โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

เมื่อสัญญาณแดงที่สมุทรปราการยังจูนไม่เจอ : ภาพสะท้อนจากการเลือกตั้งนายก อบจ.สมุทรปราการ

Posted: 26 May 2011 12:24 PM PDT

สมุทรปราการนับเป็นจังหวัดในเขตปริมณฑลที่มีความใกล้ชิดกับกรุงเทพมหานครที่สุดทั้งในแง่ภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ และสภาพสังคม พร้อมทั้งขึ้นชื่อในฐานะเมืองแห่งผลประโยชน์ และเขตอิทธิพลของกลุ่มก๊วนต่างๆ แต่ข้อเท็จจริงสำคัญมากกว่าเมืองแห่งเจ้าพ่อ นับจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ห้าส่งผลให้สมุทรปราการได้พัฒนาสู่การเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ต่อเนื่องสู่พื้นที่เขตอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก นิคมอุตสาหกรรมเกิดใหม่มาพร้อมกับผู้อพยพรุ่นใหม่

สมุทรปราการกลายเป็นส่วนผสมของชุมชนผู้ประกอบการขนาดย่อมชาวไทยเชื้อสายจีนตามโรงงานห้องแถวบริเวณสำโรงพระประแดง กับพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกที่รองรับผู้อพยพทั้งชาวไทย และแรงงานข้ามชาตินับล้านชีวิต พร้อมกับชุมชนชนชั้นกลางที่จังหวัดเริ่มแบกรับส่วนเกินเชิงปริมาณสำหรับพนักงานปกคอขาวย่านสุขุมวิท รถไฟฟ้าสายอ่อนนุชแบริ่ง ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ สะพานแขวนขนาดใหญ่ที่เชื่อมร้อยสำโรง ถนนสุขสวัสดิ์ และถนนพระรามสามเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้สมุทรปราการเป็นส่วนผสมที่ดูไม่ค่อยลงตัว ระหว่างเมืองที่ทำการผลิตเพื่อการส่งออกในฐานะส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกกับชุมชนดั้งเดิมในเขตเทศบาล สมุทรปราการกลายเป็นภาพสะท้อนเมืองอุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งแต่ปราศจากร่องรอยของการต่อสู้ทางชนชั้นในพื้นที่สาธารณะของเมืองนี้

หากพิจารณาความสัมพันธ์เชิงอำนาจในพื้นที่ เป็นที่รู้ดีว่า พื้นที่ “ปากน้ำ” เป็นเขตอิทธิพลของตระกูลอัศวเหม วัฒนา อัศวเหม หรือ กิมเอี่ยม แซ่เบ๊ นักธุรกิจเชื้อสายจีน วัฒนาแตกต่างจากผู้มีอิทธิพลตามความเข้าใจทั่วไปที่มักเป็นไม้เบื่อไม้เมากับเจ้าหน้าที่รัฐ ในทางตรงข้ามตระกูลอัศวเหม สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากการขยายตัวของเมืองสมุทรปราการภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจโลก วัฒนามีความสัมพันธ์กับพรรคชาติไทย และทหารกลุ่มซอยราชครู อันนับเป็นกลุ่มอำนาจสำคัญยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดัน แนวทางเสรีนิยมใหม่ในรัฐไทยนับแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา

ขณะที่กลุ่มทางการเมืองคู่แข่งกับตระกูลอัศวเหมคือตระกูลรัศมีทัต มีลักษณะที่ค่อนไปทางกลุ่มผู้มีอิทธิพลตามแบบฉบับสังคมไทยมากกว่า โดยเป็นตระกูลที่มีความสัมพันธ์ในระดับตำบลและพื้นที่ชุมชนเดิม และมีฐานอำนาจจากลักษณะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเป็นตระกูลรัศมิทัต ที่พรรคไทยรักไทยของ พตท.ทักษิณ ชินวัตร เลือกใช้เป็นฐานคะแนนในจังหวัดสมุทรปราการ อันเป็นหนึ่งในนโยบาย การใช้รัฐเข้าไปแทนที่ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น การเลือกตั้งระดับชาติที่ผ่านมา (2544 2547 2550) สมุทรปราการจึงขึ้นชื่อว่าเป็นเขตพื้นที่ของพรรค ไทยรักไทย (พลังประชาชน-เพื่อไทย) มาโดยตลอดซึ่งส่วนหนึ่งมาจากฐานเสียงกลุ่มนี้ หากพิจารณาผิวเผินในแง่การเมืองท้องถิ่น จึงเสมือนหนึ่งเป็นเพียงการต่อสู้ของชนชั้นนำสองกลุ่มนี้ที่ไม่น่ามีอะไรที่แปลกใหม่มากกว่านี้

ในอีกด้านหนึ่ง สมุทรปราการก็มิได้เป็นเมืองที่หยุดนิ่งและตัดขาดจากสภาพสังคมโลก หลายทศวรรษของการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก สมุทรปราการเป็นปลายทางแห่งความฝันของผู้อพยพทั้งภายในและระหว่างประเทศหลายหมื่นคนต่อปี ชีวิตความฝันพวกเขารุ่นแล้วรุ่นเล่าทับถมกันในเมืองนี้ แต่การผลิตในสภาพเสรีนิยมใหม่พวกเขาถูกคาดหวังให้เป็นเพียงแค่ผู้ขายแรงงานแลกค่าจ้าง และค่าจ้างขี้นต่ำในประเทศไทยถูกคิดอยู่บนฐานของการให้ผู้ใช้แรงงานอยู่รอดไปวันๆ มากกว่า เรื่องการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี

ฉากแห่งความยากจนที่ถูกผลิตซ้ำในเพลงลูกทุ่งเพื่อชีวิตจึงเปลี่ยนผ่านจากท้องนาอันแห้งโหย สู่ชีวิตและความฝันของคนงานชานเมือง นิคมอุตสาหกรรมบางพลี บางบ่อ กลายเป็นปลายทาง และแหล่งขูดรีดแรงงาน ทั้งในแง่มูลค่าส่วนเกินปริมาณมหาศาล พร้อมการสร้างความแปลกแยกภายในแก่ผู้ใช้แรงงานด้วยความฝันที่ไม่เคยเป็นจริง และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่สมุทรปราการกลายเป็นหนึ่งในเมืองหลวงของคนเสื้อแดง รัฐบาลไทยรักไทยต่อเนื่องจนพรรคเพื่อไทย เป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมร้อยชีวิตแร้นแค้นของเกษตรรุ่นพ่อแม่ของพวกเขาในชนบท และชีวิตความฝันอันค้างเติ่งในโรงงานชานเมือง ลำพังพรรคไทยรักไทยเองคงไม่มีพลังพอที่จะจุดประกายไฟนี่ได้เท่ากับ การรัฐประหารและการดูถูกดูแคลนของชนชั้นกลางในเมืองพร้อมการตบหน้าชนชั้นล่างด้วยการสนับสนุนการสลายการชุมนุมเพื่อรักษาห้างสรรพสินค้าและถนนธุรกิจของคนรวยต่อไป สมุทรปราการนับเป็นจังหวัดที่น่าจะมีศักยภาพในการสร้างเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเพื่อประโยชน์ชนชั้นล่าง

การเลือกตั้งนายก อบจ.ที่ผ่านมาเป็นการประชันระหว่าง ตระกูลอัศวเหมเจ้าพ่อท้องถิ่นระดับชาติ ตระกูลรัศมิทัต นักการเมืองท้องถิ่นที่เปลี่ยนไปสนับสนุนพรรคภูมิใจไทย ขณะที่พรรคเพื่อไทยส่งอดีตสมาชิกสภาจังหวัด และเป็นน้องสาวกับ ส.ส.พรรคเพื่อไทยลงสมัครชิงตำแหน่งนายก อบจ. พรรคเพื่อไทยแพ้ในเขตที่เชื่อว่าเป็นเขตอิทธิพลของตนเองเช่นเดียวกับการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ในหลายเขตเลือกตั้งที่ผ่านมา แม้จะมีคะแนนในระดับที่มีนัยสำคัญก็ตาม ผลการเลือกตั้งจบลงที่ตระกูลอัศวเหมชนะการเลือกตั้ง อันดับสองตระกูลรัศมิทัต ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพรรคภูมิใจไทย ขณะที่ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยได้อันดับที่สาม สัญญาณการเลือกตั้งที่สมุทรปราการสามารถบอกอะไรเกี่ยวกับเงื่อนไขการเมืองไทยในปัจจุบัน

ปัญหาสำคัญที่ต้องขบคิดคือ ใครคือ ”คนสมุทรปราการ” ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่าแปดแสนคนหมายถึงใคร ดังที่ได้เรียนไปข้างต้น สมุทรปราการเป็นส่วนผสมของเมืองรุ่นเก่า ที่มีลักษณะตามมาตรฐานของพื้นที่เมืองของต่างจังหวัดไทยทั่วไปเช่น การมีตลาด วัดเป็นศูนย์กลาง โดยที่ผู้อยู่อาศัยถาวรในเขตเมืองโดยมากเป็นผู้ประกอบการรายย่อยเชื้อสายจีน ตามตึกแถวพาณิชย์ที่คุ้นเคย ลักษณะนี้ปรากฏในพื้นที่สำโรง พระประแดง และพระสมุทรเจดีย์ โดยที่คนงานโดยมากเป็นแรงงานอพยพภายในประเทศที่มักไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการเมืองท้องถิ่นแม้อยู่ในพื้นที่มาเป็นนเวลานานแล้วก็ตาม เช่นเดียวกับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เมืองที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและต่อสู้ในชีวิตประจำวัน แต่ประชาชนส่วนมากกลับไม่สามารถมีส่วนได้เสียกับการเมืองระดับท้องถิ่นได้อย่างเต็มที่ บทสรุปจากการเลือกตั้งสมุทรปราการอาจสามารถวิเคราะห์เงื่อนไขการเลือกตั้งที่จะถึงได้ดังนี้

  1. ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา พรรคการเมืองไทยมีการพัฒนาจากกลุ่มผลประโยชน์ที่เกิดจากการต่อรองของคนในพื้นที่สู่ การเป็นพรรคในฐานะอุดมการณ์ที่มีความแหลมคมมากขึ้น พรรคของคนเสื้อแดงเป็นตัวแทนของการต่อต้านสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ สองมาตรฐานและไม่เห็นหัวคนชั้นล่าง แต่ในขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยเองก็มิได้มีนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อเงื่อนไขชีวิตประจำวันของชนชั้นล่างอย่างเต็มที่ นี่อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นผู้ลงคะแนนเลือกที่จะให้คะแนนแก่ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นที่เข้าใจว่าสามารถดูแลปัญหาชีวิตประจำวันได้ดีกว่า อันเป็นโจทย์สำคัญของพรรคเพื่อไทย ที่จำเป็นต้องพัฒนาระบบพรรคสู่พรรคการเมืองที่มีฐานมวลชนชัดเจน มากกว่าพรรคในลักษณะเหวี่ยงแหในปัจจุบัน
  2. การตั้งเป้าว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ตามมาตรฐานของการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 อาจเป็นการตั้งเป้าที่คลาดเคลื่อน เพราะต้องอย่าลืมว่าพรรคไทยรักไทย-พลังประชาชนเมื่อการเลือกตั้งที่ผ่านมา ยังคงมีฐานจากกลุ่มผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น มากกว่าอุดมการณ์ของมวลชนในระดับชาติดังที่เริ่มปรากฏชัดในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยผู้มีอิทธิพลกลุ่มนั้นส่วนหนึ่งได้เข้าสนับสนุนพรรคการเมืองอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเชื่อว่าจะได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ดังนั้นคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้นอกจากจะเป็นการต่อสู้กับโครงสร้างชนชั้นระดับชาติแล้ว ยังต้องฝ่าวงล้อมโครงสร้างชนชั้นในระดับท้องถิ่นไปพร้อมกัน ดังนั้นยุทธศาสตร์ชัยชนะเชิงพื้นที่จึงไม่สำคัญเท่ายุทธศาสตร์การสร้างอำนาจนำเชิงชนชั้น
  3. บทสรุปสำคัญในการมีชัยชนะเหนือพื้นที่ท้องถิ่นที่พรรคเพื่อไทยควรจะเรียนรู้คือ การพัฒนานโยบายและอุดมการณ์ของพรรคให้เป็นประโยชน์แก่ฐานมวลชนหลัก อันได้แก่ชนชั้นล่างในประเทศอย่างแท้จริง การเพิ่มอำนาจต่อรองของประชาชนโดยการพัฒนารัฐสวัสดิการ ลดความเหลื่อมล้ำโดยการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน ควบคู่กับความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของมวลชนต่อทิศทางของพรรค สิ่งนี้จะทำให้อุดมการณ์และนโยบายของพรรคในฐานะรูปแบบความสัมพันธ์ที่เป็นทางการ เข้าแทนที่ความสัมพันธ์แบบเจ้าพ่อและระบบอุปถัมภ์แบบอิงตัวบุคคลในพื้นที่ท้องถิ่นต่างๆ

พรรคเพื่อไทยอาจจะได้เสียงข้างมาก ในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่หากพรรคไม่สามารถเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกของประชน สำนึกแห่งการต่อต้านความเหลื่อมล้ำสู่ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมที่ตอบสนองเงื่อนไขการต่อสู้ในชีวิตประจำวัน เช่นสิทธิการรวมตัวเป็นสหภาพ การเก็บภาษีทางตรงจากชนชั้นอภิสิทธิ์ชนในสังคม หรือการสร้างสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจรอันเป็นการท้าทายประโยชน์ของชนชั้นสูงและสร้างประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ หากพรรคไม่สามารถพัฒนายุทธศาสตร์เบื้องต้นนี้ได้ ชัยชนะที่อาจจะเกิดขึ้นก็จะเป็นเพียง ชัยชนะยิ่งใหญ่ที่ไร้ความหมาย จะเป็นเพียงแค่การตบหน้าอำมาตย์ แต่หากไม่สามารถสร้างฐานมวลชนที่แข็งแกร่งได้ มันก็จะกลายเป็นเพียงแค่เชิงอรรถอธิบายประวัติศาสตร์ก่อนการทำรัฐประหารซ้ำซากในประเทศนี้

เมื่อสัญญาณแดงที่สมุทรปราการยังจูนไม่เจอ : ภาพสะท้อนจากการเลือกตั้งนายก อบจ.สมุทรปราการ
สะพานภูมิพลที่เชื่อมพื้นที่สำโรง เข้ากับถนน สุขสวัสดิ์และพระรามสาม

เมื่อสัญญาณแดงที่สมุทรปราการยังจูนไม่เจอ : ภาพสะท้อนจากการเลือกตั้งนายก อบจ.สมุทรปราการ
ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ลูกชายวัฒนา อัศวเหม ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงประมาณ 1.5แสนคะแนน

เมื่อสัญญาณแดงที่สมุทรปราการยังจูนไม่เจอ : ภาพสะท้อนจากการเลือกตั้งนายก อบจ.สมุทรปราการ
ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยได้อันดับสาม ทิ้งห่างจากอันดับหนึ่งประมาณสามหมื่นคะแนน

คลิปรายงานผลการเลือกตั้งสมุทรปราการ

http://www.youtube.com/watch?v=sMlH80OrscA#at=137

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์ ‘เจะอามิง โตะตาหยง’ ประชาธิปัตย์ “จะเข้าเกณฑ์เป็นรัฐมนตรีคุมชายแดนใต้”

Posted: 26 May 2011 12:12 PM PDT

นายเจะอามิง โตะตาหยง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) จังหวัดนราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์มา 4 สมัย หากการเลือกตั้งครั้งนี้ เจะอามิงได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง ก็จะเข้าเป็นรัฐมนตรีตามบรรทัดฐานที่พรรคประชาธิปัตย์ตั้งไว้ส่วนหนึ่ง ซึ่งเจะอามิงเชื่อว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เขาคงจะได้รับโอกาสนี้ สำหรับดูแลแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

สัมภาษณ์ เจะอามิง โตะตาหยง ประชาธิปัตย์
นายเจะอามิง โตะตาหยง

0 0 0

 

นโยบายในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง

แนวทางการหาเสียงวันนี้ คือพูดถึงนโยบายที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง พูดถึงในแง่การแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ ราคายางพาราสูง ทำให้ภาพรวมการเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น ก็เป็นที่พอใจของประชาชน เงินผู้สูงอายุที่ได้กันทุกคนทุกครัวเรือน นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านพอใจ เงิน อสม.(อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน) เข้าโรงพยาบาลรักษาโรคฟรีก็เป็นที่พอใจของชาวบ้าน

มีคำถามว่า ต่อไปรัฐบาลประชาธิปัตย์จะยังคงนโยบายเหล่านี้ไว้หรือไม่ ก็เป็นแนวนโยบายที่ประกาศชัดเจนแล้วว่าจะเดินหน้าต่อ เป็นการสานต่อนโยบายหลักของพรรค

ส่วนในมิติการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ได้พยายามสื่อสารกับชาวบ้านว่า ณ วันนี้ รัฐบาลได้แสดงความตั้งใจและจริงใจโดยการออกกฎหมาย ศอ.บต.(พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553) ซึ่งประชาชนยังไม่ทราบว่า มีแนวนโยบายอย่างไรบ้าง ประชาชนยังไม่ทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากกฎหมายฉบับนี้

แต่เดิม การแก้ปัญหาที่ผ่านมาที่ไม่ได้ผล ส่วนหนึ่งมาจากความไม่เป็นเอกภาพของระบบราชการ วันนี้พอออกกฎหมายฉบับนี้ ทุกหน่วยงานต้องมาอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายฉบับนี้ ทำให้หน่วยงานราชการเกิดเอกภาพ ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเดิมต่างคนต่างทำ ทำให้การแก้ปัญหาไม่สามารถเดินหน้าไปได้เท่าที่ควร

ความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือนายกรัฐมนตรีจะเข้ามาดูแลโดยตรง และมีรัฐมนตรีดูแลอีกหนึ่งคน ไม่สังกัดกระทรวงมหาดไทยแต่จะขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรีโดยตรง สาระสำคัญคือ ชาวบ้านสามารถชี้แนวทางการแก้ปัญหาผ่านสภาที่ปรึกษา ศอ.บต.(หมายถึง สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้) แนวทางต่างๆ ไม่ว่า ด้านการศึกษา สังคม เศรษฐกิจ ศาสนา

ดังนั้นการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน ประชาชนไปคิดมา ผ่านสภาที่ปรึกษา ศอ.บต. เพื่อกลั่นกรอง ซึ่งเป็นการลัดขั้นตอนไปถึงนายกรัฐมนตรี โดยไม่ต้องผ่านนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัด

ส่วนในกรณีที่ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมอันเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนสามารถร้องเรียนไปยังเลขาธิการ ศอ.บต. ถ้ามีมูลความผิดจริง เลขาธิการ ศอ.บต.ก็สามารถสั่งย้ายได้ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อเป็นการลดเงื่อนไขต่อประชาชน

ในมิติการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เราจะขับเคลื่อนงบประมาณค้างท่อ เช่น ที่ผ่านมา ถนนสาย ยะลา – สี่แยกดอนยาง จังหวัดปัตตานี ซึ่งเดิมเป็นเงินค้างท่อ สร้างไม่เสร็จ เราจึงได้ลบล้างข้อครหาที่ว่า งบลงมาแล้วแต่ไม่ดำเนินการอะไรเลย เราดำเนินการจนสร้างเสร็จในสมัยรัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์ ถนนสายสี่แยกตะโล๊ะหะลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา – ปาลอบาต๊ะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส หรือ ถนนสาย 4066 ก็เกิดจากเงินค้างท่อ ซึ่งสร้างจนเสร็จอีกเส้นทางหนึ่ง

ในจังหวัดนราธิวาสเราได้พัฒนาสนามบินบ้านทอนให้เป็นสนามบินระดับนานาชาติ เพื่อรองรับชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะใช้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยเราได้ขยายรันเวย์เพื่อให้ได้ตามมาตรฐาน ทำให้สามารถรองรับเครื่องบินบินตรงไปยังประเทศซาอุดิอาระเบียเลย ตอนนี้มีความคืบหน้าไปกว่า 90% แล้ว โดยพยายามให้สามารถใช้งานได้ทันในช่วงฤดูการทำฮัจย์ปีนี้ให้ได้

ในส่วนของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เดิมมีแค่ป้าย แต่นักศึกษาไปฝากตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ขอนแก่นบ้าง เชียงใหม่บ้าง กรุงเทพบ้าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์บ้าง พอเรียนจบก็จะมาสวมชุดครุยมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ แต่ตอนนี้รัฐบาลได้ให้งบไทยเข้มแข็งเกือบพันล้าน เพื่อสร้างอาคารต่างๆ ในมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ตอนนี้คืบหน้าไปกว่า 80% แล้ว

ส่วนโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ตอนนี้ ยกระดับมาเป็นโรงพยาบาลศูนย์แล้ว นี่เป็นผลงานรัฐบาลอภิสิทธิ์เช่นกัน

ในด้านเยาวชน รัฐบาลได้ให้งบพัฒนาการกีฬา โดยทุ่มงบกว่า 1,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบผูกพัน สร้างสนามฟุตบอลในจังหวัดนราธิวาส ให้เป็นสนามฟุตบอลที่ใหญ่สุดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ส่วนในจังหวัดยะลา รัฐได้ให้งบสร้างสนามบินเบตง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อให้ผู้คนหลั่งไหลไปเที่ยวเบตง แล้วจะเป็นจุดขาย ส่วนความคืบหน้าตอนนี้ยังติดค้างเรื่องการเวนคืนที่ดิน อีกจุดหนึ่ง คือการขยายถนนเส้นทางไปยังเบตง กำลังดำเนินการอยู่ นี่คือสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความจริงจังในงานพัฒนา

 

นโยบายทางด้านความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อถามถึงมิติในด้านความมั่นคง ถึงแม้ที่ผ่านมาอาจจะดีระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ แนวทางการแก้ปัญหาตราบใดที่ยังมีการสูญเสียของประชาชน ก็ยังไม่แฮปปี้ การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ มีหลายขั้นตอนหลายเงื่อนไข การแก้ไขนับตั้งแต่นี้ไป ต้องแก้ไขในแต่ละเงื่อนไข แก้ปมไปทีละปม ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร

แต่ขอยืนยันว่า แนวทางการเมืองนำการทหารบวกกับการพัฒนา เป็นแนวทางที่ดีมากของรัฐบาล แต่ความสำเร็จทั้งหลายมันต้องอยู่บนพื้นฐานกลไกของรัฐ คนที่รับผิดชอบต้องตั้งใจและจริงใจในการแก้ปัญหา

สิ่งที่สำคัญคือ คนที่จะมารับผิดชอบแก้ปัญหาชายแดนใต้ ต้องรู้ถึงปัญหาอย่างแท้จริง การแก้ปัญหาที่นี่ ถ้าไม่มีความละเอียดพอ มันก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ความละเอียดของปัญหา ความละเอียดของการรู้ปัญหาจะสามารถแก้ปัญหาได้ดี อันนี้ก็ส่วนหนึ่งที่มองดูแล้วว่ามันขับเคลื่อนแล้วดี

ถามว่า แนวทางนับแต่นี้ไป รัฐบาลประชาธิปัตย์จะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ยังไง ยังยืนยันว่า แนวทางเดิมของพรรคยังค้างอีกเยอะ ยังต้องเดินต่อเนื่องไป ต้องไปดูนโยบายเก่า การผดุงความเป็นธรรมของพี่น้องประชาชนต้องเกิดขึ้น

ที่สำคัญประเด็นชายแดนใต้เราต้องเปิดพื้นที่ในการพูดคุยกันกับให้คนที่ไม่พอใจนโยบายรัฐบาล ความหมายคือพูดคุยในทางสันติ ทุกฝ่ายต้องไม่ใช้อารมณ์ ต่างฝ่ายต้องรู้จักถอยคนละก้าว เพื่อหาจุดร่วม สำหรับส่วนที่ก่อเหตุก็ต้องกล้าเปิดตัวมา ไม่อย่างนั้นรัฐบาลเปิดพื้นที่มาแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะคุยกับใคร

ความไม่เข้าใจกัน มันสามารถแก้ไขด้วยความการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน เรื่องทุกเรื่องบนโลกนี้ มันต้องจบด้วยการพูดคุยกัน มันจะไม่จบด้วยวิธีอื่น การไม่แก้ปัญหานอกรูปแบบ การพูดคุยมันจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น มันไม่ใช่เหตุผลของมุสลิมที่จะทำอย่างนั้น

การพูดคุยกับคนที่เห็นต่างกับรัฐ คือสิ่งสำคัญเป็นหลัก นี่คือกรอบความคิดส่วนตัวของผม กับการแก้ปัญหา มันเป็นเรื่องใหญ่ที่เราต้องคิด ผมต้องสะท้อนให้รัฐบาลชุดต่อไป

การพูดคุยต้องเป็นประเด็นหลัก ในการแก้ปัญหาต่อไป ถ้าไม่พูดคุยแล้ว ก็กลายเป็นว่าฝ่ายที่แก้ก็แก้ไป ส่วนฝ่ายที่ไม่อยากให้แก้ก็ไม่แก้ เพราะมันไม่ได้เป็นข้อตกลง

แต่สิ่งที่สำคัญในการพูดคุยกัน คือ ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายรัฐธรรมนูญ อย่าไปเหนือกว่ากรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะมันทำไม่ได้

ในพรรคยังไม่มีการพูดคุยในเรื่องนี้ แต่พูดคุยกันในเรื่องการพัฒนาและการให้ความเป็นธรรม แต่วันนี้ความคิดของผมที่ตั้งใจไว้ในงวดหน้า คือ ต้องเอาเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติ คุยเพื่อให้เกิดสันติภาพ ปัญหาต้องจบด้วยการพูดคุย

 

หากได้รับการเลือกตั้งอีกครั้งจะได้เป็นรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะจะเป็น ส.ส.สมัยที่ 5 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์จะนับความอาวุโสทางการเมืองสำหรับคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีด้วย

เรื่องเก้าอี้รัฐมนตรีนั้น กระบวนการคัดสรรของระดับผู้บริหารทางการเมือง ต้องเป็นผู้ที่มีความอาวุโสทางการเมือง มีความพร้อมทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ ต้องไม่เป็นผู้ที่เคยเสื่อมเสียชื่อเสียง ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ที่ฝ่ายบริหารของพรรค ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์หลักๆ ที่ทางพรรคได้ปฏิบัติมาโดยตลอด เช่น ต้องเป็น ส.ส.มาแล้วอย่างน้อย 5 สมัย

ตอนนี้ผมเป็น ส.ส.มาแล้ว 4 สมัย สมัยแรกปี 2535 รุ่นเดียวกับนายกฯอภิสิทธิ์ ถ้าพูดถึงความอาวุโสและตามหลักเกณฑ์ ถ้าสมัยหน้าผมได้เป็น ส.ส.ก็จะเข้าเกณฑ์พอดี

ช่วงที่ผมเป็นประธานคณะกรรมาธิการกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร ก็จะเห็นว่า ผลงานผมก็ออก มีการออกสื่อทีวี หนังสือพิมพ์เป็นระยะๆ แม้กระทั่งบทบาทในการประชุมสภา อันนี้เป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์

คนที่จะขึ้นมาเป็นรัฐมนตรี ต้องมีบทบาทในการทำงาน ต้องสะอาด สังเกตได้ว่า ที่ผ่านมาเวลาใครในพรรคโดนข้อครหาหน่อย ก็ลาออกแล้ว ไม่มีพรรคไหนเหมือนพรรคประชาธิปัตย์ อย่างนายวิฑูร นามบุตร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถูกข้อครหาทั้งๆ ที่จนวันนี้ก็ยังมีการตัดสินว่าผิด แต่ก็ลาออกก่อนแล้ว นี่คือสปิริตแสดงความรับผิดชอบ

ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล ผมยังเชื่อว่า พรรคน่าจะให้โอกาสให้กับคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและวิถีชีวิตของคนที่นี่ เพราะคนที่นี่จะรู้วิถีชีวิตของคนที่นี่ดี แม้กระทั่งการสื่อสาร ก็ไม่ต้องผ่านล่าม คุยกับพี่น้องโดยตรงได้ ในการทำงานมวลชนก็จะต้องให้คนที่นี่เป็นตัวหลัก

ยังมีอีกที่พรรคประชาธิปัตย์ทำ คือ การผลักดันออกกฎหมายที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตมุสลิม เรื่องอาหารฮาลาล กองทุนซากาต(ทานบังคับ) ศาลชารีอะฮฺ และกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก

ตอนที่ผมเป็นประธานกรรมาธิการกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ ผมได้จัดทำหนังสือแนวทางในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เชิงรุกทุกด้าน แม้กระทั่งด้านการศึกษา มีทั้งระยะสั้น ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง ระยะยาว โดยเรื่องที่ได้นำมาเป็นนโยบายของพรรคตอนนี้คือ เรื่องการออกกฎหมายดังกล่าว การพัฒนาพื้นที่ การศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต

ตอนนี้มีการบรรจุการสอนวิชาศาสนาอิสลามในโรงเรียนสามัญนำร่อง แต่ผมต้องการให้ประกาศเป็นนโยบายถาวรของรัฐบาล ไม่ใช่แค่นำร่อง แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะจะให้ได้ 100 ร้อยเปอร์เซ็นต์ตามที่เราต้องการเลย คงยาก อย่างน้อยก็ให้ขับเคลื่อนไปก่อน

เพราะในฐานข้อมูลทางการศึกษา พบว่า เด็กที่เรียนในโรงเรียนประถมมีจำนวนเยอะมาก แต่พอขึ้นระดับมัธยมก็หายไป เพราะเด็กไปเข้าโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ที่เป็นเช่นนั้น เพราะคนที่นี่อยากให้ลูกได้เรียนวิชาศาสนาและสามัญควบคู่กันไปด้วย เพราะเป็นวิถีชีวิตของมุสลิม

ทำไมไม่กำหนดกฎเกณฑ์ให้เป็นนโยบายของรัฐไปเลย พื้นที่ใดที่เป็นพื้นที่ของมุสลิมร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็ให้เอาหลักสูตรของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนามาบรรจุไว้ในโรงเรียนประถมประจำหมู่บ้าน เพื่อดึงคนในหมู่บ้านให้เรียนหนังสือ อีกอย่างคนที่จบศาสนาอิสลามชั้น 10 ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแล้ว หรือเรียนจบปริญญาจากต่างประเทศแล้ว จะได้กลับมาสอนหนังสือเด็กในโรงเรียนประถมได้ เป็นการจ้างงานเพิ่ม

เด็กบ้านเราไม่ได้เรียนต่อเป็นแสนคนต่อปี เลิกเรียนทั้งสามัญและศาสนา นี่คือสิ่งที่น่าเป็นห่วง มันเกิดจากสถาบันครอบครัวที่ไม่ให้ความสำคัญต่อการศึกษา ซึ่งมันจะนำไปสู่ความอ่อนแอของสังคมในบ้านเราในภายภาคหน้า เราต้องติดอาวุธทางความคิดให้กับประชาชนนั่น คือการศึกษา

 

มีพรรคอื่นเสนอนโยบายกระจายอำนาจที่ให้ท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์มีแนวนโยบายลักษณะนี้ด้วยหรือไม่

ส่วนเรื่องการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น พรรคประชาธิปัตย์ทำมานานแล้ว นั่นคือ องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) การออกฎหมาย ที่บอกว่าจะเอาเขตปกครองพิเศษนั้น ต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีส.ส.กว่า 500 คน แม้ส.ส.ในจังหวัดชายแดนใต้ทั้งหมดเห็นด้วย แต่ยังมี ส.ส.อีก 400 กว่าคนที่ไม่เห็นด้วย ก็คงยากที่ผ่านกฎหมายนี้ไปได้

ดังนั้น จะพูดเรื่องนี้ได้ในแง่หาเสียงโน้มน้าวให้คนเลือก แต่ความเป็นไปได้จริงๆ มันยาก ไม่เป็นรูปธรรม ผมมองว่าเป็นการสร้างภาพเพื่อหวังผลทางคะแนนเสียง ซึ่งในที่สุดก็ทำอะไรไม่ได้เลย คนที่ปลุกเรื่องเขตปกครองพิเศษ ก็คือนักการเมือง ไม่ใช่ชาวบ้าน การออกกฎหมายมันต้องดูที่ความเป็นไปได้ด้วย

 

ปัญหาอุปสรรคในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้

กฎหมายเลือกตั้งครั้งนี้มันหยุมหยิมเกินไป บางทีอาจจะไม่สามารถดึงดูดใจให้ประชาชนออกมาใช้สิทธ์เลือกตั้งได้มากๆ ผู้สมัคร ส.ส.เองก็เกร็ง เพราะต้องตั้งป้ายโฆษณาหาเสียงเฉพาะจุดที่ กกต.เท่านั้น ซึ่งบางจุดไม่ได้เป็นที่ชุมชน จะติดตั้งที่บ้านตัวเองก็ไม่ได้ เพราะเป็นที่ส่วนบุคคล สิ่งเหล่านี้ทำให้การเลือกตั้งดูกร่อย

เรื่องแผ่นโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ ใครมีกำลังเท่าไหร่ก็ทุ่มลงไป แต่ต้องไม่เกินที่ กกต.กำหนด แต่ความจริงคือ การติดป้ายเยอะๆ จะเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนออกมาเลือกตั้งเยอะขึ้น เหมือนกับภาพยนตร์ที่มีการโหมโฆษณา ทำให้คนไปแห่ดูในโรงมากขึ้น การเลือกตั้งก็เหมือนกัน ถึงแม้แต่ละพรรคมีอุดมการณ์ต่างกัน แต่พอโฆษณาเยอะๆ ก็ทำให้คนอยากไปใช้สิทธิ์มากขึ้น วันนี้ผมต้องใช้วิธีเคาะประตูในการหาเสียง ต้องใช้เวลาประชาสัมพันธ์มากขึ้น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: ยุบโรงเรียน (ขนาดเล็ก) ของชุมชนทำไม?! เสียงสะท้อนจากชาวบ้าน ครู และ อปท. (1)

Posted: 26 May 2011 11:56 AM PDT

รายงาน: ยุบโรงเรียน (ขนาดเล็ก) ของชุมชนทำไม?! เสียงสะท้อนจากชาวบ้าน ครู และ อปท. (1)

รายงาน: ยุบโรงเรียน (ขนาดเล็ก) ของชุมชนทำไม?! เสียงสะท้อนจากชาวบ้าน ครู และ อปท. (1)

รายงาน: ยุบโรงเรียน (ขนาดเล็ก) ของชุมชนทำไม?! เสียงสะท้อนจากชาวบ้าน ครู และ อปท. (1)

"จะมายุบ ร.ร.ในชุมชนของเราทำไม แล้วเด็กๆ ที่เหลือจะทำอย่างไร"
"จริงๆ มันน่าจะยุบสพฐ.หรือยุบกระทรวงศึกษาฯ มากกว่า"
"ตราบใดที่รัฐยังมองว่า ร.ร.เป็นของรัฐ ไม่ใช่ของชุมชน มันก็จะเกิดปัญหาแบบนี้แหละ"
“ขอให้ยุติล้มเลิกความคิดยุบ ร.ร.โดยทันที แล้วมานั่งคุยกับคนท้องถิ่น”

นั่นคือเสียงสะท้อนบางส่วนในวงเวทีวิเคราะห์ปัญหาและข้อเสนอแนะทางออกของโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งทางสภาการศึกษาทางเลือก ได้จัดขึ้นที่ห้องประชุมโรงแรมศิรินาถการ์เด้นท์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา หลังมีข่าวว่า ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ออกมาประกาศนโยบาย ให้มีการยุบโรงเรียนขนาดเล็กในสังกัด ซึ่งมีทั้งหมดทั้งสิ้น 14,397 โรง ทั่วประเทศ ทำให้หลายกลุ่มหลายฝ่ายที่อาจได้รับผลกระทบต่อนโยบายจากข้างบนครั้งนี้ ต่างหวั่นวิตกกันไปตามๆ กัน โดยเฉพาะกลุ่มครู องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชาวบ้านผู้ปกครองเด็กนักเรียนในชุมชนซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรง

ในเวทีดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมหลากหลาย อาทิ ตัวแทนครู จากโรงเรียนขนาดเล็กในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ตัวแทนชาวบ้านชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ตัวแทนโรงเรียนการศึกษา รวมทั้งตัวแทนขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เข้าร่วม เพื่อวิเคราะห์ แลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นกันอย่างเคร่งเครียด

ที่สำคัญและน่าสนใจก็คือ ในวงเสวนาดังกล่าว ยังได้มีการเชิญตัวแทนชาวบ้าน ชุมชนในแต่ละพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกยุบ ร.ร.ขนาดเล็กไปก่อนหน้านั้น ชุมชนที่ถูกยุบแล้วได้ต่อสู้จนได้โรงเรียนกลับคืนมา รวมทั้งโรงเรียนที่ชาวบ้านได้ร่วมกันตั้งขึ้นมาเอง

โดยในช่วงเช้า มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุปัญหาว่าทำไม โรงเรียนในแต่ละชุมชนถึงกลายเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งทุกคนได้ร่วมบอกเล่าถึงต้นตอสาเหตุไว้อย่างน่าสนใจ

ทั้งนี้ นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก ได้วิเคราะห์ถึงปัญหาการศึกษาของไทยให้ฟังว่า การศึกษาในอดีตเมื่อกว่า 120 ปี ที่ผ่านมา การเรียนรู้ของเด็กเป็นการเรียนรู้กับพ่อแม่ ครอบครัว วัด เรียนจากวิถีชีวิตของพ่อแม่ หรือเรียนจากวัด เมื่อเรียนรู้แล้วก็สามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิตได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้ ต่อมาเมื่อมีการจัดการศึกษาในโรงเรียนในยุคแรกๆ เป็นการเรียนเพื่อมุ่งเข้าสู่ระบบราชการ แต่สถานการณ์ปัจจุบันพบว่า เมื่อระบบราชการเต็ม ไม่มีการรับคนเพิ่ม ก็มีการผลิตคนป้อนเข้าสู่ระบบธุรกิจ ระบบทุน การศึกษาในปัจจุบันจึงเป็นการผลิตคนเข้าสู่ภาคธุรกิจ ตลาดแรงงาน สิ่งที่พบ นั่นคือ เด็กเยาวชนต้องออกจากบ้านจากชุมชน เพื่อเข้าไปเรียนหนังสือในเมือง ทำให้เด็กละทิ้งชุมชน รากเหง้า วิถีในท้องถิ่นของตนเอง เพื่อเข้าสู่ระบบแรงงาน รับใช้ทุน

“ขณะที่ปัจจุบัน พบว่า ภาคธุรกิจเริ่มมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก ส่งผลกระทบให้การจ้างงานในตลาดแรงงานลดลง มีอัตราจ้างงานทั้งในภาคราชการและภาคธุรกิจลดลง จึงส่งผลให้ผู้ที่จบการศึกษาไม่มีงานทำ โดยพบว่าสถิติของคนที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ปริญญาโทไม่มีงานทำเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ปัญหาที่ตามมาก็คือ เด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาไม่สามารถกลับเข้าไปในชุมชน ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เพราะขาดความรู้ความเข้าใจในวิถีภูมิปัญญา รากเหง้าของชุมชนตนเอง”

นายชัชวาลย์ กล่าวอีกว่า แต่พอมาถึงตอนนี้ รัฐกลับมีนโยบายทางการศึกษาที่ต้องการรวมโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชนต่าง ๆ เพื่อรวมกับโรงเรียนขนาดใหญ่ ทำให้มีโรงเรียนขนาดเล็กที่กำลังจะถูกยุบจำนวนมากกว่า 14,000 โรง มีหลายโรงเรียนในชุมชนที่ถูกยุบ กำลังจะถูกยุบ รวมทั้งที่ถูกยุบไปแล้ว แต่กำลังมีข้อเรียกร้อง หรือมีความพยายามในการฟื้นโรงเรียนขนาดเล็กที่ถูกยุบขึ้นมาใหม่ ซึ่งหลายแห่งมีการฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ โดยความร่วมมือจากคนในชุมชนทุกภาคส่วน มีการจัดระบบการศึกษา พัฒนาหลักสูตรด้วยตนเอง ซึ่งสภาการศึกษาทางเลือก ได้เห็นประเด็นปัญหาผลกระทบของการยุบโรงเรียนขนาดเล็กจึงเข้ามาร่วมสนับสนุนและหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

นายกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้กลายเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ก็เพราะว่าจำนวนเด็กนักเรียนลดลง เนื่องจากมีการคุมกำเนิด ทำให้จำนวนเด็กในชุมชนลดลง บวกกับค่านิยมแนวคิดของผู้ปกครองเปลี่ยนไป คือทุกคนต่างมุ่งหวังต้องการส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนดีๆ ข้างนอก

“ส่วนหนึ่งต้องโทษนโยบายรัฐ ที่เน้นโรงเรียนในฝัน โรงเรียนตัวอย่าง ที่เน้นคุณภาพเฉพาะโรงเรียนนั้น แต่ไม่ได้เน้นโรงเรียนในท้องถิ่นที่เหลือ จึงเกิดแรงดึงดูดให้พ่อแม่พาเด็กนักเรียนไปเรียนโรงเรียนในฝัน อีกอย่าง ในขณะที่ผู้ปกครองเองก็อยากส่งลูกตัวเองเรียนดี ได้เป็นเจ้าคนนายคน เป็นทหาร ตำรวจ โดยไม่ได้สนใจวิถีชีวิตในชุมชน”

ในขณะที่ตัวแทนครูอีกคนหนึ่ง ก็กล่าวว่า ที่ผ่านมาต้องโทษนโยบายรัฐ ที่ออกมาปล่อยข่าวว่า โรงเรียนจะถูกยุบแน่ๆ ยิ่งทำให้ผู้ปกครองเด็กนักเรียนไม่มั่นใจ จึงพากันย้ายแห่ไปเรียนในโรงเรียนในตัวอำเภอ โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชน ที่ในขณะนี้ได้มีการพัฒนาบริหารเชิงรุก ดึงเด็กนักเรียนไปเรียนกันเป็นจำนวนมาก

เช่นเดียวกับ ผู้ใหญ่บ้านบ้านม่อน ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ได้กล่าวว่า เมื่อ 3-4 ปีก่อน ได้ยินข่าวมาตลอดว่าเขาจะยุบโรงเรียนวัดบ้านม่อน แต่ชาวบ้านทุกคนไม่อยากให้ยุบ ก็พยายามช่วยกันพัฒนาดูแลโรงเรียนมาโดยตลอด ต่อมา ภารโรงปลดเกษียณก็ไม่จ้างต่อ ถูกยุบตำแหน่งไป ชาวบ้านก็พากันไปช่วยตัดหญ้าพัฒนาโรงเรียนแทนให้

“ที่เราไม่อยากให้ยุบ ก็เพราะเราเป็นห่วงอนาคตลูกหลานที่จะต้องขาดโอกาส สงสารผู้ปกครองที่จะต้องทุกข์ยาก จากนั้นมีการถอดตำแหน่ง ผอ.โรงเรียนออกไป พวกเราไปอำเภอขอ ผอ.คืน ก็ไม่ได้ บอกให้ไปที่เขตการศึกษาฯ เราให้ทางเขตการศึกษาฯ มาชี้แจง กลับเสนอให้ยุบรวมอีก พอเราร้องเรียน ก็ถูกกล่าวหาว่าพูดมาก ขัดขวางราชการอีก อย่างไรก็ตาม เราจะต้องดึงโรงเรียนของเราไว้ ไม่ใช่จะให้เด็กนักเรียนไปตายเอาดาบหน้าเช่นนั้น” ผู้ใหญ่บ้านบ้านม่อน กล่าว

ในขณะตัวแทนครู จากโรงเรียนวัดหนองหล่ม จ.ลำพูน ก็บอกว่า โรงเรียนในตอนนี้มี นักเรียนทั้งหมด 50 คน มีครูอยู่ทั้งหมด 5 คน สาเหตุก็คือ โรงเรียนขนาดเล็กก็เพราะชาวบ้านไม่ยอมมีลูก เพราะมุ่งออกไปทำงานรับจ้างในนิคมอุตสาหกรรมกันหมด พอออกไปทำงาน ก็เอาลูกออกไปเรียนข้างนอกด้วย

“ยกตัวอย่างในบัญชี มีจำนวนเด็กที่อยู่ในทะเบียนบ้าน 37 คน แต่ที่อยู่ในชุมชนจริงๆ เหลือเพียง 5 คนเท่านั้น นี่คือปัญหาในขณะนี้”

อีกปัญหาหนึ่ง ที่ตัวแทนครู บอกเล่า ก็คือ โรงเรียนส่วนใหญ่ มีครูหลายคนมุ่งแต่ทำผลงานทางวิชาการ ทำอาจารย์ 3 อีกทั้งยังขาดครูรายวิชาเอก ทำให้ครูคนเดียว ต้อนสอนทุกวิชา ซึ่งแน่นอน เรื่องคุณภาพในการจัดการเรียนการสอนของครูย่อมขาดทักษะ ส่งผลต่อการเรียนของเด็กได้

“ยกตัวอย่าง ทางโรงเรียนวัดหนองหล่มขาดครูวิชาเอกอังกฤษ ซึ่งทางโรงเรียนได้ทำหนังสือไปขอครูเอกภาษาอังกฤษกับทางเขตการศึกษาฯ หลายครั้งแต่ก็เงียบเฉย เขาไม่สนใจอยู่แล้ว เพราะเขาต้องการจะยุบโรงเรียนของเราอยู่แล้ว” ตัวแทนครูบ่นพ้อ

เช่นเดียวกับ ตัวแทนครูจากโรงเรียนบ้านสามขา อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ก็ออกมาพูดว่า ความล้มเหลวทั้งหมดขอยกให้กับนโยบายรัฐและเขตการศึกษา ที่ไม่มีมาตรการกำกับดูแลครูให้มีประสิทธิภาพ ใช้งานครูมาก แต่ไม่ค่อยสนับสนุน

“ที่ผ่านมา กระทรวงและเขตพื้นที่ จะให้งานครูมาทำที่โรงเรียนกันมากพอๆ กับเจ้าหน้าครูที่ในเขตการศึกษา แต่กลับไม่มีการสนับสนุนในเรื่องการเรียนการสอน อีกทั้งหลักสูตรและระบบการทำงานก็มองข้ามความเป็นมนุษย์ ไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชนท้องถิ่น แล้วจู่ๆ ก็มีข่าวมาว่าจะยุบโรงเรียนขนาดเล็กอีก ซึ่งทำไมไม่ทำงานวิจัยกันก่อนว่า สมควรจะยุบ ไม่ยุบ หรือยุบรวมหรือไม่อย่างไร ก่อนตัดสินใจ”

ด้าน นายสมบูรณ์ รินท้าว ตัวแทนครู โรงเรียนขนาดเล็กจาก จ.น่าน ได้ลุกขึ้นกล่าวว่า ตนทราบข่าวจากสื่อ ว่าจะมีการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ก็รู้สึกไม่สบายใจ จึงได้คุยกับกลุ่มครู ว่าทำอย่างไรถึงจะต่อสู้เรื่องนี้ได้ จึงมาขอร่วมต่อสู้กับทางสภาการศึกษาทางเลือกในครั้งนี้ด้วย

ตัวแทนครู โรงเรียนขนาดเล็ก จาก จ.น่าน ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุปัญหาที่ทำให้กลายเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ว่า ปัญหาแรกคือปัญหาวิกฤติประชากร คือมีคนในวัยเจริญพันธุ์พากันอพยพเข้าไปทำงานในเมืองกันหมด ดังนั้น เห็นได้ว่า ในรอบปีที่ผ่านมา หมู่บ้านจะไม่มีเด็กเกิดใหม่เลย

“อีกสาเหตุหนึ่ง ก็คือ ปัญหาเรื่องระบบการศึกษา ทุกวันนี้มีการกระจายทรัพยากรทางการศึกษาเสมอภาคจริง แต่ไม่เท่าเทียม คุณกระจายบุคลากรไปนั่งทำงานในเขตพื้นที่ แต่ในขณะที่โรงเรียนในชุมชน ครูคนเดียวแต่ต้องสอนถึง 8 สาระการเรียนรู้ นี่คือความไม่เท่าเทียม”

นายสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาจะมาอ้าง มากล่าวหาว่า โรงเรียนขนาดเล็กนั้นไม่มีคุณภาพ ตนขอค้าน เพราะที่โรงเรียนไม่มีคุณภาพ ครูไม่มีประสิทธิภาพนั้น ก็เพราะขาดการสนับสนุนจากข้างบน

“ถ้ารัฐให้งบมาให้ปีละ2แสน ผมจะทำคุณภาพให้ดู ผมจะจ้างคนในชุมชนที่จบ ปวช. เด็กจบ ป.ตรี มาสอนให้ดู ผมจะให้เรียนผ่านไทยคม ซึ่งที่ผ่านมา เด็กนักเรียนก็เรียนได้ดี สามารถสอบโอเน็ทได้”

เช่นเดียวกับ นายศรีมาศ เชื้อหมอ ตัวแทนครูจาก จ.น่าน ก็บอกย้ำว่า ที่ผ่านมา หน่วยงานระดับบนไม่ได้ให้ความสำคัญต่อครู ต่อโรงเรียนในท้องถิ่น

“เพราะฉะนั้น ข้างบนจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดกันใหม่ ไม่ว่าในเรื่องการจัดสรรงบประมาณเรื่องวัสดุครุภัณฑ์ หรือเรื่องการจัดสรรบุคลากร ยกตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้ ในพื้นที่ของเรา มีเจ้าหน้าที่ธุรการ 1 คน แต่ต้องรับผิดชอบตั้ง 4 โรงเรียน อย่างนี้จึงทำให้การศึกษาไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น ถ้ายุบโรงเรียน ก็ยิ่งทำให้เด็กๆ กลุ่มนี้ด้อยโอกาสมากขึ้นไปอีก”

เช่นเดียวกับ ตัวแทนชาวบ้านชนเผ่าปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดนอก อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ก็ออกมาบอกว่า หมู่บ้านของตนนั้น โรงเรียนถูกยุบไปนานแล้ว ทุกวันนี้เด็กนักเรียนในหมู่บ้านต้องเดินเท้าออกไปเรียนร่วมกับโรงเรียนบ้านป่าตึง ซึ่งเป็นชุมชนเผ่าลีซู

“ทุกวันนี้ เด็กนักเรียนต้องเดินเท้าไปเรียนข้างนอก ใช้เวลาเดินทางไป-กลับร่วม 8 กิโลเมตร นอกจากเด็กๆ จะลำบากเรื่องการเดินทางกันแล้ว ยังมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เพราะต้องไปเรียนร่วมกับชุมชนวัฒนธรรมอื่น หลายคนก้าวร้าว ซึ่งผู้ปกครองเริ่มหวั่นไหว กลัววิถีชีวิตจะเปลี่ยนไป ไม่อยากส่งไปเรียน ดังนั้นตอนนี้ชาวบ้านกำลังเรียกร้องให้มีการเปิดโรงเรียนขึ้นในชุมชนของตน”

ด้าน นายเทวินฎฏฐ์ อัครศิลาชัย ผู้อำนวยการโรงเรียนม่อนแสงดาว อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งเป็นหนึ่งโรงเรียนที่จัดการศึกษาทางเลือก และเป็นรองเลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก ได้กล่าววิเคราะห์ถึงปัญหาเหล่านี้ว่า จะเห็นได้ว่า ตราบใดที่การศึกษาของไทยยังมีระบบแบบนี้ ย่อมมีปัญหาไม่มีวันจบสิ้น เพราะระบบการศึกษาในปัจจุบันมันเป็นการรวมศูนย์เอาไว้ที่ส่วนกลาง

“เพราะฉะนั้น ปัญหาเฉพาะหน้าตอนนี้ ตนเห็นด้วยที่จะช่วยกันหยุดยั้งไม่ให้มีการยุบโรงเรียนขนาดเล็กให้ได้ เพราะมันจะกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนเป็นอย่างมาก หลังจากนั้น เราจะต้องเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมไปถึงการพัฒนาครูไปพร้อมๆ กัน”ผู้อำนวยการโรงเรียนม่อนแสงดาว กล่าวในตอนท้าย

...ตอนหน้า เราไปฟังความเห็นของตัวแทนชาวบ้าน ครูและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่าจะมีข้อเสนอและทางออกอย่างไร ?!

 

สรุปประมวลภาพรวมปัญหาและผลกระทบ

  1. ปัญหานโยบาย:การที่รัฐไม่ให้การสนับสนุน กระจายทรัพยากรอย่างไม่เท่าเทียมและไม่เป็นธรรม ซึ่งมาจากวิธีคิดในเรื่องการจัดการศึกษาที่มองข้ามวิถีท้องถิ่น , นโยบายรัฐมองข้ามคนด้อยโอกาส คนที่อยู่ห่างไกล และการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยไม่ได้มองว่าชุมชนมีทุนเดิมในการจัดการศึกษา สร้างการเรียนรู้ให้กับลูกหลานในชุมชน
  2. มาตรการและการจัดการศึกษามีลักษณะการรวมศูนย์ อยู่ที่เขต กำหนดโดยเขตการศึกษา ไม่มีการกระจายการจัดการศึกษาให้กับท้องถิ่น
  3. กระแสสังคม การพัฒนา ค่านิยม การบริโภค ความเจริญทางเศรษฐกิจ เกิดโรงเรียนในฝัน โรงเรียนที่ตอบสนองกระแสหลัก เน้นโรงเรียนเด่น การขยายตัวของโรงเรียนเอกชน
  4. ปรัชญาการศึกษาที่ไม่สอดคล้อง มองข้ามวิถีท้องถิ่น , มองข้ามคนด้อยโอกาส และขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน
  5. ปัญหาจากตัวชุมชน มีการเปลี่ยนไป พึ่งตนเองน้อยลง หวังพึ่งคนอื่น
  6. ปัญหาจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ในเรื่องค่านิยม ต้องการให้เรียนสูง มีอาชีพที่มั่นคง และมีเวลาให้กับบุตรหลานลดลง ปล่อยให้เรื่องการเรียนรู้เป็นเรื่องของโรงเรียนเป็นผู้จัดการ
  7. ปัญหาจากจำนวนเด็ก ลดลง และโอกาสทางการศึกษาของเด็กด้อยโอกาส
  8. ปัญหาจากครู ผู้อำนวยการโรงเรียน และโรงเรียน ทั้งในเรื่องคุณภาพการสอน , การไม่มีเวลาสอนให้กับเด็กนักเรียน และคุณภาพของโรงเรียน
  9. แนวทางมาตรการต่าง ๆ การจัดการ การสนับสนุน การชี้วัดประเมินผล การทำผลงาน การทำหลักสูตร มาจากส่วนกลางเป็นหลัก
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ! วิพากษ์พุทธทาสในวันล้ออายุปีที่ 105

Posted: 26 May 2011 11:35 AM PDT

 

 

ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ! วิพากษ์พุทธทาสในวันล้ออายุปีที่ 105 [1]

 

ธัมมิกสังคมนิยม0002 - ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ! วิพากษ์พุทธทาสในวันล้ออายุปีที่ 105 

สำหรับชื่อ มันอาจจะยาวตามความหมายที่ว่า ประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมที่เป็นธัมมิกะ แล้วก็ดำเนินงานโดยวิธีเผด็จการ ถ้าจะพูดให้สั้นสักหน่อยก็ว่า ธัมมิกสังคมนิยมเผด็จการ ประเทศเล็กๆ จะต้องใช้ระบบนี้ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในเวลานี้ [2]

พระเงื่อม อินทปัญโญ หรือที่เรารู้จักกันในนาม “พุทธทาสภิกขุ” นับได้ว่าเป็นพระปัญญาชนชาวไทยที่มีความโดดเด่นที่สุดคนหนึ่ง นับจากพระวชิรญาณภิกขุ วัตรปฏิบัติ ตัวตนและคำสอนของเขาได้กลายเป็นชุดความคิดหลักอันแข็งแกร่ง คำสอนเชิงจิตวิญญาณ ประสบการณ์การตื่นรู้ การตีความพระไตรปิฎก ไม่ใช่ปัญหาสำหรับผู้เขียน แต่การนำคำสอนทางศาสนาไปตัดสินความถูกต้องทางการเมืองของพุทธทาสต่างหากที่นอกจากจะไม่มีคนตั้งคำถามอย่างเป็นกิจลักษณะแล้ว [3] กลับสนับสนุนเอออวย วิธีคิดหลายอย่างของเขานับวันจะเป็นการบั่นทอนทำลายการเมืองที่เปิดกว้างแบบประชาธิปไตย ที่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ความเชื่อมั่นวางใจในมนุษย์ปุถุชนว่ามีความเสมอภาค เท่าเทียมกัน มีความสามารถพอเพียงที่จะดูแลกันได้ แต่หลักธรรมที่ตีความโดยพุทธทาสกลับมีนัยที่ตรงกันข้ามอย่างรุนแรง

บทความนี้เป็นความพยายามจะใส่แว่นมองการเมืองในคำสอนของพุทธทาส ผ่านหนังสือ ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้ว เห็นว่าข้อเขียนที่ปรับมาจากการบรรยายนี้ เป็นตัวแทนความคิดทางการเมืองของพุทธทาสในยามที่สังคมไทยเข้าสู่สภาวะหน้าสิ่วหน้าขวาน เมื่อเกือบสี่ทศวรรษผ่านมาแล้ว นอกจากนี้ในฐานะพุทธศาสนิกชนคนหนึ่งที่ศรัทธาทั้งศาสนาและประชาธิปไตย ผู้เขียนขอทดลองนำเสนอความเสมอภาคในภาษา ไม่แบ่งแยกศัพท์สามัญชนกับพระสงฆ์ เพื่อลดทอนความสูงส่งของสถานะที่ค้ำคอระหว่างนักบวชและคนเดินดิน ให้เหลือเพียงความสัมพันธ์อันเท่าเทียมกันของเพื่อนมนุษย์

ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ เป็นหนังสือที่นำมาจากการบรรยายอบรมผู้พิพากษา เมื่อวันที่ 14-15 กันยายน 2517 ในยุคหลัง 14 ตุลาคม 2516 ที่ฝ่ายก้าวหน้าเห็นว่าเป็น ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน แต่ฝ่ายอนุรักษ์กลับเห็นว่าเป็นภาวะของความวุ่นวาย ชุดความคิดดังกล่าวเกิดก่อนการประทุขึ้นของความรุนแรงที่เป็นอาชญากรรมจากน้ำมือรัฐ ที่บรรลุจุดสุดยอดในปี 2519 อันนำไปสู่ผลลัพธ์ก็คือ ความสงบราบคาบและเรียบร้อย โดยมีกลไกสำคัญคือ การใช้กำลัง การรัฐประหาร และอำนาจเผด็จการ

 

พุทธทาส รูปปฏิมาของปัญญาชนนักปฏิวัติ

อาจกล่าวได้ว่าในฝ่ายของนักการเมือง นักเขียนและนักเคลื่อนไหวหัวก้าวหน้า ได้มีความพยายามผูกโยงพุทธทาสเข้าเป็นส่วนหนึ่งของยุคสมัยของการปฏิวัติสยาม 2475 ด้วยเหตุที่ว่า เขาตัดสินใจทิ้งกรุงเทพฯ เดินทางกลับบ้านนอกเพื่อไปสร้างสถานที่ในอุดมคติของชาวพุทธที่บ้านเกิด [4] ซึ่งเป็นช่วงเวลาหนึ่งเดือนก่อนการโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของคณะราษฎร ไม่เพียงเท่านั้นพุทธทาสยังถูกนับรวมให้เป็นพวกเดียวกันกับนักการเมืองและนักคิดฝ่ายประชาธิปไตยอย่างปรีดี พนมยงค์ และกุหลาบ สายประดิษฐ์ ไว้อีกด้วย มีบันทึกไว้ว่า ครั้งก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรีดี พนมยงค์ เคยเชิญพุทธทาสขึ้นมาอยุธยาเพื่อสนทนากันอย่างออกรส และเคยพูดคุยกันถึงขนาดว่า จะสร้างสวนโมกข์ที่อยุธยา [5] สำหรับกุหลาบ สายประดิษฐ์ เองก็พบว่าบันทึกของเขาได้ บรรยายถึงการเดินทางไปปฏิบัติธรรมถึงสวนโมกข์ สุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2495 จนได้ตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือในภายหลัง [6]

งาน “"ปรีดี พนมยงค์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ พุทธทาสภิกขุ บุคคลสำคัญของโลก” [7] ที่จัดขึ้น ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ในวันที่ 24 มิถุนายน 2549 ซึ่งตรงกับวันปฏิวัติสยาม เมื่อ 74 ปีก่อน ยิ่งแสดงนัยสำคัญของปัญญาชนนักปฏิวัติร่วมสมัยชัดเจนขึ้นไปอีก เมื่อสรุปถึงความสัมพันธ์ของทั้งสามบุรุษว่า “เป็นผู้สร้างสังคมทั้งทางโลกและทางธรรม ถือเป็นคนที่อยู่ใน "สำนึกคิด" เดียวกัน และเป็นคนที่อยู่ร่วมในศตวรรษแห่งสามัญชน”

หากมองลึกลงไปแล้ว สิ่งที่พุทธทาสแตกต่างจากสามัญชนทั้งสองนั่นก็คือ การที่ ปรีดี และกุหลาบ อยู่ในโลกปุถุชนที่อยู่ในกระแสของการเปลี่ยนที่รุนแรงเชี่ยวกรากทางการเมือง ทั้งสองแทบจะไม่มีเกราะคุ้มภัยตนเอง พวกเขามีปฏิบัติการทางการเมืองผ่านทางข้อเขียน บทความ รวมไปถึงกิจกรรมทางการเมืองเพื่อมนุษยชาติ แต่ในเวลาต่อมากลับกลายเป็นสิ่งต้องห้ามในสังคม และถูกตราหน้าว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ถูกป้ายสี ถูกตั้งข้อหาทางการเมืองร้ายแรงและถูกทำให้กลายเป็นบุคคลต้องห้าม จนในที่สุดพวกเขาไม่สามารถกลับมาหลับตาตายได้ในแผ่นดินมาตุภูมิ กุหลาบเสียชีวิตที่เมืองจีนในปี 2517 ส่วนปรีดีเสียชีวิตที่ฝรั่งเศสในปี 2526 ต้องใช้เวลานับทศวรรษถึงจะฟื้นฟูเกียรติภูมิพวกเขาเหล่านั้นจากการย่ำยีจากรัฐและชนชั้นนำไทย

Timeline42วันก่อนมรณภาพ - ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ! วิพากษ์พุทธทาสในวันล้ออายุปีที่ 105
คลิปข่าวจากหนังสือพิมพ์ ที่มา หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทฺปัญโญ
http://archives.bia.or.th/
(คลิกที่รูปเพื่ออ่านรายละเอียด)

สำหรับพุทธทาสนั้น ความคิด และคำสอนของเขาถูกถ่ายทอดอย่างอิสระ แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์และท้าทายอยู่บ้าง แต่เราต้องเข้าใจกันให้ดีเสียก่อนว่า พุทธทาสนั้นมีพรรคพวกที่ใหญ่โตและความสัมพันธ์ที่ไม่ไกลนักจากชนชั้นนำของประเทศ ข้อหาที่ร้ายแรงที่สุดก็คือ การถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ก็ถือว่าเขายังมีเกราะคุ้มภัยด้วยกาสาวพัสตร์และเส้นสายกับ “ทางการ” ที่แข็งแกร่ง ข้อธรรมความคิดของพุทธทาส นับได้ว่าเติบโตและงอกเงยอย่างต่อเนื่องกันไม่ขาดสายจากรุ่นสู่รุ่น หากเทียบกับสามัญชนทั้งสองที่ความตายถูกทำให้กลายเป็นความเศร้าสงัดที่ไร้เสียงแล้ว ความตายของพุทธทาสในปี 2536 นั้นต่างกันไป อาการป่วยหนักจนถึงวันมรณภาพกลายเป็นข่าวที่ขายได้ การตายของพุทธทาสจึงเป็นที่รับรู้ในวงกว้างของมวลชน ในฐานะพระผู้ยิ่งใหญ่ในยุคสมัยที่ได้จากไป พิธีฌาปนกิจยังได้รับการบันทึกเทป และนำมาเผยแพร่ในภายหลัง ทุกวันนี้เรายังหาดูได้ง่ายจากใน Youtube [8] เสียด้วยซ้ำ

 

พุทธทาส รูปปฏิมาของปัญญาชนพุทธเถรวาท

จุดเด่นสำคัญอีกประการก็คือ การใช้เทคโนโลยีการพิมพ์เข้าช่วยในการขยายความคิด ผลงานของพุทธทาสในระหว่างที่มีชีวิต เขาได้อุตสาหะผลิตงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ งานเขียนของเขาทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการถูกเก็บเป็นระบบอย่างดีจนนำไปสู่การตั้งหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทฺปัญโญ ในปัจจุบัน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่งานของเขาจะถูกผลิตซ้ำออกมาอย่างมากมาย หากตามรอยพุทธทาสแล้วจะพบว่า บทความชิ้นแรกที่ได้ตีพิมพ์สู่สาธารณะชื่อว่า “ประโยชน์แห่งทาน” พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระอุปัชฌาย์ ในปี 2473 ขณะที่ศึกษาต่อที่วัดปทุมคงคากรุงเทพฯ เมื่อเขากลับบ้านไปสร้างสวนโมกข์ ได้ให้กำเนิดหนังสือพิมพ์ พุทธสาสนา ในปี 2476 [9] มีการลงทุนซื้อเครื่องพิมพ์เพื่อสนับสนุนการเผยแพร่ดังกล่าวอย่างเป็นกิจลักษณะ [10] การเผยแพร่ธรรมในลักษณะดังกล่าวจึงเผยแพร่ไปทั่วประเทศ พร้อมๆไปกับการขยายตัวของการศึกษาของชนชั้นกลางมากขึ้น รสชาติของการตีความศาสนาแนวใหม่ ที่ใช้โวหารที่ชาญฉลาด ใช้คำศัพท์ทางปรัชญาตะวันตก ภูมิปัญญาพุทธศาสนาในแขนงอื่นๆ น่าจะช่วยดึงดูคนรุ่นใหม่เข้าถึงพุทธศาสนาได้มาก “หลักอนัตตากับการอบรมประชาชน” (ปี 2476) “พระสงฆ์ควรเลิกยาเสพติด” (ปี 2480) “จุดแท้จริงของความเป็นคน!” (ปี 2484) “พระที่ตรงตามตัวหนังสือ” (ปี 2486) “ฯลฯ นี่เป็นเพียงตัวอย่างของหัวข้อธรรมในยุคนั้น

การอธิบายศาสนาด้วยมุมมองใหม่ เป็นภาพตัดที่ชัดเจนกับ สังคมสงฆ์แบบเก่าที่ถูกเขย่าไปกับกระแสโลก คร่า

ครึ น่าเบื่อ อย่างไรก็ตามแรงกระเพื่อมสำคัญ ที่ทำให้คนหวนกลับมานึกถึงศาสนากันขนานใหญ่ น่าจะเกิดขึ้นหลังจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ตั้งแต่การเมืองระดับประเทศที่ไร้เสถียรภาพ เกิดสิ่งที่ไม่คาดฝันอย่างคดีสวรรคต ณ ใจกลางเมืองหลวง ขณะที่รอบๆกรุงเทพฯ เกิดคดีอาชญากรรมพุ่งสูงไปทุกหย่อมหญ้า ภาวะข้าวยากหมากแพงกระจายไปทั่ว ข่าวแพร่สะพัดเรื่อง ส.ส.ทุจริต เหล่านี้นำไปสู่วิกฤตศรัทธาต่อคณะราษฎรที่นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมไทย อุดมการณ์รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยของคนที่เสมอกันที่เคยสุกสกาว กลับถูกบ่อนทำลายลงด้วยตัวมันเอง และพลังอนุรักษ์นิยมที่โต้กลับ ภาวะอันน่าตระหนกของสังคมที่ถดถอย นอกจากกลับไปเสริมอุดมการณ์ราชาชาตินิยมให้เข้มแข็งขึ้นมาแล้ว ยังได้ไปสอดคล้องกับพลังอนุรักษ์นิยมทางศาสนาด้วย นั่นคือ คติกึ่งพุทธกาลที่กำลังจะมาถึงในปี 2500 ตามความเชื่อปรัมปราเชิงพุทธในนาม “ปัญจอันตรธาน” ที่อธิบายกันสืบมาว่า เมื่อศาสนาพุทธมีอายุได้ 5,000 ปี พุทธศาสนาจะหายไปจากโลกมนุษย์ ดังนั้นในปี 2500 จึงนับได้ว่าเป็นครึ่งทางของมิติเวลาทางพุทธศาสนา ซึ่งเรียกกันว่าเป็นยุค “กึ่งพุทธกาล” ซึ่งสะท้อนความเสื่อมถอยของสังคมไทยที่พยายามผูกแน่นกับอุดมการณ์ทางศาสนา

ในด้านหนึ่งพุทธศาสนิกชนจึงแห่กันสร้างถาวรวัตถุเพื่อสืบพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้การเติบโตของทุนนิยมในทศวรรษ 2490 จึงเข้าไปเป็นเนื้อในหนึ่งของวัดโดยทั่วไป การขยายตัวของทุนไปกันได้ดีกับการระดมทุนแบบทอดผ้าป่าสามัคคี ทอดกฐิน การเริ่มขยายตัวของวัตถุมงคล พุทธพาณิชย์ [12] เงินมหาศาลจึงเริ่มหลั่งไหลเข้าไปสู่วัด ในเวลาไม่ช้าเราจึงพบว่า วัดหลายแห่งสั่งสมทุนกลายเป็นนายทุนขนาดใหญ่ และอาจนับได้ว่ากลายเป็นเครือข่ายกับนายทุนอย่างธนาคาร ตามหัวเมืองต่างๆไปด้วย ดังนั้นสำหรับวัดโดยทั่วไปแล้ว จึงเต็มไปด้วย ถาวรวัตถุใหญ่โต พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ เครื่องรางของขลัง

ขณะที่พุทธทาส ประกาศพุทธศาสนาอันเรียบง่ายมุ่งไปสู “ความเดิมแท้” โดยหันย้อนกลับไปยึดเอาสภาพแวดล้อมสมัยพุทธกาลเป็นต้นแบบ จากการตีความจากพระไตรปิฎกที่เขาเปรียบว่าเป็นธรรม “จากพระโอษฐ์” ของพระพุทธเจ้า ดังนั้นการเกิดขึ้นและชื่อเสียงของสวนโมกข์ ความรู้ทางธรรมะที่ตีความใหม่ที่มากับเทคโนโลยีการพิมพ์ของเขา ล้วนแสดงจุดยือที่อยู่กันคนละฟากฝั่งกับวัดและพระสงฆ์ในสมัยเดียวกันอย่างยิ่ง

สำหรับปัญญาชนหัวสมัยใหม่ที่มักเชื่อว่าตนเองยึดหลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้แล้ว วัดและพระสงฆ์ที่มีภาพลักษณ์ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ มุ่งแสวงหาเงินทองเพื่อก่อสร้างถาวรวัตถุ บูชาเครื่องรางของขลัง จึงไม่เป็นที่ตั้งของศรัทธา พวกเขาต้องการธรรมะและผู้นำทางธรรมที่มีศักยภาพมากพอที่จะสื่อสารกับพวกเขาและตอบคำถามทางศาสนาที่เข้ากับวิถีชีวิตในโลกสมัยใหม่ที่กำลังเข้ามาถึงได้ ซึ่งจะมีใครเหมาะไปกว่าพุทธทาสภิกขุ

 

ก่อนจะถึง ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ!

ชื่อเสียงของการเผยแพร่และคำสอนที่โต้แย้งความงมงาย แต่เรียบง่าย ลัดสั้น ตรงใจคน ทำให้พุทธทาสไม่ได้มีสถานะเป็นเพียงพระบ้านนอกอีกต่อไป เขาได้รับเชิญให้ไปปาฐกถาธรรมที่กรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็น พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย [13] ซึ่งเริ่มต้นอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2489 ด้วยเรื่อง “พุทธศาสนากับสันติภาพ” เรื่อง “พุทธธรรมกับเจตนารมณ์แห่งประชาธิปไตย” (2490) "ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม" (2491)

เราพบว่า บทบาทของพุทธทาสโดดเด่นในที่สาธารณะมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขนาดได้รับเชิญให้ไปบรรยายยังสถาบันการศึกษาที่เชื่อกันว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นเลิศอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ของพระปัญญาชนร่วมสมัยได้เป็นอย่างดี เช่น การปาฐกถาที่หอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง "พระพุทธศาสนาจะช่วยพวกเราในปัจจุบันนี้ได้อย่างไร" ในปี 2490 แสดงธรรมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง "ส่วนสำคัญของพระพุทธศาสนาที่ทุกคนควรรู้จัก" ตามคำอาราธนาของสมเด็จพระราชชนนี องค์อุปถัมภกของชมรมกลุ่มศึกษาพุทธศาสตร์และประเพณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกันว่ามีผู้ฟังมากถึง 3,000 คน ในปี 2503 หรือการ ร่วมสัมมนาเรื่อง "การศึกษาพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัย" ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแสดงธรรมอบรมนิสิต ในปี 2504 [14]

นอกจากนั้นบทบาทการเผยแพร่ธรรมอันโดดเด่นยังปรากฏในการบรรยายต่างๆ ที่ได้รับการถอดเทปและตีพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มในที่สุดได้แก่ ปี 2502 บรรยาย "อานาปานสติ" (ฉบับสมบูรณ์) ในสวนโมกข์ ปี2504 พูดเรื่อง "ตัวกู-ของกู" อบรมพระสงฆ์สามเณร ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น เริ่มสร้างสร้างโรงมหรสพทางวิญญาณ (โรงหนังแบบสวนโมกข์) และมีโรงปั้นเพื่อปั้นภาพพุทธประวัติยุคแรกของโลก ตั้งแต่ปี 2505 ใช้เวลาราว 10 ปี นอกจากนั้นยังมีกรณีดีเบททางประวัติศาสตร์กับ คึกฤทธิ์ ปราโมช นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ชื่อดังแห่งยุค ในปี 2507 ที่เรียกกันว่า “ธรรมสากัจฉา” [15] อาจเป็นการไม่เกินเลยนักที่จะกล่าวว่า หลังยุคกึ่งพุทธกาล พุทธทาสได้ขยายอาณาจักรทั้งคำสอนและสวนโมกข์อย่างกว้างขวางและมั่นคงไปแล้ว

touku - ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ! วิพากษ์พุทธทาสในวันล้ออายุปีที่ 105
บทกลอน ตัวกู-ตัวสู เขียนเมื่อปี 2509 หลังจากที่ ประเด็น ตัวกู-ของกู เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายแล้ว

แต่ความมั่นคงหนักแน่นของพุทธทาสนั้นช่างสวนทางกับ สถานการณ์ของวงการสงฆ์ในทศวรรษ 2500 เสียเหลือเกิน ในหน้าประวัติศาสตร์แล้ว ถือว่าช่วงนี้เป็นวิกฤตที่นำไปสู่การเปลี่ยนโครงสร้างเชิงอำนาจของพระ กรณีคลาสสิคที่เกิดขึ้นก็คือ พระสงฆ์หัวก้าวหน้าอย่าง พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ถูกเล่นงานโดยวิธีทางการเมืองของพระผู้ใหญ่ จนในที่สุดถูกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถอดออกจากสมณศักดิ์ และจับสึกในปี 2505 อันเป็นเดียวกันกับที่ สฤษดิ์ ร่วมกับพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ ล้มพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ปี 2484 ที่จัดระเบียบการปกครองภายในให้มีความเป็นประชาธิปไตยโดยมีการแบ่งแยกอำนาจ นิติบัญญัติ บริหารและการปกครองออกจากกันเพื่อการถ่วงดุลตรวจสอบ โดยเสนอกฎหมายใหม่ ให้คณะสงฆ์อยู่ใต้การปกครองของ มหาเถรสมาคม อันเป็นรูปแบบที่คล้ายคลึงกับการปกครองสงฆ์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่รวบอำนาจไว้ส่วนกลาง โดยไม่มีการแบ่งแยกอำนาจเพื่อการตรวจสอบและถ่วงดุลกันเอง

แต่จนบัดนี้ยังไม่พบหลักฐานว่า พุทธทาสได้กล่าวถึงความขัดแย้งและวุ่นวายในวงการสงฆ์ในช่วงทศวรรษนั้นแต่อย่างใด นี่ถือว่าเป็นความเงียบที่พุทธทาสมีท่าทีวางเฉยต่อสังคมการเมืองสงฆ์

 

ตุลาการคอนเนคชั่นของพุทธทาส

ในทางกลับกัน แม้จะมีบันทึกว่า หลังจากที่แสดงธรรม "ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม" ในปี 2491 พุทธทาสต้องเผชิญกับข้อหากล่าวหาคอมมิวนิสต์ ในความเป็นจริงแล้ว ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของพุทธทาสกับชนชั้นนำในสถาบันตุลาการ ยังไม่นับความมีชื่อเสียงในหมู่ปัญญาชนคนรุ่นใหม่ กลับเป็นเครื่องการันตีความปลอดภัยของพุทธทาสได้อย่างหนักแน่น

เราพบความสัมพันธ์ที่เรียกได้ว่าเป็น “สหายธรรม” ของพุทธทาส 3 คนที่ถือว่าเป็นกัลยาณมิตรได้แก่ พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ (วงศ์ ลัดพลี), พระดุลยพากย์สุวมัณฑ์ (ปิ่ณฑ์ ปัทมัษฐาน) และสัญญา ธรรมศักดิ์ มีจดหมายติดต่อกันไว้จำนวนมาก โดยเฉพาะสัญญา ที่ถือว่าเป็นคนรุ่นเดียวกันกับพุทธทาส เหลือหลักฐานจดหมายมากถึง 180 ฉบับ จากประวัติพบว่า พุทธทาส-สัญญา รู้จักกันมาตั้งแต่ทศวรรษ 2470 [16] ความสัมพันธ์เช่นนี้จึงไม่เกินความคาดหมายว่า ไฉนพุทธทาส จึงมีบทบาทมากในการอบรมข้าราชการแวดวงตุลาการในปีต่างๆ เช่น ปี 2494 อบรมข้าราชการในสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมและศาล ที่กรุงเทพฯ เรื่อง "ทุกขขัปนูทนกถา ปี 2498 อบรมข้าราชการตุลาการครั้งแรก เรื่อง "ใจความสำคัญของพุทธศาสนา" ณ ห้องบรรยายเนติบัณฑิตยสภา ต่อมาพิมพ์เป็นเล่มชื่อหลักพระพุทธศาสนา และพิมพ์ในชุดธรรมโฆษณ์ ชื่อ "ตุลาการิกธรรม เล่ม 1" การบรรยายชุดนี้ทำต่อเนื่องมาอีกรวม 14 ครั้ง [17]

 

จากการเรียกร้องประชาธิปไตยของมวลชนสู่การปรับบรรยากาศทางการเมืองแบบควบคุม

การสั่งสมภูมิปัญญาทั้งส่วนที่เป็น “เสรีนิยมประชาธิปไตย” “สังคมนิยม” และ “อนุรักษ์นิยม” ได้ระเบิดออกมาปะทะกับการผูกขาดอำนาจทางการเมืองของกลุ่มเผด็จการในเหตุการณ์ที่เรียกว่า 14 ตุลา 2516 แม้จะทำลายกลุ่มอำนาจ ถนอม-ประภาส-ณรงค์ ได้สำเร็จ แต่ก็มิใช่เป็นการสถาปนาความคิดและอุดมการณ์ที่ก้าวหน้าให้มั่นคงนัก พลังที่ถูกปลดปล่อยออกมา ในที่สุดก็ถูกตะล่อมให้เข้าทางพลังอนุรักษ์นิยมในเวลาต่อมา

ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จะจบลงอย่างเป็นทางการ ได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งสัญญา ธรรมศักดิ์ ผู้มีตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองคมนตรี ดำรงตำแหน่งใหม่เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแสดงให้เห็นว่า สำหรับฝ่ายชนชั้นนำแล้ว สัญญา ธรรมศักดิ์ ถือเป็น คนที่เป็นคนดีมีคุณธรรม มีความรู้ความสามารถ เพียงไม่กี่ตัวเลือกในสมัยนั้น

สัญญา ธรรมศักดิ์ - ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ! วิพากษ์พุทธทาสในวันล้ออายุปีที่ 105
ภาพถ่ายของสัญญา ธรรมศักดิ์ มีคำบรรยายว่า
“นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี กล่าวปราศรัยกับประชาชนชาวไทย
ทางโทรทัศน์ ณ หอตึกพระสมุด สวนจิตรลดา คืนวันที่ 14 ตุลาคม 2516”

การเชิดชูภาพลักษณ์ของความเป็นคนดีมีศีลธรรมของสัญญานั้นมิได้เป็นเพียงเพราะตัวของสัญญาเท่านั้น แต่สัญญายังเป็นรูปปฏิมาที่แบกรับความคาดหวังในชุดความคิดว่า หากผู้นำเป็นคนดีแล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง การที่สื่อมวลชนให้ฉายาว่า “รัฐบาลพระราชครู” นอกจากจะแสดงสถานะและเส้นสายแล้ว ก็ยังแสดงความคาดหวังของสังคมที่วางไว้กับสัญญาที่มีแบ็คอัพที่แน่นปึ้กอีกทางหนึ่งด้วย แต่สถานการณ์ในเมืองไทยได้มาถึงจุดที่กู่ไม่กลับได้ง่าย หลังจากที่รัฐบาลเผด็จการทหารถูกกำจัดออกไป ก็เกิดการขยายตัวของการเรียกร้องสิทธิอันเท่าเทียม อันพึงที่จะได้รับของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆที่ตื่นตัวนับตั้งแต่กรรมกร เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน เขาเหล่านั้นเป็นคนอีกชนชั้นหนึ่งที่ไม่เคยมีปากเสียงมาก่อน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สำหรับชนชั้นนำแล้ว การที่คนต่างชั้นกับตนมีปากมีเสียงนั้นภัยคุกคามอย่างยิ่งต่อความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นที่มีลำดับขั้น ปรากฏการณ์ของการขยายตัวของมวลชนที่น่าขนพองสยองเกล้าสำหรับชนชั้นนำในยุคนั้น ดาหน้ากันออกข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อย่างถี่ยิบ ได้แก่ เช่น การเดินขบวนขับไล่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ อาจารย์และครูกระจายไปทั่วประเทศ, การนัดหยุดงานของคนงานทั่วประเทศเพื่อขอค่าแรงเพิ่ม, คนงานท่าเรือยึดท่าเรือกรุงเทพฯ, นักศึกษาและแม่บ้านชุมนุมประท้วง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เรื่องเศรษฐกิจ, ครูกรีดเลือดประท้วง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, เหตุการณ์ลุกฮือของคนจีนจากการปราบปรามจีนชั้นล่างพลับพลาไชย เป็นต้น [18]

ปัญหาที่ประดังประเดภายนอกก็ถือว่าหนักหนาแล้ว ปัญหาในสภาก็ยังเกิดขึ้นดุจผีซ้ำด้ามพลอย รัฐบาลไม่ผ่านการเสนอกฎหมาย ถึง 3 ฉบับ ความบ้อท่าของรัฐบาลสัญญา เป็นที่เอือมระอาจนสื่อมวลชนตั้งฉายาใหม่ให้ว่า “รัฐบาลมะเขือเผา” สัญญาเองก็รู้ตัวดีถึงข้อจำกัดของเขาเอง และได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะลาออกหลายครั้ง แต่เมื่อตัวเลือกของชนชั้นปกครองมีน้อยยิ่งกว่าน้อย ในที่สุดก็ต้องบีบให้สัญญา ธรรมศักดิ์รับตำแหน่งตามเดิม

ที่น่าสังเกตก็คือ หลังจากข่าวการพยายามลาออกของสัญญาผ่านไปประมาณ 4 เดือน พุทธทาส ผู้เป็นสหายธรรมกับสัญญา ก็ได้แสดงธรรมแก่ผู้พิพากษา ในเดือนกันยายน 2517 ซึ่งในเวลาต่อมาได้ถูกรวบรวมพิมพ์เป็นหนังสือในชื่อว่า ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ [19]

 

และแล้ว...ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ก็ปรากฏ!

เราพบจดหมายติดต่อกันระหว่างพุทธทาส และครอบครัวของสัญญา ธรรมศักดิ์ ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เวลา 1.00 น. จากลูกชายของสัญญา ธรรมศักดิ์ ว่า “ช่วยกรุณาอำนวยพรให้คุณพ่อด้วยครับ กระผมรู้สึกแหม่งๆ ไม่สบายใจเลย แม้จะทราบว่ามันเป็นหน้าที่ แต่จิตมันก็ยังวุ่นมากครับ” ส่วนจดหมายวันที่ 17 พฤศจิกายนในปีเดียว จดหมายได้กล่าวไว้ว่า เมื่อสัญญาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะขอบวชที่ไชยา [20]

หนังสือ 100 ปี ร้อยจดหมายพุทธทาส-สัญญา - ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ! วิพากษ์พุทธทาสในวันล้ออายุปีที่ 105
หนังสือ 100 ปี ร้อยจดหมายพุทธทาส-สัญญา

ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ เป็นธรรมบรรยายผู้ที่กำลังจะเป็นผู้พิพากษา เมื่อวันที่ 14-15 กันยายน 2517 ณ สวนโมกขพลาราม ไชยา แบ่งเป็นการบรรยายสองหัวข้อ วันแรกคือ “ศีลธรรมในพระพุทธศาสนา” และวันที่สองคือ”สังคมนิยมตามหลักแห่งพระศาสนา” อาจกล่าวได้ว่าในห้วงเวลาที่บรรยากาศบ้านเมืองตึงเครียด ธรรมะของพุทธทาสก็ประกาศรสนิยมทางการเมืองของตนออกมาอย่างล่อนจ้อน

ผู้พิพากษา วรรณะปูชนียบุคคล

ในหัวข้อแรก แม้จะเป็นหัวข้อเรียบๆว่าด้วยศีลธรรม แต่ภายในเต็มไปด้วยสารและรหัสทางการเมือง พุทธทาสไม่เพียงให้คุณค่ากับเหล่าผู้พิพากษา แต่ยังแยกผู้พิพากษาเป็นคนอีกชนชั้นหนึ่งไป เขาเชิดชูว่า ตุลาการเป็นสถาบันอันดับหนึ่งของโลก เป็นสถาบันที่พิทักษ์ “ความถูกต้อง ความเป็นธรรม ความยุติธรรมของโลก” ดังนั้นควรถูกจัดวางไว้เป็น “ปูชนียบุคคล” ไม่ใช่ตำแหน่งดาดๆในฐานะข้าราชการที่ “รับใช้ประชาชน” ในมุมมองของพุทธทาสมองบทบาทในการรับใช้ประชาชนนั้น เลวกว่า ต่ำกว่าประชาชน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดูถูกความเท่าเทียมกันของมนุษย์อย่างยิ่ง วิธีคิดดังกล่าวของพุทธทาสอยู่ที่ว่า หากคนได้รับการยกย่องให้เป็นปูชนียบุคคลแล้ว คนเหล่านั้นจะมีศีลธรรมมากำกับ ในทางกลับกันถ้าแต่ละคน “มีอะไรเสมอภาคกันหมด” นั่นจะไม่มีใครเป็น “ที่ตั้งแห่งความเคารพนับถือ” แสดงให้เห็นสังคมอันมีลำดับชั้นอย่างชัดเจน ที่ผู้มี “ศีลธรรม” มีอภิสิทธิ์ที่เหนือกว่าในการปกครองคนที่ด้อยศีลธรรม

นั่นแสดงให้เห็นวิธีคิดของพุทธทาสว่า ไม่ได้เชื่อในความเสมอภาค ไปมากกว่า การเทิดทูนบุคคลโดยตำแหน่งและสถานะทางสังคมที่รองรับด้วยศีลธรรมและคุณงามความดีที่สากลครอบจักรวาล ซึ่งนั่นก็คือ การตอกย้ำความมีลำดับชั้นของสังคมไทยให้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่คนชั้นล่างในสังคมไทยกู่ตะโกนเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค

ศีลธรรมเชิงพุทธ คำตอบของทุกอย่างในจักรวาล

สิ่งที่พุทธทาสโจมตีอีกประการหนึ่งก็คือ วิธีคิดเชิงปรัชญาตะวันตกเกี่ยวกับด้านศีลธรรม ที่เห็นว่าเป็นเพียงปรัชญาไม่มีผลในการปฏิบัติ เป็นเหตุผลสำหรับพูด [21] สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาอย่างยิ่งสำหรับพุทธทาสและพุทธศาสนิกชนจำนวนมากที่ละเลยในการทำความเข้าใจว่า ปรัชญานั้นมีบทบาทต่อปฏิบัติการทางสังคมอย่างไร การตีความศีลธรรมสากลที่เกี่ยวข้องกับโลกทางการเมืองสมัยใหม่ ที่อยู่นอกพ้นไปจากประสบการณ์ทางจิตวิญญาณทางศาสนาแล้วเป็นอย่างไร

ในมุมมองทางการเมือง พุทธทาสเห็นว่า การปกครองนั้นคือระบบการทำให้มี “ศีลธรรม” เนื่องจากว่าสังคมในอุดมคติของเขา คือ สังคมบ้านเมืองที่ตั้งอยู่ในความสงบราบคาบ ทั้งที่หากศึกษาประวัติศาสตร์ของอินเดียในยุคพุทธกาลแล้ว หาได้มีความสงบสุขอย่างอุดมคติไม่ แต่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอยู่ตลอด ไม่เว้นแม้แต่ในวงศาคณาญาติของพระพุทธเจ้าที่รบกันจนแทบจะสิ้นศากยวงศ์ จะมีประวัติศาสตร์พระเจ้าอโศกมหาราช ที่ย่ำยีบีฑาแคว้นต่างๆจนสยมอยู่แทบเท้าแล้ว จึงใช้ธรรมาวุธเข้าไป และสร้างความสงบราบคามของสังคมได้ชั่วคราว สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ธรรมะด้วยตัวมันเองไม่ได้แก้ไขปัญหาทางการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพอย่างที่เสนอๆกัน

และยิ่งพุทธทาสทุบโต๊ะใช้โวหารว่า “การเมืองก็คือเรื่องศีลธรรม” ที่ผู้ปกครองก็ชั่ว ผู้ถูกปกครองก็เลวก็เพราะว่า แยกการเมืองและศีลธรรมออกจากกัน [22] ซึ่งเป็นการด่วนสรุปด้วยตรรกะเหตุผลที่แสนจะอ่อนด้อย ไม่แน่ใจว่าพุทธทาสไม่เข้าใจสังคมที่สลับซับซ้อนจริงๆ หรือว่าเขาเลือกที่จะปิดตาและอธิบายในสิ่งที่เขาเชื่อเท่านั้น เมื่อพุทธทาสก้าวข้ามเข้ามาในปริมณฑลการเมืองสาธารณะแล้ว แทนที่จะเป็นการถกเถียง โต้แย้งแลกเปลี่ยนกันตามเหตุผล อวตารของเขากลับมาในคราบของสัพพัญญูผู้รู้ทุกสิ่ง มีวาจาเป็นสัจธรรม ศีลธรรมเป็นสิ่งที่ดีงามที่สุดโดยไม่ต้องการคำถาม

อย่างประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรงก็คือเรื่องรัฐธรรมนูญ พุทธทาสกล่าวว่า “รัฐธรรมนูญที่น่าสงสารที่สุด ก็คือ รัฐธรรมนูญที่ไม่ข้องแวะกับศีลธรรมเสียเลย..ไม่เคยเห็นระบุเจาะจงลงไปว่า จะรักษาศีลธรรม...ฉะนั้นรัฐธรรมนูญนั้น จึงไม่ป้องกันภัยได้เลย” [23] ดังนั้นหากมีหลักคิดที่คับแคบเพียงนี้ การแก้ไขปัญหาก็ยิ่งดิ้นไปไหนไม่พ้นกับการป้อนยาที่ชื่อศีลธรรมให้กับปัจเจก วิธีแก้ปัญหาก็คือ การสอนให้คนมีศีลธรรมมาตั้งแต่เล็ก จนกระทั่งเป็น “ผู้ปกครองบ้านเมือง” ให้เข้าใจว่า ทุกคนในโลกนี้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ถ้าเข้าใจก็ง่ายที่จะมีศีลธรรม [24]

สังคมนิยมฉบับพุทธทาส ใบสั่งจากทางการ

ในหัวข้อที่สอง พุทธทาสเริ่มต้นด้วยคำที่หวาดเสียวสำหรับชนชั้นนำสมัยนั้นก็คือ “สังคมนิยม” แต่เอาเข้าจริงแล้วต้องถือว่าเป็นการเล่นศัพท์ของพุทธทาสเพื่อล้อสังคมนิยมตามทฤษฎีทางสังคมศาสตร์เสียมากกว่าหัวข้อธรรมที่ว่าด้วย “สังคมนิยม” ครั้งนี้ เป็นปีแรกที่ “ทางการ” ขอมา [25] สิ่งนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่าชนชั้นนำ มีความต้องการให้พุทธทาสวิพากษ์สังคมนิยมที่กำลังเติบโตงอกงามในสังคมไทย ด้วยลีลาโวหารของพุทธทาส

พุทธทาส นิยามความหมายใหม่โดยตัวเองว่า สังคมนิยม คือ “การจัดระบบที่ทำให้สังคมเป็นปกติ หรือเป็นปกติสุข” [26] และไปกันใหญ่เมื่อพุทธทาสแปล social science ว่า “ศาสตร์แห่งสังคม” ซึ่งแปลซ้ำอีกทีว่า “ของมีคมที่จะตัดปัญหาทางสังคม” เพื่อตีขลุมเข้าทางตนว่า ฉะนั้นศาสนาก็รวมอยู่ในศาสตร์สังคม [27] หรือสังคมศาสตร์ อันมีนัยว่า เมื่อมีศาสนาอันประเสริฐแล้วยังต้องการเครื่องมือใดๆอีก

การอธิบายนี้ต้อนไปสู่วิธีคิดเดิมแบบมุมมองพระเจ้าว่า ถ้าเช่นนั้น ควรจะให้การเมืองมาอยู่ในรูปของศาสนา หากเราต้องการสังคมอุดมคติที่สงบราบคาบ เนื่องจากว่า ศาสนา ก็คือ “ภาวะสมบูรณ์ของสิ่งที่เรียกว่า ศีลธรรม” [28]

ศีลธรรม - ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ! วิพากษ์พุทธทาสในวันล้ออายุปีที่ 105
ภาพถ่ายจากโปสเตอร์ในสวนโมกข์
“ถ้าศีลธรรมไม่กลับมาโลกาวินาศ
มนุษยชาติจะเลวร้ายกว่าเดรัจฉาน”

ใครว่าพุทธทาสโปรประชาธิปไตย?

ในที่สุดพุทธทาสก็เผยให้เห็นทัศนคติที่ไม่ไว้วางใจประชาธิปไตย เมื่อเขากล่าวว่า “โลกเรามีประชาธิปไตยกันมากี่สิบปีแล้ว แล้วโลกนี้เป็นอย่างไร มันมุ่งหมายไปรวมที่จุดไหน” [29] โดยที่เขาไม่ได้มองประชาธิปไตยในแง่หลักการของความเสมอภาค สิทธิเสรีภาพของมนุษย์ที่พึงจะมีจะได้ “ประชาธิปไตยเสรีนิยม” เป็นของต่ำที่ทำให้คนด้อยศีลธรรมหลงระเริงไปตามกิเลส เมื่อประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้เสียงข้างมาก ก็ยิ่งเอื้อให้คนมีกิเลสมารวมหัวกัน [30] ทำให้สงสัยว่า ตกลงพุทธทาสกำลังเสนอทางออกให้กับผู้พิพากษาที่เป็นพระอรหันต์ผู้ไร้กิเลสแล้วหรืออย่างไร

ถ้ายังไม่ชัดเจน โปรดฟังคำปฏิเสธที่ขึงขังของเขาด้วยย่อหน้านี้

“เดี๋ยวนี้ มนุษย์เรามีความคิดอย่างที่พวกฝรั่งเขาคิดให้กลายเป็นว่า ทุกคนเสมอภาค คนที่มีการศึกษาแล้ว ก็ให้ทุกคนมีสิทธิปกครอง จนเกิดรูปประชาธิปไตยขึ้นมา...อาตมา ในฐานะประชาชน ไม่กลัวจะถูกใครจับไปฆ่า ไปแกง เพราะว่าไม่นิยมประชาธิปไตยแบบนี้ก็ได้ ไม่นิยมแน่ แต่นิยมประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมตามหลักแห่งพระศาสนา ซึ่งประกอบด้วยธรรมแล้วก็มีวิธีดำเนินการอย่างเผด็จการ อย่างระบบทศพิธราชธรรมนั่นเอง” [31]

เพราะเชื่อในความเด็ดเดี่ยว เฉียบขาด จึงเชื่อในเผด็จการ

การประดิษฐ์คำใหม่ของพุทธทาส เป็นสิ่งที่สื่อให้เราเห็นภาพได้ชัดเจนที่สุดว่า พุทธทาสมีมุมมองทางการเมืองอย่างไร “ประชาธิปไตยเผด็จการ” ก็คือคำๆนั้น เผด็จการของพุทธทาสนั้นมีความหมายว่า การปฏิบัติที่ให้ผลเร็ว [32] แม้แต่องค์ศาสดาก็ถือว่าปฏิบัติงานอย่างเผด็จการ! “พระพุทธเจ้าท่านมีระบบสังคมนิยมแต่วิธีปฏิบัติงานเป็นเผด็จการ... ประชาธิปไตยมันโอ้เอ้ไม่ทำประโยชน์ให้ทันแก่เวลา...มันต้องมีการบังคับและให้ทำทันที...มิหนำซ้ำพระองค์เองก็ทรงบัญญัติว่า ทรงอยู่เหนือวินัย เช่นเดียวกับที่ว่ากฎหมายสมัยโน้น เขาบัญญัติใช้แก่ประชาชนไม่ใช้แก่พระราชา” [33]

การนิยามเช่นนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงนักปกครองในอุดมคติของชนชั้นนำอย่าง สฤษดิ์ ธนะรัชต์

เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดต่อสังคมว่า ตนนิยมการเผด็จการทุกรูปแบบ พุทธทาสได้แปะท้ายกันประดักประเดิดไว้ว่า “ถ้าเผด็จการเป็นวิธีการดำเนินการที่ประกอบด้วยธรรมแล้วก็ใช้ได้เต็มที่” ปัญหาก็คือ ที่ผ่านมาเผด็จการทรราชย์ส่วนใหญ่ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว มักจะอ้างว่าตนเองมีศีลธรรมมากพอที่จะกดหัวปกครองประชาชนทั้งนั้น ซึ่งนิยามดังกล่าวของพุทธทาสได้เสมือนกับออกใบรับรองเผด็จการทางการเมืองไปอย่างไม่รู้ตัว ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีสิ่งที่น่าขนลุก ถ้าไม่มีกิเลสไม่ต้องมีระบบการปกครองก็ได้ [34] ซึ่งแม้แต่ในสมัยพุทธกาลก่อนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน แม้จะมีพระสงฆ์ไม่มีกิเลส (ถ้าเชื่อตามนั้นจริง) แต่พระพุทธเจ้าก็ยังต้องมีวินัยเพื่อควบคุมและบริหารคณะสงฆ์อยู่ดี

วรรณะทางชาติกำเนิดหมดไป แต่วรรณะโดยการงานต้องมีอยู่!

พุทธทาสได้นิยามนายทุน และกรรมาชีพอย่างผิดฝาผิดตัวกลับหัวกลับหาง เขากล่าวว่า ในพุทธกาล เศรษฐีที่เป็นนายทุนนั้นไม่ได้น่ารังเกียจรังงอน แทนที่จะตั้งแง่ใส่กัน ชนกรรมาชีพเสียอีกกลับจะบูชานายทุนา เนื่องจากว่าพวกนายทุนที่เป็นเศรษฐีเหล่านั้นเป็นเจ้าของโรงทาน เป็นผู้ให้ ต่างกันราวฟ้ากับเหวกับนายทุนปัจจุบันที่เป็นผู้กอบโกย ขณะที่ ทาสสมัยก่อนไม่อยากได้รับอิสรภาพ ไม่อยากไปจากเศรษฐีเนื่องจากมีคนเลี้ยงดูอุปถัมภ์ [35]

คำอธิบายดังกล่าวตอกย้ำความชอบธรรมของสังคมที่เป็นลำดับชั้นและไม่เท่าเทียมซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้พยายามจะเอาตัวรอดว่า เขาก็ได้ปฏิเสธวรรณะทั้งสี่แบบเดิมเช่นกันว่า วรรณะทางชาติกำเนิดหมดไปแล้ว แต่ในที่สุดสิ่งที่ต้องมีอยู่นั่นคือ “วรรณะโดยการงาน” กรณีนี้คือยกผู้พิพากษาเป็นชนชั้นอภิสิทธิ์ เป็นวรรณปูชนียบุคคลดังที่กล่าวไปแล้ว [36]

พุทธทาสต้องการจะขับเน้นการเมืองแบบขาว-ดำ โดยให้ค่าว่าการปกครองโดยการควบคุมให้สังคมสงบราบคาบอย่างไม่ต้องเลือกวิธีการแต่ขอให้ผู้นำมีศีลธรรมนั้นประเสริฐ ซึ่งอยู่คนละฟากเหวกับประชาธิปไตยเสรีนิยมที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย เต็มไปด้วยคนพาลมากกิเลส ที่เป็นคนกลุ่มเดียวกันนี่แหละที่เรียกร้องสิทธิ ความเสมอภาคของกลุ่มคนชนชั้นล่าง พวกเขาไม่ใช่ “ปูชนียบุคคล” ไม่ใช่อภิสิทธิ์ชน บทบรรยายนี้แสดงให้เห็นความตระหนกต่อสถานการณ์บ้านเมืองของพุทธทาส และแสดงให้เห็นจุดยืนทางการเมืองของเขาอย่างกระจ่างชัด

“ถ้าเรามีระบบสังคมนิยมธัมมิกเผด็จการนี้ เราจะรับหน้าได้ แม้แต่ลัทธินายทุน และลัทธิบ้าเลือด แก้แค้น ของคนกรรมาชีพบางประเภทก็ตาม เพราะว่า มันจะเป็นอย่างที่เคยพูดกันมาแล้ว คือ สังคมนิยมอันบริสุทธิ์นี้ไม่สร้างทั้งนายทุนและไม่สร้างชนกรรมาชีพ จะสร้างแต่คนที่เป็นสัตบุรุษ หรือมนุษย์ที่ถูกต้องแต่อย่างเดียวที่อยู่ตรงกลางชนิดเดียว” [37]

 

นัยนอกใบสั่ง

หากพิจารณาจากความสัมพันธ์ใกล้ชิดของ พุทธทาสและสัญญา ธรรมศักดิ์แล้ว คำสอน ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ นั้น น่าจะเป็นสัญญาณตรงที่ส่งถึงสัญญา ธรรมศักดิ์ ผ่านมาทางผู้พิพากษา ที่จะปลุกปลอบให้กำลังใจและให้ความชอบธรรมแก่สัญญา ธรรมศักดิ์ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน

วรรคทองที่เขากล่าวไว้ถึงกับทำตัวเอียงเน้นไว้ด้วยซ้ำว่า “ถ้าคนดีเผด็จการ นั่นแหละดี ถ้าคนเลวก็ใช้ไม่ได้ เมื่อระบบสังคมนิยมดี มันต้องมีเครื่องมือเป็นเผด็จการ” [38] สารถึง สัญญา ธรรมศักดิ์นั้น ในอีกด้านหนึ่งยังสร้างความชอบธรรมให้อำนาจของตุลาการ และชนชั้นนำที่กำลังหาคำอธิบายและวิธีจัดการกับความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศ

ความตาย และความเงียบหายของแก่นธรรม

วลีอันเลือดเย็น “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ที่ถูกจับใจความมาจากบทสัมภาษณ์ของ กิตติวุฒโฒ ใน จัตุรัส ฉบับเดือนมิถุนายน 2519 ในสายตาของคนรุ่นปัจจุบันเห็นว่าเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ และเชื่อว่าจะถูกประณามจากฝ่ายประชาธิปไตยไปอีกแสนนาน อย่างไรก็ตามก่อนกิตติวุโฑจะตกเป็นจำเลย เราพบว่าใน ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ พุทธทาสก็ยกเรื่องการ “ฆ่า” ที่สอดรับการวิธีคิดแบบเผด็จการว่า “วิธีดำเนินการเป็นเผด็จการ ใครไม่ทำไม่ได้ จะฆ่าเลย ถ้าเป็นการฆ่าตามแบบของพระพุทธเจ้านั้น คือ ไม่ยุ่งด้วยอีกต่อไป นั่นแหละคือการฆ่าตามแบบของพระพุทธเจ้าที่จะ ฆ่าคน คือ จะไม่ยุ่งด้วยกับคนๆ นั้น อีกต่อไป การฆ่ากันอย่างมนุษย์ คือการฆ่าให้ตาย ถ้าในอริยวินัยแล้ว การฆ่าใคร ก็คือ ไม่ยุ่งกับคนนั้นอีกต่อไป ท่านมีเผด็จการอย่างนี้” [39]

ส่วนการ “ฆ่า” แบบเห็นเลือดเห็นเนื้อ ตายจริงเจ็บจริง พุทธทาสอ้างถึงพระเจ้าอโศกว่า

“วิธีดำเนินการของพระเจ้าอโศกนี้เฉียบขาด เป็นเผด็จการ จึงทำให้มีการฆ่ากระทั่งพระสงฆ์ พระสงฆ์จำนวนหนึ่งถูกฆ่าไปโดยเหตุที่ว่า พระเจ้าอโศกยืนยันให้มีประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง...แต่พระเจ้าอโศกมหาราชนี้ ไม่ใช่ทุรราช เพราะเป็นผู้กระทำทุกกระเบียดนิ้ว เพื่อประโยชน์แก่สังคม...เป็นเผด็จการอะไรก็ตาม แต่ว่าไม่ได้เผด็จการที่เอามาให้แก่ตัวเอง”

ความรุนแรงที่แฝงอยู่ระหว่างบรรทัดนี้ พาให้ผู้เขียนยังรู้สึกมือเย็นตีนเย็นไปชั่วขณะ

หลังการล้อมปราบและสังหารประชาชนกลางเมืองของเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ภาพการฆ่าและการทารุณกรรมผู้เสียชีวิตอย่างโหดเหี้ยมถูกเผยแพร่ออกมาแม้จะไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็น่าจะเป็นการรับรู้กันทางสาธารณะบ้างแล้ว จากเอกสารหลักฐานร่วมสมัย ผู้เขียนยังไม่พบว่าพุทธทาสอธิบายเหตุการณ์อันสยองขวัญนั้นอย่างไร ในบรรยากาศเช่นนั้น พุทธทาสกลับไม่เคลื่อนไหว อำนาจโดยธรรมของเขาไปอยู่ที่ไหนกันเล่า อะไรที่ทำให้เขาอยู่ในสภาวะเงียบงันเช่นนั้น ยังไม่มีใครพบคำตอบ

หรือแท้จริงแล้วยังไม่มีใครตั้งคำถามในเรื่องนี้?

อาจกล่าวได้ว่า เราไม่สามารถหาตำแหน่งแห่งที่ของพุทธทาส ที่เหมาะเจาะพอดีกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้ หากก่อนหน้านั้นพุทธทาสไม่ได้ยุ่งเกี่ยว ไม่ได้ใช้คำสอนเพื่อผลทางการเมือง เรื่องนี้ก็จะไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องแปลกที่จะไม่มีการกล่าวถึงในประวัติพุทธทาสเลย ตามที่ชี้ให้เห็นแล้วว่า พุทธทาสเล่นการเมืองมากกว่าที่เราคิด เสียงที่ตะโกนจนแสบแก้วหูเพื่อให้ธรรมครองโลก [40] กลับเงียบลงก่อนสิ้นสุดเสียงปืนและกลิ่นยางและเนื้อไหม้ของมนุษย์เสียอีก

 

พุทธทาสคอนเนคชั่น กับ การสืบต่อแนวคิดให้ธรรมะเป็นใหญ่

รูปปฏิมาและคำสอนของพุทธทาส ในทุกวันนนี้เป็นสิ่งที่ขายได้ในสังคมเมืองที่มากไปด้วยความทุกข์แบบปัจเจก คำสอนของเขามักถูกหยิบยกมาอ้างอิง บ้างก็ลอกมาใช้แบบระมัดระวังบริบท แต่ส่วนมากก็ลอกมาใช้แบบผิดฝาผิดตัว โดยเฉพาะคำสอนที่กระทบชิ่งถึงการเมือง โดยเฉพาะคติเผด็จการโดยธรรม ยกยอเชิดชูคนดี ความดี-ศีลธรรม ยังเป็นที่นิยมติดปากอยู่เสมอ อาจกล่าวได้ว่าเป็นที่หลักธรรม-การเมืองที่ถูกใช้อ้างอิงอย่างหนักหน่วงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ เราจะพบจากปลายปากกาทั้ง นักวิชาการรัฐศาสตร์อย่าง วีระ สมบูรณ์, พระนักเทศนา ผู้สร้างประวัติศาสตร์จากการเทศนาหลังละครคาวโลกีย์แห่งปี ว.วชิรเมธี, สื่อมวลชน เปลว สีเงิน, อดีตนายกรัฐมนตรีเอนกประสงค์ อานันท์ ปันยารชุน, กวีซีไรท์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ฯลฯ

ล่าสุดก็คือบทสัมภาษณ์ สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ เจ้าของบริษัท ทีวีบูรพา ผู้ผลิตรายการชื่อดังอย่าง ฅน ค้นค้น, กบนอกกะลา ฯลฯ “"ท่านพุทธทาสท่านพูดว่า ถ้ามีธรรมะแล้ว ก็ไม่ต้องมีการเมือง ประเทศไทยภายใต้ธรรมนิยมคือ มีความเข้าใจในความเป็นจริง เข้าใจความเป็นไปของชีวิต เข้าใจความเป็นไปของโลก และเท่าทันมัน ในเชิงธรรมะสุดท้ายแล้วชีวิตก็เป็นเรื่องชั่วคราว สุดท้ายตายแล้ว ก็เอาอะไรไปไม่ได้"” [41]

หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือที่รู้จักในนามลำลองว่า สวนโมกข์กรุงเทพฯ คือรูปธรรมของการทำให้พุทธทาสกลายเป็นสถาบัน และฉายภาพความเป็นพระขวัญใจของชั้นกลางและชนชั้นนำที่ชัดเจนที่สุด โครงการนี้ เกษม วัฒนชัย (องคมนตรี) เป็นประธานกรรมการจัดตั้งฯ ชฎา วัฒนศิริธรรม (แบงค์ไทยพาณิชย์) เป็น ประธานคณะกรรมการสนับสนุนทุนจัดตั้ง ในวงเงินเบาะๆ 185 ล้านบาท

สวนโมกข์กรุงเทพ - ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ! วิพากษ์พุทธทาสในวันล้ออายุปีที่ 105
หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
หรือที่รู้จักในนามลำลองว่า สวนโมกข์กรุงเทพฯ
ตั้งอยู่บริเวณสวนรถไฟ

ในทำนองเดียวกันกับหลังเหตุการณ์ล้อมฆ่าประชาชนในปี 2519 คำสอนแบบพุทธทาสนั้น ได้มีปัญหาอีกครั้งกับการไม่ลงรอยต่อการอธิบายปรากฏการณ์ล้อมฆ่ากลางเมืองเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เราไม่ปรากฏนักศีลธรรมสายพุทธทาสออกมา อธิบายเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยธรรมะ ในทางกลับกันพวกเขากลับเป็นฝ่ายไปเป็นส่วนหนึ่งของกลไกอันไม่ชอบธรรมที่รัฐบาลอันเป็นคู่กรณีโดยตรงกับผู้เสียชีวิต ตั้งขึ้นมา ในกรณีการเข้าไปเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยของ พระไพศาล วิสาโล [42] ผู้ที่มีภาพลักษ์ใส่ใจสังคมและความเป็นธรรม มองปัญหาสังคมเชิงโครงสร้าง และยังอาจนับได้ว่าเป็นพระที่อยู่ในข่ายลูกศิษย์พุทธทาส

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังเหตุ 6 ตุลา 19 และ เมษา-พฤษภา 53 เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ดีถึงว่า หลักศีลธรรมแบบพุทธทาสที่เชื่อว่ามีคุณค่าบริสุทธิ์ผุดผ่องเป็นสัจพจน์นั้น หาได้อกาลิโก อธิบายได้ไม่จำกัดกาลสถานที่แต่อย่างใดไม่

หรือว่าคำถามของ ธงชัย วินิจจะกูล ที่มีต่อกลุ่มเป้าหมายซีกฝ่ายขวาในสมัย 6 ตุลา 19 เพื่อเข้าใจความคิดความรู้สึกนึกคิดของพวกเขา อันจะนำมาซึ่งการเข้าใจประวัติศาสตร์บาดแผล ความรุนแรง เพื่อมิให้เกิดสิ่งเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกในสังคมไทยนั้น [43] เป็นการสัมภาษณ์ที่ผิดฝาผิดตัว หรือว่าอันที่จริงแล้วเป้าหมายของการทำความเข้าใจควรจะเปลี่ยนไปเป็นฝ่ายที่วางตัวเป็นคนดีมีศีลธรรมในยุคนั้นต่างหาก เหตุใดพวกเขาจึงนิ่งเฉยต่อการหลั่งเลือด และการย่ำยีความตายของสามัญชนทั้งสองเหตุการณ์

นั่นอาจพอทำให้เราเข้าใจสังคมไทยและประเมินสถานการณ์ต่อสังคมมือถือสากปากถือศีลได้อย่างสมจริงมากขึ้น.

 

อ้างอิง:

  1. บทความนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากการสนทนาในชั้นเรียนของ ศาสตราจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อหลายปีที่ผ่าน อนึ่งวันล้ออายุ ก็คือ วันคล้ายวันเกิดของพุทธทาส ซึ่งตรงกับวันที่ 27 พฤษภาคมของทุกปี
  2. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ โดย พุทธทาสภิกขุ พิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพ นางมณฑา หมื่นนิกร ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม 2518 (กรุงเทพฯ : อักษรสัมพันธ์), 2518, น.119-120
  3. เคยมีบทความที่วิจารณ์พุทธทาสในกรณีการเมืองเช่นกัน แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดอย่างเป็นระบบ ดูใน วันพัฒน์ ยังมีวิทยา. ความอันตรายของวาทกรรม“ประชาธิปไตยที่แท้จริง”. http://www.prachatai.com/journal/2010/04/28653 (2 เมษายน 2553)
  4. พุทธทาสศึกษา. "ปฏิทินชีวิต 80 ปี ท่านพุทธทาส (2449-2529)" http://buddhadasa.org/html/life-work/bio/80yrs.html (25 พฤษภาคม 2554)
  5. พระศรีปริยัติโมลี. ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์. "ปรีดี พนมยงค์ กับพระพุทธศาสนา" http://www.pridi-phoonsuk.org/pridi-and-buddhism/ (25 กุมภาพันธ์ 2543)
  6. กุหลาบ สายประดิษฐ์. บันทึกสวนโมกข์ : ความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมและการบังคับตน (กรุงเทพฯ : วิชญา ), 2548.
  7. “ปรีดี-กุหลาบ-พุทธทาสภิกขุ : สามัญชนที่หล่นหายในการตัดต่อความทรงจำ” http://www.prachatai.com/journal/2006/06/8817 (27 มิถุนายน 2549) อนึ่งกล่าวได้ว่า บุคคลทั้ง 3 ได้รางวัลยูเนสโก เมื่อครบ 100 ปีชาตกาล (ปรีดี ปี 2542, พุทธทาสปี 2548 และกุหลาบ ปี 2548)
  8. ดูตัวอย่างได้ใน “ประชุมเพลิงพุทธทาสภิกขุ 1/5” http://www.youtube.com/watch?v=yeeDn9z-nJc (28 กันยายน 2552)
  9. พุทธทาสศึกษา. “ชีวิตและผลงานพุทธทาสภิกขุ” http://www.buddhadasa.org/html/life-work/bio/bio_short.html (22 พฤษภาคม 2554 )
  10. พระประชา ปสนฺนธมฺโม. "เริ่มงานหนังสือพิมพ์และชีวิตนักเขียน" ใน เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา อ้างจาก พุทธทาสศึกษา. http://buddhadasa.org/html/life-work/bio/tell_chapter3-08.html (25 พฤษภาคม 2554)
  11. ชุมนุมข้อคิดอิสระ พุทธทาสภิกขุ (พิมพ์ ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ), 2538 อ้างใน http://www.buddhadasa.com/freethinkbook/anata.html และ http://www.buddhadasa.com/freethinkbook/realhuman.html และ http://www.buddhadasa.com/freethinkbook/addict.html และ http://www.buddhadasa.com/freethinkbook/monk.html (26 พฤษภาคม 2554)
  12. ฉลอง สุนทรวาณิชย์. "ข้อมูลรองรับอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และการทำตลาดพระเครื่องไทย เมื่อพระเครื่องก้าวขึ้นเป็นสุดยอดของเครื่องรางไทย" เผยแพร่ใน เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน. http://61.47.2.69/~midnight/midnight2544/0009999648.html (20 มิถุนายน 2550) และ "ธุรกิจพระเครื่อง เงินสะพัดหมื่นล้าน "มวลสาร" ที่แพงสุดในโลก" ถูกอ้างใน http://www.itti-patihan.com/ธุรกิจพระเครื่อง-เงินสะพัดหมื่นล้าน-มวลสาร-ที่แพงสุดในโลก.html (26 พฤษภาคม 2554)
  13. พุทธทาสศึกษา. “ปฏิทินชีวิต 80 ปี ของท่านพุทธทาส” http://www.buddhadasa.org/html/life-work/bio/80yrs.html (23 พฤษภาคม 2554)
  14. พุทธทาสศึกษา. “ปฏิทินชีวิต 80 ปี ของท่านพุทธทาส” http://www.buddhadasa.org/html/life-work/bio/80yrs.html (23 พฤษภาคม 2554)
  15. อรุณ เวชสุวรรณ. วิวาทะ (ความเห็นไม่ตรงกัน) ระหว่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับท่านพุทธทาสภิกขุ (กรุงเทพฯ : อรุณวิทยา), 2554 หรือจะดูฉบับออนไลน์ก็ได้ที่ "วิวาทะ ระหว่าง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช กับ ท่านพุทธทาสภิกขุ". http://www.dharma-gateway.com/ubasok/kukrit/kukrit-09-01.htm (26 พฤษภาคม 2554)
  16. 100 ปี ร้อยจดหมาย พุทธทาส-สัญญา (กรุงเทพฯ : แปลน รีดเดอร์ส), 2550, น. บทนำ
  17. พุทธทาสศึกษา. “ปฏิทินชีวิต 80 ปี ของท่านพุทธทาส” http://www.buddhadasa.org/html/life-work/bio/80yrs.html (23 พฤษภาคม 2554)
  18. เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช. เหตุการณ์การเมืองไทย 2516-2519 (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์), 2551, น.4-13 และสามารถอ่านคำอธิบายของการลุกฮือของจีนชั้นล่าง ที่ศึกษาจากกรณีจลาจลพลับพลาไชยในปี 2517 ได้จาก สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์. 'ชีวิตสามัญชนจีนในกรุงเทพฯ ระหว่าง พ.ศ. 2500-2517,' วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2553
  19. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ โดย พุทธทาสภิกขุ พิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพ นางมณฑา หมื่นนิกร ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม 2518 (กรุงเทพฯ : อักษรสัมพันธ์), 2518
  20. 100 ปี ร้อยจดหมาย พุทธทาส-สัญญา (กรุงเทพฯ : แปลน รีดเดอร์ส), 2550, น.445-446
  21. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.26
  22. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.42
  23. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.54
  24. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.59
  25. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.123
  26. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.67
  27. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.67
  28. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.77
  29. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.80
  30. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.81
  31. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.113
  32. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.84-85
  33. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.103
  34. เพื่อความเป็นธรรมแก่พุทธทาส รูปประโยคต่อจากนี้คือ “...แต่ดูจะเป็นความหวังที่เลื่อนลอย ที่ว่ามนุษย์จะอยู่กันโดยไม่มีระบบการปกครอง นี้จะมีได้ก็แต่ในโลกของพระอริยเจ้าเท่านั้น” ดูใน ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.85-86
  35. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.107
  36. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.114-115
  37. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.120-121
  38. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.112
  39. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.103-104
  40. นอกจากหนังสือ ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ที่มาจากการบรรยายในปี 2517 แล้ว ในเวลาที่ใกล้เคียงกับการปราบปราม ยังพบว่าในช่วงอาสาฬหบูชา เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2519 พุทธทาส ก็ยังได้บรรยายธรรมะที่เกี่ยวข้องกับการเมืองมากๆ ใน “ธรรมะกับการเมือง” (กว่าจะตีพิมพ์ก็ล่วงมาถึงปี 2522 แล้ว) ผู้เขียนได้ค้นพบประวัติการบรรยายดังกล่าวจากบทความนี้ วีระ สมบูรณ์ “ธรรมะกับการเมือง” ของ พุทธทาสภิกขุ ตีพิมพ์ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์ ระหว่างเดือนตุลาคม 2549 ถึง กุมภาพันธ์ 2550 อ้างถึงใน พุทธทาสศึกษา. "ธรรมะกับการเมือง" ของ พุทธทาสภิกขุ. http://www.buddhadasa.in.th/site/articles/politic/politic.php (25 พฤษภาคม 2554)
  41. มติชนออนไลน์. ฅ.คนค้น ′ประเทศไทย′ ′เช็ค สุทธิพงษ์′ เค้น ′พินอคคิโอ′ ในจอ ′ธรรมะนิยม′. http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1306070426&grpid=01&catid&subcatid (22 พฤษภาคม 2554)
  42. ดูการวิพากษ์พระไพศาล ในกรณีดังกล่าวได้ใน สุรพศ ทวีศักดิ์: “พระไพศาล วิสาโล” พระสงฆ์เป็นเครื่องมือของรัฐ. ประชาไทออนไลน์. http://www.prachatai.com/journal/2010/09/31058 (12 กันยายน 2553)
  43. "ธงชัย วินิจจะกูล : ความทรงจำ ภาพสะท้อนและความเงียบในหมู่ฝ่ายขวาหลังการสังหารหมู่ 6 ตุลา". ประชาไทออนไลน์. http://www.prachatai.com/journal/2007/11/14920 (24 พฤศจิกายน 2550)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

Ricoh เตรียมปลดพนักงาน 10,000 คนทั่วโลก แจงลดต้นทุน

Posted: 26 May 2011 10:56 AM PDT

 

(26 พ.ค.54) เว็บไซต์สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า Ricoh บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์สำนักงานสัญชาติญี่ปุ่น มีแผนปลดพนักงาน 10,000 คนทั่วโลก จากพนักงานทั้งหมด 110,000 คน เพื่อลดต้นทุน

รายงานข่าวระบุว่า บริษัท Ricoh ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องถ่ายเอกสารและกล้องถ่ายรูปได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ค่าเงินเยนที่แข็งขึ้น รวมถึงภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ทำให้โรงงานบางส่วนของบริษัทได้รับความเสียหาย แต่ Ricoh ก็พยายามจะฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง

ชิโร คอนโด ประธานและผู้บริหารระดับสูงของ Ricoh ระบุว่า Ricoh กลายมาเป็นบริษัทใหญ่และต้องการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อที่จะแข็งแกร่งขึ้น โดยก่อนหน้านี้บริษัทได้ยุติการทำธุรกิจซึ่งไม่ก่อให้เกิดกำไรไปบ้าง และยังต้องการตัดธุรกิจประเภทนี้ออกไปอีก

สำหรับการปลดพนักงานครั้งนี้ Ricoh คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายราว 60,000 ล้านเยน (ประมาณ 22,470 ล้านบาท) ในช่วงสองปี อย่างไรก็ตาม คาดกันว่ามาตรการนี้จะเพิ่มผลกำไรจากการดำเนินงานเป็นเงิน 140,000 ล้านเยนภายในสามปี

อย่างไรก็ตาม บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นต่างๆ ยังยากที่จะเอาชนะคู่แข่งที่มีสินค้าราคาต่ำกว่าอย่างเกาหลีใต้และจีนได้

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พานาโซนิค บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นประกาศแผนปลดพนักงาน 17,000 คนทั่วโลกเพื่อลดค่าต้นทุน โดยคาดว่าจะมีพนักงานทั้งสิ้น 350,000 คนหลังสิ้นสุดการปรับโครงสร้างขนานใหญ่เสร็จสิ้นในเดือนมีนาคม 2013 พร้อมระบุด้วยว่าการดำเนินงานในโรงงานซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวนั้นค่อยๆ กลับสู่สภาวะปกติแล้ว อย่างไรก็ตาม การที่โซ่อุปาทานต้องหยุดชะงักยังคงส่งผลต่อผลผลิต
 

 

แปลและเรียบเรียงจาก Japan's Ricoh to cut 10,000 jobs,
http://www.bbc.co.uk/news/13555788

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"สรรเสริญ" ยัน "ผังล้มเจ้า" ไม่ใช่ความเชื่อ ศอฉ. - แต่ข้อมูลมาจากหน่วยความมั่นคงและ "ดีเอสไอ" กำลังดำเนินการ

Posted: 26 May 2011 10:20 AM PDT

"สรรเสริญ แก้วกำเนิด" ยันไม่เคยขอให้ "สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ" ถอนฟ้อง แจงไม่ได้เอ่ยชื่อไม่ได้แถลงทั้งเอกสารและวาจาว่าสุธาชัยอยู่ในขบวนการล้มเจ้า แต่สังคมต้องใช้ดุลยพินิจเองว่าคนในผังเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างไร

เว็บไซต์แนวหน้า รายงานวานนี้ (26 พ.ค.) ว่า พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีที่นายสุธาชัย  ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาแถลงถึงกรณีที่ศาลมีคำสั่งถอนฟ้องตนเองในข้อหาหมิ่นประมาท ที่ไปพูดถึงนายสุธาชัย อยู่ในขบวนการล้มเจ้า ซึ่งเกิดจากการที่ตนเองไปขอให้ถอนฟ้องและเป็นฝ่ายขอยอมความนั้น ไม่เป็นความจริง และขอยืนยันว่าการออกมาชี้แจงครั้งนี้เป็นการพูดในฐานะส่วนตัวเพราะถูกพาดพิง จาก อ.สุธาชัย โดยไม่อยากอธิบายความให้มากนัก เพราะช่วงนี้ใกล้เลือกตั้งอาจถูกบางฝ่ายนำประเด็นไปเกี่ยวข้องกับการเมือง

ส่วนที่ว่า เนื้อหาที่ได้แถลงข่าวที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) นั้นเป็นแค่เพียงความเชื่อ ไม่มีข้อมูลหลักฐานนั้น พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า ก็ไม่เป็นความจริง ซึ่งการไกล่เกลี่ย ตนได้อธิบายชี้แจงต่อหน้าศาล ต่อหน้า อ.สุธาชัย ทนายความของ อ.สุธาชัย ทนายความของตน และนายทหารพระธรรมนูญว่า สิ่งที่นำมาเปิดเผยคือข้อมูลที่หน่วยงานด้านความมั่นคง ซึ่งตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี โดยออกเป็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี มีหลักฐาน พยาน ยืนยัน จึงได้มีการนำหลักฐาน เอกสารไปแถลงต่อสื่อมวลชน ขณะนี้เรื่องอยู่ในกระบวนการยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กำลังดำเนินการอยู่ จะบอกว่าเป็นความเชื่อของ ศอฉ.เฉยๆ ไม่มีพยานหลักฐาน  คงไม่ใช่ 

ส่วนที่ว่ามีการสื่อสารว่า อ.สุธาชัย อยู่ในขบวนการนั้น พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า  ตนไม่ได้สื่อสาร ไม่ได้เอ่ยชื่อ และ รายชื่อที่อยู่ในผังก็ไม่มีคำเขียนอื่นใดว่า อาจารย์ได้ร่วมอยู่ในคณะของขบวนการ เมื่อไม่มีคำแถลงออกมาเป็นวาจา เมื่อไม่มีคำแถลงอยู่ในเอกสาร  สังคมก็ต้องพิจารณาว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องในผังมีการเกี่ยวข้องในลักษณะใดเป็นญาติพี่น้อง เป็นคนที่เคยรู้จัก เป็นคนที่ทำธุรกิจร่วมกันอย่างไร ซึ่งรายละเอียดมีอยู่ในผัง แล้วสังคมจะใช้ดุลยพินิจเองว่า ใครมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างไร การสื่อสารต่างกัน เรื่องนี้มีข้อกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง

“สิ่งที่อาจารย์สุธาชัย มาแถลงว่าโฆษก ศอฉ. พยายามที่จะติดต่อเพื่อขอให้ถอนฟ้อง ไม่เป็นความจริง เพราะการจะถอนฟ้อง การไกล่เกลี่ยของศาล ต้องเป็นความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ผมไม่อยากวิเคราะห์ว่าที่เขาแถลงเช่นนี้เพราะอะไร แต่ช่วงนี้อยู่ในช่วงการเลือกตั้ง  ถ้าอธิบายความมากไปกว่านี้ ก็จะถูกหยิบยกเอาไปตีความว่าเข้าข้างพรรคโน่นพรรคนี้  ผมกับอาจารย์ ไม่เคยติดต่อกันโดยตรง แต่ผ่านทางทนายความ  และ ทหารพระธรรมนูญมาแจ้งว่า ทางศาลท่านนัดไกล่เกลี่ย ทาง อ.สุธาชัย ก็เห็นพ้องให้ไกล่เกลี่ย ก็ไปพูดหน้าบัลลังก์ศาล ไม่ได้ยืนคุยกันสองคนโดยไม่มีมนุษย์ที่ไหนฟัง” พ.อ.สรรเสริญ ระบุ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: ชาวเชียงรายฟ้องศาล-ระดมพล กันโรงไฟฟ้าชีวมวลจากที่ก่อสร้าง

Posted: 26 May 2011 06:51 AM PDT

ชาวบ้าน อ.เวียงชัย จ.เชียงราย ยื่นฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนใบอนุญาตโรงไฟฟ้า พร้อมระดมพลเฝ้าพื้นที่ก่อสร้าง เจ้าของโครงการนำกำลัง อส.บุกเจรจาไม่เป็นผล ต้องยอมถอยออกจากพื้นที่

 
 
 
 
บรรยากาศเมื่อวันที่ 23 พ.ค.54 บริเวณจุดก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ ซึ่งมีประชาชนรวมตัวคัดค้านอยู่
 
 
ประชาชนจาก อ.เวียงชัย จ.เชียงราย เดินทางมาที่ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ บริเวณศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อยื่นคำฟ้องต่อศาล ให้มีการระงับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล
 
เมื่อวันที่ 23 พ.ค.54 เวลาประมาณ 10.00 น. ตัวแทนจากบริษัท พลังงานสะอาดดี 2 จำกัด ที่จะดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ ที่บ้านไตรแก้ว ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จังหวัดเชียงราย นำโดย นายธีรยุทธ ตั๊นวิเศษ เจ้าของโครงการดังกล่าว ได้นำกำลังหน่วย อาสาสมัครของกรมการปกครองกว่า 50 นายพร้อมอาวุธครบมือ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากสถานีตำรวจอำเภอเวียงชัย เดินทางมายังบริเวณจุดก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ ซึ่งมีประชาชนรวมตัวคัดค้านอยู่บริเวณดังกล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธีรยุทธ ได้เข้าเจรจาให้ชาวบ้านถอยออกไปจากพื้นที่ หากใครขัดขวางจะดำเนินคดี และจับคุม จนเกิดการโต้เถียงกันกับชาวบ้านอย่างรุนแรง ซึ่งชาวบ้านที่อยู่บริเวณชุมนุมได้โทรแจ้ง ระดมพล ให้ชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านทราบ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ ตำรวจ ได้ตั้งด่านสกัดกั้น โดยอ้างว่าเป็นการตั้งจุดตรวจเนื่องจากใกล้ช่วงเลือกตั้ง ทำให้ชาวบ้านที่เดินทางมาเพื่อเข้าร่วมชุมนุมประท้วงไม่ได้รับความสะดวก จนเกิดการโต้เถียงกันขึ้น แต่สุดท้ายชาวบ้านก็สามารถรวมตัวกันได้หลายร้อยคน
 
ต่อมาเวลาประมาณ 12.00 น. นายวัง นรรัตน์ ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเวียงชัย ได้เดินทางมายังจุดเกิดเหตุและได้ชี้แจงกับทาง บริษัทฯ และชาวบ้านว่า เนื่องจากยังมีประชาชนคัดค้านการก่อสร้างอยู่จำนวนมาก และทาง บริษัทก็ยังไม่สามารถเจรจากับชาวบ้านได้ ทางการไฟฟ้าจึงยังคงจะไม่มีการดำเนินการขยายเขตแต่อย่างใดจากนั้นก็ได้เดินทางกลับ
 
อย่างไรก็ตาม ในกรณีการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ชาวบ้านได้ตั้งข้อสงสัยในพฤติกรรมของอดีตผู้นำชุมชนหลายคนที่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทตลอดมา ทั้งการหลอกซื้อที่ดิน และการแอบอ้างนำรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมหมู่บ้านไปสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งเชื่อมโยงได้กับการที่ผู้บริหารระดับสูงของโครงการได้ออกมาระบุว่ามีความใกล้ชิดกับผู้นำชุมชนบางกลุ่ม
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 13.00 น. กลุ่มชาวบ้านได้รวมกันที่บริเวณด้านหน้าสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ เพิ่มมากขึ้น นายธีรยุทธ จึงได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ อส.ทั้งหมดเดินทางกลับ ขณะที่ชาวบ้านยังคงชุมนุมประท้วงต่อไป
 
ในวันเดียวกัน กลุ่มชาวบ้านจากอ.เวียงชัย จ.เชียงราย ประมาณ 300 คน ได้เดินทางไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของบริษัทฯ และขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ชาวบ้านเชื่อว่านี่น่าจะเป็นเหตุให้ทางบริษัทฯ คิดว่าคงไม่มีประชาชนชุมนุมอยู่บริเวณก่อสร้าง จึงฉวยโอกาสจะเข้ามารื้อถอนเพิงพักของผู้ชุมนุม
 
แกนนำชาวบ้าน ระบุว่า บริษัทฯ มีพฤติกรรม ที่ข่มขู่ คุกคาม ชาวบ้านมาตลอดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พร้อมเปิดใจว่ารู้สึกสลดสังเวชใจที่เห็นเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการในจังหวัดเชียงราย ร่วมกันเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทนายทุน จนหลงลืมหน้าที่ของตนเองที่ต้องดูแลทุกข์สุขของประชาชน พร้อมฝากถามไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และหน่วยงานปกครองถึงกรณีดังกล่าวด้วย
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จับคนไทยสัญชาติอเมริกัน คดีหมิ่นสถาบันฯ ศาลไม่ให้ประกันตัว

Posted: 26 May 2011 06:42 AM PDT

                                                              
26 พ.ค.54 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดา เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นำตัวนายโจ (นามสมมติ) วัย 54 ปี ผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันฯ มาขออำนาจศาลฝากขัง หลังจากเจ้าหน้าที่กว่า 20 นาย นำหมายจับและหมายค้นลงวันที่ 23 พ.ค.54 บุกเข้าจับกุมตัวนายโจที่บ้านจังหวัดนครราชสีมาเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 10.00 น. และนำตัวมาสอบสวนยังดีเอสไอ โดยในเบื้องต้นได้เแจ้งข้อกล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และเป็นการกระทำให้กิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน เป็นผู้นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ยึดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาไปด้วย
 
จากการสอบถามผู้ต้องหาทราบว่า ผู้ต้องหาอาศัยอยู่ที่รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา มานานกว่า 30 ปี และได้รับสัญชาติอเมริกัน เพิ่งเดินทางกลับประเทศไทยได้ราว 1 ปี เพื่อรักษาอาการป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง และเก๊าท์ เจ้าหน้าที่ได้กล่าวหาว่าตนเป็นเจ้าของบล็อกแห่งหนึ่งซึ่งตั้งราวปี 2550 และมีลิงก์เชื่อมโยงไปยังเว็บที่ดาวน์โหลดหนังสือ The King Never Smiles เบื้องต้นได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และได้แจ้งต่อสถานทูตอเมริกาแล้ว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เพื่อนของผู้ต้องหาได้นำโฉนดที่ดินมูลค่ากว่า 1.7 ล้านบาทเป็นหลักทรัพย์ยื่นประกันตัวต่อศาล แต่ศาลไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว เนื่องจากดีเอสไอคัดค้านการประกันตัว และศาลให้เหตุผลว่าคดีนี้เป็นคดีร้ายแรงเกี่ยวกับความมั่นคง เกรงว่าผู้ต้องหาออกไปแล้วจะไปยุ่งกับพยานหลักฐาน ผู้ต้องหาจึงถูกนำตัวส่งเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในเย็นวันนี้ (26 พ.ค.)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักกฎหมายอาญาระบุ ผังล้มเจ้าของ ศอฉ. คือ หลักฐานสำคัญว่ารัฐใช้อำนาจโดยมิชอบ

Posted: 26 May 2011 04:28 AM PDT

สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวถึงกรณีที่ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิดยอมรับว่าผู้มีรายชื่อใน “ผังล้มเจ้า” ที่ศอฉ. เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ปีที่แล้วว่าไม่เกี่ยวกับขบวนการล้มกษัตริย์นั้น ถือเป็นเป็นหลักฐานสำคัญว่ารัฐใช้อำนาจโดยมิชอบ

“แน่นอนว่า รัฐอาจจะอ้างว่า ผังล้มเจ้านั้นเป็นความผิดฐานหนึ่งในหลายฐานความผิด เช่น ก่อการร้าย แต่การออกมายอมรับว่าผังดังกล่าวเป็นเท็จ เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า รัฐใช้อำนาจโดยมิชอบ และก่อให้เกิดคำถามต่อการกล่าวหาในฐานความผิดอื่นๆ เช่นกัน”

อ.สาวตรีกล่าวด้วยว่า แม้ในทางกฎหมายแล้ว “ผังล้มเจ้า” ไม่อาจจะใช้เป็นหลักฐานโดยตัวเองว่ารัฐมีความผิด แต่ถือเป็นหลักฐานสำคัญในฐานะเอกสารประกอบที่แสดงให้เห็นว่า รัฐใช้อำนาจโดยมิชอบ โดยผังดังกล่าวเป็นเครื่องแสดงมูลเหตุจูงใจของรัฐ ในการออกคำสั่งหรือทำให้คนอื่นเข้าใจผิด หรือทำให้เกิดความชอบธรรมแม้จะอ้างหลักฐานที่เป็นความเท็จ

เบื้องต้น คนที่ได้รับความเสียหาย ก็สามารถจะฟ้องร้องได้ทันที ตามความผิดฐานหมิ่นประมาท และละเมิด ซึ่ง อ. สาวตรีกล่าวว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบในเบื้องต้นที่สามารถระบุได้ชัดเจน คือผู้มีรายชื่ออยู่ในผังทั้งหมด โดยสามารถฟ้องในฐานละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฐานละเมิดมาตรา 420 และ 423 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 ซึ่งเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท และไขข่าวให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายและถูกดูหมิ่นเกลียดชัง

 

หมายเหตุ
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะ ทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำ

ความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณา ด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ ทำให้ปรากฏด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดีทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา 423 ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดีหรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้นแม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริงแต่หากควรจะรู้ได้

ผู้ใดส่งข่าวสาส์นอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสาส์นนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสาส์นเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จับ “วิทยุปากบารา” คาดจากเหตุค้าน “ท่าเรือน้ำลึก”

Posted: 26 May 2011 03:51 AM PDT

ตั้งข้อหาสถานีวิทยุไม่ได้รับอนุญาต เจ้าของสถานี ชี้เป็นวิทยุธุรกิจขนาดเล็กรัฐยังไม่มีนโยบายอะไรออกมารองรับ เผยตั้งมากว่า 2 ปี ไม่เคยมีปัญหา คาดอาจเกิดจากที่ไม่รับทำวีดีอาร์ประชาสัมพันธ์โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา

 
 
วานนี้ (25 พ.ค. 2554) เมื่อเวลาประมาณ13.00 น. เจ้าหน้าที่ศูนย์ตรวจสอบและเฝ้าฟังวิทยุเขต 4 สงขลา สำนักงาน กทช.ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองสตูล นำหมายศาลเข้าค้นสถานีวิทยุไอเดียสเตชั่น 102.6 เมกกะเฮิร์ต ตั้งอยู่ที่ซอยต้นรัก อ.เมืองสตูล และจับกุมนายเชษฐ ชูช่วย เจ้าของสถานี ในข้อหาตั้งสถานีวิทยุโดยไม่ได้รับอนุญาต และ มี ใช้ และครอบครองเครื่องส่งวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมยึดเครื่องส่งวิทยุและอุปกรณ์หลายรายการ รวมทั้งอายัดสายสัญญาณออกอากาศ จากนั้นได้ควบคุมตัวไปสอบสวนที่ สภ.เมืองสตูล ก่อนที่จะได้รับการประกันตัวในเวลาต่อมา
 
นายเชษฐ กล่าวว่า เหตุที่ถูกจับกุมเนื่องมาจากการที่ตนไม่ได้ไปลงทะเบียนเป็นวิทยุชุมชน ทั้งที่ตั้งสถานีมาตั้งแต่ปลายปี 2552 แต่ที่ตนตัดสินใจไม่ไปลงทะเบียนเพราะการประกอบการของสถานีไม่ได้มีลักษณะตามหลักการวิทยุชุมชนแต่เป็นวิทยุธุรกิจขนาดเล็กตามที่มีกฎหมายระบุ ซึ่งรัฐไม่มีนโยบายอะไรออกมารองรับในเรื่องวิทยุธุรกิจขนาดเล็กแบบนี้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ได้ช่วยงานของหน่วยงานรัฐในพื้นที่มาโดยตลอดซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไร
 
นายเชษฐ แสดงความเห็นต่อมาว่า ปมสำคัญของการจับกุมจึงอาจสืบเนื่องจากกรณีที่มีตัวแทนบริษัทก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราพร้อมกับเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า เข้ามาติดต่อว่าจ้างให้ทำวีดีอาร์ประชาสัมพันธ์โครงการฯ ให้เมื่อสัปดาห์ก่อน แต่ตนได้ปฏิเสธไป
 
ทั้งนี้ นายเชษฐ หรือนายตุ๊ก เป็นทั้งนักดนตรีและนักแต่งเพลงชาวสตูล ที่เข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะในพื้นที่มาโดยตลอด รวมถึงการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราในช่วงปีเศษที่ผ่านมา ผลงานที่เป็นที่รู้จักได้แก่เพลงขอแค่มีเธอซึ่งแต่งและร้องเองจนได้รับความนิยม ส่วนอีกชิ้นหนึ่งคือการเรียบเรียงเสียงประสานเพลงประกอบรายการสารคดีคนค้นคนของบริษัททีวีบูรพา
 
ย้อนไปเมื่อกลางพฤศจิกายน 2553 กระทรวงคมนาคมได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมให้กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เพื่อดำเนินการประชาสัมพันธ์โครงการฯ ให้กับกรมเจ้าท่าก่อนที่จะมีการดำเนินการก่อสร้าง โดยระบุว่าจะใช้การสื่อสารทุกรูปแบบ เช่น หนังสือพิมพ์โฟกัสภาคใต้ ส่องใต้ และปักใต้ รวมทั้งเว็บไซต์ และสถานีวิทยุขนาดเล็กในพื้นที่ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าบางสถานีไม่ปรากฏว่ามีการลงทะเบียนเช่นเดียวกับสถานีไอเดียสเตชั่น แต่ก็ไม่มีการเข้าจับกุมแต่อย่างใด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"องอาจ" แจงประชาธิปัตย์ไม่มีประเพณีแพ้เลือกตั้งหัวหน้าพรรคลาออก

Posted: 26 May 2011 03:49 AM PDT

"องอาจ คล้ามไพบูลย์" แจงหลัง "เนวิน" ทำลายมาร์คไม่ได้เป็นายกฯ ชี้พรรคไม่มีประเพณีเรื่องหัวหน้าพรรคลาออกหลังแพ้การเลือกตั้ง ยันพรรคประชาธิปัตย์ยังมั่นใจในตัว "อภิสิทธิ์" ด้าน "คำตา-สะอิ้ง" เตรียมนำ "คาราวานคนจน" เดินสายปราศรัยชู "ภูมิใจไทย"

"องอาจ" ยัน ปชป. ไม่มีประเพณีแพ้เลือกตั้งหัวหน้าลาออก
ที่พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้ (26 พ.ค.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ผู้สมัครส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทยออกมาระบุว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัครส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ว่าในส่วนของน.ส.ยิ่งลักษณ์นั้นมีความเป็นไปได้ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่มีความแน่ใจและเคยระบุว่าผู้จะได้รับการเสนอชื่อชิงตำแหน่งนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยนั้น อาจไม่ใช่ผู้สมัครส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อเบอร์ 1 ก็ได้ และ พ.ต.ท.ทักษิณก็เคยมีการเสนอชื่อสมาชิกในพรรครายอื่นๆ อาทิ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ นายโอฬาร ไชยประวัติ มาแล้ว แต่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นั้นยืนยันว่าสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคอย่างแน่นอน ไม่มีโอกาสที่จะเป็นอย่างอื่น

ส่วนกรณีที่นายเนวินระบุว่าหากพรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้ง มีความเป็นไปได้ที่นายอภิสิทธิ์จะลาออกนั้น นายองอาจ กล่าวว่า พรรคไม่มีประเพณีเรื่องหัวหน้าพรรคลาออกหลังแพ้การเลือกตั้ง แต่สำหรับกรณีของนายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 48 นั้น ไม่เกี่ยวข้องกับประเพณีพรรค แต่เป็นเพราะในช่วงที่มีการรณรงค์แข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคภาย นายบัญญัติเคยระบุว่า ถ้ามีการเลือกตั้งแล้วพรรคประชาธิปัตย์ได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่าเดิมจะ พิจารณาตัวเอง ซึ่งเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาเช่นนั้นนายบัญญัติจะลาออกไป อย่างไรก็ตามในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้าพรรค และไม่ได้รับการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งนายชวนก็ไม่ได้ลาออกแต่อย่างใด ทั้งนี้ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีประเพณี

“การเลือกตั้งในปี 35 พรรคประชาธิปัตย์ได้ 79 ที่นั่ง, ปี 38 ได้เป็น 86 ที่นั่ง, ปี 39 ได้ 123ที่นั่ง, ปี 44 ได้ 130 จะเห็นว่าเพิ่มมาเรื่อย แต่พอปี 48 กลับลดลงมาเหลือ 96 ที่นั่ง จึงเป็นเหตุผลว่าท่านบัญญัติทำตามที่เคยพูดไว้ ในการรณรงค์ภายในพรรค” นายองอาจกล่าว

เมื่อถามว่ากรณีที่นายเนวิน ออกมาระบุเช่นนี้ ถือเป็นการสร้างกระแสต้านนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยหน้าหรือไม่ นายองอาจกล่าวว่า นายเนวินคงวิเคราะห์ทางการเมืองไปตามประสบการณ์ที่มีอยู่ ไม่ใช่เรื่องของกระแสต้านใดๆ ทั้งสิ้น พรรคประชาธิปัตย์ยังมีความมั่นใจในตัวนายอภิสิทธิ์อยู่

ถามย้ำว่า ได้มีการเตรียมการไว้หรือไม่ว่า หากนายอภิสิทธิ์ถูกสกัดเป็นนายรัฐมนตรีจะดันใครขึ้นแทน นายองอาจ กล่าวว่า ไม่ได้มีการเตรียมการอะไร ยืนยันว่าผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อเบอร์ 1 คือนายอภิสิทธิ์ จะเป้นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในนามพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

นายองอาจ ยังกล่าวกรณีนายขวัญชัย ไพรพณา ประธานชมรมคนรักอุดรฯ ยืนยันหากนายอภิสิทธิ์ ไปหาเสียงที่จ.อุดรธานี กลุ่มคนเสื้อแดงที่จ.อุดรธานี จะไม่ไปก่อกวนนายอภิสิทธิ์เพราะทำความเข้าใจกับคนเสื้อแดงแล้ว พร้อมทั้งระบุว่าขอให้พรรคประชาธิปัตย์อย่าเอาเสื้อแดงเทียมมาก่อกวนเองว่า การที่นายขวัญชัยพูดเช่นนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าแกนนำคนเสื้อแดงที่มีบทบาท ในพรรคเพื่อไทยสามารถสั่งการให้คนเสื้อแดงไปก่อกวนที่ไหน อย่างไรก็ได้ และเมื่อวานนี้ (25 พ"ค.) ที่นายอภิสิทธิ์ ไปหาเสียงที่ จ.สมุทรสาคร ก็โดนก่อกวนอีก ดังนั้นหากนายขวัญชัยสามารถสั่งการคนเสื้อแดงได้ ควรจะสั่งการให้คนเสื้อแดงไม่มาก่อกวน ในทุกจังหวัดในประเทศไทย ทั้งนี้ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีพฤติกรรมที่จะไปจ้างคนมาใส่เสื้อสีใด แล้วมาก่อกวนพรรคการเมืองใดอย่างแน่นอน

"คาราวานคนจน" เตรียมเดินสายปราศรัยชู "ภูมิใจไทย"
เว็บไซต์พรรคภูมิใจไทย รายงานว่า นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย และผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ กล่าวว่าขบวนคาราวานคนจน นำโดย ป้าสะอิ้ง หรือนางศุภาธินันท์ ไถวสินธุ์ และนายคำตา แคนบุญจันทร์ จะเริ่มต้นเปิดเวทีปราศรัยย่อยในช่วงบ่ายวันที่ 26 พ.ค. ที่ จ.ร้อยเอ็ด พร้อมพิธีบายศรีสู่ขวัญ ก่อนจะเคลื่อนขบวนเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ มุ่งหน้าสู่เวทีปราศรัยใหญ่ เขื่อนลำตะคองในเย็นวันที่ 3 มิ.ย. โดยจะเดินทางแบบค่ำไหนนอนนั่น และมีกำหนดการการเดินทางและปราศรัยย่อยคร่าวๆ ดังนี้

ในวันศุกร์ที่ 27 พ.ค. ปราศรัยหน้าตลาดสดห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธ์ วันเสาร์ที่ 28 พ.ค. ปราศรัยหน้าตลาดสดพัฒนานิคม จ.สกลนคร วันอาทิตย์ที่ 29 พ.ค. ไปที่ จ.บึงกาฬ วันจันทร์ที่ 30 พ.ค. วัดหนองแก อ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู วันอังคารที่ 31 พ.ค. อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ วันพุธที่ 1 มิ.ย. อ.สีดา จ.ขอนแก่น โดยจะมีผู้สมัครส.ส.ในแต่ละจังหวัดมาร่วมเวทีด้วย

ส่วนในวันพฤหัสบดีที่ 2 มิ.ย. คณะคาราวานคนจนจะเดินทางถึงเขื่อนลำตะคอง เปิดเวทีย่อยบอกเล่าปัญหาคนจน ก่อนจะเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ของพรรคภูมิใจไทย ในวันที่ 3 มิ.ย. ที่เขื่อนลำตะคอง โดยมี ส.ส. อดีตรัฐมนตรี และแกนนำพรรคไปร่วมการปราศรัย

จากนั้นในวันเสาร์ที่ 4 มิ.ย. ขบวนปาร์ตี้ลิสต์คนจนจะออกขอคะแนนจากพี่น้องอีสาน ทั่วทั้งอีสาน ซึ่งรายละเอียดกิจกรรมจะเรียบร้อยทั้งหมดภายในวัยที่ 27 พ.ค.นี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสวนา: วิพากษ์การใช้กฎหมายหมิ่นฯ ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ

Posted: 26 May 2011 03:43 AM PDT

 

24 พ.ค. 54 – เมื่อเวลา 20.00 น. สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ถนนเพลินจิต จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “Lese Majeste: A Challenge to Thailand’s Democracy” (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและความท้าทายต่อประชาธิปไตยไทย) โดยมีวิทยากร คือ สุลักษณ์ ศิวรักษ์, เดวิด สเตร็คฟัส นักวิชาการอเมริกันผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ในสังคมไทย, เบนจามิน ซาแวกกี นักวิจัยแอมเนสตี้ อินเตอร์แนลประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยได้รับความสนใจจากคนไทยและต่างชาติเป็นจำนวนมาก

 
เดวิด สเตร็คฟัส

ในการมองเรื่องภาพรวมการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ อาจแบ่งได้เป็นสองช่วงหลักๆ คือก่อน และหลังการรัฐประหารพ.ศ. 2500 กล่าวคือ ก่อนการรัฐประหาร มีการใช้ประมวลกฎหมายอาญาปีพ.ศ. 2499 ว่าด้วย ผู้ใดที่ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ ได้รับโทษสูงสุดเท่ากับ 7 ปี ต่อมา ในปีพ.ศ. 2519 หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็ได้มีการเพิ่มโทษสูงสุดเป็น 15 ปี และยังคงเรื่อยเท่านั้นมาจนถึงปัจจุบัน

ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ มีความพยายามเปลี่ยนแปลงในบทบัญญัติดังกล่าว ครั้งแรก คือในพ.ศ. 2550 โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พูดถึงการปรับแก้กฎหมายหมิ่นฯ ให้ครอบคลุมมากขึ้นโดยเพิ่มการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายต่อพระราชโอรส และพระราชธิดา โดยมีบทลงโทษ 1-7 ปี และต่อองคมนตรี ซึ่งมีโทษระหว่าง 6 เดือนถึง 5 ปี

ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 ก่อนที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จะได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาล กระทรวงยุติธรรมได้เสนอร่างพระราชบัญญัติที่จะเพิ่มบทลงโทษสูงสุดเป็น 25 ปี แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ แต่ที่น่าสนใจในกรณีนี้ คือ การครอบคลุมของกฎหมายไม่ใช่จำกัดไว้เพียงแค่ กษัตริย์ ราชินี และรัชทายาท และผู้สำเร็จราชการเท่านั้น แต่มีความพยายามให้รวมถึงกษัตริย์ที่ผ่านมาในอดีต รวมถึงผู้ที่มีเชื้อสายสืบทอดมาจากกษัตริย์ด้วย แต่หลังจากนั้นมาก็ไม่มีความพยายามในการเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าวอีก

หากมองดูที่จำนวนคดีที่เกิดขึ้นในปี 2533 ถึงปี 2548 พบว่า จำนวนคดีที่ถูกดำเนินการมีจำนวนเฉลี่ย 5-6 คดีต่อปี และต่อมาระหว่างปี 2549 ถึงปี 2553 ภายในระยะเวลาสี่ปี มีคดีที่ถูกดำเนินการทั้งหมด 397 คดี หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1,500% และในจำนวน 397 คดีนั้น มีจำนวน 213 ที่ถูกตัดสินว่าผิดจริง ในกรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ มีข้อน่าสังเกตสองประการ อย่างแรกคือ ก่อนปี 2548 อัตราการถูกตัดสินคดีว่าผิด อยู่ที่ราว 94% ฉะนั้นถ้ามีจำนวนทั้งหมด 213 คดี ราว 200 คนก็จะถูกตัดสินคดี ซึ่งส่วนใหญ่จะยอมรับสารภาพ และได้รับโทษราว 3 ปี โดยมีการขออภัยโทษในภายหลัง แต่ในช่วงระยะหลัง มีราว 40 คดีที่ปรากฏว่าผู้ต้องหาไม่ต้องการรับสารภาพ และมุ่งสู้คดีโดยไม่ยอมรับผิด ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีรูปแบบใหม่เกิดขึ้นในกลุ่มคนที่โดนคดีหมิ่นฯ ซึ่งคนจำนวนนี้พร้อมจะต่อสู้คดีโดยไม่รับสารภาพ และอาจจะได้รับโทษ 3-15 ปี

ข้อสังเกตอย่างที่สอง คือ การมีกรณีที่ยังคงค้างอยู่ในขั้นตอนของศาลฎีกา 9 คดีตั้งแต่ปี 2548

อย่างที่สามที่น่าสนใจ คือ หากเรามองดูธรรมชาติของการใช้กฎหมายนี้ในปี 2547-2548 จะพบว่าส่วนใหญ่จะถูกใช้โดยนักการเมืองเพื่อโจมตีนักการเมืองด้วยกันเอง แต่ในระยะ4-5 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในการใช้กฎหมายดังกล่าว

ที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ แน่นอนว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น มิได้มีไว้ปกป้องสถาบันกษัตริย์ ในฐานะ “สถาบัน” แต่ปกป้องในฐานะของปัจเจกบุคคล ฉะนั้น เมื่อเราลองอ่านกฎหมายดังกล่าวดูก็อาจจะพบว่าสามารถเปิดโอกาสให้วิพากษ์ วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ในกรณีของคุณจักรภพ เพ็ญแข ที่มาพูดที่ FCCT เมื่อปี 2550 และพูดเรื่อง “ระบอบอุปถัมภ์” ก็ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นฯ ทั้งๆที่เป็นการวิพากษ์ในเชิงวิชาการ เช่นเดียวกับกรณีของใจ อึ๊งภากรณ์ที่เขียนหนังสือ “Coup for the Rich” ซึ่งก็เป็นการวิพากษ์เชิงวิชาการเช่นกัน แต่ก็ถูกฟ้องด้วยกฎหมายหมิ่นฯ

นอกจากนี้ ในกรณีล่าสุด เช่นที่เกิดกับคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการของนิตยสารเรด พาวเวอร์ ที่พยายามวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ในเชิงหลักการ เช่นเดียวกันกับกรณีอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่ถูกเรียกไปสอบสวน กรณีอาจารย์สมศักดิ์ก็เป็นที่น่าสนใจว่าเขาจะถูกดำเนินคดีหรือไม่ และเขาจะถูกฟ้องด้วยข้อความใด หากว่าเป็นจดหมายที่เขียนถึงฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ หลักกฎหมายหมิ่นฯ ก็มิได้ครอบคลุมพระราชธิดา แต่ถ้าหากตำรวจใช้ข้อเสนอ 8 ข้อเพื่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นมูลเหตุในการฟ้อง ซึ่งอาจารย์สมศักดิ์และกลุ่มนิติราษฎร์ได้นำเสนอเพื่อการจัดวางตำแหน่งแห่ง ที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคมที่เหมาะสมนั้น ก็น่าสนใจว่าถ้าเขาถูกดำเนินคดีจริง กฎหมายฉบับนี้ต่อไปจะเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ ในช่วงปีที่ผ่านมา ก็น่าจับตาในแง่ที่ว่าสังคมไทยมีการพูดถึงกฎหมายหมิ่นฯ เปลี่ยนไป กล่าวคือ ในช่วงปี 2549 นั้น มีการจัดเวทีของ ASTV ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกๆที่มีการพูดถึงกฎหมายหมิ่นฯ มีนิตยสารฟ้าเดียวกัน และการสัมมนาไทยศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2552 ที่ล้วนพูดถึงกฎหมายตัวนี้ในเชิงการปฏิรูปกฎหมายทั้งสิ้น แต่ในสองสามเดือนที่ผ่านมานี้ เริ่มมีกลุ่มต่างๆที่พูดถึงการยกเลิกกฎหมายดังกล่าว และมองว่าเป็นปัญหาซึ่งต้องไปไกลกว่าการปฏิรูป

ยิ่งเมื่อเวลาของการเลือกตั้งใกล้เข้ามาถึง ก็อาจจะมีการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมได้ยาก หากว่ากฎหมายนี้ยังคงดำรงอยู่และถูกใช้อยู่เพื่อการขจัดศัตรูทางการเมือง

000

“เอไอเสนอต่อรัฐบาลไทยให้หยุดใช้กฎหมายหมิ่นฯ ไปก่อน
จนกว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขที่เคารพมาตรฐานของกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล
นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้นักโทษมโนธรรมสำนึกที่ถูกจำคุกด้วยกฎหมายหมิ่นฯได้รับการปล่อยตัวโดยทันที”

 

เบนจามิน ซาแวคกี

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมองว่าการใช้กฎหมายหมิ่นฯ ในระยะหลังตั้งแต่ปลายปี 2548 เป็นการบั่นทอนเสรีภาพในการแสดงออก โดยไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในฐานะที่ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญานี้ การใช้กฎหมายดังกล่าวนับเป็นการละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศในแง่ของเสรีภาพในการแสดงออก

ในประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกนี้ ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล อนุญาตให้มีการใช้ข้อจำกัดบางส่วนได้ หากตรงกับเงื่อนไขที่เป็นไปเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง โดยต้องระบุไว้ในกฎหมาย เช่น เพื่อความมั่นคงของชาติ ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสาธารณะ และเป็นไปเพื่อศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อปกป้องชื่อเสียงของบุคคล และเอไอมีจุดยืนที่ชัดเจนต่อรัฐบาลไทยว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดสากลดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีการตีความที่ไม่ชัดเจนและกว้างเกินความเป็นจริงในแง่ของคำ นิยาม การบังคับใช้ และบทลงโทษ ซึ่งเป็นการละเมิดหลักการกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ในการจะพิจารณาคดีคนใดคนหนึ่งว่าเป็นนักโทษทางการเมืองหรือไม่ เอไอจะพิจารณาที่หลักการว่าคนคนนั้นต้องถูกตัดสินว่าผิดด้วยกฎหมายหมิ่นพระ บรมฯ เพียงอย่างเดียว และถ้าหากการกระทำที่ถูกนำมาดำเนินคดี เป็นไปอย่างสันติทั้งวิธีการและเจตจำนงค์ เราจะพิจารณาว่าเขาเป็นนักโทษมโนธรรมสำนึกด้วย(prisoner of conscience) มีกรณีที่พูดถึงกันเยอะมากคือ กรณีของดา ตอร์ปิโด ซึ่งเอไอมองว่าเธอเป็นนักโทษการเมืองที่ถูกจำคุกด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมฯ แต่หากจะมองว่าเป็นนักโทษมโนธรรมสำนึกหรือไม่ ตรงนี้อาจยังไม่ชัดเจนเนื่องจากคำพูดที่เธอพูดบนเวทีปราศรัยในปี 2551 สามารถมองได้ว่ายั่วยุให้เกิดความรุนแรง อย่างไรก็ตาม เรามิได้บอกว่าเธอสมควรได้รับโทษนั้น แต่หากเทียบกับกรณีของจีรนุช เปรมชัยพร หากว่าเธอถูกตัดสินจำคุก เธอจะถูกพิจารณาว่าเป็นนักโทษมโนธรรมสำนึก เนื่องจากข้อหาที่ได้รับคือ การลบโพสต์ที่ "จาบจ้วง" ในเว็บบอร์ดประชาไทไม่เร็วเพียงพอ ต่อกรณีของดา ตอร์ปิโด เช่นเดียวกับนักโทษการเมืองคนอื่นๆในโลก เอไอเรียกร้องให้การดำเนินคดีเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีกระบวนการยุติธรรมที่เหมาะสมและโปร่งใส หรือถูกปล่อยตัว

เอไอเสนอต่อรัฐบาลไทยให้หยุดใช้กฎหมายหมิ่นฯ ไปก่อน จนกว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขที่เคารพมาตรฐานของกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้นักโทษมโนธรรมสำนึกที่ถูกจำคุกด้วยกฎหมายหมิ่นฯได้ รับการปล่อยตัวโดยทันที

000

“ในการบังคับใช้ 112 ดูเผินๆ อาจจะดูเหมือนกับเป็นการจงรักภักดีหรือต้องการรักษาสถาบัน
แต่เมื่อลงไปดูในรายละเอียด พบว่า ผลกระทบของการบังคับใช้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมากมาย”

 

นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ

เนื่องจากต้นเดือนพฤษภาคม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับคำร้องจากเครือข่ายราชการและจากภาคประชาชนในกรณีคดีของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลและสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งในประเด็นนี้ตนเองได้ร่วมประชุมและตรวจสอบไปแล้วหนึ่งครั้งในวันพุธที่ ผ่านมา และอยากจะชี้แจงสองเรื่อง ก่อนอื่น กสม. ไม่ได้เป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี แต่เป็นองค์กรอิสระ โดยเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ในประเด็นแรก กสม. มีหน้าที่ในการตรวจสอบว่ามีการละเมิดสิทธิจริงหรือไม่ และสอง ในฐานะกรรมการสิทธิจะมีบทบาทในการคลี่คลายการละเมิดสิทธิของรัฐดังกล่าวได้ อย่างไรบ้าง ในประเด็นการละเมิดสิทธิฯนี้ ต้องพิจารณาใน 2 ระดับ

ประเด็นแรก มองในแง่การบังคับใช้กฎหมาย 112 ซึ่งคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญและจุดอ่อนของหน่วยงานของรัฐและในการละเมิดสิทธิ ในมาตรานี้ มีปัญหาในการบังคับใช้ เนื่องจากใครก็สามารถฟ้องร้องได้ สรุปก็คือเป็นเครื่องมือในทางการเมืองของกลุ่มอำนาจในทางสังคมเพื่อกำจัดผู้ มีความคิดเห็นตรงข้ามในทางการเมือง หรือแม้ในการยกสถาบันฯเพื่อสรรเสริญเยินยอเพื่อผลประโยชน์ในทางการเมืองของ ตนเอง ในกรณีของ อาจารย์สมศักดิ์ที่ถูกออกหมายเรียกไปสอบสวน ถือว่าส่งผลกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการ หรือคุณสมยศซึ่งถือว่าเป็นแถวหน้าในทางประชาธิปไตยที่ต้องการเรียกร้องความ เป็นประชาธิปไตย แต่กลับถูกจับกุม ฉะนั้นต้องตรวจสอบการจับกุมทั้งสอง ว่าเป็นวิธีทางการเมืองที่กลุ่มที่มีอำนาจในสังคมต้องการกำจัดคนที่คิดเห็นต่างหรือไม่

“การใช้มาตรการทางกฎหมาย และการบังคับใช้นี้ ทำให้เกิดการลิดรอนและละเมิดสิทธิเสรีภาพ และนั่นคือสิ่งที่ทำให้สังคมไทยตกอยู่ในความเงียบและตกอยู่ในความกลัว” จากการจัดเสวนาที่มหาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็มีความหวาดกลัว ถึงกับกล่าวกับอาจารย์ผู้จัดว่า ช่วยรักษามหาวิทยาลัยด้วย ขนาดตนเองจัดเวทีที่กรรมการสิทธิฯ วันพุธที่ผ่านมาตนก็ยังถูกตักเตือนด้วยความหวังดี

“แต่ถ้าสังคมไทยตกอยู่ในความเงียบและความกลัว การละเมิดจะเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายมาก และอำนาจมืดจะเข้ามาครอบงำในสังคมไทย”

จากที่ได้เข้าไปตรวจเยี่ยมในเรือนจำกรณีคุณสมยศ และคดีอื่นๆ พบว่ามีการละเมิดสิทธิอื่นๆด้วย เช่น สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เนื่องด้วยข้อกล่าวหามาตรา 112 และเผาศาลากลางนี้มีความรุนแรง ฉะนั้นทัศนคติของกระบวนการยุติธรรมจะมองว่าห้ามประกันตัว ทั้งๆที่หลายคนเป็นผู้ที่ตื่นตัวทางการเมือง เช่นในกรณีของอากง 112 ได้รับการประกันตัวในศาลชั้นต้น แต่กลับ ไม่ได้รับการประกันตัวในศาลอุทธรณ์ ปัญหาทำให้สิทธิในการประกันตัวถูกละเมิด ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น

“ในการบังคับใช้ 112 ดูเผินๆ อาจจะดูเหมือนกับเป็นการจงรักภักดีหรือต้องการรักษาสถาบัน แต่เมื่อลงไปดูในรายละเอียด พบว่า ผลกระทบของการบังคับใช้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สิทธิในการประกันตัว สิทธิในการกระบวนการยุติธรรม สิทธิในชีวิตและความปลอดภัย สิทธิในการแสดงความคิดเห็นในฐานะพลเมือง ซึ่งผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตยเป็นอันมาก”

ในประเด็นที่สอง การเพิ่มบทลงโทษจาก 7 ปี เป็นสูงสุด 15 ปีตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นมา สะท้อนให้เห็นถึง ปัญหาของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่อาจละเมิดพื้นที่สาธารณะของภาคสังคม

ในกรณีนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีหน้าที่ต้องตรวจสอบและคุ้มครอง และ ได้ไปเยี่ยมคุณสมยศที่เรือนจำ และได้เชิญ อ.สมศักดิ์ มาให้ข้อเท็จจริงในเรื่องการบังคับใช้ 112 นอกจากนี้ ในกระบวนการการตรวจสอบ ได้เชิญหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น ดีเอสไอ ตำรวจ กระทรวงยุติธรรม และกองทัพบกมาให้ข้อมูล รวมถึงขอข้อมูลในกรณีอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการใช้มาตรา 112 และประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับคุ้มครองปกป้องการละเมิดสิทธิในกรณีมาตรา 112 ซึ่งจะนำกรณีที่เกี่ยวข้องนำเสนอในเชิงนโยบายในการแก้ไขกฎหมายต่อไป เพื่อให้สอดคล้องและเป็นการประคองระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในอนาคต

000

“ในประเทศนี้ คนที่มีอำนาจ มัวทำงานแต่เรื่องของตนเอง
ผู้คนไม่มีความกล้าหาญทางศีลธรรมในการบอกความจริงกับกษัตริย์”

 

สุลักษณ์ ศิวรักษ์

หากสถาบันกษัตริย์จะดำรงรักษาอยู่ไว้ สถาบันจะต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เช่น กรณีของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินราว 30% ในกรุงเทพฯ แต่ก็ไม่มีใครสามารถตรวจสอบเรื่องดังกล่าวได้ นอกจากนี้ยังไล่รื้อประชาชนราวกับหมาแมว เพื่อนำที่ดินไปสร้างตึกบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ และก็ไม่มีใครรู้เรื่องดังกล่าวเลย

สาเหตุที่สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) ถูกแจ้งความเนื่องจากวิจารณ์ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ และถึงแม้ว่าเขาจะเป็นมาร์กซิสต์หรือคอมมิวนิสต์อะไรก็ตามแต่ สิ่งที่สมศักดิ์เสนอนั้นสมควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง เพื่อการดำรงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์

อย่างไรก็ตาม ในประเทศนี้ คนที่มีอำนาจ มัวทำงานแต่เรื่องของตนเอง ผู้คนไม่มีความกล้าหาญทางศีลธรรมในการบอกความจริงกับกษัตริย์ หากเราดูเอกสารวิกิลีกส์ จะเห็นว่าแม้แต่อานันท์ ปันยารชุน, สุรยุทธ จุลานนท์ หรือสิทธิ เศวตศิลา ซึ่งเป็นองคมนตรี ก็พูดเรื่องนี้กับทูตต่างประเทศ แต่ทำไมไม่ยอมกล้าพูดเรื่องนี้กับกษัตริย์ด้วยตนเอง

ในศาสนาพุทธ สิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตที่พึงมี คือกัลยาณมิตร คือเพื่อนที่พูดความจริงอย่างตรงไปตรงมา ผมคิดว่ากษัตริย์เราไม่มีกัลยาณมิตร เราต้องพูดความจริง เพื่อเป็นการรักษาการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์

ตอนนี้มีคนจำนวนมากขึ้นๆไม่ต้องการมีสถาบันกษัตริย์ คนที่ต้องการรักษาไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ จึงจำเป็นต้องพูดคุยเรื่องนี้อย่างเปิดเผย หากพูดตอนนี้ยังไม่ช้าเกินไป แต่ถ้าอีกในปีหรือสองปีก็อาจจะเป็นการช้าเกินไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน SIU: ประธานาธิบดีฝรั่งเศสเสนอให้ “จัดระเบียบอินเทอร์เน็ต” ในที่ประชุม e-G8

Posted: 26 May 2011 03:02 AM PDT

ฝรั่งเศสจัดงานประชุมนโยบายอินเทอร์เน็ตระดับโลก e-G8 Forum ครั้งแรก ระหว่างวันที่ 24-25 พฤษภาคม 2554 ที่กรุงปารีส โดยประธานาธิบดีนิโคลา ซาร์โกซี กล่าวปาฐกถาเปิดงานว่าอินเทอร์เน็ตควรจัดระเบียบอินเทอร์เน็ตให้เข้มข้นขึ้น เพื่อป้องกันการใช้อินเทอร์เน็ตไปในทางที่ผิด

e-G8 รวมดาวจากโลกออนไลน์
งานประชุมผู้นำอินเทอร์เน็ต e-G8 Summit จัดขึ้นก่อนงานประชุมผู้นำโลก G8 ครั้งที่ 37 ที่เมือง Deauville ประเทศฝรั่งเศสเพียงหนึ่งวัน โดยไอเดียการจัดประชุมมาจากตัวประธานาธิบดีซาร์โกซีเอง ที่ต้องการดึงผู้นำของโลกอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็น

  • ซีอีโอและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ของโลก เช่น Telecom Italia, Orange
  • ซีอีโอและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทสื่อชั้นนำ เช่น Vivendi, Disney, Thompson Reuters, News Corporation, Bloomberg, BBC, New York Times
  • ซีอีโอและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทไอทีชั้นนำอย่าง Google, Facebook, eBay, Microsoft, HP, Lucent, Huawei, HTC
  • ตัวแทนจากภาคการศึกษา และภาครัฐบาล
  • ตัวแทนจากภาคประชาสังคมและ NGO ที่สนใจเรื่องอินเทอร์เน็ต รวมถึงองค์กรไม่หวังผลกำไรอย่าง Wikipedia

แขกชื่อดังในงานก็มีทั้ง Eric Schmidt ซีอีโอของกูเกิล, Mark Zuckerberg แห่งเฟซบุ๊ก, Jimmy Wales ผู้ก่อตั้งวิกิพีเดีย, Lawrence Lessig ศาสตราจารย์จากฮาร์วาร์ด, Rupert Murdoch เจ้าพ่อสื่อ News Corp และ Mark Thompson ผู้อำนวยการบีบีซี เป็นต้น แขกที่เข้าร่วมงานมีทั้งหมดประมาณ 1,500 คน


ประธานาธิบดีนิโคลา ซาร์โกซี ในงานประชุม e-G8 (ภาพจากเว็บประธานาธิบดีฝรั่งเศส)


ซาร์โกซีบอก “อินเทอร์เน็ตต้องถูกจัดระเบียบ”

ในปาฐกถาเปิดงานของประธานาธิบดีซาร์โกซี เขาได้ยกย่องบทบาทของอินเทอร์เน็ตว่าปฏิวัติโลกเช่นเดียวกับที่โคลัมบัส กาลิเลโอ นิวตัน และเอดิสันเคยทำ อินเทอร์เน็ตช่วยให้การติดต่อสื่อสารเกิดขึ้นตลอดเวลา และเปลี่ยนแปลงวิธีการปฏิสัมพันธ์ของผู้คน

ซาร์โกซีบอกว่าตอนนี้การปฏิวัติโลกที่เกิดขึ้นจากอินเทอร์เน็ตผ่านขั้นตอนแรกของมันแล้ว และเขาต้องการเชิญผู้นำโลกอินเทอร์เน็ตมาระดมสมองหาแนวทางสำหรับขั้นตอนถัดไปของอินเทอร์เน็ตในงาน e-G8 ครั้งนี้

ซาร์โกซีบอกว่าในฐานะประมุขแห่งรัฐ เขาก็อยากรู้ว่าอินเทอร์เน็ตจะมาช่วยปรับปรุงกลไกของภาครัฐได้อย่างไร และอินเทอร์เน็ตสามารถส่งเสริมประชาธิปไตยได้หรือไม่

เขายังเตือนโลกอินเทอร์เน็ตด้วยว่า อินเทอร์เน็ตไม่ใช่ “โลกคู่ขนาน” อันไร้กฎระเบียบและศีลธรรม และไม่เชื่อมโยงกับโลกความเป็นจริง เพราะแท้จริงแล้วอินเทอร์เน็ตแทรกตัวอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน ดังนั้นจึง “เป็นไปไม่ได้” ที่ “รัฐบาล” จะไม่ยุ่งกับโลกอินเทอร์เน็ต

ซาร์โกซีบอกว่า “รัฐบาล” ของประเทศต่างๆ เป็น “ตัวแทนเพียงหนึ่งเดียว” ของประชาชนตามหลักประชาธิปไตย และถ้าตัดรัฐบาลออกไป อินเทอร์เน็ตจะอยู่ในภาวะไร้ระเบียบและเป็นอนาธิปไตย (anarchy)

เขาเตือนว่าอย่าให้อินเทอร์เน็ตสร้างการผูกขาดทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ อย่าใช้เสรีภาพบนอินเทอร์เน็ตไปละเมิดสิทธิและความเป็นส่วนตัวของผู้คน และในไม่ช้า ความโปร่งใสของอินเทอร์เน็ตจะต้องเผชิญหน้ากับแนวคิดเรื่องความเป็นส่วนตัวของปัจเจกชน ซาร์โกซียังบอกว่าถึงแม้อินเทอร์เน็ตจะมีแนวคิดเรื่องภาวะไร้ตัวตน (anonymous) แต่เบื้องหลังคนเหล่านั้นในโลกจริงก็ยังเป็นประชาชนทั่วไปที่ต้องอยู่ใต้กรอบและกฎหมายของสังคมอยู่

นอกจากนี้ซาร์โกซียังพูดถึงประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ (copyright) และทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property) ว่าอินเทอร์เน็ตไม่ควรถูกใช้เพื่อละเมิดผลงานสร้างสรรค์ และประเด็นเรื่องการคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากอันตรายบนอินเทอร์เน็ตด้วย

อ่าน บทถอดความปาฐกถาฉบับเต็มของซาร์โกซี (ภาษาอังกฤษ PDF)


ประธานาธิบดีซาร์โกซี ทักทายกับ Eric Schmidt ซีอีโอของกูเกิลที่งาน e-G8


สื่อ-ซีอีโอ-นักเคลื่อนไหว รุมค้านแผนการจัดระเบียบเน็ต, นายกอังกฤษบอกแผนนี้ทำไม่ได้จริง

หลังจากปาฐกถาของประธานาธิบดีซาร์โกซีถูกเผยแพร่ออกมา ก็ได้รับเสียงวิจารณ์มากมายจากผู้นำในโลกอินเทอร์เน็ต

Eric Schmidt ซีอีโอของกูเกิลได้กล่าวในงานโดยมีแนวคิดตรงข้ามกับซาร์โกซี เขาบอกว่ารัฐบาลไม่ควรพยายามกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตในประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวและลิขสิทธิ์ โดยเขาให้เหตุผลว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก และปัญหาเหล่านี้จะถูกแก้ไขด้วยตัวของมันเอง

Schmidt บอกว่ารัฐบาลต้องคำนึงถึงเทคโนโลยีที่ใช้กำกับดูแลด้วยว่าสามารถรองรับอินเทอร์เน็ตทั้งโลกได้หรือไม่ และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงทีหรือไม่ เพราะกูเกิลเองเคลื่อนตัวในโลกเทคโนโลยีเร็วกว่าที่รัฐบาลจากประเทศใดๆ จะตามทัน ซึ่งไม่ต้องพูดถึงรัฐบาลทุกประเทศในโลกเลย – Telegraph

John Perry Barlow ผู้ก่อตั้งองค์กรเพื่อสิทธิบนอินเทอร์เน็ตชื่อ Electronic Frontier Foundation ให้ความเห็นว่าอินเทอร์เน็ตเป็น “ดินแดนใหม่ที่รัฐบาลต้องการครอบครอง” และเขาเดินทางไปร่วมงาน e-G8 ที่ปารีสเพื่อหยุดแผนการของซาร์โกซี

Jean-Bernard Levy ซีอีโอของกลุ่มสื่อขนาดยักษ์ของฝรั่งเศส Vivendi พูดในงานประชุมว่าการกำกับดูแลอันเข้มข้นของยุโรปเป็นอุปสรรคสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจบนอินเทอร์เน็ต – FT

Gary Shaprio บล็อกเกอร์ของนิตยสาร Forbes ได้เรียกร้องให้ประธานาธิบดีโอบามาของสหรัฐ คัดค้านและไม่ยอมทำตามนโยบายของซาร์โกซี – Forbes

Jeff Jarvis สื่อมวลชนจากอเมริกาได้ท้าประธานาธิบดีซาร์โกซีในช่วงถาม-ตอบว่าเขากล้าจะให้สัตยาบันว่าจะไม่ทำร้ายอินเทอร์เน็ตหรือไม่ ซึ่งคำตอบของซาร์โกซีคือการควบคุมกิจกรรมที่ผิดกฎหมายถือว่าไม่เป็นการทำร้ายหรือสร้างผลเสียต่ออินเทอร์เน็ต Jarvis ให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่ามุมมองของซาร์โกซีสะท้อนความคิดของผู้นำโลกที่ต้องการควบคุมอินเทอร์เน็ต – BBC

Alec Ross ที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ฮิลลารี คลินตัน ให้สัมภาษณ์ว่าสหรัฐอเมริกาสนับสนุนเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ต โดยให้ทุนอบรมนักเคลื่อนไหวบนอินเทอร์เน็ตในประเทศต่างๆ ให้เรียนรู้การแก้ไขระบบกรองเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตที่รัฐบาลหลายประเทศนำมาใช้

Nadine Wahab นักเคลื่อนไหวและรณรงค์อีกคนหนึ่งกล่าวว่าบทเรียนจากตูนิเซียและอียิปต์ควรสอนให้รัฐบาลโลกรู้ว่า “อย่าไปยุ่งกับอินเทอร์เน็ต” เพราะอินเทอร์เน็ตไม่ใช่ของบริษัทหรือรัฐบาลหรือ G-8 – CBS

ด้านนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร นายเดวิด คาเมรอน ให้สัมภาษณ์ว่าแนวทางการควบคุมอินเทอร์เน็ตของซาร์โกซีไม่สามารถทำได้จริง และให้สัญญาว่าอังกฤษจะไม่ควบคุมอินเทอร์เน็ตในเร็วๆ นี้ – Guardian


Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก เข้าพบประธานาธิบดีซาร์โกซีและมอบของที่ระลึก


บทสรุป: นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ “รัฐบาลโลก vs อินเทอร์เน็ต”

เมื่ออินเทอร์เน็ตเติบโตและแผ่ขยายครอบคลุมประชากรโลกมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็จะเห็นปรากฎการณ์ที่ประชาชนใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ “ท้าทาย” อำนาจของรัฐบาลในแต่ละประเทศ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคงเป็นเหตุการณ์ประท้วงในตูนิเซีย อียิปต์ ลิเบีย และโลกตะวันออกกลางเมื่อช่วงต้นปีนี้

รัฐบาลที่คุ้นเคยกับการควบคุมสื่อผ่านเครื่องมือและนโยบายต่างๆ เพื่อรักษาระเบียบของสังคม (ในขณะเดียวกันก็กดทับประชาชนที่คิดเห็นในทางตรงข้าม) ย่อมเกิดอาการ “กลัว” อินเทอร์เน็ต และแสดงออกผ่านการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตในรูปแบบต่างๆ เช่น การสร้าง Great Firewall ของประเทศจีน, การตัดอินเทอร์เน็ตของประเทศตะวันออกกลางช่วงที่มีเหตุประท้วง

ประเทศไทยเองก็ถือเป็นประเทศหนึ่งที่ควบคุมอินเทอร์เน็ตอย่างเข้มข้น ดังจะเห็นได้จากกรณีการบล็อค YouTube เมื่อปี 2007 และการใช้กฎหมายอย่าง พ.ร.บ.ความผิดทางคอมพิวเตอร์ หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อเซ็นเซอร์เว็บไซต์จำนวนมาก

แนวโน้มการเซ็นเซอร์และควบคุมอินเทอร์เน็ตจากภาครัฐบาลทั่วโลกนั้นชัดเจนว่าเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และการเรียกประชุม e-G8 ของฝรั่งเศสอาจถือเป็น “สัญญาณ” ชิ้นแรกว่ากลุ่มประเทศ G8 เริ่มคิดถึงการควบคุมอินเทอร์เน็ตในระดับรัฐบาล (และระหว่างรัฐ) กันอย่างจริงจังแล้ว

แน่นอนว่ากลุ่มผู้ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิของผู้ใช้เน็ต จะคัดค้านแผนการควบคุมของซาร์โกซี และแผนลักษณะเดียวกันของรัฐบาลทั่วโลก

แต่นั่นไม่ทำให้ “ความพยายามจะควบคุมอินเทอร์เน็ต” ของฟากรัฐบาลลดลงแม้แต่น้อย

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการค้นหา “สมดุลใหม่” ระหว่างอินเทอร์เน็ตกับรัฐบาลโลกเท่านั้น!
 


วิดีโอสรุปบรรยากาศในงาน e-G8 วันแรก

 

ที่มา: http://www.siamintelligence.com/sarkozy-internet-government/

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: เครือข่ายที่ดินตรัง ยันค้านถนนกันแนวเขตป่า ชี้ห่วงภัยพิบัติทางธรรมชาติ

Posted: 26 May 2011 02:12 AM PDT

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ประกาศค้านตัดถนนกันแนวเขตป่าเทือกเขาบรรทัด จี้เปิดข้อมูลโครงการ เผยจะร่วมกันเฝ้าระวังภัยพิบัติธรรมชาติ พร้อมร่วมผลักดันนโยบายโฉนดชุมชน ยันการเคลื่อนไม่เกี่ยวการเมืองช่วงเลือกตั้ง
 
 
 
สืบเนื่องจาก กรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชดำเนินการตัดถนนเพื่อกันแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ในพื้นที่ ม.1 และ ม.4 ต.โพรงจระเข้ ม.4 และ ม.8 ต.นาชุมเห็ด อ.ย่านตาขาว และ ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง โดยมีระยะทาง 15 กม.กว้าง 5 เมตร โดยในขณะนี้ ดำเนินการไปแล้วระยะทาง 6 กม.
 
เมื่อวันที่ 25 พ.ค.54 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ได้ประกาศเจตนารมณ์ ในเวทีสาธารณะ “ตัดถนนกันแนวเขตเขาบรรทัด เพื่ออะไร ใครได้ ใครเสีย” โดยผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน ประกอบด้วยสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง และ จ.กระบี่ และเครือข่ายรักแผ่นดินเกิดทุ่งสระ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง
 
นายเฉลิมชัย คงเหมือน คณะทำงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด อ่านคำประกาศแสดงเจตนารมณ์โดยระบุว่า เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด องค์กรเครือข่ายภาคีทั้งภาคเอกชนและตัวแทนฝ่ายปกครองท้องถิ่นท้องที่ ที่มาดูและศึกษาอภิปรายแลกเปลี่ยนถึงการไถดันแบ่งเขตเป็นถนนตรวจการ หรือเพื่ออะไรก็แล้วแต่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด และมารวมกันในที่นี้ ขอประกาศว่า
 
1.พวกเราไม่มีเป้าประสงค์ที่จะปลุกปั่นสร้างความขัดแย้งแตกแยก เกลียดชังด้วยอคติแก่ภาคส่วนใด หรือใคร ใดๆทั้งสิ้น เพราะพวกเราตระหนักเสมอว่า ข้าราชการก็คือ พี่น้องลูกหลานและเพื่อนร่วมชาติของพวกเรา ขณะเดียวกัน ก็ขอชื่นชมที่ทางราชการ เมื่อทางเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด องค์กรชุมชนบ้านลำขนุนได้ประสานเสนอความเห็นขอให้ยุติ ทางส่วนราชการก็ได้หยุดการไถดันไว้ในขณะนี้
 
2.เราไม่มีเป้าประสงค์ถือข้างสนับสนุนพรรคหนึ่งพรรคใดหรือผู้หนึ่งผู้ใด ในการแย่งชิง อำนาจทางการเมือง ซึ่งอยู่ในระหว่างการยุบสภา และแข่งขันเลือกตั้งกันอยู่ขณะนี้ หากแต่พวกเราห่วงใยในวิกฤติภัยพิบัติทรัพยากรธรรมชาติ และการดำรงอยู่ของชุมชน บุคคลที่จะดำเนินวิถีชีวิตอย่างปกติสุข และมีศักดิ์ศรี จึงขอประกาศเจตนารมณ์ ที่จะร่วมกัน ดังนี้
 
2.1) เราจะคัดค้านการไถดันทำถนนกันแนวเขตของกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชในเขตเทือกเขาบรรทัด รวมทั้งทางกรมอุทยานฯ ต้องเปิดเผยเอกสารข้อมูลโครงการ แผนงาน และงบประมาณ ตามหนังสือที่ทางเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดได้ประสานยื่น กับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดตรังไปแล้ว เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2554
 
2.2) เราจะร่วมกันเฝ้าระวังป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติ ที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องเพื่อนร่วมแผ่นดิน
 
2.3) เราจะร่วมกันผลักดันและปฏิบัติตามนโยบายโฉนดชุมชน ตามแนวทางสิทธิชุมชนของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ทางเครือข่ายฯได้ปฏิบัติ และผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สิทธิชุมชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ได้นำสู่การปฏิบัติในสังคมไทย และรวมทั้งให้มีการกระจายอำนาจให้มีการปกครองท้องถิ่น ที่แท้จริง
 
ทั้งนี้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เกิดจากการรวมตัวของชาวสวนยางที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอนุรักษ์ป่าไม้ทับซ้อนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชุมชน ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2543 มีสมาชิก 11 องค์กรชุมชน 21 หมู่บ้าน 11 ตำบล 8 อำเภอ 3 จังหวัด ได้แก่ บ้านไร่เหนือ ต.ในเตา บ้านในใส บ้านหินงอม ต.ท่างิ้ว บ้านเขาหลัก บ้านในเขา บ้านลำแพะ ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด บ้านน้ำปลิว ต.หนองปรือ อ.รัษฎา บ้านเขาโหรง บ้านด่าน บ้านหินงอม บ้านไสขุดหิน ต.น้ำผุด อ.เมือง บ้านลำขนุน บ้านลำพิกุล ต.นาชุมเห็ด บ้านยูงงาม บ้านโคกทราย ต.โพรงจระเข้ อ.ย่านตาขาว บ้านตระ ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน บ้านทับเขือ บ้านห้วยอิโส บ้านควนอ่าวลำแข ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง บ้านปลักหมู ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง บ้านคลองทรายดินแดงน้อย ต.หนองทะเล อ.เมือง จ.กระบี่
 
สำหรับความคืบหน้าในการเจรจากับรัฐบาล ได้มีการรับรองพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน จำนวน 5 ชุมชน ได้แก่ บ้านทับเขือ-ปลักหมู, บ้านตระ, บ้านไร่เหนือ, บ้านน้ำปลิว และบ้านลำขนุน อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังไม่มีการส่งมอบพื้นที่ให้สำนักงานโฉนดชุมชนบริหารจัดการร่วมกับชุมชน 
 
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เจ้าหน้าที่จีนดูแลโครงการเขื่อนสาละวินหายตัวลึกลับ พม่าระบุเป็นฝีมือ SSA

Posted: 26 May 2011 01:22 AM PDT

เจ้าหน้าที่จีนดูแลโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าซาง แม่น้ำสาละวินในรัฐฉานตอนใต้ หายตัวลึกลับ 3 คน ทหารพม่าเชื่อเป็นฝีมือกองกำลังไทใหญ่ SSA ขณะที่พล.ท.เจ้ายอดศึก ระบุพื้นที่เกิดเหตุไม่มีกองกำลัง SSA เคลื่อนไหว

ที่ตั้งเขื่อนท่าซาง (ที่มาของภาพ: สำนักข่าวฉาน)

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา เกิดเหตุชาวจีน 3 คน ซึ่งเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าซาง บนแม่น้ำสาละวิน ในรัฐฉานตอนใต้ ได้หายตัวไปพร้อมกับคนนำทาง โดยไม่ทราบสาเหตุ ขณะนั่งเรือจากศูนย์ที่พักที่บริเวณใกล้กับต้างป่าเลา ตอนเหนือของสะพานท่าซาง ขึ้นสำรวจตามลำน้ำสาละวิน 

แหล่งข่าวเผยว่า ในวันเกิดเหตุชาวจีนทั้ง 3 คน ได้ว่าจ้างคนในพื้นที่ 3-4 คนให้นำทางโดยมีแผนที่และเรือยนต์ 1 ลำ ขึ้นสำรวจตามลำน้ำสาละวิน ทางตอนเหนือสะพานท่าซาง แต่กระทั่งในช่วงเย็นวันเดียวกันกลุ่มคนดังกล่าวไม่ได้เดินทางกลับมายังศูนย์ที่พักพิง และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครทราบถึงชะตากรรมพวกเขา ซึ่งการหายตัวของชาวจีนทั้งสามคนนี้ ทหารพม่าเชื่อว่าถูกกองกำลังไทใหญ่ SSA กลุ่มพล.ท.เจ้ายอดศึกจับตัวไป 

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามพล.ท.เจ้ายอดศึก ผู้นำกองกำลังไทใหญ่ SSA ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยระบุว่า ในพื้นที่เกิดเหตุไม่มีกองกำลังไทใหญ่ SSA เคลื่อนไหว ซึ่งในพื้นที่นั้นมีกองกำลังหลายกลุ่มเคลื่อนไหว ทั้งทหารพม่า สังกัดกองพันทหารราบเบาที่ 519 กองกำลังอาสาสมัครเมืองก๋าง (เมืองโต๋น) ภายใต้การนำของนายติ่นวิน และ กองกำลังกลุ่มเจ้ามหาจ่า ซึ่งรับสัมปทานจากรัฐบาลทหารพม่าตัดไม้ในพื้นที่ 

ทั้งนี้ ตั้งแต่โครงการก่อสร้างเขื่อนท่าซาง บนแม่น้ำสาละวิน ภายใต้ความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือ ไทย จีน และพม่าได้ริเริ่มขึ้น ได้มีเจ้าหน้าที่จีนราว 30 – 40 คน เข้ามาปักหลักอยู่ที่ต้างป่าเลา พื้นที่ที่ตั้งโครงการ อยู่ตอนเหนือของสะพานท่าซาง โดยทำหน้าที่ควบคุมดูแลโครงการและสำรวจตามลำน้ำสาละวินอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในพื้นที่มีทหารพม่าหลายกองพันเคลื่อนไหวทำหน้าที่คุ้มกันโครงการ ประกอบด้วย กองพันทหารราบเบาที่ 519 สังกัดบก.ยุทธการที่ 14 ประจำเมืองสาด และกองพันทหารราบที่ 43 , 49 และ 225

แหล่งข่าวชาวบ้านในพื้นที่เปิดเผยว่า บริเวณพื้นที่สะพานท่าซาง รวมถึงบริเวณต้างเป่าเลา มีกองกำลังติดอาวุธเคลื่อนไหวหลายกลุ่ม นอกเหนือจากทหารพม่า มีกองกำลังอาสาสมัครอย่างน้อย 2 กลุ่ม และพื้นที่นี้ถือเป็นพื้นที่อิทธิพลด้านยาเสพติดด้วย อย่างไร้ก็ตาม ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเจ้าหน้าที่จีนที่หายตัวไปถูกจับกุม เพราะยังมีประเด็นน่าคิดอีกคือเรื่องอุบัติเหตุ เนื่องจากกระแสน้ำช่วงนี้ค่อนข้างไหลเชี่ยวซึ่งอาจประสบเหตุเรือล่มก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม การหายตัวไปของเจ้าหน้าที่จีนเกิดขึ้นก่อนหน้าพล.อ. เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีคนใหม่พม่า มีกำหนดเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 พ.ค. นี้ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า หากทางการพม่าไม่สามารถตรวจสอบถึงเหตุที่เกิดขึ้นอาจสร้างความปวดหัวให้กับพล.อ.เต็ง เส่ง ไม่น้อยที่จะชี้แจงเรื่องนี้แก่ทางการจีน

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น