โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

"บก.ลายจุด" ระดมบัตร ATM ประท้วงเชิงสัญลักษณ์หน้า ธ.กรุงเทพ

Posted: 08 May 2011 11:44 AM PDT

เมื่อวันที่ 8 พ.ค. นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง พร้อมผู้ชุมนุมประมาณ 100 คน เดินทางมาทำกิจกรรมที่หน้าธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ถนนสีลม โดยใช้ชื่อกิจกรรมว่า "ตบเท้าเช็คกรรม ตามรัฐประหาร" เพื่อเป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ในการกดดันรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ

นายสมบัติระบุว่า หากมีการเคลื่อนไหวหรือมีการกระทำอันใดที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย ประชาชนก็จะตอบโต้ด้วยการถอนเงินออกจากธนาคาร เพราะประชาชนไม่มีอาวุธ จึงตอบโต้ได้ทางเศรษฐกิจเท่านั้น

สำหรับการเลือกจัดกิจกรรมที่หน้าธนาคารกรุงเทพ เนื่องจากมองว่า พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ซึ่งมีอิทธิพลทางการเมืองค่อนข้างสูง ตั้งแต่หลัง 19 ก.ย. 2549  มีตำแหน่งเป็นประธานที่ปรึกษาของธนาคารกรุงเทพ จึงเชื่อว่าวิธีการดังกล่าวจะสามารถกดดันรัฐบาลได้ พร้อมกันนี้ หากเกิดการรัฐประหารก็เชิญชวนให้ประชาชนสวมใส่เสื้อผ้าสีดำและถอนเงินจากธนาคารเพื่อต่อต้านเผด็จการ

นอกจากนี้ กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง จะมีการจัดกิจกรรมสัญจรเชิงสัญลักษณ์ไปตามพื้นที่ต่างๆ ด้วย ขณะที่การรักษาความปลอดภัยบริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ ได้มีการนำแผงเหล็กกั้นการจราจรมาปิดบริเวณทางเข้าออกของธนาคาร เพื่อป้องกันผู้ชุมนุมรุกล้ำเข้าไปภายใน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยอำนวยสะดวกด้านการจราจรและดูแลความเรียบร้อย

 

ภาพโดย: คำเกิ่ง แห่งทุ่งหมาหลง

เรียบเรียงจาก มติชนออนไลน์ และเอเชียอัพเดท

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: เครือข่ายคนใต้ร่วมบุกศาลากลางสตูล ประกาศเจตนาต้านท่าเรือปากบารา

Posted: 08 May 2011 11:02 AM PDT

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2554 ชาวบ้านจังหวัดสตูล ร่วมกับเครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมต่อต้านแผนพัฒนาภาคใต้ เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล เครือข่ายประชาชนติดตามการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จังหวัดสงขลา เครือข่ายท่าศาลารักษ์บ้านเกิด จังหวัดนครศรีธรรมราช เครือข่ายชาวบ้านจากจังหวัดชุมพรกระบี่ พัทลุง และตรัง ประมาณ 1,000 คน ร่วมรณรงค์เคลื่อนไหวต่อต้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา

โดยรวมตัวกันที่จุดชมวิวลาน 18 ล้าน บ้านปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล แล้วเคลื่อนขบวนรถจักรยานยนต์ รถยนต์และรถจักรยานยนต์พ่วงข้างกว่า 300 คัน ไปยังตัวอำเภอเมืองสตูล โดยใช้สัญลักษณ์ธงเขียวมีข้อความว่า “หยุดท่าเรืออุตสาหกรรมปากบารา ร่วมรักษาเภตรา ตะรุเตา ทะเลบ้านเราเพื่อลูกหลาน” และ “รักษ์สตูล ไม่เอาท่าเรืออุตสาหกรรมปากบารา” พร้อมเปิดปราศรัยบนรถแห่และแจกเอกสารเกี่ยวกับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราและโครงการต่อเนื่องตลอดเส้นทาง

เวลาประมาณ 13.30 น. ขบวนรณรงค์ได้หยุดรวมตัวกันบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสตูล ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรต้องปิดถนนถนนสตูลธานี ฝั่งขาออกตัวเมืองสตูล ชั่วคราวเนื่องจากการจราจรติดขัด จากนั้นมีการอ่านคำประกาศเจตนารมณ์คนสตูลไม่เอาท่าเรือน้ำลึกปากบารา โดยนายสมบูรณ์ คำแหง คณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล

คำประกาศเจตนารมย์ ความว่า การสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมปากบารา คือการละเมิดสิทธิชุมชนสตูลร้ายแรง เพราะการสร้างท่าเรือเป็นการเอื้อให้นายทุนข้ามชาติ การพัฒนาในลักษณะดังกล่าวทำให้ชีวิตของคนท้องถิ่นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ล่มสลายมาแล้ว

“การพัฒนาแนวทางดังกล่าวทำให้นายทุนยิ่งรวยขึ้น คนท้องถิ่นยากจนลง การพัฒนาเพื่อความเจริญแบบพิกลพิการทำให้คนรุ่นใหม่ขาดความสามัคคีปรองดอง เข่นฆ่ากันเอง ในขณะที่ภาครัฐยังไม่สามารถสร้างความชัดเจนให้คนภาคใต้ และคนสตูลว่าจะหยุดโครงการดังกล่าวนี้หรือไม่ ดังนั้นชาวสตูลและภาคใต้จักปกป้องพื้นที่ที่สวยงามแห่งนี้ไว้ให้ลูกหลานต่อไปโดย หลังอ่านคำประกาศเจตนารมณ์คนสตูล” คำประกาศเจตนารมณ์ ระบุ

จากนั้นมีการติดป้ายผ้าผืนยาวหน้าศาลากลางจังหวัดสตูล ข้อความว่า คนสตูลต้องการกำหนดอนาคตของตัวเอง อยากให้สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์ เหมือนกับคำขวัญของจังหวัดสตูล ทั้งนี้กลุ่มชาวบ้านยังเผาทำลาย ปฏิทินท่าเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งจัดทำโดยนายนาวี พรหมทรัพย์ ผู้ประสานงานและผลักดันโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ก่อนที่กลุ่มชาวบ้านจะสลายตัวในเวลา 15.00 น.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พุทธศาสนาแบบมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็คือ “พุทธศาสนาแบบเกิดแต่กรรม”

Posted: 08 May 2011 10:37 AM PDT

พุทธศาสนาอันเป็นมรดกของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้หันหลังให้กับอำนาจและสถานะอันได้เปรียบทางชนชั้นสู่การดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายอย่างสามัญชน คือ “ทัศนะต่อโลกและชีวิตแบบอริยสัจ” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อดับทุกข์ทางจิตวิญญาณ ได้ถูกอรรถาธิบายขยายความ ถูกตีความรับใช้สถานะทางชนชั้น และรูปแบบวิถีชีวิตที่ตรงกันข้ามกับวิถีชีวิตของผู้ให้กำเนิดพุทธศาสนาอย่างสิ้นเชิง

ดังในสังคมพุทธไทยนั้น พุทธศาสนาคือ “แก้วสารพัดนึก” ที่ถูกนำไปตอบปัญหาได้ทุกเรื่อง เมื่อเราดูทีวีรายการธรรมะ หรือเข้าไปในร้านหนังสือธรรมะ เราอาจได้ดูรายการสนทนาธรรม หรือรายการหนังสือประเภทนี้ เช่น ธรรมาพารวย ธรรมาค้าขึ้น ทำบุญอย่างไรให้สวย ฯลฯ อันเป็น “ประดิษฐกรรมทางปัญญา”ของพระนักคิดนักเขียนชื่อก้องแห่งยุคสมัย

จะว่าไปแล้ว ในสังคมไทยนั้นการตีความคำสอนพุทธศาสนาเพื่อรับใช้ “คุณค่าที่ตรงกันข้าม” กับคุณค่าที่พระพุทธองค์เสนอ ได้ก่อให้เกิดพุทธศาสนาแบบมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ตกทอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน ดังที่ ธงชัย วินิจจะกูล สะท้อนภาพสังคมไทยตามคติพุทธแบบมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ว่า

“สังคมอินทรียภาพแบบพุทธ คือแนวคิดที่เน้นว่าสังคมจะปกติสุขและจะเคลื่อนตัวพัฒนาไปได้ ก็ต่อเมื่อหน่วยต่างๆ ของสังคมจะต้องรู้จักหน้าที่ของตนและทำงานอย่างประสานสอดคล้องกัน (harmony) เปรียบเสมือนอวัยวะต่างๆ ของร่างกายซึ่งมีหน้าที่ต่างๆ กัน ความสำคัญไม่เท่ากัน แต่ต้องประสานสอดคล้องกันจึงจะไม่เจ็บป่วย ประเทศชาติหรือสังคมเปรียบเสมือนร่างกายขนาดใหญ่ เป็นองค์รวมขององคาพยพที่ไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน แต่ล้วนมีความสำคัญและต้องทำตามหน้าที่ของตนอย่างประสานสอดคล้องกัน สังคมจึงจะไม่เจ็บป่วย แถมมีสุขภาพแข็งแรงเติบโตต่อไปได้
 
องค์รวมที่เรียกว่าประเทศไทย จึงเต็มไปด้วยหน่วยย่อยๆ ที่มีบุญบารมีไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะพิจารณาหน่วยสังคมใดๆ เช่นครอบครัว ที่ทำงาน หมู่บ้าน ตำบล จังหวัด กระทรวง กรม โรงเรียน บริษัท โรงงาน ฯลฯ ก็จะพบผู้คนที่มีบุญบารมีไม่เท่ากัน และต้องยอมรับความสูงต่ำในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล แต่ทุกๆ คนล้วนมีความสำคัญเพราะทุกอวัยวะทุกหน้าที่ล้วนมีความสำคัญ ความสามัคคีที่เป็นคาถาในอาร์มแผ่นดินมีรากมาจากพุทธศาสนา ได้รับการตีความให้เข้ากับปรัชญาสังคมอินทรียภาพแบบพุทธของไทยสมัยใหม่"

(มติชนออนไลน์, 8 พฤษภาคม 2554)

โปรดสังเกตนะครับว่า พุทธศาสนาแบบมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดย “เนื้อหา” หรือโดย “แก่นแท้” แล้วไม่ได้ต่างจาก “พุทธศาสนาแบบเกิดแต่กรรม” ของแม่ชีทศพรแต่อย่างใด

กล่าวคือ การที่คนเราเกิดมามีสถานะทางสังคมต่างกัน เช่น เป็นเจ้า เป็นไพร่ เป็นทาส เป็นคนจน คนรวย คนสวย ไม่สวย ฯลฯ เป็นเพราะกรรมในชาติปางก่อน หรือเพราะชาติปางก่อนบำเพ็ญบุญบารมีมาไม่เท่ากัน

ข้อแตกต่างอย่างสำคัญอยู่ที่ว่า “พุทธศาสนาแบบเกิดแต่กรรม” ของแม่ชีทศพร เป็นพุทธศาสนาที่ใช้เยียวยา “ทุกข์ทางจิตวิทยา” ของชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านรู้สึกไม่สบายใจ ทุกข์ใจกับปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น ยากจน หนี้สิน ไฟไหม้ อุบัติเหตุ แฟนทิ้ง ลูกไม่เชื่อฟัง เจ้านายไม่เห็นความดี ฯลฯ พุทธศาสนาแบบเกิดแต่กรรมก็จะมีคำตอบให้ว่า ชาติที่แล้วไปทำกรรมอะไรไว้ และจะแก้กรรมนั้นอย่างไร เมื่อชาวบ้านไปแก้กรรมตามนั้นเขาคงสบายใจขึ้น มีกำลังใจที่จะใช้ชีวิตต่อไป อาจเป็นเพราะกำลังใจที่มีนั้นทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น หรือเขารู้สึกว่าตนเองมีที่ยึดเหนี่ยวทางใจ จึงทำให้เขาศรัทธาในแม่ชีทศพร

แต่พุทธศาสนาแบบมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีไว้แก้ทุกข์ทางจิตวิทยาของชนชั้นปกครอง และทุกข์ทางการเมืองของชนชั้นปกครอง แก้ทุกข์ทางจิตวิทยาของชนชั้นปกครองก็คือคำอธิบายความแตกต่างทางชนชั้นโดยอ้างอิงการบำเพ็ญบารมีมาไม่เท่ากัน ทำให้ชนชั้นปกครองรู้สึกมั่นคงในสถานะที่เหนือกว่าทางชนชั้น อำนาจและผลประโยชน์ของพวกเขา แก้ทุกข์ทางการเมืองก็คือคำอธิบายดังกล่าวทำให้ผู้ใต้ปกครองสยบยอมต่ออำนาจได้ง่าย และปกครองง่าย

ประเด็นคือ ใน พ.ศ.นี้แล้ว ทำไมพระสงฆ์ทั้งพระผู้ใหญ่ พระปัญญาชน กระทรวงวัฒนธรรม ชาวพุทธทั่วไป จึงเดือดร้อนเหลือเกินกับกรณี “แก้กรรม” ของแม่ชีทศพร เมื่อแม่ชีทศพรบอกให้ไปแก้กรรมด้วยคำพูดที่คนทั่วไปก็ใช้กัน เช่นคำว่า “เอากัน” รู้สึกว่าสังคมนี้จะทนไม่ได้เอาเลย แต่กลับยกย่องคำพูดฉ้อฉลแบบ “กระชับพื้นที่” “ขอคืนพื้นที่” “คืนความสงบสุขให้คนกรุงเทพฯ” ฯลฯ จนต้องมอบรางวัลการใช้ภาษาไทยดีเด่น ทั้งที่ความหมายที่แท้จริงของคำดังกล่าวคือ การสลายการชุมนุมด้วยวิธีรุนแรง และมีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากโดยผู้สั่งการไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ

หากสังคมนี้รับไม่ได้ว่า พุทธศาสนาแบบเกิดแต่กรรมเป็นความงมงาย แล้วพุทธศาสนาแบบมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่งมงายอย่างไรไม่ทราบ ควรรับได้อย่างไรไม่ทราบ !

ความงมงายของพุทธศาสนาแบบเกิดแต่กรรมนั้น อาจส่งผลกระทบต่อชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่เชื่อตาม แต่นั่นก็เป็นเป็นเสรีภาพที่เขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ หรือแรกๆ เขาอาจจะเชื่อ ต่อไปเขาอาจเลิกเชื่อก็ได้ ไม่มีใครบังคับเขาได้

แต่ความงมงายของพุทธศาสนาแบบมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่บังคับการปลูกฝังอบรมผ่านระบบการศึกษาแบบทางการ ผ่านคณะสงฆ์ ย่อมส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อรูปการจิตสำนึก อุดมการณ์ทางสังคมการเมืองที่รองรับความไม่เท่าเทียมในความเป็นคน ให้ความชอบธรรมกับการปิดกั้นเสรีภาพในการพูดความจริง และให้ความชอบธรรมกับ “บางอำนาจสาธารณะ” ที่ไม่ต้องถูกตรวจสอบ ไม่ต้องรับผิดชอบทางศีลธรรมและทางกฎหมาย

ความงมงายดังกล่าวนี้เป็นความงมงายเพราะขัดแย้งกับ “สาระที่แท้จริง” ที่พระพุทธองค์ปฏิเสธระบบชนชั้นตามที่ตรัสไว้ในอัคคัญสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม 11) โดยเนื้อหาสำคัญสรุปได้ว่า ตามหลักการพุทธศาสนา เราไม่สามารถอ้างอิงความแตกต่างทางชนชั้นมาวางระบบความยุติธรรมทางสังคม และ/หรือเป็นข้อยกเว้นความรับผิดชอบทางศีลธรรมได้

ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “กษัตริย์ทำชั่วก็ชั่ว พราหมณ์ทำชั่วก็ชั่ว แพศย์ทำชั่วก็ชั่ว ศูทรทำชั่วก็ชั่ว” ฉะนั้น สถานะทางชนชั้นจึงไม่อาจใช้เป็นหลักอ้างอิงเพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการกระทำที่ผิดศีลธรรมและกฎหมายได้

หรือพูดให้ตรงคือ หากเรายอมรับว่าพระพุทธเจ้าปฏิเสธระบบชนชั้นจริง การอ้างอิงคำสอนของพระองค์เพื่อมาสนับสนุนระบบชนชั้น ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อพระองค์!

เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เมื่อคนถามตรงๆ พระพุทธเจ้าไม่ตอบ แต่ชวนให้ชาวพุทธเห็นความสำคัญกับการทำความเข้าใจทุกข์และความดับทุกข์ซึ่งเห็นเหตุผลได้ชัดแจ้งกว่า และเรื่องที่พระองค์ปฏิเสธระบบชนชั้นก็เป็นเรื่องที่มีหลักฐานชัดเจน และมีเหตุผลอย่างยิ่งต่อการวางรากฐานสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม

ว่าแต่นักตีความพุทธศาสนายุคปัจจุบันจะเอาอย่างไร จะเอาเป็นเอาตายกับพุทธศาสนาแบบเกิดแต่กรรม ทว่าเชิดชูพุทธศาสนาแบบมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อไปแบบไม่ลืมหูลืมตากระนั้นหรือ ?
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘สมเกียรติ TDRI’ ชี้เจตนาพฤษภา35 ยังไม่สำเร็จ แก้ปัญหาสัมปทานโทรคมนาคม-สื่อไม่คืบ

Posted: 08 May 2011 10:17 AM PDT

(7 พ.ค.54) คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จัดเวทีอภิปรายสาธารณะเรื่อง การคอร์รัปชั่นอำนาจ: รากเหง้าการเมืองน้ำเน่าและการรัฐประหาร ที่ห้องทับทิม โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ

แถลงเตรียมจัดงาน 19 ปีพฤษภาประชาธรรม
เริ่มสร้างอนุสาวรีย์วีรชน พ.ค.35 วันที่ 18 พ.ค.นี้

อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวแสดงความผิดหวังต่อรัฐบาล หลังรอคอยการสร้างอนุสรณ์สถานวีรชนพฤษภา 35 จนขึ้นปีที่ 19 แล้วก็ยังไม่มีการสร้าง อย่างไรก็ตาม ล่าสุด กลุ่มผู้ค้าสลากกินแบ่งได้เข้ามาช่วยสนับสนุนการก่อสร้างด้านสถานที่ และนายปรีดา เตียสุวรรณ์ เจ้าของบริษัทแพนด้า จิลเวอรี่ และกรรมการมูลนิธิญาติวีรชนพฤษภา 35 สนับสนุนด้านเงินทุน

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กรรมการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม กล่าวถึงสาเหตุที่การสร้างอนุสรณ์สถานให้วีรชนที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17-18 พ.ค.35 ยังไม่เป็นผล เพราะติดขัดที่การอนุมัติจากคณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียใจทั้งที่คณะกรรมการอยู่ในความดูแลของรัฐบาล ไม่น่าเกิดปัญหานี้ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 18 พ.ค.ที่จะถึงนี้ ญาติวีรชนจะนำอัฐิของผู้เสียชีวิตและรูปถ่ายของผู้สูญหายมาใส่ในผอบ เพื่อวางเรียงที่ฐานของอนุสาวรีย์พฤษภาประชาธรรม โดยมีแผนสร้างให้เสร็จในปีหน้า ซึ่งจะครบ 20 ปีพฤษภา 35 เพื่อเตือนใจให้ระลึกถึงผู้เสียชีวิต ประชาธิปไตยที่ได้มาจากการสละเลือดเนื้อของวีรชน และไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่คนไทยจะเสียเลือดเนื้อกันอีก

 

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวปาฐกถาพิเศษ “เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องสัมปทานสื่อและโทรคมนาคม 19 ปีหลังพฤษภาประชาธรรม” ว่า ในสมัยรัฐบาลชาติชาย มีการแจกสัมปานอภิโปรเจค 1.โครงการรถไฟฟ้าลาวาริน 2.โฮปเวล และ 3.โครงการโทรศัพท์ทั่วประเทศสามล้านเลขหมายที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้สัมปทานไป แต่ก่อนการลงนามในสัญญาฉบับที่สามนี้ก็เกิดการรัฐประหารโดย รสช.(คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ)ขึ้น โดยข้อกล่าวหาหนึ่ง คือ บุฟเฟต์คาบิเน็ต เมื่ออานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี จึงมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานโทรศัพท์ออกเป็นสองส่วน โดยสองล้านเลขหมายใน กทม. เป็นของเครือเจริญโภคภัณฑ์ต่อไป และที่เหลือ ในต่างจังหวัด นำมาประมูลใหม่ ซึ่งทีทีแอนด์ทีได้ไป

นอกจากนี้ รัฐบาลอานันท์ยังออกกฎหมายว่าด้วยการร่วมการงานระหว่างรัฐและเอกชน หรือกฎหมายร่วมทุน เพื่อไม่ให้ผู้ร่วมสัมปทานเอาเปรียบผู้บริโภคมากเกินไป โดยให้โครงการขนาดใหญ่ที่จะสร้างใหม่ ต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้โดยสภาพัฒน์ ส่วนโครงการขนาดใหญ่ที่มีอยู่เดิม ต้องมีการศึกษาโดยกระทรวงการคลัง ก่อนเซ็นสัญญาต้องผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ฝ่ายการเมืองรับผิดชอบต่อการทำสัญญาที่เกิดขึ้น และเมื่อเซ็นแล้วต้องตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐ-เอกชน ดูแลสัญญาด้วย

ส่วนที่มีการวิจารณ์ในช่วงเหตุการณ์ พ.ค.35 ว่าสื่อสารมวลชนในขณะนั้นไม่ได้รายงานเหตุการณ์อย่างที่ควรจะเป็น เมื่อรัฐบาลอานันท์มา จึงมีการปฏิรูปสื่อโดยตั้งสถานีไอทีวี อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น สัมปทานต่างๆ ทั้งไอทีวีและโทรคมนาคม ก็ถูกแก้ไขโดยไม่ทำตามขั้นตอนที่รัฐบาลอานันท์กำหนดไว้ สุดท้ายไอทีวี กลับไปเป็นของรัฐบาลในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ เพราะไม่สามารถจ่ายสัมปทานค้างจ่ายกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ และถูกโอนเป็นทีวีรูปแบบใหม่ พ้นจากรูปแบบสัมปทาน กลายเป็นทีพีบีเอส ซีกโทรคมนาคมมีการแก้สัญญาโทรคมนาคม-โทรศัพท์มือถืออย่างไม่ถูกต้อง จนเมื่อปีที่แล้วจะประมูลคลื่นโทรศัพท์สามจี ที่สุดก็ถูกล้มประมูลไปจากการฟ้องศาลของ กสท.โทรคมนาคม มาปีนี้ ก็มีการทำสัญญารูปแบบใหม่ระหว่าง กสท.กับทรูคอร์ปอเรชั่น ซึ่งยังเป็นปัญหา

ดังนั้น ความหมายของพฤษภาประชาธรรม นอกจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ยังมีนัยยะของการต่อสู้เรื่องสิทธิเสรีภาพและการทำให้มีสื่อเสรี (การเกิดไอทีวี) และนัยยะที่สาม ซึ่งได้รับความสนใจน้อยคือการสร้างธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจ เพื่อแก้ไขคอร์รัปชั่นสเกลใหญ่อย่างบุฟเฟต์คาบิเน็ต

เพราะฉะนั้น การจะปฏิรูปประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ด้วยการปฏิรูปสื่อ จะสำเร็จได้ ก็ต้องปฏิรูปสิ่งที่เป็นต้นตอของการเกิดพฤษภาประชาธรรมอย่างการที่ภาคการเมืองและธุรกิจไม่แยกจากกันด้วย เพราะการที่ทุนใหญ่ซึ่งประกอบธุรกิจผูกขาดกับการเมือง ใช้อิทธิพลการเมืองเอื้อสัมปทานให้กลุ่มของตัวเอง จะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ ทั้งนี้ หัวใจของการผูกขาดที่กล่าวมาอยู่ที่สัญญาสัมปทาน

สมเกียรติ กล่าวถึงสัมปทานแบบ BTO ที่ใช้กันในไทยโดยอธิบายว่า เป็นสัญญาที่เอกชนสร้างโครงข่ายแล้วโอนให้รัฐ และทำมาหากินจากโครงข่ายนั้น ยกตัวอย่างเช่น สัญญาสัมปทานหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์พฤษภา 35 อย่างสัญญาโทรศัพท์พื้นฐานของเครือเจริญฯ ที่เมื่อสร้างเสร็จก็โอนให้องค์การโทรศัพท์ฯ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น บ.ทีโอที จากนั้นเมื่อให้บริการกับผู้บริโภคก็นำเงินมาแบ่งกันระหว่างรัฐกับเอกชน สาธารณูปโภคในไทยส่วนใหญ่ใช้แบบนี้ ทำให้ค่าโทรศัพท์แพงกว่าที่ควร ทำให้การประกอบกิจการที่ใช้เงินทุนเยอะๆ มีกลุ่มทุนใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้อง แยกไม่ออกจากนักการเมือง เป็นมรดกบาป ส่งผลให้การเมืองมีปัญหาด้วย เพราะทำให้ทุนใหญ่เข้ามาครอบงำรัฐบาลในปัจจุบัน โดยแม้จะปฏิรูปรัฐธรรมนูญ 40 มาจนรัฐธรรมนูญ 50 แต่หากรากฐานปัญหาของธรรมาภิบาลด้านเศรษฐกิจ ความเชื่อมโยงระหว่างรัฐและทุนยังไม่ได้แก้ เจตนาวีรชนพฤษภาก็ไม่บรรลุผล

สมเกียรติ กล่าวว่า การแก้สัมปทานที่เกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคมและสื่อ ที่ไม่ทำตามขั้นตอนของกฎหมายร่วมทุนในสมัยรัฐบาลอานันท์ เป็นต้นตอของการคอร์รัปชั่นนโยบาย เกิดนักการเมืองที่มีที่มาจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เกิดความมั่งคั่งจนการเมืองบิดเบี้ยวไม่เดินหน้า

โดยสัมปทานโทรคมนาคม มีความพยายามแก้สัญญาสัมปทานโทรคมนาคมหลายครั้ง จนในรัฐบาลทักษิณ ออกพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคม จัดเก็บภาษีสรรพสามิตกับบริการโทรคมนาคม โดยเฉพาะกับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นการกีดกันการแข่งขันและรัฐวิสาหกิจเสียประโยชน์ ซึ่งเท่ากับประชาชนเสียประโยชน์ด้วยจากการต้องเสียภาษีมากขึ้น ทำให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ตัดสินยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ส่วนกรณีสื่อวิทยุโทรทัศน์ มีการแก้สัมปทานช่อง 3 และ 7 โดยไม่ได้ทำตามขั้นตอนของกฎหมายร่วมทุน ซึ่งทำให้หน่วยงานภาครัฐสูญเสียผลประโยชน์ เช่นในสมัยของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรัฐมนตรีสำนักนายกฯ มีการแก้สัมปทานช่อง 3 ยืดสัญญาจากที่จะหมดในปี 2553 ไปเป็น 2563 และทำให้คลื่นความถี่ที่ควรกลับมาเป็นของประชาชนให้ กสทช. จัดสรรใหม่ก็ไม่สามารถทำได้

"การได้สัมปทานเป็นโอกาสในการได้เครื่องพิมพ์ธนบัตร" สมเกียรติกล่าวและว่า เมื่อสัมปทานเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อกลุ่มทุน กลุ่มทุนย่อมเข้ายึดกุมอำนาจรัฐเพื่อกำหนดสัญญาที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นการคอร์รัปชั่นทางอำนาจและนโยบาย ที่มักจบลงด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร ทั้งนี้ จากการสำรวจกลุ่มทุน 100 ตระกูลดังในประเทศไทย พบว่า 13 ตระกูลที่เข้าสู่การเมือง มีรายได้จากสัมปทานจำนวนมาก ส่วนอีก 87 ตระกูลที่ไม่ได้เข้าสู่การเมือง มีรายได้จากสัมปทานเพียงเล็กน้อย

ทั้งนี้ยังพบการต่างตอบแทน โดยเมื่อผู้บริหารรัฐวิสาหกิจพ้นตำแหน่ง มักไปนั่งในบริษัทเอกชนที่รับสัมปทานจากรัฐวิสาหกิจ แม้ยากจะบอกว่าเกิดจากความสามารถเฉพาะตัวหรือการอุปถัมภ์ แต่ตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทที่ได้รับสัมปทานมีโอกาสที่จะได้เจ้าหน้าที่รัฐไปเป็นกรรมการ นอกจากนี้ ปัจจุบัน ยังมีกรณีที่พนักงานอัยการ ที่ต้องตรวจสอบสัญญาสัมปทาน ไปมีตำแหน่งอยู่ในรัฐวิสาหกิจด้วย กลายเป็นมีหมวกสองใบ แม้ว่าจะมีกฎหมาย ห้ามไม่ให้พนักงานอัยการไปนั่งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ แต่ก็เปิดช่องให้ทำได้ ในกรณีที่คณะกรรมการอัยการให้อนุญาต ซึ่งที่ผ่านมา มีการอนุญาตจำนวนมาก

สมเกียรติ กล่าวว่า แม้ความพยายามต่อสู้ประชาธิปไตย เสรีภาพสื่อ ธรรมาภิบาลของวีรชนพฤษภาฯ จะบรรลุผลระดับหนึ่ง แต่ยังมีประเด็นสัญญาสัมปทานในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยยกตัวอย่างการทำสัญญาระหว่างบ.เครือของ ทรูคอร์ปอเรชั่น กับ กสท.โทรคมนาคม จำนวน 10 ฉบับ โดยทรูให้ กสท.เช่าอุปกรณ์ และขายส่งสัญญาณให้กับทรู สัญญาอายุ 14 ปีครึ่ง โดยผู้บริหาร กสท.บอกว่าจะมีรายได้กลับมา 14,000 ล้านบาท ซึ่งสมเกียรติตั้งข้อสังเกตว่า หนึ่ง สัญญานี้ดำเนินถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ โดยนัย การทำสัญญาทั้งชุดนี้ไม่ได้ผ่านกฎหมายร่วมทุน โดยบ.ที่เกี่ยวข้องอ้างว่า อัยการชี้ว่าไม่ต้องผ่านขั้นตอนของกฎหมายร่วมทุน นอกจากนี้เกิดคำถามว่าขัดกับกฎหมาย กสทช. ที่เพิ่งออกมาเมื่อปลายปีนี้หรือไม่ เพราะระบุว่าใครที่ได้คลื่นไป ต้องทำธุรกิจเอง ไม่ใช่ให้คนอื่นทำต่อ

การไม่เอาสัญญานี้เข้ากฎหมายร่วมทุน มีผลคือ กสท.เลือกได้เลยว่าจะเลือกบริษัทใดมาร่วมทุนซึ่งกรณีนี้คือ บ.ทรู แต่หากเข้ากฎหมายร่วมทุน จะเกิดการแข่งขันกัน ทำให้ผลประโยชน์เข้ารัฐสูงขึ้น เกิดการปฏิบัติต่อเอกชนอย่างเป็นธรรม แต่กรณีนี้อ้างว่าไม่เข้าเกณฑ์ จึงไม่ต้องทำตามขั้นตอนเหล่านี้

ในกฎหมายร่วมทุนที่มีที่มาจากเหตุการณ์พฤษภา 35 บอกว่า โครงการของรัฐที่มีมูลค่าเกินกว่า 1,000 ล้านบาทและเป็นการร่วมทุนกับเอกชน ต้องผ่านกฎหมายร่วมทุน โดยโครงการของรัฐคือโครงการที่ใช้ทรัพยากรสาธารณะ ซึ่งกรณีโทรศัพท์มือถือต้องใช้คลื่นความถี่ ซึ่งรัฐธรรมนูญบอกว่าเป็นทรัพยากรสาธารณะ เพราะฉะนั้น โครงการโทรศัพท์มือถือสามจี ระหว่าง ทรูกับ กสท.ในความเห็นของตนจึงเป็นโครงการสาธารณะ ที่มีมูลค่าเกินกว่า 1,000 ล้านบาท และทำร่วมกับเอกชน เมื่อเป็นเช่นนี้ทำไมไม่มีการทำตามกฎหมายร่วมทุน

สอง ผลประโยชน์ที่ได้รับ กสท.อ้างว่าได้ผลตอบแทน 14,000 ล้านบาท ตลอด 14 ปี แต่ไม่ได้พูดถึงว่า กสท.ต้องเอาทรัพยากรคลื่นความถี่ไปลงทุนด้วย เมื่อปีที่แล้ว กสช.จะประมูลคลื่นสามจีที่มีมูลค่าตั้งต้นราว 12,800 ล้านบาท แต่ กสท.กลับไม่ได้คิดราคาคลื่นความถี่นี้เมื่อไปร่วมงานกับทรูคอร์ปอเรชั่น เมื่อคำนวณแล้ว ต้นทุนแล้วเท่ากับได้ผลตอบแทนเพียง 1,000 ล้านบาท เกิดข้อสงสัยว่าการหลีกเลี่ยงกฎหมายร่วมทุน มีผลทำให้เกิดสัญญาสัมปทานรูปแบบใหม่ที่ให้รัฐเสียประโยชน์อีกหรือไม่

หากย้อนกลับไปดู หลังเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม 19 ปี มีรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับที่บัญญัติเรื่องคลื่นความถี่เป็นสมบัติประชาชน 19 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามออกกฎหมายหลายฉบับ ทั้ง พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ กำลังมีการสรรหา กสทช. ทั้งหมดจะหมดความหมาย ถ้ายังมีการทำสัญญาคล้ายๆ กับสัญญาสัมปทานที่ทรูกับ กสท. ทำ และจะทำให้เกิดการแข่งขันไม่เท่าเทียมระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือสามรายและรายในอนาคต โดยจะเห็นว่า ทรูมูฟได้ทำธุรกิจก่อนคนอื่น โดยไม่เสียค่าคลื่นความถี่ เกิดคำถามว่าสองค่ายที่เหลือจะได้เงื่อนไขเดียวกันไหม

สมเกียรติระบุว่า ขอให้ช่วยกันติดตามเรื่องนี้ ซึ่งจะไม่ได้ส่งผลเฉพาะราคาค่าโทรศัพท์เท่านั้น แต่ต้องตั้งคำถามถึงมิติทางการเมืองของสัญญานี้ด้วยว่าเกิดได้อย่างไร

"แม้ว่ารัฐบาลอย่างรัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ได้เป็นรัฐบาลที่เป็นเจ้าของธุรกิจโทรคมนาคมหรือสื่อสารมวลชนเหมือนกับรัฐบาลทักษิณก็ตาม แต่ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์ที่คล้ายกันได้ นั่นก็ต้องแปลว่าโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองของเรายังไม่ได้ก้าวไปในจุดที่เราพร้อมจะเป็นประชาธิปไตยที่สามารถลงหลักปักฐานได้ มีส่วนร่วมจากประชาชนในวงกว้างได้"

สมเกียรติ สรุปว่า การต่อสู้ของวีรชนพฤษภา 35 พาเรามาไกล โดยคูณูปการในซีกการเมือง จากที่ทหารมักเสวยอำนาจหลังยึดอำนาจ ในปี 2549 เมื่อมีการยึดอำนาจ ทหารก็ไม่เป็นรัฐบาลเสียเอง อย่างน้อยก็ต้องหาคนมาเป็น แต่ความพยายามด้านการปฏิรูปสื่อและทำให้เศรษฐกิจมีธรรมาภิบาลยังไปไม่ได้เต็มที่อย่างที่ควรเป็น จึงต้องติดตามเรื่องนี้กันต่อไป เพื่อให้เจตนารมณ์ของวีรชนพฤษภาประชาธรรมเกิดขึ้นตามที่ได้มีการเสียสละเลือดเนื้อ ความตั้งใจกันไว้

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อาเซียนไม่ค้าน "พม่า" ขอเป็นประธานปี 2557

Posted: 08 May 2011 09:49 AM PDT

ผู้นำอาเซียนระบุไม่คัดค้านในหลักการเรื่องที่พม่าขอเป็นประธานอาเซียนในปี 2557 ชี้พม่าพัฒนาต่อเนื่อง หลังจัดการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่

(8 พ.ค.54) สำนักข่าวไทยรายงานว่า จากกรณีที่พม่าระบุว่าต้องการเป็นประธานหมุนเวียนอาเซียนในปี 2557 ประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุดโดโยโนของอินโดนีเซียในฐานะประธานสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) แถลงข่าวปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนว่า ผู้นำอาเซียนไม่คัดค้านในหลักการ แต่พม่าซึ่งเป็นจุดสนใจของโลกถูกคาดหวังว่าจะมีความคืบหน้าเรื่องประชาธิปไตยเพื่อไม่ให้เกิดทัศนะเชิงลบเมื่อรับตำแหน่งประธานอาเซียน

ส่วนแถลงการณ์ปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนเป็นเวลา 2 วันระบุว่า ผู้นำอาเซียนได้พิจารณาข้อเสนอของพม่า โดยคำนึงถึงการที่พม่ามีความรับผิดชอบอย่างจริงจังต่อหลักการของอาเซียน ผู้นำอาเซียนสนับสนุนความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องและพัฒนาการทางการเมืองในพม่า หลังจากที่พม่าจัดการเลือกตั้งทั่วไปและมีรัฐบาลใหม่เมื่อเดือนมีนาคม โดยระบุว่าเป็นการเลือกตั้งที่ประสบความสำเร็จ

แถลงการณ์ของอาเซียนและถ้อยแถลงของผู้นำอินโดนีเซียบ่งชี้ว่าจะมีการตัดสินใจในเรื่องนี้ในภายหลัง ด้านกลุ่มฮิวแมนไรท์วอทช์ในเอเชียวิจารณ์ว่า อาเซียนตัดสินใจโดยอาศัยความสะดวกทางการเมืองมากกว่าหลักการ และสะท้อนให้เห็นอีกครั้งว่าอาเซียนไม่ให้ความสำคัญต่อประเด็นสิทธิมนุษยชน

อนึ่ง ตามกำหนดเดิม พม่าจะต้องรับตำแหน่งประธานหมุนเวียนของอาเซียนตั้งแต่ปี 2548 แต่ก็ถูกเลื่อนไป หลังจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) ขู่คว่ำบาตรการประชุมอาเซียน หากพม่าซึ่งมีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นประธานอาเซียน


ที่มา:สำนักข่าวไทย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมศักดิ์ เจียมฯ เตรียมรับทราบข้อหาคดีหมิ่นฯ พุธนี้ ที่สน.นางเลิ้ง

Posted: 08 May 2011 07:46 AM PDT

มีรายงานว่า นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะไปรับทราบข้อกล่าวหาที่กองทัพบกยื่นฟ้องในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ สน.นางเลิ้ง ในวันพุธที่ 11 พฤษภาคม 2554 เวลา 10.00 น.

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 เม.ย. นายสมศักดิ์ ได้แถลงข่าวกรณีมีการคุกคาม หลังร่วมอภิปรายเรื่อง สถาบันกษัตริย์-รัฐธรรมนูญ-ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2553 ที่ม.ธรรมศาสตร์ โดยมีนักวิชาการ นักกิจกรรมจำนวนมาก ออกแถลงการณ์ให้กำลังใจนายสมศักดิ์ และเรียกร้องให้รัฐหยุดคุกคามเสรีภาพของประชาชน

อนึ่ง เมื่อเร็วๆ นี้ มีผู้ถูกจับกุมด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 และยังไม่ได้รับการประกันตัว 2 ราย คือ นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือสุรชัย แซ่ด่าน แกนนำกลุ่มแดงสยาม และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และบรรณาธิการบริหารนิตยสาร วอยซ์ ออฟ ทักษิณ 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

Universal Design : ทำได้ แต่ไป (ไม่) ถึง?

Posted: 08 May 2011 05:46 AM PDT

การออกแบบเพื่อคนทั้งมว (Universal Design) ดูจะเป็นแนวคิดที่ได้รับการพูดถึงกันอย่างมากและหนาหูขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทยปัจจุบัน ทั้งในภาคส่วนของรัฐ แวดวงสถาปัตยกรรมและการออกแบบ องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุและคนพิการ และภาคบริการของไทย

แนวคิดดังกล่าวนี้ดูจะมีหลักตั้งอยู่บนฐานคิดเกี่ยวกับการสร้างลักษณะพื้นที่ทางกายภาพและเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันและพื้นที่สาธารณะที่เอื้อต่อการให้ทุกกลุ่มคนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยไม่ต้องดัดแปลงเฉพาะหรือเป็นพิเศษสำหรับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

หรือพูดอย่างง่ายๆ ก็คือการออกแบบพื้นที่และข้าวของเครื่องใช้ที่ทำให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นชาย หญิง เด็ก ผู้ใหญ่ กลุ่มคนชรา กลุ่มคนพิการประเภทต่างๆ สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ โดยการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลนี้ดูจะเชื่อมโยงกับแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างสังคมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนทุกกลุ่มอย่างมีสิทธิและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน (Inclusive Society)

ในสังคมไทยแนวคิด การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) ได้รับการกล่าวถึงมาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 2520 ที่เริ่มมีการกล่าวถึงแนวทางการสร้างความตระหนักแก่สังคมเกี่ยวกับสิทธิและความเสมอภาคของคนพิการโดยสหประชาชาติและองค์การเกี่ยวกับคนพิการระดับนานาชาติ ซึ่งต่อมาในช่วงทศวรรษ 2530 การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล ดูจะได้รับการเน้นย้ำอย่างจริงจังมากจากกลุ่มคนพิการและองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นความพิการในฐานะส่วนหนึ่งของการรณรงค์ด้านสิทธิและความเสมอภาคของคนพิการ อันนำไปสู่การออกพระราชบัญญัติพื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ที่ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2537 ที่นอกจากจะมีเนื้อหากล่าวถึงสิทธิและความเท่าเทียมกันของคนพิการในการใช้ชีวิตทางสังคมและการประกอบอาชีพแล้ว ยังได้ระบุถึงการที่ต้องมีการออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับลักษณะอาคาร สถานที่ พื้นที่และบริการสาธารณะต่างๆ ที่ต้องเอื้อแก่การใช้ชีวิตของคนพิการ

หลักการที่วางไว้ในพระราชบัญญัติพื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ดูจะได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจังมากขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา ที่มีการออกกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เป็นรูปธรรมหลายฉบับ (อาทิ การประกาศกฎกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมในปี พ.ศ. 2542 ที่กำหนดลักษณะอาคารสถานที่ ยานพาหนะและบริการสาธารณะที่ต้องอำนวยความสะดวกกับคนพิการ)ที่กล่าวถึงการสร้างพื้นที่สาธารณะและระบบขนส่งมวลชนที่ต้องเอื้อแก่การใช้ชีวิตของคนพิการที่ต่อมาได้ผูกโยงและขยายไปสู่กลุ่มคนอื่นๆ ในสังคมโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ และนำมาสู่การใช้แนวคิด “การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล” อย่างจริงจังในพื้นที่สาธารณะของสังคมไทย

ในแง่นี้ หากใครแวะเวียนไปตามสถานที่ราชการ สถานที่สาธารณะต่างๆ หรือแม้แต่การเดินตามทางเท้าบนถนนในช่วงเวลาประมาณ 6 – 7 ปีที่ผ่านมาก็จะสังเกตเห็นได้ถึงการปรับเปลี่ยนสภาพทางกายภาพของพื้นที่เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงทางลาดและวัสดุปูทางเท้าของถนนหลายสายในเขตกรุงเทพ และเมืองใหญ่บางเมือง การสร้างสัญญาณไฟจราจรสำหรับคนข้ามถนน และการก่อสร้างต่อเติมทางลาดและระบบลิฟต์ที่มีเสียงในอาคารของสถานที่ราชการส่วนใหญ่ เป็นต้น

แม้จะดูเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ภาครัฐและสังคมไทยมีความตระหนักที่จะ “ปฏิบัติ” ตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศใช้ตามกฎหมายเกี่ยวกับการออกแบบอาคารให้เอื้อกับคนทางมวลอันอาจสะท้อนภาพในเชิงปฏิบัติให้เห็นถึงความพยายามในการสร้างสภาพทางสังคมที่เหมาะแก่การอยู่ร่วมกันของคนทุกกลุ่ม

หากแต่ในทางกลับกันก็ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่น่ายินดีหรือค่อนข้างจะเศร้าใจด้วยซ้ำที่การออกแบบและก่อสร้างเหล่านี้ส่วนใหญ่แทบจะไม่สามารถทำหน้าที่เพื่อคนทั้งมวลได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าใดนัก เพราะหากเราลองสังเกตดูพื้นที่ที่มีความมุ่งหวังในการ “เอื้อให้กับคนกับคนทั้งมวล” แล้วจะพบว่าบรรดาพื้นที่และสิ่งก่อสร้างเหล่านี้เกือบทั้งหมดดูจะมีสภาพที่พร้อมใช้งานตามจุดมุ่งหมายของมันในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนหลังการก่อสร้างเสร็จสิ้นเท่านั้น นี่ไม่รวมการก่อสร้างจำนวนมากที่ “สักแต่ว่าทำ สักแต่ว่าสร้าง” ที่เมื่อสร้างเสร็จแล้วแทบไม่สามารถใช้งานสำหรับคนทั้งมวลได้

ไม่ต้องสังเกตไปไกลแค่ลองดูบรรดาทางเท้าที่มีทางลาดและอิฐปูพื้นที่เหมาะแก่การใช้ชีวิตของคนทั้งมวลแล้วจะพบว่าในเวลาไม่นานหลังสร้างเสร็จไม่เพียงแต่จะมีผู้คนนำสิ่งของต่างๆ ไปวางกีดขวางทางเดิน หากแต่ในบางครั้งยังมีการก่อสร้างที่นอกจากทำการกีดขวางเวลาดำเนินการแล้ว เมื่อเสร็จสิ่งสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นจำนวนหนึ่งกีดขวางการเดินใช้ชีวีตของคนทั้งมวลด้วย ในทางเดียวกับสัญญาณไฟข้ามถนนที่ “อินเทรน” สร้างกันอย่างมากมาย แต่แล้วไม่นานก็ต้องพบกับสภาพชำรุดอย่างไม่มีการซ่อมแซม นี่ยังไม่นับรวมบรรดารถยนต์ที่ไม่จอดให้คนเดินข้ามในห้วงเวลาที่สัญญาณยังไม่ชำรุด หรือแม้แต่ทางลาดขึ้นอาคารที่พอสร้างเสร็จก็มีสิ่งของกีดขวางไม่สะดวกแก่การใช้

การก่อสร้างและปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อความหวังแก่คนทั้งมวลส่วนใหญ่ที่ดำเนินกันอยู่ในสังคมไทยเวลานี้นอกจากจะทำให้เห็นการ “สักแต่ว่าทำ สักแต่ว่าสร้าง” ดังที่กล่าวมา หรือการมีปัญหาด้านการบริหารจัดการดังที่งานสำรวจและศึกษาจำนวนหนึ่งได้ชี้ให้เห็นแล้ว ในอีกมุมหนึ่งดูจะฉายให้เห็นภาพในระดับของทัศนคติ ความคิด และสำนึกของสังคมหรือคนจำนวนมากในสังคมที่ยังมิได้ปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับการใช้ชีวิตร่วมกับ “กลุ่มคนอื่น” อย่างเท่าเทียม

สำหรับผู้เขียนแล้วทัศนคติ ความคิดและสำนึกของสังคมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ไม่แพ้กฎเกณฑ์ กฎหมาย หรือการบริหารจัดการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล เพราะอย่าลืมนะครับว่าในการปฏิบัติหรือการรับเอาแบบแผนอย่างใดอย่างหนึ่งไปใช้มันต้องผ่านตัว “มนุษย์” แทบทั้งสิ้น และในเมื่อคนที่นำไปใช้หรือเกี่ยวข้องยังมีความคิดหรือสำนึกที่ “ไม่เปิด” หรือ “เอื้อ” ต่อการใช้ชีวิตร่วมกับกลุ่มคนอื่นแล้วก็ยากที่ความมุ่งหวังซึ่งถูกใส่ไว้ในกฎเกณฑ์ โครงการ และแผนงานต่างๆ จะสามารถบรรลุผลได้อย่างเต็มที่ตรงกับเป้าประสงค์ที่วางไว้

มีงานศึกษาจำนวนหนึ่งพยายามเสนอว่าการปรับเปลี่ยนแนวคิดหรือทัศนคติเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก โดยมีเครื่องมือสำคัญอยู่ที่การจัดอบรมหรือทำ Work Shop ให้ผู้ปฏิบัติงานหรือผู้เกี่ยวกับสามารถบริหารจัดการและดูแลพื้นที่ที่ออกแบบสำหรับคนทั้งมวล

สำหรับผู้เขียนแล้วคิดว่าวิธีดำเนินงานดังกล่าว แม้วิธีดำเนินการดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญอยู่บ้าง หากแต่อย่าลืมนะครับว่าการปรับเปลี่ยนความคิด ทัศนคติหรือสำนึกของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในเวลาเพียงชั่วข้ามคืนหรือการอบรมสัมมนาไม่กี่ครั้ง เพราะทัศนคติและสำนึกต่อเรื่องต่างๆ ของมนุษย์ได้ถูกปลูกฝังและบ่มเพาะผ่านปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางสังคมมาตั้งแต่เด็ก ในแง่นี้การที่จะปรับเปลี่ยนความคิดของสังคมหรือกลุ่มคนจึงควรที่จะต้องใช้วิธีการที่ค่อยๆ ทำให้เกิดความตระหนัก ระลึกหรือเข้าใจการดำรงอยู่ของคนอื่นในสังคมด้วย นอกจากนี้กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลดูจะมิได้มีแต่เพียงผู้ปฏิบัติการหรือบริหารจัดการเท่านั้น หากแต่รวมไปถึงกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมด้วย หากกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ตระหนักถึงการดำรงอยู่และชัวิตของ “คนอื่น” ตัวอย่างเช่น ของคนขับรถที่ไม่ตระหนักถึงการดำรงอยู่ของคนข้ามถนนหรือคนเดินเท้า ก็ยากที่จะบรรลุผลของการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลได้

ในส่วนของวิธีการที่จะเซาะปรับเปลี่ยนความคิด ทัศนคติและสำนึกของสังคม ผู้เขียนดูจะยังไม่สามารถหาคำตอบได้ในบทความชิ้นนี้ หากแต่คิดว่าควรเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการผ่านหลายส่วนของสังคม ตั้งแต่การสื่อสารมวลชน การศึกษา และภาพเสนอต่างๆ ที่จะทำให้ระลึกว่า “นอกจากฉันและยังมีเธออยู่อีกหลายคน”

 

 

.................................................

ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ คอลัมน์มุมมองบ้านสามย่าน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม 2554

 

 

                

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: พนักงาน “เคเอฟซี-พิซซ่าฮัท” ยื่นเจรจาสภาพการจ้าง-นายจ้างปัดไม่คุยด้วย

Posted: 08 May 2011 04:48 AM PDT

พนักงานเคเอฟซี-พิซซ่าฮัทในกรุงเทพและปริมณฑลร่วมกันลงชื่อเพื่อยื่นข้อเรียกร้องปรับปรุงสภาพการจ้าง 10 ข้อ ต่อบริษัทฯ ด้านบริษัทยังไม่ยอมเจรจา ให้เหตุผลว่าข้อเรียกร้องของพนักงานไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ด้านคนงานยื่นตั้งสหภาพแรงงาน ขณะที่พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานนัดทั้งสองฝ่ายเจรจาใหม่ 20 พ.ค. นี้ 

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 54 พนักงานบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ในเขต กรุงเทพฯ,สมุทรปราการ และปทุมธานี จำนวน 200 คน จากพนักงาน 900 กว่าคน ร่วมกันลงชื่อและลายมือชื่อ ยื่นข้อเรียกร้อง เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อบริษัท ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 13 พร้อมแต่งตั้งผู้แทนเจรจา 7 คน แต่งตั้งที่ปรึกษาจาก สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย 2 คนประกอบด้วย นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์ฯ นายวิสุทธิ์ เรืองฤทธิ์ เลขาธิการฯ

โดยข้อเรียกร้องเปลี่ยนสภาพการจ้างต่อบริษัทมีทั้งหมด 10 ข้อ โดยส่วนมากเป็นการขอปรับปรุงสวัสดิการ เช่น ขอให้บริษัทฯ ปรับเงินเดือนขึ้นประจำปี 2555 ให้กับพนักงานทุกคน ไม่น้อยกว่าร้อยละ10 ของฐานเงินเดือน, ให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การปรับเงินเดือน, ขอให้บริษัทจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2554 ให้กับพนักงานทุกคนไม่น้อยกว่า 3 เท่าของฐานเงินเดือน, ขอให้บริษัทฯ ปรับปรุงสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของพนักงานให้สอดคล้องกับความเป็นจริง, ขอให้บริษัทฯ ยกเลิกเพดานเงินค่าพาหะนะในการเดินทางของทีมผู้จัดการร้านที่มีอยู่ในปัจจุบัน, ขอให้บริษัทฯ จัดอาหารฟรีให้กับพนักงานที่มาปฏิบัติงาน 1 มื้อ ในวงเงิน 119 บาทต่อคนต่อกะ ฯลฯ (รายละเอียดดูที่ล้อมกรอบ)

อย่างไรก็ตามจนครบกำหนด 3 วัน แล้ว ทางบริษัท ยังไม่มีการแต่งตั้งผู้แทนเจรจา ดังนั้นผู้แทนฝ่ายลูกจ้างจึงยื่นหนังสือพิพาทแรงงานต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 54

สำหรับบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ให้บริการ ผู้บริหาร และ ผู้ให้สิทธิแฟรนไชส์ร้านอาหารบริการด่วน KFC และ PIZZA HUT ในประเทศไทย มีทีมบริหาร และพนักงานชาวไทยกว่า 10,000 คน เพื่อให้บริการในร้านอาหารเคเอฟซีรวมกว่า 306 สาขา และร้านพิซซ่าฮัทกว่า 75 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และอีกกว่า 56 จังหวัดทั่วประเทศไทย

ต่อมาเมื่อ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน ทำหนังสือเชิญทั้ง 2 ฝ่าย มาเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ที่สำนักแรงงานสัมพันธ์ ชั้น 2 กระทรวงแรงงาน

โดยผู้แทนลูกจ้างไปตามกำหนดนัด แต่บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด มีหนังสือแจ้งไม่ส่งผู้แทนเข้าเจรจา จึงไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ ทางเจ้าหน้าที่จึงขอเชิญ ทั้ง 2 ฝ่าย มาไกล่เกลี่ยอีกครั้ง วันที่ 6 พ.ค. 54

แหล่งข่าวกล่าวว่า วันที่ 6 พ.ค.54 ผู้แทนพนักงานไปพบพนักงานประน้อมข้อพิพาทแรงงาน ตามกำหนดนัด พร้อมที่ปรึกษา 2 ท่าน มีคุณชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษาสหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย ร่วมสังเกตการ แต่บริษัทมีหนังสือแจ้งไม่ส่งผู้แทนเข้าเจรจาข้อเรียกร้องอีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่าข้อเรียกร้องชองพนักงานไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย จึงไม่สามารถทำการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานในวันดังกล่าวได้

ด้านฝ่ายลูกจ้างประสงค์จะเจรจาข้อพิพาทแรงงานดังกล่าวต่อไป โดยให้เหตุผลว่า เพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทแรงงานตามระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี ดังนั้น พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน จึงเชิญทั้ง 2 ฝ่ายมาพบ เพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน อีกครั้งในวันที่ 20 พ.ค. 54 เวลา 10.00 น. กระทรวงแรงงาน พร้อมกันนี้ลูกจ้างได้ยื่นจดทะเบียนสหภาพแรงงาน เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 54 คาดว่า ทะเบียนจะออกได้ก่อนวันที่ 20 พ.ค.54 นี้

 

ข้อเรียกร้องพนักงาน บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ( ประเทศไทย ) จำกัด

1. ขอให้บริษัทฯ ปรับเงินเดือนขึ้นประจำปี 2555 ให้กับพนักงานทุกคน ไม่น้อยกว่าร้อยละ10 ของฐานเงินเดือน (10 %)

1.1 ขอให้บริษัทฯ ยกเลิกเพดานเงินเดือน และปรับปรุงหลักเกณฑ์การปรับเงินเดือนประจำปี ในแบบปัจจุบัน

2.ขอให้บริษัทฯ จ่ายเงินโบนัส หรือเงินพิเศษ ประจำปี 2554 ให้กับพนักงานทุกคนไม่น้อยกว่า 3 เท่าของฐานเงินเดือน

2.1 ขอให้บริษัทฯ ยกเลิกหลักเกณฑ์ วิธีการจ่ายเงินโบนัสที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน และให้กลับไปใช้หลักเกณฑ์เดิม

3. ขอให้บริษัทฯ ปรับปรุงสวัสดิการ ค่าตอบแทนพนักงานที่ทำงานครบ 5 ปี 10 ปี 15 ปี และ 20 ปี เป็นดังต่อไปนี้

อายุงานครบ 5 ปี จากเดิม ทองคำ 0.25 บาท .เปลี่ยนเป็นเงิน 10,000 บาท

อายุงานครบ 10 ปี จากเดิม ทองคำ 0.50 บาท เปลี่ยนเป็นเงิน 30,000 บาท

อายุงานครบ 15 ปี จากเดิม ทองคำ 0.75 บาท เปลี่ยนเป็นเงิน 50,000 บาท

อายุงานครบ 20 ปี จากเดิม ทองคำ 1.00 บาท เปลี่ยนเป็นเงิน 100,000 บาท

อายุงานครบ 25 ปี จ่ายเงินรางวัล 150,000 บาท

4. ขอให้บริษัทฯ จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในปี 2554 โดยพนักงานหักเงินสะสม ในอัตรา 5 % และบริษัทฯจ่ายเงินสมทบในอัตรา 5 %

5. ขอให้บริษัทฯ จัดให้พนักงานได้หยุดงานในวันหยุดตามประเพณี ที่บริษัทฯ ประกาศ 15 วัน ต่อปี และปฏิบัติให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หากบริษัทฯ มีความจำเป็นไม่สามารถให้พนักงานหยุดงานในวันหยุดประเพณีดังกล่าวได้ให้ บริษัทฯจ่ายค่าทำงานในวันหยุด ให้กับพนักงานที่มาปฏิบัติงาน

6. ขอให้บริษัทฯ ปรับปรุงสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของพนักงานให้สอดคล้องกับความเป็นจริงดังต่อไปนี้

6.1 กรณีพนักงานเจ็บป่วย ต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน ขอให้บริษัทฯ จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามคำวินิจฉัยของแพทย์ หรือตามแพทย์สั่ง รวมค่าห้อง และค่าอาหาร 100 %

6.2 กรณีพนักงานเจ็บป่วย ทั่วไป ขอให้บริษัทฯ เพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาลของพนักงาน จากเดิม 40, 000 บาท / คน / ปี เป็น 150,000 บาท/คน/ปี

6.3 ขอให้บุคคลในครอบครัวของพนักงาน (บิดา, มารดา ,คู่สมรส และบุตร ) เบิกค่ารักษาพยาบาลครอบครัวพนักงานได้ ในวงเงิน 50, 000 บาท ต่อปี

6.4 กรณีพนักงานต้องรักษาโรคทันตะกรรม (ขูดหินปูน, อุดฟัน, ถอนฟัน, โรคเหงือก, ครอบฟัน, รักษารากฟัน และใส่ฟัน) ขอให้บริษัทจ่ายค่ารักษาพยาบาล 100 %

7. ขอให้บริษัทแก้ไขปรับปรุง การเบิกเงินค่าพาหะนะ ในการเดินทางปฏิบัติหน้าที่ของพนักงาน เป็นดังต่อไปนี้

7.1 ขอให้บริษัทฯ ยกเลิกเพดานเงินค่าพาหะนะในการเดินทางของทีมผู้จัดการร้านที่มีอยู่ในปัจจุบัน

7.2 ขอให้บริษัทฯ จ่ายเงิน ค่าพาหะนะเดินทาง ไปประชุม ทั้งขาไป และขากลับ

7.3 ขอให้บริษัทฯ จ่ายเงินค่าพาหะนะเดินทาง มาปฏิบัติงานของพนักงานในช่วงเวลา 21.00 น. ไปจนถึงเวลา 05.00 น. ของวันถัดไป 200 บาท / คน / วัน

8. ขอให้บริษัทฯ จัดอาหารฟรีให้กับพนักงานที่มาปฏิบัติงาน 1 มื้อ ในวงเงิน 119 บาท / คน / กะ

9. ขอให้บริษัทฯ ปรับปรุงแก้ไข วันหยุดพักผ่อนประจำปีของพนักงาน ที่ใช้ไม่หมดในปีปัจจุบัน ขอให้บริษัทฯจ่ายเป็นเงินสด ภายใน วันที่ 25 มกราคม ของปีถัดไป ในอัตราค่าจ้างของปีที่จ่าย เท่ากับจำนวนวันหยุดพักผ่อนประจำปี ที่เหลือ 100 %

10. ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีประกาศวันหยุดราชการเพิ่มเติม ขอให้บริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนการปฏิบัติงานในวันดังกล่าว เป็น 2 เท่าของค่าจ้าง / ชั่วโมง หรือต่อวัน

ทั้งนี้สภาพการจ้างใดไม่อยู่ในข้อเรียกร้องฉบับนี้ ขอให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

 

ที่มา: เผยแพร่ครั้งแรกใน Voice Labour

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 1 - 7 พ.ค. 2554

Posted: 08 May 2011 03:11 AM PDT

นายกฯ รับ 9 ข้อเสนอจากแรงงานยืนยันเดินหน้าปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ

1 พ.ค. 54 - นายกฯ รับข้อเสนอแรงงาน  9 ข้อ ยืนยันจะเดินหน้าปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เพิ่มขึ้นร้อยละ  25  ใน 2 ปี พร้อมดูแลราคาไข่ให้กลับเข้าสู่ปกติ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางมาร่วมงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2554 ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พร้อมรับข้อเรียกร้อง 9 ข้อจากตัวแทนผู้ใช้แรงงาน ประกอบด้วย  1.ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ  2.ขอให้รัฐบาลตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้ลูกจ้างกรณีสถานประกอบการปิด กิจการและเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงาน  3.ขอให้รัฐบาลปรับค่าจ้างที่เป็นธรรมกับลูกจ้าง พร้อมกำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้างและรายได้แห่งชาติทุกสาขาอาชีพ  4.ขอให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าอย่างเข้มงวดและเอาผิดกับผู้ทำผิดกฎหมาย

5.ขอให้รัฐบาลปฏิรูประบบประกันสังคม ด้วยการนิรโทษกรรมผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 ให้กลับเป็นผู้ประกันตนอีกครั้ง 6.ขอให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และยกเลิกการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกกิจการ  7.ขอให้รัฐบาลยกเว้นเก็บภาษีเงินได้ของลูกจ้างในกรณีเงินค่าชดเชยและเงินราย ได้อื่น ๆ ซึ่งเป็นเงินงวดสุดท้าย  8.ขอให้รัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และให้รัฐบาลรวบรวมกฎหมายแรงงานทุกประเภท จัดทำเป็นกฎหมายฉบับเดียวและบังคับใช้ทั้งรัฐวิสาหกิจและเอกชน และ 9.ขอให้รัฐบาลจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กและศูนย์เก็บน้ำนมแม่

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวกับผู้ใช้แรงงานว่า ข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานมีความคืบหน้าไปมาก และเสร็จเรียบร้อยไปแล้วหลายเรื่อง โดยขณะนี้รัฐบาลกำลังผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้แรงงานอีกหลายฉบับ และจะดำเนินการตามข้อเรียกร้องที่ยังคั่งค้างอยู่ให้เกิดความต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเข้าไปผลักดันศูนย์เด็กเล็ก ส่วนเรื่องค่าจ้างแรงงานนั้น ขอยืนยันว่า จะเดินหน้านโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ร้อยละ25 ภายใน 2 ปี และจะควบคุมราคาสินค้า โดยในสัปดาห์หน้าจะดูแลราคาไข่ที่สูงให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

(สำนักข่าวไทย, 1-5-2554)

หมอประเวศแนะ 3 แนวทางสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับผู้ใช้แรงงาน

1 พ.ค. 54 - “หมอประเวศแนะ 3 แนวทางสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับผู้ใช้แรงงาน  ทั้งจัดตั้งองค์กรของผู้ใช้แรงาน จัดสรรที่ดินทำกินให้ผู้ใช้แรงงาน และการบริหารจัดการที่ดีของสำนักงานประกันสังคม

ศ.นพ.ประเวศ วะสี  ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย กล่าวปาฐกถาในงานวันต้อนรับวันแรงงานที่อาคารศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต จัดโดยโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งขบวนการแรงงาน เพื่อการคุ้มครองสุขภาพและและสวัสดิการแรงงาน ร่วมกับ เครือข่ายกลุ่มสังคมเพื่อนและชมรมผู้ประกันตน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เนื่องในวันแรงงาน วันที่ 1 พฤษภาคม ว่า วันแรงงานเกิดขึ้นเพื่อระลึกถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ใช้ แรงงาน  สังคมของเราถูกมายาคติครอบงำ คิดว่าคนยากจน คนเล็กคนน้อยไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งที่ทุกคนเกิดมาโดยธรรมชาติ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน

ศ.นพ.ประเวศ  กล่าวว่า การจะทำให้ผู้ใช้แรงงานและเกษตรกรมีความเข้มแข็ง ประเทศก็จะดีขึ้น มีด้วยกัน 3 วิธีการคือ 1.จัดตั้งองค์กรของผู้ใช้แรงงาน เพื่อให้มีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ โดยทุกคนมีส่วนร่วม เริ่มจากกลุ่มเล็กๆ 10-20 คน เชื่อมโยงกันเป็นองค์กรใหญ่ ทำหน้าที่จัดการในเรื่องต่าง ๆ ของผู้ใช้แรงงาน เช่น เรื่องสวัสดิการ  จัดตั้งกองทุนออมทรัพย์ ไปจนถึงจัดตั้งธนาคารขนาดใหญ่ที่เป็นของผู้ใช้แรงงานเอง  2. จัดสรรที่ดินทำกินให้กับผู้ใช้แรงงาน มีที่ดินทำกิน มีที่อยู่อาศัย มีความมั่นคงทางอาหาร ก็จะมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น  3.เปิดให้ประชาชน ผู้ใช้แรงงาน ผู้ทรงคุณวุฒิ มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและตรวจสอบการดำเนินการของกองทุนประกันสังคมที่ ขณะนี้มีเงินอยู่ในกองทุนประมาณ 8 แสนล้านบาท ให้มีการบริหารจัดการที่ดี จะเป็นเครื่องมือที่ใหญ่และสำคัญมากที่จะช่วยสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับ ผู้ใช้แรงงาน

(สำนักข่าวไทย, 1-5-2554)

ผู้ใช้แรงงานแนะรัฐเร่งควบคุมราคาสินค้า-ปรับโครงสร้างค่าจ้างใหม่

อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ 1 พ.ค. 54 - ในงานเสวนาเรื่อง ข้อเสนอและยุทธศาสตร์ขบวนการแรงงาน ภายใต้ทุนนิยมครอบโลกที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ร่วมกันจัดขึ้นในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนที่สุดในขณะนี้คือรัฐบาลต้องควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ให้ผู้ใช้แรงงานมีชีวิตอยู่ได้ ซึ่ง คสรท.เรียกร้องให้มีการปรับขึ้นเป็น 421 บาท ขณะที่ในระยะยาวจะต้องมีการปรับโครงสร้างค่าจ้างของแรงงานไทย ตามฝีมือและอายุงานโดยไม่ผูกติดกับค่าจ้างขั้นต่ำ และเปลี่ยนค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นอัตราค่าจ้างแรกเข้าสำหรับผู้เริ่มต้นทำงาน เท่านั้น

ขณะที่ นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระ เสนอให้ภาครัฐเร่งสนับสนุนสิทธิในการรวมตัวของผู้ใช้แรงงาน โดยรับรองอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98  ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนอย่างยั่งยืน เนื่องจากผู้ใช้แรงงานสามารถสะท้อนปัญหาที่ตนเองได้รับโดยตรง ขณะเดียวกันนายจ้างต้องปรับทัศนคติที่มีต่อผู้ใช้แรงงาน โดยเลิกมองลูกจ้างในลักษณะ นายกับบ่าวและเปิดเผยข้อมูลผลกำไรทางธุรกิจที่แท้จริงให้ลูกจ้างได้รับทราบ เพื่อลดความขัดแย้ง ส่วนการที่รัฐบาลให้ความสนใจในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงนี้ แม้จะเป็นเรื่องดี แต่ช่วยแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น

(สำนักข่าวไทย, 1-5-2554)

คนงาน บ.เอเพ็ค พลาสติก ร้องศาลถูกเบี้ยวค่าแรง

เมื่อเวลา 09.00 น. พนักงาน กลุ่มบริษัท เอเพ็ค พลาสติก จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตพลาสติก หนังเทียม และเฟอร์นิเจอร์ ตั้งอยู่เลขที่ 32 ม.8 ต.หนองกี่ อ.กบินบุรี จ.ปราจีนบุรี จำนวน 130 คน เดินทางมายังศาลแรงงานภาค 2 เพื่อยื่นฟ้องบริษัท เรียกร้องค่าจ้างรายเดือน/รายวัน เนื่องจากบริษัทดังกล่าวได้ค้างค่าแรงเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งก่อนหน้านี้ทางบริษัทไม่สามารถจ่ายเงินตรงเวลาแก่พนักงาน นอกจากเงินเดือนของพนักงานแล้วทางบริษัทยังไม่จ่ายเงินออมของพนักงานที่ฝาก ไว้กับทางบริษัท และเงินทุนเพชรน้ำหนึ่งที่พนักงานเอาไปลงทุนกับทางทางบริษัทเพื่อนำไปซื้อ วัตถุดิบมาผลิตสินค้า และเมื่อบริษัทได้กำไรก็ไม่นำมาแบ่งปันให้กับพนักงาน

จากการสอบถามพนักงาน บอกว่า ล่าสุดทางเจ้าของบริษัทไม่ยอมติดต่อกับมายังบริษัท ไม่มีการพูดคุยว่าจะตกลงกันอย่างไร และกล่าวหาว่าแรงงานจังหวัดปราจีนบุรี ไม่ได้เข้ามาดูแลความเดือดร้อนของพนักงาน จึงไม่รู้จะไปพึ่งใคร ทางพนักงานทั้งหมด จึงได้เดินทางมายังศาลแรงงานเพื่อร้องขอความเป็นธรรม ให้นำเงินมาจ่ายค่าแรงที่เหลือ และเงินที่ติดค้างกับพนักงานทั้งหมดจำนวน 130 คน เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ศาลได้รับเรื่อง และจะดำเนินตามขั้นตอนต่อไป

(ครอบครัวข่าว, 2-5-2554)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์เอกชนกำลังเผชิญภาวะแรงงานตึงตัว แนะเร่งปรับตัวสู้คู่แข่ง

กรุงเทพฯ 2 พ.ค.- บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า จากนโยบายภาครัฐที่มีแนวคิดจะปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำร้อยละ 25 ในระยะเวลา 2 ปี เพิ่มเติมจากที่เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา ได้มีการบังคับใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ซึ่งปรับขึ้นประมาณ 8-17 บาททั่วประเทศ และมีแนวคิดที่จะเสนอมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจไปพร้อม กับการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานเช่นกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของแรงงานให้ดี ขึ้น โดยเฉพาะภายใต้ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ผู้บริโภคกำลังต้องเผชิญกับภาระราย จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น และยังช่วยจูงใจให้แรงงานที่อยู่ในภาคเกษตร เข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันนี้ความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการมีแนวโน้มเพิ่ม สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาด้านประสิทธิภาพของแรงงานไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าผลิตภาพการผลิตต่อหน่วยของแรงงานไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.6 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่ช้ากว่าการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างที่แท้จริงที่ขยับขึ้นเฉลี่ย ร้อยละ 3.5 ต่อปี ดังนั้น ภาครัฐจึงควรหามาตรการที่จะช่วยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจสามารถทำการแข่งขันได้ ซึ่งปัจจุบันนี้ ผู้ประกอบการไทยในบางอุตสาหกรรมกำลังเสียเปรียบให้กับคู่แข่งบางประเทศ เนื่องจากต้นทุนค่าแรงงานที่มีสูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอที่ไทยมีอัตราค่าจ้างแรงงานประมาณ 1.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง ขณะที่เวียดนามมีอัตราค่าจ้างอยู่ที่ประมาณ 0.85 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง เท่านั้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่า นอกจากเครื่องมือทางภาษีที่รัฐบาลจะพิจารณาเพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการ แล้ว รัฐบาลน่าจะมีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงานไทยให้มี คุณภาพในระยะยาว โดยเริ่มต้นจากการจัดระบบการศึกษาทั้งระบบ ตั้งแต่ระดับอุดมศึกษาจนถึงระดับมหาวิทยาลัยเพื่อให้สามารถผลิตบุคลากรให้ สอดคล้องกับความต้องการของสาขาอาชีพ เพื่อให้เกิดความสมดุลในตลาดแรงงานและการใช้กำลังแรงงานได้อย่างมี ประสิทธิภาพสอดคล้องกับวิชาชีพที่เรียนมา ขณะที่ผู้ประกอบการคงจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับกับต้นทุนแรงงานที่จะเกิด ขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการที่ยังคงต้องพึ่งพาแรงงานเป็นกำลังหลักในการขับ เคลื่อนธุรกิจ เช่น เกษตรกรรม ประมง และขนส่ง เป็นต้น และกลุ่มผู้ประกอบการที่รับจ้างการผลิตจากต่างประเทศที่ในอุตสาหกรรมนั้น มีการแข่งขันที่สูงอยู่แล้ว เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ต้องเตรียมพร้อมในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้มีศักยภาพมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิตลง นอกจากนี้ผู้ประกอบการควรจะต้องมีการกำหนดแผนระยะยาวในการพัฒนาต่อยอดทาง ธุรกิจมากขึ้น หันมาใช้เครื่องจักรกล และเทคโนโลยีใหม่ ขณะที่กำลังแรงงานในวัยทำงานของไทยกลับมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุมาจากกำลังแรงงานช่วงอายุ 25-39 ปี ที่จะเข้ามาเป็นแรงงานทดแทนมีปริมาณลดลงประมาณ 100,000 คนต่อปี

สำหรับภาวะตลาดแรงงานไทยในปี 2554 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอัตราการว่างงานของไทยจะยังคงอยู่ที่ระดับต่ำประมาณร้อยละ 0.9-1.1 โดยการจ้างงานยังน่าที่จะเติบโตขึ้นสอดคล้องกับทิศทางการขยายการลงทุนของภาค รัฐและเอกชน แต่ตลาดแรงงานปัจจุบันกำลังเผชิญกับภาวะตึงตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีโครงการก่อสร้างเป็นจำนวนมากทั้งโครงการขนาดใหญ่ของภาค รัฐหลายโครงการ เช่น โครงการรถไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่ภาคเอกชนเองก็มีการลงทุนเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์หลายโครงการ พร้อมกันทำให้เกิดการแย่งชิงแรงงานขึ้น

(สำนักข่าวไทย, 2-5-2554)

ครม.อนุมัติงบขยายความคุ้มครองประกันสังคม

นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบ 200 ล้านบาท ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอขอเพื่อไปบริหารจัดการประชาสัมพันธ์การขยายความคุ้ม ครองประกันสังคม

(โพสต์ทูเดย์, 3-5-2554)

ก.แรงงานเอาจริง! เดินหน้าปราบนายหน้าจัดหางานเถื่อน

3 พ.ค. 54 - นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในการเปิดการสัมมนาและมอบนโยบายการปฏิบัติงานคณะทำงานตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานและกระบวนการค้ามนุษย์ ว่า ในช่วงก่อนเปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ ให้เน้นการปราบปรามสายนายหน้าจัดหางานเถื่อน และให้ความรู้เรื่องของการจ้างแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายแก่สถานประกอบการ ซึ่งหลังจากที่มีการเปิดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่แล้ว จะดำเนินการจับกุมแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายอย่างเข้มข้น
      
นายสมเกียรติ กล่าวว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องใช้แรงงานต่างด้าวในช่วง 5-10 ปีต่อจากนี้ไป แต่เพื่อความมั่นคงและเพื่อการพัฒนาประเทศ จึงจำเป็นต้องทำให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศอย่างถูกกฎหมาย และแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้ามาทำงานก็ต้องนำมาทำให้เป็นแรงงานที่ถูกต้อง ตามกฎหมายเช่นกัน ซึ่งได้วางแนวทางในการดำเนินการไว้โดยในช่วงนี้ให้เน้นในเรื่องของการปราบ ปรามสายนายหน้าเถื่อนจัดหางาน
      
นายสมเกียรติ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนเรื่องของการจับกุมต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองในช่วงนี้ก่อนที่จะมีการ กำหนดวันให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ที่คาดว่าจะอยู่ในช่วง ประมาณเดือนมิถุนายนนี้ ขอให้เป็นการให้ความรู้เรื่องของการจ้างแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายแก่สถาน ประกอบการ และหลังจากที่เปิดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่แล้ว ต่อจากนี้ไปการดำเนินการจับกุมการใช้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองผิด กฎหมายจะดำเนินการอย่างเข้มข้นในการดำเนินการจับกุม
      
ด้านนางสุทัศนี สืบวงศ์แพทย์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ศูนย์ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานและกระบวนการค้ามนุษย์ เป็นการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 7 หน่วยงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก กองทัพเรือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงยุติธรรม ที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ประกอบด้วยคณะทำงาน 5 คณะรับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ โดยผลการดำเนินการที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2553 - 30 เมษายน 2554 สามารถดำเนินคดี นายจ้าง สถานประกอบการที่ลักลอบจ้างแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองได้ 365 ราย จับกุมแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานได้ 6,115 คน จับกุมสาย นายหน้าจัดหางาน 8 ราย

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 4-5-2554)

แรงงานนอกระบบทยอยสมัครเข้ามาตรา 40 รวมแล้วกว่า 440,000 ราย

4 พ.ค. 54 - แรงงานนอกระบบยังทยอยสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 เผยแรงจูงใจได้บำเหน็จไว้ใช้ยามแก่ชรา ขณะที่ เลขาฯ สปส.เผยยอดล่าสุดสมัครแล้วกว่า 440,000 ราย  คาดถึง 1 ล้านคน ช่วงปลายปี

บรรยากาศการรับสมัครแรงงานนอกระบบ เข้าสู่การเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40  ที่บริเวณสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 ซึ่งเป็น 1 ในจุดรับสมัครเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ รวม 216 แห่ง ยังคงมีประชาชนทยอยมายื่นใบสมัครอย่างต่อเนื่อง อาทิ นางอาภาภัทร คันชั่ง อายุ 51 ปี อาชีพรับจ้างเย็บเสื้อผ้า กล่าวว่า มาเลือกสมัครในแบบที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 150 บาท แต่จ่ายจริงเพียง 100 บาท เพราะรัฐบาลอุดหนุน 50 บาท  โดยมองว่าคุ้มค่า เพราะได้รับสิทธิประโยชน์ถึง 4 กรณี โดยเฉพาะบำเหน็จชราภาพ ที่เสมือนการเก็บเงินไว้ดูแลตัวเอง ยามมีอายุมากขึ้น จะได้ไม่เป็นภาระของลูกหลาน และที่ผ่านมา เพื่อน ๆ ร่วมอาชีพเดียวกันได้ชักชวนมาสมัครแล้วหลายราย

ด้าน นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ล่าสุดมีแรงงานนอกระบบทั่วประเทศมาสมัครเข้าสู่มาตรา 40 แล้วรวมทั้งสิ้นกว่า 440,000 ราย  ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 เลือกสมัครแบบที่ 2 เพราะได้เงินบำเหน็จชราภาพ ขณะที่ สปส.ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เปิดเป็นจุดรับสมัคร เช่น ที่ว่าการอำเภอ และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทุกแห่ง ห้างสรรพสินค้าโลตัสทุกสาขา โรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน ชุมชนต่าง ๆ รวมถึงสนามกอล์ฟ ทั้งหมดกว่า 1,000 จุด เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้มาสมัครง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ในช่วงปลายเดือนนี้ สปส.จะทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิก ธ.ก.ส. สามารถจ่ายเงินตามมาตรา 40 โดยหักผ่านบัญชี ธ.ก.ส.ได้ทันที  เชื่อว่าจะทำให้มีสมาชิก ธ.ก.ส.เข้าร่วมสมัครอีกจำนวนมาก คาดว่าในช่วงปลายปีนี้ จะมีแรงงานนอกระบบ สมัครเข้าสู่ระบบประกันสังคมตามมาตรา 40 ได้มากกว่า 1 ล้านคน

(สำนักข่าวไทย, 4-5-2554)

สึนามิญี่ปุ่นพ่นพิษแรงงานได้รับผลกระทบแล้วกว่า 60,000 คน

4 พ.ค. 54 -  สึนามิญี่ปุ่นพ่นพิษแรงงานได้รับผลกระทบแล้วกว่า 60,000 คน อีก 80,000 คน เสี่ยงได้รับผลกระทบ วอนลูกจ้าง-นายจ้างหันหน้าหารือกัน ขณะที่ผู้นำแรงงานไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 75 แนะรัฐช่วยแบ่งเบาภาระ

นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน  (กสร.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลในวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา พบว่าสถานการณ์ภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้สถานประกอบการในประเทศไทยได้รับผลกระทบ ต้องลดกำลังการผลิต เนื่องจากวัตถุดิบไม่เพียงพอ ไม่มีการทำงานล่วงเวลา รวมทั้งใช้การหยุดกิจการตามมาตรา 75 รวมทั้งสิ้น 60 แห่ง ลูกจ้าง 60,704 คน โดย 5 จังหวัดแรก ที่ได้รับผลกระทบ  ได้แก่  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ได้รับผลกระทบ 16 แห่ง ลูกจ้าง 11,441 คนสมุทรปราการ 7 แห่ง ลูกจ้าง 17,605 คน, ชลบุรี 4 แห่ง ลูกจ้าง 7,287 คน, ฉะเชิงเทรา 3 แห่ง ลูกจ้าง 4,500 คน และ ปทุมธานี 3 แห่ง ลูกจ้าง 2,670 คน

นอกจากนี้ ยังมีประเภทกิจการที่ต้องเฝ้าระวังที่อาจจะได้รับผลกระทบ อีกทั้งหมด 302 แห่ง ลูกจ้าง 80,130 คน ในประเภทกิจการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ประกอบรถยนต์ ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตวิกผมส่งออก อย่างไรก็ตาม ยังมีสถานประกอบการที่ได้รับประโยชน์ในการเพิ่มกะการทำงาน เนื่องจากยอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น รวมทั้งสิ้น 26 แห่ง ลูกจ้าง 23,016 คน ในประเภทกิจการแปรรูปอาหาร, เลี้ยงสัตว์ ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ผลิตถ้วยเซรามิก ผลิตอลูมิเนียม ส่งออกผักและผลไม้ และผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง

ลูกจ้างที่มีนายจ้างเป็นชาวญี่ปุ่น ที่ผ่านมาจะได้รับค่าตอบแทนที่ดี และมีมาตรฐานชีวิตที่ค่อนข้างสุขสบาย  แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ประเทศญี่ปุ่น ก็อยากให้ลูกจ้างมีความเอื้ออาทร มีน้ำใจให้กับนายจ้าง โดยต้องเข้าใจว่าเป็นเหตุสุดวิสัย แต่หากมีสถานประกอบการใด ฉวยโอกาสจากสถานการณ์ดังกล่าว ก็ขอให้แจ้งเข้ามาที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โทร.1546  ซึ่งทางกรมฯ พร้อมที่จะรับฟังและแก้ไขปัญหา  อย่างไรก็ตาม ควรดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท และใช้จ่ายอย่างประหยัด โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อความอยู่รอดของครอบครัวนางอัมพร กล่าว

ด้าน นายยงยุทธ์ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย  กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศมียอดการผลิตลดลงไปครึ่ง หนึ่งจากยอดเดิม ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา หลายบริษัทพยายามรักษาแรงงานเอาไว้ โดยที่ยังไม่ได้ตัดเงินเดือน  แต่อาจมีบางบริษัทที่มีการผลิตน้อยลง โดยลดเวลาทำงานเหลือเพียงวันอังคาร-วันพุธ ทำให้ต้องลดเงินเดือนของลูกจ้างเหลือร้อยละ 75 อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยในการใช้มาตรา 75 ในการลดเงินเดือนของลูกจ้าง เพราะปัญหาดังกล่าวไม่ได้เป็นผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งดูได้จากยอดการสั่งจองรถของประชาชนที่มียอดจองสูงถึง 30,000 คัน โดยสหพันธ์ฯ ขอให้รัฐบาลช่วยดูแลในเรื่องของค่าจ้างและค่าใช้จ่ายของแรงงาน เพราะบางบริษัทรับภาระนี้ไม่ไหว

นายยงยุทธ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ของบริษัทผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่นค่อนข้างดีขึ้นแล้ว หลายบริษัทเริ่มกลับมาผลิตชิ้นส่วนอีกครั้ง ทำให้บริษัทในประเทศไทย เริ่มทยอยผลิตชิ้นส่วนที่ต้องใช้ประกอบ หลายบริษัทเริ่มนำแรงงานไปฝึกอบรมการประกอบรถยนต์มากขึ้นเพื่อรอชิ้นส่วนจาก ทางญี่ปุ่นส่งมายังประเทศไทย   ทั้งนี้ อยากให้ลูกจ้างคลายความกังวล เพราะทางสหพันธ์ฯ จะเช็คสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา คาดว่า ไม่เกินปลายเดือนตุลาคมปัญหาทุกอย่างน่าจะคลี่คลาย

(สำนักข่าวไทย, 4-5-2554)

คนงาน "ฟูรูกาวา" ยื่นหนังสือสถานทูตญี่ปุ่น ขอช่วยเจรจากลับเข้าทำงาน

 

คนงานจากสหภาพฟูรูกาวา เม็ททัล (ไทยแลนด์) ร่วมกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง เดินทางมายังสถานทูตญี่ปุ่น กรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ขอความช่วยเหลือให้พวกเขาได้กลับเข้าทำงานตามปกติ หลังถูกนายจ้างไม่ให้เข้างานและแจ้งความหมิ่นประมาท

 

(4 พ.ค.54) เวลา 11.00น. คนงานจากสหภาพฟูรูกาวา เม็ททัล (ไทยแลนด์) ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทฟูรูกาวา เม็ททัล (ไทยแลนด์)จำกัด (มหาชน) ร่วมกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง เดินทางด้วยรถบัสจาก จ.สระบุรี มายังสถานทูตญี่ปุ่น กรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ขอความช่วยเหลือให้พวกเขาได้กลับเข้าทำงานตามปกติ

 

เนื้อหาหนังสือขอความเป็นธรรม ระบุว่า กรณีบริษัทฟูรูกาวา เม็ททัล (ไทยแลนด์) จำกัด ได้มอบหมายให้ทนายความดำเนินการแจ้งความดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อ พนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรแก่งค่อย ในข้อหาความผิดฐาน ร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ต่อคณะกรรมการสหภาพแรงงานฯ 11 คน และสมาชิกสหภาพแรงงาน 4 คน รวม 15 คน และมีคำสั่งฉบับลงวันที่ 21 เมษายน 2554 ให้คณะกรรมการสหภาพแรงงานฯ และสมาชิก 15 คน ไม่ให้เข้าบริเวณโรงงาน

 

สหภาพแรงงานฯและสมาชิกไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของนายจ้างที่มี คำสั่งไม่ให้เข้าไปทำงาน และดำเนินคดีข้อหาฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา สืบเนื่องจากกรณีที่ทางสหภาพแรงงานได้มีการประชุมร่วมกันตรวจสอบการที่นาย จ้างได้นำกล้องวงจรปิดหรือกล้อง CCTV มาติด ซึ่งทางสหภาพแรงงานเองได้ดำเนินการคัดค้านการกระทำของนายจ้าง เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของลูกจ้างในขณะปฏิบัติหน้าที่ให้นายจ้าง โดยให้เหตุผลว่า การติดกล้องวงจรปิดเป็นการจับผิดลูกจ้าง จำกัดสิทธิ และเสรีภาพขณะปฏิบัติหน้าที่ เพื่อการลงโทษ

 

สหภาพแรงงานได้มีการได้มีการประชุมและมีมติร่วมกันให้มีการเข้าร่วม ชุมนุมโดยสงบ เพื่อทำการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนายจ้างในการที่นำกล้องวงจรปิดมาติด ตั้งภายในบริเวณโรงงาน ซึ่งวันที่ 18 มีนาคม 2554 มีการปราศรัย เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงถึงเหตุผลที่ทางสหภาพแรงงานคัดค้านให้กับลูกจ้างและ สมาชิก เป็นการแสดงความคิดเห็น และใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อคุ้มครองสิทธิลูกจ้างขณะปฏิบัติหน้าที่ให้กับ นายจ้าง ซึ่งทางสหภาพแรงงานไม่ได้มีเจตนาร้าย หรือหมิ่นประมาทต่อนายจ้างให้ได้รับความเสียหาย การที่นายจ้างประพฤติปฏิบัติต่อคณะกรรมการสหภาพแรงงานฯและสมาชิกจึงไม่เป็น ธรรม

 

ทั้งนี้สหภาพแรงงานฯจึงขอยื่นหนังสือเพื่อขอความเป็นธรรมต่อสถานทูต ญี่ปุ่นให้ช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานให้ได้กลับเข้าทำงานตามปกติ เพื่อพัฒนาความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งแรงงานสัมพันธ์ที่ดีในสถานประกอบการของญี่ปุ่นและลูกจ้างคนไทยก่อ เกิดความสงบสุขร่วมกัน

 

นายสายัณห์ อะวิสุ ประธานสหภาพฯ ได้ยื่นหนังสือต่อนายยูกิฮิโกะ คาเนโกะ เลขานุการเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น และบอกเล่าปัญหาผ่านล่าม โดยร้องขอให้ช่วยประสานกับทางบริษัท พร้อมยืนยันว่าคนงานอยากกลับเข้าทำงาน หากบริษัทต้องการให้ขอโทษหรือมีกระบวนการไกล่เกลี่ยก็ยินดี อยากให้เคลียร์กับสหภาพฯโดยตรง โดยไม่มีบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

 

ด้านนางสาวธนพร วิจันทร์ เลขาธิการกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง บอกกับเลขาฯทูตญี่ปุ่นว่า ที่หนักใจคือ ช่วงหลังบริษัทได้จ้างบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งมีการใช้กฎหมายเข้ามาดำเนินการกับคนงาน ทั้งที่น่าจะพูดคุยไกล่เกลี่ยกันได้ ทั้งนี้ คนงานได้ขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานรัฐในพื้นที่แล้ว แต่ก็ยังไม่สำเร็จจึงเดินทางมาที่นี่ นอกจากนี้มีกระแสข่าวด้วยว่าบริษัทอาจจะขออำนาจศาลเพื่อเลิกจ้างคนงาน 15 คน หากเกิดขึ้นจะเป็นการสุมปัญหาขึ้นไปอีก

 

นายยูกิฮิโกะ คาเนโกะ เลขาเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น กล่าวว่า เพิ่งทราบข่าวเมื่อวานที่มีการติดต่อมา หลังจากนี้จะติดต่อกับผู้บริหารเพื่อพูดคุยต่อไป ทั้งนี้ เขากล่าวเพิ่มเติมว่าสถานทูตญี่ปุ่นไม่สามารถออกคำสั่งต่อบริษัทเอกชนได้ อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ก็อยากจะแก้ปัญหานี้โดยเร็วและจะพยายามอย่างเต็มที่

 

ด้านนางสาววาสนา ลำดี ผู้ดูแลเว็บไซต์ voicelabour.org และผู้ประสานงานนักสื่อสารแรงงาน แสดงความเห็นกรณีที่มีการฟ้องหมิ่นประมาทกับคนงานว่า อาจเป็นเพราะต้องการเบรกให้คนงานไม่พูดเรื่องในโรงงานออกไป รวมถึงอาจต้องการล้มสหภาพแรงงานด้วย

 

นางสาววาสนา กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกที่คนงานถูกฟ้อง อาจเป็นความหวั่นใจของนายจ้างที่ทุกวันนี้นักข่าวไม่ได้อยู่ในสำนักพิมพ์ กระทรวงแรงงานหรือทำเนียบฯอีกแล้ว แต่อยู่ในโรงงานเลย

 

ในส่วนเนื้อหาที่ถูกดำเนินคดีนั้น เธอมองว่า เป็นข้อเท็จจริง ไม่ได้มีความพยายามทำลายสหภาพฯ ขณะที่ภาพประกอบซึ่งเป็นภาพป้ายข้อความรณรงค์ของคนงาน ก็เป็นเรื่องปกติของขบวนการแรงงานในการสื่อสารอยู่แล้ว พร้อมตั้งคำถามด้วยว่า หากภาพเหล่านี้ปรากฎในสื่อกระแสหลักจะมีการฟ้องร้องหรือไม่

 

จากนั้น กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง และสหภาพแรงงานฟูรูกาวาฯ ได้เดินทางไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาระหว่างนายจ้างกับสหภาพแรงงาน ที่นายจ้างมีการฟ้องร้องในกรณีดังกล่าว โดยเบื้องต้น สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้รับปากจะดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อยุติต่อไป

 

(ประชาไท, 4-5-2554)

 

สศช.แนะแรงงานสู้ค่าครองชีพในเมืองไม่ไหวหันกลับบ้านเกิดเป็นเกษตรกรแทน

5 พ.ค. 54 - นายอาคม  เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.ได้ศึกษาข้อเท็จจริงการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับคืนสู่ภาคเกษตรและการออม ของภาคเกษตร ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี พบว่า  ในปี 53 มีแรงงานกลับคืนถิ่นมากถึง ร้อยละ 91.48 ของจำนวนแรงงานที่ย้ายกลับภูมิลำเนา ซึ่งแรงงานในภาคอีสานมีแรงงานย้ายกลับคืนถิ่นมากที่สุดที่ร้อยละ 65.98 ขณะที่ภาคกลางได้ย้ายถิ่นคืนสู่ภาคเกษตรร้อยละ 14.36 ภาคเหนือคืนถิ่นเพื่อทำการเกษตร ร้อยละ12.41  ภาคใต้ร้อยละ 7.24 โดยทั้งหมดมีเหตุผลของการย้ายคือค่าครองชีพเมืองใหม่สูง สินค้าเกษตรมีราคาเพิ่มขึ้น รวมทั้งนโยบายประกันรายได้ของรัฐบาลเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจ
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแรงงานภาคอีสานจะกลับคืนถิ่นมากที่สุดแต่เหตุผลไม่ได้มากจากโครงการ ประกันรายได้ของรัฐบาล แต่เป็นการย้ายถิ่นตามฤดูกาลเท่านั้น โดยวิกฤตเศรษฐกิจทำให้มีการเลิกจ้างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง  ส่งผลให้การเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคการผลิตอื่นเข้าทำงานในภาคเกษตรกรรมมี แนวโน้มเพิ่มขึ้น  ขณะที่ในปี 52 มีแรงงานย้ายถิ่นกลับภาคเกษตรกรรมสูงกว่า 3 แสนราย ส่วนปี 51 แรงงานย้ายถิ่นกลับภาคเกษตร 491,774 ราย
 
"การย้ายถิ่นคืนภาคเกษตร เกิดจากหลายปัจจัยทั้งภาวะค่าครองชีพในเมืองใหญ่สูงขึ้น การเลิกจ้างงานจากภาววิกฤติ การย้ายถิ่นตามฤดูกาล รวมทั้งการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรและราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่ม ขึ้น" นายอาคม  กล่าว
 
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่าการออมเงินและการลงทุนทางการเกษตรมีเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน หลังจากที่ราคาสินค้าเกษตรในปี 51 ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ยอดเงินฝากของเกษตรกรที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพิ่มเป็น 31,240 ล้านบาท ซึ่งขึ้นจากปี 50 ถึงร้อยละ 300 ที่มีการฝากเงิน 18,046 ล้านบาท ส่วนยอดเงินฝากต่อรายเพิ่มขึ้นเป็น 11,736 บาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 384.4  ที่มีการฝาก 3,053 บาทต่อปี   ขณะที่ปี 52 ยอดเงินฝากของเกษตรกรเพิ่มเป็น 56,592 ล้านบาท ลดลงเหลือเฉลี่ยรายละ 9,276 บาทต่อปี
 
สำหรับการชำระหนี้คืนระหว่างปี 52  เพิ่มขึ้นเป็น 300,567 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.61 ทำให้ยอดเงินชำระหนี้คืนเฉลี่ยต่อรายเพิ่มขึ้นเป็น 49,263 บาท  ขณะที่เกษตรกรยังมีการกู้เงินเพิ่มเพื่อลงทุนเป็น 332,000 ล้านบาทขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.76 จากปี 51 ที่มีการกู้เงิน  308,087 ล้านบาท  ส่งผลให้ยอดเงินกู้ต่อรายเพิ่มขึ้น  54,415 บาท ในปี 52 สาเหตุเงินออมเพิ่มขึ้นส่งผลให้เกษตรกรตัดสินใจลงทุนเพิ่มขึ้นในภาคเกษตร และ ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกร ที่เกษตรกรจำนวน 3,956,177 รายได้รับเงินชดเชยในปีการผลิต 52/53 รอบแรกจำนวน 36,498 ล้านบาท

(สำนักข่าวไทย, 5-5-2554)

คนงาน บ.สงขลาแคนนิ่งประท้วงขอขึ้นค่าแรง

6 พ.ค. 54 - พนักงานบริษัท สงขลา แคนนิ่ง กว่า 500 คน รวมตัวกันบริเวณสวนหย่อมเชิงสะพานติณสูลานนท์ ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เรียกร้อง 5 ข้อ ซึ่งรวมไปถึงการปรับค่าแรงและสวัสดิการต่าง ๆ ตามสภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และมีผลบังคับใช้ทันที โดยขีดเส้นตายให้บริษัทดำเนินการภายใน 3 วัน

เบื้องต้นบริษัทได้ส่งผู้จัดการทั่ว ไป และตัวแทนฝ่ายบริหารมาเจรจา รับปากจะดำเนินการตามข้อเรียกร้องในเรื่องค่าแรงและค่าขยัน แต่ในส่วนที่เหลือต้องรอมติจากหุ้นส่วนบริษัท ที่จะมีการประชุมในวันพรุ่งนี้

(สำนักข่าวไทย, 6-5-2554)

กรมการจัดหางาน จับกุมบริษัทจัดงานผิดกฏหมาย ขณะรับเงินมัดจำไปทำงานสหรัฐรายละกว่า 3 แสนบาท

6 พ.ค. 54 - นางสุทัศนี สืบวงศ์แพทย์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนจากคนหางานว่า มีห้างหุ้นส่วนจำกัด ฟาร์มแซงค์ทัวรี่ (Farm sanctuary) ภายในหมู่บ้านเมืองเอก โครงการ 1 อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี เปิดรับสมัครคนงาน ไปทำงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เรียกเก็บค่าบริการ(ค่าหัวคิว)รายละ 330,000 บาท จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน คณะทำงานตรวจสอบปราบปรามจับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานและกระบวนการค้ามนุษย์ ร่วมกับเจ้าหน้าตำรวจ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ เข้าตรวจสอบ พบนายถิรายุ อัฑฒ์ หรือนายธนโชติ นนทสุภาริน หรือยุ อัฑฒ์ และนายเมธีชัย ธรรมคุตต์ หรือภาวัต คุณความสุข หรือ อภิชาต ขันเพชร ผู้จัดการและเป็นเจ้าของบริษัท กำลังรับสมัครงานและรับเงินมัดจำจากคนหางาน 8 คน โดยไม่มีใบอนุญาต จึงแจ้งข้อหาร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางและหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหา งานหรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ นำส่งพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม พร้อมของกลาง ดำเนินคดี ทั้งนี้ ได้เตือนผู้หางานให้ระวังการหลอกลวง โดยให้ตรวจสอบตำแหน่งงานในต่างประเทศกับกรมการจัดหางานก่อน หรือโทรสอบถามสายด่วนศูนย์มิตรไมตรี 1694

(สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์, 6-5-2554)

"ยัมเรสเทอรองตส์" ไม่พร้อมเจรจาสหภาพฯ อ้างข้อเรียกร้องไม่สมบูรณ์

บริษัท  ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ( ประเทศไทย ) จำกัด  เป็นผู้ให้บริการ ผู้บริหาร และ ผู้ให้สิทธิแฟรนไชส์ร้านอาหารบริการด่วน KFC และ PIZZA HUT ในประเทศไทย มีทีมบริหาร และพนักงานชาวไทยกว่า 10,000 คน เพื่อให้บริการในร้านอาหารเคเอฟซีรวมกว่า 306 สาขา และร้านพิซซ่าฮัทกว่า 75 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และอีกกว่า 56 จังหวัดทั่วประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 54   พนักงานบริษัทยัมเรสเทอรองตส์ ฯ ในเขต กรุงเทพฯ,สมุทรปราการ และปทุมธานี จำนวน 200 คน จากพนักงาน 900 กว่าคน  ร่วมกันลงชื่อและลายมือชื่อ ยื่นข้อเรียกร้อง เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อบริษัท ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 13 พร้อมแต่งตั้งผู้แทนเจรจา 7 คน แต่งตั้งที่ปรึกษาจาก สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย 2 คนประกอบด้วย นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์ฯ นายวิสุทธิ์ เรืองฤทธิ์ เลขาธิการฯ จนครบกำหนด 3 วัน บริษัท ไม่มีการแต่งตั้งผู้แทนเจรจา ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง จึงยื่นหนังสือ พิพาทแรงงาน  ต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 54 เวลา 14.00 น.

ต่อมาพนักงานประนอมข้อพิพาท ฯ ทำหนังสือเชิญทั้ง 2 ฝ่าย มาเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาท วันที่  3  พ.ค. 54  ที่สำนักแรงงานสัมพันธ์  ชั้น กระทรวงแรงงาน

ระหว่างวันที่ 29 เม.ย. – 3 พ.ค. 54 ผู้แทนลูกจ้างไปตามกำหนด นัด แต่บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด มีหนังสือแจ้งไม่ส่งผู้แทนเข้าเจรจา จึงไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ ทางเจ้าหน้าที่จึงขอเชิญ ทั้ง 2 ฝ่าย มาไกล่เกลี่ยอีกครั้ง วันที่ 6 พ.ค. 54

แหล่งข่าวกล่าวว่าเมื่อวันที่ 6 พ.ค.54 ผู้แทนพนักงานไปพบพนักงานประน้อมข้อพิพาทแรงงาน ตามกำหนดนัด พร้อมที่ปรึกษา ท่าน มีคุณชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษาสหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย ร่วมสังเกตการณ์  แต่บริษัท มีหนังสือแจ้งไม่ส่งผู้แทนเข้าเจรจาข้อเรียกร้องอีกครั้ง โดยให้เหตุผล ข้อเรียกร้องไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย จึงไม่สามารถทำการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานในวันดังกล่าวได้ เพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทแรงงาน ตาม ระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี ฝ่ายลูกจ้างประสงค์จะเจรจาข้อพิพาทแรงงานดังกล่าวต่อไป พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน จึงเชิญทั้ง 2 ฝ่ายมาพบ เพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน อีกครั้งในวันที่ 20 พ.ค. 54 เวลา 10.00 น. กระทรวงแรงงาน  พร้อมกันนี้ลูกจ้างได้ยื่นจดทะเบียนสหภาพแรงงาน เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 54 คาดว่า ทะเบียนจะออกได้ก่อนวันที่ 20 พ.ค.54 นี้  (จดหมายนัดไกล่เกลี่ย และบัณทึกการไกล่เกลี่ยหนังสือนัดKFC(2) บันทึกไกล่เกลี่ยKFC (2))

////////////////////////////////////

ข้อเรียกร้องพนักงาน บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ( ประเทศไทย ) จำกัด

*********************************************

1. ขอให้บริษัทฯ ปรับเงินเดือนขึ้นประจำปี 2555 ให้กับพนักงานทุกคน ไม่น้อยกว่าร้อยละ10 ของฐานเงินเดือน (10 %)

1.1 ขอให้บริษัทฯ ยกเลิกเพดานเงินเดือน และปรับปรุงหลักเกณฑ์การปรับเงินเดือนประจำปี ในแบบปัจจุบัน

  2.ขอให้บริษัทฯ จ่ายเงินโบนัส หรือเงินพิเศษ ประจำปี 2554 ให้กับพนักงานทุกคนไม่น้อยกว่า 3 เท่าของฐานเงินเดือน

     2.1 ขอให้บริษัทฯ ยกเลิกหลักเกณฑ์ วิธีการจ่ายเงินโบนัสที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน และให้กลับไปใช้หลักเกณฑ์เดิม

3. ขอให้บริษัทฯ ปรับปรุงสวัสดิการ ค่าตอบแทนพนักงานที่ทำงานครบ 5 ปี 10 ปี 15 ปี และ 20 ปี เป็นดังต่อไปนี้

อายุงานครบ 5 ปี จากเดิม ทองคำ 0.25 บาท .เปลี่ยนเป็นเงิน 10,000 บาท

อายุงานครบ 10 ปี จากเดิม ทองคำ 0.50 บาท เปลี่ยนเป็นเงิน 30,000 บาท

อายุงานครบ 15 ปี จากเดิม ทองคำ 0.75 บาท เปลี่ยนเป็นเงิน 50,000 บาท

อายุงานครบ  20 ปี จากเดิม ทองคำ 1.00 บาท เปลี่ยนเป็นเงิน 100,000 บาท

อายุงานครบ 25 ปี จ่ายเงินรางวัล 150,000 บาท

4. ขอให้บริษัทฯ จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในปี 2554 โดยพนักงานหักเงินสะสม ในอัตรา 5 % และบริษัทฯจ่ายเงินสมทบในอัตรา 5 %  

5. ขอให้บริษัทฯ จัดให้พนักงานได้หยุดงานในวันหยุดตามประเพณี  ที่บริษัทฯ ประกาศ 15 วัน ต่อปี และปฏิบัติให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หากบริษัทฯ มีความจำเป็นไม่สามารถให้พนักงานหยุดงานในวันหยุดประเพณีดังกล่าวได้ให้ บริษัทฯจ่ายค่าทำงานในวันหยุด ให้กับพนักงานที่มาปฏิบัติงาน

6. ขอให้บริษัทฯ ปรับปรุงสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของพนักงานให้สอดคล้องกับความเป็นจริงดังต่อไปนี้

6.1 กรณีพนักงานเจ็บป่วย ต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน ขอให้บริษัทฯ จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามคำวินิจฉัยของแพทย์ หรือตามแพทย์สั่ง  รวมค่าห้อง   และค่าอาหาร  100 %

6.2 กรณีพนักงานเจ็บป่วย ทั่วไป ขอให้บริษัทฯ เพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาลของพนักงาน จากเดิม  40, 000 บาท / คน / ปี เป็น 150,000 บาท/คน/ปี

6.3 ขอให้บุคคลในครอบครัวของพนักงาน( บิดา, มารดา ,คู่สมรส และบุตร ) เบิกค่ารักษาพยาบาลครอบครัวพนักงานได้ ในวงเงิน 50, 000 บาท ต่อปี

6.4 กรณีพนักงานต้องรักษาโรคทันตกรรม (ขูดหินปูน,อุดฟัน,ถอนฟัน,โรคเหงือก,คลอบฟัน,รักษารากฟันและใส่ฟัน) ขอให้บริษัทจ่ายค่ารักษาพยาบาล 100 %

7.  ขอให้บริษัทแก้ไขปรับปรุง การเบิกเงินค่าพาหะนะ ในการเดินทางปฏิบัติหน้าที่ของพนักงาน เป็นดังต่อไปนี้

7.1 ขอให้บริษัทฯ ยกเลิกเพดานเงินค่าพาหะนะในการเดินทางของทีมผู้จัดการร้านที่มีอยู่ในปัจจุบัน

7.2 ขอให้บริษัทฯ จ่ายเงิน ค่าพาหะนะเดินทาง ไปประชุม ทั้งขาไป และขากลับ

7.3 ขอให้บริษัทฯ จ่ายเงินค่าพาหะนะเดินทาง มาปฏิบัติงานของพนักงานในช่วงเวลา 21.00 น. ไปจนถึงเวลา 05.00 น. ของวันถัดไป 200 บาท / คน / วัน

8. ขอให้บริษัทฯ จัดอาหารฟรีให้กับพนักงานที่มาปฏิบัติงาน 1 มื้อ ในวงเงิน  119 บาท / คน / กะ

9. ขอให้บริษัทฯ ปรับปรุงแก้ไข วันหยุดพักผ่อนประจำปีของพนักงาน ที่ใช้ไม่หมดในปีปัจจุบัน ขอให้บริษัทฯจ่ายเป็นเงินสด ภายใน วันที่ 25 มกราคม ของปีถัดไป ในอัตราค่าจ้างของปีที่จ่าย เท่ากับจำนวนวันหยุดพักผ่อนประจำปี ที่เหลือ 100 %

10. ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีประกาศวันหยุดราชการเพิ่มเติม ขอให้บริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนการปฏิบัติงานในวันดังกล่าว เป็น 2 เท่าของค่าจ้าง / ชั่วโมง หรือต่อวัน

ทั้งนี้สภาพการจ้างใดไม่อยู่ในข้อเรียกร้องฉบับนี้ ขอให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

(นักสื่อสารแรงงาน, 7-5-2554)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

[4] ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์: ยุคเปลี่ยนผ่านวรรณกรรมไทย วรรณกรรมไทยยุคเปลี่ยนผ่าน

Posted: 07 May 2011 04:06 PM PDT

มุมมองต่อปฏิกิริยาของเหล่ากวีและนักเขียนเดือนตุลาที่ผู้คนเคยยกย่องต่อเหตุการณ์เดือน เม.ย.-พ.ค.53 หมุดหมายสำคัญของยุคเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย และความท้าทายในการสร้างสรรค์งานวรรณกรรม

(คลิกชม วิดีโอคลิป ด้านท้ายบทความ)
 
(7 พ.ค.54) รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “ยุคเปลี่ยนผ่านวรรณกรรมไทย วรรณกรรมไทยยุคเปลี่ยนผ่าน” ในงานแสดงมุทิตาจิต 'ชุมนุมปาฐกถา 70 ปี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ' ที่หอประชุมศรีบูรพา ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันที่ 7 พฤษภาคม 2554
 
ช่อการะเกดกับยุคเปลี่ยนผ่านของวรรณกรรมไทย
 
ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ กล่าวถึงเรื่องสั่นสะเทือนแวดวงวรรณกรรมกรณีที่สุชาติ สวัสดิ์ศรีประกาศปิดหนังสือวารสารช่อการะเกด ในงานชุมนุมช่างวรรณกรรมประจำปี เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.53 โดยระบุว่าเป็นการปิดแบบชั่วคราว แต่ส่วนตัวคิดว่าการจะเกิดปรากฎการณ์ช่อการะเกดอีกครั้งในสังคมไทยคงเป็นไปได้ยาก เพราะวารสารช่อการะเกดในประวัติศาสตร์ได้ชื่อว่ามีบทบาทสำคัญในการผลิตนักเขียนรุ่นใหม่ๆ เพื่อนำเสนอวาทกรรมในแนวต่างๆ ที่หลากหลาย ท้าทาย น่าชื่นชม โดยเฉพาะในยุคที่สองช่วงปี 2532-2542 ช่อการะเกดได้กลายเป็นตำนานอันสำคัญที่คนยังพูดถึงกัน
 
จนกระทั่งในยุคที่สามของช่อการะเกด เมื่อ พ.ศ.2550 ที่ถูกคาดหวังให้ต่อยอดและขยายรากของช่อการะเกดในยุคสอง แต่จากการเปิดเผยของผู้ซึ่งสนับสนุนด้านการเงินของวารสารเล่มนี้ ระบุว่าการต้องปิดตัวลงนั้นเนื่องจากยอดจำหน่ายน้อยมาก เพียง 200 – 300 เล่มต่อฉบับ ในขณะที่มีผู้ส่งเรื่องมาให้พิจารณาตีพิมพ์จำนวนมากเป็นพันเรื่องต่อฉบับ ตรงนี้สื่อให้เห็นว่าเมืองไทยมีแต่นักเขียน แต่ไม่มีนักอ่าน อย่างไรก็ตามการปิดตัวลงของช่อการะเกดยังสะท้อนนัยยะบางอย่างที่สำคัญกว่า คืออวสานของช่อการะเกดอาจเป็นจุดเริ่มต้นการอวสานของวรรณกรรมในฐานะกิจกรรมอิสระของปัจเจกบุคคล และก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมวรรณกรรม ในบริบทของยุคอุตสาหกรรมวัฒนธรรมภายใต้เศรษฐกิจทุนนิยมผูกขาด
 
ชูศักดิ์ กล่าวถึงความสำคัญของวารสารช่อการะเกดว่า เป็นตัวแทนยุคสมัยของกิจกรรมอิสระทางปัญญาของนักเขียน ของปัญญาชน โดยเฉพาะในช่วงยุคที่สองซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่าช่อการะเกดมีบทบาทในแง่นี้มากถึงขั้นที่สามารถกำหนดวาระบางวาระของแวดวงวรรณกรรมในสังคมไทยได้ เป็นตัวจุดประเด็น ซึ่งที่เป็นเช่นนั้นได้เพราะมีปัจจัยทางสังคมแวดล้อมที่ส่งเสริม เนื่องมาจากว่าวงการวรรณกรรมในยุคนั้นยังไม่ถูกครอบงำหรือผูกขาดโดยสิ้นเชิงจากทุนอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ที่เราพบเห็นกันในทุกวันนี้ ในตอนนั้นเจ้าของสื่อมวลชนยังไม่ได้เข้ามามีผลประโยชน์โดยตรงในวงการหนังสือและวรรณกรรม นักข่าวและนักวรรณกรรมยังมีอิสระในการรายงานข่าว แต่ในยุคที่สามกลับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ในปัจจุบันเจ้าของสื่อมวลชน เช่นหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารรายสัปดาห์ต่างก็มีสำนักพิมพ์ของตนเอง สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ หลายแห่งก็มีร้านค้า หรือหันมาทำธุรกิจสายส่งของตนเอง
 
“ผลประโยชน์ที่ทับซ้อนกันระหว่างสื่อสิ่งพิมพ์กับสำนักพิมพ์ ระหว่างสำนักพิมพ์และร้านหนังสือ หรือสายส่ง กลายเป็นเรื่องปกติสามัญ” ชูศักดิ์กล่าว
 
ชูศักดิ์ อธิบายภาพวงการวรรณกรรมที่เห็นในปัจจุบันว่า คอลัมน์แนะนำหนังสือของหนังสือพิมพ์ปัจจุบันที่จะแนะนำเฉพาะหนังสือในสังกัดของตนเองเป็นส่วนใหญ่ ร้านหนังสือก็เลือกโชว์หนังสือของสำนักพิมพ์ในสังกัดตัวเองให้เด่นสะดุดตามากเป็นพิเศษ และนักเขียนเองก็เริ่มเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสังกัดมากขึ้น แม้จะไม่ถึงขั้นเซ็นต์สัญญาผูกมัดเหมือนนักร้อง นักแสดงที่มีกลุ่ม มีค่าย นอกจากนั้นการเขียนยังถูกเปลี่ยนจากกิจกรรมสำหรับเชาว์ปัญญาและการสร้างสรรค์เป็นไปการเขียนเพื่อส่งประกวดชิงรางวัลเสียเป็นส่วนใหญ่ จนเห็นได้ว่าวงการวรรณกรรมปัจจุบันอยู่ในสภาพของอุตสาหกรรมไม่ต่างจากวงการดนตรี วงการละคร หรือวงการสื่อมวลชน สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลที่ทำให้เชื่อว่าช่อการะเกดในยุคที่สามเมื่อปิดตัวไปแล้วจะไม่กลับมาอีก
 
ชูศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ลักษณะของงานของช่อการะเกดนั้นเป็นตัวแทนของวาทกรรมแบบเดิมที่มีลักษณะเป็นอิสระ ไม่มีทุนใหญ่หนุนหลัง ไม่มีสื่อสนับสนุน ไม่ได้อยู่ในอำนาจรัฐและทุน การเกิดขึ้นได้ของช่อการะเกดในฐานะเป็นกิจกรรมทางปัญญาส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากภาพเชิงอุดมคติของวาทกรรมและสื่อมวลชนที่คนรุ่นก่อนหน้านี้ อาทิ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือในนามปากกาศรีบูรพา เป็นผู้มีบทบาทในการต่อสู้ผลักดันให้นักเขียนและสื่อมวลชนได้รับการยอมรับจากสังคม ในฐานะเป็นอาชีพอิสระจากอิทธิพลของทุนและอิทธิพลรัฐ แต่ปัจจุบันภาพเชิงอุดมคตินั้นได้แปรเปลี่ยนไปจนแทบไม่เหลือเค้า เช่นตัวอย่างที่เห็นในกรณีของสื่อมวลชน แม้แต่ในแวดวงวรรณกรรมที่ดูไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจใดๆ มากนักเมื่อเทียบกับสื่อมวลชนแขนงอื่นๆ ก็พบว่าน่าจะเป็นสื่อรายสุดท้ายที่จะถูกผูกขาด ครอบงำด้วยระบบธุรกิจ และเรากำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านของวรรณกรรม
 
สิ่งที่น่าวิตกมากกว่านั้นคือ ความพยายามจากยุคสมัยกุหลาบ ในการสร้างนิยามของการเขียน นิยามของวรรณคดีในฐานะอาชีพอิสระที่ปลอดจากรัฐและทุน ในขณะเดียวกันก็พยายามจะสร้างนิยามของการเขียนให้กลายเป็นผู้ยึดมั่นในอาชีวปฏิญาณ หรือจรรยาบรรณวิชาชีพในภาษาปัจจุบัน โดยนิยามความเป็นนักเขียนและสื่อมวลชนว่าเป็นผู้ซื่อสัตย์ต่อความจริง มุ่งผดุงความยุติธรรม และเป็นปากเสียงให้ผู้ต่ำต้อยและผู้ถูกกระทำ ในช่วงรอยต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งได้รับการตอบรับในวงการวรรณกรรม และมีนักเขียนรุ่นต่อมาอาทิ นายผี, จิตร ภูมิศักดิ์, ลาว คำหอม พยายามสืบทอดและนำนิยามดังกล่าวมาขยายความต่อ
 
“ปัญหาปัจจุบันไม่ใช่เพียงสถานะอาชีพอิสระของนักเขียนกำลังจะตายไปเท่านั้น อย่างกรณีของช่อการะเกด แต่เกียรติภูมิของนักเขียนในฐานะผู้ผดุงความยุติธรรมก็กำลังถูกตั้งคำถาม และท้าทายเช่นกัน” ชูศักดิ์ระบุ
 

อดีตที่ไม่ร่วมสมัย
 
ชูศักดิ์ ยกตัวอย่างคำกล่าวของไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการวารสารอ่าน ที่ตั้งคำถามถึงนักเขียนในอดีต 2 ยุค คือยุคของกุหลาบ สายประดิษฐ์ และนายผี กับนักเขียนยุค 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สืบทอดพันธกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของนักเขียนรุ่นกุหลาบ สายประดิษฐ์ โดยไอดาได้บรรยายความรู้สึกเมื่อครั้งได้หวนกลับไปอ่านนิตยสารทางประวัติศาสตร์ของนักเขียนหัวก้าวหน้าในยุค 14 ตุลาฯ ไว้ว่า
 
“มันเป็นโลกของคนเก่าๆ รุ่นอดีตนั้น อดีตที่มันไม่ร่วมสมัย อดีตที่คนเหล่านั้นไม่อยู่ให้ยอกแสยงใจเหมือนอดีตยุคใกล้กว่านั้น”

ไอดา อรุณวงศ์ “เถ้าเป่าเปลว” อ่าน 2:2
 
ชูศักดิ์ กล่าวถึงการตอบคำถามถึงที่มาของความรู้สึกดังกล่าวว่า ต้องย้อนไปยังหมุดหมายของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ คือเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และเหตุการณ์ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 ซึ่งส่วนตัวเขาคิดว่าเหตุการณ์ครั้งหลังสุดเป็นการปราบปรามประชาชนอย่างล้ำลึกที่สุด แม้หลายคนจะมองว่าการสังหารหมู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลามีความโหดเหี้ยมรุนแรงมากกว่า แต่ความรุนแรงนั้นเป็นความรุนแรงแบบเฉียบพลัน และสงบอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง ในขณะที่การไล่ล่าทั้งที่ราชดำเนินและที่ราชประสงค์เป็นไปอย่างยืดเยื้อและเลือดเย็น เกิดการปะทะย่อยๆ ขึ้นหลายจุด หลายครั้ง แต่ละวันที่ผ่านไปมีผู้ชุมนุมและผู้สังเกตการณ์ถูกยิงโดยกองกำลังทหารที่โอบล้อมโดยรอบที่ชุมนุม ซึ่งภาพเหตุการณ์ทั้งหมดถูกบันทึกและเผยแพร่ไปทั่วโลก แต่คนเมืองบางกลุ่มกลับโห่ร้องยินดี ในขณะที่คนบางกลุ่มที่อ้างตัวว่ารักสันติ ต่อต้านความรุนแรง รักประชาชนและต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม กลับนิ่งดูดายต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
 
“ในแง่นี้ ความอำมหิตของเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.2553 ก็คือความเลือดเย็นในการฆ่าของฝ่ายรัฐ และความเลือดเย็นของคนเมืองที่ปล่อยให้การเข่นฆ่าดำเนินไปโดยไม่รู้ร้อนรู้หนาว”
 
“ผมอดถามไม่ได้ว่า แล้วบรรดาเหล่ากวีและนักเขียนที่ได้รับอานิสงส์จากความเป็นนักเขียนเพื่อประชาชน จนกระทั่งเชิดหน้าชูตาในฐานะตัวแทนของเสียงแห่งมโนธรรม พวกเขาไปอยู่ที่ไหนในช่วงเวลาดังกล่าว หรือเพราะพวกเขาไม่เห็นว่าผู้ชุมนุมเหล่านั้นเป็นคน ดังนั้นความตายของพวกเขาจึงไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เหตุการณ์เดือนเม.ย.-พ.ค.2553 จึงอำมหิตกว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาในแง่ที่ไม่เพียงคนตายเท่านั้นที่ถูกปฏิเสธความเป็นมนุษย์ แต่ผู้ชุมนุมนับหมื่นนับแสนในเหตุการณ์นี้ถูกทำให้ด้อยค่า ไร้ความหมายยิ่งเสียกว่าโค กระบือ ซึ่งคนเมืองชอบไปซื้อขายชีวิตเป็นประจำ”
 

วรรณกรรมในยุคเปลี่ยนผ่าน
 
ชูศักดิ์ กล่าวต่อมาว่า เหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.2553 และปฏิกิริยาของนักเขียนจำนวนหนึ่ง เป็นหมุดหมายสำคัญของการแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยกำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน ซึ่งก็เป็นความท้าทายของกวีและนักเขียนไทยว่าจะสร้างสรรค์งานวรรณกรรมในยุคเปลี่ยนผ่านนี้ไปในทิศทางใด
 
ตามคำนิยามของ อันโตนิโอ กรัมชี่ นักคิดชาวอิตาเลียน ได้อธิบายเรื่อง “ภาวะเปลี่ยนผ่านของสังคม” ไว้ว่าเมื่อใดที่อำนาจนำที่ได้รับการยอมรับโดยดุษฏีจากชนทุกชั้นของสังคมเริ่มคลายมนต์ขลัง และสูญเสียสถานะความเป็นอำนาจนำ เมื่อนั้นสังคมจะเกิดวิกฤติครั้งใหญ่กับการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งขยายความเพิ่มเติมโดยให้ภาพเปรียบเปรยที่กลายเป็นวรรคทองที่คนนิยมนำมาใช้กล่าวอ้างกัน คือ 
 
“แท้จริงแล้ว วิกฤตสังคมเป็นผลมาจากการที่สิ่งเก่ากำลังตายไป และสิ่งใหม่ถูกขัดขวางมิให้ก่อเกิด ในระหว่างรัชสมัยเยี่ยงนี้ อาการวิปลาสนานาชนิดจะสำแดงตัวออกมา”
 
“The crisis consists precisely in the fact that the old is dying and the new cannot be born; in this interregnum a great variety of morbid symptoms appear.”
 
อันโตนิโอ กรัมชี่ (1971)
 
และ
 
“เมื่อโลกใหม่ดิ้นรนจะบังเกิด และโลกเก่ากำลังตาย เมื่อนั้นอสูรกายจะปรากฏตัว”

“The old world is dying away, and the new world struggles to come forth: now is the time of monsters.”
 
อันโตนิโอ กรัมชี่ (1971)
 
กรัมชี่มองว่าการเปลี่ยนผ่านที่เกิดอาการวิปลาสทั้งปวงเป็นผลสืบเนื่องจากภาวะชะงักงันของความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมที่เดินมาจนถึงจุดหัก เมื่อพลังฝ่ายจารีตนิยมอ่อนเปลี้ย ใกล้ตาย และพลังฝ่ายก้าวหน้าก็ยังไม่สามารถเผด็จศึกได้โดยเด็ดขาด
                                           
ชูศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ในวัฒนธรรมไทยเองก็มีการมองเรื่องยุคเปลี่ยนผ่านเช่นเดียวกัน แต่จะอิงอยู่กับแนวคิดทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏอยู่ในมหาสุบินชาดก ที่คุ้นเคยกันดีในรูปของเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา โดยแจกแจงเหตุอาเพศ 16 ประการ และระบุไว้ชัดเจนว่าเหตุปัจจัยของอาเพศเหล่านี้เกิดขึ้นมาด้วยพระมหากษัตริย์มิได้ทรงทศพิธราชธรรม
 
มิใช่เทศกาลร้อนก็ร้อนระงม
มิใช่เทศกาลลมลมก็พัด
มิใช่เทศกาลหนาวก็หนาวพ้น
มิใช่เทศกาลฝนฝนก็อุบัติ
 
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
 
วิธีการมองเหตุอาเพศของไทยอธิบายด้วยกรอบชนชั้นของสังคมอย่างไม่อ้อมค้อม เริ่มด้วยอธิบายอาเพศโดยธรรมชาติ โยงเข้ากับความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แล้วนำสู่ข้อสรุปว่าความเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ในสังคมเป็นอาเพศ เป็นความวิปริต แต่หากนำกรอบความคิดสมัยใหม่เข้าไปมอง จะเห็นว่าความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่การเป็นผู้ใหญ่-ผู้น้อย สถานะในสังคมจะเท่าเทียมกันตามกรอบประชาธิปไตย แต่การมองอาเพศในแบบของไทยเป็นการมองโดยชนชั้นนำในอดีตที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
 
“ลูกศิษย์จะสู้ครูพัก   
จะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย
ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ 
นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย 
น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม
ผู้มีตระกูลจะสูญเผ่า    
เพราะจันฑาลมันเข้ามาเสพสม”
 
ทั้งนี้ ในทัศนะของไทย “การเปลี่ยนผ่าน” และ “อาเพศ” แตกต่างจากทัศนะของกรัมชี่อยู่มากพอสมควร โดยกรัมชี่ใช้คำว่า “วิปลาส” มาเป็นคำอุปมาเพื่อบรรยายถึงภาวะวิปริต อาการแปรปรวนภายใน เพื่ออธิบายถึงวิกฤติในยุคเปลี่ยนผ่าน ซึ่งตรงนี้ช่วยเตือนสติว่า “อาการวิปลาส” ที่มันเกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งอยู่ภายในสังคม อยู่ในตัวเรา รวมทั้งอาจอยู่ในคนที่อยู่ใกล้ตัวเราเอง โดยในภาวะปกติอาจแฝงตัวอยู่ในสถานะผู้รักเพื่อนมนุษย์ รักสันติ รักประชาธิปไตย อยู่ในภาพที่สูงส่งและดีงาม แต่ในภาวะวิกฤติของการเปลี่ยนแปลง ผู้คนก็จะแสดงความวิปลาสที่ซ่อนอยู่ในตัวออกมา
 
 
กวีเพื่อประชาชนที่ผู้คนเคยยกย่อง ท่าทีต่อการสังหารหมู่ เม.ย.-พ.ค.53
 
ชูศักดิ์ แสดงความเห็นต่อคำถามของบรรณาธิการวารสารอ่านถึงวาทกรรมนักเขียนยุคอดีตอันใกล้ (คนเดือนตุลา) ซึ่งในอดีตเคยได้ชื่อว่าเป็นผู้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและประชาชนที่ยอกแสยงใจผู้อ่าน โดยอธิบายง่ายๆ ว่านักเขียนในยุคสมัยการเปลี่ยนผ่านปัจจุบัน เกิดปรากฎการณ์วิปริต วิปลาส ไม่ต่างกับที่เกิดขึ้นในแวดวงตุลาการ สื่อมวลชน และนักวิชาการ ฯลฯ พร้อมแสดงตัวอย่าง อาการวิปลาสเบื้องต้นของเหล่านักเขียน-กวี ที่ไม่ลุกขึ้นมาแสดงออกต่อเหตุการณ์เดือน เม.ย.-พ.ค.2553 ว่า คืออาการ หูหนวก ตาบอด เป็นใบ้
 
ชูศักดิ์ ยังกล่าวถึงบทกวีของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ในหนังสือรวมบทกวี “คำขาดของทิดเที่ยง” ซึ่งพูดถึงเหตุการณ์ในสมัย 14 ตุลาฯ จนมาถึงปี 2553 เมื่อบรรดาทิดเที่ยงออกมาสวมใส่เสื้อแดงรวมกันเรียกร้องประชาธิปไตยจากบรรดาเหล่าผู้ดีตีนแดงในเมืองหลวง แต่ทิดเที่ยงในนามเนาวรัตน์กลับมองไม่เห็นหัวคนเสื้อแดง และกลับมองว่าพวกเขาเป็นลูกสุมโจรร้ายที่กำลังต้องการเปลี่ยนประเทศ เปลี่ยนธงประเทศไทย
 
ชาติผู้ดีตีนแดง
แต่ข้าวแกงยังไม่กิน
จะตากแดดนอนดิน
กระไรได้

. . . . .

ถ้าผิดคำสามข้อ
เล่นหลอกล่อให้หลง
ก็เปลี่ยนประเทศเปลี่ยนธง
ประเทศไทย
 
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ “คำขาดของทิดเที่ยง” 2517
 
อีกตัวอย่างหนึ่ง จากบทกวีของ จิระนันท์ พิตรปรีชา ในหนังสือ “ใบไม้ที่หายไป” ที่บันทึกเรื่องราวการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมขณะที่เธอเป็นผู้นำนักศึกษาหัวก้าวหน้า ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อปี 2519 แต่ทว่าเหตุการณ์สังหารหมู่เดือน เม.ย.-พ.ค.2553 ก็มีคนบาดเจ็บลมตายนับร้อยนับพันคน ไม่ต่างจากกรณี 14 ตุลาฯ สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเสมือนว่าใบไม้ดูจะหายไปชนิดที่ไม่หวนกลับมาอีกเลย
 
สันติวิธี พูดดีก็แล้ว                       
ไร้วี่แววที่วาดหวังห่างจุดหมาย
ยิ่งประท้วงยิ่งปะทะ อันตราย           
ทั้งลวงล่อทั้งทำร้ายประชาชน
บทพิสูจน์ทีละบทจดจารึก  
คั่งหัวใจที่คึกแค้นเข้มข้น
เห็นเพื่อนล้มเลือดปรี่ทีละคน          
เห็นแล้วหนทางใด ... ใช่! ทางเดียว
 
จิระนันท์ พิตรปรีชา “ความในใจจากภูเขา” 2519
 
ชูศักดิ์ กล่าวว่า ข้างต้นคือตัวอย่าง 2 กรณีจากนับสิบ นับร้อยของหมู่กวีและนักเขียนที่ได้รับอานิสงส์จากการได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนที่ปกป้องและเรียกหาความยุติธรรมให้หมู่ประชาชนผู้ยากไร้ ซึ่งหากจะอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ในแง่หนึ่งคือทัศนะต่อประชาชน ประชาธิปไตย และสังคมของพวกเขาได้เปลี่ยนไปแล้ว พวกเขาไม่ได้เชื่อมั่นในกระบวนการประชาธิปไตย หรือศรัทธาในประชาชนเหมือนครั้งอดีตอีกต่อไป ผลงานวรรณกรรมของพวกเขาเป็นอดีตที่ไม่ร่วมสมัยกับตัวตนใหม่ของพวกเขาในปัจจุบันอีกต่อไปแล้ว ซึ่งตรงนี้ไม่ได้มีแต่กวีและนักเขียน แต่นักอุดมคติจำนวนมากเมื่อเวลาผ่านไปก็อาจละทิ้ง หมดศรัทธา หรือกระทั่งทรยศต่ออุดมการณ์ที่เคยยึดถือในอดีตได้เช่นกัน
 
อย่างไรก็ตามส่วนตัวมองว่า กวีและนักเขียนมีนิยามที่ถูกสร้างไว้ตั้งแต่ยุคอดีต โดยผูกติดกับพันธกิจต่อประชาชนและความเป็นธรรมทางสังคม และสังคมมีความคาดหวังในการแสดงออกบางอย่างเมื่อสังคมเกิดวิกฤติ โดยที่พวกเขาไม่สามารถสลัดทิ้งสถานะของนักเขียนและกวีไปได้ แม้ในช่วง 80 ปีที่ผ่านมา นิยามของนักเขียนและกวีจะมีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยน แปลงโฉม รวมถึงลดทอนความสำคัญของความเป็นนักเขียนหรือวรรณกรรมที่อาจจะเป็นภัยต่อสถาบันต่างๆ ในสังคมอยู่ตลอดเวลา แต่ด้วยรากฐานในอดีตที่ถูกสร้างมาอย่างเข้มแข็ง ในท้ายที่สุดการช่วงชิงนิยามความหมาย แม้ว่าฝ่ายวรรณกรรมสร้างสรรค์ของกลุ่มกระฎุมพีจะสามารถเบียดขับฝ่ายวรรณกรรมเพื่อชีวิตให้ตกไปจากประวัติศาสตร์วรรณกรรมไปแล้ว แต่ก็ยังไม่อาจปฏิเสธนิยามวรรณกรรมเพื่อชีวิตอย่างสิ้นเชิงได้
 
ชูศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ถึงวันนี้ไม่มีใครกล้าพูดว่าวรรณกรรมหรือกวีเขียนขึ้นเพื่อความเพลิดเพลินเจริญใจ หรือเพื่อโชว์ฝีมือของตนเอง ดังเช่นนิยามแบบเดิมในสังคมศักดินายุคก่อนกุหลาบ สายประดิษฐ์ แต่จะเห็นแต่นิยามที่สูงส่งอลังการว่านักเขียนมีภารกิจอันยิ่งใหญ่กอบกู้จิตวิญญาณมนุษย์ และจากนิยามนี้ทำให้เห็นได้ว่านักเขียนมีสถานะค่อนข้างสูงส่งมากในสังคมสมัยใหม่ แม้ว่าจะเป็นนักเขียนที่มีคนอ่านน้อย หรือหาแทบไม่ได้ เพราะการขายไม่ได้ส่วนหนึ่งอาจกลายเป็นเรื่องค้ำประกันความศักดิ์สิทธิ์ของงาน เพื่อยืนยันว่าวรรณกรรมสูงส่งไม่ใช่ของตลาดที่หาซื้อได้
 
อย่างไรก็ตามวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นนี้สร้างความลำบากให้กับนักเขียนที่อยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านทางสังคมมาก ด้วยความคาดหวังของผู้คน นักเขียนและกวีน้อยใหญ่จึงถูกบีบให้ออกมาแสดงความเห็นต่อเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.2553 และแม้จะมีนักเขียนบางกลุ่มออกมาแสดงความสนใจต่อเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วออกมาโจมตีรัฐบาลอยู่ แต่โดยส่วนตัวสนใจในกลุ่มที่เคยได้ชื่อว่าเป็นนักเขียน เป็นกวีเพื่อประชาชน
 
ชูศักดิ์ กล่าวต่อมาว่าในช่วงหลังเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.2553 ในกลุ่มนักเขียนและกวีได้ต่อสู้กันว่าจะนิยามเหตุการณ์ดังกล่าวว่าอย่างไร โดยแบ่งออกเป็น 2 นิยามใหญ่ๆ คือ นิยามเผาบ้านเผาเมือง กับการปราบปรามประชาชน พร้อมยกตัวอย่างบทนำในหนังสือ “เพลิงพฤษภา รวมบทกวีร่วมสมัยบันทึกไว้ในความทรงจำ” โดยมีแก้ว ลายทอง ทำหน้าที่บรรณาธิการคัดสรรเรื่อง
 
“ภาพควันไฟที่ครั่นคลุ้มขึ้นคลุมฟ้ามหานครและในอีกหลายเมืองใหญ่ ตึกที่ถูกเผาทำลาย ร้านค้าและคูหา หลากหลายที่กลายเป็นเหยื่อ หยาดเลือดชีวิตคนทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องที่ต้องสังเวยให้กับสถานการณ์อันรุนแรง คนกี่คนต้องสิ้นเนื้อประดาตัว คนกี่คนที่ต้องสูญสิ้นอาชีพ ...และคนอีกกี่คนสิ้นหวัง... ภาพเหล่านี้ย่อมฝังลึกลงในความทรงจำของประชาชาติ”
 
แก้ว ลายทอง
 
ชูศักดิ์ ให้ความเห็นว่า ข้อความนี้แทนทัศนะของกวีหลายๆ คน ที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ ที่บันทึกความทรงจำของชาติในช่วงเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.2553 ว่าความสูญเสียไม่ใช่ชีวิตผู้คนที่บาดเจ็บล้มตาย แต่เป็นตึก ร้านค้า เหยื่อของเหตุการณ์คือผู้สูญสิ้นอาชีพ ผู้สิ้นเนื้อประดาตัว ผู้สูญสิ้นความหวัง การพูดถึงผู้เสียชีวิตเป็นการพูดอย่างเสียไม่ได้ หนังสือแสดงความเป็นห่วงและเศร้าโศกกับความเสียหายของตึกมากกว่าชีวิตคนนับร้อยนับพันที่มาชุมนุม พร้อมยกตัวอย่าง บทกวีของเนาวรัตน์ ที่เขียนบทกวีไว้อาลัยโรงหนังสยามที่ถูกเพลิงไหม้จากเหตุการณ์ครั้งนี้ โดยไม่พูดถึงผู้ชุมนุมร่วมร้อยที่เสียชีวิตและคนบาดเจ็บนับพันด้วยน้ำมือของรัฐ
 
เจ้าเล่นเป็นตัวโกง
ก็โกงได้เป็นไฟเปลว
เผาแพรกจนแหลกเหลว
แล้วพวกเจ้าก็เผาโรง
 
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, “โรงหนังสยาม”
ผู้จัดการรายวัน 1 ก.ค. 2553
 
ขณะที่บทกวีจำนวนมากในหนังสือ “เพลิงพฤษภาฯ” แม้ไม่ได้แสดงความเสียใจต่อวัตถุ หรืออาคารที่ถูกเพลิงไหมอย่างชัดแจ้งดังเช่นกรณีของเนาวรัตน์ แต่ก็ไม่ได้พูดถึงความตายของคน เพียงแต่พูดถึงความเสียหายของประเทศไทย โดยมีการใช้จินตภาพของไฟมาเป็นจินตภาพหลักในการบรรยายถึงเหตุการณ์ ส่วนเนื้อหาโดยรวมไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่ารัฐใช้อำนาจของทหารที่เข่นฆ่าประชาชน แต่จะเลือกพูดภาพกว้างๆ ของความสูญเสีย ความพินาศย่อยยับ เมื่อพูดถึงการตายก็จะไม่มีการระบุว่าผู้ชุมนุมตายอย่างไร หรือพูดถึงการเข่นฆ่าว่าเป็นการฆ่ากันเอง แทบไม่มีบทไหนเลยที่ระบุว่าคนตายเป็นเหยื่อของอำนาจรัฐอันโหดเหี้ยม อีกทั้งยังมีการนำจินตภาพของธรรมชาติอันแปรปรวนมาใช้จำนวนมากโดยที่ไม่พูดถึงภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างตำตา
 
“ขณะไฟ...ลามไหม้...ใกล้เข้ามา” ไพวรินทร์ ขาวงาม

“ไฟสงครามลุกลามเรือง” เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
 
“กระนี้หนอเมืองไทยจึงไหม้หมอง” กานติ ณ ศรัทธา
 
“ที่นี้...เมืองไทยยุคเกรี้ยมกร้าว เราสุมไฟผ่าวขึ้นแผดไหม้” รมณา โรชา
 
“ในมือเรามีไฟโถมใส่กัน พ่นละอองของน้ำมันเข้าใส่ไฟ” ไพฑูรย์ ธัญญา
 
“ร่วมเปลี่ยนไทยร้อนร้ายให้กลับเย็น!” สถาพร ศรีสัจจัง
 
“กลางฝนเลือด น้ำตาก็บ่าริน ธรนินท์ร้องไห้เป็นเลือดนอง” สถาพร ศรีสัจจัง
 
“หยดเลือดลูกหลานสะท้านทุกข์ รานรุกไล่ล่าฆ่ากันเอง”
 
“ไทยต่อไทยจึงแหลกลาญรบกันเอง” ชมัยภร แสงกระจ่าง
 
ชูศักดิ์ แสดงความเห็นว่า ตามบทกวีที่สอดคล้องไปในทางเดียวกันนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นความรู้สึกร่วมของกลุ่มกวี และทำให้มองเห็นได้ว่าเป็นการนำเสนอภาพเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องมาจากภาพในจอโทรทัศน์ที่มุ่งเสนอแต่ภาพควั่นไฟที่พวยพุ่งอยู่บริเวณราชประสงค์ โดยไม่ได้ใส่ใจให้ความสำคัญกับภาพของคนตาย คนที่ถูกฆ่าในเหตุการณ์เดียวกันนั้น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นไปได้ว่าตัวกวีเห็นความสำคัญของตึกมากกว่าชีวิตคน เนื่องจากพวกเขาไม่เห็นว่าผู้ชุมนุมเป็นคนมีชีวิต มีเลือดเนื้อ มีอารมณ์ มีความรู้สึก มีญาติพี่น้องให้ห่วงหา และมีความเป็นมนุษย์ หรืออาจเป็นไปได้ว่าพวกเขาเห็นไม่ต่างเนาวรัตน์ที่มองเห็นคนรากหญ้าเป็นโจร แล้วคิดว่าคนเหล่านี้สมควรตาย
 
เรายกย่องผองผู้สู้ไม่ถอย
กับเถื่อนถ่อยอยุติธรรมความบ้าคลั่ง
หากแต่เรารังเกียจ โกรธ ชิงชัง
กับการตั้งตัวเป็นเช่นซ่องโจร
 
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ “กลางใจเมือง”
ผู้จัดการรายวัน 28 พ.ค. 2553
 
“คำถามก็คือ กวีใช้เกณฑ์อะไรมาเป็นตัวชี้วัดว่าการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของคนรากหญ้าเสื้อแดงเป็นซ่องโจร และการชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญของนักศึกษาประชนเมื่อปี 2516 เป็นความงดความงาม ใช่ความชั่ว หรือแท้จริงแล้วกวีถูกม่านโมหาคติและมายาคติบังตา จนมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของคนเสื้อแดง หรือว่าโดยลึกๆ แล้วกวีท่านนี้เห็นแต่พวกตัวเองเท่านั้นที่ฉลาดและสูงส่งด้วยคุณธรรมจึงมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่ท่านไม่ชอบหน้าได้ ส่วนพวกหญ้าแพร่เสื้อแดงนั้นเถื่อนถ่อยและโง่งมงายเกินกว่าจะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ”
 
โดยสรุป ในส่วนนี้ได้เกิดกระบวนการขึ้น 2 กระบวนการ คือ 1.การลดทอนและปฏิเสธความเป็นมนุษย์ของคนเสื้อแดง โดยแสดงออกในสองด้านคือการให้ความสำคัญกับซากตึก สถานที่ และการสร้างภาพให้ผู้ชุมนุมกลายเป็นโจร 2.ความพยามยามในการนิยามเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.2553 ให้เป็นเหตุการณ์การเผาบ้านเผาเมือง ไม่ใช่การปราบปรามประชาชนอย่างโหดเหี้ยม แล้วนิยามดังกล่าวนี้จะช่วยทำหน้าที่ปกปิดและปกป้องฆาตกรให้ลอยหน้าลอยตาอยู่ในสังคมได้ต่อไป โดยความผิดทั้งหมดถูกโยนให้ผู้ชุมนุม
 
“เมื่อเหยื่อถูกทำให้เป็นอาชญากร และฆาตกรมือเปื้อนเลือดกลายเป็นอภิสิทธัตถะ”
 
 
“ศีลธรรม” ยาครอบจักรวาล
 
ชูศักดิ์ เสนอในประเด็นสุดท้ายว่า บทกวีส่วนหนึ่งในช่วงเวลานี้ได้หันไปหยิบฉวยศีลธรรมมาใช้อธิบายและเป็นคำตอบให้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นความพยายามแสดงบทบาทตามพันธกิจในการชี้นำความคิดให้กับสังคมด้วยการเรียกหาโนธรรม แต่โดยส่วนตัวกรอบคิดเรื่องศีลธรรมเป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตของแต่ละคน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเป็นจริยธรรมที่แต่ละคนพึงเรียกร้องต่อตัวเอง มากกว่าจะใช้เป็นบรรทัดฐานไปเรียกร้องจากผู้อื่น แต่จะเห็นได้ว่าสังคมไทยทำในทางตรงกันข้าม คือไปเรียกร้องศีลธรรมจากสังคม ศีลธรรมจึงกลายเป็นแก้วสารพัดนึก และถูกเห็นเป็นยาแก้ปัญหาทุกปัญหาในสังคม แต่เมื่อยิ่งเรียกร้องเรื่องการยกระดับมาตรฐานศีลธรรมของสังคมมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเห็นว่าศีลธรรมในสังคมตกต่ำมากเท่านั้น เพราะทุกคนชี้นิ้วไปที่ศีลธรรมจนกลายเป็นแพะรับบาปในทุกๆ ปัญหาของสังคมไทย
 
อีกทั้ง แม้ไม่ต้องอาศัยกวีหรือนักเขียน เราต่างรู้ว่าปัญหาวิกฤติที่นำมาสู่เหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.2553 ไม่ได้เกิดจากปัญหาความตกต่ำทางศีลธรรม และเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิกฤติจากเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจหรือการเมือง
 
ตัวอย่าง บทกวีของเนาวรัตน์ที่ยกเอาเรื่องศีลธรรมมาอธิบายเรื่องการชุมนุมคนเสื้อแดง
 
ไม่ใช่ชนชั้นไพร่ไล่อำมาตย์
หากเป็นความพินาศแห่งยุคสมัย
เถื่อนอธรรมย่ำยีบีฑาไทย
อันอุกอาจอุบัติในใจกลางเมือง
 
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ “กลางใจเมือง”
ผู้จัดการรายวัน 28 พ.ค. 2553
 
ในส่วนทางออกของวิกฤตการณ์ในสังคมไทย บทกวีชื่อหวัง ของจิระนันท์ ถูกใช้ปิดท้ายเล่มในหนังสือ “เพลิงพฤษภาฯ” 2 ท่อนสุดท้ายคล้ายกับเป็นการอวยพรให้คู่บ่าวสาวในงานวิวาห์
 
“หวัง”
            โลกงามเมื่อยามไหน
            เมื่อหัวใจมีรักครอง
            และรักโดยครรลอง
            ที่โอบเอื้อเกื้อเมตตา
 
กวีฝนแรก โดยจิระนันท์ ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 35 ซึ่งไม่เห็นบทกวีลักษณะที่บ่งชัดในเรื่อง “ฝนเหล็กอันรุนแรง ทะลวงร่างเลือดพร่างพราว” เช่นนี้เขียนในหนังสือ “เพลิงพฤษภาฯ” อย่างไรก็ตาม  ชูศักดิ์ได้อ่านบทกวีนี้เพื่อรำลึกเหตุการณ์เดือนพฤษภา 2553
 
ฝนแรกเดือนพฤษภา  รินสายมาเป็นสีแดง
ฝนเหล็กอันรุนแรง   ทะลวงร่างเลือดพร่างพราว
หลั่งนองท้องถนน    เป็นสายชลอันขื่นคาว
แหลกร่วงกี่ดวงดาว  และแหลกร้าวกี่ดวงใจ
บาดแผลของแผ่นดิน  มิรู้สิ้นเมื่อวันใด
อำนาจทมิฬใคร     ทมึนฆ่าประชาชน

              “ฝนแรก” จิระนันท์ พิตรปรีชา

 
ชูศักดิ์ กล่าวด้วยว่า คนสมัยใหม่ยกย่องกวีมาก ในขณะที่คนรุ่นเก่าก็สถาปนาบทบาทของกวีไว้แทบจะเรียกได้ว่าเป็นศาสดาของสังคม จนมีการพูดกันว่า “กวีเห็นในสิ่งที่คนทั่วไปไม่เห็น” แต่หากได้อ่านงานกวีในช่วงเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.2553 เราจะได้ข้อสรุปว่า “กวีไทยไม่เห็นในสิ่งที่คนทั่วไปเห็น” ซึ่งโดยส่วนตัวไม่ปฏิเสธว่าในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าวมีความซับซ้อนและมีปัจจัยหลายประการที่ซ้อนทับจนไม่สามารถชี้ชัดเหตุการณ์หรือสถานการณ์ได้อย่างเด็ดขาดและชัดเจน แต่การละเลยที่จะยอมรับความจริงตรงหน้าว่ามีคนนับร้อยถูกยิงเสียชีวิต หลายคนบาดเจ็บปางตายนั้นเป็นเรื่องยากเกิดที่จะเข้าใจได้
 
หากไม่ใช่ด้วยคำว่าม่านบังตาที่ทำให้กวีไม่เห็นในสิ่งที่คนทั่วไปเห็นอยู่ตำตา ก็อาจอธิบายได้ว่าเหตุการณ์ก่อนหน้านี้อย่าง 14 ตุลาฯ และพฤษภาทมิฬ จบลงด้วยชัยชนะในระดับหนึ่งของผู้ชุมนุม อย่างน้อยก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำรัฐบาล จึงทำให้เหล่ากวีและนักเขียนสะดวกใจที่จะเขียนสดุดีแด่ผู้ชุมนุม แต่เหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.2553 เป็นความพ่ายแพ้ ที่คล้ายเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ด้วยเหตุนี้นักเขียนจึงปิดปากเงียบ ไม่ยอมแม้จะเอ่ยปากว่ามีคนตาย โดยยกตัวอย่างบทกวีเรื่องวันฆ่านกพิราบ ที่พูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ โดยเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เขียนขึ้นในปี 2522 ซึ่งบรรยากาศทางการเมืองผ่อนคลายลงแล้ว
 
ชูศักดิ์ กล่าวปิดท้ายบทสรุปกวีไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน ด้วยวรรคท้ายจากบทกวีของศักดิ์สิริ มีสมสืบ
 
“ข้าต้องเสียศักดิ์ศรีกวีไทย
 เขียนกลอนเป็ดเป๋ไป๋ไปไม่เป็น”
 
ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ, “สันติป้าบ”
 
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น