิงการเขียน ตีความ และพยายามสร้างความชอบธรรมต่อสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นอดีต เพียงเพราะตัวเองมีส่วนร่วมอยู่ในเรื่องราวเหล่านั้นด้วย

8. ส่วนกลุ่มที่ด่าว่านายกฯขายชาติ ก็คือกลุ่มคนที่มองความหมายของคำว่า"ชาติ"แบบตื้นเขิน ชาตินิยมหลงยุค มองต่างชาติดีกว่าตนเอง มองว่าต่างชาติไม่รู้ตื้นลึกหนาบางในประเทศตนเอง มองว่าความน่าอับอายอยู่ที่การสื่อสารมากกว่าเรืองราวที่เกิดขึ้นจริง

9. เป็นที่น่าสนใจว่ากลุ่มที่ด่าหยาบๆคายๆแบบไม่มีเนื้อหาใดๆนั้น ลึกๆแล้วเขาคิด/รู้สึกอย่างไร เป็นไปได้ไหมว่าเขารู้ดีแก่ใจว่าสิ่งที่พูดมันหมายถึงอะไร แต่มันเจ็บปวดเกินกว่าจะออกมาแก้ต่างหรือยอมรับ

10. พูดตรงๆว่าผมไม่รู้ว่าคำว่า "กะหรี่" เป็นคำด่า หรือคำดูถูกเลยจริงๆ อาจฟังดูโลกสวยหน่อมแน้ม แต่ผมไม่เคยรู้สึกเลยว่ากะหรี่เป็นของต่ำกว่ามนุษย์ปกติจนถึงต้องใช้คำว่า "กะหรี่ยัง ทำอย่างโน้น อย่างนี้" 

ผมมองว่ากะหรี่ก็คืออาชีพขายบริการอย่างหนึ่ง เหมือนพนักงานนวดเท้า รปภ.ห้าง แพทย์ ทนายความ หรือดาราภาพยนตร์ร้อยล้าน

ปัญหาจึงอยู่ที่คนซึ่่งยก "กะหรี่" ขึ้นมาด่าผู้หญิงคนอื่น เพราะการจะด่าคนอื่นได้ เท่ากับว่าเขา "เหยียดกะหรี่" ไปแล้วอย่างมาก จึงสรุปต่อได้อีกทีในทำนองว่า "มึงเหี้ยกว่ากะหรี่อีก" 

คนที่ด่าแบบนี้ จึงสะท้อนความ "ต่ำ" ของตัวเองถึงสองชั้น หนึ่งคือต่ำในการเหยียดอาชีพกะหรี่ และสองคือการยัดเยียดความต่ำ(ที่ตนเองยึดถือ) นั้นให้กับคนเพศแม่ที่ตนเองเกลียด

ถ้าสำเนียงส่อภาษา และกริยาส่อสกุลการด่า/วิพากษ์วิจารณ์ ก็ย่อมส่ออะไรบางอย่างในตัวผู้ด่าเช่นกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แพทย์ชนบทงง ‘นพ.ประดิษฐ’ เรียกหาหลักฐานทุจริต จี้ตั้งกรรมการคนนอก-ส่ง DSI สอบ

Posted: 02 May 2013 11:44 AM PDT

อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทชี้ข้อมูลชัดจัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดทำให้รัฐสูญเงิน 115 ล้านบาท ยันพร้อมให้ข้อมูลในทุกกรณีถ้าตั้งกรรมการสอบจากบุคคลภายนอก ด้านประธานชมรมแพทย์ชนบทเผยเตรียมชุมนุมใหญ่ แจงข้อมูลนายกฯ

 
นพ.วชิระ บถพิบูลย์ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยกรณีที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ปฏิเสธข่าวมีการทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด ราคารวม 147 ล้านบาท และเรียกร้องให้แพทย์ชนบทโชว์หลักฐานทุจริตว่า รู้สึกงง และผิดหวังกับการทำหน้าที่ของ รมว.สาธารณสุข เพราะมีเอกสารชัดเจนว่ากระทรวงสาธารณสุขตั้งงบสั่งซื้อ สูงกว่าราคาที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งเป็นวิสาหกิจในกำกับของรัฐเสนอขายให้กับโรงพยาบาลทั้งประเทศถึง 4.5 เท่า เป็นเงินสูงกว่า 115 ล้านบาท
 
อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท ระบุด้วยว่า ที่ นพ.ประดิษฐ ว่าที่ขายอยู่ในตลาดไม่ได้มาตรฐาน แล้วทำไม อย.หรือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปล่อยให้ขายในท้องตลาดได้อย่างไร เป็นความรับผิดชอบของ รมว.สาธารณสุขหรือไม่
 
"จากเอกสารที่ออกสู่สาธารณะ ชี้ชัดว่ามีการเตรียมการทำให้รัฐสูญเงินทันที 115 ล้านบาท ส่วนข้อเท็จจริงมากกว่านั้น รัฐมนตรีสาธารณสุขควรตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงจากคนนอกที่สังคมยอมรับ เหมือนในอดีตเคยสอบเอาผิดอดีต รมว.สาธารณสุข จากพรรคกิจสังคม กรณีทุจริตยาจนต้องติดคุก หรือสอบกรณีงบไทยเข้มแข็ง จน รมว.สาธารณสุข จากพรรคประชาธิปัตย์ ต้องลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ครั้งนี้ ถ้าบริสุทธิ์ใจจริง ทำให้กระจ่าง สังคมก็จะเชื่อถือ" นพ.วชิระ กล่าว
 
อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าวต่อว่า ยกตัวอย่างการโกงภาษี มีพ่อค้าที่ไหนจะทิ้งหลักฐานบัญชีไว้ แต่เมื่อมีผู้ให้เบาะแสว่าอาจมีการทุจริตโกงภาษี ก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดีจะต้องเข้าไปตรวจสอบอย่างจริงจัง สำหรับเรื่องนี้ถ้ามีการตั้งกรรมการสอบที่สังคมยอมรับ ทางชมรมแพทย์ชนบทก็พร้อมให้ข้อมูลทางลึกที่มีอยู่ และขณะนี้มีผู้เป็นห่วงความโปร่งใสของสาธารณสุข ได้ส่งข้อมูลว่ามีไอ้โม่งที่มีอำนาจมากกว่าประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม ได้โทรสั่งให้เปลี่ยนเส้นทางเดินของเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐจำนวน 75 ล้านบาทที่องค์การเภสัชกรรม เตรียมเบิกส่งให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่ที่ได้ซื้อยาในโครงการ สปสช.ตามคำแนะนำของ สตง.แต่ไอ้โม่งสั่งให้ส่งเข้าส่วนกลางกระทรวงสาธารณสุขแทน
 
"หรือข้อมูลกรณี ดร. มือขวาของผู้มีอำนาจทางการเมืองในกระทรวงสาธารณสุข ไปยุ่งกับงบวิจัยของ สวรส. ตอนแรกขอ 6 ล้านบาท ต่อมาไม่พอจะขอเพิ่มอีก 6 ล้านบาท ไปทำเอกสารวิจัยปฏิรูปโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเนื้อหาเอามาจากเอกสารวิชาการที่เคยทำกันแล้วและเสนอแล้วในกระทรวงสาธารณสุข" อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าว และยืนยันว่าพร้อมให้ข้อมูลที่มีอยู่ในทุกกรณี ถ้ามีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงจากบุคคลภายนอก และพร้อมจะรับข้อมูลเพิ่มจากผู้หวังดีในกระทรวงสาธารณสุขอีก  
 
ด้านข่าวจาก รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ให้ข้อมูลว่า สัปดาห์หน้าทางชมรมแพทย์ชนบทจะประชุมร่วมกับเครือข่ายองค์กร กลุ่มคนที่ไม่เอา นพ.ประดิษฐ เป็น รมว.สาธารณสุข รวมทั้งประชุมกับสหภาพวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม เพื่อเตรียมการชุมนุมใหญ่และเข้าพบนายกรัฐมนตรีที่บ้านพัก เพื่อชี้แจงถึงสถานการณ์และผลเสียหายที่จะเกิดกับระบบสาธารณสุขของรัฐและระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ถ้าปัญหาที่กำลังบานปลายไม่ได้รับการแก้ไขทันต่อสถานการณ์
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

312 ส.ส.-ส.ว. ยื่นจดหมายเปิดผนึก 'ไม่รับอำนาจศาล รธน.'

Posted: 02 May 2013 10:31 AM PDT

312 ส.ส.-ส.ว. ร่อนจดหมายเปิดผนึก ไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ กรณีรับคำร้องตีความ ม.68 ชี้ เป็นการทำผิด รธน.ลั่น การแก้ไข รธน.เป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภา แม้แต่ยุบศาล รธน. ก็สามารถทำได้

(2 พ.ค. 56) เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 12.30 น. ที่รัฐสภา ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล นำโดย นายอำนวย คลังผา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และ ส.ว.บางส่วน นำโดย นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร ประมาณ 20 คน แถลงเปิดจดหมายเปิดผนึกคัดค้านและไม่ยอมรับการใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ ในการรับคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ของสมาชิกรัฐสภา 312 คน

โดยนายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษาวิปรัฐบาล กล่าวว่า กลุ่มสมาชิกรัฐสภา 312 คน ได้ทำจดหมายเปิดผนึกจำนวน 10 หน้า เพื่อมอบให้กับองค์กรอิสระต่างๆ ยกเว้นศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งส่งให้คณะผู้พิพากษาศาลทั่วประเทศ และส่งให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อให้รับทราบการวินิจฉัยรัฐธรรมนูญที่ผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ยืนยันว่าในฐานะสมาชิกรัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรค 2 ที่บัญญัติว่าการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ทำให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตามหน้าที่        

ด้านนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากศาลรัฐธรรมนูญ ยังยืนยันและตัดสินให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ต้องผ่านศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ก็จะถือว่าไม่มีฐานรองรับทางกฎหมายและจะไม่ผูกพันรัฐสภา 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จดหมายเปิดผนึกคัดค้านและไม่ยอมรับการใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ มีเนื้อหาอ้างถึงมติคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 3 เม.ย. และ 11 เม.ย. 2556 กรณีรับคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาไว้พิจารณา ระบุว่า ข้าพเจ้าในนามสมาชิกรัฐสภาทั้ง 312 คน ขอเรียนว่า การรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณานั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างชัดแจ้ง จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ

ดังเหตุผลดังนี้

1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจที่จะรับคำร้องกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาไว้พิจารณา เนื่องจาก

1.1 เรื่องใดที่รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้อำนาจไว้โดยชัดแจ้ง ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจ ที่จะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา วินิจฉัยได้ การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องในเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนไว้พิจารณา ย่อมเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

1.2 รัฐสภามีความชอบที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้อย่างกว้างขวาง หรือแม้แต่ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ แล้วจัดตั้งเป็นคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ก็ย่อมทำได้ การที่สมาชิกรัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จึงถือเป็นการกระทำในนามของประชาชน เจ้าของอำนาจอธิปไตย ดังนั้น ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหากไม่อยู่ในข้อจำกัดของการห้ามแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 291 วรรค 2 และการดำเนินการเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 291 แล้ว ย่อมเป็นอำนาจโดยชอบของรัฐสภา ที่จะดำเนินการได้ องค์กรอื่นใดตามรัฐธรรมนูญรวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปตรวจสอบได้

1.3 การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขนั้น ได้ยึดหลักการแบ่งแยกอำนาจหรือแบ่งแยกภารกิจในการใช้อำนาจอธิปไตยในทางนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการออกจากกัน แต่ก็มีกระบวนการถ่วงดุล หรือกำหนดความสัมพันธ์ของการใช้อำนาจ ระหว่างองค์กรไว้ในบางประการ เฉพาะเท่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เท่านั้น หากกรณีใดรัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติถึงความสัมพันธ์ของการใช้อำนาจระหว่างองค์ไว้แล้ว องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะใช้อำนาจหน้าที่ของตนไปกระทบ หรือแทรกแซงการใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรอื่นมิได้

ดังนั้น เมื่อรัฐสภาใช้อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจที่จะรับคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้พิจารณาได้ไม่ว่ากรณีใด

1.4 กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมเป็นกระบวนการปกติในระบอบรัฐสภา ซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน รัฐธรรมนูญก็เคยได้รับการแก้ไขเป็นรายมาตรา และยกร่างทั้งฉบับ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็มีการแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว และไม่เคยบัญญัติให้อำนาจแก่องค์ใดเข้าไปตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาเลย ไม่ว่ากรณีใด

1.5 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภา ที่จะดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 การเสนอแก้ไขเพิ่มเติมมิใช่เป็นเรื่องของการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่งแต่อย่างใด การที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะตรวจสอบได้ตามมาตรา 68 วรรคหนึ่งนั้น ผลก็จะกลายเป็นว่าศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจเหนือทุกองค์กรในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และองค์กรอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญ การตีความเช่นนี้ เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้บัญญัติรัฐธรรมนูญเสียเอง อันจะทำให้หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญและหลักการแบ่งแยกอำนาจถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง

2. ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องตามมาตรา 68 ไว้พิจารณาโดยตรง โดยที่ยังมิได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากอัยการสูงสุดก่อน 2.1 ตั้งแต่แรก ที่มีการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 2540 รัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติให้การยื่นคำร้องจ่อศาลรัฐธรรมนูญ ต้องผ่านองค์กรหรือบุคคลตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติใดให้สิทธิประชาชน ที่จะเสนอคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 ก็เช่นเดียวกัน มีเพียงกรณีเดียวที่ประชาชน อาจใช้สิทธิโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้คือ ตามมาตรา 212 ของรัฐธรรมนูญ การใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 ก็ต้องเสนอเรื่องผ่านอัยการสูงสุด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเสียก่อน

2.2 สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญนั้น มิใช่สิทธิส่วนบุคคลของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ดังนั้นการจะปล่อยให้ใครมาใช้สิทธิโดยพัง ต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง โดยไม่ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนนั้น อาจส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะได้

2.3 การตีความของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ว่าบุคคลผู้ทราบการกระทำว่ามีการล้มล้างการปกครอง สามารถใช้สิทธิได้ 2 ทางคือ เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุด ตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้นั้น เป็นการตีความที่ขัดต่อบทบัญญัติและเจตนารมณ์ รวมถึงวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญโดยชัดแจ้ง จะทำให้การทำหน้าที่ของอัยการสูงสุดไม่มีที่ใช้อีกต่อไป เพราะเมื่อผู้ทราบการกระทำสามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ก็ไม่จำเป็นต้องเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดอีก หรือเมื่อเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดแล้ว ผู้ร้องกลับมายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เองอีกเช่นนี้ สิ่งที่อัยการสูงสุดดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ก็จะไร้ผล การตีความของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ จะทำให้เกิดผลประหลาดที่ไม่มีเหตุผลทางกฎหมายรองรับ เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญ บัญญัติรัฐธรรมนูญขึ้นเองและทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญเสียเอง จนอาจทำให้เข้าใจได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญ ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขเสียเอง เพราะจะทำให้รัฐสภา ไม่สามารถทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ได้

3. มาตรฐานการรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่อาจยอมรับได้ มีการเร่งรัดพิจารณารับคำร้องอย่างผิดปกติวิสัยและขาดหลักความเสมอภาคในการพิจารณารับคำร้อง เมื่อมีผู้มายื่นร้องวันที่ 2 เม.ย. ปรากฏว่าวันที่ 3 เม.ย. มีการพิจารณารับคำร้องทั้งที่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อยู่เพียง 5 คน และมีมติ 3 ต่อ 2 รับคำร้องดังกล่าวไว้

นอกจากนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน ที่รับคำร้อง ประกอบด้วย นายจรัญ ภักดีธนากุล และนายสุพจน์ ไข่มุกต์ เป็นที่ทราบกันดีว่ามีส่วนได้เสียในรัฐธรรมนูญ เพราะเคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ในด้านจรรยาบรรณของตุลาการและตามหลักวิชาชีพ ย่อมไม่สมควรที่จะร่วมพิจารณาคำร้องนี้ตั้งแต่แรก

อีกทั้งนายจรัญเองก็เคยพูดว่า รัฐธรรมนูญมีข้อบกพร่องควรแก้ไข ขณะเดียวกัน การตีความของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่สอดคล้องกับหลักการตีความกฎหมายลายลักษณ์อักษรและหลักการตีความรัฐธรรมนูญ ทำให้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มีความขัดแย้งกันเอง ขาดความเป็นเอกภาพของรัฐธรรมนูญ การตีความขยายเขตอำนาจตนเองของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ นับเป็นอันตรายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะการตีความเพิ่มเติมอำนาจให้กับตัวเองดังกล่าว มีผลเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้บัญญัติรัฐธรรมนูญเสียเอง และไม่ต้องผูกพันตนต่อรัฐธรรมนูญ อีกทั้งไม่มีองค์กรใดตรวจสอบถ่วงดุลได้ หากยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ขยายอำนาจของตนเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจ และหลักการสำคัญอื่นในรัฐธรรมนูญโดยสิ้นเชิง

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ในนามของสมาชิกรัฐสภา ขอประกาศยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันอีกครั้งว่า ขอคัดค้านการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ในการตรวจสอบการใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภา และกรณีที่รับคำร้องไว้พิจารณาโดยตรงโดยไม่ผ่านอัยการสูงสุดเสียก่อน สมาชิกรัฐสภาทุกคนที่เกี่ยวข้อง ขอยืนยันอย่างแน่วแน่ว่า จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ประเทศชาติประชาชน และเพื่อคงไว้ซึ่งหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ หลักการแบ่งอำนาจ และเกียรติภูมิของสถาบันรัฐสภา อันเป็นหลักการและสถาบันที่สำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขต่อไป

อย่างไรก็ดี เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการรับคำร้องไว้พิจารณา และมีคำวินิจฉัยในคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 และการรับคำร้องไว้พิจารณาในคดีนี้ พวกเราขอแจ้งมายังพี่น้องประชาชนว่า ขอให้ศาลได้ไตร่ตรองและพิจารณาแนวทางการรับคดีเรื่องนี้เสียใหม่ เพื่อให้คงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์และน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญเอง โดยที่พวกเรา มิได้มีอคติหรือเจตนาร้ายใดๆ ต่อศาลแม้แต่น้อย แต่สถานะความเป็นสมาชิกรัฐสภา ซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชนไม่อาจทนเห็นและยอมรับความผิดพลาด บกพร่องของศาลรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้น และปล่อยให้เป็นเช่นนี้อีกต่อไปได้ ทั้งที่สมาชิกรัฐสภาได้โต้แย้งและคัดค้านอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้มาตลอด ตั้งแต่รับคำวินิจฉัยในคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 แล้ว จึงพร้อมกันแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการดำเนินการครั้งนี้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจอ้างผลแห่งคำวินิจฉัยที่เป็นเด็ดขาดและผูกพันองค์กรต่างๆ มาใช้ในกรณีนี้ได้ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นเด็ดขาด และผูกพันองค์กรต่างๆ นั้น ต้องเป็นคำวินิจฉัยที่อยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น หากเป็นการวินิจฉัยที่เกินขอบเขตอำนาจแล้ว ก็ไม่มีผลผูกพันองค์กรอื่น องค์กรต่างๆ ที่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ จึงชอบที่จะใช้อำนาจหน้าที่ของตนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ต่อไปได้

 


ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'บอร์ดค่าจ้าง' ยันไม่ทวนมติคงค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท 2 ปี

Posted: 02 May 2013 09:54 AM PDT

ประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ยันยังไม่จำเป็นต้องทบทวนการคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ในช่วง 2 ปี เหตุเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี

(2 พ.ค.56) นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง กล่าวถึงข้อเรียกร้องของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ที่เสนอให้คณะกรรมการค่าจ้างยกเลิกมติการคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทไว้เป็นเวลา 2 ปี ไปจนถึงปี 2558 ว่า มติของคณะกรรมการค่าจ้างได้เปิดช่องไว้ หากกรณีเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวนจนกระทบถึงเศรษฐกิจไทย อาจจะมีการทบทวนในเรื่องการคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทได้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทบทวน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของไทยโดยภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ส่วนข้อเรียกร้องของแรงงานที่เสนอว่า หากไม่มีการยกเลิกการคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ไว้ 2 ปี ก็ให้กระทรวงแรงงานส่งเสริมให้สถานประกอบการต่างๆ ปรับขึ้นค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตามอายุงานและประสบการณ์ทำงาน ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่มีหลักเกณฑ์รองรับ จึงไม่สามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานจะสนับสนุนให้แรงงานมีการพัฒนาทักษะฝีมือ เพื่อให้ได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งปัจจุบันกระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ได้จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานไว้ประมาณ 200 สาขาอาชีพ แต่ในจำนวนนี้คณะรัฐมนตรีได้ประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานจำนวน 22 สาขาอาชีพ และขณะนี้ กพร.ได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมวิชาชีพต่างๆ และภาคเอกชน จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ซึ่งในปีนี้ตั้งเป้าหมายจะให้ได้ครบ 100 สาขาอาชีพ อย่างไรก็ตาม อยากขอความร่วมมือสถานประกอบการต่างๆ ให้จ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานให้แก่ลูกจ้าง เพื่อจะได้มีขวัญและกำลังใจในการพัฒนาทักษะฝีมือ ทำให้ลูกจ้างมีรายได้สูงขึ้นและรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ขณะเดียวกันนายจ้างจะได้รับประโยชน์โดยผลผลิตเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพดี หากนายจ้างไม่จ่ายจะมีความผิดตามกฎหมาย โดยมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 


ที่มา:
สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สู่สันติภาพในอุษาคเนย์?: อนุสรณ์ อุณโณ บอกเล่าสถานการณ์ชายแดนใต้

Posted: 02 May 2013 09:23 AM PDT

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา ที่สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีการเสวนา "สู่สันติภาพในอุษาคเนย์?: กระบวนการสันติภาพในพม่า มาเลเซีย และจังหวัดชายแดนไทยภาคใต้" จัดโดย ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยตอนหนึ่งเป็นการอภิปรายโดย อ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเป็นการอภิปรายต่อประเด็นการเจรจาสันติภาพระหว่างขบวนการ BRN และรัฐบาลไทยโดย สมช. นอกจากนี้กล่าวถึงสาเหตุที่ว่าทำไมรัฐบาลมาเลเซียถึงกระตือรือล้นต่อการเจรจาระหว่าง BRN และรัฐบาลไทยด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ร้องวุฒิสภา สอบ ‘เอสไอ-รมต.สธ.-กมล’ ปล่อยข่าวทำลาย อภ.

Posted: 02 May 2013 09:02 AM PDT

คนรักหลักประกัน ร้อง กมธ.ธรรมาภิบาล วุฒิสภา ตรวจสอบดีเอสไอ-นพ.ประดิษฐ-กมล กล่าวหาอดีตประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม-ผอ.องค์การเภสัชกรรม เพื่อความเป็นธรรมกับองค์การเภสัช เริ่มสอบ 16 พ.ค.นี้

 
 
วันนี้ (2 พ.ค.56) ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ยื่นจดหมายถึงประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ขอให้ตรวจสอบระบบการทำงานและผลการพิจารณาของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายกมล บันไดเพชร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จากการกล่าวหาอดีตประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมเกี่ยวข้องการฮั้วประมูลซื้อยาพาราเซตามอล เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม
 
นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า อภ.เป็นหน่วยงานหนึ่งที่สร้างความมั่นคงของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผ่านการผลิต และจัดหายาจำเป็นเพื่อส่งต่อสถานพยาบาลทั่วประเทศ ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การทำหน้าที่ของนายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุลผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม ได้มีส่วนสำคัญในการจัดซื้อยาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่จัดหายาให้กับสถานพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพทั่วประเทศ จากที่ต้องจ่ายทั้งหมด 6,617 ล้านบาท กลับลดค่าใช้จ่ายเหลือเพียง 4,080 ล้านบาท ซึ่งสามารถประหยัดได้ถึง 2,536 ล้านบาท
 
นอกจากนี้ยังพัฒนาและผลิตยาจำเป็น จัดหาเครื่องมือแพทย์ในราคาที่เหมาะสม เช่น เครื่องตรวจน้ำตาลและสายสวนหัวใจ จัดหายากำพร้าที่ธุรกิจเอกชนไม่ยอมผลิตเพราะไม่ทำกำไรมากเพียงพอ แต่มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจำเป็นต้องใช้ ช่วยสำรองยาในภาวะวิกฤต ดังเช่น กรณีการระบาดของไข้หวัดนก หรือการสำรองยาในช่วงมหาอุทกภัย และเป็นกลไกสำคัญในการปฏิบัติตามการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (Compulsory Licensing:CL) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยหลายแสนคนเข้าถึงยาจำเป็น อีกทั้งเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยพึ่งตัวเองได้ด้านยาได้
 
"การสอบสวนครั้งนี้เป็นที่น่าสังเกต เกี่ยวกับการกระบวนการกล่าวหาของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและเลขานุการ และการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งพบว่าไม่ได้มีการสอบสวนตามกระบวนการปกติ โปร่งใสและมีธรรมาภิบาล แต่กลับมีการปล่อยข่าวเป็นระยะ ราวกับจงใจที่จะทำให้สาธารณชนหมดความไว้วางใจกับคุณภาพยาชื่อสามัญที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม ซึ่งอาจจะมีผลทำลายอุตสาหกรรมยาในประเทศและทำลายความมั่นคงทางยาของประเทศไทย" ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าว
 
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า การทำงานขององค์การเภสัชกรรมที่ผ่านมา ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากเข้าถึงยาจำเป็นในระบบหลักประกันสุขภาพฯ ได้มากขึ้น ประหยัดงบประมาณด้านยาได้หลายพันล้านบาทต่อปี แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าผลดังกล่าว อาจจะขัดต่อผลประโยชน์ของธุรกิจยาเอกชน โดยเฉพาะบริษัทยาข้ามชาติ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้นายแพทย์วิทิต และนายแพทย์วิชัย ถูกตรวจสอบโดยมิชอบ หรือใช้หน่วยงานรัฐในการทำลายการมีอยู่ขององค์การเภสัชกรรมเพื่อเปิดทาง ให้กับบริษัทยาข้ามชาติเข้ามาแสวงหากำไรจากงบประมาณของแผ่นดิน เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การยกเลิกคณะอนุกรรมการต่อรองราคายาก่อนหน้านี้
 
"เราต้องช่วยกันจับตา และปกป้องระบบยาของประเทศ ไม่ให้กลไกลการเมืองมากลั่นแกล้งคนที่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนร่วม และไม่ยอมเปิดทางให้ธุรกิจยา มาหาประโยชน์กับความเจ็บป่วยของประชาชนได้" นายอภิวัฒน์ กล่าว
 
ทางด้านนางสาวรสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ รับเรื่องนี้ไว้พิจารณาเน้นในส่วนของธรรมาภิบาลของกระทรวงสาธารณสุขและกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยคณะอนุกรรมาธิการจะเริ่มพิจารณาในวันที่ 16 พ.ค.นี้ ทั้งนี้เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ารับฟังการพิจารณาได้
 
 
 
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
ที่ ๑/๒๕๕๖
 
วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๖
 
 
เรื่อง   ขอให้ตรวจสอบระบบการทำงานและผลการพิจารณาของกรมสอบสวนคดีพิเศษ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต่อการกล่าวหาอดีตประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมและผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เพื่อความเป็นธรรม
 
เรียน   ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา
 
สิ่งที่ส่งมาด้วย    ข่าว DSI สอบพบองค์การ เภสัชฯ ฮั้วประมูลซื้อยาพาราฯ สำนักข่าว TNN
 
ตามที่ นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายกมล บันไดเพชร เลขานุการ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอให้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ตรวจสอบการจัดซื้อวัตถุดิบยาพาราเซตามอล ขององค์การเภสัชกรรม จำนวน 148 ตัน มูลค่า 23 ล้านบาท จนกระทั่งวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษแถลงว่า ตรวจพบการกระทำที่เข้าข่ายความผิด ตามมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พุทธศักราช 2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้วประมูล และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยมีผู้เกี่ยวข้อง 2 ราย คือ นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานกรรมการ หรือ บอร์ดองค์การเภสัชกรรม และได้ส่งสำนวนรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. แล้วนั้น (ดูเอกสารสิ่งที่ส่งมาด้วย)
 
ทางกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการพิทักษ์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหลักประกันคุณภาพชีวิตคนไทยที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนพลเมืองผู้เสียภาษีทุกคน ตระหนักถึงภารกิจขององค์การเภสัชกรรมในการเป็นหน่วยงานหนึ่งที่สร้างความมั่นคงของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผ่านการผลิตและจัดหายาจำเป็นเพื่อส่งต่อสถานพยาบาลทั่วประเทศ ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การทำหน้าที่ของนายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุลผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม ได้มีส่วนสำคัญในการจัดซื้อยาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่จัดหายาให้กับสถานพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพทั่วประเทศ จากที่ต้องจ่ายทั้งหมด 6,617 ล้านบาท กลับลดค่าใช้จ่ายเหลือเพียง 4,080 ล้านบาท ซึ่งสามารถประหยัดได้ถึง 2,536 ล้านบาท[1], ผลิตยาจำเป็น, จัดหาเครื่องมือแพทย์ในราคาที่เหมาะสม เช่น เครื่องตรวจน้ำตาลและสายสวนหัวใจ, จัดหายากำพร้าที่ธุรกิจเอกชนไม่ยอมผลิตเพราะไม่ทำกำไรมากเพียงพอ แต่มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจำเป็นต้องใช้, ช่วยสำรองยาในภาวะวิกฤต ดังเช่น กรณีการระบาดของไข้หวัดนก หรือการสำรองยาในช่วงมหาอุทกภัย, เป็นกลไกสำคัญในการปฏิบัติตามการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (Compulsory Licensing:CL) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยหลายแสนคนเข้าถึงยาจำเป็น และเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยพึ่งตัวเองได้ด้านยา จะเห็นได้ว่าการทำงานขององค์การเภสัชกรรมส่วนหนึ่งย่อมขัดต่อผลประโยชน์ของธุรกิจยาเอกชน โดยเฉพาะบริษัทยาข้ามชาติ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานกรรมการ หรือ บอร์ดองค์การเภสัชกรรม ถูกตรวจสอบโดยมิชอบหรือใช้หน่วยงานรัฐในการทำลายการมีอยู่ขององค์การเภสัชกรรมเพื่อเปิดทางให้กับบริษัทยาข้ามชาติเข้ามาแสวงหากำไรจากงบประมาณของแผ่นดิน
           
นอกจากนี้ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการกระบวนการกล่าวหาของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและเลขานุการ และการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษในกรณีนี้ ซึ่งไม่ได้มีการสอบสวนตามกระบวนการปกติ โปร่งใสและมีธรรมาภิบาล แต่กลับมีการปล่อยข่าวเป็นระยะราวกับจงใจที่จะทำให้สาธารณชนหมดความไว้วางใจกับคุณภาพยาชื่อสามัญที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม ซึ่งอาจจะมีผลทำลายอุตสาหกรรมยาในประเทศและทำลายความมั่นคงทางยาของประเทศไทย
 
ดังนั้น ทางกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ใคร่ขอให้ทางคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ตรวจสอบการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ, นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายกมล บันไดเพชร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต่อการกล่าวหาองค์การเภสัชกรรมและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและยังผลให้เกิดการคุ้มครองระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
 
 
ขอแสดงความนับถือ
 
 
(นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา)
ผู้ประสานงาน กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
 
 

[1] ที่มา : ปริมาณที่ขาย*ในปี 55 (บาท) จาก MIS
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กมธ.วุฒิสภา 2 คณะ ลงพื้นที่รับฟังปัญหาจัดการน้ำลุ่มน้ำยม

Posted: 02 May 2013 08:24 AM PDT

เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (2 พ.ค.2556) ที่ห้องประชุม โรงแรมไพริน อ.เมือง จ.สุโขทัย  คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา และคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ ทะเล และชายฝั่ง ในคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ศึกษาข้อเท็จจริง กรณีเรื่องร้องเรียนแก่งเสือเต้น ยมบน ยมล่าง การจัดการน้ำในลุ่มน้ำยมและบางระกำโมเดล ระหว่างวันที่ 30 เมษายน – วันที่ 2 พฤษภาคม 2556

คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา และคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดย ประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว. และคณะ ส่วนคณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ ทะเล และชายฝั่ง ในคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา นำโดย สุจริต ชีรเวทย์ ส.ว. ซึ่งได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน โดยเฉพาะเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ซึ่งร้องโดยคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่


ชลประทานสุโขทัยชี้ เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง น้ำไม่ถึงสุโขทัย เพราะจังหวัดแพร่ใช้ยังไม่พอ
นายมงคล สุภากาย ผู้อำนวยการชลประทานจังหวัดสุโขทัย ชี้แจงว่า ปัญหาใหญ่ของน้ำท่วมสุโขทัยคือภูมิประเทศของลำน้ำยมที่แคบเป็นคอขวด ไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ในเขตเทศบาลเป็นรูปทรงกรวย รองรับน้ำได้เพียง 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อน้ำมามากกว่า 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะล้นเขื่อนริมตลิ่ง ซึ่งทางชลประทานพยายามเบี่ยงน้ำออกไปทางคลองหกบาท แต่ถ้าน้ำมามากก็จะระบายไม่ทัน ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งคือการบุกรุกพื้นที่ลำรางสาธารณะ ทำให้การระบายน้ำไม่ทัน ส่วนเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง น้ำคงมาไม่ถึงสุโขทัย เพราะทางจังหวัดแพร่คงต้องใช้หมด ดูจากความต้องการใช้น้ำประมาณ 1,600 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างจุได้เพียง 666 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ ชลประทานเตรียมพื้นที่รองรับปัญหาน้ำท่วมจังหวัดสุโขทัย จองพื้นที่น้ำท่วมไว้ประมาณ 300,000 ไร่ ท้ายสุดผู้อำนวยการชลประทานจังหวัดสุโขทัย ฝากถึงฝ่ายบริหารให้เพิ่มกำลังคนเพิ่มขึ้นด้วย เพราะทั้งจังหวัดมีเจ้าหน้าที่เพียง 17 ตำแหน่งเท่านั้น


ชลประทานพิษณุโลกเร่งดำเนินการแก้มลิง บึงระมาน บึงจะเค็ง บึงขี้แร้ง รับน้ำหลาก
ด้านนายภัทวี ดวงจิตร ผู้อำนวยการชลประทานจังหวัดพิษณุโลก ได้นำเสนอแนวทางการดำเนินงานบางระกำโมเดล 2P2R ตั้งแต่การป้องกัน การเตรียมการ การรับมือ การเยียวยา ซึ่งถือเป็นแนวทางในการดำเนินงานตามที่นายกฯ มอบนโยบายมา ในทางปฏิบัติในพื้นที่พิษณุโลกได้ดำเนินการขุดลอกบึงจะเค็ง บึงระมาน และบึงขี้แรง ซึ่งจะรับน้ำได้ประมาณ 32 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งคงเยียวยาได้ระดับหนึ่ง

ก่อนหน้านี้กรรมาธิการทั้ง 2 คณะ ได้รับฟังบรรยายสรุปจากนายสุรพล  อจลนันท์ ผู้อำนวยการชลประทานจังหวัดแพร่ ที่ห้องประชุมฝายแม่ยม ระบุว่าจังหวัดแพร่มีความต้องการใช้น้ำ ประมาณ 1,600 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่สามารถกักเก็บได้เพียงประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีแผนที่จะสร้างอ่างขนาดกลางขนาดเล็กตามลำน้ำสาขาของแม่น้ำยมอีก 7-8 โครงการ แต่ยังติดปัญหาเรื่องป่าและชาวบ้านคัดค้านอยู่จึงยังไม่สามารถดำเนินการได้


สะเอียบยืนยันค้านเขื่อนยมบนยมล่าง เพราะทำลายป่าสักทอง ผลาญงบประมาณ เสนอ 12 แนวทางแก้
ด้านชาวบ้านตำบลสะเอียบ ซึ่งเป็นผู้ร้องเรียนปัญหาไปยังคณะกรรมาธิการทั้ง 2 คณะ จัดเวทีสะท้อนปัญหาเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างและเขื่อนแก่งเสือเต้น ให้คณะกรรมาธิการรับฟังปัญหาที่ศาลาวัดดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ โดยมีตัวแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และชาวบ้านประมาณ 400-500 คน ร่วมรับฟัง ซึ่งเวทีได้ข้อสรุปว่า ชาวบ้านตำบลสะเอียบยืนยันที่จะคัดค้านเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างและเขื่อนแก่งเสือเต้นต่อไป โดยมีเหตุผลในการคัดค้าน 8 ประการ ชี้ว่าโครงการดังกล่าวไม่คุ้มทุน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้ ทำลายป่าสักทองธรรมชาติของประเทศไทย ทำลายชุมชน ที่ทำกินและที่ทำมาหากินของชุมชน ทั้งยังเป็นการผลาญงบประมาณแผ่นดินอีกด้วย


สุจริต ชิรเวทย์ ส.ว. คณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ ทะเล และชายฝั่ง ในคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวว่า "เมื่อมีเรื่องร้องเรียนจากประชาชน มีที่อยู่ที่ไปที่มาที่ชัดเจน คณะกรรมาธิการต้องดำเนินการตามกรอบที่กฎหมายระบุให้วุฒิสภามีหน้าที่ในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร การลงมาศึกษาพื้นที่ก็เป็นการหาข้อมูลข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอต่อฝ่ายบริหารต่อไป เราเห็นปัญหาและรับฟังปัญหาจากทางชาวบ้านผู้ร้องและฟังบรรยายจากผู้อำนวยการกรมชลประทานทั้ง 3 จังหวัดทำให้คณะกรรมาธิการได้ความชัดเจนมากขึ้น แต่เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น คงต้องมีการเชิญทั้งชาวบ้านและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่รัฐสภาอีกครั้งหนึ่ง" สุรจิตร กล่าว
 

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ยมยืนยันป่าสักทองอุดมสมบูรณ์กว่า 20,000 ไร่
ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการทั้ง 2 คณะ รับฟังบรรยายสรุปจากหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ยม จ.แพร่ โดยนายศุภชัย วรรณพงษ์ ชี้แจงว่าอุทยานแห่งชาติแม่ยมมีพื้นที่ประมาณ 284,625 ไร่ เป็นป่าสักทองหนาแน่นกว่า 20,000 ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นป่าเบญจพรรณ และเป็นแหล่งที่อยู่ของนกยูงไทย หากมีการสร้างเขื่อนยมล่างก็จะท่วมที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ยมด้วย ป่าสักทองด้วย ส่วนเขื่อนยมบนก็จะท่วมป่าเบญจพรรณซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกยูง แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า เพราะยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาสำรวจในพื้นที่ได้

           
ด้าน ประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว. คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา และคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า "เราได้มาเห็นป่าสักทองผืนใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งทางหัวหน้าอุทยานแม่ยม จ.แพร่ ท่านศุภชัย วรรณพงษ์ ได้นำเราขึ้นจุดชมวิว เห็นแอ่งป่าสักทองธรรมชาติที่สมบูรณ์กว่า 20,000 ไร่ ชาวบ้าสะเอียบก็ได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยมให้กับเราถึง 12 แนวทางซึ่งเป็นประโยชน์มาก และวันนี้เราได้รับฟังผู้อำนวยการชลประทาน 3 จังหวัด คือ แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก คณะของเราได้ความรู้มากและจะได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปประมวลเสนอต่อรัฐบาลต่อไป" ประสาร กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชวน ‘เฉี่ยว เสียว ลุ้น’ คุยกับคนทำโครงการประกวดหนังสั้น “หนังน่าจะแบน”

Posted: 02 May 2013 08:15 AM PDT

 

เร็วๆ นี้มีข่าวคราวการแบนหนัง  ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง หนังสารคดีการเมืองและความขัดแย้งกรณีปราสาทเขาพระวิหาร ของผู้กำกับคนรุ่นใหม่ นนทวัฒน์ นำเบญจกุล กระแสเรื่องนี้ฮือฮาในโซเชียลมีเดียและสื่อทั่วไป กระทั่งล่าสุด จากที่สั่ง "ห้ามฉาย" ก็ลดระดับลงเหลือเพียงการตัดบางฉากออกเพื่อให้ฉายได้ในเรต 18+

เรื่องการแบนหนังไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย เรามีหน่วยงานที่ตรวจสอบและห้ามเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมมาแต่เดิม ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์ พ.ศ. 2473  พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 จนกระทั่งภารกิจนี้ถูกโอนย้ายมาอยู่ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรม และมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายจนออกเป็นฉบับล่าสุด พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงคือ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการอนุญาต(หรือไม่อนุญาต) และจัดเรตอายุผู้ชมให้หนังแต่ละเรื่องด้วย

นับจากนั้นมีหนังอย่างน้อย 2 เรื่องที่ถูกแบน หรือห้ามฉายทั้งเรื่อง

เรื่องหนึ่งเกี่ยวพันกับประเด็นการเมือง คือ Shakespear must Die หรือเช็คสเปียร์ต้องตาย ของผู้กำกับ มานิต ศรีวานิชภูมิ เป็นภาพยนตร์ไทยที่สร้างขึ้นจากบทละคร 'โศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธ' (The Tragedy of Macbeth) ของ วิลเลียม เชคสเปียร์ (William Shakespeare) กวีเอกของโลก เป็นเรื่องราวของขุนพลที่มักใหญ่ใฝ่สูงอย่างไร้ขอบเขต และคลั่งไคล้ในไสยศาสตร์โดยคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ให้เหตุผลในการแบนว่า "มีเนื้อหาสร้างความแตกแยกในสังคม"  

อีกเรื่องเป็นประเด็นเกี่ยวพันกับเรื่องอัตลักษณ์ ความหลากหลายทางเพศ เป็นการนำเสนอเรื่องของครอบครัวที่มีพ่อเป็นกะเทย และลูกชายไม่ยอมรับในอัตลักษณ์ทางเพศของพ่อ ลูกชายจึงดิ้นรนหนีออกจากบ้านไปแสวงหาชีวิตของตนเอง นั่นคือเรื่อง Insects in the Backyard ของผู้กำกับธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ซึ่งได้รับเหตุผลในการแบนว่า มีฉากไม่เหมาะสมหลายประการซึ่ง "ขัดต่อศีลธรรมอันดีของสังคม" โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชาย หญิงกับหญิง ซึ่งนับเป็น "การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมในสังคมไทย"

ยังไม่นับรวมหนังเรื่องอื่นๆ ที่ฉายได้ แต่ต้องตัดฉากที่ "ไม่เหมาะสม" ออกไปหลายประการก่อนจะได้ฉาย เช่น แสงศตวรรษ หรือ ประชาธิปไทย

ฉากการช่วยตัวเองและอวัยวะเพศชายที่ปรากฏโด่เด่ , พระเล่นกีตาร์อย่างมีความสุข , การฝันว่าตัวเองฆ่าพ่อจากเงื่อนปมบางประการในชีวิต , การขายบริการทางเพศในชุดนักเรียน , หมอผู้ดื่มเหล้าในโรงพยาบาล  ฯลฯ  ฉากเหล่านี้หรือแรงกว่านี้อาจเห็นได้ในหนังต่างประเทศ แต่ไม่ใช่ในหนังที่ฉายในประเทศไทย ทำให้ขาดโอกาสที่คนสร้างหนังและคนดู จะได้ร่วมกัน "เล่น" กับอารมณ์และความคิด

นี่เป็นที่มาของโครงการประกวดหนังสั้น "หนังน่าจะแบน" ซึ่งโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ เครือข่ายคนดูหนัง และนิตยสารไบโอสโคป ร่วมกันจัดขึ้น

 


 

ประชาไท พูดคุยกับ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ทีมงานจากไอลอว์ หนึ่งในผู้จัดโครงการถึงวัตถุประสงค์ กระบวนการ การเล่นกับ "พื้นที่สีเทา" ที่หลายคนมองว่า "อันตราย" และเลยเถิดไปถึงสถานการณ์การเซ็นเซอร์ เสรีภาพในสื่อภาพยนตร์

ยิ่งชีพ อธิบายว่า โครงการนี้เกิดขึ้นในสภาวการณ์ที่ "หลักเกณฑ์" ในการแบนหนังนั้นพล่าเลือน การห้ามฉายอยู่บนฐานของถ้อยคำใหญ่โตอย่าง "การขัดศีลธรรมอันดี" "กระทบต่อความมั่นคงของชาติ" "สร้างความแตกแยกในสังคม" "กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ"

"หลักเกณฑ์ทั้งหมดเป็นคำที่กว้าง ทำให้คนสร้างหนังไม่รู้ว่าสร้างหนังยังไงจะโดนแบนหรือไม่โดนแบน ตัวอย่างหนังที่โดนแบนเหมือนเป็นแบบอย่างให้คนหลังๆ ที่สร้างหนังระวังมากขึ้น อะไรที่ไม่แน่ใจหรือเป็นพื้นที่สีเทาก็ไม่ต้องสร้าง ไม่ต้องไปแตะต้องเลยดีกว่า ถ้าไปแตะต้องแล้วโดนแบนขึ้นมาหนังก็ไม่ได้ฉาย เสียเงินสร้างหนังฟรี เสียชื่อเสียงด้วย เลยนำมาสู่การสร้างหนังในโซนที่ปลอดภัยไว้ก่อน เล่นประเด็นเบาๆ ทำให้หาหนังที่มีการตั้งคำถามกับสังคมที่เป็นประเด็นยากๆ ไม่ได้ เพราะว่าคนไม่กล้าแตะไปในโซนสีเทานั้น"

"ถ้าเราเคยมีความคิดว่าประเด็นนี้น่าเอามาทำเป็นหนังนะ แต่กลัวโดนแบน เป็นประเด็นที่อาจจะถูกแบนได้ ก็มาทำในโครงการนี้ ทำออกมาดูกัน"

เขาบอกว่า เป้าหมายของโครงการนี้ต้องการ "ทดสอบ" เพดานของระเบียบว่าด้วยการเซ็นเซอร์ การจัดเรต และแบนภาพยนตร์ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายอื่น ๆ

"มันมีพื้นที่ดำอยู่ เราต้องดูไม่ให้ละเมิดกฎหมายอื่นโดยเราจะกรองชั้นหนึ่งก่อน ผ่านสายตานักกฎหมายของทีมงาน ilaw หากดูแล้วว่าผิดกฎหมายอื่นแน่ๆ อย่างเช่น การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ การดูหมิ่นศาสนา หมิ่นประมาทบุคคล หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ผิดกฎหมาย จะไม่ผ่านการคัดเลือก จะไม่ได้เข้าสู่กิจกรรมของเรา"

ปัญหามีอยู่ว่า การที่ต้องวินิจฉัยถึงกฎหมายอื่นๆ ท่ามกลางสภาวะที่กฎหมายหลายฉบับก็ยังมีปัญหาการตีความเพื่อบังคับใช้ในสังคม เช่น มาตรา 112 หรือกฎหมายดูหมิ่นศาสนา น่าจะเป็นเรื่องยากลำบากว่าจะหา "เส้น" ที่ตรงไหน

"เราจะตีความกฎหมายอื่นๆ ในแบบที่สังคมตีความกันอยู่ สมมติว่าสังคมยอมรับกันแบบนั้นไปก่อน เพราะการตั้งคำถามกับกฎหมาย เช่น 112 กฎหมายดูหมิ่นศาสนา มันเป็นคำถามของเวทีอื่น แต่เวทีนี้คือการตั้งคำถามกฎเกณฑ์การแบนภาพยนตร์อย่างเดียว หนังคุณ ถ้ากรรมการดูแล้วคิดว่าแบบนี้น่าจะถูกแบน คุณอาจจะได้รางวัลในโครงการนี้ก็ได้"

ส่วนวิธีการทดสอบเพดานของการเซ็นเซอร์หรือการแบนนั้น เขาเล่ากระบวนการว่า ในงานประกาศผลรางวัล จะฉายหนังที่ได้รางวัลรวมถึงหนังเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจด้วย เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกันทั้งในด้านเนื้อหาของหนังและประเด็นของการแบนหรือเซ็นเซอร์ จากนั้นจะรวบรวม "หนังน่าจะแบน" ทั้งหมดที่ผ่านเข้าโครงการส่งไปให้คณะกรรมการภาพยนตร์พิจารณาจัดเรต และเมื่อได้คำพิจารณาจากคณะกรรมการไม่ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน จะนำมาทำรายงานสรุปและวิเคราะห์ต่อไป

"เราจะได้ช่วยกันทดสอบเส้นแบ่งว่า เส้นแบ่งที่เขาขีดว่าศีลธรรมอันดี ความมั่นคงของรัฐ ในมุมมองของคนที่จะเซ็นเซอร์มันอยู่ตรงไหน แล้วอะไรบ้างที่แบน อะไรบ้างไม่แบน ถ้าเรามีหนังมากพอและหลากหลายประเด็น เราก็จะได้มีตัวอย่างให้ศึกษากันมากขึ้น"

สำหรับสถานการณ์การเซ็นเซอร์ในบ้านเรานั้น เขาเล่าถึงภาพรวมๆ ว่า หนังค่ายหลักส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนหนังค่ายเล็กที่เป็นหนังแผ่นโดนแบนประมาณ 100 กว่าเรื่องต่อปี ในจำนวนนี้เป็นหนังที่เตรียมเข้าฉายในโรงภาพยนตร์คือ Insects in the Backyard กับ เชคสเปียร์ต้องตาย และยังมีหนังค่ายเล็กอื่นอีกที่โดนแบน แต่ไม่ทราบเหตุผลและไม่ทราบเนื้อหา แต่ได้ยินมาว่าโดยมากเป็นหนังเรตอาร์ ซึ่งไม่ได้เข้าโรงอยู่แล้ว

"สถานการณ์ปัจจุบันจริงๆ ก็คือถ้าศิลปินไทยที่สร้างหนังเชิงสร้างสรรค์สังคมแต่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการแบน เขาก็ไม่ฉายในเมืองไทย แต่จะเอาไปฉายต่างประเทศก่อน เช่น หนังเรื่องลุงบุญมีระลึกชาติ ก็ไปต่างประเทศก่อน เพราะคุณเจ้ย อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล ก็โดนเซ็นเซอร์บางฉากในแสงศตวรรษมาก่อน เขาไม่ได้มีความหวังอะไรกับกองเซ็นเซอร์ไทยอยู่แล้ว หรืออย่างเช่น ธัญสก พันสิทธิวรกุล ก็จะฉายหนังในต่างประเทศตลอด ล่าสุดเรื่องที่เขาทำ ก็ตั้งใจไม่ฉายในเมืองไทย เพราะเขารู้ว่าจะไม่ผ่าน ทำให้เราไม่มีสื่อในเชิงตั้งคำถามเลย"

ปกติแล้วการทำหนังสั้น ต้องส่งให้กรรมการดูไหม ?

"ตามกฎหมายแล้วภาพยนตร์ หมายถึง วัสดุอะไรก็ตามที่บันทึกทั้งภาพและเสียงได้เอามาฉายเอามาเล่นได้ ภาพยนตร์ทุกเรื่องที่จะเผยแพร่ทั่วราชอาณาจักรต้องมีการขออนุญาต ทุกอย่างเลย เช่น อัดวีดิโอกับเพื่อนเล่น พอวันหนึ่งจะเอาไปฉายสาธารณะก็ต้องขออนุญาตตามมาตรา 25 ส่วนข้อยกเว้น คือคนที่สร้างเพื่อดูเป็นการส่วนตัวก็ไม่ต้องขอ"

ส่วนอำนาจของคณะกรรมการนั้น คือ การจัดประเภทภาพยนตร์เท่านั้น เช่น เรตส่งเสริมทั่วไป เรต 13+  เรต 15+ 18+ 20+ และห้ามฉาย แต่มีประกาศกระทรวงระบุด้วยว่า ถ้าจะสั่งห้ามฉาย ต้องเสนอให้ตัดก่อน จะสั่งห้ามฉายเลยทันทีไม่ได้ ยกตัวอย่างหนังที่ยอมแก้ไขตัดทอนเพื่อขอเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ก็เช่น ประชาธิปไทย ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง

สำหรับยิ่งชีพแล้ว เขาเห็นว่า เกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้จะต้องมี 'ความชัดเจน' อย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเป็นกฎเกณฑ์ที่จะมีผลจำกัดสิทธิ

"เคยรีวิวกฎของอเมริกาซึ่งแบ่งเป็นเรตต่างๆ  เช่นกัน แต่จะเขียนหลักในการแบนแบบยิบย่อยเป็นหน้าๆ หลักการที่ถูกต้องคือกฎหมายที่จำกัดสิทธิจำเป็นต้องเขียนให้ชัดเจน แม้ว่าบางเรื่องสังคมดูแล้วรับไม่ได้ อยากให้เซ็นเซอร์ แต่ถ้ากฎหมายไม่ได้เขียนไว้ให้แบนได้ เรื่องนั้นก็ต้องผ่าน แล้วต่อจากนั้นก็ต้องไปแก้กฎเอา เพื่อจะได้บอกคนสร้างหนังได้ว่าสร้างหนังแบบไหนได้หรือไม่ได้ เป็นการให้ความชัดเจนแน่นอนกับการใช้เสรีภาพการแสดงออก นี่คือในกรณีที่เราเห็นด้วยกับการแบนหรือการเซ็นเซอร์บางอย่าง"

แล้วคิดว่าการแบนยังมีความจำเป็นในสังคมไทยไหม ?

"โดยส่วนตัวแล้วคิดว่ามีก็ได้ อันที่จริงก็มีแนวคิดแบบที่ว่าไม่ต้องมีการแบนเลย แค่เพียงจัดเรต คนที่อายุถึงจะดูอะไรก็ได้ ซึ่งผมก็เชื่อว่าคนที่มีอายุถึงระดับหนึ่ง มีวิจารณญาณแล้วเขาจะดูหนังอะไรก็ได้ จะดูหนังที่มีความรุนแรงก็ได้ ดูหนังที่ชักชวนให้ไปฆ่ากันก็ได้ แล้วเขาก็สามารถคิดเองได้ว่าจะไปฆ่าคนหรือเปล่า แต่ถ้าสังคมนี้ sensitive มาก จนต้องเรียกร้องระบบกลั่นกรองว่าบางอย่างควรต้องถูกแบนจริงๆ ผมก็รับได้ แต่สิ่งนั้นต้องเขียนเป็นกฎกติกาไว้ชัดเจน ว่าอะไรคือสิ่งที่ไม่ได้จริงๆ เช่น ภาพโป๊เด็ก เด็กคืออายุเท่าไร? ต่ำกว่า 13 ปี? 18 ปี? ขนาดไหนคือโป๊ เห็นหัวนมโป๊ไหม วับๆแวมๆ โป๊ไหม"

เขายังเน้นย้ำว่า นอกจากเรื่อง "ชัดเจน" แล้ว ยังต้อง "ตรวจสอบได้" ด้วย ไม่ว่าจะโดยการออกแบบกลไกถ่วงดุล หรือใช้กระบวนการของศาล ว่าการวินิจฉัยของผู้มีอำนาจสั่งแบนหรือเซ็นเซอร์นั้นเป็นไปตามกฎกติกาหรือไม่

ว่าแต่เชื่อจริงๆ หรือว่าระบบจัดเรตนั้นได้ผล?

"เชื่อว่าเป็นทางออกในระดับหนึ่ง ก็เหมือนกับประชาธิปไตย มันอาจไม่ดีที่สุด ตอบได้ทุกโจทย์ แต่ก็ยอมรับได้มากที่สุดในโลกปัจจุบัน การจัดเรตก็เป็นทางที่รับได้ที่สุด ถ้ามองว่าตอนนี้ยังบังคับใช้ไม่ได้ แต่การบังคับใช้กฎระเบียบกำหนดอายุผู้ชมไม่ได้ก็ไม่ใช่เหตุผลให้ต้องแบนไว้ก่อน ประเด็นคือต้องพัฒนาให้การบังคับใช้กฎหมายให้เป็นจริง สังคมก็ต้องช่วยด้วย"

สุดท้ายขอ 3 คำ สำหรับโครงการนี้ ?

"เฉี่ยว เสียว ลุ้น"

สำหรับผู้สนใจ  สามารถร่วมเฉี่ยว เสียว ลุ้นกันได้ ณ บัดนาว หมดเขต 30 มิ.ย. นี้ และประกาศผลภายในเดือนกรกฎาคม

 

 

 

 

กิจกรรมประกวดหนังสั้น "หนังน่าจะแบน"

"ไปให้สุดขอบเซ็นเซอร์ อย่างมีชั้นเชิงศิลปะ"

 

ถ่ายทอดความคิด สะท้อนมุมมอง ต่อเรื่องราวต่างๆ ในสังคมไทย แบบไม่ต้องแอบกั๊ก ผ่านการส่งหนังสั้นความยาวไม่เกิน 20 นาที ภายใต้โจทย์ว่า หนังเรื่องนั้นอาจถูกสั่งห้ามฉายได้ แต่เราเชื่อจริงๆ ว่ามันไม่ผิดกฎหมาย ชิงเงินรางวัลกว่า 80,000 บาท
 

กติกาการประกวด

1. ผู้เข้าประกวดสามารถสมัครเป็นทีมหรือบุคคลเดียวก็ได้

2. ผู้เข้าประกวดต้องส่งภาพยนตร์สั้นความยาวไม่เกิน 20 นาที ในหัวข้อ "หนังน่าจะแบน" โดยเป็นภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาที่มีโอกาสถูกจัดให้เป็นภาพยนตร์ประเภท "ห้ามฉาย" ในราชอาณาจักร แต่ต้องไม่ผิดกฎหมายอื่น ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2556 [ คลิกที่นี่เพื่อดูหลักเกณฑ์ของการจัดภาพยนตร์ให้เป็นประเภท "ห้ามฉาย" ]

3. ภาพยนตร์ที่ส่งเข้าประกวดเป็นลิขสิทธิ์ของผู้สร้าง แต่ภาพยนตร์ที่ส่งเข้าประกวดผู้จัดการประกวดสามารถนำออกฉายในสื่อของ iLaw และจัดฉายเป็นครั้งแรกในงานประกาศรางวัล

4. ผลงานที่ส่งเข้าประกวดต้องไม่เคยส่งเข้าประกวดที่ใดมาก่อน

5. หลังการประกวด ผู้สร้างภาพยนตร์ยินยอมจะส่งภาพยนตร์สั้นที่ส่งเข้าร่วมโครงการให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์พิจารณาเพื่อกำหนดประเภทภาพยนตร์
 

เกณฑ์การพิจารณา

1. ต้องมีเนื้อหาที่มีโอกาสถูกจัดเป็นภาพยนตร์ประเภท "ห้ามฉาย" ตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 26(7) และกฎกระทรวง กำหนดลักษณะประเภทภาพยนตร์ พ.ศ. 2552 ข้อ 7.
[ คลิกที่นี่เพื่อดูหลักเกณฑ์ของการจัดภาพยนตร์ให้เป็นประเภท "ห้ามฉาย" ]

2. มีเนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นทางสังคมที่ผู้สร้างภาพยนตร์ส่วนใหญ่ ไม่กล้าพูดถึงหรือแสดงออกทางภาพยนตร์ แต่ต้องเคารพสิทธิของบุคคลอื่น และไม่ผิดกฎหมายไทย 
[ คลิกที่นี่เพื่อดูกฎหมายอาญาที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการสร้างภาพยนตร์ ]

3. มีความคิดสร้างสรรค์ ใช้ศิลปะในการเดินเรื่องและการถ่ายทำ


รางวัล

1. รางวัลชนะเลิศ 1 รางวัล เงินสด 50,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ

2. รางวัลรองชนะเลิศ 1 รางวัล เงินสด 20,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ

3. รางวัลภาพยนตร์เข้าตากรรมการไม่จำกัดจำนวนเงินสด 10,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ


การส่งผลงาน

ผู้ส่งบทภาพยนตร์เข้าประกวดจะต้องส่งผลงานและเอกสารดังนี้

- เรื่องย่อและประเด็นที่สื่อสาร ความยาวไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ

- ภาพยนตร์ที่สมบูรณ์ ความยาวไม่เกิน 20 นาที

- เขียนแนะนำตัวผู้ประกวดตามสไตล์ให้น่าสนใจ พร้อมระบุชื่อและข้อมูลติดต่อให้ชัดเจน
 

บันทึก ข้อมูลทั้งหมดลงในแผ่นซีดีและส่งมาที่ iLaw เลขที่ 409 ชั้น1 ตึกมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม รัชดาซอย14 ห้วยขวาง กทม. 10320 ภายใน วันที่ 30 มิถุนายน 2556

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ilaw.or.th หรือ สอบถามข้อมูลได้ที่ ilaw@ilaw.or.th

ประกาศผลรางวัล ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2556

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประณามกราดยิง 6 ศพ วอนหยุดฆ่าผู้บริสุทธิ์ ขอรัฐไทย-BRN อย่าสิ้นหวังเจรจา

Posted: 02 May 2013 07:07 AM PDT

เอ็นจีโอด้านสิทธิ ประณามเหตุกราดยิงร้านของชำปัตตานี ยันเป็นการทำลายกระบวนการพูดคุย ขอรัฐไทย-BRN อย่าสิ้นหวังเจรจาสร้างสันติภาพ ชาวมุสลิมละหมาดฮายัต เรียกร้องหยุดฆ่าผู้บริสุทธิ์ ผู้นำอิสลามย้ำทุกศาสนาไม่สอนให้ทำคนอื่นเดือดร้อน ญาติยันไม่ย้ายหนี ชี้ทุกคนมีสิทธิอยู่ในแผ่นดินเกิด ทิ้งใบปลิวเกลื่อน ระบุ "นักรบฟาตอนี" ยิงล้างแค้น สื่อเห็นต่างจากรัฐ ฟันธงไม่ใช่ฝีมือขบวนการ


จากกรณีเหตุคนร้ายกราดยิงใส่ร้านขายของชำมีผู้เสียชีวิตรวม 6 ราย ที่ร้านขายของชำเลขที่ 17/12 ม.5 บ้านโคกม่วง ต.รูสะมิแล อ.เมืองปัตตานี เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 จนมีผู้เสียชีวิต 6 ศพ หนึ่งในนั้นเป็นเด็กอายุ 3 ขวบ ทำให้มีหลายฝ่ายออกมาประณามผู้ก่อเหตุ เช่น มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รวมถึงชาวมุสลิมในพื้นที่

ทั้งนี้เหตุเกิดหลังจากที่มีการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐไทยกับตัวแทนขบวนการต่อต้านรัฐไทยที่นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) ที่ประเทศมาเลเซียเพียงวันเดียว
 

เอ็นจีโอด้านสิทธิออกแถลงการณ์ประณาม
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2556 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกแถลงการณ์เรื่อง ขอประณามผู้ใช้ความรุนแรงต่อกรณีการกราดยิงชาวไทยพุทธที่ปัตตานี กำหนดแนวทางหยุดยิงเพื่อสร้างบรรยากาศแก้ปัญหาด้วยแนวทางสันติวิธี

แถลงการณ์ ระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวที่ทำให้ประชาชนเสียชีวิต 6 ราย หนึ่งในนั้นเป็นเด็กอายุ 3 ปี และบาดเจ็บสาหัสอีก 1 ราย ซึ่งการฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการกระทำที่ผิดกฎหมาย อีกทั้งเป็นการสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวต่อประชาชนในพื้นที่

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้สูญเสียชีวิตและขอประณามผู้ใช้ความรุนแรงต่อกรณีนี้ แม้ว่ายังไม่มีการสืบทราบสาเหตุหรือเหตุจูงใจในการฆ่าสังหารในครั้งนี้ เหตุดังกล่าวเป็นการกระทำอย่างอุกอาจในพื้นที่ชุมชนไทยพุทธ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในพื้นที่โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายและการจับกุม


ยันเป็นการทำลายกระบวนการพูดคุย
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุด้วยว่า ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2556 หลังจากเริ่มมีการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นอย่างเป็นทางการและเปิดเผยนั้น ทำให้ประชาชนในพื้นที่และทั้งประเทศเกิดความหวังว่า การพูดคุยจะนำพาไปสู่สันติสุขในอนาคตแต่ก็ต้องอาศัยความพยายามของทุกภาคส่วน แม้กระบวนการพูดคุยสันติภาพที่เริ่มต้นขึ้นในครั้งนี้ จะยังไม่สามารถยุติเหตุรุนแรงได้ในทันที เพราะอาจจะมีผู้ที่ยังไม่เข้าใจและแสดงปฏิกิริยาต่อต้าน รวมทั้งอาจเป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อทำลายกระแสการสนับสนุนการพูดคุย


ขอรัฐไทย-บีอาร์เอ็นอย่าสิ้นหวังสร้างสันติภาพ
อีกทั้งเหตุรุนแรงยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้การก่อเหตุแต่ละครั้งจะไม่มีการอ้างความรับผิดชอบของกลุ่มหรือฝ่ายใดก็ตามตลอดมาและในระหว่างการพูดคุยสันติภาพ หากแต่เมื่อมีการยอมรับว่า มีกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องอิสรภาพปัตตานีเกิดขึ้นจริง ย่อมแสดงให้เห็นว่า ต้องมีผู้รับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว ทั้งในทางกฎหมายในประเทศและในทางกฎหมายระหว่างประเทศ การกระทำความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายทั้งในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ดี ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนย่อมเป็นความรับผิดชอบของรัฐที่จะต้องจัดให้มีมาตรการที่รัดกุมและรอบคอบ พร้อมทั้งการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในพื้นที่ในการแจ้งเบาะแสและแจ้งเหตุความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งการติดตามจับกุมผู้ต้องสงสัยกระทำผิด ที่ผ่านมารัฐยังคงไม่สามารถสร้างมาตรการป้องกันภัยที่มีประสิทธิภาพ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมหวังว่า การก่อเหตุการณ์ความรุนแรงทำร้ายผู้บริสุทธิ์ในแต่ละครั้งจะไม่นำไปสู่การสิ้นหวังของฝ่ายรัฐบาลไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็นที่จะยึดมั่นในการพูดคุย ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแสวงหาแนวทางเพื่อนำไปสู่การยุติการก่อเหตุร้ายรุนแรง กระบวนการสันติภาพยังต้องการได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่และทั้งประเทศเพื่อนำไปสู่ข้อตกลงสันติภาพต่อไปในอนาคตอันใกล้


ชาวมุสลิมละหมาดฮายัต วอนหยุดฆ่าผู้บริสุทธิ์


ภาพจากสำนักสารสนเทศและประชาสัมพันธ์ ศอ.บต.


เวลา 13.00 น. ที่มัสยิดนูรุลเอ็นซาน ม.1 ต.ปะกาฮารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วย อิหม่ามยะโก๊บ หร่ายมณี อิหม่ามประจำมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยประชาชนในพื้นที่ และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมละหมาดฮายัตเพื่อขอพระจากพระผู้เป็นเจ้าเอกองค์อัลเลาะห์โปรดประทานให้เกิดความสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และช่วยปกป้องรักษาชีวิตของผู้บริสุทธิ์ให้รอดพ้นจากสิ่งเลวร้าย

การละหมาดในครั้งนี้เป็นการรวมตัวของประชาชนในพื้นที่ เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะการฆ่าผู้บริสุทธิ์ ซึ่งการฆ่าถือเป็นบาปอย่างหนักในทางศาสนาอิสลาม

หลังเสร็จพิธีละหมาด ผู้เข้าร่วมพิธีพร้อมกับเด็กๆ เยาวชนในพื้นที่ได้ถือป้ายผ้าทั้งภาษาไทย และภาษามลายู ประณามการก่อเหตุ โดยเฉพาะเหตุกราดยิงหน้าร้านขายของชำ และเรียกร้องให้ยุติการก่อเหตุกับประชาชนผู้บริสุทธิ์

โดยข้อความว่า "ปฏิเสธความรุนแรงหยุดฆ่าเด็ก สตรี คนพิการ เพื่อสันติ เด็กผิดอะไร ทำไมต้องทำกับเด็กอย่างโหดร้าย" นอกจากนี้ ยังมีการเขียนด้วยลายมือเพื่อแสดงความรู้สึกของเด็กโดยมีใจความว่า "หนูอยากเรียน หนูอยากเก่ง หนูต้องการให้เหตุการณ์สงบและยุติ เพื่อหนูจะได้พัฒนาประเทศอันเป็นที่รักของหนู และทุกคน"
 

ผู้นำอิสลามเสียใจ ย้ำทุกศาสนาไม่สอนให้ทำคนอื่นเดือดร้อน
นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งที่เกิดเหตุอยู่ไม่ไกลบ้านพักว่า รู้สึกเสียใจ และไม่เห็นด้วยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องสูญเสียชีวิต และเป็นเป้าหมายที่อ่อนแอไม่มีทางสู้ ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่บ้าน และไม่เกิดสันติสุขในพื้นที่

นายแวดือราแม กล่าวว่า ขอให้ทุกคนอดทนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยึดมั่นในหลักศาสนาที่ถูกต้อง เพราะทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดี และขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพี่น้องประชาชนได้ช่วยดูแลป้องกัน และทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

พล.ต.ธวัช สุกปลั่ง ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี กล่าวว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ และได้รับความสูญเสียเพื่อให้กำลังใจและเยียวยาด้านจิตใจ เหตุที่เกิดขึ้นมีหลายปัจจัยที่จะต้องร่วมกันพิจารณาเพื่อหาทางป้องกัน พร้อมขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนได้ระมัดระวังตนเองด้วยอีกทางหนึ่ง


ญาติ 6 ศพยันไม่ย้ายหนี ทุกคนมีสิทธิอยู่ในแผ่นดินเกิด
นายกมลศิลป์ ใจสำราญ ญาติของนายสมพร พงศ์ธัญญะวิริยา หนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุกราดยิงร้านน้ำชา เปิดเผยว่า เป็นร้านประจำที่ที่นายสมพรไปอุดหนุนและนัดพูดคุยบ่อย เขาไม่รับรู้เรื่องอะไรด้วย เนื่องจากเป็นคนพิการตั้งแต่เกิด ต้องนั่งบนเก้าอี้ล้อเลื่อนตลอดเวลา โดยมีพี่น้อง 10 คน ทุกคนช่วยกันดูแล ซึ่งหลังจากนายสมพรเสียชีวิต ญาติๆ ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากนายสมพรเป็นคนพิการและยังไม่มีครอบครัว

"แม้จะเกิดเหตุนี้ขึ้น ผมก็ยังจะอยู่ที่นี่ต่อไป เพราะเกิดที่นี่ อยู่ที่นี่ตั้งแต่เด็กๆ ต้องการพัฒนาที่นี่ให้มีความเจริญเหมือนที่อื่นๆ เพื่อรองรับอาเซียน ที่นี่เป็นแผ่นดินเกิดของผม คนที่นี่ก็มีสิทธิที่จะพัฒนาพื้นที่ตรงนี้"

"เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อยากให้หยุดการกระทำต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ เหตุการณ์แบบนี้ไม่ว่าจะเกิดกับใคร ทุกคนก็ต้องเสียใจ ถ้าเกิดกับครอบครัวของผู้ก่อเหตุเอง พวกเขาก็ต้องเสียใจเหมือนกัน คนที่ก่อเหตุผมรู้ว่ามีอุดมการณ์ แต่ก็ขอให้ลดความใจดำในการกระทำต่อผู้บริสุทธิ์ด้วย" นายกมล กล่าวว่า


ทิ้งใบปลิวเกลื่อน ระบุ "นักรบฟาตอนี" ยิงล้างแค้น
ส่วนที่จังหวัดยะลา มีผู้ลอบทิ้งใบปลิวที่มีข้อความเกี่ยวกับเหตุกราดยิงชาวบ้านที่ปัตตานีเสียชีวิต 6 ศพดังกล่าว ในหลายพื้นที่ โดยมีข้อความระบุว่า เป็นการล้างแค้นของกลุ่มนักรบฟาตอนี โดยพิมพ์ข้อความด้วยคอมพิวเตอร์ลงบนกระดาษขาวขนาด A4

เนื้อหาในใบปลิวระบุว่า "พี่น้องนักรบฟาตอนีทุกคน เราได้ล้างแค้นให้กับพวกท่านแล้ว เราตายไป 4 คน แต่เราเอาคืนมากกว่าเดิม ขอให้เหล่านักรบฟาตอนีทุกคนจงรับรู้ไว้ว่า แผ่นดินของเราจะต้องญีฮาต 6 คน ที่ปัตตานี จะเป็นบทเรียนให้ซีแยได้จดจำว่า เราจะฆ่าทุกคนไม่เว้นเด็ก หรือผู้หญิง เราจะต่อสู้เพื่อขบวนการ BRN ที่ยิ่งใหญ่ของเรา พวกเราจะทำให้ซีแยต้องยอมรับข้อเสนอของเราในทุกทาง จงสู้ต่อไป" ลงชื่อ นักรบฟาตอนี

โดยเจ้าหน้าที่ได้เก็บใบปลิวที่พบไปตรวจสอบเพื่อหาที่มา พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มในการตรวจสอบบุคคล ยานพาหนะต้องสงสัย และออกตรวจสอบย่านชุมชนในพื้นที่อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการทำร้ายเป้าหมายที่อ่อนแอ โดยเฉพาะชุมชนไทยพุทธ


เชื่อโยงเหตุปะทะ/วิสามัญฆาตกรรม 4 ศพ
สำหรับผู้เสียชีวิต 4 คนที่ระบุใบปลิวดังกล่าว เชื่อว่าเป็นผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2556 บนเทือกเขาบ้านตะโละเว ต.ปะแต อ.ยะหา เขตรอยต่อบ้านเจาะบันตัง ม.9 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา จนเกิดการยิงปะทะกันทำให้คนร้ายเสียชีวิต 3 ราย

ผู้เสียชีวิตทั้ง 3 ราย คือ 1.นายบุญยา ดาเล็ง อยู่บ้านเลขที่ 36 ม.1 ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจดีเอ็นเอแล้วพบว่า ตรงกับดีเอ็นเอของกลุ่มคนร้ายที่เข้าโจมตีฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 จ.นราธิวาส

2.นายบูดีมัน มะยิ อยู่ ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา มีหมายจับก่อเหตุยิงชาวบ้านในงานบุญเดือนสิบที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา และ 3.นายอับดุลตอเล๊ะ สะฮะ อยู่บ้านเลขที่ 162 ม.3 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา มีหมายจับในคดีฆ่าตัดคอทหารพลร่ม 2 ศพ ที่ ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา

ต่อมาเป็นเหตุวิสามัญฆาตกรรม นายสุกรี เปาะเฮง อายุ 30 ปี ซึ่งมีประวัติเป็นมือประกอบระเบิด มีหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2556 ขณะเจ้าหน้าที่ปิดล้อมตรวจบ้านเลขที่ 150/1 บ้านไอร์ลากอใน หมู่ 5.ต.ช้างเผือก อ.จะแนะ จ.นราธิวาส


สื่อฝ่ายเห็นต่างจากรัฐ ฟันธงไม่ใช่ฝีมือขบวนการ
ขณะที่สำนักข่าว Ambranews ซึ่งเป็นสื่อภาษามลายูที่เกาะติดปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ด้วย โดยระบุว่า เหตุดังกล่าว ไม่ใช่มาจากการก่อเหตุของขบวนการปลดปล่อยปาตานีแต่เป็นของทหารชุดดำ เช่นเดียวกับเว็บไซด์ของขบวนการพูโล อย่าง www.pulo.info ออกมาสื่อสารในทำนองเดียวกันด้วย

โดยเนื้อข่าวจากทั้ง 2 เว็บไซต์ระบุตรงกันว่า ปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นการใส่ร้ายขบวนการต่อต้านรัฐในฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ และสังคมก็อาจจะเชื่อได้ง่ายต่อข้อกล่าวหาเหล่านั้น เนื่องจากเหยื่อส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ

เว็บไซต์ Ambranews อ้างโดยสรุปว่า ที่ผ่านมามีหลายกรณีที่ทหารพรานยิงชาวบ้านเสียชีวิต เพื่อใส่ร้ายขบวนการที่ปฏิบัติการในพื้นที่ และสถานที่เกิดเหตุดังกล่าวยากต่อการถืออาวุธเพื่อปฏิบัติการ เนื่องจากอยู่ใกล้ด่านทหาร และยังชี้อีกว่า เกิดข้อสงสัยจากชาวบ้านมาตลอดถึงเหตุผลของการตั้งด่านของทหาร ซึ่งสร้างความยุ่งยากในการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน หรือเพื่อสิ่งใด ทั้งๆ ที่ไม่เกิดประโยชน์เลย

ส่วนเว็บไซต์พูโล (pulo.info) ยังรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า เหตุดังกล่าว อาจเป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ณ กระทรวงกลาโหม ระหว่าง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และผู้แทนของแต่ละเหล่าทัพเข้าร่วมประชุมพิจารณากำหนดนโยบายแนวทางการประสานงาน และการปฏิบัติร่วมกันในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และแถลงข่าวว่า ไม่สามารถรับข้อเสนอทั้ง 5 ข้อของขบวนการได้

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฟรีดอมเฮาส์ลดอันดับเสรีภาพสื่อไทยจาก "เสรีบางส่วน" เป็น "ไม่เสรี"

Posted: 02 May 2013 04:36 AM PDT

"ฟรีดอมเฮาส์" จัดอันดับสื่อทั่วโลก ให้สถานการณ์สื่อไทยอยู่ในกลุ่ม "ไม่เสรี" เนื่องจากการใช้ ม.112 เพื่อจำกัดเสรีภาพการแสดงออก และคำตัดสินจากศาล รธน. ว่า ม.112 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และการเอาผิดตัวกลางอินเทอร์เน็ต ขณะที่ "พม่า" เปลี่ยนแปลงทางบวก หลังรัฐบาลยกเลิกกองเซ็นเซอร์ ปล่อยตัวนักข่าว แต่ยังมีปัญหาที่รัฐยะไข่ ซึ่งต้องเฝ้าจับตาต่อไป

วอชิงตัน ดีซี - เมื่อวันที่ 1 พ.ค. เวลา 10.15 น. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา องค์กรฟรีดอมเฮาส์ ซึ่งเป็นองค์กรที่รายงานเรื่องเสรีภาพสื่อและเสรีภาพอินเทอร์เน็ต ได้แถลงข่าวและเผยแพร่รายงานเสรีภาพสื่อประจำปี 2012 ที่พิพิธภัณฑ์นิวเซียม วอชิงตัน ดีซี

โดยในปีนี้ฟรีดอมเฮาส์ได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในสถานะประเทศที่ "ไม่เสรี" โดยลดสถานะจาก "เสรีบางส่วน" จากปีที่แล้ว เนื่องจากการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก และคำตัดสินจากศาลรัฐธรรมนูญในปีที่แล้วว่ากฎหมายหมิ่นฯ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รวมถึงข้อกังวลเรื่องการเอาผิดตัวกลางในอินเทอร์เน็ต เช่นในกรณีการตัดสินคดีจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในทวีปเอเชียแปซิฟิกที่มีการเปลี่ยนสถานะดังกล่าว

คาริน คาร์เลการ์ ผู้อำนวยการโครงการฟรีดอมเฮาส์ กล่าวว่า การจำคุกจากข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากเมื่อมองจากแง่ของเสรีภาพสื่อสากล โดยเฉพาะในหลายกรณีทีี่ผู้ถูกจำคุกเป็นนักข่าวพลเมือง หรือในกรณีที่ยังไม่สามารถพิสูจน์โดยสิ้นสงสัย โดยเธอยกตัวอย่างกรณีของอำพล ตั้งนพพกุลที่ถูกตัดสินจำคุก 20 ปีจากการส่งข้อความสี่ข้อความและเสียชีวิตในเรือนจำในเวลาต่อมา

"ในยุคของอินเทอร์เน็ตที่คุณมีสื่อข้ามชาติ (transnational) และมันเป็นการยากที่จะเอาผิดกับตัวกลางและผู้ให้บริการ ฉันคิดว่านี่เป็นประเด็นสากล และเป็นสิ่งที่บริษัทอย่างกูเกิลและยาฮูก็ได้แสดงความกังวล" คาร์เลการ์กล่าว "ฉันคิดว่ามันเป็นข้อกังวลที่ค่อนข้างร้ายแรงที่กรณีเหล่านี้ยังคงดำเนินอยู่ในประเทศไทย และเป็นข้อยกเว้นสำหรับประเทศที่ในมุมอื่นๆ มีความเปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตย"

โดยในปีนี้แนวโน้มเสรีภาพสื่อโลกที่โดดเด่นได้แก่ การพยายามคุกคามสื่อใหม่โดยรัฐ เช่น โซเชียลมีเดีย บล็อก และการสื่อสารด้วยเทคโนโลยีอื่นๆ โดยเฉพาะในประเทศจีนและรัสเซียที่มีการปิดกั้นและควบคุมอินเทอร์เน็ตอย่างแน่นหนา การใช้กฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ เช่น ไทย การจำคุกบล็อกเกอร์ เช่น ในเวียดนามและอียิปต์ และการปิดกั้นเว็บไซต์และบริการการส่งเอสเอ็มเอสในระหว่างความวุ่นวายทางการเมือง เป็นต้น

พม่าเป็นประเทศที่ฟรีดอมเฮาส์ระบุว่ามีความเปลี่ยนแปลงในทางบวกมากที่สุด จากการพยายามเปิดเสรีของรัฐบาล จะเห็นจากการยกเลิกกองเซ็นเซอร์ การปล่อยตัวนักข่าวและบล็อกเกอร์ที่ถูกจำคุก และการก่อตั้งสมาคมนักข่าวและองค์การทางด้านสื่อสิ่งพิมพ์มากขึ้นในประเทศ อย่างไรก็ตาม นักข่าวจากชนกลุ่มน้อยและการรายงานข่าวในรัฐยะไข่ยังคงมีข้อจำกัด นอกจากนี้ยังคงต้องจับตาเรื่องการผลักดันให้ยกเลิกกฎหมายต่างๆ ที่ยังคงจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อ

ในกัมพูชา การให้คะแนนเสรีภาพสื่อก็ลดลงเช่นกัน เนื่องจากการจำคุกนักข่าวที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงกรณีของมอม โสนันโด ที่ถูกตัดสินจำคุก 20 ปีจากการมีส่วนในการรายงานเรื่องข้อพิพาทเรื่องที่ดิน และอยู่ในสถานะประเทศที่ "ไม่เสรี" เช่นเดิมจากปีที่แล้ว

ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่ในสถานะประเทศที่ "เสรีบางส่วน" ในปี 2552 จากนั้น กลายมาเป็น "ไม่เสรี" ในปี 2553 จากการใช้กฎหมายอาชญกรรมคอมพิวเตอร์และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากนั้นได้ขยับขึ้นมาเป็น "เสรีบางส่วน" ในปี 2554 ด้วยบรรยากาศการผ่อนคลายความตึงเครียดหลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคม

สำหรับเกณฑ์ของฟรีดอมเฮาส์ จะพิจารณาการจัดลำดับจากสามแง่มุมหลักเป็นสำคัญ ได้แก่ ด้านกฎหมาย เช่น กฎหมายสื่อ ด้านการเมือง เช่น แรงกดดันหรือการข่มขู่จากรัฐบาล และด้านเศรษฐกิจ เช่น การเป็นเจ้าของสื่อ ต้นทุนในการผลิต และผลกระทบของการโฆษณา เป็นต้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประมวลเหตุการณ์วันแรงงานสากลต่างประเทศปี 2013

Posted: 02 May 2013 04:08 AM PDT

 แรงงานทั่วโลกออกมาชุมนุมเรียกร้องค่าแรงและสภาพการทำงานที่ดีกว่า แต่ก็มีเหตุปะทะกันในตุรกีซึ่งห้ามชุมนุมวันแรงงาน ในบางประเทศก็มีการออกมาประท้วงนโยบายลดงบประมาณของรัฐบาล

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรงงานสากลมีแรงงานหลายแห่งออกมาชุมนุมเริ่มจากในกรุงจาการ์ตาประเทศอินโดนีเซีย มีแรงงานหลายหมื่นคนออกมาชุมนุมเรียกร้องสภาพการทำงานที่ดีขึ้นทั้งยังประท้วงต่อต้านการตัดเงินสนับสนุนด้านเชื้อเพลิง

ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่า สเต็ป แวสเซน รายงานว่าประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโนของอินโดนีเซียประกาศขึ้นราคาเชื้อเพลิงเมื่อวานนี้ ซึ่งแม้ว่าจะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ถ้าหากราคาเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นค่าแรงที่ได้ขึ้นก็เหมือนกับสูญไป โดยที่ก่อนหน้านี้ปธน.ยูโดโยโน บอกว่ายังไม่มีมาตรการด้านราคาเชื้อเพลิงจนกว่าสภาจะอนุมัติค่าชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบ

มี 80 ประเทศทั่วโลกที่ให้กำหนดให้วันที่ 1 พ.ต. เป็นวันหยุดราชการ แต่ในประเทศตุรกีทางการได้สั่งห้ามการชุมนุมในวันแรงงานสากล โดยที่จัตุรัสตักซิมในประเทศตุรกีมีการปิดกั้นไม่ให้คนมาชุมนุม แต่ก็มีคนพยายามเข้ามาชุมนุมจนเกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้พยายามเดินทางมาชุมนุม

เมื่อปี 1977 เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่วันแรงงานที่จัตุรัสตักซิม ทำให้มีประชาชนหลายสิบคนเสียชีวิต

ฮาสเชม อาฮีลบาร์รา ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่ารายงานจากกรุงอีสตันบูลประเทศตุรกีว่ามีการปะทะกันชุลมุนในพื้นที่ใกล้กับจัตุรัสตักซิม ผู้ประท้วงบอกว่าพวกเขาต้องการมาชุมนุมในวันที่ 1 พ.ค. เพื่อแสดงการรำลึกถึงวีรกรรมของประชาชนที่ถูกสังหารในเหตุการณ์เมื่อปี 1977 จนเกิดการปะทะเพื่อแย่งชิงพื้นที่กันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน

ภาพเบื้องต้นเผยให้เห็นตำรวจฉีดน้ำเข้าใส่ผู้ชุมนุม ขณะที่ผู้ชุมนุมขว้างปาสิ่งของเข้าใส่ยานพาหนะ

ในกรุงพนมเฟญ ประเทศกัมพูชา แรงงานโรงงานทอผ้าชุมนุมเรียกร้องค่าแรงและการปรับปรุงสภาพาการทำงาน ผู้จัดการชุมนุมเปิดเผยว่ามีผู้มาชุมนุมราว 5,000 คน รวมถึงสหภาพแรงงาน เดินขบวนถือป้ายและตะโกนคำขวัญ

ผู้ชุมนุมจาก 16 องค์กรสหภาพและสหพันธ์แรงงานในกัมพูชาร่วมฉลองวันแรงงานสากลและเรียกร้องให้ฝ่ายใดก็ตามที่ชนะการเลือกตั้งในกัมพูชาในเดือน ก.ค. ดำเนินการตามข้อเรียกร้องของพวกเขา

"ฉันต้องการค่าแรงเพิ่มขึ้นเป็น 150 ดอลลาร์ (ราว 4,500 บาท) ต่อเดือน" เนียงกล่าว เขาเป็นคนงานจากโรงงานทอผ้าซึ่งเจ้าของเป็นคนจีน

ในฟิลิปปินส์มีกลุ่มแรงงานผู้รับจ้างด้วยตนเอง (contract workers) เดินขบวนตามท้องถนนในเมืองหลวงกรุงมะนิลา แรงงานกลุ่มนี้ถูกห้ามไม่ให้จัดตั้งสหภาพแรงงาน พวกเขาเรียกร้องให้รัฐบาลทำให้พวกเขาเข้าถึงสิทธิได้มากขึ้น

ขณะที่ในกรุงเอเธนส์ เมืองหลวงของกรีซ คนงานสหภาพทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนเรียกร้องให้มีการปรท้วงหยุดงาน 24 ชั่วโมงเพื่อประท้วงต่อต้านนโยบายลดงบประมาณของสหรัฐฯ

โดยเมื่อวันอาทิตย์ (28 เม.ย.) ที่ผ่านมา รัฐสภากรีซได้อนุมัติกฏหมายใหม่ที่จะทำให้ข้าราขการ 15,000 รายถูกให้ออกจากงานภายในสิ้นปีหน้า

ในกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ทางการไม่อนุมัติให้มีการชุมนุม 16 แห่ง รวมถึงการชุมนุมที่นำโดยพรรครัฐบาลของวลาดิเมียร์ ปูติน ขณะที่กลุ่มอื่นๆ รวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียวางแผนจัดการชุมนุมของตัวเอง โดยคาดกว่าจะมีผู้มาเข้าร่วมมากถึง 90,000 คน

ในบังกลาเทศ ซึ่งเกิดเหตุการณ์ตึกถล่มโรงงานทอผ้าปเมื่อไม่นานมานี้จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 400 คน ก็มีการชุมนุมเรียกร้องให้ประหารชีวิตเจ้าของอาคาร และเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสภาพการทำงาน

ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน ประชาชนหลายพันคนออกมาประท้วงเรื่องปัญหาอัตราการว่างงานสูงและเรื่องมาตรการตัดงบประมาณของรัฐบาล โดยที่สเปนมีระดับอัตราการว่างงานร้อยละ 27 ผู้สื่อข่าว ทอม เบอร์ริดจ์ ของบีบีซีรายงานจากพื้นที่บอกว่าทั้งสหภาพและประชาชนทั่วไปต่างมีความเชื่อร่วมกันว่านโยบายตัดงบประมาณของรัฐบาลไม่ส่งผลดี


เรียบเรียงจาก

May Day marked by global workers' protests, Aljazeera, 01-05-2013

Bangladesh: Protests as building collapse death toll passes 400, BBC, 01-05-2013

Thousands join Madrid May Day protests, BBC, 01-05-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนา 'เมื่อศาลรัฐธรรมนูญกระทำขัดรัฐธรรมนูญ : จะทำอย่างไร ?'

Posted: 02 May 2013 03:20 AM PDT

วิดีโอส่วนหนึ่งจากงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ "เมื่อศาลรัฐธรรมนูญกระทำขัดรัฐธรรมนูญ : จะทำอย่างไร ?" จัดโดย มูลนิธิคอนราด อเดนาวร์ ร่วมกับสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 1 พ.ค.56 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมสุโกศล กรุงเทพฯ

ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย คณิน บุญสุวรรณ  อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร), วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนคร พจนวรพงษ์  อดีตผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ดำเนินรายการโดย ศิโรตม์  คล้ามไพบูลย์
 

จาตุรนต์ ฉายแสง ประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย กล่าวเปิดประเด็นการเสวนา

และการอภิปรายของวรเจตน์ ภาคีรัตน์

 

การอภิปรายของคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร)

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มติ ครม.เรื่องผังเมือง... ไม่ชอบด้วยเหตุผล

Posted: 02 May 2013 02:33 AM PDT

 
ตามผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2556 ที่เห็นชอบกับร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครนั้น เหตุผลในการรับร่างผังเมืองดังกล่าวอ่อนมาก
 
โฆษกรัฐบาลได้แถลงในวันที่ 30 เมษายน 2556 ว่า "คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ ให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของคณะรัฐมนตรี กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการ และให้กระทรวงการคลังไปดำเนินการอุทธรณ์ตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เมื่อร่างกฎหมายในเรื่องนี้มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว"
 
สำหรับเหตุผลของการอนุมัติในหลักการนั้นกล่าวว่า "เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและดำรงรักษากรุงเทพมหานคร โดยมีการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อมที่ดี มีมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่น่าอยู่ เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจวิทยากรการของประเทศ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และศูนย์กลางการบริหารและการปกครองของประเทศ มีเอกลักษณ์ด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ ตลอดจนการเป็นเมืองต้นแบบในด้านการรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ รวมไปถึงลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"
 
อย่างไรก็ตามร่างผังเมืองดังกล่าว ไม่ได้มีการวางแผนให้ดำเนินการใด ๆ อย่างมีประสิทธิผลจริงดังอ้างข้างต้นเลย  ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้ให้เหตุผลดังนี้:
 
1.ในพื้นที่ธุรกิจใจกลางเมืองถูกจำกัดการก่อสร้างทั้งที่ควรให้พัฒนาในแนวสูง เพื่อใช้ที่ดินอย่างคุ้มค่าและเก็บภาษีได้มาก เช่นพื้นที่ ย.9 ย.10 แถวสุขุมวิทสามารถสร้างได้เพียง 7-8 เท่าของขนาดที่ดิน และต้องมีอัตราส่วนของที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวมถึง 4.5-4% ตามลำดับ หากเจ้าของที่ดินมีที่ดินแปลงหนึ่งขนาด 1 ไร่ ก็ต้องเว้นพื้นที่โดยรอบถึงราว 32% หรือหนึ่งในสาม กรุงเทพมหานครมักอ้างว่ามีไฟไหม้อาคารขนาดใหญ่บ่อยครั้ง ซึ่งไม่จริง ในช่วง พ.ศ.2550-5 อาคารเหล่านี้ เกิดเพลิงไหม้ลดลงจาก 9% เหลือ 1% อาคารเหล่านี้มีระบบป้องกันไฟไหม้ที่ดี กรุงเทพมหานครควรปรับปรุงประสิทธิภาพในการดับเพลิง แทนที่จะนำมาอ้างเพื่อกีดขวางการพัฒนา
 
2.ร่างผังเมืองนี้ทำให้เมืองขยายออกไปในแนวราบ รุกทำลายสิ่งแวดล้อมและพื้นที่เกษตรกรรม สิ้นเปลืองงบประมาณขยายสาธารณูปโภคไม่สิ้นสุด ยังทำให้ประชาชนเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมาก ซึ่งเป็นการผลักภาระและปัญหาไปสู่จังหวัดอื่น เช่น
 
2.1 ในพื้นที่ ย.3 ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยหลายร้อยตารางกิโลเมตรและมีอพาร์ตเมนต์ให้บริการผู้มีรายได้น้อยมากมาย กรุงเทพมหานครกลับห้ามสร้างอพาร์ตเมนต์ขนาดเกิน 1,000 ตารางเมตรหากถนนผ่านหน้าที่ดินมีความกว้างไม่ถึง 30 เมตร ทั้งที่รู้ว่าในความเป็นจริงไม่มีซอยใดที่จะมีความกว้างเช่นนี้
 
2.2 ในพื้นที่ ย.2 ห้ามสร้างทาวน์เฮาส์ ทั้งที่บริเวณเหล่านี้มีทาวน์เฮาส์สำหรับผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อยอยู่มากมาย ดังนั้นต่อไปประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางต้องระเห็จออกไปอยู่นอกเมือง โดยตามรอยตะเข็บเขตสมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี กลับมีโครงการใหญ่ๆ ประเภทอาคารชุดและทาวน์เฮาส์มากมาย เพราะไม่สามารถสร้างในเขตกรุงเทพมหานครได้
 
3. ตามร่างผังเมืองใหม่ก็ไม่ได้กำหนดให้มีแผนการป้องกันน้ำท่วมอย่างเป็นรูปธรรมเพราะไม่ได้ทำถนนและเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ระบบเปิดปิดน้ำกันน้ำทะเลหนุน และระบบคลองระบายน้ำใหม่ๆ เป็นต้น ยิ่งกว่านั้นกรุงเทพมหานครควรดำเนินการอย่างมีบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น
 
4. ผังเมืองที่ออกมาไม่สอดคล้องกับความจริงในหลายประการ เช่น
 
4.1 ถนนบางเส้นไม่จำเป็นต้องสร้าง เช่น ถนน ง.2 หนองจอก เพราะสภาพเป็นทุ่งนา แต่บางเส้นเล็กและคดเคี้ยวกลับไม่ตัดถนน เช่นทางเข้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตบางขุนเทียน
 
4.2 กำหนดการใช้พื้นที่ไม่เป็นจริง เช่น พื้นที่พาณิชยกรรม พ.1-12 ถนนนวมินทร์กลับมีสภาพจริงเป็นหมู่บ้านจัดสรร หรือพื้นที่ อ.1-4 ถนนเทียนทะเลที่กำหนดให้เป็นเขตอุตสาหกรรมเฉพาะ 200 เมตรแรกที่ติดถนน (ฝั่งซ้าย) และ ตลอดแนวคลองที่ขนานกับถนน (ฝั่งขวา) แต่ในความเป็นจริง พื้นที่โดยรอบก็มีโรงงานมากมาย ผังเมืองจึงวางอย่างละเอียดรอบคอบกว่านี้
 
4.3 ในข้อ 36 ของร่างผังเมืองฉบับนี้กำหนดว่าที่ดินที่ติดถนนน้อยกว่า 12 เมตร หรือที่ดินลึกจากถนนเกิน 200 เมตรไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ทำให้ที่ดินเหล่านี้ต้องปล่อยรกร้างหรือทำประโยชน์ได้จำกัด และสำหรับที่ดินที่อยู่ติดถนนที่มีความกว้าง 12, 16 หรือ 30 เมตร ต้องกว้างตามนั้นโดยตลอดเส้น หากส่วนใดของถนนเส้นนี้มีผู้บุกรุกหรือสร้างล้ำเกิน แม้ทะเบียนถนนจะระบุชัดว่ากว้างตามกำหนด ก็ถือว่าไม่ได้ กรณีทำให้เจ้าของที่ดินที่สุจริตหมดโอกาสพัฒนาที่ดิน
 
5. แผนก่อสร้างและปรับปรุงถนน 140 สายตามร่างผังเมืองรวมนั้น หลายสายก็วาดไว้ตั้งแต่ผังเมืองฉบับปัจจุบันที่ประกาศใช้ในปี พ.ศ.2549 แต่ยังไม่ได้ก่อสร้าง บางสายก็วาดต่างไปจากเดิม ที่สำคัญก็คือ งบประมาณก่อสร้างถนนตามที่วาดไว้ยังไม่มีการจัดหาไว้ ซึ่งแสดงถึงความไม่แน่นอน
 
6. ผังเมืองกรุงเทพมหานครขาดการพัฒนาสวนสาธารณะ ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่เพียง 4.65 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับมหานครทั่วโลก ที่สำคัญพื้นที่สวนสวนสาธารณะ 26 ตารางกิโลเมตรยังรวมสวนในหมู่บ้านเอกชน เกาะกลางถนน บึงน้ำ พื้นที่ว่างของกองทัพ ฯลฯ เข้าไปด้วย นอกจากนี้สวนสาธารณะส่วนมากจะสร้างในเขตรอบนอกซึ่งมีความจำเป็นน้อย ไม่มีการวางแผนสร้างสวนสาธารณะใจกลางเมือง ดังนั้นการกล่าวอ้างว่าผังเมืองจะทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองสีเขียว (Green City) จึงไม่จริง
 
7. ร่างผังเมืองนี้พยายามเสนอข้อดีบางประการ ซึ่งไม่เป็นจริง เช่น
 
7.1 จะเพิ่มการควบคุมกิจกรรมที่ขัดต่อสุขลักษณะ 5 กิจกรรม เช่น สนามแข่งม้า สนามแข่งรถ และสนามยิงปืนนั้น ในความเป็นจริงไม่ได้มีผลในทางปฏิบัติอยู่แล้ว เพราะแทบไม่มีการขออนุญาต
 
7.2 การแจก "แจกโบนัส 5-20%" คือให้สร้างเพิ่มเติมกว่ากฎหมายปกติกำหนด ในรัศมี 500 เมตรรอบสถานีรถไฟฟ้านั้น ก็ใช้ได้เฉพาะสถานีที่สร้างเสร็จแล้ว ไม่ใช่ที่กำลังก่อสร้างอยู่ ดังนั้นจึงไม่มีผลอะไร
 
7.3 การพัฒนาศูนย์เมืองย่อย เช่น ในย่านมีนบุรีที่แนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู-สีส้มมาบรรจบกัน ย่านพระรามที่ 2 ใกล้กับถนนกาญจนาภิเษก และย่านรามอินทราใกล้จุดตัดถนนรัชดา-รามอินทรา เป็นต้น หากร่างผังเมืองนี้ได้ประกาศใช้ในปีนี้และหมดอายุในปี 2560 ก็ยังไม่แน่ว่ารถไฟฟ้าทั้งสองสายจะได้สร้างเสร็จ
 
ดร.โสภณ กล่าวว่า ร่างผังเมืองนี้ เป็นการแก้ปัญหาเมืองแบบซุกปัญหาไว้ใต้พรม เพราะแทนที่จะจัดระเบียบการใช้ที่ดินที่ดี กลับปัดปัญหาออกไปนอกเมือง นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชากรของกรุงเทพมหานครลดลงในระยะหลายปีที่ผ่านมา เพราะประชาชนไม่สามารถอยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครได้ เพราะความพยายามทำเมืองให้หลวม กรุงเทพมหานครควรคิดใหม่ ทำเมืองให้หนาแน่น (High Density) แต่ไม่แออัด (Overcrowded) แต่ปัจจุบันกลับทำในทางตรงกันข้าม
 
ประเด็นหนึ่งที่กรุงเทพมหานครเองไม่สามารถจะแก้ปัญหาของเมืองและวางแผนการพัฒนาเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ เพราะขณะนี้ความเป็นเมืองของกรุงเทพมหานครได้ขยายออกนอกเขตบริหารของกรุงเทพมหานครแล้ว ยิ่งกว่านั้นกรุงเทพมหานครยังขาดการประสานแผนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้ผังเมืองกับการขยายตัวของสถานศึกษา พื้นที่ปกครอง กิจการไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ถนน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ราคาประเมินของทางราชการ ก็ไม่ได้ยึดโยงกับผังเมือง
 
สิ่งที่ ดร.โสภณ เสนอก็คือ ให้กระทรวงมหาดไทยในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการวางผังเมือง ดำเนินการวางแผนภาคมหานคร ซึ่งรวมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันวางผังนี้ให้เป็นแผนแม่บทในด้านการปกครอง สาธารณูปโภคและอื่นๆ ในระหว่างนี้ให้ประกาศใช้ผังเมืองฉบับเดิมไปก่อน และให้มีกรอบเวลาการทำผังภาคมหานครให้แล้วเสร็จใน 2 ปี สำหรับสาระสำคัญดังนี้:
 
1. ในพื้นที่เขตธุรกิจชั้นในของกรุงเทพมหานคร ควรอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่และสูงพิเศษ แต่ให้เว้นพื้นที่ว่างให้มากเพื่อให้เกิดพื้นที่สีเขียวใจกลางเมือง แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ให้สิทธิพิเศษ เพราะกรุงเทพมหานครควรจัดเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการก่อสร้างอาคารได้สูงหรือใหญ่พิเศษ เพื่อนำเงินไปเข้ากองทุนพัฒนาระบบคมนาคม เช่น รถไฟฟ้ามวลเบา ผ่านเข้าสู่ถนนสายต่างๆ เพื่อการระบายการจราจร
 
2. ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ประสาน
 
2.1 กับกิจการไฟฟ้า ประปา ทางหลวง รถไฟฟ้า ช่วยกันร่างผังเมืองนี้เป็นแผนแม่บทของหน่วยงานของตน ส่วนในพื้นที่อนุรักษ์ชนบทจะห้ามก่อสร้างถนนหรือขยายไฟฟ้า ประปาไปบริเวณดังกล่าว
 
2.2 กับการเคหะแห่งชาติและหน่วยงานอื่นโดยควรใช้วิธีจัดรูปหรือเวนคืนที่ดินชานเมือง เช่น เขตหนองจอก ราว 10,000 – 20,000 ไร่ สร้างเมืองใหม่แบบปิดล้อมแต่มีระบบขนส่งมวลชนเข้าสู่ใจกลางเมืองโดยตรง แล้วจัดสรรที่ดินที่มีสาธารณูปโภคครบ (serviced land) เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ศูนย์ธุรกิจ เป็นต้น
 
2.3 กับกรมธนารักษ์เพื่อนำที่ดินใจกลางเมืองมาพัฒนาเป็นศูนย์ธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจมีการรวมศูนย์ สาธารณูปโภคไม่ต้องขยายตัวอย่างไร้ขอบเขต เป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจด้วยกันเองในพื้นที่
 
2.4 กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อจัดสร้างนิคมให้โรงงานได้ใช้ในราคาถูกเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม และเพื่อห้ามการก่อสร้างโรงงานตามท้องนาหรือย่านชานเมืองเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
 
หากปล่อยให้ผังออกมา จะสร้างความเสียหายให้กับกรุงเทพมหานคร
 
 
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"ส.ว.ผู้รักชาติ" เล็งเรียก "ยิ่งลักษณ์" มาชี้แจง อัดกล่าวปาฐกถาไม่ถูกกาละเทศะ

Posted: 02 May 2013 02:25 AM PDT

กลุ่ม "ส.ว.ผู้รักชาติ" ระบุยิ่งลักษณ์ประกาศจุดยืนต่อระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ถูกต้อง และไม่เข้าใจหลักประชาธิปไตยถ่องแท้ เล็งเรียกมาชี้แจงต่อวุฒิสภา ด้าน "นิชา ธุวธรรม" ระบุอย่านับรวม "พล.อ.ร่มเกล้า" เป็นผู้เสียชีวิต 91 ราย ยันประชาธิปไตยมีอยู่แล้ว และสามีต้องการนำหลักปกครองด้วยกฎหมายกลับคืนมา

จากกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในการประชุมประชาคมประชาธิปไตย ที่อูลานบาตอ ประเทศมองโกเลีย เมื่อ 29 เมษายน นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

กลุ่ม "ส.ว.ผู้รักชาติ" เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีขอโทษ

สำนักข่าวไทย รายงานว่า ส.ว. 60 คน ในนามกลุ่ม ส.ว.ผู้รักชาติ นำโดย ม.ร.ว.วุฒิเลิศ เทวกุล นายสมชาย แสวงการ และนางกีรณา สุมาวงศ์ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวขอโทษคนไทยจากกรณีกล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมประชาคมประชาธิปไตยที่ประเทศมองโกเลีย โดยระบุว่าเป็นการประกาศจุดยืนต่อระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม และชี้แจงข้อเท็จจริงเพียงด้านเดียว เพื่อเสริมความชอบธรรมให้กับตัวเองและครอบครัวในเวทีโลก

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีในฐานะตัวแทนประเทศไทย สร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นในต่างประเทศ ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมไทย ไม่ถูกกาลเทศะ ไม่เหมาะสม แฝงไปด้วยนัยสำคัญทางการเมือง สอดรับสถานการณ์ในประเทศที่กำลังแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อต้านใช้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และเตรียมออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังไม่กล่าวถึงต้นเหตุที่ก่อให้เกิดการรัฐประหาร 2549 ว่ามีการทุจริต ผลประโยชน์ทับซ้อน ใช้อำนาจทางการเมืองโดยมิชอบ ละเมิดจริยธรรม คุณธรรมของประเทศ จนประชาชนต่อต้านอย่างกว้างขวาง

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า การที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าการรัฐประหารและการเข่นฆ่าประชาชนเมื่อปี 2553 มีสาเหตุเดียวกัน ผู้บงการกลุ่มเดียวกัน และยังชี้ว่าผู้บริสุทธิ์ถูกยิงด้วยสไนเปอร์ เท่ากับว่านายกรัฐมนตรีกล่าวหาหน่วยงานด้านความมั่นคง จึงขอเรียกร้องให้ดำเนินการตามกฎหมาย และการที่นายกรัฐมนตรีกล่าวพาดพิงองค์กรอิสระว่าใช้อำนาจเกินขอบเขต สอดประสานกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง เป็นการทำหน้าที่ที่สุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ สร้างความชอบธรรมให้ตัวเองด้านเดียว เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทย ได้รับผลกระทบจากการตัดสินขององค์กรอิสระ แต่นายกรัฐมนตรีไม่ได้พูดถึงที่มาของความผิด

"นายกรัฐมนตรีไม่เข้าใจหลักการของประชาธิปไตยอย่างถ่องแท้ เพราะเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปเพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ทั้งที่แก่นแท้ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปเพื่อรวบอำนาจไว้กับนักการเมือง และนายกรัฐมนตรียังมีความสับสนขัดแย้งในตัวเอง ด้วยการเชิญชวนนักลงทุนและนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็ประกาศให้โลกรู้ว่าประเทศไทยไม่ปลอดภัย ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ดังนั้น จึงขอให้นายกรัฐมนตรีกล่าวขอโทษประชาชน และจะเชิญนายกรัฐมนตรีชี้แจงถึงเจตนาในการกล่าวปาฐกถาต่อคณะกรรมาธิการของวุฒิสภา 4 คณะ ได้แก่ 1.คณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา 2.กรรมาธิการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา 3.กรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา และ 4.กรรมาธิการการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศ" แถลงการณ์ ระบุ

 

ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ระบุอย่าเอาสามีไปรวมในจำนวนผู้เสียชีวิต 91 ราย

ขณะเดียวกัน นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ได้เขียนข้อความผ่านเฟซบุค ระบุว่า พล.อ.ร่มเกล้า การเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า และทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในคืนวันที่ 10 เม.ย. 2553 ไม่ควรถูกนำไปรวมอยู่ในกลุ่มผู้เสียชีวิต 91 ศพ ในบริบทของสุนทรพจน์ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวที่มองโกเลีย เพราะเป็นเหตุผลและเจตนารมณ์ต่างกัน

นอกจากนี้ เดลินิวส์ รายงานว่า ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกเป็นภาษาอังกฤษ ถึงผู้เข้าร่วมการประชุมประชาคมประชาธิปไตยในมองโกเลีย มีใจความแปลเป็นภาษาไทยว่า "ในฐานะที่เป็นหนึ่งในครอบครัวของทหารที่ถูกสังหารในเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2553 ดิฉันไม่อยากให้นำสามีของดิฉันเข้าไปรวมอยู่ในจำนวนผู้เสียชีวิต 91 ศพ ตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย กล่าวอ้างว่า พวกเขาได้สูญเสียชีวิตในการปกป้อง ประชาธิปไตย ในความเป็นจริงแล้ว สามีของดิฉันไม่ได้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพราะมันมีอยู่แล้วในเวลานั้น แต่เขาพยายามที่จะนำหลักการปกครองด้วยกฎหมายกลับคืนมา ตามรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) มีหลักฐานพบว่ามีชาย ชุดดำเกี่ยวข้องกับการโจมตีเจ้าหน้าที่ด้วยระเบิดเอ็ม 79 และปืนยาว ซึ่งเป็นเหตุให้สามีของดิฉันเสียชีวิต โดยคนเหล่านี้ได้รับ การสนับสนุนจากการ์ดคนเสื้อแดง คอป.ยังสรุปว่า แกนนำผู้ชุมนุมมีส่วนในการก่อให้เกิดความรุนแรงครั้งนี้ด้วย ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำที่อ้างว่าเป็นนักโทษทางการเมืองนั้นจำเป็นที่จะต้องถูกไต่สวนตามกระบวนการ ยุติธรรม ไม่ใช่จะปล่อยตัวกันง่ายๆตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำ"

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ที่โพสต์ของนางนิชาน่าจะคาดเคลื่อน ทั้งนี้จากรายงานของ คอป. ระบุว่า พล.อ.ร่มเกล้า และทหารรวม 4 นาย เสียชีวิตเพราะระเบิด M67 ซึ่งเป็นระเบิดชนิดขว้าง โดยคาดว่าน่าจะถูกกว้างมาจากบ้านไม้โบราณที่อยู่ตรงข้ามโรงเรียนสตรีวิทยา ไม่ใช่ระเบิด M79 อย่างที่ระบุในโพสต์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น