ประชาไท | Prachatai3.info |
- ประธาน กกต. แจงไม่ได้เข้าพบ พล.อ.เปรม
- แอมเนสตี้สากลเผยมีนักโทษทางความคิดในไทยมากกว่า 1 คนแต่ไม่อาจเปิดเผยได้
- "ประยุทธ์" ยันไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร - ขอให้ทุกฝ่ายอย่าพูดในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
- สตช.เตือนพรรคการเมืองที่ทำลายป้ายของตัวเองจะถูกดำเนินคดี
- รวมตัว “แรงงานไทย-ข้ามชาติ” ต้องจัดการศึกษาเรื่องสหภาพแรงงานอย่างทั่วถึง
- นักศึกษา-ชาวบ้าน ต้านโครงข่ายไฟฟ้าอุดร-น้ำพอง ถูกทำร้าย-จับกุม
- "พรรคการเมืองไทใหญ่" ร้องรัฐบาลใหม่พม่าแก้ปัญหายึดที่ดินในรัฐฉาน
- มาตรการฝีมือแรงงาน กลไกแก้ค่าจ้างเหลื่อมล้ำ
- ภาพดีเสียงใสที่ประชาชนไม่ต้องการ
- ศาลสิ่งแวดล้อม
- นิทานเด็กเลี้ยงแกะ “ผังล้มเจ้า” กับราคาที่ต้องจ่าย
- กสม.แนะ กฟผ.ยุติโครงการแนวสายส่ง น้ำพอง 2 - อุดรธานี 3 รอคดีในชั้นศาลก่อน
ประธาน กกต. แจงไม่ได้เข้าพบ พล.อ.เปรม Posted: 27 May 2011 12:33 PM PDT ยันทั้งวันอยู่ใน "พิธีปลุกเสกพระไพรีพินาศ" ที่วัดบรวนิเวศฯ ไม่ได้ไป "บ้านสี่เสาฯ" อัด "ประเกียรติ" ทำให้ กกต.เสียหาย ลั่นต้องดำเนินคดีแน่ ชี้ กกต. เป็นกลาง และจะทำให้การเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย หลังนายประเกียรติ นาสิมมา ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้ ประธาน กกต. ออกมาชี้แจงกระแสข่าวการเข้าพบ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ที่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์ และมีการกล่าวหาว่าเป็นการเข้าพบเพื่อขอให้ล้มการเลือกตั้งนั้น ล่าสุด สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อวานนี้ (27 พ.ค.) ว่า นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เขียนเอกสารชี้แจงด้วยลายมือตัวเอง 5 หน้า กับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2554 โดย นายอภิชาต ยืนยันว่า วันดังกล่าวอยู่ในพิธีปลุกเสกพระไพรีพินาศของสำนักงาน กกต. ที่วัดบวรนิเวศวิหารฯ ตลอดทั้งวัน พร้อมระบุถึงภารกิจภายหลังเสร็จสิ้นพิธีอย่างละเอียดเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ นายอภิชาต ยังเขียนบรรยาย พร้อมแสดงความสงสัยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นข่าวได้อย่างไร โดยได้ตำหนิการให้สัมภาษณ์ของ นายประเกียรติ ที่ใช้คำว่า "ทราบมาว่า" เพราะทำให้ กกต.เกิดความเสียหาย ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่มีใคร หรือ ผู้ใหญ่คนใด สามารถสั่งการ กกต.ได้ และ กกต.ก็ไม่ใช่หุ่นเชิดของใคร และตนเองจะไม่ถอดใจออกจากตำแหน่ง แต่จะเดินหน้าจัดการเลือกตั้งต่อไป โดยเชื่อว่าทุกฝ่ายจะเข้าใจการทำงานของ กกต. ซึ่ง กกต. จะต้องเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลาง และทำให้การเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
แอมเนสตี้สากลเผยมีนักโทษทางความคิดในไทยมากกว่า 1 คนแต่ไม่อาจเปิดเผยได้ Posted: 27 May 2011 09:37 AM PDT เบนจามิน ซาแวคกี นักวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (เอไอ) ประจำประเทศไทยและพม่ารับ มีนักโทษทางความคิดในไทยมากกว่า 1 คน แต่เปิดเผยรายละเอียดไม่ได้ เหตุมีจำนวนไม่แน่นอนและมีผลต่อการทำงานทางยุทธศาสตร์ทางสากล เบนจามิน ซาแวคกี นักวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (เอไอ) ประจำประเทศไทยและพม่า เปิดเผยว่าประเทศไทยมีนักโทษมโนธรรมสำนึกหรือนักโทษทางความคิด (Prisoner of Conscience) มากกว่า 1 คน แต่เอไอไม่สามารถเปิดเผยจำนวนและชื่อของคนที่ถูกจำคุกด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทั้งหมดได้ “เนื่องจากเราไม่สามารถประกาศได้ทุกครั้งเมื่อใครคนใดคนหนึ่งกลายเป็นนักโทษมโนธรรมสำนึก" ซาแวคกีให้เหตุผลว่าสาเหตุที่เอไอไม่สามารถตีพิมพ์รายชื่อของนักโทษมโนธรรมสำนึก และนักโทษทางการเมืองที่ถูกตัดสินจากมาตรา 112 ทั้งหมดในรายงานประจำปีของเอไอสากลได้ เนื่องจากมีเนื้อที่จำกัด นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่าคนที่ถูกจับด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีจำนวนที่ไม่แน่นอน และพูดถึงการเปิดเผยข้อมูลและการรณรงค์ในทางสาธารณะในประเด็นนี้ว่า เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา เนื่องจากมีผลต่อการทำงานทางยุทธศาสตร์ขององค์กร ก่อนหน้านี้ซาแวคกี ในฐานะนักวิจัยของเอไอสากลในประเทศไทย ถูกกล่าวหาโดยนักสิทธิมนุษยชนไทยบางส่วนว่าประนีประนอมกับสถาบันทางอำนาจของไทยมากเกินไป และไม่ให้ความสำคัญของปัญหากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเท่าที่ควร หลังจากการเสวนาที่ FCCT เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาในหัวข้อกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเขาเองเป็นหนึ่งในผู้พูดด้วยนั้น เขาได้ให้สัมภาษณ์ต่อเนชั่นว่าปัญหา “การขาดความโปร่งใส” ต่อจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ควรเป็นปัญหาของรัฐบาลไทยมากกว่าของเอไอ ในรายงานสากลประจำปีของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่ผ่านมา เอไอได้ระบุว่าประเทศไทยมีนักโทษมโนธรรมสำนึกอย่างน้อยหนึ่งคน คือ วิภาส รักสกุลไทย นักธุรกิจจากจังหวัดระยองที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เนื่องจากโพสต์ข้อความในเฟซบุ้กที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ เอไอให้คำนิยามของ “นักโทษมโนธรรมสำนึก” ว่าหมายถึง “บุคคลใดก็ตามที่ถูกจำคุกจากสาเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว ภาษา เพศ ความเชื่อ และวิถีชีวิต ซึ่งไม่ใช้และไม่สนับสนุนความรุนแรง นอกจากนี้ยังหมายถึงผู้ที่ถูกจำคุกเนื่องจากการแสดงออกทางความคิดเห็นโดยวิธีสันติ”
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
"ประยุทธ์" ยันไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร - ขอให้ทุกฝ่ายอย่าพูดในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง Posted: 27 May 2011 08:16 AM PDT "เพื่อไทย" จี้ "ฉก.315" เลิกภารกิจ เหตุลงไปเกาะติดคนเสื้อแดง พร้อมสอบถามประชาชนเรื่องการทำงานของรัฐบาล แต่ไม่ได้ทำเรื่องปราบยาเสพย์ติด ด้าน ผบ.ทบ.แจง ฉก.315 มาปราบยาเสพย์ติดใน กทม.-ปริมณฑล ในช่วงก่อนยุบสภาจริงๆ หากพบเจ้าหน้าที่นอกแถวจะลงโทษรายบุคคล ลั่นจะไม่มีการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร "เพื่อไทย" ร้อง "หน่วย ฉก.315" ลงเกาะติดแกนนำเสื้อแดงใน กทม. เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย รายงานวันนี้ (27 พ.ค. 54) ว่านายวิชาญ มีนชัยนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์เลือกตั้งกรุงเทพฯ (กทม.) พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์ นายสิงห์ทอง บัวชุม และนายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เดินทางไปที่กองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนิน เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ขอให้ยกเลิกโครงการปราบปรามยาเสพติดของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ที่ส่งกองกำลังผสมชุดเฉพาะกิจ 315 (ฉก.315) ออกไปก่อน โดยมี พ.ท.วิชัย บัวจำรูญ นายทหารเวร เป็นผู้รับหนังสือ นายวิชาญกล่าวว่า ที่ต้องมายื่นเรื่องให้ยกเลิกโครงการไปก่อนเนื่องจากพบว่าการลงพื้นที่ของ ชุดเฉพาะกิจในเขตมีนบุรี หนองจอก คันนายาว และลาดพร้าว ได้มีการตั้งศูนย์บัญชาการและติดตั้งจานดาวเทียมเพื่อเกาะติดแกนนำกลุ่มคน เสื้อแดงในแต่ละพื้นที่ ขณะที่ทหารที่ลงพื้นที่พบปะประชาชนได้สอบถามประชาชนเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาล ไม่ได้สอบถามเรื่องยาเสพติดแต่อย่างใด ทำให้ประชาชนไม่สบายใจ "การปราบปรามยาเสพติดควรเป็นเรื่องของตำรวจ ทหารควรไปดูแลชายแดน หลังจากนี้จะไปยื่นเรื่องให้ กกต. ตรวจสอบ เพราะเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อการเลือกตั้ง และจะไปยื่นเรื่องขอให้ตำรวจจริงจังกับการปราบปรามยาเสพติด หลังจากยื่นหนังสือ ที่กองบัญชาการกองทัพบกแล้ว นายวิชาญ และพวกได้เดินทางต่อไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อยื่นเรื่องถึง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พร้อมภาพถ่ายรถฮัมวี่และการลงพื้นที่ของทหาร เรียกร้องให้ตำรวจเป็นกลางในการเลือกตั้ง และให้ระงับการทำงานของชุด ฉก.315 เอาไว้ก่อน "ช่วงนี้เป็นช่วงเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ทุกสังกัดต้องวางตัวเป็นกลาง จึงควรระงับการทำงานของชุด ฉก.315 เอาไว้ก่อน ไม่ต้องมาขยันกันเป็นพิเศษในช่วงนี้" นายวิชาญกล่าวและว่า ทหารเอารถฮัมวี่ไปจอดหน้าชุมชน เข้าไปสอบถามประชาชน เช่น ที่หมู่บ้านธนาทรัพย์ เขตหนองจอก ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เข้าไปเป็นพื้นที่ฐานเสียงของ พรรคเพื่อไทย ส่วนพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงของพรรครัฐบาลจะเข้าไปน้อยมาก เพื่อความเป็นธรรมและเป็นกลางควรยุติปฏิบัติการนี้ไปก่อน หรือไม่ตำรวจควรรับงานนี้มาทำเอง ไม่ต้องพึ่งกำลังจากทหาร นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การทำงานของรัฐบาลในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาประกาศกวาด ล้างยาเสพติด แต่ไม่เคยส่งทหารลงพื้นที่ เพิ่งมาใช้ทหารในช่วงที่มีการเลือกตั้ง และเน้นเฉพาะพื้นที่ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยเป็นพิเศษ
ผบ.ทบ. แจง "ฉก.315" มีภารกิจปราบยาเสพย์ติดใน กทม. - ปริมณฑล ช่วงก่อนเลือกตั้ง สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ [1], [2] รายงานวันนี้ (27 พ.ค.) ว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงกรณีมีการร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของชุดเฉพาะกิจปราบปรามยาเสพติดที่ 315 ว่า เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ร่วมกับตำรวจ ทหาร และ ปปส.เพื่อปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตามยุทธสตร์ 5 รั้วป้องกัน ก่อนประกาศยุบสภา ทั้งนี้ หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่กระทำผิดตามที่กล่าวอ้างจริง จะพิจารณาลงโทษเป็นรายบุคคล ซึ่งที่ผ่านมาได้เน้นย้ำผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและห้ามปฏิบัติงานเกินหน้าที่มอบหมาย นอกจากนี้ ได้สั่งให้ตรวจสอบประวัติอดีตทหาร ที่อาจเกี่ยวข้องกับซุ้มมือปืนแล้ว
ยันไม่มีการตั้งรัฐบาลในค่ารทหาร ขอทุกฝ่ายอย่าพูดในสิ่งที่มาไม่ถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ ว่า ได้มีการหารือแนวทางปฏิบัติกับคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า สิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้ ซึ่งทหารได้พยายามหลีกเลี่ยงและระมัดระวังที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่การปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยยังต้องคงไว้ จึงขอให้เข้าใจหน้าที่ของทหาร ส่วนกระแสข่าวหลังการเลือกตั้งจะมีการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ยืนยันว่าจะไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร และขอให้ทุกฝ่ายอย่าพูดในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ผู้บัญชาการทหารบก ยังกล่าวถึงกรณีนายทหารเดินตามนักการเมืองที่จังหวัดสมุทรปราการ ว่าเป็นนายทหารยศพันเอก ที่อยู่ระหว่างการสำรองราชการ และได้ให้หน่วยงานต้นสังกัดเรียกตัวเพื่อสอบสวนแล้ว ทั้งนี้ ถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนบุคคล สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สตช.เตือนพรรคการเมืองที่ทำลายป้ายของตัวเองจะถูกดำเนินคดี Posted: 27 May 2011 07:59 AM PDT ตำรวจเตือนพรรคการเมือง หากตรวจสอบพบทำลายป้ายหาเสียงตนเอง เรียกร้องความเห็นใจ จะถูกดำเนินคดีและจะรายงานให้ประชาชนรับรู้ วันนี้ (27 พ.ค. 54) สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า พลตำรวจเอกพงศพัศ พงษ์เจริญ ที่ปรึกษา สบ 10 เตือนพรรคการเมือง ที่อาจใช้กลยุทธ์ทำลายป้ายหาเสียงตนเอง เพื่อเรียกร้องความเห็นใจจากประชาชน ว่า จะมีความผิดเช่นเดียวกับการทำลายป้ายหาเสียง ซึ่งตำรวจจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด และจะแจ้งให้ประชาชนทราบ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดลักษณะดังกล่าวได้ ส่วนป้ายหาเสียงตามทางหลวงสายต่าง ๆ ได้มอบหมายตำรวจทางหลวงดูแลแล้ว พลตำรวจเอกพงศพัศ ยังกล่าวถึงเหตุคนร้ายยิงบ้านพักของนายเจริญ เจ๊ะสมัน เขตบึงกุ่มวานนี้ (26 พค) ว่า คาดว่าเป็นความขัดแย้งส่วนตัวมากกว่าประเด็นการเมือง เนื่องจากนายเจริญ มีอาชีพเป็นหมอทำเสน่ห์ และยืนยันกับตำรวจว่า ไม่เคยหาเสียงให้พรรคการเมืองใด สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
รวมตัว “แรงงานไทย-ข้ามชาติ” ต้องจัดการศึกษาเรื่องสหภาพแรงงานอย่างทั่วถึง Posted: 27 May 2011 05:15 AM PDT องค์กรแรงงานเผย หากจะกระตุ้นให้แรงงานไทย-ข้ามชาติรวมตัวมากขึ้น สหภาพแรงงานต้อง จัดการศึกษาอย่างทั่วถึง ในประเด็นสิทธิแรงงาน กฎหมายแรงงาน กระบวนการเรียกร้องความเป็นธรรม ปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานและทุน ระบบการจ้างงานแบบยืดหยุ่น เพื่อให้เกิดความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น 27 พ.ค. 54 - โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยเผยแพร่รายงานสรุปบทเรียน “แรงงานข้ามชาติกับการเข้าร่วมสหภาพแรงงาน: กรณีศึกษา 7 สหภาพแรงงาน” เพื่อเป็นการสำรวจหาโอกาส-อุปสรรค รวมถึงข้อเสนอแนะต่อการทำกิจกรรมสหภาพร่วมกันระหว่างแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ โดยได้ทำการสัมภาษณ์นักสหภาพแรงงานที่ทำงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ย่านอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ สมุทรปราการ รังสิต และอยุธยา จำนวน 7 สหภาพแรงงาน ซึ่งย่านดังกล่าวล้วนมีการจ้างแรงงานข้ามชาติจริง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมผลิตอาหาร อุตสาหกรรมสิ่งทอ ตัดเย็บ อีกทั้งมีการรวมตัวของสหภาพแรงงานที่ยังดำเนินงานช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้พบปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการรวมกลุ่มของแรงงานข้ามชาติกับสหภาพแรงงานไทย คือ
ด้านปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการรวมกลุ่มของแรงงานข้ามชาติ รายงานระบุว่าเมื่อสอบถามถึงการทำงานของสหภาพแรงงาน และความเข้มแข็งของสหภาพ พบว่าเป็นปัจจัยหนึ่งของการสร้างความเข้มแข็งให้แก่แรงงานข้ามชาติด้วยเช่นกัน กล่าวคือ หากการทำงานของนักสหภาพแรงงานเป็นไปอย่างเข้มข้น และต่อเนื่อง ดูแลสมาชิกที่ได้รับความเดือดร้อนได้อย่างทั่วถึง ให้การศึกษาแก่สมาชิกเกี่ยวกับสิทธิของตนเอง ก็จะสามารถนำไปสู่การดูแลและเข้าถึงคนงานข้ามชาติได้ แต่ปัจจุบันจะเห็นว่า สหภาพแรงงานบางแห่งอ่อนแอลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้าง จากการปิดโรงงานบางสาขา ทำให้จำนวนสมาชิกลดจำนวนลง และไม่มีสมาชิกสมัครเข้ามาเพิ่ม และทำให้สัดส่วนของจำนวนกรรมการสหภาพลดลงเช่นกัน ทำให้ดูแลสมาชิกไม่ทั่วถึง บางแห่งถึงกับถูกนายจ้างลดสวัสดิการลง คือ ลดโบนัสลง 50% บางแห่งกรรมการสหภาพถูกฝ่ายนายจ้างกลั่นแกล้ง และบางแห่งดำเนินกิจการสหภาพเพื่อให้สหภาพอยู่รอดต่อไป โดยยังไม่กล้าที่จะแตกหัก หรือเรียกร้องตามอัตวิสัยของตนเองมากนัก มีลักษณะที่ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ เพราะอำนาจต่อรองของสมาชิกอ่อนแอลงนั่นเอง อีกเงื่อนไขหนึ่งคือ โครงสร้างการจ้างงานของระบบทุนอุตสาหกรรมที่ไม่เอื้ออำนวย อีกทั้งกฎหมายมีช่องว่าง ขาดการบังคับใช้โดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างจริงจัง ทำให้มีการเอารัดเอาเปรียบคนงานไทยและคนงานข้ามชาติอยู่เป็นประจำ เช่น ในงานที่เสี่ยงอันตราย มีการจ้างคนงานข้ามชาติเข้ามาทดแทนแรงงานไทยเนื่องจากให้ค่าแรงและสวัสดิการไม่คุ้มค่า และไม่มีการปรับปรุงสภาพการทำงานให้ปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้ นายจ้างไม่สำนึกในความปลอดภัยในการทำงานของแรงงานข้ามชาติที่กำลังเผชิญกับงานหนักและทำงานยาวนาน การมีระบบนายหน้าจัดหางานและรับคนงานข้ามชาติเข้ามาในไทยโดยให้เอกชนเข้ามาทำอย่างเสรี แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับไม่ดูแลจัดระเบียบ ปล่อยให้มีการเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติ เช่น กินค่าหัวคิวแพงเกินไป การยึดบัตรประจำตัวคนงาน การข่มขู่ว่าจะส่งตำรวจ เป็นต้น การจ้างงานชั่วคราวทำให้คนงานข้ามชาติรู้สึกว่าไม่จำเป็นที่จะต้องต่อสู้ต่อต้านการกระทำที่ไม่เป็นธรรม โครงสร้างของการจ้างงานดังกล่าวจึงเปิดช่องให้มีการแสวงหากำไรจากคนงานข้ามชาติ และทำให้คนงานอ่อนแอได้ในที่สุด ในด้านข้อเสนอแนะ รายงานระบุว่าความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานไทยกับแรงงานข้ามชาติ การช่วยเหลือซึ่งกันและกันอยู่ในระดับไม่เป็นทางการมากกว่าทางการ การเปิดรับสมัครสมาชิกสหภาพแรงงานก็มีขึ้นแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการรวมตัวแรงงานข้ามชาติให้มีอำนาจต่อรองอย่างเข้มแข็ง ทำให้การปกป้องคุ้มครองสิทธิแรงงานจึงยังไม่ทั่วถึง ครอบคลุมทุกเรื่อง ซึ่งต้องมีการพัฒนาต่อไป ข้อเสนอแนะในการศึกษานี้คือ หากจะมีการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานไทยกับแรงงานข้ามชาติเพื่อให้เกิดการรวมตัวมากขึ้น ต้องมีการพัฒนาสหภาพแรงงานให้เข้มแข็งพร้อมๆ กัน ต้องมีการพบปะเสวนาระหว่างสมาชิก จัดการศึกษาให้สมาชิกอย่างทั่วถึง ในประเด็นสิทธิแรงงาน กฎหมายแรงงาน กระบวนการเรียกร้องความเป็นธรรม ปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานและทุน ระบบการจ้างงานแบบยืดหยุ่น เพื่อให้เกิดความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นักศึกษา-ชาวบ้าน ต้านโครงข่ายไฟฟ้าอุดร-น้ำพอง ถูกทำร้าย-จับกุม Posted: 27 May 2011 04:29 AM PDT กฟผ. เมินข้อเสนอกรรมการสิทธิฯ เดินหน้าก่อสร้างโครงข่ายไฟฟ้าอุดร-น้ำพอง นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กว่า 100 นาย เข้าพื้นที่ปะทะชาวบ้าน-นักศึกษา จับกุมตัวคุมขังสถานีตำรวจ
วันนี้ (27 พ.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 13.30 น. เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าแหล่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมกับกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากหลายสถานีในจังหวัดอุดรธานี อาทิ สภ.อ.หนองหาน, สภ.อ.บ้านดุง, สภ.อ.ทุ่งฝน ฯลฯ รวมจำนวนกว่า 100 คน เข้าสลายและจับกุมกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านการก่อสร้างเสา และแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง (ขนาด 500 กิโลโวลต์ (kv.) น้ำพอง2-อุดรธานี3) ประมาณ 20 คน ที่บริเวณทุ่งนาของนายสง่า บุญโยรัตน์ บ้านเหล่ากล้วย ต.เสอเพลอ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี โดยมีผู้ถูกจับกุมจำนวน 15 ราย ซึ่งขณะนี้ฝากขังอยู่ที่ สภ.อ.กุมภวาปี นายณัฐวุฒิ พรมภักดี ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน (ศสส.) หนึ่งในกลุ่มนักศึกษาและชาวบ้าน 15 คนที่ถูกจับกุมให้ข้อมูลผ่านทางโทรศัพท์ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สภ.อ.กุมภวาปีว่า จากจำนวนผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมด ประกอบด้วยกลุ่มชาวบ้านทั้งหมด 9 คน เป็นผู้หญิง 4 คนและผู้ชาย 5 คน ส่วนนักศึกษามีจำนวน 6 คน มาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.ปัตานี) เบื้องต้นยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา นายณัฐวุฒิ กล่าวให้ข้อมูลว่า ได้ร่วมกับกลุ่มนักศึกษาลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลและติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งของกลุ่มชาวบ้านและกฟผ.มาตั้งแต่ก่อนวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่ง กฟผ.ได้นำเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าตำรวจและฝ่ายปกครอง เข้าไปรื้อถอน ทำลายทรัพย์ของชาวบ้าน สำหรับสถานการณ์วันนี้ถือว่า กฟผ.และเจ้าหน้าที่รัฐทำเกินกว่าเหตุในการใช้กำลังเข้าทำร้ายร่างกายและจับกุมชาวบ้าน ไม่ยอมฟังเสียงที่ขอให้ชะลอการดำเนินการโครงการในพื้นที่เพราะอยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลปกครอง ร่วมทั้งไม่สนใจข้อเสนอที่ให้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นตัวกลางในการแก้ปัญหา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศเริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 น. เจ้าหน้าที่ กฟผ. ได้เข้ามาพูดคุยเกลี้ยมกล่อม นายสง่า กับบรรดาลูกหลานเพื่อให้ยินยอมรับเงินค่าทดแทน และขอให้เจ้าหน้าที่ กฟผ.ลงไปทำการก่อสร้างเสาในที่นาของนายสง่า ขณะเดียวกันก็ให้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมรถกักขังผู้ต้องหาตรึงกำลังอยู่ในบริเวณ อบต.เสอเพลอ การเจรจาใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ทั้งนี้ ฝ่ายชาวบ้านยืนยันตามข้อเสนอที่ได้มีการประชุมกับคณะกรรมการสิทธิ์มนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งการประชุมในวันนั้นตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ ได้เจรจากับผู้แทนของ กฟผ. รองผู้ว่าฯ อุดรธานี ปลัดอำเภอ และอำเภอกุมภวาปี โดยนายแพทย์นิรันด์ พิทักษ์วัชระ เป็นประธาน เพื่อขอให้ชะลอการดำเนินการก่อสร้างเสาไฟฟ้าไว้ก่อน เนื่องจากว่ายังมีประเด็นการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ซึ่งยังไม่ตัดสิน อีกทั้งการลงดำเนินการของกฟผ.ในวันที่ 27 พ.ค.นี้ จะเกิดความขัดแย้ง มีการปะทะ และนำมาซึ่งปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน (มีรายละเอียดในแถลงการณ์ของคณะกรรมการสิทธิ์) แต่กฟผ.ไม่ยอมปฏิบัติตาม เวลา 11.00 น. เจ้าหน้าที่กฟผ. พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้นำรถแม็คโคร และรถกักขังผู้ต้องหา เข้ามาประจันหน้ากับกลุ่มชาวบ้านบริเวณถนนสายบ้านเหล่ากล้วย-บ้านทองอินทร์ ใกล้กับแปลงนาของนายสง่า บรรดาลูกหลานนายสง่า และกลุ่มชาวบ้านจึงเข้ามาช่วยกันนั่ง และยืนขวางเอาไว้ไม่ให้รถแม็คโครลงไป ซึ่งบรรยากาศขณะนั้นเริ่มมีความตรึงเครียด แต่ฝ่ายกฟผ.ก็ไม่ยอมเจรจาอีก จับจ้องคอยรอจังหวะและดูท่าทีที่จะเข้าชาร์ต และจับกุมชาวบ้านแต่อย่างเดียว ฝ่ายชาวบ้านมีเพียงมือเปล่า ก็ตะโกนด่าทอ บ้างก็ชูรัฐธรรมนูญ เพื่อบ่งบอกให้ กฟผ.และตำรวจรู้ว่าพวกตนก็มีสิทธิปกป้องพื้นที่ตามกฎหมาย และขณะนั้นก็มีกลุ่มนักศึกษาจากหลายสถาบัน เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช, มหาวิทยาลัยสงขลานคริน วิทยาเขตปัตตานี เป็นต้น เดินทางมาร่วมกับกลุ่มชาวบ้านด้วย จนกระทั่งเวลา 13.30 น.กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เข้าสลายและจับกุม ชาวบ้านและนักศึกษาที่นั่งขวางรถแม็คโคร เพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่กฟผ.ลงดำเนินการก่อสร้างเสาไฟฟ้า ทั้งนี้ พบว่าตำรวจได้เข้าขัดขวางไม่ให้มีการถ่ายภาพ และยังยึดกล้องบันทึกภาพของนักศึกษาเอาไว้ด้วย นอกจากนั้นยังมีชาวบ้านบางรายถูกตามตัวไปถึงบ้านเพื่อทำการจับกุม เวลาประมาณ 14.00 น. รถกักขังผู้ต้องหานำกลุ่มชาวบ้านและนักศึกษาไป ดำเนินคดี รับทราบข้อกล่าวหา และฝากขังที่ สภ.อ.กุมภวาปี โดยมี พ.ต.ท. วิชัย พงษ์ขยัน เป็นร้อยเวรรับผิดชอบคดี เวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่ กฟผ.และตำรวจ เรียกตัวแทนชาวบ้านไปเกลี้ยมกล่อมเพื่อให้ลงลายมือชื่อรับสารภาพว่าได้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน และจะไม่มีการเอาความกับเจ้าหน้าที่ที่กระทำการในวันนี้ แต่กลุ่มชาวบ้านและนักศึกษาปฏิเสธข้อกล่าวหา และไม่ยินยอมลงลายมือชื่อ ตำรวจจึงพิมพ์รายนิ้วมือเป็นหลักฐาน และดำเนินการฝากขัง โดยทั้งหมดถูกดำเนินคดีในข้อหาขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน ต้องประกันตัวในหลักทรัพย์ไม่เกิน 7.5 หมื่นบาทต่อคน เวลาประมาณ 18.00 น. ผู้ต้องหาทั้ง 15 คน ยังคงสภาพจิตใจดี โดยมีกลุ่มชาวบ้านทยอยเดินทางไปเยี่ยมและให้กำลังใจ อนึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 25 พ.ค.54 กลุ่มคณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง (คชส.) จ.อุดรธานี เจรจาเพื่อหาทางออกกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีคณะกรรมการสิทธิ์มนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นคนกลางเชิญแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกัน ที่ห้องประชุม กสม. ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 โดยมีข้อสรุปว่าขอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยุติการดำเนินการใดๆ อันจะทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ร้องหรือทรัพย์สินของผู้ร้อง จนกว่าคดีในศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญจะถึงที่สุด รวมทั้งยุติการนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองกระทำการใดๆ ในลักษณะเผชิญหน้า ยั่วยุกับกลุ่มผู้ร้อง เพื่อลดความขัดแย้งและความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ อัพเดทข่าว 20.50 น. สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
"พรรคการเมืองไทใหญ่" ร้องรัฐบาลใหม่พม่าแก้ปัญหายึดที่ดินในรัฐฉาน Posted: 27 May 2011 03:17 AM PDT Khonkhurtai : 27 พฤษภาคม 2554 - พรรคการเมืองไทใหญ่ SNDP ซึ่งชนะการเลือกตั้งที่ 2 รองจากพรรค USDP เรียกร้องรัฐบาลใหม่พม่าแก้ไขปัญหาการยึดที่ดินในรัฐฉาน หลังมีบริษัทขุดแร่ไม่ทราบกลุ่มซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐทำการยึดที่ดินชาวบ้านกว่า 200 เอเคอร์...... มีรายงานว่า พรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ SNDP หรือ "พรรคเสือเผือก" พรรคการเมืองไทใหญ่ที่ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับ 2 ในรัฐฉาน รองจากพรรคสหภาพเอกภาพและการพัฒนา USDP ได้เรียกร้องถึงรัฐบาลใหม่พม่าภายใต้การนำประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ให้แก้ไขปัญหาการยึดที่ดินในรัฐฉาน อันเกิดจากการกระทำของกองทัพพม่าและบริษัทกลุ่มทุนที่มีความสนิทสนมผู้นำระดับสูง ตัวแทนพรรค SNDP เปิดเผยว่า ทางพรรคได้ส่งหนังสือร้องเรียนถึงพล.อ.ตุระ ฉ่วย มาน โฆษกสภาประชาชนเมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อให้พิจารณาอย่างเร่งด่วนกรณีมีบริษัททำเหมืองแร่ไม่ทราบกลุ่มซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้เข้าทำการยึดที่ดินทำกินชาวบ้านรวมเนื้อที่กว่า 200 เอเคอร์ ในพื้นที่เมืองเกซี รัฐฉานภาคใต้ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม ปีที่ผ่านมา "การยึดที่ดินของบริษัทส่งผลให้ชาวบ้านไม่มีที่ทำกิน และหากบริษัทเริ่มการขุดแร่ในพื้นที่ 200 เอเคอร์ ซึ่งอยู่ตอนบนของแม่น้ำหิน จะทำให้สภาพแวดล้อม ทั้งการเกษตร รวมถึงวิถีชีวิตชาวบ้านที่อาศัยอยู่ลุ่มแม่น้ำนับพันชีวิตได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวาง ซึ่งทางพรรคได้เรียกร้องให้รัฐบาลสั่งยุติโครงการนี้" ตัวแทนพรรค SNDP เผย ทั้งนี้พื้นที่กว่า 200 เอเคอร์ที่ถูกบริษัทขุดแร่ภายใต้การช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทำการยึดนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่หมู่บ้านเมืองหนอง บ้านจ๋อมมอน และ บ้านไม้ฮุงเขียว ของเมืองเกซี โดยทางบริษัทได้จ่ายค่าชดเชยคืนให้ชาวบ้านเพียง 24,000 จั๊ต (ราว 840 บาท) ต่อที่ดิน 1 เอเคอร์ ขณะที่ราคาที่ดินโดยทั่วไปอยู่ที่เอเคอร์ละ 7 แสนจั๋ต (ราว 24,500 บาท) ด้านชาวบ้านในพื้นที่เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางบริษัทเหมืองแร่ที่ทำการยึดที่ดินชาวบ้านกำลังดำเนินการแผ้วถางพื้นที่และสร้างถนนสำหรับใช้ในการลำเลียงถ่านหินอยู่คืนๆ วันๆ ซึ่งไม่มีชาวบ้านคนใดกล้าที่จะร้องเรียนเนื่องจากไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของบริษัท โดยชาวบ้านได้รวมตัวกันไปร้องขอความช่วยเหลือจากพรรค SNDP เพื่อช่วยร้องเรียนไปยังรัฐบาลใหม่พม่า ทั้งนี้การยึดที่ดินชาวบ้านจากการกระทำของกองทัพพม่าและบริษัทกลุ่มทุนถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในรัฐฉานและรัฐอื่นๆ นับตั้งแต่สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ SPDC ภายใต้การนำของนายพลอาวุโสตานฉ่วย ครองอำนาจตั้งแต่ปี 2535 จากเหตุนี้ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากต้องไร้ที่อยู่อาศัยและทำกิน และมีจำนวนไม่น้อยได้อพยพสู่ประเทศเพื่อนบ้านเช่นจีนและไทย
"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
มาตรการฝีมือแรงงาน กลไกแก้ค่าจ้างเหลื่อมล้ำ Posted: 27 May 2011 03:10 AM PDT ทีดีอาร์ไอเสนอกลไกแก้ปัญหาค่าจ้างระยะยาว สถานประกอบการมีโครงสร้างค่าจ้างที่ชัดเจน จูงใจลูกจ้างทำงาน และสามารถเข้ารับการทดสอบเพิ่มค่าจ้างได้ตามระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานที่เพิ่มขึ้น ส่วนแรงงานฐานล่างการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำควรปรับเป็นเปอร์เซ็นต์โดยยึดค่าจ้างตามกลุ่มคลัสเตอร์จังหวัด ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึง ทางออกแก้ปัญหาเรียกร้องปรับค่าจ้างแรงงานที่เกิดขึ้นเสมอ โดยโครงสร้างค่าจ้างภาพรวมยังจำเป็นต้องปรับให้กับแรงงานระดับฐานล่างแต่ควรใช้การปรับเป็นเปอร์เซ็นต์และกำหนดระยะเวลาในการปรับที่ชัดเจน ช่วยลดผลกระทบโครงสร้างค่าจ้างและศักยภาพการจ่ายของนายจ้าง เมื่อมีการเตรียมตัวล่วงหน้า โดยเฉพาะในนายจ้างในธุรกิจเอสเอ็มอีซึ่งมีสัดส่วนรองรับแรงงานจำนวนมาก แต่มีศักยภาพในการจ่ายได้น้อย และเพื่อไม่ให้การปรับค่าจ้างขั้นต่ำไปกระทบกับโครงสร้างจ้างในส่วนของแรงงานที่ทำงานอยู่เดิม ก็ควรมีการแก้ปัญหาในระยะยาว อาทิ การเพิ่มกลไกให้นายจ้างที่มีแรงงานจำนวนพอสมควร ต้องมีโครงสร้างค่าจ้าง รวมทั้งใช้มาตรฐานวิชาชีพกำกับ ให้ลูกจ้างสามารถทดสอบเพิ่มระดับมาตรฐานฝีมือ ว่ามีความเชี่ยวชาญอยู่ในระดับใด(แต่ละระดับมีอัตราค่าจ้างกำกับไว้) เช่น ระดับ 1 2 3 ก็จะได้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามความเชี่ยวชาญและสามารถ เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย นายจ้างได้แรงงานคุณภาพ ลูกจ้างได้เพิ่มศักยภาพตนเอง และวางแผนอนาคตได้ ทั้งนี้กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพยายามนำเรื่องสมรรถนะแรงงานหรือมาตรฐานฝีมือแรงงานมาใช้เป็นกลไกเพิ่มเติมในการแก้ปัญหาและกำหนดค่าจ้างที่เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงแรงงานโดยเฉพาะกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานก็ได้มีการเริ่มในส่วนของวิชาชีพช่างต่าง ๆ คาดว่าจะมีการประกาศอัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมือแรงงาน 11 สาขาอาชีพในเร็ว ๆ นี้ ใน 3 กลุ่มสาขาอาชีพ คือ อาชีพช่างกล อาชีพภาคบริการ และอาชีพช่างไฟฟ้า โดยกำหนดเป็นมาตรฐานวิชาชีพแห่งชาติระดับ 1 2 3 และคุณสมบัติฝีมือแรงงานในแต่ละระดับ พร้อมทั้งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่พึงได้ไว้ด้วย เช่น ช่างสีรถยนต์ ระดับ 1 2 3 จะมีอัตราค่าจ้างที่ได้รับไม่น้อยกว่า 315,380,445 ตามลำดับ เป็นต้น ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาไม่ใช่การปรับที่สะท้อนความเป็นจริง การปรับฐานค่าจ้างแรงงานควรปรับเป็นเปอร์เซ็นต์จะดีกว่าการปรับเป็นตัวเงินเท่ากันหมด เพราะการปรับเป็นเปอร์เซ็นต์จะทำให้แรงงานทั้งประเทศได้รับการปรับเพิ่มค่าจ้างเท่ากันแต่จำนวนเงินที่ได้รับมากน้อยต่างกันตามฐานรายจ่ายและค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้รับแต่ละคน ซึ่งแตกต่างกันไปตามมาตรฐานค่าครองชีพของแต่ละกลุ่มคลัสเตอร์จังหวัด เช่น กรุงเทพฯกับภาคอีสาน เป็นต้น และยังทำให้ผู้ประกอบการ นักลงทุนมีข้อมูลตัดสินใจได้ว่าเขาจะไปลงทุนที่ไหน อย่างไร การแก้ปัญหาต้องให้แหล่งจ้างงานย้ายไปหาคน(แรงงาน)ไม่ใช่คนย้ายไปหาแหล่งจ้างงาน ซึ่งหลายอุตสาหกรรมสามารถทำได้โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่พึ่งพิงทรัพยากรจากท้องถิ่น ตรงนี้ก็จะช่วยทำให้ต้นทุนทางสังคมของแรงงานไม่ได้รับผลกระทบมากนัก การปรับเช่นนี้จะมีผลกระทบต่อโครงสร้างค่าจ้างไม่มาก และหากกำหนดได้ว่าจะปรับในอัตราเท่าใดในช่วงระยะเวลาใดที่จัดเจน ก็จะทำให้นายจ้างมีการเตรียมตัว เพราะสิ่งสำคัญต้องคำนึงถึง ศักยภาพการจ่ายค่าจ้างของนายจ้างซึ่งไม่เท่ากัน โดยเฉพาะนายจ้างในกลุ่มเอสเอ็มอีซึ่งมีศักยภาพการจ่ายได้ไม่มาก แต่เป็นตลาดแรงงานที่ดูดซับแรงงานจำนวนมากกว่าครึ่งของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ อีกทั้งยังเป็นนายจ้างกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและภัยพิบัติต่าง ๆ ดร.ยงยุทธ เสนอว่า เพื่อไม่ให้ค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นไปจนชนเพดานของโครงสร้างค่าจ้าง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อแรงงานที่ทำงานอยู่เดิม ควรมีการกำหนดกฎหรือระเบียบให้สถานประกอบการที่มีแรงงานจำนวนหนึ่ง (อาจเป็น 200 คน) ต้องมีโครงสร้างค่าจ้าง เพื่อสร้างความชัดเจน สร้างแรงจูงใจ ทำให้แรงงานมีเป้าหมายในการทำงาน สามารถวางแผนอนาคตของตนเองได้ ว่าสามารถเติบโตในหน้าที่การงานได้แค่ไหน ตำแหน่งอะไร รายได้เท่าไหร่ ซึ่งสถานประกอบการเอสเอ็มอียังไม่มีเรื่องเหล่านี้ การแก้ปัญหาค่าจ้างแรงงานในระยะยาว นอกจากการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ยังต้องคงไว้เพราะเป็นฐานของแรงงานใหม่ที่อยู่ในฐานล่างของโครงสร้างค่าจ้าง แต่สำหรับแรงงานเก่าก็ต้องได้ควรการคุ้มครองและสามารถมีค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นตามความรู้ ทักษะ ความสามารถ ดังนั้นการนำกลไก ที่กำหนดให้สถานประกอบการควรมีโครงสร้างค่าจ้าง และการนำกลไกทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติมาใช้ จะช่วยทำให้ลูกจ้างและนายจ้างพึงพอใจกันทั้งสองฝ่าย อีกทั้ง หากกฎระเบียบนี้ประกาศใช้ซึ่งอยู่ในอำนาจของกระทรวงแรงงานดำเนินการได้นั้น ลูกจ้างก็มีสิทธิที่จะได้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานที่เขาสอบได้ มาตรฐานฝีมือแรงงานเป็นกลไปในการปรับค่าจ้าง ในระยะยาวก็จะไม่ต้องมาเรียกร้องการปรับขึ้นค่าจ้างของแรงงาน อีกทั้งการแก้ปัญหาโดยใช้โครงสร้างค่าจ้างตามวิชาชีพนี้ ยังสะท้อนว่า พื้นที่ไม่ใช่ข้อจำกัดเรื่องค่าจ้างอีกต่อไป คนต่างจังหวัดไม่ต้องวิ่งเข้าไปทำงานนอกพื้นที่ และย่อมส่งผลช่วยลดผลกระทบทางสังคมต่อตัวเขาและครอบครัวที่จะเกิดขึ้นได้ไปในตัว อย่างไรก็ตามแนวทางดังกล่าวยังจำกัดให้เป็นเรื่องสมัครใจของนายจ้าง จึงต้องมีการศึกษาผลกระทบให้รอบคอบอีกครั้ง เพราะสังคมมาตรฐานต้องเกิดขึ้นจากแรงงานมาตรฐาน. สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ภาพดีเสียงใสที่ประชาชนไม่ต้องการ Posted: 27 May 2011 03:01 AM PDT “เก่งแต่สร้างภาพ” และ “ดีแต่พูด” อาจเป็นวาทกรรมใหม่ในทางการเมืองของประเทศไทยไปแล้ว ซึ่งสองคำนี้มิได้จำกัดความแต่เฉพาะ “ภาพ” และ “เสียง” ของคนในพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น หากยังเป็นคำที่ใช้ได้กับนักการเมืองแทบทุกคนทุกพรรค ด้วยสามารถเห็นได้จากพฤติกรรมการแสดงออกของนักการเมืองทั้งหน้าใหม่หน้าเก่ายันเช้าจรดเย็น ทั้งการวางตนสร้างภาพให้ดูดี จีบปากจีบคำพูดเอาเรื่องดีเรื่องถูกเข้าข้างฝ่ายตน เอาภาพเน่ารูปเสียเรื่องปดมดเท็จให้ฝ่ายตรงข้าม ปิดบังภาพจริงที่มีผลเสียกับตัวและเลี่ยงการกล่าวถึงผลงานที่ไม่ได้ทำหรือทำไม่ได้ โดยแสดงสีหน้าท่าทางการพูดการจาอธิบายเหตุยกผลเปลี่ยนจากผิดเป็นถูก ให้ถูกเป็นผิดได้อย่างน่าทึ่งทีเดียว “ภาพ” (image) ที่เกิดขึ้นในใจของคน มักเป็นภาพที่เกิดจากลักษณะของการกระทำ ความประพฤติ หรือ พฤติกรรมของบุคคล องค์กร เช่น ภาพของอดีตนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นในหลักการและวิถีทางประชาธิปไตย ภาพอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ที่ฉลาดเชี่ยวชาญการบริหารและมีความสามารถในการตัดสินใจที่เด็ดขาด หรือแม้แต่การนำมาใช้กับองค์กร เช่น ภาพของพรรคประชาธิปัตย์ที่ผู้คนทั่วไปมองว่าเป็นสถาบันการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยม พรั่งพร้อมด้วยบุคลากรและนักปราศรัยที่มีคุณภาพ ส่วนพรรคไทยรักไทยเป็นภาพการรวมตัวกันของนักบริหารและกลุ่มทุนที่มีประสบการณ์ หรือ ฝ่ายทุนเสรีนิยม เป็นต้น สำหรับ “เสียง” (speech) มาจากพฤติกรรมการสื่อสารด้วยวัจนภาษาที่เป็นการใช้ความสามารถเพื่อเปลี่ยนความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยมและการกระทำของบุคคลให้เกิดการยอมรับและทำตามที่ผู้โน้มน้าวประสงค์ รวมถึงการใช้ถ้อยคำโวหารน้ำเสียงและอากัปกริยาในการถ่ายทอดความคิดและความรู้สึกแก่ผู้ฟัง ซึ่งผู้พูดจะพยายามหาเหตุผลมารองรับสนับสนุนโดยใช้ชุดข้อมูลของตนและข้อเท็จจริงเท่าที่เป็นประโยชน์ เช่น การใช้วาทศิลป์ของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ “ประชาชนต้องมาก่อน” “การเดินไปข้างหน้าเพื่อสร้างความปรองดอง” “การอธิบายเรื่องสินค้าราคาแพงว่าเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลก” “กฎเหล็ก 9 ข้อและความรับผิดชอบทางการเมือง” หรือกระทั่งเสียงข้อเสนอและสัญญาจากอดีตนายกทักษิณที่อ้างว่า “จะแก้ปัญหาความยากจนให้หมดสิ้นไป” “แก้ปัญหาเศรษฐกิจและเพิ่มรายได้ประชาชน” “เน้นแก้ไขไม่คิดแก้แค้น” ทั้งหมดเป็นคำกล่าวที่เป็น “เสียง” เพื่อประโยชน์ ในสิ่งที่ตนปรารถนาและการได้มาซึ่งเป้าหมายที่ต้องการ ในอดีตการแข่งขันกันทางการเมือง ประชาชนอาจไม่สามารถเปรียบเทียบนักการเมืองจากผลงานได้มากนัก เนื่องจากยังไม่ค่อยปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมสักเท่าใด การแข่งกันที่นโยบายไม่ชัดเจนเข้มข้นเหมือนปัจจุบัน ประชาชนมักใช้วิธีการพิจารณานักการเมืองและให้การยอมรับพรรคการเมืองที่ “ภาพ” และ “เสียง” เสียเป็นส่วนใหญ่ เป็นการดูว่าใครมี“ภาพ”สวยดูดี ใครพูดได้มันใช้”เสียง”ได้เก่งเชื่อมโยงเหตุผลได้ดีกว่ากัน จึงเป็นการวัดกันด้วยเกณฑ์ของภาพที่เห็นที่ปรากฏบวกกับเสียงพูดจาปราศรัยที่ได้ยิน โดยไม่ได้มองและให้ความสำคัญกับผลงานและการปฏิบัติที่ผ่านมา กระทั่งวันนี้นักการเมืองและพรรคการเมืองหลายคนหลายพรรคก็ยังนำ”ภาพและเสียง”ที่เป็นระบบเก่าโบราณมาใช้แสดงชักจูงโน้มน้าวประชาชนให้หลงเชื่ออยู่อีก นำเสนอภาพซื่อสัตย์สุจริตแต่พฤติกรรมอิงแอบกับการทุจริตคอรัปชัน วาทะคารมที่เปล่งออกมาสวนทางกับผลการปฏิบัติที่ขายไม่ออก อธิบายความด้วยหลักการเหตุผลชนิดเอาดีเข้าตัวชั่วให้คนอื่น และอีกมากมายหลายแง่มุมจนนำมาสู่ความเสื่อมเสียและบั่นทอนศรัทธาของประชาชน ซึ่งก็ล้วนมาจากบริบทของความเป็นนักการเมืองที่ติดหล่มอยู่กับการเมืองล้าสมัยทั้งสิ้น ทำให้นักการเมืองจึงไม่ต่างอะไรมากไปกว่าการแสดงของดาราในบทละครน้ำเน่าที่มีเรื่องราวฉาวโฉ่ได้ทุกวี่ทุกวัน ตัวตนที่แท้จริงเป็นอย่างไรมิอาจใช้สายตาและหูฟังแยกแยะตัดสินได้ เพราะเท่าที่เห็นได้ยินได้ฟังพวกเขามักแสดงบทลุยน้ำลุยโคลนดูเสมือนว่ารักและมุ่งมั่นช่วยเหลือประชาชน แต่ผลลัพธ์กลับโยนปัญหาเข้าใส่ประชาชนอยู่ร่ำไปทั้งสิ้นค้าราคาแพง ค่าครองชีพสูง ปัญหาการว่างงานและอื่นๆ มากมาย อีกพูดจาไพเราะอ่อนหวานหลักการดี เสียงบอกพร้อมปรองดองแต่ปากแทะเล็มเหน็บแหนมทิ่มแทงกันตลอดเวลา จนบางครั้งหลายคนหลายท่านแอ็คชั่นมากไปจนลืมบทท่องของตัวเองแล้วเพี้ยนกลายไปว่าเขาทั้งที่อิเหนาเคยเป็นก็ยังมี ขณะที่การเลือกตั้งกำลังงวดเข้ามานี้ คงเป็นเวลาเดียวกันที่บรรดานักการเมืองจะได้ใช้ความสามารถพิเศษในการแสดง “ภาพ” ดี และ หยอด “เสียง” ใส เข้าใส่ประชาชนจนยากที่จะแยกแยะได้ว่าภาพไหนเสียงใดจริงปลอม เพราะภาพที่เขาตั้งใจให้เราเห็นอาจไม่ได้เป็นของจริงดังที่ปรากฏ เสียงที่ได้ยินอาจเคลือบแคลงแฝงไว้ด้วยผลประโยชน์ตามที่เขาได้เขียนบทไว้แล้ว ดังนั้นการต่อสู้กับ “ภาพและเสียง” ของนักการเมืองครั้งนี้ประชาชนจำต้องใช้วิจารณญาณและความสามารถที่พิเศษกว่า นั่นคือ “เห็นรูปแต่ไม่เชื่อภาพ ได้ยินแต่ไม่เชื่อเสียง” ใช้ความจริงที่จับต้องมองเห็นและสัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรมเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ ผลงานและการปฏิบัติของนักการเมืองที่แล้วมา ซึ่งหากใช้สติและเปรียบเทียบดูก็จะรู้ได้ว่าภาพการแสดงที่เคยปรากฏในอดีตและผลที่ได้ตามมาหลังจากนั้นมันสอดคล้องกับภาพที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ สิ่งใดที่เคยพูดเคยสัญญาแล้วผลสัมฤทธิ์หลังจากนั้นเป็นอย่างไร ประชาชนจะไม่นำภาพที่ถูกปรุงแต่งและเสียงที่ผ่านการตัดต่อมาใช้ตัดสินใจอีกแล้ว อย่าลืมว่ามีกรณีตัวอย่างมากมายที่ประชาชนได้เห็นได้ทราบ มีผลงานการปฏิบัติที่ผ่านการเรียนรู้และประจักษ์แล้วทั้งสองตา จักเป็นตัวชี้วัดที่ดีและสำคัญที่สุดมากกว่าแค่ “ภาพและเสียง” อย่างแน่นอน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
Posted: 27 May 2011 02:53 AM PDT เมื่อวันที่ 25 พ.ค.54 ที่ผ่านมา ศาลยุติธรรมได้เปิดแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นในศาลแพ่งอย่างเป็นทางการแล้ว นับว่าเป็นอีกก้าวย่างหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย ที่การบริหารจัดการในอำนาจตุลาการจะได้เพิ่มความเชี่ยวชาญทางคดีของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม เพื่อตอบสนองความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับประชาชนได้ทั่วประเทศ หากมีกรณีพิพาทเกิดขึ้นด้านสิ่งแวดล้อม แล้วมีผู้เดือดร้อนและเสียหาย จนไม่อาจพึงพาอำนาจทางบริหาร หน่วยงานราชการต่าง ๆ ได้ การนำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม จึงเป็นสิทธิโดยชอบของประชาชนทุกคน ก่อนหน้านี้ “ศาลฎีกา” ได้เปิดให้มีแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกามาก่อนแล้ว อันสืบเนื่องมาจากการประชุมร่วมกันระหว่างผู้แทนจากศาลฎีกาของประเทศต่างๆในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ณ สำนักงานแผนงานสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 17 ถึงวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2546 โดยที่ประชุมได้มีการยอมรับในถ้อยแถลงร่วมกันที่เรียกว่า “Bangkok Statement” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะร่วมมือกันในกิจกรรมและแผนงานต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาบุคคลากรทางด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับภูมิภาคและในระหว่างประเทศต่อไป ในการนี้ สำนักประธานศาลฎีกาจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานวิจัยขึ้นทำการศึกษาและวิเคราะห์คดีสิ่งแวดล้อมในทุกระดับชั้นของศาลยุติธรรม เพื่อหาแนวทางกำหนดนโยบายและทิศทางในการพัฒนาประสิทธิภาพของผู้พิพากษาและบุคคลากรของศาลยุติธรรม ให้มีความรู้ความชำนาญทางด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อม และเพื่อปรับบทบาทของศาลยุติธรรมในการทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองและรักษาสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่แท้จริงในปัจจุบัน โดยในระยะเริ่มแรก ได้มีการจัดตั้ง “แผนกคดีสิ่งแวดล้อม” (Green Bench) ขึ้นก่อนในศาลฎีกา เพื่อจะให้คำพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมของศาลฎีกาเป็นบรรทัดฐาน หรือเป็นแนวทางให้การตัดสินคดีสิ่งแวดล้อมที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ไม่ลักลั่น และเป็นแนวทางเดียวกันในทุกชั้นศาล ได้แก่ ศาลชั้นรองลงไป คือ ศาลอุทธรณ์ และศาลชั้นต้น และระยะต่อๆ มาก็ขยายแผนกคดีสิ่งแวดล้อมลงไปสู่ศาลอุทธรณ์ที่ศาลอุทธรณ์กลาง เพื่อที่จะแก้ปัญหาคดีสิ่งแวดล้อมที่ขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ทุกแห่งทั่วประเทศด้วยการใช้อำนาจของประธานศาลอุทธรณ์กลางตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์ภาคที่จะสั่งโอนคดีพิเศษบางเรื่องบางประเภทเข้ามาอยู่ในอำนาจศาลอุทธรณ์กลางได้ ต่อจากนั้นจึงค่อย ๆ ขยับขยายมาจัดตั้งขึ้นที่ศาลชั้นต้นในช่วงเวลาดังกล่าว โดยให้สิทธิแก่ประชาชนที่จะยื่นฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมได้ที่ศาลแพ่งหรือศาลอาญาหรือศาลจังหวัด คดีสิ่งแวดล้อม นั้นหมายถึง คดีอาญาและคดีแพ่งที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามกลุ่มกฎหมายสิ่งแวดล้อมด้านทรัพยากรธรรมชาติและมลพิษ รวมทั้งคดีที่ประธานศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้เป็นคดีสิ่งแวดล้อม ตามคำสั่งศาลฎีกาที่ 30/2547 โดยกลุ่มกฎหมายสิ่งแวดล้อมด้านทรัพยากรธรรมชาติและด้านมลพิษนั้นมีทั้งหมดประมาณ 24 ฉบับด้วยกัน (ดูรายละเอียดได้ใน www.thaisgwa.com) ในการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม ต้องมีการค้นหาความจริงโดยการเดินเผชิญสืบ ซึ่งเป็นวิธีการที่จะทำให้เกิดความชัดเจนในข้อเท็จจริง เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมบางเรื่องอาจไม่สามารถพิจารณาได้จากพยานเอกสารหรือพยานบุคคล แต่เป็นเรื่องที่ต้องประจักษ์ด้วยสายตาตนเอง เช่น ปัญหาในเรื่องกลิ่น ปัญหาสภาพน้ำที่เน่าเสีย เป็นต้น ส่วนในการใช้ดุลพินิจในคดสิ่งแวดล้อม ควรคำนึงถึงสิทธิของประชาชนที่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ และการลงโทษควรคำนึงถึงค่าสินไหมทดแทนในเชิงลงโทษหรือค่าเสียหายในเชิงลงโทษ (Punitive Damages) มาใช้ในคดีสิ่งแวดล้อม หลังจากนั้น ประธานฎีกาในขณะนั้น จึงเห็นสมควรให้ตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อม(ภายใน) ในศาลฎีกา (คำสั่งศาลฎีกาที่ 30/2547) มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา หลังจากนั้นคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม(กบศ.) มีมติให้มีการจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นอย่างเป็นทางการในศาลฎีกา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2548 โดยแผนกชำนัญพิเศษดังกล่าวประกอบด้วยประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อม เลขนุการแผนกคดีสิ่งแวดล้อม และองค์คณะผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่มีความรู้ความชำนาญทางด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมจำนวน 8 คน แผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกามีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา โดยมีอำนาจในการวินิจฉัยทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และคำวินิจฉัยชี้ขาดในคดีสิ่งแวดล้อมทุกเรื่องจะเข้าสู่การพิจาณาของที่ประชุมแผนกคดีสิ่งแวดล้อม แผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกาที่จัดตั้งขึ้นมานั้น มีเป้าหมายสำคัญคือการพิทักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งคดีสิ่งแวดล้อมที่เข้าสู่ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามกลุ่มกฎหมายสิ่งแวดล้อมด้านทรัพยากรธรรมชาติและมลพิษ รวมทั้งคดีที่ประธานศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้เป็นคดีสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น ประธานศาลฎีกา และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ยังได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมจึงให้มีการจัดสรรทุนของสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อคัดเลือกข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมไปฝึกอบรมหลักสูตรการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมที่ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 45 คน แบ่งเป็นผู้พิพากษาชั้นศาลฎีกา จำนวน 8 ทุน ผู้พิพากษาชั้นศาลอุทธรณ์จำนวน 12 ทุน และผู้พิพากษาศาลชั้นต้น จำนวน 20 ทุน และผู้พิพากษาอาวุโสจำนวน 5 ทุน อันเป็นการเสริมสร้างความรู้ในแก่ผู้พิพากษาทุกระดับชั้นศาล ให้มีความรู้ความสามารถในคดีสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ถือว่ากระบวนการในศาลยุติธรรมได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว และเป็นส่วนสำคัญในการร่วมแก้วิกฤตโลกร้อนด้วย ในกระบวนการยุติธรรมนั้นนอกจากศาลจะได้มีการพัฒนาผู้พิพากษาให้มีความรู้ความเข้าใจด้านคดีสิ่งแวดล้อมแล้ว ในส่วนผู้ที่ช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย โดยเฉพาะ “ทนายความ” ก็ได้มีการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านการดำเนินกระบวนการช่วยเหลือประชาชนทางคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นมาด้วย โดย “สภาทนายความ” ในฐานะองค์กรทางกฎหมายที่ผลิตทนายความขึ้นมาช่วยเหลือประชาชนได้มีโครงการฝึกอบรม “หลักสูตรทนายความสิ่งแวดล้อม” ขึ้นมาด้วย โดยความรับผิดชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ ปัจจุบันฝึกอบรมได้ไปกว่า 5 รุ่นแล้ว ได้ทนายความรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถในการทำงานคดีสิ่งแวดล้อมแล้วมากกว่า 500 คน ซึ่งได้กระจายไปอยู่ในองค์กร หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และทำงานอิสระเพื่อช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายอีกมากมาย บัดนี้ กระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมปรากฏโครงสร้างขึ้นค่อนข้างที่จะชัดเจนแล้ว ดังนั้นผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม นายทุนที่มุ่งเน้นแต่ตักตวงประโยชน์และผลกำไรเป็นตัวตั้ง ต้องทบทวนการกระทำของตนและเพิ่มความระมัดระวังให้จงดี เพราะต่อไปนี้สิทธิของประชาชนทางด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต ได้มีองค์กร หรือแผนก หรือบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถโดยตรงเข้ามาปกป้องสิทธิของประชาชนอย่างสมบูรณ์แล้ว ก้าวต่อไปก็หวังรอแต่เพียงคำพิพากษาของศาลเท่านั้นว่า จะคุ้มครองประชาชนได้จริงหรือไม่เท่านั้น...
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นิทานเด็กเลี้ยงแกะ “ผังล้มเจ้า” กับราคาที่ต้องจ่าย Posted: 27 May 2011 02:42 AM PDT พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด หรือ “เสธ.ไก่อู” ยอมรับต่อศาลว่า เผยแพร่ “แผนผังล้มเจ้า” หลังมีการใส่ร้าย “ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์” ว่าโทร.มาสั่งการ ศอฉ. จึงแถลงตอบโต้พร้อมแจกแผนผังเพื่อให้สังคมพิจารณา แต่ที่แจกไปมิได้หมายความว่าผู้ที่มีชื่อในเอกสารอยู่ในขบวนการล้มล้างสถาบันฯ แต่ให้สังคมวินิจฉัยเอาเอง (โปรดดูผัง) อ่านข่าวนี้แล้ว ทำให้นึกถึงคำเตือนของ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในช่วงแรกๆ ที่มีการเผยแพร่แผนผังดังกล่าว ว่า “รัฐบาลอภิสิทธิ์กำลังจะแต่งละครแขวนคอเพื่อล้อมปราบคนเสื้อแดง” ซ้ำรอยเหตุการณ์ปราบนักศึกษา 6 ตุลา 19 แต่เสียงเตือนดังกล่าวกลับไม่มีใครฟัง สื่อเสื้อเหลือง เอ็นบีที ฟรีทีวี ฯลฯ คนชั้นกลางที่มีการศึกษาดีทั้งหลาย ต่างเชื่อ “นิทานเด็กเลี้ยงแกะผังล้มเจ้า” อภิสิทธิ์ สุเทพ พรรคประชาธิปัตย์ก็นำมาใช้เป็น “ใบสั่ง” ล้อมปราบคนเสื้อแดงอย่างได้ผล ที่จริงนิทานเด็กเลี้ยงแกะเรื่องเดิมๆ นี้ถูกเล่าซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ก็ทำให้คนเชื่อเสมอ และถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างได้ผลเสมอมา หากไม่มีการประโคมข่าวแผนล้มล้างสถาบันในปฏิญญาฟินแลนด์ ไม่มีการสร้างวาทกรรม “เราจะสู้เพื่อในหลวง” หรือ ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทหารของพระราชา รัฐประหาร 19 กันยาไม่มีทางเกิดขึ้น ความผิดพลาดต่อๆ มา จนกระทั่งถึงการใช้ “ผังล้มเจ้า” เป็นใบสั่งฆ่าประชาชนก็คงไม่เกิดขึ้น ไม่น่าเชื่อว่า “สมองก้อนโต” ของกองทัพ คิดง่ายๆ แค่ว่า จะเผยแพร่ผังล้มเจ้าเพื่อตอบโต้การใส่ร้าย “คนๆหนึ่ง” ทั้งที่รู้แก่ใจว่าผู้มีชื่อในเอกสารไม่ได้อยู่ในขบวนการล้มล้างสถาบัน คุณกลัว “คนๆหนึ่ง” จะเสียหาย แต่ไม่กังวลแม้แต่นิดเดียวหรือว่าคนบริสุทธิ์อีกหลายคนในผังฯ จะเสียหาย คุณโยนเรื่องซับซ้อน ละเอียดอ่อนเช่นนี้เข้ามาในสถานการณ์ที่ล่อแหลมอย่างยิ่งเพื่อให้ “สังคมวินิจฉัยเอง” ช่างเป็นความคิดที่ป่าเถื่อนจริงๆ ครับ เพราะวิธีคิดที่มักง่ายและป่าเถื่อนเช่นนี้นี้เอง พวกคุณจึงส่งกองกำลังทหารติดอาวุธสงคราม พร้อมรถถัง ใช้เฮลิคอปเตอร์ทิ้งแก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในตอนกลางคืน เมื่อ 10 เมษา 2553 คุณใช้ผังหลอกๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้วิธีป่าเถื่อนปราบปรามประชาชนที่จ่ายภาษีเป็นเงินเดือน เบี้ยเลี้ยงให้พวกคุณยังชีพ และมีเกียตริยศยิ่งใหญ่คับแผ่นดินได้อย่างไรไม่ทราบ ! คุณรู้หรือเปล่าว่า การแต่งนิทานเด็กเลี้ยงแกะ “ผังล้มเจ้า” ทำให้เกิดราคาที่ต้องจ่ายเท่าไร? เกือบร้อยศพ และบาดเจ็บร่วมสองพัน หลายคนพิการ หลายคนติดคุกถูกขังลืม หลายคนถูกไล่ล่า ความไม่พอใจต่อสถาบันแผ่ขยายไปในหมู่ประชาชนทุกระดับ ทุกวัย มีทั้งเด็กมัธยมจนถึงคนชรา มีทั้งคนมีอันจะกิน มีการศึกษา ลงไปถึงคนขับแท็กซี่ กรรมกร ชาวนา มีการเขียนข้อความ แสดงรูปภาพ สัญลักษณ์ต่างๆ ที่แสดงออกถึงความไม่พอใจทั้งในอินเตอร์เน็ต ผนังห้องส้วมสาธารณะ บนพื้นถนน ฯลฯ ปรากฏการณ์เหล่านี้ เกิดขึ้นเพราะประชาชนในประเทศนี้ (ประเทศซึ่งปลูกฝังให้รักสถาบันอย่างเหนี่ยวแน่นมั่นคง) โง่เขลา หลงผิด ชั่วร้ายลงอย่างฉับพลันกระนั้นหรือ เป็นเพราะถูกล้างสมอง ปลุกปั่นให้เกิดการเกลียดชังชั่วข้ามคืนกระนั้นหรือ เป็นไปได้อย่างไร ที่กองทัพ อภิสิทธิ์ สุเทพ ประชาธิปัตย์ นักวิชาการเสื้อเหลือง หรือบรรดาผู้มีการศึกษาดีทั้งหลายจะไม่มี “ศักยภาพทางปัญญา” พอที่จะเข้าใจได้ว่า สาเหตุที่แท้จริงของปัญหามันไม่ได้มาจากประชาชนที่เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่มันมาจากการสบคบคิดกันทำรัฐประหารด้วยข้ออ้างเรื่อง “สถาบัน” เราจะเรียกสภาพไร้ศักยภาพทางปัญญานี้อย่างไรดี หากไม่เรียกว่า “วิกฤตทางปัญญา” ดังที่ “ราษฎรอาวุโส” ชอบใช้คำนี้ ซึ่งมันเป็นคำที่สะท้อนด้วยว่าผู้ใช้คำนี้ก็ประสบวิกฤตเดียวกันนี้อย่างหนักเช่นกัน เพราะราษฎรอาวุโสย่อมรู้ดีว่า การใช้สถาบันเป็นเครื่องมือทำรัฐประหารและทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง มันสร้างประวัติศาสตร์แห่ง “มิคสัญญี” ในประเทศนี้ตลอดมา แต่ท่านก็ไม่ได้ใช้ “ปัญญา” ที่ท่านมีอยู่อย่างล้นเหลือนั้นวิจารณ์ หรือยับยั้งการใช้สถาบันเป็นอาวุธได้แต่อย่างใด ฉะนั้น ราคาที่ต้องจ่ายแก่นิทานเด็กเลี้ยงแกะ “ผังล้มเจ้า” และ/หรือการอ้างสถานบันทำรัฐประหาร และการรักษาอำนาจทางการเมือง นอกจากชีวิตประชาชนจำนวนมาก ก็คือ “ศรัทธาที่สิ้นเปลืองอย่างรวดเร็ว” และความแตกแยกของสังคมไทย ซึ่งความเสียหายวายป่วงเหล่านี้ “นักเล่านิทาน” อย่างพวกคุณไม่มีทางกู้คืนได้ อย่าไปโทษคนอย่าง ดา ตอร์ปิโด สุชาติ นาคบางไทร ฯลฯ เลยครับ คนเหล่านั้นไม่มีน้ำยาจะล้มล้างสถาบันได้อยู่แล้ว ถ้าไม่มี “การสมคบคิด” ทำรัฐประหารโดยใช้ “ธงสถาบัน” คนเหล่านี้คงไม่แสดงออกอย่างนั้น ปัญหาอยู่ที่ “ความจงรักภักดีอย่างมืดบอด” ต่างหาก อยู่ที่นิทานเด็กเลี้ยงแกะที่นำมาเล่าซ้ำๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการทำลายล้างฝ่ายที่เห็นต่าง มีอุดมการณ์ต่างกับพวกคุณต่างหาก คำสารภาพของ “เสธ.ไก่อู” คือคำฟ้องต่อดินฟ้า อากาศ สายลม แสงแดด ทุกอณูของสรรพสิ่งในจักรวาลว่า ใคร หรือพวกไหนกันแน่เป็นฝ่ายทำลายสถาบันและประชาธิปไตยไปพร้อมๆ กัน! หากไม่เข้าใจความจริงนี้ ไม่ยอมรับความจริงนี้ ประเทศนี้ไม่มีทางพ้น “วิกฤตทางปัญญา” และไม่มีทางหลีกเลี่ยง “มิคสัญญี” ดังที่ท่านราษฎรอาวุโสกล่าวเตือนได้ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
กสม.แนะ กฟผ.ยุติโครงการแนวสายส่ง น้ำพอง 2 - อุดรธานี 3 รอคดีในชั้นศาลก่อน Posted: 26 May 2011 10:32 PM PDT “นพ.นิรันดร์” รับลูก ผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงร้องกรรมการสิทธิฯ หวั่นผลกระทบระยะยาวถึงลูกหลาน ชี้ กฟผ.ละเมิดสิทธิ และอาจสร้างความขัดแย้งและความรุนแรงให้บานปลาย แนะยุติการดำเนินการไปก่อน เมื่อวันที่ 25 พ.ค.54 กลุ่มคณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง (คชส.) จ.อุดรธานี เจรจาเพื่อหาทางออกกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีคณะกรรมการสิทธิ์มนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นคนกลางเชิญแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกัน ที่ห้องประชุม กสม. ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 สืบเนื่องจากโครงการก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าแรงสูงขนาด 500 กิโลโวลต์ (KV) น้ำพอง 2 - อุดรธานี 3 โดย กฟผ.แต่ในการเข้าดำเนินการในพื้นที่ถูกชาวบ้านเจ้าของที่นาและบรรดาลูกหลานขวางเอาไว้ โดยให้เหตุผลว่าปัจจุบันกลุ่มชาวบ้านได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนแนวเสาและสายส่ง แต่ยังไม่มีคำตัดสิน อีกทั้งยังเป็นการลิดรอนสิทธิ์ของชาวบ้าน ซึ่งจะมีผลกระทบระยะยาวไปจนชั่วลูกหลาน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านที่ดินและป่า ให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้ 1.การดำเนินโครงการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ น้ำพอง 2-อุดรธานี 3 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยดำเนินโครงการและกำหนดแนวสายส่งก่อน หลังจากนั้นจึงดำเนินการประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในภายหลัง ซึ่งกระบวนการดำเนินโครงการในลักษณะดังกล่าว เป็นการไม่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน และละเมิดสิทธิด้านข้อมูลข่าวสารและสิทธิชุมชน ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นยังพบว่ามีการเปลี่ยนแนวสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยให้พ้นที่ดินและบ้านเรือนตามอำเภอใจ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติและสร้างความไม่เป็นธรรมแก่กลุ่มประชาชนที่เดือดร้อน 2.หลักเกณฑ์การจ่ายค่าทดแทนละเมิดสิทธิในทรัพย์สินปราศจากการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้ได้รับผลกระทบ และเมื่อเปรียบเทียบกับราคาประเมินที่ดินทั้งในปัจจุบันและอนาคตทำให้ผู้ได้รับผลกระทบสูญเสียสิทธิการทำประโยชน์ในที่ดิน และสูญเสียมูลค่าที่ดินและทรัพย์สินบนที่ดินที่ถูกเสาไฟฟ้าและแนวสายไฟพาดผ่าน 3.ประชาชนผู้ได้รับความเสียหายและเดือดร้อนจากโครงการ ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองจังหวัดขอนแก่นเมื่อ พ.ศ.2551 รวมทั้งได้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าการใช้กฎหมายของการไฟฟ้าฉบับดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลปกครอง แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกลับเดินหน้าดำเนินการตัดฟันต้นไม้ ผลอาสินของประชาชนโดยใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และ อส.พร้อมอาวุธครบมือเข้าไปคุ้มครองการดำเนินการตัดฟันรื้อถอน ที่สำคัญไม่รอการพิจารณาของศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากผลการพิจารณาของศาลว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาให้แก่ชาวบ้านได้ 4.วันที่ 5 และวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้นำเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าตำรวจและฝ่ายปกครอง เข้าไปรื้อถอน ทำลายทรัพย์ของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดิน การกระทำดังกล่าวถือเป็นการยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้ 5.คณะอนุกรรมการเฉพาะด้านที่ดินและป่าเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยดังกล่าวเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิในทรัพย์สินที่ดินของผู้ร้อง และอาจสร้างความขัดแย้งและความรุนแรงให้บานปลาย จึงมีข้อเรียกร้องและข้อเสนอต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ นพ.นิรันดร์ ระบุถึงข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหา ดังนี้ 1.ขอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยุติการดำเนินการใดๆ อันจะทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ร้องหรือทรัพย์สินของผู้ร้อง จนกว่าคดีในศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญจะถึงที่สุด รวมทั้งยุติการนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองกระทำการใดๆ ในลักษณะเผชิญหน้า ยั่วยุกับกลุ่มผู้ร้อง เพื่อลดความขัดแย้งและความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ 2.ขอให้ศาลปกครอง ควรพิจารณามาตรการคุ้มครองชั่วคราวให้กับประชาชนผู้เดือดร้อน 3.กฎหมายดังกล่าวนอกจากจะสร้างความเดือดร้อนให้กับกลุ่มประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีแล้ว ยังมีประชาชนในอีกหลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในลักษณะดังกล่าว หากศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญไม่เร่งพิจารณาคดีความให้เป็นที่ยุติ การดำเนินงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในลักษณะดังกล่าวจะกลายเป็นการขยายความขัดแย้งจากโครงการก่อสร้างแนวสายส่งไฟฟ้าให้ลุกลามไปในอีกหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดน่าน จังหวัดอยุธยา เป็นต้น สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น