โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

"บก.ลายจุด" นำปั่นจักรยานที่เชียงใหม่ รณรงค์ใส่เสื้อแดงไปเลือกตั้ง

Posted: 15 May 2011 02:46 PM PDT

กลุ่มวันอาทิตย์สีแดงสัญจรเชียงใหม่ ปั่นจักรยานชวนคนไปเลือกตั้ง "สมบัติ" เล็งจัดกิจกรรมทุกอาทิตย์-แจกสติ๊กเกอร์ล้านแผ่น เพื่อชวนคนทั่วประเทศสวมเสื้อแดงไปเลือกตั้ง 3 ก.ค. ด้านคนเสื้อแดงเชียงใหม่จัดกิจกรรมยืนไว้อาลัย เหตุครบรอบ 1 ปีสลายการชุมนุม พร้อมอ่านบทกวีรำลึกถึงจากไปของ "น้องเฌอ"

ที่ จ.เชียงใหม่ วานนี้ (15 พ.ค.) นายสมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรมกลุ่ม "วันอาทิตย์สีแดง" ซึ่งเดินทางมาร่วมกิจกรรมทอล์คโชว์  "พฤษภา หาความจริง" ซึ่งจัดโดยคนเสื้อแดงกลุ่มสถานีวิทยุสร้างสรรค์สังคมเชียงใหม่ (CMSD) โดยภายหลังงานทอล์คโชว์ ดังกล่าว ในเวลา 17.00 น. นายสมบัติได้เดินทางมาที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ถ.พระปกเกล้า อ.เมือง จ.เชียงใหม่เพื่อจัดกิจกรรมวันอาทิตย์สีแดง โดยเป็นการปั่นจักรยานรณรงค์ในถนนรอบคูเมืองเชียงใหม่ และแจกสติ๊กเกอร์กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง เพื่อเชิญชวนให้ผู้สนับสนุนคนเสื้อแดงไปเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค. นี้ และสวมเสื้อแดงไปที่คูหาเลือกตั้ง

นายสมบัติกล่าวว่า จะรณรงค์ให้วันเลือกตั้ง 3 ก.ค. นี้ ให้ใส่เสื้อสีแดงเข้าคูหาพร้อมกันทั่วประเทศ ใครเชื่อมั่นในประชาธิปไตยจะใส่เสื้อสีแดงไปลงคะแนนเสียง โดยขณะนี้เหลือเวลาอีก 7 สัปดาห์ จึงขอเสนอให้มีการอุ่นเครื่อง และยกระดับ หรือยกกำลังด้วยการใส่เสื้อสีแดงออกมาทำกิจกรรมทุกวันอาทิตย์ หรือใส่เสื้อแดงในชีวิตประจำวัน ถ้ามีคนถามว่าทำไมวันนี้ใส่เสื้อแดง ก็ให้บอกว่าเป็นการเตรียมตัวเพื่อวันเลือกตั้ง

โดยนายสมบัติ เชื่อว่า การเลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค. นี้ จะเป็นการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ จะเป็นการเลือกตั้งที่ถูกจับตามอง จะมีผลและมีนัยยะทางประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ทางกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง มีแผนที่จะกระจายแพร่สติ๊กเกอร์ 1 ล้านแผ่นเพื่อรณรงค์ด้วย

นอกจากนี้ ภายหลังการปั่นจักรยานรอบคูเมือง นักกิจกรรมเสื้อแดงใน จ.เชียงใหม่ ได้ร่วมกันยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 1 นาที เพื่อรำลึกในโอกาสครบรอบ 1 ปี การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่กรุงเทพมหานคร และไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีมีการอ่านบทกวีเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว และไว้อาลัยต่อการจากไปของนายสมาพันธ์ ศรีเทพ ซึ่งจากไปด้วยวัย 17 ปี หลังถูกยิงเสียชีวิตที่ ถ.ราชปรารภ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2553 ซึ่งครบรอบ 1 ปี ในวันนี้พอดี โดยกิจกรรมทั้งหมดสิ้นสุดในเวลาประมาณ 19.00 น. เศษ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้ผลิตรถไทยชี้หลังสึนามิยังไปได้ แนะแก้ปัญหาแรงงานชั่วคราวก่อนขาด

Posted: 15 May 2011 09:57 AM PDT

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ชี้ หลังสึนามิยอดผลิตลดลง เหตุพึ่งชิ้นส่วนจากญี่ปุ่น ยืนยันไม่มีปลดคนงาน เผยโตโยต้าเตรียมกลับสู่ภาวะปกติ 23 พ.ค.นี้ ด้านคนงานแนะ ดูแลแรงงานชั่วคราว เตือนออกไปแล้วไม่กลับเข้ามาอีก

(12 พ.ค.54) สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤตแรงงาน จัดสัมมนาเรื่อง เหตุการณ์สึนามิญี่ปุ่น: ผลกระทบอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ทางออกและวิธีแก้ปัญหาควรทำอย่างไร? ที่โรงแรมบางกอกพาเลซ ประตูน้ำ 

ศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งประเทศไทยและผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทโตโยต้า มอเตอร์เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า กำลังการผลิตของทุกบริษัทในช่วงปลายมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคมลดลงเฉลี่ย 50% โดยในส่วนของโตโยต้าลดลง 70% เพราะต้องนำเข้าชิ้นส่วนซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีในการผลิตจากญี่ปุ่น อาทิ ไมโครคอมพิวเตอร์ชิป ซึ่งผลิตที่เมืองเซนไดเป็นหลัก ขณะที่ฮอนด้าลดลง 50% 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนบริษัทรถยนต์นั้นไม่มีการลดจำนวนคนงาน แต่มีการปรับวันทำงาน กรณีโตโยต้า ทำงานสัปดาห์ละสามวัน อังคาร-พฤหัส ส่วนบริษัทอื่นมีการลดการทำงานล่วงเวลา (โอที) และลดวันทำงาน ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.นี้ โตโยต้าจะกลับมาทำงานตามปกติ แต่อาจยังไม่มีโอที โดยจะมีการประเมินอีกครั้งในต้นเดือนมิถุนายน คาดว่าปลายเดือนมิถุนายน ทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม 

สำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ยังมีแนวโน้มไปได้ต่อ โดยการเปิดการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ทำให้ค้าขายได้มากขึ้น โดยรถปิกอัพไทยส่งออก 130 ประเทศทั่วโลก ยกเว้นอเมริกา-ญี่ปุ่นที่ผลิตใช้เอง ขณะที่ตลาดในประเทศจะยังโตได้อีก เพราะปัจจุบันไทยมีรถเฉลี่ย 7-8คนต่อหนึ่งคัน ขณะที่ในญี่ปุ่น-อเมริกามีรถ 1-2 คนต่อคัน 

ส่วนเรื่องของอุปสรรคนอกประเทศ มองว่าถ้าเหตุการณ์ในตะวันออกกลางไม่บานปลายมาก ก็ไม่มีปัญหา ส่วนอุปสรรคในประเทศ นอกจากเรื่องราคาน้ำมัน ซึ่งก็มีการหันไปติดแก๊สมากขึ้นแล้ว ก็มีปัญหาด้านการเมือง ถ้ายังมี "กีฬาสี" จะเกิดผลกระทบต่อเนื่อง โดยยกตัวอย่างว่า สมัยที่เชียงใหม่มีงานพืชสวนโลก มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ส่งผลให้รถตู้ขายดี เมื่อเศรษฐกิจดี กำลังซื้อก็ตามมา 

สำหรับการสนับสนุนจากภาครัฐ อยากให้รัฐช่วยเหลืออุตสาหกรรมต้นน้ำ ด้วยการยกเว้นภาษี ไม่เช่นนั้น อาจแข่งในตลาดโลกไม่ได้ เพราะอินเดียและจีน มีวัตถุดิบ เครื่องจักร ทั้งนี้ เขาวิจารณ์นโยบายภาครัฐว่าไม่ค่อยดีนัก เช่น การปรับโครงสร้างภาษี ซึ่งทำร้ายจิตใจนักลงทุนญี่ปุ่นที่โดนสึนามิเล่นงานมาก แทนที่จะสนับสนุน กลับออกกฎให้เสียภาษีมากขึ้น

ด้านยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงแรงงานในอุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งเป็นพนักงานเหมาค่าแรงว่า เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ คนกลุ่มนี้จะถูกเขี่ยออกก่อนทุกครั้ง และเมื่อพวกเขาออกไปแล้ว ก็ไม่มีใครอยากกลับเข้ามาอีก เพราะต้องเริ่มต้นค่าจ้างที่ตัวเลขเดิม ขณะที่ในสถานการณ์ปกติ คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้มีหลักประกันใดๆ มีค่าโอทีเป็นรายได้หลัก ทำงานตลอดเวลา แทบจะยืมอนาคตมาใช้ หากวันข้างหน้าร่างกายมีปัญหาก็จะเป็นภาระของประเทศ ดังนั้น เสนอว่าในวันข้างหน้าอาจต้องขยับค่าจ้างให้สูงขึ้น รวมถึงพิจารณาบรรจุเป็นพนักงานประจำ เพื่อให้พวกเขาอยู่ได้ ไม่เช่นนั้นในอนาคตซึ่งมีการย้ายฐานการผลิตมาไทยมากขึ้น อุตสาหกรรมประเภทนี้จะมีปัญหา เพราะไม่มีคนทำงาน 

สมภพ มาลีแก้ว นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานเคยมีประสบการณ์เหตุการณ์สึนามิที่พังงา ซึ่งกระทบกับลูกจ้างในกิจกรรมโรงแรมที่สุด ขณะที่นายจ้างในกิจการขนาดเล็กก็ไม่มีเงินจ่าย แต่มีการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ผ่านมาได้ ส่วนภัยพิบัติครั้งนี้เป็นผลกระทบทางอ้อม ซึ่งกรมสวัสดิการแรงงานได้จับตาดูกิจการรถยนต์ โดยแบ่งเป็นสามกลุ่มคือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ไม่ได้รับผลกระทบและกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง โดยกลุ่มที่ไม่มีผลอาทิ ฟอร์ด และมาสด้า นั้นสั่งซื้อชิ้นส่วนจากจีน ขณะที่มิซูบิชิยังมีชิ้นส่วนสำรอง ด้านโตโยต้า ฮอนด้า อิซุซุ นั้นได้รับผลกระทบ ก็ใช้วิธีลดวันทำงานแทน

ทั้งนี้ สมภพกล่าวว่า ไม่หนักใจกับสถานการณ์ขณะนี้ เพราะดูจากแนวทางของสถานประกอบการรถยนต์สามารถจัดการได้ดีในระดับสากล ไม่มีเรื่องร้องทุกข์ ทั้งนี้ จะมีการส่งทีมแรงงานสัมพันธ์เข้าไปตรวจเยี่ยมสถานประกอบการของญี่ปุ่น 971 แห่งในไทยในสัปดาห์หน้า เพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกัน หลักนิติธรรม และสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างนายจ้างลูกจ้าง 

ชฤทธิ์ มีสิทธิ ผู้จัดการศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤติแรงงาน มองว่า สถานการณ์ตอนนี้ที่ยังไม่มีการปลดคนงานนั้น เพราะจริงๆ แล้วขาดแคลนแรงงาน โดยที่ผ่านมา ทิศทางการผลิตเพิ่มขึ้นตลอดจนผลิตไม่ทัน เมื่อเกิดสึนามิ ทำให้เกิดการประคองตัว ไม่เป็นไปอย่างที่คาดว่าจะออกมาเลวร้าย 

เขากล่าวถึงการที่สถานประกอบการหลายแห่งประกาศใช้มาตรา 75 ว่า กรณีสึนามิ เป็นเหตุสุดวิสัย ป้องกันควบคุมไม่ได้ แต่เหตุตามมาตรา 75 ไม่ได้ใช้กับเหตุสุดวิสัย เจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ดี โดยวางให้ไม่ต้องมีค่าจ้างสูงไป เพื่อรักษาแรงงานไว้ แต่ธุรกิจในไทยขี้ตกใจ เซฟตัวเองโดยไม่คิดคนอื่น ใช้เพื่อเซฟตัวเองก่อน โดยไม่อยู่ในหลักการและเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งนี้ ชฤทธิ์เสนอด้วยว่า BOI ต้องเข้ามามีบทบาทด้วย โดยธุรกิจที่มีการละเมิดกฎหมาย ไม่รับผิดชอบต่อแรงงาน ควรต้องพิจารณาไม่ส่งเสริมการลงทุนให้ธุรกิจดังกล่าว

ขณะที่เพชร โสมาบุตร ประธานสมาพันธ์แรงงานฮอนด้าแห่งประเทศไทย นำเสนอว่า สมาพันธ์แรงงานฮอนด้าแห่งประเทศไทยได้ให้แนวทางการแก้ไขปัญหาแก่สมาชิก 16 สหภาพ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับพูดคุยหารือกับบริษัท โดยให้ยึดถือมาตรการจากเบาไปหนัก เพื่อให้กระทบต่อการดำรงชีวิตของพนักงานให้น้อยที่สุดและสามารถรักษากำลังคนเพื่อการผลิตได้ในอนาคต อาทิ การแลกเปลี่ยนวันทำงานเป็นวันหยุด มีการจัดอบรม ลดกะทำงานกรณีที่สถานการณ์ไม่ดีขึ้น ให้พนักงานลาพักร้อนพร้อมกันไม่เกินสามวัน ไปจนถึงการหักเงินค่าจ้างจากน้อยไปหามากแต่ต้องไม่เกินกฎหมายกำหนด (มาตรา 75)

...........................
มาตรา 75 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน - ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างจนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัยต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน
ให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการตามวรรคหนึ่งไม่น้อยกว่าสามวันทำการ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาธิปัตย์ (ไม่) อยู่ในภาวการณ์ไหนของความขัดแย้ง?

Posted: 15 May 2011 09:45 AM PDT

นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในการสัมมนาผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ว่า 

“สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ ทำให้นึกไปถึงคำคมของอดีตประธานสภาฯ ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ที่กล่าวว่า "อย่างนี้ก็ยุ่งตายห่ะ" ซึ่งตนคิดว่ามีภาวการณ์อันตราย 7 ข้อ ประกอบด้วย ภาวการณ์แห่งความขัดแย้ง ความแตกแยกเป็นฝ่ายชัดเจน, ภาวการณ์แห่งความมุ่งประโยชน์ของตนและพวกพ้องเป็นสำคัญ, ภาวการณ์แห่งการพยายามเอาชนะทุกรูปแบบ และทำลายกันอย่างรุนแรง, ภาวการณ์ความเชื่อในเรื่องเหตุผลน้อยลง และเชื่อพวกเดียวกัน, ภาวการณ์ที่อยู่ในคำคม "กูไม่กลัวมึง", ภาวการณ์ไม่เคารพกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และภาวการณ์ไม่เคารพสถาบันสูงสุดของประเทศ” (มติชนออนไลน์. 14 พ.ค.2554)

คำถามคือ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้อยู่ในภาวการณ์ความขัดแย้ง หรือไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของภาวการณ์ความขัดแย้งแบบ“ยุ่งตายห่ะ” 7 ข้อนี้ อะไรบ้าง?

1. ภาวการณ์แห่งความขัดแย้ง ความแตกแยกเป็นฝ่ายชัดเจน หากการเป็นฝ่ายชัดเจนไม่ได้ตัดสินแค่การใช้ “เส้นสี” เป็นเส้นแบ่ง แต่ตัดสินจาก “เส้นแบ่งเชิงอุดมการณ์” ที่ชัดเจนยิ่งคือ อุดมการณ์ประชาธิปไตยภายใต้การกำกับของอำมาตย์หรืออำนาจนอกระบบ กับอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ยืนยันเสรีภาพและความเสมอภาค ก็ชัดเจนอย่างยิ่งว่าประชาธิปัตย์อยู่ในฝ่ายแรก

เป็นการอยู่ในฝ่ายแรกในบทบาทของ “หัวหอก” เริ่มจากบอยคอตการเลือกตั้ง ชวนพรรคการเมืองอื่นๆ บอยคอตด้วย เสนอมาตรา 7 จัดคนมาชุมนุมร่วมกับพันธมิตร ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร สร้างวาทกรรมขบวนการล้มเจ้า ขบวนการก่อการร้ายเพื่อปราบปรามประชาชนที่ออกมาทวงอำนาจอธิปไตยของตนเองคืน แก้รัฐธรรมนูญให้พรรคตนเองได้เปรียบในการเลือกตั้ง อาศัยบารมีอำมาตย์จนได้ประโยชน์จากระบบสองมาตรฐานทำให้พ้นคดียุบพรรค กล่าวหาฝ่ายตรงข้ามเป็นคอมมิวนิสต์ เผาบ้านเผาเมือง ฯลฯ

ในขณะเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์ก็ขัดแย้งกับฝ่ายเดียวกันคือพันธมิตร จนนำไปสู่ความขัดแย้งและการรบกับประเทศเพื่อนบ้าน และการรณรงค์ Vote No ยิ่งทำให้ “ยุ่งตายห่ะ” หนักเข้าไปอีก

2. ภาวการณ์แห่งความมุ่งประโยชน์ของตนและพวกพ้องเป็นสำคัญ โอ้โห...ข้อนี้ เชื่อเลยครับ! อภิสิทธิ์จูบปากกับเนวินตั้งรัฐบาลอำมาตย์อุ้ม ฯลฯ ไม่ได้อยู่ใน “ภาวการแห่งความมุ่งประโยชน์ของตนและพวกพ้องเป็นสำคัญ” แต่อย่างใด

3. ภาวการณ์แห่งการพยายามเอาชนะรูปแบบ และทำลายกันอย่างรุนแรง ผมนี่แม่งโง่บัดซบฉิ๊บหายว่ะที่เสือกไม่เข้าใจว่า การเรียกร้อง การสนับสนุนการทำรัฐประหาร การสลายการชุมนุมที่ทำให้คนตายเกือบร้อยศพ บาดเจ็บร่วมสองพัน ไม่ใช่ “การพยายามเอาชนะทุกรูปแบบและทำลายกันอย่างรุนแรง”

4.ภาวการณ์ความเชื่อในเรื่องเหตุผลน้อยลง และเชื่อพวกเดียวกัน ข้อนี้ผมยอมรับว่าผมโง่จริงๆ อีกแล้วครับท่าน ที่สามารถรู้อย่างชัดแจ้งเพียงว่า “เหตุผล” ของฝ่ายที่ยึดอุดมการณ์ประชาธิปไตยภายใต้กำกับของอำมาตย์หรืออำนาจนอกระบบเป็นเหตุผลที่ไม่ยึดโยงอยู่กับหลักการประชาธิปไตยที่แท้จริง คือหลักเสรีภาพ และหลักความเสมอภาค ฉะนั้น หลักความยุติธรรม (the principle of justice) ของพวกเขาจึงไม่ยึดโยงอยู่กับหลักเสรีภาพและหลักความเสมอภาคด้วย กระบวนการยุติธรรมที่พวกของใช้จึงเป็น “ระบบสองมาตรฐานซ้ำซาก” (หรือ “ไร้มาตรฐาน”?)

ผมเลยอยากถามประสาคนโง่ว่า ฯพณฯ ทั่น จะให้เกล้ากระผมเชื่อ “เหตุผลเอี้ยๆ” อะไรของ ฯพณฯ ทั่นขอรับ (วะ) ฯพณฯ ทั่น ใช้เหตุผล (บนหลักการประชาธิปไตย) อะไรในการปราบปรามประชาชนที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ใช้เหตุผลอะไรในการกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าล้มเจ้า เป็นคอมมิวนิสต์ ใช้เหตุผลอะไรในการจับกุมคนเสื้อแดงและขังลืม ฯลฯ

5. ภาวการณ์ที่อยู่ในคำคม "กูไม่กลัวมึง" อ้าวก็พวกมึงไม่เดินตามกติกาประชาธิปไตย ทำรัฐประหาร ปราบปรามประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหารเรียกร้องประชาธิปไตย จะให้พวกกูกลัวมึงได้ไงวะ! (พวกมึงมี “ความชอบธรรม” สำหรับให้พวกกูกลัวด้วยหรือวะ?)

6.ภาวการณ์ไม่เคารพกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ว้าว! บอยคอตเลือกตั้ง เสนอมาตรา 7 สลายการชุมนุมด้วยวิธีป่าเถื่อนเวลากลางคืน ใช้สองมาตรฐานซ้ำแล้วซ้ำอีก ฯลฯ เนี่ยนะครับท่านคือ “การเคารพกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม”

7. ภาวการณ์ไม่เคารพสถาบันสูงสุดของประเทศ  ถามจริงๆ เถอะ ถามอย่าง “ซีเรียสเลย” นะครับ การเสนอให้ยกเลิก/ปรับปรุงกฎหมายหมิ่นฯ เสนอให้วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบสถาบันได้ หรือข้อเสนอ 8 ข้อ เพื่อปฏิรูปสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ของ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (เป็นต้น) กับการอ้างสถาบันทำรัฐประหารและการอ้างสถาบันเป็นเครื่องมือต่อสู้และทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างที่พวกท่านและพวกเดียวกัน (หรืออดีตพวกเดียวกัน?) ทำมาตลอดน่ะ อย่างไหนกันแน่ที่เป็นการ “ไม่เคารพสถาบันสูงสุดของประเทศ” ที่แท้จริง?

หรือย่างไหนกันแน่ ที่เป็นการทำความเสื่อมเสียแก่สถาบันมากกว่ากัน! ระหว่างวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผล และเสนอทางออกให้สถาบันอยู่ได้อย่างมั่นคงภายใต้ระบบกฎหมายที่เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ กับการประจบสอพลอสถาบันให้ให้ตนเองและพวกพ้องมีอำนาจรัฐ มีตำแหน่งหน้าที่งานงานก้าวหน้า ฯลฯ อย่างไหนกันแน่ครับ ที่เป็นการเคารพสถาบันที่ควรแก่การยอมรับยกย่องของ “วิญญูชน” มากกว่ากัน

และในที่ประชุมเดียวกันนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ก็กล่าวว่า

"70-80 ปีที่ผ่านมา บ้านเมืองเราก้าวหน้า ไม่ได้ถอยหลัง อย่างที่คนมองว่าประเทศไทยล่าหลังนั้นไม่จริง ใน 10 ประเทศอาเซียน ถามว่าประเทศไทยมีสิทธิเสรีภาพของคนมากที่สุด สื่อประเทศไทยมีเสรีภาพเท่าประเทศไทย ไม่มีหรอก" ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ และศาสนา แต่ตอนนี้มีคนในชาติไม่สนใจ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของระบบประชาธิปไตย แต่เป็นความคิดของคน เราต้องเชื่อมั่นประชาธิปไตย ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เราต้องเชื่อและเคารพการตัดสินใจของประชาชน”

สรุป “คำคม” ...ประเทศไทยมีสิทธิเสรีภาพของคนมากที่สุด... สื่อมีเสรีภาพมากกว่าประเทศอื่นๆ... ไม่ใช่ความผิดของระบอบประชาธิปไตย... เราต้องเชื่อและเคารพการตัดสินใจของประชาชน...

555 มีดโกนอาบน้ำผึ้งจริงๆ (แต่โทษทีข้าพเจ้าสงสัยเหลือเกินว่า “ท่านเชื่อคำพูดของตัวเองหรือไม่?” )

สรุป “จบ” ประเทศไทยโชคดีที่มีพรรคการเมืองเก่าแก่ มีความเป็น “สถาบันทางการเมืองสูง” อย่าง “พรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่สะอาด อุดมด้วยคนดี คนซื่อสัตย์สุจริต รักประชาธิปไตย เคารพการตัดสินใจของประชาชน

ที่สำคัญเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวในประเทศนี้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับภาวะความขัดแย้งทางการเมืองแบบ “ยุ่งตายห่ะ” ทั้ง 7 ประการ ดังกล่าวมา !

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘ไทยโพสต์ แทบลอยด์’ สัมภาษณ์ ‘พิภพ ธงไชย’: Vote No เพื่อปฏิรูปการเมือง

Posted: 15 May 2011 08:02 AM PDT

Vote No การพลิกยุทธศาสตร์ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เรียกร้องให้ประชาชนผู้เบื่อหน่ายนักการเมืองไม่ว่าขั้วไหน ออกไปลงคะแนนไม่เลือกใคร โดยหวังผลว่า ถ้ามีผู้แสดงความจำนงเช่นนี้มากๆ จะทำให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เกิดการ “ปฏิรูป” หลังเลือกตั้งไม่ว่าพรรคการเมืองไหนเป็นฝ่ายชนะ เพื่อให้พ้นจากวงจรอุบาทว์ของการเมืองที่ไม่ว่าใครมีอำนาจก็หนีไม่พ้นทุจริตคอรัปชั่น 

แนวคิดนี้ฟังดูน่าจะสวยงาม ถ้าไม่ใช่เพราะพันธมิตรฯ อยู่ในสถานะที่ชุมนุมยืดเยื้อโดยหาทางลงไม่ได้ มวลชนหดหาย ซ้ำยังขัดแย้งกันเอง ดังเช่นกรณีพรรคการเมืองใหม่ การสนทนาครั้งนี้ จึงไม่สามารถมองแง่บวกด้านเดียว “พี่เปี๊ยก” จึงชักชวนผู้เคยสัมภาษณ์ดั้งเดิมมาร่วมวงตั้งข้อซักถามด้วยในฐานะผู้มีความเห็นต่างกับพันธมิตรฯ

เครดิต
             พันธมิตรฯ เสนอให้ Vote No ฟังเข้าที แต่ประชาชนอาจจะเข้าใจว่าพันธมิตรฯ หวังผลให้เกิดการรัฐประหารและจัดระเบียบการเมืองใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยเรียกร้องอย่างนี้

            "เวลาบอกว่าพันธมิตรฯต้องการอะไร ต้องดูในแถลงการณ์ นั่นจึงจะเป็นความเห็นร่วมกันของแกนนำพันธมิตรฯ ทั้งรุ่น 1 รุ่น 2 แต่ถามว่าแต่ละคนมีความคิดในเรื่องการแก้ไขปัญหาทางการเมืองแตกต่างกัน-มี แต่จะไปรวมว่าเป็นพันธมิตรฯไม่ได้ แม้แต่ในมวลชนของพันธมิตรฯเองก็มีความเห็นที่แตกต่างกัน ผมว่าเป็นธรรมดาของสังคมไทยที่มีความด้อยพัฒนาทางการเมือง ความคิดในการแก้ไขปัญหาย่อมจะแตกต่างกัน มันก็มีประวัติศาสตร์ทางการเมืองกำกับอยู่ด้วยว่าประวัติศาสตร์ทางการเมืองของเราวิธีแก้ไขปัญหาใช้วิธีอะไรมา แต่ผมว่ามาถึงวันนี้สรุปเลยว่าวิธีการแก้ไขปัญหาโดยการรัฐประหารไปไม่ได้ มันหมดยุคสมัย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีโอกาสที่จะมีรัฐประหาร-มี เพราะสภาพการเมืองที่ล้มละลายการเมืองที่ล้มเหลว"

            "และผมว่าไม่ใช่เฉพาะมวลชนพันธมิตรฯ ผมคิดว่าประชาชนทั่วไปก็มีความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองที่แตกต่างกัน ทุกคนก็จะมีประวัติศาสตร์ทางการเมือง สังคม และวิธีคิดของตัวกำกับ แต่จะดูพันธมิตรฯทั้งหมด ผมคิดว่าตั้งแต่ 6 เม.ย.เป็นต้นมาเริ่มมีความนิ่งบนเวที ในการกำหนดคนขึ้นเวทีและเสนอความเห็น อย่าลืมว่าคนขึ้นเวทีเป็นการเสนอความเห็นเฉพาะตัวน แต่เมื่อมีประกาศเรื่อง Vote No แล้วก็เริ่มบอกว่าว่าจะต้องนำไปสู่ปฏิรูปการเมืองและปฏิรูปสังคม ถ้าสังเกตตั้งแต่ 6 เม.ย.เป็นต้นมาจะเดินในแนวทางนี้แล้ว"

            ก่อนหน้านั้นยังมั่ว

            "(หัวเราะ) โห คุณใช้คำแรงเกินไป ความคิดของผู้อภิปรายแต่ละคนจะมีความคิดที่หลากหลาย และตอนนั้นมันไม่มีเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง  มันมีแต่เรื่องประสาทพระวิหารเป็นหลัก และก็อภิปรายคุณอภิสิทธิ์ เดิมทีก็ไม่ต้องการไล่คุณอภิสิทธิ์ แต่ต้องการให้เปลี่ยนวิธีการแก้ไขปัญหาเขตแดนระหว่างประเทศ แต่เมื่อคุณอภิสิทธิ์ไม่เปลี่ยนเราก็เลยเรียกร้องกดดันขอให้ลาออก ไม่ได้ไล่รัฐบาลด้วย ขอให้ลาออกเพื่อที่จะหานายกฯในกระบวนการประชาธิปไตยที่คิดว่าแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้เข้ามา และหลังจากนั้นก็มีอภิปราย จนไปถึงจุดที่ว่ารัฐบาลนี้ควรจะออกไป นี่เอาตามลำดับขั้นเลยนะ แต่แน่นอนในระหว่างนี้ก็ยังมีคนพูดตามความคิดของเขา หลากหลาย แต่คุณมักจะไปชูประเด็นรัฐประหาร”

            “ผมคนหนึ่งละที่ขึ้นเวทีแล้วเสนอแนวทางการปฏิรูป และผมก็คิดว่าคุณอภิสิทธิ์มีโอกาสที่จะปฏิรูปสังคมบ้านเมืองในกระบวนการประชาธิปไตยได้มากที่สุดคนหนึ่ง แต่คุณอภิสิทธิ์ไม่มีความกล้าหาญที่จะทำ และไม่มีความคิดที่จะทำ ผมต้องใช้คำนี้ ตัวผมเองเสนอเป็นลำดับไปเลยว่าวิธีแก้รัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามาจากคณะรัฐประหาร แต่ความจริงใช้กลไก ส.ส.ร.ในรูปแบบการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และก็นำไปสู่การลงประชามติ แต่ก็ยังไม่ถูกยอมรับในสังคมส่วนหนึ่ง ฉะนั้นการแก้ปัญหาก็คือให้ทำประชามติ ซึ่งเสนอไปแล้ว และนี่ไม่ใช่เป็นความคิดผมคนเดียวกัน ความคิดของแกนนำก็เสนอไปแล้วในคำแถลงการณ์ ถ้าประชาชนเห็นว่าควรแก้พันธมิตรฯ ก็เห็นด้วย ส่วนวิธีการจะแก้ยังไง ผมเองเสนอให้แก้แบบตั้งส.ส.ร.3 ขึ้นมา จะได้แก้ปมปัญหาว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มาจากคณะรัฐประหาร คุณอภิสิทธิ์ก็ไม่ทำ คุณอภิสิทธิ์ไม่ยอมใช้กระบวนการประชาธิปไตยในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของบ้านเมือง เมื่อตัวเองเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้าเอากระบวนการประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ว่าเสื้อแดงเสื้อเหลือง ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองจะหมดไป เพราะความเห็นของทุกฝ่ายจะเข้ามาตรงนี้”

            “แต่โจทย์นี้เป็นโจทย์ที่ต้องเอาตัวทักษิณฯออกไปนะ ถ้าตัวทักษิณยังอยู่เป็นความขัดแย้งที่ไม่ใช่กระบวนการประชาธิปไตย สำหรับผมความขัดแย้งที่คุณทักษิณสร้างขึ้นไม่ใช่ความขัดแย้งในกระบวนการประชาธิปไตย"

            อย่างนี้ก็ไม่มีทางออก ถ้าหลังเลือกตั้ง ตั้ง ส.ส.ร.แก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยเขาก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วม และทุกฝ่ายคือทั้งแดงทั้งเหลืองเข้ามามีส่วนร่วม

            "ก็แล้วแต่กระบวนการเลือก แต่ต้องมาด้วยกระบวนการประชาธิปไตยนะ ต้องเป็นส.ส.ร.ที่ไม่มีการวิ่งเต้นซื้อตำแหน่งหรือใช้แรงกดดันทางการเมือง ประเด็นของผมการแก้ไขปัญหาโดยใช้กลไกประชาธิปไตย แต่รูปแบบต้องมาคิดกัน เราผ่านรูปแบบมาเยอะแล้ว องค์กรอิสระเราก็ผ่านมา มันใช้ไม่ได้กับคนไทย เพราะคุณสมบัติคนไทยชินอยู่กับสังคมอุปถัมภ์มากเกินไป"

            ถ้าจะแก้ปัญหาของประเทศ อาจต้องตั้งโต๊ะกลมทุกฝ่าย ซึ่งรวมทั้งฝ่ายทักษิณฝ่ายนิยมทักษิณ ตัวแทนจากทุกฝ่าย

            "ทุกฝ่ายนี้ฝ่ายประชาชนนะ ไม่ใช่ฝ่ายบุคคลนะ ไม่ใช่ตัวแทนทักษิณโดยตรง"          

คนที่นิยมทักษิณเขาก็รู้สึกว่าเขาเป็นตัวแทน

            "คุณมาโดยกระบวนการประชาธิปไตยไม่เป็นไรแต่อย่าไปบอกว่าตัวแทนทักษิณ ทักษิณมีสิทธิอะไรที่จะส่งตัวแทน คำว่าตัวแทนทักษิณมันไม่ใช่กระบวนการประชาธิปไตย ผมไม่เห็นด้วยที่จะมีตัวแทนของคุณทักษิณ ตัวแทนคุณอภิสิทธิ์ ตัวแทนคุณสนธิ แต่ถ้าบอกว่ากระบวการเลือกตั้ง ส.ส.ร.มาจากทุกฝ่ายก็ต้องเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งนั้น แต่ไม่ต้องมาติดฉลากว่าเป็นตัวแทนของใคร"

            ที่ต้องถามเพราะพี่บอกปฏิรูปการเมืองแต่ไม่ให้ทักษิณมีส่วนร่วมมันเป็นไปไม่ได้

            "ผมยังไม่ได้พูดเลยว่าไม่ให้ทักษิณมีส่วนร่วม แต่ตัวแทนบุคคลผมไม่เห็นด้วย คำว่าทักษิณออกไปคือโจทย์วันนี้เป็นโจทย์ที่คุณทักษิณต้องการแก้ไขปัญหาตัวเอง ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่ทำให้คุณใจ อึ๊งภากรณ์ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าทักษิณกำลังเอาปัญหาของตัวเองเป็นปัญหาของประเทศ ถามหน่อยว่าทักษิณไม่มีปัญหาหรือถึงแม้ศาลไม่ตัดสิน ในความรู้สึกของประชาชน ไม่ใช่เป็นนักการเมืองที่บริสุทธิ์หรือนักการเมืองประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นอย่าเอาโจทย์ทักษิณมาเป็นโจทย์ประเทศไทย แต่เอาปัญหาของประเทศก็คือปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมกัน มาเป็นโจทย์ของประเทศไทยสิ ถ้าเรายังเอาโจทย์ทักษิณเป็นตัวตั้งจะไม่มีทางออก จนกว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะล้มหายตายจากไป คนที่นิยมทักษิณเราอย่าไปกันเขา นี่ผมเห็นด้วย แต่คุณจะมาชูป้ายว่าฉันเป็นตัวแทนทักษิณผมไม่เห็นด้วย"

            ยังไงโจทย์ทักษิณก็เป็นส่วนหนึ่งของโจทย์ของประเทศไทย ไม่อย่างนั้นจะไม่เกิดปัญหามาถึง 5 ปี วิธีการจัดการกับทักษิณเป็นปัญหามาตลอด

            "ผมเห็นด้วยว่าเหตุการณ์วันที่ 19 ก.ย.เป็นการรัฐประหารที่ผิดพลาด และไม่ควรเกิด ผมยอมรับว่าขบวนการ 19 ก.ย.เป็นขบวนการที่ผิด เพราะตอนนั้นถ้าให้ขบวนการประชาชนจัดการนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชั่น ผมคิดว่านี่คือกระบวนการประชาธิปไตย ทหารมีหน้าที่อะไร ทหารมีหน้าที่มาดูแลไม่ให้ประชาชนถูกรังแก ขณะที่ประชาชนเดินขบวนอยางสงบและสันติ แต่ไม่ใช่เข้ามาเป็นคนจัดการเอง 19 ก.ย.คือทหารเข้ามาจัดการเอง ขณะที่ประชาชนเติบโตมากแล้ว"

            กลับไปเรื่อง Vote No ไม่ใช่แค่ประชาชนมองว่าพันธมิตรเคยเรียกร้องให้รัฐประหาร แต่ยังอาจต้องการ Vote No เพื่อให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง แล้วขอรัฐบาลพระราชทาน รัฐบาลแห่งชาติ

            "ก่อน 6 เม.ย.บนเวทีพันธมิตรฯไม่ได้มีโจทย์เรื่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แน่นอนทุกคนก็มีความเห็นต่อปัญหาที่เผชิญอยู่ แต่เมื่อเราประกาศเรื่อง Vote no วันนี้ไม่มีแล้ว เรื่อง Vote no จะนำไปสู่การปฏิรูปทางการเมืองแน่นอน"

            ถ้า Vote No ได้ผล พันธมิตรฯ จะเคลื่อนต่อไปอย่างไร

            "พันธมิตรฯ เป็นคนริเริ่มเรื่อง vote no แต่เราจะไปตีขลุมว่าคะแนน vote no ซึ่งไม่รู้จะมีเท่าไหร่จะเป็นของพันธมิตรฯทั้งหมด ไม่ใช่ ถ้าเราดูในทางสถิติเราจะเห็นว่ามีผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยการซื้อสิทธิขายเสียง อันนี้มีจริง นักการเมืองใช้เงินกันอย่างมโหฬารอย่างน้อยคนละ 50 ล้านบาทต่อผู้สมัคร ส.ส. 1 คน แต่ก็ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ไปลงคะแนนเลย ขณะเดียวกันตอนนี้ก็มีคนที่เบื่อทั้งประชาธิปัตย์ อดีตพรรคไทยรักไทย อยากจะหาทางออกทางการเมือง อันนี้สังคมกำลังแสวงหา”

            “เราต้องการคนกลุ่มนี้มาร่วมกันว่าเรามาลง vote no ไหม แล้วเรานำ vote no นี้ไปเคลื่อนไหว คำว่าเคลื่อนไหวไม่ใช่หมายถึงชุมนุมนะ ไปเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดปฏิรูปทางการเมืองและประเทศไทยทั้งระบบ ผมคิดว่ากระแสปฏิรูปมาถึง หลังจากเหตุการณ์วันที่ 19 พ.ค. กระแสปฏิรูปสูงมาก เพราะทุกคนบอกว่ามันแก้ปัญหาไม่ได้ แต่โจทย์ของสังคมไทยคือจะสร้างกระบวนการปฏิรูปได้อย่างไร   คุณอภิสิทธิ์ไวในเรื่องนี้ ก็คือตั้งคนที่สังคมยอมรับ แต่ไม่ได้สนใจคณะกรรมการปฏิรูปเลยว่าทำงานอะไรกัน การแถลงยุบสภาก็ไม่ได้พูดถึงโจทย์ปฏิรูป พรรคการเมืองทั้ง 2 พรรคใช้โจทย์ประชานิยมเป็นหลัก นี่คือปัญหาของสังคมไทย"

            "ในแง่ของเราที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด เราต้องการโจทย์ปฏิรูป แต่เรามองไม่เห็นว่าจะใช้แรงกดดันหรือผลักดันให้ฝ่ายการเมืองทำการปฏิรูปได้อย่างไร ก็ใช้โอกาสในการเลือกตั้งครั้งนี้ ดูสิว่าเสียงที่ต้องการปฏิรูปและไม่เอาทั้ง 2 ฝ่ายมีแค่ไหน ถ้าออกมาน้อย แน่นอนการปฏิรูปก็จะไม่เกิดขึ้น แต่เราก็จับกระแสได้ว่ากระแสที่ประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลงการเมืองโดยปฏิรูป ไม่ใช่รัฐประหาร มันมีสูงมาก และกระแสปฏิรูปกลายเป็นกระแสทั่วโลกแม้แต่การเคลื่อนไหวในกลุ่มประเทศอาหรับสุดท้ายก็บอกว่าต้องมีการปฏิรูป ไม่มีใครเรียกร้องให้ทหารมาปฏิวัติเลย”

            “แต่แน่นอนในทางการเมืองมันก็มีความขัดแย้งสูง จะสร้างกลไกการปฏิรูปมาได้ยังไง โจทย์มันหลายโจทย์ หนึ่งความรู้สึกที่ต้องการปฏิรูปจะแสดงออกไหม แสดงออกโดยวิธีใด ในคูหาเลือกตั้ง เดิมที Vote No ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของการปฏิรูปแต่วันนี้เราต้องการให้เป็นสัญลักษณ์ของการปฏิรูป ปัญหาคือคนที่ต้องการปฏิรูปอยากจะไปแสดงสัญลักษณ์ตรงนี้ไหม ถ้าอยากแสดงมันก็เป็นเครื่องบอก คือถ้าเราไม่เชื่อมระหว่าง Vote No กับการปฏิรูปเราก็จะตีความไม่ออกว่าคนไป Vote No เพราะอะไร"

มีเสียงแซวว่าคนที่เขา Vote No อยู่เดิมอาจจะเปลี่ยนใจ เพราะไม่อยากถูกตีความว่าเห็นด้วยกับพันธมิตรฯ

            "ถ้าเขาคิดแคบอย่างนั้น มันก็ต้องเกิดเรื่องอย่างนั้นขึ้น แต่เราไม่ต้องการให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของพันธมิตรฯ เพราะวันนี้ผมก็พยายามคุยกับหลายฝ่ายมากที่ไม่ได้มาขึ้นเวทีพันธมิตรว่าให้แสดงตัวตนออกมาว่าต้องการปฏิรูป ครป.ก็ออกแถลงการณ์มาว่าให้ไป Vote เพื่อปฏิรูป แต่ปัญหาว่าไป Vote เพื่อปฏิรูปจะทำยังไง สุดท้ายแล้วถ้า Vote เพื่อแสดงปฏิรูปอย่างที่ครป.เสนอมามันก็ต้องลงมาที่ช่อง Vote No เพื่อปฏิรูป ทำสำเร็จหรือไม่อีกเรื่องหนึ่งนะ วันนี้ปัญหาความแตกแยกทางความคิดเรื่องนี้มันมีอยู่แม้แต่ในสื่อ แม้แต่ในปัญญาชน หลายส่วนก็เห็นด้วย หลายส่วนก็ยังตั้งข้อสงสัยว่าแล้วมันจะปฏิรูปได้จริงหรือ กระแส Vote No "

แดงเหลืองมีจุดร่วม
            ปัญหายังอยู่ที่เครดิตของพันธมิตรฯ เพราะนอกจากคนกลัวว่าถ้า Vote No เยอะๆ แล้วนำไปสู่การเรียกร้องรัฐประหารหรือทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ในเชิงเนื้อหา ที่บอกว่าต้องการปฏิรูปการเมือง ก็เกรงว่าพันธมิตรฯ จะไปสู่การเมืองใหม่แบบปฏิเสธการเลือกตั้งอีก

            "ต้องระบุคนมาดีกว่า เป็นคนๆ ไป ไม่ใช่เรียกพันธมิตรฯ ผมบอกแล้วว่าความคิดของพันธมิตรฯมีความแตกต่างกัน แม้แต่คนที่ขึ้นเวทีก็มีความแตกต่างกันในกระบวนการแก้ไขปัญหาทางการเมือง อย่าไปเหมารวม อย่างผมพูดเรื่องสันติวิธีคนอื่นเขาอาจจะไม่เชื่อเรื่องสันติวิธีก็ได้ แต่เมื่อทั้งหมดมันสามารถคุมสถานการณ์ไปสู่สันติวิธีได้ก็ต้องยอมรับ แน่นอนในขบวนการสันติวิธีทั้งหมด คนที่ร่วมสันติวิธีในพันธมิตร มีไหมที่บางคนคิดเรื่องรุนแรง-มี แต่สุดท้ายกระแสของสันติวิธีมันเป็นกระแสใหญ่ ก็ต้องยอม ทำนองเดียวกันกระแสเรื่องปฏิรูปเป็นกระแสใหญ่ มันก็ต้องไปกดทับกระแสที่อยากจะทำอย่างที่คุณว่า"

            แต่คนที่มีบทบาทบนเวทีพันธมิตรฯมีท่าทีอย่างนี้ทั้งหมด 

            "ถามหน่อยหลัง 6 เม.ย.เขามีพูดไหม คนเรามันย่อมจะมีวิธีคิดในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองแตกต่างกัน แต่กระแสหลักคืออะไรล่ะ ผมว่าสนใจกระแสหลักดีกว่านะอย่าไปสนใจความเห็นส่วนบุคคลเลย"

บางทีพี่ก็ไม่ใช่กระแสหลัก เช่น จู่ๆ เขาออกมาตั้งเวทีกัน ไม่แน่ใจว่าพี่เห็นด้วยหรือเปล่า

            "คือเราก็ต้องเคารพความคิดของแต่ละคน ว่าเขามีสิทธิที่จะเสนอความเห็น แต่ประเด็นคือความเห็นของคุณก่อให้เกิดกระแสใหญ่ไหม เวลาเราต่อสู้ทางการเมือง กระแสย่อมมีหลายกระแส ถูกไหม และเราก็ไปห้ามไม่ได้ นี่เป็นความหลากหลายทางความคิด แต่มีการกำกับโดยสังคมโดยกระแสใหญ่ ถามหน่อยทหารไม่อยากรัฐประหารหรือ มีทหารบางคนอยากรัฐประหาร แต่ทำไม่ได้เพราะกระแสสังคมไม่รับ คราวก่อนทหารทำรัฐประหารสำเร็จเพราะอะไร ก็เพราะกระแสสังคมมันรับ รัฐประหารก็อยู่ได้ แต่เมื่อจะอยู่นานกระแสสังคมบอกไม่เอา ก็ต้องกลับ ฉะนั้นต้องดูว่าคนที่เขามีความคิดของตัวเอง มองวิธีการจัดการปัญหาแตกต่างกัน แต่เขาสามารถที่จะชี้นำกระแสใหญ่ได้ไหม ณ วันนี้ผมถือว่ากระแสใหญ่คือกระแสปฏิรูปการเมืองและปฏิรูปสังคม คุณเคยคุยกับพันธมิตรที่เป็นมวลชนไหม มีความเห็นแตกต่างกันมาก ผมจะบอกให้ แต่เมื่อทุกคนยอมรับกระแสใหญ่เรื่องนี้ก็ควรจะยุติ"

            ต้องถามเพราะตอนนี้สังคมไม่ไว้ใจพันธมิตรฯ

            "ไม่เป็นไร ถ้าสังคมรู้สึกคลางแคลงใจ สังคมก็ต้องแสดงตัวออกมาว่าคลางแคลงใจ เอ้าพูดกันให้สุดโต่งถ้าสังคมคลางแคลงใจว่า Vote No โดยการปฏิรูปมันนำไปสู่ปฏิรูปไม่ได้ อาจจะนำไปสู่อย่างอื่น สังคมก็อาจจะไม่ลง Vote No แต่หน้าที่ของเวทีพันธมิตรฯวันนี้ สองเดือนนี้ ทุกคนบนเวทีจะพูดกระแสใหญ่ก็คือกระแสปฏิรูป สองเดือนทำให้คนหายคลางแคลงใจหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเป็นผม ถ้าผมไม่เป็นพันธมิตรฯ ไม่ได้เป็นแกนนำ ถ้าผมเห็นด้วยกับปฏิรูปผมจะไปลงช่อง Vote No เพื่อปฏิรูป โดยผมไม่สนใจว่าใครเป็นตัวจุดประกาย แล้วหลังจากนั้นเราค่อยมาพูดกันว่าถ้าจำนวนมันมากพอเราจะจัดการเรื่องการปฏิรูปยังไง"

            ขอย้ำว่ามีคนอยากปฏิรูปการเมืองจำนวนไม่น้อย แต่ไม่ไว้ใจพันธมิตรฯ

            "คนไทยบางส่วนต้องไม่ไว้ใจตัวเองด้วย คือคุณต้องยอมรับสถานการณ์การเมืองที่มันไม่ใช่แบบยุโรปหรืออเมริกา ในอเมริกาหรือยุโรปเราจะพูดเรื่องรัฐประหารมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่การแก้ไขปัญหาทางการเมืองโดยบริบทของสังคมไทยและวัฒนธรรมของสังคมไทย และประวัติศาสตร์ของสังคมไทย วิธีคิดแบบนี้ยังมีอยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่าวิธีคิดแบบนี้จะกลายเป็นวิธีคิดที่ชี้นำสังคมไทยทั้งหมดได้ วันนี้กระแสใหญ่ไม่ต้องการให้เกิดการรัฐประหาร"

            เพราะฉะนั้นพันธมิตรฯถึงย่อยยับที่ออกมาตั้งเวทีบอกให้รัฐประหาร พอเห็นว่าไปไม่ได้เลยมาใช้กระแส Vote No (หัวเราะ)

            "คุณก็ใช้คำแรงไป และเป็นคำถามที่อคติ ขบวนการประชาชนเนื้อแท้ไม่มีย่อยยับหรอก เพราะว่าโดยสปิริตจิตใจ ผมไม่ได้หมายถึงพันธมิตรฯนะ หมายถึงการตื่นตัวของประชาชนไม่ว่าฝ่ายไหน พอเขามีความกล้าที่จะตื่นตัว คุณยับยั้งเขาไม่ได้หรอก แต่ปัญหาต่อไปคือความตื่นตัวจะเข้าไปจัดการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองแบบไหน นั่นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเสียงส่วนใหญ่บอกว่าต้องการรัฐประหาร ถึงเราไม่ชอบเราก็ต้องจำทนที่จะต้องอยู่กับมัน เราก็อยู่กับระบบรัฐประหารมาไม่รู้กี่ยุคกี่สมัยแล้ว ถ้าเรายังอยู่ตรงนี้เราก็จะต้องสร้างกระแสการปฏิรูปในกระบวนการประชาธิปไตย ก็รู้ว่ามีปัญหาเยอะ"

            ขบวนการประชาชนไม่ย่อยยับแต่แกนนำพันธมิตรฯย่อยยับไปแล้วหลายราย อัญชลี เจิมศักดิ์ สมศักดิ์ ฯลฯ โดนด่าบนเวที ก่อนที่จะชูประเด็นปฏิรูป ปัญหาคือพันธมิตรจะเดินไปข้างหน้าในสภาพนี้ไหวไหม

            "ผมไม่เห็นปัญหา ใครจะเสียเครดิตหรือได้เครดิตก็เป็นเรื่องของบุคคล แต่เราต้องจับเรื่องใหญ่คือเรื่องปฏิรูป กระแสใหญ่ ถ้าพูดภาษานักวางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีก็คืออย่าเอายุทธวิธีมาทำลายยุทธศาสตร์ เมื่อจัดการยุทธศาสตร์ได้แล้วก็ต้องปรับยุทธวิธีให้สอดคล้อง ตอนนี้ก็คือจะต้องปรับยุทธวิธีให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เท่านั้นเอง คุณอย่ากล่าวหาว่าเพราะเราไปอย่างนั้นไม่ได้ไปอย่างนี้ไม่ได้ เราไม่เคยแถลงการณ์"

            พันธมิตรฯเคยเสนอแนวคิดการเมืองใหม่ที่ไม่ยอมรับการเลือกตั้ง เช่นที่เคยตั้งตุ๊กตา 70-30 แนวคิดนี้จะยังอยู่ไหม ในการชูเรื่องปฏิรูป

            "ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง แม้แต่ผมก็ไม่ยอมรับการเลือกตั้งที่มาจากการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ไม่ยอมรับแต่จะจัดการมันยังไงล่ะ วิธีจัดการของผมก็คือทำให้ประชาชนรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจ เพราะประชาชนคนไทยเดิมทีคิดว่าตัวเองเป็นผู้อาศัยเท่านั้น และเราถูกสอนมาให้ยอมรับอำนาจรัฐ แต่วันนี้สิ่งที่ผมเคลื่อนไหวอยู่ แม้แต่พันธมิตรฯเคลื่อนไหวอยู่ คิดตรงกันหมดทั้ง 5 แกนนำ ก็คือทำให้ประชาชนรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจ ไม่อย่างนั้นเขาไม่ออกมาหรอก และไม่ใช่เขาออกมาแล้วจะตามแกนนำหมด ไม่ได้หมายความว่าแกนนำคนหนึ่งออกมาพูดแล้วเขาจะเห็นด้วยหมดร้อยเปอร์เซ็น แต่เขารู้ว่ายุทธศาสตร์ใหญ่คืออะไร เขาเกาะยุทธศาสตร์นั้น”

            “เหมือนกรณีเสื้อแดง ผมก็รู้จักคนเสื้อแดงเยอะ เขาไม่ได้ยอมรับในการนำบนเวทีหมด แต่เขาเห็นว่ายุทธศาสตร์ใหญ่ของเขาคืออะไร และเขาเห็นร่วมกัน และผมมั่นใจว่ายุทธศาสตร์ใหญ่ของมวลชนเสื้อแดงคือปฏิรูป ไม่เชื่อพิสูจน์ในอนาคต ปฏิรูปเรื่องความเหลื่อมล้ำเรื่องความไม่เป็นธรรมในสังคม หลายคนในเสื้อแดงก็ไม่เห็นด้วยที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้โดยเอาทักษิณมาเป็นตัวประกัน แต่ผมคิดว่าเขาใช้ทักษิณเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ จะสำเร็จไม่สำเร็จนั่นอีกเรื่องหนึ่ง"

            ฝ่ายก้าวหน้าในเสื้อแดงก็ต้องการปฏิรูป แต่เป้าหมายคนละอย่างกับพี่ เพราะเขาต้องการแก้ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจอย่างถอนรากถอนโคน ฝ่ายพันธมิตรคิดอย่างนั้นหรือเปล่า

            "ถามหน่อยเถอะว่ามวลชนเสื้อแดงหรือมวลชนพันธมิตรฯ มีสิทธิบอกให้ทุกคนในประเทศไทยคิดเหมือนตัวเองไหม ไม่มีนะ แต่ตัวเองมีสิทธิที่จะเสนอความคิด ถ้าสังคมยอมรับก็จะเคลื่อนไปทางนั้น อันนี้เป็นการสู้กันทางความคิด แต่อย่ามาใช้ความรุนแรงนะ อย่ามาใช้การบังคับนะ เท่านั้นเอง ผมไม่เห็นเป็นปัญหา มันไม่ใช่เรื่องผิดเรื่องถูก สุดท้ายสังคมจะบอกว่าเขาต้องการอะไร และไม่ได้บอกเลยว่าจะเอาอะไรนั้นเป็นเรื่องผิดเรื่องถูก เพราะในประวัติศาสตร์รูปแบบในการปกครองก็พัฒนาและเปลี่ยนมาเรื่อย ในยุคสมัยหนึ่งบอกเอาอย่างนี้ แต่พอมาอีกสมัยหนึ่งบอกอย่างนี้ ยกตัวอย่างเช่นตอนนี้มีการตั้งคำถามกันมากว่าประชาธิปไตยแบบอังกฤษมันเป็นปัญหาไหม เพราะจีนเองก็บอกว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย แต่กระบวนการในเลือกผู้แทนมาบริหารประเทศไม่ได้ใช้กระบวนการแบบอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศสแตกต่างจากอังกฤษ วันนี้สังคมไทยอยู่ในช่วงที่กำลังต่อสู้ทางความคิดว่าต้องการใช้รูปแบบการปกครองบริหารประเทศรูปแบบไหน"

            หลังเลือกตั้งถ้าประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล เขาจะไม่แก้อะไรมาก แต่ถ้าเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เขาจะชนกับฝ่ายที่เขาเรียกว่าอำมาตย์ เขาจะแตะโครงสร้างบางส่วนเพื่อให้ทักษิณกลับมา แต่ไม่ได้ปฏิรูปอย่างแท้จริง พลังที่ต้องการปฏิรูปจริงๆ มี 2 ฝ่าย คือมวลชนพันธมิตร อยากปฏิรูปแต่มีแนวคิดแบบปฏิเสธนักการเมืองจากการเลือกตั้ง ส่วนมวลชนประชาธิปไตยในเสื้อแดงต้องการปฏิรูปจริงๆ จังๆ ต้องการลดบทบาทสถาบัน กองทัพ ตุลาการ ออกไปจากการเมือง มันไปคนละทิศ

            "ผมคิดว่าไปในทิศทางเดียวกัน นั่นก็คือต้องการทำให้องคาพยพของสังคมไทยทั้งหมดไม่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำและความไม่ยุติธรรม แต่ในรายละเอียด แต่ละคนยังบอกกันไม่หมด เสื้อแดงก็ยังบอกไม่หมดนะว่าที่ตัวเองต้องการปฏิรูปนั้นปฏิรูปยังไง ถามกันจริงๆ ไม่รู้นะเพราะเดี๋ยวมวลชนเสื้อแดงก็ออกมาพูดอีกอย่างหนึ่ง แกนนำชูสถาบันด้วย ที่บอกว่าอยากให้ปฏิรูปสถาบันก็บอกมาสิว่าให้ปฏิรูปยังไง แกนนำก็ยังไม่มีความคิดชัดในเรื่องนี้ แต่ของพันธมิตรฯชัดเจนว่าต้องเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและทักษิณจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม"

            การปฏิรูประบบใหญ่เป็นไปไม่ได้ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์ อาจจะเป็นได้ต่อเมื่อพรรคเหล่านี้ยอมรับเงื่อนไขของการแก้วิกฤติร่วมกัน แล้วมาตั้งชุดปฏิรูปใหญ่ รัฐบาลก็บริหารประเทศไป

            "แล้วใครจะสร้างตรงนี้นอกจากมวลชนต้องเคลื่อนไหว ก็นี่ไง Vote No เราจะไปสู่ตรงนั้นVote No ไม่ใช่เป็นเรื่องให้พรรคไทยรักไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์ทำการปฏิรูปแต่ต้องเป็นมวลชน คุณต้องมองว่าช่องไหนที่มีช่องทางให้ประชาชนได้แสดงออกและมีพลังในการที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปสังคม แต่ตอนนี้ในเวลาช่วงการเลือกตั้งเราเห็นว่าช่องทางนี้เท่านั้น ที่จะแสดงพลังของประชาชน แต่คุณไปติดว่าพันธมิตรเป็นคนเสนอเพราะคุณอคติกับพันธมิตร ไม่ได้ดูยุทธศาสตร์ใหญ่"

            ตรงนี้สวนทางกัน เพราะฝ่ายก้าวหน้าในเสื้อแดงจะไม่ Vote No แต่ Vote เพื่อไทย เพื่อให้เข้ามาหักล้างกับขั้วอำนาจอีกฝ่าย แล้วจึงจะนำไปสู่การปฏิรูป แต่แน่นอนว่าไม่ใช่การสนับสนุนพรรคเพื่อไทยตลอดไป

            "ก็พูดมาให้ชัด ประกาศออกมาสิ พันธมิตรฯกล้าประกาศออกมา เหมือนอย่าง อ.ใจ ถึงผมไม่เห็นด้วยกับเขาหลายเรื่องแต่วันนี้เขากล้าออกมาว่าทักษิณหมดภาวะความเป็นผู้นำ เอาแต่เรื่องตัวเอง"

            ทุกคนแสดงความคิดเห็นอิสระ เขาไม่ได้รวมกลุ่มแบบพันธมิตร

            "ก็ไม่เป็นไร คุณจะใช้โซเชียลมีเดียแล้วจะเกิดผลสุดท้าย จะมีคนเห็นอย่างคุณว่าเข้าไป Vote No ตอนนั้นเราก็ต้องมาตีความกันว่า Vote No ของใคร ตอนนี้คุณกับผมเห็นตรงกันแล้วว่า Vote No เพื่อปฏิรูป"

ไม่ได้ Vote No ผม Vote เพื่อไทย

            "แต่คุณก็ไปเพื่อปฏิรูป อันนี้คุณแคบกว่าผมหน่อยเพราะว่าเราไม่ได้ Vote เพื่อไทยหรือเพื่อประชาธิปปัตย์ เรา Vote เพื่อปฏิรูป เสียใจด้วยนะที่คุณล้าหลังกว่าผมนิดหน่อย (หัวเราะ)"

สิ่งที่แตกต่างคือฝ่ายก้าวหน้าในเสื้อแดงต้องการหักล้างอำนาจฝ่ายจารีต เพื่อไปสู่การปฏิรูป สวนทางกับพันธมิตรฯที่อิงขั้วอำนาจเหล่านี้มาตลอด ดังนั้นเมื่อปฏิรูปก็จะแนวคิดสวนทางกันอีก

            "คุณรู้ได้ไงว่าพันธมิตรฯไม่มีความคิดเรื่องปฏิรูปทุกส่วน เราพูดเรื่องปฏิรูปใหญ่แต่ยังไม่ได้ลงรายละเอียดเท่านั้นเอง ลงรายละเอียดแล้วจะเถียงกันได้ สังคมจะต้องเกิดวิวัฒนาการและพัฒนาการไปเป็นลำดับๆ ตอนนี้เรากำลังเดินตามทฤษฎีวิวัฒนาการและพัฒนา แต่ไม่ใช่ว่าเดินไปตามขั้น เราอาจจะกระโดดข้ามขั้นบ้างถ้าเรากระโดดได้ สมัย14 ตุลากับวันนี้คุณว่ามวลชนเติบโตไหม ยอมรับกันไหมว่าเติบโต แต่ความคิดยังแตกต่างกัน เราจะจัดการความเติบโตและความคิดที่แตกต่างกันไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงได้อย่างไร นี่คือหน้าที่ของเรา แต่เราไม่ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงและความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แต่เราจะจัดการความแตกต่างนั้นให้เป็นประโยชน์กับประชาชนที่เป็นผู้เสียเปรียบในสังคมได้ยังไง นี่คืองานของเรา นี่คืองานโครงสร้างแต่เราไม่ต้องไปดัดจริตพูดว่าเราจะจัดการโครงสร้างยังไงหรอก เราจัดการความไม่เป็นธรรมในสังคม ซึ่งเป็นคำรวมมากนะ"

            ถามว่าหมอประเวศทำสำเร็จไหมล่ะ เสนอขึ้นไปก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้าไม่แตะโครงสร้างทางการเมือง มันก็แก้อะไรไม่ได้

            "สังคมมีความหลากหลาย แต่สุดท้ายสังคมจะบอกเอง มันจะเกิดมติมหาชน นี่คือการสร้างมติมหาชนหรือความเห็นร่วม นี่คือขบวนการสร้างความเห็นร่วม ตอนนี้มันอยู่ในขบวนการสร้างความเห็น แต่มันยังไม่ร่วม"

สิ่งหมอประเวศร่างมาทั้งหมดผมเห็นด้วย แต่ไม่มีประโยชน์ ไม่แตะโครงสร้างส่วนบนมันไม่มีประโยชน์

            "นี่ปฏิรูปนะครับไม่ใช่ปฏิวัติ ถ้าคุณถนัดปฏิวัติคุณก็ทำไป ถ้าสังคมเขาเอากับคุณ เอาอย่างนี้แล้วกันยุทธศาสตร์ร่วมเห็นตรงกันใช่ไหม แต่ยุทธวิธีเห็นแตกต่างเท่านั้นเอง"

ถ้าอย่างนี้คิดว่าจะไปเจอกันตรงไหน การปฏิรูปหลังเลือกตั้งหรือ

            "อาจจะเกิดและไม่เกิดนะ และมันอาจจะอีกหลายยก ไม่ได้หมายความว่า Vote No วันนี้เสร็จก็จะหมดภารกิจ ทุกคนต้องมีภารกิจที่จะทำให้กระแสปฏิรูปมันเกิดขึ้นให้ได้ ก็ไปช่วยกันทำ ถ้าเสนอวิธีไปเดี๋ยวก็ต้องมาเถียงกันอีก เราพูดยุทธศาสตร์กันดีกว่า ตอนนี้ก็มีหลากหลายวิธีการ ทำไมผมจะไม่รู้ความคิดของคนเสื้อแดง รู้ แต่ว่าสังคมเอาด้วยไหม แต่พันธมิตรพูดชัดเจนว่าจะต้องปฏิรูป ลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม ในโครงสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฝ่ายที่ไม่ต้องการอย่างนี้ก็พูดให้ชัดเจนมาสิ กล้าไหมล่ะ"

เขาก็พูดชัดเจนว่าประชาธิไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

            "ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขก็เหมือนกัน ทุกวันนี้ก็อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเหมือนกันแต่เป็นประมุข แล้วไปดูได้เลยในรัฐธรรมนูญองค์พระมหากษัตริย์ไม่ได้มีอำนาจอะไรมากมายนะ แยกระหว่างอำนาจกับบารมีนะ อำนาจกำหนดไว้ชัดเจนเลยว่าอำนาจกับรัฐสภากับรัฐบาลมีวิธีปฏิบัติอย่างไร"

ปฏิรูปกับ 112
            เห็นด้วยไหมว่าต้องแก้ไขมาตรา 112 ให้วิจารณ์ได้

            "ปรับปรุง เห็นด้วย อย่าให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่ต้องปกป้องพระประมุข นี่จำเป็น ผมว่าทั่วโลกก็ทำ"

ปกป้องนี่หมายถึงต้องวิจารณ์ได้ อย่างอังกฤษก็วิจารณ์ได้

            "ก็ต้องไปดูจะปรับปรุงบทบัญญัติข้อนี้ยังไง อย่าลืมว่าอังกฤษเขาพัฒนามา 900 ปี เวลาเราพูดมาพูดสุดยอด เราไม่ได้พูดถึงกระบวนการต่อสู้ เราลืมการพัฒนาการต่อสู้ทางความคิดกันมา 800-900 ปี วันนี้สังคมไทยพร้อมไหมล่ะ เพิ่ง 5 ปีนี้เท่านั้นเองที่ประเด็นนี้ถูกชูขึ้นมาในสังคมไทย ผมอยากจะสรุปว่ามันยังไม่สุกงอม แต่สุกงอมเมื่อไหร่มันก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง คำว่าไม่สุกงอมคือความคิดของคนทั้งสังคมยังไม่เห็นพ้องต้องกัน ผมคิดว่าตอนนี้ยังอยู่ในกระบวนการแลกเปลี่ยน"

            มันแลกเปลี่ยนไม่ได้เพราะมาตรา 112 ใครอ้าปากก็จะโดน

            "จอน อึ๊งภากรณ์ พูดกับผมเรื่องนี้ ผมบอกจอน เรื่องนี้ก่อนหน้านั้นต้องพูดใต้โต๊ะ วันนี้มาพูดบนโต๊ะ นี่พัฒนาไหม พัฒนาแล้ว แต่แน่นอนมันก็ย่อมจะมีคนที่ได้รับผลกระทบ อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา เพราะอยู่ในระหว่างการถกเถียง เช่นพวกผมก็ถูกคดีเยอะแยะเลย ไม่เห็นคุณมาเห็นใจเลย และคดีเรื่องนี้คุณสนธิก็โดนด้วย อยู่ในระหว่างถกเถียงแลกเปลี่ยนแล้วมันก็จะเคลื่อนไหวไปพัฒนาไป แต่ในระหว่างเคลื่อนไหวแลกเปลี่ยนมันย่อมมีคนกล้าที่จะออกมาพูดก็ย่อมมีผลกระทบบ้างเป็นธรรมดา"

            คนกล้าก็ซวยสิ

            "อย่าใช้คำว่าซวย ผมไม่เคยใช้คำว่าผมซวยเลยที่ถูกคดี ถ้าอย่างนั้นคุณอย่ามาเป็นผู้นำมวลชน เมื่อมีการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงย่อมได้รับผลกระทบทั้งส่วนตัวและส่วนรวม"

ปัญหาคือมาตรา 112 ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้เลย จนเกิดแรงกดดัน

            "คดีที่เข้าสู่ศาลนิดเดียว การวิพากษ์วิจารณ์เต็มไปหมดทั้งเมือง คุณมองไม่เห็น นั่นแสดงว่ากำลังสร้างวัฒนธรรมวิพากษ์วิจารณ์แล้ว แล้วพวกที่โดนก็อย่ามาโอดครวญในเมื่อคุณกล้าที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็ต้องกล้าที่จะเอาตัวเข้าไปเสี่ยง อย่ามาเจ้าน้ำตา ถ้าอย่างนั้นอย่ามาเป็นผู้นำ อยู่กับบ้าน ถ้าคุณอยากจะเป็นหัวหอกในการเปลี่ยนแปลงคุณอย่ามาโอดครวญกับผลกระทบ ไม่มีในโลกนี้ครับที่ผู้นำไม่ถูกผลกระทบ เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดถึงทักษิณอย่ามายกตัวอย่างแบบเนลสัน เมนเดลล่า อย่ามายกตัวอย่างแบบคานธี เขาไม่เคยโอดครวญครับ"

            เราไม่ได้พูดถึงทักษิณ เราพูดถึงคนที่ต้องการเสนอให้แก้ปัญหา แต่เจอมาตรา 112 ซึ่งมีโทษรุนแรง

            "ก็เหมือนกันถ้าคุณอยากเปลี่ยนแปลง คนที่เป็นหัวหอกในยุคสมัยเราก็คือ อ.สุลักษณ์ และก็เป็นที่รู้กันว่า อ.สุลักษณ์เคารพสถาบันและต้องการให้สถาบันคงอยู่ เขาก็ทำแล้ว ไม่เห็นมาโอดครวญอะไรเลย คือเราต้องดูประวัติศาสตร์การต่อสู้อันนี้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรต้องใช้เวลา 20-30 ปี แต่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลงนี้อย่าให้เลือดตกยางออก และเมื่อมีพิพากษาไปแล้วก็มีช่องทางที่จะขอลดการลงโทษได้"

            พี่พูดอย่างนี้คนที่อยู่อีกข้างเขาฟังแล้วจะโกรธมาก คือพี่พูดเหมือนสวยงาม ให้กำลังใจ แต่แกนนำพันธมิตรคนอื่นรุมถล่ม สื่อในค่ายพันธมิตรก็ปลุกกระแสโจมตีเขา

            "จอน (อึ๊งภากรณ์) มาพบผมเรื่องนี้ ผมถามว่าประชาไทก็รุมถล่มผม ผมไม่เห็นโอดครวญเลย ทางนี้เขาก็มีสื่อ ผมไม่ได้บอกว่าผมเห็นด้วยกับทั้งสองฝ่ายนะ อย่างเดียวอย่าพูดเท็จ และสิ่งที่ผมโดนถล่มในประชาไทคือพูดเท็จ ผมบอกจอนทำได้ไง คุณก็เป็นนักเสรีประชาธิปไตยนับถือกันมา เวลาเราพูดเราต้องพูดทั้งหมด อย่าพูดด้านเดียว ที่พูดถึงประชาไทเพราะมีตัวละครคือจอนอยู่ แต่ถ้าพูดถึงสื่อทั้งหมด ทุกฝ่ายก็มีสื่อของตัวเอง ปัญหาตอนนี้คืออะไรรู้ไหม ทำยังไงให้คนเสื้อแดงฟัง ASTV ทำยังไงให้คนเสื้อเหลืองฟังสื่อเสื้อแดง แต่ถ้าทำให้ทั้งสองฝ่ายฟังทั้งสองฝ่ายผมว่ามันจะเกิดมิติใหม่"

            ที่มีนักวิชาการเสนอให้ปฏิรูปสถาบัน เห็นด้วยไหม

            "เห็นด้วยกับการปฏิรูปแล้วจะพัฒนาไป ผมไม่มีความรู้เรื่องสถาบันมากนะ แต่ผมคิดว่าสถาบันก็รู้ว่าจะต้องพัฒนาไป ผมไม่ค่อยวิตกกังวลเรื่องพวกนี้เท่าไหร่ เพราะว่าทุกอย่างมีความอนิจจังโดยตัวเองอยู่แล้ว ผมไม่ค่อยวิตก ผมวิตกเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมและความไม่เป็นธรรมทางสังคมมากกว่า ผมไม่วิตกเรื่องนั้น ผมเชื่อว่าสถาบันจะอยู่ได้และค่อยๆ พัฒนาไป แต่ว่าขณะเดียวกันสังคมไทยก็ต้องหมดความเอารัดเอาเปรียบและเสรีภาพก็ต้องมากขึ้น นี่พูดหลักการเลย ผมมีความเชื่ออย่างนี้จึงไม่วิตกกังวล ขณะที่คนที่มุ่งร้ายหมายขวัญสถาบันเพราะมีความวิตกกังวลสูง"

            ฟังแล้วไม่เคลียร์ว่าเห็นด้วยไหม

            "เห็นด้วยในการปฏิรูปทุกสถาบัน สถาบันสำคัญๆ ต้องปฏิรูป ปฏิรูปจะทำให้คงอยู่ดำรงต่อไป จะปฏิรูปยังไงรายละเอียดอีกเรื่องหนึ่ง"

            ข้อเสนอปฏิรูปงสถาบันเป็นเพราะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ มีความไม่ชัดเจนในหลายๆ เรื่อง ซึ่งควรจะต้องแก้กฎหมายให้ชัดเจนเพื่อทำให้สถาบันปลอดจากการเมือง

            "ก่อนจะไปถึงการแก้กฎหมายก็ทำให้ชัดเจนก่อน และถ้ากฎหมายเป็นอุปสรรคก็ไปแก้กฎหมาย ในเมื่อคุณบอกว่ากฎหมายไม่ชัดเจนก็ทำให้ชัดเจนก่อน อันนี้ผมเห็นด้วย"

            5 ปีที่ผ่านมายอมรับไหมว่าสถาบันถูกดึงมาเกี่ยวข้องกับการเมืองมากที่สุด

            "เอาอย่างนี้นะ ผมพูดโดยหลักการ ทุกสถาบันเกี่ยวข้องกับการเมืองหมด เพียงแต่ว่าจะเกี่ยวข้องกับการเมืองแบบไหนเท่านั้นเอง แม้แต่ประชาชนทุกคนก็เกี่ยวข้องกับการเมืองหมด แต่ปัญหาว่าเราเกี่ยวข้องแบบไหนและเรามีอำนาจในการเกี่ยวข้องในการกำหนดแบบไหนเท่านั้นเอง วันนี้ที่ผมต่อสู้ก็คือว่าระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม ตั้งแต่ 2540 ถ้าร่างรัฐธรรมนูญต่อไป หลัง 2550 ต้องเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนกำหนด คือมีอำนาจมากขึ้น เราต่อสู้กันมาทีละลำดับ เดิมทีเรารู้สึกว่าเราไม่มีอำนาจ เป็นผู้อาศัย เราก็สู้มาเรื่อยจนกระทั่งรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชน ยังไม่ใช่ยอมรับอำนาจของประชาชน และสู้มาตรา 3 มา อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของปวงชนชาวไทย”

            “มันก็สู้กันทางวาทกรรมในรัฐธรรมนูญ แต่วาทกรรมในรัฐธรรมนูญยังไม่ถูกปฏิบัติเป็นจริง วันนี้วาทกรรมของฝ่ายประชาชนเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 ฉบับ 2550 ซึ่งจะบอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญของรัฐประหารก็ตาม แต่กระบวนการใช้ส.ส.ร.มันพัฒนามาจากรัฐธรรมนูญ 2540 แต่พัฒนาในแบบประชาชนยังอยู่ชายขอบอำนาจ ฉะนั้นถ้าจะปฏิรูปใหม่ประชาชนต้องอยู่ในส่วนของอำนาจ    แต่ไม่ได้บอกว่าเข้าไปอยู่ในสภาผู้แทนฯนะ ยกตัวอย่างเช่นถ้าเสนอกฎหมายประชาชนต้องเป็นกรรมาธิการ จะเข้าชื่อกันจำนวนเท่าไหร่และเวลาออกเสียงไม่ใช่สภาฯตัดสินกฎหมายของประชาชน ต้องนำไปสู่การลงประชามติด้วย อันนี้คืออำนาจ ไม่อย่างนั้นเราเสนอแทบตายผู้แทนก็เสนอกฎหมายสวมเข้ามา แล้วกรรมาธิการเราก็ได้แค่ 3-4 คน มันไม่มีความหมาย"

            "หรือเกี่ยวกับเรื่อง EIA HIA ต้องมีบทลงโทษในกรณีที่นักวิชาการเขียน EIA HIA ผิดนักวิชาการต้องถูกลงโทษติดคุกด้วย มันต้องให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้นๆ นี่คือเส้นทางของผม และอำนาจของประชาชนที่เพิ่มขึ้นก็จะเกิดสมดุลทางอำนาจ และก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นหลักของผมคือสร้างความสมดุลทางอำนาจขึ้นมา เพราะฉะนั้นในการเคลื่อนไหว Vote No เพื่อจะนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปอะไร ปฏิรูปที่ประชาชนมีส่วนกำหนด ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนกำหนด"

เข็ดองค์กรอิสระ
            ปัญหาที่ไม่ไว้วางใจคือแนวคิดของพันธมิตรฯ ที่ไม่ยอมรับการเลือกตั้ง ยกตัวอย่างตอนนี้สังคมไม่ยอมรับ สว.สรรหา พันธมิตรฯ ยอมไหมถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับไปสู่การเลือกตั้ง

            "ต้องกลับไปสู่การเลือกตั้ง แต่ต้องพูดให้หมด ต้องทำให้การเลือกตั้งไม่มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงให้ได้ ไปพร้อมๆ กัน ถ้าการเลือกตั้งยังมีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงอยู่ ความคิดของสังคมก็จะแกว่งไปแกว่งมา แต่สรรหาก็พิสูจน์แล้วว่าไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่สรรหาสว.อย่างเดียว สรรหาเยอะแยะไปหมด ไม่ประสบความสำเร็จ ตอนนี้สังคมกำลังหากลไกใหม่ในการที่จะหาคนที่มาบริหารประเทศว่าจะใช้กลไกอะไร ถ้าเราบอกว่าให้เลือกตั้งและไม่มีซื้อสิทธิ์ขายเสียงเลย พูดแล้วมันก็เป็นไปไม่ได้ แล้วจะทำยังไงล่ะ ทำยังไงให้การเลือกตั้งซึ่งยังมีซื้อสิทธิ์ขายเสียงแต่มีการคานอำนาจกัน เช่นยกตัวอย่าง vote no ผมคงสามารถสรุปได้ว่า vote no ไม่เกิดจากการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ไม่มีใครไปจ้างให้คนไป vote no หรือไม่มีใครไปจ้างให้นอนหลับทับสิทธิ์ ถ้า vote no คะแนนชนะในเขตใดต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ต่อไปต้องให้ vote no เป็นกฎหมาย มีผล เอาละคุณซื้อสิทธิ์ขายเสียงมาไม่เป็นไร แต่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการซื้อสิทธิ์ขายเสียงผมว่ามีจำนวนมากนะ มากกว่าพวกซื้อสิทธิ์ขายเสียง แต่เขาไม่มีผลของการแสดงตนเท่านั้นเอง ต่อไปถ้าแพ้ Vote No ต้องเลือกตั้งใหม่ พรรคการเมืองนั้นไม่มีสิทธิ์ส่งส.ส.คนเดิม จะต้องเลือกคนใหม่มา และจะต้องยกเลิกสังกัดพรรค เพราะฉะนั้นพวกปราชญ์ชาวบ้านจะเกิด ในหมู่บ้านในชุมชน เพราะตอนแรกไม่กล้าลง ไม่มีเงินซื้อเสียง ฉะนั้นจะต้องแก้รัฐธรรมนูญเรื่องสังกัดพรรค"

            "สองถ้า vote no แพ้แต่การเลือกตั้งนั้นผู้ชนะคะแนนไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ อันนี้ก็จะทำให้การลงทุนซื้อสิทธิ์ขายเสียงยากขึ้นๆ เอาละถ้าเขาลงทุนมากขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็จะถอนทุนคืน ก็ต้องแก้กฎหมายเกี่ยวกับการตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชั่น หนึ่งคนที่สมัครต้องเปิดเผยข้อมูลหมดว่าตัวเองมีทรัพย์สินเสียภาษีมายังไง ผู้สมัครนะ เหมือนอย่างเกาหลีใต้ทำ ใครที่เลี่ยงภาษีต้องถูกติดคุก คุณทักษิณโดนคดีแรกนะเลี่ยงภาษี ถึงแม้ว่าจะไปออกกฎหมายให้ตัวเองรอดก็ตาม"

            “ผมกำลังเสนอเป็นรูปธรรม เพราะถ้าพูดถึงการซื้อสิทธิ์ขายเสียงไม่ให้มีเลยเป็นไปไม่ได้ แต่เรากำลังพูดถึงระบบที่ทำให้การซื้อสิทธิ์ขายเสียงต้องลงทุนมาก แต่ลงทุนมากก็จะมีข้อโต้แย้งว่ารัฐบาลจะทุจริต เราก็ไปแก้กฎหมายเรื่องทุจริต เปิดเผยทรัพย์สินของผู้สมัครและเปิดเผยตลอดเวลาในทางอินเตอร์เน็ต และไม่ให้คดีทุจริตคอร์รัปชั่นมีอายุความ ให้ประชาชนสามารถดำเนินคดีทุจริตคอร์รัปชั่นได้ รวมทั้งมีกองทุนการดำเนินคดีทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะไปพึ่งป.ป.ช.ก็พึ่งได้แค่ส่วนเดียว คือมันต้องแก้หลายอัน และอีกอันหนึ่งก็คือต้องปฏิวัติวัฒนธรรมในเรื่องสัจจะไม่มีความหมายเลย สามารถพูดโกหกกันได้โดยไม่มีผล"

            แนวคิดเดิมๆ ของพันธมิตรไม่ยอมรับการเลือกตั้งเพราะเห็นว่าซื้อสิทธิ์ขายเสียง ถ้าเราปฏิรูปการเมืองกันใหม่ยอมรับไหมว่า สมมติ สว.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แล้วก็รณรงค์กันไป สู้กันไป 5 ปี 10 ปีมันยังมีซื้อเสียงอยู่ เรารณรงค์สู้กันไปสิ แต่ก็ต้องยอมรับระบบอำนาจมาจากการเลือกตั้ง

            "เห็นด้วย คุณต้องใช้คำนี้ดีกว่า ไม่ยอมรับระบบการเลือกตั้งที่มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธระบบการเลือกตั้งได้ คำว่าไม่ยอมรับแต่ไม่สามารถปฏิเสธ คนละเรื่องกันนะ ไม่ยอมรับเป็นสิทธิ แต่ปฏิเสธนี่เป็นความจำยอมที่ไม่สามารถปฏิเสธได้"

            มันไม่มีวิธีอื่นที่ดีกว่าการเลือกตั้ง

            "การเลือกตั้งต้องมีต่อไปแต่จะจัดการการเลือกตั้งอย่างไร ประเด็นคือตรงนี้"

ปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2550 คือไม่เอาเลือกตั้งแล้วไปเอาอะไรมาก็ไม่รู้

            "ก็บอกแล้วว่าไม่เห็นด้วย ต้องให้มีการเลือกตั้ง แต่ต้องจัดการการเลือกตั้งด้วย เวลาพูดต้องพูดให้หมดว่าตอนนั้นที่เราปกป้องรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะอะไร เพราะว่าเราคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนั้นไปสู่การลงประชามติเรียบร้อยแล้ว สองถ้าจะมีการแก้ พันธมิตรไม่ได้ปฏิเสธการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ถ้าจะแก้ต้องกลับไปถามประชาชนใหม่ แต่อภิสิทธิ์ไม่ทำ ผมพูดตั้งแต่ต้น และ 193 วันแถลงการณ์ก็ชัด ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญต้องไปถามประชาชน พูดชัดและให้สัมภาษณ์เติมที่แถลงการณ์ด้วย"

            ถ้าหลังเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยเขาชูประเด็นแก้รัฐธรรมนูญโดยลงประชามติ

            "ก็เห็นด้วยถ้ากลับไปถามประชาชนว่าควรจะแก้รัฐธรรมนูญไหม แต่ตอนนี้มันเลยขั้นตอนนั้นมาแล้ว รัฐบาลไม่ทำตามที่พันธมิตรเสนอจึงได้มีปัญหา ไปแก้รัฐธรรมนูญแค่ 2-3 มาตรา เราไม่ใช่ไม่ตำหนิอภิสิทธิ์ เราตำหนิแต่คุณไม่ค่อยฟังเวลาเราตำหนิอภิสิทธิ์ ชอบฟังเวลาชมอภิสิทธิ์ (หัวเราะ)"

            ถ้ามีการแก้รัฐธรรมนูญโดยล้างอะไรต่างๆ จาก 2550

            "ผมว่าตอนนี้มันก้าวเลยไปแล้ว เรามาคิดกระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับดีกว่า"

มันมีประเด็นค้างคากันอยู่ ความคิดที่แตกต่างกันมากในรัฐธรรมนูญคือความคิดเรื่องเอากลไกที่จากการสรรหา หรือกลไกของศาล ขององค์กรอิสระ เข้ามามีอำนาจมากเกินไป มันเป็นกลไกที่ไม่เป็นประชาธิปไตย องค์กรเหล่านี้ควรจะเป็นองค์กรประชาชนแทนที่จะมาจากศาลหรือ ข้าราชการ

            "นี่เป็นวิธีการลองผิดลองถูกของกระบวนการประชาธิปไตยในเมืองไทย เมืองไทยตอนนี้อยู่ในระหว่างการลองผิดลองถูก ตอนนี้ก็พิสูน์มาแล้วว่าลองอันนี้มันไม่ถูก เพราะฉะนั้นผมจึงเสนอว่าจะต้องปฏิรูปการเมืองใหม่ เขียนรัฐธรรมนูญ และแน่นอนสิ่งที่รู้ว่าผิดไม่ควรจะไปปรากฏในรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้าไปเขียนในรายละเอียดก็ได้ อย่างเช่น สว.สรรหาถ้าเห็นพ้องกันว่าไม่ควรมี รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ไปกำหนดไม่ให้มีซะ การเลือกตั้งมีปัญหาเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียงเราก็ต้องไปสร้างเงื่อนไขให้การซื้อสิทธิ์ขายเสียงมันลำบากขึ้นหรือลงทุนมากขึ้น เราอาจจะแยกสภานิติบัญญัติกับรัฐบาลออกจากกันอะไรอย่างนี้ มันทำได้เยอะเลย ที่ทำให้ขบวนการซื้อสิทธิ์ขายเสียงไม่มีการถอนทุนคืนเมื่อมีอำนาจ มันต้องคิดกลไกพวกนี้มา สังคมไทยตั้งแต่ 2475 เป็นช่วงลองผิดลองถูกตลอดเวลา"

            แนวคิดที่ไปพึ่งอำมาตย์ข้าราชการเกษียณ เข้ามาเป็นองค์กรอิสระ ให้มามีอำนาจมาก แนวคิดนี้ตกไปหรือยัง

            "กลไกรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 เปิดโอกาสให้ข้าราชการเข้ามาอยู่ในองค์กรอิสระ อันนี้ต้องแก้ไข ข้อสองมันกลายเป็นที่ถ่ายโอนคนที่องค์กรนั้นไม่ต้องการเข้ามาในองค์กรอิสระ และสาม ความไม่ใส่ใจของตัวแทน แม้แต่มหาวิทยาลัยก็ไม่ใส่ใจที่มีตัวแทนมาเป็นกรรมการ ผมเป็นกรรมการสรรหามาหลายชุดนะ สรุปคือปัญหาอยู่ที่คน เรามีการทดลองกันหลายแบบ ปรากฏว่าทดลองแล้วก็ไม่สำเร็จ ฉะนั้นผมจึงได้ตกผลึกว่าต้องเอาอำนาจมาให้ประชาชนมากขึ้นๆ เรื่อยๆ และประชาชนออกแบบเอง แต่ตอนนี้ประชาชนยังไม่มีอำนาจมาก การออกแบบในขบวนการประชาธิปไตยมันจึงผสมกันระหว่างฝ่ายข้าราชการกับฝ่ายประชาชนส่วนหนึ่ง แต่สุดท้ายอำนาจของข้าราชการมีมากกว่าฝ่ายประชาชน ในองค์กรอิสระนี่เห็นได้ชัดเจนว่าฝ่ายประชาชนเข้าไปเป็นตัวแทนน้อยมาก อันนี้ก็ชัดเจน"

            เป็นแนวคิดพึ่งผู้วิเศษ

            "ไม่ใช่ ผมว่าอำนาจของใครมีมากกว่ากันอำนาจนั้นเป็นคนจัดการ อำนาจข้าราชการประจำยังมีมากอยู่ ไปสุมหัวรวมกับอำนาจของนักการเมือง มันก็เลยเป็นอย่างนั้น ในองค์กรอิสระเป็นตัวแทนของฝ่ายการเมืองกับฝ่ายข้าราชการประจำ ฝ่ายประชาชนน้อย ฉะนั้นถ้าจะทำให้ฝ่ายประชาชนมากขึ้นก็ต้องสร้างอำนาจของฝ่ายประชาชนเพิ่มขึ้นๆ เพราะฉะนั้นวันนี้เราจึงจะเอา vote no เพื่อแสดงอำนาจของประชาชน ผมคิดอย่างนี้ หัวใจสำคัญของ vote no ว่าประชาชนคิดอย่างนี้และพอเราชูว่าคิดอย่างนี้คืออะไร คือปฏิรูป และต่อไปเราก็จะพูดเนื้อหาปฏิรูปกัน แต่นื้อหารายละเอียดเราคงไม่พูดกันมากเพราะว่าเดี๋ยวมันจะมีความเห็นแตกต่างกัน ขอให้เอาธงปฏิรูปก่อน ปฏิรูปแล้วรายละเอียดค่อยหลังจากนั้น แต่ตอนนี้ถ้าไปพูดเนื้อหาก็จะเถียงกันเหมือนเราเอ่ย 30:70"

            ที่ต้องถามจี้คือต้องการซักว่าถ้ามีปฏิรูปคราวนี้ จะยอมรับอำนาจจากการเลือกตั้งหรือเปล่า ไม่ปฏิเสธใช่ไหม

            "ไม่ยอมรับแต่ไม่สามารถปฏิเสธได้ ต้องใช้คำนี้"

มันเป็นกลไกที่มาของอำนาจ ไม่มีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้

            "มันยังไม่มีวิธีอื่น ต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งของเรามีปัญหาเนื่องจากซื้อสิทธิ์ขายเสียง การเลือกตั้งในอเมริกา-ยุโรปไม่มีปัญหา เคยมีปัญหานิดเดียวที่ฟลอริดา มีคนสงสัยกันมากว่ามีการเปลี่ยนบัตรคะแนนหรือเปล่า สุดท้ายศาลตัดสินว่าไม่ แต่ว่าคนก็คลางแคลงใจ เขาก็มีแต่ว่าเปอร์เซ็นต์มันน้อยมาก แต่ของไทยนี่เปอร์เซ็นต์ในการซื้อสิทธิ์ขายเสียงมันมากเหลือเกิน แล้วคุณจะให้ยอมรับหรือ คุณยอมรับได้เหรอส.ส.ที่มาจากการซื้อสิทธิขายเสียง คุณก็ไม่ยอมรับ แต่คุณยังหาวิธีการไม่ได้ต่างหากที่จะทำให้การเข้าสู่อำนาจจะใช้วิธีไหน"

            หาวิธีการที่ดีกว่านี้ไม่ได้ ก็ยังดีกว่าไปเอาระบอบขุนนางเข้ามา

            "เขาจบไปแล้ว เขาไม่มีความคิดเรื่องนี้แล้ว"

            ไม่ต้องการให้กลไกอำมาตย์อยู่ในรัฐธรรมนูญอีกแล้วใช่ไหม

            "เขาควรจะมีสิทธิเหมือนประชาชนธรรมดา และสิทธิการเข้าสู่จะต้องเป็นสิทธิเสมอกัน แต่ตอนนี้การเข้าสู่โดยคุณสมบัติมันทำให้กีดกันฝ่ายประชาชนออกไป ฉะนั้นต้องแก้เรื่องคุณสมบัติเสียใหม่ และคุณก็ต้องยอมรับความจริงอันหนึ่งนะ เรามีความล้มเหลวเรื่องระบบการศึกษา และล้มเหลวมานานเต็มที จนกระทั่งประชาชนไม่มีความกล้าพอที่จะตื่นตัวทางคุณภาพ เรามีปัญหาเรื่องคุณภาพประชาชนจริงๆ รวมถึงข้าราชการด้วยนะ เป็นผลผลิตของระบบการศึกษาและผลผลิตแบบสื่อ รวมทั้งดอกส้มสีทองด้วย"

            เป็นผลผลิตของระบอบอุปถัมภ์

            "สรุปแล้วการปฏิรูปสังคมต้องปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปทุกส่วน"

            เสื้อแดงเขาก็กำลังปลุกให้สู้กับระบบอุปถัมภ์อยู่

            "ก็ดี แต่อย่าทำเกินเลยไปจนกระทั่งทำให้เกิดความรุนแรงก็แล้วกัน จุดอ่อนของแกนนำก็คือทำให้เกิดความเกลียดชังและทำให้นำไปสู่การใช้ความรุนแรง เวลาพูดต้องแยกแกนนำกับมวลชน เหมือนกันเวลาจะพูดถึงพันธมิตรก็เหมือนกัน"

            “แต่เราจะเห็นด้วยไหมว่าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น สอง ให้ลดประสิทธิภาพการซื้อสิทธิขายเสียง สามลดอำนาจระบบราชการ ก็คือกระจายอำนาจเสีย กระจายไปให้หมด ยกตัวอย่างเช่นกระทรวงศึกษา เลิกเป็นเจ้าของโรงเรียน ให้อบต.เทศบาลเป็นเจ้าของ ทำหน้าที่เฉพาะทางวิชาการ เปลี่ยนเป็นหลักสูตร 30:30:30 คือหลักสูตรชุมชน 30 หลักสูตรเด็ก 30 หลักสูตรกระทรวง 30 อย่างเวลานี้เด็กโรงเรียนในศรีสะเกษไม่รู้เรื่องปราสาทพระวิหารเลย เพราะไม่ได้อยู่ในหลักสูตร ก็ต้องแก้พวกนี้ วันหยุดโรงเรียนให้หยุดวันทำนาจะได้แก้ปัญหาเรื่องแรงงานได้หมดเลย เด็กก็จะไปเรียนรู้กับพ่อแม่ ทำนาตั้งแต่เล็ก"

            เห็นไหมคิดกันคนละอย่าง คิดเรื่องกระทรวงศึกษา ผมคิดเรื่องศาล เรื่องทหาร ลดอำนาจระบบราชการ

            "ก็ต้องยกตัวอย่างสิ่งที่ผมถนัดสิ ผมเห็นด้วยว่าต้องลดอำนาจทหารในการเกี่ยวข้องทางการเมือง เพียงแต่ผมยกตัวอย่างสิ่งที่ผมถนัดหน่อย(หัวเราะ) ประเด็นของผมคือต้องแก้ทุกภาคส่วน แก้เฉพาะจุดไม่ได้ vote no ที่นำไปสู่ปฏิรูปการเมืองหรือเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้หมายความว่าไปเขียนรัฐธรรมนูญได้ก้าวกระโดด ผมไม่ได้หวังขนาดนั้น เพราะการเขียนรัฐธรรมนูญที่ก้าวกระโดดเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 สุดท้ายวัฒนธรรมไทยรับไม่ได้ มันก็ไปไม่ได้ ผมอยู่องค์กรอิสระมาผมเห็นเลย สภาที่ปรึกษาที่เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติผมพูดได้เลยว่าเป็นกระบวนการสรรหาที่ดีที่สุด แต่ไปไม่ได้ เพราะวัฒนธรรมมันไม่รับ วัฒนธรรมคนที่เข้ามันเป็นวัฒนธรรมอำนาจนิยมและอุปถัมภ์นิยม มันก็ไปจัดทำให้กระบวนการสรรหากลายเป็นอำนาจนิยมและอุปถัมภ์นิยมไป เพราะฉะนั้นต้องมีการปฏิวัติวัฒนธรรมด้วย ซึ่งก็ต้องมาปฏิวัติการศึกษา ปฏิวัติพุทธศาสนาด้วย ก็ต้องแก้เยอะ  แต่ว่ามันคงไม่ได้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่เราคิดว่าจะปฏิรูปได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก แต่มันขยับๆ "

            สรุปว่ารัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ สร้างองค์กรรุงรังมาเพียบ

            "ตอนนั้นผมก็ชื่นชมนะ ผมเป็นคนชื่นชมองค์กรอิสระมากที่สุดในรัฐธรรมนูญ 2540 แต่วันนี้ผมหมดความหวังกับองค์กรอิสระ เพราะวัฒนธรรมข้าราชการก็ดี วัฒนธรรมศักดินาก็ดี ชนชั้นล่างที่ถูกสร้างวัฒนธรรมอำนาจนิยม"

2 เดือนสร้างเครดิต
            ในความเป็นจริงจะมีคน Vote No เท่าไหร่ เพราะคน 2 ส่วนที่ต้องการปฏิรูปการเมืองคือหนึ่งมวลชนพันธมิตร กับสอง มวลชนก้าวหน้าในเสื้อแดง ซึ่งก็จะเลือกเพื่อไทยเพื่อเข้าไปสู้กับอำนาจจารีต พลังสองส่วนที่ต้องการปฏิรูปการเมืองจะขัดแย้งกันแน่นอน

            "ผมยังไม่ด่วนสรุปว่า vote no จะเยอะไม่เยอะ ผมคิดว่าเวทีพันธมิตร 2 เดือนนี้จะเป็นเวทีที่จัดการเรื่องเนื้อหาเรื่องการปฏิรูปและทิศทางการปฏิรูป และถ้าเราทำสำเร็จ vote no จะเยอะ มาจากกลุ่มที่เบื่อการเมือง มาจากกลุ่มที่เบื่อประชาธิปัตย์ มาจากกลุ่มที่เห็นว่าการเมืองจะเป็นทางตัน แต่ปัญหาที่ถูกถามคือว่า vote no แล้วจะไปทำอะไรได้ ตอนนี้ก็มีบางสื่อบอกว่า vote new เป็นการแก้เกม vote no เราต้องตอบได้ว่าหลังจากได้ vote no แล้ว สมมติ 5 ล้าน 10 ล้านแล้วจะไปทำอะไร ผมก็อธิบายบนเวทีว่าพลังของฝ่ายประชาชนถ้ามีจำนวนมากพอจะเกิดการเคลื่อนไหวเชิงคุณภาพ อันนี้เป็นทฤษฎี ผมเชื่อทฤษฎีนี้ และผมในฐานะประชาชนจริงๆ ไม่เคยเข้าไปอยู่ในอำนาจหรือแม้แต่เป็นข้าราชการ เราก็สร้างพลังประชาชนมาให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะๆ มาได้จริงๆ แต่ปัญหาว่าเราจะทำยังไงให้คนเชื่อเท่านั้นเอง แต่จะเชื่อไม่เชื่อก็แล้วแต่ ผมคิดว่ามันเป็นการแสดงออกทางเดียวที่เราจะทำได้ ในการที่จะแสดงปฏิกริยา แน่นอนคนไปลง vote no อาจะไม่ถึงปฏิรูปการเมือง แต่บอกฉันเกลียดแกฉันไม่ชอบแก ก็ไม่เป็นไร แต่ต่อไปก็ต้องถามว่าเมื่อเกลียดหรือไม่ชอบแล้วจะทำอะไรต่อไป อันนี้เป็นงานที่เราต้องทำหลังการ vote no คำว่าหลังไม่ใช่หมายความว่าต้องพาประชาชนชุมนุมเดินขบวนนะ ไม่ใช่ เดี๋ยวไปตีความผิด เราก็ต้องแปรพลังนี้เป็นพลังที่สร้างสรรค์นำไปสู่การปฏิรูปการเมือง"

            ที่ซักถามมาก็คือ เครดิตของพันธมิตรตอนนี้ แม้แต่ในสายตาสื่อที่เคยสนับสนุนก็มีปัญหา

            "ไม่เป็นไร สร้างขึ้นใหม่ได้ เราจะใช้เวลา 2 เดือนนี้สร้างเครดิตขึ้นมาใหม่ และสอง เราจะต้องแปรสภาพการนำของพันธมิตรเป็นการนำขององค์การที่หลากหลาย ซึ่งผมก็จะนัดคุยกับองค์กรภาคประชาชนอีกหลายองค์กร เขาไม่จำเป็นต้องมาประกาศเหมือนพันธมิตร เหมือนกรณีที่ครป.ประกาศว่าเลือกตั้งเพื่อการปฏิรูป เขาไม่ได้ประกาศ vote no นะ แต่ต่อไปเราก็ต้องถามว่าเลือกตั้งเพื่อการปฏิรูปจะไปกาช่องไหนล่ะ"

            ยุบพันธมิตรหรือสร้างแนวร่วมใหม่ องค์กรใหม่ที่เสนอ Vote No

            "สร้างแนวร่วมใหม่ในการทำเรื่อง vote no พันธมิตรเป็นคนริเริ่ม ใช่ แต่พันธมิตรไม่ควรจะผูกขาดในการเป็นเจ้าของ vote no หรือการปฏิรูป และกระแสการปฏิรูป”

            แนวร่วมสหพันธ์พันธมิตรประชาชนเพื่อการ vote no (หัวเราะ)

            "แซวอยู่เรื่อย คุณอคติกับพันธมิตร"

หลังเลือกตั้งถ้าพรรคเพื่อไทย มีเสียงพอที่จะไปสู่การเสนอแก้รัฐธรรมนูญ สมมติเขาเสนอลงประชามติแล้วตั้งส.ส.ร.

            "ก็ไปดูในรายละเอียดว่า ส.ส.ร.จะมาจากไหน เรายังไม่รู้ว่าถึงเวลานั้นเขาจะเสนออะไร แต่เราชัดเจนว่าถ้าเสนอให้นิรโทษกรรมทักษิณเราคัดค้าน เอาอย่างนี้แล้วกัน ฝากถามมวลชนเสื้อแดงฝ่ายก้าวหน้า คุณเป็นฝ่ายปฏิรูปเห็นว่าควรจะปฏิรูปเรื่องความเหลื่อมล้ำความไม่เป็นธรรมไหม ผมเห็นด้วย แล้วเรามาพูดกัน เพราะฉะนั้นเสื้อแดงที่ก้าวหน้ากับพันธมิตรที่ก้าวหน้าต้องมาร่วมกันจัดการ ส.ส.ของทักษิณที่มุ่งที่จะนิรโทษกรรมทักษิณเท่านั้น"

แต่ก็ต้องจัดการกับฝ่ายที่มีอำนาจอยู่ปัจจุบันก่อน

            "ก็จัดการทักษิณด้วยสิเพราะทักษิณก็เป็นฝ่ายมีอำนาจ ทักษิณไม่มีอำนาจหรือ มี ตอนนี้ใช้อำนาจเงินเต็มที่เลย ถ้าจัดการผู้มีอำนาจต้องจัดการทุกฝ่ายนะ จะยกเว้นทักษิณไว้ทำไม”

ไม่ใช่ยกเว้นแต่เขามาตามระบอบประชาธิปไตย ตรวจสอบโดยอำนาจประชาธิปไตย แต่ขั้วอำนาจที่มาจากรัฐประหารต้องจัดการก่อน

             "ตอนนี้การเลือกตั้งครั้งใหม่ก็ถือว่าจัดการแล้ว เอาอย่างนี้นะในส่วนของผมต้องจัดการทั้ง 2 ส่วน ทักษิณต้องไม่กลับมามีอำนาจอีก แต่กลับมาทำแบบบิล เกตต์ ได้ ตั้งมูลนิธิได้ คุณจะปล่อยให้คนแบบทักษิณเข้ามาเล่นการเมืองได้ไง ไม่ใช่ตัวทักษิณเท่านั้นนะ คนแบบทักษิณ ผมว่าผมยอมไม่ได้"

            อาจจะต้องยอมรับว่าเขามีอำนาจได้เพราะเขามาจาการเลือกตั้ง

            “แต่เราก็มีอำนาจที่จะจัดการอำนาจเขา”

ต้องว่ากันไปตามระบบ โดยไม่เอาอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยว

            "อย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวเราไม่ได้เป็นคนเอามา ขอปฏิเสธก่อน"

เขามาเองหรือ

            "มาเอง คุณไปสั่งให้ทหารรัฐประหารได้หรือ พูดอย่างตรงไปตรงมานะ ทหารรัฐประหารด้วยความเห็นของตัวเขาเอง แต่เขาอ้างประชาชนเท่านั้น พออ้างประชาชนคุณก็หาว่าประชาชนที่ถูกอ้างเห็นด้วยกับเขา ไม่จริง"

            น่าสงสารทหาร ตอนนี้ทุกคนออกมาด่ารัฐประหารกันหมดเลย บอกว่าตอนนั้นไม่ได้เชียร์ ทหารออกมาทำไม

            "ผมพูดอย่างมีรูปธรรมนะ ตอนนั้นเราออกแถลงการณ์ 5 แกนนำสลาย แล้ว ครป.แถลงการณ์คัดค้าน ไม่ใช่คัดค้านอย่างเดียว ผมทำจดหมายถึงคณะอนุกรรมการสิทธิฯ ขอลาออกจากอนุกรรมการ และผมเสนอให้คณะกรรมการสิทธิฯ ลาออกทั้งคณะ เขาจะตั้งผมเป็นอะไร ผมไม่รับทั้งหมด ตั้งผมเป็นกรรมการไปแล้วทั้งที่ผมไม่ยอม โทรมาขอเบอร์บัญชี จะโอนค่าเบี้ยประชุมให้ ผมก็ไม่บอก ผมทำหมดนะครับ เพียงแต่อย่างเดียวคือผมไม่ได้มาลงถนนอย่างคุณติเท่านั้นเอง"

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เลือกตั้ง 54 : “นัจมุดดีน อูมา” พรรคมาตุภูมิ “หัวหน้าพรรคมุสลิมจุดขายในชายแดนใต้”

Posted: 15 May 2011 05:03 AM PDT

พรรคมาตุภูมิ คือพรรคน้องใหม่ ยังไม่เคยลงสนามเลือกตั้ง แต่ก็มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)แล้ว 3 คน หนึ่งในนั้นคือ นายนัจมุดดีน อูมา รองเลขาธิการพรรคมาตุภูมิ ส.ส.นราธิวาส

วันนี้พรรคมาตุภูมิหมายมั่นปั้นมือมากว่าจะกวาดที่นั่ง ส.ส.ในชายแดนใต้ให้ได้อย่างน้อย 6 ที่นั่ง ให้สมกับที่ชูจุดขายความเป็นพรรคที่มีหัวหน้าเป็นมุสลิมด้วยกันกับคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ คือ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช.(คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) เส้นทางสู่เป้าหมายมีอะไรเป็นกลยุทธ์ อ่านสัมภาษณ์พิเศษ ‘นัจมุดดีน อูมา’ ได้ดังนี้

สัมภาษณ์พิเศษ นัจมุดดีน อูมา พรรคมาตุภูมิ การเลือกตั้งทั่วไปปี 2554
นัจมุดดีน อูมา รองเลขาธิการพรรคมาตุภูมิ

ทำไมถึงมาสังกัดพรรคมาตุภูมิ

แต่เดิมพวกเราเริ่มมาจากพรรคความหวังใหม่ ในนามกลุ่มวะห์ดะห์ แต่พอมาปี 2546 พรรคความหวังใหม่มีมติให้ยุบรวมกับพรรคไทยรักไทย พอถึงปี 2548 เราได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่สอบตกยกทีมเพราะสาเหตุจากเหตุการณ์ตากใบที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2547 ต่อมาปี 2549 พรรคไทยรักไทยถูกยุบ จึงมีการตั้งพรรคพลังประชาชนในปี 2550

ต่อมาปี 2551พรรคพลังประชาชนก็ถูกยุบอีก เราเลยมาร่วมกันหารือว่า อยู่พรรคไทยรักไทยก็ถูกยุบ อยู่พรรคพลังประชาชนก็ถูกยุบ ถูกยุบถึงสองครั้ง เราก็คิดหนักว่า จะเอายังไงกับอนาคตทางการเมืองข้างหน้า

จากนั้นเราก็ได้ไปปรึกษาหารือกับผู้หลักผู้ใหญ่ทางการเมือง ในกลุ่มนั้น มีพลเอกสนธิรวมอยู่ด้วย ซึ่งพลเอกสนธิมีความสนใจที่จะรื้อฟื้นกลุ่มการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้รวมตัวเป็นหนึ่ง

หลังจากนั้นเราก็ได้ร่วมกันเดินทางไปทำพิธีอุมเราะห์(หมายถึง การเยี่ยมเยียนสถานที่พำนักของท่านศาสดามูฮัมหมัด ที่นครมักกะห์(เมกกะ) ประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นการปฏิบัติศาสนกิจอย่างหนึ่ง สามารถกระทำได้ตลอดทั้งปี) ที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย มีท่านวันนอร์(นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตรองนายกรัฐมนตรี) ท่านอารีเพ็ญ (นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส พรรคมาตุภูมิ) พลเอกสนธิ และผมเอง

เราได้ปรึกษาหารือถึงทิศทางข้างหน้าว่า เราจะเดินกันยังไง จากนั้นเราก็ได้พูดคุยกับนักการเมืองเชื้อสายมาลายูอีกหลายคน ทั้งในกลุ่มวะห์ดะห์เก่าและนักการเมืองหน้าใหม่

หลังจากนั้นเราได้ข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะเดินหน้าทางการเมืองต่อ แต่เราได้พูดคุยกับพลเอกสนธิแล้วว่า เราก็ต้องเดินหน้าต่อไป อีกอย่างเรามองว่า ที่ผ่านมาในเมืองไทยยังไม่มีหัวหน้าพรรคที่เป็นมุสลิมที่มีศักยภาพเหมือนพลเอกสนธิ การเป็นหัวหน้าพรรคไม่ไช่ว่าใครจะมาเป็นก็ได้

เป็นคนที่มากด้วยประสบการณ์ เคยผ่านตำแหน่งราชการระดับสูงมาหลายครั้ง ทั้งผู้บัญชาการทหารบก ประธาน คมช.(คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) ในสมัยรัฐบาลพลเอกสรยุทธ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และเคยฝากผลงานกับเราไว้แล้ว เช่น โครงการผลิตพยาบาล 3,000 คนเพื่อมาทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าไม่ใช่การผลักดันของพลเอกสนธิคงจะสำเร็จยาก เพราะโครงการนี้มีพลเอกสรยุทธและพลเอกสนธิเป็นหัวเรือใหญ่

อีกเรื่องคือ มีอยู่สมัยหนึ่งที่รัฐมีโยบายที่จะยุบโรงเรียนตาดีกาที่มีระยะทางใกล้กับโรงเรียนประถมของรัฐไม่ถึง 1 กิโลเมตร โดยให้ยุบมารวมกับโรงเรียนประถมของรัฐ ซึ่งเกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากโต๊ะอีหม่ามและครูสอนตาดีกา

หลังจากนั้นทางคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสจึงได้ไปพบหารือกับพลเอกสนธิ ซึ่งตอนนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ท่านจึงเรือกผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสมาหารือ เพื่อให้ระงับคำสั่งและนโยบายดังกล่าว โรงเรียนตาดีกาจึงสามารถดำเนินการสอนมาได้ถึงทุกวันนี้

ด้วยเหตุนี้ เราจึงคิดว่า ถ้านักการเมืองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่รวมตัวเป็นหนึ่ง โอกาสที่จะประสบความสำเร็จคงยาก ความสำเร็จในที่นี้คือ เก้าอี้รัฐมนตรี ซึ่งเป็นตัวแทนของคนในพื้นที่ เพราะการเมืองบ้านเรา ถ้าเพียงแค่อยากเป็น ส.ส. ประโยชน์ที่ได้ก็ไม่เท่าไหร่ แค่อยากเป็น ส.ส. กินเงินเดือนโก้ๆ ก็พอได้ แต่ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์เท่าไหร่

เรามีตัวอย่างจากอดีตที่ผ่านมา เช่น เราได้ต่อสู้เพื่อการได้มาของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยมา 20 ปี แล้วมาประสบความสำเร็จสมัยที่เรารวมกลุ่มกัน เราต่อสู้ให้ได้เงินตอบแทนโต๊ะอีหม่าม เงินตอบแทนครูตาดีกา ทั้งหมดคือความสำเร็จที่มาจากพลังทางการเมืองของพวกเรา

จะถามว่า เมื่อไหร่ชาวมาลายูเราจะได้เป็นรัฐมนตรี คำตอบนั่นคือ ก็ต่อเมื่อเรารวมตัวเป็นกลุ่มเดียวกัน นายเด่น โต๊ะมีนา (อดีตหัวหน้ากลุ่มวะห์ดะห์) นายวันมูหมัดนอร์ มะทา นายอารีเพ็ญ อุตรสินธิ์ ทั้งหมดเคยเป็นรัฐมนตรี เพราะมาจากการรวมกลุ่มวะห์ดะห์ในตอนนั้น ในตอนนี้ถ้าเราไม่หวังถึงจุดนั้น ก็คงยากที่จะมีอำนาจต่อรองทางการเมือง

ดังนั้น พล.อ.สนธิ มีความเห็นที่ชัดเจนว่า จะทำยังไงให้ได้เก้าอี้ ส.ส. 5 – 6 ที่นั่งขึ้นไป ถ้าได้ เราสามารถไปต่อรองกับรัฐบาลในสมัยหน้าเพื่อขอเก้าอี้รัฐมนตรีให้กับคนมุสลิม นี่คือหลักการที่ชัดเจนของพวกเรา พรรคอื่นไม่กล้าพูดถึงขนาดนี้ เก้าอี้รัฐมนตรีจะพูดหรือให้ลอยๆไม่ได้ หากไม่มี ส.ส. ในกลุ่ม 5 ที่นั่งขึ้นไป ตอนนี้พรรคมาตุภูมิ มี ส.ส.แล้ว 3 ที่นั่ง

พรรคมาตุภูมิได้รายชื่อว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือยัง

ตอนนี้มีโผออกมาค่อนข้างแน่นอนแล้ว แต่ยังไม่เป็นทางการ รอเพียงการลงมติของพรรคเท่านั้น ได้แก่ ในจังหวัดนราธิวาส เขต 1.นายไฟซอล ตอยิบ ลูกนายอูมา ตอยิบ อดีต สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จังหวัดนราธิวาส เขต 2.นายสามารถ วาหลง อดีตสมาชิกสภาจังหวัดนราธิวาสหลายสมัย เขต 3.คนผมเอง และเขต 4.นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ทนายความ

จังหวัดยะลา เขต 1.ยังไม่มีคนที่จะส่งลงสมัครเลือกตั้ง เขต 2.นายอามิน มูน๊ะ อดีตประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา เขต 3.นายฮาฟิส ฮิเล นายกสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดยะลา

จังหวัดปัตตานี เขต 1.นายสนิท อาแว เขต 2.นายอารีเป็ง จะปะกียา อดีต ส.ส. จังหวัดปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ เขต 3.นายมะ ซูซารอ อดีตกำนัน และเขต 4.นายมุข สุไลมาน อดีต ส.ส.กลุ่มวะห์ดะห์

ส่วนการเลือกตั้งในระบบสัดส่วน หรือปาร์ตี้ลิสต์ อันดับ 1 คือ พลเอกสนธิ อันดับ 2 นายมั่น พัธโนไท เลขาธิการพรรค อันดับ 3 นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อันดับ 4 นายเด่น โต๊ะมีนา

5 ที่นั่งที่พรรคมาตุภูมิตั้งความหวังไว้ จะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

จากที่ดูกระแสการตอบรับหลังจากพล.อ.สนธิ ได้ลงพื้นที่ ปรากฏว่าชาวบ้านในสามจังหวัดให้การต้อนรับดีมาก เพราะยังไม่เคยมีพรรคที่มีหัวหน้าพรรคเป็นมุสลิม ชาวบ้านตื่นตัวมาก ในพื้นที่สามจังหวัดเราหวังเป็นพิเศษ ส่วนทั่วประเทศเราหวังเพียงแค่ 15 ที่นั่ง ซึ่งก็คงมากพอสำหรับพรรคเล็กๆอย่างเรา

พูดง่ายๆคือ เรายกความเป็นหัวหน้าพรรคมุสลิมของ พล.อ.สนธิมาเป็นจุดขายในสามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อจะมาแก้ปัญหาในสามจังหวัดชายแดนใต้ เรามั่นใจในศักยภาพของพล.อ.สนธิ ว่า จะสามารถทำได้ โดยเฉพาะนโยบายการเมืองนำการทหาร

พรรคมาตุภูมิเปิดพื้นที่ให้กับคนศาสนาอื่นด้วยหรือไม่

ตรงนั้นก็แล้วแต่ประชาชน เราไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เราพร้อมเปิดกว้างอยู่แล้ว อย่างเช่นเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดยะลา ที่ตอนนี้ยังไม่มีใครลง ใครสนใจเราก็ยินดี สามารถมาพูดคุยกันได้ ดังนั้นเราจึงเก็บเขต 1 ยะลาไว้ เผื่อคนศาสนาอื่น

หากได้ที่นั่งส.ส. ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ใครจะได้เป็นรัฐมนตรี

ใครจะไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีก็คงเป็นไปตามมติของพรรค แต่โดยปกติเราจะยึดตามหลักความอาวุโสอยู่แล้ว นี่คือหลักการที่เราได้ตั้งไว้และสามารถเกาะกลุ่มกันมาจนถึงทุกวันนี้

เราจะไม่มีการแย่งเก้าอี้รัฐมนตรี เพราะมันจะนำไปสู่การแตกวงของกลุ่มวะห์ดะห์ แม้ว่าจะแพ้หรือชนะการเลือกตั้ง แต่เราก็เกาะกลุ่มกันได้ตลอดในระยะเวลากว่า 20 ปี

เราต้องยึดความเป็นมลายูเป็นหลัก เราต้องไม่ไปเลือกเสื้อแดงหรือเสื้อเหลืองแต่เราจะยึดผลประโยชน์ของชาวมลายูเป็นหลัก

ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างของประเทศเพื่อนบ้าน ถึงแม้ว่าจะมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนมลายู แต่ทุกสมัยจะมีคนเชื้อสายจีน เชื้อสายอินเดีย เป็นรัฐมนตรีอยู่ด้วย เพื่อที่จะดูแลคุ้มครองผลประโยชน์ของคนเชื้อสายของตนเอง

แต่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีคนมลายูเป็น สส.ถึง 12 ที่นั่ง แต่ถามว่า มีคนมลายูได้เป็นรัฐมนตรีหรือไม่ ไม่มี เพราะนี่แหละคือผลของการไม่เกาะกลุ่ม ทำให้ไม่มีคนในพื้นที่เป็นรัฐมนตรี

นี่คือหลักคิดของการตั้งพรรคมาตุภูมิ คือต้องมีคนมุสลิมได้เป็นรัฐมนตรี ดังนั้นอยากให้สื่อได้ชี้ให้ประชาชนได้เห็นถึงความสำคัญของกลุ่มการเมืองที่มีอำนาจในการต่อรอง

พรรคมาตุภูมิมีนโยบายการแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร

เราได้ชูนโยบายการเมืองนำการทหารเป็นกลยุทธ์สำคัญ เราจะผลักดันทบวงกิจการจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราเคยเชิญ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้(CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มาร่วมพูดคุยกับพล.อ.สนธิ ท่านก็เห็นด้วยกับแนวทางของเรา เพราะมันมาจากความต้องการของประชาชน

สำหรับเมืองไทยแล้ว การที่จะทำอะไรๆขึ้นมา มันไม่ใช่ง่าย ถ้าพูดถึงนครปัตตานี ใครๆก็เห็นด้วย แต่จะทำจริงๆตามที่เราต้องการ คงยาก นี่คือความจริง

ทบวงกิจการจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีรัฐมนตรีมารับผิดชอบการบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรงหนึ่งคน เราต้องต่อสู้ให้ได้องค์กรใหญ่ก่อน ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยก็ต้องค่อยมาว่ากัน

มีนโยบายเรื่องการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบหรือไม่

เราจะต่อสู้เรื่องทบวงก่อน ถ้าเรื่องทบวงไม่ได้รับการตอบรับจากผู้มีอำนาจ เรื่องการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบ ก็ไม่ต้องเอ่ย เพราะหัวใจมันอยู่ตรงนี้ ปัญหาบ้านเรามันต้องมีเจ้าภาพ ตอนนี้จะให้ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) เป็นเจ้าภาพ ก็ยังไม่ชัดเจน เพราะยังไม่มีอำนาจพอ มันต้องมีอำนาจระดับรัฐมนตรี เมื่อพูดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมันถึงจะมีอำนาจพอ ถ้าระดับแค่งานฝากก็คงทำอะไรไม่ได้

ลองหยั่งเสียงการตอบรับจากประชาชนบ้างหรือยังในนโยบายของพรรค

อันที่จริง ประชาชนยังไงก็ได้ทั้งนั้น แต่เราต้องมาคิดในสิ่งที่ประชาชนรับได้ สิ่งไหนที่เป็นความต้องการของประชาชน แต่โอกาสที่จะผ่านความเห็นชอบของฝ่ายความมั่นคงไม่มี ก็คงทำไม่ได้

เรื่องทบวงเป็นสิ่งเกิดขึ้นได้ ทบวงเป็นสิ่งกลางๆ เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ ให้มีอำนาจชัดเจนในการบริหารงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนจะกลัวว่า จะไปทับซ้อนกับงานของ ศอ.บต.นั้น ก็ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะเราต้องมีการแก้ไขในข้อกฎหมายอยู่แล้ว

ศอ.บต.ก็ทำงานไปไม่มีปัญหาอยู่แล้ว แต่ก็ต้องมาแก้ไขในส่วนของโครงสร้างการบริหารงานภายใน ศอ.บต. ก็เหมือนกับการมีพระราชบัญญัติ ศอ.บต.จากเดิมที่ไม่มี แต่ทบวงเราจะมีรัฐมนตรีรับผิดชอบเรื่องการบริหารกิจการในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง

ส่วนเรื่องความมั่นคงนั้น เราจะเข้าไปก้าวก่ายไม่ได้ รวมถึงเรื่องการต่างประเทศ เราก็จะไปยุ่งไม่ได้ ก็เหมือนกับแนวคิดการมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง ทำได้แต่คงเป็นไปได้ยาก

เราแค่จะจัดการกระชับโครงสร้างการบริหารจัดการ ไม่ใช่จะล้มล้างระบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาค การพูดเรื่องการเปลี่ยนโครงสร้างระบบราชการให้มันปากมัน คงพูดได้ แต่ในทางปฏิบัติเป็นเรื่องยากมาก

นโยบายของเรา ส่วนใหญ่ยึดตามรายงานผลการพิจารณาศึกษาปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้สภาผู้แทนราษฎร ในชุดที่ผมเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการ

ผมเชื่อมั่นว่า ถ้าเราทำงานตามผลการศึกษานี้ สังคมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแน่นอน เพราะที่ผ่านมาแค่ทำการศึกษาอย่างเดียว แต่ไม่เคยนำผลการศึกษามาปฏิบัติจริง ซึ่งผลการศึกษานี้เป็นที่มาของนโยบายพรรคมาตุภูมิ โดยการจัดตั้งทบวงการบริหารกิจการชายแดนใต้

ในผลการศึกษานี้ มีหลายเรื่องที่คณะกรรมาธิการได้เสนอรัฐบาลไปแล้ว แต่รัฐบาลก็ไม่รับ อย่างเช่น ข้อเสนอให้ตั้งสมัชชาประชาชนจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นที่มาของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของศอ.บต. แต่รัฐบาลไม่ยอมใช้คำว่าสมัชชา เพราะเห็นว่าคำนี้แรง เรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องการจัดตั้งสภาผู้รู้ศาสนาระดับตำบล รัฐบาลก็ไม่รับ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 8 - 14 พ.ค. 2554

Posted: 15 May 2011 03:20 AM PDT

ก.แรงงานวอนทำโพลล์ก่อนยุบกองทุนประกันสังคมรวมหลักประกันสุขภาพ

8 พ.ค. 54 - นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเปิดการสัมมนา ความรู้คู่แรงงานไทย ทางเลือกในการประกันสุขภาพของแรงงานในระบบประกันสังคมไทย ที่จัดขึ้นโดย สภาองค์การลูกจ้าง ร่วมกับสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า ขณะนี้เกิดปัญหาความไม่เชื่อมั่นในระบบประกันสังคม หลังมีกระแสเรียกร้องให้มีการรวมกองทุนกับระบบหลักประกันสุขภาพ เนื่องจากสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนได้รับด้อยกว่าสิทธิพื้นฐานที่ประชาชน ไทยได้ ทำให้ไม่เห็นความต่าง ซึ่งทำให้ทางสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จัดการหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลให้ผู้ประกันตนขึ้น หลังจากนี้จะขอให้หน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจความคิดของประชาชน จัดทำผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกันตนขึ้น หลังได้รับทราบข้อมูล เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ และบริการที่ได้รับในประกันสังคม และสิทธิพื้นฐานในระบบหลักประกันสุขภาพว่า ผู้ประกันตนจะต้องการอยู่ในระบบของกองทุนประกันสังคมอีกหรือไม่ หรือหากต้องการให้มีการปรับปรุงเพิ่มสิทธิประโยชน์ในจุด

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวด้วยว่า  สาเหตุที่ สปส.ไม่จ้างหน่วยงานหรือทำผลสำรวจความคิดเห็นนั้น เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดคำครหา  ส่วนการขยายเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลให้ได้ครอบคลุมทุกแห่งมาก ขึ้น และไม่จำกัดว่า ต้องรับการรักษาได้ในเฉพาะโรงพยาบาลในสังกัดเท่านั้น จากการหารือกับกระทรวงสาธารณสุข เป็นที่น่ายินดีว่า สามารถขยายการรับบริการไปในโรงพยาลบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้ทุกแห่ง โดยทาง สปส.จะวางระบบ และจัดสรรค่าใช้จ่าย พร้อมการประกันความเสี่ยงไปให้ และขณะนี้อยู่ในระหว่างการหารือกับโรงพยาบาลในสังกัดกทม. และกองทัพ

(สำนักข่าวไทย, 8-5-2554)

สปส.ดึงแนวร่วมต้านแผนโอนค่ารักษาพยาบาลผู้ประกันตนให้ สปสช.

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่กระทรวงแรงงาน ได้จัดสัมมนาเรื่องทางเลือกประกันสุขภาพของแรงงานไทยและผู้ประกันตนระบบประกันสังคม : เสือหรือจระเข้มีผู้ใช้แรงงานกว่า 300 คนเข้าร่วม ทั้งนี้ นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเปิดงานว่า ปัจจุบันมีกว่า 100 ประเทศที่ใช้ระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นหลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขแตกต่างกันไป เป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกันเองไม่ต้องรอหวังพึ่งใคร สำหรับประเทศไทยมีระบบประกันสังคมครบ 20 ปีในปีนี้ จุดแข็งที่สุดคือสมาชิกทุกคนเป็นเจ้าของและสามารถให้ข้อคิดเห็นได้ บางครั้งสปส.อาจใจแตกและฟุ้งเฟ้อไปบ้างแต่ก็กลับตัวกลับใจได้ ตอนนี้ถือว่ามีความมั่งคั่งและเข้มแข็ง สปส.เป็นหนุ่มหล่อที่ใครก็อยากได้ และมีการใช้วิชามารเข้ามาทำให้เกิดความเสียหาย ให้ร้ายว่าทำผิดกฎหมายบ้าง จะเก็บเงินจากสมาชิกก็ไม่ได้ ทั้งๆ ที่ทำมาตั้งนานแล้ว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนายสมเกียรติกล่าวเปิดงาน ทันตแพทย์หญิงสุขุมาลย์ บุญเรืองศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มแพทย์/ทันตแพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลที่ตรวจและรักษา ผู้ป่วยประกันสังคมเข้ายื่นหนังสือขอให้ข้อมูลความจริงจากแพทย์/ทันตแพทย์ใน ทีมรักษาพยาบาลผู้ป่วยประกันสังคม และบัตรทองเพื่อประกอบการพิจารณา โดยระบุว่า มีข่าวและมีข้ออ้างตามสื่อต่างๆ ในทำนองว่าระบบบัตรทองเหนือกว่าระบบประกันสังคม พร้อมทั้งรณรงค์ให้แรงงานงดการจ่ายเงินประกันสังคม ในฐานะที่พวกตนดูแลรักษาทั้งผู้ป่วยบัตรทองและประกันสังคมเห็นว่าไม่เป็น ความจริง ผู้ป่วยในระบบบัตรทองไม่ดีตามที่อ้าง
 
นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนสับสนระหว่างบัตรทองกับ สปส.ว่าอะไรดีกว่ากันเนื่องจากมีการโน้มน้าวปลุกปั่นให้หยุดจ่ายเงินสมทบ เหมือนกับบัตรทอง ทางเลือกของคนอยู่บนเส้นแบ่งที่ไม่รู้จะไปซ้ายหรือขวา และความเป็นจริงที่ผ่านมาฟังจนชินหูว่าบัตรทองดีกว่าประกันสังคมเพราะเปิด อยู่เพลงเดียว ดังนั้นต้องเปิดอีกเพลงหนึ่งเพื่อให้รู้ว่าเพลงไหนไพเราะกว่ากัน

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สปส.กล่าวว่า ในระบบ สปส.ให้บริการทั้งโรงพยาบาลเอกชนและรัฐบาล โดยเอกชนมีกว่า 90 แห่งที่เป็นโรงพยาบาลหลักและมีเครือข่ายอีกนับพัน แต่ สปสช.มีในกทม. 18 แห่ง ซึ่ง สปส.เน้นที่โรงพยาบาล(รพ.) แต่ สปสช.เน้นที่หน่วยปฐมภูมิ การใช้ รพ.ขนาดใหญ่สามารถเข้าถึงบริการได้ตลอด แต่สถานพยาบาลระดับปฐมภูมินั้น ทำงานตามเวลาราชการ นอกจากนี้การจ่ายให้ รพ.ไม่ใช่แค่เหมาจ่าย แต่ สปส.ยังจ่ายเฉพาะอีกมากมาย เช่น การล้างไตด้วยการฟอกเลือด การปลูกถ่ายไขกระดูก ฯลฯ ที่นักวิชาการบางคนพยายามบอกว่า สปส.แย่กว่านั้น เป็นการจงใจให้เกิดความเข้าใจผิดเรื่องที่ สปส.ดีกว่ากลับไม่พูดถึง
 
พญ.ประชุมพร บุรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป กล่าวว่า ผู้ประกันตนจำนวนมากเล่าให้ฟังว่า ยอมไม่ได้หากต้องถูกย้ายจาก สปส.ไปไว้ สปสช. เพราะระบบบัตรทองเป็นระบบโรงทานฟรี การที่บอกว่าบัตรทองเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ดี ก็คงดีจริง เพราะแพทย์และพยาบาลแทบไม่มีเวลาเข้าห้องน้ำเลย แม้พยายามขยับขยายแต่ก็ไม่สามารถทำได้มากกว่านี้ ขอให้ผู้ประกันตนชั่งใจกันให้ดีว่าอยากได้แบบไหน แต่เพื่อนร่วมงานทั้งหลายที่เป็นผู้ประกันตนนับพันคนไม่มีใครอยากได้บัตรทอง แม้แต่คนเดียว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พญ.ประชุมพรนำภาพบรรยากาศการรักษาพยาบาลแห่งหนึ่งใน รพ.บุรีรัมย์มาฉายให้ผู้ร่วมสัมมนาดู โดยเปรียบเทียบกับ รพ.อีกแหน่งหนึ่งใน จ.สุรินทร์ เพื่อชี้ให้เห็นถึงระบบบัตรทองที่มีคนไข้อย่างเนืองแน่นและต่อคิวยาว บางคนต้องนั่งรออยู่กับพื้น แตกต่างจากผู้ป่วยของ สปส.ที่กันพื้นที่พิเศษไว้ให้ผู้ป่วยของ สปส.
 
นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กทม. กล่าวว่า สมัยเป็น ส.ว.ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้คัดค้านไม่ให้เอาระบบประกันสังคมไปรวมกับบัตรทอง รัฐบาลขณะนั้นต้องการเอาเงินทุกระบบมาไว้ด้วยกัน แต่ ส.ว.ต่อต้าน ในที่สุดประกันสังคมถูกแก้กฎหมายว่าพร้อมเมื่อไรถึงมารวม พอสิบปีให้หลังเอาอีกแล้ว น.ส.สารี (อ๋องสมหวัง) ประกาศว่าสงสารที่ทุกคนเสียเงินและให้ไปรักษาฟรีและเอาเงิน 0.8% ไปไว้ที่ประกันว่างงาน ตรงนี้อย่าไปเชื่อ เพราะไปเมื่อไร นายจ้างจะไม่ยอมจ่ายเงิน ดีชั่วอย่างไรระบบประกันสังคม ผู้ใช้แรงงานก็ตรวจสอบได้ แต่หากไปทางนั้นแทบไม่มีเสียงเลย จากการที่เคยดูแลตัวเองได้ต้องกลายไปเป็นขอทาน เพราะปัญหาสุขภาพอย่าเห็นว่าฟรีอย่างเดียว การจัดการเป็นระบบเดียวทั้งประเทศเลิกไปหมดแล้ว ใครรวมกันตรงไหนได้ก็อยู่ตรงนั้น ราชการก็อยู่ในส่วนราชการ ผู้ประกันตนก็อยู่ในส่วนของผู้ประกันตน คนที่ดูแลตัวเองได้แล้วมาเฉลี่ยกัน

(มติชนออนไลน์, 8-5-2554)

เอ็นจีโอจวกปลัดแรงงานทำคนเข้าใจผิดจุดยืนเรียกร้องประกันสังคม

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง โฆษกชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน เปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมไม่ต้องจ่าย เงินสมทบค่ารักษาพยาบาล ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะเอาเงินของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) มาไว้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดังนั้นการที่นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดสปส.) ที่พูดอย่างซ้ำๆ เพราะต้องการขยายความเข้าใจผิดทั้งที่รู้ดีว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

ขอให้สบายใจได้ว่าไม่ใช่การยึดกอง ทุนแน่นอน วาทะกรรมแบบนี้เป็นการจับแพะมาชนแกะ เอาคนละเรื่องเดียวกันมาทำให้เป็นเรื่องเดียวกัน ตอนนี้เรากำลังพูดถึงเรื่องความไม่เป็นธรรมที่ผู้ประกันตนต้องเผชิญ อยู่น.ส.สารีกล่าว

น.ส.สารี กล่าวว่า การให้ภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลไม่ใช่การสร้างนิสัยรับของฟรี และไม่ได้ทำให้ประชาชนเป็นขอทาน เพราะสิทธิด้านสุขภาพถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับอย่างเสมอ หน้า ส่วนตัวเห็นว่าผู้ที่เปรียบเทียบกำลังสร้างวาทกรรมที่ดูถูกประชาชนอยู่

"ช่วงก่อนที่จะมีระบบหลักประกัน สุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง กลุ่มคนหน้าเดิมๆ ก็เคยโจมตีเช่นนี้ นั่นเพราะเขาเสียผลประโยชน์จากการเสวยสุขระบบเก่า การคัดค้านก็เพราะเห็นแก่ประโยชน์ตัวเอง และสุดท้ายก็พิสูจน์แล้วว่าระบบบัตรทองทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับ ประโยชน์"น.ส.สารี กล่าว

นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า ผลการวิจัยเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนว่าสิทธิประโยชน์ใดที่ระบบประกันสังคมดี กว่าบัตรทอง และสิทธิใดที่บัตรทองดีกว่า ยืนยันว่าไม่ได้จงใจให้ข้อมูลด้านเดียว อย่างไรก็ตามภายหลังเปิดเผยผลการวิจัยทำให้สปส.เร่งปรับสิทธิประโยชน์หลาย รายการ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยสนใจจึงถือว่าสำเร็จระดับหนึ่ง

(โพสต์ทูเดย์, 9-5-2554)

เผยปี 53 มีคนงานประสบอันตราย 1.4 แสนคน เสียชีวิต 650 ราย

นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวระหว่างเป็นประธานพิธีเปิดงาน”10 พฤษภาคม วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติที่อาคารกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (ส่วนแยกตลิ่งชัน) กรุงเทพฯ ว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อรำลึก 18 ปีโศกนาฏกรรมคนงานโรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ จ.นครปฐม เมื่อปี พ.ศ.2536 ที่มีพนักงานเสียชีวิต188 คน และบาดเจ็บ 469 คน เนื่องจากสถานประกอบการมุ่งแต่การผลิตไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยและคุณภาพ ชีวิตของแรงงาน ดังนั้น รัฐบาลจึงได้เห็นชอบให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ โดยได้กำหนดให้สถานประกอบการต้องดูแลความปลอดภัยของแรงงาน หากไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษเข้มงวดมากขึ้น ขณะเดียวกันจะมีการจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยฯ และกองทุนความปลอดภัยฯ ขึ้น ซึ่งกระทรวงแรงงานจะเสนอของบประมาณจัดตั้งกองทุนนี้ประมาณ 1 พันล้านบาท แต่ในรัฐบาลชุดนี้คงไม่สามารถดำเนินการได้ทัน เพราะยุบสภาเสียก่อน ดังนั้น จึงจะเสนอของบประมาณจากรัฐบาลชุดหน้า

"จากข้อมูลของกรมสวัสดิการฯ พบว่ามีแรงงานที่ลางาน 3 วัน เพราะประสบอุบัติเหตุจากการทำงานในปี พ.ศ.2543 อยู่ที่ 9.69 คน ต่อ 1 พันคน ปี พ.ศ.2549 อยู่ที่ 7.02 คน ต่อ 1 พันคน   และ ปี พ.ศ.2553 อยู่ที่ 5.22 คน ต่อ 1 พันคน จะเห็นว่าสถิติลดลงเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม การเริ่มบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ ระยะแรกคงยังไม่เน้นการลงโทษ แต่จะให้กรมสวัสดิการฯ ลงไปตรวจสอบตามสถานประกอบการต่างๆ และให้คำแนะนำในการดูแลความปลอดภัยแก่นายจ้างและลูกจ้างก่อน" ปลัดแรงงาน กล่าว

นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า ใน ปี พ.ศ.2553 พบว่ามีแรงงานประสบอันตรายจากการทำงาน 149,539  คน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 650  คน ทุพพลภาพ 10 คน สูญเสียอวัยวะ 2,157 คน โดยแรงงานที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานจะได้รับเงินจากกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน ซึ่งทั้ง 2 กองทุนได้จ่ายเงินทดแทนไปทั้งสิ้น 1,592 ล้านบาท ขณะเดียวกันได้ดำเนินคดีกับสถานประกอบการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 ในช่วงวันที่ 1 ต.ค.2553- 1 พ.ค.2554 จำนวน 215 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีความปลอดภัยในการทำงาน 54 คดี เป็นเงินค่าปรับรวมกว่า ล้านบาทและในจำนวนนี้เป็นเงินค่าปรับจากการที่แรงงานประสบอุบัติเหตุในการทำ งานกว่า 4 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งของเงินค่าปรับทั้งหมด

"พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ กำหนดบทลงโทษสถานประกอบการที่ไม่ดูแลความปลอดภัยของแรงงานเข้มข้นขึ้นโดยจาก เดิมที่กำหนดมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 2 แสนบาท เพิ่มเป็นจำคุก 2 ปีปรับ 8 แสนบาท" นางอัมพร กล่าว

(แนวหน้า, 10-5-2554)

ผู้ใช้แรงงานแสดงจุดยืนตั้งสถาบันความปลอดภัยฯ เป็นองค์กรอิสระ

10 พ.ค. 54 - เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน ใช้โอกาสครบรอบ 18 ปี โศกนาฏกรรมเคเดอร์ แสดงจุดยืนขอให้สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำ งาน เป็นองค์กรอิสระ เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ พัฒนาสวัสดิภาพแรงงานไทยให้ก้าวหน้า

นางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวเนื่องในโอกาส 18 ปี 188 ศพ โศกนาฏกรรมเคเดอร์ ถึงจุดยืนในการขับเคลื่อนผลักดันการจัดตั้ง สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่เป็นดั่ง ฝันของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งสถาบันฯ ดังกล่าว อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่จะมีการประกาศใช้ใน วันที่ 16 กรกฎาคมนี้ ว่าในการจัดประชุมยกร่างกฎหมาย สะท้อนให้เห็นว่า ฝ่ายผู้ใช้แรงงานและฝ่ายรัฐมีมุมมองที่ต่างกันอย่างชัดเจน โดยฝ่ายรัฐมองว่า สถาบันฯ ควรเป็นหน่วยงานระดับกองภายใต้กรมสวัสดิการ ต่างจากความต้องการของผู้ใช้แรงงานที่ต้องการให้สถาบันฯ เป็นองค์กรอิสสระ ในการบริหารจัดการ ภายใต้การกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ในโอกาสครบ 18 ปีโศกนาฏกรรมเคเดอร์ ปีนี้ จึงถือโอกาสพัฒนาสวัสดิภาพแรงงานไทยอีกก้าว จากสถิติ ปี 2553 แรงงานไทยบาดเจ็บจากการทำงาน 140,000 คน เสียชีวิตกว่า 600 ราย หรือเสียชีวิตวันละ  2 ราย ยังไม่รวม คนงานที่ป่วยจากสารเคมีและมลพิษในโรงงาน

นางสมบุญ กล่าวต่อว่า จุดยืนการสนับสนุนให้ตั้งสถาบันฯ เป็นองค์กรอิสสระ จะทำให้มีการเข้าไปรวบรวม เก็บข้อมูล การทำงานในโรงงาน ในที่ทำงานเพื่อนำมาวิจัย ศึกษา มีการทำงานแบบไม่ยึดติดระบบราชการ เป็นต้น จึงถือโอกาสวันนี้ แถลงจุดยืนของผู้ใช้แรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบและไม่ปลอดภัยจากการทำงาน และร่วมผลักดันให้เป็นผลสำเร็จ โดยมีเครือข่ายผู้ใช้แรงงาน หลายองค์กร อาทิ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย เป็นต้น แสดงจุดยืนขอให้จัดตั้งสถาบันฯ เป็นองค์กรอิสระ และให้กระทรวงแรงงาน ดำเนินการจัดเวทีประชาพิจารณ์ร่วมกับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ เพื่อรับฟังความคิดเห็น และนำมาเป็นแนวทางในการยกร่างกฎหมายต่อไป

สำหรับนางสมบุญ ขณะนี้เป็นผู้ป่วยโรคบิสซิโนซิส หรือโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย กล่าวว่า แม้จะมีความพยายามเคลื่อนไหวเกือบ 20 ปีแล้ว ยังพบว่าแรงงานไทยยังมีความไม่ปลอดภัยในโรงงาน ไม่มีเครื่องมือป้องกันที่มีประสิทธิภาพ หากสถาบันฯ เริ่มทำงาน คาดว่าจะมีการเข้าไปศึกษาปัญหา และหาทางป้องกันและแก้ไขได้

ส่วนในเวทีสาธารณะ "18 ปี โศกนาฏกรรมเคเดอร์ กับการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ในฝันของผู้ใช้แรงงานจะเป็นจริงหรือไม่ ?" นอกจากมีการประกาศจุดยืนข้างต้นแล้ว ยังมีเวทีเสวนา บทเรียนและความเจ็บปวด ปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน กับการเข้าถึงสิทธิ กล่าวเปิดงานโดยนายชาญ สะทองแป้น ผู้แทนครอบครัวผู้ถูกผลกระทบจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเคเดอร์ ว่าเหตุการณ์เมื่อ 18  ปีที่เกิดขึ้นกับ ครอบครัวตนเอง และแรงงานในโรงงานเคเดอร์และครอบครัว นับเป็นเหตุกาณ์สะเทือนขวัญ
ซึ่งหากไม่เกิดเหตุการณ์ ตนเอง ภรรยา และ ลูกชาย คงมีชีวิตครอบครัวที่มีความสุข ไม่ต้องสูญเสียคนรักไปอย่างไม่มีวันกลับ และเหตุการณ์นั้นทำให้หลายภาคส่วนเคลื่อนไหวประเด็นสุขภาพในการทำงาน  และหวังว่าการเคลื่อนไว ในการจัดตั้งสถาบันฯ จะประสบความสำเร็จต่อไป

(สำนักข่าวไทย, 10-5-2554)

ผู้บริหาร เคเอฟซีเผยเลิกจ้างเพราะใช้อีเมล์บริษัทผิดระเบียบ

จากกรณี พนักงานระดับผู้จัดการเขต 3 คนของ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจรานไก่ทอดเคเอฟซีและพิซซ่าฮัทในไทย ได้ทำการเรียกร้องเปลี่ยนสภาพการจ้างงานต่อบริษัทซึ่งมีทั้งหมด 10 ข้อ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา พร้อมใช้อีเมล์ของบริษัท อ้างตัวเป็นตัวแทนของกรรมการสวัสดิการลูกจ้างของยัมฯ ส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังพนักงานที่อยู่ระดับล่างลงมาให้เกิดการเข้าใจผิดซึ่ง ส่งผลให้ทั้ง 3 คนนี้พ้นจากสภาพการเป็นพนักงานของยัมไปแล้วนั้น
      
นายมิลินท์ พันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ เบื้องต้นทางทีมผู้บริหารได้มีการเรียกพนักงานทั้ง 3 คน เข้ามาพูดคุยถึงสิ่งที่ทั้ง 3 คนต้องการแล้ว พร้อมนำเอาความต้องการทั้ง 10 ข้อดังกล่าวเก็บไว้เป็นข้อมูลไว้ในแผนธุรกิจเพื่อใช้วางแผนการพัฒนาด้าน สวัสดิการของพนักงานต่อไป
      
ทั้งนี้ที่ผ่านมาทางบริษัทมีนโยบายในการเก็บข้อมูลความต้องการด้าน สวัสดิการของพนักงานอย่างต่อเนื่อง พร้อมพัฒนาให้มีสวัสดิการที่ดีและแข่งขันได้ในกลุ่มธุรกิจรูปแบบเดียวกัน ล่าสุดเมื่อช่วงเดือนธ.ค. ที่ผ่านมาได้มีการเพิ่มเงินรางวัลพิเศษสำหรับสาขาที่มียอดขายแต่ละเดือนสูง กว่าเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งเงินรางวัลพิเศษนี้จะมีให้ทั้งพนักงานพาร์ทไทม์และระดับผู้จัดการร้าน ขณะที่ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ยังได้ปรับค่าแรงเพิ่มอีก 10% และล่าสุดในช่วงเดือนมิ.ย.ที่จะถึงนี้ ทางบริษัทยังได้พิจารณาที่จะปรับฐานเงินเดือนของพนักงานประจำขึ้นอีก 4% จากปัจจุบันเงินเดือนของพนักงานพาร์ทไทม์ เฉลี่ยอยู่ที่ 6,500 บาท ต่อเดือน และพนักงานประจำอยู่ที่ 9,000-50,000 บาท ต่อเดือน ถือเป็นฐานเงินเดือนที่แข่งขันกับรายอื่นๆได้
      
ดังนั้นในแง่ของการเรียกร้องของการเปลี่ยนสภาพการจ้างทั้ง 10 ข้อ ที่อดีตพนักงาน 3 คนต้องการนั้น ทางบริษัทพร้อมยอมรับไว้เพื่อพิจารณา และการที่ต้องถูกให้ออกจากงานและพ้นจากสภาพการเป็นพนักงานนั้น เนื่องจากทั้ง 3 คน ได้ละเมิดต่อกฏระเบียบของบริษัท ในเรื่องของการใช้อีเมล์บริษัท ส่งข้อมูลที่ผิดไปจากความเป็นจริงส่งไปยังพนักงานในระดับตำแหน่งต่ำกว่า เพื่อให้เข้าใจข้อมูลที่ผิดๆ ทางบริษัทจึงต้องให้ออก
      
อย่างไรก็ตามในช่วงเวลา 10 กว่าวันที่ผ่านมานี้ ทางบริษัทได้เรียกพบพนักงานแล้วกว่า 1,000 คนจากพนักงานทั้งหมดกว่า 10,000 คน ให้รับทราบข้อมูลที่แท้จริง ซึ่งส่วนใหญ่ยอมรับว่าเชื่อในข้อมูลที่ได้รับ เนื่องจากทั้ง 3 คน อ้างตัวเป็นตัวแทนของทางกรรมการสวัสดิการลูกจ้างของบริษัท แต่หลังจากที่มีการพูดคุยกันแล้ว ต่างก็เข้าใจในข้อมูลจริงที่ถูกต้อง
      
นายมิลินท์ กล่าวว่า ยัม อยู่ในประเทศไทยมากกว่า 25 ปี โดยในส่วนของเคเอฟซี ก็อยู่และสร้างแบรนด์ในประเทศไทยมากกว่า 25 ปีเช่นกัน ที่ผ่านมาเคล็ดลับของความสำเร็จ คือ บุคลากร ดังนั้นทางบริษัทจึงให้ความสำคัญกับบุคคลากรมากที่สุด
      
ส่วนแผนลงทุนของเคเอฟซีในปีนี้ เตรียมงบลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการรีโนเวทรูปแบบร้านใหม่ รวมถึงขยายสาขาเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 26 สาขา จากปีก่อนขยายเพิ่ม 26 สาขา ส่งผลให้ปัจจุบันเคเอฟซีมีสาขารวม 415 สาขา เป็นของยัมฯ 325 สาขา ที่เหลือเป็นของกลุ่มเซ็นทรัล เรสเทอรองตส์ กรุ๊ป โดยปีนี้มั่นใจว่าจะมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่าปีก่อน ที่มีการเติบโตเป็นตัวเลข 2หลัก สูงกว่าค่าจีดีพีของประเทศที่ทำได้ 7-10% ในปีก่อน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 10-5-2554)

สปส.เห็นชอบรักษาข้าม รพ.สังกัด สธ.เล็งหารือ สธ.พัฒนาฐานข้อมูลร่วมกัน

เมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่สำนักงานประกันสังคม นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดประกันสังคม (สปส.) กล่าวหลังการประชุมบอร์ดครั้งที่ 8/2554 ว่า ได้เห็นชอบในหลักการที่ผู้ประกันตนที่เลือกโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณ สุข (สธ.) สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลใดก็ได้ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมเข้าหารือกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขยายการบริการประกันสังคมให้ครอบคลุมโรงพยาบาลสังกัดสาธารณะสุขทั้ง 94 แห่งทั่วประเทศ

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ได้มีหลักการ 2 ข้อ คือ 1.พัฒนาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลให้ผู้ประกันตนได้ใช้บริการได้อย่างสะดวกในการ เข้ารับการรักษาของโรงพยาบาลสังกัดสาธารณสุขทั่วประเทศ 2.พิจารณาค่าบริการทางการแพทย์โดยจัดทำร่างหลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการทางการ แพทย์เพื่อให้โรงพยาบาลสังกัดสาธารณสุขที่เข้าร่วมประกันสังคมไม่ประสบปัญหา ขาดทุนโดยจะมีการจ่ายเงินชดเชยให้แก่โรงพยาบาลสังกัดสาธารณสุข ในกรณีที่ผู้ประกันตนเข้าไปใช้บริการในโรงพยาบาลสังกัดสาธารณสุขแห่งอื่นๆ นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในบัตรประกันสังคม
      
ส่วนค่ารักษาที่มีต้นทุนเกินกว่าวงเงิน ประกันสังคมจะจ่ายให้แก่โรงพยาบาลเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้คนละ 2,000 กว่าบาทต่อปี โดยที่ประชุมได้ขอให้กำหนดรายละเอียดในเรื่องนี้ให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิด ปัญหาในการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของผู้ประกันตนกรณีเข้ารับการรักษาพยาบาล ข้ามโรงพยาบาลนายสมเกียรติ กล่าว
      
ทั้งนี้ คาดว่า จะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน โดยในอนาคตจะมีการขยายไปสู่โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 11-5-2554)

กสร.ให้ความรู้ พ.ร.บ.ผู้รับงานไปทำที่บ้าน เริ่มบังคับใช้ 15 พ.ค.นี้

11 พ.ค. 54 - นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 ให้กับเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด 19 จังหวัดในภาคอีสาน และกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านในจังหวัดมหาสารคามกว่า 400 คนว่า จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านมีจำนวนกว่า 4.4 แสนคน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่าร้อยละ 27 รองลงมา คือภาคกลางและภาคเหนือ

อย่างไรก็ตาม พบว่างานหลายชนิดเป็นงานที่มีอันตราย ทั้งจากสัมผัสสารเคมี หรือโลหะโดยตรง รวมถึงอันตรายที่มาจากการจัดวางท่าทางในการทำงานที่ไม่ถูกต้อง จนส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วย โดยหลังจาก พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายในหลายเรื่อง เช่น นิติสัมพันธ์ของความเป็นผู้ว่าจ้างกับผู้รับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งจะมีผลตามกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องเป็นนายจ้างกับลูกจ้าง การได้รับอัตราค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และการดูแลความปลอดภัยในการทำงานให้กับลูกจ้าง หากมีผู้ฝ่าฝืนจะมีอัตราโทษสูงสุดถึงจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ หลัง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ภายใน 120 วันจะมีการตั้งคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน ทำหน้าที่เสนอแนะและให้ความเห็นรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายการคุ้มครอง ส่งเสริม และพัฒนา รวมถึงประกาศกำหนดค่าตอบแทนให้กับผู้รับงานไปทำที่บ้านต่อไป

(สำนักข่าวไทย, 11-5-2554)

ญี่ปุ่นไฟเขียวหญิงไทยฝึกงานโรงงานอิเล็กทรอนิกส์

นางสุทัศนี สืบวงศ์แพทย์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทางสมาคมพัฒนาแรงงานระดับนานาชาติของสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ประเทศญี่ปุ่น (Association for International Manpower Development of Medium Enterprise, Japan) หรือ IMM ประเทศญี่ปุ่น ได้มีข้อเสนอขยายความร่วมมือที่จะรับผู้ฝึกงานเพศหญิง เข้าไปฝึกงานในสถานประกอบการ ประเภทงานที่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการปฏิบัติงาน เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จากเดิมที่เปิดรับสมัครเฉพาะชายไทยเท่านั้น
      
ซึ่งขณะนี้ กรมการจัดหางานกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขสวัสดิการต่างๆ ให้เหมาะสมกับผู้ฝึกงานเพศหญิง โดยหากการเจรจาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะได้มีการเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการต่อไป
      
นางสุทัศนี กล่าวต่อว่า จากเหตุเกิดภัยพิบัติสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้เราต้องมีความละเอียดรอบคอบในการพิจารณาอนุญาตให้ผู้ฝึกงานเดินทางไป โดยจะต้องมั่นใจว่า พื้นที่ที่ผู้ฝึกงานพักอาศัยและสถานประกอบการที่เข้าไปทำงาน จะต้องอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย และไม่มีสารกัมมันตภาพรังสีในระดับที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

โดย IMM ประเทศญี่ปุ่น จะต้องให้คำรับรอง และผู้ฝึกงานทุกรายที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องได้รับคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ และรับทราบถึงสถานการณ์ดังกล่าว และจะต้องแจ้งให้ครอบครัวได้รับทราบข้อมูล และมีความเข้าใจอย่างดี ก่อนที่ผู้ฝึกงานจะเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น
      
ทั้งนี้ ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับสวัสดิการต่างๆ ตามที่กฎหมายแรงงานญี่ปุ่นกำหนด อาทิ ปีแรกได้รับเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 80,000 เยน หรือประมาณ 29,742 บาท รวมทั้งค่าเครื่องบินไป-กลับ ที่พัก ประกันภัย ค่าพาหนะ และสาธารณูปโภค ในปีที่ 2-3 จะได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ที่กฎหมายญี่ปุ่นกำหนด เมื่อผ่านการฝึกงานจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองจาก JITCO และ IMM รวมทั้งเงินพิเศษเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพอีกจำนวน 600,000 เยน หรือประมาณ 223,069 บาท หลังจากเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว
      
ปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ได้เดินทางไปฝึกงานในประเทศญี่ปุ่น มีจำนวนทั้งสิ้น 2,396 คน โดยผู้ที่สำเร็จการฝึกงานตามระยะเวลาของโครงการ 3 ปี เดินทางกลับมาประเทศไทยแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 1,296 คน โดยขณะนี้ กรมการจัดหางานกำลังเปิดรับสมัครผู้ฝึกงานชายที่มีอายุระหว่าง 20-29 ปี เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 20 พ.ค.ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 และสำนักงานบริหารแรงงานไทยในต่างประเทศ โทร.02-245-9428, 02-2451021 หรือ www.doe.go.th และ www.overseas.doe.go.th
      
ขอให้คนหางานที่ประสงค์จะเดินทางไปฝึกงานในโครงการ IMM ประเทศญี่ปุ่น มั่นใจได้ว่า กรมการจัดหางาน และ IMM ประเทศญี่ปุ่น จะให้ความคุ้มครองดูแลผู้ฝึกงาน ตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ฝึกงานในประเทศญี่ปุ่น เป็นอย่างดีนางสุทัศนี กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 11-5-2554)

พนักงานซิกส์ อีเอ็มเอสรวมตัวประท้วงขอขึ้นค่าแรง

เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 9 พ.ค.54 ภายในบริษัท ซิกส์ อีเอ็มเอส (ประเทศไทย)จำกัด เลขที่ 172/7 ม.8 ซ.สุขสวัสดิ์ 74 ต.บางครุ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ส่งไปยังประเทศญี่ปุ่น ได้มีพนักงานของบริษัทกว่า 1,000 คนยืนอยู่ด้านหน้าโรงงานบริเวณประตูทางเข้า-ออก พร้อมส่งเสียงโห่ร้องอยู่ตลอดเวลา และชูป้ายที่มีข้อความเรียกร้องขอขึ้นค่าแรง ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

ส่วนภายในบริษัทนั้นฝ่ายบริหารบริษัท ซิกส์ อีเอ็มเอส (ประเทศไทย) จำกัด แรงงานจังหวัดสมุทรปราการ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และตัวแทนของสหภาพแรงงานบริษัท ซิกส์ อีเอ็มเอส (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมปรึกษาหาทางออกสำหรับข้อเรียกร้องของพนักงาน สำหรับภายนอกบริษัทนั้น ได้มีเจ้าหน้าที่สายตรวจจาก สภ.พระประแดง คอยเฝ้าดูและสังเกตการณ์ เพื่อมิให้มีการก่อเหตุร้ายอื่นๆ ได้

น.ส.สมจิตร คำฉ่ำ หัวหน้ากะแผนกซ่อม กล่าวว่า ตนพร้อมด้วยเพื่อนพนักงานรวมตัวประท้วงในครั้งนี้ มีเหตุผลมาจากต้องการให้บริษัททำการปรับขึ้นค่าแรงให้พวกตน ตามที่รัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 9 บาท เพราะพวกตนเป็นพนักงานเก่าที่ไม่ถูกปรับค่าแรง ถึงแม้บริษัทจะมีระเบียบที่ปรับขึ้นให้ทุกปีแต่ก็น้อยเกินไป สำหรับตนทำงานมา 16 ปีแล้ว แต่ค่าแรงยังไม่ถึง 300 บาทต่อวัน ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2554 ที่ผ่านมาที่ทางบริษัทจะต้องปรับขึ้นค่าแรงนั้นก็ขึ้นมาเพียงเล็กน้อย บางคนขึ้นมาเพียง 50 สตางค์-1 บาท ทั้งที่ตลอดปีที่ผ่านมาพวกตนทำงานกันโดยไม่มีวันหยุด เพราะมีงานเข้ามาตลอด ซึ่งในวันนี้พอเงินเดือนออก และทราบว่าเงินเดือนถูกปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย พวกตนและเพื่อนพนักงานต่างไม่พอใจ จึงรวมตัวกันประท้วง ประกอบกับพนักงานบางคนที่ทำงานมา 2-3 ปี ค่าแรงที่ได้ก็ไม่ต่างจากพนักงานใหม่ที่เข้ามา โดยปัจจุบันพนักงานใหม่ที่เข้ามาจะได้รับค่าแรงอยู่ 215 บาทต่อวันไม่รวมโอที พวกตนจึงมาเรียกร้องขอความยุติธรรม

ส่วนนางวิรัชนี ปลัดประโคน อายุ 43 ปี 1 ในตัวแทนสหภาพแรงงานบริษัท ซิกส์ อีเอ็มเอส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ตั้งแต่รัฐบาลมีการประกาศให้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำจาก 206 บาทเป็น 215 บาทต่อวันนั้น ทางบริษัทก็ได้ทำการปรับค่าแรงเฉพาะพนักงานที่เข้าใหม่ หรือ พนักงานรายที่ค่าแรงยังไม่ถึง 215 บาท แต่สำหรับพนักงานรายเก่าที่มีค่าแรงเกิน 215 บาทไปแล้วนั้น ก็ไม่มีการปรับหรือปรับเพียงแค่เล็กน้อยและไม่ขึ้นกับอายุงานด้วย จึงทำให้พนักงานที่อยู่มานานเกิดความไม่พอใจ และจากการทวงถามไปยังบริษัทก็ได้รับคำตอบว่า ในระยะนี้บริษัทขาดสภาพคล่อง เนื่องจากบริษัทแม่ที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้น จึงให้มีคำสั่งซื้อมีเข้ามาน้อย แต่พวกตนและพนักงานก็ทำงานกันตามปกติ จึงเกิดความกังขาในคำตอบที่ทางผู้บริหารตอบมา

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เริ่มมีการพูดคุยระหว่างฝ่ายบริหารบริษัท ซิกส์ อีเอ็มเอส (ประเทศไทย) จำกัด แรงงานจังหวัดสมุทรปราการ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และตัวแทนของสหภาพแรงงานบริษัท ซิกส์ อีเอ็มเอส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเวลายาวนานกว่า 5 ชั่วโมงแล้วก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่เป็นที่น่าพอใจของทั้งสองฝ่าย ส่วนระบบการผลิตนั้นก็หยุดไปชั่วขณะ เพราะพนักงานที่รวมตัวประท้วง ไม่มีท่าทีจะสลายตัวลง หากไม่ได้รับคำตอบตามที่เรียกร้องไป

(ไทยรัฐ, 9-5-2554)

เผยว่างงานเดือน มี.ค. 276,000 คน

รายงานข่าวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยว่า จำนวนผู้ว่างงานในเดือนมี.ค. 54 มีทั้งสิ้น 276,000 คน คิดเป็นอัตราว่างงาน 0.7% ซึ่งจำนวนผู้ว่างงานลดลงจากปีก่อน 92,000 คน แม้จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าประมาณ 8,000 คนก็ตาม แต่ถือว่าเป็นอัตราว่างงานที่ค่อนข้างต่ำ
  
นอกจากนี้ยังพบว่าในจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมดมาจากผู้ที่ไม่เคยทำงาน มาก่อน 103,000 คน ขณะที่เคยทำงานมาก่อนแล้วว่างงานมีจำนวน 1.73 แสนคน ลดลงจากปีก่อน 82,000 คน คือจาก 2.55 แสนคน เป็น 1.73 แสนคน โดยเป็นผู้ว่างงานมาจากภาคการบริการและการค้า 75,000 คน, การผลิต 57,000 คน และภาคเกษตรกรรม 41,000 คน
  
ผู้ว่างงานส่วนมากยังเป็นผู้จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเช่นเดียว กับเดือน ก.พ. แม้ว่าจะมีจำนวนลดลงก็ตาม โดยมีถึง 99,000 คน รองลงมามัธยมศึกษาตอนต้น 58,000 คน ระดับประถมศึกษา 52,000 คน มัธยมศึกษาตอนปลาย 46,000 คน และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 21,000 คน โดย กทม.เป็นจังหวัดที่มีอัตราว่างงานสูงที่สุดที่ 1.2% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.5% รองลงมาเป็นภาคใต้ที่มีอัตราว่างงาน 1% ขณะที่ภาคเหนือมีอัตราว่างงาน 0.7% ภาคกลาง 0.6% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 0.5%”
  
ส่วนจำนวนผู้มีงานทำมีทั้งสิ้น 37.81 ล้านคน แยกเป็นผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรม 13.07 ล้านคน และนอกภาคเกษตรกรรม 24.74 ล้านคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่าในภาคเกษตรกรรมมีผู้ทำงานเพิ่มขึ้น 10,000 คน จาก 13.06 ล้านคน เป็น 13.07 ล้านคน ขณะที่นอกภาคเกษตรกรรมมีผู้ทำงานเพิ่มขึ้น 2 แสนคน หรือจาก 24.54 ล้านคน เป็น 24.74 ล้านคน
  
นอกภาคการเกษตรส่วนใหญ่มีผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นในสาขาการก่อสร้าง 2.2 แสนคน สาขากิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ เช่น กิจกรรมบริการเพื่อเสริมสร้างสุขภาพร่างกาย การบริการซักรีดและซักแห้ง การซ่อมเครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นต้น เพิ่มขึ้น 1.9 แสนคน สาขาการผลิต 1.5 แสนคน และสาขาการบริหารราชการ การป้องกันประเทศ และการประกันสังคมภาคบังคับ 1.2 แสนคน
  
ส่วนที่ลดลงเป็นสาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์ฯ 3.4 แสนคน สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 2.3 แสนคน สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 6 หมื่นคน ที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาอื่น
  
ทั้งนี้จากการสำรวจของ สสช.จากจำนวนผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไปหรือผู้อยู่ในวัยทำงาน 53.85 ล้านคน เป็นผู้อยู่กำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมทำงาน 38.43 ล้านคน แบ่งเป็นผู้มีงานทำ 37.81 ล้านคน ผู้ว่างงาน 2.8 แสนคน ผู้รอฤดูกาล ส่วนผู้รอฤดูกาล 3.4 แสนคน และผู้อยู่นอกกำลังแรงงาน 15.42 ล้านคน.

(เดลินิวส์, 12-5-2554)

ธนาคารโลกสนใจอัตราค่าจ้างแรงงานฝีมือในไทย

ดร.อำมร เชาวลิต ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน เปิดเผยว่า ดร.พิริยะ ผลพิรุฬ น.ส.เดล คาร์ปิโอ และ น.ส.แอนเดรีย ท็อกแมน ซึ่งเป็นคณะทำงานด้านแรงงานและการคุ้มครองทางสังคมของธนาคารโลก ได้ให้ความสนใจในประเด็นของค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ซึ่งส่วนใหญ่ในแต่ละประเทศไม่มีการดำเนินการ จึงขอเข้ามาหารือร่วมกับกระทรวงแรงงานถึงความเป็นมา วิวัฒนาการเกี่ยวกับนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ พื้นฐานการคิด      กลไกในการดำเนินงานของส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมถึงแนวคิด ผลกระทบในเรื่องของการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ซึ่งได้ประกาศไปแล้วใน 11 สาขาอาชีพ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2554 รวมถึงอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือที่กำลังจะดำเนินการประกาศเพิ่มอีก 11 สาขา

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้เตรียมการในเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่นายจ้าง ลูกจ้าง รวมถึงการซักซ้อมทำความเข้าใจแก่พนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งก็คือข้าราชการของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เนื่องจากหากกฎหมายมีผลบังคับใช้จะต้องมีการดำเนินการตามกฎหมาย และอีกส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้อง คือ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่ต้องดำเนินการจัดการทดสอบมาตรฐานฝีมือตามที่ประกาศไป ทั้งในส่วนของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและสถาบันทดสอบของเอกชน

ในส่วนของการดำเนินงานเกี่ยวกับ เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำนั้น กระทรวงแรงงานจะใช้ระบบไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้แทนภาครัฐรวมถึงนักวิชาการ เป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานทั้งในชุดของคณะกรรมการค่าจ้างและคณะอนุกรรม การพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดทั้ง 75 จังหวัด โดยผู้แทนจากธนาคารโลกให้ความสนใจในกรณีหากลูกจ้างฝีมืออยู่ในระดับ 1 และสอบผ่านในระดับ 2 นายจ้างจะยอมปรับค่าจ้างให้ตามเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องดังกล่าวคาดว่าจะไม่มีปัญหา เพราะอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือทั้ง 11 สาขาอาชีพเกิดจากความต้องการของตลาดแรงงานอย่างกว้างขวาง ลูกจ้างก็ยังมีแหล่งงานอื่นๆ ที่จะรองรับและสนใจผู้มีทักษะฝีมือ ซึ่งก็จะทำให้นายจ้าง/สถานประกอบการนั้นๆ สูญเสียแรงงานที่มีฝีมือไป

(คมชัดลึก, 12-5-2554)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น