โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

"กรณ์" เผยไปกินข้าวแถวทองหล่อแล้วสวนกับ "ณัฐวุฒิ" ชี้ "ไพร่" ใช้ชีวิตไม่ต่างจาก "อำมาตย์"

Posted: 07 May 2011 02:04 PM PDT

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเผยได้พาภรรยาไปกินข้าวที่ร้านแถวทองหล่อ มีคนโต๊ะข้างๆ บอก "ณัฐวุฒิ" เพิ่งลุกจากโต๊ะไปไม่ถึง 5 นาที ทำให้อดขำไม่ได้ว่าคนที่เรียกตัวว่า "ไพร่" ก็ใช้ชีวิตไม่ต่างจากคนที่เขาเรียกว่า "อำมาตย์" ด้านณัฐวุฒิโต้ไพร่ทำไมจะกินร้านเดียวกับนายทุนไม่ได้

เมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. เศษวานนี้ (7 พ.ค.) นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเพิ่งกลับมาจากการพาภรรยาไปกินอาหารที่ร้านอาหารย่านทองหล่อ และเพิ่งสวนกับนายณัฐวุฒิ ใสเกื้อ แกนนำ นปช. ซึ่งกินร้านเดียวกัน โดยนายกรณ์ได้โพสต์ลงในบัญชีผู้ใช้ facebook ของเขาว่า "เมื่อสักครู่ ได้มาทานข้าวกับภรรยาที่ร้านอาหารแถวๆทองหล่อ คนที่นั่งอยู่โต๊ะข้างๆบอกว่า ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ กับครอบครัวเพิ่งลุกไปจากโต๊ะที่ผมนั่อยู่ไม่ถึง 5 นาทีที่ผ่านมานี้เอง ทำให้เราอดนึกขำไม่ได้ว่า คนที่เรียกตัวเองว่า "ไพร่" ก็ไม่ได้ใช้ชีวิตแตกต่างไปจากคนที่เขาเรียกว่าเป็นพวก "อำมาตย์" สักเท่าใดนัก" (หมายเหตุ: นายกรณ์สะกดนามสกุลของนายณัฐวุฒิผิดเป็น "ไสยเกื้อ")

จากนั้นต่อมาเวลาราว 23.00 น. เศษ นายณัฐวุฒิ ได้โพสต์ในบัญชี facebook ของเขาบ้าง โดยกล่าวว่า "ตอนหัวคำ่พาแก้มไปทานข้าวร้านที่เขาชอบช้างน้อยก็ไปด้วย สุดคาดหมายว่ากรณ์ จาติกวาณิชย์จะเอามาเป็นประเด็นแล้วบอกว่าไม่นึกว่าคนประกาศตัวเป็นไพร่จะมีวิถีชีวิตคล้ายพวกเขา ฟังเรานะกรณ์ เพราะประเทศนี้มีคนคิดอย่างคุณการกดขี่จึงดำรงอยู่ ทำไมกำหนดว่าไพร่ต้องจน ต้องโง่ ต้องก้มหน้ารับการเหยียบยำ่ ทำไมไพร่มันจะกินข้าวร้านเดียวกับนายทุนไม่ได้ ประชาชนจงเจริญ"

นอกจากนี้ นายณัฐวุฒิ ยังตอบโต้เพิ่มว่า "ตอนนี้กำลังนั่งคุยเรื่องยุทธศาสตร์การเลือกตั้งกับผู้ใหญ่หลายคน จะชวนประชาชนเอาชนะพรรคอำมาตย์ของกรณ์นี่แหละ ประชาชนจงเจริญ"

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘อัลกออิดะห์’ ลั่นต้องล้างแค้น ผู้ดีหัวรุนแรงเชิดชูสหรัฐ ฝ่ายต้านตราหน้า 'ก่อการร้ายตัวจริง'

Posted: 07 May 2011 01:59 PM PDT

กลุ่มอัลกออิดะห์ ได้ออกมายืนยันผ่านทางเว็บไซด์ถึงการเสียชีวิตของเชคอุซามะห์ บิน ลาดิน แกนนำของกลุ่ม และประกาศว่าการตอบโต้การโจมตีของชาติตะวันตก จะเดินหน้าต่อไป

แถลงการณ์ระบุว่า กลุ่มจะไม่ละทิ้งแนวทางการต่อสู้ เพียงเพราะการสูญเสียเชคบินลาดิน "การสูญเสียนี้เป็นการสูญเสียที่มีค่ามากขึ้นสำหรับเรา และมุสลิมทุกๆ คนรู้ดีกว่ามันจะไม่สูญเปล่า"

นอกจากนี้อัลกออิดะห์ ยังได้เปิดเผยอีกว่า ได้มีการบันทึกเทปเสียงของท่านเชคบินลาดินไว้ก่อนที่ท่านจะถูกทหารอเมริกันก่ออาชญากรรม สังหารโหดท่านเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น โดยจะมีการเผยแพร่เทปดังกล่าวในเร็วๆ นี้

ด้านกลุ่มคริสเตรียนหัวรุนแรงจำนวนมากชุมนุมยกย่องสหรัฐที่ก่ออาชญากรรมสังหารโหดเชคอุสามะห์ บินลาดิน พร้อมด่าทอประชาชนที่ออกมาต่อต้านการก่ออาชญากรรมของสหรัฐ ที่ด้านนอกสถานทูตสหรัฐฯประจำกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเมื่อวันศุกร์(6พฤษภาคม 2554) ขณะที่ฝ่ายต่อต้านการก่ออาชญากรรมของสหรัฐในการสังหารโหดเชคอุซามะห์ บินดิน ชูป้ายประณามก่อการร้ายตัวจริงก็คือรัฐบาลอเมริกา

ทั้งนี้ระหว่างการชุมนุมนั้น ตำรวจต้องแยกผู้ประท้วงให้อยู่ห่างจากกลุ่มขวาจัดหัวรุนแรงอิงลิช ดีเฟนซ์ ลีก(อีดีแอล) ซึ่งจัดเดินขบวนยกย่องการก่ออาชญากรรมของสหรัฐฯ ที่บุกรุกบ้านพักของแกนนำอัลกออิดะห์ในปากีสถานและฆ่าเขาตายโดยที่เขาปราสจากอาวุธ เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดเหตุปะทะกัน

ผู้ชุมนุมฝ่ายสนับสนุนบิน ลาดิน ชูป้ายมีข้อความว่า "รัฐบาลสหรัฐฯนั่นแหละคือก่อการร้ายตัวจริง" และตราหน้าบรรดาผู้นำของสหัฐฯว่าฆาตกร พร้อมรับรองว่าต้องมีการแก้แค้นนองเลือดอย่างแน่นอน

"โศกนาฏกรรมครั้งใหม่นะเหรอ ตอนนี้มันอยู่ที่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่เท่านั้น ตะวันตกคือศัตรู" อาบู มูอาซ วัย 28 ปี กล่าว

ด้านผู้สนับสนุนของอีดีแอล ชูป้ายมีข้อความว่า "บิน ลาดิน จะถูกเผาไหม้ในนรก" และตะโกนด่าทอกันไปมากับกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านสหรัฐจากเบื้องหลังแถวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานการจับกุมแต่อย่างใด

กลุ่มอัลกออิดะห์เมื่อวันศุกร์(6) ประกาศแก้แค้นให้กับบินลาดินและเรียกร้องชาวมุสลิมลุกฮือต่อต้านสหรัฐฯ ขณะเดียวกันก็มีการเดินขบวนสนับสนุนบินลาดินในหลายประเทศทั้งปากีสถาน อียิปต์และตุรกี

ที่มา สำนักข่าว ไทยแลนด์นิวส์ดารุสลาม (TND)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“ขบวนการนักศึกษาหายไปไหนหมด” อาหมัด–สุไลมาน เครือข่ายฯเพื่อสังคมภาคใต้

Posted: 07 May 2011 01:47 PM PDT

“ช่วงนี้ขบวนการนักศึกษาในสังคมหายไปไหนหมด” เป็นคำถามจาก 2 ตัวแทนจากเครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมภาคใต้ ที่อาจสะท้อนถึงพลังนักศึกษาที่ดูจะห่างหายไป ไม่ค่อยปรากฏตามสื่อ

คนแรก คือ “หมัด” นายอาหมัด แกสมาน นักศึกษาชั้นปีที่ 3 เอกกฎหมายอิสลาม คณะวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี จากสตูล


“หมัด” นายอาหมัด แกสมาน
ตัวแทนจากเครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมภาคใต้

อีกคน “มัง” นายสุไลมาน บือราเฮง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 เอกการปกครองท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะรัฐศาสตร์ สถาบันเดียวกัน คนปัตตานี


“มัง” นายสุไลมาน บือราเฮง
ตัวแทนจากเครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมภาคใต้

ทั้ง 2 เป็นตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมภาคใต้ ที่กำลังเดินสายรวมขบวนพลังประชาชนในการรณรงค์ในเรื่องแผนพัฒนาภาคใต้ โดยพยายามชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากโครงการยักษ์และร่วมแสดงจุดยืนกับชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบ

 

0 0 0 0 0 0

 

เครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมภาคใต้ มีการรวมตัวกันอย่างไร?

หมัด - ที่ผ่านมานักศึกษาต่างองค์กร ต่างชมรม ต่างแยกกันทำกิจกรรม ต่อมาจึงเกิดจากการรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมของนักศึกษาหลายๆ องค์กรในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อาทิ เครือข่ายนักศึกษาอิสระเพื่อสังคม เครือข่ายนักศึกษาชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สหพันธ์นักศึกษาปัตตานี ชมรมสำนึกรักษ์บ้านเกิด เป็นต้น

ต่อมาได้ประสานงานไปยังเครือข่ายนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในภาคใต้ โดยการประสานผ่านนายกองค์การนักศึกษา ประธานสภาองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ว่า มีกิจกรรมรณรงค์ที่โน่นนะ ที่นี่นะ จะไปร่วมหรือไม่ ซึ่งแต่ละองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัย จะแจ้งไปยังนักศึกษามหาวิทยาลัยนั้นๆ รวมถึงบอกต่อไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆ เป็นรายกิจกรรม

มัง – จากการที่เราเคยไปร่วมรณรงค์ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานี มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ทำให้เรามีเครือข่ายมากขึ้นพอสมควร

กระทั่งเรามาเคลื่อนไหวกรณีท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ปรากฏว่ามีเครือข่ายนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในส่วนกลางและภาคเหนือ เช่น ชมรมทักษิณสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยรังสิต เครือข่ายนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความสนใจกรณีท่าเรือน้ำลึกปากบาราเช่นกัน โดยมาออกค่ายร่วมกับชาวบ้านที่จังหวัดสตูล เราจึงได้ประสานเพื่อร่วมในการรณรงค์เคลื่อนไหวกรณีท่าเรือน้ำลึกปากบารา

นอกจากนี้แล้ว เราประสานกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และวิทยาลัยพละศึกษาจังหวัดยะลาด้วย

 

จุดประสงค์ในการรวมตัวเป็นเครือข่าย?

หมัด – ที่ผ่านมาเราเห็นภาครัฐรังแกและกระทำต่อชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านไม่รู้ข้อมูล รายละเอียดของโครงการต่างๆของภาครัฐ ในฐานะที่เราเป็นนักศึกษา ทุนส่วนหนึ่งในการศึกษาก็เป็นเงินภาษีของประชาชน และตั้งคำถามว่าเราจะทำอะไรให้กับชาวบ้านได้บ้าง เราจะนิ่งเฉยอยู่อย่างไรในเมื่อชาวบ้านถูกกระทำ จึงเกิดการรวมตัวของนักศึกษาขึ้น

แนวทางของเรา เมื่อเห็นชาวบ้านถูกรังแก ไม่ว่าไทยพุทธหรือมุสลิม เราพร้อมและยินดีจะเข้าไปช่วยเหลือเคลื่อนไหว ต่อสู้กับพี่น้องชาวบ้านในทุกเรื่องที่ละเมิดสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ละเมิดสิทธิมนุษยชน ฯลฯ

 

โครงสร้างของเครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมภาคใต้?

มัง – ฐานโครงสร้างเครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมภาคใต้ หลักๆ อยู่ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เชื่อมโยงกัน ประกอบด้วย สมาคมนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ที่ช่วยเหลือพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ส่วนเครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมภาคใต้นั้น องค์กรนักศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยต่างเคลื่อนไหวโดยอิสระ ซึ่งไม่มีโครงสร้างที่ชัดเจน ขึ้นอยู่กับเวลา และโอกาส ในการร่วมกิจกรรมในแต่ละกิจกรรม เราหวังว่า ต่อไปเครือข่ายนักศึกษาจะมีโครงสร้างที่ชัดเจน มีโครงสร้างที่เข้มแข็ง

 

ทำไมถึงสนใจรณรงค์เคลื่อนไหวประเด็นแผนพัฒนาภาคใต้?

มัง – สาเหตุที่เราสนใจประเด็นแผนพัฒนาภาคใต้ ซึ่งเป็นปัญหาและสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อชาวบ้าน ละเมิดสิทธิชุมชน และละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีความรู้และไม่เข้าใจภาพรวมเกี่ยวกับแผนพัฒนาภาคใต้

ผมมองว่า คนในชุมชนมีสิทธิที่จะจัดการทรัพยากรในชุมชนตนเองได้ แต่รัฐและนายทุนเข้าไปรังแก กระทำโดยใช้อำนาจเพื่อแย่งชิงฐานทรัพยากรของชาวบ้าน โดยใช้ช่องว่างทางกฎหมาย สร้างภาพว่า แต่ละโครงการพัฒนาของรัฐนำความเจริญมาให้ แต่จริงๆแล้วชาวบ้านไม่ได้อะไรเลย

ดังนั้นผมและเครือข่ายนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ จะขออยู่เคียงข้างชาวบ้าน

 

ที่ผ่านได้ร่วมเคลื่อนไหวในประเด็นใดบ้าง

มัง – ที่ผ่านมาเราได้ร่วมเคลื่อนไหวกรณีชาวบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน จากการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงของรัฐ และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ

เรื่องที่เราเคลื่อนไหวส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับกรณีชาวบ้านถูกกระทำ ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน จากการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงของรัฐ เช่น ป.วิอาญา พระราชบัญญัติความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.2550 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

มีนักศึกษาส่วนหนึ่งลงไปเยี่ยมพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น เยี่ยมหญิงหม้าย ลูกกำพร้า

นอกจากนี้แล้วเราเคยร่วมทำกิจกรรมกับผู้ต้องขังในคดีความมั่นคงด้วย

 

โรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดนครศรีธรรมราช?

มัง – นอกจากนี้แล้วเราเคยร่วมเคลื่อนไหวกรณีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเพื่อนจากเครือข่ายนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ติดต่อประสานมายังเครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

โดยเราไปร่วมสมทบกับกิจกรรมรณรงค์ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ในระหว่างวันที่ 22 – 24 มีนาคม 2554

 

กรณีท่าเรือน้ำลึกปากบารา?

มัง – เราเห็นการเคลื่อนไหวของนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการรณรงค์ไม่โรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เราจึงมองมายังกรณีท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่เป็นปัญหาใหญ่เช่นกัน แต่ที่จังหวัดสตูลไม่มีมหาวิทยาลัยใดเลย ชาวบ้านที่ต่อสู้กันเองโดยลำพัง เราจึงตัดสินใจเข้ามาร่วมเคลื่อนไหวด้วยกันกับพี่น้อง

 

กรณีพิพาทเรื่องที่ดินทำกินระหว่างชาวบ้านกับมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง?

มัง – ทราบว่าปัญหาพิพาทเรื่องที่ดินทำกินระหว่างชาวบ้านมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เป็นปัญหาเรื้อรังมาหลายปีแล้ว โดยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจะเดินทางไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ในกรณีที่ชาวบ้านโดนมหาวิทยาลัยฟ้องร้อง ซึ่งเราจะเข้าไปร่วมด้วย แต่ก็เลื่อนมาหลายครั้งแล้ว

 

กรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช?

มัง – จริงๆแล้วเราอยากไปร่วมเคลื่อนไหวอยู่เหมือนกัน แต่ตอนนี้ทางเราไม่มีข้อมูล เราจะต้องศึกษาข้อมูลให้ชัดเจนมากว่านี้

 

เรียนรู้ภาพรวมของแผนพัฒนาภาคใต้อย่างไร?

หมัด – เรียนรู้จากพี่ๆเครือข่ายองค์พัฒนาภาคเอกชน(NGOs) ที่ทำงานเคลื่อนไหวเพื่อสังคม อาทิ พี่ๆเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ซึ่งมีข้อมูลโครงการต่างๆ พี่ๆเครือข่ายจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา รวมทั้งชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างท่อส่งก๊าซไทย – มาเลย์ ซึ่งส่วนหนึ่งของนักศึกษาได้เข้าไปมีส่วนร่วมตรงนั้นด้วย

เรียนรู้จากทำงานประสานกับชาวบ้าน โดยผ่านการร่วมกิจกรรมกับชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง ต่อมาได้รู้กรณีปัญหาของชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีกลุ่มนักศึกษาร่วมทำกิจกรรมกับชุมชนนั้นๆ อยู่ อย่างเช่น เราลงพื้นที่ทำกิจกรรมที่ปากบารา แต่มีเครือข่ายนักศึกษาอีกกลุ่มที่ทำกิจกรรมอยู่ที่นครศรีธรรมราช ชุมพร สุราษฏร์ธานี เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกลุ่มเครือข่าย

กรณีปัญหาข้อพิพาทที่ดินทำกินระหว่างมหาวิทยาลัยทักษิณ กับชาวบ้าน ซึ่งแต่ก่อนเราไม่มีข้อมูลเลย มาอยู่กับพี่ๆ นักพัฒนาภาคเอกชน(NGOs) และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบซึ่งจะมีการเชื่อมเครือข่ายระหว่างจังหวัดเช่นกัน

นอกจากนี้แล้วก็หาข้อมูลเอาเองจากอินเตอร์เน็ทจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือได้

 

เดินทางไปร่วมกิจกรรมแต่ละครั้งจะโบกรถ?

มัง – การโบกรถเป็นกระบวนการนักศึกษาอย่างหนึ่ง เราไม่อยากจะทิ้ง การโบกรถเป็นการสร้างอะไรหลายๆ อย่างให้กับนักศึกษา ซึ่งสามารถเชื่อมความสัมพันธ์ในหมู่นักศึกษาด้วยกัน

อย่างตอนไปร่วมกิจกรรมรณรงค์ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เราโบกรถจากจังหวัดปัตตานีไป โดยขอติดรถพ่วง 18 ล้อเดินทาง

เราเดินทางมาปากบาราก็เช่นกัน เราหลายๆคนโบกรถมาจากปัตตานี ต่อกันมาเป็นทอดๆ

 

ได้เรียนรู้อะไรจากการเคลื่อนไหวร่วมกับชาวบ้าน?

มัง – เรียนรู้ถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านจากแผนพัฒนาภาคใต้ที่จะส่งผลกระทบจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถึง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มันเป็นจิ๊กซอว์ที่จะเกิดขึ้นในภาคใต้ ตอนแรกก็นึกไม่ถึงว่ามันเป็นโครงการขนาดใหญ่มาก ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทรัพยากร วิถีชีวิต วัฒนธรรมของชุมชน

ในมุมของนักธุรกิจ โครงการแผนพัฒนาภาคใต้อาจพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่ชาวบ้านกลับถูกละเมิด

 

แล้วชาวบ้านเรียนรู้อะไรจากนักศึกษาบ้าง?

มัง – ชาวบ้านจำนวนน้อยมากที่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการพัฒนาต่างๆของรัฐ เราคล้ายกับเป็นนาฬิกาปลุก โดยเราเข้ามาพื้นที่ปลุกให้ชาวบ้านตื่นให้รับรู้ข้อมูล ว่ามีอะไรที่จะเกิดขึ้นบ้าง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร

เมื่อชาวบ้านรู้ข้อมูลแล้ว ปรากฏว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เอาโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา เราก็ประกาศจุดยืนเพื่อแสดงพลังร่วมกับชาวบ้าน

 

มีความสัมพันธ์กับกลุ่มใดบ้างนอกจากชาวบ้าน?

มัง – เราสัมพันธ์กับนักพัฒนาภาคเอกชน (NGOs) ไหม ผมตอบเลยว่า สัมพันธ์ในเรื่องการขอข้อมูลรายละเอียดโครงการต่างๆ ถามว่า เราเป็นเครื่องมือของนักพัฒนาภาคเอกชน (NGOs) ไหม ผมไม่ยอมเป็นเครื่องมือของ NGOs แน่ๆ

เราใช้กระบวนการนักศึกษาในการทำงาน จะไม่ทำในสิ่งที่กระบวนการนักศึกษาทำไม่ได้ เราอยากให้เรียนรู้ด้วยกระบวนการนักศึกษามากกว่า

นอกจาก NGOs แล้ว เรายังสัมพันธ์กับผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น เป็นต้น

หมัด – นอกจากนี้เราทำค่ายเยาวชน โดยถ่ายทอด นำเสนอข้อมูลให้กับเยาวชนให้มีจิตสำนึกต่อสังคมตั้งแต่เด็กๆ

 

 

มองยังไงกับบทบาทของนักศึกษาในปัจจุบัน?

มัง – ปัจจุบันผมมองว่า ระบบการศึกษามีอะไรหลายๆอย่างที่มาครอบงำนักศึกษา เมื่อจบมัธยมแล้ว มาศึกษาต่อเพื่ออะไร เพื่อหวังใบปริญญาเพียงอย่างเดียว โดยไม่ค่อยต้องการความรู้หรือประสบการณ์

นักศึกษาส่วนใหญ่มองว่า อาจารย์เป็นเทวดา อาจารย์สั่งอะไรนักศึกษาก็ต้องทำหมด ทั้งที่อาจารย์ไม่ได้มีอำนาจในการสั่งการและบังคับนักศึกษา อาจารย์เป็นแค่ผู้สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้เท่านั้นเอง นักศึกษากลัวอาจารย์

ผมมองว่าเรามีสิทธิ์ที่จะค้าน หรือถกเถียงกันด้วยเหตุผลกับอาจารย์ได้ ผมคิดว่านักศึกษาในปัจจุบันควรมีบทบาทต่อสังคม ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเหมือนในอดีต

สมัยก่อนนักศึกษามีบทบาทในสังคมมาก ทำให้เห็นภาพว่า ปัจจุบันนี้ ขบวนการนักศึกษาในสังคมหายไปไหนหมด ผมเคยตั้งคำถามว่า ผมเองเป็นนักศึกษาไหม ผมไม่กล้าเรียกตัวเองว่านักศึกษา เพราะผมไม่ได้ทำงานให้กับประชาชนเลย จริงๆแล้วนักศึกษาต้องทำงานเพื่อประชาชน

 

ตอนนี้นักศึกษามีพลังมากน้อยแค่ไหน?

หมัด – พลังนักศึกษาเป็นแค่พลังเล็กๆ แต่ถ้าในวันข้างหน้าที่มากว่านี้อาจเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่

มัง – อย่างน้อยที่สุด นักศึกษามาเป็นกำลังใจให้พี่น้องชาวบ้านให้สู้ต่อไป โดยบอกชาวบ้านว่า เราไม่ไปไหน เราจะอยู่เคียงข้างท่านนั่นแหละ พลังนักศึกษาอาจเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น

 

วิชาในชั้นเรียนได้นำมาใช้กับกิจกรรมบ้างหรือไม่?

มัง – สามารถมาประยุกต์ใช้กับการรณรงค์เคลื่อนไหวได้น้อยมาก ทฤษฎีหลายๆอย่างในชั้นเรียนไม่ค่อยสอดคล้องกับความเป็นจริง ประสบการณ์ส่วนใหญ่ที่ได้มาจากการคลุกคลีกับชาวบ้าน

 

แนวทางของเครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมภาคใต้ในอนาคต?

หมัด - เราใช้วิธีการประสานงานผ่านนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมรณรงค์เคลื่อนไหว โดยหวังว่า จะนำไปสู่การเป็นเครือข่ายนักศึกษาที่มีโครงสร้างที่เข้มแข็งขึ้น

นอกจากนี้ เราใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social Network) อาทิ เฟสบุค ทวิตเตอร์ ฯลฯ โดยมีการตั้งกลุ่มที่สนใจเกี่ยวกับแผนพัฒนาภาคใต้โดยเฉพาะ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลโครงการและปัญหาเฉพาะหน้าของแต่ละโครงการ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พรรคกิจประชาชนชนะเลือกตั้งสิงคโปร์ ด้านฝ่ายค้านได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นแถมทำ 2 รัฐมนตรีสอบตก

Posted: 07 May 2011 01:16 PM PDT

พรรคกิจประชาชน” ชนะเลือกตั้งท่วมท้น 81 ที่นั่ง ได้เป็นรัฐบาลต่อเนื่องนับตั้งแต่ได้ก่อตั้งประเทศในปี 2508 แต่คะแนนโหวตโดยรวมอยู่ที่ 60.14% ลดลง 6% ขณะที่พรรคฝ่ายค้านได้ ส.ส. 6 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน และทำให้ 2 รัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบันต้องกลายเป็น ส.ส. สอบตก 

8 พ.ค. – ผลการนับคะแนน การเลือกตั้งทั่วไป 7 พ.ค. ของสิงคโปร์สิ้นสุดลงแล้ว โดยพรรคกิจประชาชน (People’s Action Party - PAP) ชนะการเลือกตั้ง ได้ที่นั่ง ส.ส. ทั้งหมด 81 ที่นั่ง ที่เหลือ 6 ที่นั่ง เป็นของพรรคแรงงานสิงคโปร์ (Workers’ Party)

โดยพรรคแรงงานสิงคโปร์ ชนะการเลือกตั้งในเขตหูกัง (Hougang) ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งแบบเดี่ยว และเขตอัลจูนีด (Aljunied) ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งแบบกลุ่มมี ส.ส. ได้ 5 คน

โดยที่เขตอัลจูนีด มีสองรัฐมนตรีในพรรครัฐบาลที่ต้องสอบตก คือ นายจอร์จ เหยียว (George Yeo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ นางหลิม หวี หัว (Lim Hwee Hua) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ยังมีรัฐมนตรีอาวุโสอย่างนายไซนุล อะบิดีน ราชีส (Zainul Abidin Rasheed) นางซินเธีย ผัว (Cynthia Phua) ซึ่งเคยเป็นประธานสภา นอกจากนี้ยังมีผู้นำสหภาพแรงงานอย่างนายอ๋อง เย กุง (Ong Ye Kung) โดยผู้สมัครจากพรรคกิจประชาชน (PAP) ในเขตอัลจูนีดทั้ง 5 คนดังกล่าว ต้องสอบตกในการเลือกตั้งครั้งนี้

ทำให้ในการเลือกตั้งปีนี้พรรคฝ่ายค้านได้ ส.ส. เพิ่มขึ้นกลายเป็น 6 ที่นั่ง จากเดิมในการเลือกตั้งปี 2549 มี ส.ส. ฝ่ายค้าน 2 ที่นั่ง โดยการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ไปใช้สิทธิลงคะแนนร้อยละ 93.06 โดยคะแนนรวมของพรรคกิจประชาชน (PAP) อยู่ที่ร้อยละ 60.14 ลดลงจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2549 ซึ่งคะแนนรวมอยู่ที่ร้อยละ 66.60

โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันสูงที่สุดนับตั้งแต่ตั้งประเทศสิงคโปร์ในปี 2508 เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านได้แบ่งกันส่งผู้สมัคร ส.ส. แข่งกับพรรคกิจประชาชน (PAP) โดยพรรคฝ่ายค้านส่ง ส.ส. ลงชิงที่เก้าอี้ ส.ส. 82 ที่นั่ง จากทั้งหมด 87 ที่นั่ง ขณะที่การเลือกตั้งเมื่อปี 2549 พรรคกิจประชาชนชนะเลือกตั้งโดยปราศจากคู่แข่ง 36 ที่นั่ง ขณะที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านส่งผู้สมัครเพียง 47 ที่นั่งเท่านั้น

 

ที่มา: เรียบเรียงจาก

Workers' Party takes Aljunied, makes breakthrough, Straits Times, May 8, 2011, http://www.straitstimes.com/GeneralElection/News/Story/STIStory_666135.html

รายงาน: “เลือกตั้งสิงคโปร์ 7 พ.ค.” เมื่อฝ่ายค้าน “ร่วมกันเดิน แยกกันตี” ฝ่ายรัฐบาล, ประชาไท, 7 พ.ค. 54 http://www.prachatai.com /journal/2011/05/34422

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บรรยากาศชาวสิงคโปร์แห่ฟังผู้สมัคร ส.ส. ปราศรัย ก่อนวันเลือกตั้ง 7 พ.ค.

Posted: 07 May 2011 12:08 PM PDT

ทีมข่าวต่างประเทศ” เก็บตกบรรยากาศการหาเสียงของการเลือกตั้งสิงคโปร์ ที่ผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านนับหมื่นออกมาฟังปราศรัยในการหาเสียงคืนสุดท้าย 5 พ.ค. แม้ผลการเลือกตั้งพรรคกิจประชาชนชนะกลับเข้ามาเป็นรัฐบาล แต่ฝ่ายค้านก็ได้ที่นั่งเข้ามาเพิ่มขึ้น 

ผู้สนับสนุนพรรคแรงงานสิงคโปร์ (Workers Party - WP) ฟังการปราศรัยของพรรคที่สนามกีฬาเซรังกูน เมื่อคืนวันที่ 5 พ.ค. คืนสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง (ที่มาของภาพ: By abdulrahman.elections/Flickr.com/cc)

 

7 พ.ค. 54 - ช่วงที่รายงานอยู่นี้ การเลือกตั้งทั่วไปที่สิงคโปร์ได้ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว แม้ว่าพรรครัฐบาลจะชนะเลือกตั้งกลับเข้ามาอีกครั้ง แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งที่มีการแข่งขันสูงที่สุด นับตั้งแต่ตั้งประเทศสิงคโปร์ในปี พ.ศ. 2508 โดยพรรคฝ่ายค้านได้ส่งผู้สมัคร ส.ส. ลงแข่งกับพรรครัฐบาลทั้งหมด 82 ที่นั่ง จากจำนวนที่นั่งทั้งหมด 87 ที่นั่ง

ทั้งนี้กฎหมายของสิงคโปร์ค่อนข้างจำกัดการรณรงค์หาเสียง โดยแต่ละพรรคมีเวลาหาเสียงเพียง 9 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. ถึงวันที่ 5 พ.ค. 54 สามารถหาเสียงได้ระหว่างเวลา 07.00 – 22.00 น. เท่านั้น และกรมตำรวจสิงคโปร์ ประกาศให้มีพื้นที่สำหรับการชุมนุมทางการเมืองทั้งสิ้น 41 แห่งทั่ว เกาะสิงคโปร์ โดยพรรคการเมืองที่ต้องการใช้สถานที่ดังกล่าวจะต้องลงทะเบียน โดยใช้วิธีลงทะเบียนแบบมาก่อนได้สิทธิ์ก่อน

ระหว่างรอผลคะแนน “ทีมข่าวต่างประเทศ” ขอเก็บตกและนำเสนอวิดีโอคลิปบรรยากาศการรณรงค์หาเสียงการเลือกตั้งทั่วไปของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าการเลือกตั้งปีนี้ชาวสิงคโปร์จำนวนมากออกมาฟังการปราศรัยของพรรคการเมืองต่างๆ โดยในวิดีโอคลิปเป็นการหาเสียงช่วงวันที่ 5 พ.ค. ซึ่งวันดังกล่าวถือเป็นวันสุดท้ายที่สามารถหาเสียงได้ ก่อนเข้าสู่ช่วงที่เรียกว่าช่วงสงบใจหรือ “Cooling off” เพื่อให้ผู้ลงคะแนนได้ใช้เวลาพิจารณาว่าจะเลือกใครเป็น ส.ส. ในการเลือกตั้ง 7 พ.ค. สำหรับวิดีโอทั้งหมดบันทึกโดยบล็อกเกอร์ และผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในสิงคโปร์

 

000

[1] พรรคกิจประชาชน (PAP)

นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง (Lee Hsien Loong) ปราศรัยที่สนามกีฬาเบดก (Bedok Stadium) เขตการเลือกตั้งอีส โคสท์ (East Coast) เมื่อ 5 พ.ค. (ที่มา: YouTube/TODAYdigital)

นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ปราศรัยลานใกล้ถนนยูบิ 3 (Ubi 3) เขตการเลือกตั้งอัลจูนีด (Aljunied) เมื่อ 5 พ.ค. (ที่มา: TODAYdigital)

พรรคกิจประชาชน (People’s Action Party – PAP) พรรครัฐบาลตลอดกาล ซึ่งส่งผู้สมัคร ส.ส.ครบทุกเขตรวม 87 ที่นั่ง ในวันสุดท้ายของการหาเสียง 5 พ.ค. ได้กำหนดจุดปราศรัยไว้ 8 จุด ได้แก่ ลานใกล้กับถนนยูบิ 3 (Ubi 3) ย่านอัลจูนีด (Aljunied), สนามกีฬาโต ปาโย (Toa Payoh Stadium), สนามกีฬาแทมพีน (Tampines Stadium), ลานใกล้กับถนนโกตง ปาซี อะเวนิว 1 (Potong Pasir Avenue 1), ลานใกล้กับถนนเทนเทราม (Jalan Tenteram), ลานใกล้กับถนนเซกา (Segar Road), สนามกีฬาเบดก (Bedok Stadium) และลานใกล้กับสวนปาซีร์ รีส (Pasir Ris Park)

 

[2] พรรคแรงงานสิงคโปร์ (WP)

ปริทัม สิงห์ (Pritam Singh) ผู้สมัคร ส.ส. พรรคแรงงานสิงคโปร์ (RP) นำผู้สนับสนุนพรรคปฏิญาณคำขวัญของสิงคโปร์ ระหว่างปราศรัยที่สนามกีฬาเซรังกูน เมื่อ 5 พ.ค. ที่มา: the onlinecitizen

บรรยากาศพรรคแรงงานปราศรัย ในหัวข้อพรรคจะทำให้ชีวิตของท่านดีขึ้นได้อย่างไร โดยปราศรัยเป็นภาษาจีนก่อน และปราศรัยเป็นภาษาอังกฤษ (ที่มา: YouTube/pasirrisstreet51)

พรรคแรงงานสิงคโปร์ (Workers’ Party – WP) ซึ่งส่งผู้สมัคร ส.ส. 23 คน ถือเป็นพรรคที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. มากสุดเป็นอันดับ 3 ได้ปราศรัยที่สนามกีฬาเซรังกูน ซึ่งอยู่ในเขตเลือกตั้งอัลจูนีด (Aljunied) มีผู้สนับสนุนหลายหมื่นคนฟังปราศรัย โดยนายปริทัม สิงห์ (Pritam Singh) ผู้สมัคร ส.ส. พรรคแรงงานสิงคโปร์ (RP) ในเขตอัลจูนีด ได้นำผู้สนับสนุนพรรคกล่าวปฏิญาณคำขวัญของสิงคโปร์ นอกจากนี้พรรคแรงงานสิงคโปร์ยังปราศรัยในหัวข้อพรรคจะทำให้ชีวิตของท่านดีขึ้นได้อย่างไร โดยปราศรัยเป็นภาษาจีนและภาษาอังกฤษ สำหรับบรรยากาศการปราศรัยทั้งหมดยังสามารถติดตามได้ใน YouTube ของ pasirrisstreet51 [ตอนที่ 1, ตอนที่ 2, ตอนที่ 3, ตอนที่ 4]

 

[3] พรรคสมานฉันท์แห่งชาติ (NSP)

นิโคล เซียะ ผู้สมัครพรรคสมานฉันท์แห่งชาติ (NSP) ปราศรัยเมื่อ 5 พ.ค. ที่ลานใกล้สวนจีน (ที่มา: YouTube/sgrally2006 สำหรับการปราศรัยทั้งหมดสามารถติดตามได้ใน YouTube ของ temasekstory)

พรรคสมานฉันท์แห่งชาติ (the National Solidarity Party - NSP) ซึ่งส่งผู้สมัคร ส.ส. 24 คน เป็นอันดับ 2 รองจากพรรคกิจประชาชน ได้ปราศรัยต่อผู้สนับสนุนที่ลานใกล้สวนจีน (Chinese Garden หรือ Jurong Gardens) ใกล้สถานีรถไฟฟ้าจูร่ง ในคลิปเป็นการปราศรัยของนิโคล เซียะ (Nicole Rebecca Seah Xue Ling) ผู้สมัคร ส.ส. พรรคสมานฉันท์แห่งชาติ (NSP) เขตเลือกตั้งมารีน พาเรด (Marine Parade GRC) โดยนิโคล เซียะ เป็นผู้สมัคร ส.ส. ที่อายุน้อยที่สุดคือ 24 ปี นอกจากนี้ยังถือกันว่าเขตเลือกตั้งมารีน พาเรด กลายเป็นศึกนางฟ้า เพราะคู่แข่งของเธอในเขตนี้คือ ถิง เป่ย หลิง (Tin Pei Ling) ผู้สมัครหน้าใหม่จากพรรครัฐบาลคือพรรคกิจประชาชน (PAP) อายุ 27 ปี โดยถิง เป่ย หลิง ที่ปรึกษาด้านการจัดการของยุวชนพรรคกิจประชาชน (Young PAP) ซึ่งเป็นปีกเยาวชนของพรรครัฐบาล

สำหรับการปราศรัยทั้งหมดของพรรคสมานฉันท์แห่งชาติ (NSP) สามารถติดตามได้ใน YouTube ซึ่งบันทึกไว้โดย temasekstory

 

[4] พรรคปฏิรูป (RP)

ที่มา: SGReformPartyTV

พรรคปฏิรูป (Reform Party – RP) ซึ่งส่งผู้สมัคร ส.ส. 11 คน ปราศรัยที่สนามกีฬาเคลเมนติ (Clementi Stadium) ในคลิปเป็นการปราศรัยโดนเคนเนท เชยาเรทนาม (Kenneth Jeyaretnam) เลขาธิการพรรคปฏิรูป (RP) ซึ่งลงสมัคร ส.ส. เขตเวสโคตส์ (West Cost) สำหรับการปราศรัยทั้งหมดของพรรคปฏิรูป (RP) สามารถติดตามได้ใน YouTube ของพรรค SGReformPartyTV

 

[5] พรรคประชาธิปไตยสิงคโปร์ (SDP)

บรรยากาศการหาเสียงของพรรคประชาธิปไตยสิงคโปร์ (SDP) ช่วงพักกลางวันที่ย่าน Boat Quay ใกล้ยูโอบีพลาซ่า (Boat Quay next to UOB Plaza) เมื่อ 5 พ.ค. (ที่มา: YouTube/bkbq)

วินเซนต์ วิชัยสิงหะ (Vincent Wijeysingha) จากพรรคประชาธิปไตยสิงคโปร์ (SDP) ปราศรัยเมื่อ 5 พ.ค. ที่สนามกีฬาวูดแลนด์ (ที่มา: YouTube/Johndodot)

พรรคประชาธิปไตยสิงคโปร์ (Singapore Democratic Party - SDP) ซึ่งส่งผู้สมัคร ส.ส. 11 คน กำหนดปราศรัยในวันสุดท้าย 2 แห่งคือ ในช่วงพักกลางวัน ได้ปราศรัยที่ย่าน Boat Quay ใกล้ยูโอบีพลาซ่า (Boat Quay next to UOB Plaza) และช่วงค่ำที่สนามกีฬาวูดแลนด์ (Woodlands Stadium)

ในคลิปการปราศรัยช่วงค่ำ ที่สนามกีฬาวูดแลนด์ เป็นการปราศรัยของนายวินเซนต์ วิชัยสิงหะ (Vincent Wijeysingha) ผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคประชาธิปไตยสิงคโปร์ (SPD) เขตฮอลแลนด์ บูกิต ติมา (Holland-Bukit Timah) สำหรับบรรยากาศการปราศรัยของพรรคประชาธิปไตยสิงคโปร์ (SPD) ที่สนามกีฬาวูดแลนด์ สามารถติดตามได้ใน YouTube ของ Johndodot [ตอนที่ 1, ตอนที่ 2, ตอนที่ 3, ตอนที่ 4, ตอนที่ 5] และ YouTube ของพรรค SDP

 

[6] พรรคประชาชนสิงคโปร์ (SPP)

บรรยากาศปราศรัยของพรรคประชาชนสิงคโปร์ (SPP) ที่สนามกีฬาบิชาน เมื่อ 5 พ.ค. (ที่มา: YouTube/SuperJTeh)

เชียม ซี ตง นักการเมืองอาวุโส ส.ส.ฝ่ายค้านหลายสมัย และผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาชนสิงคโปร์ (SPP) ทักทายผู้สนับสนุนหลังการปราศรัยที่สนามกีฬาบิชาน (ที่มา: YouTube:3hree6ixty)

พรรคประชาชนสิงคโปร์ (Singapore’s People Party - SPP) ซึ่งอยู่ในกลุ่ม พันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยสิงคโปร์ (Singapore Democratic Alliance - SDA) ซึ่งส่งผู้สมัคร ส.ส. 7 คน ได้กำหนดปราศรัยวันสุดท้ายที่สนามกีฬาบิชาน (Bishan Stadium) ซึ่งอยู่ในเขตเลือกตั้งบิชาน โต ปาโย (Bishan-Toa Payoh)

ซึ่งเขตเลือกตั้งนี้ พรรคประชาชนสิงคโปร์ (SPP) ได้ส่งผู้สมัคร ส.ส. 5 คน นำโดยนายเชียม ซี ตง (Chiam See Tong) เพื่อแข่งกับพรรคกิจประชาชน (PAP) ด้วย สำหรับนายเชม ซี ตง เป็น ส.ส.ฝ่ายค้านหลายสมัย โดยยังเป็น ส.ส. เมื่อการเลือกตั้งปี 2549

สำหรับการปราศรัยของผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาชนสิงคโปร์ (SPP) เมื่อ 5 พ.ค. ยังติดตามได้จาก YouTube ของ TODAYdigital โดยมีคำปราศรัยของเบนจามิน พวี (Benjamin Pwee) [1] และ เชียม ซี ตง (Chiam See Tong) [2] ทั้งสองคนเป็นผู้สมัคร ส.ส. ในเขตเลือกตั้งบิชาน โต ปาโย

 

[7] พันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยสิงคโปร์

ฮาร์มินเดอร์ พอล สิงห์ ผู้สมัคร ส.ส. กลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยสิงคโปร์ (SDA) ปราศรัยเมื่อ 4 พ.ค. (ที่มา: YouTube/TODAYdigital)

พันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยสิงคโปร์ (Singapore Democratic Alliance - SDA) ซึ่งในกลุ่มประกอบด้วยองค์กรชาวมาเลย์แห่งชาติสิงคโปร์ (Singapore Malay National Organization - PKMS) และพรรคประชาชนสิงคโปร์ (Singapore People's Party - SPP) ซึ่งส่งผู้สมัคร ส.ส. 7 คน พรรคนี้ไม่มีการปราศรัยในวันสุดท้าย แต่ได้กำหนดปราศรัยเมื่อ 4 พ.ค. ที่ลานใกล้สถานีรถไฟฟ้าบวง กก (Buangkok MRT Station) ในคลิปเป็นการปราศรัยโดยฮาร์มินเดอร์ พอล สิงห์ (Harminder Pal Singh) ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรค ในเขตเลือกตั้งปาซีร์ รีส พุงกอล (Pasir Ris-Punggol)

 

หมายเหตุ: ข้อมูลประกอบ

Singaporean general election, 2011, Wikipedia, http://en.wikipedia.org/wiki/Singaporean_general_election,_2011

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วีรพงษ์ รามางกูร:ประเพณีการปฏิวัติ

Posted: 07 May 2011 08:50 AM PDT

เมื่อวันที่ 21 เมษายนนี้ ประมาณ 17.00 น. ได้รับโทรศัพท์จากพรรคพวกว่า มีข่าวลือการปฏิวัติแพร่สะพัดไปทั่วกรุงเทพฯ มีเพื่อนฝูงจากต่างจังหวัดโทรศัพท์มาบอกว่ามีปฏิวัติแล้ว เพราะโทรทัศน์ทุกช่องจอดำมืดเพื่อรอแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ของคณะปฏิวัติ เหมือนกับโทรทัศน์ทุกช่องหยุดรายการปกติ เปิดเพลงมาร์ชรอแถลงการณ์ คณะปฏิวัติอย่างวันที่ 19 ก.ย. 2549

ดีว่าตลาดหุ้นปิดทำการซื้อขายแล้ว มิฉะนั้นราคาหุ้นคงจะตกระเนระนาด

ต่อมาก็มีข่าวว่ารัฐบาลได้ออกมาแถลงชี้แจงว่า ที่โทรทัศน์ทุกช่องล่มเป็นเพราะดาวเทียมไทยคม 5 ขัดข้อง รับส่งสัญญาณไม่ได้ แต่ผู้คนก็ยังไม่ยอมเชื่อ

ทำไมคนไทยจึงขวัญอ่อน และระแวงว่าจะมีการปฏิวัติรัฐประหารอีกแล้ว ถ้าเป็นประเทศอื่นข่าวลือเช่นนี้คงไม่เกิดขึ้น

ที่คนไทยเส้นกระตุกขวัญอ่อนกับข่าวปฏิวัติรัฐประหาร ก็เพราะทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนชั้นไหน ชั้นสูง ชั้นกลาง หรือชั้นล่าง ต่างตระหนักดีว่าปฏิวัติรัฐประหารนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้เสมอสำหรับประเทศไทย สะท้อนให้เห็นถึงระดับของการพัฒนาการเมืองของประเทศไทย และระดับจิตสำนึกทางการเมืองของประชาชนคนไทย ดูจะเป็นความรู้สึก เฉย ๆ ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในระดับสูงและระดับกลางในเมืองไม่เกี่ยวกับระดับการ ศึกษา ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย วิทยาลัยในประเทศหรือต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทวีปยุโรปตะวันตก หรือทวีปอเมริกาเหนือ ไม่รู้สึกหวงแหนสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของตน เพียงแค่ขวัญอ่อนและเส้นกระตุกเท่านั้น

ระดับฐานะทางเศรษฐกิจก็ดี ระดับการศึกษา เป็นคนในเมืองหรือชนบท (ความจริงวิถีชีวิตแบบชนบทในประเทศไทยเกือบจะไม่มีแล้ว ถ้ามีก็คงไม่มาก) ดูจะไม่มีความสัมพันธ์ ไม่มีจิตสำนึกในเรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองและระบอบการปกครองประชาธิปไตย สังเกตได้จากหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนปกติจะสะท้อนความคิดเห็นของผู้อ่าน ก็ไม่รู้สึกเดือดร้อนต่อข่าวการปฏิวัติรัฐประหาร

ที่คนเชื่อข่าวลือ เมื่อโทรทัศน์ทุกช่องดับดำมืด ก็เพราะการปฏิวัติรัฐประหารนั้นมีแบบแผนของการปูทางไปสู่การสร้างกระแสเพื่อ สร้างความชอบธรรม การทำปฏิวัติไม่ว่าจะเป็นการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2524 การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2534 วันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2550 วันที่ 16 กันยายน 2519 หรือวันที่ 19 กันยายน 2549

ขั้นแรกก็จะมีการสร้างกระแสโดยใช้สื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ บางครั้งก็มีใบปลิวข่าวลือโจมตีรัฐบาล 3-4 ประเด็น ประเด็นแรก คอร์รัปชั่น หรือการฉ้อราษฎร์บังหลวง ประเด็นที่สอง ระบอบรัฐสภาของเราไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มาจากการซื้อเสียง ประเด็นที่สาม มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นภัยต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประเด็นสุดท้าย ไร้ประสิทธิภาพ เศรษฐกิจล้มละลาย ปล่อยให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง โจรผู้ร้ายชุกชุม ถ้าเป็นสมัยก่อนก็มีเรื่องภัยจากคอมมิวนิสต์แถมเข้าไปด้วย ตอนนี้ภัยจากคอมมิวนิสต์ไม่มีแล้วจึงตัดออก

ประเด็นคลาสสิกทั้ง 4 นี้ใช้ได้เสมอ โดยความยินยอมพร้อมใจของหนังสือ พิมพ์ คอลัมนิสต์ ผู้วิจารณ์ข่าวทางวิทยุและโทรทัศน์ โดยใช้จุดอ่อนของสังคมไทยที่ไม่มีค่านิยมทางการเมืองแบบเสรีนิยม ไม่มีค่านิยมทางประชาธิปไตย และค่านิยมในเรื่องสังคมพลเรือน หรือ civil society และการไม่หวงแหนสิทธิและเสรีภาพทางการเมือง ฟังและพร้อมจะเชื่อแต่เรื่องจริงครึ่งหนึ่งเท็จครึ่งหนึ่ง บางทีหรือเกือบทุกเรื่องเป็นเรื่องเท็จที่สร้างขึ้นเพราะเกลียดรัฐบาล

สำหรับประเด็นแรกเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น การฉ้อราษฎร์บังหลวง สำหรับการปกครองของไทยนั้นเป็นความจริงของชีวิตไปแล้ว ยกขึ้นมาโจมตีรัฐบาลและระบบราชการได้เสมอ พูดเมื่อไหร่ก็จริงและคนก็เชื่อเมื่อนั้น เพราะการทุจริตคอร์รัปชั่นสำหรับสังคมไทยมีอยู่ตลอดกาล คนไทยไม่เคยรังเกียจ แม้จะไปไหว้พระ ไหว้เจ้า ทำกงเต๊กก็ดี เนื้อหาในการติดสินบนเทพยดา เซียน หรือแม้แต่ผีสางก็ทำกันอยู่แล้ว พอจะติดสินบนผู้มีอำนาจวาสนาจะเป็นเรื่องผิดปกติได้อย่างใด แต่ก็ไม่ชอบและเกลียดชัง

เมื่อจะทำการปฏิวัติก็สร้างกระแสความเกลียดชัง การทุจริตคอร์รัปชั่น ขึ้นมาทันที แล้วก็ใช้ได้ผล มีทั้งเรื่องจริง เรื่องกึ่งความจริง และเรื่องเท็จ แต่เมื่อมีการปฏิวัติแล้วก็ไม่ได้สนใจบีบบังคับให้คณะปฏิวัติหรือรัฐบาลของ คณะปฏิวัติสืบสวนสอบสวนให้ได้ความจริง ประชาชนหรือสื่อมวลชนก็ไม่ว่าอะไร ไม่เคยสืบสวนว่าคำกล่าวหานั้นจริงหรือเท็จจึงไม่มีผู้ใดต้องรับผิดชอบหรือถูกลงโทษ เลยตามเลยเพราะเป็นความจริงของชีวิต

ประเด็นที่สองก็คือ การทำลายความชอบธรรมของสภาผู้แทนราษฎรในฐานะของการเป็นผู้แทนของปวงชน โดยใช้ประเด็นว่าผู้แทนราษฎรได้มาจากการซื้อเสียง ประเด็นนี้ก็ใช้ได้เสมอ เพราะ ผู้ออกเสียงเลือกตั้งของเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตนอกเมืองหรือในเขตชุมชน ระดับล่าง การอำนวยความสะดวก เช่น การจัดรถรับส่ง การออก ค่ารถ ค่าเดินทาง หรือการให้เงินเป็นสินน้ำใจนั้น ผู้คนในระดับนี้ถือว่าเป็นการแสดงน้ำใจ ถ้าไม่มีติดปลายนวมบ้างก็ถือว่าแล้งน้ำใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าจ่ายเงินซื้อเสียงแล้วจะได้รับการเลือกตั้ง จะต้องเป็นผู้ที่เขาจะเลือกอยู่แล้วด้วยเหตุผล 3 อย่าง คือดูแลผู้มีสิทธิออกเสียงมาโดยตลอดอย่างหนึ่ง หาโครงการเข้ามาในเขตเลือกตั้งของตนอย่างหนึ่ง และขณะนี้ก็คือกระแสความนิยมพรรคนั้นอีกหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ก็เป็นการขับเคลื่อนระหว่างพรรคใหญ่ 2 พรรค ในภูมิภาคต่าง ๆ และในกรุงเทพฯ

สำหรับ ประเด็นที่สาม เรื่องปล่อยให้มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและการกระทำที่เป็นภัยต่อการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เกือบทุกครั้งก็จะมีประเด็นนี้ จะหนักบ้างเบาบ้างก็แล้วแต่สถานการณ์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือจะเป็นการสร้างสถานการณ์ของแนวร่วมมุมกลับก็สุดจะเดาได้ แต่ก็เป็น ประเด็นที่สร้างกระแสทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและรัฐสภาได้ง่าย และทำกันอยู่เสมอ ทั้ง ๆ ที่มีกฎหมายอาญาบัญญัติให้เป็นความผิดและกำหนดโทษค่อนข้างหนักอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ใจเย็นพอที่จะรอให้มีการดำเนินการตามขบวนการยุติธรรม จนถึงขั้นศาลทั้งสามระดับ แต่จะใช้เป็นเหตุผลในการสร้างความชอบธรรมในการทำรัฐประหาร เพราะทราบดีว่าสำหรับคนไทยนั้น พระบรมเดชานุภาพผู้ใดจะละเมิดมิได้

ประเด็นสุดท้าย
ก็คือความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจ ปล่อยให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ข้าวของขึ้นราคา เศรษฐกิจล้มละลาย ผู้คนตกงาน ไม่มีงานทำ

สำหรับเรื่องเศรษฐกิจนี้ คนทั่วไปก็รู้ดีว่า อัตราเงินเฟ้อก็ดี ภาวะเศรษฐกิจก็ดี ขึ้นอยู่กับต่างประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นภาวะที่เราควบคุมไม่ได้ ข้าวยากหมากแพงขึ้นก็เพราะเราส่งออกได้ดี ราคาข้าวในตลาดต่างประเทศมีราคาสูง ไม่ใช่เราผลิตไม่พอกิน ประเทศไทยผลิตอาหารเกินความต้องการเสมอ ส่วนหมากแพงก็คงหมายถึงของอุปโภคบริโภคอย่างอื่นมีราคาแพง เช่น น้ำมัน ก็ดี ไฟฟ้าก็ดี ข้าวของอย่างอื่นก็ดี ราคาสูงขึ้นก็เพราะราคาของพวกนี้มีราคาสูงขึ้นในตลาดต่างประเทศ แต่ก็สามารถนำมาใช้อธิบายความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลได้เสมอ

คอมมิวนิสต์ก็เคยเป็นสาเหตุหนึ่งที่จะนำมาอ้างถึงความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ได้ แต่เดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยนเป็นความมั่นคงในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน เพราะมีโจรผู้ร้ายชุกชุม รวมทั้งการรุกรานจากประเทศเพื่อนบ้าน กระแสชาตินิยมและความรักชาติด้านเดียว การปะทะกันด้วยกำลังทหาร อาจจะอ้างกรณีที่เป็นจริงที่เป็นข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์มาช่วยเป็นเหตุผลประกอบได้

ในช่วงก่อนการปฏิวัติรัฐประหาร จริง ๆ ก็มักจะมีเหตุการณ์ 4-5 อย่างเกิดเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ แล้วก็นำไปขยายผลโดยนักวิเคราะห์ข่าว นักวิจารณ์การเมืองในรายการวิทยุต่าง ๆ ก็พอจะเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะรายการ วิเคราะห์วิจารณ์ข่าวก็มักจะทำอยู่ตามสถานีวิทยุของทหาร ส่วนวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์หรือของเอกชนก็ดี จะเกรงกลัวรัฐบาลไม่ค่อยอยากยุ่ง สู้จัดรายการละครน้ำเน่าหาสตางค์จากค่าโฆษณาดีกว่า นอกจากได้รับการขอร้องขอความร่วมมือ

ที่คนทั้งประเทศขวัญอ่อน เมื่อโทรทัศน์ภาพล่มหมดทั้งระบบ เพราะกระแสทั้ง 4 ประเด็นที่ใช้เป็นประเพณีก่อนการปฏิวัติ กำลังก่อตัวขึ้นต่อต้าน รัฐบาลประชาธิปัตย์อย่างรวดเร็วและรุนแรง บวกกับความล้มเหลวในการเจรจาแบบทวิภาคีกับกัมพูชา เมื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้มีการเจรจา เป็นการเจรจาแบบพหุภาคีในกรอบของอาเซียน ทางเราก็ไม่แน่ใจเพราะจุดหมายปลายทางไม่น่าจะเป็นเรื่องดินแดน น่าจะเป็นเรื่องการเมืองของทั้งสองฝ่าย แต่ก็ไม่มีใครทราบความจริง

กระแสที่เกิดขึ้นเป็นกระแสที่พวกเราที่มีอายุและเคยได้ยินได้ฟังมาตลอดชีวิตจึง ขวัญอ่อน คอยฟังต่อไปเท่านั้นว่ากระแสจะจุดติดหรือไม่ สื่อมวลชนจะร่วมมือสร้างกระแสตามประเด็น 4-5 ประเด็นดังกล่าวหรือไม่เพียงใด

จะยังไม่มีรัฐประหาร ถ้ากระแส ต่อต้านรัฐบาลหรือต่อต้านขบวนการรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญยังไม่ขึ้นสูงจนสุกงอมพอ

ในระหว่างนั้นถ้าหนังสือพิมพ์ไปถามผู้นำทหาร ผู้นำทหารก็จะออกมายืนยันว่าจะไม่มีปฏิวัติรัฐประหาร จอมพลสฤษดิ์ก็ปฏิเสธ โดยกล่าวว่าจะไม่ "วัดรอยเท้านาย" พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ก็ปฏิเสธข่าวปฏิวัติ พล.อ. สุจินดาก็ออกมายืนยันว่าจะไม่มีปฏิวัติ

ก่อน 19 กันยายน 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้นำเหล่าทัพพร้อมกับตำรวจก็ออกมานั่งแถลงปฏิเสธข่าวการปฏิวัติ

การแสดงพลังทหารในที่ตั้งก็เป็นวิธีหนึ่งที่เป็นวัฒนธรรมที่ต้องทำก่อนการ ปฏิวัติ พล.อ.อาทิตย์ ก็เคยทำ พล.อ. สุจินดา ก็เคยทำ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ก็เคยทำ อาจจะทำเองหรือให้ลูกน้องทำก็ได้

สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นการให้สัญญาณทั้งสิ้น และทุกครั้งที่มีการให้สัญญาณก็จะมีการปฏิวัติรัฐประหาร ทำสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง

จะมาว่าพวกเราบ้าจี้ ขวัญอ่อน ก็ไม่ยุติธรรมนัก

ที่มา: คอลัมน์ คนเดินตรอก  ในประชาชาติธุรกิจ

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

การคุกคามเสรีภาพประชาชนโดยสื่อรัฐ: กรณีสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กับ รายการ ‘เจาะข่าวร้อน ล้วงข่าวลึก’ เอ็นบีที

Posted: 07 May 2011 08:00 AM PDT

เป็นปกติเสียแล้วที่ รายการ ‘เจาะข่าวร้อน ล้วงข่าวลึก’ ของ T-New ช่วงเวลาประมาณ 21.00 - 22.00 น. ทางเอ็นบีที จะทำตัวเป็นเครื่องมือของรัฐอย่างโจ่งแจ้ง  ดังหลายต่อหลายครั้งที่รายการนี้พยายามสร้างภาพ ‘ปีศาจ’ ให้แก่ฝ่ายปริปักษ์ทางการเมืองของรัฐบาลผ่านมุมมองของตนเพียง ‘ด้านเดียว’    มีความพยายามในการเชื่อมโยงเหตุผลต่างๆ นานามาสนับสนุนการใช้อำนาจและความรุนแรงต่อศัตรูทางการเมืองของรัฐอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังยัดเยียดตีตราประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยว่าเป็น ‘พวกเผาบ้านเผาเมือง’    รวมถึงบิดเบือนให้กลายเป็น ‘ขบวนการล้มเจ้า’  โดยที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีโอกาสได้แก้ต่าง

ผู้ที่รับรู้เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหรือเคยผ่านเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษา อย่าง 6 ตุลาคม 2519 มา คงไม่แปลกใจนักกับบทบาทของสื่อที่ทำหน้าที่ปลุกระดมมวลชนคลั่งชาติผ่านสถานีวิทยุยานเกราะ และหนังสือพิมพ์ขวาจัดอย่างดาวสยาม  (ซึ่งมีความสัมพันธ์กับหน่วยงานทหาร กอ.รมน.) ให้สนับสนุนการสังหารหมู่นักศึกษา   ผ่านมาแล้วกว่า 30 ปี สื่ออย่างสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ หรือเอ็นบีทีหอยม่วง ยังคงทำหน้าที่เช่นเดียวกับสื่อรุ่นพ่อรุ่นแม่ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ราวกับว่าสื่อขวาจัดเหล่านี้คลอดออกมาจากครรภ์เดียวกัน...นั่นคือ ครรภ์มารดาแห่งเผด็จการฟัสซิสต์!

ล่าสุด เมื่อค่ำวันที่ 2 พฤษภาคม 2554  รายการเจาะข่าวร้อนฯ ได้ทำหน้าที่ปลุกระดมมวลชนผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อย่างแข็งขันอีกครั้ง  ด้วยการนำเสนอประวัติส่วนตัวของ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แบบเจาะลึก ตั้งแต่ครั้งเป็นแกนนำนักศึกษา 6 ตุลา 19  มาสู่การเป็นนักวิชาการประวัติศาสตร์ที่สนใจประเด็นการเมืองไทยสมัยใหม่ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และกรณีสวรรคตของในหลวงอานันท์   กระทั่งถึงบทบาทปัจจุบันในการเป็นผู้เสนอให้มีการปฏิรูปสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ผ่านข้อเสนอ 8 ข้อ อย่างต่อเนื่อง  นอกจากนี้ยังมีการตัดต่อข้อถกเถียงและข้อโต้แย้งของผู้คนในชุมชนอินเทอร์เน็ต ที่มีต่อข้อเสนอทั้ง 8 ข้อ ของสมศักดิ์ มานำเสนอผ่านรายการแบบ ‘ชี้นำ’ เพียงด้านเดียว โดยละเลยการอธิบายรายละเอียดหรือเหตุผลต่างๆ ที่สมศักดิ์ได้ชี้แจงประกอบการนำเสนอข้อเสนอทั้ง 8 ข้อของเขา   เมื่อดูรายการจบแล้วไม่สามารถสรุปเป็นอื่นได้เลย นอกจากรายการเจาะข่าวร้อน ล้วงข่าวลึก  และเอ็นบีที มุ่งชี้นำให้สังคมเชื่อว่า สมศักดิ์  เจียมธีรสกุล  ยืนอยู่ ‘ตรงข้ามกับสถาบัน’ หรือเป็นศัตรูกับสถาบันนั่นเอง !!

อย่างที่ทราบกันว่า ก่อนหน้าที่จะมีการโจมตี สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผ่านรายการเจาะข่าวร้อนฯ ทางเอ็นบีที ได้เกิดปรากฏการณ์ตบเท้าของเหล่าทัพ อันสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวให้แผ่กระจายไปทั่วทั้งสังคม และปรากฏการณ์ดังกล่าวก็ทำให้หวั่นเกรงว่า จะมีการใช้อำนาจ (ไม่ว่าอำนาจตามกฎหมายหรืออำนาจนอกกฎหมาย) จัดการต่อผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นอันตรายต่อสถาบันอย่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล  และคนอื่นๆ ที่ถูกหมายหัวว่าเป็นศัตรูต่อรัฐและสถาบัน แม้ว่าการทำเช่นนั้นอาจทำให้ ‘รัฐ’ ดูป่าเถื่อนเกินไปสำหรับยุคสมัยนี้ และอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลและกองทัพ   แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จะไม่ทำหรือทำไม่ได้
และการใช้สื่อของรัฐคุกคามสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในครั้งนี้  ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการใช้อำนาจจัดการต่อเป้าหมายหรือเหยื่อที่รัฐได้ “ล็อกเป้า’ เอาไว้แล้ว  เพียงแต่เป็นการหวังยืมมือประชาชนที่ได้ดูรายการเข้าผู้จัดการกับปริปักษ์ทางการเมืองของรัฐแทน โดยรัฐไม่ต้องตกเป็นจำเลยสังคม หรือหากไม่สามารถปลุกกระแสรุนแรงถึงขั้นนำไปสู่ปฏิบัติการยืมมือได้ อย่างน้อยที่สุด การนำเสนอรายการโจมตีตัวบุคคลดังกล่าว ก็เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของเหยื่อในฐานะนักวิชาการ และเป็นการสร้างภาพให้สมศักด์ เจียมธีรสกุล กลายเป็น ‘ปีศาจ’ เช่นเดียวกับนักศึกษาในเหตุการณ์ล้อมปราบสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 และการสังหารหมู่คนเสื้อแดง ช่วงเมษา-พฤษภา 2553  
               
หากรายการนี้ทำงานสำเร็จ เกิดปรากฏการณ์เข้าจัดการใช้ความรุนแรงกับ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล รวมถึงคนอื่นๆ  รายการเจาะข่าวร้อน ล้วงข่าวลึก เอ็นบีที กอ.รมน. และหน่วยงานที่เป็นผู้กำกับดูแลรายการนี้ รวมถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ย่อมไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการใช้สื่อของรัฐปลุกระดมยั่วยุให้เกิดความรุนแรงในครั้งนี้ได้
 
ในฐานะสื่อมวลชน  เมื่อเห็นว่าข้อเสนอของสมศักดิ์ผิด  ทางรายการเจาะข่าวร้อนฯ และเอ็นบีทีต้องกล้า ‘เปิดพื้นที่’ ให้อีกฝ่ายได้อภิปรายแสดงเหตุผลของตนอย่างตรงไปตรงมาและเป็นธรรม ไม่ใช่มุ่งนำเสนอแบบตัดต่อและชี้นำเพียงด้านเดียวเช่นนี้   การกระทำของเอ็นบีทีและรายการดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อนและล้าหลังแบบเผด็จการฟัสซิสต์  จนไม่อาจเรียกได้ว่า “สื่อมวลชน”   และนี่เอง จึงไม่ผิดที่องค์กรตรวจสอบเสรีภาพสื่ออย่าง ฟรีดอม เฮาส์ (Freedom House)  จะระบุว่า เสรีภาพสื่อไทยได้ลดระดับลงถึงระดับไม่เสรีแล้ว

ในบรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นนี้ รัฐใช้ทุกกลไกที่รัฐมี ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ กฎหมาย หรือสื่อในมือ  เข้าจัดการกับประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่าง ในภาวะอันเปลือยเปล่าไร้ซึ่งอาภรณ์แห่งการปกป้องใดๆ เช่นนี้ สิ่งที่พอจะเป็นเครื่องมือปกป้องประชาชนได้ คงมีเพียงพลังของประชาชนเท่านั้น และไม่ใช่ปกป้องเฉพาะกรณีของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หรือนักวิชาการ  แต่คนทุกคน มนุษย์ทุกผู้นาม ต้องได้รับการปกป้องสิทธิเสรีภาพพื้นฐานในความเป็นมนุษย์อย่างแข็งขัน เพราะการปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ย่อมเป็นการปกป้องสิทธิเสรีภาพของเราด้วย 

 

ข้อเสนอ
8 ข้อ เพื่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 
 
การปฏิบัติ ตาม 8 ข้อนี้ ผลลัพท์ ไม่ใช่การล้มสถาบันกษัตริย์ แต่ทำให้สถาบันฯมีลักษณะเป็นสถาบันฯสมัยใหม่ ในลักษณะไม่ต่างจากยุโรป เช่น สวีเดน, เนเธอร์แลนด์ (ผมตระหนักในความแตกต่างบางอย่างของข้อเสนอนี้ กับยุโรปอยู่ เช่น ผมเข้าใจว่า เรื่องมาตราแบบ รธน. 2475 ในข้อแรก ไม่มีในยุโรปเหมือนกัน แต่นี่เป็นข้อเสนอที่อิงอยู่บนความเฉพาะของไทยทีผ่านมา)

1. ยกเลิก รธน. มาตรา 8 เพิ่มมาตรา ในลักษณะเดียวกับ รธน.27 มิย 2475 (สภาพิจารณาความผิดของกษัตริย์)
2. ยกเลิก ประมวลกฎหมายอาญา ม.112
3. ยกเลิก องคมนตรี
4. ยกเลิก พรบ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ 2491
5. ยกเลิก การประชาสัมพันธ์ด้านเดียวทั้งหมด การให้การศึกษาแบบด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันทั้งหมด
6. ยกเลิก พระราชอำนาจ ในการแสดงความเห็นทางการเมืองทั้งหมด (4 ธันวา, 25 เมษา “ตุลาการภิวัฒน์” ฯลฯ)
7. ยกเลิก พระราชอำนาจ ในเรื่อง โครงการหลวง ทั้งหมด
8. ยกเลิก การบริจาค / รับบริจาค โดยเสด็จพระราชกุศล ทั้งหมด

หมายเหตุ: กระทู้นี้ ความจริงเป็น “ของเก่า” ที่ผมเคยเขียนในบริบทของกระทู้อื่นๆมาก่อน แต่ผมขออนุญาตตั้งเป็นกระทู้ต่างหากชัดๆแบบนี้ เผื่อสำหรับประโยชน์ของการอ้างอิงโดยสะดวกในอนาคต อย่างน้อยสำหรับผมเอง (หรือสำหรับคนอยาง ส.ว.คำนูญ ที่นำความคิดผมเรื่องนี้ไปเขียนถึงหลายครั้งในระยะหลัง โดยไม่ระบุชื่อและไม่มีการอ้างอิงชัดเจน คราวหน้า เผื่อท่าน ส.ว.จะได้สามารถทำ “เชิงอรรถ” ได้ชัดๆ – ฮา)

23 มกราคม 2553
อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ที่มา – ชุมชนคนเหมือนกัน

 

หมายเหตุ:ข้อเสนอ 8 ข้อ เพื่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นการนำเสนอเพิ่มเติมของ กอง บ.ก.ประชาไท เพื่อความสมบูรณ์ในการทำความเข้าใจถึงเนื้อหาของบทความ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

[5] ธงชัย วินิจจะกูล: มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปัจจุบัน

Posted: 07 May 2011 07:17 AM PDT

ธงชัย วินิจจะกูล

 

 

“ การประนีประนอมหาทางออกในวันนี้จะส่งผลดีต่อ (สถาบัน) พระมหากษัตริย์ในระยะยาว อันดับแรกสุดคือ ‘เปิดประตู’ เปิดช่องทางให้กับการประนีประนอม 

 

หยุดใช้มาตรา 112 ณ บัดนี้ ปลดปล่อยคนที่เดือดร้อนโดยเร็วที่สุด ปล่อยคุณสมยศ (พฤกษาเกษมสุข) ปล่อยคุณดา (ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล) และคนอื่นๆ  

 

ขจัดบรรยากาศความกลัวที่ปกคลุมประเทศไทยในขณะนี้ ยอมให้มีการอภิปรายถึงบทบาทสถานะทางการเมืองของ (สถาบัน) พระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผย ปล่อยให้กระบวนการประชาธิปไตยดำเนินไปตามทางของมันไม่ว่าจะลุ่มๆดอนๆขนาดไหนก็ตาม         

หากน้อยกว่านี้ สายกว่านี้ หรือรังแกกันต่อไป ก็จะยิ่งเร่งให้ “สุก” โดยไม่จำเป็นเลย

พระมหากษัตริย์ต้องอยู่พ้นจากการเมืองอย่างแท้จริง จึงจะไม่เกิดความขัดแย้งในเรื่องสถาบันหรือตัวบุคคลอีกต่อไป ฝ่ายเจ้าจึงจะไม่ต้องวิตก วิ่งเต้น สะสมกำลัง ชิงความได้เปรียบกันอีกต่อไป ไม่ต้องกลัวว่านักการเมืองรายใดจะมาเป็นคู่แข่ง เพราะไม่มีอำนาจการเมืองเป็นเดิมพันอีกต่อไป

ฝ่ายเจ้าของไทยในปัจจุบันจะมีสายตายาวไกลพอหรือไม่ เห็นแก่ประเทศชาติประชาชนขนาดไหน หรือพวกเขาอยู่สูงเหนือประชาชนจนไม่เข้าใจว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้วในระดับรากหญ้าและไม่สามารถหยุดยั้งหรือย้อนเวลากลับได้อีกแล้ว”

ธงชัย วินิจจะกูล

 

 000000



เกริ่นนำ

 

เมื่อ 10 ปีก่อนในรายการเพื่ออาจารย์ชาญวิทย์เช่นกัน ผมถือว่าเป็นโอกาสที่จะเสนอความคิดทางวิชาการครั้งสำคัญเพื่อให้งานสำหรับอาจารย์ชาญวิทย์มีความหมายต่อไปอีกนานๆ คราวนั้นจึงประมวลความคิดความรู้เสนอเรื่อง “ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม” เป็นหัวข้อที่จัดอยู่ในเรื่องประวัติศาสตร์นิพนธ์และปรัชญาประวัติศาสตร์ของไทยซึ่งเป็นแขนงความรู้หนึ่งที่อาจารย์ชาญวิทย์ให้ความสำคัญ

 

วันนี้เป็นโอกาสสำคัญทำนองเดียวกันอีกครั้ง คราวนี้ขอเลือกหัวข้อที่จัดอยู่ในเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่อาจารย์ชาญวิทย์ให้ความสำคัญจนเป็นที่รู้จักกันดี

 

การศึกษาประวัติศาสตร์มีหลายแบบ โดยมากจะสนใจลงรายละเอียดข้อเท็จจริงมากมายเพื่อต่อชิ้นส่วนของอดีตอีกชิ้นหนึ่ง แต่มีงานทางประวัติศาสตร์ การคิดทางประวัติศาสตร์อีกแบบคือ ทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในมุมกว้างครอบคลุมเวลานับร้อยปี เพราะการศึกษาในแบบแรกซึ่งทำกันอยู่ทั่วไป มักมองไม่เห็นแนวโน้มใหญ่ๆทางประวัติศาสตร์ของสังคม มองไม่เห็นทั้ง “ป่า” มองเห็นแต่ “ต้นไม้” เป็นต้นๆหย่อมๆ

 

ในวันนี้ผมอยากจะเพ่งมองลงไปที่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองไทยใน 100 กว่าปีที่ผ่านมานับแต่เริ่มเกิด สยามใหม่ ก็ว่าได้ พยายามมองในกรอบเวลากว้างไกล เราจะเห็นอะไร

 

แน่นอนว่ามีหลายแง่มุมให้เราเพ่งมอง เช่นฐานของระบบเศรษฐกิจ หรือประวัติศาสตร์ชนบทไทย แน่นอนว่าเราอาศัยความได้เปรียบที่เรามีชีวิต 100 ปีหลังจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้เห็นความคลี่คลายของสังคมไทย 100 ปีให้หลัง ถ้าเรามองจากปัจจุบัน มองภาพรวมของกระแสความเปลี่ยนแปลงในร้อยปี เราจะเห็นอะไรบ้าง

 

สิ่งที่เด่นชัดขึ้นมา คือ มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังอยู่กับทุกอณูของปัจจุบัน

 



สมบูรณาญาสิทธิราชย์ในความเข้าใจของเราและของบทความนี้

 

ความเข้าใจทั่วไปเกี่ยวกับสมบูรณาญาสิทธิราชย์มี 2 นัย คือ

 

หนึ่ง สมบูรณาญาสิทธิราชย์มีคุณูปการมหาศาลต่อปัจจุบัน ช่วยให้สยามอยู่รอดเป็นเอกราชและเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ที่รุ่งเรืองเจริญสถาพรทุกด้าน

 

สอง แต่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์รวบอำนาจในมือกลุ่มเจ้า ไม่เปิดโอกาสแก่สามัญชนที่มีความรู้ความสามารถในระบบราชการ จนกลายเป็นอุปสรรคต่อความเจริญ ดังนั้นจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 2475 ซึ่งถือว่าเป็น “อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม” เรามักเข้าใจกันว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์จบไปแล้ว หากนับจากปีที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชอำนาจอย่างเต็มที่ประมาณปี 2425 และเริ่มการปฎิรูปครั้งใหญ่ จนถึง 2475 สมบูรณาญาสิทธิราชย์มีอายุประมาณ 50 ปีเท่านั้น

 

ทุกวันนี้คนจำนวนมากเอาทั้งสองนัยมารวมกันคือ สรรเสริญทั้งสมบูรณาญาสิทธิราชย์และคณะราษฎร (โดยเฉพาะ 30 ปีหลังมานี้ที่คณะราษฎรและปรีดี พนมยงค์ได้รับการกอบกู้เกียรติภูมิขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง) แต่ประวัติศาสตร์มาตรฐานเน้นนัยแรก และโทษว่าปัญหาหนักหน่วงใดๆของสังคมการเมืองไทยหลังจากนั้นไม่เกี่ยวข้องกับสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกต่อไปเพราะ สมบูรณาญาสิทธิราชย์จบไปแล้ว บาปเป็นของคณะทหารเริ่มจากจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นต้นมา

 

สิ่งที่ผมเห็นจากการมองประวัติศาสตร์แบบมุมกว้างกลับพบว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังไม่จบอย่างที่คิด เพราะสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้สร้างฐานรากหลายๆด้านแก่สังคมการเมืองไทยมาจนถึงปัจจุบัน เป็นฐานรากของปัญหาเรื้อรังหลายอย่างของปัจจุบันด้วย ปัญหาสำคัญหลายอย่างชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่แก้ยากเย็นเหลือหลายเพราะเรื้อรังมานาน แต่กลับนึกไม่ถึงว่าเป็นมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพราะเรานึกว่าจบไปแล้ว

 

คณะราษฎรยุติระบอบการเมืองอย่างเป็นทางการแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่ไม่ตระหนักรู้เพียงพอถึงรากฐานที่สมบูรณาญาสิทธิราชย์สร้างไว้ คณะราษฎรจัดการกับปัญหาสำคัญบางด้าน แต่กลับสืบทอดมรดกหลายอย่างของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อมาด้วยซ้ำ

 

ขอได้โปรดเข้าใจว่าการประเมินย้อนหลังเช่นนี้มิใช่กล่าวโทษหรือลดคุณูปการของบรรพบุรุษในอดีต ทุกคนมีข้อจำกัดตามยุคสมัยด้วยกันทั้งนั้น และคุณูปการทุกอย่างย่อมมีด้านที่เป็นปัญหาซึ่งมักโผล่ตัวหลายสิบปีหลังจากนั้น เราต้องทั้งเคารพอดีตยามที่เราศึกษาเหตุการณ์และมนุษย์ในอดีต แต่ต้องกล้ามองอดีตจากปัจจุบันยามที่เราแสวงหาบทเรียนหรือประเมินผลของอดีตต่อปัจจุบัน

 

ทำไม สมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงมีมรดกลึกซึ้งกว้างไกลขนาดนั้น

 

เพราะว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ ระบอบอำนาจและยุคสมัยที่ให้กำเนิดและหล่อหลอมรัฐไทยสมัยใหม่ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก คือระบอบอำนาจที่ทั้งก่อให้เกิดและเป็นผลผลิตของการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในช่วงขณะที่สยามเคลื่อนตัวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ สมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงเป็น Defining Period ของสยามยุคสมัยใหม่ หมายถึง เป็นช่วงเวลาที่รัฐไทยและสังคมไทยตัดสินเลือกทางเดินสำคัญๆที่มีผลกำหนดอนาคตของสยามประเทศต่อมาอีกนาน เป็นยุควางรากฐาน เสาเข็ม โครงสร้างของรัฐและภาวะสมัยใหม่ของไทย บ้านหลังนี้เปลี่ยนผนังกั้นห้อง ทาสีใหม่ไปแล้วหลายรอบ แต่ฐานราก เสา โครงสำคัญกลับยังไม่เคยเปลี่ยน

 

กล่าวอีกอย่างคือ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ในที่นี้ไม่ใช่เพียงแค่ระบอบการเมืองทางการที่จบไปแล้ว แต่หมายถึงยุคสมัยหรือช่วงขณะที่เป็นรากฐานของไทยสมัยใหม่ที่ก่อรูปเกิดขึ้นท่ามกลางการเคลื่อนตัวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ และกลายเป็นรากฐานของสังคมไทยสมัยใหม่ต่อมาอีกนาน ไม่ใช่แค่ช่วง 50 ปีนับจากปลายรัชกาลที่ 5 ถึงสิ้นรัชกาลที่ 7     

 

ผลผลิตสำคัญที่สุดของสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือประเทศไทยสมัยใหม่นั่นเอง

 



มรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์

 

มรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่สืบทอดมาอย่างไม่หยุดนิ่งตายตัว แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงอยู่ภายในกรอบที่วางไว้ตั้งแต่ 100 ปีก่อน เอาเข้าจริงแทบทุกอย่างที่จะเสนออาจกล่าวได้ว่านักประวัติศาสตร์ก่อนหน้านี้ก็พอมองเห็นมาก่อน แต่พวกเขามองเห็นว่าเป็นคุณูปการที่น่าเฉลิมฉลองขอให้อยู่ต่อไปอีกนานๆ นั่นเป็นจุดยืนและมุมมองแบบเจ้ากรุงเทพฯที่นักประวัติศาสตร์มักรับเอามาเป็นของตน จนทำให้มองไม่เห็นอีกด้านของเหรียญเดียวกัน นั่นคือ คุณูปการที่น่าเฉลิมฉลองน่าภาคภูมิใจนั้น กลับเป็นกรอบกำแพงที่กักขังสังคมไทยไว้ จนไม่สามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับเวลาที่เปลี่ยนไป หลายประเด็นเป็นข้อจำกัดทำให้เราไม่สามารถแม้แต่จะคิดออกนอกกรอบกำแพงดังกล่าว หรือถึงกับรังเกียจ ลงโทษ ทำร้ายคนที่คิดออกนอกกรอบกำแพงดังกล่าว

 

อะไรบ้างคือมรดกเหล่านั้น ในที่นี้จะขออธิบายเริ่มจากบริบท แล้วจะกล่าวถึงมรดกเป็นเรื่องๆไป เริ่มจากรัฐ ระบบการปกครอง อำนาจอธิปไตย ต่อด้วยเรื่องวัฒนธรรมภูมิปัญญา ได้แก่พุทธศาสนา อุดมคติทางสังคม ความรู้ประวัติศาสตร์ และลงท้ายที่ (สถาบัน) พระมหากษัตริย์

 

ในตอนท้ายสุด จะกล่าวถึงทัศนะท่าทีต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่ๆ ซึ่งก็เป็นมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์เช่นกันว่าเกี่ยวข้องกับปัจจุบันอย่างไร   



บริบทของสมบูรณาญาสิทธิราชย์

 

ในที่นี้ขอย้ำบริบทสำคัญเพียงประการเดียว นั่นคือ สภาวะกึ่งอาณานิคมของสยาม 

 

ความเข้าใจที่ว่าสยามไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นนั้นไม่ผิดเสียทีเดียวแต่ก็ไม่ถูกความเข้าใจนี้จำกัดปิดกั้นความคิดวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์อย่างมากจนหลงทิศทางมาตลอด สภาวะกึ่งอาณานิคมกล่าวโดยสรุปหมายถึง

 

·         สยามตระหนกต่อกำลังของมหาอำนาจยุโรป แม้แต่จีนซึ่งเป็นจักรวรรดิใหญ่ของอารยธรรมสมัยก่อนยังพ่ายแพ้ต่อจักรวรรดินิยมยุโรป แม้แต่พม่าซึ่งเป็นอริที่เข้มแข็งในโลกทัศน์ของสยามก็พ่ายแพ้ราบคาบ สยามตระหนักว่าต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับโลกที่เปลี่ยนไปแล้ว

 

·         แต่ชนชั้นนำสยามให้ความร่วมมือกับมหาอำนาจยุโรปอย่างดี ทั้งเพราะเกรง เพราะเห็นการณ์ไกล และเพราะได้ประโยชน์มาก ความรู้และเทคโนโลยี่การปกครองแบบใหม่ เพิ่มกำลังอำนาจของชนชั้นนำสยาม การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจอาณานิคมระดับโลกให้ผลประโยชน์แก่ชนชั้นนำสยาม

 

·         เป้าหมายสำคัญของการปรับตัวเพิ่มอำนาจ มิใช่แค่การทัดทานฝรั่ง แต่เพื่อรักษาสถานะเดิมที่เป็นอธิราชเหนืออาณาจักรหลายแห่งในภูมิภาค ในยามที่อธิราชคู่แข่งร่วงลงทีละแห่ง ความเป็น “เอกราช” ที่สยามต้องการมิได้แค่หมายถึงเป็นอิสระจากฝรั่ง แต่หมายถึงต้องการรักษาสถานะองค์ราชาที่เป็น “เอก” เหนือราชาทั้งหลาย

 

·         สยามใหม่ภายใต้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงเป็นทั้งผู้ด้อยกว่าจักรวรรดิยุโรป และเป็นเจ้าจักรวรรดิ พี่เบิ้ม ของภูมิภาคในเวลาเดียวกัน

 

·         ชนชั้นนำสยามไม่ถูกโค่น พวกเขาเป็นอำนาจนำในการเลือกสร้าง เลือกรับปรับเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยีของรัฐสยามใหม่ ที่กล่าวว่า สยามเลือกรับของดีทิ้งของเสียจากตะวันตก จึงหมายถึงเลือกสิ่งที่ชนชั้นนำเห็นว่าดีสอดคล้องผลประโยชน์ จริต รสนิยม อุดมคติของตน การเปลี่ยนแปลงจากบนลงล่างจึงเป็นไปได้เพราะพวกเขาเลือกทำตามผลประโยชน์ของตน ยังไม่มีพลังทางสังคมกลุ่มอื่นที่มีผลประโยชน์เป็นของตนเองต่างจากพวกเจ้าในยุคนั้น

 

·         การกระทำทั้งหลายทั้งปวงเพื่อ “รักษาเอกราช” จึงแยกไม่ออกจากการรักษาอำนาจ รักษาสถานะเดิมและผลประโยชน์ของชนชั้นนำสยามในขณะนั้น ทั้งสองอย่างเป็นอย่างเดียวกัน ประวัติศาสตร์ฉบับทางการสอนเราด้านเดียวว่าเป็นการรักษาเอกราช แต่ไม่ได้ชี้ให้เห็นอีกด้านที่แยกกันไม่ออก ซึ่งก่อมรดกมากมายมาสู่ปัจจุบัน



รัฐสยามแบบไทยๆ อธิปไตยแบบไทยๆ และลัทธิเสียดินแดน

 

เรารู้กันดีว่าการสถาปนาระบบการปกครองหัวเมืองและระบบราชการสมัยใหม่ที่กรุงเทพฯเป็นผลงานเอกและเป็นหลักหมายของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ที่ยังมีศึกษากันไม่พอก็คือ รัฐที่ดูเหมือนสมัยใหม่นั้นอยู่บนฐานจารีตเดิมขนาดไหนอย่างไร ผลผลิตหรือรัฐแบบฝรั่งใส่ชฎาหรือนุ่งผ้าม่วงเขมรใส่เชิ้ตฝรั่งที่ตกทอดมาถึงเรานั้น แท้ที่จริงเป็นรัฐแบบไทยๆอย่างไร ก่อปัญหาแบบไทยๆในยุคต่อมาขนาดไหน

 

ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเรื่องรัฐรวมศูนย์และเรื่องอฺธิปไตยเหนือดินแดน ซึ่งเป็นฐานของระบบบริหารที่ล้าหลังไม่ยอมปรับตัว ลัทธิรัฐเดี่ยวที่แข็งทื่อ และลัทธิเสียดินแดน

 

ก่อนมีอธิปไตยเหนือดินแดนแบบปัจจุบันนั้น สยามเป็นรัฐราชาธิราช องค์อธิราชอ้างความชอบธรรมจากบุญญาบารมีที่สูงส่งกว่ากษัตริย์อื่น ทำตัวเป็นเจ้าพ่อใหญ่ที่แผ่ร่มบรมโพธิสมภารเหนือกษัตริย์รายอื่นซึ่งเป็นเจ้าพ่อรายย่อยกว่า ดินแดนไม่ใช่ฐานของอำนาจแบบรัฐราชาธิราช

 

อธิปไตยเหนือดินแดนแบบปัจจุบันของสยามเป็นการแปร “ร่มบรมโพธิสมภาร” หรืออำนาจศักดิ์สิทธิ์ให้กลายเป็นปริมาณที่มีขอบเขตชัดเจนบนผิวโลก

 

การแปรเปลี่ยนนี้จึงต่างลิบลับตรงข้ามกับกำเนิดของอธิปไตยเหนือดินแดนของรัฐสมัยใหม่ในยุโรปเมื่อกลางศตวรรษที่ 17 พัฒนาการของ nation-state ในยุโรปในศตวรรษที่ 18-19 ก็เป็นคนละเรื่องกับกำเนิดชาติและสยามประเทศในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์

 

รัฐชาติสยามคือการแปลงร่างรัฐราชาธิราชออกมาเป็นรัฐสมัยใหม่ที่มีฐานอยู่กับดินแดน

 

กระบวนการแปลงร่างนี้อาศัยกระบวนการ 2 ด้านควบคู่กัน กระบวนการแรกคือ ผนวกประเทศราชเดิมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองแบบ เทศาภิบาลที่ใช้ดินแดนเป็นฐาน เรารู้จักกระบวนการนี้ในนามของการปฎิรูปการปกครองหัวเมืองซึ่งเริ่มตั้งแต่ประมาณปลายทศวรรษ 2420 แต่ประกาศเป็นทางการเมื่อ ร.ศ.111 (2435)

 

กระบวนการที่สองคือ ใช้กำลังทหารเข้าครอบครองแย่งชิงดินแดนที่อธิปไตยเดิมกำกวมซ้อนทับกันระหว่างอธิราชหลายองค์ วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 คือผลของการแย่งชิงประเภทนี้กับฝรั่งเศสแล้วสยามแพ้ สยามจึงไม่เคยพ่ายแพ้จนจะตกเป็นอาณานิคม แต่สยามแย่งดินแดนกับเขาแล้วแพ้ เอามาเป็นของสยามไม่ได้ เสียพระเกียรติยศของเจ้าพ่อรายใหญ่

 

การแปลงร่างเกิดเป็นสยามขวานทอง จึงเป็นผลลัพธ์ของความพ่ายแพ้ชนิดนี้ ดินแดนถูกกำหนดขอบเขตโดยมหาอำนาจยุโรป ไม่ใช่เสียดินแดนแต่เพราะได้เพียงแค่นี้ และเป็นผลลัพธ์ของผนวกประเทศราชเดิมเข้าในบูรณภาพเหนือดินแดนซึ่งสยามเก่าไม่เคยมีมาก่อน

 

มรดกสำคัญที่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ส่งทอดต่อมาในเรื่องนี้ได้แก่

 

ประการแรก ระบบการปกครองแบบรวมศูนย์เกิดขึ้นเพื่อบริหารบงการบูรณภาพเหนือดินแดนแบบใหม่ เป็นความจำเป็นเพื่อยึดผนวกหัวเมืองและประเทศราชเดิมไว้ในมือกรุงเทพฯอย่างแข็งแกร่งในยามต้องการรักษาอำนาจแต่ตระหนกต่อจักรวรรดินิยมยุโรป

 

การปกครองดินแดนแบบใหม่เริ่มต้นโดยอธิราชเดิมแปลงร่างเป็นรัฐบาลกลางของรัฐแบบใหม่ เจ้าเมืองเดิม เจ้าครองนครประเทศราชเดิม ล้วนแต่อ่อนแอ ไม่มีอำนาจต่อรองสร้างระบบปกครองที่มีอิสระสักหน่อยจากศูนย์กลาง ครั้นเจ้าเมืองเดิมพยายามเช่นนั้นก็ถูกปราบรุนแรงราบคาบทุกแห่งทั้งในหัวเมืองล้านนา หัวเมืองลาว และหัวเมืองปัตตานีในปี 2445 (ร.ศ.121)

 

ระบบรวมศูนย์ที่แข็งทื่อไม่ยืดหยุ่นให้อำนาจล้นหลามเกินจำเป็นแก่ขุนนางที่กรุงเทพฯตลอด 100 กว่าปีที่ผ่านมา ให้ผลประโยชน์มหาศาลแก่ขุนนางที่กรุงเทพฯเพราะดูดซับทรัพยการจากทั้งประเทศมาเจือจุนกรุงเทพฯแม้ว่าจะเป็นระบอบหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้วก็ตาม ระบบนี้ขัดขวางการกระจายอำนาจ ไม่ยอมให้อำนาจแก่ประชาชนท้องถิ่นตัดสินอนาคตของตัวเอง ระบบนี้ไม่เคยถูกทบทวนในยุคต่อมารวมทั้งหลัง 2475 แถมแข็งแกร่งขึ้นภายใต้รัฐทหารที่อ้างภัยต่อความมั่นคงของชาติในยุคสงครามเย็น

 

ประการที่สอง ระบบรวมศูนย์ถูกค้ำจุนด้วยลัทธิรัฐเดี่ยว (เอกรัฐ) แบบแข็งทื่อ นั่นคือ ความเชื่อ ว่า รัฐไทยต้องอยู่ใต้ระบบปกครองที่เหมือนๆกันทั้งประเทศ การกระจายอำนาจถูกหาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เพราะถือว่าเป็นก้าวแรกของความแตกแยกไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศไทย เอกราชต้องหมายถึงดินแดนทุกส่วนต้องอยู่ใต้การปกครองจากกรุงเทพฯเหมือนๆกัน การต่อสู้เรื่องกระจายอำนาจจึงยากลำบากแสนเข็ญ เพราะถูกสงสัยเป็นประจำว่าจะทำให้ประเทศแตกแยกเป็นส่วนๆ แม้ว่าการกระจายอำนาจจะเป็นจริงมากขึ้นหลังสงครามเย็นในประเทศสิ้นสุดลง รัฐไทยยอมรับความหลากหลายของภูมิภาคและท้องถิ่นมากขึ้นนับจากกลางทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา แต่มรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ข้อนี้ยังแข็งแกร่งอยู่ ดูได้จากการจัดการวิกฤตชายแดนใต้ไม่ว่าโดยรัฐบาลไหนก็ตามนี่เป็นมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกอย่างที่เป็นปัญหาหนักหน่วงในปัจจุบัน

 

ความเชื่อว่าประเทศไทยต้องอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน เป็นแบบเดียวกัน ภาษาเดียวกัน วัฒนธรรมเดียวกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งผืน เพื่อความมั่นคงรักษาเอกราชไว้ ยังเป็นฐานของลัทธิ “ความเป็นไทย” ที่คับแคบตายตัว ซึ่งก่อตัวเติบโตมากับสยามใหม่ที่มีจินตนาการผูกติดกับอธิปไตยเหนือดินแดนแบบไทยๆ มรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ข้อนี้เป็นเสาหลักประการหนึ่งของลัทธิชาตินิยมไทยจนปัจจุบัน

 

ประการที่สามลัทธิเสียดินแดน แม้สยามไม่เคยตกเป็นอาณานิคม แต่กลับมีลัทธิความเชื่อทางประวัติศาสตร์ไม่ต่างกับประเทศอาณานิคม คือ เชื่อว่า เสียดินแดนให้นักล่าอาณานิคม ลัทธิเสียดินแดนเป็นมรดกความเชื่อทางประวัติศาสตร์ ที่รับเอามุมมองและความคิดของเจ้ากรุงเทพฯมาเป็นของเรา ถ้าเราคิดอย่างอิสระแบบคนไม่ใช่เจ้า หรือคิดจากมุมมองของเจ้าเวียงจันทน์ ยโสธร มุกดาหาร สุวรรณเขต พวน กัมพูชา ฯลฯ ก็จะไม่มีทางเข้าใจลัทธิเสียดินแดนของไทย

 

อานุภาพของลัทธิเสียดินแดนมีมากขนาดไหนคงไม่ต้องอธิบายกันอีก แต่อยากขอสรุปแต่เพียงว่า ลัทธิเสียดินแดนเป็นเสาหลักประการหนึ่งของลัทธิชาตินิยมของไทยมาจนถึงปัจจุบัน

 



พุทธศาสนากับความเป็นไทย

 

พุทธศาสนาในสยามผ่านการปฎิรูปทางภูมิปัญญาครั้งใหญ่ในต้นศตวรรษที่ 19 โดยขบวนการธรรมยุตินิกายของวชิรญาณภิกษุ (เจ้าฟ้ามงกุฎ) ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือความเข้าใจต่อ ศาสนา อย่างที่เรารู้จักในปัจจุบัน พุทธศาสนาต้องมิใช่ความเชื่อที่อธิบายโลกธรรมชาติทั้งปวงอีกต่อไป แต่ทำให้ศาสนาเป็นระบบความเชื่อทางศีลธรรมของปัจเจกบุคคล และเป็นความเชื่อที่เป็นเหตุเป็นผล การตีความปรัชญาความคิดพุทธศาสนามีต่อมาอีกมากมายในสังคมไทยแต่โดยมากอยู่ภายในกรอบของพุทธศาสนาอย่างที่วางไว้แล้วแต่ครั้งนั้น

 

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญของพุทธศาสนาในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีสองประการ คือ ประการแรก สถาปนาคณะสงฆ์ที่รวมศูนย์ตามแบบการปกครองของรัฐ และแผ่ขยายความคิด การตีความและคัมภีร์ที่กรุงเทพฯถือเป็นมาตรฐานออกไปเพื่อตะล่อมให้พุทธศาสนาบนแผ่นดินสยามคล้ายคลึงตามมาตรฐานเดียวกัน ทั้งหมดนี้เริ่มขึ้นในครึ่งหลังของรัชสมัยรัชกาลที่ 5

 

ประการที่สอง ทำให้พุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไทยอย่างแยกขาดจากกันไม่ได้ กระบวนการนี้เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงริเริ่มลัทธิชาตินิยมตามแบบของพระองค์ แม้คนที่อาศัยบนแผ่นดินสยามจะนับถือศาสนาพุทธเถรวาทเป็นส่วนใหญ่มานานหลายร้อยปีก่อนหน้าศตวรรษที่ 20 แต่ความคิดเรื่องความเป็นไทยเพิ่งถูกประมวลก่อรูปร่างขึ้นมาเป็นวาทกรรมทรงพลังในต้นศตวรรษที่ 20 นี้เอง วาทกรรม “ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์” เพิ่งเกิดขึ้น พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นการเมืองวัฒนธรรมประการสำคัญของไทย และกลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งของชาตินิยมไทยสมัยใหม่ภายใต้สมบูรณาญาสิทธิราชย์นี่เอง

 

มรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ข้อนี้ยังคงอยู่กับเราในปัจจุบันอย่างแข็งแกร่ง การวิพากษ์วิจารณ์พุทธศาสนาแทนที่จะเป็นเรื่องความเชื่อของปัจเจกบุคคลและเสรีภาพที่จะเชื่อหรือไม่ของแต่ละคน กลับถูกถือเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ ความหลากหลายของความคิด ความเชื่อและวิถีปฎิบัติของแต่ละท้องถิ่นถูกจำกัดทำลายลงไปมากตั้งแต่ครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 แม้ว่าอำนาจรัฐไม่มีทางขจัดความหลากหลายระดับท้องถิ่นให้หมดสิ้นก็ตาม

           



สังคมไทยปกติที่พึงปรารถนา: A Buddhist Organic Society

 

ความสัมพันธ์ทางสังคมตามจารีตของไทยเป็นแบบสูงต่ำตามลำดับชั้นของบุญบารมี โดยผูกติดกับเครือข่ายระบบมูลนายอันแผ่กระจายอยู่ทั่วทั้งสังคม แต่แยกเป็นส่วนๆตามหัวเมืองตามกรมกองสังกัด สังคมไทยไม่เคยผ่านการเปลี่ยนแปลงที่โยกคลอนความสัมพันธ์ชนิดนี้อย่างถึงราก  ความเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคสมัยใหม่และรัฐสมัยใหม่ของสยามคือการปรับความสัมพันธ์แบบคนสูงต่ำไม่เท่ากันนี้ให้เข้ากับสังคมกระฎุมพีและเข้ากับรัฐรวมศูนย์และระบบราชการใหม่ สำคัญที่สุดคือความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์แห่งชาติกับราษฎรไทยทั้งมวลทั่วไป

 

ประชากรไทยไม่เคยเป็น citizen ที่เท่าเทียมกันและมีความสัมพันธ์กันตามแนวนอน สังคมไทยสมัยใหม่ไม่เคยเป็นที่รวมของปัจเจกชน (individuals) ที่นับเป็นหน่วยทางสังคมในตัวเอง

 

การปรับตัวนี้เริ่มมาก่อนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือมากับการเติบโตของการค้าและเศรษฐกิจเมืองตลอดศตวรรษที่ 19 หรือก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ แต่ความคิดหรือเราอาจเรียกว่าเป็นทฤษฎีหรือปรัชญาการเมืองของไทยเพิ่งจะประมวลขึ้นมาในปลายศตวรรษที่ 19 นี่เอง ผมขอเรียกว่าเป็นสังคมอินทรียภาพแบบพุทธ (Buddhist Organic Society)

 

สังคมอินทรียภาพแบบพุทธ คือแนวคิดที่เน้นว่าสังคมจะปกติสุขและจะเคลื่อนตัวพัฒนาไปได้ ก็ต่อเมื่อหน่วยต่างๆของสังคมจะต้องรู้จักหน้าที่ของตนและทำงานอย่างประสานสอดคล้องกัน (harmony) เปรียบเสมือนอวัยวะต่างๆของร่างกายซึ่งมีหน้าที่ต่างๆกันความสำคัญไม่เท่ากัน แต่ต้องประสานสอดคล้องกันจึงจะไม่เจ็บป่วย

 

องค์รวมที่เรียกว่าประเทศไทย จึงเต็มไปด้วยหน่วยย่อยๆที่มีบุญบารมีไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะพิจารณาหน่วยสังคมใดๆ เช่นครอบครัว ที่ทำงาน หมู่บ้าน ตำบล จังหวัด กระทรวงกรม โรงเรียน บริษัท โรงงาน ฯลฯ ก็จะพบผู้คนที่มีบุญบารมีไม่เท่ากัน และต้องยอมรับความสูงต่ำในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล แต่ทุกๆคนล้วนมีความสำคัญเพราะทุกอวัยวะทุกหน้าที่ล้วนมีความสำคัญ ความสามัคคีที่เป็นคาถาในอาร์มแผ่นดินมีรากมาจากพุทธศาสนา ได้รับการตีความให้เข้ากับปรัชญาสังคมอินทรียภาพแบบพุทธของไทยสมัยใหม่

 

สังคมไทยจึงเรียกร้องและเน้นความสามัคคีและหน้าที่กันเหลือเกินตั้งแต่ออกจากครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน สังคมไทยกลัวความขัดแย้งและจัดการความขัดแย้งไม่ค่อยเป็น สังคมไทยจึงเน้นหน้าที่และความรับผิดชอบเพราะเป็นคุณสมบัติอันจำเป็นของบุคคลที่สังกัดขึ้นต่อผู้อื่น มากกว่าสิทธิและเสรีภาพซึ่งเป็นคุณสมบัติอันจำเป็นของปัจเจกภาพ

 

(เราท่านคุ้นเคยกับความคิดสังคมอินทรียภาพแบบพุทธจนอาจคิดว่า เรื่องความสามัคคีเป็นสามัญสำนึกของคนทั้งโลกเหมือนๆกัน อาจนึกไม่ออกว่ามีทฤษฎีหรือปรัชญาสังคมแบบอื่นที่สร้างให้เกิดค่านิยม วัฒนธรรม ตลอดจนถึงบุคลิกภาพทั่วๆไปของคนในสังคมนั้นๆที่ต่างออกไป อันที่จริงปรัชญาสังคมอินทรียภาพมีหลายแบบทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก สังคมตะวันตกสมัยใหม่หลายแห่งถือว่าคนเท่ากัน สัมพันธ์ในแนวนอน ปัจเจกชนและสังคมขับเคลื่อนด้วยความขัดแย้งที่อยู่ในกรอบและแปรเป็นพลังสร้างสรรค์)

 



ลัทธิประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม

 

แม่บทประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยมที่ยังทรงอิทธิพลแข็งแกร่งถึงทุกวันนี้ก็เป็นมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์

 

ความเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์นิพนธ์ เป็นแบบสมัยใหม่เริ่มต้นราวกลางศตวรรษที่ 19 แต่ไม่มีข้อเสนอเรื่องเล่าประวัติของชาติที่กลายเป็นแม่บทของประวัติศาสตร์ไทย แม้จะมีความพยายามอยู่บ้างก็ตาม

 

แม่บทประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยมก่อตัวขึ้นในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20 ลงตัวประมาณประมาณปี 2460 เศษโดยเป็นผลของเรื่องเล่า 2 กระแสมาบรรจบผสมกัน

 

กระแสแรก คือกำเนิดสยามเป็นอารยธรรมเก่าแก่ศิวิไลซ์มาแต่โบราณ ไม่ใช่สืบมาจากพุทธทำนาย หรือวงศ์อวตารอีกต่อไป ประวัติศาสตร์สุโขทัยทำหน้าที่นี้อย่างสำคัญที่สุด แต่อิงอยู่กับจารึกพ่อขุนรามฯ แทบทั้งสิ้น และใช้การตีความแบบเป็นเหตุเป็นผลเข้าอธิบายตำนานปรัมปราเกี่ยวกับพระร่วง สร้างเป็นเรื่องเล่าแบบใหม่ขึ้นมา (ดังนั้นข้อสงสัยเกี่ยวกับจารึกพ่อขุนรามฯจึงกระทบกระเทือนความมั่นคงของชาติอย่างมาก)

 

กระแสสอง ว่าด้วยการต่อสู้เพื่อเอกราชของสยาม โครงเรื่องหลักคือการเสียกรุง 2 ครั้งและกู้อิสรภาพกลับมา 2 ครั้ง เรื่องเล่าชุดนี้ใช้ทัศนะชาตินิยมต่อต้านการรุกรานของต่างชาติอันเป็นผลของ ร.ศ.112 เข้าตีความข้อมูลเหตุการณ์ในพระราชพงศาวดาร ผลคือประวัติศาสตร์ต่อต้านผู้รุกรานล่าอาณานิคมในระยะเดียวกับที่ประวัติศาสตร์ทำนองเดียวกันเริ่มเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน แต่ผู้รุกรานสยามกลับไม่ใช่ฝรั่งนักล่าอาณานิคม กลับเป็นพม่า - อริเก่าของยุคโบราณ เราอาจจะกล่าวกลับกันได้ว่า เอาเข้าจริงประวัติศาสตร์ไทยรบพม่าเป็น allegory ของประวัติศาสตร์ต่อต้านฝรั่งนักล่าอาณานิคม เรื่องเล่ากระแสนี้จึงเป็นผลผลิตของ ร.ศ.112 อย่างชัดเจน

 

แกนกลางของประวัติศาสตร์ทั้ง 2 กระแสคือ พระมหากษัตริย์ที่เป็นผู้นำของรัฐชาติ ดังนั้นจึงเรียกว่าประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม ซึ่งเคยเสนอไปเมื่อ 10 ปีก่อนแล้ว

                                   



(สถาบัน) พระมหากษัตริย์

 

เหล่านี้คือ มรดกสำคัญของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน แม้มีความเปลี่ยนแปลงในทุกเรื่องเหล่านี้ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงภายในกรอบเดิมทั้งสิ้น คงเห็นแล้วว่าครอบคลุมมิติหลักๆของรัฐและสังคมไทยปัจจุบันขนาดไหน

 

มรดกสำคัญของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ขอกล่าวถึงเป็นอย่างสุดท้าย เป็นปัจจัยที่ยึดโยงรากฐานของรัฐสมัยใหม่ทุกประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดเข้าด้วยกัน นั่นคือ (สถาบัน) พระมหากษัตริย์  [ทำไมต้องวงเล็บรอบคำว่า สถาบัน จะเข้าใจได้ต่อไป]

 

ระบบการปกครองใหม่ของจักรวรรดิกรุงเทพฯ อธิปไตยเหนือดินแดนที่แปลงร่างมาจากพระบรมโพธิสมภารขององค์อธิราช ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม พุทธศาสนาของไทย และ สังคมอินทรียภาพที่มีอำนาจทรงธรรมเป็นหัวใจขององคาพยพทั้งหมด รากฐานสำคัญๆในระบบการเมืองและวัฒนธรรมการเมืองของไทยสมัยใหม่ มีพระมหากษัตริย์เป็นปัจจัยร่วม

 

ภาวะเช่นนี้ไม่น่าประหลาดใจเลย เพราะรากฐานดังกล่าวทั้งหมดถูกก่อร่างสร้างขึ้นโดยชนชั้นนำที่ถือเอาพระมหากษัตริย์เป็นใจกลางของรัฐสังคมสมัยใหม่ของสยามเพื่อประโยชน์ของชนชั้นตน

 

แต่พระมหากษัตริย์สมัยใหม่ (modern monarchy)  ของยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีบทบาทสถานะเปลี่ยนจากยุคสยามเก่าอย่างสำคัญ กล่าวคือนอกจากทรงเป็นสมมติเทพและผู้ทรงบุญบารมีสูงสุดในแผ่นดินตามคติฮินดู-พุทธที่ปรับเปลี่ยนเรื่อยมาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์แล้ว ภารกิจของพระองค์กลับมิใช่เพียงแค่ทรงทศพิธราชธรรมเพื่อให้พระบรมโพธิสมภารของพระองค์แผ่ปกป้องคุ้มครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้พ้นทุพภิกขภยันตรายนานาชนิดตามคติความเชื่อแต่โบราณ แต่ทรงเป็นผู้นำรัฐบาลผู้บริหารระบบราชการกระทรวงทบวงกรมแบบใหม่ที่มีหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ของราษฎร เช่น สร้างถนน คูคลอง น้ำประปาสาธารณูปโภคและการศึกษาแก่ประชาชน เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นภารกิจที่รัฐโบราณไม่เคยต้องรับผิดชอบ

 

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจเหนือกลไกรัฐทั่วทั้งแผ่นดินนี่เองกลับมีความสัมพันธ์กับประชาชนอย่างที่พระมหากษัตริย์สมัยเก่าไม่เคยต้องเผชิญคือ เป็นพระมหากษัตริย์แบบสาธารณะ (public) ถึงแม้จะยังไม่ถูกตรวจสอบจากสาธารณะและอำนาจอธิปไตยไม่ใช่ของประชาชน แต่พระมหากษัตริย์มาอยู่ในพื้นที่สาธารณะ (public sphere)  สาธารณชนรับรู้และสื่อสารกันเกี่ยวกับพระองค์ จึงย่อมหนีไม่พ้นวาทกรรมในสังคมเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์

 

พระมหากษัตริย์ของยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงมีทั้งพระปิยมหาราชของสาธารณชนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย และพระมหากษัตริย์ที่โดนสาธารณชนโค่นล้มเป็นครั้งแรก

 

พระมหากษัตริย์ที่ทรงยุ่งเกี่ยวกับการเมืองท่ามกลางมหาชนชาวสยาม ย่อมออกหัวก็ได้ ออกก้อยก็ได้ เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน จะบังคับให้ประชาชนใช้เหรียญที่มีแต่หัวทั้งสองด้านย่อมไม่ได้เพราะประชาชนรู้ว่าเป็นของปลอมของเก๊

 

แม้ว่าความไม่พอใจของสาธารณชนคนเมืองจะมีมากจนมีส่วนหนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 2475 แต่ทั้งคณะราษฎรและผู้ไม่นิยมสมบูรณาญาสิทธิราชย์อื่นๆ กลับแตะต้องมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่มากเท่าไรนัก  คณะราษฎรเห็นความล้มเหลวของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในรัชกาลที่ 6 และ 7 แต่พวกเขาไม่เห็นด้วยซ้ำไปว่ารัชกาลที่ 5 คือจุดเริ่มต้นของสิ่งที่พวกเขาต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน ผู้นำคณะราษฎรแทบทุกคนถือเอาพระปิยมหาราชเป็นแบบอย่างกษัตริย์และผู้นำที่พึงปรารถนา ซึ่งไม่ต่างจากความปรารถนาของพวกเจ้าทั้งในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์และภายหลัง

 

การเปลี่ยนแปลงที่คณะราษฎรกระทำมีความสำคัญและมีผลกระทบมหาศาลในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ความกล้าหาญและคุณูปการของคณะราษฎรเป็นสิ่งที่ปฎิเสธไม่ได้ แต่มรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ระดับรากฐานยังสืบทอดต่อมา แม้แต่อำนาจฝ่ายเจ้าและบทบาทสถานะพิเศษทางการเมืองของ(สถาบัน)พระมหากษัตริย์ก็ได้รับการรื้อฟื้นในเวลาต่อมา

 

เมื่อฝ่ายเจ้าฟื้นอำนาจหลังการรัฐประหาร 2490 นั้น พวกเขามีทุนอยู่แล้วในการเมืองวัฒนธรรมและภูมิปัญญา สิ่งที่ฝ่ายเจ้าทำคือ รื้อฟื้นฐานความชอบธรรมที่อิงอยู่กับคติฮินดู-พุทธแต่โบราณ รื้อฟื้นพระมหากษัตริย์อันศักดิ์สิทธิ์ กับสร้างพระมหากษัตริย์ของมหาชนชาวสยาม (popular monarchy) ขึ้นมาอีกครั้ง สิ่งที่ฝ่ายเจ้าสมัยนั้นพยายามแก้ไขคือ แทนที่จะกลับสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กษัตริย์เป็นหัวหน้ารัฐบาลเอง ต้องรับผิดรับชอบเอง ฝ่ายเจ้ากลับออกแบบระบบการเมืองที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ เหนือ การเมืองในความหมายที่ต่างตรงข้ามกับที่คณะราษฎรพยายามกำหนด นั่นคือ แทนที่จะหมายถึงหลุดพ้นออกไปจากระบบการเมืองอย่างสิ้นเชิง ฝ่ายเจ้ากลับทำให้พระมหากษัตริย์อยู่ข้างบนของระบบการเมืองปกติอีกทีหนึ่ง ฝ่ายเจ้าสมัยนั้นคงเชื่อว่านี่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับระบบการเมืองที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสียอีกเพราะมีรัฐบาลเป็นผู้รับสนองความผิดแทน

 

สถานะเหนือการเมืองชนิดนี้มีกลไกเสริมความมั่นคงไม่ให้ต้องเผชิญการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ ที่สำคัญคือ ทำให้พระมหากษัตริย์อยู่ในสถานะละเมิดมิได้ ฟ้องเอาผิดไม่ได้ นี่เป็นการรับเอากลไกทางกฏหมายของฝรั่งมาใช้อย่างผิดฝาผิดตัวเพื่อประโยชน์ของฝ่ายเจ้าเอง (“เลือกสิ่งดี”) กล่าวคือในบางประเทศที่มีกลไกนี้ ก็เพื่อคุ้มครองพระมหากษัตริย์ที่ไม่ทรงทำอะไรเลยทางการเมือง แต่ฝ่ายเจ้าของไทยเอามาใช้เป็นเกราะกำบังพวกกษัตริย์นิยมที่กำลังรื้อฟื้นบทบาทสถานะพิเศษทางการเมืองขึ้นมาอีกครั้ง นี่คือภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของ “มาตรา 112” ในปัจจุบัน และเป็นประด็นที่แทบไม่มีใครกล่าวถึงในการโต้แย้งกันเกี่ยวกับกฏหมายนี้

 

พระมหากษัตริย์สมัยใหม่แบบใหม่ (“Modern Monarchy 2.0”) นี้เริ่มต้นมากับยุคเผด็จการทหารขนานแท้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยหลัง 2490 เติบโตเข้มแข็งขึ้นภายใต้เผด็จการทหารยุคพัฒนา และบรรลุจุดหมายโดยพื้นฐานเมื่อโค่นเผด็จการทหารลงในปี 2516 ใช้เวลาเสริมสร้างความมั่นคงในเวลา 15 ปีต่อมา ในที่สุดฝ่ายเจ้าก็สามารถสถาปนาพระมหากษัตริย์ที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่รักของมหาชนและอยู่ข้างบนของระบบการเมืองได้สำเร็จ นี่คือมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ปรับตัวกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งในยุคของเรา

 

ฝ่ายเจ้าคงคิดว่านี่เป็นบทบาทสถานะทางการเมืองที่มั่นคงปลอดภัยที่สุดได้ประโยชน์ที่สุด พวกเขาต้องการให้เป็นแบบนี้ตลอดไป หรือกล่าวอีกอย่างคือ ต้องการให้เป็น “สถาบัน”

 

แต่บทบาทสถานะทางการเมืองของ (สถาบัน) พระมหากษัตริย์แบบนี้กำลังเผชิญปัญหา ขอย้ำว่าไม่ใช่เพราะพวกล้มเจ้า ทักษิณ หรือนักวิชาการที่ออกมาเตือน แต่เป็นเพราะบทบาทสถานะแบบนี้มีปัญหาในตัวเองที่ไม่มีทางแก้ตกและไม่มีทางอยู่ยั่งยืนได้ตลอดไปอย่างที่ฝ่ายเจ้าปรารถนา  ปัญหาในตัวเองนี้เป็นปัญหาเดียวกันกับที่นำไปสู่ “อวสานของสมบูรณาญาสิทธิราชย์” เมื่อ 80-100 ปีก่อน ดังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชบันทึกเมื่อปี 2469 ว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เหมาะสมกับประเทศสยาม ตราบเท่าที่เรามีพระเจ้าแผ่นดินที่ดีทว่าแนวความคิดนี้เป็นแต่เพียงทฤษฎี....ไม่แน่นอนว่าเราจะมีพระเจ้าแผ่นดินที่ดีอยู่เสมอ คำกล่าวของพระองค์ ใช้ได้กับบทบาทของ (สถาบัน) พระมหากษัตริย์หลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์เช่นกัน

 

ปัญหาในตัวเองของ (สถาบัน) พระมหากษัตริย์ทั้งในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์และภายหลังมี 2 ประการได้แก่ หนึ่ง บทบาทสาธารณะกับความต้องการอยู่ในสถานะศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้และเป็นที่รักของมหาชนอย่างสัมบูรณ์ ไปด้วยกันไม่ได้ ดังได้อธิบายไปแล้วถึงสมบูรณาญาสิทธิราชย์หลังรัชกาลที่ 5

 

จะบังคับให้มหาชนชาวสยามใช้เหรียญที่ออกหัวทั้งสองด้าน ไม่มีก้อย จะไปได้นานสักเท่าไรกัน ไม่ช้าก็เร็วย่อมมีคนร้องเรียนว่าเป็นเหรียญเก๊

 

อำนาจบุญบารมีแบบพระมหากษัตริย์โบราณไม่อาจกลบเกลื่อนความแตกต่างทางสังคมในการเมืองสาธารณะได้อีกต่อไป จึงไม่มีใครหรือสถาบันใดที่สามารถมีบทบาททางการเมืองโดยไม่ต้องขัดแย้งในทางสาธารณะ ถ้าจะคงสถานะศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่รักของมหาชนได้ยาวนานก็ต้องไม่มีบทบาททางการเมืองอย่างสิ้นเชิง

 

สอง ความฝันของฝ่ายเจ้าที่อยากให้ตัวแบบพระปิยมหาราชกลายเป็นสถาบันไปนานๆโดยไม่ขึ้นกับตัวบุคคล จึงขัดฝืนกับความเป็นจริงดังที่รัชกาลที่ 7 ทรงเล็งเห็น  เมื่อ 100 ปีก่อน ความสำเร็จของพระปิยมหาราชมิได้เป็นผลของแบบแผนหรือความเป็นสถาบันที่ดำรงอยู่ก่อนแต่อย่างใด แถมประวัติศาสตร์เป็นหลักฐานอยู่แล้วว่าพระมหากษัตริย์แบบพระองค์มิได้กลายเป็นสถาบันพ้นรัชสมัยของพระองค์ พระปิยมหาราชเป็นความสำเร็จของพระองค์และฝ่ายเจ้าร่วมสมัยของพระองค์  ฝ่ายเจ้าสมัยนั้นคงปรารถนาให้พระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์สามารถทรงบทบาทสถานะดังกล่าวได้ พระมหาธีรราชเจ้าทรงเป็นกษัตริย์นักปราชญ์ดังพระสมัญญานาม แต่ไม่ทรงเป็นอะไรอีกเลยนอกเหนือจากนั้น บรรดาเจ้านายแวดล้อมพระองค์ละทิ้งพระองค์ก่อนมหาชนเสียอีก

 

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ฝ่ายเจ้าเองบ่อนทำลายความพยายามของพวกเขาเองโดยไม่รู้ตัวอยู่ตลอดเวลาด้วยความมักง่ายสายตาสั้น มองไม่เห็นว่าสิ่งที่พวกเขาทำมีผลข้างเคียงที่พวกเขาไม่ประสงค์เสมออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อ 100 ปีก่อน วี่แววว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะมีปัญหาเริ่มมาตั้งแต่เจ้าฟ้าวชิราวุธทรงเป็นพระบรมโอรสาธิราช กล่าวคือ ความสำเร็จล้นเหลือของพระราชบิดา (ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ก็ตาม) นั่นเองเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พระบรมโอรสาธิราชล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่ขึ้นครองราชย์  ยิ่งฝ่ายเจ้าประโคมแซ่ซร้องสรรเสริญพระราชบิดาในปลายรัชกาลว่ายิ่งใหญ่กว่ากษัตริย์ไทยที่มีมาก่อน ยิ่งพระราชบิดาเป็นที่เคารพรักเทิดทูนของมหาชน (แม้แต่คณะราษฎรก็เทิดทูน) หรือยิ่งดูเหมือนประสบความสำเร็จมหาศาลเท่าใด ก็ยิ่งทำให้พระราชโอรสมีโอกาสน้อยลงทุกทีที่จะเทียบเคียงความสำเร็จ และยิ่งทำให้ตัวแบบพระราชบิดาหมดหนทางกลายเป็นสถาบัน ผู้นิยมเจ้าจน “เว่อ” คือผู้ปิดประตูอนาคตของเจ้าเสียเอง

 

นี่เรายังไม่พูดถึงความจริงที่ว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเมื่อ 100 ปีก่อนมีคุณสมบัติส่วนพระองค์ที่เจ้านายสมัยนั้นรับไม่ได้ ยิ่งทำให้พระองค์ขาด moral authority และไม่เป็นที่นิยมทั้งในฝ่ายเจ้าเองและต่อสาธารณชน เรียกง่ายๆว่า นอกจากจะเทียบพระราชบิดาไม่ได้แล้ว ตัวพระองค์เองยังเริ่มต้นที่ติดลบอีกด้วย

 

ความขัดแย้งในตัวเองของบทบาททางการเมืองของ (สถาบัน) พระมหากษัตริย์ทั้งสองประการนี้เองที่นำไปสู่อวสานของระบอบการเมืองสมบูรณาญาสิทธิราชย์

 

ไม่ใช่พวกเก็กเหม็ง คณะราษฎร ปรีดี หรือพิบูล หรือขบวนการล้มเจ้า

 

ความไม่พอใจพระมหากษัตริย์ การวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ในที่สาธารณะเมื่อ 80-90 ปีก่อน เป็นผลสะท้อนปัญหาในตัวเองของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ต้องการมีพระราชอำนาจทางการเมือง แถมพยายามทำให้สถาวรเป็นสถาบัน แต่กลับเป็นบทบาทสถานะที่ขึ้นกับตัวบุคคล ทั้งหมดนี้ขัดแย้งกันเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการเมืองแบบสาธารณะ

 

ฝ่ายเจ้าที่ฝันอยากสร้างพระปิยมหาราชขึ้นมาเป็นตัวแบบของ สถาบันพระมหากษัตริย์ยุคหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คงยังไม่ตระหนักว่าพวกเขากำลังสืบทอดมรดกของความขัดแย้งในตัวเอง จนถึงทำลายตัวเองของสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเต็มๆ พวกเขากำลังเผชิญปัญหาเดิมๆแบบเมื่อ 80-100 ปีก่อนแต่ยังไม่ตระหนัก ยังดิ้นขลุกขลักๆในกรอบเดิมๆ เอาแต่โทษคนอื่นเหมือนเดิม มีคนเสนอทางออกให้ก็เล่นงาน ด่าทอไล่ให้ออกไปอยู่นอกประเทศไทยซะ ข่มขู่ ยัดข้อหา จับกุมคุมขังพวกเขาเหล่านั้น

 

ถ้าเรียนรู้จากอดีตก็จะเห็นการณ์ไกลว่าพวก รักพ่อ มากจนต่อต้านการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เองกำลังทำให้ปัญหาทับถมหนักหน่วงขึ้นทุกที การทำร้ายด้วยอำนาจรัฐและกฎหมาย ทำใหัทุกอย่างเลวร้ายลง พวกเขากำลังสร้างปัญหาแก่อนาคตของ (สถาบัน) พระมหากษัตริย์



การเปลี่ยนแปลง: ชิงสุกก่อนห่าม VS น้อยเกินไปสายเกินการณ์

 

... แผนการของข้าพเจ้าถูกคัดค้านโดยพวกอนุรักษ์นิยม รวมทั้งที่ปรึกษาชาวต่างประเทศด้วย .... ดังนั้นจึงเป็นธรรมดาที่ประชาชนจะรู้สึกหงุดหงิดและลุกขึ้นจัดการกันเอง... (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 30 มิ.ย. 2475)

 

แม้แต่ทัศนะคติและวาทกรรมต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยก็อยู่ในกรอบซ้ำๆซากๆ ที่เป็นมรดกจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ปฎิกิริยาของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ต่อคำกราบบังคมทูลฯ ของกลุ่มเจ้านายให้แก้ไขระบบบริหารราชการแผ่นดิน และต่อพวกที่ต้องการปาลิเม็นต์คือ ทรงเห็นว่าเป็นการพยายามเอาข้าวสาลีมาปลูกในดินสยามที่เหมาะกับข้าวจ้าวเท่านั้น พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงเห็นว่าพวกที่อยากเห็นสยามเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองหรือเป็นรีปับลิคเป็นเพราะลัทธิเอาอย่าง เมื่อกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยสูงขึ้น ความไม่พอใจระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีมากขึ้น ฝ่ายเจ้าและพวกอนุรักษ์นิยมเห็นว่าเป็นความคิดของพวกหัวนอกไม่กี่คน เป็นประชาธิปไตยแค่รูปแบบ ไม่ใช่ประชาธิปไตยแท้จริง ดังนั้นจึงเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นการ ชิงสุกก่อนห่าม เพราะประชาชนยังไม่พร้อม

 

ปรากฎการณ์ที่คนบางกลุ่มบางส่วนรับรู้ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ไวกว่าคนทั่วไปไม่ว่าจะด้วยพลังปัญญาหรือเพราะมีประสบการณ์ก่อนคนอื่น นี่เป็นเรื่องปกติในสังคมทุกแห่งไม่ว่าที่ไหนในโลก คนพวกนี้หากไม่ก่อปัญหากับอำนาจเราเรียกว่าคนเห็นการณ์ไกลมีวิสัยทัศน์ ครั้นท้าทายอำนาจก็เรียกว่าพวกชิงสุกก่อนห่าม คำกล่าวหาดังกล่าวจึงมาจากผู้มีอำนาจที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงเสมอ

 

คนที่ไม่พร้อมที่สุดคือคนมีอำนาจที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงซึ่งล้วนมีการศึกษาดีทั้งนั้น

 

ตรงข้ามกับการชิงสุกก่อนห่ามซึ่งประวัติศาสตร์ไทยแทบไม่กล่าวถึงหรือให้ความสำคัญน้อยมาก ก็คือ น้อยเกินไปสายเกินการณ์ (too little too late)

 

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เอง ทรงชี้ให้เห็นว่าฝ่ายเจ้าไม่เข้าใจไม่ตระหนักพอถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่กำลังเกิดขึ้น ไม่เข้าใจความรู้สึกของประชาชน ความพยายามของพระองค์ในการ รีฟอร์ม จึงถูกขัดขวางจากเจ้านายชั้นผู้ใหญ่และที่ปรึกษาของพระองค์จนในที่สุดก็สายเกินการณ์ ทั้งๆที่การปฎิรูปที่พระองค์ตระเตรียมก็น้อยเกินไปกว่าที่กระแสเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงต้องการอยู่ดี

 

ทั้งสมัยก่อนและสมัยนี้ ผู้ต้องการความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองถูกหาว่าเป็นคนเลวร้าย มีผู้ชักใย ล้างสมอง จ้างวานมา  ถูกชักจูงโดยนักปลุกระดมหรือพวกที่ฝันถึงยุคพระศรีอาริย์ ชนชั้นปกครองไม่เคยคิดว่ากระแสเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ประชาชนจึงต้องการระบบการเมืองที่เขามีส่วนตัดสินอนาคตของตนเอง

 

ทั้งสมัยก่อนและสมัยนี้ การเรียกร้องประชาธิปไตยถูกหาว่าเป็นเรื่องของฝรั่ง ไม่เหมาะกับสังคมไทย เอาข้าวสาลีมาปลูกในดินของสยาม เพราะประชาชนยังไม่พร้อม การศึกษายังไม่พอ เรายังคิดว่าประชาธิปไตยเป็นสมบัติหวงห้ามของคนมีการศึกษาเท่านั้น ความเชื่อผิดๆนี้ยังไม่เปลี่ยน ปัญญาชนผู้มีการศึกษายังเชื่ออย่างนี้กันมาก

 

ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงบัดนี้ ความคิดที่ว่าการเปลี่ยนแปลงจากเบื้องบนโดยพระราชอำนาจเป็นวิธีการที่ดีที่สุดยังคงหนาแน่น ทั้งๆที่โดยปกติเบื้องบนไม่ยอมเปลี่ยนแปลง

 

สังคมไทยปัจจุบันปัจจุบันยังวนเวียนอยู่กับทัศนะเหล่านี้ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทุกวันนี้ ดูเหมือนว่ามีความพยายามปรับตัวน้อยเสียยิ่งกว่า 80 ปีก่อน แต่กลับปราบปรามหนักยิ่งกว่า 80 ปีก่อนเสียอีก

 

ทางออกที่สถาวรในระยะยาว ก็คือ เลิกพยายามสืบทอดมรดกที่มาจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เลิกพยายามสร้าง (สถาบัน)พระมหากษัตริย์ที่มีบทบาทสถานะและความสัมพันธ์การเมืองแบบศักดิ์สิทธิ์เหนือมนุษย์และอยู่ชั้นบนของระบบการเมือง ก็จะทำให้กษัตริย์ทุกพระองค์ ไม่ว่าจะปรีชาสามารถมากน้อยเพียงใดก็สามารถเป็นที่เคารพรักของมหาชนได้อย่างสนิทใจ

 

ในด้านตรงข้าม ผู้ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นการปฎิวัติอันน่าพิสมัย ก็ควรไตร่ตรองให้จงหนัก แทบไม่มีการปฎิวัติใดๆในโลกนี้ที่เปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากโคนอย่างที่กล่าวอ้างกัน แถมการปฎิวัติของมวลชนไม่ได้รุ่งโรจน์อย่างที่คิด

 

Paradox ของการเปลี่ยนแปลงสังคมขนานใหญ่ คือ พวกก้าวหน้าที่เชื่อว่าตนมีอุดมการณ์ขุดรากถอนโคนมักจะไม่รู้ว่ารากโคนของปัญหาอยู่ตรงไหน ครั้นการปฏิวัติจืดจางลง ระบอบใหม่กับระบอบเก่ามักไม่ต่างกันมากนัก นักปฎิวัติมักจะโทษนั่นนี่ว่าทำไมการปฎิวัติจึงออกนอกลู่นอกทาง แต่ไม่มีการปฎิวัติใดเลยที่อยู่ในลู่ในทาง เพราะลู่ทางที่ปฎิวัติเป็นแค่ความฝันจินตนาการ นอกลู่ทางต่างหากคือความเป็นจริง  แถมการปฎิวัติที่ต้องอาศัยมวลชนกว้างขวาง มักต้องอาศัยแนวความคิดที่ไม่ซับซ้อน มิติเดียวหรือถูกทำให้ง่ายเป็นขาวดำ เพราะแนวคิดลักษณะนั้นจึงจะมีพลังในการเคลื่อนไหวมวลชน ผู้นำปฎิวัติที่เชิดชูกันมักเหมาะกับสถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น แต่ก็ยกย่องเชิดชูกันไม่ต่างกับยกย่องเจ้า หลายคนลงท้ายประกาศตนเป็นเจ้าเสียเลยจริงๆ เช่น การปฎิวัติฝรั่งเศสลงท้ายก็ได้จักรพรรดิองค์ใหม่เมื่อกระแสปฎิวัติจางหายไป

 

สังคมมนุษย์กว้างใหญ่ซับซ้อนเกินกว่าการปฎิวัติยกเดียวจะเปลี่ยนแปลงได้มากอย่างที่มักคิดฝัน มนุษย์ปุถุชนไม่ว่าเจ้าหรือนักคิดนักปฎิวัติต่างมีข้อจำกัดเกินกว่าจะแบกรับความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่เกินตัว  คุณูปการที่น่าสรรเสริญใดๆลงท้ายไม่พลิกแผ่นดินมากอย่างที่คิดเมื่อมองจากมิติเวลาที่กว้างไกลทางประวัติศาสตร์

 

การชิงสุกก่อนห่ามสามารถหลีกเลี่ยงได้ หากชนชั้นนำผู้มีอำนาจยอมปรับตัวไม่น้อยเกินไปไม่สายเกินการณ์ สภาวะ “สุก” เร็วไปเป็นผลของการกดขี่ปราบปรามโดยชนชั้นนำผู้มีอำนาจ ไม่ใช่ผลของการปลุกปั่นจ้างวาน การใช้มาตรา 112 อย่างที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ และการปราบปรามด้วยความรุนแรงนั่นแหละที่เร่งบ่มให้สถานการณ สุก เร็วยิ่งขึ้น

 

การประนีประนอมหาทางออกในวันนี้จะส่งผลดีต่อ (สถาบัน) พระมหากษัตริย์ในระยะยาว อันดับแรกสุดคือ “เปิดประตู” เปิดช่องทางให้กับการประนีประนอม

 

หยุดใช้มาตรา 112 ณ บัดนี้ ปลดปล่อยคนที่เดือดร้อนโดยเร็วที่สุด ขจัดบรรยากาศความกลัวที่ปกคลุมประเทศไทยในขณะนี้ ยอมให้มีการอภิปรายถึงบทบาทสถานะทางการเมืองของ (สถาบัน) พระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผย ปล่อยให้กระบวนการประชาธิปไตยดำเนินไปตามทางของมันไม่ว่าจะลุ่มๆดอนๆขนาดไหนก็ตาม

 

หากน้อยกว่านี้ สายกว่านี้ หรือรังแกกันต่อไป ก็จะยิ่งเร่งให้ “สุก” โดยไม่จำเป็นเลย

 

พระมหากษัตริย์ต้องอยู่พ้นจากการเมืองอย่างแท้จริง จึงจะไม่เกิดความขัดแย้งในเรื่องสถาบันหรือตัวบุคคลอีกต่อไป ฝ่ายเจ้าจึงจะไม่ต้องวิตก วิ่งเต้น สะสมกำลัง ชิงความได้เปรียบกันอีกต่อไป ไม่ต้องกลัวว่านักการเมืองรายใดจะมาเป็นคู่แข่ง เพราะไม่มีอำนาจการเมืองเป็นเดิมพันอีกต่อไป

 

ฝ่ายเจ้าของไทยในปัจจุบันจะมีสายตายาวไกลพอหรือไม่ เห็นแก่ประเทศชาติประชาชนขนาดไหน หรือพวกเขาอยู่สูงเหนือประชาชนจนไม่เข้าใจว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้วในระดับรากหญ้าและไม่สามารถหยุดยั้งหรือย้อนเวลากลับได้อีกแล้ว

 

 * ธงชัยกล่าวปาฐกถา ในงานแสดงมุทิตาจิต 'ชุมนุมปาฐกถา 70 ปี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ' ที่หอประชุมศรีบูรพา ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันที่ 7 พฤษภาคม 2554

 

ติดตามคลิปวีดิโอการปาฐถาของธงชัย ที่นี่ เร็วๆ นี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวบ้านนับพันปิดถนนกลางเมืองสตูล ค้านสร้างท่าเรือปากบารา

Posted: 07 May 2011 04:06 AM PDT

เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานว่าเมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 7 พ.ค. 2554 ที่บริเวณบนถนนสตูลธานี อ.เมือง จ.สตูล บริเวณ หน้าศาลากลาง จ.สตูล ทางฝั่งขาออกตัวเมืองสตูล ได้มีกลุ่มประชาชน จาก จ.สตูล จ.พัทลุง จ.สงขลา จ.นครศรีธรรมราช จ.ตรัง และจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ รวมประมาณ 1,000 คน นำโดย นายหุดดีน อุสมา อายุ 53 ปี อยู่บ้านเลขที่ 437 ม.4 ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล พร้อมด้วยแกนนำเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล อาทิเช่น นายจรัส งะสมัน นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายสมบูรณ์ คำแหง นายสมยศ โต๊ะหลัง ได้ร่วมชุมนุมปราศรัยบริเวณบนถนนดังกล่าว เพื่อแสดงเจตจำนงว่าคน จ.สตูลไม่ต้องการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ทำให้ทาง จนท.ตำรวจจราจรต้องปิดถนนสายดังกล่าวช่วงขาออกตัวเมืองสตูล ชั่วคราวเนื่องจากรถติด

การชุมนุมของกลุ่มประชาชนดังกล่าว ที่ไปร่วมชุมนุมในครั้งนี้ เพื่อคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา อ.ละงู จ.สตูล เนื่องจาก จะทำลายระบบนิเวศ ทำให้ผู้ที่มีอาชีพประมงพื้นบ้านจะได้รับความเดือดร้อนเพราะไม่มีที่ทำมา หากิน รวมทั้งเมื่อมีท่าเรือน้ำลึกปากบาราแล้ว จะเกิดนิคมอุตสาหกรรม คลังน้ำมัน ทางรถไฟ ซึ่งจะเป็นการทำลายมลพิษโดยมีการขึ้นเวทีบนหลังคารถยนต์ติดเครื่องขยายเสียง กล่าวโจมตีรัฐบาล ที่มีความพยายามดึงดันจะสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จากนั้นมีการอ่านคำประกาศเจตนารมณ์คนสตูล ไม่เอาท่าเรือน้ำลึกปากบารา

ในคำประกาศเจตนารมย์ กล่าวว่า การสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมปากบารา คือการละเมิดสิทธิชุมชนสตูลร้ายแรง เพราะการสร้างท่าเรือดังกล่าวจะเอื้ออำนวยให้นักลงทุนข้ามชาติ โดยการพัฒนาในลักษณะดังกล่าวทำให้ชีวิตของคนในท้องถิ่นมาบตาพุด จ.ระยอง ล่มสลายมาแล้ว การพัฒนาแนวทางดังกล่าวทำให้นายทุนยิ่งรวยขึ้น คนท้องถิ่นยากจนลง การพัฒนาเพื่อความเจริญแบบพิกลพิการทำให้คนรุ่นใหม่ขาดความสามัคคีปรองดอง เข่นฆ่ากันเอง ในขณะที่ภาครัฐยังไม่สามารถสร้างความชัดเจนให้คนภาคใต้ และคนสตูลว่าจะหยุดโครงการดังกล่าวนี้หรือไม่ ดังนั้นชาว จ.สตูลและชาวภาคใต้จักปกป้องพื้นที่ที่สวยงามแห่งนี้ไว้ให้ลูกหลานต่อไปโดย หลังอ่านคำประกาศเจตนารมณ์คนสตูล แล้วกลุ่มทางกลุ่มผู้ชุมนุมได้สลายตัวในเวลาต่อมา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เย็นนี้เตรียมพบ 'ธงชัย-ชูศักดิ์' มรดกสมบูรณาญาสิทธิ์ฯ-ชำแหละวรรณกรรมร่วมสมัย

Posted: 07 May 2011 02:39 AM PDT

เตรียมพบกับสรุปปาฐกถาของชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ เรื่อง วรรณกรรมไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน และของธงชัย วินิจจะกูล เรื่องมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปัจจุุบัน ที่กล่าวในงานแสดงมุทิตาจิต 70 ปี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (พร้อมคลิปประกอบ) เย็นนี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นิด้าโพลล์ชี้ “เพื่อไทย” เฉือน “ประชาธิปัตย์”

Posted: 07 May 2011 02:37 AM PDT

7 พ.ค. 54 - เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่าศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน “นิด้าโพลล์”  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การเลือกตั้งสมัยหน้า และความนิยมของประชาชนต่อพรรคการเมือง” ระหว่างวันที่ 2-3 พฤษภาคม 2554 จากประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 1,203 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกภูมิภาค ทุกระดับการศึกษาและกลุ่มอาชีพ ผลการสำรวจสรุปได้ดังนี้

1.  ผู้สมัครฯ จากพรรคการเมืองที่ประชาชนคาดว่าจะเลือก ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ผู้สมัครฯ จากพรรคการเมืองที่คาดว่าจะเลือกพรรคเพื่อไทย  23.36  พรรคประชาธิปัตย์ 20.20 พรรคภูมิใจไทย 2.99  อื่นๆ เช่น พรรครักษ์สันติ พรรคมาตุภูมิ 0.58  ยังไม่ตัดสินใจ 52.87

จากผลการสำรวจของนิด้าโพลพบว่า ประชาชนร้อยละ 23.36 คาดว่าจะเลือกผู้สมัครฯ จากพรรคเพื่อไทย โดยประชาชนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงเป็นฐานสนับสนุนเสียงพรรคเพื่อไทยมากที่สุด รองลงมาร้อยละ 20.20 ประชาชนคาดว่าจะเลือกผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งยังคงได้รับคะแนนความนิยมจากประชาชนในภาคใต้มากที่สุด  และ “กลุ่มพลังเงียบ” อีกร้อยละ 52.87 ที่ยังไม่ตัดสินใจ และยังคงเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

2.  พรรคการเมืองที่ประชาชนคาดว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนมากที่สุด ในระบบบัญชีรายชื่อ หรือ Party List พรรคที่คาดว่าจะได้รับเสียง สนับสนุนมากที่สุดในระบบบัญชีรายชื่อ หรือ Party Lis พรรคเพื่อไทย 35.41 พรรคประชาธิปัตย์ 24.69 พรรคภูมิใจไทย 3.33 อื่นๆ เช่น พรรครักษ์สันติ พรรคมาตุภูมิ 0.33 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ 36.24

จากการสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 35.41 ระบุว่าพรรคเพื่อไทย น่าจะได้รับเสียงสนับสนุนในระบบบัญชีรายชื่อ หรือ Party List มากที่สุด  รองลงมาร้อยละ 24.69 เป็น พรรคประชาธิปัตย์   ร้อยละ 3.33 เป็นพรรคภูมิใจไทย  ร้อยละ 0.33 อื่นๆ เช่น พรรครักษ์สันติ พรรคมาตุภูมิ  ที่เหลือร้อยละ 36.24 ยังไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

3. ความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับรูปแบบการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งต่อไปรูปแบบการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งต่อไป    ร้อยละรัฐบาลแบบพรรคผสม 43.14รัฐบาลแบบพรรคเดียว 42.39 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ 14.46 จากการสำรวจพบว่า ประชาชนคาดว่า การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่จะเป็นแบบพรรคผสม ร้อยละ 43.14 ใกล้เคียงกับที่คาดว่าจะเป็นรัฐบาลแบบพรรคเดียว ร้อยละ 42.39  ส่วนร้อยละ 14.46 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

4. ความนิยมของประชาชนที่มีต่อพรรคการเมืองหน้าใหม่   พรรคการเมืองหน้าใหม่พรรครักษ์สันติ14.38 พรรคการเมืองใหม่10.72 พรรคมาตุภูมิ8.73 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ 66.17

จากการสำรวจพบว่า พรรครักษ์สันติเป็นพรรคการเมืองหน้าใหม่ที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุด ร้อยละ 14.38 รองลงมาเป็นพรรคการเมืองใหม่  ร้อยละ 10.72  ถัดมาเป็นพรรคมาตุภูมิ  ร้อยละ 8.73  อย่างไรก็ตามประชาชนส่วนใหญ่อีกร้อยละ 66.17 ไม่ทราบรายชื่อพรรคการเมืองหน้าใหม่ หรือไม่แน่ใจว่าจะได้รับความนิยมมากน้อยเพียงใด

รศ.ดร.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน  ประธานสภาคณาจารย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และประธานที่ประชุมสภาอาจารย์แห่งประเทศไทย (ปอมท.)  กล่าวถึงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้ว่า บ่งบอกถึงการตัดสินใจที่ชัดเจนของประชาชน และชี้ให้เห็นว่า ประชาชนอยู่ในฐานเสียงของพรรคใดพรรคหนึ่งอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า “ตัวเลขที่น่าสนใจ คือกลุ่มที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ ซึ่งมีอยู่ร้อยละ 52.87 กลุ่มนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญสามารถชี้ขาดการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ และในตัวเลขนี้อาจจะมีกลุ่มที่เป็น Vote No กับอีกกลุ่มที่เป็นพันธมิตรฯ ซึ่งเคยเป็นแนวร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน แต่ภายหลังตั้งเป็นพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นกลุ่มใหญ่ โดยในตัวเลข 52.87 นี้ มีโอกาสเทคะแนนเสียงไปให้พรรคเพื่อไทย หรืออาจจะเทไปให้พรรคประชาธิปัตย์ หรืออาจกระจายคะแนนไปยังพรรครักษ์สันติได้เช่นกัน”

ส่วนรูปแบบการจัดตั้งรัฐบาลนั้น รศ.ดร. ทวีศักดิ์ยังให้ทัศนะต่อไปว่า “ในการเลือกตั้งคงเป็นไปไม่ได้ที่พรรคการเมืองใดจะได้รับความนิยมสูงจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลแบบพรรคเดียว แต่เชื่อว่าการจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้า น่าจะเป็นรัฐบาลผสม ส่วนจะเป็นพรรคเพื่อไทย หรือประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ก็ขึ้นอยู่กับพรรคทางเลือก ที่จะเลือกจับขั้วกับใคร อย่างไรก็ตามพรรคการเมืองหน้าใหม่ยังไม่ใช่พรรคทางเลือก เพราะประชาชนยังไม่รู้จัก และพรรคหน้าใหม่เองก็ยังไม่มีการลงพื้นที่ หรือนำเสนอนโยบายอย่างชัดเจน ทำให้พรรคที่มีพื้นที่และฐานเสียงดีอยู่แล้วมีโอกาสมากกว่า  แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าพรรคการเมืองหน้าใหม่จะสามารถทำให้ประชาชนร้อยละ 66.17 ซึ่งเป็นพลังเงียบรู้จักได้มากน้อยแค่ไหน และนโยบายรวมทั้งทีมงานมีความสามารถพอที่จะสร้างกระแสให้ประชาชนเลือกได้มากแค่ไหน แต่ถ้าไม่สามารถสร้างกระแสได้ ร้อยละ 66.17 อาจจะเป็น Vote No หรืออาจจะเทคะแนนให้กับพรรคการเมืองเดิมก็เป็นได้ กลุ่มพลังเงียบจึงเป็นปัจจัยสำคัญของคะแนนการเลือกตั้งครั้งนี้”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวสิงคโปร์ทยอยใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว - รู้ผลคะแนนคืนนี้

Posted: 07 May 2011 02:12 AM PDT

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในสิงคโปร์ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว โดยเป็นการเลือกตั้งที่แข่งขันสูงสุดนับตั้งแต่ตั้งประเทศสิงคโปร์ โดยพรรคฝ่ายค้านหวังจะได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นจากพื้นที่เดิมของฝ่ายรัฐบาล 

สิงคโปร์ – ตั้งแต่เช้าวันนี้ (7 พ.ค.) ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในสิงคโปร์ได้เริ่มออกไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแล้ว โดยเริ่มเปิดให้ลงคะแนนตั้งแต่เวลา 8.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (7.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) โดยมีสถานที่ลงคะแนน 732 แห่ง ประกอบด้วยสถานที่ลงคะแนนในสำนักงานคณะกรรมของการเคหะ ศูนย์กลางชุมชน และโรงเรียน โดยจะปิดลงคะแนนในเวลา 20.00 น.

ทั้งนี้มีผู้มีสิทธิลงคะแนน 2.21 ล้านคน โดยเป็นผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรก 2 แสนราย สำหรับสถิติที่มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งสูงสุดคือ การเลือกตั้งในปี 2531 เมื่อปีชาวสิงคโปร์ 1.37 ล้านคนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

ส่วนการเลือกตั้งล่าสุดในปี 2549 มีผู้ออกมาเลือกตั้ง 1.22 ล้านคน ขณะที่การเลือกตั้งในปีนั้นมีการแข่งขันเพื่อชิง 47 ที่นั่ง จาก 84 ที่นั่ง ส่วนอีก 37 ที่นั่งมีเพียงผู้สมัครจากพรรคกิจประชาชน (People’s Action Party - PAP) ลงเท่านั้น

ขณะที่ในการเลือกตั้งล่าสุดนี้ ถือเป็นการเลือกตั้งที่แข่งขันมากที่สุด นับตั้งแต่มีการตั้งประเทศสิงคโปร์มา โดยพรรคฝ่ายค้านได้แบ่งกันส่งผู้สมัคร ส.ส. แข่งกับพรรคกิจประชาชน โดยลงแข่งทั้งหมด 82 ที่นั่ง จากจำนวนที่นั่งทั้งหมด 87 ที่นั่ง โดยมีเพียงเขตตันจง ปาการ์ (Tanjong Pagar) ซึ่งมี ส.ส. ได้ 5 ที่นั่ง ซึ่งมีเพียงผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคเดียวคือพรรคกิจประชาชนนำโดยนายลี กวน ยู (Lee Kuan Yew) รัฐบุรุษของสิงคโปร์และอดีตนายกรัฐมนตรีหลายสมัย

ทั้งนี้จะมีการนับคะแนนเลือกตั้งในศูนย์การนับคะแนน 154 แห่ง ทันทีหลังหมดเวลาลงคะแนนในเวลา 20.00 น.

ทั้งนี้พรรคกิจประชาชน (PAP) ปกครองประเทศสิงคโปร์ติดต่อกันมากกว่า 52 ปี ขณะนี้กำลังเผชิญกับการท้าทายอย่างหนักจากพรรคฝ่ายค้าน ที่ต้องการแย่งชิงที่นั่ง ส.ส. ในหลายพื้นที่ โดยเชื่อกันว่าหลังนับคะแนน พรรคฝ่ายค้านน่าจะได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น โดยอาจมากเกินกว่า 4 ที่นั่ง จากที่เคยได้สูงสุดเมื่อการเลือกตั้งปี 2534

ขณะที่อีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้การคาดการณ์ผลการเลือกตั้งยากขึ้นไปอีกคือ การเลือกตั้งครั้งนี้ มีหลายพื้นที่ซึ่งพรรคฝ่ายค้านส่งผู้สมัคร ส.ส. แข่งกับพรรครัฐบาลเป็นครั้งแรกด้วย

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

Singaporeans head to the polls, Straits Times, May 7, 2011 http://www.straitstimes.com/GeneralElection/News/Story/STIStory_665888.html 

รายงาน: “เลือกตั้งสิงคโปร์ 7 พ.ค.” เมื่อฝ่ายค้าน “ร่วมกันเดิน แยกกันตี” ฝ่ายรัฐบาล, ประชาไท, 7 พ.ค. 54 http://www.prachatai.com /journal/2011/05/34422

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เมื่อศีลธรรมอำนาจนิยมถูกท้าทาย (และสภาวะไร้รากของศีลธรรมแห่งเหตุผล)

Posted: 07 May 2011 02:06 AM PDT

การวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงไม่เห็นด้วย ผ่านบทความ บทวิเคราะห์ บทสัมภาษณ์ทางสื่อต่างๆ ทางเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ต่อกรณีกระทรวงวัฒนธรรมออกโรงให้เซ็นเซอร์บทบาทของ เรยา ในละครดอกส้มสีทอง และกรณีแก้กรรมของแม่ชีทศพร เป็นต้น สะท้อนปรากฏการณ์ที่ศีลธรรมอำนาจนิยมกำลังถูกท้าทายมากขึ้นๆ

“ศีลธรรมอำนาจนิยม” หมายถึง ศีลธรรมที่มาตรฐานถูก-ผิด ดี-ชั่ว ขึ้นอยู่กับอำนาจกำหนดนิยาม ตัดสิน ชี้นำ ปลูกฝัง โดยชนชั้นนำในสังคม เช่น ชนชั้นปกครอง ผู้มีอำนาจรัฐ ผู้มีอำนาจเหนือรัฐ พระสงฆ์ ปัญญาชนที่ถูกยกย่องว่าเป็นคนดีมีคุณธรรมหรือเป็นปูชนียบุคล เป็นเสาหลักทางจริยธรรมของสังคม

โดยมาตรฐานตัดสินถูก-ผิด ดี-ชั่ว นั้น อ้างอิงอยู่กับหลักศีลธรรมทางศาสนาที่แข็งทื่อตายตัว ขนบจารีตประเพณีที่ขัดแย้งกับเสรีภาพในการเลือกและการใช้เหตุผล หรือกล่าวโดยรวมๆ คือมาตรฐานตักสินทางศีลธรรมที่อ้างอิงรูปการจิตสำนึก หรือจินตนาการความเป็นไทยที่ยึดโยงอยู่กับอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์

ศีลธรรมอำนาจนิยมในความหมายดังกล่าว เรียกร้อง (requirement) ศรัทธา ความเชื่อฟัง ความจงรักภักดี มากกว่าเรียกร้องการใช้เหตุผล เสรีภาพหรือความมีอิสระในการตัดสินถูกผิดด้วยวิจารณญาณของตนเองของปัจเจกแต่ละคน

ฉะนั้น “คนดี” ที่ถูกบ่มเพาะภายใต้ระบบการปลูกฝังศีลธรรมอำนาจนิยม จึงเป็นคนดีแบบ “เด็กดี” ที่เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติของความเป็นคนว่านอนสอนง่าย รู้ที่ต่ำ ที่สูง รู้กาลเทศะ พูดความจริงได้เฉพาะเรื่องที่ไม่ระคายเคืองหูของผู้มีอำนาจ ทำดีได้แต่อย่าเด่นจะเป็นภัย เป็นต้น

และแน่นอนว่า ภายใต้ระบบศีลธรรมอำนาจนิยมดังกล่าว ใครหรือฝ่ายใดประกาศตนเองว่ากระทำสิ่งต่างๆ บนจุดยืนของศรัทธาในศาสนา บนจุดยืนของความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เขาย่อมกลายเป็นคนดีที่ควรยกย่องเชิดชูขึ้นมาทันใด ขณะที่คนที่ตั้งคำถาม หรือวิพากษ์วิจารณ์เรื่องดังกล่าว หรือถูกกล่าวหาว่าอยู่ตรงข้างกับจุดยืนดังกล่าว เขาก็จะถูก “พิพากษา” ว่าเป็นคนเลวทันที โดยไม่ต้องสนใจเหตุผลของเขา หรือถามหาพยานหลักฐานที่ชัดแจ้งใดๆ

อย่างไรก็ตาม ศีลธรรมอำนาจนิยมก็ถูกท้าทายโดย “ศีลธรรมแห่งเหตุผล” ตลอดมาทั้งโดยตรง โดยอ้อม หรือโดยพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้คนที่เป็นไปตามสภาพการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไป แม้ว่าผู้ที่ออกมาท้าทายนั้นๆ จะประสบชะตากรรมต่างๆ เช่น ถูกสังคมประณาม ถูกจับติดคุก ถูกเนรเทศ ออกไปอยู่ในป่า ถูกฆ่า ฯลฯ

ส่วน “ศีลธรรมแห่งเหตุผล” คือระบบศีลธรรมที่อยู่บนความเชื่อพื้นฐานที่ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล” และมีเสรีภาพในการใช้วิจารณญาณของตนเองในการตัดสินดี-ชั่ว ถูก ผิด ได้ และมีเสรีภาพที่จะเลือกและรับผิดชอบต่อการกระทำต่างๆ ด้วยตนเอง ศีลธรรมเช่นนี้เรียกร้องเสรีภาพ ความเท่าเทียมในความเป็นคนเป็นจุดตั้งต้น หรือเป็นรากฐานรองรับการใช้เหตุผลในการอยู่ร่วมกัน วัฒนธรรมทางสังคมที่รองรับความงอกงามของศีลธรรมเช่นนี้คือวัฒนธรรมประชาธิปไตย ที่ยอมรับในความมีเหตุผล เสรีภาพ และความเท่าเทียมในความเป็นคนของสมาชิกทุกคนของรัฐ

แต่ดูเหมือนว่าในสังคมไทย ศีลธรรมอำนาจนิยมครอบงำ แทรกซึมอยู่ในแทบทุกมิติของการปลูกฝังอบรม ทั้งในครอบครัว สถานศึกษา สถาบันศาสนา สถานที่ทำงาน สื่อ และ ฯลฯ ใครที่สมานทานศีลธรรมแห่งเหตุผลอาจกลายเป็นตัวประหลาด พวกหัวรุนแรง พวกนอกคอก พวกขวางโลก ฯลฯ

กระนั้นก็ตาม ศีลธรรมแห่งเหตุผลดูเหมือนจะสอดคล้องกับธรรมชาติของความเป็นคนมากกว่า เคารพความเป็นมนุษย์มากกว่า สอดคล้องกับโลกร่วมสมัยมากกว่า มันจึงมีเสน่ห์ดึงดูดรสนิยมของคนรุ่นใหม่มากกว่า แต่ทว่าในประสบการณ์ของผมเอง ผมพบ “ความขัดแย้ง” ระหว่างศีลธรรมแห่งเหตุผลกับศีลธรรมอำนาจนิยมภายในความคิดของคนรุ่นใหม่อย่างน่าสนใจ

เช่น ผมยกประเด็นเรยาในดอกส้มสีทองมาชวนนักศึกษาคุย ปรากฏว่านักศึกษาทั้งห้องไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดแบบศีลธรรมอำนาจนิยมของกระทรวงวัฒนธรรมเลย พวกเขาคิดแบบศีลธรรมแห่งเหตุผลว่า คนดูละครเขาสามารถใช้วิจารณญาณของตนเองในการแยกแยะผิด-ถูกได้ ไม่ควรให้ผู้มีอำนาจมาคิดแทน หรือตัดสินถูก-ผิดแทน เป็นต้น

แต่พอผมยกกรณีการต่อสู้ของคนเสื้อแดงที่ต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาล้มเจ้าและการสลายการชุมนุมด้วยวิธีรุนแรงของอำนาจรัฐ กลับไม่มีนักศึกษาแม้แต่คนเดียวที่แสดงความคิดเห็นที่ “บ่งบอก” ได้ว่าเข้าใจเหตุผลและอุดมการณ์ในการต่อสู้ของคนเสื้อแดง หรือเข้าใจ “ศีลธรรมแห่งเหตุผล” ของคนเสื้อแดงซึ่งมีสาระสำคัญที่ไม่ต่างจากศีลธรรมแห่งเหตุผลที่นักศึกษาใช้โต้แย้งศีลธรรมอำนาจนิยมแบบกระทรวงวัฒนธรรม

หลังจากคุยเรื่องดังกล่าวจบ ผมเปิดคลิปเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ที่มีภาพจิตร ภูมิศักดิ์ ให้นักศึกษาฟัง (เพื่อรำลึก 45 ปีการเสียชีวิตของจิตร) ปรากฏว่านักศึกษาบางคนบอกว่าเคยฟังเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา แต่ไม่มีสักคนที่รู้ว่าชายในรูปภาพคือ จิตร ภูมิศักดิ์ ผู้แต่งเพลงนี้ ไม่มีใครเลยสักคนรู้ว่าจิตรเป็นใคร มีผลงานทางปัญญาอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศนี้

แน่นอนว่า ผมไม่โทษนักศึกษาใดๆ ที่พวกเขาใช้หลักคิดแบบศีลธรรมแห่งเหตุผลโต้แย้งศีลธรรมอำนาจนิยมแบบกระทรวงวัฒนธรรม แต่ไม่เข้าใจเหตุผลและอุดมการณ์ในการต่อสู้ของคนเสื้อแดงที่ยืนอยู่บนหลักศีลธรรมแห่งเหตุผลเช่นกัน และไม่รู้จักจิตร ภูมิศักดิ์ ผู้ที่มีคุณูปการอย่างยิ่งใหญ่ต่อการก่อเกิดแรงบันดาลใจในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเป็นธรรมบนจุดยืนของศีลธรรมแห่งเหตุผล

แต่ผมสะเทือนใจกับ “ผลงาน” ของระบบศีลธรรมอำนาจนิยม ที่สร้างเยาวชนของชาติขึ้นมาให้มีคุณลักษณะที่สับสน ขัดแย้งในตัวเองทั้งในเชิงวิธีคิด จุดยืนทางศีลธรรม จนทำให้ “มโนธรรมแหว่งวิ่น” ศีลธรรมแห่งเหตุผลของพวกเขาไร้ราก ขาดมิติเชื่อมโยงทั้งในทางหลักปรัชญาและทางประวัติศาสตร์ เพราะระบบการศึกษาแบบทางการ การอบรมบ่มเพาะ การขัดเกลาจิตใจภายใต้วัฒนธรรมแห่งศีลธรรมอำนาจนิยมไม่เปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้รู้จักและชื่นชม “คนอย่างจิตร ภูมิศักดิ์”

จึงเป็นไปได้ ที่คนรุ่นใหม่จะอ้างอิงศีลธรรมแห่งเหตุผลโต้ตอบศีลธรรมอำนาจนิยมกรณี เรยา ทว่ายอมรับศีลธรรมอำนาจนิยมได้ในกรณีรัฐบาล กองทัพ อำมาตย์ ใช้วิธีรุนแรงปราบปรามประชาชนที่เรียกร้องเสรีภาพและความเท่าเทียมในความเป็นคน

เพราะอิทธิพลครอบงำอย่างหนาแน่นของศีลธรรมอำนาจนิยม และสภาวะไร้รากของศีลธรรมแห่งเหตุผล ทำให้เกิดสภาวะขัดแย้งในตัวเองดังกล่าว !  

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

[3] อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์: สิทธิเสรีภาพหลัง ‘ทักษิณ’ ภาพรวมสภาวะดิ่งเหวของไทย

Posted: 07 May 2011 01:20 AM PDT

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์

(คลิกชม วิดีโอคลิป ด้านท้ายบทความ)

 

ในงานชุมนุมปาฐกถา 70 ปีชาญวิทย์ เกษตรศิริ รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน แบ่งการนำเสนอสภาพสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชน เป็น 3 ส่วนคือ ในมุมมองขององค์กรต่างประเทศ, การศึกษาของนักวิชาการไทย, วิกฤตการณ์การเมืองและความถดถอยของเสรีภาพ

ในหัวข้อมุมมองขององค์กรต่างประเทศ มีการหยิบยกรายงาน 3 ฉบับ ได้แก่ 1.รายงานขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน Reporters without Borders (RSF) ที่จัดทำดัชนีเสรีภาพสื่อใน 167 ประเทศทั่วโลก โดยส่งคำถามให้องค์กรสมาชิกจำนวน 14 องค์กรทั่วโลก และเครือข่ายผู้สื่อข่าว 130 คน นอจกากนี้ยังมีคำตอบของนัก นสพ. นักวิจัย ผู้เชียวชาญด้านกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน แบ่งคำถามเป็นเรื่อง การสูญเสียเสรีภาพชัดแจ้ง ทางกาย การถูกขัง ทำร้าย, การเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร, การถูกเซ็นเซอร์ หรือเซ็นเซอร์ตัวเอง, การผูกขาดระบบวิทยุโทรทัศน์, แรงกดดันทางเศรษฐกิจ รัฐบาลม, ถัดมาคือความเข้มข้นของความรุนแรง จำนวนผู้สื่อข่าวที่ถูกสังหาร ทำร้าย บทบาทของรัฐในการคุ้มครอง

สำหรับข้อมูลประเทศไทย พบว่าก่อนรัฐประหาร ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 107 ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดที่เคยไดรับ จากนั้นก็ตกมาที่ 122, 135, 124, 130 และปีล่าสุดอยู่ในอันดับเกือบรั้งท้าย สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการปะทะกันระหว่างกลุ่มการเมือง ส่งผลกระทบด้านลบต่อการทำงานของสื่อ และสื่อถูกแบ่งขั้วในการทำงาน

รายงานระบุด้วยว่า ประเทศไทยจัดว่าเป็นประเทศที่ต้องอยู่ในการตรวจสอบ  ส่วนหนึ่งของความตกต่ำมากจาก การปิดกั้นทางอินเตอร์เน็ต และการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้มีการเซ็นเซอร์ กลุ่มการเมืองใช้ข้อหาหมิ่นฯ ทำลายฝ่ายตรงข้าม นอกจากนี้ยังเซ็นเซอร์สื่อฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกับรัฐ โดยเฉพาะสื่อเสื้อแดง

งานศึกษาวิจัยของ iLaw และอาจารย์สาวตรี สุขศรี จากคณะนิติศาสตร์ มธ. ระบุว่า มี URL ที่ถูกบล็อกโดยคำสั่งศาลระหว่างปี 2550-53 จำนวน 74,686 urls ต่อมาสำรวจใหม่อีกครั้งเมื่อต้นปี พบว่า มี 80,000-400,000 urls กลุ่มนี้ได้ส่งหนังสือขอกับกระทรวงไอซีทีเพื่อดูรายละเอียดแต่ได้รับการปฏิเสธ มีการยื่นหนังสือร้องเรียนที่คณะกรรมการสิทธิฯ สัปดาห์ที่ผ่านมามีการเชิญไปพูดคุย แต่ ยังไม่ทราบว่าจะได้ความกระจ่างและการคุ้มครองสิทธิอย่างไร

รายงานระบุว่า เดือนมิถุนายน 2553 หลังเหตุการณ์ปราบปรามเสื้อแดง มีการตั้งสำนักงานปราบปรามอาชญากรรมคอมฯ เพื่อปกป้องสถาบันสถาบันกษัตริย์ มีการขอทรัพยากรเพิ่มเติมแสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจอย่างเต็มกำลัง ส่วนกฎหมายที่เป็นปัญหาในช่วงที่ผ่านมา คือ ม.112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มีผู้ถูกดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานาภพนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ กฎหมายที่ถูกนำมาใช้คู่กันในการปิดกั้นเสรีภาพการแสดงความเห็นทางอินเตอร์เน็ต คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ผ่านสภานิติบัญญัติ (สนช.) ซึ่งตั้งขึ้นหลังรัฐประหาร มีการดำเนินคดีหมิ่นสถาบัน 31 คดี เป็นคดีที่ใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 11 คดี โดยมี 4 คดีถูกลงโทษจำคุกแล้ว จะเห็นได้ว่า การใช้กฎหมายเหล่านี้ไม่ทำให้เกิดความสมานฉันท์ พร้อมกับมีการเสนอแนะให้เร่งแก้ไขกฎหมายโดยเร่งด่วน

2. รายงานเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ต ปี 2011 จัดทำโดย Freedom House รายงานนี้อยู่บนพื้นฐานของหลักการเสรีภาพสากล ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 19 จัดทำใน 37 ประเทศ ในเรื่องอินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะ เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่สำคัญมากในปัจจุบันและมีผลต่อการพัฒนาเรื่องเสรีภาพปชต.

มีกลุ่มคำถาม 21 กลุ่ม เน้นเรื่องสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมเสรีภาพเน็ต มีคำถาม 100 ข้อ เน้นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน อุปสรรคที่ปิดกั้นการเข้าถึง, มีการจำกัดเนื้อหา กรอง เซ็นเซอร์, ห้ามการใช้สื่อออนไลน์เพื่อการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองไหม, ละเมิดสิทธิผู้ใช้สื่อหรือไม่, ปกป้องสิทธิผู้ใช้สื่อในทางกฎหมายไหม, แทรกแซงความเป็นส่วนตัวไหม, มีการลงโทษจำคุก ทำร้าย ข่มขู่ไหม    

การให้คะแนน น้อยแปลว่าดี มากแปลว่าไม่ดี ไล่ตั้งแต่ 0-100 ในกลุ่ม 0-30 คะแนน หมายถึง มีเสรีภาพ  31-60 คะแนน หมายถึงมีเสรีภาพบางส่วน 61-100 คะแนน หมายถึงไม่มีเสรีภาพ

สำหรับประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม “ไม่มีเสรีภาพ” เป็นการสำรวจปี 2552-53 โดยมีสภาพใกล้เคียงกับ พม่า จีน คิวบา ซาอุดิอาระเบีย โดยไทยเราอยู่ลำดับที่ 61 เป็นประเทศแรกในกลุ่มที่ 3 หรือกลุ่มไม่มีเสรีภาพพอดี และไทยยังอยู่ต่ำกว่าเพื่อนบ้านในอาเซียน อย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และอยู่ในอันดับต่ำกว่าอียิปต์ ซิมบับเว ปากีสถาน น่าสนใจว่าเรามถึงจุดนี้ได้อย่างไร

บทอธิบายประกอบในรายงานระบุว่า ผู้ใช้เน็ตที่ถูกควบคุม ปิดกั้น เพราะไปท้าทายชนชั้นนำทางการเมืองและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทย นับแต่หลังรัฐประหารทำให้หน่วยงานความมั่นคงพยายามปิดกั้น การปิดกั้นมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งปริมาณและเนื้อหา

“สำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น แนวโน้มสิทธิเสรีภาพจะถดถอยลงอีก เห็นได้จากกรณีล่าสุดที่มีการตัดสินให้ผู้ใช้เว็บไซต์ถูกจำคุกเป็นเวลา 13 ปี” รายงานระบุ

3. Asian Media Baronmeter จัดทำโดย ฟรีดิช อีแบร์ท เป็นการทำดัชนีชี้วัดสื่อเอเชีย ซึ่งเพิ่งมาทำการศึกษาในไทย โดยประเมินสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และความหลากหลาย ความเป็นอิสระของสื่อมวลชน สำรวจว่ามีการปฏิรูปสื่อเป็นสื่อสารธณะหรือไม่ สื่อเป็นมืออาชีพแค่ไหน ในสถานการณ์ที่สื่อถูกทำให้เป็นสื่อการเมืองมากขึ้น

วิธีการประเมิน คือ เชิญตัวแทนนักวิชาชีพสื่อ, เอ็นจีโอด้านสิทธิม.,สิทธิเสรีภาพ 12 คนไปประชุมและร่วมประเมิน 4 เรื่อง คือ สิทธิเสรีภาพสื่อ , ความหลากหลายของสื่อ  ความเป็นอิสระของสื่อ, การปฏิรูปการสื่อสารสาธารณะ, ความเป็นวิชาชีพของสื่อ ซึ่งหากคะแนนออกมาน้อยแปลว่าไม่ได้มาตรฐาน

เรื่องสิทธิเสรีภาพได้ 2.6 ,เรื่องความหลากหลาย อิสระ 2.4 , การปฏิรูปสื่อสาธารณะ 3.6 , ความเป็นวิชาชีพ 2.3 รวม 2.72

อุบลรัตน์ หยิบยกความคิดเห็นของผู้ประเมินเฉพาะในส่วนที่1 เรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อมานำเสนอว่า แม้รัฐธรรมนูญฉบับหลังรัฐประหารจะมีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกไว้ แต่กฎหมายอื่นกลับคัดง้างสิทธิดังกล่าว ไม่ว่ากฎหมายความมั่นคง กฎหมายอาญา พลเมืองและนักหนังสือพิมพ์กลัวว่าแสดงความคิดเห็นถึง ศาล สถาบันกษัตริย์ เป็นความผิดจึงสยบยอมต่ออำนาจ พลเมืองหวาดกลัวการล่าแม่มดในอินเตอร์เน็ต ท่ามกลางความหวาดกลัว นสพ.หันมาเซ็นเซอร์ตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ หลังรัฐประหาร รัฐเร่งออกกฎหมายหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ แต่มีกฎหมายจัดตั้งกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ ซึ่งจะว่าไปแล้วคือยึดสถานีไอทีวีของทักษิณมาเป็นของรัฐ แล้วเปลี่ยนมาเป็นสื่อสาธารณะ มีการออก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อย่างด่วนที่สุด เพื่อริดลอนสิทธิในการแสดงความเห็น ปรากฏผลให้เห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ จากจำนวนคดี

ที่สำคัญที่ประเทศไทยไม่ได้นำมาใช้มากนัก พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการ พ.ศ.2540 การเข้าถึงข้อมูลราชการยุ่งยากและล่าช้า ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงเข้าไม่ถึงเลย มีบทบัญญัติว่าห้ามเปิดเผยและห้ามสื่อรายงาน รวมทั้งไม่มีกฎหมายคุ้มครองแหล่งข่าว องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสิทธิมีไม่มาก มีการแบ่งขั้วทางการเมือง บางองค์กรสนับสนุนให้ปราบฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเสียด้วย

สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดสาธารณชนที่หิวกระหายข้อมูลข่าวสารที่มีอิสระ, มีวิทยุชุมชนที่มีชีวิตชีวา มีสื่อสาธารณะเกิดขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ อย่างไรก็ตาม การแบ่งขั้วทางการเมืองทำให้การปฏิรูปสื่อต้องชะงัก สิทธิเสรีภาพของสื่อถูกแทนที่ด้วยการเซ็นเซอร์ตนเอง

อุบลรัตน์ กล่าวถึงหัวข้อที่สองเรื่องเสรีภาพจากการศึกษาของนักวิชาการไทย โดยหยิบยกรายงานการศึกษา สถานการณ์ ควบคุม ปิดกั้น สื่อออนไลน์ด้วยการอ้างกฎหมาย และแนวนโยบายแห่งรัฐไทย โดย iLaw และอาจารย์สาวตรี สุขศรี ที่นำเสนอเมื่อธันวาคม 2553  ซึ่งมีข้อมูลเชิงสถิติ บทวิเคราะห์และข้อสังเกตต่อจำนวนคดีความผิดเกี่ยวกับเนื้อหาในสื่อออนไลน์ และมีตัวอย่างจากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีอีกชิ้นหนึ่งผลงานของสาวตรี สุขศรี เรื่องกฎหมายไทยกับเสรีภาพสื่อสารมวลชน ตีพิมพ์ในวารสารวันรพี 2553 กล่าวถึงกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐปิดกั้นข้อมูลข่าวสารและการแสดงความคิดเห็น ในสถานการณ์ปกติและไม่ปกติ ซึ่งทั้งหมดหาอ่านได้ในเว็บไซต์นิติราษฎร์ (www. Enlightened-Jurists.com)

อุบลรัตน์กล่าวถึงประเด็นสุดท้ายเรื่องวิกฤตการณ์การเมืองและความถดถอยของเสรีภาพว่า  หลังรัฐประหาร การใช้กฎหมายทั้งหมดกลายเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน เกิด ศอ.รส., ศอฉ. มีการทีวีรวมการณ์เฉพาะกิจอยู่เป็นประจำ มีโฆษกที่ทุกท่านรู้จักกันดี มีการเซ็นเซอร์สื่อท้องถิ่น ในภาวะที่ชาวบ้านบอกว่าพวกเขา ‘ตาสว่าง’ แล้วนั้น สื่อสำคัญคือ วิทยุชุมชน เคเบิลทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม แต่ทั้งหมดก็ถูกสั่งปิด เว็บไซต์ก็เช่นกัน ดัชนีทั้งในและนอกประเทศถดถอย

“ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การสั่งปิดกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของรัฐไปแล้ว” อุบลรัตน์กล่าวและว่า ดังนั้น การแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเปิดเผย จึงถูกติดตาม ตรวจสอบ คุกคามมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้มาตรา 112 ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว

“เราเคยพูดถึงบรรายากาศแห่งความกลัวในสมัยทักษิณ ช่วงนั้นการข่มขู่คุกคามคือการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายสูงๆ ขณะนี้ทุกวันนี้ใช้วิธีฟ้องร้องประชาชนรายบุคคล แล้วส่งเข้าคุกหลายๆ ปี” อุบลรัตน์กล่าวและว่า การเซ็นเซอร์ตนเองเพิ่มทวีคูณจนรัฐคิดว่าเป็นเรื่องยอมรับได้ของสังคม แต่แรงกดดันนี้อาจนำมาซึ่งการแสวงหาการแสดงออกในหนทางใหม่ๆ เพื่อธำรงสิทธิเสรีภาพตามหลักสากลและเป็นสิ่งที่พวกเราพึงมี

 

*เรียบเรียงจากงานแสดงมุทิตาจิต “ชุมนุมปาฐกถา 70 ปี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” ณ หอประชุมศรีบูรพา ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันที่ 7 พ.ค.54  

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

[2] เกษียร เตชะพีระ: ธรรมาภิบาล VS ประชาธิปไตย สังคมไทยต้องเลือก ?

Posted: 06 May 2011 10:52 PM PDT

ในงานชุมนุมปาฐกถา ‘ชาญวิทย์ เกษตรศิริ’ ในวาระอายุ 70 ปี ‘เกษียร’ ปาฐกถา เรื่อง “ธรรมรัฐ/ธรรมาภิบาล: จากไอเอ็มเอฟสู่ใต้ร่มธรรมราชา”

(คลิกชม วิดีโอคลิป ด้านท้ายบทความ)

 

เกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นกล่าวถึงชาญวิทย์ เกษตรศิริ ว่า เป็น 1 ในครู 4 คนที่เปลี่ยนวิธีมองโลกของตน พร้อมระบุว่าหลังรัฐประหาร ชาญวิทย์ถือเป็นหลัก เป็นที่พึ่ง เป็นแบบอย่างของนักวิชาการรุ่นลูกหลาน เพราะยึดมั่นในหลักบางอย่าง ซึ่งตนวิคราะห์ได้ว่าคือ 1.ชาญวิทย์เข้าใจว่าเป้าหมายทางการเมืองที่สุดโต่งจะทำลายมากกว่าสร้างสรรค์ ต่อให้เป็นเป้าหมายที่ดี 2.ยึดหลักวิธีการสำคัญกว่าเป้าหมาย ในระยะที่ผ่านมา ในนามของเป้าหมายที่ดี สังคมไทยไม่เลือกวิธีการ รัฐประหารก็ทำ ความรุนแรงก็ใช้ โกหก ใส่ร้าย ป้ายสี ดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น การรัฐประหารของ ‘คะป๊ก’ (คปค.) อยากต่อต้านคอร์รัปชั่น ฟื้นฟูความสามัคคี ปกป้องสถาบัน จนปัจจุบันถามว่าทั้งหมดเกิดขึ้นหรือไม่ด้วยวิธีการรัฐประหาร 3.ชาญวิทย์พิสูจน์ให้เห็นว่าคำโกหกป้ายสีผู้อื่นไม่ยั่งยืน

“บทเรียนสำคัญจากอาจารย์ชาญวิทย์คือ พลังการเมืองใดละทิ้งหลักการเหล่านี้ ถึงชนะใหญ่โตก็ชั่วครู่ชั่วยาม ไม่ยั่งยืน รังแต่พ่ายแพ้ เพลี่ยงพล้ำ เสื่อมถอย แตกแยก หดเล็กในระยะยาว เราพอเห็นกันอยู่ว่าตอนนี้ใช้วิธีการเลวร้ายทำลายพวกพ้องตัวเองแล้วตอนนี้ สุดท้ายวิธีการเลวร้ายดังกล่าวจะทำลายตัวผู้ใช้เองในที่สุด”

เกษียรได้เข้าสู่การบรรยายในหัวข้อ “ธรรมรัฐ/ธรรมาภิบาล: จากไอเอ็มเอฟสู่ใต้ร่มธรรมราชา”โดยระบุว่าอยากวิจารณ์การนำเข้ามาเรื่องธรรมาภิบาลในสังคมไทย จากมุมมองทางการเมืองวัฒนธรรมไทย รวมทั้งการนำไปใช้ และการเคลื่อนเวลาใช้จริง ซึ่งแนวคิดบางส่วนนำมาจากบทความ Words in Motion โดยเริ่มต้นแนะนำลัทธิช็อกแห่งเสรีนิยมใหม่ อ้างจากแนวคิด ‘มิลตัน ฟรีดแมน’ ซึ่งนาโอมิ ไคลน์ นักวิชาการฝ่ายซ้ายตีความว่าเป็นลัทธิช็อกซึ่งมีหลักการในการทำการตลาดแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่กับนักการเมือง โดยฉวยใช้วิกฤตไปผลักดันนโยบายที่เอื้อกับเอกชน ขณะที่ฟรีดแมนพูดถึงลัทธินี้ว่า มีแต่วิฤตเท่านั้นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงได้ มันจะเกิดจากความคิดที่เรียงรายล้อมรอบ เราต้องพัฒนาทางเลือกต่างๆ จากนโยบายเดิม ประคับประคองเผื่อไว้ จนกว่าสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ทางการเมืองกลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในทางการเมือง

สำหรับเมืองไทยและเอเชียตะวันออกนั้นมีภาวะช็อกตอนมีวิกฤตต้มยำกุ้ง ทางเลือกถูกยัดเยียดมาจากภายนอก โดยไอเอ็มเอฟ ทำให้แนวนโยบายของรัฐต้องเปลี่ยนไปเพราะเงื่อนไขการกู้เงินไอเอ็มเอฟ ต้องเปิดเสรี ถามว่าอะไรคือกระบวนท่าตั้งรับกับการช็อค สิ่งเราใช้มาตั้งแต่ ร.5 คือ รับรูปแบบไว้ก่อน เช่น มีระบบราชการ ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ ทุนนิยม เสรีนิยมใหม่ แต่เนื้อหาเราเลือกบางอย่าง แล้วโยนทิ้งบางอย่าง โดยใช้เกณฑ์ “การรักษาไว้ซึ่งโครงสร้างอำนาจเดิม” ในการคัดเลือก

จากนั้นเกษียรเสนอให้เห็นถึงความสำคัญในการแปลศัพท์ใหม่ๆ ที่สังคมไทยรับจากภายนอกให้เป็นภาษาไทย โดยชนชั้นนำยึดหลัก คุมคำ > คุมความหมาย > คุมความคิด >คุมคน โดยยกตัวอย่างคำเช่น ประชาธิปไตย ซึ่งปัจจุบันเรียกติดปากว่า ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่ความหมายเดิมที่ ร.6 แปลเป็น ประชาธิปตัย ซึ่งหมายถึง รีพลับริก อันหมายถึง ไม่มีพระเจ้าแผ่นดิน มีแต่ราษฎร แต่คำว่าประชาธิปไตยมันเกิดขึ้นมาได้เพราะการประนีประนอมกับคณะราษฎร ทำให้เปิดช่องความเป็นไปได้ให้ใช้คำอย่างปัจจุบัน

เกษียรยกตัวอย่างต่อว่า ในยุคหลังก็มีหลายคนที่เป็กันชนรับแรงช็อคแบบไทยๆ โดยยกตัวอย่างคำว่า “ธรรมรัฐ” ซึ่งชัยวัฒน์ สถาอานันท์นิยามให้ธรรมะมีอำนาจกำกับรัฐ ธีรยุทธ บุญมี นิยามอีกแบบหนึ่งว่าเป็นการหาฉันทามติร่วมกันระหว่างรัฐ เอกชน ประชาสังคม ขณะที่อานันท์ ปันยารชุน นิยามว่าเป็นการเน้นเรื่องการจัดการ ประสิทธิภาพ ไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่ประเวศ วะสี หมายความไปถึงชุมชนนิยม ถักทอสายใยสังคมเพื่อเพิ่มพลังของประชาสังคม

“ไอเอ็มเอฟคงงง ส่งคำนี้มาแล้วแตกเป็น 5 เจ้า” เกษียรกล่าว

เกษียร กล่าวต่อว่า 14 ปีต่อมา ผลของการผลิตคำพวกนี้สู้ไอเอ็มเอฟได้แค่ไหนนั้น เขาเห็นว่าพอต้านทานไว้ได้บางส่วน แม้มีแรงต้านจากภาคประชาสังคมแต่ทุกอย่างก็ดำเนินไป เมื่อมาถึงยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้เดินนโยบายโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ แต่บริหารจัดการเอง ไม่ใช่เอาแต่ทำตามคำสั่ง แต่ก็เอาโอกาสใหม่ๆ ให้พวกพ้อง จึงถูกโค่นโดย คปค. จากนั้นรัฐบาล พล.อ.สรยุทธ์ จุลานนท์ ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในทางปฏิบัติแปลว่า เศรษฐกิจโลกภิวัตน์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้ปิดตลาด แต่ความเสี่ยงต้องอยู่ใต้บริหารจัดการโดยรัฐไทยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ด้านเอ็นจีโอ แรงงาน ปัญญาชน ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกนิติบัญญัติ (สนช.) จำนวนมาก พลังเหล่านี้แยกกันปฏิรูป มีความพยายามยกเลิกร่างกฎหมายการแปรรูป แม้ไม่สำเร็จทั้งหมด แต่หลังจากนั้นดูเหมือนการแปรรูปดูเหมือนจะหยุดไป ส่วนคำว่าธรรมรัฐถูกทำให้เป็นยาสามัญประจำบ้าน แปลใหม่เป็นธรรมาภิบาล และไปอยู่ในกลไกราชการด้วย

เกษียรกล่าวว่า การทำให้ธรรมรัฐเป็นเรื่องการเมือง ใน 4-5 ปีนี้ ตกอยู่ใต้อำนาจนำของพลังภาคประชาชน-ราชาชาตินิยม ธรรมรัฐ ถูกใช้เป็นคำขวัญต่อต้านคอร์รัปชั่นโดยทั่วไป และถูกใช้ต่อต้านทักษิณเป็นการเฉพาะ ทำให้คำนี้พลิกผันไปตามสถานการณ์การเมือง สุดท้าย พลังการเมืองบางกลุ่มได้นำคำนี้ไปใช้ จนมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของพลังแอนตี้ประชาธิปไตย

จากนั้น เกษียร ยกตัวอย่างการกล่าวถึงและให้ความหมายของ “ธรรมรัฐ” โดยบุคคลต่างๆ เช่น ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กล่าวเมื่อ 2547 อธิบายว่า ธรรมรัฐแบบไทยเกิดก่อนตะวันตกหลายสิบปี ดังปรากฏในปฐมบรมราชโอการในพระราชพิธีบรมราชาภิเสกที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” นี่คือกุศโลบายแบบฉบับของอนุรักษนิยมในการรับมือกับวาทกรรมต่างชาติว่า “ไม่มีอะไรใหม่”
ขณะที่สมุดปกขาว คมช. (2549) ก็มีการอ้างว่าถึงเหตุผลในการทำรัฐประหารว่าการบริหารประเทศด้วยเครื่องมือในระบอบประชาธิปไตย คลายเคลื่อนไปจากหลักการที่แท้จริงโดยขาดธรรมาภิบาล ทำให้คำว่าธรรมรัฐกลายเป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมว่าทำไมต้องโค่นประชาธิปไตย

“พูดราวกับธรรมาภิบาลกับประชาธิไตยเป็นคนละเรื่อง” เกษียรกล่าว และยังยกตัวอย่างการอ้างธรรมรัฐของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และอดีต ส.ว.รสนา โตสิตระกูล ที่มีบทบาทในการใช้คำนี้ในการโค่นอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร

เกษียรกล่าวปิดท้ายปาฐกถาว่า จากที่กล่าวมาอาจสรุปเรื่องประชาธิปไตยกับธรรมรัฐว่า อย่างเบา คือ เป็นคนละเรื่อง แต่อย่างหนัก คือ ไปกันไม่ได้ ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

 

เรียบเรียงจากงานมุทิตาจิต “ชุมนุมปาฐกถา 70 ปี ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” ที่หอประชุมบูรพา ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันที่ 7 พ.ค.54

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น